เทศน์บนศาลา

คนเปล่าๆ

๒๓ มิ.ย. ๒๕๔๑

 

“ สมาธิยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาในชาติภพของเรา
เห็นไหม ก็หมุนกลับเข้ามาที่หัวใจ
ที่อยู่ของกิเลส ที่อยู่ของเนื้อจิต
จิตนี้ได้หมุนเข้าไปที่ตัวจิตแล้ว
เป็นตัวภาวนา เป็นปัญญาภายใน
เป็นความรู้สึกลึกๆ ข้างในที่มันหมุน มันต่อสู้กัน
นี่เนื้อของจิต
ความเป็นไปในการต่อสู้ ในตัวมันข้างในนั้น เป็นการชำระ
วิปัสสนา เป็นแรงงานของเรา
เป็นแรงงาน เป็นประสบการณ์
เป็นความรู้จริง เป็นการต่อสู้ ”

* * * * *

 

คนเปล่าๆ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๑
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปฏิบัติธรรมต้องฟังธรรม ปฏิบัติธรรมยังไม่ถึงธรรมเราต้องอาศัยครู อาศัยอาจารย์ก่อน ชุบมือเปิบไง ล้างมือมาแล้วก็เปิบอาหารกินเลย แต่ถ้าเราขวนขวายแสวงหาเอง กว่าจะได้เปิบ ยากนะ แต่นี่การฟังธรรมเหมือนกับการชุบมือเปิบ ฉะนั้นตั้งใจฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้านะ

“ศาสนธรรม” คือ คำสั่งสอน ศาสนธรรม ศาสนพิธี ศาสนวัตถุ เห็นไหม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ “ธรรม” สำคัญที่สุด พระพุทธเจ้ายังกราบธรรม ธรรมคือความเป็นจริง ความเป็นจริงที่สุดส่วน ความเป็นจริงที่จนกว่าหัวใจนี้จะพ้นไปจากสิ่งเกาะเกี่ยวใดๆ ทั้งสิ้น มันสลัดพรวดทิ้งไปหมดเลย แล้วมาเป็นหัวใจที่สุขจริงๆ เป็นหัวใจที่ว่าไม่เกาะเกี่ยว เป็นหัวใจที่ “พ้น” ออกไปจากการคาดเดาทั้งหมด

การฟังธรรม การแสวงหาธรรม ธรรมอันนั้นทุกคนแสวงหา เป็นเป้าหมายของชาวพุทธ พระพุทธเจ้าตรัสรู้โดยพระองค์เอง เป็น “สยัมภู” ค้นคว้าหามานะ แล้ววางไว้ตามความเป็นจริง เราก็ปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรม ศึกษาอย่างไร ศึกษากันก็ศึกษาเปล่าไง

การศึกษานะ ถ้าเราไม่เจอศาสนา เหมือนกับเราเกิดในต่างประเทศที่ไม่มีศาสนาพุทธ มันก็อยู่กันแบบนั้น แต่ก็มีศีล มีจริยธรรม คือ ก็มีความดีความชั่วเกิดขึ้นมาทุกดวงใจ ดวงใจทุกดวงใจเกิดๆ ดับๆ มาหลายภพ หลายชาติ มันสะสมมา

ดวงใจที่ดีนี้จะสะสมแต่คุณงามความดี จิตดวงนั้นก็เป็นจิตดีที่อยู่ในร่างกายที่ดี การประพฤติปฏิบัติ การกระทำของเขาเป็นสิ่งที่ดี เห็นไหม มันก็เป็นไปโดยความเป็นจริง แล้วเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าสอนว่า “เกิด” กิเลสพาเกิด เกิดมาก็อยู่ในท่ามกลางของกิเลส มีแต่ความทุกข์ความเร่าร้อน ให้หาน้ำมาเป็นเครื่องชำระล้างความทุกข์อันนั้นไง ถึงได้ต้องมาศึกษาธรรม เห็นไหม

การศึกษา การเล่าเรียน จากที่ว่ากิเลสดำๆ เราอยู่ในที่มืด มืดทั้งตัวเลย เราไม่เข้าใจสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เราเข้าใจแต่ว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับเรา เป็นความดีไง เป็นประโยชน์กับเราถ้าเป็นไปตามความเป็นจริง อันนั้นก็เป็นประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง แต่ความเป็นประโยชน์ที่ว่าเราแสวงหาจนเกินความเป็นจริง ที่กิเลสมันไสหัวให้เราหา อันนั้นเป็นความทุกข์ เห็นไหม เราไม่เข้าใจ เราก็อยู่แต่ในกรอบของกิเลสที่พาคิด

กิเลสในหัวใจเรา พาให้เราคิดคำนวณไป ตามแต่มันจะบัญชาการ เราไม่เข้าใจหรอกว่าเป็นเราคิด แต่พอเราคิด เพราะความคิดของเราเริ่มต้นจากกิเลสซึ่งมันก็อยู่ในหัวใจเรา ความคิดจะไม่เหมือนกัน ต้นเหตุ โจทย์อันเดียวกัน แต่คนคิด ๑๐ คน ก็ ๑๐ อย่าง ๑๐ ความหมาย ๑๐ ความจินตนาการ การจินตนาการอันนั้น “กิเลส” มันชวนจินตนาการ เห็นไหม

ภูมิหลังของกิเลสก็ไม่เหมือนกัน การสะสมมาสูงมาต่ำไง การเกิดในภพของมนุษย์นี้ มนุษย์นี้เป็นสถานที่กลาง จากเทวดา จากอินทร์ จากพรหม หมดอายุขัยก็มาเกิดเป็นมนุษย์ จากสัตว์เดรัจฉาน จากอเวจี จากไหนพอขึ้นมา ก็มาเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม ภูมิหลังของการเกิดต่างๆ กัน

“ภูมิหลัง” นี้ ไม่ใช่ภูมิหลังเฉพาะชาตินี้นะ ชาติต่างๆ มามันก็สะสมมา เป็นจริต เป็นนิสัย เป็นสันดานที่สะสมมาในดวงใจนั้น

ฉะนั้นความคิดถึงออกมาต่างๆ กัน ความคิด ความคำนึงถึงกฎหรือว่าระเบียบอันเดียวกัน ถึงว่ามันต่างกันตรงนั้นไง “อยู่ในที่มืด” เพราะมันสะสม มันถึงดันออกมาเป็นความคิด เราก็ทุกข์ไปสิ ทุกข์ไป

แล้วเวลาเราศึกษาธรรม เห็นไหม พระพุทธเจ้าบอกว่า “ให้มีขอบเขต” ใช่ไหม ให้มีการให้ทานเพื่อชำระล้างความตระหนี่ถี่เหนียว ความตระหนี่ถี่เหนียวในอารมณ์ ความตระหนี่ถี่เหนียวในความยึดมั่นถือมั่น

พระพุทธเจ้าก็สอน ให้มีทาน ให้มีศีล ให้มีภาวนา อันนี้มันเป็นหัวใจหลัก เป็นขั้นตอนหลัก แต่เราก็ศึกษาธรรมกัน ศึกษาอะไร ศึกษาเข้ามาเพื่อให้มีความรู้ “รู้” นี้เป็นความจริงไหม “รู้เปล่าหรือรู้จริง” เป็นความ “เปล่า” นะ เป็นความรู้ด้วยความเปล่าๆ ไง

ตำรานั้นใครก็ศึกษา เราเรียนในทางโลกก็เหมือนกัน คนเรียนมาทางโลก เรียนมามีวิชาการ เรียนมาหมด แล้วประสบความสำเร็จเหมือนกันไหม

“อยู่ในที่มืด” ก็เหมือนกับว่า เราไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องศาสนาเลย พอเรามาศึกษาศาสนา เราอ่าน เราวิจัย วิเคราะห์วิจารณ์ออกมา แล้วเราได้อะไรขึ้นมา มันได้ความเข้าใจ

“ความเข้าใจ” อันนั้นก็ไม่ใช่ความจริง ความเข้าใจไง พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้นๆ นะ สอนให้มีศีล สอนให้มีอินทรีย์แก่กล้า ในการสำรวมอินทรีย์ เพื่อจะไม่ให้มันไปเกาะเกี่ยว ไม่ให้ไปกว้านเอาสิ่งต่างๆ เข้ามา ให้สำรวมหู ให้สำรวมตา ให้สำรวมลิ้น ให้สำรวมความสัมผัส สำรวมให้เราไม่ออกไป สำรวมไว้ ดึงไว้ ความสัมผัส ความกระทบ ถ้าไม่มีการกระทบเห็นไหม มันก็ไม่มีข้อมูลให้เราคิดไง ไม่มีอะไรสะสมให้ใจเรา “ฟู” ไง เห็นไหม นี่การสำรวม

พระพุทธเจ้าสอนทั้งหมด แล้วเราทำอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ถ้าเราเข้าใจ เห็นไหม เพราะสิ่งที่กระทบนี้ มันกระทบทันทีแล้วเราเห็น เราสัมผัสได้ อย่างเช่น ตากระทบรูป พอเราอ่านตำรา เขาบอกว่า “จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะการกระทบ ตากระทบรูปภายนอก เห็นไหม วิญญาณรับรู้ขึ้น”

แล้วเราก็ศึกษาธรรม พอเราไปศึกษาธรรม ธรรมะพระพุทธเจ้าสอน สอนอย่างนั้นแล้วเรามามีประสบการณ์โดยตรง มันจะซึ้งมาก อย่างนี้เราว่าเราเข้าใจธรรมแล้วหรือ พออ่านอย่างนี้ปั๊บ แล้วเรามาปฏิบัติ เรามากระทบเข้า เราก็ว่า “อันนี้เราเข้าใจ อันนี้เราเป็นผู้สำเร็จธรรม...” ไม่ใช่ !

