ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

การปฏิบัติเบื้องต้น

๓ มิ.ย. ๒๕๕o

 

การปฏิบัติเบื้องต้น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คนมันมากขึ้นนะ คนเราเดี๋ยวนี้เต็มล้นโลก แล้วแต่ละคน ดูสิ ทางโลกเขาน่ะ เขาบอกว่าต้องมี คนเราเกิดมา มีตกฟาก มีวันเกิดมีต่างๆ กัน สิ่งที่ต่างๆ กัน แล้วคนมันเป็นพันๆ ล้าน แล้วสิ่งใดเป็นเรื่องที่แท้จริง ฤกษ์ของคน เราถือฤกษ์ถือชัยกัน แต่ถ้ากรรมฐานไม่ถือฤกษ์ถือชัยนะ กรรมฐานเรานี่ถือความพร้อม ถ้าพร้อมที่ไหนให้ทำได้เลย เพราะทุกวินาทีมีคนเกิดและคนตาย ทุกวินาทีนะคนเกิดใหม่ตลอดเวลา แล้วก็จะมีคนตายตลอดเวลา

แล้วการเกิดการตายของเราล่ะ การเกิดและการตายของเรา ดูสิ ที่ผ่านมาวันวิสาขบูชา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดวันเพ็ญเดือน ๖ ตรัสรู้วันเพ็ญเดือน ๖ และปรินิพานวันเพ็ญเดือน ๖ มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ มหัศจรรย์เพราะมันเป็นเหมือนวันเดียวกัน

แต่เวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงนะ เวลาเทศนาว่าการ แล้วย้อนถึงว่ามันมีเหตุการณ์ในพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเคยเป็น เราเคยเป็นพญานาคชื่อภูริทัตตะ เราเคยเป็นพระโพธิสัตว์ เราเคยเป็นๆ

คำว่าเคยเป็น ถ้าเราเป็นนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องย้อนไปอดีตสิ แต่นี่องค์สมเด็จบอกว่า เราเคยเป็นเพราะมันเป็นอดีตที่ผ่านมาในปัจจุบันนั้น นี่ก็เหมือนกัน ตอนเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ นี่เราเคยเป็น เกิดตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจจุบันนั้น เราเคยเป็น แล้วปัจจุบันนั้นเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตดวงหนึ่งมันเวียนตายเวียนเกิดอย่างนี้แล้วเราก็เวียนตายเวียนเกิดอยู่ในโลกอย่างนี้

เวลาเรามองออกไป เราจะเห็นนะ เราเห็นเด็กเกิดใหม่ เราเห็นเด็กไร้เดียงสา เราจะมีความน่ารักมีความเมตตา แล้วเรามองถึงตัวเรานะ แล้วตัวเราดูความคิดที่ไร้เดียงสาสิ สิ่งที่เราไม่รู้ไร้เดียงสาทั้งนั้น ไม่มีใครรู้ไปหมดหรอก สิ่งที่ไม่รู้ไปหมดนะเว้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระอรหันต์บางองค์เท่านั้นนะ

บางองค์มีอภิญญา มีอวิชชาต่างๆ จะรู้ แต่บางองค์จะรู้โลกนอกโลกใน โลกในคือโลกทัศน์จากภายใน โลกจากภายในนี้สำคัญมาก โลกภายนอก โลกนอกโลกใน กิริยาภายนอกกิริยาภายใน เรื่องของภายนอกภายใน ภายนอกหมายถึงในครอบครัวเรา ในสังคมของเรานี่ภายนอก

ภายในคือความรู้สึกของเรา อยู่ในครอบครัวของเรา ลูกหลานพ่อแม่เรามีความสุขแต่ในหัวใจของเรามันก็กลัดหนอง โลกในถ้าแก้กิเลส กิเลสเกิดจากโลกใน พระอรหันต์บางองค์ สามารถรู้แจ้งโลกใน แต่โลกนอกสุกขวิปัสสโก สุกขวิปัสสโก เตวิชโชต่างๆ สิ่งนี้มันเป็นไปจากโลกนอกโลกในที่มันเป็นไปอย่างนั้น

การเกิดและการตายของสังคมโลก สังคมโลกสังคมของวัฏฏะ และเราก็คิดว่าเป็นสภาวะแบบนั้น แต่เราไม่เข้าใจเลยว่าจิตเรา ใจเรา จิตที่ตัวเกิดตัวตายมันเคยเกิดเป็นใครมาบ้าง สมบัติ ดูสิเขามอบมรดกกันนะ

ดูสิ ดูอย่าง โตเทยยพราหมณ์ เคยเป็นเจ้าของสมบัตินั้น แต่เวลาตายแล้วไปเกิดเป็นสุนัขในบ้านนั้น เกิดเป็นสุนัขในบ้านนั้น จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบิณฑบาตไป โตเทยยพราหมณ์เธอเป็นคฤหัสถ์เธอก็ตระหนี่ เป็นสุนัขเธอก็ยังตระหนี่ ขนาดเป็นเจ้าของสมบัตินั้น ตายไปเกิดมาเป็นสุนัขเฝ้าสมบัตินั้น

นี่ก็เหมือนกัน เราย้อนกลับมาที่จิตของเรา ถ้าเราเกิดเราตายในสมบัติของเรา ในมรดกที่เราสร้างไว้ในสังคมโลก เราก็เกิดตายๆ มาใช้สมบัติเดิมที่เราสร้างไว้ แล้วเราเกิดมาในครอบครัวนั้นอีก ครอบครัวเราสร้างมา

ดูสิ ดูในประวัติหลวงปู่มั่น ที่แม่ชี ที่ผู้เฒ่าจะไปจองครรภ์ของลูก จองครรภ์ของหลาน รักหลานนั้นมาก ตัวเองยังไม่ตายเลย แต่หลานท้องแล้ว ไปปรึกษาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกให้กำหนดจิตเข้าไปตัด พอตัดปั๊บ นั่นก็แท้ง ถ้าไม่ตัดก็ไปเกิดเป็นลูกของหลาน มันเวียนตายเวียนเกิดอย่างนั้น

แล้วดูในสังคมเป็นอย่างนั้น ฤกษ์ยามเป็นอย่างนั้น แล้วตัวเราเป็นยังไง จิตเราเป็นยังไง เราศึกษาเรื่องใจของเราไหม ถ้าเราศึกษาเรื่องใจของเรา พุทธศาสนา ความสำคัญของพระพุทธศาสนาสอนสิ่งที่ลึกลับที่โลกเขาไม่มีกัน แต่สังคม วิชาการทางโลก วิชาพรหมศาสตร์ต่างๆ เขาสอนฤกษ์งามยามดี มันพิสูจน์ได้ มันเป็นพรหมศาสตร์

สิ่งที่มันเกิดขึ้นได้มันเป็นวิชาการอันหนึ่ง วิชาการของโลกๆ ไง แล้วเราก็ตื่นในวิชาการของโลก เรามองมือด้านเดียว ฝ่ามือกับหลังมือไง เรามองเห็นด้านเดียว เห็นเป็นสิ่งต่างๆ ที่ว่าเกิดมาในเรื่องของโลก แต่ฝ่ามือ สิ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่เห็นหลังมือ สิ่งที่ไม่เห็นเรื่องของใจ ใจที่พาเกิดพาตาย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนมาที่นี่ ถ้าจบ จบกันที่นี่นะ

แล้วเรามานั่งกันอยู่นี่ ใครพามาๆ คุณ...พามาเหรอ ...ไม่ได้พามานะ เขาเพียงแต่ชวนมา ใจเราอยากจะมา ใจเราเองเป็นคนชวนร่างกายเรามา ถ้าใจเราไม่มาจะมานั่งอยู่ที่นี่ได้ยังไง ใจเราเองต่างหากชวนมา ใจเราเองต่างหากใช้บริการของเขา ถ้าใจมันพามา ใจมันเวียนตายเวียนเกิด ก็ใจมันพาไป เจตนามันพาไป

เจตนาอยากเป็นอย่างนั้นอยากได้อย่างนั้นมันพาไป ถ้าเจตนาพาไป ถ้าสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพานี่ โลกใน ถ้าแก้โลกใน ศาสนาพุทธสำคัญตรงนี้ สำคัญตรงสอนเข้าไปที่สัจจะความจริง สัจจะความจริงมันอยู่ที่ในหัวใจของเรา สัจจะความจริงนะ สิ่งที่โลกนอกมันเป็นอนิจจัง สิ่งที่มันช่วยเหลือกัน มันเกื้อกูลกันมันความเป็นไปของโลกเขาทั้งนั้นแหละ

สิ่งนี้ถ้ามีอำนาจวาสนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ เวลาจะไปนิพพาน "อานนท์ เธอบอกเขาเถิดให้ปฏิบัติบูชา อย่าบูชาด้วยอามิสเลย" แต่เรานี่เป็นอามิสบูชากัน ทำบุญกุศลให้เป็นอามิสหมดเลย มันได้บุญกุศล ก็บุญกุศลนั้นเป็นแรงขับเคลื่อน รถที่มาเติมน้ำมันมาทั้งนั้นเลย ถ้าน้ำมันหมดไปไม่ได้หรอก

จิตนี่ อำนาจวาสนาบารมี ได้อาศัยบุญกุศลเป็นเครื่องพาไป ถ้าจะเกิดอีกก็ขอให้เกิดดี เกิดแล้วมีความสุขความเจริญ ความเจริญก็เจริญของโลก เจริญโดยสมมุติ แต่ถ้าเจริญในวิมุตติล่ะ เจริญในความจริง ถ้าความเจริญอันนี้ ศรัทธานะ อเสวนา จ พาลานํ ปณฑิตานญฺจ เสวนา

ถ้าเป็นสังคมโลกๆ สังคมโลกเราไม่คบคนพาล เราจะคบเพื่อนที่ดีเราจะคบบัณฑิตที่ดี แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติ เราจะไม่คบอารมณ์ที่พาออกไปนอกลู่นอกทาง อารมณ์ที่เกิดประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกจากภายใน คบคนพาลคบบัณฑิต ถ้าคบบัณฑิต มันจะเข้ามาจากสัจจะความจริงในหัวใจของเรา ถ้าสัจจะความจริงในหัวใจของเรา เราจะเริ่มเห็นฐานของจิต เห็นฐานของจิตนะ จิตสงบคืออะไร เกิดมานาย ก. นาย ข. สมมุติทั้งนั้นแหละ พ่อแม่ตั้งให้ ไม่พ่อแม่ตั้งให้ก็ไปหาพระตั้งให้

