เทศน์พระ

เทศน์พระ ๔๕

๑๒ ธ.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์พระ วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ ธรรมของพระพุทธเจ้ามันละเอียด มันต้องมีความตื่นตัวตลอดเวลา ครูบาอาจารย์ เวลาไปอยู่กับท่าน ท่านจะให้ตื่นตัวตลอดเวลา เพราะตื่นตัวคือสติไง ครูบาอาจารย์ท่านว่า “กิเลสมันจะใหญ่เท่าคลื่นขนาดไหนก็แล้วแต่ มีสติมันจะยับยั้งได้” ถ้ามีสติ มีสติ ทำทุกอย่างได้ มีสติมันยับยั้งได้ ถ้าขาดสติ เราถึงต้องตื่นตัว อย่าไปนอนจมกับมัน กิเลส กิเลสมันร้ายนัก

เวลาเราเป็นคฤหัสถ์ เราก็เห็นทุกข์เห็นภัย เราก็อยากจะบวช อยากจะเป็นนักรบ อยากจะสู้กับกิเลส ไม่อยากเกิดอีกแล้ว ไม่อยากเกิดอีกแล้ว แต่พอบวชขึ้นมาแล้ว เราบวชขึ้นมาเพื่ออะไร? เราบวชขึ้นมาชำระกิเลส เราไม่ได้บวชมาส่งเสริมกิเลสนะ

เวลาบวชขึ้นมา อุปัชฌาย์ญัตติจตุตถกรรม ญัตติขึ้นมาเป็นพระ เป็นสมมุติสงฆ์ เป็นผู้พร้อม เป็นนักรบ เป็นภิกษุ เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร จะมาสู้กับกิเลสไง จะต่อสู้กับกิเลส กิเลสมันคืออะไร กิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา กิเลสไม่อยู่ในสังคม กิเลสไม่อยู่ในหมู่สงฆ์ กิเลสไม่อยู่ที่ไหนเลย กิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา ถ้ากิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา เราต้องต่อสู้กับกิเลสของเรา ถ้าเราต่อสู้กับกิเลสของเรา หน้าที่ของเราคือเอาความคิดเรา เอาทิฏฐิมานะของเราไว้ในอำนาจของเรา ไม่ใช่ให้คนอื่นเขายอมรับ ถ้าคนอื่นยอมรับ ยอมรับนะ

ดูสิ ในสมัยพุทธกาล อาจารย์ธรรมกถึกกับวินัยธรเขาทะเลาะกัน อาจารย์ธรรมกถึกเข้าห้องน้ำแล้วลืมน้ำไว้ เทน้ำไม่หมด ถ้าเป็นที่ส่วนบุคคลเหลือไว้ได้ แต่ถ้าเป็นที่สาธารณะ เหลือไว้เป็นอาบัติทุกกฏ นี่เหลือน้ำไว้ แล้ววินัยธรไปเห็นเข้า บอกว่า “น้ำเหลือไว้เป็นอาบัติรู้ไหม”

“ผมไม่มีเจตนา” เป็นธรรมกถึกไง ชำนาญในการเทศน์ ชำนาญมาก แต่วินัยเข้าใจอยู่ แต่บางทีมันเผลอได้ พอมันเผลอได้ “ผมไม่ได้ตั้งใจ”

“ถ้าไม่ตั้งใจ อย่างนั้นไม่เป็นอาบัติ”

นี่ไม่ได้ตั้งใจ ไม่เป็นอาบัติ พอไม่เป็นอาบัติก็ไม่ปลงอาบัติ พอไม่ปลงอาบัติ แล้วก็ไปพูดกัน “ธรรมกถึกอวดแต่สอนคนอื่น ไม่รู้จักสอนตัวเอง” วินัยธรก็พูดกันไป ไปบอกลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็พูดต่อ พอพูดต่อ พวกลูกศิษย์ก็มาพูดกับลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็ไปฟ้องอาจารย์ อาจารย์ก็บอกว่า “อ้าว! ก็บอกว่าเราไม่ได้ตั้งใจ ถ้ามันเป็นอาบัติก็จะปลงอาบัติ ก็บอกว่าถ้าไม่ได้ตั้งใจก็ไม่เป็นอาบัติ พอไม่เป็นอาบัติแล้วไปพูดว่าเป็นอาบัติได้อย่างไร อย่างนี้เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะมุสา” อ้าว! วินัยธรว่ามุสา มุสาว่า “ถ้าน้ำเหลือไว้ในขัน มันเหลือไว้ มันเป็นอาบัติ”

“อ้าว! ถ้าเป็นอาบัติ ผมก็จะปลงอาบัติ แต่ผมไม่มีเจตนา”

“ถ้าไม่เจตนาก็ไม่เป็นอาบัติ”

พอไม่เป็นอาบัติ ไปบอกกับลูกศิษย์ว่าเป็นอาบัติ ก็ปรับอาบัติทุกกฏ ธรรมกถึกก็ปรับตรงนี้เป็นปาจิตตีย์ อ้าว! ต่างคนต่างปรับกันไป จนทะเลาะเบาะแว้งกันไป ไอ้คำว่า “เบาะแว้ง” การทะเลาะเบาะแว้งมันเป็นการทะเลาะเบาะแว้งโดยข้อเท็จจริง โดยเนื้อหาสาระ ไม่ใช่เล่ห์เหลี่ยม

แต่ดูสิ ดูเวลามันมาอดอาหาร มันอดอาหารมันไป มันอดอาหารเพื่ออะไร ก็รู้ๆ อยู่ การอดอาหารมันมีเล่ห์กระเท่ของมัน ถ้าการอดอาหาร เราก็อดอาหารมาเยอะแล้ว เริ่มต้นก่อนจะอดอาหาร เราอยู่ในสังคม พระเรามาบวชมันมาบวชแต่รูปกาย มันเป็นสมมุติสงฆ์ มันไม่ได้บวชหัวใจหรอก พระเราก็มีกิเลสทั้งนั้นน่ะ ทีนี้พระเรามีกิเลส คนถ้ามีเชาวน์ปัญญา อย่างเราอดอาหาร ไปทางอีสาน ใหม่ๆ ไม่กล้าอดอาหาร เพราะว่าเราเป็นคนจริง พอคนจริงทำอะไรขึ้นมา ฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วยเขาก็ไม่เห็นด้วย พอเขาไม่เห็นด้วย เราทำอะไรไป มันก็ธรรมดาใช่ไหม เราเป็นพระด้วยกัน เราอยู่ในหมู่สงฆ์ด้วยกัน เขาก็มีเล่ห์เหลี่ยม มีกระเท่เร่ เขาจะดักหน้าดักหลัง เราก็ไม่กล้าอดอาหาร ใช้ผ่อนเอา ผ่อนเอา ผ่อนเอาที่ว่าฉันวันละคำ ข้าวเหนียวมา ปั้นไว้คำเดียวในก้นบาตร เวลาอาหารมา แกงโฮะมา ตักน้ำใส่แค่หยดข้าว ฉันวันละคำๆ ภาวนามา เพราะต่อสู้กิเลส ต่อสู้กันมา นี่ทำความดีเพื่อความดีไง

ถ้าทำความดี ในวิกฤติอย่างไร เขาจะปิดล้อมอย่างไร เราก็ทำของเราได้ แต่ถ้าเราอดอาหารเลย พออดอาหารปั๊บ อดอาหารด้วยกัน เขาก็มีเณรอุปัฏฐากมีอะไรใช่ไหม ถ้าเราอดอาหารปั๊บ มันจะมีเหตุกระทบกระเทือนเราได้ เราถึงไม่เข้ามุมอับ เราอยู่ของเรา เราจะไม่ยอมทำตัวเราให้เป็นมุมอับเลย เราจะมีทางออกตลอดเวลา เราจะไม่ให้เป็นมุมอับ เห็นไหม เราผ่อนมาตลอด พอเข้าไปบ้านตาด สภาพแวดล้อมมันให้แล้ว เพราะผู้นำที่ปกครองสงฆ์ให้โอกาสเต็มที่ แล้วก็จะปกป้องผลกระทบจากเราได้ พอลงใจปั๊บ อดอาหารเลย พออดอาหาร มันได้ผลมาก ใจมันเรียกร้อง เพราะมันผ่อนมานาน ผ่อนมาเป็นปีๆ เลยล่ะ ฉันมื้อละคำเดียว วันหนึ่งกินข้าวคำเดียวมาตลอดเลย

เวลามันอดอาหารไป ด้วยจิตที่มันสะอาด ด้วยการประพฤติปฏิบัติเพื่อชนะใจตัวเอง ทำเพื่อเราเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของเราเอง เดินจงกรม มันไล่เข้ามา จิตมันไล่เข้ามา มันขาดหมด มันว่างหมดเลย นี่อดอาหารครั้งแรกได้ประโยชน์มาก การอดอาหารมีประโยชน์มาก

