เทศน์พระ

เทศน์พระ ๕

๗ ก.ย. ๒๕๔๙

 

เทศน์พระ วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เข้าพรรษามา ๒ เดือน เกือบออกพรรษาแล้ว ถ้าเราจะคิดถึงตัวเรานะ เห็นไหม เราว่าเรามีชีวิต กาลเวลามันก็มีชีวิต มันกินตัวมันเองตลอดเวลา ยักษ์ที่ใหญ่ที่สุด เห็นไหม มืดกับสว่าง กินเราไปตลอดเวลา ถ้ากินเราไปตลอดเวลา เห็นไหม ก่อนบวชเรามีการคิดว่าอย่างไร ก่อนบวชเรามีความคิดว่าเราจะตั้งใจ เราจะตั้งสัจจะ เราจะภาวนา

ทุกคนปรารถนาความสุข แล้วเราเกิดเป็นชาวพุทธมีวาสนามาก เพราะความสุขเห็นไหม ความสุขในศาสนา ความสุขนอกศาสนานะ ความสุขของโลก ดูสัตว์สิ สัตว์มันได้อาหารตามใจมัน มันก็มีความสุขนะ ดูเสือในป่า มันจับเหยื่อของมันได้ มันจะมีความสุขมาก มันกินอาหารเสร็จแล้วมันจะเลียปาก มันจะเฝ้าเหยื่อของมัน อย่างนี้คือความสุขนอกศาสนา เพราะเขาไม่มีโอกาสแบบเราไง

เรามี เราเป็นชาวพุทธ พุทธที่ทะเบียนบ้าน เห็นไหม เราเกิดมาในโอกาส สัตว์น้ำมันอยู่ในแหล่งน้ำที่ออกซิเจนมาก มีอาหารมาก มันจะมีความสุขของมัน แต่เวลาน้ำเสีย ปลาลอยเป็นแพเลย สังคมก็เหมือนกัน เราเกิดเป็นชาวพุทธ เราอยู่ในสังคมเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธมีโอกาสได้บวชได้เรียน จากคนดิบเป็นคนสุก เขาว่าอย่างนั้นนะ ถ้าใครได้บวชแล้ว เห็นไหม ถ้าเป็นสมัยโบราณ คนยังไม่ได้บวชเขาเรียกว่าคนดิบ ถ้าจะไปขอลูกสาวเขา เขาไม่ให้หรอก เขาต้องให้บวชก่อน ให้เป็นคนสุก

คนสุกเพราะอะไร เพราะเข้าไปในศาสนา ในศาสนามันตั้งแต่เรื่องธรรมะมาเห็นไหม มิตรเทียม มิตรแท้ คนเทียมมิตร เห็นไหม เป็นมิตรแต่หวังผลประโยชน์ มิตรแท้คบกันอย่างไร

มิตรจากภายนอก มิตรจากภายในใช่ไหม คบคนพาลจากภายนอก คบคนพาลจากภายใน เข้าไปศึกษาไง เข้าไปศึกษาการดำรงชีวิตให้เป็นคนสุก คนสุกไปขอลูกสาวเขา เขาให้ เขาว่าถ้าได้บวชได้เรียนแล้ว จะพาครอบครัว จะพาลูกสาวเขา ไปทำให้ครอบครัวมั่นคงไง ร่มเย็นเป็นสุข นี่ล่ะเขาคิดของเขา เห็นไหม เป็นคนสุก ว่าแค่ได้บวชนะเป็นสุขแล้ว

แล้วบวชมาใน ๓ เดือนนี้บวชมาทำอะไรกัน ถ้าบวชมาประพฤติปฏิบัติ ก็ขวนขวายตั้งสัจจะ เพื่อจะประพฤติปฏิบัติ แล้วในสมัยโบราณนะ ในการประพฤติปฏิบัติมันจะมีมากน้อยขนาดไหนล่ะ ก็ว่ากันไปว่าเป็นการปฏิบัตินะ ว่ากันไป คำว่า ว่ากันไป คือ กิเลสพาว่าไง กิเลสพาคิด กิเลสพาทำ กิเลสทำสภาวะแบบนั้นว่านี่คือการปฏิบัติ

การลูบคลำ ดูสิ ดูอย่างช่างเขาทำงานกัน เขาก็เป็นการปฏิบัติของเขา เขาทำงานช่างของเขา หน้าที่ของเขา งานปั้น งานก่อสร้าง เขาทำของเขา ไอ้การศึกษานี้มันเป็นการปฏิบัติหรือ ในการศึกษาเห็นไหม เปิดตำรา มีการทรงจำอย่างนั้น แล้วนั่นเป็นการปฏิบัติแล้วหรือยัง ถ้าเข้าใจว่าเป็นการปฏิบัติเห็นไหม ต้องศึกษาก่อน ถ้าไปปฏิบัติกันเลย จะไม่รู้อะไรเลย ต้องเรียนหนังสือ ต้องท่องจำ

เขาทำงานช่างของเขา เขามีผลงานของเขานะ เสร็จงานแล้วถือว่าเป็นการเสร็จงานนะ ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราศึกษามาแล้วว่าเป็นคนสุกๆ โลกเขาคิดกันอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะคนโง่

โลกนี้คนโง่มากนะ ถ้าคนโง่มาก คนโง่เขาพูดอะไรเราไม่เชื่อเขาหรอก ดูสิ เราเข้าในฝูงสัตว์ สัตว์มันเห่ามันหอนกันอึกทึก มันต้องการอาหารของมัน แล้วเรามันก็เสพของมัน ดำรงเผ่าพันธุ์ของมัน ในเรื่องของสัตว์เห็นไหม แล้วเราจะเป็นสัตว์ตัวหนึ่งหรือ เราจะเอาชีวิตมนุษย์หนึ่งไปเป็นสัตว์ตัวหนึ่งไหม

เราไม่เอาหรอก ถ้าจะเอาชีวิตมนุษย์เราไปเป็นสัตว์ตัวหนึ่ง เราอยากเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นผู้ที่มีปัญญาเห็นไหม ดูสิ ดูอย่างคนในสารคดี มนุษย์หลงเข้าไปในหมู่ของสัตว์ ดำรงชีวิตเป็นสัตว์จนเป็นสัตว์นะ เข้าใจว่าเป็นสัตว์ ไปกินอาหารแบบเขา ไปคลานแบบเขา แต่สุดท้ายคนก็ไปเจอเข้า ก็เอาออกมาไปพัฒนาใหม่ มาพัฒนาให้เป็นคนขึ้นมา แล้วในความคิดของคนโง่ คนโง่จะเป็นสภาวะแบบนั้น คนโง่ว่าสิ่งนั้นเป็นคนสุก คนเขาไปศึกษาแล้วเข้าไปบวชเรียนแล้วเป็นคนสุก แต่คนสุกก็ยังเป็นคนทุกข์อยู่อย่างนั้นนะ นี่ล่ะความคิดของเขาคนโง่

แต่คนที่ฉลาดล่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางศาสนาไว้ เห็นไหม เป็นศาสดาของเรา เป็นครูของเรา เราก็มาบวชมาเรียน เรียนความเห็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้แล้ว ถ้าเราเข้ามาเรียนจะเป็นคนสุก สุกที่ไหน

