เทศน์บนศาลา

ภัยคือความเห็นผิด

๖ ต.ค. ๒๕๔๒

 

ภัยคือความเห็นผิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ออกจากหลักธรรมหลักวินัย อันนั้นเอาแต่กว้านทุกข์มาให้ตัว เอาความทุกข์มาใส่ตนก่อน แล้วยังทำให้คนอื่นเห็นผิดตามความเห็นของตัวไปอีก การศึกษาของทางโลกเขานะ โลกเขาศึกษามาขนาดไหน ความศึกษาของทางโลกต้องว่ามีการศึกษานะ ปัญญาแก้ไขทุกอย่างได้หมดแม้แต่โลกกับธรรม แต่มันลึกซึ้งคนละชั้น

ปัญญาโลกแก้ไขเฉพาะปัจจัย ๔ เท่านั้น แก้ไขเรื่องวัตถุ การก่อสร้าง ต้องใช้วิชาการ ดัดแปลงวิชาการจากภูเขาเลาการะเบิดมาเป็นหิน แล้วเอามาสร้างอีกสถานที่หนึ่งให้เจริญขึ้นมา วิชาทางโลก แก้ไขวัตถุ

วิชาทางธรรม วิชาแก้ไขกิเลส นี้ความเห็นต้องดัดเข้ามาให้ตรง ความเห็นผิดนี่ให้ตัวเองเป็นทุกข์ แล้วให้วิชาการนั้นเสียหายไปด้วย ให้คนอื่นเดินตามก็มีแต่ความทุกข์ไปด้วย

เขาว่าคนโง่ แก้ไข โลกนี้โง่ โง่ก็ทำให้ความทุกข์มันเกิดมา โลกนี้ไม่เจริญ โลกนี้ไม่ทันกันเพราะคนมันโง่ ต้องให้มีความฉลาดเท่าเทียมกัน การศึกษาให้ฉลาดขึ้นมา แต่ฉลาดขนาดไหน ความเห็น เห็นเรื่องของโลกๆ เขา ความเห็นของโลกเขา นี้ความเห็นของโลกมันก็เอาแต่ไฟเข้ามาสุมตัวสิ แล้วก็อยากจะหาทางออกนะ

อย่างคอมพิวเตอร์ พยายามวิจัยวิเคราะห์กันขึ้นมาเพื่อจะทำคอมพิวเตอร์ขึ้นมา แล้วทำได้ด้วย พอทำได้ก็ใช้คอมพิวเตอร์มาเป็นระบบการจัดการการเก็บข้อมูล การเก็บข้อมูลเพื่อจะให้ทุกอย่างเข้ามาเป็นความเสมอภาคด้วยปัญญาที่ว่าเป็นจริยธรรม ศีลธรรม เพื่อความเจริญของโลก

แต่คนที่คดโกงพยายามหาทางออก พยายามหาทางเอาเปรียบเขา จะใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อจะคดจะโกง แต่ระบบมันไม่คดโกงไปกับคน ระบบมันก็ยังเก็บข้อมูลไว้ เราจะทำอย่างไรให้มันผิดไป ถึงว่าคนโง่ในปัจจุบันนี้ที่ไม่ทันเทคโนโลยี ให้หลักฐานนั้นทำให้ตนเองต้องติดคุกติดตะรางอีกมากมายเลย เพราะปัญญา ให้เจริญ ให้ทันเทคโนโลยีก็พอแล้ว...ทางโลก

นี่โง่กว่าเทคโนโลยี แล้วจะเอาชนะมันด้วยนะ จะเอาชนะคอมพิวเตอร์นะ พยายามจะคดจะโกงกันเพื่อจะให้ได้อยู่เหนือคน ได้เอารัดเอาเปรียบสังคม แต่สุดท้ายแล้วกฎหมาย กฎหมายของโลกเขาก็ยังตามมาทัน เพราะมีหลักฐานในคอมพิวเตอร์นั้น คือระบบ

ระบบ เหมือนหมายถึง วัฏฏะ ระบบเหมือนกับวัฏวนเลย ระบบมีอยู่ วัฏฏะก็มีอยู่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ จิตวิญญาณนี้ตายเกิดมาในวัฏฏะ มันก็เป็นระบบอยู่เหมือนกัน เหมือนคอมพิวเตอร์เป็นระบบอยู่ แต่คอมพิวเตอร์มันยังเห็นอยู่แล้วจัดการได้ แต่วัฏฏะมันไม่เห็นสิ พอความไม่เห็นก็นึกว่ามีชาติปัจจุบันนี้

ไอ้ความเชื่อของเราก็เชื่อในหลักการของปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ววางไว้ เราศึกษาเป็นสุตมยปัญญา ความจำอันนั้น ความจำนั้นจำเขามา แต่ความเห็นมันก็เห็นผิดอีกล่ะ เห็นผิดว่าควรจะลัดขั้นตอน ควรจะทำให้มันถูกต้องไป ควรจะไปเปลี่ยนสถานะขึ้นมาแล้วจะเอากลับมาหา

ถึงว่าทำบุญกุศลนะ ทำบุญกุศลไป ทุกคนนะไม่อยากจะตายเลย อยากจะมีชีวิตอยู่เพราะมันหวง มันห่วง มันอาลัยอาวรณ์ มันสงวนชีวิตนี้ อยากจะให้เจอพระศรีอริยเมตไตรย ก็จะได้ศึกษาได้ง่ายๆ นี่ความคิดมันคิดไปขนาดนั้นนะ ทั้งๆ ที่ศาสนานี่อริยสัจก็มีอยู่ ความเห็นที่ถูกต้อง ความเห็นตรงที่ชำระกิเลสได้ก็มีอยู่ แต่ทำไมไม่ทำความเห็นตัวให้ตรงเข้าไปชำระกิเลสได้ล่ะ

ปัญจวัคคีย์นะ อัญญาโกณฑัญญะพยากรณ์เลยว่า เจ้าชายสิทธัตถะต้องออกบวช ต้องเป็นพระศาสดา เตรียมตัวรอนะ ตั้งใจรอ รอตั้งแต่เด็กจนโต จนออกแสวงหาโมกขธรรม ออกบวชแล้วยังชวนกันออกไปได้ไป ๕ คน ปัญจวัคคีย์ไปอุปัฏฐากอยู่ อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตอนที่ยังออกแสวงโมกขธรรมอยู่นะ อุปัฏฐากอยู่ ๖ ปีเพื่อรออะไร?

รอความเห็นอันถูกต้อง รอมรรคอริยสัจจังของสยัมภูที่ตรัสรู้เองที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ เพื่อจะได้หาวิชาการทางออกไป เห็นไหม ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าด้วย รอตรงนี้ไง รอวิชาการเพื่อจะให้ความเห็นมรรคอริยสัจจังที่จะพ้นออกไปจากกิเลส นั่นน่ะรอถึง ๖ ปีนะ รอๆ แต่อันนี้นะ เพราะใจเขาพร้อมแล้ว เพราะเขาทำสมาธิมีอยู่แล้ว สมัยนั้นการศึกษาเพื่อความเป็นสมาธินะ เป็นโดยพื้นฐาน เพราะเขามีลัทธิต่างๆ เจ้าลัทธิสอนอยู่แล้ว

แต่นี้ของเรา เรามีอยู่ ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ รออยู่ถึง ๖ ปี แล้วกว่าจะได้ พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วถึงได้กลับมาสอนปัญจวัคคีย์ แต่นี้ของเรา ธรรมอันนี้มีอยู่ แต่หัวใจของเรามันไม่มีสมาธิ ไม่มีพื้นฐานจะรับอันนี้ได้ไง มันกลับกัน กลับกันกับปัญจวัคคีย์นะ ปัญจวัคคีย์พร้อมอยู่แต่ไม่มีวิชาการ ไม่มีความเห็นที่ถูกต้อง แต่นี้ความเห็นที่ถูกต้องในพระไตรปิฎก ธรรมและวินัยนี้มีอยู่ แต่เราต่างหากไม่มีความสามารถทำใจเข้ารับธรรมอันนั้นได้

ดูสิว่า เรามีอำนาจวาสนามากกว่าปัญจวัคคีย์ไหม ปัญจวัคคีย์ขนาดว่าพร้อมนะ พร้อมอยู่ ยังรออยู่ ยังแสวงหาอยู่ ยังมีความใฝ่ฝัน มีความเจาะจงแสวงหาอยู่ รออยู่จน ๖ ปีนะ อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี

แต่นี้เราบวชกันมาเท่าไรแล้ว เราบวชมากี่ปี แล้วเราทำใจเราให้เป็นกลาง มัชฌิมาปฏิปทาคือสัมมาสมาธิ ความเป็นสมาธิเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เป็นสัมมาสมาธิ แล้วยกขึ้นวิปัสสนา สัมมาสมาธิ ยกขึ้นวิปัสสนา ใจเราต่างหาก ความเห็นของเราผิดไง ความเห็นของเราผิดจึงทำใจของเราให้เป็นกลางไม่ได้ ทำใจของเราให้สมควรแก่การที่จะให้เข้าไปรับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นวิชาการที่มีอยู่แล้ว มันเป็นความเห็นของเรานะ ความเห็นผิด ความเห็นผิดแล้วมันจะเข้าถึงสัจจะความจริงอันนั้นได้อย่างไร

สุตมยปัญญาคือการศึกษา การศึกษาเล่าเรียนมาศึกษามาขนาดไหน แล้วพอเข้ามาในใจของเรา มันจะเข้ามาเป็นอย่างไร เข้ามาแล้วถ้าศึกษาแล้วใจมันพอที่ว่าเป็นมัชฌิมาฯ คือว่ากิเลสไม่รุนแรง เราอ่านเราศึกษามา มันเชื่อมันคล้อยตาม ความสุขแค่ซึ้งใจอันนี้ก็มีอยู่แล้ว ความซึ้งใจ ความเห็นช่องเห็นทางไป มันพอจะเป็นไปได้ นี่สุตมยปัญญา

แต่กิเลสในหัวใจ ถ้ามันมืด มันบอด เวลามันเร่าร้อน มันไม่ฟัง อ่านมาศึกษามามันก็ไม่ฟัง มันไม่ฟังอันนี้ แล้วยังไปเอาความเห็นผิดๆ ที่ความคิดออกไปนอกลู่นอกทาง นอกลู่นอกทางนะ ดูอย่างพระนันทะสิ พระนันทะ พระพุทธเจ้ากลับไปโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ แล้วพระนันทะแต่งงานพอดี น้องชาย เอาพระพุทธเจ้าไปสวดไปเป็นมงคลในงาน แล้วให้พระนันทะถือบาตรกลับมาด้วย

“นันทะ เธอจะไปส่งเราตถาคตเหรอ”

