เทศน์บนศาลา

ใจลอย

๑๖ ส.ค. ๒๕๕๑

 

ใจลอย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมนะ ธรรมะนะ ถ้าพูดถึงทางโลกเขาบอกว่าเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าพูดถึงทางธรรม ถ้าธรรมชาติเราก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันก็จะเวียนไปตามธรรมชาตินั้นน่ะ มันต้องเป็นความจริงสิ มันต้องเหนือธรรมชาติ ถ้ามันไม่เหนือธรรมชาติ เราจะสลัดออกมาจากธรรมชาติได้อย่างไร หัวใจของเราสลัดมันออกมา ทิ้งมันไว้ตามที่นี่ รู้ตามความเป็นจริงแล้ววางไว้ นี่ไม่ติดทั้งดีและชั่ว ถ้าเป็นธรรมชาติเรารับรู้ไปตามมัน มันเวียนไป

แต่ถ้าพูดถึงธรรมะพื้นฐาน...ใช่ มันเป็นธรรมชาติมันมีอยู่แล้ว มันมีของมันโดยดั้งเดิม แต่มีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามารื้อค้น ไม่มีพระปัจเจกพระพุทธเจ้า สาวก-สาวกะนี่ไม่มีทางเลย เป็นไปไม่ได้ มันลึกซึ้งจนเราคิดไม่ถึงหรอก คิดไม่ถึง เวลามนุษย์เราฟังธรรมแล้วนะ เป็นชาวพุทธ จะจินตนาการเรื่องนรกสวรรค์ได้ จะจินตนาการเรื่องพรหม เรื่องมาร จินตนาการได้หมดเลย แต่จินตนาการนิพพานไม่ออก

แล้วจะถามกันว่า วิมุตติสุขมันเป็นอย่างไร ๆ สุขมันจะเป็นอย่างไร

ถ้ามันสุขเวทนา-ทุกขเวทนาเห็นไหม สิ่งที่มีอยู่สุขเวทนานั่นเราสัมผัสได้ มันมีความสุขว่าสุขหนอ มีความพอใจมาก มีความสุขเห็นไหม ทุกข์หนอ ความทุกข์มาก มีความทุกข์บีบคั้นใจมาก สุข-ทุกข์ แล้วมันเฉย ๆ มันจะเป็นความสุขได้อย่างไร? เฉย ๆ ไม่ใช่ความสุข เฉย ๆ เป็นอุเบกขา สิ่งที่เป็นอุเบกขาเป็นการวางเฉย การวางเฉยอยู่ วางเฉยด้วยความเผลอ วางเฉยด้วยความไม่มีสติ

แต่ถ้าเป็นวิมุตติสุข มันไม่เป็นการวางเฉย มันเป็นความรู้จริง มันสลัดทิ้งออกหมดเห็นไหม การสลัดทิ้งออกหมด มันถึงต้องมีความจริง คนเราถ้าจริงนะ เราตั้งใจจริง เราทำจริงเราจะได้ของเราจริง ถ้าเราทำของเราไม่จริง แต่ความจริงของเรา เราก็ว่าจริงของเรา มันจริงของเราไง จริงของเราเห็นไหม

ดูคนสิ “ใจลอย” คนนั่งอยู่ ใจลอย เหม่อลอย เขามีความสุขของเขาไหม แต่ถ้าคนที่เขามองอยู่นะนี่ขาดสติ ใจมันลอยไง ลอยจากพื้น ใจไม่มีจุดยืนเลย การภาวนาก็ภาวนาส่งออก ภาวนาลอย ๆ กัน การภาวนานะ ภาวนาลอย ๆ มันไม่เป็นความจริงหรอก ถ้าเป็นความจริงเห็นไหม ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมาก็ไม่กล้าทำตามความเป็นจริงขึ้นมาอีก

ถ้าลงทุนลงแรงขึ้นไป ตั้งใจทำจริงเป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการทำตนให้ลำบากเปล่า เป็นการทำคนให้ลำบากนะ เวลาเราเดินจงกรมนั่งสมาธินี่เป็นความทุกข์ไปหมดเลย แล้วเราว่าเราจะมาปลดทุกข์ เราจะไม่ต้องการ เราจะถอนทุกข์ออกมาจากใจ แล้วทำไมเราต้องมาทุกข์อีกล่ะ...นี่คนเรามันคิดกันอย่างนั้น แล้วพอมาทำ ดูสิ ลอยลมหมดเลย

“ใจลอย” ดูสิเพราะอะไร เพราะการกระทำของเขา เขาไม่มีความจริงจังของเขา เขาไม่ทำตามความเป็นจริง เขาทำตามกิเลส คำว่า “จริง” ก็จริงของเราไง จริงของกิเลสไง กิเลสมันว่าจริงขนาดไหน เราก็ทำตามความจริงอย่างนั้น แต่มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา เพราะมันไม่เข้าถึงข้อเท็จจริง ถ้าไม่เข้าถึงข้อเท็จจริง เห็นไหม สักแต่ว่าทำ การภาวนาก็ว่าสักแต่ว่าทำ มันลอยลม ใจลอยไป มันไม่มีจุดยืน

ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เราจะตั้งใจ เรามีสติของเรา ความตั้งใจคือสติ ถ้ามีสติ ความตั้งใจมันก็พร้อม ถ้ามีสติแล้วกำหนดพุทโธของเราไป ตั้งใจทำของเราไป มันต้องเข้าถึงสัจจะความจริง ในเมื่อธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเรามีเหตุสมควรแล้ว เหตุสมบูรณ์แล้ว มันต้องเข้าไปถึงเหตุ ถ้าเป็นสมาธิมันจะเป็นสมาธิจริง ๆ ถ้าเป็นสมาธิจริง ๆ มันจะรู้จักว่าเป็นสมาธิ มันมีความรู้สึก มันรับรส มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฎฐิโก

แต่อันนี้มันไม่ใช่ ว่าง ๆ ว่ากันไปประสาของกิเลสไง ว่าว่าง ๆ แล้วทำนี่สบายใจ นี่ธรรมะปฏิบัติแล้วสบาย ไปไหนมีความสะดวกสบาย...สบายของกิเลสไง สบายรอวันม้วนเสื่อไง สบายรอวันพ่ายแพ้ไง

เพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดานะ พระอัญญาโกณฑัญญะ เวลาบรรลุธรรมขึ้นมา “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา” สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ความคิดที่มันคิดขึ้นมามันเป็นเรื่องของธรรมดา แล้วมันก็ต้องดับไปเป็นธรรมดาโดยไม่มีการยึดมั่นถือมั่น โดยการไม่มีกิเลสอาสวะเข้าไปยึดมันว่าเป็นความคิดความเห็นของเรา

แต่นี้มันเป็นธรรมดาของเรา มันเป็นธรรมดาโดยการปฏิเสธไง มันเป็นการธรรมดาของลอยลม ใจมันลอย มันไม่รับรู้อะไร มันว่าเป็นธรรมดา สิ่งที่เป็นธรรมดาเพราะมันมีตัวอย่าง มันมีต้นแบบ มีต้นแบบเพราะเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วถึงบอก “เป็นธรรมดา เพราะเราเกิดมาแล้วต้องตาย ตายแล้วเป็นธรรมชาติของมัน นี่ปลงตกแล้ว ปลงตก”...นี่มันลอยลม มันไม่เป็นความจริง เราเสียดายโอกาสนะ เราเป็นชาวพุทธนะ เราเกิดมาพบพุทธศาสนา ศาสนาสอนถึงการสิ้นกิเลส แต่พอเราศึกษาธรรมขึ้นมาแล้ว ด้วยความรู้ของเรา ด้วยความเห็นของเรา ให้กิเลสมันเอาไปใช้ไง ให้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้กิเลสมันยืมไปใช้ แล้วเอามาหลอกลวงเรา ในการประพฤติก็ใจลอย

ถ้าใจไม่ลอย ดูนะ ดูอย่างช่าง ในเชิงช่าง แม่ครัว เวลาเราเข้าครัวไป เราต้องมีผ้ากันเปื้อน มันต้องมีหมวกใส่กันผมตก เราต้องมีมีด มีพร้า กว่าเราจะทำอาหารของเราได้ เราต้องสกปรกนะ เราต้องลงมือลงแรงเห็นไหม ในเชิงช่างเขาทำ เขาทำของเขา มันมีการกระทำของเขา แต่นี้มันไม่มีการกระทำ มือมันติด มือมันสกปรกตลอดเวลา คนทำงานมือมันต้องสกปรก มือมันเปื้อนสิ่งที่เราหยิบเราจับมันต้องเป็นธรรมดา

การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันทำตามความเป็นจริง มันต้องติดดิน มันต้องรู้จริงของมัน มันต้องมีสติของมัน มันต้องมีสมาธิของมัน แต่นี้เวลาปฏิบัติมันไม่มีอะไรเลย มือไม้ไม่เคยเปื้อนอะไรเลย มันไม่ติดดิน ใจไม่ติดดิน พอใจไม่ติดดิน การกระทำออกไปมันเป็นการจินตนาการ เป็นการคาดหมาย มันไม่เป็นความจริงเห็นไหม นี่ลอยลม

ใจลอย ๆ อย่างนี้ ใจลอยทางโลกนะ เขายังไม่เป็นประโยชน์กับเขาเลย ทางโลกนี่ใจลอย คนใจลอยทำอะไรผิดพลาดไปทั้งนั้นน่ะ แต่นี่เรามาประพฤติปฏิบัตินะ แล้วมันยังลอยอยู่ขนาดนี้ ลอยขาดสติไง เท้าลอยไม่ติดดิน การกระทำมันก็ไม่เป็นความจริง ถ้าการกระทำเป็นความจริง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีจริงนะ ถ้าไม่มีจริงนะ ศาสนาจะยั่งยืนมาขนาดนี้ไม่ได้ ศาสนามีการโต้แย้งได้ โต้แย้งโดยใคร? โดยธรรมชาติของเรา กิเลสมันก็โต้แย้งแล้ว มันไม่เชื่อ โดยสามัญสำนึกนะ คนเราเกิดมาตายแล้วก็สูญ ไม่มีสิ่งใดหรอก เกิดมาขนาดนี้มันเกิดมามีชีวิตแล้วก็เสพสุข พยายามหาแต่ความสุขใส่ตัว ความสุขใส่ตัว มันไม่มีสิ่งใดเป็นความสุขหรอก ถ้าใจมันหยาบมันมองเป็นอย่างนั้นไง

ใจทุกข์ใจยากนะ คนไม่อดไม่อยากไม่ทุกข์ไม่ยาก เวลาอดยากขึ้นมามันต้องการสิ่งที่ใช้ดำรงชีวิตของมัน นี่มันอดยากมันก็แสวงหาของมัน คนไม่เคยทุกข์มันก็ไม่ยาก ถ้าทุกข์มันยากเห็นไหม แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติมันทุกข์ยากไหม เวลาเราออกธุดงค์เราแบกบริขารของเราไป เราปีนเขาของเราไป มันทุกข์ยากไหม ความทุกข์ยากอย่างนี้มันเป็นความจริง ความจริงเพราะอะไร ความจริงเพราะมันไม่มีมารยาสาไถ

เรื่องของโลกเขามันเป็นเรื่องของมารยาสาไถ เรื่องการประชาสัมพันธ์ เรื่องการเอารัดเอาเปรียบกัน นี่ความสุขอย่างนี้มันเป็นความทุกข์โดยกิเลส แต่ขณะความทุกข์ของเรา ความทุกข์เราจะฆ่ากิเลส ความทุกข์อย่างนี้กิเลสมันไม่ต้องการ เวลาเราอยู่ในสังคม เป็นผู้รอบรู้ เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้มีปัญญาไปทั้งนั้นน่ะ เวลาเราออกวิเวกของเราไปคนเดียว ออกคนเดียวนะ เราปีนป่าปีนเขา เราเข้าป่าเข้าเขาไป มันมีสิ่งใดมาจะปลุกปลอบใจเรา? มันไม่มีสิ่งใดมาปลุกปลอบใจเรานะ

