เทศน์พระ

ความพลัดพราก

๑๑ ม.ค. ๒๕๕๒

 

ความพลัดพราก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ เห็นไหม ถามว่า เอ็งกินข้าวแล้วมานี่เลยหรือ

เวลากินข้าวเสร็จ ฉันข้าวเสร็จ เราเดินทาง มันเป็นภาระ มันเหมือนเข้าเวร ถึงวันพระแล้วต้องไปปาฏิโมกข์ ทำไมไม่ปาฏิโมกข์อยู่ที่วัดล่ะ ถ้าพระทั่วไปเขาคิดอย่างนี้ได้นะ

เวลาเราบวชใหม่ๆ เราอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ เราลงอุโบสถของเราเอง เราอยู่ในป่าที่ไหน บุคคลอุโบสถ เราไม่ฟังใครหรอก เรานี้แข็งมาก เมื่อก่อนเราอยู่คนเดียว เราจะลงอุโบสถของเราคนเดียว ถ้าไปลงกับใคร ไปลงกับหมู่คณะไป ถ้าอยู่วัดไหน เราลงที่นั่น

เพราะเราบวชใหม่ๆ เราขวนขวายมาก เราดูบุพพสิกขา มหาปวารณา เรื่องวินัยเราดูหมด เพราะกลัวมาก กลัวเราเข้าไปอยู่ในหมู่พระแล้วเราจะไปปล่อยสะเหล่อ เราไม่เข้าใจอะไรเลย เราไปทำผิดพลาด เราอายเขา เราจะศึกษาของเรา ทีนี้พอศึกษา มันมีใช่ไหม บุคคลอุโบสถ คณอุโบสถ สังฆอุโบสถ แล้วอุโบสถ อย่างที่พูด เวลาเราเทศน์ มันมาจากไหน? มันมาจากบุพพสิกขา

ถ้าเราทำผิด เราไปอยู่คนเดียวในป่า ถ้าเราไปพรากของเขียวเข้า แล้วเราจะไปปลงอาบัติกับใครล่ะ ถ้าไม่ได้ปลงอาบัติกับใคร มันก็เป็นความทุกข์ร้อนใช่ไหมว่าเราไม่ได้ปลงอาบัติ ถ้าไม่ปลงอาบัติ เดี๋ยวคืนนี้ผีก็จะมาหลอกแล้ว

ดูสิ หลวงปู่มั่นไปอยู่ที่ถ้ำสาริกา พระภิกษุไปอยู่ที่นั่นตายไปแล้ว ๓ องค์ เพราะอะไร ไปบิณฑบาตแล้วมันไกลไง พอไกล บิณฑบาตวันนี้ ฉันแล้วเหลือก็เก็บไว้กินพรุ่งนี้อีกวันหนึ่ง เพราะอะไร ถ้าเหลือ พรุ่งนี้ก็ไม่ต้องไปบิณฑบาตใช่ไหม แต่มันเป็นสันนิธิ ภิกษุเก็บอาหารไว้แรมคืน ฉัน เป็นปาจิตตีย์ทุกคำกลืน เทพหักคอเลยนะ ตายไป ๓ องค์ นี่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ อยู่ในป่านี่ตายได้

ทีนี้ถ้าเราอยู่ในป่า ถ้าเราศึกษามา ในประวัติหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นเห็นที่ถ้ำสาริกา ถ้าเราไปพรากของเขียวเข้าแล้วจะทำอย่างไร มันเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าอย่างนั้นเราก็วิตกกังวลตายเลย แต่ถ้าในบุพพสิกขาบอกไว้เลยว่าให้ตั้งใจไว้ว่าถ้ามีพระ เราจะปลงอาบัติ เรารู้แล้วว่าเราเป็นอาบัติ เหมือนเราสารภาพ เรายอมรับว่าเราเป็นอาบัติ เราจะปลงอาบัติ แต่มันเป็นเรื่องสุดวิสัย ไม่มีคู่ปลงอาบัติ ไม่มีผู้เป็นพยาน การปลงอาบัติกับฝ่ายตรงข้ามเป็นการประจานตัวเองนะ “ข้าพเจ้าทำผิดพลาดมาแล้ว”

แล้วพระก็ถามเราว่า “ทำอะไรผิดมา”

“ผิดถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ทุกกฏ ทุพภาษิต”

แล้วก็ “สาธุ สุฏฺฐุ ข้าพเจ้าจะสำรวมระวังต่อไปข้างหน้า”

ปลงอาบัติปั๊บ ถ้าเป็นอาบัติหนัก ปลงไม่ได้ อาบัติหนักต้องไปอยู่ปริวาส อาบัติหนักคือว่าปลงไม่ได้เลย เช่น ปาราชิก ๔ แล้ว แล้วถุลลัจจัยปลงได้ สิ่งที่ปลงได้มันเป็นอาบัติทั่วไป พอปลงได้ปั๊บ เราก็สบายใจ

เวลาออกไปเที่ยวธุดงค์ เราอยู่ของเรา เราลงบุคคลอุโบสถ เราทำของเรา แล้วพอเราโตขึ้นมา ดูสิ ดูอย่างมหานิกายเขาบอกเลย “พระป่า พอพรรษา พอบวชแล้วก็ออกธุดงค์กันเลย มันจะธุดงค์ได้อย่างไร มันไม่พ้นนิสัย”...ใช่ ถ้ามันเป็นไปได้ ถ้าคนเดินตามธรรมวินัยเลย บางวัด ไม่อยากเอ่ยชื่อ เวลาพระบวชใหม่มาเขาจะออกธุดงค์ แล้วก็จะมีพระพี่เลี้ยงไป เป็นเรื่องใหญ่โตมาก จะมีพระออกธุดงค์ จะมีพระพี่เลี้ยงเป็นคาราวานเลยนะ มันเหมือนลูกเสือไปเข้าค่าย จะต้องมีอาหารไปดักหน้าดักหลัง เอาธุดงค์มาเป็นกิจกรรม เอากิจของธุดงค์มาเป็นกิจกรรม เพื่อจะหากิจกรรม เพื่อจะให้ชาวบ้านเขามาทำบุญกุศลกัน เป็นเรื่องเป็นราววุ่นวายไปเลย

แต่ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะไปของเรา ค่ำไหนนอนนั่น เพราะอะไรรู้ไหม มันเหมือนนก นกเวลามันบินไป ดูสิ เวลาฤดูกาลมันย้ายถิ่น มันบินข้ามทวีป มันบินข้ามทะเลเลย มันไปของมัน ถ้ามันไปรอด มันหลบหนาว พอหมดฤดูมันต้องอพยพกลับถิ่นของมัน แล้วมันก็จะไปวางไข่เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของมันใช่ไหม

