เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๖ พ.ค. ๒๕๖o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ตั้งใจฟังธรรม สัจธรรม เราแสวงหาสัจธรรม สัจธรรมคือที่พึ่งอาศัยไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด มีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด แล้วธรรมมันอยู่ไหนล่ะ

เราแสวงหากัน แสวงหากันนะ เราแสวงหาธรรม สัจธรรมอันนั้นเป็นความจริง แต่ความจริงนี้เป็นนามธรรม คำว่า “นามธรรม” เข้ากับนามธรรมในหัวใจของเราไง แต่ถ้าร่างกายนี้มันเป็นวัตถุนะ สิ่งที่เป็นวัตถุ เราแพ้ตัวเองตลอด เราแพ้ตัวเองตลอดเพราะเราแพ้ใจของเราไง เราทำสิ่งใด เราตั้งใจ เราปรารถนาอยากได้สมความปรารถนาสิ่งนั้น แต่ทำสิ่งใดแล้วไม่ประสบความสำเร็จเพราะจิตใจมันอ่อนแอไง ถ้าจิตใจมันเข้มแข็งๆ สัจธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายต้องเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายต้องเป็นอนัตตา เราก็แสวงหากัน เรามีการศึกษากัน เราเข้าใจกัน ทฤษฎีเราเข้าใจทั้งหมดแหละ สรรพสิ่งใดในโลกเป็นอนัตตา ถ้าอนัตตา อนัตตาเราก็เห็นทุกวัน เห็นทุกวันเลย แต่เราไม่เข้าใจมันเลย แล้วเราอยู่กับมันด้วย เราอยู่กับมันแล้ว สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนัตตา ความที่เป็นอนัตตาไป ความเป็นอนัตตาไป เราแพ้ตัวเราเอง เราแพ้ตัวเราเองเพราะสรรพสิ่งนี้มันแปรสภาพไป พอแปรสภาพไป ตอนที่แปรสภาพไป เราก็ไม่รู้ไม่เห็นมันไง

กิริยา คำว่า “กิริยา” คนเรานะ ทุกข์ ทุกข์คือความทนอยู่ไม่ได้ สัจธรรมนะ ทุกข์คือความทนอยู่ไม่ได้ สิ่งที่เราทนไม่ได้คือทุกข์ทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่เราทนอยู่ไม่ได้ เราเป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นกิริยา พอทุกข์ เราก็ขยับเขยื้อน เรานั่ง พอเรานั่งเมื่อย เราก็นอน เรานอนเมื่อย เราก็เดิน เราเดินนะ สิ่งนี้กิริยามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กิริยาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเลยมองไม่เห็นไง ทั้งๆ ที่เป็นความจริงๆ ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเราแสวงหากัน เราประพฤติปฏิบัติมาให้เห็นไตรลักษณะ ให้เห็นความเป็นอนัตตาๆ ทั้งที่มันก็เป็นอนัตตาอยู่ในตัวมันเองนั่นแหละ แต่เราไม่เห็น เพราะเราไม่รู้ ทั้งๆ ที่เราศึกษามีความรู้มาก เราเข้าใจไปทั้งหมดเลย แต่ไม่รู้ ไม่รู้เพราะอะไร ไม่รู้เพราะเราเห็นโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง เวลาศึกษาๆ ก็อยากรู้ ศึกษาก็อยากรู้ อยากเป็นความจริง ถ้าอยากเป็นความจริง ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาศึกษาธรรมสัจธรรมอันนั้น พอฟังอันนั้นแล้วมันสะเทือนใจไง

เวลามีความทุกข์ความยากขึ้นมา ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า น้ำหูน้ำตาไหล สัจธรรมเป็นเช่นนี้เอง สัจธรรมเป็นเช่นนี้เอง อันนี้มันเป็นสุตมยปัญญานะ ปัญญาอย่างนี้คือปัญญาการศึกษา

เราศึกษามา ศึกษามาทำไม ศึกษามาให้ประพฤติปฏิบัติใช่ไหม เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันรู้จริงขึ้นมา เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกไง เวลาหลวงตาท่านพูด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกให้แก่สันทิฏฐิโก ให้รู้กับความรู้จำเพาะตน ให้รู้กับความเป็นจริงอันนั้น มันถึงไปเข้ากับเข้ากาลามสูตรไง กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อถือสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์ของตน

