เทศน์บนศาลา

ไม่ตู่ธรรม

๙ ส.ค. ๒๕๕๑

 

ไม่ตู่ธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะเราแสวงหานะ ทางโลกเขาแสวงหาความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความยุติธรรมของทางโลก ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นจะมีแรงต่อต้าน ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นจะมีการโต้แย้ง แต่เวลากิเลสมันกดขี่เรา มันกดทับเรา เราไม่เคยโต้แย้งเลย แล้วบอกว่าฟังธรรมๆ กิเลสมันออกหน้านะ เวลาฟังธรรมนี่คิดว่าฟังธรรม กิเลสมันออกหน้า มันคิดไปก่อน

ในพระไตรปิฎกนะ ในสมัยพุทธกาล ภิกษุกล่าวตู่พุทธพจน์ กล่าวตู่คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าภิกษุสวด ๓ หนแล้วไม่ถอน ให้ปรับอาบัติสังฆาทิเสส แล้วภิกษุกล่าวตู่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นสมัยปัจจุบันนี้พระปรับอาบัติหมด เพราะอะไร เพราะพระไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ไม่เชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่บวชเป็นพระกันนะ เห็นไหม กิเลสมันออกหน้า

คำว่า “ฟังธรรมๆ” ธรรมมันอยู่ที่ไหน...กิเลสทั้งนั้นน่ะ มันกล่าวตู่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเข็มทิศมันชี้บิดเบือน เข็มทิศมันชี้ผิดทางไปแล้ว คนจะเข้าถึงธรรมะได้อย่างไร ถ้าคนเข้าถึงธรรมะไม่ได้ แล้วธรรมอยู่ที่ไหน

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบ เขาถามว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบอะไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นเจ้าของศาสนา

เราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เราเป็นคนค้นคว้าหามาเอง แล้วเรากราบอะไร สิ่งที่เราค้นคว้ามา สิ่งที่ประสบความสำเร็จทางโลกมา เราค้นคว้ามา เราทำของเรามา มันเป็นอะไร? มันเป็นเพราะเราทำ มันมีผู้รองรับ มันมีตลาด มันมีทุกอย่างใช่ไหม มันเป็นเรื่องโลกไง เราถึงกราบมันไม่ลง ดูสิ คนโบราณ ไม้คานเขาเลี่ยมทอง เขาเก็บไว้เลย เขามีอยู่มีกินมาเพราะไม้คาน เพราะเขาทำธุรกิจของเขามา แล้วเขาเก็บของเขา เลี่ยมทองของเขา เขาเคารพบูชารักษาของเขา เพราะเขาสร้างฐานะของเขาขึ้นมาได้ นี่เป็นเรื่องของโลกนะ แล้วคนอื่นกราบด้วยไหมล่ะ เพราะอะไร

เพราะมันเป็นเรื่องที่ใครก็ทำได้ มันเป็นเรื่องสัจธรรมที่เป็นความจริงของสมมุติ มันเป็นธรรมไหม? ก็เป็นธรรม เพราะอะไร เพราะเราขยันหมั่นเพียร มันเป็นความขยันหมั่นเพียร มันเป็นความวิริยอุตสาหะ เป็นการเก็บหอมรอมริบ เขาถึงมีฐานะอย่างนั้นขึ้นมาได้ เราทำของเรา เราก็เห็นคุณไง นี่เป็นคุณ มีความกตัญญูกตเวทีกับสิ่งที่มีบุญคุณกับเรา นี่มันเป็นธรรมของโลกๆ

แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกซึ้งกว่านั้นมากมายนัก มากมายจนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลากราบธรรมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ธรรมมันมีอยู่แล้ว นรกสวรรค์มีอยู่แล้ว โลกมีอยู่แล้ว ชีวิตมีอยู่แล้ว จิตมีอยู่แล้ว สรรพสิ่งมันมีอยู่แล้ว แต่มันหมุนไปเวียนไปโดยวิบากกรรม

กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน กมฺมพนฺธุ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เห็นไหม สิ่งที่ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว การกระทำมีกรรมเป็นแดนเกิด สรรพสิ่งต่างๆ เป็นแดนเกิด แต่ก็ไม่เชื่อมัน ไม่เชื่อแล้วกล่าวตู่พุทธพจน์ ว่าความเห็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบิดเบือน ไม่เชื่อตามสภาวะแบบนั้น ถ้าเป็นภิกษุบวชมา ถ้าเข็มทิศมันเป็นสภาวะแบบนั้น นี่เข็มทิศความเชื่อ ศรัทธาความเชื่อเป็นตัวนำ

กาลามสูตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อแม้แต่คำสอน ไม่ให้เชื่อต่างๆ ไม่ให้เชื่อว่ามันอนุโลมเข้ากันได้ ไม่ให้เชื่อว่ามันเป็นตรรกะ ไม่ให้เชื่อสิ่งที่มันน่าเชื่อถือ ไม่ให้เชื่อสักอย่างเลย

มันก็เหมือนเรื่องโลก มันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันเชื่อถือไม่ได้ แต่อาศัยมัน มันมีจริง จริงตามสมมุติ ชีวิตก็เป็นความจริง เราเกิดมาเป็นความจริง มันทุกข์ยากจริงๆ มันเจ็บปวดจริงๆ มันทุกข์จริงๆ นะ มันเหนื่อยหอบ ทำงานมาเหนื่อยล้าทั้งนั้นน่ะ มันเป็นความจริง ถ้าไม่เหนื่อยไม่หอบสิถึงไม่เป็นความจริง

มันเป็นความจริง ชีวิตเป็นอย่างนี้ ชีวิตมีการเริ่มต้น แล้วชีวิตมีถึงที่สุด ความพลัดพรากเป็นที่สุดของชีวิตนะ เราต้องตายจากนี้ไป เป็นเรื่องความจริง มันเป็นความจริงนะ แต่จริงโดยสมมุติ จริงที่มันเปลี่ยนแปลง จริงคือมันจริงโดยสมมุติ จริงเหมือนเล่ห์กล จริงเหมือนที่โลกเขาเป็นกัน จริงอย่างที่ทุกๆ คนก็มีสิทธิที่เป็นไปได้ แต่ธรรมะมันเหนือความจริง

สมมุติบัญญัติ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติ เห็นไหม ดูสิ ในโลกนี้การสื่อสารไว ชาวพุทธเราเวลาสวดมนต์ ถ้าเป็นภาษาบาลี เถรวาทจะเหมือนกันหมด เหมือนๆ กัน นี่มันเป็นบัญญัติ บัญญัติขึ้นมาให้เหมือนภาษากลางที่เราสื่อสารความหมายกัน นี่สมมุติบัญญัติ เห็นไหม

เรื่องของความทุกข์ ความทุกข์มันอยู่ที่ไหน ความทุกข์ของเด็กๆ มันไม่ได้ดั่งใจมันก็ร้องไห้ มันไม่ได้ดั่งใจมันก็ไม่พอใจของมัน ไอ้ความทุกข์อย่างนั้นมันเป็นความทุกข์เด็กๆ ใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน ความทุกข์ในการดำรงชีวิตของเรา มันเป็นทุกข์อย่างนี้ ที่เราว่าเป็นทุกข์ๆ สิ่งที่เป็นทุกข์มันเป็นทุกข์ประจำชีวิต มันเป็นทุกข์ประจำโลก มันเป็นทุกข์จริงๆ มันเป็นทุกข์อย่างนั้นน่ะ เราอยู่กับมันแล้วเราก็บ่นว่าทุกข์ แต่เราไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นสัจธรรมความเป็นจริง เราไม่เห็นทุกข์จริงๆ เราไม่เห็นสัจจะความจริง เราไม่เห็นอริยสัจ เราถึงเข้าถึงสัจธรรมไม่ได้

เรากล่าวตู่ธรรมไม่ได้ เวลาพระกล่าวตู่พุทธพจน์ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ปรับอาบัติเลย ให้ความเห็นเราถูกต้อง แต่พอเราเชื่อถือศรัทธาขึ้นมา เรามีศรัทธาความเชื่อ เราถึงออกมาประพฤติปฏิบัติกัน แล้วมันกล่าวตู่ธรรม ธรรมะ ธรรมะที่เป็นความจริง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่นะ ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ทอดอาลัยเลยนะ “จะสอนได้อย่างไร” เหมือนกับเขาจะรู้ได้อย่างไร

พูดอย่างนี้ไม่ใช่พูดแบบดูถูก ไม่ได้พูดกดขี่กันนะ แต่พูดให้เห็นคุณค่าว่าธรรมะเหนือโลกอย่างไร ธรรมะปลดแอกชีวิตได้เลย เห็นไหม กิเลสมันเหยียบย่ำ กิเลสมันทำลายเราอยู่นี่ แต่เราไม่เคยช่วยเหลือเราเองเลย เวลาเราไปประพฤติปฏิบัติ มันเป็นการคาดหมาย มันเป็นวิปัสสนึกไง นั่นล่ะกล่าวตู่ธรรม กล่าวตู่ธรรม หมายถึงว่า มันคาดหมายคาดการณ์เอาทั้งนั้น เพราะอะไร เพราะเราเป็นชาวพุทธ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามีความเชื่อมีความศรัทธา แล้วมันมีแบบอย่าง มันมีครูบาอาจารย์ไง

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่มีจุดยืนนะ ไม่ยืนอยู่ในหลักของธรรม เวลาแสดงธรรมขึ้นมานี่หลักลอย แล้วเราก็ไม่เชื่อถือ พอไม่มีการเชื่อถือ เห็นไหม ใจเรามันก็โลเลอยู่แล้ว มันยิ่งไม่สนใจ มันยิ่งหลักลอยใหญ่เลย แต่เพราะว่ามีครูบาอาจารย์ของเราที่ประพฤติปฏิบัติมาแล้วรู้จริง ถ้ารู้จริงขึ้นมา มันจริงมาจากไหน? มันจริงมาจากใจ ถ้าใจมันเป็นความจริงขึ้นมา การแสดงออกมามันมีจุดยืนของมัน มันไม่ไปตามโลกหรอก หลักของธรรมมันจะอยู่กับธรรม

ถ้าอยู่กับธรรมมันเป็นเรื่องของโลกไปไม่ได้ เพราะโลกมันเป็นสมมุติ โลกมันเป็นสิ่งที่เป็นอนิจจัง โลกมันเป็นของเร่าร้อน เหมือนไฟ ใครจะไปจับไฟ ไม่มีใครจับไฟหรอก แต่ในเมื่อเรามีกองไฟกองหนึ่ง คือมีชีวิตหนึ่ง มีพลังงานอันหนึ่ง เห็นไหม จิตมันเหมือนไฟที่มันเผาผลาญอยู่ตลอดเวลา แล้วจิตนี้มันมีอยู่ ไฟนี้มันมีอยู่ แต่เวลามันมอดไปแล้ว มอดคือชำระกิเลสไปแล้ว ไฟนี้ก็รอวันเวลาที่มันจะดับไป คือรอเวลาที่มันจะตายไป ชีวิตนี้รอวันเวลาที่มันจะตายไป ถ้ามันเป็นสัจธรรมความจริง แต่ของเราไฟมันไม่ดับ พอไฟมันไม่ดับไป มันเผาอยู่ตลอดเวลา ตายก็เผาไปพร้อมกับใจของเรา เพราะมันต้องไปเกิดอีก เกิดในสถานะไหนมันก็เผาไปตลอดเวลา ไฟมันเผาเรานะ

ชีวิตเหมือนกองไฟกองหนึ่ง กองไฟมันเป็นความจริงไหม? มันเป็นความจริง เป็นความจริงกับเรา มันเผาเราแล้วมันให้ความทุกข์กับเรา เพราะเราไม่รู้จักวิธีดับมัน แล้วเวลาเราจะประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา เราคิดว่า “ดับไฟแล้ว ไฟนี้ดับแล้ว ร่มเย็น ว่าง สบาย” นี่เราคิดว่าดับไฟแล้ว แล้วไม่ได้ดับ มันจะดับจริงได้ไหม นี่กล่าวตู่ธรรม เราไปตู่ธรรมขึ้นมา ธรรมถึงไม่เป็นความจริง ในการประพฤติปฏิบัติมันยิ่งลึกซึ้งกว่านั้นนะ มันจะตู่ของมันไปหมด มันจะคาดหมายของมันไปหมด ฉะนั้น ในการประพฤติปฏิบัติ เราอย่าให้กิเลสออกหน้า