เราเป็นภิกษุ เป็นผู้ที่เหมือนนกไม่มีรวงไม่มีรัง ไม่ติดในที่อยู่ เหมือนนกใช่ไหม ฉันเสร็จ เก็บบริขารเสร็จแล้วก็ไป มันไป มันไม่รู้ว่าจะได้กลับหรือไม่ได้กลับ มันจะตายไปที่ไหนยังไม่รู้เลย แล้วจิตมันคิดอย่างไร การธุดงค์ เราธุดงค์อย่างนี้ ธุดงค์จริงๆ ธุดงค์เพื่อให้เห็นกิเลส ธุดงค์ให้เห็นว่ากลัวตายไหม ไปผจญภัย ชีวิตเราแขวนอยู่บนเส้นด้าย มันไปตามนั้น ไม่ใช่ไปธุดงค์ถูไปตามดง ทะลุดงไปเลย ดงไหนกูจะทะลุไปเลย เพื่อเป็นประวัติการณ์ว่ากูได้ธุดงค์ไง กูได้เคยเดินผ่านดงนี้ ดงนี้กูได้เดินผ่านมาแล้ว มันไม่ได้กำจัดกิเลสเลย มันไม่ได้เอามาวัดว่าเราทำเพื่ออะไร

เราศึกษาของเรามา เราโต้แย้งผู้ที่กล่าวโจษในพระป่าเรา แต่เราก็โต้แย้งผู้ที่ทำกิจกรรมนี้เพื่อหาศักยภาพมาใส่ตัว เพราะธุดงควัตรมันเป็นการขัดเกลากิเลส มันเป็นการทำลายกิเลสของเรา ตัวตนของเรา เพราะเราอยู่กับที่มันก็ติดที่ ถ้าไปจนเลยเถิดไปมันก็เป็นว่าวไม่มีเชือกเลย เป็นว่าวเชือกขาด ไม่รู้จะตกที่ไหน มันไปอย่างนั้นมันก็ไปไม่ถูกใช่ไหม เราไปอยู่ในธรรมวินัย สิ่งที่เป็นธรรมวินัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้

โลกนี้เป็นอนิจจัง ความเป็นอยู่ด้วยกันมันต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา เราไม่พลัดพรากจากเขา เขาก็พลัดพรากจากเรา นี้มันเป็นเรื่องธรรมดา จะไม่มีใครอยู่กับเราไปจนวันตาย จะไม่มีใครมาอยู่กับเราตลอดไปหรอก สิ่งที่อยู่ด้วยกัน มันเป็นสิ่งที่มันมาพบกัน มันเป็นผลของวัฏฏะ เราจะโคจรมาเจอกัน แล้วเราก็จะพลัดพรากกันไป เว้นไว้แต่มันถูกจริตถูกนิสัย พอถูกนิสัยมันก็เป็นเพื่อนกัน เป็นสิ่งที่เป็นสหธรรมิก เป็นสิ่งที่ฝังใจกัน ระลึกถึงกัน ระลึกถึงสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ระลึกถึงกันแล้วเป็นคุณงามความดี ระลึกถึงกันแต่สิ่งที่ดีๆ เก็บเอาสิ่งที่ดีๆ ไว้ในหัวใจของเราดีกว่า

สิ่งที่พบกันมันเป็นเรื่องธรรมดา โลกนี้มันเป็นอย่างนี้ ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ดูสิ พ่อแม่ปู่ย่าตายายก็ต้องพลัดพรากกันเป็นธรรมดา แม้แต่คู่ครองกันเขาก็ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา มันไม่มีใครจะอยู่ค้ำฟ้าหรอก เป็นไปไม่ได้หรอก ความเป็นอยู่นะ ดูสิ หลวงตาท่านบอกว่าท่านออกจากจักราชไป ท่านไปพักที่ท่าบ่อ ไปพักกับใคร? ไปพักกับพระอาจารย์กู่และพระอาจารย์กว่า พระอาจารย์กู่และพระอาจารย์กว่านี้ท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วหลวงตาท่านไปพักด้วย

นี่หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง ใจของหลวงตาท่านอยากจะไปหาหลวงปู่มั่น แต่ตามไปหาหลวงปู่มั่นไม่ทัน หลวงปู่มั่นย้ายไปอยู่บ้านโคกแล้ว ท่านก็ไปจำพรรษาที่นั่น

พอไปอยู่กับพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า หลวงตาท่านเป็นพระมหา ท่านทำข้อวัตรไง หลวงตาท่านทำข้อวัตรดีมาก แล้วหลวงปู่กู่ หลวงปู่กว่า ท่านก็อยากได้หลวงตาไว้เป็นหมู่ไง ขอร้องให้อยู่ด้วย

แต่ในใจท่าน ท่านตั้งเป้าไว้แล้วว่าท่านจะไปอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็เป็นพระอรหันต์ หลวงปู่กู่ หลวงปู่กว่าก็เป็นพระอรหันต์ แต่ใจมันตั้งเป้าไง สุดท้ายแล้วท่านให้ญาติโยมมาขอร้องให้อยู่เลย นี่ท่านเพิ่งพูดออกมา แต่ในใจท่านตั้งเป้าไว้แล้ว ท่านก็ต้องหาทางออกของท่าน ท่านออกจากที่นั่นไปท่านก็ไปบ้านผือ ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น พอไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ก็เกิดศรัทธาในการรับคุณธรรม เวลาหลวงปู่มั่นท่านสั่งท่านสอน ท่านจะมีเทคนิคของท่าน เพราะอะไร เพราะเราศึกษามา ทิฏฐิมานะเราก็มี การประพฤติปฏิบัติไปแล้วกิเลสมันหลอกก็เยอะ ปฏิบัติไปมันจะมีการโต้แย้งเพื่อหาข้อเท็จจริงด้วยความเคารพบูชาครูบาอาจารย์

อย่างเรากำลังศึกษาวิชาการ เรากำลังทำงานวิจัย เราก็เตรียมทางวิชาการของเราเยอะแยะไปหมดเลย แล้วไปถึงอาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า “ผิดอย่างโน้น ไม่ควรอย่างนี้” เราก็ แหม! ก็ทำมาเต็มที่แล้ว

การโต้แย้งหาสิ่งที่ดี ความโต้แย้งอย่างนี้เป็นการโต้แย้งเป็นธรรมไง เพราะเราก็เตรียมของเรามา เราก็มีทุกอย่างของเรามา แต่ครูบาอาจารย์ท่านเคยผ่านมา ท่านจะรู้ว่าการติด การต่างๆ เป็นอย่างไร กว่าจะผ่านพ้นมาได้แต่ละเปลาะ แต่ละชั้นแต่ละตอน

ถึงที่สุดเวลาหลวงปู่มั่นท่านจะนิพพาน หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า ท่านอยู่ที่บ้านผือ ถ้าท่านนิพพานที่นั่น ไก่ สัตว์ทั้งหลายมันจะตายกับท่านเยอะมาก เพราะคนจะมางานมาก ท่านจึงขอออกไปที่วัดป่าสุทธาวาส พอออกเดินทางแล้วมาพักไว้ที่วัดป่ากลางโนนภู่

หลวงตาท่านเล่านะ เวลาท่านอุปัฏฐากอยู่ เพราะเป็นวัณโรค แล้วอากาศหน้าหนาวมันหายใจไม่ได้ เสลดเต็มคอเลย ต้องคอยอุปัฏฐากกัน พอหลวงปู่มั่นท่านพักผ่อน หลวงตาก็มาเดินจงกรม จิตมันกำลังหมุนเต็มที่เลย เพราะอะไร

