เทศน์พระ

ผู้เป็นแบบอย่าง

๒๔ ก.พ. ๒๕๕๒

 

ผู้เป็นแบบอย่าง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต. หนองกวาง อ.โพธาราม จ. ราชบุรี

 

ต้องนั่งทนร้อนนิดนึง ร้อนกายกับร้อนใจ ร้อนกายนี่มันทนได้นะ ไฟนรกร้อนกว่านี้ ไฟนรกมันเผานะ เวลาลงไปตกนรก มันจะเป็นรูปร่างขึ้นมา แล้วมันเผา เผาให้หลอมละลายเหมือนเหล็ก หลอมละลายไป แล้วมันก็ขึ้นมาใหม่ แล้วก็หลอมละลาย คนเราเวลาตายนะ เห็นไหม ดูสิ เวลาคนเราทนพิษบาดแผลไม่ไหว บาดแผลฉกรรจ์ ทนผิดบาดแผลไม่ไหวแล้วตายไป มีบาดแผลนี่ตาย แต่ไฟนรกไฟบรรลัยกัลป์นะ มันเผานะ เผาหลอมละลายไปเลย แล้วก็สร้างรูปขึ้นมาใหม่ เพราะมันยังไม่หมดกรรม มันยังไม่หมดชีวิตของมันไปไง เวลาตกนรกอเวจี นั่นไฟนรก เพราะการทำชั่ว ทำบาปอกุศล

สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วทำบาปอกุศล มันถึงไปตกนรกอเวจี แต่ถ้าทำบุญกุศลก็จะไปเกิดบนเทวดา บนอินทร์ บนพรหม มันก็ไปเสวยสุข สุขอย่างไร สุขเพราะเป็นทิพย์สมบัติ ทิพย์สมบัตินั้นนะ แค่นึกก็อิ่มไม่มีการกลืนอาหารอย่างเรา มันจะอิ่มทิพย์ไง นึกเป็นอิ่ม นึกเป็นอิ่ม ไม่มีตลาด ไม่มีวัตถุ วัตถุสิ่งนี้ไม่มี แต่มันมีวิมานได้อย่างไร วิมานเวลาเราทำบุญขึ้นมา วิมานก็ไปรออยู่แล้ว เห็นไหม บุญกุศลไปรออยู่บนสวรรค์ ไปรอบนสวรรค์ ถ้าเราทำบุญกุศล แล้วถ้าเราปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ แล้วบุญกุศลในสวรรค์มันจะตอบสนองใครล่ะ ในเมื่อเราไม่ไปเสวยบุญอันนั้นแล้ว เพราะบุญอันนั้นเป็นบุญอันนั้นใช่ไหม แต่บุญในปัจจุบันนี้ไง

ถ้ามันเร่าร้อนเพราะเรามีร่างกายและมีจิตใจ ร้อนกายร้อนใจนะ หัวใจเร่าร้อนนะเพราะมันเป็นความทุกข์หมักหมมอยู่ในใจ ถ้าหัวใจเร่าร้อนเห็นไหม เรามีความเชื่อความศรัทธา เรามาบวชเป็นภิกษุ เห็นไหม เป็นนักรบ จะรบกับตัวเองเห็นไหม ความร้อนจากข้างนอก ความร้อนจากภพ ความร้อนจากนรก สวรรค์ อเวจี ความร้อนมาจากวัฏฏะ

ส่วนความร้อนของเรา คือความร้อนที่กิเลสมันแผดเผา ความร้อนในปัจจุบันนี้ คือความร้อนที่กิเลสมันแผดเผา เห็นไหม อยู่ที่ไหนก็มีไม่มีความสุข หงุดหงิดไปหมดเลย อยู่ที่ไหนก็ร้อน อยู่ที่ไหนก็ร้อน เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “หมาขี้เรื้อน” เวลาหมาขี้เรื้อนมันร้อนนะ มันเกาแล้วมันเกาไม่ถูกที่คันนะ มันร้อน มันไม่มีที่ไปเพราะมันร้อนในหัวใจของมัน

เราถึงต้องดับที่นี่ไง มันคันที่ไหน ต้องเกาที่นั่น มันร้อนที่ไหนต้องดับที่นั่น ถ้าดับที่นั่นนะต้องตั้งสติไว้ เรามีสติสัมปชัญญะของเรา เราจะดับความร้อนของเรา ถ้าจะดับความร้อน แล้วเอาอะไรดับ ไฟมันจะดับได้ด้วยน้ำนะ แต่ความร้อนของเราจะดับด้วยธรรม กิเลสกลัวธรรม เท่านั้น กิเลสในหัวใจของเราพาให้เร่าร้อน กิเลสในหัวใจเรา พาเราให้เร่าร้อนนะ แต่ธรรมะจะพาให้เราร่มเย็น ร่มเย็นตรงไหน

ดูสิ เวลาเรามีความโกรธ เรามีอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากอะไร เกิดมาจากความกระทบ เกิดมาจากข้อมูลในหัวใจของเรา ข้อมูล จริตนิสัยของคน เห็นไหม สิ่งที่เกิดขึ้นมา ถ้ามันไม่พอใจเรา เห็นไหม เกิดความไม่พอใจ มันเกิดความขัดแย้งในหัวใจของเรา มันเกิดอารมณ์ขึ้นมา เห็นไหม มันเกิดจากการกระทบของใจที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เอาความเร่าร้อนมาให้หัวใจของเรา

ธรรมะจะเข้าไปดับข้อมูลอันที่ผิดนั้น ดับข้อมูลอันผิด เห็นไหม สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาป่วยไข้ขึ้นมา หมอชีวกเป็นผู้รักษานะ ในเมื่อสอุปาทิเสสนิพพาน คือ ร่างกายกับจิตใจมันยังมีอยู่ เห็นไหม อย่างพระที่สิ้นกิเลสไปแล้ว สิ่งนี้ก็มีอยู่ มันก็ร้อน ความร้อนของฤดูกาลนะ มันเป็นเรื่องของธรรมดา แต่ถ้าเป็นเรื่องธรรมดานะ เราจะเข้าใจมันอย่างไร เห็นไหม อยู่กับโลกโดยไม่ทุกข์ไง อยู่กับทุกข์โดยไม่ทุกข์ อยู่กับสัจจะความเป็นจริงโดยเข้าใจสัจจะความจริง วางสัจจะความจริงนั้นเป็นความจริง ใจของเราวางจากมันไป มันเป็นอย่างนี้เอง