แล้วเราอยู่ในหมู่สงฆ์ มีการอดอาหารกัน อดอาหารมาเพื่ออะไร? เพื่อจะให้ครูบาอาจารย์ชมไงว่าคนนี้อดได้มาก อดได้น้อย เราเห็นมา เรื่องการอดอาหาร เรื่องเล่ห์กลของการกระทำ ถ้าทำเพื่อการชำระกิเลส จะไม่มีใครเดือดร้อนเลย เพราะเราทำเพื่อเรา พอเราทำชำระกิเลส ทุกคนจะเข้ามาช่วยเหลือ เพราะคนเห็นบวกก็มี เห็นลบก็มี ไอ้นั่นมันเรื่องของเขา ถ้าเราไม่ไปยุ่งกับเขา ตบมือข้างเดียวไม่ดังหรอก มันเป็นไปไม่ได้ที่จะตบมือข้างเดียว

แต่นี่มันมาอดอาหาร เอาการอดอาหาร ๕ วัน ๑๐ วัน ๒๐ วัน ๕๐ วัน อดแล้วเที่ยวไปกุฏิไปเทศน์สอนคนอื่นทำไม การอดอาหาร เราลงทุนถึงกับเราเสียกระเพาะอาหาร เราอดอาหารก็เพื่อการภาวนา ไม่ใช่อดอาหารเพื่อไปสุมหัวคุยกัน ไม่ใช่อดอาหารมาเพื่อไปทำอย่างอื่น การอดอาหาร ต่อไปในอนาคต น้ำย่อยมันจะต้องทำให้กระเพาะอาหารไม่สมบูรณ์ ทีนี้ไม่สมบูรณ์ เราลงทุนลงแรงขนาดนี้แล้ว เราต้องทำประโยชน์มาให้สม เพราะเราลงทุน ลงทุนแล้วเราต้องให้ผลตอบแทนให้สมกับที่เราลงทุนไป ไม่ใช่ลงทุนเสียเปล่า เราลงทุนทำไม ลงทุนอดอาหาร เราลงทุนอดนอน เราลงทุนกันทำไม เราลงทุนกันเพื่อจะประพฤติปฏิบัติใช่ไหม เราลงทุนเพื่อจะชำระกิเลสเรานะ เราลงทุนเพื่อชนะกิเลสเรา เราต้องเอาชนะกิเลสเรา

ไม่ใช่ลงทุน ไม่ใช่เล่ห์เหลี่ยม ถ้าเล่ห์เหลี่ยม มันมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา

ในปัจจุบันนี้พวกที่อดอาหาร เขาจะเห็นว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค การอดอาหาร พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน พระพุทธเจ้าห้ามด้วย พระพุทธเจ้าห้ามเพราะอะไร เพราะการอดอาหาร อย่างเราเป็นคนซื่อ ซื่อว่าการอดอาหารเป็นคุณประโยชน์ เราจะอดอาหารไปเรื่อย อดอาหารจนตายเลย เห็นไหม อดอาหารต้องมีปัญญา

ถ้าการอดอาหารเพื่อให้คนยอมรับ อดอาหารเพื่ออวดเขา ปรับอาบัติทุกอิริยาบถเลย ปรับอาบัติทุกกิริยาการเคลื่อนไหวที่การอดอาหารนั้น แต่ถ้าการอดอาหารนั้นเพื่อชำระกิเลส เราตถาคตอนุญาต นี่อยู่ในบุพพสิกขา อดอาหารเพื่อประโยชน์ ท่านอนุญาต แต่อดอาหารเพื่ออวด อดอาหารเพื่อต้องการการยอมรับ อดอาหารเพื่อเหยียบย่ำคนอื่น ปรับอาบัติทุกกฏ ปรับอาบัติทุกกิริยาการเคลื่อนไหวเลย

มันเห็นมาตั้งแต่นั้นแล้ว เราถึงให้ออก เพื่อเตือนตลอด เราเตือนตลอด เทศน์นี้เตือนตลอด การที่เรามาลงอุโบสถกันมันมีประโยชน์ตรงนี้ ถ้าไม่มีผู้ควบคุมอยู่ ไม่มีคนคอยกลั่นกรองอยู่ เราจะทำถูกต้องได้อย่างไร เราเห็นประโยชน์ของการที่มาลงอุโบสถร่วมกัน ที่ต้องเดินทางมา แล้วมาถึงมาฟังเทศน์ เพราะอะไร เพราะคนเทศน์เป็นคนกลาง แล้วคนกลางเป็นคนเคลียร์ให้ปัญหานี้มันจบสิ้นลงที่นี่ ไม่อย่างนั้นนะ พูดถึงถ้าไม่มีเราอยู่นี่ เหตุการณ์นี้ยังจะไปกว่านี้อีกมหาศาลเลย เพราะอะไร เพราะเราทำโดยที่ไม่มีใครรู้ทันเราใช่ไหม เราทำสิ่งใดจะไม่มีใครรู้ทันเราเลย เรารู้วาระจิต รู้ไปหมด

รู้อะไร ในเมื่อยังมุสาอยู่ รู้อะไร ในเมื่อยังเป็นมหาโจรอยู่ พระเราทำความผิด เห็นแก่ผล เห็นแก่ลาภสักการะ นี่เป็นโจร สิ่งที่เราเป็นโจร เราไปหา แล้วมหาโจรนี่ไง มหาโจรชั้นอริยภูมิไง ว่าตัวเองมีคุณธรรม ให้เขาเอามาให้ถึงที่ไง เห็นโจรทำก็ไปติเตียนเขา ตัวเองเป็นมหาโจร ทำไมไม่คิดความเป็นมหาโจรของตัวเองบ้างล่ะ ตัวเองนี่คือมหาโจรนะ

แต่สิ่งที่เรายังรอเวลาอยู่ คือว่าพยายามเตือนอยู่ เพราะอะไร เพราะมาทีไรเราเทศน์ทุกที ให้ซ้ำลงไป ให้ย้ำลงไป สิ่งนั้นมันไม่ใช่ ถ้ามันใช่ เหตุผลมันมี

เวลาสอน “ห้ามฟังเทศน์” ห้ามฟังเทศน์ มันบอกได้เยอะแยะไปหมดเลย “ห้ามฟังเทศน์” เพราะอะไร เพราะใจดวงนี้มันยอมรับเขาไม่ได้ มันอิจฉาตาร้อนไง ถ้าธรรมะมันอันเดียวกัน ดูสิ เอตทัคคะ พระปุณณมันตานีบุตรเป็นเลิศในการแสดงธรรม พระสารีบุตรเป็นเลิศในทางปัญญา เลิศทางปัญญากับเลิศทางแสดงธรรม ดูความเลิศสิ ดูความเลิศต่างๆ ถ้าคนอื่นเขาแสดงออก เขาทำสิ่งนั้นได้ ตัวเองไปอิจฉาตาร้อน ถึงว่าไม่ให้ฟัง

ทำไมจะฟังไม่ได้ การฟังธรรมเป็นสิ่งประเสริฐที่สุด เพราะการฟังธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ สิ่งที่มีฤทธิ์มากที่สุดคือการบันลือสีหนาท คือการแสดงธรรม อนุสาสนี การแสดงธรรม อันนี้ชักนำให้ผู้ฟังนั้นเป็นพระอรหันต์เลย ขณะพระพุทธเจ้าเทศน์ พระอรหันต์เป็นแสนๆ องค์เลย แล้วนี่ไม่ให้ฟัง ไม่ให้ฟังแล้วบอก “การภาวนาต้องวางจิตไว้เฉยๆ” อ้างด้วย อ้างว่า “ไม่เชื่อให้ไปฟังหลวงตา”

หลวงตาท่านพูดอยู่ “เรากำหนดจิตไว้เฉยๆ” เพราะการปฏิบัติเริ่มต้น การปฏิบัติทุกคนมันยังจับต้นชนปลายไม่ได้ ทุกคนปฏิบัติมาก็กำหนดไว้ ก็นึกว่าสิ่งนี้ถูกต้อง ถ้ากำหนดไว้เป็นสมาธิไหม? เป็น ท่านบอกจิตนี้แน่นหมดเลย แต่พอเวลามันเสื่อมไป เสื่อมไปแล้วเอาขึ้นไม่ได้เลย กำหนดจิตได้วันสองวันก็กลิ้งลงมา ได้สองวันก็กลิ้งลงมา สุดท้ายแล้วต้องกำหนดพุทโธ เพราะมันขาดคำบริกรรม ท่านบอกท่านขาดคำบริกรรม ท่านก็บริกรรมของท่าน

