ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

วุฒิภาวะ

๒๑ เม.ย. ๒๕๖๒

วุฒิภาวะ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๒

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๓๓๘. เรื่อง “กราบขออภัยหลวงพ่อครับ”

โยมต้องการขออภัยหลวงพ่อด้วยครับที่โยมเขียนมาเรื่อง “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์” โยมไม่ได้มีเจตนาเขียนมาแหย่หลวงพ่อครับ แต่โยมเขียนคำถามผิดไปจากที่อยากถามครับ

คือตอนแรกโยมจะต้องถามหลวงพ่อว่า โยมเข้าใจว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ซึ่งโยมเคยได้ฟังหลวงพ่อเทศน์ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ จึงทำให้โยมเกิดข้อสงสัย แต่ตอนนี้โยมเข้าใจแล้วครับ เพราะโยมไปไล่เปิดเทปของหลวงพ่อเก่าๆ ในตอนที่เทศน์บนศาลาเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เรื่อง “เขาว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์”

โยมฟังจากเทปแล้วโยมไม่สงสัยแล้วครับ สิ่งที่เป็นทุกข์คือจิตที่ไปยึดขันธ์ ๕ มันเป็นธรรมชาติของมัน มันไม่รู้เรื่อง โยมต้องกราบขออภัยหลวงพ่อด้วยครับ

ตอบ : ไอ้ที่ว่าคำถามๆ คำถามส่วนใหญ่แล้ว จริงๆ แล้วมันเป็นเจตนาของเรามาตั้งแต่เริ่มต้น เวลาที่ว่าเรามาสร้างวัดที่โพธาราม หลวงตาท่านมาพูดเลย บอก หนึ่ง อย่าให้มีครัวนะ ถ้ามีครัว ที่ไหนถ้าพระเป็นไปได้ ท่านจะไม่ให้มีครัว ถ้ามีครัวแล้ว มันมีผู้หญิงเข้ามาวุ่นวายแล้วมันจะเกิดปัญหา สิ่งที่ไม่ให้มีก็ตัดปัญหานั้นไป ถ้าตัดปัญหานั้นไปนะ สิ่งนี้ก็เหมือนกัน เวลาท่านพูดเลย สิ่งที่ว่ามันจะเป็นสิ่งให้เกิดปัญหาๆ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ อันนั้นเป็นเรื่องหนึ่งนะ

แต่อีกเรื่องหนึ่ง โดยธรรมชาติคนที่ประพฤติปฏิบัติใหม่มันไม่รู้จักขันธ์ ๕ ขันธ์ ๑๐ ขันธ์อะไร มันไม่รู้จักหรอก มันรู้จักดิบๆ ว่าความคิดเราเป็นทุกข์ทั้งหมด มันรู้ว่าตัวตนของเรา ทุกอย่างมันเป็นของเรา มันเป็นทุกข์ทั้งหมดน่ะ จะแยกว่าเป็นขันธ์ ๕ ได้ ไม่เป็นขันธ์ ๕ ได้ มันต้องฝึกหัดทำสมาธิให้ได้ก่อน

ถ้าทำสมาธิได้แล้ว ถ้าจิตเห็นอาการของจิต มันไปเห็นความรู้สึกนึกคิด มันไปเห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณ ตอนนั้นขันธ์ ๕ มันก็ยังเป็นทุกข์ของมันอยู่นั่นแหละ

แต่ถ้าเป็นความจริงๆ เวลาพิจารณาไปแล้ว เวลามันขาด ดูสิ เวลาขาด หลวงตาท่านสอนนะ ขาดไปแล้ว มันบอกพระที่พิจารณาแล้ว ความรู้สึกนึกคิดมันเหมือนหางจิ้งจก หางจิ้งจกถ้ามันขาดไปแล้วมันก็ดิ้นอยู่นั่นน่ะ แป๊บๆ แป๊บๆ เหมือนกับมันมีความรู้สึก แต่มันขาดจากตัวจิ้งจกนั้นไปแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เวลาขันธ์ ๕ พิจารณาไปแล้ว ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ สังโยชน์มันขาดไปแล้ว ขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ จิตเป็นจิต เราเป็นเรา มันไม่ส่งผลกระทบต่อกันหรอก แต่มันต้องให้รู้จริงตามความเป็นจริงอันนั้น ถ้ามันไม่รู้ตามความเป็นจริงอันนั้น แล้วบอกว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ต้องมาเจ็บอยู่นี่ไง ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์แล้วมาเจ็บปวดอยู่นี่ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ได้อย่างไร

มันเป็น มันเป็นสำหรับปุถุชนคนหนา มันเป็นสำหรับมนุษย์ ความรู้สึกคิดของเรามันเป็น ขันธมารๆ รูปก็รูปของมาร เวทนาก็เวทนาของมาร สัญญาก็สัญญาของมาร สังขารก็สังขารของมาร วิญญาณก็วิญญาณของมาร ของมารคือของกิเลส กิเลสมันครอบมันคลุม กิเลสบังคับบัญชา มันก็เป็นทุกข์เป็นยากไปทั้งนั้นน่ะ

แต่เวลาพิจารณาไปโดยธรรมๆ เวลาธรรมมันแยกแล้ว ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกออกจากกัน ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ทุกข์เป็นทุกข์ เวลามารมันโดนแยกออกไปแล้ว พอมารมันแยกไปแล้ว ขันธ์ก็เป็นขันธ์ไง แต่ถ้ามันเผอเรอ เวลากิเลสมันเกิด มันก็เป็นทุกข์ไง นี่พูดถึงว่าโดยข้อเท็จจริง โดยข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้

แต่เวลาถามมา คนถามก็ถามมาเรื่อยเปื่อย ถามปัญหามามาก พอถามปัญหามามาก เราก็ตอบนะ ผู้ถามมันแรงมาตั้งแต่ท้ายๆ นี้แล้ว เพราะรู้สึกมันฟุ่มเฟือย พอฟุ่มเฟือย มันถามมากเกินไป ถามจนแบบว่าเหมือนกับคนที่อ่อนแอ คือคนที่ไม่ทำงานให้เป็นผลงานของตนน่ะ จะให้ผลงานให้คนอื่นยื่นให้ ให้ผลงานคนอื่นรับรองให้ ให้คนอื่น อันนี้เวลากิเลสมันคิด มันคิดอย่างนี้นะ

