ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นี่แหละธรรมเกิด

๑๒ ส.ค. ๒๕๖๑

นี่แหละธรรมเกิด

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๑

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๒๖๙. เรื่อง “สภาพจิตระเบิดคืออะไรครับ”

หลวงพ่อ : ไม่ใช่อะไรเลย

ถาม : กระผมพิจารณาอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เป็นต้น พิจารณาเป็นปฏิกูลของโสโครกสกปรก แล้วคืนวันหนึ่งตอนนอนก็ดูแค่จิตใจอยู่เฉยๆ จิตมันก็ระเบิดมาเฉยๆ เลย หลังจากนั้นไม่หลับทั้งคืนเลย และความรู้สึกรักโลภโกรธหลงเหมือนจะเบาบางลงมากเลยครับ อยากถามหลวงพ่อว่าอาการนี้คืออะไรครับ

ตอบ : อาการนี้ๆ ชัดๆ เลย นี่ธรรมเกิด ทีนี้คำว่า “ธรรมเกิดๆ” เวลาธรรมเกิด ธรรมเกิดคือธรรมะเกิด ธรรมะนะ สัจธรรม สัจธรรมมันมีของมันอยู่ ธรรมะเป็นธรรมชาติๆ สัจธรรมมันมีอยู่แล้ว ถ้าสัจธรรมมีอยู่แล้ว ความดีความชั่ว ฤดูกาล ฤดูฝน ฤดูหนาว เวลามันเปลี่ยนแปลงฤดูกาลมันไปตามฤดูกาลของเขา

จิตใจของเรา จิตใจของเราพื้นเพ จิตใจคือธาตุรู้ พอธาตุรู้ของเรา เราทำสิ่งใดล่ะ ดูสิ เรามีแต่เรื่องกระทบกระเทือนหัวใจ เรามีแต่เรื่องเจ็บช้ำน้ำใจ เราคิดแต่เรื่องเจ็บช้ำน้ำใจ คิดแต่เรื่องกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันจะได้อะไรขึ้นมา มันก็ได้แต่ความเจ็บช้ำน้ำใจ

แต่นี่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ศาสนาสอน สอนถึงให้ทำคุณงามความดีๆ ถ้าคุณงามความดี เราคิดแต่เรื่องดีๆ เราทำแต่ความดี ความคิดอารมณ์ไง อารมณ์ที่ดีๆ ที่มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้น นี่มันก็เป็นอารมณ์ที่ดีงาม

แต่ที่ยืนยันว่าธรรมเกิดๆ เพราะเขาบอกว่า “ผมพิจารณาอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง”

มันมีนะ เวลากำหนดพุทโธๆ กำหนดลมหายใจเข้าออก เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เรากำหนดเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ คือเรากำหนดนี่คือคำบริกรรม เราบริกรรม เราบริกรรมอยู่กับพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอด คือเราใกล้ชิดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอด เราใกล้ชิดกับธรรมๆ

เวลาจิตที่มันได้บ่มเพาะ ที่เราหายใจเข้าออก เราได้บ่มเพาะๆ พอบ่มเพาะขึ้นมา เวลาบุญกุศลมันมา มันจะผุดขึ้น คำว่า ผุดขึ้น” คือความรู้สึกผุดขึ้น ถ้าความรู้สึกผุดขึ้น นั่นน่ะธรรมเกิด ธรรมเกิดไม่ใช่อริยสัจ

ธรรมเกิด ธรรมเกิดก็ได้ เปรตเกิดก็ได้ เปรตเกิด เห็นไหม คำว่า เปรตผีเกิด” คือความคิดเลวทรามไง เพราะมนุสสเปโต มนุสสติรัจฉาโน มนุสสเทโว มนุษย์ คนคนหนึ่ง แต่เวลาเราคิดเรื่องอะไร เราคิดเรื่องอะไร เราอยู่กับอารมณ์สิ่งใด

มนุสสติรัจฉาโน ดูสิ ดูมนุษย์ที่ทำลายคนอื่น มันทำลายยิ่งกว่าเดรัจฉานอีก นั่ล่ะมนุสสติรัจฉาโน ร่างกายเขาเป็นมนุษย์ จิตใจเขาเป็นสัตว์ร้ายเที่ยวทำลายคนอื่น นั่นน่ะมนุษย์สัตว์

มนุษย์เทวดา เห็นไหม ดูสิ เราอยู่ในบ้าน รับผิดชอบในครอบครัวของเรา เรารับผิดชอบทั้งพ่อ ทั้งแม่ ทั้งปู่ ทั้งย่า ทั้งตา ทั้งยาย ทั้งลูก ทั้งหลาน เรารับผิดชอบหมดเลย เราดูแลหมดเลย อย่างกับเทวดาเลย มนุสสเทโว