เพราะท่านบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านเพียบทางธาตุขันธ์ เพราะใจท่านหลุดพ้นไปแล้ว ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันเป็นภาระ มันไม่ใช่ธรรมธาตุ สิ่งที่เป็นธรรมธาตุ นิพพานอันนั้นอยู่ในร่างกาย อันนั้นมันพ้นจากสิ่งที่เป็นธาตุขันธ์นั้น นี่ท่านเพียบในทางร่างกาย

หลวงตาท่านบอกท่านเพียบในทางจิตใจ ท่านหมุนติ้วๆ เพราะปัญญามันกำลังหมุนมาก มันเป็นมหาสติ-มหาปัญญากำลังหมุนติ้วๆ มันมีข้อมูลของมัน ถึงเวลาแล้วพอติดขัดขึ้นมา พอเดินในทางจงกรม พอปัญญามันหมุนไป ระหว่างกิเลสกับธรรมมันต่อสู้กันในหัวใจ มันต่อสู้นะ เราเป็นคนทำงานเองเรายังไม่เข้าใจนะ พอไม่เข้าใจก็ขึ้นไปกราบท่านเลย ที่วัดป่ากลางโนนภู่ ท่านบอกว่า พอขึ้นไปกราบ หลวงปู่มั่นท่านเพียบทางร่างกายมาก ท่านเคลื่อนไหวแทบไม่ไหวแล้ว เพราะธาตุขันธ์มันทรุดชราเต็มที่

เวลาหลวงตาท่านขึ้นไปกราบที่ปลายเท้า แล้วเล่าปัญหาให้ฟัง ท่านจะลุกขึ้นมานั่งเลย แล้วก็บอกว่า “เป็นอย่างนั้นๆๆ เข้าใจไหม” ถ้ายังไม่เข้าใจก็ยังก้มอยู่ ยังไม่ลุก ท่านก็จะอธิบายซ้ำ จนเข้าใจแล้วจะกราบ ๓ หน แล้วออกไปเลย พอกราบ ๓ หนเสร็จ หลวงปู่มั่นท่านเพียบทางร่างกาย ท่านก็นอนลงไปสภาพเดิม เพราะร่างกายท่านชราภาพเต็มที่แล้ว หลวงตาท่านก็ลงไปเดินจงกรมเพื่อจะต่อสู้

ถึงที่สุดเวลาเอาหลวงปู่มั่นไปอยู่วัดป่าสุทธาวาส สุดท้ายแล้วท่านนิพพานที่นั่น คนนั่งล้อมอยู่เต็มเลย ท่านก็นั่งดูอยู่ สุดท้ายแล้วพอพระเขากลับไป ท่านมานั่งอยู่ที่ปลายเท้าซากศพของหลวงปู่มั่น แล้วรำพึงรำพันว่า “จิตใจดวงนี้มันก็มีทิฏฐิมานะ จิตใจดวงนี้มันก็ลงครูบาอาจารย์เฉพาะหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสั่งสอนมา เป่ากระหม่อมมาจนไต่เต้ามาจนเป็นมหาสติ-มหาปัญญา บัดนี้หลวงปู่มั่นนิพพานไปแล้ว แล้วเราจะเอาใครเป็นที่พึ่งล่ะ ใจนี้มันไม่ฟังใคร เพราะคนที่มาพูดด้วยมันมีเหตุผลไม่เพียงพอ ถ้ามีเหตุผลไม่เพียงพอ ใจนี้มันไม่ลง ต่อไปนี้จะไม่เอาใครเป็นครูเป็นอาจารย์อีกแล้ว”

จะเอาตัวเองเป็นครูบาอาจารย์ไง จะเอาสิ่งผิดสิ่งถูก คำว่า “เอาตัวเอง” คือสิ่งที่ประสบ ธรรมกับกิเลสในใจที่มันต่อสู้กัน เอาสิ่งนี้เป็นครูบาอาจารย์ ต้องเลือกเฟ้นเอง ต้องแยกแยะ เวลามันกระทบกระเทือน สิ่งที่เป็นธรรมมันปล่อยวางอย่างไร เอาอันนี้เป็นตัวอย่าง สิ่งที่มันโต้แย้ง มันเอาเราไว้ในอำนาจของมัน อันนี้เป็นกิเลส เราจะเอาตัวเราเองเป็นอาจารย์ ต้องแยกแยะเอง ต้องค้นคว้าเอง ต้องต่อสู้เอง อีก ๘ เดือน เผาศพหลวงปู่มั่นแล้ว ๘ เดือน ต่อสู้กับตัวเองมาตลอด ถึงที่สุด เพราะมันพ้นแล้วจบ พอจบ มันเข้าใจหมด เห็นความผิดความถูกหมด

สิ่งที่ความเป็นอยู่ด้วยกันมันต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา แม้แต่หลวงปู่มั่นกับหลวงตารักกันอย่างกับพ่อกับลูก แต่มันก็ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา สิ่งที่พลัดพรากนี้เป็นเรื่องของวัฏฏะ เป็นเรื่องของโลก แต่สัจธรรมในหัวใจ

เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน สิ่งที่ปฏิบัติ สิ่งที่เป็นกิเลส สิ่งที่เป็นความคิด ความรู้สึก มันก็ต้องพลัดพรากจากใจเป็นธรรมดา แต่มันไม่ธรรมดา เพราะมันพลัดพรากแล้วมันมาอีก สิ่งนี้มันคิดค้นตลอดเวลา มันมาอีก มันพลัดพรากแล้วมันจบสิ้นไหมล่ะ มันไม่จบสิ้นเพราะอะไร เพราะเราทำไม่จริง เราห่วงหาอาลัยอาวรณ์มันเอง สิ่งที่มันพลัดพรากไปแล้ว ไปคิดมันมาทำไม ไปดึงมันกลับมาทำไม สิ่งนี้มันพลัดพรากไปแล้ว มันพลัดพรากเป็นธรรมดาใช่ไหม มันเป็นธรรมดาของมัน แต่ไม่ธรรมดาของเรา เพราะอะไร เพราะเราไม่เห็นจริง เราไม่มีหลักความเป็นจริงของเรา

ถ้ามีหลักความจริงของเรา การพลัดพรากเป็นธรรมดา เราทิ้งมันเป็นธรรมดา ในเมื่อเราทิ้งมันเป็นธรรมดา มันจะกลับมาได้อย่างไร เราเป็นผู้ทิ้งมัน เราเป็นผู้ทิ้งกิเลสไปใช่ไหม เราเห็นตามความเป็นจริงแล้วสลัดมันทิ้งไป แต่นี่มันเป็นธรรมดาเพราะเกิดดับมันเป็นธรรมดา ทีนี้วุฒิภาวะเราไม่ถึง เราเห็นการเกิดดับเป็นธรรมดาว่าสิ่งนี้มันเป็นสัจธรรมของเรา เป็นความเข้าใจของเรา มันไม่ใช่

ฝนตกแดดออก พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกมันธรรมดา แต่ธรรมดามันกินเวลาเราไปนะ ชีวิตหนึ่ง ทุกวันๆ มันผ่านไป วันคืนล่วงไปๆ พรรษา ๒ พรรษา ๓ พรรษา ๕ พรรษา ๑๐ ไปแล้ว มันธรรมดาไหม ถ้าธรรมดา นับทำไม ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ นับทำไม นับเพราะอะไร เพราะมันล่วงเลยไปแล้วใช่ไหม มันผ่านไปเป็นธรรมดา แต่เราไม่เป็นธรรมดาสิ แต่ถ้าเราทำจิตของเราสงบ เราต้องรื้อค้นของเรา เราต้องมีความจริงใจของเรา