แต่เวลาเป็นธรรมๆ มันก็น่าเห็นใจ มันน่าเห็นใจนะ เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก็อยากมีครูมีอาจารย์ อยากมีผู้ที่ชี้นำ ถ้าผู้ที่ชี้นำเขาชี้นำแล้วก็ขวนขวาย ชี้นำแล้วทำความเป็นจริงขึ้นมา มันก็เป็นประโยชน์ใช่ไหม

แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ไปเจอครูบาอาจารย์ที่ไม่เอาไหน ครูบาอาจารย์ที่ไม่เอาไหนนะ มีเยอะมาก เราเห็นมา แต่โดยทั่วไปคนไม่เข้าใจหรอก แต่เราเข้าใจ เรานั่งดูอยู่ เวลาเป็นครูบาอาจารย์ก็สอน พอลูกศิษย์ทำสมาธิได้ เริ่มฝึกหัดปัญญาได้ พอไปถามปัญหาเขา เขาตอบไม่ตรงประเด็น ตอบผิดๆ ถูกๆ แสดงว่าเขาไม่รู้ พอไม่รู้เสร็จแล้ว เขาก็จะพาออกนอกลู่นอกทางแล้ว คือพาไปทำงาน พาไปให้สมาธิเสื่อมไป จิตจะได้ไม่เข้าสู่มรรคสู่ผล จะได้มาถามเขาอีกไง เวลาครูบาอาจารย์ที่ไม่เอาไหนนะ เขาพยายามจะหลอกจะล่อ จะสอนให้คนที่ปฏิบัติให้ออกนอกลู่นอกทาง ไปทำงาน ไปทัศนศึกษา ไปเผยแผ่ธรรม มันก็ไม่เข้าสู่หลักใจของตนแล้ว ถ้าไม่เข้าสู่หลักใจของตนนะ มันจะเข้าสู่ธรรมได้อย่างไร เวลาครูบาอาจารย์ที่ไม่เอาไหนนะ แต่ลูกศิษย์มันไม่ทันหรอก เราเห็นครูบาอาจารย์อย่างนี้มามาก

ฉะนั้น ถ้าครูบาอาจารย์อย่างนั้นน่ะ ถ้าคำถามอย่างนี้เขาชอบ เพราะเขาชอบให้คลุกคลีเขาไง เขาชอบให้ล้อมหน้าล้อมหลังเขาไง เขาชอบให้คลุกคลีกัน ให้พยายามส่งเสริมกันไง ส่งเสริมอย่างนั้นส่งเสริมแบบกิเลสไง

หลวงปู่มั่นท่านไม่มีสิทธิ์เลย หลวงปู่มั่น ดูสิ ท่านประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ พระที่จำพรรษาด้วยนี่แสนยาก ให้อยู่รอบนอก แล้วพระที่ภาวนาได้ เช่น องค์หลวงตาเองนี่แหละ องค์หลวงตา เวลาท่านสั่งเลย ให้ไปอยู่ป่าไหนเขาไหนที่เสือมากๆ ท่านเป็นคนกลัวเสือ ท่านก็จำใจต้องไป ไปเพื่ออะไร ไปเพื่อให้มีสติปัญญารักษาใจของตนไม่ให้มันฟุ้งมันซ่าน ไปเพื่อเข้มงวดกับตัวเองให้จิตมันสงบขึ้นมา

เวลาหลวงปู่มั่นท่านให้ไปอยู่ชัยภูมิที่หวาดเสียว เป็นที่วิกฤติ กิเลสมันจะได้ไม่เพ่นพ่าน กิเลสมันจะได้ไม่ออกมาหลอกหลอนเจ้าของหัวใจดวงนั้น นี่ครูบาอาจารย์ที่ดี เห็นไหม ท่านจะไม่มาคลุกมาคลี มาล้อมหน้าล้อมหลังท่านหรอก นี่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงไง

แล้วเวลาตอบปัญหา ตอบปัญหาไปแล้วก็ไปฝึกหัดสิ แค่ตั้งสติ ทำสมาธิ ๑๐ ปียังทำไม่ได้เลย

ไอ้นี่ถามแล้วถามเล่า ถามวกถามวนจนมันเป็นที่น่ารำคาญ พอเป็นที่น่ารำคาญนะ เพราะอะไร มันเหมือนคนปัญญาอ่อน อาจารย์ก็ติงต๊อง ลูกศิษย์ก็ติงต๊อง ก็ถามปัญหาติงต๊อง ถามไปถามมามันเป็นเรื่องไร้สาระไง

เวลาพระพุทธศาสนาต้องการคนจริง พระพุทธศาสนาต้องการของจริง พระพุทธศาสนาต้องการผู้ที่ปฏิบัติจริง แล้วปฏิบัติจริงแล้วปฏิบัติให้มันได้เป็นชิ้นเป็นอันมา ไม่ใช่ปัญหาติงต๊อง คิดอะไรไม่ออกก็ถาม อะไรก็วุ่นวายกันไปหมดเลย

เราจะบอกให้ เราบังคับหรือขึ้นบัญชีดำไอ้พวกที่ถามๆ นี่เยอะแยะ ทีแรกถามนะ ก็ถามปัญหามา พอคุยไปคุยมาคุยเรื่องส่วนตัว คุยเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เราบอกห้าม แล้วถ้ามา เราสั่งเจ้าหน้าที่เลย ถ้าคอมพิวเตอร์นี้ถามมาให้ตัดทิ้งเลย ตัดทิ้งเลย มันเป็นเรื่องโลกๆ น่ะ

อยู่กับหลวงตานะ หลวงตาท่านบอกนะ กิเลสเรา เรื่องของเราก็เต็มหัวใจอยู่แล้ว ทำไมต้องไปกว้านเอากิเลส เอาเรื่องของคนอื่นเข้ามาวุ่นวายในเรื่องของเราอีก เที่ยวแส่เรื่องชาวบ้าน แส่เรื่องคนอื่น มีประโยชน์อะไร เรื่องของเรา เรื่องในหัวอกเรานี่นะ เรื่องในบ้านของเราจัดการให้ดี เรื่องในตัวเรา เรายังทำอะไรไม่ได้เลย แส่ไปเอาเรื่องชาวบ้าน เอาเรื่องคนนู้นคนนี้มาเป็นภาระ มันเป็นอย่างนั้นหรือ

นี่ไง สัปปายะ ๔ สถานที่เป็นสัปปายะ ที่สงบสงัด แล้วเราก็เข้าสู่ที่สงบสงัดนั้น แล้วค้นคว้าหาใจของตน ไอ้เรื่องของเรา เรื่องที่เป็นความทุกข์ความยากในใจเรา ค้นคว้ามัน แสวงหามัน รักษามัน ดูแลมัน ค้นคว้ามันให้มันเป็นจริงขึ้นมา นั่นเรื่องของเราๆ มันหน้าที่นักปฏิบัติ มันเรื่องของเราๆ นี่แส่ไปเรื่องของคนอื่น

