ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เทศน์ที่ธรรมศาสตร์รังสิตครั้งที่๒ไฟล์๓

๑๑ เม.ย. ๒๕๕๑

 

เทศน์ที่ธรรมศาสตร์รังสิต ครั้งที่ ๒ ไฟล์ ๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๑
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

 

มา ทำวัตรก่อน ทำวัตรเลยล่ะ กราบพระนะ

(ทำวัตรเย็น) เริ่มเทศน์ นาทีที่ ๑๐.๐๘

ปัญหาน่ะเอามา ใครมีปัญหาอะไร เก็บมาเลย เอามาเยอะๆ ตุนไว้

สงกรานต์คนเขาก็เพลินไปอีกอย่างหนึ่ง เขาก็เพลินไปประสาเขานะ เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์มาน่ะ ท่านคิดถึง ท่านพูดถึง ถ้าพูดถึงทางโลกนะ คนเราคิดถึงกัน เป็นญาติกันโดยธรรมนะ ถ้าคนเป็นญาติกันโดยธรรม เราเกิดมานี่ เป็นญาติกันโดยธรรม เพราะเกิดมามีหนึ่งปากหนึ่งท้องเหมือนกัน คนเรานี่จิตใจเสมอกัน คิดถึงกันนะ สิ่งที่คิดถึงกัน ความเมตตานี่เป็นสิ่งที่ดีๆ ทั้งนั้นเลย

การคิดถึงกัน การแสวงนะ เป็นญาติกัน ถ้าเป็นญาติกัน คนที่เป็นญาติโดยสายเลือดกับเป็นญาติโดยธรรม คือการคิดถึงกัน การดูแลรักษากันนะ การคิดถึงกันเห็นไหม เยี่ยมบ่อยๆ คนมาเยี่ยมมาเยือนกัน มาค้นหากันเหมือนเพื่อน เพื่อนสนิทกันมาก ถ้าเพื่อนสนิทนะบางทีสนิทกว่าญาติอีก ญาตินี่ไม่สนิท จิตใจเสมอกัน เนี่ย สิ่งที่คิดนี้มันเป็นธรรม

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ เวลาท่านคิดถึง ใจเป็นธรรมน่ะ มันห่วงอาลัยอาวรณ์กับธรรมะไง แล้วธรรมะนี่ ใครจะรักษา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มีรัตนะ ๒ มีพระพุทธกับพระธรรม มีพระพุทธนะเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม

แล้วอัญญาโกณฑัญญะมาบรรลุธรรม เห็นไหม “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีใจมาก ดีใจมากนะ เพราะมีพยาน ถ้าพูดสิ่งใดน่ะ มันมีพยาน ถ้าไม่มีพยานเราพูดอยู่คนเดียว เห็นไหม โลกจะเชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ แต่ถ้ามีพยานนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้เห็นไปหมด รู้เห็นไปหมดเพราะว่าอะไร? เพราะว่าบารมีธรรมสร้างมาเยอะมาก การสิ่งที่เรามี เราเป็น มันเป็นสิ่งที่เราสร้างมา มันไม่ลอยมาจากฟ้าหรอก โลกนี้ไม่มีของฟรี ในวัฏฏะก็ไม่มีของฟรี

“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

นี้พอทำชั่ว ทำสิ่งต่างๆ เราก็ปฏิเสธว่าเราจะไม่เป็น อย่างที่เราทำมา เราปฏิเสธ การปฏิเสธนั่นมันเป็นความคิดนะ แต่ความจริงมันเป็นความจริงนะ เราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ที่มันมีบาดหมางกัน กระทบกระเทือนกัน เวลามาเกิดใกล้ๆ กัน มาเกิดใกล้กันแล้วบอกว่าเราจะไม่ยอมเขา เราจะไม่อะไรไป โธ่ ลูกเกิดมา ลูกเล็กๆ นี่มีอำนาจนะ มันอ้าปากเท่านั้นพ่อแม่ต้องวิ่งไปหามันเลย อย่าว่าแต่ว่ามันจะมาเรียกร้อง แค่อ้าปาก ก็วิ่งไปหามันแล้ว