สิ่งที่เรากำลังกระทำ เราทำของเราเอง เราพอใจเพราะเราจะชำระกิเลส ในเมื่อเราชำระกิเลส ความเพียรชอบ การกระทำเป็นทุกข์ยากไหม เราอย่าไปมองว่าการกระทำนี่เป็นความทุกข์ความยาก การกระทำมันเป็นความพอใจ เพราะเราเห็นภัยในวัฏฏะ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงทาน ศีล ภาวนา เรื่องของทาน ระดับของทานโลกเขาทำได้ง่าย ๆ นะ

ถ้าของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา การเสียสละของเรา เราเสียสละกิริยาวัตถุ เราเสียสละท่าที่สะดวกสบายของเราเพื่อมานั่งสมาธิภาวนา เราก็เสียสละนี้ก็เป็นทานอันหนึ่ง เรื่องของระดับของทาน เรายังเสียสละกันได้ เรื่องของศีลเป็นเรื่องความปกติของใจ เรื่องของการภาวนา ถ้าไม่มีเรื่องของการภาวนามันพ้นจากทุกข์ไปไม่ได้ แล้วถ้าภาวนาลอยลม ภาวนาสักแต่ว่าให้มันสบายใจกัน

สบายใจ เราปฏิเสธมันก็สบาย เรากำหนดเห็นไหม เราศึกษาธรรม พอศึกษาธรรมคือศึกษาอ่านประวัติ อ่านธรรมะของครูบาอาจารย์ มันซึ้งใจ มันสุขใจ มันก็มีความสบายใจ ความสบายใจอย่างนี้มันเป็นความสบายใจเหมือนลมพัดมา ลมพัดมามันก็มีความเย็น แดดออก เราอยู่ในที่ร้อนในที่อบมันก็ร้อน จิตที่มันหมักหมมอยู่มันก็เป็นความทุกข์ของมัน อย่างนี้มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นเรื่องปกติของใจ

แต่เราจะประพฤติปฏิบัติ เราต้องทำให้ลึกกว่านี้ ถ้าลึกกว่านี้เราต้องเข้าถึงข้อมูลของใจ จะไปถอดถอนกันที่จิตใต้สำนึกนั้น ถ้าจะถอดถอนถึงจิตใต้สำนึก อริยสัจมันเกิดที่นี่ไง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ในการประพฤติปฏิบัติมันถึงต้องเอาจริงเอาจัง ถ้าไม่เอาจริงเอาจังนะ อุบายวิธีการการต่อสู้กับกิเลสนะ ถ้ากิเลสมันยังไม่รู้ทัน มันยังเป็นอุบายอยู่ เหมือนเราเลี้ยงลูกเรา ถ้าเราเลี้ยงลูกเราใช่ไหม เราต้องการให้ลูกเราเป็นคนดีใช่ไหม เราจะมีอุบายให้ลูกเราไปโรงเรียน เรามีอุบายให้ลูกเราทำคุณงามความดี นี่เป็นอุบายนะ แต่ถ้าเด็กมันรู้ทันเข้า มันก็ไม่ยอมรับนะ นี่ก็เหมือนกันอุบาย หมายถึง กิเลสถ้ามันยังไม่รู้เท่ามันก็เป็นอุบายได้ แต่ถ้ากิเลสมันรู้เท่านะ มันก็เอาอุบายนั้นหลอกเราอีกทีหนึ่งเหมือนกัน เหรียญมีสองด้านตลอดเวลา

ในการประพฤติปฏิบัติของเรา กิเลสของเรามันจะล่อหลอกเราตลอดเวลา มันจะคาดหมาย จะให้เป็นไปว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ๆ ...สิ่งนี้เป็นธรรม เป็นธรรมในขณะเริ่มต้น ในการตั้งสติมันก็เป็นธรรม ในการเสียสละทานมันก็เป็นธรรม ธรรมอย่างหยาบ ๆ ไง ธรรมอย่างนี้เราเสียสละกันมาเพื่อสังคมมันเป็นธรรมไหม? มันก็เป็นธรรม สิ่งที่เราตั้งสติขึ้นมานี้มันเป็นธรรมไหม? มันก็เป็นธรรม สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ธรรมแต่ละขั้นแต่ละตอน แต่ละวรรคแต่ละตอนของธรรมะ ธรรมะที่มันจะละเอียดอ่อนเข้าไปถึงหัวใจ เราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร เราจะตั้งต้นของเราอย่างไร เราจะทำของเราอย่างไรให้มันเป็นความจริงขึ้นมา

เราถึงจะต้องคลุกฝุ่นไง จิตมันต้องคลุกกับกิเลส มันต้องคลุก ต้องต่อสู้ ต้องทำจริงทำจัง ไม่ใช่ลอย ๆ ทำประสาลอย ๆ ใจลอย ๆ มันไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์เลย ถึงว่าสบายก็สบายในชาตินี้ไง สบายในเมื่อยังมีชีวิตอยู่นะ กินข้าวแล้วก็อิ่มนะ เดี๋ยวก็ต้องหาต้องกินอีกใช่ไหม มันสบายตลอดไปได้ไหม

นี่ก็เหมือนกัน การสบายอย่างนี้มันเป็นอนิจจัง “สิ่งใดที่เป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์” เพราะความสบายใจ ความพอใจนั้นมันเป็นอนิจจัง เดี๋ยวมันแปรสภาพไป พอแปรสภาพไปก็เป็นทุกข์ “สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” เป็นอนัตตาเพราะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เพราะความทุกข์มากขนาดไหน ความทุกข์ของคนที่พลัดพรากจากสิ่งที่รักมากนะ คิดถึงกับทำลายตัวเองนะ แต่ถ้าคนมีสติเขายับยั้งอยู่ เดี๋ยวความทุกข์นั้นก็หายไป ถ้าไปคิดถึงมันอีก มันก็ทุกข์อีก

เรามันถึงโง่กว่ากิเลสไง จะคิดถึงแต่สิ่งที่เจ็บปวดแสบร้อนในใจตลอดเวลา สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์กับเราน่ะคิดได้น้อยมาก คิดแล้วเดี๋ยวมันก็จืด มันคิดไม่ได้นาน แต่ถ้าสิ่งใดคิดแล้วเจ็บปวดมันชอบนักเห็นไหม นี่ไง “สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” เป็นอนัตตาอย่างนี้ทำไมมันไม่เป็นความจริงล่ะ มันเป็นอนัตตาโดยเนื้อหาสาระ มันไม่ได้เป็นอนัตตาด้วยไตรลักษณญาณที่เรารื้อคนขึ้นมา ถ้าจะรื้อค้นขึ้นมาเราจะรู้ได้อย่างไร เราจะเห็นได้อย่างไร

ดูสิ สิ่งที่มันเป็นไป มันเป็นไปจริงไหม? มันเป็นอนัตตาจริง ๆ นะ แต่เราไม่เห็น เหมือนของอยู่กับเราแต่เราไม่เห็นคุณประโยชน์ของมัน เหมือนของอยู่กับตัวเรา เช่น หัวใจ ความรู้สึกมีคุณประโยชน์มาก แต่คนจะมองเรื่องหัวใจน้อยมาก จะไปมองเรื่องของร่างกายมากกว่า เห็นไหมเราต้องอาบน้ำ เราต้องรักษาร่างกาย เราต้องทำให้มันสวยมันงามอยู่ตลอดเวลา

แล้วใจสวยงามล่ะ ถ้าใจมันสวยงาม ใจมีศีลมีธรรม ใจมันจะสวยงามนะ ถ้าใจสวยงามขึ้นมา เราก็ร่มเย็นเป็นสุข เพราะถ้าใจมันสวยงามมันไม่ดื้อ มันไม่คึกคะนอง มันไม่ทำให้เราทุกข์ร้อน เพราะอะไร เพราะมันไม่คิดด้วยตัณหาความทะยานอยาก คิดด้วยกิเลส คิดด้วยเอารัดเอาเปรียบหัวใจตัวเอง คิดต้องการแสวงหา คิดต้องการความทุกข์ คิดเรื่องของกิเลส แล้วมันก็เหยียบย่ำใจ มันก็เป็นความทุกข์

แต่ถ้าใจมันไม่คึกคะนอง ใจมันมีศีลขึ้นมา มันเป็นปกติของใจ เราจะมีความสุขไหม เราจะมีความสุขขึ้นมา สุขอย่างนี้เป็นธรรมะอันหนึ่ง แต่ธรรมะอย่างนี้ธรรมะลอยลม เพราะมันแปรสภาพ มันเปลี่ยนแปลง มันไม่ใช่ธรรมะ กุปปธรรม-อกุปปธรรม อกุปปธรรม ธรรมะที่ไม่ลอยลม ธรรมะที่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ไหนล่ะ

ดอกบัวเกิดจากโคลนตม ของเรานี่ธรรมะมันจะเกิดมาจากจิตใจที่สกปรกเรานี้แหละ จิตใจของเราสกปรกเลอะเทอะนะ เพราะมันสกปรก มันโสมม ถ้ามันไม่สกปรก เราจะมาชำระล้างมันทำไม ที่เราชำระล้างมันสกปรก เพราะเราควบคุมมันไม่ได้ ในสโมสรสันติบาตทุกดวงใจว้าเหว่ ในสังคมของเรา ในครอบครัวของเรา ดูสิ ถ้าเรามีครอบครัวของเรา เราจะเป็นทุกข์เป็นร้อนไหม ปู่ ย่า ตา ยาย เราจะอยู่อย่างไร เราจะอยู่อย่างไร ลูกหลานเราจะเติบโตขึ้นมาอย่างไร สังคม ลูกหลานเราต่อไป เราจะส่งสังคมลูกหลานเราพัฒนาต่อไปอย่างไร นี่มันเป็นความทุกข์ร้อนไหม? มันเป็นความทุกข์ร้อนทั้งนั้นน่ะ มันเป็นความทุกข์ร้อน มันเผาใจตลอดเวลา จะคิดไม่คิดมันก็มีโดยธรรมชาติของมันเห็นไหม สิ่งนี้มันก็แบกรับ มันก็เป็นภาระอันหนึ่ง

ถ้าเป็นจิตใจที่เป็นกิเลส มันคิดเอารัดเอาเปรียบ มันคิดทำลายคนอื่น คิดทำลายเรา คิดไปหมดเลย นี่ความสกปรกของมัน ความคิดมันเกิดดับ มันมีความคิดอยู่แล้ว แต่ถ้ามันมีศีลธรรมขึ้นไปมันคิดในแง่ที่ดี ๆ แล้วถ้าเรามีศรัทธาความเชื่อขึ้นมา เราพยายามจะรื้อค้น รื้อค้นนะ ถ้าไม่รื้อค้นไม่ใช่การปฏิบัติ

ปริยัติมีการศึกษาเล่าเรียนทางวิชาการ เรารู้แล้ว รู้ไปหมด จบ ๕ ประโยค ๑๐ประโยคขึ้นมา พระพุทธเจ้าสอนอย่างไรก็รู้ มรรคผลอย่างไรก็รู้...มันรู้แต่สัญญา มันรู้แต่ข้อมูล แต่มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา แล้วเราปฏิบัติเราเอามาตรึก ตรึกในธรรมะ ตรึกในสัจธรรมอย่างนี้ พอตรึกในธรรมะขึ้นมาเราก็ว่าเราเข้าใจธรรม นี่ไง ตรึกในธรรมะมันสมบัติของใคร? มันสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ตรึกในธรรมะ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ ตรึกในธรรมะ ความตรึก ความนึก ความคิดมันก็เป็นขึ้นไป

แล้วใจ คำว่า “ใจ” ความมหัศจรรย์ของใจ มันคิดได้มากมายมหาศาล มันสร้างของมันได้มหาศาล เวลาเข้าฌานสมาบัติมันจะมีกำลังของมัน มีกำลังนะ มีกำลังของมัน มันจะมหัศจรรย์ของมันมาก เราจะทึ่งในความเห็นของเราเลย แต่มันก็เป็นเรื่องของเราใช่ไหม แต่ถ้ามันเป็นฤๅษีชีไพรเขาไม่มีวินัยบังคับเขา เขาก็แสดงของเขาได้ เขาแสดงของเขาด้วยสมาธิ กำลังของจิตมันแสดงได้ทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเป็นพระ สิ่งนี้มันแสดงไม่ได้