ความเป็นคนดิบ ดิบทำให้เราทุกข์ร้อนไง เวลามันฟุ้งซ่านขึ้นมา เป็นความดิบเห็นไหม ดิบในหัวใจ ถ้าเป็นความสุกล่ะ ดูอาหารสิ อาหารดิบ คนกินอาหารดิบเราก็ดูถูกเขา สมัยก่อนยังไม่มีไฟ คนเราต้องกินอาหารดิบๆ เดี๋ยวนี้จะว่าเป็นคนล้าสมัยคนเถื่อน คนที่ศิวิไลซ์แล้วต้องกินอาหารสุก นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคนไม่เคยเห็นนะ อาหารดิบของเขา เขาก็อร่อยของเขา รสชาติของเขา เขามีความรับรสของเขา แต่เวลาอาหารสุก คืออาหารจืดชืด ไม่มีรสชาติ

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน คนปฏิบัติเป็นคนโง่ คนไม่เข้าใจเห็นไหม พระปฏิบัติจะรู้อะไร สู้การศึกษาเล่าเรียนไม่ได้ เห็นไหม การศึกษาเล่าเรียนมันกินเวลาเราไปนะ ชีวิตเห็นไหม ดูสิ มันหมดไปนะ มันหมดไปวันคืนล่วงไปๆ นะ แล้ววันคืนล่วงไปๆ เราจะทำอะไรให้ดีขึ้นมา ถ้าเราไม่ทำชีวิตเราให้ดีขึ้นมา ใครจะทำให้ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ เห็นไหม วางธรรมและวินัยไว้ เรามีเจตนา เราเกิดในสังคมชาวพุทธ เรามีโอกาสได้บวช สังคมเปิดโอกาสให้เราได้ประพฤติปฏิบัตินะ เปิดโอกาสเลย จะไม่ให้มีการงานเข้ามา งานของโลกเขา เขาก็ทำของเขา

ภิกษุ เห็นไหม เมื่อก่อนสมัยโบราณ อย่างวิชาการ ทุกอย่างจะอยู่ที่วัดหมดเลย เป็นผู้นำของสังคม สมัยนี้เห็นไหม ในเรื่องของโลก วิชาการทางโลก วิชาชีพ พระเราไม่ทันเขา เพราะอะไร เพราะทางโลกเขามีวิวัฒนาการของเขาตลอดไป แต่ทางธรรมเราต้องแน่นอน ทางธรรมต้องแน่นอนต้องมั่นคง ถ้าเรามั่นคงขึ้นมา โลกกับธรรม แล้วถ้าเราไม่มีหลักเกณฑ์ ทางโลกก็จะเป็นใหญ่ โลกก็จะชี้นำได้

ถ้าโลกชี้นำได้ ลองถามเขาว่ามีความสุขไหม ถ้าโลกมีความสุข โลกบ่นเดือดร้อนกันทำไม ทำไมเบียดเบียนกัน ในศาสนาเขาว่าเป็นที่ร่มเย็นเป็นสุข แล้วทำไมเบียดเบียนกัน เห็นไหม ทำไมการปกครองถึงไม่เป็นธรรมล่ะ นี่เพราะอะไร เพราะมันดิบไง

โลกียปัญญา โลกเขาว่า คนบวชแล้วเป็นคนสุก แต่ในสังคมของชาวพุทธเรา สังคมของธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบอกว่าเป็นคนดิบ ดิบเพราะอะไร ดิบเพราะไม้ดิบจุดไฟไม่ติดไง จุดไฟไม่ติดนะ เราไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองไง ไฟบนหัวของเรา เราไม่ดูไง แต่เราไปดูหัวของเขา ขี้บนหัวของตัวไม่ดู ไปดูขี้บนหัวของคนอื่นไง อันนั้นเป็นความผิดๆ ความผิดของเขาเป็นเรื่องของเขา แต่อย่างนี้เป็นคติธรรมได้

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด พูดเป็นคติธรรมนะ พูดกับคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ว่ามันจะผิดอย่างนั้น มันจะถูกอย่างนี้ ผิดอย่างนี้ถูกอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อไม่ให้เราทำอย่างนั้น ไม่ใช่เอาเขามานินทาแล้วก็ไปทำตามเขา

เวลาคนที่โกรธแล้วโกรธตอบไป เราเลวกว่าเขาอีกเห็นไหม คนเขาโกรธเห็นไหม แล้วเราไปโกรธตอบ ถ้าคนเขาโกรธหน้าดำหน้าแดงเลย ใส่ไคล้ เวลาคนโกรธแล้วมันก็ต้องเบียดเบียนคนอื่น แล้วเรารู้ว่าคนนี้โดนไฟเผาแล้ว นี่สิ่งนี้อารมณ์เขาเผาตัวเขาเองนะ ร้อนๆ เบียดเบียนตัวเองก่อนแล้วเบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนตัวเอง ตัวเองยังไม่รู้เลย แล้วไปเบียดเบียนคนอื่นเห็นไหม ถ้าเราไปโกรธตอบ เราก็โง่เป็น ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อคติธรรม สิ่งนี้เป็นคติตัวอย่าง คติที่ดีก็มี คติที่เลวก็มี คติที่เลวนี่มันชอบ คนเรานี้สิ่งที่เลวๆ เห็นไหม สิ่งที่โลกเขาเข้าไปประสาโลก โลกธรรมเห็นไหม อบายมุข คำว่าอบายมุข มันคือของเลว ของเลวเพราะอะไร เพราะอบายมุขมันจะทำลายจิตใจดวงนั้น ทำลายหัวใจของคนที่ไปติดพันมัน ถ้าใครติดพันกับอบายมุขมันเป็นสิ่งที่ทำลายตัวเอง แต่คนก็ชอบนะ แต่ถ้าเป็นการถือศีลเป็นการประพฤติปฏิบัติ ทุกคนไม่พอใจหรอก มันเบียดมันทำลายกิเลสมันขัดแย้งกับกิเลสเห็นไหม แล้วสิ่งที่เป็นอบายมุข เขาทำกันอย่างนั้น เป็นคติที่เลว

คติที่เลว ครูบาอาจารย์ท่านเอามาบอกว่าเป็นคติที่เลว ดูอย่างเทวทัต เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูด จะเอาเทวทัตเป็นตัวอย่าง เวลาชักนำภิกษุไป๕๐๐ แล้วให้พระสารีบุตรไปเอาคืนมา ไปเอาพระบวชใหม่คืนมา เพราะพระบวชใหม่มันไม่เข้าใจถึงหลักธรรม

เวลาเทวทัตเสนอหลักการขึ้นมา เห็นไหม ไม่ให้ฉันเนื้อสัตว์ ให้บิณฑบาตเป็นวัตร ให้นอนอยู่โคนไม้ พระบวชใหม่มาก็คิดว่า สิ่งนี้เยี่ยมๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าเป็นธรรมเป็นการขัดเกลากิเลส เป็นผู้ที่มีปัญญามากกว่าพระพุทธเจ้านะ

มันเป็นการสุดโต่ง สุดโต่งส่วนหนึ่ง แต่คำว่าสุดโต่งหรือไม่สุดโต่งนี่มันก็อยู่ที่จริตนิสัยด้วย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้อย่างนี้ บอกว่าถ้าคนมันหยาบ กิเลสมันหยาบ ถ้าจะอดอาหาร ถ้าจะไม่ฉันเนื้อสัตว์ เพราะว่าพอฉันเนื้อสัตว์แล้ว มันทำให้ภาวนาไม่ค่อยสะดวก อย่างนั้นพระพุทธเจ้าอนุญาต แต่ไม่ใช่ทุกคนต้องเป็นแบบนั้นไง

ไม่สุดโต่งเพราะมัชฌิมาปฏิปทา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุธรรมขึ้นมาแล้ว ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นสิ่งนี้เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ถ้ามันเข้ากับจริตมันไปดัดแปลงตนของจริตอันนั้น มันก็เห็นสมควรใช่ไหม

