เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ พ.ค. ๒๕๖o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ เราต้องฟังธรรมะฟังธรรมะเพื่อให้หัวใจเราฉลาดหัวใจเราว่า เราว่าเราฉลาด แต่เราฉลาดสู้กิเลสเราไม่ได้ กิเลสมันฉลาดกว่าเราถ้ากิเลสมันฉลาดกว่าเรากิเลสมันพาเราคิด กิเลสมันพาเราทำ พาทั้งหมดเลย

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา ธรรมะพาทำธรรมะพาทำโลกเขา ดูสิ ทางโลกเขาคุณภาพชีวิตของเขาเวลาเขามีความสุขกัน เขาไปกินข้าวนอกบ้านๆถ้ากินข้าวนอกบ้านแล้วต้องกินร้านอาหารห้าดาวสิบดาวด้วยแต่ของเรานะเรากินข้าวในครัว เราทำมาหากินของเราเอง เราเก็บยอดผัก เก็บผักตามพื้นบ้านมันสดๆเวลาเขาทำอาหารนะ อาหารที่มีรสชาติต้องคุณภาพ วัตถุดิบต้องสดใหม่ๆ

นี่ก็เหมือนกัน เราทำสดๆ ร้อนๆ นะความสดๆ ร้อนๆของเรา เราทำครัวของเราเอง เราทำอาหารของเรากินเอง ถ้าเราทำกินของเราเองเรามาวัดมาวาเรามาประพฤติปฏิบัติของเรามันก็เหมือนกัน

เวลาเราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนามันเป็นของของเราเอง สติปัญญาเวลามันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากเรานะ เวลาสติปัญญามันเกิดขึ้นมันจะภูมิใจมาก เวลามันภูมิใจนะ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวงเวลาใครทำความสงบของใจ มันมหัศจรรย์ ยิ่งปัญญามันเกิดยิ่งมหัศจรรย์ใหญ่เลย

แล้วปัญญาที่มันเกิดมหัศจรรย์นั้นมันยังเจือไปด้วยอวิชชานะ มันเจือไปด้วยความไม่รู้ของเรา ไม่รู้ของเราเพราะมันไม่รอบคอบไงพอไม่รอบคอบเหมือนจินตมยปัญญาจินตนาการมันยังมีความมหัศจรรย์ขนาดนั้น แล้วถ้าเกิดมันเป็นภาวนามยปัญญาปัญญาที่โลกุตตรปัญญาปัญญาที่จะพาพ้นจากโลก มันจะมีความมหัศจรรย์มันขนาดไหน

นี่ไง มันเหมือนกินอาหารนั่นน่ะ เราไปกินอาหารนอกบ้านๆ เราฟังธรรมๆ เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะเป็นธรรมชาติๆ ร้านอาหารมีกลาดเกลื่อนไปหมด เราจะเข้าร้านไหนก็ได้ เราจะแสวงหาสิ่งที่เราพอใจได้มากน้อยขนาดไหน

แต่เวลาเราจะทำอาหารของเรากินเองนะเราต้องฝึกหัดของเรา เราต้องทำอาหารขึ้นมาให้ได้ ถ้าทำของเราขึ้นมาได้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเราที่เราลงทุนลงแรงกันก็เพื่อเหตุนี้ เราอยากทำอาหารได้ เราอยากจะมีอาหารกินเอง เราจะทำเพื่อหัวใจของเราไง ถ้าทำเพื่อหัวใจของเรา มันต้องมีสติปัญญานะ

งานอย่างอื่นยังทำกันได้ ดูทางโลกดูสิ เราฝึกหัดเด็ก เด็กมันหยิบฉวยใหม่ๆ ขึ้นมาได้ โอ้โฮ! เราตบไม้ตบมือให้มัน มันดีใจของมันมากเลย พอมันโตขึ้น มันมีความรอบคอบมากขึ้น นี่ก็เหมือนกัน งานภายนอกๆ งานภายนอกคืองานอาชีพ สิ่งที่สัมมาอาชีวะ แม้แต่งานทางโลก

