ตามใจชอบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมะ ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อความเข้าใจความถูกต้องดีงามในการประพฤติปฏิบัติ เวลาจะประพฤติปฏิบัติเราปฏิบัติต้องการความเป็นจริงในใจของเรา
แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วเรามีอวิชชา คือความไม่รู้เป็นพื้นฐานในใจของเรา ถ้ามีความไม่รู้เป็นพื้นฐานในใจของเรา สิ่งใดที่เราพิจารณาแยกแยะนั้นมันมีอวิชชามีสมุทัยเจือปนมา มีสมุทัยเจือปนมาตลอด นี่สัจธรรมความจริงเหนือโลก เหนือสงสาร เหนือวัฏฏะ
แต่เราเกิดมาในวัฏฏะไง เราเกิดมาในวัฏฏะ เกิดมาโดยเวรโดยกรรม เกิดได้เป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เวลาเกิดมาแล้วเรามีศรัทธามีความเชื่อของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะพยายามทำหัวใจของเราให้หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของเรา
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา “เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา” เวลาฟองอวิชชา เห็นไหม ที่เจาะออกมา เจาะออกมาด้วยมรรคด้วยผล ด้วยสัจจะ ด้วยความจริง ไม่ใช่ด้วยการลูบๆ คลำๆ ไม่ใช่ด้วยการจินตนาการ ไม่ใช่ด้วยตรรกะที่ความรู้สึกนึกคิดของตน
เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาศึกษามา ศึกษามาเป็นความรู้ เวลาศึกษามา ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เป็นศาสดาของเรานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เวลาปรินิพพานไปแล้ววางธรรมวินัยนี้ไว้ “เราปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ เราปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์” เป็นความมุ่งหมาย เป็นความหวังดี เป็นการปรารถนาดีกับสัตว์โลก
เราเป็นสัตว์โลก สัตตะผู้ข้อง ผู้ข้องในวัฏสงสาร ในวัฏสงสารเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ด้วยอำนาจวาสนาบารมีของเรานะ เราได้เกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ด้วยอำนาจวาสนาบารมีของเรา คนเกิดเป็นมนุษย์มหาศาล ในโลกนี้เกิดเป็นมนุษย์นับถือลัทธิศาสนาอื่นๆ เขาไม่มีโอกาสเหมือนเรา
เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ดูสิ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย เวลาชาวพุทธ ชาวพุทธเราเวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากบีบคั้นในหัวใจมีความทุกข์ความยากนะ มีแต่ความทุกข์ความยาก แต่ด้วยอำนาจวาสนา ด้วยอำนาจวาสนาของเรา ปู่ ย่า ตา ยายของเรานับถือพระพุทธศาสนา นับถือพระพุทธศาสนา เวลาตกอกตกใจสมัยโบราณ พุทโธ! พุทโธ! เห็นไหม มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่อาศัย
ถ้ามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่อาศัย ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าระลึกด้วยจิตใจของเขา จิตใจของเขาเข้าถึงธรรมะได้มากน้อยแค่ไหน มันมีความอบอุ่นมากน้อยเท่านั้น คนทำสักแต่ว่าทำ ทำไปโดยพอเป็นพิธี แต่คนที่เขามีความฝังใจมีความระลึกถึงในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าระลึกถึงตลอดเวลา นี่ชาวพุทธๆ เรานะ เราเชื่อมั่นไง เราเชื่อมั่นในปัญญาคุณ ในเมตตาคุณ ในบริสุทธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผลของวัฏฏะๆ ตั้งแต่นรกอเวจีขึ้นไป เกิดเป็นมนุษย์ถ้าทำคุณงามความดีไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ทำคุณงามความดีเรื่องของผลบุญกุศลเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แต่ในนี้เราเกิดเป็นมนุษย์ไง ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์ตรากตรำทำหน้าที่การงานของตน แล้วมนุษย์ที่มีอำนาจวาสนา มนุษย์นั้นจะประพฤติปฏิบัติ มนุษย์นั้นจะค้นคว้าหาสัจจะความจริงในใจของตน
เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเกิดมาแล้ว เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เวลาเป็นมนุษย์ เห็นไหม สิ่งที่เป็นมนุษย์ มนุษย์มีกายกับใจ เวลาเขาพยายามหาความสุขกัน ความสุขทางโลกๆ สิ่งนั้นใครๆ ก็หาได้ แต่ความสุขทางใจ ความสุขการหลุดพ้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาวิมุตติสุขๆ วิมุตติสุขมันมีแต่ในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น ลัทธิศาสนาอื่นเขาเชื่อของเขา เขาเชื่อการพยากรณ์ของพระเจ้าของเขา เขาเชื่อการบูชา บูชายันต์ต่างๆ เขาเชื่อของเขาอย่างนั้นไง
แต่ความเชื่อของเรามันก็เป็นความเชื่อเหมือนกัน เวลาความเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศรัทธาความเชื่อ ต้องมีศรัทธาความเชื่อก่อน พอมีศรัทธาแล้วมันจะค้นคว้า มันจะแสวงหา เวลาแสวงหาขึ้นมาด้วยอำนาจวาสนาบารมีของคนมากน้อยแค่ไหน ถ้าคนมีอำนาจวาสนามาก เวลาได้ยินชื่อ เวลาอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปเยี่ยมเพื่อนเห็นเขาทำครัวกันมากมายมหาศาล
“เขามีงานอะไรกัน”
“โอ๋ย! ยังไม่รู้หรือว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว”
แค่ได้ยินคำว่า “พุทธะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว” เขานอนไม่หลับเลยนะ เขานอนไม่ได้เลย ก่อนอรุณขึ้นเขาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน นี่ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนแล้วนิมนต์เลย ให้ไปฉันที่บ้านของตนเหมือนกัน นี่พูดถึงว่าถ้าคนที่จิตใจเขาเป็นบุญกุศลนะ เวลาเขาแสวงหาของเขา เขาตั้งใจของเขา เป็นประโยชน์กับเขา กับเขาไง
แล้วเราล่ะ เราตั้งใจของเรา เรามาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นประเพณีวัฒนธรรม เราก็เห็นมาตั้งแต่เด็กแต่เล็ก พอโตขึ้นมาถ้าใครอยู่ทางโลกเขามีครอบครัวของเขา เขานับถือพระพุทธศาสนาของเขา เขาก็ทำให้ครอบครัวของเขามั่นคง ครอบครัวของเขาอบอุ่น เพราะมันมีหน้าที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้หมดแล้วฆราวาสธรรม กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี เรามีสติมีปัญญาของเรา เราทำสิ่งใดได้เพื่อความสงบเพื่อมีในสังคม สังคมสงบร่มเย็นสมณะชีพราหมณ์จะได้ประพฤติปฏิบัติ
ถ้าเรามีกำลังมีความสามารถ เราเสียสละทานของเราเพื่อประโยชน์กับสังคมรอบข้าง ถ้าสังคมรอบข้างขึ้นมา ในบ้านในตระกูลของเราก็มั่นคงขึ้นมา ทำสิ่งใดมีความผิดพลาด เราฝากบ้านฝากเรือนไว้กับสังคมรอบข้างได้หมดเลย ถ้าจิตใจเราเป็นธรรม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนมาตั้งแต่สังคมโลก สังคมโลกให้มีเมตตาต่อกัน เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ให้อภัยต่อกันให้ต่างๆ ต่อกัน สังคมร่มเย็นเป็นสุขมานี่เป็นประเพณีวัฒนธรรม เราก็เห็นมาตั้งแต่เด็กแต่เล็ก แต่ในสังคมทุกสังคมมีคนดีและคนชั่ว เวลาคนชั่วขึ้นมามันก็เอารัดเอาเปรียบของมันในสังคมทุกสังคมทั้งนั้น ถ้าเราเห็นสิ่งนั้นมันก็เป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของสัตว์โลก เป็นเรื่องเป็นเวรเป็นกรรมของเขา
เราทำคุณงามความดี ทำคุณงามความดีของเรา ถ้ามีสติปัญญาขึ้นไป เรามาวัดมาวา เราจะมาประพฤติปฏิบัติ เวลาจะมาประพฤติปฏิบัติ เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเราปฏิบัติ เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะ เห็นไหม ธรรมและวินัย สิ่งใดชั่วสิ่งใดไม่ดีไม่งามไม่ควรทำ ถ้าไม่ทำแล้วจะทำสิ่งใดให้มันดีงาม ดีงามขึ้นมา ถ้าด้วยคนเขามีอำนาจวาสนาบารมีทำสิ่งใดจิตใจมันก็พลอยคล้อยตาม
แต่ถ้าคนดื้อคนด้านขึ้นมา เวลากิเลสมันหนามันฟังใคร มันไม่เคยฟังใครทั้งสิ้น ถ้ามันไม่ฟังใคร ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก็บอกว่าสิ่งนั้นจะทำให้ขัดสน จะทำให้ตัวเองไม่มีความสุขไง เวลาขอศีลก็ขอศีล ๔ สุราเอาไว้ก่อน สิ่งต่างๆ ก็คิดไปของเขา แต่ถ้าคนเขาเป็นศีลเป็นธรรมในหัวใจของเขา เขาไม่ทำตลอดเลย มันเป็นอัตโนมัติในใจของเขาเลย ถ้าเขาเป็นคนที่มีอำนาจวาสนา ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วสิ่งใดที่มันขัดมันแย้งกับหัวใจของตน มันว่า สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องการขัดแย้งกับกิเลสของตน