แต่พระนันทะเกรงใจก็พามาด้วย พามาที่วัด นึกว่าออกมาจะรับบาตรคืนแล้วจะกลับไปหานางชนบทกัลยาณี พึ่งแต่งงานนะ พระพุทธเจ้าเอาพามาวัดเลย ความที่ว่าเขามีความเห็นผิดไป แต่กำลังจะหมดโอกาสไป พระพุทธเจ้าดึงกลับมา ดึงกลับมา จนมาวัดนะ

“นันทะ เธออยากบวชเหรอ”

ใครจะอยากบวช ในเมื่อพึ่งแต่งงาน เจ้าสาวยังรออยู่นะว่า “เดี๋ยวกลับมานะ กลับมานะ รีบกลับมานะ ส่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสร็จแล้วให้รีบกลับมา”

ไปถึงพระพุทธเจ้าพาออกบวชเลย พอบวชใจมันก็กังวลสิ นั่นความเห็นผิด ทั้งๆ ที่บวชอยู่ ตัวเองเป็นพระนะ บวชเป็นพระสงฆ์อยู่ แต่คิดถึง คิดถึงอยู่ตลอดเวลาว่าเมื่อไรจะได้กลับไปหานางชนบทกัลยาณี ทุกข์ร้อนมาก มีความทุกข์ร้อนอยู่ในหัวใจ เป็นพระ บวชแล้วเป็นพระ เป็นสมมุติสงฆ์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้วาระจิต ถึงได้จับมือ พาก่อน จับมือพา นางชนบทกัลยาณีนั่น พาไปดูลิงก่อน ดูลิงเสร็จแล้วก็พาไปสวรรค์เลย ไปดูนางฟ้า ดูนางฟ้าสวยไหม สวยไหม สวยไหม

“สวยไหม?”

“สวย”

“สวยกว่านางชนบทกัลยาณีไหม ที่ว่าใจยังระลึกถึงอยู่”

“โอ๊ย! เหมือนลิงตัวนั้น นี่สวยกว่า”

“อยากได้ไหม อยากได้ไหม?”

ใครไม่อยากได้ ในเมื่อหัวใจมีกิเลสอยู่ ทุกคนต้องอยากได้หมด อยากได้ไหม เพราะว่าบวชนั้นบวชแต่กาย ยังไม่ได้บวชหัวใจ ถ้าบวชหัวใจแล้วมันถึงจะซึ้งธรรมอันนั้น

“อยากได้”

อยากได้ เอาพากลับมา พระพุทธเจ้าพากลับมา พากลับมานะ

ถ้าอยากได้นะ ให้กำหนดพุทโธ พุทโธ ให้บริกรรมเข้าไปก่อน ให้ใจสงบ ก็ด้วยพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนจิตสงบเข้าไป จิตสงบเข้าไป พระพุทธเจ้าสอนไปเรื่อย สอนไปเรื่อย สอนไปเรื่อย สอนไปจนเห็นธรรมไปเรื่อย เห็นธรรมไปจนสิ้นไปนะ

พอสิ้นไป วิชชา วิชชาที่พาให้พระนันทะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา มันวิชาที่ถูกต้อง แต่ความเห็นนะ นางชนบทกัลยาณี ความเห็นนางฟ้านั่นก็ความเห็นผิดแต่เป็นอุบายธรรม เป็นอุบายที่ว่าให้ทิ้งจากนางชนบทกัลยาณีแล้วก็ให้มาเกาะเกี่ยวที่นางฟ้า ที่นางฟ้า

นางฟ้า เป้าหมายมันเปลี่ยนไปจากนางชนบทกัลยาณีแล้ว เปลี่ยนไป เพราะนางชนบทกัลยาณีเป็นภรรยาที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่ได้เป็นคู่ครอง เพราะพระพุทธเจ้าพาออกบวชก่อน พาไปหานางฟ้า นางฟ้าสวยกว่า นางฟ้าดีกว่า มีสมบัติที่อยากได้สูงกว่าแล้ว สมบัติที่สูงกว่า ต้องใช้วิธีการเข้าไปเอาสมบัตินั้น

นั่นคืออุบายวิธีการที่จะยกใจของตนให้พ้นจากกิเลสที่มันกดถ่วงใจเป็นขั้นๆ ขึ้นมา

กิเลสอย่างหยาบๆ นางชนบทกัลยาณีเป็นปุถุชนด้วยกัน เป็นมนุษย์ด้วยกัน นางฟ้าสูงกว่า อุบายที่ยกใจขึ้นมา อุบาย ความเห็นถึงจะเป็นความเห็นผิดแต่ก็เป็นอุบายธรรม อุบายธรรมที่ยกภูมิจิตภูมิธรรมของใจของตนให้พ้นขึ้นมาจากหล่มลึก หล่มของกิเลสของอวิชชาที่ครอบงำอยู่

อวิชชาครอบงำจิตอยู่ มันบังคับขับไสให้เราคิดแต่เรื่องย้ำคิดย้ำทำ แต่เรื่องความคิดเดิมๆ ความคิดความเห็นเดิมๆ แล้วเราว่าเรามีความคิดความเห็นว่าอย่างไร เพราะอะไร เพราะว่าเราเป็นคนเราคิด เราว่าเราคิด เราพิจารณาอยู่ กิเลสมันหลอกในความคิดนั้น สุตมยปัญญาการศึกษาเล่าเรียนมาก็อย่างนั้น เพราะมันมีกิเลสคิดมาด้วย กิเลสนะความดัดแปลงความคิดเบี่ยงเบนจากความเป็นจริง ความเห็นผิดมันเบี่ยงเบนให้ความเห็นนี้ผิดออกไป

การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน การจะทำใจให้สงบเข้ามา มันไม่สงบขึ้นมาเพราะอะไร ก็เพราะกิเลสมันกลบใจอยู่มิด มืดมิดอนธการมองไม่เห็นสิ่งใดๆ เลย ทำไมเราไม่พลิกใจ เบี่ยงเบนใจของตัวให้ออกไปจากอำนาจของมันในบางขณะ ในเมื่อเราทำกำหนดพุทโธ พุทโธไม่ได้ เราทำความเห็นของเรา ทำให้ความเห็นนั้นเป็นกลางเพื่อจะรองรับธรรมอันนี้

ปัญจวัคคีย์ ก่อนที่ท่านจะออกไปหาพระพุทธเจ้า อุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาเพื่อรออันนี้ ขนาดใจนั้นเป็นธรรมแล้วนะ ยังต้องรอวิชาการอันนั้น แต่วิชาการอันนั้นมีอยู่ ปัญจวัคคีย์ว่าเรามีวาสนามีวาสนา เรามีวาสนา คือว่าโอกาสของเรามีอยู่ แต่ปัญจวัคคีย์นะ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรก เป็นพระอริยเจ้าองค์แรกนะ เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรมเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก ปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว เป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้วนะ พ้นจากทุกข์ไปหมดแล้ว

แต่ขณะที่แสวงหาไง เราต้องมาเทียบเคียงเข้ามาเพื่อจะให้เรามีคุณค่า หัวใจของเรามีคุณค่า มันก็จะมีโอกาสที่เราจะขวนขวาย มีทางก้าวเดินของใจ ไม่ใช่มืดมนอนธการอยู่ มืดมิดบดบังมรรคอริยสัจจัง มรรค ๘ ก็มืดมิด ๘ ด้าน เรามองไม่เห็นแสงสว่างที่จะพาหัวใจออกจากกิเลสเลยแม้แต่นิดเดียว

แต่ในเมื่อเรายังมีเพศของสมณะอยู่ เราเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน พระนันทะ พระพุทธเจ้าไปเอาออกมาจากขนาดที่ว่ามีคู่นะ ยังสามารถพาพระนันทะเข้าไปจนสิ้นกิเลสได้

เราเป็นลูกศิษย์ตถาคต เราบวชเป็นสงฆ์องค์หนึ่ง ทำไมเรามายอมจำนนกับกิเลส ยอมจำนนกับอวิชชาที่อยู่ในหัวใจเราได้อย่างไร มันหมดศักดิ์ศรีของลูกศิษย์ตถาคต ลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้มันมีแต่อาชาไนยที่จะข้ามพ้นจากทุกข์ไปทั้งหมด แต่ความเห็นของเรามันความเห็นอย่างไร นี่การให้กำลังใจ

การที่จะมีกำลังใจก้าวเดิน อุบายวิธีการ ความเห็นผิดมันมืดมิดอนธการในหัวใจของเรา เราก็ต้องมีความเห็นถูกสิ ความเห็นถูก ความเห็นที่ถูกต้อง ว่าธรรมนี้เหนือโลก ปัญญาธรรม ความเป็นธรรม ธรรมเหนือทุกๆ อย่าง เหนือทุกอย่างจนเหนือจนกิเลสยอมจำนนกับธรรม ไม่มีวิชาการใดๆ เลยที่กิเลสจะยอมจำนน กิเลสมันจะกลัวขนพองสยองเกล้าเท่ากับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็มีอยู่แล้ว มีอยู่ที่ไหน

นี่ไง ความเห็นถูกต้องนะ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องอันแรก มรรคข้อแรกเลย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาอาชีโว เราเลี้ยงชีพผิดหรือถูก เพราะความเห็นเราผิด แม้แต่ทำความสงบเข้ามา ทำความสงบเข้าไป

ความเห็น ความเห็นของเด็กๆ ความเห็นของคนผู้ใหญ่ ความเห็นของนักวิชาการ ความเห็นของผู้ที่เจนโลก ผู้รัตตัญญู รัตตัญญูคือผู้ที่รู้โลกมานาน ผู้รู้โลกนาน รู้เห็นนาน ความเห็นมันจะต่างกัน คือว่ามันหลอกกันไม่ได้ มันเท่าทันกันด้วยความเห็น เล่ห์เหลี่ยมของวิชาการ เล่ห์เหลี่ยมของการบิดเบือน กิเลสมันออกมาจากใจ เราก็ต้องมีเล่ห์มีเหลี่ยมหลบหลีกมันไป

ถึงว่า ความคิด สุตมยปัญญาเป็นสุตมยปัญญา สุตมยปัญญาต้องพลิกแพลง ความพลิกแพลงใจของตน ความเอาใจของตนออกมาจากความมืดมนอนธการอันนั้นก่อน ความมืดมนอนธการนั้นมันถึงจะเข้ามาเป็นความสงบ เป็นความสงบนะ เป็นความสงบ

พอความสงบแล้วจิตมันสงบเข้าไป มันจะดื่มกินความสุขเข้ามาเรื่อย ความสุขเข้ามาเรื่อย เพราะมันจากความเร่าร้อน ใจร้อนทุกคนก็รู้ ความฟุ้งซ่านอันนี้รู้หมด แม้แต่ว่าการทำใจให้สงบแล้วเสื่อมไป แม้แต่มีสมบัติแล้วสมบัติหลุดจากมือออกไปมันก็เป็นความทุกข์ แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะอะไร

เพราะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายนี้แปรสภาพทั้งหมด ธรรมทั้งหลาย ความจำนี้แปรสภาพทั้งหมด ขันธ์ ๕ นี้แปรสภาพไป สัจจะมันเป็นอย่างนี้อยู่ ขันธ์มันเป็นอย่างนี้อยู่ คนเรามีกายกับใจ มีธาตุ ๔ กับขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มันก็เกิดดับ เกิดดับตลอดเวลา มันเกิดดับ

แต่ในเมื่อมนุษย์ปุถุชน มนุษย์ในทางโลก เขาศึกษาวิชาการมา มันเก็บสะสมตกผลึกไว้เป็นวิชาการ เพราะประสบการณ์ของชีวิตมันสะสมไว้สะสมไว้ วิชาการมันก็เจริญขึ้นมา ขันธ์ ๕ มันก็ไปจำๆๆๆ ของเขามา วิชาการทางโลกเรียนนะ เรียนคือเรียน เรียนทฤษฎีต่างๆ เรียนการจำมาจำมา นั่นวิชาการวิชาชีพ ถึงมันจะเจริญขึ้นมา ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา ก็เรียนขึ้นมาเพื่อให้ทันกันเท่านั้นเอง ทันกันมันทันในกรอบของกิเลส ในกรอบของกิเลส ในระบบของกิเลส

แต่ในเมื่อเราจะพ้นจากทุกข์ พ้นจากทุกข์ มันถึงว่ามันวิชาการที่ทำให้ใจนี้มันมีพลังงานโดยพลังงานสะอาด พลังงานบริสุทธิ์ พลังงานสะอาดคือเป็นสัมมาสมาธิไง เป็นมิจฉาสมาธิก็ยังได้ ถ้าจิตสมาธิมันสงบเข้าไป ความส่งออกรู้ต่างๆ นั่นน่ะ มันรู้ออกไป รู้ออกไป ความรู้ต่างๆ

อุปจารสมาธิ สมาธิมันกำหนด มันสงบเข้ามาแล้วส่งออกไป ส่งออกไป อันนั้นยังดีนะ มันเป็นอุปจารสมาธิ มันเป็นธรรมดาของมัน แต่สติปัญญาเราใคร่ครวญทันเข้ามาให้สงบเข้ามา สงบเข้ามา ให้มันมีพลังงานก่อน สิ่งที่จะมีพลังงาน จิตที่สงบเข้าไป สงบเข้าไป มีพลังงานแล้ว พลังงานที่สะอาดแล้วถึงยกขึ้นวิปัสสนา

เพราะว่าจิต สมัยพุทธกาลในหลักการเขามีอยู่แล้ว ในความสงบอันนั้นน่ะ แต่เพราะเขาไม่มีมรรค มันเลยว่ามีแต่จิตสงบ จิตนี้เป็นพื้นฐาน ถึงบอกว่า ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อันอย่างนั้นมันไม่สมควรแก่ธรรม มันปฏิบัติเพื่อความสุขในขณะที่ว่าไม่มีเทคโนโลยีที่จะทำให้สูงกว่านั้น มันเป็นอำนาจวาสนาของคนสมัยที่ยังไม่เจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เช่น กาฬเทวิล ระลึกอดีตชาติได้ ๔o ชาติ อนาคตได้ ๔o ชาติ ขณะอยู่บนพรหมนะ นี่ในธรรมวินัยมี พระไตรปิฎกมีอยู่ อยู่บนพรหมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นมานะ ลงมาจากพรหมเพราะเทวดาดีอกดีใจขึ้นไป ร่ำลือขึ้นไป ได้ยินขึ้นมา ลงมาดู ยังเสียใจเพราะตัวเองต้องตายก่อนวิชาการนี้จะเกิดขึ้น

ถึงว่า อำนาจวาสนาของคนสมัยนั้น ที่ว่าทันพระพุทธเจ้าแล้วยอมเชื่อฟังก็มี ที่ว่ารู้อยู่ ทั้งๆ ที่ว่าเพราะเขามีจิตอันนี้ อันนี้สงบเข้าไปแล้วมันรู้ต่างๆ รู้ต่างๆ แล้วมันเป็นสัมมาไหม ถ้าเป็นสัมมาทำไมเขาไม่สามารถชำระกิเลสได้ล่ะ มันรู้ต่างๆ มันรู้ออก

ขนาดไปอยู่บนพรหม กาฬเทวิลอยู่บนพรหมเลย นั่นน่ะ สมาธิเป็นสมาธิอยู่ แต่ความส่งออก วิชาการอันนั้นมันไม่เข้ามาเป็นมรรค มันไม่รู้ภายใน มันไม่รู้ในเรื่องของวาระจิต ที่ว่ารู้วาระจิต จิตส่งออกทั้งหมด แต่รู้จิตของตัว รู้กิเลส รู้วาระจิตของเขา รู้จิตคนนอก รู้เรื่องคนอื่น รู้เรื่องทุกๆ คน แต่ยกเว้นรู้เรื่องของตัวเอง

นี่ไง พอจิตสงบเข้ามาสงบเข้ามา มันก็ต้องมาดูตรงนี้ มาดูจิตของตัวเอง มาดูกิเลสที่อยู่ในใจของตัวต่างหาก เห็นคือเห็นกิเลส กิเลสมันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่กายกับจิต ถึงการเห็นกายเห็นจิตนั้นคือตัวเห็นสิ่งที่กิเลสมันเกาะเกี่ยว กิเลสมันอาศัยกายกับจิตนี้เป็นที่อยู่อาศัย มันอาศัยกายและจิตนี้เป็นที่อาศัยของมัน มันเกิดดับพร้อมกับใจเรา

แต่จิตสงบของสมัยนั้น เขาสงบเข้าไป แล้วมันส่งออกคือว่าไม่เห็นกายกับจิต เห็นแต่เรื่องออกไปข้างนอก เห็นแต่เป็นเรื่องฤทธิ์ เรื่องปาฏิหาริย์ ฤทธิ์ต่างๆ ถึงว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นความเห็นผิด ความเห็นของเขาผิดเลยเพราะอะไร เพราะเขายังไม่มีความเห็นถูกต้องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน เป็นผู้ที่ชี้นำ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสยัมภู เป็นผู้รู้ รู้ด้วยตนเอง บุพเพนิวาสานุสติญาณ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบุพเพนิวาสานุสติญาณ รู้การเกิดการดับ อดีตทั้งหมดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ย้อนกลับไป จนถึงว่าจนจารึกไว้ในพระไตรปิฎก ตั้งแต่พระเวสสันดรออกไป ๑o ชาติ บารมี ๑o ทัศ ออกไปเรื่อยๆ ออกไปเรื่อยๆ ออกไป นั่นระลึกรู้อยู่ไป แล้วบอกกล่าวตอนเทศนาว่าการไว้ จดจำกันมาแล้วบันทึกไว้ในธรรมและวินัยที่เป็นองค์ศาสดาของเรา

พระพุทธเจ้าขนาดส่งออกไปขนาดนั้น รู้จริงด้วยนะ รู้ตามนั้น รู้จริงก็แก้กิเลสไม่ได้ ความรู้จริงๆ อย่างนั้นก็แก้กิเลสไม่ได้เพราะมันไม่ใช่ความเห็น การเห็นกิเลส มันเป็นความเห็นการซับซ้อนของใจที่ใจเคยสะสมมา ผ่านออกไปทางสัญญานั้น สัญญาเก่าของใจที่ย้อนๆๆๆๆ กลับไป นี่ระลึกชาติ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ สัตว์เกิดแล้วไปไหน อย่างที่กาฬเทวิลรู้อดีต ๔o อนาคต ๔o การเกิด ใครเกิดตายเกิดตายได้ ๔o ครั้ง อันนี้รู้ไม่มีที่สิ้นสุดนะ จิตดวงไหนตายแล้วเกิดตายแล้วเกิด ยังมียืนยันอยู่ในพระไตรปิฎก

ขนาดที่ว่ามีโยมสมัยนั้นเขาเป็นขี้เหล้าเมายานั่นน่ะ แต่เวลาเขามีจิตใจที่ว่า ถึงเวลาเขาจะดับขันธ์ เขาระลึกรู้อยู่ เขามีความเห็นของเขาจริงว่าการชำระเห็นกายกับใจแยกออกจากกันตามความเป็นจริง ในสักกายทิฏฐิเขาปล่อย เขาเป็นพระโสดาบัน นี่พระพุทธเจ้าก็รู้ เอามาบอกไว้ในตำรา พระอานนท์ไปบิณฑบาต แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“คนๆ นี้ตายแล้วไปเกิดเป็นพระโสดาบัน เกิดบนสวรรค์”

ชาวมหานครทั้งหมด ติเตียนทั้งหมดเลย ในความเป็นอยู่ของเขา เลวเหลวไหลขนาดนั้น แล้วเขาจะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร นี่บารมีคนไม่เหมือนกัน

“จุตูปปาตญาณ” พระพุทธเจ้าเห็นการเกิดและการตาย ยังเห็นว่าการเกิดและการตาย นี่ยังเห็นว่าการเกิดและการตายพร้อมกับเป็นพระอริยเจ้าขึ้นมานะ มันสำคัญยิ่งกว่าการเห็นว่าการเกิดและการตายกันด้วยจิตที่มีกิเลสพร้อมๆ กันไป มันเห็นไปอย่างนั้น แต่นี่เห็นว่าการเกิดและการตายแล้ว ยังเห็นสิ่งที่ว่าชำระกิเลสในหัวใจนั้น ยังชำระกิเลสไปได้ขั้นตอนหนึ่ง มีดวงตาเห็นธรรมพร้อมกับการตายนั้นด้วย นั่นจุตูปปาตญาณ

เห็นไป เห็นไป เห็นไปทั้งหมดก็ไม่ใช่ ย้อนกลับมา จนย้อนกลับมา เอ๊ะ! อันนี้ก็ไม่ใช่ อันนี้ก็ไม่ใช่ จนเป็นอาสวักขยญาณนู่นน่ะ อาสวักขยญาณต่างหากเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ชำระกิเลสได้จริงตามความเป็นจริง ชำระกิเลสในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ก่อน อาสวักขยญาณทำให้กิเลสนี้สิ้นไป อวิชชาดับหมด ดับเกลี้ยงจากหัวใจ ดับหมดสิ้นจากใจ ใจนี้อิ่มเต็มตามความเป็นจริง อันนี้ต่างหากถึงได้ปฏิญาณตนว่าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยตนเอง เป็นสยัมภู ตรัสรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้ฟังมาจากใครทั้งสิ้น ไม่มี ในโลกต่างๆ นี้ ๓ แดนโลกธาตุปัจจุบันนี้ไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แสวงหาเจอเป็นองค์แรก ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงว่าประเสริฐขนาดนั้น