อาจารย์ของตน เวลาอาจารย์เทศนาว่าการนะ เราฟังนี่เป็นของเราหรือเปล่า เราฟังมาเป็นคติธรรมไง เราฟังแล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เชื่อผลของการปฏิบัตินั้น ให้เชื่อผลของความจริง แต่วุฒิภาวะเราอ่อนด้อย เราทำสิ่งใดไปเราว่าสิ่งนั้นเป็นจริง สิ่งนั้นเป็นจริงไง สิ่งนั้นใช่ๆ

ฉะนั้น หลวงปู่ดุลย์ท่านถึงบอกไง สิ่งที่เห็นนั้นจริงไหม จริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง

เห็นจริงไหม เห็นโดยอุปทานไง เห็นโดยสัญชาตญาณไง เห็นโดยธรรมชาติ ก็เห็นมันๆ ไง แต่ความจริงล่ะ ความจริงมันยังไม่เป็นความจริง ความจริงมานะ เวลาครูบาอาจารย์เรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านถึงสอนให้ทำความสงบใจเข้ามาก่อน ทำความสงบใจเข้ามาก่อน เพราะมันเป็นผลของวัฏฏะไง คนเกิดมามีทั้งธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ธรรมชาติของจิตมันส่งออก นี่ธรรมชาติของคนๆ ธรรมชาติของคน เรารู้โดยธรรมชาติสัจจะอันนี้ไง แต่ถ้าทำความสงบใจเข้ามา ทำความสงบของใจเข้ามา ใจมันสงบเพราะอะไร จิตที่เป็นสัมมาสมาธิไม่พาดพิงอารมณ์ใดทั้งสิ้น ไม่พาดพิงแม้แต่อารมณ์ที่ว่างๆ นั่นน่ะ

อารมณ์ที่ว่างๆ ถ้าความว่าง เราสร้างความรู้สึกว่าว่าง มันเป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์ ไม่ใช่ความจริง ถ้าเป็นความจริงมันไม่ใช่อารมณ์ ถ้าเป็นความจริงๆ ความจริง สัจจะความจริง ถ้าจิตตั้งมั่น จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่มันว่างๆ มันพาดพิงอารมณ์ความว่างแล้ว

ถ้ามันเป็นความจริงๆ มันเป็นความจริงในตัวของมันเอง ถ้าความจริงในตัวของมันเอง สัจธรรมความจริงมันทึ่ง มันมหัศจรรย์ของมันมาก เวลามหัศจรรย์ ถ้ามันรำพึงไปให้เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง เวลามันเห็นกาย มันสะเทือนกิเลส เวลาคนเห็นมันสะเทือนหัวใจนะ มันสะเทือนมากๆ สะเทือนเพราะมันสะเทือนกิเลสไง

แล้วเวลาสะเทือนกิเลส เวลาครูบาอาจารย์ท่านถามนะ เคยเห็นกิเลสไหม นักปฏิบัติเคยเห็นกิเลสของตัวเองไหม ไม่เห็น เห็นกิเลสของคนอื่นทั้งนั้นน่ะ นกขี้รดบนหัวคนนะ เห็นหมด ความผิดของคนอื่นเห็นหมด แต่ความผิดของตนไม่เห็น ไม่เห็น นี่ไง คือว่าไม่เห็นกิเลสไง

ฉะนั้น เวลาจิตสงบแล้ว เวลามันย้อนไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ที่มันสะเทือน มันสะเทือนกิเลสอย่างนั้น ถ้าสะเทือนกิเลส มันก็รู้จักกิเลสไง มันเห็นกิเลสไง เวลามันเห็นกิเลส เวลามันใช้สติปัญญาไป เวลาใช้สติปัญญาไป พิจารณาของมันไป มันสำรอกมันคายออกมาเห็นไหม เวลากิเลสมันตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนถึงเมตตาธรรมนะ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ชาวพุทธเราทั้งสิ้นไม่ให้เบียดเบียนกัน ไม่ให้ทำลายกัน ไม่ให้กระทบกระเทือนกัน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่นชมมาก ชื่นชมการฆ่ากิเลส

