ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ศีลเศร้าหมอง

๑๒ ม.ค. ๒๕๖๒

ศีลเศร้าหมอง

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๒

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๓๑๒. เรื่อง “นอกกาย นอกใจ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ขอความเมตตาหลวงพ่อ โยมมีทุกข์เรื่องคู่ครองที่ทำผิดศีลธรรม ขอหลวงพ่อเมตตาให้ธรรมะชี้ทางสว่างให้ลูกหมดทุกข์ด้วยค่ะ

เรื่องมีอยู่ว่า คบกับสามีมานานเกือบ ๒๐ ปี เชื่อใจมาก มีทะเลาะกันหนักๆ ในช่วงหลังๆ และเพิ่งรู้ว่าสามีแอบนอกใจมานาน ทำผิดศีลข้อ ๓ และ ๔ เราพยายามให้อภัย ปรับปรุงตัวเอง อยากให้เขากลับตัว อีกทางก็พยายามปล่อยวาง ตัดใจ ทำใจให้เขาไปมีความสุข ให้เรายืนด้วยตัวเองได้ แต่ก็ทุกข์ใจทุกครั้งที่เห็นเขาไปกับคนใหม่ จิตใจเราก็ทุกข์ นอนไม่หลับ จะใช้ธรรมะใดที่จะทำอย่างไรให้ไม่ทุกข์ใจเช่นนี้คะ

ในส่วนของสามี ก็ได้รับรู้มาว่าเขาทุกข์ใจมากที่ผิดศีล ชีวิตไม่มีความสุข ไม่สามารถหาทางออกจากวังวนตรงนี้ได้ อยากให้เขากลับมารักครอบครัว และอยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์ตรงนี้ ควรใช้ธรรมะใดคะ ขอบพระคุณในความเมตตาหลวงพ่อ

ตอบ : จะไปเมตตาอะไร มันจะมีอะไรไปเมตตาเขา มันก็มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้นน่ะ นี่มันเป็นสัจจะเป็นความจริงไง

ไอ้นี่พูดถึงเขาบอกว่า เขาคบกับสามีมา ๒๐ ปี ไว้ใจมาก ไว้ใจมาก

สิ่งที่เวลาเราคบกัน เราก็มองแต่ด้านดี มันก็ถูกต้องทั้งนั้นน่ะ ทีนี้ธรรมะมันก็เรื่องของสัจธรรมๆ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว การครองเรือนเป็นเรื่องแสนยาก การครองเรือนเป็นเรื่องทุกข์มาก

ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากมายเลย การครองเรือนเปรียบเหมือนวิดทะเลทั้งทะเลเลย เอาปลาน้อยๆ ตัวหนึ่ง เอาปลาน้อยๆ ตัวหนึ่ง เปรียบเหมือนวิดทะเลทั้งทะเลเลย เอาปลาน้อยๆ ตัวหนึ่ง คือมันมีความสุข มีความสุขแค่ไอ้ปลาน้อยๆ ตัวนั้นน่ะ แต่ไอ้ที่ลงทุนลงแรงวิดน้ำในทะเลทั้งทะเลเพื่อจับปลาตัวหนึ่งน่ะ นี่เป็นธรรมาธิษฐานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ในพระไตรปิฎก

การครองเรือนมันเป็นเรื่องแสนยาก การครองเรือนคือการครองหัวใจของเขา แล้วครองหัวใจของเขา ในเรื่องหัวใจของเขา ในเรื่องกิเลสตัณหาความทะยานอยากก็เรื่องหนึ่งนะ แล้วในสมัยปัจจุบันนี้สภาวะแวดล้อมมันเปลี่ยนไปมาก เวลามันเปลี่ยนไปมาก เห็นไหม โลกยุคสมัยใหม่ โลกยุคสมัยใหม่มันแทบจะไม่มีครอบครัวใครเป็นครอบครัวเอกเทศเลย เป็นครอบครัวของโลกรวมกันหมดเลย แล้ววุ่นไปหมด

แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว การครองเรือนมันเป็นเรื่องความทุกข์มาก ทีนี้ความทุกข์มาก เพราะว่าเวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่นะ มันมีเรื่องของฆราวาสธรรม แล้วของพวกนักบวช แล้วของพวกภิกษุ เห็นไหม ศีล อธิศีล ศีลที่สะอาดบริสุทธิ์ ศีลที่เป็นอธิศีล ศีลที่เป็นอัตโนมัติเลย

ศีลที่เป็นอัตโนมัติเป็นศีลของพระอรหันต์ ถ้าศีลเป็นอัตโนมัติของพระอรหันต์คือจิตใจมันไม่วอกแวกวอแว มันไม่ออกนอกลู่นอกทางเลย เพราะมันไม่มีกิเลส มันไม่มีอวิชชา นั่นเขาเรียกว่าอธิศีล ศีลมั่นคง ศีลแท้ๆ

ไอ้ของเรามันขอศีลนะ เพราะขอศีล เวลาพระปฏิบัติเราตั้งแต่สมัยหลวงปู่มั่นท่านให้วิรัติเอา คือตั้งใจได้เลย ตั้งใจมันก็ทำผิดพลาด เพราะพวกเราที่พวกประพฤติปฏิบัติใหม่มันมีความผิดพลาด มีความล้มลุกคลุกคลาน พระเราส่วนใหญ่ถ้าจะผิดพลาด ผิดพลาดเรื่องพรากของเขียว เรื่องบุกป่าฝ่าดงไป เวลาไปมันอาจจะพรากของเขียวบ้าง ทำให้สัตว์ตายไปโดยไม่รู้สึกตัวบ้าง มันไม่รู้ตัวไง เพราะเวลาธุดงค์ไปมันบุกป่าฝ่าดงไป ส่วนใหญ่พระจะมีความผิดก็ผิดทางนี้ แต่เรื่องธรรมวินัย เราก็ศึกษามาด้วยกันทั้งนั้นน่ะ

เรื่องศีล เรื่องธรรมนะ เวลาพระเข้าไปอยู่ในป่าในเขา พระที่ออกธุดงค์

๑. เขาต้องรักษาศีลของเขา เพื่ออยากที่จะประพฤติปฏิบัติได้

๒. เข้าป่าเข้าเขาไปแล้ว ที่มันแรงไหม

คำว่า ที่แรง” อย่างเช่นถ้ำเจ้าภูข้า อย่างเช่นถ้ำในป่าลึกๆ มันจะมีพวกเทพ พวกสิ่งที่เขาคุ้มครองดูแลอยู่เขารักษาของเขา เวลาไปจะไปเจออย่างนั้น ถ้ารักษาศีล เวลาพระที่ประพฤติปฏิบัติมันรักษาศีล แล้วศีลของตนเพื่อ หนึ่ง ความสะอาดดีงามในการประพฤติปฏิบัติ แล้วอยู่กับการที่ว่ามันคุ้มครองตัวเองด้วย นี่พูดถึงการรักษาศีล

แต่ถ้าเป็นฆราวาสธรรม เราขอศีลๆ ไง ถ้าขอศีล มันขอมาแล้ว ในปัจจุบันนี้เขาขอศีล ๕ ก็เอาศีล ๔ สุราเอาไว้ก่อน แล้วยิ่งโกหกมดเท็จ พูดปด เพราะมันเป็นนิสัย มันไม่เคยฝึกหัดมาไง ถ้ามันฝึกหัดมามันจะมีความซื่อสัตย์ของมัน แล้วทางโลก การพูดกันต้องทันคน ต้องพูดเวอร์ๆ ไว้ มันผิดพลาดทั้งนั้นน่ะ นี่พูดถึงว่าเป็นทางโลก

นี่พูดถึงศีลที่ว่า ศีล อธิศีล ศีลที่สะอาดบริสุทธิ์ไง

ทีนี้พอศีล ศีลเศร้าหมอง ศีลด่างพร้อย ศีลขาด ถ้าสีเลน สุคตึ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา ถ้ามีศีลมีธรรม เพราะคำว่า มีศีล” พอมีศีลขึ้นมา มันไม่ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย ไม่ใช้ชีวิตพร่ำเพรื่อ สิ่งต่างๆ ที่ทำไว้ การอยู่ การครองเรือนมันก็สุขมันก็สงบ มันมีความประหยัดมีความมัธยัสถ์ มีความประหยัดมีความมัธยัสถ์ ครอบครัวมันก็ไม่ขาดแคลน ทำสิ่งใดมันก็เป็นปกติของมัน มันก็มีความสุขของมัน ถ้ามีศีลมีธรรม ในครอบครัวจะมีความสงบสุข ว่าอย่างนั้นเลย