การศึกษาอันนี้มันเป็นเหมือนกับว่า “เราอยู่ในที่มืด” มืด หมายถึงว่า เราไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลย แล้วเรามาเข้าใจธรรมะพระพุทธเจ้าที่สอนไว้ตามตำรา เราก็ขยับจากที่มืดออกมายืนอยู่ในที่สว่าง อยู่ในที่สว่างจะเห็นสิ่งต่างๆ ที่ว่า สิ่งใดกระทบกระทั่ง สิ่งใดเป็นผิดเป็นถูก เพราะอยู่ในที่สว่าง เห็นไหม อยู่ในที่สว่างดีกว่าอยู่ในที่มืด คนอยู่ในที่มืดก็เหมือนคนตาบอดคลำไปตลอดเลย ชีวิตนี้ดั้นด้นไป คลำไปตามที่กิเลสมันไสไป เพราะเราอยู่ในที่มืด เราตะเกียกตะกายไปโดยที่เราช่วยตัวเองไม่ได้ เพราะมันคือที่ “มืด”

กับขยับตัวเองออกมาในที่สว่าง ในที่สว่างเราสามารถช่วยตัวเองได้ เพราะเราเห็นว่าสิ่งใดจะกระทบกับเรา เราเดินไปชนอะไร สิ่งใดเป็นหนามเป็นเสี้ยน เราหลบหลีกได้ นี่ธรรมะพระพุทธเจ้า เห็นไหม นั่นเป็นการศึกษาเปล่า

ถ้าศึกษาตามความเป็นจริงต้องสำรวมเข้ามาภายในไง การศึกษาเปล่าๆ การปฏิบัติเปล่าๆ การประพฤติเปล่าๆ ความรู้เปล่าๆ ความรู้จากสัญญาไง

ความรู้จากสัญญา ความรู้จากการจำมา ถ้าความรู้จากการเป็นความจริงเกิดขึ้นมาอย่างนั้น ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “โปฐิละ” เป็นคนที่เป็นคัมภีร์เปล่า ศึกษามาจนจบพระไตรปิฎก สามารถสอนลูกศิษย์ลูกหาได้ ๕๐๐ - ๖๐๐ คน ไปไหนไปหมด ตอบปัญหาได้ทุกข้อ ที่เขาจะถามปัญหา เพราะมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นอาจารย์ของคน ต้องแก้ไขคนได้ ทำไมพระพุทธเจ้ายังบอกว่า “คัมภีร์เปล่า”

คัมภีร์เปล่าๆ การศึกษาจำมาเปล่าๆ มันไม่ได้ชำระล้างกิเลสเลย เป็นความจำมาจากธรรมะของผู้อื่นยืมเขามาไง การศึกษาเปล่าๆ เป็นภาวะเปล่าๆ เหมือนที่อาจารย์บอกว่า “เหมือนไก่ได้พลอย เหมือนคนอยากมีหงอน” มีอะไรมาแปะที่หัวก็ว่าตัวเองมีหงอนไง ตัวเองมีศักดิ์ศรี มีศักยภาพว่า “ฉันนี่รู้ไง” แต่รู้แล้วช่วยตัวเองได้ไหม ความรู้ที่ว่าแบกของเขามา ความรู้ของคนอื่นไง ความรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้เพื่อเป็นประโยชน์ เพื่อเป็นแนวทาง เพื่อให้เราศึกษา แต่ไม่ใช่การชุบมือเปิบ

การชุบมือเปิบ คือ การศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง เห็นไหมจะไม่เป็นการเปล่า เหมือนยา ถ้าเราอ่านฉลากยาแล้วเราไม่ได้กินเนื้อยา ยามันก็ไม่สามารถชำระโรคของเราได้ ฉลากยานั้นเราเข้าใจ จะแก้ไขอย่างนั้นๆ แต่เราไม่ได้เปิดขวด แล้วเราไม่ได้กระดกยานั้นเข้าปาก ยานั้นยังไม่ได้เข้าไปในร่างกาย ยังไม่ได้ทำปฏิกิริยาในร่างกายนั้น ให้ร่างกายนั้นหายจากโรคภัยไข้เจ็บ

“จิต” นี้เปรียบเหมือนร่างกาย กิเลสอยู่ในเนื้อของจิต ต้องทำความสงบให้ได้ ต้องทำความสงบเหมือนกับเปิดปากไง เปิดปากเพื่อจะกรอกยา

การศึกษาคือการจำตำรับตำรามานั้น เป็นการจำมาเปล่าๆ แล้วไม่สามารถเข้าในเนื้อจิตได้ เพราะกิเลสพาศึกษา การศึกษา การใคร่ครวญ กิเลสพาทำ คือเราเป็นคนศึกษา เราเป็นคนจำมา เห็นไหม พอเราไปจำมา ข้อมูลใดๆ ก็แล้วแต่ เราจะต้องเอาความรู้สึกของเราเข้าไปเปรียบเทียบ ความรู้สึกว่าควรจะเป็นอย่างนั้น…ควรจะเป็นอย่างนั้น…มันเป็นการเดาไง เป็นการเดาหนึ่ง เป็นการว่า “กิเลส” มันขัดแย้งหนึ่ง

ในตำราทุกตำรา เวลาเราอ่านเข้าไป เราจะมีความสงสัยมาก แล้วจะถามขึ้นมาในตัวเองว่า “มันจะเป็นไปได้จริงหรือ…มันจะเป็นความจริงหรือ...มันไม่น่าจะเป็นไปได้...”

มันไม่น่าจะเป็นไปได้หนึ่งนะ สอง...เราจะเป็นไปได้ไหม เห็นไหม

ถึงว่าอันนั้นก็สงสัยในผลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังสงสัยในกำลังของตัวอีกว่า กำลังของตัวจะทำได้อย่างนั้นหรือ ความสงสัย ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ

สงสัยในผลที่เป็นตามความเป็นจริง ที่เป็นเรื่องของจริงอยู่แล้ว..หนึ่ง สงสัยในการปฏิบัติของตัวเอง…หนึ่ง สงสัยในแนวทางประพฤติปฏิบัติอีกหนึ่งไง สงสัยในกำลังของตัว แล้วสงสัยวิธีการไง

แล้วพอทำเข้าไป…พอทำเข้าไป…เริ่มพยายามทำ เพราะว่าเราเป็นชาวพุทธ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราไม่สามารถหยิบหรือเก็บเพชรเม็ดงามๆ ในศาสนา เหมือนเราเข้าไปในห้างสรรพสินค้า แล้วเราไม่สามารถจับสินค้าใดๆ ออกมาติดมือเราได้เลยหรือ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีชีวิต เรามีโอกาส โอกาสจากการเกิดมาจนกว่าเราจะดับ เกิดแล้วดับไป พอดับนั้นมันถึงจะหมดโอกาส การที่ยังมีชีวิตอยู่ มีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก โอกาสนั้นทุกคนมีอยู่ โอกาสที่ว่าเราจะได้สมบัติตามความเป็นจริงของหัวใจดวงนั้นไง

แต่เราเข้าใจว่าสมบัติโลก เราเข้าใจว่าศักยภาพ เราเข้าใจว่าตำแหน่งหน้าที่ ทุกอย่างนี้เป็นเกียรติศักดิ์ เป็นเกียรติไง การกินโดยเกียรติ การอยู่โดยเกียรติ เห็นไหม พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นทางที่ไม่ถูกต้อง เป็นกษัตริย์ เป็นนักรบ เป็นเศรษฐี เป็นยาจก มาบวชในพุทธศาสนา เห็นไหม พระพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ให้กินโดยเกียรติ ไม่ให้กินเพื่อเกียรติ ไม่ให้กินเพื่อกาม ให้กินเพื่อการดำรงชีวิต ประทังลมหายใจเข้าและลมหายใจออกที่มีโอกาสอยู่นี้”

ไม่ใช่ว่า ผู้ศึกษาธรรมะมาแล้วว่า การเกิดและการดับนี้มันมีโอกาส แล้วเรามีการกระทบลงกระทบขึ้น มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นกิเลส จะประชดประชันด้วยการทำลายตนเอง เห็นไหม ฆ่าตัวตายเอยเพื่อจะหลบทุกข์ …ไม่ใช่…

ฆ่าตัวตาย ทำลายตัวเองไปขนาดไหน กิเลสมันก็ตามหัวใจไปตลอด ไปเกิดภพไหน เกิดเป็นเทวดา เกิดในนรก ไปเกิดที่ไหนก็แล้วแต่ ในเมื่อยังมีกิเลสอยู่ กิเลสจะพาไปเป็นความทุกข์ทั้งหมด

การทำลายโอกาส ทำลายตัวเอง นึกว่าจะเป็นการหลบ หรือการไปให้พ้นจากทุกข์ มันกลับเป็นการเพิ่มทุกข์เป็น ๒ ชั้น ๓ ชั้นทั้งหมดเลย อันนั้นกิเลสมันหลอก เห็นไหม กิเลสนี้ร้ายกาจมาก ไม่มีสิ่งใดๆ เลย…ในโลกนี้ที่จะสู้กับกิเลสได้ เพราะกิเลสนี้เป็น “เรา”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ผ่านตรงนี้ไป...เยี่ยม! แล้วประทานศาสนาไว้ให้ผู้ปฏิบัติ ให้พวกเราผู้ปฏิบัติจะได้เดินตามรอยทางที่ว่าถูกต้อง ไม่ใช่สงสัยใน “มรรคอริยสัจจัง” มัคคะคือเครื่องดำเนิน เห็นไหม

พอจิตเราเริ่มสงบ เราเชื่อธรรมจากการศึกษา เราเชื่อธรรมคือเราเชื่อแผนที่ เราเชื่อวิธีการ การเชื่อนี้จิตน้อมลงถึงจะเตรียมเป็นการปฏิบัติ ถ้าการเชื่อนี้ไม่เกิดขึ้นเราปฏิบัติมันก็เป็นการสักแต่ว่า

เหมือนอย่างถ้าเป็นวัตถุ เห็นไหม เราไม่หยิบเข้าปาก มันเข้าปากไม่ได้ อาหารที่เราไม่ตักเข้าปาก เรายืนมองอยู่ มันก็อยู่อย่างนั้น มันจะไม่สามารถเข้าปากได้เพราะมันเป็นวัตถุใช่ไหม แต่ถ้าเราย่อยสลายแล้ว เราฉีดเราอัดเข้าไป ยังเข้าไปได้ แต่ถ้าความเชื่อนะ “มันสักแต่ว่าทำ” มันเข้าไม่ได้ เพราะมันเป็นนามธรรม

สิ่งที่ละเอียด สิ่งที่ลึกซึ้ง เราเข้าใจว่ามันจะทำได้ง่าย..มันกลับยาก สิ่งที่เป็นวัตถุที่ว่าทำลายยากๆ มันกลับง่าย เพราะ วัตถุมันทำลายได้ง่ายๆ เพราะมันเห็นภาพชัด มันจับต้องได้ แล้วมันทำลายได้เลย มันเห็น มันจับ หรือมันมีเครื่องมือ