สิ่งที่มันเป็นอย่างนี้เห็นไหม มันเป็นอย่างนี้ ธาตุขันธ์มันเป็นอย่างนี้ ฤดูกาลมันเป็นอย่างนี้ ความเป็นไปมันเป็นอย่างนี้ เราเกิดมาในภพ ดูสิ สมัยโบราณเห็นไหม สิ่งแวดล้อมดีมาก มันมีความร่มเย็นเป็นสุข ร่มเย็นเป็นสุขในที่เป็นธรรมชาตินะ ที่เป็นแหล่งน้ำ ดูสิ แม่น้ำลำธาร มันตั้งแต่สมัยกี่ร้อยกี่พันปีมา มันก็เป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้นะ มีชุมชนเกิดขึ้นมาตามแหล่งน้ำนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เราไปเกิดในภูมิประเทศที่ดีเห็นไหม เราไปเกิดในป่าเขาที่ร่มเย็นเป็นสุข มันก็มีความร่มเย็นเป็นสุข แต่ในสมัยโบราณ เวลามันเกิดภัยแล้งขึ้นมา มันก็เป็นเหมือนกัน สิ่งนี้มันเป็นเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราโหยหาส่วนที่เป็นอดีตไง สิ่งนี้มันผ่านมาแล้ว

ในปัจจุบันโลกเป็นอย่างนี้ เราเกิดมาแล้วนะในกึ่งพุทธกาล กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เจริญตรงไหน เจริญตรงที่มีผู้รู้จริง ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนหัวใจมันรู้จริงประพฤติปฏิบัติขึ้นมานั้นเอาอะไรประพฤติปฏิบัติ จิตตภาวนานะ

เราบวชกัน นี่เป็นสมมุติสงฆ์ บวชโดยญัตติจตุตถกรรม บวชมาโดยธรรมวินัย บวชขึ้นมาแล้ว เห็นไหม บวชร่างกาย บวชขึ้นมาเป็นสมมติสงฆ์ เกิดมาเป็นมนุษย์นี้เป็นอริยสมบัติ เป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ที่มีการเกิดเป็นมนุษย์ แล้วมนุษย์นี้บวชขึ้นมาเป็นภิกษุ เห็นไหม การบวชนี้ มันสมมุติซ้อนมานะ ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบวช เห็นไหม ออกบวชประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็เกิดในธรรม

เกิดในธรรม เห็นไหม เกิดวันนี้ ตรัสรู้วันนี้ แล้วก็ปรินิพพานในวันนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิด ๒ หน เกิดหนหนึ่งคือเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดอีกหนหนึ่งจนบรรลุธรรมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่เรามาบวชเป็นพระ เป็นพระโดยญัตติจตุตถกรรม โดยญัตติขึ้นมาเป็นสงฆ์ เราบวชขึ้นมาโดยสมมุติสงฆ์ เราบวชมาแล้ว เราต้องใช้ธรรมวินัย เห็นไหม ธรรมวินัยเป็นศาสดาของเรา ถ้าเราเคารพธรรมวินัย คือ เราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะ! พุทธะคือหัวใจของเรา เราต้องดัดแปลงตรงนี้ นี่ถ้าดัดแปลงตรงนี้เห็นไหม ธรรมวินัยจะดัดแปลงหัวใจของเรา ถ้าจะดัดแปลงหัวใจของเรา ใครเป็นคนดัดแปลงล่ะ นี่ล่ะจิตตภาวนา

บวชเป็นสงฆ์ บวชโดยสมมติสงฆ์ เราต้องบวช ถ้าเอหิภิกขุ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวชให้ เห็นไหม วันมาฆบูชา เอหิภิกขุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวชให้ บวชเสร็จแล้วมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด เห็นไหม เอหิภิกขุ

นี่ก็เหมือนกัน เราต้องบวชของเราเอง บวชโดยญัตติจตุตถกรรม บวชเข้ามาเป็นสงฆ์แล้ว ธรรมวินัยนี้ เราต้องตั้งสติ เราต้องมีสมาธิ เราต้องมีปัญญาขึ้นมา เราจะต้องทำใจของเราให้มันพ้นจากการครอบงำของตัณหาความทะยานอยาก สมุทัยควรละ ถ้าละสมุทัย ละด้วยอะไร ละด้วยธรรมวินัย ละด้วยอริยสัจ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคก็ให้มันเป็นมรรคตามสัจจะความจริงนะ มรรคเห็นไหม มรรคโดยโลก มรรคโดยกิเลส เห็นไหม มัชชิมาปฏิปทา อัตตกิลมถานุโยค การประพฤติปฏิบัติทำให้ลำบากๆ นั่นกิเลสมันอ้างไง กิเลสมันอ้างว่าเป็นการลำบาก

แต่ถ้าจิตใจเรานะ เรามีความศรัทธามีความเชื่อ เราบวชมาใหม่ๆ นะ เราอยากประพฤติปฏิบัติ เรามีจิตใจชุ่มชื่น เราอยากจะนั่งสมาธิภาวนา เราอยากเดินจงกรม นี่ไงการกระทำอย่างนั้น มันทำโดยการฝึกหัดขึ้นมา แล้วจิตก็จะละเอียดเข้ามา

ถ้าจิตไม่สงบเข้ามา ภาวนามยปัญญาก็เกิดไม่ได้ ถ้าจิตสงบเข้ามา เห็นไหม จิตสงบมันก็มีความร่มเย็นเป็นสุขในหัวใจเราแล้วนะ จิตสงบขึ้นมามันร่มเย็นเข้ามา ร่มเย็นเพราะอะไร ร่มเย็นเพราะมีสติสัมปชัญญะ มันกั้นไว้ไง มันกางกั้นตัณหาความทะยานอยากที่มันลุกล้ำเห็นไหม ตัณหามันล้นฝั่ง มันล้นจากหัวใจเรา ล้นออกมา..ล้นออกมา.. ล้นออกมาจนเป็นความปรารถนา เป็นความต้องการ เป็นความเครียด เป็นความทุกข์ เป็นความยากไปในหัวใจ

เราตั้งสติกั้นมันไว้ กั้นไว้ จะใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ หรือใช้พุทโธเป็นคำบริกรรม เป็นสมาธิอบรมปัญญาก็ได้ สิ่งนี้จะทำให้มันเกิดความสงบเข้ามา สิ่งนี้มันสงบเข้ามามันก็มีความร่มเย็น คนที่มีความร่มเย็น คนมีกำลังขึ้นมา มันจะทำงานของมันได้ไง

จิตตภาวนา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันจะออกภาวนา นั่น ...ปัญญาอย่างนั้นมันถึงเกิด ภาวนามยปัญญามันจะเกิดกับเรานะ ภาวนามยปัญญาเกิดกับเรา เห็นไหม แต่ถ้าเรามีความเร่าร้อน ทุกอย่างร้อน มันก็ร้อนไปหมดเลย มันร้อนข้างนอกนะ มันร้อนข้างนอกเป็นความคิดเห็นไหม จิตมันรับรู้ ตากแดดมันก็ร้อน ลมพัดมันก็เย็น แล้วหัวใจมันรับรู้สิ่งนั้น รับรู้จากภายนอก อารมณ์ความรู้สึกจากภายนอกมันก็วนอยู่ภายนอก มันเป็นผลของวัฏฏะไง มันเป็นผลของความคิดที่เกิดเป็นมนุษย์ ผลของความคิดถ้ามีอายตนะกระทบนี้ มันเป็นผลที่เกิดมาจากวัฏฏะแล้ว

