เทศน์พระ

ความจริง

๒๗ ธ.ค. ๒๕๕๑

 

ความจริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ทำใจให้สงบ เวลาฟังธรรมเราต้องเปิดกว้าง เวลาฟังธรรมด้วยธรรมะ ธรรมะจะเข้าสัมผัสใจเรา ฟังธรรมด้วยโมฆบุรุษ ฟังธรรมด้วยความจับผิด ด้วยความผิด มันปิดหัวใจ

เหมือนเราฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน มันไม่ได้จับผิดเวลาเราฟัง เพราะมันมีความรู้ความเห็นของเรา เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ออกมามันตรงกับความรู้ความเห็นของเราไหม ถ้ามันไม่ตรงกับความรู้ความเห็นของเรา มันเป็นเพราะเหตุใด เราต้องหาเหตุผลสิ เราจะไปค้นหาเหตุผล

เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม ธรรมะมันอยู่ที่เหตุและผล อย่าเอากำปั้นทุบดิน อย่าเอาสีข้างเข้าถู อย่าว่าเราถูก เราจะเอาดีไปหมด ทุกคนมันมีกิเลสในหัวใจนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่นเวลาท่านพูดกับหลวงตา “มหา ท่านพรรษาก็เยอะแล้ว ให้ดูแลหมู่คณะ ให้พระใหม่ๆ มันเข้ามา มันจะได้มีข้อวัตรติดหัวมันไป ถ้าไม่มีข้อวัตรติดหัวมันไป มันก็เอาสีข้างมันเข้าถู” นี่เป็นความเมตตาของครูบาอาจารย์นะ

ดูสิ หลวงตาท่านสร้างวัดขึ้นมา ท่านจะพูดตลอดเวลา “มันมากเกินไปไม่ได้ มันจะแออัดกันเกินไป มันไม่สะดวกแก่การประพฤติปฏิบัติ”

การประพฤติปฏิบัติ การเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนามันจะไปทำลายกิเลสในหัวใจของเรา มันจะเป็นช่องทางเข้าไปหาสัจธรรม สิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านเปิดช่องทางไว้ให้เรา ท่านเมตตามากนะ อย่าให้ท่านเสียกำลังใจ กำลังใจของท่าน ศาสนทายาท ทุกคนก็อยากปรารถนาศาสนทายาท จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจของครูบาอาจารย์ของเราเวลาท่านส่งต่อมาถึงใจของเรา ให้ใจของเราเป็นธรรม อย่าให้ใจของเราเป็นกิเลส

ถ้าใจของเราเป็นกิเลส มันเข้าไม่ถึงธรรม มันเป็นเรื่องของกิเลสล้วนๆ เป็นเรื่องของโลก เรื่องของโลก ปัจจุบันนี้มีบริษัทบริหารจัดการ เขาทำให้เราได้ เราอยากจะมีงานมีการต่างๆ เขามาจัดการให้ได้หมดเลย เขามาออกแบบให้เสร็จเลย เราจะมีหน้ามีตาขนาดไหน เราจะจัดงานเราให้ยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ได้ถ้าเรามีสตางค์เสียอย่างเดียว

เดี๋ยวนี้พระก็เหมือนกัน มีแต่รูปแบบ เอาแต่รูปแบบมาอวดกันไง แล้วเราก็เป็นโลกอยู่แล้วใช่ไหม ใจเราก็เป็นโลก พอเห็นเป็นรูปแบบเข้าเราก็ทึ่ง เราก็ศรัทธา รูปแบบ ดูสิ ดูภาพศิลปะฝาผนังที่เขาเขียนไว้สวยๆ เขาเขียนไว้มหัศจรรย์มาก มันเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต มันเป็นรูปแบบ เราไปตื่นเต้นอะไรกับรูปแบบอย่างนั้น

แต่ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันแก้ทุกข์เราได้จริงหรือเปล่า มันทำความสะอาดใจของเราได้จริงหรือเปล่า ใจของเราสะอาดบริสุทธิ์จริงหรือไม่ ใจของเรา ใครมาโกหกมดเท็จไม่ได้นะ มันเร่าร้อน มันมีกิเลสทิ่มแทงในหัวใจอยู่ มันแสดงออกของมันเป็นธรรมดา ถ้ามันแสดงออกเป็นธรรมดา ครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ มันไม่เป็นความจริง มันไม่สามารถถอนศรปักใจของเราได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าสิ่งนี้เป็นไปได้ มันจะเป็นครูบาอาจารย์ของเราได้อย่างไร มันก็เป็นนกแก้วนกขุนทองไง

นกแก้วสมัยปัจจุบันนี้ตัวหนึ่งเป็นล้าน เขาเลี้ยงกันตัวหนึ่งเป็นล้าน ราคามันน่ะ แล้วครูบาอาจารย์นกแก้วนกขุนทองมันเป็นพลาสติก มันไร้สาระ สิ่งที่ไร้สาระ เอาความจริงเข้าจับสิ เอาความรู้สึกของหัวใจเราเข้าจับว่ามันเป็นธรรมจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นธรรมจริง แสดงกิริยาอย่างนั้นออกมาได้อย่างไร กิริยาอะไร? กิริยาคือมารยาสาไถยไง เป็นมารยาสาไถย เป็นโมฆบุรุษ หวังลาภสักการะ หวังชื่อเสียง หวังความยอมรับของคน

แต่หลวงปู่มั่น หลวงตาของเรา ครูบาอาจารย์เราที่เป็นความจริง ไม่สนใจเรื่องกิริยาท่าทางเลย กิริยานี้เป็นการแสดงออกของธรรม ถ้าธรรมมันได้ไหลไป ดูน้ำสิ น้ำป่าที่มันพัดมา น้ำป่าที่มันมีความรุนแรงของมัน มันพัดบ้านเรือนพังทลายไปหมดเลย แต่เวลาฝนตกน้ำหลากมา มันเอาสิ่งที่เป็นตะกอน เอาสิ่งที่เป็นปุ๋ยมา มันเป็นประโยชน์มาก