แต่ “หัวใจ” เห็นไหม หัวใจที่เวลาเราเดือดร้อน เราอยากให้มันสงบ หัวใจที่มันขัดอกขัดใจ เราอยากจะให้มันทำความดี ทั้งๆ ที่เราก็รู้วิธีการ ทั้งๆ ที่เราก็ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เวลาโกรธขึ้นมาให้ใช้เมตตาเป็นเครื่องต่อสู้กัน” ความโกรธความอาฆาตนี้ให้มีเมตตาธรรม จะหยุดตรงนั้นได้

“กามราคะ” ให้ใช้ “อสุภะ” เข้าไปเป็นของคู่ที่ทำลายกัน เราก็รู้แต่เราทำลายความโกรธอันนี้ได้ไหม เราทำลายความผูกพัน ที่เราไปติดพันได้ไหม ไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันเป็นนามธรรมกับนามธรรม

“บ่วง” บ่วงที่เป็นของหลวม ๆ ไง บ่วงที่เกาะเกี่ยวมาจาก “วัฏฏะ” ไง มันไม่ใช่กรงขังแบบวัตถุที่เป็นเหล็กเป็นอะไรที่เรายังหลุดออกไปได้

ถึงบอกว่าต้องมี “ความเชื่อในธรรม” แล้วพอมีความเชื่อในธรรม ความเห็นในการปฏิบัติ ถึงจะลงเข้าไปถึงภายในได้

จะชำระกิเลสต้องทำให้ “ใจ” นี้สงบก่อน หัวใจเห็นไหม ถ้าหัวใจเรานี้ยังไม่สงบ ความคิดเรายังฟุ้งซ่านอยู่ เราคิดเท่าไรนะก็คิดไปเถอะ มันเป็นความคิดเปล่าๆ มันเป็นการศึกษาเปล่าๆ มันเป็นการจำเปล่าๆ เวลาจำมาความคิดที่จำมา มันเกิดขึ้น ช่วงนั้นจะสงบ ช่วงนั้นจะว่า “ฉันนี่รู้ธรรมไปหมดเลย”

แต่เวลากิเลสมันเกิดขึ้นมา จะเอาอะไรไปยับยั้งมันล่ะ มันยังยับยั้งไม่ได้เพราะว่าไม่ได้ชำระมันไง ขณะที่ความคิดเป็นธรรมเกิดขึ้น ที่เราว่าเรามีความสุข เพราะใจมันเสวยกับอารมณ์ที่เป็นธรรม

ตามความเป็นจริงนี้ เวลาเย็นกับเวลาร้อน ถ้าเวลาเย็นเราพอใจในอากาศที่เย็น เราก็มีความเย็น แต่ถ้าตอนบ่ายตอนเที่ยงเวลาอากาศมันร้อน เราก็ร้อนตาม เห็นไหม ความคิดที่เป็นธรรมเพราะจิตนี้เสวยความเย็นไง จิตนี้เสวยอารมณ์ไง เสวยความคิดไง ความคิดที่เป็นธรรมของพระพุทธเจ้า เห็นไหม พระพุทธเจ้าวางธรรมไว้ แล้วจิตนี้ไปเสวยอารมณ์นั้น จิตนี้คิดตามธรรมพระพุทธเจ้า “โอ๋…สว่างไสว รู้ไปหมด” เห็นไหม รู้ตามนั้นไปหมด เพราะเป็นความคิดตามออกไป

แล้วก็ว่าอันนี้เป็นธรรม ธรรมเปล่าๆ เพราะธรรมยืมไง ธรรมของพระพุทธเจ้า จิตนี้เสวยอารมณ์ที่เป็นธรรมอันนั้นออกไป แต่มันไม่ใช่ธรรมตามความเป็นจริง ฉะนั้นเวลาของมันเสวยไปแล้ว มันบอกของเรา ถ้ามันจากมืดก็เป็นสว่าง เห็นไหม จากเย็นก็ต้องเป็นร้อน มันต้องละลายออกไป เสวยธรรมคืออยู่ในธรรม พอมันออกมาถึงข้างนอกล่ะ พอคิดเรื่องอื่นไป ความคิดนี้จะสั่งสมความทุกข์ให้เกิดขึ้น เพราะมันต้องเป็นเรื่องของกิเลส

เวลาคิดถึงเรื่องธรรม มันเสวยอารมณ์ไปแล้ว มันเหมือนเราหยิบของไว้ในมือ เห็นไหม มือนี้เราหยิบของอะไรอยู่ มันก็เต็มมือเรา ไม่มีที่ว่างจะหยิบของอย่างอื่นต่อไป

จิตเสวยธรรมของพระพุทธเจ้า ศึกษาธรรมมา แล้วคิดตาม ก็เหมือนกับเราเอามือนี้เอาใจนี้หยิบธรรมพระพุทธเจ้าอยู่ ก็เย็น พอสิ่งของนี้ เราหยิบอยู่พักหนึ่งเราต้องไปวางออก เพราะเราต้องปล่อย เราต้องวางออกจากมือ เพราะมันมีความหนัก มือนี้ต้องไปทำงานอย่างอื่นต่อ เห็นไหม พอมาหยิบมากำไฟเข้าให้ มือนี้พอง มันจะปล่อยเลยทันที

แต่ถ้าใจมันมากำอารมณ์ที่เป็นทุกข์ มันกำไฟแล้วมันปล่อยได้ไหม ปล่อยไม่ได้ ถึงจุดหนึ่ง เห็นไหม เสวยอารมณ์จนทุกข์ จนน้ำตาไหล จนท่วมท้น จนเศร้าใจ สุดท้ายแล้วพอมันถึงจุด มันก็ปล่อยวางโดยความเป็นจริง

เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด สรรพสิ่งในโลกต้องเคลื่อนที่ไป สรรพสิ่งในโลกนี้ไม่มีการคงที่ไง แต่ไม่มีการคงที่ของกิเลส เพราะกิเลสมันไสไป เป็นความไม่คงที่ของกิเลส เป็นความไม่คงที่ตามความเป็นจริง “วัฏวน” เห็นไหม เราก็เกิดดับ เกิดดับ ตายกันอยู่อย่างนี้ ศึกษาธรรมก็ศึกษาเปล่าๆ กันอยู่อย่างนี้

ความเป็นไปโดย “ความเปล่า” เป็น “โมฆะบุรุษ” ไง ความเป็นโมฆะ ความรู้เปล่าๆ เป็นคัมภีร์เปล่าๆ มันก็หมุนไปตามอย่างนั้น วนไปเวียนมาอยู่อย่างนั้น จนพระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “เป็นพวกคัมภีร์เปล่า” จนได้สติ จนต้องปล่อยวางความคิดเปล่าๆ อันนั้นมาถือเอาความคิดเนื้อๆ ไง “เนื้อๆ คือตัวความสงบ”

ต้องให้ใจนี้สงบ ทำใจให้สงบ พอสงบตัวขึ้นมา จากมือที่ยื่นออกไปหยิบทุกอย่าง ทุกอย่างที่ขวางหน้าผ่านมา มือจะคว้าไว้ทั้งหมดเลย กิเลสนี้มันเหนียวแน่น สิ่งใดผ่านมาจะเกาะเกี่ยวไว้หมด แม้แต่ว่าศึกษาธรรมะที่เป็นความดีก็เกาะเกี่ยวว่า “เป็นเรา”

มันเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นเราได้อย่างไร ธรรมะของเราอยู่ที่ไหน?

เราเป็นพนักงานในธนาคาร เงินไหลเข้าวันหนึ่งเป็นกี่ล้าน เป็นเงินของใคร เป็นเงินของเราหรือ เราเป็นพนักงานธนาคาร เราเป็นคนรับเงินเข้ามาในธนาคาร ธนาคารนั้นต่างหากเป็นที่พักเงิน เงินนั้นมีเจ้าของคือผู้ที่ฝาก

ธรรมะพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม พระพุทธเจ้ารู้ธรรมตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้าสอนธรรมตามความเป็นจริง เราไปศึกษาธรรมนั้นมา ธรรมนั้นเป็นของเราหรือ?

แต่มันผ่านขึ้นมา เราทำงานด้วยธรรมมันก็เป็นประโยชน์นะ แต่เป็นประโยชน์ก็ต้องให้เป็นประโยชน์ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นประโยชน์เปล่าๆ ไง เป็นประโยชน์ชั่วคราว เป็นการหลอกกัน หลอกให้เราตายใจ หลอกให้เราอยู่ตรงนั้น แล้วเราล่วงพ้นจากตรงนั้นไปไม่ได้

ทีนี้เราศึกษาแล้ว เราเข้ามา ถึงบอกว่าให้รู้ตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงก็ต้องทำใจให้สงบให้ได้ จากที่มันติด “เกาะธรรมไว้ก่อน” มันก็เกาะธรรมไว้เพื่อให้มันสงบ แต่ให้เกาะให้ยาวไว้ ถ้าเกาะธรรมแล้วคิดไปในเรื่องของธรรมตลอด ก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

เป็นปัญญาอบรมสมาธิเพราะสมาธินี้เกาะธรรม ถ้ามือนี้หยิบเรื่องที่เป็นธรรมไว้ตลอด ให้เย็นอยู่ตลอด.. เย็นตลอด.. ตามความเป็นจริง เย็นจนมันเป็นเย็นสุดส่วน เย็นตามที่ว่ามือนี้เย็นไปตามวัตถุนั้น เสวยอารมณ์…เสวยอารมณ์…ทำจนใจนี้เป็นธรรม เป็น “สมาธิธรรม”

ความเป็นสมาธิธรรมนั้น จิตมันจะเย็นมาก มันจะมีความสุขในตัวมันเอง จากที่ว่าเราเข้าใจนะ “อู้ฮู..อู้ฮู..” เวลาอ่านธรรม เวลาศึกษาธรรมไปนะ “อู้ฮู…อู้ฮู...” เลยนะ พระพุทธเจ้านี่ยอด รู้จริงมาก แล้วเราศึกษา เราพิสูจน์ เรามามีผลกระทบ เราก็ว่า “เรารู้จริง”

แต่พอจิตมันสงบเข้าไป จิตจะร่มจะเย็น จะเป็นฐาน มีความสงบบ่อยเข้า…บ่อยเข้า…เราทำไปจนจิตตั้งมั่น เห็นไหม พอมันตั้งมั่นแล้ว ต้องพลิกออก เห็นไหม สมถกรรมฐานยกขึ้นวิปัสสนากรรมฐานไง

แต่แค่สมถกรรมฐานแล้วเข้าใจว่า “อันนี้เป็นธรรมไง เป็นธรรมจริง”