หน้าที่การงาน พูดแล้วว่ามันเป็นวิธีการ มันเป็นเครื่องดักใจ มันเป็นข้อวัตรปฏิบัติ มันมีของมันนะ จริงอยู่ คนเราเกิดมามันก็ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย กินอยู่แล้วมันก็ต้องเช็ดต้องล้าง ต้องเก็บต้องรักษาทั้งนั้นน่ะ ไอ้เช็ด ไอ้ล้าง ไอ้เก็บรักษา คฤหัสถ์เขาทำอย่างหนึ่ง เราเป็นพระ เราล้างถ้วยล้างจานขึ้นมา เราจะเช็ดอย่างไร เก็บอย่างไร

เราอยู่บ้านตาด ล้างถ้วยล้างจาน เช็ดแต่ข้างนอก ข้างในห้ามเช็ด เพราะถ้าเช็ด ฝุ่นมันจะเข้าไปอีก เช็ดแต่ด้านนอก แล้วครอบไว้ให้มันแห้งขึ้นมา ของเราไม่เปื้อนด้วยอามิส เวลาเราฉันอะไรไป ปากมันเปื้อนอยู่ แก้วน้ำที่มากระทบถึงปากมันเปื้อนด้วยน้ำลายของเรา มันเป็นอามิสแล้วนะ มันเป็นสิทธิของเรา เรากินได้ เราฉันได้ แต่ไปวางเป็นของคนอื่นไม่ได้ ภาชนะใช้ร่วมกันไม่ได้ ภาชนะของใครของมัน ต้องใช้ส่วนตัว ถ้าภาชนะเป็นส่วนกลางมันต้องมีช้อนกลาง มีที่ตักออกมา ใช้ของมันไม่ได้ ถ้าเรารู้ เราศึกษาธรรมวินัยแล้ว เราจะไม่ไปทำให้คนอื่นเขารังเกียจเราไง

เราไปใช้สอยสิ่งใด เราไปจับใช้ของสิ่งใด ของเป็นส่วนกลาง เราไปใช้แล้วเราไประรานคนอื่น มันเป็นการระรานคนอื่น ระรานสิทธิ์รอนสิทธิ์เขานะ ของนี้เป็นของสาธารณะ ทุกคนมีสิทธิ์ใช้ร่วมกัน ในเมื่อทุกคนมีสิทธิ์ใช้ร่วมกัน การใช้ของเราต้องใช้อยู่ในขอบเขตสิ การใช้เราต้องมีภาชนะไปตักมันออกมา ไม่ใช่เอาปากไปดื่มออกมา หรือไม่ใช่หยิบออกมา ภาชนะนั้นมันไม่เปื้อนด้วยอามิสใช่ไหม ของนั้นมันก็ไม่เป็นเดน ของนั้นเป็นของส่วนกลาง ถ้ามันเป็นอามิสของเรา เราเอาสิทธิของเราไปใช้ มันเป็นเดนของคนอื่น เรากินได้ เราใช้ได้ แต่คนอื่นเป็นอาบัติหมดเลย สิ่งนี้ถ้าเราศึกษาของเราขึ้นมา นี่ไง ข้อวัตร

ถ้าเรารู้ข้อวัตร หมู่คณะจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน ถ้าความเห็น ทิฏฐิมันไม่เสมอกัน คนหนึ่งทำมันผิด แล้วคนอื่นจะเป็นอาบัติหมดเลย คนอื่นจะเสียหายไปหมดเลย เพราะความไม่รู้ของเรา แต่เขารู้เขาเห็นของเขา อย่างนี้มันต้องศึกษา ศึกษาธรรมวินัยไว้เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขในสังฆะในสังคม สังคมมันร่มเย็นเป็นสุขเพราะอะไร เพราะความทิฏฐิมานะ ความรู้เสมอกัน ความเห็นเสมอกัน เสมอกันที่ไหน? เสมอกันที่ธรรมวินัย

ไม่ใช่เสมอกันเพราะทิฏฐิมานะของเรา เอาทิฏฐิมานะของเราให้คนมาเสมอกันไม่ได้ นิ้วคนยังไม่เท่ากัน ความเห็นของคนไม่เท่ากัน การประพฤติปฏิบัติของคนไม่เท่ากัน พระอรหันต์แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันในจริตนิสัย แต่ธรรมวินัย ความสะอาดบริสุทธิ์ของพระอรหันต์เท่ากัน แต่จริตนิสัยของคนไม่เท่ากัน เพราะไม่มีเจตนา ไม่มีมายาไง ท่านทำด้วยความบริสุทธิ์ ดูแล้วน่าเคารพด้วย

เวลาไปดูครูบาอาจารย์ที่ท่านสิ้นกิเลส ทำอะไรมันใสสะอาด มันไม่มีมารยาสาไถย มันไม่ได้ทำออกมาด้วยความเจ้าเล่ห์แสนงอน มันทำมาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ ยิ่งดูมันยิ่งน่าเคารพบูชา ท่านทำออกมามันใสซื่อ มันดูแล้วมันเหมือนดูเด็กไร้เดียงสา แต่พระอรหันต์ไม่ไร้เดียงสานะ พระอรหันต์ไม่มีไร้เดียงสาหรอก พระอรหันต์มีสติพร้อม แต่ท่านทำด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ของท่าน ท่านทำออกมาอย่างนั้น นั่นท่านทำของท่าน แต่มันไม่มีอาบัติ มันเป็นปาปมุต ปาปมุตคือไม่เป็นอาบัติ ไม่ใช่ไม่มีอาบัติ

แล้วถ้าปาปมุตไม่ทำผิดอาบัติ ถ้าผิดอาบัติเป็นพระอรหันต์ไม่ได้

ปาปมุตคือไม่เป็น เพราะไม่มีเจตนา มันเป็นกิริยา มันเป็นอาการเฉยๆ แต่ไม่มีเจ้าของ ไม่มีมาร ไม่มีสัตว์โลก ไม่มีสิ่งใดเป็นเจ้าของเลย มันเป็นสิ่งที่พ้นออกไปจากร่องรอยของพญามาร ไม่มี สิ่งนี้จะเป็นอาบัติได้อย่างไร มันทำผิดไม่มีเจตนา คำว่า “ผิด” แต่ท่านไม่ผิด เพราะมันไม่มีอะไรเป็นผู้ทำ มันเป็นกิริยาอยู่ในสภาวะแบบนั้น นี่สิ่งที่ไม่มีมารยาสาไถย

