ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปัญญาเรา

๒๓ ก.พ. ๒๕๖๒

ปัญญาเรา

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๓๒๓. เรื่อง “เป็นสัญญาหรือปัญญาอบรมสมาธิครับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ โยมขอความเมตตาจากหลวงพ่อถามเรื่องภาวนาครับ คือตอนนี้โยมภาวนา โดยตอนเริ่มภาวนา โยมใช้ดูลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก พอเริ่มสงบลงบ้าง โยมเริ่มรู้ทันความคิด โยมจะบอกในใจว่า “มันไม่ใช่เอ็ง เอ็งไม่ใช่มัน มันเป็นแค่ขันธ์ ๕” และดึงความสนใจมาที่ธาตุลมที่ปลายจมูก โยมทำแบบนี้บ่อยเข้าทำให้โยมสงบดีขึ้น คิดน้อยลง อยู่กับลมเข้าออกที่ปลายจมูกเฉยๆ โยมอยากถามหลวงพ่อว่า

๑. โยมควรดูลมต่อไปเรื่อยๆ หรือจะกำหนดพุทโธเมื่อถึงตอนนี้ครับ แต่โยมเคยฟังหลวงพ่อตอบคำถาม หลวงพ่อตอบว่า ไม่ควรกำหนดพุทโธถ้าใช้วิธีดูลมหายใจอยู่

๒. แต่ถ้าโยมไม่กำหนดพุทโธ แต่โยมนึก พุท หายใจเข้า โธ หายใจออก จะใช้คู่กับดูลมได้หรือไม่ครับ

๓. การที่โยมคิดว่าความคิดมันไม่ใช่เอ็ง เอ็งไม่ใช่มัน มันเป็นแค่ขันธ์ ๕ ส่วนตัวเองนั้นธรรมชาติของมันต้องมีที่ตั้งอยู่ โยมเลยให้มันอยู่กับธาตุ ๔ แต่โยมใช้ดึงให้มันอยู่กับธาตุลมที่ไหลเข้าออก แบบนี้มันเป็นสัญญาหรือเปล่าครับ

โยมขอรบกวนหลวงพ่อตอบ ๓ ข้อครับ โยมกราบขอบพระคุณ

ตอบ : นี่เขาถามเนาะ แสดงว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่นะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่เวลาปฏิบัติเข้าไปแล้วมันมีรสมีชาติ คำว่า มีรสมีชาติขึ้นมา” เวลาปฏิบัติไป คนที่ปฏิบัติแล้วไม่มีรสมีชาตินะ แบบว่ามันจืดชืด จืดชืดแล้วมันพยายามอยู่กับความทุกข์ไง เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนามันอยู่กับความตึงเครียด มันอยู่กับความเคร่งเครียด มันอยู่กับความทุกข์ความยาก ปฏิบัติไปแล้ว มันปฏิบัติแล้วมันไม่เห็นได้อะไรเลย

แต่เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัตินะ ถ้ามันแบบว่าส้มหล่น ส้มหล่นคือว่าเขาเป็นธรรมโดยสัจจะโดยความจริง แต่ไม่ได้โดยการควบคุมโดยการดูแลของเรา นี่มันเป็นสัจจะเป็นความจริง มันเป็นสัจจะความจริง หมายความว่า ถ้ามันทำถูกต้อง มันก็คือความถูกต้อง ถ้ามันทำความผิดพลาด มันก็คือความผิดพลาด ถ้ามันทำแล้วมันไม่ได้ผล มันก็คือมันไม่ได้ผล ถ้าทำแล้วเวลามันจะได้ผล มันก็ได้ผลน่ะ แต่เวลาได้ผลเราไม่มีสติปัญญารอบรู้ได้ว่ามันได้อย่างไรๆ ไง อย่างนี้เราใช้คำว่า ส้มหล่น”

ส้มหล่นคือเราก็ทำของเราด้วยความทุกข์ความยาก เราทำด้วยความเครียด เราพยายามของเรานะ เวลาไม่เป็น อู้ฮู! มันทุกข์มันร้อนอยู่ตลอดเวลานะ แต่เวลามันจะสงบ เวลามันจะเป็นผลขึ้นมา เอ๊ะ! เอ๊ะ! เอ๊ะ! นี่ส้มหล่น เพราะมันไม่ได้ตั้งใจไง เวลาส้มหล่นขึ้นมาแล้วก็ยิ่งแปลกใจเข้าไปใหญ่เลย เวลาตั้งใจแล้วไม่ได้ เวลาไม่ตั้งใจล่ะมันได้ เอ๊ะ! ทำไมมันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันเป็นอย่างนั้นเพราะมันเป็นความชอบธรรม

นี่ไง เวลาที่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ โดยชอบธรรมคือสัมมาทิฏฐิ ความถูกต้องดีงาม

โดยไม่ชอบธรรม โดยไม่ชอบ มันไม่ใช่เป็นของเรา เราไม่รับรู้สิ่งใดทั้งสิ้น แต่เราพยายามจะเคลม เราพยายามจะบังคับให้มันเป็นอย่างที่เราตั้งใจ เราพยายามบังคับขู่เข็ญจะให้เป็นดั่งสมความปรารถนา พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ยอดเยี่ยม พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มันมีของมันอยู่แล้ว เราประพฤติปฏิบัติมันต้องได้อย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนั้น มันต้องสมความปรารถนาอย่างนั้น เราคิดของเราอย่างนั้นไง

เวลาคนไม่เชื่อมันก็ไม่เชื่อว่ามรรคผลนิพพานมี เวลามันเชื่อขึ้นมาแล้วมันก็บังคับ เวลาสร้างอารมณ์ สร้างภาพ สร้างความรู้สึกให้เป็นแบบนั้น มันก็ไม่เป็นแบบนั้น เห็นไหม

แต่ถ้าเราปฏิบัติตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริง ถ้ามันตามความเป็นจริง ทั้งๆ ที่เราไม่รู้เรื่องเลย เราไม่ได้ตามความเป็นจริงนะ แต่เราปฏิบัติอยู่นะ ไม่รู้เรื่องเลย แบบว่า โอ๋ย! เรานอนอยู่ ไม่รู้เรื่องเลยแล้วมันเป็น ไม่มีหรอก ไม่รู้เรื่องเลย