แล้วเราเป็นบริษัท ๔ เป็นภิกษุที่อยู่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันถึงว่าภูมิใจ มันน่าภูมิใจนะ ความภูมิใจ ความดีใจของตนเองที่ว่าเราเกิดมาเป็นสาวกะ แล้วธรรมเทคโนโลยีอันนี้มีอยู่ ธรรมมรรคอริยสัจจังมีอยู่ มีอยู่เราต้องทำใจเข้าไปรับธรรมอันนี้ รับธรรมอันนี้เข้ามาแก้กิเลสอันนี้ ถึงว่าเป็นโอกาส แค่โอกาสมันเป็นสิ่งที่มหาศาล

ในทางโลกเขาว่าให้โอกาสกัน ให้มีการแก้ไข ให้มีการดัดแปลงกัน เขาให้โอกาส คนที่ไม่มีโอกาส เขาไม่มีโอกาสเลย เขาทุกข์ร้อนอยู่ เขาไม่มีโอกาส เราเป็นนักรบ เป็นนักรบกับกิเลส ประกาศตนว่าเป็นนักรบอยู่แล้ว โอกาสของเราเต็มร้อยเลย โอกาสของเราเต็มๆ แค่โอกาสมันถึงว่ามันน่าจะภูมิใจแล้ว ความภูมิใจอันนี้ถึงว่า ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากอยู่เพราะรออันนี้

แต่เรามีอยู่แล้ว เราถึงว่าเรามีวาสนา มีวาสนาในการเข้าหามากกว่านะ แต่ปัญจวัคคีย์สิ้นกิเลสไปแล้ว เรายังไม่ทัน เราถึงเทียบไม่ได้ถึงวาสนาอันนั้น แต่วาสนาในโอกาสอันนี้เรามหาศาล แล้วเราจะทำได้อย่างนั้นไหม ในเมื่อพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกสำเร็จไปก่อน สำเร็จไปแล้ว เห็นธรรมก่อน แล้วไปพร้อมกัน ๕ องค์ พระปัญจวัคคีย์

เราก็เหมือนกัน ถึงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นครูของเทวดา ของมนุษย์ เป็นครูของเราด้วย อัญญาโกณฑัญญะ พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เป็นสงฆ์องค์แรก เป็นสงฆ์รุ่นแรกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ต้องตั้งความมุ่งหมายของเรา เราต้องตั้งความมุ่งหมายของเราเพื่อจะเดินทางนั้นให้ได้

ถึงว่า กำลังใจมันจะเกิดขึ้นมา เราจำแนกแยกแยะออกว่าโอกาสของผู้ที่แสวงหาขนาดไหนเขายังเดินมาก้าวเดินกันอย่างไร แล้วเรากำลังเป็นสาวก จะว่าสุดท้ายก็ยังไม่สุดท้ายเพราะกึ่งพุทธกาลยังเดินตามอยู่ ยังเดินตามอยู่ ยังก้าวเดินตามไป ไปว่าก้าวเดินตามขึ้นมาด้วยธาตุ ๔ แล้ว

ในเมื่อเรามาบวชในศาสนาแล้ว เราเป็นสมมุติสงฆ์ที่จะกำลังแสวงหาอยู่แล้ว เราก้าวเดินเข้ามาครึ่งหนึ่ง คือร่างกายเป็นพระแล้ว แต่หัวใจ หัวใจมันยังทุกข์ร้อนอยู่ หัวใจต้องก้าวเดินต่อไปเพราะว่าบวชแล้วมันบวชแต่ร่างกาย หัวใจยังไม่ได้บวช กิเลสมันไม่กลัว มันไม่กลัวการบวช บวชมาส่วนบวชร่างกาย เพราะกิเลสมันซุกอยู่ในนั้น

พระเราปฏิบัติมันถึงมีความทุกข์อยู่ มีความทุกข์ มีความกังวล มีความทุกข์ทั้งนั้นล่ะ เพราะว่ากิเลสมันยังอยู่ที่ใจ ถึงต้องบวชซ้ำอีกทีหนึ่ง “บวช” บวชด้วยมรรคอริยสัจจัง บวชร่างกายนี้บวชที่อุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ จตุตถกรรมญัตติขึ้นมาเป็นสงฆ์ แต่หัวใจจะทำอย่างไรให้กิเลสมันขาดออกไปเป็นชั้นๆๆๆ ไป

ดูอย่างคฤหัสถ์ในสมัยพุทธกาลที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเห็น เห็นไหมว่าเวลาดับขันธ์ไปพร้อมกับเป็นพระอริยเจ้าขึ้นมา พร้อมกับดวงตาเห็นธรรมเขายังทำได้ แต่เพราะหัวใจของเขา ความผิดถูกของใจสะสมมา การหาอยู่หากิน การประพฤติปฏิบัติมันเป็นความผิดความถูก มันสะสมลงที่ใจ ใจนี้จะเหลืออยู่เรื่องบุญกุศลรับอยู่ที่ใจ ทำบาป ใจนั้นก็เป็นผู้รับไว้ ทำบุญ ใจนั้นก็เป็นผู้รับไว้

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเข้าช่องเข้าทาง ใจเป็นผู้รับไว้เพราะอะไร เพราะใจมันได้สัมผัสความสุขมาเรื่อยๆ ใจมันมีความสงบเข้ามาเรื่อยๆ ใจมีความสงบ ใจมันเหลืออะไร? สิ่งที่สงบเข้ามาเป็นอาการของใจ อาการของใจจะฟุ้งซ่านออกไปทั้งหมด ใจของเราจะฟุ้งซ่านออกไปตามแรงยุแหย่ของกิเลส จะหนักจะเบาอยู่ที่ว่ามันกระทบแรงหรือกระทบเบา ความกระทบ เพราะใจเรามีอยู่ใช่ไหม ข้อมูลเดิมเรามีอยู่ใช่ไหม อาการต่างๆ ที่เข้ามากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ป่าไม่เคยเห็นอะไรเลย ทำไมหัวใจมันกระทบอย่างนั้นล่ะ

กรรมคนมีนะ กรรมของคนไม่เหมือนกัน กรรมของนักปฏิบัติไม่เหมือนกัน การสะสมมาไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการกระทบมา จริตนิสัยต่างกัน ความกระทบกระทั่งกันไม่เหมือนกัน กระทบ บางคนกลัวไปคนละอย่าง ยอกใจแสลงใจไปคนละอย่าง กลัวสัตว์ กลัวผี กลัวสาง กลัวไม่เหมือนกัน บางคนไม่กลัวเลยนะ เรื่องสัตว์ไม่กลัวเลย กลับไปกลัวเรื่องวิญญาณ นี่ใจของคนไม่เหมือนกัน การกระทบถึงต่างกัน การกระทบต่างกัน ถึงว่าจริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน การกระทบ กระทบกับสิ่งที่สัมผัสใจ พอกระทบสัมผัสใจขึ้นมา กิเลสมันก็ฟูขึ้นมา ความฟูขึ้นมาอันนี้ ความตั้งใจสังเกต เวลามันทุกข์ร้อน มันทุกข์ร้อนไปก่อน

การประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นใหม่ๆ นะ กิเลสมันเผาไหม้ไปจนเต็มที่แล้วนะ มันค่อยย้อนกลับมาว่า เฮ้อ! ทุกข์เหลือเกินเนาะ ทุกข์มาก ทุกข์มาก...นี่มันยังดี ดีที่ไหน ดีเพราะอะไร เพราะถ้าไฟไหม้ป่า ป่าทั้งป่าไฟไหม้หมดไปเลย แล้วมันก็หมดไปเพราะอะไร เพราะมันเป็นธรรมชาติ ไม่มีใครไปเห็นอยู่ในป่า

นี่เหมือนกัน ความทุกข์เกิดขึ้นในหัวใจมันไหม้เผาใจของเราไป แล้วพออารมณ์เรารุนแรงไปจนจบสิ้นแล้ว เราก็ยังคิดว่ามันไม่มีหลักฐาน มันเป็นนามธรรม ความเป็นนามธรรมนี่มันไม่มีหลักฐาน คือมันไม่รู้สึกตัว แต่ในเมื่อความทุกข์เร่าร้อนเผาใจของตัว พอมันเผาใจของตัว เผาใจแล้วมันจะมีสติมีสัมปชัญญะรับรู้ความทุกข์อยู่ เฮ้อ! นี้คือจับต้องสิ่งที่ตกผลึกที่ใจ

สมาธิก็เหมือนกัน เราพยายามทำความสงบ กำหนดพุทโธ พุทโธ ทำความสงบให้ได้ สิ่งที่อาการของใจสงบตัวเข้ามา สงบตัวเข้ามา สงบตัวเข้ามา ความสงบที่เหลือไปนะ เหมือนกับที่ว่าเวลามันเผาใจแล้ว เฮ้อ! ทุกข์มาก เวลาสงบขึ้นมานะ เฮ้อ! อิ่มใจมาก อิ่มใจ สุขใจมาก ใจมันปล่อยวาง มันเข้าใจสิ่งที่ว่ามันเผาลนนั้นมันเป็นอาการของกิเลส อาการที่สงบตัวเข้ามานี้อาการของธรรม

“อาการของธรรม” อาการของธรรมเพราะอะไร เพราะเราเชื่อจากสุตมยปัญญา เชื่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าความร่มเย็นของใจ ใจเร่าร้อนคือใจไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ใจที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์เหมือน...

