เทศน์บนศาลา

สมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน

๙ มิ.ย. ๒๕๔๑

 

สมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๑
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันธรรมะสวนะ วันฟังธรรม วันปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมนะ นักปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติธรรมเพื่อความเป็นธรรม แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเราจะปฏิบัติธรรมเพื่อรูปแบบ เพื่อรูปแบบ

ผู้ปฏิบัติธรรม “ผ้ากาสายะ ห่มผ้าเหลือง” ห่มผ้าเหลืองรูปแบบเป็นพระ ผู้ปฏิบัตินุ่งขาวห่มขาว พอนุ่งขาวห่มขาวแล้วก็ว่าตนนั้นเป็นการปฏิบัติธรรม รูปแบบการปฏิบัติธรรม ถ้าห่มผ้ากาสายะ นุ่งขาวห่มขาวเป็นความดีนะ ร้านขายผ้าเหลือง ร้านขายผ้าของพระเต็มร้าน บ้านนั้นต้องเป็นคนดีหมด โรงงานที่เก็บผ้าขาวเป็นโกดังๆ เลยแหละ โกดังนั้นต้องเป็นโกดังที่ประเสริฐสิ โกดังที่เก็บผ้าขาว ทำไมมันไม่ประเสริฐ

หัวใจต่างหาก รูปแบบนั้นเป็นนิมิตหมายเป็นสิ่งที่ว่าให้เป็นความสวยงาม ถูกต้อง ถ้าไม่มีเลยมันก็ทำให้พวกเราจับต้นชนปลายไม่ได้ รูปแบบให้ความเป็นความพร้อม รูปแบบให้เหมือน ให้เหมือนกัน ให้เป็นสิ่งที่สวยงาม แต่ไม่ให้ติดตรงนั้น ให้เข้าลึกกว่านั้น ผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงเนื้อธรรม เนื้อธรรมะของพระพุทธเจ้า

เจ้าชายสิทธัตถะเกิดมาเป็นอะไร มีทุกข์ไหม ก่อนออกบวชทุกข์ขนาดไหน แต่วันตรัสรู้ธรรมแล้วห่มผ้ากาสายะนี้ อันนั้นต่างหาก รูปแบบก็ถูกต้อง แล้วห่ม ห่มทองคำ ผ้าห่มทองคำ กับผ้าห่มเรามันห่มอะไร? อสุภะ ห่มของเน่า ของบูด ของเหม็น แล้วเราจะไม่ให้มันเหมือนกันได้อย่างไร แต่เหมือนกันด้วยรูปแบบ แต่ต่างกันมหาศาลเลย ถึงว่าให้เข้าถึงทองคำข้างในนั้นด้วย เราปฏิบัติธรรมเพื่อทองคำอันนั้น เพื่อความเป็นธรรม

“การปฏิบัติธรรม” กว่าจะออกมาปฏิบัติได้ กว่าจะได้นุ่งห่มผ้ากาสายะ ต้องพิธีกรรมนะ ต้องใจปรารถนาก่อน ถึงอยากจะออกบวช บวชแล้วถึงจะได้ประพฤติปฏิบัติ บวชแล้วมาศึกษาธรรม ก็ว่าได้ศึกษาธรรม มีศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ อันนั้นเป็นผู้มีธรรมแล้วหรือ ผู้มีศีล ศีล สมาธิ ปัญญา มีศีลต้องมีความสำรวมถึงเกิดเป็นสมาธิ แล้วต้องใช้ปัญญาอีกต่างหาก ปัญญาธรรมจักร ปัญญาภาวนามยปัญญา

ถ้าเป็นปัญญาของโลก ปัญญาส่วนใหญ่แล้วปัญญามันเห็นแก่ตัว ปัญญานี้เป็นปัญญาของโลก เป็นปัญญาการเอาเปรียบกัน ปัญญาที่เป็นเล่ห์เป็นเหลี่ยม มันไม่ใช่ปัญญาที่ชำระกิเลส

ปัญญาที่ชำระกิเลสเป็น “ภาวนามยปัญญา” ปัญญาที่เกิดไม่ใช่เล่ห์เหลี่ยม ความเล่ห์เหลี่ยมกับการประพฤติปฏิบัติมันยิ่งไปกันใหญ่เลย ยิ่งฉลาดมาก ยิ่งมีเล่ห์มาก ยิ่งจะหลบซ่อนมาก ความหลบซ่อนภายใน มันเล่ห์คือความเห็นแก่ตัวว่า “ฉันทำอย่างนี้จะถูกต้อง” การจะเป็นการปฏิบัติเพื่อจะชำระกิเลสกลายเป็นการปฏิบัติเพื่อสะสมกิเลส เพื่อความพอกพูน มันไม่ได้เพื่อการสละออก

เวลาออกมา ผู้ห่มผ้ากาสายะเป็นผู้ที่ประเสริฐ แต่เวลาทำผิดออกมา มันถึงย้อนกลับมาเป็นความเสียหายมาก นุ่งผ้ากาสายะแต่ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ผิดจากหลักคำสอนทั้งนั้นเลย มันก็ย้อนกลับมาทำลายว่า “ไหนว่าศาสนธรรมคำสั่งสอนพระพุทธเจ้าจะทำให้คนเป็นคนดี ทำให้เป็นพระถึงพระอริยเจ้านู่น แต่ทำไมห่มผ้ากาสายะแล้วถึงไม่เป็นคนดีตามที่พระพุทธเจ้าสอน”

เพราะปัญญาทางโลก ปัญญาเล่ห์เหลี่ยมอันนี้ไง มันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา-ปัญญาที่เป็นธรรมจักรของพระพุทธเจ้า

ก่อนจะถึงปัญญาธรรมจักรพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริงได้มาด้วยความแสนเข็ญ กว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแต่ละหนึ่งองค์ ต้องสร้างบารมีมาขนาดไหน อันนี้เป็นตลาด สร้างมาเพื่อตรัสรู้ สยัมภูตรัสรู้ด้วยตนเอง ไม่มีใครบอก ไม่มีใครแนะนำ กว่าจะตรัสรู้ได้ธรรมขึ้นมาแล้วเสวยวิมุตติสุข สุขมหาศาลในใจของพระพุทธเจ้า เสวยวิมุตติสุขแล้วสุขตั้งแต่วันตรัสรู้ธรรม ไม่มีทุกข์เจือแม้แต่นิดเดียวเลย แต่เวลาท่านจะนิพพาน วันที่นิพพาน

“อานนท์ ตักน้ำมาเถิด เรากระหายเหลือเกิน”

ไม่มีความทุกข์ในหัวใจแม้แต่นิดเดียวเลย แต่ความกระหาย ความหิว มันก็เหมือนกับปกติเพราะมีร่างกาย มีธาตุขันธ์ ต้อง ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา เป็นภาระที่ต้องขับเคลื่อนไป ภาระที่ต้องขับเคลื่อนร่างกายนี้ไปเพื่อจะทำประโยชน์โลก ความขับเคลื่อนไปของธาตุขันธ์ มันต้องใช้พลังงานทั้งหมด ความขับเคลื่อนไป ฉะนั้น พอขับเคลื่อนไปต้องมีสิ่งเข้าไปจุนเจือ

เวลาขาดน้ำ “เรากระหายน้ำเหลือเกิน” เรากระหาย กระหายเป็นปกติ ไม่ใช่ว่ากระหายด้วยกิเลส ถึงบอกไม่มีทุกข์มาเจือในหัวใจแม้แต่นิดเดียวตั้งแต่วันตรัสรู้ ถึงเป็นธรรมประเสริฐ ธรรมแน่นอน ถึงวางไว้เป็นตลาด หมายถึงว่า ๕,๐๐๐ ปี พระพุทธเจ้าวางว่าศาสนาขององค์สมณโคดมนี้ ระยะเวลาวางไว้ ๕,๐๐๐ ปี ปัจจุบันนี้ ๒,๕๔๑ ปี เป็นกึ่งกลางพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทำนายไว้ในพระไตรปิฎกว่าศาสนาเจริญรุ่งเรื่องมากต่อเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เป็นผู้เผยแผ่เอง เพราะท่านเป็นศาสดา

ศาสดาองค์เอกมีบารมีธรรมมหาศาล สามารถแสดงธรรมได้ทั้งหลายวิธี สามารถรู้กำหนดรู้โลกนอก-โลกใน โลกในหัวใจของท่าน โลก โลกวิทู รู้แจ้งโลก รู้แจ้งกิเลสทั้งหมด ดับกิเลสทั้งสิ้น ความดับกิเลสสิ้นในหัวใจอันนั้นมันเป็นความประเสริฐ แล้วเอาความประเสริฐนั้นออกมาสอนผู้ที่มีหัวใจเหมือนกัน นี่ “โลกใน”

“โลกนอก” โลกคือหมู่สัตว์ การเกิด การตาย การสะสมมา สันดานของบุคคลไม่เหมือนกัน จริตนิสัย “โลกนอก” พระพุทธเจ้ารู้หมด การเผยแผ่ การแสดงธรรม ไม่มีใครสามารถจะเสมอเหมือนได้ ทำประโยชน์โลกมหาศาล ทำประโยชน์ทั้งโลกมนุษย์ ทั้งเทวดา ทั้งโลกมนุษย์ ทั้งโลกจิตวิญญาณ ทำประโยชน์มหาศาลเลย นั่นคือว่าไม่มีใครทำได้เหมือน ไม่มีใครเทียบได้ ถึงว่าเจริญรุ่งเรืองมหาศาล เจริญรุ่งเรืองด้วยธรรม ไม่ใช่เจริญรุ่งเรืองด้วยวัตถุนะ เจริญรุ่งเรืองโดยธรรม