ไม่รู้เรื่องหมายถึงเราปฏิบัติอยู่ การปฏิบัติอยู่นะ มันมีข้อเท็จจริงของมัน ถูกหรือผิด แล้วถ้าคำว่า ไม่รู้เรื่องเลย” คือว่าเราไม่มีสติ ไม่มีความสามารถพอควบคุมดูแลให้ถึงได้ขนาดนั้น แต่ด้วยความเพียรของเรา ด้วยความวิริยอุตสาหะของเรา เราทำของเรา แล้วมันเป็นจริงของมัน มันก็เป็นแบบนั้นน่ะ นี่ส้มหล่น

คำว่า ส้มหล่น” แต่คนเรามันฝึกหัดบ่อยครั้งเข้าๆ ไอ้ที่ส้มหล่นๆ เราก็มาทบทวน พอทบทวนขึ้นมาแล้วเราทำได้จริง พอทำได้จริงนะ เราก็เริ่มปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันถูกต้องชอบธรรม ดีงาม ความถูกต้องชอบธรรม

ปฏิบัติธรรมด้นเดาธรรม ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมโดยการถูการไถ ปฏิบัติ เห็นไหม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้เองโดยชอบ โดยชอบธรรม

ที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี้ เราก็พยายามประพฤติปฏิบัติกันด้วยความชอบธรรม ด้วยความชอบธรรม มันเป็นสัจจะ เป็นวิทยาศาสตร์ หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง แน่นอน ถ้าหนึ่งบวกหนึ่งต้องเป็นสอง เป็นสี่ เป็นหก เป็นแปด ไม่ใช่ ถ้าเป็นอย่างนั้นมันไม่ใช่ หนึ่งบวกหนึ่งต้องเป็นสอง นี่ก็เหมือนกัน โดยข้อเท็จจริงถ้ามันถูกต้องดีงามแล้วมันต้องเป็นเด็ดขาด ฉะนั้น เราทำของเราตามนั้น

ถ้าตามนั้นแล้วมันก็เข้าสู่อารัมภบท เขาเริ่มภาวนาของเขา เวลาเขาเริ่มภาวนาของเขานะ หายใจเข้ากำหนดลมหายใจที่ปลายจมูก พอเริ่มเข้ามา เขาเริ่มใช้ความคิดของเขา ถ้าเริ่มใช้ความคิดของเขา เวลาถ้าจิตมันสงบ ถ้าจิตมันสงบ จิตมันมีกำลังแล้ว มันคิดสิ่งใด เขาถามว่ามันเป็นปัญญาหรือเป็นสัญญาไง

ถ้ามันเป็นปัญญาๆ มันเป็นปัญญาของเรา นี่ถ้ามันเป็นปัญญาของเราๆ ถ้าปัญญาของเรา ถ้าจิตสงบแล้ว จิตสงบมีหลักเกณฑ์มากเท่าใด เวลาเกิดสติปัญญาขึ้นมันก็จะลึกซึ้ง ลึกซึ้งกว้างขวางเท่านั้น

ถ้าจิตสงบเล็กน้อย มันก็มีความรับรู้ได้เล็กน้อย มันก็มีความมหัศจรรย์เล็กน้อย ถ้าคนฝึกหัดบ่อยครั้งเข้า ความมหัศจรรย์ๆ ถ้าเป็นปัญญาของเรา เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก หลวงตาท่านใช้คำว่า สดๆ ร้อนๆ สดๆ ร้อนๆ”

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒,๐๐๐ กว่าปีก็แล้วแต่ ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันเกิดกับเราสดๆ ร้อนๆ เป็นปัจจุบันเดี๋ยวนั้นๆ มันมหัศจรรย์เดี๋ยวนั้นไง ถ้าพอจิตมันกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก แล้วพอจิตมันมีกำลังบ้าง เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาของเราไง

โยมบอกมันว่า บอกกับกิเลสไง บอกในใจว่า “มันไม่ใช่เอ็ง เอ็งก็ไม่ใช่มัน มันเป็นแค่ขันธ์ ๕ มันเป็นแค่ขันธ์ ๕”

เห็นไหม พอจิตมันสงบ มันเข้าใจแล้ว มันสอนตัวมันเอง เวลามันสอนตัวมันเอง พอมันเข้าใจ เขาบอกเลย “มันมีความสงบดีขึ้น ความคิดน้อยลง มันมีความสุขมาก มันมีความเข้าใจ”

นี่ไง ผลของการปฏิบัติ นี่รสของธรรม รสของธรรม เห็นไหม

“อย่างนี้มันเป็นปัญญาหรือไม่”

ใช่ มันเป็นปัญญา ปัญญาของคน ดูหลวงตาเวลาท่านสอน ท่านบอกวิปัสสนาอ่อนๆ วิปัสสนาอ่อนๆ คือฝึกหัดปัญญาอ่อนๆ การฝึกหัดปัญญา ถ้าการฝึกหัดปัญญาโดยที่มันมีสมาธิ มีสมาธิคือมีจิตใจของเรา จิตใจของเรามันทุกข์มันยาก จิตใจของเรามันทุกข์มันยาก จิตใจของเราไม่มีที่พึ่งที่อาศัย เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา พอจิตใจของเรามันมีปัญญาขึ้นมา มันมีรสมีชาติ นี่ไง โอ๊ะ! โอ๊ะ! โอ๊ะ! นี่ไง ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนไง นี่ไง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วมันแค่ว่าจิตสูงต่ำแค่ไหน ถ้าจิตมันสูงส่ง เวลาปฏิบัติมหัศจรรย์ขึ้นไป มรรคหยาบ มรรคละเอียด ละเอียดสุด ละเอียดจนคาดไม่ได้คาดไม่ถึง เวลาปัญญามันเกิดขึ้น มันอยู่ข้างหน้าที่เราจะฝึกหัดไปข้างหน้า นั่นพูดถึงว่าเวลาจิตใจที่มันสูงส่ง

ถ้าจิตใจของเรา เราเป็นปุถุชนคนหนา เราเป็นคนเพิ่งฝึกหัดปฏิบัติ เวลาเกิดปัญญาขึ้นมาอย่างนี้มันก็มหัศจรรย์แล้ว เออ! เห็นไหม มันมีความสงบมากขึ้น มีความคิดน้อยลง มีแรงแผดเผาน้อยลง ความเครียดน้อยลง มันดีขึ้นทั้งนั้นน่ะ แล้วบอก “มันเป็นปัญญาใช่ไหม”

