ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คู่ทุกข์

๓ พ.ย. ๒๕๖๑

คู่ทุกข์

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๒๙๑. เรื่อง “ธรรมะช่วยคลายทุกข์”

กราบความเมตตาหลวงพ่อช่วยชี้แนะการใช้ธรรมะเพื่อลดความทุกข์ใจในการใช้ชีวิตคู่ ขอความเมตตาหลวงพ่อชี้แนะแนวทางในการใช้ธรรมะสอนใจเพื่อไม่ให้ทุกข์ใจในปัญหาชีวิตคู่ เนื่องจากลูกมีปัญหาว่า คู่ชีวิตไม่ได้ทำงานเป็นหลักแหล่ง และไม่ได้ช่วยเหลือลูกในการใช้หนี้สินต่างๆ เขามักจะใช้ชีวิตของเขาผ่านไปวันๆ และจินตนาการวาดฝันชีวิตโดยไม่ลงมือทำสิ่งใดเป็นเหตุเพื่อให้ได้ชีวิตอย่างที่ฝัน

ทุกครั้งที่ลูกพูดเตือนกัน ก็มักจะมีเรื่องต้องทะเลาะกัน หลายครั้งที่ลูกเหนื่อยและไม่อยากทำอะไรเลย เพราะมีความรู้สึกว่า ทำไมลูกต้องรับผิดชอบทุกอย่างตัวคนเดียว ทำไมเขาไม่ช่วยผ่อนเบาบ้าง แต่ก็พูดไม่ได้มาก เพราะจะทำให้ทะเลาะกันอีก

ลูกพยายามไม่คิดหรือหาสิ่งอื่นๆ มาทดแทน บางครั้งคิดได้ก็หายเสียใจ แต่เมื่อเจอเหตุการณ์ที่หนักๆ ที่ลูกต้องรับผิดชอบคนเดียวโดยเขาไม่ได้มีส่วนช่วย (หรือบางทีก็ยังมาเป็นภาระอีก) มันก็ทำให้ลูกทุกข์ใจขึ้นมาอีก

ลูกอยากทราบว่า พอจะมีธรรมะข้อใดบ้างที่ลูกควรใช้ในการพิจารณาหรือเตือนสติตัวเองเมื่อลูกต้องเจอปัญหาแบบนี้ ลูกทราบดีว่าคนเราไม่สามารถบังคับใครให้ทำในสิ่งที่เราอยากให้เขาทำได้ สิ่งที่ดีที่สุดที่จะบังคับใจเราเอง ลูกจึงอยากรู้ว่าลูกจะยึดธรรมะข้อใดเพื่อเป็นน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจให้ลูกได้คลายความทุกข์ได้ในทุกๆ ครั้งที่ต้องเจอกับสภาวะเช่นนี้ กราบขอบพระคุณ

ตอบ : ถ้าจะให้ธรรมะข้อใด ธรรมะนะ คู่ทุกข์คู่ยากไง คู่ทุกข์คู่ยาก คู่เวรคู่กรรม

คู่เวรคู่กรรมนี่สำคัญนะ ถ้ายังมีเวรมีกรรมต่อกันก็ยังรักใคร่ผูกพันกันไป ถ้าวันไหนหมดเวรหมดกรรมก็ เฮ้อ! พอกันที หมดเวรหมดกรรมเสียที ถ้าหมดเวรหมดกรรม เห็นไหม แต่ถ้ายังมีเวรมีกรรมอยู่ มันมีเหตุมีผลให้คิดตลอดไป คู่ทุกข์คู่ยาก คู่เวรคู่กรรม

ถ้าคู่กรรมนะ ตอนนี้ถ้าพูดถึงธรรมะๆ นะ มันชัดเจนมาก มันชัดเจนมาก ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ การครองเรือนนี้แสนยาก การครองเรือนน่ะ มีทุกข์มาก มีสุขน้อย เปรียบเหมือนวิดทะเลทั้งทะเลได้ปลาตัวเดียว หาปลาตัวเดียวในทะเลนั้นน่ะ

ใครๆ ก็รู้ ใครๆ ก็ฟัง ใครๆ ก็ท่องจำมาทั้งนั้นน่ะ แต่มันก็มีชีวิตคู่ทั้งนั้นเลย มันอยู่แบบพรหมจรรย์ยาก มันอยู่ไม่ได้หรอก โดยธรรมชาติไง โดยธรรมชาติเราเกิดเป็นมนุษย์ใช่ไหม เกิดเป็นมนุษย์ การใช้ชีวิตคู่เป็นเรื่องธรรมชาติไง

ดูสิ เวลาสัตว์ที่มันจะสูญพันธุ์ ขึ้นทะเบียนจะสูญพันธุ์ โอ้โฮ! เขาดูแลรักษานะ เราอยากจะไปเกิดเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์น่ะ อู้ฮู! เขาจะดูแลอย่างดีเลย ทะนุถนอมนะ สัตวแพทย์ ๔-๕ คนคอยดูแลเลย เพราะอะไร เพราะมันใกล้สูญพันธุ์ ต้องให้มันขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์

นี่ก็เหมือนกัน กามคุณ ๕ กามที่มีคุณ กามคุณ ๕ นะ รูป รส กลิ่น เสียง สิ่งที่เป็นกามคุณ ๕ กามคุณ ๕ เพราะอะไร เพราะมนุษย์จะได้ขยายพันธุ์กันต่อไปไง ถ้าขยายพันธุ์ต่อไป โดยที่คนที่มีบุญมาเกิดไง คนที่มีบุญมาเกิด คู่ทุกข์คู่ยากไง ได้ภรรยาที่ดี ได้สามีที่ดีไง ได้สามีและภรรยาที่ดี ได้สามีภรรยาที่มีน้ำใจต่อกัน ได้สามีภรรยาที่เข้าใจกัน ได้สามีภรรยามาที่เป็นสามี เห็นไหม อภิชาตบุตร บุตรเป็นสัมมาที่ดี ถ้าได้อย่างนั้นมา นี่บุญพาเกิดๆ

คนเกิดมาไม่ใช่มันจะมีแต่เวรแต่กรรมอย่างเดียว เวลาบุญพาเกิด บุญพาเกิดมันก็มี แต่เราเกิดมา คนเราเกิดมาส่วนใหญ่แล้วครึ่งๆ กลางๆ บุญ ๕๐ กรรม ๕๐ ทั้งทุกข์ทั้งยาก สุขก็ได้ ทุกข์ก็มี ทุกข์ๆ ยากๆ ไปอย่างนั้นน่ะ นี่โดยธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้นไง

