เทศน์พระ

เทศน์พระ ๒๓

๒๙ มิ.ย. ๒๕๕o

 

เทศน์พระ วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเป็นพระนะ เราเป็นคนเห็นภัย ผู้ที่บวชพระเวลาอยู่กับโลกเขา ถ้าอยู่ในโลก โลกเขามีชีวิต เขามีสีมีสัน ชีวิตเขามีความสุขของเขานะ เพราะชีวิตในโลกของเขา เราเห็นภัยใช่ไหม เราถึงได้สละโลกมาบวชกัน ถ้าเราสละโลกนะ เราทิ้งโลกมาแล้ว เรามาบวชเป็นพระ มันเป็นพระ ถ้าเราเข้าใจว่าเราเป็นภิกษุ ภิกษุผู้เห็นภัยนะ ถ้าโลกเขาตีความนะ ภิกษุเป็นผู้ขอ แต่ถ้าเป็นโลกของเรา ภิกษุเป็นผู้เห็นภัยในวัฏฏะต่างหากล่ะ ภิกษุเป็นผู้เห็นภัยแล้วออกมาประพฤติปฏิบัติ ออกมาเพื่อจะพ้นจากภัย แล้วพ้นจากภัยคนเรามันต้องมีสติสัมปชัญญะสิ มันต้องตื่นตัวตลอดเวลา ถ้าคนไม่ตื่นตัว มันอยู่กับโลกเขานะ มันนอนจมกับกิเลส ถ้ามันตื่นตัว มันจะเห็นผลของมัน

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านสิ้นกิเลส “ธรรมะนี่จะสอนใครได้ ธรรมะนี่จะสอนใครได้” มันลึกซึ้ง มันละเอียดอ่อน มันจะสอนใครได้ นี่มันสอนไม่ได้เลยนะ

ถ้าคนจะพ้นจากภัย มันต้องเข้าถึงธรรมแท้ๆ นี่นะมันเหนือโลก แล้วเหนือโลกแล้วจะเอาอะไรพาดเข้าไปหามันล่ะ ถ้าพาดไปหามัน ท่านถึงพยายามดูตัวของท่านไง

“อ๋อ! ที่มันมาได้.. มาได้เพราะปฏิปทาเครื่องดำเนิน”

“ปฏิปทาเครื่องดำเนิน.. เรานี่มาจากปฏิปทาเครื่องดำเนิน”

ท่านถึงว่าให้ปฏิปทาเครื่องดำเนินเข้าไปหาอันนั้น ถ้าปฏิปทาเครื่องดำเนิน แล้วเวลาออกมากว่าที่ท่านจะดำเนินมา ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นน่ะ “ถ้าภิกษุที่มีพรรษา ให้ฝึกหัดเด็กมันขึ้นมา มันจะได้มีข้อวัตรติดหัวมัน” ข้อวัตรน่ะมันเครื่องมือดำเนินนะ

ดูสิ จะมาด้วยอะไร มาด้วยรถนะ นี่ข้อวัตรปฏิบัติ เห็นไหม ขอทานมันยังมีกะลาหากินของมันเลย ขอทานนะมันต้องมีภาชนะที่จะขอทานนะ นี่ผู้ที่เขาจะทำ มีวิชาชีพ เขาต้องเรียนวิชาชีพของเขา ถ้าเขามีวิชาชีพของเขาแล้วนะ เขามีกฎหมายเป็นเครื่องมือของเขา วิชาการแพทย์เขาก็มีวิธีรักษาคนเป็นเครื่องมือของเขา

แล้วพระนี่เป็นผู้จะสู้กิเลส.. เอาอะไรเป็นเครื่องมือ? ภิกษุจะต่อสู้กิเลส มึงเอาอะไรเป็นเครื่องมือกัน มึงเอามือเปล่าๆ ไปจับเสือหรือ เอาอะไรไปจับเสือล่ะ แล้วเวลาทำข้อวัตรปฏิบัติ นี่ปฏิปทาเครื่องดำเนิน สิ่งนี้เป็นเครื่องมือที่เคยเข้าไปสู้กับกิเลส แล้วเวลาทำขึ้นมามันโต้แย้งทั้งนั้นน่ะ มันเป็นเรื่องความลำบากนะ ทำอะไรก็จะลำบาก ออกบิณฑบาตก็เป็นเรื่องความลำบากแล้ว ถ้ามีคนเขาเอาปิ่นโตมาให้ถึงวัด สิ่งนี้พอดีเลย สิ่งนี้เหมาะสมมาก แต่ถ้าเราได้ก้าวเดินออกไป ก้าวเดินออกไปเพื่อจะหาเครื่องดำรงชีวิตอย่างนี้ มันจะเป็นความลำบากนะ แล้วว่าความลำบาก มันก็นอนจมสิ

นี่เช้าขึ้นมา วัตรปฏิปทา วัตรในโรงฉัน ต้องทำความสะอาด น้ำล้างเท้า น้ำล้างบาตร น้ำต่างๆ ต้องเตรียมไว้พร้อมเลย แต่ถ้ามันขี้เกียจนะ มันไม่เอาอะไรเลย นี่มันเป็นปฏิปทาเครื่องดำเนินนะ มีดนะ เครื่องใช้ไม้สอย ทหารน่ะเขามีอาวุธเอาไว้ต่อสู้ในสงครามนะ เขาไปทำลายข้าศึกของเขานะ แต่นี่เราเอามีดเอาปืนยิงหัวตัวเองทั้งนั้นน่ะ นี่มีดเขาเอาไว้ฟันมือตัวเองไง ปฏิปทาเครื่องดำเนินนี่เป็นเครื่องลำบากไปทั้งหมด สิ่งใดที่ไม่อยากจะทำทั้งนั้น หมู่คณะทำให้ ทุกคนจะทำให้หมดเลย ตื่นเช้าขึ้นมา น้ำเต็มโอ่งเต็มไหเลย ให้เราใช้สอย เราเป็นผู้ที่มีอำนาจวาสนาได้ใช้สอยหมดเลย นี่เครื่องมืออย่างนี้ อาวุธดำเนิน เขาจะชำระกิเลสไง มันไม่อยากทำหรอก คนเรานะลองได้เหนื่อยอ่อน ได้ออกกำลัง ทุกคนไม่อยากทำ