ถ้ากิเลสของตนมันยิ่งใหญ่ เวลามันยิ่งใหญ่ขึ้นมามันจะทำตามชอบใจ ถ้าทำตามชอบใจมันก็ทำตามกิเลสไง ทำตามชอบใจของมัน ถ้ามันชอบใจสิ่งใดสิ่งนั้นถูกต้องดีงามทั้งสิ้น ถ้าสิ่งใดที่เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันขัดมันแย้งกับกิเลสไง เวลามันขัดมันแย้งกับกิเลสสิ่งนั้นไม่ใช่ธรรมและไม่ใช่วินัย ถ้าเป็นธรรมเป็นวินัยเป็นตามความพอใจของตน ถ้าตนพอใจสิ่งนั้นเป็นธรรมเป็นวินัย ถ้าไม่พอใจของตนสิ่งนั้นเจือปนมา
นี่มันขัดมันแย้งไปทั้งนั้น นี่พูดถึงว่าถ้าทำตามใจตน ถ้าทำตามใจชอบ ทำตามใจชอบก็ทำตามกิเลส
แต่ถ้ามันจะเอาความจริง ความจริง เห็นไหม เราจะมาประพฤติปฏิบัติ เราต้องการความจริงตามธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้แล้ว เวลาพระมาบวช บวชเป็นพระขึ้นมามีศีล ๒๒๗ ศีล ๒๒๗ ทำสิ่งใดไม่ได้เลย ทำสิ่งนั้นเป็นอาบัติ เป็นอาบัติขึ้นมาถ้ามีความผิดพลาด คนเรามีความผิดพลาด เราก็จะปลงอาบัติ ปลงอาบัติเพื่อการประพฤติปฏิบัติของเราให้มันถูกต้องดีงาม
ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นพื้นฐาน จะทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบระงับเข้ามา ถ้าใจมันสงบระงับเข้ามามันชนะกิเลส
ทำตามใจชอบๆ ถ้ามันชอบใจสิ่งใดทำสิ่งนั้น ถ้าทำตามใจชอบมันก็เป็นเรื่องกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นความพอใจ เป็นการคาดการหมายทั้งนั้น มันเป็นการคาดหมาย มันไม่เป็นความจริง
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริง จริงตั้งแต่ไหน จริงตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากตั้งแต่โคตรแต่เหง้าของกิเลสเลยนี่ทำลายหมด
“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้า เจ้าจะเกิดบนหัวใจของเราอีกไม่ได้เลย”
แล้วเวลามาร ครอบครัวของมารมันก็เห็นหมดไง ตั้งแต่พญามาร ลูกหลานของมาร ชำระล้างมาทั้งครอบครัวของมาร ถ้าครอบครัวของมาร มันสิ้นกิเลสไปแล้ว มันจะเข้ามาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้อีกเลย ถ้าไม่เข้ามาแล้วมันสะอาดบริสุทธิ์ มันมีความสุขมีความจริงในใจ ถ้ามีความสุขความจริงในใจอันนั้น คนที่จะเข้าถึงสัจจะความจริงอันนั้นมันก็อยู่ที่จริตนิสัย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วทอดธุระเลยนะ “จะสอนคนได้อย่างไร จะสอนคนได้อย่างไร” นี่เส้นผมบังภูเขา มันเป็นเรื่องในใจของตน มันเป็นเรื่องความรู้สึกนึกคิดอยู่ที่จิตใต้สำนึก อยู่ที่ภวาสวะ อยู่ที่ภพ อยู่ที่จิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะนั้น ด้วยความไม่รู้ ด้วยความมืดบอดมันถึงเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ
แต่เพราะอาสวักขยญาณในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัจจะความจริงอันนั้นใช่ไหม ถ้ามันเป็นสัจจะความจริงอันนั้นมันได้ทำลายอวิชชาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา ฟองอวิชชาๆ เปลือกไข่เป็นฟองอวิชชา
ดูสิ เวลาจิต ส้มกับเปลือกส้มไง เวลาซื้อส้มมา ส้มมันก็ต้องมีเปลือกส้มมาด้วย ซื้อผลไม้มันก็มีเปลือกผลไม้มาด้วย เวลากลับมาถึงบ้าน เราก็ปอกเปลือกปอกผลไม้นั้นปอกทิ้งไป เราเอาแต่เนื้อของมัน
แต่นี่ก็เหมือนกัน “โอ๋ย! หัวใจๆ ใครจะไปรู้ ใครจะไปเห็น ใครจะไปจับมันได้ ใครจะไปปอกมันได้ ใครจะรู้ได้อย่างไร”
พูดออกไปมันก็อนุมานเอาจากข้างนอกทั้งสิ้น เวลาอนุมานจากข้างนอกขึ้นไปก็ว่ารู้ธรรมรู้วินัย เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้ว ถ้ามีการโต้แย้ง โต้แย้งกัน ก็มีความขัดความแย้งกันในธรรมะอันนั้น แต่ความจริงในใจมันก็ไม่เกิดขึ้นไง เวลาไม่เกิดขึ้นนี่อยากจะประพฤติปฏิบัติ เวลาอยากจะประพฤติปฏิบัติก็ปฏิบัติแบบสังคมแบบโลก แบบสังคมแบบโลกเพราะอะไร เพราะโลกคือเราไง โลกทัศน์ จริตนิสัย โลกคือเรา คือความรู้ความเห็นของเรา เราปฏิบัติของเราไป
ถ้าปฏิบัติของเราไป เราใช้สติปัญญาก็ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ศึกษามาหมดแล้ว ในพระไตรปิฎกเราก็ใคร่ครวญมาแล้ว เวลาศึกษานักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เปรียญธรรม ๑ ประโยค ๒ ประโยค ๓ ประโยค ถึง ๙ ประโยค ก็เข้าใจหมดแล้ว แล้วขยายความย่อความได้ทั้งสิ้น
ถ้าขยายความย่อความได้ทั้งสิ้นมันก็อยู่ที่สติ อยู่ที่อำนาจวาสนาของตน เพราะถ้ามีสติมีปัญญาขึ้นมามันขยายความย่อความธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็เห็นดีงามไปหมด ถ้ามันเห็นดีงามไปหมด ดูสิ โดยทั่วไปในสังคมทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนชั่ว เวลาพระที่เวลาเขาทำความผิดพลาด เวลาพระที่เขาแอบกินเหล้าเมายากัน มันก็รู้ว่ามันผิด ทำไมไม่มีสติสามารถยับยั้งการกระทำของตนได้ นี่ไง ขณะที่เขาทำของเขา นี่พูดถึงว่าเวลากิเลสมันออกฤทธิ์ไง
เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ เวลาธรรมะเวลาจิตใจของเราดีงามขึ้นมา เราก็เห็นดีเห็นงามกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราทำตามใจชอบมันอึดอัดขัดข้องไปหมด จะทำสิ่งใดมันก็ไม่ประสบความสำเร็จสักที ถ้าทำตามความพอใจของตน
หมาขี้เรื้อน เวลาเป็นหมาขี้เรื้อนขึ้นไป ถ้ามันคันที่ไหน มันเกา มันหายคันมันก็ว่าถูกต้องดีงาม พวกหมาขี้เรื้อน
ถ้ามันเป็นความจริงๆ ขึ้นมา ถ้ามันจะเป็นความจริง เวลามันทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าทำความสงบของใจมันคืออะไร คือสัมมาสมาธิไง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้ามันทำความสงบระงับเข้ามาได้
แค่ความสงบระงับเขายังไม่มีสติปัญญาสามารถรู้ได้ว่านี่เป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ แต่ถ้ามันทำของเขาไม่ได้ขึ้นมา แค่ทำสมาธิก็ทำไม่ได้ แต่เวลาใช้สติปัญญาของเขาไป เขาตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นดีเห็นงามไปหมดไง พอเห็นดีเห็นงามไปหมดจิตใจมันโน้มน้าวไปทำตามใจชอบ ถ้ามันชอบใจขึ้นมามันก็เป็นธรรมๆ เพราะอะไร เพราะมันแยกมันแยะได้ มันวิเคราะห์วิจัยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ตั้งบาลีมาแล้วก็แยกแยะอธิบายความ อธิบายความอธิบายไปทำไม
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามาให้ประพฤติปฏิบัติ ศึกษามาให้แก้ไขกิเลสในใจของตน ไม่ได้ศึกษามาแล้วถือว่าเป็นความรู้ของตน แล้วจะเอาไปอวดจะเอาไปเทียบเคียงกับใคร กิเลสของตนทำไมไม่ดู เพราะธรรมนั้นก็ชี้เข้ามาที่ใจนั่นแหละ ธรรมนั้นก็ชี้เข้ามาที่หัวใจของตน ถ้าชี้เข้ามาที่หัวใจของตนมันก็ต้องเห็นสัจจะเห็นความจริงสิ
ถ้าเห็นสัจจะความจริงขึ้นมา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเป็นสัจจะความจริงขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ แสดงกับใคร เลือกนะ อุทกดาบส อาฬารดาบส จะแสดงธรรมกับอุทกดาบส อาฬารดาบสก่อน เพราะเคยไปศึกษากับเขา เขาได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ แสดงว่าจิตใจของเขามั่นคง จิตใจของเขามีหลักมีเกณฑ์ ถ้าแสดงธรรมไปแล้วเขามีความสามารถที่อาจจะแทงทะลุได้ แต่เสียดายเขาก็ตายไปเสียแล้ว เขาเพิ่งตายไปเมื่อวานนี้เอง
เล็งญาณไปจะเอาใครก่อน ก็จะเอาปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์เพราะอุปัฏฐากอยู่ ๖ ปี ได้ทำความสงบของใจ ได้ทำความสงบของใจเข้ามา ได้ทำบาทฐานของใจ ได้มีหลักมีเกณฑ์ ได้มีความคุ้นเคยต่อกัน เวลาแสดงธรรมมีความเข้าใจต่อกัน
เวลาจะไปแสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ด้วยความเห็นของโลก ความเห็นของโลกอุปัฏฐากอยู่ ๖ ปี อยู่ ๖ ปี ขึ้นมา มุมานะบากบั่นมาก แล้วมีความเชื่อ ความเชื่อของพราหมณ์ ความเชื่อของสังคมในสมัยนั้น สมัยนั้นที่เขาแสวงหากันอยู่ เขาต้องทำทุกรกิริยา
ไอ้โยคะๆ นี่แหละ ทำทุกรกิริยาขึ้นมา เขาทำได้มากกว่า โยคะในปัจจุบันนี้เขาเอามาเพื่อสุขภาพกาย แต่ในสมัยโบราณเขาทำแล้วทำมันมากกว่านั้น ทำให้สั่นคลอน ทำโอ๋ย! ร้อยแปด