อ้าง เวลาบอกไม่ให้ฟัง ไม่ให้ฟังเพราะเวลามีแง่มุมมามันจะขัดแย้งกับคำสอนของตัว แต่เวลาจะอ้างเพื่อผลประโยชน์ อ้างเพื่อผลประโยชน์ว่าถ้าไม่เชื่อให้ไปฟังเทศน์หลวงตาสิ

ฟังเทศน์หลวงตา หลวงตาเวลาท่านสอน ท่านยกตัวอย่างที่ผิด ตัวอย่าง มันมีตัวอย่าง ทำอย่างนี้มันจะผิด ตัวอย่างที่ถูก แล้วตัวเองไม่มีวุฒิภาวะ พอไม่มีวุฒิภาวะ อ้างตัวอย่างที่ผิดว่าท่านเคยพูดไง “เราวางจิตไว้เฉยๆ วางจิตไว้เฉยๆ แล้วมันเสื่อมไป” เวลามันเสื่อมไปทำไมไม่เข้าใจ

ว่า “กำหนดจิตถูกไหม” ถ้ามีคนไปถาม ในหนังสือหยดน้ำบนใบบัว มีนักปฏิบัติผู้หนึ่งไปถามท่านว่า “กำหนดจิตจนจิตนั้นว่างหมด ถูกไหม”

นี่ไง กำหนดจิตมันทำได้ มันทำได้ถ้ามันมีสติถ้ามันมีปัญญา แต่ถ้ามันทำของมันโดยที่มันไม่เข้าใจอะไรของมัน มันไปแช่ไว้เฉยๆ มันเป็นประโยชน์ไม่ได้หรอก มันจะเสื่อม มันจะอยู่ของมันไม่ได้เพราะมันไม่มีจุดยืน คนเราไม่มีจุดยืน เป็นไปไม่ได้

“นี้ดีนะที่เป็นคฤหัสถ์ ถ้าเป็นพระ เราจะตีให้หลงทิศเลย” คือท่านจะเปลี่ยนแปลง ไม่ให้ทำอย่างนี้ แต่เรายกตัวอย่างที่ผิด แต่เราแยกไม่ถูกไง อาจารย์องค์นี้ท่านพูด พูดไหม ท่านพูดยกตัวอย่างที่ผิด ทำอย่างนี้มันจะผิด ทำอย่างนี้มันจะไม่ถูกต้อง แต่เพราะเราไม่มีวุฒิภาวะ เห็นว่าท่านพูด คำพูดของท่านคือถูกหมดไง ถ้าเรายกเป็นครูบาอาจารย์แล้วถูกหมด พูดถูกก็มี พูดผิดก็มี พูดผิดไม่ใช่ท่านพูดผิด ท่านยกตัวอย่างที่ผิดให้เห็นว่าผิด เวลาเทศน์ ดูสิ กิเลสมันเป็นอย่างนี้ ดูสิ เทวทัต เทวทัตทำอย่างไร เทวทัตมักใหญ่ใฝ่สูง เทวทัตมีฌานโลกีย์ แปลงตัวได้ แสดงฤทธิ์ได้ แต่พอคิดจะอกตัญญูกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสื่อมหมดเลย พอเสื่อมหมดไปแล้วเป็นอย่างไร พอเสื่อมหมดแล้วมันก็มีแต่สัญญา มีแต่สิ่งหลอกลวงในหัวใจ

นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นมันโกหกมดเท็จมาตั้งแต่แรก ถ้ามันโกหกมดเท็จ ทำไมเวลามาพูดกับคนอื่นแล้วออกไปพูดอีกอย่างหนึ่ง อย่างนี้มันเป็นนักปฏิบัติได้อย่างไร นักปฏิบัติ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ถ้าสิ่งที่เทศน์ออกไปแล้วมันกระเทือนใจเรา ธรรมะมันกระเทือนใจเรา แต่นี่ย้ำแล้วย้ำอีก ย้ำแล้วย้ำอีก “รับรองกู รับรองกู”

มันเหมือนชฎิล ๓ พี่น้อง เวลาพระพุทธเจ้าไปทรมาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเก่งมาก “สมณะองค์นี้เก่งมาก แต่ไม่เหมือนเรา ไม่เหมือนเรา เราเป็นพระอรหันต์ สมณะองค์นี้เก่งมาก แต่ไม่เหมือนเรา เราเป็นพระอรหันต์”

นี่ก็เหมือนกัน ตอกย้ำอยู่ทุกวัน เวลาเทศน์ทุกวันบอกว่าให้ย้ำลงตรงนั้น ให้ย้ำลง ขุดบ่อน้ำต้องให้ได้น้ำก่อน ไม่ใช่ไปปักหลักว่าจะไปขุดบ่อน้ำแล้วก็ไปขุดบ่อหน้าๆ แล้วบ่อหน้าก็ขุดไม่เสร็จ ไม่มีบ่อไหนสักบ่อหนึ่ง แล้วบอกว่ารับรองเป็นอนาคามี

คากิเลสมึงน่ะ มันรับรองห่าอะไร ไม่เคยรับรองสักคำหนึ่ง แล้วถามจริงๆ เวลามา รับรองมึงตรงไหน ก็ไม่ได้รับรอง ก็บอกให้ซ้ำไปๆ ซ้ำไปแล้วใครไปพูดว่ารับรอง

“ก็ผมไม่ได้พูดอีกล่ะ ผมไม่ได้พูด”

แล้วไม่ได้พูด ทำไมคนเขามาหากูเขาบอกว่าเรารับรองๆ

เราก็ถาม เรารับรองกับใคร เราถามแล้วไม่มีใครเลย ก็มาจากมึงเนี่ย แล้วมึงเวลาเข้ามาคุยกับกูก็คุยกันตัวต่อตัว แล้วกูเคยรับรองมึงตรงไหน

แล้วเวลากูรับรองขึ้นมา รับรอง เวลาคนที่เขาภาวนาเป็น เพราะอะไร เพราะเวลาเขามาหา เขาท้าเลย “อ้าว! หลวงพ่อซักมาสิ”

พอซักไปแล้วบอก เออ! อย่างนี้ใช่

แล้วบอกว่าใช่ก็บอกอีก เป็นไปไม่ได้ ต้องทำใจให้สงบ แล้วเห็นกายภายใน เห็นกายภายในเป็นอย่างไร

เห็นกายภายในมันเป็นคำพูด เป็นคำพูดของมึงว่าเห็นกายภายใน แล้วเห็นจริงหรือเปล่า ถ้าเห็นจริง เวลาซักไป เวลามาถึง

“อ้าว! ว่ามามันเป็นอย่างไร”

“อ้าว! มันขาด”

“ขาดอย่างไรล่ะ”

“ก็มันขาด”

“แล้วขาดอย่างไรล่ะ”

“ก็ไม่รู้ ก็มันขาด”

แล้วหมาที่ไหนจะไปรับรองมึง ก็บอกให้ซ้ำ

เพราะตัวเองทำ คนทำไม่เป็นมันพูดไม่ถูกหรอก ถ้าคนทำเป็น มันจะรู้ตามความเป็นจริง เพราะเราบอกว่าเราบอกให้พุทโธก็ได้ อานาปานสติก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้

แต่คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” เป็นปัญญาวิมุตติ เขาบอกว่ามันไม่เห็นด้วย เห็นด้วยไม่ได้ เห็นด้วยไม่ได้เพราะอะไร เพราะเขารับรองเวลาคนที่เขาปฏิบัติได้ใช่ไหม แต่ไม่ได้รับรองมัน แล้วถ้าพูดถึงถ้าเห็นกายภายใน แล้วเห็นอย่างไรล่ะ

เวลาเราอธิบาย เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะพิจารณากาย เราตั้งกายขึ้นมาเลย พิจารณาไป กายมันละลายลง อ้าว! เราก็เห็น เราก็ทำ

อ้าว! พิจารณากายก็สอน พิจารณาปัญญาก็สอน กูสอนทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันเป็น มันถูกต้อง มันเป็นไปได้ แต่นี่มันไม่เป็น มันเป็นไปไม่ได้ ความค้านอันนั้นมันฟ้องถึงว่าตัวเองไม่รู้ มันฟ้องว่าตัวเองไม่รู้ เพราะเรื่องกิเลสมันเป็นอย่างนี้มาตลอด ตั้งแต่เทวทัต ตั้งแต่สมัยพุทธกาล เวลาคนที่มันไม่รู้จริง มันจะคัดค้าน แล้วมันพูดออกมา ดูเทวทัตสิ ทำไมเทวทัตเวลาพูดแล้วทำไมพระตามเทวทัตไป ๕๐๐ ทำไมญาติโยมอุปัฏฐากพระเทวทัต เพราะเทวทัตบอกว่าให้อยู่ป่าเป็นนิจ ให้อยู่โคนไม้ตลอดไป ไม่ให้ฉันเนื้อสัตว์ ไม่ให้เข้ากุฏิ ไม่ให้รับกิจนิมนต์

