เทศน์บนศาลา

ธรรมะลอยลม

๒o พ.ย. ๒๕๔๙

 

ธรรมะลอยลม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ชีวิตเรามีคุณค่า ธรรมะจะมีคุณค่าต้องมีชีวิตเรามีคุณค่า ชีวิตคนมีคุณค่า ชีวิตคนมีหลักมีเกณฑ์ ดูนิสัย ดูใจคอ สิ่งนี้อยู่ในธรรมะนะ ธรรมไง ธรรมคือความจริง ถ้าชีวิตคนโลเลมันก็ได้ธรรมะโลเล

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัตินะ ธรรมะไม่มี คำว่า “ธรรมะไม่มี” สัจธรรมมันไม่มี แต่ธรรมดั้งเดิมมีอยู่ ธรรมดั้งเดิมคือมันละเอียดอ่อนไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นคว้า พยายามค้นคว้า พยายามศึกษา พยายามทดสอบ คำว่า “ทดสอบ” สิ่งที่ไม่มีแล้วพยายามทดสอบ ทดสอบโดยทางที่ไม่ถูกทางมันจะเข้าหาสิ่งนั้นไม่ได้ สิ่งที่ทำเข้าหาสิ่งนั้นไม่ได้เพราะเหตุกับผลมันไม่ลงตัว มันไม่เป็นธรรม

เหตุที่เป็นธรรม อริยสัจประกาศมา ๒,๕๐๐ กว่าปี อริยสัจจะ สัจจะความจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สิ่งนี้ทางวิทยาศาสตร์พึ่งพิสูจน์ได้เมื่อเร็วๆ นี้เอง แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิสูจน์มาแล้วจากสัจจะความจริง สัจจะความจริงในหัวใจไง ถ้ามีสัจจะความจริงในหัวใจ สิ่งนี้มันเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง คนมีหลักมีเกณฑ์นะ คนเรามีจุดยืน คนเรามีที่มาที่ไป ไม่เลื่อนลอย ถ้าธรรมะที่ยังไม่เป็นธรรมนะ มันธรรมเลื่อนลอย อย่างเช่นเรามีความจำ เราศึกษาวิชาการต่างๆ แต่เราไม่เคยทดสอบ มันเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง มันเลื่อนลอย

ชีวิตก็เหมือนกัน อยู่ที่จริตนิสัย ถ้าจริตนิสัยของคนจริงจัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมา เวลาออกค้นคว้าอยู่ ๖ ปี สิ่งที่เป็นธรรมนี้ไม่มี แต่ก็มีความจริงจัง จริงจังค้นคว้า มีความอดทน มีความบากบั่น อย่างพวกเราปฏิบัติ ถ้าปี ๒ ปีเราปฏิบัติไม่ได้ น้อยเนื้อต่ำใจนะ มันจะอ่อนแอ คนที่อ่อนแอ สิ่งที่เป็นสัจจะความจริงอันนี้มันฝังมาจากรากของใจ

รากของใจ คนที่สร้างบุญกุศลมา คำว่า “บุญกุศล” บุญกุศล มันมีสมบัติ อย่างเช่น เรามีปัจจัยเครื่องอาศัยพร้อมมูล สิ่งที่เราจะจับต้อง เราจะใช้สอยสิ่งใดมันพอที่จะให้เราหยิบจับได้เพราะเรามีอยู่ แต่ถ้าเราไม่มี เราต้องยืมเขา เราต้องไหว้วานเขา เราต้องให้คนช่วยเหลือเรา การช่วยเหลืออย่างนี้มันก็ช่วยเหลือกันทางโลกใช่ไหม จิตใจก็เหมือนกัน ถ้ามันสร้างสมบุญญาธิการมา มันมีโอกาส มีการกระทำ มีความเป็นไป มีความฉุกคิด หัวใจมีความฉุกคิดนะ มันมีอำนาจวาสนา มันทำให้เราย้อนกลับมาถึงความเป็นไปของเราได้ สิ่งนี้เป็นอำนาจวาสนา เป็นนิสัย

อำนาจวาสนามาจากไหน อำนาจวาสนามันลอยมาจากฟ้าหรือ? ไม่มีหรอก อำนาจวาสนาอยู่ในกำมือเราไง ถ้าเราทำของเรา ผลมันให้ ขณะที่ทำไป เราลงทุนลงแรงกระทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ต้องลงทุนลงแรง มันเป็นเรื่องการอาบเหงื่อต่างน้ำทั้งนั้น เวลาการสละของใจก็เหมือนกัน ถ้าคนไม่เคยทำทานนะ จะสละสิ่งใดไป หัวใจแทบหลุดแทบสลายไปเลย มันสละออกไม่ได้ไง เหมือนคนทำงานทำการอาบเหงื่อต่างน้ำ ลงทุนลงแรงแล้วได้ผลแต่น้อย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจะเสียสละ เวลาทำอะไรไป หัวใจมันตระหนี่ถี่เหนียวของมัน มันยึดเหนี่ยวของมัน มันไม่ยอมคลายไม่ยอมสละออกไป เราจะต้องใช้กำลัง กำลังคือสติ กำลังคือความจงใจของเรา เพื่อสละสิ่งนั้นออกไป กว่าจะทำได้หัวใจหวั่นไหวไปหมดเลย แล้วการฝึกฝน การกระทำขึ้นมา สิ่งที่สละออกไป ขณะที่มันไม่ยอมกระทำแล้วเราสละออกไป สิ่งที่ตอบสนองกลับมาล่ะ สิ่งที่ตอบสนองกลับมา สิ่งนั้นสละออกไปแล้ว เราสบายใจ เราสบายใจนะ ไม่เป็นกังวลนะ

เรากำสิ่งใดไว้ ที่ว่าชั่งใจอยู่ ให้หรือไม่ให้นี่ กำแล้วกำเล่า ถ้าสละออกไปแล้วนะ ถึงจะเสียดาย ถ้าจิตมันยังไม่มีกำลัง จะเสียดาย แต่ก็พ้นจากมือเราไปแล้ว ความกังวลหมดไป นี่ฝังลงที่ใจ สิ่งที่จะมีกำลัง สิ่งที่จะมีปัจจัยเครื่องอาศัย นี่บุญเกิดอย่างนี้ มันถึงว่าเป็นคนเข้มแข็ง เป็นคนจริงจังนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสละ สละขนาดไหน ๑๐ ชาติสุดท้ายสละมหาศาลเลย แล้วออกประพฤติปฏิบัติ ไม่มี ธรรมไม่มี นี่ค้นคว้า มีความจงใจ พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องมีความจงใจ มีความเข้มแข็ง แล้วมีสัจจะบารมี ตั้งใจไว้ เวลาเราตั้งใจอยากเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เราจะบรรลุธรรมโดยต้องไม่มีใครสั่งสอน เราจะรู้ด้วยตนเอง พระปัจเจกพุทธเจ้ารู้มาแล้วก็สิ้นสุดแห่งทุกข์เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สิ้นสุดแห่งทุกข์เหมือนกัน

มีจุดยืนนะ ในชีวิตนี้จะไม่มีสิ่งใดหลอกใจดวงนี้ได้เลย ใจดวงนี้จะเข้าใจสัจจะความจริงทั้งหมด สัจจะความจริงนะ สัจจะคืออารมณ์ความรู้สึก คือสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นร้อนในหัวใจ แต่เรื่องของโลกๆ เรื่องของโลกสิ่งที่เราไม่รู้ มันไม่รู้ มันแปรเปลี่ยนไปตลอดไป อย่างเช่นผลไม้ เราไม่รู้จักว่าชื่ออะไร อย่างไรเราก็ไม่รู้หรอก แต่มันให้โทษอะไรกับเราล่ะ มันไม่ให้โทษอะไรกับเราหรอก มันไม่ใช่ให้มีคุณค่าเหยียบย่ำน้ำใจจนขนาดว่าเราเป็นทุกข์เป็นร้อนขึ้นมาได้หรอก เพราะเราเข้าใจสัจจะความจริงจากภายใน “โลกใน”

“โลกนอก-โลกใน” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมหาศาล ถึงรู้แจ้งโลกนอก-โลกใน

“โลกนอก” โลกนอกคือสมมุติต่างๆ นี่เรื่องโลกนอก

“โลกใน” ความคิด โลกทัศน์ นี่โลกใน

โลกในนี่สำคัญมาก มันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ มันเป็นบ่อเกิดแห่งการเกิดและการตาย มันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่มีอยู่กับใจ จะปฏิเสธหรือไม่ปฏิเสธนะ คนจะปฏิเสธหรือยอมจำนน หรือผู้มีปัญญาใคร่ครวญค้นคว้า พยายามจะชนะมันนะ เป็นไปไม่ได้ สิ่งนี้มันเป็นกรรม มันเป็นกรรมนะ สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม เราเกิดตามกรรม กรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์

ขณะที่เรามีบุญกุศลมหาศาลเลย แต่ขณะที่เราเกิดเป็นสัตว์ พระโพธิสัตว์เวลาเกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นกวาง เกิดเป็นสัตว์อยู่ในป่าในเขา นี่มันเกิดได้ทั้งนั้นแหละ ขณะที่มันเกิดเป็นสัตว์ล่ะ สิ่งที่เกิดเป็นสัตว์ก็เป็นสิ่งที่สะสมไป ความเป็นไปของชีวิต ชีวิตก็มีความเป็นไป สิ่งนี้เราปฏิเสธได้ไหม? เราปฏิเสธไม่ได้ กรรมปฏิเสธไม่ได้ แล้วเราสร้างกรรมมา การเกิดและตาย บ่อเกิดอันนี้มันให้ผลกับเรามาก

ดูสิ คนมีจุดยืน มีหลักมีเกณฑ์ หาสมบัติที่เป็นนามธรรม คนที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ หาสมบัติที่เป็นรูปธรรม รูปธรรมของเขา แล้วรูปธรรมมีมากเกินไปก็ใช้ปัญญากัน บริหารจัดการ เปลี่ยนแปลงพับให้เป็นแบงก์ให้หมด ทุกสิ่งอย่างให้เป็นเงินเป็นทองขึ้นมา ตีค่ากัน ตีค่าไป เวลาเกิดสงครามขึ้นมานะ สิ่งต่างๆ จะไม่มีค่าเลยนอกจากแร่ธาตุเป็นทองคำ เขาไปถือทองคำกันหมด เวลาเกิดสงครามขึ้นมา เกิดแย่งชิงทรัพยากรกัน มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น โลกเขาไปตื่นกันอย่างนั้นไง เพราะอะไร เพราะโง่ เพราะไม่รู้จักตัวเอง เพราะเป็นไปตามกับเขาไง นี่เราสร้างสม

แม้แต่จักรพรรดิก็ต้องตายไป ต่างๆ ต้องตายไป ตายแล้วเราตายเพื่อใคร อย่างถ้าเราเป็นจักรพรรดิที่ดี สร้างผลบุญญาธิการที่ดี แต่มันก็ไม่เข้าถึงจุด ถึงบ่อเกิดแห่งการเกิดและการตาย ชีวิตนี้การเกิดและการตายสำคัญมาก แล้วถ้าเราเป็นคนลอยลม “ธรรมะลอยลม”

เราเกิดมา เราพบพระพุทธศาสนา เรามีธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ มันเหมือนกับคนที่หิวกระหายมาก แล้วมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ไม่มีใครสนใจเลย “แก้วสารพัดนึก” ไม่มีใครสนใจเลย หิวก็หิวกระหายไป ก็ใช้ชีวิตของเขาไปตามประสาของเขา เห็นไหม ลอยลม ทั้งๆ ที่มีอยู่จริงนะ

ถ้าเราได้ตักน้ำบ่อไหนก็ได้ ดื่มกินนะ มันจะมีความร่มเย็นเป็นสุข ถ้ามีความร่มเย็นเป็นสุข เราก็มั่นใจใช่ไหมว่าเรากินน้ำแล้วหิวกระหายเราจะระงับไป แต่ถ้าไม่ได้กินเลย ได้ยินแต่เขาว่ามีบ่อน้ำ แต่ตัวเองก็ไม่เคยเห็น ตัวเองก็ไม่เคยเป็นไป นี่ชีวิตเป็นสภาวะแบบนั้นแล้วลอยลม ธรรมะอย่างนี้ “ธรรมะลอยลม” แม้แต่ประพฤติปฏิบัติก็ลอยลม ลอยลมนะ ทำแต่สักแต่ว่า ทั้งๆ ที่เราว่าทำจริงๆ นี่แหละ เพราะอะไร

