เทศน์บนศาลา

คิดผิดหรือคิดถูก ไม่ใช่ต้องหยุดคิด

๗ ส.ค. ๒๕๔๑

 

คิดผิดหรือคิดถูก ไม่ใช่ต้องหยุดคิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา ๗ สิงหาคม ๒๕๔๑
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นี่เกิดเป็นชาวพุทธถึงว่าประเสริฐนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างกุศล สร้างบารมีมา ปรารถนาพุทธภูมิ ๔ อสงไขยแสนมหากัป จนชาติสุดท้ายต้องสละหมด ทั้งลูก ทั้งเมีย พระเวสสันดรสละหมดเลยนะ แล้วยังต้องมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะอีก เกิดมาแล้วอยู่ในท่ามกลางกองของความสุข พ่อแม่ปรนเปรอทุกอย่าง ความสุข ความเจริญ อยากจะให้ลูกเป็นกษัตริย์ต่อไปข้างหน้าด้วย

แต่ด้วยบุญญาธิการ ด้วยบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะได้สร้างมาอย่างนั้น เพื่อจะแสวงหาโมกขธรรมไง นี่ด้วยบุญญาธิการอันนั้นถึงได้เห็นเหตุต่างๆ ให้ได้ออกบวชจนได้ ได้ออกบวชไปนะ สร้างบุญญาธิการมาระดับนั้น ปัญญาระดับนั้น ระดับที่เป็นพุทธภูมิ จะเป็นตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าไปข้างหน้า ยังต้องแสวงหาโมกขธรรมอยู่อีก ๖ ปี เห็นไหม ลงทั้งทุกอย่างที่ในสมัยนั้น ที่ว่าที่ไหนมีครูบาอาจารย์ที่ประเสริฐ ศึกษาเล่าเรียนมาทั้งหมด

ภูมิปัญญาคนที่จะสำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาจะล้นเหลือขนาดไหนนะ ยังต้องทุ่มเทกันขนาดนั้น ถึงว่าธรรมะนี้ถึงประเสริฐมาก เข้าถึงได้ยาก ลึกซึ้ง กว้างขวาง จนสิ่งใดๆ ในโลกนี้เปรียบปรานไม่ได้ แล้วแสวงหามาได้แล้ว ได้เสวยวิมุตติสุข สุขอย่างเหลือล้น สุขอย่างไม่มีใครเคยประสบใน ๓ โลกธาตุนี้ ตั้งแต่พรหมลงมาไม่มีใครเคยได้ประสบความสุขอย่างนี้เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เข้าไปลิ้มรสถึงความสุขอันนั้นเป็นองค์แรก

จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์นะ เสวยวิมุติสุข สุขจริงๆ ที่ไม่เคยมี แล้วจนท้อใจ จนอ่อนใจ ทั้งๆ ที่ว่าปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อจะขนรื้อขนสัตว์นะ แต่พอเข้าไปถึงหลักความจริงแล้วยังอ่อนใจ ฟังสิ ยังอ่อนอกอ่อนใจว่าจะมีใครสามารถรู้ได้ จะมีใครสามารถจะตามไปได้ นั่นน่ะ มันลึกลับ มันมหัศจรรย์ มันสูงส่งขนาดนั้นนะ

แล้วเราเป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ถึงเหมือนกับชุบมือเปิบ เหมือนกับสมบัติที่ว่าพ่อแม่ครูบาอาจารย์หาไว้ให้ กองเอาไว้ซึ่งๆ หน้า แต่ไม่มีใครรักษาสมบัติของครูบาอาจารย์ของพ่อแม่ได้ มันน่าเศร้าใจไง ผู้ที่ปฏิบัติต้องมีหลักต้องมีเกณฑ์เพื่อตัวเองจะได้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ของชาวพุทธไง เราเป็นแก่นใช่ไหม เราเป็นแก่น เราเป็นนักรบ เราเป็นผู้ที่ปฏิบัติ จะให้เข้าถึงธรรมะอันประเสริฐนั้น แล้วเป็นหลักเป็นแกน ผู้ที่เป็นหลักเป็นแกน เป็นแกนได้จริงไหม เป็นเจ้าของศาสนาไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจะดับขันธ์ปรินิพพาน

“มารเอย เมื่อใด ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรา สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เมื่อนั้นเราถึงจะนิพพาน”

ก่อนหน้านั้นยังไม่ยอม เพราะไม่มีใครเป็นหลักเป็นแกนที่จะกล่าวแก้คำจาบจ้วงในลัทธิต่างๆ ในหลักศาสนานี่ ยังไม่สามารถมีหลักมีแกนจะไปยึดมั่นศาสนานี้ต่อไป แล้วเราปฏิญาณตนว่าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราปฏิญาณตนว่าเราศรัทธา เราเคารพศาสนา ล้างมือมาแล้วเปิบ สมบัติกองอยู่ข้างหน้า ทำไมเราเอาเข้าในหัวใจเราไม่ได้ล่ะ ทำไมเราเอาเข้าไปในหัวใจเรา ทั้งๆ ที่ว่านี่กึ่งพุทธกาลนะ ศาสนาจะเจริญรุ่งเรือง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะมีมาก จะดาษดื่น เพราะมันเข้าไม่ถึงไง ทั้งๆ ที่ของกองอยู่ข้างหน้า แต่ไพล่ไปหาอย่างอื่นกัน

ดูสิ ดูขนาดว่าปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะเข้าถึงธรรม เข้าถึงธรรมนะ แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ? ภาชนะใดๆ ไม่สามารถบรรจุธรรมได้เลย ภาชนะใดๆ จะสื่อถึงธรรมไม่ได้เลย หัวใจของมนุษย์ หัวใจไง ธาตุรู้เท่านั้น ธาตุรู้นี้เป็นภาชนะที่จะรับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าไปถึง

มนุษย์นี้ เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์มีแก่นสารที่หัวใจ หัวใจของเรา ความสุข ความทุกข์ ใจนี้สัมผัสก่อน ร่างกายนี้เป็นเพียงแค่อยู่อาศัย เป็นโพรง เป็นโพรงเป็นคูหาของจิต ให้จิตนี้ได้อยู่อาศัย เห็นไหม ใจถึงสำคัญ ใจถึงเป็นภาชนะรับธรรม

ทีนี้ใจมันเร่าใจมันร้อน ความที่ใจเร่าใจร้อนก็เลยพยายามจะเอาสิ่งใดที่มันลัดที่มันง่ายจะเข้าไป อยากกินแต่ของดี แต่จะใช้แต่ของถูก อยากจะได้ของดี แต่จะเอาแต่ง่ายๆ มันก็เลยเข้ากันไม่ถึง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมมานะ ตรัสรู้ธรรมมาแล้วแจกแจงธรรม ในสมัยพุทธกาล ในสมัยพุทธกาลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจะออกบิณฑบาต ยังเช้าอยู่ จะแวะอยู่ตามลัทธิต่างๆ เพื่อที่จะคุยธรรมะกัน เพื่อจะคุยธรรมะกัน พราหมณ์ในสมัยนั้นเป็นผู้ที่มีปัญญานะ เป็นผู้ที่ทำใจของเขาสว่างไสวพอจะโต้ตอบธรรมะกับพระพุทธเจ้าได้ เห็นไหม ยังคุยนะ เห็นอยู่ มีพราหมณ์คนหนึ่งเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินมา แล้วเห็นความนิ่มนวล ความสำรวมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถามไงว่า “พระพุทธเจ้านี้เป็นเทวดาหรือ”

พระพุทธเจ้าบอก “ไม่ใช่”

ถามพระพุทธเจ้า “เป็นคนธรรพ์หรือ”

“ไม่ใช่”

“เป็นเทพหรือ”

“ไม่ใช่”

“เป็นมนุษย์หรือ”

“ไม่ใช่”

ฟังสิ “เป็นมนุษย์หรือ”

“ไม่ใช่”

พราหมณ์นี่งงหมดเลย “ถ้าไม่ใช่แล้วเป็นอะไร”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ตอบพราหมณ์ว่า “กิเลส เครื่องเศร้าหมองที่ทำให้เป็นเทวดา เครื่องอยู่ในหัวใจที่ทำให้ใจนี้ไปเกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม เกิดเป็นเทพ เกิดเป็นมนุษย์อีก ไม่มีในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ทั้งที่ท่านก็เป็นมนุษย์อยู่ในปัจจุบันนั้น พราหมณ์ก็เป็นมนุษย์อยู่ถามมาว่า

“เป็นมนุษย์หรือ”

“ไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นมนุษย์”

เป็นจิตที่บริสุทธิ์อาศัยอยู่ในโพรงที่ร่างกายนั้น เป็นพระอรหันต์ไง “สอุปาทิเสสนิพพาน” คือเศษของร่างกายยังมีอยู่ แต่ใจนั้นหลุดพ้น ปัจจุบันนั้นเป็นมนุษย์ก็ไม่ใช่ เพราะหัวใจนี้ไม่มีกิเลสที่จะเป็นเครื่องดำเนินของมนุษย์ไม่มี ที่จะยื้อแย่ง จะแข่งดี จะอยากได้ อยากเด่น อยากเหมือนมนุษย์ไม่มี เห็นไหม มนุษย์ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น เป็นจิตที่ เอโก ธัมโม ที่ดื่มธรรมะ ธรรมะถึงได้ลึกซึ้งขนาดนั้น เห็นไหม มันถึงได้ประเสริฐ ประเสริฐจริงๆ ประเสริฐมากๆ

