ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เป็นทั้งสองอย่าง

๑๖ มี.ค. ๒๕๖๒

เป็นทั้งสองอย่าง

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๒

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ๒๓๒๙. เรื่อง “สิ่งนี้ใช่สมาธิหรือภวังค์”

กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง ลูกกราบขอความเมตตาชี้แนะให้ความกระจ่างในการปฏิบัติด้วยค่ะ เนื่องจากลูกไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เคยสัมผัสจากการปฏิบัติมาสักระยะหนึ่งนี้เป็นการตกในภวังค์หรือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ถ้าผิดพลาด ลูกกราบขอความเมตตาช่วยชี้แนะแนวทางแก้ไขด้วย

ลูกได้นั่งสมาธิและฟังเทศน์ของหลวงพ่อไปด้วย ในขณะที่นั่งสมาธิก็ยึดติดกับคำเทศน์ของหลวงพ่อ และใช้ความคิดตามเทศน์นั้นไป (ไม่ได้นึกพุทโธ) ลูกมีความรู้สึกตัวอยู่ในคำเทศน์ จนกระทั่งหลวงพ่อเทศน์จบและกล่าวคำว่า เอวัง” ลูกกลับมามีความรู้สึกอีกครั้ง และรู้สึกหนาวสะท้านตัวมาก เพราะอากาศโดยรอบนั้นหนาว แต่ลูกก็ยังสงสัยว่า เราก็นั่งอยู่นานแล้ว ทำไมก่อนหน้านั้นเราไม่มีความรู้สึกหนาวเลย และทำไมเราเพิ่งมารู้สึกเอาตอนนี้ ลูกเลยไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการได้สัมผัสกับสมาธิ หรือเป็นการที่ลูกตกอยู่ในภวังค์และไม่รู้ตัว ถ้าใช่การตกภวังค์ ลูกกราบขอคำชี้แนะแก้ไขด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณด้วยความเมตตาหลวงพ่อในโอกาสนี้

ตอบ : เวลานั่งสมาธิ เรานั่งสมาธิ เราต้องการความสงบของใจก่อน คำว่า นั่งสมาธิ” เรานั่งสมาธิแบบว่าเราเป็นชาวพุทธใช่ไหม ดูสิ ในยุโรปในทางตะวันตกเขาเคร่งเครียดกับหน้าที่การงานของเขามาก เวลาเขาเคร่งเครียดกับหน้าที่การงานของเขามาก เวลาเขามาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าให้ทำสมาธิๆ เขาพอใจนะ แล้วเขาแสวงหา เพราะว่าเขาเครียด เขามีความกดดันในใจของเขามาก มีความกดดันอยู่ในใจแล้วพูดให้ใครฟังไม่ได้ด้วยนะ เพราะสถานะทางสังคมเขาเป็นผู้บริหาร เขาเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย เขาเป็นผู้อำนวยการองค์กรต่างๆ สถานะทางสังคมเขายิ่งใหญ่ แล้วเขามีความทุกข์ในหัวใจ เขาจะพูดให้ใครฟัง มันมีความกดดันในหัวใจ มันมีความเครียดมาก แล้วเขาก็มาศึกษาพระพุทธศาสนา

เวลามาศึกษาพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอน ถ้าพระพุทธศาสนาสอน สอนถึงที่สุดแห่งทุกข์ สอนเรื่องมรรค ๘ เรื่องอริยสัจ เรื่องสัจจะ เรื่องความจริง แต่โดยพื้นฐานท่านสอนให้ทำสมาธิก่อนๆ พวกนี้ก็เข้าได้แค่สมาธิ เพราะความรู้ของมนุษย์ ความรู้ของสังคมโลกก็รู้ได้ถึงความฟุ้งซ่าน รู้ได้ถึงความกดดันในหัวใจ ก็รู้ได้ด้วยจิตสงบ จิตสงบที่เป็นสมาธิ รู้ได้แค่นี้ เรื่องมรรคเรื่องผลเอาไว้ข้างหน้า เอาไว้ข้างหน้าเลย ถ้ามันทำจริงเห็นจริงมันถึงจะเป็นอริยบุคคลความเป็นจริง นั่นมันยังอีกยาวไกล มันอยู่ข้างหน้า

เอาตรงนี้ เอาตรงนี้ให้ได้ก่อน ถ้าเอาตรงนี้ให้ได้ก่อน เวลาเขามาศึกษาพระพุทธศาสนา แล้วเขามาทำสมาธิกัน เขามหัศจรรย์ เขาศรัทธา เขาเคารพบูชา เขาตื่นเต้นของเขา แค่ว่าจิตสงบๆ ทำสมาธิ เห็นไหม

เราจะบอกว่า เวลาทางยุโรป ในหน้าที่การงานเขาประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่ผู้ที่มาศึกษาศาสนา ส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะเป็นนักวิชาการ เขาค้นคว้าของเขาอยู่แล้ว แล้วเขาสอนในมหาวิทยาลัย ในอาชีพเขา เขาประสบความสำเร็จอยู่แล้ว แต่เขามีความกดดัน เขามีอะไรทุกข์ในใจ แล้วเขาไปพูดให้ใครฟังก็ไม่เข้าใจ เวลาไปศึกษาลัทธิศาสนาอื่นก็อ้อนวอนขอ คือว่าให้มันหายเอง ว่าอย่างนั้นเลย แต่ในพระพุทธศาสนาไม่มี พระพุทธศาสนาสอน สอนให้ทำความสงบของใจเข้ามา

ทีนี้เวลาทำความสงบของใจเข้ามา เขาพยายามมาทำสมาธิๆ เวลาทำสมาธิมันก็มีคุณค่าแล้ว มันมีคุณค่า มีคุณค่ามาก มีคุณค่ามากเพราะอะไร เพราะเขาอยู่ทางยุโรป เขาถือลัทธิศาสนาอื่น เขาอ้อนวอนขอ แล้วแต่พระเจ้าจะบัญญัติ พระเจ้าจะบงการ พระเจ้าจะเมตตาให้เขา แต่พระพุทธศาสนาสอนว่าให้ดูแลรักษาหัวใจของตนเอง นี่เวลาเขาศึกษาแล้วเขาก็มหัศจรรย์

แต่เราชาวพุทธ ชาวพุทธอยู่ในเมืองไทยไง เราคุ้นเคยกับวัด คุ้นเคยกับพระ เราคุ้นเคยกับวัฒนธรรมประเพณีไง พอคุ้นเคยวัฒนธรรมประเพณี เวลาเป็นตำนาน เป็นตำนานในโบสถ์ในวิหาร ภาพวาดต่างๆ เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม โอ้โฮ! มหาศาล ไอ้เราปฏิบัติไปเลยกลายเป็นลิเกละครไปเลย เพราะวัฒนธรรมของเรามันซับไว้ในใจไง พอซับไว้ในใจ เวลาเราจะมาประพฤติปฏิบัติ

เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ คนที่เขาไม่เคยเห็นไม่เคยเจอ พอเขาเจริญในทางวิทยาศาสตร์ เขาเป็นผู้ที่มีปัญญา เวลาเขาศึกษาแล้ว เขาทำของเขาโดยข้อเท็จจริงของเขา เขาจะทำสมาธิของเขา เขาจะทำความสงบของใจของเขา แล้วเขาก็ได้ประสบความสุข เขาก็พอใจ เขาก็ศรัทธามาก

ไอ้ของเรา เราอยู่กับพระพุทธศาสนาเลย เราอยู่กับพวกเกจิอาจารย์ อยู่กับพวกฤทธิ์พวกเดชเลย แล้วเวลาจะมาภาวนา เวลาจะมาภาวนาไง เวลาจะภาวนา พระพุทธศาสนาสอนถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เวลาครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติ คนนั้นก็หัน หันซ้ายหันขวา เวลาหันซ้ายหันขวาก็ป้อนข้อมูลให้เรากระทำ เวลาป้อนข้อมูลให้เรากระทำ เราก็หันรีหันขวาง ครูบาอาจารย์หันซ้ายหันขวา ไอ้เราหันรีหันขวาง แล้วปฏิบัติไปมันก็เลยล้มลุกคลุกคลานไง ถ้าล้มลุกคลุกคลาน เห็นไหม เราจะทำความสงบของใจ