เพราะสิ่งที่แสดงออกไปมันอวดอุตริ ๑ แต่ถ้ามีในตน ธรรมที่มีในตน เวลาเทศนาว่าการสั่งสอนนี่ไม่ใช่อวดอุตริ ถ้าไม่พูดความจริงจะเอาอะไรมาพูด พูดความจริง สิ่งที่เป็นความจริงมันเป็นความจริง แล้วพูดเป็นความจริง ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมาสมกับความจริงมันก็อันเดียวกัน มันเป็นการแสดงธรรม ถ้าการแสดงธรรมเพื่อเป็นกำลังใจ เพื่อให้เอาธรรมะมาตีแผ่ สิ่งนี้ไม่ใช่อวดอุตริ ถ้าเป็นการอวดอุตริกันหมด มันจะเทศนาว่าการกันได้อย่างไร เราจะเอาคุณสมบัติ เอาสัจธรรม เอาธรรมะมาตีแผ่ เอามาให้ลูกศิษย์ลูกหาให้ผู้ประพฤติปฏิบัติได้ก้าวเดินได้อย่างไร สิ่งนี้เป็นธรรมนะ

แต่ถ้ามันเป็นการแสดงออกเรื่องฌานสมาบัติ เรื่องต่าง ๆ อย่างนี้มันเป็นการแสดงออก แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเราเป็นการฝึกฝน เราไม่แสดงออก อยู่ในป่าในเขาเราอยู่คนเดียว เราทำได้ทั้งนั้นน่ะ พิสูจน์ได้ มันต้องพิสูจน์ ถ้าไม่พิสูจน์ กิเลสมันจะยอมเชื่อได้อย่างไร พิสูจน์สิ่งนี้ว่าเป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงแล้วก็จริงของโลก จริงของฌานโลกีย์ จริงของความมหัศจรรย์ของใจ มันยังไม่เป็นจริงของอริยสัจ สัจธรรม อริยสัจจะ

สิ่งที่เป็นอริยสัจจะมันต้องมีการกระทำ มันถึงต้องคลุกฝุ่นไง การคลุกฝุ่นคือการกระทำ จิตใจต้องมีการกระทำ ต้องมีการต่อสู้ ต้องมีการตั้งสติ ต้องล้มลุกคุกคลาน มันจะเหนื่อยมันจะยากขนาดไหน ในการกระทำเริ่มต้นจะเหนื่อยยากมาก เหนื่อยยากเพราะจิตกิเลสมันดิบ ๆ กิเลสมันหนา ถ้ากิเลสมันหนา การกระทำเข้าไป ทั้ง ๆ ที่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มันจะมีความสนเท่ห์ สงสัย มีความเลินเล่อ มันจะเป็นไปตลอดเวลา เพราะเราไม่เคยทำ

จะบอกว่าเป็นอีกมิติหนึ่งก็ได้ มิติของโลกกับมิติของธรรม “มิติของโลก” เห็นไหม ความคิด สื่อสาร ตรรกะ ปรัชญาที่เราคุยกัน มิติของโลกคุยกันได้ สื่อสารกันได้ เข้าใจกันได้ รู้ได้ “มิติของธรรม” มิติของธรรมมันลึกซึ่งกว่านั้น นี่ไง มันถึงต้องทำจริงไง มันถึงต้องคลุกฝุ่น มันต้องติดดิน ติดดินคือติดใจ ตัวหัวใจนี่เป็นตัวภพ ตัวหัวใจเป็นตัวสมาธิ ถ้าจิตมันไปเข้าสมาธิได้ จิตมันเข้าสมาธิมา นั่นคือตัวจริงของมัน นั่นจุดยืนของใจ ถ้าใครทำสมาธิได้ จะพูดถึงเรื่องสมาธิได้ถูกต้อง ถ้าคนยังทำสมาธิไม่เป็น ก็ยังคุยเรื่องสมาธิ สอนเรื่องสมาธิไม่เป็น ครูบาอาจารย์ที่จะสั่งสอน ถ้าเข้าเรื่องของสมาธิ จะสอนเรื่องกรรมฐาน ทำความสงบของใจ แต่สอนขั้นของปัญญาไม่เป็น

เรื่องของปัญญา ปัญญามันจะออกก้าวเดินอย่างไร ปัญญามันจะออกแสวงหาอย่างไร ปัญญามันจะก้าวเดินออกไปมันก้าวเดินมาจากที่ไหน แล้วเริ่มต้นอย่างไร แล้วกระบวนการของมันที่มันพยายามทดสอบของมันทำอย่างไร แล้วสิ้นสุดกระบวนการของมันเป็นอย่างไร นี่ไง ถ้าไม่รู้จริงมันก็ลอยลม พูดกันลอย ๆ แล้วคนฟังก็ลอย ๆ อย่างเช่น เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติใหม่ก็หวังพึ่งครูบาอาจารย์ แล้วครูบาอาจารย์ก็ยิ่งพูดให้เราสงสัยเข้าไปอีก เราสงสัยอยู่แล้วนะ เราสงสัยอยู่แล้ว กิเลสมันทำให้เราปั่นป่วน ให้เราล้มกลิ้งล้มหงายอยู่ตลอดเวลา ให้เราคลุกฝุ่นอยู่นี่ แล้วถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็ตอบเราไม่ได้อีก สิ่งที่ตอบทำให้เรางงเข้าไปอีกเห็นไหม เพราะการกระทำเริ่มต้นมันจะทุกข์ยากอย่างนี้

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านมีหลักมีเกณฑ์นะ ท่านจะบอกแต่เป็นอุบายวิธีการที่สำคัญ ๆ แล้วให้เราทดสอบ การปฏิบัติธรรมมันจะรู้จริงขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติ มันจะไม่รู้จริงขึ้นมาจากการสอบถามจากครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านจะมีเทคนิคในการบอก ในการชี้นำเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เราเป็นคนผู้ชี้ทางเท่านั้น พวกเธอจะต้องเป็นผู้ก้าวเดินกันไปเอง” ในการประพฤติปฏิบัติไปบอกทั้งหมด กิเลสมันก็รู้ทันหมด อุบายวิธีการที่จะเอามาต่อสู้กับกิเลส กิเลสมันก็เลยจับมาเป็นอาวุธของมันทำลายเราเสียอีก

โอ้! ทำสมาธิอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนั้นถึงที่สุดแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรเลย เลิกดีกว่า ถ้าใช้ปัญญา ปัญญาอย่างนี้เราก็คิดได้ ทำไม เราก็คิดได้ ท่านก็พูดเหมือนเรานี่ ปัญญาก็คือปัญญา สิ่งนี้เราก็คิดได้ เราไปรื้อค้นในคอมพิวเตอร์ดีกว่านี้อีก

เวลากิเลสมันเอาธรรมะไปฟาดฟันตัวมันเองนะ ท่านพูดคนละมิติกับเรา ท่านพูดถึงขั้นปัญญา ปัญญาของธรรม แล้วเราใช้ปัญญาของโลก ปัญญาของโลกคือโลกียปัญญา ปัญญาจากความสามัญสำนึก ปัญญาจากความรู้สึกของเรา เราก็ว่าเราก็รู้กันเพราะสมมุติมันมีเท่านี้ การสื่อสารของโลก คำพูดมันมีเท่านี้ แต่ความจริงคำพูดเหมือนกันแต่ความหมายต่างกัน แต่เราตีความหมายไม่เป็น นี่ไงโลกียปัญญา ในเมื่อเป็นโลกียปัญญา เราจะไม่เข้าใจสิ่งใด ๆ เลย ครูบาอาจารย์ท่านพยายามบอกเรา บอกให้เราเข้าไปถึงจุดยืนของใจ ให้เข้าไปถึงฐานของจิต แล้วเป็นกรรมฐาน ถึงที่การทำงานของเรา เราก็ว่าฐานคือความรู้สึกของเรา เราก็รู้อยู่แล้ว

รู้แล้วงงทำไม รู้แล้วทำไมไม่เข้าใจความรู้ของตัว เพราะความไม่เข้าใจความรู้ของตัว มันถึงไม่ใช่เป็นความรู้จริง แต่ถ้าเป็นความรู้จริง มันจะไม่สงสัย มันจะถึงความรู้ของตัว ความรู้ของตัวเห็นไหม ฐานของสมาธิ จุดยืนของใจ ถ้ามีจุดยืนของใจ แล้วจุดยืนของใจทำให้บ่อยครั้งเข้า กำหนดพุทโธ ๆ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ต้องทำบ่อย ๆ จนมีพื้นฐาน คนมีพื้นฐานนะ จะทำงานสิ่งใดมันทำได้ง่าย แล้วถ้ามันกำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันเข้าไปแล้วมันเบื่อหน่าย การเบื่อหน่าย การฝึกปัญญา การฝึกปัญญา เห็นไหม โลกียปัญญา-โลกุตตรปัญญา

โลกียปัญญามาจากไหน? มาจากสามัญสำนึกของเรา มาจากการกระทำของเรา

โลกุตตรปัญญามาจากไหน? มาจากจิตที่มันเริ่มสงบเข้ามา

ความคิดของเรา บางวันเราคิดได้ลึกซึ้ง บางวันเราคิดปลดเปลื้องความทุกข์ในใจของเรา บางวันคิดไม่ออกเลย คิดไม่ออกเพราะอะไร เพราะฐานของใจ เพราะความสงบของใจ พื้นฐานของใจมันไม่ดี เหมือนเราทำไมบางวันเราอารมณ์ดีล่ะ ทำไมบางวันอารมณ์เราขุ่นมัวล่ะ

จิตก็เหมือนกัน ถ้าจิต ถ้าวันไหนมันมีพื้นฐานดี สมาธิดี เหมือนจิตที่มันดี คิดสิ่งใดมีแต่ดอกไม้ทั้งนั้นเลย วันไหนถ้าอารมณ์ขุ่นมัวคิดออกมามีแต่ก้อนอิฐทั้งนั้นเลย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบจิตมันมีฐานของมัน ปัญญามันออกมา มันหัดฝึกหัดฝนเข้าไป มันจะเป็นโลกุตตรปัญญาเพราะตัวจิตนี้มันสงบ ตัวจิตสงบมันเป็นตัวจริงของใจ ใจมันติดดิน ใจมันติดสมาธิ ไม่ใช่ใจลอยลม

สมาธิเป็นอันหนึ่ง ใจเป็นอันหนึ่งเห็นไหม รู้ว่าว่าง รู้ว่าว่างก็ว่างอยู่ข้างนอกไง ไปรู้ความเห็นของเขาทั้งหมดเลย แต่ตัวใจอยู่ไหนล่ะ ตัวใจมันไม่ว่าง นี่มันไม่ติดดิน มันไม่ติดดิน มันก็ไม่ได้คลุกฝุ่น มันไม่ทำสิ่งใดเลย ไปเพ้อฝัน ในการปฏิบัติไปเพ้อฝันด้วยความคิดของตัว ความคิดของตัวไปเพ้อฝันไปคิดแต่เรื่องอาการของใจ

ความคิดเป็นอาการของใจไม่ใช่ตัวใจ แล้วมันไปว่างที่ความคิดอันนั้น มันไม่ได้ว่างที่ตัวใจ นี่ไง ใจมันลอยลม ใจลอยลมเป็นอย่างนี้ ถ้าใจไม่ลอยลม ใจมีจุดยืนของมันเห็นไหม ตัวใจเป็นตัวว่าง ตัวใจเป็นตัวรู้ สิ่งรู้ ธาตุรู้ ผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้ ความคิดมันเกิดจากใจ มันไม่ใช่ใจ แล้วความคิดไม่ใช่ใจ มันไปว่างที่ความคิดนั้น พอไปว่างที่ความคิด นี่มันเลยลอยลม เพราะตัวจิตมันไม่ว่าง

ถ้าตัวจิตมันว่างขึ้นมา แล้วทำบ่อยครั้งให้มีความชำนาญ แล้วถ้าพิจารณากายแล้วออกไปหากาย ถ้ามันไม่มีความชำนาญเราก็ฝึกได้ เราคิดถึงเรื่องกายได้ ไม่ใช่ว่าคิดไม่ได้เลย คิดได้ คิดเรื่องของใจคิดได้ แต่ความคิดอย่างไรเราต้องรู้ว่าเราคิดในฐานะอะไร ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราฝึกปัญญาบ่อยครั้งเข้า ถ้าเราไม่เข้าใจว่าเราคิดในฐานะอะไร มันจะบอกว่านี้คือการผ่านกาย พอพิจารณากายไปแล้วนี่ มันมีความเข้าใจ มันก็พิจารณาผ่านกาย