ธรรมแท้ๆ ที่หัวใจทุกดวงหิวกระหายอยากจะดื่มรส มันเป็นธรรมอันที่ว่าเป็นธรรมเครื่องชำระกิเลสในหัวใจที่ชำระทุกข์ ทุกคนบ่นกันว่าทุกข์ พอมีธรรมเข้ามาเจือจาน คนกระหายเหลือเกิน แล้วได้ดื่มน้ำดับความกระหายอันนั้น ความทุกข์เหลือเกินในหัวใจแล้วมีธรรมเข้ามาชำระล้าง ทุกคนกระหาย ทุกคนต้องการ แต่ไม่มีน้ำบ่อใดเลยที่ใช้ประโยชน์ได้ในโลกนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อมตธรรม บ่อน้ำเกิดขึ้นแล้ว แล้วบ่อน้ำเจือจานออกไป แล้วเจ้าของบ่อเป็นผู้ขุดเอง เป็นผู้รู้จักตาน้ำ เป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์มหาศาล ทำเองได้หมด ถึงว่าเจริญรุ่งเรืองมหาศาล นั่นสมัยพุทธกาล แล้วก็ทำนายไว้ว่า “กึ่งพุทธกาลจะเจริญรุ่งเรืองอีกหนหนึ่ง”

นี่ตลาดไม่วายไง ตลาดกำลังเจริญ ตลาดกำลังเป็นตลาดขาขึ้น การซื้อขายนั้นกำลังรุ่งเรือง การประพฤติปฏิบัติธรรมกำลังรุ่งเรือง ปัจจุบันนี้การประพฤติปฏิบัติมีมหาศาล เพราะเราเกิดมา ว่าการเกิดมาพบพระพุทธศาสนานี้แสนยาก การได้ฟังธรรมก็แสนยาก แต่ทำไมเราได้ยินอยู่ทุกวี่ทุกวัน เราได้ยินทั้งทางวิทยุ ทั้งทางทีวี ทั้งการเผยแผ่ว่าอยากจะให้ถึง เหมือนเอาน้ำมาพรมสาดให้กับพวกเราที่มีความทุกข์อยู่ แล้วทำไมเราไม่มีความสุขอย่างนั้นล่ะ

เพราะว่าอันนี้มันเป็นวาสนาของเรา เราเกิดมาท่ามกลางตลาดขาขึ้น เราเกิดมาท่ามกลางตลาดกำลังเจริญรุ่งเรือง แล้วเราทำลายตัวเรา หรือเราทำลายตลาดนั้น เราก็ว่าเราทำลายตัวเรา เพราะเราไม่สนใจตลาด ตลาดขณะที่กำลังเป็นไปด้วยดี ตลาดยังไม่วาย เรากลับไม่ขวนขวาย ต่อเมื่อตลาดวายแล้ว เรามีสินค้าขนาดไหน เราก็หากำไรไม่ได้ ตลาดวาย เห็นไหม พระพุทธเจ้า ๕,๐๐๐ ปีไปแล้วตลาดจะวายไป ต้องรอพระศรีอริยเมตไตรยมาสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาถึงจะทำได้อีก เพราะสาวกะผู้ที่ไม่มีการชี้นำทำไม่ได้ การทำไม่ได้ ทำไมถึงทำไม่ได้

ดูเช่น การทำความสงบสิ ทำความสงบ กับทำสมาธินี้ก็มาเถียงกันแล้ว อะไรถูกต้อง ทำความสงบ สมถะทำถูกต้อง สมาธินี้มันเพื่อจิตตั้งมั่นแล้วถึงเป็นสมาธิ เพราะความสงบเข้าไปบ่อยๆ ความสงบหลายๆ ครั้งเข้าจนจิตตั้งมั่น เหมือนกับว่าคนที่ว่าเป็นคนที่หลักฐานมั่นคงไม่ค่อยหลุกหลิก กับคนหลุกหลิกต่างกัน คนหลุกหลิก จิตที่ปกติจะเหมือนลิง หลุกหลิกๆ ไปเรื่อย จิตตั้งมั่นมันจะตั้งมั่น มันไม่หลุกหลิก พอไม่หลุกหลิกนี่คือจิตตั้งมั่น เพราะด้วยความสงบเข้าบ่อยๆ คือการฝึก ฝึกใจขึ้นมา แต่การหลุกหลิก เรานั่งอยู่เฉยๆ มันก็ไม่หลุกหลิก

จิตใจที่สงบขึ้นมา “สมถกรรมฐาน” การทำใจให้สงบ กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ กำหนดกล่อมเป็นคำบริกรรม สงบจิตเข้ามา สงบจิตเข้ามา จิตนี้จะดื้อดึง จิตนี้จะพยศ พระพุทธเจ้าเปรียบจิตนี้เหมือนช้างสารที่ตกมัน ไม่เคยอยู่ในอำนาจของใคร มีแต่กิเลสตัวไสออกไป ไสความคิด ผู้ใดศึกษาเล่าเรียน หรือมีความคิดในหัวใจขนาดไหน มีสัญญาครอบคลุมไว้เท่าไร กิเลสมันใช้ส่วนนั้นฟุ้งซ่านออกไป มันจะกระทุ้งตรงนั้นล่ะให้ฟูออกไป ฟูออกไป จินตนาการในรูปแบบของการฝันดิบ ฝันสุก ฝันเลื่องลือตามประสากิเลส ไม่เคยสงบเลย

ธรรมะของพระพุทธเจ้าถึงบอกให้กำหนดศีล “ศีล” คือความสงบของกาย กายปกติ แต่ใจไม่เคยปกติ ถึงต้องทำสมาธิ “ทำสมาธิ” ทำสมาธิให้จิตนี้สงบ พอจิตสงบแล้ว จิตสงบนี้เป็นสมถกรรมฐาน แต่การกระทำที่ว่าเป็นรูปแบบ รูปแบบภายนอกคือรูปแบบว่าเราแต่งองค์ทรงเครื่องว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรม เราว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรมแล้ว

มันเป็นแต่รูป แต่หัวใจทุกๆ ดวง อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำสมาธิเข้าไป ทำสมาธิเข้าไป เราเข้าใจว่าอันนี้เป็นปัญญา เราเข้าใจว่านี่เราปฏิบัติแล้ว เราเป็นวิปัสสนา มันเลยเคลิบเคลิ้มไป พอจิตสงบลงไปมันจะมีการส่งออก มันจะมีความเห็นต่างๆ ไป มันจะจินตนาการไปว่าอันนี้เป็นธรรม ความเป็นไปว่าจิตนี้สงบแล้ว ความเป็นธรรม ธรรมะแสดงตัวขึ้นมาจากกลางหัวใจ มันจะบอกจินตนาการ หรือว่าจะบอกอาการของใจ มันจะแปลก พอจิตมันสงบเข้าไปแล้วมันจะมีความสุข มันจะแปลกจากโลก ความแปลกอันนี้เราตีค่าเลยไง ความแม้แต่แค่จิตเราสงบ ความสุขพื้นๆ มันยังมีลึกมีตื้นลึกซึ้งต่างกัน ความลึกซึ้งเข้าไปในหัวใจตัวนั้น พอจิตมันเข้าไปดูดดื่ม มันจะจินตนาการว่าอันนี้เป็นผล นี่ขนาดจิตสงบนะ จิตที่เป็นสมาธิ

แล้วผู้ที่ปฏิบัติ การเพ่งออก “กสิณ” ฌานกับสมาธิต่างกันอย่างใด?

“ฌาน” ว่าฌานกับสมาธิ ฌานกับความสงบต่างกันอย่างใด?

ความสงบพอจิตมันสงบเข้ามา สงบเข้ามา มันสงบเข้าไปภายใน แต่ถ้าเราเพ่งฌาน เราเพ่งกสิณ เราต้องการฌาน

“องค์ของฌาน” ปฐมฌาน วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันเป็นอาการทั้งหมดที่มันรวมตัวลง อันนี้เป็นฌาน ไม่ใช่ว่าต้องไปปีติ ไม่ต้องไปวิตก วิจาร ปีติ สุข...ขั้นตอนเข้าไป คำว่า “วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์” นี้มันเกิดขึ้นพร้อมกัน มันเป็นอารมณ์เดียวกัน แต่มันมีความรู้สึก ๕ อย่างนี้รวมอยู่ในตัวมัน นี่คือปฐมฌาน

จิตมันสงบตัวลง แต่มันรู้อยู่ ความรู้สึกอย่างนี้มีพร้อม ไม่ใช่ว่าอารมณ์นี้คิดให้เราวิตกก่อน แล้วก็วิจารก่อน แล้วไปปีติ สุข มีเอกัคคตารมณ์ อันนั้นถึงจะเป็นองค์ฌาน...อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นมันวงรอบ จิตนี้มันขึ้นมารู้ทีเดียวพร้อมกัน องค์ของฌานมีความรู้สึกอย่างนี้ นี่องค์ของฌาน “ปฐมฌาน”

“ทุติยฌาน” ฌานที่ ๒ วิตก วิจาร สงบตัวลง มันละเอียดเข้า วิตก วิจาร ออกไป มันก็เหลือ ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์

“ตติยฌาน” มันก็มีแต่สุข กับเอกัคคตารมณ์ ยกขึ้น สูงขึ้น

แล้วมันก็ไปเป็น “จตุตถฌาน”

“เอกัคคตารมณ์” อย่างเดียวจิตนี้เป็นหนึ่ง

“จตุตถฌาน” ฌานที่ ๔ นี้การเข้า-การออก การเข้าและการออก

ยกขึ้น “อากาสานัญจายตนะ” กำหนดให้ว่างไปหมดเลยนะ กำหนดทุกสิ่งนี้เป็นอากาศธาตุ ตัวเราก็เป็นอากาศธาตุ ไอ้ตัวที่กำหนดก็เป็นอากาศธาตุ เราจะมองออกไปว่าทุกๆ อย่างเป็นอากาศธาตุ แต่ตัวเราเองนี้เป็นวัตถุ มันเลยไม่เป็นอากาสานัญจายตนะ กำหนดถึงสรรพสิ่งนี้เป็นอากาศ แล้วกำหนดที่ตัวเรา กำหนดที่ผู้ที่กำหนดนี้เป็นอากาศไปด้วย เป็นอากาสานัญจายตนะ เวิ้งว้างไปหมดเลย เวิ้งว้างมากนะ มันเป็นอรูปฌาน มันไม่มีตัวตน ไม่มีเอกัคคตารมณ์