เวลาครูบาอาจารย์เราสอนนะ เวลาครูบาอาจารย์เขาจะหันซ้ายหันขวา เราไม่ต้องไปหันรีหันขวางกับเขา เราไม่หันรีหันขวาง เราจะกลับมาทำความสงบของใจเข้ามา เราจะค้นคว้าหาใจของเรา เราจะเชื่อพระพุทธศาสนาโดยปัจจัตตัง โดยสันทิฏฐิโก โดยกาลามสูตร ไม่เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เชื่อแม้แต่คำสั่งสอนคำบงการของใคร หันซ้ายหันขวาก็เรื่องของเขา แล้วเราก็ไม่ต้องไปหันรีหันขวางกับใครทั้งสิ้น

เรามีครูบาอาจารย์ของเรา เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านสอนเรา สอนให้ทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจเข้ามา ทีนี้ถ้าเราจะมาทำความสงบของใจเข้ามา นี่พูดถึงว่าประสบการณ์ในการปฏิบัติของเขา เวลาเขานั่ง สิ่งที่เขาสัมผัสในระยะหนึ่ง อย่างนี้มันใช่ตกภวังค์หรือไม่ มันถูกต้องหรือไม่ ถ้ามันตกภวังค์ มันจะแก้ไขอย่างไร แล้วถ้ามันถูกต้อง มันถูกต้องอย่างไร แล้วถ้ามันผิดพลาด มันผิดพลาดตรงไหน

เวลาคำว่า ตกภวังค์” มันเป็นผลของการที่คนประพฤติปฏิบัติทำสมาธินี่แหละ เวลาเราจะทำสมาธิ ถ้าเราทำสมาธิไม่ได้ ความรู้สึกของเรามันรู้สึกอย่างนี้ มันตึงเครียด มันเครียด กดดันมาก เวลาเรานั่งพุทโธใหม่ๆ มันตึงเครียดไปหมด มันกดดัน

แต่ถ้าหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันเคลียร์ คำบริกรรม จิตมันบริกรรมของมัน มันนวดในใจของมัน มันจับนวดในหัวใจให้มันเป็นไปตามความจริงของมัน พอความจริงของมัน จากความตึงเครียดมันก็เบาบางลง ถ้าเบาลง อย่างนี้มันเป็นสมาธิหรือไม่

มันเป็นสมาธิโดยพื้นฐาน โดยแบบว่าเริ่มต้น สมาธิเป็นบาทเป็นฐานไปเรื่อยๆ พอเป็นสมาธิ จิตใจถ้ามันไม่เป็นสมาธิ มันจะตกภวังค์ได้อย่างไร

เวลามันตกภวังค์ๆ เราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธนี่แหละ เราต้องการสมาธิ แล้วพอจิตใจ มันเหมือนเราเดินไปบนแผ่นดิน แผ่นดินมันมีหลุมมีบ่อ ถ้ามันตกหลุมตกบ่อไป มันก็ตกไป ถ้าเราไม่เดินไป เราจะตกหลุมตกบ่อไหม จิตใจของเราโดยปกติมันก็เป็นปุถุชน เป็นคนหนา มันเป็นสามัญสำนึก เป็นความคิดธรรมดาเรานี่แหละ เราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เรารักษามัน ถ้าจิตมันพัฒนาขึ้น มันเป็นสมาธิไหม

เราบอกว่า มันเป็นทั้งสองอย่าง มันต้องเป็นสมาธิบ้าง ถ้าเป็นสมาธิ ถ้าเรารักษาดีนะ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มีสติสัมปชัญญะเข้าไป เห็นไหม วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ องค์ของสมาธิ ถ้ามันมั่นคงขึ้นมา วิตก วิจาร เวลาวิตก หายใจนึกพุทโธๆ วิตก วิจาร วิตก วิจารไปเรื่อยๆ มันจะเกิดปีติ เวลาเกิดปีติขึ้นมา โอ้โฮ! ตัวใหญ่ตัวพอง ขนพองสยองเกล้าต่างๆ เกิดปีติ

เกิดปีติใหม่ๆ มันจะตื่นเต้น ตื่นเต้นมาก แต่คนเกิดบ่อยๆ ถ้าไม่มีวาสนามันก็ได้แค่นี้ แต่คนถ้ามีสติปัญญา เกิดปีติ ปีติแล้วเราพุทโธของเราต่อเนื่องไป ปีติ มันวางปีติมันจะมีความสุขของมันนะ ความสุขคือสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตที่เป็นอิสระ จิตที่ไม่ได้แบกรับภาระความคิด

ธรรมดา ผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ผู้รู้มันจะทรงตัวมันเองไม่ได้ มันต้องไปเกาะสิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์ความรู้สึก แต่ตัวธาตุรู้มันอีกตัวหนึ่ง แต่เวลามันจะแสดงตัว มันไปเกาะอารมณ์อันนั้น

ผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้ เราก็พุทโธๆๆ พุทโธของเรา พุทโธของเราต่อเนื่องไป ปีติ สุข สุขอื่นใดมันปล่อยหมด มันปล่อยหมด ปล่อยหมดถ้ามันต่อไปมันก็ตั้งมั่น จิตตั้งมั่นๆ นี่องค์ของสมาธิ ถ้าจิตมันตั้งมั่น จิตตั้งมั่นมันก็ไปสมบูรณ์แบบในความเป็นสมาธิ

แต่พอพุทโธๆๆ เกิดปีติ แหม! “นี่ฟังเทศน์หลวงพ่อ ฟังเทศน์หลวงพ่อเข้าใจหมดเลย เข้าใจหมดเลย”

เข้าใจหมดเลย นั่นแหละภวังค์ นั่นแหละภวังค์ตรงนั้นแหละ ตรงมันเข้าใจน่ะ มันได้ยินแต่เสียง เวลาเสียงนี่ได้ยิน แต่มันแยกแยะว่าหลวงพ่อพูดอะไรไม่ได้หรอก เพราะหลวงพ่อพูดแบบปืนกลเลย ถ้ามึงคิดทัน มึงจะทันหลวงพ่อหรือ หลวงพ่อปืนกลพรืดๆๆ มึงจะรู้ทุกคำมันเป็นไปไม่ได้หรอก เอ็งได้ เอ็งก็ได้แต่เสียงไง นี่เสียงหลวงพ่อๆ แล้วเสียงหลวงพ่อ พอมันคุ้นชิน สติมันเบาบางลง นั่นแหละภวังค์ เสียง มันได้ยินเสียง มันไม่สมบูรณ์แบบไง นี่ภวังค์

สมาธิ ถ้าจิตมันขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สมาธิถ้ามันละเอียดลึกซึ้งเข้าไป เพราะเรามีสติ เราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แล้วมีสติพร้อมไป มันละเอียดเข้าไป แล้วนี่มันจะคอยแฉลบ บางทีมันก็พุทแล้วหายไปเลย กว่าจะโธ หรือโธแล้วมันไม่พุทเลย หรือพอพุทแล้วมันคิดไปข้างนอกเลย หรือพุทแล้วมันก็ โอ้โฮ! นิพพานเป็นอย่างนี้เลย พุทแล้วมันไป มันแฉลบตลอด

แต่พอมันพุทโธบ่อยๆ ครั้ง พุทโธกับจิตมันกลมกลืนกัน พุทโธง่ายๆ พุทโธๆ พอพุทโธง่ายๆ คือจิตมันอยู่กับพุทโธแล้ว

จิตนี่พุท เราก็คิดไปทางอื่นก่อน นี่เราพุท แต่จิตกับคำบริกรรมมันไม่กลมกลืนกัน มันแฉลบใช่ไหม มันดิ้นของมัน พอพุท มันคิดไปที่อื่นก่อนแล้ว แล้วถึงกลับมาโธ เพราะอะไร เพราะเรามีเป้าหมายพุทโธ พอพุทแล้วมันมีช่องว่างไง

แต่ถ้าเราพุทโธๆ จนมันกลมกลืนกัน เราบริกรรมบ่อยๆ เข้า ฝึกหัดบ่อยๆ เข้า พุทโธๆ มันจะไปไหน บังคับมันไว้ บังคับมันไว้ ไม่คิด ไม่ไปไหนทั้งสิ้น พุทโธๆๆ ถ้ามันกลมกลืนไป พุทโธมันคล่องแคล่ว พอคล่องแคล่ว พุทกับโธมันไปพร้อมกัน มันไม่แฉลบ ถ้าพุทโธมันกลมกลืน คำบริกรรมกับจิตมันกลมกลืนกันดี มันจะเป็นไปแนวทางเดียวกัน

