เทศน์บนศาลา

ปัญญาธรรม

๑๒ ก.ค. ๒๕๔๒

 

ปัญญาธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรม ธรรมที่จำแนกให้เห็นความเป็นจริงไง เราเห็นตามความเป็นจริงในสายตาของเราใช่ไหม ในสายตาของเรา เราเห็นตามความเป็นจริงแล้วแต่มุมมองของคน มุมมองของสัตว์โลก สัตว์โลกมีมุมมองต่างๆ กัน เพราะเกิดจากกรรม กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างกัน เกิดนี่มีบุญพาเกิด บุญพาเกิด เกิดมามีบุญ แต่ก็มีความติดมากับบาปด้วย คนเราเคยทำความดีและความชั่วมาทุกๆ คน มุมมองของคนจึงเกิดต่างกัน

กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างกัน เราเกิดมานี่มีบุญกุศล กรรมดีพาให้เกิด กรรมดีเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นคว้าก่อน เป็นผู้ขุดค้นขึ้นมาได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องสร้างบารมีธรรมมามหาศาล ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า

ปรารถนาแล้ว พอเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทั้งๆ ที่บารมีเหลือล้นขนาดนั้นยังต้องออกไปปฏิบัติ ออกมานะ เห็นตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย คนมีความสุขอยู่ในโลก ในเมื่อมีความสุขอยู่ในโลกอยู่แล้ว ทุกอย่างปรนเปรอพร้อมหมดเลย แต่ด้วยความไม่ประมาท ด้วยการสะสมบารมีมา บารมีของบุคคลเกิดจากการสะสมมาอยู่ในหัวใจ บุญกุศลอันนี้ทำให้คนนั้นไม่ประมาท ไม่ประมาทในสิ่งที่ว่า เห็นว่าเป็นความสุขอยู่ในโลกปัจจุบันนี้

ปัจจุบันนี้มีความสุข กามคุณ ๕ นี่ปรนเปรอเต็มที่เลย เพราะพระเจ้าสุทโธทนะไม่อยากให้เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช อยากให้เป็นจักรพรรดิ พ่อแม่ต้องเป็นอย่างนั้นหมด ปรนเปรอด้วยกามคุณ ๕ นะ มีปราสาท ๓ หลัง อยู่สุขสบายมาก แต่ด้วยความไม่ประมาท ด้วยบารมีธรรมที่สะสมมา เห็นแต่ยมทูตมาแสดงให้เห็น เกิด แก่ เจ็บ ตาย เพลินขนาดไม่รู้ว่าไม่มีการเกิด ไม่มีการแก่ เห็นว่าเราอุบัติขึ้นมาเฉยๆ อย่างนั้นน่ะ

แต่พอไปเห็นยมทูตแสดงตนให้เห็น เห็นไหม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยความย้อนกลับมาว่า ถ้ามีการเกิด มีการแก่ มีเจ็บ มีตาย มันก็ต้องมีฝ่ายตรงข้ามสิ มีฝ่ายตรงข้ามว่า ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ แล้วก็ไม่ตาย ของสิ่งใดมีอยู่ ต้องมีสิ่งที่ตรงข้าม ด้วยความคิด ด้วยความปรารถนา เพราะบุญบารมีสะสมมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ออกแสวงหาไง ออกแสวงหาธรรมสิ

ออกแสวงหาธรรม ธรรมที่ว่ามีความสุขในใจนั้นน่ะ ออกแสวงหา ออกแสวงหาก่อนเพราะเกิดมาจากกิเลส เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนั้นบุญกุศลมหาศาล เพราะสร้างมา แต่ยังมีกิเลสอยู่ มีความคับข้องใจอยู่ อย่างเช่นวันจะออกบวช ออกไปหาโมกขธรรม ลูกเกิดมา ราหุลเกิดแล้วน่ะ ดึงไว้ขนาดไหน

ความเหนี่ยวรั้งอันนั้นน่ะ ความเหนี่ยวรั้งอย่างนั้นเป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์? ละล้าละลังๆ อยู่อย่างนั้นไม่ใช่ทุกข์หรอ เห็นไหม เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่ก็ยังมีความทุกข์อยู่ในหัวใจ มีความมีทุกข์ แต่ไม่มีความประมาท ไม่มีความประมาท ถึงแสวงหาทางออก ออกแล้วยังต้องขวนขวายนะ ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ที่ปฏิญาณตนอยู่แล้วว่าเป็นศาสดาเอกของโลก สมัยนั้นน่ะ

เสร็จแล้วย้อนกลับมามันก็ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด การแสวงหาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงว่าย้อนกลับมาปฏิบัติเอง ตั้งแต่อานาปานสติ ตั้งแต่คืนนั้นว่า กำหนดอานาปานสติ ถ้าเราไม่สำเร็จ จะไม่ยอมลุกจากที่เลย จะตายไปนะ เลือดจะเหือดแห้งไป กระดูกจะล้มเป็นผุยผงไปก็จะไม่ยอมลุกเด็ดขาด

คืนนั้นถึงสำเร็จมา คืนนั้นตั้งแต่ปฐมยาม บุพเพนิวาสานุสติญาณ มัชฌิมยามก็เป็นจุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ นั่นน่ะ ค้นคว้านะ ด้วยความทุ่มไปทั้งชีวิต เอาชีวิตเข้าแลกมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาชีวิตเข้าแลกธรรมอันนี้มา ธรรมที่ว่า ธรรมค้ำจุนโลกอยู่นี่ เอาธรรมอันนี้มา เอาชีวิตเข้าแลกเลย ตายก็ให้ตายไปถ้าไม่ได้ธรรม

ถ้าไม่ได้ธรรม เอาชีวิตเข้าแลก อุตส่าห์ขวนขวายขนาดนั้น ถึงว่ามันประเสริฐ ประเสริฐมาก สูงสุด ประเสริฐสุด จนดับทุกข์จากหัวใจได้หมด ดับทุกข์จากหัวใจถึงเป็นธรรมจริงๆ ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยอันนั้น เสวยวิมุตติสุข ถึงต้องย้อนกลับมาว่ากรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างกัน ตัวนี้เป็นพุทธโอวาทของพระพุทธเจ้า กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิด ต่างๆ กัน

กรรมจากหัวใจสัตว์ที่เกิดมาอยู่นี่ มีกรรมของบุคคลมาอยู่หนหลังติดตัวมาด้วย กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน ถึงมุมมองต่างๆ กัน เห็นไหม เกิดมานี่เกิดมาแล้วเป็นผู้ที่ปัญญา เป็นผู้ที่มีเชาวน์ เป็นผู้ที่มีการศึกษา ศึกษาวิชาทางโลกมาน่ะ ศึกษาวิชาทางโลกมาหนึ่ง ศึกษานั้นศึกษาทุกคน แต่คนที่ศึกษาวิชาชีพทางโลกมาก็ยังมีต่างๆ กันว่าฉลาดแหลมคมขนาดไหน นี้คือปัญญา

ปัญญาที่ว่าแหลมคมก็การศึกษามาต้องมีเชาวน์มีปัญญา มีเชาวน์มีปัญญาต่างกันเพราะอะไร เพราะคนเกิดมาสร้างกรรมมาต่างกัน การเกิดการตายสร้างมาต่างกัน ต่างๆ กัน พอต่างกันอย่างนี้ เชาวน์ปัญญาอันนี้ก็เกิดต่างกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สะสมบารมีมาเพื่อจะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงว่าไม่มีความประมาท เห็นไหม ขนาดกามคุณอยู่บำเรออย่างนั้น ยังคิดเปรียบเทียบว่า มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ก็ต้องมีฝ่ายตรงข้าม

แต่ในเมื่อเราเกิดเป็นปุถุชน เราเกิดเป็นปุถุชนมาอย่างนั้น เราคิดแต่ว่าเรามีปัญญา มีปัญญานะ มีปัญญานี้ดีมากเลย ปัญญาดีมากตรงที่เอาตัวรอดได้อยู่ในโลกมนุษย์นี้ไง เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วไม่เป็นเหยื่อของสังคมเขา มีความคิด มีเชาวน์ มีทันคน มีความทันคน มีการแก้ไขสถานการณ์นี้คือปัญญา มีปัญญาแล้วมีนักวิทยาศาสตร์ คิดค้นคว้าต่างๆ นั้นก็เป็นปัญญา

ปัญญาของทางโลกเขาเป็นปัญญา เป็นวิชาชีพที่หามา เป็นวิชาชีพหาสมบัติมาเป็นของตน สมบัติในโลกนี้เป็นของกลาง เราไม่เกิดมาก็มีอยู่ แร่ธาตุต่างๆ ในโลกนี้ก็มีอยู่ เราเกิดมาแล้วเรามีปัญญา เราถึงขุดค้นคว้าแร่ธาตุนั้นมาเป็นประโยชน์กับเรา นี่มีปัญญาแล้วใช้ประโยชน์ได้หมดเลย ใช้ประโยชน์ในโลกนี้ไง มีปัญญานะ แล้วยังมีปัญญากลับมาในวงการต่างๆ ในวงของมนุษย์เรานี่ นี่เชาวน์ปัญญาต่างกันไป ทั้งๆ ที่ศึกษามาเหมือนกัน

ดูสิในสถาบันหนึ่งๆ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในทางโลกจะมีสักกี่คน ทั้งๆ ที่เรียนมาเหมือนกัน เห็นไหม กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างกัน ปัญญาของโลก ปัญญาของโลกเขา ปัญญาทางโลกไง เอาตัวรอดได้ แถมยังสร้างสมให้เรามีพละกำลัง มีฐานทั้งหมด ฐานทางอำนาจ เพราะปัญญาทั้งนั้นเลย แต่ปัญญาตัวนี้ ปัญญาที่จะส่งเสริมให้กิเลสอ้วนพีไง กิเลสนี้อ้วนพีมากเลย เพราะปัญญานี้คิดเท่าไร มันก็กิเลสพาคิดนี่

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้อยู่ในหัวใจพร้อมกับการเกิดของจิตเป็นมนุษย์นี้ ความคิดที่ออกมาเป็นโลกมันเป็นความคิดอยู่ในวงของพญามารไง มารคุมอยู่ คุมหัวใจเราอยู่ เราคิดออกไปเป็นวิชาชีพ เป็นวิชาการต่างๆ มันมีกิเลสเราพาคิดไปด้วย เจ้าวัฏจักรคือกิเลส กิเลสคือพญามารอยู่ในความคิดเราน่ะ อยู่ในความคิด อยู่ในเชาวน์ปัญญาที่ว่าเป็นปัญญาที่เราว่าเราฉลาด

เราฉลาดด้วย เราใช้ปัญญาออกไปเพื่อเป็นการดำรงชีวิตของเรา ดำรงชีวิตนี่เราคิดว่าจะปรารถนาความสุขนี่ เราปรารถนาความสุข อยากให้ชีวิตนี้มีความสุข ปัญญานั้นก็หมุนออกไป มันก็ส่งเสริมให้กิเลสอ้วนพีไปพร้อมกันไง เพราะความยึดมั่นถือมั่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง พร้อมกับปัญญานั้นต้องหมุนไป มันจะกว้านเข้ามาเป็นของของมันไง ฟังสิ คำว่า “เป็นของของมัน” ทั้งๆ ที่เราคิด ทำไมว่าเป็นของของมันล่ะ เป็นของของมันขณะที่มันคิดออกไป