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำมาหมดแล้วทั้งสิ้น แต่ทำมาแล้วทำทุกรกิริยาอยู่ ๖ ปี แล้วพิจารณาแล้วมันไม่ใช่ทาง อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค พิณ ๓ สาย เทวดามาทำเป็นคติธรรม สุดท้ายแล้วพิจารณาของท่านต้องกลับมาฟื้นฟูร่างกาย ฟื้นฟูร่างกายก็ไปฉันอาหารของนางสุชาดา ไปฉันอาหารของนางสุชาดา ปัญจวัคคีย์เห็นเข้า “สมณะกลับมามักมาก กลับมาเรื่องโลก” นี่ความเห็นของโลก กลับมาแล้วแสดงว่าไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ละทิ้งไปๆ
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาจะไปแสดงธรรม เล็งญาณ อาฬารดาบส อุทกดาบสก็ตายไปเสียแล้ว เหลือแต่ปัญจวัคคีย์ก็จะไปเอาปัญจวัคคีย์ก่อน ไปถึง เขาบอกนัดกันเลยว่าไม่ต้อนรับ แต่สุดท้ายด้วยอำนาจวาสนาของตนเพราะได้สร้างบุญกุศล ได้อุปัฏฐากมา ๖ ปี เหมือนกัน ในอดีตชาติได้สร้างสมบุญญาธิการมาเหมือนกัน ถ้าไม่ได้สร้างบุญญาธิการมาจะไม่ได้เกิดมาเป็นสหชาติ ไม่ได้อุปัฏฐากเจ้าชายสิทธัตถะ ไม่ได้รับการแสดงธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค มัชฌิมาปฏิปทาๆ มัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลางคือทางเดินของพระพุทธศาสนา แล้วทางเดินพระพุทธศาสนา มรรค ๘ งานชอบ เพียรชอบ ดำริชอบ สมาธิชอบ ความชอบธรรม สิ่งที่ความชอบธรรมสมบูรณ์แบบ พอสมบูรณ์แบบ พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม พิจารณาตามไปด้วยสติด้วยปัญญาของพระอัญญาโกณฑัญญะแทงทะลุมีดวงตาเห็นธรรม
เพราะมันสมบูรณ์ด้วยมรรค ๘ สมบูรณ์ด้วยมรรค ๘ เห็นไหม นี่แสดงธรรมถ้ามันมีสติมีปัญญาขึ้นมาเป็นความจริงนี่แทงทะลุไป
แต่เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเดี๋ยวนี้นักธรรมโท นักธรรมตรี นักธรรมเอก เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ศึกษาบาลีมา เวลาทำแล้วตัวเองไม่ได้ผลตามนั้น สมาธิก็ไม่ต้องไม่จำเป็น สมาธิยังทำไม่ได้ ถ้าสมาธิทำไม่ได้ มรรค ๘ บางสำนักเขาเขียนหนังสือเลยมรรค ๖ ก็ได้ มรรค ๗ ก็ได้
มรรค ๖ มรรค ๗ มันไม่ใช่มรรค ๘ มันจะเป็นไปได้อย่างไร มรรค ๖ มรรค ๗ เขาบอกสมาธิก็ไม่จำเป็น ใช้ปัญญาไปเลย แล้วใช้ปัญญาไปปัญญามันก็ไม่ตรรกะ มันไม่เป็นปรัชญา มันก็เป็นเรื่องโลกไง มันก็เป็นเรื่องสมมุติ มันก็เป็นเรื่องจินตนาการความคิดนี่แหละ แล้วมันเป็นไป พอมันเป็นไปอธิบายกันปากเปียกปากแฉะ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันขัดมันแย้งกับธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์นะ “อานนท์ ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอ”
เราเป็นชาวพุทธ เรามีศรัทธาความเชื่อแล้วมาบวชในพระพุทธศาสนา แล้วเวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันไปขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ไปขัดแย้งกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขัดแย้งกับธรรมและวินัยมันจะเป็นความจริงไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้แต่ตัวเองก็เคลมกัน เคลิบเคลิ้มกันไปอย่างนั้น มันเป็นเรื่องโลกๆ แล้วถ้าเรื่องโลกมันเป็นเรื่องโลก นี่ไง ถ้ามันไม่ใช่มรรค ๘ มันเป็นไปไม่ได้ แต่เขาก็ว่าของเขาเป็นไปได้
เพราะมีความเป็นไปได้อย่างนั้น เพราะมีความเห็นโดยสมุทัย มีความเห็นโดยครอบครัวของมาร อวิชชาคือความไม่รู้ เพราะความไม่รู้อย่างนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติไปเขามีคุณธรรม เขามีธรรมของเขา เขาตั้งของเขาขึ้นมาเอง เพราะอะไร เพราะมันบิดเบือนมาจากมรรค ๘ บิดเบือนมาตั้งแต่สัมมาสมาธิ บิดเบือนมาตั้งแต่ความจริง มันไม่เข้าสู่ความจริงทั้งสิ้น พอไม่เข้าสู่ความจริง เห็นไหม พระอรหันต์ก็กลับมาเกิดใหม่ได้
ในฝ่ายมหายานเขาบอกพระอรหันต์จะเกิดก็ได้ จะไม่เกิดก็ได้ ถ้ามันจะเกิดก็ได้มันก็มีอวิชชา มันมีอวิชชาความไม่รู้มันถึงเกิด แล้วถ้ามันเป็นพระอรหันต์มันดับนี่สมุจเฉทปหาน ไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา มันทำลายอวิชชาหมดสิ้นมันถึงเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าพระอรหันต์ยังกลับมาเกิดอีก มันจะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร มันกลับมาเกิดอีกไม่ได้ แต่เขาบอกเกิด มหายานก็เชื่ออย่างนั้น
แล้วเราศึกษาไปแล้ว ส่วนใหญ่แล้วพระเราที่จะประพฤติปฏิบัตินะ ในสังคมเถรวาทเราในประเทศไทย ถ้ามันมีครูบาอาจารย์ที่ดี เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็มีครูบาอาจารย์ที่เป็นแบบอย่าง เวลามันไม่มีครูบาอาจารย์ที่เป็นแบบอย่าง การศึกษาเดี๋ยวนี้โลกมันเจริญขึ้น การสื่อสารมันเจริญขึ้น ศึกษาของมหายาน เว่ยหล่าง พวกเซน ศึกษามาปากเปียกปากแฉะทั้งสิ้น ปากเปียกปากแฉะมันศึกษามาเป็นโวหารไง พูดเอาเท่ไง พูดแล้วแหม! มันดูเท่มาก หิวก็กิน ร้อนก็อาบน้ำ สิ่งที่พุทโธมันเป็นความสะอาดสบายสงบ แหม! พูดเท่แต่มันไม่มีความจริงเลย
ถ้าเป็นความจริงๆ มันศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ เวลาประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม สิ่งที่มันจะเป็นไปได้ โลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา ปัญญาทางโลกๆ นี่โลกียปัญญา ปัญญาของเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโลกียปัญญา โลกียปัญญาศึกษามาจากสามัญสำนึกของมนุษย์ ถ้าสามัญสำนึกมันเรื่องโลกไง มันเรื่องโลก
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนาเวลามันจะเกิดขึ้นถ้าทำความสงบของใจเข้ามาได้ ถ้าใจสงบได้ยกขึ้นสู่วิปัสสนา ทำไมธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐานฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้ามีสมถกรรมฐานถ้ามันยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้
สมถกรรมฐานเวลาทำความสงบของใจเข้ามา ใจที่ควรสงบระงับขึ้นมามันคิดว่าความสงบระงับเป็นนิพพาน ความสงบระงับเป็นนิพพานนะ เพราะอะไร เพราะถือว่าสมาธิไม่จำเป็น สมาธิไม่ต้องทำ ใช้ปัญญาไปเลย เพราะปัญญานี่เป็นการชำระล้างกิเลส เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมาแล้วมันเกิดสัญญาอารมณ์ อารมณ์ที่คาดหมาย เวลาคาดหมายมันเวิ้ง มันว้าง นี่กิเลส อุปกิเลส
เวลากิเลส กิเลสอย่างหยาบๆ เราเห็นกัน ดูสิ เวลาเราโลภ เราโกรธ เราหลง ความโลภ ความโกรธ ความหลง เวลามันเกิดขึ้นมา เรารู้ได้ว่ามันเป็นกิเลส
แต่คนที่มีอำนาจวาสนาเวลาทำความสงบของใจเข้ามา อุปกิเลส กิเลสอันละเอียดความว่าง สว่างไสว เวิ้งว้าง อุปกิเลสทั้งนั้น กิเลสทั้งนั้น แต่บอกไม่ต้องทำสมาธิ ไม่ต้องทำสมาธิ พอมันไปเจอความเวิ้ง ความว้าง ความว่าง มันบอกนั่นนิพพาน แล้วนิพพานจะกลับมาเกิดอีกก็ได้ จะไม่เกิดก็ได้ ไม่เกิดก็มันกดไว้
เวลาดูถูกกรรมฐานนะ สมถกรรมฐานพุทโธๆ นี่หินทับหญ้า หินทับหญ้า ถ้ามันทับหญ้า ทับหญ้าไว้ นั่นน่ะ เริ่มต้นกิเลสมันเบาบางลง ถ้ากิเลสเบาบางลงสุขภาพกาย สุขภาพจิต ถ้าสุขภาพจิตที่มันเข้มแข็ง มันแข็งแรงขึ้นมา มันจับต้องจิตมันได้ ถ้าคนที่ภาวนาเป็นนะ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิคือสัมมาสมาธิ สมาธิเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป เวลามันเป็นไป เวลาพวกอภิญญา รูปฌาน อรูปฌาน เวลาเขาขึ้น เขาถอยของเขา เวลาเขารักษาของเขา สิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมา มันทำของมันได้ คนที่ภาวนาเป็นเขารู้ทั้งนั้น เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิ
ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ เห็นไหม มิจฉาๆ มิจฉามันเป็นสมาธิแต่มันไม่มีสติปัญญาสามารถควบคุมได้ ถ้าไม่สามารถควบคุมยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ เพราะมันเป็นสมาธิแล้วสมาธิเป็นผู้วิเศษเป็นผู้ที่ตัวเองมีคุณวิเศษมีความสามารถ ถ้ามีความสามารถต่างๆ สิ่งต่างๆ เห็นไหม มันเป็นพวกเกจิอาจารย์ เวลาเกจิอาจารย์ถ้าจิตเป็นสมาธิดีๆ เวลาเขากำหนดรู้สิ่งใด เขากำหนดรู้ของเขาได้ เวลาจิตเขาเสื่อมขึ้นมา กำหนดรู้แล้วมันก็เป็นการคาดหมาย มันเป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้น มันเป็นมิจฉาสมาธิหรือสัมมาสมาธิ
สิ่งต่างๆ เห็นไหม เวลาพูดถึงมรรคก็เอามรรค ๗ สมาธิไม่จำเป็นก็ได้ เวลาปัญญาขึ้นมางานคือเราทำเอง ของเราเอง มันเป็นการคาดการหมายทั้งสิ้น เป็นการคาดการหมายโดยที่จิตใจอ่อนแอ จิตใจของคนที่ไม่มีอำนาจวาสนา