เวลาทุศีล เห็นไหม เวลาทุศีลขึ้นมา ถ้าด่างพร้อยเล็กน้อย ในครอบครัวก็กระทบกระเทือนกันเล็กน้อย ถ้าศีลมันด่างพร้อยมาก ในครอบครัวก็กระทบกระเทือนกันมาก เวลาถ้าศีลขาด ศีลทะลุ ศีลขาดไปเลย ทำสิ่งใดมา

“คบกับสามีมา ๒๐ ปี เชื่อใจมาก ไว้ใจมาก”

พอเชื่อใจมาก ไว้ใจมาก ก็เป็นคนดีทั้งนั้นน่ะ แต่คนเรา กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน คนมีเวรมีกรรมต่อกัน คนมีผลกระทบ พอมันไปแล้ว ลึกๆ มันก็ไม่อยากทำ แต่มันไม่มีหลักเกณฑ์ พอทำสิ่งใดแล้วมันผิดพลาดไป นี่เวลามันผิดพลาดไป พอผิดพลาดไปแล้วเราจะแก้อย่างไร มันแก้อย่างไร

เพราะบอกว่า “ลึกๆ ในส่วนของสามีที่รับรู้มา เขาก็มีความทุกข์ของเขา เขาทุกข์ใจของเขามาก”

เวลาทุกข์ใจของเขามาก เวลาผิดพลาดไปแล้ว คนถ้ามีความรับผิดชอบมากนะ มันก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่การกระทำของตน ถ้าการกระทำของตนมันมีปัญหาภายในครอบครัวหมดเลย ถ้ามีปัญหาภายในครอบครัว เขาบอกเลย “ทุกข์ใจมาก แล้วจะใช้ธรรมะข้อใดเพื่อจะดับทุกข์อันนี้”

ใช้ธรรมะข้อใดนะ ก็ตั้งสติไว้ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธทำได้ยาก เพราะอะไร เพราะเรื่องภายในครอบครัวของเรานะ ถ้าเรื่องอย่างนี้นะ เขาเรียกว่า เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียสามีให้ใคร ว่าอย่างนั้นเลยนะ แล้วมาเสียของอย่างนี้ โอ๋ย! ทุกข์ใจมาก แล้วจะมาพุทโธๆ โอ๋ย! เกือบตาย ทำได้ยาก

แต่ถ้าพุทโธได้นะ นั่นน่ะสงบสุข ถ้าจะพุทโธได้แสดงว่ามันยอมรับสภาวะนั้นได้ คือเราต้องชนะสภาวะในหัวใจของเรา ความทุกข์ความยากในหัวใจของเรา เราถึงจะมาตั้งสติกำหนดหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธได้ ไม่อย่างนั้นมันหายใจไม่ได้หรอก หายใจเข้านึกพุท โอ๋ย! มันก็คิดไปร้อยแปดแล้ว มันจะไปฆ่าเขาน่ะ แล้วจะกลับมาโธ มันเป็นไปได้ยากไง

แต่ถ้าเราบอกว่า หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เราพยายามรักษาของเรา ถ้ามันพุทโธได้แสดงว่ามันไม่วอกแวกวอแวไปคิดเรื่องเจ็บช้ำน้ำใจอันนั้น ถ้ามันนึกพุทโธได้ ไม่ไประลึกถึงความเจ็บช้ำน้ำใจอันนั้น มันก็เท่ากับปล่อยวางการเจ็บช้ำน้ำใจอันนั้นได้ แต่ก็ปล่อยได้ชั่วคราว ปล่อยได้ชั่วคราวต่อเมื่อเราตั้งสติแล้วเราพยายามหายใจเข้านึกพุทโธ หายใจออกนึกโธของเรา เวลาพอมันออกมาข้างนอกมันก็ไปคิดอีก เพราะมันฝังใจ มันฝังใจมาก มันเป็นเรื่องเป็นเวรเป็นกรรม มันเป็นความทุกข์ความยาก

ที่พูดนี้เพราะคำถามเราเห็นคุณค่าของศีล จะพูดเรื่องศีล ศีลเศร้าหมอง มันก็ทำให้กระทบกระเทือนกันไปหมด ศีลด่างพร้อย มันก็กระทบกระเทือนทั้งบุคคลคนนั้น เพราะบุคคลคนนั้นเป็นผู้มีศีล พอบุคคลคนนั้นเป็นผู้มีศีล บุคคลคนนั้นสะอาดบริสุทธิ์ บุคคลคนนั้นมีความสุข มีความอบอุ่น มีความมั่นคง แล้วไม่เกรงกลัวสิ่งใดทั้งสิ้น

เวลาพระเราพูดถึงเรื่องของศีลนะ ถ้าผู้ที่ทรงศีลนะ จะเข้าในสังคมใดก็ได้ องอาจกล้าหาญ มือไม่มีแผล เราไม่มีแผล ไม่มีความผิดพลาดสิ่งใด มันจะเข้าสังคมไหนก็ได้ แต่คนทุศีล คนมีความผิดพลาด โอ๋ย! เข้าที่ไหนมันก็หวาดระแวงนะ

นี่ไง ศีลมันมีคุณค่า มีคุณสมบัติ องอาจกล้าหาญ เข้าสังคมไหนก็ได้ แต่ถ้ามันเศร้าหมอง มันเศร้าหมอง เศร้าหมองทั้งตัวเรา เหมือนวัวสันหลังหวะ มันกลัวอีกาจะมาจิกแผลมัน นี่ก็เหมือนกัน พอมันมีความผิดพลาดมันก็หวาดระแวง นี่ถ้ามันเศร้าหมอง มันด่างพร้อย พอมันด่างพร้อยขึ้นไป มันทำสิ่งใดมันไม่เป็นตัวของตัวเองไง มันไม่มั่นคง ถ้ามันมั่นคงขึ้นมา นี่พูดถึงศีลเฉพาะตัวนะ

แล้วพอมันเศร้าหมอง มันกระทบกระเทือนไปถึงคู่ครองของตนทั้งสามีภรรยา ถ้าสามีไปทำผิด ภรรยาก็ทุกข์ไปด้วย ถ้าภรรยาไปทำผิด สามีก็ทุกข์ไปด้วย แล้วพอสามีภรรยาผิดนะ ในบ้านอย่าทะเลาะกัน มีสิ่งใดแล้วคุยกันดีๆ เพราะมีลูกมีหลาน ไอ้ลูกหลานมันกระทบกระเทือน พ่อแม่ทะเลาะกันนะ ลูกหลานมันกระทบกระเทือนนะ ถ้าลูกหลานกระทบกระเทือนไป สิ่งนั้นมันจะฝังใจของมันไป

เราไม่ได้อยู่กันสองคนนะ ถ้าใครมีลูกมีหลาน มันกระทบกระเทือนทั้งนั้นน่ะ แล้วเวลาสิ่งใด เราทะเลาะกันสองคน พ่อตาแม่ยาย มันก็รับรู้ไปทุกคน มันกระทบกระเทือนกันไปหมดถ้ามันมีผลนะ

แต่ถ้ามันมีความสุข ทุกคนก็สาธุไปหมด นี่ถ้าเวลามีความสุข ถ้าศีลสมบูรณ์ ศีลสะอาดบริสุทธิ์ ครอบครัวเรามีความสุข ญาติพี่น้องมีความสุขไปหมดเลย ครอบครัวนี้ดี เป็นที่พึ่งอาศัย เป็นที่เชิดหน้าชูตา

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว การครองเรือนเป็นเรื่องแสนยาก การครองเรือน เพราะอะไร เพราะหัวใจของเรา เรายังครองไม่ได้เลย แล้วหัวใจคนอื่นด้วย นี่พูดถึงว่าในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