ยกขึ้นเป็น “วิญญาณัญจายตนะ” จากความว่างๆ ทั้งหมด มันมีความรู้สึก ความจับได้ว่านี้คือความรู้สึกว่าง “วิญญาณัญจายตนะ” แต่มันก็จับได้ ความจับคือความรู้สึกที่ว่าไม่มีตัวตนนะ แต่ถ้าเป็นรูปฌานมันมีตัวตน มีเราตลอด สักแต่ว่ารู้ แต่อันนั้น วิญญาณัญจายตนะก็เป็นสักแต่ว่า ยิ่งกว่าสักแต่ว่าเพราะว่ามันเป็นวิญญาณัญจายตนะ

“อากิญจัญญายตนะ” อากิญฯ วิญญาญความรู้สึกว่ารวมเป็นหนึ่งอีก แต่หนึ่งในความว่างนั้นนะ ไม่ใช่ว่าง

“เนวสัญญานาสัญญายตนะ” นี่ขึ้นสมาบัติ ขึ้นเป็นความว่างไง นี่คือฌาน

รูปฌาน อรูปฌาน ถ้าเข้าตรงนี้ เดินตรงนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่ตรัสรู้ ไปเรียนกับอาฬารดาบส อุทกดาบส เข้าสมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ แล้วอาจารย์ก็ประกันด้วย ประกันว่า “สิทธัตถะราชกุมารนี้ทำได้อย่างอาจารย์ อยู่สอนเถิด”

แต่ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องการ เพราะว่ามันไม่ได้ชำระทุกข์

เวลาเข้ามันก็มีความสุข อย่างที่ว่ามีความสุขที่เราเพลิดเพลิน เราพอเข้าสมาธิ เราก็หลงกันแล้วว่าอันนี้เป็นผล แต่ผู้ที่มีบารมีธรรม ผู้ที่ใคร่ครวญไตร่ตรองอยู่ตลอดเวลา มันจะจับความเฉา ความเศร้าสร้อยในหัวใจ เพราะตัวนี้คือตัวการเกิด เรามองสมบัติข้างนอกใครมีมากมีน้อย แต่ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจะมองหัวใจข้างใน จะมองย้อนกลับว่าสิ่งที่จับต้องในความรู้สึกนี้ที่ขับเคลื่อนไปเกิดไปตายยังอยู่ไหม ตัวขับเคลื่อนไปคือตัวทุกข์ ตัวที่เกิดดับ การเกิดการดับ ยังมีการเกิดการดับ ยังไม่ได้แตะต้องมันเลย นี่คือฌาน ฌานตัวนี้มันเคลื่อนไป

“ฌาน” กับ “สมาธิ” ต่างกันที่ว่า “ฌาน” นี้มีพลังงาน เราเพ่งฌานอยู่เหมือนกับน้ำร้อนที่เดือด น้ำร้อนที่เดือดเราลวกอะไรมันก็สุก หัวใจที่มีอยู่ในฌานมันเหาะเหินเดินฟ้า “จตุตถฌาน” ในพระไตรปิฎก พระที่เข้าฌานแล้วเอานิ้วเป็นตะเกียงเลย อยู่ในพระวินัย เวลาพระไปวัด แล้วนี่เป็นอาคันตุกวัตร อาจริยวัตร เข้าฌาน ๑๐ นี่เข้าด้วยปกติ ผู้ที่เข้าด้วยปกติมันจะมีฤทธิ์ ความที่มีฤทธิ์คือการส่งออก คือว่าน้ำร้อนไง น้ำร้อนส่งออก ส่งออกไปรับรู้ข้างนอก ส่งออกไปเห็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ก็เคลิบเคลิ้มว่าอันนี้เป็นมรรค เป็นผล แต่มันเป็นความผิดพลาดตั้งแต่สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทดลองมาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำมาได้ก่อนแล้วว่ามันไม่ใช่ แต่ยังเคลิบเคลิ้มกัน นี่คือฌาน

พระพุทธเจ้าถึงไม่ได้สอนว่า มีศีล มีฌาน แล้วมีปัญญา...ไม่ใช่

พระพุทธเจ้าสอน ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้สอนศีล ฌาน ปัญญา

ทีนี้ ฌานกับสมาธิมันต่างกันที่แบบว่า ถึงเราจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ มันเป็นวาสนา หรือการฝึกของเรามา มันจะเข้าตรงนั้นไง อย่างเช่น ผู้ปฏิบัติพอปฏิบัติไปมันจะส่งออกรับรู้สิ่งต่างๆ นี่คือพื้นฐานของฌาน

ถ้าพื้นฐานของสมาธิถึงต้องพบครูบาอาจารย์ พบผู้ที่เดินทางล่วงหน้าจะบอกให้ดึงกลับเข้ามา ถึงจะเป็นฌานที่มันส่งออกไป ฌานกับสมาธิใกล้เคียงกันเหมือนกับอาหาร อาหารที่ว่าใช้ประโยชน์ได้ อาหารเรากินเข้าไปเป็นประโยชน์กับร่างกายทั้งหมดใช่ไหม ถ้าเราไม่มีอาหารกิน อาหารนั้นมันเป็นอาหารแห้ง อาหารที่เป็นซอง เราเอามาลวกน้ำก็กินได้เหมือนกัน อาหารแห้งกับอาหารปกติ

สมาธิปกติคืออาหารธรรมดา แต่ไอ้พวกฌานมันเป็นอาหารอย่างนั้น แต่เราพลิกกลับมาให้เป็นประโยชน์ก็ได้ถ้าเรายอมพลิก แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ยอมพลิกกลับมาเป็นประโยชน์ หมายถึงดึงกลับเข้ามาไง ส่งออกตลอด ส่งออกไป เพราะฌานนี้เป็นขับเคลื่อน ตัวรับรู้ มันส่งออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ ไม่อย่างนั้นจะเหาะเหินเดินฟ้าได้เหรอ เหาะเหินเดินฟ้าด้วยฌาน มันถึงว่าเป็นฌาน ฌานกับสมาธิต่างกันตรงนี้

“สมาธิ” นี้คือสิ่งที่เป็นภายใน สิ่งที่เป็นภายในสงบลง สงบลง กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ กำหนดพุทธานุสติ จิตได้ซับคำบริกรรม จากเคยกว้าน ๓ โลกธาตุนี้มาเป็นเรา เพราะจิตนี้ใคร่ครวญเกาะติดไปหมด จะหดเข้ามาอยู่ในคำบริกรรมนี้ว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธ เหมือนกับว่าหดตัวจากสิ่งเป็นแสงออกไปหดเข้ามาเป็นตัวมันเอง แต่การหดเข้ามา ถ้าอย่างแสงมันหดเข้ามาแล้วเห็นชัด แต่ความรู้สึกนี้หดเข้ามาด้วยอำนาจของธรรม อำนาจของกรรมฐาน อำนาจของพุทธานุสติ

จิตนี้อยู่ในขอบเขต หดเข้ามา หดข้ามา มันจะหดเข้ามาแล้วจะเย็นลง คำว่า “เย็นลง” หมายถึงว่ามันสงบตัวเข้าไป ความสงบตัวเข้าไป สงบตัวเข้าไป ดิ่งลงนะ กำหนดเป็นสมาธินี่บางทีมันดิ่งลงไป วื๊ด การวื๊ดเข้านี่มันวื๊ดเข้ามา ไม่ได้เหมือนฌานที่เราเพ่งออกไป การเพ่งก็เพ่งเพื่อความสงบเหมือนกัน เพราะฌานก็สงบ ไม่สงบเป็นฌานไม่ได้ แต่มันเป็นการเพ่ง เป็นการกำหนดออกไป

แต่พุทโธนี่ย้อนกลับเข้ามา วื๊ดลงเข้าไปข้างใน ความเข้าไปเป็นอัปปนาสมาธิ ลึกจนลึกเข้าไป ลึกจนตัดขาด จนหมด อัปปนาจนหมด จนสักแต่ว่ารู้ จนไม่รับรู้ รวมใหญ่ขนาดที่ว่าลมหายใจก็ขาด ความรู้สึกร่างกายก็ขาด จะว่าเป็นความรู้สึกก็ไม่ได้ มันเป็นความสักแต่ว่ารู้

คำว่า “สักแต่ว่ารู้” รู้ตัวอยู่ มันดิ่ง มันวื๊ด มันเย็นมาก มันร่มเย็น เย็นสุดๆ มันเย็นเข้าไปข้างใน มันมีความรู้สึกแปลกประหลาด แต่มีความรู้สึกอยู่ ถึงว่าสักแต่ว่ารู้ มันไม่มีอาการที่จะทำให้เราเผลอสติ หรือว่าช่วงไหนที่เราไม่รู้สึกตัว...ไม่มี มันจะเข้าไปทุกวินาที่ที่ต้องมีความรู้สึกตลอดเวลา ลึกเข้าไป ลึกเข้าไป อันนี้เป็นสมาธิ สมาธิเป็นอัปปนาสมาธิก็ยกขึ้นเป็นปัญญาไม่ได้ เพราะว่าดิ่งพักผ่อน ดิ่งลงไปพัก สมาธิคือจิต

คนเราจะทำงาน ร่างกายต้องมีแรง ต้องแข็งแรงพอสมควรถึงจะทำงานได้ จิตก็เหมือนกันเดิมกิเลสใช้งาน เดิมความคิดเราใช้งานตลอด แต่เรามันเล่ห์ของปัญญาว่าเราเป็นความคิดด้วยเราปฏิบัติธรรม เห็นไหม เล่ห์ของกิเลส กิเลสเป็นกิเลสอยู่แล้วนะ ยังมีเล่ห์ของกิเลสอีกต่างหาก เพราะมันสำคัญตนว่าฉลาด กิเลสโดยปกติแล้วไสอยู่ในหัวใจเรา แล้วพอมาปฏิบัติ เล่ห์ของมันยังอีกชั้นหนึ่งว่า ผู้ปฏิบัติแล้วเห็นธรรมตามความเป็นจริง ความจริงมันไม่ใช่ มันเห็นเล่ห์ของมันต่างหาก ถึงต้องให้จิตนี้สงบจนดิ่งจนลึก จนเล่ห์ตัวนี้ก็ลอยอยู่เหนือข้างบน จิตนี้ด่ำลงไป พ้นจากควบคุมของเล่ห์ตัวนี้