ใช่ เป็นปัญญา

ทีนี้เพียงแต่ว่าเขาสงสัยว่ามันเป็นปัญญาหรือเป็นสัญญา

คำว่า เป็นสัญญาขึ้นมา” ธรรมดาของคนเวลาเราปฏิบัติ เวลาเราศึกษามา เราอ่านมา เราเข้าใจหมดแหละ แล้วสอนคนอื่นได้ด้วยนะ เวลาจำมา ทฤษฎีของพระพุทธเจ้าจำได้หมดเลย แล้วจะสอนใครสอนได้ชัดๆๆ เลย แต่เวลาตัวเองปฏิบัติเข้าไปแล้ว เข้าไปเจอเอง งงเลย สอนตัวเองก็ไม่เข้าใจ ที่ศึกษามาแขวนไว้หมดเลยนะ ไม่เข้าใจ มันเป็นปัญญาหรือเป็นสัญญา

มันเป็นปัญญา แต่เป็นปัญญาขณะนั้น แต่ขณะที่เขียนมาถามหรือเราคุยกันนี่เป็นสัญญาแล้ว เพราะปัจจุบันมันล่วงเลยไปแล้ว นี่ถ้ามันเป็นสัญญา

คำว่า สัญญาๆ” เราจะบอกว่าถ้าปัญญาหรือสัญญา คำว่า สัญญา” เอาไว้เป็นสิ่งที่กันไว้ว่า เวลาเราปฏิบัติไปข้างหน้าๆ เวลาเกิดอะไรที่ว่าจะเป็นปัญญาๆ นั่นน่ะกิเลสบางทีมันบังเงา กิเลสมันซับซ้อนมันหลบซ่อนอยู่ในใจของเรา เราเลยขาดโอกาส ถ้าเราไม่เชื่อมัน แล้วเราพิจารณาต่อเนื่องไป ถ้ามันเป็นสัญญา บอกนี่เป็นสัญญาเพราะมันไม่มีรสมีชาติ เพราะมันไม่เข้าใจ ทำต่อเนื่องไป แต่ถ้าบอกว่าเป็นปัญญาแล้วมันจะหยุด มันจะทำแค่นั้น ไม่ทำต่อเนื่องไป คำว่า สัญญา”

คำว่า สัญญาๆ” สัญญาเพราะเราทำบ่อยครั้งเข้ามันได้ประสบมากขึ้นๆ จนมันเข้าใจไม่ได้ว่าเป็นปัญญาหรือเป็นสัญญา ถ้ามันมีรสมีชาติ ใหม่ๆ เป็นปัญญา มันมีรสมีชาติไง มันมหัศจรรย์ ความคิดน้อยลง ความฟุ้งซ่านหายไป ทุกอย่างดีขึ้น มันจะเป็นสัญญาได้อย่างไร

แต่ถ้าพอปฏิบัติบ่อยครั้งเข้าๆ มันสงบบ่อยครั้งเข้า มันสงบ แต่มันก็ยังคิด มันอยากได้ อยากดี อยากเป็น “ไอ้นี่เป็นปัญญา”...นี่เป็นสัญญา สัญญาก็มาเทียบเคียงกับสิ่งที่เคยได้ แต่สิ่งที่ละเอียดขึ้นไปมันยังไม่ได้ นี่สัญญา

สัญญามันเป็นอันตรายมากของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ คนที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็นเวลาเป็นครั้งแรกนั่นน่ะของจริง แต่พอมันจะเอาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะเอาสิ่งที่เคยพบเคยเห็นมาเป็นเครื่องสร้างภาพ พอเป็นเครื่องสร้างภาพ นั่นคือสัญญา

สัญญาๆ คำว่า สัญญา” เรารู้ได้แค่นี้ไง รู้ได้แค่ว่า “มันไม่ใช่เอ็ง เอ็งก็ไม่ใช่มัน มันเป็นแค่ขันธ์ ๕” ด้วยปัญญาอย่างนี้ กิเลสมันไม่มีเล่ห์เหลี่ยมที่มันจะโต้ตอบได้ มันก็อาย มันก็สงบตัวลง แต่พอเข้าไป “ไม่ใช่เอ็ง มันไม่ใช่เอ็ง เอ็งไม่ใช่มัน เป็นแค่ขันธ์ ๕”...เออ! ขันธ์ ๕ ก็คือเอ็งไง

เวลากิเลสนะ พอมันตั้งหลักได้นะ พอกิเลสมันตั้งหลักได้ ปัญญาแค่นี้เอามันไม่อยู่หรอก แต่ปัญญามันสดๆ ร้อนๆ มันเป็นปัจจุบันที่กิเลสมันยังไม่มีเล่ห์เหลี่ยมที่จะพลิกแพลงได้ มันก็สงบลง มันก็เบาลง แต่พอรอบสองรอบสามนะ กิเลสมันรู้ตัวแล้ว “มันไม่ใช่เอ็ง เอ็งไม่ใช่มัน มันเป็นแค่ขันธ์ ๕ ก็ขันธ์ ๕ ที่ยอดเยี่ยมไง”...โอ้โฮ! หลงไปเลย

นี่พูดถึงว่าสัญญาเป็นแบบนี้ไง สัญญาคือแบบที่ว่าเวลาพอมันรู้แล้ว มันพลิกแพลงขึ้นมา เราเองต่างหากพ่ายแพ้มันไป นี่ถ้ามันเป็นสัญญา

แต่ถ้ามันเป็นปัญญาๆ สิ่งที่ถามมา “มันเป็นปัญญาหรือไม่”

เป็น ปัญญาของเราชัดๆ เลย ปัญญาของเรา ทีนี้เพียงแต่ปัญญาอ่อนๆ ปัญญาเริ่มฝึกหัด ปัญญาจิ่มๆ เข้าไปในสัจธรรม ในอริยสัจ แต่ถ้าเป็นปัญญาโลกเป็นโลกียปัญญา มันก็คิดแบบโลกๆ คำว่า คิดแบบโลกๆ” คือมันไม่มีผลการปฏิบัติ มันไม่มีการหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิที่เขาทำมาจนจิตสงบแล้ว แล้วพอจิตสงบแล้วเราถึงคิดขึ้นมาในใจว่า เวลามันมีความคิดขึ้นมา “มันไม่ใช่เอ็ง เอ็งก็ไม่ใช่มัน มันเป็นแค่ขันธ์ ๕”

