เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๙ เม.ย. ๒๕๖o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ตั้งใจฟังธรรม เพราะธรรมะเป็นธรรมชาติ เขาว่าธรรมะเป็นธรรมชาตินะ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเราเป็นญาติกันโดยธรรม คำว่า “เราเป็นญาติกันโดยธรรม” เราเกิดร่วมโลกกัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย การเกิด การแก่ การเจ็บ การตายเป็นสัจจะเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงอันหนึ่ง เราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม เพราะเราเกิดมา เรามีปากมีท้องมาเท่ากัน เราเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราเกิดมาธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เหมือนกัน แต่มันต่างกัน ต่างกันตรงกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของคนมีมากหรือมีน้อยนั่นน่ะ อันนั้นมันเป็นกิเลสไง คำว่า “กิเลส” คือตัณหาความทะยานอยาก คือความเคยชิน คือพันธุกรรมของจิต ถ้าพันธุกรรมของจิต

เราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม ถ้าเราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม ถ้าใจที่เป็นธรรมนะมันจะมีโอกาสมาก มีโอกาสตรงไหน มีโอกาสตรงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเป็นพระโพธิสัตว์ คำว่า “เป็นพระโพธิสัตว์” พระโพธิสัตว์ทำลงที่อะไร ก็ทำลงที่การเสียสละ เวลาเกิดเป็นสัตว์ เป็นหัวหน้าสัตว์ เสียสละชีวิตเพื่อคุ้มครองฝูงของสัตว์ เอาชีวิตเข้าล่อเลยนะ ให้พรานยิงท่าน วิ่งล่อให้พรานยิง แล้วให้หมู่คณะ ให้ฝูงสัตว์นั้นหลบเลี่ยงไป จนพาฝูงสัตว์นั้นรอดจากการเสียชีวิต จนการล่าของมนุษย์ๆ

นี่ไง เราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม แต่คนที่มีสติปัญญาเกิดมาแล้วสร้างคุณประโยชน์ไง สร้างคุณงามความดีไง ทำแต่คุณงามความดี คนคิดบวก คิดดี เขาเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน คนเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน เวลาคิดทำร้ายเขา คิดเห็นแก่ตัว นี่ความคิดความเห็นอย่างนั้น

นี่ไง เราเกิดมาเราเป็นญาติกันโดยธรรมนะ มีสิทธิเสรีภาพเหมือนกัน มีความรู้ความเห็นเหมือนกัน แต่มันเป็นที่หัวใจ หัวใจของคนที่มันสร้างคุณงามความดีๆ อยู่ที่ไหนก็เป็นความดี ความดีก็คือความดีไง

ธรรมะเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่เกิด แก่ เจ็บ ตายก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่เวลาเรามาวัดมาวามาฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อเตือนสติของเราไง ถ้าเรามีสติมีปัญญา ก็ชีวิตหนึ่งเท่านั้นแหละ ก็ชีวิตหนึ่ง ดูสิ เราแสวงหาปัจจัยเครื่องอาศัยดำรงชีวิตๆ คนเกิดมาต้องมีหน้าที่ หน้าที่อะไร หน้าที่คือหาอยู่หากินไง หน้าที่เพื่อดำรงชีวิตนี้ไง ดำรงชีวิตนี้ให้อยู่รอดไง แล้วดำรงชีวิต ดูสิ เวลาคนที่เห็นภัยในวัฏสงสารมาบวชเป็นพระ พระก็ต้องมีอาชีพ เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้งๆ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ สอน ๓ โลกธาตุนะ เวลาสอน ๓ โลกธาตุ เวลาบวชพระมาแล้วให้มีปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ บาตรคืออาหาร เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง บิณฑบาต ไตรจีวร ไตรจีวรนั้นมันก็เป็นเครื่องนุ่งห่ม สิ่งที่อาศัยอยู่โคนไม้ สิ่งที่ยารักษาโรค น้ำมูตรน้ำคูถ สิ่งที่รักษาโรค ปัจจัย ๔ คนเกิดมาต้องมีหน้าที่เลี้ยงชีวิต เลี้ยงชีวิตของเรา ถ้าเลี้ยงชีวิตของเรา เลี้ยงไว้ทำไม

