เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๕ พ.ย. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเป็นชาวพุทธ เวลาเราประพฤติปฏิบัติก็เหมือนการลงทุนลงแรง เราก็ต้องการได้ผลตอบแทนที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ได้ผลตอบแทนที่มีค่า ได้ผลตอบแทนที่มันเป็นความจริง

ถ้าผลตอบแทนที่มันเป็นความจริงสิ เห็นไหม เวลาทำบุญบอกว่า “ทำบุญ ๆ ๆ ได้บุญที่ไหน ?” ทุกคนบ่นหมดเลยนะ

“ตักบาตรทุกวัน ทำบุญทุกวันทำไมมันทุกข์ขนาดนี้ล่ะ ไหนพุทธ-ศาสนาบอกว่าทำบุญ ชาวพุทธต้องรวยที่สุดในโลก เศรษฐีโลกต้องเป็นชาวพุทธสิ เศรษฐีโลกทำไมเป็นชาวตะวันตกหมดเลย”

แล้วชาวพุทธไหนบอกว่า “ทำบุญแล้วได้บุญมาก จะมีความร่ำรวย จะประสบความสำเร็จทางโลก” แล้วมันประสบความสำเร็จไหมล่ะ มันจะประสบความสำเร็จไปข้างหน้า

ดูเศรษฐีโลกสิ เอเชียมีมากขึ้นเรื่อย ๆ มันเป็นคราวไง เป็นสภาว-กรรม ทำบุญต้องได้บุญ การกระทำต้องได้บุญ แต่การได้บุญ ได้บุญของใครล่ะ การเสียสละนี้มันได้บุญแน่นอน เราให้อาหารสัตว์ สัตว์มันได้กินอาหารจากเรานี่มันจะขอบใจนะ เพราะเราให้ชีวิตมัน เวลาความหิวมันบีบคั้น เวลาความทุกข์มันบีบคั้นคนจะมีความทุกข์มาก แล้วเราเสียสละให้เขาได้มีความสุขของเขานี่มันจะเป็นบุญไหม มันเป็นบุญอยู่แล้ว บุญมันเกิดจากการเสียสละ เกิดจากการให้

นี่พูดถึงบุญกุศลนะ นี้เราทำบุญของเราก็ต้องเป็นบุญของเรา ทีนี้พูดถึงในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติของเรา เราต้องการความสะอาดบริสุทธิ์ ต้องการความเป็นจริง ต้องการความถูกต้องดีงาม

นี้การประพฤติปฏิบัติของเรา ดูสิ สิ่งที่ให้โทษกับเรานะ เราจะบอกเลยว่าสังคมให้โทษกับเรา ยิ่งเด็ก ๆ นะ จะบอกว่า “พ่อแม่ไม่รัก พ่อแม่รังแกเรา” ไม่ใช่ ! พ่อแม่รักสุดรักเลย ความรักของพ่อแม่นี้เป็นความรักที่สะอาดบริสุทธิ์มาก ความรักของพ่อแม่ต้องการให้ลูกของเรามีที่ยืนในสังคม ต้องการให้ลูกของเรามีปัญญา

การสอนโดยการให้เขาได้มีสติปัญญา ลูก ๆ ทุกคน เด็ก ๆ เขาจะไม่ชอบไปโรงเรียนหรอก “ถ้าแม่รักหนู แม่ต้องไม่ให้หนูไปโรงเรียนสิ ให้หนูอยู่กับแม่ หนูจะอยู่กับแม่ตลอดไป ไม่ต้องให้หนูไปโรงเรียนสิ” ได้ไหมล่ะ ? มันก็ต้องให้ลูกเรามีทางวิชาการขึ้นมาใช่ไหม

นี่ขนาดว่าระหว่างพ่อแม่กับลูกเป็นความรักที่สะอาดบริสุทธิ์นะ แล้วทุกคนบอกว่าเป็นคนรักตัวเอง ทุกคนว่ารักตัวเองมากที่สุด ถนอมรักษาตัวเอง แล้วทำไมดูสิ เอาสิ่งที่เป็นอบายมุข สิ่งต่าง ๆ กับโลกนี่เอามาใส่ตัวทำไม ถ้ารักตัวแล้วเอามาใส่ตัวทำไม ถ้ารักตัวแล้วออกไปหาแต่เรื่องความเดือดร้อนมาใส่ตัวทำไม