...เร่าร้อนมาก เร่าร้อนมาก พอจิตมันเริ่มสงบเข้ามา สงบเข้ามานะ ทำความสงบให้ได้ พออยู่พอกินแล้ว พออยู่พอกินก็คือมีแรงที่จะทำงานได้ ถ้าไม่พออยู่พอกินมันทำไม่ได้ ทำไม่ได้คือไม่มีโอกาส มันยังมีโอกาสขึ้นมา นี้ก็ต้องอาศัยสังเกตตรงนี้ ตรงนี้ตรงทำใจทำความสงบเข้ามา ทำความสงบเข้ามา ตั้งฐานของตัวเองขึ้นมา ตั้งฐานของตัวเองนี่บวชใจ จะบวชใจของตนขึ้นมาให้ได้ บวชใจนี้เราต้องบวชเอง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานธรรมไว้ ประทานธรรมไว้ ศาสนาพุทธเราเป็นศาสนาที่ประเสริฐ ถึงว่าสิ้นถึงความเป็นทุกข์ทั้งหมดได้ แต่ทำไมประชากรในโลกนี้มีกี่พันล้านคน มีใครเขาสนใจขนาดไหน เขายังไม่สนใจกันขนาดนั้นเลย เขาสนใจแต่เรื่องของกิเลสมันพาเป็นใหญ่ กิเลสมันปิดตาอยู่ มันก็เอาแต่ความมักใหญ่ใฝ่สูง เอาแต่ความเร่าร้อนมาเผาใจ สุดท้ายพอจะถึงวันตายขึ้นมา คือว่าตายเปล่า

แต่นี่เราสละออกมาแล้ว เราสละออกมาเพราะเราเชื่อมาก่อน ความเชื่อ กับธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ ถึงว่าเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน วิธีการที่จะชำระล้างกิเลสนั้น ผู้ที่เป็นทุกข์ๆ ร้อนๆ อยู่นั้น เป็นคนที่ก้าวเดินจากแดดเข้ามาหลบร่มเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ชี้ทางเท่านั้นเอง มีคนชี้ทางอยู่ ชี้ทางว่าไปออกไปข้างนอก จะไปถึงปลายทางขนาดไหน เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาออกไป บางคนไปก็ไปไม่ถึง เพราะมันไปเลี้ยวผิดซอย ไปเลี้ยวผิดซอย ไปเลี้ยวผิดที่ก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย ทั้งๆ ที่คนบอกก็เคยไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน “บอก” มีสมัยพุทธกาลก็ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร? ก็สอนแบบคนเลี้ยงม้า ถ้าใจมันคึกคะนอง เหมือนม้าที่มันพยศ ก็ไม่ให้มันกิน ไม่ให้มันกินเลยนะ มันหิวขึ้นมา มันไม่มีแรงเอง มันต้องหยุดออกไป พอไม่หยุดอกไป พอมันไม่พยศนักก็ให้มันกินเล็กๆ น้อยๆ เพื่อจะฝึกมัน

ถ้าตัวไหนฝึกง่าย ให้กินตามธรรมชาติของมัน ฝึกง่าย ถ้าฝึกปานกลางก็ให้กินบ้าง อดบ้าง อิ่มบ้าง ถ้าจะฝึกไม่ได้เลยล่ะ ไม่ได้ก็ต้องตายไป ไม่ได้ก็ตายไปหมายถึงไม่ฝึก ปล่อยไปเลย ปล่อยมันตามมันเป็นไป ตามมันเป็นไปคือว่า ท่านปล่อยคือว่าฆ่าทิ้ง ฆ่าทิ้ง คือว่าไม่สนใจ แค่ไม่สนใจเหมือนกับฆ่าทิ้งเลย พระพุทธเจ้าไม่สนใจ ธรรมนี้ไม่สนใจ คนนั้นไม่มีโอกาส

แต่นี้เราสนใจ เราตั้งใจ แต่ธรรมที่ชี้ไปนั้นน่ะ มรรคอริยสัจจังชี้ไปถึงดับทุกข์นั้น เราเกาะอันนั้นไม่ติด ไม่ใช่ว่าเราไม่มีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาอยู่ในกำมือของทุกๆ คน กำมือคือใจ อำนาจวาสนาอยู่ที่ใจดวงนั้น ใจดวงนั้นถ้าไม่ได้สะสมบุญกุศลขึ้นมา ทำไมโอกาสมันถึงเป็นโอกาสทองขนาดนี้ เกิดมาท่ามกลางพระพุทธศาสนา เกิดทันตั้งแต่ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำทาง ชี้นำทางมา เป็นผู้ชี้นำทาง ทำไมมันเป็นไปไม่ได้ มันต้องเป็นไปได้สิ เป็นไปได้ก็ต้องหักเข้ามา

มันเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับว่า ม้าตัวไหนที่มันพยศล่ะ จิตดวงไหนที่มันพยศนักล่ะ มันพยศ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังว่า ฝึกสอนกับพระนันทะ เปลี่ยนระบบแล้วใช้อุบายนั้นเข้ามาสิ ใช้อุบายอย่างนั้น พลิกใจเข้าไปเลย พลิกใจเข้าไป ความเห็นที่ถูกต้อง ความเห็นที่จะเข้ามา เข้ามา เข้ามา อุบายวิธีการเราต้องพลิกแพลงตลอด กิเลสมันไปพร้อมกับเรา กิเลสมันไปพร้อมกับการประพฤติปฏิบัติ

เราว่าเราบวชแล้ว กิเลสมันจะยอบตัวลง เราจะปฏิบัติง่าย...มันไม่ใช่ มันอันเก่า กิเลสอันเก่า มันสุขใจ มันภูมิใจตอนได้สถานะ ตอนได้เป็นพระสงฆ์มา ตอนนั้นบุญกุศล การบวชเป็นพระนี้มีบุญกุศลมาก แล้วเพราะว่ามาจรรโลงศาสนา มาจรรโลงศาสนาไว้ มาสืบต่อพุทธศาสนาไว้ แค่บวชก็ได้บุญกุศลแล้ว นั่นน่ะ มันอิ่มบุญอันนั้น มันก็มีความมีบุญกุศล เราก็สืบต่อมาได้ พอบุญกุศลนั้นอยู่นานไป นานไป มันชินชา พอมันชินชา จิตมันชินชา พอชินชาเข้ามันต้องให้มีบุญกุศลมากกว่านั้น มากกว่านั้น มากกว่านั้น อาหารที่เคยกินมันเบื่อหน่าย

เวลาจิตที่มันเป็นธรรม ถ้าจิตที่เป็นธรรม ต้องรีบขวนขวาย รีบก้าวเดิน โอกาสนี้รีบก้าวเดิน ครูบาอาจารย์มีอยู่ ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำอยู่ รีบก้าวเดินเลย รีบก้าวเดิน เข้าไป พยายามจงใจตั้งใจ สังเกตให้ได้ ทำใจให้ได้ กิเลสมันมาลูกไหน มันทำให้เราเจ็บแสบ ถ้ามันสู้ไม่ได้ ขันติธรรม ขันติธรรมกดไว้ กดไว้ ตั้งใจกด กดไว้ ถ้ากดไว้ไม่ได้ พลิกออก พลิกออกเลย พลิกไปเรื่อยๆ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกเลย บอกว่า พระไม่ให้อยู่ในสถานที่นาน แล้วก็ไม่ให้เดินทางตลอดไป เห็นไหม ให้เปลี่ยนสถานที่ข้างนอก แล้วเปลี่ยนอารมณ์ของใจล่ะ อารมณ์ของใจต้องเปลี่ยนเหมือนกัน เปลี่ยนอาการของใจ ใจมันเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์อย่างนี้ ต้องเปลี่ยน ต้องเปลี่ยน คิดตามมันไป ตกทะเล

เว้นไว้แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราจะคิดให้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ สติสัมปชัญญะให้มันคิดไป ดูมันคิดไป คิดไปคิดไป เพราะว่าอะไร เพราะว่าถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธเข้ามา มันกำหนดได้ยาก ความกำหนดพุทโธ พุทโธ กำหนดได้ยากอันนั้นน่ะ เพราะว่าเวลามันเร่าร้อนแล้วเหมือนกับกลางทะเลทรายหาน้ำได้ยาก หาน้ำได้ยาก พอหาน้ำได้ยาก น้ำมันมีน้อย หาลำบาก

นี่ก็กำหนดพยายามพุทโธ มันฝืนกัน รุนแรงกันเกินไป ความรุนแรงเกินไป จิตมันรับมันไม่ไหว มันไม่ไหวก็ต้องคอยผ่อนมันไป ผ่อนให้ความคิดไหลออกไป สติสัมปชัญญะคุมมันออกไป สุตมยปัญญา ความศึกษาเล่าเรียนมา ดูมันไป ดูความคิดมันก้าวเดินออกไป ทุกข์ๆ นั่นล่ะ ดูทุกข์ออกไป ถึงที่สุดแล้วมันหยุดได้

โดยธรรมชาติของขันธ์ ๕ นะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา คนทุกข์ถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องหมดนะ ต้องหยุดอยู่แค่นั้น ไม่เคยมีคนทุกข์จน...เว้นไว้แต่คนขาดสติ พอทุกข์มากๆ แล้วมันก็ทำร้ายตัวเอง หมดไป นึกว่ามันจะหมดไป มันกลับทุกข์มากไปอีกเพราะอะไร เพราะว่ามันสถานะที่ว่าทำกรรมไว้มาก ต้องไปรับทุกข์หนักๆ กว่านั้นอีก

แต่ถ้ามีทุกข์อยู่เฉยๆ นะ เรามีความทุกข์อยู่ คนเคยประสบทุกข์ทุกคนนะ ทุกข์ที่รุนแรงนี้แทบจะทนไม่ได้เลย เพราะอะไร มันเกิดแล้วมันตั้งอยู่ แล้วต้องดับไป เพราะมันเป็นไตรลักษณ์ ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่และทุกข์ดับไป ทุกข์ไม่ใช่อันเดียวกันนะ ไม่ใช่อารมณ์อันนี้แล้วจะทุกข์จนตาย ไม่ใช่ ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่และทุกข์ดับไป แต่ทุกข์มันเกิดตลอดเวลา ทุกข์ๆๆๆๆ มันเกิดตลอดเวลา เพราะเราไม่เข้าใจมัน นี่ความเห็นผิด มันเลยแก้ทุกข์ไม่ได้ไง

ถ้าความเห็นถูก มันเห็นว่าทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่และทุกข์ต้องดับไป ความจริงมันเป็นอย่างนั้น มันก็เลยกลายเป็นเหมือนกับไฟมันเผาอยู่ตลอดเวลา ไฟป่ามันเผาที่เชื้อที่มันไม่มีวันที่สิ้นสุด ไฟป่า เผาป่า เผาที่ป่าทึบมาก เผาอยู่นั่นล่ะ ไฟรุนแรงมากไม่เคยดับเลย อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันยังมีอวิชชา มีความโง่อยู่ในหัวใจ มีความเห็นผิดอยู่ที่ใจ พอความเห็นผิดอยู่ที่ใจ ไอ้ทุกข์เกิดขึ้น ไฟบรรลัยกัลป์มันเผาที่ใจแล้วมันเผาอยู่อย่างนั้น

ความคิดมันเกิดขึ้น ความคิดที่มันคิดว่าผิดๆ พลาดๆ ความเห็นผิด ความเห็นผิดทำลายแม้แต่โอกาสการประพฤติปฏิบัติ ทำลายทั้งนั้น ความเห็นผิด พอมันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นมันก็เผาไอ้ความเห็นอันนั้น เผาทั้งความเห็นผิด เผาทั้งความไม่พอใจ เผาตัณหาทะยานอยาก สมุทัยมันต้องการให้ดับ ต้องการไม่ให้เป็นไป มันอยากจะชุบมือเปิบ มันหวังแต่ว่าจะเอาแต่ความสุข เอาง่ายๆ มันจะเอาแต่ความมักง่าย