แล้วนี่ก็เหมือนกัน รู้นิดๆ ถามปัญหา มันเป็นเรื่องติงต๊อง เรื่องปัญหาของโลก เราไม่ต้องการพบเห็นสิ่งนี้เลย แล้วสั่งระงับไม่ให้ถามมาเยอะมาก

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เห็นถามซ้ำๆ ซากๆ แล้วนี่ก็มา เวลาบอกเลย ถ้าเป็นจริงนะ เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน เวลาถาม ไม่ต้องมาถามเรา ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย กดเข้าไปเลย ในมหามกุฏ มหาจุฬา ในพระไตรปิฎก สงสัยอะไร กดเข้าไปซะ ถามพระพุทธเจ้าโดยตรงเลย ไม่ต้องมาถามเรา ถามมามันเป็นเรื่องแบบว่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ วนไปวนมาบ้าบอคอแตก

ฉะนั้น เขาบอกว่า กราบขออภัยมา

จบ ให้อภัยหมดแล้ว ไม่วุ่นวายด้วย แล้วไม่ต้องเขียนมาวุ่นวาย ถ้ามีปัญหาก็กดเข้าไปในมหามกุฏ มหาจุฬานั่นน่ะ ในนั้นมีอยู่แล้ว แล้วขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ภาษาเรา มันเป็นเรื่องสุดเอื้อมของพวกที่ประพฤติปฏิบัติ ไอ้ที่พูดนี่มันเป็นปรัชญา มันเป็นการยกจิตขึ้นแล้วพยายามโน้มน้าว พยายามวิเคราะห์วิจัย แล้วก็จะเอามาถามเรา แล้วถามทำไม มันไม่ใช่ปัญหาจากการปฏิบัติ

ทำความสงบของใจเข้ามา ทำสมาธิยังทำกันไม่เป็นเลย ทำกันไม่เป็น เห็นไหม เวลาคนใช้จ่ายในท้องตลาด ถ้าคนใช้เงินปลอม คนใช้แบงก์ปลอม คนใช้เอกสารปลอม เจ้าหน้าที่เขาไม่รับหรอก เอาเงินปลอม เอาแบงก์ปลอมไปฝากธนาคารสิ ดูธนาคารไหนมันรับบ้าง ไม่มีธนาคารไหนเขาโง่บ้าเซ่อรับฝากแบงก์ปลอมให้เป็นเงินจริงขึ้นมาได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันไร้สาระ อีกยาวไกลกว่าพวกมึงจะปฏิบัติเป็น แล้วก็ถามปัญหาบ้าบอคอแตก เพียงแต่ว่าเวลาถามมาแล้ว ถ้าเป็นทางกรรมฐานเขาบอกว่า ก็กลัวเขาไม่รู้นี่ว่าอาจารย์รู้ ถามเรื่องขันธ์ ๕ นี่แหม! โชว์ออฟตอบเขาใหญ่เชียว

สมาธิยังทำไม่เป็น โดยพื้นฐานของจิตของเรา โดยพื้นฐานของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติโดยความเป็นจริงนะ ต้องทำความสงบใจเข้ามาก่อน พอใจมันสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา พอใจสงบแล้วค้นคว้าหาสัจจะหาความจริงในใจของตน ถ้าค้นคว้าหาสัจจะความจริงในใจของตน ถ้ามันไปรู้ไปเห็นขึ้นมา ถ้ามันรู้เห็น เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั่นน่ะเห็นขันธ์ ๕ แล้วถ้ามันเห็นจริงๆ

นี่จิตยังไม่สงบเลย ไม่สงบก็เหมือนแบงก์ เหมือนเงินของเรามันเป็นเงินทุจริต เงินที่เราพิมพ์เงินขึ้นมาเอง เราเข้าบ้านเรา เราก็เอาแท่นพิมพ์ปั๊มใหญ่เลย ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ปั๊มของเราขึ้นมา แล้วไปท้องตลาด ตำรวจจับหมดเลย มันไม่จริงสักอันหนึ่ง

นี่พูดถึงว่าข้อเท็จจริง แต่เวลาถามเรามา เราก็มีความเห็นแบบโลก แบบวิทยาศาสตร์เลย แบงก์ปลอมทั้งนั้นน่ะ ขันธ์ ๕ ขันธ์ของใคร ขันธ์อะไร

แต่ในความเป็นจริงในพระพุทธศาสนา เวลาสอนนะ นี่ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่ไง ในสมุทัยมันมีอะไรบ้าง มนุษย์เกิดมามีกายกับใจๆ นี่สมมุติบัญญัติ สมมุติก็อยู่ข้างนอกนู่น บัญญัติขึ้นมาก็เรื่องตัวของเรานี่ แล้วเวลาไปศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ก็ศึกษาศัพท์ในธรรมะ พอศึกษาศัพท์ในธรรมะขึ้นมาแล้วก็สร้างอารมณ์ไง ขันธ์ ๕ อ๋อ! ความคิดอย่างนี้เป็นขันธ์ ๕ อ๋อ! อ๋อ! อยู่อย่างนั้นน่ะ อ๋อ! ความเข้าใจ แล้วพอมันชัดเจนขึ้นมา มันละเอียดขึ้นมา เฮ้ย! อ๋อ! มันยิ่งละเอียดเข้าไปใหญ่ ขันธ์ ๕ มันเปลี่ยนแปลงด้วยเว้ย ขันธ์ ๕ มันดีขึ้น

นี่ไง เงินจริง เงินปลอมไง ไอ้เงินปลอม เงินที่เราเข้าใจคนเดียวว่าเราทำแล้วมันเป็นของจริง ไปใช้ในท้องตลาด ท้องตลาดเขารู้ว่าอะไรจริงอะไรปลอม แล้วยิ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารเขาหยิบเงินทุกวัน เขายิ่งรู้ใหญ่เลยว่าเงินจริงหรือเงินปลอม แล้วยิ่งธนาคารชาตินะ เขาแยกเลย ไอ้นี่ของปลอมทั้งนั้นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน นี่พูดถึงว่าเวลาไปคลุกคลีไง ไอ้ที่ไม่อยากตอบ ไม่อยากตอบเพราะไม่อยากตอบอย่างนี้ แต่เริ่มต้นขึ้นมาด้วยความสังเวช เราบวชมา เราก็โดนหลอกมามาก โดนหลอกมามาก หมายความว่า เวลาบวชใหม่ๆ ปฏิบัติแล้วก็ไปหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ไปไหนมา สามวาสองศอก มันไม่เป็นทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันเป็นนะ มันไม่ออกมาเป็นจานกระเบื้องวุ่นวายในท้องตลาดหรอก

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านอยู่ในวัดของท่าน ท่านอยู่ในป่าในเขาของท่าน เราจะหาความจริง เราต้องแสวงหาไปหาท่าน เวลาไปหาท่านขึ้นมา เวลาท่านตอบขึ้นมา “อวิชชาอย่างหยาบท่านสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางท่านไม่รู้จักมันเลย อวิชชาอย่างละเอียดในหัวใจท่านอีกเต็มหัวใจเลย”

อืม!