นี่พูดถึงเวลาเอามาใส่ตัวนะ แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาทำความสงบของใจขึ้นมา มันเป็นความสงบจริงไหม มันเป็นสัญญาอารมณ์ เป็นความนึกเอา เป็นการคาดหมายเอา การนึกเอาคาดหมายเอามันจะมีที่ไหน ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมานี่มันเป็น สันทิฏฐิโก ความเป็นจริง

เดี๋ยวนี้ดูสิ แต่ก่อนคนจะเป็นเศรษฐีเขาต้องทำอุตสาหกรรม ต้องลงทุนลงแรงเขาถึงจะมีเงินทองขึ้นมา เดี๋ยวนี้เขาปั่นเงินกันนะรวยทั้งนั้น ไม่ต้องทำมาหากินนะรวยทั้งนั้นเลย ประพฤติปฏิบัตินั่งไปแล้วก็จะเป็นพระอรหันต์เลย เรียบง่ายไปหมด ถูกต้องไปหมด ดีงามไปหมด มันเอามาจากที่ไหน มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ถ้ามันเป็นไปได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเราแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์มา แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา “มันจะสอนได้อย่างไร” คนเตรียมพร้อมมาขนาดนั้น

เหมือนกับพ่อแม่สอนลูกเดี๋ยวนี้เลย พ่อแม่ทุกคนห่วงลูกมาก สังคมเป็นอย่างนี้ ขนาดส่งลูกไปเมืองนอกกันว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มียาเสพติด เป็นสังคมที่ทำให้ลูกเราเสียหาย พยายามจะส่งลูกเราหนีจากสภาวะแวดล้อมอย่างนี้ไปอยู่ที่อื่นกันเลยนะ ว่าจะให้มีการศึกษาที่ดีงามขึ้นมา แล้วสังคมอื่นมันไม่มีหรือ ? เดี๋ยวนี้โลกมันแคบมันเป็นไปได้หมด ที่ไหนมันก็เป็นไปได้หมด ถ้าเราไม่ทำความดีขึ้นมาตั้งแต่บัดนี้ เราทำตัวเราดีขึ้นมา ในสังคมทุกคนเป็นคนดีขึ้นมา สังคมก็จะดีขึ้นมาตามความเป็นจริงนั้น พุทธศาสนาสอนที่นี่ไง

แต่พวกเราในทางสังคมโลกต้องบริหารจัดการ โลกนี้อยู่ด้วยการบริหารจัดการ ต้องทำดีให้หมดเลย มันเป็นคราวเป็นวาระ นี่สภาวะสิ่งแวดล้อม เราจะมองแต่สภาวะแวดล้อมว่าการอุตสาหกรรมทำลายสภาวะแวดล้อม

มนุษย์นี่ล่ะทำสภาวะแวดล้อมเสียหาย เพราะมนุษย์มันต้องมีการขับถ่าย ของเสียจากมนุษย์วันหนึ่งมีเท่าไร ของเสียจากมนุษย์นี่แหละ แล้วของเสียจากมนุษย์จะกำจัดมันอย่างไร เราไปมองแต่สังคม ไม่มองที่ตัวเราเองเลย ถ้าทุกคนมองตัวเองแล้วนี่สังคมนี้เจริญแล้วนะ ถ้าประชาชนของเขาไม่รู้จักคัดแยกขยะ เขาว่าประชาชนของเขาไม่ให้ความร่วมมือกับสังคมแล้ว เดี๋ยวนี้เขาต้องรู้จักคัดแยกขยะ ต้องรู้จักของเสียที่จะทิ้งเราต้องกำจัด ขยะเปียกขยะแห้งต้องกำจัด

แล้วขยะในหัวใจล่ะ ความดีความชั่วในหัวใจของเรานี่ไม่ต้องไปให้พ่อแม่มาบอก ไม่ต้องให้ใครมาบอก เรารู้เอง ความคิดที่ไม่ดีเราก็รู้ว่าเป็นความคิดที่ไม่ดี แล้วทำไมบังคับมันไม่ได้ ทำไมไม่แยกมันซะ ไม่แยกความเสียความหายในหัวใจนี้ออกจากกัน ถ้าแยกความคิดไม่ดี แยกสิ่งต่าง ๆ ออกจากใจได้ แต่มันแยกไม่ได้เพราะอะไร