เป็น “ธรรมเปล่า หรือ ธรรมจริง?”…เป็นธรรมเปล่าๆ

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายนี้เป็นอนัตตาทั้งหมด ธรรมทั้งหลายนี้เป็นเครื่องดำเนิน ธรรมทั้งหลายนี้เป็นรถเป็นเรือ รถหรือเรือที่พาเราไปถึงจุดหมายปลายทาง สมาธิธรรมนี้เป็นมรรคอริยสัจจัง เป็นสัมมาสมาธิ เป็นเครื่องดำเนิน มรรคอริยสัจจังไง มรรคญาณไง มรรคญาณเป็นญาณเครื่องดำเนิน

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา รถ เรือทุกอย่างนั้นส่งเราขึ้นฝั่งแล้ว รถ เรือนั้นต้องหมุนอยู่ตรงนั้น ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา รถไม่ใช่เรา เรือไม่ใช่เรา แต่เรือหรือรถนี้ส่งเราขึ้นฝั่งได้ รถพาเราไปถึงจุดหมายปลายทางได้ เรือพาเราไปถึงจุดหมายปลายทางได้ แต่เรือไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่เรือ

เห็นไหม พอจิตนี้สงบ จากการที่ว่าหยิบธรรมใคร่ครวญธรรมมาแล้ว พอจิตสงบเข้า ว่าอันนี้เป็นธรรมไง พอจิตสงบจิตเป็นสมถกรรมฐาน มันแปลกประหลาด มนุษย์หรือผู้ที่ไม่เคยเสพสมาธิธรรม พอจิตสงบเข้า จิตเย็นเข้า มันจะแปลกประหลาด มันจะเข้าใจว่าอันนี้เป็นผล เข้าใจว่าอันนี้เป็นธรรมไง “ความเข้าใจ” เห็นไหม

ถ้าความเข้าใจก็เหมือนกับตทังคปหานชั่วคราว การตทังคปหาน ดับชั่วคราว ดับเหมือนหินทับหญ้า ดับเหมือนเวลาเราปัดเศษผงเข้าใต้พรม แล้วก็สุข หลงระเริงอยู่ตรงนั้น พอหลงระเริงนั้นสะสมเข้าไปมากเข้า สะสมเข้าไปมากๆ มันต้องหาทางเล็ดลอดออกมาจนได้ล่ะ หญ้าถ้าเกิดไม่ได้เพราะหินทับ มันก็จะแลบออกข้างไป เวลามันออกข้าง เวลากิเลสมันหมุนออกมานั่น มันจะพลิกกลับไง ทีนี้จะทำอย่างไร ในเมื่อพลิกกลับมาแล้ว ถ้ามีกำลังอยู่ก็ต้องต่อสู้คืนเข้าไปได้ ไม่ถึงกับพลิกล้มไปเลย

แต่ถ้าไม่มีหลักเกณฑ์ “กรรมฐานม้วนเสื่อ” ม้วนเสื่อไปเลย สักแต่ว่า สู้ไม่ไหวไง

กิเลสรุนแรงมากนะ กิเลสนี้เป็นเรา เราไม่กล้าทำลายเรา เราไม่กล้าฝืนเรา เราไม่กล้าฝืนกิเลสของเรา เราปล่อยให้กิเลสเป็นเจ้าใหญ่นายโตตลอด แล้วยิ่งมาขีด มาได้หยิบยืมธรรมะพระพุทธเจ้า เหมือนกับพนักงานในธนาคาร เงินอยู่กับเรา จะคดโกงขนาดไหนก็ได้ จะโกงเงินขนาดไหนก็ได้ในธนาคารนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้ามา เราจำมาได้หมด ทำไมเราจะโมเมโมชั่นไม่ได้ เห็นไหม เวลาพลิกกลับ ศึกษาธรรมมาเพื่อเป็นประโยชน์กับตัวไง ศึกษาธรรมมาเหมือนกับ “หมาห่มหนังเสือ” หมาเอาหนังเสือมาห่ม เวลามันเห่าออกมามันไม่ใช่เสียงเสือ ถ้าเสือคำรามจะเป็นเสียงเสือ เสือตามความเป็นจริงไง ธรรมตามความเป็นจริงต้องคำรามบันลือสีหนาท ไม่ใช่หมาห่มหนังเสือ ถ้าหมาห่มหนังเสือมันคำรามออกมาจะเป็นเสียงหมา มันไม่ใช่เสียงเสือ

เพราะอะไร เพราะว่าเราไปหยิบธรรม เราศึกษามาแล้วเราเกาะเกี่ยว แล้วเราเอาประโยชน์ เราทุจริต เป็นการปฏิบัติธรรมเปล่าๆ นะ เป็นโมฆะบุรุษ เป็นโมฆะ เป็นความว่าง เป็นโมฆะบุรุษที่ว่าเป็นการศึกษาเปล่าๆ มีคัมภีร์เปล่าๆ แล้วยังติดในลาภไง โมฆะบุรุษเป็นผู้ที่ว่าติดในลาภ ติดในสักการะ ติดในสรรเสริญไง โมฆะบุรุษตายเพราะลาภ ตายเพราะเหยื่อ มันมีเหยื่อมาล่อ ก็ต้องใช้ธรรมะ เห็นไหม

พนักงานธนาคารทำไมโกงเงินในธนาคาร เพราะเห็นธนาคารนั้นมีเงิน อยากได้เงินโดยไม่ใช่เงินของเรา การประพฤติปฏิบัติโดยคัมภีร์เปล่าก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตของตัวเองไม่เป็นไปตามความเป็นจริง แต่ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้ามาแล้ว ก็ใช้ธรรมะอันนั้น พยายามใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเป็นประโยชน์กับตัว หลอกตัวเองอีกชั้นหนึ่ง อันนี้เป็นกิเลส กิเลสมันทำให้เราเจ็บปวดขนาดนั้นอยู่แล้วนะ

แม้แต่การประพฤติปฏิบัติมันก็ยังหลอกตัวเอง เห็นไหม หลอกให้เราขึ้นขี่หลังเสือ เป็นโมฆะบุรุษ ใช้ธรรมะนี้เป็นประโยชน์กับตัว เป็นหมาที่ห่มหนังเสือ ไม่ใช่ตามความเป็นจริงเพราะไม่ใช่สมุจเฉทปหาน มันเป็นตทังคะ ตทังคปหานแล้วมันพลิกกลับ

ความพลิกกลับอันนั้นถ้าเป็นประโยชน์ มันยังเป็นประโยชน์เพราะเป็นทางเดิน เป็นทางที่ผิดพลาด เป็นประโยชน์ต่อเมื่อเราจะปฏิบัติต่อไป แต่ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติไปแล้ว ถึงจุดนั้นแล้วย้อนกลับมาเป็นการใช้ประโยชน์ เพราะเราเข้าไปศึกษาจากคัมภีร์เปล่ามาแล้ว เราศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้ามาแล้ว เรายึดติด เรารู้จากคัมภีร์อันนั้น แต่หัวใจมันไม่สมกับความเป็นจริง

มันถึงว่าเป็น “คนเปล่า” ไม่ได้เป็นธรรมจริงที่ชำระกิเลสได้ เป็น “ธรรมเปล่า” ไม่ใช่ “ธรรมจริง” ถ้าธรรมจริงมันต้องยกขึ้นวิปัสสนา สมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน จิตนี้สงบไหม สงบแล้วถ้ารักษาความสงบนั้นไม่เป็น มันคลายออกมา หรือจิตสงบแล้วไม่สามารถทำให้มันอยู่ได้นาน หรือจิตสงบแล้วไม่สามารถยกขึ้นให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ความไม่เห็นเพราะว่าสมาธินี้เป็นเรา ความไม่เห็นเพราะเรานี้เป็นสมาธิ เรานี้เป็นธรรม จิตมันแปลกประหลาด มันเป็นจริงๆ

ถ้ามันไม่เป็นจริงๆ ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรม ผู้ที่ปฏิบัติแล้วจิตเป็นสมาธิมีมหาศาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังต้องไปศึกษากับอุทกดาบส อาฬารดาบสเลย เพราะสมาธิมีอยู่ ถ้าสมาธินั้นเป็นธรรม ทำไมพวกที่มีสมาธิก่อนสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ทำไมไม่เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาก่อน ทำไมไม่ตรัสรู้ธรรมล่ะ เพราะสมาธิไม่ใช่ธรรม แล้วสมาธิก็เป็นธรรมไม่ได้ ต้องปัญญาต่างหาก ถ้าเป็นไปได้เขาจะติดอยู่หรือ

เขาเป็นสมาธินะ จากเป็นครูเป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ จนตายไปก็ตายไปกับสมาธินั้น ตายไปกับความทุกข์อันนั้น ไปเกิดเป็นพรหมแต่ไม่สามารถชำระกิเลสได้ ถ้าสมาธินี้แน่นหนาขึ้นมาแล้วสมาธิจะเป็นปัญญาโดยอัตโนมัติ เขาต้องสำเร็จ เขาต้องชำระกิเลสได้สิ เพราะเขามีสมาธิ เขาสามารถทำได้ตามความเป็นจริง ทำไมเขาไม่เป็นไป เพราะเขาไม่ยกขึ้นวิปัสสนา

วิปัสสนา คือ งานการชำระให้มันเป็นสมุจเฉทปหานด้วยมรรคอริยสัจจัง อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นไหม มรรคอริยสัจจังเป็นเครื่องดำเนิน ดำเนินที่ไหน ดำเนินที่ทุกข์

จิตสงบ จิตร่มเย็น เวลาออกมามันทำไมทุกข์ ทุกข์เพราะเหตุใด ทุกข์เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง ทุกข์เพราะกิเลสมันไสหัว ทุกข์ไง ทุกขอริยสัจจัง ทุกข์นี้เป็นความจริง

คนเกิดขึ้นมาครั้งแรก ชาติปิ ทุกฺขา การมีชาติการเกิดนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง มีชรา มีความแปรปรวน เป็นทุกข์ต่อๆ มา แล้วมีทุกข์จรมา อารมณ์เกาะเกี่ยวที่เราเกิดมา กิเลสตัวนี้มันคอยตอกย้ำกับไอ้ตัวชาตินั้นให้แน่นหนาขึ้นไง ทุกคนเกิดมาทุกคนยึดชาติของตัว ทุกคนยึดภพของตัว ใครจะดูถูกศักดิ์ศรี ใครจะเหยียบย่ำตัวนี้ไม่ได้ แล้วอารมณ์ที่มันโอบเนื่องมาจากอารมณ์ที่ว่ามันเป็นสิ่งแวดล้อม มันเป็นสิ่งกระทบ เราว่าอันนี้มันเป็นของจรมา