แต่ถ้าคนทางโลกเขา ดูสิ เวลาเขาออกมาไปฟิตเนสกัน เขาอยากสวยอยากงาม เขาทำได้นะ เหงื่อออกโทรมๆ เลยน่ะ เขาทำเพื่อให้ร่างกายเขาแข็งแรง เขายังเห็นผลของมันเลย แล้วนี่เครื่องมือของเรา เครื่องมือที่เราจะใช้ประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับหมู่คณะ ถ้าหมู่คณะเราใช้สอย ของหมู่คณะใช้สอยด้วยกัน ถ้าใช้สอยด้วยกันมันก็ต้องทำด้วยกัน เราไม่กินแรงกัน การกินแรงกัน สิ่งที่เป็นธรรมเป็นการกินแรงกัน เราเอาเปรียบ แต่ถ้าเป็นกิเลส เราสะดวกสบาย เรามีอำนาจวาสนา นี่เครื่องมือนี่มันเป็นประโยชน์กับการชำระกิเลส แต่มันก็เอาเครื่องมือนี่ทำลายตัวเอง ทำลายตัวเองว่าตัวเองได้เปรียบเขา ตัวเองมีอำนาจวาสนา นี่ข้อวัตรปฏิบัติ ปฏิปทาเครื่องดำเนิน นี่เครื่องดำเนิน

“อุโบสถ” อุโบสถนี่เตือนตลอดเวลา ๑๕ ค่ำนี่มาเตือนกันตลอดเวลา ว่าตั้งแต่ศีล ๒๒๗ ทำอะไรผิดพลาดกันบ้าง สิ่งที่ผิดพลาดกันบ้าง นุ่งผ้ากันมา ผ้า ๓ ผืนมันทะลุ มันด่าง มันพร้อยไหม ถ้ามันทะลุ มันด่าง มันพร้อย มันก็เป็นอาบัติ ถ้าเป็นอาบัตินะ สิ่งที่เป็นอาบัติ ถ้าผ้าทะลุ แม้แต่ถั่วเขียวหรือหลังตัวเรือดที่ผ่านได้ นี่อรุณขึ้นเราไม่ได้ปะได้ชุนเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ นี่มันของมองเห็นๆ นะ

แต่ถ้าความผิดในหัวใจล่ะ ความผิดจากการกระทำ ใครไปมองเห็น สิ่งที่มองเห็น เห็นไหม นี่สิ่งที่มันชำรุดทรุดโทรม นี่ผ้าขาด ผ้าขาดมันต้องปะ ถ้าผ้าขาด ผ้าหลุด ผ้าลุ่ย นี่ก็เหมือนกัน ศีลธรรม ๑๕ ค่ำนี่อุโบสถ มาเพื่อตอกย้ำกับตรงนี้ว่าใครบ้างที่มันทำผิดจากศีล ๒๒๗ ให้ปลงอาบัติ ทำให้มันเป็นปกติขึ้นมา ถ้าเป็นปกติขึ้นมา เพื่อบำรุงรักษาเรานะ เพื่อบำรุงรักษาเรา เพื่อให้เป็นไปกับเรา สิ่งนี้เป็นไปกับเรา เป็นไปกับหัวใจของเรา นี่ผู้ที่เห็นภัย ภิกษุเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร

วัฏสงสารมันอยู่ที่ไหน? วัฏสงสารมันอยู่ที่จิตปฏิสนธิจิต จิตที่พาเกิดพาตาย วัฏสงสารมันเกิดในวัฏฏะ ถ้าจิตมันยังเกิดในวัฏฏะ มันยังเวียนไปในวัฏฏะอยู่ มันต้องเกิดต้องตายไป ถ้ามันต้องเกิดต้องตายไป แม้แต่เครื่องมือ ตัวเองยังไม่ปกติเลย นี่ดูสิ ดูอย่างพลังงาน ถ้าสิ่งที่เป็นบรรจุภัณฑ์มันไม่ปกติ มันรั่วไหลหมด ถ้ามันรั่วไหลหมด พลังงานมันจะเก็บไว้ได้อย่างไร นี่ก็เหมือนกัน ถ้าศีลเราขาด เราด่าง มันพร้อย แล้วมันจะทำสมาธิขึ้นมาได้อย่างไร ทีนี้ทำสมาธิขึ้นมาไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ ทำไมคฤหัสถ์เขาศีล ๕ ทำไมเขาถึงพระโสดาบันได้ล่ะ ไอ้นั่นเป็นคฤหัสถ์นะ

สิ่งที่ว่าเป็นคฤหัสถ์ มันก็เหมือนเป็นผู้กว้างขวาง มันอยู่ในวงนอก สิ่งที่เป็นภิกษุผู้เห็นภัยมันอยู่ในวงใน วงนอกกับวงใน เหมือนข้าราชการ ถ้าไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ทุจริตต่อหน้าที่ เป็นประชาชน เขาไม่มีระเบียบข้าราชการปกครองเขา เขาทำธุรกิจของเขา เขาทำงานของเขาได้ แต่เป็นข้าราชการไม่ได้ มันมีกฎระเบียบของเขา มันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ นี่ทุจริตต่อหน้าที่ ผู้ที่ทำผิด ข้าราชการทำผิดต้องมีโทษ ๒ ชั้น ๓ ชั้นขึ้นไป เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ทำผิด

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นนักรบ เราเป็นพระ มันต้องกระชับเข้ามา ถ้ากระชับเข้ามา ความผิดของเรา ถ้ามันผิดเข้ามา เวลาทำบุญกุศลมันก็ได้บุญมาก เวลาทำบาปมันก็ได้บาปมาก ถ้าได้บาปมากอย่างนั้น บาปของเราเราทำขึ้นมา บาปอกุศลไง ถ้าบาปอกุศลทำให้จิตใจเศร้าหมอง จิตใจหดหู่ มันจะรื่นเริงอาจหาญควรแก่การงานไหม ถ้าคนจะรื่นเริงอาจหาญควรแก่การงาน จิตใจมันต้องผ่องแผ้ว ถ้าจิตใจมันผ่องแผ้ว มันจะทำอย่างไรให้จิตใจมันผ่องแผ้ว สิ่งนี้มันเป็นเครื่องเข้ามาเชิดชูในหัวใจของเรานะ

