ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้นิวรณ์

๒ ก.ย. ๒๕๖๑

รู้นิวรณ์

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๑

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๒๗๓. เรื่อง “นิวรณ์ ๕ อันไหนแก้ยากที่สุด”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมเริ่มฝึกหัดภาวนามาระยะหนึ่ง จิตผมเป็นคนคิดมาก ฟุ้งซ่าน และขี้โกรธขี้โมโหนะครับ พอมาฝึกจิตให้เป็นสมาธิผ่านวันเวลามาระยะหนึ่งด้วยวิธีที่หลวงพ่อสอน ผมฟังทางเน็ตมาตลอด คือพุทโธกับปัญญาอบรมสมาธิสลับกันไปตามสภาพของจิตในเวลานั้นๆ ว่าทำอะไรแล้วสงบได้ บางทีก็พุทโธดี บางทีก็ปัญญาอบรมสมาธิดี มาทบทวนตนเองดู เดี๋ยวนี้เป็นสมาธิได้สงบระงับได้ระดับหนึ่ง มีความสุขมากขึ้น ทุกข์น้อยลงกว่าก่อนเยอะ นิวรณ์ ๕ มาไล่ๆ ดู ๑. กามฉันทะ ๒. พยาบาท ๓. ถีนมิทธะ ๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ๕. วิจิกิจฉา

ตลอดเส้นทางผ่านวันเวลาฝึกฝนมาระยะหนึ่ง ผมมาใคร่ครวญตนเองดูตอนเริ่มหัดภาวนาใหม่ๆ เลย อุทธัจจะนี้เป็นปัญหาให้มากสุด ฝึกฝนไปเรื่อยๆ ใช้เวลานานเลยทีเดียวก็แก้มันได้ดีขึ้น ฟุ้งซ่านน้อยลง ฝึกไปเรื่อยๆ ก็มาเจอด่านถีนมิทธะ คือคอยแต่จะตกภวังค์ แก้กันไปใช้เวลาอยู่นาน ฝึกไปเรื่อยๆ ความโกรธ ความไม่พอใจต่างๆ เริ่มระงับได้ อันนี้ยากสาหัสเลย ฝึกไปเรื่อยๆ ที่คอยมาก่อกวนเรากลับเป็นวิจิกิจฉา คอยแวะวนเวียนมาเป็นระยะ อันนี้ผมแก้มันไม่ชำนาญ กำลังฝึกฝนอยู่ไปเรื่อยๆ ที่ละเอียดสุดยกให้กามฉันทะ ผมเพิ่งจะรับรู้มันจากการที่เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วค่อยๆ คลายตัวออกมาคิด คือมันคลายตัวออกมาแล้ว ความพอใจที่คิด แทนที่จะสงบตัวเป็นสมาธิเงียบนิ่งอยู่ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของผมคนเดียว

คำถาม

๑. ผมเข้าใจอะไรถูกต้องเท่าที่เล่ามา

๒. คนทุกคนเป็นแบบไหน หรือว่าขึ้นกับจิตแต่ละดวงจะติดข้องกับอะไรมากกว่ากัน

๓. กามฉันทะนี้ผมยังมองไม่เห็นหนทางแก้ไขมันได้เลย มันละเอียดจริงๆ

กราบขอบพระคุณหลวงพ่อมากครับ

ตอบ : อันนี้เวลาภาวนาไป เวลาภาวนาไปมันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคนนะ วาสนาของคนจะชอบสิ่งใด พิจารณาสิ่งใด แต่นี่เขาบอกว่าเขาพิจารณานิวรณธรรม ๕ ถ้านิวรณธรรม ๕ พิจารณาของเขาไป อันนั้นมันก็เป็นปัญญาของเขาๆ

แต่ถ้าเป็นสัจจะเป็นความจริงนะ เวลานิวรณธรรม ๕ มันปิดกั้นการกระทำการประพฤติปฏิบัติเลย ความฟุ้งซ่าน ความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัย ทุกอย่างมันพร้อมในตัวมันเอง ถ้ามีความพร้อมในตัวมันเอง ทีนี้เวลาคนที่ปฏิบัติมันอยู่ที่เชาวน์ปัญญา นี่ไง อยู่ที่วาสนาๆ อยู่ที่วาสนาของคนว่าจะจับอะไรเป็นประเด็น ถ้าจับอะไรเป็นประเด็น เห็นไหม

มีบางคนคิดนะ เราเคยเจอพระองค์หนึ่งเขาบอกว่าเขาได้พระอนาคามี

เฮ้ย! เราก็งงเลยนะ เฮ้ย! ได้พระอนาคามี เก่งมากเลย “อ้าว! ทำอย่างไรถึงอนาคามีล่ะ”

“โอ๋ย! เมื่อก่อนนี้กลัวมาก พอกลัวมาก พอแก้ไปๆ ความกลัวมันหายไป ได้เป็นพระอนาคามี”

หา! แก้ความกลัวได้เป็นพระอนาคามี เราบอก “มันไม่ใช่ พระอนาคามีเขาต้องพิจารณาอสุภะ”

“เออ! อย่างนั้นเราเป็นพระสกิทาคามี”

เราบอก “พระสกิทาคามีไม่ใช่ พระสกิทาคามีเขาต้องพิจารณาขันธ์ ระหว่างธาตุกับขันธ์มันแยกจากกัน”

“อย่างนั้นเป็นพระโสดาบัน”

เราบอก “โอ๋ย! เป็นพระโสดาบันไม่ได้ เป็นพระโสดาบันเขาต้องพิจารณากาย พิจารณาขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕”

จนตรอกนะ

มีพระองค์หนึ่งเขาเคยมาคุยกับเราว่าเขาได้พระอนาคามี ได้พระอนาคามีเพราะอะไร โอ๋ย! เมื่อก่อนผมกลัวมากเลย สุดท้ายแล้วไปภาวนาแล้วเข้าถ้ำไปๆ มันก็แก้ความกลัวไปเรื่อยๆ จนความกลัวหายไป พอความกลัวหายไปเขาบอกเขาได้พระอนาคามี

เขาเป็นพระวัดบ้าน เขามาคุยกับเรา เราก็ไม่ได้บอกว่าเขาเป็นหรือเขาไม่เป็นหรอก แต่เขาบอกเขาเป็นพระอนาคามี เราบอกพระอนาคามีต้องพิจารณากามราคะปฏิฆะ เขาไม่มีเลย เขาไม่เคยรู้จักมันด้วย แล้วเขาไม่เคยภาวนาเลย