ถึงต้องให้จิตพัก ให้มีพลังงานที่ว่า มันเป็นอิสระไม่อยู่ในเล่ห์ของกิเลส ไม่อยู่ในกิเลสด้วย ไม่อยู่ในเล่ห์ของกิเลสชั่วคราว ถึงว่าจิตสงบนี้เหมือนกับหินทับหญ้าไว้ คือกิเลสมันสงบยุบตัวเหมือนกับหญ้าที่โดนหินทับไว้ มันไม่สามารถจะพ้นจากหินขึ้นมาได้ เพราะหินทับมันอยู่ เราไม่ได้ฆ่า เราไม่ได้สมุจเฉทปหานกิเลส เราก็ใช้ธรรมะพระพุทธเจ้านี้กดไว้ไง กดให้กิเลสนี้พ้นจากหัวใจชั่วคราว นั่นล่ะ “ด่ำ” จิตนี้ดิ่งลงไปจนพ้นจากเล่ห์ มันก็เป็นพลังงานของธรรมสิ เพราะพ้นจากกิเลสแล้วก็ต้องเป็นพลังงานของธรรม พลังงานของธรรมตัวนี้ย้อนกลับมาถึงจะยกขึ้นวิปัสสนา

“การยกขึ้นวิปัสสนา” สมถกรรมฐานมีความสุขมหาศาล เป็นความสุขของมรรคอริยสัจจังที่พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าฝึกฝนมาจากสมาบัติแล้วก็ฝึกฝนมาก่อนที่มาตรัสรู้ พอตรัสรู้แล้วถึงบอกว่า มรรคอริยสัจจังเป็นสมาธิ “สัมมาสมาธิ” ไม่ได้บอกฌานสมาธิ บอกสัมมาสมาธิ สมาธิที่ควรแก่การงาน สมาธิที่เป็นมรรคอริยสัจจัง มันถึงมีมิจฉาไง มีมิจฉากับมีสัมมา ถ้ามิจฉามันออกไปส่งออก ส่งออก ส่งออก ถึงว่าไม่ใช่มรรค มรรคของกิเลส กิเลสมันสำคัญว่าเป็นมรรค มรรคต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ มรรคเพราะกิเลส เล่ห์กิเลสมันบัญชาการ แต่ถ้าเป็นมรรคอริยสัจจังขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นสัมมาสมาธิ ที่สมาธิด่ำดิ่งพ้นจากเล่ห์การใคร่ครวญการหลอกลวงของกิเลส ถึงยกขึ้นวิปัสสนา

การยกขึ้นวิปัสสนาต้องใช้ปัญญายกขึ้นวิปัสสนา เพราะจิตนี้พ้นจากเล่ห์ พ้นจากกิเลสบังคับบัญชา เราจะยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาในอะไร? ในสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม จิตที่เราว่าเป็นจิตที่รวมลงสมาธิทำไมมันพิจารณาได้ล่ะ? พิจารณาได้สิ เพราะจิตนี้มันโดนเล่ห์ของกิเลสควบคุมไว้ เราต้องพิจารณาว่ากิเลสที่มันควบคุมมันบัญชาการ กิเลสมันบัญชาการจิต มันบัญชาการอย่างไร

“เอาจิตแก้จิต” เอาปัญญา มรรคอริยสัจจัง ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เป็นปัญญาธรรม ปัญญาที่เป็นปัญญาธรรมจักรของพระพุทธเจ้าที่บัญญัติไว้ ถึงว่านี่เป็นเทคโนโลยีที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เทคโนโลยีที่แบบว่า เรามีเทคโนโลยีมา เราประกอบเป็นวัตถุขึ้นมา หรือเราทำสิ่งของขึ้นมามันก็เป็นไปได้ แต่เทคโนโลยีนี้มันเป็นนามธรรมนะ ต้องขับเคลื่อนด้วยการพิจารณา ตรงนี้ไง ถึงว่าเป็นมรรคอริยสัจจัง

นี้เราก็อปปี้มา เทคโนโลยีเราไม่รู้ เราซื้อเขา ซื้อเทคโนโลยีเข้ามาเลย แต่เราไม่สามารถสร้างเทคโนโลยีได้ เราสร้างแต่รูปแบบ เพราะเราซื้อสำเร็จรูปเข้ามา เรายกเข้ามาโดยที่ว่าเราไม่มีปัญญาพอ เราไม่สามารถซ่อมแซม หรือไม่สามารถสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาได้เอง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมีอยู่แล้ว ท่านวางไว้ แล้วต้องให้เราสร้างขึ้นมาเพราะเทคโนโลยีตัวนี้มันเป็นเทคโนโลยีที่ใช้แล้ว ใช้หนเดียวแล้วเสียเลย เพราะมันสมุจเฉทปหานกิเลสแล้วมันจะไป มันสัมปยุตเข้า เวลามันสมุจเฉทมันจะตัดกิเลสออกแต่ละชั้นๆ มันต้องสัมปยุตเข้ามา มรรคอริยสัจจังสามัคคี สามัคคี สัมปยุตเข้าไปชำระกิเลส มันทำลายทั้งตัวมันเองด้วย ทำลายทั้งกิเลสพร้อมกันไป ถึงเราต้องสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาด้วย แม้แต่พระพุทธเจ้ารู้แล้ววางไว้ เราก็ยังต้องสร้างขึ้นมาเอง ต้องสร้างเองก่อน แต่มีคนบอก มีธรรมะที่วางไว้แล้ว แต่เพราะถ้าไม่มีทาง เราก็เข้าใจว่าสมาธินี่คือรวมลงแล้ว อันนั้นเป็นแล้ว เล่ห์ขอกิเลสมันหลอกใช้

ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา นี่ดูจิตที่ว่าพ้นจากชั่วคราว แล้วมันติดมันติดตรงไหน มันติดเพราะว่ามันลังเล มันมีอุปาทาน มันยึด มันไม่เข้าใจ คนไม่เข้าใจ คนลังเล มันต้องสะเปะสะปะไป จิตที่ไม่เป็นอิสระของตัว มันโดนการควบคุมบังคับบัญชาด้วยกิเลสทั้งนั้น มันก็ต้องแกว่งไปถึง ต้องให้กิเลสเฉือนเอาไปกินจนได้ ฉะนั้น พิจารณาว่ามันออกมาอย่างไร มันเป็นอย่างไร ทำไมเราทุกข์ขนาดนี้ ทุกข์แล้วทำไมเราแก้ไขตัวเราเองไม่ได้ เราก็รู้ว่าสิ่งนี้ไม่ดี เราไม่ควรกระทำ ทำไมมันต้องทำล่ะ

อำนาจของธรรมอ่อนแอ อำนาจของการเอาชนะกิเลสอ่อนแอกว่ากิเลส มันอยู่ในบังคับบัญชาของกิเลส กิเลสที่บังคับบัญชา กิเลสนี้มันอาศัยหัวใจนี้เป็นที่อยู่ มันอาศัยหัวใจนี้เป็นบ้านเรือนของมัน แล้วเราจะชำระออกไป เราจะขับให้กิเลสออกไปจากอาณาจักรของมัน ธรรมะของพระพุทธเจ้า ธรรมจักรอันนี้เข้าไปขับเคลื่อนให้มันออกไป เทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนกัน ระหว่างการขับเคลื่อนของกิเลส กับการขับเคลื่อนของธรรมเข้าไปต่อสู้กัน เพื่อจะชำระอาณาจักรนั้นเลย อาณาจักรที่ว่าการเกิดและการตาย

ความลังเล ความเล่ห์ของมัน ๑ ความลังเลที่เราไม่เข้าใจ ๑ เพราะเรายังไม่รู้แจ้ง เราสร้างเทคโนโลยี คือสร้างสมาธิขึ้นมาแล้วก็ขับเคลื่อนไปด้วยวิริยธรรม การงานชอบ ความเพียรชอบ ดำริขึ้นมาแล้ว ดำริกันตรงนี้ไง ไม่ใช่ว่าดำรินอนตาย ดำริที่เป็นสมาธิแล้วจะนอนตายว่าอันนี้เป็นผล มีความสุขแล้วจะนอนตายอยู่ที่นั่น อันนั้น นี่เล่ห์ของกิเลสมันหลอก กิเลสก็มีอยู่โดยธรรมชาติ เล่ห์ของมันก็ยังหลอกด้วยอีกชั้นหนึ่ง ด้วยภาวนาที่การเล่ห์ของตัว

นี้เราก็ใช้ปัญญาธรรม ใช้การใคร่ครวญ หลายๆ รอบเข้า สิ่งใดก็แล้วแต่ มีการกระทบกระทั่งมีการให้มันเคลื่อนตัวไป ให้เราพิจารณา ให้เราดูนี่ ด้วยการมีสติ ด้วยความจดจ่อ ด้วยความมุมานะ ด้วยความเพียรชอบ สิ่งที่การเพ่งพินิจอยู่ของฤๅษีที่กำลังใคร่ครวญตบะธรรมที่เผาผลาญกิเลส ฟังสิ ฤๅษีนะผู้มีตบะธรรม มันเป็นมงคล ๓๘ ประการ เป็นมงคลหนึ่งนะ

“ตโป จ” “ธมฺมจริยา จ” การเพ่งพินิจอยู่ การใคร่ครวญอยู่ เป็นมงคลอย่างยิ่งของผู้ปฏิบัติ

เราเพ่งพินิจอยู่ทำไมเราจะไม่เห็นความเป็นไปของกิเลสที่มันหลอกใช้เรา อุปาทานนี้เกิดขึ้นมาเพราะเหตุไร เพราะมันไม่เข้าใจ มันหลง โทสัคคินา โมหัคคินา ความหลงในตัวเอง ความหลงสิ ทุกคนว่าตัวเองต้องเป็นใหญ่ ทุกคนว่าตัวเองต้องถูกต้อง ฉะนั้น ความถูกต้องนั้นมันถูกต้องจริงหรือ ความถูกต้องเพราะเราเข้าใจว่าเราถูกต้อง เราถึงไม่เคยพิจารณา ถ้ามันผิดพลาดสิ ความผิดพลาดมันเป็นสิ่งที่เปรียบเทียบเทียบเคียงกันเห็นได้ชัด