เพราะอ่อนแอไง เพราะจิตใจของเราไม่เข้มแข็งพอ จิตใจของเราไม่มีจุดยืน ประพฤติปฏิบัติไปก็ทำสักแต่ว่าไป แล้วมันมีกิเลสโต้แย้งในใจตลอดไป กิเลสในใจเรานี่โต้แย้งกันไป ทำสมาธิสักแต่ว่าสมาธิ อยากได้สมาธิ สมาธิเป็นสมาธิเป็นแบบใด เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นความขัดแย้ง นี่นิวรณธรรม แม้แต่การประพฤติปฏิบัติ ศึกษาธรรมก็ลอยลม แบกคัมภีร์กันไปนะ รู้มาก ปัญญามาก แล้วพอศึกษาจากคัมภีร์มามันเป็นอะไรล่ะ? ก็สอนเป็นวิธีการ วิธีการพอไปทำเข้าเป็นอะไร มันก็เป็นประเพณี มันเป็นเรื่องเปลือกๆ ทั้งนั้นเลย แต่เราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม นี่จิตใจลอยลม ธรรมะลอยลม ธรรมะไม่เป็นสัจจะความจริง

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา สิ่งที่พระพุทธเจ้าท้อแท้พระทัยเพราะอะไรล่ะ เพราะมันมีเบ็ด เบ็ดนี่นะมันอวิชชา มันเกี่ยวอยู่ที่ใจ ในเบ็ดมันมีเหยื่อ ไม่มีเหยื่อเราจะไปกินเหรอ นี่เหมือนกัน เบ็ดตัวใหญ่คืออวิชชา แล้วมันก็มีลูกเบ็ดหลานเบ็ด เบ็ดออกไปเกี่ยวข้างนอก “รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร” นี่เหยื่อ เราก็ไปเกี่ยวเหยื่อ พอไปเกี่ยวเหยื่อเราก็คิดออกไป นี่มันไม่มีการปลดไม่มีการทำลายเหยื่อ แล้วมันไม่มีการทำลายเบ็ด

เบ็ดแต่ละขั้นแต่ละตอนนะ เบ็ดตัวใหญ่ เบ็ดตัวเล็ก เหยื่อคำใหญ่ เหยื่อคำเล็ก มันก็ทำให้เราเป็นไป แล้วเราก็เอาสิ่งนี้ไปศึกษาธรรมะ ธรรมะลอยลมไง ธรรมะของเหยื่อ ธรรมะของกิเลส ไม่ใช่ธรรมะของธรรม ถ้าสภาวธรรมมันเกิดขึ้นมา เราจะมีจุดยืน คนจะมีจุดยืนนะ คนมีจุดยืนขึ้นมา คนมีสัจจะ

ดูสิ เวลาถือธุดงควัตร พระทำไมต้องมีถือธุดงควัตร ธุดงควัตรนี่นะมันเป็นเครื่องขัดเกลานะ ดูสิ เวลาเราคันเราก็อยากจะเกา ที่ไหนคันอยากเกา แต่เวลากิเลสมันคัน เหยื่ออยู่ในหัวใจนี่มันไม่เกา ทำไม่เป็น ลำบาก ที่ไหนเขาทำกันสะดวกสบาย โลกเจริญแล้ว เดี๋ยวนี้ปฏิบัติธรรมไปมันจะไม่ได้ผล โลกเขาเจริญแล้ว เป็นวิทยาศาสตร์ต้องพิสูจน์ได้ สิ่งที่พิสูจน์ได้คอตกทั้งนั้นน่ะ นี่เหยื่อ

ธรรมะลอยลมไง มันไม่เชื่อตัวเอง ไม่เชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เชื่อบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ไปเชื่อวิทยาศาสตร์ ไปเชื่อเรื่องโลกๆ แล้วโลกๆ เป็นอย่างไร ทุกอย่างต้องมีการบำรุงรักษา ต้องมีการแสวงหา หามาเพื่ออะไร? ก็หามาเพื่อเป็นเหยื่อ เหยื่อเพราะอะไร เพราะมันเป็นธุรกิจไง มันก็ออกไปทางโลกๆ ไปหมดเลย

แต่ถ้าเป็นความจริงล่ะ ดูสิ ปัจจัยเครื่องอาศัย เวลาพระบวช บริขาร ๘ มีบาตร มีธมกรก แล้วก็มีผ้า เข็มเย็บ ต่างๆ ทำไม เพื่ออะไร เข็มเย็บผ้านะ เพราะอะไร เพราะต้องการให้ภิกษุยืนอยู่บนลำแข้งของตนเอง ถ้าภิกษุยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร ภิกษุนั้นจะเป็นอิสรภาพ ถ้าภิกษุผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเอาตัวเองไม่รอด หวังแต่พึ่งคนอื่นทุกๆ อย่าง ต้องเป็นขี้ข้าเขาหมดเลย นี่โลกเป็นใหญ่แล้ว เพราะอะไร เพราะเขาชี้นำได้ พระต้องปฏิบัติอย่างนั้น พระต้องทำตัวอย่างนี้

แล้วพระทำนี่ต้องให้โลกชี้นำเหรอ โลกชี้นำหรือธรรมชี้นำ

ถ้าธรรมชี้นำ ธรรมอยู่ที่ไหน? ก็ธรรมอยู่ในตู้พระไตรปิฎก ถ้าพระไตรปิฎก ก็ไปศึกษามาก็ลอยลม เพราะอะไร เพราะมันเป็นสัญญา

แล้วธรรมอยู่ไหน? ธรรมมันอยู่ในทางจงกรมไง อยู่ที่นั่งสมาธิภาวนา เพราะธรรมมันอยู่ที่ใจ ใจได้สัมผัส มันก็มีจุดยืนขึ้นมา “จุดยืน” จุดยืนคือใจมันสัมผัสเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ใจมันสัมผัส ใจมันรู้ ถ้าใจมันรู้ขึ้นมา มันจะไปกลัวใคร มันไม่กลัวใครหรอก

สิ่งที่เราแสวงหาธรรมนะ เราประพฤติปฏิบัติกัน สิ่งที่จากภายนอกมันเป็นเครื่องอาศัย อาศัยเพื่ออะไร ชีวิตนี้เพื่ออะไร ชีวิตนี้คือตายไป เกิดมานี่ตายไป บ่อนี่ บ่อคืออวิชชาพาให้เกิดให้ตายจากภพเล็กภพน้อย ภพชาติต่างๆ ในหัวใจ ความคิดนี่ แล้วมันเกิดตายจริงๆ แล้วก็เกิดตายไป แล้วชีวิตนี้มันมีคุณค่าขนาดไหน แล้วสมบัติของโลกมันเป็นอย่างไร แล้วสมบัติของธรรมล่ะ

“สมบัติของธรรม” ถ้าเรามีสัจจะ เราจะแสวงหาขึ้นมา มันก็ต้องมีเครื่องมือไง เครื่องมือเพื่ออะไร? เพื่อระงับเหยื่อไม่ให้เบ็ดเล็กเบ็ดน้อยมันไปเกี่ยวมา

“บ่วงของมาร รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

รูป รส กลิ่น เสียง พระในประเพณีวัฒนธรรม อย่างเช่นสังฆกรรม สังฆกรรม อุโบสถสังฆกรรม ให้เป็นบอกนิมิต นิมิตเครื่องหมายบอกว่าสิ่งนี้ให้สมมุติกันว่าเป็นที่ทำอุโบสถสังฆกรรมกัน พอมันเป็นประเพณีวัฒนธรรมนะ จะได้บุญมาก จะต้องสร้างโบสถ์ จะต้องปลูกฝังลูกนิมิต ต้องอะไร...นี่ธรรมะลอยลม มันเป็นอามิส มันเป็นสิ่งที่เราสร้างบุญกุศลขึ้นมาเพื่อเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยเหมือนกับที่เราเสียสละกันอยู่นี่ ถ้าเราเสียสละ ถ้าเราทำสภาวะเป็นนิมิต แล้วลูกนิมิต แล้วนิมิตหมายของจิตล่ะ แล้วนิมิตหมายของใจอยู่ที่ไหน แล้วนิมิตหมายของความคิดล่ะ

นิมิตหมายของความคิดก็อยู่จากภายในของเรามา ถ้าเราจะทำอุโบสถ อุโบสถของใคร? อุโบสถของผู้มีปัญญา อุโบสถก็ย้อนกลับมาถึงใจของเรา ศีล สมาธิ ปัญญา ตรวจสอบกัน ทำสังฆกรรมกัน สังฆะจะมีความร่มเย็นเป็นสุข ผู้ที่มีทิฏฐิเสมอกัน มีศีลเสมอกัน อยู่ที่ไหนจะมีความร่มเย็นเป็นสุข ความร่มเย็นเป็นสุขเพราะอะไร เพราะเหมือนร่างกายเรา ถ้ามีเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีสิ่งใดที่เป็นวิธีการ เราอยู่ปกติของเรา ถ้าร่างกายเรามีสิ่งใดที่มันเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา มันจะทำให้เราพิการ

นี่ก็เหมือนกัน หมู่คณะมันก็เหมือนกับร่างกายของเรา แขนขาต่างๆ มันปกติ ปกติของเขาอยู่โดยสุขสบาย สังฆะก็เหมือนกัน สงฆ์ก็เหมือนกัน อุโบสถสังฆกรรมก็เหมือนกัน ถ้าสิ่งใดเสมอกัน สิ่งใดมีความเห็นเสมอกัน ต่างๆ เสมอกัน ครูบาอาจารย์ที่ดี ชี้นำที่ดี นี่มันก็ย้อนกลับมาที่เรา ถ้าไปศึกษาจากลอยลมนะ มันจะเอาสิ่งนี้มาเป็นประเพณี สิ่งนี้ปฏิบัติก็ปฏิบัติประเพณี นั่งสมาธิ ว่าการปฏิบัติต้องนั่งสมาธิ ก่อนจะนอนต้องนั่งหน่อยหนึ่ง พอนั่งเสร็จแล้วว่าก็ได้นั่งแล้ว เราเป็นคนดีแล้ว

คนดีของกิเลส เพราะมันยึดมั่นถือมั่นว่าฉันเป็นชาวพุทธ ฉันได้ประพฤติปฏิบัติแล้ว พวกชาวพุทธต่างๆ นั้นเขาไม่ใช่นักรบแบบเรา นักรบรบกับกิเลสนะ นักรบมันต้องทำลายเหยื่อ เหยื่อ “บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร” ความเป็นจริงอันหนึ่งนะ ความคิดวิตกกังวล ความเห็นของเราเป็นอันหนึ่งนะ อันหนึ่งเพราะอะไร เพราะกิเลสพาคิดพาทำ

“ธรรมะลอยลม” มันไม่เป็นความจริง มันเป็นความลอยลมเพราะมันกิเลสพาคิด กิเลส เหยื่อเล็กๆ เบ็ดเล็กๆ เกี่ยวไปเราก็ตายแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรเข้าไปถึงสัจจะความจริงของเรา ถ้าจะทำถึงสัจจะความจริงของเรา มันต้องมีอำนาจวาสนาไง อำนาจวาสนาทำให้เรามีจุดยืน ให้เราเป็นคนมั่นคง มั่นคงในความคิดของเรา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ศรัทธานะ ให้เรามีศรัทธา เรามีความเชื่อในศาสนา ถ้ามีศรัทธาความเชื่อเหมือนหัวรถจักร หัวรถจักรมันได้ฟังธรรมไง เข้าไปวัดไปวา คบมิตรที่ดี มิตรที่ดีคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพาพ้นจากกิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ชีวิตนี้มีคุณค่า ชีวิตนี้เกิดขึ้นมาแล้ว โลกนี้เป็นอย่างนี้ แล้วเราก็เป็นไปประสาโลก แล้วเวลาศึกษาธรรมแล้วก็จะเอาโลกเป็นใหญ่ เอาโลกเป็นใหญ่มันก็เป็นธรรมะลอยลม ไม่ใช่เป็นธรรมะจริงจัง ธรรมะจริงจังนะย้อนกลับ ย้อนกลับ