การทำที่เบียดเบียนไปกระทบกระเทือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้ทำเลย เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร แต่เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” ความรู้ในใจของพระอัญญาโกณฑัญญะไง รำพึงรำพันออกมา นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ ความปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ของท่าน เห็นไหม เวลาท่านค้นคว้าของท่านอยู่ ๖ ปี ลัทธิศาสนาใดก็ชื่นชมๆ ทั้งนั้นน่ะ เพราะว่าครูบาอาจารย์ท่านสอนลูกศิษย์ แล้วลูกศิษย์มีปัญญามาก ครูบาอาจารย์จะมีความชื่นชมมาก จะมีความสุขมาก เพราะว่าทฤษฎีของตน ปัญญาของตนได้มีคนรับช่วงต่อไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธมาตลอดเลย อาฬารดาบส อุทกดาบสบอกว่า “เธอมีความรู้เหมือนเรา เธอมีความเห็นเหมือนเรา เป็นอาจารย์สอนได้”

เจ้าชายสิทธัตถะปฏิเสธทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาเจ้าชายสิทธัตถะมาตรัสรู้เองโดยชอบ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณชำระล้างกิเลสนะ ดูสิ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติไปทั้งหมด มันยังไม่ใช่ ย้อนอดีตชาติ คำว่า “ย้อนอดีตชาติไป” จิตมันมีกำลังของมัน เห็นไหม นี่ไง เวลาจิตเป็นสัมมาสมาธิมันไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้ามันไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้นมันรู้ของมัน มันเห็นของมัน แล้วเห็นตามความเป็นจริงด้วย ถ้าเห็นตามความเป็นจริงด้วย เป็นบุพเพนิวาสานุสสติญาณ นี่มันเป็นอดีตชาติ เป็นอดีต เวลาจุตูปปาตญาณ จิตที่มันยังไม่สิ้นกิเลสไปแล้วมันยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ คนมีเวรมีกรรมอย่างนี้ต้องมีผลของมันอย่างนี้ นี่ไง ถ้าจิตมันไม่เป็นไปไง

เวลาอาสวักขยญาณ อาสวะคืออาสวะสิ่งที่เป็นอวิชชาในหัวใจอันนั้น เวลาชำระล้างกิเลสมันสำรอกมันคายออก แล้วมันจะมีอะไรต่อไปล่ะ มันจะมีอะไรต่อไปอีก ถ้ามันไม่มีอะไรต่อไป มันจบสิ้นกระบวนการอย่างนั้นไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เราตรัสรู้เองโดยชอบ” แต่มันเป็นความชอบในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แล้วใครเป็นพยานล่ะ ใครเป็นคนบอกล่ะ มันไม่ต้องมีพยานหรอก ไม่มีพยานเพราะอะไร เพราะในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นตรัสรู้แล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ธัมมจักฯ พอเทศน์ธัมมจักฯ ขึ้นมา เทวดา อินทร์ พรหมส่งข่าวเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ใครเป็นพยานน่ะ

เวลาความรู้ของเรา คนเรารู้หน้าไม่รู้ใจ แต่พวกเทวดา อินทร์ พรหมเขารู้ความคิดของคนนะ เทวดา อินทร์ พรหมเขาไม่เข้ามาใกล้มนุษย์หรอก กลิ่นคาวมนุษย์เหม็นมาก กลิ่นคาว ความเป็นกลิ่นคาว ความเป็นมนุษย์ แล้วความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง มันปลิ้นปล้อนในใจของมัน นี่กิเลสทั้งนั้นน่ะ เทวดาเขาก็รู้ของเขา แต่แก้ เขาแก้ไม่ได้ แก้อย่างไรล่ะ แล้วไปแก้ที่ไหนล่ะ เวลาแก้ก็วิ่งไปนู่นน่ะ ไปแก้ข้างนอกไง เห็นความผิดคนอื่นทั้งหมด เห็นความชั่วร้ายของคนอื่นทั้งหมด แต่ความชั่วร้ายของตนไม่เห็น แต่ความชั่วร้ายของตนไม่เห็น เวลาตัณหาความทะยานอยากมันคิดขึ้นมาแล้วมันเหยื่อล่อ พอเหยื่อล่อ เราก็ตามเหยื่อมันไปไง เพราะเราคิดถูกคิดดีไง เพราะเราเป็นคนคิดไง มันเร้าในหัวใจไง ตามมันไปๆ เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอาสวักขยญาณ ทำลายอวิชชาทั้งหมด นี่ไง ทำลายอวิชชา อวิชชา มรรคญาณอันนี้ เทวดา อินทร์ พรหมที่มาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการได้พระอัญญาโกณฑัญญะ “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” ถ้ามันพูดกัน พูดกันก็เป็นพยานไง มันมีพยานรับรู้แล้วไง ถ้ามีพยานรับรู้ พูดกันมันมีพยาน ไม่ใช่พูดลอยๆ อยู่คนเดียวใช่ไหม แล้วพูดลอยๆ อยู่คนเดียว คนอื่นไม่รู้ด้วยใช่ไหม แล้วมันรู้ไม่ได้ไง รู้ไม่ได้เพราะเขาไม่มีวุฒิภาวะที่จะรู้ได้ไง