นี่ไง ที่ภาวนาส่งออก ภาวนาลอยลม เขาภาวนากันอย่างนี้ไง ผ่านกายโดยความสามัญสำนึก ผ่านการโดยทางตรรกะ ผ่านกายไง ตรึกกันไง ตรึกในกายนี้ พอมันเข้าใจเรื่องกายก็ว่าเราได้มรรคผลแล้ว นี่มันลอยลมมาแต่แรก ใจตั้งแต่แรกก็ลอยลม ไม่มีจุดยืน พอออกมาใช้ปัญญามันก็เป็นตรรกะ ตรรกะตรึกในความรู้สึกในความคิด พอมันขบปัญหานั้นแตกมันก็ว่าสิ่งนั้นมันได้ผล แล้วมันได้ผลจริงไหม? มันได้ผล ขบแตกมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นปัญญาของเราให้เราเข้าใจแล้วมันต้องทำซ้ำเข้าไปเห็นไหม มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

ถ้ามันลอยลมมาแต่แรก เวลาภาวนาขึ้นมากิเลสมันก็หลอก แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันเป็นประสบการณ์ ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง จะชี้แนวทางไปทางที่ถูก ถ้ามีครูอาจารย์ไม่ถูกต้อง ครูบาอาจารย์ที่ไม่เข้าใจเรื่องการภาวนาก็บอกว่าเป็นธรรม เพราะเหมือนกับเรา เหมือนกับเรา เพราะเราไม่รู้จริง เราเห็นเขาทำได้อย่างนั้นก็เหมือนเรา เพราะภูมิปัญญา ภูมิปัญญามีเท่านั้น ภูมิปัญญามีเท่านี้ก็ว่าสิ่งนี้เป็นความจริง

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่รู้จริง สิ่งนี้มันเป็นแค่พื้นฐาน ถ้ามันทำบ่อยครั้งเข้าเห็นไหม เพราะมันขาดสติ เวลาเราตรึก เราใช้ปรัชญา เราตรึกในธรรมะ ตรึกในกาย แล้วมันขบปัญหาแตก แต่พอปัญหาแตก ถ้ามีสติดี สติที่ดีมันจะรับรู้สิ่งที่ดี แล้วมันจะตรึก ตรึกไปเรื่อย ๆ ใช้ปัญญาไปเรื่อย ๆ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันทำไปเรื่อย

แต่ถ้าไม่มีสติ พอมันขบปัญหาแตกปั๊บมันปล่อย ปล่อยปั๊บ นี่ไง ลอยลมไง มันไม่มีสติ ไม่มีใครรับรู้ ไม่มีใครไปเก็บข้อมูล มันก็ลอยลมของมันไป แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ความจริงเราตรึกบ่อยครั้งเข้า ถ้ามีสติ ตัวสติจะทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิ จะทำให้เป็นสัมมาสมาธิ ขาดสติจะเป็นมิจฉาสมาธิ จะทำให้เป็นมิจฉาไปทั้งหมดเลย เพราะตัวสติเป็นตัวระลึก ตัวทำให้ทำถูกต้อง ตัวสติเป็นตัวฐาน ตัวฐานทำให้การกระทำนี้เป็นความถูกต้องให้หมด นี่มันถึงไม่ภาวนาส่งออก ไม่ภาวนาลอยลมไง

ภาวนาสักแต่ว่าภาวนากัน ว่าสบาย ๆ ...มันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงเราต้องคลุกฝุ่น เราต้องทำจริง จะทุกข์จะร้อน จะทุกข์นะ ทุกข์ ในความเป็นอยู่ในการขับเคลื่อนนี่ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ โลกนี้เป็นความทุกข์ แม้แต่คนนอนอยู่เฉย ๆ ไม่ให้ขยับเลยก็ทุกข์ตายเลย คนนอนอยู่ก็นอนไม่ได้ อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งเราอยู่ไม่ได้หรอก โดยธรรมชาติของมัน โดยสามัญสำนึกของมนุษย์ ขบเมื่อยขึ้นมามันก็ขยับ มันก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา มันถึงไม่มีอะไรไม่ทุกข์เลย

จริง ๆ แล้วไม่มีอะไรไม่ทุกข์หรอก ทุกข์ทั้งนั้น เพียงแต่เราพอใจมัน เราพอใจมัน เรายังไม่แก่เฒ่านะ เวลาเราแก่เฒ่า เวลาร่างกายเราเสื่อมสภาพจะทุกข์กว่านี้อีก ขยับไม่ได้เลยนะ เจ็บปวดไปหมด พอเจ็บปวดไปหมดมันจะอยู่ไปทำไม มันก็คิดของมันไปแล้ว แต่ถ้าในปัจจุบันนี้เรายังเข้มแข็งอยู่ร่างกายเรายังดีอยู่ เราต้องรีบขวนขวายของเรา เราทำของเรานะ พยายามของเรา ถ้าพยายามของเรา มันจะทุกข์ มันจะขนาดไหน มันพอใจ ถ้ามีความพอใจ มีความเห็นโทษของการเกิดและการตาย

เราเกิดมาประเสริฐมาก เกิดมาประเสริฐเพราะเราพบพุทธศาสนา มีครูมีอาจารย์คอยชี้นำ คอยแนะนำนะ เราตั้งใจทำของเรา สิ่งที่ทำมาเหมือนกับเราร่อนทอง หรือเราต้มน้ำ หน้าที่ทำของเราไป มันเดือดเอง ถึงร่อนทอง เราร่อนของเราแล้ว ร่อนสิ่งที่ละเอียด มันเป็นไปของมันเอง หน้าที่ของเราตั้งสติ แล้วภาวนาไป อย่าไปหวังคาดหมายเรื่องของผล ผลมันเกิดขึ้นมามันเป็นปัจจุบัน มันจะเป็นความจริง

ถ้าเราไปคาด ไปหมาย มันเป็นความต้องการ แล้วถ้าจิตเคยรู้เคยเห็นสิ่งใดอยู่ แล้วมันคิดว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม มันจะซ้ำ แผ่นเสียงมันจะตกร่อง มันจะตกร่องอยู่อย่างนั้น เหมือนกระแสน้ำ ถ้ามันพัดผิดทิศทางเห็นไหม มันพัดผิดทิศทางไป มันจะกัดเซาะจนเป็นลำธาร กัดเซาะจนเป็นคลอง จิตก็เหมือนกัน ทำซ้ำ ๆ ด้วยความผิด มันจะติดตัวตลอดไป เหมือนกัน เช่น ภาวนาแล้วมันตกภวังค์ เราไม่เข้าใจนะ คนไม่เข้าใจเลยว่านั่นคือภวังค์ แต่ทุกคนเข้าใจว่านั้นมันเป็นสมาธิ เพราะมันเงียบหายไปหมดเลย

นี่ไง แล้วเราไม่เข้าใจ เราก็ทำบ่อยครั้งเข้าคิดว่าเป็นสมาธิ คิดว่าเป็นสมาธิทำบ่อยครั้งเข้ามันก็ตกลึกเข้าไป ตกลึกเข้าไป แก้ยากมาก แต่ถ้าคนถ้ารู้ว่าเป็นภวังค์นะ เพราะมันพุทโธๆๆ แล้วมันจะหายไปเลย หายไปหมดเลย จะรู้ตัวอีกทีเหมือนกับคนสะดุ้งตื่น เหมือนฝันแล้วสะดุ้งตื่นแล้วกลับมา นั้นน่ะตกภวังค์ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เรามีปัญญา เราใช้ความคิดอยู่นี่มันไม่ตก เราใช้ปัญญาไล่ไปเรื่อย ๆ แต่มันเป็นปัญญาวิมุตติ

ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ มันก็ต้องกำหนดพุทโธ กำหนดคำบริกรรมสิ่งใดก็ได้ แล้วให้จิตมันลง ๆ ถ้าจิตมันลง นี่จิตมีฐานที่ตั้ง จิตใจไม่ลอยลม ใจมีฐานแล้ว พอใจมีฐาน ใจออกทำงาน บังคับให้มันออกทำงาน บังคับให้มันคิด บังคับให้มันทำ เพราะถ้าจิตมันสงบแล้ว บางที่คิดว่าสงบ จิตที่เป็นสมาธินี้เป็นนิพพาน เพราะมันสงบ มันมีความสุข แล้วมันขี้เกียจ มันไม่ยอมทำ เราต้องบังคับให้ทำ สติบังคับ บังคับด้วยสติ

ถ้ามีสติจับต้องได้แล้วบังคับได้เลย ให้ออกรู้ ให้ออกเห็นกาย ถ้ามันไม่เห็นกายเราก็ใช้ปัญญาตรึกในกาย ตรึกในกายเห็นไหม เพราะจิตมันสงบมันมีฐานของมัน มันเข้าใจของมันแล้ว ถ้าพิจารณากายเห็นไหม พิจารณากาย ต้องพิจารณากาย เพราะคนเราเกิด เกิดจากกรรม กรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เพราะมีกรรม มีบุญกุศล กรรมดีทำให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ทีนี้ เกิดมาเป็นมนุษย์ โดยสามัญสำนึกว่ามนุษย์ ร่างกายต้องเป็นเรา สรรพสิ่งต้องเป็นเรา โดยสามัญสำนึกต้องมีเราก่อนนะ ถ้าไม่มีเรา เราจะไม่ทำสิ่งใดที่เป็นดีและชั่วในโลกนี้เลย

สิ่งที่ความดีความชั่วในโลกนี้เกิดจากเราทั้งหมดเลย แล้วมันมาติดในเรา เราถึงต้องแก้ไขตรงนี้ ถ้าจิตสงบแล้วมันถึงพิจารณากายให้เห็นสัจจะความจริงว่ากายกับใจมันไม่ใช่อันเดียวกัน โดยข้อเท็จจริงที่เห็นจริงไม่ใช่โดยการศึกษา โดยการเข้าใจ กายกับใจไม่ใช่อันเดียวกัน อาศัยกันอยู่ แล้วอาศัยอยู่ด้วยวิธีการอย่างใด อาศัยอยู่แล้วเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของมันอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงที่มันคลายตัวออกระหว่างกายกับใจนี้มันคลายตัวออกอย่างไง

สักกายทิฎฐิ วิจกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันมีสักกายทิฏฐิเพราะมีความเห็นผิด คิดว่ากายเป็นเรา ถ้ามีกายเป็นเราปั๊บ นี่เริ่มต้นจากตรงนี้ มันเป็นฐานที่ตั้ง แล้วมันออกคิด ออกหาคุณงามความดี ทำบาปอกุศล มันก็ทำลายเราตรงนี้ ถ้าเราทำตรงนี้ เราตั้งสติของเราให้ดี ทำสมาธิให้ดีแล้วออกค้นคว้ามัน ออกหามัน

ถ้าพิจารณาโดยปัญญาวิมุตติ กายมันคืออะไร? สิ่งที่เป็นกาย กายได้มาตั้งแต่กรรม กายเริ่มต้นมาจากไข่ของแม่ แล้วอยู่ครรภ์ ๙ เดือน แล้วออกมาเพราะผลบุญผลกรรม กายนี้ไม่ใช่ได้มาจากดิน น้ำ ลม ไฟ จากวัตถุ แล้วเอามาผสมกันขึ้นมาเป็นกาย เป็นไปไม่ได้ ๆ

ดูสิ เขาทำกิฟท์กันนะ ทำเสร็จแล้วเขาถึงต้องเอาเข้าไปในมดลูกของแม่เลย ต้องไปอาศัยสิ่งนั้นเกิดขึ้นมา เลี้ยงออกมา โตขึ้นมาจากในมดลูกนั้น มันจะเป็นไปโดยที่วิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์กันให้มันเกิดขึ้นมาเอง เป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ มันก็ไม่ใช่กรรมน่ะสิ มันต้องมีบุญมีกรรมต่อกัน มันถึงมาเกิดร่วมกัน พ่อ แม่ ลูกต้องมีกรรมต่อกันถึงมาเกิดร่วมกัน พอเกิดร่วมกันนี่มันเป็นผลของวัฏฏะ ผลของกรรมทั้งนั้น มันเกิดขึ้นมาแล้ว นี่เป็นผลของกรรม แล้วใจมันก็มีกรรม เพราะใจมันปฏิสนธิจิตในครรภ์ของมารดา มันปฏิสนธิเข้ามา มันเป็นเรา เป็นเราขึ้นมา เป็นกรรมพันธุ์ ถ้ามันเกิดมาในทางร่างกายเป็นกรรมพันธุ์ แต่ในทางของใจมันไม่เป็นกรรมพันธุ์ มันเป็นกิเลสของมัน