เออ! อย่างนั้นไม่ใช่ อย่างนั้นเป็นสกิทาคามี

พระสกิทาคามีต้องพิจารณาอย่างนี้ๆๆ

โอ๋ย! อย่างนั้นไม่ใช่ เป็นพระโสดาบัน

ถ้าพระโสดาบันต้องพิจารณาอย่างนี้ๆ

อย่างนั้นจนตรอก

เราก็เลยให้ประวัติหลวงปู่มั่นกับปฏิปทาฯ ไป นานแล้ว ให้เพื่อให้เขาได้คิด ให้เขาได้ภาวนาไป เพราะเขาว่าเขาได้อนาคามี เขาได้อนาคามีเพราะอะไร เพราะเขากลัวมาก แล้วเขาแก้ความกลัวได้ พอแก้ความกลัวได้ เขาเป็นพระอนาคามี

คติธรรมอันนี้มันก็เหมือนกับผู้ที่ถามปัญหา ผู้ที่ถามปัญหาขึ้นมา เห็นไหม เราคิดเรื่องอะไร บางคนนะ กลัวผี กลัวผีมาก พอกลัวผีมาก เขาก็ปรับปรุงแก้ไขของเขาจนเขาหายกลัวผีได้ พอเขาหายกลัวผีได้เขาก็เริ่มประพฤติปฏิบัติได้

มันก็แค่ความกลัว เห็นไหม ความกลัวเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ความกลัวเดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็ไป พอแก้ความกลัวนี้ได้ เราก็ไปกลัวความอื่นต่อไป เราก็ไปกลัวเรื่องอื่นเรื่องต่อไป พอกลัวไปกลัวมาก็กลัวว่าเราไม่มีจะอยู่จะกิน เราก็ต้องทำมาหากิน

ความกลัวมันเอาอะไรมาอ้างว่าเป็นความกลัวล่ะ เอาอะไรเป็นเหตุว่าเรากลัวเรื่องอะไรล่ะ เรากลัวเรื่องอะไรมันก็มีความกลัวต่อเนื่องไปทั้งนั้นน่ะ มันอยู่ที่ความกลัว

แล้วความกลัวของคน บางคนไม่กลัวผีนะ บางคนไม่กลัวผีเลยนะ เขาไม่เคยกลัวผีเลย เขาเข้าใจว่าผีมันอยู่คนละโลก เขาไม่กลัวเลย บางคนกลัว กลัวจนโอ้โฮ! เราเคยไปวิเวก มีพระองค์หนึ่งเป็นคนขี้กลัวมาก กลัวผีมาก กลางคืนต้องให้เขาอยู่ตรงกลางแล้วพวกเราล้อมรอบไว้ แล้วทีนี้กลางคืน โทษนะ กลางคืนเขาปวดถ่ายหนัก เขาไปไหนไม่ได้ เขาถ่ายที่นั่นเลย โอ้โฮ! กลัว กลัวจริงๆ นะ แต่ก็อยากไปธุดงค์ นี่เวลาคนกลัวมันก็กลัวมากๆ เลย

แล้วเราก็ไปด้วยกันนี่แหละ ทีนี้เพื่อนเขาชอบแกล้งเรา พอไปไหน เวลาพระปฏิบัติใหม่ๆ ใช่ไหม ก็ถามกันว่าเอ็งกลัวนี่ไหมๆ เราก็บอกไม่ ไม่ พอไม่ เขาก็ลองของอยู่เรื่อย ให้ไปอยู่ตรงนู้น ให้ไปอยู่ตรงนี้ บางทีนั่งกันอยู่เฉยๆ เขาทุบดังปังเลย ทุกคนสะดุ้ง เราก็นั่งเฉย เขามาถามเรา เฮ้ย! หงบ ทำไมมึงไม่กลัววะ ทำอย่างไรวะ

มันก็กลัวมากไง เขากลัวมากจนเขาถาม เฮ้ย! ทำอย่างไรวะ แต่จริงๆ ก็ไม่ได้ทำอะไร ก็ฝึกหัดภาวนาไปเรื่อยๆ นี่แหละ

นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่า เวลาเขาปฏิบัติไปแล้วมาระยะหนึ่ง แต่มันเริ่มต้นมันได้ผลอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าผู้ที่ปฏิบัตินี้เราพุ่งเป้าเข้าไปสู่นิวรณธรรม ๕ เพราะหนึ่ง เราเป็นคนขี้โกรธ เราเป็นคนขี้โกรธ เราเป็นคนขี้โมโห แล้วเราฝึกหัดภาวนาของเราไป เราฝึกหัดภาวนาของเราไป ภาวนาไป พุทโธบ้าง ปัญญาอบรมสมาธิบ้าง

เราใช้สิ่งใดก็ได้ แล้วถ้าสิ่งนั้นมันได้เป็นประโยชน์กับเรา แล้วเราก็พลิกแพลงของเราไป มันเบาบางลงๆ ไง มันดีขึ้น เขาบอก โอ้โฮ! เดี๋ยวนี้นะ ไอ้ความที่ว่าเป็นคนขี้โกรธไอ้ความขี้โมโห เพราะเราก็รู้ตัวเราได้ เดี๋ยวนี้นะ เขาทำสมาธิได้ระดับหนึ่ง เพราะเขาบอกว่าเขาทำสมาธิได้ระดับหนึ่งเลย มีความสุขมาก ความทุกข์น้อยลง นี่เวลาเราภาวนากันเราเอาตรงนี้

เรามีความทุกข์ความยากในหัวใจ ให้มันเบาบางลงแล้วมีความสุข สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตของเราเหมือนคนบ้าแบกรับภาระแบกหามไว้เต็มไปหมดเลย แล้วเราวางได้ๆ มันก็มีความสุข เอาข้อเท็จจริงมันเอาตรงนี้

เราปฏิบัติกัน เรามีความทุกข์ความยากขึ้นมา ให้เราวางความทุกข์ความยาก ความทุกข์ความยากเพราะความโง่ ความโง่ ความไม่เข้าใจ ก็ไปแบกหามมัน พอแบกหามมัน เราก็บอกว่าไอ้นี่คืออะไร แล้วแบกหามมันแล้วมันก็พิจารณาอยู่บนบ่าบนไหล่อยู่นั่นน่ะ ไม่รู้จักวางมันเสียที ว่าไอ้นู่นเป็นไอ้นี่ ไอ้นี่เป็นไอ้นั่น พิจารณาไปพิจารณามาโดยความแบกหามนั้นก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย พอไม่ได้อะไรขึ้นมาเลยก็มาบ่นว่าทุกข์ว่ายาก ปฏิบัติแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย การปฏิบัติมันทุกข์มันยาก ทุกข์เปล่า ทุกข์เสียเปล่าไม่ได้อะไรเลย ก็คิดว่าจะไปแก้ไขมันไง

แต่เวลามันจะแก้ไขจริงๆ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันปล่อยวาง มันวางลง สิ่งที่เราแบกหามไว้ วางลงๆๆ พอวางลงมันก็ความทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น คนเราเริ่มต้นจากตรงนี้ขึ้นไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตมันสงบระงับ ถ้าจิตสงบระงับมันก็เป็นดีขึ้น ทีนี้คนที่ดีขึ้นเขาใช้ปัญญาของเขา