เวลาเราแสวงหาสมบัติกัน แบงก์ปลอมไม่มีใครอยากได้นะ เวลาทำธุรกิจการค้ากัน เราต้องการสิ่งที่เขาตอบสนองเราด้วยของจริงทั้งหมด อย่างแบงก์ก็ขอเป็นแบงก์จริง เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ใจเราเป็นจริงหรือใจเราปลอมล่ะ ถ้าใจเราปลอม ธรรมะก็ปลอม ลอยลมไปทั้งหมดเลย ถ้าใจเราจริงล่ะ ใจเราจริงมันต้องพิสูจน์ไง มันพิสูจน์กับใจของเรา สงบจริงไหม ถ้าจิตมันไม่สงบ มันมีความคิดอย่างไร

ความคิดต่างๆ จากที่เราทำประพฤติปฏิบัติ ดูสิว่าศึกษาเป็นประเพณีวัฒนธรรม นั่นก็เป็นธรรมะ เวลาอ้างธรรมะ ใช่อ้างธรรมะ แต่ธรรมะของใคร ธรรมอันนั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม เวลาเราเห็นร้านอาหาร เขากินกันครึกครื้นมาก เขากินกัน เขาทานอาหารกัน เขามีความสุขของเขา เราไปยืนดูของเขาเราได้กินอะไร แล้วเราก็บอกว่าเราก็อยู่ในวงนั้นเหมือนกัน เราอยู่ในวงการเหมือนกัน เราเห็นเหมือนกัน แต่เราไม่ได้กินกับเขา เราเห็นนะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราศึกษาธรรมขึ้นมา มันให้เราไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงนะ มันต้องชำระได้ เป็นความจริงนะ มันทำให้เรามีจุดยืน เป็นความจริงนะ จะให้ชีวิตเราไม่เป็นไปตามโลก ลมพัดแรงขนาดไหน ดูเวลาพายุนะ มันพัดเอาบ้านเรือนพังพินาศไปหมดเลยถ้าพายุมันแรง กระแสของโลกไง กระแสของบริโภคนิยม เขาบริโภค เขาจัดการกัน นี่เรื่องของโลกนะ แล้วเราใช้ชีวิต น้อยเนื้อต่ำใจนะ เราเป็นประเทศด้อยพัฒนา

เดี๋ยวนี้โลกตีกลับหมดแล้วล่ะ เขาวัดกันด้วยความสุข เขาไม่ได้วัดกันด้วยวัตถุแล้ว เพราะวัตถุต่อไปมันจะเป็นขยะ ขยะของพวกเครื่องยนต์กลไกมันจะเป็นปัญหาของโลกมากเลย แล้วโลกเป็นสภาวะแบบนั้นนะ แล้วโลกก็จะเสื่อมสภาพไป

การเกิด เวลาคุยทางวิทยาศาสตร์เขานะ จะส่งโลกนี้ให้ลูกหลานอย่างไร ลูกหลานของเราจะรับภาระสิ่งนี้ต่อไปอย่างไร โลกนี้จะอยู่ขนาดไหน นี่เป็นความคิดของวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าความคิดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ โลกนี้เป็นอจินไตย ศาสนาพุทธนี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอีก ๕,๐๐๐ ปี ๕,๐๐๐ ปีหมายถึงอำนาจวาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ นี่โลกนอก-โลกใน โลกในคือสร้างสมบุญญาธิการมหาศาล แล้วเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา วางธรรมไว้ อายุ ๘๐ ปีเท่านั้น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมไว้ในพระไตรปิฎก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ๘๐,๐๐๐ ปี ๔๐,๐๐๐ ปี แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ๘๐ ปีเท่านั้น แล้ววางธรรมไว้อีก ๕,๐๐๐ ปี ๕,๐๐๐ ปีหมายถึงว่ายังมีร่องมีรอยอยู่ มีทฤษฎีอยู่ มีแผนที่เครื่องดำเนิน แต่มันอยู่ที่หัวใจเอาหรือไม่เอา อยู่ที่หัวใจของสัตว์โลกไง

“พุทธที่ทะเบียนบ้าน” พุทธที่ทะเบียนบ้านประเพณีวัฒนธรรมไป

“พุทธที่หัวใจ” พุทธที่หัวใจ พุทธที่คนที่มีคุณค่า พุทธที่ต้องการแบงก์จริงๆ ต้องการสิ่งตอบสนองกับชีวิตจริงๆ จะย้อนกลับมา หน้าที่การงานเป็นหน้าที่การงาน ถ้ามีสติสัมปชัญญะ คนตายทำงานได้ไหม? คนตายทำงานไม่ได้ แต่คนมีชีวิตอยู่ทำงานได้ มีชีวิตอยู่ เพราะชีวิตนี้คืออะไร

ชีวิตนี้คือตัวความรู้สึก ความรู้สึกตัวนี้มันทำงานอยู่ก็มีสติพร้อมไง ถ้ามีสติพร้อม มีสตินะ ถ้าคนมีสติพร้อมกับทำการงานไปมันจะสลดสังเวชนะ สติมันจะเตือนตัวเองตลอดเวลา เตือนตัวเองตลอดเวลานะ ว่าการทำงานนี่อาบเหงื่อต่างน้ำ ความทุกข์ความยากอย่างนี้ทำมาแล้วได้ประโยชน์ผลตอบแทนจากชีวิตได้แค่ไหน มันก็จะเริ่มตอบสนองกลับมาจากต้นขั้วของใจ

ถ้าเริ่มตอบสนองกลับมาจากต้นขั้วของใจ มันจะออกเนกขัมมะ เนกขัมมบารมี สิ่งที่ออกเนกขัมมะออกไปเพื่ออะไร? ก็เพื่อค้นหาตัวเอง เหมือนกับของที่ควรจะพัฒนา ของควรที่จะแก้ไข ถ้าของที่ไม่ควรมันก็จมอยู่ ไม้ดิบมันจุดไฟไม่ติดหรอก ไม้เราต้องตัด แล้วกว่ามันจะแห้ง กว่าจะจุดไฟติดขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน ในการที่เราจะค้นคว้าชีวิต นี่มันดิบๆ นะ เรื่องโลกๆ ไง ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางว่า “โลกกับธรรม” อะไรเป็นโลก อะไรเป็นธรรม ชีวิตเรานี่เป็นโลกๆ แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติธรรมก็คือหัวใจไง ถ้าหัวใจมันปฏิบัติก็ใช้ชีวิตเหมือนกัน พระก็ฉันอาหารเหมือนกันนะ พระก็ใช้ปัจจัยเหมือนโลกนี่แหละ โลกเขาใช้ปัจจัยกัน เขาเป็นคนแสวงหาด้วย พระใช้เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้งเพราะอะไร

เพราะสิ่งนี้เป็นนักรบ สิ่งนี้เป็นปัจจัย มันสังคมของชาวพุทธ ชาวพุทธให้การนับถือศรัทธา ชาวพุทธเขาให้โอกาสผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เพราะอยู่ในธรรมวินัย เพราะความละเอียดอ่อน เหมือนนักวิทยาสาสตร์เลย นักวิทยาศาสตร์เวลาเข้าห้องทดลอง ให้โอกาส เขาให้งบประมาณ ให้ทำการวิจัยเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของโลก

นี่ก็เหมือนกัน นักรบ รบกับอะไร? รบกับกิเลสไง รบกับกิเลสให้รู้จักธรรมะจริง

ถ้ารู้จักธรรมะจริง พระเจ้าพิมพิสาร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกจากราชวังมา พระเจ้าพิมพิสารให้กองทัพครึ่งหนึ่งเลยเพื่อกลับไปเอาเมืองคืน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะบอก “ไม่ใช่” ออกแสวงหาจริงๆ จนให้สัญญากันนะ ถ้าออกแสวงหาโมกขธรรมจริงๆ ถ้าบรรลุธรรมขอให้กลับมาสอนด้วย กลับมาสอนด้วย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหาอยู่ ๖ ปี เวลาสำเร็จแล้ว เทศน์ให้พระเจ้าพิมพิสาร เพราะพระเจ้าพิมพิสารหรืออัครสาวกต่างๆ ได้สร้างบุญกุศลมานะ สร้างบุญกุศลมาเป็นสหชาติ ดูอย่างนางวิสาขาก็ปรารถนามาเป็นผู้อุปัฏฐาก พระมารดาก็ปรารถนามาเป็นพระมารดาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาก็ปรารถนามา

คำว่า “ปรารถนา” นี่มันสร้างภาระ กำลังของใจ สถานะที่ใหญ่ สถานะที่รองรับสภาวะของอำนาจวาสนา แต่ถ้าผู้ไม่ได้สร้างมา สร้างมาน้อย สร้างขนาดไหนก็แล้วแต่เหตุแต่ผล แต่เหตุแต่ผลนะ ของในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดมาโดยลอยๆ มีเหตุมีผลทั้งหมด

แล้วในปัจจุบันนี้ เรามาอ้างอิงกันว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้วางธรรมวินัยไว้ ไม่ได้ตั้งใครให้ตามอาวุโสภันเต ถ้าอาวุโสภันเตต้องตั้งพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นอัครสาวก เป็นเบื้องซ้าย-เบื้องขวา

นี่เวลาจะอ้างเหตุผล อ้างกันไปเหตุผลนะ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไป เหตุผลและเหตุการกระทำมามันเป็นความจริงอันหนึ่ง ใครฝืนไม่ได้หรอก ตามกรรมนี่ใครฝืนไม่ได้ เว้นไว้แต่การภาวนานี่ฝืนได้ แก้กรรมกันด้วยการภาวนา แก้กรรมกันด้วยมีสติสัมปชัญญะ กำหนดเข้า “พุท” ออก “โธ”

ถ้าเราทำงานของเรา โลกเขาทำหน้าที่การงาน ถ้าเขามีสติอยู่ วัวผูกไว้ เวลาเราจะเอามาใช้งาน เราจะใช้ได้ง่าย แต่งานของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก ไม่ใช่หายใจทิ้งเปล่าๆ ลมหายใจเข้าและออกมีคุณค่ามาก เพราะอะไร เพราะจิตมันมาจับที่นี่ได้ ถ้าจิตไม่จับที่นี่นะ เบ็ดตัวเล็กมันไปเกี่ยวเหยื่อ รูป รส กลิ่น เสียง

รูป รส กลิ่น เสียงนี่เหยื่อ มันออกไปคิดข้างนอกไง แล้วถ้าเรามีสติ เราเอามาไว้ที่ลมหายใจ คุณค่าของชีวิตมันเกิดตรงนี้ ถ้าคุณค่าของชีวิตเกิดตรงนี้เพราะอะไร เพราะร่างกายนี่เหมือนกันหมดนะ เรามานั่งกันอยู่นี่ร่างกายเหมือนกันหมดเลย ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟไม่ต่างกันเลย จะหญิง จะชาย จะพระ จะอะไร ธาตุ ๔ เหมือนกันหมด

แต่ถ้าจิตมันจับลมได้ มันต่างกันตรงนี้ไง มันต่างกันที่จิต มันไม่ได้ต่างกันที่ร่างกายจะสูงต่ำ จะสูงจะต่ำจะอ้วนจะผอม ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ต่างกันเลย แต่เราไปคิดว่าสิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ เราไปคิดแต่เรื่องของวัตถุไง แต่ถ้าเราคิดถึงเรื่องของใจล่ะ ถ้าจิตมันจับกับลม นี่งานของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออก “อานาปานสติ” ถ้าจิตมันสงบเข้ามา คุณค่าของมันจะเป็นธรรมะจริง

ไม่ใช่ธรรมะลอยลม ธรรมะลอยลมสมาธิก็ไม่รู้จัก แม้แต่การวิปัสสนานี่ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะวิปัสสนามันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไรถ้ามันไม่มีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิ มันมรรค ๗ มีไหม? มรรค ๗ ไม่มีหรอก มันมีมรรค ๘ ถ้ามรรค ๘

เวลาสุภัททะนะ สุภัททะถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สุภัททะนี่เป็นนักปราชญ์นะ เป็นผู้ปัญญาชน เป็นผู้ที่ถือเนื้อถือตัวมากว่ามีปัญญามาก ไม่ยอมฟังใครเลย มีอายุมากกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย และเห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอายุน้อยกว่า ทำไมจะต้องไปฟัง

แต่เพราะปัญญามากขนาดไหนก็เอาตัวเราไม่รอด เอาตัวรอดไม่ได้หรอก เพราะว่าอะไร เพราะมันเป็นธรรมะลอยลม ปัญญาลอยลม ปัญญาของโลก ยิ่งมีปัญญามากขนาดไหนก็สงสัยมากเพราะอะไร เพราะอวิชชาเบ็ดตัวใหญ่มันเกี่ยวอยู่ เบ็ดตัวเล็กอีกมหาศาลเลย เบ็ดตัวเล็กไปเกี่ยวมา ไปเกี่ยวธรรมของเขามาว่าตัวเองเป็นผู้รู้ไง แต่ไอ้เบ็ดตัวใหญ่มันก็ซ้อนอยู่อีกทีหนึ่ง เบ็ดตัวใหญ่คืออวิชชายิ่งแล้วใหญ่เลย ไม่เคยเห็นสิ่งใดเลย แต่เพราะท่องบทได้หมด พราหมณ์ไง ท่องบทไตรเวทย์ได้หมดเลย รู้ไปหมด แต่ไม่รู้อะไรจริงอะไรปลอม ถ้ารู้จริงทำไมต้องไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ในศาสนาใด ในลัทธิใดเขาบอกว่าทางอันเอกทั้งนั้นเลย...”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ถ้าในศาสนาใดไม่มีเหตุ...”