ถ้าพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธจนละเอียด สติมันชัดเจนเลย สติชัดเจน ผู้รู้ชัดเจนเลย พุทโธๆๆ ทีนี้พอพุทโธมันแบบจะพุทโธไม่ได้แล้ว มันจะหาย อู๋ย! ตกใจอีก แต่ถ้าคนเป็นนะ นี่มันเป็นสเต็ปของมัน โดยข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ถ้าคนเป็นนะ แต่ถ้าคนไม่เป็นนะ มันสับสนไปหมดเลย พอมันสับสนไปหมดเลย มันก็วุ่นวายไปหมดเลย นี้เอาข้อเท็จจริงตรงนี้เป็นตัวตั้ง

ทีนี้คำถาม คำถามว่า “สิ่งที่เป็นมันเป็นสมาธิหรือมันเป็นภวังค์”

ถ้าบอกว่าเป็นสมาธิหรือเป็นภวังค์ เราต้องพูดถึงผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก่อน ส่วนใหญ่เวลาที่ไปประพฤติปฏิบัติ เขาออกไปหาครูบาอาจารย์มาทั่วประเทศไทยเราแล้ว แล้วเขาค่อยมาหาเรา ถ้าอย่างนี้เวลาเราพูด เราบอกไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ใช่

แต่ส่วนใหญ่แล้วคนที่ไม่เคยปฏิบัติเลย คนที่ไม่เคยปฏิบัติเลยคือว่าเขาเพิ่งมาศึกษาค้นคว้าขึ้นมา เวลาจิตเขาเป็นอย่างนี้ เราบอกอย่างนี้เป็นสมาธิ เป็นสมาธิคือให้เขามีกำลังใจ เป็นสมาธิให้เขาจับต้องได้ แต่ถ้าเป็นสมาธิแล้วถ้ามันจะทำอย่างไรต่อไป ก็พุทโธต่อเนื่องไปให้สมาธิมันแนบแน่น สมาธิมันมีกำลังของมันขึ้นมา

แต่ถ้าโดยทั่วไปว่าเป็นสมาธิ เพราะเป็นสมาธิ ฟังเทศน์หลวงพ่อตลอดเลย แล้วมีความรู้สึกตลอด มีความรู้สึกเหมือนคนหลับใน คนขับรถเวลาหลับใน รถมันวิ่งอยู่ มันหลับนั่นน่ะ แล้วถ้ามันสะดุ้งตื่นก็จบ ถ้าไม่สะดุ้งตื่นมันมีอุบัติเหตุ

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆ เรานั่งอยู่นี่ เสียงมันก็ดูครึ่งๆ กึ่ง สมาธิคือว่ามีตัวรู้อยู่ แต่ก็กึ่งๆ รู้โดยไม่สมบูรณ์ไง รู้โดยภวังค์ ภวังค์มันมีกำลังของมันไง ถ้ามันเป็นสมาธิ มันรู้ชัดเจน คนขับรถสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ควบคุมรถได้ตลอดเวลา ควบคุมได้ตลอด ไม่มีอุบัติเหตุ เพราะอะไร เพราะเราควบคุมรถเราได้ แต่คนหลับในขับรถอยู่ ควบคุมรถไม่ได้

ความรู้มีไหม มี แล้วภวังค์ล่ะ ภวังค์ก็คือมันไม่สมบูรณ์ไง คือจิตมันไม่ชัดเจนของมันไง นี่คือภวังค์ มันเป็นทั้งสมาธิ มันเป็นทั้งภวังค์ ฉะนั้น ถ้าผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ผู้ที่ยังไม่เคยปฏิบัติเลย เราบอกนี่เป็นสมาธิ เพราะอะไร ถ้าบอกเป็นภวังค์ ภวังค์มันเกิดมาจากไหน มันก็ต้องเกิดมาจากสมาธิเป็นพื้นฐาน คือจิตมันต้องมีความสงบเป็นพื้นฐาน พอพื้นฐานแล้วภวังค์มันก็ครอบงำ มันตกภวังค์ ภวังค์มันครอบงำไป แล้วเวลาจะแก้ เขาบอกว่า เวลาฟังเทศน์ๆ เขาไม่ได้พุทโธเลย

ไม่ต้องนึกพุทโธก็ได้ อานาปานสติก็ได้ อะไรก็ได้ แต่ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะนะ ฟัง เวลาฟังเทศน์นะ ตั้งใจไว้ ตั้งใจไว้แล้วกำหนดเสียงเทศน์ คำว่า กำหนดเสียงเทศน์” คือรับรู้ เวลาเทศน์นี่รับรู้ แล้วฟังไป คำไหนที่มันแทงใจ คำไหนวรรคทอง อันนั้นมันสะเทือนใจ ถ้าสะเทือนใจ อันนั้นน่ะถูกต้อง คำว่า ถูกต้อง” คือว่าฟังเทศน์สำคัญมาก ฟังเทศน์ เพราะฟังเทศน์มันมีเหตุมีผลที่จะให้เราแยกแยะได้ มันแยกแยะได้ มันเลือกได้ คัดแยกได้ อันนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า อันนี้มันเป็นทั้งสมาธิ แต่สมาธิมันไม่ต่อเนื่องไป ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ พอมันเป็นสมาธิ พอจิตมันเริ่มเป็นสมาธิได้ สติสัมปชัญญะมันเบาบางลง มันเป็นภวังค์ไปแล้ว เป็นภวังค์ไป

ตอนนี้เขาบอกว่า “ลูกมีความรู้สึกอีกครั้งหนึ่ง และรู้สึกว่าหนาวสะท้านทั้งตัวเลย”

หนาวสะท้านทั้งตัวเลย หนาวสะท้านทั้งตัวมันเอามาเป็นข้อตัดสินไม่ได้ หนาวสะท้านทั้งตัว อากาศมันก็หนาวอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่เวลามันฟังเทศน์ๆ ความรู้สึกมันไปอยู่ที่คำเทศน์นั้นไง ที่คำว่า ภวังค์” รู้ก็ไม่ชัด ไม่รู้ก็ไม่ใช่ จะว่ารู้ก็ไม่รู้ ไอ้ว่าจะไม่รู้ก็รู้ นี่ภวังค์ แล้วภวังค์มันรับรู้อย่างนี้ไง มันถึงไม่รับรู้ถึงอากาศหนาวไง มันไม่รับรู้ถึงว่าเรานั่งอยู่นี่อากาศหนาว พอเอวัง ความรับรู้ที่เสียงนั้นมันปล่อย มันก็กลับมารับรู้โดยความเป็นปกติ โอ๋ย! หนาวสะท้านเลย ชัดๆ เลยว่าภวังค์ นี่มันชัดๆ ของมันอยู่แล้ว ชัดๆ ว่าเป็นภวังค์

ถ้าเป็นภวังค์ ภวังค์มันเกิดจากอะไร ภวังค์มันเกิดจากเรามีสมาธิเริ่มต้น เรามีสมาธิเป็นเบื้องต้น แต่สมาธิของเรามันไม่รักษาของมันไว้ มันก็ตกสู่ภวังค์ ถ้ามันรักษาของมัน ก็ชัดๆ ของมันขึ้นไป ให้ละเอียดขึ้นไป

เพราะคำถามว่า “ถ้าใช่การตกภวังค์ ลูกกราบขอคำชี้แนะในการแก้ไขด้วยค่ะ”

การแก้ไขด้วยค่ะ เวลาตกภวังค์ๆ นะ เราก็ตกภวังค์มาก่อน ทุกคนที่ประพฤติปฏิบัติทุกๆ คนเดินทางบนเส้นทางนี้ บนเส้นทางนี้มันมีหลุมมีบ่อทั้งนั้น ในเส้นทางที่มันชำรุด ใครขับรถผ่านไปมันต้องประสบกับอุบัติเหตุ ประสบกับบนเส้นทางนั้น