แต่ทุกคนไม่เป็นแบบนั้น นี่คือว่าผู้ที่รู้จริงเห็นไหม แต่เทวทัตเสนอหลักการนั้นขึ้นมา แล้วพระบวชใหม่เห็นหลักการที่ว่ามันเข้มแข็ง ก็จะเอาสภาวะแบบนั้น เข้มแข็งมันก็มีเข้มแข็งภายนอก เข้มแข็งภายใน

เวลาเราตั้งสัจจะขึ้นมา ถือธุดงค์ของเราขึ้นมา ที่เราทำธุดงค์กันอยู่นี้ ก็ต้องถือให้เป็นสัจจะความจริง อย่าไปมีมายากับมันไง ถือธุดงควัตรแล้วก็ไปสั่งการอย่างนั้นอย่างนี้ เวลาอดอาหารองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าห้ามอดอาหาร เพราะอดอาหารแล้วคนโง่อดอาหารมันตายหมดไง เพราะถือว่าการอดอาหารนั้นมันเป็นหลักการ คิดว่าสิ่งนี้เป็นคุณธรรม อดอาหารเป็นอุบายเท่านั้น อดอาหารเพื่อที่จะให้ร่างกายมันไม่มีสารอาหารตกค้าง มันไม่มีพลังงาน พลังงานของกิเลสมันมีมาก ถ้ากินมากนอนมาก มันทำให้ภาวนายาก

มีตามธรรมนะ บิณฑบาตมาฉันอิ่มหนึ่ง สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้อดนอนผ่อนอาหาร ถือธุดงค์ก็เหมือนกัน ธุดงค์มันเป็นอุบายวิธีการ มันขัดเกลากิเลส แต่พอถือธุดงค์แล้วก็จะไปเรียกร้องเอาศรัทธากับเขา

ธุดงค์เพื่อขัดเกลานะ ไม่ได้ธุดงค์เพื่อสะสม อย่างนั้นมันธุดงค์สะสม ธุดงค์เอาหน้า ธุดงค์ไปหลอกลวงเขา สิ่งที่ธุดงค์ไปหลอกเขา มันไม่สมควรหรอก สิ่งที่มันมีอยู่แล้ว เราทำเพื่อจะดัดแปลงกิเลสเรา เราจะทำลายกิเลส เราไม่ได้สะสม ธุดงค์เพื่อทำตามกติกาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธุดงควัตร

แต่ก็ทำซะ ต้องสั่งอย่างนั้นสั่งอย่างนี้ให้มันวุ่นวายไปหมดเลย มันไม่ใช่วิธีการเห็นไหม ถึงว่าย้อนกลับมาที่เรา เราต้องซื่อสัตย์ ตั้งสัจจะกับเรา ซื่อสัตย์กับเรา ซื่อสัตย์กับเราคือธรรมและวินัยอย่างนี้ มันจะทำให้เราเห็นโทษของเราไง

โทษของเรา ไม่ใช่โทษของคนอื่น โทษคนอื่นเห็นเรื่องโทษของคนอื่น เห็นโทษของเราเห็นไหม ถ้าโทษของเรา นี่สิ่งนี้มันจะอัดอั้นตันใจขนาดไหน คนที่อยู่รอบข้างเราเขาจะทำผิดขนาดไหน ถ้ามันเตือนกันได้ เหมือนร่างกาย เห็นไหม เราไม่เข้าใจหรอกนะว่าเราเดินไป เราจะเหยียบขวากเหยียบหนาม แต่เวลาเราไปเหยียบหนามแล้ว เห็นไหม เราจะเดินต่อไปไม่ได้เลย

นี่ก็เหมือนกัน เราไม่เห็นใช่ไหมเราถึงเหยียบ ถ้าเรารู้เราจะเหยียบไปทำไม นี่ก็เหมือนกัน ภิกษุ หมู่คณะ ก็อยู่รอบข้างเรา ถ้าเขาไม่เข้าใจ เขาทำของเขาผิด นั่นเรื่องของเขา ถ้าคุยกันได้เห็นขวากเห็นหนามเราก็ไม่เหยียบ แต่ถ้าไม่เห็น เตือนไปแล้วมีปัญหา เราก็ไม่พูด

สิ่งที่พูดไปเพราะอะไร เพราะในสังคมหนึ่ง ในสังฆะหนึ่งก็เหมือนร่างกายหนึ่ง ร่างกายนะ อาวาสอันหนึ่งอันเดียวกันไง แขน ขา คอ สมอง ส่วนที่เป็นสมอง ส่วนที่เป็นเท้า มันจะขับเคลื่อนไป มันจะเป็นร่างกายหนึ่ง ถ้ามันไม่ขัดแย้งกัน มันจะมีความสุข ร่างกายนี้จะปกติ แต่ถ้าร่างกายเห็นไหม เหยียบหนามไปแล้วมันก็ต้องฝืนเดินไป แต่มันก็ขยับแขย่งไปตามประสาการเดินไปนั้น

ถึงย้อนกลับมา ถ้ามันจะอัดอั้น มันจะตันใจ มันจะระเบิด ก็ให้มันระเบิดจากภายในเห็นไหม อย่างนี้คือขันติธรรม ถ้ามีขันติธรรมอย่างนี้ นี่ทิฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกันของสงฆ์ สงฆ์จะอยู่สุขสบาย แต่ถ้าทิฐิไม่เสมอกัน ความเห็นไม่เสมอกัน ความเห็นต่างกัน จะทำให้เบียดเบียนกันบาดหมางกัน อันนี้เป็นกิเลสหยาบๆ นะ ถ้าสังคมใด เห็นไหม เขาจะทำขนาดไหนก็แล้วแต่ เราก็ทำความดีของเรา นี่เป็นการตรวจสอบใจของเรานะ

ถ้าสังคมอย่างนั้นมีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านรับผิดชอบอยู่แล้ว ครูบาอาจารย์รับผิดชอบนะ ในเมื่อเป็นครูบาอาจารย์ ไม่มีตาหรือ ครูบาอาจารย์ไม่มีหูหรือ มีหูมีตาทั้งนั้นล่ะ แต่มันถึงเวลาไหม

ดูสิ เวลามีความผิดพลาด เห็นไหม เราจะดัดแปลงอย่างไร เด็กเราจะสอนอย่างไร ผู้ใหญ่เราจะสอนอย่างไร มันมีขั้นตอนของมัน ถ้าขั้นตอนของมัน ควรและไม่ควร สิ่งที่ไม่ควรนะ เหมือนสีซอให้ควายฟัง เด็กมันไม่รู้เรื่อง บอกมันว่าอย่างนั้นไม่ดี มันไม่ฟังหรอก

เวลาเราพูดกับเด็ก เห็นไหม บอกมันว่าอย่างนี้ดี เด็กใหม่ๆ เห็นไหมเราให้รางวัลมัน ตบมือกัน แค่หยิบของมาให้เรา อย่างนี้เป็นรางวัลสูงสุด ดีใจนะ สุขโอ๊ยมีความสุขมาก เด็กเห็นไหม เด็กเล็กๆ เวลาหยิบของให้พ่อให้แม่ แม่จะปรบมือให้ มันจะดีใจ มันจะคึกคัก แค่นี้มันก็มีผลงานของมันแล้ว

แล้วเราจะไปบอกอะไร บอกความรู้สึกอะไรให้เป็นงานมหาศาลว่า “เอ็งโตขึ้นมา เอ็งต้องทำมาหากินนะ เอ็งจะทุกข์ยากกว่านี้อีกมากมายนัก งานของเอ็งไม่ใช่งานหยิบของมาให้พ่อให้แม่ทั้งนั้นหรอก” หยิบของมาให้พ่อให้แม่เห็นไหมได้รางวัลได้เงินได้ทองได้รางวัลมีความสุขเปี่ยมล้นไป