กามคุณ ๕ นะ จะบอกว่าเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่ว่า “เวลาเป็นชาวพุทธแล้วต้องถือพรหมจรรย์ ห้ามมีคู่ครอง” มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พอเป็นไปไม่ได้ก็มีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗

ถ้าศีล ๕ คู่ครองของเรา ไม่ให้ผิดลูกผิดเมียของใคร คู่ครองของเรา นี่ศีล ๕ ศีล ๘ ถือพรหมจรรย์ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗

ฉะนั้น มันผิดศีลอย่างนั้น นี่พูดถึงว่า ถ้ากามคุณ ๕ กามที่มีคุณ ถ้ามันเกิดมา ถ้ามันเป็นบุญเป็นกุศลก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามันเป็นโทษ ชีวิตเราทุกข์ๆ ยากๆ ทั้งนั้นน่ะ ถ้าชีวิตมันทุกข์ๆ ยากๆ พอมันทุกข์มันยาก มันก็ต้องคู่ทุกข์คู่ยาก ถ้าคู่ทุกข์คู่ยาก เอาธรรมะข้อไหนมาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจ

ถ้าเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจนะ ในหัวใจของเรา เรายังควบคุมไม่ได้เลย แล้วในหัวใจของเขาล่ะ แล้วหัวใจของเขา เวลาลูกศิษย์ลูกหาเวลาจะแต่งงานกัน มาหาเราไง ให้พร หลวงพ่อให้พร

โอ๋ย! ถ้าหลวงพ่อให้พรแล้วชีวิตเอ็งจะมีความสุขตลอดไปเลยหรือ

ถ้าหลวงพ่อให้พร ก็ต้องให้คิดถึงวันที่เราชอบกัน เรารักกัน นี่ไง สามีภรรยาเอ็งเลือกกันมา วันที่เอ็งรักเอ็งชอบพอกัน วันนั้นเป็นวันที่ไปฮันนีมูนดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ มันก็มีความสุขตอนฮันนีมูนเท่านั้นแหละ พอผ่านฮันนีมูนไปแล้วนะ ตอนนี้มึงทุกข์ยากทั้งนั้นน่ะ ใช้หนี้ใช้สินร้อยแปด

ให้นึกถึงวันฮันนีมูน วันที่เอ็งรักกันน่ะ ให้นึกถึงวันนั้น วันอื่นเป็นของมาทีหลัง แล้วมันไม่ต้องทุกข์ต้องยากไง เพราะสสารมันยังเปลี่ยนแปลงเลย หัวใจของคนไม่เปลี่ยนแปลงหรือ หัวใจของคนมันเปลี่ยนแปลงตลอดไปน่ะ แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงไปทางสูงหรือทางต่ำ

ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไปทางสูง เราโชคดีมาก เปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เปลี่ยนแปลงที่คุ้มครองดูแลเรา เปลี่ยนแปลงที่จะชักจูงให้ไปสิ่งที่ดี

ถ้าเปลี่ยนแปลงในทางที่เลวนะ เออ! พระพุทธเจ้าบอกไว้เลย กรรมของสัตว์ สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม มันกรรมของเราไง เวรกรรมของเราไง โทษใครไม่ได้ เราเลือกมาเอง เราเลือกมาเอง เราก็ว่ามันจะดีไง แต่โดยธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น มีการเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น

ฉะนั้น กรณีนี้เวลาจะเอาธรรมะข้อใดไง คู่ทุกข์คู่ยาก คู่ทุกข์คู่ยากนะ ภาษาเรานะ ในนิทานอีสปไง เวลาสัตว์ที่มันโดนพวกเหลือบมันดูดเลือด มันกินเลือดอยู่น่ะ พวกสัตว์มาด้วยกันเห็นบอก “เฮ้ย! ทำไมเอ็งไม่ไล่มันไปวะ”

ไอ้สัตว์ที่มันโดนเหลือบดูดเลือดอยู่นะ บอก “ไม่ต้องไล่ ไม่ต้องไล่ ไม่ต้องไล่”

“ทำไมล่ะ”

“ถ้าไล่ฝูงนี้ไป ฝูงใหม่มามันดูดหนักกว่านี้”

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน คู่ทุกข์คู่ยากที่มันทุกข์มันยาก เวลาถึงที่สุดแล้วเราจะเลิกราต่อกันไป ไปหาใหม่ เจอหนักกว่านี้อีกนะ เจอหนักกว่านี้

เพราะมันคิดไปเรื่อยไง คนนี้ไม่ดีๆ ไม่ดีเพราะอะไร ไม่ดีเพราะอยู่ด้วยกันมันเห็นไง ไอ้คนนอกไม่เคยรู้จักเขา ไม่รู้หัวนอนปลายตีน คนนั้นดีคนนี้ดีไง เวลาได้มานะ ไอ้เหลือบดูดเลือด ไอ้เหลือบฝูงนี้มันดูดอยู่นะ โอ้โฮ! มันเจ็บนะ แต่มันก็กินไปครึ่งกระเพาะแล้วนะ มันจะอิ่มอยู่แล้ว แต่ถ้าฝูงใหม่มันดูดหนักกว่านี้นะ

นี่ก็เหมือนกัน เปลี่ยนคนนี้ไปเอาคนนู้น เปลี่ยนคนนู้นไปเอาคนนี้...เออ! มึงเปลี่ยนเหลือบฝูงหนึ่ง มึงจะไปเจอเหลือบอีกฝูงหนึ่ง มึงเจอไปเรื่อยแหละ แล้วมึงจะได้รู้จักว่าโลกความเป็นจริงเป็นอย่างไร

นี่พูดถึงเขาพูดเอง แฟนเขาอยู่ในความเพ้อฝัน คิดว่ามีแต่จินตนาการไป วาดฝันไปในชีวิต แต่ไม่ได้ทำความฝันให้เป็นความจริง เวลาให้เขาทำจริงๆ ขึ้นมาก็มีปัญหา

มันเป็นวาสนานะ เวลากับเรา เขาทำอย่างนี้ เวลาถ้าเขาไปมีกิ๊กนะ โอ้โฮ! เขาขยันกว่านี้เยอะเลย เขาทำดีเลย เวลาจะทำให้คนเห็นคุณงามความดีมันทำได้ทั้งนั้นน่ะ แต่เวลามันต้องการให้ใครเห็นคุณงามความดีมัน มันไม่ทำอะไรเลย

ปัญหานี้มันเป็นปัญหาครอบครัว แล้วปัญหาครอบครัวมันต้องไปถามศิราณี ไม่ใช่มาถามพระ เพราะพระไม่มีครอบครัว ปัญหาครอบครัวแล้วมาถามพระ แต่พระตอบเรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องกรรมของสัตว์ๆ ถ้ากรรมของสัตว์

