ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ต้องรู้

๕ ม.ค. ๒๕๖๒

ต้องรู้

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๒

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๓๑๐. เรื่อง “อานาปานสติตามรู้”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ก่อนอื่นขออนุญาตวงเล็บ (วัวงาน) ที่ชื่อหัวข้อเรื่อง เพื่อกระผมจะตามแก้ไข หรือรู้ว่าตรงไหนดีแล้ว พอแล้ว หรือตรงจุดนี้หย่อนไป ขอบพระคุณครับ

หลวงพ่อ : นี่เขาว่าให้ตรงกับข้อที่เคยถามมา

ถาม : ในช่วงนี้กระผมใช้จุดยึดเกี่ยวให้ใจ ผมให้สัจจะกับตัวว่าวันนี้จะนั่งบริกรรมพุทโธ คืออย่างไรก็นั่ง เพราะมันคุ้นเคยจนแนบติด เพราะเราอาศัยว่าจะไม่ยอมให้เผอเรอ แต่ขึ้นถึงห้องจริงๆ ก็เปิดคุยกับเพื่อนทางโทรศัพท์บ้าง แต่ในเวลาเดียวกัน และชีวิตประจำวันหลังๆ ของผมมีอุบายธรรมคือทั้งวันทั้งคืนจะอานาปานสติตลอด แล้วก็มีเผลอบ้าง จางบ้าง ก็เปลี่ยนไปพุทโธ เหมือนใจทำมันซ้ำจนคุ้นครับ คือคุ้นชินในองค์บริกรรมพุทโธสลับกับดูลม

แต่ลำดับหลังๆ หรือแม้แต่ตอนนี้ผมเองพอคุยเสร็จก็เปิดธรรม หูก็ฟัง ลมก็แตะจมูกไป เพราะใจมันต้องเรียบเรียงคำถาม มันเลยจะซ้ำกับคำบริกรรม เลยใช้จับลมพอ ตลอดเวลาก็นอนเล่น ฟังพยายามหาประเด็นที่เราต้องขบคิดไป แต่ด้วยสัตย์จริงครับ ไม่ใช่ชัดแค่ที่ลมจับ หรือว่างไปนึกรู้ ตรงนึกคำเวลาพิมพ์มันก็ดีครับ แล้วหูที่ฟังก็รู้ทุกคำ จนบางทีต้องรีบไปกดถอย เพราะใจที่คิดตามมันเหมือนกับมันมาบอกว่า เดี๋ยวๆ ไม่เข้าใจ เอาใหม่ๆ ทั้งหมดราวกับผมมี ๓ การรับรู้ แต่มันก็เข้าหัวแบบเราไม่ต้องบังคับอะไรเลย ไม่ต้องอยากรู้ลม เพราะรู้สึกมันคุ้นชินจริงๆ

เมื่อวันก่อนทะเลาะกับแฟน อารมณ์วุ่นวายมากๆ แต่พอใจคิดว่า พอหยุดคิด แค่หมดคำรำพึง พอเบื่อ คิดไปก็ไม่ได้อะไรเท่านั้นเอง จากลมที่ผ่อนมาเบาๆ แล้วจับลม กล้าพูดว่าอารมณ์ขุ่นเคืองรำคาญมากๆ เมื่อครู่มันหยุด เหมือนรถจอดเลย คือมันคิดอยากที่จะหยุดคิด รำพึงแล้วกลับมาที่หลักเกาะ หรือบางทีแทบไม่มีอะไรเกาะเลย

แต่จะเอาจริงก็ปิดไฟจะนั่งจริง พุทโธๆ ๆ รู้สึกว่ามันนิ่งดีครับ เผอิญฟังคำเทศน์หลวงพ่อกำลังสอนการรำพึงขึ้นมาของผู้ปฏิบัติที่หลวงพ่อเรียกว่าอริยภูมิ ที่หลวงพ่อบอกว่ามันอาจมีที่ไม่เห็นกาย เราก็รำพึงเอาก็ได้ อุบายที่จะใช้ครับ ใช้กายผู้อื่น

ตอบ : อันนี้คำถามเนาะ คำถามนี้เป็นอารัมภบททั้งหมด ถ้าอารัมภบททั้งหมด เวลาว่าความตั้งใจ ตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติ ความตั้งใจของคนนะ เวลาตั้งใจดีทั้งนั้นน่ะ แต่ชีวิตประจำวัน ชีวิตเรามีอุปสรรคไปทั้งนั้น ถ้าชีวิตของเรามีอุปสรรคไปทั้งนั้น มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน อำนาจวาสนาของคน คนเกิดมาต้องมีหน้าที่การงาน ต้องมีสังคม

เวลาสังคม สังคมก็เพื่อน เวลาคบเพื่อน เพื่อนสังคมใด เวลาเพื่อนถ้าเป็นเพื่อนแว๊นก็คุยเรื่องรถ เพื่อนเที่ยวก็คุยกันเรื่องเที่ยว เพื่อนตระเวนหากินก็บอกว่าอาหารร้านไหนอร่อย ถ้าเป็นเพื่อนปฏิบัติก็คุยกันเรื่องประพฤติปฏิบัติ

เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาคุยกันไปแล้ว นั่นเป็นสังคม ถ้าสังคมเป็นสังคมนะ เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติมันก็อยู่ที่สังคมของใครมีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน ถ้ามีอำนาจวาสนา เราเจอเพื่อนที่ดี เพื่อนที่ดี เวลาพูดไปแล้วเขามีเหตุมีผลของเขา

เพื่อนที่เป็นคนพาล พูดไปแล้วมีปัญหาไปทั้งนั้นน่ะ ถ้าเป็นคนพาลนะ เวลาคุยแล้ว ถ้าใครเป็นคนพาล เราก็คุยพอเป็นวิสาสะแล้วก็วาง ไม่ต้องไปยึดว่าจะต้องผิดต้องถูก จะต้องเอาชนะคะคานกัน มันเป็นกรรมของสัตว์ๆ ถ้ากรรมของสัตว์นะ