นี่ก็เหมือนกัน คนที่ประพฤติปฏิบัติมา คนที่บอกไม่เคยตกภวังค์เลย ไม่เคย...ใคร อยากรู้นักว่าใคร แต่แก้ไข แก้ไขอย่างไร แก้ไขได้หรือไม่ได้ แก้ไขไม่ได้มันก็อยู่แค่นั้นน่ะ มันเจริญมาไม่ได้ ถ้าแก้ไขได้ มันตกที่นั่น

แต่เวลาเราแก้ไขนะ เราคิดเป็นสองอย่าง

อย่างหนึ่ง จิตเวลาเดินไปบนถนน สะพานมันมีคอสะพานของมัน คอสะพานถ้ามันสมบูรณ์แบบ มันสมบูรณ์ไม่ชำรุด เราจะข้ามสะพานนั้นไปได้เลย ถ้าคอสะพานมันชำรุด รถต้องไปสะดุดที่ตรงนั้น แล้วถ้าคอสะพานมันชำรุดมากนะ รถจะตกสู่คอสะพานนั้น จิตนี้มันตกภวังค์ ตกภวังค์ก็ตกสู่สะพานนั้น นี่คือปัญญาที่เราแก้ไขตัวเราเอง

แล้วอีกอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็พุทโธโดยไม่เอาสมาธิ พุทโธๆๆ สติมันสมบูรณ์ของมันไป ให้มันเป็นสมาธิโดยเนื้อแท้ตลอดไป แล้วสติควบคุมดูแลไว้ไม่ให้มันแฉลบออกตกสู่ภวังค์ เราแก้อย่างนี้ แล้วแก้อย่างนี้มันก็ได้แต่เบื้องต้น สุดท้ายแล้วแก้ไม่ได้

ไปแก้ได้จริงๆ ตอนอดข้าว สุดท้ายอดอาหารเลย ไม่กิน พอไม่กินขึ้นมา มันก็ชัดเจนขึ้น สติก็ดี จิตก็ดี เพราะไม่ดี มึงหิว แก้ได้ด้วยการอดอาหาร

พออดอาหารขึ้นมา แล้วมาสรุปตอนหลังว่าอดอาหารมันแก้ได้เพราะอะไร แก้ได้เพราะว่าพลังงานมันไม่มาก โดยธรรมชาติ โดยวิทยาศาสตร์ โดยทางการแพทย์ คนเราถ้ามันมีไขมันสะสมมาก มันจะมีพลังงานมาก ถ้าเป็นภาษาหลวงตาท่านบอกว่า ธาตุขันธ์ทับจิต

ธาตุขันธ์ทับจิต ร่างกายมีกำลังมากเกินไป มันกดทับจิตเกินไป มันอืดอาด มันไม่มีสิ่งใด เวลามันอดอาหารนะ อดบ่อยๆ ครั้งเข้า อดนานๆ เข้า ไม่มีพลังงานต่างๆ เซลล์ต่างๆ ร่างกายต่างๆ มันก็ไปดึงพลังงานที่สะสมมาใช้ๆ จนมันเบาไปเรื่อยๆ เบาไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้ว โอ้! ใช้ได้ นี่เราแก้ตกภวังค์ของเรามา แล้วสุดท้ายพอมันชำนาญแล้วมันแก้ไขมันไปได้เรื่อย นี่พูดถึงเฉพาะเรา

แต่เขาบอกว่า “ถ้ามันตกภวังค์ ลูกอยากขอคำชี้นำด้วยว่าจะแก้ไขอย่างไร”

สติ สตินะ สติตั้งชัดๆ แล้วแก้ไขไปๆ เพราะอะไร เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ เราคิดว่ามันนักกีฬาสมัครเล่น ทำอะไรแล้วจะเอาจริงเอาจังเกินไปก็แบบแหม! มันโหดร้าย มันรุนแรง แหม! มันลงทุนแล้วมันไม่คุ้มทุน ลงทุนต้องได้กำไรมากกว่านี้ นี่คนปฏิบัติแล้วมันคาดหมายไปทั่ว ฉะนั้น ค่อยๆ ฝึกหัดไป

แต่จะบอกว่า ตกภวังค์ทั้งหมด ภวังค์มันจะเกิดได้ต่อเมื่อจิตเราพยายามทำสมาธิได้บ้างเล็กน้อย พอสมาธิมันเริ่มก้าวเดิน มันไม่เข้าสู่สมาธิ มันตกภวังค์ไปเลย เราจะบอกว่าเป็นทั้งสองอย่าง

เป็นทั้งสองอย่าง เป็นทั้งสมาธิด้วย เป็นทั้งภวังค์ด้วย เป็นสมาธิเริ่มต้น พอสมาธิแล้วมันตกภวังค์ไป แล้วถ้าตกภวังค์ไป ภวังค์นี้มันจะเกาะเหมือนดินพอกหางหมู เกาะจนตกภวังค์ๆ ตกภวังค์จนหายนะ เราเคยตกทีหนึ่ง ๓-๔ ชั่วโมง ตกไปบางที ๘ ชั่วโมง ใหม่ๆ ตกขนาดนั้นเลยนะ เงียบ แล้วเวลาจะรู้สึกตัวนี่เหมือนสะดุ้งตื่น แต่ตอนนั้นไม่รู้ตัวหรอก แต่พอมาจับได้ว่าน้ำลายไหล น้ำลายมันไหล จีวรเปียกหมด อ๋อ! นี่เอ็งนั่งหลับ

แล้วทุกคนที่ว่านั่งตลอดรุ่ง ไอ้คนที่นั่งเก่งๆ นั่งหลับทั้งนั้นน่ะ พอนั่งหลับ แล้วพอมาบอกว่ามีสมาธิๆ...สมาธิอะไร ถ้าสมาธินะ มันเด่นชัดขนาดนั้นนะ มันไม่พูดอย่างนี้หรอก สมาธิเป็นสมาธิ สมาธินี่นั่งได้ทั้งคืนเลย แล้วชัดเจนของมัน

สมาธิคือสมาธิ สมาธิไม่ใช่ภวังค์ แล้วสมาธิต้องเป็นสัมมาสมาธิ ไม่ใช่มิจฉา มิจฉาคือ

๑. ออกเห็นนิมิต

๒. ตกภวังค์ไป

๓. ไปรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า แล้วรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าจริงหรือไม่จริงนั่นอีกเรื่องหนึ่ง จริงก็ไม่ใช่ ไม่จริงก็ไม่ใช่ เพราะนี่เป็นเรื่องของฌานโลกีย์ เป็นเรื่องโลกียปัญญา เป็นเรื่องสามัญสำนึก เป็นเรื่องฤๅษีชีไพร ไม่ใช่เรื่องพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ทั้งสิ้น เราทำของเรามาหมดแล้ว

ฉะนั้น เรื่องโลกเป็นเรื่องโลก แต่นี้ขนาดเรื่องโลกยังทำไม่ได้เลย แล้วถ้าศีล สมาธิ ปัญญา จิตสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา ยกขึ้นสู่ปัญญา เวลาเห็นนิมิต นู่นก็ไม่ใช่ นี่ก็ไม่ใช่ แล้วเห็นกาย เห็นอย่างไร เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นอย่างไร

เวลาเห็น ถ้าคนเป็นแล้วเห็น ช่างซ่อมรถเขามีความชำนาญ รถเสียมาเถอะ ซ่อมได้หมดเลย ไอ้ช่างดูแค็ตตาล็อกไม่เคยซ่อมเลย โอ้โฮ! มันคลำอยู่นั่นน่ะ ซ่อมได้หรือไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน ใช้ได้หมด

นี่พูดถึงว่า ถ้าขอคำชี้แนะว่าควรแก้ไขอย่างไร

ตั้งสติไว้ ถ้าฟังนะ เริ่มต้นฟังใหม่ ถ้าฟังเทศน์ ตั้งสติไว้ ต้นกับปลาย แต่มันไปแล้ว สตินะ มันชัดเจน มันฟังได้ชัดเจน ถ้าเวลามันเบาบางลงนั่นล่ะมันจะไปแล้ว แล้วมันตกภวังค์ไป พอจะเอาความถูกต้องไง หลวงพ่อเทศน์เริ่มต้น หนูก็ชัดเจน พอหลวงพ่อเอวัง หนูก็ชัดเจน