แล้วเวลาสอนพระในสมัยนั้น พระสมัยนั้นไปคุยไปโต้ตอบกับลัทธิต่างๆ โต้ตอบว่า “เป็นความสุข เป็นเวทนา ๒ สุขเวทนา ทุกขเวทนา” แล้วเวลาโต้ตอบกับลัทธิต่างๆ แพ้เขาไง แพ้กลับมา แล้วมาหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “โมฆบุรุษ” คือว่าไม่รู้ตามความเป็นจริง “โมฆบุรุษ” คือคนเปล่า คนที่ไม่รู้จริง แล้วไปอธิบายกับในลัทธิศาสนาฝ่ายตรงข้าม

เวทนา ๒ สุขเวทนา ทุกขเวทนา แล้วอัพยากฤตไปไหน เวลาใจที่มันไม่เสวยทุกข์เสวยสุขมันอยู่ตรงไหน เห็นไหม มันเป็นเวทนา ๓

สุขเวทนา คือความสุขเวลาเกิดขึ้นในหัวใจ

ทุกขเวทนา เวลามันทุกข์ในหัวใจ

กับเวลามันเสวยอยู่สุขเฉยๆ อัพยากฤตอันนั้นยังไม่เป็นสุขและทุกข์ อัพยา เวทนา

แล้วถ้าเวทนา ๒ ก็ได้ ถ้าคนที่มีหลัก ถ้าคนมีหลัก เวทนา ๒ หมายถึงเวทนากายและเวทนาใจ เห็นไหม เวลาเราปวด เราเจ็บไข้ได้ป่วยตามร่างกาย หรือว่าเราปวดเมื่อย นี่เวทนาของกาย เวลาเราทุกข์ใจ ใจเศร้าหมอง โทมนัส เวลามันสุข โสมนัส เห็นไหม ถ้าเวทนา ๒

การจะโต้ตอบกับลัทธิศาสนาต่างๆ ต้องให้แตกฉาน ต้องให้เข้าใจตามหลักความเป็นจริง จะคุย จะโต้ตอบได้นี่ต้องเข้าใจตามเป็นจริง ในการประพฤติปฏิบัติ ในการรู้จักจากความเป็นจริง ไม่ใช่รู้ตามตรรกะ ตามตรรกะคือว่าตรรกเอานึกเอา

ปัจจุบันนี้ทางวิทยาศาสตร์ ทางวิทยาศาสตร์การใคร่ครวญเอา ตามทฤษฎี ทฤษฎีมีอยู่ แต่เราจะถึงจะรู้ตามความเป็นจริง เราท่องทฤษฎีได้ แต่เรายังเข้าถึงทฤษฎีนั้นไม่ได้เพราะเรายังไม่ได้พิสูจน์อยู่ เราก็สามารถจำทฤษฎีนั้นได้ จำมาได้นะ แต่เวลาซักกัน หรือเวลาคุยกันมันจะอธิบายได้ไม่เคลียร์ ความพูดไปมันไม่เคลียร์อย่างนั้น ทางวิทยาศาสตร์ อันนี้ก็ยังเป็นวัตถุอยู่ เพราะมันเป็นความคิด เป็นทฤษฎี มันยังเป็นทฤษฎีอยู่

นั่นล่ะ สมัยพุทธกาลก็มีอยู่ สิ่งที่การคัดค้านกับศาสนาต่างๆ การโต้ตอบ พระในสมัยพุทธกาลก็ได้โต้ตอบสิ่งๆ นั้นอยู่ คุยกันอยู่ แพ้เขามาก็มหาศาล แล้วดูสิ ดูแบบนิครนถ์ เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุบาลีคฤหบดีเป็นมือเอกนะ เป็นมือขวาของนิครนถ์นาฏบุตร เป็นศาสนาต่าง ก็จะมาโต้ตอบพระพุทธเจ้า ก็เอาทำนองนี้

เพราะเขาบอกเวทนากาย เขาเอาเวทนาที่เป็นวัตถุ แล้วเป็นคนที่ว่าแตกฉาน เป็นพราหมณ์ด้วยนะ แตกฉานมาก เป็นมือขวาว่าถ้าเขาเคยในสมัยนั้น เขาเป็นคนมีชื่อเสียงมาก เขาจะโต้เถียงใครเขาชนะหมด ก็เขาว่าเขารู้จริงแล้วไง ก็จะมาโต้กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเขาก็มีความรู้จริงไง นี่ในลัทธิศาสนาต่างๆ

แต่พอมาคุยกับพระพุทธเจ้าแล้ว คุยกันด้วยธรรมะ คุยกันด้วยเหตุผลเพราะเป็นปราชญ์ด้วยกัน แพ้ราบคาบเลย เพราะเวทนาของกาย ยกเหตุยกผลได้ ยกวัตถุนิยมขึ้นมาได้หมด ยกวัตถุขึ้นมาอธิบาย แต่เวลาอธิบายแล้ว พระพุทธเจ้าสามารถแย้งได้หมด แต่เวลาพูดถึงเวทนาของจิตนี่เขาไม่สามารถจะตอบได้เลย เขาไม่สามารถ จนคอตก จนขอว่าจะศึกษากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอเป็นสาวกเลย จนสุดท้ายแล้วเขาก็มาเป็นสาวก เป็นชาวพุทธ โดยตามความเป็นจริงนะ เพราะว่าไม่มีใครอธิบายอย่างนั้นไง

การอธิบายของเขาอยู่ในหมู่ของเขา เขาก็ว่าเขาฉลาด เห็นไหม ในทางเวทนาของกาย ในหมู่ของเขา เขาจำได้มาก เขารู้มาก เขาก็อธิบายได้มาก มันก็ว่าเป็นฝ่ายที่ประเสริฐของเขา แต่พอมาเจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ตามความเป็นจริง “เวทนากาย” เวลาศพมันนอนอยู่ มันก็กายอยู่ ถ้าเวทนากาย กายเป็นใหญ่ เพราะคิดว่าวัตถุเป็นใหญ่ไง

ทุกข์มีเพราะมีเรา ความสุข ความทุกข์ต่างๆ เกิดขึ้นเพราะมีเรา มีกาย ส่วนใหญ่ถึงทำลายกายนี้เสีย ทำลายวัตถุนี้เสีย มันไม่ทุกข์ ไม่มีที่ตั้ง มันก็จะจบทุกข์ แต่ไม่ได้คิดเลยว่าหัวใจ หัวใจมันรัดอยู่

ตายแล้วไปไหน ลัทธิศาสนาต่างๆ เห็นแต่วัตถุ ไม่คิดถึง ไม่รู้ที่ไปที่มา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ วิชชา ๓ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณในรู้จักว่าเรา คนเกิดมาจากไหน ทำกรรมอะไรมา มันมีเหตุมีผลมาจากจิตวิญญาณที่จะมาปฏิสนธิจิตเป็นมนุษย์นี้ ถึงเกิดมาแล้วถึงมีบารมี มีความรู้ต่างๆ กันไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอกบุรุษ แต่ถ้าเทียบกันแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังบารมีต่างกับองค์อื่นๆ ที่มีบารมีมากกว่า ดูสิ ยังไม่เท่ากัน แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังไม่เท่ากันในบารมีนะ แต่เสมอกันด้วยตรัสรู้อริยสัจ ๔ ศาสนาเราประเสริฐ ประเสริฐตรงนี้

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตรัสรู้ด้วยอะไร? ด้วยมรรคอริยสัจจัง มรรคญาณ ญาณเครื่องดำเนิน มรรค ๘ นี่เป็นเอก เป็นอาวุธสำคัญของศาสนาพุทธ พระพุทธศาสนานี้ประเสริฐตรงที่มีมรรคญาณ ทำให้หัวใจนี้เข้าถึงไง เข้าถึงธรรมอันเอกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เป็นองค์แรก แล้วเสวยวิมุตติสุข ที่มีความสุขมาก ที่ประเสริฐมากในเรื่องของศาสนาตามหลักของตามความเป็นจริง

แล้วปัจจุบันนี้ล่ะ “คิดผิดจะทำให้เกิดทุกข์ คิดถูกทำให้ทุกข์หาย” เห็นไหม สอนกันอย่างนั้นนะ “คิดผิดทำให้เกิดทุกข์” เราคิดผิด คิดผิดทุกคน นี่มันก็จะเข้ากับหลักวัตถุนิยมไง ทฤษฎีความคิด ตรรกะ อธิบายกันด้วยตรรกะ ด้วยวิทยาศาสตร์ ด้วยปัญญาชน การเป็นปัญญาชน การอธิบายออกมาเราก็ตื่นกระแสกัน ชาวพุทธถึงได้ตื่นกระแสกันมาก ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ง่ายดาย...ง่ายสิ ง่ายเพราะอะไร ง่ายเพราะมันเข้ากับความพอใจ เพราะหัวใจเป็นอย่างนั้น

ถ้าตามหลักของชาวพุทธแท้ต้องเริ่มจาก “ทาน ศีล ภาวนา” มันยาก ต้องเริ่มจากทำทานให้หัวใจมันกลมกล่อม กลมกล่อมจะเข้ามาหาศีล ให้หาภาวนา

แต่ถ้าหลักวิทยาศาสตร์ไปเลย เพราะมันทำทานไม่ได้ มันตระหนี่ มันถี่เหนียว มันถึงว่าเอาตัวเองรอด กิเลสมันจะลัดทาง อยากจะให้ทานก็ให้ไม่ลง เพราะมันตระหนี่ถี่เหนียว แต่ถ้ามันคิดถึงหลัก เห็นแก่ตัว คิดถึงใจยอดเยี่ยม ใจดี ใจประเสริฐ มันเห็นแก่ตัว คิดผิดเป็นความทุกข์ ต้องคิดให้ถูก คิดให้ถูก คิดตามหลักวิทยาศาสตร์