แต่ถ้าเป็นกิเลสมันเหยียบย่ำ นี่เครื่องมือเขาจะเอาไว้เพื่อชำระกิเลส มันกลับเอาเครื่องมือนั้นน่ะมาทำลายโอกาสของตัว ทำลายตัวให้มันนอนจมอยู่ในวัฏฏะนี่ไง แล้วก็บอกว่าเป็นภิกษุ เป็นผู้เห็นภัยๆ นะ เห็นภัยในอะไร? ถ้าเห็นภัยในวัฏฏะนี่มันต้องพยายามเอาออกสิ เอาสิ่งที่เป็นความเศร้าหมอง เอาสิ่งที่เป็นความหมักหมมของใจออกจากใจสิ ออกจากใจให้มันผ่องแผ้ว

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

ไอ้นี่กิเลสหยาบๆ อุปกิเลสคือกิเลสอย่างละเอียดไง ไอ้นี่ขี้เกียจ ความมักง่ายมันเป็นอุปกิเลสที่ไหน มันกิเลสหน้าด้านๆ สิ่งที่ด้านๆ อยู่กับหัวใจ มันยังไม่รู้จักตัวมันเองเลย แล้วมันจะไปต่อสู้กับกิเลสอย่างไร นี่เครื่องมือเขาเอาไว้ต่อสู้กับข้าศึกนะ เครื่องมือเขาไม่ทำลายตัวเองนะ นี่เครื่องมือที่เอาไว้เป็นประโยชน์กับเรา มันเป็นสิ่งที่มันหนักหนาสาหัสสากรรจ์แบกหามกันไม่ไหว ถ้ามันแบกหามไหวน่ะมันเป็นไปได้ มันแบกหามนะ โลกเขาทำงานกัน เห็นไหม ดูสิ เวลาเขาบริหารจัดการของเขา เขาต้องทำวิจัยของเขาทุกอย่างกว่าเขาจะตัดสินใจแต่ละชิ้นแต่ละอย่างขึ้นมา เพื่อทำการตลาดของเขานะ เขาต้องหาของเขาทั้งหมดเลย นี่เป็นเรื่องของโลกๆ

แล้วนี่เรื่องของเราล่ะ เรื่องของหัวใจของเรา เรื่องของการต่อสู้ของเราน่ะ เรื่องของเรา เรื่องการต่อสู้กับกิเลส มันเป็นสิ่งที่เวลาครูบาอาจารย์ท่านบรรลุธรรมขึ้นมานะ มันจะสอนได้อย่างไรๆ มันเป็นนามธรรมน่ะ มันจะเอาอะไรเข้าไปพาดพิงถึงมันน่ะ เราจะเอาอะไรไปต่อสู้กับมันน่ะ แล้วนี่มันอยู่กับเราน่ะ ธรรมกับวินัย เพราะครูบาอาจารย์ท่านผ่านมา ท่านถึงเก็บหอมรอมริบนะ

หลวงตาท่านพูดเลย หลวงปู่มั่นเก็บหอมรอมริบทุกอย่าง เก็บหอมรอมริบเพราะอะไร เพราะทะนุถนอมมันน่ะ ทะนุถนอมนะ เพราะอะไร เพราะมันเป็นเครื่องมือเครื่องดำเนินเข้าไปชำระกิเลส แล้วตำรามีอยู่ เวลาปริยัติมีทั้งนั้นน่ะ ตู้พระไตรปิฎกมีขนาดไหนก็ได้ จะพิมพ์ออกมาล้นโลกก็ยังได้ แล้วถ้าไม่มีใครใส่ใจกับมัน ไม่มีใครเอามันมาใช้งาน ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์อะไร

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ มันเกิดมาจากใจ “ธรรมะ” เวลาธรรมเกิดๆ เวลาธรรมเกิดกับกิเลสเกิด กิเลสเกิด เวลานิมิตเกิด เวลาต่างๆ เกิด กิเลสเกิดแล้วไปกอดมันไว้ แต่เวลาธรรมเกิดล่ะ ธรรมเกิดมันเกิดขึ้นมามันสังเวชนะ สิ่งใดที่มันเศร้าหมอง สิ่งนี้มันเศร้าหมอง สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่อกุศล มันบอกเราขึ้นมาตรงๆ ในหัวใจนี่ล่ะ ธรรมเกิด สภาวธรรม ถ้าจิตมันสงบ สภาวธรรมมันจะเกิดขึ้นมา มันผุดขึ้นมา เอ.. ธรรมเกิดอย่างนี้ เป็นธรรมอย่างนี้ มันเป็นความเข้าใจเท่านั้นน่ะ มันไม่เป็นอริยสัจหรอก

สิ่งที่เป็นอริยสัจ ถ้าเป็นธรรมเกิด ถ้าเกิดถ้าเราไปติดมันน่ะ ไปติดอย่างนั้นพอใจนะ เวลาอะไรเกิดขึ้นมาน่ะ เวลาความรู้สึกเกิดขึ้นมา สิ่งนี้ประทับใจ ดูดดื่มใจ ไปเกิดขึ้นมามันเป็นความอยากนะ พอมันดูดดื่มขึ้นมา มันก็ติดข้อง พอติดข้องนะ มันก้าวเดินไปอีกไม่ได้แล้ว จิตมันติดตรงนั้นน่ะ ถ้าจิตมันติดตรงนั้น การภาวนาเราจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าภาวนาเราเป็นไป สิ่งที่มันจะควรเป็นประโยชน์บ้าง