วิธีการ มรรค ๘ ปัญญาชอบ ความเพียรชอบ งานชอบ งานอะไร ถ้าไม่สมดุลในมรรค ๘

“ศาสนาไหนไม่มีเหตุ ศาสนานั้นไม่มีผล ไม่มีรอยเท้าบนอากาศ”

รอยเท้าจะอยู่บนแผ่นดิน นี่ก็เหมือนกัน ไม่มีเหตุมีผลพอ มรรค ๘ ไม่มีสัมมาสมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นมา มันเป็นโลกียปัญญา สุภัททะเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลก ปัญญาที่เรียนกัน ไตรเวทย์นี่นะท่องบทได้ ทุกคนทำได้หมดเลย เดี๋ยวนี้นะทางวิชาการเรายิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ เพราะอะไร

เพราะเดี๋ยวนี้เด็กก็เรียนคณิตศาสตร์ด้วยเครื่องคิดเลข ทุกอย่างจะเอาสะดวกสบายหมดเลย กลายเป็นสมองฝ่อหมดเลยเพราะอะไร เพราะโลกเจริญไง ถ้าเพราะโลกเจริญ แต่ถ้าเราคิดของเรา เราให้เด็กของเราได้ฝึกได้ฝนขึ้นมา สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ขึ้นมาเหมือนจากภายในหมดเลย จากสัจจะความจริง จากความเป็นจริง ไม่เป็นธรรมะลอยลมไง

ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาโลกียปัญญา จนสุดท้ายแล้วเพราะมีอำนาจวาสนา คำว่า “อำนาจวาสนา” ในธรรมบท พระอัญญาโกณฑัญญะกับสุภัททะเป็นพี่น้องกัน เป็นพี่น้องกันนะ เวลาสร้างบุญกุศลมาเป็นพี่น้องกัน ทำนาด้วยกัน เวลาทำนาแล้วเวลาข้าวออกข้าวอ่อนอยากทำบุญมาก อีกคนหนึ่งไม่อยากทำไง แบ่งนาคนละครึ่ง พระอัญญาโกณฑัญญะเอามาตำเป็นข้าวเม่าถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ได้รับพยากรณ์ว่าจะเป็นอัครสาวกองค์แรก

น้องชายนะไม่ได้ รอข้าวแก่ รออยู่นั่นล่ะ รอจนสุดท้ายก็ถึงจะมาถวายทีหลัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ จะได้เป็นเอหิภิกขุ จะได้บวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สุดท้าย นี่มันก็บุญวาสนาของเขาเหมือนกัน แต่ชีวิตที่ดำเนินมาไง เวลาสร้างเหตุสร้างผลเป็นธรรมที่เป็นจริตนิสัย เป็นธรรมะที่มีจุดยืน ใจที่มีจุดยืน ใจที่มีกำลัง ใจที่มีอินทรีย์ มีพละ ที่เก่งเข้มแข็ง นี่สัตว์อาชาไนย

“สัตว์อาชาไนย” จะกินอาหารแต่ที่มีคุณประโยชน์ ไม่เหมือนสัตว์ทั่วไป สัตว์ทั่วไปมันกินไปทุกอย่างเพราะอะไร เพราะแค่ดำรงชีวิต สัตว์อาชาไนยจะแสวงหา ต้องกินน้ำสะอาด กินต่างๆ ใจที่มีกำลัง ใจที่มีพละ เขามีจุดยืนของเขา เขาจะมีคุณธรรมในหัวใจ จะไม่ทำสิ่งใดที่เป็นการทำลายหัวใจดวงนั้น สิ่งนี้ทำมา เขาทำของเขามา

แต่เวลาใช้ชีวิตมา องค์หนึ่งไปเกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอัครสาวกองค์แรก เป็นสงฆ์องค์แรกของโลก สุภัททะเป็นองค์สุดท้าย เพราะอะไร เพราะการทำ ขณะที่ว่ามีพละเหมือนกัน แต่เพราะนิสัย เพราะความเชื่องช้า เพราะความเป็นไป แต่ก็ยังดีที่ทำบุญ ได้รับการพยากรณ์ แล้วยังทำถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

แล้วชีวิตเราล่ะ เราทำอะไรมา ถ้าเราไม่ทำมา เราจะมีความสนใจในศาสนาไหม แล้วการสนใจในศาสนาของเรา เราขวนขวายไหม ถ้าเราขวนขวาย ขวนขวายเรื่องธรรมะลอยลม ธรรมะลอยลมนะ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด สลดใจมาก เห็นไหม เอามาเป็นวิชาชีพ เขียนตำรับตำรากัน หลวงตาท่านบอกว่า “โกหกกัน” แล้วเราก็ศึกษากัน ศึกษาสิ่งที่โกหก ศึกษาสิ่งที่เป็นวิชาชีพของเขา

แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระไตรปิฎก ศีล สมาธิ ปัญญานี่มันพร้อมอยู่แล้ว ทุกอย่างพร้อมอยู่แล้วนะ แล้วครูบาอาจารย์เขาชี้นำอยู่แล้ว สิ่งนี้เป็นความจริง ธรรมะจริงๆ ธรรมะที่แก้กิเลส ธรรมะที่ทำให้จิตเราสงบเข้ามา แล้วจิตเราสงบเข้ามาแล้วทำอย่างไรออกไป ย้อนไปวิปัสสนา นี่เบ็ดมันเกี่ยวเหยื่อแล้ว แล้วมันออกไปเกี่ยวสิ่งต่างๆ เราต้องทำลายเหยื่อก่อน

ถ้าเราทำลายเหยื่อ ดูสิ ถามใจตัวเองสิ รูป รส กลิ่น เสียงชอบไหม รูป รส กลิ่น เสียงทำให้เดือดร้อนไหม ถ้ามันเดือดร้อน เดือดร้อนเพราะอะไร นี่ทำลายเหยื่อ เพราะรูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร ถ้าบ่วงของมารเราทำลายไม่ได้ มันก็ทำสมาธิไม่ได้ ถ้าทำสมาธิไม่ได้ มันก็ไปเกี่ยวเหยื่อมาจากข้างนอก ถ้าไปเกี่ยวเหยื่อมาจากข้างนอก แล้วก็บอกว่าอย่างนี้เป็น นี่มันก็ลอยลม มันเป็นลอยลม มันไม่ได้ถึงตัวเบ็ดเลย ตัวเบ็ดคืออะไร ตัวเบ็ดคือกิเลส เบ็ดตัวเล็กเป็นกิเลส เบ็ดตัวใหญ่นี่อวิชชา ก็กิเลสเหมือนกัน แต่กิเลสตัวเล็ก กิเลสตัวใหญ่นะ

นี่มีการปลด มีการทำลาย ปลดอย่างไร ทำลายอย่างไร? ถ้าปลด ดูสิ ถ้ามีสติขึ้นมามันเลาะไป เลาะไป ดูปลานะ ปลาที่มันฉลาด มันตอดเหยื่อนะ มันไม่กินเบ็ด มันตอดเหยื่อออก มันไม่โดนเบ็ดเกี่ยว ปลาที่ตะกละ ปลาที่โลภมาก มันฮุบทีเดียวนะ เกี่ยวปากนะ เวลาเขาดึงขึ้นมานะ เลือดไง สะบัดขนาดไหน ยิ่งสะบัดยิ่งเข้า ยิ่งสะบัดยิ่งเข้า เหมือนกับความคิดเราเลย สิ่งใดที่เจ็บปวดแสบร้อนในใจ คิดบ่อยครั้งมาก อะไรที่มันเจ็บแสบในใจ มันคิดทีหนึ่งก็เลือดซิบๆ มันก็พอใจจะคิด สิ่งนี้มันเป็นบุญเป็นกรรมนะ สิ่งใดที่เกิดมาในชีวิตนี้

ดูสิ อย่างสุภัททะ ทำไมปล่อยชีวิตให้เนิ่นช้า แทบจะไม่ทันนะ แต่ก็ทันเพราะกรรมเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แทบจะไม่ทัน ยังสามารถเอาตัวรอดได้ ถ้าไม่เอาตัวรอดได้นะ จะเชื่อใคร ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานคืนนั้นไป

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสบประมาทว่า “เด็กๆ” เรามีวุฒิภาวะสูงกว่า แต่ทำไมไปถาม ถามแล้วให้ย้อนกลับมาเรื่องมรรค มรรคสัจจะความจริงอันนี้ไง แล้วทำได้คืนนั้น เป็นเอหิภิกขุที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวชให้องค์สุดท้าย แล้วเป็นพระอรหันต์ด้วย สิ่งนี้เดินตามธรรมทัน

แล้วเราล่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ศาสนานี้จะอยู่อีก ๕,๐๐๐ ปี”

ถ้า ๕,๐๐๐ ปี แล้วเราประพฤติปฏิบัติเราขึ้นมา ประพฤติปฏิบัติเพื่อใคร? ประพฤติปฏิบัติเพื่อใจเรา ประพฤติปฏิบัติเพื่อเรานะ เวลาเราทำบุญกัน เวลาเขาทำบุญกุศลกัน เราถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายครูบาอาจารย์ ถวายใครก็แล้วแต่ บุญอันนั้นมันเป็นบุญจากบุญกุศลของเรา เราทำจากใจของเรา เจตนาอยู่ที่นี่ เจตนาอยู่ที่ใจ เจ้าของคนที่รับรู้คนแรกคือจิตของเรา จิตของเรามีเจตนากระทำ จิตของเราเป็นผู้รับผล สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมาจากจิต แล้วออกไปถึงเป็นผลจากภายนอก เป็นอามิส

ถ้าเราย้อนกลับมา ผู้ใดให้ทานร้อยหนพันหนไม่เท่าถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง

ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับทำสมาธิหนหนึ่ง

สมาธิถ้าทำร้อยหนพันหนไม่ยกขึ้นวิปัสสนา ไม่เป็นไปโดยสัจจะความจริง มรรค ๘ เกิดไม่ได้ มรรค ๘ จะไม่เกิด มรรคโคไม่เกิด คนไม่มีทางเดินไปอย่างไร ทำลายทางทั้งหมด คนไม่มีทางจะไปได้ไหม แต่นี่มันจิตที่ไม่มีทางออกมันไปไหน ถ้าสงบเข้ามาขนาดไหนมันก็เป็นสมาธิ มันก็เป็นฐานของจิตนั้น ถ้าเป็นฐานของจิตนั้น ถ้ามีครูมีอาจารย์นะ สัมมาสมาธิคือสติพร้อม สัมมาสมาธิมันมีความดำริชอบ มันมีปัญญาของมันขึ้นมา แล้วดำริในอะไร นี่เข้างานชอบ