ถ้าจิตใจที่มีอำนาจวาสนานะ เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน เป็นสมาธิก็ว่าเป็นสมาธิ ไม่เป็นสมาธิก็ไม่เป็นสมาธิ หลวงปู่เสาร์ท่านพูดประจำ “ทำให้มันดู มันยังไม่ทำเลย แล้วจะไปสอนอะไรมัน” แต่หลวงปู่มั่นท่านสร้างอำนาจวาสนาของท่านมา ท่านเคารพบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคารพบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านต้องการพยายามฟื้นฟู พยายามสร้างธรรมทายาทของท่าน เวลาท่านปฏิบัติของท่านไปสมบุกสมบันของท่านไป มันมีความรู้จริงเห็นจริงในใจของท่าน มันเป็นสัจจะเป็นความจริงขึ้นมา เวลาเป็นสัจจะเป็นความจริงขึ้นมาชื่อเสียงกิตติศัพท์ กิตติคุณของท่านบันลือลือลั่น
หลวงตาพระมหาบัวเวลาของท่าน ท่านศึกษาธรรมะของท่าน เวลาท่านบวชใหม่ๆ ๗ พรรษา ท่านบอกเลย เวลาเห็นอุปัชฌาย์อาจารย์ปฏิบัติอยู่ ท่านศึกษาอยู่ ท่านก็เป็นวัดบ้าน เวลาเป็นวัดบ้าน เห็นเขาศึกษาประพฤติปฏิบัติอยู่ก็ไปถามอุปัชฌาย์ว่า
“ปฏิบัติอย่างไร อยากจะปฏิบัติบ้าง”
อุปัชฌาย์ก็บอกว่า “เรากำหนดพุทโธ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ให้ทำแบบนี้เรื่อยไป”
ท่านศึกษาของท่าน ท่านปฏิบัติของท่าน ท่านบอกภายใน ๗ ปี นั้นทำจิตสงบได้ ๓ หน ๓ หน ๗ ปี พอ ๗ ปี ได้ ๓ หน แสดงว่าท่านทำสมาธิได้ ท่านทำสมาธิเป็น ท่านเรียนถึงมหาท่านตั้งใจของท่านไว้ว่า ถ้าเรียนถึงสอบ ๓ ประโยคได้ จะออกประพฤติปฏิบัติ ท่านตั้งเป้าตั้งปฏิญาณของท่านไว้ เวลาท่านจะออกปฏิบัติขึ้นมา นี่เรียนมาเป็นถึงมหาเวลาจะศึกษาขึ้นมา เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทำบุญกุศลแล้วได้ไปสวรรค์ ก็อยากจะไปสวรรค์ เวลาศึกษาต่อไปมันละเอียดลึกซึ้งขึ้นมา สวรรค์ ๖ ชั้น พรหมต้องเกิดบนสวรรค์แล้วไปเกิดบนพรหม อู๊ย! พรหมมันละเอียดลึกซึ้งกว่า อยากจะไปเป็นพรหม ศึกษาต่อไป โอ๋ย! นิพพาน นิพพานไม่กลับมาเกิดในวัฏฏะ อยากไปนิพพาน
ศึกษาไปนิพพาน ศึกษาเข้าใจทั้งนั้น ศึกษา เห็นไหม นรก สวรรค์ ศึกษาเพราะธรรมวินัยมันมีของมันอยู่อย่างนั้น จะเชื่อ ไม่เชื่อ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่นี่มันเชื่อ มันเชื่อแล้วมันอยากทำ แล้วเวลาศึกษาอยู่ ๗ ปี ทำความสงบของใจได้ ๓ หน สมาธิทำได้ สมาธิในตำราก็มีอยู่แล้วนั่นเป็นชื่อของสมาธิ เวลาหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธขึ้นมา กว่าที่มันเป็นไปได้ ถ้ามันอยากได้อยากดี พอเป็นไปแล้วมันก็อยาก อยากก็ไม่ได้อีก ไม่ได้อีกพอทำไป พอปล่อยไป วางขึ้นมา มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทามันสมดุลเป็นอีก พอเป็นอีกก็อยากได้อีกเพราะคนยังมีกิเลสอยู่ คนยังทำอะไรไม่เป็นไง
ฉะนั้น เวลาจะออกประพฤติปฏิบัติตั้งเป้าจะต้องไปหาหลวงปู่มั่น เวลาไปหาหลวงปู่มั่น พอไปหาหลวงปู่มั่น “มหา มหามาหาอะไร มาหามรรคผลนิพพานใช่ไหม มรรคผลนิพพานไม่ได้อยู่ที่ใดทั้งสิ้น มรรคผลนิพพานอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก”
เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ทำทุกรกิริยาอยู่ ๖ ปี เวลาจะเป็นความจริงๆ ขึ้นมา เป็นความจริงในใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา
สิ่งที่เป็นสัจจะเป็นความจริงในใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาศึกษาแล้วมันเข้าใจทั้งสิ้น เพราะศึกษาจนเป็นมหา แต่เวลาไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอก
“นิพพานมันอยู่ที่ไหน นิพพานมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ในใจของสัตว์โลก ถ้าจะประพฤติปฏิบัติให้ค้นคว้าเข้ามาที่ในใจของตน สิ่งที่มหาได้เรียนเป็นมหานี้มา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาธุ เทิดใส่ศีรษะไว้ เทิดใส่ศีรษะไว้ แล้วใส่ในลิ้นชักสมองไว้ ลั่นกุญแจมันไว้ อย่าให้มันออกมา ถ้าออกมาในการประพฤติปฏิบัติมันจะเตะ มันจะถีบกัน”
นี่เป็นคำพูดของกรรมฐาน มันจะเตะ มันจะถีบกัน มันจะสร้างภาพไง มันจะหลอก มันจะลวงไง มันจะทำให้ผิดพลาดไง
นี่ถ้ามันเป็นจริงนะ แล้วให้ประพฤติปฏิบัติไป ถึงเวลาเป็นจริงเป็นจริงขึ้นมาแล้วมันจะมาจบกันพอดีระหว่างข้อเท็จจริงในใจกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอ มรรค ๘ มรรค ๘ นี่ถ้ามันจะสมบูรณ์แบบอย่างไร ถ้าเป็นสมาธิก็รู้ว่าเป็นสมาธิ เวลาเป็นมหาอยู่ เรียนอยู่ ๗ ปี ทำสมาธิได้ ๓ หน สมาธิก็รู้ว่าสมาธิ แต่ยังไม่เคยยกขึ้นสู่วิปัสสนา ไม่เคยทำให้มันได้ความเป็นจริง ถ้ามันไม่ได้ความเป็นจริงมันจะรู้ต่อหน้าไปได้อย่างไร แล้วศึกษามาก็รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นอย่างไร มันสร้างภาพได้ทั้งนั้นทั้งสิ้น เวลาหลวงปู่มั่นท่านบอกเลยวางให้หมด แล้วทำความเป็นจริงอันนั้น ถ้าตามความเป็นจริงอันนั้นนะ
เริ่มต้นเพราะท่านมาจิตมันเสื่อม จิตมันเสื่อม ถ้าให้ขวนขวายแล้วจิตนี้มันเปรียบเหมือนเด็กๆ มันเปรียบเหมือนเด็กน้อย เด็กน้อย เห็นไหม พี่เลี้ยงมันมันต้องให้อาหารใช่ไหม ถ้าเด็กมันดื้อมันก็งอแงของมัน นี่เหมือนกันมันดื้อรั้นของมันก็เรื่องของมัน ให้ท่องพุทโธไว้ ท่องพุทโธไว้ พุทโธคืออาหารของมัน ถ้าอาหารของมัน ถึงเวลาแล้วถ้ามันหิว มันกระหาย มันต้องกลับมาเอง แต่ถ้าเราพยายามจะดิ้นรนจะไปค้นคว้าหามัน เพราะมันเสื่อม มันเสื่อมมันไม่ยอมลงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็ดื้อด้านไปอย่างนั้น เวลาจิตมันเสื่อม
ท่านบอกเวลาไป ไปจิตมันเสื่อมพอดี ท่านก็ให้กำหนดหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นท่านบอกว่าท่านกำหนดดูเฉยๆ เพราะศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วยสติด้วยปัญญา ใช้สติปัญญาใคร่ครวญไป ใคร่ครวญไป เวลาถึงแล้วเวลามันเสื่อมจับต้องอะไรไม่ได้เลย ท่านถึงกลับมากำหนดพุทโธๆๆ ๓ วันแรกอกแทบแตก
นี่ไง พอมันเสื่อมไปแล้ว มันพาลแล้ว มันทำลายทั้งสิ้น พยายามทำขึ้นมาๆ ทำขึ้นมาจนสุดท้ายมันก็เป็นจริงขึ้นมา เป็นจริงขึ้นมา พุทโธๆๆๆ เวลามันเข้ามา มันสงบเข้ามาเรื่อยๆ สงบเข้ามาเรื่อยๆ สงบเข้ามาเรื่อยๆ ที่มันทุกข์มันร้อนคนจิตเสื่อมนี่มันรู้ว่ามันจะทุกข์ร้อนขนาดไหน เวลามันเป็นจริงๆ ขึ้นมา มันสงบระงับเข้ามา สงบระงับเข้ามา พยายามขวนขวายของท่าน พยายามขวนขวายของท่านทำขึ้นมาให้มันเป็นจริง
มันมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ เห็นไหม ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราเข้าใจทั้งสิ้น แต่เวลาเทียบเคียง เวลาเราอยากได้ เวลามันเป็นไป มันสร้างภาพทั้งนั้น มันจะเป็นความทุกข์ความยากไง หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกเลยบอกว่าให้เก็บวิธีการสิ่งที่ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใส่ลิ้นชักสมองไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ อย่าคาด อย่าหมาย อย่าเทียบ อย่าเคียง อย่าคิดว่าเราจะเข้าใจอย่างนั้น เราจะมีความเห็นอย่างนั้น ให้ใส่กุญแจลั่นกุญแจมันไว้ ใส่ลิ้นชักแล้วลั่นกุญแจมันไว้ อย่าให้มันออกมา แล้วกลับมาพุทโธๆๆ ทำงานของเรา ทำงานของเราไง
หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ของกรรมฐาน ท่านได้สร้างธรรมทายาทมามาก แต่เวลาเป็นความจริงๆ ขึ้นมา ท่านให้ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง การศึกษามาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาธุ สาธุเลยนะ องค์หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ครูบาอาจารย์ท่านเคารพบูชามาก เคารพบูชามากเพราะอะไร เวลามันประพฤติปฏิบัติ พอมันได้ตามความจริงขึ้นมา มันสะเทือนเลือนลั่น มันสะเทือนไปถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะมันสะเทือนไปในพุทธะในหัวใจนั้น