ศึกษามาขนาดไหน ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลยนะ เวลาหลวงปู่มั่น เห็นไหม ถ้ามีการศึกษามาขนาดไหน ศึกษามาแล้วให้วางไว้ก่อน แล้วให้เราประพฤติปฏิบัติไปตามความเป็นจริง พุทโธไปเรื่อยๆ สิ่งที่มันเกิดขึ้นมากับเรามันจะเป็นความลังเลสงสัยสนเท่ห์ มันเป็นเรื่องธรรมดา ต้องทำความเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดาเพราะอะไร ธรรมดาเพราะเรามีกิเลส เรามีความสงสัย เรามีสิ่งที่เราไม่ไว้ใจกันทั้งนั้นน่ะ แม้แต่ครูบาอาจารย์ที่เคารพศรัทธาๆ บางทีมันก็คิดลบหลู่นะ บางทีมันก็คิดต่อต้าน “มันจะเป็นอย่างนั้นไปได้อย่างไร มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น สิ่งที่ท่านคิด ที่ท่านว่า มันไม่จริงหรอก” แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไปแล้วมันจะลงรอยเดียวกัน ถ้าไม่ลงรอยเดียวกัน อริยสัจมันมีหลายอันใช่ไหม ความจริงมันมีหลายความจริงหรือ

ความจริงมีความจริงเดียว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรมไปแล้ว สมณโคดม พระศรีอริยเมตไตรย อนาคตวงศ์ มันก็เป็นอริยสัจอันเดียวกัน อันเดียวกันเพราะอะไร เพราะกิเลสมันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น ธรรมะที่จะไปชำระก็ต้องเป็นสัจจะความจริง เป็นอริยสัจเหมือนกัน เพียงแต่ว่าอำนาจวาสนาบารมีของแต่ละองค์ไม่เหมือนกันเท่านั้น อันนั้นเป็นการสร้างสมมา ที่มันสร้างสมมา อายุจะยืนยาวกว่ากัน การรื้อสัตว์ขนสัตว์จะได้มากได้น้อย นั่นเป็นอำนาจวาสนา แต่สัจธรรมเป็นอันเดียวกัน ถ้าสัจธรรมไม่เป็นอันเดียวกัน ทำให้ใจนี้สะอาดไม่ได้

ถ้าใจนี้สะอาดขึ้นมา สัจธรรมอันนั้น ถ้าเราประพฤติปฏิบัติให้มันเป็นความจริงอย่างนั้น มันจะเป็นของมันโดยที่เราคาดหมายไม่ได้เลย ถ้าเราคาดหมาย เราคาดเราหมายกันไง เราคาดหมายโดยความเห็นของเรา นี่มันตู่ ตู่เลยล่ะ ตู่ให้เป็นตามความพอใจ เหมือนเราให้คะแนนตัวเอง จะทำอะไรก็แล้วแต่ เราจะให้คะแนนตัวเรา เราจะว่าสิ่งนั้นเป็นความถูกต้อง สิ่งนั้นเป็นความดีงามไปหมดเลย แล้วเวลาผลที่มันตอบมา ถ้าดีงาม ทำไมทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว

การประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรากำหนดพุทโธ มีสติสัมปชัญญะ ผลของมันต้องเป็นสมาธิ ผลของมันคือจิตมันตั้งมั่น คนตั้งมั่น คนมีจุดยืน คนตั้งมั่น คนนี้จะโลเลไหม แต่ทำไมเราโลเล ทำไมเราเชื่อเราไม่ได้ เราเชื่อเราไม่ได้มันก็เป็นของปลอมสิ ถ้าเป็นของจริงมันจะปลอมได้อย่างไร ของจริงมันต้องเป็นของจริง ถ้ามันเป็นความสงบสุขจริง มันเป็นสมาธิจริง มันต้องเป็นความสงบสุข แล้วสงบสุขจะรักษามันอย่างไร เราจะดูแลสิ่งที่เป็นพลังงาน ดูแลสิ่งที่เป็นสมาธิ เราจะดูแลอย่างไร แล้วเราจะให้ออกวิปัสสนาอย่างไร

ในการวิปัสสนานะ ในขั้นของปัญญา ปัญญามันฝึกฝนได้ จิต ถ้าเรากำหนดพุทโธ จิตเราสงบไป ถ้าเวลากำหนดต่อไป หรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้ามันถึงเวลา คนเรามีอุบายวิธีการ คือมันใช้ปัญญาได้ กำหนดพุทโธๆ ไป ถ้าจิตมันสงบบ้าง หรือกำหนดพุทโธเข้าไปแล้วมันขี้เกียจบ้าง มันไม่ยอมทำงานบ้าง เราก็ใช้ปัญญาปลุกเร้า

ดูสิ ดูวัฏฏะ ทุกข์ไหม ต้องเกิดต้องตาย เราจะเห็นนะ เขาไปเที่ยวป่าช้ากัน ไปดูซากศพ คนเกิดมาตายหมด เข้าไปโรงพยาบาลสิ เดี๋ยวนี้เด็กไปคลอดที่โรงพยาบาลหมด โรงพยาบาลเป็นที่เกิดของคน แล้วก็เป็นที่เจ็บไข้ได้ป่วยของคน เห็นไหม บางคนรักษาหาย ออกจากโรงพยาบาลก็มี บางคนเข้าไปรักษาแล้วตายอยู่กลางโรงพยาบาลมันก็มี บางคนต้องไปนอนจมอยู่ในโรงพยาบาลนั้นก็มี ดูสิ ดูแล้วย้อนกลับมาที่เรา ถ้ามันขี้เกียจ มันไม่ยอมทำ เราต้องปลุกปลอบมันด้วยข้อเท็จจริง เอาเรื่องจริงเข้าไปขัดแย้งกับอวิชชา

อวิชชามันรู้ รู้โดยกิเลส รู้โดยทิฏฐิมานะ รู้โดยสร้างทิฏฐิ สร้างความเห็นให้มันออกจากธรรมะไป แล้วพอมันไปศึกษา ไปฟังเทศน์ฟังธรรม “สิ่งนั้นเป็นธรรมๆ”...มันจะเป็นธรรมถ้ามันพัฒนาการขึ้นไปเรื่อยๆ ความดีที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ เวลาเราสวดมนต์ เห็นไหม สิ่งที่มีคุณประโยชน์ สิ่งที่ดีกว่านี้มันยังมีอีกมากมายเลย เราต้องทำของเราขึ้นไปเรื่อยๆ จากที่มันสงบเล็กน้อย มันจะสงบมากขึ้นเข้าไป สิ่งที่สงบมากขึ้นเข้าไป วิธีจะรักษาให้มันคงที่ ทำอย่างไร

เรารักษาไฟของเราไว้ เราตั้งน้ำของเราไว้ น้ำจะเดือดอยู่ตลอดเวลา เพราะไฟมันมีอยู่ นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันจะเป็นสมาธิได้ มันมีสติ มีการกำหนดพุทโธอยู่ ไม่ใช่ว่ามีสมาธิแล้วเราก็เพลิดเพลินกับสมาธิ จะรักษาสมาธิไว้ เงินเดือนออกมาแล้วบอกว่าเงินเดือนจะอยู่เต็มเดือนตลอดไปได้อย่างไร เงินเดือนออกมาแล้ว ในเดือนนั้นเราก็ต้องใช้จ่ายใช่ไหม เราต้องลงทุนต่างๆ เดี๋ยวมันก็ออกมาใหม่อีกเดือนหนึ่ง เพราะอะไร เพราะในเดือนนี้เราทำงาน สิ้นเดือน เงินเดือนก็ออก เดือนนี้เราทำงานทั้งเดือน สิ้นเดือน เงินเดือนก็ออก

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเรามีสติ เรามีการกำหนดพุทโธ นี่คือการทำงาน แล้วผลของมันก็เป็นสมาธิ ผลของมันคือเงินเดือนที่ออกมาไง ถ้าเราทำงานอยู่ แล้วเงินเดือนเราไม่เอา มันจะเป็นไปได้ไหม เงินเดือน ผลประโยชน์ต้องมีสิ เหมือนกับเราทำงานของเราเอง มันก็เป็นผลประโยชน์ของเราเอง แม้แต่การออกกำลังกาย ร่างกายก็แข็งแรงขึ้นมาเอง เราดูแลรักษาร่างกาย ร่างกายเราก็ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มันมีผลตอบแทนทั้งนั้นน่ะ ในเมื่อมีผลตอบแทนขึ้นมา ผลตอบแทนมันเกิดจากเราทำถูกต้อง ถ้าผลตอบแทน ดูสิ คนเขาอยากได้เงินได้ทองขึ้นมา เขาไปจี้ไปปล้นของเขา มันก็เป็นเงินเป็นทอง แต่ได้มาอย่างไรล่ะ? มันได้มาโดยทุจริตไง

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ เราตั้งสติของเรา มันจะเป็นอย่างไร มันจะลำบากบ้าง เห็นไหม การสร้างเนื้อสร้างตัว การสร้างสติมันเป็นของลำบากไปหมดล่ะ แต่ถ้าไปจี้ไปปล้นมันง่าย เพราะไปจี้ไปปล้นมันก็ได้มาเลย นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราจะให้ธรรมเป็นอย่างที่เราศึกษามาเลย สมาธิต้องเป็นอย่างนั้น ปัญญาต้องเป็นอย่างนั้น คาดหมายกันไปเลย...มันจะเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ เห็นไหม นี่การกล่าวตู่แบบหยาบๆ นะ

แล้วเวลากิเลสมันออกหน้าไปก่อน เวลาวิปัสสนาไปมันจะหลอกมันจะล่อ มันจะสร้างภาพ นี่ไง สิ่งที่มันแสดงออกมาจากหัวใจของเรา นี่เรื่องของอวิชชาทั้งนั้นน่ะ อวิชชามันแสดงออกมาจากเรานะ อวิชชาเป็นเรา เพราะเราเกิดมามีอวิชชา ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เห็นไหม ทั้งๆ ที่สร้างบุญบารมีมานะ เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พระเจ้าสุทโธทนะให้มีครอบครัว แล้วมีสามเณรราหุล อันนั้นเป็นอะไร นี่การมีครอบครัวทางโลกไง อันนี้มันเป็นกิเลสไหม

คนเกิดมามีกิเลสทั้งหมด คนเกิดมามีอวิชชาทั้งหมด การเกิดนี้คือมีอวิชชาทั้งหมด แต่มันมีคุณงามความดี ถ้าจิตมันมีคุณงามความดีขึ้นมา ดูสิ คนเกิดขึ้นมา จิตมีสถานะของความรู้สึก วุฒิภาวะต่างๆ กัน บางคนคิดดี เด็กบางคนเกิดมาจะไม่ทำความผิดพลาดเลยนะ ตั้งใจดีมาก จะทำดีมากๆ นั่นน่ะ เขาสร้างของเขามา ถ้าพ่อแม่ได้ลูกอย่างนั้นมา นั่นบุญกุศลของพ่อแม่เขา เพราะอะไร เพราะได้ลูกดี พ่อแม่ต้องมีความชื่นใจเป็นธรรมดา แล้วเด็กคนนั้นเขาจะพัฒนาของเขาขึ้นไประดับไหนนั้น มันเป็นอำนาจวาสนาของเขา

เกิดมามืดไปสว่าง เกิดสว่างไปมืด เกิดมาเป็นมนุษย์ มนุษย์สมบัติสำคัญมาก เกิดมาแล้วทุกข์ไหม? ทุกข์ทุกคน แม้แต่หายใจก็เหนื่อยนะ หายใจก็ทุกข์ เวลาร่างกายเราแข็งแรงอยู่ เราหายใจได้ เราก็คิดว่าการหายใจเป็นเรื่องธรรมดา เวลาเป็นหวัดขึ้นมา หายใจไม่สะดวกแล้ว ยิ่งแก่เฒ่าขึ้นมานะ หายใจไม่ออก มันทุกข์ทั้งนั้นน่ะ แต่เราไม่เห็นไง เราเข้าใจว่าเป็นความสุข เราพอใจมัน เพราะเรารักชีวิตเรา พอเรารักชีวิตเราขึ้นมา เราต้องการทุกอย่างให้สะดวกสบายไปหมด เกิดมาแล้วก็ไม่ต้องตาย จะอยู่ค้ำฟ้านะ ทั้งๆ ที่มันบอกว่าคนเราเกิดมาต้องตาย แต่จิตมันไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นไป แล้วมันจะเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปตามความเป็นจริงไหม

