เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๗ ธ.ค. ๒๕๕๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ วันนี้วันพระ วันพระ วันพระเป็นวันทำบุญกุศลของเรา ทำบุญกุศลของเราให้หัวใจของเรา หัวใจของเรามันต้องการสัจจะต้องการความจริง แล้วในโลกนี้มันมีแต่ความจอมปลอม ความจอมปลอมคือมันเป็นของชั่วคราวไง ของชั่วคราว ถ้าความจอมปลอม เราต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัยเครื่องอาศัยเก็บไว้รักษาไว้มันเสื่อมสภาพไปทั้งนั้นน่ะ แต่คนถ้ามั่งมีศรีสุขนะ สิ่งนั้นเป็นไปตามสัจจะความจริง เป็นสัจจะความจริง เห็นไหม

ที่ไหนมีน้ำ ที่นั่นมีชีวิต ปลามันต้องอยู่กับน้ำ เวลาปลาอยู่กับน้ำ ปลาแต่ละชนิดมันต้องอาศัยน้ำแต่ละชนิด น้ำกร่อย น้ำจืด น้ำเค็ม นี่ปลาแต่ละชนิด ถ้าปลาแต่ละชนิดมันอ่อนไหว มันอยู่สภาวะแบบนั้นมันดิ้นรนของมัน ธรรมชาติของปลา เวลาฝนตกใหม่ๆ น้ำใหม่ พอน้ำใหม่ ปลามันสดชื่นมาก ปลามันพยายามกระเสือกกระสนไปหาน้ำใหม่นั้น สิ่งที่หาน้ำใหม่นั้น เวลามันแห้งมันแล้ง ปลาต้องกระเสือกกระสนทั้งนั้นน่ะ

ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าชีวิตของเรา ดูสิ ศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา ถ้าศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา สังคมร่มเย็นเป็นสุขไง ถ้าสังคมร่มเย็นเป็นสุข เพราะอะไร เพราะจิตใจของคนที่มีคุณธรรม ถ้าจิตใจคนที่มีคุณธรรมนะ ดูสิ เราเดินไปบนท้องถนนมีแต่คนมีน้ำใจ เขามีการเอื้ออาทรต่อกันนะ แล้วปลอดภัย ความปลอดภัยของเราในชีวิตมันอบอุ่นหัวใจไง

เราไปทางไหนมีแต่ความหวาดระแวง ไปทางไหนมีแต่ความทุกข์ยาก เราไปอยู่ในน้ำที่มันไม่สะอาดบริสุทธิ์ มันบีบคั้นไปทั้งนั้นน่ะ แต่ทีนี้มันเป็นฤดูกาล ฤดูกาล สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง มันแปรสภาพของมันอยู่ตลอดเวลาไง ทีนี้การแปรสภาพแบบนั้น การแปรสภาพแบบนั้นเป็นยุคเป็นคราว มันกาลเทศะ นี้กาลเทศะของสังคม เวลากาลเทศนะของเราล่ะ

ที่มันสมควรและไม่สมควร ที่มันสมควร ที่สมควรทำสิ่งใดแล้วมันก็ดีงามไปทั้งนั้นน่ะ ที่ไม่สมควร แม้แต่เรามีความคิดที่ดีๆ แต่ที่ไม่สมควรเราไปแสดงออก คนที่มีปัญญาเขาบอกเขามีความคิดที่ดี แต่ความคิดของเขามันล้ำหน้าสังคมไป พอล้ำหน้าสังคมไป สังคมรับสิ่งนั้นไม่ได้ สังคมรับสิ่งนั้นไม่ได้เพราะความคิดเขาล้ำหน้าไป ความคิดเขาดีกว่าสังคมนั้นอีก นี่ไง ถ้าความคิดเราล้ำหน้าไป จิตใจเราเป็นธรรมๆ กาลเทศะมันยังไม่ถึงเวลา เราแสดงสิ่งใดไป เราเป็นคนที่เขามองเป็นสัตว์ประหลาด มันเป็นความแปลกประหลาดเลย แต่สังคมมันก็หมุนของมันไป เวลาถึงคราวถึงกาลของมัน มันต้องยกระดับของมันขึ้นไปเป็นสภาวะแบบนั้น

ในทางเศรษฐกิจเขาดูประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้วพัฒนามากี่ปี ประเทศที่ยังไม่พัฒนาล้าหลัง ๒๐ ปี ๓๐ ปี เขายังยกระดับสิ่งนั้นขึ้นมา นี้เป็นภาคของเศรษฐกิจนะ สังคมก็เหมือนกัน แล้วสภาวะของหัวใจของเราล่ะ

คนที่มีคุณธรรม คนที่หัวใจที่เป็นธรรมๆ มันอยู่ที่ไหนมันก็เป็นธรรมนะ ตกทุกข์ได้ยากอย่างไรจิตใจก็เป็นธรรม เราเคยดูทางโลกๆ ผู้ดีตกยากๆ เขาเป็นผู้ดี เขาเคยมีทรัพย์สมบัติของเขา เวลาเขาตกยากขึ้นมา ผู้ที่ตกยาก ผู้ที่ตกยากเขามีนิสัยของผู้ดีนะ เขามีกิริยาของเขาอยู่ประจำนิสัยของเขา แต่เวลาเขาตกยาก เขาตกยากของเขา เขาตกยากมันก็เป็นเวรเป็นกรรมทั้งนั้น

จิตใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจที่มันมีคุณธรรมในหัวใจ สิ่งใดก็แล้วแต่มันเป็นจริตนิสัยประจำหัวใจนั้น ถ้าเป็นจริตนิสัยประจำหัวใจนั้น ฟังธรรมๆ เพื่อเหตุนี้ เหตุนี้เพราะอะไร เพราะจิตใจของเรามันมีโอกาส จิตใจของเรามันมีความปรารถนานะ

เวลาความปรารถนา ดูสิ คนทำคุณงามความดีมากขนาดไหน เวลาพระโพธิสัตว์ๆ พระโพธิสัตว์สละชีวิตแล้วสละชีวิตเล่านะ ไปอ่านในพระไตรปิฎกสิ พระโพธิสัตว์เสวยภพเสวยชาติมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ท่านสละชีวิตของท่านแล้วสละชีวิตของท่านอีก แม้แต่เป็นสัตว์ก็สละชีวิตของความเป็นสัตว์นั้นเพื่อให้เนื้อเป็นอาหารของคนอื่น ทำไมมันคิดอย่างนั้นล่ะ ทำไมเขามีความคิดอย่างนั้น เขามีความคิดอย่างนั้น ทำไมเขาต้องเสียสละชีวิตของเขาเพื่ออะไรล่ะ ก็เพื่อคุณธรรมในใจของเขาไง เห็นไหม การเสียสละอย่างนั้นมันทำให้จิตใจสูงขึ้น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ธรรม บารมี ๑๐ ทัศ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี บารมีมันเต็มของมันอย่างนั้นมันถึงไม่หวั่นไหว ไม่อ่อนไหว จิตใจไม่อ่อนไหวนะ แต่ของเรามันมีความคิดดีอย่างหนึ่ง แต่มันก็มีความคิดเลวอย่างหนึ่ง มีความคิดขัดแย้งในใจอย่างหนึ่ง มันไปไม่รอดหรอก มันทำสิ่งใดมันก็ครึ่งๆ กลางๆ

ดูสิ เวลานักปฏิบัติขึ้นมา มรรค ๘ ศีล สมาธิ ปัญญา พอศีล สมาธิ ปัญญา พิจารณาแล้วมันต้องสมดุลของมัน เวลาสมดุลของมัน ถ้าสิ่งใดมีน้ำหนักมากเกินไป มันเอียงกระเท่เร่ เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ มันดึงไปทางสองส่วนนั้นน่ะ มันไม่ลงมัชฌิมาปฏิปทา มันไม่ลงสู่ความเป็นจริงอันนั้น ถ้าลงสู่ความเป็นจริงอันนี้มันก็ต้องมีอำนาจวาสนาบารมีอันนี้มา บารมี ๑๐ ทัศๆ นี่ไง มันไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง

เวลามันไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ที่ท่านสั่งสอนเรา คนเรามันมีจริตนิสัย มันหนักไปทางใดทางหนึ่ง เวลาสัทธาจริต พุทธจริต พุทธจริตคือผู้ที่มีปัญญา ถ้าจริตนิสัยมันแตกต่างกันไป จะเริ่มต้นอย่างไร เริ่มต้นอย่างไร ถ้ามันเป็นสัทธาจริตนะ ทำสิ่งใดมันมีแต่ความสุข มีความสงบ มันมีศรัทธา ศรัทธาทำอะไรก็ได้ ศรัทธาทำอะไรก็ได้ แต่ศรัทธา ถ้าศรัทธาแล้วถ้ามันเกิดปัญญาล่ะ

เวลาศรัทธา เราถือศีล ถือศีลก็ต้องมีปัญญา เราต้องแยกแยะว่าอะไรสมควรและไม่สมควร อะไรควรทำไม่ควรทำ ในสังคมที่มันเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ เวลาถือศีลก็ต้องมีปัญญา ระดับของภาวนามันต้องมีปัญญามากขึ้น แล้วพอไปเกิดภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญานี้มันได้การขับดัน มันได้ขับส่งจากสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมันมีกำลังของมันไง ถ้ากำลังของมัน คนมีกำลัง คนมีกำลังมาก เขาเรียกพันธุ์กล้ามเนื้อ ไอ้พวกใช้กำลังๆ ใช้กำลังเขาใช้กำลังของเขาไป กำลังอย่างนั้นกำลังแล้วมีปัญญาไหม

เวลาคนมีปัญญาๆ ปัญญาที่ร่างกายอ่อนแอ ร่างกายอ่อนแอเวลาเขาใช้ทำสิ่งใดเขาก็เจ็บไข้ได้ป่วยของเขา เขาก็ไม่มีความสุขความสงบทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้ามันเป็นความพอดีๆ มันก็เป็นยุคเป็นคราว เป็นยุคเป็นคราวคือจริตนิสัย

จริตของคน สัทธาจริต สัทธาจริตเขาใช้สติปัญญา เขาใช้ความศรัทธาของเขา มีคำบริกรรมของเขา ให้จิตของเขามีกำลัง เขาต้องฝึกหัดๆ ของเขา เวลาสติปัฏฐาน ๔ พิจารณากาย พิจารณากาย พอเห็นกายมันแปรสภาพของมันไปมันเกิดปัญญา เวลากายแปรสภาพไป แต่ในปัจจุบันนี้ปัญญามันอ่อนไหว ปัญญาเรามันไม่มีฐาน มันเป็นอุปาทานทั้งนั้นน่ะ มันสร้างภาพ เราคิดได้

ทำไมคนไปคิดเรื่องกายไม่ได้ ทำไมคนคิดเรื่องธรรมไม่ได้ มันคิดได้ทั้งนั้นน่ะ แต่มันคิดได้มันก็เป็นจินตนาการไง เพราะอะไร เพราะมันไม่มีกำลังพอ ไม่มีสติปัญญาพอ หลักเกณฑ์มันไม่พอ ถ้าหลักเกณฑ์มันไม่พอก็ต้องทำสมาธิมากขึ้น ต้องทำให้จิตใจมีกำลังมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ปัญญามันก็เข้มแข็งขึ้น มันก็มีคุณค่าขึ้น นี่พูดถึงว่าถ้าเป็นสัทธาจริต

ถ้าพุทธจริต ผู้ที่ปัญญามากๆ ทำสิ่งใดก็ไม่ได้ เรามีปัญญามากๆ ถ้ามีปัญญามากอย่างไรมันก็ต้องใช้ปัญญา ใช้ปัญญารักษาความคิด ใช้ปัญญารักษาหัวใจไม่ให้มันออกไปแสวงหาสิ่งใด ใช้ปัญญาไม่ให้มันไปกว้านเอาสิ่งน้ำเสียมันไม่ใช่น้ำที่สะอาด มันไม่ใช่น้ำที่จำเป็น ปลาต้องอยู่กับน้ำๆ แต่น้ำถ้าเป็นน้ำใหม่ น้ำใหม่ กลิ่นของมันน้ำใหม่มันมา มันพาเอากลิ่นของมันมาอะไรมา ตื่นไปกับมัน เห็นไหม