ถ้าเลี้ยงไว้ทางโลก เลี้ยงไว้แล้วคร่ำครวญไง เวลาคร่ำครวญ คร่ำครวญกับความทุกข์ความยากไง มีแต่ความทุกข์ความยาก มีแต่ความขาดตกบกพร่อง มีแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากทิ่มแทงหัวใจไง เวลาศึกษาธรรมะก็เป็นโลกธรรม ๘ โลกธรรม ๘ เวลาสรรเสริญ เหมือนกับลมพัด ลมพัดมาเย็นสบายอยู่พักหนึ่ง เวลาติฉินนินทานะ เหมือนเสาเข็มปักลงไปในหัวใจ เจ็บช้ำน้ำใจๆ เห็นไหม โลกธรรม ๘

โลกธรรม ๘ นะ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ สิ่งนั้นมันก็เป็นธรรมชาติ มันก็มีของมัน แต่คนกระเสือกกระสน แต่คนที่มีธรรมๆ นะ หน้าที่ตำแหน่งมันมาโดยสัจจะ ธรรมจัดสรร เวลาธรรมจัดสรรนะ คนเราเกิดมามีอำนาจวาสนา มีบุญกุศลของเขา เขาทำสิ่งใดเขาประสบความสำเร็จของเขา นั่นคืออำนาจวาสนาของเขา แล้วอำนาจวาสนานี้ก็ไม่ใช่ว่าอำนาจวาสนาลอยมาจากฟ้า

อำนาจวาสนาก็ดูสิ พระโพธิสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อำนาจวาสนามาจากไหน ก็มาจากการเสียสละของท่าน พระเวสสันดรเสียสละทั้งลูก เสียสละทั้งเมีย เสียสละทั้งนั้นเลย ความเสียสละนั้นเสียสละด้วยสติด้วยปัญญานะ ไม่ใช่เสียสละด้วยความสลบไสล ด้วยความไม่มีสติปัญญา ด้วยความเขาบีบบังคับ...ไม่ใช่ นี่ตั้งใจ แล้วต้องจงใจอยากทำ ถ้าอยากทำขึ้นมานะทำเพื่ออะไร ทำเพื่ออะไร ทำอย่างนี้แล้วเห็นแก่ตัวไหม

เวลาเห็นแก่ตัวไง เพราะตัวเองไม่ได้ทุกข์ไม่ได้ยาก เอาของคนอื่นไปเสียสละไง ของใครก็แล้วแต่ ใครได้สิ่งใดมามันต้องมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งนั้นน่ะ แล้วผู้ที่เป็นสุภาพบุรุษ สิ่งใดถ้าเป็นหน้าที่การงานที่ออกหน้า เราเป็นหัวหน้า เราจะจัดการเอง สิ่งใดที่เป็นความลงทุนลงแรง เราจะจัดการเอง สิ่งใดที่เป็นที่เสี่ยงภัย เราจะเป็นผู้ที่เสี่ยงเอง ผู้ที่เป็นสุภาพบุรุษเขาทำของเขาอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีความคิดอย่างนี้หรือ ท่านมีความคิดอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาเรา เพราะเราไม่มีหน้าที่อย่างนั้น เราไม่มีโอกาสได้ทำอย่างนั้น แล้วเราก็เข้าข้างตัวเอง กิเลสมันก็ยังแหย่เรา “มันเกินไปหรือเปล่า มันทำได้หรือเปล่า มันจริงไปหรือเปล่า” นี่ไง กิเลสมันยังแหย่เราเลย เพราะเราทำไม่ได้อย่างนั้นไง

