เทศน์บนศาลา

กิเลสทำเสียสมดุล

๑ ส.ค. ๒๕๕๑

 

กิเลสทำเสียสมดุล
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ตั้งใจนะ ธรรมะไง เรามาประพฤติปฏิบัติ นี่สำนักปฏิบัตินะ เรามาหาทางออกกัน หาทางออกจากทุกข์ เวลาทุกข์นี่ปักเสียบหัวใจอยู่ เราพยายามหาทางออก เราฟังธรรมไง ถ้าไม่ฟังธรรม...

ธรรมะเห็นไหม ธรรมโอสถมันกระตุ้นให้เรามีความคึกคะนอง มันอาจหาญ มันรื่นเริง ถ้ามันรื่นเริงนะ แต่ถ้ามันเป็นกิเลส เราไปอยู่ในที่สงบสงัด มันอับเฉา มันว้าเหว่ เราจะไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าทางโลกเราไปมองกันแต่สังคมเห็นไหม ถ้าสังคมเจริญ สังคมที่เจริญ มีความสะดวกสบาย เราจะไปอยู่กันที่นั่น ที่นั่นบรรยากาศดี สิ่งต่างๆ ดี

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ความสงบสงัด ถ้ามันสงบสงัด หัวใจมันสงัดขึ้นมานะ มันจะมีความองอาจ มีความกล้าหาญ มันมีความรื่นเริงนะ รื่นเริงในธรรม ถ้าประพฤติปฏิบัติมันต้องมีความสุข มีความรื่นเริงสิ แต่ทำไมมันเศร้าสร้อยเหงาหงอยล่ะ เศร้าสร้อยเหงาหงอยเพราะไม่มีธรรมะไง ถ้ามีธรรมะของครูบาอาจารย์ มันกระตุ้นนะ กระตุ้นให้เราคึกคะนอง คึกนะ

ถ้าคะนองเห็นไหม จิตที่มันคึกคะนองของมัน เวลาจิตมันสงบขึ้นมามันจะเห็นนิมิตต่างๆ ไอ้คะนองอย่างนั้น มันคะนองโดยจริตนิสัย แต่ความคึก ความคะนองของเรา ความอาจหาญรื่นเริง มันรื่นเริงในธรรม มันไม่ใช่คึกคะนองแบบโลกๆ เขา ถ้าโลกๆ เขาคึกคะนอง มันมีแต่ความเสียหายนะ เพราะมันขาดสติ

แต่เรามีสติขึ้นมาเห็นไหม เรามีสติขึ้นมา เราตั้งสติขึ้นมา แล้วกำหนดคำบริกรรมของเราขึ้นมา เพื่อประโยชน์กับเรานะเพราะอะไร เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ถ้าไม่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ดูสิ ในปัจจุบันนี้ ศาสนาก็มีอยู่ แต่เวลาเขาประพฤติปฏิบัติกัน เขาประพฤติปฏิบัติด้วยอะไร มันไม่มีครูไม่มีอาจารย์นะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ปัญจวัคคีย์ อัญญาโกณฑัญญะเป็นพราหมณ์พยากรณ์เลยว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นพระอรหันต์แน่นอน ต้องออกบวชเป็นศาสดาอย่างเดียว อย่างเดียวเลย พราหมณ์ต่างๆ เขายังพยากรณ์เป็นสอง อัญญาโกณฑัญญะบอก ไม่มีทางเลย ต้องออกบวชอย่างเดียว ต้องเป็นศาสดา

แล้วเวลามาอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี ถึงเวลาแล้วทิ้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเลย แล้วเวลามันตีกลับ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมไปแล้ว ไปเทศน์ธัมมจักฯ นัดกันนะว่าไม่รับ เพราะอะไร เพราะเห็นความประพฤติไง ตอนอยู่ด้วยกัน ทนทุกรกิริยา ทรมานตนอยู่ตั้ง ๖ ปี ถึงเวลาแล้วมันเป็นสิ่งที่ความลำบากเปล่า ลำบากเปล่าเพราะอะไร ลำบากเปล่าเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรม ในโลกนี้ยังไม่มีธรรมะ มันเป็นเรื่องโลก มันเป็นธรรมของโลก เห็นไหม มีศาสดา

ดูสิ เวลาเจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับอาฬารดาบส ไปเรียนกับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาปฏิญาณตนว่าเป็นศาสดาทั้งนั้นน่ะ นี่ธรรมของโลก ธรรมอยู่ในโลก ธรรมให้พ้นจากโลกมันยังไม่มี ถ้าไม่มี ทรมานขนาดไหน มันไม่มี ของไม่มี ไม่มีใครสอน ไม่มีใครบอก มันค้นคว้าอย่างไรมันก็เหมือนกับคนที่ไม่มีทางไปเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้ย้อนกลับมา ทิ้งหมด สิ่งที่ทรมานตน สิ่งที่ทำให้ตนลำบากอย่างนั้น ทิ้งไปหมดเลย แล้วมาฉันอาหารนางสุชาดา พอมาฉันอาหารของนางสุชาดา ปัญจวัคคีย์เห็น เห็นว่ากลับมามักมากไง ทรมานตนอย่างนั้นยังสำเร็จไม่ได้ แล้วกลับมาฉันอาหารของนางสุชาดา มันกลับมามักมาก แล้วมันจะสำเร็จได้อย่างไร

หมดอาลัยตายอยากเลยนะ เพราะพยากรณ์เอง ตั้งใจเอง ออกอุปัฏฐากเอง ต้องการให้เจ้าชายสิทธัตถะให้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวเองจะได้มีวิชาการ จะได้มีทางออก จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับมาฉันอาหารของนางสุชาดา ทิ้งไปเลย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา

เวลาไปสอนปัญจวัคคีย์ ไม่ฟังเห็นไหม เพราะอะไร เพราะขณะที่อุปัฏฐากอยู่ ด้วยความคิดของโลกไง อุปัฏฐากอยู่ ทุกข์ยากขนาดนั้น ยังตรัสรู้ไม่ได้ แล้วเวลาเราทิ้งมา อยู่องค์เดียว แล้วไปฉันอาหาร ไปอยู่กับโลก ไปมักมากในโลกไง ในปัจจัยเครื่องอาศัย มันจะตรัสรู้ได้อย่างไรเห็นไหม นี่ความคิดของโลกไง

ถ้าการทุกรกิริยาทำอยู่อย่างนั้น มันไม่มีวิชาการ มันไม่มีธรรม ไม่มีธรรมคือยังไม่มีใครตรัสรู้ขึ้นมา การตรัสรู้ขึ้นมา มันมีตรัสรู้อยู่ ๒ ประเภท คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับ พระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น ในเมื่อยังไม่มีธรรม มันไม่มีธรรม มันจะไปศึกษาเอากับใครล่ะ แต่ขณะที่ตัวเองตรัสรู้เองโดยชอบ แต่ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ ไม่เชื่อว่าทนทุกรกิริยาขนาดนั้นยังเป็นไปไม่ได้ แล้วมามักมากในการฉันอาหารมันจะตรัสรู้ได้อย่างไร นี่คนมองกันแต่สภาวะแบบนั้น

แล้วในปัจจุบันนี้ ดูสิ เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน ถ้าอดนอนผ่อนอาหาร เขาบอกว่าอย่างนี้มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการทรมานให้ตนเองลำบากเปล่า คิดกันไปไง คิดกันไปเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่ท่านอดอาหารนั่นน่ะ ท่านอดอาหารด้วยที่ว่า คิดว่ากิเลสมันอยู่ที่เรา ทุกอย่างมันอยู่ที่เรา คิดว่ากิเลสมันอยู่กับเรา เพราะแบ่งแยกไม่ได้ว่าอะไรเป็นกิเลส ไม่เข้าใจอะไรสิ่งใดๆ เลย

ขนาดที่ว่าอดอาหารแล้ว จนขนเน่า จนขนหลุดออกมาหมดเลย เวลาคิดว่ามันอยู่ที่ลมหายใจ กลั้นลมหายใจจนสลบไปเห็นไหม ก็คิดเอาเอง คิดเอาเองเพราะอะไร คิดว่าสิ่งที่เราทรมานตนคือการชำระกิเลส แต่ขณะที่ธรรมเกิดขึ้นมาแล้ว กิเลสไม่ได้อยู่ที่นั่น กิเลสมันอยู่ที่ใจ ถ้ากิเลสอยู่ที่ใจเห็นไหม พอฉันอาหารของนางสุชาดา กำหนดอานาปานสติลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกจิตมันเกาะอยู่ที่นั่น พอจิตมันสงบเข้ามา มันเป็นการทำงานของจิต มันเป็นการทำงานของหัวใจ หัวใจมันทำงานของมัน มันพัฒนาการของมัน

บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไปจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมานี่เข้าใจหมดเลย พอเข้าใจหมดเลยเวลาสอน เวลาไปสอนปัญจวัคคีย์ “ทางสองส่วนไม่ควรเสพ” สิ่งที่ปัญจวัคคีย์เห็นภาพนั้นชัด เห็นภาพนั้นชัดมากเลยว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรมานอยู่ ๖ ปี แล้วกลับมาฉันอาหาร “ทางสองส่วนไม่ควรเสพ อัตตถิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค” ไม่ควรเสพทั้ง ๒ ฝั่ง ไม่ควรเสพ

“มัชฌิมาปฏิปทา” มัชฌิมาปฏิปทาของใคร

นี้เราประพฤติปฏิบัติ เราอดนอนผ่อนอาหารเพื่อเราขัดเกลากิเลส เพื่อให้กิเลสมันเบาตัวลง เพื่อให้การประพฤติปฏิบัติเรามีช่องทางขึ้น เพราะเราปฏิบัติ เรากำลังปฏิบัติ เราพยายามสู้ของเรา แล้วมันทำไม่ได้ผลอย่างเรา มันทำไม่ได้ผลแบบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมไว้ เราอ่าน เราศึกษาขึ้นมา เราก็ว่าเราทำได้ เราเข้าใจหมดเลย แล้วเราทำของเราก็ไม่ได้ เราทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่มีธรรมะนะ มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่แล้ว ทีนี้เราอดนอนผ่อนอาหารกันก็เพื่อขัดเกลา เพื่อไม่ให้ธาตุขันธ์มาทับใจ

ถ้ามีครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติมา ครูบาอาจารย์ท่านจะรู้ว่าสิ่งใดควร ควรจะต่อสู้ ควรเป็นถนนหนทาง เป็นทางที่เราจะฝืนกิเลส มันเป็นอุบายวิธีการที่เราจะทำให้กิเลส...กิเลสเรา เราจับมันไม่ได้ เรารู้มันไม่ได้ เพราะมันอยู่เบื้องหลังความคิดเรา มันมากับเรา มันเป็นอวิชชา มันครอบงำใจมาตลอด แล้วเราจะเอาเข้าไปต่อสู้กับมัน เราไม่มีอะไรจะไปต่อสู้กับมันเลย เราไปต่อสู้กับมัน ก็ต่อสู้กับกิเลสชัดๆ

ในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ดูสิ ดูร่างกายของมนุษย์ ร่างกายของมนุษย์เวลามันเสียสมดุล เวลาเสียสมดุลขึ้นมานี่เราเดินไม่ได้นะ เวลาเราเครียดขึ้นมา ดูสิ น้ำในหูไม่เท่ากัน เดินไม่ได้ ขณะที่เราเสียสมดุล เราจะวิงเวียนศีรษะ เราจะเดินไปไม่ได้เลย เราต้องนั่งลงเลย การเสียสมดุลของมันเห็นไหม การเสียสมดุลของร่างกาย ทางการแพทย์เขาเข้าใจนะ ว่าการเสียสมดุลมันต้องแก้ไขอย่างไร ต้องเย็บ ต้องปะ ให้น้ำในหูต่างๆ มันไม่เสียสมดุลของมัน ความเสียสมดุลของร่างกายนะ

แล้วนี่กิเลส กิเลสกระทำให้จิตใจเสียสมดุล ความเสียสมดุลของมันเห็นไหม เรามีกิเลสอยู่ในหัวใจ มันเสียสมดุลตลอดไป มันเป็นความสมดุลไปไม่ได้ ในการประพฤติปฏิบัติมันจะเป็นความสมดุลไปไม่ได้เลย มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม แล้วเวลามีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิธีการน่ะ มรรค ๔ ผล ๔ การชำระกิเลสเข้าไป

ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ขณะที่จิตมันเสียสมดุลของมันนะ เวลามันโกรธ เวลามันทุกข์ เวลามันยาก คนเราทำไมทุกข์ยากมันถึงกับทำลายตัวเองล่ะ ทำถึงกับฆ่าตัวตายนะ เพราะจิตมันเสียสมดุล พอจิตมันเสียสมดุล เวลาการกำหนดของเรา การทำความสงบของใจ พุทโธๆๆๆ นี่ทำความสมดุลของมัน ถ้าจิตมันสมดุลขึ้นมา พอจิตสมดุลขึ้นมามันก็เป็นสมาธิ ความเป็นสมาธิ ความสมดุลของมันเฉยๆ นะ

แล้วดูสิ เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาใคร่ครวญกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ในทางวิชาการที่เขาออกประพฤติปฏิบัติ ความเข้าใจของเขา นี่สิ่งที่เราศึกษาธรรม เวลาเราศึกษาธรรมะ เราอ่านหนังสือธรรมะ มันมีความซาบซึ้งใจ ความเสียสมดุลของมันคือว่ากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันดิ้นรนในหัวใจ ถ้าไม่หยุดมันก็ฟุ้งซ่าน มันคิดของมันไป มันทุกข์ยากของมันไป มันกระชากเราไปนะ มันเป็นความคิดเห็นไหม