ในการประพฤติปฏิบัติ เหมือนเด็กเลย เด็กมันไม่เข้าใจอะไรเลย พอมันเห็นสิ่งใดมันนึกว่าเป็นประโยชน์กับมันหมด ดูสิ การข้ามถนน การไปในกฎจราจร เด็กมันไม่รู้น่ะ มันไปมันมีแต่ภัยของมันนะ แต่ผู้ที่เขาเข้าใจในกฎของจราจร ผู้ที่เข้าใจการข้ามทางม้าลายต่างๆ เขาจะเอาชีวิตเขารอดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนาไปมันจะไปประสบสิ่งต่างๆ ในการเผชิญหน้า การเผชิญหน้านะ “สันทิฏฐิโก” ความเห็นของใจ มันเป็นสันทิฏฐิโกเอง ใจมันเห็นเอง เห็นสภาวะที่เกิดขึ้นมากับใจนี่ แล้วพอสัมผัสเองน่ะมันเกิดขึ้นมาเอง แล้วมันจะตัดสินใจอย่างไร มันจะผ่านวิกฤตอย่างนี้ไปได้อย่างไร วิกฤตอย่างนี้ทำให้เราติดนะ วิกฤตอย่างนี้ทำให้เราไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วมันเกิดจาก.. มันเป็นความว่างๆ.. ว่างจากความสำคัญ! ว่างจากความเห็นของตัว! ว่างจากกิเลส! กิเลสมันหลอกทั้งนั้น! เหยื่อทั้งนั้น! เหยื่อในหัวใจทั้งนั้นเลย! มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันไม่เป็นอริยสัจ ถ้าไม่เป็นอริยสัจ เพราะผู้รู้ไม่มี

ผู้รู้จริงนะ สิ่งที่เป็นรู้จริง มันจะเป็นอริยสัจ “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ทุกข์นี่มันเกิด ความว่างนี่มันเป็นความทุกข์อันหนึ่ง แต่เราว่าเป็นความสุขนะ.. ว่าง.. ปล่อยวาง มันเป็นความทุกข์อันละเอียด! เห็นไหม มันเป็นอุปกิเลส! มันเป็นกิเลสอย่างละเอียดที่เราไม่เข้าใจเลย ถ้าไม่เข้าใจเลย แล้วเราก็ไปกอดตัวมันไว้ สิ่งต่างๆ ไปกอดตัวมันไว้เพราะอะไร เพราะมันไม่มีผู้รู้จริงไง ถ้าเป็นผู้รู้จริงนะ

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

ตัวจิตเดิมแท้นั่นแหละ คือตัวอวิชชา

ตัวจิตเดิมแท้น่ะ ไอ้ว่างๆ ว่างๆ กันอยู่นั่นน่ะ มันว่างจากความสำคัญทั้งนั้นเลย มันไม่ได้ว่างจากความจริงหรอก ถ้าว่างจากความจริง เขาไม่พูดอย่างนั้น ว่างจากความจริงนะ เขาจะเห็นโทษของมัน แล้วเป็นมัชฌิมาปฏิปทา การทำงาน การดำเนินไป มันจะสมดุลของมัน เป็นสมดุลนะ ผู้ที่มีความเข้าใจ ผู้ที่บรรลุนิติภาวะ ผู้ที่มีความสำรวมในหัวใจ เขาจะไม่ทำลายสังคม เขาจะไม่ทำลายหมู่คณะ เขาจะไม่ทำลายโอกาสของตัวเอง เขาจะไม่เอายาพิษใส่ปาก

คนเรานะ เห็นว่าอาหารที่เป็นพิษ ใครบ้างกล้าเอาอาหารเป็นพิษนี้ใส่ปากตัวเอง แล้วที่เราทำกันอยู่นี่ มันเป็นอาหารเป็นพิษทั้งนั้นเลย ใส่ปากตัวเอง นี่มันทำลายตัวเองนี่ไง อาหารเป็นพิษสิ เพราะอะไร เพราะการกระทำนี่มันมรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดไง มรรคนี่มันมีหยาบๆ มีละเอียด โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มรรคมันจะละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ นะ

อาหารของเรา ดูสิ อาหาร เห็นไหม ดูเวลาคนป่วยคนไข้เขากินอาหารอ่อน อาหารไม่ต้องเคี้ยวนะ เขาให้ทางสายยาง ไม่ต้องเคี้ยวเลย ยิ่งถ้ามันมีขึ้นมา เขาให้กลูโคสต่างๆ ไม่ต้องอะไร ฉีดเข้าเส้นเลือดเลย เห็นไหม

เวลาจิตมันเข้าไป สิ่งที่มันไปติดหยาบๆ ติดที่ความเห็นอย่างนี้ ความเห็นอย่างนี้เป็นความเห็นของเด็กๆ ความเห็นของเราที่ไม่เคยเจอสิ่งใดเลย เจอว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ เพราะอะไรล่ะ เพราะเราเริ่มต้นมาจากปฏิปทาเครื่องดำเนินนี่ไง ถ้าปฏิปทาเครื่องดำเนิน เราเริ่มต้นตั้งแต่สิ่งที่เป็นอาวุธของเรา สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา เราสงวน เรารักษา เราใช้สอย เราทำเข้าไป เราก้าวเดินของเราไป เหมือนเด็กเลย เด็ก! ถ้ามันตั้งแต่เด็กมา ได้รับการปูพื้นฐานมา มีการศึกษามา มีพื้นฐานมา เด็กคนนั้นมีไอคิวดี นี่การศึกษาไปโดยที่ไม่หลงไปกับรูป รส กลิ่น เสียง เด็กคนนั้นเจริญเติบโตไปดี

นี่ก็เหมือนกัน ในการกระทำของเรา ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ข้อวัตรปฏิบัติของเราจะไปดำเนินไปด้วยการเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นเครื่องดำเนินของครูบาอาจารย์ที่ผ่านพ้นมา เพราะเราเชื่อมั่นได้ ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ เพราะหลวงปู่มั่นท่านปรารถนาเป็นพุทธภูมิ สิ่งที่ปรารถนาพุทธภูมิ ภูมิปัญญานี่มันจะกว้างขวางมาก แล้วเวลาศึกษา ท่านศึกษาพระไตรปิฎกอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ เวลาทำไปจะเข้าสมาธิ ให้จิตสงบเข้าไป จิตสงบเข้าไป มันไม่ใช่จิตปุถุชนอย่างเราอย่างนี้ จิตปุถุชนอย่างนี้มันคิดโดยสัญญา คิดโดยข้อมูล พอจิตมีสมาธิขึ้นมาได้ เพราะคำว่าสมาธิ ความคิดความฟุ้งซ่านมันต้องสงบตัวลง คือตัวตนของเรามันจะเบาลง แล้วมันจะเป็นสากล สิ่งที่เป็นสากล แล้วน้อมจิตอย่างนี้ไปถาม ย้อนกลับไปว่าถ้าข้อวัตรปฏิบัติในการกระทำควรทำอย่างใด