“โอ้! มันเคร่งเว้ย! โอ้! มันเห็นเว้ย! มันเป็นไปได้ โอ้โฮ! ดีกว่าพระพุทธเจ้าอีก” นี่ความคิดโลกๆ มันเห็นเป็นรูปธรรมไง เราเสนออะไรที่เป็นรูปธรรมมา โลกเขาเห็นได้ แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้นไหม ความจริงมันเป็นอย่างที่เป็นรูปธรรมนั้นไหม รูปธรรมก็คือวิทยาศาสตร์ไง ถ้าเสนอเป็นวิทยาศาสตร์ “โอ้โฮ! ถูกต้องๆ เป็นวิทยาศาสตร์”

วิทยาศาสตร์มันเป็นกฎตายตัว ธรรมะมันละเอียดอ่อนมาก กิเลสมันละเอียดกว่านั้นอีก ละเอียดกว่านั้น วิทยาศาสตร์เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน แม้แต่พิจารณากายเหมือนกัน กิเลสขาดก็แตกต่างกันไป พระอรหันต์ล้านองค์ ล้านวิธี แม้แต่ทำเรื่องการพิจารณากายเหมือนกันนี่แหละ แต่เวลาขาด เวลาเป็นไป จะไม่มีซ้ำกันแม้แต่องค์เดียว ถ้าซ้ำกันต้องผิด

แล้วจะมาบอกว่าต้องทำอย่างนี้ๆๆ นี่ไง คนโง่มันมาอวดดีไง อวดดีว่าต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องทำอย่างนี้ ต้องอยู่โคนไม้เป็นวัตร ต้องไม่รับกิจนิมนต์ ต้องธุดงค์ตลอดไป ต้องไม่ฉันเนื้อสัตว์ นี่ไง คนมันโง่ โง่เพราะอะไร โง่เพราะสิ่งนี้เป็นกฎตายตัวใช่ไหม แล้วกิเลสของคนมันหลากหลาย มันแตกต่างกันไป สิ่งที่กฎตายตัวอย่างนี้มันจะไปแก้กิเลสใครได้? มันแก้กิเลสไม่ได้ ถ้ามันเป็น ถ้าคนภาวนาเป็นพูดอย่างนี้ไม่ได้หรอก ถ้าพูดอย่างนี้ นิ้วทำไมไม่เท่ากัน นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ นิ้วนาง นิ้วไหนสำคัญกว่ากัน นิ้วไหนสำคัญกว่า อ้าว! ถ้านิ้วโป้งสำคัญกว่า นิ้วโป้งมีนิ้วเดียว นิ้วโป้งทำงานได้ไหม อ้าว! นิ้วไหนสำคัญกว่านิ้วไหน

มันสำคัญทั้ง ๕ นิ้ว มันสำคัญทั้งมือนี่แหละ มือมันจับต้องมันหยิบของได้ มันมีทุกนิ้ว มันช่วยเหลือกัน ไม่มีนิ้วไหนสำคัญกว่านิ้วไหนหรอก นิ้วเราธรรมชาติสร้างมาให้เป็นมือ มือนี้จับสิ่งของได้ จะบอกว่านิ้วอื่นไม่สำคัญ ให้นิ้วโป้งนิ้วเดียว...มึงจะบ้าหรือ นี่มันเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้ามันเป็นไปตามวิทยาศาสตร์ เป็นความคิด มันเป็นเรื่องของโลก มันไม่จริง

ถ้ามันจริง ความจริงกับความจริงไม่เคยขัดแย้งกัน ธรรมะของพระพุทธเจ้าจะไปช่องทางเดียวกัน ไม่มีการขัดแย้งกันเลย ทาน ศีล ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วแต่บุคคล แล้วแต่วิธีการ เรื่องของทาน ศีล ภาวนา

เรื่องของทาน ผู้เสียสละมีความศรัทธามีความเชื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาวิมุตติ มีศีล สมาธิ ปัญญา ใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้าไป สิ่งที่ใคร่ครวญเข้าไป ถ้ามันใคร่ครวญเข้าไป มันเป็นสัจจะความจริง มันรู้จริงของมัน มันปล่อยจริง มันเป้าหมายเดียวกัน ที่หมายเดียวกัน อริยสัจอันเดียวกัน มันจะวิธีไหน ไม่มีอะไรผิดอะไรถูก ถ้าผิดก็คือผิด

แต่นี่ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าไม่ถูกใจกู ผิด ถ้าถูกใจกู ถูก นี่มันปฏิบัติเพื่อกิเลส ถูกใจอะไร ถูกใจเป็นประโยชน์กูไง ถ้าสิ่งใดเป็นประโยชน์กู สิ่งใดทำประโยชน์เพื่อกู ถ้ากูได้ประโยชน์นี่ถูก ถ้าอะไรกูไม่ได้ประโยชน์นั่นคือผิด ถ้าอะไรมาขัดแย้งทำลายประโยชน์กูนี่ผิด...นี่มันธรรมะของใคร มันเป็นธรรมะของใคร

แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริง เราจะพอใจหรือไม่พอใจไม่ได้ มันเป็นความจริงของมันที่จะเกิดขึ้น ที่มันจะเป็นสัจจะความจริง ถ้าสัจจะความจริงมันเป็นอย่างนั้นมันจะต้องเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นขึ้นมา ทำไมเวลาครูบาอาจารย์ท่านสนทนาธรรมกัน ทำไมท่านยอมรับกันล่ะ ยอมรับ เวลาหลวงตาท่านไปคุยกับหลวงปู่ขาว ไปคุยกับหลวงปู่แหวน ทำไมท่านยอมรับล่ะ ยอมรับว่า “มหาค้านมาๆๆ” แล้วมันวิธีการเดียวกันไหม? มันคนละวิธีการนะ มันคนละวิธีการเพราะอะไร

เช่น หลวงปู่ขาว ดูสิ เวลาพิจารณา ไปที่โหล่งขอด ถึงที่สุดมันปล่อยวางเข้ามาหมดแล้วมาถึงตัวจิต จิตนี้เปรียบเหมือนเมล็ดข้าว รวงข้าว ถ้ารวงข้าวมันตกดินมันจะเกิดอีก ถ้ารวงข้าวเขาเกี่ยว เขาอะไรแล้ว เขามาหุงหา มันจะไม่เกิดอีก ใจเราเป็นอย่างนั้น นี่ไปค้านที่ไหน มันไม่ค้านเลย พิจารณากายมันค้านกันตรงไหน

แล้วหลวงตาท่านพิจารณาของท่านมา จิตนี้เปรียบเหมือนกับจุดและต่อมของพลังงาน แล้วท่านทำแล้ว แล้วใครค้านใคร ทำไมคนเขาเป็นกัน ทำไมเขาไม่เห็นค้านกันเลย มันเป็นความจริง

แล้วนี่มันมาจากไหน ไม่เชื่อไม่ฟัง ค้านกันไปหมดเลย ห้ามฟังเทศน์คนโน้น ห้ามฟังเทศน์คนนี้ ห้ามฟังไปหมด จะให้ฟังตัวเอง แล้วตัวเองฟังอะไร? ไม่ต้องฟัง เพราะกูเทศน์ไม่ได้ ถ้ามึงมาหากู อ้าว! รู้หมด รู้วาระ รู้ไปหมด รู้อะไร

ฌานโลกีย์นะ เทวทัตยังเสื่อม หลวงปู่เจี๊ยะท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านถามหลวงปู่มั่นเลยว่า “อภิญญาแก้กิเลสได้ไหม” เพราะตอนนั้นหลวงปู่เจี๊ยะท่านเพิ่งภาวนาใหม่ๆ

หลวงปู่มั่นบอก “แก้ไม่ได้หรอก”

“แล้วแก้ไม่ได้ หลวงปู่มั่นทำทำไม” เพราะหลวงปู่มั่นรู้ไปหมด รู้วาระจิต รู้ต่างๆ

รู้ รู้นี้หลวงปู่มั่นบอกว่า “นี้เอาไว้เป็นวิธีการสอนคน”