คือมันกับเราไม่ใช่อันเดียวกันแล้ว เห็นไหม

แต่ถ้าทางโลกนะ โอ้โฮ! ความคิดเป็นเราทั้งนั้นน่ะ คิดยิ่งใหญ่นัก ใครเข้ามาใกล้ไม่ได้หรอก มันจะย่ำเขาเลยล่ะ นั่นน่ะความคิดแบบโลกๆ ความคิดโลกๆ คือความคิดแบบโลกทัศน์ ทัศนคติจากจิตของตน แต่ถ้ามันสงบแล้วมันมีความคิดจากภายใน คำว่า ภายนอก ภายใน” ไง

เขาบอกว่า ภายนอกภายในมันเป็นอย่างไร ภายนอก ภายใน

ความคิดภายนอกก็โลกียปัญญา ถ้ามันสงบมาบ้าง มันจะย้อนกลับมา นั้นถึงจะเป็นภายใน ถ้าเป็นภายในมันถึงเป็นปัญญาของเรา นี้ปัญญาของเรามันก็เริ่มต้นนี่แหละ ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญามันก็มรรค ๔ ผล ๔ มันจะละเอียดๆ ขึ้นไปเป็นชั้นๆ ขึ้นไป มันจะค่อยๆ ต่อเนื่องขึ้นไป นี่พูดถึงอารัมภบท

“๑. โยมควรดูลมต่อไปเรื่อยๆ หรือกำหนดพุทโธเมื่อถึงตอนนี้ครับ แต่โยมเคยฟังหลวงพ่อตอบคำถาม หลวงพ่อตอบว่าไม่ควรกำหนดพุทโธถ้าใช้วิธีดูลมหายใจ”

เริ่มต้นให้กำหนดร่วมกันได้ ไอ้ที่เวลาตอบปัญหา เราตอบปัญหาคนไข้มาก ผู้ที่ปฏิบัติร้อยแปดพันเก้า แต่เริ่มต้น เริ่มต้นโดยหลักเลยนะ เวลาเราจะภาวนา คนเราเกิดมามีกายกับใจๆ ร่างกายก็เป็นร่างกายที่จับต้องได้ เป็นเนื้อหนังมังสานี่จับต้องได้ หัวใจจับต้องไม่ได้ หัวใจที่จับต้องไม่ได้ เวลาหัวใจจับต้องไม่ได้ เวลาจะปฏิบัติขึ้นมา แล้วจะปฏิบัติอย่างไรล่ะ

ถ้าปฏิบัติอย่างไร ให้หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เพราะอะไร เพราะลมหายใจ จิตมันเกาะลมหายใจ มันเป็นอานาปานสติ แล้วถ้าให้เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น มันก็ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ...ได้ ได้ ควรด้วย

คนที่ปฏิบัติใหม่ๆ ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ ทั้งอานาปานสติกับพุทธานุสติเอามาบวกกันรวมกันให้เป็นชิ้นเดียวกัน เป็นเหมือนกัน ให้เป็นรูปธรรม คือเป็นสิ่งที่จับต้องได้ชัดเจนขึ้น มันจะได้ภาวนาง่ายขึ้น หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ชัดเจน ชัดเจน

แต่นี้พอเวลาคนหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธแล้ว ถ้าคนมันภาวนา ๕ วัน ๑๐ วัน หรือภาวนามาเป็นปี มันคุ้นชินแล้ว พอมันนั่งหายใจเข้านึกพุท แล้วกว่าจะหายใจออกนึกโธ มันช้าเกินไป มันก็นั่งหลับไง สัปหงกโงกง่วง เวลามันจะหลับ มันจะหายไป ตอนนี้แหละเราถึงค่อยให้แยก เพราะอะไร เพราะลมหายใจนี้เป็นอานาปานสติ กำหนดพุทโธนี้เป็นพุทธานุสติ

ถ้าคนภาวนาใหม่ๆ มันจับต้องไม่ได้เพราะมันเป็นนามธรรมจนเกินไป พอมันเป็นนามธรรมจนเกินไป เราก็จับอะไรไม่ได้ เราก็มารวมกันให้มันเป็นรูปธรรมซะ

แต่พอรูปธรรมแล้วมันก็รับผิดชอบทั้งพุทโธและลมหายใจ รับรู้สองอย่าง สติมันอ่อนแอลง สติมันทำงานซับซ้อน เราก็ให้ทำงานให้เด่นชัด คือว่าให้วางสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้วางพุทโธก็ได้ กำหนดลมหายใจเฉยๆ ลมหายใจเฉยๆ พร้อมกับมีสติพร้อม หรือถ้าบางทีก็วางลมหายใจก็ได้ ท่องพุทโธ ท่องพุทโธๆๆ ให้มีสติพร้อม มันก็แยกรับผิดชอบให้มันชัดเจนเด่นชัด เพราะมันเป็นนามธรรม ให้มันละเอียดเข้าไป เวลาคนที่เขาสัปหงกโงกง่วงหรือนั่งแล้วสัปหงก เราถึงบอกว่าไม่ได้

หลวงพ่อนี่งงเลยเนาะ ทีแรกก็ว่าได้ แล้วก็บอกว่าไม่ได้ แล้วจะเอาตรงไหนล่ะ

ก็เอาตรงที่คนที่ปฏิบัติใหม่ที่ยังสับสน ยังภาวนาไม่ได้ นี่ได้ คือให้เป็นรูปธรรมให้มันชัดเจนซะ ฝึกหัดเหมือนคนมาหัดมวยไทย ฝรั่งมาหัดมวยไทย อะไรก็ได้ ขอให้มันเตะเป็นเตะได้ก่อน แล้วพอมันเตะแล้ว เออ! เตะอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เพราะมันเตะเก้งๆ ก้างๆ ถ้าเตะแล้วต้องเตะให้สวยงามอีกต่างหาก เห็นไหม เริ่มต้นก็ขอให้มันเตะให้ได้ก่อน

นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นก็ขอให้ภาวนาให้ได้ก่อน พอภาวนาได้แล้ว มันจะสัปหงกโงกง่วงแล้ว เออ! อันนี้ไม่ได้ อันนี้เราค่อยมาแยก เห็นไหม ได้หรือไม่ได้ มันเป็นสเต็ป มันเป็นขั้นตอนของมันไง

นี่เขาบอกว่า “ผมเคยฟังหลวงพ่อบอกว่ามันไม่ได้ ก็เลยไม่กล้าทำ”