ความมักง่ายว่า สมาธิจงมาอยู่ในใจเรา ความสุขจงมาอยู่ในใจเรา อะไรความง่ายๆ มาอยู่ในใจเรา เราประพฤติปฏิบัติธรรมก็ควรจะได้ความสุขแบบพระปัญจวัคคีย์ ฟังธัมมจักฯ ก็มีดวงตาเห็นธรรมเลย พระอัญญาโกณฑัญญะ ธัมมจักฯ เราก็ท่องได้ สวดทุกวัน ทำไมใจมันไม่เป็นไป

นั่นน่ะ เพราะมันคิดง่ายๆ สติสัมปชัญญะมันไม่รอบคอบ

การประพฤติปฏิบัติธรรม การดูกายและจิต มันต้องดูความให้รอบคอบ ให้รอบคอบว่าทั้งๆ ที่ความจริงมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วต้องดับไป ทุกข์ไม่เคยอยู่ตลอดไป ทุกข์ไม่เคยมีตลอดไป ทุกข์เกิดดับเกิดดับตลอดเวลา แต่มันเกิดถี่ยิบถี่ยิบ เพราะมันมีเชื้อของตัณหาทะยานอยากตอนไม่ต้องการให้เป็นทุกข์ ไม่ต้องการให้เป็นไปที่มันจะเผาไหม้ แต่มันก็เผาไปด้วยสัจจะของมัน มันมีอยู่ตามความเป็นจริง มันมีเชื้ออยู่ มันจะไม่เผาได้อย่างไร มันก็ต้องเผาไปสิ

ทีนี้พอมันเผา สัจจะความจริงมันก็เกิดดับอยู่แล้ว แล้วทีนี้วิชาการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือว่าให้ดูเพื่อสร้างปัญญา นี่ปัญญาธรรม ปัญญาธรรมต้องเข้าใจ รู้เห็นความคิด รู้เห็นขันธ์ ๕ มันทำงานโดยความเป็นจริง สังขารปรุงแต่ง ปรุงแต่อย่างไร มันมีเชื้อมาจากไหน แล้วเชื้อมันสืบต่อด้วยวิญญาณนี่มันประสานกันอย่างไร วิญญาณที่ประสานในขันธ์ ๕ มันหมุนไปนะ ให้ความคิดที่มันเผาไหม้ใจของตัวเอง มันเผาอยู่ตลอดเวลานี่มันมาจากไหน

ในเมื่อขันธ์ ๕ มันเป็นความคิด มันเป็นทางเดินของความคิด ความคิดหนึ่ง อารมณ์มันมีขันธ์ ๕ พร้อมอยู่แล้ว ขันธ์ ๕ กับธาตุ ๔ ธาตุ ๔ คือร่างกาย ร่างกายคิดไม่ได้ แต่หัวใจอยู่ในร่างกายนั้น หัวใจนั้นเป็นขันธ์ ๕ สมมุติคือคำพูดที่รู้กันภายนอกก็อาศัยขันธ์ ๕ นี่แหละ แต่มันอาศัยขันธ์ ๕ ที่เป็นผลของขันธ์ ๕ สมมุติข้างนอกนี้เป็นผลของขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ หมุนไป ขันธ์ ๕ จำไว้ สัญญาจำไว้เขียวแดง เหลืองแดงก็ต้องไปคุยกันเขียวเหลืองแดง สืบต่อกับสมมุติข้างนอก บัญญัติคือขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ คือสัญญาคือความปรุงความแต่งอยู่ภายใน ความปรุง ความแต่ง มันสืบต่อเนื่องกัน วิญญาณรับรู้ วิญญาณรับรู้ก็เวทนาพอใจ ไม่พอใจ ไม่พอใจยิ่งเผา ทั้งๆ ที่มันเกิดดับเกิดดับ เห็นหรือไม่เห็นมันก็เป็นอย่างนี้

แต่ในเมื่อปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วบอกวิธีการไว้ ทำไมสติสตังมันไม่มี ของมันเป็นจริงอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้าความเห็นตรง ความเห็นถูกต้องมันก็ต้องเห็นตามความเป็นจริงสิ เห็นตามความเป็นจริงมันก็ต้องปล่อยวาง ขันธ์ ๕ มันจะสืบต่อไปไม่ได้สิ กิเลสมันอาศัยขับเคลื่อนไป อาศัยที่ว่ามันเผาไหม้อยู่นั่นน่ะ กิเลสตัวเผาไหม้มันมีเชื้อ ในเมื่อทุกข์มันเกิดขึ้นมันก็เผาอยู่ สัจจะมันเผาอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้าเผาขึ้นมาก็เผามาที่หัวใจ เร่าร้อน เร่าร้อน เร่าร้อน ความเห็นใครถูก

ความเห็นผิด ความเห็นผิดทำให้เราทุกข์ ความเห็นเราผิด ถึงบอกว่า ไม่อกาลิโก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อกาลิโก ธรรมเป็นอกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา จะยืน เดิน นอน จะนั่ง จะคิดอย่างไร ไม่มีกาล ไม่มีเวลา

แต่ทำไมเหนี่ยวรั้งมาประดับใจไม่ได้ มันเผาไหม้อยู่ตามความเป็นจริงโดยกิเลสใช่ไหม

แต่ถ้ามีธรรม น้ำดับไฟเข้ามาดับ สัจจะรู้ตามความเป็นจริงมันจะปล่อยหมด เห็นตามความเป็นจริง ความจริงความเห็นถูกต้อง ความเห็นถูกต้องกิเลสมันต้องอาย กิเลสคือสังโยชน์ มันเกิดดับเกิดดับพร้อมกับใจอยู่ เกิดดับเกิดดับพร้อมกับอารมณ์ที่มันเป็นทุกข์ๆ อยู่ นั่นน่ะ ความเห็นผิด

ความเห็นผิดคืออะไร? ก็คือกิเลส

สันดาน สันดานที่สะสมมา สันดานการเกิดการตายมาแต่ละภพแต่ละชาติ สะสมการเกิดการตาย สะสมมาจนเป็นสันดาน สันดานมันเป็นไปโดยธรรมชาติ ความคิดนี้ ความทุกข์นี้มันก็เป็นเกิดดับเกิดดับเป็นธรรมชาติของมันอยู่ แล้วก็เป็นเราใช่ไหม เราก็ยึดว่าเป็นเรา เราคิดถูก เราคิดดี เราคิดถูกคิดดี มันเลยความเห็นผิดๆ ผิดก็เลยไปค้านกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า งัดกัน งัดกับธรรมะ

แล้วกิเลสไหนมันจะไปชนะธรรมล่ะ กิเลสไหนมันจะงัดธรรมแล้วมันจะเป็นศาสดาองค์ใหม่ ศาสดาของกิเลสที่ไหนมันจะมี ศาสดาของกิเลสก็มีแต่หัวใจเรานั่นล่ะ อวิชชานั่นล่ะ

มันเป็นไปไม่ได้ มันฝืนโลกไปอย่างไร มันฝืนความจริงไปอย่างไร โลกเขายังยอมรับความจริงกัน เราเป็นพระเป็นสงฆ์ เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทำไมจะเอากิเลสของเราไปขัดกับธรรมของพระพุทธเจ้าให้ได้อย่างไร มันก็ต้องทุกข์เจ็บแสบปวดร้อนไปอยู่อย่างนั้น ในเมื่อเรายึดกิเลส จะเอากิเลสไปชนะธรรม เป็นไปไม่ได้

ต้องทำใจให้เป็นกลาง มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาตามร่องตามรอยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่มัชฌิมาของเรา มัชฌิมาของเรามันเข้าข้างกิเลสทั้งหมด มัชฌิมาของเรามันอ่อนแอ มันจะนอนจม ถ้ามัชฌิมาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ม้าอาชาไนย ม้าอาชาไนยมันจะฝึกยากฝึกง่ายขนาดไหน แต่มันเป็นอาชาไนย มันต้องวิ่งได้ระยะทางไกล

หัวใจที่จะเข้าไปถึงธรรมมันต้องเข้มแข็งสิ มันต้องเข้มแข็ง มันต้องกัดก้อนเกลือ มันกัดทุกอย่าง กัดเพชรกัดพลอยขาดหมด นี่ความเข้มแข็งของใจ ความเข้มแข็งมันก็ทำให้หลักยืนเราดี หลักยืนเราดี เราก็ดูใจเราได้เห็นจะๆ ไอ้นี่หลักมันอ่อนแอ หลักปักขี้เลน อารมณ์ก็วูบวาบ วูบวาบไปนะ แล้วมันจะเอาความสุขมาจากไหน นี่ไง ความเห็นผิด ความเห็นผิดมันจะเผาลนเราก่อน

ถ้าความเห็นถูกนั้นมันเป็นสัจจะความจริงอยู่แล้ว อริยสัจนี่ของจริงเลย อริยสัจ ของจริงอยู่อย่างนั้น จริงอยู่โดยเรารู้หรือเราไม่รู้ก็เป็นของจริงอยู่อย่างนั้น ทำไมว่าจริง นี่เรารู้หรือเราไม่รู้ล่ะ เราทำไมจะไม่รู้ เราอ่านพระไตรปิฎกทั้งตู้ก็ได้ อ่านพระไตรปิฎกมาเพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันก็เทียบเคียงเป็นเหมือนที่เราหมดเลย นี่จินตมยปัญญา

“สุตมยปัญญา” เป็นการว่าเป็นบัณฑิต เป็นนักปราชญ์ สุตมยปัญญา นักปราชญ์ของโลกเขา

“จินตมยปัญญา” จินตมยปัญญาเกิด เราต้องมีจินตมยปัญญา ใคร่ครวญเข้าไปเรื่อย ใคร่ครวญเข้าไป ใคร่ครวญเข้าไป ใคร่ครวญตามกระแสของกิเลส ไล่ต้อนกิเลส ให้กิเลสไม่ให้มันเผ่นผาดโผนออกมาครอบคลุมเราทั้งหมด ไล่ต้อนให้กิเลสมันยุบยอบตัวเข้าไป ให้มันมีพื้นที่ว่างให้เราได้หายใจ ผ่อนใจบ้าง ให้เราได้หายใจ ผ่อนใจพ้นจากความทุกข์ได้เป็นคราวๆ ไป นี่มันต้องไล่ต้อนเข้าไป การไล่ต้อนนี่จินตมยปัญญา จินตมยปัญญาถึงไล่ต้อนกิเลส ให้สงบตัวเข้าไปได้บ้าง