นี่พูดถึงมนุษย์ๆ นี่เรื่องดิบๆ นะ แต่เวลาที่มันธรรมเกิดๆ คำว่า ธรรมเกิด” เพราะเขาบอกว่าเขาพิจารณาอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พิจารณาให้เป็นปฏิกูลโสโครก แล้วเขาพิจารณาอยู่อย่างนั้น พิจารณาอยู่อย่างนั้น เห็นไหม อยู่ดีๆ คืนหนึ่งเกิดจิตระเบิดขึ้น

จิตระเบิดๆ ไอ้นี่มันเป็นตามข้อเท็จจริงนะ แต่ถ้าคนมันไม่เป็น เราฟังอยู่ มันมีผู้สอนเขาบอกว่า เราฝึกหัดภาวนาๆ ถึงเวลาแล้วเราทำสมาธิของเรา เสร็จแล้วเราพิจารณากาย เห็นกายแล้วเอาระเบิดปามันเลย

ไอ้นั่นไม่ใช่มันระเบิด เอาระเบิดไปปาเพราะอะไร เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ เราคิดไง เราคิดว่าการทำลายล้างใช่ไหม การทำลายล้างต้องทำลายให้มันราบเป็นหน้ากลองไป การทำลายให้ราบเป็นหน้ากลองมันต้องเป็นกำลังของจิต ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตมันมีกำลัง จิตมันมีความสามารถของมัน จิตมันทำของมันแล้วมันก็เป็นเรื่องของจิต แต่นี่มันเป็นเรื่องของความคิดมนุษย์ไง มันเป็นการรบข้าศึกด้วยการระเบิด แล้วเอาระเบิดไปปา มันคนละเรื่องเลยนะ แต่เขาก็ทำกันอย่างนั้น นี่ไง คนไม่เป็น

คำว่า จิตระเบิด” มีคนเป็นเยอะมากนะ เวลานั่งๆ ไป ร่างกายระเบิดตูม ร่างกายระเบิดหมดเลยนะ ระเบิดก็คือระเบิด มีอะไรต่อ

เวลาบอกว่าธรรมมันเกิด ธรรมเกิดนะ ที่เราบอกว่าที่ธรรมมันเกิดนี่ธรรมเกิด แล้วธรรมเกิด ธรรมเกิดมันเกิดได้ แล้วเกิดได้แล้วมันเป็นอนิจจัง พอมันเกิดขึ้นมามันก็กระเทือนหัวใจเรารุนแรงมาก เขาบอกว่า คืนทั้งคืนเลยนะ อู้ฮู! ไม่ได้นอนเลย

มันนอนหลับไม่ได้หรอก เช่น บ้านเรา เราอยู่ในบ้านเรา แล้วเขามาตะโกนหน้าบ้านเลย ไฟไหม้ๆ โอ้โฮ! วิ่งออกมาแล้วนอนไม่หลับเลย เราอยู่บ้าน ใครมาตะโกนไฟไหม้ๆ พอไฟไหม้ วิ่งออกมา แบกตู้เย็นออกมาเลย นี่เวลาจิตมันตื่น เวลาจิตมันตื่นแล้วมันหลับไม่ได้หรอก เล่นไพ่อยู่ ตำรวจมา วิ่งหนีตำรวจ โอ้โฮ! หอบเลยนะ แล้วไม่มีวันหลับ ไปนั่งหอบอยู่นั่นน่ะ นอนไม่หลับ นี่เวลาจิตมันตื่นขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันตื่นขึ้น เวลามันระเบิดขึ้น แล้วเขาบอกว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลงรู้สึกว่าเบาบางลง

เบาบางตอนที่สติปัญญามันสมบูรณ์ คนเรานะ ถ้ามีสติปัญญาสมบูรณ์ เราจะไม่ทำอะไรผิดพลาดไปหรอก สิ่งที่เราผิดพลาดไปเพราะเราขาดสติ เราทำอะไรเราขาดแคลนของเรา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นอย่างนั้น คำว่า ธรรมเกิด” เขาบอกว่านี่คืออะไร ยืนยันเลย นี่ธรรมเกิด แต่ธรรมเกิด ถ้าเราเปรียบเทียบให้มันเห็นเป็นรูปธรรมเหมือนกับอารมณ์ความรู้สึกเรา เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เวลาดีๆ ขึ้นมา ดีโดยคุณธรรม นี่ธรรมเกิด

นี่ธรรมเกิดนะ ธรรมเกิดเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แล้วเราอยากจะพูด เราอยากจะพูด เวลาหลวงตาท่านพูดนะ ท่านบอกว่ากิเลสมันเกิด กิเลสมันเกิดเพราะอะไร เพราะคนที่ปฏิบัติไปแล้วถ้ามันรู้จริงเห็นจริงนะ มันจะรู้เลยว่าอะไรที่เป็นธรรม

เหมือนเรา เราที่เป็นธรรม เวลาใครมาหาหลวงพ่อนะ “หลวงพ่อ ทำอย่างไรมันถึงจะรวย ทำอย่างไรถึงจะรวย”