มันเป็นโดยความผูกพัน เวลากรรมให้สนองเป็นความผูกพันนะ พูดถึงเรื่องของกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โลกนี้ไม่มีของฟรี ไม่มีของฟรีนั่นเป็นเรื่องของโลก เรื่องของวัฏฏะ เรื่องของการสร้างบุญกุศล เรื่องของการสะสม เรื่องของการสร้างบารมี แต่เวลาเรื่องของกรรมฐานเราครูบาอาจารย์จะรวบรัดเข้ามา จะทำบุญกุศล ทำสิ่งต่างๆ สูงส่งขนาดไหนก็แล้วแต่มันหมุนไป แล้วแต่แรงขับ

ดูสิ รถเราวิ่งได้เท่าไร ดูจรวดมันขึ้นไปบนฟ้าสิ มันขับเคลื่อนแรงขนาดไหน มันพุ่งไปสุดกำลังของมันเลยนะ ความเร็วของมันขนาดไหน ความเร็วของจรวด ของยานอวกาศที่มันออกไป

ใจถ้ามันมีแรงขับขนาดไหน จะบุญมากขนาดไหน จะส่งขนาดไหน มันแรงขับ มันไปทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเป็นการภาวนานะ มันเป็นการดับที่เรา กรรมฐานเรา ศาสนา จะทำบุญกุศลขนาดไหนนะ ถึงที่สุดแล้วต้องมีการภาวนา การภาวนาเท่านั้นจะมาดัดแปลงใจของเรา การภาวนา เห็นไหม ควบคุมใจของเรา ศึกษาใจของเรา ศึกษาใจของเรา เพราะเข้าใจของเราแล้ว เพราะเข้าใจใจของเราแล้วนะ

ใจทุกดวงมันเป็นอย่างนี้ เพศหญิง เพศชาย เพศสมณะ เพศนักบวช เพศต่างๆ เห็นไหม บวชเป็นพระนี่สมมุติสงฆ์ ดูสิ ขนาดฆราวาสเขาเวลาเขาบรรลุธรรมขึ้นมา ใจเขาเป็นพระนะ ร่างกายเขาเป็นคฤหัสถ์ เป็นฆราวาส แต่หัวใจของเขาเป็นพระ ถ้าหัวใจของเขาเป็นพระ มันเป็นพระที่หัวใจไง

ถ้าเป็นพระที่หัวใจ การภาวนา ภาวนาที่ไหน? ภาวนาที่ใจ ถ้าภาวนาที่ใจ เห็นไหม มันเกิดการกระทำ มันเกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันจะไปแก้ไขได้อย่างไร? เราทำบุญกุศลหรือสิ่งต่างๆ จากภายนอก มันเป็นการสร้างบารมี แรงขับอย่างที่ว่ามันเป็นอามิส ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ไปเกิดแน่นอน

“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

การทำดีนะ สะสม เห็นไหม ดูสิ เวลาเทวดาเขามาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระอินทร์มีไหม?”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าอย่าถามว่า “พระอินทร์มีไหม?”

เหตุให้เกิดพระอินทร์ก็รู้ๆ นะ สาธารณประโยชน์ แหล่งน้ำ ถนน ศาลาพักร้อน สิ่งเหล่านี้ถ้าทำไปเกิดเป็นพระอินทร์ เป็นพระอินทร์เพราะว่าอะไร? เพราะเราสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ แล้วผู้คนข้างหลังเขาสร้างบุญกุศลกัน เขาทำดีกัน ดูสิ เราไปให้ เราไปแจกทานกัน เราไปเปิดโรงทานกันน่ะ

คนเขาไปทอดกฐิน เขาไปทำบุญกุศลกัน แล้วเขามากิน เขามาอาศัยโรงทานของเรา เขามากิน เขามาอาศัยโรงทานของเรา ใช้อำนวยความสะดวกในชีวิตของเขา คบบัณฑิตไง บัณฑิตเขาไปทำบุญกุศลกัน เขามาอาศัย เราได้บุญสองต่อ สามต่อ เขาไปทำความดีใช่ไหม? แล้วเขามาอาศัยสิ่งของของเราในการดำรงชีวิตใช่ไหม? นี่พระอินทร์เกิดอย่างนี้