กรรมคิด เห็นไหม กิเลสพาคิด มันหยาบ ความหยาบ ความทะเยอทะยาน ความอยากออกไป นี่คิดออกไป มันคิดออกไปเราเกิดการกระทำ กระทำแล้วก็หายไป นี่กรรม เกิดวิบากการกระทำ เกิดผล เป็นวิบากออกไปอีกทีหนึ่ง กรรมเกิดการกระทำ กรรมวัฏฏะของมัน มันหมุนออกไป นี่มันถึงว่าเป็นมัน มันพาเราคิด มันพาให้กิเลสเราอ้วนพี ทำให้เรามีความยึดมั่นถือมั่น มันเท่ากับเอาไฟมาเผาใจเราไง

เราเข้าใจว่าเป็นประกอบอาชีพ...ถูกต้อง ประกอบอาชีพ ทำว่าเป็นการดำรงชีวิต แต่ถ้าเป็นธรรมมันก็ดำรงตามความเป็นธรรม เป็นธรรมหมายถึงว่า ทำตามหน้าที่ ทำตามเหตุผล แต่ถึงหยุดแล้วมันหยุดได้ไง แต่นี้หยุดไม่ได้เพราะว่าทำแล้วความคิดมันหมุนไปด้วย ความกังวล ความที่ต้องการมากกว่านั้น

การดำรงชีวิตนี้เป็นความถูกต้อง เพราะเกิดมามีปากท้องเหมือนกันทุกๆ คน แต่ถ้าความคิดออกไปนอกจากสิ่งที่การกระทำอยู่ การคาดหมายเกินกว่าเหตุ อันนั้นถึงว่าเป็นกิเลส เกินกว่าเหตุ แล้วมันต้องทะยานอยากไปจนไม่มีวันพอ ความไม่มีวันพอ เห็นไหม กิเลสมันอ้วนพีพร้อมไปกับความคิดเรา นั้นคือปัญญาของโลกไง

พอมาเจอธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านประทานเอาไว้แล้ว เวลาเราคิดด้วยปัญญาของเรามันก็มีปัญญาของกิเลสคิดตามไปด้วย ศึกษาธรรมะมาแล้วเราปฏิบัติตามไป มันก็เป็นปัญญาของโลก ปัญญาของโลกหมุนไปครึ่งหนึ่ง ถึงศึกษาไป มันก็ศึกษาจริยธรรม ศีลธรรม เห็นไหม ทำไมคนเกิดมาไม่เหมือนกัน เพราะนี่ศีล ๕ มนุษย์สมบัติ

มนุษย์สมบัติ เห็นไหม ผู้ที่ไม่ได้ปาณาติปาตา นี่ชีวิตยืนยาว ผู้ที่ไม่ได้ลักทรัพย์ ผู้ที่ให้ทานไว้มาก แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าคนที่ให้ทานหรือคนที่ทำบุญกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอก "ไม่ใช่" เป็นเพราะเราเคยให้ทานไว้ เราเคยทำไว้ไง สิ่งใดที่ทำไว้สิ่งนั้นจะตอบสนองมา

กรรมอยู่ที่การกระทำ ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แต่ทำดีแล้วยังไม่ได้ดีเพราะเหตุผลนั่น มันยังไม่มาถึง “กรรม” สิ่งที่ทำออกไปแล้วมันต้องตอบสนองมาเพราะว่ามันเป็นนามธรรม ความคิดที่เราสละหลุดออกจากมือของเราไป เราออกไปจากความรู้สึกของเรา มันจะสนองกลับมานั่นน่ะ

ศีล ๕ ถ้าศีล ๕ ที่ว่ารักษาศีลตัวใดมั่นคงกว่า ศีล ๕ นี้เป็นเหตุให้เกิด เป็นบุญกุศลที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ไง มนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์นี้เพราะศีล ๕ สมบูรณ์ แต่สมบูรณ์นะ สมบูรณ์บนความบกพร่องของศีล ๕ ของตัวใดล่ะ บางคนร่ำรวยขึ้นมา เคยให้ทานไว้ มันไม่ใช่ศีล แต่มันเป็นทาน แต่ศีลนี่มันจะให้มีชีวิต ไม่ได้ทำลายสัตว์ไว้ ทำลายฆ่าสัตว์ ไม่ได้ฆ่าสัตว์ไว้ ไม่ได้ทำลายคนอื่นไว้ ชีวิตจะยืนยาว จะสุขสมบูรณ์ตลอด ไม่ลักทรัพย์ไว้ ไม่เคยลักของใครไว้ ถึงเวลาเราเกิดมาชาตินี้สมบัติเราจะไม่ค่อยได้หายหรอก นี่มันต่างกัน เห็นไหม ต่างกันว่า นี่ทรัพย์ภายนอก ศีล ๕ ทำให้เกิดมนุษย์สมบัติเราขึ้นมา นี้มนุษย์สมบัติต่างกันตรงนี้อีก ต่างกันไป นี่ศีลธรรม

โลกเขาปฏิบัติ โลกมาศึกษาเอาวิชา เอาความคิดของโลกมาศึกษาธรรม ศึกษาธรรมความคิดของธรรมเข้าไปมันก็เป็นจริยธรรมเท่านั้นเอง ศีลธรรม จริยธรรม ความเห็นนี่มันเป็นมนุษย์สมบัติ แต่ความเป็นมนุษย์สมบัติมันพร้อมกับทุกข์ไปตลอด การเกิดต้องมีความทุกข์เจือไปตลอดเลย ความทุกข์ที่เกิดดับๆ อยู่นี่ ธรรมอันนี้ ถึงว่าเป็นโลกีย์ปัญญาไง โลกียปัญญา ปัญญาของโลก ปัญญาที่กิเลสมันมีส่วนได้เสียไปตลอดกับความคิดนั้นเลย

ฉะนั้น เราอยากจะพ้นจากทุกข์ มันต้องมาภาวนาไง ภาวนาทำจิตให้สงบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคืนที่ตรัสรู้ เห็นไหม อานาปานสติ มากำหนดอานาปานสติก่อน ถ้าคิดแต่ความคิดของโลก คือความคิดที่ตัวเองเคยคิดมา ปัญญาที่ใช้อยู่ก็คือปัญญาเดิม ปัญญาที่ใช้ปัญญานี้เพื่อจะหลุดพ้นออกไปด้วยปัญญา แต่ปัญญาของโลก กิเลสมันอ้วนมาตลอดอยู่ในปัญญานั้นน่ะ อยู่ในปัญญาของตนนั้น ปัญญามันอ้วนไปตลอดเลย ทีนี้ปฏิบัติสิ อานาปานสติเพื่อทำให้จิตนี้สงบลงไป

จิตของเราสงบลงไป ทำไมต้องการให้จิตสงบ เพราะไม่ให้กิเลสอ้วนๆ นั้นมาอยู่ในอำนาจอันนั้นไง ให้มีส่วนแบ่งในความคิดของเรา กิเลสอ้วนๆ ไป เราพยายามทำอานาปานสติ กำหนดพุทโธ พยายามทำจิตให้สงบ กิเลสอ้วนๆ ในความคิดนั้นมันต้องสงบลง เพราะมันอาศัยสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับความคิดตลอดเวลา ทีนี้กำหนดเข้าไป พุทโธๆๆ หรืออานาปานสติ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ

ฟัง! ปัญญาอบรมสมาธิอันนี้พระพุทธเจ้าเอาไว้เกลือจิ้มเกลือไง ในเมื่อกิเลสมันเกิดจากความคิด ความคิดอันนี้เป็นปัญญาของเรา ปัญญาที่เราหมุนออกไป ก็ต้องเอาปัญญาอันนี้หมุนกลับเข้ามายับยั้งมัน จิตแก้จิต เอาความคิดแก้ความคิดไง นี่ปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม กำหนดพุทโธๆ นี่เป็นสมาธิ เราให้ใช้คำบริกรรมเข้าไปหยุดใจให้สงบลงมา ให้กิเลสอ้วนๆ นี้ยุบยอบตัวลง

ถ้ากิเลสมันยุบยอบตัวลง จิตมันมีความสงบยู่ มันจะเริ่มสงบตัวลง กิเลสสงบตัวลง ทำให้จิตนี้เบา กิเลสสงบตัวลงนะ จิตจะเป็นสมาธิไง จิตเป็นสมาธิไม่ได้เพราะกิเลสมันอ้วน กิเลสมันยุแหย่อยู่ ความคิดส่งออกไปทั้งหมด ความฟุ้งซ่าน ความไม่มีความสงบ เพราะความคิดนี้คิดอยู่ ความคิดคิดอยู่ จิตทำงานตลอดเวลา มันจะสงบได้อย่างไรล่ะ

จิตไม่สงบเพราะเป็นความคิด เห็นไหม ถึงกำหนดพุทโธๆ เป็นคำบริกรรมเข้ามา แต่ในเมื่อปัญญาโลกียะมันมีอยู่ บางทีความคิดมันคิดออกไปตลอดเวลา ถึงใช้ปัญญาอบรมสมาธิย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาใช้ปัญญาที่ว่าเป็นปัญญาโลก ที่เป็นโลกียะนั่นล่ะวนเข้ามา วนเข้ามาเป็นศีลธรรมเข้ามา เป็นจิตสงบเข้ามาไง

คิดย้อนกลับ คิดแล้ววนเข้ามาข้างใน วนเข้ามาข้างใน วนเข้ามาให้มันปล่อยวางให้ได้ ปล่อยวางตรงไหน? ปล่อยวางที่ว่าความคิดนี้เป็นความคิดที่ว่าไร้ประโยชน์ ความคิดจะเป็นประโยชน์ต่อเมื่อหน้าที่การงานขณะปฏิบัติงาน ขณะจะทำจิตให้สงบ ต้องใช้ปัญญาคิดว่าสิ่งที่คิดอยู่นี้มันคิดฟุ้งออกไป คิดหักห้ามเข้ามา คิดวนเข้ามาข้างในของตัวไง

สิ่งนั้นเป็นความคิด เห็นไหม ความคิดเกิดจากความคิด มันเกิดดับๆ อยู่ ความเกิดดับอยู่นี้เป็นสังขารที่มันปรุงมันแต่ง แต่อารมณ์นี้เกิดจากความคิดที่เราคิดออกไป เราคิดออกไป เราหวังผล เราคาดผล เรามีความหมาย เรามีตัณหา มีความทะยานอยาก ในความคิดนั้น มีรสมีชาติอยู่ในความคิดนั้น ความคิดนั้นว่าเป็นผลประโยชน์ของเรา มันจะเกิดความพอใจขึ้นมา ความคิดนั้นคือว่าเป็นการเสียผลประโยชน์ของเรา มันจะมีความเศร้าหมอง ความเศร้าหมองกับความตื่นตระหนก ตื่นในความคิด มันเหมือนกัน มันทำให้จิตนี้มีความยุบยอบ มีความพอง มีความต่างกัน เห็นไหม นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

วนเข้ามาตรงนี้ไง ใช้ปัญญาอบรมเข้ามาจากโลกียะนั่นแหละหมุนจิตเข้ามาให้จิตมันปล่อยวางให้ได้จากใช้ปัญญานั้น มันจะปล่อยวาง ปล่อยวางตรงไหน? ปล่อยวางตรงความเห็นโทษไง เห็นโทษว่าความคิดนี้คิดขึ้นมาเพราะอะไร คิดขึ้นมาแล้วมันให้ผลประโยชน์กับใคร ทำไมมันไม่ให้ผลประโยชน์กับเรา มันให้แต่ความทุกข์กับเรา มันเอาไฟสุมใส่เรา แล้วคิดไม่ออกก็วนเข้าไป เปรียบเทียบๆ ออกมา จนมันปล่อย