คนเราเกิดแล้วต้องตายทั้งนั้นน่ะ คนเราเกิดตายเพราะวัฏฏะมันเป็นอย่างนั้น วัฏฏะการหมุนวนเป็นอย่างนั้น นี่การเกิดการตายมันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเราเกิดมาแล้วเราต้องตาย ฉะนั้น ขณะที่มีชีวิตอยู่ เราทำไมไม่ขวนขวาย เรามีชีวิตอยู่ ทำไมเราไม่รีบกระทำของเรา ทำไมเรานอนใจของเราขนาดนั้น ถ้ามันนอนใจขนาดนั้นนะ นี่คนประมาท

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดอยู่ตลอดเวลานะ “คนมีสติแม้แต่วินาทีเดียว ดีกว่าคนปล่อยชีวิตประมาททั้ง ๑๐๐ ปี”

ถ้าเราประมาทโดยที่ไม่มีสติ มันประมาทโดยธรรมชาติของมัน แต่ถ้าเรามีปัญญาขึ้นมา เราใคร่ครวญของเรา เราใช้ปัญญาใคร่ครวญ มันจะปลุกใจเราให้มีความเข้มแข็ง ถ้าใจเรามีความเข้มแข็ง ในการกระทำ ในการประพฤติปฏิบัติมันก็มีกำลังใจ เห็นไหม ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ถ้าใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ตั้งใจขึ้นมา มันไม่อ้างเล่ห์นะ

แต่ถ้ามันเป็นกิเลส มันอ้างไปหมดน่ะ “จะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้น หนาวนัก ร้อนนัก เดี๋ยวต้องไปทำงาน ไม่มีเวลา” มันอ้างไปร้อยแปด ออกจากทางจงกรม ออกจากนั่งสมาธิไปไหน? ไปนั่งคุยกัน ไปนอนจมกองกัน อย่างนั้นมีเวลา แล้วเวลาที่เอาไปคุย เอาไปนอนจมกองกันทั้งวันๆ อย่างนั้นมันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา? มันได้ประโยชน์ของกิเลสไง ไม่ได้ไปขัดเกลามัน ไม่ได้ไปควบคุมมัน ไม่ได้ไปชำระมัน มันก็สะดวกสบาย เห็นไหม แต่ถ้าได้ตั้งสติควบคุมมัน มันดีดดิ้นทันที นี่มีศรัทธามีความเชื่อ มีกำลังใจขึ้นมา มันก็พาให้เราเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น

แต่ถ้าเราเห็นโทษของมันนะ จะเป็นอย่างไรต้องอยู่ในทางจงกรม ตั้งสัจจะไว้ ตั้งว่าเราจะต้องทำให้ได้ ทำไมคนอื่นเขาทำได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย พระโพธิสัตว์ เวลาเป็นหัวหน้าสัตว์ สร้างสมบุญญาธิการมา แล้วเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ตรัสรู้ขึ้นมาด้วยบารมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราเกิดมามีอำนาจวาสนาขนาดไหน เห็นไหม สิ่งที่ไม่มีอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมา แล้ววางธรรมวินัยไว้อยู่ในพระไตรปิฎก แล้วพระที่มันกล่าวตู่ๆ กัน ทั้งๆ ที่เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส บวชมาในศาสนาพุทธนะ ไม่เชื่อนรกสวรรค์ ไม่เชื่อมรรคผลนิพพาน

เพราะในปาฏิโมกข์บอกไว้เลย ถ้าบิดเบือน กล่าวความเห็นต่างจากศาสนา ไม่ให้พระไปคบ ถ้าพระไปคบ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ลงพรหมทัณฑ์ ให้แยกออกไป ดูสิ ดูอย่างพระฉันนะ ออกบวชพร้อมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมาบวชเป็นพระ ทิฏฐิมานะมาก ไม่ยอมฟังใครเลย ถือว่าเพราะมีพระฉันนะถึงมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยึดถือไว้เป็นสมบัติ แล้วไม่ฟังใคร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป พระอานนท์ถามว่า “พระฉันนะมีปัญหาในสงฆ์นี้มาก จะทำอย่างไร”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ลงพรหมทัณฑ์ คือไม่พูดด้วย เท่ากับอาบัติสังฆาทิเสส พอโดนลงพรหมทัณฑ์ เสียใจมาก เข้าป่าไปเลย เพราะทิฏฐิมานะว่าตัวเองมีความสำคัญในศาสนา นี่ความสำคัญของกิเลสไง ความสำคัญของทิฏฐิมานะ ความสำคัญของสิ่งกีดขวาง ความสำคัญของการทำให้สังคมสงฆ์อยู่ด้วยความไม่สะดวก

สัปปายะ ๔ หมู่คณะเป็นสัปปายะ ถ้าหมู่คณะเป็นสัปปายะ การประพฤติปฏิบัติมันจะไปในแนวทางเดียวกัน คือให้โอกาสกัน ให้ความสงบสงัดต่อกัน ให้เวลาต่อกัน สิ่งที่ควรเป็นข้อวัตรปฏิบัติ ควรจะทำ ถ้าเรามีโอกาส เราทำให้เขาๆ เพื่อให้เขามีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ ไม่ให้มีความกังวลใจ เห็นไหม ให้โอกาสต่อกัน นี่สิ่งที่หมู่คณะเป็นสัปปายะ

เวลามันมีการกีดขวาง เวลาพระอานนท์ลงพรหมทัณฑ์ เสียใจมาก หนีเข้าป่าไปเลยนะ ไปนั่งสมาธิภาวนา จนถึงที่สุด พอถึงที่สุด สิ้นกิเลส เพราะได้สร้างบุญญาธิการมาเหมือนกัน เกิดเป็นสหชาติ ได้เกิดเป็นคนที่เฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีบุญมีคุณต่อกันมา เพียงแต่ทิฏฐิมานะมันไปฉกฉวยก่อน ฉกฉวยว่าเรามีความสำคัญ นี่มันตู่เอาคุณงามความดีของเขา ทั้งๆ ที่ตัวก็มีคุณงามความดีนะ แต่คุณงามความดีนี้เป็นคุณงามความดีเกิดมาเป็นสหชาติ เกิดมาเป็นมหาดเล็ก นั่นเป็นความดีที่เป็นอดีตไปแล้วใช่ไหม แต่ในปัจจุบัน ความดีในการชำระกิเลส ความดีที่จะให้เราเห็นธรรมจริงมันอยู่ที่ไหน นี่มันไปตู่ตรงนั้น มันเลยเข้าไม่ได้

พอมีความเสียใจ เพราะโดนลงพรหมทัณฑ์ ไปรื้อค้นของตัวเอง สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วออกมาหาหมู่สงฆ์ มาขอปลงอาบัติ พระอานนท์บอกว่า “จะปลงอะไร ในเมื่อจบสิ้นกระบวนการแล้ว” เพราะเป็นพระอรหันต์แล้ว อาบัติไม่มี อาบัติหลุดไปแล้ว เห็นไหม

นี่ไง ถ้าเราไม่ชิงสุกก่อนห่าม เราทำไปเป็นตามข้อเท็จจริง เราจะทำความสงบของใจ เราก็ทำของเรา เราทำของเรานะ คุณสมบัติอันนี้มันมีคุณค่ามากกว่าทางโลกมหาศาล แต่โลกมองไม่เห็น โลกดูถูกเหยียดหยามกัน ดูถูกเหยียดหยามผู้ที่ไปวัด ผู้ที่ไปประพฤติปฏิบัติว่าทำให้โลกไม่เจริญ ผู้ที่ขวนขวายอยู่กับโลก ผู้ที่ทำหน้าที่การงานในโลก ผู้ส่งเสริม โลกจะเจริญ

โลกมันเจริญไปไหน โลกมันเป็นอย่างนี้ โลกมันอนิจจัง สภาวะของโลก ทรัพยากรที่ใช้หมุนเวียนไปตลอด ทรัพยากรมนุษย์ มันเลยดูถูกมนุษย์ไง ว่ามนุษย์เป็นทรัพยากร ทรัพยากรอันหนึ่งที่ให้ผู้บริหารเขาบริหารจัดการไง แต่มนุษย์เป็นทรัพยากรหรือ มนุษย์มันสูงค่ามากกว่านั้นอีก เพราะมนุษย์เวลามันพ้น มันเอาใจมันออกไปจากสังคมได้ อยู่กับสังคมโดยเปลือก อยู่กับสังคมโดยร่างกาย แต่หัวใจมันพ้นจากการเกิดและการตาย ใครจะควบคุมมันได้

สังคมเขาอยู่กันได้ด้วยการปกครองของเขา ด้วยอำนาจข่มขี่ ด้วยกฎหมาย ด้วยต่างๆ แล้วกฎหมายเขาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นั่นเรื่องของโลกนะ นี่โลกเขาดูถูกเหยียดหยามกัน แต่ถ้าเรามีสติของเรา เรามีความคิดของเรา เรามีความเห็นของเรา เราทำไปตามขั้นตอน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศนาว่าการ เห็นไหม อนุปุพพิกถา แสดงธรรมเป็นขั้นตอน ตั้งแต่เรื่องของทาน ให้คนสนใจเรื่องของทาน ให้มีการเสียสละก่อน ให้มีการเปิดโอกาส ถ้ามีการเสียสละ มีเรื่องของทาน ผลของมันคือสวรรค์ พอไปสวรรค์ ไปตกค้างอยู่ชักช้า ก็ให้เนกขัมมะ จนจิตใจควรแก่การงานถึงจะเทศน์เรื่องอริยสัจ

นี่เราสนใจ เห็นไหม ถ้าเทศน์อย่างนั้นหมายถึงว่าศรัทธาใหม่ คนที่เขาไม่เข้าใจเรื่องศาสนาเลย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาเริ่มตั้งแต่ทานขึ้นมา เรื่องของทาน เราก็ทำของเราแล้ว เราเสียสละมาทั้งหมด ในปัจจุบันนี้เรามาเสียสละเรื่องกิริยาวัตถุ คำว่า “วัตถุ” อารมณ์ความรู้สึกเป็นวัตถุอันหนึ่ง กิริยาท่าทางก็เป็นท่าทางอันหนึ่ง แล้วเราเสียสละความอยู่สะดวกอยู่สบาย มานั่งสมาธิภาวนา นั่งสมาธิภาวนาเพื่ออะไร? เพื่อให้จิตมันสงบ เพื่อให้จิตมันมีฐานที่ตั้ง ให้เป็นกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานมันจะตั้งลงบนฐานของใจนี้ เพราะใจนี้เป็นตัวเกิดตัวตาย ตัวใจนี้เป็นตัวหมุนตัวเวียน ตัวทุกข์ตัวยาก ตัวลำบากลำบนคือตัวใจ

ไอ้การอยู่ประสาโลกเขา ปัจจัยเครื่องอาศัยมันอยู่ชั่วคราว แล้วเกิดดีเกิดชั่วมันเป็นประสาเรา เราหาเงินหาทองมา เราจะอยู่เสพสุขขนาดไหนนั่นก็โลก แต่ก็อมทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ไปนั่งอยู่บนกองเงินกองทองมันก็ไปร้องครวญครางอยู่บนกองเงินกองทองนั่นน่ะ จะสร้างตึกสูงขนาดไหนมันก็ไปทุกข์อยู่บนตึกสูงนั่นน่ะถ้าใจมันทุกข์ ถ้าใจมันสุข มันอยู่โคนไม้ มันก็มีความสุข มันอยู่ที่ไหนมันก็มีความสุข

ถ้าใจมันควรแก่การงาน เราสละกิริยาที่มันมีความสุขของมันมานั่งสมาธิ นั่งสมาธิเพื่ออะไร? เพื่อหาหัวใจให้เจอ เพื่อจะหาความจริงให้เจอ ให้มันเป็นความจริง อย่าไปตู่มันก่อน พอไปตู่มันก่อน กำหนดพุทโธๆ ไป มันจะว่าง มันจะมีความสุข...มันจะมีความสุขอย่างไรก็แล้วแต่ มันเป็นเรื่องธรรมดา ลมพัดมามันก็ต้องมีความเย็นเป็นธรรมดา จิตใจของเราถ้าทำให้มันสะดวก ให้มันเปิดโล่ง มันก็สบายเป็นธรรมดา ความเป็นธรรมดาอย่างนี้มันไปถอดถอนอะไรบ้าง? มันยังไม่ถอดถอนอะไรเลย

สิ่งที่มันจะเป็นความจริงนะ กำหนดไปบ่อยๆ ตั้งสติไว้ ให้เป็นความจริง ความจริงมันเกิดเอง มันเป็นเอง มันเป็นของมัน มันเกิดเอง มันเป็นเองโดยสัจธรรม ไม่ใช่มันเกิดเองเป็นเองโดยที่มันจะลอยจากสิ่งที่ไม่มีต้น ไม่มีเหตุไม่มีผล มันจะเกิดเองอะไรเอง มันก็ไม่ใช่ลมนี่ ลมมันพัดไป อากาศมันร้อน มันพัดไป มันพัดเอาใบไม้ไป ใบไม้ก็ปลิวเป็นธรรมดา เกสรดอกไม้ ดูลมมันพัดไป มันไปผสมพันธุ์กันมันก็ไปเกิดต้นใหม่นะ แต่หัวใจเราล่ะ มันไม่ใช่เป็นเกสรดอกไม้ สิ่งใดมันจะเกิดขึ้นมาเองได้อย่างไร