เพราะต้นกำเนิดของมัน ฐีติจิต คือ ปฏิสนธิจิต คือ จิตใต้สำนึกกับความรู้สึกอันนี้ กิเลสมันอยู่ที่นี่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยาวิญฺญาณํ ความไม่รู้สึกตัวของจิต จิตนี้ไม่รู้สึกตัวมันเอง จิตนี้ส่งออกมาเป็นความคิด แล้วส่งออกมาเป็นสังคม มาเป็นสภาวะแวดล้อมข้างนอก แล้วก็จะไปก็เอาชนะกันที่สภาวะแบบนั้น ไม่ได้เอาชนะที่ใจของตัวเอง

สังคมมันปั่นป่วนตรงนี้ไง สังคมมันปั่นป่วนเพราะว่าทุกคนไม่เข้าไปหาตัวเอง ทุกคนไม่เข้าไปสู่ต้นกำเนิดของความคิด ต้นกำเนิดของหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่นี่ มันถึงลำบาก เวลาสอนธรรมะกัน อู๋ย.. ลำบากไปหมดเลย ถึงต้องมี “ทาน” เห็นไหม

ประเพณีวัฒนธรรม ! เรื่องการเสียสละนี้เป็นประเพณีตกผลึก เป็นประเพณีวัฒนธรรมทางสังคม ประเพณีวัฒนธรรมเห็นไหม มันเลยปิดบังธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลากราบพระทางวิทยาศาสตร์นะ มีลูกศิษย์มา พ่อแม่มากราบพระ ลูกเป็นวิทยาศาสตร์ไงบอกว่า “แม่ ! กราบทำไม แม่ ! กราบทองเหลืองทำไม” เขาอวดรู้ว่าพ่อแม่กราบทองเหลืองนะ “แม่ ! กราบทำไมทองเหลือง แม่ ! มันมีคุณประโยชน์อะไรทองเหลือง”

ประเพณีวัฒนธรรม เห็นไหม เรามีประเพณีวัฒนธรรม วิทยา-ศาสตร์เขาบอกว่า “กราบทองเหลือง” เพราะเขาดูด้วยแร่ธาตุ แต่ความรู้สึกในหัวใจของพ่อแม่ เรากราบแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราหล่อรูปขึ้นมาเป็นสมมุติว่านี่เป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า เราไม่ได้กราบทองเหลือง เราไม่ได้กราบแร่ธาตุ เรากราบถึง พุทธคุณ ปัญญาคุณ เมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ต้อง ๔ อสงไขย เสียสละมาทั้งชีวิต เสียสละมาทุกอย่างเลย เพื่อรื้อค้นมาให้ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมขึ้นมา แล้ววางประเพณีวัฒนธรรมให้เสียสละกัน ให้มีคนให้อภัยกัน

เราระลึกถึงบุญคุณ เราคิดถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้า พุทธศาสนาสอนให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข เรากราบตรงนั้น กราบถึงบุญคุณ ! ไม่ได้กราบทองเหลือง ! แต่วิทยาศาสตร์คิดอย่างนั้น ประเพณีวัฒนธรรมมันบัง เห็นไหม นี่กราบพระบังธรรมะ เวลากราบพระแล้วธรรมะมันอยู่ที่ไหนล่ะ ธรรมะมันอยู่ที่ไหน ?

ธรรมะ คือ สัจธรรม ! สัจธรรมความจริง สิ่งที่จะสัมผัสได้คือความรู้สึก ทีนี้ความรู้สึกของเรามันยังหยาบอยู่ ความรู้สึกเรามันยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ เวลาไปศึกษาธรรมะก็ตีความเลย มันไปก๊อบปี้มาเลย ลิขสิทธิ์ไปเอามาเป็นของเราเลย “ธรรมะเป็นธรรมชาติ...”