เหมือนกับมันเป็นเทคโนโลยีเอาไว้ดักใจคน เอาไว้ปิดกั้น เหมือนกับคนที่ภาวนาเขาคิดถูกคิดผิด มีตรงนี้เข้าไป มันเข้าไปดักตรงนี้ปั๊บ มันจะแก้ไขให้เขาเปลี่ยนแปลงให้เข้าถึงอริยสัจ การจะเปลี่ยนแปลงเข้าถึงอริยสัจ อันนี้มันเป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้ารู้ พระพุทธเจ้ามีของท่าน

เวลาพระสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ จะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ต้อง ให้พระไปดักหน้าไว้ก่อน ให้พระพวกนั้นที่จะเข้ามารายงานท่าน ให้เข้าไปเที่ยวป่าช้าก่อน พอเข้าไปป่าช้าปั๊บ ไปพิจารณาซากศพ จิตใจมันหวั่นไหว พอจิตใจมันหวั่นไหว รู้ตัวเองว่าไม่ใช่เป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ต้องมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เครื่องมือที่จะมาสั่งสอนคนน่ะมีมาก

หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า ท่านสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์เหมือนกัน ท่านมีคุณธรรมทางนี้ ท่านมีพื้นฐาน พื้นฐานคือว่าสิ่งที่ท่านสิ้นกิเลสในหัวใจของท่านด้วยอริยสัจ แต่สิ่งที่เป็นวิธีการท่านเอามาใช้สอนคน แต่มันก็เป็นดาบสองคมถ้าใช้โดยที่ไม่ได้สังวรว่ามันจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ ท่านเอามาใช้ตั้งแต่ตอนที่อยู่ที่ถ้ำสาริกา หลวงตาองค์หนึ่งเวลานั่งกลางคืนนั่งคิดถึงแต่ครอบครัวเดิม หลวงตาองค์หนึ่งเคยมีครอบครัวมา มานั่งวิตกตั้งแต่หัวค่ำ ออกไปจะเป็นอย่างนั้น ว่าจะสอนลูกสอนหลานอย่างนี้ จะทำอย่างนั้น

หลวงปู่มั่นกำหนดจิตไปดู ถอยกลับมา เที่ยงคืนกำหนดไปดูก็ยังคิดอยู่ คนเราถ้าคิดถึงครอบครัว คิดถึงคู่ครอง คิดได้ทั้งคืน กลางคืนกำหนดไปก็ยังเห็นอยู่ “เอ๊ะ! หลวงตาองค์นี้ไม่หลับไม่นอนเลยหรือ” กำหนดจิตกลับมา พอถึงช่วงใกล้สว่างกำหนดจิตไปดูก็ยังคิดอยู่

เช้าขึ้นมาบิณฑบาตไป ด้วยความเมตตาอยากจะเตือน อยากจะสั่งสอน ผ่านไป “หลวงตา แต่งงานใหม่กับคู่ครองคนเดิมกี่รอบ” แต่งงานใหม่กับคู่เดิม คิดถึงเรื่องครอบครัว เตือนเขา รุ่งเช้าไปอีกที หายไปเลย เขาตกใจมาก เห็นไหม การรู้จริง แม้แต่เอาไปเตือนเขาบอกเขา ถ้าใช้ไม่เป็นกาลเทศะ มันยังเป็นผลเสียเลย ตั้งแต่บัดนั้นมา หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง หลวงปู่มั่นท่านสะเทือนใจมากว่าเครื่องมือที่จะเอามาใช้ สุดท้ายแล้วเวลาใช้ไปแล้วมันยังเกิดผลเสีย ผลเสียเพราะเขาควรจะได้สติ เขาควรจะตั้งสติ แล้วเขาควรจะเปลี่ยนแปลงหรือสำรวมระวังใจของเขา เขากลับเห็นว่าคนมารู้ความลับของเขา เขาตกใจ เขาอยู่ไม่ได้ เขาต้องหนีไปเลย

ตั้งแต่นั้นมาหลวงปู่มั่นท่านจะใช้ ท่านไม่ใช้ตรงๆ เว้นไว้แต่คนนั้นหยาบมาก ท่านจะใช้ตรงๆ ว่าคนนั้นเลวอย่างไร เลวอย่างไร แต่เวลาถ้าปกติท่านจะใช้ผ่านกระทบ ตีวัวกระทบคราด ท่านจะเอ็ดไปทางหลวงตา เอ็ดว่า “ทำไมทำตัวอย่างนั้น ทำไมทำตัวอย่างนั้น” แต่การทำตัวอย่างนี้ หลวงตาไม่ได้ทำ พระองค์อื่นทำ แต่เพราะหลวงตาเป็นเขียง ท่านเป็นมีดสับอยู่บนเขียงนั้น ท่านบอกว่าตัวหลวงตาท่านทำตัวท่านเป็นเขียง แล้วหลวงปู่มั่นท่านเป็นมีดคอยสับคอยยำ คอยสับคอยยำหมู่คณะไง มันใช้ตรงๆ มันใช้ไป คนรู้จริงเขาจะรู้ว่าเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์

ไม่ใช่พร่ำเพ้อ เพ้อเจ้อ เพ้อเจ้อ รู้นู่นรู้นี่ ไอ้นี่มหาโจร แล้วมหาโจรออกไปมันจะมีประโยชน์อะไรขึ้นมา มันก็หวังเพื่อลาภสักการะ นี่ไง มันเป็นศาสนาไหม มันเป็นตัวอริยสัจไหม นี่ไง ที่มันจะทำลายศาสนา มันจะทำลายวัดวาอาวาสไง มันจะทำลายวัดวาเพราะอะไร เพราะตัวเองมันเป็นสิบแปดมงกุฎ พูดอะไรก็พูดได้ทั้งนั้นน่ะ แล้วคนที่เขาเป็นสุภาพบุรุษเขากล้าพูดอย่างนี้ไหม แล้วถ้าพูดออกไปแล้วสิ่งกระทบกลับมามันเสียหายที่ไหน มันเสียหายกับอะไร? มันก็เสียหายกับศาสนานี่ไง แล้วถ้าไม่มีผู้รู้จริงมันก็เที่ยวแอบอ้างได้ ทุกคนไม่กล้าจะโต้แย้ง

วันนี้จะรอเช็คบิลเลย มันเสือกหนีไปก่อน เพราะสิ่งที่ถนอมมา สิ่งที่ไม่พูดมา ไม่พูดตรงๆ มาตลอด เทศน์ทุกเที่ยวก็ด่าทุกเที่ยว ด่าทุกวันพระ แล้วก็ยังอวดดีอยู่ทุกวันพระ เวลาจะเอาจริงๆ แล้ว หนีทำไม หนีทำไม หนีไปไหน

เพราะคนจริงมันต้องจริงสิ ในเมื่อมันจริง เพราะเรามันจริง เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์มา สิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมา เข้าหานะ เราเข้าหาตัวต่อตัวเลย องค์ไหนก็แล้วแต่ ขึ้นเลย กับครูบาอาจารย์นี่เข้าถึงที่เลย เข้าถึงตัวต่อตัว ซัดกันตัวต่อตัวเลย เพราะอะไร เพราะเรากลัวเสียเวลา เสียภพชาติ เกิดมาชาติหนึ่ง ประพฤติปฏิบัติมาชาติหนึ่ง เราจะเสียเวลามาก ถ้าเราเห็นผิด เราหลงผิด เราจะเสียเวลาไป มีครูบาอาจารย์เราเปิดอกเลย “กระผมทำอย่างนี้ครับ ๑ ๒ ๓ ๔ ครูบาอาจารย์มีเหตุโต้แย้งอย่างไรครับ” พูดกันต่อหน้าเลย ผิดถูกอย่างไร พูดมาเลย แล้วให้อัดมาเลย แล้วถ้าท่านบอกว่าผิดหรือถูก เราก็เถียงเลย เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เรารู้มา

เช่น หลวงปู่ดูลย์ท่านว่า “ความรู้ความเห็นนั้นเห็นจริง แต่ความรู้ความเห็นนั้นเป็นของไม่จริง” ไม่จริงเพราะเรามีกิเลสไง ถ้ามีกิเลสอยู่มันก็ยังเถียง เพราะเรารู้เราเห็นจริงๆ แต่ครูบาอาจารย์ท่านมีเหตุผลของท่าน เราก็มานั่งคิด

ดูสิ ดูอย่างหลวงตา เวลาท่านติดอยู่ หลวงปู่มั่นท่านอัดเอาๆ “หืม! มันต้องมีเหตุมีผลของท่านสิ ท่านเป็นครูบาอาจารย์ เรามาอยู่กับท่าน ถ้าท่านไม่รู้จริง ท่านไม่เห็นจริง ท่านเตือนเรามา ทำไมเราไม่ลองแก้ไข” ถ้าลองแก้ไขมันก็เป็นประโยชน์ขึ้นมา พอแก้ไขขึ้นมาแล้ว “อ้าว! ผิดจริงๆ” พอผิดจริงๆ พอผิดขึ้นมาก็มาถามท่านอีก เถียงท่านอีก “อ้าว! ก็ให้ออกปัญญาๆ ก็ออกปัญญาแล้ว ไม่ได้นอนเลย”