ไอน์สไตน์เป็นคนที่คิดหลักของทฤษฎีสัมพันธ์ทำระเบิดปรมาณูขึ้นมา จนเป็นสิ่งที่เป็นโดยสันติก็เกิดประโยชน์แก่โลกมหาศาล สิ่งที่เป็นอาวุธมหาประลัยก็ทำลายล้างคนเป็นมหาศาล แต่ไอน์สไตน์ก่อนตายบอกว่า ว่าอย่างไร ตามหลักฐานเขาว่า “ถ้ามีโอกาสเลือก ขอให้เป็นชาวพุทธ” เพราะวัตถุสิ่งที่คิดขึ้นมาแล้วก็เป็นวัตถุที่ไม่สามารถจะแก้ทุกข์ได้ ยังเป็นความคาหัวใจอยู่

คิดถูกไง เราคิดให้ถูก คิดให้หัวใจอยู่ในร่องในรอย คิดถูกขนาดไหนมันก็เป็นความทุกข์ มันจะคิดถูกแล้วมันจะสุขไปไหน เพราะความคิดนี้ก็เป็นอนิจจัง สิ่งที่คิดขึ้นมา ประกอบขึ้นมาก็เป็นอนิจจัง

คิดตะล่อมให้ใจอยู่ในอำนาจของตน คิดให้ใจนี้อยู่ในหัวใจ คิดให้ใจนี้อยู่ในร่องในรอย สตินี้ทำความคิดอยู่ตลอดเวลา ความคิดที่สงบตัวลง เห็นไหม ก็เป็นอนิจจัง สพฺเพ ธมฺมา นี้เป็นอนัตตาทั้งหมด ธรรมทั้งหลาย ธรรมที่เกิดขึ้นนี้เป็นอนัตตาทั้งหมด สิ่งที่เป็นอนัตตาคือมันวนเวียนไปไม่มีแก่นสาร ความไม่มีแก่นสารก่อนเริ่มแรก กับแก่นสารตามหลักอนัตตาตามความเป็นจริงต่างกัน ถ้าสิ่งที่ความคิดนี้คิดเพื่อเป็นอย่างนั้นได้ ถ้าความคิดนี้เป็นเพื่อล้อมใจให้หยุดอย่างนั้นนะ เป็นกิ่งหนึ่งของศาสนาพุทธ

พุทธศาสนาเป็นศาสนาประเสริฐ สอนตั้งแต่คุณงามความดี กตัญญูกตเวที พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ให้เจือจานตั้งแต่ทิศทั้ง ๘ ตั้งแต่พ่อแม่ ตั้งแต่ลูกหลาน ตั้งแต่คนใช้ ตั้งแต่สังคม สัตว์สังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยหมู่คณะ ต้องมีความเมตตาเผื่อแผ่ ต้องช่วยเหลือจุนเจือกัน

พระพุทธเจ้าสอนตั้งแต่ความเป็นอยู่ในสังคม แล้วก็อยู่ในสังคมแล้วยกตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ที่มีปัญญาจะเอาตัวเองออกจากสังคมนั้นด้วยการมาจำศีล มีศีล มีภาวนา เป็นบุคคลออกไปประพฤติพรหมจรรย์ เป็นเนกขัมมบารมี จากสัตว์สังคม อยู่ในสังคมขึ้นมา เนกขัมมบารมี เอาตัวเองออกมาจากสังคม ให้มาเป็นเนกขัม เนกขัมมบารมี บารมี ๑๐ ทัศที่จะเป็นองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือพรหมจรรย์ นั่นน่ะออกมาจากสังคม แล้วก็เริ่มปฏิบัติขึ้นมาให้สูงขึ้นๆ ขึ้นไป นี่ศาสนาพุทธสอนขนาดนั้น

แต่ในเรื่องปัญญาอบรมสมาธิมันเป็นกิ่งหนึ่งของศาสนา เป็นกิ่งหนึ่ง เป็นแนวทางหนึ่ง เป็นกลวิธีหนึ่งเท่านั้น กลวิธีที่จะเอาจิตสงบไง ผู้ที่มีปัญญากำหนดพุทโธ กำหนดด้วยการเพ่งกระแสจิต การเพิ่งจิต ทำกสิณ การบังคับจิต จิตที่มีปัญญา จิตที่มีการใคร่ครวญ มันจะไม่ค่อยยอมรับ มันจะได้ผลช้า อย่างเช่น กำหนดพุทโธๆ พุทธานุสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง กับการใช้ความคิดวนตะล่อมออกไป ให้จิตอ่อนเพลีย คิดออกไป แล้วตะล่อมตามเข้าไป ความตะล่อมตามด้วยสติปัญญา ความคิดคิดออกไป สติพร้อมออกไป พร้อมออกไปเพื่อให้ใจนี้สงบ ใจนี้สงบ สงบได้ ความสงบของใจนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

ไม่ใช่ว่าคิดถูกแล้วจะมีความสุข คิดผิดทุกข์แน่นอน คิดถูกก็มีความสุขโดยอามิสสุข สุขในโลก แต่ความสุขจริงเอามาจากไหน คิดผิดทุกข์แน่นอน คิดถูกก็ทุกข์สุมอยู่ในหัวใจ แต่เปลือกนอกว่ามีความสุข เพราะสมกับความคิดของตัว ฉะนั้น ความคิดนี้ถึงเป็นกิ่งของศาสนา กิ่งของศาสนากิ่งหนึ่ง แขนงหนึ่ง ไม่ใช่ศาสนาทั้งหมด จะบอกว่าผิด ถ้าผิดว่าตรงนี้ตั้งเป็นเป้าหมายผิด ถ้าตรงนี้เป็นกลวิธี เป็นการเข้าหาหลักศาสนธรรมถูก การเข้าหาสัจธรรมด้วยวิธีการนี้ เป็นวิธีการหนึ่ง

แต่ถ้าตรงนี้เป็นหัวใจ ตรงนี้พอคิดถูกแล้วจิตสงบ เป็นความคิด อันนี้ผิด ผิดเพราะว่าถ้าตรงนี้ทำให้เกิดศีล จะเกิดสมาธิ แล้วจะเกิดปัญญา เขาสรุปลงอย่างนี้เลย ถ้าเขาใช้ความคิดแบบนี้ มีศีลแล้วจะมีสมาธิ มีสมาธิแล้วจะมีปัญญา ถ้ามีสมาธิแล้วจะมีปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีสมาธิหรือก่อนที่จะมาตรัสรู้? มี

อาฬารดาบส เป็นถึงกับเข้าสมาบัติได้ สมาธิหรือไม่สมาธิ ถ้าสมาธิจะเป็นปัญญาไปโดยอัตโนมัติมันเป็นไปไม่ได้ แต่เวลามันเป็นสมาธิ ความเคลิบเคลิ้ม ความสุขในสมาธินั้น การจินตนาการ ความจินตนาการมันเป็นอุปกิเลส พอเวลาจิตมันสงบตัวลง อุปกิเลส กิเลสที่อยู่ในหัวใจ กิเลสที่เศร้าหมองในหัวใจมันจะสร้างจินตนาการออกมาว่า อันนี้เป็นนิพพาน อันนี้เป็นชั้นโน้นชั้นนี้

ความจินตนาการนั้น เกิดขึ้นจากอะไร? เกิดขึ้นจากกิเลส อุปกิเลสอยู่ภายใน แต่มันไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นปัญญา อันนี้เป็นปัญญาหรือ? อันนี้เป็นกิเลสมาเชือดคอตัวเองไง จะมีความสุขขนาดไหน จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าจิตมันสงบ แต่เวลาคลายตัวออกมา เวลาคลายตัวออกมา ออกมาก็ทุกข์ล้วนๆ ความรู้ของหัวใจ ความรู้ของผู้ที่ปฏิบัติ ความรู้ของพุทธะที่เสวยธรรมไง ภาชนะที่ใส่ธรรม หัวใจของเรา มันฟ้องตัวเราเอง หัวใจของเราจะบอกเราเอง ความสุขที่เกิดขึ้นในสมาธิธรรมมันสงบ มันมีความสุข แต่ความเศร้าหมอง ความว้าเหว่ ความวังเวงในหัวใจ เพราะมันไม่มีแก่นแท้ มันไม่มีที่เกาะได้จริง มันไม่ใช่นิพพานจริง

นิพพานเป็นความว่างที่สิ้นจากกิเลส เป็นความว่างแท้

แต่อันนี้มันใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะมันใช้ความคิดออกไป ความคิดออกไป คิดออกไป กระแสออกไป ออกไปจนอยู่ในความคิดนั้นแล้วมันวนไป อย่างเช่น เครื่องยนต์ เวลาหมุน เครื่องยนต์มันหมุน หมุนจนถึงจุดพอดีของมัน มันจะพอดีตัวของมัน

จิตก็เหมือนกัน ดูอย่างนักกีฬาสิ นักกีฬาในการฝึกซ้อม เขาฝึกซ้อมไปถึงจุดหนึ่งว่าร่างกายนี้มันลงตัว มันจะเกิดมันจะหลั่งสารออกมาจากสมองจะมีความสุขมาก นักกีฬาถึงต้องการจุดนั้น จุดที่ว่าร่างกายมันคงตัว นี่ขนาดร่างกาย หัวใจมันหมุนไปก็เหมือนกัน เวลาจิตมันสงบตัวลง มันหมุนโดยที่ไม่ได้กิเลสเป็นเครื่องที่ว่าฉุดกระชากลากตัวไป เพราะมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา เห็นไหม ความสุขอันนั้นมันเป็นความสุข แต่มันเสื่อมได้สิ เหมือนกับว่าตะกอนในแก้วน้ำที่มันนอนก้น ความเขย่าของแก้วน้ำนั้นตะกอนจะขึ้นมา กิเลสสงบตัวลงก็เป็นแบบนั้น มันถึงไว้ใจไม่ได้