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย บอกว่า “จิตของมนุษย์เปรียบเหมือนช้างสารที่ตกมัน” เอามันไว้ในอำนาจของเราไม่ได้หรอก มันมีแรงมาก มันกดขี่เรา มันสะบัด มันเหยียบย่ำหัวใจของเรา มันเหยียบย่ำ พอเหยียบย่ำยิ่งคิดมาก ยิ่งทุกข์มาก ยิ่งสมดุลมันเสียมากเท่าไหร่ มันยิ่งถลำลึกไปขนาดนั้น คิดแล้วความเสียใจ พอเสียใจบวกเสียใจ เสียใจบวกเสียใจ มันคิดซ้ำคิดซากเห็นไหม ความสมดุลมันเสียหายหมดเลย มันทรงตัวเองไม่ได้เลย เพราะมันเป็นความทุกข์ความยาก

เวลาศึกษาธรรมะขึ้นมาเห็นไหม ความประคองมันไว้ ประคองไว้เท่าไหร่ มันก็เป็นสมดุลของมันเท่านั้น “ธรรมะเป็นธรรมชาติ” ถ้าคนคิดอย่างนี้ คนประพฤติปฏิบัติ ในความเข้าใจของปริยัติ ในการเข้าใจของครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติไม่เป็น ก็ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ จิตมันเป็นความสมดุล สมดุลก็คือธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ นิพพานสงบเย็น สงบเย็น มันปล่อยมาก็เย็นไง มันก็พอใจของมันไง...แล้วธรรมะมีเท่านี้เหรอ นิพพานเป็นอย่างนี้เหรอ

นิพพานคือใจมันปล่อย มันว่าง ใจสงบเย็นๆ สงบเย็นเพราะมันทุกข์มันร้อน มันก็ทุกข์ร้อนใช่ไหม เวลามันทุกข์มันร้อนขึ้นมา ดูสิ เวลาเผาลนใจเราทุกข์มาก เวลามันมีความฟุ้งซ่านนี่มันทุกข์มากเลย เวลามันมีความเข้าใจ เราคิดสิ่งใดผิดพลาด เรามีความเข้าใจผิด พอเราเข้าใจถูกขึ้นมา มันก็ปล่อยความยึดมั่นถือมั่นอันนั้น มันก็เป็นปกติของมัน นี่ความสมดุลของมัน

โลกเหมือนกันนะ ในจักรวาลนี้มันสมดุล มันปรับตัวของมันตลอดเวลา ความสมดุลขึ้นมา ความสมดุลมันตั้งอยู่บนอะไร ถ้าความสมดุลไม่มีตั้งอยู่ที่ไหน ความสมดุลมันเกิดมาจากไหน สมาธิมันเกิดจากอะไร มันไม่เข้าใจของมัน มันก็เป็นมิจฉาสมาธินะ

ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิเห็นไหม ธรรมะเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ การเกิดและการตายเป็นธรรมชาติ การใช้ชีวิตเป็นธรรมชาติ สิ่งต่างๆ ทุกข์มันก็เป็นธรรมชาติ อารมณ์ฟุ้งซ่านก็เป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่เป็นธรรมดา...แล้วธรรมะเป็นธรรมดาอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้เหรอ เข้าใจอย่างนี้มันเป็นอะไร

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าใจทฤษฎี เข้าใจหมด แล้วปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง ถ้าทิ้งธรรมชาติไว้ที่นี่ เราปล่อยวางธรรมชาติขึ้นมา แล้วเรารู้จริงของเราเข้ามา เรารู้จริงของเราขึ้นมา จะไม่รู้จริงได้อย่างไร ถ้ารู้จริงไม่ได้ รู้จริงไม่ได้เพราะเราประพฤติปฏิบัติไม่เป็น แล้วดึงฟ้าต่ำ ดึงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นเรื่องธรรมะโลกๆ โลกียปัญญา ปัญญาของโลก โลกเวลาฟุ้งซ่านขึ้นมา ดูสิ เขาบริหารจัดการขึ้นมา ดูสิ เดี๋ยวนี้เขาบริหารจัดการขึ้นมา เขาบริหารจัดการได้ทั้งนั้นน่ะ เขามีเทคโนโลยีขึ้นมา เขาทำให้สมดุลขึ้นมาทั้งหมด สมดุลขึ้นมาได้

แต่ความสมดุลใดๆ ก็แล้วแต่ “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” ไม่มีสิ่งใดมีความสมดุลอยู่ได้ ความสมดุลมันก็ต้องแปรสภาพ ความสมดุลอยู่ใต้กฎของอนิจจัง ความสมดุลมันตั้งอยู่บนอะไร สมาธิมันตั้งอยู่บนอะไร สมาธิมันตั้งอยู่บนภพ ในใจของจิตนี่สมาธิมันอยู่ที่ไหน ความสงบของใจมันอยู่ที่ไหน สงบ อะไรมันสงบเข้ามา แล้วสงบเข้ามา ถ้าพูดถึงไม่มีธรรม สงบเข้ามาเท่ากับว่าสมาธิก็ไม่รู้จักสมาธินะ พอสงบเข้ามาเวลามันตกภวังค์เข้าไป มันไม่รู้สิ่งใดๆ เลย

แล้วถ้ามันไม่ตกภวังค์ขึ้นมาเห็นไหม นี่มันจริตนิสัย ถ้ามันออกรู้ต่างๆ มันออกรู้นี่มันทำให้เราเสียหาย เสียหายเพราะอะไร เพราะเรายังไม่มีกำลัง เด็ก เด็กนี่เราพาไปธุระที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้ามันพลัดพรากจากเราไปมันกลับบ้านถูกไหม? มันกลับบ้านไม่ถูกเพราะว่ามันเป็นเด็ก แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ เพราะเรามาเอง หลงทางเรายังหาทางกลับได้เลย เพราะเรามีแผนที่ เรามีปากเราถามเขาก็ได้ เราจะกลับเส้นทางไหน เราพยายามหาทางกลับของเราได้ เพราะอะไร เพราะเรากลับของเราได้ แต่เด็กมันไปไหนมันหลงทางไป บอกเขาก็ไม่ได้ มาจากไหนก็ไม่รู้นะ มาจากไหนก็ไม่รู้ จะกลับไปทางไหนก็ไม่รู้ แล้วถ้าเขาถามขึ้นมาก็มีแต่ความเสียใจ ร้องไห้ให้เขาเห็นก็เท่านั้นล่ะ ทำอะไรไม่ได้เลย

จิตของเราก็เหมือนกัน เวลาทำความสมดุลขึ้นมา มันจะรู้สิ่งใดก็แล้วแต่ มันเหมือนเด็กๆ เด็กๆ มันไม่มีประสบการณ์ของมัน มันจะไม่รู้สิ่งใดๆ เลย สิ่งใดเกิดขึ้นมาเราตามสิ่งนั้นไป มันเหมือนเด็กเลย เด็กออกเที่ยวแล้วเสียหายหมด ฉะนั้น ถ้าจิตสงบขนาดไหน เราอย่าปล่อยให้มันออกไป ตั้งสติไว้ ตั้งสติของมันไว้ ตั้งสติแล้วเรากำหนดคำบริกรรม หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปรับสมดุลมันไง

ปรับสมดุลของมัน มันเสียหาย มันเป็นทางเสียหาย ทางลบหรือทางบวก ถ้าทางบวก ความสมดุลทางบวกเห็นไหม จะคึกคะนอง กับมัน มันก็ไม่ถูกต้อง ถ้ามันไม่มีสติของมัน สมดุลทางลบล่ะ เสียใจ ทุกข์ใจ ร้อนใจต่างๆ มันทำความสมดุลอย่างนั้นมันก็ทำให้ใจเศร้าหมอง ทำให้หัวใจทุกข์ยากตลอดไป

แล้วจะปรับสมดุลมันอย่างไร? ปรับสมดุลต้องใช้ปัญญาใช่ไหม ถ้าใช้ปัญญาปรับสมดุลของมัน สมดุลของมัน มันก็สงบเข้ามา มันก็ปล่อยวางเข้ามา นี่ธรรมะเป็นธรรมชาติ ถ้าคนพูดว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติ นี่ไง ธรรมโลกๆ โลกียปัญญาไง แต่ถ้ามันเป็นโลกุตตรปัญญาล่ะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ชำระกิเลสมันจะทำอย่างไร

ความสมดุลมันตั้งอยู่บนอะไร สิ่งใดสติปัฏฐาน ๔ ที่คุยว่า สติปัฏฐาน ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ที่เห็นกายๆ การเห็นกายของเรา เดี๋ยวนี้การประพฤติปฏิบัติเห็นกาย...ถ่ายภาพนะ กล้องมันถ่าย ถ่ายภาพออกมาเลย ดูสิ อสุภะๆ ถ่ายรูปอสุภะมา ไปดูแล้ว จริงอยู่ ดูครั้งแรกมันก็สะเทือนใจอยู่พอสมควรน่ะ สะเทือนใจเฉยๆ ในสิ่งแวดล้อมมันมีไหม เราดู เราเอารูปอสุภะมาดู เราเห็นเราก็สะเทือนใจกันอยู่ แต่ถ้าเราไปเห็นอสุภะของเราเองนะ มันเหมือนเราเข้าป่าเข้าเขาไป เราไปเจอเสือ เจอสาง มันมีอันตรายต่อเรานะ แต่ถ้าเราไปดูเสือในสวนสัตว์ไม่ตกใจเลย เพราะมันมีกรงขังมันอยู่ เสือเขาขังไว้ เขาฝึกมันด้วย ไปจับมาเล่นได้เลย เสือน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็น กาย เวทนา จิต ธรรม การเห็นกายของเรา มันเห็นกายโดยอะไร เดี๋ยวนี้อสุภะนะ อสุภะที่เอามา เอามาด้วยอะไร ด้วยวุฒิภาวะของเด็กๆ ด้วยวุฒิภาวะของที่จะส่งเสริมกัน จะช่วยเหลือเจือจานกัน ถ่ายรูปอสุภะมาแจกกันนะ พิมพ์รูปอสุภะมาแจกกัน...ก็เอารูปอสุภะแขวนให้เต็มคอเลยสิ มันจะเป็นอะไรขึ้นมา เพราะมันอสุภะจากภายนอกนะ มันไม่เกิดอสุภะจากภายใน อสุภะมันต้องเกิดจากจิต เกิดจากความสมดุลอันนั้น

ถ้าจิตมันสมดุลอันนั้นแล้วน้อมไปหากาย ถ้าน้อมไปหากาย มันเห็นกายของมัน มันเห็นสติปัฏฐาน ๔ ของมัน นี่วิปัสสนาเกิดตรงนั้น นี่ศาสนาพุทธของเราเกิดตรงนี้ พุทธศาสนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาทุกรกิริยา ทำทรมานตนอยู่นั้น สิ่งที่ทุกรกิริยา ทรมานอยู่อย่างนั้น กลั้นลมหายใจอย่างนั้น มันไม่มีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง มันก็ไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลย

แต่เวลาเข้าใจขึ้นมา มันเข้าใจที่ไหนล่ะ มันเข้าใจที่ไหน มันเข้าใจที่โคนต้นโพธิ์เหรอ มันเข้าใจในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม มันเข้าใจในสัจจะความจริงอันนั้น ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันมีการเปลี่ยนแปลงของมันนะ

ดูสิ ความคิดของเรา เราคิดบางอย่าง ประสบการณ์ของเรา เรายังคิดได้ตื้นลึกหนาบางต่างๆ กันนะ เราเคยทำงานซ้ำแล้วประสบการณ์ของเรา ประสบการณ์เรามากขึ้นมา เราจะมองเหตุการณ์ อ่านเหตุการณ์ได้ออกมากเลย แต่ถ้าประสบการณ์เราน้อย สิ่งที่เกิดขึ้นมาด้วยปัญญาของเรา เราจะคาดการณ์ หรือเราจะบริหารจัดการไม่ประสบความสำเร็จ

จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันพิจารณาของมันเข้าไป จิตที่มีความสงบเข้าไป มันลึกซึ้งเข้าไป มันลึกกว่านั้น ความเห็นมันไม่ใช่เห็นด้วยสามัญสำนึกอย่างนี้หรอก ที่เห็นสามัญสำนึก เพราะเห็นความสามัญสำนึกอย่างนี้ แล้วสิ่งที่ลึกขึ้นมานี้ก็บอกว่าสิ่งนี้มันไม่มี กึ่งพุทธกาลแล้วมรรคผลไม่มี สิ่งใดก็ไม่มี การประพฤติปฏิบัติไม่มี เวลาไม่มี ได้แต่ศึกษาธรรมกันอย่างนี้ แล้วพอนิพพานก็นิพพานสงบเย็น ก็ว่ากันไป นิพพานสงบเย็น นิพพานเป็นธรรมชาติ

ธรรมชาติมันแปรปรวน ธรรมชาติแปรปรวนเพราะมันเข้าถึงธรรมไม่ได้หรอก มันเข้าถึงไม่ได้ แล้วเวลาจิตมันจะลงสมาธิก็ปฏิเสธสมาธิอีก ถ้าจิตมันจะปรับความสมดุลของมัน ก็ว่าความสมดุลอันนี้เป็นความผิดพลาด จิตมันจะปรับของมันใช่ไหม สมาธิ นี่เวลามันลงสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ความที่มันสงบเข้ามา นี่แค่มันสงบเข้ามาก็ตื่นเต้นแล้ว ขนาดเราไม่เคยประพฤติปฏิบัติ จิตมันจะลงมันยังตกใจเลย ของที่มันจะมีจะเป็นขึ้นมา เรายังตกใจ

แต่เวลาความเคยชินของกิเลสเห็นไหม ออกไปตามตัณหาความทะยานอยาก ออกไปทางโลก ออกไปทำอะไร เก็บแต่สิ่งที่เป็นความทุกข์ความยากเข้ามา ไปเก็บแต่สิ่งที่เป็นพิษเข้ามา ออกรับรู้สิ่งโลกๆ ออกไปรับรู้ตัณหาความทะยานอยาก ออกไปรับรู้เรื่องแต่ติฉินนินทา ออกไปรับรู้ทางโลกเข้ามาแล้วก็มาเหยียบย่ำหัวใจ อย่างนั้นมันพอใจ