ไอ้นี่เขาบอกว่า เขาใช้พุทโธ เขาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เขาไล่เข้าไปที่ความฟุ้งซ่าน หนึ่ง สิ่งที่อุทธัจจะกุกกุจจะ เขาพิจารณาของเขา เขาไล่ของเขา ความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านก็ความลังเลสงสัย ความหยิบจับอะไรร้อยแปดพันเก้า ไม่มีสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอัน ถ้าเราไล่โดยปัญญาเข้าไป เห็นไหม มันก็ปล่อยวางๆๆ เข้ามา มันก็เข้าใจของมันเข้ามา ทีนี้พอเข้าใจเข้ามา เราจะบอกว่า สุดท้ายแล้วเขาก็มาพิจารณาอะไร จากอุทธัจจะกุกกุจจะก็มาถีนมิทธะ มาตกภวังค์ มาอะไร

เราจะบอกว่า ในอุทธัจจะกุกกุจจะมันก็มีนิวรณธรรม ๕ ครบ ในภวังค์ก็มีครบทั้งนั้นน่ะ มีครบหมายความว่ามันเด่นไง ขันธ์ ๕ นิวรณธรรม ๕ เวลามันเด่น อุทธัจจะกุกกุจจะ อุทธัจจะกุกกุจจะคือความฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านมันก็เกิดจากความสงสัย ฟุ้งซ่านมันก็เกิดจากถีนมิทธะ มันมีพร้อมของมันทั้งนั้นน่ะ เราพิจารณาสิ่งใดไปมันก็วางลงๆ มันก็ดีขึ้น ทีนี้การพิจารณาไปมันก็วาง มันก็จะย้อนกลับมาที่ว่าความกลัวนี่ไง ความกลัวเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

เวลากลัวสิ่งใด พิจารณาความกลัวสิ่งนั้นจบสิ้นไปแล้ว เดี๋ยวมันก็ไปกลัวเรื่องอื่น กลัวเรื่องไม่มีจะกิน จากกลัวผีๆ ก็ไปกลัวเรื่องนั้น ความกลัวก็คือความกลัว ความกลัวเกิดจากอะไร นิวรณธรรม ๕ เกิดจากอะไร

นิวรณธรรม ๕ เป็นเครื่องกั้นสมาธิ นิวรณธรรม ๕ เป็นเครื่องกางกั้นที่จะให้เราประพฤติปฏิบัติแล้วได้คุณงามความดี เราก็พยายามจะปฏิบัติของเราขึ้นไป เวลามันปล่อยวางก็ปล่อยวางไปทั้งหมด ปล่อยวางนิวรณธรรม ๕ เพื่อเข้าสู่ความสงบอันนั้น ถ้าเพื่อเข้าสู่ความสงบอันนั้น เสร็จแล้วพอเข้าสู่ความสงบอันนั้น กิเลสมันโดนปราบปรามด้วยสติด้วยปัญญาขึ้นไป เดี๋ยวมันก็พลิกแพลงไปเอาเรื่องใหม่มาต่อรองเราตลอดไปๆ ฉะนั้น เราให้มีสติปัญญาจงใจแล้วทำของมันไป ทำของเราต่อเนื่องไปๆ

นี่พูดถึงว่า เราไปแยกแยะว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นๆ

ได้ ที่ทำนี่ได้ แต่เวลาทำไปแล้ว เพราะว่าในการประพฤติปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา เวลาเรามีสติ ฝึกหัด ถ้ามีสติมันก็เป็นการประพฤติปฏิบัติโดยสัจธรรม ถ้าสติเราอ่อนแอมันเป็นอาการสักแต่ว่า ถ้าสติทำดีขึ้นๆ ให้มันละเอียดขึ้น พอละเอียดขึ้น จิตมันสงบแล้วเราก็ฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญาของเราไป

ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาของเราไป เวลามันพิจารณาไปแล้วถ้ามันวาง มันวางขึ้นมา เดี๋ยวเราก็พิจารณาต่อเนื่องไปๆ ให้มันฉลาดขึ้น ให้มันดีขึ้น จนจิตสงบแล้วเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง นั้นน่ะจะเป็นตัวจริงแล้ว ถ้าเป็นตัวจริงขึ้นมางานชอบ เห็นไหม งานโดยชอบธรรม

เราฝึกหัดทำงาน ฝึกหัดทำงาน โดยเริ่มต้นเราฝึกหัดทำงาน เราทำความสงบของใจแล้วเราฝึกหัดภาวนา การฝึกหัดภาวนา ทุกคนฝึกหัดภาวนาได้ แล้วการฝึกหัดภาวนา ฝึกหัดภาวนาเพื่อเราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนาไม่เสียชาติเกิด เราทำเพื่อประโยชน์กับใจของเรา

คนเราแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ สุขภาพกายเราเห็นได้ ใครแข็งแรง ใครอ่อนแอ แต่สุขภาพจิตเราเห็นไม่ได้ ถ้าสุขภาพจิต เรารู้ไม่ได้ว่าจิตใจของใครเข้มแข็ง จิตของใครอ่อนแอ ถ้าจิตที่มันเข้มแข็ง จิตที่มันจะเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา ถ้ามันฝึกหัด บุคคล ๔ คู่ นั่นน่ะจิตที่มันพัฒนาขึ้นม

 เราภาวนา ภาวนาเพื่อจิตของเรา จิตตภาวนา เราหาจิตของเรา สัมมาสมาธิ เราหาจิตของเรา แต่คนที่หาจิตของมันพบ คนที่ฝึกหัดภาวนา คนที่ทำความสงบของใจไม่ได้ คนที่นั่นก็ว่างๆ ว่างๆ...นี่ความเข้าใจผิดไง เขายังหาจิตของเขาไม่เจอ แต่เขาเห็นแต่สัญญาอารมณ์ เห็นแต่สิ่งที่เป็นนามธรรม แต่ยังไม่ถึงตัวจิตไง

ว่าดูจิตๆ ไอ้นั่นเป็นไอ้นี่ ไอ้นี่เป็นไอ้นั่น...นั่นน่ะสัญญาทั้งนั้น อาการของจิตๆ เวลาสิ่งที่เป็นอาการเกิดจากจิต แต่ไม่ใช่จิตไง แล้วเวลาพุทโธๆ มันก็ไม่ใช่จิต พุทโธนี้เป็นคำบริกรรมนะ พุทโธ พุทธานุสติก็เป็นคำบริกรรม มันก็ยังไม่ใช่จิต ถ้ามันใช่จิต เรานึกพุทโธแล้วเราต้องถึงจิต ถึงจิตเลยสิ เวลานึกถึงพุทโธนี่นั่งหลับเลย