แต่ถ้าจิตมันสุขขึ้นมา ใครเป็นคนตั้งให้ สมาธิใครเป็นคนตั้งให้ ถ้าหัวใจความรู้สึกอันนี้ใครเป็นคนตั้งให้ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ความเห็นของใจ ใจเหมือนกับตัวมันเอง นาย ก. นาย ข. นาย ง. มันอยู่ที่นี่ไง ถ้ามันอยู่ที่นี่ ภพ ภพชาติ

เราเวลาประพฤติปฏิบัติ เคยได้ยินได้ฟังไหม รื้อภพรื้อชาติสิคะๆ รื้อภพที่ไหนล่ะ ภพอะไร ชาติอะไร ชาติไทยเหรอ ชาติไทย ชาติจีน ชาติลาวเหรอ ชาติอยู่ตรงนั้นเหรอ ภพชาติมันอยู่ที่ไหน ภพชาติมันอยู่ที่ทะเบียนบ้านเหรอ ภพชาติมันอยู่ที่ใจต่างหากล่ะ เกิดเป็นใคร ภวาสวะ ถ้ามีตัวเรา เพราะมีเรา มีหัวใจมันถึงมีเรา

คนตายไปแล้วมันชาติอะไร ศพมันชาติอะไร ศพมันไม่มีชาติหรอก ตายที่ไหนก็เผาด้วยกัน สิ่งต่างๆ เผาด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าโละรื้อภพรื้อชาติ มันจะไม่มีใครเห็นภพเห็นชาติเลย ไม่รู้จักตัวเองด้วย ตัวเองคืออะไร ชี้ไปสิ อวัยวะต่างๆ เดี๋ยวนี้ทางการแพทย์เขาเปลี่ยนได้หมดล่ะ

ถ้าเป็นเราเหรอ เวลาผ่าตัด ตัดทิ้งไปแล้วเอามาเก็บไว้ไหม ของเน่าของเหม็นไม่มีใครเก็บไว้เลย นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเป็นเราๆ มันอยู่ที่ไหนล่ะ สิ่งที่ว่าเป็นเราๆ มันไม่มีเลย สิ่งนี้มันเป็นอารมณ์ความรู้สึก สิ่งที่เป็นความรู้สึกนะ เขาชมสรรเสริญ โอ๋ย ดีอกดีใจนะ เขาติฉินนินทา ทุกข์มาก สิ่งใดเผชิญหัวใจ โลกธรรม ๘ สิ่งนี้เกิดขึ้นมากับเรานะ

สุขจากภายนอก สุขจากภายใน ถ้าสุขจากภายในนะเราแสวงหากันที่นี่ไง บุญกุศลที่เราจะสร้างกันต่อไปข้างหน้า เราจะสร้างบุญกุศลไว้ในศาสนา มันจะเป็น ศาสนวัตถุ เวลาเราจะสร้างวัดสร้างวากัน ขอให้ไปสู่จตุรทิศ ขอให้ผู้ที่อยู่แล้วให้อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ที่อยู่แล้วขอให้เป็นสุขนะ ที่ยังไม่ได้มาขอให้มา ผู้ที่เป็นผู้ที่สัมมาทิฐิ ผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง

สิ่งที่เราสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาเพื่อการประพฤติปฏิบัติ เวลาเราถวายบาตรพระ เรื่องสังฆทานถวายบาตร พระออกบิณฑบาตอาศัยบาตรนี้ได้อาหารใส่บาตรทุกวัน ได้ดำรงชีวิต ก็เหมือนกับเรามีสิ่งดำรงชีวิตของเราตลอดไป สิ่งที่ดำรงชีวิตมันเป็นเรื่องของทาน เราเองเป็นคนอ่อนแอ เราเองเป็นคนใช่ไหม

ต้นไม้มีเปลือก มีแก่น มีกระพี้ เราเป็นสังคมของชาวพุทธ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อุบาสก อุบาสิกาที่เข้มแข็ง อุบาสก อุบาสิกาที่เป็นพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลก็มี ในสมัยปัจจุบันนี้อุบาสก อุบาสิกาที่เป็นพระอริยเจ้า มี มีจริงๆ แต่เพราะเขามีแล้วเขากล้าพูดออกมาไหมล่ะ เพราะโลกเขาจะเชื่อกันได้อย่างไร

ถ้าเราเป็นอุบาสก อุบาสิกา เราเป็นสิ่ง เป็นส่วนของแก่น ของกระพี้ เราจะทำบุญอย่างนี้ เราจะสร้างผลของบุญอย่างนี้ เราทำได้แค่นี้ วุฒิภาวะของจิตมันมีได้เท่านี้ แต่ถ้าเวลาประพฤติปฏิบัตินะ อยากเป็นพระอรหันต์ อยากเป็นพระอริยเจ้า อยากจะเป็นสิ่งต่างๆ ขึ้นมา แต่เหตุมันไม่สมควรนะ เหตุมันไม่สมควร ผู้ใดปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม

อย่างเช่น เช่น ถ้าเรามีความมั่นคงๆ เรามีสติสัมปชัญญะ เราจะนั่งสมาธิ เพื่อเอาใจไว้อยู่ในอำนาจของเรา เอาความรู้สึก เอาความคิดไว้ในอำนาจของเรา ถ้าเราเอาความคิดความรู้สึกไว้ในอำนาจของเรา จิตมันจะเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิแล้วมันย้อนไปวิปัสสนา มันต้องแก้โรคแก้ภัย

จิตนี้มีโรคมีภัยนะ เพราะมันมีอวิชชา มันมีมาร มารเห็นไหม พระสมัยพุทธกาล เวลาทำสมาธิเสื่อมถึง ๗ หน เอามีดเชือดคอตัวเองเลยนะ เลือดพุ่งออกมานะ วิปัสสนาเดี๋ยวนั้น เป็นพระอรหันต์เดี๋ยวนั้นนะ มารคิดว่าพระองค์นี้เชือดคอฆ่าตัวตายไง จะต้องยังไม่สิ้นกิเลส ต้องอยู่ในมือพญามารไง รื้อค้นหาไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มารเอย เธอไม่ต้องรื้อจนฝุ่นตลบอย่างนี้หรอก เธอไม่เห็นวิญญาณของลูกศิษย์เราหรอก เพราะลูกศิษย์เราพ้นจากเธอไปแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรายังมีมารอยู่ในหัวใจ มันอยู่ในใต้กฎของมาร มันอยู่ใต้อุ้งมือของพญามาร มันยังต้องเกิดต้องตายอย่างนี้ไปตลอด สิ่งนี้เป็นเชื้อไข มันเป็นสิ่งที่นอนเนื่อง อนุสัย นอนเนื่องมากับใจ ถ้าเราเริ่มแก้ไข ถ้าจะประพฤติปฏิบัติกันมันต้องมีศรัทธา มันต้องมีความจริงจัง ถึงบอกว่า ความจริงจังเราเห็นกันแต่วัตถุ เราเห็นคนมั่งมีศรีสุขด้วยแก้วแหวนเงินทองว่าคนนี้มีอำนาจวาสนา

เราไม่เคยเห็นคนที่นั่งอยู่โคนไม้แล้วมีจิตใจที่เข้มแข็ง เอาหัวใจของตัวเองไว้ในอำนาจ คนนั้นต่างหากที่มีวาสนา เราไปมองวาสนากันที่ยศถาบรรดาศักดิ์ เราไปดูอำนาจวาสนากันว่ามีสถานะไง เราไม่เคยมองอำนาจวาสนาของคนที่นั่งอยู่โคนไม้เลย คนที่นั่งอยู่ในถ้ำ คนที่ออกผจญภัยกับสัตว์ เสือต่างๆ

คนคนนั้นมีอำนาจวาสนาเพราะใจของเขาเห็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ใจของเขาเห็นสิ่งที่มีค่าที่เรามองไม่เห็น เราไปมองเห็นแต่สิ่งที่ว่าเราเห็นด้วยตา เราสัมผัสกันสังคมยอมรับสังคมให้ค่า แต่ถ้าหัวใจเราเอาไว้ในอำนาจของเรา เทวดา อินทร์ พรหม ในวัฏฏะมากราบมาไหว้นะ ทำไม เทวดา อินทร์ พรหม มาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ ทำไมเทวดา อินทร์ พรหม มาฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์เราล่ะ ฟังเทศน์เทศน์มาจากไหนล่ะ

ถ้าเราเทศน์กันพระทั่วไปเทศน์ก็กางตำราเทศน์กัน อ่านหนังสือนะเดี๋ยวนี้เราฟังเทศน์เองก็ได้ เราดูพระไตรปิฎกในคอมพิวเตอร์ก็ได้ สิ่งนี้มันออกมาจากนั่น แต่เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ เทศน์มาจากไหน เทศน์มาจากใจ ใจที่มันรู้ไง ใจที่มันรู้ว่าสิ่งที่มันนอนเนื่องมันมายังไง วิธีการของมารมันหลอกเรายังไง รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

เป็นบ่วงของมาร รูป รส กลิ่น เสียง มันไม่เป็นมารเลย มันไม่เป็นโทษกับใครเลย ถ้ารูป รส กลิ่น เสียง เป็นโทษนะ เสียงที่พูดอยู่ ถ้าไม่มีเสียงเราจะสื่อความหมายกันได้อย่างไร เสียงก็คือเสียง รูปก็คือรูป รสก็คือรส มันเป็นธรรมชาติของมัน เพียงแต่คนไปติดมัน มันเป็นบ่วงของมารมันไปล่อ แล้วเราก็มีมารอยู่ใช่ไหม มันเป็นบ่วงมันเป็นเชื้อล่อ แล้วมารก็ชอบ

พอมารชอบมันก็กินเหยื่ออย่างนั้น พอกินเหยื่ออย่างนั้น มันก็ลากเราไปด้วย มารมันกินเหยื่อ ถ้ามันกินเหยื่อแล้วมันไม่ลากเราไป ทุกข์ก็พอแรงน่ะสิ พอมารมันกินเหยื่อแล้วมันก็อยากได้ อยากได้เราก็แสวงหา แสวงหาเราก็ออกไปทุกข์ไปยาก เราก็วิ่งเต้นเผ่นกระโดดไปกับมารตลอดเลย

รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร และถ้าเราควบคุมของเราได้ เห็นวุฒิภาวะ สิ่งที่โลกเราใช้กันอยู่นี่นะ ทุกคนดูสิ การตลาดเขาต้องพยายามจะหาให้ได้กว้างๆ นะ เขาพยายามจะให้เราได้ซื้อได้ใช้ของเขาอยู่แล้ว เราไม่ต้องห่วงหรอกว่าสมบัติทางโลกเราจะไม่เคยใช้สอย มันเคยใช้เคยสอยเคยสัมผัสกันมาทั้งนั้นล่ะ แล้วเราก็อาจจะได้ เคยสัมผัสกันมาแล้วก็ได้ เราอาจเป็นเจ้าของเดิมของมันก็ได้ แล้วจะรู้ได้ยังไงล่ะ

แต่ถ้าเราวิปัสสนาเข้าไป มันรู้หมดมันเห็นหมดนะ มันรู้หมดมันเห็นหมดเพราะอะไร เพราะถ้าไม่รู้หมดไม่เห็นหมดสิ่งนี้มันคืออะไร สิ่งนี้ทางพุทธคือสิ่งที่มันเป็นนิวรณ์ นิวรณธรรมมันกางกั้นความจิตที่เป็นความสงบ จิตมันสงบได้มันต้องผ่านนิวรณ์นี้เข้าไป แล้วสิ่งนี้มันเป็นความสงสัยมันเป็นความนิวรณ์ของใจ

ถ้ามันเป็นความนิวรณ์ของใจ ถ้ามันผ่านนี้เข้าไป แล้วสิ่งที่ผ่านเข้าไปมันก็เป็นข้อมูลเดิม ข้อมูลเดิม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สัญญาความจำได้หมายรู้ เรามาจากไหนเราชื่ออะไร ในบัตรประจำตัวของเราเลขที่เท่าไร เราจำได้หมดน่ะ สิ่งที่จำได้เป็นสัญญาใช่ไหม แล้วเดี๋ยวมันก็ลืม

แต่เวลาถ้ามันย่อยสลายไป สิ่งบุญหรือบาปที่ย่อยสลายไป นี่ อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารา ปจฺจยา วิญฺญาณํ สัญญาอย่างนี้ มันจะซับลงไปในจิตปฏิสนธิ วิญญาณมันมี ๒ วิญญาณนะ วิญญาณในขันธ์ ๕ วิญญาณในรับรู้ วิญญาณอย่างนี้ มันวิญญาณสื่อความหมายในโลกมันเป็นวิญญาณอันหนึ่ง

วิญญาณอย่างนี้เกิดๆ ดับๆ แต่วิญญาณอีกตัวหนึ่ง วิญญาณจิตปฏิสนธิจิตมันเป็นวิญญาณตัวละเอียดตัวพาเกิดพาตาย เวลาคนมันเกิดมันตายมันถึงจำภพชาติตัวเองไม่ได้ไง แต่เวลาถ้าจิตมันย้อนกลับเข้าไปถึงข้อมูล ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงจำได้หมด เห็นหมดเลยนะเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นพระเวสสันดรเป็นต่างๆ

ทำไมเห็นได้ล่ะ เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เคยเป็น เราเคยใช้ชีวิตนี้มาทั้งชีวิตเลย แล้วพอมันตายไป จิตนี้ไปเกิดใหม่ สิ่งที่ว่านี่มันไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันเกิดในสถานะใหม่ มันเป็นคนใหม่แต่จิตอันเดิม มันเป็นภพใหม่ สถานที่ใหม่ แต่จิตเดิมตลอดไป

ถ้าจิตเดิมตลอดไป เวลาเข้าไปถึงข้อมูลเดิม มันจะไปรื้อค้นตรงนั้น สิ่งนี้มันเป็นบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ มันแก้กิเลสไม่ได้ การแก้กิเลสคืออริยสัจเท่านั้น เพียงแต่ว่าจิตนี้มันมีอยู่ ข้อมูลมันมีอยู่ มันถึงทำให้ความรู้สึกความนึกคิด อำนาจวาสนาของคนต่างๆ กันไป

ต่างๆ กันไป อยู่ที่การแก้ไข อยู่ที่การสะสม อยู่ที่การกระทำ ถ้าการกระทำมันฝังมาทั้งหมด ถึงว่า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แน่นอนๆ เพราะการกระทำเกิดมาจากความรู้สึกของเราทั้งหมด ความรู้สึกเราเองเป็นคนเริ่มต้นคิดเริ่มต้นกระทำ ถ้าไม่มีมโนกรรม ใจไม่ได้หมาย ไม่ได้คิดนะ ทำไม่ได้พูดไม่ได้ คิดไม่ได้ มันคิดออกมาจากใจก่อน แต่มันละเอียดลึกซึ้ง จนเรามองไม่เห็นไง

สันตติ เกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับ มันความคิดตลอดมาอย่างนี้ แล้วมันต่อเนื่องมาตลอด แล้วเราก็ไม่เข้าใจมัน แล้วถ้าไม่มีศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเชื่อเรื่องอย่างนี้ไหม ถ้าเราเชื่อเรื่องอย่างนี้นะ

ดูสิ ในปัจจุบันกระแสโลกแรงขนาดไหน เราไปเชื่อการประชาสัมพันธ์เราไปเชื่อสื่อต่างๆ กันหมดเลย แล้วเราก็เป็นเหยื่อของมันแล้วเราก็ไม่รู้นะว่าอะไรจริงอะไรเท็จ แต่ถ้ามีการประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงเรื่องกาลามสูตรนะ อย่าเชื่อเพราะอาจารย์เราสอน อย่าเชื่อเพราะสังคมเชื่อตามๆ กันมา อย่าเชื่อ ให้เชื่อประสบการณ์ตรง ให้เราปฏิบัติขึ้นมา สัมผัสขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเชื่อในศาสนาพุทธน่ะ ต้องมีปริยัติ ปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติเป็นการทดสอบ ทดสอบตรวจสอบๆ

ถ้าเราทดสอบตรวจสอบ ถ้ามีอำนาจวาสนา ทำไมถึงคำว่ามีอำนาจวาสนาล่ะ เพราะมีอำนาจวาสนา ดูสิเขาขุดบ่อน้ำกัน บ่อน้ำบางแห่งแหล่งน้ำไม่มีต้องขุดลึกหน่อย ใช่ไหม แหล่งน้ำที่มันมีขุดตื้นๆ ก็มีใช่ไหม อำนาจวาสนานั่งอยู่ด้วยกัน ๑๐ คน บางคนนั่งปั๊บ ปุ๊บได้เลย บางคนนั่งไป ๒๐ ปีไม่ได้เลย

แหล่งน้ำตื้น แหล่งน้ำลึก แต่มีแหล่งน้ำไหม มีแน่นอนนะ ถ้าไม่มีแหล่งน้ำจะมีหัวใจได้ยังไง ถ้าไม่มีแหล่งน้ำเราเป็นคนตายหมด คนตายคือหมดแหล่งน้ำ คนยังมีชีวิตอยู่มีแหล่งน้ำเพราะมีหัวใจ ถ้ามีหัวใจมันขุดได้ทั้งนั้นแหละ เพียงแต่มันตื้นลึกต่างกันเท่านั้น ถ้ามีความจงใจ นี่อำนาจวาสนาไง

แล้วอำนาจวาสนามาจากไหน ก็มาจากที่เราทำกันอยู่นี่ มาจากบุญกุศล มาจากการกระทำของเรา มาจากเจตนาของเรา แล้วบุญของเรา บุญมันเกิดจากอะไรล่ะ เขาบอกปฏิบัติแล้วได้บุญอะไร ทำบุญร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดสมาธิขึ้นหนหนึ่ง

แล้วเรานั่งสมาธิกันนี่ คิดสิ ถ้าเราย้อนกลับไปเท่ากับทำทานเป็นหมื่นหน เราสละทานหมื่นหน ถ้าเรานั่งสมาธิจิตสงบหนหนึ่งมันเหมือนกับทำบุญหมื่นหนน่ะ ดูสิ เห็นไหม สิ่งที่มีคุณค่าแต่เราไม่เข้าใจ เกิดเป็นชาวพุทธไปหาพระลำบากมาก พระให้ทำแต่ทานๆ ไม่ใช่บอกพระให้ทำทานนะ พระที่มีคุณสมบัติในใจน่ะ ถ้ามาทำทานมันโกดังเก็บมันไม่พอที่จะเก็บนะ เพราะอะไร มันเป็นเรื่องของทาน

แต่เรื่องสิ่งที่เราเป็น เป็นการแสดงออกของน้ำใจ เรามีน้ำใจเราอยากแสดงออก เราถึงสละทานออกไปใช่ไหม ทานนี้ก็เพื่อใจใช่ไหม แล้วเพื่อใจถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมาร้อยหน พันหน หมื่นหน ก็ทำความสงบของใจขึ้นมามันก็อย่างนั้น มันเป็นการแสดงออก มันเป็นเรื่องของสังคม เรื่องของวุฒิภาวะของเด็ก ของใจผู้ที่เข้ามาใหม่ มันก็ต้องเริ่มจากทานก่อน ให้รู้จักทำทาน มีทานแล้วมันก็จะเข้าไปวัด ไปวัดก็จะฟังธรรม

พอฟังธรรมก็จะปรับวุฒิภาวะขึ้นมาให้สูงขึ้น พอสูงขึ้นก็จะเริ่มประพฤติปฏิบัติ อยู่บ้านก็วัดใจมีลมหายใจเข้าออกตลอดเวลา มันทำได้ทั้งนั้นน่ะ

ศาสนาพุทธน่ะศาสนาของผู้ประเสริฐ ศาสนาของผู้ที่เป็นนักปราชญ์ ทุกคนมีสิทธิที่จะทำได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องทำแง่เดียวจะต้องทำอย่างนี้ มันไม่ใช่ มันทำได้ทุกๆ จริตนิสัย ทุกๆ ความชอบ และความชอบนั้นต้องเป็นสัมมา เป็นสัมมาให้มันเข้ามาถึงสัจจะความจริงนะ สัจจะความจริงคือความรู้สึกเรา

ความรู้สึกของเรานะ ในความรู้สึกเรา มันมีบวกและลบ บวกหมายถึงความที่ถูกต้องและดีงาม ลบหมายถึงเราไม่เข้าใจ แล้วมันเป็นอย่างนั้น เวลาปฏิบัติที่มันจะไขว้เขว มันไขว้เขวตรงนี้ไง ตรงที่มันเป็นสัมมา สัมมาเป็นความถูกต้องมันเข้ามา มันจะเป็นสัจจะความจริง แต่ถ้าเป็นมิจฉาขึ้นมา มันแสดงขึ้นมาแล้วเราไม่รู้

