อุปโลกน์ธรรม
ท่านพระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมะ ตั้งใจฟังธรรม เพราะเรามาแสวงหาสัจจะความจริงในหัวใจของเรา แต่ทุกคนยังหาหัวใจของตนไม่เจอ ถ้าหาหัวใจของตนเจอนะ มันจะมีความสุข มันจะมีความสุขนะ
เพราะคนเราเกิดมามีกายกับใจๆ เราใช้แต่ร่างกายนี้ทำมาหากิน เราใช้แต่ร่างกายนี้เผชิญกับโลก แต่เราไม่เอาหัวใจออกมาตีแผ่เลย เราไม่เคยเห็นหัวใจของเรา เราไม่เคยเอาใจของเรามาทำหน้าที่การงานเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา
ถ้ามันจะทำหน้าที่การงานเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมานะ มันจะเป็นสมบัติของเราๆ ถ้าเป็นสมบัติของเรานะ เราจะไม่สงสัยสิ่งใดๆ ในโลกนี้เลย
แต่นี่เวลาเราอยู่กับโลกๆ เราเอาร่างกายของเรานี้ทำหน้าที่การงาน เวลาคิดงานๆ ก็คิดงานจากสมองนี่ไง ถ้าคิดงานจากสมอง มันเป็นอำนาจวาสนานะ เป็นอำนาจวาสนาเพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา
พอเราเกิดมาเป็นมนุษย์ มนุษย์มีกายกับใจๆ เวลามีกายกับใจ สิ่งที่ว่าเป็นสมอง ทางโลกเขา เวลาคลื่นสมอง ใช้สมองทำงาน มันก็ใช้สมองทำงานจริงๆ นั่นแหละ ทำจริงๆ นั่นแหละ แต่จริงๆ เพราะมันจริงตามสมมุติไง มันจริงตามสมมุติ จริงตามวัฏฏะ เราเกิดเป็นมนุษย์ไง
แล้วถ้าเทวดา อินทร์ พรหมเขามีสมองไหมล่ะ เขามีร่างกายไหมล่ะ เขาไม่มีร่างกาย ไม่มีรูปร่างกายอย่างเราไง เขามีรูปร่างกายเป็นทิพย์ๆ เป็นทิพย์ของเขา เขาไม่มีสมองอย่างเราหรอก เพราะร่างเขาเป็นทิพย์ทั้งหมดไง
แต่นี่เราเกิดมาเรามีกายกับใจๆ ถ้ากายกับใจ เวลาเราทำหน้าที่การงานของเรา เราก็ใช้สมองของเรา เราเอาร่างกายของเราทำงานไง แต่มันก็ต้องใช้หัวใจ ต้องใช้จิต ถ้ามันมีจิตอยู่ในร่างกายนี้มันก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตไง
แต่ถ้าคนตายไปแล้ว คนตายจิตออกจากร่างนี้ไปแล้ว สมองก็มีอยู่อย่างนั้นแหละ แต่มันคิดงานไม่ได้แล้วแหละ มันรอแต่เอาฟืนจะเผามันนั่นน่ะ
เวลาเราไปส่งคนตาย ไปส่งที่เชิงตะกอน แต่เราไม่เคยเห็นจิตวิญญาณของคน แล้วจิตวิญญาณของคน ดูสิ คนที่อำนาจวาสนาต่ำต้อย กลัวนู่นกลัวนี่ กลัวไปหมดล่ะ นี่มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ กลัวไปทุกๆ เรื่อง ถ้าเป็นโบราณเขาถือผีถือสางกัน เขาถือผี เขากราบไหว้บูชาทั้งนั้นน่ะ เขากลัวผิดผี
แต่เวลาถ้าเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลัวผิดธรรม สัจธรรม สัจธรรมที่เราจะประพฤติปฏิบัติ ที่เราแสวงหากันอยู่นี้ไง สิ่งที่เราแสวงหากันอยู่นี้ เราแสวงหาธรรมที่เหนือโลก ธรรมที่เหนือโลกเหนือวัฏฏะนี้ ในวัฏฏะนี้ไม่มี
ในวัฏฏะนี้มีแต่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ผลของวัฏฏะๆ ไง คนจะมีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหนก็เสวยผลบุญของตน ผลกรรมของตนที่ทำมาๆ
แต่เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เรามีอำนาจวาสนานะ ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เรามีสติมีปัญญาของเรา เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่การศึกษาตามโบราณเรา ศึกษาตามโบราณ ศึกษาตามประเพณีวัฒนธรรม พ่อแม่ก็พาลูกไปวัดไปวาก็ซึมซับ ซึมซับสิ่งที่วัฒนธรรมในวัด วัฒนธรรมในพระพุทธศาสนา ซึมซับสิ่งนั้นมามันก็มีความเชื่อฝังใจมาๆ
เวลาคนเกิดมา เกิดมามีอำนาจวาสนา เขาก็มีบุญกุศลของเขา เขาก็ประสบความสำเร็จในชีวิตของเขา เขาทำสิ่งใดเขาก็ประสบความสำเร็จของเขา คนเราเกิดมาทุกคน คนเกิดมาทุกข์มายาก เกิดมาปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย เวลาโตขึ้นมาทำสิ่งใดก็ไม่ประสบความสำเร็จ มันมีแต่ความทุกข์ความยากไปตลอด นี่ไง อำนาจวาสนาของคนไง
ถ้าคนไม่มีสติไม่มีปัญญา สิ่งนี้มันบีบคั้นหัวใจมาก เวลามันทุกข์มันยากขึ้นมา ทุกข์ยากจนเจียนตาย ทุกข์ยากจนคนถ้าขาดสติขึ้นมา ทำร้ายตัวเองถึงสิ้นชีวิตนี้ไป เพราะมันทุกข์มันยาก มันจนตรอก มันไม่มีทางไป มันเครียดจนถึงกับทำลายตัวเองไง คิดว่าจะพ้นทุกข์ๆ ไป นี่ไง เพราะว่าเขาไม่มีอำนาจวาสนาของเขา เขาไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ทำลายตัวเองๆ ให้ทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของเราต่างหาก กิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของเรามันบีบคั้นมันทำลายเรา มันทำลายให้เราทุกข์เรายากนะ ทุกข์เจียนตายๆ
แต่เพราะมีอำนาจวาสนาขึ้นมา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะแสวงหาความจริงของเรา ถ้าเราแสวงหาความจริงของเรา คนที่มีอำนาจวาสนาขึ้นมาเขาก็จะมาประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ว่าถือผีถือสางกันมา แล้วเวลาจะมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็ตามแต่ฤๅษีชีไพร
มีมากมาย ผู้ที่บวชเป็นพระ บวชเป็นพระแล้วมีการศึกษา ศึกษาแล้วเวลาสิกขาลาเพศไป ไปเป็นฤๅษีชีไพรนะ เพราะอะไร เพราะถ้าเป็นพระมันมีธรรมและวินัย วัฒนธรรมของเรา เห็นไหม มันตรวจสอบได้
อุตตริมนุสสธรรม ถ้ามันอุตริสิ่งที่เกินสัจจะความจริง เกินน่าเชื่อถือ นั่นขาดจากพระๆ เวลาสึกจากพระไปแล้วจะทำอะไรก็ได้ จะสอนอย่างไรก็ได้ตามความเชื่อของฉัน นี่ไง สิ่งต่างๆ ตามฤๅษีชีไพรไง
แล้วเวลาจะประพฤติปฏิบัติ เราจะปฏิบัติอย่างนั้นใช่ไหม เราจะปฏิบัติแบบฤๅษีชีไพร เราจะปฏิบัติแต่ความพอใจของเรา เราจะปฏิบัติอย่างนั้นหรือ ถ้าปฏิบัติอย่างนั้นก็นี่ไง คนที่ไม่มีวาสนาไง ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนานะ เขาจะไม่เชื่อสิ่งใดง่ายๆ
เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนตั้งแต่เรื่องอนุปุพพิกถา ให้เรื่องทำทาน ให้เรื่องรักษาศีล ให้เรื่องประพฤติปฏิบัติขึ้นมาไง แต่เวลาจะอนุปุพพิกถามันต้องมีศรัทธามีความเชื่อ เพื่ออะไร เพื่อพาให้ชีวิตเรามีคุณค่าขึ้นมา
ถ้าชีวิตเราไม่มีคุณค่าขึ้นมา มันก็สำมะเลเทเมาไปตามกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้ามาเริ่มได้ทำทาน ใกล้ชิดพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็มีการศึกษา มีวัฒนธรรมของเราขึ้นมา พอมันใกล้ชิดขึ้นมา ถ้ามันศึกษาขึ้นมามันจะค้นคว้าของมัน มันจะค้นหาความจริงในใจของตน ถ้าค้นหาความจริงในใจของตน เห็นไหม
เริ่มต้นจากการศึกษา การจำมาทั้งนั้นน่ะ เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแล้ว ถ้าคนมีอำนาจวาสนาเขาจะมีอำนาจวาสนาตรงนี้ เขาไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น
เวลาเราจะไปอยู่สำนักไหนก็แล้วแต่ เรามีครูบาอาจารย์องค์ใดที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวก็แล้วแต่ ท่านจะสอนสิ่งใดเราก็ฟัง แล้วเราก็ต้องประพฤติปฏิบัติ เราต้องค้นคว้า ต้องเปรียบเทียบให้มันได้ความจริงขึ้นมา ถ้ามันไม่ได้ความจริงขึ้นมา เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อทั้งนั้นน่ะ เวลากาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์ของตน ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ให้เชื่อแต่ผลของการประพฤติปฏิบัติ
แต่ถ้าผลของการประพฤติปฏิบัติของเรามันปฏิบัติแล้วมันไม่เป็นชิ้นเป็นอันอะไรขึ้นมา ถ้ามันไม่เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา ดูทางวัฒนธรรมของเราๆ เวลาคนที่เขามีศรัทธามีความเชื่อไปทอดผ้าป่า เวลาไปทอดผ้าป่า เขามีอะไรสิ่งใดจะไปทอดผ้าป่าล่ะ ทอดผ้าป่าเขาก็ต้องมีกิ่งไม้ มีปัจจัยดำรงชีพ ผูกตามกิ่งไม้ไปทอดผ้าป่า มีผ้าไปทอดผ้าป่า แล้วถ้ามีพระชักผ้าบังสุกุล เขาต้องอุปโลกน์ผ้าป่านั้น อุปโลกน์ๆ เขาต้องทำให้มันถูกต้องตามธรรมวินัยไง มันต้องมีการอุปโลกน์