แต่เวลามันจะสละขึ้นมาเพื่อจะให้มันเป็นคุณงามความดีของมัน มันกลับไม่พอใจ กลับมีความตื่นเต้น กลับมีความตกใจ กลับมีความไม่มั่นใจในตัวเอง กลัวไง ปฏิบัติไปแล้วเดี๋ยวจะไปเห็นโน่นเห็นนี่...ขอให้มันเห็นเถอะ เห็นอย่างไม่เห็นน่ะสิ เวลาจิตสงบขึ้นมาใครจะเห็นอะไร การเห็นกายมันเห็นง่ายอยู่ที่ไหน

ดูสิ เวลาคนไปเที่ยวป่าเที่ยวเขา ไปเจอภูตผีปีศาจ ก็ว่าไปเจอผี กลัวผี ไอ้ผีในหัวใจนี่มันไม่กลัว ไอ้ผีตัวเกิดตัวตาย ไอ้ตัวทุกข์นี่ ดูสิ เรามาวัดปฏิบัติ เป็นที่ประพฤติปฏิบัติ สงบสงัดขนาดไหน ร่มไม้ใบหญ้ามันมีความร่มเย็นขนาดไหน แล้วหัวใจมันชื่นใจไหม หัวใจมันยอมรับสิ่งความจริงนี้ไหม ทำไมหัวใจมันดีดดิ้นล่ะ หัวใจดีดดิ้นเพราะอะไร เพราะมันอยากออก

ถ้ามันอยากออก ถ้าเรามีปัญญาใคร่ครวญมัน มีปัญญาประพฤติปฏิบัติ ใคร่ครวญ ให้ปัญญาไล่เข้าไป นี่ปรับสมดุลของมัน ถ้าปรับสมดุลของมันบ่อยครั้งเข้า ต้องทำบ่อยครั้งเข้า มันจะเกิดสิ่งใด ถ้ามันใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญามันปรับสมดุลเข้าไปนะ มันจะมีความร่มเย็นของมัน

สมาธิไง “ความสุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” จิตแค่สงบไง พอจิตมันสงบขึ้นมา ผู้ที่ไม่เคยประพฤติปฏิบัติ คำว่า “จิตสงบ” พอจิตสงบขึ้นมา มันมีความร่มเย็น ก็ว่านี่เป็นนิพพานแล้ว นี่มันเป็นกระต่ายตื่นตูม ศึกษาธรรม ไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำ มันเป็นกระต่ายตื่นตูม เห็นอาการไหวของใจหน่อยเดียวมันก็ตกใจแล้ว

เห็นอาการไหวของใจ ใจที่มันจะปรับสภาพของมันที่เป็นประโยชน์กับเรา ก็ยังตกอกตกใจ ยังทำอะไรไม่เป็นกัน แล้วก็นี่นิพพานๆ นิพพานสงบเย็น แล้วจะบอกนิพพานมี ก็บอกไม่ยอมรับอีก บอกนี่กึ่งพุทธกาลแล้วไม่มี มรรคผลนิพพานไม่มี ไม่ต้องประพฤติปฏิบัติ มันมีแต่ครั้งพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมไปแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่มี ไม่มีมันทุกข์ทำไม

ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์ ผู้ใดปฏิบัติสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย” คำว่า ๕,๐๐๐ ปี ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าศาสนาจะอยู่ ๕,๐๐๐ ปี ต่อไปศาสนาจะเรียวแหลม มันเรียวแหลมที่ไหน? ก็มันเรียวแหลมที่ใจเรานี่ไง มันเรียวแหลมเพราะเราไม่เชื่อถือไง เราเรียวแหลมเพราะไม่กล้ากระทำ

ดูสิ ในปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์มีมหาศาลเลย แล้วเราประพฤติปฏิบัติกันอยู่ เวลาจิตมันจะลง จิตมันจะเป็นไป เรายังไม่กล้า ยังไม่กล้าเป็นไปกับมัน แต่เวลาทุกข์ไม่ต้องบอกนะ เวลามันฟุ้งซ่านขึ้นมา มันทุกข์ขึ้นมาไม่ต้องบอกเลยว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ แล้วมันก็เหยียบย่ำใจอยู่อย่างนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติไปก็นี่กิเลสไง อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ไปซ้ายก็ไม่ได้ ไปขวาก็ไม่ได้ คาอยู่อย่างนี้ คากับความรู้สึกของตัวเอง

โดยธรรมชาติของมันเห็นไหม ดูพายุสิ พายุมันพาขึ้นไป เวลาพายุมันสงบมันมีอะไร? มันก็มีน้ำ มีสิ่งชุ่มชื้นมาให้เป็นประโยชน์ใช่ไหม เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา กำหนดพุทโธ การกำหนดกัน ภาวนากัน มันก็มีความร่มเย็นเป็นสุขในหัวใจ ก็ว่านี่นิพพานสงบเย็น นิพพานเป็นธรรมชาติ...มันเป็นมิจฉาสมาธิ มันเป็นความเห็นผิด เพราะมันเป็นความเห็นผิดมันถึงเป็นมิจฉาไง

ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันต้องมีสติสิ สติขึ้นมา ดูสิ ในการประพฤติปฏิบัติ การค้นคว้า การหากาย เวทนา จิต ธรรม การดูกายไม่ใช่ดูกายอย่างเรานี่หรอก การเห็นกายๆ เราคิดเหมือนทางวิทยาศาสตร์ เหมือนทางการแพทย์ เขาผ่าตัดอยู่ เขาผ่าเปลี่ยนหัวใจ เปลี่ยนตับ เปลี่ยนไต ก็นั่นการเห็นกาย การเห็นกายคือจับต้องได้ไง เห็นกายคือเรารับรู้นี่ไง ไอ้นี่มันเป็นวิชาชีพ ไอ้นี่มันเห็นกาย

ถ้าเป็นแพทย์ที่เขามีการศึกษาที่ดี แพทย์ที่เขาจิตใจเป็นจริยธรรม เขาเห็นนะ เขาทำด้วยเมตตาธรรมของเขา เขาเป็นประโยชน์ของเขา ถ้าแพทย์ที่เป็นวิชาชีพของเขา หน้าที่การงานของเขา นี่คือธุรกิจของเขา เขามีความตื้นตันใจของเขา เขายิ่งทำเขายิ่งชอบ มันยิ่งเป็นความโลภ ยิ่งต้องการ ยิ่งทำเพื่อประโยชน์ของเขา แต่ทีนี้เห็นกายมันไม่เห็นอย่างนั้นหรอก ถ้าเห็นกายอย่างนั้น ดูแพทย์เขาไปผ่าตัดคน จากคนหนึ่งเห็นคนหนึ่งใช่ไหม จากตาของเราเห็นร่างกายคนอื่นใช่ไหม

แต่เวลาจิตขึ้นมา จิตสงบเข้ามา จิตเป็นตัวของมันเอง ถ้าจิตตัวของมันเอง ถ้ามันเห็นกายของมัน มันน้อมไปที่กาย ถ้าเห็นกายโดยธรรมชาติมันจะสะเทือนหัวใจมาก การสะเทือนหัวใจอย่างนั้น นั่นจิตมันลง จิตมันสงบแล้วมันถึงเป็นสัมมาสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิถ้าจิตมันสงบเข้ามา ความสงบของใจมันตั้งอยู่บนอะไร? มันตั้งอยู่บนภพ บนภพคือตัวใจนี่แหละ มันตั้งอยู่บนนี้ แล้วใจมันสงบเข้ามา สงบเข้ามาโดยที่ไม่เห็นตัวมัน ถ้าเห็นตัวมัน ตัวมันจะอยู่อย่างไร ตัวมันแสดงออกได้อย่างไร

น้ำ เห็นไหม น้ำในแก้ว ถ้าน้ำเต็มแก้วอยู่ ถ้าเราเข้าใจว่าแก้วเปล่า เราก็ว่าไม่มีน้ำ ถ้าเขาใส่สีไปมันจะเห็นน้ำ นี่ก็เหมือนกัน จิต จิตที่มันสงบเข้ามา สมดุลของมันขึ้นมา แล้วมันมีอะไรอยู่ มันตั้งอยู่บนอะไร ถ้ามันไม่มีตั้งอยู่บนอะไร มันจะแปรปรวนตลอดไป เห็นไหม สมาธิเสื่อมหมด ใครมีสมาธิขนาดไหนก็เสื่อมหมดถ้ารักษาไม่เป็น สมาธิมันจะอยู่คงที่ได้อย่างไร สมาธิไม่ใช่แร่ธาตุ ขนาดแร่ธาตุมันยังเป็นอนิจจังเลย

แล้วความรู้สึกอย่างนี้ ดูสิ เวลาเป็นสมาธิ เป็นบุญกุศล มันอนิจจัง แต่เวลามันทุกข์ขึ้นมา มันไม่อนิจจังสิ ทุกข์ขึ้นมา ดูสิ ความเจ็บ ความฝังใจตั้งแต่เด็กๆ คิดเมื่อไหร่ก็เจ็บเมื่อนั้น ใครลองโดนเขาติฉินนินทา ฝังใจมา คิดทีไรเจ็บทุกทีเลย ทำไมไม่เป็นอนิจจังล่ะ ทำไมไม่บอกให้เป็นอนิจจังบ้าง บอกสิไม่อยากคิด ไม่อยากเป็น ทำไมมันชอบล่ะ เพราะอะไร เพราะมันเข้าตัณหาทะยานอยาก มันเป็นกิเลสไง นี่กิเลสมันทำลายความสมดุลหมด กิเลสทำลายความสมดุลเพราะมันฝังอยู่ที่ใจ แล้วจะถอนมัน จะถอนมันอย่างไร จะเอากิเลส กิเลสทำเสียความสมดุลหมด

“กิเลสทำเสียสมดุล”

ความสมดุลโดยธรรมชาติ ดูสิ ร่างกายเราเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติที่ทุกคนเกิดมา อาการ ๓๒ แล้วมันเป็นธรรมชาติของมัน เกิดอุบัติเหตุไง เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เสียสมดุลมัน เสียไปหมดเลย ต้องมาปรับสมดุล กายภาพบำบัดขึ้นมาให้มันแข็งแรงขึ้นมา จิตก็เหมือนกัน พอจิตกระทบขึ้นมา มันรุนแรงขึ้นมา ดูสิ คนดีใจเสียใจขึ้นมา มันกระทบขึ้นมามันทุกข์ยากขนาดไหน

แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันกระทบ มันเป็นสิ่งที่ดี มันเอาธรรมะเข้าไปเกลี้ยกล่อมมัน เอาธรรมะเข้าไปปรับความสมดุลของมัน ถ้าปรับสมดุลของมันแล้ว ความสมดุลมีขนาดไหน มีสติ ถ้ามีสติ มีความเข้าใจ มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำว่า นี่เป็นสัมมาสมาธิ การปรับความสมดุลของใจ นี่สัมมาสมาธิปฏิเสธไม่ได้ ถ้าปฏิเสธสมาธิก็ปฏิเสธความสมดุลของใจ เหมือนนักกีฬาเลย นักกีฬา ถ้าปฏิเสธการฝึกซ้อม ปฏิเสธการฟื้นฟูร่างกาย นักกีฬานั้นจะแข่งขันกับใครก็แพ้ไปหมด นักกีฬาคนไหน เทคนิคดีขนาดไหน ถ้ามีการฝึกซ้อมที่ดี เขาจะดำรงตำแหน่งของเขาได้ตลอดไป

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปรับความสมดุลของใจของเรามาให้ดี เราจะมีโอกาสในการประพฤติปฏิบัติ มีโอกาสนะ ถ้าจิตเราไม่ปรับความสมดุลของใจเข้ามา มันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นความคิดของโลก มันเป็นความคิดเห็นของเรา มันเป็นโลกียปัญญา ตรึกในธรรมขนาดไหน มันก็ตรึก เห็นไหม วิตก วิจาร ปีติ...เอกัคคตารมณ์

วิตก วิจาร การตรึก การวิตก วิจาร มันก็เป็นองค์ฌานเท่านั้นเอง แล้วมันจะปฏิเสธองค์ฌาน ปฏิเสธสมาธิได้อย่างไร องค์ฌานเห็นไหม วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ มันก้าวเดินขึ้นไปอย่างไร จิตเวลามันพัฒนา นี่ความสมดุลที่ละเอียด หยาบ ละเอียด เข้าอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เวลาเข้าไปใน เนวสัญญานาสัญญา เห็นไหม สัญญาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่สัญญาก็ไม่ใช่ แต่มันจะเป็นความสมดุลอันละเอียด ความสมดุลอย่างนี้มันเป็นประโยชน์อะไร เพราะความสมดุลอย่างนี้มันเป็นฌานสมาบัติ

แต่ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิล่ะ สัมมาสมาธิถ้ามันมีกำลัง ถ้าเข้าสมาบัติ จิตรวมขนาดไหน จิตใครไม่เคยรวมไม่รู้จักคำว่า “รวม” จิตรวมกับสมาบัติเป็นอย่างไร ต่างกันอย่างไร มันต่างกันวิธีเข้า ต่างกันวิธีเข้า เวลาสมาบัติเห็นไหม เวลาเข้าสมาบัติ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เวลาเข้า-ออก เพื่อปรับกำลังของมัน แต่ถ้ากำหนดพุทโธ เป็นสัมมาสมาธิ กำหนดลมหายใจ อานาปานสติ กำหนดลม แล้วเวลาลมเริ่มเบาลง ลมเริ่มขาดลง ความรู้สึกดับหมด มันเป็นสักแต่ว่ารู้นี่มันเป็นอย่างไร

สิ่งที่เข้ามานี่มันเป็นการปรับสมดุลเท่านั้น แต่ความสมดุลนี้มันตั้งอยู่บนอะไร? ตั้งอยู่บนภพ ตั้งอยู่บนหัวใจถ้ามันไม่ได้แก้ไข ความสมดุลอันนี้อยู่ไม่ได้ ดูสิ ดูอย่างทางประวัติศาสตร์ ดูสิ อาณาจักรใดก็แล้วแต่ ล่มไปหมดแล้วเห็นไหม อาณาจักรขนาดไหนมันก็ต้องล่มไปเป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดจะคงที่ได้หรอก เป็นไปไม่ได้ เรื่องขนาดอาณาจักรต่างๆ มันยังต้องล่มเป็นธรรมดาเลย แล้วสมาธิ ความสมดุลของใจมันจะคงอยู่ได้อย่างไร มันจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันจะคลอนแคลนไปตลอดเวลา

