เทศน์พระ

เทศน์พระ ๓๒

๒๔ พ.ย. ๒๕๕o

 

เทศน์พระ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันอุโบสถ วันอุโบสถ ครบเดือนออกพรรษาแล้ว ครบเดือนแล้ว อากาศดี ถ้าอากาศดี การภาวนาจะดี อากาศดีจากภายนอก อากาศดีจากภายใน ถ้าทุกอย่างดี ดีจากเรา ถ้าอาศัยคนอื่นดี คนดีดีจากภายนอก ดีจากภายนอกเป็นผลงานของเขา เป็นความดีของเขา ความดีของเขา สังฆะ สังคม สังคมที่ดี ปลาอาศัยน้ำที่ดี น้ำที่ดี อากาศที่ดี ปลามันก็มีความสุข เราก็เหมือนกัน สิ่งที่สังคมดีเกิดจากบุญกุศล ถ้าเราเกิดมาแล้ว สิ่งที่ดี สภาคะ สภาคกรรม กรรมเกิดจากความร่วม แต่กรรมเกิดจากเราเป็นกรรมส่วนบุคคล

ธรรมะเกิดจากเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่า อยู่ในป่า ตรัสรู้ในป่า บุคคลคนเดียว เวลาพูดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ เวลาธุดงค์ของเราไปแบบนอแรด ไปแบบคนเดียว ถ้าไปแบบนอแรด อยากกิน อยากประพฤติปฏิบัติ อยากทำคนเดียวได้ตลอดเวลา แต่ถ้าไปกับหมู่คณะมันต้องมีการรับผิดชอบกัน การรับผิดชอบกันมันทำให้การกระทำของเรามันห่วงหน้าพะวงหลัง แต่ขณะอยู่ด้วยกัน ใจเขา-ใจเรา สิ่งที่เราไม่ชอบใจ เขาก็ไม่ชอบใจ สิ่งใดที่เราไม่พอใจ เขาก็ไม่พอใจ สิ่งใดที่เราไม่พอใจ เราไม่ควรกระทำกับคนอื่นเลย เพราะไปทำกับคนอื่นเขามันสะเทือนหัวใจกัน ถ้าอยู่กันเป็นหมู่คณะมันเป็นอย่างนั้น

แต่เวลาออกธุดงค์อยู่คนเดียว เราทำของเราได้ เวลาเราจะตั้งสัจจะของเราขึ้นมา ในพรรษา เราตั้งสัจจะขึ้นมาว่าเราจะถือธุดงค์ข้อไหน ถ้าเราถือธุดงค์ของเรา ถือเนสัชชิก เราไม่หลับไม่นอนเลย ไม่หลับไม่นอนเพื่ออะไร? เพื่อทรมานกิเลส

การกระทำของเราทำคนเดียว แต่หมู่คณะอยู่ด้วยกัน เห็นคนจริง คนไหนเป็นคนจริงแล้วทำจริง มันเป็นการเชิดชู เชิดชูความชุ่มชื่นใจไง มีคนทำให้เราเห็น การกระทำหนึ่งตัวอย่างดีกว่าร้อยคำสั่ง ตัวอย่างอย่างเดียว ตัวอย่างทำให้เราเห็น ถ้าเรามีสัจจะ เราทำให้เขาเห็น สิ่งที่เราทำคุณงามความดีทำให้เขาเห็น สิ่งที่เห็นมันบอกถึงการกระทำออกมาจากหัวใจ สิ่งที่การกระทำมา การกระทำต่างๆ ไม่ได้ทำออกมาจากที่ใด ทำออกมาจากความรู้สึก ถ้าทำแต่สิ่งที่ดีออกมา ความรู้สึกที่มีความหมักหมมอยู่ในหัวใจ จะกระทำอย่างไรให้มันดี มันก็มีสิ่งที่ปลอมแปลงออกมา ความปลอมแปลงของกิเลสออกมาจากการกระทำอันนั้น

ถ้าในหัวใจของเรามันมีสิ่งที่ปลอมแปลงในหัวใจ คนข้างนอกเขาจะเห็นความปลอมแปลงอันนั้น ทั้งๆ ที่เราพยายามจะปกปิดนะ แต่ถ้าใจมันสะอาด จะทำอย่างไรมันก็เป็นสิ่งที่สะอาด เขาจะพยายามจับผิดขนาดไหนก็เป็นกิเลสของเขา เพราะสิ่งนั้นเป็นความสะอาด แต่ถ้าใจของเราสกปรก จะทำให้เป็นของที่ดี ทำในสิ่งที่ให้เขามาเชิดชู มันก็เชิดชูไม่ได้ เพราะสิ่งนั้นมันมีสิ่งที่แฝงเร้นออกมา มันจับต้องได้ ความรู้สึกไง

ความรู้สึกที่ดีๆ เวลาเรามองสายตากัน สายตาที่อ่อนโยน สายตาที่เป็นคุณงามความดี มันจะให้ความชุ่มเย็น มันจะให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ สายตาที่ออกมาเราพยายามทำให้มันชุ่มเย็น แต่มันมีสิ่งที่เป็นผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ในนั้น

การกระทำอันนั้นถ้ามันเชิดชูเรา เชิดชูเราผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติดีแล้วมันไปเชิดชูศาสนาด้วย เชิดชูหมู่คณะด้วย หมู่คณะจะมีน้ำใจ มีการกระทำ ผู้ที่มีความกล้าหาญ มีเหตุการณ์วิกฤติเกิดขึ้น ผู้ที่มีความกล้าหาญจะผ่านวิกฤตินั้นไปได้ เวลาเกิดเหตุวิกฤติขึ้นมา ตัดสินสิ่งต่างๆ ขึ้นมาด้วยสติสัมปชัญญะ ตัดสินมาเพื่อความสงบร่มเย็นในหมู่คณะ หมู่คณะนั้นจะผ่านวิกฤติอันนั้นไป เห็นไหม เวลาเกิดเหตุวิกฤติต้องการผู้ที่กล้าหาญ ผู้ที่กล้าหาญ การกล้าหาญแสดงออกมาจากสติ ออกมาจากหัวใจที่มีความกล้าหาญอันนั้น