“นี่มันบ้าสังขาร บ้าสังขาร”

“มันบ้าสังขารอย่างไร ก็นี่มันเป็นปัญญา ถ้ามันไม่เป็นปัญญามันจะออกหรือ”

“นี่บ้าสังขาร”

“อ้าว! เอ๊! คราวนี้น่าจะผิด”

คราวนี้การเถียงก็เบาลงแล้ว เพราะมันเคยเห็นว่าเถียงแล้วผิด เราเคยเผชิญกับท่านแล้ว แล้วเรามาปฏิบัติแล้วมันผิดจริงๆ แล้วคราวนี้เราก็ว่าเราถูกอีกแล้ว แต่ท่านก็ว่าผิด อ้าว! พอท่านว่าผิด ถ้าอย่างนั้นเราอย่าเพิ่งเถียง เอาเหตุผลก่อน ลงมาปั๊บ ท่านก็พิจารณาของท่าน “อืม! ผิดจริงๆ” ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะมันใช้ปัญญามากเกินไป มันฟุ้งเกินไป มันไม่มีสมาธิ ก็กำหนดพุทโธๆๆ นี่อนาคามิมรรคนะ ท่านยังกำหนดพุทโธเลย อย่างพวกเรามันพวกขี้ตีน แล้วบอกไม่ต้องมีคำบริกรรม มันเป็นไปได้อย่างไร

นี่ถึงอนาคามิมรรคนะ เวลามันหมุนไปเต็มที่แล้วกำลังไม่พอ ท่านยังกำหนดพุทโธ ท่านพูดเอง บอกว่าเหมือนคนหัดภาวนาใหม่ๆ เลย ต้องเอาพุทโธยัดเข้าไปเพื่อให้จิตมันสงบได้ พอจิตสงบได้ พอออกปัญญาขึ้นมันก็สมดุล มันก็เป็นมรรคญาณไป แต่ถ้ามันไม่มีสมาธิเข้ามามันก็จะเป็นสัญญา มันเป็นเรื่องของกิเลสบวกตลอดไปเลย มันก็ผิด ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะเราทำอยู่ มันหมุนเต็มที่ ปัญญาหมุนเต็มที่ ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะมีกิเลสเราบวกเข้ามา พอกิเลสเราบวกเข้ามามันไม่มัชฌิมาปฏิปทา มันไม่เป็นกลาง เป็นกลางในมรรคญาณ ไม่ใช่เป็นกลางโดยความเห็นของเรา

ความเห็นของเรา เพราะมันพอใจมันก็เป็นกลาง ไม่พอใจก็ไม่เป็นกลาง ความเป็นกลางของเราคือความพอใจและไม่พอใจต่างหาก แต่ความเป็นกลางมัชฌิมาของสัจธรรม มันเป็นสัจธรรม มันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทีนี้ความที่เราไม่เคยเป็น ไม่เคยเห็น เราไม่เคยมีไม่เคยเป็น เราก็เชื่อของเราไป แต่มีครูบาอาจารย์คอยสั่งสอนเรา คอยแก้ไขให้เรา ถ้าเรามีสติ เราเอามายับยั้งบ้าง เราทดสอบบ้าง มันทดสอบได้ ความรู้เรียนทันกันได้ โสดาบันเป็นโสดาบัน สกิทาคามีเป็นสกิทาคามี อนาคามีเป็นอนาคามี อรหันต์เป็นอรหันต์ ถึงเป้าหมายแล้วอันเดียวกัน ไม่แตกต่างกัน

ในเมื่อถ้ามันยังเถียงกันอยู่ เวลามีการโต้แย้งกันอยู่ มันต้องมีคนผิดคนหนึ่งแน่นอน ไม่เขาผิดก็เราผิด มันต้องมีคนผิดคนหนึ่งใช่ไหม ในเมื่อมีคนผิดคนหนึ่ง เราก็ต้องทดสอบสิ ในเมื่อมีการขัดแย้ง มันต้องมีคนผิดคนหนึ่ง แต่ถ้ามันเป็นความจริงแล้วมันจะขัดแย้งไปได้อย่างไร มันไม่มีการขัดแย้งหรอก ธรรมะไม่มีการขัดแย้งกัน ครูบาอาจารย์ที่เวลาพูดธรรมกันแล้วลงกันหมดเลย เว้นไว้แต่มันต้องมีคนผิด บางทีเราฟังเทศน์ เราโต้แย้ง โต้แย้งเพราะมันผิด รู้เลยว่ามันผิด ถ้ามันผิดแล้วพร้อมที่จะเผชิญหน้า

เพราะเราพูดบ่อยมาก คำพูดคำไหนที่เราพูดออกไปแล้ว เราเป็นสุภาพบุรุษ กูพูด กูพูดจริงๆ แล้วมีเหตุผลอะไรมาโต้แย้งกูล่ะ เพียงแต่ว่ามันไม่กล้าเผชิญหน้าไง ไม่มีใครกล้ามาเผชิญหน้าเรา ถ้ามันมาเผชิญหน้าเรา เราเคลียร์ได้หมด คำพูดเราพูด ถ้ามันผิดบอกผิด ถูกบอกถูก

สิ่งที่เป็นจริงในพระไตรปิฎก ควรส่งเสริมผู้ที่ควรส่งเสริม ควรกดผู้ที่ควรกด สิ่งที่ควรกด เพราะนี่มันเป็นเรื่องของกิเลส กิเลสมันจะอ้างอิงไม่ได้ มันจะอ้างอิงสิ่งนี้ขึ้นมาว่าเป็นธรรมๆ มันอ้างอิง พอมันอ้างอิงขึ้นมา ทำไมอ้างอิงขึ้นมาแล้วทำไมไม่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาล่ะ มาเกาะครูบาอาจารย์ทำไม

เกาะครูบาอาจารย์ สิ่งที่เขาเชื่อถือ เชื่อถือเพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ยอมรับไง เพราะสิ่งนี้ครูบาอาจารย์ยอมรับใช่ไหม ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ยอมรับ มันจะเป็นจริงขึ้นมาไหมล่ะ แล้วพอยอมรับขึ้นมา อ้าว! ก็ไม่เชื่อครูบาอาจารย์อีก อ้าว! ครูบาอาจารย์สอนผิดหมดเลย กูเก่งกว่า ของกูถูก ของกูถูกเพราะอะไร เพราะมันไม่เหมือนกัน

อ้าว! ของท่านผิดหมดเลย กูไม่เชื่อ ไม่เชื่อทุกอย่าง แล้วเชื่ออะไรล่ะ? ก็เชื่อกิเลสกูนี่ไง แล้วเวลาสอนมีอะไรล่ะ? ไม่มีอะไรเลย ให้รู้ข้างใน

เรื่องอย่างนี้มันเกิดมาเยอะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเกิดนิมิต เกิดอุปาทาน เกิดความเป็นไป ถ้าไม่มีสินค้าจริงขึ้นมา จะไม่มีสินค้าเทียม ของปลอมจะมีต้องมีของจริงก่อน ทีนี้ครูบาอาจารย์เราเป็นของจริง สิ่งที่เป็นของจริง ถ้าของจริงทำเพื่อใคร หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่า ท่านปฏิบัติมา เวลาท่านจะตาย ถ้าตายที่บ้านผือมันก็อยู่ในป่า แต่เพราะท่านเห็นแก่ชีวิตของสัตว์ ท่านถึงมาตายอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส ชีวิตของท่านทั้งชีวิตเลยนะ อยู่ในป่าในเขา ทำไมสังคมเขาเชื่อถือศรัทธาล่ะ

แล้วอย่างของเรา เราประพฤติปฏิบัติกันมันมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องให้เขามาเชื่อถือศรัทธา มันมีความจำเป็นอะไร ความเชื่อศรัทธาจากคนมันมีความจำเป็นอะไร มันไม่มีความจำเป็นเลยนะ แต่ที่เราทำกันมันเป็นไปโดยอำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล อยู่ในป่าอยู่ในเขาที่ไหน ถ้าเป็นความจริง เขาดั้นด้น เขาเข้าไปหา เขาเข้าไปเพื่อต้องการศึกษาเพื่อคุณประโยชน์ของเขาเท่านั้น