นี่ไง สิ่งนี้เวลาที่เจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับอาฬารดาบส นี่สมถะ ในการเรียนสมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ สิ่งที่ได้จากอาฬารดาบส อุทกดาบส แต่สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่เราปฏิบัติ สมถกรรมฐาน มีสมถกรรมฐานเพราะมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาเป็นภาวนามยปัญญา

ถ้าเป็นภาวนามยปัญญาเห็นไหม ว่าต้องศึกษาจากพระโอษฐ์ ต้องศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ศึกษาธรรมะขึ้นมา ธรรมะไม่กลับมา โลกาจะวินาศ...ธรรมะมันกลับมาที่ไหน ในพระไตรปิฎก ในคอมพิวเตอร์มันมีมหาศาลทั้งนั้นแหละ มันสั่งสอนไปมันเป็นศีลธรรม จริยธรรม

แต่ถ้ามันเป็นหัวใจของธรรมเห็นไหม “หัวใจของธรรม” เพราะอะไร เพราะใจมันเป็นธรรม ถ้าใจเป็นธรรม ทำอย่างไรให้ใจเป็นธรรม ถ้าใจเป็นธรรม ถ้ามันปรับสมดุลอย่างนี้ มันเป็นธรรมหรือยัง ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมา เจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับอาฬารดาบสมาแล้ว เรียนสิ่งต่างๆ มาแล้ว มันเป็นธรรมหรือยัง แต่ถ้ามันไม่มีตัวหลักขึ้นมา ไม่มีสัมมาสมาธิ มันจะเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา มันจะเกิดตัวธรรมขึ้นมาได้อย่างไร

ถ้าตัวธรรม สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ งานชอบ เพียรชอบ งานชอบอย่างไร ถ้างานชอบ เราไม่เคยทำงาน เราไม่เคยไปงาน เราไม่เคยผ่านงานขึ้นมา งานอย่างไรจะเป็นงานชอบ งานชอบแล้วหาผลประโยชน์มาเป็นงานชอบใช่ไหม ถ้าหาผลประโยชน์มา หาผลประโยชน์มาเพื่อใคร? ก็หาผลประโยชน์มาเพื่อกิเลส

กิเลสคืออะไร? คือตัณหาความทะยานอยาก กิเลสคือความอยากใหญ่ กิเลสคือมันอยากเหยียบหัวคน แล้วมันอยากเหยียบหัวคนมันจะอยากเหยียบมาจากไหน? มันก็ต้องเหยียบจากหัวใจเราไปก่อน มันเหยียบหัวเราก่อน มันขี่หัวเราก่อน มันจะเหยียบย่ำหัวใจเราก่อน พอมันเหยียบย่ำหัวใจเราแล้ว นี่ไง มันเบียดเบียนตัวเราก่อนนะ เพราะเราคิดใช่ไหม เพราะมันต้องการ พอมันต้องการ เพราะมันเร้าใจ พอมันต้องการมันก็คิดวางแผน คิดต่างๆ ออกไป เพื่อจะไปเหยียบหัวคนอื่นเห็นไหม นี่มันเหยียบหัวเราก่อนนะ...สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับใคร? ไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย

แต่ถ้าเป็นธรรมมันจะอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนน้อมถ่อมตนเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันแสวงหามายาก แม้แต่ถ้ามาศึกษาธรรมนะ เวลาเป็นญาติกันโดยธรรม เวลาเกิดเราเป็นธรรมทายาท ธรรมทายาทเพราะอะไร เพราะเกิดมาแล้วมีปากมีท้องเหมือนกัน เราเกิดมาในวัฏฏะ เราไม่เคยเป็นญาติเป็นพี่น้องกันนี่ไม่มี คนที่เกิดที่ตายที่การเวียนตายเวียนเกิด ดูสิ ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติไปไม่มีต้นไม่มีปลาย มันเกิดตายๆ มาซับซ้อนมามากมหาศาล แล้วจิตเราเกิดขึ้นมา มันพิจารณาอย่างนี้แล้วมันเศร้าสลดไหม

ถ้ามันเศร้าสลด ทุกข์ยากไหม ที่มีชีวิตนี่ทุกข์ยากไหม แล้วจะมาทุกข์ซ้ำทุกข์ซากอีกไหม ถ้าไม่ทุกข์ซ้ำทุกข์ซาก ทางแก้มันอยู่ที่ไหน แล้วทำไมทางแก้มันมาตอนปัจจุบันนี้ในกึ่งพุทธกาลศาสนามันมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าเราไม่รีบแก้ไขตอนนี้ เราจะไปแก้ไขตอนไหน ดูสิ เวลาเราไปโรงพยาบาล โรงพยาบาลมีแต่โรงพยาบาลเปล่าๆ มีแต่ตึก ไม่มีหมอ ไม่มียาเลย เราไปเข้าโรงพยาบาลเราจะได้ประโยชน์อะไร

ศาสนานี้ถ้าไม่มีผู้ปฏิบัติ ไม่มีพระ ไม่มีผู้ทรงธรรม มันก็เหมือนโรงพยาบาลเปล่าๆ มีแต่โครงสร้าง โครงสร้างเฉยๆ แล้วหมอไปไหน ผู้รู้ไปไหน ธรรมะมันอยู่ที่ไหน ธรรมะมันอยู่ในตู้พระไตรปิฎก แล้วต่างคนต่างศึกษามา นี่พระปฏิบัติ พระของเราในโลกนี้เป็นพระอรหันต์หมดแล้ว แล้วเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาต้องศึกษาธรรมด้วยความเป็นจริง นี่พระอรหันต์อะไร เวลาแสดงธรรมมา แสดงธรรมมันฟ้อง แสดงธรรมมา เห็นไหม ธรรมะเป็นธรรมชาติๆ การเกิดการตายก็เป็นธรรมชาติ ชีวิตเราก็เป็นธรรมชาติ แล้วธรรมชาติทำไมไม่เป็นธรรมสักทีล่ะ ทำไมมันไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมเพราะเราเข้าไม่ถึงธรรม ถ้าไม่ถึงธรรม...

เพราะเข้าถึงธรรม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ต้องให้ลึกกว่านั้น จิตสงบแล้ว จิตมีหลักมีเกณฑ์แล้วตั้งสติไว้ ตั้งสติ ฝึกฝน ฝึกฝนจนชำนาญ แล้วเวลาฝึกฝนนะ สติ สมาธิมันรักษาได้ยาก เพราะอะไร เพราะสมาธิ แม้แต่ที่สงบสงัดเรายังหาได้ยากเลย ดูป่าเขาสิเขาทำลายกันหมดแล้วเดี๋ยวนี้จะไปวิเวกที่ไหนเขาก็ไม่ให้เข้าทั้งนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะเป็นที่เอกชน เป็นที่ของผู้มีเจ้าของดูแล นี่มันเป็นป่าเขา เมื่อก่อนป่าเขาทั้งนั้น ไปที่ไหนก็ไปสะดวกใช่ไหม

หัวใจเราก็เหมือนกัน หัวใจเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ สิ่งใดมันเป็นประโยชน์กับเรา ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรา เราเข้าใจอย่างไร เราเข้าใจว่าสถานที่ประพฤติปฏิบัติ สถานที่ของเรา ชัยภูมิคือหัวใจไง ชัยภูมิคือสติไง สถานที่สงัดๆ จากข้างนอก ข้างในสงัดไหม ถ้าข้างในสงัด ตั้งสติไว้ สู้มัน สู้กับกิเลส ปรับสมดุลมันให้ได้ ถ้าปรับสมดุลมัน รักษายากขนาดไหนใช้ปัญญาใคร่ครวญมัน ปัญญาใคร่ครวญกำหนดพุทโธๆๆ จิตมันสงบบ้าง ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จิตมันสงบบ้าง สงบบ้างก็ออกใช้ฝึกหัดปัญญา

ดูสิ ดูเขาทำไร่ไถนา เวลาเขาลงพืชพันธุ์ธัญญาหารของเขาไปแล้ว เขายังต้องเก็บวัชพืช เขาต้องดูแลแมลงต่างๆ ไม่ใช่เขาทำเสร็จเขาก็ทิ้งเลย แล้วเขาบอกว่าจะรอมาเก็บเกี่ยว นี่ก็เหมือนกัน ทำสมาธิ เวลาทำสมาธิ ทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมาบ้าง มันมีหลักมีเกณฑ์ เหมือนกับเราหว่านข้าว แล้วทำไมเราไม่ดูแลน้ำ ทำไมเราไม่ดูแลแมลงที่มันมาทำร้าย ไม่ดูวัชพืช ไม่ดูโรคของข้าว นี่ก็เหมือนกัน จิตมันสงบแล้ว จิตพอมีหลักมีเกณฑ์ก็หัดพิจารณา รักษามันไง ตั้งสติแล้วรักษาไป

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าเราเข้าใจเรื่องเหตุ ดูสิ ผู้ชำนาญนะ ผู้ที่เขาทำไร่ไถนาจนเขามีความชำนาญ เขาหว่านข้าวไป เขาจะดูแลของเขา เขาคำนวณได้เลย กี่วันลงปุ๋ย กี่วันกลับมาดูแลวัชพืช กี่วันเก็บเกี่ยวกี่วัน เขากำหนดวันได้เลยเพราะด้วยความชำนาญของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราตั้งสติ เราฝึกฝนของเรา เรามีความชำนาญของเรา เราฝึกจนเราชำนาญ พอชำนาญ ความชำนาญ “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าเรามีความชำนาญขึ้นมานี่รักษาตรงนี้ รักษาเหตุมัน รักษาทางนี้ ไม่ต้องไปรักษาที่สมาธิ รักษาที่เหตุ สมาธิมันอยู่กับเราตลอดไป ถ้าสมาธิอยู่กับเราตลอดไป จนมันมีความสุขนะ

กุศล-อกุศล ความคิดหมักหมมในหัวใจเป็นอกุศล ความคิดที่เป็นกุศล ความคิดที่เป็นคุณงามความดี ถ้าจิตมันมีสมาธิ มันเห็นคุณค่าไง เหมือนเรากินอาหาร อาหารที่เรากินเข้าไปแล้วมีประโยชน์กับร่างกาย สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์กับร่างกาย อาหารที่กินเข้าไปแล้วมันให้โทษกับร่างกาย เจ็บไข้ได้ป่วยเราก็รู้ นี่ก็เหมือนกัน กำหนดแล้ว ตั้งสติแล้ว มันผิดพลาดอย่างไร วันนี้ทำไมสมาธิมันลงไม่ได้ ทำไมวันนี้สมาธิลงได้ แล้วสมาธิลงแล้วเราจะรักษามันอย่างไร เดี๋ยวมันก็เสื่อมเห็นไหม ใช้ปัญญาฝึกฝนใคร่ครวญมัน ใคร่ครวญอย่างนี้

พิจารณากายก็เหมือนกัน พิจารณากาย พิจารณาอสุภะ พิจารณาต่างๆ เวลาพิจารณาอสุภะ คือว่าสิ่งที่มันเป็นอนิจจัง ผลของมันตอบมา มันก็คือสมถะนี่แหละ ผลตอบมามันคือความสงบของใจ สงบของใจไปเรื่อยๆ จนถ้ามันเห็นจริงนะ

เวลาหลวงปู่มั่นท่านพิจารณากายของท่าน ท่านพิจารณาต่างๆ ของท่าน พิจารณา เวลาจิตมันสงบเห็นนิมิตเข้าไป เข้าไปแล้วพอออกจากสมาธิมา มันก็เท่าเดิมๆๆ เพราะอะไร เพราะท่านปรารถนาเป็นพุทธภูมิ ท่านบอกท่านต้องลา จิตสงบเข้าไป สงบไปลาที่ต้นขั้วของใจ พอลาเสร็จแล้วออกมาพิจารณาใหม่ “อื้ม!” เห็นไหมมันต่างกัน

มันต่างกัน คือว่า ถ้าเราพิจารณาขึ้นมา จิตมันสงบ มันปล่อยวางเข้ามา เหมือนกับเราเข้าใจสิ่งต่างๆ มันก็มีความเข้าใจ ความเข้าใจเฉยๆ แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันมากกว่าความเข้าใจไง มันมีความเข้าใจ นิวรณธรรม ความวิตกกังวล มันจะจิตสงบไม่ได้หรอก พอความเข้าใจมันไม่มีความวิตกกังวล ไม่มีนิวรณ์ ถ้าไม่มีนิวรณ์ กำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ มันเป็นที่ว่าสิ่งที่ว่าจิตมันจะลง มันจะมีอาการของมัน อาการที่มันจะดิ่ง อาการที่มันจะตกจากที่สูง

แต่ถ้ามันไม่มีอาการ มันจะสงบไปเฉยๆ เราก็เข้าใจสงบเฉยๆ มันสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา นี่ไง นี่เรียกว่าสมดุล จิตมันสมดุลโดยธรรมชาติของมัน มันมีอยู่ในตัวเรานี้แล้ว แต่เวลาเราใช้ปกติชีวิตประจำวัน เราไปคิดเอง เราใช้ปัญญาของเราเอง เราใช้ของเราเอง เราออกกำลัง เราบริหารจัดการของเราเอง นี่ไงมันไม่เป็นสมดุลแล้ว เพราะมันออกมาเป็นความรู้สึก มันออกมาเป็นการสื่อสาร ออกเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์