ถ้างานไม่ชอบ ดูสิ ดูสมาธิเขาเป็นกัน เขาเอาไปใช้ทางโลกๆ เอาไปใช้ในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เขาแล้ว ดูสมาธิสิ เข้าเป็นสมาบัติ ถ้าเป็นสมาบัติ ไปเกิดสมาธิแล้วเป็นสมาบัติ มันไม่มีกำลังของจิต ดูอย่างพระเทวทัตสิ แม้แต่เป็นพระเทวทัตยังเหาะเหินเดินฟ้าได้ เหาะเหินเดินฟ้ามาจากไหน? เหาะเหินเดินฟ้ามันก็มีมาจากฌานสมาบัติ สิ่งที่เป็นฌานสมาบัติ แล้วฌานสมาบัตินี่ทำไมพระเทวทัตยังสามารถคิดจะปกครองสงฆ์ คิดจะแยกทำสังฆเภท

“สมาบัติ” ความสงบนี้มันแก้กิเลสได้ไหม ถ้ามันแก้กิเลสได้ เทวทัตทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะเทวทัตเหาะได้ สิ่งที่เหาะได้เป็นการยืนยัน แปลงตัวได้ไปอยู่บนศีรษะของอชาตศัตรู มันเป็นความจริงไหม? มันเป็นความจริงแน่นอน แล้วสมาธิมันทำลายกิเลสตรงไหน? ไม่ได้ทำเลย

แต่ถ้าไม่มีสมาธิมันก็ไม่เป็นโลกุตตรปัญญา

ถ้าไม่เป็นสมาธิขึ้นมา พระสารีบุตรอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ หลานของพระสารีบุตรมาต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ไม่พอใจ ไม่พอใจ ไม่พอใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะเอาตระกูลของตัวเองมาบวชหมดเลย” โลกมองกันอย่างนั้นนะ มองกันว่าถ้าอยู่ช่วยครอบครัว ช่วยกันนี่มันกอดคอกันอยู่ในวัฏฏะนะ มันกอดคอกันอยู่ในวัฏฏะ เหมือนกับเราเรือแตกอยู่กลางทะเล แล้วกอดคอกัน ลอยคออยู่ในทะเล ว่าอย่างนี้ช่วยเหลือกัน มันช่วยเหลืออะไร มันช่วยเหลืออยู่ในวัฏฏะนั้น

แต่ถ้าเราสละออกมา สละออกมาแล้วออกมาจากสัจจะความจริงให้เกิดธรรมะจริงๆ ขึ้นมา อย่างนี้ต่างหากถึงจะช่วยเหลือ เหมือนคนจมน้ำเลย คนจมน้ำแล้วขึ้นบนบกได้ แล้วหาสิ่งใดที่เป็นการช่วยคนจมน้ำโยนลงไป นี่ก็เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ดึงสัตว์โลก ขนสัตว์โลกขึ้นไป ดึงขึ้นมา สิ่งนี้ต่างหากจะเป็นช่วยเหลือกัน

ถ้าเราเห็นทางโลกเป็นสภาวะแบบนั้น เอาโลกเป็นใหญ่ มันออกกับโลกไปหมด ถ้าเราออกมาเป็นธรรม เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา ประพฤติปฏิบัติเพื่อสัจจะความจริงของเรา สัจจะความจริงเกิดจากที่ไหน เกิดจากที่ไหน?

ย้อนกลับมาที่เรา มันจะเป็นความจริงขึ้นมาจากภายใน จิตสงบขนาดไหน ความเป็นไปขนาดไหนนะ ถ้าย้อนกลับ ย้อนกลับคือทวนกระแส ทวนกระแสเป็นโลกุตตรธรรม ถ้าอย่างไปตามกระแส สมาบัตินี่ก็ไปตามกระแส ออกไปตามกระแส มีพลังงานขึ้นมา เหาะเหินเดินฟ้าได้ นี่งานไม่ชอบไง

ความเพียรชอบ งานชอบ อุตสาหะชอบ งานชอบ ความวิริยอุตสาหะชอบ คนมีจุดยืนมันจะบอกถึงนิสัยนะ ถ้าเรามีจุดยืน เราเป็นคนจริงจัง เราตั้งสัจจะขึ้นมา เราทำสิ่งต่างๆ เข้ามาให้สมกับตามความเป็นจริง ไม่ต้องมีใครบอกเลย มันจะเป็นนิสัยของเราเอง

ดูสิ อย่างครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยปัจจุบันจะเป็นคนจริงจังทั้งนั้น จะเป็นคนตั้งสัจจะแล้วทำได้อย่างนั้นหมดเลย ถ้าตั้งสัจจะ หามรุ่งหามค่ำ นั่งขนาดไหน เดินจงกรมนี่ ถ้าเข้าทางจงกรมแล้วต้องอยู่ในทางจงกรมอย่างนี้ แล้วไม่ใช่ทำวันสองวันนะ เรานี่ฮึดกันได้พักๆ หนึ่ง เวลาตั้งใจทำก็ตั้งใจได้พักหนึ่ง ในพรรษานี่ตั้งสัจจะเลย ธุดงควัตรนี่จะไม่นอน จะทำสิ่งต่างๆ สิ่งนั้นก็เป็นอันหนึ่ง

แต่ขณะที่ทำไป ถ้าทำไป ทำจนชินชา ทำจนพลังมันเกิดขึ้นมา อันนี้มันก็ต้องหาทางไม่ให้กิเลสมันบังเงา กิเลสบังเงานะว่าอันนี้เป็นความจริง มันจะเกิดทิฏฐิ ฉันดีกว่าคนนั้น ฉันทำได้ คนอื่นทำไม่ได้ สิ่งต่างๆ

ทำได้หรือไม่ได้มันต้องดูว่ากิเลสมันเบาลงไหม ทำขึ้นมาแล้วมันจะควบคุมตัวเองได้ไหม ควบคุมตัวเองให้จิตสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามาบ่อยครั้งเข้า เหมือนต้นทุนนะ ในปัจจุบันนี้ ใครมีเงินมาก ใครมีทุนมาก ในการตลาดเขามีของประมูลตลอดเวลานะ เรามีเงินเราจะเอาผลประโยชน์ได้หมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเป็นสมาธิ มันมีทุน อะไรเกิดขึ้นมา ความคิดไม่เหมือนปกติหรอก ความคิดของเราโดยปกติชีวิตนี้เราเห็นอะไรเราก็คิดผ่านๆ ไป แต่ถ้าคนมีสตินะแล้วจิตเป็นสมาธิ อะไรเข้ามากระทบใจ เขาไม่คิดธรรมดาหรอก มันสะเทือนใจ สะเทือนใจมาก นี่สภาวธรรม นี่ธรรมะลอยลม

เวลาเขาว่า สภาวธรรม ธรรมชาติเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นธรรม แดดออกฝนตกมันเป็นธรรม เป็นธรรม

มันเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติคือสภาวะมันเวียนไป มันเป็นในวัฏฏะ แต่ธรรมะลอยลมนี่เห็นแต่ธรรมชาติ ชีวิตคนเกิดมาก็ต้องตาย นิพพานคือดับเย็น ปล่อยจิตว่างๆ ก็นิพพาน ขึ้นรถติดสตาร์ทเครื่องแล้วก็ปล่อยเกียร์ว่าง ไม่เคยทำอะไรเลย บอกนี่ไงนิพพาน

ถ้าว่าสมาธิ ว่าติดสมาธิ คนที่ติดสมาธิยังดีนะ ยังรู้ว่าตัวเองติดสมาธินะ ว่า เออ มีสมาธิ แล้วติดสมาธิ ไอ้ที่ไม่รู้จักสมาธิเลย แล้วก็ไม่รู้จักมรรคผลนิพพานเลย แต่เวลาปลดเกียร์ว่างนี่นิพพาน นี่ธรรมะลอยลมไง เพราะไม่มีจุดยืน ไม่มีสัจจะความจริง ไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงพิสูจน์ได้

พอจิตสงบ จิตมีหลักมีเกณฑ์ เหยียบคลัทช์อย่างไร ตบเกียร์อย่างไร ถ้าตบเกียร์ปล่อยคลัทช์ขึ้นมา ทำไมรถมันขยับ อ้าว! แล้วมันว่างๆ อยู่นี่ ว่างๆ นิพพานแล้วรถขยับไปมันว่างได้อย่างไรล่ะ เดี๋ยวมันจะไปตกถนนนะ

นี่สติมันพร้อมมันก็เคลื่อนไหวไป ถ้าจิตมันย้อนออกไปวิปัสสนาไง จิตมันย้อนออกไปกาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าเห็นกายโดยสัจจะความจริง เห็นกายโดยกายคตาสตินะ ไม่ใช่เห็นกายโดยสัญญานะ เห็นกายโดยสัญญา เห็นขนาดไหน ดูสิ ดูอย่างทางการแพทย์เขาก็เห็นกาย ก็ผ่ากาย เขาผ่าตัดทุกวันนะ ทำไมหมอที่เขาไม่มีจรรยาบรรณ ทำไมเขาไปทำร้ายคนไข้ล่ะ ทำไมเขาไปลวนลามคนไข้ล่ะ นี่เพราะอะไร มันเห็นกายไหม มันผ่าตัดด้วย มันผ่ากายเป็นชิ้นๆ เลย แล้วมันเห็นกายไหม? ไม่เห็นกายเลย

การเห็นกาย กายคตาสติ เห็นกายเห็นจากภายใน เห็นจากภายในนะ ถ้าเป็น “เจโตวิมุตติ” จะเห็นเป็นอวัยวะ เป็นรูปร่างเป็นต่างๆ การเห็นกายนี่ง่ายๆ นิดเดียว เพราะถ้าเห็นกายโดยสัจจะความจริง มันสะเทือนกิเลส กิเลสสะเทือนมาก เพราะเห็นกายนี่มันสะเทือน นี่เหยื่อ จับเหยื่อได้ ปลดเหยื่อได้ ถ้าปลดเหยื่อออกจากเบ็ด แล้วเบ็ดตัวเล็กเราจะหักอย่างไร ทำลายเบ็ดถ้าเบ็ดมันไม่เป็นเบ็ด เราทุบเบ็ดจนย่อยสลาย จนเบ็ดไม่มีอะไรจะไปเกี่ยว ถ้าเบ็ดมันมีมันก็ยังเกี่ยวอยู่ ถ้ามันเกี่ยวอยู่ ชีวิตมันก็ปลดกิเลสไม่ได้ มันก็ไม่เป็นไป ขณะที่เราย้อนออกไป นี่เป็นเจโตวิมุตตินะ

ถ้าเป็น “ปัญญาวิมุตติ” ไม่เห็นกาย ไม่เห็นกายก็ได้ ไม่เห็นกายแต่จิตมันสงบเข้ามา มันเห็นอาการของจิต เห็นเบ็ดเห็นเหยื่อ มันเห็นเหยื่อนะ เห็นเหยื่อเพราะอะไร เพราะเหยื่อ เวลาคิดถึงนี่มันออกไปหมดเลย จิตมันวุ่นว่ายไปหมด เวลาเห็นต่างๆ หัวใจเต้นตูมตาม ตูมตาม มันเป็นสัจจะ มันเป็นสิ่งที่กิเลสมันปั่นป่วนแล้ว มันปั่นป่วน สิ่งที่ปั่นป่วน ถ้ามันจับอาการอย่างนี้ได้ นี่ใครคิด? ใจไม่คิด ใจอยู่ไหน สงบใครเป็นคนสงบ ความเป็นไปของจิตมันเป็นอย่างไร สงบเข้ามาบ่อยครั้งเข้านี่คือปัญญาวิมุตติ ปัญญาวิมุตติมันเทียบเคียงไง เทียบเคียงถึงเรื่องของร่างกาย

ดูสิ นั่งอยู่นี่ทั้งหมดธาตุ ๔ ทั้งหมดเลย เลือดเป็นน้ำ สิ่งที่แข็งเป็นดิน สิ่งที่ไออุ่นนี่ลม ลมยังเคลื่อนไหวอยู่นะ ร่างกายคนไม่ตายยังเคลื่อนไหว ยังอ่อนนิ่มอยู่นะ เวลาคนตายนี่แข็งเป็นท่อนซุงเลย นี่มันเปรียบเทียบ มันใช้ปัญญาใคร่ครวญ แล้วมันสะเทือนกิเลส