พระ ถ้าแสดงธรรมต้องแสดงธรรมให้เป็นความสมานสามัคคี ให้การให้อภัย ไม่ใช่แสดงธรรมให้แตกแยก แต่เวลาแสดงธรรมนะ แสดงธรรมเรื่องกิเลสกับธรรมๆ ไอ้กิเลสในใจเรามันเลวร้าย ต้องทำลายมันๆ ไม่ใช่ให้ใครแตกแยก ให้กิเลสต่างหากแตกออกไปจากหัวใจของเรา ให้กิเลสของเรามันโดนสัจธรรมทำลายกิเลสในใจของเรา แต่เวลาแสดงนะ บุคลาธิษฐาน ธรรมาธิษฐานนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่แสดงธรรม แสดงธรรมเพื่อความสามัคคี เพื่อความสมานฉันท์ เพื่อการให้อภัยต่อกัน

แต่เรื่องชีวิตคู่ ชีวิตในครอบครัวมันเป็นปัญหาชีวิต มันเป็นปัญหาชีวิตนะ เราต้องมีสติปัญญาใคร่ครวญ ใคร่ครวญของเรา ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา เพราะว่าผู้ถามเขียนมาเองเลยนะ วันไหนถ้ามีธรรมะในหัวใจของเรานะ วันนั้นไม่ค่อยทุกข์มาก วันไหนถ้ามันมีแต่ฟืนแต่ไฟที่แผดเผา แล้วคิดเรื่องนี้ขึ้นมา ทุกข์สองเท่า นี่ไง ธรรมะมันช่วยบรรเทาได้ อย่างอื่นไม่มีหรอก ชีวิตเป็นอย่างนี้

ถ้าเป็นโบราณนะ เขาบอกว่า ไฟในไม่ให้เอาออก ไฟนอกไม่ให้เอาเข้า แล้วเวลาเป็นคติเรื่องการครองเรือนไง คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

คนในอยากออก พอมันไปเจอปัญหาแล้วมันรู้ปัญหา มันอยากออก ไอ้คนที่ยังไม่มีคู่ แหม! อยากเข้าๆ เห็นไหม คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า ไฟในอย่าเอาไปพูดข้างนอก ไฟข้างนอกอย่าเอาเข้ามาข้างใน

นี่ไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกเรื่องของนางวิสาขาไง ที่พ่อสั่งไว้ไง ไฟในอย่าเอาออก ไฟนอกอย่าเอาเข้า แล้วเวลาไปพูดอย่างนี้ปั๊บ ทางครอบครัวเขาบอกว่าอย่างนี้เท่ากับไปทำลายครอบครัวเขา มันเหมือนกับมีสิ่งที่เหมือนมันไม่บริสุทธิ์ใจ นางวิสาขาให้เอาพราหมณ์ ๘ คนมาพูด ไฟในหมายความว่าเรื่องภายในครอบครัวอย่าเอาไปพูดข้างนอก เรื่องข้างนอกก็อย่าเอามากระตุ้นให้ครอบครัวเรามีปัญหา เออ! อย่างนั้นน่ะเขาถึงเรียกนางวิสาขาเป็นแม่เลยไง พราหมณ์ นี่ไฟในไม่ให้เอาออก ไฟนอกไม่ให้เอาเข้า

นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตคู่ของเรา เราจะตีโพยตีพาย ไฟใน ไฟในบ้านเรา ไฟในคู่ครองของเรา ไฟในบ้านเรือนของเรา โบราณเขาให้มีความขันติ ให้มีความอดทน ไฟนอก ไฟนอกคือครอบครัวที่เขาดีกว่า เราไม่รู้จริงหรอก เขาดีที่เราเห็นไง ในบ้านเขาก็เหมือนที่เราเป็นนี่แหละ แต่เวลาทุกข์ของเรามันทุกข์เผาเรามาก แต่คนอื่นเราเห็นว่ามีแต่ความสุขไปหมดแหละ แล้วคนอื่นที่คิดว่าจะมีความสุข ไฟใน ไฟนอกไง ถ้าไฟใน ไฟในก็ไฟในบ้านเรา เราแก้ไขของเราด้วยสุดความสามารถของเรา

ทุกคนนะ ในชีวิตคู่ เราก็ต้องให้อภัยต่อกัน ต้องดูแลกัน มันทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ได้หรอก ถ้าทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ได้ มันเป็นเรื่องของเรา เราก็ต้องแก้ไขของเราจนสุดความสามารถของเรา เราต้องแก้ไข

ไม่ใช่ว่าเหมือนกับว่า โอ๋ย! อะไรก็ได้ นี่ไง บอกว่าศาสนาพุทธเป็นลัทธิแห่งการยอมจำนน เชื่อกรรมๆ อะไรก็ต้องยอมรับหมด...ไม่ใช่ มันมีสติมีปัญญาเข้าใจเท่าทันสิ่งนี้ แล้วถ้าเข้าใจเท่าทันสิ่งนี้แล้ว ความทุกข์ความยากในใจมันเบาบางลงไง มันเบาบางลง

แล้วเราจะไปแก้เอาแต่วัตถุไง อ้าว! คนนี้ไม่ชอบ เอาคนใหม่ คนใหม่ไม่ชอบ เหลือบฝูงนี้กับเหลือบฝูงหน้าไง แล้วก็เจอเหลือบฝูงต่อไปไง ไม่มีวันจบหรอก

มันจบ มันจบที่นี่ จบที่ในใจของเรา

นี่พูดถึงว่า เอาธรรมะข้อใดเป็นที่พึ่งพาอาศัยไง

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่เราถนัดใช้ เราฉลาดใช้ ใช้กับชีวิตของเรา อย่าให้มันทุกข์ยากจนเกินไป แล้วชีวิตนี้ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง

โอ้โฮ! มีสามีแล้วอยากจะได้เทวดาเลย ทำอะไรทุกอย่างถูกใจไปหมดเลย

คนมันก็มีผิดใจไปบ้าง จะบอกว่าเขาดีหรือเขาชั่วมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ใจเรา เราแก้ไขที่นี่ แล้วแก้ไขของเรา มันพัฒนาขึ้น แล้วถ้ามันดีขึ้น มันพัฒนาขึ้น มันก็เป็นประโยชน์กับเราไง

ไฟในไม่ให้เอาออก ไฟนอกไม่ให้เอาเข้า แล้วครอบครัวอื่นก็เป็นเหมือนครอบครัวของเรา ไม่ใช่ว่าไปมองครอบครัวอื่นเขาดีงาม เขาประสบความสำเร็จไปหมด มีแต่เราทุกข์อยู่คนเดียว ทุกข์อยู่คนเดียวไง แต่ถ้าเราผ่อนคลายเรื่องนี้นะ เหมือนกันทั้งนั้นน่ะ เหมือนกันทั้งนั้น เราพัฒนาของเราให้มันดีขึ้นได้ แล้วเราก็ทำของเรา

มันมีอยู่อันหนึ่งที่น่าเห็นใจนะ บอกว่าไม่ช่วยแล้วยังเป็นภาระเราอีก

แหม! อันนี้ก็น่าคิดนะ แต่มันก็เป็นการพูดคุยกันไง ในปัจจุบันนี้เขาบอกต้องการเจรจา อย่าใช้ความรุนแรง การเจรจาเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ การเจราจาเท่านั้น การเจรจาเท่านั้น แล้วถึงที่สุดถ้าเจรจาแล้วมันเป็นกรรมของสัตว์ มันไม่ได้ เราก็ทำใจของเรา ทำใจของเรา รักษาชีวิตของเรา รักษาความเป็นอยู่ของเราให้มันดีขึ้น มันก็จะจบของมันไปไง นี่พูดถึงชีวิตคู่ จบ

ถาม : ข้อ ๒๒๙๒. เรื่อง “พระธรรมบริสุทธิ์ บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง”

กราบเรียนหลวงพ่อ กระผมมีคำถามเรื่องพระธรรมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ให้แต่งเติม ไม่ให้ตัดทอนพระธรรมของท่าน แค่ให้สาวกเป็นผู้ถ่ายทอดพระธรรมของท่าน เหมือนก็อปปี้คำของท่านไปถ่ายทอด ห้ามแต่งใหม่หรือตัดทอน เหมือนกลองอานกะ (ถ้าชื่อผิดขออภัยหลวงพ่อด้วยครับ) ที่ถูกตีจนชำรุด แต่โดนใช้เนื้อไม้ใหม่มาเสริม สุดท้ายเนื้อกลองเก่าจะหมดไป เหมือนพระธรรมของพระพุทธเจ้า

ตามพระสูตรนี้ผมศึกษาพระไตรปิฎก ผมจะต้องไม่ศึกษาอรรถกถาในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคำแต่งเพิ่ม ผมมีความถูกต้องไหมครับ กราบขอบพระคุณ

ตอบ : เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ไอ้เรื่องที่ว่ากลอง กลองที่ว่าเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นพุทธพจน์ๆ แล้วพุทธภาษิตเป็นพุทธภาษิต แล้วถ้าเป็นสาวกภาษิต มันก็เหมือนกับไม้ เวลากลองมันชำรุดเสียหายแล้วเอาไม้มาซ่อมมาแซม มันจะเป็นสาวกภาษิต สาวกภาษิตไปจนพุทธภาษิตจะไม่เหลือหลอ นี่เป็นการกล่าวอ้างๆ

แต่เวลาในธรรมะของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็เทศนาว่าการอย่างนี้เหมือนกัน เทศนาอย่างนี้เหมือนกันว่า ถ้าเป็นพุทธภาษิต เป็นสัจธรรม สัจธรรมมันเป็นสัจธรรมอันเดียวกัน เวลาครูบาอาจารย์ของเราเวลาท่านมีดวงตาเห็นธรรม ใจของท่านตรัสรู้ธรรม มันก็เป็นธรรมที่ว่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมเป็นพุทธภาษิต เวลาสาวกสาวกะที่เป็นธรรมๆ เป็นสาวกภาษิต แต่สาวกภาษิตมันก็เป็นเรื่องอริยสัจ เป็นเรื่องสัจจะ เป็นเรื่องความจริงเหมือนกัน มันเป็นเรื่องกลองที่มีคุณภาพ กลองที่ตีแล้วมีเสียงดังเหมือนกัน มันไม่ใช่กลองจัญไร

กลองจัญไรมันไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ มันปฏิบัติของมันไม่เป็น แล้วมันไม่ต้องคนตีมันก็ดังเอง ปังๆ ปังๆ อู๋ย! คนวิ่งหนีหมดเลย

แต่ถ้าเป็นกลองที่มีคุณภาพ กลองที่เป็นความจริง ต้องมีคนตี คนตีกลองแล้วกลองดังขึ้น อู้ฮู! กลองนี้สุดยอด

แต่กลองที่ไม่มีคนตีแล้วเสือกดังน่ะสิ นี่ไง ที่ว่ามันเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลูกศิษย์ต้องถ่ายทอดโดยก็อปปี้อย่างนี้

ภาษามันก็เข้ากันไม่ได้แล้ว ภาษาไทย ภาษาวิบัติ มันยังเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน นี่ก็เหมือนกัน แต่เอาสัจจะเอาความจริงอันนั้น ฉะนั้น เขาบอกว่า ถ้าเขาเรียนพระไตรปิฎกแล้วเขาไม่ต้องเรียนอรรถกถา

ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ความเข้าใจอย่างนี้ เขาเรียกเถรตรง เถรส่องบาตร ถ้าเถรส่องบาตรแล้วปฏิบัติไม่เป็น ปฏิบัติไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาลูกศิษย์หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เวลามาบวชมาประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็ปรารถนาให้ถึงพระนิพพานๆ ทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาท่านสอนนะ ท่านสอนให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอนพุทโธทั้งนั้นน่ะ ท่านสอนหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ

แล้วเราบอกว่า “อ้าว! ไม่ได้มาเรียนพุทโธ จะเรียนนิพพาน”

การศึกษาการเล่าเรียนมันก็ต้องมีการพัฒนาขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แล้วการพัฒนานี้ การพัฒนาจากครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรม เห็นไหม คนอยากได้กลองก็ต้องไปตัดต้นไม้ ต้องเอาไม้มาตากแห้ง เอาไม้ขึ้นมาเป็นตัวกลอง

ไม่ใช่ว่าก็อปปี้เลย ต้องถ่ายทอด นี่เป็นกลองของพระพุทธเจ้าเลย ถึงต้องมาเป็นอย่างนั้นเลย...มันไม่มีอยู่ในโลกหรอก

เพราะว่าเวลาฟังธรรมๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังแล้วมันต้องใช้สติใช้ปัญญา ใช้สติปัญญาขึ้นมาแล้ว เวลาใช้ปัญญาโดยธรรมๆ ไม่ใช่ปัญญาโดยกิเลสไง ปัญญาโดยกิเลส ดูสิ อย่างเทวทัตอย่างนี้ ทำอะไรก็ไม่เป็น แต่ต้องการปกครองสงฆ์

นี่ก็เหมือนกัน เรามีพระบอก “พุทธพจน์ พุทธภาษิต อย่าฟังสาวกภาษิต”

ตัวเองทำน่ะ สาวกทั้งนั้นน่ะ ว่าแต่เขานะ นิ้วเวลาชี้ว่าเขา ชี้ไปเลยนะ อีก ๔ นิ้วที่ชี้เข้ามาหาตัวของมัน มันไม่ได้ดูเลยนะ เฮ้ย! กูบอกเขาห้ามทำ แล้วกูทำหรือเปล่าวะ นี่ไง “กลองนี้เป็นกลองของพระพุทธเจ้า พุทธภาษิต สาวกภาษิตอย่าไปฟังนะ”

แล้วมันก็พิมพ์พุทธภาษิตเอาไว้ ๒-๓ เล่ม แล้วเวลามันอธิบายหรือทำกิจกรรมนะ พุทธภาษิตหรือน่ะ พุทธภาษิตทำอย่างนั้นหรือ ชี้เขาไปเลยนะ นิ้วหนึ่ง อีก ๔ นิ้วนะ ฉันทำแบบพระพุทธเจ้าหมดเลย

เอ็งเกิดทันหรือ พระพุทธเจ้าทำอย่างนั้นหรือ พระพุทธเจ้าไม่มีรถนะเว้ย พระพุทธเจ้าไม่ได้ถอยเบนซ์นะเว้ย พระพุทธเจ้าไม่ได้ถอยบีเอ็ม ไม่มี “พุทธพจน์ๆ” แหม! บีเอ็ม เบนซ์อย่างนี้ เฮลิคอปเตอร์ด้วย มีเครื่องบินเจ็ตอีกต่างหาก พุทธพจน์เลย...ว่าแต่เขา ว่าแต่คนอื่น พฤติกรรมไม่ได้คิดเลย

นี่ก็เหมือนกัน “ผมเข้าใจอย่างนี้ถูกหรือเปล่า”

เอ็งก็เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้าเลยก็จบไง คลอดจากท้องแม่มาเป็นพระพุทธเจ้า ผัวะ! มันมีอยู่จริงหรือเปล่า พอคลอดออกมาจากท้องแม่ก็เป็นพระอรหันต์เลย ออกมาเป็นพระอรหันต์เลย...มันไม่มี ไม่มีหรอก

มันต้องมีการฝึกฝน มีการฝึกหัด มีการดัดแปลง มีการกระทำให้มันเป็นความจริงขึ้นไป ถ้ามีการฝึกหัด มีการดัดแปลงขึ้นไป

เราศึกษามาเป็นภาคปริยัติ ศึกษามานี่สุตมยปัญญา จะมีปัญญามากน้อยแค่ไหนนั่นก็ปัญญาการศึกษา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าศึกษามาให้ประพฤติปฏิบัติ เวลาประพฤติปฏิบัตินี่แหละจะเป็นการพิสูจน์ กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น

มีสติก็คิดว่าสติมันควบคุมเราได้หรือไม่ ถ้าเป็นสมาธิ สมาธิมันจริงหรือไม่จริง พิสูจน์ได้ ถ้าเป็นปัญญาขึ้นมา ปัญญาอะไร คอมพิวเตอร์ดีกว่ามึงอีก คอมพิวเตอร์นะ ดูสิ ในทางวิทยาศาสตร์เดี๋ยวนี้เขาใช้ปัญญาประดิษฐ์พิสูจน์ทั้งนั้นน่ะ นี่คอมพิวเตอร์ แล้วจบแล้วมันได้อะไร จบแล้วก็เก็บไว้ในเว็บไซต์มันนั่นแหละ

แต่ถ้าคนมันทุกข์มันยาก เป็นคนมันรู้จัก เป็นคนนี่ สิ่งมีชีวิตนี่ พิสูจน์กันที่นี่ นี่เวลาปฏิบัติ กาลามสูตร จริงหรือไม่จริง ตอแหลหรือเปล่า ถ้ามันตอแหล มันตอแหลมันโกหกตัวเอง ถ้าคนเรามุสา ลองได้โกหกแล้วนะ ไม่ทำความชั่วอย่างอื่นไม่มี คนโกหกตอแหลทำได้ทุกๆ อย่างทั้งนั้น มันทำได้ทั้งนั้น

ฉะนั้น เวลากลอง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะอาดบริสุทธิ์

ก็สะอาดบริสุทธิ์สุดยอด พระธรรมๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมอยู่ แต่เราเกิดมาเราพยายามจะประพฤติปฏิบัติ พยายามจะเข้าไปสู่ความสะอาดบริสุทธิ์นั้น แต่เวลาจะเข้าสู่ความสะอาดบริสุทธิ์นั้นมันต้องทุ่มเท การทุ่มเทมากน้อยแค่ไหน

เวลาทุ่มเทขึ้นมาก็ “อู้ฮู! อัตตกิลมถานุโยค” นี่อ้างกลองแล้ว อ้างธรรมะของพระพุทธเจ้ามาทำลายความเพียรของตนเลย “พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำอัตตกิลมถานุโยค พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำความลำบากเปล่า พระพุทธเจ้าไม่ให้มีความทุกข์ พระพุทธเจ้าจะให้เป็นพระอรหันต์เลย”...มึงเอาที่ไหนล่ะ

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านทำของท่านมาแล้วนะ โอ้โฮ! ท่านสอนเป็นชั้นๆๆ เลย หลวงปู่มั่นสอนเป็นชั้นๆๆ เลย ทำมาเลย อย่างเช่นหลวงตาไปอยู่กับท่าน เวลาติดสมาธิ ๕ ปี เวลาท่านพยายามดึงออกมา

คนถ้าไม่มีอำนาจวาสนาจะไปแก้ไขคนที่มีอำนาจวาสนาได้อย่างไร คนที่มีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนา หลวงตาก็พิสูจน์กันมาด้วยการประพฤติปฏิบัติของท่านถึงที่สุดแห่งทุกข์ พิสูจน์ในการที่ว่าท่านกอบกู้ชาติได้ พฤติกรรมที่การกระทำ นั่นคนมีวาสนาหรือไม่

คนที่มีวาสนา ดูสิ ช้างในป่า ช้างโดยทั่วไป ช้างป่าเต็มเลย ตอนนี้ไปกินพืชไร่ชาวบ้านหมดเลย แต่ถ้าเขาไปเจอช้างเผือกเข้าตัวหนึ่งนะ ช้างเผือกตัวนี้จะมีคุณค่ามากเลย