เวลาจิตสงบแล้วให้ฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะใช้ปัญญาได้หรือไม่ นี่ไง เวลาจิตสงบแล้วยกขึ้นสู่ปัญญา จิตสงบแล้วเป็นสัมมาสมาธิ เวลาเป็นสมาธิหินทับหญ้า หินทับหญ้าเขาก็ทับไว้เพื่อมีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ ให้มีโอกาสได้วิปัสสนายกขึ้นสู่ฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ปัญญาเกิดจากจิต เกิดจากจิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เกิดจากจิตที่ขี้ทุกข์ขี้ยาก เกิดจากจิตที่ไม่มีอำนาจวาสนา เกิดจากจิตที่มีแต่ความพลั้งเผลอ เวลามันพิจารณาของเราให้มันตั้งมั่นขึ้นมา เวลาตั้งมั่นขึ้นมาสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เวลายกขึ้นสู่วิปัสสนา วิปัสสนาในอะไร
นี่ไง เวลาท่านพิจารณาของท่าน เวลาพิจารณาไปแล้วมันล้มลุกคลุกคลาน ถึงเวลาคืนนั้นนั่งสมาธิ พอเริ่มนั่งไป นั่งไป มันเริ่มต่อรอง มันอยากจะเลิก อยากจะอะไร “เอ๊ะ! ถ้าอย่างนี้ต้องนั่งตลอดรุ่ง” เวลานั่งตลอดรุ่งไป เห็นไหม มันเป็นปัจจุบัน เวลาสิ่งต่างๆ นั่งตลอดรุ่งไปด้วยสัจจะด้วยความจริงด้วยจริตนิสัย จริตนิสัยของคนมันจริง เรามาประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทำมาขนาดไหน เวลาอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านพูดถึงความทุกข์ความยาก ความทุกข์ความยากในการดำรงชีพ ความทุกข์ความยากในความเป็นพระ
ในความเป็นพระ พระกรรมฐานจะไปที่ไหนแล้วสังคมเขายังไม่ยอมรับ มีแต่ความบีบคั้น แล้วสิ่งต่างๆ ทางโลก ทางโลกคือปัจจัยเครื่องอาศัยก็ขาดแคลน ในการปฏิบัติครูบาอาจารย์ที่ท่านจะสั่งสอนก็ขาดแคลน จะไปฝึกหัดไปเปิดตำรับตำราขึ้นมา คอยค้นคว้าขึ้นมาก็ด้วยอำนาจวาสนาของตน เวลาท่านต้องการผู้ที่ปรึกษาไปหาหลวงปู่เสาร์ เวลาหลวงปู่เสาร์ปฏิเสธ ก็คิดถึงเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านค้นคว้า ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา
เวลาพระมหาบัวเวลาท่านอุปัฏฐาก นี่อุปัฏฐากได้ฟังธรรมๆ ฟังประสบการณ์ ฟังสิ่งที่หลวงปู่มั่นท่านทุกข์ท่านยากมา ฟังสิ่งที่หลวงปู่มั่นท่านพยายามขวนขวาย ท่านเอาตัวรอดของท่านมา นั่นมันเป็นอุดมคติ มันเป็นสัจจะ เป็นความจริง มันฟังแล้วมันชื่นใจ มันอยากกระทำ อยากให้มีมรรคมีผล ให้อยากเห็นคุณธรรมอย่างนั้นบ้าง
เวลานั่งสมาธิภาวนาขึ้นมามันถึงขวนขวาย แล้วคนมันเป็นจริตนิสัยที่เอาจริงเอาจัง เวลานั่งไปแล้วเวลามันมีปัญหาขึ้นมา “อย่างนี้ต้องตลอดรุ่ง” พอตลอดรุ่งเวลาจิตสงบแล้ว จิตสงบมันก็มีความสุขของมัน เวลามันคลายตัวออกมาไฟดีๆ เนี่ย เวทนาเพราะอะไร เพราะตลอดรุ่ง ๒๒ ชั่วโมง เวลาเจอเวทนา จับเวทนา เวลาจิตสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้าจิตไม่สงบมันฟืนมันไฟทั้งสิ้น พอมันฟืนมันไฟหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พุทโธไวๆ ต่างๆ ให้จิตสงบเข้ามาจนได้
แล้วท่านใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิก็จับเวทนา พอจับเวทนาขึ้นมาพิจารณามัน พยายามหาเหตุหาผล หาสัจจะ หาความจริงเพื่อเอาชนะมัน มันก็สงบเข้ามาได้ๆ เวลามันคลายออกมามันก็เจอฟืนเจอไฟ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า คืนที่ ๑ คืนที่ ๒ เวลามันขาด เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาที่มันทุกข์มันยากที่เหมือนกับไฟที่มันแผดเผาอยู่นี่ เหมือนกับที่เขาสุมไฟเผาเราทั้งเป็น เวลาสงบแล้ว โฮ! มันโล่งหมดเลย เดี๋ยวก็คลายออกมา พอมันคลายออกมาก็จับเวทนาพิจารณาต่อเนื่องไป พิจารณาต่อเนื่องไปๆ มันก็ต้องโถมความรุนแรงมากขึ้นๆ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยสติด้วยปัญญาด้วยอำนาจวาสนา เวลามันขาด ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา
เวลาที่เริ่มประพฤติปฏิบัติ เวลาไปพิจารณากับเวทนา เวลามันพิจารณาไปแล้ว เวลามันปล่อยเข้ามา มันเข้าสู่ความสงบ มันปล่อยขึ้นมามันปล่อยชั่วคราว เวลาสงบแล้วก็รู้ว่าสงบไง เวลามันคลายตัวออกมา เวลาคนคลายตัวออกมานั่ง ๑๒ ชั่วโมง มันไม่มีอาการรับรู้หรือ มันต้องมีอาการรับรู้อยู่แล้ว จิตสงบแล้วสัมมาสมาธิว่าหินทับหญ้า หินทับหญ้ามันพร้อมที่จะเผชิญหน้า พร้อมที่จะค้นคว้า พร้อมที่จะวิปัสสนา ถ้าจิตมันมีอำนาจวาสนาของมัน แต่ถ้าไม่มีอำนาจวาสนาพอจิตสงบแล้ว เอ้ย! นี่คือนิพพาน ไม่ทำอะไรเลย นั่นก็หัวตอ
มันออกมาพิจารณาของมันด้วยอำนาจวาสนา เพราะหลวงปู่มั่นท่านคอยชี้นำ หลวงปู่มั่นท่านคอยเป็นแบบอย่าง เวลาพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันขาดนี่ขณะจิต ขณะจิตคือนิโรธ นิโรธคือการดับทุกข์ เวลามันดับทุกข์นะ นี่อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก สมุทัยคือกิเลส ลูกหลานของกิเลส นิโรธคือการดับทุกข์ ดับด้วยอะไร จะดับด้วยมรรค งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ สมาธิชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ มรรค ๘ อริยสัจ ๔
แต่คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาปฏิบัติไม่เป็น เวลาปฏิบัติไม่เป็นเราไม่ต้องมีขณะก็ได้ ไม่มีขณะคือไม่มีนิโรธ มรรค ๗ อริยสัจ ๓ ในวงปฏิบัติเป็นอย่างนี้ไปแล้วหรือ สิ่งที่ว่ามรรค ๗ ก็ได้ มรรค ๖ ก็ได้ นี่มันเป็นฝ่ายวิชาการ ฝ่ายที่เขาศึกษา เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติพอเป็นพิธี เวลาปฏิบัติพอเป็นพิธีนะ พระพุทธศาสนามันมาตั้งแต่วิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนาธุระ คันถธุระมีมาตั้งแต่ต้น มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ธรรมถึกกับวินัยธรเถียงกันเรื่องวินัยน้ำในขันนั่น เกิดเป็นวัชชีบุตรมีการโต้แย้งกันมาตลอด แล้วเวลาโต้แย้งขึ้นไป ธรรมถึก วินัยธรมีมาตลอด
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พระทุกองค์ที่บวชแล้วจากอุปัชฌาย์อาจารย์มีสิทธิปฏิบัติได้ทั้งสิ้น ชาวพุทธบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สามารถประพฤติปฏิบัติได้ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาสามารถบรรลุธรรมได้ทั้งสิ้น มันเป็นสิทธิโดยพื้นฐาน สิทธิในความเป็นมนุษย์ สิทธิของจิตที่จะกระทำ มันเป็นสิทธิ์ ทุกคนมีสิทธิ์เสมอภาพ ไม่มีใครสูงกว่าใคร ไม่มีใครต่ำกว่าใคร เว้นไว้แต่อำนาจวาสนาของคนสูงต่ำเท่านั้น
เวลามีการศึกษาเขาก็ศึกษาของเขา เขาก็มีสิทธิประพฤติปฏิบัติด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าต้องเป็นพระป่าเท่านั้นถึงจะมีการปฏิบัติ ในการปฏิบัติมันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้วเพียงแต่ปฏิบัติแล้วมันจะจริงหรือไม่จริงเท่านั้น ถ้าเวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้วมีการศึกษาถ้าจิตใจคนอ่อนแอ นี่ไง เวลาปฏิบัติก็ปฏิบัติพอเป็นพิธี เพราะอะไร เพราะอำนาจวาสนาของตนไม่มีไง แล้วเพราะมีครูบาอาจารย์ที่ดีที่เป็นแบบอย่างไง ก็เลยมรรค ๗ ก็ได้ มรรค ๖ ก็ได้ มันขัดมันแย้งกับธรรมและวินัย มันขัดมันแย้ง มันไม่เคารพในธรรมและวินัย ถ้ามันไม่เคารพในธรรมและวินัย มันเป็นธรรมวินัยไปไม่ได้ นี่พูดถึงผู้ที่เป็นทางทฤษฎีที่ปฏิบัติพอเป็นพิธี นี่เป็นพิธีของเขาทั้งสิ้น
แต่ในวงกรรมฐานเรา ในวงกรรมฐานว่าเป็นพระปฏิบัติ เวลาหลวงตาพระมหาบัว เวลาท่านศึกษาอยู่ ท่านก็ศึกษา ศึกษาของท่าน ท่านบอก ๗ ปี ทำสมาธิได้ ๓ หน สมาธิท่านก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นสมาธิ มันเป็นจริง สมาธิไม่ใช่มรรค ๗ มรรค ๘ อย่างเขา แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไปมันสมบูรณ์แบบ เวลาพิจารณาตลอดรุ่ง เวลาพิจารณาเวทนา เวลามันขาด เวลาขาดเสร็จแล้วมันเป็นสัจจะเป็นความจริง เวลาขึ้นไปรายงานผลกับหลวงปู่มั่น
“เอ้อ! จิตนี้มันไม่เกิด ๕ หน ๖ หน หรอกเว้ย มันเกิดหนเดียวเท่านั้นแหละ”
ท่านรับถึงสัจจะความจริงอันนั้น เพราะอะไร เพราะมันเป็นอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ ดับทุกข์นี่พาดกระแส สิ่งที่มันพาดกระแส พอพาดกระแสขึ้นไปมันมีสัจจะมีความจริงไง นี่ถึงว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายสัจจะความจริง สิ่งใดมันเป็นอนัตตา แต่เวลาสมุจเฉทปหานมันขาด พอมันขาดขึ้นไป กุปธรรม อกุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลาย สติชอบ งานชอบ เพียรชอบ มรรค ๘ มรรค ๘ มันเกิดมาจากไหน เรามีสติก็สติชอบ เราขาดสติ สติไปไหน เรามีสมาธิสมาธิชอบ สมาธิเสื่อมมันไปไหน นี่ไง มรรค ๘ มรรค ๘ มันเป็นอาวุธ ธรรมาวุธ อาวุธที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ให้