รวย มันยังฟ้องกันอยู่นั่นน่ะรวย

สิ่งที่เราทำๆ เราเอาสติเอาปัญญา เอาคุณธรรมของเรา อย่างนี้มันถึงเป็นความจริง

นู่นรวย นี่รวย แล้วรวยมันก็เป็นเรื่องโลกๆ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาหลวงตาท่านพูดไง ท่านบอกว่านี่กิเลสมันเกิด แต่ตามข้อเท็จจริงนี่ธรรมเกิด เพราะเราเคยเป็นอย่างนี้บ่อยมาก เราเคยเป็นบ่อยๆ นะ เป็นเรื่องอย่างนี้เป็นบ่อยๆ ใหม่ๆ ก็ไม่รู้เรื่องหรอก พอมันเป็นแล้วมันถึงเข้าใจได้ อ๋อ! ธรรมมันเกิดมันเกิดดีๆ โทษนะ เหมือนเราฝัน เวลาฝันเรื่องดีก็ดีใช่ไหม เวลาฝันเรื่องร้ายก็ร้าย ความฝันมันเป็นความฝัน เพราะเราขาดสติมันถึงได้ฝัน

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน คำว่า ธรรมเกิด” มันเกิดจริงๆ ยกตัวอย่าง หลวงตาท่านพูดนะ เวลาท่านพิจารณาไป พิจารณาอสุภะจนมันทำลายไปหมดเลย พอมันทำลายไปหมดเลย ท่านกำหนดจิตของท่าน อู้ฮู! เฮ้ย! จิตของคนทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้

เราไม่เคยเป็นไม่รู้หรอก ไอ้คนเป็นมันก็งงนะ จิตของเราเองแท้ๆ นะ เฮ้ย! มันมหัศจรรย์ขนาดนี้ เพราะอะไร เพราะมองอะไรมันทะลุหมดนะ ขั้นนั้นมันมองอะไรมันทะลุ ภูเขาเลากานี่มองทะลุหมด สมมุติเราอยู่ในบ้านมันจะไม่มีกำแพงบ้านเลย มันจะมองเหมือนเรานั่งอยู่ในที่โล่งเลย มันมองออกไปหมดเลย

พอมันมองอย่างนั้นปั๊บ ท่านบอกว่าธรรมก็มาเตือน ท่านพูดเอง นี่เวลาธรรมเกิด นี่ธรรมเกิด เพราะท่านไม่ได้พิจารณาอะไร ธรรมเกิดขึ้นมาว่า ไอ้ที่ว่ามหัศจรรย์ๆ ไอ้แสงสว่างความว่างเกิดจากจุดและต่อม

ท่านบอกว่าธรรมะ ธรรมะสัจธรรมกลัวหลวงตาเราหลง กลัวหลวงตาเราจะจมอยู่ที่นั่น นี่อุตส่าห์มาเตือนนะ ท่านบอกว่า พอมันผุดขึ้นมาเป็นคำพูดเลยนะ ไอ้ความสว่างไสว ไอ้ความผ่องใสมันเกิดจากจุดและต่อม ท่านบอกว่า งงเลย ขนาดธรรมะบอกยังไม่รู้ กว่าจะรู้ได้ต้องใช้เวลาขนาดไหน นี่ธรรมมาเตือนนะ

คำว่า ธรรมเกิด” ก็เรื่องหนึ่งนะ ไอ้ธรรมมาเตือนนี่มันสองชั้น ธรรมเกิดแล้วยังมาเตือนคนหลงผิดให้เดินไปในทางที่ถูก แต่ไอ้คนที่ได้รับการเตือนไม่รู้ ท่านบอกท่านไม่รู้ ท่านบอกถ้าหลวงปู่มั่นอยู่ ไปหาหลวงปู่มั่นจบเลย หลวงปู่มั่นไม่อยู่แล้วก็ต้องค้นคว้าเองเปรียบเทียบเองอีก ๘ เดือนถึงได้เข้าใจว่า อ๋อ! ไอ้จุดและต่อมมันอยู่กลางหัวอก ย้อนกลับมา

นี่เราบอกคำว่า ธรรมเกิดๆ” สัจธรรมเกิดขึ้นนั่นเรื่องหนึ่ง สัจธรรมที่มาเตือน มาอบรมสั่งสอนก็เรื่องหนึ่ง บางคนนะ ภาวนาไปมันจะเหมือนกับคำพูดไหลออกมาเลย เหมือนคำเทศน์เลย นี่เวลาธรรมมันเกิด

เวลาธรรมมันเกิด มันเกิดเพราะอะไร เพราะว่าเรารักษาหัวใจเราดี เรามีสติ เราอยู่กับสมาธิ เราอยู่กับสัจธรรม นี่ธรรมเกิด แต่ถ้าเราไปคิดเรื่องเหลวไหล เราไปคิดเรื่องอะไรนั่นก็กิเลสเกิด คำว่า ธรรมเกิด กิเลสเกิด” ก็เหมือนความคิดที่มันเกิด มันจะเกิดขึ้นในหัวใจของเราได้

ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านบอกว่า เวลาหลวงตาท่านเตือนพระประจำ หรือท่านเทศน์ มันมีอยู่ในคำเทศน์ของท่าน ท่านบอกเวลาใครไปถามท่าน ท่านบอกนี่กิเลสเกิด กิเลสเกิด กิเลสเกิดเพราะหมายความว่า พอธรรมมันเกิดขึ้นมาแล้วมันมีความสุข มันมีความดีงาม แล้วมันผ่านไปแล้ว เราไปอาลัยอาวรณ์กับมันไง เราอยากได้อีก เราอยากได้ให้เป็นอย่างนี้อีก นั่นคือกิเลส ทั้งๆ ที่ธรรมเกิดนะ แต่สุดท้ายผลที่มันได้รับคือเป็นกิเลสไปซะ เพราะอะไร เพราะความอยากได้โดยไม่ต้องลงทุน ความอยากได้

ก็มันมาเอง เห็นไหม มันมาเองมันเป็นไปไม่ได้หรอก พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล ไม่มีสิ่งใดที่มาโดยไม่มีเหตุและไม่มีปัจจัย เป็นไปไม่ได้ ต้องมีเหตุมีปัจจัย มีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป

ไอ้ธรรมเกิดๆ ส่วนใหญ่คนที่ธรรมเกิดส่วนใหญ่แล้วเขาจะภาวนา ส่วนใหญ่เขาจะรักษาใจของเขา นั่นน่ะมันบ่มเพาะมาจากนั่น มันจะลอยมาไม่ได้หรอก ทีนี้พอมันเป็นไปแล้วขึ้นมา อยากได้อีกไง อยากได้ อยากได้โดยไม่ต้องลงทุนไง ทีนี้เป็นกิเลสแล้ว เป็นกิเลสตรงไหน เป็นกิเลสตรงที่ หนึ่ง หลงผิด เข้าใจผิด พอเข้าใจผิดแล้วก็จะหาเหตุผลที่ผิด

พอมันผิด มันเริ่มต้นมันผิดหมดแหละ พอมันผิดมันก็พาล พาลว่า ไอ้นั่นไม่ดี ไอ้นี่ไม่ดี ไปแล้ว นี่กิเลสทั้งนั้นเลย นี่แหละหลวงตาท่านถึงบอกนี่กิเลสเกิด นี่แหละเป็นตัวที่จะไปจุดจะเป็นหัวเชื้อ เป็นไฟไปปลุกกิเลสขึ้นมาโดยที่ตัวเองไม่เข้าใจ ทั้งๆ ที่ว่านี่คือธรรมเกิดนะ ธรรมเกิดก็เกิดไปแล้วไง ธรรมที่เกิดมันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เราได้รสของธรรมแล้ว มันผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้ว แล้วถ้าเราจะเริ่มต้นใหม่ เราก็ต้องไปเริ่มที่เหตุขึ้นมาใหม่

เริ่มที่เหตุก็นี่ไง ผมก็ต้องกำหนดอาการ ๓๒ ใหม่ไง ถ้าจะเริ่มต้นใหม่ ผมก็ไปกำหนดอาการ ๓๒ อีก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ผมกำหนดดูของผมอย่างนี้ให้มันเป็นปฏิกูล เป็นของสกปรก มันก็ต้องไปกำหนดตรงนั้นน่ะ

พอกำหนดตรงนั้น เวลาหลวงตาท่านบอกว่า ถ้าคนที่ภาวนาไม่เป็นหัดภาวนามันก็เป็นงานทุกข์ยากอันหนึ่ง แต่คนที่เคยเป็นแล้วเคยมีแล้ว แล้วมันชำรุดเสียหายไปนั้นทุกข์ยากมากกว่า

คือคนที่ทำสมาธิแล้วเสื่อมไปนะ โอ้โฮ! ทำสมาธิได้แสนยาก ไอ้คนที่ไม่เคยทำสมาธิ สมาธิอะไรก็ไม่รู้ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตกไม่รู้ ไม่รู้เหนือรู้ใต้เลย ทำไปๆ เออ! มันเป็น รู้เหนือรู้ใต้ รู้ทุกอย่างเลย ทำไม่ได้สักที มันรู้มากเกินไป

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันเสื่อมแล้วไง นู่นก็รู้แล้ว นี่ก็รู้แล้ว นั่นก็ทำแล้ว นี่ก็รู้หมด อู๋ย! แสนทุกข์แสนยาก ท่านบอกว่า คนที่ทำมาหากินนะ เริ่มต้นขึ้นมาจากไม่มีสิ่งใดเลยยังง่ายกว่า คนที่เป็นเศรษฐีแล้วล้มละลายแล้วไปทำใหม่ อู้ฮู! ปัญหามันเยอะเหลือเกิน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันเสื่อม จิตมันเสื่อมไง ถ้าเวลามันเป็นแล้วอยากจะเป็นอีก ที่มันยาก มันยากตรงนี้ไง ทั้งๆ ที่มันก็เป็นข้อเท็จจริง ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันต้องมีเหตุมีปัจจัย มีที่มาที่ไปทั้งนั้น สิ่งที่เราทำๆ ธรรมที่จะเกิดไง