กิเลสมันเริ่มสะเทือนนะ กิเลส ปลดเหยื่อ ทำลายเหยื่อ พอทำลายเหยื่อจนมันเป็นตัวของมันเอง พอเป็นตัวมันเอง เวลามันเกี่ยวเหยื่อ เกี่ยวอย่างไร เกี่ยวเหยื่อขึ้นมาก็คิดไง ถ้าคิดอย่างไร คิดขึ้นมาทำไม นี่เทียบเคียงมา สิ่งต่างๆ วิปัสสนาเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้เพราะอะไร

ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่น ถ้ายังไม่ได้ลาพุทธภูมิ จิตสงบขนาดไหน เห็นนิมิตต่างๆ ออกมาแล้วปกติ ออกมาแล้วมันก็อารมณ์ปกติ แต่เวลาลาพุทธภูมิแล้ว ย้อนกลับ เวลาจับเห็นกาย พิจารณากาย

“เห็นกาย” กับ “เห็นผี” ต่างกันนะ เห็นกายส่วนเห็นกาย เราคิดว่าเห็นกายคือเห็นวิญญาณ...ไม่ใช่ เราไปเห็นวิญญาณ เห็นผี มันไม่สามารถแก้กิเลสได้ ผีไม่มีเหรอ ผีมีไหม ถ้าคนเห็นต่างๆ เห็นนิมิตต่างๆ เห็นจากภายนอก เห็นอย่างนั้นคือเห็นโดยจริตนิสัย บางคนก็เห็น บางคนก็ไม่เห็น เห็นหรือไม่เห็น ถ้ามันมีสมาธิเป็นฐานรองรับ มันเป็นการบอกสิ่งต่างๆ ได้ แต่คนถ้ามีสติ รู้จักว่าสิ่งใดเป็นอริยสัจ สิ่งใดไม่เป็นอริยสัจ จะไม่สนใจเรื่องอย่างนี้

เรื่องอย่างนี้ถ้าเป็นอำนาจวาสนา มันมีของมันเหมือนคนผิวขาว-คนผิวดำ ผิวก็คือผิว เราเกิดมาผิวเป็นอย่างนี้ สภาวะแบบนี้ จิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตสงบแล้วจะเห็นนิมิต จะไม่เห็นก็เรื่องของจิต มันไม่เกี่ยวกัน แต่เรื่องของความสะอาด เราทำสะอาด เรามีร่างกายสะอาด สิ่งต่างๆ สมาธิไง ถ้าเราทำสะอาด จะดำจะขาวแต่ก็สะอาดเหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เราต้องการความสงบต่างหาก เราไม่ต้องการเห็นสิ่งต่างๆ นั่นก็เห็นผี ถ้าพอสงบเข้ามาล่ะ สงบเข้ามาเห็นกาย

เห็นกายนะ มันเป็นเห็นธาตุของเรา คือจิตของเรามันเป็นสภาวธรรม สภาวธรรมนะ ธรรมความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ธรรมะลอยลม ธรรมะลอยลมนะ มันก็ตื่นข่าวกันไป เห็นใบไม้พัดหมาก็เห่า หมาเห็นใบไม้ไหวเห่าใหญ่เลย นี่ใบไม้ไหว ตื่นเต้นว่ามีสิ่งใด แต่ถ้าเป็นธรรมะของจริงนะ การเห็นจิตสงบเข้ามา เห็นอวัยวะ จะเป็นกระดูก จะเป็นเส้นผม จะเป็นขุมขน จะเป็นสิ่งใดก็แล้วแต่ พอเห็นแล้วมันสะเทือนถึงความรู้สึก สะเทือนถึงก้นบึ้งของใจ เพราะก้นบึ้งของใจมันโดนกิเลสปิดบังไว้ว่าสรรพสิ่งนี้เป็นของเรา ทั้งๆ ที่ปากพูดกันพร่ำๆๆ ว่าตายแล้วกายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ไอ้ปากพร่ำๆ อยู่นี่ธรรมะลอยลม

แต่ถ้าสัจจะความจริงมันเห็นขึ้นมา มันสะเทือนขั้วหัวใจ ถ้าสะเทือนขั้วหัวใจอย่างนี้ นี่คือวิปัสสนา วิปัสสนาเป็นอย่างนี้ มันสะเทือนถึงกิเลส มันปลดกิเลสได้ มันปลดเหยื่อได้ มันทำลายเบ็ดได้ มันต้องปลดเหยื่อ มันต้องทำลายเบ็ด เบ็ดคือเบ็ดในหัวใจ เบ็ดที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่เบ็ดที่โลกๆ เขาหรอก เบ็ดอย่างนั้นย่อยสลายได้หมด

แต่เบ็ดของใจนะมันเป็นนามธรรม มันจะย่อยสลายได้ต้องจิตแก้จิต คือปัญญาภาวนามยปัญญาจากภายในเข้าไปทำลายมัน ถ้าไปทำลายอย่างนี้ ทำลายหนหนึ่งปล่อยวางหนหนึ่ง ปล่อยวางหนหนึ่ง เห็นไหม ตทังคปหาน

เพราะเวไนยสัตว์ เรากินข้าวหนหนึ่ง เราไม่อิ่มหรอก เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญา ถ้ากินข้าวแล้วกินข้าวอิ่ม กินข้าวไปเรื่อยๆ การประพฤติปฏิบัติ หมั่นเพียร หมั่นคราด หมั่นไถ หมั่นวิปัสสนา วิปัสสนาไปแล้ว ใช้พลังงานไปแล้ว ทุนใช้ไปแล้วทุนหมดก็หาทุน เพราะเราวิปัสสนานี่มันก็มีกำไรขาดทุนอยู่อย่างนี้

ถ้าสมาธิไม่เข้มแข็ง สมาธิไม่พอ มรรคมันไม่สามัคคี มรรคไม่สมดุล ความไม่สมดุล ปัญญาออกไป ถ้าปัญญามรรคสมดุล มีสมาธิมีสติพร้อม เวลาวิปัสสนาไปมันจะปล่อย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต สิ่งที่ปล่อยอย่างนี้นี่คือผลของปัญญา ผลของมรรคที่ทำตทังคปหาน ถ้าปล่อยอย่างนี้หรือว่าเราทำบ่อยครั้งเข้า จิตมันก็พัฒนา เพราะมันซึ้งมาก มันสะเทือนขั้วหัวใจมาก แล้วถ้ามันพิจารณาไปแล้วมันไม่ปล่อย นี่ทุนเราไม่พอ สมาธิมันไม่สมดุล สติไม่สมดุล เราต้องกลับมาพุทโธ กลับมาปัญญาอบรมสมาธิ กลับมาสร้างทุน ความไม่สามัคคี

“ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล”

แล้วถ้าศาสนาในหัวใจของเรา สิ่งที่เป็นสัจจะความจริงในหัวใจของเรา ถ้ามันไม่สมดุล มันไม่สมควร เราก็ต้องกลับมาเติมแต่งให้มันเป็นมรรคโค มรรคโคคือทางอันเอก ทางอันเอกคือทางเข้าไปชำระ ทางอันเอกให้ใครเดิน ให้ใครเดิน? ให้ใจนี่เดินทวนกระแสเข้าไปทำลายเบ็ดในหัวใจของเรา มันไม่ใช่ลอยลมอย่างนั้นหรอก

เราไปศึกษากันมานะ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ จะต้องทำอย่างนี้...ทำไปทำมาเป็นพิธีหมดเลย มันลอยลม กิเลสพาออกนอกลู่นอกทางแล้วทำผิด อย่างนี้ผิดหมด แล้วมันเป็นไปได้อย่างไร คนผิวดำแล้วจะบอกคนผิวดำห้ามเข้าที่นี่ได้อย่างไร คนผิวดำ-คนผิวขาวมีสิทธิเสมอภาค จะเข้าที่ไหนก็ได้เหมือนกันหมด

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเป็นไปมันก็เป็นไปหมด มันเป็นไปโดยจริตนิสัย เป็นไปโดยอริยสัจ สติปัฏฐาน ๔ จะวิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรมอะไรก็ได้ สิ่งต่างๆ สิทธิเสมอภาค จะทำอย่างไร ผิวดำหรือพิจารณากาย ผิวขาวจะพิจารณาจิต จะพิจารณาก็ทำไปสิ ทำไป ถึงผลมันเกิดขึ้นมาสัจจะความจริงเอง นี่คืออำนาจวาสนา

ถึงบอก ธรรมะของจริงมันจะเป็นสัจจะความจริงแต่ละดวงใจ มันไม่ใช่พิธีกรรมนะ ไม่ใช่อ้อนวอนขอนะ ทุกคนต้องทำเหมือนกันมันเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นสัจจะความจริงนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่บอกวิธีการไว้ ๔๐ ห้อง ไม่บอกสิ่งต่างๆ ไว้ทั้งหมดหรอก บอกสิ่งนี้ไว้เปิดโอกาสไง เพราะจริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน

แล้วเวลาทำขึ้นไปมันไม่เป็นสูตรสำเร็จ ขณะเราวิปัสสนากาย ครั้งหนึ่งปล่อย ครั้งหนึ่งไม่ปล่อย ไม่ปล่อยเพราะเหตุใด ปล่อยเพราะเหตุใด ทำไมมันมีตัณหาความทะยานอยากเข้ามาเสริมตรงไหน มันต้องหมั่นแยกหมั่นแยะ หมั่นคัดหมั่นกรอง หมั่นกระทำของเรานะ ถ้าเราไม่ได้ทำของเรา มันเป็นความจริงมาจากไหน? มันเป็นความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ความจริงของเราเลย

เป็นธรรม...ใช่ เป็นธรรม เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นสิ่งที่ชำระสะอาด ทำสะอาดได้ เราทำสะอาด สะอาดใจไง ถ้าใจมันสะอาดขึ้นมา คนใจสะอาด คนจะทำสิ่งใดมันก็เป็นสิ่งที่ดี ใจได้พัฒนาเป็นสิ่งที่ดีแล้วมันจะทำของมันดีขึ้นมา ดีขึ้นกับใจตัวเรา ดีขึ้นจากใจจากภายใน แล้วเกิดถ้าเป็นอริยทรัพย์ขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นปัจจัตตัง

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดตลอดเวลานะ เวลาวิปัสสนาไป ถ้ามันขาดเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ถึงที่สุดแห่งทุกข์นี่แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ก็ไม่ถามนะ ถ้าถาม ถ้ายังลังเลสงสัย ลังเลสงสัยเป็นนิวรณธรรม มันเป็นกิเลสตัวหนึ่งนะ ถ้ามันสัจจะความจริง จริงอย่างไร? อ้าว! จริงก็จริงความจริงในหัวใจนี่ไง อะไรบ้างที่มันสงสัย อะไรบ้างที่มันไม่รู้ ถ้ามันไม่รู้ ไม่รู้ในอะไร? ไม่รู้ในอริยสัจ

แต่สมมุติบัญญัติมันเป็นสิ่งที่ว่ามันแปรปรวนตลอดเวลา มันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่จำเป็นต้องไปรู้ สิ่งที่โลกๆ ไม่ต้องรู้หรอก เรื่องของโลกเขามันแก้กิเลสไม่ได้ มันไม่ใช่สิ่งที่จะมาแก้กิเลส แต่อริยสัจนี่รู้ตลอดเวลา ต้นขั้วไง บ่อแห่งการเกิดและการตายไง บ่อหัวใจของเรานี่ไง บ่อถึงภวาสวะคือภพ คือสถานที่ตั้งที่พาให้เราเกิดเราตายอยู่นี่ สิ่งนี้อริยสัจเข้าไปแก้ตรงนี้ ภาวนามยปัญญาต่างหาก ภาวนามยปัญญานะ

กิเลสหยาบ-กิเลสละเอียด ปัญญาหยาบ-ปัญญาละเอียด สติ-มหาสติ ปัญญา-มหาปัญญา ปัญญาอัตโนมัติ มันจะเจริญงอกงามขึ้นมาในหัวใจของเรา ถ้าเรามีฉุกคิดว่าสัจจะความจริงในใจของเรา