นี่ไง ไม่ต้องไปเถียง ไม่ต้องไปเถียง ไอ้อารมณ์ความฟุ้งซ่านหยาบๆ เอ็งก็แค่รู้เท่าเท่านั้นน่ะ ไอ้อย่างกลางๆ ไอ้อย่างที่มันหลอกลวง เอ็งก็ไม่รู้จัก ไอ้อย่างที่มันซ่องสุมในใจเอ็งลึกๆ เอ็งยิ่งไม่เคยเห็นมันเลย เออ! อย่างนี้เราต้องพยายามของเราขึ้นไป

นี่เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็น ท่านไม่ต้องพูดมากหรอก ท่านจี้เข้าไปในใจเอ็งนั่นน่ะ ในใจที่เอ็งว่าเอ็งรู้ เอ็งแน่ เอ็งยอดนั่นน่ะ เวลาจี้เข้าไปแล้วเอ็งงงในตัวเอ็งเองนั่นน่ะ เรื่องความทุกข์ความยากในใจของตนไม่สนใจ สนใจแต่แส่จะไปหาเรื่องคนอื่น นี่แส่มาในเว็บไซต์เราไง มาถามปัญหาอยู่นี่ไง แล้วก็ถามมา ถามแล้วถามเล่าไง แล้วนี่ก็กราบขออภัยไง

ให้อภัยแล้ว แล้วไม่ต้องถามมาอีก จบ

ทำให้มันเป็นขึ้นมา สมาธิทำให้มันเป็นมันก็จบแล้ว มันด้วยเรื่องพระพุทธศาสนานะ เวลาศาสนสัมพันธ์เขาส่งเสริมกัน เวลาส่งเสริมกันก็ส่งเสริมไป ศาสนาเหมือนกัน มันไม่มีเหมือนหรอก

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ไปไหนมา สามวาสองศอกทั้งนั้นน่ะ เราเคยโดนอย่างนั้นมา เราถึงเปิดเว็บไซต์ ให้ด้วยนะ ให้เขียนมาถามได้ ไม่ต้องมาหากูหรอก เขียนมาถามได้เลย เพราะอะไร ไม่ต้องเสียค่ารถ ไม่ต้องเสียค่าเวลา ไม่ต้องเสียอะไรทั้งสิ้น เพราะไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น แล้วถ้าถามมา ถ้าเป็นประโยชน์นะ กูจะตอบ แล้วเวลาตอบมันก็ตอบ

คนที่ประพฤติปฏิบัติ มันเหมือนเรามืดแปดด้าน มันก็อยากให้คนชี้นำใช่ไหม เราก็ตอบ ถ้ามันเข้าเค้า บางทีดูแล้วมันเข้าเค้า เข้าเค้านะ มันก็เป็นกระดาษที่มันเขียนมา มันจะเขียนอะไรก็ได้ แล้วตัวจริงมันเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้เลย แต่ก็ตอบ ตอบให้เป็นแนวทาง ให้เป็นทางเลือก มันเป็นทางเลือกในสังคมไง ไม่ใช่สังคมจะต้องมาสอพลอกันตลอดเวลา เวลาตอบก็ตอบปัญหานั้นไป แล้วก็ถามปัญหาๆ แล้วถามมาก็ไปเรื่อย พอครั้งที่แล้วแรงไป บอกเลย กลับไปไล่เปิดเทปเก่าๆ หลวงพ่อฟังหมดแล้วแหละ เข้าใจหมดแล้ว

แล้วเข้าใจแล้วมึงถามมาทำไมล่ะ ตอนนี้เข้าใจหมดเลย ถ้าไม่แรงไปก็ยังจะเขียนมาไม่เข้าใจอีกใช่ไหม

ฉะนั้น ถ้ามันเข้าใจแล้วก็จบ แล้วเรื่องที่ว่าจะต้องมาผูกโกรธกัน เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราไม่โง่หรอก ไปจองเวรจองกรรมใคร กูไม่โง่ กูระงับดับสิ้น แล้วไม่ยุ่งกับใคร

แต่สิ่งที่มันเขียนมา อย่างเมื่อกี้ เราปล่อยไว้ให้คนคนหนึ่งทำอะไรก็ได้ ต่อไปมันก็เละหมด ถามปัญหาอะไรก็ได้ ไปไหนมา สามวาสองศอก อะไรก็ได้ ต่อไปเว็บไซต์ก็เป็นเว็บไซต์หาคู่น่ะสิ ไร้สาระ ถ้ามันมาไร้สาระ ไม่ให้ ไม่ต้องเข้ามายุ่ง เอ็งไปสังคมของเอ็งนู่น แล้วถ้ามีความจำเป็น เออ! ค่อยมาว่ากัน ไม่อย่างนั้นมันก็จบน่ะสิ อะไรก็ได้ๆ นึกอะไรไม่ออก มาทันทีเชียว

ฉะนั้นถึงว่า ไม่มีปัญหา ให้มันจบกันไป เรื่องนี้จบ เรื่องว่าการขออภัย

ถ้าไม่อย่างนั้นไม่ออกมาตากแดดตากฝนอย่างนี้ ถ้าตากแดดตากฝนแล้วมันก็ต้องมีผลกระทบ แต่มีผลกระทบ มันควรจะเป็นผลกระทบที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ผลกระทบที่โง่กับโง่เจอกัน ติงต๊องกับติงต๊องเจอกัน แล้วก็ลากกันไปเป็นเหยื่อ เป็นเหยื่อให้โลกนี้เขาเอาไปติฉินนินทา ต่อหน้าหวานเจี๊ยบเชียว ลับหลังว่าไอ้โง่