พอสงบตัวเข้าไปได้ มันถึงจะเห็นอาการขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ด้วยตามความเป็นจริง ด้วยตามความเป็นจริง ความเห็นถูกต้องมันจะเกิดขึ้นตั้งแต่ตรงนี้ขึ้นไป ความเห็นถูกต้อง เห็นกายและจิตตามความเป็นจริง ถึงจะเป็นชัยภูมิ จะเริ่มวิปัสสนา

ถ้าไม่เห็นกายและจิตตามความเป็นจริง มันจะเห็นด้วยกิเลส มันเห็นออกหมด ความเห็นที่ส่งออกมานั้น ความเห็นส่งออก แม้แต่นักปฏิบัติอยู่ แต่ยังมีความเห็นผิดอยู่ ทำให้ตัวเองเข้าไม่ถึงธรรม ความไม่เข้าถึงธรรมมันก็เป็นจินตมยปัญญา จินตนาการ เป็นวิปัสสนึก ความเป็นวิปัสสนึกเข้าใจว่าตัวเองถึงธรรมก็เป็นความเข้าใจแต่ไม่เป็นตามจริง

ความเข้าใจว่าอันนี้เป็นธรรมก็จมอยู่ตรงนั้นน่ะ จมอยู่กับตรงนั้น หัวใจไม่มีการพัฒนาขึ้นมา เพราะว่าสิ่งนั้นเป็นผล เข้าใจว่าจินตมยปัญญานี้เป็นผล ความว่าเป็นผลมันจะก้าวเดินไปไหน เราเข้าใจว่าเราทำงานเสร็จหมดแล้ว เราจะวางใจแล้วเราจะสบายใจ เพราะถือว่าความกังวลทุกๆ อย่างสิ้นสุด จินตมยปัญญามันถึงตรงนั้น มันถึงว่าตรงนั้นปั๊บเห็นว่าอันนี้เป็นความจริง ก็หยุดอยู่แค่นั้น

แต่จินตมยปัญญา ความเป็นนักปราชญ์ ความเป็นคนที่อยากจะพ้นทุกข์ ความเป็นลูกศิษย์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นสุภาพบุรุษ ต้องเทียบต้องเคียงความเห็นของตนเข้ากับสัจจะความจริงอันนั้น สัจจะความจริงอันนั้นว่า สิ่งใด ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมนะ ธรรมถึงเข้าถึงใจดวงนั้น สมควร แล้วนี่มันสมควรด้วยจินตมยปัญญา มันยังไม่เกิดภาวนามยปัญญา

การเห็นกายเห็นจิตในตรงนั้นถึงจะเห็นตามความเป็นจริง ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อ มันจะเห็นด้วยตาในเพราะจินตมยปัญญาไล่ต้อนกิเลสเข้าไปให้เกิดความสงบขึ้นมาแล้ว ต้องเกิดความสงบ ความสงบนั้นเป็นเอกัคคตารมณ์ ความสงบนั้นเป็นพื้นฐาน มีพื้นฐาน มีเครื่องมือ

แต่ถ้าเป็นจินตมยปัญญาหรือปัญญาการใคร่ครวญเข้ามาแล้วปล่อยหมด ปล่อยหมด มันไม่มีพื้นฐาน ไม่มีพื้นฐานคือไม่มีเอกัคคตารมณ์ มันจะว่างไปหมดเลย ว่างไป ว่างไป เข้าใจว่าเป็นผล พอว่างไป จินตนาการเกิดขึ้น จินตมยปัญญาเกิดขึ้น จินตนาการเกิดขึ้น จะเห็นรู้ภพรู้ชาติ

ความรู้ภพรู้ชาติอันนั้น รู้แบบผู้ปฏิบัติ ไม่เข้าถึงตามความเป็นจริง เห็นบางโอกาสจะมีจริงส่วนหนึ่ง ผิด ๙๙ เปอร์เซ็นต์ เห็นจริงหนหนึ่ง ผิดถึง ๙๙ หน แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรกับการชำระกิเลสล่ะ ความเห็นอันนั้นไม่ใช่การชำระกิเลส

การชำระกิเลสต้องเห็นกิเลส กิเลสอาศัยอยู่ที่กายกับใจตามความเป็นจริงนะ ไม่ใช่อาศัยกายที่เราเห็นกายกัน อันนี้เป็นสุตมยปัญญา สุตมยปัญญาที่จับกายด้วยกายเนื้อกัน เอามือจับมือจะรู้สึกว่ากาย เข้าใจว่ากายนี้ กายนี้เป็นความเข้าใจ ไม่ใช่ความจริง

ความจริงมันถึงจะชำระปล่อยวางได้ตามความเป็นจริง ความเป็นจริงอันนี้คือความจริงภายใน ความจริงอันนี้คือการยกขึ้นวิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนาในกายกับจิตไง

การทำเข้ามา การไล่ต้อนกิเลสเข้ามา การไล่ต้อนกิเลสเข้ามาด้วยความเห็นที่ถูกต้อง ความเห็นที่ถูกต้องเพราะเรามีครูมีอาจารย์ที่ถูกต้อง เรามีธรรมและวินัยในตู้พระไตรปิฎกที่ว่าเป็นครูอาจารย์ที่ถูกต้อง แต่ความเห็นเราผิด เราก็ผิดมาตลอด ทุกคนต้องผิดมาตลอด ความผิดมาตลอดอันนั้นเป็นครู เป็นครู ทำให้เราเรียกว่า เราทำแล้วยังมีความผิดพลาด เรามีความผิดพลาด เรามีความลองผิดลองถูกมา ต้องเป็นอย่างนั้นเพราะเป็นนามธรรม

ความเป็นนามธรรม มันจะจับต้องเทียบเคียงได้ยาก เพราะเป็นนามธรรม ๑

๒. มันมีกิเลสความเห็นเข้าข้างตัวอีก ๑ ความเห็นเข้าข้างตัวว่าสิ่งนี้มันน่าจะเป็นจริง สิ่งนี้เราไม่เคยพบไม่เคยเห็น

กิเลสมันแสดงตัวอยู่ขณะที่ว่าเริ่มประพฤติปฏิบัติเข้าไป แต่มันก็มีโดยสัจจะ มันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เราไม่ควรจะไปกำหนดว่าไม่ควรมีกับเรา ไม่ควรจะว่าเอาสิ่งนี้มาเป็นเครื่องให้บั่นทอนความน้อยเนื้อต่ำใจว่าเราเป็นคนที่ว่าวาสนาน้อย

วาสนามากหรือวาสนาน้อยทำไมก้าวเดินมาถึงที่ว่าขนาดว่าจินตมยปัญญาหมุน จินตมยปัญญาหมุน หมุนแล้วเห็นกายกับจิต “เห็นกายกับจิต” ฟังสิ การเห็นกายกับจิต มันจะเห็นนะ เห็นเป็นรูปเป็นร่าง จิตก็คือจิต เป็นก้อนของจิต เป็นความรู้สึก ความรู้สึกแยกเป็นขันธ์ ๕ เลย เห็นกายก็เห็นเป็นภาพกาย อะไรในอวัยวะ ๓๒ ประการ สิ่งใดก็ได้เห็นเป็นกาย เห็นแล้วมันสะเทือนถึงหัวใจ เห็นตามความเป็นจริง มันจะเห็นแล้วสะเทือนถึงใจ

เพราะกิเลสมันมีอยู่ที่ใจ สิ่งที่ว่ากิเลสมันอาศัยกายและใจ อาศัยหัวใจของสัตว์โลกอยู่ อาศัยหัวใจของพระภิกษุที่กำลังวิปัสสนาอยู่นั่นล่ะ มันอาศัยอยู่นั้นแล้วมันเป็นเจ้าวัฏจักร มันอหังการว่ามันเป็นเหนือโลกเหนือสงสาร เหนือวัฏฏะมาตลอดเลย มันถึงว่ามันมีอำนาจมาก อำนาจเหนือเรา มันถึงว่าเป็นผู้ใช้เราให้เราทุกข์ยากแสนเข็ญอยู่นี่ไง

ฉะนั้น พอจิตนี้เข้าไปเห็นมันเท่านั้นล่ะ มันถึงได้ต้องมีการสะเทือนเรือนลั่น การเห็นกายและเห็นจิตในครั้งแรกมันสะเทือนเรือนลั่นเพราะว่าเห็นที่อยู่ของอวิชชา เห็นที่อยู่ของอวิชชา เห็นที่อยู่ของเจ้าวัฏจักร เห็นที่อยู่นะ การเห็นที่อยู่ กิเลสอยู่ที่นั่น

ทีนี้วิปัสสนาหมายถึงว่าสะเทือน สะเทือนถึงกิเลสหมด พอเห็นแล้วหลุดไม้หลุดมือไปก็พยายามสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาให้จับต้องได้ ให้เห็นกายและจิตขึ้นไป ย้อนขึ้นไป ย้อนขึ้นไป ชำระล้างกิเลสไปเรื่อยๆ ภาวนามยปัญญามันถึงจะเกิดตรงนี้

ภาวนามยปัญญามันมีเฉพาะในศาสนาพุทธเรานี้ ภาวนามยปัญญาเป็นธรรมาวุธอย่างเอก เป็นความเห็นที่ถูกต้องที่มัชฌิมาปฏิปทา ในมรรคอริยสัจจัง ในธรรมจักรอย่างยอด ยอดอยู่ในศาสนาพุทธของเรานี้ เห็นไหม ภาวนามยปัญญาเกิดตรงนี้ ความเห็นที่ถูกต้องคือความเห็นตามมรรคอริยสัจจังอันนี้ นี้คือความเห็นที่ถูกต้อง

ความเห็นที่ถูกต้อง มันจะเริ่มวิปัสสนาไป ความวิปัสสนาไปมันจะเริ่มชำระกิเลส ความชำระกิเลสที่มันอยู่ในใจที่ว่ามันมีเชื้อมีไขที่โดนไฟเผาอยู่ตลอดเวลา ที่มันทุกข์ๆ ร้อนๆ อยู่นี่แหละ สิ่งที่มันทุกข์ๆ ร้อนๆ ทำให้เราทุกข์ใจอยู่นี้ แต่พอภาวนามยปัญญามันเริ่มหมุนไป หมุนไป ธรรมจักร จักรของธรรมได้หมุนแล้ว มันจะเริ่มทำลายไอ้เชื้อไขอันนี้

ถ้าทำลายเชื้อไขอันนี้ตามความเป็นจริงนะ ภาวนาไป ล้างไป กิเลสมันขนาดเข้าถึงตัวมันแล้ว มันเป็นการตะลุมบอนกันแล้วล่ะ จากทำปัญญาอบรมสมาธิ จากทำสมาธิอบรมปัญญานี้ พยายามจะเข้าหาตัว หาพื้นที่ เริ่มเข้าไปในกายกับจิต ในที่อยู่ของอวิชชา ที่อยู่ของเชื้อของไขของสิ่งที่เริ่มต้นของความทุกข์ที่ให้เราทุกข์ร้อนแสนเข็ญนี้