สัตว์ที่เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ สัตว์ที่มีเหตุมีผลของเขา เวลาฟังแล้ว เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมเป็นมงคลชีวิตๆ

แต่คนที่เป็นคนพาล เวลาพูดถึงธรรมะๆ แล้ว เที่ยวถากเที่ยวถางกัน มันไม่มีประโยชน์อะไรทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นจริงๆ เป็นจริงที่ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา

สังคม สังคมเป็นแบบนั้นน่ะ แล้วคนที่อำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน ถ้าอำนาจวาสนามีมาก เราก็จะมาทำประพฤติปฏิบัติของเราเป็นพื้นฐานของเรา ไม่ต้องไปเทียบเคียงกับใครทั้งสิ้น

ถ้าเทียบเคียงกับใครนะ ในแนวทางปฏิบัติ ครูบาอาจารย์มากมายมหาศาล เวลาคนที่เขาไม่สนใจเรื่องปฏิบัตินะ เขาพูดธรรมะเป็นคุ้งเป็นแควเลย เขาพูดธรรมะนี่แจ๊ดๆๆ แต่เวลาเขาปฏิบัติ เขาปฏิบัติไม่ได้ แล้วปฏิบัติไม่ได้นี่เป็นความเห็นของเขาๆ

ปุถุชน กัลยาณชน ปุถุชนคนหนา เวลาคนหนาเขามีทิฏฐิมานะของเขา เวลามีทิฏฐิมานะของเขา เวลาพูดธรรมะมันพูดธรรมะในมุมมองของเขา ในมุมของเขาก็เป็นเรื่องโลกๆ เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ไง ต้องยึดมั่นถือมั่น ต้องเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา แล้วไม่มีอะไรเป็นจริงเป็นจัง เป็นจริงเป็นจังแต่สัญญาอารมณ์ เป็นจริงแต่อารมณ์ เป็นจริงแต่ทิฏฐิมานะ เป็นจริงแต่ที่จะเอาชนะคะคานกัน มันไม่เป็นจริงเป็นธรรมหรอก

ถ้ามันจะเป็นจริงเป็นธรรม เวลาเราสนทนาธรรมกับใคร เวลาเป็นสังคม เราสนทนาแล้วเราก็วาง ถ้าวางขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องไปเอาคำพูดของใครมาเป็นอารมณ์ ไม่ต้อง

แต่เวลาเราฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ของเรา อย่างเช่นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงตา ๑๐๓.๒๕ เวลาฟังแล้วเป็นคติธรรมๆ นี่ได้

เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว หลวงตาท่านพูด คนที่ปฏิบัติไม่เป็นเวลาพูดสิ่งใดแล้วมันน้ำท่วมทุ่ง มันไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ถ้าคนที่เป็นธรรมๆ นะ เวลาพูดเล่นหรือพูดจริงมันก็มีธรรมะอยู่ในนั้นน่ะ มีธรรมะมันเป็นคติมันเป็นแบบอย่าง มันเป็นสิ่งที่กระตุ้นหัวใจของเราได้ ถ้าเรามีสิ่งนั้น เราจับสิ่งนั้น เราเป็นสารตั้งต้น เรามาวิเคราะห์วิจัยของเรา

แต่เวลาเป็นปัญหาสังคม นี่พูดถึงปัญหาสังคมนะ ปัญหาสังคม แล้วพอสังคมแล้ว สังคมที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาจะมาปฏิบัติกัน น้ำท่วมทุ่ง หลวงตาท่านบอกว่า ปฏิบัติพอเป็นพิธี ปฏิบัติพอเป็นพิธี ถ้าปฏิบัติพอเป็นพิธี เขาปฏิบัติพอความเป็นอยู่ของเขา

พระพุทธศาสนานะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เวลาปริยัติก็ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาศึกษามาแล้วเป็นความรู้ของเรา เป็นความรู้ของเราไง เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็ปฏิบัติแบบโลกๆ เพราะเรามาจากโลก เวลามาปฏิบัติจากโลกนะ

หลวงตาท่านสอนไว้ การปฏิบัติมียากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น จับพลัดจับผลูอย่างนั้นน่ะ น้ำท่วมทุ่ง แล้วปฏิบัติก็ปฏิบัติด้วยทิฏฐิมานะของตน ความเห็นของตน ก็ความเห็นแบบโลกไง ปฏิบัติพอเป็นพิธี

พอเป็นพิธีก็ปฏิบัติ เห็นไหม เหมือนนักกีฬา กีฬาเวลาแข่งขันเขามีเวลาของเขานะ นักมวย ๕ ยก นักฟุตบอลมีเวลา ๔๕ นาที เวลาหมดครึ่งแรกก็พักครึ่ง แล้วก็แข่งขัน พอแข่งแล้ว ๙๐ นาทีจบแล้วได้อะไร เสมอศูนย์-ศูนย์ มันปฏิบัติพอเป็นพิธี ปฏิบัติพอเป็นพิธีนะ แต่ในการปฏิบัตินั้นมันทำให้คนเรานี่นะ มันเข้าไปใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล สมาธิ ปัญญา สติ สมาธิ ปัญญา เข้าถึงแล้วเราจะได้คุณประโยชน์ตรงนั้นขึ้นมา ถ้าได้คุณประโยชน์ตรงนั้นขึ้นมา ปฏิบัติไปแล้วมันจะเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา ถ้าเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา นี่แนวทางปฏิบัติของเรา