นี่ก็เหมือนกัน ในสังคมที่เขามีการผิดพลาดนั่นนะ ความเห็นของเขามันยังเด็กๆอยู่ แล้วไปบอกเขา เขาจะยอมรับไหม ถ้าเขาไม่ยอมรับ ถ้าพูดออกไป ผลของมันเป็นดาบสองคมไง

ถ้าอย่างการติเตียนนะ การติเตียนการผูกโกรธในหัวใจ พ่อแม่เรายังไม่สมควรทำเลย แล้วถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ หลวงตาท่านบอกเลย “ออกมาช่วยโลกนี้เสียใจอย่างเดียว คนตกนรกมหาศาล” เพราะอะไร เพราะเขาติเตียน เขาไม่เห็นด้วย สิ่งที่ไม่เห็นด้วยใครจะรู้ไม่รู้ไม่เกี่ยว จะรู้ไม่รู้ไม่เกี่ยวนะ ใครเดินไปบนถนนเราจะรู้ไหมว่ามันมีหนาม เราจะรู้ไม่รู้แต่ถ้าเราเหยียบไป มันก็เจ็บทุกที

นี่ก็เหมือนกัน เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เรื่องของเขา แต่ความจริงเป็นอย่างนั้นสัจจะเป็นอย่างนั้น สัจจะเห็นไหม ติเตียนพระอริยเจ้ามันมีโทษมันมีผล เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านยังบอกเลย บางอย่างท่านไม่พูดออกไป ท่านต้องหาหมู่คณะหาลูกศิษย์เป็นเขียงเป็นกระโถนไง

พูดกระทบ เห็นไหม ตีวัวกระทบคราด พูดถึงเขียงถึงคนที่สนิทชิดเชื้อ แล้วกระทบไปที่ภิกษุใหม่ ภิกษุเข้ามาใหม่เขาทำผิดทำถูก เขาไม่รู้ของเขา แล้วเขาไม่รู้จริตนิสัยของครูบาอาจารย์ ถ้าพูดไปเกิดการติเตียน เกิดการยึดมั่น อันนั้นเป็นกรรมทั้งหมด ครูบาอาจารย์ท่านมีธรรมวินัย มีหูมีตา ท่านจะมีความเห็นของท่าน แล้วเราก็อยู่ในสังคมนั้น “ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนั้น” กิเลสมันดิ้นนะ กิเลสในใจเรามันดิ้น มันดิ้นของเรา แล้วเรายังไม่รู้ว่าเป็นกิเลสอีก เรายังว่าสิ่งนี้เป็นคุณธรรมได้อย่างไร ในหัวใจเรามันดิ้นแล้วมันทำลายเราอยู่นี่ กิเลสคนอื่นไม่ต้องไปมอง มองกิเลสของเรา เพราะเราจะมาศึกษามาปฏิบัติ

เราบวชมาเพื่ออะไร เราบวชมาเพื่อจะชำระกิเลสใช่ไหม เราบวชมาเพื่อความสุขของเราใช่ไหม ความสุขของเราไม่ใช่ความสุขของพระองค์อื่น ไม่ใช่ความสุขของหมู่คณะ หมู่คณะดีแล้วถึงบวช เราหาสัปปายะ ๔ ที่ไหนเป็นที่สัปปายะ ๔ ที่ไหนมีบุคคลที่ปฏิบัติ เห็นไหม หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ แล้วเป็นหน้าที่ของใคร ก็หน้าที่ของครูบาอาจารย์ใช่ไหม

ถ้าหน้าที่ของครูบาอาจารย์ อย่างที่ว่าสังคมมันเป็นอย่างนี้ มันจะมีคนใหม่ๆ เข้ามา ศาสนามันจะมีศาสนทายาท ถ้าไม่สร้างธรรมไม่สร้างศาสนทายาท ศาสนาจะฝากไว้กับใคร

แล้วการบวชเข้ามา ทำไมต้องถือนิสัยล่ะ ทำไมจะต้อง ๕ พรรษาขึ้นไปถึงจะพ้นนิสัยล่ะ เพราะอะไร เพราะบวชเข้ามา ความเห็นของโลกนะ ความเห็นที่รู้กันมา ดูสิ ดูอย่างโยม คฤหัสถ์เขาเข้าไปอยู่วัด อยู่จนเฒ่าจนแก่นะ ก็ไม่รู้เรื่องของวัด เพราะอะไร เพราะเขาเข้าไม่ถึงไง เขาเข้าไปเป็นหน้าที่การกสงฆ์ เป็นหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องของสงฆ์ แต่เขาไม่เข้าไปคลุกคลีในธรรมวินัย เช่น การอาหาร แค่ประเคนอาหาร ก็รู้แต่เปลือกๆ เห็นไหม ได้ไม่ได้ กาลิก ควรไม่ควร ก็ไม่รู้ สิ่งใดก็ไม่รู้

แล้วความเป็นไป เวลาพระบอกว่าสิ่งนี้ไม่เป็นความผิด จะไม่เป็นความผิดได้อย่างไร มันเป็นธรรมวินัย ถ้ามันผิดก็คือผิด ใครก็ผิดหมดถ้าผิด เพราะธรรมวินัยมันเป็นสภาวะแบบนั้น แต่ผิดออกมาแล้ว มันจะมีเจตนาหรือไม่มีเจตนา กรรมมันก็มีอยู่แล้ว แล้วอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติ มันก็อีกส่วนหนึ่ง

นี่มันเป็นดินพอกหางหมูไง ถ้าดินพอกหางหมู หัวใจการประพฤติปฏิบัติมันจะเป็นไปไหมล่ะ ถ้าหัวใจของผู้ที่ดินพอกหางหมู มันก็เป็นหางหมูพอดินพอกมันก็ใหญ่ขึ้นๆ มันแกว่งไปมันก็ฟาดตัวมันเอง

ความคิดของเรา ถ้ามันดื้อด้าน ใจมันด้าน ด้านในธรรมและวินัย แล้วมันก็สะสมแต่ความผิดพลาดในหัวใจ มันก็เป็นดินพอกหางหมู มันก็มีกิเลสสะสมไป กรรมก็เกิดขึ้นมา แล้วเราปฏิบัติจะได้ผลไหมล่ะ

พูดถึงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีลของเรา เรามั่นคงจริง ถ้าผิดศีลขนาดไหนแล้วเราจะภาวนาให้ได้ก็ทำไปสิ แล้วนี่มันเกิดไหม โธ่.. กิเลสมันร้ายกาจนัก ชนะคนอื่นมาหมดเลยแต่ไม่เคยชนะกิเลสเราเองเลย ถ้ามีความผิดอะไรในหัวใจ เวลาภาวนาไปมันจะสอดเข้ามาทันทีเลย

อย่าโกหกตัวเองเลย เมื่อกี้ยังทำความผิดอยู่ชัดๆ แล้วจะมาปฏิบัติอะไร นั่งสมาธิเนี่ย ขนาดไม่มีนะ มันยังหลอกให้การปฏิบัติเราไขว้เขวตลอด แล้วจะให้มันผิดศีลได้อย่างไร ศีลถึงต้องบริสุทธิ์ไง ศีลของเราไม่โกหกตัวเอง ความผิดของคนอื่นเห็นไหม ถ้ามันเตือนกันได้ก็เตือน ถ้าเตือนไม่ได้ก็เรื่องของเขา เรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา ขี้บนหัวคนอื่นกับขี้ของเรา เป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ เพราะเขามาหาครูบาอาจารย์ของเขาเองไง ครูบาอาจารย์มีหน้าที่สั่งสอน แต่ว่าครูบาอาจารย์ท่านจะดูว่ามันถึงเวลาหรือไม่ถึงเวลา ถ้ายังไม่ถึงเวลานะพูดไปเถอะปากเปียกปากแฉะ