เราไม่รู้เราไม่เข้าใจ แต่แล้วเราพยายามจะเคลมว่าเป็นอย่างนั้นๆ เหมือนไม่ได้ ดูสิ เวลาหลวงตา ท่านอยู่ที่บ้านผือ จิตมันสงบขึ้นมาแล้วมันก็ออกเสวยความรู้สึกและสงบเข้ามา

“เอ๊ะ อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์เหรอ”

เพราะท่านเรียนเป็นมหามานะ ท่านบอก

“เอ๊ะ อย่างนี้ไม่ได้ เอ๊ะ อย่างนี้คือสงสัย”

ไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับอย่างนี้ แต่ถ้าไม่มีสตินะ เอ๊ะ เราไม่ใช่พระอรหันต์เหรอ มันจะบอกใช่ๆๆ แล้วเราก็จะหลงความรู้สึกของเราไป แต่ท่านบอกว่า “เอ๊ะ” อย่างนี้เราไม่เอา ถ้าไม่เอาๆ ก็ต้องปฏิบัติใหม่ ถึงกลับจากอำเภอบ้านผือ ที่ว่าเป็นโรคเสียดหัวใจ กลับไปที่ดอยธรรมเจดีย์ แล้วไปพลิกฟ้าคว่ำดินกันอยู่ที่หลังเขาดอยธรรมเจดีย์

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไป ฝ่ายลบในหัวใจมันจะสร้างภาพ แล้วมีครูบาอาจารย์เทศนาว่าการไว้มันจะจับไว้เป็นแนวทาง มันจะเป็นวิปัสสนึกแล้วใจมันจะนึกภาพได้ มันจะสร้างออกมา สร้างออกมาเพื่ออะไร นี่กิเลสมันสร้างอะไร กิเลสมันเอาธรรมมาแอบอ้าง มันสร้างเพื่อจะให้เราเชื่อมัน ถ้าเราเชื่อกิเลสนะ แล้วเราไม่ประพฤติปฏิบัติ แล้วเราก็จะติดอยู่กับความเห็นของกิเลสเห็นไหม

มารมันขุดหลุมล่อไว้ไง มารมันขุดหลุมล่อไว้ ว่าเรานี่ประพฤติปฏิบัติได้ผลแล้ว มารมันประพฤติปฏิบัติว่า เราทำแล้ว คน เราจะใช้จ่าย จับจ่ายใช้สอยเราต้องมีทุน เวลาจิตเป็นสมาธิเป็นทุน แล้วพอมันบอกว่าสิ่งนี้เป็นผลแล้ว เราก็ใช้จ่ายทุนโดยฟุ่มเฟือย พอทุนเราหมดแล้วนะ เวลาจิตมันติดแล้ว พอติดก็ว่าสภาวะ สภาวะที่เป็นธรรม เราก็ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

พอจิตมันเสื่อมนะ พอมันคลายออกมานะนั่งคอตกเลย นี่ก็ไม่ใช่เพราะอะไรเพราะพอมันเสื่อมปั๊บ มันจะเกิดความฟุ้งซ่าน มันจะเกิดความกระทบกระเทือนของใจ ใจมันจะทุกข์มาก แล้วทุนก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ต้องกลับมาพุทโธๆ กันใหม่

เวลาปฏิบัติ เจริญแล้วเสื่อมๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากการกระทำของเรานะ ประสบการณ์อย่างนี้มันจะมีกับเรา แล้วมีครูมีอาจารย์คอยแนะนำ เป็นที่พึ่งนะ นักมวยเขายังมีพี่เลี้ยงเลย นี่ก็เหมือนกัน เราประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีครูมีอาจารย์นะ เหมือนมีพี่เลี้ยงคอยให้น้ำ คอยบอกเทคนิคการต่อสู้ คอยการกระทำ

แล้วเราเกิดมาเราพบไหม เราเกิดมาในปัจจุบัน หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นเป็นผู้บุกเบิกมา นำทางมา แล้วเรามาประพฤติปฏิบัติ ศาสนาเจริญ เจริญตรงนี้ไง ไม่ใช่เจริญที่วัตถุนะ ไม่ใช่เจริญที่คนนับถือมากนับถือน้อยนะ เจริญในหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้วได้ทำคุณธรรมจริงขึ้นมาจากหัวใจ แล้วดูสิ ความเศร้าหมอง ความเป็นอคติ กิเลสในหัวใจมันจะทำให้เราเศร้าหมอง

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติแค่จิตสงบนี่ จิตเราจะผ่องแผ้ว จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส แล้วจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ผ่องใสมันเศร้าหมองผ่องใส มันเป็นของอนิจจัง แต่ถ้าเราวิปัสสนาไปเวลาเราทำไป มันเหนือจากความผ่องใส ความผ่องใสเป็นพลังงานแต่เวลาเกิดวิชาการเกิดมรรคขึ้นมา มันจะรวมตัวเป็นมรรคสามัคคี มันสมุจเฉทปหานเข้าไป จิตนี้มันผ่องแผ้วออกไป

ธรรมแท้ๆ มันอยู่ที่ไหนมันก็สว่าง ดูสิ พระอาทิตย์ขึ้นมา มันถึงสว่าง ถ้าไม่มีพระอาทิตย์มันจะมืด แต่ถ้าในใจของผู้ที่พ้นกิเลสมันสว่างผ่องแผ้ว เทวดา อินทร์ พรหม เขาถึงเห็นตรงนั้นไง เขาเห็นนะ เห็นมาจากความคิด เห็นมาจากในหัวใจของเราคิดดีคิดชั่ว เห็นแต่ใจของเราว่ามีบุญกุศล เห็นแต่ใจว่ามีอำนาจวาสนาบารมี ผู้ที่รู้จริง แต่ไม่มีอำนาจวาสนา เทวดาเขามาหานี่ก็สื่อกันไม่ได้ไง มาปกป้องมาดูแลแต่สื่อให้เขาไม่ได้ ต่างคนต่างอยู่กันอย่างนั้น

แต่ถ้ามันสื่อกันได้ ภาษาใจ ใจความรู้สึก เวลาใจมันเป็นทุกข์มันก็รู้จักว่าเป็นทุกข์ ใจมันมีวิธีการดับทุกข์มันก็รู้จักวิธีการดับทุกข์ ใจที่ว่า เหตุที่มันจะสร้างให้เกิดการดับทุกข์ มันก็รู้เหตุแห่งทุกข์ ผลที่เกิดจากการดับทุกข์มันก็ดับทุกข์เห็นไหม สิ่งนี้ เทวดาเขาอยากจะฟังตรงนี้ เพราะเทวดามันเป็นเรื่องของใจล้วนๆ เป็นเรื่องของทิพย์ เขาเห็นหมด เขารู้หมด แต่เขาไม่รู้วิธีการ เขาไม่รู้อริยสัจไง

แล้วอริยสัจมันเป็นนามธรรม แล้วมันจะไปศึกษาที่ไหนล่ะ แต่ถ้าศึกษากับใจผู้ที่ทำแล้วได้ผล สิ่งนี้ พูดมาเถอะ อย่างของเรา ของๆ เรา เราทำมากับเรา เขาจะถามยังไงเราก็ทำได้ เราจะบอกได้หมดวิธีการของเรา จิตถ้ามันผ่านกระบวนการของอริยสัจ มันจะเข้าใจทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ละด้วยอะไร ละด้วยมรรค มรรคละแล้วเกิดอะไร เกิดนิโรธ

ไอ้ของเราล่ะ ของเรานี่นะทุกข์ ทุกข์ แล้วเหตุล่ะ ไม่รู้ แล้วทุกข์ๆ ไม่ใช่เหตุด้วย มันเป็นผลของทุกข์ เวลาทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ไหม ทุกข์ๆ ทุกข์เกิดจากอะไรล่ะ ทุกข์เกิดจากตัณหา ตัณหามันขี้นะ มันทำลาย มันมีตัณหามีความต้องการ มีการผลักไส ตัณหา วิภวตัณหา เพราะมันผลักไส มันมีพลังงานแล้วมันถึงเกิดความขัดเคืองใจ มันถึงเป็นทุกข์ของเรา

พอมันเป็นทุกข์ของเรา เรารู้ว่าเป็นทุกข์ แต่เราไม่รู้เหตุที่เกิดทุกข์ เราไม่รู้จักมันนะ เราเห็นแต่ทุกข์แต่ไม่รู้จักที่มาของทุกข์ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ ทุกข์ควรกำหนด เห็นไหมนี่อริยสัจ ทุกข์ควรกำหนด กำหนดของทุกข์ แล้วกำหนดทุกข์แล้วไปละทุกข์ได้ไหม แล้วไปละที่ผลได้ไหม

มันละที่เหตุ ถ้าละที่เหตุ ย้อนกลับไปที่เหตุ เหตุนี้เกิดจากอะไร ย้อนกลับไปที่เหตุ เหตุเกิดจากตัณหาความทะยานอยากเป็นสมุทัย ถ้าเหตุเกิดจากตัณหาความทะยานอยากแล้วอะไรที่รู้จากเหตุ อะไรไปรู้จักมันล่ะ ก็ปัญญาไง ถ้าปัญญาไม่มีสมาธินะ มันจะเป็นโลกียปัญญา มันก็เทียบทางวิชาการเลย เป็นอย่างนั้นๆๆ นะ

แต่ถ้าเป็นสมาธินะ สมาธิเกิดที่ไหน สมาธิเกิดจากใจนะ ใจฟุ้งซ่าน ใจสงบ ถ้าใจฟุ้งซ่าน ใจสงบ ใจเป็นสมาธิ นี่มันเป็นภพ เป็นงานชอบ ถ้างานชอบ งานในการกำจัดเหตุให้เกิดทุกข์ มรรคมันเกิดตรงนี้ ทุกข์มันเกิดที่ใจ แล้วเหตุการณ์ มารมันก็อยู่ที่ใจ เวลามันขัดเคือง มันก็ขัดเคืองกันที่ใจ

เวลาเราทำทุน คือทำสมาธิได้ ทุนที่มีแล้ว ทุนที่มีฐานะแล้วมันหมุนเข้ามา มันก็เกิดปัญญาขึ้นมามันก็อยู่ที่ใจ มันเกิดขึ้นกับใจทั้งหมดเลย อริยสัจเกิดที่ใจ อย่างที่ว่า สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ มันเลี้ยงปากชอบ แต่ถ้าเลี้ยงชีพชอบจากหัวใจ มรรคเลี้ยงชีพชอบ ความเป็นปัญญาเห็นชอบเห็นไหม ศาสนาสำคัญอย่างนี้ แล้วคนจะทำอย่างนี้ได้มันต้องมีพื้นฐาน มันต้องมีสติ มันต้องมีอำนาจวาสนาเพราะมันเป็นงานลึกลับ