เพราะเขาทำบุญกันอยู่แล้ว แล้วเราไปทำโรงทาน ไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขา สิ่งนี้ไปเกิดเป็นพระอินทร์

“เหตุให้เกิดพระอินทร์เรายังรู้เลย อย่าว่าแต่พระอินทร์มีหรือไม่มี”

เหตุให้ไปเกิดน่ะ เหตุที่จะไปเกิดเป็นพระอินทร์ เห็นไหม แรงขับ จะบุญกุศลดีส่งขนาดไหนมันก็เวรกรรม ถ้าไม่มีการภาวนามันจะหมุนไปในวัฏฏะอย่างนี้ ดีคือขับผลในสิ่งที่ดี เลว ชั่วขับผลในสิ่งที่ชั่ว มันขับผลในสิ่งที่ชั่วนะ มันให้แน่ให้ผลแน่นอน มันเป็นธรรมชาติของไฟ ไฟ เห็นไหม มันอยู่ในที่ลับมันก็ร้อน เราไปจับถ่านในที่ลับมันก็พอง จับถ่านในที่แจ้งมันก็พอง มันพองทั้งนั้นน่ะ ความลับไม่มีในโลก

คนทำน่ะมันรู้ คนที่ทำ เราเป็นคนทำเอง เรารู้ของเราเอง สิ่งที่เรารู้ เห็นไหม สิ่งที่การกระทำนี้มันเกิดขึ้นมาจากใจ มโนกรรม ไม่มีความคิด ไม่มีการริเริ่ม มันจะทำได้อย่างไร? ร่างกายจะยังขับเคลื่อนไปเพราะความคิดของเราขับเคลื่อนเราไป ขับเคลื่อนแล้วทำต่างๆ ทำสิ่งต่างๆ ทั้งนั้นเลย เราขับเคลื่อนไปทำอย่างนั้น แล้วเราย้อนกลับไป

แรงขับเคลื่อนถ้ามันเข้ามาสงบได้ ทำสมาธิได้ เห็นไหมทำสมาธิได้ เวลา เราเน้นกัน เน้นกันเรื่องการทำสมาธิเพราะอะไรรู้ไหม? เพราะในปัจจุบันนี้เขาปฏิเสธตรงนี้กัน เขาบอกว่าการทำสมาธิไม่มีประโยชน์ แล้วถามว่าทุนมีประโยชน์ไหม ทุนน่ะ ทุนนี่นะ สมาธินี่คือทุน ถ้าใครมีทุนมันถึงทำกิจการต่างๆ ได้ ไม่มีทุน เรามีโครงการดีขนาดไหน เราวิจิตรพิสดารขนาดไหน เราทำไม่ได้หรอก มันเป็นความเพ้อเจ้อ เป็นความเพ้อฝัน

แล้วปัจจุบันนี้ เราใช้ปัญญากันในศาสนา ในศาสนาเราใช้ปัญญากัน แล้วปัญญาอย่างนี้มันเป็นโลกียปัญญา เราไม่เคยทำนะ เราไม่เคยทุกข์เคยยาก เราไม่เคยทำประกอบกิจการ เขาประกอบกิจการมา เขาทำมา คนที่เขาสร้างอำนาจวาสนามา เขาประสบความสำเร็จของเขา เขาประสบความสำเร็จ เขามีการกระทำของเขา

เราไม่เคยทำอะไรเลย เราคิดจะให้เป็นอย่างนั้น มันเป็นไปได้อย่างไร? มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ เห็นไหม มันเป็นไปไม่ได้เพราะมันไม่มีทุน ไม่มีการกระทำ ถ้ามีทุนนะ พอมีทุนขึ้นมา เราทำสัมมาสมาธิขึ้นมาก่อน ปรับพื้นฐานของใจ

ในสมัยพุทธกาลน่ะ โดยหัวใจ โดยความคิด โดยความปรารถนา เขาปรารถนาอยู่แล้ว เขาปรารถนาจะพ้นทุกข์กันอยู่ ทีนี้การจะปรารถนาความพ้นทุกข์ ถ้าเขาควบคุมใจเขา มันเป็นสมาธิโดยอัตโนมัตินะ ในปัจจุบันนี้ สมาธิของเรามันไม่มี มันไม่มีนะ มันห้าม มันไม่มีนะ ถ้าพูดถึงว่ามันไม่มีซะหมดเลย เราจะเป็นคนบ้านะ คนบ้านะ เห็นไหม มันเป็นสมาธิของปุถุชนไง