ถึงว่ากิ่งหนึ่งของศาสนา มันไม่ใช่ตัวศาสนาทั้งหมด แต่อธิบายกันเป็นอย่างนั้น อธิบายกันว่าให้คิดถูก ให้คิดอย่างนั้น ถ้าอธิบายอย่างนั้นหรือว่าคนปฏิบัติตามกระแส ปัญญาชนเป็นอย่างนั้น มันจะเข้าได้แค่ความสงบนั้น แล้วมันจะเข้าไม่ถึงความจริง มันเลยว่าศาสนาพุทธสอนอย่างนี้หรือ ถ้าความสงบอย่างนี้แล้วมันมีความสุขพอใจ สวรรค์ก็ไม่ต้องการ นรกก็ไม่มี สวรรค์ก็ไม่มี เพราะจิตนี้มันไม่ได้ชำระอะไรเลย มันถึงไม่รู้ค่าของนรกสวรรค์

นรกสวรรค์นี้ก็จิตนี้ไป เวลาตายไปหรือเวลาทำคุณงามความไม่ดี เวลามันดับ มันก็ลงข้างล่าง มันรู้อยู่ที่ใจ แล้วใจนี้สลัดสิ่งนั้นออกไป สลัดสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลที่จะต้องไปนั้น เหตุมีผลต้องเกิด เราชำระเหตุได้ทั้งหมดเลย เราสละเหตุออกไปทั้งหมด ทำไมมันจะไม่เห็น แม้แต่เหตุก็ยังรู้ แล้วทำไมผลที่ว่าไปนรกสวรรค์จะไม่มี

มันถึงบอกว่า ผู้ที่เชื่อในเรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องมรรค เรื่องผล ถึงกลายเป็นคนครึ คนล้าสมัย ไม่ใช่ปัญญาชน ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ต้องปฏิเสธสิ่งที่เป็นไปเพราะมันเข้าตรงนี้ มาเข้าตรงกิ่งของศาสนาตรงนี้ ตรงทำใจให้สงบ ตรงทำตนให้มึนชา ตรงที่ทำตนให้มึนชา มึนชาจากหลักความเป็นจริง ปฏิเสธความเป็นจริงส่วนใหญ่ของศาสนา แต่ไปถือกิ่งหนึ่งในการวิธี กลวิธีที่เข้าศาสนา มันเป็นสากล สากลในความเป็นไป ไม่ต้องเป็นชาวพุทธก็เป็น เพราะหัวใจมันเป็นธรรมชาติของการแสวงหาความสงบ เพราะมันฟุ้งซ่านด้วยความเป็นจริง

ที่ไหนมีพายุ พายุนั้นต้องสงบตัวลง ความปั่นป่วนในหัวใจที่เกิดขึ้นที่ไหน มันจะดับไปโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว จะช้าหรือจะเร็ว มันเป็นสากลอย่างนั้น

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยพุทธกาลก็ได้โต้หรือว่าได้กำราบปราบพวกเดียรถีย์ พวกความคิดในลัทธิต่างๆ จนคอตก คอตกกันมาทั้งนั้น แล้วเราจะกลับไปยืนตรงนั้นหรือ เราจะกลับไปยืนในสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้กำราบ ได้กำราบมาแล้ว ได้ชี้ให้เห็นผิดเห็นถูกมาแล้ว เราจะกลับไปยืนตรงนั้นด้วยการปฏิญาณตนว่าเป็นชาวพุทธ ด้วยปฏิญาณตนว่าจะเข้าถึงแก่นของศาสนา ด้วยการปฏิญาณตนว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติ

แต่ไปเจอกลวิธีของกระแสจิตแค่กิ่งเดียว ทำไมล้มครืนไปกันหมด

จิตสงบเป็นสมาธิไม่สามารถเกิดปัญญาได้เป็นธรรมชาติ ถ้ามันเกิดปัญญาได้โดยธรรมชาติมรรคอริยสัจจังนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้มา มันมีเฉพาะในศาสนาพุทธเราเท่านั้น เป็นเครื่องดำเนินในหลักของชาวพุทธ ลัทธิต่างๆ ไม่มี เพราะความไม่มีถึงไม่รู้ เพราะความไม่รู้ถึงอธิบายไม่เป็น เพราะอธิบายไม่เป็นก็เลยต้องทำให้ใช้ความด้นเดาตามหลักทฤษฎี ตามความเห็น ตามความด้น ตามความเดา ออกมาว่าอันนี้จิตนี้สงบแล้วจะเกิดปัญญาโดยความเป็นธรรมชาติ

“สุตมยปัญญา” การศึกษาเล่าเรียนมา การศึกษาในห้องเรียนนี่ “สุตมยปัญญา” การจด การเล่าเรียน

“จินตมยปัญญา” พวกวิทยาศาสตร์ พวกนักภาวนา ไอ้พวกจินตนาการนี้ไง

นี่ได้เท่านี้ ปัญญาของโลกมีเท่านี้เพราะมันเป็นสากล การศึกษามานี่ การศึกษาตั้งแต่มีการจดตัวอักษร เมื่อก่อนเรียนกันด้วยปากเปล่า พอเริ่มมีตัวอักษร การศึกษาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเพราะว่าตำรับตำราหลั่งไหลมาให้มีการศึกษา สุตมยปัญญาเจริญรุ่งเรือง

“จินตมยปัญญา” ด้วยการจินตนาการ ด้วยการให้รางวัลกัน ด้วยการส่งเสริมกัน ผู้ที่อยากจะเป็นเอก อยากจะเป็นยอดคน แต่สิ่งใดๆ มันก็เป็นไปความทุกข์ทั้งหมด

“ภาวนามยปัญญา” อยู่ที่ไหน ภาวนามยปัญญามันเข้ากับมรรคอริยสัจจัง มรรคอริยสัจจัง ธรรมจักร จักรนี้เคลื่อนไปแล้ว ภาวนามยปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ชำระกิเลสได้เกิดขึ้นแล้ว อยู่ที่ไหน เกิดขึ้นโดยหลักความเป็นจริงได้อย่างไร? มันเกิดขึ้นจากผู้ที่ภาวนา เกิดขึ้นจากมรรคอริยสัจจังที่การส่งเสริมขึ้นไป

มรรค ๘ ไง มรรค ๘ บุคคล ๘ จำพวก โสดาปัตติมรรค-โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค-สกิทาคาผล อนาคามรรค-อนาคาผล อรหัตตมรรค-อรหัตตผล ๘ บุคคล ๘ จำพวก ยังก้าวเดินอยู่ นิพพาน ๑ พ้นออกไปจาก ๘ จำพวก พ้นออกไป พ้นออกไปจาก...มนุษย์ก็ไม่ใช่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมนุษย์หรือ? ไม่ใช่ ทำไมถึงไม่เป็นมนุษย์ เพราะกิเลสในหัวใจนั้นไม่มี มนุษย์ก็ไม่ใช่ พ้นออกไป พ้นออกไปเลย นี่คือเป้าหมายของหลักศาสนาพุทธ

เราเป็นชาวพุทธ เรามีสมบัติมหาศาล สมบัติที่ประเสริฐ ประเสริฐจริงๆ แต่ทำไมไพล่ไปเอากิ่ง กิ่งเดียวเท่านั้นหรือ ตัวนั้นเป็นตัวจริงของศาสนาหรือ

หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์พูดไว้ถูกต้อง จิตส่งออกนั้นเป็นสมุทัยทั้งหมด จิตที่ส่งออกเป็นสมุทัยล้วนๆ จิตที่คิดออกไปเป็นสมุทัยทั้งหมด ต้องหยุดจิต ต้องหยุดความคิดทั้งหมด เพราะความคิดนี้พอมันคิดไปถึงจุดหนึ่งแล้วมันจะหยุดของมันเอง “หยุด” หยุดเพราะว่าสติมันเท่าทัน ต้องหยุดความคิดทั้งหมด แล้วย้อนกลับมาดูความคิดของตัว

หลวงปู่ดูลย์พูดไว้ถูกต้องทั้งหมด แต่เราผู้ที่เป็นปัญญาชนก็ยังไปลากมา อธิบายให้มันผิด แล้วก็เดินกันผิดๆ ทั้งๆ ที่หลวงปู่พูดไว้ถูกต้อง นี่ปัญญาชนไง

จิตที่ส่งออก จิตที่ความคิดไปเป็นสมุทัยล้วนๆ เป็นทุกข์ล้วนๆ

ก็คิดออก คิดออก คิดออก มันเอาความจริงมาจากไหน เพราะกิเลสพาคิด กิเลสในหัวใจมันพาคิด มันคิดออกไป ต้องหยุด ต้องหยุด หยุดความคิดนั้นให้ได้ แล้วย้อนถึงจะรู้ถึงตามความเป็นจริง ถึงได้อธิบายหลักตามความเป็นจริงได้ไง

ถึงว่า ภาวนามยปัญญาเกิดจากตรงไหน? ให้กลับมาดูจิต จิตที่ส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ทำความสงบให้ได้ แล้วกลับย้อนเข้ามาดู ดูหัวใจ ดูภายใน

คำว่า “ดู” ก็เอาคำเพ่งว่าดู คำว่าเพ่งว่าดู ดูของปุถุชน ดูของคนโง่ ดูแบบพวกเรา พวกคนโง่ คำว่าดูคือตามอง เห็นไหม คำว่า “ดู”

แต่ถ้าดูแบบหมอ แบบผู้ที่มีวิชาการ เขาดูเชื้อโรค เขาดูในกล้องจุลทรรศน์ การดูเพื่อแยก เพื่อสังเคราะห์ เพื่อให้เห็นว่าเชื้อโรค หรือแยกตัวว่าเชื้ออะไรอยู่ในเลือด อยู่ในส่วนของร่างกายเรา