นี้เราเข้าไปจนถึงแล้ว เป็นการตะลุมบอน เป็นการต่อสู้กันระหว่างตัวต่อตัว อาวุธ จับดาบปลายปืนทหาร ทหารกำลังต่อสู้กันนะ มันเป็นการตะลุมบอนกันอยู่ ความตะลุมบอนกันอยู่เราต้องวิปัสสนา เราต้องใช้ความละเอียดรอบคอบเข้าไปเป็นทับทวีคูณ ความละเอียดรอบคอบ ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในปัญญาของเรื่องว่าต้องทุ่มทั้งตัวเลย ความทุ่มลงไปทั้งตัว ทั้งความคิดทั้งทุกอย่างทุ่มลงไปจุดของเชื้อไขที่มันพาเราทุกข์อันนั้นน่ะ นั้นคือภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญาลองหมุนก้าวเดินไป เห็นไหม ไฟสุมขอน ไฟลองได้ติดขึ้นมาจากปลายขอนข้างใดข้างหนึ่ง มันต้องไหม้ไปทั้งขอนนั้นน่ะ นี่ไฟที่ติดขอนนั้น แต่มันติดยากเพราะขอนมันขอนใหญ่ ขอนมันขอนใหญ่ ๑ แล้วเชื้อไฟเรามีแต่หญ้ามีแต่ฟาง มันวูบวาบก็ดับไป มันยาก มันยากตรงนี้ มันยากตรงที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ธรรมจักรนี้เคลื่อนหมุนไป ความเห็นที่ถูกต้องตามจักรของธรรมหมุนไปโดยธรรมชาติของธรรมจักรอันนั้น

พอหมุนไป พอเริ่มไฟสุมขอน มันติดที่ขอน ใจมันเริ่มโดนเผาไหม้ เชื้อภพเชื้อชาติโดนเผาไหม้ ในสักกายทิฏฐิจะเห็นกายว่าผิด เห็นกายว่าเป็นเรา มันยึดมั่นถือมั่น สังโยชน์ที่มันมัดอยู่นั่นน่ะ มันโดนธรรมจักร โดนภาวนามยปัญญา โดนความเห็นถูกต้องเริ่มจุดติด มันเผาไป เผาไป นี่ภาวนามยปัญญาก้าวเดิน ความก้าวเดินอันนี้มีสติสัมปชัญญะพร้อม หมุนไปเรื่อยๆ หมุนไป หมุนไป หมุนเข้าไป หมุนในอะไรล่ะ?

ในขันธ์ ๕ ก็เกิดดับ เกิดดับ เป็นอนิจจัง เป็นไตรลักษณ์ สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นต้องเป็นอนัตตา เป็นไตรลักษณ์ถ้าพิจารณาขันธ์ ๕

ถ้าพิจารณากาย กายนี้จะแปรสภาพให้เห็นเดี๋ยวนั้น ความแปรสภาพให้เห็นเดี๋ยวนั้น ไม่มีมิติ ไม่มีกาล ไม่มีเวลา การหลุดมือ การที่มีเชื้อไขหลุดออกไปต่อหน้าต่อตา การเห็นต่อหน้าต่อตาที่มันหลุดออกไปนั่นคือปัจจัตตัง รู้ขณะนั้น ความรู้ขณะนั้นมันจะสลดสังเวช จะปล่อย สังโยชน์มันเกิดๆ ดับๆ อยู่พร้อมกับความคิด มันอยู่ละเอียดกว่าความคิด มันเป็นความเกิดความดับ มันเป็นกระแสเฉยๆ มันเป็นความที่ผุดขึ้นมาพร้อมกับความคิด

ปัญญาที่หมุนเข้าไปที่มันเป็นภาวนามยปัญญานะ มันเป็นธรรมจักรที่ว่ามันเป็นธรรมชาติของความคิด ไม่ใช่ความคิดเรา เพราะความคิดเรามีเราอยู่ มันถึงมรรคไม่สามัคคี ความสามัคคีของมรรคอริยสัจจังหมุนออกไปนั่นน่ะ มันถึงจะไปชำระสังโยชน์ตัวนั้นได้ ชำระสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด

“สักกายทิฏฐิ” ทิฏฐิเห็นกายกับใจว่าเป็นเรา เห็นว่าเป็นอันเดียวกัน แต่ในตำราบอกไว้ เราก็เชื่อตามตำรา เป็นสุตมยปัญญาแก้กิเลสไม่ได้ จินตมยปัญญาก็ชำระกิเลสไม่ขาด ภาวนามยปัญญาต่างหาก เพราะมันเข้าไปถึงเนื้อ เนื้อของใจดวงนั้น เนื้อของการเกิดดับและผูกต่อกันนั้น นั่นภาวนามยปัญญาเข้าไปแล้วถึงทำลายตรงนั้นขาดออกไป ขาดเป็นสมุจเฉทปหาน กายกับใจแยกออกจากกัน ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ทุกข์ไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่ทุกข์ แยกออกจากกัน ความสุขเกิดขึ้น จากทุกข์ๆ นะ จากความทุกข์ ความกระเสือกกระสน ความสุขอันนี้เกิดขึ้น

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” พระอัญญาโกณฑัญญะรู้ธรรมอันนั้นนะ ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับทั้งหมด มันดับไป ธรรมดามันก็เกิดดับอยู่ธรรมชาติของมัน แต่เราไม่เห็น แต่ในเมื่อพระอัญญาโกณฑัญญะเข้าไปเห็นในหัวใจของท่านเอง ท่านรอมา ๖ ปี แล้วก็ฟังธัมมจักฯ

เราเพียงแต่ทำใจเข้าไปให้ได้ เราบวชมากันกี่ปีแล้ว มันต่างกัน คนที่เขามีใจเป็นพื้นฐาน เขาพยายามรอธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้ธรรมประกาศมา ๒,๕๔๓ ปี หัวใจเรามันควรจะได้รับธรรมอันนั้น แล้วเราก็บวชมากัน บวชกันมาเพื่อจะชำระ เพื่อจะให้รู้จริงตามนี้

ถ้ารู้จริงตามความเห็นถูกต้อง ความเห็นนี้ถูกต้อง เอาความสุขมาให้กับดวงใจดวงนั้น ความเห็นที่ถูกต้อง ให้ใจดวงนั้นมีความสุข ให้ใจดวงนั้นรู้สภาวะตามความเป็นจริง ไม่ต้องให้ธรรมชาตินี้เข้าข้างเรา ไม่ต้องให้ใครมาทำให้เราพออกพอใจ มันเห็นธรรมมาเป็นธรรม ตัวเองก็มีความสุขเกิดขึ้นตามความเป็นจริงในใจของตน ยังเป็นผู้ชี้นำเขาได้อีก เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกได้อีก

เพราะอะไร เพราะว่านักปราชญ์ที่รู้จริง นักปราชญ์นะ รู้จริงตามความเป็นจริง ถ้านักปราศจาก มันจะไปแนะนำใครได้ล่ะ มันก็เป็นทุกข์อยู่ในหัวใจ ในหัวใจก็มีแต่ความทุกข์ ในหัวใจก็มีแต่ความกังวลนะ ไฟสุมอยู่ที่ใจ แต่มันหน้าชื่น ชื่นแต่หน้าแต่อกตรม

แต่นักปราชญ์ที่รู้สัจจะ รู้ตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริง เห็นตามมัชฌิมาปฏิปทา นี่มันรู้จริงในใจ รู้จริงตั้งแต่เริ่มต้นของความคิดอันนั้นน่ะ เชื้อของสิ่งที่ผูกต่อกันขาดไป ฟังสิ เชื้อของสิ่งที่ผูกกายกับใจที่ว่าเป็นสักกายทิฏฐิที่เห็นว่ามันเกาะเกี่ยวกัน สังโยชน์ที่ยึดว่ากายเป็นเราขาดออก มันโดนทำลายออก สิ่งที่ประสานกันเป็นความคิดออกมา โดนทำลายออกไปเลย ขาดออกไปเลย มันไม่มี มันต่อกันไม่ได้

แต่มันเป็นนามธรรม ความที่ยังกลับมาสืบต่อ ยังสืบต่อ ยังสมมุติ ยังบัญญัติ ยังเป็นเป้าหมายที่ว่าสื่อกันได้ ความสื่อกันได้นี้เหมือนต้องว่าผู้รู้กับผู้รู้เขาสื่อกัน ถ้าผู้รู้กับผู้รู้สื่อกัน ความหมายก็ตรง ถ้าคนหนึ่งรู้อีกคนไม่รู้ สื่ออย่างไรก็ไม่ตรง ไม่ตรงความเป็นจริงนั้น

ความเห็นตรงกับความเห็นตรง จะสื่อกันรู้ ความเห็นไม่ตรงกับผู้เห็นตรง จะสื่ออย่างไร มีแต่สื่อยกขึ้น สื่อให้ผู้ที่ไม่ตรงยกขึ้นตรง อันนั้นถูกต้อง แต่ถ้าจะสื่อ สื่อเพื่อจะให้ตรงกัน มันตรงไม่ได้เพราะความเห็นต่างกัน ความเห็นคนละขั้วมันจะตรงกันไม่ได้

แต่ถ้าปฏิบัติ เราชาวพุทธ เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เป็นพระที่สมควรกับปฏิบัติ มันเป็นโอกาสมากนะ แล้วทำให้เห็นตรงได้ เห็นตรงได้เลย มันเป็นธรรมเป็นกลาง ธรรมนี้เป็นของกลาง แล้วแต่อำนาจวาสนา แล้วแต่ความวิริยอุตสาหะของผู้นั้นต่างหาก อำนาจวาสนาพร้อมอยู่แล้ว พร้อม ถ้าไม่พร้อม ไม่ได้มาเป็นนักรบหรอก นักรบนี้อำนาจวาสนาต้องพร้อม อาวุธทุกอย่างพร้อมหมดเลย

ถึงว่า อำนาจวาสนา ขาดแต่ความจริงจัง อุบายวิธีการพร้อมหมด ครูบาอาจารย์ที่จะชี้นำมีอยู่แล้ว มีอยู่แล้ว ขอให้เหมือนมีหมอ ขอให้คนไข้ป่วยมาสิ ให้คนไข้ป่วยมา หมอจะรักษา แต่คนไข้ไม่ได้ป่วยด้วยโรคของร่างกาย มันป่วยด้วยโรคของใจ หมอที่รักษานี้ รักษาที่...(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)