แต่ถ้ามันเป็นความรู้จริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เราตรัสรู้เองโดยชอบ” ความชอบธรรมอันนั้น ความชอบธรรมอันนั้นไง นี่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่นชมตรงนี้ไง เพราะความชอบธรรมอันนี้เวลามันฆ่ากิเลสแล้วมันไม่สะเทือนใครไง มันสะเทือนกับพญามารในใจของเราเท่านั้นไง มันสะเทือนกับครอบครัวของมารไง ครอบครัวของมารที่มันครอบคลุมไง มันมีปู่มีย่านะ มันมีลูกมีหลานนะ มันมีเหลนมีโหลนนะ แล้วของเราแค่ไอ้เด็กน้อยๆ ไอ้ลูกหลานของมันแค่อารมณ์ความรู้สึก เรายังรู้มันไม่ได้ เรายังเห็นมันไม่ได้ แล้วบอก “เห็นสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔”

สติปัฏฐานของใครสติปัฏฐาน ๔ ของกิเลสไง กิเลสบังเงา อ้างธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทำทฤษฎี แล้วก็ตามรูปแบบนั้น เดินตามรูปแบบนั้นมันก็อยู่ในคอกนั้นน่ะ มันไปไหนไม่รอดหรอก แต่ถ้าเป็นความจริงๆ นะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน

เราแพ้ภัยตัวเราเองนะ เราต้องการสิ่งต่างๆ ทั้งสิ้น กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันต้องการ แล้วเราก็ตามมันไปทั้งนั้นน่ะ เราแพ้ภัยตัวมันเอง ทั้งๆ ที่เราเกิดมาทุกคนนะ ๑ ชีวิต ๑ ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายไป ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ชีวิตนี้ ไม่มีสิ่งใดหรอก ไม่มีสิ่งใดรอดพ้นไปได้ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด แล้วชีวิตนี้ทำอะไร เกิดมาแล้วกิเลสมันครอบงำใช่ไหม ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัย เวลาทำหน้าที่การงานของเรา ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัย เราต้องแสวงหามา หลวงตาท่านสอนประจำ ใครๆ ก็ว่าทำงานนี้หนักหนาสาหัสสากรรจ์นะ แต่ยังไม่เคยภาวนา อย่าเพิ่งพูด

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราภาวนา ท่านสละชีวิตของท่านเลย งานที่สละชีวิตมีสิ่งใดบ้าง เว้นไว้แต่ทหาร ทหารเวลาเขารบกัน เขาก็สละชีวิตของเขาเหมือนกัน แต่การสละชีวิตเขาสละชีวิตป้องกันประเทศ ไอ้เราสละชีวิตเป็นหน้าที่การงานของเรา หน้าที่การงานที่มันสมัครใจที่มันจะทำ

นี่ไง งานสิ่งใดที่ว่าหนักหนาสาหัสสากรรจ์ อย่าเพิ่งไปน้อยเนื้อต่ำใจ เวลาประพฤติปฏิบัติเอาชนะตน นี่เราแพ้ภัยตนเอง นั่งสมาธิก็แพ้มัน เวลาใช้ปัญญาก็แพ้มัน แพ้มันทั้งนั้น ผัดวันประกันพรุ่ง เราคือเราไง เดี๋ยวเมื่อนั้น เดี๋ยวเมื่อนั้น เดี๋ยวเมื่อนั้น แล้วเราก็แพ้ตัวเรามาตลอดไง แล้วเราจะชนะได้อย่างไร เราแพ้เราก็แพ้กิเลสไง แล้วกิเลสก็ตัวอ้วนขึ้นเรื่อยๆ ไง เพราะเราคิดอย่างนี้มาตลอดไง แต่เรามีครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ตอกย้ำๆ เรา ให้เราเข้มแข็งขึ้นมา

เวลาสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง เราต้องชราคร่ำคร่าเป็นธรรมดา ชีวิตของเราต้องชราคร่ำคร่าเป็นธรรมดา เราก็เหนี่ยวรั้งมันไว้ ไอ้นี่คือวัตถุธาตุนะ คนเกิดมามีทั้งธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ โดยธรรมชาติ มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เวลาธาตุ ๔ ธาตุ ๔ ก็ร่างกายนี้ เวลาขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือจิตใจของเรานี้ ถ้าจิตใจของเรานี้ มันก็เหมือนกับรถกับผู้ขับรถ รถก็คือธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ถ้ารถ รถมันต้องเข้มแข็ง รถมันต้องแข็งแรง รถมันต้องคุณภาพ สมรรถภาพมันต้องสุดยอด แล้วรถของเรามันพิการ รถของเรานี่สุขภาพกาย

แล้วสุขภาพจิตล่ะ เวลาสุขภาพจิต สุขภาพจิต คนขับรถสอบใบขับขี่ได้หรือเปล่า มีใบขับขี่ไหม ขับรถนี่ มีปัญญาไหม รู้กฎจราจรไหม ไม่รู้สิ่งใดเลย แล้วพารถไปไหน นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตของเราก็เหมือนกันไง ชีวิตของเรานะ เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษามา เราก็เข้าใจกฎจราจรนั้นไง แล้วเราพารถเราไปล่ะ แล้วอุบัติเหตุล่ะ แล้วเหตุการณ์เฉพาะหน้าล่ะ นี่ไง ถ้าปัญญามันเกิดขึ้น ปัญญามันเกิดขึ้นอย่างนี้ ถ้าปัญญาเกิดขึ้นอย่างนี้ ถ้าเราเข้าใจ นี่เราเข้าใจนะ นี่เข้าใจบุคลาธิษฐาน ธรรมาธิษฐาน ไอ้นี่เป็นตัวอย่างทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาจริงๆ เราจะรื้อค้นของเราเองล่ะ

รู้มาก ศึกษามามาก เวลารู้สิ่งใดก็เทียบเลย อย่างนี้ใช่อย่างนั้น อย่างนี้ใช่อย่างนั้น เปรียบเทียบว่าใช่หมด แต่ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้า เจ้าจะเกิดบนใจของเราอีกไม่ได้เลย”

แล้วเราล่ะ มารเกิดบนใจ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ นี่ปฏิสนธิจิต วิญญาณในปฏิสนธิ อวิชชามันถึงมาเกิดเป็นเรา เวลาเกิดเป็นเรา สถานะ พอเกิดเป็นเรา ส่งออกหมดโดยธรรมชาติ แล้วมีสิ่งใดที่มันทวนกระแสกลับบ้างล่ะ มีอะไรที่ทวนกระแสกลับ ปัญญาที่ย้อนกลับมันมีอยู่ที่ไหน

เวลาปัญญา เวลาย้อนกลับ ปัญญาภายนอก ภายใน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน อายตนะภายนอก อายตนะภายใน สิ่งที่เกิดขึ้นจากภายนอก สิ่งที่เกิดขึ้นจากภายใน เราคิดเองหมดล่ะ เราจินตนาการหมดล่ะ แล้วก็บอกว่าเหมือนกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มันไม่จริง มันไม่จริงเพราะอะไร มันไม่จริงเพราะครูบาอาจารย์ที่รู้จริงท่านมี สิ่งนั้นเป็นจริงไหม ถ้าเป็นจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็เป็นความจำทั้งนั้นน่ะ ความจำไม่ใช่ความจริง

เราจำเขามา พอจำขึ้นมา กิเลสมันรู้โจทย์หมดแหละ เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสก็ศึกษาด้วย เวลาปฏิบัติไป กิเลสมันก็จัดรูปแบบให้หมดเลย แล้วปฏิบัติไปก็เป็นอย่างนั้นหมดเลย แล้วมันเป็นความจริงไหม จริง