ต่อหน้าทำเป็นเก่ง ท่านอาจารย์ประเสริฐ

กูชื่อสงบ ไม่ใช่ชื่อประเสริฐ

เสร็จแล้วลับหลังมันบอก แค่ชื่นชมหน่อย แค่นี้ก็หางชี้แล้ว

โธ่เอ๊ย ทุเรศ แสนจะทุเรศ ไม่ต้องมายุ่ง วุ่นวาย

อ้าว! จบ อันนี้มันจบครั้งที่ ๒

ถาม : ข้อ ๒๓๓๙. เรื่อง “ดันไม่ไป”

กราบเท้าหลวงพ่อ ผมมาภาวนาที่วัดครับ จิตมันขึ้นๆ ลงๆ ๒ วัน วันที่ ๓ พิจารณาถึงความเกาะเกี่ยวผูกพันที่รบกวนใจอยู่แว็บหนึ่ง ใจไปนึกถึงหมาแม่ลูกอ่อนนอนให้นม เออ! ความผูกพันมันแค่นี้ จิตมันสังเวช สงบลงมา เลยภาวนาพุทโธต่อเนื่องไปตั้งแต่หัวค่ำ

คำถาม จากจุดนั้นผมเดินจงกรมจนกระทั่งพยายามพุทโธถี่ๆ กลัวหลุด พอทำไปมันเรียวลงเหมือนลูกธนู มันรัวเป็นเส้นเดียว แล้วคำมันไม่ชัดครับ จนเหมือนดันให้พุทโธต่อ มันไม่ไป เลยค่อยๆ ถอนออกมา แล้วเดินตั้งสติใหม่ เป็นอย่างนี้หลายยกครับ คาดว่าอาจเพราะสติขาด อยาก หรือเครียดไป ขอหลวงพ่อชี้แนะด้วยครับ ไม่น่าใช่จิตรวม เพราะไม่มีความสุขและตื่นโพลง

ตอบ : นี่พูดถึงว่าเวลาเขาพิจารณาของเขา จิตขึ้นๆ ลงๆ แล้วปัญญามันแว็บไง แว็บไปถึงหมาแม่ลูกอ่อน เหมือนหมาแม่ลูกอ่อน หมาแม่ลูกอ่อน หมายถึงว่า หมาแม่ลูกอ่อนมันดูแลลูกของมัน นี่ก็เหมือนกัน ธรรมมันแว็บเกิด พอธรรมมันแว็บเกิดขึ้นมา จิตมันมีความรู้สึก มันมีความรู้สึก มันผูกพัน มันมีความรู้สึกขึ้นมาก็เลยพุทโธๆ ตั้งแต่หัวค่ำไป แล้วคำถามคือว่าความรู้สึกอันนั้นมันเป็นอะไร

ความรู้สึกอันนั้น สิ่งที่เราคาดเราหมาย สิ่งที่เราคาดเราหมาย เราคาดเราหมายแสดงว่ามันยังไม่เกิดขึ้นจริง เวลาเรากำหนดพุทโธ เรามาภาวนาของเรา เวลามันแว็บขึ้น แว็บขึ้น ปัญญามันแว็บขึ้นมาว่าจิตเหมือนกับหมาแม่ลูกอ่อน

ถ้าหมาแม่ลูกอ่อน หมาแม่ลูกอ่อนก็หมามันปกป้องลูกของมัน ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เหมือนหมาแม่ลูกอ่อน มันก็ย้อนเข้ามาเปรียบเทียบเหมือนใจของเรา ถ้าเปรียบเทียบเหมือนใจของเรา มันมีผลกระทบ มันมีปัญญา มันก็มีความรู้สึก ความรู้สึกว่ามันปล่อยมันวางไง พอมันปล่อยมันวางขึ้นมา มันก็เป็นความสงบอันหนึ่ง แล้วจะดันต่อไป ดันต่อไปไง ถ้าดันต่อไป มันไม่ไปต่อ มันดันต่อไป ไม่ไปต่อ นี่ผลของการปฏิบัติ เวลาผลของการปฏิบัตินะ เขาต้องชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าและการออก เวลาชำนาญในการเข้าและการออก

ก่อนที่เริ่มจะปฏิบัติ เราก็ตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติให้ดีงาม ปฏิบัติดีงาม วางใจให้เป็นกลาง คำว่า วางใจให้เป็นกลาง” หมายความว่าตั้งใจ ตั้งใจจะปฏิบัติ ทางสายกลางๆ ไง ไม่อยากให้มันเป็นโดยสมความปรารถนา แล้วก็ไม่ใช่ว่าทิ้งขว้างไม่ดูแล ถ้าบอกเดี๋ยวมันจะอยากเกินไป เดี๋ยวมันจะกลายเป็นความผูกมัด ทิ้งขว้างเลย ไม่ดูแลเพราะขาดสติ

เราตั้งสติไว้ แต่เราไม่อยากให้มันเป็นไป แต่ก็ไม่ทิ้งไม่ขว้าง แล้วเราก็พุทโธของเราไป เราพุทโธของเรา ปฏิบัติของเราไป การปฏิบัติบูชาๆ

เขาบอกดันมันไม่ไปๆ ดันไม่ไป หมายความว่า พอเขาได้หนึ่ง เขาจะเอาสอง เอาสาม เอาสี่ไง มันไม่ไปหรอก พอจะดันน่ะ จบแล้ว พอจะดัน มันก็รู้แล้ว แต่ถ้าเราไม่ดัน เราก็ภาวนาของเราไป เราภาวนาของเราไป เหมือนหมาแม่ลูกอ่อน มันมีความสุขสงบ เราก็อยู่กับความสุขสงบนั้น อยู่กับความสุขสงบนั้น เราก็เดินจงกรมของเราต่อเนื่องไป นั่งสมาธิของเราต่อเนื่องไป ถ้ามันละเอียดขึ้น มันดีขึ้น เห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันจะก้าวหน้าของมันไป

ถ้ามันไม่ก้าวหน้า ไม่ก้าวหน้าเพราะอะไร เพราะว่าตะกอน ตะกอนมันขยับแล้ว จิตใจพอมันแบบว่าหมาแม่ลูกอ่อน เวลามันมีความรู้สึกอย่างนั้น นั่นน่ะมันขยับแล้ว พอมันขยับขึ้นมาแล้ว พุทโธให้มันต่อเนื่องไป มันจะไปอย่างไร ทั้งๆ ที่ว่ามันขยับไปแล้ว มันเร็วกว่าเราไง จิตมันเร็วกว่าเรา ปฏิกิริยาของใจมันเร็วกว่า สติปัญญาเราตามมันไม่ทัน พอสติปัญญาตามไม่ทัน คิดว่ามันอยู่ในแนวทางเดียวกันใช่ไหม เราก็บอกว่าเราจะดันต่อไปไง แต่มันไม่ไป เพราะมันคนละสเต็ปแล้ว ความละเอียดรอบคอบมันไม่เท่ากัน