มันต้องเกิดจากการกระทำ มันต้องเกิดจากสติ สติต้องตั้งมั่น สติมีความสำคัญมาก จะนั่งสมาธิก็ต้องมีสติ พุทโธๆๆ เดี๋ยวมันก็แว็บออกแล้ว ลืมแล้ว นี่มันก็เป็นพื้นฐาน ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกก็นึกโธ เกาะมันไว้ก่อน เกาะแน่นๆ ไว้ อย่าให้มันแฉลบออกนอกทาง ทำไปเรื่อยๆ ถ้าจิตมันดี มันจะลงของมัน คือมันจะสงบเข้ามา แล้วพุทโธไปเรื่อย พอสงบขึ้นมาก็ตื่นเต้น เห็นไหม เพราะเราคาดหมายว่า “มันจะว่างอย่างนั้น ไหนครูบาอาจารย์ท่านว่ามีความสุขๆ มันจะสุขขนาดไหน นี่ก็เป็นความสุขแล้ว” เหมือนเด็ก เด็กมันไม่เคยเจอสมบัติ มันเห็นเงินเล็กๆ น้อยๆ เหมือนคนทำงานเดือนแรกเลย พอเงินเดือนแรกออก เพราะเราหาเงินเอง มันจะตื่นเต้นมาก นี่เป็นภาคปฏิบัตินะ

แต่ถ้าเป็นปริยัติ มันเหมือนเราเป็นลูก เราไม่เคยทำเงินเดือนเลย เราไม่เคยทำอะไรเลย เราขอพ่อแม่ใช้ทั้งปีทั้งชาติ พ่อแม่ให้มาตลอด เห็นไหม มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แล้วพอพ่อแม่ให้มาก็น้อยเนื้อต่ำใจ “แม่ไม่รักเรา แม่รักคนนู้นมากกว่าเรา ให้เราน้อยกว่าคนนู้น ให้น้อยกว่าคนนี้”

นี่เหมือนกัน เวลาเราไปตู่ธรรม เวลาจิตมันมีความรู้สึก นี่ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วยกัน แล้วก็มานั่งเถียงกันไง “ธรรมพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น อะไรมันจะละเอียดอ่อนกว่า” มันก็เหมือน “พ่อแม่ไม่รักเรา รักคนนู้นมากกว่าเรา รักเรามากกว่าพี่กว่าน้อง” มันก็คิดของมันไป นี่เพราะมันไม่ได้ทำ

แต่พอมันทำขึ้นมา เราทำของเราเอง เห็นไหม พ่อแม่ให้กำเนิดมาแล้ว พ่อแม่ให้ชีวิตมาแล้ว มีคุณค่ามากแล้ว พ่อแม่เลี้ยงเรามาจนโตแล้ว ป่านนี้เราทำงานของเราเอง เงินเดือนแรกออกมาเราจะภูมิใจไหม จิตที่มันสงบก็เหมือนกัน จิตการกระทำของเรา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนพ่อแม่เรา เงินของพ่อแม่ เราอาศัยแค่มาบวชเรียนในพระพุทธศาสนา การดำรงชีวิตของเรานี้เป็นประเพณีวัฒนธรรม

บวชพระ เวลาออกธุดงค์ที่ไหน มีบาตรไปที่ไหนมันก็อยู่ได้ ชีวิตนี้ดำรงอยู่ได้แล้ว ดำรงอยู่ได้แบบพระปฏิบัติ คือมันไม่เรียกร้องสิ่งใดจนเกินกว่าเหตุ ขอให้มีปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ แค่ดำรงชีวิตนี้อยู่ มันเหลือเฟือแล้ว สิ่งอื่นที่มันแสดงออกนั่นเป็นเรื่องกิเลสทั้งหมด กิเลสมันไม่พอใจหรอก อาหารที่มันไม่ชอบใจมันก็ไม่พอใจ มันไม่พอใจสิ่งใดๆ เลย กิเลสไม่เคยพอใจอะไรทั้งสิ้น แล้วพอมีธรรมวินัยขึ้นมาปกครองมัน เข้ามาบังคับใจเราให้อยู่ในกรอบ มันจะดิ้นขนาดไหน สู้กัน มันไม่พอใจขนาดไหน สู้กัน สู้กันด้วยข้อวัตรปฏิบัติ สู้กันด้วยธรรมวินัย สู้ ตั้งสติไว้ จับมันให้อยู่ ใหม่ๆ มันจะดิ้นรุนแรงมาก แล้วยิ่งจะมาประพฤติปฏิบัติ ยิ่งมาภาวนา มันยิ่งดิ้นเข้าไปใหญ่ เพราะอะไร

เพราะจะฆ่ามันน่ะ ใครมันจะยอมให้คนอื่นทำร้ายเรา กิเลสก็เหมือนกัน กิเลสมันลึกซึ้งกว่าศัตรูหรือฝั่งตรงข้ามกับเราที่กลั่นแกล้งเรา เพราะเรารู้ว่าศัตรู เราระวังตัวนะ แต่กิเลสมันหลอกเราให้เชื่อมันตายใจเลย เพราะมันเป็นเรา จะทำอะไรก็ไม่ได้ จะทำสิ่งใดก็กลัวมันกระทบกระเทือนไปหมดเลย เพราะมันเป็นเรา แล้วมันก็ทำลายเรา นั่งสมาธิมันก็ทำให้สมาธิเราล้มลุกคลุกคลานไปได้ เดินจงกรมมันก็บอกให้หยุด มันมีเหตุผลอ้างหมดล่ะ แต่เวลาเราจะทำความจริง เราไม่มีเหตุผลอ้างเลย ฉะนั้น เราฝืนมัน สู้มัน ถ้าเราสู้ได้ เราจะชนะไปเรื่อยๆ ถ้าเราได้ชนะแล้วเราจะมีโอกาส แต่ถ้าไม่เคยชนะเลย เราแพ้ตลอดไป เราจะเอาอะไรไปสู้มัน

คนทำการค้าถ้าทำแล้วขาดทุนทุกวัน เราจะเอาทุนที่ไหนไปต่อสู้ แต่นี่เราประพฤติปฏิบัติ จิตเราไม่สงบเลย จิตเราไม่มีหลักมีเกณฑ์เลย แล้วเราจะไปต่อสู้มัน เราก็น้อยเนื้อต่ำใจตลอดไป แต่เราอาศัยครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง เราอาศัยครูบาอาจารย์เป็นฐาน ครูบาอาจารย์ท่านจะให้กำลังใจเรา ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ เราไม่ต้องวิตกกังวลว่าเราจะต้องไปหาสิ่งใดมาเป็นการดำรงชีวิต เราอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์รับประกันในชีวิตเราว่าจะไม่ทุกข์ยาก จะอยู่ของเราได้ แล้วให้ประพฤติปฏิบัติ พยายามสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาให้ได้ ถ้ามันสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ มันจะเป็นไปตามข้อเท็จจริง มันจะซึ้งบุญซึ้งคุณนะ มันมีบุญมีคุณกันอยู่

แล้วพอจิตมันเริ่มเป็นไป มันจะเริ่มสงบขนาดไหน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันจะลงอย่างไร ถ้ามันไม่ลง เราใช้ปัญญาใคร่ครวญ มันลงนะ มันจะเห็นตามความเป็นจริงของมัน ตามความเป็นจริง ลงก็ลงจริงๆ สงบจริงๆ มีความสุขขนาดไหน เราอย่าเผลอ มีความสุขขนาดไหน ออกมา พุทโธต้องเกาะทันที ไม่ใช่ว่ามันมีความสุขพอมันปล่อยวาง

คนเราหาบของหนัก แบกของหนัก วางของหนักมันก็เบาเป็นธรรมดา จิตของเรามันคิดอยู่ตลอดเวลา ความคิดมันหมกมุ่น มันเหยียบหัวใจอยู่ตลอดเวลา แล้วมันปล่อยความคิดหน่อยเดียวมันก็เป็นเรื่องสบายเป็นธรรมดา แต่เราปล่อยวางแล้วเราจะทำอะไรต่อไป ถ้าเราจะทำต่อไป เราปล่อยวางแล้วต้องมีกำลัง ยกมันขึ้นมาก็ได้ พลิกแพลงมันอย่างไรก็ได้ใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติของเราเข้าไปบ่อยครั้งเข้า มีสตินะ พุทโธเข้าไปบ่อยครั้ง มันจะเห็นคุณเห็นโทษ เพราะเวลาที่เราเผลอ เราเผลอเพราะอะไร เผลอเพราะรูป รส กลิ่น เสียงมันสอดเข้ามา มันสอดเข้ามาในขณะพุทโธของเรา ขนาดพุทโธแล้วนะ จิตมันสงบขนาดไหนมันก็เอาเรื่องนี้มาเป็นเครื่องล่อ เพราะเราไม่รู้จักมัน แต่เราเห็นโทษของมัน มันผิดพลาดเพราะอะไร ทำไมเราต้องออกวิเวก ทำไมเราต้องหาที่สงบสงัด? หาที่สงบสงัดเพราะจะดูความคิดไง

คนเราอยู่ด้วยกัน คลุกคลีกัน ไม่เห็นตัวเองหรอก เห็นแต่อารมณ์ของคนอื่น แล้วจับผิดกันไปจับผิดกันมา แต่ถ้าอยู่คนเดียวนะ มันคิดของมันอยู่คนเดียวน่ะ จับผิดตัวมันเอง สิ่งที่เขาพูดกันเมื่อกี้นี้กระทบกระเทือนกัน เราก็ไม่พอใจ แล้วเราเอามาคิดอยู่นี่ เราเลวกว่าเขาไหม เขาทำอยู่ข้างนอก เรายังว่าไม่ถูกต้อง แล้วมันมาคิดอยู่ในใจเรานี่มันถูกต้องไหม

นี่ไง ที่มันสอดเข้ามา รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันเป็นบ่วงของมาร บ่วงคือบ่วงล่อใจให้เข้าไปอยู่ในอำนาจของมัน บ่วงล่อให้เราคิดตามมัน พวงดอกไม้คือมันบูชา เราคิดว่าเรามีสติ เรามีสมาธิ เรามีกำลังของเรา เราปล่อยวางขึ้นไป มันก็เอาสิ่งนี้มาล่อ ถ้าเราไม่โง่ มันก็เอาบ่วงดัก ถ้าเราฉลาดมันก็เอาพวงดอกไม้มาล่อ พอล่อ มันก็คิดออก มันก็ส่งออกอีกเป็นธรรมดา

สิ่งที่ว่ามันเป็นสมาธิ มันเป็นความว่างๆ มันมีเหตุผลอะไร มันไม่มีเหตุผลเพราะอะไร เพราะเราตู่มันว่าเป็นจริง แต่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมานะ เรารักษาของเราได้จริงนะ เราจะทุ่มเททั้งชีวิตนะ ถ้าจิตเรากำหนดพุทโธ ตั้งสติไว้ แล้วมันเป็นไปได้ มันสงบจริงๆ แล้วมันเสื่อมมาแล้ว เราจะทำให้สงบอีก มันสงบไม่ได้ พอสงบไม่ได้ปั๊บมันจะหาเหตุผลทันทีเลย เพราะเราเคยทำได้ เราเคยทำได้แล้วหนหนึ่ง ทำไมจะทำอีกไม่ได้ เพราะอะไร นี่ไง ก็เพราะว่าเราไม่จริง เพราะเรานั่งสมาธิแล้วเราคิดส่งออก แล้วทำไมเราถึงส่งออก ทำไมคิดแต่เรื่องที่เป็นโทษกับมัน