แต่ถ้าเป็นปัญหาสังคม ปัญหาสังคมบอกว่า ที่เราพูดกันนี้เต่าล้านปี เป็นเรื่องโบราณ เขาต้องใช้ชีวิตของเขาแบบของเขานะ สมัยใหม่ คนทันโลก เป็นสมัยใหม่...ทุกข์ทั้งนั้น

ไอ้พวกเต่าล้านปี เพราะอะไร เพราะเราเชื่อมั่นในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเชื่อมั่นในสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ทุศีล ผิดศีล มันเป็นการเลือกเอาฟืนเอาไฟมาแผดเผาหัวใจของเรา เป็นการเอาฟืนเอาไฟมาแผดเผาครอบครัวของเรา เป็นการเอาฟืนเอาไฟมาเผาบ้านเผาเรือนของเรา มึงว่ามึงเก่งหรือ นี่พูดถึงเรื่องศีลนะ

แต่นี้เรื่องของสามี เพราะสามีเขาผิดไปแล้ว พยายามจะให้เขาปรับปรุงตัวของเขา เขาก็ปรับปรุงตัวของเขา ให้เขามีทางออกของเขา ไอ้เรื่องหัวใจของเรา เราต้องรักษาหัวใจของเรา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งนะ แต่กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน คนเราเกิดมา ไม่รู้ว่าใครตายก่อน

สิ่งที่เวลาในครอบครัวเรามีปัญหากันมาก มีปัญหากันมาก เราก็พยายามจะออมชอม จะรักษา แต่ถ้าเขาไม่มีการออมชอมรักษา ถ้าเกิดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดชีวิตไป เห็นไหม ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เวลาตายไปแล้วจะมาคิดเสียดายตอนที่ต่างคนต่างพลัดพรากกันไปแล้วไง ถ้าตอนนั้นเราให้อภัยก็ดีน่ะสิ ถ้าตอนนั้น ถ้าตอนนั้น ต่อเมื่อมันสายไปแล้ว ถ้าตอนนั้นน่ะ ฉะนั้น ถ้าตอนนี้มีสิ่งใด เราทำใจตั้งแต่ตอนนี้ ให้เราเข้าใจกัน ให้เราให้อภัยต่อกัน ให้จากกันด้วยความเข้าใจกัน ดีที่สุด

ตอนอยู่ด้วยกัน ตอนที่เจรจากัน การตกลงกัน นั่นน่ะมีสิ่งใดที่เข้าใจกันได้ ตกลงกันได้ พยายามทำอย่างนั้น แล้วสิ่งใดแล้ว ไอ้เรื่องเจ็บช้ำน้ำใจมันมีทั้งนั้นน่ะ ที่ไหนมันมีแผลแล้ว เห็นไหม แก้วแตกแล้วเอามาต่อให้เป็นแก้วขึ้นมา มันก็เป็นแก้วแตกแก้วร้าววันยังค่ำ เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นแล้วมันก็คือเกิดขึ้น

ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วนะ พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการให้อภัยต่อกัน เราให้อภัยกันได้หรือไม่ ถ้าให้อภัยกันได้แล้วมันก็ให้อภัยต่อกัน แล้วสิ่งที่ว่า เวลานางวิสาขาจะมีครอบครัว ทางญาติพี่น้องเขาตั้งให้พราหมณ์ไปด้วย ๔ คน เห็นไหม ไฟในไม่ให้ออก ไฟนอกไม่ให้เข้า

ไฟในไม่ให้เอาออก ไฟนอกไม่ให้เอาเข้า โอ๋ย! ทางนู้นเขาเข้าใจผิดนะ เข้าใจว่าจะไปจับผิดเขา แต่เวลานางวิสาขาให้พามาพูดไง ไฟในคือเรื่องในบ้านของเรา เรื่องในครอบครัวของเราไม่ให้เอาออก แล้วเรื่องที่ข้างนอกคนนินทากัน เรื่องข้างนอกที่เขาใส่ไคล้ เขาไม่ให้เอาเข้ามาเผาในบ้านเรือนของเรา

ในบ้านเรือนของเรา เรื่องของในบ้านเรือนของเรานะ เรื่องสามีภรรยาสองคน นี่ไฟใน ไฟในไม่เอาออก ไฟนอกไม่เอาเข้า เรื่องที่เขาไปสร้างปัญหาจากข้างนอก นี่ไฟข้างนอก ถ้าเอาไฟข้างนอกเข้ามาเผาในบ้านของเรา วุ่นวายไปไม่มีวันจบวันสิ้น

เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนไว้ไง ไฟในไม่ให้เอาออก ไฟนอกไม่ให้เอาเข้า แล้วถ้าเป็นประชาธิปไตยก็บอก “โอ้โฮ! อย่างนี้เป็นการกดขี่ ไม่มีสิทธิมนุษยชน ไม่เสมอภาค”

ความเสมอภาค คนเราความรู้สึกนึกคิดของคนไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน แล้วความรู้สึกของคนไม่เสมอกัน ไม่เท่ากัน มันจะไปเสมอภาคตรงไหน มันไม่เสมอภาค คนเราให้เงินเดือนคนละ ๑๐๐ บาทต่อเดือนทุกคน คนที่เงินเดือนต่ำกว่ามันก็พอใจ ไอ้คนที่เงินเดือนมันเป็นแสน บอกให้เงินเดือนเดือนละ ๑๐๐ บาท มันพอใจไหม สิทธิเสรีภาพ มันก็ว่าไปนู่น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาไฟในไม่เอาออก ไฟนอกไม่เอาเข้า คนมันคิดไม่เหมือนกัน คนมีความรู้สึกไม่เหมือนกัน คนมีความรับรู้ มีจิตใจที่หนักแน่นไม่เท่ากัน สิ่งใดเอามาแล้วมันวุ่นวาย แก้ไม่จบหรอก ถ้าไปแก้ข้างนอกมันแก้ไม่จบหรอก ฉะนั้น ถ้ามันแก้จบ ก็กลับมาที่ใจของเรานะ กลับมารักษาหัวใจของเรา

แล้วอย่างที่ว่า จะใช้ธรรมข้อใดเพื่อจะดับทุกข์ในใจของตน ทุกข์มาก ถ้าเห็นเขาไปกับคนใหม่

อ้าว! ถ้าเขาไปกับคนใหม่ของเขา มันมีปัญหาขึ้นมาแล้วในบ้าน มันเป็นเรื่องที่กรรมของสัตว์ๆ กรรมของสัตว์นะ แต่เราไม่ไปทำอย่างนั้น เราไม่ทำสิ่งใดๆ ให้มันเป็นการผิดศีลผิดธรรม เราไม่ทำเรื่องนอกลู่นอกทาง เราจะอยู่ในศีลในธรรมของเรา มันจะมีสิ่งใดก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้น เราก็จะทำดีของเราตลอดไป

บางคนนะ เวลาทำความดีแล้วไม่ได้ดี เห็นคนทำชั่ว กูทำชั่วแข่งกับมึงเลย กูทำมากกว่ามึงอีก โอ้โฮ! ตกทะเลไปทั้งหมด

ใครทำดีต้องได้ดี ใครทำชั่วต้องได้ชั่ว ใครทำความชั่ว ที่เขาทำของเขามันเรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดีของเรา แล้วเรายืนหลักมั่นของเรา เราเชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อมั่นในธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำดีต้องได้ดี

ทำดีต้องได้ดี แต่ทำดีต้องได้ดี หนูเขียนมาถามหลวงพ่อ หนูก็ทำดี หนูทำดีอยู่นี่ แล้วเขาไปมีคนใหม่ หนูทำดี

กรรมของสัตว์ไง กรรมของสัตว์ เรื่องของเขา เรื่องของเขานะ เราเลือกของเราเอง เราเลือกของเราเอง แล้วเราเห็นของเราเอง แล้วเวลาเขายืนยัน เขาบอกเลย “ได้รับรู้มาว่าเขาก็ทุกข์ใจมาก”