อ้าว! เริ่มต้นกับเอวัง ตั้งชั่วโมงหนึ่งนะ นั่งไปชั่วโมงหนึ่ง ไม่รู้ว่ามันหายไปตอนไหน มันกลับมาตอนนั้น

ไอ้เรื่องสมาธิ ใช่สมาธิหรือไม่

เราว่าใช่เริ่มต้น

แล้วมันเป็นภวังค์หรือไม่

เป็นภวังค์แน่นอน แล้วถ้ามันเป็นสมาธิแล้ว เราจะรู้ตั้งแต่ต้น ท่ามกลาง และที่สุด เราเป็นคนทำสมาธิเอง เรารู้เห็นชัดเจนเอง เราได้รสของธรรมเอง ชัดเจนของเราเอง แต่มันต้องแลกมาด้วยความเพียร ด้วยความเพียร ด้วยความวิริยะ นี่คือความบากบั่น ความบากบั่นแลกมาด้วยความตึงเครียด แลกมาด้วยความควบคุมดูแล

จะบอกว่า สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แต่มันต้องแลกมาด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยการค้นคว้าของเรา มันแลกมาด้วยตรงนี้ไง

บอกว่าสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แล้วจิตสงบไปซื้อเอาที่ไหนล่ะ เซเว่นก็ไม่มีขาย ที่ไหนก็ไม่มีขายหรอก มันต้องแลกเอาด้วยความเพียรไง ความเพียรเป็นความทุกข์ความยาก แต่มันเป็นหนทางเดียวที่เราจะแก้ไขหัวใจของเรา เราต้องทำของเราให้ชัดเจนขึ้นไป จบ

ถาม : ข้อ ๒๓๓๐. เรื่อง “ขณะนั่งสมาธิภาวนา ควรฟังธรรมหรือไม่”

กราบนมัสการพระอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง กราบขอโอกาสพระอาจารย์โปรดให้ความกระจ่างเกี่ยวกับฟังธรรมดังนี้

๑. ในขณะนั่งสมาธิภาวนา ควรฟังธรรมไปด้วยหรือไม่ หรือนั่งสมาธิกำหนดสติอยู่กับคำบริกรรมอย่างเดียว อย่างใดดีกว่า

๒. ในขณะฟังธรรม เราควรกำหนดจิตอย่างไร

๓. จากธรรมเทศนาจากครูบาอาจารย์หลายๆ องค์ที่ได้ฟังมา ท่านจะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม จะมีทั้งมนุษย์และเทวดาต่างบรรลุธรรมแต่ละระดับมากมายนับไม่ถ้วน โยมจึงเข้าใจว่า การฟังธรรมย่อมมีความสำคัญต่อการปฏิบัติเป็นอย่างมาก ไม่ว่าผู้ที่ปฏิบัติภาวนามานานแล้วหรือเป็นผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่ แต่มีบางสำนักแนะนำผู้ปฏิบัติไม่ให้ฟังธรรม เพราะจะเป็นสัญญาความจำมากกว่าความจริงที่เกิดจากการปฏิบัติ จึงใคร่ขอกราบเมตตาหลวงพ่อโปรดเมตตาให้ความกระจ่างด้วยค่ะ

ตอบ : “ขณะที่นั่งสมาธิควรฟังธรรมหรือไม่ หรือนั่งสมาธิแล้วกำหนดสติอยู่กับคำบริกรรมอย่างเดียว อย่างไหนจะดีกว่า”

ถ้ามันไม่มีครูบาอาจารย์ เราก็ต้องนั่งสมาธิกับคำบริกรรมของเราอยู่แล้ว ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ แล้วถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ท่านเทศน์ ท่านเทศน์เป็นธรรมๆ ควรฟังธรรมหรือไม่

สมัยที่หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงตาท่านพูดประจำ สมัยหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านจะพูดทีเล่นทีจริงก็แล้วแต่ เวลาท่านเทศนาว่าการ พระจะวิ่งเข้าไปหาตลอดเลย เวลาท่านเสียงดังขึ้นมา พระรอบๆ ข้างได้ยินเสียง หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะบอกเลย “เฮ้ย! ฟ้าร้อง ฟ้าร้อง”

ฟ้าร้องคือหมายความว่ามันมีสัญญาณว่าฝนจะตก การแสดงธรรมคือฝนตกชุ่มฉ่ำไปทั้งวัด การฟังธรรมนี้มหัศจรรย์มาก แต่ต้องจากหลวงปู่มั่นนะ จากครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมนะ อย่าจากนวนิยายธรรมะ ไอ้พวกเทศน์นวนิยายธรรมะนี่น่าเบื่อ

คนที่จะเทศน์นิยายธรรมะนี่นะ ถ้ามันไม่ชอบหน้าพระ ก. มันก็จะไปค้นในพระไตรปิฎกที่มีเนื้อหาสาระเทศน์สอนพระแบบนั้น แล้วก็เอาเรื่องนั้นมาด่าพระ ก.

พระ ข. พระ ข. ถ้าผิด มันก็ไปค้นในพระไตรปิฎกหาเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่เนื้อความเข้ากับเรื่องที่พระ ข. ทำ แล้วก็เอามาด่าพระ ข. คือมันตั้งใจเทศน์จะด่าเขา แต่ยกพระสูตรนั้นๆ พระสูตรที่ว่ามีเรื่องอย่างนั้นๆ น่ะ นี่พูดถึงพวกนวนิยายธรรมะ

แต่ถ้าเป็นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น พระ ก. หรือพระ ข. จะทำผิดสิ่งใดก็แล้วแต่ พระ ก. พระ ข. ทำผิดเพราะว่าเป็นปุถุชน เพราะว่าเป็นคนหนา เพราะไม่รู้เท่าทันกิเลส หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านยิ่งเมตตามาก ถ้าเทศนาว่าการให้พระ ก. พระ ข. สำนึกได้ พระ ก. พระ ข. เห็นโทษของตน พระ ก. พระ ข. จะแก้ไขตน หลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการอย่างนี้

แล้วถ้าหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการอบรมสั่งสอน พระ ก. พระ ข. เป็นคนขี้ดื้อ เป็นคนทิฏฐิมานะ หลวงปู่มั่นก็จะไล่พระ ก. พระ ข. ออกจากวัดไปเลย ไล่มันไปซะ เพราะมันมากีดมาขวางคนอื่น

คนอื่นคนที่เขามุ่งหวังจะมาประพฤติปฏิบัติ คนอื่นที่เขาแสวงหาเพื่อประโยชน์ของเขามี คนที่จะมาประพฤติปฏิบัติ คนที่จะมาแสวงหา ถ้ามันมีเหตุมีผลแล้วมันต้องฟังเหตุฟังผล อะไรถูกอะไรผิด ถ้าอะไรถูกอะไรผิด เราเป็นสุภาพชนเราต้องยอมรับถูกและยอมรับผิด ถ้ามันผิด เราต้องแก้ไขความผิดนั้น ถ้ามันถูก เราต้องส่งเสริมให้มันดีงามขึ้นไป

ถ้ามันเป็นความจริง มันจริงทั้งครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงด้วย มันจริงทั้งผู้ที่มาใฝ่หา ผู้ที่แสวงหาความจริงด้วย ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง ผู้ที่มันใฝ่หามันไม่เป็นความจริง มันเป็นความจอมปลอม มันมีทิฏฐิมานะ ไล่มันออกไป

เวลาฟังธรรมมันมีความจำเป็นหรือไม่

ยิ่งกว่าจำเป็นอีก เว้นไว้แต่พอมันไม่มีครูบาอาจารย์ไง ตอนนี้ก็เปิด ๑๐๓.๒๕ ฟังหลวงตาเทศน์ตอนกลางคืน เทศน์สอนพระนี่สุดยอด ถ้ามันมี เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเจริญนะ ๑๐๓.๒๕ ตอนกลางคืนเทศน์สอนพระทั้งคืนเลย สุดยอดทั้งนั้นน่ะ ฟังธรรมฟังอย่างนี้เลย

“๒. ในขณะฟังธรรมเราควรกำหนดจิตอย่างไร”

ในขณะฟังธรรม กำหนดผู้รู้เฉยๆ กำหนดเฉยๆ แล้วมีสติ เสียงธรรมมาเอง ถ้าเราไปพุทโธด้วย เรากับธรรมเป็นสองอย่าง เราต้องคอยรับรู้ แต่ถ้าเรากำหนดเฉยๆ ฟังธรรมอย่างนั้นอย่างเดียวเลย แล้วมีสิ่งใดจับเป็นประโยชน์นั้น