อภิชาตบุตร บุตรที่ดี บุตรที่มีอำนาจวาสนา เราเกิดมาแล้วเราสนใจในศาสนา เขาสนใจกันเปลือก ๆ เห็นไหม ทุกคนเลย ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำดีได้ชั่วมีถมไป ยังประชดประชันนะ ขนาดเขาทำบุญกุศลของเขา เขายังต้องการเรียกร้องผลประโยชน์ แต่เรามีความรู้สึกมากกว่าเขา เรามีศรัทธาความเชื่อมากกว่าเขา ไม่ใช่เรื่องระดับความดีความชั่วของวัตถุ ของอามิส มันเป็นความดีความชั่วของใจ เป็นการเกิดดับของใจ เป็นการเกิดการตายของใจ กิเลสเวลามันเกิดขึ้นมา มันเกิดมาจากไหน ความคิดมันเกิดมาจากไหน

“สวรรค์ในอก นรกในใจ” สิ่งที่เป็น “สวรรค์ในอก นรกในใจ” มันเป็นความคิดใช่ไหม นี่มันเกิดดับของมันอยู่แล้ว มันก็เกิดดับของมัน ความเกิดดับอย่างนี้มันเป็นนามธรรม เรามีศรัทธาความเชื่อ เราถึงมาประพฤติปฏิบัติกัน นี่เอาใจแก้ใจ เอาสิ่งที่มันเป็นนามธรรม เข้าสู่นามธรรม สิ่งที่นามธรรมนะ เราถึงต้องมานั่งสมาธิภาวนากันอยู่นี่ เราถึงต้องออกธุดงค์กัน

ออกธุดงค์เพื่ออะไร? ออกธุดงค์เพื่อไปเอาความทุกข์เหรอ ไปเอาต้นไม้ในป่าเหรอ...ไม่ใช่ทั้งสิ้น เราออกธุดงค์ออกภาวนากันนี้ เราก็ออกธุดงค์ออกภาวนาเพื่อเอาหัวใจใช่ไหม นักกีฬาที่เขาแข่งกัน เขาต้องมีสนามแข่งขันของเขา นี้ก็เหมือนกัน เราจะชนะหัวใจของเรา เราก็ต้องเอาใจเราชนะใจของเรา แต่เราอาศัยวัดวาอาราม อาศัยสถานที่ สิ่งนี้เป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ

ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เป็นสัปปายะนะ ครูบาอาจารย์จะพาเราออกนอกลู่นอกทาง ไม่เป็นสัปปายะเพราะอะไร ไม่เป็นสัปปายะเพราะไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีความรู้จริง ถ้ามีความรู้จริงก็สักแต่ว่าทำกันไป นี่ไง สักแต่ว่าทำ มันก็ลอยลมไง เรามองเป็นรูปแบบ มันก็เป็นชาวพุทธ มันก็เป็นการปฏิบัติ มันก็ปฏิบัติเหมือนกัน นั่งสมาธิภาวนาเหมือนกัน ทำเหมือนกัน แล้วสบาย ๆ ด้วย

ใช่ สบาย สบายเพราะอะไร เพราะถนอมกิเลสไว้ ถ้าได้ถนอมกิเลสไว้นะ มันจะสบาย กิเลสมันจะนอนจมในหัวใจของเรา แล้วนอนด้วยความสะดวก นอนด้วยความสบาย เพราะกิเลสมันจะหัวเราะเยาะพวกเรา พวกนักปฏิบัติว่า หน้าโง่ หลอกแค่นี้ก็เชื่อ แค่มันนอนนิ่ง ๆ มันหลบอยู่ในใจของเรา แล้วเราแค่ภาวนาไป เราก็มีความสบาย ๆ แค่นี้นะ กิเลสมันหัวเราะเยาะเลย ว่านักปฏิบัติมีปัญญากันได้แค่นี้ แค่ทำใจสบาย ๆ ความสบายอย่างนี้ อย่างนี้หรือเป็นการจะฆ่ากิเลส

ถ้าการฆ่ากิเลสเห็นไหม ถ้าเราเป็นนิสัย เรานุ่มนวล เราทำนุ่มนวลแล้วจิตมันสงบ มันก็เป็นนุ่มนวล มันก็ไม่เป็นไร แต่มันต้องเข้าให้ถึงข้อเท็จจริงไง มันจะลอยลมไม่ได้ มันจะต้องมือเปื้อน มันต้องคลุกฝุ่น มันต้องติดดิน มันต้องมีความเป็นไป จิตมันถึงจะเป็นไป

ถ้าไม่มีความเป็นไป ครูบาอาจารย์ของเราที่ประพฤติปฏิบัติพ้นจากกิเลสแล้ว ท่านต่อสู้มาจนเต็มความสามารถของท่านแล้ว แล้วท่านถึงออกมาสั่งสอนเรา ทีนี้ ออกมาสั่งสอนเรา มือท่านก็ไม่เปื้อน ท่านไม่ได้คลุกฝุ่น แต่ท่านคลุกมาแล้ว ท่านต้องคลุกฝุ่นของท่านมา ท่านจะต้องต่อสู้กับกิเลสของท่านมา ถ้าท่านไม่ได้ต่อสู้กับกิเลสของท่านมา ท่านจะเอาอะไรมาสอนเรา เชาวน์ปัญญา ปฏิภาณไหวพริบในการต่อสู้กับกิเลส สิ่งที่เป็นกิเลสอยู่ในใจ แล้วเราไม่ทันมันสักอย่างหนึ่ง

ในเมื่อกิเลสของเราเรายังไม่เข้าใจ แล้วกิเลสของคนอื่น แล้วกับลูกศิษย์ลูกหาที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ครูบาอาจารย์จะตอบจะแก้ไขไม่ได้หรอก แก้ไขไม่ได้เลย เพราะกิเลสของเรา เรายังเอามันไม่ได้ แค่มันหลบตัวนะ แค่มันนอนเฉย ๆ ในใจเราว่าสบาย ๆ เราก็ยังไม่ทันมันอยู่แล้ว แล้วเราจะเอาอะไรไปสอนเขา แล้วกิเลสของเขา ยิ่งเขาประพฤติปฏิบัติไป เขามีข้อมูลของเขา เขาเห็นสิ่งต่าง ๆ ของเขา มาถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์นั่งอ้าปากเลย ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็แก้ไขกันไปด้วยปฏิภาณ

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ จิตมันสงบแล้วให้มันออกรู้ ออกหาของมัน ให้มันเห็นตามความเป็นจริง ความเป็นจริงนะ ถ้ามันเห็นกายไม่ได้ เราก็ใช้ปัญญาของเรา เป็นปัญญาของเราเปรียบเทียบ ถ้ามันเป็นความจริงนะ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ จิตมันจะเห็นจิตเลย มันจับของมันได้ ไม่เห็นกายมันก็เห็นจิต เห็นจิต เห็นเป็นนามธรรม ความคิด ใจ อาการของใจ อาการของใจนี่ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเหมือนกับเปลือก มันห่อหุ้มจิตไว้

ในการทำความสงบของใจเหมือนกัน ถ้าใจมันจะสงบนะ มันจะผ่านรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เข้าไปถึงหัวใจ เข้าถึงตัวใจนี่คือตัวสมาธิ แล้วตัวสมาธิมันเป็นสมาธิแล้วมันเสวยอารมณ์ เสวยอารมณ์คือว่ามันขยับ มันเสวยคือว่ามันกินความคิด ความคิด คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นเปลือก เหมือนกับผลไม้กับเปลือกผลไม้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นเปลือกของผลไม้ เป็นเปลือกของใจ เป็นอาการของใจ ความคิดมันมีพลังงานอยู่ตลอดเวลา แต่ความคิดนี้จะคิดได้ต้องมีตัวพลังงานคือตัวจิต ตัวใจ

ทีนี้ถึงตัวใจ จิตสงบมันถึงใจ ใจมันได้พัก ใจมันได้มีกำลังของมัน ไม่ใช่ว่าสมาธิของปุถุชน โดยมนุษย์นี่มีสมาธิอยู่แล้ว สมาธิอย่างนี้ทำให้ใจกับอาการของใจมันทำงานกันโดยปกติ สิ่งที่มันทำงานกัน มันสัมพันธ์กันโดยปกติ ระหว่างพลังงานกับความคิดมันทำงานกัน แต่พอพลังงานตัวนี้มันได้มีพื้นฐาน ตัวพลังงานมีพื้นฐาน แล้วตัวพลังงานมันออกมาเห็นอาการของใจ จิตเห็นจิต ถ้าจิตเห็นนี่จิตวิปัสสนามันเกิดตรงนี้ ถ้ายังไม่เห็นตรงนี้วิปัสสนาไม่ได้ ถ้าไม่เห็นตรงนี้มันก็เป็นภาวนาส่งออก เป็นภาวนาลอย ๆ คิดไปเรื่อย ๆ

แต่ถ้ามันคิดเรื่อย ๆ ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง เราคิดอย่างนี้ถูกไหม? ถูก ถูกในขั้นของปัญญาอบรมสมาธิ เพราะในปัญญาของศาสนาพุทธนี้ ปัญญาคือการรอบรู้ในกองสังขาร ปัญญาอบรมสมาธิหมายถึงว่าปัญญาที่มันเข้าใจถึงสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันเข้าถึงขันธ์ ๕ นี่ไง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันคิดอยู่ แล้วจิตมันไม่มีจุดยืน จิตลอยลม จิตนี้มันไม่มีฐานเลย พลังงานนี้ก็ออกมาอยู่ที่ขันธ์ ๕ อยู่ที่ความคิด อยู่ที่สังขาร แล้วเราใช้สติ แล้วความคิดเราไล่ไป ไล่ความคิดนี้ไป นี่ปัญญาที่รอบรู้ในกองสังขารคือปัญญารอบรู้ในความคิด ปัญญามันทันความคิดเรา แล้วความคิดเราจะหยุดไง เพราะปัญญามันทัน สติมันทัน ปัญญามันทัน หยุดบ่อยครั้ง ๆ เข้า จนมันชำนาญ จิตมันก็ตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นมันเสวยอารมณ์อีก

แต่เดิมเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิให้มันพักตัวเฉย ๆ ให้มันสงบเข้ามา แต่ขณะที่เราไปวิปัสสนา เราเห็นจิตกับอาการของจิตมันเสวยอารมณ์อย่างไร แล้วถ้าจับต้องได้นี่ออกมาแยกแยะ จับได้ จับจำเลยได้ นี่ไง สิ่งว่ากิเลส เวลาทำสมาธิหรือเราทำปฏิบัติกันเพื่อความสบาย กิเลสมันหลบตัว มันซ่อนตัวอยู่ มันหัวเราะเยาะ แต่พวกเราว่านักปฏิบัติมีความสุข มีความร่มเย็น...กิเลสมันหัวเราะเลย

เพราะความสุขความร่มเย็นนั้นมันเป็นอนิจจัง มันต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดคงที่ แล้วถ้าเสื่อมเป็นธรรมดา เราก็มาทุกข์มาร้อน แล้วทุกข์ร้อนเพราะอะไร ปฏิบัติแล้วทำไมทุกข์ร้อนอย่างนี้ ทุกข์ร้อนเพราะเราปฏิบัติไม่ถูกทางไง ทุกข์ร้อนเพราะเราปฏิบัติเลินเล่อไง ทุกข์ร้อนเพราะเราปฏิบัติลอยลมไง

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันจะเสื่อมบ้าง มันเจริญแล้วเสื่อมมันเป็นธรรมดาของมัน ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เสื่อมก็คือเสื่อมไป ถ้ามันเสื่อมเห็นไหม ดูสิ ดูผู้ชำนาญ ดูครูบาอาจารย์ที่ชำนาญนะ มันจะเสื่อมไปได้อย่างไร มันจะเสื่อมไม่ได้เลย