แต่ถ้าความกล้าหาญอันนี้มันแฝงด้วยความทุจริต เห็นไหม ความกล้าหาญ เหล็กกล้า ถ้ามันกล้าเกินไป ฟันต้นไม้มันก็บิ่น เหล็กมันกล้าแล้วมันต้องมีความพอดีของมัน แล้วความกล้าหาญของเราต้องกล้าหาญในธรรมวินัย ธรรมวินัยบัญญัติไว้ในหัวใจของเรา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าความผิดศีล ศีลเป็นอธิศีล อธิศีลคือความคิด ความปกติของใจ ถ้าใจปกติ ศีลอันนั้นมันเป็นสิ่งที่ทำให้อยู่ในขอบเขต ให้เราไม่ทะลุ ไม่ทำให้เกิดความด่างพร้อยในหัวใจ ความกล้าหาญขนาดไหน ถ้ามันไม่มีสัมมาทิฏฐิ ความดี ความมีคุณธรรมในหัวใจนั้น ความกล้าหาญนั้นมันทำให้ร้าวรานได้ มันทำลายคนอื่นได้

ความกล้าหาญนั้นมันต้องอยู่ในคุณธรรมด้วย ถ้าความกล้าหาญนั้นอยู่ในคุณธรรม ความกล้าหาญนั้นจะประเสริฐมาก ถ้าความกล้าหาญนั้นมันอยู่ในความทุจริต มันทำลายได้ทั้งหมดนะ คนเราจะฆ่ากันจะแกงกันมันก็ด้วยความกลัวก็มี ด้วยความกลัวว่าเขาจะทำร้ายเรา เราถึงทำร้ายเขาก่อน แต่ด้วยความกล้า ถ้าเกิดวิกฤติขนาดไหน เรารอรับสภาวะแบบนั้น แล้วก็แก้ไขสิ่งนั้นให้ผ่านพ้นไปได้ ความกล้าและความกลัวมันต้องอยู่ในขอบเขตไง มันต้องมีศีลมีธรรมอยู่ในหัวใจ ถ้ามีศีลมีธรรมอยู่ในหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ การกระทำมา ๔๕ ปี ไม่มีทุจริตในหัวใจเลย การกระทำสิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ มันเป็นความอบอุ่นนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ ความกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ จะต้องรู้จริง ถ้าไม่รู้จริง เราจะเอาอะไรไปกล่าวแก้ ก็กล่าวแก้ด้วยความเห็นของเรา ตรรกะ ความเห็น มันทันกันได้ ปรัชญาต่างๆ เราคิดขนาดไหน คนอื่นเขาก็คิดทันเราได้

ธรรมเหนือโลก ถ้าใจมันสะอาด มันเหนือโลก นี่สิ่งที่เหนือโลก จิตใจของเราอยู่ใต้กิเลส มันอยู่ใต้โลกใต้พญามาร มันคิดไม่ออกหรอก มันจินตนาการไม่ได้หรอก มันจินตนาการสิ่งที่เป็นคุณธรรมให้เป็นความจริงขึ้นมาไม่ได้ การจินตนาการ การคิดอย่างนั้น ตรรกะอย่างนั้นเป็นความคิดโดยโลกียปัญญา โลกียปัญญา ความคิดใต้โลกไง ใต้พญามาร ใต้ความกดขี่ของกิเลส ความคิดอันนั้นเราต้องตั้งสติไว้ แล้วตามรู้ ตามมันให้ทัน ถ้าเราตามรู้ทันความคิดอันนี้มันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เป็นญาณในญาณ ๑๖ ของเขา

ญาณ ๑๖ มันอยู่ในอภิธรรม ในอภิธรรมมันมีวิถีของจิต ความเป็นไป วิถีของจิตที่มันแสดงตัว แต่ถ้ามีกิเลสอยู่ วิถีของจิตอย่างนั้นมันมีความลังเลสงสัย มันมีความไม่เข้าใจ แต่เราไปเอาวิถีของจิตอันนั้นมาเป็นความว่างใช่ไหม แล้วมาเอาใจของเราเข้าไปเทียบให้เป็นวิถีจิตที่สะอาดไง

วิถีจิต อภิธรรม ธรรมอันเป็นอภิ อภิคือความใหญ่ ความมหาศาลของใจพระอรหันต์ แต่ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติ ใจของเรามันเป็นใจกิเลส ใจกิเลสมันไม่เป็นแบบนั้นหรอก มันไม่เป็นธรรม มันเป็นกิเลส อภิกิเลส ใจที่ประพฤติปฏิบัติอยู่นี้เป็นอภิกิเลส แต่อภิธรรมเป็นใจของพระอรหันต์ แล้วเราเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจที่เป็นพระอรหันต์นั้นเอามาตรรกะ เอามาเป็นการจินตนาการ แล้วก็บอกว่าใจเราจะเป็นๆ

ถ้าเราเอาความสมดุลของใจ ในญาณ ๑๖ มีญาณที่เป็นสมถะ สิ่งที่สมถะ ญาณ ๑๖ แต่ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ครูบาอาจารย์ของเราบอกว่า กรรมฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีกรรมฐาน ถ้าจิตเราสงบ สมาธิ มันจะเกิดปัญญา แล้วปัญญาที่มันจะเกิดขึ้นมาให้เป็นปัญญาโดยธรรมสิ เราเป็นปัญญาโดยกิเลส อภิกิเลส อภิกิเลสด้วย

ธรรมดาคนที่เขามีกิเลสทางโลกเขาก็เบียดเบียนกัน เขาก็ทำร้ายกัน เขาก็แสวงหาผลประโยชน์กัน นั่นมันเป็นกิเลสของเขานะ เราเป็นผู้เห็นภัยในกิเลส เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยในการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เราเห็นภัยในโลก ในวัฏฏะ เราถึงออกมาเป็นภิกษุกัน เราบวชเป็นภิกษุ ภิกษุเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ถ้าเห็นภัยในวัฏสงสาร เราต้องเอาชนะใจเราสิ เราต้องเอาชนะใจเราก่อน ไม่ใช่ไปเอาชนะคนอื่น เอาชนะคนอื่น ชนะคนอื่นหมื่นแสน ดูสิ ข้าศึกสงครามเกิดขึ้นมา ถ้าใครแพ้ ผู้ชนะก่อเวรก่อกรรม ผู้แพ้มันก็เสียอกเสียใจ ผูกเวรผูกกรรมกันไป ก่อเวรก่อกรรมแล้วผูกเวรผูกกรรมกันไป

เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ระงับที่ไหนล่ะ? ระงับที่เรา ระงับที่หัวใจของเรา เราต้องเอาชนะใจของเราก่อน ถ้าเราชนะใจเราก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาชนะใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ ออกแสวงหาอยู่ ๖ ปี ที่ไหนมีครูมีอาจารย์ ไปฝึกฝนมาทั้งนั้นน่ะ การฝึกฝน อภิมหากิเลส เพราะเขาก็มีกิเลสอยู่ วางตัวเป็นศาสดากัน วางตัวเป็นครูบาอาจารย์กัน แล้วเจ้าชายสิทธัตถะไปศึกษากับเขา สิ่งที่เขาบอก อาฬารดาบสบอก “เธอมีความรู้เท่าเรา ได้สมาบัติ ๘ เหมือนกัน สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาได้”

สมาบัติ วิธีการเข้าสมาบัติ ถ้ามีสติสัมปชัญญะ เราตั้งสติเฉยๆ เดินตามธรรมอันนั้น จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ รูปฌาน อรูปฌาน มันขึ้นไปได้ทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่ขึ้นไปได้ ขึ้นไปได้ก็ถอยได้ เพราะอะไร เพราะมันมีอยู่ที่หัวใจ หัวใจมีกิเลสอยู่ หัวใจมีความฟุ้งซ่านอยู่ แล้วเราควบคุมมันด้วยคำบริกรรม ด้วยต่างๆ มันสงบลงได้ มันเป็นไปได้ แล้วปัญญามันเกิดอย่างไรล่ะ

ปัญญามันเกิด สิ่งที่ปัญญามันเกิด เจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับเขา ขนาดว่าเขาส่งเสริมขนาดนั้น เจ้าชายสิทธัตถะยังไม่เชื่อเลย ไม่เชื่อแล้วมาประพฤติปฏิบัติเอง ถึงเอาชนะตนเองได้ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ วิชชา ๓ ย้อนกลับมาในกิเลสของตัวเอง มาทำลายใจของตัวเอง นี่เอาชนะใจของตัวเองได้ พอเอาชนะใจของตัวเองได้ สิ่งที่จิตใจสะอาดแล้ว จิตใจที่เป็นศาสดาแล้ววางธรรมและวินัยไว้ วางธรรมและวินัยไว้ให้เราก้าวเดินเป็นถนนหนทาง ข้อวัตรปฏิบัติ การกระทำของเรา เราเดินไปบนข้อวัตรปฏิบัติเพื่อจะดึงกิเลสออกมา ดึงสิ่งที่มันขัดแย้งไง การกระทำต่างๆ มันขัดแย้งกับความสะดวกสบาย ขัดแย้งกับกิเลสทั้งหมด นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราเป็นกิเลส เรามีความอัดอั้นตันใจในหัวใจ เรามีความคับแค้นในใจ แล้วเราไปเดินถนนนั้น ดูสิ ดูถนนทางหลวง บัณฑิตนักปราชญ์เขาก็เดินบนถนนสายนั้น เขาก็ไปตามเส้นทางสายนั้น มหาโจรมันไปปล้นเส้นทางสายนั้นเหมือนกันนะ ดูสิ เขาจะปล้นธนาคาร เขาไปที่ไหน? มันก็ไปบนถนนนั้น มันขับรถไปบนถนนนั้นน่ะ

ข้อวัตรปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตใจของครูบาอาจารย์ท่านวางข้อวัตรปฏิบัติไว้ ใจของท่านสะอาด ท่านเดินบนถนนสายนั้น นี่คือข้อวัตรปฏิบัติ แล้วข้อวัตรปฏิบัติวางธรรมไว้ให้เรา แล้วใจเรามีกิเลสอยู่ มันเป็นโจร เป็นมหาโจร เป็นโจร มันก็เดินบนข้อวัตรนั้น มันขัดข้องหมองใจ มันเดินไปบนถนนหนทาง มันมีแสงไฟ มันมีความสว่าง มันเห็นความผิดความถูกของเรา ถ้าเห็นความถูกความผิดของเรา นี่มันไม่พอใจ มันขัดแย้ง

แต่ใจที่เป็นธรรม สิ่งนี้ถนนหนทางมันทำให้สะดวกสบาย เราจะไปหาอาหาร เราจะไปหาที่อยู่อาศัย เราไปบนถนนสายนั้น เราจะประสบความสำเร็จ เพราะจิตใจสะอาด

จิตใจของเรามันสกปรก ถนนสายนั้นเหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน วางธรรมวินัยไว้ให้เราก้าวเดิน แต่เราก้าวเดินไปมีแต่ความคับแค้นใจ มีแต่ความข้องใจ เพราะอะไร เพราะมันต่อต้าน กิเลสมันขี้เกียจของมัน มันสุกเอาเผากิน มันจะเอาแต่ความสะดวกสบายของมัน ถ้าเอาความสะดวกสบายของมัน สะดวกสบายของใครล่ะ? ของกิเลส ถ้าความสะดวกสบายของกิเลสมันได้ผลตอบแทนขึ้นมาคืออะไร? ก็คือมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด

สัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกต้อง ความเห็นถูกต้อง ความขยันหมั่นเพียร ความเพียรชอบ คำว่า “ความเพียรชอบ” ความเพียรชอบ งานชอบ ความเพียรชอบมันพอใจทำ มันพอใจ มันเป็นความเพียรชอบ มันก็จะได้ผลตอบสนองมา เหมือนกับประกอบสัมมาอาชีวะ มันจะได้ผลตอบสนองมาเป็นผลกำไรขาดทุนของเรา

แต่ถ้ามิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ทำผิด เวลาทำผิดขึ้นไปมันก็ได้ผลตอบสนองที่ผิดมา ขึ้นต้นผิดแล้วมันจะเป็นความถูกต้องได้อย่างไร ขึ้นต้นที่ผิด ผลตอบสนองมันก็เป็นความผิด ถ้าขึ้นต้นที่ถูก ความเป็นสัมมาทิฏฐิ เราเข้าไปในระบบที่ถูกต้อง ความเป็นไปของจิตมันก็ไปถึงปลายทางที่เป็นความถูกต้อง ความถูกต้องอันนี้มันจะเป็นผลประโยชน์ของเรา ถ้าความถูกต้องของเรา ถึงจะเดินไม่ถึงปลายทางก็เริ่มต้นถูกต้อง ถ้าเรามีความเพียรชอบ ความเพียรชอบจะทำให้เราก้าวเดินไปจนถึงปลายทางอันนั้น ถ้าถึงปลายทางอันนั้นมันต้องมีความขยันหมั่นเพียร เพียรชอบ งานชอบ สติชอบ ความระลึกชอบ ความชอบของเรา