ผลที่เกิดจากวัฏฏะ เราก็ไปยึดมั่นถือมั่นในวิบากกรรมอันนี้ แต่วิบากกรรมมันเป็นโลก มันเป็นวัฏฏะ เห็นไหม เป็นโลก โลกคือสัตตะ โลกคือผู้ข้อง จิตมันข้องอยู่กับวัฏฏะ มัน เกิดมาด้วยความจำนนนะ กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างกัน เกิดโดยความจำนน พอจำนนแล้วเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วนี่ สิ่งที่เป็นฤดูกาลมานี่ เราก็ยังจะหาทางหลบหลีก ยังจะปฏิเสธมันอีก เห็นไหม แต่ถ้ามันเป็นธรรมะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีจิตตภาวนาให้หาเหตุหาผล ถ้ามัน ร้อนมันก็ร้อนเป็นธรรมดาของมัน เวลามันหนาว เราก็หนาวจนต้องหาเครื่องป้องกันความหนาวเห็นไหม เวลามันร้อนขึ้นมามันก็ร้อน เราก็ต้องการหาอะไรบรรเทาความร้อนของเรา

ความร้อนจากข้างนอก ถ้าจิตใจมันเข้าใจ มันหาทางหลบทางหลีกของมัน เห็นไหม พอหลบหลีกเข้ามานี้ จิตมันสงบเข้ามา นี่ผลของวัฏฏะ ผลของวิบากกรรม ผลของฤดูกาล ผลอย่างนั้นมันก็วางไว้ มันสงบได้ มันก็พอใจได้ จิตมันสงบเข้ามา

แล้วที่มันเป็นอยู่นี้ สิ่งที่รู้ร้อนรู้หนาว รู้ความทุกข์ความยาก ใครเป็นคนรู้ล่ะ ก็จิตเป็นผู้รู้ แล้วยังจะเกิดมารับรู้นี้อย่างนี้อีกไหม ยังจะเกิดภพเกิดชาติ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังมาทุกข์ยากอย่างนี้อีกไหม ถ้ามันทุกข์อย่างนี้ แล้วอะไรมันทำให้เกิดทำให้ตายล่ะ ปฏิสนธิจิตมันอยู่ที่ไหน ปฏิสนธิจิตนี้เราต้องค้นหาเข้ามา ปฏิสนธิจิต ความโง่ของจิต มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ยึด เห็นไหม

ความร้อน ความหนาวก็ไปยึดว่าเป็นความทุกข์ของเรา ตัวตนที่มันก็ยึดอยู่แต่ก็ไม่เห็นตัวตนของมัน เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันย้อนกลับไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นธรรม เห็นโดยจิตนะ เห็นโดยภาวนา เห็นโดยจิตตภาวนา เห็นอย่างนั้นมันถึงเป็นมรรค มันถึงเป็นอริยสัจ มันถึงเป็นความจริง แต่ที่เขาว่าเห็นกายกันอยู่นั้น มันเห็นกายโดยสัญญา

ดูสิ ความร้อน ความเย็น ของผิวกาย ของความร้อน ความเย็นที่จิตรับรู้นี่ อายตนะ คำว่าอายตนะ คือจิตมันเคลื่อนออกมาแล้วนะ มีพลังงานออกมา ถ้าจิตมันกลับไปสงบนิ่งอยู่นี่ สักแต่ว่ารู้ ถ้ามันสงบลึกๆ อัปปนาสมาธินั้น นิ่งหมดเลย ไม่รับรู้อะไรเลย มันรู้แต่ตัวมันเอง มันรู้แต่ตัวจิต

สมาธิลึกๆ นี่มันปล่อย จิตกับกายมันแยกออกจากกันโดยธรรมชาติของมันเลย มันแยกโดยสมาธิเห็นไหม พอแยกสมาธิ แล้วทำไมมันไม่รับรู้ล่ะ แล้วไม่รับรู้มันจะพ้นกิเลสได้ไหมล่ะ ไม่รับรู้มันมีความสุขของมัน แต่มันพ้นกิเลสไม่ได้ เพราะมันคงที่ไม่ได้ สมาธินี้เราสร้างขึ้นมา มีสติสัมปชัญญะขึ้นมา เราก็มีสมาธิเข้ามา เดี๋ยวมันก็เสื่อมเป็นธรรมดา มันจะต้องเสื่อมของมันธรรมดา ไม่มีอะไรคงที่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะทั้งหลายมันเป็นอนัตตาทั้งหมด มันเกิดมาชั่วคราว แล้วมันจะแปรสภาพของมัน ถ้ามันต้องแปรสภาพของมันแล้วเราจะให้คงที่ได้อย่างไร คงที่ด้วยการชำนาญในวสี ชำนาญโดยเหตุ เห็นไหม ตักน้ำใส่ตุ่ม ๆ เราเติมน้ำใส่ตุ่มตลอดเวลา น้ำต้องเต็มเป็นธรรมดา

เราตั้งสติ เห็นไหม เราก็มีคำบริกรรม เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา จิตมันสงบได้ทั้งหมด แต่มันพ้นกิเลสไม่ได้ ถ้าไม่เกิดปัญญา แล้วปัญญามันเกิดมาได้อย่างไร ปัญญามันเกิดขึ้นมาเห็นไหม ปัญญาจากจิตที่มันสงบแล้ว

อัปปนาสมาธินี่มันพิจารณาไม่ได้ เพราะมันสักแต่ว่ารู้ ออกมาอุปจารสมาธิ มันคายตัวออกมา พอคายตัวแล้วกำหนดไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นธรรม นี่วิปัสสนา วิปัสสนาอะไร วิปัสสนาไปในการยึดมั่นถือมั่นไง ในทิฏฐิความเห็นผิดของใจ ใจมันโง่ จิตโง่ ปฏิสนธิจิตมันถึงต้องเกิดต้องตาย เพราะมันโง่ เห็นไหม ถึงเป็นอวิชชา ถ้ามันฉลาดขึ้นมา ฉลาดก็เป็นวิชชา

วิชชาคืออะไร วิชชาคือสัจจะความจริง อริยสัจมันมีอยู่แล้ว มันมีอยู่นะ สิ่งนี้ธรรมะมีอยู่แล้ว ถ้าจิตมันเข้าไปเห็นเข้า มันจับกายได้ มันวิปัสสนากายของมัน วิภาคะ มันต้องให้เป็น อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต คือ แยกส่วนขยายส่วน แยกส่วนขยายส่วนเพื่อให้ฝึกฝน ภาวนามยปัญญามันเกิดตรงนี้ ฝึกฝนให้เห็นไงว่ามันแปรสภาพ มันเป็นไตรลักษณะ ไตรลักษณญาณ เห็นไหม สิ่งที่เป็นไตรลักษณญาณ ใครเป็นคนเห็น จิตเป็นคนเห็น ในเมื่อจิตใต้สำนึกมันยึดของมัน ยึดในสักกายทิฏฐิ ว่าเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา โดยกิเลสเป็นเรา โดยธรรมะที่เป็นธรรมชาติมันก็เป็นเรา เพราะมันเกิดตายเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันเป็นกรรม มันเป็นวิบากกรรม มันเป็นผล มีเหตุมีปัจจัย มีเหตุมีปัจจัยมีผลแล้วมันต้องหมุนไปเป็นธรรมดา สิ่งที่มีอยู่มันต้องหมุนไปเป็นธรรมดา เห็นไหม