แต่เวลาเราใช้อาวุธใช้มรรคนิโรธดับทุกข์ด้วยวิธีการ มรรค ๘ เป็นวิธีการดับทุกข์ เครื่องมือที่เราจะดับทุกข์ เราจะฆ่ากิเลส ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่มรรค ๘ มันเป็นอนัตตา เป็นอนัตตาเพราะอะไร เวลาภาวนามยปัญญา ปัญญามันเกิดขึ้น ศีล สมาธิ ปัญญา ที่มันเกิดขึ้นเวลาใช้ปัญญา ปัญญาหมุนติ้วๆ ขึ้นไป เวลามันทำลายกันแล้วหลุดขาดหมด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกหมด นี่อกุปปธรรม สัจธรรมอันนั้น สัจธรรมอันนั้นเกิดขึ้น สิ่งที่อันนั้นเกิดขึ้นมันสมบูรณ์แบบด้วยมรรค ๘ อริยสัจ ๔ ด้วยสัจจะด้วยความจริง จะเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม
แล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านย้ำนักย้ำหนากับพระมหาบัวถ้าไม่เก็บ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วปฏิบัติตามนั้นมันจะเตะ มันจะถีบ มันจะเป็นปัญหาให้กิเลสเอาสิ่งนี้ เอาการศึกษาเรามาคาดมาหมาย แล้วกิเลสมันก็เอาสิ่งนี้มาพลิกมาแพลงทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน การจะประพฤติปฏิบัติมันยากแค้นแสนเข็ญมากขึ้นไปกว่านั้น แต่เพราะมีหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านได้ผ่านความทุกข์ความยากได้ผ่านเล่ห์ผ่านเหลี่ยมผ่านการปลิ้นปล้อนของกิเลสมามาก แล้วท่านพิจารณาของท่าน ท่านเห็นโทษของท่าน เวลาท่านจะสั่งสอนลูกศิษย์ของท่าน ท่านถึงได้สอน ท่านถึงได้บอกวิธีการให้ลูกศิษย์ควรทำอย่างใด แล้วเวลามันเป็นจริงขึ้นมาเพราะหลวงปู่มั่นบอกไว้
“ถ้ามันเป็นจริง ปริยัติ ปฏิบัติมันจะเหมือนกัน ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา ผลของการประพฤติปฏิบัติจากสัจจะความจริงของเรามันจะเป็นอันเดียวกัน มันไม่ขัดไม่แย้งกัน มันเป็นมรรค ๘ อริยสัจ ๔ สมบูรณ์แบบ”
ถ้ามันสมบูรณ์แบบนี้ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงมันต้องเป็นแบบนั้น แล้วเวลาพิจารณาของมันไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปนะ ต่อเนื่องไปๆ บุคคล ๔ คู่ ไม่อย่างนั้นมันจะรู้ได้อย่างไรว่าพาดกระแส เวลาพาดกระแสอะไรไปพาด จิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตนี้ไม่มีต้นไม่มีปลายนะ ไม่รู้ตัวตนของตน เวลาพิจารณาของมันไป เวลาพิจารณาเวทนามันขาด ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สังโยชน์ ๓ ขาด ขาดเพราะอะไร ขาดเพราะมันมีมรรคมีผล ขาดเพราะมันมีมรรค ๘
ไม่มีมรรค ๘ ไม่มีวิธีการดับทุกข์ มันจะดับทุกข์ได้อย่างไร ถ้าวิธีการที่ไม่ถูกต้องมันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าวิธีการที่ขาดแคลน วิธีการที่ไม่สมบูรณ์แบบ มันก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา ไม่สมบูรณ์ไม่พอดี ไม่สมดุลไม่พอดีมรรคก็ไม่สมบูรณ์ ไม่สมบูรณ์มันเป็นไปไม่ได้ไง มันขัดมันแย้งกับธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถ้าไม่เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ลงธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาปฏิบัติมันจะได้ผลไหม มันจะเป็นความจริงไหม มันเป็นการคาดการหมายทั้งนั้น ในโลกปฏิบัติล้มลุกคลุกคลานแล้วก็คาดหมายไป
ในปัจจุบันนี้ในธรรมและวินัย พุทธมามกะต้องถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ออกนอกลู่นอกทาง บวชเป็นพระ ถ้าบวชเป็นสามเณร สามเณรต้องถือไตรสรณาคมน์ ถ้าบวชเป็นพระศีล ๒๒๗ ไปดูวัดดูวาสิ มันไปไหว้สัตว์รูปช้าง รูปม้าเต็มไปหมด พิฆเนศ พิฆเนศ อะไรของมึง ทำกันอย่างนั้นหรือ มันตั้งแต่ธรรมและวินัย ถ้าธรรมและวินัยทำอย่างนั้นได้ไหม ถ้าธรรมและวินัยเพราะอะไร เพราะมันตัดขาดจากไตรสรณาคมน์ มันขาดจากไตรสรณาคมน์มันจะเข้าสู่ไตรสรณาคมน์ได้อย่างไร
พูดถึงเวลาการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา วัดปฏิบัติถึงต้องมีหลักมีเกณฑ์ เวลามีหลักมีเกณฑ์ว่าอะไร สัปปายะ ๔ หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ ถ้าเป็นสัปปายะๆ สัปปายะเพื่อหัวใจดวงนี้ หัวใจดวงที่ประพฤติปฏิบัติ แล้วเวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ เราก็แสวงหาสิ่งนี้ขึ้นมา
แล้วพอแสวงหาสิ่งนี้ สัปปายะมันเป็นเรื่องภายนอกใช่ไหม แล้วเวลาเอาจริงเอาจังขึ้นมาในใจของเรา มันยอมรับสิ่งนี้หรือไม่ ถ้ามันยอมรับสิ่งนี้ มันยอมรับในความสงบความสงัด มันยอมรับวิเวก กายวิเวก จิตวิเวก ถ้ามันยอมรับความวิเวกอันนั้นมันก็จะสงบระงับเข้ามา แล้วสงบระงับเข้ามา มันเห็นการกระทำของเรามันทุกข์ยากขนาดไหนกว่าที่มันจะสงบระงับ กว่าที่เราจะมีสติปัญญา กว่าที่เราจะมีคำบริกรรม ไม่มีคำบริกรรมคือไม่มีการกระทำ
บริกรรมคือการทำงาน คนเราไม่ได้ทำงาน ไม่ได้นวดแป้ง ไม่ได้ขยำ ไม่ได้นวด แป้งมันจะสมบูรณ์พอดีไหม มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้มันต้องมีคำบริกรรม ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาก็ใคร่ครวญมันไป ถ้ามันเป็นสมาธิคือสัมมาสมาธิ ถ้ามันสมาธิมันมีสัมมาหรือมีมิจฉา ถ้ามันมีสัมมาสมาธิยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาในอะไร ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม สติปัฏฐาน ๔ ในสติปัฏฐาน ๔ ในอริยสัจ ๔ นี่หัวใจศาสนาทั้งสิ้น ถ้าหัวใจศาสนาทั้งสิ้น ถ้ามันเป็นความจริงๆ ขึ้นมา มันจะเป็นความจริง
แต่ด้วยมารยาสาไถยของกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง บอกขณะจิตไม่ต้อง ถ้าขณะจิตไม่ต้องมันสำมะเลเทเมา มันไปลงกับมรรค ๗ นั่นน่ะ สมาธิไม่ต้อง สมาธิไม่ต้องเพราะเอ็งทำสมาธิไม่เป็น แล้วสติไม่ต้องด้วยล่ะ เวลาพูดปากเปียกปากแฉะ อธิบายนะ อธิบายแยกแยะของมันไป แต่เขาไม่เห็นมรรคสามัคคี เขาไม่เห็นความสมุจเฉทปหาน
มรรคสามัคคี สมุจเฉทปหานอันนั้นนั่นคือขณะจิต ขณะจิตคือนิโรธ
เขาไม่มี เขาไม่เป็น แล้วบอกไม่มีก็ได้ ไม่ต้องก็ได้ ไม่ต้อง ไม่มี ไม่ต้องก็ได้มันก็อริยสัจ ๓ ไง มันไม่ใช่อริยสัจ ๔ มันจะเป็นธรรมวินัยไปได้อย่างไร มันจะเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร
เวลาหลวงตานะ เวลาท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน เวลาท่านสิ้นกิเลสไง กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่ามันซึ้งใจ มันซึ้งใจ มันซึ้งใจเพราะอะไร เพราะมันเป็นในใจของท่าน เพราะมันเป็นความจริงในใจของท่าน ถ้ามันเป็นความจริงในใจของท่านแล้วมันลึกลับมหัศจรรย์ขนาดไหน
เพราะมันไม่ลึกลับมหัศจรรย์ท่านถึงติดสมาธิไง
เวลาประพฤติปฏิบัติไปเวลาผ่านเวทนาไป ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ชัดๆ นะ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักกายทิฏฐิ ๒๐ นี่ธรรมวินัยทั้งสิ้น วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ชัดๆ ชัดๆ ขึ้นมา หลวงปู่มั่นท่านก็เห็น
นี่ไง ถ้าไม่ดับทุกข์ ไม่นิโรธแล้วอะไรจะเริ่มต้น อะไรจะจบสิ้น ขบวนการมันจบที่ไหน แล้วพอจบแล้วองค์ความรู้สัจจะความจริงอยู่ที่ไหน แล้วถ้ามันอยู่ที่นั่นแล้วมีสติปัญญาเท่าทันกิเลส พระโสดาบันไม่ทำอะไรบ้าง พระโสดาบันเป็นจริงอย่างไรบ้าง ถ้าพาดกระแสแล้วเขาทำของเขานี่ภาวนาเป็น เวลากรรมฐานเขาบอกภาวนาเป็น ภาวนาไม่เป็น ภาวนาเป็นหมายถึงเริ่มต้นจากตรงนี้ พอภาวนาเริ่มต้นมาที่หลวงตาท่านพูดประจำ
“เวลาภาวนายากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้นกับคราวหนึ่งคือคราวสุดท้ายสรุปจนสิ้นกิเลส จิตเดิมแท้นี่ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส มันจะไปทุกข์ยากซ้อนอีกชั้นหนึ่ง”
เวลาการปฏิบัติยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้นกับอีกคราวหนึ่งคือคราวที่สิ้นสุดนั้น คราวเริ่มต้นที่มันทุกข์มันยาก แล้วมันทุกข์มันยากขึ้นมาเราก็พยายามของเรา มีความเพียรชอบ งานชอบ เราพยายามระลึกชอบของเรา เราขวนขวายของเรา มีการกระทำของเรา การกระทำของเราให้มันสมบูรณ์แบบของเราขึ้นมา