น้ำหลากก็คือน้ำหลาก น้ำสิ่งที่มันพัดมามันทำลายบ้านเรือนสิ่งที่กีดขวางไปหมดเลย สิ่งนั้นมันเป็นกระแสของน้ำใช่ไหม กระแสของพลังใช่ไหม ธรรมก็เหมือนกัน กิริยาไม่สำคัญ กิริยานี้เรื่องไร้สาระมาก มันมีเนื้อหาสาระหรือเปล่า เนื้อหาสาระการแสดงออกมาของธรรมนั้นน่ะ ถ้ามันมีเนื้อหาสาระ เนื้อหาสาระมันคืออะไร เนื้อหาสาระมันคือความเป็นจริง สิ่งที่เป็นจริง ถูกต้องได้จริง สัมผัสได้จริง ถ้าใจมันจริง มันต้องเป็นความจริงอันเดียวกัน ความจริงมีหนึ่งเดียว ความจริงไม่มีสอง ดูสิ ครูบาอาจารย์เวลาพูด พระอรหันต์ล้านองค์ก็ล้านวิธีการ ความล้านวิธีการ แต่ความจริงมันมีหนึ่งเดียว มันลงที่เดียวกัน มันเป็นอันเดียวกัน มันต่างกันไม่ได้ ถ้าต่างกัน พระอรหันต์องค์หนึ่งต้องผิดแน่นอน พระอรหันต์องค์หนึ่งต้องผิด ไม่ใช่พระอรหันต์เด็ดขาด

แต่ถ้าเป็นความจริงแล้ว มันจะมาสุดทางที่ไหน ดูสิ กระแสน้ำทุกกระแสน้ำ ลำธารทุกลำธาร ไหลลงสู่ทะเลหมด มันเป็นหนึ่งเดียวกันหมด มันจะต่างกันไม่ได้ ถ้ามันต่างกันมันต้องมีความผิด มันมีความผิดเด็ดขาด แต่ความผิดอย่างนี้ ใครมีวุฒิภาวะไปจับความผิดอย่างนี้ได้ ความผิดของครูบาอาจารย์ท่านแสดงออกมาไง เราถึงว่าฟังธรรมมันต้องเอาเหตุเอาผลเข้าไปจับ อย่าเอาความรู้สึก อย่าเอากระแสสังคม กระแสสังคมมันเป็นเรื่องของการสร้างภาพ มันสร้างได้ทั้งนั้นน่ะ โลกเขาสร้างมาทั้งนั้นน่ะ แล้วสร้างขึ้นมาแล้วมันเป็นประโยชน์อะไรกับโลก

ดูหลวงปู่มั่นสิ หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าตลอดนะ เวลาผู้ที่จะเข้าไปหาหลวงปู่มั่นต้องซื้อทางเข้าไป มันเป็นคันนาของเขาอยู่วัดหนองผือ คนจะเข้าไป ผู้เฒ่าไปไม่ได้ ต้องนั่งเกวียนไป ต้องซื้อทางไป คือเกวียนนั้นมันต้องบดข้าวเข้าไป ไม่มีถนน ไม่มีหนทาง ไม่มีสิ่งที่เข้าไปหาได้

แต่ในปัจจุบันเป็นอย่างนั้นไหม ในปัจจุบันนี้มีแต่เข้าไปหาโยม เข้าไปยอมจำนนกับเขาหมดไง โลกเป็นใหญ่ ถ้าโลกเป็นใหญ่ ศาสนามันก็โดนโลกเหยียบย่ำ ถ้าโลกเหยียบย่ำแล้วมันจะเป็นอะไรล่ะ แล้วพูดออกมานะ เกรงใจเขา เกรงใจเรา เกรงใจเขาไปหมด พูดไปกระทบกระเทือนโยม เดี๋ยวเกียรติยศมันจะหายไปหมดไง มันต้องขออนุญาตกิเลสก่อนแล้วมันถึงแสดงธรรม

แต่ถ้ามันเป็นธรรมะ ธรรมเหนือโลก ธรรมเหนือโลกมันเป็นอมตธรรม มันสามารถชำระกิเลสได้ทั้งหมด ทุกคนแสวงหา เขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็แล้วแต่ ดูสิ เด็ก เราให้วิชาการกับเขา เวลาเราให้วิชาการเขา เราบังคับให้เขามีการศึกษา เขาเดือดร้อน เขาอึดอัดไปหมด แต่เวลาเขาจบการศึกษาแล้ว เขาไปทำหน้าที่การงานของเขา เขาจะซึ้งบุญซึ้งคุณอาจารย์ของเขา เพราะเขามีวิชาการอย่างนี้ เขาถึงมีตำแหน่งหน้าที่การงานนี้มา เขาซึ้งคุณมาก แต่ขณะที่เขามีการศึกษาอยู่ โดนบังคับอยู่ เด็กคนไหนมันก็ไม่มีความชอบทั้งนั้นน่ะ

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ในเมื่อมันเป็นกิเลสของเรา เราถูกไปทั้งนั้นน่ะ เราเก่งไปทั้งนั้นน่ะ เราเก่ง ทำไมมันสงสัยล่ะ ปากพูดดี ปากนี้จ้อยๆๆ เลย นกแก้วนกขุนทองเลยล่ะ แต่หัวใจมันว้าเหว่ หัวใจมันเศร้าหมอง หัวใจมันไม่เข้าใจเลย ลังเลสงสัย พูดเสร็จแล้วก็วิตก พูดจบแล้วกลับไปกุฏิก็ไปนั่งคอตก “เอ๊! เขาจะเชื่อเราหรือเปล่านะ เขาจะจับผิดเราได้หรือเปล่า เขาจะฟังเราหรือไม่ฟังเรา” พูดแล้วทำไมมันทิ่มตัวเองล่ะ พูดออกไปแล้วทำไมมันกลับมาทิ่มตัวเอง

แต่ถ้าเป็นธรรมะมันจะไปทิ่มใครล่ะ มันไม่มีอะไรจะทิ่ม มันเป็นความจริงอันหนึ่ง ความจริงคือความจริงวันยังค่ำ พูดที่ไหนก็เป็นความจริง แต่คนรับได้หรือไม่ได้ มันเป็นเรื่องของธรรมเหนือโลก มันก็เป็นสัจธรรมอันหนึ่ง