ดูสิ ขนาดที่ว่าเราทำครัวกัน มีเครื่องครัวทั้งหมดเลย เรายังทำผิดทำพลาด ทำผิดทำพลาดทำไหม้ทำเกรียม แล้วนี่มันเป็นนามธรรม เป็นมรรคในใจ งานชอบเพียรชอบ ดำริชอบ คบบัณฑิตคบมิตรชอบ ต่างๆ เกิดจากใจแล้วใคร่ครวญขึ้นมา แล้วยกขึ้นมาเป็นมรรคสัจ เป็นมรรคสัจในหัวใจ

เวลามรรครวมตัว มรรคขับเคลื่อน นี่ธรรมจักรๆ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ จักรนี้เคลื่อนแล้วไม่มีใครสามารถจะย้อนกลับได้ ไม่สามารถย้อนกลับได้เพราะมันเป็นใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว ใจดวงนั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว

แล้วเวลาเทศน์ เทศน์วิธีการไม่มีใครเคลื่อนกลับได้หรอก เพราะวิธีการอันนี้ มันเป็นผลมาจากใจดวงนั้น มันถึงเป็นของจริงแล้วไม่มีใครเคลื่อนได้ เว้นไว้แต่หมดยุคหมดสมัยไง มา ๕,๐๐๐ ปี แล้วพ้นภัทรกัปไปแล้ว พระศรีอริยเมตไตรยถึงต้องมาตรัสรู้ เหมือนกัน กำจัดทุกข์นี้เหมือนกัน

เราเป็นชาวพุทธ ศาสนาที่เขาสอนกันน่ะ ศาสนาโลกๆ ศาสนาพุทธของเรา ตำรับตำราต่างๆ เป็นเรื่องของโลก แล้วโลกชี้ทวนกระแส ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเน้นตลอดว่า ทวนกระแสๆ ทวนกระแสกลับมาที่ใจของเรา ทวนจากโลกนอกเข้าไปในโลกใน โลกในคือสุขและทุกข์ แล้วแก้ไขที่สุขและทุกข์นี้ แล้วเราจะเป็นผู้ที่ได้เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอวัง

ต่อไปเลย

โยม : มีโยมกราบขอความเมตตาท่านพระอาจารย์ครับ ถามว่า องค์ภาวนาให้จิตตั้งมั่นมีหลายแบบ ทำอย่างไรเราจึงจะรู้แน่ชัดว่าแบบไหนที่ถูกกับจริตของเรา

หลวงพ่อ : องค์ภาวนามีหลายแบบมาก มีหลายแบบนะจนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ ๔๐ วิธีการ ๔๐ วิธีการ ทีนี้เวลาเราภาวนา ที่ว่าเราภาวนากันแล้วเราไขว้เขวกันเพราะอะไร เพราะอย่างที่เราพูดเมื่อกี้ไง ว่าอำนาจวาสนาเราน้อย เราไปเชื่อไง ถ้าเราจะเชื่อนะ เราต้องจับตรงนี้เป็นตัวตั้งก่อน ตัวตั้งคือกรรมฐาน ๔๐ ห้องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติไง

แล้วถ้ามันพูดนะ แล้วถ้าเราภาวนา อานาปานสติกำหนดลมหายใจ อานาปานสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก พุทโธก็ได้ ถ้าความถูกต้อง โดยกรรมฐาน ๔๐ ห้องถูกต้องหมด เพียงแต่มันเทคนิคนะ เทคนิคของครูบาอาจารย์เรา

เทคนิคหมายถึงว่าเอาพุทโธกับอานาปานสติมาบวกกัน เพราะพวกเรามันเด็กๆ คำจะสอนเด็กๆ ต้องสอนให้ชัดเจนใช่ไหม อันนี้เอาอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าก็นึก “พุท” ลมหายใจออกนึก “โธ” แล้วก็ภาวนาไปให้มันเป็นรูปธรรมไง ให้เราจับต้องได้ง่ายๆ ไง เพราะการฝึกมันฝึกยากเพราะถือว่าเป็นนามธรรม เพราะลมหายใจเข้า ลมหายใจมันเป็นอานาปานสติ เรากำหนดลมเฉยๆ ก็ได้

กำหนดพุทโธอย่างเดียวก็ได้ ทีนี้พอเอามาจับ เริ่มต้นมันทำได้ยาก เหมือนกับของที่เราทำได้ยากเราเอามารวมกันให้มันเป็นรูปธรรมจับได้มั่นคง แต่พอทำไปแล้วมันต้องมีอุบายแก้ไขไปได้เรื่อยๆ เช่น พอภาวนาไป เวลา พุท กว่าจะ โธ ลมหายใจมันช้า พอจิตมันเริ่มมีพื้นฐานเราวางอันใดอันหนึ่งก็ได้ คือวางลมไปเลยก็ได้

พุทโธๆๆ เฉยๆ ก็ได้ วางพุทโธไปอยู่กับลมหายใจเฉยๆ ก็ได้ เพราะว่ามันต้องมีนะ ต้องมีแบบ เด็กมันจะหัดฝึกเดินมันต้องมีอะไรเกาะไปก่อน คำบริกรรมนี้สำคัญมาก ถ้าไม่มีคำบริกรรมเราดูเฉยๆ มันเหมือนกับว่า เหมือน ในระบบการศึกษา เด็กถ้ามีการศึกษามันจะมีความรู้ของมัน กับเด็กที่ศึกษาด้วยตัวเองโดยไม่เข้าระบบ

ทีนี้ถ้ามันมีการศึกษา ถ้าเรามีคำบริกรรม มันอยู่ในระบบการศึกษา ยังไงก็แล้วแต่เด็กคนนี้ต้องจบการศึกษาจริงไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีคำบริกรรม พุทโธก็ได้ ลมหายใจก็ได้ ต้องเกาะไว้ จำไว้ให้แม่นเลยว่าต้องเกาะ อันนี้มันเป็นประสบการณ์ของครูบาอาจารย์นะ ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นลงมาเลย

ถ้าไม่มีคำบริกรรมมันจะเป็นได้กึ่งสมาธิ ไม่ใช่สมาธิ มันได้กึ่งสมาธิตรงไหนรู้ไหม สมมุติเรา เราทำอะไรด้วยอารมณ์ของเรา แต่พอเรากำหนดดูมัน มันก็จะอยู่นิ่งๆ ของมัน มันได้แค่นี้ แต่ถ้าเรามีคำบริกรรม เพราะพอเราทำอะไรก็แล้วแต่ พอมันอยู่ในกึ่ง คำว่ากึ่งนะ ถ้าเรามีคำบริกรรมต่อไป คำว่ากึ่งเพราะอะไร เพราะพอมันถึงกึ่งโดยสามัญสำนึกของคน ชอบสะดวกชอบทำอะไรง่ายๆ แล้วพอมันกึ่ง มันว่างๆ ก็เข้าใจว่านี่เป็นสมาธิแต่ไม่ใช่

ถ้ามันเป็นสมาธิ มันจะมีกำลังของมัน เช่นนักกีฬา เวลาเขาฝึก เขาออกกำลังกาย นักกีฬาส่วนใหญ่ต้องมีพื้นฐานต้องออกกำลังกายก่อน และก็มาฝึกทักษะทีหลัง เราพุทโธๆๆๆ ไปมันกึ่ง พอมันกึ่งมันฝึกไม่ได้ไง เพราะอะไร เพราะมันไม่มีกำลังของมัน แต่ถ้ามีคำบริกรรมต่อไปนะ พอมันกึ่งก็พุทโธ

พอกึ่งแล้วสังคมบอก ทุกคนจะพูดอย่างนี้นะ พุทโธๆๆ จนพุทโธไม่ได้ นี่กึ่งเพราะคำว่าพุทโธไม่ได้หนึ่ง รู้ว่าว่างหนึ่ง รู้ว่าว่างๆ นี่ไม่ใช่สมาธิ นี่กึ่งนะ รู้ว่าว่างเพราะอะไรรู้ไหม อย่างเช่น เช่นเราคิดฟุ้งซ่านอยู่ แล้วเราคิดถึงธรรมะ คิดถึงอะไรก็แล้วแต่ มันจะหยุด มันจะกึ่ง มันหยุดเฉยๆ คำว่าหยุด มันจะว่างๆ ไง รู้ว่าว่าง แต่รู้ว่าว่างอย่างนี้ แล้วให้วิปัสสนาได้ไหม ให้ทำงานได้ไหม ไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร เพราะทุนมันอ่อน แต่ถ้ามีคำบริกรรมมันจะไม่ทำ

แต่โยมกลับไปอย่างนี้นะ โยมกลับไป พอมันกึ่งๆ มันว่างๆ พยายามนึกพุทโธขึ้นมา ถ้ายังนึกพุทโธได้ พอนึกพุทโธขึ้นมา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันจะไม่ยอมทำงาน จิตมันขี้เกียจ โกสัชชะ จิตมันดื้อ พอจิตมันดื้อ โกสัชชะภาษาบาลี แล้วพยายามพุทโธๆๆ ไว้ ฝืนมันๆๆ แล้วก็ฝืนมันอย่างนั้น มันจะไม่ยอมทำยังไงก็ฝืนมันไปๆๆ เดี๋ยวโยมจะเห็นผล

องค์ของภาวนานะ คำบริกรรมนี่สำคัญ จะบริกรรมอะไรก็ได้แต่ต้องมีคำบริกรรม ถ้าคนมีคำบริกรรมเหมือนกับเรามีที่เกาะ เหมือนกับเราไปแบบมีพี่เลี้ยง ไปแบบมีคนดูแล กับเราไปแบบสัตว์ไม่มีเจ้าของ จิตนี่เหมือนสัตว์ มันดื้อด้าน แล้วปล่อยให้มันดีดดิ้นอยู่ในใจโดยไม่ควบคุมมัน กับมีเจ้าของ คือพุทโธหรือมีสติ จับจูงสัตว์จูงเชือก แล้วเชือกรัดมัดอยู่ที่คอสัตว์แล้วดึงมันไป ต้องเป็นอย่างนี้ เด็ดขาด