ส่งออกเพราะมันมีกำลัง แล้วเราจะทอนกำลังมันได้อย่างไร? เราจะทอนกำลังด้วยการผ่อนอาหาร การผ่อนอาหาร การอดนอน มันจะไปผ่อนกำลังของกิเลสไง ถ้าผ่อนกำลังของกิเลสแล้วต่อสู้ไป เห็นไหม มันมีปัญญาอย่างนี้ไง มีปัญญาเพราะมันรู้จริง พอมันรู้จริงเข้าไปถึงจุดความจริงนั้นแล้ว แล้วเราจะเข้าถึงจุดความจริงอันเดิมนั้น ทำไมมันเข้าไม่ได้ ทำไมครั้งที่แล้วมันเข้าได้ ทำไมครั้งนี้มันถึงเข้าไม่ได้ มันมีเหตุมีผลไง เพราะเราทำของเราใช่ไหม แต่ถ้าเราคาดหมาย เห็นไหม มันตู่ พอตู่ไปแล้วมันไม่มีเหตุมีผล ถ้าไม่มีเหตุผล มันจะเข้าไปอีกได้อย่างไร มันก็เข้าไปคากันอยู่อย่างนั้นล่ะ ตกภวังค์บ้าง อยู่อย่างนั้นน่ะ

ถ้าในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันมีสัมมากับมิจฉา เวลาสัมมาสมาธิ มันมีสติ แล้วมันจะรู้ตัวของมัน สงบขนาดไหนก็รู้ตัวของมัน นี่สัมมาสมาธิ แต่มิจฉาสมาธิ มันว่างๆ ของมัน แต่ไม่รู้ตัว ไม่รู้อะไรเลย มันเป็นมิจฉา เห็นไหม คำว่า “ว่าง” มันจะถูกต้องหมด มันก็ไม่ใช่ มันมีถูกต้องและผิด ผิดคือมิจฉาสมาธิ ถูกคือสัมมาสมาธิ

ถ้ามันถูก เป็นสัมมาสมาธิ มันจะพัฒนา ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ก็ในเมื่อเราเข้าไปถูกทางแล้ว เราเดินต่อไป มันต้องลึกเข้าไปๆ จริงไหม แต่เราเข้าถูกทางแล้วทำไมมันไม่เดินต่อไปล่ะ ทำไมจิตเราไม่เดินต่อไป ทำไมจิตเราไม่พัฒนา นี่ไม่พัฒนาแล้วก็เชื่อมันด้วยนะ มันให้กิเลสนำหน้าไง ให้กิเลสมันหลอกว่าแค่นี้ๆ แล้วก็คร่อมอยู่อย่างนั้นน่ะ มันรอวันเสื่อมนะ รอวันที่จะต่อสู้ไปไม่ไหว

แต่ถ้าเป็นตามความเป็นจริงมันจะมีเหตุมีผล ธรรมะคือเหตุและผล สรุปลงแล้วเป็นธรรม เหตุและผลที่มันเป็นจริงสรุปขึ้นมาแล้วเป็นสมาธิ แล้วเราก็สร้างของเราบ่อยเข้า เพราะเรามีเหตุมีผลของเรา ถ้ามีเหตุมีผล ถูกต้องหมด เห็นไหม เหมือนคนที่ชำนาญการ ทำอะไรก็ถูกไปหมด ทำสิ่งที่ตัวเองชำนาญ จะถูกๆๆ ไปตลอด นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเป็นแล้ว แล้วเราควบคุมได้นะ พอเราควบคุมได้อย่างนี้ นี่จิตตั้งมั่น จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตออกวิปัสสนา แล้วถ้าจิตมันยังไม่ตั้งมั่น จิตมันยังไม่เป็นเอกัคคตารมณ์ มันขึ้นๆ ลงๆ ก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญ มันฝึกบ่อยครั้งเข้า ฝึกของมันบ่อยๆ แล้วเวลาออกไปให้เห็นกาย เวทนา จิต ธรรมโดยความเป็นจริง ถ้าเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมโดยความเป็นจริง อันนั้นมันเป็นความจริง เห็นไหม ถ้าเป็นความจริง มันตู่ไหมล่ะ

ถ้ามันตู่นะ มันตู่เพราะอะไร นี่เห็นกายๆ ว่าเห็นกายกันไป นั่นเห็นกายโดยสัญญา เห็นกายโดยสามัญสำนึก มันไม่เห็นกายตามข้อเท็จจริง ถ้าเห็นกายตามข้อเท็จจริง มันจะสะเทือนขั้วหัวใจ สะเทือนใจมาก มันทิ่มเข้ากลางหัวใจเลย แล้วจับได้ พอมันหลุดมือไป เราพยายามฝึกบ่อยๆ จับขึ้นมาอีก ให้สมาธิมันลงให้ได้ ถ้าสมาธิมันลงไม่ได้ หรือมันไม่เห็นกายอีก มันก็มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม มีธรรมะไง ธรรมะกับอารมณ์ ธรรมะกับความรู้สึก เขาเรียก “ธรรมารมณ์”

กาย เวทนา จิต ธรรม อารมณ์ความรู้สึกมันเอามาเป็นการรื้อค้นได้ ค้นความรู้สึก ความคิด นี่มันพลิกแพลงได้ มันพลิกแพลงการบริหารจัดการให้มันเป็นไป ให้มันเป็นสัจจะ คือให้จิตมันฝึกจิตให้เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ ให้เห็นสัจจะความจริง ถ้าเห็นไตรลักษณ์ เห็นเป็นสัจจะความจริง เห็นจากใคร? เห็นจากใจที่เป็นสัมมาสมาธิ

ถ้าไม่เห็นจากใจที่เป็นสัมมาสมาธิ มันจะเป็นการกล่าวตู่ธรรมะ เพราะธรรมะมันมีอยู่แล้ว ธรรมและวินัยที่เขากล่าวตู่ กล่าวตู่มาตั้งแต่ข้างนอก เห็นไหม ตู่ธรรมมาตั้งแต่ข้างนอกว่า “นรกสวรรค์ไม่มี มรรคผลนิพพานไม่มี คนทำสมาธิเป็นคนโง่ คนทำสมาธิไม่มีปัญญา ต้องใช้ปัญญา”...ปัญญาอย่างนั้นเป็นปัญญาของกิเลส ปัญญาอย่างนั้นเป็นโลกียปัญญา ปัญญาอย่างนั้นเป็นปัญญาขอเงินแม่ใช้ ปัญญาอย่างนั้นเป็นปัญญาจากพระไตรปิฎก ปัญญาที่เราศึกษามา

แต่ถ้าเป็นปัญญาของเราล่ะ เราทำงานของเราเอง เรารู้สึกของเราเอง เราลงทุนลงแรงของเราเอง มันต่างกันเยอะมาก ถ้าพูดถึงปัญญาอย่างนี้มันเกิดขึ้นมา มันจะเกิดขึ้นมาจากอะไร เราจะลงทุนลงแรง เราจะทำกิจการของเรา ถ้าเราไม่มีทุน เราไม่มีต้นทุน เราจะเอาอะไรไปทำ ถ้าเราไม่มีสมาธิเป็นฐาน เราจะเอาอะไรไปทำ ถ้าไม่มีสมาธิเป็นฐาน มันทำขึ้นมาแล้วมันก็ลอยลมใช่ไหม เหมือนเราทำงานให้คนอื่น เราไปช่วยงานคนอื่น แล้วเราได้อะไรขึ้นมา? ก็ได้บุญได้คุณจากเพื่อนฝูง เพราะเราช่วยงานเขา การช่วยงานเขาก็ผลประโยชน์ของเขา แต่ถ้าเป็นงานของเราล่ะ งานของเรา เราทำเพื่อประโยชน์ของเราใช่ไหม งานของเรา เราอยู่ที่ไหน? เราก็อยู่ที่ใจนี่ไง เราก็อยู่ที่จิตสงบนี่ไง

แต่ถ้าจิตมันไม่สงบมันก็เท่ากับไปช่วยงานกิเลสไง ช่วยงานใคร? ก็ช่วยงานของขันธ์ ๕ ช่วยงานของอาการของใจ ไม่ใช่ตัวใจ เพราะในเมื่ออาการของใจมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป โดยธรรมชาติมันเป็นสภาวะแบบนั้นอยู่แล้ว แล้วเราไปทำงานกันที่นั่น แต่ถ้ามันถอยกลับมาที่สัมมาสมาธิ กลับมาที่ใจ มันเป็นงานของเรานะ รู้ก็รู้ที่ใจ ถอดถอนก็ถอดถอนเสี้ยนหนามที่ใจ ถ้าถอดถอนเสี้ยนหนามที่ใจ เอาอะไรไปถอดถอนมัน? ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ มรรคญาณจะเข้าไปทำลายมัน ถ้ามรรคญาณจะเข้าไปทำลายมัน มรรคญาณมันเกิดมาจากไหน มรรคญาณเกิดมาจากตำราหรือ มรรคญาณเกิดมาจากวิชาการไหน ถ้ามรรคญาณมันไม่เกิดมาจากใจ มันจะเกิดมาจากไหน

มรรคอย่างนั้นมันเป็นมรรคตำรา มรรคอย่างนั้นเป็นมรรคของโลก นี่สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ผู้ประพฤติปฏิบัติพูดบ่อยมากเลย “ทำงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ”...ไอ้นั่นมันนกแก้วนกขุนทอง “แม่จ๋าๆ” มันก็ว่าแม่จ๋าตามเราไปน่ะ มันรู้ไหมว่าแม่จ๋ามันคืออะไร? มันไม่รู้หรอก นี่ก็เหมือนกัน มรรคๆๆ ไอ้นั่นมันเป็นมรรคของโลก มันเป็นมรรคของคฤหัสถ์ ดูสิ มรรค ๔ ผล ๔ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มันยังต่างกันเลย เห็นไหม

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไป เวลาขั้นของปัญญามันจะหลอกลวงนะ กิเลสมันจะแซงหน้า กิเลสมันอยู่กับเรา กิเลสถ้าเราต่อสู้มัน มันจะสงบตัวลง มันจะสงบหลบหลีกเรา แต่ถ้าเราพิจารณาเข้าไปมันก็จะสร้างเหตุการณ์ให้เราเบี่ยงเบน ให้เราหลงผิดไป มันหลงผิดไป มันต้องปกป้องตัวมันเองตลอดเวลา มันจะต่อสู้เราตลอดเวลา เพราะเราไม่ทันมัน เพราะเราไม่เคยเห็นสัจจะความจริงไง แต่เราเห็นสัจจะความจริง แล้วเราต่อสู้มัน เห็นคุณเห็นโทษของมัน

นี่เห็นคุณของมันนะ กิเลสเป็นคุณ กามคุณ เห็นไหม คนที่ใจเป็นธรรม ผู้ที่ต้องการสืบสกุลของเขา กามคุณของเขา เขามีผู้สืบสกุลของเขา แต่คนที่บอกว่ากามเป็นโทษ เพราะมันเป็นโทษหมดเลย เพราะสิ่งนี้ทำให้ชีวิตเราทุกข์ยากไปหมดเลย นี่เป็นโทษ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นประโยชน์ กิเลสเป็นคุณ เพราะมันมีมรรคไง สิ่งที่เป็นความอยาก เราแปรให้มันเป็นมรรคขึ้นมา ให้มันเป็นสิ่งที่เราตั้งใจขึ้นมา แล้วเอาสิ่งนี้แปรเป็นคุณงามความดีให้หมด ถ้าเป็นคุณงามความดีมันก็แบ่งแยก เดี๋ยวก็เป็นกิเลส เดี๋ยวก็เป็นธรรม เพราะกิเลสมันมีอยู่แล้ว กิเลสมันจะแถออกข้างนอกตลอดเวลา แต่เราจะดึงมันกลับมาด้วยผลประโยชน์ของเรา แล้วจับมันได้ เห็นมันได้ เวลาฆ่ามันนะ พิจารณาบ่อยครั้งๆ ถึงที่สุด เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ พิจารณากาย กายเป็นกาย แยกออกไป จิตแยกออกไป ทุกข์แยกออกไป จิตรวมลง สมุจเฉทปหาน นี่ไง สัจจะความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่กล่าวตู่

นี่ไปตู่ธรรมมาว่า “เราบรรลุธรรม เรารู้ธรรม”...เรารู้จากสัญญา รู้ในข้อมูลอันหนึ่ง จะบอกว่าไม่เป็นประโยชน์ไม่ได้ เพราะมันเป็นปริยัติ ในเมื่อปริยัติไม่มี เราจะเดินกันอย่างไร นี่ไง ธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าวางไว้ ทำสังคายนามา ไม่ให้คนกล่าวตู่ พระกล่าวตู่ก็ไม่ได้ ถ้ากล่าวตู่ ปรับอาบัติเลย แต่ในปัจจุบันนี้ ในเมื่อสังคม ในเมื่อวงการของสงฆ์ไม่เชื่อเรื่องอย่างนี้กันแล้ว ไม่เชื่อแล้วไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ในเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นไฟเผาใจอยู่ชัดๆ แต่ความเชื่อหรือไม่เชื่อบางทีมันสู้กับแรงกิเลสไม่ไหว กิเลสในหัวใจมันรุนแรงกว่า มันชักนำให้ผิดพลาดไปตามสภาพของมัน นี่ทนไม่ไหวก็เชื่อมันไป