เวลาน้ำ มันคุ้นชินของมัน น้ำกักน้ำขังไว้ เดี๋ยวมันก็เสีย พอน้ำเสียขึ้นมา อยู่ก็ไม่ได้อีก นี่ไง ถ้ามีปัญญาๆ มันต้องคัดแยกอย่างนี้ เวลาน้ำใหม่มา เราก็อาศัยสิ่งนั้นมันเป็นเครื่องอาศัย เป็นเครื่องอาศัยนะ มันได้ถ่ายเทแล้วล่ะ เราจะได้ความสดชื่นแล้วล่ะ ถ้าน้ำกักขังไว้ น้ำจะเสียหาย เสียหายเพราะอะไร เพราะว่ามันไม่ถ่ายเท มันไม่ถ่ายเทเดี๋ยวมันก็เสีย ถ้าน้ำเสีย แล้วเราอยู่กับน้ำอย่างไร ปัญญามันแยกมันแยะของมัน คืออารมณ์ของเรานี่แหละ สิ่งที่มันตื่นเต้นกับของใหม่ สิ่งที่มันหมักหมมในหัวใจ สิ่งต่างๆ เราก็แยกแยะของเรา เราใช้ปัญญา

ถ้าปัญญาควบคุม ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาทำใจเราให้สงบเข้ามา ทำใจเราปล่อยวาง ปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา อยู่กับน้ำ อาศัยน้ำ แต่ไม่ใช่น้ำ นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดของเราอยู่กับเรา แต่ไม่ใช่เรา สิ่งใดมันเกิดขึ้นไม่ใช่เรา แล้วเรามันตรงไหนล่ะ อะไรเป็นเรา ไอ้นั่นก็ไม่ใช่เรา ไอ้นี่ก็ไม่ใช่เรา แล้วเราเป็นอย่างไร ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งใดเลย ก็เลยเหลวไหลไปเลย หยำเปไปเลย ทำสิ่งใดก็อยู่เหนือกฎกติกาทั้งสิ้น กลายเป็นคนพิเศษไปเลย ไอ้นั่นมันก็...

ทางสองส่วนที่เธอไม่ควรเสพ คนพิเศษต้องอยู่ในกฎกติกาสิ คนที่พิเศษ ดูสิ กฎหมาย ใครละเมิดกฎหมาย คนนั้นผิดกฎหมาย แต่เราไม่ได้ละเมิดกฎหมาย กฎหมายบังคับใช้คนทุกคน เราก็เป็นคนดี เราก็อยู่ใต้กฎหมายนั้น แล้วเราก็ไม่ทำอะไรให้มันล่วงกฎหมายนั้น เราจะมีความผิดอะไรล่ะ

นี่ไง เราเป็นคนดีเราก็ต้องอยู่ใต้กฎหมายนั้น ถ้าเป็นคนดีก็อยู่ในกฎกติกานั้น ถ้าอยู่ในกฎกติกานั้น เราไม่ใช่คนพิเศษ มีอะไรก็ต้องพิเศษกว่าเขา มีอะไรก็ต้องย่ำยีเขาไปทั่วเพื่อจะให้เป็นคนพิเศษ พิเศษตรงไหนล่ะ มีอะไรพิเศษ

นี่ไง ถ้าเรามีสติปัญญา มันจะมีสติปัญญาเข้ามา ไม่ให้หัวใจมันไปคว้าเอาสิ่งที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากเข้ามา น้ำกักขังแล้วล่ะ น้ำไม่มีการถ่ายเทแล้วล่ะ ถ้าไม่มีการถ่ายเทเดี๋ยวก็เน่าเสีย นี่ก็เหมือนกัน ยึดมั่นตัวตนของตน ยึดมั่นว่าฉันมีความรู้ ยึดมั่นว่าเก่ง นี่น้ำใกล้เสียแล้ว เดี๋ยวมันก็เสีย พอน้ำเสีย