แต่ความผิดภายใน ความลุ่มหลง โทสัคคิ โมหัคคิ โมหะความลุ่มหลง มนุษย์ผู้ที่ว่ามีหัวใจ มีความรู้สึก มีพุทธะอยู่ที่ใจ แต่ปฏิเสธพุทธะของตัวเองไง เราไม่มีอำนาจ เราไม่มีวาสนา นี่ความปฏิเสธของมนุษย์เอง ความปฏิเสธของเราเองไง เราถึงว่า เราไม่มีวาสนา เราไม่กล้ากระทำ มนุษย์ ผู้ที่มีเงินทองมากเขาก็มนุษย์ ผู้ที่ยากจนแสนเข็ญเขาก็มนุษย์ ทำไมมนุษย์บางคนสามารถมีเงินเป็นแสนๆ ล้านได้ มนุษย์บางคนเงิน ๑๐๐ บาทยังไม่เคยเห็น

อันนี้ก็เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเงินเป็นแสนๆ มีเงินมหาศาล ท่านก็เป็น เราก็มีพุทธะ หมายถึงว่า มนุษย์ถึงว่าไม่ให้ปฏิเสธ ไม่ให้ดูถูกตัวเอง ไม่ให้ลุ่มหลง อันนี้ก็เป็นโลภัคคิ ก็หลง ไม่เข้าใจตามความเป็นจริงว่าพุทธะอยู่ที่ใจ ไม่รู้ว่าตัวเองมีพื้นฐานที่ทำได้ ถึงว่ามันไม่ย้อนเข้ามา ถ้ามีการย้อนเข้ามา มีการเพ่งพินิจที่ว่าย้อนเข้ามา เพราะเราจับจุดได้ เราเพ่งพินิจได้ พิจารณาเข้าจนขันธ์ ๕ จิตนี้มันขับเคลื่อนไปด้วยขันธ์ ขันธ์คือความรู้สึก จิตเกิดดับ เกิดดับ ความเศร้าหมอง ความเฉา แต่เวลามันคิดขึ้นมา เราคิดได้อย่างไร สังขารมันปรุงตรงไหน สัญญาที่มันเกิดเริ่มก่อนจะคิดมันต้องมีสัญญา มีตัวจุดประกาย ตัวจุดประกายความคิดเหรอ

ความคิดเปรียบเหมือนพยับแดด พยับแดด มันมีไอแดดขึ้นมา

“สัญญา” นี้เปรียบเหมือนพยับแดด ที่มันแวบขึ้นมาในหัวใจ “สังขาร” ปรุง “วิญญาณ” รับรู้ สังขารปรุงไป “เวทนา” สุข-ทุกข์มันรู้ “วิญญาณ” เป็นตัวเชื่อม หมุนไป หมุนไป ปัญญาหมุนกลับเข้ามา กลับเข้ามาดูว่า ไอ้เวลาจะปรุงนี่มันปรุงดีหรือปรุงชั่ว มันปรุงขึ้นมาเราต้องตามทัน ลากให้เราทุกข์ร้อนไปกับเขาไหม นี่มันลากให้เราทุกข์ร้อนไปกับเวลาที่เราคิดหรือเปล่า

เวลาเราคิด เวลาคิดจบแล้วถึงว่า “อ้อ! เราคิด” แต่ขณะที่คิดปัจจุบันนั้นน่ะ การเท่าทันขณะคิดปัจจุบันนั้นถึงเป็นการต่อสู้ ปัจจุบันธรรม-ปัจจุบันกิเลส มันขาดกันขณะที่คิดแวบขึ้นมาก็เชือดเฉือนกันไปเลย เพราะเราใคร่ครวญอยู่ การเพ่งพินิจอยู่ ถ้าเวลาเราคิด เราคิดไปทางเดียวกัน มันไปด้วยกัน นี่ธรรมชาติของมัน

แต่เวลาเราปฏิบัติธรรม จิตเราสงบแล้ว จิตสงบไม่อยู่ในอำนาจที่ว่าจะไปรวมตัวกัน มันเป็นส่วนแยกออกมา คือปัญญาที่ย้อนกลับมา แม้แต่ที่คิดนี้มันเป็นความคิดธรรมชาติใช่ไหม ปัญญาที่แวบออกมาที่สู้กัน สู้กับความคิดของตัวเอง ความคิดพื้นฐานเดิมที่มันคิดโดยธรรมชาติ กับความคิดที่จิตมันสงบแล้ว ที่มันดิ่งลงไปแล้วย้อนกลับขึ้นมา แล้วเราวิปัสสนา จับตัวจิตที่เห็นแล้วพิจารณา พิจารณาไป พิจารณาไป

พิจารณา คำว่า “พิจารณา” คือธรรมจักร เพราะจิตนี้ดิ่งพ้นจากเล่ห์ พ้นจากการควบคุมแล้วย้อนกลับมาคิด แต่มันก็ชั่วคราว เพราะว่ามันเหมือนกับเราอยู่ในบ้านที่แน่นเหมือนปลากระป๋อง ขลุกขลิกไปหมด ทำอะไรมันยากไปหมด อันนี้ก็เหมือนกัน เราจะรู้ว่าความคิดอันไหนมันเป็นความคิดกิเลส ความคิดอันไหนเป็นความคิดธรรม เพราะปัญญาธรรมนั้นก็สังขาร อาศัยความคิดเหมือนกัน แต่มีพื้นฐานจากอำนาจของสมาธิ

ศีล สมาธิ ถึงมีปัญญา มีศีลบริสุทธิ์ ศีลที่ควบคุมใจเราไม่คิดชั่ว พอเป็นสมาธิ สมาธินี้ก็ควรแก่การงานที่หนุนให้เกิดปัญญาขึ้นมา มันก็เหมือนกับปลากระป๋องที่กินอยู่ในหัวใจนั่นน่ะ ถึงบอกว่า ถ้าจิตมันเป็นสมาธิถึงเป็นธรรม ธรรมหมายถึงปัญญาธรรม ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ มันก็เหมือนกับเล่ห์ของกิเลส เราถึงต้องพักสมาธิ ถึงต้องมีสมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน

ถ้าไม่มีสมถะมันยกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ มันเป็นโลกียะ การยกขึ้นวิปัสสนานี้มันเป็นโลกุตตระ ผู้ที่จะพ้นออกจากโลก พ้นออกจากโลกต้องให้พ้นจากแรงดึงดูดของกิเลส ถ้าอยู่ในความคิดปกตินี้มันเป็นความคิดที่เราทดลองวิทยาสตร์ในพื้นโลก กับการทดลองวิทยาสตร์บนยานอวกาศอยู่ในสูญญากาศ

ปัญญาที่มันหมุนตัวโดยวิปัสสนาญาณนี้ มันเหมือนกับเราทดลองวิทยาสตร์บนยานอวกาศที่พ้นจากแรงดึงดูดชั่วคราว ยานอวกาศนั้นอยู่บนอวกาศไม่ได้ ถึงจุดหนึ่งกำหนดแล้วต้องกลับมาบนโลกนี้เพื่อเติมเชื้อเพลิงแล้วก็ขับเคลื่อนออกไปอยู่ในอวกาศเพื่อทดลองต่อ จิตเวลามันใคร่ครวญด้วยปัญญามากๆ เข้าไป มันก็แบบว่ามันก็จะเป็นโลกไป พอเป็นโลกไปก็เหมือนกับหมดพลังงาน ต้องลงกลับมา กลับมาที่โลกนี้แล้วเติมเชื้อเพลิงเพื่อจะขับเคลื่อนตัวเองออกไปบนอวกาศ เพื่อทดลองต่อ

นี่พอยกเปรียบเทียบถึงวัตถุภายนอกมันเห็นภาพมันกว้าง แต่เวลาอยู่ในหัวใจมันเหมือนปลากระป๋อง มันขลุกขลิกกันอยู่ในหัวใจนั้นล่ะ ขลุกขลิก ขลุกขลิกอยู่ในหัวใจนั้นเพราะมันความคิดอันเดียวจากใจ ความคิดอันนี้เป็นโลก ความคิดอันนี้เป็นธรรม มันอยู่ที่เราพิจารณาบ่อยเข้า การทำ การคราด การไถ บ่อยๆ ซ้ำๆ ซากๆ นี้มันจะชำนาญการ ความชำนาญการตัวนี้การเพ่งพินิจอยู่ ที่เราเพ่งพินิจอยู่ เห็นความขับเคลื่อน เห็นว่าอันนี้เป็นโทษ อารมณ์นี้เป็นโทษ ความคิดนี้เป็นโทษ เป็นโทษ

ความเป็นโทษใครจะจับได้ เหมือนเรากำงูอยู่ เราคิดว่าปลา เราล้วงเข้าไปในข้อง ดึงขึ้นมา เราคิดว่าเราได้ปลาไหลขึ้นมาตัวหนึ่ง พอเอาขึ้นมานี้ งูเห่า จงอาง มันจะกัด เห็นโทษ ต้องสะบัดทิ้งตูมเลย การสะบัดทิ้งออกไปนั่นคือสมุจเฉทปหาน การเห็นโทษในหัวใจ มันจะสะบัดออกขาดออกไปเลย พอความขาดออกไป ฟังสิ ขาดออกไปนะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

“ความวิจิกิจฉา” ความลังเลสงสัย มันถึงเป็นอุปาทาน ความลังเลสงสัยถึงทำให้เราหลงงมงายเป็นโมหัคคิ ความลุ่มหลง ลุ่มหลงอยู่ในตัวมันเอง นี่มันถึงว่าเป็นโลภ โกรธ หลง หลงในตัวเอง แล้ววิจิกิจฉามันขาดออกไป มันจะหลงที่ไหน

“สีลัพพตปรามาส” ความลูบคลำไม่มี กายมันแตกออกต่อหน้าเห็นชัดๆ ก็เราเห็นว่าเป็นจงอางชัดๆ เราเหวี่ยงออกไปชัดๆ ขาดออกไปเลย นี่วิปัสสนา ใจจะว่างออกไปส่วนหนึ่ง