ฉะนั้นจะบอกว่า หลักการฟังธรรม เขาบอกเขาฟังธรรมจากพระไตรปิฎก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม มีเทวดา อินทร์ พรหมบรรลุธรรมมากมายมหาศาล แต่มีบางสำนักบอกว่าแนะนำผู้ปฏิบัติไม่ให้ฟังธรรม

ไม่ให้ฟังธรรมแล้วจะไปฟังโจรมันปล้นใช่ไหม ไม่ให้ฟังธรรมมันก็บอกว่าจะสร้างเจดีย์ใหญ่ๆ ใช่ไหม ไม่ต้องฟังธรรม จะไปสร้างเรือสำเภา จะไป ๓ โลกธาตุอย่างนั้นน่ะหรือ ไม่ต้องฟังธรรม ไม่ต้องฟังธรรมมันก็เรื่องวัตถุน่ะสิ ไม่ต้องไปทำอะไรล่ะ

ฟังธรรมๆ เพียงแต่ว่ามันมีให้ฟังหรือไม่มีให้ฟัง ถ้าไม่มีให้ฟังก็บอกว่าไม่มีให้ฟัง ถ้าไม่มีให้ฟัง ในปัจจุบันนี้การ์ตูนเรื่องธรรมะยังมีเลย ผู้ที่เขาใฝ่ดีนะ เขาต้องการสอนเด็กๆ นะ เขาเอาคติธรรมในพระพุทธศาสนาไปสร้างเป็นหนังการ์ตูน ไปสร้างต่างๆ ให้เด็กมันเป็นแบบเป็นอย่าง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันยังเป็นประโยชน์เลย แล้วนี่สำนักปฏิบัติแท้ๆ บอกว่าไม่ให้ฟังธรรม

ถ้าสำนักปฏิบัติ ถ้าไม่ให้ฟังธรรม ฟังธรรมของใครล่ะ มันยอกใจตัวเองใช่ไหม เพราะฟังธรรมมันเปิดถึงสัจจะเรื่องความจริงไง สัจจะเรื่องความจริงว่า เรื่องโลกธาตุมันเป็นเรื่องของโลกธาตุ ไม่มีความหมาย มันเป็นเรื่องของโลก มันไม่ใช่เรื่องของธรรม

เรื่องของธรรมให้นั่งลง ศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องของธรรมมันเป็นเรื่องนามธรรม เรื่องนามธรรมที่เราเกิดขึ้นมาเป็นมรรคเป็นผลในหัวใจ ถ้าเป็นมรรคเป็นผลในหัวใจ พระปฏิบัติ พระปฏิบัติเขาอยู่โคนไม้ อยู่ในป่าอยู่ในเขา เขาเอาสัจจะเอาความจริงขึ้นมาในหัวใจไง

ถ้าฟังธรรมๆ เพราะฟังธรรมแล้วมันหลอกไม่ได้ไง มันหลอกให้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกไม่ได้ จะสร้างใหญ่ที่สุดในโลกไม่ได้ สร้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก มึงสร้างไปเถอะ เดี๋ยวคนอื่นก็มาลบล้าง ตอนนี้ตึกอะไรที่ดูไบสูงที่สุดในโลก ใครจะสร้างแข่งกับมันล่ะ กิโลกว่านู่นน่ะ เอ็งไปสร้างสิ เมื่อก่อนเขาแข่งกัน ตึกสูงที่สุดในโลก สูงเกิน ๒๐ เซ็น ๓๐ เซ็น ดูไบมันล่อเข้าไปทีเป็นกิโลเลย จบ ตึกสูงที่สุดในโลก

นี่ก็เหมือนกัน ลองไปสร้างสิ สำนักปฏิบัติก็จะสร้างนะ “ถ้าจะปฏิบัติให้ดีจะต้องสร้างพระพุทธเจ้าองค์ใหญ่ที่สุดในโลก แล้วไปภาวนาแล้วจะภาวนาดี”...เกี่ยวกันด้วยหรือ เกี่ยวอะไรกับภาวนา

ถ้าพูดถึงฟังธรรมๆ ธรรมะคืออริยสัจ คือสัจจะ คือความจริง เราเอาความจริงๆ ความจริงมันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติของเรา แล้วถ้าสำนักปฏิบัติที่ไหนไม่ให้ฟังธรรมมันก็แปลก ถ้าสำนักปฏิบัติไม่ให้ฟังธรรม แสดงว่าในสำนักนั้นต้องมีสิ่งใดที่ขาดตกบกพร่อง กลัวธรรมะจะมาเปิดโปงไง อย่างของเรา ถ้าเรามีอะไรลับลมคมใน ห้ามฟังฉันนะ เดี๋ยวมันเปิดโปงมา โอ๋ย! ขี้เท่อหลุดหมดเลย

ใครอะไรก็แล้วแต่ ตั้งประเด็นสิ่งใดก็แล้วแต่ ธรรมะลบล้างหมด เพราะธรรมะคือความปล่อยวางทั้งสิ้น ใครมีทิฏฐิมานะว่ามีองค์ความรู้ มีความยอดเยี่ยม มาเถอะ ไตรลักษณ์ พระไตรลักษณะ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

อะไรเกิดขึ้น จิตที่เป็นสมาธิ เห็นอริยสัจตามความเป็นจริงนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่คือการวิปัสสนา เป็นไตรลักษณ์คือมันย่อยสลายไปทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดคงที่ นี่คือสัจธรรม ถ้าเอ็งมีประเด็นนะ จบครับ

ใครจะบอกว่ามีประเด็น สิ่งยอดเยี่ยมกระเทียมดอง ของข้าของวิเศษ ของข้าของยั่งยืน...จบครับ เป็นอาตมันไง ตายแล้วไปสู่อาตมัน อาตมันคืออัตตา อัตตา อาตมัน ตายแล้วไปอยู่กับพระเจ้า อาตมัน ที่ไหนมี ที่ไหนมีสิ่งคงที่ พระพุทธเจ้าสอนถึงอนัตตา แล้วอนัตตาอย่างไร

ก็ไม่ให้ฟังธรรมไง ก็ไม่ให้ฟังธรรมก็จบไง แต่ถ้าให้ฟังธรรม เกิดขึ้น เกิดขึ้นอย่างไร

มึงยังทำสมาธิไม่เป็น มันจะเกิดตรงไหน สมาธิ เวลาเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ตั้งอยู่บนอริยสัจ ตั้งอยู่บนสัจจะความจริง แล้วเป็นอนัตตาเป็นอย่างไร นี่ถ้าเป็นธรรมะไง ไม่ให้ฟังธรรม ไม่ให้ฟังธรรมแสดงว่าต้องมีสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันเป็นวัตถุธาตุ เป็นของวิเศษ เป็นของที่ยิ่งใหญ่

ธรรมะนี่จบเลยนะ ไตรลักษณ์ทำลายไปทั้งหมด ทำลายอวิชชา ทำลายวัฏจักร คิดดูสิ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ละลายเกลี้ยงไม่มีเหลือเลย นั่นน่ะสัจจะความจริง ถ้าฟังธรรมมันจะเป็นประโยชน์อย่างนี้ ถ้าเขาไม่ฟังธรรม ไม่ฟังธรรมก็ต้องดูเหตุผลของเขา แต่จะบอกว่าจะใส่เขาเต็มที่ มันไม่มีข้อมูลไง มันต้องมีข้อมูลว่าไม่ฟังเพราะอะไร ไม่ฟังเพราะว่าพระองค์นี้เทศน์ไม่ถูก ไม่ฟังเพราะว่าพระไม่ไว้ใจในครูบาอาจารย์ ไม่ฟังเพราะว่าเขาเชื่อถือไม่ได้

แต่มันก็มีในพระไตรปิฎก แล้วเวลาเขาถอดพระไตรปิฎกออกมาเลย นั่นน่ะธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเธอ จบ

ถาม : กราบเรียนหลวงพ่อ ผมมีคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติครับ อยากให้หลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วยครับ