นี่ไง มันผิดศีลผิดธรรม มันจะไม่มีความสุขหรอก เป็นความสุขไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะฆราวาสธรรม ถ้าปุถุชนก็ศีล ๕ คู่ครองของตน ถ้าถือพรหมจรรย์ก็ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ไม่มี ศีลมันก็เป็นชั้นๆ ขึ้นมา

แต่ที่เวลาพูดกันบอกว่า มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เรื่องกามเป็นธรรมชาติของมนุษย์

ธรรมชาติของมนุษย์ก็เป็นปุถุชนไง เอ็งก็กลับไปสู่ตรงนั้นไง เอ็งก็อย่าขึ้นมาสิ ถ้าเอ็งขึ้นมาแล้วมันก็จบไง ถ้าถือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ มันเพิ่มขึ้นมาไง เวลาถือศีลขึ้นมาแล้วก็จะไปอ้างสิทธิ์

อ้างสิทธิ์อะไรของเอ็ง สิทธิ์เขามีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าให้หมดแล้ว พระพุทธเจ้าเสมอภาคหมดเลย ใครทำไม่ได้ก็ศีล ๕ ปุถุชน ถ้ามาประพฤติปฏิบัติก็ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ พระอรหันต์ อธิศีล นี่ไง มันเป็นข้อเท็จจริงของมันอยู่แล้ว มันเป็นข้อเท็จจริงไง

ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงแล้ว ถ้ามันเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ๆ เขาบอกธรรมชาติของมนุษย์

ธรรมชาติของมนุษย์ พระพุทธเจ้าไม่รู้หรือ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดา ไม่รู้เรื่องของมนุษย์หรือ พระพุทธเจ้ารู้เรื่องของมนุษย์อยู่แล้ว ก็ศีล ๕ ไง นี่ถ้าเราเชื่อมั่นในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเรามีศีลมีธรรมของเรา แล้วเราปฏิบัติของเรา เราทำของเรา

แต่เรื่องสังคม เรื่องของสังคมที่เขามีหน้ามีตา ที่เขาว่าเขายิ่งใหญ่ นั่นกรรมของสัตว์ เรื่องของเขา เรื่องของเขา เราไม่เอาคติแบบอย่างอย่างนั้นมาเป็นอุดมคติของเรา อุดมคติของเรา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเชื่อมั่นของเราอยู่อย่างนี้ แล้วถ้าเชื่อมั่นอย่างนี้ เวลาหนูเจอประสบการณ์ชีวิตอย่างนี้จะทำอย่างไร

รักษาใจของตน เกิดมาเป็นคน เขาก็คน เราก็คน คนที่ครอบครัวเขาปกติสุข เขาทำคุณงามความดีของเขามา ถ้าครอบครัวของเรามันมีผลกระทบ เราก็แก้ไขภายในครอบครัวของเรา เรามีสติปัญญาเจรจากัน พูดคุยกัน มันเป็นไปได้ทั้งสิ้น

กรรมของสัตว์ นี่ไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ มันมีเพื่อนกันอยู่สองคน ชาตินี้นาย ก. ฆ่านาย ข. ชาติต่อไปนาย ข. ฆ่านาย ก. มันผลัดกันฆ่ามาอย่างนั้นน่ะ ชาติสุดท้าย ชาติที่สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นาย ก. กำลังจะฆ่านาย ข. เป็นเพื่อนกัน สภาวะแวดล้อมมันก็ทำอย่างนั้นให้เพื่อนไปอยู่ในเหตุการณ์ที่อีกคนหนึ่งจะได้มีโอกาสได้ฆ่าอีกคนหนึ่ง นี่เขาไปเที่ยวป่ากัน ไปนอนในป่า นาย ก. ลุกขึ้นมาก่อน กลางคืนก็จะมาฆ่านาย ข.

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาโดยฤทธิ์เลย “อย่า อย่าเพิ่งทำ” แล้วก็ให้ปลุกเพื่อนตื่นขึ้นมาก่อน แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการเลย นี่ผลัดกันฆ่ามาทุกภพทุกชาติ ผลัดกันฆ่ามาตลอด ชาตินี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยอนาคตังสญาณไปเข้าข่ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกขึ้นมาแล้วเทศนาว่าการ ให้ขออภัยต่อกัน ให้งดเว้นต่อกัน ให้จบสิ้นกันไป อย่าให้ไปฆ่าไปแกงกันต่อไปชาติต่อไป นี่อยู่ในพระไตรปิฎก เราจำบทไม่ได้เท่านั้นเอง นี่เวลามันเป็นอย่างนี้

นี่ก็เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อภัยต่อกัน เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราไม่จองเวรจองกรรมใครทั้งสิ้น แม้แต่เป็นสามีภรรยากันก็แล้วแต่ ถ้าเขาจะเป็นสุขของเขาก็ปล่อยเขาไป แต่ถ้าเราต้องการเป็นครอบครัวของเรา เราก็เจรจาของเรา เราทำด้วยสันติวิธี ด้วยการเจรจา ด้วยในศีลในธรรม

แล้วถ้ามันจะทุกข์ ทุกข์ก็แก้ทุกข์สิ มันเป็นเรื่องธรรมดา ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง แล้วเอาธรรมะชโลมใจของเรา แล้วถ้ามันเจ็บนักก็พุทโธๆๆ จนกว่ามันจะเบาบางไป แล้วมันจะหายไป

เพราะมันมีกรรมเก่ากรรมใหม่ทั้งสิ้น เราไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นคนดีทั้งสิ้น แล้วทำไมสามีมาเป็นอย่างนี้ แสดงว่าศาสนาพุทธนี่เชื่อใจไม่ได้ ศาสนาพุทธไม่มีคุณค่าจริง

ศาสนาพุทธสุดยอด แต่สามีเอ็งแอบไปมีกิ๊กเอง มันโทษใคร จะมาโทษพระพุทธศาสนาได้อย่างไร โทษไม่ได้ ถ้าอตีตังสญาณนะ มันรู้ว่าใครสร้างเวรกรรมต่อกันมา มันถึงมีเวรกรรมต่อกัน แล้วเวลาเราสามีภรรยาเริ่มมา เราก็รักกันดี แล้วถึงสุดท้ายแล้วทำไมเป็นอย่างนั้นไป

นี่กรรมเก่ากรรมใหม่ ฉะนั้น กรรมเก่ากรรมใหม่ เพราะลมหายใจของคนทุกคนมันมีผลกระทบทั้งนั้นน่ะ เรากลับมานี่ กลับมาที่คุณงามความดีของเรา ไอ้เจ็บนี่เดี๋ยวก็หาย แล้วถ้ามีธรรมะนะ มีสัจธรรมขึ้นมานะ เวลาจิตใจมันเป็นพรหมจรรย์ของมันนะ มันพอใจของมันนะ เดี๋ยวจะยกสามีให้เขาเลย สามีเอาไป เอาไปเลย เอาไปเลย ฉันนั่งสมาธิของฉันมีความสุขกว่า เดี๋ยวมันจะยกให้เขาอีกต่างหากนะ ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมาได้

แต่ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมาไม่ได้ หัวใจมันพาล แล้วความพาลอันนั้นก็ทำให้เราเจ็บปวดเจ็บช้ำ แล้วก็จะไปแก้กันที่นั่น แต่ถ้าเราเข้ามาสู่พรหมจรรย์ เข้ามาสู่หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้าจิตใจเราเจริญขึ้นงอกงามขึ้น เดี๋ยวเถอะ ยกให้เขาไปเลย แถมเงินให้ด้วย สร้างบ้านให้อีกหลังหนึ่ง ของฉันอยู่สุขสบายดีกว่า นี่ถ้าใจเราพัฒนาขึ้นดีขึ้นด้วยคุณธรรมของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา จบ

ถาม : ข้อ ๒๓๑๓. เรื่อง “รักษาธรรม และมีชีวิตทางโลกอยู่รอด”