การดูมีกี่ชนิด แต่กิเลสมันก็พยายามลากเข้ามาให้เป็นความเห็นของตัว การดูคือการเพ่งดูอยู่ เพ่งดูอยู่ รักษาจิตไว้อยู่ จิตนี้เป็นสมาธิแล้วจะเกิดเป็นปัญญาโดยอัติโนมัติ จิตมันจะมีความสุขในเมื่อเวลามันอยู่ในสมาธิไง แล้วพอเวลาอะไรเข้ามามันก็จะมีปฏิเสธ แต่ดูไว้เฉยๆ

“ดู” คือรักษาไม่ให้สิ่งใดๆ เข้าไปกระทบจิต

“ดู” คือพยายามถนอมไว้ว่า กิเลสนี้อยู่เฉยๆ กิเลสนี้อย่าพองตัว

“ดู” คือกลบกิเลสไว้กับหัวอก เอากิเลสเอาไว้ข้างใน กลัวกิเลสมันจะผยองออกมา

การดูของปัญญาชน การดูของการใช้ความคิดแล้วคิดผิดมันจะมีความทุกข์ คิดถูกแล้วมันจะมีความสุขไง ก็ดูไว้ๆ ดูจิตไว้ ดูสมาธิไว้ รักษาไว้ รักษากิเลสไว้อยู่ในหัวใจ แล้วก็อันนี้ว่าเป็นปัญญา นี่จินตนาการของผู้ที่ไม่รู้

แต่หลวงปู่ดูลย์เป็นผู้รู้ การดูคือการใคร่ครวญ จิตนี้สงบแล้วต้องยกขึ้นวิปัสสนา กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งที่จิตดู ดูอารมณ์ของใจ ดูที่ว่า เวลากิเลสเวลามันแปรปรวน ความสงบนี้ต้องยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาคือการใคร่ครวญ คือการตรวจสอบ คือการมรรคอริยสัจจัง คืองานที่ชอบ งานของโลก งานใดๆ ในโลกนี้ก็เป็นงานของโลก งานที่กองไว้ที่นี่ ตายไปแล้วคนอื่นจะเอาไปทำต่อ โลกหมุนเวียนไป ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองก็ดับไป ยุบยอบไปเป็นธรรมดา งานของโลก เห็นไหม อันนั้นมรรคหยาบๆ มรรคของโลกเขา

มรรคอริยสัจจังในภาวนามยปัญญา คือมรรคดูที่หัวใจนี่ ดูเริ่มต้นของความคิด

เราไปตื่นแต่วิชาการ ตื่นแต่สิ่งที่เขาคิดออกมา สิ่งที่เป็นวัตถุออกมาที่เขาส่งกระแสมาตามสื่อ ตื่นเต้นมาก ตื่นเต้นมาก แต่ไม่เคยเห็นเริ่มต้นของความคิด ไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นจากหัวใจที่มันคิดแล้วเราเป็นทุกข์อยู่นี่ เราต้องเห็นความเกิดขึ้นจากสัญญาที่จิตจะเริ่มต้นความคิด ถ้าเราไม่มีตัวเชื้อ ตัวประทุตัวนี้ ความคิดมันมาจากไหน คิดผิดเป็นทุกข์ คิดถูกก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่คิดเลยนี่มันอยู่ที่ไหน? นี่มันไม่เห็น ความไม่เห็นตัวจุดประกาย ตัวเริ่มต้นของสัญญาจากเริ่มต้นของหัวใจ

เวลาจิตมันสงบแล้ว การหันกลับเข้ามาดู เพ่งดู เพ่งดูวิปัสสนา เพ่งดูเฉยๆ ไม่ได้ ยกขึ้นวิปัสสนา การหาจำเลย การหาสิ่งที่ว่าการตรวจสอบ มีการทุจริตอยู่ ไม่มีการฟ้องร้อง ไม่มีการกล่าวโทษ เราจะไม่สามารถทำใดๆ ได้เลย ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าหน่วยงานนั้นมีการทุจริตอยู่ แต่หน่วยงานนั้นไม่มีการตั้งเรื่อง ไม่มีการฟ้องขึ้นมา เราจะลงไปก้าวก่าย เขาจะหาว่าเราเป็นคนจับผิด

เราเป็นชาวพุทธเราก็กลัวแสนกลัว กลัวว่าเราจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เราต้องทำความสงบไว้เฉยๆ เพ่งจิตไว้ กลัวมันกิเลสมันจะเกิด กลัว กลัวเหลือเกิน กลัวว่าเราจะจับผิดตัวเราเอง นี่กิเลสมันหลอก ๒ ชั้น หลอกว่าตัวเองจิตสงบแล้วมันจะเกิดปัญญาโดยอัตโนมัติ จะไปตรวจสอบ จะไปตั้งเรื่องขึ้นมาก็จะว่าตัวเองนี้จะไม่ใช่ชาวพุทธ ชาวพุทธต้องนั่งนิ่งๆ ชาวพุทธต้องคอยก้มหน้าให้กิเลสมันเหยียบหัว

แต่ถ้าเราตั้งเรื่องขึ้นมา การตั้งเรื่องจะหาโจทก์ หาจำเลย หาความผิด หากิเลส การตั้งเรื่องเพื่อจะหากิเลส หาผู้รับโทษนะ นี่การตั้งเรื่องคือการคุ้ย การขุดคุ้ย การแสวงการขุดคุ้ย การจับผิด การหากิเลสไง การตั้งเรื่อง การจับได้ แล้วลองพิสูจน์กันที่ว่า เวลาจิตสงบคิดถูกแล้วมันจะมีความสุข กับเห็นตัวนี้ มันจะกล้ายืนยันได้ว่าวิปัสสนาอันนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนาด้วยความถูกต้องตามหลักของพุทธศาสนา ไม่ใช่วิปัสสนาด้วยความใคร่ครวญ ด้วยจินตนาการ ด้วยการด้นเดา ด้วยการตั้งเรื่องด้วยตัวเอง โดยที่ตัวเองว่าอันนั้นเป็นพุทธศาสนา

หลวงปู่ดูลย์เข้าไปสัมผัสตามความเป็นจริง มีภาวนามยปัญญา ถึงได้ว่าท่านตั้งไว้ตามเป็นจริง พูดไว้ตามความเป็นจริง แต่เราไปน้อมนำ ไปดึงให้มันต่ำลงมา ต่ำลงมา ให้เข้ากับกิเลสของตัว เข้ากับว่าฉันจินตนาการ ฉันตั้งเรื่องด้วยความเห็นของฉัน ฉันเป็นปัญญาชน แต่มันเป็นสากล สากลก็สากลโลก สากลในกิเลส สากลในกายเกิดดับๆ อยู่ในโลก มันจะประเสริฐไปไหน

ศาสนาพุทธสอนพ้นออกจากโลก ในโลกนี้ไม่มี ฟังสิ ฟังว่าสิ่งที่ในโลกนี้ไม่มี แล้วใครมันจะจินตนาการถูกล่ะ เราถึงว่าเราอยู่ในสิ่งที่ประเสริฐเลอเลิศกองอยู่ตรงหน้า ให้ชุบมือแล้วมาเปิบก็ยังเปิบผิด ยังไปเปิบเอาสิ่งที่กระแสมันตื่นกัน

หลวงปู่ดูลย์พูดไว้ถูกต้อง การถ้ามันเจอ มันตั้งเรื่องตัวเองได้นะ ตั้งเรื่องคือการขุดคุ้ย การหากิเลสเจอ การเจอ เจอกาย เวทนา จิต ธรรม ความรู้สึกที่ว่าสมาธิมีความสุข ความรู้สึกที่ว่านั้นจะต่างกันกับการที่เราประสบสัมผัสสิ่งนี้ การประสบสัมผัสสิ่งที่เราแค่ตั้งเรื่อง เรายังไม่ได้สอบสวนเลย แล้วสอบสวนด้วยมรรคอริยสัจจังของเจ้าของ ของผู้ที่ปฏิบัตินั้น มรรคอริยสัจจังถึงเป็นสมบัติส่วนตน ถึงว่าไม่ใช่ความเชื่อ ไม่ใช่การจำ ไม่ใช่ฟังอาจารย์มา ไม่ใช่ใดๆ ทั้งสิ้น มันเป็นความจริงของบุคคลคนนั้น ความจริงกับความเชื่อมันคนละอันไง

ความเชื่อนั้นเป็นตัวจุดประกาย ตัวเริ่มต้น เป็นการยื่นจากอาจารย์ จากครูบาอาจารย์สู่มือของเรา เราทำผิด เราทำไม่ถูกต้อง ก็หลุดจากมือออกไป เราสามารถทำได้ เราสามารถประกอบขึ้นมาได้ ก็ยื่นจากมือของครูบาอาจารย์ใส่มือเรา เราก็สามารถตั้งเรื่องขึ้นมาได้ เป็นมรรคอริยสัจจัง เป็นธรรมจักร เป็นภาวนามยปัญญาที่เกิดขึ้นจากหัวใจแล้ว เป็นภาวนามยปัญญาเพราะปัญญาที่เกิดจากการตั้งเรื่องนี่มันจะฟู มันจะมีความสุข มันจะแปลกประหลาด มันจะมหัศจรรย์