ยังสงสัยให้ถามกลับมา

ถ้าไม่มีคำบริกรรมนะมันกึ่งๆ อย่างนั้น กึ่งๆ อย่างนั้นเพราะอะไรรู้ไหม ในวงการกรรมฐาน ถ้าพูดถึงผลที่มันเกิดขึ้นมา เรามาคุยกันนะ เหมือนกับ เราเป็นนักธุรกิจจะในเพชรพลอยก็ได้ อะไรก็ได้ เราจะเอาเพชรพลอยมาทำการประมูลกัน แล้วเราจะเอาเพชรพลอยมาวางบนโต๊ะประมูลกัน ต่างคนต่างเอาเพชรเอาพลอยมาวางกัน

เวลาเอาเพชรเอาพลอยมาวางมันมีแต่กรรมฐานที่เอาเพชรเอาพลอยมาวาง เราไม่เคยเห็นใครเอาเพชรเอาพลอยมาวางเลย มีแต่เอาก้อนกรวด มีแต่เอาก้อนดินมาวางแล้วประมูลว่าเป็นเพชร เพราะอะไร ก็เพราะไอ้นี่ เพราะเริ่มต้นพื้นฐานมันไม่มี ถ้าพื้นฐานมันมีขึ้นมามันจะมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา แล้ววิปัสสนาไปมันจะเป็นผลขึ้นมามันจะเป็นเพชรเป็นพลอยขึ้นมา

ในวงการ ในธุรกิจในวงการประมูล เวลาเขาประมูลเหมือนกัน นักธุรกิจน่ะเขาดูออกว่าเพชรแท้เพชรปลอม พลอยเทียมพลอยหุงรู้หมดล่ะ กล้ายืนยันตรงนี้ เพราะถ้ายืนยันตรงนี้ถึงผลไง ถ้าพื้นฐานมันมีมา ปฏิบัติไปยังไงแล้วแต่มันต้องมีผล แต่ในวงปฏิบัติเรา โยมก็ไปมาในประเทศไทย

ไปดูสิ ครูบาอาจารย์ที่เผาไปแล้ว ที่เป็นพระธาตุมีที่ไหนบ้าง ก็เห็นกันอยู่ แล้วไปดูฝ่ายปฏิบัติที่อื่นมีบ้างไหม มีแต่ข่าวลือ มีแต่ข่าวแต่ไม่เคยเห็น

ถึงเพราะมีคำบริกรรมไง คำบริกรรมมาจากไหน มาจากหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น มาจากต้นขั้วของเราไง แล้วต้นขั้วของเราทำมาแล้วพิสูจน์มาแล้วมันถูกต้อง แล้วสิ่งที่ว่ากันไป ไม่อยากจะพูดเลยนะ ถ้าพูดว่า ดูจิตเฉยๆ อะไรเฉยๆ นี่ เราไม่เชื่อเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะหลวงตาท่านบอกเลย

“ท่านเสื่อมไปปีกับ ๖ เดือนเพราะเราดูจิตเฉยๆ ขาดคำบริกรรม”

เสื่อมอยู่ปีกับ ๖ เดือนเกือบเป็นเกือบตาย กลับมาพุทโธ ๓ วันแรกอกเกือบแตก เพราะมันเคย ดูจิตเฉยๆ เหมือนสัตว์ ปล่อยมันเข้าป่า สะบ๊าย สบาย ดูกันเฉยๆ อย่างนี้ สัตว์มันก็อยู่ในป่าไอ้เจ้าของมันก็อยู่บ้าน แล้วจะใช้มันเป็นประโยชน์อะไรล่ะ

พอพุทโธ เอาเชือกไปรัดคอมันไว้ ดึงไว้ ไปไหนก็เอาไปด้วย เวลาจะเอาไปไหนก็ใช้งานได้เลย ท่านบอกเพราะท่านดูจิต ท่านไม่มีคำบริกรรม เสื่อมไปปีกับ ๖ เดือน แล้วมากำหนดพุทโธ ฟังสิ หลวงตาพูดอยู่ทุกวันเลย ไอ้ที่จิตเสื่อมปีกับ ๖ เดือน ปีกับ ๖ เดือน เพราะเราไม่มีคำบริกรรม มันพิสูจน์กันมาหมดแล้ว แต่เพราะพวกเราเห็นใครก็แล้วแต่ มาพูดว่า “ทำอย่างนี้ก็ได้ ทำอย่างนี้ก็ได้”

คำว่าก็ได้นี่ ขอดูผลงานบ้างสิ พูดก็พูด นี่สังเวชจริงๆ นะ สังเวชว่าชาวพุทธแท้ๆ ชาวพุทธกันแท้ๆ เลย พระพุทธเจ้าปฏิเสธอาฬารดาบสมาแล้ว เพราะสมาบัติปฏิเสธมาแล้ว พระพุทธเจ้าปฏิเสธอาฬารดาบส อุทกดาบสมาแล้ว พระพุทธเจ้าปฏิเสธเดียรถีย์เรามาทั้งหมดแล้ว พระพุทธเจ้ามารื้อค้นของพระพุทธเจ้าเอง

แล้วเราก็เวลาบวชนะ “ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์” เวลาสอนก็สอนฤๅษีชีไพร มันเปล่งปฏิญาณตนว่าเป็นชาวพุทธ ปฏิญาณตนนะ ว่าขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วพระธรรมคืออะไร พระธรรมน่ะ แล้วสอนอะไรกัน เพราะธรรมะมีไง ก็เปิดมาสิพระไตรปิฎกหน้าไหน สอนว่ายังไง อะไรว่าอย่างไร อันนี้มันชัดเจนนะ

ฉะนั้นว่า ถ้าทิศทางไหน เราจะบอกว่ากรรมฐาน ๔๐ ห้องมีอยู่แล้ว แล้วเราก็ ขอให้ ๑. ขยัน ๒. มีคนมาถามมาก ว่าภาวนามานานแล้วไม่ได้ผลเพราะอะไร เราคุยกันถึงผลของการภาวนา แต่เราไม่พูดถึงเหตุของการภาวนาเลย

๑. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนแล้ว ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องถือศีล ๘ ก่อน ถือศีล ๘ นะ ถือศีล ๕ ก็ได้ถ้าภาวนาได้ ถ้าภาวนาไม่ได้เราก็ต้องถือศีล ๘ ถือศีล ๘ เพราะว่าไม่กินข้าวเย็น เพราะกินข้าวเย็น พอตอนเย็นเรากินข้าว อาหารในกระเพาะ ๖ ชั่วโมงกว่ามันจะย่อย แล้วเวลาเราไปนั่งภาวนา อาหารเต็มกระเพาะเลย

ระบบย่อยมันก็ทำงานของมันไป ไอ้ที่พุทโธก็พุทโธไปแล้วมันก็หาวไปเรื่อยๆ แล้วมันก็จะหลับไปไง ถ้าเราไปผ่อนอาหารตอนมื้อเย็น ดูสิ ที่วัดหลวงตาท่าน พระฉันข้าวไม่เคยครบเลยเพราะอะไร เพราะว่าพอไปผ่อนแล้วร่างกายมันเบา เวลาไปนั่งมันก็เหมือนแบบว่าเรามีโอกาสมากขึ้น

นักกีฬาถ้ามีเวลาและมีโอกาสการแข่งขันมันก็จะง่ายขึ้น ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราต้องดูก่อนว่าเราทำอะไรบ้าง วันนี้เราตั้งสติบ้างไหม ตั้งแต่เช้าเราเผลอตลอดไหม ถ้าวันนี้เราเช้าขึ้นมาเราตั้งสติของเรา เราทำตัวของเราขึ้นมา เวลามานั่งภาวนามันก็ง่ายไง มันต้องมีการฝึกสิ ไอ้นี่เราไม่ได้ทำอะไรกันเลย

นักกีฬาไม่ได้ซ้อมเลย ถึงเวลาก็ขึ้นแข่ง ขึ้นแข่งแพ้ทั้งนั้นน่ะ มีแพ้กับแพ้ แล้วก็ไม่เคยคิดเลย จะแข่งอย่างเดียวน่ะ จะขึ้น จะภาวนาอย่างเดียว จะภาวนากันตลอดเลย แต่ไม่เคยคิดไม่เคยปรับปรุงตัวตรงนี้เลย พอเราพูดไปนะเขาได้คิด แล้วเขากลับไปพัฒนาได้ผลอยู่

ใช่ วงการแพทย์นะถ้าเราอดอาหาร เราทำอะไร จะทำให้กระเพาะอาหารมันมีปัญหา มันมีบ้าง คำว่ามีบ้างจะบอกว่าไม่มีเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่ผลที่ได้มันมากมายมหาศาล อดอาหารนี่หิวมากๆ เลยนะ หิว ท้องนี่ร้องโจ๊กๆ เลย แต่มันเหมือนคนป่วยน่ะ ร่างกายมันจะเบามาก เวลานั่งสมาธินั่งง่าย เรานี่อดอาหารมาเต็มแรง ท้องนี่ร้องปั่นป่วนตลอดเวลาเลย

แต่อย่างที่หลวงตาท่านพูดน่ะ ท่านบอกว่าเวลาอดอาหารไปภาวนาดี แต่ถ้าอดไปตลอดก็ไม่ได้เพราะร่างกายมันขาดอาหาร เวลาจะกินข้าว มันเถียงกันในใจน่ะ ไอ้ใจหนึ่งก็ไม่กินจะตายนะ อีกใจหนึ่งก็ถ้าไปกินแล้วเดี๋ยวก็ต้องกลับมานั่งสัปหงกนะ ตอนนี้นั่งดีมากเลย แล้วถ้าไปกินมันเพิ่มกระเพาะ แต่พอกินแล้วกลับมาก็ต้องมาสู้กับง่วงเหงาหาวนอน ก็ต้องมาสู้ เวลาคนที่กำลังได้เสียมันเป็นอย่างนั้น

ทีนี้เวลาเราพูดกัน เราพูดกันแต่ทางวิทยาศาสตร์ เราพูดกันแต่ทางโลกเราไม่ได้ห่วงเรื่องนามธรรมเลย เราไม่ได้ห่วงคุณสมบัติของใจกันเลย เราไปห่วงแต่ตรงนั้นหมดเลย ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราเข้าใจถึงว่า เราห่วงคุณธรรมบ้าง ไอ้ที่เราจะใช้สอยเราจะทำอะไรเราก็พอประมาณไง ไม่ใช่ไม่กินไม่ใช้ กินใช้พอประมาณ เพื่อจะให้ร่างกายไม่ทับถ่วง มันไม่กดถ่วงหัวใจไง นี้เรื่องขององค์ภาวนา