ถ้าเราทำได้อย่างนั้น เราเป็นญาติกันโดยธรรม ญาติกันโดยธรรมนะ ถ้าญาติกันโดยธรรม มันเป็นความเสมอภาค แล้วถ้าจิตใจใครที่สูงส่ง จิตใจใครที่ดีงาม สาธุ เวลาคนเกิดมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปโปรดพระมารดา ลงมาจากดาวดึงส์ ประชาชนที่นั่น พวกคหบดีเห็นแล้วมันอลังการมาก ทุกคนก็ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ อยากปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากจะมีอำนาจวาสนาแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อธิษฐานขอให้เป็นพระโพธิสัตว์ จะมีอำนาจวาสนาต่อไปข้างหน้า อธิษฐานไว้มากมายเลย แล้วก็ทำไปๆ ไง นี่ไง การอธิษฐานว่าอยากเป็นพระโพธิสัตว์ อยากจะเสียสละ อยากจะทำคุณงามความดี นี่ไง จิตใจที่มันทำงานดีขึ้นไปเรื่อยๆ ทำคุณงามความดีพัฒนาหัวใจขึ้นไปเรื่อยๆ พันธุกรรมของมันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ

ถ้าเราเกิดในสังคมใด สังคมที่มีน้ำใจต่อกัน มีความสุข ความสงบ ความระงับ สังคมนั้นประเสริฐมาก แล้วเราก็ปรารถนาอยากได้สังคมนั้นๆ ไง แล้วถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้พยากรณ์ มันก็ยังถึงสังคมนั้น เราก็ยังมีโอกาส เราจะสิ้นภพสิ้นชาติในชาติใด

เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นสัจจะ เป็นความจริง นี่เราเสมอกันๆ ไง แต่สิ่งที่เวลามีการกระทำๆ เห็นภัยในวัฏสงสาร เวลามาวัดมาวามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ สังคมไทยๆ ผู้ที่ชรา ผู้ที่อายุมากขึ้น เขาจะหาสมบัติเตรียมตัวของเขาแล้ว เตรียมตัวของเขา หาความสงบระงับไง เวลาขันธมารๆ เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมามันบีบคั้นหัวใจทั้งนั้นน่ะ แล้วกิเลสมารๆ ความวิตกกังวลในหัวใจนี่กิเลสทั้งนั้นน่ะ เรามาเตรียมตัวเตรียมใจของเรา เรามาพัฒนาหัวใจของเรา มาวัดมาวาเพื่อประพฤติปฏิบัติ เพื่อหาสมบัติของเรา ถ้าเป็นสมบัติของเราๆ ไม่ต้องตายไปแล้วให้เขามาเคาะโลงๆ เราฝึกหัดที่นี่ เราทำของเราที่นี่ เราพัฒนาหัวใจเราที่นี่ ถ้ามันทำที่นี่ เวลาคนไปวัดไปวาไปจำศีล ไปภาวนาก็เพื่อเหตุนี้

ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสารนี่เสียสละเลย ฆราวาสธรรมๆ สิ่งที่เป็นฆราวาส เราเสียสละแล้ว เราบวชมาเป็นนักรบๆ เวลานักรบขึ้นมา เราออกทัพจับศึกขึ้นมาก็ออกทัพจับศึกในหัวใจนี่ไง มีศีล มีสมาธิ มีปัญญาฟาดฟันกับไอ้ความทุกข์ร้อนในหัวใจ ฟาดฟันกับไอ้ความวิตกกังวลในหัวใจ เวลาจะภาวนาก็ “แหม! เดี๋ยวก็ทำได้” เวลาจะไม่ทำมันพูดไปหมดว่าทำได้ทั้งนั้นน่ะ เวลาเข้าไปสู่ทางจงกรมมันทำไม่ได้

เวลามันคิด มันคิดไปทั้งนั้นน่ะ เวลากิเลสมันผัดวันประกันพรุ่งในหัวใจนี่ไง “ไว้เมื่อนั้นก่อน ไว้ให้อายุมากก่อน อายุมากก่อนแล้วใช้ชีวิตของเราเพื่อหาความรู้ของเราก่อน เวลาแก่เฒ่าขึ้นมาแล้วค่อยไปวัด” เวลาไปวัดขึ้นมาก็ “เอาไว้ก่อนมันยังไม่ถึงเวลา” ผัดวันประกันพรุ่งไปตลอด กิเลสมันเป็นอย่างนี้ มันก้าวหน้าเราอยู่ก้าวเดียวเท่านั้นน่ะ แล้วเราตามไม่ทัน ความคิดเรานี่แหละ ใครศึกษา ใครมีมุมมองอย่างใด วิชาชีพอย่างใด เกิดมา โลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต กิเลสมันก้าวหน้าอยู่ก้าวหนึ่ง ไม่ทันมันหรอก ไม่ทันมัน แล้วไม่ทันมัน ไม่ทันที่ไหน