ถ้าปฏิบัติของเราแล้วนะ สิ่งที่ปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติต่อเนื่องไปๆ อยู่ที่วาสนา ถ้าวาสนานะ รู้เฉพาะตนๆ มันต้องรู้เองเห็นเอง ต้องรู้ ต้องรู้ต้องเห็นขึ้นมา เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา เวลาจะพูดธรรมะ หรือเวลาสิ่งที่คนที่รู้เองเห็นเองเป็นชิ้นเป็นอันมันพูดจากองค์ความรู้อันนี้ มันมีจุดยืน มีเป้าหมาย

เวลาเราพูดถึงคนที่ถามปัญหามา บอกว่า มีตุ๊กตามาก่อนสิ มีตุ๊กตาหมายถึงมีต้นเหตุไง

เวลาเราคุยกัน เขาว่าธรรมะเป็นนามธรรมๆ จับต้นชนปลายไม่ได้

สติก็คือสติ สมาธิก็คือสมาธิ ปัญญาก็คือปัญญา แล้วปัญญาขึ้นมาก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด แล้วปัญญาของใคร แล้ววุฒิภาวะของจิต จิตวุฒิภาวะที่มันอ่อนด้อย ถ้าปัญญาทางโลก สุตมยปัญญา ปัญญาทางโลกๆ นี่แหละเป็นวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้ นี่สุตมยปัญญา จินตนาการ จินตนาการสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์สิ่งต่างๆ โดยหลักเกณฑ์ก็วางไว้อันหนึ่ง มันเป็นจินตนาการของมันขึ้นไป

ภาวนามยปัญญาที่มันเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาในพระพุทธศาสนา อริยสัจสัจจะความจริงขึ้นมา ผู้ที่รู้ที่เห็นมันมีองค์ความรู้ มีสัจจะมีความจริง

นี่ตุ๊กตา ถ้ามีตุ๊กตาเราควรทำสมาธิ สมาธิเราเป็นอย่างไร เราตั้งสติแล้วสติเราล้มคลุกคลานอย่างไร เอาตุ๊กตา เอาสิ่งที่เราทำขึ้นมาตรงนั้นเป็นโจทย์ถาม ถามว่า แล้วเราจะดำเนินต่อไปอย่างไร

แล้วสิ่งที่เราทำมาแล้ว จิตนี้เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม ดูสิ พายุมา แล้วเดี๋ยวพายุก็ไปแล้ว ก่อนที่พายุจะมา ครึ้มมาหมดเลย ฝนตกลมแรงมา เวลาพายุผ่านไปแล้วนะ อากาศก็เป็นปกติ

นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกของคนมันเป็นนามธรรม อย่างที่ว่าเป็นตุ๊กตาๆ ตุ๊กตาตรงไหน ตุ๊กตามันก็เป็นความจำไง คนเราถ้ามันปฏิบัติแล้วมันมีความจำของมัน เคยประสบมามันก็สัญญา มันก็จำไว้ แล้วก็พูดแต่อดีตไป นี่ความจำ ความจำก็มีอดีต ปัจจุบัน อนาคต นี่อนาคตยังไม่มา จินตนาการกันไป สิ่งต่างๆ พูดถึงว่าเวลาทำแล้ว สิ่งที่ทำมันเป็นทิฏฐิมานะที่จะเอามาโต้มาแย้งกัน ถ้าโต้แย้งกัน แล้วไม่มีสิ่งใดเป็นมาตรฐานที่รองรับ

แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวงกรรมฐาน เวลาตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นมา มันมีมาตรฐานรองรับ จิตนี้เป็นสมาธิ

จิตคนไม่เคยเป็นสมาธิเลยก็ไม่เป็นสมาธิ จิตพอเป็นสมาธิแล้ว เสื่อมไปแล้ว เห็นไหม เสื่อมไป จิตคนที่เป็นสมาธิแล้วไม่ได้เสื่อม แต่ทำให้ต่อเนื่องขึ้นไปไม่ได้ แล้วก็จินตนาการไป หลวงปู่มั่นท่านบอกเลย ติดในสมาธิ นี่ติดสมาธิ

สมาธิที่มีแล้วเสื่อมไป จิตเจริญแล้วเสื่อม สมาธิที่เป็นสมาธิได้ สามารถรักษาสมาธิได้ แต่ไม่สามารถยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ ไม่สามารถยกขึ้นสู่ปัญญาได้ นั่นน่ะติดในสมาธิ

แล้วถ้าใช้ปัญญาๆ ไปแล้ว เวลาใช้ปัญญาไปแล้ว สมาธิมันก็เสื่อมเป็นธรรมดา ไม่รู้ตัวหรอกนะว่าใช้ปัญญาๆ ปัญญาที่ขาดสมาธิไปมันเป็นสัญญา สัญญามันก็กลับลงไปที่สุตมยปัญญาไง ปัญญาที่เกิดเป็นทิฏฐิมานะนั้นขึ้นมาไง นี่มันก็วนเวียนอยู่นั่นน่ะ ถ้าวนเวียนอยู่นั่น นี่มันไม่พัฒนาขึ้นมา

นี่พูดถึงว่าเวลาเขาบอกว่า อานาปานสติตามความรู้ของเขา เขาจะได้เอามาเทียบเคียงกับความรู้ของเขา

เราต้องรู้ต้องเห็นเอง ถ้าเราต้องรู้ต้องเห็นเอง เราต้องปฏิบัติของเราเอง เวลาปฏิบัติของเราเอง ถ้าเป็นสมาธิมันก็เป็นสมาธิ

แต่เวลาเหตุการณ์ของเขาที่เขาเกิดขึ้นเขาบอกว่า เขาตั้งใจจะปฏิบัติ ตั้งใจปฏิบัติอานาปานสติทั้งวันทั้งคืนเลย

ทั้งวันทั้งคืนเลยก็ทำไป ตั้งใจปฏิบัติ เราก็ตั้งใจปฏิบัติ แล้วปฏิบัติได้หรือไม่ได้ นั่นถึงเวลาปฏิบัติแล้วจะรู้

เวลาในวงปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเราตั้งใจเพราะอะไร เพราะทางของสมณะนี้กว้างขวาง ๒๔ ชั่วโมง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราท่านปฏิบัติมานะ คำว่า ปฏิบัติมา” ตั้งแต่วัยรุ่น ตั้งแต่พระบวชใหม่ๆ อายุ ๒๐ ก็บวชแล้ว บวชแล้ว ๒๐ ๒๕ ๒๖ ๓๐ ๓๕ ๔๐ ท่านนั่งของท่านทั้งวัน แล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านเสียอายุ ๘๐ หลวงตา ๙๕

ทั้งวันทั้งคืนนะ พุทโธๆๆ ของเรา ครูบาอาจารย์ท่านทำของท่านจริงๆ แต่นี่เราตั้งใจ “ผมจะอานาปานสติทั้งวันเลย พอขึ้นไปแล้วก็นอน พอขึ้นไปแล้วก็โทรคุยกับแฟน แล้วอารมณ์ผมเป็นอย่างไร”

ไอ้นี่ก็เป็นแค่ความตั้งใจไง นี่ทางของฆราวาสเป็นทางคับแคบ คับแคบเพราะต้องคุยกับแฟนทางโทรศัพท์ ต้องนอน นี่ไง ทางของฆราวาสไง

แต่ถ้าเป็นพระมันมีครูบาอาจารย์ แล้วครูบาอาจารย์ ไปสู่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ทุกคนไม่กล้าคิดเรื่องนอกลู่นอกทางเลย เพราะเวลาขึ้นไปนะ ท่านดักหน้าดักหลังหมด นี่ไง เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านถามหลวงปู่มั่นไง “อภิญญาแก้กิเลสได้ไหม”

“ไม่ได้”

“ไม่ได้แล้วหลวงปู่มั่นทำทำไม”

“ทำไว้สอนคนไง”

มันเป็นวิธีการ มันเป็นเครื่องมือที่คอยดูแล ถ้าเรามีครูบาอาจารย์อย่างนั้น เวลาไปปฏิบัติมันจะรักษาตัวมันเอง รักษาหัวใจ รักษาความคิดของตน ไม่ปล่อยความคิดของตนฟุ้งไปทั่ว

ความคิดของเราเป็นมหาโจรเที่ยวไปลักไปขโมย ไปลักขโมยความคิดของเขา ลักขโมย มันคิดเองเห็นเอง มันจินตนาการของมันไป นั่นน่ะคือมหาโจร

แต่ถ้ามีสติปัญญารักษามันไว้ ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านควบคุมอย่างนั้น ถ้าควบคุมอย่างนั้น สิ่งที่ว่าจะปฏิบัติทั้งวันๆ ถ้าทั้งวันๆ มันต้องทำได้จริง นี่พูดถึงว่า มีแต่ความตั้งใจ แต่ทำสิ่งใดก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น แล้วพอเวลาจะทำขึ้นมาบอกกำหนดลม ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วยังรู้สึก ทั้งหมดเป็นความรู้ที่รับรู้ได้ ๓ วาระ

โธ่! นักดนตรี มันเล่นดนตรีด้วย ดีดทั้งกีตาร์ เป่าทั้งเครื่องเป่า แล้วยังร้องเพลง นักดนตรีมันรับรู้ทีหนึ่ง ๔-๕ อารมณ์นู่นน่ะ ไอ้พวกเปิดหมวกมันเป่าทั้งเครื่องเป่า ทั้งดีดกีตาร์ ทั้งร้องเพลง แล้วเท้ายังตีกลองอีกต่างหาก ๔-๕ อารมณ์ทีเดียวเลย นักดนตรีมันทำของมันได้

สิ่งที่ทำอะไรแล้ว ทำแล้วก็ผ่านไป สิ่งนั้นเอามาเป็นประเด็นมันก็ทำให้เป็นจุดเด่น คือเราทำแล้วเราได้ผลประโยชน์ เราทำแล้วเรามีประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ แล้วมันเป็นประโยชน์ มันเป็นอดีตไปทั้งนั้นน่ะ

อยู่กับปัจจุบัน มันต้องอยู่กับปัจจุบัน มันต้องรู้เอง ต้องรู้เอง ถ้ารู้เองเห็นเอง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก นี่ภาคปฏิบัติมันปฏิบัติอย่างนี้ แต่เวลาอาศัยครูบาอาจารย์ก็อาศัยครูบาอาจารย์

เวลาอาศัยครูบาอาจารย์ เราไปพึ่งพาอาศัยร่มโพธิ์ร่มไทร พ่อแม่ครูจารย์ ท่านเป็นทั้งพ่อ เป็นทั้งแม่ ทั้งดูแลอารมณ์ของเรา ทั้งเลี้ยงดูดูแลเรา ทั้งปกป้องรักษาเรา ทั้งป้องกันไม่ให้เราออกนอกลู่นอกทาง นี่พ่อแม่ครูจารย์ เวลาเขาแสวงหาครูบาอาจารย์ของเขา

แต่ของเรานี่นะ ของเรา เราก็ปฏิบัติของเรา แล้วเราเป็นฆราวาส สิ่งที่มีผลกระทบๆ แล้วผลกระทบถ้ามันเป็นความจริง มันเป็นความจริงของมันนะ ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา

เขาบอกเวลาเขานั่ง ตั้งแต่เวลาจะนั่งขึ้นมาก็บังเอิญว่าฟังคำเทศน์หลวงพ่อ กำลังสอนให้มีการรำพึงๆ

ไอ้คำรำพึงๆ มันอยู่ที่กาลอยู่ที่เวลา มันมีมาตรฐานของมัน มีการประพฤติปฏิบัติเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้าเรายังฟุ้งซ่าน ยังทำสิ่งใดไม่ได้ เราก็ตั้งสติไว้ ตั้งสติบริกรรมพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบระงับแล้ว ถ้าใจมันสงบระงับ เวลาคนสงบระงับ ทำอย่างไรต่อไป ถ้าคนมีอำนาจวาสนามันก็จะเห็นกาย