หลวงปู่ดูลย์บอกว่า เห็นจริงไหม จริง แต่มันไม่จริง ความเห็นจริง เห็นจริงๆ แต่มันไม่จริง ไม่จริงเพราะมันไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ความจริงเพราะอะไร เพราะอวิชชาในหัวใจของเรามีไง

แต่ถ้าจะเป็นความจริงๆ นะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมาแล้ว หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านลองผิดลองถูกมามากแล้ว เวลาจะเอาจริงๆ ขึ้นมา ท่านมากำหนดทำความสงบของใจของท่านเข้ามา แล้วพอมันเห็นสติปัฏฐานตามความเป็นจริงมันสะเทือนกิเลสอย่างที่ว่านี่ มันสะเทือนกิเลส

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านสนทนาธรรมกับหมู่คณะ เวลาเจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ ท่านต้องการให้กรรมฐานตรวจสอบกัน ต้องการสัจจะความจริงไง เวลาคุยธรรมะกันๆ ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงก็ลงความจริงวันยังค่ำ มันจะจริตนิสัยอย่างใด มันมีความรู้ความเห็นอย่างใดขึ้นมา อริยสัจมันมีหนึ่งเดียวเท่านั้นน่ะ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สัจจะความจริง บุคคล ๔ คู่ ใจมันต้องขึ้นไป โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มันต้องเป็นความจริงของมัน จะมาแนวทางไหนก็แล้วแต่ เวลาปัญญาวิมุตติ พระสารีบุตรเป็นปัญญาวิมุตติ เวลาท่านตรัสรู้ขึ้นมา ท่านตรัสรู้ด้วยปัญญาของท่านนำ แต่ท่านก็มีมรรคสมบูรณ์ของท่าน ปัญญาวิมุตติ ดูสิ ปัญญาท่านเลอเลิศมาก เวลาพระโมคคัลลานะเจโตวิมุตติ เพราะท่านกำหนดด้วยมีฤทธิ์มีเดชของท่าน ด้วยหัวใจของท่าน เวลาท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ท่านก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน

เวลาพระอรหันต์ท่านเถียงกันด้วยอริยสัจสัจจะความจริง ไม่มีอะไรขัดแย้งกันเลย แต่ถ้าเป็นความชำนาญ เอตทัคคะแต่ละองค์ ความถนัดของแต่ละองค์มันไม่เหมือนกัน แต่อริยสัจมันมีอันเดียวกัน

ฉะนั้น เวลาสนทนาธรรม ในสมัยพุทธกาล เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ ออกพรรษาแล้วจะไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกพรรษาแล้ว หรือใครที่ประพฤติปฏิบัติจะไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตพระป่าเรา

ถ้าสมัยครูบาอาจารย์ท่านยังดำรงชีพอยู่ ใครๆ ก็จะไปกราบคาราวะท่าน ใครๆ ก็จะไปกราบคาราวะท่าน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ ก็ไปเอากำลังใจ ไปหาท่าน ไปอยู่กับท่าน ให้ท่านคอยชี้ความบกพร่องของเรา ให้ท่านชี้ทางของเราผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ผู้ที่ปฏิบัติเก่า เราพิจารณาของเราไป มันขาดตกบกพร่องอย่างใด ไปหาท่าน ไปหาท่าน ท่านตรวจสอบให้ ท่านแก้ไขให้

นี่ไง สมัยพุทธกาล เวลาออกพรรษาแล้วเข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไปตรงนี้แหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ คำว่า “พยากรณ์” คือว่าปฏิบัติอย่างไร เวลาผู้ที่ปฏิบัติไปแล้วเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครเป็นผู้ทรมานมา เวลาผู้ที่สำเร็จ ปฏิบัติแล้วมีความรู้แจ้ง ท่านจะถามเลยว่า ใครเป็นคนทรมานมา ใครทรมานมา ใครทรมานมา การทรมานคือทรมานจิต ทรมานกิเลส ทรมานตัณหาความทะยานอยากที่มันอยากได้ อยากดี อยากเด่น มันแซงหน้าแซงหลังนั่นน่ะ