ควรทำอย่างไรนะ เพราะอะไร เพราะเรื่องศาสนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แต่ละพระองค์เป็นเรื่องที่แสนยาก พอแสนยาก วางธรรมและวินัยไว้ พอวางธรรมวินัยไว้ แล้วอำนาจวาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอายุ ๘๐ ปี แล้วอำนาจวาสนา ศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะ ๕,๐๐๐ ปี ดูสิ แต่พระศรีอริยเมตไตรยต่อไปจะ ๘๐,๐๐๐ ปี ต่างๆ นี่มันอยู่ที่อำนาจ อยู่ที่การสะสม ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย การดำรงฐานกว้างกว่า ฐานหนากว่า ฐานดีกว่า แต่! แต่ข้อเท็จจริง อริยสัจอันเดียวกัน วางศาสนาไว้ ๕,๐๐๐ ปี กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง แล้วครูบาอาจารย์ของเรามารื้อค้นคว้ากันขึ้นมา

ดูในโลกนี้สิ ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เจริญที่ไหน เจริญในโลก ในโลกปัจจุบันนี้ ในโลกนี้เขาทำการสื่อสาร การคมนาคมเขาไปได้ทั่วหมด ในพุทธศาสนาที่ไหนบ้างที่มันจะเจริญรุ่งเรือง เห็นไหม ทางวิทยาศาสตร์เขาก็พิสูจน์ได้ ศาสนาเจริญ เจริญในทฤษฎี เจริญในอินเตอร์เน็ต เจริญต่างๆ เขาเจริญกันอย่างนั้น เขาเจริญด้วยการโต้แย้งโต้เถียงด้วยข้อมูล

แต่การเจริญโดยความเป็นจริงในหัวใจ มันมีใครเจริญขึ้นมาล่ะ นี่หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนรื้อค้นขึ้นมา แล้ววางธรรมและวินัยอันนี้เอาไว้ให้พวกเราก้าวเดิน แล้วเรามีโอกาสมาในยุคสมัยที่ครูบาอาจารย์ท่านวางธรรมและวินัยเอาไว้ ธรรมและวินัยนี้เอาไว้แก้ไขตัวเราเองนะ ธรรมวินัยนี่ไม่ใช่เอาไว้จับผิดคนอื่น หนึ่ง ธรรมวินัยนี้เอาไว้ทำลายตนเอง ทำลายโอกาสตัวเอง ทำลายทุกอย่างเลย ทำลายด้วยกิเลสตัณหา เพราะว่ามองเห็นว่าเป็นของเล็กน้อยไง

เดี๋ยวนี้โลกเจริญ โอ๋ย.. โลกเขาไปยุคจรวดแล้ว เรายังมาต้วมเตี้ยมๆ กันอยู่โคนไม้ ต้วมเตี้ยมๆ กันมาอยู่ในที่สงัดวิเวกนี่ มันไม่เป็นคนตกยุคหรือ กิเลสที่ไหนมันตกยุคบ้างล่ะ ถ้ากิเลสมันตกยุค คนก็ไม่ต้องมาเกิด! คนไม่มีในโลกนี้เลย! เพราะมันไม่ต้องมีคนมาเกิดอีกแล้ว! นี่คนมันมหาศาลเลย อะไรมาเกิด? ก็กิเลสทั้งนั้น แล้วยุคโลกเจริญ ยิ่งเจริญยิ่งคนเกิดมาก คนเกิดมากเพราะคนกิเลสมันหนา แล้วเราจะชำระกิเลส เราจะเอาโลกเป็นใหญ่ได้อย่างไร

เราต้องเอาธรรมเป็นใหญ่สิ!

ถ้าธรรมเป็นใหญ่ ธรรมคืออะไร? ธรรมคืออะไร? ธรรมคืออะไร? ธรรม ถ้ามันบรรลุธรรมขึ้นมา ธรรมคือธรรม คือทำความรู้สึกในหัวใจที่มันประสบธรรมน่ะ ธรรมอยู่ที่กลางหัวใจของผู้ที่บรรลุธรรม! แต่สิ่งนี้มันเป็นสมมุติทั้งนั้นน่ะ สมมุติบัญญัติ สมมุติบัญญัตินี้เป็นธรรมและวินัย ธรรมและวินัยที่เราจะต้องมีกรอบ มีกรอบกติกาเครื่องดำเนินเข้ามาเพื่อให้ใจนี้เข้าถึงธรรมเราไง แล้วปฏิปทาเครื่องดำเนินนี่มันเป็นอาวุธ! มันเป็นอาวุธ! มันเป็นสมบัติ! ถ้าเป็นสมบัติเราต้องถนอมรักษาสิ! ถนอมรักษาแล้วช่วยกันรักษา รักษาเพื่อใคร รักษาเพื่อเรา ถ้าเราขยันขันแข็ง เพื่อใคร? ใครทำใครได้นะ “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนมีสิ่งนี้เป็นเครื่องดำเนินขึ้นมา มันจะอยู่ในหัวใจของเรา

เวลาสรรพสิ่งในหมู่คณะของเรา สรรพสิ่งนี้เราไม่มีขาดตกบกพร่องเลย เราเป็นคนทำที่สม่ำเสมอ เราจะองอาจกล้าหาญไหม นี่ธรรมวินัยจะรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ด้วยกัน ธรรมะจะรู้ได้ต่อเมื่อแสดงธรรม ธรรมแสดงออกมาจากหัวใจ มันเอาธรรมออกมาหรือเอาอธรรมออกมา เวลาออกมาจากใจ อธรรมคือธรรม! ถ้าเป็นธรรม มันต้องเป็นธรรมสิ ถ้าเป็นธรรม มันเป็นการขัดแย้งกับกิเลส มันเป็นการชำระกิเลส มันเป็นการโต้แย้งกับกิเลส

ถ้าเป็นอธรรมนะ มันเป็นสมบัติของกู! ของกู! ของกู! ของกู! ทุกอย่างต้องเป็นของเราคนเดียว คนๆ เดียวมันเป็นประโยชน์อะไรขึ้นมา เพราะ “กู” คนไหนก็ต้องตายทั้งนั้น ทุกคนเกิดมาต้องตายหมด

สมบัตินี้ สมบัติธรรมนี้ ธรรมชาตินี้ สภาวธรรมเป็นธรรมชาติ สภาวธรรมเป็นธรรมชาติ สภาวธรรมเด็กๆ สภาวธรรมจริงมันเหนือธรรมชาติ เพราะมันไม่เกิดในวัฏฏะ วัฏฏะคือธรรมชาตินี้ไง ธรรมชาตินี้คือวัฏฏะ เห็นไหม คนเกิดมาต้องมีคู่ สิ่งต่างๆ ดูสิ โลกเขาจะอยู่กันได้เพราะต้องมีพืชพันธุ์ การสืบต่อมนุษยชาติ แล้วธรรมล่ะ?