นึกพุทโธๆ พุทโธนี่ก็อาการทั้งนั้นน่ะ แต่มันเป็นสายตรง มันเป็นสิ่งที่ว่ามันตรง แล้วมันไม่มีสิ่งใดที่จะปลีกแวะข้างทาง เห็นไหม ถ้าเราคิดเอง เราทำเอง เราแวะได้ เราคิดว่าทำอย่างนั้นๆ แล้วมันจะเป็นสมาธิ เราคิดว่าดูจิตอย่างนั้นๆ แล้วเข้าถึงจิต เราคิดเอาเอง มันก็อยู่ข้างทางนั่นน่ะ เพราะเราคิดเอาเอง

แต่พุทโธๆๆ เราพุทโธแล้วเราไม่มีสิ่งใดที่เราจะแลกเปลี่ยน ไม่มีสิ่งใดที่เราจะแถออกข้างนอกได้ ก็ต้องพุทโธไปจนกว่าจะพุทโธไม่ได้ พุทโธๆๆ พุทโธไปเรื่อย เพราะไม่มีอะไรอ้างอิง ไม่มีสิ่งใด ธัมโมๆๆ สังโฆๆๆ มรณานุสติๆ ตรงไป ตรงไป ไม่ใช่คิดเอาเอง ว่างๆ ว่างๆ

นี่ถ้าพูดถึงว่า ถ้าเราเห็นจิต ถ้าเราถึงจิตนะ

นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่า นิวรณธรรม นิวรณธรรมมันเป็นปัญญาอบรมสมาธินี่ใช้ได้ ถูกต้อง ไอ้ที่ว่าภาวนานี่ถูกนะ ถูก ไม่ใช่ว่าผิดนะ ว่าถูกๆๆ แต่มันต้องพัฒนาขึ้นไปไง มันต้องดีขึ้นไป ไอ้สิ่งที่คำถาม “๑. ผมเข้าใจอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่”

มันถูกต้องตอนที่เราปฏิบัติ มันถูกต้องของคนที่ตรงกับจริตนิสัยที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิอย่างนี้ด้วยปัญญาของเรา ด้วยเหตุผลของเรา แล้วจิตสงบได้ ถูกไหม ถูก เพราะเราใช้ปัญญาของเราไง แล้วปัญญา ปัญญาแต่ละแง่แต่ละมุมมันแตกต่างกันไป อย่างเช่นผู้ที่ปฏิบัติพิจารณามาอย่างนี้ถูกไหม ถูก ถูกเพราะอะไร

ถูกเพราะ “ตอนนี้ทุกข์ของผมน้อยลง ผมมีความสุขมากขึ้น ผมเป็นสมาธิได้ดีขึ้น” นี่ไง ถูกไหม ถูก ถูกของคนที่ฝึกหัดภาวนา ถูกของเราที่เริ่มต้นฝึกหัดภาวนา แล้วภาวนาขึ้นไปนี่ถูก ทำความสงบให้จิตมันทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น แล้วจนกว่าสงบมากขึ้นๆ สงบมากขึ้นจนจิตเป็นสัมมาสมาธิ ทำความสงบบ่อยๆ ทำความสงบบ่อยๆ จนตั้งมั่น พอตั้งมั่นนะ เราฝึกหัดใช้ปัญญา

สิ่งที่ว่าเราใช้ปัญญาๆ คำว่า ปัญญาอบรมสมาธิ” คือโลกียปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิเป็นโลกียปัญญา เป็นปัญญาแบบว่าเราฝึกหัดภาวนา

คนเริ่มต้นฝึกหัดภาวนาเขาก็พยายามอานาปานสติ หายใจเข้าหายใจออกให้ชัดเจน คนที่พุทธานุสติกำหนดพุทโธๆ ชัดเจน เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราก็ใช้ความคิดของเราชัดเจน ชัดเจนกับเหตุกับผล จนกว่ามันทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น

ทุกข์น้อยลงเพราะเข้าใจแล้ว เข้าใจถึงความหลงผิด เข้าใจถึงความเห็นผิด มันก็จะมีความเห็นถูกต้อง ความเห็นถูกต้องมันก็วางความคิด ความฟุ้งซ่าน วางความไม่เอาไหนของใจของตัวเอง เพราะมันมีสติปัญญาเข้าใจ เข้าใจมันก็วาง พอวางขึ้นมามันก็เป็นความสุขสงบมากขึ้น มันก็มีความสุขดีขึ้น มันก็เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถึงบอกว่าเป็นโลกียปัญญา ถ้าปัญญาบ่อยครั้งเข้าๆ พอมันจะคิดนี่ทันเลย พอจิตสงบ เวลาคนใช้ปัญญาอบรมสมาธิไปแล้ว มันปล่อยแล้วทำอย่างไรต่อ

ถ้ามันไม่ได้คิด เราก็พุทโธไปเรื่อยๆ เราไม่ให้จิตเราเป็นอิสระ เราไม่ให้มันเป็นตัวของมันเอง เราจะต้องมีสติ มีคำบริกรรมควบคุมตลอด ควบคุมมันไปๆ ถ้ามันพิจารณาเป็นปัญญาอบรมสมาธิปล่อยแล้ว ถ้าไม่คิดก็พุทโธต่อเนื่อง ถ้าคิดก็ใช้ปัญญาไล่ไป ไล่ไป เดี๋ยวก็ปล่อย ไล่ไป เดี๋ยวก็ปล่อย นี่มันปล่อยความคิดอย่างนี้ ปล่อยความคิด นี่ปัญญาอบรมสมาธิ

คำว่า ปัญญาอบรมสมาธิ” พอเป็นสมาธิแล้ว พอมันเห็น ทีนี้เห็นจะเป็นความจริงแล้ว ถ้ามันเห็น เห็นอะไร “เฮ้ย! ใครคิดวะ คิดเรื่องอะไรวะ ทำไมคิด” นี่จิตเห็นอาการของจิต

จิตเห็นอาการของจิต สิ่งที่ว่าเป็นวิจิกิจฉา เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะ ถ้ามันมีสมาธิมันจะเป็นธรรม ธรรมารมณ์ๆ กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าเป็นสมาธินะ ถ้าเป็นสมาธิ ถ้ามันเห็นมันจะเป็นธรรมารมณ์ เป็นอริยสัจ ๔ เป็นสติปัฏฐาน ๔

สติปัฏฐาน ๔ มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม ธรรมารมณ์ๆ ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้าจิตเห็นอาการของจิตมันจับจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันก็จะไปพิจารณาเพื่อสำรอกคายกิเลสแล้ว ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ธรรมารมณ์ๆ เป็นธรรมารมณ์เพราะอะไร เพราะมันเป็นสัมมาสมาธิ จิตมันตั้งมั่นมันถึงเป็นธรรม

ถ้าจิตเป็นเรา กูคิดเองไง กูคิดเอง กูเสนอเอง กูตอบปัญหาเอง กูเข้าใจเอง...ไม่เป็นธรรม เป็นกิเลส เป็นโลก คิดเอง เสนอเอง เข้าใจเอง ปล่อยวางเอง ไม่ใช่