เวลาธรรมเกิด เราจะพูดนะ ก็วาสนาแค่นั้นเอง แต่ถ้าเป็นจริงๆ นะ ทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบแล้วเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง นั่นไม่ใช่ธรรมเกิด นั่นอริยสัจ

แล้วถ้าจิตมันสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริงนะ นั่นน่ะโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ธรรมเกิดหรือ

ไม่ใช่ธรรมเกิด นี่คืออริยสัจ นี่คือสัจจะความจริงโดยการกระทำของเรา โดยสติปัญญาควบคุมดูแล แล้วโดยการพัฒนาของใจของเรา ธรรมอย่างนี้มันถึงเป็นนักปฏิบัติ นี่มันถึงข้อเท็จจริง นี่ไง เป็นบุคคล ๔ คู่ นี่ถึงเป็นการประพฤติปฏิบัติ

แต่ไอ้อย่างนี้ ประสาเรามันก็เป็นแค่อารมณ์นั่นน่ะ เราทำได้แค่นี้ไง ธรรมเกิด ธรรมเกิดแน่นอน แล้วธรรมเกิดแล้ว ประสาเรานะ ไม่ต้องไปยึดมั่น ไม่ต้องอะไรมันทั้งสิ้น มันผ่านไปแล้ว มันจะมีอยู่กับเราก็แค่ความจำเท่านั้นน่ะ อยู่กับเราก็แค่สิ่งที่เราเคยเห็น แต่สิ่งนั้นมันผ่านไปแล้ว แล้วมันผ่านไปแล้ว ถ้าจะทำก็กลับไปทำ

โดยธรรมชาติของเรา ครูบาอาจารย์เราสอนนะ ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วเรายกขึ้นสู่วิปัสสนา เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง

แล้วสภาวะที่ว่าจิตมันระเบิด พอจิตมันระเบิด มันก็เป็นเพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราได้ฟังจนเหลือเฟือ นั่งไปเห็นกาย กายระเบิดตูม

คำว่า กายระเบิดตูม” เพราะว่ามีครูบาอาจารย์เทศน์สอนไง แล้วมันเป็นความเข้าใจผิดของผู้ปฏิบัติไง “โอ๋ย! ถ้ากายระเบิดตูม ต้องเป็นโสดาบันแน่ๆ เลย” มันจะเอาโสดาบันไง

กายระเบิดตูม มันก็อยู่ที่วาสนาของคนนั่นแหละ วาสนาของคนถ้ามันได้สร้างอำนาจวาสนามาอย่างนั้นมันก็จะได้เห็น แล้วถ้ามันได้เห็น เขาระเบิดตูม เราไม่ได้สร้างวาสนามาใช่ไหม เราก็อยากจะระเบิดตูม ระเบิดตูมกับเขา แต่มันไม่ระเบิดเสียที แล้วมันก็เสียเวลาใช่ไหม

แต่ถ้าเราทำตามข้อเท็จจริงของเรา ถ้าเราเห็นจิต เห็นเวทนา เราก็พิจารณาของเราไป เราอาจจะได้มรรคได้ผลก่อนเขาด้วย แต่มันจะได้มรรคได้ผลในวิธีการของเรา ในความเห็นของเรา ในข้อเท็จจริงของเรา แต่คนที่ระเบิดๆ ระเบิดแล้วถ้าวิ่งตามกิเลสไป ระเบิดแล้วระเบิดอีก ระเบิดแล้วระเบิดเล่า ระเบิดแล้วได้อะไร

ระเบิดแล้วก็สงครามตะวันออกกลางไง ดูสิ มันระเบิดตูมๆ อยู่นั่นน่ะ แล้วระเบิดเสร็จแล้วก็ให้ยูเอ็นมาพัฒนา พอพัฒนาเสร็จแม่งล่อกันอีก ตูมๆ ระเบิดอีก ระเบิดเสร็จแล้วยูเอ็นมาพัฒนา เรี่ยไรทั่วโลกเลย ไปฟื้นฟู ฟื้นฟูเสร็จแม่งก็ระเบิดอีก แล้วก็ไปฟื้นฟู แล้วเอ็งได้อะไร เพราะอะไร

เพราะการระเบิดมันต้องมีสติมีปัญญา ถ้าจิตสงบแล้วเราพิจารณากายของเรา แล้วมันระเบิดก็ได้ มันละลายลงก็ได้ พิจารณาแล้วมันคืนสู่สภาพเดิมก็ได้ มันพุพองมันเน่าเปื่อยก็ได้ มันอยู่ที่กำลังของคน เขาเรียกว่าปัจจุบันธรรม ไม่ใช่ว่ามันจะระเบิดๆ ระเบิดทุกเที่ยวไป...ไม่ใช่