ถ้าฟังธรรมแล้วเอามาเพื่อประโยชน์เรา มันจะได้ประโยชน์กับเรา พันธุกรรมทางจิต ถ้าจิตมันอ่อนแอ อินทรีย์มันอ่อนแอ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลามสูตร อย่าเชื่อว่าอาจารย์เรา อย่าเชื่อว่ามันเข้ากับเหตุผลได้ อย่าเชื่อว่ามันสมเหตุสมผลที่มันจะเป็นจริง ไม่ให้เชื่อทั้งนั้นเลย เพราะมันเป็นตรรกะ แก้กิเลสไม่ได้ เราต้องพิสูจน์ สิ่งที่อาจารย์ท่านสอนมันเป็นจริงไหม พิสูจน์ได้ พุทโธเข้าไปสิ อัดมันเข้าไป ปัญญาอบรมสมาธิก็ทำเข้าไป แล้วเราเข้าไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมอย่างไร แล้วไปถามท่าน ถ้าท่านตอบผิด ท่านน่ะหลง ท่านน่ะไม่เป็น เราเห็นน่ะจริง นี่มันตรวจสอบง่ายๆ ที่ท่านพูดออกมามันเป็นจริงไหม ถ้าท่านพูดออกมาไม่จริง เราไปเห็นจริง ความเป็นจริงมันขัดแย้งกัน ความจริงมันมีหนึ่งเดียว ความจริงไม่มีสองหรอก ถ้าความจริงมีสอง ศาสนามันก็หลากหลายน่ะสิ

ศาสนาไม่มีหลากหลาย หนึ่งเดียว เห็นไหม พระสารีบุตรไปถามภิกษุณี “หนึ่งไม่มีสองคืออะไร”

อธิบายมาสิ สุขคู่กับทุกข์ มืดคู่กับสว่าง ดีคู่กับชั่ว รักก็คู่กับชัง สว่างก็คู่กับมืด สว่างก็คู่กับไม่สว่าง มันมีของคู่หมด แล้วหนึ่งคืออะไรล่ะ

เอโก ธมฺโม ธรรมอันเอก ในพระพุทธศาสนาเรา ธรรมอันเอก หนึ่งไม่มีสอง มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

นิพพานเป็นอย่างไร นิพพานมันมีรูปแบบหลากหลายขนาดนั้นเชียวหรือ นิพพานมันมีคนละอย่างสองอย่างหรือ นั่นนิพพานของใคร? ก็นิพพานของไอ้โมฆบุรุษไง โมฆบุรุษก็เป็นนิพพานของมัน

แต่ถ้านิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลุกขึ้น เม้มปาก แล้วนั่งลง เหมือนกันหมด สัจธรรมอันเดียวกัน ทีนี้สัจธรรมอันเดียวกัน ถ้าเราฟังธรรม เรามีวุฒิภาวะ มันอยู่ตรงนี้ มันอยู่ตรงที่วุฒิภาวะของเรา เราฟังแล้วมันน่าเชื่อไหม มันเป็นจริงไหม มันฟังแล้วมันสมกับที่เป็นจริงไหม เราคิดโต้แย้งได้นะ ไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านพูดอะไร ให้คิดโต้แย้งไว้ แล้วหาเหตุหาผล ไม่ท่านผิดก็เราผิด โต้แย้งด้วยหาเหตุหาผล ไม่ใช่โต้แย้งด้วยการเนรคุณ

โต้แย้งด้วยการกตัญญูกตเวที เห็นไหม ขอนิสัย อาจารย์กระสันอยากสึก ผู้ที่อุปัฏฐากอยู่ต้องออกอุบายไม่ให้ท่านสึก สัทธิวิหาริกอยากจะสึก อยากจะอะไร อาจารย์ต้องมีอุบายวิธีการ ชักพาดูกัน ซักผ้า พักผ่อน เจ็บไข้ได้ป่วย สัทธิวิหาริกกับครูบาอาจารย์จะดูแลกัน สิ่งนี้มันเป็นข้อวัตรปฏิบัติ นี่ก็เหมือนกัน อาจารย์กระสันอยากสึก อาจารย์กระสันคิดออกไปนอกลู่นอกทาง เราเป็นสัทธิวิหาริก เราแก้ไขได้หมด เรามีวิธีการ ถ้าเรามีเชาวน์ปัญญา นี่ไง ไม่ใช่เนรคุณ นี่กตัญญูกตเวที เราคิดโต้แย้งด้วยความกตัญญูกตเวทีได้นะ นี่ไง ที่ว่าถ้าเราคิดโต้แย้งคือเราไม่เคารพบูชาอาจารย์...ไม่ใช่

เราเคารพบูชา เรารักมาก เราเทิดทูนมาก แต่เหตุผลมันลงกันได้ไหม ถ้าเหตุผลมันลงกันได้ มันก็เป็นสัจธรรมใช่ไหม ถ้าเหตุผลลงไม่ได้ “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” อาจารย์ อาวุโส-ภันเต อาวุโส-ภันเตด้วยกฎหมาย ด้วยวินัยใช่ไหม

แต่ถ้าคุณธรรมในหัวใจล่ะ อาวุโส-ภันเต เราเคารพด้วยธรรมวินัย แต่คุณธรรมในหัวใจ ถ้ามันไม่จริง ๕๐๐ พรรษา มันก็ไม่พ้นนิสัยอยู่วันยังค่ำ แต่ถ้าคนที่พ้นนิสัยมันมีหลักมีเกณฑ์ในใจ ธรรมวินัย สมมุติบัญญัติ วิมุตติ สมมุติบัญญัติ สมมุติแล้วบัญญัติ สมมุตินี้เป็นสมมุติต่างๆ โลกสมมุติ เป็นการสมมุติ บัญญัติเป็นธรรมวินัย นี่บัญญัติ สมมุติบัญญัติ เห็นไหม ธาตุ แล้วเราไปเกาะธาตุ ธาตุ ๔ รู้ว่าธาตุ ๔ สักแต่ว่าธาตุ ๔ ก็สักแต่ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็สักแต่ว่า ขนสักแต่ว่าขน สักแต่ว่าหมดเลย แล้วจิตมันรู้อะไร สักแต่ว่า ใครเป็นสักแต่ว่า ถ้าสักแต่ว่า โลกก็มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน แล้วใครบริหารจัดการมันล่ะ ใครเอาไปใช้เป็นผลประโยชน์

สักแต่ว่ามันต้องมีจิตเห็น สักแต่ว่านี้เป็นคำพูดของพระอรหันต์ มันมีความเป็นจริงของมันแล้ว มันถึงรู้จริง แล้วมันปล่อยวางได้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่สักแต่ว่า เก้อๆ เคอะๆ เขินๆ ไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นไปโดยธรรมชาติ มันเป็นไปโดยข้อเท็จจริงที่มันจะเป็นสัจธรรมอย่างนั้น แต่ในเมื่อผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ครูบาอาจารย์เป็นผู้ที่ให้นิสัย จะสอนลูกศิษย์อย่างไร