แล้วถ้ามีพระเรา ถ้าพระจำพรรษาครบ ๕ องค์ เขามีการทอดกฐินๆ เวลาเขาทอดกฐินเขาต้องมีอะไรล่ะ ทอดกฐินเขาต้องมีผ้าของเขา มีผ้า พอมีผ้าของเขา เขาอุปโลกน์กฐินนั้น ถ้าการอุปโลกน์กฐินนั้น อุปโลกน์กฐินนั้นให้ผู้ใดเป็นผู้ที่จะครองกฐินนั้น เป็นผู้ที่ฉลาด ต้องรู้จักการตัด การเย็บ การเนา การย้อม ย้อมเสร็จแล้ว มาติกา ๘ ถึงจะเป็นกฐินขึ้นมาได้
อุปโลกน์ เขาจะอุปโลกน์ผ้าป่า อุปโลกน์กฐิน เขาก็ต้องมีสิ่งที่จะมาอุปโลกน์เป็นพิธีกรรมๆ นี่ไง ถ้าคำว่า “อุปโลกน์ๆ”
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันเป็นสมบัติของเราบ้าง เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจะเอาอะไรเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา ถ้าไม่มีสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมามันก็จะอุปโลกน์ธรรมไง
อุปโลกน์ธรรมๆ มันมีสิ่งใดเอามาอุปโลกน์ล่ะ มันไม่มีสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมามันจะอุปโลกน์สิ่งใดขึ้นมาให้มันเป็นธรรมล่ะ อุปโลกน์เป็นธรรมมันก็คิดเอาเอง จินตนาการเอาเอง คิดของมันไป มันจะอุปโลกน์ธรรมๆ ไอ้นี่เป็นศีล ไอ้นี่เป็นสมาธิ ไอ้นี่เป็นปัญญา
ไอ้นั่นเราศึกษามาจากธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราศึกษาขึ้นมาแล้วเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงของเรา มันสดๆ ร้อนๆ นะ มันมีรสมีชาติ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง
แต่นี่มันไม่มีสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาเลย อุปโลกน์ธรรม อุปโลกน์ธรรมมันก็จินตนาการของมันไปไง มันจินตนาการของมันไป มันไม่มีรสไม่มีชาติ คำว่า “ไม่มีรสไม่มีชาติ” รสของกิเลสไง กิเลสมันหลอกมันหลอนไง พอกิเลสมันหลอกมันหลอนขึ้นมา ทำสิ่งใดขึ้นไปแล้วก็ตามแต่การสร้างภาพ
การสร้างภาพทางโลกเขา ถ้าคนดีเขาเสมอต้นเสมอปลาย ของเขา เขาทำสิ่งใดทำจริงจังของเขา เขาไม่ใช่คนสร้างภาพ คนสร้างภาพ เวลาต่อหน้ามันก็สร้างภาพว่าดีงามทั้งนั้นน่ะ ลับหลังคนมันไปอีกอย่างหนึ่งเลย นั่นการสร้างภาพ
แล้วนี่การประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา เราคิดจินตนาการของเราไป มันจะอุปโลกน์ธรรมไง มันไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อุปโลกน์ขึ้นมาให้มันเป็นไป
แต่เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาท่านจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ๆ ท่านเล็งญาณนะ พุทธกิจ ๕ เช้าเล็งญาณ ใครจะมีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน แล้วชีวิตเขาสั้น เขาจะมีโอกาส ไปเอาคนนั้นก่อน ไปเอาคนนั้นก่อนเพราะอะไร เพราะงานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามหาศาล ทั้งๆ ที่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว “จะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้หนอ”
“จะสอนใครได้หนอ” คนที่มีอำนาจวาสนาที่จะคุยเรื่องธรรมะที่เขาจะเข้าใจสัจธรรมอันนี้มันจะมีมากน้อยแค่ไหน มันหาได้ยาก หาได้ยากไง จนทอดธุระไง
ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย การสร้างมาคือความพร้อมที่จะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ ถ้าจะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ ผู้ที่มารื้อสัตว์ขนสัตว์เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ผู้ที่ได้สร้างสมบุญญาธิการมาด้วยกันๆ เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะปรารถนาเป็นอัครสาวก เวลาจะมาบวช “นั่นไง อัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาเรามาแล้ว”
ท่านสร้างมาด้วยกัน อนาคตังสญาณรู้ทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาความลึกซึ้งของธรรมะที่มันมีคุณค่าสูงส่งขึ้นมา “จะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้หนอ”
แต่เวลาตั้งใจโปรดจะสั่งสอน พุทธกิจ ๕ กิจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนที่มีอำนาจวาสนาไม่ใช่ทุกคนมันจะได้ไปหมดหรอก
มีในพระไตรปิฎกนะ ในเชตวันต่างๆ วัดต่างๆ ข้างวัดน่ะ พระโมคคัลลานะ จนไปอุทธรณ์กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเล็งญาณไปสอนคนนู้นสอนคนนี้ แล้วคนหน้าวัดทำไมไม่สอนบ้างล่ะ แถววัด ข้างวัดเต็มไปหมดเลย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เขาไม่เอา จะสอนอย่างไร เหมือนภาชนะมันคว่ำไว้ พูดเท่าไรมันก็ไม่เชื่อหรอก
พระโมคคัลลานะไม่เชื่อนะ พระโมคคัลลานะทดสอบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกลองไปสอนสิ
เวลาพระโมคคัลลานะจะทดสอบว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดจริงหรือไม่ เวลาไปหาเขา เขาไม่สนใจ เขาไม่สนใจ พูดอย่างไรเขาก็ไม่สนใจ นี่พูดถึงคนที่ไม่สนใจ คนที่ไม่มีอำนาจวาสนา อยู่ข้างวัดนั่นแหละ แต่เขาไม่สนใจ เขาไม่รับรู้
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ เล็งญาณน่ะ ไปนะ ดูสิ ดูอย่างองคุลิมาล องคุลิมาลเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนมาก มันเป็นการเฉียดฉิวที่ว่า ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ไปเทศน์โปรดวันนั้นก็จะฆ่าแม่ของตน ถ้าฆ่าแม่ของตน อนันตริยกรรม มันก็จะไม่มีโอกาสจะได้บรรลุธรรมอีกเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเอาๆ แล้วเอาได้ด้วย
เวลาคนที่มีอำนาจวาสนาเขาได้สร้างบุญกุศลของเขามา เวลาพูดสิ่งใดไปแล้วมันสะเทือนใจไปทั้งนั้นน่ะ ดูสิ ขนาดว่าการฆ่าด้วยจิตใจที่อำมหิต อำมหิตคือมันก็ทำแล้วทำเล่าๆ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม
“สมณะหยุดก่อน สมณะหยุดก่อน”
“เราหยุดแล้ว เธอต่างหากไม่หยุด”
“หยุดอะไร”
“หยุดการจะฆ่าไง หยุดการทำลายล้าง ทำลายล้างชีวิตคนอื่น”
แล้วสิ่งที่ประเสริฐ ประเสริฐตรงไหน ประเสริฐ ประเสริฐที่ว่าให้หยุดการทำลายล้างอันนั้นน่ะ หยุดการที่จะแสวงหาจากภายนอก นี่วางดาบ ขอบวชๆ
เวลาเล็งญาณ เล็งญาณไปผู้ที่มีอำนาจวาสนา ถ้าเขามีอำนาจวาสนา พูดสิ่งใดทำสิ่งใดเขาเชื่อฟัง เขาเชื่อ เขาเปิดหัวใจของเขาไง
แต่คนที่มันมืดบอด อยู่ข้างวัดนั่นแหละ ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปได้ ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม ผู้ที่อยู่ในชนบทประเทศ ปฏิบัติเหมือนเรา ทำเหมือนเรา นั่นน่ะอยู่ใกล้เรา อยู่ใกล้เราคืออยู่ใกล้ธรรมวินัยไง อยู่ใกล้ศาสดาไง
ผู้ที่อยู่ข้างเรา จับชายจีวรเราไว้ ดูเทวทัตสิ เทวทัตเป็นทั้งญาติด้วย บวชมาแล้วมาอยู่ข้างกาย เวลาทำสิ่งใดเชื่อฟังไหม ไม่ใช่ไม่เชื่อฟังธรรมดานะ จะขอปกครองสงฆ์อีกต่างหาก
“เทวทัต แม้แต่สารีบุตร โมคคัลลานะ เรายังไม่ให้ปกครองสงฆ์ แล้วเราจะให้เธอได้อย่างไร”
แต่ก็คิดไปเองไง
อยู่ใกล้เรา จับชายจีวรเราไว้ แต่ไม่ทำตามเรา ถ้าทำตามเราๆ ถ้ามันเชื่อธรรมวินัย มันเชื่อศาสดา มันทำตามนั้น เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาแสดงธรรมๆ มันมีคุณค่าทั้งนั้นน่ะ ถ้าเราได้คิดได้พิจารณา โอ้โฮ! มันซาบซึ้งๆ ความซาบซึ้งนั่นน่ะคุณธรรม คุณธรรม หัวใจควรแก่การงาน ถ้าหัวใจควรแก่การงาน สิ่งใดที่มันมีคุณธรรมแล้ว นั่นน่ะอาวุธ
เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราน้อยเนื้อต่ำใจกันอยู่นี่ไง ว่าไม่มีคนสอนๆ มันจะไปสอนใครล่ะ หัวใจมันดื้อด้านจะไปสอนอะไรล่ะ
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม พระไตรปิฎก นั่นน่ะสอนแล้ว แต่หัวใจมันเปิดหรือไม่ ถ้าหัวใจมันเปิด มันเห็นคุณค่า
แต่ถ้าหัวใจมันปิดกั้นนะ มันบอก “ของเล็กน้อย ไม่มีค่า ถ้ามีค่าก็ต้องศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีค่าขึ้นมาก็ฉันจะประพฤติปฏิบัติ แล้วสิ่งนั้นไม่มีค่า”