แต่ถ้าตัวจิต มันเป็นตัวกำลังเฉยๆ ถ้ามันผ่านนี้เข้าไป มันก็เข้าไปถึงตัวจิต ทีนี้มันเข้าไปถึงตัวจิตขึ้นมา ถ้ามันไม่มีสติ ไม่มีการรักษา มันก็เป็นมิจฉาไง มิจฉาคือ...ดูสิ เหมือนคนเหม่อลอย เหมือนคนเหม่อลอยนะ มันเป็นสัญญาอารมณ์ เป็นสัญญาอารมณ์เลยแหละ เราสร้างอารมณ์ว่าง เราไปพอใจกับความว่างนั้น แต่จิตมันไม่ลงว่างจริง ถ้ามันลงว่างจริง มันสะเทือนมาก มันไม่เป็นอารมณ์ความรู้สึกโดยโลกไง โดยโลกคือโดยสามัญสำนึก มันจะเป็นจิตที่สงบ

พอเป็นจิตที่สงบขึ้นมา มันมีพื้นฐานขึ้นมาแล้วเราน้อมออกไปหากาย เราน้อมออกไปหากาย ถ้าเราน้อมออกไปหากายมันจะเห็นสภาวะของกาย มันสะเทือนมาก สะเทือน โดยผู้ที่ไม่มีความชำนาญมันก็จะหลุดไม้หลุดมือ หมายถึงจิตมันจับไม่ได้ ถ้ามันจับไม่ได้ กลับมาที่สงบอีก นี่การประพฤติปฏิบัติเริ่มต้น นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้ ที่ว่าวิปัสสนา วิปัสสนากัน

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดที่นี่ เกิดที่รู้จริง เห็นจริง เกิดที่มันเป็นความจริง มันไปถอดถอนอุปาทาน มันไปถอดถอนสังโยชน์ที่ปักอยู่กลางหัวใจ ศรที่มันปักอยู่กลางใจ

ดูสิ ดูว่าความสมดุลมันตั้งอยู่บนอะไร ความสมดุลมันตั้งอยู่ไม่ได้ มันแปรสภาพ มันไม่มีอะไรคงที่ มันไม่มีสิ่งใด ปฏิสนธิจิต จิตเวียนตายเวียนเกิดมันเป็นธรรมชาติของมันนะ เวลาคนตาย เวลาตายขึ้นมาแม้แต่เราเอง เราตายเรายังไม่รู้ตัวว่าตายเลย พอจิตหดตัวเข้ามาแล้วออกจากร่าง ไม่รู้หรอก ไปเกิดในภพใหม่ ยังไม่รู้ว่าใครเป็นใครเลย ไม่รู้ ต้องให้คนอื่นบอกนะ

แต่เวลาถ้าเรามีสติของเรานี่เรารู้ของเราหมด เพราะอะไร เพราะเราจะแก้ไขนะ สิ่งที่เราจะแก้ไข พอรู้ จิตมันสงบเข้ามา แล้วมันก็เห็นผิด เห็นกายแล้วมันหลุดไม้หลุดมือไป เห็นกายแล้วหลุดมือไป เห็นกายแวบเดียว กลับมาที่พุทโธๆ พิจารณากายก็ได้ พิจารณาเวทนาก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาธรรมก็ได้ การพิจารณา ถ้าพิจารณาจิตมันใช้ปัญญา ใคร่ครวญ พิจารณากายว่าจิตนี้มันคืออะไร

จิตนี้มันอยู่บนร่างกาย จิตอยู่ในกายนี้เพราะเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์มีร่างกายบีบคั้น ร่างกายนี่บีบคั้น ร่างกายนี่ต้องการอาหาร กวฬิงการาหาร อาหารคำข้าวของมนุษย์ อาหารคำข้าวของสัตว์เดรัจฉาน อาหารคำข้าวของเทวดา อาหารคำข้าวของพรหม มโนสัญเจตนาหาร อาหารสื่อวัฏฏะ มโนสัญเจตนาหาร ตัวภพ ตัวจิต จิตที่มันครอบจักรวาล สิ่งครอบจักรวาลน่ะ โลกนี้มีเพราะมีเรา เพราะมีตัวจิต ตัวจิตตัวสื่อสารเป็นสมมุติบัญญัติ

แต่ถ้ามันพ้นออกไปแล้ว จิตเวลามันพ้นออกไป มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ มโนก็ต้องทำลาย มันทิ้งการสัมผัส มโนมีความสัมผัส มีอารมณ์ความรู้สึก มันพิจารณาของมันมา จิตมันมีความสัมผัส มีความรู้สึก มันพิจารณาของมัน เพราะมันจับได้ พอมันวิปัสสนาขึ้นมา มันถึงเป็นวิปัสสนา เพราะมันจับได้ มันเห็นได้

มันเหมือนทางการทดลองทางวิทยาศาสตร์ การทดลองในห้องแล็บ เขาทดสอบสิ่งใดเขามีเครื่องมือของเขา นี่ก็เหมือนกัน มันต้องมีกาย เวทนา จิต ธรรม นี่มันเป็นตัวสื่อ ตัวสื่อที่จะทดสอบ ทดสอบเพราะอะไร เพราะจิตมันผ่านตรงนี้ไง จิตมันผ่านกาย เวทนา จิต ธรรม ตัวจิตผ่านด้วยอะไร? ด้วยอวิชชา อวิชชามันผ่านสิ่งนี้มาโดยสามัญสำนึกของมนุษย์ โดยสิ่งที่มีอยู่ พระพุทธเจ้าให้วิปัสสนาสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่มีอยู่เพราะว่าจิตมันแสดงออกจากสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรมเท่านั้นที่อวิชชาเอาสิ่งนี้เป็นที่แสดงออกของมัน แสดงออกโดยอะไร? มันแสดงโดยอวิชชา แสดงออกโดยที่มันไม่รู้ตัว

แต่ถ้าเราปรับสมดุล แล้วมีสติ มันมีวิชชา มีปัญญาของเรามันย้อนกลับ มันทวนกระแสเข้าไหม มันจับแล้วมันแยกใช่ไหม นี่สภาวะกายที่เป็นอย่างนี้ ดูสิ โดยวิทยาศาสตร์ โดยธรรมชาติ คนเราตายไปแล้ว ดูสิ สัตว์ถ้าฆ่ามันแล้วถ้าเก็บไว้ไม่ได้แช่แข็งมันต้องเน่าเปื่อยเป็นธรรมดา แต่มันใช้เวลาของมันเท่าไหร่ นี่ก็เหมือนกัน มนุษย์เราก็เหมือนกัน ถ้าตายแล้วต้องเก็บศพไว้ ไม่เก็บศพไว้ มันก็จะเน่าจะเสียเป็นธรรมดา อันนี้เป็นธรรมดา แต่มันไม่มีจิต พอตาย จิตออกจากร่าง มันไม่เป็นประโยชน์กับมันแล้ว

แต่เรายังมีชีวิตอยู่ พอจิตสงบเข้ามา เวลาพิจารณากาย พิจารณากายมันเป็นปัจจุบันธรรม มันเป็นสภาวธรรม สภาวธรรมเห็นไหม สภาวธรรมคือสภาวะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมคือการต่อสู้ สภาวธรรมคือการแก้ไข สภาวธรรมคือสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่การกระทำ การบริหารจัดการ นี่คือสภาวะสิ่งที่มีอยู่ ที่จับต้อง

แต่เวลามันสำเร็จไปแล้ว มันขาดไปแล้ว ไม่ใช่สภาวธรรม เป็นตัวธรรม ตัวธรรมไม่เป็นสภาวะ โสดาบันเอาโสดาบันพูดออกมาอย่างไร โสดาบันจะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทา เป็นอนาคา นี่เวลาครูบาอาจารย์เขาตรวจสอบกัน “ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” สิ่งที่มันเป็นไป มันเป็นไปอย่างไร การกระทำอย่างไร แต่ผลน่ะ ผลเหมือนกัน ถ้าพูดถึงผลผิด สรุปไม่เป็น เป็นไปไม่ได้ จบโครงการไม่ได้ไง

ดูสิ ดูการแข่งกีฬา ถ้าไม่มีการแพ้ชนะ มันจะจบสิ้นกระบวนการที่ไหน มันจะจบสิ้นกระบวนการไปไม่ได้ สิ่งนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเป็นสภาวะ มันเป็นสภาวะเพราะคือการกระทำ มันเป็นสภาวะเพราะเราบริหารจัดการไง มันต้องเป็นสภาวะ สิ่งที่การกระทำมันมีเหตุมีผล นี่คือสภาวะ สภาวะคือการกระทำของจิต จิตที่ไม่มีการกระทำไป ถ้าเป็นสภาวะอยู่มันยังไม่เป็นธรรม เพราะมันเป็น “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” สภาวะนี้มันเปลี่ยนแปลงไง ดูสิ สิ่งที่มันเปลี่ยนแปลง ความสมดุลมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

จิตมันทำเสียสมดุล พอเราปรับสมดุลขึ้นมาได้ กิเลสมันทำเสียสมดุลอีกชั้นหนึ่ง พอกิเลสทำเสียสมดุลปั๊บ เราแก้ไขมันจนทำลายมัน ทำลาย เห็นไหม สิ่งที่มันไปยึดมั่นถือมั่นคืออะไร? สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นคืออวิชชา สิ่งที่อวิชชา อวิชชาอย่างหยาบนะ สักกายทิฏฐิความเห็นผิด เห็นผิดทุกอย่าง โดยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยธรรมของครูบาอาจารย์ นี่มันก็ไม่ใช่เรา ก็รู้ไม่ใช่เรา...“รู้ ไม่ใช่เรา” ทางวิชาการ แต่หัวใจมันไม่ปล่อย หัวใจมันไม่ปล่อย

นี่ไง พระปฏิบัติมันจะรู้จริงอย่างนี้ มันจะรู้จริงต่อเมื่อมันปล่อย รู้จริงต่อเมื่อมันทำลายมัน มันมีการทำลายกัน มีการทำลายสภาวะอันนั้น มีการทำลายความสมดุลอันนั้น ความสมดุลที่มันสงบ ความสมดุลนั่นคือสถานที่ทำงาน ความสมดุลนั่นคือตัวจิต ความสมดุลนั่นคือตัวสมาธิ

ตัวสมาธิ สมาธิมันเกิดที่ไหน จิตเป็นสมาธิกับจิตไม่เป็นสมาธิต่างกันอย่างไร ถ้าจิตเป็นสมาธิ มันเป็นสมาธิแล้วมันเป็นสมถะ เป็นสถานที่ตั้ง มันควรแก่การงาน...ก็ตัวมันเห็นกาย ตัวจิตนี่เห็นกาย ตัวจิตนี่เห็นเวทนา ตัวจิตนี่เห็นธรรม ตัวจิตเห็นจิต เห็นไหม ความสภาวะที่จิตเห็น เพราะจิตมันโง่ จิตมันมีสังโยชน์ร้อยรัดกับมัน ร้อยรัดอะไร? ร้อยรัดตัณหาความทะยานอยาก ร้อยรัดสมุทัย ร้อยรัดเรื่องของโลก สิ่งที่เป็นสมมุติบัญญัติ มันร้อยรัดอยู่ ร้อยรัดเพราะโดยข้อมูลสามัญสำนึก ร้อยรัดจนเป็นจริตนิสัยนะ ดูสิ คนเกิดคนตายขึ้นมา ภพชาติมันต่างๆ กัน มันจริตนิสัยเพราะมันสะสมมา ซับซ้อนๆ จนจิตเป็นนิสัยอย่างนั้น นิสัยอย่างนั้นเวลาแสดงออก แสดงออกอย่างนั้นไง

โทสจริต โมหจริต ราคจริต จริตมันแสดงออกของมันออกมา แล้วเวลาแก้ไขขึ้นมา ธรรมะที่แก้ไขเข้าไปมันก็ต้องสมดุลกับมัน ต้องสมดุลที่เข้าไปแก้ไขกับมัน ถ้าแก้ไขกับมัน สิ่งที่แก้ไขนี่ธรรมของเราเราสร้างอย่างไร ถ้าเป็นโทสจริต ต้องมีเมตตา ต้องมีปัญญาใคร่ครวญกับมัน ต่อสู้กับมัน เพราะมันเป็นปัญญา สิ่งที่เป็นปัญญาเห็นไหม แต่ถ้าเป็นโลภจริต ความเชื่อได้เชื่อไม่ได้ เราก็กำหนดตั้งใจ มีศรัทธา ศรัทธาสู้กับมัน สู้กับมันนะ นี่งานของเรา

สำนักปฏิบัติ เราอยู่ในสำนักที่ปฏิบัติ จะบำเพ็ญประพฤติพรหมจรรย์ เราต้องต่อสู้ พรหมจรรย์มันอยู่ที่ไหน? พรหมจรรย์อยู่ที่เรานะ พรหมจรรย์มันอยู่ที่ใจ พรหมจรรย์นี้ปฏิบัติเพื่อใคร ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเป็นอาจารย์ใคร ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะแก้ทิฏฐิมาของใคร มันปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้ง ปฏิบัติเพื่อแก้กิเลสของเรา ถ้ามันไม่แก้กิเลสของเราก่อน มันจะไปแก้กิเลสของใคร ถ้าพรหมจรรย์นี้ปฏิบัติเพื่อสิ่งต่างๆ เพื่อให้เขานบนอบให้เขานับถือนะ เห็นไหม มันจะสมดุลได้อย่างไรล่ะ จิตมันก็ไม่สมดุลสิ พอจิตมันไม่สมดุลขึ้นมา ความเห็นต่างๆ ปัญญาต่างๆ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มันก็เป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยากไปทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้ามันเป็นความสมดุลของมัน มันละเอียดอ่อน แม้แต่สมาธิ เวลามันเป็นสมาธินะ ถ้ารวมใหญ่ คนไม่เคยรวมใหญ่ คนไม่เข้าใจจะไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลย คิดว่าเป็นนิพพานไปหมดล่ะ