โอ้โฮ! เสียดายโอกาสเลย เห็นไหม อย่างนี้ไม่ใช่ปัญญา ไอ้นี่สัญญา คือจำมาดิบๆ เลย ถ้าใช้ปัญญา เราก็ใคร่ครวญเอา มาพิจารณาเอาว่าอะไรควรไม่ควรไง ฉะนั้น พอฟังหลวงพ่อบอกว่าไม่ควรทำ กำหนดไม่ได้...ไม่ใช่

กำหนดได้สำหรับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ อานาปานสติคือการกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก พุทธานุสติคือการท่องคำบริกรรมพุทโธๆๆ แล้วหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านเอามาสอนไว้สำหรับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ ให้เอาอานาปานสติกับพุทธานุสติมารวมกันให้มันเด่นชัด ให้เป็นรูปธรรมที่การฝึกหัดของคนจะได้ชัดเจนขึ้น เพราะจิตนี้เป็นนามธรรม จิตนี้มันเป็นความรู้สึกที่มันจับได้ยาก ที่มันค้นหาได้ยาก ก็พยายามวางพื้นฐานให้มันเด่นชัดเพื่อจะจับต้องให้มันได้ง่ายขึ้น นี่คือผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่

ได้ ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ ได้ ทำไมจะไม่ได้ ได้สิ

แต่ถ้าไปข้างหน้านะ “๒. แต่ถ้าโยมกำหนดพุทโธ แต่โยมนึกลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ ใช้คู่กันไปกับดูลมได้หรือไม่ครับ”

นี่เหมือนข้อที่ ๑. ได้ ได้ๆๆ เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ต่อเมื่อมันหลับ สมมุติว่าเราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แล้วมันหายไปเลย เออ! ตกภวังค์ เพราะลมหายใจเป็นตัวถ่วง ลมหายใจมันต้องพร้อม

ถ้าอย่างนี้ปั๊บ ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ ถ้าสติดีๆ ก็ดีมากๆ เลย แต่ถ้าบางทีคนเรา อารมณ์คนมันไม่แน่นอน ถ้าบางวัน จิตมันมีความคิดรุนแรง มันไม่ได้ พอมันไม่ได้ขึ้นมา มันไม่ได้แล้วมันก็ถ่วงกันไปถ่วงกันมานะ แล้วก็นั่งหลับ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แล้วก็แว็บหายไปเลยนะ หลับไปครึ่งวัน สะดุ้งตื่นมา โ”อ้! กำลังพุทโธ แหม! ภาวนาดี๊ดี ภาวนาดี๊ดี อู้ฮู! จิตเป็นสมาธิ ครึ่งวันเลย”...มันยังไม่รู้ตัวนะว่ามันตกภวังค์หายไปครึ่งวันน่ะ

ทุกคนไม่รู้ตัวหรอก คนจะรู้ตนว่าตนเองทำผิดนี่แสนยาก คนนะ แล้วเวลาคนอื่นมาคอยบอก มันก็ไม่ฟังนะ อู้ฮู! เขาปฏิบัติมาดี๊ดี อิจฉาตาร้อน บอกเขาว่าตกภวังค์ แต่ถ้าวันไหนมันนั่งไปแล้วนะ แล้วมันสะดุ้งตื่น หรือมันฝันไปนะ หรือว่ามันน้ำลายไหลเปียกหมดเลย ตื่นมา โอ๋ย! ใช่ อันนี้นั่งหลับ

กว่าจะยอมรับว่าตัวเองตกภวังค์หายไปนี่ โอ้โฮ! เว้นไว้แต่คนที่มีวาสนานะ คนที่มีวาสนาเขาจะรู้ของเขาว่าเขาตกภวังค์ คือหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธแล้วก็หายไปเลย หลับไปเลย หลับไปเลย นั่งหลับ ตกภวังค์ มันเป็นสมาธิอย่างหนึ่ง คำว่า ตกภวังค์” มันเป็นมิจฉาสมาธิ มันเป็นการนั่งแบบหัวตอ นั่งเฉยๆ เหมือนตอไม้ ไม่มีความรู้สึกนึกคิด มันหายไปเลย ความรู้สึกนี้หายไปเลยนะ แล้วพอมันจะรู้ตัวนี่เหมือนคนตื่นนอน แบบอ่อนๆ นะ

แต่ถ้าคนที่มันตกภวังค์จนแก่ จนที่มันรุนแรงนะ เวลามันรู้สึกตัวเหมือนสะดุ้งเลยนะ สะดุ้งเฮือกขึ้นมาเลย มันยังไม่รู้ตัวนะน่ะ บอกมัน มันยังโกรธนะ “โอ้โฮ! อาจารย์นี่อิจฉาอีกแล้ว ทำไมอาจารย์อิจฉาน่าดูเลย อะไรๆ ก็ภวังค์ๆ” มันสะดุ้งตื่นมันยังไม่รู้ตัวเลยนะ

แต่ถ้าวันไหนรู้ตัว มันจะสำนึก อ๋อ! พระพุทธเจ้าสอนว่าภวังค์ๆ อ๋อ! ภวังค์เป็นอย่างนี้เอง นี่ที่ว่าตกภวังค์ๆ อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้เอง มันคล้ายๆ กับคนขับรถหลับใน คนขับรถหลับในเวลาหลับในแล้วมันไม่รู้เรื่องหรอก รถชนแหลกเลย รถชนไป ไปเจออุบัติเหตุแล้ว เอ๊ะ! ตื่น เหมือนกัน คนตกภวังค์น่ะ ถ้ามันพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ถ้ามันปฏิบัติไปๆ ส่วนใหญ่แล้ว ถ้ามันส่วนใหญ่ เพราะว่าคนเรา อำนาจวาสนาคนมันเบาบางไง มันไม่แก่กล้า

ถ้าอำนาจวาสนาของคนเข้มข้นแก่กล้านะ ขิปปาภิญญา ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย แล้วคนที่จะเป็นขิปปาภิญญา แสดงว่าเขาจะต้องสร้างสมบุญญาธิการมามาก เวลามาเกิดชาตินี้เขาถึงเป็นขิปปาภิญญาที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติแล้วสำเร็จได้ง่าย