มันปล่อยเพราะว่ามันเห็นว่าความคิดนี้คิดไปแล้วเราเหนื่อย หรือความคิดนี้คิดเพราะความว่าไม่มีสติยั้งคิด ความคิดนี้เพราะมีความประมาท ความประมาทปล่อยให้มันมีอำนาจเหนือเราตลอดเวลาไง นี่สติมันจะวนกลับเข้ามา วนกลับเข้ามาพิจารณาเข้ามาๆ จนมันปล่อยออกไป ปล่อยคือมันไม่คิดเฉยๆ มันเป็นพลังงานเฉยๆ ธรรมดา นั่นน่ะมันปล่อย ปล่อยเพราะมันเห็นโทษ เห็นโทษว่าความคิดนี้คิดอะไรน่ะ นี่ปล่อยเข้ามา นี้คือปัญญาอบรมสมาธิไง

กับการบริกรรมคำภาวนาชวนจิตต่างๆ ก็เหมือนกัน กำหนดเข้าไป เพียงแต่เปลี่ยนจากอารมณ์ที่เคยคิดมากำหนดพุทโธๆๆ อยู่ตลอดเวลา พุทโธนี้เป็นพุทธานุสติ กำหนดจิตจากที่คิดออกไปหรือเสวยอารมณ์ออกไปให้กลับมาอยู่กับพุทโธ อยู่กับพุทโธ เข้ามาจนสงบ นี่ความสงบของจิต กิเลสอ้วนๆ อยู่นี้มันแค่ยุบยอบตัวลงให้จิตนี้เป็นอิสระ

จิตนี้เป็นอิสระจากกิเลสที่กิเลสเป็นเจ้าวัฏจักรที่ควบคุมจิตเราอยู่นะ มันอยู่กับเรา มันเป็นเรา มันอยู่หลังที่บังคับบัญชาเราด้วย แล้วเราทำให้สงบตัวลง ให้ว่าเราเป็นอิสระชั่วคราว ให้เราเป็นอิสระนะ ไม่เป็นขี้ข้า ไม่เป็นความคิดว่าเขาเอาไปกิน กิเลสอ้วนๆ เอาไปกินแล้วคิดออกไปว่าปัญญาเรามาก ปัญญาเราชนะคนอื่น

ชนะอื่นหมื่นแสน ชนะใครก็แล้วแต่ ก่อเวรก่อกรรมทั้งหมด แต่แพ้ตัวเองไง แพ้กิเลสตัวเอง เพราะกิเลสตัวเองดันส่งออกให้เราคิดไปตลอดเวลา

การชนะตน การชนะตนคือการชนะกิเลสของตน แค่จิตสงบนี่ยังไม่ชนะใดๆ เลย เพราะมันเป็นโลกียะทั้งหมด ยังไม่มีการชนะใดๆ เลย แต่พอจิตสงบลงมันก็ว่างหมด มีความสุขมาก เพราะคนไม่เคยได้รสของความสุขอันนี้ ตื่นขึ้นมา เกิดมา ตั้งแต่เกิดมา ปิดเครื่องไม่เคยดับ แล้วเครื่องมันได้พักเครื่องน่ะ

นี่เหมือนกัน จิตเราตั้งแต่เกิดมาไม่เคยสงบเลย ไม่เคยรู้จักว่าสงบ เห็นแต่เขาว่าสงบเป็นอย่างนั้น สงบเป็นอย่างนั้นนะ พอเวลามันสงบ มันเวิ้งว้าง มันปล่อยหมด ไม่มีอารมณ์ใดๆ เลยที่จะเหมือนกับอันนี้ ในโลกที่เกิดมานั่นน่ะ เพราะเราเข้าไม่ถึง อารมณ์ต่างๆ ในโลกนี้มันเจือด้วยอามิสทั้งหมด แล้วอันนี้มันไม่เจือด้วยอามิส อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราพอใจสิ่งใด ไม่พอใจสิ่งใด มันเป็นวัตถุอันหนึ่งเลยนะ ที่ให้เกิดเป็นอาการอย่างนั้นออกไป แล้วมันสลัดทิ้งทั้งหมด

เปรียบเหมือนแบกหินมาก้อนหนักๆ แล้วปล่อยทิ้งออกไป ว่าง ความสบายใจ ความเบากายอันนั้นกับความเบาใจต่างกัน นี่พอจิตสงบเข้ามา ถึงจะเริ่มเดินปัญญาไง จิตสงบเหมือนกับว่าเราไปตลาดมา ซื้อของมา พวกกุ้งหอยปูปลานี่ ถ้าเราไม่เอามาทำให้เป็นอาหาร ปล่อยทิ้งไว้มันก็จะเน่าเสียไป จิตที่สงบนี้มันก็เหมือนกุ้งหอยปูปลาไง มันเป็นวัตถุดิบที่จะยกขึ้นวิปัสสนา เราจะรวบรวมอาหารนั้นลงหม้อลงแกงเพื่อจะให้เป็นอาหารไหม ถ้าเราทำก็เป็นประโยชน์กับเรา

แต่พวกอาหารนี้มันบูดเน่าต่อหน้า เราเห็น เราทุกคนโดยธรรมชาติเราก็จะทำอย่างนั้น แต่เวลาจิตสงบไม่เป็นอย่างนั้น เปรียบเทียบว่ามันเป็นแบบกุ้งหอยปูปลาที่ต้องเอามาทำเป็นอาหารถึงจะเป็นอาหาร จิตที่สงบแล้วมันก็มีวัตถุพร้อมไง มีจิต มีสัมมาสมาธิไง จะยกขึ้นวิปัสสนา นี่กุ้งหอยปูปลาจะยกขึ้นวิปัสสนา จะเป็นอาหารหรือไม่เป็นอาหารของจิต จะทำได้หรือไม่ได้ ยกขึ้นหรือไม่ยกขึ้น ถ้ายกขึ้น ยกขึ้นอย่างไร ยกจิตขึ้นวิปัสสนา จากความสงบยกขึ้นวิปัสสนาอย่างไร

น้อมออกมาให้ดูกายไง ให้ดูกาย ให้ดูเวทนา ให้ดูจิต ให้ดูธรรม ก็เวลาพิจารณาปัญญาอบรมสมาธิก็พิจารณากายเข้ามาแล้ว พิจารณาเวทนาเข้ามาแล้ว แล้วพิจารณาอะไรอีก ของนี้เคยผ่านมาแล้ว เขาว่าอย่างนั้นนะ กิเลสมันขัดขวาง กิเลสมันต่อต้าน การประพฤติปฏิบัติกิเลสมันจะอยู่กับเราด้วย ไอ้กิเลสอ้วนๆ นี่มันคอยพยายามแยกออกไป

ถ้ากิเลสมีอำนาจมากกว่ามันก็เป็นโลกียะไป หรือว่าเราดึงออกไปเป็นความคิดเรา ถ้าสมาธิมีหลักอยู่ มันจะดึงกลับมาว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ อันนั้นนะ ดึงกลับมาด้วย มันถึงยกขึ้นมา การยกขึ้นตัวนี้คือว่าพิจารณาดูกายไง กายจากความเห็นข้างนอกคือเป็นกายภายนอก เวทนาจากข้างนอกเข้ามาก็เวทนานอก เห็นคนอื่นเจ็บปวด เห็นไหม เรามีแต่ความเศร้าใจ แต่เวลาเรานั่งขึ้นมามันเกิดขึ้นกับเราจริงๆ เวทนาเกิดขึ้นมาแล้วจิตมันเสวย มันถึงรู้ว่าเจ็บ รู้ว่าปวด เวทนาคือเรา เราเป็นเวทนาเราก็เจ็บสิ นี่พิจารณาเวทนา

เพราะเวทนานี้มันเป็นความเผ็ดร้อนอยู่ที่ตัวเรานี่ กิเลสอยู่ที่เรานี่ มันก็จะหลบหนีไง เรากับกิเลสเป็นอันเดียวกัน นั่งอยู่ด้วยกัน มันจะหลบหนีไป เวลามันเพลิน กิเลสมันเพลินนะ เรานั่งทำอย่างอื่นอยู่น่ะ ๔-๕ ชั่วโมงก็นั่งได้ ทำไมมันไปได้ล่ะ แต่เวลามันนั่งทำความดี ทำไมมันเกิดขึ้นแล้วสู้ไม่ได้

ดู แยกออกดูตรงนี้ พิจารณาเวทนาไง พิจารณาเวทนานี้ เวทนานี้เป็นอาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับจิต เหมือนกับอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั่นล่ะ แต่อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเราพอใจ แต่ขณะที่เวทนาเกิดนี้เราไม่พอใจ พอใจและไม่พอใจนี้เป็นตัณหา ตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาหาไม่พอ หาไม่พอ ทีนี้ตัณหาจะละได้ละที่ตัณหาเหรอ จะละได้ก็ต้องมีเหตุนี่ไง พิจารณาที่เวทนา พอใจไม่พอใจนี้คือตัณหา คือความผูกมัดอยู่กับใจไง

ตัณหากับใจที่มัดผูกมัดเป็นเนื้อเดียวกันนี่เราจะแกะออกไปไม่ได้ เพราะไม่มีเหตุไม่มีผล แต่ถ้าพิจารณาเวทนานี่มันเป็นหินลับปัญญา มันเป็นหินลับมีดไง เราตัดเวทนาออกไปด้วยปัญญา เห็นไหม เวทนานี้เป็นอาการ จิตนี้รับรู้ยิ่งปวดเป็น ๒ เท่า ๓ เท่า ถ้าจิตวิปัสสนาหมุนเข้าไปดูว่าเวทนานี้ทำไมมันเกิดตอนนี้ เพราะจิตรับรู้ รับรู้ทำไมถึงไปรับรู้เขาล่ะ จิตนี้ไปรับรู้เขาแล้วมาทุกข์อยู่ทำไม เวทนามันสักแต่ว่า แล้วมันย้อนกลับมา ปล่อยให้ได้ ย้อนกลับมาที่จิต

ถ้าปล่อยไม่ไหวย้อนกลับมาที่จิต กำหนดดูที่จิต กลับมาความรู้สึกไง ความรู้สึกที่ส่งออกไป จิตคือตัวต้นเหตุ แล้วส่งออกไปเวทนารับรู้ที่เกิดเจ็บตรงไหนก็แล้วแต่ เราดึงเข้ามาเป็นอันเดียวกัน ถ้าเราแยกออก จิตคือความรู้สึกเป็นอันหนึ่ง เวทนาเจ็บปวดนั้นเป็นอีกอันหนึ่ง แล้วไปดึงเอามาทำไม มันจะพุ่งเข้าไป ถ้ามีสมาธิ สมาธินี้เป็นพื้นฐานไง สมาธินี้เป็นพลังงานที่ทำให้ใจนี้ ให้กิเลสอ้วนๆ นี้มันยุบยอบตัวลง เพื่อจะให้เรามีโอกาสได้แยกแยะตรงนี้

ถ้าสมาธิไม่มี กิเลสอ้วนๆ นี้มันเป็นคนคิดเอง มันไม่ยอมหรอก มันจะบอก “เลิกเถอะ สู้ไม่ไหว เดี๋ยวร่างกายจะพิการ เดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวจะเป็นอย่างนี้” นั่นน่ะกิเลสอ้วนๆ มันมีอำนาจเหนือกว่า ความคิดเป็นโลกหมดเลย