เรานะ ในครัวของเราอาหารพร้อมหมดเลย เราประกอบอาหารได้ทุกวัน อาหารเราจะเอาออกมาจากตู้แช่ที่ไหน เรามาสับ มายำ มาทำอาหารได้ทุกวันเลย เรามีอาหารกินได้ทั้งปีทั้งชาติ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีสติมีปัญญาในการปฏิบัติ ทำอย่างไรสมาธิมันก็เสื่อมไม่ได้ ในเมื่อเรามีสติ เรามีปัญญา มีการรักษาอยู่ สมาธิมันจะเสื่อมไปได้อย่างไร สมาธิมันเสื่อมเพราะอะไร เพราะในครัวเราไม่มีอะไรเลย เราจะไปแสวงหามาจากข้างนอก แสวงหาเข้ามาเพื่อจะมาทำครัว

นี้ก็เหมือนกัน เพราะสติเราไม่ดีเลย สติหรือการรักษาสมาธิมันไม่มี เราจะไปเอาที่สมาธิไง เราจะรักษาสมาธิ สมาธิดีแล้ว ของมันทำมาจากครัวนี่นะ เก็บไว้มันจะบูดมันจะเน่า ถ้าไม่กินเข้าไป มันจะบูดจะเน่าจะเสียหมด นี่ก็เหมือนกันไปรักษาที่สมาธิมันก็เสื่อมเป็นธรรมดา แต่ถ้ามารักษาที่เหตุ สมาธิมันจะเสื่อมได้อย่างไร

นี่พูดถึงการเจริญแล้วเสื่อม โดยธรรมชาติของมัน มันเจริญแล้วเสื่อมเป็นธรรมดา แต่เพราะเรามีฐาน เรามีเหตุ เราสร้างเหตุตลอดเวลา มันจะเสื่อมไปได้อย่างไร มันไม่เสื่อม ถ้ามันไม่เสื่อมปั๊บ มันตั้งมั่น เราออกวิปัสสนา ออกหากาย เวทนา จิต ธรรม ถ้ามันออกพิจารณา กาย เวทนา ธรรม ด้วยสติที่บังคับให้มันทำ พอบังคับให้มันทำ มันทำงานโดยธรรมชาติของมัน

การทำงาน การฝึกงาน คนทำงานใหม่ การทำงานเริ่มต้นมันก็มีการผิดพลาดเป็นธรรมดา การไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นการกระทำเริ่มต้นมันก็ขลุกขลักเป็นธรรมดา เป็นธรรมดานะ แค่เห็นแค่รู้ มันก็เห็นหน้ากิเลส ไม่ต้องกิเลสมันนอนอยู่ในใจของเราแล้วหัวเราะเยาะ กิเลสนอนอยู่ที่ใจนะ แล้วยิ้มเยาะเราด้วย เรายังไม่รู้จักกิเลสเราเลย แต่การที่เราไปต่อสู้กับมัน เราไปเห็นมัน มันเป็นการต่อสู้ระหว่างกิเลสกับธรรมแล้วนะ กิเลสมันต้องปลิ้นปล้อน มันต้องหาทางออกของมัน “เป็นอย่างนี้เป็นธรรม เป็นอย่างนั้นเป็นธรรม นี้ถูกต้องแล้ว” มันจะชี้นำให้เราผิดพลาดตลอดเวลา

แต่ถ้ามันถูกต้อง มันปล่อยวางไหม ถ้ามันถูกต้อง เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา จนมันวิปัสสนา มันปล่อยไปรอบหนึ่ง แล้วเรามาเดินจงกรมรอบสอง เราก็มาไตร่ตรองว่ามันถูก มันผิด มันถูกต้องขนาดไหน ทำแล้วจิตมันมีความรู้สึกอย่างไร ครั้งนี้เป็นอย่างนั้น ครั้งนั้นต่อไป...นี่นักภาวนาของเราต้องละเอียดรอบคอบ ต้องหมั่นตรึกตรอง หมั่นดูแลเรา หมั่นเปรียบเทียบ อย่าสุกเอาเผากิน อย่ามักง่าย

สุกเอาเผากินนะ ว่าง ๆ สบาย ๆ ...ฟังคำนี้...ฟังจริง ๆ แล้วเบื่อ มันสบายขนาดไหนนะ กิเลสมันหลบอยู่ในใจนั่นน่ะ

แต่ถ้าเป็นความจริงจะไม่พูดอย่างนี้เลย มันจะสะเทือนใจตลอดเวลา เพราะอะไร เพราะขณะธรรมมันเกิดแล้วนะ ภาวนาเป็นแล้วนะ มันจะฆ่ากิเลส กิเลสมันอยู่ที่ไหน? กิเลสมันอยู่ที่ใจ แล้วธรรมมันหมุนอยู่ที่ใจ มันจะมีเวลาพักผ่อนกันไหม มันจะมีเวลารามือไหม เราทำงาน ดูสิ เราทำงานข้างนอกเห็นไหม มืดค่ำก็ทำไม่ได้แล้ว หมดเวลางานก็หมดเวลางานแล้ว ถึงเวลาเราทำหน้าที่การงานเราทำเสร็จแล้ว เราขี้เกียจ เราขยันเราก็ทำอีกอย่างหนึ่ง มันมีกาลมีเวลา

แต่ขณะที่ปัญญามันติดนะ ภาวนาเป็นแล้วนะ ไม่มีกาลไม่มีเวลา มันต่อสู้กันระหว่างกิเลสกับธรรมในหัวใจ เพราะมันเห็นผลไง ถ้ามันสงบ มันก็สงบมีความสุข ถ้าปัญญามันใคร่ครวญแล้วมันปล่อยวาง กิเลสมันเบาตัวลง ยิ่งมีความสุขใหญ่ ความสุขอย่างนี้มันเกิดมาจากไหน? ความสุขอย่างนี้เกิดมาจากการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มันถึงทำได้ไง เดินจงกรม ๗ วัน ๗ คืน เดินจงกรมกันจนทางเป็นร่องไปเลย ทำไมพระ ครูบาอาจารย์ท่านทำได้ เพราะมันมีกิเลสกับธรรมที่มันต่อสู้กันในใจ มันกำลังจะได้จะเสียกันอยู่ เราต่อสู้ แล้วมันก็จะเสียเป็นส่วนใหญ่เริ่มต้น แล้วพอจิตเราภาวนาจนมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันเริ่มเสมอ ๆ กัน แล้วต่อไปมันจะเป็นได้ส่วนใหญ่ คือมันจะได้ ได้ความสงบ ได้ปัญญา ได้การปล่อยวาง

เริ่มต้นเราจะต่อสู้มันด้วยกำลังที่เต็มแรงเลย เพราะกิเลสมันดิบ ๆ กิเลสมันมีอำนาจมาก กิเลสมันปกคลุมใจเรามานาน ธรรมะที่เราพยายามรื้อค้น ที่พยายามต่อสู้ขึ้นมา มันเกิดจากการกระทำของเรา แล้วถ้าขาดสติหรือเราทำสุกเอาเผากิน มันก็ล้มคลุกคลาน สิ่งนี้มันมีมาตลอด การภาวนามันจะเป็นอย่างนี้ แล้วครูบาอาจารย์ท่านต่อสู้มาแล้ว ท่านมองแค่ลูกศิษย์ปฏิบัติท่านจะเข้าใจเลย ว่ามันทำได้อย่างไรมันอยู่ขั้นไหน

ครูบาอาจารย์ถ้าเวลาลูกศิษย์ของท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านจะไม่ตกใจเลย ท่านจะส่งเสริมด้วย...เอาเข้าไป ๆ เพราะมันต้องเป็นความจริงใช่ไหม แต่ถ้าคนไม่เคยภาวนานะ มันจะบอก “พักบ้างเถอะ มันจะรุนแรงเกินไปแล้ว มันจะต้องพักผ่อนก่อน อย่าทำอย่างนั้นเลย” ถ้าพูดอย่างนี้นะกิเลสมันขี่หัวอย่างนี้นะ ผู้ที่ปฏิบัติล้มลุกคลุกคลานหมดเลย...

...เพราะโดยธรรมชาติมันก็จะไม่เอาอยู่แล้ว เพราะโดยธรรมชาติกิเลสมันก็มีอำนาจอยู่แล้ว แต่พอเราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา มันเป็นเพราะธรรมนะ

สมาธิธรรม ปัญญาธรรม สติธรรม ปัญญาธรรม ธรรมะมันมีหยาบ มีละเอียด มีลึกซึ้ง แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไปนะ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค อรหัตตมรรค ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านแล้ว ท่านจะรู้เห็นถึงความลึกซึ้ง ความลึกซึ้งขั้นตอนของการกระทำที่มันแต่ละขั้นตอนเข้าไป มันไม่เหมือนกันหรอก ในเมื่อเหตุมันไม่เหมือนกัน ผลมันก็ต้องต่างกันเป็นธรรมดา ผลที่อย่างโสดาบัน สกิทา อนาคา ผลลึกซึ้งต่างกัน

ในขั้นของอนาคา ดูสิ มันปล่อยกามราคะ ปล่อยความหมักหมมของใจ ปล่อยกามฉันท์ กามฉันท์คือความพอใจ ความพอใจในตัวตนก่อน เพราะมันมีความพอใจในตัวเรา เราถึงมีความปรารถนาไปสู่ข้างนอก นี่ถ้ามันทำลายความพอใจของเรา กามฉันท์ ความเป็นตัวตนของเราเห็นไหม ถ้าไม่มีตัวตนมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วถ้าไม่มีตัวตนมันเป็นภพได้อย่างไร

ในขั้นของอรหัตตมรรค อรหัตตผล อรหัตตผลเห็นไหม อรหัตตผล “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” มันผ่องใสมันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง นี่ปฏิสนธิจิตมันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่ถ้ามีธรรมะ มีธรรมะไปจับธรรมชาติอันนั้นได้ ธรรมชาติอันนั้นนะ ทั้ง ๆ ที่มันมีอยู่นะ พลังงานอยู่ในร่างกายเรานี่ เพราะมันอยู่ที่จิตเรา เพราะถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ มันอยู่ในร่างกายของเรา ตายแล้วมันถึงออกจากร่างกายของเราเป็นจิตวิญญาณ ถ้าไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เป็นสถานะต่อไป

แต่ในปัจจุบันนี้เหมือนกับพลังงานผิวหนังที่เราปิดกั้นไว้ แต่เรายังรื้อค้นไม่เป็น เรายังหาไม่ได้ ของ ๆ เราแท้ ๆ แต่เราไม่รู้จักมัน แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเข้าไป “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” จิตผ่องใสคือตัวภพ จิตผ่องใสคืออวิชชา สิ่งที่เป็นอวิชชา สิ่งนี้มันอยู่กับเรา สิ่งที่มันหยาบ มันละเอียดมันลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งจริง ๆ ในการประพฤติปฏิบัติ

ฉะนั้น เวลาที่เรามุมานะกัน เราเร่งตามเพียงกัน เห็นแล้วมันชื่นใจนะ เพราะมันเป็นวิธีการ เหมือนกับเราสุ่มปลาไว้ ปลาอยู่ในข้อง อยู่ในสุ่ม ถ้าเราเอามือจับมัน เราเอามือเข้าไปในสุ่ม มันจะได้ปลา นี่ก็เหมือนกันเราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา จิตใจของเรามันอยู่ในร่างกายของเรา ร่างกายเหมือนกับสุ่ม มันสุ่มปลาไว้ตัวหนึ่ง ปลาคือหัวใจของเรานี่มันสุ่มไว้ แต่เราเอามือล้วงเอามือจับปลาตัวนี้ไม่ได้ แค่ในสุ่มมันยังหลบอยู่ข้าง ๆ สุ่ม หลบไปหลบมาอยู่ในสุ่มนั้น เราจับมันไม่ได้ แล้วเราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา มันจะเสียหายไปไหน ก็เราจะจับปลาตัวนั้นน่ะ เราจะจับจิตเรา แล้วจับปลาได้ ดูสิมันปลาอะไร ปลาตัวนี้มันเป็นปลาอะไร แล้วปลามันมีเกล็ดไหม มันมีความสวยงาม ปลานี้เป็นอาหารได้ไหม