ธรรมะที่มีอยู่เกิดขึ้นมา ธรรมะไปที่เห็นสิ่งที่มีอยู่ เห็นผลในวัฏฏะ เห็นการหมุนในวัฏฏะ เห็นความเป็นไปของไตรลักษณ์ จิตมันเห็นเข้า มันก็เกิดธรรมสังเวช มันก็สลดสังเวช มันสลดสังเวชนะ มันแทงหัวใจมาก พอมันแทงหัวใจมาก มันจะเริ่มคลายตัวของมัน คลายตัวของมัน ถ้าขิปปาภิญญาพิจารณาของมันแล้วบรรลุธรรมเลย ตรัสรู้ธรรมเลยก็มี แต่จะให้เป็นอย่างนั้นมันก็ต้องมีความจริงในใจมหาศาล มากมาย มันต้องสร้างมามาก

แต่ของเรานี้แค่ขอให้ทำ ให้เห็น ให้เป็นให้ไปนะ ฝึกฝน ความเพียรชอบ มีความขยันหมั่นเพียรพิจารณาของมันไป ปล่อยให้มันเป็นไปตามสัจจะความจริง มันคลายตัวออก.. มันคลายตัวออก.. มันเห็นนะ จากที่ทิฏฐิ ความเห็นผิดของเรา เราจิตสงบแล้วเราเห็นของเรา เราก็เห็นว่ามันเป็นอย่างนั้น จิตสงบ “โอ้ ! กายกับจิตแยกเนอะ โอ้! แยกหมดเลย” แต่ถ้าอธิบายไม่ได้นะ มันก็ไม่รู้จริงหรอก

แต่ถ้ามันวิปัสสนาไป มันปล่อยแล้ว ปล่อยแล้วก็ยังพูดไม่ถูก ปล่อยแล้วก็คือปล่อย

“จิตกับกายมันแยกกันหมดเลย มันปล่อยหมดเลย”

ปล่อยแล้วมันเหลืออะไร ?

“ไม่รู้”

ไม่รู้ต่างๆ ไม่รู้ทั้งสิ้น มันต้องซ้ำ ซ้ำใหม่หมายถึงว่า “มันทำอย่างไรแล้วจิตมันตั้งได้ พอสงบเข้าไปแล้วมันปล่อย” มีความสุขก็อยู่กับความสุข คลายตัวออกมา จิตสงบเข้าไป ย้อนกลับไป รำพึงไปให้เห็นกาย มันก็เห็นอีก ถ้ามันยังไม่ขาด มันยังเห็นของมันตลอดไป พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงที่สุดมันจะแยกออกไป มันจะขาดออกไป กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เห็นไหม ใครเป็นคนปล่อย สิ่งใดที่มันคลายตัวออกมา คลายตัวออกมา คือสังโยชน์ที่มันดึงตัวมันออกมา มันดึงตัวมันออกมา เห็นไหม สิ่งที่ว่าถ้าจิตมันสงบ แล้วมันปล่อย มันพูดไม่ได้ มันไม่เข้าใจหรอก

แต่สิ่งมันขาด อะไรมันขาด เหมือนเราทำเอง เราทำมากับมือ สิ่งนี้เราทำมากับมือ เราทำของเราเอง มันจะไม่รู้หรือว่ามันขาดอย่างไร มันขาดออกไปแล้วมันเหลือสิ่งใด เห็นไหม นี่คือปัญญาไง ภาวนามยปัญญามันเป็นอย่างนี้ นี่คือภาวนามยปัญญา แล้วพอเกิดภาวนามยปัญญา มันจะเกิดความมุมานะ คนเราทำสิ่งใดแล้วมันได้ผลประโยชน์ มันมีความสุขของมัน มันมีการกระทำของมัน มีความชื่นอกชื่นใจ มันยิ้มกริ่ม มีความยิ้มแย้ม มันมีความแจ่มใสในหัวใจ มันมีความสุขของมัน เราก็ทำบ่อยครั้งเข้า มีความวิริยะอุตสาหะ นี่คืองานของเรานะ งานในการรื้อวัฏฏะ รื้อภพรื้อชาติ

งานของพระนะ บวชมาเห็นไหม อุปัชฌาย์ให้มานะ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ สิ่งนี้ย้อนเข้าย้อนออกอยู่ตลอดเวลา นี่งานของพระ สิ่งที่เราต้องบำรุงรักษานี้ มันเป็นธรรมวินัยของของสงฆ์ ภิกษุ เห็นไหม เอื้อเฟื้อในธรรมวินัย ถ้าไม่เอื้อในธรรมวินัย สิ่งใดก็ไม่ใช่หน้าที่ สิ่งใดก็ทิ้งๆ ขว้างๆ มันเป็นของของสงฆ์ เราต้องอาศัยนะ คนเรามันต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย เราเกิดมา เราบวชมาเป็นพระเป็นเจ้า เห็นไหม ของของสงฆ์นี้ ถ้าคนจิตใจสูงส่งนะ มันจะถนอมรักษาไว้เป็นของกลาง แล้วผู้คนจะได้มาพึ่งอาศัย มันก็อยู่ที่ความหยาบละเอียดของคน คนหยาบก็หยาบมาก คนละเอียดนะก็เป็นภาระไปหมดเลย

ความเป็นคนที่จิตใจสูงส่ง จิตใจมีคุณงามความดีนะ มันเห็นแล้วมันทนไม่ได้ มันต้องจัดการ บริหารงาน ไอ้คนที่หยาบนะก็ทำแต่เรื่องที่หยาบๆ เห็นไหม สังคมมันอยู่ด้วยกัน มันต้องจุนเจือกัน มันต้องเกรงอกเกรงใจกัน มันต้องเห็นใจ เอื้อเฟื้อต่อกัน นี่เห็นไหม เอื้อเฟื้อในธรรมวินัย ถ้าไม่เอื้อเฟื้อในธรรมวินัยนั้นนะปรับอาบัติ ถ้าไม่เอื้อเฟื้อปรับอาบัติตั้งแต่ทีแรกเลย ทีนี้เพียงแต่ประสาเราใช่ไหม เราเห็นว่า สิ่งที่กฎหมายถ้ามันไม่ได้ทำผิด เราก็ไม่เห็น นี่ก็เหมือนกัน ธรรมวินัยเราไม่ทำผิด มันก็ไม่ใช่ความผิด แต่หัวใจนี่ทำ ทำแล้วมันมีความละอายไหม

สิ่งที่มันมีความละอาย สิ่งที่เป็นไป เห็นไหม ทุกคนเขาเกื้อกูลไว้เพื่อเรา เพื่อให้เราได้พึ่งพาอาศัย แล้วเราจะพึ่งพาต่อไปไหม สิ่งที่พึ่งพาต่อไป พึ่งพาในอะไร พึ่งพาในธรรมวินัยนะ ดูสิ เวลาเราเข้าใจผิด เรามีความลังเลสงสัย ใครจะคอยเกื้อกูลเรา ใครจะคอยบอกเรา การพึ่งพาอาศัยทางวัตถุ คือ กุฏิวิหาร อันนี้เราหลบแดดหลบฝน การเกื้อกูลกันในธรรม สิ่งที่มันเศร้าหมอง สิ่งที่ปักเสียบในหัวใจ เวลาเรามีความลังเลสงสัย เราจะพึ่งใคร สิ่งที่พึ่งใครเห็นไหม นี่เอื้อเฟื้อในธรรมวินัย ผู้ที่มีอายุพรรษมากกว่า ก็จะคอยบอกคอยเตือนผู้ที่มีพรรษาน้อยกว่า คอยบอกให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผู้ที่มีพรรษาน้อยกว่านะ

เห็นไหม ภิกษุบวชใหม่ สิ่งที่ภิกษุบวชใหม่ทนได้ยาก คือ ทนการกล่าวเตือน ทนการบอก นี่คือสิ่งที่ภิกษุบวชใหม่ทนได้ยาก สิ่งต่างๆ มันข้ดแย้งไง มันขัดแย้งเพราะว่าเรามาจากเพศฆราวาส เห็นไหม เพศของคฤหัสถ์ มันจะทำแต่ตามใจตัว พอบวชเข้ามาแล้ว สิ่งนั้นก็ไม่ได้ สิ่งนี้ก็ไม่ได้ สิ่งที่ไม่ได้เพราะมันเป็นธรรมเป็นวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่คุ้นเคยไม่คุ้นชิน ถ้าเราผิดพลาดไป เราก็ต้องปลงอาบัติ ผิดพลาดไปเราต้องขอขมากัน ขอขมานะ จนเราเห็นคุณค่า ชีวิตเป็นอย่างนี้เอง

การเกิดมา เห็นไหม ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ถ้าไม่หายใจมันก็ตาย สิ่งที่หายใจเข้าหายใจออกมันก็เป็นธรรมดาของมัน การใช้สอยในชีวิตประจำวันก็ต้องมีของมันเป็นธรรมดา มีไว้ทำไม สิ่งที่ใช้สอยมีไว้ทำไม มีไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติไง ฉันอาหารแล้ว เวลาบิณฑบาต มันได้ขบฉันแล้ว ฉันไปเพื่ออะไร เพื่อดำรงชีวิตไว้ ดำรงชีวิตไว้เพื่ออะไร ก็เพื่อปฏิบัติไง ปฏิบัติทำไม ปฏิบัติไปให้จิตมันหายโง่ไง ปฏิสนธิจิตไม่ต้องไปเกิดไปตายอีกแล้ว จะไม่ต้องหมุนไปในวัฏฏะนี้ ผลของวัฏฏะนะ ผลของการเกิดการตาย มันต้องมาเกิดมาตายอย่างนี้ มันทุกข์มันร้อนอย่างนี้ เราเกิดมาแล้วกี่ภพกี่ชาติ

ดูสิ สมัยพุทธกาล พระที่นั่งอยู่จะมีผู้หญิงมานั่งอยู่ข้างๆ ตลอดเวลา จนร่ำลือไปหมด จนพระเจ้าปเสนทิโกศลต้องไปดู ไปยืนอยู่ไกลๆ ก็จะเห็นผู้หญิงนั่งอยู่ข้างหลัง พอเข้าไปใกล้ๆ ก็ไม่เห็น พอถอยห่างออกมาก็เห็น เพื่อจะพิสูจน์ไง ก็เห็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วยตาของพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ล่ะ”

“เป็นเพราะอดีตชาติ เคยบวชมาในอดีตชาติ เห็นไหม แล้วไปกล่าวตู่พระ เรื่องสีกา กรรมอันนั้น ก็ไปแกล้งพระไว้ กรรมนั้นเวลามันเกิดมา ในชาติสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่งที่ไหนก็จะมีภาพเงาผู้หญิงนั่งอยู่ข้างหลัง”

พระเจ้าปเสนทิโกศลบอกว่า “ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ ชาวบ้านไม่เข้าใจ พอชาวบ้านไม่เข้าใจก็ต้องร่ำลือไป มันจะทำให้เสียหายในศาสนา”

พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงไปสร้างกุฏิไว้ในพระราชวังนะ แล้วนิมนต์พระองค์นี้ไปอุปัฏฐาก ไปดูแลบำรุงรักษาเลย

การเกิดการตายไง เคยบวชมาในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ แล้วไปกล่าวตู่พระไว้ เห็นไหม แล้วก็มาเกิดในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ไง การเกิดและการตาย การ บวชแล้วบวชเล่า บวชนี่เป็นจริตนิสัย การบวชเป็นพระมา พอมาเกิดก็บวชเป็นพระ มันก็ได้สร้างสมบุญญาธิการ เพื่อจะให้จิตใจมั่นคง มีอำนาจวาสนาขึ้นมา

ถ้ามีวาสนาขึ้นมา เห็นไหม จิตใจมันใกล้ธรรมะนะ คนใกล้ธรรมะนี้มันจะทะนุถนอมธรรมวินัย ดูหลวงปู่มั่นสิ ท่านตาท่านพูดไว้ เห็นไหม หลวงปู่มั่นจะถนอมรักษามาก เก็บเล็กผสมน้อย สิ่งใดที่เป็นอาบัติไม่ทำๆๆ ทั้งๆ ที่เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์มีสติวินัย เป็นปาปมุต ไม่มีความผิดอีกแล้ว

แต่ในเมื่อเป็นครูเป็นอาจารย์ ชีวิตที่เป็นแบบอย่าง เห็นไหม เราสอนเขาได้ เราก็ต้องทำให้เขาดูได้ว่าสิ่งนี้ผิด มันเป็นความที่ผิด แต่ขณะที่เรามีสติวินัยขึ้นมา เป็นปาปมุต แต่ก็ยังไม่ฝ่าฝืน อะไรที่เป็นความผิด ไม่ทำๆๆๆ เพื่อเป็นแบบอย่างของเรา ทั้งๆ ที่จิตท่านพ้นแล้ว ท่านยังถนอมรักษาของท่านขนาดนั้น เห็นไหม เรายังเป็นผู้ที่ต้องขวนขวายกันอยู่ ยังจะต้องเดินไปข้างหน้า เพื่อให้หัวใจมันพัฒนา เดินไปข้างหน้าคือพัฒนาใจของเราไง ใจของเราต้องพัฒนาขึ้นมา