ต้องเป็นสติปัฏฐาน ๔ จิตตั้งมั่น จิตเป็นสัมมาสมาธิ เป็นสัจธรรม ไม่ใช่คิดเอง

แต่ถ้าเห็น เห็นเองจริงๆ เห็น รู้เห็น ถ้าเห็นน่ะเห็นจะๆ พอเห็นจะๆ โอ้โฮ! ถ้าเห็นจะๆ มันก็จะเหมือนเห็นกาย เวลาเห็นกาย โอ้โฮ! มันสะเทือนใจมากนะ ถ้าจิตสงบแล้วเห็นเวทนา จับเวทนาได้ เวทนานี่พิจารณาได้ ถ้าเห็นจิต จิตผ่องใส จิตเศร้าหมอง นี่เห็นจิต ถ้าเห็นธรรม ถ้าจิตมันเห็น

อันนี้ที่มันเข้าไปสู่โศลกของหลวงปู่ดูลย์ “จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย” ความคิดโลกๆ เรา ที่เราคิดกันอยู่นี่ ที่ปัญญาอบรมสมาธิ นี่เป็นสมุทัยหมด “จิตส่งออกเป็นสมุทัย ผลของมันคือความทุกข์”

แต่ถ้าจิตส่งออกทั้งหมด แล้วดูจิตจนจิตมันหยุด จิตหยุดได้ เห็นไหม จิตหยุดได้ มันเป็นสมุทัยไหม นี่เป็นสัมมาสมาธิ

แล้วพอจิตเห็นจิต นี่ไง จิตเห็นจิตหมายความว่า เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิจนมันหยุดแล้ว หยุดแล้ว ทำความสงบบ่อยครั้งเข้าๆ ใหม่ๆ ยังไม่เห็นหรอก ใหม่ๆ คนไปกินอาหารครั้งแรกที่ว่าอร่อย อยากศึกษานักว่าทำอย่างไร เพราะอยากกิน แต่ทำไม่เป็น

นี่ก็เหมือนกัน มันเห็นครั้งแรกมันยังทำอะไรไม่เป็นหรอก แต่เห็นบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ เห็นหยุดบ่อยๆ เห็นหยุดบ่อยๆ จนมันตั้งมั่น แล้วถ้ามันเสวยนะ มันเห็นชัดๆ เลย มันเห็นขโมย เห็นขโมยไปลักของ

ที่ใบลานเปล่าๆ ให้พิจารณากายให้เป็นจอมปลวก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปิดทวารทั้ง ๕ ให้เหลือเหี้ยตัวนั้น จับเหี้ยตัวนั้น เหี้ยตัวนั้นจับได้ นี่เหมือนกัน อันเดียวกัน จิตเห็นอาการของจิต

จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิต ถ้ามันจิตสงบบ่อยๆ จนตั้งมั่น เห็นมันเสวยนะ นี้คือการเห็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ มันก็จะเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ปัญญาเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เกิดจากอริยสัจ ไม่ใช่เรารู้เอง เห็นเอง คิดเอง ทำเอง แล้วจะเป็นเอง ไม่มี

มันจะเป็นอริยสัจ จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตนี้ไม่ได้คิดเองเออเอง เข้าใจเอง ไม่มี คิดเองเออเอง เข้าใจเอง เป็นสมุทัย เป็นตัณหาความทะยานอยาก ไม่ใช่ความจริง

นี่พูดถึงว่า ถ้ามันจะเป็นปัญญา เราเน้นย้ำคำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” ปัญญาอบรมสมาธิให้แบ่งแยกว่า ที่เราทำกันอยู่นี้มันเป็นโลกียปัญญา เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นความคิดสามัญสำนึกของมนุษย์ แต่เวลาทำดีขึ้นๆ จิตสงบแล้ว จิตตั้งมั่นแล้ว เวลามันเกิดนี่เกิดอริยสัจ เกิดอริยสัจเข้าสู่มรรคนะ เข้าสู่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

นี่ไง ที่บอกธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้เองโดยชอบๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ สัจธรรมอันนั้นน่ะ แล้วถ้าใครทำมันจะเกิดขึ้นอย่างนั้น

นี่พูดถึงว่า ถ้าเขาภาวนาแล้ว สิ่งที่มันเป็นจริงๆ ขึ้นมา สิ่งนี้คือปัญญาอบรมสมาธิ หมายถึงว่าเราฝึกทำความสงบ ถ้าฝึกทำความสงบของเราแล้วมันก็มีความทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น แล้วเวลาทำไปแล้ว ที่สาหัสสากรรจ์ ที่ทำสิ่งใดไม่ได้ ถ้ามันเป็นสติปัญญาของเรา เราก็ทำของเราอย่างนี้ ถ้าทำของเราอย่างนี้ขึ้นไป เราพิจารณาของเราต่อเนื่องๆ ขึ้นไป ถ้ามันทำได้ เห็นไหม ตั้งแต่อุทธัจจะกุกกุจจะ แล้วเรื่อยๆ มาเป็นถีนมิทธะ การตกภวังค์ เขาแก้ไขมาเรื่อย แล้วพอมันละเอียดเข้ามา กามฉันท์ กามฉันท์ทำอย่างไร

สิ่งที่จะฝึกให้เป็นสมาธิมันคลายตัวออกมา ถ้าคลายตัวออกมาแล้ว เวลาพอใจแล้วมันคิดไป เวลามันพอใจแล้วมันคิดไป เห็นไหม นี่คลายตัวออกมา มันคลายตัวออกมา ตั้งไว้ให้มันตั้งมั่น แล้วให้สังเกตว่ามันจับอย่างไร ถ้ามันจับนะ

แต่ถ้ามันยังไม่จับ ถ้ามันเป็นนิวรณธรรม ๕ มันยังเป็นแบบว่าเป้าหมายของเราไง คือคนที่ภาวนามันจะมีเป้าหมาย ถ้าเราไม่มีเป้าหมาย เราจะทำอะไร เราจะตั้งอะไร อย่างเช่นคนพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ไอ้นี่เขาพิจารณา เขาใคร่ครวญในนิวรณธรรม ๕ อันนี้มันเป็นเอกเทศ มันเป็นจริตนิสัยของเรา เราไม่ต้องไปเลียนแบบใคร เราทำสิ่งใดแล้วมันได้ผลประโยชน์ เราทำสิ่งนั้น แล้วมันเป็นประโยชน์ขึ้นมา

แล้วไม่ต้องไปเลียนแบบใครเลย ของใครของมัน เราจะไปเลียนแบบคนอื่นว่าคนอื่นทำอย่างนั้นแล้วดี จะไปทำตามเขานะ ล้มเหลว ล้มเหลว เราต้องทำอะไรที่ตลาดยังไม่มี เราต้องทำอะไรที่ว่าไม่มีใครเสนอสินค้าอย่างนี้ เราทำของเราเอง ทำของเราเองขึ้นมา นั่นน่ะปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก สมบัติส่วนตนของตน ฉะนั้น ให้ทำอย่างนี้ถูก ทำไปเรื่อยๆ