ถ้าถึงเวลา เห็นไหม ไกลขนาดไหนก็กราบไหว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยว่า จะอยู่ถึงชายชนบทขนาดไหน ถ้าทำตามเรา เหมือนอยู่กับเรา จับจีวรอยู่นะแต่ไม่ทำตามนะ ไม่มีความหมายเลย

เราเอาแต่ความคุ้นเคยสนิทชิดเชื้อความใกล้เคียงไง แล้วก็เอาสิ่งนี้ไปหาผลประโยชน์กับโลก เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์องค์ไหนก็แล้วแต่ เราผ่านเข้าครูอาจารย์ ก็บอกว่าเป็นลูกศิษย์องค์นั้นๆ มีชื่อ อำนาจวาสนาออกไป เอาสิ่งนี้มาเป็นกิเลสพอกหางหมูเข้าไป หางหมูมันยิ่งใหญ่เข้าไป

แต่ถ้าเราชำระกิเลส ชำระความยึดมั่นถือมั่นของใจ มันจะเป็นความสุขของเรามันจะเป็นประโยชน์เห็นไหม ถ้ามันมีความสุขของเรา เราจะอยู่ได้ จะมีความร่มเย็นเป็นสุขในศาสนา

คนดิบคนสุก เห็นไหม หัวใจดิบหัวใจสุก ถ้าการเคลื่อนไหวไป การประพฤติปฏิบัติมันเป็นเรื่องการลงทุน ในเมื่อมีความเดือดร้อน ต้องยอมรับว่ามีความเดือดร้อนการทำงานเห็นไหม แม้แต่คนเดินอยู่ตามธรรมดาของเขา เขายังมีเหงื่อไหลไคลย้อยเลย แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะชำระกิเลส การนั่งการบังคับตนมันจะมีความทุกข์ขนาดไหน มันจะไม่พอใจมันจะดิ้นรนขนาดไหน ต้องข่ม ต้องบังคับกัน

ถ้าบังคับขึ้นมาแล้ว เด็กคนนี้มันฝึกขึ้นมาแล้ว เด็กมันเป็นคนดี สังคมไหนก็ยอมรับว่าเป็นคนดี เห็นไหม “เด็กคนนี้ลูกใคร พ่อแม่สั่งสอนดีมาก” ถ้าเด็กคนนี้ลูกใครพ่อแม่ไม่สั่งสอน นี่ก็เหมือนกัน สัปปายะ ๔ ครูบาอาจารย์มีชื่อเสียงมาก ครูบาอาจารย์เป็นคนดีมาก แล้วเราประพฤติปฏิบัติแล้ว เราสั่งสอนไหม ท่านสั่งสอนทุกวันเลย ท่านพูดมาปากเปียกปากแฉะเลย เราเอาหรือเปล่า ใจเราสู้หรือเปล่า ใจเราเป็นหรือเปล่า

พ่อแม่สั่งสอน แต่ลูกมันไม่เอา ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนแล้วลูกมันไม่เอา ลูกมันไม่เอา จะเป็นประโยชน์กับมันไหม ถ้าไม่เป็นประโยชน์กับมันจะโทษใคร โทษครูบาอาจารย์ได้ไหม โทษศาสนาได้ไหม โทษพระพุทธเจ้าได้ไหม

ถ้าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ดี ทำไมพระออกมาประพฤติปฏิบัติกันเหลวแหลกขนาดนี้ พระเหลวแหลกเพราะพระมันไม่เอา ธรรมวินัยมันผิดตรงไหน ครูบาอาจารย์ผิดตรงไหน

สิ่งนั้นเป็นคนดีทั้งหมดแต่เพราะพวกเรา พวกปฏิบัติ พวกใจมันไม่สู้ ใจไม่สู้มันไม่เป็นประโยชน์กับเราเห็นไหม ถ้าใจมันสู้ งานการของโลกเขายังอาบเหงื่อต่างน้ำ เขาทุกข์ยากขนาดนั้น แล้วงานการของเราทำไมเราไม่ทำ หน้าที่การงานข้อวัตรปฏิบัติก็ทำเป็นหน้าที่ของเรา เพราะหมู่คณะ นกยังมีรวงมีรัง สัตว์ต้องมีอาหารของมัน มีที่พึ่งอาศัยของมัน พระก็ต้องมีที่พึ่งอาศัยของพระ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางธรรมวินัยไว้ เห็นไหม บริเวณของกุฏิที่อยู่อาศัยต้องเก็บกวาด สิ่งนี้ไม่ให้สกปรก เทวดาเขาดูแลอยู่เห็นไหม ถ้าเป็นสิ่งที่ทำคุณงามความดีขึ้นมา เทวดาสาธุการ ประพฤติปฏิบัติก็ง่ายขึ้นมา

ถ้าทำอะไรไม่ปกติ ทำให้ขัดกีดขวางธรรมวินัย เห็นไหม ข้อวัตรปฏิบัติที่วางไว้ยังไม่ทำ แล้วจะไปภาวนาอะไร จะหลอกตัวเองอีกแล้วหรือ เทวดาเขาติเตียน เห็นไหม พระองค์นี้เป็นผู้ปฏิบัติหลอกลวงโลก พระองค์นี้เป็นพระปฏิบัติ แต่ทำมารยาสาไถย เวลาอยู่ลับหลังไม่เห็นปฏิบัติเลย แต่เวลาโยมมาทำเป็นนั่งอวดเก่ง เห็นไหม เทวดาเห็นหมดนะ

แล้วเราเป็นอย่างไร เราจะซื่อสัตย์กับตัวเราเอง เราต้องทำอย่างนี้ ถ้าเราทำของเราขึ้นมาได้เห็นไหม เทวดาก็นิยมชมชอบส่งเสริม เทวดามีหรือไม่มี พระไตรปิฎกก็บอกอยู่แล้วว่าเทวดามีเยอะแยะไป แล้วเทวดานอกเทวดาใน

เทวดานอก เห็นไหม ก็คือผู้นิยมส่งเสริม แล้วเทวดาในล่ะ ก็คือเรามีความองอาจกล้าหาญ เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจิตเริ่มสงบ เรามีปัญญาขึ้นมาเห็นไหม เทวดามาละ พรหมมาละ มาเพื่ออะไร มาเพื่อส่งเสริมให้เราเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา

ถ้าเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาปัญญามันก็เกิด ปัญญามันเกิดก็วนเวียนเข้ามาจากภายใน ท่านชำระกิเลสจากภายใน นี่ล่ะโลกุตรธรรม มันเป็นงานของสงฆ์เรา มันเป็นงานของนักรบ เราเป็นพระเป็นสงฆ์ ออกเป็นนักรบ เรารบกับอะไร รบกับกิเลส รบกับทิฐิมานะ รบกับความเห็นในหัวใจนี้

เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของคนอื่น เรื่องของโลกเขาก็เป็นสังคมของเขา ไปแบกหามเขาทำไม เราไม่ไปแบกหามเขาหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาองค์หนึ่ง เป็นศาสดาของเทวดา ของอินทร์ ของพรหม

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา วางศาสนามา ๒,๕๐๐ ปีเรายังได้โอกาสรับส่วนบุญส่วนกุศลอันนี้ เรายังมีธรรมวินัย มีร่องรอยให้ประพฤติปฏิบัติ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาชนะกิเลสได้แม้แต่องค์เดียว ยังเป็นครูของเทวดาของหมู่สัตว์