สืบต่อธรรม สืบต่อกันที่ไหน?

สืบต่อธรรม คือสืบต่อกับธรรมและวินัย

สืบต่อธรรม เห็นไหม ขอนิสัย ได้นิสัยมาจากใคร ใครเป็นคนทรมานมา นี่จิตนี้ใครเป็นคนทรมานมา หลวงปู่มั่นนี่ใครทรมานมา นี่ทรมาน นี่มันม้าพยศ เอามันอย่างไรไว้ในอำนาจของเรา ถ้าเอามันไว้ในอำนาจของเรา เราทรมานมันเอาไว้ในอำนาจของเรา แล้วใครทรมาน?

นี่สัตว์ข้างนอก ควาญช้างมันก็ทรมานช้างนะ ช้างนี่เขาต้องเอามาฝึกมัน ควาญช้างต้องเอาช้างเอาไว้ในอำนาจของเรา แล้วใจของเราเคยอยู่ในอำนาจของเราไหม เคยอยู่ในอำนาจของเราไหม ศีล สมาธิ ปัญญา เคยเกิดขึ้นมาจากใจเราไหม นี่แล้วใครทรมานมัน ถ้าไม่มีอาวุธ มันไปมองข้ามกันหมดไง มองข้ามว่าสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ ธรรมและวินัยให้สภาวะก้าวเดินไป สภาวะ.. ถ้ามีถนนหนทางจะเข้าไปถึงทำการชำระกิเลสได้ เราจะทำลายถนนหนทางกันหมดเลย

แล้วเรา.. แม้แต่ชีวิตของเรา ในการประพฤติของเรา เราก็นอนจมนะ การคุ้นเคย การคุ้นชิน การชินชาหน้าด้าน ความชินชา การไม่ตื่นตัว แล้วพอจะตื่นตัวขึ้นมาให้มันแอคทีฟ ให้มันเต็มที่ ให้มันสมควร เราจะก้าวรุก เราไม่ใช่ว่าต่างคนต่างก้นหนักนะ ต่างคนต่างจะนั่งคุยกัน โม้กันทั้งวันทั้งคืนนะ บวชมาเพื่อสุมหัวคุยกัน บวชมาเพื่ออะไร บวชมานี่นะ เราศึกษากัน เรามีทัศนคติต่อกันต่อเมื่อเราภาวนามานะ ใครมีปัญหา ใครมีประเด็น ประเด็นปัญหานะ ดูสิ วิทยานิพนธ์ของผู้ที่มีการศึกษาเขาต้องมีวิทยานิพนธ์นะ ชีวิตของเราทั้งชีวิต ดูสิ ครูบาอาจารย์ หลวงตา ชีวิตของหลวงตาเขาเอาไปศึกษาเป็นวิทยานิพนธ์ ศึกษาเป็นวิชาการมหาศาลเลย แล้วศึกษาชีวิตของเรา เราทำอะไรขึ้นมา ถ้าเราคุยกัน ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง เพื่อประเด็น เพื่อเหตุผล เพื่อหาหนทาง หาช่องทางออก อันนี้เป็นมงคล!

แต่ถ้ามันคุยกัน สุมหัวกันเพื่อกิเลสน่ะ มันเป็นกิเลสนะ ถ้ามันเป็นกิเลสอย่างนั้นน่ะ มันไม่ใช่เป็นภิกษุ ไม่เป็นผู้ที่เห็นภัย คนที่เห็นภัยนะ คนเห็นภัย ดูสิ ดูเวลาไฟ เขาเอาถ่านไฟไว้บนศีรษะเรา เราต้องรีบเอาออกใช่ไหม ถ้ารีบเอาออก เพราะอะไร เพราะมันร้อน นี่เหมือนกัน ชีวิตเราต้องเกิดต้องตาย กิเลสในหัวใจมันจะทำให้เราต้องไปนอนจมกับมัน ทำไมเราไม่เห็นภัยล่ะ ทำไมเราไปนอนจมกับมันล่ะ

นี่ไง ถ้านอนจมกับมัน ข้อวัตรปฏิบัติ วินัย เอาไว้จับผิดตัวเอง เอาไว้ดูความบกพร่องของตัวเอง ถ้าตัวเองเห็นตัวเองว่าบกพร่อง แล้วต้องแก้ไข เห็นไหม แต่เราไม่เป็นอย่างนั้น กิเลสมันไม่เป็นอย่างนั้น “ไม่เป็นไร เล็กน้อย ไม่เป็นไร” นี่ในภาษาอังกฤษ คำนี้ไม่มีนะ “ไม่เป็นไร” นี่ไม่มี มีแต่ในศาสนาพุทธเรานี่ ในภาษาเรานี่ “ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร”

ไม่เป็นไรเพราะว่าในศาสนาของเรานี่นะ “อนัตตา” ความเป็นอนัตตา เห็นวัฏฏะ ความเป็นไปของโลกเป็นอนิจจัง นี่มันซับซ้อนมาจากประเพณีวัฒนธรรม วัฒนธรรมของพุทธ ผู้ที่มีคุณธรรมเขาไม่ผูกโกรธกัน เขาให้อภัยต่อกัน สิ่งที่ให้อภัยต่อกันเพื่อสังคม เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข

“ไม่เป็นไร” ต่อเมื่อมีการกระทบกระเทือนกัน

“เป็นไร” ถ้าหัวใจมันขี้เกียจ

“เป็นไร” ถ้ามันเอานี่มาอ้าง

มันอ้างมา “ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร” เห็นไหม

นั่งสมาธิ ๒ นาทีลุกขึ้น “ไม่เป็นไร” เดี๋ยวนั่งใหม่

แต่ถ้าเรา “เป็น” เราจะฝืนกับมัน ต้องต่อสู้ ต้องเข้มแข็ง สิ่งที่เข้มแข็งต้องมีสัจจะ