“สัจธรรม” ธรรมะเป็นสาธารณะใช่ไหม นี่สิ่งนี้เป็นสาธารณะ สังคมเป็นสาธารณะใช่ไหม เราก็เห็นว่าสิ่งนี้เป็นสาธารณะ แล้วใครเป็นคนรู้สาธารณะนั้นล่ะ แล้วสาธารณะมันอยู่ที่ไหนล่ะ

ธรรมะสาธารณะ คือ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้เป็นเครื่องดำเนิน เหมือนกับประเทศ เหมือนกับสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นของสาธารณะ ของใช้ร่วมกัน แล้วของในบ้านเราล่ะ ของในครัวเรา ของสมบัติส่วนตนของเราล่ะ จิตใจของเรามันเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม ถ้าเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม สังคมหน่วยนั้นดีที่สุด มันก็จะเป็นที่พึ่งอาศัยของสังคมต่าง ๆ ไป

ดูสิ สังคมไหนถ้าผู้นำของสังคมนั้น ดูอย่างในหลวงของเรา “ใครอย่ารังแกประชาชนของฉันนะ ใครอย่าทำให้ประชาชนของฉันเดือดร้อนนะ” นี่เป็นพ่อของสังคมเห็นไหม ถ้าผู้นำที่มีสิ่งที่ดี ถ้าหัวใจมันดีมันจะเป็นผู้นำสังคม

ถ้าเรากลับมาที่หน่วยของสังคม ถ้าเรารักษาใจของเรา ทำใจให้เราดี ทำใจของเราดี

๑. เราไม่ทุกข์ไม่ยาก

๒. เรามองไปข้างนอกสิ มองไปที่คนเขาทุกข์เขายากสิ แล้วเขาพยายามหาความสุขกัน เขาพยายามดิ้นรนกัน ทำไมเขาทุกข์ขนาดนั้น ทำไมเขาไม่ย้อนกลับมาดูใจเขา ถ้าเขาย้อนกลับมาดูใจเขา เขามาแก้ที่ใจของเขา เขาจะมีโอกาสแก้ไขของเขาได้ แต่ถ้าเขาวิ่งออกไปแก้ไขข้างนอก เขาจะมีโอกาสแก้ไขได้ไหม

แต่ถ้าเราแก้ไขใจของเราได้แล้ว เราเป็นหน่วยของสังคม เรามีจุดยืนของเรา เรามีจิตใจที่เป็นสาธารณะ เห็นไหม เพื่อนฝูงหมู่คณะพึ่งพาอาศัยเราได้ไหม ถ้าอาศัยเราได้ “กลิ่นของศีลหอมทวนลม” กลิ่นของคุณงามความดีมันหอมทวนลม กลิ่นของบาปอกุศล กลิ่นของการเอารัดเอาเปรียบมันก็ไปตามปากคนเหมือนกัน

นี่พูดถึงประเพณีวัฒนธรรมมันบังธรรม เวลาประพฤติปฏิบัติกัน เดี๋ยวนี้ประพฤติปฏิบัติตามประเพณีกัน เห็นเขาเดินจงกรมก็จะเดินจงกรม เห็นเขานั่งสมาธิก็จะนั่งสมาธิ หลวงตาท่านพูดเจ็บมาก ท่านบอกว่า

“หมามันก็เดินได้ หมามันก็วิ่งได้ หมามันเดิน ๔ ขา หมามันเดินดีกว่าเราอีก”

สักแต่ว่าทำเป็นประเพณีกันเฉย ๆ แล้วก็บอกว่าจะเอาธรรมะกัน แล้วก็ใช้ตรรกะมาพูดธรรมะกัน มันเป็นประโยชน์อะไร !