มันเป็นเรื่องธรรมดา ในเมื่อคนนั่งอยู่มันต้องเจ็บปวด อย่างนั้นถ้าเราอยากจะให้หายเราก็คลายออกมันก็หาย เห็นไหม นี่คือความพ่ายแพ้ ขณะเข้าสงครามแล้วมันเป็นความพ่ายแพ้ ถ้ามีสมาธิอยู่ หมายถึงว่าจิตนี้มีพลังงานพอ มันจะแยกออกไปอีกทางหนึ่ง แยกออกไปทางที่ว่าสิ่งนี้คืออะไร เราเป็นนักรบ เราเป็นคนที่จะพ้นจากกิเลส เราเป็นคนที่จะสู้ให้ชนะข้าศึกอันนี้ อันนี้คือข้าศึกที่จะการชนะตนได้ไง ถ้าเรามีกำลังใจเราก็ไปแบ่งแยกออก เวทนาเป็นเวทนา อาการนั้นมันเกิดขึ้นเพราะเราพอใจและไม่พอใจ เราพอใจและไม่พอใจ เราเสริมเข้าไปเป็นตัณหา

มันขาด มันขาดที่ตัณหานี้ ตัณหานี้ขาด มันเป็นความมหัศจรรย์ มหัศจรรย์ที่ทำไมเวทนามันหายไปหมดเลย จิตนี้ว่างหมดเลย ทั้งๆ ที่นั่งอยู่บนกองไฟนะ ทั้งๆ ที่นั่งอยู่บนความเจ็บปวดนั้นน่ะ ความเจ็บปวดที่เราเผชิญอยู่นั้น เมื้อกี้ยังเจ็บปวดอยู่ขณะนี้เลย แต่ถ้าปัญญามันหมุนไป ปัญญามันหมุนไป มันฟาดฟันไป สาวไป หมุนไปๆ ธรรมจักรนี้เคลื่อน เวทนามันขาดออกไปได้อย่างไร ทั้งๆ ที่เจ็บๆ อยู่ หายหมด หายวับไปเลย

มันถึงจะมีความเข้าใจไง อ้อ! เพราะเราไปยึด อาการนี้มันปรุงแต่งออกมาจากใจ ใจเราไปปรุงแต่งเองแล้วก็ยึดเอง หลงภาพ หลงกินเงาของตัวเอง หลงกินเงา เห็นไหม นี่อาการของใจเป็นอย่างนั้น อาการของกายมันเป็นเรื่องของกายเขา ในเมื่อมันปรุงแต่งขึ้นมาเอง หลอกตัวเองแล้วตัวเองก็ติดตัวเองอยู่ที่สิ่งที่หลอกขึ้นมา

โลกุตตรธรรม ปัญญาหมุนยกขึ้น นี่ยกขึ้นอย่างนี้ ที่ว่ายกขึ้นยาก ยากตรงนี้ไง ตรงที่ไม่ยกขึ้น ตรงที่กลัว ตรงที่ไม่อยากออกเผชิญเหตุการณ์จริงไง จะหลบอยู่เข้าสมาธิอย่างเดียว จะหลบอยู่แต่ความสงบ จะหลบอยู่ตรงนี้ไง ไม่ยอมสู้ข้าศึก เป็นนักรบที่ไม่กล้าเผชิญศึก นี่ก็เหมือนกัน เราว่าเราเป็นนักปฏิบัติ เพื่อจะชนะทุกข์ทั้งหมด ทำไมเราเป็นนักหลบล่ะ เราเป็นนักหลบนะ แล้วเรายังหลงตัวเองว่าเราเป็นนักรบ เราจะออกจากทุกข์ ถ้าออกจากทุกข์มันต้องเป็นนักรบ รบกับข้าศึกคือกิเลสในหัวใจของเราไง กิเลสในหัวใจนี่ ไม่ใช่กิเลสข้างนอก กิเลสข้างนอกมันไม่ให้ผลอะไรกับเรา มันจะให้ผลกับข้างนอกเขานู่น กิเลสข้างในมันเผาลนเราอยู่นี่ไง

ทีนี้การยกขึ้นมันถึงไม่ยอมยก ความไม่ยอมยกนี่ เพราะว่ามันไม่ยอมเผชิญศึก มันไม่มีกำลังใจพอไง กำลังใจไม่พอ เราต้องย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่สมาธิไง ย้อนกลับมาที่ความสงบ สร้างฐานความสงบขึ้นมาสู้มันใหม่ ย้อนกลับมาที่ฐานของความสงบนี้ หลบ ยันไว้ๆ มันเป็นสิ่งเหนือโลก

โลกุตตรธรรม ปัญญาที่สะสมมาในทางโลก เราว่าเรามีปัญญาทั้งหมดเลย แต่ปัญญาในโลกุตตรธรรมนี้ โลกุตตรปัญญา เป็นปัญญาที่พ้นออกไปจากโลก ปัญญานี้เกิดจากภาวนามยปัญญาที่ไม่มีใน ๓ โลกธาตุนี้ ปัญญานี้ไม่มีแม้แต่...ไม่ใช่ว่าบนโลกมนุษย์นะ ไม่มีแม้แต่ ๓ โลกธาตุเลย มีเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้น

นั่งอยู่บนกองไฟ นั่งอยู่บนความทุกข์ทั้งนั้น ปัญญามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทุกๆ คนต้องกลัวทุกข์ ทุกๆ คนต้องหนีออกจากทุกข์ ทุกๆ คนต้องกลัวไฟ กลัวความร้อน กลัวแต่ภัยอันตราย แต่ภาวนามยปัญญานี้วนเข้าไปในกองไฟนั้นเลย ในท่ามกลางแห่งทุกข์นั้นน่ะ ท่ามกลางแห่งเวทนาที่เกิดกล้าๆ นั่นน่ะ หมุนเข้าไปๆ เป็นธรรมจักรไง จักรอันนี้ถึงว่าเป็นภาวนมยปัญญาที่มันเกิดขึ้น โดยเป็นธรรมชาติของมันเอง ขณะที่ฟาดฟันกับเวทนาที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้นน่ะ นี่ภาวนามยปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นเลย

ถ้ามีเราอยู่ในนั้น เห็นไหม มีเรา มีความเห็นของเราเข้าไปอยู่ในความคิดนั้น ธรรมจักรนี้ไม่เป็นจักร มันเป็นเราเข้าไปไง เป็นเรา พอเราเข้าไปเราจะไปแยกเลย อันนี้เป็นทุกข์ เรากำหนดทุกข์ก่อน เราจำกัดทุกข์แล้วอันนี้เป็นเวทนา อันนี้เป็นตัณหา พอเราเข้าไปในอริยสัจ เราเข้าไปอยู่ในอริยสัจ มันจะขัดจะขวางไปกันหมดเลย

แต่ถ้าภาวนามยปัญญา จิตนี้มันกดกิเลสอ้วนๆ นั้นให้สงบตัวลง มันไม่มีเรา พอไม่มีเรา จิตนี้หมุนไปโดยธรรมชาติ เราส่งหมุนเข้ามาข้างในตลอด หมุนเข้ามาพิจารณาตลอด หมุนเข้ามาๆ การหมุนเข้ามาอันนี้เราส่งไปเรื่อยๆ จนมันตั้งตัวเองได้ไง การตั้งตัวเองได้ ชำระเวทนาเป็นครั้งเป็นคราวไป มันจะเบาลงๆ เข้าใจลง เข้าใจเข้าไปเรื่อยๆ เข้าใจเข้าไปเรื่อยๆ เห็นไหม เวทนาส่วนใดพิจารณาเข้าไปเรื่อย

วันนี้แพ้บ้างชนะบ้าง เพราะว่าต้องเข้ามา วนเข้ามาที่พักสมาธิบ้าง การทำงานมันมีอยู่ ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายทำความสงบเพื่อเพิ่มพลังงานตลอดเวลา แล้วก็ออกไปสู้กับงาน ถ้าพอเคยทำนี่ ของเคยทำมันยอมรับ พอยอมรับนี้ทำได้แล้ว พอทำได้ ทำไปเรื่อยๆ การทำไปเรื่อยนี่ฝึกจิตเรื่อยๆ ฝึกการวิปัสสนาอยู่เรื่อยๆ บ่อยครั้งเข้าๆ ชนะไปเรื่อย

ไอ้เราที่ว่าอยู่ในอริยสัจนั้นมันจะอ่อนตัวลงๆ อริยสัจนี้จะเป็นตามความเป็นจริง มันจะหมุนไปตามความเป็นจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคอริยสัจจังจะหมุนไปเรื่อย หมุนจนขาดตามความเป็นจริงนะ นิโรธะไง ดับ ทุกข์นี้ดับ เกิดนิโรธขึ้น นิโรธะความรู้ดับหมด ออกไปจากอริยสัจ ถ้าเราเข้าไปในอริยสัจ อริยสัจนี้มีเรา มันแกว่งไปแกว่งมาตลอด เพราะเราเข้าไปอยู่ในอริยสัจด้วย เพราะกิเลสอ้วนๆ นี้มันหมุนเข้าไป

ถึงต้องมีกำลังตัวสมาธินี้พอ ถึงบอกว่างานเป็น ๒ อย่างไง งานในการสะสมพลังงานของใจขึ้นมาให้กิเลสมันเบาบางลงแล้วมันหมุนไปตามธรรมตามจักรของมัน ตามจักรของมัน ตามจักรที่มันหมุนไป แล้วก็เสริมไปเรื่อย ค้นคว้าไปเรื่อยๆ จนขาดออก เวทนาเป็นเวทนา จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกออกจากกันทันทีเลยนะ ถ้าเป็นธรรมจักรหมุนไปตามความเป็นจริงจะเป็นอย่างนั้น นี่คือภาวนามยปัญญา

คำว่า “ภาวนามย”ปัญญา สุตมยปัญญาก็เราเรียน จินตมยปัญญาก็เราคิด สุตมยปัญญานี้ธรรมจักรหมุนไป หมุนไปมันถึงว่ามันเหนือโลกไง ภาวนามยปัญญาเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่อันนี้เกิดขึ้นแล้วตัดขาดออกจากสังโยชน์ ในความเวทนากาย เวทนาจิตนี้หมุนติดอยู่ด้วยกัน ขาดออกจากกัน หลุดออกไป เวทนาเป็นเวทนา กายเป็นกาย แล้วจิตนี้หลุดออกมาจากนั้น ว่างหมดเลย นี่คือโลกุตตรธรรม นี่คือภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เราส่งเสริมกันขึ้นมา อันนี้เป็นอาวุธสำคัญมาก อาวุธสำคัญที่ชำระกิเลสได้ตามความเป็นจริงไง

มันต้องเกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติที่เข้าไปเห็น เข้าไปต่อสู้ เข้าไปรู้ ยกขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ เพราะการเห็นคุณไง การเห็นคุณ คุณของการปล่อยมาเรื่อยๆ กับที่มันเห็นโทษของการทุกข์อยู่ที่ผูกมัดอยู่ตลอดเวลา มันไม่ต้องไปถามใครเลย ถามเจ้าของ ถามตัวเอง...

...โดยปกติอยู่แล้ว เห็นคุณเห็นโทษ...