มันต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบเข้ามาแล้วเห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนังตามความเป็นจริง ถ้าเห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนังตามความเป็นจริง วิภาคะ การแยกส่วนขยายส่วน เพราะอะไร เพราะถอนอุปาทาน ถอนความรู้สึก ถอนความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นจริง ถ้าการถอนตามความเป็นจริงมันถอนได้จริง อย่างนี้ต่างหากมันถึงเป็นธรรม

ไม่ใช่ว่า “นั่นก็สักแต่ว่า”...ถ้าสักแต่ว่ามันเป็นธรรมตั้งแต่เราไปอยู่ในท้องนู่นน่ะ ก็เรามีครบ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ทุกคนก็มีครบ ทุกคนก็รู้หมด เจ็บปวดเหมือนกัน หยิกไปที่เนื้อก็เจ็บ หนังก็เจ็บ ถ้ามันสักแต่ว่าๆ ก็ไม่เจ็บสิ

นี่ไง ถ้าของจริงมันจะมีขั้นตอนของมัน คำว่า “ขั้นตอน วิธีการ” วุฒิภาวะของจิตมันมีพัฒนาการของมัน มันเห็นความสงบของใจเข้ามา เห็นการกระทำของมัน เข้าไปรื้อถอนใจของมัน มันทำได้ตามความเป็นจริงไง

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เป็น “โน่นก็สักแต่ว่า” ถ้าสักแต่ว่า แผงขายเนื้อสัตว์มันก็เป็นพระอรหันต์หมดเลย ยิ่งเชิงตะกอนเผาศพ พระอรหันต์เต็มเลย เพราะมันมีผม ขน เล็บ ฟัน หนังเหมือนกัน มันเป็นอะไรล่ะ คนตายไปแล้วมันมีประโยชน์อะไร

ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ระลึกถึงบุญคุณของอาฬารดาบส เพราะไปศึกษากับอาฬารดาบสมามาก ได้สมาบัติ ๘ อาฬารดาบสบอกเลยว่า “เจ้าชายสิทธัตถะมีความรู้เท่าเรา เป็นอาจารย์สอนได้ เป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ในสำนักเรา เรายกให้เป็นอาจารย์องค์หนึ่งในกรรมการที่เป็นอาจารย์ด้วยกัน”

เจ้าชายสิทธัตถะไม่เอา เพราะอะไร เพราะสมาบัติมันก็หินทับหญ้าไว้เฉยๆ ออกมามันก็ทุกข์อย่างเดิม ออกมาค้นคว้าของตัวเองจนสำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “จะสอนใครได้หนอ” เล็งญาณจะสอนใคร จะสอนคนนี่นะ การรื้อสัตว์ขนสัตว์ไม่ใช่ไปเจอสัตว์แล้วก็จะเอาสวิงไปรื้อมันขนมัน ไม่ใช่หรอก เล็งญาณดูว่าวุฒิภาวะของจิตของแต่ละคนมันสมไหม การแสดงธรรมออกไปเขารับได้ไหม นี่แสดงธรรม อาฬารดาบสเข้าฌานสมาบัติอยู่ จิตมันนิ่งอยู่ แต่กิเลสมันส่งออก จะไปสอนอาฬารดาบสก่อน แต่กำหนดดู “โอ้! น่าเสียดาย ตายไปเมื่อวานนี้เอง”

ตายไปแล้วทำไมไม่ตามไปสอนบนพรหมล่ะ

นี่ไง ในเมื่อสักแต่ว่า คนมันตายไปแล้ว จิตมันออกจากร่างไปแล้วมันจะมีประโยชน์อะไร

“ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นอริยสัจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นสัจธรรม” ถ้ามันเป็นสัจธรรม ศพมันก็เป็นสัจธรรม มันไม่เป็นสัจธรรมเพราะอะไร เพราะมันไม่มีจิต

จิตตภาวนา จิตสงบเข้ามาก่อน แล้วจิตไปเห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนังด้วยข้อเท็จจริง การเห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนังด้วยข้อเท็จจริงมันจะสะเทือนหัวใจมาก การเห็นกายด้วยจิต จิตเห็นกายมันวิภาคะ มันจะขยายส่วนแยกส่วน อุคคหนิมิต วิภาคนิมิต การขยายส่วนแยกส่วนโดยเจโตวิมุตติ

ไม่ใช่ว่า “สักแต่ว่าๆ” เริ่มต้นก็สักแต่ว่าเลย คือปฏิเสธเลย มันเข้าไม่ถึงธรรมหรอก มันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าครูบาอาจารย์ที่สอนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ลูกศิษย์ทำไป นี่ไง โคนำฝูง ถ้าโคมันโง่ มันจะเอาฝูงโคนั้นอยู่ในวังน้ำวน ตายห่าหมด ถ้าโคมันฉลาดมันจะพาฝูงโคนั้นขึ้นฝั่ง

สิ่งสัจจะความจริงอย่างนี้ไม่ต้องไปหาที่ไหนหรอก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเอกสารหลักฐาน คือเทศน์ออกมา ธรรมะจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อแสดงธรรม ผู้ใดแสดงธรรมออกมา มันออกมาจากความรู้อันนั้น ถ้าความรู้อันนั้นมันรู้ได้ขนาดไหนก็พูดได้แค่นั้น สิ่งที่พูดออกมา พูดจากความเห็นของตัว

แล้วบอกว่า “จะไปจับผิดๆ”

ไม่ได้จับผิด มันเทศน์ออกมาอยู่ในท้องตลาดเต็มไปหมดเลย เพียงแต่คนที่มีหลักเกณฑ์ มีปัญญาไม่มีปัญญามันเห็นหมด นี่ไง คนโง่ คนฉลาด สร้างเอกสารเท็จก็เป็นความผิดอันหนึ่ง ใช้เอกสารเท็จก็เป็นความผิดอีกอันหนึ่ง เทศน์ออกมาเท็จ ตัวเองเทศน์ออกมาเป็นธรรมะเท็จๆ ก็เป็นความผิดอันหนึ่ง ยังบอกว่า “ฉันเทศน์ธรรมะ โอ๋ย! มาจับผิดฉันได้อย่างไร” นี่สร้างเอกสารเท็จ