มันเป็นสิ่งที่แบบว่า จรวดนี้ขับเคลื่อนส่งความขับเคลื่อน จรวดออกไปจากโลก มันพ้นออกไปจากโลกชั่วคราว กับสิ่งที่เราจับต้องได้ มันก็จะพ้นออกไปจากกิเลส สิ่งที่หัวใจที่อยู่ใต้กิเลสนี้เกิดดับ เกิดดับมาไม่รู้สักเท่าไร มนุษย์คนๆ หนึ่งไม่มีต้นไม่มีปลายในการเกิดและการตาย แล้วสิ่งที่ไม่เคยเป็นไป ไม่เคยมี ไม่เคยเป็น ได้เป็นในหัวใจดวงนั้น ลองเปรียบเทียบกับความสุขดูสิ เปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นมหัศจรรย์ ที่ว่าใน ๓ โลกธาตุนี้ไม่มีแล้วเราจับต้องได้สิ

การเห็นกาย เวทนา จิต หรือธรรมตามความเป็นจริง มันถึงจะบอกว่าอันนี้จะเริ่มต้นของวิปัสสนา ถึงจะบอกว่าคิดผิดแล้วมีความทุกข์ คิดถูกแล้วจะพ้นไป มันถึงคนละเรื่อง คนละเรื่อง แต่เขาเอามารวมเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องเดียวกันแล้วเราก็ตามเชื่อตามเสียด้วย มันคนละเรื่อง เพราะยืนยันกันจากความสุขที่เราประสบนั้น การแค่ไปเจอกายก็ขนพองสยองเกล้า จับจิตได้ตามความเป็นจริงจะรู้ โอ้โฮ! มันตื่นเต้น ตื่นเต้นจนบอกว่า

อ้อ จิตนี้มันไม่ใช่อารมณ์ จิตนี้มันเป็นสักแต่ว่าตัวของมันเอง สิ่งที่เกิดดับๆ นั้นคือเรายึดตอนเข้ามา ตอนเข้ามาจากกิเลสที่มันหลอกเราอยู่ตลอดเวลา วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น การใคร่ครวญจิต การแยกแยะว่าขันธ์ ๕ เริ่มต้นของความคิดคือสัญญา เริ่มต้นสัญญา จิตอยู่เฉยๆ พลังงานตัวหนึ่ง พอตัวสัญญา ตัวให้ค่า คือตัวให้ค่าเกิดขึ้น วิญญาณรับรู้ วิญญาณรู้ด้วยเวทนา เวทนาให้พอใจหรือไม่พอใจ สังขารปรุง เห็นไหม วงรอบของขันธ์ ๕ ไปแล้ว อารมณ์เกิดขึ้น อารมณ์นี้ถึงไม่ใช่จิตไง

ขันธ์ ๕ นี้เกิดดับๆ ขันธ์ ๕ นี้ก็ไม่ใช่จิต จิตก็ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เพราะผู้ที่พ้นไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่มนุษย์เพราะขันธ์ ๕ นี้กับตัวจิตตัวเวทนามันขาดออกจากกัน ขันธ์ ๕ ของมนุษย์ ขันธ์ ๕ ของเรา ขันธ์ ๕ คือเรา เราคือขันธ์ ๕ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขันธ์ ๕ นี้เป็นภาระ ขันธ์ ๕ นี้เป็นขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้เป็นโพรงที่อยู่ของหัวใจที่บริสุทธิ์ กับของเรามันเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อเดียวกันเพราะเราไม่สามารถเข้าไปจับวิปัสสนาได้

เราจิตสงบก็สงบเพราะกิเลสมันรวมตัวลง กิเลสมันสงบตัวลง แต่ถ้าเราเข้าไปจับตรงนี้ได้ ขันธ์ ๕ นี้มันเป็นสักแต่ว่า เวลามันหมุนไปวงรอบหนึ่ง ถึงว่าความรู้สึกนี้มันแขกมา ความคิดนี้คือแขก แขกเข้ามาหาที่บ้าน อยู่เฉยๆ จิตนี้จะสงบ จิตนี้เป็นสักแต่ว่าเป็นพลังงานตัวหนึ่ง แต่เวลาอารมณ์เกิดขึ้น อารมณ์เกิดขึ้นนี้ก็วงรอบขันธ์ ๕ วงรอบของขันธ์ ๕ เกิดดับ เกิดดับ ถึงแขกจรมาไง อารมณ์ๆ หนึ่งถึงเป็นวัตถุก้อนหนึ่ง วัตถุก้อนหนึ่งเหมือนแขกคนๆ หนึ่งเข้ามาหาเรา แต่ถ้าเราจับได้เราจะเห็นแบบนี้ ถ้าเราจับไม่ได้เราจะไม่เห็นอะไรเลย เราจะเพ่งดูโดยการดูกลัวจิตมันจะฟู กลัวจิตมันจะ...เห็นไหม ความรู้สึก ความเห็นมันต่างกัน

ถึงว่า ที่การใคร่ครวญจิต เวลาจิตสงบแล้วจะเกิดเป็นปัญญาโดยธรรมชาติ มันเกิดปัญญาโกหก มันเกิดปัญญาเพราะกิเลสมันบอกว่านี่คือปัญญา

แต่มันเกิดเป็นปัญญาจริง เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาจริงตามหลักของพุทธศาสนา มันจะเห็นความเป็นไปของแขก จะสามารถรู้ว่าใครเป็นแขก ใครเป็นเรา เราสามารถแยกแยะได้ว่าคนนี้มาหาเรา หรือเรากับใครแยกออกจากกัน คืออารมณ์ที่เป็นเรา เรายึดมั่น เราโกรธ เราทุกข์ เราดีใจ เราเสียใจกับอารมณ์ความรู้สึกเรา เราจะเท่าทันอันนี้หมด เห็นไหม วิปัสสนาเริ่มจะเท่าทันกันแล้ว

ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นจากธรรมจักร งานชอบ ความเพียรชอบ งานในการใคร่ครวญกิเลส งานในการ...เวลางานชอบถึงไม่ได้ชอบงานวัตถุไง เป็นงานนามธรรม เพราะกิเลสเป็นนามธรรม หัวใจนี้ก็เป็นนามธรรม จิตวิญญาณนี้ก็เป็นนามธรรม เวลาปัญญามันเกิดมันก็ต้องเป็นนามธรรม มันไม่ใช่ปัญญาที่ไปจำใครมา ไปศึกษามา สิ่งนั้นเป็นอดีต แก้กิเลสไม่ได้ เป็นธรรมจักรนี้เป็นปัญญาของใจของเราที่มันสร้างขึ้นมา แต่ก็เป็นปัจจุบันธรรม เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นจากหัวใจที่มันเป็นกิเลสดวงนี้ มันถึงสะเทือนหัวใจ สะเทือนกิเลส

เพราะว่ากิเลสอยู่ในหัวใจของเรา เราสามารถยกขึ้นจนกลายเป็นภาวนามยปัญญาขึ้นมาได้ เพราะกิเลสมันเริ่มแพ้มาตั้งแต่จิตเป็นสมาธิ อันนี้เป็นภาวนามยปัญญา เป็นธรรมจักรของบุคคลคนนั้น มันถึงเป็นความจริงเฉพาะบุคคล มันถึงเป็นความไม่ใช่ความเชื่อ ความเชื่ออันนั้นมันมีกิเลสคอยเสี้ยมหน้าเสี้ยมหลัง คอยดึงหน้าดึงหลังตลอดเวลา แต่มันเป็นธรรมจักรนี้กิเลสมันโดนเชือด มันกดหัวไว้ตลอดเวลาแล้ว ธรรมจักรถึงโผล่ขึ้นมาได้ ธรรมจักรจะเกิดได้ต่อเมื่อกิเลสยุบยอบลง ธรรมถึงเกิด พอธรรมมันเกิดหมุนจนกลายเป็นธรรมจักร

ธรรมจักรนั้นคือภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการภาวนา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากวิปัสสนาญาณ วิปัสสนานี้เกิดขึ้นจากตามความเป็นจริงที่เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราทำตามความเป็นจริงจากการประสบของหัวใจที่เราเชื่อ ศรัทธาเริ่มต้นจากความเชื่อ แต่เชื่อในหลักของศาสนา เชื่อในหัวใจในแก่นของศาสนา ไม่ได้เชื่อกิ่งของการภาวนาที่ว่าจิตสงบจากภาวนา จากปัญญาอบรมสมาธิ

ถ้าเราเชื่อตรงนั้น จิตมันอยู่ตรงนั้น จิตจะไม่ก้าวเดินขึ้นมาเป็นภาวนามยปัญญา มันจะนอนจมอยู่กับปัญญาอบรมสมาธิแล้วก็จินตนาการมรรคผลตามความเห็นของมัน นั้นทำให้คนๆ นั้นหรือเราที่อยู่ในกระแสนั้นเสียดาย เสียโอกาส เพราะเราพบพระพุทธศาสนา เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาที่กำลังเจริญรุ่งเรืองในกึ่งพุทธกาล ที่มีครูมีอาจารย์

สำหรับหลวงปู่ดูลย์ ที่ว่าเข้าใจตามความเป็นจริง แล้ววางหลักไว้ตามความเป็นจริง

แต่กระแส กระแสว่าเป็นกิ่ง เอากิ่งนั้นมาเป็นหลัก แล้วเราเกาะกิ่งนั้นไป ต้นไม้ทั้งต้น เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เราไม่ยอมอาศัย เราไปห้อยอยู่กิ่งๆ หนึ่ง เราจะทุกข์ขนาดไหน แต่เราเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นยอดเป็นอันประเสริฐ นี่กิเลสมันเป็นไป แล้วมันเป็นไปด้วยกันทั้งหมด เพราะมันเข้ากับกิเลส เข้ากับความทฤษฎี เข้ากับหลักวิทยาศาสตร์ เข้ากับการอธิบาย เข้ากับการยอมรับของใจ มันเข้ากันไปหมดเลย เพราะมันเป็นกิเลสทั้งหมด มันเป็นโลกทั้งหมด