ถ้าเห็นกายนะ นี่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้ามันเห็นกาย เห็นกายโดยจิตที่สงบ โดยจิตที่มันเห็น ถ้าจิตสงบที่มันเห็น ถ้ามันเห็นของมันตามความเป็นจริงขึ้นมา มันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันจะเป็นการยกขึ้นสู่วิปัสสนา

แต่ถ้ามันไม่เห็น มันไม่เห็นไง เวลามันไม่เห็น คนส่วนใหญ่มันจะเห็นก็ได้ ไม่เห็นก็ได้ ก็อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน คนเราชอบไม่เหมือนกัน เวลาชอบไม่เหมือนกัน สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ง่ายที่สุดคือการพิจารณากาย

การพิจารณากาย ถ้าคนไม่เห็นก็ให้นึกขึ้นมา ให้รำพึง ให้นึกขึ้นมาในสมาธิ สมาธินี่นึกได้ สมาธินี่คิดได้ ถ้าสมาธิคิดไม่ได้ ศีล สมาธิ มันยกขึ้นสู่ปัญญาไม่ได้

ถ้าความฟุ้งความซ่าน ความฟุ้งความซ่านเป็นความฟุ้งซ่าน ถ้าเวลาความฟุ้งซ่าน เราใช้พุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ระงับความฟุ้งซ่านให้จิตสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามาแล้ว ถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนามันยกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่ได้ มันก็ย่ำอยู่กับที่

ถ้าย่ำอยู่กับที่ ให้รำพึงขึ้นมา ให้รำพึงขึ้นมา ให้นึกขึ้นมา ถ้าเรานึกขึ้นมา ถ้านึกขึ้นมามันเห็นกายขึ้นมา มันเห็นของมัน แล้วมันจะเป็นจริตนิสัยหรือไม่ มันจะเป็นช่องทางหรือไม่

ถ้าเป็นช่องทางหรือไม่นะ เวลามันทำครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ มันเจริญงอกงามไปได้ แต่ถ้ามันไม่ใช่จริตนิสัยของตนมันทำไม่ได้ เห็นครั้งเดียวแล้วไม่เห็นอีกเลย ต่อไปก็เป็นสัญญาทั้งนั้น เป็นอุปาทานทั้งนั้น ไม่เป็นความจริงทั้งหมด

ถ้าเป็นความจริง มันเป็นความจริง มันเป็นเนื้องานที่ได้งานจริงๆ ถ้าไม่เป็นความจริงคือลอก เป็นการลอกการบ้าน เป็นสำเนา สำเนาที่ไม่มีผลประโยชน์ สำเนาที่ใช้ไม่ได้ นี่ถ้ามันเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้นว่า เวลาหลวงพ่อพูดถึงอริยภูมิ

อริยภูมินี่มีแต่เทศน์ของหลวงตา หลวงตาท่านเทศน์เรียงอริยภูมิ ของเราเวลาอริยภูมิต่างๆ มันเป็นข้อเท็จจริงของใจผู้ที่ปฏิบัตินั้น ไม่ใช่ว่าใครจะมายกให้เป็นอริยภูมิไม่เป็นอริยภูมิ ไม่ได้ คนที่ปฏิบัติมันเป็นสิทธิ์ มันเป็นสิทธิ์ของคนที่ปฏิบัติเอง ถ้าปฏิบัติแล้วมันเป็นสิทธิ์ มันเป็นมาตรฐาน มันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันต้องรู้เองเห็นเอง

จะบอกว่าหลวงพ่อพูดว่าเป็นอริยภูมิ แล้วบอกเลย บอกว่ามันไม่เห็นกายก็ได้

ไอ้กรณีนี้มันเป็นการยืนยัน เป็นการยืนยันในธรรมะของหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดเอง บอกว่า พิจารณากายโดยไม่ต้องเห็นกาย พิจารณากายโดยการไม่ต้องเห็นกายมันเป็นปัญญาวิมุตติ แล้วถ้าคนที่ไม่เคยประพฤติปฏิบัติเขารู้ของเขาไม่ได้

แต่เวลาหลวงปู่ดูลย์ท่านพูดของท่าน จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นจิต จิตเห็นจิต จิตตัวนั้นมันจะสร้างภาพอย่างไรก็ได้ มันจะเป็นอย่างไรก็ได้ การพิจารณากาย พิจารณากายโดยปัญญา มันเป็นโศลกธรรมของหลวงปู่ดูลย์ โศลกธรรมของหลวงปู่ดูลย์นะ แต่คนจับต้องไม่ได้ แล้วไปบิดเบือน

เพียงแต่ว่า ที่เราพูดเรายืนยันนี้ เราพูดเรายืนยันถึงชาวพุทธ ชาวพุทธที่ประพฤติปฏิบัติที่ต้องไปเห็นกายๆๆ

เห็นกาย เห็นกายก็เห็นกายโดยการบังคับ โดยการสร้างภาพ โดยการที่ไม่เป็นความจริง ต้องบังคับให้เป็นอย่างนั้นหรือ คนที่จะเห็นกาย คนที่จะมีจริตนิสัยเป็นอย่างนั้นมันก็สาธุ มันเป็นวาสนาของเขา

แต่คนที่พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เขาไม่ต้องเห็นกายก็ได้ แต่ถ้าเขาพิจารณากาย พิจารณาโดยการเปรียบเทียบก็ได้

ฉะนั้นถึงบอกว่า เวลาเราพูด คำว่า ปฏิบัติที่หลวงพ่อเรียกว่าอริยภูมิ”