ดูสิ ทางการแพทย์เขานะ เด็กสมาธิสั้น สมาธิยาว ถ้าเด็กสมาธิยาว เด็กสมาธิดีๆ สติที่ดี มันจะมีปัญญา มันปฏิภาณไหวพริบมันดี ถ้าสมาธิสั้น เห็นไหม ควบคุมตนเองไม่ได้ จนสมาธิสติไม่ดีเลย เข้าโรงพยาบาล เรามี แต่มีโดยปุถุชนไง เป็นโลกียปัญญาไง ปัญญาที่เกิด เกิดโลกียปัญญา

ถ้าเราตั้งทำความสงบ ทั้งๆ ที่สิ่งที่เขาใช้กันอยู่ เขาใช้ปัญญากันอยู่นั่นน่ะ ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงนะ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่เขาบอกว่าเป็นปัญญา ใช้ปัญญากันไปเลย ที่เขาสอนกันว่าใช้ปัญญาไปเลย ใช้ปัญญาไปเลย ปัญญามันขบความคิด

เพราะความคิดในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาคือการรอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปคือร่างกาย เห็นไหม สิ่งที่เป็นรูป เวทนา เวทนาคือความดีใจ เสียใจ ความสุข ความทุกข์ สัญญา คือข้อมูล ไม่มีข้อมูล พลังงานเฉยๆ มันคิดไม่ได้ ต้องมีข้อมูลของมัน ข้อมูลคือสัญญา

เห็นไหม เด็กเกิดมา สอนเลย นี่สีแดง นี่สีเขียวนะ สอนให้มันจำ แล้วเอาสีแดงไปถามมัน มันบอก ใช่ สีแดง เห็นไหม สัญญา มันจำไว้ แล้วสัญญา มันมีสัญญาจากอดีตชาติ สัญญาลึกซึ้ง สัญญาที่สะสมมา เห็นไหม แล้วสัญญา ในการสร้างหนี้ สังขารคือการคิด การปรุง การแต่ง ถ้าปัญญา เห็นไหม สัญญา สังขารคือการคิด การปรุง การแต่ง แล้วก็มีวิญญาณ วิญญาณอายตนะ วิญญาณกระทบ

เช่น เรามีจิตรับรู้ เห็นไหม เสียงกระทบหู โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ เห็นไหม สิ่งนี้เป็นวิญญาณ วิญญาณอย่างนี้มันวิญญาณอายตนะ ไม่ใช่ปฏิสนธิวิญญาณ ไม่ใช่วิญญาณตัวเกิดตัวตาย วิญญาณตัวเกิดตัวตาย ปฏิสนธิจิต จิตปฏิสนธิตัวนี้ ถ้าจิตสงบเข้าไป มันจะเข้าไปถึงตัวจิตปฏิสนธิจิต มันจะเข้าไปวิญญาณตัวลึกกว่า วิญญาณอายตนะกระทบ

ขณะที่วิญญาณตัวนี้กระทบ เราคิดอยู่นี่ เราใช้ปัญญา นี่วิญญาณอายตนะทั้งนั้น วิญญาณในขันธ์ ๕ ทีนี้ถ้าปัญญามันรอบรู้ทันความคิด เห็นไหม ดูสิ ความคิดที่เราคิดกันนี่ เราใช้ความคิด แล้วเอาธรรมะมาขบมัน ขบความคิดให้มันแตก ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือ ความคิด ความปรุง ความแต่ง เห็นไหม ถ้ามันรับรู้ด้วยความคิด

ความคิดเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นเปลือกส้ม ตัวใจเป็นเนื้อส้ม แล้วเปลือกส้ม ขันธ์ ๕ เปลือกส้ม เปลือกส้มนี่ขม ให้ผลกับหัวใจของเรา สิ่งที่ความคิดนี่มันเหยียบย่ำเรา ความคิดสุข ความคิดทุกข์ ความติดตัณหาทะยานอยาก ความคิดโกรธ ความคิดเกลียด ความคิดร้อยแปด แล้วเราขบมันแตก เราขบมันแตก เห็นไหม ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร

แต่ถ้ามีสติ มีความเข้าใจ มันก็เป็นสัมมา ถ้าไม่มีสติ ไม่มีความเข้าใจ เห็นไหม มันคิดเฉยๆ มันขบเฉยๆ มันขบของมัน พอขบของมัน มันก็คิดว่าเป็นธรรม เป็นธรรม เห็นไหม โลกียปัญญา โลกียปัญญา ถ้าไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึก ไม่มีความเข้าใจ สิ่งนี้ สิ่งนี้มันเป็นโลกๆ เห็นไหม พอเป็นโลกๆ มันเลยไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจ ความไม่เข้าใจ ไม่รู้จริง

พอไม่รู้จริง เห็นไหม สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี เพ้อเจ้อกันไปตามแต่ปรัชญาและตรรกะที่คิดกันขึ้นมา ที่ครูบาอาจารย์เข้าไม่ถึงธรรม พอเข้าไม่ถึงธรรมมันจะเป็นสภาวะแบบนั้น ถึงเห็นว่าสมาธิไม่เป็นความจำเป็น แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัตินะ สมาธินั้นเป็นความจำเป็น เพราะสมาธิมันจะปรับพื้นฐาน แล้วสมาธินี่เป็นทุน ดูสิ คนนี่มีเงินมีทุนต่างๆ เราจะเดินทาง เราจะทำอะไร สะดวกสบายไปหมดเลย

เราจะทำอะไรสะดวกสบายไปหมดเพราะเรามีทุนใช่ไหม ถ้าไม่มีทุน เราต้องกู้ยืม เราต้องกู้ยืม เราต้องใช้ล่วงหน้า เราต้องเอาใช้ล่วงหน้า ใช้เครดิต เห็นไหม ต้องใช้เครดิตไปมันถึงเป็นมิจฉา ความเป็นมิจฉาทำให้ไม่เข้าใจในเรื่องของสมาธิ ไม่เห็นคุณประโยชน์ของสมาธิไง ถ้าเห็นคุณประโยชน์ของสมาธินะ มันมีศรัทธา มันมีความเชื่อ และความตั้งสติของเราเข้ามา มันสงบเข้ามาได้ สงบเข้ามาถึงตัวเนื้อของส้ม ตัวเนื้อของส้มนะ

พอตัวเนื้อของส้ม ส้มมันจะอยู่ได้อย่างไร ถ้ามันไม่มีเปลือก มันถึงว่าส้มกับเปลือกส้ม ใจ อาการของใจ ตัวใจคือตัวส้ม ตัวใจคือสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ ตัวใจ ส้มมันหอมหวานนะ มันกินแล้วมันมีรสชาตินะ เปลือกกินแล้วขมนะ เวลากัดส้มทีไรกัดโดนเปลือกทุกที เพราะอะไร? เพราะเราไม่ทำสมาธิไง

ถ้าทำสมาธิมันปอกเปลือกส้มไง กัดไปที่เนื้อส้ม กัดไปที่เปลือกส้ม อารมณ์ความรู้สึกเป็นอย่างไร? ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นที่เนื้อส้ม มันเข้าใจ เพราะมันปอกเปลือกได้ ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร กองสังขารคือขันธ์ ๕ แล้วมันปอกขันธ์ ๕ ออก มันเข้าถึงสมาธิ ถึงเป็นสัมมาสมาธิ

ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ เปลือกส้มทั้งนั้นน่ะ เปลือกส้มเขาเอาไปตากกัน เอาไปทำอาหารได้ทั้งนั้น นี่ก็คิดทางวิทยาศาสตร์ คิดในการเข้าข้างกิเลสไง ถ้าคิดในทางเข้าข้างกิเลส มันก็โดนกิเลสจูงจมูกไป กิเลสจะจูงจมูกเราไปนะ จมูกขาดก็ไม่รู้ว่าจมูกขาดนะ สิ่งนี้ทำไปๆ ทำไปโดยกิเลสนะ