...เอาชีวิตเข้าทุ่ม เอาชีวิตเข้าแลกเลย เจ้าชายสิทธัตถะทำมาก่อน เอาชีวิตเข้าแลกเพราะว่าเราเข้าข้างตัวเองตลอด “เรา เรา เรา” เรานี่กิเลสอ้วนๆ อยู่ในเรานี่ เราหมุนไปตลอด ความสงบนี้ตัดเราๆ จนเรานี้หมดออกไป นี่ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น ถึงไม่มี มีเฉพาะผู้ปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติถึงจุดของภาวนามยปัญญานี้ทรงตัวได้ แล้วชำระกิเลสได้จริงๆ ไง ขาดออกไป ขาดออกไป ว่างออกไป จิตนี้ออกมาเลย

หลุดออกมาอย่างนั้นถึงเป็นความจริง ถึงการเป็นภาวนามยปัญญาที่เกิดขึ้นจากผู้ที่เราปฏิบัติตาม นี่คือปัญญาทางธรรมไง กับปัญญาทางโลก โลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญานี้มันต้องเป็นไปโดยเราส่งขึ้นไป ปัญญานี้กว้างขวางมาก การเปรียบเทียบไง เราเอาสิ่งนั้นมาเปรียบ การเปรียบเทียบ การค้นคว้า มันเป็นปัจจุบันธรรม คำว่า “ปัจจุบันธรรม” เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น ไม่มีการตบแต่ง ไม่มีการคาดหมาย

การคาดหมาย การจำ การศึกษามา แม้แต่เราภาวนาอยู่ปัจจุบันนี้ แล้วเราชนะอยู่ครั้งนี้ ครั้งหน้าจะใช้ปัญญาอันนี้อีก กิเลสหลอกแล้ว กิเลสอ้วนๆ ที่อยู่กับเรานี่ มันจะทันตลอด เพราะเวลาเราใช้ปัญญา มันตามมาตลอดไง ถึงว่า ต้องเป็นปัจจุบัน ให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ต้องค้นคว้าตลอด ต้องค้นคว้า ต้องหมุนตลอด หมุนตลอดๆ หมุนเข้าไป ปล่อยไว้ไม่ได้ ปล่อยไว้มีแต่เราเข็นครกขึ้นภูเขาน่ะ ถ้าเราไม่ถึงจุดยอด มันจะไหลทับเราตลอดเวลา

กิเลส เรากำลังจะกดถ่วงกิเลส เรากำลังต่อสู้กิเลสตลอดเวลา ฉะนั้นถ้าเราเผลอ เราปล่อยไว้ กิเลสมันจะย้อนกลับมาตลอด เห็นไหม ถึงว่าปล่อยไม่ได้ ต้องทำเข้าไป ซ้ำเข้าไปๆ จนให้เห็นขณะนั้น ขณะที่เป็นไปนั่นน่ะ ถ้าขณะยังไม่เกิดขึ้น ขณะของจิต ขณะของจิตที่เกิดขึ้นไง ขณะจิตเกิดขึ้นมันจะแปรสภาพไปเลย จะแปรสภาพ จิตดวงนั้นเป็นอีกดวงหนึ่ง บุคคล ๘ จำพวกไง พ้นขึ้นไปหลุดออกไป ยกขึ้นเลย ถ้าพิจารณาตามนั้นนะ ตามนั้นตามอะไร? ตามมรรคไง

พอพิจารณามา ปัญญาที่ออกมาจากทางนี้ ไม่ใช่ปัญญาอยู่กับโลกนั้น นี่แค่เวทนานะ เวทนาของกาย นี่พูดวิปัสสนามาแล้วนี่ ใช้ปัญญาออกมาแล้ว ปัญญานี่หมุนแล้ว พอทางนี้เคยเดินแล้ว ทางนี้ทำเป็นแล้ว มันไปได้แล้ว คำว่า “ไปได้” กระเสือกกระสนไปได้ ขุดคุ้ยไปเรื่อยๆ จิตสงบขึ้นมาก็ต้องยกขึ้นเข้าสงคราม เข้าสงครามไง สงครามธาตุสงครามขันธ์ สงครามธาตุสงครามขันธ์กับสงครามโลก สงครามโลกล้างโลก แล้วนั่นขนาดไหน จิตตายแล้วต้องเกิดหมด ไปตามนั้นแต่สงครามนี้ชะล้างเข้ามานี้ สงครามชะล้างนี้ สงครามนี้ประเสริฐกว่า ชนะตนไง

การชนะตนนี้ประเสริฐ ประเสริฐจริงๆ มันไม่ก่อเวรก่อกรรม แล้วมีความสุขเกิดขึ้นนะ แล้วมันเป็นผู้ที่เสพไง รสของธรรมอยู่กับหัวใจของเรา เรารู้รสของธรรม ธรรมไง เห็นกรรม เห็นการกระทำ เห็นผลของเราที่เราทำขึ้นมาแล้ว ผลที่เราทำขึ้นมานี่ ธรรมจริงๆ ธรรมที่ว่าถึงธรรมๆ ไง ถึงธรรมแล้วมันก็ได้ลิ้มรสออกมาแล้ว มันก็อยากจะไปต่อ เพราะธรรมนี่ ดูสิ ดูทางโลกเขายังมีคนที่เกิดมาสูงกว่าก็ดูถูกคนที่ต่ำกว่า จะเยาะเย้ยกันไปตลอด

อันนี้ก็เหมือนกัน วุฒิภาวะของใจที่มันสูงขึ้นนี่มันก็เป็นชั้นๆๆ ขึ้นไปเหมือนกัน สิ่งที่ต่ำกว่าพ้นออกมาในจุดที่ต่ำกว่า แต่สูงขึ้นไปล่ะ สูงขึ้นไปยังมีอีก ความสุขที่ประเสริฐกว่านี้ยังมีอีก ต้องยกขึ้นไปเรื่อย วิปัสสนาไปเรื่อย วิปัสสนาไปเรื่อย ทำความสงบ ถ้ามันหมุนออกไป หมุนออกไปทำงานนี้ไม่ก้าวเดิน ต้องย้อนกลับมาสงบ ความทำความสงบกับออกวิปัสสนา ต้องคู่เคียงกันไปตลอด ต้องคู่เคียงกันไปตลอดเลย ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันก็มีความหลงใหลออกไปนอกลู่นอกทาง

ขนาดว่าพ้น มีธรรมแล้วยังหลงอีกเหรอ? หลง หลงออกไปอีก เพราะว่ามันไปพักอยู่ ไปติดอยู่ไง ไปติดอยู่ในสิ่งที่ว่ามันไม่เคยเห็น ทางของที่ไม่เคยเห็น ความมหัศจรรย์ของธรรมมันมหัศจรรย์มาก เราชำระสู้กับเวทนาจากกายเข้ามาได้ แต่อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เรายังไม่ถึงมัน เห็นไหม ความโลภ ความโกรธ ความหลง ในหัวใจยังมีอยู่ ความโลภ ความโกรธ ความหลงในวัตถุมันจะเบาบางลง เพราะเราเข้าใจตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับทั้งหมด

ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นมา สมบัติพัสถานก็ต้องแปรสภาพไปตลอด เราจะมีความโง่หลงงมงายไปหยิบสิ่งของอยู่นั้นอีกทำไม เราจะไปเป็นขี้ข้าสิ่งของนั้นอยู่ทำไม เราไม่เป็นขี้ข้าในสิ่งของของนั้นที่ให้มากดถ่วงหัวใจเรา แต่ความสุมอยู่ในหัวใจ อวิชชายังอยู่ในหัวใจ มันยังให้ผลกับความเศร้าหมดอยู่ในใจเราอยู่ ความเศร้าหมอง ความอมทุกข์อยู่ในหัวใจ มันยังเป็น ตัวนี้ยังมีอยู่ว่าอวิชชายังไม่ได้โดนดับออกไป แต่มันเลาะเปลือกเข้ามาแล้ว วนกลับเข้ามา

ที่ว่าหลง หลงตรงนี้ไง หลงตรงที่ไม่ขุดคุ้ยหาสิ่งที่เป็นเชื้อโรคเชื้อภัยอยู่ในหัวใจไง มันต้องวนกลับเข้ามาขุดคุ้ยหาสิ่งที่มันเป็นเสี้ยน เป็นหนาม เป็นศรปักอยู่ที่กลางหัวใจ ต้องย้อนกลับไปอีก เพราะหัวใจนี้มันรับรู้เรื่องของกายใช่ไหม เราสงวนนัก กายของเรา ความเป็นเรานี่สงวนไว้นัก ขณะที่มันตัดออกไปนี่มันตัดความสงวนอันนี้ออกแล้วไง สงวนว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา กายนี้ก็เป็นของจิตไง จิตนี้เป็นเจ้านาย มันดึงกายว่าเป็นของของมัน

แต่วิปัสสนาญาณได้ตัดออกไปแล้วไง ตัดสิ่งที่ว่ามันรักมันสงวน มันปล่อยสิ่งนั้นเข้ามา มันปล่อยสิ่งที่มันรักสงวนข้างนอก มันก็มารักสงวนอยู่ในตัวของมัน มันมารักมาสงวนในตัวของมัน แล้วเราจะทำอย่างไรให้เห็นตัวว่า สิ่งไหนที่มันรักสงวนอยู่ล่ะ นี่คือการขุดคุ้ยที่ว่าหลง หลงตรงนี้ไง หลงที่ว่าปล่อยมาแล้ว แล้วก็จะไม่ทำต่อ ปล่อยมาแล้ว ปล่อยที่มันไปหลงเขา แต่มันยังหลงตัวมันเองอยู่ล่ะ ในตัวมันเองที่มันยังหลงใหลอยู่นี่ ทำไมไม่ขุดคุ้ยหา ที่ว่าหลง หลงตรงนี้ ที่ว่าไม่ขุดคุ้ย ไม่ขุดคุ้ยเข้ามานี่

พิจารณาซ้ำเข้าไป ยังดีใจ ยังเสียใจ ยังมีความรับรู้อยู่ นี่คือเวทนาทั้งหมด เวทนาของกายคือเวทนาของกาย เวทนาของกายคือเวทนาข้างนอก อะไรกระทบมันก็เจ็บ แต่เวทนาของจิตล่ะ เวทนาภายในจิต ความเศร้าหมอง ความสุขในหัวใจนั่นน่ะ แต่การจับต้องได้นี่มันจะย้อนกลับเข้ามา เหมือนกับวัตถุที่ย้อนกลับเข้ามาแล้วมันม้วนตัว กินตัวมันเองเข้ามา ความกินตัวเข้ามา สิ่งที่มันสืบต่อกันมันสั้นเข้า

หัวใจก็เหมือนกัน ความเวทนาในใจ ความเวทนาที่เราไม่เห็น อันนั้นเราจับต้องไม่ได้ เพราะว่ามันส่งออกไปข้างนอก เหมือนฝ่ามือเราหยิบของขึ้นมานี่เราหยิบไปทั้งหมดเลย แต่เอ็น กระดูกในนิ้วมือ ในมือ เราจับเราไม่รู้สึกใช่ไหม ผิวหนังเราไปกระทบเฉยๆ เวทนาส่งออกไปก็เหมือนกัน มันส่งออกไปมันเหมือนกับเป็นกระดูก เป็นเอ็น มันอยู่ตัวใน มันส่งออกไปรับรู้ข้างนอก แล้วมันจะรับรู้ในเอ็น ความรู้สึกเราจะรับรู้ที่เอ็นที่นิ้วได้อย่างไร

แต่นี้เป็นวัตถุ แต่ถ้าเป็นวิปัสสนา ทำได้! ทำได้เพราะเป็นนามธรรมไง เป็นนามธรรมเราย้อนกลับเข้ามาสิ ย้อนกลับเข้ามาจับความรู้สึกอันนั้น ความรู้สึกที่ส่งออกไป ให้ความรู้สึกหันกลับเข้ามา ความหันกลับเข้ามา นามธรรมนี้เราจับได้ มันย้อนกลับมาได้ ถึงว่า โอ้โฮ! พอมันจับเวทนาของจิตได้ “ทำไมมันละเอียดอ่อนขนาดนั้น” ขณะแค่ขุดคุ้ยหากิเลส จับกิเลสได้นะ จับความกระทบกระเทือนของหัวใจที่มันเศร้าหมองอยู่นี่ มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์สุดๆ ที่จะเป็นมหัศจรรย์ใดเทียบเลยล่ะ ก็เอ็นน่ะ เอ็นกระดูกในนิ้วมือมันย้อนกลับเข้ามารู้สึกตัวมันเองได้