นี่การจะก้าวเดินไป มันต้องมีเหตุมีผลนะ มันจะไม่มีธรรมะอันใดลอยมาจากฟ้าแล้วมาตกใส่หัวใจเราหรอก ถ้าเราไม่เปิดใจเรา เราไม่ขวนขวายของเรา เราไม่แสวงหาของเรานะ เราจะนอนจมอยู่กับมันอย่างนี้ นี่ต้องตื่นตัวนะ.. ใช่ เราเป็นหมู่คณะกัน เป็นหมู่เป็นคณะ ถ้าเป็นหมู่เป็นคณะ เป็นสังคม นี่ศาสนาเจริญ เจริญอย่างนี้

คารวะ ๖ หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เลิกประชุมกันเนืองนิตย์ สิ่งนี้เป็นปฏิสันถาร สิ่งนี้เราเป็นกันเอง เราเป็นนะ เราเป็นหมู่คณะกัน เราเห็นอกเห็นใจกัน แต่จะไม่เห็นเรื่องกิเลสเลย กิเลสเป็นภัยทั้งนั้น! กิเลสเป็นภัยทั้งนั้น! ถ้ามีความผิดพลาดทางธรรมวินัย มันต้องจัดการ! มันต้องตัดสิน! มันต้องทำลาย! ทำลายทั้งนั้นนะ เพราะสิ่งนี้เป็นภัย เชื้อโรคเข้ามาไม่ได้ แต่ความเป็นไป ความเป็นหมู่คณะกันอีกเรื่องหนึ่ง ความผิดพลาดจากกิเลสเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะต้องจัดการ จะต้องให้ออกไปจากหัวใจของเรา จะต้องจัดการเลย เพราะเรามีโอกาสตรงนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นนะ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ถ้าหายใจเข้าไม่หายใจออกต้องตาย ออกแล้วไม่เข้าก็ต้องตาย ชีวิตนี้ตายแล้วหมดโอกาสนะ

ถ้าตายไปแล้วนะ บุญกุศลไปทั้งนั้น ทำดีไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ไปเกิดเป็นมนุษย์อีกก็ได้ ทำชั่วไปเกิดเป็นเปรตเป็นผีเป็นต่างๆ ไป มันหมดโอกาสนะ มันเหมือนกับคนติดคุกน่ะ ถ้าศาลสั่งจำคุกแล้วต้องเข้าคุก ๑๐ ปี ๒๐ ปีต้องอยู่ในคุก นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันออกจากร่างนี้ไปน่ะ มันต้องไปตามแต่กรรมอันนั้นน่ะ ถ้าตามแต่กรรมอันนั้นมันจะมีโอกาสไหม ในปัจจุบันนี้หายใจเข้าและหายใจออกอยู่นี่ยังมีโอกาสอยู่ ต้องแก้ไขตรงนี้ มันถึงต้องเห็นความจำเป็นไง เห็นโดยเราต้องตื่นตัวไง เราอย่าไปนอนจมกับกิเลส กิเลสมันพาให้เราจมมาตลอดนะ นี่อำนาจวาสนา วาสนามาก

ดูสิ ดูสังคมเขาพร้อมเสมอเลย เขาพร้อมเสมอที่จะส่งเสริมผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบวชทีแรก พระเจ้าพิมพิสารให้กองทัพครึ่งหนึ่ง เอาไปชิงเมืองคืนเลย

“ไม่ใช่.. ออกมาแสวงหาโมกขธรรม”

“ถ้าอย่างนั้น สำเร็จแล้วให้มาสั่งสอนด้วย”

นี่ก็เหมือนกัน สังคมชาวพุทธนะ อยากจะมีผู้นำที่ดี อยากจะมีพระที่เป็นคุณธรรม อยากจะมีทุกอย่าง แล้วเขาปรนเปรอเราทั้งนั้นนะ มีอะไรขาดแคลนบ้าง ถ้าเป็นเรื่องของธรรมนะ ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยเป็นในธรรมนะ ถ้าปัจจัยเครื่องอาศัยของกิเลสไม่พอหรอก นี่เขาไม่มาดูแลเรา เขาไม่มาส่งเสริมเรา.. จะเอาอะไร! จะเอาจรวดไปโลกพระจันทร์หรือ ปัจจัย ๔ อะไรไม่พอบ้าง นี่ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยมีอะไรขาดแคลนบ้าง.. เหลือเฟือ! เหลือเฟือมากเลย แต่กิเลสมันไม่พอ

จะบอกว่า โลกเขาให้ความส่งเสริมมหาศาลเลย เราสมควรที่จะตื่นตัวขึ้นมา เขาหวังพึ่ง เขาหวังให้เรามีคุณธรรมขึ้นมา ถ้าคนไม่รู้จริง เอาอะไรมาสอนเขา ถ้าหมอเถื่อน มันก็คลำๆ กันไปอย่างนั้นน่ะ อะไรมาก็ทายาแดง อะไรมาก็ทายาแดงนะ หมอนะ สิ่งที่ควรทายาแดง ต้องทายาแดง สิ่งที่ผ่าตัด ต้องผ่าตัดนะ สิ่งที่ต้องการแก้ไข ต้องแก้ไขนะ เปลี่ยนไขกระดูกก็ต้องเปลี่ยน ถ้าเวลากิเลสมันขึ้นมาน่ะ มันต้องทำทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเป็นหมอเถื่อนนะ มันทายาแดงอย่างเดียว

นี่โลกเขาเบื่อหน่ายกันอย่างนั้น เขาต้องการคุณธรรม การประพฤติปฏิบัติของภิกษุเรา แล้วภิกษุเราต้องตื่นตัว ต้องตื่นตัวตลอดเวลา อย่านอนจมสิ อย่านอนจมนะ นอนจมกับใครไม่สำคัญเท่ากับนอนจมกับความเคยชินในหัวใจ ความเคยชินกับหัวใจเรา หัวใจมันเคยชินอย่างนี้ แล้วบอกว่าทำมาอย่างนี้มาตลอด แล้วทำอย่างนี้ตลอดไป ก็อย่างนี้มันไม่ใช่กิเลสหรือ เพราะอย่างนี้ไม่ใช่หรือที่มันทำให้เรามาเกิดอยู่นี่ ก็เพราะไม่ใช่อย่างนี้หรือที่มันทรมานเรานี่ แล้วเราจะมาต่อต้านมันน่ะ เราจะมาทำลายมันน่ะ ทำลายกิเลสในหัวใจ มันก็ต้องลงทุนลงแรงกันหน่อยสิ