เวลามันจะผิด มันจะพลาดอย่างไร เราก็รู้ได้ เวลามันจะผิดพลาด ผิดพลาดเป็นครู คนที่ภาวนาแล้วไม่มีความผิดพลาดเลยเป็นไปไม่ได้ คนที่ภาวนามันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ แล้วมันจะล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน เราก็พยายามของเรา พยายามทำของเรา ถ้ามันผิดพลาดเราก็เริ่มต้นใหม่ เราทำของเราอยู่อย่างนั้น ถ้ามันทำของมันอยู่อย่างนั้น ความผิดพลาดอันนั้นมันจะคอยเป็นครูคอยบอกว่าอย่างนี้ไม่ได้ อย่างนี้ไม่ได้ แล้วมันจะพิจารณาของมันไป มันจะยกของมันขึ้นไป
แต่ถ้ามันเป็นสิ้นสุดแล้วเวลามันขาด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ สมบูรณ์แบบ สมบูรณ์แบบเพราะอะไร เพราะมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน แล้วที่ตนรู้แล้วมันจะแตกต่างจากปุถุชนตรงไหน เวลาปุถุชนจิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไม่มีต้นไม่มีปลาย เวลาเป็นโสดาบันขึ้นมาแล้วมันรู้ชัดๆ เลย ถ้าไม่รู้มันจะเป็นโสดาบันได้อย่างไร ถ้ามันเป็นในหัวใจนั้น แล้วอกุปปธรรมมันไม่เสื่อมสภาพมันคงที่ตายตัว แล้วคงที่ตายตัวอย่างไร นี่ไงมันถึงพ้นจาก สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ไง
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มรรค ๘ ก็เป็นอนัตตา เพราะอะไร เพราะขบวนการของมันถ้าจบสิ้นแล้วมันจบสิ้นมันไป แล้วผู้ที่รับผลถ้าจิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันประพฤติปฏิบัติแล้วมันไม่รับผลแล้วเอาอะไรไปรับผลล่ะ นี่สิ่งที่รับผลเวลาจะไปเกิด เวลาที่เวียนว่ายตายเกิดไม่มีต้นไม่มีปลายไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้! ถ้ารู้มันไม่เป็นอย่างนี้ เพราะมันไม่รู้มันมีอวิชชา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา นี่มันรู้ชัดของมันเพราะมันมีอกุปปธรรม มันมีคุณธรรมในใจ มันถึงไม่ใช่อนัตตา
แล้วหลวงปู่มั่นท่านพยายามขวนขวายของท่าน ยกขึ้นสู่วิปัสสนาต่อเนื่องไป ต่อเนื่อง ท่านพิจารณาของท่าน ถ้าจิตสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา วิปัสสนามรรค ๔ ผล ๔ มันมีมรรค ๔ ผล ๔ ของมัน ขณะจิตที่มันเป็นขั้นเป็นตอนของมัน ถ้าเป็นขั้นเป็นตอนของมัน มันพิจารณาของมันไป เพราะอะไร
เพราะลูกของมาร หลานของมาร พ่อของมาร กามราคะ ปฏิฆะ เวลากองทัพใหญ่ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ อวิชชา จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสนั่นก็อวิชชา นั่นผู้คุมนโยบาย ผู้คุมนโยบายรู้เท่าทันรู้เล่ห์เหลี่ยมด้วยความมีอำนาจสูงสุด
แต่ผู้ที่เป็นแม่ทัพ ผู้ที่ควบคุม ผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะ จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตดวงเดียวที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งที่เป็นน้ำตาที่เก็บไว้มากกว่ามหาสมุทรนั้น สิ่งที่เป็นร่างกาย สิ่งที่เป็นธาตุดินที่นั่งทับๆ คนเกิดมาจากดิน มันนั่งทับกองกระดูกของตน มันนั่งทับสิ่งที่เคยเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ นี่ไง คำว่า “แม่ทัพๆ” มันแม่ทัพอย่างนี้ไง
แม่ทัพเพราะจิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งที่เกิดขึ้นถึงเป็นจริตเป็นนิสัย สิ่งที่เป็นนิสัยขึ้นมา สิ่งนี้มรรค ๔ ผล ๔ มันเป็นการประพฤติปฏิบัติ มันถึงละเอียดลึกซึ้งขึ้นไป เวลาที่ว่าอริยสัจ ๔ สมบูรณ์ดับทุกข์ นิโรธดับทุกข์เป็นอริยสัจ ๔ ไม่ใช่อริยสัจ ๓ ถ้าเป็นอริยสัจ ๓ ไม่ต้อง อย่างไรก็ได้ ลูบๆ คลำๆ ก็ได้ สิ่งใดก็ได้ มันก็จมปลักอยู่ในกิเลสนั้น จมปลักอยู่ในครอบครัวของมาร แล้วไม่มีสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอัน
แต่ถ้ามันเป็นชิ้นเป็นอันนะ พระโสดาบันไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่นับถือความเชื่อนอกพระพุทธศาสนาเด็ดขาด มันเด็ดขาดกลางหัวใจนั้น หัวใจนั้นถึงพุทธะ พาดกระแส พาดกระแส กระแสนิพพานนะ กระแสสิ้นกิเลสนะ พาด เอาอะไรไปพาด ใครเป็นคนพาด ใครเป็นคนมีสิทธิ์ สิทธิ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา บริษัท ๔ เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนามีสิทธิเสรีภาพที่จะบรรลุธรรมได้ทุกๆ คน ที่จะประพฤติปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ สิ่งที่เป็นบริษัท ๔ บริษัท ๔ เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ไม่มีใครมีสิทธิเหนือใคร
แต่ในการประพฤติปฏิบัตินี้ต่างหาก เวลาการประพฤติปฏิบัติที่ล้มลุกคลุกคลาน แต่คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้วถ้ามันเป็นสัจจะเป็นความจริงขึ้นมา เวลาสมุจเฉทปหานนี่อริยสัจ ๔ นิโรธดับทุกข์สมบูรณ์แบบ สิ่งที่พาดกระแสนั้นคืออกุปปธรรม อกุปปธรรม อฐานะที่จะเสื่อมสภาพ ไม่ใช่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ขนาดพระโสดาบันมันก็รู้แล้ว แล้วเวลาพิจารณาขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป จิตสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนาเพราะอะไร เพราะมันพาดกระแส พาดกระแสขึ้นมาแล้วมันมีความปรารถนา
คนเรา เห็นไหม เวลาพาดกระแส เวลาสมุจเฉทปหานเวลามันขาด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันเกิดความมหัศจรรย์ นี่ไง เวลาจิตสงบแล้วถึงได้ว่าขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันก็เป็นเรื่องหนึ่ง เวลาพิจารณาไปๆ เวลามันปล่อยวางๆ ปล่อยวางคือความว่างด้วยปัญญา ความว่างด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ด้วยมรรค มันเป็นความว่างที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นความว่างที่มันผ่อนคลาย เป็นความว่างที่มันสำรอก มันมหัศจรรย์กว่านั้น
เวลามันขาด นี่ไง เวลามันขาดขึ้นไป ความมหัศจรรย์อันนั้นที่จิตได้รับรู้ที่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก นี่ขณะที่ว่าเวลาเป็นนิโรธ อริยสัจ ๔ มันยังเกิดความมหัศจรรย์ขนาดนี้ แล้วเวลามันยกขึ้นบุคคลคู่ที่ ๒ มันจะเกิดความมหัศจรรย์ขนาดไหน ความมหัศจรรย์นี้เกิดมาจากไหน เกิดมาจากศีล สมาธิ ปัญญา นี่ศีล สมาธิ ปัญญา มันถึงสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่เราปรารถนา ที่เราพยายามจะรักษา
เพราะสิ่งที่เวลามันสมุจเฉทปหาน มันสมุจเฉทปหานไปด้วยอะไร มันสมุจเฉทปหานด้วยมรรค ๘ ด้วยวิธีการดับทุกข์ วิธีการดับทุกข์ที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา แต่ก่อนที่จะเป็นอนัตตาเราได้สร้าง เราได้มีการกระทำ เราได้ฝึกหัด เวลาฝึกหัดขึ้นมา เวลามันจะขาด ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น พับ ขาด เวลามันขาดขึ้นมาขาดขึ้นมาจากอะไร ขาดขึ้นมาจากความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ มีการกระทำของเราขึ้นมา
แล้วถ้าเรายกขึ้นสู่บุคคลคู่ที่ ๒ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มรรค ๔ ผล ๔ นี่ไง ธรรมและวินัยบัญญัติไว้ชัดๆ ในธัมมจักฯ เขาบอกไว้ชัดๆ เพราะว่าเวลาปฏิบัติไปแล้วปริยัติ ปฏิบัติ มันจะมาตรงกัน มันจะมาลงกัน ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เราปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา มันจริงจากการกระทำของเรา แล้วใจที่มันเห็นผล ใจที่มันได้รับรู้ มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกในใจดวงนั้น
เพราะเราปฏิบัติมาด้วยความล้มลุกคลุกคลาน บุคคลคู่ที่ ๑ เรายังลงทุนลงแรงได้ขนาดนี้ การปฏิบัติมันจะยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคราวที่เราเริ่มต้น พอเริ่มต้นขึ้นมา มันเริ่มต้นเราทำได้ พอทำได้ภาวนาเป็น พอภาวนาเป็นขึ้นไป มันพยายามจะสร้างพื้นฐาน สร้างสิ่งที่เป็นบาทเป็นฐานเป็นมาตรฐานให้หัวใจนี้ได้มีเครื่องพยุง เครื่องพยุงด้วยอะไร ด้วยความสุขของใจขึ้นมา ด้วยสติ ด้วยสมาธิขึ้นมา เวลาน้อมไปให้เห็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้ามันจับมันต้องของมันได้
เวลาครูบาอาจารย์หลวงปู่ชอบ หลวงปู่บัวท่านพิจารณากายๆพิจารณากาย หลวงปู่เจี๊ยะพิจารณากาย กายนอก กายใน กายในกาย กายจนถึงกายของจิต สำเร็จไปหมดด้วยการพิจารณากายอย่างเดียว