ปลาอยู่กับน้ำ น้ำไม่ใช่เรา แต่เราต้องอาศัยมันอยู่ นี่ก็เหมือนกัน ในสังคม ความรู้สึกนึกคิดไม่ใช่เรา แต่ก็ต้องอาศัยสิ่งนี้เพราะมันการสื่อสารกัน มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์อยู่คนเดียวไม่ได้ ถ้ามนุษย์อยู่คนเดียวไม่ได้ มันจะอาศัยพึ่งพาอะไรกัน ถ้าการอาศัยพึ่งพาอะไรกันมีสติปัญญารักษาหัวใจเราไหม ถ้ารักษาหัวใจเราได้ ถ้ารักษาหัวใจเราได้ เราอยู่สังคมได้สบายเลย

แต่ถ้ามันรักษาหัวใจเราไม่ได้ล่ะ ในหัวใจของเรามันว้าเหว่ ในหัวใจของเรามันดิ้นรน สังคมเดือดร้อนแน่ๆ สังคมจะเดือดร้อนเพราะใจดวงนี้ ใจดวงนี้มันต้องแสวงหา ใจดวงนี้มันเหยียบย่ำเขาไป ใจดวงนี้มันต้องเป็นคนพิเศษ จะต้องเหยียบย่ำเขาไปทั่ว ถ้าเรารักษาใจเราได้ เราดูแลหัวใจของเราได้ มันจะมีความสุขความสงบในหัวใจของเรา

ถ้าในหัวใจของเรา ในเมื่อมันมีความสุขในตัวของมันเองแล้วมันจะไปเหยียบย่ำใคร มันมีแต่ความเมตตาทั้งนั้นน่ะ มีแต่ความเมตตา ดูสิ ของตกหล่นที่ไหน มันเจอ มันจะไปคืนเจ้าของหมดแหละ เพราะมันเป็นของของเขา เพราะจิตใจมันสูงส่งไง แล้วสังคมอย่างนี้มันจะไว้วางใจกันได้ไหม น้ำจะดีขึ้นไหม น้ำดีขึ้น สังคมมันดีขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น สมณะชีพราหมณ์มีความสุขมีความสงบ สังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข นี่วันพระๆ

สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดมีคุณค่าในหัวใจนี้ มีคุณค่าที่ความรู้สึกนึกคิดนี้ ไอ้แก้วแหวนเงินทองมันมาทีหลัง ไอ้ปัจจัยเครื่องอาศัยก็มาทีหลัง ถ้าหัวใจของคนที่มันดีแล้ว สิ่งที่พึ่งพาอาศัยมันมาทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าหัวใจคนมันเห็นแก่ตัว มันมีมากน้อยขนาดไหน มันไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย เพราะคนคนนั้นก็ใช้แค่นั้นน่ะ แต่มันกักตุนไว้จนไม่มีประโยชน์กับมันเองไง เพราะมันใช้อยู่แค่นี้ แล้วที่มันเหลือไว้มันกักตุนไว้ทำไม มันไม่เป็นประโยชน์

แต่ถ้ามันสละออกไปมันก็เป็นประโยชน์ สละออกไปก็เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์หมดเลย ถ้ามันเป็นประโยชน์กับหัวใจดวงนั้นไง แต่ถ้าหัวใจดวงนั้นมันไม่เป็นประโยชน์ คือมันจะเอาไว้มากน้อยแค่ไหนมันก็ใช้เท่าที่จะใช้ได้ล่ะ มนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์คนหนึ่งก็ใช้ปัจจัย ๔ เหมือนกัน จะโลภมากขนาดไหนก็ใช้เท่านั้นน่ะ แต่มันโลภมากเอาไว้มันไม่ถ่ายเท มันจะเสียหาย มันจะน้ำเสียนั่นน่ะ