แต่ถ้าเป็นงานภายในงานภายในมันเป็นนามธรรมนะพอเป็นนามธรรมขึ้นมามันต้องมีสติปัญญาสมบูรณ์ๆเราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาใหม่ๆ ด้วยความจินตนาการของเราว่ามันจะเป็นอย่างนั้นๆ มันทำให้เราเกร็งไปหมดเลย ทำอะไรจะให้มันสมบูรณ์แบบๆ

มันไม่มีความสมบูรณ์แบบมาจากไหนหรอก จริตนิสัยของคน ถ้าจริตนิสัยของคน ใครมีจริตนิสัยอย่างไร ตรงกับจริตนิสัยของตัวทำได้ ให้มีสติปัญญาเท่าทันกิเลสของตัว ถ้ากิเลสของตัวกิเลสมันม้วนกิเลสมันอาย พอกิเลสมันม้วนกิเลสมันอายกิเลสมันม้วนลงเข้าไปสู่ฐีติจิตเราก็ได้ความสุขความสงบระงับอยู่พักหนึ่ง ถ้าเราเท่าทันกิเลสกิเลสมันม้วนตัวเลยล่ะ มันอายมันน่ะ มันอายมัน

เราศึกษาที่ไหน เราค้นคว้าที่ไหนเราหามาจากที่ไหน แล้วหามามันจะได้ประโยชน์กับเราหรือไม่ ถ้ามันจะได้ประโยชน์กับเรานะ ประโยชน์กับเราเป็นประโยชน์อย่างนี้ แล้วเวลาพูดถึงประโยชน์ๆนะ คนถ้ามีสติปัญญา ดูสิ เราทำหน้าที่การงานของเรา เราทำของเราขนาดไหนเราถึงได้ผลตอบแทน แล้วผลตอบแทนนี้มันอยู่ที่เขาวัดผลๆ ด้วยประโยชน์ที่มันจะได้ขึ้นมามันได้ตามเนื้อหาสาระไง

แล้วจะเอาประโยชน์ง่ายๆ มันก็เหมือนตอนนี้แชร์ลูกโซ่ๆ เวลาคนทุกข์คนจนก็โดนหลอก คนมีการศึกษาก็โดนหลอก คนจะสูงส่งขนาดไหนก็โดนหลอกเพราะอะไรเพราะกิเลสมันหลอก พอกิเลสมันหลอก ผลประโยชน์ตอบแทนมันได้อย่างนั้นจริงๆหรือ ผลประโยชน์ตอบแทนมันไม่ได้อย่างนั้นจริงๆถ้ามันได้อย่างนั้นจริงๆ เขาจะมาเจือจานเราหรือ

ใครที่ได้ผลประโยชน์ ดูสิดูการแข่งขันทางธุรกิจ มือใครยาวสาวได้สาวเอา ปลาใหญ่กินปลาเล็กใครมีอำนาจมีอิทธิพลมากน้อยขนาดไหน เขาจะยึดครองตลาดให้หมด เขาจะปล่อยให้ตัวเล็กตัวน้อยมีอาชีพหรือ ตัวเล็กตัวน้อยเดี๋ยวนี้อาชีพจะหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆเพราะปลาใหญ่มันกินปลาเล็กแล้วนี่ก็เหมือนกัน ในทางผลประโยชน์ ไอ้นู่นก็ ๗ เปอร์เซ็นต์๒๐ เปอร์เซ็นต์นั่นก็ว่าไป แล้ววุฒิภาวะเราก็เชื่อเขา เวลาเชื่อเขาๆ เชื่อใครคนที่จะหลอกก็คนในครอบครัวนั่นน่ะ พี่น้องกันก็ไปชักชวนกันมาแล้วเวลาคนใกล้ชิด เขาเอาคนใกล้ชิดนั่นแหละเอาคนใกล้ชิดนั่นน่ะไปชักนำกันมา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราจะไว้ใจใคร นี่กาลามสูตร กาลามสูตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อในการประพฤติปฏิบัติให้เชื่อแต่การขวนขวายของเรา ถ้าเราขวนขวายของเรา เราทำจริงทำจังของเราขึ้นมา ถ้าเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา จะมากจะน้อยขึ้นมา ด้วยความมุมานะด้วยความบากบั่นของเรา ด้วยอำนาจวาสนาของเรานะ