นั่นหรือไม่มีค่า นั่นล่ะมีค่าทั้งนั้นน่ะ แล้วปฏิบัติ ปฏิบัติจากอะไร ปฏิบัติจากหัวใจของเอ็งนั่นแหละ ถ้าหัวใจของเอ็งมันมีค่า มันฟังธรรมๆ มันก็มีคุณค่า ถ้ามีคุณค่าขึ้นมา ถ้ามีสติมีปัญญามันก็มีคุณค่าที่นั่น ถ้ามันมีคุณค่าที่นั่น นี่ไง รสของธรรม รสของความรู้สึกไง รสของหัวใจไง หัวใจที่มันทุกข์มันยาก ที่มันเดือดร้อน ดูสิ คนทุกข์คนยาก เจียนตาย ทุกข์เจียนตายๆ
เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา อารมณ์ความรู้สึกที่ทุกข์ยากมันก็เป็นอนิจจัง ถ้ามีสติมีปัญญา มีสติมีปัญญาเท่าทันมันแล้วมันก็จะเปลี่ยนแปลงไป ความเปลี่ยนแปลงไป ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
เวลามันศึกษาธรรมะ ศึกษาธรรมะขึ้นมา ถ้ามันศึกษาแล้วมันมีความเข้าใจ มันก็ปล่อยวางทุกข์เจียนตายๆ อันนั้นมา ถ้าทุกข์เจียนตายๆ นั้นมันก็เป็นเรื่องโลกๆ ไง
เราเกิดมา เกิดมานี่ผลของวัฏฏะ เกิดมาเป็นสมมุติโลก จริงตามสมมุติ ชีวิตนี้มีจริงๆ แต่จริงตามสมมุติไง เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็เอาไว้บนหิ้ง พระพุทธศาสนาก็เอาไว้ให้ผู้ประพฤติปฏิบัติ ไอ้เราจะลุยแต่ความทุกข์ความยากในหัวใจของเรา ลุยตามกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ไอ้ตัณหาความทะยานอยากในหัวใจมันปลุกเร้าในใจของเรา เราก็เชื่อมัน เราก็จะไปตามนั้นไง
แต่ถ้ามันมีสติมีปัญญาขึ้นมา มันวาง สิ่งใดในโลกนี้มันมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ต้องดับเป็นธรรมดา ความรู้สึก ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น แต่ไม่มีใครรู้เห็น สิ่งที่ว่ารู้เห็นๆ นี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอามาท่องกันปากเปียกปากแฉะไง เห็นไหม มันจะอุปโลกน์เอา ธรรมะ มันจะอุปโลกน์เอาไง
กฐินผ้าป่าเขาจะอุปโลกน์ เขาจะทอดผ้าป่า ทอดกฐินของเขา เขายังต้องมีผ้า เขายังต้องมีปัจจัยของเขาเพื่อจะทอดกฐินของเขา ถ้าทอดกฐินของเขาแล้ว พระก็ต้องอุปโลกน์ อุปโลกน์ให้มันถูกต้องตามธรรมวินัย ถ้าถูกต้องตามธรรมวินัย อุปโลกน์กฐินผ้าป่า อุปโลกน์ได้ มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม มันเป็นเรื่องระดับของทาน มันเป็นเรื่องของวัตถุไง
แต่ถ้าการประพฤติปฏิบัติอุปโลกน์เอา มันก็คิดเอา มันก็จินตนาการเอา ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามามันยิ่งสร้างภาพให้เป็นอย่างนั้นๆ แล้วเป็นจริงหรือไม่
ถ้ามันเป็นจริง มันจะมีข้อเท็จจริงในหัวใจนั้น ถ้ามีข้อเท็จจริงในหัวใจนั้น การประพฤติปฏิบัติ การแสดงออก เห็นไหม เวลาในวงกรรมฐาน เวลาครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นธรรมๆ ท่านมีลูกศิษย์ลูกหานะ ลูกศิษย์ลูกหาจะเคารพบูชามาก การเคารพบูชานั้นเคารพบูชามาจากไหน เคารพบูชามาจากหัวใจไง เคารพบูชามาจากความรู้สึกอันนั้นไง ถ้าความรู้สึกอันนั้นมันเป็นความจริงจากในหัวใจนั้น แต่หัวใจของเรามันก็มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก
ดูสิ เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเป็นพระอะไร ทุกคนก็ว่าเป็นพระอรหันต์ๆ เวลาท่านอุปัฏฐากอยู่น่ะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาท่านถอนหายใจ หลวงตาท่านเล่าเอง เวลาหลวงปู่มั่นท่านถอนหายใจนะ “เฮ้อ!”
นี่มันยังคิดนะ พระอรหันต์มีวันเผลอหรือเปล่า พระอรหันต์มีวันเผลอหรือเปล่า
ไอ้เผลอไม่เผลอมันหยาบเกินไป มันอยู่ข้างนอก ธรรมธาตุๆ มันเหนือโลกไปแล้วมันจะมีสิ่งใด ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เป็นภาระ เป็นภาระที่จะต้องเข็นกันไปจนถึงกาลอวสานของชีวิต
แต่ธรรมธาตุ ธรรมธาตุนั้นมันพ้นจากกิเลสไปแล้ว แต่ถ้าคนมันยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันรู้ไม่ได้หรอก นี่ไง ธรรมเหนือโลกๆ มันเหนือโลกธาตุ เหนือวัฏฏะ ถ้าเหนือวัฏฏะมันเหนืออย่างไรล่ะ ก็มันเหนือกิเลสในใจดวงนั้นไง เหนือพญามารที่มันครอบงำใจดวงนั้น
แต่ใจของเรามันอยู่ใต้พญามาร พญามาร ครอบครัวของมารมันบีบบี้สีไฟไง แต่เราก็สร้างภาพ จะอุปโลกน์ธรรมๆ กิเลสร้ายนัก
ที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี้ เราต้องการเข้าไปหาหัวใจของเรา ถ้าเราเข้าไปหาหัวใจของเราแล้ว ถ้าได้ใจของเราแล้วมีความสุข มีความสงบ มีความระงับแล้ว เราจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา
การยกขึ้นสู่วิปัสสนาคือการแยกแยะ การทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของตน ถ้าการทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของตน มันจะยกใจของตนขึ้นสู่ เห็นไหม วุฒิภาวะของจิตๆ ไง
ถ้าเป็นโสดาบันฆ่ากิเลสไป ๒๕ เปอร์เซ็นต์ กิเลสอีก ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นสกิทาคามีฆ่ากิเลสไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ กิเลสอีก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นพระอนาคามีฆ่ากิเลสไป ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ยังเหลืออีก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เวลาเป็นพระอรหันต์ กิเลสหมดสิ้นไปจากใจ นี่มันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ถ้ามันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป มันมีมรรคมีผล มีการกระทำ
คนที่มีมรรคมีผลนะ คนที่เป็นเศรษฐีเขาทำหน้าที่การงานของเขามา เขามีเงินมีทอง เขาไม่สงสัยในความเป็นเศรษฐีของเขาเลย
แต่ไอ้ของเราอ่านจากประวัติศาสตร์ของเศรษฐีแล้วว่า ฉันก็ทำได้ ฉันก็มี ฉันก็เป็นไปหมด...จินตนาการทั้งนั้นน่ะ แล้วชีวิตมันมีแต่ทุกข์ยาก มันไม่มีอะไรเป็นจริงในใจของเขาเลย
ถ้าจะเป็นจริงในใจของเขา ถ้าเขาจะทำ เขาจะไม่อุปโลกน์ธรรม เขาจะทำ เขาจะประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงในใจของเขา ถ้าเขาจะประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงในใจของเขา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอนให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน
ถ้ายังหาสถานที่ทำงานของตนไม่เจอ มันจะไม่มีงานสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาจากใจดวงนั้นเลย สิ่งที่ทำๆ กันอยู่นี่ เห็นไหม ในพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่ในพระพุทธศาสนามีบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
อุบาสก อุบาสิกา ผู้ที่เกิดใหม่ ผู้ที่เริ่มมาให้เป็นพุทธมามกะ ให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันจะมีผู้มาใหม่อยู่ตลอดเวลา ถ้ามีผู้มาใหม่อยู่ตลอดเวลา การฝึกฝนมันก็ต้องฝึกฝนจากอำนาจวาสนา
ถ้ามันมีจริงหรือไม่ ถ้าไม่มีความจริงในหัวใจของตน เขาก็พยายามอบรมสั่งสอนๆ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ปฏิบัติบูชาเราเถิด ปฏิบัติบูชาเราเถิด”
เวลาในพระพุทธศาสนาก็ต้องมีแก่นของพระพุทธศาสนา ถ้าแก่นของพระพุทธศาสนาก็การปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่การปฏิบัติบูชา
ชาวพุทธๆ เขาก็แสวงหาบุญกุศลของเขาด้วยทานของเขา ด้วยการแสวงหาคุณงามความดีของเขา ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติขึ้นมาก็ต้องปฏิบัติในหัวใจของตน นั่งสมาธิภาวนาก็เพื่อค้นคว้าหาใจของตน ถ้าค้นหาใจของตน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกว่า ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน
ทำความสงบของใจเข้ามา เพราะสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เราจะมีสถานที่ทำงานของเรา เราจะมีสถานที่ค้นคว้าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยหัวใจของเรานะ
เวลามันค้น ปฏิบัติธรรมะบูชาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ค้นคว้าในใจของตนเพื่อให้มีคุณธรรมในใจของตน โอ๋ย! มันมหัศจรรย์ๆ มันเป็นความมหัศจรรย์ของมนุษย์ มนุษย์ที่มีหัวใจ หัวใจนี้สำคัญมาก