แต่นี่มันทำทุกอย่างมีเล่ห์กลหมด เพื่อการยอมรับ พอเพื่อการยอมรับ มันไม่ได้ทำเพื่อชำระกิเลส มันเป็นการทำเพื่อสร้างกิเลส พอสร้างกิเลสขึ้นมา นี่ตัณหาความทะยานอยากใช่ไหม แล้วไอ้พวกที่ไม่มีประสบการณ์ก็เชื่อกันไป พอเชื่อกันไปมันก็มีปัญหาขึ้นมา มันมีปัญหา แล้วมีปัญหานี่มันเป็นกรรม

แล้วเวลาเราถาม กูรับรองมึงตรงไหน ก็ไม่ได้รับรอง เพราะเห็นว่าถ้ารับรองไปแล้ว ไอ้การรับรองกับไม่รับรองมันเป็นแค่เรื่องคำพูด แต่ถ้ารับรองไปแล้วมันผิด มันจะไปชี้ให้คนอื่นเห็นผิดๆ แล้วคนอื่นผิดมันจะผิดเป็นขบวนการไปเลย

แต่ถ้าเป็นความถูก ถ้าเราบอกนี่ถูก นี่ใช่ แล้วมันจะไม่มีวันผิด คนที่รู้จริงจะสอนผิด เป็นไปไม่ได้ มันเป็นความจริง เพราะสอนออกมา เวลาเทศน์ ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนเพราะอะไร เพราะประสบการณ์ตรง คนที่ปฏิบัติงาน ผ่านงานมาแบบนั้น จะพูดสิ่งที่ควรจับต้องและทำมา สิ่งที่จับต้องและทำมาจะพูดอย่างไรๆ ก็ออกมาตรงนั้นน่ะ สิ่งที่จับต้องและทำมา มันออกมาจากใจอย่างนั้น อย่างไรมันก็ไม่ผิด

แต่ถ้าคนที่มันไม่มี มันหลักลอย ถามอย่างหนึ่งก็ตอบอย่างหนึ่ง วันนี้ตอบอย่างนี้ พรุ่งนี้ตอบอีกอย่างหนึ่ง การตอบไม่อยู่กับที่ มันเคลื่อนไปตลอดเวลา เพราะตรรกะของคนมันคิดได้ลึกไปเรื่อยๆ วันนี้คิดได้แค่นี้ เหมือนโกหก วันนี้โกหกอย่างนี้ พรุ่งนี้โกหกซ้ำ โกหกไปๆ โกหกไปจนกูไม่รู้ว่ากูพูดอะไร ถ้ามันโกหกจนไม่รู้จะพูดอะไร แล้วธรรมะอยู่ที่ไหน สัจธรรมมันอยู่ที่ไหน สอนไปแต่ละวันไม่เหมือนกันสักอย่างหนึ่ง แล้วก็ไหลไปเรื่อยๆ อย่างนี้ แล้วที่ไหนมันเป็นความจริง นี่ไง เหตุที่ไม่รับรองเพราะตรงนี้ ไม่ใช่ว่าไม่รับรองเพราะอิจฉา ไม่ใช่ไม่รับรองเพราะว่ากลัวลูกศิษย์จะดังกว่าอาจารย์ ไม่ใช่หรอก กูอยากให้พวกมึงรู้ฉิบหายเลย แต่ถ้ามันไม่จริง มันรับรองไปมันเสียหายกันไปหมด มันเป็นมหาโจร มันจะเป็นโจรปล้น อื้อหืม! มันเป็นความเข้าใจผิดนะ เป็นความเข้าใจผิดว่าครูบาอาจารย์กดขี่กันไว้ ไม่ใช่

ครูบาอาจารย์กลั่นกรองไว้ กลั่นกรองไว้เพื่อความถูกต้อง กลั่นกรองไว้เพื่อเป็นคุณงามความดี กลั่นกรองเพื่อความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ครูบาอาจารย์ไม่อยากให้เป็น ไม่อยากให้เป็นจะลงทุนอย่างนี้ทำไม

เห็นๆ เลย ตอนอดอาหารนี่เห็นๆ เลย เหตุเกิดเพราะอยากดัง เหตุเกิดเพราะสร้างเหตุ ยังทนเอา อืม! น่าจะแก้ไขได้ มีปัญหาขึ้นมาคอยเคลียร์นะ เรื่องมันแล้วก็แล้วกันไป ไม่มีปัญหาหรอก เรื่องแล้วก็แล้วกันไป ให้ไปอยู่ที่นั่นคนเดียว ไปอยู่คนเดียว

คนเราถ้าผิดพลาด อยู่ในสังคมจะไม่มีเวลาคอยเห็นความผิดของตัว ถ้าคนเราเวลามีปัญหาแล้วไปนั่งสงบๆ อยู่คนเดียว แล้วนั่งคิด มันจะเห็นว่าเราผิดเราถูกนะ ที่ให้ไปก็ให้ไปปฏิบัติ ให้ไปสำนึกตัว ให้ไปเห็นว่าตัวเองผิดหรือถูกอย่างไร ให้มีเวลาได้ไตร่ตรองตัวเอง จะอดอาหารสัก ๑๐๐ วัน ก็เชิญตามสบาย อยู่ในป่า อดเข้าไปเลย ทำให้เต็มที่เข้าไปเลย ไม่ทำ ไม่ทำ อาจารย์รับรองแล้ว ผ่านแล้ว รู้วาระจิตไปหมดเลย สอนเขาไปหมดเลย...อันนี้มันหันลงนรก มันหันลงนรก นี่ยังดีนะ พอเรื่องมันเกิดแล้วเคลียร์ ถ้าเรื่องมันเกิดแล้วไม่เคลียร์นะ อายเขา อายเขามาก ศาสนานี้ไม่มีของจริง มีแต่ของหลอกลวงกัน

ของจริงนะ ดูสิ หลวงตาท่านพูด พระเราเหมือนกับเนื้อนา คฤหัสถ์ญาติโยมเขามาทำบุญกุศล เขาเหมือนเจ้าของนา เขาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของเขาไปหมดเลย เนื้อนามันได้แต่ฟางข้าว มันได้แต่เมล็ดข้าวที่ตกหล่นไว้กับนา นั่นเนื้อนาบุญของโลกไง เราเป็นเนื้อนาบุญของเขาให้เขามาตักตวงบุญกุศลไป แล้วเราได้อะไร มันได้อะไร ในเมื่อเราปฏิบัติมา มันมีอะไรจะไปเติมให้มันมากขึ้นหรือน้อยลง เราได้อะไร ได้แต่เศษข้าวที่ตกนั่นน่ะหรือ แล้วจำเป็นไหมที่จะต้องไปคลุกคลีกับเขา เหนื่อย วันๆ หนึ่งคนโน้นมา คนนี้มา ร้อยแปดพันเก้า แล้วได้แต่เศษของที่หล่นอยู่กับพื้นนา บุญกุศลมันของเขานะ แล้วเราทำไมต้องไปวุ่นวายขนาดนั้น มันไม่มีอะไรเลย ถ้ารู้จักว่าเขามา แต่นี่มันหมาขี้เรื้อน อยู่ไม่ได้ ต้องออกไป

เวลามา เตือนตลอดนะ บอกว่าให้อยู่นิ่งๆ แล้วอย่าให้มันมีผลกระทบ เพราะที่นั่นมันมีพวกสิบแปดมงกุฎเขามาหลอกลวงหลายรอบแล้วบริเวณนั้น แล้วไปก็เป็นอีก แล้วชาวบ้านเขาเห็น เขามา เขาไม่สนใจหรอก

ดูสิ ที่อุทัย สมชายมันบอก ตั้งแต่ไปอยู่ปีแรก ชาวบ้านที่นั่นเขาหารกันเลย พระที่มานี่อยู่ไม่ได้หรอก อยู่ได้ไม่กี่วัน ที่เขามาอุปัฏฐากนั่นน่ะ เขาหารกันเลยว่าไอ้คนนั้นจะเอาจักร เขาหัวเราะเยาะเลย เขาเห็นพระมาเขายิ้มเลย “มาอีกแล้ว รุ่นใหม่ เดี๋ยวกูจะปอกลอกมัน” นี่เขาอยู่กับพระมา เขาเห็นมากันทั้งนั้นน่ะ แต่ไอ้ที่ไป ไปด้วยความตื่นเต้น อยากจะบริหารจัดการ