ทีนี้ “๑. ผมเข้าใจอะไรถูกต้องเท่าที่ผมเล่าให้ฟังไหม”

มันเป็นจริตของเรา ทำของเรา ถ้าได้ประโยชน์ ทำอย่างนี้ถูกต้อง

“๒. คนทุกคนจะเป็นแบบนี้ไหม หรือว่าขึ้นกับจิตแต่ละดวง”

ใช่ คนทุกคนเขาทำแล้วไม่ได้เหมือนเรา ถ้าเราทำของเราได้ เราพิจารณาของเราได้ นี่คือสมบัติของเรา แล้วถ้าสมบัติของเรา เริ่มต้นมันสมบูรณ์แล้ว สมบูรณ์ที่ว่า ถ้าเราใช้พุทโธกับใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันปัญญาอบรมสมาธิไปแล้ว เวลาถ้ามันหยุด บางคนนะ เวลามันหยุด เหมือนคนทำงานหน้าที่ตำแหน่งเดียว ทำสิ่งใดแล้วมันจืดมันชืด ทำอย่างอื่นไม่ได้ใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันควรจะใช้พุทโธ เราก็ใช้พุทโธ พุทโธไปแล้วถ้ามันคิด เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เรามีอาวุธสองอย่างสามอย่างเอาไว้ต่อสู้กับกิเลสของตน ทำต่อเนื่องไปอย่างนี้

แต่คนอื่นจะเป็นอย่างนี้หรือไม่เป็นอย่างนี้ จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ถ้าเขาทำแล้วเขาได้ประโยชน์ก็เรื่องของเขา ถ้าเขาทำแล้วเขาไม่ได้ประโยชน์ ทำไมเขาถึงไม่ได้ประโยชน์ล่ะ ทำไมเราถึงได้ประโยชน์ล่ะ อ้าว! ก็มันสิ่งที่ถูกจริตเรา มันพอใจกับเรา เราทำแล้วเราเห็นผลของเรา แล้วถ้าเราเห็นคนอื่นทำแล้วได้ประโยชน์ เราจะไปทำตามเขา เราเองต่างหากกลับจะไม่ได้ประโยชน์นั้น เว้นไว้แต่เราทำแล้วเราต้องเข้าใจว่าเราทำอยู่นี่มันขั้นไหน

มันทำอยู่นี่มันเป็นเริ่มต้นฝึกหัดภาวนา ถ้าเริ่มต้นฝึกหัดภาวนาแล้ว ถ้ามันต่อเนื่องไป เราจะยกขึ้นสู่อริยสัจ ถ้ายกขึ้นสู่อริยสัจคือจิตมันสงบแล้ว แล้วมันจะไปรู้เห็นตามความเป็นจริง

อย่างที่เห็นๆ อย่างนี้ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันก็จะเห็น จิตเห็นจิตเป็นมรรค จิตเห็นจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการๆ นี่คือมรรค แล้วถ้ามรรคมันจะเกิดขึ้น แล้วถ้าเห็น ถ้ามันจะเป็นความจริงนะ มันจะมีผลตอบสนอง รสของธรรมๆ รสของสมาธิธรรม รสของปัญญาธรรม มันจะแตกต่างกัน คนภาวนาไปมันจะโอ้โฮ! หูตั้งเลย โอ๊ะ! โอ๊ะ! เลยล่ะ นั่นแหละของแท้ นั่นแหละปัจจัตตัง

อันนั้นบอกว่าให้ทำต่อเนื่องไป นี่ข้อที่ ๒.

“๓. กามฉันทะนี้ยังมองไม่เห็นหนทางจะแก้ไขมันเลย มันละเอียดมาก แล้วจะทำอย่างไร”

ความพอใจของเราไง คำว่า กามฉันท์ยังมองไม่เห็น” เพราะอะไร เพราะมันผ่อนคลายออกมา มันผ่อนคลายออกมาใช่ไหม เวลาที่ว่ามันออกจากสมาธิมา เขาบอกว่า เวลาเข้าสู่สมาธิ เวลาออกจากสมาธิมา มันคลายตัวออกมา ความพอใจและความไม่พอใจ เขาคิดว่าความพอใจกับความไม่พอใจคือกามฉันท์

ความพอใจมันก็จะควบคุมไป ทำไมเราไม่มีสติเหนือความพอใจล่ะ ความพอใจ เหลืออาการของใจก็อาการของใจไง สติก็คือสติไง ถ้าเรามีสติระลึกรู้ตัวเราเองอยู่มั่นคง ก็เหมือนเราควบคุมเรดาร์ เรดาร์มันจะไปจับอะไร มันจะจับสิ่งใดที่เข้ามาในจอของมันได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราคุมสติ สติกับจิตเราตั้งมั่น เราละเอียดของเรา ไอ้ความพอใจไม่พอใจ ความพอใจไม่พอใจมันเป็นนิวรณธรรม ๕ แล้วเราก็ต้องอยู่ในนิวรณธรรม ๕

แต่สังเกตให้ดีนะ สิ่งที่ว่า “เวลามันคลายตัวออกมา ความพอใจที่จะคิด แทนที่จะสงบตัวเป็นสมาธิ เงียบ มีความสุขยิ่งขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันเกิดจากประสบการณ์ของผมคนเดียว” นี่ไง สิ่งที่เวลามันพอใจ แล้วสิ่งที่มันสงบตัวแล้วเป็นสมาธิ เวลามันคลายตัวออกมาแล้วมันเสวยอีก แต่เอ็งจับไม่ได้ เอ็งไม่เห็นไง เอ็งไม่รู้เท่าทันไง

ถ้ารู้เท่าทันนะ ถ้ามีสตินะ ถ้าทำต่อเนื่องไป เพราะอะไร เพราะผลของการปฏิบัติ ผลของการปฏิบัติ พอจิตสงบแล้วถ้ามันออกฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญามันก็จะเข้าสู่มรรคไง ถ้าเข้าสู่มรรคมันก็เป็นประโยชน์ ฉะนั้น ให้ตั้งสติไว้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้วตั้งสติ ถ้ามีสติ เราควบคุมได้หมด เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านพูด สติเหมือนฝ่ามือ สามารถกางกั้นพายุลมแรงได้ เพราะมันสงบหมด ถ้ามีสตินี่สงบหมด