สิ่งต่างๆ ลึกๆ แล้วมันสงสัยนะว่ามีจริงหรือไม่จริง นั่นเพราะเขาไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันรู้จริงเห็นจริง เห็นไหม สวรรค์ในอก นรกในใจ แล้วนรกสวรรค์ข้างนอก จิตนี้ตายแล้วมันไปเสวยภพ สิ่งที่เสวยภพ จิตมันไป จิตเสวยภพเพราะอะไร เพราะมันต้องมีคุณค่าเท่ากันมันถึงไปใช่ไหม จิตที่มันดีมันก็ไปเกิดบนสวรรค์ เป็นอินทร์ เป็นพรหม จิตที่มันมีโทษมันก็ไปเกิดในนรกอเวจี แล้วเราจะดับสวรรค์ในอก นรกในใจ สิ่งที่เป็นแรงดึงดูดได้อย่างไร

แรงดึงดูด สิ่งที่มันเกาะเกี่ยว สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้าเราวิปัสสนาไป พิจารณากายไปถึงที่สุดแล้วมันปล่อยวางตามความเป็นจริง เราถอนทิฏฐิที่เห็นผิด เห็นผิดแล้วมันก็เห็นถูก กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายกับจิตมันแยกออกจากกันโดยธรรมชาติของมัน แต่มันอาศัยกันอยู่ แล้ววิปัสสนาต่อเข้าไป สิ่งที่เป็นอุปาทาน ถ้าวิปัสสนาเข้าไปมันจะคืนสู่สภาพเดิมของมัน

กายไม่ใช่เรา ถ้าวิปัสสนากาย กายมันคืนสู่สภาพเดิม เพราะเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ มันจะคืนสู่สภาพเดิมของเขา เพราะ ดิน น้ำ ลม ไฟ เราเอาอาหารของโลก เราเอาสิ่งที่เป็นดิน เป็นน้ำมากิน เรากินง้วนดิน เรากินพืช อาหารมันก็มาจากดินทั้งนั้นน่ะ พืชมันก็ขึ้นมาจากดิน เห็นไหม ถ้าพิจารณาไป มันย้อนกลับไป มันกลับสู่สภาพเดิมของเขา จิตกับกายมันแยกออกจากกันโดยสัจจะความจริงเลย โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง นี่ถอนอุปาทานในหัวใจออกมา

ถ้ามันถอนอุปาทานในหัวใจออกมา โลกนี้ราบหมดเลย จิตมันปล่อยหมด ว่างหมดเลย นี่มันติดอยู่พักใหญ่เลยนะ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำนะ ติดว่านี่คือนิพพาน ถ้าปฏิบัติเริ่มต้นก็ว่ามรรคผลนิพพานไม่มี ประพฤติปฏิบัติไปถึงที่สุดระหว่างทางมันก็ว่านี่เป็นนิพพานๆ ไปตลอดทาง เพราะมันว่างๆ เห็นไหม มันซ่อนเร้นมาตลอด เราตู่ธรรมไปตลอด เพราะเราฝักใฝ่คุณงามความดี เราอยากดี อยากให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ อยากประพฤติปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์

ทีนี้พอพ้นจากทุกข์ไป เราไม่เคยเห็นถึงการสิ้นสุดกระบวนการว่ามันเป็นอย่างไร ในเมื่อการประพฤติปฏิบัติแต่ละขั้นตอน เวลามันปล่อยวาง ตทังคปหาน วิปัสสนาไปถ้าจับได้ ถ้าจับไม่ได้มันจะนอนจมเลยนะ จับไม่ได้หมายถึงว่าเข้าใจว่าตัวเองเป็นนิพพาน เข้าใจคือหลง หลงคือไม่รู้อะไรเลย รู้สถานะที่มันเป็น รู้ที่มันว่างๆ แต่ไม่รู้สิ่งที่ดำเนินการต่อไป แล้วเข้าใจว่าความว่าง เหมือนเราจะไปถึงหนทางหนึ่ง เราไปถึงอีกเป้าหมายหนึ่ง แล้วเราเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เราปรารถนาไปถึงแล้ว มันคิดว่า มันเข้าใจว่าถึงที่สุดแล้ว ถ้าเราคิดว่าเราถึงเป้าหมายแล้ว เราจะเดินต่อไปไหม เราไม่เดินเพราะมันหลง มันไม่เข้าใจไง อันนี้ไม่ใช่ตู่ อันนี้หลง ไม่เข้าใจเลย ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น ไม่รู้ว่าอะไรเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม รู้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมากับใจแล้ว ถ้ามันรู้สิ่งต่างๆ รู้ว่าถ้าปฏิบัติไปแล้วถึงที่สุด เห็นไหม

ดูสิ ในสมัยพุทธกาล มีพระจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าสิ้นกิเลส

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ต้องมา ให้พระไปดักไว้ แล้วบอกให้พระที่มาเข้าไปในป่าช้าก่อน”

พอเข้าไปป่าช้า ไปพิจารณาซากศพ มันมีความยอกใจ หัวใจมันฟูมันแฟบ มันเกิดสิ่งที่มันว่ามันว่าง แต่มันไม่ว่าง เห็นไหม นี่ตัวเองไม่รู้ ไม่รู้เลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ ถึงว่าดักหน้าให้เข้าไปเที่ยวป่าช้าก่อน นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตมันปล่อยหมด ในเมื่อร่างกายมันคืนสู่สภาพเดิมของเขา จิตมันปล่อยหมด ว่างหมด นี่หลง ไม่เข้าใจ ก็จะติดอยู่อย่างนั้น ไม่พัฒนา ไม่ก้าวเดินต่อไป

แต่ถ้ามันมีครูบาอาจารย์คอยบอก หรือเราทดสอบของเราเอง มรรค ๔ ผล ๔ คำว่า “มรรค ๔ ผล ๔ กิจจญาณ” การเดินวงรอบของใจมันมีของมัน ถ้าเราทำแล้วมันเทียบได้ ถ้าเรามีปัญญาตรวจสอบตัวเอง ตรวจสอบทดสอบตัวเองว่าสิ่งนี้มันยังไม่ถึงที่สุด มันจะทำให้ย้อนกลับไป ย้อนกลับเข้ามาเริ่มต้นด้วยสิ่งใด

เริ่มต้นที่จิตนี้มันปล่อยวางแล้ว จิตนี้ว่างหมด ว่างหมดแล้วเอากำลังที่ไหนเข้าไปขุดคุ้ยหากามราคะ จิตที่ว่านิพพาน จิตที่ว่าว่างๆ ถ้ามันออกไปรับรู้ ออกไปค้นหา ถ้าค้นหา มันต้องเอาจิต เอาฐาน เห็นไหม สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรคมันต่างกันตรงไหน? มันต่างกันด้วยกำลังของสมาธิที่มันต่างกัน โสดาบัน ๒๕ เปอร์เซ็นต์ สกิทาคามี ๕๐ เปอร์เซ็นต์ อนาคามี ๗๕ เปอร์เซ็นต์ อรหัตตมรรค สมาธิ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สมาธิเป็นญาณที่ละเอียดเข้าไปจับ

ในขั้นของสมาธินะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิก็อันหนึ่ง อันนี้เป็นพื้นฐานของสมาธิที่ไม่เข้าถึงมรรคผลเลย มันอยู่ในขั้นของสมาธิ อยู่ในขั้นของสมถะ แต่ถ้าเข้ามาขั้นของปัญญามันถึงเป็นมรรค เพราะอะไร เพราะมีความดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ งานชอบในการวิปัสสนา งานชอบในการค้นคว้าหากาย เวทนา จิต ธรรม งานค้นคว้าในอริยสัจ นี่คืองานชอบ

ถ้างานในสมาธิคือชอบในขั้นของสมาธิ ทำความสงบของใจ ทำใจให้มันสงบเข้ามา อุปจาระ อัปปนา มันก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง แต่ถ้าขั้นของโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค คนละเรื่องกัน เพราะสิ่งที่เป็นมรรคมันเป็นอริยสัจ สิ่งที่เป็นสมาธิคือการเตรียมพร้อมในการหาทุนที่เราจะเริ่มทำงาน สิ่งต่างๆ มันจะก้าวเดินต่อไป ให้มันเป็นสัจจะความจริง อย่าไปตู่มัน

ไม่ตู่ธรรม ให้ทำตามความเป็นจริง ขยันหมั่นเพียรขึ้นไป เราจะมีโอกาสนะ

ถ้าเราไม่ขยันหมั่นเพียร เราจะทำลายโอกาสของเราเอง แม้แต่ประพฤติปฏิบัติ แม้แต่ความเข้าใจนะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมท่านเห็นพวกเราที่ดำรงชีวิตนี้เหมือนสัตว์ตัวหนึ่งนะ ดูสัตว์สิ สัตว์มันดำรงชีวิตของมันโดยธรรมชาติของมัน ดูสัตว์ป่ามันเกิดมาจากในป่า มันดำรงชีวิตของมัน มันต้องพยายามหาอาหารของมัน มันจะดำรงชีวิตของมันให้ได้

ทุกคนเกิดมาก็ไม่อยากตาย ทุกคนรักชีวิตทั้งนั้นน่ะ แล้วเราเป็นมนุษย์ เราเกิดมาแล้วเราก็ดำรงชีวิตของเรา เราก็อยู่ในโลกของเรา เราว่าเราเป็นคนดี เราก็รักษาตัวเราดี เราก็เป็นคนดีหมดแล้ว เห็นไหม แต่ครูบาอาจารย์ที่เห็นเป็นธรรม เพราะอะไร เพราะอย่างนี้มันดีแบบสัตว์ คือดีแบบดำรงชีวิตหาเครื่องอยู่อาศัย หาอาหารเพื่อดำรงชีวิต แต่ไม่ได้หาอาหารให้ใจ ไม่ได้หาธรรมะมาชำระกิเลส ถอดถอนกิเลส

เพราะการถอดถอนกิเลสนี้เป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ความจริง นี่คือตัวธรรม ตัวธรรมคือตัวใจเป็นธรรม ใจที่เป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี นี่ตัวธรรม ตัวธรรมมันอยู่ที่นี่ ที่กราบธรรมๆ สิ่งที่เป็นธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบ กราบที่ไหน ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบ เป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาองค์ที่ ๔ แล้วกราบใคร

ธรรมะมีอยู่แล้ว ธรรมะคือมรรคญาณ คืออริยสัจ สัจจะความจริงอันนั้น แต่ใจที่ธรรมเข้าไม่ถึง ใจนั้นมันก็เป็นธรรมไม่ได้ ใจที่เข้าได้ถึง มันเข้าได้ถึงสมมุติ เห็นไหม สมมุติที่เราคิดกันอยู่ สมมุติบัญญัติที่เราศึกษากันมันเป็นสมมุติ ถ้าสมมุติก็ขอเงินแม่ ขอเงินแม่ ไม่ใช่เงินของเรา ถ้าเราทำงาน เราขอเงินเรา เราหาเงินเอง เราทำงานขึ้นเอง ถ้ามันทำงานขึ้นเอง นี่ไง ธรรมะเพราะใจมันเป็น ใจมันทำ ใจมันทำอริยสัจ ใจมันค้นคว้าอริยสัจ ใจมันหมุนเวียนออกมาจากอริยสัจ ใจมันถึงเป็นธรรม

แต่ถ้าพูดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมอยู่ กราบธรรมถึงสิ่งที่มีอยู่คือมรรคญาณ แล้วสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ตรัสรู้มา นั่นเป็นธรรมของจริง แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา บรรลุธรรมขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นก็ธรรมเสมอกัน มันมีอยู่แล้ว สิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่ไม่มีไม่เป็น เป็นไปไม่ได้ ไม่มีแร่ทองคำ ไม่มีแร่ธาตุต่างๆ เราจะเอาแร่ธาตุนั้นมาหล่อมาหลอมได้อย่างไร ไม่มีหัวใจ ไม่มีสิ่งที่เข้าไปชำระล้าง มันจะเป็นธรรมขึ้นมาได้อย่างไร