ความว่างอันนี้เป็นความว่างไม่เหมือนกับความว่างในสมาธิ ความว่างในสมาธิ เอกัคคตารมณ์ ความว่างในสมาธิ สมาธิว่างดิ่ง พ้นจากเล่ห์ของกิเลส แต่มันก็หินทับหญ้าไว้ จากความว่างอันนี้ เราถอนหญ้า เราถางออกหมด แม้แต่ดินก็ไม่มี เวิ้งว้างว่างหมดเลย นี่ถึงว่าความว่างจากการชำระกิเลสขั้นตอน มันไม่เหมือนกับความว่างในสมาธิหรอก ไม่เหมือน มันลึกซึ้งกว่า มันสุขกว่ามันแนบแน่นกว่า แล้วมันเป็นปัจจัตตัง ความเป็นปัจจัตตังนั้นมันติดกับดวงใจดวงนั้นไปตลอด ดวงใจนั้นว่างอย่างนี้ไปตลอด ไม่ถึงกับว่าออกมาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางโลก

เก็บเกี่ยวหมายถึงว่ามันกว้านโลกนี้มาเป็นใจ ใจเราโดยปกติเรากว้านมาหมดนะ ติดไปหมดนะ บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร มันเหยื่อล่อของมาร ล่อหัวใจนี้ติดข้องไปหมดเลย กับความว่างที่เข้าใจพวงดอกไม้แห่งมาร เข้าใจ เห็นรู้จักว่านี่คือบ่วงของมาร ปลาจะกินเบ็ด ปลาต้องอาศัยเหยื่อเพื่อเลี้ยงท้อง มันก็จะไม่ฮุบเบ็ดแล้ว มันจะตอดแต่เหยื่อแล้วล่ะทีนี้ อยู่ในโลกโดยที่ว่าเข้าใจโลก อยู่ในโลกโดยไม่ทุกข์จนเกินไป นี่วิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนานี้ถึงประเสริฐ ภาวนามยปัญญานี้ประเสริฐ เป็นหลักแกนของศาสนา สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญานี้ทำให้จากปุถุชนกลายเป็นอริยชน เป็นพระปกติสมมุติสงฆ์เป็นอริยสงฆ์ พ้นจากความเกาะเกี่ยวในบ่วงของมาร วิปัสสนา วิปัสสนาเข้าไป พิจารณาซ้ำลงไป แล้วพอเดินเข้าไปอย่างนี้ มันไม่หลงใหลได้ปลื้มในโลก ความวิจิกิจฉาไม่มีแล้ว วิจิกิจฉาว่า “ทำอย่างไรหนอจะปฏิบัติให้ถึงแก่น ทำอย่างไรหนอจะไปทางไหน ทางนี้อั้นตู้หมด”

วิปัสสนา เพราะจิตมีความว่างเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว พื้นฐานความว่าง มันกำหนดได้ กำหนดได้ง่ายๆ จากสมาธิที่ทำแสนยาก สมาธิที่จับพลัดจับผลู ต่อไปนี้กำหนดได้สบายๆ เลย สมาธินี่กำหนดได้เรื่อยๆ เลย ทีนี้กำหนดได้เรื่อยๆ ความว่าง ความว่างในหัวใจมันก็ติด ติดว่าอันนี้มันเป็นผล เพราะคำว่าเล่ห์ของกิเลสมันเป็นขั้นเป็นตอน เล่ห์ของกิเลสที่ใหม่ๆ มันติดในรูปแบบ เล่ห์ของภายในมันก็ติดในรูปแบบ แต่การติดในรูปแบบนี้เป็นมรรคอริยสัจจังเป็นทางอันเดินต้องติด แต่ติดในฐานะของมรรคอริยสัจจัง ไม่ใช่ติดของกิเลส ถ้าติดของกิเลสมันติดมาเพื่อสะสม

แต่การติดของ “มรรคอริยสัจจัง” เหมือนกับนักศึกษา ศึกษาเล่าเรียนเพื่อต้องการวิชาความรู้มาประกอบอาชีพใช่ไหม ต้องศึกษา ต้องเรียน ถ้าไม่เรียน เอาความรู้มาจากไหน มรรคอริยสัจจังก็เหมือนกัน ต้องทำ ต้องติด ถ้าไม่ติดมันไม่หมุนเข้าไป มันจะไปเชือดเฉือนกิเลสได้อย่างไร แต่ถ้าจะติดว่าอันนี้เป็นกิเลส นี่เล่ห์ของกิเลส กิเลสแล้วยังเล่ห์ของกิเลสอีก ขณะปฏิบัติ หวังไม่ได้ คาดไม่ได้ มันจะเป็นอุปาทาน มันจะเป็นวิปัสสนึก ว่าไปโน่น วิปัสสนึกต่อเมื่อนึกโดยธรรมชาตินี้

แต่เวลาไสจิตขึ้นไปเป็นวิปัสสนาแล้ว ไม่ใช่วิปัสสนึก มันเป็นธรรมจักร มันเป็นภาวนามยปัญญา ถึงต้องติด ถ้าติดอย่างนี้มันถึงเอาตัวรอดได้ ถ้าว่าไม่ติดมันก็จะนอนอยู่ในความว่างตรงนั้น จะนอนอยู่ตรงความว่างว่า ความว่างอันนี้เป็นนิพพาน

มันยังไม่ใช่ มันแค่ละความลังเลสงสัยในธรรมเท่านั้นเอง มันยังต้องขึ้นไปนะ ขึ้นไปพิจารณาจนจิตกับกายนี้แยกออกจากกัน วิปัสสนาญาณพิจารณาจะกายจะจิต กายหรือจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง วิปัสสนาเข้าไป เพราะอุปาทานอันลึกซึ้ง อุปาทานภายในยังเกาะเกี่ยวอยู่ นี่วิปัสสนาถึงสำคัญ สมถะก็สำคัญ เพราะความใช้วิปัสสนาเข้าไปเต็มที่แล้ว มันก็เป็นเหมือนอย่างเดิม คือการเต็มที่แล้วมันจะล้า ของสิ่งใดถ้าใช้มากแล้วมันต้องมีการซ่อมแซม ไม่มีสิ่งใดเลยที่ใช้แล้วมันจะใช้ได้ตลอดไป มันต้องสึกกร่อนไปเป็นธรรมดา

แม้แต่วิปัสสนาก็เหมือนกัน การใช้บ่อย ใช้มาก มันล้า ล้าต้องกลับมาที่สมถกรรมฐาน ถึงการก้าวเดินเหมือนมนุษย์มี ๒ ขา ซ้ายและขวาต้องเดินไปพร้อมกัน มีขาซ้ายก็ต้องกระโดดไปเอง มีขาขวาข้างเดียวก็ต้องกระโดดไปเหมือนไม่ใช่ก้าวเดิน การก้าวเดินของจิตต้องไปด้วยวิปัสสนาและสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานพร้อมกันไป มันจะรวมลงเป็นมรรคอริยสัจจัง เพราะสัมมาสมาธิกับดำริชอบ ดำริชอบความเห็นคือปัญญา สมาธิชอบคือสมถกรรมฐาน ต้องหมุนรวมไปจนมันรวมเข้าเป็นสามัคคี ต้องสามัคคีกันหมด

คำว่า “สามัคคี” หมายถึงว่า ปัญญาที่หมุนไปด้วยการวิปัสสนานี้ มันเป็นธรรมจักร เหมือนกับที่ว่าอยู่บนอวกาศ คำว่า “อยู่บนอวกาศ” นี้มันเป็นการเปรียบเทียบ แต่ถ้าเป็นความจริงมันจะหมุนอยู่ตรงบนหัวกิเลส ธรรมจักรนี้จะหมุนอยู่พอดีหัวกิเลส แล้วหัวกิเลสนี่เหมือนกับซอกคอคน มันมีอยู่ช่วงหนึ่ง ถ้าจักรนี้เข้าไปฟัน ไปหมุนเข้าไปที่อื่น จักรไม่โดน จะไม่สามารถชำระกิเลสได้ แต่ถ้าจักรนี้หมุนเข้าไปพอดีนะ จักรนี้เป็นธรรมจักร มันนิ่งพอดี มันมรรคสามัคคี มันจะรวมลง จักรนี้จะเชือดกิเลส สมุจเฉทปหานกิเลสออกไป ออกไปเวิ้งว้างยิ่งกว่าเก่านะ

สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อันนี้กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง เวิ้งออกไปเลย กามราคะ กามคือการชุ่ม ความชุ่มของกาม ใจนี้อิ่มเอิบไปด้วย ไม้ดิบ ไม้เปียกจุดไฟไม่ติด ต้องไม้แห้ง อันนี้ก็เหมือนกัน มันยังเกาะเกี่ยวอยู่ในโลก ความเกาะเกี่ยวอยู่ในโลก ความเกาะเกี่ยวเป็นไปเหมือนกับว่ามันยังดิบอยู่ มันยังเกิดอีก ไม้ถ้าเมล็ดพันธ์พืชตกลงอยู่พื้น มีฝนตก มีดินอยู่บนพื้น เมล็ดพันธุ์ตกไป ได้น้ำชุ่ม มันต้องงอกแน่นอน หัวใจที่เกาะเกี่ยวมันก็ยังเกาะเกี่ยวโลกอยู่ ว่างก็ว่างเฉพาะกิเลสสิ่งที่มันผ่านมา แต่ความเกาะเกี่ยวมันมีอยู่ นี่มันผลักมรรคอริยสัจจังหมุนเข้ามาเชือดออก เชือดความเกาะเกี่ยวจากโลกออกไป จิตนี้ถึงว่าเป็นจิต จิตเป็นจิต โลกเป็นโลกออกจากกัน โลกคือกายแยกออกจากกัน

วิปัสสนากรรมฐานเกิดขึ้นมาจากวิปัสสนา คือปัญญา ปัญญาชำระกิเลส สมาธินี้ให้พลังงานให้ใจนี้มีพลังงาน สมาธินี้ให้แรงงาน แต่วิปัสสนาคือปัญญาคือการบัญชาการในงานนั้น เห็นไหม ต้องมีแรงงาน ต้องมีผู้จัดการผู้สั่งการให้งานนั้นเป็นไปด้วยดี ถึงว่า ปัญญากับสมาธิถึงไปด้วยกัน แต่สมาธินี้ แรงงานที่ทำงานผิดก็มีมาก งานที่ควรจะเป็นไป แต่แรงงานทำให้งานนั้นผิด งานนั้นก็ผิดพลาด ถ้าแรงงานนั้นมีแรงงาน แล้วปัญญานั้นควบคุมสิ่งที่ดี ถึงว่าขาดด้วยปัญญา