แล้วถ้าเราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ถ้าเราเอาใจของเราไว้ได้ เราพิจารณาของเราได้ สังคมเกิดขึ้นมาแล้วมันจะเป็นประโยชน์ขนาดไหน โลกเขามองกันไปไง หน้าที่ของพระ พระที่บวชแล้วหน้าที่ของพระก็ว่ากันไปตามประสาโลกที่ว่าให้สังคม ให้คฤหัสถ์ไง พุทธบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้อุบาสกอุบาสิกาเข้ามาชี้นำถวายความรู้พระสงฆ์ เวลาประชุมสงฆ์ ถวายความรู้ๆ เอาความรู้อะไรมาถวาย ความรู้ของโลกอย่างนั้นมีความจำเป็นอะไร ความจำเป็นอย่างนั้นไม่มีเลย

หน้าที่ของพระ พระมันมีหน้าที่อยู่แล้วในทางจงกรม หน้าที่ภาวนา ทำไมไม่ขุดค้นขึ้นมา ธรรมวินัยอยู่ในหัวใจของเรา ความรู้สึกอันนี้ค้นมันขึ้นมา ถ้าความรู้สึกนี้เกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเราเห็นไหม แล้วจากใจดวงหนึ่ง ความสุขความทุกข์มันกินไปในหัวใจทุกๆ ดวงใจ ทุกๆ ดวงใจทุกข์หมดเลย แล้วไม่มีใครสั่งสอน

เหมือนคนป่วยทั่วโลกเลย แต่ไม่มีหมอรักษา ยาก็ไม่มี แล้วผู้ที่รู้ขึ้นมาองค์หนึ่งมันมียาเห็นไหม อาการของทุกข์ อาการของการเป็นไป มันเป็นไปหมด ใครๆ ก็รู้ หมอรักษาโรคนี้ให้หาย ทำไมหมอเขาจะไม่รู้เรื่องอาการอย่างนี้ ถ้าเรื่องอาการอย่างนี้เกิดขึ้นมาจากใจ เห็นไหม จิตมันสงบขึ้นมา “อ๋อ นี่เป็นความสงบของจิต”

สิ่งที่เป็นความสงบของจิต ต้องสงบก่อน ถ้าจิตไม่สงบจะเอาอะไรมาทำงาน ไม่มีสิ่งที่ทำงาน งานจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้างานเกิดขึ้นมาไม่ได้ มันจะชนะกิเลสได้อย่างไร

งานของสงฆ์ งานอันมหาศาล งานประพฤติปฏิบัติ งานค้นคว้าจิต มันสำคัญมาก แล้วเป็นหน้าที่ของพระ หน้าที่ของนักรบ งานของพระ แต่ทำไมไม่ทำกัน จะไปแบกหามเรื่องของโลก คนเขาทำแทนกันได้ทั้งนั้น ใครก็ทำได้ แทนได้ จ้างวานกันได้เกื้อหนุนกันได้ แต่เรื่องการปฏิบัติเกื้อหนุนกันไม่ได้ ถ้าเกื้อหนุนได้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ไปหมดแล้ว จะไม่ให้สัตว์ทุกข์อยู่อย่างนี้เลย แต่มันเป็นไปไม่ได้

ดูสิ ในการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เวลาจิตสงบก็เป็นอย่างหนึ่ง สมถะ ความสงบก็เป็นอย่างหนึ่ง เวลาวิปัสสนา ปัญญาเกิดขึ้นมา มันก็เป็นอย่างหนึ่ง มันก็เป็นหน้าที่ของมัน เครื่องมือของการปฏิบัติมันก็เป็นหน้าที่ของมัน ค้อนก็ส่วนค้อน สิ่วก็สิ่ว ขวานก็ขวาน เลื่อยก็เลื่อย มันก็คนละอย่าง เวลาเราจะตีค้อนจะเอาเลื่อยมาตีได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นหน้าที่ของมัน

นี่ก็เหมือนกันเวลาปฏิบัติไป ความสงบของใจมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง ปัญญามันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันก็สมดุลกันขึ้นมา เวลาจะสร้างบ้านสร้างเรือนขึ้นมา เวลาจะเข้าลิ่มเข้าเดือย มันก็ต้องใช้สิ่วใช้ขวานใช้สิ่งที่ละเอียดอ่อนขึ้นมา

แล้วจิตก็เหมือนกัน เวลามันปฏิบัติขึ้นมา เวลาสงบ ความสงบเป็นสิ่งที่หยาบๆ มาก จิตสงบนี้แม้แต่ฤๅษีชีไพรมันก็ทำได้ แม้แต่ก้อนอิฐก้อนหินมันไม่ขยับมันก็ว่าสงบของมัน เพราะมันไม่มีชีวิต แต่มันก็สงบได้นะ อิฐหินปูนทรายที่มันกองอยู่ มันก็ไม่ขยับเขยื้อนเลย มันมีความสุขอะไรของมัน มันไม่มีความสุขของมันเลย แล้วหัวใจของเราเห็นไหม สิ่งที่มีชีวิตแล้วมันสงบขึ้นมา จะไปตื่นเต้นอะไรกับมัน มันมีความสงบขึ้นมา มันก็เป็นอิฐหินปูนทรายขึ้นมา ก็ผสมขึ้นมาให้มันเป็นสิ่งก่อสร้างขึ้นมาสิ ให้มันเป็นบ้านเรือนขึ้นมา ให้มันเป็นที่อาศัยขึ้นมา ถ้ามันเป็นที่อาศัยขึ้นมาก็เพื่อใคร ก็เพื่อใจของเรา

มันเปลี่ยนจากความดิบๆ ไง ใจดิบๆ ใจที่กิเลสมันทำลายอยู่นี่ ให้มันสร้างสมขึ้นมา ให้มันเป็นธรรมขึ้นมาในหัวใจ ถ้าสร้างสมขึ้นมาในหัวใจเห็นไหม ธรรมของใคร..ธรรมของใคร.. ธรรมของผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น ธรรมของผู้ที่รู้นั้น

ความทุกข์อยู่ที่ไหนความสุขก็อยู่ที่นั่น ถ้าความทุกข์นะมันกำจัดทุกข์หายไปแล้ว ทุกข์ไม่มีในหัวใจมันจะเอาอะไรมาทุกข์ สิ่งที่แสวงหานี้มันเรื่องหยาบๆ มาก ความสุขของโลก ความสุขแบบมีลาภเสื่อมลาภนะ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องเห็นไหม ดูสิ ดูอย่างกามราคะอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของสิ่งที่เหลวไหล มันเป็นเรื่องของน้ำ หลั่งน้ำออกมาก็เท่านั้นเอง มันมีเรื่องอะไร แล้วปัสสาวะอยู่ทุกวัน ทำไมไม่มีความสุขอย่างนั้นล่ะ มันก็เหมือนกัน สิ่งนี้มันเหมือนกัน แล้วไปตื่นเต้นอะไรกับมัน ความสุขอย่างนี้ น้ำก๊อกก็ไหล แม่น้ำก็ไหลอยู่ มันก็ไหลอยู่ทุกวัน