แต่นี้เพียงแต่เราพูดกันตลอด เวลาเราศึกษาธรรม เราว่า “สิ่งนั้นส่งออกไป เวทนาเป็นออก...” อันนั้นเป็นผลสำเร็จของเวทนาที่มันออกมาแล้ว เราไปรับรู้อารมณ์ของความเวทนานั้นไง แต่ความสุข ความที่มันขยับขึ้น เกิดขึ้นกับใจแล้วเราจับได้ทันที อันนั้นเราไม่เห็น ความเศร้าหมองภายในเราไม่เห็น เราเห็นแต่แสงที่มันส่งออกมา รับรู้ออกมาแล้ว นี่ย้อนกลับเข้ามา

เพราะว่าวิปัสสนา ฟัง! จิตนี้สงบแล้วย้อนกลับดูๆ มันต้องขุดคุ้ยไง การขุดคุ้ยว่าสิ่งไหนที่มันนอนอยู่ในใจ สิ่งที่ว่าเราพูดกับคนนอก เราพูดกับใคร เราสื่อความหมายกับคนอื่น เราพูดให้เสียงนี้กระทบหูเขา เขาก็รู้ สิ่งนี้กระทบกันได้ แต่การสื่อกับหัวใจที่ว่าใช้วิปัสสนาญาณเข้าไปจับ มันเป็นตัวเองจับตัวเองไง เสียงที่สื่อมาหาเรา เสียงนั้นต้องย้อนกลับไปรู้สึกตัวเสียงนั้นเอง ฟังดูสิ มหัศจรรย์หรือไม่มหัศจรรย์ เสียงนั้น เสียงที่ออกมามันต้องรู้ตัวมันเอง จิตที่ส่งออกมาเป็นเวทนา ถ้าเป็นวิปัสสนานี่จะย้อนกลับจนจับตัวเองได้ ขนพองสยองเกล้าเลยนะ จับเวทนาในได้นี่ จับเวทนาในคือความเจ็บปวด คือความเสียใจ เศร้าใจในใจไง

แต่ก่อนเราคิดแต่ว่าคนอื่นนะ ผู้อื่น สิ่งนอกเป็นคนว่าเรา เหตุการณ์ต่างๆ ทำให้เราเจ็บปวด เราคิดอย่างนั้นทั้งหมดเลย แต่เราไม่คิดเลยว่ามันมีภวาสวะ คือภพของจิต คือเครื่องรับอยู่ที่หัวใจเรานี่ เราดูดเขาเข้ามาต่างหาก เราไปดูดสิ่งต่างๆ นั้นเข้ามารับรู้รู้สึก แล้วเราก็เอาอารมณ์นั้นมาเป็นสมุฏฐาน แล้วเราก็เสียใจเศร้าใจไปกับมันไง แล้วเรามาจับไอ้ตัวที่ดูดสิ่งที่ว่าเขาว่า หรือสิ่งที่ว่าเป็นความรู้สึกข้างนอกเข้ามา เราจับฐานตัวดูดเขาได้ เราก็ต้องแปลกประหลาดสิ เราแปลกประหลาดมากเลย

แต่ที่มันปกติที่ไม่แปลกประหลาดเพราะว่ามันเป็นของคือๆ คือเราเป็นเสียงกระทบทุกวัน เราฟังทุกวัน เราได้ยินทุกวัน มันเลยมองข้ามไง ของใกล้ตัว ของที่เป็นเรานี่ไม่มีความหมายเลย มองข้ามไปหมดเลย ไปมองสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์นะ เป็นวิทยุ เป็นเครื่องยนต์กลไกนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ แต่ไม่เคยมองเลยว่าจิตของเราที่รับรู้นี้มหัศจรรย์ เหนือมหัศจรรย์ใดๆ ทั้งสิ้น นี่ธรรมของพระพุทธเจ้ามหัศจรรย์ขนาดนั้น แค่ขุดคุ้ยจับได้เท่านั้นนะ แค่จับได้ แค่เห็นความเป็นไป เห็นกระแสความส่งออกของจิตเท่านั้น เวทนาในหัวใจไง แล้วมันต่อกับเวทนาที่เราพิจารณาแล้วผ่านเข้ามา ให้พิจารณาซ้ำเข้าไปสิ ดับนอกแล้วต้องดับในอีกชั้นหนึ่ง ดับในอีกชั้นหนึ่ง ดับด้วยอะไร

ปัญญา โลกุตตรปัญญา แล้วเป็นภาวมยปัญญา ปัญญาที่ไม่มี ปัญญาศึกษามาขนาดไหนในพระไตรปิฎก อันนั้นก็เป็นสัญญา เป็นกิเลสอ้วนๆ มันแบ่งไปครึ่งหนึ่ง มันคร่อมไปไง มันคร่อมไปว่าเรารู้เราเห็น “เรา เรา” หมดเลย พอเราหมดเลย มันเอียง มันเอียงไง เอียงอย่างไร เอียงเราตั้งได้นี่ อารมณ์พอจิตมันสงบแล้ว เราจะให้เป็นอย่างไรก็ได้ เหมือนดินนี่เราจะปั้นเป็นรูปอะไรก็ได้ อารมณ์ของเรา ความรู้สึกของเรา

เราจะบอกว่า อันนี้ขาดแล้ว อันนี้เป็นไป เห็นไหม พอจิตมันว่างแล้วมันยิ่งละเอียดอ่อนกว่าความคิดปกตินี้ ความละเอียดอ่อนอันนั้นมันจะทำอย่างไรก็ได้ ถึงบอกว่าไม่ให้ประมาทในความคิดนั้น ไม่ให้เชื่อมั่นตนเอง ต้องตรวจสอบ ต้องวิปัสสนาหมุนเข้าไป หมุนเข้าไปที่ตรงไหน? ตรงที่จับได้นั่นล่ะ ที่เป็นเวทนา สุขเกิดได้อย่างไร พอใจ ไม่พอใจนี่เกิดมาทำไม ใครทำให้เกิด นี่มันเทียบเข้ามานะ เทียบเข้ามา นี่คือการวิปัสสนา

เทียบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเราก็รู้อยู่ แต่เรายับยั้งไม่ได้ ทุกข์ไม่มีใครปรารถนา ทุกข์นี้ไม่มีใครปรารถนา ทุกคนปรารถนาแต่ความสุข แต่เวลามันดิ้นรนอยู่นี่ทำไมเราทำอะไรไม่ได้ล่ะ มันน่าเจ็บใจตัวเองไหม ก็ต้องถามตัวเองสิ เรานี่น่าเจ็บใจไหม เจ็บใจไหมว่าเรานี่เป็นลูกศิษย์ตถาคต แล้วขนาดว่าสร้างสมตัวเองขึ้นมาได้ขนาดว่าได้ธรรม ได้พื้นได้ฐานเข้ามา ยังได้วิปัสสนาเข้ามา ยังจับไอ้ความทุกข์ความสุขในหัวใจได้ ยังจับเวทนาในได้ แล้วเราเทียบออกมาสิ

เราถึงว่า เรามีวาสนาๆ เราต้องไม่ประมาท เราต้องไม่ประมาทความคิด ไม่ประมาทในความละเอียดอ่อน ไม่ประมาทใดๆ ทั้งสิ้นแล้วหมุนเข้ามาเรื่อยๆ พอหมุนเข้ามาเรื่อยไอ้เราที่ว่ากิเลสอ้วนๆ นี่มันจะเบาลงเรื่อยๆ เรารู้ เราส่งออกข้างนอกมันก็ชั้นหนึ่ง เห็นไหม เรารู้ข้างใน แล้วเราก็จับข้างใน เราจะอู้ฮู! กิเลสมันจะ...มันคร่อมไปก่อนไง ปัญญาที่ไม่พอมันมีโลกนำตลอด โลกียะๆ มันเป็นกิเลส โลกียะคือเจ้าวัฏจักรครองโลกอยู่ มันยังอ้วนอยู่ไง ถึงเป็นนามธรรมมันก็ยังอ้วนอยู่

พัก พักคือว่าทำความสงบ เพิ่มพลังงานขึ้นมาเรื่อย ตัดให้โลกียะ ให้กิเลสอ้วนๆ นี่มันเบาลง ให้กิเลสอ้วนๆ นี่ให้มันอ่อนตัวลง ให้จิตนี้เป็นอิสระ จิตอิสระ พอความคิดนี้มันจะจับไอ้วิปัสสนานี้ได้ชัด พอวิปัสสนาได้ชัด เห็นกระแสของใจ ทุกข์เพราะสัญญา...สัญญาเคยจับข้อมูลเดิมไว้ อะไรกระทบ กระทบเข้ามันรับรู้ พอรับรู้มันปรุงมันแต่งไปเรื่อย

ความปรุงความแต่ง ความไม่พอใจในสิ่งที่กระทบกระเทือนใจนี่ ความเศร้าหมองเกิดขึ้น ความรับรู้เกิดขึ้น อันนี้รับรู้หมด พอเกิดขึ้นนี่อะไรรับรู้ ก็ดูเข้ามา ถ้าจิตถ้าสมาธิพอ ถ้ากำลังงานพอมันจะ อ๋อ! อ๋อ! มันก็ปล่อย เราโง่กับตัวเองตลอดเวลา เราโง่กับตัวเอง โง่กับเจ้าวัฏจักรไง โง่กับกิเลสที่ครอบงำอยู่ในหัวใจไง นี่มันละเอียดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง

แต่คำพูด คำว่า ฉลาด โง่ หรือว่า ดีหรือไม่ดี มันเป็นสมมุติ สมมุติคือคำพูด นี้คำพูดระหว่างเปลือก กับคำพูดระหว่างข้างใน มันเหมือนกันไง ใช้สมมุติเหมือนกัน ถึงว่านึกว่ามันเป็นวิปัสสนาอันเดียวกัน...ไม่ใช่ มันเป็นวิปัสสนาคนละชั้น วิปัสสนานอกนี่มันเป็นสติปัญญา วิปัสสนาข้างในเป็นมหาสติ เป็นมหาปัญญา ไม่ใช่สติปัญญาที่เราหมุนเข้ามาจากเวทนากายอันนั้น อันนั้นเป็นสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นไปจนมีธรรมขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ยกขึ้นเป็นมหาสติ มหาปัญญา

เพราะบอล เขาเตะบอล โทษ ๒ จังหวะ เขาเตะ ๒ จังหวะ ไอ้นี่จุดโทษ ลูกโทษมันจังหวะเดียว เพราะมันเป็นส่งออกจากจิตล้วนๆ มันไม่ต้องผ่านกายไง กายกับจิตนี่มันรับรู้กัน มันส่งออกมา มันเป็น ๒ จังหวะ ถึงสติปัญญามันก็เข้าไปตามรู้ตามทันได้ มันมีการป้องกันไว้แล้ว มันเป็น ๒ จังหวะ เพราะมันผ่านออกมา แต่โทษจังหวะเดียว มันเร็วมาก เตะก็เข้าเลย เห็นไหม จิตส่งออกก็รู้เลย จิตเกิดขึ้นก็รู้เลย ถึงต้องเป็นมหาสติ มหาปัญญา