หลังจากพยายามตั้งใจรักษาศีล ฝึกสติภาวนามาเรื่อยๆ ทำให้ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทำวิจัยที่ต้องฆ่าสัตว์อีก แต่วันนี้ชีวิตการงานบีบบังคับให้ต้องกลับมาทำวิจัย ซึ่งก็มีบุญที่มีโอกาสเจอทีมงานรุ่นใหม่เป็นมิตรตรงๆ เนื้องานก็ทันสมัย ไม่ต้องโดนสารเคมีเยอะ ซึ่งร่างกายมีเนื้องอก ไม่ต้องใช้เงินเยอะ ได้ผลงานเร็ว แต่ต้องเลี้ยงและฆ่าสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว เช่น ราเมือก แบคทีเรีย หรือจุลชีพต่างๆ

๑. แบบนี้จะมีผลต่อการปฏิบัติภาวนาที่ตั้งใจทำต่อเนื่องมาหรือไม่

๒. ผิดศีลฆ่าสัตว์ข้อ ๑ มีกรรมไหม ทั้งแบบที่เราลงมือทำเอง และแบบที่คนอื่นในทีมทำส่วนนี้ แต่เรารับรู้ด้วย หรือแยกกันระหว่างตอนทำวิจัยกับตอนภาวนาได้หรือไม่ โดยวิรัติศีลใหม่ หรือไม่ควรเริ่มทำงานนี้เลย ไปหางานอื่นทีมใหม่ที่ไม่ฆ่าสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว แต่ทุกงานต้องมีกรรมคละเคล้า เพราะต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ฆ่าเชื้อก่อนใช้อยู่ดี

๓. อยากเริ่มให้ตรง ปลายจะได้ตรง ลูกควรตัดสินใจอย่างไรที่จะรักษาธรรม และมีชีวิตทางโลกอยู่รอดได้ในหน้าที่การงาน

กราบขอบพระคุณ

ตอบ : เวลาพูดถึงการประพฤติปฏิบัติ ต้นคด ปลายตรงไม่มี ต้นต้องตรง ปลายถึงจะตรง เห็นไหม ต้นตรง ปลายคดไม่มี เหมือนคนที่เจตนา เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราอยากจะได้มรรคได้ผล เราอยากจะเป็นพระอรหันต์ เราอยากจะสิ้นกิเลสไป แล้วต้นก็คด ทำตามกิเลส กิเลสมันจะพลิกแพลงอย่างไรก็เชื่อกิเลสมันไป ทำด้วยกิเลสมันปรุงมันแต่งว่าทำอย่างนี้จะได้เป็นพระอรหันต์ นี่ต้นมันคด มันก็จะลากให้เราคดงอไปตลอดเลย แล้วก็จะไปเป็นพระอรหันต์แบบงอๆ นู่นน่ะ

ถ้าต้นมันตรง เห็นไหม ต้นมันตรง เราทำด้วยสัจจะด้วยความจริงของเรา แล้วพยายามรักษาให้มันตรง แล้วมีครูบาอาจารย์คอยเปรียบเทียบ มันตรงจริงหรือไม่ตรง ถ้าตรงเสร็จแล้ว ถ้าทำให้ตรง ต้นตรง ปลายก็ตรง ต้นคด ปลายตรงไม่มี

ทีนี้ต้นคด ปลายตรงไม่มี มันเป็นถึงการที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ทำเห็นผิดเห็นชอบออกไปนอกลู่นอกทางไปเลย แต่ถ้าต้นมันตรง เราก็พยายามประพฤติปฏิบัติของเรา ทำของเราให้จริงให้จังของเรา นี่มันเป็นความจริงของเรา อันนั้นต้นตรง ตรงมันก็ตรงต่อศีลตรงต่อธรรม ทีนี้เวลาตรงต่อศีลตรงต่อธรรม อันนั้นเป็นสัจจะเป็นความจริง ไอ้นั่นเป็นที่การกระทำ

แต่เวลาทางโลก เวลาคนอยู่ทางโลกมันมีสภาวะแวดล้อมแบบโลกๆ เวลาแบบโลกๆ ทำสิ่งใดถ้าเป็นคนที่มีอำนาจวาสนานะ เขาจะเจอหมู่เจอคณะที่ดี เจอสังคมที่ดี มันก็ช่วยเหลือเจือจานต่อกัน แต่ถ้าเราไปเจอหมู่คณะที่เป็นโลกๆ แต่เราเป็นธรรม เขาคอยกระแซะ เขาคอยทำให้เราล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้นน่ะ นี่พูดถึงทางของฆราวาสเป็นทางคับแคบ

แต่ถ้าเป็นทางของสมณะเป็นทางที่กว้างขวาง แต่เราจะประพฤติปฏิบัติของเราให้มีหนทางของเรา ถ้ามีหนทางของเรา เราก็พยายามรักษาของเรา เราพยายามกระทำของเรา ถ้าทำของเรา

เวลาพระ เวลาเขาถือ เวลาวันเข้าพรรษา เวลาวันเข้าพรรษาเขาอธิษฐานธุดงค์ อธิษฐานธุดงค์ว่าจะไม่ทำสิ่งนั้นๆๆ อย่างเช่นหลวงตาพระมหาบัวเวลาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านจะนั่งตลอดรุ่ง ท่านบอกเลย ท่านนั่งตลอดรุ่ง จะมีสงคราม จะเกิดจะเป็นจะตาย จะสิ่งใด ลุกไม่ได้ เว้นไว้แต่หลวงปู่มั่นเจ็บไข้ได้ป่วย เว้นไว้แต่พระในวัดมีปัญหา หรือเกิดกรณีพิเศษเรื่องของพระ นั่นอนุญาตให้ลุกได้

เห็นไหม เว้นไว้แต่ คนที่เขาฉลาดเขาจะเว้นไว้แต่เวลาเหตุจำเป็น มันมีเหตุจำเป็นของมัน แต่ถ้านอกนั้นไม่ได้นะ นอกนั้นไม่ได้ ถ้าเว้นไว้แต่แล้วเดี๋ยวมันเว้นไว้หมดเลย “อู๋ย! เมื่อยนัก นั่งแล้วปวดเมื่อย ลุกได้ เว้นไว้แต่” นี่มันก็จะพาลไง แต่มันมีข้อยกเว้น ในการกระทำมันยกเว้นได้

นี่ก็เหมือนกัน เราจะทำงานวิจัย ทำงานวิจัยนะ งานอย่างนี้ หนึ่งนะ ถ้าการวิจัยของใครก็แล้วแต่มันเป็นประโยชน์กับโลกนะ ถ้าเป็นประโยชน์กับโลก สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์

เราไม่ทำสิ่งใดเลย มันมีลูกศิษย์คนหนึ่งเขามาพูดกัน มาเข้าหูเราไง เขาก็ทำวิจัยนี่แหละ แล้วเขามาบ่นให้พรรคพวกฟัง “แหม! ไม่อยากทำเลย มันต้องจับกุ้ง” มันผ่ากุ้งไง บอกว่าวิจัยมันต้องเอากุ้งมาแล้วก็แกะ แล้วต้องพิสูจน์ เขาก็ไม่อยากทำเหมือนกันนะ แต่เพื่อนฝูงพยายามขอให้ทำให้จบ แล้วทำเฉพาะตรงนี้ เราทำเฉพาะตรงนี้ ไอ้นี่มันเป็นงาน

นี่ก็เหมือนกัน เราจะทำงานวิจัย ก็เว้นไว้แต่สิ เราทำวิจัยของเรา หนึ่ง หน้าที่การงานของเรานะ แล้วถ้ามันสำเร็จขึ้นมามันเป็นประโยชน์กับโลก เรื่องการวิจัยต่างๆ มันเป็นผลประโยชน์กับโลกนะ เว้นไว้แต่ว่าทำเสร็จแล้วไปไว้บนหิ้ง แล้วเขาไม่เอาไปใช้ประโยชน์ต่อ มันก็เป็นประโยชน์กับคนวิจัยที่เป็นทางวิชาการ แต่โลกเขาไม่เห็นคุณค่า โลกเขาว่าไม่เป็นประโยชน์ของเขา

แต่ถ้าเราทำของเรา เราทำนะ งานวิจัยต่างๆ เราทำ แต่ถ้าโดยชีวิตปกติ เราจะไปทำความผิดพลาด เราจะไปทำสิ่งมีชีวิตให้ล่วงไป เราไม่ทำ เพราะชีวิตทุกชีวิตรักชีวิตของตนทั้งสิ้น ชีวิตทุกชีวิตนะ เกิดมาปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ ชีวิตทุกชีวิตต้องการสิ่งดีงามกับเขา แต่มันดีงามอย่างไรล่ะ