แต่พวกเรา เราเชื่อไหมว่าเรามีบุญ ไอ้ขี้ทุกข์อย่างพวกเรานี่เชื่อไหมว่าเราได้บุญเยอะ ถ้าไอ้พวกบุญน้อยๆ ขอให้มีศรัทธามีความเชื่อก็นับว่าดีแล้ว แล้วปฏิบัติของเราไป ไอ้พวกนี้ต้องมาถูมาไถอย่างนี้ ตกภวังค์แล้วตกภวังค์อีก ตกภวังค์มันยังไม่ยอมรับว่าตกภวังค์ เวลาสะดุ้งตื่นขึ้นมานึกว่าเป็นพระอรหันต์นะน่ะ ความจริงมันเพิ่งฟื้นจากภวังค์มันยังไม่รู้ตัวเลย ถ้ามันรู้ตัวขึ้นมาแล้วมันค่อยมาแก้ไขไง

ถ้าแก้ไขก็มาตรงนี้ ตรงที่ว่า “แต่โยมไม่กำหนดพุทโธ แต่โยมนึกลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ”

กำหนดพุทโธๆๆ เพราะมันแยกอานาปานสติกับแยกพุทโธออกจากกัน เวลามันตกภวังค์ เวลาจะแก้ตกภวังค์ มันต้องพุทโธถี่ๆ พุทโธไวๆ

หลวงปู่เจี๊ยะ ครูบาอาจารย์หลายองค์มาก ท่านจะบอกพุทโธๆๆๆ คำว่า พุทโธๆๆๆ” เวลาคนเวลาอารมณ์รุนแรง อย่างเช่นเราไปโดนใครเขาตำหนิมา โดนใครเขานินทามา จิตใจมันร้อนเป็นไฟเลย มันคิดไม่ทันหรอก ทำอะไรก็ไม่ได้ ต้องพุทโธๆๆๆ สู้กับมันเลย เวลามันรุนแรง ไอ้พุทโธถี่ๆ กำหนดพุทโธๆ เลย

เขาว่าเขาไม่กำหนดพุทโธ แต่นึกลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ

นี่พุทโธกับลมหายใจมันพร้อมกัน แต่ถ้าถึงเวลาจะแยกนะ ลมหายใจก็ลมหายใจเฉยๆ สตินี่เพ่งเต็มที่เลย ดูลมชัดๆ เลย ลมชัดๆ บางทีลมเป็นแท่ง ลมใสเป็นแท่ง ดูลมชัดๆ เลย แล้วถ้าจะพุทโธก็พุทโธๆๆๆ พุทโธเต็มที่เลย ทำอย่างนั้นให้มันเบาบาลงสงบลงได้ นี่เวลาคนที่มันตกภวังค์

คำถามนี้เริ่มต้นจากว่า เอ็งไม่ใช่ข้า ข้าไม่ใช่เอ็ง เอ็งเป็นแค่ขันธ์ ๕

นี่เริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ กิเลสมันยังไม่รู้ตัวว่า อ๋อ! จะปฏิบัติไง พอปฏิบัติ กิเลสไม่ทันมันก็สงบได้ ก็เลย แหม! เขียนใหญ่เลยว่ามันไม่พุทโธ มันไม่อะไร แต่เดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวจะรู้จักกิเลส ปฏิบัติไปเดี๋ยวจะรู้จัก อ๋อ! กิเลสมันไม่ง่ายอย่างที่เราคิดเลยเนาะ แต่ใหม่ๆ ก็เป็นอย่างนี้ ดีขึ้น ไอ้คำว่า ดีขึ้น” คือความเข้าใจอย่างนี้ มันก็เป็นความเข้าใจ แต่ประสบการณ์มันยังไม่ถึงตอนนั้นไง

นี่พูดถึงว่า ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ ถูก ใช้ได้ ถ้ามันยังใช้ได้แล้วเป็นประโยชน์ ใช้ได้ แต่พอมันทำต่อเนื่อง นักปฏิบัติอาชีพ ปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง ปฏิบัติหลายๆ ปี ทำอย่างเดียวกิเลสมันหัวเราะเยาะ หลวงตาท่านสอนไง “นักปฏิบัติโง่ยิ่งกว่าหมาตาย”

คำว่า หมาตาย” หมามันตายมันมีแต่ซากศพ แล้วเราโง่ยิ่งกว่าหมาตายนี่แย่มากเลย

ฉะนั้น ถ้าไม่โง่ยิ่งกว่าหมาตาย ต้องมีอุบายวิธีการพลิกแพลง เวลาปฏิบัติ เวลาปฏิบัติไปแล้วมันจะพลิกจะแพลงนะ จะใช้อุบายอย่างนี้ๆๆ เราพลิกเราแพลง เราหลบไป เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างนี้ไม่ใช่โง่แบบหมาตาย

โง่อย่างกับหมาตายคือทำอย่างเดิมนี่แหละ ทำซ้ำซากอยู่นั่นแหละ กิเลสมันสงสาร เฮ้ย! มึงฉลาดสักหน่อยสิ ทำไมมึงไม่มีลูกเล่นเลยวะ โง่ฉิบหายเลย ไม่มีรสชาติเลย กิเลสไม่ต้องหลอกก็ตายหมดแล้ว นี่จนกิเลสมันยังบอกเลย ทำไมมึงโง่นักวะ เราก็ไปใช้อุบายไง

นี่พูดถึงข้อที่ ๒. ปฏิบัติไปเถอะ เวลามันปฏิบัติได้อย่างนี้มันมีรสของธรรม

“มันเป็นปัญญาของเราหรือไม่”

เป็น แต่เวลาวิธีการหรืออุบาย เราฝึกฝนไปข้างหน้า นี่พูดถึงว่า “แต่โยมไม่ได้กำหนดพุทโธ นึกแต่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ”

เหมือนกัน นี่มันเป็นอุบายวิธีการ เป็นอาวุธ เป็นเทคนิคที่เราจะเอาไว้ต่อสู้ หรือถ้ากิเลสมันมาแง่นี้ เราก็ใช้แง่นี้ เราก็ใช้มุมนี้ ต่อเรื่อง พลิกแพลง หลบเลี่ยงกันไปเพื่อจะพาหัวใจนี้ให้สงบได้ เพื่อพาหัวใจของเราให้ไปปฏิบัติเพื่อปฏิบัติได้ เพื่อพาหัวใจให้ดีงามขึ้นมาได้ นี่พูดถึงว่า นี่คืออุบายวิธีการในการปฏิบัติ นี่ข้อที่ ๒.