การจรมา มันก็จรมาย้ำตรงนั้น ย้ำให้เกิดชาตินี้ให้มันแน่นหนาขึ้น มันไม่ใช่ว่าอารมณ์นี้เกิดมาเพื่อจะชำระชาตินี้ ออกไปนี่นา เห็นไหม มันเป็นสมมุติ มันเป็นการที่เราเข้าใจไง สมมุติมีตามความเป็นจริง อย่างเช่น ภาษาต่างๆ นี้บัญญัติขึ้นมาเป็นสมมุติ ความเข้าใจว่าชาติเป็นของเรา ความเข้าใจไง ความเข้าใจว่าศักดิ์ศรีของเรา ความเข้าใจ เห็นไหม อารมณ์ตัวนั้นจะตอกย้ำความยึดมั่นถือมั่นตลอด ถึงว่ามันมีตามความเป็นจริง มันเป็นสมมุติและมีตามความเป็นจริง เป็นอริยสัจ เป็นทุกข์

ทุกข์นี้ครอบคลุมทั้งหมด ความทุกข์ทั้งหมดที่ว่ามีทุกข์ อยู่ในทุกข์อันนี้เลย ทุกข์เกิดเพราะความไม่รู้จริง เกิดจากสมุทัย ตัณหาความทะยานอยาก แล้วถ้าเราเบื่อในชีวิต ถ้าเราไม่ทะยานอยาก จะเป็นตัณหาไหม…เป็น เพราะชีวิตนี้ยังไม่สิ้น

วัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันเกิดขึ้นแล้ว มันต้องแปรสภาพไปเป็นธรรมดา ชีวิตนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะบุญกุศลส่งเสริมมา ชีวิตนี้ดับเพราะหมดบุญกุศล เห็นไหม มันต้องเป็นไปตามความเป็นจริง

ถ้าเราเห็นว่าชีวิตนี้ เราไปติดข้อง เราไม่เข้าใจ เราอยากทำลาย เห็นไหม ตัณหาความทะยานอยากกับความปฏิเสธ ก็เป็นตัณหาเหมือนกัน “ตัณหา ๓” ความอยาก ความไม่อยาก ความเฉยๆ อยู่ ก็คือความไม่รู้เท่าในตัณหา

ความเข้าใจอันนี้เป็นโลก แต่ถ้าวิปัสสนานี้เป็นการค้นคว้า จิตนี้สงบก็ต้องดูที่กาย ดูที่เวทนา เห็นไหม เวทนาคือความไม่พอใจตัวนี้ เวทนาคือสุข คือทุกข์ ตัณหาก็คือความไม่พอใจนี้ ดูจิต ดูธรรม ดูตามความเป็นจริง อริยสัจเหมือนกัน อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ มรรค ๘ อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม กับมรรคอริยสัจจังเป็น ๘ ต่อสู้กัน

วิปัสสนาเกิดจากที่จิตนั้นสงบ ต้องยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนานี้คือแรงงานของเรา แรงงานของพระพุทธเจ้า คือ แรงงานของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรมมาแล้ววางไว้ เราศึกษาธรรมพระพุทธเจ้า คือ ศึกษาแผนที่ ศึกษาเทคโนโลยี ศึกษาวิธีการ แล้วเรามาพิจารณาของเรา นี่คือแรงงานของเรา นี่คือแรงงานของจิต นี่คือเนื้อของจิตที่มันค้นคว้า ที่มันมีการต่อสู้ในจิต

กิเลสมีที่อยู่บนหัวใจ กิเลสอยู่ที่จิตนั้น แล้วจิตนี้ได้ขับเคลื่อน เพราะวิปัสสนานี้ไม่ใช่ความคิดของโลกๆ ความคิดของโลกนี้เป็นสุตมยปัญญา ภาวนามยปัญญานี้เกิดจากจิตภายในที่เป็นสมาธิ พลังงานนี้ส่งออก แล้วเราควบคุมพลังงานที่ส่งออกนี้จนเป็นสมาธิ แล้วสมาธินี้เป็นพลังงานในตัวมันเอง แล้วสมาธิยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาในชาติภพของเรา เห็นไหม ก็หมุนกลับเข้ามาที่หัวใจ ที่อยู่ของกิเลส ที่อยู่ของเนื้อจิต จิตนี้ได้หมุนเข้าไปที่ตัวจิตแล้ว เป็นตัวภาวนา เป็นปัญญาภายใน เป็นความรู้สึกลึกๆ ข้างในที่มันหมุน มันต่อสู้กัน นี่เนื้อของจิต ความเป็นไปในการต่อสู้ ในตัวมันข้างในนั้น เป็นการชำระ วิปัสสนา เป็นแรงงานของเรา เป็นแรงงาน เป็นประสบการณ์ เป็นความรู้จริง เป็นการต่อสู้

เริ่มต้นขึ้นไป การยกพลขึ้นบก เห็นไหม การต่อสู้ การยึดประเทศ กว่าจะยกพลขึ้นบกได้ จากที่เราอยู่ในทะเล การต่อสู้ขึ้นไป เราจะกินเนื้อที่ได้แสนยากเลย วิปัสสนาครั้งแรกๆ ก็เหมือนกัน เราจะเข้าไป เห็นไหม จิตถึงจะสงบเป็นภายในก็จริงอยู่ แต่กิเลสมันยึดพื้นที่ไว้ทั้งหมดแล้ว แล้วเราจะเข้าไป พลังงานของตัวมันภายในจะหมุนเข้าไปชำระ แย่งเนื้อที่ขึ้นไปจากกิเลสในหัวใจนั้น

วิปัสสนาครั้งแรกๆ มันถึงจะเป็นผู้ที่เข้าใจนะ ธรรมะพระพุทธเจ้าที่ว่าเราทำให้จิตสงบนั้น พอสงบเข้ามามันคือความสุขอย่างยิ่ง จิตมันถึงได้หลงใหล แต่วิปัสสนานี้มันลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง มันจะเป็นความสุขมากกว่า ถ้ามีการต่อสู้กันครั้งสองครั้ง มันจะเกิดวิธีที่ทำให้จิตนี้ยุบยอบลง ถ้าเรายึดพื้นที่ได้ มันจะสงบตัวลง

ความสงบที่เกิดขึ้นจากการวิปัสสนา ต่างกับความสงบที่เกิดขึ้นจากการกำหนดจิตให้เป็นสมาธิ การกำหนดให้เป็นสมาธินี้มันเป็นโดยธรรมชาติอยู่แล้วก็มี แต่วิปัสสนานี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ไม่มีโดยธรรมชาติ ต้องเกิดขึ้นด้วยมรรคอริยสัจจังอย่างเดียว อย่างเดียวเลย ถ้าไม่เกิดมรรคอริยสัจจังก็เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะแรงงานของเรา ความเป็นจริงของเรายังไม่เกิดขึ้น เราเห็นแต่สมบัติของคนอื่นทั้งนั้นเลย ถึงจะเป็นสมบัติพระพุทธเจ้าก็ยืมพระพุทธเจ้ามา เห็นไหม ธรรมะพระพุทธเจ้าเรายืมมา ไม่ใช่ธรรมะของเรา

ธรรมะจะเกิดขึ้น จะไม่เป็น “คนเปล่า” เป็นคนมีหลักมีเกณฑ์ ต้องเกิดขึ้นจากความเป็นไปของเรา เกิดขึ้นจากการทำความเป็นจริง เกิดขึ้นจากภายใน เกิดขึ้นจากมรรคหมุนเข้ามาเป็นภาวนามยปัญญาจนยึดพื้นที่ได้ ยึดพื้นที่ได้แล้วยังบุกขึ้นไปนะ เป็นการต่อสู้ เพราะกิเลสมันจะต่อสู้ มันจะไม่ยอมทิ้งพื้นที่ของมัน ใครจะยอมตาย การหลบหรือการถอยพื้นที่มา เพราะเขาต้องมาแย่งพื้นที่นั้นเพื่อทำลายเรา

นี้มันเป็นนามธรรมนะ แต่พูดเป็นรูปธรรมเพื่อยกตัวอย่างให้เห็นถึงการวิปัสสนา ให้เป็นสมบัติส่วนตน เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน แต่ไม่ใช่เป็นการที่ว่า “เรามั่นใจ” เวลาว่านะ “เรามั่นใจ… เรามั่นใจของเรามาก… เรามั่นใจ…” มั่นใจตรงไหน กิเลสมันก็มั่นใจ เรามั่นใจกิเลสก็มั่นใจ เพราะกิเลสมันเป็นเราไง แต่ถ้าปัจจัตตังมันไม่ใช่มั่นใจ มันเป็นตามความเป็นจริง มันเป็นการสมุจเฉทปหานจากความสงสัย

ความลังเลสงสัยในกายนี้ พระโสดาบันไม่ติดใน “สักกายทิฏฐิ” ที่ติดว่าในกายกับจิตนี้เป็นอันเดียวกัน กายนี้คือเรา จิตนี้คือเรา ทุกอย่างคือเราทั้งหมด วิปัสสนานี้จะเข้าไปชำระกิเลสที่ความยึดไง กิเลสนี้เป็นตัวยึดตัวสมาน ให้มีความสงสัย ให้ใจให้กายนี้เป็นอันเดียวกัน และวิปัสสนาเข้าไปทำลายตรงนั้นนะ ระเบิดคูหา ระเบิดถ้ำนั้นนะ

การระเบิดออก เราเป็นคนวางระเบิด แล้วเรากดระเบิด แล้วเราเห็นระเบิดขึ้นมา แล้วระเบิดออกไปจากเรา ทั้งๆ ที่เป็นเราด้วย มันสมุจเฉทปหานขนาดนั้น ความสงสัยในกายนั้นไม่มี เวลาขาดออกไปขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เพราะทุกข์กับเราไม่มี จิตกับเราไม่มี คำว่า “ไม่มี” คือมันมี แต่ความยึดมั่นไม่มี ความสงสัยไม่มี ความสงสัยในสิ่งต่างๆ ในหัวใจไม่มี