ดีงามเป็นสัตว์ สัตว์มันก็กินอิ่มนอนอุ่นของมัน ก็มีความสุขของมัน แต่จริงๆ แล้วสัตว์มันคิดนะ มันก็อยากให้เกิดเป็นมนุษย์นี่แหละ แต่มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นตามเวรตามกรรม นี่ก็เหมือนกัน สิ่งมีชีวิตต่างๆ มันมีเวรมีกรรมของมัน มันต้องไปเกิดสภาวะของมัน เพราะมันมีอายุขัยของมัน

นี่ก็เหมือนกัน เราทำวิจัยๆ ถ้าทำวิจัยนะ การทำวิจัย แล้วหน้าที่การงาน เราว่าสิ่งนั้นเราเว้นไว้แต่ คือจะบอกว่าการทำลายชีวิตตกล่วงเป็นความถูกมันไม่มีหรอก มันเป็นไปไม่ได้ที่บอกว่าทำสิ่งมีชีวิตให้ดับไปมันเป็นความถูกต้อง มันผิดศีลทั้งนั้นน่ะ

แต่หน้าที่การงานของเรา เราทำคุณงามความดี ความดีที่มันยิ่งใหญ่กว่า สิ่งนี้สิ่งที่ความผิดก็คือความผิดนี่แหละ แต่แลกด้วยสิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า แต่ยิ่งใหญ่กว่านี้ ยิ่งใหญ่กว่าเพื่อโลก เพื่อสังคม เพื่อประโยชน์กับโลกนะ

แต่ถ้าว่าปฏิบัติไปแล้ว ถ้าเราไม่รู้อะไรเลยนะ เราว่าเราทำได้ แต่พอเรามาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “นี่ทำไม่ได้ๆ มันทำสิ่งมีชีวิตสิ้นไป มันทำไม่ได้” มันก็เป็นทิฏฐิอันหนึ่ง เห็นไหม มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด สิ่งที่ความดีงามอย่างอื่นมันก็มีของมันได้ ถ้าสิ่งที่ทำเพื่อประโยชน์ได้

อย่างนี้เวลาถ้าโดยปกติชีวิตประจำวันห้ามซักผ้า เสื้อผ้าใส่แล้วต้องทิ้งเลย ต้องชุดวันต่อวัน ซื้อมาแล้วห้ามซัก เดี๋ยวเชื้อโรคมันตาย นี่ถ้าจะเอากันเถรตรงนะ มันก็เถรตรงไม่ได้หรอก แต่เราจะบอกว่า จะทำความดี กิเลสมันคอยปัดแข้งปัดขา จะทำความผิดพลาดอะไร กิเลสมันหนุนส่งเลย

นี่ก็เหมือนกัน แต่ถ้ามันต้องฆ่าสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ราเมือก แบคทีเรีย จุลชีพต่างๆ เราทำวิจัยเฉพาะตรงนั้น เราทำวิจัยเฉพาะตรงนั้นแล้วต้องมีสติมีปัญญาเข้มแข็ง ถ้าตรงนั้นปั๊บ สิ่งที่ว่าถ้ามันเหลวไหล พอทำได้ เดี๋ยวก็ทำต่อเนื่องไป นี่พูดถึงว่าการทำวิจัยได้หรือไม่ได้

ฉะนั้น “๑. ทำแบบนี้มีผลต่อการภาวนาที่ตั้งใจทำต่อเนื่องมาหรือไม่”

มีผลดีไง มีผลดีว่า อืม! ที่ภาวนามาก็ภาวนามา ไอ้ที่ทำงาน เพราะภาวนามาดีมันเลยมีผลงานนี้เข้ามา เพราะภาวนามาดีมีวาสนา มันก็เลยเจอคนที่ดี เจอคณะที่ดี เจอคณะที่เข้าใจกันได้ แล้วถ้าทำไปแล้วก็เป็นประโยชน์กับเรา แต่ก็ขีดเส้นไว้แค่นี้ ถ้าเป็นงานวิจัยต่อเนื่องขึ้นไปข้างบน ถ้ามันจะมีงานที่ดีกว่า เราก็ทำไป

งานวิจัย เราจะบอกว่าเราทำวิจัยเพื่อสังคมโลก งานวิจัยนี้เป็นทางวิชาการนะ แล้วถ้ามันเป็นประโยชน์ต่อเนื่องที่เป็นประโยชน์กับโลกได้ก็เป็นประโยชน์ต่อไป พอทำวิจัยไปแล้วก็เก็บไว้ แล้วคนมาทำขยายต่อเนื่องไปต่อยอดไปมันมีทั้งนั้นน่ะ ผลงานวิจัย ใครๆ เวลาทำสิ่งใดนึกถึงไอน์สไตน์ทั้งนั้นน่ะ เพราะมันไปต่อเนื่องทฤษฎีของเขา ยืนยันกันเลย เราคิดสิ่งใดเข้าไป ไอน์สไตน์พูดไว้แล้วๆๆ นี่เวลาเขาทำต่อเนื่องไป นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำพื้นฐานไว้ ใครทำสิ่งใดมันก็เป็นประโยชน์

นั่นพูดถึงว่า “ทำแบบนี้จะมีผลต่อการภาวนาหรือไม่”

ผลต่อการภาวนาของเรา มันอยู่ที่สติปัญญาเรารักษา ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็อยู่ด้วยปัญญาของเรารักษาศีล สมาธิ สมาธิก็ด้วยสติปัญญาของเราบำรุงรักษา สมาธิทำแล้ว สมาธิมันจะตั้งมั่นตลอดชีพหรือ สมาธิก็คือสมาธิ แล้วเกิดปัญญาขึ้นมาก็ต้องฝึกหัดทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่จะทรงตัวอยู่หรือจะต่อเนื่องไป อยู่ที่การบำรุงรักษาทั้งสิ้น

ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ การภาวนาของเราก็อยู่ที่การกระทำของเรา เว้นไว้แต่กิเลสมันจะคอยสอดไง พอมาทำวิจัยปั๊บ “เห็นไหม กูบอกแล้วว่าอย่าทำๆ พอทำแล้วเสื่อมหมดเลย” กิเลสเวลามันเผานะ “กูว่าแล้ว”...ไม่ใช่หรอก

เราทำงานแล้วมันตึงเครียด มันต่างๆ เราก็กลับมาฟื้นฟู นี่เวลากิเลสมันคอยสอด กิเลสมันคอยซ้ำเติม จะเริ่มต้นจะทำ กิเลสมันก็พยายามจะไม่ให้ทำ พอทำไปแล้วนะ กิเลสมันก็คอยมายุมาแหย่ กิเลสนี้ร้ายนัก กิเลสนี้ไม่มีเหตุผล กิเลสคือมันเหมือนกับไฟป่า มันแผดเผาเขาไปทั่ว มันไม่ให้ใครได้ทำคุณงามความดีอะไรทั้งสิ้นเลย แต่ถ้าเรามีสติปัญญาเราก็ทำของเรา เรารักษาของเรา

“แบบนี้จะมีผลต่อการภาวนาหรือไม่”

การภาวนาของเราจะต่อเนื่องได้ด้วยความรอบคอบ ด้วยสติของเรา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเหตุและปัจจัย และวิธีการที่บำรุงรักษาที่ดี อะไรมันจะเสื่อม

ทีนี้พอกิเลสมันมาปัดแข้งปัดขา ไหลไปเลย “เฮ้อ! เรามันไม่มีอำนาจวาสนาแล้วล่ะ เลิกดีกว่า” ดีกว่าก็อยู่นั่นน่ะ ดีกว่ามันก็ขึ้นมาดีไม่ได้หรอก

แต่ถ้าเราฟื้นฟูมา เราก็ทำของเราขึ้นมา เพราะเราเชื่อมั่นมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปี หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นทุกข์ยากขนาดไหน หลวงปู่มั่นเวลาท่านพูดถึงเวลาท่านบากบั่น หลวงตาหันหน้าเข้าข้างฝาร้องไห้ทุกที ดูสิว่าหลวงปู่มั่นท่านสมบุกสมบันมาขนาดไหน