แต่ถ้าคนเข้าถึงสัจธรรมแล้ว สิ่งที่มันเป็นไป มันเป็นไปได้ จิตคนไม่เหมือนกัน บางคนจะรวมลงลึกมาก บางคนจะเป็นสมาธิ แม้แต่สมาธิปกติ ขณิกสมาธิ สมาธิที่เรารับรู้ ถ้าเป็นปัญญาวิมุติเห็นไหม มันเป็นการปล่อยวางของใจ ตาสว่างอยู่อย่างนี้ รับรู้อยู่อย่างนี้ แต่ปัญญามันลึกซึ้ง มันเห็นของมัน มันจับต้องของมัน ความรู้สึก ความคิดมันเหมือนวัตถุอันหนึ่ง อารมณ์ความรู้สึก ธาตุรู้เวลาลึกๆ เข้าไป เวลาธาตุรู้ ธาตุที่มันมีความรู้สึกมันเป็นสสารเลยล่ะ ความคิดนี่มันเป็นสสารที่จับต้องได้เลย

เอาอะไรไปจับต้องมัน? เอาจิตจับจิต เอาปัญญาจับปัญญาไง เอาปัญญาโลกุตตรปัญญา เอาปัญญาภาวนามยปัญญา มาจับโลกียปัญญา มาจับสิ่งที่มันเป็นสังขาร ความคิด ความปรุงความแต่งที่กิเลสมันใช้ประโยชน์ของมันอยู่นี่ แล้วเราตั้งสติของเรา พอจิตสงบเข้าไปมันก็เป็นตัวจิต เป็นตัวความสมดุลอันนั้น แล้วเอาความสมดุลอันนั้นจับตัวมัน จับความคิดแล้วแยกแยะมัน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความคิดประกอบไปด้วยขันธ์ ๕ ถ้าไม่มีขันธ์ ๕ เห็นไหม มันเป็นกองเลย ส่วนผสมของมันเป็นอย่างไร แล้วมันออกมาเป็นความคิดเราได้อย่างไร ถ้าเวลาออกเป็นความคิดแล้วมันคิดออกมา ใครเป็นคนเริ่มต้นสิ่งนี้ออกมา

เพราะมันหลง เพราะมันเป็นอวิชชา มันเลยเป็นความคิดที่ยึดมั่น ความคิดที่ทำให้สมดุลเราเสียหาย ความคิดที่ให้จิตใจมันเสียหาย แต่ถ้ามันเป็นธรรม มันคิดแล้วมันเห็นโทษไง เห็นโทษของความคิด โทษของความคิด

ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ ขันธ์ ๕ ที่สะอาดบริสุทธิ์ ขันธ์ ๕ “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” ขันธ์ที่เป็นภาระ มันเป็นขันธ์ล้วนๆ มันไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ขันธมาร สิ่งที่เราเป็นนี่ปุถุชน ขันธมาร ความคิดมันเป็นมาร ความรับรู้มันเป็นมาร มันเป็นมารทั้งหมดเลย พอเป็นมารขึ้นมา เพราะมันเป็นมารใช่ไหม มันถึงให้ทุกข์เราใช่ไหม พอให้ทุกข์เรา เราศึกษาธรรมขึ้นมา พอมันเห็นธรรมะ นี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เหมือนไปหาหมอ หมอฉีดยาขึ้นมาแล้วก็ เออ หายๆ แล้วมันหายไหม ถ้ามันหายมันตายทำไม

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันปรับสมดุลมันหายไหม มันหาย มันปรับสมดุลเฉยๆ มันไม่หายหรอก มันเกิดมันตาย หมอรักษาไม่ได้ เพราะหมอรักษาโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น แต่ธรรมะนี่มันรักษาใจ มันไม่ตาย กิเลสตายจากใจ มันจะไม่ตายอีกเลยเห็นไหม ธรรมโอสถมันถอน ถอนสังโยชน์ มันถอนถึงอวิชชา ถ้าอวิชชามันถอนขึ้นมา นี่ธรรมโอสถที่เกิดขึ้นมา เรารักษามันขึ้นมา รักษาแล้วมันไม่เกิดไม่ตายอีกเลย มันถอน มันถึงย้อนกลับเข้ามา แล้วถอนมันให้ได้ ใช้มรรคญาณ ใช้สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเรา มันเกิดขึ้นเกิดมีได้

มรรคไปหาที่ไหน สมาธิไปหาที่ไหน ปัญญาไปหาที่ไหน

ดูสิ เขาไปศึกษาเล่าเรียนกันทางวิชาการ ศึกษามาขนาดไหน เดี๋ยวก็เผลอ เดี๋ยวก็ลืม ต้องคอยทบทวนตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นอริยสัจมันจะลืมไหม สิ่งที่เรา...ดูสิ เวลากิเลสขาดดั่งแขนขาด ดั่งแขนขาดเลย แต่นี่มันดั่งแขนขาดเมื่อไร เราไม่แขนขาด มันแค่รวมเฉยๆ มันแค่ความเข้าใจเฉยๆ พอมันเข้าใจนี่เป็นตทังคปหาน ตทังคปหานนี่ปรับสมดุล มันมีเข้าใจมันก็ปรับสมดุลๆ ปรับสมดุลไปเรื่อยๆ เห็นไหม แล้วปัญญาเราก็ละเอียดไล่เข้าไปเรื่อยๆ มันละเอียดเข้าไปเรื่อย มันถอนได้ ถอนได้ถ้ามันเริ่มต้น

ดูสิ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นได้ทั้งสมถะ ได้ทั้งวิปัสสนา ขณะที่เราทำสมาธิของเรา เราทำฐานของเรา เราปรับความสมดุลของเรา เราก็ใช้ปัญญาของเรา เพราะใช้ปัญญาของเรา ถ้าเรากำหนดพุทโธๆๆ นี่มันอันหนึ่ง เราพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาอายตนะ พิจารณาธาตุ พิจารณาขันธ์ พิจารณาไปแล้วมีความเข้าใจมันก็ปล่อย นี่ก็ปรับสมดุลอันหนึ่ง ปรับสมดุลด้วยทางปัญญาไง มันถึงใช้ปัญญาได้

แต่เราใช้ปัญญา เราต้องรู้ว่าเราไปใช้ปัญญาเพื่ออะไร เราใช้ปัญญาทำอย่างไร เราถึงไม่ได้ตั้งเป้าผิด ถ้าเราตั้งเป้าผิด เห็นไหม ดูเข็มทิศเราเดินป่าสิ ถ้าเข็มทิศมันเสีย เข็มทิศมันตั้งผิด เราจะเดินป่าได้อย่างไร เราก็หลงอยู่ในป่านั่นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เรารับรู้ ปฏิบัติไปมันจะรู้เอง สิ่งใดที่มันสะเทือนหัวใจ สิ่งใดที่มันถอนออกมาจากใจ มันถอนออกๆ เวลามันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนที่พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่ภาวนามยปัญญา ใครเห็นภาวนามยปัญญาโดยสมบูรณ์ คนๆ นั้นต้องเป็นโสดาบันอย่างต่ำ เพราะสิ่งที่ทำไปมันเป็นจินตมยปัญญา ปัญญามันศึกษา มันใคร่ครวญเข้าไป เวลาธรรมะที่จะเป็นไป เหมือนช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น

แต่ขณะที่เราสร้างขึ้นมา สมาธิก็ต้องสร้างขึ้นมา เก็บหอมรอมริบขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญา เก็บหอมรอมริบ ปัญญาก็หมั่นฝึกหมั่นฝน หมั่นฝึกซ้อม ฝึกซ้อมบ่อยครั้งเข้าจนมันชำนาญการบ่อยครั้งเข้าๆ ถึงที่สุดนะ ไม่มีใครจะไปคาดหมายสิ่งใดๆ ได้ มีการคาดการหมายเห็นไหม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม กับผู้ใดปฏิบัติธรรมด้นเดาธรรม คาดหมายธรรม ผู้คาด ผู้หมาย ผู้ต้องการจะไม่ได้อะไรเลย

แต่ถ้าหน้าที่ของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเราด้วยกำลังของเรา ด้วยความจริงใจของเรา มันทำไปมันเป็นปัจจุบันธรรม ไม่มีใครคาดหมายได้ มันจะเกิดตอนไหนก็ไม่รู้ มันจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่หน้าที่ของเรา สร้างสติปัญญาแล้วใคร่ครวญมันบ่อยครั้งๆ ถึงที่สุดมันสมดุลกัน มัชฌิมาปฏิปทา มรรคญาณมันเห็นของมัน ขาดพั๊บ! กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกออกจากกันโดยธรรมชาติเลย เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์

กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทำไมจิตเป็นจิตล่ะ แล้วสิ่งที่เป็นธรรมที่มันรู้ออกมา จิตกับสิ่งที่เป็นธรรมมันแยกกันอย่างไร มันปล่อยจิตอย่างไรมันถึงปล่อยออกมาได้ พอปล่อยออกมาได้ นี่ไงไม่ใช่สภาวะ สิ่งนี้ไม่ใช่สภาวะเลย สิ่งนี้เป็นความจริง

ที่ว่า ธรรมที่มันเหนือธรรมชาติไง ถ้ามันเป็นสภาวะ มันเป็นความสมดุลของจิต มันจะคงที่ได้อย่างไร สิ่งใดๆ ในโลกนี้ไม่มีอะไรคงที่ คงที่ไม่มี นี่ปรมัตถธรรมเห็นไหม ปรมัตถธรรม สิ่งที่คงที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่มี แต่ธรรมะมี ถ้าธรรมะไม่มีความ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีความเป็นไปของมัน มันจะฆ่ากิเลสไม่ได้ ๙๙.๙๙ ก็ไม่ได้ ถ้า ๙๙.๙๙ มันมรรคไม่สามัคคีชำระกิเลสไม่ได้ ถ้าชำระกิเลสไม่ได้มันก็เป็นไปไม่ได้ มันถึงต้องทำด้วยการไม่คาดหมาย ถ้าการคาดการหมายนั่นคือกิเลส นั่นคือกิเลสทำเสียสมดุล กิเลสในใจมันทำให้ความเสียสมดุล ความเสียสมดุลมันก็ว่าความเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาในขั้นของสมาธิมันทำเสียหายมาตลอดเลย

แล้วเราก็ฝึกซ้อมๆ การกระทำฝึกซ้อมของเรามันเป็นการต่อสู้ มันเป็นการฝึกหัด มันเป็นบททดสอบนะ ลองผิดลองถูก ทดสอบๆๆ สิ่งใดมันผิดต้องทดสอบมันบ่อยครั้งเข้าๆ ต้องทดสอบมันตลอดเวลา ทดสอบเพื่อใคร? ทดสอบเพื่อให้จิตนี้มันฉลาดขึ้นมา ให้จิตมันเข้มแข็งขึ้นมา อย่าให้เป็นทาสของมาร มารข่มขี่นะ นี่เกิดตาย เกิดตายเพราะใคร อวิชชาร้ายกาจนัก มันทำให้เราเกิดตายๆ อยู่นี่นะ แล้วเราศึกษาธรรม ธรรมะเจริญ เจริญที่ไหน เจริญที่วัตถุเหรอ เจริญที่สังคม...ไม่ใช่ มันเจริญที่ในหัวใจของเรา

ดูสิ ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาทั้งชีวิตเลย หลงผิดไปก็มี ภาวนาผิดไปก็มี ภาวนาลุ่มๆ ดอนๆ ก็มี ภาวนาไม่ถึงที่สุดก็มี นี่มันเจริญที่ไหนล่ะ? มันเจริญตรงความจริง เจริญตรงหัวใจ เจริญตรงที่ผู้รู้จริง ศาสนามันจะเจริญในหัวใจของสัตว์โลกนะ เจริญในครูบาอาจารย์ของเรา เจริญในหัวใจของเรา แล้วมันก็มีสิทธิเจริญในหัวใจของเราได้เพราะอะไร เพราะหัวใจเป็นนามธรรม หัวใจเป็นสิ่งที่รับรู้ ความรู้สุข รู้ทุกข์ ความรู้สุขรู้ทุกข์สิ่งนี้มันแก้ไขได้

ถ้าไม่รู้สุขรู้ทุกข์มันจะแก้ไขอย่างไร “ทุกข์ควรตัวกำหนด” กำหนดอย่างไร ถ้าไม่มีสมาธิกำหนดไม่ได้ ดูสิ เขาคร่ำครวญร่ำร้องกัน ทุกข์ยากขนาดไหน เขาเห็นทุกข์ที่ไหน ถ้าเขาเห็นทุกข์ ทำไมเขาไม่ถอนทุกข์ของเขาออกไป เขาคร่ำครวญกันในโลกเห็นไหม ทุกข์ยากกัน คร่ำครวญเรียกร้องให้คนช่วยเหลือนะ ร้องไห้จนน้ำตาท่วมทุ่งเลย มันเห็นทุกข์มันหรือเปล่า มันทุกข์เพราะมาร้องไห้ใช่ไหม นั่นมันเป็นวิบาก มันผลของทุกข์

แต่ถ้าจิตเราสงบขึ้นมานะ จิตสงบขึ้นมา มันเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม นี่ตัวทุกข์ “ทุกข์ควรกำหนด” ถ้ากำหนดไม่ได้เป้าหมายไม่มี จะชำระได้อย่างไร เราจะถอนสังโยชน์ได้อย่างไร ถ้าเราไม่รู้จักเป้าหมายของมัน ถ้าเราไม่เห็นที่ของมัน สถานที่ของมัน การกระทำของมัน มันจะถอนทุกข์ได้อย่างไร

“ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ” สมุทัยคือการคาดหมายไง คาดหมายจะเป็นอย่างนั้น คาดหมายจะเป็นอย่างนี้ กำหนดแล้วจะว่างอย่างนั้น จะปล่อยอย่างนั้น ครูบาอาจารย์องค์นั้นท่านทำอย่างนี้