สิ่งที่ทำกัน ทำโดยความไม่เข้าใจ สิ่งที่ศาสนา ที่ครูบาอาจารย์ท่านห่วงศาสนาห่วงตรงนี้ไง แล้วถ้าคนรู้จริง เห็นไหม ใจดวงหนึ่งให้กับใจดวงหนึ่ง ใจดวงหนึ่งส่งต่อจากใจดวงหนึ่ง ถ้าใจส่งต่อกันด้วยใจถึงใจ มันเป็นประโยชน์กับศาสนา

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

เหมือนกับวงการทางวิชาการหรือวงการหมอทั้งนั้นน่ะ ถ้ามีลูกศิษย์ ถ้ามีผู้ที่ทำทางวิชาการ แล้วทางวิชาการของเขามันน่าเป็นไปได้ มันน่าเลื่อมใส มันน่าจรรโลงให้วงการวิชาการนี้เจริญเติบโตไป ครูบาอาจารย์ท่านจะอบอุ่นใจนะ แต่ถ้าวงการทางวิชาการของเรา เราทำไว้ แล้วไม่มีใครสืบต่อ เห็นไหม มันจะกุด มันจะด้วนไป มันจะกุดมันจะด้วนไป

เราต้องหาทุนไว้เยอะๆ ไว้ซื้อ ไว้ซื้อเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เราทำกันเองไม่ได้หรอก นี่เป็นทางโลก ถ้าเป็นทางธรรมนะ ถ้าใจมืดบอดคือบอดเลย ใจมืดบอด ใจไม่รู้สิ่งใดๆ เลย มันจะเอาสิ่งใดมาเป็นประโยชน์ มันจะเป็นประโยชน์ได้ต่อเมื่อต้องหูตาสว่าง หูตาสว่างมันเข้าใจนะ มืดก็รู้ว่ามืด สว่างก็รู้ว่าสว่าง เวลาใจมันมืดใจมันบอดนะ

ในการประพฤติปฏิบัติมันต้องเจอสภาวะแบบนั้น เจอใจมืดใจบอด ใจเรามันไม่แน่นอน มันเปลี่ยนแปลงตลอด เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบจิตนี้เหมือนช้างสารที่ตกมัน ช้างสารที่ตกมัน เวลามันตกมันนะ มันฟาดงวงฟาดงาใส่เราตลอดเวลา เวลามันดีดดิ้นนะ มันฟาดงวงฟาดงาใส่เรา เราไม่รู้ทันมันหรอก มันดีดดิ้นในหัวใจของเราแล้วมันก็เหยียบเราอยู่ในอำนาจของมัน มันละเอียดตรงนี้ ธรรมมันละเอียดตรงนี้ เราต้องเอามันไว้ในอำนาจของเรา

ถ้าเอาไว้ในอำนาจของเรา มันก็เป็นสัมมาสมาธิ แล้วถ้ามันใช้ปัญญาขึ้นไป มันใช้ปัญญาใคร่ครวญนะ ใคร่ครวญเรื่องของเรา ใคร่ครวญสิ่งที่มันเป็นอวิชชาปักเสียบอยู่หัวใจ อวิชชานะ อาสวะ ๓ ภวาสวะ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ สิ่งนี้มันเป็นอาสวะ มันนอนเนื่องมากับใจ เหมือนผลไม้ดอง มันดองมา ผลไม้ดองจะทำให้กลับเป็นผลไม้อย่างเดิมไม่ได้เพราะมันเข้าเนื้อไปแล้ว

แต่จิตมันทำได้ กิเลสมันทำได้ กิเลสกับจิตเหมือนกับเป็นอันเดียวกัน แต่มันไม่เป็นอันเดียวกัน มันมีอำนาจควบคุมใจ มันเดินก่อนใจเราก้าวเดียว ก่อนความคิดเราก้าวเดียว กิเลสมันเดินก่อน เราไม่ทันมันตลอด เราไม่ทันตัวเอง เราไม่ทันความคิดเรา เราไม่สามารถเอาความคิดเราไว้ในอำนาจของเรา