ดูสิ คนมีสติปัญญาขึ้นมาเราจะทำหน้าที่ของเรา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเราเราทำของเราๆเราทำของเรานะแล้วผลที่ได้ตอบแทนมามันอยู่ที่อำนาจวาสนา อำนาจวาสนาคือว่าเราไปเจอคนดี เจอสังคมที่ดี เวลาเจอสังคมที่ดีเห็นไหม

ทุกข์ของบัณฑิต ทุกข์ของบัณฑิตไม่ใช่อะไรเลย อยู่ใกล้คนพาล อยู่ใกล้คนพาล คนไม่มีเหตุไม่มีผล คนพาล นี่มันเป็นความทุกข์มากไม่มีเหตุมีผลคุยกันไม่รู้เรื่องไงแต่ถ้าเรามีบุญกุศลของเรา คนรอบข้าง คนของเรามันพูดกันรู้เรื่อง สิ่งที่รู้เรื่อง

นี่ก็เหมือนกัน เราทำหน้าที่การงานสิ่งใด ถ้าเราเจอหมู่คณะที่ดี เราเจอสังคมที่ดี สิ่งนั้นมันก็จะร่มเย็นเป็นสุขใช่ไหม เราไปเจอสังคมที่เอารัดเอาเปรียบกันสังคมที่เหยียบย่ำกัน อยู่ในสังคมอย่างนั้นถ้าอยู่ในสังคมอย่างนั้น เราทำดีขนาดไหนความดีก็ความดีของเราวันยังค่ำนั่นแหละ แต่ผลตอบสนองไง ทีนี้เราจะเรียกร้องแต่ผลตอบสนองผลที่เวลาเราทำแล้วต้องได้อย่างใจเราๆ

ถ้าเราทำกับคนดี ได้ดีแน่นอน เพราะคนดี เขาต้องการคนดีเพราะคนดีเขาเป็นธรรม เป็นธรรม ดีคือดี ชั่วคือชั่ว เขาแบ่งแยกได้ถูกต้องไอ้คนพาลๆ มันแบ่งดีแบ่งชั่วไม่ได้ มีแต่ผลประโยชน์ๆๆ เอาแต่ผลประโยชน์ จะดีหรือชั่วช่างมันไม่เกี่ยว แล้วเวลาสิ้นอายุขัยไปนะ เวลาไปเกิดในภพชาติใดก็แล้วแต่ ไอ้เวรกรรมนั้นมันตามไปทั้งนั้นน่ะจะไปเจอคนอย่างนั้น จะไปเจอคนเห็นแก่ตัวมันจะไปเจอสังคมอย่างนั้นน่ะเพราะมันทำของเขาไว้ ถ้ามันทำไว้มันจะไปเจออย่างนั่นน่ะแต่ถ้าคนเขาทำคุณงามความดีๆ ทำดีอย่างไรมันก็ไปเกิดเป็นคนดีทั้งนั้นน่ะเวลาเกิดเป็นคนดี นี่มีการเกิดฉะนั้น มนุษย์เรามันมีทำดีและทำชั่วทั้งนั้น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เวลาญาติพี่น้องที่แย่งน้ำกันๆ ปางห้ามญาติๆ แม้แต่ญาติพี่น้องกันระหว่างญาติข้างพ่อกับญาติข้างแม่แย่งน้ำทำนากัน เวลามันเกิดภัยแล้งขึ้นมาภัยพิบัติ เวลาท่านไปห้ามครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ พอครั้งที่ ๓ แล้วไม่ห้าม มันเป็นเวรเป็นกรรม

คำว่า“เป็นเวรเป็นกรรม” กรรมแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังยอมรับกรรมอันนั้นเลยแต่ด้วยบุญญาธิการของท่านท่านทำคุณงามความดีของท่านมา แล้วอนาคตังสญาณเห็น เห็นว่ามันจะเป็นไปอุตส่าห์ไปห้ามไปให้ปัญญา แต่ให้ปัญญาไปแล้ว ด้วยความบีบคั้นของสังคมประชาชนไม่มีน้ำทำนา แล้วสังคม เป็นผู้ปกครองๆ ยกทัพจับศึกมารบกัน สิ่งที่รบกันแล้วแหลกลาญไปทั้งสองข้างเลย นี่ไงเวลากรรมมันให้ผล กรรมมันให้ผลใช่ไหม