หลวงตาท่านพูดเอง ขั้นแรกท่านพิจารณาเวทนา ขั้นที่สองท่านพิจารณากาย พิจารณากายจับกายได้แล้วพิจารณากาย กายมันแยกออกไปโดยธรรมชาติของมัน เวลามันขาด นี่กายกับจิตแยกจากกัน ขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น “เอ้อ! เป็นเหมือนเราที่ถ้ำสาริกาเลย” นี่ไง นิโรธดับทุกข์ อริยสัจ ๔ ไม่ใช่อริยสัจ ๓ ไม่ต้องดับไม่ต้องรับรู้ “เหมือนเราที่ถ้ำสาริกาเลย แต่ของเรามียักษ์ ของมหาไม่มียักษ์” นี่บารมีของคนมันแตกต่างกัน อำนาจวาสนาของคนมันแตกต่างกัน เวลามันสร้างขึ้นไปแล้ว เวลามันขาด มหัศจรรย์มาก สิ่งที่เป็นความมหัศจรรย์มันเกิดจากการกระทำอันนี้ไง เวลาที่มันติดขัดมันติดขัดอย่างไร เวลาครูบาอาจารย์ท่านพิจารณา ท่านดึงออกมาอย่างไร ถ้าเวลามันเป็นจริง นี่ไง นี่บุคคลคู่ที่ ๒ บุคคลคู่ที่ ๑ บุคคลคู่ที่ ๒ นิโรธดับทุกข์ ขณะจิต
ไม่ต้องมีขณะ มันก็ไม่รู้อะไรเลย เป็นอริยสัจ ๓ มรรค ๗ อริยสัจ ๓ มันขัดมันแย้ง
คนที่ปฏิบัติจริง หลวงปู่มั่นท่านพูด “มหาปฏิบัติไปนะ เวลาถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา ปริยัติ ปฏิบัติมันจะมาตรงกัน เข้ากันพอดี สิ่งที่ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับผลจากการปฏิบัติของเราอันเดียวกัน” อันเดียวกันแล้วเงียบกริบเลย ความเป็นจริงมันเป็นความจริงอย่างนั้น
นี่พูดถึงเวลาขณะเวลามันดับทุกข์ๆ ขึ้นมา มันเป็นสัจจะเป็นความจริงแล้วยกขึ้นสู่เวลาที่กิเลสมันพลิกมันแพลงไง เวลาขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นอีกหนหนึ่ง มันมีความสุขอย่างนั้น มันมหัศจรรย์มาก โลกนี้แยกหมด โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง กายกับจิตแยกออกจากกัน เป็นเหมือนเราเลยที่ถ้ำสาริกา หลวงปู่มั่นท่านก็รู้ เพราะขณะของท่าน ท่านก็รู้
นิโรธดับทุกข์ดับอย่างไร ดับที่ไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคนต้นโพธิ์ หลวงปู่มั่นท่านบอกถ้ำสาริกา ๒ กับ ๓ เวลาสุดท้ายไปที่เชียงใหม่ มันรู้ เรากินที่ไหน เราเกิดที่ไหนเราไม่รู้ได้อย่างไร เราเกิดที่ไหนเดี๋ยวนี้ก็ห้องคลอดโรงพยาบาลไง เกิดโรงพยาบาลไหน เกิดโรงพยาบาลจังหวัดไหน เอ็งไม่รู้ที่เกิด เอ็งแจ้งเกิดไม่ได้นะโว้ย เอ็งต้องรู้ที่เกิด ต้องมีคนเซ็นรับด้วย แต่ถ้าปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกมันรู้แจ้งในหัวใจ ไม่รู้ได้อย่างไร ไม่นิโรธอย่างไร ไม่ดับทุกข์อย่างไร ไม่มีก็ไม่มีที่เกิด ไม่มีสิ่งที่เป็นอกุปปธรรม ไม่มีสิ่งมีชีวิต
มหัศจรรย์เวลามันเป็นที่ใจ เวลาขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น อยากเป็นอย่างนั้นอีก “โฮ! มันก็เป็นหนเดียว นิโรธหนเดียว” แต่ตทังคปหานชั่วคราวเป็นแล้วเป็นเล่า แล้วมันจะชั่วคราวตลอดไป ชั่วคราวคือกู้ยืมไม่ใช่สมบัติของตน ถ้ามันเป็นความจริงมันจะเป็นสมบัติของตน ไม่ใช่ชั่วคราว ไม่ใช่กู้ยืม ของเราเอง ไม่ใช่เงินกู้ เงินเย็น เงินของเรา คุณธรรมของเรา ไม่ใช่กู้ยืมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การศึกษานี้กู้ยืมทั้งสิ้น แต่เงินกู้กับเงินของเราก็คือเงินเหมือนกัน แต่เป็นเงินกู้กับเงินของเรา
ถ้ามันยกขึ้นวิปัสสนามันเป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเราเวลาบอกมันหนเดียวเท่านั้น เวลากิเลสมันพลิกมันแพลง หนเดียวเท่านั้นก็หนเดียวแล้วจบแล้ว ก็คิดว่านี่นิพพาน ติดนี่ ๕ ปี พอติดแล้ว ๕ ปี เพราะความเชื่อ ความเชื่อความฝังใจว่ามันใช่ แล้วเวลาหลวงปู่มั่นจะดึงออกมา การที่จะบ่มเพาะ การที่พยายามจะพลิกจะแพลง การที่จะชักนำจะดึงนำด้วยอำนาจวาสนา ไม่ได้สร้างอำนาจวาสนาบารมีมาต่อกัน เวลาขอนิสัย ถ้ามันไม่ตรงจริต ตรงนิสัย ขอนิสัยไปแล้วก็สักแต่ว่าขอ ไม่ลงใจหรอก
เวลาลงใจขึ้นมา ไม่ต้องขอ มันลงใจตลอด ลงใจเพราะมัน ดูสิ หลวงปู่ลีกับพระมหาบัว หลวงปู่ลีไม่ต้องบอก ราบ ชัด มันเป็นความจริงในใจ มันไม่ใช่มารยาสาไถยไม่ต้องมีขณะ หลวงปู่ลีขณะพร้อม ไม่ใช่ขณะธรรมดา ขณะแล้วยังต้องไปรายงานอาจารย์ด้วย อาจารย์เห็นชอบ เศรษฐีธรรมๆ มันมีขณะของมัน มันรู้ของมัน ไม่มีขณะจะบอกอย่างไร บอกที่ไหน แล้วเป็นอย่างไร เกิดที่ไหน เกิดอย่างไร ไม่นิโรธเป็นได้อย่างไร อริยสัจ ๓ ใช่ไหม อริยสัจ ๓ ไม่ใช่อริยสัจ ๔ ขัดแย้งกัน ถ้าไม่เป็นความจริงนะ
เวลายกขึ้นสู่วิปัสสนา เวลาจะขุดคุ้ยหากิเลสเรื่องใหญ่เลย เวลาดึงออกมาแล้วถ้าไปเจออสุภะนั่นล่ะ อสุภะนี่มหาสติมหาปัญญา บุคคลคู่ที่ ๓ ทำอย่างไร เวลาน้ำป่าที่มันรุนแรงทำอย่างไร กามราคะที่เกิดกามภพ เวลาพิจารณาไปแล้ว พิจารณาไปด้วยวิธีการ วิธีการดับทุกข์ มรรค ๘ แต่มันเป็นมหาปัญญา แล้วมหาสติมหาปัญญามันแตกต่างกันอย่างไร กิเลสหยาบ กิเลสละเอียดมันแตกต่างกันอย่างไร ระหว่างลูกกับจอมทัพๆ แม่ทัพใหญ่ทำอย่างไร
เวลาพิจารณาไป ครูบาอาจารย์ท่านคอยชี้คอยแนะคอยบอกทั้งนั้น ถ้ามันเป็นไปมันสูงขึ้นไป มหาสติมหาปัญญาพิจารณาไปเวลามันขาด กามราคะ ปฏิฆะขาดหมด นี่สังโยชน์เบื้องต่ำ มันรู้ชัดๆ ว่าไม่เกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ วัฏฏะๆ ผลของวัฏฏะ แล้วถ้ามันไม่เกิดในกามภพมันไม่เกิดอย่างไร อะไรไม่เกิด เพราะอะไร มันมีอวิชชา แต่มันรู้ชัดขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเป็นมรรค ๔ ผล ๔ ไง เพราะมันเป็นอริยสัจไง มันเป็นสัจจะความจริงไง
เวลามันขาด ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนา นั่นล่ะ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” นั่นยิ่งละเอียดเข้าไปใหญ่ เวลามันเป็นจริงๆ ขึ้นมามันเป็นปัญญาญาณ ญาณละเอียด ถ้ามันนิโรธเป็นชั้นๆ ขึ้นไป โอ้โฮ! มันมหัศจรรย์มาก เวลามันดับทุกข์นะ มรรค ๘ อริยสัจ ๔ ไม่มีมรรค ๗ อริยสัจ ๓ ไม่มี ไอ้นั่นมันเป็นความรู้ความเห็นของผู้หลงใหล ความรู้ความเห็นของพวกมารของพวกเพลี้ย พวกทำลายตนเอง ไม่ได้ทำลายศาสนานะ ศาสนาใครทำลายไม่ได้ แต่ทำลายตนเอง ทำลายโอกาสของตน
แต่ถ้ามันเป็นความจริง เวลาความจริงยกขึ้นสู่วิปัสสนา อรหัตตมรรค อรหัตตผล เวลามันทำลายกันด้วยปัญญาญาณ เวลาทำลายอวิชชา เวลามันพลิกฟ้าคว่ำดินจบสิ้น พระอรหันต์มันจะเกิดได้อย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา แล้วมันเป็นไข่ที่มันเจาะฟองอวิชชา อวิชชาไม่มี มันก็เป็นไข่ที่ไม่มีเชื้อ มันจะฟักเป็นตัวได้อีกหรือไม่ ถ้ามันจะฟักเป็นตัวได้มันต้องมีเชื้อ ถ้ามันฟักเป็นตัวได้ ไก่ตัวนั้นมันไม่สามารถเจาะฟองอวิชชา มันก็เป็นเชื้อเป็นอวิชชาที่จะต้องไปฟักไปเรื่อยๆ
แต่ถ้ามันเจาะฟองอวิชชา ไข่ไม่มีเชื้อ ไข่ไม่มีเชื้อเกิดไม่ได้ จิตไม่มีอวิชชาไม่มีเชื้อไขต่างๆ เกิดได้อย่างไร พระอรหันต์เกิดได้อย่างไร พระอรหันต์กลับมาเกิดใหม่พระอรหันต์ที่ไหน มันมีแต่ไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะมรรค ๗ อริยสัจ ๓ เพียงแต่ว่าลุ่มหลงในกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตน ลุ่มหลงไปนะ แล้วเป็นผู้วิเศษนะ เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นเทวดา เห็นอินทร์ เห็นพรหมหมดเลย เขาเข้าเจ้าเข้าทรงเขาก็ทำได้ ผีปอบพวกผีสางเทวดาเขาทำได้ ไร้สาระ ติรัจฉานวิชา นอกจากอริยสัจ นอกจากพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนามรรค ๔ ผล ๔ พระพุทธศาสนา อริยสัจ สัจจะความจริง แต่อนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ไปหมด ความรู้ไปหมดนั้นมันรู้เพราะได้ชำระล้างกิเลส ความรู้อย่างนี้ไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ความรู้อย่างนี้หลวงปู่มั่นก็รู้ รู้ไว้เพื่ออะไร รู้ไว้เพื่อสั่งสอน เพราะปุถุชนคนหนา คนที่มีทุกข์มียากมันได้ประสบพบเห็นเรื่องนี้ทั้งนั้น นอนอยู่ที่บ้านก็เห็นผี นอนที่ไหนเดี๋ยวผีก็มาหลอก ครูบาอาจารย์ท่านรู้หมดแหละ แต่มันเป็นเรื่องผลของวัฏฏะ มันไม่ใช่เรื่องอริยสัจ มันไม่ใช่เรื่องพระพุทธศาสนา มันไม่ใช่เรื่องมรรค ๔ ผล ๔ มันไม่ใช่เรื่องมรรค เรื่องอริยสัจ เรื่องสัจจะ เรื่องความจริง
ถ้าเรื่องสัจจะเรื่องความจริงมันเป็นในใจแล้ว หลวงปู่มั่นท่านสั่งหลวงตาไว้ประจำ “ถ้ามันเป็นจริงมันจะเป็นอันเดียวกัน ธรรมและวินัยเป็นศาสดา ไม่ขัดไม่แย้ง ไม่โต้ไม่แย้งศาสดา ถ้ายังโต้ยังแย้งศาสดา ยังมรรค ๗ มีอริยสัจ ๓ ไม่มีขณะ ไม่ต้องนิโรธ ขัดแย้งไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย ไม่ใช่พระพุทธศาสนา” เอวัง