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมาจนเป็นพระอรหันต์ ท่านได้สมบุกสมบัน ท่านได้รักษาสมาธิ รักษาสติปัญญาของท่านแค่ไหน มันเจริญแล้วเสื่อมๆ เวลาท่านเล่าให้หลวงตาฟัง หลวงตาท่านอุปัฏฐากนวดเส้นอยู่สองต่อสอง หลวงปู่มั่นท่านก็เล่าของท่านเป็นเรื่องธรรมดา เป็นคติธรรมให้กับลูกศิษย์ฟัง ลูกศิษย์หันหน้าเข้าข้างฝา น้ำตาไหล ทุกข์

นี่พูดถึงว่า เราเชื่อมั่นว่าคนที่ภาวนาแล้วมันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วก็ขวนขวายประพฤติปฏิบัติพยายามรักษาให้มันฟื้นฟูขึ้นมาๆ ไอ้การเสื่อมอันนั้นน่ะมันเป็นประสบการณ์ ต่อไปถ้าเจออย่างนี้อีกก็รักษาให้ดีขึ้นๆ ไอ้ที่ว่าผลของการปฏิบัติมันอยู่ที่การรักษา มีสติปัญญา

แต่ถ้าคนอ่อนแอ กิเลสมันจะคอยยุ คอยทิ่มคอยตำ คอยยุคอยแหย่ “เห็นไหม กูว่าแล้ว” ล้มหมดเลย “เห็นไหม”...ก็เห็นน่ะสิ เห็นแล้วจะสู้กับมึง เห็นแล้วจะเอาใหม่ กลัวอะไร ไม่เคยสนเลย โธ่! อยู่ที่ความเพียรของเรา อยู่ที่ความมุมานะของเรา

คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ มันไม่ลอยมาจากฟ้า ถ้ามันทำความจริงนะ แต่มันมีอันเดียวเท่านั้นแหละ กิเลสมันคอยยุคอยแหย่ คอยทิ่มคอยตำ แล้วไม่ทันมัน ถ้าคิดดีๆ นี่ไม่ชอบ ถ้ากิเลสบอกว่า “กูว่าแล้ว” เออ! เชื่อเลย “กูว่าแล้ว” จบ

แต่เราไม่จบ เราไม่เคยจบเลย มันจะเสื่อม มันจะหยำเปขนาดไหน เดี๋ยวกูเอาใหม่ กูสู้กับมึง ทำจนมันได้ผลมา นี่ข้อ ๑.

“๒. ผิดศีลฆ่าสัตว์ข้อ ๑ มีกรรมไหม ทั้งแบบที่เราลงมือทำเอง และหมู่คณะที่เขาทำ”

เราทำเอง เห็นไหม เราทำเอง แต่เราไม่ต้องการฆ่าสัตว์ เรามีหัวข้อการวิจัยของเรา แต่หัวข้อการวิจัยนั้นมันวิจัยขึ้นมาจากสิ่งมีชีวิต จากสัตว์เซลล์เดียว เราก็วิจัยของเรา

เราไม่ใช่ว่า “เฮ้ย! กูโกรธแค้นมึง กูจะฆ่ามึง กูจะทำลายมึง”...ไม่ใช่ เราจะทำงานของเรา ถ้าเราจะทำงานของเรานะ แต่มันต้องอาศัยเริ่มต้นจากตรงนี้ ถ้ามันอาศัยเริ่มต้นจากตรงนี้ เราก็เอาเป็นเนื้องาน ถ้ามันจะเอาเนื้องาน ภาษาเรานะ เวลาจะทำก็จุดธูปจุดเทียนกราบมันก่อน ขออภัยมันก่อน สาธุ กูจะทำมึง...อันนี้พูดเล่นนะ แต่มันพูดมาที่หัวใจเราได้

“แล้วมันจะเป็นกรรมไหม”

กรรมดีไง เราจะทำกรรม ทำวิชาการสิ่งที่ดีๆ ไว้ให้กับประเทศชาติ ให้กับโลก กรรมมันมีทั้งดีและชั่ว เวลาเมาหยำเป เวลาเขาไปหมักทำเหล้ากัน นั่นน่ะกรรมที่ทำให้คนมัวเมาไง นั่นเขาก็ทำ โรงเบียร์ โรงบ้าต่างๆ นั่นก็กรรม แต่เราทำวิจัยมันก็เป็นกรรม กรรมดีกับกรรมชั่ว กรรมมันแยกดีและชั่ว แต่ถ้าเราทำกรรมดี สิ่งที่เป็นคุณงามความดี สิ่งที่เป็นประโยชน์ มันจะชั่วตรงไหน มันดีทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันทำของมันได้

คำว่า เป็นกรรม” จะบอกว่ามันไม่เป็นกรรมเลยก็ไม่ใช่ กรรม กรรมดีหรือกรรมชั่ว ทำเพื่อความดีงาม ความชอบธรรม กับทำเพื่อผลประโยชน์ ทำเพื่อความหยำเป ทำเพื่อให้ครอบครัวแตกแยก ทำให้คนมีแต่ความทุกข์ความยาก นั่นกรรมเหมือนกัน

“มันมีกรรมไหม”

มี แต่ดีหรือชั่ว

“ทั้งที่แบบเราทำเองหรือว่าหมู่คณะทำ”

ใช่ พอหมู่คณะทำ เพราะมันตั้งใจทำด้วยกันแล้ว เพราะถ้าวิจัยนี้ได้ผลงานขึ้นมา มันก็เป็นผลงานของทั้งกลุ่มใช่ไหม ไม่ใช่ของเราคนเดียว แต่ถ้ามันผิดพลาดก็ผิดพลาดทั้งหมด แต่สิ่งที่เราทำ เราทำของเรา เรื่องเราทำเพื่อประโยชน์กับเรา

ขณะที่ทำหน้าที่การงาน มันจบเหมือนกับที่ทางโลกเขาพูดกับสามีหรือภรรยาที่ไปทำงานน่ะ บอกว่า งานให้จบที่ทำงานนะ อย่าเอากลับเข้ามาบ้าน เอากลับเข้ามาบ้านแล้วนะ ตึงเครียดไปทั้งบ้านเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราทำวิจัยของเรา ในห้องปฏิบัติงานของเรา จบแล้วจบที่นั่น ถ้ากลับมา ถ้ามันติดในสมองบ้างก็พยายามละๆ มัน ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ไม่ให้มันกลับมาไง แล้วเราก็วิรัติ เราก็มาภาวนาของเรา หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธของเราไป

ภาวนาของเราไปไม่เสียหาย ถ้าเราทำของเราขึ้นมา ภาษาเรานะ จิตใจของเรามันจะเติบโต มันเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มันจะเข้าใจว่าอะไรเป็นประโยชน์อะไรเป็นโทษ เป็นประโยชน์ก็ประโยชน์กับเรา ไอ้สิ่งนั้นถ้าเป็นประโยชน์ก็ประโยชน์สังคม ไอ้สิ่งมีชีวิตนั้นเราไม่ทำ เขาก็ต้องตาย มันไม่ทำ เขาก็หมดอายุขัยของเขา มันเป็นเรื่องของเขาอยู่แล้ว มันเป็นกรรมของสัตว์ แต่นี่มันเป็นการต่อเนื่องในการงานของเรา

ถ้าว่า “เป็นกรรมหรือไม่”

จะบอกว่าไม่ใช่กรรมเลย ไม่ใช่ กรรม แต่กรรมดีและกรรมชั่ว กรรมเพื่อเป็นคุณและโทษ กรรมเพื่อประโยชน์ ประโยชน์เพื่อสังคม เราทำเพื่อประโยชน์สังคม เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาแล้วเราจะสร้างผลงานไว้กับโลกนี้ ทำคุณงามความดีไว้กับโลก แต่ทางวิชาการ ความรู้เป็นของเรา เพราะเราเป็นคนทำ ถ้าทำแล้วเราจะมาปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติของเรา มันทำได้ นักปฏิบัติต้องทำได้