โยม : มีข้อที่สองครับท่านพระอาจารย์ครับ โยมถามว่าการเปลี่ยนองค์ภาวนาบ่อยๆ จะมีผลต่อการภาวนาอย่างไร เช่น ถ้าไปปฏิบัติวัดที่ภาวนาพุทโธเราก็ภาวนาพุทโธ ถ้าไปปฏิบัติวัดที่ภาวนายุบหนอพองหนอ เราก็ภาวนายุบหนอพองหนอ

หลวงพ่อ : อันนี้มันอยู่ที่เราด้วย ไปที่วัดพุทโธนี่นะ วัดไหนที่ ส่วนใหญ่แล้ว ฟังนะ ครูบาอาจารย์ที่สอนการภาวนา ส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นกรรมฐานจะสอนตามประสบการณ์ ถ้าสอนตามประสบการณ์ สมมุติว่า อย่างเช่นเรา เราถนัดพุทโธมาก เพราะเราภาวนาพุทโธ ถ้ามากับเรา เราต้องสอนพุทโธก่อน เพราะเราสอนตามความถนัด การปฏิบัติ แบบว่าเราชำนาญยังไงก็ต้องสอนอย่างนั้น

เหมือนกับนักกีฬา โค้ชต่างๆ เขาเก่งมากเขาจะโค้ชนักกีฬาขึ้นมาจนนักกีฬาเขาเก่งมาก นี่เหมือนกัน มันต้องสอนเทคนิคของเขา พุทโธ ถ้าใครภาวนาพุทโธ พุทโธสอนอย่างนั้น เราก็ตามพุทโธนั้นไปถ้าเราทำได้ แต่ถ้าเราไปสำนักไอ้ยุบหนอพองหนอ เขาสอนอย่างนั้นก็เพราะเขาถนัดอย่างนั้นใช่ไหม แล้วถ้าถนัดอย่างนั้น เราทำแล้วเราได้ผลไหม มันย้อนกลับมาที่นี่

แล้วถ้าพูดถึงนะ ถ้าเรามีหลัก สมมุติอย่างเรา เราถนัดพุทโธมาก แล้วเราไปสำนักพุทโธเราภาวนา แล้วบอกว่า พุทโธนี่ดีมากเลย แล้วถ้าเราไปสำนักยุบหนอพองหนอเพราะว่าเราจำเป็นต้องไป เราไปแล้วเราก็ลองยุบหนอพองหนอ ถ้ามันได้ขึ้นมาเป็นโอกาสว่า เออ เรานี้เป็นคนพิเศษ หมายถึงว่าก๋วยเตี๋ยวแห้งก็กินได้ ก๋วยเตี๋ยวน้ำก็กินอร่อย เพราะว่ามันเหมือนกันในผล

แต่ถ้าเราไปกินก๋วยเตี๋ยวแห้งแล้วกินไม่ได้ สมมุติว่าเราไปสำนักเขา เราก็กลับมากินก๋วยเตี๋ยวน้ำ คือเราก็กลับมาพุทโธ แต่เราอาศัยเขา เราจะบอกว่าอย่างนี้ จะบอกว่าคำบริกรรมในใจของเรา ไม่มีใครรู้กับเราหรอก เราต้องเทียบว่าเราไปสำนักไหนแล้วปฏิบัติแล้วได้ผลอย่างไร แล้วถ้าไปสำนักที่เขาใช้คำบริกรรมคนละส่วนกัน เราก็ไปใช้สถานที่ แต่คำบริกรรมก็อันเดิมไง นี่มันอยู่ที่เทคนิคไง แต่ถ้ามันเป็นไปได้ก็ดี

เพราะมีโยมจำนวนมากมาถามว่าไปบางสำนัก ไปทำอย่างเขาแล้วมันทำไม่ได้แล้วก็เครียดด้วย แต่อยากไป เพราะไปแล้วมันพอใจ มันรื่นเริง มันมีพรรคมีพวก เราบอกก็ไปได้ไม่สำคัญหรอกไม่ผิด เพียงแต่ว่าพอไปแล้วเราก็นั่งพุทโธไปสิ เขาจะสอนอะไรก็สอนไปเราไปใช้สถานที่เขาไง วัดวาอารามเป็นสถานที่ของเรา ใช้เทคนิคอันนี้จำไว้

อะไรที่เขาภาวนาดี ภาวนาดีคือคุณสมบัติของเรา แล้วไปที่ไหนต้องไปนะเพราะเราเป็นคนน่ะ เราต้องมีสังคม ถ้าเพื่อนฝูงชวนไปเราก็ไปกับเขา แต่เวลาเราจะเอาคุณสมบัติของเรา เราก็พุทโธสิ ถ้าเรามา เรายุบหนอพองหนอเคย ไปพุทโธเราก็ยุบหนอพองหนอสิ ท่านจะพุทโธก็พุทโธของท่านไป อยู่ที่ว่าเราจะได้ประโยชน์ไหม แล้วเราเองจะรู้เอง เพราะจิตมันจะพัฒนา

พอความสงบขึ้นไป ทำความสงบบ่อยครั้ง บ่อยครั้งเข้า จนมันมีรากมีฐานจนเป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิแล้วมันจะพลิกขึ้นไปวิปัสสนา ฟังนะ คำว่าวิปัสสนาคือจิตมันตั้งมั่น แล้วจิตมันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันเห็นจากจิต

ถ้าเห็นจากจิตมันสะเทือนหัวใจมาก แต่ที่เราเห็นกันอยู่นี้ มันเห็นจากสัญญา เห็นจากตาเนื้อ เห็นจากความคิด เราคิดเรื่องร่างกาย เราคิดเรื่องสังขาร เราคิดเรื่องเวทนา แต่มันไม่ได้คิดมาจากจิต ถ้าเราคิดมาจากจิต จิตมันต้องมีพื้นฐานก่อน ถ้าจิตมีพื้นฐานก่อนพอจิตมันคิดมาจากจิต จิตมันเห็นจริง พอจิตมันเห็นจริงนี่ โอ้โฮ ถ้าคนเห็นนะ โอ้โฮๆ มันถึงจะละกิเลสได้ มันจะถอนอุปาทานได้

ไอ้ที่เราคิดกันนี้นะมันเหมือนปริยัติ คือ เราเรียนหนังสือ เราอ่านแล้วพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้นๆ ถ้าอ่านหนังสือนะแล้วเข้าใจ ถ้าอ่านหนังสือจบแล้วเข้าใจ แล้วเป็นพระอรหันต์นะ เมืองไทยมีพระอรหันต์ทั้งประเทศเลย แต่นี่มันอ่านแล้วมันก็ไม่เข้าใจ

อ่านธรรมของพระพุทธเจ้าแต่ใจมันก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา สมาธิสำคัญอย่างนั้นนะ สมาธิสำคัญมาก นี่จะบอกว่าถ้าผลมันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ สมาธิมันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ แล้วเราไปทำ สมาธิเกิดแล้วเราก็ยังทำไม่ได้นะ เราจะแกง เราจะทำแกง เราเตรียมพร้อมเลยแต่เราขาดเครื่องแกง เราทำไม่ได้แล้ว

สมาธิหนสองหนวิปัสสนาไม่ได้หรอก เพราะกำลังมันไม่พอ เห็นไหมที่บอกต้องทำสมาธิ ทำสงบบ่อยๆๆ จนจิตตั้งมั่นไง จนจิตตั้งมั่น จิตมีพื้นฐาน เครื่องแกงเราต้องพร้อม เราจะทำอาหาร เราต้องมีวัตถุดิบพร้อมเลยจะทำอาหารอะไร อยากจะทำอาหารอยู่มีแต่เตากับภาชนะไม่มีอาหารเลย เห็นไหมถึงว่าต้องทำความสงบบ่อยๆ ที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน เพราะครูบาอาจารย์ท่านทุกข์ยากมาก่อนนะ

ดูสิ บรรพบุรุษของพวกเราเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีนกันน่ะ ตอนมาทุกข์ยากขนาดไหน แล้วก็มาสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมานี่ เรามันรุ่นลูกรุ่นหลาน เราเกิดมากินมรดกของพ่อแม่ นี่เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเรากว่าจะปฏิบัติมา เสื่อผืนหมอนใบมา ทุกข์ยากกันมามากเพราะว่าไม่มี.. ตำราบอกไว้แต่ไม่มีใครสอน แล้วท่านรื้อค้นขึ้นมา จนท่านทำของท่านผ่านมาได้ แล้วท่านสอนมา

ไอ้พวกเรา เด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้มันไม่เหมือนรุ่นบุกเบิกเพราะมันอ่อนแอ นี่ก็เหมือนกัน กรรมฐานเดี๋ยวนี้อ่อนแอ กรรมฐานเดี๋ยวนี้ชุบมือเปิบ กรรมฐานเดี๋ยวนี้สุกเอาเผากิน จะเอาแต่ตามใจตัวแล้วไม่ได้ผล ไม่ได้ผล! ถ้ากรรมฐานเราเหมือนรุ่นพ่อรุ่นแม่ เสื่อผืนหมอนใบ หนักเอาเบาสู้ เพราะเราทุกข์ยากมาจากเมืองจีน เมืองจีนนี่ไม่มีแผ่นดินทำกิน ไม่มีอะไรเลย

พอเข้ามาถึงปากน้ำ “กูรอดตายแล้ว กูรอดตายแล้ว” เขียวขจีไปหมดเลย รอแต่กำลังลงไปทำมาหากิน ทุกอย่างพร้อม รอแต่เราลงไปบุกเบิก แล้วนี่เหมือนกัน ถ้าเราไปที่ไหนแล้ว อะไรเป็นประโยชน์กับเรา เราต้องตรงนี้ แล้วเวลาภาวนาไปอย่างเช่นเรา พุทโธๆๆ ไปบางทีมันก็เบื่อ พอบางทีมันจะเบื่อมันคิดยังไงล่ะ มันก็ใช้พิจารณา

ใช้พิจารณาแบบ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ พอจิตมันพุทโธๆๆ ไปพอมันสงบ ออกมาพิจารณากายบ้าง เพราะพิจารณากาย ฟังสิ อย่างหลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านพูดบ่อย ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา ถ้าจิตเรายังไม่สงบ เรากำหนดพิจารณาเรื่องเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ถ้ามันปล่อยมามันก็เป็นสมถะ

แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วมันมีกำลังของมัน เวลาพิจารณา เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันพิจารณาแล้ว มันขยายภาพ มันวิภาคะ มันสะเทือนหัวใจ อันนี้เป็นวิปัสสนา มันเป็นได้ มันเป็นได้เพราะอำนาจของจิต มันจะเป็นได้เพราะฐานของจิต ถ้าจิตมีกำลังนะมันจะเป็น