สิ่งที่ให้มันเป็นความจริง อย่าให้มันลอยลม ลอยลมนี่มันคาดมันหมาย มันเพ้อฝัน พอเพ้อฝันนะก็ไปตามเพ้อฝัน แล้วความเพ้อฝันมันเข้ากับกิเลส เข้ากับสมมุติ สิ่งที่โลกนี่สมมุติอยู่แล้ว แล้วความเพ้อฝันนี่ไปตามจินตนาการหมดเลย พอจินตนาการ จินตมยปัญญา มันไม่ใช่ภาวนามยปัญญานะ มันเป็นจินตมยปัญญา

พอจินตมยปัญญาถึงที่สุดแล้ว เราจินตนาการถึงที่สุดเราก็พอใจ บอกพอใจนี่ก็คือธรรมะ ธรรมะอย่างนี้เหรอ นี่ไงเข้าเกียร์ว่าง รถไม่ขยับเลย แล้วไม่มีการกระทำสิ่งใดเลย แล้วทำอย่างนี้มันชำระกิเลสที่ไหน แต่ก็พอใจกัน พอใจเพราะอะไร พอใจเพราะสิ่งที่มันเป็นโลกๆ ไง สิ่งที่เป็นโลกๆ สิ่งที่สื่อความหมายกันได้

แต่ธรรมนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านว่านะ ฟังนะ “ขณะที่จิตมันแปรสภาพเป็นขณะของจิตเป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าใครภาวนาถึงตรงนี้ต้องมากราบศพ” ต้องอย่างเดียวเลย ธรรมะต้องเป็นอันเดียวกัน อริยสัจอันเดียวกันนะ จะเดินมาทางไหนก็แล้วแต่ อริยสัจต้องเป็นอันเดียวกัน

จะบอกว่าจะเป็นจริตนิสัยของฉัน...ใช่ จริตนิสัยคือวิธีการ ผลจะเป็นอันเดียวกัน ผลไม่มีจริตนิสัย ผลคือผล ถ้าผลมันเป็นจริตนิสัย มันก็มีแก่มีอ่อนมีต่างๆ กันสิ มันไม่ต่างหรอก โสดาบันเกิดอีก ๗ ชาติ สกิทาคามีเกิดอีก ๓ ชาติ อนาคามีไม่เกิดในกามภพ กามภพไม่เกิดอีกแล้ว แล้วอะไรพาเกิด อะไรพาไม่เกิด

สิ่งที่มันชำระ เบ็ดมันเกี่ยวอยู่ ทำลายเบ็ดอย่างไร กามภพนี่มันไปเกี่ยวเข้ามาตลอดเลย นี่มีเบ็ดอยู่ เบ็ดขนาดที่ว่าเราแขวนไว้เฉยๆ สัตว์มันบินมาเกี่ยวก็ได้ นี่ความเป็นไปของจิตนะ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่จากภายใน ถ้าสิ่งนี้นะมันกระดิกขึ้นมาในหัวใจ เรื่องที่มันชอบ เรื่องที่มันพอใจ เพราะอะไร เพราะมันเป็นกามฉันทะ กามฉันทะเป็นกาวเหนียว เป็นกาว แล้วมันขึงอยู่ อะไรเข้ามานี่ติดหมด ติดหมด แล้วออกไปข้างนอกเป็นกามราคะ กามราคะเป็นเรื่องของกามแล้ว แล้วเวลากามของคุณล่ะ นี่เรื่องของกาม ความคิดก็เป็นกาม สิ่งที่เป็นกาม ถึงเกิดเป็นเทวดาไง เป็นกามภพไง

แต่ถ้ามันปล่อยหมดล่ะ มันทำลายหมด แล้วทำลายอย่างไร ทำลายเบ็ดอย่างไร ยางเหนียวทำลายอย่างไร ทำไมธรรมถึงไม่เป็นยางเหนียว แล้วยางเหนียวมันลบล้างไปได้อย่างไร

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์สิ้นกิเลสแล้ว สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสแล้ว ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา นี่ขันธ์ไง ก็นี่ไงยางไม่เหนียวไง มันเป็นแผ่นอยู่อย่างนั้น มันมีแผ่นยางก็คือแผ่นยาง แต่สิ่งใดมันเกาะเกี่ยวไม่ได้อีกแล้ว เกาะเกี่ยวไม่ได้เลย นี่เพราะอะไร

เพราะธาตุขันธ์ เพราะยังมีธาตุอยู่ ธาตุคือร่างกายมนุษย์ ร่างกายของเราก็มีอยู่อย่างนี้ แล้วขันธ์ล่ะ ขันธ์คือความสื่อความหมายนี่ไง สัญญาความจำได้หมายรู้ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลากลับไปโปรดนางพิมพา ราหุลเข้ามาขอสมบัติ คิดเลยจะให้สมบัติอะไร จะให้สมบัติทางโลกหรือสมบัติอริยทรัพย์ ถึงเอามาบวช

แล้วเอามาบวชแล้วใครน่ะ ราหุลเป็นใคร ก็เป็นลูก ลูกจำได้อย่างไร จำได้เป็นสัญญาไง ถึงมีอยู่ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์มี พระอรหันต์ก็มีขันธ์อยู่แต่ขันธ์สะอาด มันถึงไม่เป็นแผ่นยางใจไม่เหนียว ไม่เหนียว ไม่มีกิเลส ไม่ติดใคร ไม่ข้องใคร ไม่ติดกับใครทั้งสิ้น สิ่งต่างๆ นี้เป็นเรื่องของโลกๆ แต่เพราะอำนาจวาสนาของครูบาอาจารย์ที่สร้างสมบุญญาธิการมา ใครสร้างสมมามากก็ได้มาก ใครสร้างสมมาน้อยก็ได้น้อย

การสร้างสมมา สร้างสมอำนาจวาสนาอันหนึ่ง สร้างสมจริตนิสัยจนเป็นภวาสวะเป็นอำนาจเป็นการประพฤติปฏิบัติอันหนึ่ง แล้วประพฤติปฏิบัติไป ถ้ามันไม่ได้ผลอย่างนี้ก็ประพฤติปฏิบัติไปด้วยอำนาจวาสนาของเรา ดูย้อนกลับไปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ เวลาเป็นพระโพธิสัตว์ สละมามหาศาล สละมาแม้แต่เป็นชีวิตหนึ่ง ชีวิตหนึ่ง สละมาเพื่อใคร? ก็สละมาเพื่อมรรค เพื่อโพธิญาณ

เราก็เหมือนกัน ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ นี้เราปฏิบัติอยู่แล้ว ชีวิตนี้มันเป็นอย่างไร ถ้าขณะที่ประพฤติปฏิบัติอยู่แล้วไม่ได้ผล ว่าสิ่งนี้ชีวิตเราจะไม่สูญเปล่าหรือ? มันสูญไปไหน แดดออกฝนตกนี่มันสูญไปไหน เขาทำสถิติไว้แล้วนะ ปีนั้นฝนมาก ปีนี้ฝนน้อย สถิติเขามีอยู่หมดล่ะ แต่เรารู้หรือไม่รู้มันเรื่องของเรา แต่ขณะที่เก็บสถิตินี้ใครเป็นคนเก็บสถิติล่ะ? เป็นทางวิชาการเขา

แต่ขณะที่เวรกรรมนี่ใครเป็นคนเก็บสถิติล่ะ? ใจทำมาใจมันรู้หมดล่ะ ตั้งแต่เด็กมาจนปัจจุบันนี้ทำอะไรบ้างเราก็รู้ แต่เวลาชาติที่แล้วจำไม่ได้ ถ้าจำไม่ได้ทำไมมันให้ผลมาเดี๋ยวนี้ ทำไมอันนี้ชอบ ทำไมอันนั้นไม่ชอบ ทำไมอันนั้นไม่พอใจ มันมาจากไหนล่ะ ทำไมคนนี้เขาชอบ ทำไมเราไม่ชอบ ทำไมคนนั้นเขาบอกสิ่งนี้เป็นดี ทำไมเราบอกว่าชั่ว นี่มันต่างกันตรงไหน มันต่างกันเพราะอะไร

มันต่างกันเพราะข้อมูลสะสมมาจากใจนี่ไง ข้อมูลที่ทำมานี่ต่างกัน สิ่งที่ต่างกันให้ผลต่างกัน สิ่งที่ความพอใจต่างกันก็ให้ผลต่างกัน แม้แต่เกิดมาเป็นพ่อเป็นแม่เดียวกันก็แล้วแต่ แม้แต่พระอรหันต์ก็เหมือนกัน เวลาสิ้นกิเลสอะไรไปแล้วก็ยังมีความเห็นแตกต่างกัน ความเห็นของโลกๆ นะ ความเห็นของการประพฤติปฏิบัตินี่สอนต่างๆ กัน แต่ถึงที่สุดแล้วจะเป็นอันเดียวกัน

ถ้าพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ที่สิ้นกิเลสแสดงธรรม จะไม่มีการผิดพลาดเลย ไม่มีการผิดพลาดเลย เพราะอะไร เพราะมันออกมาจากใจ ออกมาจากความรู้จริงนี้ ไม่ใช่ธรรมะลอยลม ธรรมะจริงๆ ธรรมะจริงๆ ออกมาจากใจจริงๆ แล้วใจจริงๆ นี่ใจ...อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ อาสวะสิ้นไป จิตแปรสภาพ จิตนี้กลายเป็นธรรมไป

ถึงว่าจิตของพระอรหันต์ จิตพระอรหันต์อยู่ที่ไหน?

ถ้าจิตของพระอรหันต์มี ก็มีภพ ภวาสวะ ภพ จิตเป็นภพ ภพเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร

แต่ถ้าอาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ จิตมันแปรสภาพไปแล้ว มันถึงว่าง ว่างจนไม่มีสิ่งใดจะไปจับต้อง ไม่มีสิ่งใดจะเข้าไปกระทบกระเทือนตรงนี้ได้เลย ไม่มีสิ่งใดจะเข้าไปกระเทือนสิ่งนี้ได้ แม้แต่ความเป็นไปขนาดไหนนะ เพราะอะไร

เพราะเวลาสมัยพุทธกาล เวลาที่ว่าพระอรหันต์แล้วทำคุณงามความดีกับศาสนา แล้วพวกที่เป็นอลัชชีไม่เห็นด้วย กล่าวตู่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้” เป็นไปไม่ได้เพราะอะไร

เพราะสิ่งนี้มันเข้าไปตรงนั้นไม่ได้อยู่แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันไม่มีเจตนาดีและชั่วกับคนอื่น แต่มีเจตนา มีความเป็นไปอยากจะสงเคราะห์ อยากทำเชิดชูในศาสนา แต่ผู้ที่ไม่มีคุณธรรมในหัวใจเห็นแล้วมันไม่เป็นประโยชน์กับตัวไง ถ้าไม่เป็นประโยชน์กับตัว ไม่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัว สิ่งนี้ก็ไปพยายามจะน้อมนำให้มันเป็นความผิดพลาด ความผิดของกิเลสนะ ถ้ากิเลสมันมีในหัวใจ มันจะเป็นความบกพร่อง ถ้าความบกพร่องนะ

แต่ถ้าเป็นธรรมนะ ไม่มีความบกพร่อง แต่เป็นไปตามกรรม เป็นไปตามกรรมนะ ตามกรรมของใคร? ตามกรรมของ “สอุปาทิเสสนิพพาน” สะคือเศษส่วน กรรมตามทันเรื่องของร่างกายได้ แบบพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ แล้วทำไมเขามาทุบจนพระโมคคัลลานะแหลกไปทั้งตัวล่ะ

ถ้ายังมีจอภาพอยู่ จอภาพนั้นฉายภาพได้ ถ้าจอภาพก็ไม่มี สิ่งใดก็ไม่มี “อนุปาทิเสสนิพพาน” คือพระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว เวลาพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลที่สิ้นชีวิตไป แล้วมารค้นตลบหาจิตดวงนี้ ทำไมมารค้นตลบได้ล่ะ มารค้นตลบได้เพราะอะไร เพราะเวลาคนตาย ถ้ายังมีภวาสวะ ยังมีสถานที่ตั้ง ยังมีจุดหมายได้ จุดหมายไปเกิดเป็นพรหม พระอนาคามีไปเกิดเป็นพรหมในสุทธาวาส นี่ยังค้นคว้าหาได้เพราะมันมีสถานที่ตั้ง มันมีทะเบียน มันมีสถานที่ชี้นำ