ความเคลื่อนไปของโลกมันเป็นอย่างนั้น แล้วเราไปตื่นเต้นอะไรกับเรื่องของโลกๆ แต่เวลากิเลสมันผลักไสขึ้นมา มันต่อต้านขึ้นมาในหัวใจ มันก็ล้มลุกคลุกคลานไปเห็นไหม จิตมันเด็กๆ นะ ดิบๆ ด้วย เด็กๆ ด้วย แต่ก้าวเดินไม่ได้ แค่หยิบของให้พ่อให้แม่ยังทำไม่ได้เลย หยิบของให้พ่อให้แม่ยังได้รางวัลยังปรบมือยังดีใจเห็นไหม แล้วเราแค่อยู่ในศีลในธรรม รักษาให้ถูกต้องในธรรมวินัย ถ้ารักษาถูกต้อง ทำตามธรรมวินัยแล้วพยายามก้าวเดินขึ้นไป

โอกาสของเรานะ ๒ เดือนแล้วจะออกพรรษาแล้ว แล้วเวลาเข้าพรรษามาก็ตั้งใจ ตั้งสัจจะว่าถือธุดงค์เป็นพระปฏิบัติ มีธุดงควัตรในหัวใจ มีข้อวัตร จะเข้มแข็ง จะเข้มแข็งก็ต้องเข้มแข็งจากภายใน เข้มแข็งจากภายในตั้งสัจจะแล้วต้องทำให้ได้

เดินจงกรม มันจะเหนื่อยมันจะทุกข์ขนาดไหน ดูสิ พระโสณะเดินจนฝ่าเท้าแตก เลือดเต็มไปหมด “นี่ที่เชือดโคของใคร” ท่านเดินไม่ได้ก็ยังคลานไปเห็นไหม นี่คนมันต้องมีความมั่นคงอย่างนั้น มันถึงปฏิบัติได้ แล้วมันจะได้สัจจะขึ้นมาไง

ถ้าเราไม่มั่นคง กิเลสมันก็หัวเราะเยาะไง หยิบค้อนขึ้นมาก็มืออ่อนแล้ว ไปตั้งสติขึ้นมาก็ล้มแล้ว มันทำอะไรไม่ได้เลย แล้วทำอะไรไม่ได้เลย แล้วก็ตั้งใจๆ อยากได้ๆ อยากได้แล้วมือเท้าอ่อน มันจะเอาอะไรขึ้นมาล่ะ อยากได้มันก็ต้องเข้มแข็งสิ อยากได้ต้องเข้มแข็งต้องตั้งสติ

มีโอกาสวาสนามาก คนมีโอกาส ถ้าพูดถึงโอกาสมันก็มหาศาลแล้ว ได้บวชมันก็มหาศาลแล้ว ได้บวชด้วยแล้วได้ออกประพฤติปฏิบัติด้วย แล้วพูดถึงมีผู้ชี้นำด้วย มันผิดถูกตรงไหนว่ามาสิ มันผิดถูกตรงไหน จะติได้เลย บ้านหลังนี้มันไม่ได้ศูนย์ มันเอียงเห็นไหม ดูสิ บ้านหลังนี้มันไม่มีเสาเข็มเดี๋ยวมันก็จะคว่ำ แล้วสมาธิมันไม่มี แล้วจะปฏิบัติกันอย่างไร บ้านหลังนี้มันต้องมีเสาเข็มก่อนสิ มันต้องมีคานขึ้นมา มันถึงจะสร้างบ้านขึ้นมาได้ มันก็ต้องมีธรรมวินัยขึ้นมาก่อน มันต้องมีสัจจะต้องมีข้อวัตรขึ้นมาก่อน มันต้องวางฐานให้ได้ก่อน วางฐานให้ได้มันก็จะสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาก็อย่าให้มันเอียงสิ

ดูสิ มันเอียงเห็นไหม ตรงนี้มันแตกมันร้าวแล้วเดี๋ยวมันจะล้มแล้ว ถ้ามันมีการกระทำขึ้นมา มันก็จะมีการรายงานไง มันจะมารายงาน “มันจะเป็นสภาวะแบบนี้ สภาวะแบบนี้” การกระทำของใจมันต้องมีอย่างนี้ ถึงจะเป็นการประพฤติปฏิบัติ ถึงจะเป็นพระ เราอย่าภูมิใจ โอ้โฮ...พระปฏิบัตินะ โอ้โฮ...พระป่านะ เป็นผู้ที่เคร่งครัดนะ ไอ้เคร่งครัดนี่หุ่นยนต์มันก็เคร่งครัดได้

สร้างหุ่นยนต์ไว้ตัวหนึ่งมันก็ไม่ทำอะไรเลย มันก็ไม่ผิดเลย แล้วมันไม่มีหัวใจมันเคร่งครัดอะไร แต่ถ้ามันมีใจขึ้นมาสิ มันมีผู้รับรู้ขึ้นมา มันมีผู้เก็บข้อมูล ผิดถูกเหมือนคอมพิวเตอร์มันโปรแกรมของมัน มันเก็บข้อมูล อันนี้ผิดอันนี้ถูก เราก็เปิดดูได้

นี่ก็เหมือนกันปฏิบัติผิดปฏิบัติถูกก็ช่างหัวมัน ผิดถูกมันต้องมี มันต้องปฏิบัติ จะให้ถูกหมดมันเป็นไปได้อย่างไร คนเราปฏิบัติมันก็มีผิดบ้าง ถ้าผิดแล้วก็มาทบทวนดู ทบทวนให้มันถูกต้องขึ้นมา มันก็เป็นประสบการณ์ ประสบการณ์มีขึ้นมา มันก็ทำถูกต้องได้ แล้วมันไม่มีประสบการณ์เลย ผิดก็ไม่ยอมรับว่าผิด ถูกก็ไม่ยอมรับว่าถูก ก็ถูไถไปอย่างนั้น มันถูไถไปมันจะเอาอะไรไปล่ะ มันก็เตี้ยอุ้มคร่อม มันก็อยู่อย่างนั้น มันไม่เจริญ มันไม่งอกงาม หัวใจไม่งอกงามขึ้นมา

สิ่งใดที่มันทำไปแล้วมันผิดพลาดก็วางมันไว้ อดีตไม่จำเป็น อดีตอนาคตไม่มีความหมาย ปัจจุบันนี้เราตั้งใจกับปัจจุบัน ปัจจุบันของเรา กาลเวลา มันเสียดายเวลาไงเวลามันล่วงไป มันกินไปตลอดนะ ดูสิ เวลาเราไม่มีอะไรเลย เราก็ปกตินะ เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา อยากให้มันหายนะ เจ็บไข้ได้ป่วย ๗ วัน ๘ วัน ทุกข์มากเห็นไหม ขณะที่อยู่ในทุกข์ เวลามันบีบคั้นเลย

นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตมันก็เหมือนกัน ตั้งแต่เกิดมา ๘๐ ปี ๑๐๐ ปี มันจะบีบคั้นตลอดไป แล้วโอกาสก็มีอย่างนี้ แล้วในพรรษาเห็นไหม ในวันหนึ่ง เข็มนาฬิกากระดิกตลอดเวลา พระอาทิตย์ขึ้นและตกตลอดเวลา นี่สิ่งนี้มันมีชีวิตไหม มันเป็นการเกิดดับ

ในเมื่อเกิดดับๆ ภาวนาเกิดดับ พระอาทิตย์มันก็เกิดดับ ทุกอย่างก็เกิดดับ เกิดดับแล้วมันได้อะไรกับเรา ปัญญามันไม่เห็นน่ะ แต่ถ้าปัญญามันเห็น การเกิดดับ ชีวิตอย่างนี้เห็นไหม กาลเวลา มิติ เทวดาเห็นไหม ๑๐๐ ปีของเราคือ ๑ วัน แล้วก็ละเอียดขึ้นไปเห็นไหม มิติต่างกันก็เกิดดับเหมือนกัน มันจะไปมีสาระอะไร เกิดดับๆ ก็เป็นนกแก้วนกขุนทอง ไปเกิดดับกับเขา