แล้วนี่บอกเวลาเราทำของเราเพื่อผลประโยชน์อย่างเดียว อย่างอื่นไม่เกี่ยว มีแต่ผลประโยชน์ มองแต่เรื่องผลประโยชน์ๆ

ผลประโยชน์มันเป็นสมบัติสาธารณะ เงินในกระเป๋าเราแม้แต่ถ้ารัฐบาลเขายกเลิกการใช้ ไม่มีค่าเลยน่ะ มันเป็นเรื่องสาธารณะไง แต่สาธารณะมันเป็นผลประโยชน์กับโลกไง แต่ถ้าผลประโยชน์ของเรา ที่ว่าคนฉลาดๆ มันมีสติปัญญา เราวางเราก็มีโอกาสเราก็ทำได้ทั้งนั้นน่ะ แต่เราพอแล้ว เราวางของเราไว้

ถ้ามันเป็นการเกื้อกูลเป็นการช่วยเหลือก็เรื่องหนึ่งถ้าไม่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลเราพอแล้ว เราพอแล้ว แต่ของเรา งานของเราที่เราจะเอาจริงจังของเราไง อริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายในของเรานี่ไง แล้วทรัพย์จากภายในของเรา เวลาทำขึ้นมามันต้องเป็นจริงเป็นจังสิเวลาเราดื่มน้ำมันก็ต้องมีน้ำให้เราดื่มได้จริงๆ สิเราจะดื่มน้ำเป็นพิธี ดื่มน้ำ แต่ไม่มีน้ำให้เราดื่ม

นี่ก็เหมือนกัน ผลประโยชน์ตอบสนองทางโลกๆมันเรื่องของเขาแต่ผลประโยชน์ที่จะตอบสนองกับเรานะ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกต้องเป็นความจริงขึ้นมาสิความจริงๆ ของเรามันเป็นสมบัติของเรานะทำความดีความชั่ว มันติดกับหัวใจนี้ไป เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะเป็นสมบัติของเขา

นี่ไง ดูสิองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสารีบุตรพระโมคคัลลานะ เวลามาขอบวชเพื่อปฏิบัตินะ “นั่นไง อัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของเรามาแล้วๆ” นี่เวลาเพิ่งมาขอบวช

นี่ไงอนาคตังสญาณที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านรู้ของท่านไง “อัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของเรามาแล้ว” แล้วเวลามาขอบวช บวชแล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เคี่ยวเข็ญเอง ดูสิเวลาพระโมคคัลลานะง่วงเหงาหาวนอน ท่านก็ไปแก้ไขพระโมคคัลลานะ เวลาเทศนาว่าการหลานพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ขึ้นมานั่นมันคืออะไรล่ะ นั่นเพราะว่าเขาก็ทำของเขามา เขาทำของเขามา

ดูพระติเตียนเลย ติเตียนว่าทำไมไม่ตั้งพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา ทำไมไม่มอบตำแหน่งให้กับผู้อาวุโสสูงสุด พระเขาติเตียนนะ ติเตียนว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลำเอียง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประชุมสงฆ์เลย “สมบัติของเขา สมบัติของเขา เขาทำของเขามา เขาสร้างสมของเขามาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะให้มันเพิ่มพูนไปอย่างนั้นไม่ได้ มันเป็นของของเขา”

ย้อนกลับมาที่เรานี่ไงกรรมดี กรรมชั่วไง ไอ้ผลประโยชน์ๆ เวลาทำขึ้นมา ของของเราทั้งนั้นน่ะ ทำดีทำชั่วมันก็ฝังอยู่ที่ใจไปทั้งนั้นน่ะแล้วทำดีทำชั่วเรามีสติปัญญาคนที่เขาฉลาดคำว่า “สติปัญญามันพอ” มันพอแล้วมันไม่ทุกข์ไม่ยาก พอไม่ทุกข์ไม่ยากขึ้นมาแล้วมันมีความสุขนะ