ถ้าความละเอียดรอบคอบไม่เท่ากัน ผลของมันคือมันไม่ได้ผลอย่างที่เราตั้งใจไว้ว่า ถ้ามันเป็นระดับนี้แล้วมันจะละเอียดมากกว่านี้ มันจะลึกซึ้งมากกว่านี้ ถ้าเป็นการที่เรามีแนวทาง เรามาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามา ถ้ามันเจริญงอกงามไป มันจะเป็นแบบนี้

แต่นี่มันไม่เป็น ไม่เป็นแล้วเราบอก คำถามคือว่าดันไม่ไป คือจะให้มันไป มันไม่ไป นี่ก็ไม่ไปไง ก็นี่ไง ที่แบบว่ามันขยับแล้ว มันขยับแล้ว จิตมันเร็วกว่า ปฏิกิริยาข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้น แต่ปัญญาเรายังคิดว่า คิดว่าเป็นแม่ลูกอ่อนอยู่ คิดว่าหมามันยังรักลูกมันอยู่ คิดว่าหมามันยังให้นมลูกมันอยู่ คิดว่าจิตเรามันยังอยู่ในอำนาจมันอยู่ คิดว่าสติเรายังดีงามอยู่ คิดว่าเราจะทำได้อยู่ เห็นไหม เราคิดๆๆ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น มันเลยดันไม่ไป

ถ้าดันไม่ไปแล้ววาง ไอ้นี่สิ่งที่มันดันไม่ไปแล้วมารู้ทีหลัง ถ้ารู้ทีหลังแล้วเป็นอย่างนั้นปั๊บ คำถามว่า เขาพยายามจะรัว พยายามพุทโธชัดๆ รัวเป็นลูกธนูเป็นเส้นไปเลย

เราก็ทำของเราไป นี่ก็เป็นประสบการณ์อันหนึ่ง นี่ก็เป็นวิธีการอันหนึ่งที่เวลาเราทำของเราแล้ว พอปัญญามันเกิด พอจิตมันจะเป็นไปอย่างนั้น แล้วเราก็ขยับตั้งใจจะทำอย่างนี้เพื่อจะให้มันเข้าไป นี่คือประสบการณ์ แล้วทำคราวต่อไปนะ ไอ้ประสบการณ์ เราจะทำให้มันชัดขึ้น ทำให้มันละเอียดขึ้น ทำให้มันอยู่ในแนวทางที่ดีขึ้น ถ้าแนวทางที่ดีขึ้นนะ ฝึกหัดอย่างนี้ นี่ชำนาญในการเข้าและการออก

ไอ้การเข้า หมาแม่ลูกอ่อนนี่ส้มหล่น เพราะมันเกิดเอง เราปฏิบัติแล้วมันเกิดเอง มันเกิดเองคือธรรมมันเกิด แล้วเราทำต่อเนื่องไปไม่ได้ ทำต่อเนื่องไปไม่ได้ก็วางไว้เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่ง แล้วครั้งต่อไปเราก็ฝึกหัดอย่างนี้ แล้วมันก็จะมีประสบการณ์อย่างนี้บ่อยครั้งๆๆ บ่อยครั้งจนเราชำนาญว่าเราจะประคองใจเราอย่างไร ถ้ามันจะเกิดอะไรก็ให้มันเกิดไป เราก็ตั้งใจทำของเราไปอย่างนี้ คือเราไม่เหลียวซ้ายแลขวา เราไม่รับรู้สิ่งภาวะที่มันจะชักให้จิตเราไปรับรู้อะไรทั้งสิ้น เรารับรู้อย่างเดียว เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านสอนนะ โลกนี้จะวิบัติ โลกนี้จะเป็นไปอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น รู้พุทโธๆ อย่างเดียว

นี่ก็เหมือนกัน อะไรมันจะเกิดขึ้น เราก็กลับมาพุทโธของเรา กลับมาพุทโธของเรา ถ้ากลับมาพุทโธของเรา นั่นคือเหตุ เหตุของเรามันเป็นอย่างนี้ปั๊บ เราก็อยู่ที่เหตุนี้ แล้วถ้ามันเป็นไป มันละเอียดเข้าไปนะ นั่นก็เป็นข้อเท็จจริงของมัน ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันเป็นสัจจะเป็นความจริง ความจริงนะ เหตุมันต้องสมบูรณ์ของมัน มันถึงจะเกิดผลของมัน ถ้าเกิดผลของมัน แสดงว่าเหตุเราตั้งไว้ถูกต้อง ถ้าเหตุเราตั้งไว้ไม่ถูกต้อง ดันอย่างไรก็ไม่ไป ดันอย่างไรก็ไม่ไป มันคนละช่วงกัน แล้วมันคนละช่วง มันก็ไปไม่ได้ พอไปไม่ได้ มันก็เป็นอาการอย่างนั้น นี่พูดถึงหมาแม่ลูกอ่อน แล้วเวลาจะดันไปให้ได้ ถ้าเราตั้งใจเกินไป เราตั้งใจเกินไป เราตั้งเป้าหมายเกินไป เวลาทำสิ่งใดแล้วมันไม่ได้ผลหรอก

เราตั้งเป้าไว้ ถ้าคนที่ปฏิบัตินะ เราตั้งเป้าไว้ว่าพ้นจากทุกข์เลยล่ะ เราตั้งเป้าว่าสิ้นกิเลสเลย แล้วเราก็ทำของเราไป เก็บเล็กผสมน้อย ทำของเราไป รักษาของเราไป เว้นไว้แต่เวลาจิตมันเสื่อม จิตมันเสื่อม มันท้อมันแท้ มันหมดอาลัยตายอยาก มันเลิกดีกว่า แล้วมันก็เลิกภาวนาไป อันนั้นสุดวิสัย

แต่ถ้ามันไม่ท้อแท้จนถึงว่าเลิกดีกว่า เราก็เก็บเล็กผสมน้อย คำว่า เก็บเล็กผสมน้อย” คือไม่ให้กิเลสมันแซงหน้าแซงหลัง