“๓. อยากเริ่มให้ตรง ปลายจะได้ตรง ลูกควรตัดสินใจอย่างไรที่จะรักษาธรรม และชีวิตทางโลกให้อยู่รอดได้ในหน้าที่การงาน”

ในหน้าที่การงานก็หน้าที่การงาน เพราะว่าเราเกิดมาเราต้องมีหน้าที่การงาน สิ่งมีชีวิตมันต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าปัจจัยเครื่องอาศัย เราก็ทำปัจจัยนั้นเพื่อดำรงชีพของเรา ดำรงชีพไว้ประพฤติปฏิบัติ ดำรงชีพไว้ค้นคว้าหาสัจจะความจริง

สิ่งที่ว่ามันเป็นสัตว์เซลล์เดียว เป็นจุลชีพต่างๆ ถ้าเราพิจารณาของเรา จิตเราสงบแล้วเราเห็นจิตของเรา เรายิ่งจะเห็นของมัน ยิ่งละเอียดเข้าไป มันเปรียบเทียบอันนั้นเข้ามาไง สิ่งที่มีชีวิตๆ

ฉะนั้น ถ้ามันจะตรง มันจะเริ่มตรง ตรง มันต้องตรงต่อธรรม มันไม่ใช่ตรงต่อกิเลส แล้วตรงนี้ถ้าจะตรงต่อกิเลส ทางจะไม่มีเลย ขีดเส้นไว้ แล้วกูจะตรงอย่างนี้ แล้วชีวิตกูมันเป็นความจริง

ชีวิตนี้มันเป็นความจริงนะ ไอ้เส้นตรงคือการศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นคืออุดมการณ์ อุดมการณ์เป็นอุดมการณ์ ถ้าให้มันตรง ตรงจริงๆ สิ ตรงกับชีวิตนี้ ไม่ใช่ตรงที่อุดมการณ์ ตรงที่อุดมการณ์ แต่ชีวิตกูไปอย่างไรไม่รู้ ขึ้นต้นไม่เป็น ขึ้นต้นไม่ได้ ถ้าขึ้นต้นเป็น ขึ้นต้นได้ ขึ้นต้น เพราะขึ้นต้นมันจะเดินไปคู่ขนานกันระหว่างโลกกับธรรม โลกคือหน้าที่การงาน ธรรมคือการปฏิบัติ

เราก็มีอุดมการณ์ของเราอยู่แล้ว ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นทฤษฎี เป็นสัจจะเป็นความจริง แต่เรายังงงๆ อยู่เลย เรายังสงสัยอยู่เลย เรายังทำอยู่เลย แต่หน้าที่การงานของเรา เราพิสูจน์ได้ด้วยทางวิชาการ พิสูจน์ได้ด้วยทางเคมี พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์

ในทางปฏิบัติ ถ้าตรง หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันตั้งมั่นได้ มันพิจารณาของมันได้ แล้วเกิดถ้ามันใช้ปัญญาไป มันเทียบเคียงไปถึงจุลชีพ ถึงสิ่งมีชีวิต โอ้โฮ! เดี๋ยวปัญญามันแตกไปนะ ทั้งทางธรรมทางโลกไปด้วยกัน มันจะไปนู่นน่ะ

ถ้าปลายมันจะตรงไปนะ ปลายมันตรง ไอ้ปลายคือว่าผลของการปฏิบัติเราไม่ต้องไปแสวงหา ไม่ต้องไปเรียกร้อง เราปฏิบัติของเราไป ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเหตุมันสมบูรณ์ เหตุมันสมบูรณ์ของมัน ผลมันจะเป็นสัจจะเป็นความจริง

เป็นสัจจะความจริง ไม่ใช่คิดเอา ไม่ใช่ปรารถนาเอา ไม่ใช่คาดหมายเอา ไม่ใช่ตรึกเอา มันเป็นความจริง ความจริงเพราะเหตุมันล้นมาไง พฤติกรรมการกระทำมันล้นมา ล้นมาจนเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง นี่มันเป็นความจริง ฉะนั้น ถ้ามันตรง มันตรงที่นั่น อย่ากังวล

ไอ้นี่พอต้นมันตรงแล้ว เราจะบอกว่า ดันมีความรู้เยอะด้วยนะ เพราะต้นมันจะตรงไง พอต้นมันจะตรงขึ้นมา ไปฆ่าจุลชีพ จบเลย โอ้โฮ! มันเป็นปาณาติปาตา โอ้โฮ! มันฆ่าสัตว์ตั้งแต่ทีแรกเลย แล้วมันจะไปตรงตรงไหนวะ มันเลยเขวเลยไง เพราะดันรู้มาก ทำลายสิ่งมีชีวิตไม่ได้ พอขึ้นจะพิสูจน์ ต้นเลยเบี่ยงเบนเลย

ตรง ต้นตรงคือต้นขณะที่เรานั่งลงแล้วหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ต้นมันตรง แต่เวลาอยู่ในห้องแล็บ เวลาทำงานนั่นก็ตรง ตรงกับผลงาน ตรงกับการกระทำ ตรงตรงนั้นเลย แล้วถ้าตรง เริ่มต้นการวิจัย เวลาผลของมันคือจบ

นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นตั้งแต่หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ตรงต่อจิตของเรา ตรงต่อความเป็นจริงของเรา ตรงต่อสัจธรรมของเรา ถ้ามันเป็นความจริง อย่างนี้มันตรง

อย่างนี้พอเริ่มต้นก็เขวเลย เริ่มต้นก้าวเดินไปไม่ได้ มันก็ไม่มีสิ่งใดก้าวเดิน เราจะบอกว่า ทำงานวิจัยก็ได้ ภาวนาก็ได้ ได้ทั้งนั้นน่ะ เพราะว่ามันเป็นหน้าที่การงาน เราเกิดมาเป็นสิ่งมีชีวิต โลกนี้สมมุติสัจจะ เราเกิดมาโดยสมมุติ สมมุติสัจจะทางโลกก็เรื่องโลก

ธรรมะสัจจะ อริยสัจจะ สัจจะที่มันจะเป็นความจริงมันจะเป็นความจริงในใจของเรา ถ้าเราทำได้จริงมันเป็นความจริง

นี่นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ เริ่มต้นอะไรไม่ได้ โลกก็ไม่ได้ ธรรมก็ไม่ได้ โลกก็ทำไม่ได้เลย มันผิดศีล ธรรมก็ปฏิบัติแล้วกังวล “แหม! ปฏิบัติแล้วไม่ได้ผลงาน” ล้มไปทั้งสองฝ่ายเลย

แต่ถ้ามันวางใจได้ ทำให้เป็นกิจจะลักษณะ งานวิจัยจบที่ห้องทำงานนั้น ผลการปฏิบัติ จบที่หัวใจของเรา แล้วพยายามทำของเรา เริ่มต้นของเรา ทำของเราให้เป็นประโยชน์กับเรา ทำได้ ทำได้แล้วจบด้วย ทำได้ พอเสร็จแล้วนะ มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันไม่ใช่เป็นที่หลวงพ่อพูด

ถ้าหลวงพ่อพูด คนถามก็ไปถามอย่างนั้นน่ะ เสร็จแล้วก็จะมาเรียกร้องเอาจากหลวงพ่อ แล้วหลวงพ่อต้องเสกให้เป็นอย่างนั้นหมด...ไม่ใช่

กรรมคือการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครทำสิ่งใดที่เป็นผลตามความเป็นจริง คนคนนั้นจะได้สัจธรรม ไม่ใช่หลวงพ่อพูดหรือหลวงพ่อเสกให้ อยู่ที่การกระทำ แต่ที่หลวงพ่อพูดนี้พูดถึงสัจจะ พูดถึงความจริง ต้นตรง ปลายก็ตรง สัจจะ เจตนาที่ดี ตั้งใจทำคุณงามความดี ความดีของเราต้องตอบสนองเป็นคุณงามความดีของเรา ถ้าทำไปแล้วจะเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกกลางหัวใจของผู้ที่กระทำนั้น เอวัง