ที่ครูบาอาจารย์เห็นเราเหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง เพราะอย่างนี้ไง สัตว์ตัวหนึ่ง คือว่ามันเกิดตายเหมือนสัตว์ สัตว์มันก็เกิดตายเหมือนกัน ชีวิตเราก็ต้องเกิดตายเหมือนกัน แล้วชีวิตเราเกิดตายขึ้นมามันจะต่างกับสัตว์ตรงไหน ถ้ามันไม่ได้ต่างกับสัตว์ เห็นไหม ดูสิ เราต่างกับสัตว์เพราะเรามีศีลธรรม แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา คุณค่ามันอยู่ที่นี่ อยู่ที่การกระทำของเรา อยู่ที่สัจจะความจริงของเรา อยู่ที่ความขยันหมั่นเพียรของเรา

ถ้าขยันหมั่นเพียร ขยันหมั่นเพียรที่ไหน ขยันหมั่นเพียรก็ต้องออกไปทางโลกสิ ขยันหมั่นเพียรก็ต้องออกไปทำมาหากิน หาเงินหาทองกัน...ไอ้นั่นมันหาสมบัติสาธารณะ สมบัติความจริงของใจมันต้องหาในทางจงกรม หาในที่นั่งสมาธิภาวนา มันหามาจากที่นี่ หามาจากงานข้างใน เรารักษาใจให้ได้ ให้ใจมันมั่นคงขึ้นมา แล้วให้มันออกวิปัสสนา ถ้าไม่ออกวิปัสสนานะ ตายเปล่า สมาธิคือสมาธิ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ มันเป็นโลกียปัญญาหมด มันเป็นเรื่องปัญญาของโลก มันเป็นปัญญาของกิเลส มันเป็นปัญญาสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากกิเลสทั้งหมดเลย

แต่ถ้ามันจะเป็นปัญญา เป็นธรรมขึ้นมา มันต้องมีฐานของสมาธิ สมาธิมันง่อนแง่น ปัญญามันก็ง่อนแง่นตาม ถ้าสมาธิมั่นคง ปัญญามันก็มั่นคงตาม สมาธิที่มันดีขึ้นมา สมาธิที่มันใช้ขึ้นมา แล้วสิ่งใดที่ใช้แล้วมันจะไม่เสื่อมสภาพ สมาธินี้ใช้แล้วเสื่อมสภาพ มันถึงต้องเดินไปคู่กัน คือว่าจะอยู่ขั้นไหนก็แล้วแต่ ต้องกำหนดพุทโธ จะอยู่ขั้นไหนก็แล้วแต่ ต้องพักใจ ใจจะต่อสู้กับกิเลสโดยใช้ปัญญาหน้าเดียวมันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใช้ปัญญามันก็แก้กิเลสไม่ได้ นี่ไง ความพอดี มัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุลของใจในการประพฤติปฏิบัติมันอยู่แค่ไหน? มันก็อยู่แค่จริตนิสัยของสัตว์โลก สัตว์โลก จริตนิสัยของแต่ละบุคคล แต่ละดวงจิตที่ประพฤติปฏิบัติมันแตกต่างกัน

ความชอบ จริตนิสัย ความเห็น การเกิดการตายที่สะสม การเกิดการตายโดยเวรโดยกรรม คู่เวรคู่กรรม คู่ทุกข์คู่ยาก คู่สร้างคู่สม นี่มันมีของมันมา การกระทำมันถึงมีกรรม กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน แล้วสัตว์ไหน ไอ้นั่นมันสัตว์โลก ไอ้เรามันสัตว์บุคคล สัตว์เรา มันต้องแก้ไขสัตว์นี้ก่อน ไอ้สัตตะ ไอ้ผู้ข้องในหัวใจ ไอ้สิ่งที่มันฝังใจ เอาสัตว์ตัวนี้ให้รอด ถ้าเอาสัตว์ตัวนี้รอดมันก็ออก มีความเข้มแข็ง มีการกระทำ มีการทำความสงบของใจ ถ้าจิตสงบเข้ามามันย้อนออกได้ มันไม่ใช่ว่า พอกายกับจิตว่างแล้วก็จะว่างอยู่อย่างนั้นน่ะ

มันผ่านขั้นตอน ผ่านธรรมมา แต่กิเลสที่ละเอียดมันก็ปิดบัง นี่กิเลสอย่างหยาบก็หลอกหยาบๆ กิเลสอย่างกลางก็หลอกอย่างกลางๆ กิเลสอย่างละเอียดมันก็หลอกละเอียด กิเลสละเอียดสุดมันเป็นภพ มันเป็นสิ่งที่เป็นสถานะเฉยๆ นี่แหละ มันจะหลอกเราอยู่ข้างหน้า แต่นี่เราไม่เคยเห็นอะไรเลย เราก็ว่าเราสิ้นแล้ว มันเลยกล่าวตู่ ถ้าไม่กล่าวตู่ ทำไป สู้ไป มันถึงที่สุดนะ

ดูสิ มือเราสกปรก เราเอามาดมมันก็เหม็นวันยังค่ำ ถ้ามือเราล้างแล้วสะอาด มันจะมีกลิ่นไหม จิตที่มันยังมีอยู่ กิเลสที่ยังมีอยู่ในหัวใจ มันมีอยู่ มันคายพิษนะ ถ้าอย่างนั้นรักษาอยู่ อยู่กับครูบาอาจารย์ อยู่กับหมู่คณะมันก็ว่างๆ อยู่ แต่ถ้ามันไปกระทบมันก็แสดงออก แต่ถ้ามันไม่กระทบ เราใช้สติ เราค้นคว้าเลย พอค้นคว้า ใช้สติใช้ปัญญา ทำฐาน ทำกำลัง ทำพลังงาน ทำสมาธิให้เข้มแข็ง แล้วย้อนกลับ จับได้ ของมันมีอยู่ ของมันต้องมี ของไม่มีไม่มาเกิดเป็นมนุษย์ ของไม่มีไม่เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ในเทวดา ในอินทร์ ในพรหมก็มี มีสิ่งนี้เหมือนกัน เพราะมันเป็นปฏิฆะ-กามราคะอยู่ในใจ

เพราะการเกิดการตายในวัฏฏะมันมีกามภพ รูปภพ อรูปภพ มันเวียนตายเวียนเกิด ฤๅษีชีไพรหรือผู้ที่ถือลัทธิศาสนาต่างๆ ทำความสงบของใจ ถ้ารักษาใจ มันไม่ได้ใช้ปัญญาอะไรเข้าไปชำระล้างเลย รักษาเพียงแต่ให้มันนิ่งอยู่ ให้มันเป็นหนึ่งเดียว เวลาตายไป ไปเกิดเป็นพรหม เพราะอะไร เพราะเขาสร้างเหตุอย่างนั้นมันก็เป็นพรหมอย่างนั้น แล้วพอตายจากพรหมมันก็มาเกิดเป็นเราอีก เกิดเป็นสัตว์โลกอีก มันก็เวียนตายเวียนเกิด เพราะมันไม่ถึงที่สุด เพราะเขาสอนกันแค่นั้นไง

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สอนอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ใช้ฐานของสมาธิขึ้นมาแล้วให้ออกทางปัญญาใคร่ครวญมัน พอเข้าไปเห็นนะ จับได้ เพราะมันเป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะ เวลาวิปัสสนาไปเป็นอสุภะ พิจารณากายนี้เป็นอสุภะ จนชำนาญมาก มองเพ่งไปเป็นเลือดเป็นหนองทั้งหมดเลย ถ้าชำนาญมาก มองมนุษย์ มองสัตว์โลก ถ้ากำลังมันดีนะ มันจะเป็นเลย แต่ถ้ากำลังไม่ดีมันก็ต้องคล้อยตามเขาไป เห็นไหม ขณะที่ทำ เดี๋ยวเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ จะเป็นสภาวะแบบนั้น เห็นทั้งหมดเป็นสภาวะอย่างนั้นเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นธรรมไง

แต่ถ้ามันเป็นการตู่ มันว่ามันเป็นเหตุผล เพราะอะไร เหตุผลมันเป็นเพราะว่าจิตมันมีฐาน จิตมันมีสมาธิของมัน เพราะจิตมันแรง เห็นไหม ดูสิ สมาธิ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ แล้วสิ่งที่เห็น มันเพ่งของมันไป ให้รำพึงไปด้วยปัญญา ให้มันแปรสภาพ ให้มันเป็นไป ฝึกฝนบ่อยครั้งเข้าๆ จากเห็นกาย เห็นสภาวะของสังคมที่มันเป็นอสุภะหมด แล้วย้อนกลับมาอสุภะของเรา เพราะสังคมมันแก้กิเลสไม่ได้ ความเป็นไปของสัตว์โลกกับเราไม่ใช่อันเดียวกัน แต่เพราะกำลังของจิตที่มันออกไปเห็น จิตที่ออกไปเห็นว่าอำนาจวาสนาของใจแต่ละดวงไม่เหมือนกัน จิตที่มันมีกำลังของมัน มันมองเห็น เห็นทะลุไปหมดเลย แล้วแก้กิเลสได้ไหม? ไม่ได้ เพราะมันเป็นกายนอก มันเป็นกายของคนอื่น มันเป็นกายของสังคม ไม่ใช่กายของเรา ไม่ใช่ฐานที่ตั้งของกิเลส

พอพิจารณาบ่อยครั้งเข้ามันจะละเอียด มันจะย้อนกลับๆ ถ้ามันเป็นธรรมมันจะย้อนกลับ ถ้ามันหลงมันจะส่งออก พอส่งออก เดี๋ยวมันก็เสื่อมหมด เราก็ต้องตั้งต้นใหม่ มันจะล้มลุกคลุกคลาน เห็นไหม เพราะอะไร เพราะมันไปตู่ไง พอมันพิจารณา เห็นสังคมเขาเป็นอสุภะ แล้วมันขยะแขยงของมัน...ขยะแขยงไม่ใช่ธรรม ขยะแขยง ขย้อน สิ่งต่างๆ นี้มันเป็นเรื่องของสมมุติบัญญัติหมด มันเป็นเรื่องอาการของใจ เห็นแล้วขยะแขยง จะอ้วกแตกอ้วกแตน ไม่ใช่ธรรม อ้วกแตกอ้วกแตน คนกินเหล้าเมาก็อ้วกเว้ย! ไม่ใช่!

แต่ถ้าเป็นจริงมันจะย้อนกลับๆ เข้ามา มันถอดถอนจากหัวใจ ไม่ใช่ขยะแขยงอย่างนั้น มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันเป็นความสมดุลของใจ ไม่ใช่ความขยะแขยง ไม่ใช่ความชอบใจ ไม่ใช่สุภะ ไม่ใช่อสุภะ สุภะก็ไม่ใช่ อสุภะก็ไม่ใช่ มันเป็นระหว่างความดีและชั่ว ความถูกและความผิด เห็นไหม เวลาจิตมันก้าวพ้นทั้งทางดีและชั่ว ก้าวพ้นทั้งผิดและถูก

ผิด มันก็ออกไปทางกามราคะ ถูก มันก็ออกไปสุภะ มันไปยึดมั่นถือมั่น มันปล่อยไม่ได้ ฝึกซ้อมบ่อยครั้งๆ ถึงที่สุดมันเข้าไปทำลายที่กลางหัวใจ กามราคะ-ปฏิฆะนี้ขาดหมด ขาดหมดเลย พอขาดหมด จิตว่าง ว่างอีกแล้ว นี่ไง ถ้าว่างอีกแล้วก็ติดอีกแล้ว ก็ฝึกซ้อมๆๆ พัฒนาในขั้นอนาคามีให้มันละเอียดอ่อนเข้าไป เพราะสุทธาวาส สุทัสสา สุทัสสี ๕ ชั้น มันเปลี่ยนแปลงของมันตลอด มันเปลี่ยนแปลง เห็นไหม ถ้าตายตอนนี้ไปเกิดบนพรหม มันก็ไปเปลี่ยนแปลงอยู่ที่นั่น แต่เวลามันยาวนาน เราฝึกซ้อมๆ จนมันสิ้นถึงสถานะของสุทธาวาส สิ้นสุดแล้วทำอย่างไรต่อไป มันก็ว่างหมด

“โมฆราช เธอจงมองดูโลกนี้เป็นความว่าง”