งานอะไรบ้างที่จะได้มาฟรีๆ งานของโลกเขาเขาได้อะไรมาฟรีๆ ล่ะ เขามีค่าใช้จ่ายทั้งนั้นเลย ปรึกษาก็ต้องเสียค่าปรึกษานะ ไอ้นี่อยู่กับครูบาอาจารย์ให้ทุกอย่างเลย แล้วไม่ต้องเสียค่าปรึกษาด้วย แล้วยังกระตุ้นให้ประพฤติปฏิบัติด้วย ทำไม มันไปไหนกัน ทำไม มันไปไหนกัน ไอ้เรื่องความไม่นอนจมกับหัวใจนี่ หัวใจมันนอนจมอย่างนั้น เราต้องแก้ไขของเรา เราต้องต่อสู้กับเรา นี้เป็นเรื่องธรรมะเด็กๆ เลยนะ

เวลาเข้าไปจะเจอเรื่องของกายนะ เรื่องความเป็นไป เรื่องวิปัสสนา เรื่องของกิเลสที่มันเป็นไปแล้วมันจะมาหลอกเรานี่นะ แล้วเรื่องของกามราคะที่มันจะล่อหลอกในหัวใจ เวลาภาวนาไป วิปัสสนาเกิดขึ้นมาแล้วมันจะเห็นนะ ว่าทำอย่างไรจะผ่านมาแต่ละขั้นตอน แล้วแต่ละขั้นตอน ถ้าไม่ทำผ่านมาอย่างนี้มันฆ่ากิเลสไม่ได้ แล้วถ้าฆ่ากิเลสไม่ได้นะ ไอ้กิเลสในหัวใจ เวลาเกิดทิฐิขึ้นมา ขึ้นขี่หลังเสือ เวลาคนเขามาเคารพนบนอบกับครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงๆ เวลามันไปขี่หลังเสือแล้วมันทุกข์ตายห่าเลย! เขาเคารพนับถือ แล้วไม่มีอาวุธอะไรเลยที่จะไปใช้เป็นประโยชน์น่ะ นี่ถ้าเรานอนจม มันเป็นอย่างนั้นน่ะ

มันอยู่ที่วาสนานะ คนเรามันจะสร้างบุญมา ถ้าสร้างบุญมาเขาเชื่อถือศรัทธาเอง พอมาเชื่อถือศรัทธาเอง แต่เราไม่มีอะไรเลย เขาเชื่อถือศรัทธา เขาก็หวังพึ่ง แล้วเราก็อยากจะพึ่งเลย กะล่อนกันไปวันๆ หนึ่ง กะล่อนกันไปวันๆ หนึ่ง! แล้วมันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา เราเองเราก็รู้ว่าเรากะล่อน ถ้าเราไม่รู้ เราพูดไป มันโกหกตัวเราเองก่อน มันโกหกตัวคนพูดก่อนคนแรกเลย เพราะเราไม่รู้ แต่ก็อวดรู้พูดออกไป นี่พออวดรู้พูดออกไป มันจะเป็นความจริงไปได้อย่างไร เพราะอะไร เพราะเราไม่แก้ไข เพราะเราไม่ยอมรับความจริงตั้งแต่บัดนี้

ถ้าเรายอมรับความจริงตั้งแต่บัดนี้นะ ถ้าเราพยายามขวนขวายของเรา สงบก็ให้มันสงบเข้ามา ถ้ามันออกวิปัสสนาอย่างไร มันมีปัญหาอย่างไร ครูบาอาจารย์มีนะ ครูบาอาจารย์มี หมอมี ผู้รักษามี หัวใจที่เป็นไข้เป็นป่วยต้องรักษา ต้องรักษานะ อย่าให้มันด้าน นี่อยู่กันไปวันๆ หนึ่งนะ แล้วใจนี่มันด้าน พอมันด้านขึ้นมานะ ขี่หลังเสือขึ้นไปนะ ลงไม่ได้อีกต่างหาก นี่ทุกข์ ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ เพราะเราก็รู้ เรารู้นะ เรานี่รู้ ทุกคนนี่รู้ แล้วยิ่งครูบาอาจารย์ยิ่งกว่ารู้อีก

เพราะสิ่งที่แสดงออกมาจากใจ กิเลสคือกิเลส ธรรมคือธรรม แล้วที่มันออกมามันไม่ใช่ธรรม มันเป็นอะไรถ้าไม่ใช่กิเลส แล้วถ้ามันมีกิเลส ต่างคนต่างปิดบังกันไว้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นสุภาพบุรุษ รู้ก็ว่ารู้ ไม่รู้ก็ว่าไม่รู้ เพราะอะไร เพราะมันปิดกันไม่ได้หรอก เห็นๆ กันทั้งนั้นน่ะ แต่มารยาท.. ไม่ว่ากัน เพราะสังคมของเรา พระไง มีชื่อมีเสียงขึ้นมา มีชื่อเสียง ชื่อเสียงไม่ใช่คุณธรรมนะ คุณธรรมกับชื่อเสียงคนละเรื่องกัน

ดูสิ ครูบาอาจารย์เราอยู่ในป่าในเขา ไม่มีใครรู้จักเลย เผามาเป็นพระธาตุ ใครรู้จัก?

พระอัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่ตรัสรู้ ตั้งแต่บรรลุธรรมขึ้นมาแล้วอยู่ในป่าในเขา ไม่เคยออกมาเทศน์สอนใครเลย.. คุณธรรม นี่พระอรหันต์ อยู่ในป่า เอาหลานได้องค์เดียว ไม่ออกมายุ่งกับใครเลย

ไอ้ชื่อเสียงนั่นน่ะ ไม่มีคุณธรรมเลย เยอะแยะไป เอวัง