ใช้เอกสารเท็จ เอาเทศนาว่าการนั้นออกไปในท้องตลาดไปหาผลประโยชน์ “โอ๋ย! ธรรมะขององค์นั้นดีอย่างนั้น ธรรมะขององค์นี้ดีอย่างนี้” นี่ใช้เอกสารเท็จ พอบอกใช้เอกสารเท็จ อ้าว! เอกสารเท็จมันก็มีโทษนะ

หลวงปู่ตื้อท่านขึ้นไปบนเขา ไปสอนพระองค์หนึ่ง แล้วท่านเดินลงจากเขามา “เอ๊ะ! เราสอนผิดไว้คำหนึ่ง”

ท่านเดินขึ้นเขาไปเลย ไปบอกว่า “คำที่ผมพูดคำนั้นผิดนะ”

พระองค์นั้นบอก “โอ๋ย! หลวงปู่ทำไมต้องขึ้นมาขนาดนี้ มาพูดเมื่อไหร่ก็ได้”

“ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวถ้าท่านไปพูดให้คนอื่นฟัง คนอื่นฟังต่อไปมันเป็นความผิด”

ตัวเองทำตัวเองหลงผิดมันก็เป็นความเสียหายของตนเอง แต่เราหลงผิดแล้วทำให้คนอื่นหลงผิดด้วย บาปอกุศลนี้มหาศาลเลย นี่มันเป็นเรื่องข้อเท็จจริง ต่อไป ๕,๐๐๐ ปี ศาสนาจะเสื่อม เสื่อมอย่างไร? เสื่อมเพราะจิตใจของคนมันเสื่อมจากหลักธรรม

ธรรมะไม่เคยเสื่อม ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามารื้อค้นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ในภัทรกัปนี้เป็นองค์ที่ ๔ แล้วองค์ที่ ๕ พระศรีอริยเมตไตรย นี่ของที่มีอยู่แล้ว มันไม่มีวันเสื่อมหรอก เพียงแต่พวกเราเสื่อม จิตใจเราเสื่อม จิตใจเราไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปรื้อค้น ที่จะเข้าไปถึงเป้าหมายอันนั้นได้ เรานี้เสื่อมจากธรรม นี่เราเสื่อมนะ แล้วในเทศนาว่าการเป็นเอกสารเท็จมา หลักการมันบิดเบือนไปโดยสามัญสำนึกของจิตของกิเลส มันก็ต้องการความสะดวกสบายของมันอยู่แล้ว มันไม่ต้องการขวนขวาย มันต้องการแบบว่า “ขิปปาภิญญา ผู้ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เราต้องปฏิบัติ เราต้องรู้”...สร้างบุญกุศลอะไรมา การที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ขิปปาภิญญา เขาต้องมีบุญกุศลของเขา อย่างพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ท่านปรารถนาเป็นอัครสาวก ท่านต้องสร้างของท่าน อัครสาวก สาวกสาวกะ เอตทัคคะแต่ละองค์สร้างมาหลากหลายแตกต่างกัน

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ท่านสร้างของท่านมา ท่านทำของท่านมา ขิปปาภิญญา ความตรัสรู้ง่าย มันต้องมีพื้นฐาน คนต้องทำมา ถ้าทำมาแล้วมันไม่แสดงออกซื่อบื้อแบบที่ไม่มีปัญญาอย่างเราหรอก พวกเราสาวกสาวกะ

แต่ถ้ามันเป็นผู้ที่มีเชาวน์ปัญญา มันมีหลักคิด มันมีจุดยืน มันจะหาเหตุหาผล อาจารย์พูดนี้ถูกหรือผิด สิ่งที่พูดออกมามีเหตุผลไหม ถ้ามีเหตุผล ดูสิ หลวงตาท่านบอกเวลาท่านโต้กับหลวงปู่มั่น ไม่ใช่โต้ด้วยทิฏฐิมานะ คำว่า “โต้” หมายถึงว่า เราก็มีความรู้อันหนึ่ง เราก็มีปัญญาอันหนึ่ง ในเมื่อเรามีปัญญาอันหนึ่ง เรามีความเห็นของเราอันหนึ่ง ท่านก็มีความเห็นของท่านอีกอันหนึ่ง ถึงต้องหาเหตุหาผลกันไง นี่พูดโต้แย้งเพื่อหาเหตุหาผล หาข้อเท็จจริงที่เป็นความถูกต้อง

แต่สุดท้ายแล้ว เพราะอะไร เพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ หลวงตาท่านเป็นลูกศิษย์ ท่านยังเป็นผู้ที่แสวงหาอยู่ เหตุผลดีขนาดไหน เพราะอะไร เพราะหลักการทางวิชาการ เพราะเรียนมาเป็นมหา แล้วปฏิบัติด้วย จินตมยปัญญามันกว้างขวางมาก แต่ด้วยเหตุด้วยผล “อืม! ก็น่าฟังของท่านนะ แล้วถ้าเรามาหาท่าน ทำไมเรามาหาท่านล่ะ เรามาหาท่านเพื่อมาหาคนชี้นำ ในเมื่อเรามาหาท่านแล้วทำไมเราไม่ลองประพฤติปฏิบัติดูแบบท่านล่ะ”

พอประพฤติปฏิบัติเข้าไป “อืม! ท่านถูกหมดเลย เราผิดหมดเลย”

เพราะเราเป็นจินตนาการของเราหมดเลย แล้วเรามีทางวิชาการรองรับด้วย

เวลาหลวงปู่มั่นถาม “มหา จิตสบายดีไหม”

“สบายดีครับ สบายดีครับ”

“มันสบายตายอะไร นั่นมันสุขในเศษเนื้อติดฟัน”

“สุขในเศษเนื้อติดฟันอันนี้ก็เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิไม่เป็นอย่างนี้ สัมมาสมาธิในพระไตรปิฎกจะให้เดินทางไหนล่ะ”

“สัมมาสมาธิของท่านอย่างหนึ่ง...” เพราะสัมมาสมาธิของเรามันมีความเห็นผิด คือมีสมุทัยใช่ไหม “สัมมาสมาธิของท่านอย่างหนึ่ง สัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างหนึ่งเว้ย! สัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันไม่มีสมุทัย ไม่มีทิฏฐิมานะ ไม่มีความเห็นผิดนั้นบวกเข้ามา”

ก็ยังไม่เข้าใจนะ พอมาปฏิบัติ มาทดสอบ “อืม! จริงของท่านหมดเลย”