มันเกิดขึ้นมาตลอด ศาสนาเรานี้ ศาสนาพุทธมันอยู่กับสังคมไทยมากี่ร้อยกี่พันปีมาแล้ว เวลาผู้ปฏิบัติ ของจริงก็มี ของปลอมก็มี มันอยู่คู่กันนะ แล้วมันอยู่คู่กันไป แต่ขณะที่ในการประพฤติปฏิบัติ ทุกคนเกิดมามีกิเลส พอมีกิเลสขึ้นมา เราจะมาประพฤติปฏิบัติ ก็กิเลสของเรา เราต้องมาดัดแปลงแก้ไขมัน จะไม่มีการกระทบกระทั่งกันเลย การปฏิบัติจะไม่มีผิดพลาดเลย มันเป็นไปไม่ได้ เราหลงมาเยอะมาก เราปฏิบัติผิดมาเยอะมาก แต่มันดีอย่างหนึ่ง เป็นสุภาพบุรุษ เวลาหาครูบาอาจารย์ “ของผมเป็นอย่างนี้ครับ ของผมเป็นอย่างนี้ครับ” ผิดต้องพูดมาว่าผิด ถูกต้องพูดมาว่าถูกเลย “ของผมเป็นอย่างนี้ครับ” แล้วมันผิด เวลาท่านพูดมามันก็เคลม เคลมให้เป็นความเห็นของเรา หลวงตาจะพูดอย่างไร “เหมือนกันๆ”

ไอ้เหมือนกัน เราเคยเอาใจเราเทียบอยู่แล้ว แต่พอปฏิบัติจริงๆ มันไม่เหมือน มันเหมือนไม่ได้ เพราะมันไม่มีเหตุมีผล พอมันมีเหตุมีผลถึงเป้า “อืม! อันนี้สิเหมือน” พอมาถึงเป้าปั๊บ ผลัวะ! “เออ! คราวนี้ไม่พลาด” แต่ก่อนที่จะเป็นอย่างนี้มันจะต้องหลงมาก่อน มันต้องมีการผิดพลาดมาก่อน เหมือนกับทำงานฝีมือ เริ่มต้นฝึกหัดมันจะไม่สมดุลหรอก มันจะไม่เรียบร้อย แต่ทำบ่อยๆๆ ทดสอบบ่อยๆๆ จนถึงที่สุดมันสมดุล เหมือนกัน ใช้ได้เลย การประพฤติปฏิบัติมันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ว่า “ถึงแล้ว ใช่ ถึงแล้ว ใช่”...ไม่ใช่หรอก ขิปปาภิญญาเท่านั้นว่าใช่ แต่เวไนยสัตว์มันต้องถูต้องไถไป ต้องถูต้องไถไปขนาดไหนต้องทำไป

แต่นี่ไม่ใช่ แล้วพอตัวเองไม่ใช่ พอไม่ใช่ ตัวเองมีความเห็นอันหนึ่ง เวลาครูบาอาจารย์เทศนาว่าการเป็นอีกอย่างหนึ่ง เลยไม่ให้ฟังเทศน์ไง ไอ้ไม่ให้ฟังเทศน์มันบอกถึงกิเลสว่ามันถือตัวถือตน เหยียบย่ำทำลายครูบาอาจารย์ ถือว่าตัวเองดีกว่า แต่จะพูดออกมามันเป็นเรื่องของกิเลสใช่ไหม บอกว่าอย่าไปฟังคนอื่น ให้ฟังกูคนเดียว เพราะกูอยากดัง พูดอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องกิเลสใช่ไหม ก็บอกว่า “ฟังเทศน์แล้วมันไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้”...จริงๆ คือว่ามึงอย่าฟังใคร ให้ฟังกู กูนี้เก่ง กูนี้อาจารย์พวกมึงนะ ไอ้พวกนั้นมันไม่เป็นหรอก ยังดีไม่บอกไอ้พวกนั้นพวกสัตว์ด้วยน่ะ พอไม่ให้ฟังเทศน์ เราคิดอย่างนี้เลย คือมันอิจฉาตาร้อน แม้แต่ครูบาอาจารย์มันยังอิจฉาตาร้อนเลย แล้วมันจะเอาธรรมมาจากไหน

ถ้าเป็นความจริง ดูสิ เราขึ้นวิทยุเลย เราให้ฟังตลอด ให้ฟังตลอด การได้ฟังธรรมมันเป็นความยากอย่างยิ่ง แล้วฟังธรรมครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมแท้ๆ แล้วพอฟังขึ้นมาแล้ว ดูสิ ดูของครูบาอาจารย์เราเป็นธรรมเนื้อๆ ฟังไป ชาวบ้านเขารู้อะไรไหม เขาฟังแล้วเขาไม่รู้เรื่อง แต่ไปฟังเทศน์ปริยัติ ฟังเทศน์นิทาน “โอ๋ย! เข้าใจง่าย โอ๋ย! สว่างกระจ่างแจ้ง” นี่เทศน์โดยสมมุติไง นี่ไง พื้นฐานของจิตของคนมันต่ำ มันฟังของหลอกๆ มันว่าถูก พอเวลาฟังของจริงๆ มันฟังไม่เป็น เราถึงทำไว้ให้มันฟังกันเพื่อประโยชน์ ถ้าใครฟังได้ เป็นประโยชน์ได้ มันก็สมประโยชน์ ถ้าใครฟังแล้วไม่เข้าใจมันก็กรรมของสัตว์

แต่นี่มันเป็นเพราะกิเลสเรา เพราะอะไร เพราะเราพูดได้หยาบๆ พอครูบาอาจารย์ท่านพูดได้จริง “อย่าไปฟังนะ ฟังแล้วมันเป็นแม่กล่อมเด็ก ฟังแล้วมันเป็นการกล่อมใจ”

ก็การฟังธรรม การปฏิบัติ การฟังธรรม พระพุทธเจ้าเทศน์สำเร็จเป็นแสนๆ ครูบาอาจารย์เทศน์แล้วสำเร็จหมด แล้วมีอะไรบอกไม่ให้ฟัง

ไม่ให้ฟังมันไม่ใช่เรื่องการฟังเทศน์ไม่ฟังเทศน์หรอก มันเป็นเรื่องของกิเลสคนบอก กูอิจฉา กูอยากดัง ให้ฟังกูคนเดียว แต่จะพูดตรงๆ ไม่ได้ พูดตรงๆ มันเปิดหน้ากิเลสมากเกินไปไง ให้กิเลสมันแฉลบออกไปหน่อยเดียวเท่านั้นน่ะ แล้วพูดแฉลบๆ กันไปอย่างนั้นน่ะ

มันเศร้าใจ ต่อหน้าเราไม่ทำ ไปทำอยู่ข้างนอก แล้วต่อหน้าเราก็หลอกลวง มาพูดกันระหว่างตัวต่อตัว ออกไปพูดอีกอย่างหนึ่ง

ไม่เคยยอมรับ ไม่เคยเลย ไม่เคยยอมรับ มาทีไรบอก “กูไม่ฟังมึง กูไม่ฟังมึง กูไม่ฟังมึง”

แล้วบอก “ทำอย่างนี้มันถูกไหม”

เราบอก “ถูก มึงขึ้นถนนถูกไหม ถูก มึงเดินไปให้จบ”

มึงขึ้นถนนถูกไหม ถูก เอาแผนที่มากาง แผนที่ประเทศไทยถูกไหม ถูกใช่ไหม แผนที่ประเทศไหนที่ออกมาโดยกรมวิทยาศาสตร์ ถูกไหม ถูกทั้งนั้นน่ะ บอกว่าถูกไหม ก็ถูกไง แผนที่ประเทศก็ถูกไง แต่มึงเดินถูกหรือเปล่า บอกว่าถูกไหม ก็ถูก ก็แผนที่ประเทศไทย แต่มึงเดินไปในพื้นที่ มึงลงไปหรือยัง ก็มึงไม่ลง ไม่ลงแล้วถูกได้อย่างไร

แล้วบอกมึงเดินถูก ถูกอย่างไร กูไม่รับรองมึง ไม่เคยรับรองเลย แต่ไหนแต่ไรมา แล้วไม่ใช่รับรอง ห่วงอย่างเดียว ห่วงตรงนี้ ห่วงว่าถ้ารับรองไปแล้ว ไปสอนคนอื่นผิดแล้วมันเสียหาย แล้วถ้ามันมีปัญหาขึ้นมา แล้วถ้ามันหลุด มันบ้าขึ้นมา แล้วกูไปการันตีมัน เหมือนกูค้ำประกัน สุดท้ายแล้วกูต้องไปใช้จ่ายหมดเลย ถึงไม่เคยยอมรับเลย แต่ไปพูดข้างนอกได้อย่างไรว่า “รับ รับ”

เมื่อวานถามต่อหน้าเลย “กูรับมึงตรงไหน”

“ไม่ได้รับครับ”

แล้วไปพูดข้างนอกได้อย่างไร แล้วอย่างนี้จะมีศีลบริสุทธิ์ไหม แล้วทำสมาธิได้ไหม แล้วจะเกิดปัญญาได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แล้วจะบอกขั้นไหนๆ...ก็ขั้นบ้าไง เอวัง