งานภายนอก-งานภายใน งานภายนอกมันเป็นงานบริหาร สิ่งที่เราบริหารภายนอก เราบริหารจัดการ เพราะนกมันมีรวงรัง คนเกิดมาเป็นมนุษย์มีร่างกาย มีชีวิต มันต้องมีวัตถุ มีร่างกายนี้ ร่างกายนี้อาศัยปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัยเครื่องอาศัยเราบริหารที่นั่น บริหารสิ่งนั้น บริหารเพื่อความอยู่อาศัยเท่านั้น

แต่การบริหารหัวใจสิ สิ่งที่เราบริหารสิ่งนั้นเสร็จสิ้นในข้อวัตรปฏิบัติแล้วเราวางไว้ เรากลับมาในกุฏิของเรา เรากลับมาในที่อยู่อาศัยของเรา เราจะมาเดินจงกรม เราจะมานั่งสมาธิภาวนา เราต้องปล่อยวางงานตรงนั้น ถ้าเราไม่ปล่อยวางงานตรงนั้น เราเอางานตรงนั้นเข้ามาด้วยไง เอางานการบริหารจัดการเรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย มาเดินจงกรมอยู่ก็คิดแต่เรื่องงาน มันส่งออก แต่ถ้ามันปล่อยวางอันนั้นมันเข้ามาถึงภายใน ตั้งสติไว้ กำหนดคำบริกรรม คำว่า “พุทโธ” กรรมฐาน ๔๐ ห้อง สิ่งใดก็ได้ แล้วจิตเราเกาะไว้ตรงนั้น นี่งานของเรา

ความคิดเหมือนกัน ความคิดอันหนึ่งคิดถึงการบริหารจัดการจากภายนอก ความคิดอันหนึ่งคิดถึงคำบริกรรม คิดถึงแล้วมันจบ พุทโธๆๆ คิดแค่นี้มันตัดไง มันตัด พลังงานที่มันส่งออกไป พลังงานมันสะสมในตัวมันเอง สมาธิมันจะเกิดตรงนี้ไง

คิดเหมือนกันนะ คำบริกรรมนี้ก็คือการใช้ความคิดนั่นแหละ แต่ความคิดนี้มีสติสัมปชัญญะ สติมันทำให้เราอยู่ในตัวของเรา อยู่ในภาชนะที่มันพยายามบรรจุสิ่งที่เป็นความรู้สึกอันนี้ให้มันอิ่มเต็มขึ้นมา เหมือนน้ำในขวดในภาชนะมันจะเต็มขึ้นมา มันไม่พร่อง น้ำที่มันพร่อง เพราะจิตมันมีชีวิตอยู่ มันขาดสูญไม่ได้ เพราะมันมีอยู่ แต่มันมีกิเลสเข้ามาเป็นฟองอากาศ นั่นมันพร่อง สิ่งที่มันพร่อง มันไม่เคยเต็มของมัน สิ่งที่ไม่เคยเต็มมันก็หิวกระหาย จิตหิวกระหาย หิวอารมณ์ สิ่งใดผ่านเข้ามามันก็จะกินอารมณ์นั้น เสวยอารมณ์ สิ่งที่เสวยอารมณ์ นี่มิจฉามรรค มิจฉามรรคเพราะมันกินอาหารที่ผิดไง ความคิด อารมณ์ความรู้สึกนี้เป็นอาหารของใจ ใจมันกินอารมณ์ความรู้สึกอันนี้ แล้วมันกินแต่สิ่งที่พร่องอยู่ สิ่งที่เป็นฟองอากาศอันนั้น แล้วเป็นสารพิษขึ้นมา

งานบริหารจัดการจากภายนอก การบริหารจัดการ เรื่องของหน้าที่ของเรามันเป็นความรับผิดชอบ เพราะนกมันมีรวงรัง ในธรรมวินัย ภิกษุเอาของสงฆ์มาใช้ เช่น ผ้าห่ม หมอน อะไรต่างๆ กาน้ำต่างๆ เวลาจะไปไหนแล้วไม่เก็บ ไม่เก็บเองก็ดี ไม่สั่ง ไม่บอกฝากไว้ให้ภิกษุองค์ใดเป็นผู้เก็บ เป็นอาบัติปาจิตตีย์

สิ่งที่เป็นเครื่องอาศัย ถ้าเราผิดพลาดขึ้นไปจะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ สิ่งที่บริหารจัดการ สิ่งนี้มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยจากภายนอก มันก็มีธรรมวินัยวางไว้ ธรรมวินัยบังคับไว้ว่าต้องทำตามนั้น ถ้าเราทำตามนั้น สิ่งที่บัญญัตินั้น คิดอย่างนั้น มันก็เป็นเรื่องของวัตถุ เรื่องของการดำรงชีวิตของภิกษุ เพราะเราเป็นภิกษุ เราเป็นพระ เป็นพระก็มีข้อวัตรปฏิบัติ มีระเบียบ วัตร ข้อวัตรปฏิบัติว่าภิกษุต้องทำอย่างนั้น

วัดป่าของเรา เห็นไหม วัดป่า-วัดบ้าน วัดบ้านเขาก็ดำรงชีวิตของเขาไปตามประสาของเขา แต่วัดป่าของเรา วัดป่าแล้วนะ วัดป่าเพราะอะไร เพราะผู้ที่อยู่ในโคนไม้ รุกขมูล เป็นผู้ที่เห็นภัย เราบวชมาเพื่อจะชำระกิเลส ถ้าชำระกิเลส เราเห็นภัยของกิเลส เราถึงเข้ารุกขมูล รุกขมูลอยู่ในร่มไม้ชายคา มันต้องขยันหมั่นเพียรยิ่งกว่าที่เขาอยู่ในที่มุงที่บัง ที่สะดวกสบายของเขา ดูสิ อย่างเช่นผ้าครอง ผ้าครองอยู่ในที่มีสลักมีเดือยของเขา เขาไม่ซ้อนผ้าของเขา เขาเก็บไว้ในที่ปลอดภัย

แต่เราถือรุกขมูล เราเป็นพระป่า เราถือผ้า ๓ ผืนออกบิณฑบาต เราก็ซ้อนผ้าของเราด้วย เราไม่เก็บไว้ จะอยู่กับตัวเราตลอด เราจะอยู่กับการย่างก้าวของเราไป เราจะรักษาบริขาร ๘ ของเรา เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้เป็นธรรมวินัย ถ้าอรุณขึ้น เราถือผ้าครอง เราอยู่กับตัวของเราไป นี่พระป่า สิ่งที่อยู่รุกขมูลมันต้องขยันหมั่นเพียรไปกับเขา เพราะมันมีภัยตลอดเวลา ภัยจากโจร ภัยจากสัตว์ร้าย ภัยจากอะไรต่างๆ