มันหมายถึงว่า ถึงว่าต้องมาเชื่อหลวงปู่ดูลย์ไง ความส่งออกอันนั้นเป็นสมุทัยทั้งนั้น ทั้งนั้น

มันยืนยันได้อย่างนั้น ๑

ยืนยันจากภาวนามยปัญญาที่เกิดขึ้นจากหัวใจ ๑

ยืนยันขึ้นมาเลย แล้วความรู้สึกมันจะต่างกันราวฟ้ากับดิน ความรู้สึกว่าเป็นสมาธิมีความสุขกับแค่เราขึ้นมาจับต้องได้ แล้วสร้างผลขึ้นมา กลายเป็นภาวนามยปัญญาขึ้นมาตามหลักความเป็นจริง แล้วมันเริ่มหมุน หมุนจนเท่าทัน แยกได้หมด พอแยกได้หมด แยกความคิด จับความคิดตั้งแยกเป็นขันธ์ ๕ แยกออก ดูแขก ดูผู้จรมา ดูคนไป ดูนะ “ดู” ใช้คำเดียวกันว่าดู การเพ่ง แต่ดูอย่างนี้ไม่ใช่การเพ่งแล้ว เพราะว่ามันดูด้วยตาธรรม ตาธรรมเกิดขึ้นแล้ว ธรรมเกิดขึ้นแล้วในหัวใจ การเพ่งดูเพราะวิปัสสนามันหมุนไปแล้ว ธรรมจักรมันเกิดขึ้นแล้ว การดูอย่างนี้มันดูด้วยตามหลักความเป็นจริง

แยกออก แยกออก แยกออก แยกออกบ่อยๆ เข้า จนขันธ์ ๕ นี้หมุนไปไม่ได้ จนเรารู้ว่าแขกไป แขกเราต่างคนต่างไม่ใช่ แล้วยังเห็นด้วยว่าแขกคนนี้เอาของมาซุกไว้ให้เราเป็นโทษ ถ้าเราเห็นโทษของแขก เห็นโทษของผู้เข้ามาเยือน เห็นโทษไง เพราะการเห็นโทษ การเห็นโทษเพราะเห็นโทษ เห็นโทษถึงว่าเรานี้โง่ เรานี้โง่มากเลย เราเชื่อแต่แขก เราไม่เคยเชื่อตัวเอง เราไม่เคยเห็นความสามารถของเรา เราไม่เคยรู้จักว่าเราเป็นใคร เราจะสลดสังเวช

ความเบื่อหน่าย ความรู้เท่า กิเลสนี้มันเคยเสี้ยมอยู่ รู้ว่ามันเคยสมานความคิดสมานกิเลส สมานเราอันเดียวกัน มันจะแตกออกจากวิปัสสนาอันนี้ กับรู้เท่ามันแค่หยุด ถ้ารู้เท่านี่หยุดเฉยๆ การหยุด การต่อสู้ระหว่างฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ธรรมกับอธรรม การต่อสู้กัน ขณะธรรมที่เกิดขึ้น ธรรมจักรเกิดขึ้น อธรรม กิเลสอยู่กับอธรรม มันก็ต้องหลอก วิชามารมันจะหลอกเราตลอด อันนี้เป็นใช่แล้ว รวมลงอันนี้สงบแล้ว ขาดแล้ว

แม้แต่ในขณะประพฤติปฏิบัติ ในขณะต่อสู้ด้วยภาวนามยปัญญา ต่อสู้เข้าไป กิเลสมันยังเสี้ยม กิเลสมันยังหลอก ทำให้ผู้ที่วิปัสสนานี้หลงทางนะ หลงทาง ผิดๆ ถูกๆ ทุกคนต้องประสบตรงนี้ สิ่งที่เราจะพ้นออกไป ประเทศไหนก็แล้วแต่ มีการเทคโนโลยีเจริญ คิดค้นจรวดขึ้นมา การส่งจรวดครั้งแรกจะสำเร็จได้น้อย ส่งไปแล้วตก เพราะเรามีเทคโนโลยีก็จริงอยู่ แต่การทำของเรา

๑. เครื่องมือไม่ถึง

๒. วัสดุไม่ถึง วัตถุดิบใช้ประโยชน์ไม่ได้สมตามความเป็นจริง เราเองผู้ที่ประกอบขึ้นมาก็ไม่เป็น

จะประเทศไหน จะบุคคลคนไหนต้องเป็นอย่างนี้หมด เพราะจิตที่เกิดนี้มีกิเลสทั้งหมด มันก็เหมือนกับประเทศประเทศหนึ่ง เรานี่เป็นโลกธาตุ อย่าว่าแต่ประเทศ เป็นโลกๆ หนึ่งเลย มนุษย์ โลกคือหมู่สัตว์ คือเรา ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็คือโลกนี้ ในร่างกายเรานี้ก็คือโลกนี้ มันอย่าว่าประเทศ มันเหมือนโลกของเราเลย แล้วเราส่งจรวด เราทำของเราเองขึ้นมามันต้องมีความผิดพลาด ความผิดพลาดอันนี้ไง ความผิดพลาดอันนี้เพราะกิเลสมันมีอยู่ ความจะเป็นอิสระพ้นออกไปจากการทดลอง การทำความเป็นจริงของเรา

ฉะนั้น เวลามันถึงว่า หลอกขณะในวิปัสสนาญาณ หลอกในทุกๆ อย่าง กิเลสไม่เคยอ่อนข้อให้ใคร ไม่เคย ฉะนั้น แค่จิตสงบ ตามภาวนามยปัญญาถึงมันจะเป็นไปได้อย่างไร เป็นไปได้ด้วยกระแสของโลก เป็นไปได้ด้วยการจินตนาการ เป็นไปได้ด้วยการเครดิตของตรรกะ เป็นตรรกะ เป็นปรัชญา เป็นทุกๆ อย่าง เพราะมันมีอยู่ในโลก สิ่งที่อยู่ในโลกนี้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น

แต่สิ่งธรรมจักรนี้ ภาวนามยปัญญาทำให้ออกจากโลก ทำให้ออกจากโลก ทีนี้การเท่าทันมันเห็นคุณค่าแล้วว่าทันๆๆๆ ทันนี้ก็เหมือนกับว่าเราเริ่มจะสามารถคำนวณแรงดึงดูด คำนวณแรงโน้มถ่วง คำนวณได้หมด เราสามารถใช้พลังงานได้พอดี สามารถขับให้สิ่งที่เรา จรวดส่งออกจากโลกได้

นี่ก็เหมือนกัน ภาวนาเกิดขึ้น วิปัสสนาเกิดขึ้นเรื่อย หมุนเรื่อย พิจารณาเรื่อย ดูเรื่อย ตรวจสอบเรื่อย จนเท่าทันกัน กิเลสถึงได้หลุด เพราะว่าพอกิเลสหลุดแล้ว ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ จิตนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่จิต ฟังสิ เรานี้ไม่ใช่ สักแต่ว่า สักแต่ว่ารวมลง ปล่อยหมด ถ้ามีเรามันไม่ใช่ ถึงว่าจิตนี้ก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่จิต ขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักกายทิฏฐิ ๒๐ ขาดออกจากใจ ใจรวมลง รวมลงเลย รวมลงเป็นความสุขมหาศาล ความสุขที่พ้น เป็นเหมือนกับแรงโน้มถ่วงทุกอย่างไม่มี หลุดออกไปจากจักรวาล อย่าว่าแต่จักรวาลนี้เลย รวมลงเป็นหนึ่งเดียว สักแต่ว่า ๑ สุขมาก พ้นจากแรงดึงดูดไป นี่ถึงจะรู้ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง

ไม่ใช่สักแต่ว่าคุย สักแต่ว่าจินตนาการ สักแต่ว่าอธิบาย เพราะจิต กิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันจะพยายามอธิบายให้เป็นแบบนั้น นี่เวลามันพ้นออกไปจากความดึงดูดครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นจากภาวนามยปัญญา

สุตมยปัญญาก็การศึกษาเล่าเรียน

จินตมยปัญญาก็ปัญญาเพื่ออบรมใจให้เป็นสมาธิ ให้ใจนี้หลุดพ้นออกจากกิเลสไปชั่วคราว

ภาวนามยปัญญาเท่านั้น สามารถจับกิเลสมาชำระ มาขยำ มาซักฟอกจนสะอาดตามความเป็นจริงคราวหนึ่ง จิตสงบ พ้นออกไปเลย แล้วพอถอนขึ้นมาสิ ถอนขึ้นมา มันจะมีความสุขแล้วแต่บารมีของบุคคล ๗ วัน ๘ วัน ๒ วัน ถอนออกมา ถอนออกมา ก็ถอนออกมาเป็นเข้าใจตามหลักความเป็นจริงโดยธรรมชาติ

จากมนุษย์ จากคนที่มีกิเลส พ้นออกไปจากกิเลสส่วนหนึ่ง พ้นออกไปจากกิเลสส่วนหนึ่ง เข้าใจ ตามความเป็นจริงเราที่จะว่าคนทั่วไปก็สักแต่ว่าจำธรรมะแล้วก็คุย แต่ถ้าพ้นจากนี้ไป พูดตามความเป็นจริง รู้ตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงจริงๆ

ขณะที่รวมอยู่มันเสวยสุข ขณะที่ถอนออกมา ขณะที่ถอนออกมาก็มีส่วนของกิเลสที่เหลืออยู่ เชื้อที่เหลืออยู่ ยังมีอยู่ แต่พ้นออกไปแล้วส่วนหนึ่งตามหลักความเป็นจริง ไม่ใช่เชื่อ ไม่ใช่ฟังใครมาทั้งสิ้น เป็นปัจจัตตังจำเพาะจิตดวงนั้น ภาวนาต่อไปด้วยวิธีการอย่างนี้ เพราะมีแนวทาง จนพ้นออก