แต่ถ้ามันยังตะเกียกตะกายกันอยู่ จะเอาๆเอาทั่วโลก โลกทั้งโลกก็ไม่พอพอมันไม่พอขึ้นมามันทุกข์มันยาก มันบีบคั้นหัวใจไง ไอ้พอไม่พอ ไอ้วัตถุมันอยู่ข้างนอก ไอ้หัวใจที่มันไปยึดมันนั้นอันหนึ่งแล้วไอ้กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจก็บีบคั้น

แต่เพราะเรามีสติปัญญาใช่ไหม เราเกิดมาเราเป็นญาติกันโดยธรรมใช่ไหม เรามีร่างกายและจิตใจใช่ไหมเวลาร่างกายเราก็หาอาหารมาเพื่อดำรงชีพใช่ไหม จิตใจของเรามันต้องการศีลต้องการธรรมต้องการสติปัญญา สติปัญญาตบหัวใจมันเข้าไป เอ็งไม่พอสักทีหรือ เอ็งพอหรือยัง เอ็งพอหรือยัง แล้วเวลาพอแล้วทำอย่างไรต่อพอแล้วมีสมบัติไหม

เวลาชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เวลาจะตายวันนี้ ตายพรุ่งนี้ ตายแล้วได้อะไรไป เกิดเป็นมนุษย์เกิดมาเป็นอริยทรัพย์ เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงให้มีศีลมีธรรมในใจ แล้วศีลธรรมในหัวใจเป็นอย่างไร

เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีลธรรมๆเราเป็นคนมีธรรมๆ เวลานักปฏิบัติคุยกันนักอวดกันนัก มีคุณธรรมๆ ถ้ามันมีคุณธรรมพฤติกรรมอันนั้นมีคุณธรรม ดูสิเวลาหลวงตาท่านพูดเอง เวลาท่านสนทนาธรรมกับใครก็แล้วแต่นะ เวลาได้สนทนาธรรมกันแล้ว ใครจะมาปรับโทษอย่างไรท่านบอกไม่ต้องมาพูดให้ฟังเลยท่านไม่เคยฟังใครเลย เพียงแต่ท่านได้สนทนากับพระองค์นั้นแล้ว แล้วพระองค์นั้นกิเลสอาสวะสิ้นไปแล้วพอสิ้นไปแล้วมันไม่มีอะไร พอมันไม่มีอะไร คำว่า“ไม่มีอะไร” ขึ้นมา ไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากพฤติกรรมความเป็นอยู่มันจะเป็นโทษไปได้อย่างไร มันไม่เป็นโทษ มันเป็นโทษไปไม่ได้ แต่ในสายตาของโลกเพ่งโทษๆ

ในสมัยพุทธกาลนะ มันมีพระทัพพมัลลบุตร ท่านเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ขวบ ท่านเป็นพระอรหันต์แล้วพอคำว่า “เป็นพระอรหันต์” มันไม่มีงานส่วนตัวไง คือไม่มีงานต้องมาชำระล้างกิเลสในใจ ท่านก็ขอ ขอเป็นผู้รับภาระสงฆ์เป็นภัตตุทเทสก์ เป็นผู้จัดพระไปฉันเวลาเขามานิมนต์

ทีนี้พอจัดไปฉัน พอจัดไปฉันมันก็เป็นเวรเป็นกรรมนะ พอจัดไปฉัน บางองค์ก็ได้ไปบ้านคหบดีที่มีฐานะบางทีก็จัดไปแล้วไปได้แต่บ้านที่เป็นคนทุกข์คนจนไง ไอ้พระพวกนั้นฉัพพัคคีย์ๆ เวลาเขาไปนะ เขาได้แต่บ้านคนจน