เวลารัตตัญญู ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เห็นชีวิตมาแล้ว ก็มองไปสิ เดี๋ยวมันจะเป็นแบบเรา ไอ้คนมีอายุก็มองเด็กๆ นั่นแหละ มันมองไปอย่างนั้นน่ะ เพราะรัตตัญญูๆ ผู้มีประสบการณ์เขารู้เขาเห็นของเขา เราก็เป็นอย่างนี้มา เราก็ผัดวันประกันพรุ่งมาตลอด แล้วถึงเวลาแล้วเราก็มานั่งคอตกอยู่นี่ เวลามันขันธมารๆ ไง กิเลสมารมันบีบมันคั้นขึ้นมาไง ถ้ามันบีบคั้นขึ้นมา มันทุกข์มันยากขึ้นมาไง ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติก็เกิด แก่ เจ็บ ตายไง

แต่ถ้ามันพิจารณาของเรา เรามีสติมีปัญญาของเรา เราจะรื้อค้นของเราแล้ว งานสิ่งใดเราก็ทำมาทั้งนั้นน่ะ เราเกิดมา เราทำสิ่งใดทั้งนั้นน่ะ งานในพระพุทธศาสนา ในงานของพระ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้เบียดเบียนกัน ไม่ให้ทำร้ายกัน วิสาสะได้นะว่าพระ วินัยบางอย่าง วินัยคือวินัย แต่ของใช้ของสอย ของของสงฆ์ วิสาสะ คือแลกเปลี่ยนกันได้ แต่ไม่ให้แลกเปลี่ยนกับฆราวาส ไม่ให้แลกเปลี่ยนกับใครทั้งสิ้น แต่วิสาสะได้ วิสาสะได้ การวิสาสะ เรายังดูแลกัน เรามีน้ำใจต่อกัน เวลาเราบวชมาแล้วเราพยายามจะค้นคว้าหาสัจจะความจริงของเรา เราเสียสละฆราวาสมาแล้ว เราเสียสละความเป็นอยู่ของโลกมาแล้ว เราเสียสละ

เกิดมาเป็นคนไทยต้องรับกฎหมายไทย บวชเป็นพระต้องมีธรรมวินัยด้วย มีธรรมวินัยแล้วยังมีกฎหมายบังคับอีกชั้นหนึ่ง มี ๒ ชั้น ๓ ชั้นขึ้นมา อันนั้นเป็นทางโลก แล้วก็โอดโอย ทำนู่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้

ถ้าดูใจดวงเดียวทำได้ ดูหัวใจดวงเดียว รักษาหัวใจของตนคนเดียว พอมันทำขึ้นไปแล้ว ในปาราชิก ๔ อวดอุตตริมนุสสธรรม ธรรมที่เหนือมนุษย์ไง มนุษย์ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ความรู้สึกนึกคิดของคนเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่เวลามันเป็นจริง แม้แต่อภิญญา แม้แต่ฌานโลกีย์ มันก็อวดอุตตริแล้ว มันเป็นสิ่งที่เหนือมนุษย์แล้ว

แล้วเวลามนุษย์นะ มีศีล มีสมาธิ แล้วเกิดปัญญา เกิดมรรคเกิดผลในใจ นั่นมันเหนืออะไรน่ะ นี่ไง สิ่งที่มันจะเหนือธรรมชาติๆ เหนือธรรมชาติเพราะอะไร เพราะมันเป็นอกุปปธรรมไง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายต้องเป็นอนัตตา สรรพสิ่งนี้เป็นอนัตตา สิ่งที่เป็นอนัตตา สิ่งที่มันแปรปรวนของมัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันเป็นสัจจะเป็นความจริงแน่นอน เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมชาติ จริงๆ ของมันแน่นอนอย่างนี้อยู่แล้ว แล้วเราก็เกิดมาในธรรมชาตินี้ แล้วกิเลสมันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งในหัวใจนี้ แล้วเรามีสติมีปัญญาของเรา เราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรมๆ เราเกิดมาเสมอภาคเหมือนกัน แต่มันแตกต่างกันที่วุฒิภาวะ แตกต่างกันที่มุมมองในหัวใจน่ะ มันแตกต่างกันตรงนั้นไง ถ้ามันแตกต่างกันตรงนั้น คนที่มีสติมีปัญญาพยายามขวนขวายของเขา พัฒนาของเขา

หน้าที่การงานก็ทำอยู่แล้ว คนดีจากโลก บวชเป็นพระก็ต้องเป็นคนดีในพระ คนสำมะเลเทเมาจากโลก บวชมาเป็นพระมันก็สำมะเลเทเมาในพระ เพราะมันมาจากใจดวงนั้นน่ะ มันมาจากจริตนิสัยอันนั้นน่ะ ถ้านิสัยอันนั้นมันจริงจังขึ้นมาแล้วมันอยู่ที่ไหนมันก็จริงจังไง ถ้าอยู่เป็นโลกมันก็ประสบความสำเร็จทางโลก ถ้ามาบวชเป็นพระก็พยายามขวนขวาย มันก็มีสัจจะไง คนถ้าไม่มีสัจจะ เวลาทำสิ่งใดมันจะมีเป้าหมายไหม

ดูสิ อธิษฐานบารมีๆ ไง บารมี ๑๐ ทัศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมบูรณ์ ท่านมีเป้าหมายของท่าน แล้วท่านพยายามทำเข้าสู่เป้าหมายนั้น แล้วเรามีเป้าหมายของเราหรือไม่ ถ้าเรามีเป้าหมายแล้วเราต้องตั้งสัจจะ เราต้องทำของเรา

เวลานั่งสมาธิภาวนา เรามีเป้าหมายของเรา เวลามีเป้าหมายของเราแล้วเราทำของเราโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก โดยการคาดการหมาย โดยอุปาทาน ทำสิ่งใดแล้วมันไม่ได้ผลหรอก แต่มันก็มีเป้าหมายอย่างนั้น ฝึกหัดดัดแปลงของเรา มีอะไรขาดตกบกพร่อง ออกจากการภาวนาแล้วก็มาทบทวนๆ ทบทวนแล้วมีความผิดสิ่งใด มีสิ่งใด เรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเราความมั่นคง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่านจนถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ เรามีประจักษ์พยานไง เรามีประจักษ์พยาน มนุษย์ทำได้ไง แล้วมนุษย์ขึ้นมา ถ้ามีจริงขึ้นมา ดูที่มนุษย์ทำแล้วมนุษย์มาสั่งสอนมนุษย์ไง

เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอนลูกศิษย์ลูกหาของท่าน ท่านคุ้มครองดูแลในใจของตนๆ ทั้งๆ ที่ท่านก็รู้ในใจของท่านใช่ไหม เพราะท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมาแล้ว กว่าท่านจะชนะใจของท่านเอง ควบคุมใจให้ได้เป็นสมาธิ เวลาฝึกหัดใช้ปัญญาๆ มันถึงเห็นความแตกต่างกัน แตกต่างแบบปัญญาทางโลกๆ โลกียปัญญาๆ ปัญญามันก็ใช้ปัญญาจริงๆ นั่นแหละ เราบอกว่าเราก็ใช้ปัญญากันแล้ว