ส่วนปัญญานี้ชำระกิเลส ปัญญาเท่านั้น แรงงานนั้นเป็นแรงงานเฉยๆ แรงงานนี้ยังเป็นกลางอยู่ ถ้าปัญญาขึ้นมาใช้แรงงานนี้เป็นประโยชน์ ฉะนั้น เราต้องหาแรงงานในตัวเราเอง แล้วใช้ปัญญาตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงนะ ไม่ใช่ปัญญาปั้นแต่ง ถ้าปัญญาปั้นแต่งนี่เป็นการคาดหมาย เป็นการด้นเดา แต่ปัญญาตามความเป็นจริงนี่คอยชำระ คอยใคร่ครวญ คอยตรวจสอบความเห็นภายใน ความเห็นภายในที่มันพาให้ไปทุกข์หรือไปสุข ความเห็นภายในที่พาให้เกิดให้ตาย ต้องดับให้ได้

อันนี้มันเวิกออกไป ถึงต้องการ พอมันเวิกออกไปแล้วว่าง ความว่างอันนี้ติดทุกคน ทุกคนจะติดในความว่างไปเรื่อยๆ แม้แต่เป็นความว่างจริงนะ เพราะว่าพื้นฐานความมหัศจรรย์ สิ่งที่เป็นมหัศจรรย์นะ เลิศโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยตนเอง สั่งสมบารมีมาขนาดไหน ถึงจะได้ตรัสรู้ได้ด้วยตนเองในคืนนั้น

มันประเสริฐที่ว่า “โลกวิทู รู้แจ้งโลกนอก-โลกใน”

ไอ้เรามันตัวพวกมด พวกปลวก แทะไม้แทะหนังสือเข้าไปหา การเข้าไปหา มันถึงว่าหลงทางไปตลอด เดินเข้าไปตามถ้ำตามเขาเพื่อจะเข้าไปชำระจิตใจของตัว การเข้าไปอันนี้แหละ ถึงบอกว่ามันถึงหลงใหลได้ปลื้ม พอเจอความว่างเข้าไป เข้าไปถ้ำไหนก็แล้วแต่ โอ้โฮ! โอ้โฮ! เลยนะ ก็มันปลวก มันไม่เคยมี ไม่เคยเห็นถ้ำ ไม่เคยเห็นความว่าง พอเข้าไปเห็นถึงความว่าง มันติดหมด ติด

ทีนี้พอความติดอันนั้น ความติดในความว่าง เห็นไหม ขนาดเป็นความว่างจริงนะ ไม่ใช่ความว่างในสมาธิ ไม่ใช่ความว่างในสมาบัติ ในสมาธิ ในสมาบัติมันก็เป็นความว่างแต่ว่างแบบหินทับหญ้า เวลามันพลิกลงมา มันถอยลงมาแล้วจะรู้สึกเลย แต่ความว่างอันนี้มันว่างตามความเป็นจริงนะ ขนาดว่างอย่างนั้น เวิ้งว้าง ตัวนี้เบาลอยได้เลย ขณะที่มันชำระขาดออกไป เวิ้งว้างไปหมด ถ้าอยู่ตรงนั้นก็อยู่ตรงนั้นล่ะ

แต่ถ้าการใคร่ครวญ การใคร่ครวญด้วยปัญญา เพราะมันเป็นมรรค ๔ ผล ๔ ที่ว่าเทคโนโลยีที่ใช้ไปแล้วพร้อมกันไป เทคโนโลยีเราต้องหาขึ้นมานะ เราต้องสร้างขึ้นมา เราได้แค่แบบมา แล้วเราต้องสร้างเทคโนโลยีตัวนี้ขึ้นมา แล้วเราก็ต้องใช้เทคโนโลยี เหมือนนิวเคลียร์ระเบิดทิ้งไปเลย ระเบิด เอานิวเคลียร์นี้ระเบิดกิเลสออกไป นี่ก็ชำระออกไป การค้นคว้าอันใหม่มันมหาศาลยิ่งกว่านั้นนะ เพราะมันเป็นการทำลายโลกเลย ระเบิดนิวเคลียร์เราทดลองกัน แค่โลกหวั่นไหว แค่โลกแผ่นดินเคลื่อน แต่ถ้าเอาตัวเทคโนโลยีตัวที่ชำระกามราคะ มันระเบิดโลกนี้ระเบิดออกไปเลย

กามราคะนี้รุนแรงมาก โอฆะทำให้มนุษย์เกิด คนเกิดมาเพราะตรงนี้เท่านั้น คนเกิด คนติด ติดตรงนี้ จิตทุกดวงจิตเกิดก็เกิดตรงนี้ เกิดเป็นคน เกิดเป็นเทวดา ต้องเกิดๆ ดับๆ การเกิดๆ ดับๆ ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด พระพุทธเจ้าบอก “การเกิดและการตายนี้เป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด” ชาติ ทุกขอริยสัจจัง ชาติปิ ทุกขา ชาติการเกิดนี้เป็นตัวต้นเหตุของความทุกข์ ชาติการเกิดนี้เพราะมีชาติ เพราะมี เกิด เพราะมีเรา เพราะมีฐานรับความทุกข์ เพราะมีภพ เพราะมีความเป็นไป เพราะมีสิ่งที่รองรับ

ไฟร้อนๆ ไม่มี มันร่วงลงไปที่ดิน มันก็ไม่ร้อนใช่ไหม ร่วงลงใส่มือเรา เพราะมือเรารองรับ มันรองรับด้วยธรรมชาติ มันรองรับด้วยความเป็นจริง นี้ก็เหมือนกัน เพราะเราเกิดแล้วมันต้องรองรับความรู้สึก เพราะใจนี้มันเกาะติดไปหมด นี่กามราคะ ความว่างก็คือความว่าง แต่ความที่ว่าภพที่ว่ากิเลสมันอยู่ในความว่างนั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนไว้เป็นบุคลาธิษฐาน

จิตนี้จะสงบเหมือนน้ำใส พอน้ำใสเราจะเห็นตัวปลา

อันนี้ก็เหมือนกัน จิตอย่างนี้มันจะใส มันจะว่างหมดนะ แล้วกิเลส ปลามันอยู่ที่ไหน ปลานี้มันใสยิ่งกว่าน้ำนั้น ปลานี้เป็นปลาเรืองแสง ปลาเรืองแสงที่อยู่ในน้ำนั้น เราไม่เห็นปลา เราเห็นแต่น้ำอยู่ เราไม่เห็นตัวปลา แต่ปลานี้อยู่ในน้ำเด็ดขาด แต่เราไม่เห็นปลา แต่ถ้าเราพูดถึงเป็นบุคลาธิษฐานทางโลก ถ้ามีน้ำ ตาเราต้องเห็น เพราะตาเราใส มีตา มีน้ำ มีปลา เราต้องมองเห็นสิ เพราะเรามองลงไปน้ำ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามองเข้าไปจิตเราต้องเห็นสิ เราต้องมองเข้าไปที่จิต มองเข้าไปที่ความว่างนั้นเพราะจิตนั้นว่าง จิตนั้นคือเรา จิตนั้นเป็นความว่าง พอจิตนี้สงบ เห็นไหม ความว่างส่วนความว่าง แต่ทำความว่างขึ้นมาให้สงบขึ้นมา แล้วย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับมาที่ตัวจิตนั้นน่ะ ปลาอยู่ที่นั่น กามภพอยู่ที่นั่น ตัวกามอยู่ที่นั่น อยู่ที่ใจ ใจนี้คือกาม ตัวเริ่มต้นความคิด ตัวหัวใจนั่นน่ะ นี่วิปัสสนา อาศัยจากสมถะนั้นขึ้นมา ต้องมีสมถะขึ้นมาเป็นพลังงานพื้นฐาน แล้ววิปัสสนาเข้ามาตรงนี้ ตรงที่ไหนว่าปลา แล้วจับตัวปลาได้ด้วย นี่คือกามภพ จะตื่นเต้นมาก สิ่งที่เขาหากันไม่เจอ สิ่งที่โลกนี้ไม่รู้

เหมือนกับในโลกนี้เขามีปุ่มนิวเคลียร์ที่เขาสามารถระเบิดโลกได้ แล้วไม่มีใครเจอปุ่มนั้น มันเป็นรหัสลับ แล้วเราไปเจอปุ่มที่เราจะระเบิดออกมา ระเบิดกามภพ ระเบิดโลกทั้งโลกเลย เพราะถ้าเราพิจารณาใคร่ครวญจนตามความเป็นจริง กามราคะนี่ใคร่ครวญ เป็นภายใน ความระเบิดออกตัวนี้ ไม่เกิดอีกในภพ เพราะโลกนี้ไม่มีไง เราระเบิดโลกนี้แล้วสิ่งใดจะตั้งบนโลกนี้ ทุกอย่างนี้ตั้งอยู่บนดินนี้ แล้วเราระเบิดออก โลกนี้แตกสลายไปหมดเลย ต้องใช้เทคโนโลยีขนาดไหนถึงจะระเบิดโลกได้ เราต้องใช้ความเพียรขนาดไหน เราถึงจะหาสิ่งที่จะระเบิด ไอ้สิ่งที่ซ่อนอยู่ในหัวใจ ไอ้ตัวปลาที่ซ่อนอยู่ในความว่างในหัวใจตัวนั้นน่ะ ระเบิดออกเลย

มันถึงต้องใช้พลังงานมาก มันถึงบอกการวิปัสสนาในการใคร่ครวญของนักปฏิบัติ มันเป็นงานอันประเสริฐ โลกเขาทดลองนิวเคลียร์ขนาดไหน เขาทดลองไว้ข่มขู่กัน มันชนะคนนอก ชนะประเทศอื่นไง แต่ผู้ปฏิบัตินั่งอยู่เฉยๆ ใคร่ครวญอยู่ในหัวใจของตัว มันต้องระเบิดภายใน ระเบิดที่หัวใจของตัว เป็นการทำงานที่แบบว่าเยี่ยม เหนือโลกทุกอย่าง เหนือโลกเหนือสงสาร เหนือทุกๆ อย่างเพราะเป็นการทำลายตัวตน เพราะเป็นการทำลายเราเอง เป็นการทำลายกิเลสในหัวใจ