เกิดดับก็ส่วนเกิดดับสิ แล้วมึงรู้อะไร เกิดดับมึงต้องรู้สิ เกิดดับมึงต้องเห็นโทษมันสิ เกิดดับมึงต้องเข้าใจมันสิ เกิดดับมึงต้องปล่อยวางมันให้ได้สิ ถ้าปล่อยวางมันได้ก็เข้าใจเห็นไหม เกิดดับยังไงมันก็เกิดดับอยู่อย่างนั้น ไร้สาระมาก

กิเลส คนโง่ในหัวใจเรา คนพาล พาลพาปฏิบัติ พาลพารู้ รู้แบบพาลๆ พอรู้แบบพาลๆ ก็เอาตัวไม่รอด ไม่มีหลักไม่มีจุดยืนเลย แต่ถ้ามันเป็นปัญญาขึ้นมา มันรู้แบบบัณฑิต คบบัณฑิตขึ้นมา ใจจะมีจุดยืนขึ้นมา เกิดดับอะไรเกิดดับ ดับไปแล้วอะไรเหลือ ดับไปแล้วมันมีอะไรเหลือ ดับไปแล้วมันมีจิตอยู่จิตมันรู้อะไร ถ้าจิตยังไม่รู้อะไรปัญญามันจะเกิดไม่ได้ ปัญญามันเข้าใจ มันก็เป็นการวิปัสสนาขึ้นมา แต่ถ้ามันเกิดมันดับขึ้นมามีผู้เห็นเกิดดับ การเกิดดับนั้นมันเป็นโทษกับเรา การเกิดดับมันเป็นอนิจจัง มันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นอนัตตา สิ่งที่เป็นอนัตตาแล้วใครรู้ว่าเป็นอนัตตา คนรู้อยู่ที่ไหน ถ้าคนรู้อนัตตา ต้องปล่อยอนัตตา พอปล่อยอนัตตา อ้อ.. อันนี้เป็นอนัตตาเห็นไหม อกุปปธรรม มันจะไม่เกิดดับอีกแล้ว มันเกิดดับไม่ได้แล้วมันจะอยู่อย่างนี้ทำไมไม่เกิดดับล่ะ วิมุตติมันเกิดดับตรงไหน วิมุตติมันไม่เกิดไม่ดับ มันอยู่ของมันสภาวะแบบนั้น.. มันอยู่ของมันสภาวะแบบนั้น.. แล้วมันอยู่จริงได้อย่างไร

ถ้ามันอยู่ไม่จริงเห็นไหม พลังงานอะไรก็แล้วแต่ มันต้องย่อยสลายไป มันเป็นอนิจจังทั้งหมด แล้วถ้ามันเป็นจริงของมันมันย่อยสลายได้ไหมล่ะ ทำไมไม่ย่อยสลายล่ะ ทำไมไม่เป็นไปกับเขาล่ะ หลอกให้มันเป็นมันก็ไม่เป็น มันมีจุดยืนของมันเห็นไหม ให้มันเป็นอย่างนั้น อะไรมาล่อมัน มันก็ไปไม่ได้

ถ้ามันมีจุดยืนอย่างนี้ ใจของเราเป็นอย่างนี้ เกิดจากอะไร เกิดจากความเข้มแข็งนะ เกิดจากสัจจะ เกิดจากเรามีครูมีอาจารย์ สัปปายะไง เราเป็นชาวพุทธนะแล้วเป็นภิกษุด้วย เราได้เป็นชาวพุทธ แล้วเราได้บวชเป็นพระ เป็นนักรบ ประกาศตนเลยว่าเป็นพระป่า เป็นผู้ที่ปฏิบัติ จะชำระกิเลสของตัว แล้วกิเลสของตัวอยู่ที่ไหน กิเลสของตัวน่ะ แล้วเราไปดูแต่หมู่คณะ ไปดูแต่ข้างนอก มันคือกิเลสของเขาไม่ใช่กิเลสของเรานะ เขาให้กำจัดกิเลสของเรา ต้องจำกัดขอบเขตกิเลสของเรา แล้วจับมันให้ได้ แล้วย้อนกลับมาที่กิเลสของเรา

ไปดูแต่กิเลสของคนอื่น ไปเพ่งแต่โทษคนอื่น ไม่มีประโยชน์นะ คติที่เลว เพียงแต่เอาคติที่เลวเอามาเป็นตัวอย่าง เทวทัต ในพระไตรปิฎก ๒,๐๐๐ กว่าปี ถ้าพูดถึงตัวอย่างที่ทำความเลวก็คือว่าเทวทัต

ทำคุณงามความดี เห็นไหม ตั้งแต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ทำความดีกับศาสนา แล้วเราก็เป็นพระ เห็นไหม คติธรรม เวลาคุยเป็นคติ แต่คุยแล้วดูหนังดูละครต้องย้อนดูตัว เราจะเป็นอย่างนั้นอีกไหม ถ้าพูดแล้วจะไม่เป็นอย่างนั้น

เวลาเราพูดถึงความดีและความเลว พูดเป็นตัวอย่างแล้วจะพยายามไม่ทำอย่างนั้น ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเรายังว่าเขาผิดเลย เวลาคนอื่นเขาทำเรายังโทษว่าเขาผิด แล้วเราทำเองได้อย่างไร ถ้าเราทำเอง เราก็ผิด ๒ ชั้น ๓ ชั้น เหมือนตำรวจเลย ตำรวจไปปล้น ตำรวจเขามีหน้าที่จับโจร แล้วตำรวจเป็นโจรนะ ตำรวจเป็นโจรก็ต้องโทษ ๒ ชั้น ๓ ชั้น ใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกันเราเป็นพระ เราไปบอกเขาว่าผิด เราบอกว่านี่เป็นคติที่เลว แล้วเราไปทำเลวทำไม คติที่เลวเรารู้ว่าเลว มันเป็นยาพิษเราจะเอาใส่คอได้ไหม เรากลืนไปในปากเราได้ไหม ถ้าเรากลืนในปากได้เราก็ทำผิดได้ นี่เรากลืนยาพิษไม่ได้เราก็จะทำความผิดอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าทำผิดไม่ได้เราก็ไม่ทำ

นี่มันเป็นคติกับเรา เราเป็นนักรบ ต้องอย่างนี้ ต้องมีความเชื่อมั่น กล้าหาญ ในการไม่ทำความผิดนะ ไม่ใช่กล้าหาญข้างนอกนะ เราไปกล้าหาญข้างนอก กล้าหาญต่างๆ นักเลงขนาดไหนมันก็ไปอยู่ในคุกหมดนะ คนกล้าขนาดไหนติดคุกทั้งนั้น

เราไม่ต้องกล้าอย่างนั้น เราต้องกล้ากับกิเลสเรา กล้ากับกิเลสที่มันเหยียบหัวใจแล้วเอามันอยู่ให้ได้ นั้นเป็นหน้าที่ของเรา ความกล้าหาญ กล้าหาญในการประพฤติปฏิบัตินี่ล่ะงานของพระ

โลกเขามองกันนะว่าพระทำหน้าที่อะไรกัน ไม่เห็นทำอะไรเลย เห็นอยู่สะดวกสบาย แต่ในการประพฤติปฏิบัติเราเกือบเป็นเกือบตายนะ เอาชนะตนเอง กล้าหาญกับธรรม รื่นเริงอาจหาญกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเหยียบกิเลสลงไป แล้วเอาความรื่นเริงขึ้นมาในหัวใจของเรา นี้เป็นนักรบ เอวัง