ในทางธรรมะกับทางวิทยาศาสตร์มันจะมีการล้อกันไปตลอด ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ก็ต้องพิสูจน์ตรวจสอบๆ ไอ้เราเป็นนักปฏิบัติใช่ไหม เราเป็นปัญญาชน เราก็ต้องพิสูจน์ตรวจสอบๆ แต่มันเป็นพุทธศาสน์ เวลามันเป็นจริงขึ้นมามันละเอียดลึกซึ้งกว่าวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์มันเป็นโลก วิทยาศาสตร์มันเป็นการยืนยันในโลกนี้ แล้วศึกษาแล้วก็จะยืนยันกันทางวิทยาศาสตร์ๆ แต่เวลาเป็นพุทธศาสน์ เวลาทำสมาธิเข้ามา มีพระฝรั่งมาบวชมากมายมหาศาล เวลาเขาทำสมาธิแล้วเขาก็ไม่เชื่อของเขา
มันจะเขียนอย่างไร มันจะทำอย่างไร สมาธิก็เขียนว่าสมาธิ แต่สมาธินะ เวลามันสงบระงับเข้ามา ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันก็สงบเข้ามา สงบเข้ามาโดยจิตสงบเข้ามา มีสติสัมปชัญญะพร้อม
ถ้ามันเป็นพุทโธๆ เป็นอานาปานสติ เวลาจิตมันสงบ มันรวมลง มันแตกต่าง มันแตกต่างเพราะมันมีสติ มันมีผลของผู้รู้ ผู้รู้มันละเอียดเข้ามาเป็นชั้นๆ เข้ามา เป็นชั้นๆ เข้ามา เห็นไหม แล้วมันละเอียดแล้วมันรู้เห็นสิ่งใดนะ อันนั้นมันก็เป็นจริตนิสัย คำว่า “จริตนิสัย” คือว่ามันไม่เหมือนกัน
จิตจะให้เหมือนกันทุกๆ ดวง เป็นไปไม่ได้ อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน สิ่งที่ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติแล้วท่านจะรู้ถึงว่า สมาธิก็คือสมาธิ แต่สมาธิที่มันออกรู้ออกเห็นต่างๆ นั้น สมาธินั้นมันเป็นการส่งออก ถ้ามันส่งออกเพราะอะไร ส่งออกเพราะถ้าจิตมันไม่สงบมันก็เห็นสิ่งนั้นไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันรู้ด้วยใจไง
ตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยธรรมชาติของมนุษย์ เห็นไหม ตา ใหญ่ในเรื่องของการเห็น หู ใหญ่ในเรื่องการได้ยิน ผิวหนัง ใหญ่ในการสัมผัส นี่ไง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันมีความยิ่งใหญ่ในแต่ละหน้าที่ๆ
แต่เวลาเรานั่งสมาธิภาวนา เราหลับตา หลับตาลงแล้วหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เอาความรู้สึกของใจเท่านั้น ถ้าเอาความรู้สึกของใจเท่านั้น มันกำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก หรือมีคำบริกรรมพุทโธๆ ใจมันจะเป็นใหญ่ในตัวของมัน
แต่มันยังใหญ่ในตัวของมันไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันมีกิเลสครอบงำมันอยู่ กิเลสมันครอบงำมันคืออะไร รูป รส กลิ่น เสียง
รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มารมันอยู่ที่ไหน มารมันก็อาศัยหัวใจนี้ อาศัยภวาสวะ อาศัยใจเป็นที่อยู่อาศัย เวลาที่อยู่อาศัย เห็นไหม ใจเป็นใหญ่ๆ ถ้ามันเป็นเบี้ยล่างของมารมันก็อาศัยรูป รส กลิ่น เสียงออกไปหาเหยื่อ
เรามีคำบริกรรมพุทโธๆ ให้จิตมันเป็นอิสระเข้ามา ถ้าจิตมันเป็นอิสระเข้ามา นี่สัมมาสมาธิๆ ถ้าสัมมาสมาธิ เราไม่ได้อุปโลกน์เอา
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ธรรมและวินัย ธรรมและวินัยเป็นศาสดา ชี้ ชี้ทางให้เราๆ ไอ้เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จะเอาความจริงขึ้นมา
เวลาคน คนที่มีการศึกษานะ เขาจะออกสำรวจ เวลาเขาเข้าป่าเข้าเขาไป เขาหลงป่า เวลาคนหลงป่าๆ มันหลงป่ามันจะดำรงชีพอย่างไร คนหลงป่าถ้าไม่มีทางออกนะ มันก็ตายอยู่ในป่านั้นนะ
แต่ถ้าคนที่เขามีปัญญาของเขา ถ้าเขาหลงป่าๆ ถ้าเจอลำธาร ให้เดินตามลำธารนั้นไป นี่ไง เพราะน้ำจะไหลออกจากป่าได้ ถ้ามันเดินไป เดินตามทางสายนั้นไป ถ้ามันไปแล้วถ้ามันไปตกเหวล่ะ นี่เวลาคนหลงป่าๆ มันจะหาทางออกอย่างไร
แต่ของเรา เวลาเราหลงอยู่ในกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในอำนาจของมารๆ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติก็ปฏิบัติไปโดยมาร แล้วว่าธรรมะๆ ก็มีการศึกษามีความรู้ ก็จะอุปโลกน์เอาไง
ถ้าอุปโลกน์ธรรมมันก็เป็นการสร้างภาพ การสร้างภาพ การจินตนาการ การต้องการให้ได้ดั่งใจของตน...ไม่ได้หรอก ไม่ได้ ประพฤติปฏิบัติไปก็ประพฤติปฏิบัติไปด้วยวาสนาของตน วาสนาแค่นั้นได้ปฏิบัติ
พอได้ปฏิบัติแล้ว รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสของธรรม มันไม่ได้รสของธรรม ถ้ามันไม่ได้รสของธรรม มันก็อยู่ที่สติปัญญาของตน สติปัญญาของตน เห็นไหม สีข้างก็ถูไปเรื่อยล่ะ กิเลสมันทำอย่างนั้นน่ะ กิเลสมันเคยครอบงำหัวใจของใครแล้วมันไม่ปล่อยไปง่ายๆ หรอก
แต่ถ้าคนที่มีวาสนา มันจะมีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน เราจะปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าๆ ถ้าปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ถ้ามันสงบระงับเข้ามา นี่ผลของความสงบ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี
สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตสงบคือจิตสงบนะ ถ้าจิตสงบ ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่มีอำนาจวาสนา จิตสงบก็คือสงบไง พอจิตสงบแล้วมันก็สิ้นสุดการปฏิบัติไง พอจิตสงบแล้ว นั่นก็มรรคก็ผลไง...มรรคผลมันเป็นอย่างนั้นหรือ เป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก
มรรคผลมันต้องรู้ตัวมันเองโดยสัจจะโดยความจริง ถ้าจิตสงบก็คือสงบ ถ้าจิตสงบนะ คนที่อ่อนแอ พอจิตสงบ “อ๋อ! นิพพานเป็นเช่นนี้เอง สงบเย็น ใสสะอาด สว่าง สงบ นิพพานเป็นเช่นนั้นเอง”...ไร้สาระ นี่ไง มันอุปโลกน์เอาไง มันไม่มีที่มาที่ไป มันไม่มีเหตุมีผล
ดูสิ เวลาคนทุกข์คนยากก็ทุกข์เจียนตายๆ คนทุกข์เจียนตายเพราะมันมืดบอด คนที่มีสติปัญญาเขาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใคร่ครวญขึ้นมาแล้ว ชีวิตของคน เห็นไหม มันผลของวัฏฏะ เกิดตามเวรตามกรรม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เชื่อเรื่องกรรม กรรมคือการกระทำ ถ้าเราไม่เคยทำสิ่งใดเลย เราจะไม่ได้พบสิ่งนั้น ถ้าทำสิ่งใดมามากน้อยแค่ไหน คนเราทำทั้งดีและชั่วมา ถ้าเราเกิดมาเรามีความทุกข์ความยากของเรา ความทุกข์ความยากมันก็เป็นเพราะจิตใจมันอ่อนแอ ถ้าจิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมามันจะมีสิ่งใดทุกข์ยากนัก
เศรษฐีมหาเศรษฐีเขาทำงาน ๑๘ ชั่วโมง ทำงาน ๒๔ ชั่วโมง เขาทำงานทั้งวันทั้งคืน ทำไมเขาไม่ทุกข์ไม่ยากล่ะ สิ่งที่เราเห็นว่าเขาประสบความสำเร็จมา เขามีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะเขามีสติปัญญาของเขา เขาหวังผลของเขา เขาทำด้วยความจริงจังของเขา ไอ้เราทำไปมีแต่ความท้อแท้ มีแต่ความทุกข์ความยากขึ้นมา
ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมามันเท่าทันของมัน เห็นไหม ทุกข์เจียนตาย ทุกข์เจียนตายมันยังวางได้เลย ถ้ามันวางได้ มันวางได้ด้วยสติปัญญาภายนอก มันวางได้ด้วยอารมณ์ความรู้สึก มันวางได้เพราะการยึดมั่นถือมั่นโดยอารมณ์ความรู้สึก ทิฏฐิมานะไง
แต่ถ้าจะประพฤติปฏิบัติตามธรรม ถ้าจิตมันสงบ สงบเข้ามา สงบอย่างไร ถ้ามันค้นหาจิต จิตที่มันสงบขึ้นมาแล้ว ที่ว่า จิตสงบมันสว่าง มันสะอาด มันสงบ สว่าง
สว่างก็พระอาทิตย์ไง ถ้ามันสงบ สงบก็ความสงบนิ่งเงียบไง แล้วมันมีอะไรต่อไปล่ะ แล้วนิพพานเป็นอย่างนั้นหรือ นี่ไง ถ้ามันอุปโลกน์เอามันไม่มีเหตุมีผล
แต่ถ้าเป็นจริงๆ ขึ้นมา เรามีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน ถ้ามีสติปัญญามากน้อยแค่ไหนนะ ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบระงับแล้ว สงบคือความสุข ความสุขแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาๆ
ฝึกหัดใช้ปัญญา เห็นไหม น้อมไป ถ้าใครที่ไม่มีวาสนาน้อมไปให้เห็นกาย น้อมไปเรื่อย พอจิตมันสงบระงับแล้ว มีความสุขแล้ว คนเราเกิดมาทำไม คนเรามีสิ่งใดเป็นเนื้อหาสาระ คนเราเกิดมาก็มีกายกับใจๆ ถ้าไม่เห็นสิ่งใดก็ให้เห็นร่างกายนี้
ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้ว ค้นคว้า มันขัดข้องในหัวใจ ถ้ามันขัดข้องในหัวใจ เวทนากาย เวทนาจิต