เห็นไหม จากคนเปล่าๆ มาเป็นคนมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาจุดหนึ่ง ความมีหลักมีเกณฑ์อันนี้มันมีหลักมีเกณฑ์ตามความเป็นจริง เป็นแรงงานของเรา เป็นธรรมของคนๆ นั้น เป็นธรรมะของผู้ปฏิบัตินั้น ผู้ที่ปฏิบัติถึงตรงนี้ ผู้นั้นมีธรรม ถ้าผู้ปฏิบัติยังไม่ถึงตรงนี้ผู้นั้นยังไม่มีธรรม ถึงจะพูดก็เป็นการพูดธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้ากับธรรมะของบุคคลผู้ที่ปฏิบัตินั้นต่างกัน

ธรรมะของพระพุทธเจ้านิพพานไปตั้งแต่ ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าธรรมะของผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ใดปฏิบัติขนาดไหน สมุจเฉทปหานวินาทีไหน จะเป็นกลางคืน จะเป็นกลางวัน จะเป็นปีไหนก็แล้วแต่ จะเป็นของผู้นั้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามความมั่นใจ ถ้าตามความมั่นใจกิเลสมันก็มั่นใจได้ ตามความเป็นจริงของใจนั้นเป็นธรรมของใจดวงนั้นด้วย

เห็นไหม ความลังเลสงสัยในกาย เริ่มมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาจากความว่างเปล่าๆ เป็นความว่างตามความเป็นจริง ความว่างเปล่าๆ นี้ อากาศมันก็ว่างได้ ลมพัดไปพัดมา น้ำที่ตักมาในตุ่ม น้ำหมดตุ่มแล้วเติมเต็มตุ่ม มันเดี๋ยวก็ว่างเดี๋ยวก็มีอยู่อย่างนั้น ความว่างเปล่าๆ คือมันลมเพลมพัดไง อารมณ์ดีมันก็ว่าง อารมณ์ฉุนเฉียวมันก็ไม่ว่าง

เห็นไหม ความว่างเปล่าๆ ความรู้เปล่าๆ กับความรู้ตามความเป็นจริงมันต่างกัน ต่างกันตรงที่มันไม่สงสัยในความว่างนั้น มันเป็นความว่างตามความเป็นจริง มันเป็นจักรวาล แล้วมันจะเอาอะไรมาสงสัย ในเมื่อเนื้อแท้นั้นเป็นจักรวาล กับความว่างเปล่าๆ ความลมเพลมพัด ต่างกันจากความสงสัยนะ พิจารณาต่อนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า “มรรค ๔ ผล ๔” ไม่ใช่มรรค ๑ ผล ๑ เว้นไว้แต่ผู้ปฏิบัติทีเดียวทะลุผล ๔ เลย อันนั้นถือว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติง่าย แต่นัยของกึ่งพุทธกาล นัยของผู้ที่มีกิเลสหนานี้มันต้องกระเสือกกระสนไป ยกขึ้นมรรค ๔ ผล ๔ มรรค ๑ ผล ๑ ได้สัมปยุตกันแล้วคลายตัวออกตามความเป็นจริงแล้ว ด้วยการสมุจเฉทปหานจากมรรคอริยสัจจัง ตามความเป็นจริง เป็นปัจจัตตังของผู้นั้น

ผู้ที่ปฏิบัติแล้วเริ่มมีสมบัติเป็นของตน อยากจะมีให้มากขึ้น ทุกคนปรารถนาการพ้นทุกข์ ทุกคนปรารถนาการดับสิ้น สิ่งที่ว่าเป็นสังโยชน์ ๓ ตัวหลุดออกไปจากเรา เราจะสามารถรู้ว่าสังโยชน์เหลืออีกเท่าไรทันทีเลย

เพราะว่าถ้าเราไม่เคยเห็นเงิน เราจะไม่รู้ว่าเงินนั้นเป็นอย่างไร คนที่มีเงิน คนที่ใช้เงินส่วนหนึ่ง เห็นไหม เงิน ๑ ล้าน เรามีอยู่ ๑ แสน เรารู้แล้วว่าเงิน ๑ แสนนี้เปรียบเหมือนเงิน ๑ ล้านนั้น ถ้าเราสะสมไปเราจะมีครบถึง ๑ ล้านนั้น สังโยชน์ ๑๐ ตัวก็เหมือนกัน ลองได้ขาดออกไปจากใจดวงนั้น ๓ สังโยชน์ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เห็นไหม แล้วสังโยชน์ ๑๐ ทำไมมันจะไม่รู้

สิ่งที่รู้ คือ สิ่งที่อยากแสวงหา สิ่งที่ต้องการการไต่เต้า ต้องการให้มีครบ การครบนั้น คือการมีความสุขโดยวิมุตติสุข ความสุขที่เราสัมผัสอยู่นี้ ความสุขที่ไม่สงสัยในกาย ความสุขที่ไม่ลังเลสงสัยในธรรมะพระพุทธเจ้า ไม่ลังเลสงสัยในสิ่งต่างๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าความลังเลนั้นโดนตัดขาดไปจากไป สังโยชน์ตัวนี้โดนตัดขาดออกจากใจไปแล้ว ความลังเลสงสัยมันก็ไม่มี

ทีนี้ความแสวงหา ก็แสวงหาด้วยความง่ายขึ้น ใจที่เป็นธรรม เห็นไหม ก็ต้องยกขึ้น เพราะว่ามันรู้วิธีการอยู่แล้ว ยกขึ้นเลย พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม กายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมก็ได้ จนมรรคะนี้รวมตัวนะ รวมตัวสมุจเฉทปหานรอบที่ ๒ มรรคที่ ๒ ชำระแล้วได้ผลที่ ๒ เห็นไหม

มรรค ๔ ผล ๔ มรรคครั้งแรกโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล สมุจเฉทปหานจนกายกับใจนี้แยกออกจากกัน โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง ความลังเลสงสัยต่างๆ อุปาทานยึดมั่น การเกาะเกี่ยวระหว่างกายกับใจที่ว่าเป็นกระแส ขาด! เป็นจิตล้วนๆ กายล้วนๆ เลย

มันไม่ใช่ความว่างเปล่าๆ มันไม่ใช่ความมั่นใจเปล่าๆ มันเป็นการต่อสู้กัน เป็นการกระทบกระทั่ง เป็นการแตกสลาย เป็นการเกิดสงคราม สงครามต้องเกิดขึ้นก่อน สันติภาพถึงตามมา ในโลกนี้เขาไม่มีสงครามเขาก็มีสันติภาพได้ เพราะว่า ความสมัครสมาน ความอะลุ้มอล่วย แต่กิเลสอะลุ้มอล่วยไม่ได้ กิเลสในหัวใจของเราอะลุ้มอล่วยไม่ได้ เพราะกิเลสนี้ปักเสียบในหัวใจเรา ทำให้เราเป็นทุกข์เป็นร้อนมากี่ภพกี่ชาติ ความอะลุ้มอล่วยก็คือการเอายาพิษมาไว้ในบ้านเรา เราเป็นคนที่มีเชื้อโรคอยู่ในตัวอยู่แล้ว เราจะเอาโรคต่างๆ มาสะสมไว้ในร่างกายเราอีกหรือ กิเลสในตัวเรามันมีอยู่แล้ว แล้วสิ่งนี้เราจะสะสมไว้หรือ

ถึงว่าเป็นการอะลุ้มอล่วยไม่ได้ เป็นการสงครามต้องทำสงคราม! พระอริยเจ้าทุกองค์ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ต่างๆ ต้องผ่านตรงนี้ขึ้นไป ถ้าไม่ผ่านตรงนี้ขึ้นไป เป็นไม่ได้ ไม่ทำลาย ไม่สมุจเฉทปหาน ไม่ปหานไง คำว่า “ปหาน” ฟังแล้วมันแบบว่ามันรุนแรง แต่การปหานกิเลสกับการประหารของโลกต่างกัน

ในโลกนี้มีการประหัตประหารกัน มีการทำลายกัน มันเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เราต้องมีเมตตาธรรม แต่กิเลสนี้เป็นนามธรรม เราปหานกิเลสเพื่อจะให้จิตนี้พ้นจากกิเลส ปหานเท่าไรมันก็ไม่มีศพ มันไม่มีการทุกข์ร้อน ยิ่งปหานยิ่งเป็นคุณ!

ปหานความชั่ว! ปหานความเป็นไปภายใน ปหานนามธรรม ปหานผี! ปหานเปรตกลางหัวใจเรา! เราไปประหารคนอื่นหรือ เราไปทำลายคนอื่นหรือ เราทำลายไอ้ความที่ว่าเป็นทุกข์อยู่ในหัวใจเรา แต่ต้องปหาน

การปหานนี้เป็นสมุจเฉท จะมีความว่างตามความเป็นจริง มันจะว่างขึ้นไปอีกเป็นชั้นที่ ๒ ความว่างอันนี้เวิ้งว้างกว่าความว่างอันแรก เห็นไหม ว่างแบบมีหลักมีเกณฑ์ ว่างแบบมีธรรม ว่างตามความเป็นจริง ว่างเป็นเอโก ธัมโม ธรรมอันเอกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่างด้วยการเกาะเกี่ยว ไม่ใช่ว่างด้วยการจำมา

การจำมา คือ การเอาหมามาห่มหนังเสือไง เห่าออกมาก็คือหมาวันยังค่ำ มันไม่ใช่เสือ เห็นไหม แต่ถ้าความว่างตามความเป็นจริงนี้ มันเป็นตามเป็นจริง เสือบันลือสีหนาทก็คือเสือ ธรรมะพระพุทธเจ้าบันลือสีหนาทมาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ กว่าปีจนครบ ๕,๐๐๐ ปีนี้ก็เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมตามความเป็นจริงอันนั้น ตามความเป็นจริงในธรรมหัวใจนั้นเห็นไหม ก็เป็นธรรมของผู้นั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ไม่เคยเอาธรรมของใครไปทั้งหมด หัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรม นั่นคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ผู้ปฏิบัติที่มีธรรมในหัวใจก็เป็นของผู้นั้น เป็นปัจจัตตังตามความเป็นจริง เป็นปัจจัตตังของหัวใจดวงนั้น

“กายเป็นกาย จิตเป็นจิต” วิปัสสนาญาณจะหมุนเข้าไปอีก แต่ก่อนจะหมุนนี้กิเลสส่วนในหัวใจมันจะทำให้หลงใหล ความหลงใหลอันนี้ เห็นไหม ถึงว่ามันเป็นอำนาจวาสนาของบุคคล บางคนได้โสดาบัน บางคนได้สกิทาคามี บางคนได้อนาคามี เห็นไหม บางคนนะผู้ปฏิบัติบางคน คนๆ นั้นไง ติดอยู่ตรงนั้นล่ะ ทำไมติด ทำไมถึงไม่พรวดไปเลยล่ะ

เราเห็นเงินล้านหนึ่ง เราก็หยิบๆๆ จะได้ครบล้าน แต่เงินล้านมันต้องเกิดจากการแสวงหา เขาต้องทำงานทำการมามันถึงจะได้มา ไม่เคยได้มาลอยๆ หรอก นี่ก็เหมือนกัน จะได้มากี่ขั้นตอนหรือได้มาขนาดไหน ก็ต้องเริ่มการค้นคว้า ต้องยกขึ้นวิปัสสนาญาณ

งานภายในนะ งานอย่างอื่น งานทางโลกยังพึ่งพาอาศัยกันได้ ช่วยกันได้ แต่งานชำระกิเลสนี้ “ใจแก้ใจ” กิเลสอยู่ที่กิเลส เนื้อของใจต้องชำระเนื้อของใจ วิปัสสนาญาณจากหัวใจเห็นไหม สมาธิที่ส่งออก ความคิดที่ส่งออก ต้องย้อนกลับเข้าหมด ย้อนกลับเข้าไปทำลายไอ้เนื้อของใจนั้น เนื้อของใจนั้นเป็นงานของใจนั้น ดวงใจทุกดวงใจที่มีกิเลสอยู่ ต้องแก้ไขเอง พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าเราเป็นผู้แนะนำสั่งสอนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนชี้แนวทาง ผู้ปฏิบัติทุกคนต้องปฏิบัติเอง

ถึงบอกว่ามันเป็นนามธรรมที่ไม่สามารถจะยัดเยียดเข้าไปได้ มันต้องเป็นใจดวงนั้นยกขึ้นวิปัสสนาญาณตามความเป็นจริง แล้วจิตที่มันเป็นเนื้อจิตระหว่างกายกับจิตแยกออกจากกัน มันยิ่งเป็นอีกชั้นหนึ่ง

กายกับจิต เป็นสติ เป็นปัญญา ที่ว่าเป็นความเพียรอันแก่กล้า สามารถตรวจสอบ สามารถชำระล้างได้ แต่จิตล้วนๆ นี้มันต้องเป็นมหาสติ-มหาปัญญา จากสติปัญญา เห็นไหม แสงสว่างที่สว่างมากเราจะมองเห็น แต่แสงสว่างที่มันอยู่ในบังของสิ่งใดสิ่งหนึ่งบังอยู่เราจะมองไม่เห็น

จิตนี้เหมือนกัน มันโดนบังอยู่ภายใน มันอยู่เพราะว่าเป็นจิตล้วนๆ เพราะกายกับจิตแยกออกจากกัน “จิตตัวนี้ ตัวบังเงาตัวนี้ มันเป็นกามราคะ” ตัวนี้ตัวยิ่งใหญ่ ตัวนี้เป็นตัวบงการ บงการสามโลกธาตุนี้ บงการการเกิดและการตาย ตัวบงการ ตัวกองบัญชาการเลย กองบัญชาการใหญ่นะ ตัวการที่จะเกิดตาย เกิดจากตัวนี้ ตัวจิตไง!

ตัวจิต ตัวปฏิสนธิจิต ตัวแสวงหา ตัวการยึดภพยึดชาติ ตัวเริ่มต้นความคิด พอเราคิดอะไรขึ้นมา คิดมาจากไหน คิดมาจากขันธ์ ๕ คือสัญญา คือตัวสังขารที่ปรุงขึ้นมา เราลองคิด ความคิดที่แว็บขึ้นมา มันมาจากไหน มันมีพลังงานตัวนี้ ตัวใจตัวนี้ แล้วมันคิดเรื่องอะไร เรื่องการเกิดและการตาย เกิดและตายเพราะอะไร เพราะว่าการเกิดและการตาย คือ ขั้วบวกและขั้วลบไง มีการสันดาปกัน ความสันดาปอันนั้นคือกาม โอฆะคือเครื่องกำเนิด

จิตล้วนๆ นี้มันอยู่คิดแต่ฝักใฝ่แต่ตรงนี้จิตของคนจิตของผู้มีกิเลสจะฝักใฝ่แต่ตรงนี้ ตรงการสันดาปกันนี่ล่ะ ระหว่างความคิด มันจะสันดาปกันมันจะเกิดประกายรุนแรง ความรุนแรงอันนั้นมันจะรุนแรงมาก การวิปัสสนาช่วงนี้ถึงเป็นมหาสติ-มหาปัญญาที่ต้องใช้ความรุนแรงมาก ตรงนี้เป็นน้ำป่าไง

น้ำประปา น้ำอ้อยอิ่ง น้ำไหลมาเป็นธรรมชาติ เห็นไหม แต่ถ้ารวมตัวขึ้นมามากๆ แล้วมันจะมีความรุนแรงมาก บ้านเรือน โลกทั้งโลก มันพังทลายได้เพราะแรงดันของมัน มันชำระล้างไปหมด กวาดเกลี้ยงไปหมดเลย อารมณ์ใดๆ ในหัวใจเราถึงสู้อารมณ์นี้ไม่ได้ อารมณ์นี้มันจะกวาดไปหมด กวาดไปเป็นอารมณ์ของมันในตัวมันเองตลอด นี่ไงการสันดาปของอารมณ์

ต้องใช้ความอุตสาหะอย่างสูงๆ วิปัสสนาก็ต้องอย่างสูงๆ อย่างสูงมากนะ ต้องใช้ความใคร่ครวญ มันชอบความสะดวก ชอบความสบาย ชอบความสวยความงาม เห็นไหม ถึงว่าต้องใช้ “อสุภะ”

ความสวยความงามในโลกนี้ พอมันแปรสภาพเราเห็นแล้วเราก็รังเกียจได้ แต่หัวใจนี้มันเป็นความสวยความงามที่มันปรุงแต่ง เป็นนามธรรม มันไม่เป็นของที่ว่าเปลี่ยนสภาพให้เราเห็นว่ารังเกียจ มีแต่รักๆๆ มีแต่ชอบๆๆ มีแต่ยึดๆๆ ตลอด เพราะอะไร เพราะมันเป็นนามธรรมใช่ไหม มันเกิดใหม่อยู่ตลอด มันไม่เคยเก่าไม่เคยคร่ำคร่า มันใหม่อยู่ตลอด เห็นไหม มันเป็นสุภะไง เป็นความติดไง เป็นความชอบไง ถึงต้องเอา “อสุภะ” อสุภะ อสุภัง เห็นไหม ความไม่สวย ความที่มันเน่าเปื่อย เอาเข้าไปทำลายกัน

จากที่ว่าเราพิจารณากาย พิจารณาภายนอก พิจารณาอย่างนั้นพิจารณาได้ แต่ตรงนี้เราต้องเอาสิ่งที่ตรงข้ามเข้าไปเปรียบเทียบ เพราะมันเป็นตัวสันดาป ตัวภายใน มันสันดาปกันตลอดเวลา แล้วจะเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา เราจะเอาแต่สิ่งที่ว่าเป็นอสุภะเข้าไปเทียบ เข้าไปเทียบ เข้าไปเทียบ เทียบจนกว่ามันจะเห็นตาม ยอมรับว่าอันนี้เป็นอสุภะ

ถ้าเป็นสุภะ มันสวยจริง ทำไมมันถึงเกิดความทุกข์ การเกิดเป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ การที่ต้องแบกหามอยู่นี้เป็นทุกข์ไหม เราอยู่ในตัวเราเปล่าๆ เราปล่อยวางหมด เรามีความสุขไหม เราแบกหามอารมณ์ เราแบกหามความคิด เราแบกหามทุกๆ อย่างอยู่ด้วยนามธรรม มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นทุกข์สิ เป็นทุกข์แล้วแบกไว้ทำไม

ปัญญาจะหมุนกลับเข้ามาเอง เป็นทุกข์แล้วแบกไว้ทำไม ก็แบกไว้ด้วยความไม่รู้ไง เพราะมันไม่รู้ มันโง่ มันโง่เพราะว่ามันเคยชิน ความเคยชินภายใน

วิปัสสนานี้ก็ต้องทำให้มันฉลาดขึ้นสิ วิปัสสนาคือปัญญา ปัญญาทำให้เราฉลาดหรือทำให้โง่ ปัญญาโง่มีไหม ปัญญาที่หลอกลวง อันนั้นปัญญากิเลส คิดเท่าไรมันก็พาไปปล้นไปจี้นั่น จะเอาแต่ของเขาโกงเขาหลอกลวงเขานั่นคือปัญญาของกิเลส!

ถ้าปัญญาของธรรม มันเปรียบเทียบ ความแปรสภาพ ความไม่เป็นไปตามความเป็นจริง ความเป็นอสุภะที่เราพยายามวิปัสสนา พยายามต่อสู้ขึ้นมา ถึงเกิดความเข้าใจนะ ความเข้าใจนี้เป็นความเข้าใจเรื่อยๆ ความเข้าใจเรื่อยๆ ก็ถูกต้องเข้าไปเรื่อย ความถูกต้องกินแดนความผิดเข้าไปตลอด ความถูกต้องนะ เพราะมันยังมีความผิดคือกิเลสที่มันจะต่อต้านตลอด…ต่อต้านตลอด…การวิปัสสนา การต่อสู้กันไปนี้ มันจะมีหลงใหลได้ปลื้ม มันจะมีความผิดพลาด

งานที่ละเอียด งานจะรื้อภพรื้อชาติ มันต้องเป็นงานที่มหาศาล การต่อสู้กัน คนที่จะโดนทำลาย ไม่มีใครปล่อยให้ตัวเองโดนทำลายได้ง่ายๆ สัญชาตญาณของกิเลส สัญชาตญาณของทุกๆ อย่างต้องเป็นการเอาตัวรอด มันจะอ้อยอิ่ง มันจะหลอกลวงให้เราหลงไปทางอื่นเลย

เห็นไหม จะมีการผิดพลาด จะมีการหลงใหล รวมแล้วที่ว่าไม่เป็นไปตามเป็นจริง ที่ว่าเป็นความคัมภีร์เปล่า ในชั้นบนก็ยังมี เป็นคัมภีร์เปล่าๆ เป็นการหลงเปล่าๆ เป็นการวิปัสสนาเปล่าๆ นะ มันไม่ใช่ตามความเป็นจริง จะมั่นใจขนาดไหนก็มั่นใจจากกิเลสพามั่นใจ

แต่ถ้าเป็นความเป็นจริง โลกธาตุนี้หวั่นไหว ถ้าตามความเป็นจริงนะ นิวเคลียร์ระเบิดออกมานี่ทำไมจะไม่หวั่นไหว แกนของโลกเคลื่อนที่เลย หัวใจนี่โดนระเบิด! ทำไมมันจะไม่รุนแรง ถ้ามันเป็นตามความเป็นจริง โลกธาตุนี่ไหวหมดเลย! เพราะการเกิดและการตายในกามภพจะต้องโดนทำลายลงแล้ว โดนทำลายลงด้วยมรรคอริยสัจจัง มรรคญาณที่จะทำลายการเกิดการดับในกามภพนั้น มรรคขั้นที่ ๓ ไง อนาคามิมรรค อนาคามิผล พระอนาคามีจะทำลายเรือนไง

พระอนาคามี คือ ผู้ที่ไม่มีเรือน ผู้ที่ไม่มีร่างกาย ไปเกิดบนพรหมก็เป็นใจล้วนๆ เห็นไหม เรามีกายกับใจ ผู้ที่เกิดเป็นเทวดาก็ยังมีกายทิพย์ นี่มันจะทำลายถึงกายทั้งหมด ระเบิดกายทั้งหมด โลกธาตุนี้หวั่นไหวไปหมด ทำลายแล้วซึ่งกายนี้ ทำลายซึ่งกามภพ การเกิดในกามภพ ระเบิดออก โลกธาตุนี่ไหวหมดเลย!