อินเดียสมัยโบราณในพระไตรปิฎกเขียนไว้ว่ามีข้าวกินกับน้ำผักดองข้าวเอาน้ำผักดองราด ฉันอย่างนั้น แล้วเวลาพระไป ไปเจออย่างนั้นน่ะแล้วไปเจออย่างนั้นทุกทีเลย ก็หาว่าพระนี้แกล้งหาว่าพระทัพพมัลลบุตรแกล้งเพ่งโทษนะ เพ่งโทษว่าลำเอียงพอลำเอียงขึ้นไปพระพุทธเจ้าบอกมันไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนั้นก็ปรับเขาเป็นสังฆาทิเสสพระพุทธเจ้าว่าไม่เป็นอย่างนั้นปรับเขาเป็นปาราชิกนะ

ไปตั้งแพะไง เห็นสัตว์มันเสพกันแล้วบอกว่าสัตว์นั้นชื่อพระทัพพมัลลบุตร แล้วเห็นแล้วก็มาโจทก์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่เชื่ออยู่แล้ว แต่ก็ตั้งกรรมการสอบเวลาสอบขึ้นมาถามพระองค์นั้นว่าเห็นจริงๆ ไหม

เห็น

เห็นอะไร

ก็เห็นแพะมันเสพกันแล้วแพะมันชื่อนั้น ทั้งๆ ที่พระทัพพมัลลบุตร ก็รู้แล้วพระพุทธเจ้าก็รู้เพราะมันเป็นอย่างนั้นไปไม่ได้

เราจะบอกว่า เวลาคุยนักว่ามีธรรมๆถ้ามีธรรมนะ มันมีศีลมีธรรมขึ้นมานะ หนึ่ง ไม่โกหก ไม่เห็นแก่ลาภ ไม่อยากดังไม่เหยียบหัวคนมันไม่เป็นทั้งนั้นน่ะ ไอ้นี่คุยนักมีคุณธรรมๆ ย่ำเขาไปทั่ว เวลาย่ำเขาไปทั่วแล้วก็บอกว่า ไอ้คนพูดนี่เก่งนัก ย่ำเขามากกว่า

ชี้ถูกชี้ผิดนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะเวลามีเหตุการณ์ขึ้นมา ผู้ที่กล้าหาญผู้ที่กล้าหาญในศีลในธรรมรู้จักถูกรู้จักผิดสิ่งใดผิดก็ต้องเป็นผิด แม้จะอยู่ในท่ามกลางสิ่งใดก็คือผิด นี่ความกล้าหาญของผู้ที่มีศีลธรรมในใจที่กล้ายืนยันผิดคือผิด ถูกคือถูก นั่นล่ะสำคัญ

แต่นี่ไม่อย่างนั้น มีคุณธรรมไปตามกระแส โอ๋ย! ถ้าข้างไหนพวกมากก็ไปข้างนั้นข้างไหนกำลังจะดัง กูเกาะข้างนั้นก่อนเลย อย่างนี้หรือมีคุณธรรมมีคุณธรรมมันต้องอยู่กับความถูกต้อง แล้วเราทำความถูกต้องนั่นคือศีลธรรมคือธรรม แล้วมันจะมีออกมาตามความจริงไง

เวลาคุยโม้กัน นู่นก็มีคุณธรรม นี่ก็มีคุณธรรมน่ะ ไม่เป็นความจริงหรอก ถ้าเป็นความจริงนะท่านจะมีคุณธรรมหรือไม่มีคุณธรรมพฤติกรรมอันนั้นมันแสดงตนเองผู้ที่ทรงศีล เด็กที่มันมีศีลมีธรรมโอ้โฮ! เราชื่นชมนะ คนที่ทำถูกต้องดีงาม เราชื่นชมทั้งนั้นน่ะแต่ไอ้ปากที่ว่ามีศีลมีธรรม หน้าไหว้หลังหลอกปากพูดอย่างทำอย่าง ไอ้นี่ไอ้มนุษย์มหัศจรรย์คิดอย่างหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง การกระทำกับใจไม่ตรงกันเลย