สิ่งที่เขาอยู่ในที่สะดวกสบายอย่างวัดบ้านของเขา เขามีกุฏิวิหารของเขา เขามีลั่นดาน มีทุกอย่างพร้อมของเขา เขารักษาของเขาอย่างนั้น แล้วเขาอยู่ในชุมชน ชุมชนมันก็มีคนดูแลเอาใจใส่ใช่ไหม

อย่างเราไปธุดงค์ ไปองค์เดียว มันมีชุมชนอะไร ก็เราหนึ่งเดียว เราคนเดียว เราผจญภัยจากโลกภายนอก เราผจญภัยจากความคิดความรู้สึกของเรา เห็นไหม มันน้อยเนื้อต่ำใจ มันทดท้อนะ “เขาทำกันประสาโลกๆ เขายังอบอุ่นของเขา เราประพฤติปฏิบัติธรรมตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมมันว้าเหว่มันเดียวดายขนาดนี้”

ก็มันออกมาวิเวก ออกมามันก็โดดเดี่ยวเดียวดายประสาเรา เพราะเราออกมาแสวงหาไง การโดดเดี่ยวเดียวดายมันเกิดจากอะไรล่ะ? มันเกิดจากความรู้สึก เกิดจากพญามารในหัวใจ แล้วเวลาเราเกิดมา เราเกิดจากท้องแม่ เราเกิดมาแฝด ๖ แฝด ๑๐ หรือ เราก็เกิดมาคนเดียว พ่อแม่ก็เกิดมาคนเดียว แล้วเวลาเกิดในห้อง เกิดมาในที่ลับคนกัน การเกิดสภาวะแบบนี้ เราไปน้อยเนื้อต่ำใจในการเกิดของเรา แต่เวลาเกิดในวัฏฏะล่ะ เวลาโอปปาติกะล่ะ การเกิดสภาวะแบบนั้น แล้ววัฏฏะนี้มาจากไหนล่ะ ถ้าจิตเราไม่สงบเข้ามา เราจะเห็นความเป็นไปของจิตดวงนี้ไหม ถ้าเห็นจิตดวงนี้ สิ่งนี้เวลาเราวิเวกออกไป ออกธุดงค์ออกไปเพื่อจะรื้อค้นหากิเลสไง

กิเลสมันอยู่กับเรานะ มันอยู่ในหัวใจของเรา มันก็สงบอยู่ในใจเรานี้ แล้วก็เหยียบหัวเราไป หลอกกินคว่ำกินหงาย กินในหัวใจนี้ แล้วเราก็เป็นขี้ข้ามัน แล้วเรายังปากดีนะ “นี่เป็นพระปฏิบัติ เป็นพระกรรมฐาน เป็นผู้ที่จะชนะกิเลส” แล้วสิ่งที่อ่อนแออย่างนี้มันจะชนะกิเลสได้อย่างไร

มันจะเข้มแข็งขึ้นมาต่อเมื่อมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ถ้าใจมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา จิตมันไม่โดดเดี่ยวเดียวดายนะ มันมีความสุข มันมีความสุขในความวิเวกในความสงบ จิตที่สงบ ความสุขเท่ากับความสงบไม่มี ถ้าเราอยู่คนเดียว จิตมันสงบลงมา เช้าขึ้นมารวมลงไป เลยเวลาออกบิณฑบาตแล้ว งดอาหารไปเลย เพราะจิตมันอิ่มเต็มในหัวใจ หัวใจมันดูดดื่ม มันมีความสุขของมันมาก

อาหารจากภายนอกที่มาเลี้ยงร่างกาย สิ่งที่เราอดอาหาร ๕ วัน ๑๐ วัน สบายมาก แต่จิตที่มันอิ่มเต็มขึ้นมา มันมีความสุขของมันมา น้ำเต็มภาชนะอันนั้น จิตอิ่มเต็มขึ้นมา แล้วจิตอิ่มเต็มขึ้นมาแล้วมันมีความสุขอันนี้ไง ถ้าความสุขอันนี้เกิดขึ้นมา มันจะไปเดียวดายตรงไหนล่ะ มันมีความสุขมาก กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจ

แล้วถ้าออกใช้ปัญญาในอริยสัจขึ้นมา มันยิ่งเห็นสภาวะความเป็นจริงในใจของเรา โทษเกิดจากที่ใจนี้ ถ้าใจมันสะอาดบริสุทธิ์ ใจที่มันดีขึ้นมา สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ดีไปหมดเลย แต่ถ้าใจมันสกปรกโสมมขึ้นมา สิ่งต่างๆ นี้จะวิเศษเลอเลิศ ดูสิ ในโลกปัจจุบันนี้ ว่าโลกเจริญๆ มันเจริญแต่สิ่งภายนอก แต่หัวใจมันสกปรกนะ ดูสิ สิ่งที่เป็นไปในโลกปัจจุบันนี้ แค่เขากักตุน แค่เขาเล่นโดยค่าของเงิน เขาเอามาเก็งกำไรกันจนราคาวัตถุดิบขึ้นไป จนประเทศยากจนจะทรงตัวอยู่กันไม่ได้เลย นี่คนกี่คน คนกี่คนมีกองทุนต่างๆ ที่จะมาเก็งกำไรกัน แสวงหาแต่ผลประโยชน์กัน แล้วคนเป็นพันๆ คน เกิดทุกข์ยากไปกับเขา นี่เรื่องของโลกๆ นะ มันเป็นการแข่งขัน เพราะสิ่งนี้คือธุรกิจ มันทำกันด้วยผลประโยชน์เท่านั้น แต่ถ้าเป็นธรรม สิ่งนั้นมันตีค่ากันไปเอง เมื่อก่อนข้าวจานละ ๕ บาท ๑๐ บาท ข้าวจานละ ๑๐๐ บาท มันก็ข้าวจานนั้น กินอิ่มเต็มเหมือนกัน นี่เพียงแต่ตีค่าไง ปั่นราคากันให้ค่ามันสูงขึ้นไป ให้คนจนไม่มีโอกาส นี่เรื่องของโลกๆ นะ ถ้ามันแข่งขันกันเป็นสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าใจมันสะอาดบริสุทธิ์ล่ะ ของคุณค่าเท่านั้น ปัจจัยเครื่องอาศัย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจัย ๔ แม้แต่ภิกษุเราก็ต้องมีปัจจัย ๔ เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยของร่างกายเท่านั้น แต่ถ้าสิ่งที่เป็นธรรมในหัวใจล่ะ ถ้าใจมันเป็นธรรมขึ้นมา เราจะทำกันตรงนี้ ศาสนาเจริญที่นี่นะ