ถ้าเวทนาของกาย เวลาสงบแล้ว เวลาคลายตัวมันก็มีความเจ็บปวดเหมือนกัน ถ้าความเจ็บปวดมันจับต้องของมันได้ เห็นไหม นี่ถ้ามันจับต้องของมันได้ เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา ถ้ามันจับต้องไม่ได้ เวทนาเป็นเรา มันก็ทับถมหัวใจของเรา มันก็เหยียบย่ำหัวใจของเรา
ถ้าจิตใจของเรา ถ้ามันสงบแล้ว ถ้ามันจับเวทนาได้ ถ้ามันพิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาธรรมก็ได้ การพิจารณาถ้ามันทำของมันได้ ถ้าทำของมันได้ นี่ฝึกหัดใจ ฝึกหัดให้หัวใจมันฝึกหัดทำงาน ถ้าฝึกหัดทำงาน นี่ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้น
ส่วนใหญ่ “ถ้าจิตสงบแล้วเดี๋ยวปัญญามันจะเกิดเอง”
ปัญญามันเกิดอยู่แล้ว ความคิดของคนไม่ใช่คนตาย คนเป็นมันคิดอยู่แล้ว แต่มันคิดอย่างนี้มันคิดแบบกิเลส มันคิดแบบกระแสโลกไง โลกียปัญญาๆ
ความคิดเกิดจากจิตๆ คนไม่ตายมันคิดเป็นอยู่แล้ว แต่ความคิดอย่างนี้ความคิดที่กิเลสมันหลอกใช้ กิเลสมันหลอกใช้นะ แล้วจินตนาการ จินตมยปัญญา จินตนาการธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โอ๋ย! มันยิ่งเฟื่องฟูในหัวใจเลย ความคิด โอ้โฮ! ร้อยแปด...สมุทัย นี่สมุทัยไง
ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์มันคืออะไรล่ะ ก็คือความเพ้อเจ้อนี่ไง นี่ไง ความเพ้อเจ้อ ตัณหา วิภวตัณหาไง อยากได้ อยากผลัก ไม่ได้ก็พยายามผลักไสมันไป เวลามันผลักไสไปโดยที่ไม่มีสิ่งใดเป็นปัญญา เป็นการใคร่ครวญ เป็นการไตร่ตรองเลยหรือ เราไม่รู้เหตุรู้ผล ไม่รู้ถูกรู้ผิดอะไรเลยหรือ
คนเรา ดูสิ คนมีปัญญาเขารู้ผิดชอบชั่วดีนะ คนเราถ้ามีปัญญาแล้วไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี นี่ไง คนเรียนสูงๆ มีอำนาจวาสนาแล้วทำลายชาติเยอะแยะไป
ที่ว่ามีการศึกษาๆ มีการศึกษามาแล้วทำไมไม่เอามาใช้กับชีวิตประจำวันของตน ถ้ามีการศึกษามา การศึกษานั้นทำไมไม่เพื่อประโยชน์กับครอบครัวของตน ทำไมไม่ทำให้ชีวิตของตนดีขึ้น ทำไมเอาการศึกษานั้นมาแสวงหาแต่บาปแต่กรรม ทำไมเอาการศึกษานั้นน่ะ ถ้ามันรู้จักผิดชอบชั่วดี การไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีนั่นน่ะคือกิเลส นั่นน่ะคือตัณหาความทะยานอยาก
คนที่เขามีคุณธรรมขึ้นมา เขามีการศึกษา ศึกษาขึ้นมา เขาเป็นรัฐบุรุษด้วย เขาช่วยเหลือเจือจานโลกด้วย นั่นการศึกษานะ
แต่ถ้ามันเป็นปัญญา ปัญญาภาวนามยปัญญาไม่เป็นอย่างนั้น ภาวนามยปัญญามันรื้อค้นเข้ามาจากภายใน นี่ไง ธรรมะไม่ใช่อุปโลกน์เอา
ถ้าอุปโลกน์เอามันเป็นพิธีกรรม มันเป็นพิธีการปฏิบัติ กฐินผ้าป่าเขายังต้องมีเหตุมีปัจจัย นี่มันเป็นวินัย เป็นวินัยกรรมตามการกระทำนั้น แล้วดูสิ เวลาสมัยพุทธกาล เวลาพระไปฉันอาหารจากนางที่เป็นนางกลางเมือง สวยมาก เขาได้โสดาบันด้วยนะ เวลาถึงเวลาแล้วไปเห็นเข้า โอ้โฮ! ช็อกเลย ฉันข้าวไม่ได้เลย แล้ววันนั้นกลับมาเขาก็ตาย
พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอย่าเพิ่งเผานะ ให้เก็บไว้อย่างนั้น ๗ วันก่อน เวลาบอกว่าท่านจะไปชักผ้าบังสุกุล เอาพระที่ชอบนั้นไปด้วย ท่านถึงประกาศเลย นางที่ตายแล้วเป็นนางกลางเมืองนั้น คืนหนึ่ง ๑,๐๐๐ กหาปณะ พอตายไปแล้ว พระพุทธเจ้าประกาศเลย อ้าว! คืนหนึ่ง ๑,๐๐๐ กหาปณะ ตอนนี้ลดเหลือ ๕๐๐ มีใครเอาไหม ไม่มีเลย อ้าว! ลดเหลือ ๑๐ กหาปณะก็ไม่มี ๑ กหาปณะก็ไม่มีใครเอา
ให้พระนั้นไปชักผ้าบังสุกุล เพราะว่าเขารักมาก เห็นแล้วช็อกเลย สุดท้ายแล้วให้ไปชักผ้าบังสุกุล ไปพิจารณานะ ไอ้ที่รักแสนรัก รักแสนรักนั่นน่ะ โอ้โฮ! มันเน่าเฟะ ๗-๘ วันไปแล้ว ไปชักผ้าบังสุกุลนั่นแหละ พิจารณาน่ะ จากที่รักแสนรักกลายเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ นั่นน่ะประเพณีชักผ้า ชักผ้าบังสุกุลน่ะ
การไปชักผ้าบังสุกุลเขาก็ยังมีเคล็ดของเขา ไอ้ชักผ้าบังสุกุลไม่ใช่ไปชักผ้าบังสุกุลมาเพื่อเป็นลาภสักการะ เพื่อรับซองขาวหรอก การชักผ้าบังสุกุลเขาให้ไปพิจารณาซากศพ พิจารณาอสุภะ พิจารณาถึงร่างกายของคน นี่อุปโลกน์เอาหรือ
ไอ้ชักผ้าๆ ชักผ้าบังสุกุล สมัยพุทธกาลผ้ามันหายาก เขาก็ไปชักผ้า การชักผ้า หนึ่ง เอาผ้านั้นมาซัก เอาผ้านั้นมาย้อม เอาผ้ามาตัดจีวร เอาผ้านั้นมาตัดบริขารเอาไว้ใช้สอย ให้พระได้เอาไว้ใช้สอย
แล้วถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา ชักผ้าบังสุกุล ดูสิ พันศพไว้ น้ำเหลืองน้ำหนองทั้งนั้นน่ะ เอาไม้ค้ำไว้รัดเข้ามา เอามาแล้วต้องเอามาซักก่อน แล้วตากให้แห้ง เสร็จแล้วพอครบจนตัดจีวรได้ ตัดสบงได้
ชักผ้าบังสุกุล เขาก็ให้พิจารณา ให้พิจารณาซากศพ ให้พิจารณาอสุภะนั้น ไอ้การกระทำเพื่ออะไร ถ้าไม่มีสติปัญญาการพิจารณา ไม่มีสติปัญญาการค้นคว้า สิ่งที่มันฝังหัวใจอยู่นี่ มันจะเท่าทันมันได้อย่างไร
นี่ไง เวลาพระไปฉันบ้านเขานั่นน่ะ ไปเห็นเขา รักเลย รักแล้วกินข้าวไม่ได้ สุดท้ายเขาตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพาไปชักผ้าบังสุกุล นี่เหตุที่ให้มีการชักผ้าบังสุกุลๆ ฉะนั้น สิ่งที่ทำๆ มันไม่ใช่อุปโลกน์เอา ไม่ใช่พิธีกรรมเท่านั้น ในพิธีกรรมนั้นเขาแฝงไว้ด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยการค้นคว้า
ไอ้นี่ทำให้มันครบพิธี พิธีการครบพิธี ปฏิบัติเป็นพิธีๆ แล้วเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ในวงกรรมฐานมีมาก เวลาภาวนาโหมกันเต็มที่เลย แต่สุดท้ายแล้วก็ไฟไหม้ฟาง จบ
ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี อย่างน้อยพระอนาคามี
สมควรแก่ธรรมคือความเหมาะสม ความเหมาะสม มัชฌิมาปฏิปทา ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ความเหมาะสมคือความชอบธรรม ความชอบธรรมคือสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิในการประพฤติปฏิบัติ สัมมาทิฏฐิในการกระทำ ถ้าสัมมาทิฏฐิในการประพฤติปฏิบัติ ในการกระทำ มันค้นเข้ามาที่ใจ เข้าถึงใจหรือไม่ ถ้ากิเลสมันใส่เสื้อเกราะไว้ เข้าไม่ถึง กิเลสมันใส่เสื้อเกราะไว้ มันอยู่รอบๆ นั่นน่ะ
แล้วมีฝ่ายปฏิบัตินี้มาก “ทำสมาธิ เดี๋ยวปัญญาจะเกิดเอง ปัญญาจะเกิดเอง ปัญญาจะมาเอง ยิ่งสมาธิดีงาม ปัญญายิ่งงอกงาม”...เป็นไปไม่ได้ ไม่มี
สมาธิเป็นสมาธิ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีวิปัสสนา ถ้าไม่มีสมาธิมันเป็นโลกียปัญญาทั้งหมด ถ้าขาดสมาธิ เพราะอะไร เพราะมรรค ๘ ไง ชอบธรรมไง ถ้าไม่มีสมาธิไม่ชอบธรรม ไม่ชอบธรรมเพราะอะไร ไม่ชอบธรรมเพราะสมุทัย ตัณหา วิภวตัณหา
ตัณหาคือความอยากได้ อยากเป็น อยากดี วิภวตัณหาไง อ๋อ! ไอ้นี่กิเลส ไอ้นี่กิเลส ผลักๆๆ...ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่ความเพียรชอบ
ความเพียรชอบ งานชอบ ระลึกชอบ ความชอบธรรม มรรคผลมันจะเกิดจากความชอบธรรม มันไม่ใช่เกิดจากการอุปโลกน์เอา
นี่จะอุปโลกน์ธรรม รู้หมด เข้าใจหมด ๙ ประโยค ๙ ประโยคเยอะมาก รู้หมด เข้าใจหมด แต่เขาทำสมาธิไม่เป็น เขาค้นคว้าหาหัวใจของเขาไม่ได้ แล้วในการศึกษา ศึกษามาเกิดมานะ เกิดทิฏฐิมานะในใจของตน “โอ้! แค่สมถะ หินทับหญ้า หินทับหญ้า ยกหินขึ้น หญ้ามันก็ขึ้น โอ้! ต้องปัญญาๆ ปัญญาอย่างเรานี่” นี่ไง อุปโลกน์ธรรมน่ะ มันจะอุปโลกน์เอา คิดเอา จินตนาการเอา คาดหมายเอา
ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติด้วยการคาดการหมาย ด้วยการจินตนาการ มันก็ได้ผลการจินตนาการ การจินตนาการนั้นถ้ามีสติมีปัญญาขึ้นมา มันจินตนาการแล้วมันก็มีความสุข ความสงบระงับชั่วครั้งชั่วคราว
คำว่า “ชั่วครั้งชั่วคราว” เวลาทำสมถะๆ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ จะเป็นสมถะ หินทับหญ้าๆ ไอ้ที่ใช้จินตนาการ ใช้อุปโลกน์เอาอย่างนั้นน่ะ มันก็ยิ่งกว่าหินทับหญ้า เพราะกิเลสมันบังเงา มันบังเงานะ “เป็นมรรคเป็นผลไง”
นี่ไง คำพูดมันฟ้องถึงความรู้จริงหรือรู้เท็จ “ถ้าจิตสงบแล้วปัญญาจะเกิดเอง” มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร มันเป็นไปไม่ได้เพราะเวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ เวลาถ้าสมาธิมันไม่มีกำลัง มันคิดอย่างไร พิจารณาอย่างไร มันเป็นโลก มันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นความคิดจากสมอง ความคิดจากความจำ ความคิดจากกิเลสมันป้อนให้
กิเลสมันป้อนให้เลยนะ มันถางทางโล่งไว้ให้เลย ไปไหน หลงป่า เดินไปตามลำธารแล้วจะไปตกเหวตายไง มันทำไว้ให้โล่งแจ้งเลย ลงไปถึงเหวแล้วตะไคร่น้ำไหลพรืด! ลื่นปื๊ด! ไปเลย หายเลย ตกไปหัวฟาดก้อนหินตายอยู่นั่น นี่ไง เวลากิเลสมันบังเงา กิเลสมันสร้างภาพ ถ้าอุปโลกน์เอาเพราะว่าวุฒิภาวะมันอ่อนแอ
แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ ครูบาอาจารย์เราเป็นจริง หลงป่า เราหลงใหลไปในชีวิต หลงใหลไปในความไม่เข้าใจ อวิชชามันทำให้เราผิดพลาดไปทั้งนั้นน่ะ ความผิดพลาดอันนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่จะประพฤติปฏิบัติ
หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเวลาท่านประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ ประวัติหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านออกป่าออกประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ มันไม่มีครูบาอาจารย์คอยบอก มันไม่มีใครรู้จริงจะบอกได้อย่างไร มันล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้นน่ะ
คนที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ล้มลุกคลุกคลานเพราะอะไร เพราะมันเข้าสู่ใจได้ยาก ถ้ามันเข้าสู่ใจได้ยาก อย่างนี้มันมีแต่ความฟุ้งซ่าน พอความฟุ้งซ่านขึ้นมา สติปัญญามันเท่าทันแล้วความฟุ้งซ่านมันสงบตัวลงเท่านั้นน่ะ สมาธิยังเข้าไม่ได้เลย
พอความฟุ้งซ่าน ความบีบคั้นในใจมันเบาบางลงเท่านั้นน่ะ “โอ้โฮ! สุดยอด เมื่อก่อนเป็นคนขี้โกรธ เดี๋ยวนี้ไม่โกรธแล้ว เมื่อก่อนเป็นคนหลงใหล เดี๋ยวนี้ไม่หลงแล้ว” นี่เพราะความฟุ้งซ่านมันสงบตัวลงเท่านั้นเอง
แต่ถ้าทำต่อเนื่องไปๆ เพราะมันไม่มีกำลัง ถ้ามันจะมีกำลังของมันนะ จิตมันสงบแล้ว สงบแล้วเดี๋ยวก็คลายออก แล้วเราก็ทำความสงบของเราบ่อยครั้งเข้าจนชำนาญในวสี ถ้าสงบแล้ว เวลาประพฤติปฏิบัติไปโดยธรรมชาติ ความจำเจ ความคุ้นเคย ความเคยชินต่างๆ มันทำให้การประพฤติปฏิบัติมันไม่ก้าวหน้า ไม่ก้าวหน้า
เวลาเราสงบแล้ว มันมีกำลังแล้ว เราฝึกหัดใช้ปัญญาได้ ปัญญานี่ฝึกหัดใช้ แต่การใช้ปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาการฝึกหัด เวลาถ้าปัญญาการฝึกหัดอย่างนี้ หลวงตาพระมหาบัวท่านบอกว่า “วิปัสสนาอ่อนๆ”
ท่านพูดนะ คนที่ปฏิบัติมามันจะผ่านการประพฤติปฏิบัติเป็นวรรคเป็นตอนขึ้นมา ท่านบอกว่า “เวลาจิตมันสงบแล้วฝึกหัด มันเป็นวิปัสสนาอ่อนๆ”
การวิปัสสนาอ่อนๆ ก็ไร้เดียงสาไง ทารกไง ดูทารกสิ ถ้าไม่เลี้ยงมัน มันตายหมดล่ะ สัตว์บางชนิดนะ พ่อแม่ไม่เลี้ยงมันยังอยู่ได้ ทารก พ่อแม่ไม่เลี้ยง ตายหมด มันหากินไม่เป็นหรอก
นี่ก็เหมือนกัน จิตมันฝึกหัดขึ้นมา พอมันยืนตัวขึ้นมาได้ เห็นไหม “วิปัสสนาอ่อนๆ” นี้คำพูดของหลวงตาพระมหาบัว
“วิปัสสนาอ่อนๆ” นี่ไง เราฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญาก็วิปัสสนาอ่อนๆ ก็ฝึกหัดใช้ไป ถ้ามันวิปัสสนาอ่อนๆ แล้วพอมันฟุ้งซ่านมันก็ไม่อ่อนแล้วแหละ มันก็ฟุ้งซ่านไปก็กลับมาพุทโธใหม่ กลับมาพุทโธๆ ให้มันสงบระงับเข้ามา จนจิตมันตั้งมั่น จิตมันมีกำลังขึ้นมา ถ้าจิตมีกำลังขึ้นมานะ วิปัสสนาอ่อนๆ ฝึกหัดไป จากวิปัสสนาอ่อนๆ มันก็มีความกล้าแข็งขึ้นมา การกล้าแข็งขึ้นมา
แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วนะ เวลาท่านทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบแล้วก็มีความสุข ถ้าความสุขแล้วมันยกขึ้นไม่ได้ มันหันรีหันขวางนะ มันก็เสื่อมไป เสื่อมไปก็ทำความสงบของเราเข้ามาใหม่ ทำความสงบเข้ามา ทำได้มากได้น้อยแค่ไหน
ในวงกรรมฐานเรา เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัตินะ มีพระมากที่ว่าทำความสงบแล้วมันไปรู้ไปเห็น มันโดนกิเลสบังเงา กิเลสมันถางทางไว้ให้ เชื่อมันไป หลงมันไป พอสุดท้ายแล้วนะ เสื่อมหมด เวลาในวงกรรมฐานเขาเรียกว่ากรรมฐานม้วนเสื่อ
เวลาพอจิตมันทำความสงบของใจได้บ้าง มันไปรู้ไปเห็นอะไรแล้วอาจหาญ ทำเก่งกล้าโดยไม่รักษาดูแลนะ เวลามันไปแล้วนะ มันไถลลื่นตกเหวตายเลย ความเพียรตาย การประพฤติปฏิบัติตาย ตายจากความเพียร ตายจากสติ ตายจากปัญญา จนตกเข้าไปอยู่ในหลุมมูตรหลุมคูถของกิเลส ก็เลยฟื้นขึ้นมาไม่ได้ เด้นๆ ด้านๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ ไปไหนก็ไม่รอด ไปก็ไม่ได้ ถอยก็ไม่ได้ อยู่อย่างนั้นน่ะ นี่พูดถึงว่าเวลากิเลสมันครอบงำ ในวงกรรมฐานเขาเห็นกันมากมาย
แต่ถ้ามันเป็นความจริงๆ นะ มันจะฟื้นขึ้นมาได้ จิตเสื่อมแล้วเขาพยายามทำความสงบของใจเข้ามาให้ได้ ต้องทำความสงบของใจของเรา ถ้าจิตมันสงบแล้วมันฟื้นฟู ฟื้นฟูศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจะรักษาศีลของมัน มันจะหวงแหนศีลของมัน เพราะศีลมันจะเป็นพื้นฐาน คำว่า “พื้นฐาน” ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันมีศีลขึ้นมาแล้วมันจะเป็นสัมมาสมาธิ
ถ้ามันทุศีลๆ เวลามันสงบแล้วมันจะแหกคอก แหกคอกออกไปตามกำลังของกิเลสที่มันจะพาแหกคอกไป ถ้าพาแหกคอกไป “โอ๋ย! เห็นจิตออกไปรู้เห็นวาระจิต ออกไปเห็นเทวดา”...นี่มันจะพาแหกคอกออกจากมรรค ออกจากธรรมและวินัย โดยกิเลสมันพาไป นี่ไง อุปโลกน์ธรรมๆ เพราะมันจะอุปโลกน์เอาไง อุปโลกน์ให้เราทำแค่พิธีไง แล้วมันก็รอให้พญามาร ครอบครัวของมารชักนำไปไง แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ท่านพยายามดึงกลับมา
เวลาหลวงปู่มั่นท่านสั่งหลวงตาไว้ เพราะหลวงตา เวลาหลวงปู่มั่นท่านจะสิ้นชีวิต หลวงตาท่านกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม แล้วเวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม กิเลสกับธรรมมันจะต่อสู้กันในหัวใจรุนแรงมาก
คนที่ประพฤติปฏิบัตินะ สงครามระหว่างกิเลสกับธรรม กิเลสคือพญามาร ครอบครัวของมารมันจะยึดครองหัวใจนี้เป็นที่อยู่ของมัน ให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะอยู่ในอำนาจของมัน
ในการประพฤติปฏิบัติ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยถ้าเราได้สร้างขึ้น เราได้มีการกระทำขึ้น นี่คืออาวุธ นี่คือธรรมาวุธที่เข้าไปปะทะประหัตประหารกับกิเลส
คนที่ประพฤติปฏิบัติกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มระหว่างกองทัพกิเลสกับกองทัพธรรม มันจะต่อสู้กันบนสัมมาสมาธิ ต่อสู้กันกลางหัวใจ
คนที่ฝึกหัดวิปัสสนาจะเห็นเวลาปัญญาระหว่างกองทัพของธรรมที่มันเข้าไปประหัตประหารกับกองทัพของกิเลส มันจะปะทะกันในกลางหัวใจ เห็นไหม เวลาวิปัสสนาจะรู้จะเห็น นี่ไง เวลาที่มันเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนา ไม่ใช่ปัญญาเกิดขึ้นมาจากการศึกษา จากสัญญาการจำมา จากกิเลสที่มันสร้างให้คืออุปโลกน์เอา คือสร้างภาพเอา นั้นเป็นมิจฉา เป็นสิ่งที่กิเลสมันสร้างภาพ กิเลสมันเอาสิ่งนั้นมาล่อลวง ทำให้การประพฤติปฏิบัติของผู้นั้นล้มเหลว
แต่ถ้ามันเป็นจริงๆ ทำความสงบของใจเข้ามา ใจสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าเป็นวิปัสสนาอ่อนๆ ก็ฝึกหัดใช้ของเราไป ถ้ามันอ่อนๆ มันมีสัมมาสมาธิ มันพิจารณาได้ มันก็เป็นวิปัสสนาอ่อนๆ ฝึกหัดใช้ปัญญา
เวลาอ่อนๆ สมาธิมันเบาบางลง วิปัสสนาอ่อนๆ ก็กลายเป็นสัญญาหมดเลย กลายเป็นภาพความจำ กลายเป็นการจินตนาการหมด เราต้องกลับไปทำความสงบของใจให้มันมีกำลังขึ้นมา
ถ้าจิตมันมีสัมมาสมาธิขึ้นมามันจะเป็นวิปัสสนาอ่อนๆ แล้ววิปัสสนาอ่อนๆ ฝึกหัดใช้ พอมันเสื่อม มันมีการเสื่อมไป เสื่อมไปคือมันพิจารณาไปแล้วมันไม่ได้ มันพิจารณาไปแล้วมันทุกข์มันยาก
ทำความสงบของใจก็มีความทุกข์อย่างหนึ่ง เวลาใช้ปัญญาๆ มันใช้ทั้งสติ ใช้ทั้งสมาธิ ใช้ทั้งปัญญา มันใช้ลงทุนลงแรง มันลงกำลังมาก มันจะเหนื่อยมาก มันจะทุกข์ มันจะมีภาระมาก การปฏิบัติมันจะรู้เลย
ฉะนั้น เวลาพิจารณาไปแล้วถ้ามันมีสมาธิขึ้นมามันจะเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาที่มันเป็นวิปัสสนาขึ้นมา ถ้ามันปฏิบัติ มันมีกำลังของมัน มันไม่ใช่อุปโลกน์เอาหรอก มันมีที่มาที่ไปทั้งนั้นน่ะ
ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ถ้ามันมีที่มาที่ไป มันมีรสของธรรม มันมีการกระทำขึ้นมา ถ้าทำอย่างนี้ นี่ระหว่างสงครามธาตุกับสงครามขันธ์
ถ้าสงครามธาตุสงครามขันธ์เกิดขึ้นมา สิ่งนี้เพราะหลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติมาก่อน ท่านถึงเป็นห่วงมาก ฉะนั้น ท่านสั่งเอาไว้เลย “ถ้าเราไม่อยู่แล้ว ถ้าประพฤติปฏิบัติไปมีปัญหา อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ถ้าออกไปรู้เห็นสิ่งใดแล้วมันเป็นสิ่งที่ว่าเราแก้ไขไม่ได้ ให้กลับเข้ามาที่หัวใจ ให้กลับเข้ามาที่หัวใจ กลับมาที่ผู้รู้นั้น”
เพราะการรู้การเห็นต่างๆ ถ้าไม่มีผู้รู้ ไม่มีหัวใจออกไปรู้ มันจะคืออะไรล่ะ ไม่มีหรอก สิ่งที่มีเพราะหัวใจมันไปรู้ สิ่งที่มีทั้งหมดเพราะใจมันรู้ แล้วถ้าใจมันไม่ไปรู้ มันจะมีไหม
แต่มันโง่ มันออกไปรู้ข้างนอกแล้วบอก “อู้ฮู! สุดยอด จิตทำความสงบแล้วปัญญาจะเกิดเอง” ก็มันหลอกให้ไปรู้ไง “ปัญญามันจะเกิดเอง” เกิดยักษ์ เกิดผี เกิดเปรต เกิดมาร ตื่นเต้นตกใจ ไม่เกิดธรรม ธรรมเกิดไม่ได้
ธรรมจะเกิดได้ กลับมาที่ผู้รู้ กลับมาที่พุทโธ หลวงปู่มั่นท่านสั่งหลวงตาพระมหาบัวเอาไว้ สั่งไว้ชัดๆ เลย ถ้าเราตายไปแล้ว ถ้าปฏิบัติไป ถ้ามันมีสิ่งใดเป็นอุปสรรค ให้กลับไปที่พุทโธ ให้กลับไปที่ผู้รู้ กลับไปที่พุทโธ อย่าส่งออก ไม่ส่งออก ไม่เสีย ถ้าส่งออก เสียหมด เสียหมด เพราะสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานที่จะรื้อภพรื้อชาติ งานที่การชำระล้างกิเลสมันต้องชำระกันที่หัวใจ เห็นไหม
จิตนี้ไม่เคยตายๆ จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะเพราะอะไร เพราะมันมีอวิชชา มันไม่รู้ มันถึงเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราก็พยายามจะมาเพิกมาถอนให้กิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของเราออกไป
ถ้าเอากิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจออกไป เห็นไหม บุคคล ๔ คู่ ถ้าเป็นโสดาบัน กิเลสโดนทำลายไป ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นสกิทาคามีนะ กิเลสโดนทำลายไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นพระอนาคามี กิเลสโดนทำลายไป ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์ กิเลสตายหมดเลย ตายทั้งคอก ตายหมดเลย ตายไปด้วยอะไร ตายไปด้วยมรรคด้วยผล ตายด้วยมรรค ๘ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความชอบธรรมๆ
แล้วความชอบธรรมในหัวใจที่มันเกิดขึ้นมาแล้วมันชอบธรรมในหัวใจดวงนั้น ถ้ามันชอบธรรมในหัวใจดวงนั้น ความเป็นจริงในหัวใจดวงนั้นที่มันสร้างขึ้นมา มันสร้างขึ้นมา ทำขึ้นมาๆ จนมันละเอียดลึกซึ้ง ละเอียดจนละเอียดสุดเข้าไปชำระล้างกิเลส มันถอดมันถอน มันสำรอกมันคายมันออก ถ้ามันไม่มีการสำรอก ไม่มีการถอดถอน ไม่คายมันออก มันจะเอาอะไรไปฆ่ากิเลส มันก็เป็นกิเลสตัวเก่านั่นแหละ พลิกไปพลิกมา หลอกไปหลอกมา เห็นไหม กิเลสมันบังเงาไง มันไม่จริง
แต่ถ้ามันเป็นจริงๆ วิปัสสนาอ่อนๆ ก่อน วิปัสสนาอ่อนๆ ถ้าไม่วิปัสสนาอ่อนๆ มันจะไปเกิดภาวนามยปัญญาได้อย่างไร มันไม่มีการฝึกหัด ไม่มีการเริ่มต้น
เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาปลูกต้นไม้ เขารดที่โคน รดที่โคนต้น รดน้ำพรวนดินที่โคนต้น เวลาผล ผลออกที่ปลายนะ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาจะเอามรรคเอาผลนะ จะเอามรรคผลจากข้างนอก แต่ข้างในทำไม่ได้ มันไม่รดที่โคน
รดที่โคน รดที่หัวใจนี้สิ ถ้ามันเป็นจริงๆ นะ
เวลาคนไม่เป็นมันไม่เป็น มันมีนะ มีคนเคยมาเล่าให้ฟังบอกว่า เขาขึ้นเครื่องบิน เห็นการบินไทยเขาเสิร์ฟอาหาร เขาใช้มังคุด เขานั่งอยู่ เขาเห็นแล้วตกใจนะ ฝรั่งมันเอามังคุดมาเคี้ยว มันกัดเลย มันกินมังคุดไม่เป็น มันกัดเปลือกเลยนะ นี่คนไม่เป็น
ทุเรียนกินที่เปลือกได้ไหม ทุเรียนถ้าคนปอกไม่เป็นก็ปอกไม่ได้นะ คนปอกเป็นฉีกปื๊ดๆๆ เลย ทุเรียนน่ะ นี่เหมือนกัน ถ้าปฏิบัติเป็นนะ มังคุด ใครไปเคี้ยวเปลือกมันล่ะ มังคุด เปลือกมันขมขนาดนั้นน่ะ
เขาแกะเปลือกแล้วเขากินที่เนื้อมัน แต่คนที่ไม่รู้นะ เขาไม่รู้โดยธรรมชาติของเขา เขากัดเลยนะ เขากัดที่ลูกมังคุด คนไทยไปเห็นเข้า โอ้โฮ! เพราะเขาไม่รู้
นี่เหมือนกัน ถ้ามันไม่เป็นก็คือมันไม่เป็น มังคุด มันกินที่เปลือก มันกัดที่เปลือก แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านฉลาด มังคุดเป็นยอดของผลไม้ เวลากิน แกะเปลือกออก กินเนื้อมัน ถ้ากินเนื้อมัน เนื้อมันหวาน เนื้อมันชุ่มฉ่ำ เนื้อมันมีรสชาติ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติมา เปลือกมันขม เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาทุกข์ยากทั้งนั้นน่ะ แต่ความทุกข์ยากขึ้นมา ผลไม้ที่มันมีคุณค่า การรักษาการดูแลมันรักษายากนะ มังคุดน่ะ ดูแลรักษาจนกว่ามันจะออก ต้องดูแลรักษาจนกว่ามันจะแก่ แล้วสุดท้ายแล้วถึงเก็บมาขาย เก็บมาเป็นอาหาร นี่ก็เหมือนกัน หัวใจของเรา หัวใจของเราที่จะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาไม่ใช่อุปโลกน์เอา เอาจริงเอาจังขึ้นมา
อุปโลกน์แบบนั้นมันก็เป็นพิธีกรรม มันเป็นเรื่องของโลกๆ มันเป็นเรื่องพิธีกรรม พิธีกรรมมันก็วินัยกรรมนะ มันก็เป็นเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม
แต่เวลาจะเอาชนะกิเลสๆ มันเป็นเรื่องผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เห็นร่องเห็นรอยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วซาบซึ้งมาก ซาบซึ้งๆ นะ ถ้าไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีศาสนา เราจะเอาอะไรมาปฏิบัติ
เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา เราปฏิบัติตามธรรมวินัย แต่เราต้องการสัจจะความจริง ต้องการรสของธรรม ไม่ใช่ต้องการพิธีกรรมอันนั้น แต่เราก็ต้องทำตามพิธีกรรมอันนั้น ต้องเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เพื่อพยายามอิริยาบถ ๔ เพื่อค้นคว้าหาใจของตน
คนนอนภาวนาก็มีนะ สมัยพุทธกาลมี แต่สมัยปัจจุบันนี้น้อย แล้วไม่ต้องไปทำหรอก เอาจริงเอาจังของเราขึ้นมา จะทำสิ่งใดแล้วก็กลัวเป็นกลัวตายทั้งนั้นน่ะ จะเอาแต่ความสะดวกสบายขึ้นมา แล้วเอาความสะดวกสบายขึ้นมาก็เข้าทางกิเลสไง
ถ้าจะเอาความจริงๆ เห็นไหม เราพอใจ เวลาพอใจนะ ดูสิ เวลาเราดูชีวิตทางโลก ทุกข์เจียนตาย ทุกข์เจียนตายมันก็ต้องทุกข์อยู่อย่างนั้นน่ะ ทุกข์เจียนตายมันก็ไม่มีทางออกไง แต่ของเรา พอเรามีศรัทธามีความเชื่อของเรา เราจะพ้นจากทุกข์ของเรา ถ้าเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาขนาดไหน มันจะทุกข์เจียนตายให้มันตายไป อะไรมันตายก่อน
เวลากิเลสมันพลิกมันแพลงขึ้นมา เวลาทุกข์เจียนตายไม่เห็นว่าเป็นโทษ เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาเพื่อจะฆ่ากิเลส มันไปเห็นว่าเป็นโทษ มันเจียนตายๆ
เจียนตาย เอาอะไรมาตาย นี่กิเลสมันก็พลิกมาเป็นประโยชน์กับมันทั้งนั้นน่ะ กิเลสมันก็พลิกขึ้นมาเพื่อจะทำลายความเพียรของเรา ความชอบธรรมของเรา นี่ความชอบธรรมของเรา
เราจะฆ่ามันอยู่นี่ ไม่ใช่ให้มันเอาสัญญาอารมณ์มาพลิกแพลง มาทำร้ายเราๆ ถ้าเราคิดได้ เรามีปัญญาของเราได้ เราแก้ไขของเราได้ คนมีสติมีปัญญาแก้ไขๆ แก้ไขก็แก้กิเลสของเรานั่นแหละ