ตั้งแต่นั้นมาเวลาหลวงปู่มั่นขึ้นเสียง จะหมอบลงฟังก่อน “สงสัยมันจะเป็นแบบนั้นน่ะ สงสัยของท่านจะจริง สงสัยของเราจะปลอม” เห็นไหม สงสัยว่าเราจะปลอม ของท่านคงจะจริง เพราะมันได้ทดสอบครั้งแรก พอเราทดสอบครั้งแรกแล้ว ของเรามันผิดหมดเลย ของท่านถูก ฉะนั้น คำตอบของท่านในแต่ละครั้งๆ มันก็ต้องตั้งหลักก่อน

การค้นคว้า การแสวงหาอย่างนี้มันไม่ใช่การโต้แย้งด้วยการเนรคุณ มันโต้แย้งด้วยความกตัญญูกตเวที เพราะหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านต้องการสร้างศาสนทายาทขึ้นมาเพื่อดำรงศาสนา ศาสนทายาทมันต้องสะอาดบริสุทธิ์มาจากใจ ถ้าใจเราไม่สะอาดบริสุทธิ์ มันเป็นโมฆบุรุษ มันเป็นเล่ห์มันเป็นกล มันเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นสินค้า

แต่ถ้ามันเป็นสัจจะความจริงขึ้นมา มันไม่ใช่เป็นเล่ห์เป็นกล ศาสนทายาทมันต้องสะอาดบริสุทธิ์มาจากใจ ถ้าใจมันสะอาดบริสุทธิ์ ศาสนทายาทอย่างนี้มันจะเป็นหลักเกณฑ์ในศาสนา ครูบาอาจารย์ท่านต้องการตรงนี้ ท่านมีเมตตาอย่างนี้ ท่านมีเป้าหมายอย่างนี้ ท่านถึงพยายามทำ ดูสิ สิ่งที่วางไว้ให้เป็นข้อวัตรปฏิบัติ หลวงปู่มั่นท่านบอก “ให้มีข้อวัตรปฏิบัติติดหัวมันไป” ถ้ามันมีข้อวัตรปฏิบัติติดหัวมันไป มันมีสมบัติ มันจะรู้เลยว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ดูสิ ดูอย่างเงินจริงกับเงินปลอม เรามีเงินจริงติดตัวเรามา ถ้ามีเงินปลอม มันเปรียบเทียบได้ว่าสิ่งนี้ปลอมสิ่งนี้จริง เพราะสิ่งจริงเรามีอยู่ สิ่งนั้นเป็นสิ่งปลอม เราเห็นได้

เรามีข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมา ข้อวัตรปฏิบัติคืออะไร ข้อวัตรปฏิบัติมันก็มาจากธรรมวินัยพระพุทธเจ้า กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่าง กิจของสงฆ์มีอะไรบ้างล่ะ กวาดลานเจดีย์ วัจกุฎีวัตร วัตรในโรงฉัน นี่ข้อวัตรปฏิบัติ ถ้ามันมีข้อวัตรปฏิบัติ นี่กิจของสงฆ์ ในการนั่งสมาธิภาวนา กิจของสงฆ์ไม่ใช่ไปร่อนหาเหยื่อหรอก ไอ้นั่นไม่ใช่กิจของสงฆ์ ไอ้นั่นมันกิจของวณิพก เที่ยวหาผลประโยชน์ วณิพกไง

แต่นี่มันกิจของสงฆ์ มันเป็นข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเรามีข้อวัตรปฏิบัติ เราอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัย เรากอดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ เราจะผิดไปไหน ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา แล้วเรากอดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎก “ภิกษุ ถ้าผู้ใดอยู่ถึงตะวันตกของประเทศชมพูทวีป ถ้าประพฤติปฏิบัติตามเรา เหมือนกับอยู่ใกล้เรา ผู้ใดจับชายจีวรเราไว้ แต่ไม่ปฏิบัติตามเรา...”

ตามเราคืออะไร ตามเราคือธรรมวินัยไง ตามเราคือข้อวัตรปฏิบัตินี่ไง ตามเราคือตั้งสติ นั่งสมาธิภาวนานี่ไง “ถ้าผู้ใดปฏิบัติตามเรา อยู่ถึงภาคตะวันตกของชมพูทวีป ก็เหมือนอยู่ใกล้ๆ ตัวเราเลย”

กิจของสงฆ์ ข้อวัตรปฏิบัติ สัลเลขธรรม ๑๐ ความมักน้อยสันโดษ การขัดเกลากิเลส การต่างๆ การแสวงหาต่างๆ การกระทำของเราขึ้นมา อยู่กับครูอยู่กับอาจารย์มันเอาตรงนี้ เพราะอะไร เพราะการเคลื่อนไหวมีสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เหม่อลอยนะ ไอ้นี่มีปัญญามาก พูดปากเปียกปากแฉะน้ำลายแตกฟองเลย แต่ตาเหม่อลอย เถ่อหมดเลย อย่างนี้หรือมีสติ ไอ้นี่มันโลกๆ คือมันไม่ได้ออกมาจากใจ มันออกมาจากสามัญสำนึก ออกมาจากสัญญา ออกมาจากข้อมูลที่เราไปจับมาผิดจับมาถูก เพราะอะไร เพราะวุฒิภาวะจิตใจมันอ่อนแอ สิ่งใดออกมา เห็นกิริยาท่าทาง ลองฟังดูสิว่ามันมีข้อมูลไหม มันมีความเท็จจริงอย่างไรในสิ่งที่เขาแสดงออกมานั่นน่ะ ธรรมะที่แสดงออกมา โมฆบุรุษแสดงธรรมออกมา มันมีแต่สิ่งที่จะทำให้เราผิดพลาดทั้งนั้นน่ะ

แต่ที่มันจริง สิ่งที่ผิดพลาดเพราะอะไร เพราะมันไม่รู้ เราไม่รู้ขั้นตอนเลย ไม่รู้ว่าจิตสงบเป็นอย่างไร จิตสงบยังไม่รู้ อย่าว่าแต่พูดถึงนิพพานกันเลย จิตมันไม่สงบเข้ามา มันจะมีพื้นฐานยกขึ้นวิปัสสนาอย่างไร สิ่งที่ยกวิปัสสนาเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล แม้จิตสงบยกขึ้นวิปัสสนาก็ยังไม่เข้าใจ แล้วก็บอกว่า “นี่จิตสงบเข้ามา แล้วก็ไปแก้กันที่อวิชชา ย้อนกลับเข้ามาเลย แล้วไปพลิกกันที่อวิชชา พอพลิกอวิชชาเป็นพระอรหันต์”...หันลงนรกกันหมด รับรองกัน รับประกันกัน แล้วก็หาเหยื่อกัน