นี่ก็เหมือนกัน ในวงการพระที่ปฏิบัติ พระองค์หนึ่งที่ทำเป็นประโยชน์กับสังคม ประโยชน์กับโลก มีแต่ตอแหล มีแต่กว้านเอามาสะสมไว้คนเดียว มีแต่กว้านมาเพื่อประโยชน์กับตนทั้งนั้นน่ะ ไม่มีประโยชน์กับสังคมเลย ไม่มีประโยชน์กับนักปฏิบัติทั้งสิ้น ไม่เป็นการปฏิบัติเป็นแบบอย่าง แล้วอ้างเลย “ธรรมะตามที่พระพุทธเจ้าตรัสมา ไม่ให้แต่งเพิ่ม ไม่ให้ตัดทอน พระธรรมแค่สาวกเป็นผู้ถ่ายทอด พระธรรมของท่านเหมือนก็อปปี้เลย” เขาว่านะ “ห้ามแต่งเติม ห้ามเพิ่ม”

ไอ้ตัดทอนเพิ่มเติม พระอยู่ด้วยกันจะรู้ เวลาตัดทอนเพิ่มเติม เวลายกบาลีไง ยกบาลีแล้วขยายความ บาลีก็ต้องเป็นบาลี ห้ามเพิ่ม ห้ามตัดทอน แล้วถ้ามันจะเป็นอาบัตินะ กล่าวตู่พุทธพจน์ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ แล้วเราก็กล่าวตู่ว่าเราฉลาด เรามีปัญญาขึ้น มีพระตั้งเป็นคณะขึ้นมาสวด สวดคือบอกว่าให้ถอนความเห็นผิดถึง ๓ หน ถ้าครั้งที่ ๓ จบลงโดยการสวดนะ ถ้าพระองค์นั้นยังไม่เปลี่ยนทิฏฐิ เป็นอาบัติสังฆาทิเสส

เพิ่มเติมหรือตัดทอน มันมีวินัยบังคับไว้เลย ถ้ากล่าวตู่พุทธพจน์ กล่าวตู่ เห็นไหม กล่าวตู่ หมายความว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้พูดอย่างนั้น แล้วเราพูดว่าพระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น แล้วให้สงฆ์ตรวจสอบกัน อยู่ในพระไตรปิฎกแล้วมันเพิ่มมา ให้สวด ๓ หน ให้สวดคือว่าให้แสดงว่าเอ็งมีความเห็นผิด ให้เปลี่ยนความคิดเห็นนี้ใหม่ ถ้าถึงครั้งที่ ๓ ไม่ยอมเปลี่ยนความคิดนี้ เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ชัดๆ

ในพระไตรปิฎกนะ ในวินัยเขามีการตรวจสอบกันอยู่แล้ว แต่ที่บอกว่า ห้ามกล่าวตู่ ห้ามเพิ่มเติม แต่มันมีพระที่บอกว่า “ห้ามกล่าวตู่ ห้ามเพิ่มเติมนะ นี่พุทธภาษิตเลย”

ไปดูพฤติกรรมสิ ไปดูการกระทำสิ พุทธภาษิตทำอย่างนั้นหรือ พุทธภาษิตมีรถเบนซ์ ๒ คัน ๓ คัน บีเอ็ม ๕ คัน ๑๐ คัน เป็นอย่างนั้นหรือ นี่พุทธภาษิตนะ อู๋ย! ถ้าเป็นสาวกภาษิตมันจะมีร้อยคันนู่นน่ะ

เวลากล่าวอ้าง กล่าวอ้างธรรมวินัย กล่าวอ้างถึงธรรมวินัย ถึงคุณงามความดี แต่พฤติกรรม เขาดูที่พฤติกรรมดีหรือชั่ว ถ้าดีหรือชั่วมันอยู่ที่นั่น

นี่พูดถึงคำถามไง คำถามนี้เราตีความว่าเขาเขียนมาถามแหย่เฉยๆ เราถึงบอกว่านิ้วหนึ่งชี้ว่าคนอื่น ๔ นิ้วชี้เข้ามาที่ตัวไม่ได้ดู ถ้าดูนะ เราค่อยฝึกหัดของเรา

ฉะนั้น ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดยอดทั้งนั้นน่ะ พระพุทธเจ้ากราบธรรมๆ พวกเราจะมาประพฤติปฏิบัติกัน เราก็จะปฏิบัติเพื่อเป็นสัจจะความจริง แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันต้องเป็นความจริง เพราะในวงกรรมฐาน ผู้รู้มี ผู้รู้คือผู้รู้จริง ผู้รู้จริงมีนะ ผู้รู้จริงแค่พูดนี่เขาฟังรู้หมดแหละ เพียงแต่ด้วยคุณธรรมของท่าน หลวงตาท่านไปที่ไหนแล้วฟังใครเทศน์นะ ท่านยิ้มๆ ท่านไม่พูดหรอก ท่านเก็บไว้ในใจ ไอ้คนโง่อวดฉลาดพูดไว้ คนโง่มันพูด โธ่เอ๊ย! ความผิดมันมีอยู่เต็มไปหมด จบ

ถาม : ข้อ ๒๒๙๓. เรื่อง “สัมมาอาชีพ”

สวัสดีครับหลวงพ่อ ผมประกอบอาชีพคนขายลอตเตอรี่ครับ อยากถามหลวงพ่อว่า คนขายลอตเตอรี่ผิดศีลไหมครับ เป็นสัมมาอาชีพไหมครับ คนซื้อ คนเล่นลอตเตอรี่บาปไหมครับ

ตอบ : ไอ้นี่นะ มันต้องไปเรียนนักธรรมตรี ที่นักธรรมวันอาทิตย์น่ะ ไอ้นี่มันเป็นตำรานะ นวโกวาทสอนหมดแล้ว มิตรแท้ มิตรเทียม คนเทียมมิตร ทิศ บริหารทิศ สัมมาอาชีวะ แค่ค้าเครื่องดักสัตว์ เครื่องฆ่าสัตว์ ค้าอาวุธ ผิดหมด พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำทั้งนั้นน่ะ

พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำ หมายความว่า สัมมาอาชีพ อาชีพที่ไม่เบียดเบียนกัน อาชีพที่ไม่ทำลายชีวิตของคนอื่น นั้นเป็นสัมมาอาชีพ ในพระไตรปิฎกนะ ชาวนา ชาวนาชาวไร่นี่สัมมาอาชีพ แล้วมาก็มาเป็นพ่อค้าคำนวณ นี่อยู่ในพระไตรปิฎกหมด

ฉะนั้นบอกว่า ผมขายลอตเตอรี่ครับ ผิดศีลหรือไม่

มันเข้าศีล ๕ มันผิดแล้ว เล่นการพนัน สุราเมรัย ผิดหมด คำว่า ผิดๆ” ค้าลอตเตอรี่มันผิดศีลอยู่แล้ว

แล้วเป็นสัมมาอาชีวะหรือไม่

ไม่เป็นสัมมาอาชีวะเด็ดขาด

แล้วคนซื้อลอตเตอรี่ผิดหรือไม่

คนเล่นการพนัน คนเล่นการพนันผิดหรือไม่ คนเล่นการพนันนะ ไฟไหม้นะ ไฟไหม้หมดเนื้อหมดตัวเลย แล้วคนเล่นการพนันมันขายหมดเหมือนกัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าผิดศีล ๕

แต่ในโลกนี้ไง คนเราต้องมีงานทำ คนเรามันต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย ทีนี้คนเราต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย อาชีพ ทุกคนต้องมีอาชีพ ทุกคนต้องมีหน้าที่การงาน เราก็ต้องแสวงหาอาชีพของเรา ถ้าแสวงหาอาชีพของเรา นี่ก็เป็นอาชีพอาชีพหนึ่ง ถ้าเป็นอาชีพอาชีพหนึ่ง เราถาม มันทำแล้วมันเลี้ยงชีพได้ไหม ได้ ในเมื่อเราเป็นอาชีพนี้ เราไม่มีอาชีพอื่น เราทำอย่างนี้ ทำ เราก็ทำของเรา

จะบอกว่า ผมทำอาชีพนี้แล้วจะผิดศีลหรือไม่

ถ้าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อก็บอกว่าไม่ผิดศีล ถ้าเป็นลูกศิษย์คนอื่นก็ต้องผิด

เออ! พวกมึงพวกกูแล้ว มันไม่มี มันไม่ได้ผิดศีลว่าเป็นพวกใคร มันผิดศีลตั้งแต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนมา ๒,๐๐๐ กว่าปี ศีล ๕

การขายลอตเตอรี่ เราก็เป็นการขายอย่างหนึ่งใช่ไหม ถ้ามันผิดไหม เราไม่ได้ไปลักไม่ได้ขโมยใครมา เราก็ไปซื้อมา เราต้องไปซื้อฉลากมา แล้วเราก็มาขายฉลากเพิ่มเติม บวกกับราคากำไรของเรา เป็นอาชีพไหม เป็น

แล้วมันเป็นการพนันไหม มันไม่ได้เป็นการพนันใช่ไหม มันไม่ได้เป็นการออกเบอร์ใช่ไหม

มันเป็นการพนัน มันเป็นการพนัน เราก็มีอาชีพนี้ไง มันก็ผิดศีลไง มันก็ไม่สะอาดบริสุทธิ์ไง

มันเป็นมิจฉาหรือไม่ มันผิดหรือไม่

มันผิดศีล ว่าอย่างนั้นเลย

ทีนี้มันผิดศีล มันผิดศีล แล้วเวลาคน มันมีหลายๆ ครอบครัวนะ บ้านเขาเป็นผู้ที่เชือดเป็ดเชือดไก่ขาย เขาเคยมาคุยมาปรึกษาว่า เขาโตมาจากปู่ย่าตายายของเขา แล้วปู่ย่าตายายของเขามีอาชีพนี้ ผิดไหม

ผิด แต่เราเกิดมา เราเกิดมาในครอบครัวที่ปู่ย่าตายายเรามีอาชีพขายเป็ดขายไก่มาตั้งแต่ต้น แล้วผิดไหมล่ะ ผิดเพราะเขาเลือกอาชีพนี้ แต่เรามาเกิดในครอบครัวนี้ไง แล้วพ่อแม่ของเราล่ะ เราก็เกิดจากครอบครัวนี้ใช่ไหม แล้วเราก็ไปศึกษาธรรมะ แล้วเรากลับเข้ามาบ้านเราก็ต่อว่าพ่อแม่เลย นี่ทำผิดๆ แล้วกูเลี้ยงเอ็งมาตั้งแต่เด็กๆ กูเลี้ยงเอ็งมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย

มันไม่สะอาดบริสุทธิ์ในศีล แต่มันเป็นอาชีพดั้งเดิมของพ่อแม่ของปู่ย่าตายายมา แล้วปู่ย่าตายายเขาก็มีอาชีพนี้มา เลี้ยงดูเรามาจนโต แล้วเราก็ไปศึกษาธรรมะมา พอเข้าบ้านก็ไปชี้หน้าพ่อชี้หน้าแม่ ใครถูก ใครผิด

ลูกผิด

พ่อแม่ไม่สะอาดบริสุทธิ์มันผิดศีลธรรม แต่ลูกเกิดมาจากครอบครัวนั้น แล้วก็ได้พ่อแม่เลี้ยงดูมาจนเจริญเติบโตขึ้นมา แล้วไปศึกษาธรรมะนะ ศึกษาธรรมะนอกบ้าน ศึกษาธรรมะนอกบ้านเสร็จแล้ว เอาธรรมะนอกบ้านเข้ามาในบ้าน มาเผาในบ้านเราอีก นี่ผิดสองชั้น

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราบอกว่า เราขายลอตเตอรี่ผิดไหม

นี่เป็นอาชีพของเรา ถ้าเราต้องเลือกอาชีพนี้ ถ้าอาชีพอื่นเราไม่ถนัดใช่ไหม แต่ถ้าจะบอกให้มันถูก มันถูกไปไม่ได้หรอก มันถูกไปไม่ได้ ถ้ามันถูกไปไม่ได้ เพราะอาชีพที่เราเลือก เราก็เลือกแล้ว แต่ถ้ามันผิดศีลก็ส่วนผิดศีล แต่มันก็เป็นเวรเป็นกรรมของสัตว์

ฉะนั้น จะบอกจะให้มันถูกมันเป็นไปไม่ได้ มันไม่สะอาดบริสุทธิ์โดยศีลธรรม แต่มันไม่ผิดกฎหมาย มันถูกกฎหมายใช่ไหม ไม่ได้ลักไม่ได้ขโมยใครมา ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย นี่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดศีลธรรม

ข้อนี้มันเป็นบอกว่าพวกปัญญาชน เวลาเขาต้องการสภาวะแวดล้อมที่ดี ต้องการสังคมที่ดี เขาจะชี้ทันทีเลย รัฐบาลมีทั้งโรงเหล้า มีทั้งโรงงานยาสูบ มีทั้งโรงพิมพ์ฉลาก แล้วก็บอกให้คนเป็นคนดีๆ