ปัญญาของเรา เราตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นคือโลกนะ คำว่า “โลก” เกิดจากเรา จิตไม่ลงสู่สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นสากลไง สัมมาสมาธิมันมีอยู่แล้ว ในลัทธิศาสนาต่างๆ ในฤๅษีชีไพรก็มีอยู่แล้ว ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ธรรม ลัทธิศาสนาต่างๆ ในโลกมันมีมาอยู่ดั้งเดิมอยู่แล้ว ศึกษากันทั้งนั้นน่ะ แต่ความดั้งเดิมอันนั้นเป็นความดั้งเดิมที่เราไปศึกษาแล้ว อวดอุตตริมนุสสธรรม ธรรมที่เหนือมนุษย์ เราจะเทียบเคียงสิ่งนั้นไม่ได้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ บารมีเต็มมาแล้ว “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเขา ไปเทียบเคียงกับเขาแล้วมันไม่ใช่ความจริงๆ เพราะอะไร เพราะวุฒิภาวะที่มันมีคุณภาพมันรู้ได้ว่าอันนั้นมันไม่จริง ไม่จริงเพราะอะไร เพราะมันยังมีตัวตนอยู่ คำว่า “มีตัวตนอยู่” มันต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ การเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมชาติ การเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมชาติ ท่านจะหาสัจจะความจริง หาธรรมะเหนือโลก เหนือที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

เวลาไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ขึ้นมา เวลาทำสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมันก็มีของมันอยู่แล้ว ขนาดสัมมาสมาธินะ สัมมาสมาธิมันเป็นบาทฐานของมรรค เป็นบาทฐานของการฝึกหัดใช้ปัญญา เป็นบาทฐานพาจิตดวงนี้พ้นไปไง

เพราะสมาธิมันเกิดที่ไหน สมาธิไม่เกิดในตำราใช่ไหม สมาธิไม่เกิดที่ตัวอักษรใช่ไหม สมาธิมันต้องเกิดจากจิตสิ แล้วมันจิตของใครล่ะ จิตของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น จิตของครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ ถ้าไม่เป็นสมาธิขึ้นมา ฝึกหัดใช้ปัญญาแล้วไปไม่ได้ อย่างที่เราใช้ปัญญากันอยู่นี่ไง

เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยใช้ปัญญา ๗ ประโยค ๙ ประโยค ๑๐๐ ประโยคนั่นน่ะ เวลาวิเคราะห์วิจัยธรรมะมันกระจ่างแจ้ง มันทะลุปรุโปร่งไปหมด ทะลุปรุโปร่งไปโดยข้อเปรียบเทียบ ข้อความเห็นเปรียบเทียบในใจไง แต่มันไม่เป็นสมบัติของตนเสียเองไง ไม่เกิดจากใจ เกิดปัญญาภาวนามยปัญญาที่เกิดจากใจไง มันเกิดจากการเปรียบเทียบ ขันธ์ ๕ ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด ความคิดเป็นขันธ์ ๕ ที่เกิดจากจิต แต่ตัวจิตมันเป็นตัวจิต ถ้าสัมมาสมาธิมันเข้าไปสู่ตรงนั้นไง

แต่สิ่งที่มันมีอยู่ดั้งเดิม ลัทธิศาสนาดั้งเดิมที่เขามีอยู่ เขาก็เข้าสู่สมาธิของเขา เขาเข้าของเขา เข้าแล้วมันจินตนาการไง มันส่งออกไง มันคาดการณ์ไง โดยกำลังของสมาธิไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับอาฬารดาบส อุทกดาบส “เจ้าชายสิทธัตถะ เธอมีความรู้เหมือนเรา มีความเห็นเหมือนเรา เป็นศาสดาได้ เป็นผู้สอนได้”

เจ้าชายสิทธัตถะไม่สนใจ เจ้าชายสิทธัตถะทำออกมาแล้วมันไม่มีสิ่งใด เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มันต้องบอกสิ มันต้องบอกว่าไม่เกิดอย่างไร ไอ้ที่เกิดๆ มาแล้วมันก็รู้ บุพเพนิวาสานุสติญาณ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติของท่านเอง ท่านจะรู้ แต่ตอนนั้นท่านปฏิบัติเองมันยังไม่ได้ ไอ้เกิดมันเกิดอยู่นี่ ไอ้ไม่เกิดมันเป็นอย่างไรล่ะ