มหาสติ มหาปัญญาเข้าไป ถึงว่ามันเป็นวิปัสสนาคนละชั้น แต่เวลาเป็นสมมุติน่ะพูดชั้นเดียวกัน “เราเข้าใจว่า” ไง มันก็จะมาลงที่ว่า เราเข้าใจว่าผ่านมาแล้วอีกล่ะ สิ่งนั้นพระพุทธเจ้าพูดไว้แล้ว...ใช่ วิญญาณคือวิญญาณ วิญญาณเหมือนกัน วิญญาณนอก วิญญาณใน วิญญาณกระทบรู้นี่วิญญาณนอก วิญญาณรับรู้ หูกระทบเสียง โสตวิญญาณเกิดขึ้น แต่วิญญาณภายในล่ะ วิญญาณในปฏิจจสมุปบาทล่ะ วิญญาณปฏิสนธิล่ะ คำว่า “วิญญาณ” เหมือนกัน แต่กี่ชั้นน่ะ ฟังดูสิ เป็นชั้นๆ เข้าไปนะ คำเดียวนั่นล่ะ แต่มันเป็นคนละความหมายทั้งหมดเลย

นี่ก็วิปัสสนาที่ว่า รู้ขันธ์ ขันธ์นอกอย่างหนึ่ง ขันธ์ในอย่างหนึ่ง สัญญาที่จับได้อย่างหนึ่ง สัญญาที่มันขับเคลื่อนไปล่ะ ขับเคลื่อนไปด้วยอะไร? ขับเคลื่อนไปด้วยสัญญามันปรุงแต่ง วิญญาณรับรู้ มันหมุนไปเป็นวงจรของความคิด ความคิดที่มันเศร้าหมองนี่มันเป็นวงจรอันหนึ่ง มันต้องครบวงจรมันถึงเป็นความคิดขึ้นมาได้ ความเศร้าหมองนี่เป็นความคิดไง ถ้าเราเข้าไปตัดแยกแยะออก วงจรนี้ไปไม่ได้ ความคิดนี้หมุนไปไม่ได้ พอความคิดนี้หมุนไปไม่ได้ มันก็ปล่อย เพราะมันหมุนไปไม่ได้แล้ว หมุนไปไม่ได้เพราะมีอะไร เพราะมีธรรม มีวิปัสสนาธรรมเข้าไปยับยั้ง เข้าไปต่อสู้ไง นี่ข้าศึกภายใน กับกองทัพภายในมันต่อสู้กัน

พอยับยั้งเข้า อารมณ์ไปไม่ได้ก็ปล่อย ปล่อยเพราะมันยอมแพ้หรอ? ไม่ใช่ ปล่อยเพราะว่ามันโดน...กิเลสกลัวธรรมไง กลัวธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลัวธรรมที่เราวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น เราสร้างปัญญาขึ้นมาต่างหากล่ะ ธรรมอันนี้เป็นธรรมของผู้ที่ปฏิบัตินั้น ผู้ที่สร้างนั้นขึ้นมา ผู้ที่สร้างขึ้นมานั้นหมุนกลับไปชำระกิเลสของผู้นั้นไง “ผู้ใด...” พระไตรปิฎกบอก “ผู้ใด” เลย ไม่บอกใคร “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ใดสร้างปัญญาอันนี้ขึ้นมา”

ไอ้ชื่อนั้นสมมุติทุกคน จะชื่อใดก็แล้วแต่ ผู้นั้นสมมุติ เห็นไหม ชื่อสมมุติ แต่ “ผู้ใด” คือธาตุขันธ์ คือสัจจะความจริงนั้นที่เกิดมาเป็นคนนั้น เกิดมาเป็นมนุษย์ที่วิปัสสนาเข้ามา “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” เห็นไหม ปัญญาที่เกิดขึ้นก็เหมือนกัน ปัญญาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น ธรรมที่ว่าเราเสริมขึ้นมา แต่เราฟังมาจากครูจากอาจารย์ จากพระไตรปิฎกที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ แต่เราสร้างขึ้นเป็นธรรมอันเดียวกับสมัยครั้งพุทธกาล

ครั้งพุทธกาลก็สมัยนี้เป็นปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้น แล้วเราก็สร้างขึ้นมาของเราเอง เราหมุนขึ้นมาของเราเอง หมุนเข้ามาข้างใน แล้วมันก็ต้องหมุนเข้ามาเป็นธรรมจักร เป็นธรรมจักรเพราะว่าเราสร้างขึ้น เป็นโลกุตตรปัญญา เป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาหมายถึงว่ามันเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น เป็นปัจจุบันแล้วชำระเดี๋ยวนั้น แล้วเราเป็นคนสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมา จับต้องได้ แล้วรบต่อข้าศึกท่ามกลางหัวใจ ทำไมเราจะไม่รู้จักภาวนามยปัญญา ทำไมเราจะไม่เห็นภาวนามยปัญญา

ผู้ที่เห็น ผู้ที่ทำภาวนามยปัญญาเท่านั้นคือผู้ที่ชำระกิเลส ผู้ที่ไม่เคยเห็นภาวนามยปัญญาไง มันมีแต่ชื่อว่า ภ. สำเภา ว. แหวน...นั่นน่ะ ภาวนามยปัญญา ภาวานามยปัญญาเท่านั้นไง แต่ตามความเป็นจริงยังไม่เกิดขึ้น ถ้าตามความเป็นจริงเกิดขึ้นตามความเป็นจริงมันต้องชำระกิเลสได้ตามความเป็นจริง

มรรคยังเป็นสมบูรณ์ตลอดเวลา มรรคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรค ๘ นี้ยังสมบูรณ์ตลอดเวลา ความเป็นจริงยังสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา ทุกข์นี้ยังสมบูรณ์อยู่ในหัวใจของคน ทุกข์นี้ยังเป็นศรปักเสี้ยนหนามอยู่ในกลางหัวใจของมนุษย์ ธรรมโอสถขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องแก้ไขทุกข์นั้นได้ทั้งหมด ต้องแก้ไขทุกข์ทั้งหมด

เพราะทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ธรรมจักรนี้เป็นข้าศึก ข้าศึกกับการกำจัดทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทุกๆ วินาทีไป เพียงแต่เราเข้าไม่ถึง เราไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ เราไม่สามารถทำได้ เราสิ เห็นไหม นี่เรา พอเรากิเลสอ้วนๆ มันก็เกิดขึ้น แต่เราสร้างขึ้นไปก็ต้องสร้างเรานี่ขึ้นไป เราเป็นผู้สร้างขึ้นไป

สร้างขึ้นไปจนมันมีอำนาจพอกับกิเลสที่เป็นเจ้าวัฏจักร เห็นไหม อำนาจพอกัน อำนาจเราสร้างภาวนาขึ้นมา สร้างภาวนามยปัญญาขึ้นมาจนเสมอกัน พอเสมอกัน มันยันกันได้ เราก็เบาลงเยอะ งานใหม่ๆ งานการสร้าง การวางพื้นฐานเป็นงานที่ยากมาก แต่พอมันหมุนไปๆ จากจับได้อันนั้นก็เป็นงานอันมหาศาลอยู่แล้ว งานวิปัสสนาจนมันทันกันน่ะ จนอารมณ์นี้หมุนไปไม่ได้ ฟังสิ! จนอารมณ์นี้หมุนไปไม่ได้ มันปล่อยๆ มันปล่อยนั่นคือว่ามันทันกันแล้ว จากเดินต้อยๆๆ นะ กิเลสนำหน้าจูงจมูกเราไปต้อยๆๆ เราสร้างปัญญาขึ้นมาจนเท่าทันกัน พอจนเท่าทันกันมันก็สู้ไปเรื่อย ต้องคราดต้องไถ ต้องทำซ้ำไปตลอด

เพราะแก่นของกิเลส แก่นของกิเลส ฟังสิ! “แก่นของกิเลส” ใจนี้เป็นนามธรรม กิเลสก็เป็นนามธรรม มันมาด้วยกัน เห็นไหม นามธรรมคือหัวใจไง มันถึงว่าเป็นนามธรรมแล้วมันอยู่ในเนื้อเดียวกัน มันถึงเป็นแก่น มันเหนียวแน่น มันอยู่ด้วยกัน มันเป็นเนื้อเดียวกัน มันเป็นภวาสวะ ภพ ภวาสวะ เห็นไหม ภพที่รอบรับ ที่ว่าดูดกลืนทุกอย่างเข้ามาเป็นภพ เป็นภวาสวะ ภพของมนุษย์ ภพของเทวดา ภพของพรหม จะภพใดก็แล้วแต่ ไม่สำคัญเท่ากับภพนี้

ทำลายภพ ภวาสวะทั้งจบแล้ว ภพอื่นๆ ไม่ได้ เพราะภพคือโลกที่การเกิดนี้ มีฐานอันนี้มันถึงเข้ากันได้ไง ใจนี้ไปปฏิสนธิในท้องต่างหาก มันถึงเกิดเป็นมนุษย์ แผ่นดินคือแผ่นดินอยู่อย่างนั้น เราเกิดหรือไม่เกิดมันมีอยู่แล้ว ภพข้างนอกถึงไม่สำคัญเท่ากับภพกลางหัวใจ ภวาสวะคือฐานของใจนี่ ภวาสวะ ภวาสวะคือภพของใจ ทำลายที่ตัวดูดเข้ามา ตัวดูดสิ่งต่างๆ เข้ามาสะสมไว้ที่ใจ บุญกุศลก็ดูดเข้ามาสะสมไว้ที่นี่ ตายไปเกิดเป็นเทวดา เพราะภพตัวนี้มันมีบุญกุศลมันขับเคลื่อนไป

ถ้าตัวดูดนี้ดูดแต่กรรมเข้ามา เวลาตายไปเกิดในนรก เพราะดูดแต่สิ่งหนักๆ หน่วงๆ เข้ามามันถึงตกลงต่ำ แล้วเราทำลายตรงนี้ จากปัญญาที่หมุนตามเข้าไป หมุนตามกันเข้าไปนั่นน่ะ จากการทันกันแล้ว พอเริ่มทันกันมันก็จะเริ่มออกล้ำหน้า ฟัง! พอภาวนามยปัญญาออกล้ำหน้าไป ออกล้ำหน้ากิเลสไปแล้วน่ะ หมุนไปเรื่อย มันต้องย้อนกลับมาฟันกิเลสขาดสิ ธรรมจักรหมุนไปแล้ว

นี่เกิดจากเราวิปัสสนาญาณขึ้นมาเป็นภาวนามยปัญญา เราสร้างขึ้น เราเป็นผู้รับรู้ แล้วมันขาดลงต่อหน้าน่ะ เห็นชัดๆ ขณะจิตที่แปรสภาพไป ทุกข์นี้โดนทำลายทั้งหมด ทุกข์ หัวใจเราโดนทำลายทั้งหมด สิ่งที่เป็นตัวดูดกลืนทุกๆ อย่างมาไว้ที่ภพนี้โดนทำลายทั้งหมด มันก็ต้องว่างหมดสิ ปล่อยวางทั้งหมด นี่ภาวนามยปัญญาถึงทำลายกิเลสทั้งหมดในภวาสวะนั้น

ถ้าภวาสวะนั้นตัวดูดไม่มี มันเป็นแต่ความว่างทั้งหมด แล้วมันจะไปเข้ากับภพใดได้ ใน ๓ โลกธาตุนี่ ในกามภพ ในรูปภพ ในอรูปภพ มันเป็นที่รองรับภพจากใจของเราไง รองรับจากภวาสวะนี้เข้าไปเสวยภพไหนในบุญกุศลขับเคลื่อนไปไง เราทำลายตรงนี้ทั้งหมด ทำลายความเป็นหนี้ทั้งหมด ทำลายสื่อที่จะเข้ากับภพต่างๆ ทั้งหมด ทำลายสื่อต่างๆ เข้ากับภพ ฟังสิ! ๓ โลกธาตุนี้ ภพนี้มันดึงดูดเข้าไป เราทำลายภพนี้ทั้งหมดเลย