เราเป็นพระ เป็นนักรบ ถ้าเราทรงธรรมทรงวินัยไม่ได้ แล้วใครจะเป็นคนทรง อย่าไปว่าวัดบ้านๆ เลย วัดบ้านเขาก็อยู่ประสาวัดบ้านของเขา วัดบ้านก็เป็นพิธีกรรมเท่านั้น พระบวชมาเพื่อพิธีกรรม เพื่อสิ่งตอบสนองทางโลกเขาว่ามีศาสนา มีภิกษุอยู่

แต่ของเราไม่ได้คิดกันอย่างนั้นนะ เราเป็นพระ เราเป็นนักบวช เราจะเข้าถึงหลักธรรม

ถ้าภิกษุของเราทรงธรรมไม่ได้ เราเข้าถึงธรรมกันไม่ได้ แล้วถ้าเข้าถึงธรรมไม่ได้ ธรรมมันมีจริงไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า ทางวิทยาศาสตร์เขาลังเลสงสัยกันว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริงไหม

แล้วถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง พระไตรปิฎกมันพิสูจน์กันได้ ๒,๐๐๐ กว่าปี เดี๋ยวนี้เขาพิสูจน์กันเป็นล้านๆ ปีนะ ถ้าล้านปี ทำไมบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของเก่าแก่

ไม่เก่าแก่เลย เพราะอะไร เพราะสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับไป พระเวสสันดรต่างๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่แล้ว สิ่งที่มีอยู่แล้ว ๒,๕๐๐ ปี ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ๒,๕๐๐ กว่าปีมานี้ แต่สิ่งที่เกินกว่านั้นไปล่ะ สิ่งที่เกินกว่านั้นไปมันก็มี สิ่งที่มี วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ทั้งนั้นล่ะ พิสูจน์ค่าทางฟอสซิล เขาพิสูจน์ได้เป็นล้านๆ ปี

แล้วสิ่งที่เกิดมาอย่างนี้ สิ่งที่มีคุณค่า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรมและวินัย แล้วธรรมวินัยมันมีที่ไหนล่ะ มันมีแต่กิริยา มันมีแต่พระไตรปิฎก มันมีแต่วิชาการ เพราะมันไม่ขึ้นมาในหัวใจ เพราะใจของเรามันยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วเราเชื่อ เราเกิดมามีวาสนา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ในพระไตรปิฎก พยากรณ์เหมือนพูดสดๆ ร้อนๆ นะ “กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง” หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ของเรารื้อค้นขึ้นมา รื้อค้นขึ้นมาที่ไหน? รื้อค้นขึ้นมาในหัวใจของหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ การรื้อค้นขึ้นมาเพราะภาวนามยปัญญามันเกิดจากใจ ไม่ใช่เกิดจากสมอง

โลกวิทยาศาสตร์เขาเกิดจากสมอง สถิติเกิดจากสมอง ไอน์สไตน์สมองโตขนาดไหน ดองศพไว้ เอาสมองมาดอง นี่ไปตื่นกันตรงนั้นไง สิ่งที่เป็นสมองมันก็เหมือนกับข้อมูลอันหนึ่งที่ข้อมูลมากข้อมูลน้อยเท่านั้นเอง

แต่ข้อมูลนั้น ถ้าจิตที่มันสะอาดบริสุทธิ์ สิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ ความรู้ในหัวใจ ภาวนามยปัญญามันเกิดจากใจ แล้วเราก็มีใจ เราก็มีทุกข์กันอยู่นี่ แล้วเราเป็นภิกษุจะทรงธรรมทรงวินัย ถ้าทรงธรรมทรงวินัยต้องซื่อสัตย์กับตนเอง ต้องมีสติสัมปชัญญะ สิ่งที่มีสติสัมปชัญญะ การประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็เป็นสัมมาทิฏฐิ มันเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ถูกต้องนะ วางอารมณ์สิ อารมณ์ที่ผิดอารมณ์ที่ถูก แค่นี้! เริ่มต้นจากจุดสตาร์ทตรงนี้ สัมมาทิฏฐิ-มิจฉาทิฏฐิ

ถ้าความเห็นด้วยปัญญา ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ความคิดความเห็นต่างๆ มันจะเห็นอกเห็นใจกันนะ เห็นอกเห็นใจกันเพราะเราก็เป็นพระเหมือนกัน ออกมาจากบ้านเหมือนกัน ออกมาจากครอบครัวเหมือนกัน เกิดมาจากพ่อจากแม่ พ่อแม่เลี้ยงดูมา คุณอันนี้มหาศาลเลย สิ่งที่มหาศาลนั้นวางไว้ก่อน วางไว้ก่อน แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าจิตของเราเป็นธรรมขึ้นมา

เพราะอะไร เพราะเราเกิดมามันเป็นโลก เกิดมาโดยมาร เกิดมาโดยกามคุณ ๕ กามเป็นคุณ กามของพ่อแม่ไง กามของพ่อแม่เป็นคุณ แต่กามของเราเป็นโทษ เพราะถ้าเรามาคิดถึงเรื่องของกาม คิดถึงเรื่องของความต้องการ มันทำให้จิตใจเราฟุ้งซ่าน

กามคุณ ๕ คือกามคุณของพ่อแม่ แล้วเกิดเรามา เราเกิดมาจากกาม แล้วเอากามอันนี้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าธรรมมันเกิดขึ้นมา สิ่งที่เกิดมา กามคุณ ๕ สิ่งที่เป็นกามมันเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมขึ้นมานี่บุญกุศล เกิดจากพ่อจากแม่นะ พ่อแม่ก็ได้บุญกุศลอันนี้ไปเพราะเราทำคุณงามความดี เพราะเอาเลือดเนื้อเชื้อไขของพ่อแม่มาประพฤติปฏิบัติ แล้วเอาเลือดเนื้อเชื้อไขของพ่อแม่มาประพฤติปฏิบัติ แต่หัวใจเป็นของเรา หัวใจที่มันเกิด ปฏิสนธิจิตเกิดจากไข่ของมารดา แล้วเกิดเป็นพระ ก. พระ ข. พ่อแม่ตั้งชื่อให้ เราไม่ได้ตั้งของเราเองหรอก เพราะเราเกิดมายังไม่มีสติสัมปชัญญะ ช่วยตัวเองยังไม่ได้