ทีนี้่เวลาย้อนกลับมาที่ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาหลวงตาท่านพูดเวลาหลวงตาท่านพูดนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดตั้งแต่สมัยไหนอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านพูด จะพูดถึงไอ้หมูสองตัวนั่นน่ะ เวลาท่านชราภาพ เวลาท่านคิดถึงตอนที่ท่านออกประพฤติปฏิบัติไอ้หมูสองตัวนั้นน่ะ พูดร้อยครั้งก็อันนั้นน่ะ ไม่มีเปลี่ยนแปลง ไอ้หมูสองตัวนั้นน่ะพูดอย่างไรก็พูดอย่างนั้นน่ะ ท่านพูดตามความเป็นจริงไง พูดแล้วพูดเล่ามันก็เป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ แต่ถ้าพูดไม่จริง พูดอะไรมันก็ไม่จริงทั้งนั้นน่ะ

นี่พูดถึงคุณธรรมคุณธรรมส่วนคุณธรรม ถ้าคุณธรรมอันนั้นเป็นความจริงแล้วพฤติกรรมจะแสดงออกมาอย่างนั้น พระทัพพมัลลบุตรเป็นพระอรหันต์มาตั้งแต่อายุ ๗ขวบ แล้วเป็นผู้แจกภัตแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาจะลำเอียงได้อย่างไร มันเป็นเวรเป็นกรรมของไอ้พวกพระนั่นน่ะ เป็นเวรเป็นกรรมเป็นวาระ วาระถึงเวลาเขาถึงกิจนิมนต์ของเขาก็ไปเจอแต่ข้าวกับน้ำผักดอง ไปฉันข้าวน้ำผักดองบ่อยๆ ชักโกรธเอ๊ะ! ลำอียง แล้วเข้าข้าง

มันเป็นกรรมของเอ็งเอ็งทำมาอย่างนั้น ทำไมเอ็งไม่ไปเจอเศรษฐี ไม่ไปเจอคนมั่งมีศรีสุขล่ะ เวลาวาระของเอ็งเวลาวาระของเอ็งก็ไปเจอแต่ข้าวอย่างนั้นแล้วเวลาคนอื่นเขาไปก็ไปอิจฉาตาร้อนเขา แล้วก็ปฏิเสธเรื่องกรรม นี่ก็กรรมมโนกรรม ความคิดเจตนามโนกรรมทั้งนั้นน่ะ

เวลาทำไป เห็นไหม ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ พิจารณาให้มันเป็น ดูหนังดูละครแล้วย้อนถึงพฤติกรรมของเรา เราดูแล้ว แล้วก็กลับมาที่เรานี่ ทำอย่างนี้จะได้ผลอย่างนี้ ทำอย่างนี้จะได้ผลอย่างนี้ที่เขาทำๆ กันมาเพราะเขามีเวรมีกรรมของเขามาเขาทำแล้วเขาถึงได้ผลอย่างนั้น

แล้วเราล่ะๆ ย้อนกลับมาที่เราแล้ว แล้วเราล่ะ เวลาเราเราเป็นบัณฑิตถ้าเป็นบัณฑิตขึ้นมานะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํเราสนทนาธรรมกัน สนทนาธรรมเพื่อเป็นคติธรรมเป็นวิชาการเป็นการศึกษาแล้วเราปฏิบัติให้เป็นของเราขึ้นมา

เวลาสนทนาธรรมกันก็เรื่องของเขาไอ้ใครจะขี้โม้ว่ารู้ ๓ โลกธาตุ รู้ ๓โลกแล้วเอ็งได้อะไร รู้กิเลสสิสำคัญ รู้ในใจของเรานี่ งานของเรา กินข้าวนอกบ้านๆ ร้านอาหารมันเยอะแยะไปหมดทั้งนั้นน่ะ ในครัวเอ็งมีอาหารสักถ้วยหนึ่งไหม ถ้าในครัวเอ็งมีอาหารสักถ้วยหนึ่ง มีน้ำพริกสักถ้วยหนึ่งมีพรรคพวกมาเอาน้ำพริกมากินกันก็ยังมีความสุขนะ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นความจริงๆความจริงเป็นอย่างไร ความจริงในหัวใจอันนั้นน่ะ นี่ไง จะรู้ร้อยแปด รู้พันเก้า รู้ก็รู้ตามพระไตรปิฎก ทางวิชาการมันมีมาทั้งนั้นน่ะ รู้มาทำไมล่ะ รู้มาอวดเขาหรือทำไมไม่รู้เท่าทันกิเลสของตน ถ้ามันรู้เท่าทันกิเลสนี่คุณธรรมมันอยู่ตรงนี้

เวลาหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น หลวงตามหาบัว ท่านบอกว่าท่านบรรลุธรรมแล้วมันคุยกับใครไม่ได้หรอก เวลาพูดก็พูดภาษาโลกเท่านั้นแหละถ้าพูดไปเขาจะหาว่าเราบ้า เราบ้าไง เราบ้าคืออะไร เราบ้าคือเราละเราวางไง

หลวงปู่มั่น เวลาทางโลกท่านเหมือนเศษคน เหมือนผ้าขี้ริ้วไม่มีค่าไม่มีค่าทางโลกไม่มีมูลค่าทางโลก แต่พูดถึงทางธรรมนี่สุดยอด เทวดาอินทร์ พรหมยังต้องมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นนั่นน่ะถ้ามันมีค่า มันมีค่าอย่างนี้ไงแม้แต่เทวดาอินทร์ พรหมเขายังเห็นค่าเลยมนุษย์มันไม่เห็นมนุษย์มันเห็นแต่ลาภสักการะ มันเห็นแต่ความอยากดังอยากใหญ่นั่นไง

ถ้ามีคุณธรรม เราหาอยู่หากินในครัวของเรา เราหาอยู่หากินในบ้านเราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาเพื่อของเรา แล้วไม่ไปโลภอยากได้แบบแชร์ลูกโซ่ มันจะประดังออกมามาก เพราะอะไรเพราะคนมันเห็นตัวอย่าง แล้วความโลภของคนมันมหาศาลไอ้ความโลภของคนมันจนตรอกแล้วมันทำได้ทั้งนั้นน่ะ ดูคนจนตรอกสิหมาจนตรอกมันกัดนะ นี่คนมันทุกข์มันยากมันไม่มีทางไป มันก็หาทางออกเที่ยวมาหลอกลวง ไอ้คนอยู่เฉยๆ ก็ไปเดือดร้อน อยากได้ ๑๐เปอร์เซ็นต์ ๒๐เปอร์เซ็นต์ไปกับเขา ทำไมเอ็งโง่ได้ขนาดนั้น เงินในกระเป๋าแท้ๆควักไปให้เขาทำไมไม่หาอยู่หากินกันเองทำไมต้องเอาเงินในกระเป๋าควักให้คนอื่นทำไมเอ็งขาดสติได้ขนาดนั้น

ฉะนั้น ให้เป็นชาวพุทธชาวพุทธ ถ้าเราทำงานทางโลกเราก็ขวนขวายของเราขวนขวายตามเนื้อผ้า เราจะหาอยู่หากินของเราเอง เราก็ฝึกหัดประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ให้เป็นความจริงความจัง ความจริงขึ้นมาในหัวใจนะ

ฟังธรรมฟังธรรมก็คือสัจธรรมแท้ๆ นี่แหละ เพียงแต่ว่าเรามองข้ามมันไปไง เราไปมองแต่ผลประโยชน์ข้างนอกไง เราไม่มองหัวใจเราเลยที่มันจะชื่นบานบ้างหัวใจของเราจะอบอุ่นบ้างหัวใจของเราๆ

ครูบาอาจารย์ท่านพูดประจำนะ มีความสุขที่สุดเลยถ้าได้อยู่คนเดียว อยู่ที่ไหนก็ได้คนเดียวอย่าให้ใครมายุ่งกับเรา มีความสุขมาก สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตสงบแล้วมันอยู่ที่ไหนมันก็มีความสุขมันพอใจ แต่เป็นภาระ เป็นหน้าที่ทำตามหน้าที่นะเราได้ทำตามหน้าที่เราแล้ว

หลวงตาท่านพูดประจำท่านได้ทำหน้าที่ของท่านแล้วท่านได้เทศนาว่าการแล้ว อยู่ที่สัตว์โลก เป็นกรรมของสัตว์สัตว์นั้นจะหยิบฉวย จะได้มากได้น้อยเป็นกรรมของสัตว์ เอวัง