นี่ไง ถ้าจับได้มันก็เป็นวิปัสสนาไง ถ้ามีการวิปัสสนานี่โลกุตตรปัญญา สิ่งที่โลกุตตรปัญญา ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงขั้นของปัญญามันจะมีความแปลกประหลาด มันจะมีความลึกลับ มันจะมีความสุขของมันนะ เพราะปัญญาที่เกิดอย่างนี้มันเกิดจากการภาวนา แล้วปัญญาอย่างนี้มันไม่มี

ถ้าเป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธวิสัยนะ พุทธวิสัย มีปัญญามาก ดูสิ “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ” เป็นปัจจยาการ คำว่า “ปัจจยาการ” สิ่งนี้มีถึงมีสิ่งนี้ มันเป็นเหมือนกันเดียวกัน มันซ้อนกันอยู่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังแจงให้เราเห็นเป็นทางวิชาการได้ แล้วสิ่งนี้ สิ่งที่มันซ้อนอยู่ในใจเห็นไหม สิ่งที่มันซ้อนอยู่ในใจ ใครจะไปรื้อค้นมัน ถ้าปัญญาเราเกิดขึ้นมา สิ่งที่เป็นความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องบอกไว้แล้ว นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้บอกไว้ในพระไตรปิฎก ในธรรมและวินัยไม่ได้พูดถึงปลีกย่อยของภาวนามยปัญญา ไม่มีหลักฐาน แต่จะบอกว่าเป็นภาวนามยปัญญา

นี้ถ้ามันเกิดขึ้นกับเรา มันเกิดขึ้นกับเรามันเป็นสมบัติแล้ว เป็นคุณสมบัติแล้ว เป็นธรรมแล้ว ธรรมที่ว่าธรรมกับกิเลสที่ต่อสู้กัน มันเป็นธรรมเพราะมันเกิดขึ้นจากเราจริง ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา เหมือนกับธรรมาวุธ มันจะมีอาวุธคมกล้า มันจะฟาดฟันกับกิเลส

ถ้าจินตมยปัญญา สุตมยปัญญาในการศึกษาเหมือนกับปลาในสุ่มนั่นน่ะ มันหลบ ๆ หลีก ๆ นั่นน่ะ จับไม่ได้หรอก แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา จับปลาได้ รู้จักปลา แล้วพลิกแพลงเห็นปลา เห็นกิเลสไง จับตัวใจได้ จับกิเลสได้ ต่อสู้กับกิเลสกลางหัวใจ นี่เป็นภาวนามยปัญญา ถ้าใจติดดิน ใจคลุกฝุ่น มีการกระทำ ดูสิ เราเอาสุ่มดักปลาในหนอง แล้วลงไปจับมัน ตัวเราจะเปรอะเปื้อนขนาดไหน เราต้องแช่อยู่ในน้ำใช่ไหม แล้วเวลาที่มันดิ้นขึ้นมา โคลนตมไปหมดเลย

นี่ไง ใจถ้ามันต่อสู้ มันประพฤติปฏิบัติมันต้องทำอย่างนั้น อย่าโลเล อย่ามักง่าย อย่าสุกเอาเผากิน แล้วถ้าใครเขาเห็นเราเขาจะสงสารเรานะ เห็นเราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา เห็นเราอดอาหารนะ เขาสังเวช...เรื่องของเขา อย่าให้เขามายุ่งกับเรา เพราะอะไร เพราะปัญญาอย่างนี้ ปัญญาในโลก ปัญญาในการศึกษา อัตตกิลมถานุโยค เห็นพระปฏิบัติแล้วเมตตาสงสารมาก ทำไมมันต้องทุกข์ มันต้องยากขนาดนั้น

ถ้าทุกข์ยากตามความเป็นจริง ถ้าจิตกับธรรม กิเลสกับธรรมต่อสู้กันน่ะ เราเห็นด้วย เราอนุโมทนานะ แต่ถ้ามันทุกข์ยากโดยที่เราไม่มีอุบายวิธีการอะไรเลย มันจะทุกข์ยากไปทำไม มันต้องมีอุบายนะ มีอุบายธรรมไง ธรรมะที่มันเกิดมาเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา เกิดเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมา นี่คืออุบายที่เราจะให้ต่อสู้กับกิเลส ไม่ให้กิเลสมีอำนาจเหนือเรา

กิเลสใหม่ ๆ มันมีอำนาจเหนือเราทั้งนั้น เรามานี่กิเลสทั้งนั้นน่ะ คนมาบวชเป็นพระ หรือคนมาประพฤติปฏิบัติ กิเลสเต็มทั้งนั้นน่ะ กิเลสดิบ ๆ เลย แต่เรามาขัด เรามาต่อสู้กับมัน เรามาขัดเกลา เรามาดัดแปลง ดัดแปลงขัดเกลาของเราบ่อยครั้งเข้า ๆ จากไม้ดิบ ๆ มันก็เป็นไม้แห้ง จากไม้แห้งมันก็สีไฟได้ สีไฟขึ้นมาก็คือปัญญาไง

ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมา ภาวนามยปัญญาสีไฟขึ้นมา ไม้มันสีๆ กันมันเกิดไฟได้อย่างไร ไฟกับไม้มันอันเดียวกันหรือเปล่า แล้วไฟมันเกิดมาจากไม้หรือ มันเกิดมาได้อย่างไร นี่ก็เหมือนกัน สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ถ้ามันต่อสู้ไป มันทำต่อเนื่องกันไป ต่อเนื่องกันไป แล้วภาวนามยปัญญา ไฟที่เป็นธรรม ไฟที่มันเป็นธรรมจักรที่มันจะเข้าไปชำละกิเลส มันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

มันไม่มีที่ตั้งไง ถึงอธิบายเรื่องภาวนามยปัญญา สิ่งที่เป็นภาวนามยปัญญามันเกิดจากการกระทำ แต่เวลาเราศึกษาแล้ว ดูสิ มรรคญาณ ปัญญามันเกิด ชำระกิเลสอย่างนั้น เราก็เอาปัญญาของเราเทียบกับปัญญาโลกียปัญญา เทียบกับความเห็นของเรา ก็ปัญญาก็มีเท่านี้ เราก็ทำปัญญาแล้ว แล้วปัญญา...

มันถึงไม่มีพื้นฐานไง เพราะไม่มีพื้นฐาน เริ่มต้นเราผิดมาแต่แรก เราเอากลับหัวกลับหาง เราไปคิดตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันก่อน ว่าต้องไม่มีความอยาก ต้องไม่มีสิ่งใดเลย แล้วเราก็สร้างภาพว่าเราไม่มีอะไรเลย ใจเราว่าง ๆ สบาย ๆ มีอยากไม่ได้

แต่กรรมฐานเรานะ มันจะอยากไม่อยากเก็บไว้ในใจ เราทำตามข้อเท็จจริง ถ้ามันอยากขึ้นมาวันไหน เราภาวนาแล้วนะ ล้มลุกคลุกคลาน เพราะมันตัณหาซ้อนตัณหา โดยสามัญสำนึกคนมีตัณหามีความอยากอยู่โดยสามัญสำนึก ทุกคนอยากพ้นทุกข์ ทุกคนศึกษาธรรมะ แล้วเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นชาวพุทธ จะมีเป้าหมาย อยากพ้นจากทุกข์ นี้คือจิตใต้สำนึกที่มันมีอยู่

แล้วเรามาประพฤติปฏิบัติ เรามีความอยาก อยากเป็นสมาธิ อยากมีปัญญาขึ้นมา ความอยากอันนี้เป็นตัณหา ตัณหาเป็นสมุทัย สมุทัยตัวนี้มันจะปิดกั้น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันเป็นระบบการวางใจ เวลาเข้าทางจงกรมนั่งสมาธิ เราจะวางใจของเราอย่างไร แล้วใจมันลอกแลก มันวอกแวกตลอดเวลา ถ้าวางใจผิด วันนั้นเราภาวนาทั้งวันเลย ได้แต่เวทนา ได้แต่ความอึดอัดของใจ แต่ถ้าวันไหนเราวางใจถูกต้อง สมาธิมันจะเป็นไป มันจะลง

ไม่ใช่ว่าเราจะสร้างภาพว่าเราไม่มีอะไรเลย เราว่าง เราสบายหมดแล้วเราภาวนา มันกลับหัวกลับหางตรงนี้ไง ถ้าเรายอมรับความเป็นจริงว่าเรามีกิเลส เรามีกิเลส เรามีความต้องการ เรามีทุก ๆ อย่างเลย แต่วางมันไว้ แล้วทำให้มันเป็นข้อเท็จจริง ให้เป็นสมาธิขึ้นมา มันก็รู้ถึงการวิธีการทำ เห็นไหม นี่มันติดดิน มันรู้ตามข้อเท็จจริงไง

แต่ถ้าเราไปคาดหมาย ไปทำตามที่เราต้องการ มันเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะมันลอยมาจากฟ้า ธรรมะไม่ได้เกิดจากกลางหัวใจของเรา ถ้าธรรมะไม่เกิดจากกลางหัวใจ มันไม่ใช่ธรรมจักรของเรา มันจะไปชำระกิเลสได้อย่างไร นี่ไง ใจลอยลม ภาวนาลอยลม

ภาวนาให้เอาข้อเท็จจริงของเรา มันจะทุกข์จะยาก ใครจะเมตตาสงสาร...สาธุ ถ้าเขาเห็นเขาสาธุการด้วย เขาก็ได้บุญของเขาไป แต่ถ้าเขามองแล้วเขาสมเพชของเขา นั่นก็เรื่องของเขา เพราะคนมืดบอด

โลกนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเทศนาว่าการนี้ “โลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก” คนมันโง่ทั้งนั้น คนโง่มาก โง่ในอะไร? โง่ในกิเลสของตัวเองไง โง่ในกรงขังของใจ กิเลสมันขังใจอยู่ แล้วมันคิดได้แค่กรอบของที่มันจะให้คิด แล้วมันคิดว่านั่นเป็นปัญญาไง คนโง่ทั้งนั้นน่ะ

แล้วถ้าคนฉลาดมันทำลายกรงขังอันนี้ออกมา มันเป็นความคิดนอกกรอบ เป็นความคิดนอกกรอบที่ในการกระทำ ในการต่อสู้ ในการประพฤติปฏิบัติ มันต้องลงทุนลงแรง ในเมื่อการลงทุนลงแรง เห็นไหม ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านผ่านกิเลสมาแล้ว ในการต่อสู้กับกิเลส ในการกระทำนี่ท่านสาธุทั้งนั้น เพราะมันคิดนอกกรอบ มันคิดนอกกรงขังของกิเลส ในการกระทำของเรา แล้วคนฉลาดมันมีก็คน ในเมื่อคนฉลาดมันมีจำนวนน้อย

ในเมื่อคนโง่เขาจะสงสาร เขาจะสมเพช มันก็เรื่องของเขา แล้วถ้าคนโง่ คนที่ไม่เข้าใจ แล้วยังไปเป็นผู้นำ ไปแสดงธรรม ไปให้การประพฤติปฏิบัติให้เป็นการปฏิบัติแบบลอยลม...ปฏิบัติแค่นี้ก็พอ ทำแค่นี้ก็สะดวกแล้ว ทำแค่นี้จิตใจมันก็สงบแล้ว ทำแค่นี้ก็เป็นธรรมแล้ว...นี่ธรรมะของคนโง่

ธรรมะของคนฉลาดมันต้องเป็นปัจจัตตัง มันต้องเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นการชำระกิเลส มันมีขั้นมีตอนของมัน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ แล้วนิพพาน นิพพานที่คงที่ นิพพานที่เอามาอวดกันได้ นิพพานที่อธิบายได้นี่มันต้องอยู่ในใจของผู้รู้จริง ถ้าผู้รู้จริงอธิบายนิพพานเข้าใจหมดเลย แต่อธิบายออกมาเพื่อเป็นธรรมะ เพื่อในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อปูเป็นแนวทางให้เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา

แต่ไม่ใช่อธิบายให้โลกเข้าใจ อธิบายให้โลกเข้าใจไม่ได้ คนโง่ คนฉลาดไง นกกับปลาคุยกันไม่รู้เรื่อง ในเมื่ออธิบายขนาดไหนเขาก็คิดด้วยปัญญาของเขา เขาก็จินตนาการด้วยปัญญาของเขา เราพูดเรื่องหนึ่ง เขาตีความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง มันจะพูดกันเข้าใจไม่ได้เลย