ความหวั่นไหวอันนั้น เห็นไหม ใจจะผุดขึ้นมาจากความหวั่นไหวนั้น โลกธาตุนี้แตกออก หัวใจนี่ผุดขึ้นมา ไม่เกิดอีกแล้ว! ไม่เกิดในกามภพ นี่ธรรมตามความเป็นจริง ความว่างตามความเป็นจริงที่มันอหังการมาก อหังการเพราะความรู้จริง ความรู้จริงคือความเห็นจริง เรารู้จริง เรามีความเป็นจริง เราจะไปกลัวคนโกหกมดเท็จมาจากไหน

กิเลสมันโกหก กิเลสมันตอแหล กิเลสมันพาให้ซุกอยู่ใต้อำนาจของมัน ในการสันดาปนั้น กับการที่ธรรมะพาให้พ้นออกมาจากการสันดาปนั้น พ้นออกไปจากกามภพนั้น โลกธาตุไหวออก พ้นออกไป อันนั้นตามความเป็นจริง อันนี้ว่างตามความเป็นจริง ว่างอย่างมีหลักเกณฑ์ ว่างแบบรู้จริง ว่างแต่รู้ เห็นไหม

พระอนาคามีทำลายเรือนว่าง เป็นผู้ที่ไม่มีเรือน “ผู้ที่” คือใคร ไม่มีเรือนก็ไปยืนตากแดดสิ “ตอของจิต” จิตที่พ้นออกจากเรือน เห็นไหม เกิดเป็นพรหมไง พรหม ๕ ชั้นเป็นที่อยู่ของพระอนาคามี จะไปอยู่บนนั้นอีกหรือ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้อยู่ที่พรหมนี่นา พระพุทธเจ้าสอนให้นิพพาน พระพุทธเจ้าสอนให้สิ้น ตามความเป็นจริง ว่างตามเป็นจริง ว่างตามเอโกธัมโมทั้งหมดเลย

ตรงกามภพนี้รุนแรงมาก รุนแรงเหมือนน้ำป่า เพราะว่ามันเป็นการเกิดการตายที่การสันดาป แต่การเกิดการตายที่พรหมนั้น พระอนาคามีนั้น เพราะขึ้นไปแล้วต้องสุกไปข้างหน้า ถึงอ้อยอิ่งไง ตรงนั้นจะอ้อยอิ่งมาก เป็นจิตล้วนๆ เป็นที่อยู่ล้วนๆ ไง พ้นจากการสันดาปแล้ว พ้นจากการสันดาปเป็นแสงในหิ่งห้อย เรืองรองอยู่ที่นั่น นี่เป็นตอของจิต

ต้องเข้าไปนะ ต้องดูความเฉา เห็นไหม ปฏิจจสมุปบาทไง อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง หมุนเข้าไปตรงนั้น ด้วยสติอัตโนมัติ เห็นไหม ด้วยมหาสติมหาปัญญา ด้วยความเป็นอัตโนมัติ ความกินแดนกันไง

ผลไม้สุก เห็นไหม จากดิบกลายเป็นสุก จิตที่ว่าเป็นอวิชชา อวิชชาแล้วทำให้เป็นวิชชาไง จากตัวมันเอง จากตอของจิต จากคร่อมตอนั้นไง จะพลิกตอนั้นหมดเลยกินแดนผลไม้ที่เป็นอนุสัย จิตนี้โดนอนุสัยที่ว่า ครอบคลุมไว้ไง เครื่องดองของจิต แล้วแสงเรืองรองจากมรรคอริยสัจจัง อรหัตตมรรค อรหัตตผล

อรหัตตมรรคได้เคลื่อนที่แล้ว ภาวนามยปัญญาอย่างประเสริฐได้เกิดขึ้นจากหัวใจดวงนั้น ธรรมจักรไง ธรรมจักรได้เคลื่อนที่เคลื่อนธรรม ธรรมได้กินแดนเข้าไปแล้ว กินแดนจนพลิกขึ้นไป พลิกออกไปเลย เป็นวิชชา เป็นความว่างจริง เป็นธรรมอันเอก เป็นเอโกธัมโม เป็นเป้าหมาย เป็นความว่างที่มีอยู่ มีอยู่เพราะ อาสเวหิ อาสวะ ของจิตดวงนั้น แสงหิ่งห้อยดวงนั้นโดนทำลายลงแล้ว!

แสงหิ่งห้อยที่เรืองรองนั้นก็ต้องทำลายไป เพราะแสงหิ่งห้อยนั้นมีการเกิดและการดับ ทำลายจนหมด จนไม่มีสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีแสง ไม่มีสี ไม่มีใดๆ ทั้งหมด แต่เป็นเอโกธัมโมเพราะมีความรู้สึกอยู่ มีความรู้สึก ความรู้สึกนั้นก็ไม่ใช่ มีความรู้สึก ความรู้สึกก็ไม่ใช่ความรู้สึก เป็นสักแต่ว่า เป็นน้ำกลิ้งอยู่บนใบบอนไง

เป็นความว่างจริงไม่ใช่ความว่างเปล่าๆ ไม่ใช่คัมภีร์เปล่าๆ การศึกษาเปล่าๆ การจำมาเปล่าๆ การปฏิบัติเปล่าๆ ปฏิบัติโดยไม่มีสิ่งใดๆ เกิดขึ้นเป็นผลเลย การปฏิบัติ สักแต่ว่าปฏิบัติไง “ฉันเป็นผู้ปฏิบัติฉันนี้เป็นผู้รู้” รู้จากการศึกษาการจำมาไง กับรู้ตามความเป็นจริง จากการเคลื่อนไปของมรรคอริยสัจจัง จากเราอยู่ในศาสนา เราเชื่อในธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วเราปฏิบัติตามความเป็นจริงอันนั้น เป็นความว่างจริงของจิตดวงนั้น

พระพุทธเจ้าไม่ผูกขาดในธรรมทั้งหมด พระพุทธเจ้าไม่เคยผูกขาดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะประพฤติปฏิบัติพ้นทุกข์ไป “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะจะไม่ว่างจากโลกนี้เลย”

ธรรมแท้ๆ นะ เอโกธัมโมไม่เคยว่างจากโลก เพราะมีผู้ปฏิบัติธรรม คือ สร้างเหตุสมควรแก่ธรรม สร้างเหตุภายในไง สร้างเหตุจิตกินจิตไง สร้างเหตุงานของจิตไง งานภายในไง งานมัคคะไง ไม่ใช่งานจำ งานจำนั้นไม่ใช่งาน กระดาษซับไปวางในน้ำ มันก็ซึมน้ำเข้ามาได้หมด แต่มันเป็นอะไร ซึมเข้ามาใช่ไหม ไม่ใช่เนื้อแท้ไง กระดาษคือตัวกระดาษ น้ำคือน้ำ แต่มันซับเข้ามา

ธรรมะพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน หยิบยืมมา จำมา แล้วออกมา มันไม่เป็นตามความเป็นจริงหรอก แต่ก็ต้องอาศัย จะปฏิเสธไม่ได้เลย

ถ้าไม่อาศัย เริ่มต้นที่ไหน เริ่มต้นขึ้นมาแต่ไม่ให้กิเลสมันหลอกไง เริ่มต้นมากิเลสก็หลอกว่าอันนั้นเป็นของเรา มันขี้โกง ในตัวมันเองก็โกงอยู่แล้ว ปฏิบัติก็ยังโกงอีก แล้วก็จะเอาตามความเป็นจริง ไม่จริง ปฏิบัติตามความเป็นจริงภายในแล้ว มันจะจริงตามความเป็นจริง แล้วรู้จริง แล้วเห็นจริง แล้วจบด้วย

จบคือจบตามความเป็นจริง แล้วว่างตามความเป็นจริง ว่างประเสริฐเลย จบ ไม่มีการโต้เถียง ไม่มีการคัดค้านใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการคัดค้านนั้น มันยังมีใช่ไหม เพราะมีเรา เราถึงหวงตัวเรา เพราะมีเรา เราถึงสงวนตัวเรา เพราะมีเรา เราเก่ง เราแน่ เรายอด เราถึงต้องออกไปต่อต้านเขา

เห็นไหม เราก็ไม่มี กิริยาของธรรมเท่านั้น! กิริยาธรรมที่แสดงออก ตัวเราก็ไม่มี สิ่งใดๆ ก็ไม่มี ผู้แสดงก็ไม่มี ผู้พูดก็ไม่มี อาศัยที่ยังมีเสียงอยู่ ยังมีชามข้าวอยู่ มีภาชนะอยู่ ร่างกายยังมีอยู่ กระบอกเสียงยังมีอยู่ มันยังตะเบ็งเสียงออกมาได้เท่านั้น แม้แต่ตัวตนก็ไม่มี ถ้ามีขึ้นมามันก็สงสัยในความมีสิ ตัวก็ไม่มี เสียงก็ไม่มี สิ่งต่างๆ ก็ไม่มี มันเป็นสภาวะตามความเป็นจริงเท่านั้น เอวัง