แต่ของเรามันมีกิเลส ถ้ามีกิเลส ปุถุชนคนหนาเราต้องต่อสู้ เราต้องแก้ไขของเรา ในการลงอุโบสถนี้เพื่ออะไร? เพื่อความสะอาดของศีลธรรม ทำสิ่งใดไว้ เวลาสวดปาฏิโมกข์ ผู้ใดเป็นอาบัติแล้วจะปลงอาบัตินั้น คอยบอกว่า “เราเป็นอะไร เราเป็นอะไร” สิ่งที่เป็นอาบัติ นี่ไง ทำสังคายนาความสะอาดบริสุทธิ์ของเราเพื่อการประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น เราต้องเข้าหมู่ เราต้องมาลงอุโบสถ เรามาเพื่อสังฆะ มาเพื่อสังคม แล้วเวลาการกระทำ ดูสิ เวลาเราเคี้ยวข้าว เรากินอาหารมันต้องเคี้ยวไหม ต้องดื่มต้องกินไหม มันเป็นธุระไหม? เป็น แต่มันเป็นการกินการอยู่ เราก็พอใจมัน

นี่ก็เหมือนกัน การลงอุโบสถ การกระทำ เราเห็นว่ามันเป็นธุระปะปัง การเป็นธุระ มันมีงาน มันมีกิจกรรม จิตมีที่อยู่อาศัย แต่ถ้าเราทิ้งห่างออกไปๆ สิ่งที่เราบอกว่าเราอยู่ในป่า เราลงอุโบสถคนเดียว เพราะเรามีจุดยืน เราลงอุโบสถของเรา เราทำของเรา นี่บุคคลอุโบสถ บอก ปริสุทฺโธ บอกบริสุทธิ์ แล้วมันอยู่สุขสบาย แล้วเราตั้งใจภาวนา เพราะเราควบคุมตัวเองได้ เราจะบังคับตัวเองให้เดินจงกรม ให้นั่งสมาธิตลอด เพราะเป็นงานของเรา ดูสิ ราชการทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง เราเดินจงกรมหรือนั่งภาวนาน้อยกว่านั้นนี่เราทุจริต

ดูเวลาคนเขานั่งเขียนหนังสือ เขาทำเอกสาร เขานั่งวันละ ๘ ชั่วโมง เขาได้เงินเดือนของเขา ไอ้เราจะพ้นจากทุกข์ มึงทำอะไรกัน ถ้าจะพ้นจากทุกข์ จะทำอะไรกัน ทำงานอะไรมันถึงจะพ้นจากทุกข์

หน้าที่การงานเป็นหน้าที่การงาน ข้อวัตรปฏิบัติเราทำได้ เราต้องสับเวลาของเรา ถึงเวลาทำข้อวัตร ข้อวัตรเป็นงานของส่วนรวม เราอยู่กันโดยส่วนรวม เราอยู่โดยสังฆะ สงฆ์ สังฆกรรม สงฆ์ สิ่งที่เป็นสังฆะ ในเมื่อเรากินเราอยู่ เราใช้ด้วยกัน สิ่งที่เราทำด้วยกัน มันจะได้ว่าไม่มีใครกินแรงใครไง

“เห็นเขาทำแล้วเราไม่ต้องทำ ทุกอย่างมีคนทำแล้ว”...ถ้าทำแล้วเราอย่าใช้สิ เขากินแล้วเราไม่ต้องกิน เช้าขึ้นมาทุกคนเขากินแล้ว เราไม่กินก็ได้ เพราะเขากินกันแล้ว เราก็อิ่มแทนเขาสิ

ของเป็นของส่วนกลาง ของเป็นส่วนรวม ถึงเวลาทำ เราต้องปรับเวลาของเรา เราจะเดินจงกรม ๘ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง ไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าเราจะปรับเวลาของเราอย่างไร เสร็จแล้วเราจะไปเดินจงกรม นั่งสมาธิของเรา ถึงเวลา เพราะมันเป็นข้อวัตร เป็นเวลาที่พร้อมมูลกัน เราก็มาทำพร้อมกัน พอเสร็จจากงานนั้น เราก็เข้าไปสู่เวลาส่วนตัวของเรา เรามีเวลาพร้อมนะ ถ้าคนบริหารจัดการมันเป็น สิ่งที่ว่ามันมีจุดยืน คนมีจุดยืน คนมีการกระทำ มันทำแล้วมันเป็นความดีไปทั้งหมดเลย อะไรก็เป็นความถูกต้องดีงามไปทั้งหมด

แต่ถ้ามันเป็นคนโลเล คนไม่มีหลักการ เห็นไหม ถึงต้องมาลงอุโบสถร่วมกัน ชักกันดึงกันไป หมู่คณะไง กรอบมันจะบังคับไป กรอบมันจะทำให้เราดีงามไป ถึงจะมีต่อหน้าลับหลังก็แล้วแต่ ต่อหน้าทำให้เรียบร้อย ลับหลังมันเป็นเรื่องของเรา อันนั้นมันเป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของเราไม่ซื่อสัตย์กับตัวเราเอง ถ้าเราซื่อสัตย์กับตัวเอง สุภาพบุรุษต้องซื่อสัตย์กับตนเอง

ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ ทางของภิกษุเป็นทางกว้างขวาง ๒๔ ชั่วโมง เราจะประพฤติปฏิบัติตลอด ทางของเราเป็นทางที่กว้างขวาง มันเปิดโล่งนะ อาชีพไม่ต้องทำ เขาต้องทำอาชีพหน้าที่การงานเพื่อหาเงินเข้ามาซื้อแลกเปลี่ยนเป็นอาหาร ของเราออกบิณฑบาตเลย เช้านี้ออกบิณฑบาต หน้าที่การงานของเราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง สิ่งที่เราเอามาดำรงชีวิตไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ

หน้าที่การงานของโลกเขาเป็นทางคับแคบ เขาต้องทำหน้าที่การงานมาเพื่อหาเงินไปแลกเป็นอาหารมา ของเรา เรานั่งสมาธิภาวนาของเรา เช้าขึ้นมาเราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้งเพื่อให้เขาได้ทำบุญกุศลของเขา อนาคตของเรา เพราะจิตใจของเขา เขาเป็นคฤหัสถ์ เขามีความคิดแบบโลกๆ เขาต้องการความสุขแบบโลก เขาต้องการการครองเรือน เขาต้องการความสุขของเขาอย่างนั้น แต่เขาก็อยากมีบุญกุศลด้วย เขาได้ทำบุญกุศลของเขาได้แค่นั้น

ไอ้ของเรา เรามีความคิด มีเป้าหมายที่สูงส่งกว่าเขา เพราะเราจะพ้นจากทุกข์ให้ได้ในชาติปัจจุบันนี้ เรามีการประพฤติปฏิบัติ ทีนี้ชาติปัจจุบันนี้ เราจะไปเสียเวลาในการทำมาหากินเพื่อหาสิ่งมาจุนเจือเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย มันเป็นเรื่องของโลกๆ ในเมื่อเราเสียสละมาเพื่อเป็นนักรบ เป็นภิกษุ เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราประพฤติปฏิบัติ เขาเต็มใจใส่บาตร เป็นบุญกุศลของเขา มันเป็นคุณงามความดีของเรา ให้เขาได้ทำบุญกุศลขึ้นมา มันเลี้ยงชีพ แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเรา ประพฤติปฏิบัตินะ มันต้องมีสติ มันมีการกระทำ