ครูบาอาจารย์ท่านทำของท่าน เราศึกษาของท่าน นั่นเป็นวิทยานิพนธ์นะ เป็นประสบการณ์ของท่าน เป็นประสบการณ์ของในภาคปฏิบัติ เราศึกษามาเป็นแนวทาง แต่การกระทำของเรานี่ถ้าเหมือน ถ้ามันเหมือนก็ต้องเหมือนในปัจจุบัน ถ้าเหมือนนะ ถ้าเหมือนกันก็คือเหมือน ถ้าเหมือนหมายถึงว่ามันคนละกาลคนละเวลา แต่ความเป็นไปของเรามันจะเหมือนเอง แต่ถ้าเราไปสัญญา เราไม่ใช่ “ถ้าเหมือน” เราไปให้มันเหมือน เราบอก ถ้าไม่เหมือนมันผิด ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้มันเป็นการผิดพลาด ต้องทำอย่างนั้น...นี่ผิดหมดเลย มันเป็นกรอบไง

ดูสิ เราทำงานด้วยความเกร็ง เราทำงานด้วยความตั้งใจของเรา มันจะเป็นไปได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้เลย แต่เราทำด้วยความชำนาญของเรา ดูสิ คนที่ชำนาญการทำอะไร ทำเหมือนไม่ทำนะ ทำไปเป็นปกติธรรมดา แต่ถ้าคนไม่เป็นไปทำนะ โอ้โฮ! มันเกร็งไปหมดเลย แล้วใจมันละเอียดกว่านั้นอีก สิ่งที่มันมีอยู่กับเรา ทุกข์มันมีอยู่ที่นี่ ใจมันอยู่ที่นี่ ความเป็นไปอยู่ที่นี่ สิ่งการกระทำมันถึงกลับมาที่นี่

เรามีหัวใจทุกๆ คน ศาสนามันจะเจริญขึ้นมาได้เห็นไหม ศรัทธา ถ้ามีศรัทธาขึ้นมา มันจะลากให้เราเข้ามาประพฤติปฏิบัติ ลากเข้ามาให้เราศึกษาธรรม ศึกษาธรรมนะ ธรรมโอสถ ธรรมโอสถนั่นเป็นทฤษฎี เป็นฉลากยา แต่เนื้อยาเราผสมไม่เป็น แล้วเราเอายาอะไรมากิน ฉลากยาบอกวิธีการเห็นไหม มรรค ๘ ศีล สมาธิ ปัญญา งานชอบ เพียรชอบ

แล้วงานชอบ งานชอบก็แบกหามสิ งานชอบก็อยากเห็นทุกข์ แบกหินขึ้นเขาลงเขา อยากเห็นทุกข์ นี่นักปฏิบัติโง่ๆ อย่างนี้ก็มีนะ มามาก พระมาถาม อยากเห็นทุกข์มาก ไม่รู้จักทุกข์ก็แบกก้อนหินขึ้นเขาลงเขาจะเห็นทุกข์ ถ้าแบกทุกข์อย่างนี้นะ กรรมกรท่าเรือเป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว

ทุกข์มันอยู่ที่ใจ ทุกข์อันละเอียด ทุกข์ สิ่งที่เป็นตัวทุกข์ “ทุกข์ควรกำหนด” มันไม่ใช่ทุกข์เพราะอาบเหงื่อต่างน้ำ ดูสิ ดูพวกนักบริหารเขาต้องออกกำลังกาย เขาไปออกกำลังกายเขาเป็นทุกข์ไหม เขาเหงื่อไหลไคลย้อยเลย แต่เขาพอใจ เขาอยากทำ เพราะร่างกายเขาแข็งแรง แล้วเราคิดว่าอาบเหงื่อต่างน้ำนี่มันจะเป็นทุกข์เหรอ เขาบริหารร่างกายของเขา มันก็อาบเหงื่อต่างน้ำนะ อาบเหงื่อต่างน้ำมันเป็นความดีของเขา ไม่ใช่ความทุกข์ เป็นความชื่นใจของเขา เป็นเห็นประโยชน์ของเขา

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่จะเป็นทุกข์ มันทุกข์ที่จิต มันทุกข์ที่นี่ ดูสิ มีความรื่นเริงอาจหาญ นั่งกันสนุกครึกครื้น แต่หัวใจมันเศร้าหมอง สิ่งในหัวใจมันเหยียบย่ำหัวใจอยู่ใช่ไหม หน้าตาชื่นบานนะแต่หัวใจเศร้าหมอง แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราย้อนกลับๆ เราย้อนกลับที่นี่ เราถึงต้องแยกออกนะ อย่าคลุกคลี การมาอยู่ด้วยกัน อย่าคลุกคลี การคลุกคลีต่างๆ มันกิเลสออกช่องนั้นน่ะ กิเลสมันจะออกในการคลุกคลี มันนอนใจไง

นอนใจไม่ได้นะ ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ต้องตื่นตัว การตื่นตัวคือสติ เพราะการไม่ตื่นตัวน่ะสติมันถึงอ่อนลง การตื่นตัวของเรา ดูสิ เราไปอยู่ในป่า เรากลัวเสือกลัวต่างๆ นี่มันตื่นตัวตลอดเวลา การตื่นตัวตลอดเวลา กลัวโน่น กลัวผี กลัวสางนี่มันตื่นตัว การกำหนดพุทโธมันง่ายขึ้นมาเห็นไหม แต่เราไม่เห็นคุณของมัน คิดว่า อุ๊ย ไปอยู่ในที่กลัว มันไม่เป็นประโยชน์ ก้าวออกจากกุฏิ ก้าวออกจากบ้านไปไม่กล้าทำอะไรเลย แต่ไปอยู่ในบ้านเก่งมาก

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันตั้งสติอยู่ มันตื่นตัวตลอดเวลา สิ่งนี้มันจะฝึกเรา

การเหยียด การคู้มีสติบอก มีสติตลอด แล้วเวลาเข้าทางจงกรมนั่งสมาธิภาวนา หมั่นเพียรขึ้นไป เดินจงกรมตั้งสติไว้ มันจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไป อย่าไปคาดหมาย ให้มันเป็นไปตามความเป็นจริง ถ้าเป็นตามความเป็นจริง กิเลสมันจะเข้าไม่ได้ ถ้ากิเลสมันเข้าขึ้นมานะ มันทำให้บัลลังก์เราหลุดหมดเลย นั่งอยู่สมาธิก็เลิก เดินจงกรมอยู่ก็บอกเอาไว้ก่อน พักไว้ เอาไว้ทำเมื่อนั้นเมื่อนี้ ผัดวันประกันพรุ่ง เพราะมันไม่เห็นประโยชน์

แต่ถ้าใครประพฤติปฏิบัตินะ เขาเรียกภาวนาเป็น ถ้าภาวนาเป็นจะขยันหมั่นเพียรมาก นิพพานอยู่แค่มือเอื้อม มันจะหยิบเอานิพพานได้เลย กำหนดวันกิเลสตายด้วย เมื่อนั้นๆ เลย กำหนดเวลาเลยกิเลสตาย แต่ไม่ได้อย่างนั้นหรอก เพียงแต่ด้วยความฮึกเหิม ด้วยความมุ่งมั่น กำหนดเลยว่า วันนั้น ต้องกำหนดให้ได้ ต้องทำให้ได้ แต่ก็ไม่เคยได้ แต่ขยันหมั่นเพียรไป ถึงที่สุดมันต้องเป็นไป

มันเป็นไป เพราะภาวนาเป็นแล้ว ภาวนาเป็น คนทำงานเป็น เริ่มต้นตั้งแต่วิปัสสนาไป จนกายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกออกแล้วนี่หมั่นเพียรเลย ขึ้นไป พอแยกขึ้นไป กายอย่างหยาบ กายอย่างกลาง กายอย่างละเอียด พอถึงที่สุดแล้วจิตล้วนๆ ไม่มีกาย แต่ถ้าพิจารณากายมันก็คิดสร้างภาพว่านี่กายของจิต จิตมันเป็นกาย กายโดยกายนามธรรม กายเงาๆ กายที่สามารถสร้างขึ้นมาจากจิตได้ แล้วทำลายได้ ถ้าไม่ทำลายกัน เห็นไหม นี่การฆ่ากิเลส

การฆ่ากิเลสมันต้องสมุจเฉทปหาน มีการทำลายกัน การทำลาย ดูสิ ทางโลก ทำลายต่างๆ แล้วมันจะเสียหาย แต่ถ้าทางหัวใจ ถ้าไม่ได้ทำลายนะ ตรงนั้นแหละอวิชชาอยู่ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” ไอ้ที่ว่างๆ ผ่องใส นั่นล่ะตัวมันหมดเลย แล้วใครกล้าไปทำลาย ใครกล้าไปทำลายสิ่งที่ถนอมรักษา ใครกล้าไปทำลายสิ่งที่แสวงหา

เราแสวงหาสิ่งนี้มา เราพยายามทำขึ้นมาเพื่อความผ่องใส เพื่อความว่าง นี่ไง นิพพานเป็นธรรมชาติ นิพพานเป็นความผ่องใสไง นี่จิตผ่องใสแล้วมาเกิดทำไม จิตผ่องใสไม่รู้จักปฏิสนธิจิต ไม่รู้ตัวเริ่มต้น ตัวปฏิสนธิจิต แล้วตัววิญญาณ วิญญาณหยาบๆ วิญญาณจากข้างนอก ไม่รู้สิ่งใดๆ เลย เพราะจิตมันไม่เคยมีการกระทำ จิตมันไม่เคยเห็นสิ่งใดๆ เลย มันเลยทำอะไรไม่ได้ไง นิพพานก็เลยธรรมชาติ ก็ไปจำนนกับมันไง ทำความสงบของใจเข้ามาแล้วไปยอมจำนนกับกิเลสของตัว ไปยอมจำนนให้กิเลสเหยียบย่ำทำลาย

แต่ถ้าเป็นสัจธรรมนะ เวลาพิจารณาไปนี่มันปล่อยๆ ตทังคปหาน เวลากิเลสมันอ่อนตัวลง ความว่าง สมาธินี่สมาธิเฉยๆ รู้เลยว่า สมาธินี่หินทับหญ้าไว้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ มันก็จะไปวิปัสสนาอย่างที่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเวลาวิปัสสนาไปมันไปยื้อกัน มันไปเกาะ มันไปเห็นกันแล้วทำกันไม่ได้ ผลัดกัน ยื้อกัน ดึงกันไป ไปค้ำไว้เฉยๆ ไง ไปจ่อ มันเหมือนเสียดสี แรงเสียดสีของธรรมกับกิเลสมันเสียดสีกัน ถ้าเสียดสีกัน ต่อไปการประพฤติปฏิบัติไปมันมีแต่อ่อนลงเพราะอะไร เพราะกิเลสไม่ต้องสร้างสถานะอะไรของมันเลย เพราะมันเป็นอวิชชา มันสิ่งที่ครอบงำใจอยู่แล้ว

แต่เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เราสร้างมา เราฝึกฝนมา แล้วฝึกฝนขึ้นมานี่ เราใช้ฟุ่มเฟือย เหมือนมีด มีดที่เขาใช้ทำอาหาร ไม่เคยลับเลย มันจะใช้ประโยชน์ได้ไหม มีดใช้ไปแล้วเขาต้องกลับมาลับความคมของมัน รักษาความคมของมัน เพื่อใช้ประโยชน์ของมัน

สติปัญญาก็เหมือนกัน ถ้ามันใช้ไปแล้ว ถ้าสมาธิมันไม่ดี ความคมกล้าของมัน ด้วยมุมมอง ด้วยสถานะ ด้วยดุลพินิจต่างๆ มันจะเบลอ มันจะทำสิ่งใดไม่ได้ แต่เห็นอยู่แต่ยังเบลออยู่ แล้วถ้ายังใช้ต่อไปนะ ไม่ใช่เบลออย่างเดียวนะ มันจะเริ่มไม่เห็น เริ่มจางไป เริ่มสู้ไม่ได้ มันจะเสื่อมไปเป็นธรรมดา

แล้วถ้าต่อสู้ก็ต้องมาเริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นตั้งสติใหม่ เริ่มต้นตั้งปัญญาใหม่ เหมือนกับเวลามันเสื่อมไปไง เวลาจิตเสื่อม การภาวนาจิตเสื่อม ทุกข์มาก แต่ทุกข์ขนาดไหนมันก็ต้องต่อสู้ เพราะมันเป็นธรรมดา ดูสิ ความสมดุลของมัน มันแปรสภาพตลอดเวลา จิตเสื่อมมันก็คือความสมดุลมันเสียหายไป กิเลสทำเสียความสมดุลหมด กิเลสทำเสียความสมดุลเลย

พอสมดุลขึ้นไป การทำสมาธิกับความสมดุลของมรรคญาณ ความสมดุลของมัน เวลามันมรรคสามัคคี ความสมดุลของมัน มันมรรคสามัคคีรวมกัน มันสมุจเฉทปหาน มันขาด กายกับจิตนี้แยกออกจากกันเป็นธรรมดาเลย เลิกขึ้นไปเห็นอสุภะ การเห็นอสุภะ การไปติดในความว่าง การต่อสู้ การเห็นอสุภะ

การประพฤติปฏิบัติมีสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน มันจะก้าวเดินไปควบคู่กันไป ควบคู่กันไปเพราะตัวความสมดุล ตัวกำลัง ตัวสมาธินี่เป็นพื้นฐาน เพราะมันมีความสุข มันมีความชุ่มชื่นใจ เป็นกำลังให้จิตนี่มันได้ก้าวเดินต่อไป ให้ได้พัฒนาขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป การเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป คำว่า “เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป” เราก็ดูว่าความเป็นสูงเป็นต่ำ

แต่ถ้าเป็นมันตัวจิตนะ มันอยู่ข้างในหัวใจ มันอยู่จากข้างใน มันเป็นความลึกลับ เป็นความลึก ลึกเข้าไป จากความตื้น ลึกเข้าไปๆๆ จนถึงก้นบึ้งใจ การก้นบึ้งคือตัวอวิชชา แต่เรื่องความเป็นอาการของจิตมันเป็นเรื่องส่วนจากภายนอก มันมีการต่อสู้กัน มันเป็นการทำลายเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่การวิปัสสนาการทำลายเข้าไป มันจะมีความกระทำ มันมีการกระทำ จิตมันมีการกระทำ กิจจญาณ