อริยภูมิ สิ่งต่างๆ ที่เราพูดนี่เป็นการยืนยัน ยืนยันคือการให้โอกาส ยืนยันคือการแบบว่าต้องการให้คนที่ประพฤติปฏิบัติไม่ต้องบังคับให้ตัวเองเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา เหมือนกับไสช้างเข้ารูเข็ม

คนที่ไม่มีวาสนา คนที่ทำสิ่งนั้นไม่ได้มันก็คือไม่ได้ แต่คนที่ไม่มีวาสนาเขาทำแนวทางอื่นก็ได้ ที่พูดนี่เพราะว่าถ้าเขาทำแนวทางอื่น แต่ต้องถูกต้องนะ แต่ต้องเป็นอริยสัจนะ ต้องเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่นึกเอาคิดเอา แล้วก็จะไปอ้างคนนู้นคนนี้มาค้ำประกัน มารับประกันไม่ได้

มันต้องรู้ต้องเห็นเอง ต้องรู้ต้องเป็นเอง มันต้องเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกโดยการกระทำ แต่อาศัยครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้ทาง อาศัยครูบาอาจารย์เป็นคนคอยแนะนำ อาศัยครูบาอาจารย์เป็นคนตรวจสอบว่าเป็นจริงๆ หรือไม่ มีครูบาอาจารย์มันมีความสำคัญอย่างนั้น ถ้ามีความสำคัญอย่างนั้นนะ ถ้ามันเป็นจริง จริงตามนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า ที่หลวงพ่อพูดว่าอริยภูมิ ที่มันอาจจะไม่ต้องเห็นกายก็ได้

เราจะไม่ให้เอาคำพูดไปให้กิเลสมันเอาไปใช้ เพราะพอถ้ามันไม่เห็นอย่างนั้น มันไม่เป็นอย่างนั้นก็บอก “ก็หลวงพ่อสงบพูดไว้อย่างนี้ไงว่าไม่ต้องก็ได้ ไม่ต้องก็ได้”

มันไม่ใช่ว่าไม่ต้องก็ได้...ต้องเด็ดขาด ต้องเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง แต่เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นเวทนาก็ได้ เห็นจิตก็ได้ เห็นธรรมก็ได้ แต่ต้องจริงนะ ต้องให้มันเห็นจริง เห็นจริงมันถึงมีประโยชน์จริงไง

นี่พูดถึงว่า การเห็นกายๆ เพราะว่าเวลาทุกคนเข้าใจว่าต้องพิจารณากาย เห็นกาย ถ้าพิจารณากาย เห็นกาย ทุกคนก็บังคับว่าตัวเองให้เห็นกาย เหมือนกับอาหาร เราต้องกินประเภทเดียว อาหารมันอาหารท้องถิ่น อาหารตามภูมิภาค มันมีร้อยแปดไปหมด แล้วอาหารตามภูมิภาค ในภูมิภาคนั้นเขาก็ได้กินอาหารนั้น มีชีวิตอยู่ได้เพราะอาหารนั้นด้วยความสมบูรณ์ของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจของคนถ้ามีวาสนามา แล้วถ้าพิจารณาปฏิบัติมา เขาจะจับเวทนาของเขาได้ จับจิตก็ได้ จับธรรมก็ได้ ก็ได้ ก็ได้ทั้งนั้น

ฉะนั้นว่า ถ้าคนพิจารณากายโดยที่ไม่เห็นกาย เขาพิจารณากายโดยปัญญา ถ้าเห็นเป็นปัญญาของเขา แต่พอจิตเขาเข้าไปจับอาการคือจับกิเลสในใจ มันสั่นไหวไปหมด มันสะเทือนเลื่อนลั่น นั่นการพิจารณากาย ฉะนั้น สิ่งที่เป็นจริง เป็นจริงอย่างนี้

นี่เขาบอกว่า “เราก็รำพึงเอาที่อุบายที่จะใช้ครับ ใช้กายผู้อื่น”

ใช้กายผู้อื่นๆ เวลาเห็นกาย นี่ไง เวลาคนที่ไม่เคยเห็นกายหรือเห็นกายแล้วมันสับสน เวลาพิจารณากายเห็นกาย เห็นกายสติปัฏฐาน ๔ แต่คนที่กลัวผีๆ เขาบอกเขาไม่ต้องการเห็นกาย เพราะเขาคิดว่ากายนี้คือผี นี่ความเข้าใจผิด เข้าใจผิดไง

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน คำว่า ถ้าเราเห็นกายแล้ว” มันต้องเป็นกายของจิตนั้น เป็นกายของเรา เป็นกายของคนอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นกายคนอื่นก็กายนอก เวลากายนอกก็ไปเที่ยวซากศพไง เวลาเที่ยวป่าช้านี่กายคนอื่น เวลาเราไปเที่ยวป่าช้า เรากลัวผีไหม

แต่เวลาถ้าจิตสงบแล้วเราจะเห็นกายโดยกายานุปัสสนา กายนั้นน่ะจิตมันเห็น จิตเห็นอาการของจิต คือเห็นกายของจิตนั้น แต่ถ้าไปเห็นกายคนอื่น กายคนอื่นมันเป็นกายนอก กายนอกก็อย่างที่เราไป โดยสามัญสำนึกในสังคม ผู้หญิงกับผู้ชายเวลาไปเห็นกันในสังคม นี่กายนอก ถ้ากายนอกมันเป็นกาม มันเห็นแล้วมันไม่ลดไม่ละหรอก มันเห็นแล้วมันยิ่งกระตุ้น ยิ่งเพิ่มขึ้น

แต่ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้ามันเห็นกายของเรา กายภายใน เพราะกายภายในของเรามันยังควบคุมไม่ได้ กายของเรามันยังน่ารำพึง แล้วมันน่าขยะแขยง แล้วกายนอกมันจะมีอะไร นี่พูดถึงถ้าเวลากายของเรานะ