สิ่งที่การกระทำ เรื่องบริหารจัดการ เรื่องการดูแล นกก็มีรวงรัง เราก็ดูแลของเรา เรื่องข้อวัตรมันมีอยู่แล้ว ที่ไหนเขาก็มีเหมือนกันทั้งนั้นน่ะ นกมันก็มีรวงมีรัง ถึงว่ามันจะไม่ติดที่ไหนก็แล้วแต่ มันก็เป็นของมัน นี่ก็เหมือนกัน เราสร้างของเราเป็นศาสนสมบัติ เป็นสมบัติของสงฆ์ สมบัติของสงฆ์เป็นของส่วนกลาง ใครหามาเอาไปใช้สอยแล้วต้องรักษา การเก็บรักษาทำความสะอาดเพื่อให้คนอื่นได้ใช้สอยต่อไป คนอื่นจะได้มาใช้สอยของสิ่งนี้ต่อไป

การได้มา แสวงหามา เขาหาเงินหาทอง กว่าจะหามาเพื่อซื้อสิ่งต่างๆ มาทำบุญกุศล เขาลงทุนลงแรงของเขา เราใช้ของเขา ต้องเห็นคุณค่าของเขา ยิ่งใช้ของเขาเป็นประโยชน์มากเท่าไร บุญกุศลของเขาก็ได้มากขนาดนั้น แล้วเราก็ไม่เสียคน เพราะจิตของเรามันไม่หยาบ จิตของเรารู้จักรักษา รู้จักดูแล จิตมันจะละเอียด จิตมันจะพัฒนา ถ้ามันละเอียดจากข้างนอกเข้าไป มันจะละเอียดจากข้างในเข้าไป สิ่งที่ให้ละเอียด ละเอียดจากข้างในเข้าไป

นี่เราบอกว่าเราเป็นพระป่า เราเป็นผู้ปฏิบัติ แต่กิริยาของเราปล่อยให้เหมือนกับโลกเขาไม่ได้ นิสัยเอะอะพาโวยไป มันไม่ใช่นิสัยของภิกษุ มันเป็นนิสัยของคฤหัสถ์ นิสัยของโลกเขา ถ้านิสัยของเรา นิสัยของพระ ดูสิ สมัยพุทธกาล มีคนเขาไปทำบุญวัดหนึ่ง “ทำไมพระไม่เห็นมีเลย”

พระที่นั่นบอกว่า “ถ้าจะมีต้องเคาะระฆัง”

พอเคาะระฆัง พระต่างองค์ต่างเดินมา เพราะอะไร เพราะท่านตั้งสติของท่าน ท่านกำลังควบคุมจิตใจของท่าน ด้วยความเข้าใจผิดของโยม ไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่าพระที่วัดนั้นเขาทะเลาะกัน พระที่นั่นไม่ถูกกัน ไม่พูดกัน ไม่คุยกัน

ไม่พูดกันไม่คุยกันน่ะเป็นคุณงามความดีของพระ แต่ทางโลกเขามองไม่ออก

แต่นี้เราจะใช้ชีวิตอย่างนั้นไม่ได้ เห็นโลกเขามีสังคม เขาสังสรรค์กัน เราจะใช้สังคมอย่างนั้น เราเป็นพระ เราไม่ใช่คฤหัสถ์ เราต้องมีสติของเรา กิริยาการเคลื่อนไหวเราต้องดูแลของเราเพื่อประโยชน์กับจิตใจของเรา

เราเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ศีลเป็นขอบรั้วกั้นไม่ให้สิ่งใดเข้ามากระทบใจ ถ้าเรามีศีลมีธรรมของเรา มันมีขอบรั้วของมัน จิตมันจะรักษาง่ายขึ้น แต่จิตมันปล่อยไปเด้นๆ ด้านๆ ถึงเวลาจะเอามาประพฤติปฏิบัติ เห็นครูบาอาจารย์ท่านพูดถึงมรรคผลนิพพาน ก็อยากจะได้มรรคผลนิพพาน อยากจะได้มาก แต่เหตุมันไม่สมควร

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” ความสมควรแก่เหตุมันต้องมีความจริงจัง มีความลงทุนลงแรง เราทำของเรานะ

การเปลี่ยนแปลงสถานที่อยู่ การธุดงค์ไปเพื่อให้มันตื่นตัว จิตใจถ้ามันอยู่แล้วมันหมักหมม มันไม่ตื่นตัว การตื่นตัวของเรา ถ้าเราทำของเราได้ อยู่ที่ไหนถ้าเราปลุกสติของเรา มันตื่นตัวอยู่ นี่ผลของมัน ธุดงค์เพื่อให้มันตื่นตัวเป็นคนใหม่ตลอด ถ้าเป็นคนใหม่ตลอด มันเห็นภัย ของใหม่เราต้องระวัง ถ้าไปคุ้นชิน มันชินชาหน้าด้าน พอมันชินชามันหน้าด้าน ยิ่งใช้ชีวิตเข้าไปมันยิ่งหน้าด้านเข้าไปเรื่อยๆ สิ่งใดก็แล้วแต่ ทำแต่ว่ามันเป็นไปได้ ทำด้วยความหน้าด้าน พอทำด้วยความหน้าด้านมันก็ดินพอกหางหมู มันจะพอกแต่สิ่งที่เป็นอกุศลในหัวใจ แล้วมันจะพ้นจากทุกข์ไปได้อย่างไร

แต่ถ้ามันเป็นคนไม่หน้าด้าน มันเป็นคนที่ตื่นตัว มันเริ่มลอกออก มันปลงออก มันผลักออก ดินมันจะพอกหางหมูได้อย่างไร หางหมูมันไม่มีดินพอกอยู่ มันคล่องตัว จิตที่ไม่มีสิ่งใดเหนี่ยวรั้งมัน มันจะคล่องตัว ความคล่องตัว ทำสมาธิก็ง่าย ถ้าฝึกปัญญา ปัญญามันก็จะเกิดขึ้นมาตามโลกุตตรปัญญา ไม่ใช่โลกียปัญญา

ปัญญาเป็นโลกียปัญญาด้วย แล้วมันยังสร้างภาพขึ้นมาอีกว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ มันสร้างภาพขึ้นมาแล้วเราก็เชื่อมัน กิเลสของเราแท้ๆ หลอกเรา เราก็เชื่อมัน ไหนว่าบวชมาจะพ้นจากกิเลสไง ไหนว่าบวชมาจะสู้กับกิเลสไง แล้วเวลากิเลสมันหลอก ทำไมเชื่อมันล่ะ กิเลสมันสั่ง ทำตามมันหมดเลย มันคิดอะไร อยากไปไหน อยากทำ ทำตามมันทำไม ทำไมไม่ฝืนมันล่ะ

การฝืนความคิดคือฝืนกิเลสนะ หลวงตาท่านพูดบ่อย มันอยากจะทำ มันอยากจะไป ไม่ไป ถ้ามันไม่อยากไปแล้ว แล้วค่อยหาเหตุผลถ้าจะไป ไปตามเหตุผลนั้น แต่ถ้ามันไม่มีเหตุผล อยากไป อยากทำ ไม่ให้มันไป ไม่ไป เราไม่ไปมันจะไปได้ไหม เราไม่ไป นี่สู้กับมัน เราไม่ไป แต่นี่เราแพ้มันตลอด มันคิดจะไปก็ไป