เขาบอกว่า “โอ๋ย! ต้องเก็บเล็กผสมน้อยแล้วเมื่อไหร่มันจะเป็นไป”

คำว่า เก็บเล็กผสมน้อย” นี่ข้อเท็จจริง ถ้าเก็บเล็กผสมน้อย ถ้ามันเป็นจริง เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่นไง หลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ ธรรมและวินัยท่านเก็บเล็กผสมน้อย ท่านไม่ยอมก้าวล่วงใดๆ ทั้งสิ้นเลย ท่านรักษาของท่านเต็มที่

หลวงตาท่านพูดเอง เห็นองค์เดียวเท่านั้นน่ะที่ถือผ้าบังสุกุล ก็หลวงปู่มั่นนี่ถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ท่านขนาดเป็นเจ้าอาวาส เป็นหัวหน้า ท่านยังใช้ผ้าบังสุกุลเลย นี่ไง เก็บเล็กผสมน้อยไง เก็บเล็กผสมน้อยแก่ชีวิตท่าน

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติเก็บเล็กผสมน้อย เราไม่ให้กิเลสมันแซงหน้าแซงหลัง ถ้ากิเลสมันแซงหน้าแซงหลังก็ดันไม่ไปไง ดันไม่ไปแสดงว่ามีเป้าหมายอยู่ข้างหน้า ถ้ามีเป้าหมายอยู่ข้างหน้าแล้ว เราจะดันจิตเราให้ขึ้นไปอย่างนั้น แล้วกิเลสมันหลอกไง นี่ไง ตัณหาซ้อนตัณหาไง

แต่ถ้าเราเก็บเล็กผสมน้อย เราก็ทำของเราไปเรื่อย ทำของเราไป ทำเสร็จแล้วออกจากการภาวนา เก็บประสบการณ์นั้นน่ะมาวิเคราะห์วิจัย คราวนี้ขาดตกบกพร่องอะไร คราวนี้ทำแล้วได้อะไร คราวนี้มันไม่มีอะไร แล้วถ้าคราวนี้มันบกพร่องอะไร คราวหน้าบกพร่องจะตัด นี่หลวงตา ครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างนี้ เวลาท่านภาวนาของท่านนะ ถ้าไม่ลง ถ้าเป็นไปไม่ได้ ท่านย้อนมาตั้งแต่เช้าเลย เช้าวันนี้ไปเจออะไรบ้าง เช้าวันนี้ทำอะไรบ้าง ท่านจะตรวจสอบอารมณ์ตลอด ตรวจสอบอารมณ์แล้วเวลาเข้าทางจงกรมก็มาวางหมด แล้วก็พิจารณาของเราใหม่ มันหาผิดหาถูกมันก็เข้าทางของมัน นี่ผู้ที่ปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ ไม่ปฏิบัติแบบออเซาะฉอเลาะนู่น

ออเซาะฉอเลาะมันมาแต่ผิวเผิน เอาคำถามอะไรมาถามก็ไม่รู้ เอาสิ่งที่ว่าตัวเองตื่น มันเป็นวุฒิภาวะที่อ่อนแอ จิตใจมันอ่อนแอ มันก็ไปเก็บเล็กผสมน้อย คิดว่ามันยิ่งใหญ่ เอามาถามเอาชื่อเสียง

แต่เวลาผู้ที่ปฏิบัติ เวลามันเกิดขึ้นจริง ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ที่เราพยายามที่จะตอบปัญหาอยู่นี่ๆ เวลาตอบปัญหาอยู่กับผู้ที่เกิดขึ้นจริง แล้วเกิดขึ้นจริงนะ ไอ้แค่ขั้นของสมาธิ แค่ขั้นเริ่มภาวนา หลวงตาท่านบอกเลย ยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น คราวเริ่มต้นก็เหมือนกางร่มแล้วจะหุบร่ม จิตของคน ธรรมชาติของมันเหมือนกางร่มออก แล้วจะหุบเข้ามาเป็นตัวของมันเองแสนยาก แล้วจะหุบเข้ามานะ มีเยอะแยะไป พระที่ปฏิบัติรู้นู่นรู้นี่ แล้ววุฒิภาวะอ่อนแอไง เห็นจิตออกไปอยู่ข้างนอก นั่งไปแล้วเห็นจิตย้อนกลับมา มองตัวเองเป็นอสุภะ เป็นกองกระดูก...โธ่! ส่งออกทั้งนั้นน่ะ เพราะอะไร

เพราะว่าฤๅษีชีไพร ละครทีวี หนังสือประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์เรื่องภูตผีปีศาจ มันเขียนไว้ร้อยแปดเลย เอ็งจะเอาอะไรล่ะ ข้างนอกน่ะ นวนิยายเขาเขียนไว้เยอะแยะไปหมด แล้วเวลาเอ็งภาวนาแล้วไปเห็นอย่างนั้น เห็นอะไร แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิคือความสงบเข้ามา กางร่มแล้วหุบร่มเข้ามา หดเข้ามาสู่ใจของตน ถ้าหดเข้ามาสู่ใจของตน นั่นน่ะเริ่มต้นปฏิบัติ ถ้าจะเริ่มต้นปฏิบัติไง

ทีนี้คราวแรกเป็นคราวที่ยากที่สุด คราวแรก คราวแรกเพราะอะไร คราวแรก นี่ไง ไข่ ไข่มีเปลือกไข่ เปลือกไข่นั่นน่ะ อวิชชานี่เปลือกไข่ วาสนาของจิตร้อยแปดมันหุ้มไว้ แล้วจะทำสมาธิก็หุบเข้ามาที่เนื้อไข่เลย แล้วจะเข้ามาได้อย่างไร เวลาเข้าไปถึงเนื้อไข่ โอ้โฮ! เปลือกไข่มันแข็งๆ เนาะ แต่เนื้อไข่มันมีไข่ขาวไข่แดง อู้ฮู! มันมีความสุขมากเวลาจิตสงบ

แต่มันไม่เคยเข้ามา มันลูบอยู่ที่เปลือกไข่นั่นน่ะ เปลือกไข่มีขี้ไก่ มีแต่ขี้ แล้วมันก็อยู่กับขี้นั่นน่ะ มันไม่เคยเจอไข่ขาวไม่เคยเจอไข่แดง มันเจอแต่ขี้ไก่ แล้วก็มาโชว์กันอวดกัน นี่พูดถึงว่าถ้ามันติงต๊อง ถ้ามันออเซาะ นี่พูดถึงว่าเวลาจิตใจที่มันอ่อนแอ

ถ้าจิตใจที่เข้มแข็ง แต่บอกว่าเวลาปฏิบัติแล้วจิตมันลงได้ เพราะคำถามว่ามันไม่น่าใช่จิตรวม เพราะไม่มีความสุข

มันเป็นปัญญาเกิดขึ้น เตือนไง เวลาปัญญามันเกิดขึ้นนะ เราภาวนาอะไรอยู่ก็แล้วแต่ เวลาปัญญามันเกิด เหมือนครูบาอาจารย์ที่อยู่ในป่า เวลาอยู่ในป่า เดินจงกรมนะ เอ๊ะ! ทำไมตามันแว็บๆ เห็นเหมือนกับเสือมานั่งอยู่ ท่านเหลียวไปดู มันเห็นแว็บๆ อย่างนี้มันมาส่งเสริมกัน

เวลามันพิจารณาไปนะ เหมือนเสือมานั่งอยู่ทางจงกรมเลย เวลาเดินอยู่ มองไม่เห็น แต่เดินไปเดินมา เดินมาเดินไป นั่นมันคืออะไรน่ะ พอหันไปเสือมันนั่งเฝ้าอยู่แล้ว พอเสือนั่งเฝ้าอยู่แล้ว เวลาคิดอะไร เสือมันคำรามเลย

อันนั้น ถ้าเป็นเสือ เสือมันจะรู้ความคิดเราหรือ แต่ถ้ามันรู้ความคิด รู้ความคิด มันต้องสูงกว่าเสืออยู่แล้ว แต่มันก็เป็นเวรเป็นกรรมของสัตว์ เพื่อมาทำให้เกิดปฏิกิริยา ทำส่งเสริม นี่พูดถึงเวลาส่งเสริมกันนะ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติอยู่ในป่า หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่ชอบ จนเสือกับท่านเป็นเพื่อนกันน่ะ อยู่ด้วยกันนะ อยู่ด้วยกันด้วยเมตตาธรรม ถ้ามันเป็นธรรมๆ นะ แล้วเวลาปฏิบัติ นี่เป็นเรื่องส่วนตัวนะ เป็นเรื่องส่วนตัวคือประสบการณ์ของจิตดวงนั้น ประสบการณ์ของตัวเอง ประสบการณ์ของหัวใจเท่านั้น แล้วถ้ามันเป็นขึ้นมามันเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติขึ้นมานี่นะ เวลาปัญญาเกิดขึ้น เวลาปัญญาเกิดขึ้น มันเป็นความผูกพันระหว่างแม่กับลูก หมากับลูกหมา ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ความผูกพันในใจของเรา ในใจของเรากับพุทโธ ในใจของเรากับธรรมะ ในใจของเรา แล้วพอมันเกิดปฏิกิริยา โอ้โฮ! มันสะเทือน เพราะมันเกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นจากใจดวงนั้น

แต่เวลาเราไปกลางถนน หมาแม่ลูกอ่อน หมาเขาเอามาทิ้งที่หน้าวัดเป็นครอกๆ เลย ทั้งแม่ทั้งลูกเต็มไปหมดเลย ไม่เห็นมีใครจิตสงบสักคน ไม่เห็นมีใครคิดอะไรเลย นี่เวลามันเป็นเรื่องข้างนอก จะบอกว่า เรื่องแค่หมาแม่ลูกอ่อน แต่มันเกิดในใจ มันถึงเกิดปฏิกิริยา แต่ถ้าเอาเรื่องอย่างนี้มาคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ฟาร์มเลี้ยงหมา แม่หมาลูกหมาเต็มไปหมดเลย ไม่เห็นมีใครได้อะไรเลย มีแต่เจ้าของฟาร์มได้ตังก์

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลามันสะเทือนใจนะ เวลาถ้าจิตมันสงบ จิตเป็นสมาธิแล้วนะ ดูสิ เวลาในสมัยพุทธกาลที่พระจะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วไปถึงฝนตก น้ำเจิ่งนองไป ฝนจากชายคาตกลงเป็นฟองแล้วก็แตก เป็นฟองแล้วแตก ทำไมไปยืนพิจารณาจากฟองน้ำแตก จากเป็นจุดเป็นต่อมแล้วมันแตก ทำไมบรรลุเป็นพระอรหันต์ล่ะ เพราะจิตท่านสงบ จิตท่านมีสมาธิ ท่านพิจารณาของท่าน

นี่ก็เหมือนกัน ที่เราทำความสงบก็ตรงนี้ไง ให้จิตมันสงบเข้ามา จิตเป็นรากเป็นฐานขึ้นมา ถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา นี่แค่เดินจงกรม เวลาปัญญามันแว็บขึ้นมา เหมือนหมาแม่ลูกอ่อน มันสะเทือนใจมาก วันที่ ๓ เขาว่าของเขานะ แล้วมันเป็นไป

อันนี้มันเป็นปฏิกิริยาภายใน มันเป็นเรื่องของจิต ฉะนั้นที่ว่า ครูบาอาจารย์เราสอนทำความสงบของใจก่อน ทำความสงบของใจก่อนเพื่อเวลาเกิดปัญญา มันให้มันเกิดปัญญาภายใน เกิดปัญญาที่ว่าเกิดแล้วน้ำตาไหล เกิดปัญญาขึ้นมาแล้วสะเทือนใจมาก เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา โอ้โฮ! คร่ำครวญเลยนะ แต่ข้างนอก เวลามันเกิดเอง เขาจ้ำจี้จ้ำไชไม่ฟัง

แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาจากข้างใน คนคนหนึ่งพลิกเป็นอีกคนคนหนึ่งเลย แล้วคนคนนั้นมันจะมีคุณงามความดี นี่ผลจากภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต แล้วจะเชื่อจะฟัง จะเคารพบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก นี่พูดถึงการภาวนานะ

นี่เขาบอกว่าทำไมมันดันไม่ไป

ตอบมาหมดแล้ว ดันไม่ไปเพราะมันเป็นคนละจังหวะกัน เป็นจิตที่มันมีขณะ มันไม่เป็นชิ้นเป็นอันเดียวกันมา แล้วเราวางของเราไว้ แล้วถ้ามันจะไปหรือไม่ไป เราไม่ต้องไปคาดไปหมาย ไม่ไปแบกหามให้มันเป็นผลต่อรองของเรา ให้มันเป็นความจริง เราปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมเพื่อความสมควรแก่ธรรม ให้มันเป็นสัจจะเป็นความจริงในการปฏิบัตินั้น เอวัง