นี่ไงประเพณีวัฒนธรรมมันบังธรรม เห็นไหม แล้วการประพฤติปฏิบัติก็สักแต่ว่าทำกัน เอาเวลาไง ปฏิบัติเอาเวลาเลยนะ เดิน ๕ ชั่วโมง เดิน ๗ ชั่วโมง หุ่นยนต์ในโรงงานมันทำทั้งวัน ๆ มันดีกว่าเราอีก หุ่นยนต์มันก็ทำทั้งวันของมัน

แต่นี้เราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาขึ้นมาเพื่อบังคับใจเรานะ เพราะใจเรามันอยู่ในร่างกายนี้ ร่างกายนี้เดินจงกรมก็เพื่อหัวใจ เพื่อความสงบของใจ ให้มันเป็นเนื้อหาสาระ อย่าทำเป็นประเพณี อย่าทำเป็นสักแต่ว่าทำกัน เห็นเขาทำตามประเพณีก็ทำ ถวายทานเห็นไหม ถวายทานจบแล้ว ของเป็นวัตถุที่มันเสียสละได้ แต่เวลามันทุกข์มันยากทำไมไม่เสียสละออกไปล่ะ เวลามันทุกข์มันยากทำไมไม่สลัดมันทิ้งไปล่ะ มันสลัดทิ้งไม่ได้ เพราะทุกข์มันชอบ ! เวลาเราเจ็บช้ำน้ำใจนี่คิดแล้วคิดเล่า ย้ำแล้วย้ำเล่า ทำไมมันสละไม่ได้ล่ะ สละไม่ได้เพราะไม่ได้ฝึกฝน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่นี่ สอนให้มาดัดแปลงใจของตัว

ทำบุญกุศล ถูกต้อง ! ทำบุญกุศลเพราะอะไร เพราะสละทานแล้วได้ฟังธรรม เวลาฟังธรรม ธรรมนี้เห็นไหม “สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ให้ได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังทุกวัน ฟังทุกวันเพื่อตอกย้ำ ๆ” ขนาดตอกย้ำมันยังไม่เชื่อเลย ถ้าจิตใจวันไหนมันลง ฟังธรรมวันไหนมันปิ๊งนะ อู้ฮู.. คำนี้สุดยอด มันสะเทือนหัวใจนะ นี่ใจมันผ่องแผ้ว เห็นไหม

ผลของการฟังธรรม คือ ความสว่างสะอาดบริสุทธิ์ของใจ มันสะอาดบริสุทธิ์ของใจได้ชั่วคราวด้วยการจุดประเด็นจากครูบาอาจารย์ ในการประพฤติปฏิบัติของเรามันจะสว่างสงบจากหัวใจของเราเอง การกระทำของเรานี่สว่างจากการฟังธรรม มันตอกย้ำความคิด ตอกย้ำสิ่งต่าง ๆ มันเป็นการทบทวน

แต่เวลาเราทำของเราขึ้นมาเอง ดูสิ เราไปตลาดเราไปซื้ออาหารมากิน กับเราทำของเราเอง เราทำไร่ไถนา ของของเราสะอาดบริสุทธิ์ เราทำขึ้นมาเองหมดเลย เราไม่ห่วงเลยว่าสังคมมันจะมีหรือไม่มี แต่ของเรามีพร้อมอยู่ ถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมาจากการกระทำของเรา สะอาดบริสุทธิ์มาจากหัวใจของเรา หัวใจของเรา เรามีการกระทำของเรา ข้าวปลาอาหารมันลอยมาจากฟ้าหรือ ข้าวปลาอาหารมันก็ลอยมาจากการ กระทำ จากที่นา จากไร่สวนของเรา

ธรรมะมันเกิดมาจากใจของเรา ! ธรรมะมันเกิดจากการกระทำของเรา ! ธรรมะที่เกิดขึ้นมาจากเรา ที่เราดัดแปลงของเรา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันเกิดมาจากที่นี่ สันทิฏฐิโก แล้วถ้ามันเกิดมาจากที่นี่แล้วมันจะไปหวั่นไหวกับใคร โลกเขาจะติเตียน กระแสโลกธรรมมันจะแรงขนาดไหน แต่หัวใจเรา พืชสวนไร่นาเราพร้อมหมดเลย อาหารพร้อมหมดเลย ทุกอย่างอยู่ได้ด้วยตัวเอง สบายหมดเลย มันจะหวั่นไหวกับใคร !