ความว่าจะไปมันต้องดูนะ ถ้าสังคม ถ้าเหตุการณ์นี้มันอยู่แล้วมันไม่เป็นประโยชน์ ควรไป ควรไป ไปเพื่อตัวเรา แต่เหตุการณ์ทุกอย่างมันก็ดีอยู่ แต่เราอยากไปเอง นี่ไง สิ่งที่อยู่แล้วได้ประโยชน์ ควรอยู่ มันอยู่แล้วไม่ได้ประโยชน์ ควรไป มันจะไปจะอยู่ มันดูเหตุดูผล

นี่พูดถึงความเป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังมันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เราต้องใช้ปัญญา เราเอาปัญญามาใคร่ครวญเพื่อประโยชน์กับเรา ฝึกนะ ปัญญาไม่ฝึกมันไม่เกิดนะ จะดื้อๆ ด้านๆ อยู่อย่างนั้นให้เป็นสูตรสำเร็จอยู่ แล้วมันบอกว่าอยากมีปัญญา ปัญญามันเกิดได้อย่างไร เอาปัญญาขึ้นมาฝึกตัวเราเองให้มันเห็นแจ้ง

ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์มันเป็นประเด็นแล้วไปตีให้มันแตกไง ปัญญามันกว้างออกไปให้มันรับรู้สิ่งต่างๆ ให้มันฝึกฝนขึ้นมา ให้มีคุณสมบัติขึ้นมา เหมือนหากินเป็น หาอยู่เป็น ทำทุกอย่างเป็น มันอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้นะ เวลาจิตมันสงบมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน อยู่ที่ไหนมันพออยู่พอกิน มันสุขของมัน ไม่ต้องแสวงหามามาก ได้มามันก็เป็นภาระหน้าที่ แต่ถ้าจิตใจมันเป็นทุกข์เป็นร้อน มันอยู่ที่นี่แล้วมันไม่พอใจ มันจะไปหาที่อยู่ที่มันพอใจ ที่ไหนที่มันกินอิ่มนอนอุ่น ที่มันสุขใจสบายใจ มันอยากจะไปที่นั่น ไปที่นั่นแล้วได้ประโยชน์อะไร มันอิ่มปากอิ่มท้อง แต่กิเลสมันตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันทับหัวใจ ทับจนจิตมันด้าน แล้วมันเสียหายไป ใครเป็นคนเสียหาย? คนเสียหายคือจิต ปฏิสนธิจิตที่มันเกิดมันตาย

เราบวชมาเพื่อเห็นภัยในวัฏสงสาร กว่าจะบวชแต่ละคนนี่ไม่ใช่บวชง่ายๆ นะ อย่างเรากว่าจะบวชได้ พ่อแม่ไม่อยากให้มาทางนี้หรอก พ่อแม่เขาอยากให้อยู่กับเขา พ่อแม่ วงศ์ตระกูลเขาต้องการให้มีคนสืบต่อ เวลาเราทุกข์เราร้อน เราเห็นว่ามันเป็นภัย แล้วเราเสียสละมา กว่าจะเสียสละมา สะเทือนกันไปทั้งตระกูล สะเทือนไปทั้งพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายาย สะเทือนกันไปหมดเลยนะ แล้วเวลามาแล้วมันสมกับความตั้งใจไหม ถ้ามันออกจากตระกูลมาแล้ว เราจะทำให้เราได้น้ำได้เนื้อขึ้นมาไหม

ถ้าเราได้น้ำได้เนื้อขึ้นมานะ สายเลือด เราทำคุณงามความดี สายเลือดเราได้จากคุณงามความดีเราหมด สิ่งที่ทำสมาธิธรรม เขาก็ได้ของเขาด้วย ปัญญามันเกิดขึ้นมา เขาได้บุญกุศลของเขาตลอดไป เราสละตระกูลมา ตระกูลจะได้ประโยชน์จากเราอีกมหาศาลเลย

แต่ถ้าเราทำตัวของเราไม่ดีขึ้นมา เราจะได้อะไร แล้วตระกูลจะได้อะไรกับเรา เรารักตระกูลเราไหม ทุกคนรักตระกูลเดิมของเรา แต่ปัจจุบันนี้ศากยบุตรพุทธชิโนรส ตระกูลของเราคือตระกูลศากยะ ตระกูลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นพุทธชิโนรส เราเป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปัจจุบันนี้เราตระกูลพุทธะ นี่ถ้าตระกูลพุทธะ

ตระกูลเดิมของเรา ตระกูลคฤหัสถ์ของเรา เรายังต้องห่วงใยถวิลหา แล้วสละมาแล้ว ในปัจจุบันนี้เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ตระกูลของเรานี่ตระกูลของพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะมันจะแทงไปตลอดถึงธรรมะ

ทำไหม ถ้าทำขึ้นมา เวลาปฏิบัติธรรม ถ้าจิตมันเป็นธรรมขึ้นมา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์รวมอยู่เป็นหนึ่งในหัวใจ ใจเป็นพุทธะนะ ถ้าใจเป็นพุทธะแล้วมันบรรลุธรรมขึ้นมา ใจมันเป็นธรรมขึ้นมาอีก สังฆะ สังฆะก็คือเราสาวกสาวกะ เราเป็นสังฆะ แล้วมันรวมมา มันรวมอย่างไร ใจเป็นหนึ่งอย่างไร

ใจมันแยกไม่ได้ ถ้าแยก เห็นไหม หนึ่ง อารมณ์ความรู้สึกความคิดไม่ใช่จิต จิตกับความคิดมันกระทบกัน นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันแยก มันเป็นสอง แล้วเป็นสาม เป็นกิเลสขึ้นมาอีก

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นพระรัตนตรัย เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นแก้ว ๓ ดวง มันก็แยกออกไป มันก็เป็นอนาคต มันก็วิ่งวนอยู่นั่นแหละ

แต่ถ้าสมาธิ มันเป็นหนึ่งขึ้นมา แล้วปัญญามันเกิดขึ้นมา มันแยกแยะขึ้นมา มันทำลาย ทำลาย เจอพุทธะที่ไหน ฆ่าพุทธะก่อน เจอภพที่ไหน เจอสถานที่ที่ไหน เจอสัญชาติที่ไหน เจอตัวตนที่ไหน ฆ่ามันก่อน ทำลายมันก่อน ทำลายมันอย่างไร เจอ เจออย่างไร

มันเป็นนามธรรม มือจับมือ มือกับมือจับกันได้อย่างไร จิตจับจิต จิตเป็นตัวจิต จิตมันจะจับกันได้อย่างไร ถ้าจิตมันเป็นตัวจิต แล้วมันเกิดมรรคญาณขึ้นมาทำลายจิต มันทำลายอย่างไร นี่ไง ทำลายแล้วมันเป็นธรรมธาตุ

ถ้ามันฟื้นฟู มันมีความตั้งใจ เรามีความตั้งใจจริง มันจะทุกข์จะยาก หมู่คณะ หมู่คณะเรามีเท่านี้ เรามีทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน เราอยู่ด้วยกันจะโตไปข้างหน้า พรรษา วันคืนล่วงไปๆ มันกลืนกินชีวิตของคนไป พรรษาเขาได้มามากขึ้น มันได้ศักยภาพในทางธรรมวินัยไง อาวุโส-ภันเต เราจะโตไปข้างหน้า ถ้าเราโตไปข้างหน้า ดูสิ ดูศาสนาเสื่อม มันเสื่อมเพราะอะไรล่ะ เสื่อมเพราะไม่มีคนสนใจ เสื่อมเพราะไม่มีหลักเกณฑ์

เราต้องเป็นหลักเกณฑ์คนหนึ่ง ใครจะเป็นอย่างไรเรื่องของเขา เราต้องมีจุดยืนของเรา เพื่อประโยชน์กับใคร เราจะโตไปข้างหน้า แล้วโตไปข้างหน้า แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นานหรือ แก่ไม่ใช่แก่เพราะกินข้าว มันแก่มะพร้าว แก่กะทิไง แก่คุณประโยชน์ไง เราศึกษาขึ้นมา เรามีความรู้ของเราขึ้นมา อายุพรรษาเรามากขึ้น เราจะสั่งสอนคนได้

ถ้าเรายังไม่แน่ใจ อย่าสอน อย่าสอน ถ้าเราไม่แน่ใจ สอนตัวเองให้ตัวเองชัดเจนก่อน ถ้าเราไม่สอนตัวเองให้ชัดเจน คำสอนออกไปเราก็งง คำสอนเราก็ลังเล แล้วคนที่รับฟังเขาฟังแล้วเขามาถามเราอีกนะ พอเขาถามเราเสร็จ “แล้วทำไมพระองค์นั้นสอนอย่างนั้นล่ะ” จะให้เราพูดอย่างไรล่ะ จะให้เราพูดอย่างไร ก็มันผิดอยู่ชัดๆ

มันไม่ใช่ว่าเราบอกว่าเราไปแยกแยะให้มันผิดนะ คำสอนเขามาผิดน่ะ ในเมื่อคำสอนมาผิด เราจะบอกว่าถูกได้อย่างไรล่ะ เราก็ต้องบอกว่าผิด แล้วผิด ผิดเพราะเหตุใด ผิดเพราะอารมณ์ความคิดมันไม่ใช่จิต จิตมันเป็นจิต อารมณ์มันเป็นอารมณ์ “ดูจิตๆ” หลวงปู่ดูลย์ท่านสอน “ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต” อาการคือความคิด พอเห็นอาการของจิต วิปัสสนามัน ฆ่ามัน ทำลายมัน นี่หลวงปู่ดูลย์สอนอย่างนั้น คนสอนถูก คนพูดถูก พูดกี่คำๆ ก็ถูก เพราะมันพูดมาจากความจริง

แต่ถ้าเรายังสอนตัวเราเองไม่ได้ เราพูดออกไปกี่คำๆ ก็ผิด อยากให้มันถูกก็พูดเลียนแบบไง ดูจิตให้จิตเห็นอาการของจิต จิตแก้จิต นี่ก็บอก พอเราเห็น เราคิดเอาไงว่าอาการความรู้สึก ลมพัดใบไม้ไหว ใบไม้ไหวเพราะลมพัด ใบไม้ไหวเพราะมีใบไม้ ก็ว่ากันไป มันเป็นคราวเป็นเวลา เป็นกาลเทศะ มันไหวก็ได้ ไม่มีลม มันนิ่งก็ได้ เวลามันนิ่งก็เป็นความนิ่งอันหนึ่ง เวลามันไหวก็เป็นความไหวอันหนึ่ง มันเป็นกาลเทศะ เป็นอาการของมัน มันไม่คงที่อย่างนั้นหรอก ความรู้สึกของเราก็เหมือนกัน แล้วจะทำอย่างไร ให้มันคงที่อย่างไร ให้มันเป็นประโยชน์กับเราอย่างไร

สอนตัวเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยสอนคนอื่น ถ้าเราสอนไป เวลาเขาไปพูดกับครูบาอาจารย์ที่รู้จริง เขารู้หมด ศีลจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราอยู่ด้วยกันนานๆ ธรรมะจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อแสดงธรรม เราสอนตัวเองได้ แล้วถ้าเราสอนคนอื่นให้มันเป็นประโยชน์ จากใจดวงหนึ่ง ใจดวงที่ผ่องแผ้ว ใจดวงที่เป็นธรรมมันแสดงออกไปเป็นธรรม ใจดวงที่มันยังไม่ผ่องแผ้วมันยังมีกิเลสอยู่ กิเลสมากกิเลสน้อย ถ้ามันมืดบอดเลย มันเป็นปุถุชน มันแสดงออกไปอย่างไรมันผิดหมด

แม้แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรมัตถธรรมนี่ถูก แต่เราแสดงออกไป มันใช้ต่างที่ต่างถิ่นกัน เครื่องมือมันคนละชนิด มันใช้กันไม่ได้ ธรรมะที่เราแสดงออกไป เราสอนเขาไป มันแสดงไปเพื่ออะไร เขาอยู่ในขั้นสมาธิ หรือเขาอยู่ในขั้นของปัญญา หรือเขาอยู่ในขั้นของศรัทธา หรืออยู่ในขั้นที่เขายังไม่เชื่อศาสนาเลย เขาไม่เชื่อศาสนาเลยก็มีนะ เขามาทดสอบทดลอง หรือเขาเชื่อศาสนาแล้วเขาจะทำอย่างไร พอทำแล้วเขาจะปฏิบัติอยู่อย่างไร นั่นมันเรื่องของเขา

ถ้ามีครูมีอาจารย์ ให้ไปถาม ให้ไปศึกษาเอา แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราเอา ถึงที่สุดถ้าเราเข้าใจแล้ว เราจะสอนใครได้หมดเลย จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง เริ่มต้นจากการประพฤติปฏิบัติ เริ่มจากความลำบากลำบน ลำบากเพราะกิเลสมันเบื่อ มันขี้เกียจมันก็เลยลำบาก แต่ขี้เกียจแล้วมันลำบาก เพราะเราอยู่ในหมู่คณะใช่ไหม ครูบาอาจารย์ท่านตั้งกติกามาอย่างนี้ เราจะต้องไปลงอุโบสถเพื่อฟังธรรม

ธรรมะฟังอยู่ทุกวัน ของเก่าของดั้งเดิม แต่เราไม่รู้ไม่เห็น มันก็จำเป็นต้องฟัง แต่ถ้าคนที่รู้เห็นแล้ว ฟังเพื่อความรื่นเริง ธรรมะเป็นเครื่องอยู่ เป็นความรื่นเริง เป็นความสุขของใจ กิเลสมันเป็นเครื่องเผาผลาญ เราอยู่ด้วยกันเอง มันเผาผลาญกันด้วยกิเลส กิเลสมันเผาผลาญตลอดเวลา เวลาไปฟังธรรมะมันขี้เกียจไม่อยากไป แต่มันรื่นเริงอาจหาญ มันทำให้เราผ่องแผ้ว มันเป็นประโยชน์กับเรา น้ำสะอาดทำให้จิตใจชุ่มชื่น เราถึงจำเป็นต้องไป จำเป็นต้องมาลงอุโบสถ จำเป็นต้องมาฟังธรรม เอวัง