แก้ไขว่า สิ่งที่กิเลสมันเอามาหลอกนั่นน่ะ ใช้ปัญญาพลิกแพลง พลิกแพลงเอาชนะมัน พอเอาชนะขึ้นมา พอถ้ามีสติปัญญา ถ้ามีสติแล้วมีสมาธินะ เวลาพิจารณาเอาชนะมันได้นี่โล่งหมดเลย ไอ้กิเลสหน้าด้านที่มันหลอกๆ มันหลบหน้าไปเลย
แต่ถ้ามันอ่อนแอ เวลามันคิดอย่างนั้นน่ะ ล้มเลย “ใช่ มนุษย์ต้องมีอาหาร มนุษย์ต้องมีการพักผ่อน มนุษย์จะทำความเพียรเกินกำลังของร่างกายทนไม่ได้ ไม่ได้” มันคิดไปนู่นน่ะ เวลากิเลสมันเติมเชื้อเพลิงเชื้อไฟ เราเชื่อมันเลย
แต่ถ้าคนที่มีสติมีปัญญานะ สิ่งใดที่มันจะเอามาทำร้าย เอามาทำลายเรา เรามีสติปัญญาใคร่ครวญ สติปัญญา ถ้ามีสติใคร่ครวญ ถ้ามีกำลังพอ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ มันอยู่ที่เชาวน์ปัญญา คำว่า “เชาวน์ปัญญาๆ” ปฏิภาณไหวพริบ นี่วาสนาของคน
วาสนาของคนถ้ามีความคิดดีๆ มีหลักการที่ดีๆ นะ เขามีจุดยืนของเขา เขาพยายามของเขา เขาทำของเขา มันไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ก็แล้วกันไป สู้อยู่อย่างนั้นน่ะ ทำอยู่อย่างนั้นน่ะ
ครูบาอาจารย์ที่ท่านประสบความสำเร็จๆ ส่วนใหญ่แล้วท่านมีจุดยืนของท่าน คำว่า “จุดยืนของท่าน” นี่ได้สร้างของท่านมา ถ้าสร้างของท่านมา สิ่งใดที่เป็นเรื่องโลก สิ่งใดที่เป็นความสะดวกสบายของโลก ยกให้คนอื่นเขาไป ถ้ามันเป็นประโยชน์กับใคร เชิญ แต่มันไม่เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเรา เราขวนขวาย เรามีการกระทำ ถ้ามีการกระทำขึ้นมา ฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าได้มังคุดมาก็ปอกเปลือก
แต่คนโดยทั่วไปถ้ามันศึกษา มันรู้มันเห็นขึ้นมาแล้ว ไม่มีใครหรอกเอาความขื่นความขมเข้าปากของตน คนทุกคนก็ต้องเอาแต่ความเอร็ดอร่อยเข้าปากของตนทั้งนั้นน่ะ แต่ที่เขาไม่รู้ๆ เพราะอวิชชา เห็นไหม แต่คนที่มีวิชชา คนที่รู้แล้ว รู้แล้วสิ่งที่ได้มามันจะได้มาอย่างไร ถ้าได้มาอย่างไร
สิ่งที่ยังไม่ได้มา เราก็ต้องรักษาของเรา เราต้องขวนขวายของเรา ถ้าขวนขวายของเรา ถ้ามีสติ ทำสิ่งใดถ้ามีสติขึ้นมามันเป็นความเพียรชอบ
ถ้าขาดสติ ขาดจากการกระทำ ดูสิ เดินจงกรม นั่งสมาธิทั้งวันเลย ไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้อะไร ก็เหม่อลอยทั้งวันมันจะได้อะไรล่ะ
แต่ถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมา มันตั้งใจทำของมัน เดินจงกรมก็รู้ว่าเดินจงกรม วันเวลาไม่เกี่ยว เราค้นคว้าหาจิตของเรา ถ้าค้นคว้าหาจิตของเราเจอ ถ้ามันสงบขึ้นมาก็สงบของเรา
แล้วเวลาทำขึ้นมาแล้ว คนเราภาวนามาแล้วจะสูงส่งขนาดไหน มันต้องอาศัยสมาธิตลอดไป ถ้าอาศัยสมาธิตลอดไปนะ เขาก็ต้องทำความสงบของเขาต่อเนื่องกันไป ไม่ใช่ว่าทำความสงบของใจเข้ามา เสร็จแล้วพอภาวนาเป็นแล้วสมาธิไม่จำเป็น ไม่มี
สมาธิเป็นที่พักผ่อน ทุกข์ควรกำหนด แล้วสุขล่ะ เวลาเป็นสมาธิขึ้นมามันมีความสุขความสงบของมัน เวลาถ้ามันเข้าไปเผชิญกับกิเลส เข้าไปต่อสู้กับกิเลส มันทั้งเหนื่อย ทั้งกระหาย ทั้งหิวโหย ร้อยแปดเลย
แต่ถ้ามันกลับมาพุทโธ กลับมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลาสงบ หมดเลย ไอ้หิว ไอ้กระหาย ไอ้อ่อนเพลียต่างๆ โล่งหมดเลย แล้วเวลามันโล่ง ถ้าโล่งแล้ว ถ้ามีกำลังแล้วกลับมาใช้ปัญญา ถ้ากลับมาใช้ปัญญาขึ้นมามันพิจารณาไป เพราะอะไร เพราะวิปัสสนาอ่อนๆ มันก็ปล่อยวางอ่อนๆ ไป วางไปๆ วิปัสสนาอ่อนๆ พอมันวิปัสสนาอีก มันก็วิปัสสนาให้มันเข้มแข็งขึ้นมา
ถ้าพิจารณากายแล้ว พิจารณากายขนาดไหน ถ้ามันปล่อยวางได้ ปล่อยวางได้เดี๋ยวก็พิจารณากายใหม่ เพราะมันพิจารณาๆ ไป ถ้ามันพิจารณา วิปัสสนาอ่อนๆ ถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมานะ มันต่อเนื่องไปก็เป็นตทังคปหาน คือชั่วคราวๆ คือปล่อยวางชั่วคราวๆ
การว่าปล่อยวางชั่วคราว ปล่อยวางชั่วคราวมันก็เหมือนสามัญสำนึก มันรับรู้ได้แค่นี้ แต่เวลาถ้ามันสมุจเฉทปหานน่ะ กังวานกลางหัวใจเลย
จากปุถุชน เวลานักวิทยาศาสตร์ทางโลกเขายังคิดว่าจิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะจริงหรือ จริงหรือ มันมีชาตินี้ชาติหน้าจริงหรือ มันมีจริงๆ หรือ ทางวิทยาศาสตร์เขาพิจารณากันแล้วนะ วิทยาศาสตร์เขาวินิจฉัยแล้วด้วย บอกว่ามีชาติเดียว ไม่มีชาติหน้า ไม่มี เพราะอะไร เพราะสสารในร่างกายนี้มันจดจำไปชาติหน้าไม่ได้ มีชาติเดียว
แต่ถ้าวิปัสสนา วิปัสสนาถ้ามันเป็นความจริง ถ้าเวลามันตทังคปหานชั่วคราวๆ มันก็ได้แค่นี้ มันก็ยังงงๆ อยู่ ถ้าวิทยาศาสตร์พูดอย่างนี้ เออ! มันก็จริง เพราะเขาพิสูจน์ได้ แต่ของเรายังพิสูจน์ไม่ได้
แต่พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าๆ เวลาสมุจเฉทปหานมันขาด สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เวลาสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นผิด ทิฏฐิความเห็นผิดในกาย สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิในกายนี้ ความเห็นว่ากายของเราเป็นของเรา จิตเป็นของเรา เรายึดมั่นในตัวของเรา ถ้ามันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ โดยตทังคปหานก็ปล่อยมาๆ ปล่อยก็คือกำลังมันปล่อย กำลังของปัญญา ปัญญาพิจารณาของมันไป แต่มันไม่ถึงที่สุด มันไม่สามารถละสังโยชน์ได้ แต่เวลามันขาด กังวานกลางหัวใจนะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
คำว่า “สีลัพพตปรามาส” มันลูบๆ คลำๆ วิจิกิจฉาคือสงสัย เวลามันขาด พระโสดาบัน รู้ทันทีเลย เกิดอีก ๗ ชาติ มันรู้ได้อย่างไรล่ะ มันรู้ได้อย่างไร
โดยสัจจะโดยความเป็นจริงนะ พระโสดาบันละกิเลสได้ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเวลาถ้าสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ถ้าสังโยชน์มันขาด เวลามันขาดนี่พาดกระแส นี่พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม
“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระโสดาบัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุโมทนา
ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อนุโมทนา พระอัญญาโกณฑัญญะรู้ รู้อะไร มีดวงตาเห็นธรรม เห็นอย่างไร เห็นอะไร นี่เวลามันขาด รู้ทันทีว่าอีก ๗ ชาติ
เพราะบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติไปไม่มีที่สิ้นสุด จุตูปปาตญาณ มันจะเกิดไปไม่มีที่สิ้นสุด อาสวักขยญาณ ชำระล้างกิเลส จบ
แล้วสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันพาดกระแส มันพาดกระแส พาดอะไร อะไรพาด เอาอะไรไปพาดกระแส แล้วกระแสอะไร แล้วอะไรรู้ว่าเกิดหรือไม่เกิด
ถ้าไม่อุปโลกน์ ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงตามข้อเท็จจริงอันนี้ มันยืนยันตามธรรมธาตุ ธาตุของธรรม ธรรมเหนือโลกๆ ไง
ไอ้ที่ว่าเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไม่มีต้นไม่มีปลาย ผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือเวียนว่ายตายเกิดนี่ไง แล้วเวลามันพาดกระแสแล้วมันรู้ได้อย่างไร
อีก ๗ ชาติเท่านั้นนะ โดยข้อเท็จจริง แต่ถ้าพระโสดาบันมันก็มีหลายประเภท ประเภทนั้นน่ะ ๓ ชาติ หรือว่าอย่างพระอานนท์ จากเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี สิ้นกิเลสไป นี่เป็นพระโสดาบัน แต่ก็ประพฤติปฏิบัติจนถึงสิ้นกิเลสไป แต่ต้องเป็นตามข้อเท็จจริงนะ ไม่ใช่ธรรมะอุปโลกน์นะ ไม่ใช่โสดาบันอุปโลกน์ ชักบังสุกุลเอาไง อุปโลกน์เอาเลย
แม้แต่กฐินผ้าป่าเขายังต้องมีไทยทานเพื่อเป็นองค์ผ้าป่า องค์กฐิน ประพฤติปฏิบัติธรรมจะอุปโลกน์เอา คิดเอาเอง ทำเอาเอง คาดหมายเอาเอง อ้างคนนู้น อ้างคนนี้ อ้างเขาไปทั่ว ไม่มีความจริงในหัวใจเลยหรือ เป็นพระโสดาบันได้อย่างไร
พระโสดาบันเขามีคุณธรรมในใจ อกุปปธรรมๆ อฐานะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้ามันสมุจเฉทปหานตามความเป็นจริง เอวัง