ทีนี้เวลาภาวนาๆ มา เวลาภาวนาขึ้นมาแล้วเราใช้มาก เราพิจารณามาก แล้วสติมันก็อ่อนแอเป็นธรรมดา ถ้าเราตั้งสติไว้คือฝึกหัดไว้ นี่ไง ทำความสงบบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้าจนมันตั้งมั่น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำความสงบบ่อยครั้งเข้าๆ สติสัมปชัญญะมันสมบูรณ์ขึ้น มันละเอียดขึ้น มันทำให้เราได้ตรวจสอบดีขึ้น ให้เราระมัดระวังตัวดีขึ้น นี่การภาวนา ฝึกหัดภาวนา ฝึกหัดภาวนาก็ตรงนี้ไง ฝึกหัดภาวนาให้เราเข้มแข็งขึ้น ละเอียดขึ้น รอบคอบขึ้น เหมือนกีฬา เวลามันแพ้กัน เขาบอกว่าต้องเล่นให้ละเอียด ต้องเล่นให้ละเอียด มันหยาบเกินไป เวลาชนะเขาไม่เป็นไรนะ แต่ถ้าแพ้เขา ต้องละเอียดขึ้น ต้องรอบคอบขึ้น นี่มันหยาบเกินไป เล่นหยาบเกินไป ต้องเล่นให้ละเอียดขึ้น แล้วพอจะต่อสู้กัน ต้องละเอียดทุกตำแหน่ง ถ้าตำแหน่งที่ละเอียด เขาเห็นบ่อตรงไหน เขาก็ส่งบอลไปลงตรงบ่อนั้นน่ะ เห็นไหม จับละเอียดรอบคอบมากขึ้นจนจะต้องละเอียดทุกตำแหน่ง ตำแหน่งไหนที่คนเล่นบกพร่อง คนเล่นอ่อนแอ ฝ่ายตรงข้ามเขาจะทำตรงนั้น นี่พูดถึงกีฬานะ

แต่นี่จะฆ่ากิเลสนะ แล้วถ้าจะฆ่ากิเลสของเรา เราต้องมีสติปัญญาของเรา รอบคอบของเรา ถ้ามีสติปัญญารอบคอบขึ้นมา กามฉันทะคือความพอใจ เราไม่พอใจทั้งสิ้น ความพอใจคือเราไม่มีกำลังพอที่เราจะตั้งมั่นไง ถ้าจิตตั้งมั่น จิตเป็นเอกเทศ ไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

นี่มันพาดพิงอารมณ์มาตลอด แล้วเราพิจารณาของเรามาตลอด ตั้งแต่เป็นคนขี้โมโห เป็นคนโทโส เป็นคนไม่เอาไหน เป็นคนต่างๆ เดี๋ยวนี้ดีขึ้นหมดเลย ดีขึ้นหมดเลย แต่มันก็ยังดีขึ้นแบบโลกๆ นะ แต่มันดีขึ้นมาแล้ว ดีขึ้น เราไม่พอใจแค่นี้ไง

แต่ถ้าไปคุยกันในสังคมของกลุ่มของตัวเอง โอ้โฮ! ดีขึ้นเยอะเลย เป็นเทวดาแล้ว เพราะเมื่อก่อนก็เห็นๆ กันอยู่ว่าเป็นคนขี้โมโห เดี๋ยวนี้เก็บเนื้อเก็บตัวดีหมดเลย เป็นเทวดาแล้ว...ก็ยังมีกิเลสอยู่เหมือนเดิมไง ก็แบบโลกๆ ไง นี่ผลของการภาวนา เราฝึกหัดภาวนาไง แต่ถ้าภาวนาเข้าไปสู่อริยสัจ เข้าไปสู่มรรค มันจะเป็นอย่างที่จะพูดนี่

“กามฉันทะนี้มันยังมองไม่เห็นหนทางที่จะแก้ไขมันได้เลย” เห็นไหม ถ้าไม่รู้ เป็นอย่างนี้เลย ไม่รู้ไม่เห็นหนทาง ไม่มีทางที่จะต่อสู้ได้เลย แพ้ลูกเดียวเลย

แต่ถ้าฝึกหัดเข้าๆ เราเริ่มต้นตั้งแต่ว่ามีกำลังพอที่จะยันมันไว้ได้ จากมีกำลังพอที่มันจะรุกรานเรา มันจะทำร้ายเราไม่ได้ แล้วเราก็ฝึกหัดขึ้น ฝึกหัดขึ้นจนเราตั้งมั่น แล้วก็ฝึกหัดขึ้นจนเราจับตัวมันได้ จับตัวมันได้คือเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง

สิ่งที่คุยกันนี้ โม้กันอยู่นี้ เป็นการคาดหมายทั้งนั้น ฝึกหัดภาวนาในแนวทางปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ทุกคนก็พูดอย่างนั้น แต่มันเป็นการคาดหมายไง เป็นการคาดหมายมันเลยไม่เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันสมควรแก่ความรู้สึกของเรา มันสมควรแก่ปัญญาของเรา มันสมควรแก่อำนาจวาสนาของเรา มันสมควรแต่เรามีวุฒิภาวะได้แค่นี้ เราก็คิดอยู่กันแค่นี้ เราไม่พัฒนาเราขึ้นไป ถ้าเราพัฒนาขึ้นไปๆ มันจะเข้าใจคำถามข้อที่ ๓. นี้เลย “กามฉันทะนี้” ถ้ามีสติรู้เท่า จบหมด ถ้าเรามีสติรู้เท่า จบหมด

เราจะบอกว่า สิ่งที่ว่าเขาพิจารณาเป็นนิวรณธรรม นั้นมันก็เป็นนิวรณธรรม แต่ถ้านิวรณธรรม เรายกให้เข้ามาสู่ธรรมารมณ์ สติปัฏฐาน ๔ สู่ธรรมารมณ์ ถ้าจิตมันจับต้องได้มันจะเป็นธรรมารมณ์ เป็นสติปัฏฐาน ๔ หนึ่งในสี่นั้น กาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีสมาธิ ธรรมจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราเข้มแข็ง ถ้าเราเข้มแข็งแล้วมันไม่ให้กิเลสมาครอบงำ ไม่ให้มีการคาดหมาย มีการชักนำตามความพอใจของตน มันต้องทำให้เป็นความจริงขึ้นมา เพราะมีสติไง

มีสติ เหมือนเราจะกินอาหาร ถ้าอาหารเป็นพิษ ใครจะกิน อาหารที่ตั้งอยู่ข้างหน้า กินเข้าไปแล้วเจ็บไข้ได้ป่วย ใครจะกิน อาหารถ้าเป็นอาหารที่บริสุทธิ์ อาหารที่กินไปแล้วจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย อาหารที่ดี เห็นไหม ถ้ามีสติ

ถ้ามีสติ ถ้าเราคิดไปนิวรณธรรม ๕ นิวรณธรรมคือเครื่องกางกั้นจิต นิวรณธรรมนี้เป็นสิ่งที่เป็นศัตรูของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราจะอยู่กับมันไหม เราจะอยู่กับมันหรือเราจะเข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่ความจริง ถ้ามันมีสติ มันมีสมาธิ มันเลือกแล้ว มันจะไปทางไหน