เวลามันเป็นจริงมันเป็นอยู่ที่เหตุและผล เหตุผลอย่างใดมันก็จะรู้เห็นตามเหตุผล ตามกำลัง ตามความสามารถของตน แล้วคำว่า ปัจจุบัน” จะไม่ซ้ำกัน ถ้าซ้ำกันแสดงว่าก็อปปี้ เราเคยจำได้ แล้วเอาเหตุการณ์นั้นมาเป็นตัวปลุกเร้า

แต่ถ้าเป็นจริงต้องให้มันเป็นจริง เป็นจริงให้มันเป็นจริง นี่ไง ที่เราปฏิบัติตามความเป็นจริง ปฏิบัติตามความเป็นจริงไง แล้วจิตระเบิดก็คือระเบิด ระเบิดแล้วถ้ามันเป็นจริงนะ ถ้าคนที่ปฏิบัติ ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ใจสงบแล้วเราน้อมไปเห็นกาย แล้วเราพิจารณาไป ถ้ามันระเบิดตูม สติเราพร้อมนะ พอระเบิดไปแล้วมันเหลืออะไรล่ะ

สิ่งใดถ้าเรามีสติ ระเบิดตูม โฮ้! มนุษย์ก็มีเท่านี้เนาะ เหมือนกับเผาศพ ศพคนคนหนึ่งเผาไปแล้วเหลือเถ้าถ่าน ระเบิดตูม แล้วเหลืออะไรล่ะ แล้วจิตวิญญาณล่ะ แล้วความสุขความทุกข์ล่ะ แล้วระเบิดไปแล้วเราไม่หลงใหลได้ปลื้มไปกับร่างกายของเราไง มันยังระเบิดให้เราเห็นเลย ระเบิดแล้ว นี่ปัญญามันจะเกิดอย่างนี้ ถ้าเป็นพระพุทธศาสนานะ ถ้าเป็นมรรคมันจะเกิดเป็นปัญญา เป็นการเก็บข้อมูล ให้เราได้ข้อมูลนั้น ให้เราฉลาดขึ้น ให้ทิฏฐิมานะความเห็นผิดของใจเรามันเบาบางลง เบาบางลงด้วยการรู้การเห็นไง ถ้าการรู้เห็นอย่างนี้ นี่การรู้เห็นมันจะเป็นประโยชน์ไง

ไอ้ระเบิดก็คือระเบิด แต่ระเบิดโดยที่ว่าเราอยากให้มันระเบิด แล้วเราพยายามสร้างภาพการระเบิดนั้นกลายเป็นสมุทัยซ้อนสมุทัย กลายเป็นกิเลสซ้อนกิเลส จนการปฏิบัติหลงทางกันไปหมดเลย หลงทาง มันจะเอาแบบนักเรียนไง ส่งข้อสอบแล้วครูก็ต้องให้คะแนนมาสิ ถ้าตก ถ้าคะแนนไม่พอก็ซ่อมไง ถ้าซ่อมแล้วต้องให้ผ่าน มันจะเอาแบบการศึกษาการเล่าเรียนไง มันไม่เอาแบบธรรมไง

เพราะธรรม เวลาปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะเท่านั้นที่คุ้มครอง ธรรมะเท่านั้นที่ให้ผล ไม่มีใครมาให้คะแนนใคร ถ้ามันเป็นสัจธรรมเป็นความจริงขึ้นมา ถ้ากิเลสขาดไป มันขาดไปด้วยมรรค ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยกำลังของใคร ด้วยกำลังของธรรม มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก แล้วพอมันรู้จริงเห็นจริงขึ้นมาแล้วมันก็เทียบเท่าอันเดียวกับที่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามันเข้ากันได้ ชัวะ! ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ตถาคตจนมาถึงพระอรหันต์ มันจะเป็นความรู้อันเดียวกันหมดเลย แตกต่างกันด้วยอำนาจวาสนา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีองค์เดียว ไม่มีใครเข้าไปชายขอบยังไม่ได้เลย พุทธวิสัยไม่มีใครได้เลย เป็นไปไม่ได้เลย แต่เวลาความสะอาดบริสุทธิ์ของความเป็นพระอรหันต์เท่ากัน แตกต่างกันด้วยอำนาจวาสนาบารมี ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย สร้างมามหาศาลนัก เพราะไม่อย่างนั้นมันก็จะไม่เป็นอจินไตยน่ะสิ ความเป็นอจินไตย พุทธวิสัย ปัญญาของพระพุทธเจ้าเป็นอจินไตย ไม่มีใครสามารถรู้ได้ เป็นไปไม่ได้เลย คำว่า อจินไตย” คือมันเหนือการคาดหมายทั้งหมด นี่เวลาพูดถึงบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

แต่เวลาพูดถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าความสะอาดบริสุทธิ์ปั๊บ เวลาการประพฤติปฏิบัติ มันก็ย้อนมานี่ จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ พระโสดาบันจะเป็นพระโสดาบันเหมือนกันหมด แตกต่างกันด้วยอำนาจวาสนานี่แหละ แต่จะต้องเหมือนกันหมด

พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์จะเหมือนกันหมดด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ แตกต่างกันที่อำนาจวาสนา แตกต่างกันมาก แต่ถ้าความสะอาดบริสุทธิ์ถ้ามันเหมือนกัน มันจะแตกต่างกันได้อย่างไร สิ่งที่รู้ที่เห็น ถ้าสิ่งที่รู้ที่เห็นมันไม่แตกต่างปั๊บ เราก็ย้อนกลับมานี่

ฉะนั้นว่า การระเบิดๆ มันก็เรื่องของเขา เพราะอะไร เพราะว่าพระพุทธศาสนากับไสยศาสตร์ พราหมณ์ฮินดูมันอยู่ด้วยกัน พออยู่ด้วยกัน คำว่า เวลาจิตนี้เป็นอัตตา” อัตตามันก็เข้ากับฮินดูไง ฮินดู อาตมันของเขา อาตมันเขาไปอยู่กับพระเจ้า พระเจ้าอวตารตลอด แล้วเราก็ต้องอยู่อย่างนั้นเป็นอาตมันหรือ นี่เป็นความเห็นของฮินดูเขานะ อัตตาๆ นี่

แต่พระพุทธเจ้าสอนอนัตตา อนัตตามันก็ลงไปคลุกอนัตตาจนไม่มีขอบเขต ไม่รู้ว่าอะไรเป็นผู้ริเริ่มการกระทำอนัตตาเลยหรือ แต่ผู้ปฏิบัติจะรู้หมด พอรู้แล้ว ถ้าไม่รู้มันก็สงสัย ไม่รู้มันก็รู้เท่าทันตัวเองไม่ได้ ถ้ามันรู้มันเท่าทันตัวเองได้นะ ไอ้นั่นเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง

สิ่งที่เป็นความจริง เพียงแต่ว่าเมืองไทย พหุสังคม สังคมที่มันอยู่ร่วมกันๆ สิ่งนี้เป็นจุดเด่นของเมืองไทยนะ เมืองไทยนี่เป็นจุดขายเลย พหุสังคม เขามาท่องเที่ยว ดูสิ จะดูความเป็นอยู่ จะไปดูชุมชนไหนล่ะ คริสต์ อิสลาม พุทธ อยู่ด้วยกันหมดเลย ชุมชนเดียวมีทุกประเพณีวัฒนธรรม พหุสังคม

พหุสังคม ทีนี้เวลาเราจะพูดอะไรไป กระทบกระเทือนกันแล้ว นี้คนที่อยู่ด้วยกันเขาถึงอยู่ด้วยกันด้วยน้ำใจ แต่ถ้าเอาจริงๆ เวลาปฏิบัติแล้วมันต้องหาครูบาอาจารย์อยู่กับผู้รู้จริง ถ้าความรู้จริงมันจะเข้าสู่สัจจะความจริง

ถ้าไม่เข้าสู่สัจจะความจริง อ้าว! เขาพูดกัน ในสังคมเขาพูดกัน เป็นอัตตา อัตตาก็อาตมัน อวตาร โอ๋ย! ไปเลยนะ กลับชาติมาเกิด...ไม่มี จิตดวงนั้นแหละเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ

ของเราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เวียนว่ายตายเกิด มันเป็นปัจจุบันตลอด มันเกิดเป็นภพใดชาติใดก็เป็นคนคนนั้นแหละ แต่ด้วยอำนาจวาสนาไง ที่ว่าพุทธวิสัย พุทธวิสัยที่สร้างมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย มันฝังมาเป็นจริตนิสัยอยู่ในจิตใต้สำนึกนั้น เวลาจิตใต้สำนึก ดูจิตใต้สำนึกนั้นมันมีคุณค่าในจิตนั้น แต่มันการแสดงออก แสดงออกขึ้นมาอยู่ที่วาสนามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นน่ะถ้ามันเป็นของเรา นี่มันถึงเป็นปัจจุบันตลอดไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านพูดถึงอดีตชาติ ท่านใช้คำว่า เราเคยเป็น เราเคยเป็น” เพราะในปัจจุบันนั้นท่านเป็นพระพุทธเจ้า ท่านจะเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร ท่านเป็นพระพุทธเจ้า ท่านเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ แล้วเขามาถามถึงว่าทำไมเป็นอย่างนั้น

อ๋อ! ชาตินั้นเทวทัตเขาเกิดเป็นไอ้นั่น เราเกิดเป็นไอ้นี่ เราเคยเป็นไอ้นั่น เทวทัตเขาเคย แต่ปัจจุบันนั้นเป็นเทวทัต ปัจจุบันนี้เป็นเรา แต่อดีตชาติเคยเป็นมาด้วยกัน นี่ไง ท่านใช้คำว่า เราเคยเป็น” ท่านไม่ใช้คำว่า “ท่านเป็น” เพราะขณะที่ท่านเป็น ท่านเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ ท่านเคยเป็นๆ ไอ้นั่น