เราอยู่ในสังคมโลกนะ สังคมโลก ยาฆ่าหญ้ามันมาจากไหนล่ะ ไม่บอกให้ขายสิ ตอนนี้เราพยายามจะเลิก พยายามจะเลิก พวกนี้มันมีอิทธิพลข้ามชาติทั้งนั้นน่ะ อิทธิพลข้ามชาติเข้ามา เขามาเอาผลประโยชน์ของเขา แล้วผลประโยชน์ในชาติล่ะ อันนี้พูดถึงการบริหารนะ พูดถึงการเมืองนู่น ไม่เกี่ยว

แต่พูดถึงว่ากรรมของสัตว์ๆ เราเกิดในครอบครัวใด เกิดในประเทศอันสมควร เกิดในพ่อในแม่ที่สัมมาทิฏฐิ มีอาชีพที่ถูกต้อง เราก็เกิดมาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ แต่ถ้าเราเกิดมานะ เกิดมาในประเทศอันสมควรหรือไม่

เกิดมาจากพ่อจากแม่ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์นะ พ่อแม่มีอาชีพอย่างนี้ พ่อแม่ทำมาอย่างนี้ แล้วเลี้ยงดูเรามาจนเติบโตมาขนาดนี้ แล้วเป็นพ่อแม่ของเรา แล้วเราไปศึกษาธรรมะ ศึกษาธรรมะเป็นอย่างนั้น เราก็ทำเฉพาะตัวเราสิ เราทำเฉพาะตัวเรา ถ้าเราทำดีขึ้น สิ่งใดที่ไม่ถูกต้องกับการศึกษาที่เราศึกษามา การศึกษาที่เรามีมา ค้านเอาไว้ในใจ

เราจะให้สังคมสะอาดบริสุทธิ์เป็นไปไม่ได้ แต่เราสามารถทำให้จิตใจเราสะอาดบริสุทธิ์ได้ แต่เราไม่สามารถทำให้สังคมทั้งหมดสะอาดบริสุทธิ์ แต่เราสามารถทำให้จิตใจเราสะอาดบริสุทธิ์ได้

เราจะเกิดมาจากพ่อแม่ที่ทำอาชีพที่ไม่สะอาดบริสุทธิ์นี่แหละ แต่ถ้าเราศึกษา เราพยายามจะประพฤติปฏิบัติ เราพยายามจะทำจิตใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ได้

ฉะนั้นที่ว่า สัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะมันเป็นหลักเกณฑ์ เป็นโดยหลักเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้เอง อยู่ในนวโกวาท สัมมาอาชีวะ มิจฉาอาชีวะ มันชัดๆ เพราะอะไร ถ้ามันไม่ชัดๆ มันจะมาขัดแย้งกับศีล ๕

เวลาเราพูดธรรมะต่างๆ ถ้ามันไม่ชัดเจนนะ ศีลกับธรรมมันจะไปขัดแย้งกับวินัย ถ้าวินัยบังคับไว้อย่างนี้ แล้วการปฏิบัติ ศีลกับธรรม มันก็เหมือนนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ นี่ไง วินัยกับธรรม วินัยก็เป็นนิติศาสตร์ ธรรมก็เป็นรัฐศาสตร์

รัฐศาสตร์คือความปกครอง ความสมานฉัน คือความสงบร่มเย็นในสังคม

นิติศาสตร์ นิติศาสตร์คือบังคับให้ควบคุมสังคมนั้นไว้ไม่ให้สังคมออกนอกกรอบนั้น

นี่ก็เหมือนกัน มันมีมาอย่างนี้ไง เราจะบอกว่า การเกิด การเกิดมันเกิดโดยเวรโดยกรรม เราเลือกไม่ได้ แต่การกระทำพฤติกรรมเราเลือกได้

ทีนี้เพียงแต่ว่าคำถามเขาเป็นคนทำเอง เขาเป็นคนขายลอตเตอรี่เอง ขายลอตเตอรี่มันก็เป็นอาชีพของเรา แต่ถ้าถามว่า “แล้วมันจะผิดศีลหรือไม่”

ผิด มันเป็นการพนันขันต่อ

“เป็นสัมมาอาชีวะหรือไม่”

เป็นอาชีพไม่สัมมา ไม่สัมมาโดยสะอาดบริสุทธิ์ แต่มันไม่ผิดกฎหมาย

“คนซื้อ คนเล่นลอตเตอรี่บาปหรือไม่”

ไอ้เรื่องบาปเรื่องกรรม ทำบาปมากกว่านี้ ไอ้นี่เขาว่าเสี่ยงโชค เวลาคนซื้อลอตเตอรี่เขาชอบเสี่ยงโชค แต่ถ้าเขาเก็บเงินไว้ๆ เขาไม่เสี่ยงโชค เขาจะมีเงินมากกว่านั้น แต่ถ้าเขาเสี่ยงโชค เขาชอบของเขาอย่างนั้น เขาบาปหรือไม่

บาป บาปคือความไม่ดี บาปคือความทุกข์ยาก ไอ้นี่ถ้าบาปของเขาคือเขาเสียตังค์

“คนซื้อลอตเตอรี่บาปหรือไม่”

บาปเพราะเขาต้องเสียเงินทุกงวดๆ เขาต้องไปขวนขวายหาเงินมาจ่ายให้กับค่าซื้อลอตเตอรี่ แต่ถ้าเขาเก็บเงินของเขาไว้ เอาเงินของเขาไปทำประโยชน์ของเขา เขาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“คนซื้อบาปหรือไม่”

เรื่องบาปมันบาปตั้งแต่เล็กน้อยถึงบาปมากมาย ถ้ามันบาปอย่างนั้น เวลาคนถูกรางวัลที่หนึ่ง ๙๐ ล้าน เขาบาปหรือไม่ ไอ้เขาถูกอย่างนั้นมันก็ลาภที่ควรได้และลาภที่ไม่ควรได้ อันนี้เป็นปัญหาสังคมไง ฉะนั้น พูดถึงว่า สัมมาอาชีวะ

ฉะนั้นบอกว่า คนเราเกิดมา ถ้าจิตใจเขาดีงาม เขาฉลาด เขารู้จักเลือกเฟ้นเอง เห็นไหม เกิดมามืดแล้วสว่างไป เกิดมาสว่างแล้วมืดไป เราเกิดมามืดหรือเกิดมาสว่าง แล้วเราไป เราจะไปในที่มืดหรือในที่สว่าง

เพราะเราเกิดมาในสังคมไง กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน แล้วมันก็พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เราเองต่างหากที่มีสติปัญญาว่าเราเกิดมืดหรือสว่าง แล้วเราไป เราจะไปมืดหรือไปสว่าง เราก็ต้องมีสติมีปัญญารักษาชีวิตของเรา เอวัง