พอทำลายหมดแล้วอะไรมันจะดูดเข้าไป มันไม่มี ๓ โลกธาตุดูดภพเราเข้าไปได้ เราก็ไม่สามารถดูดภพนั้นเข้ามาได้ มันแยกออกจากกัน มันถึงนิพพานเป็นหนึ่งไง ออกไปจาก ๓ โลกธาตุ พ้นออกไปเลย พ้นออกไปจากภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญาอยู่ในพระไตรปิฎกไง ปัญญา ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราต้องสร้างขึ้นมาจากเราสิ เราต้องสร้างขึ้น เราไม่ใช่ว่าเดินตามความคิดเดิม ไม่ใช่เดินตามความคิดของโลกียะไง โลกียปัญญา คือปัญญาที่เราศึกษาเล่าเรียนมาเพื่อไปประกอบอาชีพนี้ เป็นวิชาชีพ วิชาชีพที่จะดำรงชีวิตอยู่ในภพในเมืองมนุษย์ กับภาวนามยปัญญา โลกุตตรปัญญามันเป็นวิชากำจัดกิเลส มันเป็นวิชาฆ่ากิเลส มันเป็นวิชาที่ทำลายหัวใจ ทำลายภวาสวะทั้งหมด มันเหนือวิชาชีพใดๆ ทั้งสิ้น

วิชาชีพมีแต่ทำให้กิเลสอ้วน กิเลสในหัวใจ เจ้าวัฏจักรนี้อ้วนขึ้นไป ยิ่งประกอบอาชีพสมความปรารถนาของตน ถึงสมความคาดหมายของตน กิเลสยิ่งอ้วนเข้าไปใหญ่เลย มันยึด มันยึดมั่นยึดหมาย ยึดมั่นถือมั่น แต่สมบัตินี้เป็นสมบัติของโลกไง เรามาครองชั่วชีวิตเราเท่านั้น เราไปแล้วสมบัตินี้ก็ตกไว้ที่โลกนี้ เราเอาไปไม่ได้เลย เราเอาไปไม่ได้แม้แต่ชิ้นเดียว ถ้าเราไม่ได้สละออก เห็นไหม นี่วิชาชีพ

แต่วิชาฆ่ากิเลส ไอ้ฆ่าที่ยึดๆๆ อยู่นั่นล่ะ ไอ้ฆ่าที่ยึดๆ สมบัติของเรานั่นล่ะ ฆ่าทุกๆ อย่างที่มันไปหมายไว้น่ะ จนไม่มีตัวดูดยึดใดๆ ทั้งสิ้นเลย นี่คือว่าโลกุตตรปัญญา มันเหนือโลก เหนือสงสาร เหนือทุกอย่าง เหนือจนพ้นออกไปจากกิเลสได้ทั้งหมดเลย

สร้างขึ้นมาจากพวกผู้ที่เดินต๊อกๆๆ ต่ำต้อยนี่แหละ สร้างขึ้นมาจากคนที่ไม่รู้ เป็นตาบอดคลำช้างนี่แหละ ตาบอดคลำช้างคลำไปเรื่อยๆ ว่าไม่รู้เหนือรู้ใต้นี่แหละ สามารถสร้างได้เพราะมีหัวใจ หัวใจนี้เป็นที่รองรับ เป็นภาชนะใส่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แผ่นกระดาษที่พิมพ์หนังสือนี้เปื้อนแต่หมึกเท่านั้น เป็นแผนที่ให้เราอ่าน ให้เรามีความรู้สึกเข้ามาถึงใจเรา

ใจดวงนี้ลิ้มรสของความรู้สึก ลิ้มรสของธรรม ลิ้มรสของการประพฤติปฏิบัติ ลิ้มรสของการปล่อยวาง ลิ้มรสถึงวิมุตติสุข เห็นไหม ใจเท่านั้นที่จะรองรับความเป็นจริงของธรรมะ แผ่นกระดาษพิมพ์แต่ตัวอักษรไว้เท่านั้นให้เราอ่าน ฉะนั้นธรรมจริงๆ มันถึงอยู่ที่หัวใจ หัวใจของผู้ที่ปฏิบัตินี้ ถึงจะเข้าถึงธรรมได้ไง

เรามีหัวใจ จากคนที่ว่าตาบอดคลำช้าง มืดๆ บอดๆ นี่แหละ แต่ถ้าไม่มีความประมาท มีความจงใจในการประพฤติปฏิบัติ มีความจงใจเชื่อในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องพ้นได้สักวันหนึ่ง พ้นจากที่ว่าเรามีความมุมานะ เราก้าวเดินของเราขึ้นไป เราจะพ้นจากกิเลสได้ เพราะเรามีหัวใจ เราได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้เกิดเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเดินตามครูอาจารย์ไปไง เดินตามครูบาอาจารย์ไปด้วยความมุ่งมั่นมุมานะ ต้องถึงหลักชัยเข้าวันใดวันหนึ่งแน่นอน เอวัง

เพิ่มเติมท้ายกัณฑ์

ว่าปัญญาธรรม ธรรมน่ะ เขาว่า ธรรมคือธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ไง เอโก ธมฺโม ธรรมอันนั้นตะหาก ที่ว่าธรรม ธรรมอย่างไร? มันสมมุติไง แล้วทุกอย่างโลกนี้เป็นสมมุติหมด โลกียะนี้เป็นสมมุติ วิทยาศาสตร์ก็เป็นสมมุติ สมมุติในโลก ความเป็นไปของโลก วิทยาศาสตร์ก็เป็นสมมุติเพราะอะไร วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ตามความเป็นจริง แต่มันไม่คงที่ไง มันแปรสภาพตลอด ถึงว่าเป็นสมมุติ สมมุตินี่ปัญญาสมมุติ ความคิดของเรานี่จริงหมด จริงในปัจจุบันนี้ แต่ของไม่คงที่ มันแปรสภาพตลอด ถึงว่าเป็นสมมุติ

“บัญญัติ” พระพุทธเจ้าถึงว่า พอตรัสรู้ธรรมแล้วถึงบัญญัติออกมา บัญญัติเพื่อจะให้มันแคบเข้ามา เอาสมมุติแคบเข้ามาไง อย่างเช่นความคิดต่างๆ เขาบอกว่าเป็นสังขาร ความสังขาร ความปรุง ความแต่งใช่ไหม เห็นไหม อย่างการจำ อย่างความทุกข์เจ็บปวดทั้งหมดก็เป็นเวทนา นี่บัญญัติ บัญญัตินี้ก็เป็นสมมุติ เพราะสมมุติขึ้นมาให้สื่อกัน บัญญัติก็เป็นสมมุติ แต่พอเรา...สมมุติกับบัญญัตินี่มันถึงต่อกัน บัญญัตินี้ก็เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม “ศีล สมาธิ ปัญญา” นี่เป็นธรรม ธรรมอันนี้มันก็เป็นธรรมในบัญญัติไง มันก็เป็นสมมุติ

ทีนี้สมมุติกับสมมุติมันเข้ากันได้ไง อย่างเช่น เราเป็น ที่ว่าเราอยู่ในสมมุติ แล้วเราศึกษาเป็นบัญญัติ เราก็ยกขึ้นมา คือว่าจากซ้ายมาตรงกลาง “ธรรม” ธรรมของพระพุทธเจ้ามันหลุดออกไปจากสมมุติบัญญัติทั้งหมด เป็นวิมุตติ แต่วิมุตตินี่มันอาศัยบัญญัติไง อาศัยบัญญัติคือธรรมที่บัญญัติไว้ คือกิริยาของธรรม คือเหตุที่จะเข้าไปหาธรรม มันถึงยังไม่ใช่ธรรมจริงไง ถึงเป็นบัญญัติ ก็เป็นสมมุติ

ถึงว่าเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สิ่งคำสอนต่างๆ มันเป็นรถ เป็นเรือ จะส่งเราขึ้นไปสู่วิมุตติธรรม ธรรมอันนั้นถึงไม่แปรสภาพ ถึงเป็นธรรมแท้ไง ธรรมนี่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธรรมคือศาสนาธรรม พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าได้เพราะตรัสรู้ธรรม ธรรมนี้เป็นเหมือนกับยาชำระโรค เป็นธรรมโอสถ ทำลายกิเลสทั้งหมดเลย นี่ธรรมอันนั้นถึงว่าธรรมแท้ๆ คือธรรมอันนั้น

แต่ที่ว่าเป็นคำสอนอยู่นี่ก็เป็นธรรม แต่เป็นสมมุติ เป็นกิริยาของธรรม เป็นที่มันทำปฏิกิริยากันไง เป็นสิ่งที่จะทำปฏิกิริยากันแล้วส่งให้ใจนี้เข้าไปถึงธรรม ก็ต้องอาศัยตรงนี้มา อาศัยธรรม ธรรมที่ว่าเป็นกิริยานี้เป็นสมมุติอยู่ ถึงว่าเป็นสพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เพราะไม่คงที่เหมือนกับสมมุตินี่แหละ

สมมุตินี่มีจริงนะ วิทยาศาสตร์นี่มีจริง แต่วิทยาศาสตร์อันไหนรู้ไหม อย่างยิ่งจรวดไปในอวกาศ ถึงหมดแรงขับเคลื่อนก็ต้องกลับมา นี่จริง จริงแต่จริงแป๊บเดียว จริงที่ขับเคลื่อนออกไป หมดแรงขับเคลื่อนไปอยู่ในนั้น มันอยู่ในอวกาศมันก็เป็นขยะอวกาศไป มันก็ลอยไปตามยถากรรม มันไม่คงที่ เห็นไหม นี่วิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์ก็เป็นสมมุติ บัญญัติก็ยังเป็นสมมุติอยู่ ปัญญานี่ก็เป็นสมมุติอยู่ ถึงเอาเกลือจิ้มเกลือไง ปัญญานี่เป็นสมมุติอยู่ แต่ถ้ามีสมาธิเข้ามาตัดความดึงดูด ตัดความเป็นของเราเป็นอะไรนี่ เพราะเป็นสมมุติเหมือนกัน แต่สมมุติต้องเกลือจิ้มเกลือสิ ต้องสิ่งที่ปัญญาเป็นโลกนี่ แล้วพิจารณาไปๆ จนเป็นสมาธิ แล้วก็เบี่ยงออก พอสมาธิเป็นกลาง เข้ามาเป็นกลาง จากสมมุติมาเป็นบัญญัติ จากธรรมมาก็มาเป็นบัญญัติ จากธรรมแท้ๆ มาเป็นบัญญัติ พอบัญญัติมาเราเริ่มมีวิปัสสนา วิปัสสนากันอยู่ ทำความเพียรกันอยู่เพื่อจะส่งขับดันใจให้เป็นธรรมแท้ ให้เป็นวิมุตติไปไง นั่นคือศาสนธรรม

พระพุทธเจ้ายังกราบธรรมอันนั้น พุทธเจ้ายังกราบธรรมที่ท่านตรัสรู้นะ พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เพราะตรัสรู้ธรรมถึงเป็นพระพุทธเจ้า เป็นรัตนะ ๒ มีพระพุทธเจ้า กับมีพระธรรม พระอัญญาโกณฑัญญะฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ฟังธรรมที่เป็นบัญญัติ เป็นกิริยาของธรรม ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนมานี่ ไม่ให้อัตตกิลมถานุโยค ไม่ให้ไปกามสุขัลลิกานุโยค ให้มัชฌิมาปฏิปทา เข้ามาตรงกลาง ตรงกลางแล้วหลุดออกไป

พระอัญญาโกณฑัญญะรู้ธรรม “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา” รู้ธรรม ถึงเกิดพระสงฆ์องค์แรกของโลก พระสงฆ์องค์แรก...(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)