มันไม่ใช่เราๆ แต่มันจะทับถมเรา ไม่ใช่เราๆ เพราะใครเป็นคนทำล่ะ ไม่ใช่เราๆ ก็เราเป็นคนทำ เราเป็นคนกักตุน เราเป็นคนแสวงหา เราเป็นคนทำทั้งนั้นน่ะ แล้วเวลาเรามาวัด เรามาเสียสละ ใครเป็นคนเสียสละล่ะ ก็เราเป็นคนเสียสละไง เราเป็นคนทำไง เราไง แล้วบอกว่าน้ำไม่ใช่เรา แล้วเราอยู่ไหน เราอยู่ไหน

ก็เราเป็นคนเสียสละนี่ไง เราก็คือจิตเราไง เราก็คือหัวใจเรานี่ไง คือตัวตนของเราไง แต่เรายังไม่รู้จักเราไง ถ้าเราไม่รู้จักเรา ก็ต้องให้มีตราประทับ ถ้าเป็นเรา เราต้องมีลายเซ็นด้วยถึงจะเป็นเรา ถ้าไม่มีลายเซ็นไม่ใช่ จะเป็นเราหรือ ไอ้นี่เราในทางโลกนะ

แต่ถ้ามีสติปัญญานะ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เราพยายามค้นคว้าหาเรานะ พอจิตมันสงบเข้ามานี่มหัศจรรย์มากนะ คนที่จิตสงบมหัศจรรย์จริงๆ โอ้โฮ! ชื่อมันเป็นอย่างนี้หรือ นี่คือเราแท้ๆ หรือ

ที่ว่าเราๆๆ เราไม่เคยเห็นตัวเราจริงๆ เลย พ่อแม่ให้มา ได้เกิดภพชาตินี้มานะ คลอดออกมาจากท้องแม่ พอคลอดออกมาจากท้องแม่ พ่อแม่ตั้งชื่อให้ก็เป็นชื่อนั้นน่ะ ไม่พอใจ ไปเปลี่ยนชื่ออีก แต่ตัวตนของเราไม่เคยเห็น พ่อแม่ก็ผูกพันกันไปโดยสายบุญสายกรรมไง

แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามาเป็นสมาธิ สัมมาสมาธินะ นี่ตัวตนของเรา ถ้าตัวตนของเรานี่ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตเกิดในไข่ ในครรภ์ ในน้ำครำ ในโอปปาติกะ มันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันไม่เคยตาย ไม่เคยตาย แต่เพราะบุญกุศลมันถึงได้ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะบาปอกุศลทำให้เราต้องเจ็บช้ำน้ำใจ มันมีบุญมีบาปมาทุกคน

ทุกคนเกิดมาแล้ว ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเพราะการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ สิ่งที่เจ็บช้ำน้ำใจแล้วร้องไห้เสียใจ น้ำตาที่เก็บไว้ มหาสมุทรสู้ไม่ได้ เพราะเราเวียนว่ายตายเกิดมาไม่มีต้นไม่มีปลายไง น้ำตาของเราเก็บไว้แต่ละภพแต่ละชาติที่มันรวมๆ ไว้มันจะมากกว่าน้ำทะเล นี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

นี่ไง จิตที่ไม่เคยตายๆ มันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะอย่างนั้นน่ะ แต่ด้วยบุญกุศลของมันเกิดมา จริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน ความสามารถของคนไม่เหมือนกัน ไม่มีใครเหมือนกัน มันเหมือนกันไม่ได้ ความเหมือนกันไม่ได้ก็เพราะเหตุมันมาแตกต่างกัน เหตุคือต้นทุนมันแตกต่างกัน ความเป็นไปมันแตกต่างกัน แต่ทุกดวงใจสามารถค้นคว้าหาตัวตนของตนให้ได้

ถ้าค้นหาตัวตนของตนให้ได้ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องอริยสัจ อริยสัจ การพิจารณา จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจไง อริยสัจคือจิตของเราพิจารณาเข้าไปมันเข้าไปสู่อริยสัจไง อริยสัจนี้จะกลั่นกรองหัวใจดวงนี้ไง ที่ว่าตัวตนๆ ของเรา ปลาต้องอยู่กับน้ำ ใจของเราต้องอยู่กับคุณธรรม ถ้ามีคุณธรรมขึ้นมา มันพัฒนาของมันขึ้นมา มันจะส่งเสริมของมันขึ้นมาไง ถ้าจิตมันกลั่นออกมาจากอริยสัจ อริยสัจมันคืออะไรล่ะ