พ่อแม่เป็นคนตั้งชื่อให้แล้วเอาเลือดเนื้อเชื้อไขนี้มาบวชเป็นพระ เป็นสงฆ์ เป็นภิกษุ เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจากหัวใจ หัวใจที่ประพฤติปฏิบัติ หัวใจเป็นของเราที่เกิดจากไข่ของมารดา พ่อแม่เลี้ยงมาด้วยน้ำนม ด้วยอาหาร ด้วยสิ่งที่ดำรงชีวิตขึ้นมา แล้วเราเป็นคน เป็นสิ่งมีชีวิตขึ้นมา แล้วเรามีจิตใจ เรามีความผูกพันกับความรู้สึก คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนธรรมคือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนธรรม ธรรมแท้ๆ ธรรมจริงๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในพระไตรปิฎกนั้นเป็นธรรมกิริยา เป็นธรรมพิธีการเท่านั้น เป็นธรรมในพิมพ์เขียวที่ยังไม่มีใครสามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้ แล้วเราออกมาประพฤติปฏิบัติ เราเอาพิมพ์เขียวอันนั้น พิมพ์เขียวที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ กับความรู้สึกในหัวใจของเรานี้เอามาเทียบกัน แล้วเอาความรู้สึกนี้ออกเคลื่อนไหว ออกธุดงค์ ออกวิเวก ออกวังเวงขณะที่เป็นกิเลส

ออกไปวิเวก มีความสงบสงัด ออกวิเวก เกิดปัญญา เกิดความเห็นของเราขึ้นมา ปัญญามันจะหมุนเข้ามาชำระกิเลส เห็นไหม ชำระกิเลสจากภายใน นี่ธรรมอันนี้มันเกิดขึ้นเป็นภาวนามยปัญญา แล้วชำระกิเลสของเรามันเป็นธรรมขึ้นมา นี่ไง ภิกษุที่ทรงธรรมทรงวินัยไง

เราทรงธรรมทรงวินัย เพราะเราเป็นพระป่า เราเป็นอรัญวาสี ออกแสวงหาความวิเวก วิเวกจากภายนอก อยู่ในที่สงบสงัด ถ้าคนเข้ามาส่งเสียงอึกทึกครึกโครม เราก็ป้องกันไว้ ป้องกันไม่ให้เขาเข้ามารบกวน นี่การป้องกันความอึกทึกครึกโครมจากภายนอก แล้วความอึกทึกครึกโครมจากความฟุ้งซ่านล่ะ ความฟุ้งซ่าน ความแสวงหาของเรา เราอยู่ในที่สงัด อยู่ในกุฏิของเรา แต่ความคิดของเรามันออกไปกว้านโลกมาทับถมหัวใจ ไอ้ความกระทบกระเทือนอันนี้ สิ่งที่ตอบสนองจากสิ่งแวดล้อมของใจ แล้วเราใช้สติสัมปชัญญะ ใช้สติปัญญาใคร่ครวญของมันขึ้นมา ให้มันสงบขึ้นมา ให้มันปล่อยวางให้ได้ ถ้ามันปล่อยวางได้ เรานั่งอยู่ในกุฏิมันก็มีความสุขนะ

ถ้าเราปล่อยวางไม่ได้ นั่งอยู่ในกุฏิ นั่งสมาธิอยู่นี่ แต่มันมีแต่ความทุกข์ มันมีแต่ความคิด มีแต่การไปกว้านโลกมาทับถมหัวใจ แต่ถ้าเราใช้ปัญญาใคร่ครวญมัน มันจะปล่อยวางเรื่องของโลกๆ หมดเลย ให้เป็นอิสระ เป็นอิสรภาพของมันเข้ามา เห็นไหม มันสงัดวิเวก นี่สิ่งที่เป็นกรรมฐาน ฐานที่ตั้งของการงาน ถ้าจิตสงบเข้ามามันมีฐานของมัน ฐานของมันคือความรู้สึกอันนี้ แล้วความรู้สึกอันนี้มันออกใคร่ครวญในอริยสัจ ในมรรคญาณ ถ้ามันไม่มีกรรมฐาน ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดสตาร์ท มันจะเกิดที่ไหน ปัญญาเกิดที่ไหน? ปัญญาเกิดจากใจ ใจอยู่ไหน ความสงบอยู่ที่ไหน

เกิดจากครรภ์ของมารดา เกิดจากพ่อจากแม่ พ่อแม่เลี้ยงดูเรามา แล้วเราเกิดมาจากในธรรม มารดาคลอดเรามาเราถึงเป็นเด็กอ่อนขึ้นมา แล้วเลี้ยงดูมาจนมีอายุครบบวช อยากบวชก็ออกมาเป็นภิกษุ แล้วประพฤติปฏิบัติ ใครทำคลอดให้มาล่ะ ใครทำให้เกิดล่ะ

ธรรม อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทำให้เกิด แล้วใครทำให้เกิด ถ้าเราไม่ทำของเราเอง เอหิภิกขุบวชโดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เราบวชตัวเราเองนะ

บวชโดยอุปัชฌาย์นี่มันสมมุตินะ อุปัชฌาย์ต้องมีสงฆ์ตั้งขึ้นมา แล้วบวชขึ้นมาเป็นสงฆ์ สวดญัตติจตุตถกรรมถึงเป็นสงฆ์ขึ้นมา เป็นสงฆ์ขึ้นมาแล้วกิเลสมันได้หลุดออกจากใจไปบ้างไหม บวชขึ้นมาแล้วมีความสุขไหม บวชขึ้นมาแล้วเป็นพระอรหันต์เดินออกจากโบสถ์เลยหรือ

บวชขึ้นมาเป็นสมมุติ เป็นโอกาสให้เราประพฤติปฏิบัติเท่านั้น บวชขึ้นมา วินัย ๒๒๗ ข้อเท่ากัน สิ่งที่เป็นวินัย ๒๒๗ ข้อเท่ากัน แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันเป็นรั้วรอบขอบชิดขึ้นมา ถ้าทำผิดวินัยนี้เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เป็นอาบัติหนักขึ้นไปแล้วแต่การกระทำอันนั้น แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามีสมาธิขึ้นมา เป็นขณิกะ อุปจาระ อัปปนาสมาธิ แล้วปัญญาล่ะ ปัญญาตั้งแต่มรรคหยาบมรรคละเอียดต่างๆ ปัญญาเกิดขึ้นมาอย่างไร