ถ้าจิตมันกำลังอย่างนี้ พอเป็นปุถุชนอยู่ การพิจารณาอย่างนี้มันจะเป็นสมถะ แต่ถ้าจิตมันเป็นสมาธิมีพื้นฐานแล้ว ถ้าวิปัสสนา ถ้าเราใช้ปัญญาแล้วมันจะเป็นวิปัสสนา มันรู้หมด จิตนี่มันจะรู้หมดเลย ถ้าทำไปแล้วมันจะรู้ของมันไป มันจะพัฒนาของมันไป

นี่เกิดจากการกระทำทั้งหมด ศาสนาเห็นไหม งานนอกงานใน ตอนนี้เราทำงานนอกกัน สัมมาอาชีวะ ประกอบหน้าที่การงาน งานนอกทั้งนั้นเลย งานใน งานในของเราจากข้างใน มันถึงสำคัญตรงนี้ กรรมฐานที่ว่าติดครูติดอาจารย์

ติดครูติดอาจารย์ตรงนี้ไง เพราะบางทีนี่นะ พอจิตเราเริ่ม เราเป็นปุถุชนใช่ไหม เราพิจารณาของเราอยู่ แล้วมันปล่อยเข้ามา เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา มันปล่อยนะ พอปล่อย มันก็เวิ้งว้างว่างหมดนะ ไม่ใช่หรอก มันปล่อยเข้ามาเป็นสมถะ เพราะอะไร เพราะว่า พอปล่อยเข้ามามันเป็นพลังงานไง พอการปล่อยอย่างนี้มันปล่อย พอมันปล่อย สมมุติว่าเราทำงานยุ่งเต็มที่เลย แล้วพอทำงานเสร็จเรานั่งพักนี่สบายไหม สบาย

แล้วสบายแล้ว เดี๋ยวก็ต้องทำใหม่กันแล้ว เห็นไหมก็ต้องออกไปทำใหม่ นี่ก็เหมือนกัน พอมันออกมาพิจารณา มันปล่อยมันก็เป็นสมถะ พอสมถะนี่ พอเราทำงานบ่อยครั้ง บ่อยครั้งเข้า จนเราชำนาญขึ้นมา พอชำนาญขึ้นมา จิตมันเป็นพื้นฐานแล้ว ถ้างานนั้นทำได้ งานที่เราจะทำอยู่นี้ ถ้าเราชำนาญมาก เราทำปั๊บๆๆ เสร็จแล้ว

คนที่ไม่เคยทำงานนี้เลยมันจะไปทำงานแทนเรา มันก็ต้องมาฝึกงาน พอมันมาฝึกงานมันก็ต้องทำตก ทำหล่น ทำเสียหาย จนกว่ามันจะชำนาญขึ้นมา มันก็เป็นสมาธิ ถ้ามันชำนาญ พอมันออกไปเป็นวิปัสสนา มันออกไป พอทำชำนาญปั๊บมันจะเป็นธุรกิจขึ้นมา เพราะธุรกิจมันได้ผลประโยชน์กลับมา ผลประโยชน์กลับมาคือกำไร วิปัสสนาเกิดตรงนี้ไง

จะบอกว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะชี้แค่ไหนถึงแค่ไหน มันจะมีครูบาอาจารย์ผู้ที่ชำนาญการ คอยชี้นำ แล้วคอยอย่างนั้น แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ก็ต้องถูต้องไถกันไปเอง แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ไม่ต้องถูต้องไถ ขึ้นไปบอกอาจารย์ อาจารย์จะผลัวะ! คนถ้าเคยผ่าน คนชำนาญการ คนชำนาญการนะฟังทีเดียวรู้หมด เพราะชำนาญ ทำมาจนชำนาญ ทำมาจะไม่รู้ได้ยังไง

อาจารย์ของคน อาจารย์ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันต้องผ่านมาก่อนแล้ว แล้วสิ่งที่เราผ่านมาเขามาถาม ไม่รู้นี่มันจะเป็นจานกระเบื้อง ถ้ามันมีอย่างนี้มันก็เป็นประโยชน์กับเรา จะบอกว่าถ้ามันไปสถานะไหน เวลาครูบาอาจารย์สอนเห็นไหม ถ้าเราเปลี่ยนแปลงบ่อยเหมือนย้ายต้นไม้บ่อย การย้ายต้นไม้บ่อยคือว่าเราเปลี่ยน เราย้ายต้นไม้

แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นอุบายมันต้องเปลี่ยนนะ ทำบางที เราไปทางประจำมันจะชินแล้วมันจะเบื่อหน่าย ถ้าเส้นทางเราได้เปลี่ยนใหม่ๆ เราจะหูตา ฮู้ ตื่นเต้นเลย นี่เหมือนกัน ถ้าบางทีเราก็ต้องเปลี่ยน เขาเรียกว่าอุบาย อุบายถ้าพูดไปเหมือนกับเจ้าเล่ห์แล้ว นี่กิเลสไม่ได้นะ พูดอย่างนี้ว่าเจ้าเล่ห์ๆ อย่างนี้เจ้าเล่ห์

อุบายที่เราจะทำให้มันได้ผลมากขึ้น ไม่ใช่เจ้าเล่ห์ แต่ถ้าเราชินชา บางทีทำแล้วมันจะซ้ำเดิมแล้วมันจะไม่ได้ประโยชน์ นี่มันจะต้องอยู่ที่ เราลองเปลี่ยนแปลง หรือครูบาอาจารย์คอยแนะนำ บางทีพอทำไปแล้วมันไม่ได้ประโยชน์ มันต้องเปลี่ยนแปลง มันจะมีการเปลี่ยนบ้างแต่ไม่ใช่ย้ายต้นไม้

บางอย่างก็ทำไปแล้วผิด บางอย่างไม่ทำก็ผิด อันนี้มันเป็นระดับชั้น แล้วเวลาเราคุยกันเราจะคุยกันแบบโลก คือผูกมัด คือพูดอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นธรรมะนะ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล มันลึกซึ้งไง เหมือนกับ กิน รับประทาน เสวย มันจะเป็นอย่างนั้นแล้วมันจะลึกไปเรื่อยๆ

แต่เวลาเราพูดกัน ถ้าคนไม่ได้ปฏิบัตินะ มันไม่ได้พูดให้ลึกลงไป กินเสวยมันก็ระลึกอันเดียวกันหมด มันเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะเบี่ยงนะ เวลาพูดนี่เรารู้เลย ถ้าพูดอะไรไปโยมจะบอกว่า เวลาเราพูดธรรมะ แหม เข้มแข็งนัก เวลาตอบปัญหานี่หลบไปหลบมา

เราจะบอกว่า พระพุทธเจ้าท่านพูดอย่างนี้ไง เวลาที่ว่าท่านตรัสรู้แล้ว ปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ แล้วพอเห็นความลึกซึ้งที่มันเป็นอย่างนี้จะสอนใครได้หนอ สอนแล้วเขาจะเข้าใจได้ยังไง เพราะโลกมันคิดกันระนาบเดียวไง ความคิดคือพื้นฐานหมดเลย แต่ถ้าเป็นธรรมะ โลกียปัญญา มันมีโลกุตระปัญญา นี่โลกียะ คือปัญญาจากความคิด ปัญญาจากข้อมูลไง โลกคือปัญญาจากข้อมูล โลกียปัญญา แต่ถ้าเป็นธรรมจักรไม่เป็นอย่างนั้น

ถ้าปัญญาจากข้อมูลโดยพื้นฐาน เพราะข้อมูลมาจากเรา เรามีกิเลส ข้อมูลนี้คือข้อมูลกิเลสพาใช้ โลกียปัญญาคือปัญญาจากกิเลส ถ้าโลกุตรปัญญาคือปัญญาโดยธรรม ทีนี้โดยธรรม ธรรมต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐาน มันจะไปกดตัวตน กดกิเลสนี้ให้สงบก่อน แล้วมันจะออกโดยธรรมชาติของมัน แล้วมันมีออกแว้บๆ ใหม่ๆ แต่จนชำนาญการมันจะคล่องตัวมาก จนออกเป็นธรรมจักร มันจะหมุนของมันตลอดเวลา

อย่างที่หลวงตาท่านบอกว่า เวลาที่ปัญญามันหมุน มันเหมือนน้ำป่าที่ไหลเต็มที่ ยั้งไว้ จนไปถามหลวงปู่มั่นนะ

“ไอ้ออกปัญญานี้มันออกแล้วนะ ออกจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน”

เวลาถ้ามันคล่องตัวแล้วมันจะหมุนขนาดนั้นนะ

“ไอ้บ้าสังขาร ไอ้บ้าสังขาร”

ต้องกลับมาพักก่อน ไม่พักมันจะหมุน หมุนจนไม่มี.. นี่ไง อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค เราไปมองข้างนอก เราไม่มองกันข้างในเวลาจิตที่มันเป็นไป เวลาภาวนาไป ประสบการณ์อย่างนี้ หลวงตาท่านประสบมาแล้ว แล้วถ้าใครประพฤติปฏิบัติแล้วนะ ถ้ามีคุณธรรมจะเป็นได้แบบนี้ ผู้สิ้นกิเลสจะต้องผ่านประสบการณ์อย่างนี้เหมือนกัน เพียงแต่หนักเบาต่างกันเท่านั้น

แล้วพอเคยผ่านประสบการณ์อย่างนี้มา เวลาครูบาอาจารย์องค์ใดพูดออกมา ผู้ที่ผ่านมาต้องรู้เหมือนกันหมด เพียงแต่หนักเบากว้างขวาง กว้างแคบต่างกันโดยจริตนิสัย แต่จะต้องเห็นอริยสัจเหมือนกัน

ฉะนั้นถ้ามันเห็นเหมือนกันแล้วนี่ คนที่เห็นเหมือนกันคนที่รู้เหมือนกัน สอนมันจะผิดไปไหน แล้วมันจะสอนไปทะเลาะกันทำไม ถ้าสอนแล้วยังไขว้เขวยังขบเกลียวกันนะ ไม่องค์ใดผิดก็ต้ององค์หนึ่งผิด แต่ถ้าเป็นธรรมจักรเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไปไม่ได้ จะต้องเป็นไปในทางเดียวกันหมด เพียงแต่วิธีการอะไรนี่ แต่มันก็ไม่ขัดกัน ไม่ขัดกันหรอกเพราะมันต้องรู้เหตุเหมือนกัน เพราะมันทำลายกิเลสเหมือนกัน