ทุกข์คือความที่ทนอยู่ไม่ได้ นั่งอยู่เฉยๆ นี่แหละ อยู่ไม่ได้หรอก นอนก็ไม่ได้ สิ่งใดที่มันอยู่คงที่ไม่ได้ ทุกข์ แล้วทุกข์คืออะไรล่ะ ทุกข์ทำไมล่ะ ทุกข์เพราะมีตัณหาความทะยานอยากไง ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ สมุทัยอันที่อยากให้มันคงที่ อยากให้มีความสุข อยากให้มันเป็น ไปละตรงนั้นไง แล้วถ้าละมันก็เกิดนิโรธ นิโรธเกิดจากอะไร เกิดจากมรรคไง นี่ไง จิตที่มันกลั่นออกมาจากอริยสัจ แล้วอริยสัจมันอยู่ที่ไหนล่ะ

ศึกษาธรรมะก็เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระไตรปิฎกบอกวิธีการทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่จะเป็นจริงๆ เป็นจริงที่เราฝึกหัดนี่ไง เป็นจริงที่เราตั้งสตินี่ไง เป็นจริงที่วันพระ วันโกนมาวัดมาวาเพื่อสร้างอำนาจวาสนาบารมีของมันไง ถ้าสร้างอำนาจวาสนาบารมีมันจะสนใจเรื่องอย่างนี้ แล้วฟังธรรมเข้าใจ

เวลาไปวัดนะ ถ้านโม ตัสสะ อ่านคัมภีร์ อู้ฮู! ฟังเทศน์ ไปวัดเวลาอาจารย์เทศน์ โอ๋ย! ไปทำอะไรน่ะ ไม่เห็นพูดอะไรเลย เทศน์อะไร

ก็มันฟังไม่เป็น

แต่ถ้าฟังเป็นนะ โอ้โฮ! พอหลวงปู่มั่นท่านจะเทศนาว่าการนะ โอ้โฮ! พระนี่ร่ำลือ พอเสียงหลวงปู่มั่นที่ไหน ทุกคนจะเข้าไปเก็บไปจับ เพราะอะไร เพราะคำพูดนั้นมันกลั่นออกมาจากหัวใจของหลวงปู่มั่น

หัวใจของหลวงปู่มั่นเป็นหัวใจที่บริสุทธิ์ สิ่งใดที่มันแสดงออก จิตมันแสดงออกโดยตัวมันเองไม่ได้ มันแสดงด้วยการเคลื่อนไหว ด้วยกิริยาทางกาย ด้วยเสียง ด้วยต่างๆ นี่ไง ธรรมเคลื่อนออกมาไง นี่ไง สิ่งนี้เวลาถ้าคนฟังเป็นๆ โอ้โฮ! พอหลวงปู่มั่นท่านจะพูดสิ่งทีเล่นทีจริงของท่าน ท่านพูดประจำ หลวงปู่มั่นจะพูดทีเล่นทีจริง แต่เราไม่เคยเล่นเลย เราจริงตลอด จะพูดเล่นก็จริง จะพูดจริงยิ่งจริงใหญ่ มันเป็นความจริงทั้งหมดเลย เพราะมันออกมาจากใจอันนั้นไง จะพูดทีเล่นทีจริง เราจริงทั้งนั้น นี่คนฟังเป็นไง

ถ้าคนฟังไม่เป็นก็ไม่รู้ ไปวัดไม่เห็นทำอะไรเลย ไปถึงเห็นแต่หลวงพ่อโวยวายแล้วเราก็กลับ

โวยวายเพราะมึงฟังไม่เป็นไง แต่ถ้าฟังเป็นๆ นะ นี่แหละฟังเทศน์ เทศน์มันสะเทือนหัวใจอันนี้ ถ้าหัวใจอันนี้เพื่อประโยชน์กับเรา วันพระ วันโกน วันพระเราศึกษาของเรา เราฟังของเราเพื่อประโยชน์กับหัวใจดวงนี้ เอวัง