๑. พุทโธหายไปเอง เป็นอย่างไรครับ ผมตั้งฐานจิตไว้ที่หน้าผาก เวลาปฏิบัติแล้วคำบริกรรมหายไป เคยเจออยู่สองแบบ ๑. จิตอยู่บริเวณฐาน ๒. จิตออกนอกฐานแล้วคิดเรื่องอื่น แบบแรกคือจิตเป็นสมาธิไหมครับ แบบที่สองคือการตกภวังค์ใช่ไหมครับ

๒. ป้องกันการตกภวังค์อย่างไร

๓. แยกสัญญาออกจากจิตอย่างไร เวลาปฏิบัติพอนึกว่าจะเห็นแสง ถึงเห็นแสงจริง แต่จิตก็คิดว่าที่เราเห็นคือสัญญา เราจะแยกอย่างไรครับ

ตอบ : “๑. เวลาพุทโธหายไปเอง หายอย่างไร”

พุทโธหายไปเอง พุทโธหายไปเองมันจะมีปัญหามาก มันจะมีปัญหามากเพราะว่าเวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติเขาเป็นจริงแล้วเขาคุยกัน เหมือนกับผู้ที่ชำนาญการเวลาเขาคุยกัน เขาคุยกันเข้าใจไง ไอ้คนที่มาครูพักลักจำ มาแอบฟังเขา ครูพักลักจำมาแอบฟังเขาแล้วมันไม่เข้าใจ

ไอ้ที่ว่าพุทโธมันหายไปๆ คนที่เขาปฏิบัติแล้ว ถ้ามันหาย หายจริงๆ แต่ไอ้พอบอกพุทโธหายไปปั๊บ เราก็จะทำให้มันหาย คำว่า มันหายไปเอง” กับ “ทำให้หาย” เห็นไหม

ทำให้หาย เราทำให้มันหาย มันไม่ใช่หายไปเอง เวลาหายไปเอง เราพยายามพุทโธๆ พุทโธๆ จนมันพุทโธไม่ได้ ถ้ามันพุทโธไม่ได้ปั๊บ มันจะมีความรู้ชัดๆ

เวลากรรมฐานที่เขาคุยกัน เวลาพุทโธมันหายไปเองๆ เวลาพุทโธๆ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ แต่ผู้รู้มันชัด พอผู้รู้ชัดจนมันเข้าสู่อัปปนาสมาธิ นั่นน่ะมันเด่นชัดเลย นี่เวลาพุทโธมันหายไปเอง

แต่ของเราเวลาไปฟังแล้วว่าพุทโธมันหาย เราก็จะทำให้มันหาย คนที่จะทำให้มันหายก็ตกภวังค์ไง พุทโธๆๆ หลับเลย พุทโธหายไหม หายสิ สะดุ้งตื่น โอ๋ย! ตื่นมาแล้ว พุทโธหายเอง

พุทโธมันหายไปเองคือมันหายตามข้อเท็จจริงในการประพฤติปฏิบัติ คือพุทโธๆๆ จนเด่นชัดกลมกลืนกัน พุทโธๆ จนละเอียด ละเอียด ละเอียดจนพอจิตมันละเอียดแล้วมันนึกพุทโธไม่ได้ มันนึกพุทโธไม่ได้เลย พอมันนึกพุทโธไม่ได้ แต่ผู้รู้มันเด่นชัด เวลาถ้ามันเด่นชัดแล้ว เวลามันชัด มันเข้าสู่อัปปนาสมาธิไปเลย คนทำทำได้ยาก แต่ทำได้จริง แต่ทำได้ยาก

แล้วคนที่ทำๆ เราฟังพระพูดมาเยอะ “เข้าอัปปนาสมาธิแล้วไปใช้ปัญญาลึกๆ”

หา? กูร้อง “หา?” เลยนะ โอ๋ย! มันใช้ปัญญาได้อีก ถ้าใช้ปัญญาได้มันจะเป็นอัปปนาสมาธิได้อย่างไร เพราะอะไร เพราะพอเราไม่เป็น มันใช้คำว่า ลึกๆ” มันคิดว่าถ้าเป็นปกติ สมาธิเป็นปกติก็อย่างหนึ่ง สมาธิในอัปปนาก็อย่างหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นคนที่รู้จริงนะ สมาธิเป็นปกติก็อย่างหนึ่ง อัปปนาสมาธิมันจะคิดอะไร คนโดนไฟลวกมันรู้ว่าร้อน ไอ้คนที่ไม่โดนไฟลวกเลยมันบอกว่าร้อนๆๆ แต่มันไม่เคยโดนไฟลวกเลย มันไม่รู้หรอก นี่พูดถึงอัปปนาสมาธิ เราฟังพระเทศน์ตามทีวี ฟังทีไรแล้วมันตลก ขี้โม้ แต่มันไม่รู้ตัวว่ามันขี้โม้นะ แต่คนรู้อยู่เขาฟังมึงอยู่

นี่พูดถึงว่าถ้าพุทโธมันหายไปเองเป็นอย่างไร

“ผมตั้งฐานไว้ที่หน้าผาก เวลาปฏิบัติแล้วคำบริกรรมมันหายไป”

มันเป็นทั้งสองอย่าง คำบริกรรมมันหายไป นี่จบแล้ว คำบริกรรมหายไปเพราะอะไร ถ้าพุทโธมันหายนะ มันจะมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด พอพุทโธดีๆ แล้วมันจะละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ คือเรากินข้าว เราเป็นคนกินคำแรก คำสอง คำสาม เรากินทุกคำ เรารู้ทุกคำ ไอ้นี่ตั้งจานกินคำหนึ่งแล้วก็หายไปเลย มากินอีกที โอ๋ย! หมดจานแล้ว หายไปไหน นี่ภวังค์

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันหายไป แต่จิตมันอยู่บนฐาน จิตส่งออกไปที่ฐานคือเรื่องความคิด ไอ้นี่แว็บหายไปชั่วหนึ่ง แล้วพอกลับมาก็เป็นอย่างนี้

ฉะนั้น เขาถามว่า “แบบแรกจิตเป็นสมาธิใช่หรือไม่ แล้วแบบที่สองตกภวังค์ใช่หรือไม่”

มันจะตอบคำถามแรก เป็นทั้งสมาธิ เป็นทั้งภวังค์ไง เหมือนกัน เป็นทั้งสมาธิ เพราะเป็นสมาธิก่อนมันถึงเป็นอย่างนี้ พอเป็นสมาธิแล้วมันตกภวังค์ ตกภวังค์มันก็เกิดอาการอย่างนั้นไป เหมือนเราหาน้ำมา พอหาน้ำมา เอ็งเติมสีอะไรเข้าไป เติมสีอะไรมันก็เป็นสีนั้น เริ่มต้นจากน้ำ มีน้ำเติมสีมันก็ละลายสี ถ้าไม่มีน้ำ มันก็ละลายสีไม่ได้ แต่ถ้ามึงมีน้ำ เอาสีใส่ลงไป มันก็ละลายสีนั้น แล้วมึงใส่สีอะไรมันก็เป็นสีนั้น สีนั้นเกิดจากน้ำที่ละลายสีนั้น เป็นทั้งสมาธิ เป็นทั้งภวังค์ เหมือนกัน

“๒. ป้องกันการตกภวังค์อย่างไร”

บอกแล้วตั้งแต่ว่า พุทโธชัดๆ พุทโธต่างๆ แก้ไขอย่างนี้ไป แล้วแก้ไปแก้มา เพราะว่ากรณีอย่างนี้พระพุทธเจ้าไปแก้พระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะง่วงเหงาหาวนอนก็นี่แหละ พระโมคคัลลานะที่พระพุทธเจ้าไปแก้ ให้ตรึกในธรรมๆ เราก็ตรึก เราก็คิดตามนั้นน่ะ ตอนที่เราบวชใหม่ๆ เราจะแก้ตัวเราเองนะ เราอยู่ในป่า หลวงปู่จวนท่านก็อยู่วัดท่าน เราอยู่ในป่า เวลาเราเป็นอย่างนั้น เราจะแก้ เรารู้ตัว เราจะแก้ พอจะแก้ คิดถึงพระโมคคัลลานะ คิดถึงพระพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะเลยแล้วทำ ตรึกๆๆ ตรึกใหญ่เลย แล้วคิดใหญ่เลย คิดใหญ่เลย...หลับ แล้วก็มานั่งคิด เฮ้ย! ทำไมมันหลับวะ