ฟังแล้วเศร้าใจมากนะ เพราะมีคนมาพูดให้ฟังเยอะมาก ในการที่เขาพากันลงนรก แล้วคนที่ลงนรกก็ยังไม่รู้ว่าลงนรก การันตีเลยนะ “ไอ้นั่นพระอนาคามี นั่นพระอรหันต์”...หันลงไหน มันมีเหตุมีผลตรงไหนสักเหตุผลหนึ่งที่เป็นพระโสดาบัน แค่มันพิจารณากายปล่อยกายตามความจริงมันยังทำไม่ได้เลย ถ้าคนทำได้ สติมันมี ดูนางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน รักหลานมาก เพราะหลานเป็นคนทำบุญแทน เป็นตัวแทนที่ทำบุญกุศล เป็นคนจัดการเรื่องบุญกุศลของนางวิสาขาเลย แล้วตายลง ตายก่อนนางวิสาขา นางวิสาขาร้องไห้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“วิสาขา เธอเป็นอะไร”

“หลานตาย”

“อ้าว! ถ้าอย่างนั้นในโลกนี้ ในประเทศนี้ ในชมพูทวีป ถ้าเป็นหลานของเธอหมด เธอจะไม่ต้องร้องไห้ทุกวันเลยหรือ เพราะคนมันตายทุกวัน”

ได้สติปั๊บ กลับเลย นี่ถ้าเป็นพระโสดาบัน ถ้ามันมีสติ เวลาพระโสดาบันตายถึงไม่ตกอบายภูมิ เพราะมันกระเทือนมา เวลาคนจะตาย จิตจะออกจากร่าง พอจิตจะออกจากร่างมันจะบีบคั้น พอบีบคั้น มันสำนึกตัวทันทีเลย พอสำนึกตัวทันทีปั๊บ สติมาพร้อมเลย มันควบคุมใจได้ มันจะไปไหนล่ะ มันก็ไปในสิ่งที่ดีไง แต่พวกเรามันไม่มีสติ มันไม่มีสัมปชัญญะต่างๆ เวลาพูดออกไปมันไม่เข้าใจอะไรเลย

ธรรมะ เวลาแสดงธรรมมันต้องมีเหตุมีผลที่เหมือนกับเงินจริง มันชำระหนี้ได้จริง ถ้าธรรมะแท้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กาย มันพิจารณาอย่างไร

“พิจารณากายสิ จิตสงบแล้วพิจารณากาย”

เราได้ยินมาก ใครก็พูดคำนี้ “ทำจิตสงบนะ แล้วพิจารณากาย”

กายของใครล่ะ มันจะเป็นกระดูกหมูใช่ไหม กายในบาตรหรือ เวลาใส่มา ต้มหมู ซี่โครงหมูผัดพริกไทยมาหรือ พิจารณากายอย่างไร ไอ้นี่มัน ปฏิสงฺขา โยฯ เวลาเราเห็นอยู่ในบาตร มันเป็นเนื้อสัตว์ พิจารณา ปฏิสงฺขา โยฯ นี่เป็นของเน่าบูด เราฉันของเน่าบูด สิ่งที่มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยดำรงชีวิตเท่านั้น แล้วกายเป็นอย่างไร เห็นอย่างไร พูดไม่ถูกหรอก

“พิจารณากายสิคะ พิจารณากาย จิตสงบแล้วพิจารณากาย”

ก็โม้กันไป พิจารณากาย พิจารณากายอย่างไร อย่างไรถึงพิจารณากาย แบงก์ ๑๐๐ แบงก์ ๑,๐๐๐ แบงก์ ๕๐๐ แยกออกมา ใบไหนใบ ๑๐๐ บาท ใบไหนใบละ ๕๐๐ บาท ใบไหนใบ ๑,๐๐๐ บาท นี่ก็เหมือนกัน สมาธิเป็นอย่างไร ปัญญาเป็นอย่างไร

นี่เลขในแบงก์มันยังพูดไม่เป็นเลย มันยังรู้ไม่จริงเลย แล้วบอกว่ามีคุณธรรมๆ คุณธรรมอะไรของมึง แต่มันก็แปลกนะ ธรรมดาของสามัญสำนึก สังคมมันอ่อนแอลงเรื่อยๆ สังคมมันจะปลายแหลมไปเรื่อยๆ วุฒิภาวะของจิตมันจะต่ำต้อยไปเรื่อยๆ พอเห็นพระ เห็นคนไปเคารพศรัทธามันก็เชื่อกันแล้ว มันไม่เอาเหตุเอาผลมาพิจารณา ถ้ามันเอาเหตุเอาผลมาพิจารณา เราจะเป็นประโยชน์กับเรา เราจะไม่เป็นเหยื่อของสังคม เราไม่เป็นเหยื่อของโลก ไม่อย่างนั้นเราเป็นเหยื่อของโลกกันหมด ถ้าเราเป็นเหยื่อของโลก เราจะไม่ได้อะไรหรอก

ปฏิบัติไปถึงที่สุดแล้ว เห็นไหม ชีวิตเรา ดูสิ สัตว์เขาจะเอาไปฆ่า เขาทาสีแดงไว้ที่กลางหลังเลย สุดท้าย ฆ่าตัวนี้ๆๆ แล้วถึงเวลาเข้าโรงฆ่ามันก็ต้องฆ่า ชีวิตเราเหมือนกัน ถึงเวลามัจจุราชมา ต้องตายวันนั้นๆ ถึงวันนั้นมันจะรู้ว่าอะไรจริงอะไรปลอม พระอรหันต์ถึงเวลาตายมันจะรู้ว่ามันหันจริงหรือเปล่า ถ้ามันหันจริงขึ้นมา สิ่งที่มันจะตาย มันไม่มีตายตั้งแต่ตรงนี้ มันตายตั้งแต่วันกิเลสตาย มันตายตั้งแต่วันที่เป็นพระอรหันต์ ถ้ากิเลสมันตายไปแล้ว ไม่มีอะไรตาย ทีนี้การกำหนดวันตาย ดูสิ อิทธิบาท ๔ ผู้ใดพิจารณาอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ ผู้ที่จะพิจารณาอิทธิบาท ๔ คือพระอรหันต์เท่านั้น

ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ อิทธิบาท ๔ คือความทรงจำ จิตตะ วิมังสา อิทธิบาท ๔ คือจำได้แล้วคิดตามเท่านั้นเอง แต่มันไม่เป็นอิทธิบาท ๔ ตามข้อเท็จจริง จิตตะ วิมังสา ความระลึกรู้ของใจ มันควบคุมใจอย่างไร มันพัฒนาใจอย่างไร มันรั้งไว้อย่างไรที่จะไม่ให้จิตนี้ออกจากร่าง มันจะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ อยู่ได้เพราะเหตุใด มันอยู่ได้เพราะมันทำจริงของมัน อิทธิบาท ๔ คือพระอรหันต์เท่านั้นที่จะทำอิทธิบาท ๔ ได้ แต่ถ้าเรายังไม่ถึง มันพูดแต่ปาก มันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วใครเป็นคนเชื่อว่ามันเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ล่ะ เพราะต่างคนต่างตาบอด ต่างคนต่างไม่รู้จริง

ถึงบอกว่า เราบวชมาแล้วเราต้องขวนขวาย ต้องเอาความจริง หาความจริงให้ได้นะ ถ้าความจริง ข้อเท็จจริงที่เรารู้จริงได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเรารู้จริงขึ้นมาไม่ได้ เราจะเป็นเหยื่อกับสังคม เหยื่อทั้งนั้นนะ เป็นเหยื่อ ดูสิ คำว่า “เป็นเหยื่อ” เราจะเสียโอกาสของเรา เราจะโดนชักจูงไป เราเชื่ออะไร

ที่เชื่ออยู่นี่เราโต้แย้งมันสิ ทำไมถึงไม่เชื่อ สิ่งที่เป็นไป ทำไมถึงไม่เชื่อ ไอ้คนที่ถามๆ คนไหนบ้างที่มันได้ประโยชน์มา ที่ถามๆ ที่ตอบปัญหากันมา ใครได้ประโยชน์มา ก็คนไปถามก็ไม่รู้ มันน่าสงสาร เพราะเราอยู่ในเหตุการณ์เรื่องอย่างนี้มาเยอะมาก เรานั่งฟังอยู่ เขาตอบปัญหากัน สังเวชมากนะ ไอ้คนถามก็เสียประโยชน์ คนตอบก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย คนถามเขาไปทำธุรกิจของเขามา เขาได้แบงก์มาใบหนึ่ง เขามาถามว่า “แบงก์ใบนี้มันมีค่าราคาเท่าไร แบงก์ใบนี้มันจริงหรือปลอม”

ตอบแบบไหนมารู้ไหม ตอบว่า “แบงก์นี้คือกระดาษ กระดาษคือใช้ผลประโยชน์ได้”

มันไม่ได้บอกว่าแบงก์จริงหรือแบงก์ปลอมเลยนะ เวลามันตอบปัญหากันน่ะ เราไปนั่งฟัง โอ๋ย! ปวดหัว ปวดหัวไปหมดเลย

สัจธรรมนะ เขาถามว่าแบงก์นี้จริงหรือปลอม ถ้าจริงหรือปลอม แบงก์นี้มันราคาเท่าไร ก็ตอบเขาไปสิ

เขาถามว่า “แบงก์นี้จริงหรือปลอม”

“แบงก์นี้คือกระดาษ กระดาษเปื้อนหมึก ใช้ประโยชน์ได้”

นี่ไปไหนมา สามวาสองศอก แต่ไอ้คนที่ฟัง “เออ! แบงก์นี้เป็นกระดาษ ใช้ประโยชน์ได้” มันก็เอาไปใช้ประโยชน์เลย จริงหรือปลอมก็ยังไม่รู้นะ

คนเอามาถามก็ไม่รู้ คนตอบก็ไม่รู้ แล้วมันก็เอาไปใช้ในท้องตลาดกัน ท้องตลาดนั้นมันก็โง่ ก็ใช้ได้อีก มันก็ศาสนาเสื่อมไง เสื่อมกันไปเรื่อยๆ เราถึงเข้าไม่ถึงความจริง

ถ้าเข้าถึงความจริง กระดาษก็คือกระดาษ ก็รู้ว่าเป็นกระดาษ แต่ว่ากระดาษมันมีค่าเท่าไร กระดาษพิมพ์มาจากโรงงาน พิมพ์มาจากรัฐบาลมา หรือพิมพ์มาจากไอ้สิบแปดมงกุฎที่มันปลอมมา ถ้าเราเป็นผู้มีคุณธรรม เราทำงานธนาคารชาติ เรามองทีเดียวก็รู้ ไม่ต้องถาม ยกกระดาษขึ้นมาเห็นยังรู้เลย แค่ธรรมะนี้อ้าปากมาก็รู้อยู่แล้ว ไอ้นี่ถามซักกันไปซักกันมา

จะบอกว่า ในเมื่อเหตุและผลรวมลงเป็นธรรม แต่ผู้ที่จะเข้าไปหาคุณธรรมจริงมันต้องมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ กระแสสังคมก็เป็นอย่างนั้น เราก็เป็นเหยื่อในกระแสสังคม เพราะเราเกิดกับสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แล้วถ้าไม่มีวุฒิภาวะ มันก็เป็นเหยื่อเขาไป มันถึงน่าสังเวชไง นี่ไง ศาสนาจะเสื่อม จะเสื่อมไปอย่างนี้ อนาคตนะ

กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เจริญในใจของหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ เจริญในใจของครูบาอาจารย์เรามา วางกระแสสังคมจนสังคมเชื่อถือว่ามรรคผลยังมีอยู่ แล้วสิ่งที่อาศัยหลัก อาศัยความเชื่อในครูบาอาจารย์ของเรา แล้วก็เกาะเกี่ยวกันไป แต่ตัวเองไม่สามารถสร้างหลักความจริงขึ้นมา

ถ้าตัวเองสามารถสร้างหลักความจริงขึ้นมา ไม่ต้องอาศัยกระแส เราพูดจากความจริงของเรา จุดยืนของเรา ประโยชน์ของเรา เห็นไหม แบงก์จริงใบหนึ่ง มันมีคุณค่ากว่าแบงก์ปลอมทั้งโลก กระแสสังคม กระแสปลอมๆ นั้นน่ะ ไปตื่นเต้นอะไรกับมัน ความจริงของเราสร้างขึ้นมาให้ได้ แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง