เทศน์บนศาลา

ปฏิบัติต้องคงเส้นคงวา

๕ ต.ค. ๒๕๔๑

 

ปฏิบัติต้องคงเส้นคงวา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๑
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ผู้ที่จะปฏิบัติธรรม เขาโค เขาโคมีสองเขา ขนโคมีกันทั้งตัว เห็นโทษของวัฏฏะ ผู้ที่เห็นโทษของวัฏฏะ ผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของวัฏฏะ วัฏวนนี้ วัฏฏะ วัฏสงสาร ๓ โลกธาตุเป็นที่เกิดที่ตาย กับจิตวิญญาณทุกๆ ดวง จิตวิญญาณทุกๆ ดวงต้องเกิดและตาย เกิดและตายในวัฏสงสารนี้ เห็นไหม เห็นภัยของวัฏสงสารนะ ไม่ใช่คนแคบๆ คนแคบๆ เขาเห็นภัยแต่การเกิดและการตายนี้เท่านั้น

เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องมีการศึกษา ศึกษาเพื่อจะประกอบอาชีพ ทุกข์ยากในอาชีพของตัว แล้วก็ตายไป ห่วงกันแค่ชีวิตนี้ ก็ยังว่าเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์อยู่แล้ว ชีวิตนี้การเกิด เกิดมาแล้วก็ต้องหาความรู้ใส่ตัวเพื่อประกอบอาชีพ มีหน้าที่การงานต่อไป แล้วก็ตายไป เห็นไหม แค่นี้ก็เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ของโลก

แต่ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเห็นโทษเห็นภัยของวัฏฏะนะ ไม่ใช่เกิดและตายในภพมนุษย์นี้ วัฏวนเกิดและตายในเทวดา ในพรหม ในอบายภูมิ ในสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉาน ฟังสิ สัตว์เดรัจฉานมันยังทำคุณงามความดี ตัวไหนดี ตัวไหนฉลาด เป็นหัวหน้าฝูง สัตว์เดรัจฉานยังรู้จักคุณงามความดี รู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นบางตัวนะ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเขาทำความผิด ก็เขาเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานกัดกัน ฉีกกัน มนุษย์ก็ไม่ค่อยได้ว่า ไม่ค่อยได้ไปว่าเขาเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะว่าในภพชาติของเขาเป็นแบบนั้น

แต่มนุษย์ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ สัตว์ประเสริฐ ถ้ามนุษย์นั้นมีธรรมอยู่ในหัวใจ เป็นคนมีคุณงามความดี คนที่มีคุณงามความดีในหัวใจ เพราะใจดวงนั้นได้สะสมมา เป็นจิตที่ดี เกิดเป็นมนุษย์ที่ดี ได้เป็นประโยชน์กับสังคมของโลก แต่มนุษย์ที่มีแต่สะสมความไม่ดีมา แต่ถึงจุดหนึ่ง ถึงกาลเวลาที่พ้นออกมาจากสิ่งที่เกิดจากอบายภูมิ สิ่งที่เกิดมาจากนรกอเวจีขึ้นมาเกิดเป็นมนุษย์ จิตใจนี้ต่ำช้า เห็นไหม มนุษย์ผู้นั้นจะทำให้แหลกลาญไปทั้งหมด มนุษย์ผู้นั้นเป็นมนุษย์ที่ใจเป็นพาล จะทำได้มหาศาล

เพราะมนุษย์มีปัญญา สัตว์เดรัจฉานเขาทำร้ายกัน เขาก็แค่กัดแค่ฉีกกัน แต่มนุษย์นี้มันโกงทั้งประเทศ โกงได้ทั้งหมด เวลาเกิดนี่ปัญญาของมนุษย์ที่ทำความผิด นี่มนุษย์ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ฉะนั้นถึงว่า ผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏะ วัฏฏะคือการเกิดร่วมไง การเกิดแล้วมาประสบกัน เหมือนกับสิ่งสวะที่ลอยไปในแม่น้ำ มันจะไปติดตรงไหน มันไปเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่นั่น

การเกิดของเราก็เกิดในวัฏวน ในสังสารวัฏนี้เป็นที่ว่าน่าขยะแขยง เป็นสิ่งที่น่ากลัว เห็นภัยในวัฏสงสาร ถึงได้ต้องประพฤติปฏิบัติธรรมไง นักบวชอุตส่าห์สละชีวิต ชีวิตที่เขาว่ามีค่าๆ อยู่ในโลกนั่นน่ะ สร้างสมกันเพื่อสืบสกุล อุตส่าห์สละชีวิตนั้นออกมาบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อให้พ้นจากความเกิดและความตาย

วัฏฏะนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว น่าสยดสยองมาก แต่วัฏฏะใครทำลายวัฏฏะนั้นได้ล่ะ วัฏฏะนั้นก็เป็นอยู่อย่างนั้น ๓ โลกธาตุนี้มา เห็นไหม ในสิ่งที่ว่า ในหินในชั้นหินที่เขาพิสูจน์กัน ในฟอสซิลต่างๆ เป็นร้อยๆ ล้านปี สองสามร้อยล้านปี นั่นน่ะ มันสะสมมาขนาดนั้น วัฏวนนี้ใครทำลายมันได้ อายุกาลเวลาของโลกพิสูจน์กันได้ ในที่เขาพิสูจน์กันในแร่ธาตุนั่นน่ะ เป็นร้อยๆ ล้าน สองสามร้อยล้านปี นี่มันวนมาอย่างนั้นน่ะ การเกิดและการตาย วัฏฏะใครทำลายมันล่ะ

ไม่ใช่ทำลายที่วัฏฏะ เห็นโทษของการเกิดและการตาย การเกิดและการตายนี้คือกิเลสที่อยู่ในหัวใจพาเกิดไง จิตนี้เต็มไปด้วยกิเลส พลังงานตัวขับเคลื่อนให้เกิดและตายนี่ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจะชำระกิเลสให้ออกจากหัวใจของตน ชำระกิเลสให้ไม่มีแรงดึงดูดเข้าไปในวัฏฏะ ให้วัฏฏะก็เป็นวัฏฏะที่เป็นอิสระอยู่อย่างนั้น ให้หัวใจที่พ้นจากแรงดึงดูดที่ต้องเกิดและตาย วนเวียนอยู่ในวัฏวนนี่ นี่มันต้องมาแก้ที่กิเลสหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติทุกๆ ดวงใจ ที่จะออกจากวัฏวนนั้น ไม่ใช่ไปทำลายที่วัฏวน

วัฏวนนี้เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น เป็นของที่มีอยู่ดั้งเดิมอยู่อย่างนั้น แต่จิตหัวใจเราก็วนเวียนมาในดั้งเดิมนั้นตลอดมา หัวใจเรานี่ หัวใจจิตที่เกิดดับๆ ในอารมณ์อารมณ์หนึ่ง แต่เกิดดับในการเกิดภพหนึ่ง ชาติหนึ่ง ก็วนในวัฏฏะนั้น เห็นโทษของวัฏฏะ วัฏสงสาร สังสารวัฏนี้ ทำให้เราเจ็บแสบ ปวดร้อนมาทุกๆ ชาติ

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเห็นโทษของวัฏฏะ เห็นภัยในวัฏฏะ กลัววัฏฏะไง กลัวการเกิดและการตาย แต่ทำลายที่วัฏฏะนั้นไม่ได้ เพราะเรามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ธรรมโดยชอบ ตามความเป็นจริง แล้วก็วางธรรมไว้ให้เราที่เป็นสาวกสาวกะนี้เป็นผู้เดินตาม พระพุทธเจ้าสอนว่า ไม่ใช่ไปทำลายที่วัฏฏะ ไม่ใช่ไปสวรรค์แบบนักวิทยาศาสตร์ที่ไปแบบจรวดดาวเทียม ขึ้นไปถึงพระจันทร์ ขึ้นไปถึงอณูไหนก็แล้วแต่ จะไม่เห็นนรกสวรรค์

เพราะมันเป็นวัตถุ มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นวัฏฏะ การเกิดเป็นมนุษย์แล้ว การเกิดในกามภพนี้ การเกิดเป็นสิ่งที่มนุษย์นี้อยู่ในการครอบของภพชาติเป็นมนุษย์ ๒๔ ชั่วโมงเป็น ๑ วัน ๓๐ วันเป็น ๑ เดือน หรือ ๓๑ วัน ๑๒ เดือนเป็น ๑ ปี ๑๐๐ ปีเป็นขีดเป็นอายุขัยของมนุษย์ ประมาณนั้น มนุษย์ก็อยู่ใน ๑๐๐ ปีจะไปหาสวรรค์นรกที่ไหนก็ไม่เห็น จนกว่าจะตายจากชีวิตของมนุษย์นี้ไปแน่นอน ไปอยู่ในวัฏฏะนี้ ไม่พ้นจากวัฏฏะนี้ถ้ายังไม่ได้ชำระกิเลส

ฉะนั้นจะไปเห็นโดยแบบวิทยาศาสตร์ ไปเห็นแบบเอาไปจรวดดาวเทียม...ไม่เห็น แต่เกิดตายแล้วเห็น หรือไม่ก็การประพฤติปฏิบัติอยู่ที่จิตนั้นสะสมบารมีมาแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกได้ทั้งหมด การเกิดและการตายที่สะสมมา ถึงได้พูดแบบอาจหาญ แบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นไงว่า การเกิดและการตายทำให้เจ็บแสบ เจ็บปวด เจ็บร้อนมาทุกๆ ภพ ทุกๆ ชาติ น้ำตาสะสมไว้ไม่รู้จักประมาณขนาดไหน นั่นเราเชื่อปัญญา เราเชื่อคุณธรรมของพระพุทธเจ้าว่าจะหลุดพ้นได้ที่การชำระกิเลส

ไม่ใช่หลุดพ้นได้ไปทำลายวัฏฏะ ที่แบบที่นักวิทยาศาสตร์เขาไปพิสูจน์กัน...ไม่ใช่ อันนั้นมันเป็นนอกตัว สิ่งที่นอกพ้นจากหัวใจ สิ่งที่เกิดจากภวาสวะ สิ่งที่เกิดจากหัวใจ พบชาติของใจคือพบ ภวาสวะคือพบที่ใจนี้ ทำลายมันต้องทำลายที่หัวใจนี้ เพราะว่าหัวใจนี้มีอนุสัย มีอุปาทานทุกอย่าง ยึดมั่นถือมั่นอยู่ที่ใจ ถึงได้ต้องมาประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะเห็นความเป็นไปของวัฏฏะ กลัววัฏฏะนั้น ไม่ใช่ทำลายที่วัฏฏะนั้น ต้องมาทำลายที่หัวใจเรา

ทำลายเชื้อคือกิเลสที่ยางเหนียว ที่วนอยู่ในวัฏฏะนี้ไง ถึงได้ต้องมาประพฤติปฏิบัติธรรม ต้องมีความจงใจ เราสละความสะดวกสบายทั้งหมด เห็นโทษของวัฏฏะ เห็นโทษของการเกิดและการตาย เห็นโทษของความทุกข์ในหัวใจนี้ ถึงว่าเห็นคุณของการประพฤติปฏิบัติไง เห็นการประพฤติปฏิบัติเพื่อจะชำระกิเลส ถอดถอนกิเลส

ในเมื่อจะเห็นคุณ เห็นโทษก็ต้องขยะแขยงในโทษนั้น เห็นคุณในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่าให้ทำหัวใจให้สงบก่อน อย่าคิด อย่าฟุ้งไปเพราะในภพของมนุษย์นี้มันคิดไปด้วยกิเลส กิเลสทำให้คิดไป ถึงศึกษามาก็เป็นแบบชาวพุทธที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ระดับทาน ระดับศีล แล้วระดับภาวนา ก่อนจะมาประพฤติปฏิบัติมันก็ต้องมีทาน ทานเพื่อให้ทาน เพื่อให้ใจสมควร อ่อนนิ่มมา เข้าใจ หันมาศึกษาเรื่องของธรรมะ

ส่วนใหญ่แล้ว ในวุฒิภาวะของใจนั้นอยู่ในระดับของทาน ระดับของศีล ระดับของภาวนา มันผ่านจากตรงนั้นมาแล้ว ระดับของภาวนา ระดับของภาวนาเห็นโทษเห็นภัยแล้ว ถึงว่าทำใจให้สงบถึงสอนทำใจให้สงบ สงบจากแรงดึงดูดชั่วคราว มันก็ไม่ใช่ดึงดูดชั่วคราว มันดึงดูดทั้งหมด

กิเลส คำว่า “กิเลสๆ” คืออะไร กิเลส เห็นโทษคุณของความอยากเพื่อจะชำระกิเลส เพื่อให้เห็นกิเลสของตัว เห็นไหม กิเลส เรากินอาหาร เรากินอาหารเพื่อบำรุงร่างกาย อาหารคำข้าวนั่นน่ะ รสชาติของอาหารนั้น นี่ความติด ตามธรรมความเป็นจริงคือเราต้องการคุณค่าของอาหาร สารอาหารนั้นเพื่อบำรุงร่างกายให้เจริญเติบโต หรือประคองชีวิตนี้ไว้อยู่ แต่มีกี่คนที่กินตามความจำเป็น

ส่วนใหญ่จะกินด้วยความรสชาติ รสชาติ รสชาติ รสของกิเลส นี่กิเลสมันอยู่ในความรู้สึกของเราไปอย่างนั้น หัวใจก็เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นเรานี่ รสของกิเลสทำให้เราเพลิดเพลินหลงใหลไง ความคิด ความยึด ความติด ความยึด ความติด แต่มันแบ่งไม่ได้ รสกับอาหารแบ่งออกจากกันได้อย่างไร เพราะรสก็อยู่ในหาอาหารนั้น อาหารนั้นมีคุณค่า มีคุณค่าก็เป็นเนื้อ เป็นสารอาหารในนั้น แต่รสก็ต้องมีตลอดไป ถ้าว่ากิเลสอยู่ในรสของอาหารนี้ เราก็แยกรส แยกอาหารออกจากกันมันก็จบ แต่อันนี้มันเป็นวัตถุนี่นะ หัวใจไม่ได้เป็นอย่างนั้น

หัวใจ ความผูกพัน อุปาทานในใจ อุปาทานในใจ อุปาทาน รสคืออารมณ์ที่ไปมันเป็นไปทั้งหมดแล้ว เราไม่สามารถแบ่งได้ รส อาหาร มันเป็นวัตถุที่อยู่ข้างนอก ลิ้นกระทบกับอาหาร อายตนะกระทบ แล้วมันก็รวมลง มันรวมมาพร้อมกับอารมณ์ที่เป็นหนึ่ง เราไม่สามารถแยกอารมณ์ได้

เราไม่สามารถยับยั้งอารมณ์ ชั่งอารมณ์ของเราได้เลย เพราะมันมีสังโยชน์ ความผูกมัด สิ่งที่ผูกมัดไว้ ผูกมัดให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล เห็นไหม สังโยชน์ ๑๐ ผูกมัดจิตกับกิเลสให้เป็นอันเดียวกัน ผูกให้หัวใจเรากับกิเลส คือความรู้สึกนั้นเป็นอันเดียวกัน มันเป็นอันเดียวกันตั้งแต่เกิด คนเกิดมานี้มีกิเลสทั้งหมด การเกิดและการตาย ทุกๆ ภพชาตินี้มีกิเลสในใจทั้งหมด ถึงได้วนเวียนไป

แต่อันนี้กิเลสคืออะไร พระพุทธเจ้าถึงสอนตรงนี้ไงว่า กิเลสมันคือสิ่งที่ผูกมัดมาพร้อมกับ...ถ้าไม่มีธรรมะนี่ ไม่สามารถแบ่งแยกได้ ทำจิตสงบขนาดไหนกิเลสมันก็นอนก้นอยู่ในหัวใจนั้น แต่เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วด้วยพระองค์เอง สิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งอยู่ในนี้ถึงได้วางแยกแยะออกมาให้เราเห็นนี้ แยกแยะออกมาให้เราเห็น

เราเห็นด้วยสุตมยปัญญา เราเห็นด้วยสัญญา เราถึงไม่สามารถจะจับว่า อันไหนคือกิเลส เราก็ว่ากิเลสๆๆ อันนี้เป็นกิเลส ถ้าเรามันขัดใจเรา ระลึกรู้ตามหลัง เห็นไหม นี่คือผู้ที่ว่าสิ่งที่มันอยู่ไกลแสนไกล สุดเอื้อม สุดเอื้อมว่าความคิดมันกว้างขวาง สุดเอื้อมที่จะเอื้อมไม่ถึง นี่มันก็แคบเข้ามา แคบเข้ามา หมายถึงว่าเราย้อนถึงความคิดของเราที่สิ่งที่ทำไม่ดี หรือความโกรธ ความผูกโกรธ ความที่ทำให้เราทุกข์ใจ

เห็นไหม หยิบอารมณ์ตัวนั้นเป็นตัวพิจารณาว่าอันนี้คือกิเลส แต่มันก็เกิดดับไปแล้ว เราตามรู้ตามเห็น ตามรู้ตามเห็น ทำใจให้สงบเข้ามา สงบเข้ามา เพื่อให้ใจนี้สงบเข้ามา เห็นโทษของกิเลส กิเลสเกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกของเรา เกิดขึ้นมาแล้วเราไม่สามารถต่อสู้ได้ ไม่สามารถทัดทานได้ เราถึงต้องทำความสงบของใจไว้ก่อน ทำความสงบพร้อมๆ กับกิเลสนั้นล่ะ เพราะทำความสงบขึ้นมาแล้ว มันถึงแบ่งแยกอาหารกับรสของอาหาร แล้วก็ผู้ตักอาหาร อาหารกับรสของอาหารมันเป็นอันเดียวกัน อยู่ในเนื้ออาหารอันเดียวกัน

ความผูกมัดระหว่างเรากับอารมณ์เราก็เป็นเนื้อหาเดียวกัน อันนี้มันจะละเอียดเข้าไปนะ เราจะดู จะแยกให้ดูอีกชั้นหนึ่ง เพราะอย่างนี้เราถึงต้องมาทำใจให้สงบก่อน ทำใจให้สงบมันก็พร้อมกับความสุขเข้าไปเรื่อยๆ การประพฤติปฏิบัติจะมีความสุข มีความแบบว่า...คนกินอาหาร กินอาหารเข้าไปเรื่อยๆ หรือกินอาหารเข้าไป ร่างกายจะเติบโตแข็งแรงขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็แก่เฒ่าไปตามกาลเวลาของภพของมนุษย์

การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน แสนทุกข์แสนยาก แสนทุกข์แสนยากทำไมมันไม่ลงตามหัวใจของเรา เรานั่งพยายามบังคับใจของตัว แต่ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา จิตมันปล่อยวางเป็นครั้งคราว นั่นน่ะ รสของอาหาร รสของความสุข มันจะมีความสุขเจือไปบ้างพอสมควร ให้เรามีแก่ใจ มีความมุมานะไง

การประพฤติปฏิบัติต้องมีความเข้มแข็งและอดทน มีความจงใจและจริงใจ เพราะเราเห็นโทษ เราเห็นคุณ เราก็มีความจริงจังกับการประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ประพฤติปฏิบัติเฉพาะต่อหน้า แล้วพอเคลิบเคลิ้มหลงใหลไป แล้วเราก็เพลินไป สักแต่ว่าทำหนึ่ง ขณะในปฏิบัตินี้ก็สักแต่ว่าทำ ทำแล้วเลิกออกไปแล้วก็ปล่อย ปล่อยหัวใจไป เพราะเห็นว่า ไหนบอกว่าเห็นโทษ กลัวโทษกลัวภัยของวัฏฏะไง มันต้องทำด้วยความจงใจ ทำด้วยความตั้งมั่น ทำให้ต่อเนื่อง พยายามให้ต่อเนื่อง ติดต่อตลอดไป ไม่ใช่ว่าสักแต่ว่า

เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนไว้ว่า แม้แต่ผู้ที่เห็นภัยอยากจะพ้นจากวัฏฏะ เหยียด คู้ ดื่ม กิน กิริยาเคลื่อนไหวต้องตั้งสติไว้ตลอดเลย เพื่อจะให้ความประพฤติหรือว่าการตั้งใจของเรานี้เป็นความเพียรไปตลอด ไม่ใช่เกิดมาแล้วตายเปล่า เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็รอแต่วันสิ้นสุดของอายุขัยไปเท่านั้นเอง ไม่จนอย่างนั้น กำหนดจิตอยู่ตลอดเวลา ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกตลอดเวลา หรือตั้งสติไว้ รำลึกอยู่ตลอด นี่ความจงใจ ความตั้งมั่น ความพยายามอุตสาหะของบุคคลคนนั้น

ดวงใจดวงนั้นที่เห็นโทษ ทำให้เหมือนกับว่า ใจมันเห็นโทษจริงๆ มันกลัวภัยจริงๆ คนที่กลัวภัยนะ อย่างเช่น คนไข้อยู่ในโรงพยาบาล ถ้ายังไม่หายนี่ หมอให้กลับก็ไม่อยากจะกลับ จะทำอย่างไร ขอให้หายจากโรคนี้ก่อน แต่ในเมื่อหัวใจของเรา เราก็รู้ว่ากิเลส เชื้อที่พาให้วนไปในวัฏวนนี้มันมีอยู่แน่นอน ทำไมเรานอนใจล่ะ ทำไมเราไม่จงใจ ไม่มุมานะ ไม่พยายามประพฤติปฏิบัติให้จิตนี้สงบลงไปก่อน ให้สงบลงไป มันก็เริ่มจะเห็นคุณ เห็นช่องทาง เห็นแนวทางในการจะกระเสือกกระสนไป

ถ้าจิตนี้ยังไม่สงบ มันก็เป็นวัฏวนอันนั้นเหมือนกัน วัฏวนภายนอกกับวัฏวนภายในหัวใจ เห็นไหม ในความคิดวันๆ หนึ่ง เรามีความทุกข์ ความสุข หรือความไม่พอใจ ความขัดข้องหมองใจนี่มันกี่รอบ นั่นก็วงรอบหนึ่ง อารมณ์หนึ่งนั้นก็เป็นวัฏฏะหนึ่ง จิตเกิดดับ เกิดดับอยู่ภายในตลอดนั่นน่ะ อันนี้ก็เข้ามาดูได้ นี่คือการไม่ให้เสียเวลาในทุกกิริยาอาการเคลื่อนไหวของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเลย ความจงใจ ความทำต่อเนื่อง

ความทำต่อเนื่องตลอดๆ ไปนี่ อันนั้นถึงจะทำได้ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ต้องสำเร็จเป็นพระอรหันต์แน่นอน เป็นคำพยากรณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเเจ้าางประกันไว้สำหรับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติด้วยความจริงจัง ด้วยความจงใจ ด้วยความเห็นโทษของวัฏฏะจริงๆ นะ ด้วยความเห็นโทษ ไม่ใช่ว่าเห็นโทษต่อเมื่อนึกได้ เดี๋ยวก็เผลอไป ไอ้เผลอไปนั่นคือกิเลสที่มันจะมาผลักไสให้การประพฤติปฏิบัตินั้น ให้เราเป็นไปด้วยความสักแต่ว่า

การประพฤติปฏิบัติอยู่ กิเลสมันอยู่ เพราะเราจะออกจากอำนาจของกิเลส ออกจากวัฏฏะที่เป็นเครื่องอยู่นี้ให้ได้ แล้วกิเลสมันจะยอมได้อย่างไร เหมือนกับคนจะทำลายบ้าน บ้านของเรา เราสร้างขึ้นมาแล้ว เราจะทำให้คนอื่นยื้อแย่ง ทำลายบ้านของเราได้อย่างไร บ้านของเราชำรุดทรุดโทรม เรายังต้องซ่อมต้องแซมอยู่ตลอดเวลา

กิเลสก็เหมือนกัน มันขี่อยู่บนหัวใจของดวงใจทุกๆ ดวง อาศัยดวงใจของจิตที่เกิดดับ เกิดนั้นเป็นที่อาศัย มันเป็นเจ้าวัฏจักร เป็นอวิชชาไง เป็นอวิชชาอยู่ที่หัวใจ ความไม่รู้ของใจ ความไม่รู้คือไม่รู้เรื่องของวัฏฏะ รู้แต่การเกิดเป็นมนุษย์ รู้แต่การดำรงชีพ รู้แต่สัญชาตญาณ การรู้แบบสัญชาตญาณ สัญชาตญาณของการหลบภัย แม้แต่สัตว์มันก็รู้สัญชาตญาณ มันยังวิ่งหนีภัยขณะเกิดไฟป่า

นี่ก็เหมือนกัน กิเลสมันเป็นสัญชาตญาณของใจเลย สิ่งที่เข้าไปถึงมัน มันจะผลักออกทันที เพราะมันเป็นไปตามสัญชาตญาณ สัญชาตญาณของเจ้าวัฏจักร สัญชาตญาณของอวิชชาคือความไม่รู้ เพราะมันไม่รู้ มันถึงได้ปฏิเสธทุกๆ อย่าง ปฏิเสธแม้แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิเสธแม้แต่สิ่งที่เราว่าเป็นธรรม เป็นธรรม ธรรมนี้เป็นวิมุตติสุข สุขอย่างเหลือล้น สุขแบบไม่มีสิ่งใดเจือปนอยู่ มันก็ปฏิเสธ

ในหัวใจของเรานั้น เราต้องติเตียนในหัวใจนั้น ไม่ต้องไปติเตียนใคร หัวใจของเราเจ้าวัฏจักรที่อยู่ในหัวใจ อยู่ในภวาสวะ อยู่ในต้นความคิด คืออวิชชานั่นล่ะ มันถึงจะทำให้เราเป็นความสงบ จะทำใจของเราให้สงบ เราจะประพฤติปฏิบัติ มันถึงได้ลุ่มๆ ดอนๆ มันถึงทำได้ไม่สมจริงสมจัง แบบความตั้งใจของเราไง เราตั้งใจได้ ๕ นาที นั่งไปอีก ๕๕ นาทีนั้นเป็นการสักแต่ว่าเลย เพราะสติมันเผอเรอไป

เพราะสัญชาตญาณของอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชานั้น ปัจจยาการออกมาเป็นสังขาร คือความคิด ความปรุง ความแต่ง ที่มันขัดกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นสิ่งที่ชำระกิเลสได้จริง เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เหนือโลกทุกอย่าง โลกที่ว่าเจริญสุด เจริญขนาดไหน มันเจริญไปด้วยกิเลสทั้งหมด มันชุ่มไปด้วยกิเลสของมันอยู่อย่างนั้น แต่ธรรมนี้เหนือโลก เหนือสงสาร เหนือทุกอย่าง จนเหนือ จนพ้นจากวัฏฏะนี้ได้

สิ่งที่เกิดๆ ดับๆ ที่เป็นกระแสต่อเนื่องเข้ามาให้วนอยู่ในวัฏฏะนี้...ธรรมเท่านั้น ธรรมเท่านั้น เอโก ธัมโม ธรรมที่เป็นหนึ่ง ธรรมที่เป็นเอก ธรรมที่พ้นจากวัฏวนนี้เท่านั้น เหนือ ฉะนั้นอวิชชามันก็ปฏิเสธ มันปฏิเสธไม่ยอมรับ ปฏิเสธเป็นธรรมดานะ แต่ถึงสุดตรงที่อวิชชานั้น มันปฏิเสธโดยสัญชาตญาณ สัญชาตญาณคือการผลักออก นี่สัญชาตญาณ เพราะมันไม่ใช่ขันธ์

อวิชชา ตอของจิตไม่ใช่ขันธ์ ไม่ใช่ปรุงแต่ง นั่นน่ะมันถึงเป็นสัญชาตญาณ สัญชาตญาณในการล้มเหลวในการปฏิบัติ สัญชาตญาณในการทำให้เราผิดไปจากตามหลักตามความเป็นจริง เพราะมันเป็นผู้ที่รู้ด้วยอวิชชา รู้ด้วยสัญชาตญาณ ไม่ใช่รู้ว่าวิชชา วิชชาตามความเป็นจริงของธรรมที่ เอโก ธัมโมตัวนี้เป็นวิชชา อาโลโก อุทปาทิ นิโรธะ นิโรโธ วิชชา นิโรโธ สังขารา นิโรโธ ความดับหมดของอวิชชาความไม่รู้เท่า ความไม่รู้เท่า เห็นไหม ดับหมด ดับหมด

สิ่งนี้อยู่ส่วนลึกของหัวใจของทุกๆ ดวงที่เกิดและตายในวัฏฏะ มันถึงทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราถึงไม่ได้เนื้อหาสาระตามความเป็นจริง เพราะเราอ่อนด้อยในการไม่เข้มแข็ง ในข้อวัตร ในการประพฤติปฏิบัติ ในการทำต่อเนื่อง ทำเหลาะๆ แหละๆ ให้อวิชชาหลอกสองชั้นสามชั้น ว่าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อจะพ้นจากวัฏวน ก็เพียงแต่ว่า ให้ปูนหมายป้ายทางว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติ

แต่การประพฤติปฏิบัติก็เป็นเวล่ำเวลา เป็นขั้นเป็นตอน เป็นกิเลสมันบอกว่าให้ทำไง เพียงแต่กิเลสว่า เขาร่ำลือกันว่าธรรมะพระพุทธเจ้านี้ประเสริฐ ประเสริฐๆ อ่านแล้วก็ว่าประเสริฐๆ ยึดมาว่าประเสริฐๆ แล้วก็บอก ทำแล้วก็ประเสริฐๆ ทำไปๆ สักแต่ว่า ถึงบอกว่า มันไม่มีความจงใจ ไม่มีความจริงใจ ไม่มีความทำให้เสมอต้นเสมอปลาย เป็นไปตามความเป็นจริงนั่นไง

ฉะนั้น เราถึงต้องตั้งใจ จงใจ พยายามทำให้ได้อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ บอกไว้นะ สดๆ ร้อนๆ เลย บอกไว้ เช่น พระโสณะ พระโสณะเดินจงกรมนะ เดินจงกรมเพราะเชื่อในธรรมที่ว่าออกจากวัฏฏะนี้ได้จริงแล้วไง แล้วมาเดินจงกรม เดินจงกรม เดินจนฝ่าเท้านี้แตก ฟังสิ จนเลือดเต็มไปในทางจงกรม เดินจนเดินไม่ไหว ก็ใช้คลานเอา อยู่ในทางจงกรมนั้นแหละ อยู่ในทางจงกรมนั่นแหละ

จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เห็นด้วยญาณของท่าน ถึงเดินออกมาแล้วบอกว่า ต้องเดินไปตรวจตามกุฏิ ออกมาเห็นเข้า ว่า “ที่นี่เป็นที่เชือดโคของใคร ตรงนี้ เป็นที่เชือดโคของใคร เลือดนี้แดงไปหมด” พระบอก “นี้เป็นทางจงกรมของพระโสณะ” พระพุทธเจ้าถึงเทศน์ว่าสิ่งนี้ที่ทำเป็นการอุกฤษฏ์เกินไป ให้เดินสายกลาง ให้ย้อนกลับลงมา ให้พระโสณะพิจารณาอีกทีหนึ่ง ให้ใส่รองเท้าเดินจงกรมได้ด้วย เพราะว่าเป็นผู้ที่เข้มแข็ง เข้มแข็งด้วยหัวใจ แม้แต่เดินด้วยร่างกาย จนเท้านี้แตก จนเลือดไหลนองไปหมดนี่ เลือดแดงไปในทางจงกรม ก็ยังฝืนทำอยู่ตลอดเวลา

ฟังผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงสิ นั่นน่ะ ย้อนกลับมา ลดลงมา ลดที่ร่างกาย ร่างกายเดินไป แต่หัวใจนี่ เวลาเจ็บปวดเราก็ฝืนไป ฝืนไป ฝืนไป ทำไป แต่ต้องมาดูที่ใจ ใจเกาะเกี่ยวอยู่ กายส่วนกาย ใจส่วนใจ กิเลสอยู่ที่ใจ การประพฤติปฏิบัติมีความจงใจ มีความมุมานะ แต่ต้องย้อนมาดูที่ใจ ขอให้จิตมันสงบ

ความสงบของจิต ความสงบของจิต จิตนี้ว่างหมด แล้วดู พิจารณาดู กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันใดก็ได้ เวทนาก็ได้ ความเวทนาของกาย ความเจ็บปวด เวทนาของกาย จิตนี้กับกายคนละส่วนพิจารณากัน มีการต่อสู้ สงครามเกิดขึ้นระหว่างหัวใจ คือความรู้สึก กับเวทนาที่เกิดขึ้น ให้แยกตรงนี้ออก หมายถึงว่าสงครามได้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าแยกไม่ออก เวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา มันเป็นเนื้อเดียวกัน อาหารกับรส แต่ถ้าแยกออก แยกออกด้วยจิตที่สงบแล้ว อารมณ์นี้จับต้องได้ เราแยกได้ เวทนาเป็นเวทนา จิตนี้เป็นจิต พิจารณาเวทนากับจิตนี้แยกออกจากกัน แยกอาหารกับรสออกจากกันได้

เพราะเป็นนามธรรม เป็นธรรมารส เป็นเวทนา สุข ทุกข์ และหัวใจที่เข้าไปเสพอยู่ แล้วแยกออกจากกัน เห็นไหม ความแยกออก แยกออก ถ้าแยกออกแล้ว เวทนาเป็นเวทนา จิตนี้เป็นจิต ความทุกข์ที่เกิดขึ้นที่มันผูกไว้ สังโยชน์ที่ผูกไว้เป็นเนื้อเดียวกัน ด้วยอุปาทาน ด้วยความไม่รู้เท่า ถ้าเราไปยึดที่กาย เราถนอมกายอยู่อย่างเดียวนี่ หัวใจมันก็เศร้าหมองเพราะมันโดนกายกดถ่วงอยู่ เห็นไหม เรายกกายขึ้นสูงกว่าใจ เราไปติดอยู่ที่กาย เราเห็นว่าสิ่งนี้มันต้องปรนเปรอก่อน ต้องทำให้มันพอดี ต้องทำให้เลือดลมดีแล้วจิตนี้จะปลอดโปร่ง

เราไปจงใจหรือเราไปให้ค่าของกายมากกว่า จิตนี้ก็โดนกดถ่วง เราไปให้ค่าของใจมากกว่า คนที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตนอนอยู่ หัวใจมันไม่รับรู้ ทำไมเขาไม่แยกออกได้กันล่ะ เหมือนกัน เพราะว่าหัวใจ เราไปให้ค่าของใจ คือจิตนี้สงบไม่ยกขึ้นวิปัสสนา มันก็เหมือนกับคนนอนจมอยู่นั่นน่ะ จิตที่สงบเวิ้งว้าง ว่าง มีความสุขมาก ความเผลอไผล ความจะปัดออกด้วยอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สัญชาตญาณของความไม่รู้มันจะปัดทิ้งนั่นน่ะ ทั้งๆ ที่เราพยายามประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้จิตสงบ เพื่อยกกายกับใจนี้ให้แยกออกจากกัน ให้เห็นคุณค่าตามความเป็นจริง

เห็นไหม ไม่ยกกายเหนือใจ แล้วก็ไม่ยกใจเหนือกาย ต้องมีความพอดี ยกวิปัสสนา ยกเวทนาขึ้นมาพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงไง เวทนาสักแต่ว่าเวทนา จิตสักแต่ว่าจิต ทุกข์ที่เกิดขึ้นระหว่างเวทนากับจิตนี้เป็นอันเดียวกัน สักแต่ว่าทุกข์ ไม่ใช่จิต จิตนี้ก็รวมลง แยกออก เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนพระโสณะว่า การมุมานะ ในการเดินจงกรม จนเลือดออกตามเนื้อ มันเป็นการทำอุกฤษฏ์เกินไป ให้ชั่งตวงระหว่างกายกับใจ ให้ถอยลงมา ถอยลงมา พระโสณะเดินจงกรม พิจารณาย้อนลงมา สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สำเร็จเป็นพระอรหันต์หมดนะ

พระจักขุบาล พระจักขุบาลภาวนาอยู่ อดนอนนะ อดนอนอยู่ ๓ เดือน ไม่นอน นั่งตลอด ยืน เดิน นั่ง ไม่นอน จนภาวนามากเข้าๆ ดวงตานั้นเกิดโรคภัยขึ้นมา ให้หมอมารักษาให้ บอกต้องนอน ถ้าไม่นอน ดวงตานี้จะบอด พระจักขุบาลไม่กลัว เห็นภัยของวัฏฏะนี้เป็นทุกข์ มันเสียดแทงหัวใจ มันเร่าร้อนมากกว่า มากกว่าที่ว่าเราจะมาห่วงกับร่างกายนี้ ร่างกายนี้แค่ ๑๐๐ ปีก็ต้องตายไป แต่ตายไปแล้วก็ต้องไปวนเวียนอยู่ในวัฏฏะนั้นอีก ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ วนเวียนไม่มีที่สิ้นสุดกับดวงตา กับความที่ว่ากำลังเข้าด้ายเข้าเข็มระหว่างการวิปัสสนาญาณอันนี้จะเอาอันไหนล่ะ

ไม่ฟังหมอไง เชื่อในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อในตามความเป็นจริง เชื่อ เห็นไหม เชื่อแล้วมุมานะ มีความจงใจ ออกพรรษานะ ดวงตานั้นบอด กิเลสนั้นก็ดับพร้อมกัน พ้นจากกิเลส พ้นจากวัฏฏะ แต่ได้รับผลของตาบอด ตานั้นบอดเลย แล้วก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกับตาที่บอดนั้น

ฟังความการประพฤติปฏิบัติที่เสมอต้นเสมอปลาย ความจงใจ การประพฤติปฏิบัติที่ไม่ใช่เหยาะๆ แหยะๆ ไม่ใช่ทำสักแต่ว่า เห็นไหม เวลาเห็นโทษของวัฏวน เห็นโทษของการเกิดและการตายนี่กลัวกันนักกลัวกันหนา แต่การประพฤติปฏิบัติที่ไม่สมกับตามความเป็นจริง ไม่สมกับการจะเห็นธรรมได้ตามความเป็นจริงอันนั้น แล้วมันจะเห็นธรรมตามความเป็นจริงได้อย่างไร

พระโสณะกับพระจักขุบาลทำแบบจริงๆ จังๆ แล้วก็ได้ผลตามความเป็นจริงนั้น เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาตามความเป็นจริงนั้น แล้วพระจักขุบาลเป็นพระอรหันต์แล้วนะ ยังเดินจงกรมอยู่ ในตำราว่า เดินจงกรมอยู่ แม้แต่เป็นพระอรหันต์แล้ว ยังเดินจงกรมอยู่ตลอดเวลา แล้วไปเหยียบสัตว์ตาย เพราะตาบอด มีคนเอาไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่า พระจักขุบาลนี้ตาบอดแล้วก็ยังมาเดินจงกรมอวดเขา เวลาตาดีก็ไม่ทำ

พระพุทธเจ้าบอกว่าพูดอย่างนั้นไม่ได้ พูดอย่างนั้นเป็นความผิด เป็นความไม่เข้าใจของภิกษุที่เอาไปฟ้อง พระจักขุบาลนี้เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์จะไม่มีกิเลสที่อวด อยากอวด อยากเด่นอยากดังแม้แต่เสี้ยวหนึ่ง แม้แต่ธุลีหนึ่งในหัวใจของพระอรหันต์นั้น แต่ทำไมท่านเดินจงกรมล่ะ? ฟังสิ ฟังว่า ความเพียรของพระอรหันต์ พระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสแล้วก็ยังเดินจงกรมทำความเพียรอยู่ตลอดเวลา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วงก่อนรุ่งอรุณ เข้ากำหนดจิตดูสัตว์โลก แล้วออกโปรดสัตว์ กำหนดจิตดู

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังทำความเพียรอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสาวกที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์มาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมา ก็เดินจงกรม ทำความเพียรมาเป็นวิหารธรรม เป็นวิหารธรรมนะ เป็นวิหารธรรมที่ทำที่อยู่เป็นเครื่องอยู่ของใจพระอรหันต์ ท่านก็ยังเดินจงกรม ยังนั่งสมาธิภาวนาเป็นวิหารธรรมอยู่ ยังทำอยู่

แล้วผู้ที่มีกิเลส เหยาะๆ แหยะๆ เราเป็นคนที่มีกิเลส จะต้องใช้ความเพียรกล้านี้เป็นมรรคอริยสัจจัง มรรคอริยสัจจัง ทางอันเอก มรรคคือทางเครื่องดำเนินการชำระกิเลส เราเป็นเครื่องชำระกิเลส ความเพียรของการชำระกิเลสไม่ใช่ความเพียรของพระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสแล้ว ความเพียรของพระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสแล้ว ยังเข้มแข็งกว่าความเพียรของผู้ชำระกิเลส...มันน่าอาย วิหารธรรม มันเทียบค่ากันได้ไหม มันเทียบค่ากันได้ไหม ฟังดูสิ พระอรหันต์ที่ไม่มีกิเลสแล้ว ท่านไม่ต้องชำระกิเลส ท่านเพียงแค่ทำเพื่อเป็นวิหารธรรม ท่านยังเดินจงกรม ทำสมาธิภาวนาอยู่ตลอดเวลา

ไอ้ผู้ที่ชำระกิเลสมันต้องทุ่มมากกว่าอย่างนั้นกี่เท่า กว่ามันจะชำระกิเลส เหมือนกับภูเขาทั้งลูก ถ้าเรามีค้อนอันเดียวทุบภูเขาพ้นออกไป ทำไมมันเหยาะๆ แหยะๆ แล้วเมื่อไหร่มันจะสมหวังกับความเป็นจริง ไหนคุย ไหนความรู้สึกว่าเห็นภัยในวัฏวนไง เห็นภัยในการเกิดและตายของเรา แต่ความเพียรเราไม่ได้ขี้เล็บเลย ไม่ได้ขี้เล็บของผู้ที่สิ้นกิเลสแบบพระจักขุบาลที่ว่าเดินจงกรมอยู่อย่างนั้นเลย แม้ที่สิ้นกิเลสแล้ว แค่อาศัยวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่เท่านั้นนะ ท่านจะทำความเพียรตลอด ไอ้นี่ทำต้องใช้มรรคอริยสัจจัง มรรคนะ มรรคนี้มันเป็นภาวนามยปัญญา

มรรคสามัคคี มรรคนี้คือองค์ ๘...๘ นี่ ๘ คือว่าความดำริชอบคือปัญญา ความเห็นชอบ ความเพียรชอบ การงานชอบ วิริยะชอบ การงานชอบ ความดำรงอยู่ชอบ สมาธิชอบ เป็น ๘...๘ นี้ มรรค ๘ นี้เกิดขึ้นมาจากความกำหนดพิจารณาที่มันยังไม่ได้ศูนย์กลาง พิจารณาเวทนา พิจารณากาย พิจารณาจิตมันเอียงไปเอียงมานี่ เพราะอะไร เพราะว่ามันเอียงด้วยสัญชาตญาณของอวิชชา สัญชาตญาณของเจ้าวัฏจักร จะผลัก จะขัด จะง้าง การประพฤติปฏิบัติไปตลอด ความเอียงอยู่ เอียงอยู่คือว่ามันไม่สมดุล

ความสมดุลของมรรคอริยสัจจัง เห็นไหม มรรคนี้มี ๘ องค์ของ ๘ มรรคนี้ ๘ องค์ ๘ รวมลงมรรคสามัคคี มรรคสามัคคีนี้เป็นหนึ่งก็ไม่ได้ เป็นหนึ่งนั้นเป็นเจตนา เป็นเรา เห็นไหม เป็นเรา มรรคสามัคคีอยู่ที่การฝึกฝนให้มรรคนี้ขึ้นไปวนเป็นธรรมจักร เป็นภาวนามยปัญญา

ความเห็นชอบ ความดำริชอบนี้เป็นปัญญา แต่ปัญญาจากสัญชาตญาณของอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา มันปนอยู่ในนั้น ความปนอยู่ของอวิชชา สัญชาตญาณ การทำให้เคลื่อนไป การทำให้ไม่เป็นธรรมจักรไง ไม่เป็นภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญาคือการเสริม การฝึกฝน การพิจารณา ความช่ำชอง การคราดการไถดินนั้น จนควรแก่การหว่านและการไถ ไถจนควรแก่การหว่านให้พืชพันธุ์นี้เจริญงอกงามขึ้นมา การวิปัสสนาด้วยมรรคอริยสัจจัง ด้วยผู้ที่ต้องมีกิเลสอยู่ การชำระกิเลสก็เป็นแบบนั้นไง หญ้า วัชพืช สิ่งที่เป็นกิเลสอยู่ในหัวใจรกไปหมดนั่นน่ะ ต้องคราดต้องไถด้วยธรรมจักร ด้วยมรรคอริยสัจจังอันนี้ ด้วยความเกิดสมาธิ เกิดความเพียร ความเพียรเร่งเร้าจนใจนี้เป็นสมาธิ ยกขึ้นวิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนาคือการคราดการไถ จิตนี้สมาธิก็เหมือนมีผืนนาจะให้คราดให้ไถ เพราะจิตนี้เป็นสมาธิแล้ว พ้นจากโลกียารมย์ พ้นจากโลกียะจะเป็นโลกุตตระที่พ้นออกจากกิเลส

จิตนี้สงบก็เหมือนเราหาบ้านให้ จิตสงบ จิตตั้งมั่น คือจิตที่มีบ้านมีที่เรือนอาศัย ไม่ใช่จิตที่ส่ายแส่ จิตที่มีแต่ความเร่าร้อน จิตตั้งมั่นคือจิตที่มีบ้านมีเรือนเหมือนกับมีผืนนา นี่จิตตั้งมั่น มีผืนนาแล้วก็ยกขึ้นวิปัสสนา ไม่ยกวิปัสสนาก็นอนจมอยู่นั่น เป็นสมาธิเฉยๆ เป็นสมาธิพร้อมกับเราเป็นสมาธิ เป็นสมาธิพร้อมกับว่า มีแต่บ้านมีแต่เรือน บ้านเรือนนั้น ๑๐๐ ปีก็ต้องพังทลายไป

ยกขึ้นวิปัสสนาด้วยมรรค มรรคคือวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณทำจนรวมเข้าเป็นมรรคสามัคคี จาก ๘ เกลียวนะ จาก ๘ เกลียวรวมเข้าเป็นหนึ่งก็ยังตั้งอยู่ เราตั้งเสาไว้หนึ่งเดียว หรือตั้งแกนของเราไว้ แล้วเอาของวางไว้บนนิ้ว หรือเราทูนของบนศีรษะสิ เราต้องคอยตั้งคอไว้ เราทูนของไว้บนศีรษะบนหัว เราต้องคอยตั้งไว้ เพราะของมันจะตกจากหัว

เห็นไหม รวมเป็นหนึ่งก็อย่างนั้นน่ะ มีเรามีเขา มีเรามีเขาอยู่อย่างนั้น เพราะมันจะเข้าไปตรงเจ้าวัฏจักรนั้นล่ะ นี่หมุนเข้าไปจนมรรคสามัคคี มรรคสามัคคี สามัคคีเป็นภาวนามยปัญญาด้วยตามความเป็นจริง เข้าไปชำระกิเลสขาด ขาดออกไปตามความเป็นจริง สังโยชน์เครื่องผูก ผูกใจกับอารมณ์ไว้เป็นเรา ผูกใจกับกิเลส กิเลสกับใจผูกไว้ ยึดไว้ เครื่องผูกไม่มี

สิ่งที่เกิดขึ้น วัฏฏะก็เป็นวัฏฏะ ใจก็เป็นใจ วัฏฏะไม่สามารถให้มาทับกดถ่วง ทับจิตใจนั้น วัฏฏะนี้ไม่ใช่โทษ ใจที่เป็นธรรมนั้นก็ไม่ใช่โทษ ไม่ใช่โทษ แต่เพราะมีกิเลสเครื่องผูกนี้เท่านั้นมันเวียนให้เกิดในวัฏวนนั้น ในวัฏวนตลอดไป แต่ถ้าหลุดพ้นออกไปแล้ว ชำระกิเลส ชำระสัญชาตญาณอันนั้นเป็นวิชชา เห็นตามความเป็นจริง มันไม่กลับไปเกิดอีก ไม่กลับไปเกิดในวัฏวนที่เป็นโทษนั้น พระอรหันต์ถึงได้พ้นออกไปจากวัฏวน

ฉะนั้น วัฏฏะจริงๆ ก็ไม่ใช่โทษ ไม่ใช่สิ่งที่ว่าต้องไปทำลายมัน กิเลสในหัวใจนั้นต่างหาก สำคัญต้องทำลายตัวนี้ ทำลายกิเลสออก จิตนั้นก็พ้นจากเจ้าวัฏจักร จากอวิชชาเป็นวิชชา จิตที่รู้ตามความเป็นจริง จิตที่ว่าคนที่เป็นโรค คนที่ถอนศรออกจากหัวใจ คนไข้อยู่ในโรงพยาบาลเป็นเอดส์ รักษาเอดส์จนหาย มันก็ยิ้มแย้มแจ่มใส อยากจะกลับออกจากโรงพยาบาล ไม่มีใครอยากจะนอนอยู่ในโรงพยาบาลตลอดไป เพราะโรงพยาบาลมันมีเรื่องของความเศร้าหมอง เรื่องของหยูกเรื่องของยา เรื่องของการชำระกิเลส เรื่องของแผล เรื่องของความเจ็บปวด แต่ต้องเข้าไป เพราะว่าเราเป็นโรค

นี่ก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติ เราก็ต้องฝืนต้องทน เราก็ต้องพยายามทำของเรา เพื่อเราจะรักษาโรคให้หาย ถ้าโรคในใจเรายังไม่หายจากโรค เราไม่สามารถชำระกิเลสในหัวใจของเราได้ เราจะนอนใจอยู่ไม่ได้ ความเพียรนี้ต้องอุตส่าห์พยายาม ความเพียรนี้ต้องดำรงไว้ให้คงที่คงวา ความเพียรต้องคงที่คงวา ต้องมีความมุมานะ ถึงว่าปล่อยไม่ได้ ปล่อย ถ้าปล่อยมันมีแต่จะทำให้เราย้อนกลับอยู่ในวัฏฏะนั้น

แต่พระโสณะ พระจักขุบาลพ้นไป ท่านยังทำความเพียรตลอด ความเพียรอย่างนั้น อย่างนั้นเป็นวิหารธรรม วิหารธรรมอย่างนั้น เราเอามาเป็นคติสิ เราจะทำความเพียรเพื่อชำระกิเลส ขนาดท่านที่ไม่มีโทษ วัฏฏะก็ไม่ใช่โทษของท่าน เพราะร่างกายนั้นมันตายตั้งแต่กิเลสมันตาย กิเลสตายคือดับ ไม่มีสิ่งใดเกิดและดับอีกในหัวใจที่เป็นสอุปาทิเสสนิพพานนั้น เห็นไหม ไม่มีโทษ ไม่มีอะไรเลย ท่านดำรงความเพียรไป

เพราะขันธ์ ๕ ขันธ์กับใจนั้น ให้มันอยู่ด้วยกันด้วยความเป็นสุข เป็นสุขหมายถึงไม่มีใครกดถ่วงต่อกัน วิหารธรรมให้หัวใจ ขันธ์ ๕ ในความคิด ในรูป ในเวทนา ในสัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดระหว่างขันธ์ ๕ กับจิต เจตสิก จิตดวงนั้น กับขันธ์ ๕ ในความคิด...ว่าง เป็นวิหารธรรม โล่งหมด เพราะมันเดินจงกรมอยู่ วิหารธรรมอันนั้นเป็นเครื่องอยู่ของท่าน

แต่อันนี้สิ อันของเรา ไอ้ขันธ์ ไอ้สัญชาตญาณตัวนี้ การที่มันเป็นวัฏฏะ หรือการที่ว่าเราข้ามพ้นไป ข้ามพ้นจากวัฏฏะนี้ ความจงใจ ความมุมานะ ความจงใจ เน้นแต่ความจงใจ ความเสมอต้นเสมอปลาย ความเสมอต้นเสมอปลายมันก็เข้ากับภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ว่าหมุนไปจนกว่ามันเป็นธรรมจักร ธรรมจักรนั้นหมุนกับเราทุกอย่าง มันรวมกันพอดี เป็นสิ่งที่พอดิบพอดีทั้งหมด เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่โอนเอียงส่วนใดส่วนหนึ่ง เป็นมัชฌิมา เป็นธรรมแท้ๆ เป็นธรรมแท้ๆ เกิดขึ้นที่ไหน? เกิดขึ้นที่กลางหัวใจ

ยถาภูตํ ความรู้ที่เกิดขึ้น อาโลโก อุทปาทิ ความรู้เกิด ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ...อาโลโก ความสว่างไสว ความรู้เกิดขึ้นกลางหัวใจ ปัญญาเกิดขึ้นกลางหัวใจ ความรู้เท่า ความรู้ว่าหลุดพ้นกลางหัวใจ หลุดพ้น นี่ก็เหมือนกัน ความรู้ ความรู้ที่ว่ามันเป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาเป็นธรรมจักรถ้าเข้ามาชำระกิเลส ชำระแล้วยังรู้ว่าหลุดพ้น เห็นไหม ยถาภูตํ รู้เพราะมันทำลายกันทั้งหมด ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ ญาณที่รู้ไง ญาณอีกตัวหนึ่ง รู้ว่าพ้นจากวัฏฏะ

วัฏฏะก็เป็นวัฏฏะที่ว่าไม่ใช่โทษ ใจที่พ้นจากกิเลสแล้วก็ไม่ใช่โทษ ไม่มีโทษเด็ดขาด เพราะพ้นจากกิเลส เป็นธรรมแท้ๆ ฉะนั้นวัฏฏะก็ไม่ใช่โทษ หัวใจนั้นมันก็ไม่เกิดไม่ดับอีกแล้ว เพราะมันดับตั้งแต่วันสิ้นกิเลส วันที่สิ้นกิเลสนั้นไม่มีการเกิดและการดับในหัวใจนั้นอีกแล้ว อยู่สักแต่ว่าไง สักแต่ว่า รอเวลาที่จะดับขันธ์ไปเท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่ลืมตาเหมือนกัน พระโสณะ พระจักขุบาลก็มีชีวิตอยู่นั้นแหละ เขาก็ไปติเตียนในสมัยพุทธกาล นั่นเหมือนกัน

นี่เราเอาอันนั้นมาเทียบเพื่อจะให้เรามีความจงใจไง มีความจงใจ ดูความเพียรของพระอรหันต์ จากที่สิ้นกิเลสแล้วยังเดินจงกรม ยังภาวนาอยู่ กับการที่ว่าเรายังจะต้องดำเนินต่อไป ไม่ใช่ว่าภาวนาสิ้นสุดวันนี้แล้ว มันจะจบที่ไหนล่ะ ภาวนาสิ้นสุดวันนี้แล้ว ก็ยังมีโลก มีภัยอยู่ที่หัวใจ ยังต้องก้าวเดินต่อไป ก้าวเดินต่อไป ก้าวเดินต่อไปเพราะชีวิตนี้ยังไม่สิ้น

ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด แต่ยังไม่ถึงเวลาพลัดพราก นั้นมันคือโอกาส โอกาสเรายังมีอยู่ไง เมื่อใดที่ว่าหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออก นั่นคือหมดโอกาส จะมีอายุมาก จะมีอายุน้อยไม่สำคัญ สำคัญความจงใจของเรามีอยู่ ความจงใจ เราตั้งใจ เราเชื่อในปัญญาคุณ ในพุทธคุณ ในเมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว คือว่าสิ่งนั้นมีจริง

นิพพานมี นรกสวรรค์มี เพราะเราเชื่อตั้งแต่วัฏฏะมาแล้ว สิ่งนั้นมีจริง ความประพฤติปฏิบัตินี้ถึงไม่สูญเปล่า ถ้าไม่สูญเปล่ามันก็มีกำลังใจที่จะทำ ต้องมีกำลังใจ มีความจงใจทำขึ้นไป ทำขึ้นไป ถึงว่าไม่ใช่วันนี้ ไม่ใช่ว่าสิ้นสุดการประพฤติปฏิบัติแล้วจะเสร็จ แม้แต่พระอรหันต์ยังต้องภาวนาเพื่ออยู่ในวิหารธรรม แล้วเรานี่กิเลสกันเต็มหัวใจไง กิเลสเต็มหัวใจ กิเลสเต็มหัวใจก็โลกเต็มหัวใจ โลกเต็มหัวใจต้องอาศัยอะไรล่ะ ต้องอาศัยอะไรเป็นเครื่องชำระกิเลส

ความเพียร การชำระกิเลสก็เหมือนกับคนที่เป็นไข้ คนที่ไข้ เป็นไข้เป็นโรค มันน้อยเนื้อต่ำใจ ยาก็ขม ยังต้องหาพลังงาน ต้องไหว้วานหมอ นี่ความเพียรของผู้ที่เป็นไข้ ความเพียรของผู้ที่เป็นไข้ มันถึงว่าน้อยเนื้อต่ำใจ มันต้องขวนขวาย เพราะว่ามันต้องบุก มันมีเชื้ออยู่อันหนึ่งอยู่ในหัวใจ เชื้อ กิเลสๆๆ ก็คำว่า “กิเลส” มันอยู่ในหัวใจนั่นน่ะ

อันนี้การอยู่ในหัวใจ พอการชำระกิเลส ชำระกิเลสนี่ ไอ้ตัวนั้นมันจะขวางไว้ตลอด กิเลสมันจะขวางการประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันจะขวางนะ ขวางโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เราเคลิบเคลิ้มไปตลอดเลย เราก็ไม่รู้ตัวว่าอันนั้นเป็นกิเลส อันที่ว่าเป็นกิเลสๆ เราไม่รู้สึกตัวว่ามันมาขวางเราได้อย่างไรเลย มันทำได้ยาก มันถึงว่าเป็นการทำได้ยาก ทีนี้ว่าต้องให้เชื่อ ให้เชื่อครูบาอาจารย์ ให้ดูตัวอย่างอันนั้น แล้วก็มาเทียบกับเรา เทียบกับเรา เทียบกับเราตลอดไป ตลอดไป

เทียบกับเรานี่ไง ให้เทียบกัน พอเทียบแล้วมันก็ทำให้เรามีความมุมานะ ความมุมานะ แล้วความที่ใจนี้มันประสมไป ใจที่มันได้ลิ้มรส ลิ้มรส ลิ้มรสไป สวรรค์นี่ สวรรค์ สวรรค์ ถ้าใจมันเป็นสิ่งที่ดี มันคิดที่ดี แล้ววิปัสสนามันจะเห็นไปหมด เห็นไปหมด วิปัสสนาจะเห็นสิ่งที่เป็นไป เห็นการสงครามที่เกิดขึ้น สงครามที่เกิดขึ้นแล้วมีการแพ้ มีการชนะ เราให้ค่าเราไปตลอด เราให้ค่าใจเราไปตลอด ใจมันเสวยสุขไปตลอดด้วย

นี่มันยกฐานขึ้น ยกฐานขึ้น ยกฐานขึ้น ยกฐานขึ้น ถึงจุดหนึ่ง ก็เป้าหมายตรงนั้นเหมือนกัน เป้าหมายที่ว่า พระโสณะกับพระจักขุบาลไปถึงแล้ว พระโสณะกับพระจักขุบาลไปถึงแล้วก็พ้นไปแล้ว ตามธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ขวนขวายออกมาก็มีเป้าหมายอันนั้น เป้าหมายอันนั้น ถึงเป้าหมายคือว่าวิมุตติสุขว่าอย่างนั้นเลย ต้องเป็นวิมุตติสุข สุขตามความเป็นจริง สุขตามความเป็นจริง สุขที่ไม่ได้เจืออามิส

แม้แต่ปฏิบัติอยู่นี้ก็เป็นอามิส เพราะเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเกิดดับ เกิดดับ สมาธิเกิดแล้วก็ต้องดับ การวิปัสสนาที่ยังไม่ขาด ไม่เป็นอกุปปธรรม มันก็เสื่อมสภาพไป กุปปธรรม อกุปปธรรม กุปปธรรม ธรรมที่เกิดๆ ดับๆ กุปปธรรม ธรรมที่เกิดขึ้น หัวใจที่เราประพฤติปฏิบัติแล้วได้ดื่มรสไปตลอดทางนี่แหละ แล้วเกิดดับ เกิดดับ เพราะเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลาย แต่ก็ต้องอาศัย สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี้เป็นเครื่องดำเนิน

คนจะดำเนิน จะเดินทาง ไม่มีรถ ไม่มีแพ ไม่มีเรือ เป็นไปไม่ได้ ไม่มีข้อวัตร ไม่มีปฏิบัติ ไม่มีทางมรรคอริยสัจจัง ทางอันเอก มันจะเป็นไปได้อย่างไร วัฏวนนี้วนมาจนป่านนี้ วนจนเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ทำให้เรามีบุญวาสนา เพราะเรามาเจอมรรคอริยสัจจัง มรรคอริยสัจจัง เจอเรือเจอแพที่มีคุณค่า เจอเรือเจอแพที่มีเป็นประโยชน์ เจอเรือเจอแพที่เป็นจริง

โลกเขาใช้เรือ เขาใช้รถ เขาใช้เรือกัน มันก็ใช้เพื่อไปถึงจุดหมายในการขนส่งส่วนหนึ่ง หรือเราไปในส่วนหนึ่ง แต่อันนี้มันขนส่งเราพ้นจากวัฏฏะเลย มรรคอริยสัจจังนี้ขนส่งเป็นญาณ มรรคญาณ ขนส่งเราจะพ้นจากวัฏฏะ ขับดันไง ดูอย่างจรวดที่เขาส่งดาวเทียมขึ้นไป ขับดันเพื่อจะส่งดาวเทียมเพื่อให้พ้นจากแรงดึงดูดของโลก มรรคอริยสัจจังนี้ขับดันจนเราพ้นจากแรงดึงดูดของกิเลส แรงดึงดูดของวัฏฏะ พ้นออกไปจากแรงดึงดูดอันนั้นเลย

ทำไมไม่เห็นคุณค่า เราทำไมไปดึงไว้ ยานวัตถุ ยานรถ ยานเรือนี้ มันก็เป็นยานที่มองเห็น แต่ญาณนามธรรมนี่ เป็นไปโดยญาณนามธรรมนี่ ญาณในนามธรรมคือว่า กำลังขับเคลื่อนของพลังใจ จิตที่เป็นสมาธิกับจิตที่มีพลังใจแล้ว มีกำลังงานแล้ว จิตธรรมดานี่ จิตมันมีฤทธิ์มีเดชอีกต่างหาก พอจิตสงบเข้ามานี่ มันมีฤทธิ์มีเดชในอำนาจของจิตนั้น ผู้ที่เพ่งจิตไปจุดนั้น เหาะเหินเดินฟ้าได้

ดูพระโมคคัลลานะสิ ขนาดว่าสำเร็จแล้ว มีพลังงาน เหาะไปได้ จะไปสวรรค์ชั้นไหนก็ได้ ยังมารายงานพระพุทธเจ้าเลยว่า ผู้ที่ตายแล้วไปเกิดชั้นนั้นๆๆ พระพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าจริงๆๆ ตลอดเลย มันมีพลังงานของมันต่างหาก จิตที่เป็นพลังงาน ตัวที่จะให้เป็นญาณนะ พลังงานในมรรคอริยสัจจังนี้หมุนเข้ามาอีก นี่มันถึงว่าพลังงานนี้ ญาณอันนี้ทำให้พ้นไปได้ พ้นออกไปเลย

ทีนี้เครื่องดำเนินก็ต้องอาศัย เครื่องดำเนิน เพราะเรายังไม่ถึงจุด เครื่องดำเนินนี้อาศัยไปก่อน ถึงจะเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นั่นก็จริงอยู่ คำว่า “อนัตตา” คือมันเกิดๆ ดับๆ อนัตตา เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัตินี้ก็เหมือนกัน เราสร้างขึ้นมา สมาธิเจริญแล้วก็เสื่อม เจริญแล้วก็เสื่อม มันเป็นอนัตตา

ความเห็นของเราก็เหมือนกัน ความเห็นสิ่งที่เป็นเรื่องของหยาบๆ ความเห็นสิ่งที่เป็นเรื่องหยาบๆ พอปัญญามันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป ปัญญาของทางโลกเขา ปัญญาของทางโลกเขานะ เขาว่าเจริญนะ สูงส่งในความคิดของเขา มันจะสูงส่งขนาดไหนมันก็กว้านมาด้วยแรงดึงดูดของกิเลสทั้งนั้น มันมีสิ่งที่เกิดขึ้นมา มันคิดขึ้นมาแล้วเป็นเล่ห์เป็นเหลี่ยม เป็นการเอาชนะเอาแพ้ ได้เปรียบเสียเปรียบกันตลอด ในเรื่องของปัญญาของโลก

ปัญญาของโลก จะฉลาด จะหลักแหลมแค่ไหน กว้านมาเพื่อหนักอกไง กว้านมามันเป็นสิ่งที่เราคิดได้หรือสิ่งที่เราทำได้ เก็บไว้ในหัวใจ กลัวลืมนะ คอยลับปัญญาตลอด เห็นไหม กว้านมาให้หนักอกเพราะมันเป็นเรื่องของโลก กว้านมานี้ปัญญาของโลกเขา

แต่ปัญญาในทางที่ชำระกิเลส ปัญญา ภาวนามยปัญญาต่างกันไหม ภาวนามยปัญญามันละเอียดลึกซึ้งกว่าปัญญาทางโลกมหาศาลเลย คือว่าสิ่งที่มีปัญญา ปัญญาทางโลก ใช้ของโลกเขา ถึงต้องทำใจสงบ ทำใจสงบมาเพื่อจะเกิดปัญญาตัวนี้ ปัญญาเป็นญาณ ถึงว่าเป็นนามธรรม มันเป็นญาณ ญาณอันเอก ญาณพาให้ใจทุกๆ ดวงที่เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าพ้นจากกิเลส พ้นจากกิเลสจริงๆ เครื่องดำเนิน พระพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้เลยว่า พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น พระอรหันต์ตั้งเป็นเอตทัคคะด้วย เพราะว่ามีความชำนาญในทางเอตทัคคะ เอตทัคคะในทางใดทางหนึ่ง มีพยานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหนึ่ง สาวกที่เป็นตามๆ นี่เป็นทั้งหมด เป็นไปได้ทั้งหมด

นี่เครื่องดำเนินญาณอย่างนี้ถึงสำคัญ ยานขนส่งอันนี้ถึงว่าสำคัญ แต่ถึงยังไม่ถึงจุดนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดดับ เกิดดับ ญาณตัวนี้เราต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ ต่างคนต่างสร้าง ต่างคนต่างจงใจ ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างยกขึ้นมาให้เรามีระดับญาณขึ้นมา ต้องยกขึ้นมาที่หัวใจของเรา จากจิตที่ทำความสงบนี่แหละ เริ่มต้นปูพื้นฐานมา จิตนี้สงบขึ้นมาๆๆ

ฉะนั้น ให้จงใจไง ความจงใจ ความตั้งใจ จงใจนะ ความจงใจ ความมุมานะ ความจริงของผู้ปฏิบัติ ความจริงตรงนั้น ถึงว่าไม่ให้นอนใจ ไม่ให้นอนใจ ถึงอย่างไรไม่ให้นอนใจ ด้วยความมุมานะ ด้วยความเชื่อมั่น เชื่อมั่นแล้วก็จะพ้นได้ทุกคน พ้นได้ทุกคนนะ พ้นได้เพราะว่าอะไร เพราะมีวาสนา เราจะรู้ไม่รู้ก็แล้วแต่นะ พระพุทธเจ้าอยู่ที่หัวใจ อยากจะพบ อยากจะเห็น อยากจะตามเสด็จองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทัน พุทโธๆ ไง

พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธ คือผู้รู้ คนที่ไม่ตาย มีจิตมีวิญญาณ คนที่มีวิญญาณก็มีพุทโธที่หัวใจ มีจิตคือมีความรู้สึก มีหัวใจนี่แหละ แล้วพุทโธๆ พุทโธคือชื่อ พุทธะ ชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเรานึกขึ้นมาสิ แล้วจะพุทโธๆ จนจิตนี้สงบ จิตนี้เป็นพุทโธโดยธรรมชาติ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต” นี่มันอยู่ที่เรา มันอยู่ที่หัวใจเรา มันมีอยู่โดยความเป็นจริง

แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ากิเลสมันบังไว้เฉยๆ สัญชาตญาณมันปัดไว้เฉยๆ นะ มันถึงว่า ถ้าจะโทษก็ต้องโทษเรา ต้องโทษกิเลสเท่านั้น พุทธะก็อยู่ที่นี่ มันมืดไง จุดไฟเข้าก็สว่าง มันมืดแล้วมันก็สว่าง มันไม่เห็น มันไม่รู้ พอรู้มันก็รู้ ทำให้รู้ ทำให้เห็นก็ตามความเป็นจริง ถึงว่ามันมีอยู่ มีอยู่ ต้นทุนมีอยู่ ทุกคนมีดวงใจอยู่ ทุกคนมีจิตอยู่ เราไปแสวงหาข้างนอก เราไปวิ่งข้างนอก

ฉะนั้น ย้อนกลับเข้ามา ถ้าไปหาข้างนอกไม่เจอ ไปหาข้างนอกนี้เป็นโลกหมด เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ ภพอยู่ที่ใจ ชำระภพ ชำระชาติ ไปชำระที่ไหน ชำระภพ ชำระชาติ ไม่ต้องไปเกิดในวัฏฏะ ชำระที่ไหน ไปชำระที่อื่นไม่มี ต้องชำระที่หัวใจ ภพชาติเกิดที่ภวาสวะ ภพชาตินี้ย้อนด้วยอนุสัย ถ้าชำระภพชำระชาติที่ใจหมดแล้ว ถึงหายใจเข้า หายใจออกอยู่ มีชีวิตอยู่ ก็เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน เศษส่วนของร่างกายยังมีอยู่ เศษส่วนของกรรมยังไม่สิ้น

กรรมของกายยังมีอยู่นะ กรรมของกาย พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายยังโดนทุบ โดนโจรโดนผู้ร้ายทุบ ทุบร่างกายของท่าน แต่ไม่สามารถทุบหัวใจของท่านได้ แล้วเวทนาก็ไม่เข้าไปสะเทือนในหัวใจด้วย เวทนาของกายมีอยู่ เวทนาของกาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดนพระเทวทัตทุ่มหินเข้าใส่จนห้อเลือด ก็ยังผ่าเอาเลือดนั้นออกโดยหมอชีวกโกมารภัจจ์ นี่เวทนาของกายมี แต่เวทนาของจิตไม่มี

เวทนาของจิตเพราะจิตมันรู้เท่า เพราะมันมีวิชชา จิตนี้มีวิชชา จิตนี้รู้เท่าว่าสิ่งนี้กระทบ สิ่งนี้กระทบกัน ตบมือเข้าไปแล้วก็ต้องมีเสียงดังขึ้นมา ในเมื่อร่างกายนี้ หรือว่าร่างกายนี้โดนกระทบสิ่งข้างนอกเข้ามา มันทำให้เกิดห้อพระโลหิต เห็นไหม นี่มันรู้เท่า ความรู้เท่า คนรู้เท่าเหมือนกับเรานี้ เด็กไม่รู้เท่า มันไม่พอใจ มันจะร้องไห้งอแงจะเอาสิ่งนั้น แต่คนรู้เท่าเห็นว่ามันเป็นไปตามความเป็นจริง จะไม่เดือดร้อนเลย รถวิ่งมาน้ำมันหมด รถต้องไปไม่ได้ กระวนกระวายก็กระวนกระวายแต่เรื่องงาน แต่ไม่เดือดร้อนเพราะอะไร เพราะรู้ตามความเป็นจริง นี่คือวิชชาไง

ถ้าไม่รู้มันก็ตีโพยตีพายไปเพราะไม่รู้ ถ้ารู้แล้วมันก็หมดความกังวล หมดความดิ้นรนของใจ เวทนามันถึงเข้าไม่ถึงใจ เวทนาของใจถึงไม่มี มีแต่เวทนาของกาย เวทนาของกายก็สอุปาทิเสส นิพพาน นี้ขันธ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็รับรู้กันไป ถึงว่ากระทบได้ที่กาย ไม่สามารถกระทบได้ที่ใจ ใจพ้นไปแล้ว ไม่สามารถกระทบได้ ถึงว่ามันสิ้นไปแล้ว สิ้นจากวันที่สิ้นกิเลสแล้ว จะไม่มีสิ่งใดเข้าไปถึงตรงนั้นได้ มันทะลุไปหมด มันว่างไปหมด มันไม่มีสิ่งใดไปกระทบได้

ไม่เหมือนกับเรา เรานี่ยังมีเหมือนกับมีกำแพงอยู่ สิ่งใดจะเข้ามากระทบหมด เอาสีป้ายมันจะเกิดเป็นสีทันทีเลย แต่ถ้าเราเอาสีป้ายไปในอากาศมันจะเป็นไปได้อย่างไร มันไม่มี ถึงว่าไม่มีเวทนาในจิต ไม่มีเวทนาในจิตของผู้ที่พ้นแล้ว แต่มีเวทนาของกายอยู่ ถึงเป็นสอุปาทิเสสะ ฉะนั้น ให้เป็นตามความเป็นจริง เราประพฤติอยู่ ให้เป็นเดี๋ยวนี้เลยนะ ให้ประพฤติปฏิบัติได้เดี๋ยวนี้ ชีวิตยังมีอยู่นี้ ร่างกายยังมีอยู่นี้ แล้วจะเข้าไปตามความเป็นจริง ให้สมกับเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

เดินตามครูบาอาจารย์นะ ให้ทันเป็นเครื่องพยานกันกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป เป็นผู้หนึ่งในศาสนาพุทธ เป็นผู้หนึ่งในการประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้หนึ่งในการเชื่อธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ได้ดำเนินตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ปฏิบัติ ถือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครู เป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่าง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติถึง ๖ ปี แล้วยังต้องปฏิบัติถึงอุกฤษฏ์ขนาดสลบถึง ๓ หน ย้อนกลับมานะ ถึงย้อนกลับมาถึงตรงที่มัชฌิมาปฏิปทา ถึงประสบตามความเป็นจริง ประสบตามความเป็นจริง เป็นครูเป็นศาสดา เป็นแบบอย่าง เป็นศาสดาของเราด้วย เป็นแบบอย่างให้เราเห็นด้วย เห็นความจริงจังของผู้ที่เป็นลูกของกษัตริย์ด้วย ชีวิตนี้มีแต่ความสุขมหาศาล ออกมาประพฤติปฏิบัติก็ยังต้องทุ่มเทกันทั้งชีวิต ทั้งเอาชีวิตเข้าแลก ตายแล้วฟื้นถึง ๓ ครั้ง

แล้วเราจะเอาการความว่าชุบมือแล้วมาเปิบ เห็นอาหารนี้วางอยู่ ล้างมือมาแล้วจะยกเปิบเข้าปาก แต่มันก็อยากจะเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะอะไร เพราะมันมีธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานเอาไว้แล้ว ก็เหมือนอาหารที่เราควรจะชุบมือแล้วเปิบใส่ปาก เรายังเปิบไม่ได้เลย เป็นธรรมไม่ถึงความจงใจ ความมุ่งหมาย เป้าหมายของชาวพุทธได้ อันนี้เป็นคตินะ

แล้วย้อนกลับมาดูเรา ถามตัวเอง ถามหัวใจเรา ให้เรามีกำลังใจ ให้เรามีไฟ ให้เราอยากประพฤติปฏิบัติ อย่าให้ไฟในหัวใจนี้มอด ปฏิบัติแล้วถึงวันสิ้นว่า ครบกำหนดที่การนั่งภาวนาแล้ว ก็ให้กำหนดว่าจะนั่งต่อไปเรื่อยๆๆ ให้เรายังมีไฟต่อไป มีไฟในการประพฤติปฏิบัติไป จนกว่าเราจะถึงธงชัยของเรา ผู้ประพฤติปฏิบัติทุกๆ คน เอวัง