แต่พระอรหันต์ไม่มี พระอรหันต์ไม่มี จิตถึงไม่มี จิตไม่มีแต่ภูมิของพระอรหันต์มี ถ้าจิตมีมันเป็นภวาสวะ เพียงแต่เป็นสมมุติครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริง จิตเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น อย่างนั้น เพียงอธิบายให้กับคนตาบอดฟัง คนตาบอดคือปุถุชนอย่างเรามันอาศัยสิ่งนี้มาเป็นสมมุติเพื่อจะย้อนกลับมา

“สอุปาทิเสสนิพพาน” กับ “อนุปาทิเสสนิพพาน” ต่างกัน ต่างกันเพราะออกมาจากจิตอันเดียวกัน ขณะที่สิ้นกิเลสนั้นคือพระอรหันต์เหมือนกัน ถ้าสิ้นกิเลส การแสดงธรรม การกล่าวธรรมะถึงผิดไม่ได้ ผิดไม่ได้เลย ถ้าผิด สิ่งนั้นเป็นธรรมะลอยลม

“ธรรมะลอยลม” ธรรมะลอยมาจากกิเลส กิเลสมันลอยมา มันโต้แย้งมา มันเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแบกคัมภีร์มาเป็นพิธีกรรมเฉยๆ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ถ้าไม่ทำตามพิธีกรรมอย่างนี้จะเข้าธรรมะไม่ได้ พิธีกรรมต่างๆ

ถ้าธรรมะลอยลมมันจะไม่เข้ากับใจของเรา มันไม่เข้ามากระเทือนถึงกิเลส มันไม่สามารถทำลายเหยื่อด้วยนะ ไม่สามารถปลดเบ็ด ไม่สามารถทำตั้งแต่เบ็ดตัวเล็ก เบ็ดตัวใหญ่ วิปัสสนาเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป วิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม ปล่อยวางครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่งจนถึงที่สุด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เห็นสัจจะความจริงนะ ขณะจิตที่มันแปรสภาพนะ

ดูสิ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เวลากิเลสขาดดั่งแขนขาด”

คนตัดแขนทิ้งกับคนตัดกิเลสทิ้ง คนปลดเบ็ดทิ้งนี่ สิ่งนี้มันสัจจะความจริง มันถึงเป็นเกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ มันตบเกียร์ขึ้นเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ความเร็วของรถก็ต่างกัน ความเป็นไปของการวิ่งก็ต่างกัน แล้วเฟืองต่างๆ ที่มันทดละเอียดหยาบต่างกัน

แต่ถ้าเราปลดเกียร์ว่างไว้ตลอด ไม่ได้เข้าเกียร์สิ่งใดๆ เลย มันเป็นธรรมไปไม่ได้หรอก มันเป็นธรรมไปไม่ได้ แต่ก็ว่ากันเป็นธรรม เป็นธรรม เป็นสภาวะแบบนั้น นี่ลอยลม

ลอยลมและไม่ลอยลมมันมีเหตุมีผล มันมีสิ่งเป้าหมาย แล้วชีวิตเราลอยลมไหม?

ถ้าชีวิตเราลอยลมนะ เราปฏิบัติลอยลมนี่แหละ แต่ถ้ามีสติ เราจะต้องตรวจสอบ คนที่มีอำนาจวาสนานะ เวลาประพฤติปฏิบัติ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีแล้ว ธรรมและวินัยเทียบได้ แล้วก็เทียบจากประสบการณ์ตรงของจิตนี่แหละ

ปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียนแผนที่ ศึกษาเล่าเรียนแผนที่นะ เราอ่านแผนที่เราก็น่าเบื่อ เบื่อนะ เพราะอะไร เพราะเราไม่เห็นภาพชัดเจน แผนที่ก็เป็นพิกัดเป็นส่วนสัดเท่านั้นเอง แต่ถ้าไปเราลงไปพื้นที่นะ มันจะมีต้นไม้ มันจะมีบ่อมีหลุม อาจจะไปเจอเพชรเจอพลอย มันลงไปพื้นที่

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปริยัติ ปฏิบัติไง ถ้าปฏิบัติมันมีเหตุการณ์มันเป็นไปแล้ว จิตที่มันเป็นไป จิตที่มันขยับเขยื้อนไป สิ่งที่ขยับเขยื้อนไป ปฏิเวธเป็นอย่างไร ปฏิเวธ ขณะจิตที่เป็นโสดาบันนี่เกียร์ ๑ ขณะจิตที่เป็นสกิทาคามีเกียร์ ๒ ขณะที่จิตเป็นอนาคามีเกียร์ ๓ ขณะที่เป็นสิ้นกิเลสเกียร์ ๔

เดี๋ยวนี้มีเกียร์ ๑๘ นะ รถเทรลเลอร์เขามี ๑๘ เกียร์นะ

สิ่งนี้มันเป็นบุคคลาธิษฐาน เป็นการเทียบเคียงให้เห็นการเคลื่อนไป เกียร์ที่เราใส่ขึ้นไปเป็นวิปัสสนา แต่ถ้าเราใส่เกียร์ว่างอยู่เป็นสมถะ เกียร์ว่างนี่เราติดเครื่องได้ ถ้าเราไม่มีเกียร์ว่างนะ เราไม่ติดเครื่องได้นะ อยู่ในเกียร์ติดเครื่องไม่ได้ ติดเครื่องไม่ได้นะ

นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามันทำความสงบได้ สิ่งที่เป็นความสงบนะ สิ่งที่เป็นความสงบของใจ โลกียปัญญา-โลกุตตรปัญญา แม้แต่เป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าเข้าเกียร์ไม่ได้ มันก็เสื่อมได้ เพราะมันไม่เป็นอกุปปธรรม

ถ้าเป็นกุปปธรรมนะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา

ธรรมะลอยลมบอก นิพพานก็คืออนัตตา อะไรก็เป็นอนัตตา

อนัตตานี่มันเป็นระหว่างที่มันแปรสภาพ

ถ้ามันเป็นอัตตาก็เป็นธรรมะลอยลม

ถ้าเป็นอนัตตา เราเห็นความเป็นอนัตตาของมัน

แล้วถ้าเป็นอกุปปะมันเป็นอนัตตาไม่ได้

ถ้าเข้าเกียร์ ๑ แล้วนี่มันล็อค เกียร์ ๑ จะปลดไปเกียร์ว่างไม่ได้ ไม่ได้เลย มันกลับมาอีกไม่ได้ มันเป็นอฐานะ มันตายตัว เข้าเกียร์ ๒ เกียร์ ๒ ตายตัว กลับมาเป็นเกียร์ ๑ ไม่ได้ เข้าเกียร์ ๓ จะกลับมาเป็นเกียร์ ๒ ไม่ได้ เข้าเกียร์ นี่คืออกุปปธรรมไง สิ่งที่เป็นอกุปปธรรม นี่คือสัจจะความจริง มันจะเห็นความเป็นไป

ไม่อย่างนั้นถ้าไปถึงเกียร์ ๔ ปลดมาได้ พระอรหันต์ก็ต้องกลับมาเป็นปุถุชนได้สิ

บางทีมีนะ ธรรมะลอยลมบอกอยู่ว่า อริยภูมินี่เสื่อมได้ เป็นไปได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้หรอก

กว่าจะเข้าถึงได้แต่ละจุดนะ ทำเกือบเป็นเกือบตาย แล้วแต่มันต้องเข้าให้ได้จริง คือว่าดั่งแขนขาดจริงๆ เป็นสมุจเฉทปหาน ถ้าไม่เป็นความจริงเป็นตทังคปหาน คือเห็นกายเหมือนกัน เห็นเวทนา เห็นจิตเหมือนกัน สติปัฏฐาน ๔ เหมือนกัน แต่ไม่ถึงที่สุด แต่ไม่ถึงขณะจิตที่มันพลิก ขณะจิตที่มันเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี จิตไม่เป็นอกุปปธรรม มันเสื่อมได้ ระหว่างนี้เป็นสพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนตรงนี้ไง สอนสพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมเป็นอนัตตา การสร้างถึงทุกข์ยากมาก

แต่ขณะที่มันเป็นผล มันไม่เป็นอนัตตา ถ้ามันเป็นอนัตตา พระสารีบุตร บอกว่า “ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” จนพระขนาดว่าต้องชักนำให้ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เธอไม่เชื่อเหรอ”

เมื่อก่อนนะ เมื่อก่อนที่ยังไม่รู้ เมื่อก่อนที่เราเป็นเด็กน้อย เราต้องหวังพึ่งพ่อแม่นะ ถ้าพ่อแม่ไม่ส่งไม่เสียเราจะเรียนมาได้อย่างไร แต่ขณะที่ออกไปทำงานได้เงินได้ทองเข้ามาแล้วมันคนละเรื่องกัน ขณะเมื่อก่อนที่ยังไม่เป็นอกุปปธรรม นี่เชื่อมาก เชื่อมาก เพราะไม่เชื่อจะแสวงหาหรือ สร้างบุญกุศลมาขนาดนี้จะไปหาพระอัสสชิสอนแล้วยังมาที่เขาคิชฌกูฏมาสำเร็จที่นั่น

แต่ถ้าเป็นความเชื่อมันแก้กิเลสไม่ได้ ขณะปัจจุบันนี้ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อธรรม เชื่อธรรมจริง ไม่ใช่ธรรมะลอยลม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง แต่ขณะที่เราเอากิเลสฟังนี่มันลอยลม มันเข้าไม่ถึงใจ แต่ถ้าเข้าถึงจริงแล้ว ใครจะจับพลิกฟ้าคว่ำดินขนาดไหนมันก็จริงมาจากใจ มันเป็นอกุปปธรรมไง มันเป็นสัจจะความจริงของใจดวงนี้ ถ้าใจดวงนี้มีคุณธรรมอย่างนี้ มันเป็นคุณสมบัติส่วนตน ธรรมะนี้เป็นสมบัติส่วนตนนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์เป็นพระโสดาบันนะ อยากจะมีคนสอนอยู่ พระโสดาบันนี่เข้าเกียร์ ๑ ได้ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ ยังเข้าไม่ถูก ก็อยากจะให้คนสอนขับสอนฝึกให้ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะปรินิพพาน ร้องไห้นะ “ดวงตาของโลกดับแล้วนะ”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์ เราเอาธรรมะของใครไป เราสอนเธอแล้วไม่ใช่หรือว่าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

ถ้าเราหมั่นหัดเข้าเกียร์ เกียร์จะเข้าถูกไม่ถูกก็จริงอยู่ พยายามหัด พยายามทำให้ได้ ถ้าเราทำได้

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านว่า “เราที่ตายไปก็เอาแต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น”

แต่ผู้ที่วางธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเราต่อไป สิ่งนี้เราสามารถประพฤติปฏิบัติได้ เราสามารถกระทำได้ เราสามารถกระทำ ถ้ามีการกระทำ มีภาคปฏิบัติ จะถึงความจริง ถ้าการปฏิบัติของเราโลเล มันก็เป็นลอยลม สิ่งที่ลอยลมหรือจะจริงขึ้นมา มันอยู่ที่เราตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ อยู่ที่อำนาจวาสนาของเราจะทำจริงหรือไม่ทำจริง

ถ้าทำจริง ทำจริงนะ สิ่งที่ผ่านมาแล้วให้มันผ่านไป สิ่งที่ผ่านมานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก สิ่งที่เป็นอดีตคิดถึงแล้วเสียใจ สิ่งนั้นไม่ดีเลย อดีตที่เราล้มลุกคลุกคลานมาคือประสบการณ์ของเรา

แล้วปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี่ดูสิ โลกไปขนาดไหน ดูสังคมนะ กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง มันเจริญเพราะภาคปฏิบัติ เพราะครูบาอาจารย์ของเราค้นคว้าขึ้นมา แล้วโลกกำลังเห่อกัน แล้วปฏิบัติไปก็ลอยลมกันไปนะ มองไปที่โลกนะ แล้วมันน่าสลดสังเวช แล้วมองมาที่เรา มองมาที่ใจ มองมาที่โอกาส แล้วถ้าเราตั้งใจจริงของเรา เราจะทำของเราได้ เอวัง