บุคคล ๒ จำพวก เห็นไหม เพราะละสักกายทิฏฐิได้ ๒ จำพวก เพราะเวลาเข้าไปแล้วถอนออกมา ถอนออกมาก็ยังมีกิเลสส่วนบน นี่ก็ต้องจับตัวนั้นเป็นตัวตั้ง ต้องค้นคว้าทุกขั้นตอน ต้องหาเหตุภาวนามยปัญญาให้เกิดขึ้น ต้องธรรมจักรหมุน หมุนถึง ๔ รอบจึงพ้นออกไป เสมอกันกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “วิมุตติสุข” ถึงวิมุตติสุขเลย

วิมุตติสุขเป็นหมายของศาสนา เป็นเป้าหมายของศาสนา “วิมุตติสุข” ความสุข ถึงว่าเป็นมนุษย์ก็ไม่ใช่ เพราะกิเลสที่ทำให้เป็นมนุษย์นี้ไม่มี เป็นพระโสดาบัน ตายไป ถ้าไม่มีวาสนาหรือทำไม่ได้ ยังกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติ ยังมีเชื้อของมนุษย์อยู่ แต่ก็เป็นมนุษย์ เป็นอริยมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์ปกติ เพราะมนุษย์ที่ปกตินี้ ทุกข์ของมนุษย์นี้ประเสริฐ

เรามาอยู่ในภพของมนุษย์นี้แล้วเราประพฤติปฏิบัติไม่ได้ เราก็ต้องตายไป ตายจากมนุษย์ ขณะที่เป็นมนุษย์นี้เราจะสร้างคุณงามความดีนี้ก็เป็นเสบียงกับหัวใจนี้เป็นบุญกุศล เราสร้างความไม่ดีมันก็จะเป็นโทษ เป็นอกุศลทำให้เราเกิดต่ำต้อย เห็นไหม การเกิดเป็นมนุษย์ถ้าไม่ได้ทำคุณงามความดีมันก็เป็นเพียงแต่มาให้ค่าว่า เราจะไปสูงหรือไปต่ำ

แต่ถ้าเราเข้ามาในหลักของภาวนามยปัญญาจนพ้นออกไป ถึงจะเกิดเป็นมนุษย์ก็อีกแค่ ๗ชาติ แต่ในการประพฤติปฏิบัติจนจากการก้าวเดินไปบุคคล ๘ จำพวก จนพ้นออกไป ก็ไม่ใช่มนุษย์แล้ว ทั้งๆ ที่อยู่ในมนุษย์นี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พราหมณ์ถามว่า

“เป็นมนุษย์หรือ”

“ไม่ใช่ เราไม่ใช่มนุษย์ เพราะสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ กิเลสเครื่องให้เป็นมนุษย์ไม่มีในหัวใจเรา”

ฟังสิ มันมหัศจรรย์ไหมในภพของมนุษย์นี้ ในภพของมนุษย์นี้มหัศจรรย์มาก ถึงศาสนาเราวางไว้ที่ภพของมนุษย์นี่ไง เราถึงมาเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เรามีบุญมาก บุญมาก บุญมากๆ พบพระพุทธศาสนาด้วย พบการประพฤติปฏิบัติ พบครูบาอาจารย์เป็นผู้ที่ชี้แนวทางด้วย ตั้งแต่หลวงปู่มั่นลงมา

หลวงปู่มั่นนี่เป็นผู้ที่ถ้าเอาความเรื่องของโลกมาว่านะ หลวงปู่มั่นนี่ทุกข์สุดๆ เพราะอยู่ในป่าไม่เคยได้รับความสุขจากโลกเลยแม้แต่นิดเดียว ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังว่าอยู่ในป่า กินแต่ข้าวเปล่าๆ ไม่เคยมีสิ่งใดๆ ไปบำเรอความสุขของท่านเลย ในเรื่องของปัจจัย ปัจจัย ๔ ทำไมท่านมีความสุขของท่านมาก เพราะหัวใจของท่านไม่มีความเป็นมนุษย์ หัวใจท่านประเสริฐ หัวใจท่านอิ่มเต็ม หัวใจท่านเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่คือต้นขั้วของเรา

หลวงปู่ดูลย์เป็นลูกศิษย์ เป็นผู้ที่ว่าหลวงปู่มั่นให้จากมือของอาจารย์ มือหนึ่งให้จากธรรมจากดวงใจดวงหนึ่ง ผู้ที่มีภาวนามยปัญญาตามความเป็นหลัก ตามความเป็นจริง ผู้ที่รู้จริงเห็นจริง สอนหลวงปู่ดูลย์ เห็นไหม สอนหลวงปู่ดูลย์ แล้วหลวงปู่ดูลย์ก็รู้จริงตามความเป็นจริงแบบหลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่ดูลย์ก็พูดก็เป็นตำราไว้ แล้วลูกศิษย์ออกมาก็ตีค่า ตีความตามปัญญาชน ตามหลักทฤษฎีโลกว่าจิตนี้ส่งออกเป็นสมุทัย กำหนดจิตนี้ทางนี้เพ่งดูจิตแล้ว พอเพ่งดูจิตแล้วก็ว่าอันนี้เป็นผลของที่เป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาเพราะจินตนาการขึ้นมาไง

นี่ขนาดเจอครู เจออาจารย์ที่เป็นของจริง เรายังไพล่ไปเอากิ่ง เอาแค่ปัญญาอบรมสมาธิ ความคิดแบบนั้นเป็นปัญญา เป็นกิ่งหนึ่งของศาสนา เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เป็นปัญญาต้อนหัวใจไม่ให้คิดไปแบบตามโลก ถ้าโลกใช้ความคิดของโลก มันจะฟุ้งซ่าน มันจะเป็นความคิดของโลกๆ แล้วก็ว่าอันนั้นไม่ใช่ผู้ที่ปฏิบัติธรรม

แต่ถ้าคิดตามธรรม คิดตามธรรมคือคิดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คิดธรรมะของพระพุทธเจ้า อันนี้คิดตามธรรม คิดตามธรรมแต่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสนอเอาธรรมวางไว้ตามหลักความเป็นจริง เราความเชื่อ เราเชื่อธรรมแล้วเราก็คิดตามเป็นธรรม เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพราะเราคิดธรรมของคนอื่น เราคิดธรรมของพระพุทธเจ้า แต่ธรรมตามความเป็นจริงของเรายังไม่ได้เกิดขึ้น ธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต้องเกิดขึ้นจากเหตุและผลตามความสมควรผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมได้ธรรมจริงต้องเป็นธรรมจริงๆ ที่เกิดขึ้นจากภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาสุดยอดของศาสนาพุทธ “ภาวนามยปัญญา” ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการภาวนา ไม่ใช่ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการจินตนาการของจิตสงบชั่วคราวเท่านั้น เพราะมันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา เพราะไม่มีการต่อสู้ ไม่มีการยกขึ้นจากจินตะเป็นภาวนายะ จากจินตะเพราะจิตสงบแล้วก็ภาวนาได้ คิดได้ ค้นได้ แต่พ้นไปพร้อมกับอุปกิเลส

อุปกิเลสหมายถึงความผ่องใสของจิต จิตที่ผ่องใส อุปกิเลสคือความเศร้า คือความซุกอยู่ในหัวใจนั้น เป็นจินตนาการขึ้นมาเพราะมันว่ามีอุปกิเลสเป็นตัวเสี้ยม อุปกิเลสเกิดขึ้นจากหัวใจ เพราะหัวใจนี้มีภวาสวะ มีอวิชชา มีกิเลสอยู่ที่หัวใจเป็นก้นบึ้ง ความเป็นก้นบึ้งอันนี้จะคิดอย่างไร ความเป็นก้นบึ้ง ความเป็นหนึ่ง ความเป็นผู้ดำริ ความเป็นต้นกระแสของความคิดมันถึงมี มันถึงไม่ได้เป็นภาวนามยปัญญาเพราะธรรมจักรไม่ได้เกิดขึ้น

ธรรมจักรเกิดขึ้นเพราะว่าจิตนี้สงบ กิเลสนี้ยุบยอบตัวลง ธรรมจักรจะเกิดขึ้นเพราะเราต้องแสวงหา เราต้องยกขึ้นเป็นวิปัสสนาญาณ

“วิปัสสนา” วิปัสสนาเกิดขึ้นจากว่า การงานชอบ อาโลโก อุทปาทิ ปัญญาอุทปาทิ วิชชา อุทปาทิ ในธรรมจักร วิชชาจะเกิดขึ้น ปัญญาเกิดขึ้น ความสว่าง ความว่างเกิดขึ้น ความว่าง ปัญญาเกิดขึ้น ความว่าง อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างไสวเกิดขึ้น เห็นไหม รู้เท่าทันไปหมดเลย เป็นภาวนามยปัญญา เป็นสุดยอด เป็นหัวใจ เป็นหนึ่ง มีเฉพาะในศาสนาพุทธ เป็นแก่นของศาสนา เป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตายของผู้ที่ปฏิบัติ เป็นเป้าหมายของนักปฏิบัติ เป็นหลักความจริงในศาสนาเรา

เราถึงไม่ควรจะไปตื่น ไม่ควรจะไปหลงตามสิ่งที่เขากำลังเห่อกันอยู่ไง เห่อเพราะการที่ว่า กระแสมาก เห่อเพราะว่ามีฝ่ายที่ว่าเห็นด้วย ความเห็นด้วย เห็นด้วยจริงเพราะผู้ที่รู้จริงตามความเป็นจริงมีน้อย ผู้ที่เชื่อตามๆ กันมันเยอะ ความเชื่อตามๆ กัน เห็นไหม

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)