“๓. การที่โยมคิดว่า ความคิดไม่ใช่เอ็ง เอ็งไม่ใช่มัน มันเป็นแค่ขันธ์ ๕ ส่วนตัวเองนั้นธรรมชาติของมันต้องมีที่ตั้งอยู่ โยมเลยให้มันอยู่กับธาตุ ๔ แต่โยมใช้ดึงให้มันอยู่กับธาตุลมที่ไหลเข้าออก แบบนี้มันเป็นสัญญาหรือเปล่าครับ”

มันเป็นวิธีการ ถ้ามันเป็นสัญญา สัญญาก็เริ่มต้นจากรูปแบบที่เราทำให้ได้ก่อน ถ้ามันทำแล้วได้ผลนะ ถ้ามันทำแล้วมันสงบได้ มันดีได้ เริ่มต้นมันดีได้ นี่ได้ แต่อุบายที่เราใช้แล้วใช้เล่า ข้าศึกมันรู้เท่ารู้ทัน เราก็ค่อยเปลี่ยนแปลงไป

ถ้ามันเป็นปัญญา ปัญญาเพราะจิตมันสงบ เพราะจิตมันสงบ เพราะว่าความคิดมันน้อยลง ไอ้นี่มันเป็นปัญญา แต่ถ้าใช้ต่อเนื่องไปๆ ที่ว่ามันจะเป็นสัญญา นั่นน่ะเป็นสัญญาคือกิเลสมันรู้เท่า กิเลสมันรู้เท่า เอ็งไม่ต้องปฏิบัติเลย กิเลสมันตั้งให้ก่อนเลย ปฏิบัติอย่างนี้ๆๆ แล้วก็ทำทุกอย่างพร้อมแล้ว จบ แล้วทำไมไม่เห็นเป็นสมาธิล่ะ

ถ้าเป็นสัญญานะ มันเป็นวิธีการรูปแบบที่เราจะทำ คือทำให้สมบูรณ์ ทำให้ครบไง อ้าว! เดินจงกรม เดินจงกรมเลย ๒ ชั่วโมง อ้าว! ๒ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมงแล้วทำอย่างไรต่อ เลิก...นี่ไง นี่สัญญา ถ้าเป็นสัญญาแล้วมันก็ไม่ดีขึ้น มันก็ไม่ชัดเจนขึ้น เราก็ค่อยๆ แก้ไขของเรา เราเปลี่ยนแปลง เราพลิกแพลงของเราขึ้นไป

แต่ที่เขาว่า เอ็งไม่ใช่มัน มันไม่ใช่เอ็ง เอ็งไม่ใช่มัน

เพราะไอ้นี่มันเป็นปัจจุบัน มันคิดตอนนั้นแล้วมันได้ผล อันนี้เป็นปัญญาของเรา เป็นปัญญาเรา นี่เป็นปัญญาฝึกหัดให้เห็นความแตกต่างกับปัญญาที่การจดจำ ปัญญาที่การศึกษา ปัญญาที่เราเคยคิดค้นมาตลอด มันเป็นอย่างนี้ไหม ไม่เป็น เป็นอย่างนี้มันดีกว่า จริงไหม ถ้าเป็นอย่างนี้ดีกว่า คือมันเป็นปัญญาของเรา แม้แต่ว่ามันจะอ่อนด้อยในแง่มุมของคุณธรรมในพระพุทธศาสนานะ

ในแง่คุณธรรมในพระพุทธศาสนา เขาจะเห็น อู้ฮู! มันเป็นปัจจุบัน มันเห็นเป็นไตรลักษณ์ มันจะละเอียดลึกซึ้งกว่านี้มาก เห็นเวลาอริยสัจเกิดขึ้นกับใจ อวิชชาขึ้นมา เวลาปัญญามันเกิด นั่นละเอียดลึกซึ้งไป อันนั้นมันเป็นขั้นตอนถึงเวลาที่มรรคผลที่มันจะเป็นคู่ต่อกรกันระหว่างกิเลสกับธรรม อันนั้นจะละเอียดกว่านี้มาก

แต่ไอ้นี่ปัญญา ปัญญาเริ่มต้น ปัญญาอย่างการฝึกหัดพื้นฐาน ที่ว่า เอ็งไม่ใช่ข้า ข้าไม่ใช่เอ็งต่างๆ มันเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันที่ให้เท่าทันกับความรู้สึกของตน แล้วพอเท่าทันความรู้สึกของตน มันก็สงบลง มันเบาบางลง เราถึงมีรสชาติแบบนี้

ถ้ามันเป็นปัญญาหรือไม่

เป็น แต่มันเป็นปัญญาโดยเบสิกพื้นฐานเท่านั้น แล้วเราก็ฝึกหัดของเราขึ้นไป ไม่ต้องไปขีดเส้นว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ๆ เพราะการประพฤติปฏิบัติไม่มีรูปแบบสำเร็จ ถ้ามีรูปแบบสำเร็จ กิเลสหัวเราะเยาะแล้ว

เวลาปฏิบัติมันต้องเป็นปัจจุบัน เป็นปัจจุบัน เป็นปัจจุบันสดๆ ร้อนๆ ตลอด แต่เวลาปฏิบัติมันเป็นรูปแบบทั้งนั้นน่ะ พอเป็นรูปแบบก็ต้องรูปแบบไปก่อน เพราะไอ้นี่รูปแบบคือกิริยา แต่การปฏิบัติจริงๆ คือหัวใจ คือความรู้สึก ความรู้สึกให้เป็นปัจจุบัน ให้มันสงบระงับมาเป็นปัจจุบัน

ถ้าเป็นปัจจุบันแล้ว ถ้าเรามีสติปัญญา จิตตั้งมั่นๆ การทำความสงบบ่อยครั้งเข้าๆ การฝึกหัดจนเราเข้มแข็งขึ้นมา เห็นไหม มันก็เป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิขึ้นมาแล้วเราก็ฝึกหัด จิตเห็นอาการของจิต ให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นั่นฝึกหัดอย่างนั้น ถ้ามันมีปัญญายกขึ้น มันจะเป็นวิปัสสนา มันจะเป็นอริยสัจ เห็นไหม วิธีการ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

นิโรธคือการดับทุกข์ ดับทุกข์ด้วยมรรค ด้วยวิธีการ วิธีการ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ งานชอบ ความกระทำชอบ ความชอบธรรม ความชอบธรรมนั้นมันจะเกิดนิโรธ เกิดการดับทุกข์ ดับทุกข์ด้วยมรรคอันนั้น ถ้าเราฝึกหัดขึ้นมาโดยเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา มันจะเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาโดยวิธีการของเรา

ฉะนั้น ปฏิบัติไปแล้วมันถึงไม่มีสูตรสำเร็จไง ไม่มีสูตรสำเร็จคืออารมณ์ความรู้สึกของคนมันไม่เหมือนกัน อารมณ์แต่ละอารมณ์มันก็ไม่เท่ากัน ความยึดติดในแต่ละครั้งแต่ละคราวมันก็หนักเบาแตกต่างกัน เราทำให้มันสมดุลๆๆ สมดุลคือมัชฌิมาปฏิปทา คือความสะดวกความพอดีของมัน เราทำปฏิบัติอย่างนั้น ถ้าปฏิบัติอย่างนั้นมันก็จะเป็นปัญญาต่อเนื่องๆ ไป

ฉะนั้นบอกว่า มันเป็นปัญญาหรือไม่

เป็น แต่ถ้ามันเป็นปัญญาอย่างนี้ ถ้าปัญญาอย่างนี้ตายเลย เพราะกิเลสไอ้ตัวที่มันเข้มแข็งเข้มข้นกว่า ที่มันฉลาดมากกว่า มันปั่นหัวเราตายเลย คนที่จะปฏิบัติไปมันต้องมีครูบาอาจารย์เพราะเหตุนี้ไง เพราะเวลาปฏิบัติขึ้นไปๆ แล้ว กิเลสมันละเอียดขึ้นไปแล้วมันหลอกซับหลอกซ้อน แง่มุมมันจะลึกลับมากกว่า

แล้วเรา เราเคยปฏิบัติมาอย่างนี้ เราใช้ปัญญาอย่างนี้ เราเคยชนะกิเลสอย่างนี้ เราบอกปัญญาอย่างนี้ต้องฆ่ามันๆ ปัญญาอย่างนี้ก็เหมือนเรา เรามีมีด นักรบโบราณของเรา เราแพ้เรือปืน เรือปืนก็เพราะนี่ไง มีดสู้ปืนไม่ได้ ดาบสู้ปืนไม่ได้ มีดาบขึ้นไป ปืนยิงกระเด็นหมดน่ะ แล้วเดี๋ยวนี้ปืนสู้นิวเคลียร์ไม่ได้ ไม่ต้องรบเลย กดน่ะ ตายอยู่ที่บ้าน อยู่ในบ้านมันยังตายเลย มันสู้กันไม่ได้ด้วยเทคโนโลยี มันสู้กันไม่ได้ด้วยสติปัญญา

อันนี้ก็เหมือนกัน มรรคหยาบๆ เราไม่มีดาบ ไม่มีดาบเลยก็ไม่มีอาวุธ พอมีดาบขึ้นมา เก่งเลยนะ เขามีปืน กิเลสมันมีปืนมายิงโป้ง กระเด็นเลย แล้วไอ้คนที่มีปืนก็นึกว่ามันเก่งไง เดี๋ยวนี้เขากดปุ่มที่บ้าน ตายหมด ปืนขึ้นสนิม ปืนไม่ได้ยิงแล้วกันแหละ ตายหมด นี่มรรคหยาบ มรรคละเอียด

ฉะนั้น ถ้ามันเป็นสัญญา มันเป็นปัญญา เราฝึกหัดไป มันเป็นอย่างใด ให้รสของธรรมให้เป็นปัจจุบันนี้ เป็นปัจจุบันนี้นะ

สัญญาๆ มันอย่างที่ว่า สัญญาๆ มันมีสิ่งใดแล้วมันจะยึดมั่นถือมั่นของมัน แล้วใช้ไม่ได้ มันจะละเอียดรอบคอบขึ้นไปเรื่อยๆ อาวุธ ความเป็นจริงในการประพฤติปฏิบัติ มันจะละเอียดลึกซึ้งไปมากกว่านี้อีกเยอะมากนัก เพราะมันมีสติ มหาสติ ปัญญา มหาปัญญา ปัญญาอัตโนมัติ ปัญญาญาณน่ะ เวลาข้างบนมันใช้ปัญญา มันเป็นญาณหยั่งรู้ ละเอียดลึกซึ้งกว่านั้นเยอะ นี่ไง มันถึงบอกว่ามันรอบคอบกว่า แล้วมันจะแตกต่างกว่า นั้นมันเป็นเรื่องการปฏิบัติไปข้างหน้าไง

นี่เพราะเขาถามว่า ปัญญาหรือสัญญา

เพราะสัญญาจะมีโทษ มีโทษข้างหน้านู่น ข้างหน้า ข้างบน ความจำทั้งนั้นน่ะ เพราะคนส่วนใหญ่แล้วไม่มีความมุมานะ ไม่มีความสามารถจะทำจิตใจให้ขึ้นไปละเอียดลึกซึ้งขนาดนั้นได้ แล้วก็ไปจำมาเป็นสัญญาไปสร้างภาพทั้งนั้นน่ะ แล้วตายอยู่นั่นหมด แล้วมันไม่มีอยู่จริงไง

ถ้ามันมีอยู่จริงนะ มันมีรสของธรรม รสของธรรมคือมีคุณธรรม มีคุณธรรม เห็นไหม ดูพระอานนท์กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ ดูหลวงตากับหลวงปู่มั่นสิ ดูหลวงปู่ลีกับหลวงตาสิ คนที่มีคุณธรรมจากใจมันแสดงออกอย่างนั้นโดยไม่ต้องให้ใครมาชี้นำ ไม่ต้องให้ใครมาแยกแยะ ไม่ต้องให้ใครมาส่องกล้องมอง มันเป็นคุณธรรมในใจ มันเป็นคุณธรรมจากธรรม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม กราบธรรมคือมันสัจธรรม คุณธรรมอันนั้น นั่นน่ะความจริง ถ้าความจริงเป็นอย่างนั้นนะ เพราะมันมีการกระทำ มันมีมรรคมีผลขึ้นมา มันถึงเป็นแบบนั้น มันถึงมีคุณธรรมอย่างนั้น

แต่สัญญา สัญญามันจำมานะ อู้ฮู! มันพูดแจ้วๆๆ...เผลอ มันเสียบตลอด เผลอ มันช่วงชิง ฉกฉวยช่วงชิง การฉกฉวยช่วงชิง แซงหน้าแซงหลัง นั่นมันคือกิเลส ไม่ใช่ธรรม การบดบี้ เอาชนะคะคาน กิเลสทั้งนั้น ไม่มีธรรม เอวัง