เราทำของเรา เราบวชของเรา เราพยายามทำใจของเราขึ้นมา ถ้าใจมันทำขึ้นมา มันจะรู้แจ้งขึ้นมาจากหัวใจ นี่เกิดอย่างนี้ แล้วเกิดในธรรมขึ้นมามันจะไปว้าเหว่จากที่ไหนล่ะ ถ้าเกิดขึ้นมาอย่างนี้พ่อแม่ก็ได้บุญกุศล เพราะเลือดเนื้อเชื้อไขนะ นั่งอยู่นี่ เรามาบวชอยู่นี่ เอามาจากไหน ดีเอ็นเอเอามาจากไหน ก็ของพ่อของแม่ทั้งนั้นน่ะ แต่หัวใจ พ่อแม่ก็ห่วงนะ ห่วงหาอาทร ก็อยากจะให้เราประสบความสำเร็จโดยความคิดของพ่อแม่ไง พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก แต่ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ของคนทั่วๆ ไป แต่ครูบาอาจารย์ของเราเป็นพระอรหันต์ของเทวดา อินทร์ พรหมทั้งหมดเลย

พระอรหันต์ของลูกมีคุณท่วมหัวลูกไง แต่ถ้าเราทำของเราขึ้นมา ใจของเราเป็นประโยชน์กับสาธารณะ ถ้าเป็นประโยชน์กับสาธารณะ มันก็เป็นประโยชน์กับเราด้วย ถ้าใจอันนี้ถึงธรรมแล้ว ใจนี้เป็นธรรมขึ้นมาแล้วเป็นประโยชน์กับสาธารณะ แล้วพ่อแม่ได้บุญจากเราไหม? ได้บุญจากเรา เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เกิดจากพ่อจากแม่แล้วมาค้ำจุนศาสนา

การบวชขึ้นมานี้พ่อแม่ก็ได้บุญอยู่แล้ว แล้วใจเป็นธรรมขึ้นมาอีกยิ่งได้บุญมหาศาลเลย สิ่งที่ได้บุญมหาศาลเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้ทำประโยชน์ขนาดไหน จะเป็นจักรพรรดิขนาดไหน ทำแล้วสิ้นใจตายไป ทิ้งไว้ สิ่งนี้ไม่เคยสำเร็จ งานของโลกไม่เคยจบ ไม่เคยสำเร็จ มันก็เป็นงานนี่สังคมเป็นอย่างนี้ จะบกพร่องกันตลอดไป

แต่ถ้าใจเป็นธรรมล่ะ มันสำเร็จ มันจบสิ้นกระบวนการที่จะไม่สืบต่อ ไม่สืบต่อแล้วมันจะเป็นครูบาอาจารย์ของเขา เป็นที่พึ่ง เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของสัตว์โลก ของเทวดา อินทร์ พรหมอาศัยสิ่งนี้ไป

ถ้าไม่มีสิ่งที่เป็นร่มโพธิ์ให้เทวดา อินทร์ พรหมอาศัย อาศัยอะไร เทวดา อินทร์ พรหม เขามีความรู้ สิ่งที่เขาเป็นทิพย์ เขาเห็นหมดล่ะ ความรู้สึกของเรา เขามองทะลุหมด ทำไมเขาต้องอาศัยเราล่ะ

เขาอาศัยในอริยสัจนี้ไง เพราะอะไร เพราะอริยสัจนี้มันเกิดจากใจ เพราะใจนี้มันเอหิภิกขุ มันเกิดขึ้นมาจากอริยสัจ ความรู้สึกเกิดขึ้นมาจากอริยสัจ สิ่งที่เป็นอริยสัจ เทวดา อินทร์ พรหมเขารู้ได้อย่างไร

เทวดา อินทร์ พรหมเขารู้ เพราะเขาเป็นทิพย์ของเขา มันเป็นอัตโนมัติทั้งหมด สิ่งที่เป็นอัตโนมัติเพราะมันเป็นทิพย์ มันเป็นธรรมชาติของใจดวงที่เกิดในสถานะนั้น แต่อริยสัจมันไม่มี เขาไม่รู้จักอริยสัจนั้น แต่เขามาฟังธรรมกับเรา แล้วสิ่งที่เขามาฟังธรรมอันนี้ สิ่งที่เคารพบูชาธรรมที่กลั่นออกมาจากอริยสัจไง นี่เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังสิ่งนี้ แล้วสิ่งนี้สั่งสอนมา แล้วบุญมันเกิดไหม แล้วพ่อแม่จะได้กับเราไหม? สิ่งที่ท่านได้จากเรามหาศาลเลย สิ่งที่มหาศาลอันนี้เกิดอย่างไร

เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ทางโลกๆ นั่นมันเรื่องของโลกๆ โลกเขาทำกัน เป็นโลกก็เป็นไป โลกเขาทำกันได้ แต่เราเป็นพระ เราเป็นภิกษุ ภิกษุต้องทรงธรรมทรงวินัย ถ้าเราทรงธรรมทรงวินัย

ทรงธรรม ธรรมในหัวใจ ทรงธรรมตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีขึ้นไปในหัวใจ นี่ทรงธรรม

ทรงวินัย เราทรงวินัย วินัยมันต้องทรงไว้ก่อน ถ้าไม่ทรงวินัย พื้นที่เราไม่สะอาด โอกาสของเรา การทำงาน ภาชนะไม่สะอาด ใส่สิ่งต่างๆ เข้าไปมันก็สกปรกหมด

ถ้าภาชนะสะอาด ใจเราสะอาด แล้วเราทำของเราขึ้นมา สมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ ปัญญาก็เป็นสัมมาปัญญา ถ้าเป็นกิเลส สมาธิก็เป็นมิจฉาสมาธิ ปัญญาก็เป็นโลกียปัญญา ปัญญาโลกๆ ปัญญาโดยมาร ปัญญาโดยกิเลส แล้วก็ทำลายโอกาสของเราไป

แต่ถ้าเป็นสัมมาปัญญา มันจะฆ่ากิเลส ปัญญานี้มันรอบรู้ในกองสังขาร ปัญญาของศาสนานี้คือปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง แล้วปัญญารอบรู้แล้วมันเข่นฆ่าทำลายความรู้สึกอันเป็นอคติในหัวใจ ใจเป็นธรรมขึ้นมา สรรพสิ่งเป็นธรรมขึ้นมา มันจะเป็นธรรมออกมาตลอด แล้วจะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง