เทศน์บนศาลา

พึ่งตนเอง

๒o ก.ย. ๒๕๔๑

 

พึ่งตนเอง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒o กันยายน ๒๕๔๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เกิดความพิสดารในหัวใจ ให้เห็นคุณค่าไง ให้เห็นคุณค่าของธรรม ธรรมไง ธรรมตามความเป็นจริง ธรรมคู่เคียงโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะได้ธรรมมา กว่าจะตรัสรู้ธรรมมาไง สร้างสมบารมีมา สร้างสมบารมีมา เพื่อมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

แต่พอมาเกิด เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ จนได้ออกบวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรม ขณะเสด็จออกไป ศึกษาเล่าเรียนกับศาสดาต่างๆ ไง เจ้าลัทธิต่างๆ ศึกษาทั้งหมด ศึกษาขึ้นมานั้นเป็นสุตมยปัญญา เป็นสิ่งที่ศึกษามา เป็นสูตรสำเร็จมา แต่หัวใจนั้นก็ไม่มีทางจะสำเร็จไปได้ ก็หาตัวอย่าง หาวิธีการไง จนต้องทนทุกข์ทรมาน เข้าไปศึกษา เรียนจนตำราเขาหมดเลย

อาฬารดาบสได้สมาบัติ ๖ อุทกดาบสได้สมาบัติ ๘ จนครูอาจารย์นั้นได้ยอมรับไงว่ามีความรู้เสมออาจารย์ ให้อยู่สอนลูกศิษย์ ให้อยู่สอนคนต่อไปได้ เพราะได้เรียนตำราจนหมดจากพุงของอาจารย์แล้ว อันนี้คือสุตมยปัญญา คือปัญญาที่จำมา คือปัญญาสำเร็จรูปไง

ความสำเร็จรูปเอามาชำระกิเลสไม่ได้ ความสำเร็จรูปเป็นโลก เป็นการกระทำที่เจาะจงขึ้นมา กิเลสมันหัวเราะเยาะอีกต่างหาก เพราะกิเลสนี้มันเป็นความพลิกแพลงจากหัวใจอยู่ข้างใน มันอยู่ก้นบึ้งจากเราที่เรียนรู้มาไง จนต้องแสวงหา จนต้องมาปฏิบัติ จนคืนสุดท้าย จนคืนสุดท้ายนั่นย่ะ ย้อนกลับมาถึงตั้งแต่ตัวเองเป็นเด็ก เป็นราชกุมารที่นั่งอยู่โคนต้นหว้า

อานาปานสติ ความทำใจให้สงบนั้น ทำจิตให้สงบย้อนกลับมาเพราะได้สะสมบารมีมาแล้ว ต้องเป็นปัญญา ต้องเป็นปัจจุบันธรรม แม้แต่องค์ศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัตตัง เป็นสิ่งที่รู้เฉพาะตนจากหัวใจดวงที่ประเสริฐนั้น แสวงหา แม้แต่ผู้ที่เป็นศาสดาสะสมบารมีมามหาศาล ยังต้องทนทุกข์ทรมานถึง ๖ ปีเพื่อการแสวงหา เพื่อการตรัสรู้ด้วยตนเองไง

แต่โลกปัจจุบันนี้เป็นสูตรสำเร็จทั้งหมด สิ่งใดที่หามา หามา หามาจนหลงไปไง จนชาวพุทธเหมือนกับไม่ใช่ชาวพุทธไง ชาวพุทธนี้เหมือนกับผู้ที่ไม่มีศาสนา ไม่มีหลักของใจ ไม่ใช่เอาศาสนาพุทธมาเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวไง...เป็นความสำเร็จ เป็นสูตรสำเร็จ เป็นเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ มาจากนอกก็ขนเข้ามาเลย ซื้อหามาเลย แล้วก็ใช้ไม่เป็น

ใช้ไม่เป็นเพราะซื้อหามาเป็นสิ่งสำเร็จแล้ว เป็นสูตรสำเร็จที่เขาผลิตขึ้นมาเป็นสินค้าแล้ว แล้วเราก็ไปซื้อมาเลย ซื้อมาว่าเป็นสมบัติของเรา เป็นสิ่งที่เขาหลอกลวงต่างหาก คนที่มีปัญญาเขาหาทรัพย์ แล้วเราเป็นผู้ที่โง่กว่าเขาไง ใช้ของเขา ใช้ของเขาโดยอย่างไร โดยไม่รู้ เพราะสิ่งที่รู้นั้นคือผู้ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใช่ไหม

สิ่งที่เขาประดิษฐ์ขึ้นมา คือว่าวิชาการเขาประดิษฐ์ขึ้นมา เราซื้อของที่เขาประดิษฐ์ขึ้นมาแล้ว เป็นสิ่งที่สำเร็จแล้ว เป็นสูตรสำเร็จไง ซื้อแต่วัตถุเข้ามาแล้วเราว่าเราเป็นคนฉลาดไง คนฉลาดใช้ของเขา นี่เอาสำเร็จเลย เอาของง่ายเข้าว่าไง เอาของง่าย เอาแต่ความสะดวกสบายไง มันเป็นวัตถุ มันไม่สามารถชำระหัวใจได้หรอก

สิ่งที่เป็นสูตรสำเร็จมา มันเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นเครื่องเร่าร้อนของใจต่างหาก ใจวิ่งเต้นเผ่นกระโดดเพื่อจะหาสิ่งที่ว่าจากตัวเองมีความสุข ว่าให้มันมีความพอใจของตัวไง แล้วหามาเท่าไร มันมีความสุขจริงไหมล่ะ

มันเป็นเชื่อไฟ มันเป็นเชื้อไฟสุมให้หัวใจนี้ต้องการมากขึ้นไปอีก ความอยากใหญ่ ความทะยานอยากไม่ใช่จะดับได้ด้วยการให้เชื้อไง วัตถุทั้งหลายที่เราหามาเท่าไรนั้นคือเชื้อของไฟ นั้นคือการยุแหย่ให้หัวใจนี้มีความอยากมากขึ้นไปโดยไม่มีความที่สิ้นสุด เห็นไหม มันไม่ใช่การดับทุกข์ มันไม่ใช่การมีความสุขจริง มันเป็นการสุมไฟให้เกิดทุกข์ ให้เกิดความตัณหาทะยานอยากมากขึ้นไป

แต่เราชาวพุทธว่าสิ่งที่เราหามาได้ สิ่งที่ว่าเป็นพึ่งกับทางใจ อันนั้นจะเป็นความสุข มันเป็นสิ่งที่ว่าหามาด้วยความไม่รู้เท่า อันนี้มันเป็นสมมุติทั้งหมด คำว่าสมมุติหมายถึงว่ามันไม่แน่นอน มันไม่จริง “ของที่ไม่จริง” แม้แต่ร่างกายของเราก็เป็นสมมุติ ร่างกายของเรานี้ยังเป็นสมมุติเลย ความคิดนี้ก็เป็นสมมุติ มันไม่ใช่ตามความเป็นจริง มันไม่ใช่ มันขัดกับหลักตามความเป็นจริงทั้งหมด มันเป็นโลกทั้งหมด

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นอย่างนี้ก่อนที่ท่านจะตรัสรู้ธรรม มันเป็นความคิด เป็นสมมุติ มันเป็นความคิด มันเป็นจินตนาการ มันไม่ใช่ความจริง ว่าเป็นสุตมยปัญญา จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนะ เสวยวิมุตติสุขก่อน ตรัสรู้ธรรมนั้นด้วยอะไรล่ะ ตรัสรู้ธรรมแล้วเสวยวิมุตติสุขจนเอามาเทศน์สอนปัญจวัคคีย์ขึ้นมาเป็นพยาน สอนปัญจวัคคีย์ อัญญาโกณฑัญญะเป็นผู้รู้ตามเป็นองค์แรก

นี่สุตมยปัญญาคือธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เป็นธรรม แล้วคำสอนไง คำสอนที่จำ เราศึกษาเล่าเรียน อันนั้นคือสุตมยปัญญาไง เราเป็นชาวพุทธ เราไปซื้อพระไตรปิฎกเอาเข้ามาไว้ในบ้านเรา เรามีตู้พระไตรปิฎกอยู่ในบ้านเรา เราว่าเราเป็นเจ้าของศาสนาหรือยัง เพราะตู้พระไตรปิฎก เป็นคำสอน วินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ สุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ เหมือนกัน แล้วก็พระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เราเป็นเจ้าของศาสนาพุทธหรือยัง เรารู้ศาสนาพุทธตามความเป็นจริงหรือยัง?

ยังเลย เพราะเราซื้อพระไตรปิฎกมาไว้ในบ้าน เราควรจะเป็นเจ้าของศาสนา เราควรจะรู้ศาสนาพุทธโดยตามความเป็นจริงเพราะเรามีตู้พระไตรปิฎกทั้งตู้เลย เรามีอะไรขึ้นมา เป็นชาวพุทธก็ชาวพุทธว่าเราแต่งตั้งไง เป็นชาวพุทธสูตรสำเร็จที่ว่ายังไม่ได้ศึกษาเนื้อหาของพุทธเลยไง

ถ้าเราเปิดตู้พระไตรปิฎก เราศึกษานั้น อันนั้นเป็นสุตมยปัญญา เราแสวงหา เหมือนกับทางโลก เราหาวัตถุมาทั้งหมด หรือเราทำปรุงอาหารมาทั้งหมด เราทำอาหารมาเสร็จแล้ว เราตั้งไว้หน้าเรา เราไม่ตักอาหารใส่ปาก เราจะได้ประโยชน์จากอาหารนั้นไหม

สุตมยปัญญาก็เหมือนกัน เราศึกษาสุตมยปัญญา เราเข้าใจว่าอันนี้เป็นความรู้ของเรานะ ขนาดว่าเราซื้อตู้พระไตรปิฎกเข้ามา อันนั้นก็เหมือนกับสูตรสำเร็จที่เราซื้อของเขาเข้ามา แล้วเรามาศึกษาตามความเป็นจริง ศึกษาตู้พระไตรปิฎก ศึกษาตามหลักวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก เราศึกษาจนหมดแล้ว แล้วเราเข้าใจ เราได้ผลประโยชน์ตามความเป็นจริงหรือยัง

เหมือนกันเลย ปัจจุบันนี้เหมือนกัน เราเป็นชาวพุทธ เวลาเรามีความทุกข์ เราก็บอกเราต้องปล่อยวางให้ได้ เราต้องปล่อยวางให้ได้ เราจะเป็นชาวพุทธ เราต้องเข้าใจตามหลักความเป็นจริง เพื่อจะเอาเราพ้นจากวิกฤตการณ์อันนี้ไปให้ได้ไง แล้วมันเป็นไปได้อย่างนั้นไหม

มีแต่พร่ำเพ้อรำพันกันว่ามีแต่ความทุกข์ ความทุกข์ เพราะอะไร เพราะมันเป็นสูตรสำเร็จ เป็นการแบบเราซื้อมา เราไม่รู้เนื้อหาสาระ เราเห็นเหมือนกับเด็กเล่นตุ๊กตาเลย เราไม่เข้าใจ มันยิ่งกว่าผู้รู้ศาสนานะ ว่าชาวพุทธถึงไม่รู้จักศีลไม่รู้จักธรรมไง ไม่เคยศึกษาเลย พอเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมา มันถึงช่วยตัวเองกันไม่ได้ไง แล้วก็โทษว่าเป็นชาวพุทธ

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ประเสริฐ พระพุทธศาสนาควรจะให้ชาวพุทธได้มีที่พึ่ง ได้มีที่ปลงวางจากความทุกข์ของใจไง

แต่มันเป็นไปไม่ได้เลย มีแต่ความเร่าร้อน เพราะเป็นสูตรสำเร็จ เป็นแค่ว่าพ่อแม่ถือพุทธ เราก็พุทธ ผู้ที่ปฏิบัติก็เหมือนกัน ปฏิบัติแบบสูตรสำเร็จไง นั่งสมาธิก็ว่ากายนั่งแล้วไง แล้วก็ปล่อยตัวเองจนหลับใหลไปไง...มันไม่ใช่เป็นสมาธิจริงตามความเป็นจริง มันเป็นเราอยากได้ ถ้าเราศึกษาในตำรับตำรา หรือเราฟังครูบาอาจารย์มา จิตมันจะอ่อน พุทโธมันจะเริ่มจางจะเริ่มหายไป เราก็จินตนาการแล้วก็ปล่อยให้หายไป กลายเป็นหลับไปเลย

มันไม่ใช่...ความอ่อน ความเข้ม สติมันต้องพร้อม สติปัญญาจะพร้อมตลอดเวลา สติพร้อมความรู้สึกตลอดเวลา แล้วจิตนี้ถ้าเรากำหนดเข้าไป มันจะจางลง จางลง คำว่า “จางลง” หมายถึงมันสงบตัวลง ไม่ใช่จางลงแบบเราจินตนาการ คำว่า “จาง” เป็นภาษาทางโลก ว่าจางลงคือว่าจืดจางลงไป จนหมดความรู้สึกไป

นี้ความจินตนาการของโลกเหมือนกัน เราก็เข้าใจ เราเป็นชาวพุทธ พุทธแต่งตั้ง เราเป็นชาวพุทธเสร็จแล้วเราเป็นชาวพุทธ เรารู้ตามศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธจะสอน ศาสนาพุทธพูดถึงผลของกรรม พูดถึงบุญญาบารมี พูดถึงความเป็นไป เราก็เข้าใจว่าเราจะได้บุญตามนั้นไง

ขณะนี้เราประสบความทุกข์เพราะเราประสบ ไอ้บุญญาบารมีนั้นเราไม่เห็นไง เหมือนกับเมล็ดพืชนี่ ถ้าเมล็ดพืชนั้นยังไม่ได้ลงดินยังไม่ได้ปลูก ดินนั้นพร้อม อากาศพร้อม น้ำดี เห็นไหม ต้นไม้มันจะเจริญงอกงามมากเลย เมล็ดพันธุ์ คำว่า “เมล็ดพันธุ์” ก็เหมือนกับเราที่เป็นมนุษย์นี่ เมล็ดพันธุ์เมล็ดนั้นลงไปที่ดิน แล้วเจริญงอกงามขึ้นมา เมล็ดพันธุ์นั้นต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี เป็นเชื้อที่ดี

เราก็เหมือนกัน การเกิดเป็นมนุษย์นี้เหมือนกับเมล็ดพันธุ์นั้นไง แล้วการประพฤติปฏิบัติ การเชื่อศรัทธาในศาสนา ประพฤติปฏิบัติจนหลักของใจนั้นเกิดขึ้นมา นั่นล่ะ มันก็เหมือนกับว่าความเจริญเติบโตงอกงามของต้นไม้ที่มันงอกงามขึ้นมา มันต้องเป็นความพอดีของกัน อันนั้นถึงจะเป็นชาวพุทธไง

ขณะที่เกิดพายุ เกิดลม ต้นไม้นี้เข้มแข็ง ต้นไม้นี้ไม่อ่อนแอ ต้นไม้นี้ไม่ใช่ป่วยไข้ ต้นไม้นั้นจะอยู่ได้ จะไม่ล้มลงไปจากกระแสลมนั้น เกิดวิกฤตการณ์อย่างนี้ถ้าเป็นชาวพุทธ ถ้าหลักของใจมี การศึกษาสุตมยปัญญาไง ตามปัญญาที่เราได้ศึกษามาจากตู้พระไตรปิฎกที่เราซื้อมา ที่เราเก็บของเราไว้นั่นน่ะ แล้วเราศึกษาแล้วเราเจอเหตุการณ์กระทบของจิต เราเจอเหตุการณ์อะไร เราฝึกฝนขึ้นมา อันนั้นต่างหากมันถึงจะทำให้จิตใจนั้นเข้มแข็งขึ้นมา

ชาวพุทธต้องรู้เนื้อหาสาระตามสุตมยปัญญา แล้วต้องมีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติคือสุตมยปัญญา คือการศึกษาเล่าเรียนอันนั้น แล้วมีการประพฤติปฏิบัติ มีการทดสอบ “หินลับปัญญา” การกระทบอารมณ์นั้นเราค่อยศึกษาอารมณ์นั้น แต่นี้ไม่เคยเลย ไม่เคยกระทำเลย แต่เวลาเจอวิกฤตการณ์แล้วอยากจะให้เราเป็นไปโดยบุญกุศลแบบขอเอาไง

การขอเอา อันนั้นมันเป็นการขอเอาไง “ทำดี” กับ “ขอความดี” ต่างกันไหม ถ้าเรามีเนื้อหาสาระ เป็นชาวพุทธแท้ มันต้องมีการฝึกฝนเรื่องของใจขึ้นมาด้วย เรากว้านหาวัตถุขึ้นมา เรากว้านขึ้นมาเพื่อทับถมใจ การประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ใจพ้นออกมาจากการโดนทับถมนั้น การโดนทับถม การโดนสะสม เห็นไหม เราโดนอะไรปิดบังเรา เรายังอึดอัดเลย แต่หัวใจโดนสิ่งที่จินตนาการมาจากความอยากได้ ทับถมใจอยู่ตลอดเวลา เราเห็นว่าอันนั้นกลับเป็นความดี เป็นความที่ว่าให้ใจมีความสุข แต่ความเป็นจริงของใจแล้วไม่ใช่

ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย คือการบำรุงให้ใจนี้สืบทอดไปในชีวิตนี้ ชีวิตนี้มีความตายเป็นที่สุด ชีวิตนี้มีความสิ้น การลมจะเข้า-ออกจนถึงวันตายเป็นที่สุด ชีวิตเรานี่ “ชีวิตนี้มีความตายเป็นที่สุด” แล้วตายแล้วจะไปไหน การอยู่ อยู่เพื่ออะไร แก่นสารของเนื้อหาสาระของชีวิตไง

ชีวิตนี้คืออะไร?...ชีวิตนี้คือไออุ่นที่ยังมีพลังงานที่ยังเป็นไฟอยู่ในหัวใจเท่านั้น ไออุ่นนี้เคลื่อนออกไปจากกายนี้หมด เราหมดโอกาส วัตถุสิ่งของจะหามาได้ขนาดไหนก็กองอยู่นั่น กองอยู่นั่นเฉยๆ นะ เราหามากองไว้ สมบัติของโลกกองไว้มหาศาลเลย แล้วเราก็จากมันไป

แต่ถ้าปัจจุบันนี้เราเป็นชาวพุทธ ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย สิ่งที่เป็นวัตถุจะเกิดขึ้นมากน้อยขนาดไหน สิ่งนั้นคือเป็นบุญกุศล เป็นบุญกรรมของแต่ละบุคคล อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน ถ้าเราทำความเป็นจริงแล้วเกิดตามความจริง อันนั้นเราไม่ปฏิเสธ เพราะคนที่มีปัญญาไม่สามารถปฏิเสธได้ มันมาตามความเป็นจริงคือธรรมไง จิตใจเราเป็นธรรม เราหามาด้วยความเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม

“ใจที่เป็นธรรม” วัตถุสิ่งของเกิดขึ้นมาจากหัวใจที่เป็นธรรม วัตถุสิ่งของนั้นจะเป็นประโยชน์ทั้งนั้นเลย ไม่สามารถมาทับถมใจได้เลย เหมือนกับสิ่งที่เราไม่ติดข้องอยู่ เรามองขนาดไหนเราก็ไม่ห่วงหาอาวรณ์ แต่ถ้าหัวใจมันไม่ใช่ชาวพุทธ ไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติไว้ เวลามันมีปัญหา มันจะเกาะเกี่ยวไว้ก่อน สิ่งนั้นยังไม่ทันมาทับถมเลย มันทับถมตัวมันเองอยู่แล้ว

นี่การประพฤติปฏิบัติออกมา การประพฤติปฏิบัติ การฝึกฝนใจ ทำใจให้เป็นอิสระตั้งแต่ปัจจุบันนี้ เกิดวิกฤตการณ์มันก็ไม่ถึงกับเข้าไปเร่าร้อน แต่มันจะเป็นการเศร้าหมอง เศร้าหมองด้วยการปลงธรรมสังเวชไง ผู้ที่มีธรรมจะมองเหตุการณ์วิกฤตการณ์นี้เป็นธรรมสังเวช เป็นครูอาจารย์ที่ย้อนกลับมา เหมือนกับกระจกส่องกลับมาหาเราว่า “เห็นไหม ชีวิตนี้เราจะประมาทอยู่ได้อย่างไร” การปลงธรรมสังเวชของผู้มีธรรม เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์จะเข้าไปทำให้หัวใจนั้นได้ประโยชน์ทั้งหมดเลย ให้หัวใจนั้นให้สิ่งนั้นเป็นเครื่องสอนใจไง ให้มันเป็นหินลับปัญญาไง

สรรพสิ่งในโลกนี้ต้องแปรสภาพไปทั้งหมด ไม่เขาจากเรา เราก็จากเขา แม้แต่วัตถุกับเรา แม้แต่ร่างกายกับหัวใจ ใจที่อยู่ในร่างกายนี้ก็ต้องจากกันไปในวันใดวันหนึ่งแน่นอนตามหลักตามความเป็นจริง เราไม่ควรนอนใจอยู่จนหายใจเข้า-หายใจออก จนถึงเวลาตายไป ตายไปโดยธรรมชาติอันนั้นไง เป็นการประมาทมาก

ศาสนาพุทธคือตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่มีใครจะไปส่งเราถึงไหนหรอก มีแต่เขาไปส่งซากศพที่ป่าช้า แม้แต่เราตาย จิตเราออกจากร่างแล้วเขาก็ไปส่งกัน เขาไปร่ำครวญรำพันกันสิ่งที่เป็นสมมุติ เป็นธาตุ ๔ นี้เท่านั้น

เราต่างหากที่จะเป็นผู้ที่เอาเราพ้น เอาสมบัติที่ว่าโลกเขากองกันไว้เป็นโลก แต่สมบัติของใจที่จะเป็นเครื่องดำเนินพาเราไป บุญกุศลจะพาเราต่อไปข้างหน้า ในเมื่อเราต้องตายแล้วต้องเกิดอีก จิตดวงนี้สะสมบุญญาบารมีมา มาเกิดจนมาถึงจุดที่ว่าหักเหที่ว่าจะไปทาง ๒ แพร่งไง

เกิดเป็นชาวพุทธ พบพระพุทธศาสนา สอนถึงการสะสมการทำทาน การทำคุณงามความดี การสะสมอันนี้เพื่อจะเป็นสมบัติของใจไปข้างหน้า การหาไว้ในทางโลก หาไว้สะสมไว้นี้ อันนี้ถ้ามันเกิดขึ้นอย่างที่ว่าเป็นธรรม อันนั้นก็เป็นธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์กับโลกเพื่อจะน้อมกลับมาให้เราสั่งสมเป็นบุญญาธิการ

ถ้าเรารู้จักใช้ เรารู้จักให้มันเป็นบุญเป็นกุศลเป็นเพื่อเรา เราสละออกเพื่อเรา เพื่อเรา เพื่อเราไม่ใช่สละเพื่อใคร...เพื่อเรา เพื่อจะให้ย้อนกลับมาเป็นสิ่งที่ว่าบุญญาธิการหนุนใจนั้นออกไป หนุนใจให้สูงขึ้น เพราะเราได้สละออกสิ่งนั้น ใจเป็นผู้สละออก เราจงใจ เรากล้าสละออก เราก็เพื่อจะให้ใจเรา ให้สิ่งที่มันทับถมใจอยู่นี้จางออกไป เห็นไหม เป็นประโยชน์ ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ

ประโยชน์สำหรับโลกนี้ ผู้ที่ได้รับผลบุญของเราที่เราให้ไปอยู่แล้ว ยังย้อนกลับมาให้ตายแล้วไปบนสวรรค์ ตายแล้วไปบนสวรรค์ อันนั้นเป็นประโยชน์กับชาวพุทธแท้ วิกฤตการณ์นี้เป็นแค่ปลงธรรมสังเวชเอง แล้วยังได้ประโยชน์อีก ๒ ชั้น ๓ ชั้น อันนี้เป็นเรื่องวัตถุกับกาย แล้วระหว่างเรื่องกายกับใจล่ะ

เรื่องกายกับใจเราก็ห่วง กายกับใจนั่นน่ะ ใครไม่กลัวตาย มันติดข้องอยู่ แต่ถ้าใจเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธที่ว่าปฏิบัติ อาการของใจนี้ก็เป็นวัตถุ อาการของใจ อารมณ์ที่คิดต่างๆ เราไม่เข้าใจ มันเป็น ๓ ชั้น ระหว่างจิตออกมาเป็นอารมณ์ที่ความคิดนี้ ความคิดนี้ถึงออกมาเป็นวัตถุข้างนอก เราไปติดวัตถุข้างนอก เราสละรู้เท่าทันตามความเป็นจริงจากวัตถุข้างนอก สิ่งของนอกเราก็ปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามาก็เป็นอารมณ์กับใจ อารมณ์นี้ก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง อารมณ์ความคิด สังขารปรุง สังขารแต่งมันก็เป็นอารมณ์อันหนึ่ง ฉะนั้น อารมณ์อันนี้มันก็ก่อกวนใจ

เราศึกษาตามสุตมยปัญญา คือศึกษาตามธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเข้าใจ เราเชื่อแล้วเราเห็น เราสละ มันมีความอุ่นใจ มีความสุขใจ กับเราทำความสงบเข้าไปอีก เป็นความสุขเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ความสุขที่เราปลงธรรมสังเวช เห็นความเป็นไปของโลกแล้วมันเศร้าหมอง เศร้าใจ

ความเศร้าหรือความสุขในใจอันนั้น เพราะเราถือว่าเราไม่มีผ่านวิกฤตการณ์มา เราไม่ทุกข์เหมือนเขา เราสามารถเจือจานคนทางโลกได้ด้วย เราสามารถเจือจานหมู่คณะของเราได้ด้วย แล้วเราสามารถช่วยให้บอกวิธีการ ให้วิชาการเขาอีกได้ด้วย แล้วเราก็ปล่อยใจเข้ามา

แต่เวลามันทำความสงบของใจตัวเองโดยหลับตาอย่างนี้แล้วมันลงไหม นี่ความนั้นเป็นความสุขอันหนึ่ง เป็นสุขประสาโลกเขาที่โลกนี้ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิดเป็นผู้นำคน แต่พอเข้ามาถึงวัตถุของใจ ทำใจให้สงบ ถ้าใจปล่อยวัตถุภายใน คือวัตถุที่เป็นอารมณ์นี้ เป็นขันธ์ ๕ เป็นความคิด เราปล่อยได้ ความสุขที่ละเอียดเข้าไปมันเป็นอิสระกับตัวไง

เชื้อแห่งภพ เชื้อแห่งการยึดมั่นถือมั่น ใจนี้มีเชื้อมียางเหนียวแห่งภพ มันถึงได้เกาะเกี่ยวกับอารมณ์ สิ่งที่เป็นวัตถุเราสามารถสลัดได้เพราะมันเป็นวัตถุ เราสามารถสลัดออกไป เราโอนย้ายให้คนอื่นไปเป็นของคนอื่น แต่อารมณ์กับใจมันเกาะเกี่ยวกันด้วยนามธรรม มันเป็นกระแส มันเป็นเชื้อ สละอย่างไรจะให้มันสงบ มันจะขาดออกไปได้ล่ะ...มันสละออกไม่ได้

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ...ใครจะช่วยใครล่ะ?

เราเป็นผู้ที่มีสติ เราเป็นผู้ที่มีปัญญา เราต้องกำหนดพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มรณังนุสติ กรรมฐาน ๔o ห้อง เปลี่ยนจากเชื้อแห่งภพ เปลี่ยนจากความที่เคยชินมันหมุนอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนอาหารให้มากำหนดพุทโธ พุทโธ กำหนดตามอานาปานาสติลมหายใจเข้า-ออก ทำเพื่อให้พ้นจากความเคยชินที่มันหมุนออกไป

เราจะไม่เห็นเลย เพราะมันเป็นนามธรรม วัตถุนั้นเป็นวัตถุที่เราสามารถสละ เรายังตระหนี่ เรายังเกาะเกี่ยว แต่นี้มันเป็นเนื้อเดียวกันเลย เราไม่เห็น ไม่เห็นถึงจะไม่ได้สัมผัส ความไม่ได้สัมผัส ไม่ได้สัมผัสเป็นจินตมยปัญญา ปัญญาใคร่ครวญเข้าไป ใคร่ครวญเข้าไป ใคร่ครวญเข้าไป

“ปฏิบัติ ปฏิเวธ”

“ปริยัติ” เราเทียบทางโลก ปริยัติเราทิ้งวัตถุเข้ามาแล้ว เหมือนกับวัตถุสิ่งที่เกิดขึ้น วิธีการที่เราใช้วัตถุนั้นเราเข้าใจตามหลักความเป็นจริง ใช้ตามความพอใจ ใช้ตามความจำเป็นไง แล้วรู้เท่า ไม่เป็นขี้ข้ามัน ถึงจะไม่มีความทุกข์ ถ้าเราไม่รู้เท่า เราจะยึดมั่นถือมั่นแล้วเราจะถนอม สิ่งวัตถุนั้นจะเป็นเจ้านายเรา เราจะเป็นขี้ข้า คือต้องเก็บถนอมรักษาโดยไม่ได้ประโยชน์ ใช้ไปด้วยความทุกข์ไปตลอดเวลา...กับเราใช้ด้วยรู้เท่าทันเพราะเรามีสุตมยปัญญาเข้าใจตามความเป็นจริง อันนั้นเป็นปริยัติ

“ปฏิบัติ” สิ่งที่เป็นปริยัติแล้วเอามาฝึกฝนในใจ หินลับปัญญาอยู่ภายในไง

“การปฏิบัติ” กำหนดเพราะว่าสิ่งที่เป็นวัตถุข้างนอกมันเคลื่อนออกไป การปฏิบัติ ธรรมะไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กรรมฐาน ๔o ห้อง เป็นธรรม ธรรมนี้เกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นที่ใจ นึกพุทโธ นึกสิ นึกขึ้นมา เกิดขึ้นมาทันที กำหนดลมหายใจเข้า-ออก อานาปานสติ ลมปั่นป่วนอยู่ทั่วโลกดินแดนไม่เป็นประโยชน์ แต่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกจากปลายจมูกของเรานี้เป็นประโยชน์ นี่อานาปานสติคือการปฏิบัติไง การปฏิบัติเกิดขึ้นจากธรรม ธรรมนี้บัญญัติ พระพุทธเจ้ารู้ตามธรรมแล้วปฏิบัติตามความเป็นจริง แล้ววางไว้นี่ เราจะเดินเข้าไปไง

“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อานาปานสติในคืนนั้น แล้วสำเร็จไปก่อนแล้ว สำเร็จไป รู้ธรรมตามความเป็นจริง ใจนี้สิ้นไปจากเชื้อแห่งภพ พ้นออกไปแล้ว เป็นผู้รู้ตามความเป็นจริง เอาหลักการตามความเป็นจริงนั้นวางไว้ให้ชาวพุทธเป็นผู้เดินตามไง

ผู้ที่เดินออกมาจากโลกไง ออกมาจากความหลงใหล ออกไปจากเชื้อแห่งภพไง ก็ต้องกำหนดคำนี้เข้ามาใช่ไหม กำหนดขึ้นมาให้เป็นปัจจัตตัง รู้ตามความเป็นจริงของบุคคลนั้น เป็นปัจจัตตังอันนั้น เราจะทำให้ใจสงบได้ตามความเป็นจริงไง เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะผู้ที่ปฏิบัติตามความเป็นจริง ถึงเป็น อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเท่านั้นจะสัมผัสตามความเป็นจริง แล้วก็ใจดวงนั้นจะเป็นผู้รู้ตามความเป็นจริงตามจริงนั้น

ถ้าใจได้สัมผัสตามความเป็นจริง ต้องสัมผัสตามความเป็นจริง ไม่ใช่สัมผัสมาแบบสำเร็จรูปขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมของครูบาอาจารย์ แล้วเราจะดึงสวมเข้ามาให้ใจเราเป็นอย่างนั้นโดยให้เป็นการแบบโลก แบบซื้อ แบบแสวงหาเป็นสูตรสำเร็จไม่มี

สิ่งนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งนั้นเป็นการด้น เป็นการเดา เป็นการคาดหมาย เป็นการฝืนหลักตามความเป็นจริงไง เพราะสังคมฝืนหลักตามความเป็นจริง เข้าใจว่าตัวเองเป็นผู้ประเสริฐ เข้าใจว่าตัวเองเป็นผู้ที่มั่งมีศรีสุขไง แต่สุดท้ายแล้วก็ล่มสลายไปเพราะมันไม่ใช่เป็นหลักความเป็นจริงไง

หลักตามความเป็นจริงมันต้องเกิดขึ้นแล้วสัมผัสที่ใจเราตามความเป็นจริงนั้น ถ้าเกิดขึ้นจากความเป็นจริงก็ต้องเริ่มจากความเป็นจริงถึงเป็นปัจจัตตัง มันเป็น อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนโดยตามความเป็นจริง

ไม่มีใครเลย ไม่มีบุคคลใดๆ เลย ที่มีคนยื่นให้ เป็นคนแก้ไขให้ หรือเป็นคนยื่นสูตรใดๆ ให้ สูตรนี้ให้ได้ด้วยสุตมยปัญญาเท่านั้น สุตมยปัญญาคือการศึกษาเล่าเรียนมา ถ้าการศึกษานั้นคือการยกมาทั้งเป็นสูตรสำเร็จ ถ้าสูตรสำเร็จหรือการศึกษาเล่าเรียนมาแล้วเป็นคนนั้นเป็นสิ่งที่เป็นปัจจัตตัง รู้เข้าไปตามเนื้อของธรรม ผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาจนจบธรรมะ ๙ ประโยคหรือกี่ประโยคก็แล้วแต่ ทำไมเขาสึกขาลาเพศไปล่ะ ทำไมเขาไม่สามารถจะอยู่ในหลักของธรรมได้ล่ะ

เพราะว่าการศึกษา การสูตรสำเร็จยกธรรมเข้ามามันก็เหมือนกับเราซื้อวัตถุเข้ามาตามที่เราซื้อมา เราซื้อเข้ามา เราว่าเรารู้เราเข้าใจเป็นของๆ เรา เป็นของๆ เราเป็นของเราแต่เปลือกไง เป็นของๆ เราที่เขาเอาเงินเราไปแล้วไง อันนี้ก็เหมือนกัน เราศึกษา เราซื้อตู้พระไตรปิฎกมาไว้ในบ้านก็เป็นสมบัติของเรา แต่เราไม่ได้เป็นปัจจัตตังรู้ตามความเป็นจริงอันนี้ไง เราศึกษา เราเข้าใจ มันสละเข้าเป็นชั้นๆ เข้ามาไง พอถึงตรงนี้แล้วเข้ามากำหนดพุทโธ อานาปานสติ เพราะจิตใจควรแก่งาน

จิตใจของชาวพุทธที่ควรแก่งาน จิตใจของชาวพุทธที่พัฒนาขึ้น วุฒิภาวะของใจมันสมกับงานชิ้นนี้ไง มันไม่ใช่เด็กอนุบาล เด็กอนุบาลร้องไห้งอแง ร้องไห้เอา บังคับพ่อแม่ให้ซื้อของให้ บังคับพ่อแม่ให้อุ้ม บังคับพ่อแม่ให้ตามใจตัว เหมือนกัน เหมือนกับชาวพุทธที่อ่อนแอ ชาวพุทธเด็กๆ ชาวพุทธอนุบาล พอเจอเหตุการณ์เข้าก็เอาตัวกันไม่รอดไง

เพราะไม่ใช่ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนหวังอาศัยเขาไง หวังอาศัยวัตถุ หวังอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศ หวังความเจริญโดยการจะชุบมือเปิบ...มันเป็นไปไม่ได้ตามหลักความเป็นจริง มันต้องพัฒนาขึ้นมาจากตนเป็นที่พึ่งแห่งตน พัฒนาขึ้นมาจากความรู้จริง ความเข้าใจจริง เป็นมนุษย์ เป็นผู้ที่ไม่หลงโลก เป็นผู้ที่เข้าใจหลักเนื้อหาสาระ อันนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น

มันเกิดขึ้นอยู่ แต่เราเข้าใจแล้วเราปฏิบัติจนรู้หลัก อันนั้นเราใช้ประโยชน์นั้นโดยไม่เป็นเหยื่อ เราใช้หลักโดยไม่เป็นเหยื่อ นี่เราใช้ไปโดยเป็นเหยื่อ การประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติด้วยความเป็นเหยื่อไง ด้วยการแค่ได้สวมชุด แค่ได้การประพฤติปฏิบัติในการสูตรสำเร็จนั้น มันจะเกิดขึ้นจากใจได้อย่างไร มันไม่ได้สัมผัสตามความเป็นจริง ก็เป็นเด็กอนุบาลอ่อนแออยู่อย่างนั้นไง ไม่พัฒนาใจขึ้นมาให้ใจสัมผัสกับธรรม

ธรรมโอสถ “รสของธรรมซึ่งรสทั้งปวง” จิตได้สัมผัสแล้ว พอจิตสัมผัส จิตต้องรู้จริง ความสงบของใจ ระหว่างขันธ์กับจิต ระหว่างจิตที่สงบเข้ามาจากขันธ์นั้น จากขันธ์คือจากอารมณ์ จากวัตถุของใจ อาการของใจนั้นเป็นวัตถุอันหนึ่ง ถ้าจิตสงบเข้ามา สงบเข้ามา จนเห็นว่าอารมณ์นี้เป็นวัตถุอันหนึ่งนั้นคือผู้ที่เห็น สละวัตถุในหัวใจออกจากใจได้ตามความเป็นจริง เป็นปัจจัตตังตามความเป็นจริงนะ เป็นปัจจัตตัง เป็นธรรมจริง เป็นปฏิเวธที่เกิดขึ้น เป็นผลสำเร็จของใจดวงนั้นไง

เป็นปฏิเวธเพราะรู้ตามความเป็นจริงจากการฝึกฝน จากการใช้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น...สุตมยปัญญาเครื่องส่องทาง ปฏิบัติด้วยการฝึกฝนของเราเองจนเกิดเป็นความปฏิเวธ อันนี้เป็นสมบัติของเรา จากหัวใจดวงที่ว่าเป็น อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ เพราะตน เพราะใจนั้นสัมผัสกับธรรม ใจนั้นปฏิบัติขึ้นมา ฝึกฝนขึ้นมา หินลับปัญญาขึ้นมาจากใจดวงนั้นไง จากใจดวงที่ปฏิบัติตามความเป็นจริงไง สติสมบูรณ์พร้อม ไม่ใช่ว่าสูตรสำเร็จที่ว่าคิดเอา นึกเอา คาดเอา หมายเอา แล้วก็ต้องถึงเวลาเสื่อมสภาพไป เราก็จะมาเสียใจภายหลัง

เห็นอารมณ์กับจิตแยกออกจากกัน อารมณ์นี้เป็นวัตถุ จิตนี้เป็นจิต เห็นจิต เห็นเป็นวัตถุแล้วจิตนี้เป็นจิตเพราะอะไร เพราะสติพร้อม เพราะความสัมผัส ความใคร่ครวญ ใช้ปัญญาใคร่ครวญความเห็นไง เพราะจิตนี้สงบ มันสงบเฉยๆ เหมือนหินทับหญ้า “หินทับหญ้า” จิตนี้จะสงบลงไปเลยเพราะความละเอียดของใจ

เราไม่เคยประพฤติปฏิบัติ พอจิตสงบ สงบลงไปเราจะมีความลิงโลดใจไง ความลิงโลดใจเหมือนกับเราได้รางวัล เขามอบรางวัลให้หรือเราทำคุณงามความดี เราได้รางวัลมา เราจะมีความอิ่มใจ เราจะมีความดีใจ ความดีใจอันนั้นจะไม่สามารถให้เราเห็นว่าขณะเราไปรับรางวัล สายตาของใครมองเราอยู่บ้าง เราทำผิดหรือทำถูก เรารับด้วยท่าทางที่สมควรไหม

จิตสงบก็เหมือนกัน จิตสงบนี้เหมือนหินทับหญ้า หินทับหญ้าจะไม่เห็นไง จะไม่เห็นว่าอาการของใจที่ทำให้ใจไม่สงบนั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันอยู่ตรงไหนไง ถึงว่าจิตสงบอย่างที่ว่าหินทับหญ้า ถึงเวลาแล้วจะเสื่อม เสื่อมหมายถึงว่า เพราะเราทำด้วยความไม่รู้ จิตสงบก็สงบไปด้วยความไม่รู้ เวลาถอนออกมาแล้ว...วัตถุที่ว่าเป็นวัตถุที่เราเห็นกับจิตนี้ก็เป็นเนื้อเดียวกัน คือเชื้อแห่งภพทำให้สิ่งนี้เป็นเนื้อเดียวกัน เรากับวัตถุนั้น จิตกับวัตถุนั้นเป็นเนื้อเดียวกัน

แล้วยังมีความจินตนาการต่อไปว่ามีความสุขมาก มีความอิ่มเอิบมาก ใจปล่อยวางโล่ง...จินตนาการขึ้นมา ซ้อนขึ้นมา วัตถุนั้นกลับซ้อนขึ้นมา อารมณ์ความคิดกลับหลอกลวงตัวเอง เพราะว่ามีเชื้อแห่งภพ เชื้อแห่งภพคือกิเลสตัณหาตัวนี้มันก็หลอกอีกชั้นหนึ่ง การหลอกอันนี้ทำให้เราไม่สามารถแยกวัตถุคือขันธ์ ๕ กับใจออกจากกัน ถ้าแยกไม่ออก พอแยกไม่ออกมันก็เป็นเนื้อเดียวกัน ความที่เป็นเนื้อเดียวกันนี้ ถึงเวลาถึงหินทับหญ้าไว้ ถึงเวลาแล้วจะเสื่อม

ความสงบเป็นสพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายนี้ต้องแปรสภาพทั้งหมด สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องมีการแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ถึงจุดหนึ่งแล้วสิ่งนี้จะคลายตัวออกทั้งหมดเลย นั่นน่ะ ถึงจะทำให้ความเสื่อมไปก็เหมือนกับการปฏิบัติ เราลงทุนลงแรงขึ้นไป ทำขึ้นไปถึงเต็มที่เลย แล้วพอเสื่อมลงมานี่ความทุกข์จะเกิดขึ้น ความน้อยเนื้อต่ำใจจะเกิดขึ้น ความเกิดขึ้นอันนี้ก็เหมือนกับเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นกลางหัวใจไง แล้วเราก็ทรงตัวไว้ไม่ได้เมื่อเกิดวิกฤตการณ์เกิดขึ้นกลางหัวใจ

เพราะความเสื่อมแล้วก็ทำให้เราถอย จนถึงไม่อยากประพฤติปฏิบัติ ถ้าประพฤติปฏิบัติต่อก็ต้องใช้ความมุมา ดูสิ ถ้าเราอยู่ในช่วงเศรษฐกิจดี เราทำอย่างไรเราก็จะมีโอกาสมากเพราะการตลาดนั้นดี แต่ช่วงเศรษฐกิจที่มันแย่อย่างนี้ เราประกอบสิ่งใดไป เราต้องใช้ความรอบคอบ ต้องใช้ความเพียรมุมาขนาดไหน จิตถ้ามันเสื่อมไปแล้วนะ เราจะเริ่มปฏิบัติใหม่ เหมือนกัน เพราะว่าอะไร เพราะใจมันเคยสัมผัสอย่างนั้นแล้ว เคยสัมผัสความสงบ เคยสัมผัสอย่างนั้นแล้วเคยทำได้ แล้วเราต้องมาอยู่ท่ามกลางแดดไง อยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์ไง นี่ถ้าจิตเสื่อมด้วยความที่ไม่ได้รอบคอบนะ เวลาจะฟื้นขึ้นมาต้องใช้ความมุมา ต้องใช้ความจงใจเพิ่มขึ้นอีก ๒ เท่า ฉะนั้น ถึงเป็นความลำบากอันหนึ่ง

นี่การประพฤติปฏิบัติมันก็จะประสบเหตุการณ์อย่างนั้นอยู่ทั่วไป ถึงว่า “ต้องเป็นตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เราเท่านั้นต้องคอยตรวจสอดส่อง ให้เราสุจริตกับใจเราเองไง ให้เราสุจริต ให้เราจงใจมุมาสอดส่องดูใจ เราจะไม่ทุจริตกับใจเราเอง...ไม่หลง ไม่ทุจริต ไม่สวมให้ไง ไม่ยอมเอาสูตรสำเร็จมาสวมให้ใจตัวเอง สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้...ต้องตรวจสอบไง

สิ่งที่สงบตัวลงแล้วใคร่ครวญด้วยที่ว่ากิเลสหลอกอันนี้...เป็นไปได้ เป็นไปได้ที่ว่ามันไม่ใช่สมุจเฉทปหาน ตทังคะไง เป็นความชั่วคราว ตทังคปหาน คำว่า “ตทังคปหาน” เพราะจิตมันสงบมันก็มีความร่มเย็น ปล่อยวางได้ การปล่อยวางได้นั้นชั่วคราวเท่านั้น เสร็จแล้วก็ตีกลับ

ต้องซื่อสัตย์ ต้องตรวจสอบ ต้องซ้อนเข้าไป สิ่งที่พอเราทำใจเราสงบ มันสงบตัวลง แต่เราไม่ดูวัตถุสิ่งนั้นเอง ต้องพยายามตั้งใจ สงบแล้วก็ไม่หลงตัวเอง เห็นไหม เราจะประสบความสำเร็จขนาดไหน เรายิ่งต้องใคร่ครวญ ต้องเอาสิ่งนั้นให้หนีคู่แข่งขันให้ได้ เพื่อจะไม่ให้เราเสื่อมตัวลง

จิตสงบแล้วเราก็ต้องพยายามตรวจสอบ ต้องพยายามดู เราไม่ตื่นเต้นเหมือนกับที่ว่าเราเข้าไปรับรางวัล เราเข้าไปรับรางวัล กิเลสมันหลอก กิเลสมันมอบให้ ดีอย่างนั้น ประเสริฐอย่างนั้น จิตนี้สงบ ตทังคปหานหลุดพ้นแล้ว ใจนี้สิ้นแล้วจากเชื้อแห่งภพ...นั่นคือกิเลสหลอก นั่นคือกระแสมันหลอกลวงตัวเราเอง อันนี้เราไม่ซื่อสัตย์ เราไม่ซื่อสัตย์กับการประพฤติปฏิบัติของเรา เราต้องซื่อสัตย์ ต้องตรงใจ ตรวจสอบเข้ามา ตรวจสอบเพื่อให้เห็นไง

จิตนี้สงบเข้าไป สงบเข้าไป ความสงบเข้าไป เรากำหนดได้ ยกขึ้นวิปัสสนา วัตถุที่ใจเราติดข้อง อาการที่เกิดขึ้น เวลาเราพ้นออกมาจากสมาธิ จิตนี้เวลาสงบตัวเข้าไปนี้เป็นเอกัคคตารมณ์นะ มีความสงบ มีความสุข แล้วพอคลายออกมา พอคลายออกมา...เพราะว่าขันธ์ ๕ กับจิตนี้มันอยู่ด้วยกัน จิตนี้ซ้อนอยู่ในขันธ์ ๕ ไง มันเหมือนเนื้อเดียวกัน พอถอนออกมาก็เป็นอารมณ์เดียวกัน มันถึงมองไม่เห็นไงว่าวัตถุกับใจมันอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ขันธ์ ๕ กับใจ อันไหนเป็นขันธ์ ๕ อันไหนเป็นจิต อันไหนเป็นวัตถุ อันไหนเป็นจิต

ยกขึ้นวิปัสสนาคือใคร่ครวญ ตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา คือพิจารณาอยู่ เวลามันถอนออกมา อารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเราก็เทียบออกมา เทียบออกมาจากที่ว่าอันไหนเป็นวัตถุ วัตถุที่ว่าใจเวลาเราคิดออกมา มันมีอารมณ์ร่วมไหม?...มีแน่นอน คิดถึงเรื่องใดก็แล้วแต่ มันจะหมุนไปรอบเลย สิ่งที่หมุนไป มันหมุนไปแล้ว ขันธ์ ๕ นี่หมุน ๑ รอบ ๑ รอบ เวทนาในความรู้สึกนั้น เวทนาไง เวทนาชอบหรือไม่ชอบ วิญญาณรับรู้ ปรุงแต่งพร้อม มันถึงเกิดเป็นอารมณ์ได้ เกิดอารมณ์ที่ว่าจิตนี้สงบเนาะ สุขเนาะ

คำว่า “สุข” นี้ก็เป็นวัตถุแล้ว แต่จิตมันจับตรงนี้ไม่ได้ไง เพราะเป็นเนื้อเดียวกัน ต้องพยายามวิปัสสนาไง ยกขึ้นวิปัสสนาหมายถึงจิตสงบแล้วหันกลับมาดูอารมณ์ตัวนี้ จับตรวจสอบ ตรวจสอบ ตรวจสอบหมายถึงว่าจับปล่อย จับปล่อยอยู่อย่างนั้น จับขึ้นมา อารมณ์นี้เข้ามาเทียบเคียงกับความรู้สึก จะคิดถึงเรื่องใดก็แล้วแต่ จับมาเทียบเคียงกับความรู้สึก เทียบเคียงกับความรู้สึก จนอ๋อ! ขึ้นมาเดี๋ยวนั้นนะ... เอ๊าะ! อ๋อขึ้นมาคือการเห็นใจไง คือใจนี้เห็นวัตถุนั้นไง มันจะเกิดความรู้สึกอีกตัวหนึ่ง เป็นรู้สึกว่าเหมือนกับเราจับจำเลยได้ เหมือนกับเราจับผู้ร้าย เหมือนกับเจ้าหน้าที่เขาจับผู้ที่ทุจริตได้

นี้ก็เหมือนกัน เราซื่อสัตย์กับใจจนใจดวงนี้เห็นผู้ที่ทุจริต เห็นผู้ที่หลอกลวง เห็นเชื้อแห่งภพที่หลอกลวงใจไง จะเกิดอาการอีกอาการหนึ่ง อันนี้คือเริ่มต้นจะวิปัสสนาได้ เหตุที่จะวิปัสสนาคือวิปัสสนาสิ่งที่มันหลอกลวงอยู่ในใจ วิปัสสนาเชื้อแห่งภพนั้น เป็นวัตถุที่เป็นนามธรรมไง วัตถุที่เป็นนามธรรมมันซ้อนใจอยู่ไง ถ้าจับได้ก็จะจับอย่างนั้น นั่นคือเห็นระหว่างใจกับวัตถุ วัตถุที่มันซ้อนทับใจอยู่ ซ้อนทับใจอยู่นะ พอจับได้แล้วก็วิปัสสนา วิปัสสนาหมายถึงว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์อะไร วัตถุนี้เราใช้ประโยชน์ได้แค่ไหน ก็เหมือนกัน เหมือนกับเราทิ้งวัตถุข้างนอกเข้ามา แต่วัตถุในหัวใจนี้ ที่ว่าเราติดพันกันอยู่นี้ ที่มันซ้อนใจอยู่นี่ นี่ยกขึ้นเป็นวัตถุ ระหว่างวัตถุข้างในใจกับตัวของใจต่างหาก

วิปัสสนาจนเห็นโทษของความไม่แน่นอน เห็นโทษของขันธ์ เห็นโทษของความคิด ความคิดนี่เกิดๆ ดับๆ ตลอดเวลา ความคิดเดิมๆ นี้ไม่ใช่มีเฉพาะชาติปัจจุบันนี้ เราเกิดตายเกิดตายมากับสิ่งนี้ สิ่งนี้ควบคุมใจอยู่ สิ่งนี้เป็นเชื้อแห่งภพอยู่ มันเสวยภพ เสวยชาติมาพอแรงแล้วไง คำว่า “พอแรง เสวยภพ เสวยชาติ” โดยที่เราไม่รู้สึกตัว เราตายเกิดตายเกิดมาไม่รู้สึกตัวเลย สิ่งนี้มันเป็นเนื้อเดียวกันมา มันหลอกลวงมา

เศรษฐกิจมีการเจริญแล้วมีการล่มสลายไป เป็นไปโดยธรรมชาติ เป็นไปโดยหลักตามความเป็นจริง สิ่งนี้ก็เหมือนกัน เกิดตายเกิดตายมาเป็นตามหลักความเป็นจริงโดยธรรมชาติเลย โดยตามหลักความเป็นจริงของมัน เห็นไหม กิเลสก็เป็นธรรมชาติ ใจนี้ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง หมุนเวียนกันมาตลอดเวลา

แต่เราเมล็ดพันธุ์อันนี้เราเกิดท่ามกลางพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง แล้วเราเชื่อตามหลักตามความจริง แล้วตนเป็นที่พึ่งแห่งตนตามความเป็นจริง ใจนี้ปฏิบัติตามความเป็นจริง ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ผลประโยชน์เกิดขึ้นจากปัจจัตตังที่จิตนี้สัมผัส ปฏิเวธเกิดขึ้นมาเป็นขั้นๆๆ ปฏิเวธตามความเป็นจริง...ปฏิเวธไง จนเห็นสิ่งตามความเป็นจริงอันนี้ไง เห็นด้วยตาของธรรม ไม่ใช่เห็นด้วยการคาดเดา ไม่ใช่เห็นด้วยคือสูตรสำเร็จไง สูตรสำเร็จนั้นมันเป็นสัญญาอารมณ์มั่นหมาย มันเป็นการยึดมา มันยกสูตรสำเร็จของผู้อื่น วัตถุที่เอามาสวมเข้าใจ มันก็เป็นการครอบงำที่ไม่เป็นตามความเป็นจริง

แต่ขณะที่จิตเห็นว่าวัตถุสิ่งนี้ แล้วที่ว่าหลอกใจ แล้วใจนี้ยึดมั่นถือมั่นมา เกิดมาพาไปเกิดมาเพราะเสวยภพไง เชื้อแห่งภพเสวยภพมาเป็นภพเป็นชาติมาตลอดไง แล้วเราจะแยกตรงนี้ออก แยกออกมาด้วยวิปัสสนาญาณ ด้วยมรรคอริยสัจจังไง ด้วยมรรคคือว่าด้วยดำริชอบ ด้วยความเห็นชอบ ด้วยความเพียรชอบ แต่เป็นความเพียรระหว่าง อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ เพราะท่ามกลางหัวอกของผู้ที่ปฏิบัตินั้นเกิดดับเกิดดับจนมาเกิดเป็นภพปัจจุบันนี้อยู่ที่ท่ามกลางหัวอกนั้นไง แล้วสัมผัสตามความเป็นจริงอยู่ที่ท่ามกลางหัวอกนั้นน่ะ

ท่ามกลางหัวอกเป็นจุดของไออุ่นที่ว่าเกิดตายเกิดตาย เป็นเชื้อแห่งภพ ภพอยู่ตรงนั้นไง ภพอยู่ตรงท่ามกลางหัวใจนั่นไง แล้วสิ่งนั้นมันประสบเข้า มันสัมผัสตามความเป็นจริง “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ระหว่างที่หัวอกที่เชื้อแห่งภพนั้น ภวาสวะไง มันทำลายภวาสวะนั้นออกไป เชื้อแห่งภพนั้นแหลกสลายออกไปน่ะ

การเกิดและการตาย เพราะตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนคือระหว่างที่ตรงจุดของภพนั้น สิ่งใดๆ ในโลกนี้มันก็เป็นไปตามวัฏฏะ ๓ โลกธาตุนี้หมุนไปตามวัฏฏะเลย แล้วว่าเชื้อแห่งภพระหว่างภพนั้นก็หมุนไปตามวัฏฏะนั้น หมุนไปตามวัฏฏะตามกระแสของโลก กามโลก รูปโลก อรูปโลก ๓ โลกธาตุนี้หมุนไปตลอด หมุนไป

เวลาจิตนี้หมุนลงไป มันก็หมุนไปตามวัฏฏะ วัฏวนไปประสบทุกข์ประสบยาก เหมือนกระแสของเศรษฐกิจ นี่เหมือนกัน วนไปนะ จิตหนึ่งหมุนไปวนไป วนไป วนไปตามวัฏฏะ แล้วก็วนมาเจอไง วนมาถึงว่าขณะปัจจัตตังไง ปัจจัตตังขณะประพฤติปฏิบัตินี้เป็นอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ

พอจิตนี้ระเบิดระหว่างเชื้อแห่งภพนั้นน่ะ กลางของภพนั้นระเบิดออก เชื้อแห่งภพนี้ไม่มี ภพนั้นไม่มี ภพนั้นโดนทำลายหมด ไม่มีเชื้อ วัฏฏะนั้นเป็นวัฏฏะ เห็นไหม วัฏฏะนี้กว้างขวางมาก วัฏวน ๓ โลกธาตุนี้กว้างขวางมาก แต่หัวใจที่ทำลายเชื้อแห่งภพนั้นครอบ ๓ โลกธาตุนี้

ความว่างอันนี้ไง ตามหลักตามความเป็นจริง อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ เป็นตนนะ เป็นตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วทำลายลงระหว่างท่ามกลางเชื้อแห่งภพระหว่างภพนั้น กว้างใหญ่ขนาดที่ว่าครอบ ๓ โลกธาตุ ความว่างที่ไม่มีเชื้อเลย...ฟังสิ วัตถุที่อยู่ในหัวใจ เชื้อแห่งภพที่มันเกาะเกี่ยวกันมาตลอดเวลานั้นน่ะ แล้วเราทำลายลงด้วยปัจจัตตัง อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนปฏิบัติตามความเป็นจริงระหว่างท่ามกลางภพ ระหว่างกลางหัวใจ ภพนั้นทลายออกไป

วัฏฏะที่ว่า ๓ โลกธาตุนี้กว้างขวางที่ใจนี้วนอยู่ในวัฏฏะนั้นน่ะ มันวนไปตามวัฏฏะนั้น กับเวลามันว่างออกมา วัฏฏะนั้นกลับเล็กกว่าหัวใจที่ความว่างนั้น ความว่างที่ปล่อยวางจากวัตถุกลางหัวใจ เห็นไหม ปล่อยวางวัตถุจากข้างนอกมา มันยังแค่ปล่อยวางแล้วมันเสวยความสุขในหัวใจ หัวใจนี้ความสุขภายในไง เราสามารถสละวัตถุภายนอก เพราะมันคือเรา ก็มีความอิ่มอกอิ่มใจเกิดตายเกิดตายในสวรรค์นั้น เพราะเราสร้างคุณงามความดีเป็นบุญกุศล จนเรามาปฏิบัติให้เกิดภาวนามยปัญญาไง

เรามาปฏิบัติ จากปริยัติ จากสุตะมาจินตมยปัญญา แล้วภาวนามยปัญญา

อันนี้ก็เหมือนกัน จากวัตถุภายนอก เราทิ้งวัตถุภายนอกเข้ามา แล้วเราก็มาทำลายวัตถุที่มันเป็นเชื้ออยู่ในหัวใจนี้ ทำลายตัวนี้มันได้คุณประโยชน์กว่ามหาศาลเลย เพราะจิตนี้พ้นจากเชื้อ มันเป็นเมืองพอไง เป็นเมืองพอ เป็นเมืองอิ่ม เป็นเมืองที่ไม่เป็นเหยื่อใครๆ ทั้งสิ้น

ความไม่เข้าใจ ความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เป็นเหยื่อของเขาอยู่ในโลกนี้ ขนาดในโลกนี้แค่ชีวิตๆ หนึ่ง เราก็เป็นเหยื่อในความประสบทุกข์ยากในวิกฤตการณ์ แต่เวลาเกิดตายเกิดตายยังไม่เห็นว่าวิกฤตการณ์ใน ๓ โลกธาตุนี้ ในกามภพแม้แต่กามภพโลกเดียว เกิดในสวรรค์ เกิดในนรก เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันต้องวนไปอยู่ตลอดเวลา นี่ขนาดในกามภพเท่านั้น

เพราะจิตนี้ จิตที่ว่าอยู่กับวัตถุ วัตถุนั้นเป็นเชื้อ เชื้อที่ดึงไปพาไปไง เพราะมันมีแรงดึงดูดไง กิเลสเป็นแรงดึงดูด เล่ห์เหลี่ยมของกิเลสดึงดูดตัวนั้นไปไง ให้เข้าไปในวัฏวน วนไปในกามภพนี้ก็แสนพิลึกพิลั่นอยู่แล้ว ยังวนไปรูปภพ อรูปภพ พรหมที่ไม่มีรูป พรหมที่มีรูป วนไปอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ก็มีสูงๆ ต่ำๆ

คนเรา จิตนี้ตกอยู่ในเหตุการณ์ใด จิตนี้ตกไปอยู่ในวัฏวนนั้น สร้างคุณงามความดี ผลของคุณงามความดีก็ส่งให้สูงขึ้นๆ ก็วนขึ้นไป วนขึ้นไปขนาดไหน พอใช้พลังงานนั้นหมดก็ต้องวนกลับลงมาในวัฏฏะที่จิตนี้หมุนไปไง ความแปรสภาพ ความวนเวียนไปของโลก ของวัฏวนนี้เป็นอย่างนั้นตลอดเวลา

ใจดวงนี้หมุนไป เคว้งคว้างมาเหมือนกับขยะในอวกาศ ลอยไปตามยถากรรมในกรรม ตามยถากรรมในกรรมคือตามยถากรรมที่จิตนั้นได้สร้างคุณงามความดี หรือได้อยู่ในกระทบสิ่งที่อยู่ในวัฏฏะหรืออยู่ในขณะที่ทำความชั่วก็วนลงข้างล่าง วนลงไปในนรกในอเวจี ทุกดวงใจต้องเคยวนไปมาตลอด วนมาตลอดเลย ติดอยู่ในวัฏวน นี่เหมือนกับกระแสเศรษฐกิจเหมือนกัน

ทีนี้ ถ้ามีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราศึกษาแล้ว ศึกษาในสุตมยปัญญา เกิดปลงธรรมสังเวช ก็เห็นระบบเศรษฐกิจนั้นกลับมาเป็นประโยชน์กับเรา แล้วเราก็ตั้งใจปฏิบัติให้ใจนี้พึ่งตนเองได้ เห็นไหม ศึกษามาแล้วเข้ามาข้างใน ศึกษาตามปฏิบัติให้พ้นออกไปจากกระแสเศรษฐกิจนั้นได้

วัฏวนนี้ก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติจนละวัตถุภายในได้ ละวัตถุภายในคือละกิเลสตัณหาภายในหัวใจได้ จนสิ้นจากเชื้อแห่งภพ มันละเอียดกว่า มันพ้นออกไปจากวัฏวนน่ะ ใน ๓ โลกธาตุนี้จิตต้องเกิดต้องตายอยู่ในวัฏฏะนี้ มันทำลายภพ ทำลายหัวใจ ทำลายแรงดึงดูด ภพที่เกิดที่ตาย ภวาสวะของใจ จนไม่มีวัตถุในหัวใจ หัวใจนี้เป็นหัวใจว่างทั้งหมด หัวใจเป็นธรรมล้วนๆ เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสาวก และพระอรหันต์ในครั้งพุทธกาล ไม่มีวัตถุใดๆ ไม่มีเชื้อใดๆ อยู่ในหัวใจนั้นเลย ในวัฏฏะนี้ก็ไม่มีสิ่งใดเป็นแรงดึงดูดระหว่างภพกับวัฏวนได้

วัฏฏะนี้ กระแสของวัฏฏะ ๓ วัฏฏะนี้ถึงไม่สามารถให้เป็นที่อยู่หรือว่าเป็นแรงดึงดูดจากตัวเชื้อได้ เพราะเชื้อแห่งภพนั้นไม่มี ใจที่เป็นธรรมถึงมีความสุขล้วนๆ ไง สิ่งใดจะเกิดดับ สิ่งใดจะเกิดวิกฤตการณ์อย่างไร ใจดวงนั้นไม่มีความทุกข์ได้เลย ใจดวงที่เป็นอตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ นั่นน่ะ เป็นตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนที่ปฏิบัติตามความเป็นจริง ใจดวงนั้นเป็นธรรมล้วนๆ จะไม่มีความทุกข์ไปกับวิกฤตการณ์นั้น เห็นวิกฤตการณ์เป็นแค่ธรรมสังเวชไง เห็นเป็นเครื่องเตือนใจตัวเองอยู่ด้วย เห็นแล้วมันเป็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมามันเป็นอนิจจังล้วนๆ

แล้วใจที่พ้นออกมาจากสิ่งที่เป็นอนิจจังแล้วมองกลับไป แค่ธรรมสังเวชไง เป็นธรรมล้วนๆ กับธรรม แล้วสังเวชเฉยๆ กับที่เขาเป็นอยู่ในความทุกข์อันนั้นต่างกันมากเลย ต่างกันอย่างกับฟ้ากับดิน นี่ไงถึงว่าเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เราย้อนกลับมาที่ตัวเรา เราประพฤติปฏิบัติที่ตัวเรา เห็นไหม มันเหมือนกับสิ่งที่ไม่มีค่า เราอยู่กับทางโลกเขา เขาสะสมสมบัติขนาดไหน เขาว่าเขามีค่า เขามีศักดิ์ศรี เขาเป็นผู้มั่งมี เขามีเกียรติศักดิ์เกียรติคุณ

แต่ผู้ที่เชื่อธรรม แล้วมาปฏิบัติระหว่างกายกับใจ ระหว่างวัตถุในหัวใจกับกิเลสระหว่างภพกับเชื้อแห่งภพนั้น คุณค่าต่างกันมหาศาลเลย คุณค่าต่างกันเพราะว่า อย่างนั้นยังหมุนเวียนอยู่ไป ยังมีสุข-มีทุกข์อยู่...อันนี้ไม่มี ไม่มีทุกข์ใดๆ เข้าไปเจือปน ไม่มีเลย อิ่มพอนะ ว่าสูงส่งมันก็จะคู่กับตกต่ำ จะว่าเป็นสิ่งใดมันก็จะเป็นอย่างนั้น มันถึงว่ามันถึงเมืองพอไง เมืองพอคือเมืองที่ไม่ต้องการ เป็นเมืองแห่งความสุขอิ่มพอ สุขตามความเป็นจริงจากการประพฤติปฏิบัติที่ว่าระหว่างกายกับใจนั้นน่ะ ระหว่างที่ว่าเรายิ่งปล่อยวางเข้ามาถึงตัวเราขนาดไหน ถึงตัวเรานะ

การประพฤติปฏิบัติไม่ต้องใช้วัตถุ ไม่ต้องใช้พลังงานข้างนอก แต่ต้องใช้พลังงานข้างใน แล้วใช้อย่างมหาศาล มันสมุจเฉทปหานกลางใจ ไม่ใช่ตทังคปหานอย่างการประพฤติปฏิบัติที่ว่าปล่อยเป็นสูตรสำเร็จ จินตนาการเอา อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นมันก็จะหมุนไปตามเขานั่นล่ะ เพราะมันไม่ใช่เป็นปัจจัตตัง มันเป็นการหวังพึ่ง เป็นการเกาะเกี่ยว

การเกาะเกี่ยว ไม่เราหลุดจากเขา เขาก็ต้องหลุดจากเรา เป็นการบุบสลาย เป็นการต้องใช้หน่วงเหนี่ยวกันอยู่ตลอดเวลา มันต้องแปรสภาพ มีการหลุดมือไปก็ทำให้ตก ให้เจ็บ ให้ปวดไปเรื่อย แต่เกิดขึ้นจากหลัก อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ของผู้ที่ปฏิบัตินั้น มันเป็นของคนนั้น

เรามีภพ เรามีจุด เรามีเชื้อ แล้วเราทำลายภพ ทำลายจุด ทำลายเชื้อด้วยน้ำมือของเราเอง มันถึงเป็นความจริงไง เป็นความจริงจากดวงนั้น เป็นความจริงจากผู้ปฏิบัตินั้น ถึงเป็นหลักความจริงว่าใน “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” นั้น เอวัง

เพิ่มเติมท้ายกัณฑ์

เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์มหาศาลเลย เป็นประโยชน์มหาศาลเลย...

พอจิตสงบลงไป จิตต้องสงบก่อน ทำจิตให้สงบ แล้วพอสงบเข้าไปจิตนั้นมีพลังงานไง เหมือนกับว่าถ้าปกติเป็นความคิดเราปกตินี่ เขาเรียกโลกียะ คิดขนาดไหนมันก็คิดด้วยความคิดเดิมของเรา...จิตนี้สงบลงไปก่อน พอจิตนี้สงบลงไป มันปล่อยวาง เหมือนกับที่เราว่าใช้ว่าหินทับหญ้านั่นน่ะ คือว่าปล่อยวางอารมณ์โลกียะ ถ้ามันพลิกขึ้นมาเป็นวิปัสสนา มันจะเป็นโลกุตตระ มันก็เหมือนกับโลกุตตระไง จิตสงบนี้เหมือนกับว่าเราส่งยานอวกาศไปในอวกาศ แล้วเราไปทดลองทางวิทยาศาสตร์ในอวกาศ ไม่มีแรงดึงดูดของโลก ถ้ามีแรงดึงดูดของโลก การทดลองวิทยาศาสตร์บางอย่างทดลองไม่ได้เพราะมีแรงโน้มถ่วงของโลก เพราะกระแสแม่เหล็กมันดึงดูด ส่งยานอวกาศนี้ออกไปถึงอวกาศนะ มันไม่มีแรงดึงดูดไง นั่นคือจิตเป็นสมาธิไง

จิตสมาธิก็เหมือนกับว่า พ้นจากแรงดึงดูดของกิเลสไง แรงดึงดูดคือเราไง ถ้าไม่มีสมาธินี้ ความคิดคือเรา มันคิดเข้าข้างตัวเองตลอด นี่ประโยชน์มหาศาลตรงนี้ไง ตรงที่จิตนี่เป็นสมาธิ แล้วพลิกขึ้นมาถึงจะเป็นโลกุตตระ แต่ถ้าจิตนี้ไม่พลิกขึ้นเป็นโลกุตตระ มันก็เป็นแค่จิตนี้เป็นสมาธิเฉยๆ แล้วจะเสื่อมไปไง พอมันเสื่อมถอนขึ้นมามันก็เป็นความคิดเดิม เขาถึงบอกว่ามันไม่เป็นประโยชน์

แต่ถ้าใช้ “เคลื่อนหนอ”...“หนอ” นี่เขาว่าเป็นปัญญาพร้อมกันไป เป็นปัญญาพร้อมแต่มันเป็นปัญญาพร้อมกับแรงดึงดูด เห็นไหม เหมือนกับเราทดลองวิทยาศาสตร์บนโลกเรานี่มันก็มีแรงดึงดูดตลอด แรงดึงดูดนี่ทำให้การทดลองวิทยาศาสตร์นี้มันมีแรงดึงดูด มันถึงว่าไม่เหมือนกับพ้นจากแรงโน้มถ่วง

ทีนี้มันจะเป็นที่ว่าถ้ายกขึ้นเป็นโลกุตตระคือวิปัสสนาได้ เหมือนที่ว่าเราจับกิเลสได้ที่ว่าเมื่อกี้นี่ ถ้าเราจับกิเลสได้ อันนี้เราจับได้ไง มันก็เป็นประโยชน์เลย คือว่าเหมือนกับเราลงทุนไปแล้ว เราทำธุรกิจ เรากำไรเลย

แต่ถ้าไม่สามารถจับกิเลสได้ ไม่สามารถวิปัสสนาได้ มันก็แค่เป็นสมาธิแล้วเสื่อมไปไง อันนี้เขาถึงบอกว่ามันไม่มีประโยชน์ไง เหมือนกับเรามีเงินไง แล้วเราไม่ได้ประกอบธุรกิจ เราใช้เงินหมดไปโดยที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา แต่ได้ประโยชน์สิเพราะเรามีเงินใช่ไหม เรามีเงินเราซื้อของ ต้องได้ประโยชน์สิ เราใช้ประโยชน์ขึ้นมา ทีนี้เพียงแต่ว่าเขาดูตรงนี้ไง ดูตรงที่ว่ามันเสื่อมออกมา ถึงว่าไม่เป็นประโยชน์ไง ถึงบอกว่าจิตสงบเฉยๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร

ทำไมจะไม่ได้ เพราะได้แล้วได้จริงด้วยไง เพราะได้แบบโลกุตตระเลย ได้แบบตามหลักความเป็นจริง เพราะว่าไปทดลองบนอวกาศ แล้วพิสูจน์อย่างที่ว่า พิสูจน์แบบปัจจัตตังเลย พิสูจน์ว่าของใครของมันเลย อันนั้นถึงเป็นความจริง อันนี้เป็นแนวทางปฏิบัติทางนี้

แต่อันโน้นเขาไม่ได้ปฏิบัติทางนี้ ทางอภิธรรมเขาไม่ให้ปฏิบัติอย่างนี้ เขาให้เคลื่อนไปเลย เขาบอกให้มีปัญญาพร้อมกับสมาธิไปเลย สมาธิด้วย ปัญญาด้วย เขาถึงว่าอันนั้นเป็นปัญญา อันนั้นเป็นประโยชน์ แต่อันนี้โง่ ถ้าพุทโธ พุทโธเข้าไปนี่เขาว่าโง่ เขาว่าโง่

แต่เวลาผลตามความเป็นจริง “โง่” ทำไมครูบาอาจารย์เผามาเป็นพระธาตุหมดเลย ครูบาอาจารย์เป็นพระธาตุทั้งนั้น ของจริงทั้งนั้นเลย ของเขายังไม่เคยมีนะ นี่ไม่ได้แบ่งเราแบ่งเขานะ ถ้าแบ่งเราแบ่งเขา เขากับเราหมายถึงว่าวิธีการปฏิบัติไง ของทางฝ่ายนั้นที่ว่าปฏิบัติแล้วเป็นความจริงยังไม่เคยเห็น ยังไม่เคยมีเลย

โยม : หลวงพ่อคะ เขาไม่ได้ปฏิเสธพุทโธ

หลวงพ่อ : มันเป็นการแบบว่า...นี่เพราะเขาถือว่าอันนี้คือกิเลส คือการวิพากษ์วิจารณ์คืออันนี้เป็นกิเลสไง เป็นกิเลสก็ต้องเก็บไว้ จะไม่พูดต่อหน้าต่อหน้า จะไปพูดทีหลัง อย่างที่พูดนี่ว่าเขาไม่ได้ปฏิเสธพุทโธ เขาไม่ปฏิเสธ

โยม : เฉพาะเวลาที่เรานั่ง...

หลวงพ่อ : เขาไม่ปฏิเสธพุทโธ เขาไม่ปฏิเสธต่อหน้านี้ เพราะว่าอะไร เพราะต้องการพื้นฐานใหม่ๆ ไง พื้นฐานพวกนี้

ถ้ามีการแบ่งแยก อันนี้คือกิเลส ถ้ามีการแบ่งแยกนะ...ต้องไม่แบ่งแยก อะไรก็ได้ต้องเข้ากันได้หมด กิเลสคือการปฏิเสธ ถ้ายอมรับหรือว่าเป็นไปได้ก็คือความสุขไง อันนี้เขาว่าอย่างนั้น อันนี้มันถึงบอกว่า ที่เราจนอยู่นี่เพราะเหตุนี้ไง เพราะเราไปเอาก่อนไง เขาบอกที่ว่าชาวพุทธนี้ต้องปล่อยวางทั้งหมดไง ปล่อยวางว่างหมดนี้มันเป็นพระอรหันต์เท่านั้น

แต่ใหม่ๆ นี้ต้องมี ต้องมีกฎกติกา “ธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดาของเรา” ธรรมและวินัยเป็นตัวแทนของศาสดา แล้ววินัย ถ้าไม่มีวินัยจะเข้าถึงหลักความจริงได้อย่างไร เห็นไหม ต้องมีวินัย ต้องมีธรรมตามความเป็นจริง

แต่เขาเอาธรรมขึ้นมาก่อนเลย ว่าเขามีธรรม เขาไม่ยึดมั่นถือมั่น เขาไม่ปฏิเสธ เขาห้ามวิจารณ์กัน แต่ลึกๆ แล้วยิ่งกว่าวิจารณ์ ที่บอกว่าที่ว่าเพราะอะไร เพราะนี่เราคุยกันภาษาพื้นๆ ไง คุยกันแบบว่า เหมือนกับว่าอย่างที่ว่า เขามีวงในวงนอกอยู่นี่ ถึงวงนี้เขาต้องการดึงศรัทธานี่เขาไม่วิจารณ์หรอก แต่พอขึ้นมาแล้วนะ เขาจะไปวิจารณ์กันข้างในไง เหมือนกับว่าศูนย์กลางอำนาจไง เหมือนกับผู้บริหาร วางนโยบายออกมาแล้วผู้ปฏิบัติไง ผู้ปฏิบัติต้องทำอย่างไร...ออกดึงๆๆๆๆ นี้เข้ามา

แต่ข้างบนนี้แน่นอน ไม่วิจารณ์พุทโธนี่ไม่เชื่อ ยิ่งกว่าเพราะเราเข้าไปสัมผัสข้างในแล้ว ต้นขั้วเลย ต้นขั้วมาอย่างนี้เลย เพราะอันนี้มา ถ้าเอามาชนกันแล้วมันถึงจะรู้ไง

อยู่กับอาจารย์ อยู่กับอาจารย์ อาจารย์บอกเลยตั้งแต่สมัยหลวงปู่มั่นเลย องค์หลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่น เวลาเขาคุยกัน มีพวกวงในเอาไปถามไง ให้หลวงปู่มั่นพิจารณาอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ไง หลวงปู่มั่นพิจารณามาแล้วเพราะอาจารย์มหาบัวเล่าให้ฟัง อาจารย์เจี๊ยะก็เล่าให้ฟัง แล้วอันนี้มันก็เป็นธรรมดาไง เราลงไปหัวหินนี่ไง เราไปสัมผัสเข้าแล้ว มันถึงว่าอ๋อ! อ๋อเลยไง เพราะอันนี้มันเป็นทิฏฐิของคนใช่ไหม

เขาพูดเลย “...อย่างนี้...อย่างนี้...อย่างนั้นหลวงปู่มั่นก็เก่งกว่าพระพุทธเจ้าน่ะสิ...ไม่มี หลวงปู่มั่นไม่ใช่พระอรหันต์ ไม่เชื่อทั้งหมด ไม่เชื่อ ไม่มี เพราะอะไร เพราะหลวงปู่มั่นไม่ได้เรียนอภิธรรม หลวงปู่มั่นไม่รู้อะไรเลย ถ้าหลวงปู่มั่นอย่างนี้ หลวงปู่มั่นอย่างนี้ หลวงปู่มั่นต้องเก่งกว่าพระพุทธเจ้า”

เปิดเทปฟังสิ ในเทปมีทั้งนั้นน่ะ ต้นขั้วเลย

ถ้าอย่างนั้นไม่ปฏิเสธ รับรองว่าไม่ปฏิเสธน่ะสิ ถ้าปฏิเสธ ทำไมพระที่ว่าทำไมคนที่ชอบที่ว่า เวลาเข้าอุโบสถได้หมด มหานิกาย-ธรรมยุตเข้าได้หมด

ทำไมหลวงปู่มั่น...ก็ไม่ยอมไง หลวงปู่มั่นบอกว่า “ถ้าวินัยนี่มาอยู่ในพระไตรปิฎก ธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดาของเรา ถ้าวินัยนี้ กฎกติกาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้นี้เราไม่เชื่อ ก็เราไม่เชื่อพระพุทธเจ้าน่ะสิ”

หัวใจที่ว่าไม่ปฏิเสธพระพุทธเจ้านะ จะไม่กล้าทำความผิดที่พระพุทธเจ้าบัญญัติว่าผิด พระพุทธเจ้าบอกอย่างนี้ไม่ทำ ทำไม่ได้ ทำแล้วเป็นโมฆียะ เป็นการโมฆะ ก็ไม่ทำ แต่พระนั่นบอกอันนี้เป็นกิเลส ฟังสิ คำว่า “กิเลส” กับคำว่า “เชื่อพระพุทธเจ้า” นี่อันไหนถูกต้อง (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)