ถ้ากิเลสมันพูด มันบอก “เป็นการทำลายเรา”

แต่ถ้าเป็นธรรมพูด “เป็นการทำลายกิเลสในหัวใจให้หัวใจนั้นสะอาดบริสุทธิ์ต่างหาก” ทำลายหัวใจนั้นสะอาดบริสุทธิ์ขึ้น ด้วยมรรคอริยสัจจัง ด้วยวิปัสสนา ด้วยปัญญาญาณ มรรคที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ แล้วเราเป็นลูกศิษย์ตถาคต เราเดินตามตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นศิษย์มีครู เราเดินตามครูบาอาจารย์ของเรา เราจะผิดไปไหน

แต่ในเล่ห์ของกิเลสที่มันละเอียดขึ้นมา มันก็จะบอกว่า “เราควรจะหยุด เราควรจะเป็นไป” การใคร่ครวญ การลองระเบิด การสร้างระเบิดขึ้นมา กว่าจะสร้างได้มันก็ต้องมีความผิดพลาด เพราะคนไม่เคยทำ เทคโนโลยีมีแล้ว แต่ก็ยังทำกันไม่ได้ อันนี้ก็เหมือนกันพระพุทธเจ้าวางไว้แล้ว แต่เราก็ยังทำไม่ได้ แล้วเราทำเองก็ผิดพลาดมาตลอด ถึงต้องทำซ้ำ ทำซาก ทำขึ้นมา

แต่เวลาผลปรากฏขึ้นมานะ โอ้โฮ! มันระเบิดออก โลกนี้ไม่เกิดอีก คนที่ว่าไม่เกิด การเกิดและการตายมันดับลงไปแล้วส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่นะ ส่วนใหญ่ทั้งหมด ถ้าโลกนี้ไม่มี มันมีแต่อวกาศ เหมือนกับมีดาวหางที่ล่วงมาชนโลก มันอยู่ในขยะอวกาศ เพราะว่างอันนี้ ว่างหมด ความว่างอย่างนี้นะ ว่างหมด

ทีนี้ความว่างหมด เราเข้าไปในบ้าน บ้านนี้ไม่มีอะไรเลย มีเรายืนอยู่ เราว่าบ้านนี้ว่าง แต่มีตัวเราอยู่ อันนี้ก็ว่างเวิ้งว้างไปหมดเลยนะ วิปัสสนาญาณอันนี้ทำให้ทุกอย่างสิ่งที่เป็นวัตถุหมด แต่ความรู้สึกของใจมันยังอยู่ เพราะมันรู้ถึงความว่าง นี่ตอของจิต วิปัสสนาก็ยังสามารถจับต้องได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าสามารถย้อนเข้ามาถึงความว่างอันนี้ได้ด้วยวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาในการขุดคุ้ย แม้แต่โลกก็ไม่มี ฐานที่ทำงานก็ไม่มี สิ่งใดใดในนี้ไม่มีเลย มันเป็นขยะอวกาศที่เวิ้งว้างอยู่กลางอวกาศ ไม่มีอะไรไปจับต้องเพราะมันไม่มีเครื่องมือที่จะไปจับ เพราะมันอยู่ในความว่าง อะไรจะไปอยู่บนความว่างได้

พระพุทธเจ้าสอนให้ย้อนกลับ ให้ย้อนกลับมานะ ให้ดูตอของจิต ตอของจิต อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ ถึงชาติถึงภพ มันเป็นปัจจยาการอันเดียว นี่คือทฤษฏีสัมพันธ์ ที่ว่าระเบิดนิวเคลียร์ เขาสร้างกันขึ้นมาแล้วระเบิดได้อย่างไร เวลาทฤษฎีสัมพันธ์ ถึงจุดมันแตกตัวอย่างไร เวลากิเลส ไอ้สิ่งที่เป็นอวกาศอยู่นี่มันเป็นนิวเคลียร์ นิวตรอนที่มันตัวของมันเอง ต้องรวมสสารตัวนั้นแล้วระเบิดตัวนั้นทิ้ง ระเบิดจนจากที่ว่าเป็นเศษวัตถุที่กลางอวกาศให้เป็นอากาศว่าง อากาศธาตุทั้งหมด แม้แต่ในอวกาศก็ไม่มีขยะ ในกลางอากาศไม่มีสิ่งที่เป็นวัตถุอยู่ในอวกาศนั้นเลย เป็นอวกาศล้วนๆ แล้วไม่มีสิ่งอะไรที่ติดอยู่ในอวกาศ หัวใจที่ว่างแท้ตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ไง

อารมณ์ที่ว่าความว่างของพระนิพพาน ความว่างของสมาธิ ความว่างของฌาน ความว่างของวิปัสสนา สมุจเฉทปหานขึ้นมาเป็นขั้นเป็นตอน จนถึงความว่างแท้ ความว่างแท้ที่ว่าเป็นความว่างไม่ได้ “ความว่าง” ถ้าเป็นความว่างแท้ว่าเป็นความว่าง ความว่างต้องมีความรู้สึกอันนี้อีก ใครเป็นคนบอกว่ามีความว่าง ใครเป็นคนจดสถิติของความว่างไว้ ใครเป็นคนนัดเป็นพยานในความเป็นความว่าง...ไม่มี ไม่มีสิ่งใดใดเลยทั้งสิ้นนี้ นี่คือความว่างแท้

แต่ “อาสเวหิ” อาสวะในหัวใจทุกๆ ดวงที่ผู้ปฏิบัติที่เป็นลูกศิษย์ตถาคต เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าที่เดินตามขึ้นไป ถึงจุดนั้นแล้ว ถึงบอกความว่างนั้นมี “อาสเวหิ” อาสวะสิ้นไป จิตฺตานิ ดวงจิตนั้นเป็นผู้รู้ ถึงเป็นปัจจัตตังตามความเป็นจริง ความว่างอันนั้นคือความว่างของนิพพาน ที่เป็นเป้าหมายของผู้ที่ปฏิบัติ มันเป็นความว่างที่ว่าพูดไม่ได้ เพราะถ้าพูดนี้เป็นสมมุติ มันข้ามพ้นจากสมมุติและบัญญัติไปทั้งหมด เกิดขึ้นมาจากวิปัสสนา ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ศีล ฌาน ปัญญา ถ้าศีลและเป็นฌานนะ ก็เป็นความว่าง มันส่งออกไปรับรู้ รับรู้ตามอารมณ์กิเลสแล้วมันว่าอันนั้นเป็นผล

ต้องใช้ความอันนั้นย้อนกลับเข้ามาเป็นศีล เป็นสมาธิหรือฌาน ย้อนกลับมาที่สมาธิแล้วเข้าปัญญา ปัญญานี้ใคร่ครวญเป็นวิปัสสนา เป็นสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรรมฐาน จนชำระล้างกิเลสตามความเป็นจริงโดยเป็นปัจจัตตัง เป็นตามความเป็นจริงของมรรคอริยสัจจังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้

เราเป็นชาวพุทธอยู่ท่ามกลางของตลาด เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นนักปฏิบัติอยู่ท่ามกลางของกึ่งพุทธกาล ตลาดขึ้นมาเป็นรอบที่ ๒ ตลาดไม่วาย ถ้าเราไปจ่ายตลาด หรือเราทำธุรกิจในตลาดนั้น ตลาดนั้นไม่วาย เรามีโอกาสจะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการตลาดนั้น ในธุรกิจในตลาดนั้น ในการซื้อสินค้าในตลาดนั้น

ในการประพฤติปฏิบัติ ตลาดกำลังรุ่งเรือง ในการประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติยังเป็นหมู่คณะ ยังเป็นการส่งเสริมกัน ผู้ที่ปฏิบัติผู้ที่ชี้นำ ครูบาอาจารย์ยังมีอยู่ เราอยู่ในท่ามกลางตลาดที่กำลังขึ้น ตลาดยังไม่วาย เราจะทำตัวอย่างไร เราจะมีคุณค่าในตัวเราเองขนาดไหน ที่เราจะเอาตัวเราพ้นขึ้นไปถึงที่สุดของสิ้นสุดของการประพฤติปฏิบัติตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นความว่างแท้ ไม่ใช่ความว่างในสมาธิ ไม่ใช่ความว่างในฌาน ไม่ใช่ความว่างโดยที่มันหลงตัวเอง เป็นความว่างจริงๆ ความว่าง ความปล่อยวาง ถ้าความว่าง ความปล่อยวางเป็นสิ่งที่เป็นความว่าง อากาศธาตุมันก็ว่างอยู่แล้ว แต่อากาศธาตุคืออากาศธาตุ แต่ความว่างของกิเลสที่ในหัวใจต่างกัน

“หัวใจ” เราหมุนเข้ามา ทุกอย่างเป็นของเราหมด แต่ในหัวใจของเราไม่มีอะไรเลย แต่มันรับรู้ทุกๆ อย่าง ต่างกันไหม หัวใจเหมือนน้ำบนใบบอน น้ำไม่ติดกับใบบอน ใบบอนกับน้ำไม่ติดกัน อารมณ์ความรู้สึกก็ยังมีอยู่ แต่ไม่ติดในหัวใจดวงนั้นเลย ผู้ปฏิบัติเป็นอย่างนั้น

ถึงบอกว่า ว่างมี แต่ถ้ามีนี่ก็เป็นสมมุติ ที่ว่าโลกเขาว่ากันอีกล่ะ ความว่างอันนั้นความว่างเป็นจุดหมายของผู้ปฏิบัติ เกิดขึ้นมาจากสมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้

เราเป็นลูกศิษย์มีครู ลูกศิษย์มีอาจารย์นะ ลูกศิษย์มีครูมีอาจารย์ ไม่ใช่มองที่ตัวเรา ต้องมองที่ครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่าง ความเป็นแบบอย่างนั้นจะทำให้เราก้าวเดิน ถ้าเรามองที่เรา เรามองที่ว่าเรานี่ทำมาก เรามองที่ตามความสามารถ นี่มันมองวงแคบ มองที่ครูคนไหน มองที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูองค์แรกของโลก ๖ ปี ปฏิบัติอยู่ ๖ ปีอดอาหาร (เสียงเทปสิ้นสุดเพียงแค่นี้)