นี่ก็เหมือนกัน พระพุทธศาสนา เห็นไหม มันเป็นปัจจุบันตลอดๆ แต่บุพเพนิวาสานุสติญาณมันไปถึงนั่นได้ ถ้ามันไปถึงได้ ไอ้นั่นเป็นวาสนา นี่เป็นพระพุทธศาสนานะ พอพระพุทธศาสนามาเข้ากับพวกฮินดู พวกไสยศาสตร์ เปรอะไปหมดเลย ว่ากันไปตามชอบใจ ว่ากันตามความชอบใจ ใครชอบใจอย่างไรว่าอย่างนั้นเลย ตามสบาย แต่ไม่จริง ถ้าเป็นจริง เราปฏิบัติของเรา

นี่พูดถึงสภาวะจิตที่มันระเบิด

ถ้าจิตที่ระเบิด ระเบิดตามความเป็นจริง มันก็ต้องมีศีล สมาธิโดยสมบูรณ์ ถ้าโดยสมบูรณ์ มันชัดเจนโดยสมบูรณ์นะ เราขับรถ เราเป็นนักซิ่งขับรถ รถวิ่งมันชิลๆ ขับสบาย จิตสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา มันกำลังเราพอ ปัญญาเราพอ เราทำอะไร โอ๋ย! มันสะดวกสบายไปหมด มันทำได้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันมัชฌิมาปฏิปทาไม่ได้

เริ่มต้นคนหัดขับรถ มันขับรถถอยเข้าถอยออก มันชนเขาตายห่าเลย นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติใหม่ๆ เข้าซอยออกซอย ไปไม่ถูกหรอก ทำไม่ได้หรอก แต่ฝึกหัดๆ จนมันคล่องตัวเลย พอมันขับรถไป นี่ไง ถ้ามันทำไปมันต้องเป็นอย่างนั้น ศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์ ด้วยสติด้วยปัญญาของตน ถ้าด้วยสติปัญญาของตนมันก็จะพัฒนาขึ้นไป ไอ้นี่พูดถึงถ้ามันเป็นมรรคนะ

ทีนี้มันอยู่ที่คำถาม คำถามเวลาพูด เราพูดถึงว่าธรรมเกิดๆ นี่แหละธรรมเกิด แต่ธรรมเกิดมันก็ธรรมเกิดจริงๆ ทีนี้พอธรรมเกิด โดยทั่วไปโลกให้ค่ามันมากเกินไป

ธรรมเกิดก็ความคิดดีๆ อารมณ์ดีๆ สถานะความคิดที่ดีมันเกิดขึ้นมากับใจของเรา แล้วก็ผ่านไปแล้ว เพราะอะไร เพราะเราก็ยังเป็นคนเดิมอยู่นั่นแหละ เราก็ยังเป็นผู้ทุกข์ยากอยู่นี่แหละ แต่ถ้าเราทำความดีงามแล้วมันก็มีคุณธรรมเกิดขึ้น แต่เวลาเราทำผิดพลาด เราทำไม่ดีขึ้นมา มันก็มีเปรตมีผีเกิดขึ้น เกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้นครอบงำหัวใจของเรา แล้วเราก็พัฒนาของเรา เราก็ปฏิบัติของเราเพื่อประโยชน์กับเราไง

ธรรมเกิด แล้วเขาถามว่า “อย่างนี้เรียกว่าอะไรครับ”

นี่ธรรมเกิด พอเกิดแล้วทำอย่างไรต่อ เกิดแล้วก็กลับไป เขาบอกเขาภาวนามามากไง ผมภาวนามา ดูอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังและกระดูก พิจารณาเป็นปฏิกูล

แสดงว่าเขามีพื้นฐานของเขา ถ้ามีพื้นฐานของเขา ปฏิบัติของเขาต่อเนื่องไป ปฏิบัติต่อเนื่องไป ถ้าเรายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ เรายังพยายามปฏิบัติของเราอยู่ เราจะทำประโยชน์กับเรา ฝึกหัดให้หัวใจเจริญขึ้นนะ ทางโลกการศึกษาทั้งชีวิต แล้วมีการศึกษาตลอดไปทั้งชีวิต

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติของเรา เราปฏิบัติของเราทั้งชีวิต ถ้ามันเป็นไปได้จริง เพราะว่าเราพยายามตักตวงเอาผลประโยชน์กับจิตของเราให้มากที่สุด เพื่อให้จิตของเรามันสว่างโพลงขึ้นมา ให้มันเป็นสัจจะเป็นความจริงของเราขึ้นมา มันจะเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นสมบัติของเรา

ผู้ที่ปฏิบัติจริงๆ นะ เวลาไปถึงอริยภูมินั่นน่ะ มนุษย์แท้ๆ มันเป็นอริยะได้อย่างไร อริยะในหัวใจนั่นน่ะ แล้วเป็นแล้วจบเลยนะ ไม่มีความสงสัยอะไรเลย โลกเป็นโลก ธรรมเป็นธรรม หัวใจเราเป็นหัวใจเรา พร้อมด้วยสติสมบูรณ์ เอวัง