แต่นี่ไม่มีอะไรเลย เวลานั่งไปนะ เห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรมเฉย ๆ สักแต่ว่าทำกัน แล้วเวลาพูดธรรมะไป เวลาธรรมะออกมามันก็เป็นธรรมะก๊อบปี้ ธรรมะสาธารณะ ถ้าเป็นธรรมะสาธารณะก็ธนาคารชาติ มันเป็นของประเทศชาติ แต่บัญชีของเรา เงินทองของเราถึงเป็นของเรานะ

ความรู้จริง ความสุข ความทุกข์ในใจของเราจะเป็นของเรา ประเพณีวัฒนธรรมเราก็เชื่อถือ เราก็ทำของเรา แต่อย่าให้มันเป็นตัวหลัก ตัวหลัก คือ หัวใจที่สัมผัสของเรา มันต้องลึกเข้าไปกว่านั้น มันต้องผ่านสิ่งนี้เข้าไป แล้วเข้าไปสัมผัสกับใจของเรา แล้วใจของเราจะได้รับรส

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง”

ดูสิ ! โลกเขาอยู่กันด้วยความเป็นสุข แล้วธรรมะนี่ไปอยู่ในป่าในเขาไปนั่งอยู่คนเดียว หลวงปู่มั่นไม่เคยออกมาจากป่าเลยอยู่ได้อย่างไร มีความสุขได้อย่างไร คนอยู่ป่า อยู่กับต้นไม้ อยู่กับสัตว์ อยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างนั้น มันจะมีความสุขได้อย่างไร ถ้าหัวใจร่มเย็นมีความสุข ทำไมมันมีความสุขล่ะ ไอ้เราจะหาความสุขกันจะหาได้ที่ไหน

ความคาดหมายของเราว่าความสุขจะเป็นอย่างที่เราคาดหมาย ไม่เป็นความจริงเลย ! คนประพฤติปฏิบัติขึ้นมาคาดหมายเลยว่าต้องเป็นอย่างนั้น ๆ เวลาไปเจอความจริงนะ เอ๊อะ ! มันเป็นแล้วมันช็อกหมดเลย มันเหนือความคาดหมาย ขนาดเราฟังธรรมครูบาอาจารย์ทุกวัน เราคาดหมายขนาดไหน แต่เข้าไปเห็นแล้วไม่เป็นความจริงอย่างที่เราคาดหมาย ไม่เป็น !

ถ้าเป็นอย่างที่คาดหมายได้นะ พวกเราจะคาดหมายได้หมดเลย มรรค ผล นิพพาน คาดหมายได้หมด แต่มันคาดหมายไม่ได้ มันต้องเป็นความจริงของมัน เรากระทำของเราเป็นสัจจะความจริงของเรา

ประเพณีวัฒนธรรมเราก็ทำ แต่ทำแล้วเราจะต้องทำให้เป็นสันทิฏฐิ-โก เป็นปัจจัตตัง เป็นความจริงของเรา เราทำให้เป็นจริง สติก็เป็นสติจริง ๆ สมาธิก็เป็นสมาธิจริง ๆ ปัญญาก็เป็นปัญญาจริง ๆ ปัญญามันแยกแยะเป็น ๒ ปัญญาทางโลก โลกิยฌาน โลกียปัญญา

โลกุตตรธรรม ปัญญาที่เป็นโลกุตตระ โลกุตตระ คือ พ้นจากโลก พ้นจากความยึดมั่นถือมั่นของใจ โลกทัศน์ โลกความเห็น โลกที่คาด หมายนี้พ้นหมดเลย แล้วมันพ้นออกไปมันมหัศจรรย์มาก ๆ เลย

พระพุทธเจ้าถึงท้อใจว่าจะสอนอย่างไร ถ้าทำได้จริงนะจะไม่พูดกันแบบ “ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ”

ธรรมะเป็นธรรมชาติ คือ สัจจะความจริงของมัน แล้วเราก็เวียนไปเป็นส่วนหนึ่งของมันอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะปลีกตัวออกไปจากการบังคับบัญชาของธรรมชาติ หลุดออกไปจากการกระทำ จากวังเวียนของวัฏฏะนี่มันทำอย่างไร แล้วมันเป็นไปได้อย่างไร

นี้พุทธศาสนาสอนอย่างนี้ พุทธศาสนาสอนได้ พุทธศาสนาทำได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำได้ก่อนแล้วสอนพวกเราไว้ เราต้องทำให้ได้ของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ เอวัง