สิ่งที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยของเราในชีวิตประจำวัน เรื่องธรรมวินัยเราก็รักษา จิตใจของเรานี้ เราต้องทำความสงบเข้ามาให้ได้ พยายามทำให้ได้ มันเป็นสมบัติของเรานะ เป็นความสงบของเรา เป็นความสุขของเรา เป็นสิ่งที่เราจะออกจากกิเลสของเรา เป็นสมบัติของเราเพราะออกจากความทุกข์ ออกจากความร้อน ออกจากเกี่ยวข้องใจ ใจนี้ถ้ามันออกไป มันจะเกิดจะตาย ไปมันเป็นผลของวัฏฏะ เราจะพ้นจากวัฏฏะ เราจะหักวัฏฏะนี้ให้ได้ ถ้าจะหักจากวัฏฏะนี่มันต้องเข้มแข็ง

งานข้างนอกนะ ดูสิ ผู้บริหารองค์กร ผู้ที่บริหารประเทศชาติ เขาต้องรับผิดชอบทั้งประเทศของเขา เพื่อให้ประเทศชาติเจริญ นี่เราก็ต้องพยายามบริหารจัดการในหัวใจของเรานะ ใจเกิดใจตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า จิตหนึ่ง เวลาเกิดตาย ถ้าเอาสิ่งที่เกิดตาย เอาซากศพมามันมากกว่านี้ เพราะชีวิตมันไม่มีต้นไม่มีปลาย ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ลองภาวนาไปสิ พอจิตมันมีข้อมูลของมัน มันมาจากไหน ไม่อย่างนั้น จริตนิสัย ความเชื่อของเรา ความมุมานะ ความเข้มแข็งของเรา มันมาจากไหน

คนเราทำไมถึงมีความเห็นไม่เหมือนกัน คนเราทำไมมีความเห็นแตกต่างหลากหลายกันไป แตกต่างกันเพราะตรงนี้ ตรงที่เบื้องหลังการสร้างมา เห็นไหม การสร้างมา การทำของเรามา ไอ้นั่นมันเป็นนิสัยของเรา นิสัยของเราแล้วเราไม่ต้องไปเทียบเคียงกับใคร ถ้าเทียบเคียงกับใครแล้ว มันเทียบเคียงไม่ได้ แล้วเราจะคุยกันอย่างไร เราจะลงตัวอย่างไร สิ่งใดที่มีการขัดแย้งบ้าง ขัดแย้งคือเป็นธรรม ธรรมขัดแย้ง คือ มุมมอง แต่ถ้าผิดวินัย วินัยนี่ไม่ได้ มันต้องบอกกัน ว่าสิ่งนี้มันทำไม่ได้ มันทำไม่ได้ทำแล้วมันผิดวินัย พอผิดวินัยแล้ว เห็นไหม เราต้องลงอุโบสถ เราต้องปลงอาบัติทำไม เราปลงอาบัติเพราะถ้ามันเป็นอาบัติขึ้นมา เวลาปลงอาบัติเห็นไหม ดูสิ ถ้ามันเป็นอาบัติหนักนะ มันเป็นโมฆียะเลยล่ะ

ถ้าผู้ที่มีอาบัติหนัก เห็นไหม ห้ามร่วมทำสามีจิกรรม ขนาดปลงอาบัติด้วยกันยังไม่ได้ ถ้ามาลงอุโบสถร่วมกัน ก็ทำให้สังฆกรรมนั้นเป็นโมฆียะ ทำให้สังฆกรรมนั้นเป็นโมฆะ ถ้ามันผิดวินัย มันถึงต้องบอกกันไง ถ้ามันไม่บอกกัน เวลาสังฆกรรมจะทำให้สังฆกรรมนั้นเสียไป สังฆกรรม สังฆะคือหมู่สงฆ์ หมู่สงฆ์ที่มีทิฏฐิเสมอกัน มีความคิดเห็นเสมอกัน ลงอุโบสถร่วมกัน เพื่อความดีความงามในศาสนา แล้วศาสนามันอยู่ที่ไหนล่ะ ศาสนธรรม คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราบรรลุธรรมขึ้นมาเห็นไหม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ศาสนาอยู่ที่ไหน ศาสนานี้มีใจเท่านั้นที่สัมผัสได้นะ ศาสนาอยู่ที่ตัวหนังสือหรือ ศาสนพิธี แล้วความเห็นในศาสนพิธีนั้นมันก็มีความแตกต่างหลากหลายกันไป เห็นไหม

ศาสนาธรรม ถ้าไปถึงธรรมแล้วมันไปถึงจุดหมาย พอเห็นธรรมแล้วมันถึงเหมือนกัน มันเข้าใจ มันจะไม่มีทิฏฐิมานะ มันจะไม่เห็นต่างเลย เห็นต่างในธรรมนะ แต่เห็นต่างในวิธีการได้ เห็นต่างในวิธีการก้าวเดินไป เห็นไหม การกระทำนี่มันแล้วแต่จริตนิสัย แต่ถึงที่สุดแล้วโสดาบันก็ต้องเป็นโสดาบัน สกิทา อนาคา เหมือนกันหมดเลย ไม่มีความแตกต่างเห็นไหม ดูสิ สุกขวิปัสสโก นี่เป็นประเภทของพระอรหันต์ ฉฬภิญโญ เตวิชโช อันนั้นเป็นประเภท เป็นอำนาจวาสนา ถึงที่สุดแล้วมันเป็นได้ แต่อรหันต์ อนาคา สกิทาเหมือนกันหมด แต่สิ่งที่เป็นประเภทมันแยกส่วนไป ส่วนผลมันเหมือนกันไง

สิ่งที่เป็นผลเหมือนกัน แต่อำนาจวาสนาแตกต่างกัน เพราะการเกิดและการตายมีกระทำมาแตกต่างกันไป ความแตกต่างอันนี้มันมาจากการกระทำ มาจากเบื้องหลังนะ เราถึงเอามาเทียบเคียงกันไม่ได้ไง สั้นยาวต่างๆ นิสัยใจคอของคน ความอดทนของคนมีมากกว่า บางคนจะอดทนได้น้อยกว่า ความอดทนอันนั้น ถ้าเราอยู่ด้วยกันนะ ครูบาอาจารย์สมัยหลวงปู่มั่นนะ ท่านจะรู้นิสัยกันเลยล่ะ อะไรควรไม่ควร อะไรชอบไม่ชอบ จะส่งเสริมกัน เพราะต่างคนต่างเห็นใจกันนะ เราทุกข์ด้วยกันนะ เราเกิดตายเหมือนกัน เราเป็นศากยบุตรเหมือนกัน เราเกิดมาแล้วเราบวชมาแล้ว เราอยากจะพ้นทุกข์ด้วยกัน อะไรที่ผิดพลาด อะไรที่เป็นของเขา พระองค์นี้ใช้อย่างนี้แล้วสะดวกสบาย มันคือธาตุขันธ์ไง สิ่งที่บำรุงธาตุขันธ์จะส่งเสริมกัน

ถ้าจะเล่นกันบ้าง มันก็เล่นกันเพื่อสนุกสนาน ไม่ให้บาดหมางกัน บางทีมีการเล่นหัว พระก็มาจากคนใช่ไหม พระก็มีสนิทคุ้นเคยใช่ไหม เราก็มีเล่นกันบ้าง แต่ไม่ให้ผิดไปจากธรรมวินัย ในสมัยพุทธกาลนะ ภิกษุจี้ภิกษุเป็นอาบัติปาจิตตีย์ จี้ให้หัวเราะไง ก็เล่นกัน จี้ๆๆ ไปจนพระตายเลย หัวเราะจนตาย นี่สมัยพุทธกาลก็มีนะ

ดูสิ สมัยพุทธกาล ดูอย่างวินัยเห็นไหม ฉัพพัคคีย์ ทำอะไรผิดบ้าง ภิกษุทำอะไรผิดบ้าง นั่นคือธรรมวินัย เพราะพระก็มาจากคน เห็นไหม ดูสิ คันถธุระ วิปัสสนาธุระ คันถธุระก็มาบวชแล้วศึกษาทางธรรมวินัย แล้วก็สั่งสอนกันด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็เป็นโปฐิละ ใบลานเปล่า

วิปัสสนาธุระ บวชเมื่อแก่หรือบวชเมื่อหนุ่มก็แล้วแต่ อยากจะประพฤติปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ให้ได้ จะสงบเสงี่ยม จะรักษาใจ เพราะสมาธิก็ทำได้ยาก สติก็สร้างได้ยาก ทุกอย่างเกิดได้ยากทั้งหมดเลย แล้วเราพยายามทำของเราให้ดีขึ้นมา ทำได้ยากแต่ก็รักษาไว้เพื่อให้เป็นประโยชน์กับเรา สิ่งที่ทำได้ยากก็พยายามทำ

สิ่งที่จดจำ เห็นไหม ตำรามี จะศึกษาจะอ่านขนาดไหน ก็ได้เป็นใบประกาศ ได้สอบได้ทำ มันก็เป็นการทำข้อสอบ มันเป็นการสัญญา มันเป็นการตอบคำถาม แต่เวลาจิตใจมันสงบขึ้นมา สมาธิก็ต้องเป็นสมาธิของเรา สติก็ต้องเป็นสติของเรา ปัญญาก็ต้องเป็นปัญญาของเรา ถ้ามันไม่เป็นปัญญาของเรา มันเป็นสัญญาขึ้นมานี่มันจะฆ่ากิเลสได้ไหม เรายืมมีดคนอื่นมาใช้ กู้เงินคนอื่นมาใช้ เราต้องใช้หนี้เขาไหม ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรากู้ยืมมา กล่าวตู่มา เห็นไหม กล่าวตู่ว่าเป็นของเรา เป็นของเรา แล้วมันเป็นจริงไหม ถ้ามันไม่เป็นจริง เชื้อโรคอยู่ในหัวใจของเราใช่ไหม มีดหรือสิ่งที่จะเข้าไปแก้ไข มันก็ต้องเข้าไปในหัวใจของเราได้

สิ่งที่จะจำมาเป็นสัญญา สัญญาไม่ใช่จิต ความคิดไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่ความคิด แล้วความคิดนั้นมาจากไหน ความคิดมันก็มาจากภพ มาจากใจนั้นล่ะ ถ้ามันมาจากใจ ถ้ามีสมาธิขึ้นมา ความคิดมันมีการย้อนกระแสกลับเข้าไปในหัวใจ เห็นไหม นั่นมีดของเรา จะเชือดเฉือนในหัวใจของเรา ปัญญาของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นมันจะเข้าไปทำลายกิเลสในหัวใจของเรา

กิเลสในหัวใจของเรา เห็นไหม เราเป็นนักรบนะ เราบวชเป็นภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เราเป็นนักรบ เพื่อรบกับกิเลส การชนะสงครามคูณด้วยล้าน ไม่มีคุณค่าเท่ากับเราชนะตัวเราเอง ถ้าเราชนะตัวเราเอง เราจะชนะอย่างไร ใจอยู่ที่ไหน ชนะตัวเอง หรือเอาชนะอะไรมีแต่วิ่งไปตามมัน มันจะคิดสั่งให้ไปนี่ก็ไปหมดเลย ให้ไปที่นั่น ให้ทำอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนั้น วิ่งตามมันหมดเลย แล้วหยุดมันเป็นไหม

ใจอยู่ที่ไหน ที่จะชนะตนเองนี่ ชนะตรงไหน ถ้ามันชนะตัวเองได้ มันต้องเห็นหัวใจของเรา แล้วมันทำลายนะ สิ่งที่เกิดขึ้นมาศักดิ์ศรีความดีงาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีฤทธิ์ขนาดไหน เวลาเขาจ้างคนมาด่า เป็นอูฐ เป็นลา เป็นคนหัวโล้น คนเรามีฤทธิ์มีเดชนะ แสดงฤทธิ์แสดงเดช เวลาแสดงยมกปาฏิหาริย์ เห็นไหม มหาศาลเลย แล้วไอ้แค่นี้มันทำได้ทั้งนั้น แต่ทำไมท่านไม่ทำล่ะ ท่านมีฤทธิ์มหาศาล แต่พอคนมาด่าคนมาว่านะ ท่านไม่เคยตอบโต้เลย แล้วเราเป็นใคร เราจะไม่ให้คนติมาเตือนเราเลยนี้ เราเป็นใคร ใครจะติใครจะว่ามันเป็นเรื่องของเขานะ คนโง่นะมันพูดประสามัน กระแสข่าว เห็นไหม ไม่ต้องมีมูลมันก็ลือกันได้ แล้วมันลือไปแล้ว เราไปตื่นเต้นอะไร

กาลเวลามันพิสูจน์คนนะ ถึงเวลาจะพิสูจน์ได้เองว่า เราผิดหรือไม่ผิด เราดีหรือไม่ดี ครูบาอาจารย์ท่านนิพพานไปแล้ว เห็นไหม กระดูกเป็นพระธาตุ คนไปกราบกันที่หลังเห็นไหม เวลาที่ท่านมีชีวิตอยู่ มีใครไปดูแลท่านบ้าง อยู่ในป่าในเขาไม่มีใครสนใจท่านเลย เวลาท่านตายไปแล้ว เผาแล้วกระดูกเป็นพระธาตุ โอ้โฮ ๆ เลย แล้วท่านไปอวดไปโม้ให้ใครฟัง ท่านไม่เคยไปอวดไปโม้ให้ใครฟังเลย แล้วอย่างเรานี้ เรายังอยู่ในวัฏฏะ เรายังกระเสือกกระสนกันไปอยู่นี่ จะไม่ให้มีใครมาติเตียนเราเลย เป็นไปได้อย่างไร ยิ่งใจเขาหยาบนะ เขาไม่เคยเห็นความดีงามในศาสนา เขาเห็นเราภาวนาอยู่ เห็นเราบวชก็บอกว่า “วันๆ ไม่เห็นทำอะไร เห็นเดินไปเดินมา ไอ้พวกนี้ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย เขาต้องทำมาหากินของเขา” เขาคิดของเขาอย่างนั้น เขาคิดว่าตัวเขาถูก เขาไม่รู้ว่าเขาโง่ เขาโง่แล้ว เขายังติเตียนเราอีก มันมีประโยชน์อะไร

ครูบาอาจารย์เราติเตียนสิ ครูบาอาจารย์เราบอกสิ เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ท่านรู้เห็นไหม วุฒิภาวะมันหยาบ มันไม่ถึงที่ มันก็คิดแบบโลกๆ วุฒิภาวะมันฉลาดขึ้นมา มันสูงส่งขึ้นมานะ เหมือนผู้ใหญ่มองเด็กๆ เลย เด็กๆ ไร้เดียงสามันก็มีผิดบ้างเป็นธรรมดา เด็กๆ เห็นไหม มันก็เล่น ทำผิด มันก็หกล้ม ยิ่งวิ่งยิ่งหกล้ม ยิ่งล้มยิ่งสนุกครึกครื้น ยิ่งพอใจ ไอ้เราเห็นเขาล้ม เราก็เจ็บปวดไปแทนเขา

เราก็มอง เราถึงวัย วัยมันเจริญขึ้นมา มันจะพัฒนาขึ้นมา อย่าคิดนะว่าความคิดเขาไม่ทันเรา มีอายุพรรษาขึ้นมา เห็นไหม ศีลจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมาอยู่ด้วยกันไง คนอยู่ด้วยกันจะเห็นพฤติกรรมกันทุกๆวัน นั้นน่ะศีล ศีลจริงหรือไม่จริงจะเห็นหมดล่ะ ธรรมะเวลาอ้าปากมา ในหัวอกมันมีเท่าไหร่ ก็เปิดหมดเลย

ธรรมะนี้ถ้าไม่มีอย่าเพิ่งเปิด เปิดออกไปนะเขาเห็นหัวใจถึงขั้วหัวปอดเลยว่าไอ้นั่นมันเป็นอะไร ไม่จริงแล้วพูดออกไปมันก็พูดผิดตลอด.

แม้แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรมัตถธรรม เราโต้แย้งตลอดเวลาเห็นไหม ในอภิธรรม ตัวอภิธรรมนั้นถูก แต่คนสอนนะมันผิดเพราะมันไม่รู้ พอไม่รู้ขึ้นมา มันก็พูดไปประสาไม่รู้นั้น ของจริงๆ นะ ดูสิ ดอลล่าร์เราไม่เคยใช้เลย เคยแต่ใช้แบงค์บาท พอดอลล่าร์มา ไม่รู้นะว่ามันมีค่านะ ไม่เคยเห็น

ใจก็เหมือนกัน สมาธิก็ไม่รู้จัก ปัญญาก็ไม่รู้จัก แต่สัญญานี่กูจำได้แม่น พูดเป็นนกแก้วนกขุนทอง แจ้วๆ แจ้วๆ แต่สัญญา พอของจริง เอาแบงค์ดอลล่าร์มา นี่ใช้ได้นะ ไม่รู้ ถ้าเป็นแบงค์บาทถึงเอา ดอลล่าร์ไม่เอา ก็มันไม่รู้จักมันถึงใช้ไม่เป็น แต่ถ้าพอมันเป็นนะ มึงจะเอาแบงค์อะไรมาก็ได้ เดี๋ยวกูหมุนเวียนเอง กูแลกเปลี่ยนของกูได้ทั้งหมดน่ะ ถ้าใจมันเป็นขึ้นมา สมาธิก็รู้จักว่าเป็นสมาธิ ปัญญาก็รู้จักว่าเป็นัญญา พูดอะไรมาก็รู้เลย

ในเมื่อเราเป็นนักการเงิน เงินน่ะเอามาเถอะ มึงเอาเงินอะไรมาก็ได้ เอามาเถอะเดี๋ยวกูจัดการได้หมดล่ะ มันใช้สอยได้ แต่ถ้าเราไม่เป็นนะ ไม่เอาล่ะ กูต้องเอาเงินบาทกูอย่างเดียวนี่แหละ ตะแบงไป กูจะเอาแต่เงินบาทเงินอื่นไม่เอาเลย เห็นไหม

ธรรมในหัวใจ ถ้ามันไม่มีนะ แล้วมันพูดออกไป คนเราศีลจะรู้ได้ต้องอยู่ด้วยกัน คลุกคลีกัน ทำไมเราเคารพครูบาอาจารย์เราล่ะ ครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นแบบอย่างนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีชีวิตเป็นแบบอย่างแล้วมีองค์เดียว แม้แต่พระสารีบุตรก็ยังทำอย่างนั้นไม่ได้ พระสารีบุตรยังกระโดดข้ามคลอง พระโมคคัลลานะก็ทำไม่ได้ ชีวิตแบบอย่างนี้มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วในหมู่คณะของเรานี่ก็มี หลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นนะ ท่านทำเป็นแบบอย่างนะ ท่านอยู่ป่ามาให้เห็น ทุกข์ยากขนาดไหน ทุกข์ยากในเรื่องการดำรงชีวิต ในประสาโลกไง คนแก่คนเฒ่า แล้วท่านมีคนจะไปอุปัฏฐากท่าน ท่านเอาไหม ท่านบอกว่า “ไอ้ความสุขในการอยู่นี่มันไร้สาระ” ไอ้ความสุขในหัวใจต่างหากมันเป็นแบบอย่าง ไอ้ความดีในหัวใจน่ะ ไอ้ความดี ไอ้ความสุขที่ว่าเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยนี้ ท่านไม่ทำให้เสียหายเลย ไปศึกษาสิ ศึกษาชีวิตพระพุทธเจ้า แล้วศึกษาชีวิตของครูบาอาจารย์เราว่าท่านทำเพื่อใคร ทำอย่างไร ทำเพื่อประโยชน์อะไร เห็นแล้วนะ มันจะเคารพในหัวใจไง

นี่ที่เราเคารพครูบาอาจารย์เรา เคารพกันตรงนี้ เคารพในคุณธรรมของท่าน เคารพในหัวใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่องของท่าน ท่านปกป้องเรา ท่านดูแลเรา ท่านถนอมรักษาเรา ท่านชักจูงเรา ท่านต้องการทำให้เราเป็นคนดี แล้วใครจะทำให้ใครได้ พ่อแม่ออกลูกมายังบริหารจัดการลูก บางทียังบังคับลูกไม่ได้เลย แต่ครูบาอาจารย์ท่านชักนำในหัวใจนะ ท่านชักนำให้เราเป็นคนดี ท่านชักนำเราให้ไปถึงที่สุด ท่านชักนำให้หัวใจเราพ้นจากทุกข์ เอวัง