พระกัจจายนะ เวลาท่านฝึกหัดจนพระโสณะเป็นพระอรหันต์ ให้พระโสณะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระโสณะอยู่กับพระกัจจายนะ พระกัจจายนะเทศนาว่าการอบรมจนเป็นพระอรหันต์นะ เวลาพระโสณะก็อยากจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน ท่านมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อยู่ในที่พักที่เดียวกัน เพราะมาจากชนบทไกลมาก ให้สาธยายให้ฟัง

คำว่า “สาธยายให้ฟัง” ก็คือปฏิบัติมาอย่างไรนั่นแหละ

แล้วเวลาพระโสณะสาธยายให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสาธุ สาธุนะ พระโสณะมาขอพร ขอพรว่า ถ้าชนบทประเทศอยากจะบวชพระ ดูสิ พระโสณะจะบวชพระต้องพระ ๑๐ องค์ขึ้น พระต้อง ๑๐ องค์ รอแล้วรอเล่ากว่าจะได้ ๑๐ องค์ ๔ ปี ๕ ปี เพราะมันเป็นชนบทประเทศ

นี่มัชฌิมา มัชฌิมาคือในชมพูทวีป ชนบทประเทศก็ตั้งแต่ชายขอบนอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พรๆ คืออนุญาตหมดล่ะ แล้วพระกัจจายนะอยู่ในชนบทประเทศ มันเป็นภูเขา รองเท้าชั้นเดียวมันใส่แล้วมันคุ้มครองไม่ได้ จะขอหลายชั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาต อนุญาตพระโสณะนั่นน่ะ พระโสณะเป็นผู้มาขอพร

นี่เวลาคนทำดีๆ ใครเป็นคนทรมานมา พระกัจจายนะเป็นพระอะไร พระกัจจายนะเป็นพระอรหันต์ เวลาพระอรหันต์ทรมานมา ชี้ทางมาจนเป็นพระอรหันต์ แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ ก็อยากจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากจะเฝ้า อยากจะเห็น ผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ ผู้ที่ค้นคว้าสิ่งนี้มาไง แล้ววางธรรมวินัยนี้ไว้ นี่วางธรรมวินัย

เราเป็นชาวพุทธไง ชาวพุทธ ธรรมะ ศาสนาพุทธมันจะเกิดขึ้นมาได้เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ก็สัตว์โลกเรานี่แหละ แล้วเราก็เป็นสัตว์โลก เราเป็นมนุษย์นะ ผลของวัฏฏะนะ เกิดจากกรรมดีกรรมชั่ว กรรมดีกรรมชั่วเกิดมา ๑ อายุขัย แล้ว ๑ อายุขัย แพ้ภัยตัวเอง แพ้ภัยตัวเอง ไม่สามารถจะค้นคว้าสัจจะความจริงภายในได้ ถ้าเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา เราจะชนะตัวเราเอง ถ้าชนะตัวเราเอง เราจะมีสัจจะมีความจริง แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริงของเรา แล้วแก้ไขของเรา

หัวใจเรียกร้องความช่วยเหลือ เวลาเราเรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องความยุติธรรม เที่ยวไปหาเขา เรียกร้องความยุติธรรมนะว่าเราไม่ได้ความยุติธรรม แต่ในปัจจุบันนี้จิตใจมันเรียกร้องความยุติธรรมในหัวใจเรา เรียกร้องอิสรภาพในใจของเรา เรามีปัญญาไหม ไม่ต้องไปหาใครเลย ตั้งสติหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมา มันมีสติมีปัญญาขึ้นมา มันจะแก้ไขของมัน มันจะเกิดมรรคเกิดผล

ดวงใจดวงใดไม่มีมรรค ดวงใจดวงนั้นไม่มีผล ดวงใจดวงใดมีมรรค ดวงใจดวงนั้นจะมีผล มีมรรคมีผล เห็นไหม มันเรียกร้องความช่วยเหลือจากพฤติกรรมของเรา จากเจตนาของเรา จากความมั่นคงในใจของเรา เพื่อค้นหาความจริงในใจดวงนี้ แล้วเราจะผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เราจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในหัวใจของเรา พุทธะกลางหัวใจนี้ เราจะไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม กราบธรรม กราบธรรม เคราพธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจดวงนี้ เอวัง