มันเกิดมาเกิดมาโดยเวรโดยกรรม เกิดมาโดยอวิชชา แล้วถ้ามันไม่เกิด มันไม่เกิดอย่างไรล่ะ แล้วมันยังไม่มีสิ่งที่ตอบสนอง มันจะเชื่อใครได้ล่ะ แล้วใครจะมารับรองค้ำประกันอย่างไรมันก็ไม่ใช่ความจริงของเราไง กาลามสูตรๆ ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้นไง เชื่อแต่การประพฤติปฏิบัติ ความจริงในหัวใจนี้ไง เวลาท่านพิจารณาแล้วท่านไม่เชื่อๆ

เวลามาค้นคว้า มาค้นคว้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองนะ อานาปานสติ จนจิตสงบระงับ ตอนนี้จิตสงบระงับขึ้นมา จิตสงบระงับแล้วเรามีสติปัญญา สัมมาสมาธิคือสติสมบูรณ์ เข้าสู่อัปปนาสมาธินะ สักแต่ว่ารู้ ชัดเจนมาก ไม่มีช่องว่าง ไม่มีสิ่งใดเข้ามาข้องแวะได้ จิตเป็นหนึ่ง ไม่พาดพิงอารมณ์ใดทั้งสิ้น ไม่ใช่อารมณ์ ไม่ใช่จินตนาการ ไม่ใช่อุปาทาน ไม่ใช่การคิดเอา ไม่ใช่ใดๆ ทั้งสิ้น แต่มันเป็นอะไรล่ะ ไม่ใช่อะไรเลย แล้วมันเป็นอะไรล่ะ ก็เป็นสัมมาสมาธิไง

แล้วสัมมาสมาธิ พวกเราพูดกันจนเป็นของไร้ค่าไง เหยียบย่ำกัน ดูถูกเหยียดหยามกัน เย้ยหยันไง “สมถะไม่มีความจำเป็น สมถะไม่มีความจำเป็น” ดูถูกเหยียดหยาม เย้ยหยันกันไง ทั้งๆ ที่มันหาไม่เป็น ทั้งๆ ที่มันไม่รู้ แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านทำความจริงขึ้นมา พอความจริงขึ้นมา ฝึกหัดใช้ปัญญาๆ เวลาปัญญาเกิดจากสัมมาสมาธิ เกิดจากมรรคจากผลไง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ นะ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพยาน เวลาแสดงธัมมจักฯ ไป พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพยานไง เพราะพระอัญญาโกณฑัญญะมีความรู้จริงเห็นจริงขึ้นมาจากหัวใจนั้นไง “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงต้องดับสิ้นเป็นธรรมดา”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุทานเลยนะ “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” ผู้ที่เป็นพยานมีแล้วไง แล้วเวลาสั่งสอนไปๆ จนถึงสุดท้ายเวลาสั่งสอนพระสารีบุตร พระสารีบุตรไม่เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าด้วย เชื่อในใจของพระสารีบุตรเอง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พยากรณ์แล้วว่าใช่ นี่ไง เวลามันเป็นจริงๆ ขึ้นมา เป็นจริงแต่ละหัวใจ เป็นจริงเฉพาะใจดวงนั้น เห็นไหม นี่ไง ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

เราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรมนะ สัจธรรมมันมีของมันอยู่แล้ว ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าคนเชื่อ คนเชื่อแล้วคนพิจารณาของมันไป คนนั้นก็จะมีวาสนา ไอ้คนไม่เชื่อมันก็เกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่อย่างนี้ ไอ้ไม่เชื่อก็คือไม่เชื่อไป ไอ้เชื่อก็ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะมันยังไม่เป็นความจริง เชื่อแล้วต้องฝึกหัดประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วมันต้องเป็นความจริงด้วย ไม่ใช่ความเชื่อ

ถ้าเป็นความจริง ความจริงกลางหัวใจอันนั้นน่ะ สิ่งที่มันเกิดขึ้นกลางหัวใจอันนั้นน่ะ นั่นน่ะธรรมเหนือโลก นั่นน่ะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมอันนั้น เพราะธรรมอันนั้นทำให้ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคารพธรรมอันนั้นไง ธรรมที่ประเสริฐๆ ที่อยู่ในหัวใจของเราที่เราค้นคว้ากันอยู่นี่ไง ฟังธรรมๆ เพื่อเหตุนี้ เอวัง