มันก็ดูเป็นความว่าง เห็นไหม มันพัฒนาไป ว่าง ว่างของใคร ว่างของจิตที่เป็นอนาคามี กับว่างของสมาธิเรา เราทำสมาธินี่ว่างๆ ว่างๆ มองโลกเป็นความว่าง มันเป็นปรัชญาทั้งนั้นน่ะ มันตู่ธรรมไง เพราะเราไปตู่ธรรม จิตใจเราถึงไม่พัฒนาสิ่งใดๆ เลย ย่ำจมอยู่กับที่ ประพฤติปฏิบัติกันแล้วซอยเท้าอยู่กับที่ แล้วเกิดทิฏฐิมานะว่าเป็นพระเป็นเจ้า ได้บวชเป็นพระ มีศักยภาพ พรรษาเยอะขึ้นมา มีคนนับหน้าถือตา มีคนเคารพนบนอบ กิเลสมันยิ่งตัวใหญ่ มันยิ่งพอง เห็นไหม เพราะอะไร เพราะมันไปตู่ไง มันไม่เป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริง โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ลาภสักการะสิ่งต่างๆ มันเป็นเครื่องล่อ เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร นี่ก็เหมือนกัน เขามีมารหรือเรามีมาร มารของเขาหรือมารของเรา ถ้ามันรักษาขึ้นมา มันจะมีปัญญาของมันขึ้นมา มันจะว่างขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้ามีครูบาอาจารย์ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาพูดถึงที่สุด เหมือนกับทางวิชาการ เวลาพูดถึงที่สุดของการทดสอบ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วผลออกมาเป็นอย่างไร ส่วนผสมแต่ละชนิดมันออกมาเป็นอย่างไร ถ้าเราพูดถึงส่วนผสมได้ แต่เราไม่ได้ผสม ไม่ได้ออกมาถึงที่สุดของผลงานนั้น เราพูดไม่ถึงที่สุด เห็นไหม

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ มรรค ๔ ผล ๔ มันเป็นอย่างไร พูดถึงถ้าเป็นสุภะ-เป็นอสุภะ แล้วสิ่งที่มันเป็นภพล่ะ สิ่งที่เป็นอวิชชาล่ะ สิ่งที่มันเป็นความสดใส มันเป็นความว่าง มันอยู่ที่ไหน? มันว่างจากข้างนอกไง ว่างจากเราชำระความสะอาดรอบตัวเราหมดเลย แต่ตัวเราเอง ผู้มีอิทธิพลฆ่าเขาหมดเลย แล้วมันจะเป็นอิทธิพลใหญ่ อิทธิพลใหญ่มันทำลายคนอื่นนะ แต่อิทธิพลตัวนี้มันทำให้เราไม่ถึงที่สุด แล้วมันก็ไปจมอยู่อย่างนั้นไง นี่มันไปตู่

ถ้ามันหลงนะ มันจะไม่ได้ตู่ มันไม่เข้าใจเลย ถ้ามีครูบาอาจารย์พยายามบอกให้ออก ให้ย้อนกลับ นี่พลังงานที่ย้อนกลับ ใจกับอาการของใจ มันได้ชำระล้างหมดแล้ว มันเป็นอาการทั้งหมด มันเป็นสิ่งที่เป็นสามัญสำนึก สิ่งที่เป็นมนุษย์ที่มีธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ ถึงที่สุดแล้วตัวมันเองเป็นปัจจยาการ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺาณํ เป็นภพเป็นชาติ เป็นภพเป็นชาติที่ไหน

สิ่งที่เป็นภพเป็นชาติก็เป็นความรู้สึกนึกคิดนี่ไง นามรูปที่ใจนี่ไง รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา เห็นไหม รูปราคะ อรูปราคะ รูปก็เป็นราคะ อรูปก็เป็นราคะ นามกับรูปก็เป็นราคะ เป็นมานะ เป็นอุทธัจจะ เป็นอวิชชา ถ้าเป็นรูปฌาน อรูปฌาน ก็เป็นราคะ ฤๅษีชีไพรที่เข้าสมาบัติก็เป็นราคะ ราคะที่มันติด ราคะมันเป็นสังโยชน์อยู่แล้ว แต่ขณะที่ฤๅษีชีไพรที่ไม่มีคุณธรรมเลย เขาก็เข้าฌานสมาบัติของเขาได้ แต่เขาเป็นรูปฌาน อรูปฌาน เขาไม่ใช่เป็นราคะ เพราะเขาไม่รู้จักสังโยชน์ ไม่รู้จักสิ่งใดๆ เลย

สิ่งนี้มันเป็นสังโยชน์ไหม รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา นี่นามรูปก็ราคะ ทุกอย่างเป็นราคะหมด แล้วขณะที่เป็นราคะมันใสสะอาด มันจะเป็นราคะได้อย่างไร ราคะมันมาจากไหน

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺาณํ มันถึงเป็นปัจจยาการที่มันละเอียดไง มันถึงไม่เหมือนสัญญาในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่มันเป็นขันธ์ ๕ นี่มันเป็นอาการของใจ นี่เป็นสิ่งที่เป็นวัตถุธาตุที่เอามาจับต้องกัน เอามาอธิบายกัน ด้วยปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลามันละเอียดขึ้นไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเป็นปัจจยาการ เป็น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี่เป็นพุทธวิสัย เป็นปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มองเห็น แต่ถ้าพวกเรา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ สาวก-สาวกะเข้าไป มันจะเป็นอย่างนั้นไหม? มันไม่ชัดเจนอย่างนั้น แต่มันเห็นของมัน ดูสิ เราจะพูดถึงเทียน ไฟที่มันติดขึ้นมา โดยทางวิทยาศาสตร์ ไฟมันอยู่อย่างนี้ตลอดไปไหม ดวงไฟมันจะเกิดตลอดใช่ไหม แต่ถ้าเรามองด้วยสายตาล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน มองด้วยสายตาคือมองด้วยเราไง แต่ถ้าอธิบายทางวิชาการมันก็ไปอย่างหนึ่ง เราไปเห็นเทียนที่มันติดอยู่ เราก็ว่านั่นก็คือเทียนนั่นล่ะ ไฟก็คือไฟนี่แหละ แต่ถ้าเป็นทางวิทยาศาสตร์นะ ไฟมันเกิดมาจากอะไร สิ่งที่มันเกิดดับๆ ที่มันสืบต่อ นี่มันคืออะไร เห็นไหม ถ้ามันไม่เห็น มันไม่รู้จริง มันไม่เข้าไปเห็นสัจจะความจริงจากภายใน มันจะชำระได้อย่างไร มันจะทำลายอวิชชาตัวนี้ได้อย่างไร

นี่ไง คือตัวภพเฉยๆ ตัวที่ไม่ได้ไปยุ่งกับใคร ดูสิ เวลาเราจะทำโลกุตตรธรรม เราต้องมีสมาธิก่อน ถ้ามีสมาธิปั๊บ มันถึงเป็นโลกุตตรปัญญา นี่มันต้องมีสมาธิก่อน สมาธิมันเกิดจากใจ ตัวใจเป็นสมาธิ แก้ไขเข้ามาที่ตัวใจ แล้วเวลาถึงที่สุดแล้วตัวของมันเองล่ะ ตัวสมาธิเลยต้องใช้ปัญญาเข้ามา แล้วตัวของมันเองจะเอาอะไรเข้าไปชำระมัน สิ่งที่จะชำระใจมันจะชำระอย่างไร

ถ้าไม่เข้าใจก็หลง แต่ถ้าเวลาประพฤติปฏิบัติไปมันจะตู่อย่างไรให้เป็นไปมันก็ไม่เป็น มันเป็นไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันไม่เคยทำ คนเราไม่เคยทำ ไม่เคยบริหารจัดการขึ้นมา มันจะบริหารจัดการองค์กรนั้นไปไม่ได้ แต่ถ้าคนเราฝึกฝนนะ บริหารองค์กรนั้นไป ล้มลุกคลุกคลาน องค์กรนั้นผิดพลาดบ้าง องค์กรนั้นเสียหายบ้างต่างๆ มันฝึกฝนจนมันทำของมันไปได้ นี่ไง ถึงที่สุดแล้วมันจะเข้าใจถูก-เข้าใจผิด

นี่ตู่ ยังกล่าวตู่ ยังตู่ของตัวเองไป จนถึงที่สุด ถ้ามันไปพลิกฟ้าคว่ำดินกันแล้วนะ มันเป็นมรรคญาณที่มันละเอียด ใจ ปัญญาอันละเอียดที่มันลึกซึ้งเข้าไปทำลายตัวมันเอง เห็นไหม นี่ธรรมแท้ๆ เกิดตรงนี้ ไม่ตู่ธรรม

เพราะการตู่กันนี้ ในสมัยพุทธกาล ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังอยู่นะ สมัยนั้นศึกษากันด้วยปาก ถ้าพูดถึงพระเณรเห็นผิดไปจากคำสอน ถ้าพูดแล้วไม่เชื่อ ปรับอาบัติ ถ้าถึงที่สุดแล้วให้ลงพรหมทัณฑ์ ไม่ให้คบ เพราะอะไร เพราะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้จริงอยู่

สมัยปัจจุบัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ ๕,๐๐๐ ปี ให้พวกเราศึกษาค้นคว้ากัน แต่เราค้นคว้าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก พูดถึงนรกสวรรค์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม เทวดาสำเร็จเป็นแสนๆ เป็นพันๆ แล้วเราก็ไม่เชื่อกัน เห็นไหม ความไม่เชื่อ ความไม่เห็นด้วย ตู่ไหม นี่ตู่ตั้งแต่ทฤษฎี ในเมื่อทฤษฎี ในคำสอนก็ยังไม่เชื่อ แล้วมาประพฤติปฏิบัติ มันจะเป็นความจริงได้อย่างไร ก็ปฏิบัติกันไปโดยตำราที่ผิดไง เพราะจิตใต้สำนึกมันไม่เชื่อ

แต่ถ้าจิตใต้สำนึกมันเชื่อแล้ว มันทำขึ้นมาแล้ว มันยังไม่เป็นความจริงขึ้นมา ก็ทำบ่อยครั้ง ทดสอบขึ้นมา ถ้ามันเป็นกับเรา มันก็เป็นความจริงกับเราใช่ไหม ถ้าเป็นความจริงกับเรามันจะเป็นความจริง เห็นไหม ไม่ใช่กล่าวตู่

ตู่โดยธรรมวินัยอันหนึ่งนะ ตู่ธรรม มันอยากให้เป็นสภาวะแบบนั้น คำว่า “อยากให้เป็น” หรือ “คาดหมายให้เป็น” มันยิ่งกลับเนิ่นช้า เพราะมันสร้างกรอบไว้ เราสร้างว่ามันเป็นสภาวะแบบนั้น จะต้องเป็นอย่างที่เราคาดหมาย แล้วใจมันก็สร้างภาพอย่างนั้นขึ้นมา แล้วมันก็ไปติดอยู่อย่างนั้นน่ะ อยู่อย่างนั้นตลอดไป เราลบภาพนั้นทิ้งให้หมด แล้วเราทำของเราไปด้วยความขยันหมั่นเพียร มีสติ มีครูบาอาจารย์สำคัญนะ มีครูบาอาจารย์ไว้เป็นที่ปรึกษา ถ้าเราทำไปแล้ว ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ เราไปเห็นสิ่งใด รู้สิ่งใด เหมือนเด็กมันแบกของหนัก เด็กๆ น่าสงสารนะ ถ้ามันทำสิ่งใดที่มันไม่เคยทำ มันจะทุกข์ยากมาก แต่ผู้ใหญ่ที่เคยผ่านงาน ผ่านสิ่งใดๆ มาแล้วจะรู้ เห็นไหม แบกของหนักขึ้นบันไดขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ยิ่งขึ้นไปชั้นสูง มันยิ่งหนัก แล้วยิ่งอันตราย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันยิ่งสูง มันยิ่งหนัก มันยิ่งอันตราย มันยิ่งละเอียด มันยิ่งลึกซึ้ง แล้วการกระทำมีครูบาอาจารย์ท่านคอยชี้นำไปอย่างนี้ นี่ไง มีครูมีอาจารย์ต้องปรึกษา ครูบาอาจารย์คอยชี้นำ คอยบอกเรา แต่ครูบาอาจารย์ทำให้เราไม่ได้ แล้วเราจะทำให้เหมือนครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้

แต่ครูบาอาจารย์ท่านมีประสบการณ์ของท่านนะว่า จิตอย่างนี้ควรทำอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ท่านดำเนินผ่านมาแล้ว ท่านจะเห็นอุปสรรค เห็นกิเลสที่มันละเอียด ที่มันคอยหลอกล่อ แล้วมันจะเป็นไป แต่ถ้าเราไปบอกเขาก็ไม่เชื่อ เพียงแต่คอยบอกเป็นแนวทาง แล้วให้คอยระวัง ให้คอยรักษา ให้คอยต่อสู้ คอยตั้งสติ ผิดถูกขึ้นไปจะเห็นของเราเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป เห็นไหม อย่างนี้ถึงเป็นสันทิฏฐิโก อย่างนี้ถึงเป็นปัจจัตตัง อย่างนี้ถึงเป็นธรรมแท้ๆ ไม่ใช่กล่าวตู่ธรรม เอวัง