แต่ถ้าเรายังไม่มีสติสัมปชัญญะพอ เราไม่รู้ เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นพิษ เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ เรารู้แต่ว่าเราปฏิบัติ เราทำอย่างนี้ๆ เราทำ แต่เรามีปัญญามากน้อยแค่ไหนไง แต่ถ้ามันทำ นี่ถ้ามันเข้าใจหมดมันก็จะรู้กามฉันท์ มันทะลุหมดเลย นิวรณธรรม ๕ มันวางหมด ไม่ต้องไปให้มันหยิบเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นข้อต่อรองให้เราไปจมอยู่กับมัน พิจารณาอยู่กับมันไง

เรากลับมาที่ปัญญาอบรมสมาธิ กลับมาที่พุทโธ ถ้าจิตละเอียดขึ้นๆ จนมันตั้งมั่นแล้ว จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นจิตเป็นมรรค มันจะเริ่มเข้าตรงนั้น คนที่ภาวนาๆ มาส่วนใหญ่ต้องเป็นอย่างนี้ก่อน ภาวนามา ฝึกหัดภาวนามา อย่างน้อยมันก็แบบว่าความทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น มีความสุขเป็นเครื่องดำเนิน มีความสุขเป็นที่พึ่งอาศัย แล้วพิจารณาต่อเนื่องไป ไม่ใช่ว่าเรามีเป้าหมายแค่นี้ เป้าหมายของเราคือเราจะแก้กิเลสของเรา มันจะละเอียดขึ้นไป พิจารณาขึ้นไป

แล้วพอจิตเห็นอาการของจิต คือจิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ จิตเห็นกิเลส จิตเห็นกิเลส จิตจับกิเลสได้ กิเลสคือตัณหาความทะยานอยาก คือสมุทัย ทุกข์ สมุทัยไง จิตมันเห็นสมุทัย จิตมันจับสติปัฏฐาน ๔ แต่มันไม่ได้ทำลายที่สติปัฏฐาน ๔ มันจะทำลายสมุทัยนี่

สมุทัย ตัณหา วิภวตัณหา มันอาศัยพวกนี้เป็นที่พึ่งอาศัย อาศัยพวกนี้เป็นทางเดิน แล้วมันเป็นนามธรรมที่จับไม่ได้ ก็ไปจับทางเดิน จับตัวมัน จับที่มัน แล้วก็ทำลายตัวมัน มันจะเห็นชัดๆ เวลาพิจารณาไปแล้ว เวลามันพิจารณา เริ่มต้นจะเป็นแบบนั้น

นี่พูดถึงว่า เขาถามว่าที่เขาทำมาอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่

ไอ้ตรงนี้สำคัญนะ คำว่า ถูกต้อง” ถูกต้องหมายถึงว่าเราฝึกหัดภาวนากันก็ถูกต้อง แต่คำว่า ถูกต้อง” ส่วนใหญ่นักภาวนา ถูกต้องแล้วก็ “ผมเป็นพระอรหันต์ใช่ไหม” ถ้าถูกต้องมันจะบอกเลย “ก็หลวงพ่อว่าถูกต้องไง ถูกต้องก็ภาวนาเป็นพระอรหันต์แล้วไง” โอ๋ย! ปวดหัว

ทีนี้คำตอบ ตอบไปแล้ว ผู้ที่ใช้ประโยชน์จะเอาเป็นประโยชน์กับเรา อย่าไปว่าพอถูกต้องแล้วนั่นเลย ถูกต้องมันถูกต้อง แล้วจะแก้ไขกันมันเป็นขั้นเป็นตอนนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ

คำว่า ถูกต้อง” เพราะคำว่า ถูกต้อง” น่ากลัวมาก เพราะเมื่อก่อนใครมาถามว่าถูกต้อง แล้วเขาก็ไปพูดกันบอกว่าเขาได้ขั้นนั้นขั้นนี้

เราก็งง งงมาก กูไม่เคยรับประกันใครเลย ทำไมมันบอกว่ากูรับประกันๆ

แต่ถ้าถูกต้อง นี่ก็ถูกต้อง ถูกต้องในการฝึกหัดภาวนา แล้วผลที่ได้ก็ได้อยู่แล้ว ความทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น เป็นคนดีมากขึ้น เป็นคนที่มีแก่นสาร เป็นคนที่มีหัวใจ หัวใจเป็นชาวพุทธ แล้วชาวพุทธของเราจะหาสมบัติของเรานะ

หลวงตาท่านสอน พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนห้างสรรพสินค้า มันมีสินค้าทุกชนิด ตั้งแต่ของเล็กน้อยจนถึงมรรคผลนิพพาน

เราเป็นชาวพุทธ ห้างสรรพสินค้าคือพระพุทธศาสนาของเรา เราจะทำประพฤติปฏิบัติได้ผลมากน้อยแค่ไหน มันจะเป็นสมบัติของเรา เราพยายามของเรา แก้ไขของเรา ปฏิบัติของเราขึ้นไป

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า “๑. ผมเข้าใจอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่”

ถูกต้องในระดับที่เราฝึกหัดภาวนามา แต่ข้างหน้าเราอย่าเพิ่งวางใจทั้งสิ้น ตั้งสติไว้ แล้วให้ละเอียดรอบคอบ ทำต่อเนื่องขึ้นไป ถ้าทำต่อเนื่องขึ้นไป ก็เหมือนที่พูดเมื่อกี้นี้ที่ว่า จิตเห็นอาการของจิต จิตจะเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงขึ้นไปอย่างนั้น ถ้าปฏิบัติขึ้นไปแล้วมันจะได้มรรคได้ผล

ไม่ใช่ว่า ที่พูดถึงเริ่มต้นตั้งแต่พระที่มาหาเรา “ผมละความกลัวได้ ผมเป็นพระอนาคามี”

เราบอก “พระอนาคามีต้องทำอย่างนี้ๆ”

“อย่างนั้นผมเป็นสกิทาคามี”

“สกิทาคามีต้องทำอย่างนี้ๆ”

“อย่างนั้นผมเป็นพระโสดาบัน”

“พระโสดาบันต้องทำอย่างนี้ๆ”

แล้วเขาไม่พูดอะไรอีกเลยนะ

นี่ก็เหมือนกัน เราพิจารณานิวรณธรรม ๕ แล้วเราเป็นพระอะไร เราเป็นนักปฏิบัติอะไร

เราเป็นนักปฏิบัติ แต่เราปฏิบัติในการพิจารณานิวรณธรรมไง ถ้ามันปล่อยก็คือสมาธิ มันปล่อยก็คือความว่าง มันปล่อยก็คือความสุข แล้วอริยสัจล่ะ

อริยสัจนี้เป็นทางเดินของหัวใจ ทางเดินของมรรคผลนิพพาน ทางเดินของนักปฏิบัติ เราจะต้องปฏิบัติขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปเพื่อให้ได้ผลตามความเป็นจริง เอวัง