เราก็เปรียบเทียบนะ เหมือนนกเขา นกเขามันอยู่ในกรง แมวมันจะมาจับนก ถ้านกมันยืนเฉยๆ นะ แมวมันเอาไม่ได้หรอก เพราะอยู่ตรงกลาง แมวเอาไม่ถึง นกมันกลัวใช่ไหม มันก็บินไปบินมา...มับ! ไอ้นี่คิดมากๆ คิดมากๆ คิดจนหลับเลย เออ! ไม่ได้

เราอ่านพระไตรปิฎก ค้นคว้าเพื่อจะเอามาสอนตน ตอนที่ตกภวังค์นะ ตอนนั้นยังภาวนาไม่เป็นด้วย เริ่มต้นภาวนาจะเข้าทางนี่แหละ อู้ฮู! ง่วงเหงาหาวนอน ยังภาวนาไม่ได้ ยังตั้งฐานไม่ได้ตอนนั้นน่ะ พอสุดท้ายแล้วก็แก้ไปแก้มา จนตรอก ผ่อนอาหาร โอ้โฮ! ตาสว่างโล่งเลย ภวังค์อะไรมึง มาสิ ภวังค์ก็ภวังค์มาเถอะ นี่เราแก้มาแล้ว

“๓. แยกสัญญาออกจากความจริงอย่างไร เวลาปฏิบัติพอคิดจะเห็นแสง มันก็เห็นแสง”

เห็นแสงมันส่วนเห็นแสง เห็นแสงนั้นมันเป็นนิมิต มันเป็นจิตกำลังรู้ รู้ก็ส่วนรู้ เห็นก็คือเห็น เห็นแล้วเราไม่ตื่นเต้นไปกับมันก็จบ

เราคิดว่าจะเห็นแสงแล้วจะแยกว่าไอ้เราคิดนี่เป็นสัญญาๆ

สัญญา เราจะแก้ได้โดยปัญญาอบรมสมาธิเบาๆ เบาๆ คือเริ่มต้น เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาไล่เข้าไปๆ ถ้ามันทัน มันปล่อยๆ มันปล่อยคือมันปล่อยจากขันธ์ ๕ มันปล่อยสัญญา ปล่อยทั้งความคิด ปล่อยหมด มันถึงเป็นสมาธิ นี่เวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธินะ

แล้วเวลาถ้าแยกสัญญากับจิตออกจากกันจริงๆ ได้ มันต้องสมุจเฉทปหาน เวลาขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ เห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สัญญา สัญญาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สัญญา สัญญาไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่สัญญา ถ้ามันจะแยกได้มันต้องสมุจเฉทปหาน

แต่การสมุจเฉทปหานมันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ วางไว้ก่อน อย่าไปเอาเรื่องใหญ่มาทับเลย เอาเรื่องใหญ่วางไว้ก่อน เอาเรื่องพอทำได้ เอาเรื่องที่เราพอทำได้ เราพอทำได้ เราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิไล่เข้าไป

สัญญาก็เป็นสัญญา เวลาเรานิ่งๆ มันก็วางได้แล้ว แต่นี้ไอ้คำว่า เห็นแสง” เราจะแยกสัญญากับแสงให้ออกจากกัน แล้วเราจะเพื่อหลักประกันว่าการเห็นแสงนี้เป็นของจริง ถ้าการเห็นแสงนี้ไม่ใช่สัญญา

การเห็นแสงก็คือเห็นแสง แหม! มันจะไปลำบากอะไร นั่งนี่ พระอาทิตย์ขึ้น ใครๆ ก็เห็น คนภาวนาหรือไม่ภาวนาก็แล้วแต่นะ พระอาทิตย์ขึ้น ทุกคนเห็นหมดเลย เราจะตีค่าให้เห็นว่าการเห็นเป็นเรื่องธรรมดา การเห็นไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ความเห็นไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ ถ้ามันเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่แล้วเราต้องไปศิโรราบกับมัน มันขี่เราเลย

เห็นก็คือเห็น เห็นแล้วก็วาง ทำไม เห็นแล้วมันเป็นสมบัติของเราหรือ เห็นแล้วก็วาง พัฒนาใจนี่ เห็นคือประสบการณ์ของจิตอันหนึ่ง แต่ถ้าจิตมันพัฒนาขึ้น ตัวจิตนี้ต่างหากที่มันจะพัฒนาขึ้นหรือลง ตัวจิตเราคือความรู้ของเรา ถ้าเราพัฒนาตัวนี้ต่างหาก

ไอ้เห็นนะ ดูสิ เราไม่เคยดูคอนเสิร์ตหรือ ดูคอนเสิร์ตแล้วก็ผ่านไปแล้วก็จบใช่ไหม ดูคอนเสิร์ตแล้วก็ต้องเอาโรงคอนเสิร์ตนั้นมาตั้งไว้ที่บ้านหรือ เป็นไปไม่ได้หรอก มึงไม่มีปัญญาเลี้ยงเขา คณะคอนเสิร์ตแม่งเป็นร้อย เราดูแล้วก็ผ่านไป คอนเสิร์ตก็เรื่องของคอนเสิร์ต

นี่ก็เหมือนกัน จิตไปเห็นแสงก็เรื่องของแสง ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของแสง แต่ถ้าจิตสมาธิมันดีขึ้น สมาธิมีกำลังไม่มีกำลังมันอยู่ที่ตัวสมาธิ อยู่ที่ตัวจิตนี้ ถ้าตัวจิตนี้ถ้ามีกำลังขึ้นไป ตัวจิตนี้ต่างหากที่มันจะพัฒนาขึ้นไป ถ้าตัวจิตนี้มันเห็นแสงแล้ว มันปล่อยแล้ว สมาธิมันมั่นคงขึ้น แล้วถ้ามันพัฒนาขึ้น มันยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ มันไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ นั่นมันพัฒนาของมันขึ้นไป ถ้าไม่ขึ้นไปมันก็จมอยู่ตรงนี้ นี่พูดถึงหลักการนะ

เพียงแต่ว่า พอไปเห็นแสงแล้ว ไปเห็นประสบการณ์อันนั้น เราก็จะเอาประสบการณ์นั้นเป็นตัวตั้ง แล้วเราจะแก้ไขตัวประสบการณ์นั้น ตัวประสบการณ์นั้นมันก็ผ่านไปแล้ว ตัวประสบการณ์ก็เป็นอดีตไปแล้ว ตัวประสบการณ์มันผ่านไปแล้ว แล้วเอ็งจะไปแก้ไขอะไร ปล่อยมันไป แต่เวลาปฏิบัติมันจะเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างนี้อีกมหาศาลเลย เพราะอะไร เพราะจิตมันเหมือนสับปะรด ตาสับปะรดมันติดทุกตาเลย

นี่ก็เหมือนกัน ความรู้ความเห็นที่จะเกิดขึ้นในการปฏิบัติยังอีกมากมายนัก แล้วเราก็ต้องแก้ทีละเปลาะๆๆ ไปจนหมด แก้ทีละเปลาะๆ จนจิตเป็นอิสระ จิตเป็นสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่น จิตยกขึ้นสู่วิปัสสนา จิตแก้ไข จิตคายกิเลส ต้องไปนู่น

แต่นี่ไอ้ตาสับปะรด เอ็งไปสงสัยอย่างนี้ ก็แก้อยู่นี่ มันเป็นเรื่องสามัญสำนึก เรื่องของโลก เราปฏิบัติขึ้นไปเพื่อให้จิตเราละเอียดขึ้น ดีขึ้น พัฒนาขึ้น ให้เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ให้เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ปฏิบัติมาในแนวทางของอริยสัจ แนวทางของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ไม่ใช่การรู้เห็นเป็นอภิญญา เป็นฌานโลกีย์ เป็นฤๅษีชีไพรที่เขาเหยียดหยามกันอยู่นี่ไง

เราเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราไม่ได้ปฏิบัติในแนวทางของฤๅษีชีไพร เราปฏิบัติแนวทางของมรรค ของมรรค ของผล ของสัจจะ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะพัฒนาจิตของเราขึ้นไปเป็นสัจจะเป็นอริยสัจจะ เป็นอัตตสมบัติในใจของเรา เอวัง