แต่ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจริง เข้าถึงจุดหมายปลายทางเดียวกัน สบตารู้กันหมด มันอันเดียวกัน อริยสัจมีหนึ่งเดียว พระสมณโคดมของเราเป็นองค์ที่ ๔ พระศรีอริยเมตไตรยเป็นองค์ต่อไป ภัทรกัป ๕ องค์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจอันนี้ อนาคตวงศ์อีก ๑๐๐ องค์ก็ตรัสรู้อริยสัจอันนี้ จะพระพุทธเจ้ากี่พันกี่ล้านองค์ก็อันนี้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าถึงสัจจะ เข้าถึงสิ้นกิเลสก็อันนี้ นี่ไง มันถึงเป็นสัจธรรม สัจธรรม อริยสัจจะมีอยู่หนึ่งเดียว ถ้ามีอยู่หนึ่งเดียวในการประพฤติปฏิบัติมันถึงเข้าถึงอันเดียวกัน สิ่งที่เข้าถึงอันเดียวกันมันเป็นความจริงนะ ฉะนั้น เวลารู้จริงแล้วจะเหมือนกันหมด

แต่ถ้ารู้ไม่จริง โลกเขาโง่ เห็นไหม คนโง่มากกว่าคนฉลาด เราก็ต้องยอมรับตรงนั้น ถ้าคนโง่มากก็อยู่ประสาเขา เราก็ไม่ใช่ไปดูถูกเหยียดหยามใครทั้งสิ้น มนุษย์คือมนุษย์ ความเห็นคือความเห็น แต่เพราะวุฒิภาวะ เพราะการกระทำ การสร้างสมบุญญาธิการมาต่าง ๆ กัน เหมือนกับผลไม้ จิตนี้เหมือนกับผลไม้ เมล็ดพันธุ์พืชแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน จิตของคนหลากหลายแตกต่างกันมหาศาลเลย

ดูสิ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่มาบวชมาจากที่แตกต่างกัน พอบวชแล้วเป็นนกพิราบสีขาวอยู่ใต้อุ้งเท้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันบวชแล้วถือธรรมวินัยอันเดียวกันไง แต่ทิฏฐิมานะ อุบายวิธีการของสัตว์โลกมันก็แตกต่างกัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้จริง ท่านจะมีกลอุบายวิธีการการเทศนาว่าการให้เข้าถึงสัจจะความจริงทุก ๆ คน ถ้าคนนั้นทำของเขามาได้ มันถึงเป็นข้อเท็จจริงของใจดวงนั้น เป็นจริตนิสัยดวงนั้น

เพราะเมล็ดพันธุ์ ดูสิ ผลไม้คนละชนิด เมล็ดของมันไปปลูก มันก็เป็นคนละชนิด แต่ถึงที่สุดแล้วมันเป็นผลไม้แล้วกินได้เหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน ในการกระทำนั้นถ้าถึงที่สุดแล้วมันก็เป็นมรรคผลเหมือนกัน มันเป็นอกุปปธรรมเหมือนกัน

กุปปธรรม-อกุปปธรรม “กุปปธรรม” สภาวธรรมที่ลอยลม กุปปธรรมไง เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ธรรมะที่ลอยลม ถ้าเป็น “อกุปปธรรม” ธรรมะที่มีจุดยืน จุดยืนที่ไหน? จุดยืนที่หัวใจ เพราะใจดวงนั้นเป็นโสดาบัน ใจดวงนั้นเป็นสกิทา ใจดวงนั้นเป็นอนาคา ใจดวงนั้นเป็นพระอรหันต์ นี่ไง สิ่งนี้มันเป็นจุดยืนอย่างนี้มันถึงไม่ลอยลม ไม่ลอยลมเพราะมันรู้จริง รู้จริงอธิบายความจริงได้ คนรู้จริงแล้วอธิบายความจริงไม่ได้มันไม่รู้จริง ความรู้จริงอันนี้มันอธิบายได้ มันเข้าใจได้

นี่ไง เรามีครูบาอาจารย์อย่างนี้ แล้วครูบาอาจารย์อย่างนี้คอยชี้นำเรา เราถึงภูมิใจในชีวิตของเรานะ เกิดมาพบพุทธศาสนา แล้วศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง เจริญรุ่งเรืองในหัวใจ เจริญรุ่งเรื่องในธรรมะของแท้ ไม่ใช่เจริญรุ่งเรืองด้วยวัตถุ ด้วยสิ่งของ ด้วยประเพณีวัฒนธรรม อันนั้นเป็นวัตถุทั้งหมด

ถ้าเจริญในหัวใจเห็นไหม พูดได้จริง รู้ได้จริง อธิบายได้จริง เราก็จะสามารถเข้าใจได้จริง เราสามารถประพฤติปฏิบัติได้จริง เพราะมีคนชี้นำ นี่ไง มันถึงเป็นประโยชน์กับเรา เกิดมาไม่เสียชาติเกิด เกิดมาพบพุทธศาสนา เกิดมาแล้วได้ออกประพฤติปฏิบัติ ได้บวชเป็นพระเป็นเจ้า ถ้าจิตใจยังดีอยู่ จิตใจมั่นคงอยู่ เราอยู่ในสมณเพศ จีวรนี้เป็นธงชัยพระอรหันต์ ธงชัยของครูบาอาจารย์เรานะ ห่มจีวรตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนปัจจุบันนี้ เราได้ใช้ผ้ากาสายะนี้ เราได้ห่มในร่างกายของเรา เราได้ห่มได้ใช้สอย แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้ใจมันเป็นจริงขึ้นมาอีกมันจะเป็นประโยชน์ขึ้นมาเป็นชั้นใน

จากรูปข้างนอกไง จากพระโดยสมมุติ แล้วก็จะเป็นพระในหัวใจ เป็นพระแท้ พระแท้ต้องอยู่ที่ใจ เพราะใจมันเป็นกิเลส ถ้ามันถอนกิเลสออกจากใจแล้วมันจะเป็นความจริงของมัน กิเลสออกจากใจ ถอนจนสิ้น ถอนจนหมดสิ้นไป สิ่งนี้เป็นการกระทำ ถึงต้องให้เพียร ให้หมั่น ให้มานะ ให้มีการกระทำ อย่ามักง่าย อย่าท้อแท้ ความมักง่าย ความท้อแท้ ความสุขเอาเผากิน มันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นเลย

ความมีสติ มีความเพียรชอบ มีการกระทำ แล้วพอมันฝึกเป็นนิสัย มันหยิบจับสิ่งที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติมันก็ทำจริง มันภาวนามันก็ทำจริง ถ้าคนจริงนะ ทำสิ่งใดเป็นจริงหมด ถ้าคนเล่น ทำเล่น อาจารย์สิงห์ทอง นิสัยท่านเป็นคนขี้เล่น แต่เวลาท่านปฏิบัติท่านก็จริง ครูบาอาจารย์ทั้งหลวงตา ทั้งหลวงปู่เจี๊ยะท่านบอก เดินจงกรมจนทางเป็นร่องเลย เวลาเล่นก็คือเล่นกิริยา นิสัยเป็นอย่างนั้น แต่เวลาทำจริงมาก คนจริงมาก ๆ แต่นิสัยชอบเล่นเท่านั้นเอง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราฝึกเราจนเป็นจริง ขณะที่จริงมันทำจริงของมัน มันจะได้ประโยชน์จริงนะ ธรรมะจะอยู่กับคนจริง ธรรมะไม่อยู่กับคนโลเล คนที่ไม่จริง ไม่จริงมันโลเลตั้งแต่เริ่มต้น แล้วความโลเลมันจะไปเข้ากับความจริงได้อย่างไร เหมือนกับภาชนะเรารั่ว ตักน้ำไม่ได้หรอก เราต้องปิดภาชนะให้เรียบร้อย เราจะตักน้ำ น้ำเต็มตุ่ม นี่ก็เหมือนกัน สติปัญญา มีสติ มีการเคลื่อนไหว นี่คือสติ นี่คือการฝึกฝน แล้วถ้าสิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ดีแล้ว มันจะตักน้ำได้ ตักน้ำคือน้ำอมตธรรมไง ตักน้ำขึ้นมาเราต้องมีแหล่งน้ำใช่ไหม ต้องมีแหล่งน้ำ ต้องมีสิ่งวัตถุให้เราตักได้

แต่นี้มันเป็นหัวใจนะ ธรรมะที่มันมีอยู่แล้วมันเป็นนามธรรม แล้วใจมันได้สัมผัส ใจนี้เป็นสมาธิ ใจนี้เป็นปัญญา แล้วใจนี้เป็นโสดาบัน เป็นสกิคา เป็นอนาคา เห็นไหม ธรรมะที่เป็นนามธรรมมันเกิดขึ้นมาเป็นรูปธรรมเลย เกิดขึ้นมาจากหัวใจเลย พอเกิดขึ้นมาก็เป็นสมบัติของใจดวงนั้น เป็นสมบัติของส่วนบุคคลนะ สมบัติสาธารณะมันเป็นสมบัติสาธารณะ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นธรรมะสาธารณะ แต่ถ้าเป็นของเราเป็นสมบัติส่วนตน สมาธิก็เป็นของเรา ปัญญาก็เป็นของเรา โสดาบัน สกิทา อนาคาก็เป็นของเรา เป็นของเรานะ เป็นของจิตดวงนั้น สมบัติส่วนตนถึงจะเป็นสมบัติของเรา ถ้าเป็นสมบัติส่วนตนแล้วจะอธิบายธรรมะได้แตกฉานมาก

เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา มีความมุมานะมีการกระทำ ตรงนี้มันเป็นอำนาจวาสนา เขาจะเทียบอำนาจวาสนา เทียบกันที่ไหน เทียบกันคนที่เชื่อและไม่เชื่อ ถ้าคนไม่เชื่อ คนไม่มีความสนใจ แม้แต่มีอยู่ ของมีอยู่ เหมือนกับเรากำเงินอยู่ เราเข้าใจว่าไม่ใช่เงินเราโยนทิ้งเลย แต่ถ้าเรากำเงินอยู่นะ เราเข้าใจว่าเป็นเงิน เราจะเอาเงินใช้สอยเลย

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิสูจน์ได้ตลอดเวลา แต่คนไม่เชื่อนี่มันกำเงินไว้แล้วมันปาทิ้ง ไม่เชื่อสิ่งใด ๆ เลย แต่ถ้าคนเรามีเงินอยู่ เรากำเงินอยู่ เงินนี้เป็นของเราใช่ไหม เราไม่ลืมตัวจนปาทิ้ง เราเอามาใช้จ่ายใช้สอย ขณะที่ใช้จ่ายใช้สอยนี้ เราก็ต้องขวนขวายต้องต่อสู้ การขวนขวายการต่อสู้ นี่เป็นความเพียร จิตมันจะคลุกดิน จิตมันจะมีการกระทำ พอจิตมันมีการกระทำ ถ้าจิตมันมีการกระทำมันก็เป็นผลงานของจิตนั้น

ถ้าจิตไม่มีการกระทำ นี่มันลอยลม มันเป็นการตรึกเอา มันเป็นธรรมะ “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” ผู้ใดคาดเดา ด้นเดา มันเป็นการคาดเดา ด้นเดา มันไม่ใช่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราต้องปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมมันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้กลางหัวใจของเรา มันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก สุขก็ว่าสุข ทุกข์ก็ว่าทุกข์ คนอื่นเขาจะให้คะแนนหรือไม่ให้นั้น ไม่มีผลกับใจของเราเลย ใจของเรานี่เราสัมผัสเอง เรารู้ของเราเอง นี้เป็นสมบัติของเรา จริง ๆ แล้วเป็นสมบัติของเรา แล้วทำของเราขึ้นมา

เราถึงจะยอมทุกข์ยอมยาก เราถึงจะมีความอดทน ไม่อย่างนั้นเราจะมีความอดทนมาจากไหน ถ้าเราไม่มีความชอบธรรม ไม่เป็นสมบัติของเรา ทำไมครูบาอาจารย์ท่านทำของท่านได้ทั้งชีวิตล่ะ นี่เพราะเห็นผล เพราะได้ผลถึงจะเป็นคุณธรรม เอวัง