นี่เขาบอกว่าใช้กายผู้อื่น

มันจะออกนอกลู่นอกทางไง เวลาบอกว่า “พิจารณากายโดยไม่ต้องเห็นกายก็ได้ หลวงพ่อสงบบอกว่านี่อริยภูมิ”...ไปไกลเลยนะ

กายนอก กายใน กายนอกก็ดูสิ ไปโรงพยาบาล ไปเห็นคนเจ็บคนป่วยนี่กายนอก เห็นแล้วสะเทือนใจ แต่ถ้าไปเห็นกายโดยเพศหญิงเพศชาย เห็นแล้วมันไปกระตุ้นกิเลส แต่ถ้าไปเห็นคนทุกข์คนยาก ผู้เจ็บไข้ได้ป่วย เห็นซากศพ เห็นอสุภะ ที่ว่าอสุภะเป็นสีเขียวสีแดงต่างๆ ศพที่เน่าเปื่อย เห็นอย่างนั้นแล้วจะอ้วกแตก เห็นแล้วขยะแขยง นี่พูดถึงกายนอก กายนอกโดยสติปัญญาของคน

ถ้าสติปัญญาของคนที่ดีเขาจะพาตัวเองเข้าไปในป่าช้า ถ้าเห็นกายต้องให้เห็นกายที่ตายแล้ว เห็นกายที่เป็นซากศพ เห็นกายที่ขึ้นอืด เห็นกายอย่างนั้นแล้วมันไม่เกิดกามราคะ

ขณะไปเที่ยวป่าช้า ในตำราบอกว่าต้องให้ไปดูซากศพที่พุพอง ให้ไปดูซากศพที่ตายเน่าก่อน ไม่ให้ไปดูซากศพที่ยังไม่ถึง ๗ วัน เพราะยังไม่ถึง ๗ วันบางทีมันยังไม่เน่า มันยังกระตุ้นได้ นี่ธรรมะสอนอย่างนั้นน่ะ ในตำรานึกชื่อไม่ออก

เวลาพูดถึง เพราะเวลาคำถามเริ่มต้นก็เขียนซะดีเชียว พอมาเรื่อยๆ ก็จะบอกว่า เห็นกายโดยที่ไม่ต้องเห็นกาย แล้วถ้าเห็นกาย เห็นกายผู้อื่น

คำที่เราพูด เราเป็นการช่วยเหลือ เราเป็นการยืนยันว่าคนที่จะประพฤติปฏิบัติไม่ต้องบังคับตนเองจนเกินไป ไม่ต้องทำให้ตัวเองจะต้องเห็นประเภทเดียว เพราะในอริยสัจ ในสติปัฏฐาน ๔ มันมีทางออกว่าเห็นกายก็ได้ เห็นเวทนาก็ได้ เห็นจิตก็ได้ เห็นธรรมก็ได้ คือวิธีการกระทำมันกว้างขวาง ให้เรามีโอกาสที่เราจะเข้าไปวิปัสสนา โดยโอกาสที่เรามีมากมาย ไม่ต้องบังคับให้เหลือแต่หนทางเดียว หนทางการพิจารณากาย

แม้แต่ทางการพิจารณากายโดยหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์นี่ปัญญาวิมุตติ ท่านพูดอยู่ในเทศน์ของท่าน ไปเปิดได้เลย มีผู้ถามว่า “ต้องเห็นกายเป็นนิมิตหรือไม่”

ท่านบอกว่า “เห็นกายโดยไม่ต้องเห็นกายก็ได้” นี่ท่านพูดของท่านชัดๆ แล้วถ้าชัดๆ เพราะอะไร เพราะท่านเป็นปัญญาวิมุตติ เพราะท่านจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นจิตเป็นมรรค พวกนี้พวกใช้ปัญญาทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าไปเห็นกายมันเป็นเจโตวิมุตติ เจโตวิมุตติคือจิตต้องสงบนิ่ง จิตมีกำลังยกขึ้นสู่วิปัสสนา เห็นกายเป็นภาพแล้วขยาย อุคคหนิมิต แยกส่วนขยายส่วนเป็นวิภาคะ การขยายภาพกายนั้นให้แยกออกจากกัน ให้ทำลายกัน ให้เป็นไตรลักษณ์

วิธีการของมัน คือข้อเท็จจริงของมันเป็นอย่างนั้น แต่ใครจะมีอำนาจวาสนาทำได้อย่างนั้นบ้าง แล้วถ้าคนที่ไม่มีอำนาจวาสนาอย่างนั้น เราถึงบอกว่า ถ้าพิจารณาเวทนาก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาธรรมก็ได้ ใช้ปัญญาเทียบเคียงก็ได้ เพื่อฝึกหัดให้ใจเข้มแข็งขึ้น เพื่อฝึกหัดให้หัวใจมันพัฒนาขึ้น

เวลามันพัฒนาขึ้นแล้ว พอมันมีกำลังแล้วมันมีปัญญาของท่าน คนที่ทำงานเป็นหรือคนที่ทำงานโดยความชำนาญมันทำง่าย คนที่ทำงานที่ไม่เป็น ที่ทำงานยาก ที่ล้มลุกคลุกคลาน คนพวกนี้น่าสงสาร พวกนี้น่าจะให้เขาพัฒนาขึ้น

ทีนี้เวลาเราฝึกหัดของเรา เราก็พัฒนาจากคนที่ทำไม่เป็น คนที่ไม่มีโอกาส คนที่ล้มลุกคลุกคลาน ฝึกหัดให้มันเป็น พอเป็นแล้วเราก็ไม่ชะล่าใจ เป็นแล้วเราก็พิจารณาของเรา แยกแยะของเรา เอาความถูกต้อง เอาความดีงาม อะไรที่มันผิดพลาด เราก็ปล่อยวาง เราก็พัฒนาของเรามากขึ้นไปๆ นี้คือเป้าหมายที่เราพูด