ถ้ามีกิจจญาณ มันจะไม่พูดเลย ว่าสิ่งนี้ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ เพราะถ้าเป็นธรรมชาติ ความเป็นธรรมชาติมันต้องแปรปรวนสิ มันต้องทำลายสิ แล้วนี่เราก็ไปอยู่กับความสมดุล มันทำไมไม่เป็นธรรมชาติล่ะ ทำไมมันเสื่อมล่ะ ทำไมมันคลายตัวออกมาล่ะ ทำไมมันไม่ต่อสู้เข้าไป? เพราะมันไม่เป็นมรรคไง มันไม่เป็นปัญญาภาวนามยปัญญา มันไม่เป็นปัญญาในศาสนาพุทธ มันเป็นปัญญาของพวกฤๅษีชีไพร

การทำความสงบของใจ ดูสิ เจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับอาฬารดาบส เพ่งพินิจ ดูสิ ทางกสิณ กสิณเขียว กสิณแดง สมาบัติคือการเพ่งการดู การคำนวณ การใช้ปัญญาใคร่ครวญมันทำขึ้นไป มันเป็นปัญญา มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาทางโลก มันเป็นปัญญาสามัญสำนึก มันไม่เป็นปัญญาของมรรค

ถ้าเป็นปัญญาของมรรคนะ มันต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐาน แล้วเข้าไป พอปัญญาเกิดขึ้นมาอย่างนั้น นี่ภาวนามันจะเกิด วิปัสสนามันจะเกิด ถ้าวิปัสสนามันจะเกิดขึ้นมา มันมีการกระทำแล้ว นี่กิจจญาณ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเทศน์ปัญจวัคคีย์ สัจจญาญ กิจจญาณ ถ้าเรายังไม่มีกิจ...วน ๓ รอบ ๑๒ ในมรรค เราจะไม่ปฏิญาณตนว่าเราเป็นพระอรหันต์

ถ้ามันไม่มีการกระทำของจิต มันไม่มีการกระทำ มันเป็นจินตมยปัญญา มันเป็นการสร้างภาพ การสร้างภาพ ดูสิ การสร้างภาพ การก๊อปปี้มา การถ่ายภาพมา ดูถ่ายภาพมันถ่ายมาเป็นภาพเลย แต่ในการกระทำเราถ่ายภาพไม่ได้ เราต้องวาดภาพขึ้นมา ภาพนั้นจะประกอบไปด้วยอะไร เราจะลงสีอย่างไร แล้วจะเป็นอย่างไรขึ้นมาถึงเป็นภาพนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ในการกิจจญาณมันมีอะไรขึ้นมาบ้าง มันมีสิ่งใด มันมีศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นมาอย่างไร แล้วปัญญามันไปจับต้องอะไร มันใคร่ครวญอะไร มันใคร่ครวญสิ่งใด มันใคร่ครวญแล้วมันแพ้มันชนะอย่างไร มันมีแพ้ชนะ ใคร่ครวญแล้วจะรู้แจ้งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะอะไร เวไนยมันสัตว์ต้องต่อสู้ มันต้องมีการแก้ไข

เวลาปัญญามันใคร่ครวญ เหมือนกับเราขึ้นศาลเลย ขณะขึ้นศาล ผู้พิพากษา ถ้าระหว่างกิเลสกับธรรมมันต้องขัดแย้งกัน ถ้ากิเลสมันบังเงา มันก็บอกนี่เป็นธรรม นี่เป็นธรรม เราก็จะเชื่อมัน พอเชื่อมันเดี๋ยวก็เสื่อม พอเสื่อมขึ้นมา พอรู้ว่าเสื่อมเราก็ต้องแก้ไขใหม่ ต่อสู้ใหม่ ก็ขึ้นไปอีก ไปพิพากษากัน ถ้าวันไหนธรรมมันชนะมันก็ปล่อยๆ เป็นตทังคปหาน เพราะมันไม่มีเหตุมีผล แต่ถึงที่สุดถ้ามันสมุจเฉทปหาน ครืน! ในหัวใจนะ มันจะพิจารณาอสุภะ มันจะกลืนเข้ามาที่ใจ ละเอียดเข้ามาบ่อยครั้งเข้า ชำนาญขึ้น มันจะหดระยะสั้นเข้ามา

แต่เดิมมันพิจารณาไป ระยะการบังคับบัญชามันจะยาว ออกไปข้างนอกถึงเห็นภาพข้างนอก แล้วทำลายข้างนอก พอพิจารณาบ่อยครั้งเข้าๆๆ มันระยะสั้นเข้ามา จนถึงที่ใจ แล้วไปทำลายกันที่ตัวใจ พอตัวใจทำลายเห็นไหมนี่ สิ่งที่เป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นความพอใจ นี่กามราคะขาดออกไปจากใจ ครืน! จากหัวใจ

ต่อไปนี่เป็นจิตเดิมแท้ผ่องใส จิตเดิมแท้ตัวจิตของมัน แล้ววิปัสสนากับมัน ความสมดุลอย่างนี้ยิ่งละเอียดใหญ่เพราะอะไร อรหัตตมรรคนะ เหมือนกับผู้บริหาร ดูสิ ความละเอียดอ่อนของมัน สุข-ทุกข์ในของผู้บริหาร ใครเป็นผู้บริหารไม่กี่วันผมขาวเลย เพราะมันต้องรับนโยบาย มันเครียดมาก มันต้องบริหารจัดการ

จิตที่ละเอียด มันละเอียดมาก มันเป็นอาลัยอาวรณ์ในหัวใจ ถ้ามันเข้าไปถึงตรงนั้น ความสมดุลของมันยิ่งต้องละเอียดอ่อน มันต้องเป็นมัธยัสถ์ ไม่ใช่เป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นกลาง พอมันเป็นกลางขึ้นมา มันจับ ถ้าก่อนที่มันเป็นกลางต้องเห็นก่อน ต้องจับได้ก่อน แล้วใคร่ครวญมันจนมันเป็นกลาง พอเป็นกลางแล้วมันทำลายตัวมันเองเห็นไหม การทำลาย นี่ความสมดุลมันตั้งอยู่บนอะไร

แม้แต่ตัวภพ ตัวจิต ตัวความสมดุลทั้งหมด ต้องทำลายทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดๆ เลย ถ้ามีสิ่งใดๆ ทั้งหมดในหัวใจเป็นสมมุติ เป็นสิ่งที่ชี้นำได้ เป็นสถานะที่พูดได้ สภาวะที่ยังพูดอยู่ได้ ที่ยังมีอยู่นั้นมันเป็นสมมุติหมด สิ่งที่สมมุติบัญญัติ สิ่งที่ยังมีอยู่ มีสิ่งต่างๆ อยู่ มันมีของมันอยู่ มันสื่อความหมายกันได้

วิปปยุต-สัมปยุตคลายตัวเข้าไปถึงที่สุด มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นิพพานแท้ๆ มันเป็นอย่างนั้น นิพพานความจริงเห็นไหม นิพพานมีไหม? นิพพานมี สูญจากกิเลส ไม่ใช่สูญสิ้น สูญไม่มีไม่ใช่ ไอ้ความคิดของเรานะ ถ้าสูญคือไม่มีสิ่งใดเลย นิพพานเหมือนไม่มีสิ่งใดเลย จับต้องอะไรไม่ได้เลย

สิ่งที่จับต้องไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔๕ ปี เทศนาว่าการ ไปเทศน์พระเจ้าสุทโธทนะนั่นคืออะไร “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” ขันธ์มีไง จำสามเณรราหุลได้ เพราะมันเป็นข้อมูล มันเป็นสัญญา สามเณรราหุล นางพิมพา พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธเจ้ารู้จักหมดล่ะ พระพุทธเจ้ารู้จัก เข้าใจหมด เพราะมันสื่อ มันมีอยู่ แต่ความที่รู้จักด้วยความสะอาดบริสุทธิ์จากใจ ไม่ใช่รู้จักโดยเป็นภาระแบกหาม “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” มันเป็นความรับรู้ มันเป็นขันธ์สะอาด ขันธ์ที่รับรู้

แต่ถ้าเป็นขันธมาร เรารู้จักด้วย รู้จักแล้วเป็นห่วง อาลัยอาวรณ์ มันธรรมดาของสังคม มันธรรมดาของวัฏฏะ คนเกิดมาตายหมด คนเกิดมา สรรพสิ่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอด ทั้งวัตถุ ทั้งสิ่งมีชีวิต ทั้งต่างๆ มันมีการเปลี่ยนแปลง ผลของวัฏฏะ มันจะปรับสภาพความเป็นสมดุลของมัน โลกนี้จะปรับสภาพไป ไม่มีสิ่งใดคงที่ มันจะหมุนของมันเป็นผลของวัฏฏะ

แต่มนุษย์ ผู้ที่มีการศึกษาที่มาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันทวนกระแส มันไม่ไปตามวัฏฏะ มันทวนกลับ ถ้ามันทวนกลับเหมือนปลาเป็น มันทวนกลับมันทวนกระแสน้ำขึ้นไป ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราทวนกระแสใจเข้ามา ทวนกระแสใจเข้ามา จริตนิสัย โทสจริต โมหจริตของแต่ละคน มันเป็นสิ่งต่อต้านกระแสน้ำที่แรงและเบา เราจะต้องทวนกระแสสิ่งนี้เข้าไป จนกว่าใจมันสมดุลมีเหตุมีผลของมัน แล้วเราต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญให้มันเป็นมรรค

สิ่งที่เป็นมรรคเห็นไหม มรรคญาณในศาสนาพุทธ ผู้ที่ชนะจะชำระกิเลส ต้องชนะด้วยปัญญา ปัญญาเท่านั้นนะ สมาธิจะเป็นพื้นฐาน แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธินี่มันเสียสมดุล มันเป็นความคิดโลกหมด ปัญญาที่เกิดเรื่องของโลกหมด มันจะไม่มีธรรมะเลย มันเป็นธรรมะ เป็นประเพณีวัฒนธรรม ไม่เป็นเนื้อหาสาระ

ถ้าเป็นเนื้อหาสาระมันต้องเกิดจากจิต จิตสงบ จิตมีปัญญา จิตมีการแก้ไข จิตมีการทำลาย ทำลายตัวมันเอง ยิ่งทำลายยิ่งสะอาด ยิ่งเสียสละเท่าไหร่มันยิ่งได้ขึ้นมา นี่ทวนกระแสใจเราเข้าไป ทวนกระแสที่เป็นจริตนิสัย ความชอบมันต้องทำให้เราอยู่ในอำนาจของมัน แล้วไปตามการบังคับบัญชาของมัน

แต่ถ้าเป็นธรรม มันจะทวนกระแสความชอบเข้าไป ถ้าทวนกระแสความชอบเข้าไป มันเข้าไปปรับความสมดุลให้สงบได้ สิ่งที่สงบเป็นพื้นฐาน นี่สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ถ้าไม่มีพื้นฐาน ไม่มีสมถกรรมฐาน ไม่มีที่ทดสอบแล้วเราจะไปทำกันที่ไหน เวลาไปทำศึกษาในพระไตรปิฎก ธรรมะเป็นอย่างนั้นๆ นี่มันส่งออกหมดน่ะ

แต่ถ้ามันรู้จริง ธรรมะของเรา เรารู้ของเรา สมาธิก็เรารู้ โอ้โฮ! สมาธิเป็นอย่างนี้ โห! ปัญญาที่มันผิดพลาดก็เป็นอย่างนี้ ปัญญาที่มันเข้าไปแล้วต่อสู้กันเป็นภาวนามยปัญญามันปล่อยวางชั่วคราวมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้เห็นไหม พระพุทธเจ้าพูดไว้ในพระไตรปิฎกแล้วมันเกิดในใจของเราเหมือนกัน เหมือนกันๆ มันซึ้งมาก

แต่ถ้าไม่เกิดที่เรา เราไม่ปฏิบัติขึ้นมาก่อน มันเหมือนอย่างนั้นมันเป็นการสร้างภาพ เราจะสร้างให้เหมือนกับพระไตรปิฎก เราจะสร้างให้เหมือนกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เลยเป็นการธรรมะสร้าง ธรรมะสร้างก็เป็นสมมุติ เพราะเราสร้างก็เป็นสมมุติใช่ไหม ธรรมะก็เลยเป็นธรรมชาติไง เพราะธรรมชาติมันก็ไม่มีผลกับใครไง ธรรมชาติก็แปรปรวนอยู่ตลอดไปอย่างนี้ไง

ธรรมะเป็นธรรมชาติ นิพพานเป็นธรรมชาติ...ก็ตายอยู่กับธรรมชาตินี่แหละ เพราะการเกิด การตายก็เป็นธรรมชาติ ถ้าไม่ธรรมชาติทำไมมีมนุษย์เกิดมนุษย์ตาย แต่ถ้าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลามันชำระกิเลส กิเลสตายแล้วมันจะเกิดจะตายอีกไหม

นี่ไง เพราะเราทำของเรา ธรรมโอสถ มันรื้อ มันทำลายจนถึงที่สุดนะ มันถึงที่สุดแล้วมันจบสิ้นกระบวนการ จะเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกิเลส กิเลสมันสร้างอย่างไร แล้วธรรมะมันสร้างอย่างไร เห็นไหม มันถึงปรับสมดุล กิเลสทำลายความสมดุล ทำเสียสมดุล แต่เราทำของเราให้เป็นสมดุล แล้วเราใช้ปัญญาของเรา แล้วแก้ไขกิเลสของเรา จนถึงที่สุดนะ ธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ

ในปัจจุบันนี้ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเกิดขึ้นในใจของเราสดๆ ร้อนๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้ว ถ้าเราประพฤติปฏิบัติถึงที่สุด เราก็เป็นพระอรหันต์ได้ เป็นได้จริงๆ มันเป็นได้ที่หัวใจ เป็นได้ที่ความจริงอันนั้น ไม่มีใครให้ค่าได้ มันจะเป็นความจริงของมัน มันเป็นปัจจุบันของมัน มันเป็นสันทิฏฐิโก นี้คือสมบัติส่วนตน เอวัง