เราพูดนี่เรามีเป้าหมาย เรามีการกระทำ ไม่ใช่ว่าเราพูดให้คนถดถอย ให้คนตกต่ำไปเรื่อย ไอ้นู่นก็ได้ ไอ้นี่ก็ได้ เสเพลก็ได้ กินเหล้าก็ได้ นอนกับแฟนก็พิจารณาได้ ไปที่ไหนก็พิจารณาได้ เป็นการปฏิบัติธรรมไปทั้งหมด...เราไม่ได้พูดอย่างนั้น

เราพูดถึงคนที่มีความพยายามแล้ว แล้วถ้ามันทำสิ่งที่ว่าให้สมกับทางพิจารณากายโดยเห็นภาพนั้นไม่ได้ แต่เราก็มีโอกาส เราก็มีวิธีการที่จะพิจารณาอย่างอื่น พิจารณาในอย่างอื่น แต่ก็เป็นการวิปัสสนา เป็นการฆ่ากิเลส เป็นการชำระล้าง เป็นการบั่นทอนกิเลสในใจของตนให้เบาบางลง เบาบางลงแล้วมันก็จะมีหนทางที่กว้างขวางขึ้น มีหนทางที่สะดวกสบายขึ้น แล้วพยายามทำของตัวเองขึ้น มันก็เป็นโอกาสของผู้ที่ปฏิบัตินั้น นี้คือเป้าหมายของเรา

ถ้าเป้าหมายของเรา พอทำไปแล้วมันต้องรู้เองเห็นเอง ต้องรู้ต้องเห็น ต้องพิจารณาของเรา นี้เป็นธรรมโอสถ เป็นสัจธรรม นี่การประพฤติปฏิบัติธรรม เห็นไหม การประพฤติปฏิบัติธรรม เราต้องปฏิบัติธรรมนะ มันจะไม่ขัดไม่แย้งกัน

การพิจารณาธรรมถ้าเป็นอริยสัจนะ พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ กายานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา ถ้ามันพิจารณาของมันไป มันจะไม่มีการขัดการแย้งกัน พิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พิจารณากายก็ได้ ถ้ามันขาด มันรู้ทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต ทั้งธรรม

พิจารณาเวทนาก็ได้ เวลามันขาด มันรู้ถึงการพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม

มันพิจารณาจิตก็ได้ เวลามันขาด มันจะรู้พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมเหมือนกัน

เวลาพิจารณาธรรม เวลามันขาด พิจารณากายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมก็ได้ เหมือนกัน อันใดอันหนึ่ง มันรู้เหมือนกันหมด

ฉะนั้น ขณะจิต ขณะจิตมันถึงอันเดียวกันไง เวลาพิจารณาไปแล้วเป็นโสดาบัน โสดาบันเหมือนกัน จะพิจารณาอะไรก็ได้ แต่เป็นพระโสดาบันเหมือนกัน เหมือนกัน แต่พิจารณาโดยธรรมนะ พิจารณาโดยสัมมาทิฏฐินะ โดยความถูกต้องดีงามนะ ไม่ใช่พิจารณาว่าให้คนนู้นรับรอง คนนี้ค้ำประกัน

ใครค้ำประกันใครได้ ไม่ได้หรอก มันต้องเป็นความจริงขึ้นมาในใจอันนั้น ถ้าเป็นจริงในใจอันนั้น สติปัฏฐาน ๔ อันเดียวกัน อันเดียวกัน ที่ว่า “เวลาพิจารณากายโดยที่ไม่ต้องเห็นกาย พิจารณากายผู้อื่น” นี่มันจะออกนอกลู่นอกทางไป

ความเห็นของผู้ถามก็เป็นเรื่องความเห็นผู้ถาม แต่เวลาเขียนมาแล้ว แล้วคิดว่าให้ทำอย่างนี้ก็ได้ๆ มันออกนอกลู่นอกทาง นอกอริยสัจ นอกสัจจะ นอกความจริง เพียงแต่ว่าให้กิเลส ให้ความพอใจของตนเข็นไป ให้ความพอใจของตนทำไป แล้วก็จะหาพรรคหาพวกเป็นกลุ่มเป็นก้อนว่า ผู้ที่ปฏิบัติ อาจารย์องค์นั้นสอนอย่างนั้น อาจารย์องค์นี้สอนอย่างนี้

แต่ถ้าเป็นอาจารย์ที่ถูกต้องดีงาม สติปัฏฐาน ๔ เหมือนกันทั้งนั้น พิจารณาได้เหมือนกัน ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นครูบาอาจารย์ที่จริง

ไฟฟ้าจะเสียบปลั๊กสามตา ปลั๊กสองตา จะเสียบอะไรก็คือไฟฟ้า ใช้งานได้ จิตที่พิจารณาเป็นแล้ว ทำได้แล้ว เหมือนกัน เหมือนกัน อันเดียวกันเลย ไม่มีใครจะสูงจะต่ำ ใครจะแตกต่างกัน ไม่มี เหมือนกัน

แต่ที่มันไม่เหมือนกันอยู่ในปัจจุบันนี้คือภาวนาเป็นและไม่เป็น ภาวนาโดยสติปัฏฐาน ๔ โดยพระพุทธศาสนา กับภาวนาโดยเปรต โดยผี โดยมาร โดยไสยศาสตร์ โดยติรัจฉานวิชา ติรัจฉานวิชา วิชาทำให้เนิ่นช้า วิชาของกิเลสไง ที่มันไม่เหมือนกัน มันไม่เหมือนกันตรงนั้น ถ้ามันเหมือนกัน มันจะไม่มีขัดไม่มีแย้งกัน ที่ขัดที่แย้งกันนี้มันมีแต่มิจฉาทิฏฐิกับสัมมาทิฏฐิเท่านั้น เอวัง