ถ้าเราทำตัวเราเอง เราเอาจิตไว้ในอำนาจของเรา เห็นไหม แล้วเรารักษามัน ถนอมรักษามันนะ สมาธิมันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ถ้าเราอยากได้แต่ผลของมัน เราจะทุกข์ร้อนตลอดไป แต่ถ้าเราสาวไปหาเหตุ “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” เรารักษาสติ เราสร้างสติไว้ แล้วเราใช้ใคร่ครวญ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ก็ไล่กันเข้าไปตลอด มันจะอยู่ของมัน เรารักษาเหตุอยู่ เรารักษาไฟอยู่ ไฟไม่ดับหรอก

เราใช้แต่ไฟ เราไม่รักษามัน เชื้อเพลิงมันหมด มันก็ดับนะ เชื้อเพลิงคือเหตุ คือสติ คือการใคร่ครวญ เห็นไหม รักษาจนมันมั่นคงแข็งแรง มั่นคงแข็งแรงนะ น้ำเต็มแก้ว สมาธิคือสมาธิ ไม่เกินจากน้ำเต็มแก้ว มันเต็มแก้วของมัน แล้วสมาธิ เห็นไหม เวลาคนปฏิบัติไปแล้ว ถ้ากำหนดหรือศรัทธา

ศรัทธาจริตกำหนดพุทโธ พุทโธ จิตมันลงวูบก็มี ลงจากสูงๆ ต่ำๆ ก็มี ลงแล้วเห็นสิ่งต่างๆ ก็มี ถ้าลงแล้วเห็นนี่ รู้นอกหมด รู้นอกคือเห็นนิมิต เห็นต่างๆ รู้ใน มันจะจับอย่างไรให้มันรู้ใน รู้ในคือรู้อริยสัจ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ ไล่เข้าไป มันสงบเฉยๆ มันสงบเพราะเราควบคุมความรู้สึกได้ ควบคุมความคิดได้

พอควบคุมเข้าไปบ่อยครั้งเข้าจนมันตั้งมั่น พอตั้งมั่น เราสังเกต เราหมั่นตรวจสอบว่ามันจะเริ่มคิดอย่างไร? มันจะออกรู้อย่างไร? การออกรู้โดยธรรมชาติของจิต โดยธรรมชาติของจิตนะ มันกินอารมณ์เป็นอาหาร เนื้อส้มมันอาศัยเปลือกส้มหุ้มห่อมาโดยตลอด แล้วมันอาศัยเปลือกส้มเป็นการดำรงชีวิตอยู่ของมัน มันหิว มันกระหาย มันจะกินตลอดเวลา

อารมณ์ความรู้สึก เห็นไหม ยิ่งสิ่งที่เราไม่ชอบ สิ่งที่เราเกลียด แล้วเขามาพูดให้เราได้ยิน มันยิ่งชอบกิน ชอบกินคือมันฟังแล้ว มันก็จะไปอุ่นอยู่ในหัวใจ เป็นเดือนๆ ปีๆ ทุกข์ๆ ร้อนๆ เห็นไหม มันกินสารพิษ มันกินความคิดเป็นอาหาร แล้วถ้ามันกินอารมณ์ความคิดที่เขาติเขาชมเรา เขาสรรเสริญเรา เห็นไหม มันกินแล้วนะ กินชั่วคราว อาหารที่ไม่เป็นพิษ กินแล้วก็เป็นประโยชน์กับร่างกาย ก็เท่านั้น มันไม่ฝังใจ แต่ถ้าอาหารที่เป็นพิษ กินเสร็จแล้วไปล้างท้องที่โรงพยาบาลนะ

เราสังเกต ถ้าจิตมันสงบนะ มันจะเห็นอาการอย่างนี้ “จิต เห็นอาการของจิต” ถ้าเป็นศรัทธาจริต จิตสงบ มันจะเห็นกาย เห็นสิ่งต่างๆ โดยธรรมชาติของมัน จิต เห็นอาการของจิต พอจิตเห็นอาการของจิต นั่นล่ะ วิปัสสนามันเกิดตรงนั้น จิตเห็นอาการของจิต ความคิดไม่ใช่จิต มันเกิดจากจิต แล้วมันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ทำลายจิต

ขณะที่เราใช้ปัญญาใคร่ครวญมัน มันก็แค่สงบเข้ามาเฉยๆ สงบเข้ามาเฉยๆ มันเป็นแค่นี้ ฤๅษีชีไพรเขาก็สอนกันอย่างนี้ ฤๅษีชีไพรมาเข้าสมาบัติ เข้านิโรธสมาบัติเขาเหาะเดินฟ้าได้นะ เขาเหาะเดินฟ้า เขารู้สิ่งต่างๆ รู้ไปหมดเลย รู้นอก รู้ออก รู้ออก ไม่รู้เข้า ถ้ารู้เข้า เห็นไหม รู้เข้ามันมีการบังคับ มันมีการบังคับ มันมีเจ้าของ

เหมือนกับนี่นะ ดูสิ ตอนนี้เรากลัวกันมากนะ บริษัทข้ามชาติ ทุนเขามหาศาลเลย เขาทำอะไรนะ เราแพ้เขาทั้งนั้น สายป่านเขายาว เราสู้เขาไม่ได้หรอก เขามาถึงนะ เขาแจกฟรีเลย แจกฟรีเลย เราขายขาดทุนยังสู้เขาไม่ได้เลย เขาแจกฟรีเลยนะ แจกฟรีให้เราเสียหายนะ เสร็จแล้วเดี๋ยวเขามาเอาคืนทีหลัง เขาทำของเขาได้ทั้งหมด เห็นไหม

แต่ทุนเราไม่มี พอทุนเราไม่มี การกระทำของเรา เราไม่สามารถควบคุมใจได้ สมาธิเราควบคุมไม่ได้ สิ่งต่างๆ เราควบคุมไม่ได้ ทุนเราน้อย ถ้าทุนเราน้อย เราต้องรักษาของเรา ดูแลของเรา สมาธิสำคัญมาก ถ้าไม่มีสมาธิ การใช้ความคิด การกระทำต่างๆ ไม่มีผลหรอก มันไม่มีผล ถ้ามันมีผลนะ คอมพิวเตอร์นะมันเป็นประโยชน์แล้ว

คอมพิวเตอร์เขาใช้ความคิด โปรแกรมมัน เขาทำได้สารพัดอย่าง ได้สารพัดอย่างเลย แต่มันไม่มีจิต ไม่มีผู้ทุกข์ผู้ยาก คอมพิวเตอร์มันพังก็คือพังนะ เป็นเศษเหล็ก มันไม่มีอะไรเป็นประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย เราไปซื้อมันมาใช้ แล้วเราจะทำชีวิตเรา ทำจิตที่มันมีธาตุรู้ ธาตูรู้ที่มีชีวิต สสารที่มีชีวิต

จิตนี่มหัศจรรย์มากนะ มันเป็นสันตติ มันเกิดดับ เกิดดับๆ เกิดตลอดเลย แล้วมันมีชีวิต มันไม่ตาย มันตายไม่ได้ สสารอย่างอื่นมันแปรสภาพได้ สสารที่มันเป็นธาตุรู้ ธาตุรู้ ธาตุหก อากาศธาตุ ธาตุรู้ ตัวนี้เป็นธาตุ เป็นวิทยาศาสตร์เลย จิตนี้

มีคนถามพระสารีบุตรว่า “ชีวิตนี้คืออะไร?”

“ชีวิตนี้คือพลังงาน” คือตัวพลังงาน “คือตัวธาตุรู้ พลังงานตั้งอยู่บนกาลเวลา มันสืบต่อ”

เท่านี้ เท่านี้จริงๆ แต่เท่านี้นะ เท่านี้นะ ถ้าพูดอย่างนั้นปั๊บ เขาก็บอก ถ้าอย่างนั้นก็เป็นแค่แบตเตอรี่แห้งอันเดียว แบตเตอรี่แห้งมันไม่มีชีวิต มันเป็นสสารที่ไม่มีชีวิต ดูสิ ดูสิ่งที่มีชีวิต เห็นไหม พอมันได้น้ำมันจะเกิดทันที นี่มันเกิดเป็นสสารนะ มันเกิดเป็นวัตถุนะ

แต่จิตมันเกิดมหัศจรรย์ ถ้ามันเข้าไปเห็นความมหัศจรรย์ของมัน เห็นไหม ละเอียดอ่อนมาก “สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุดคือความคิด แล้วเราเอามันนิ่งได้ พลังงานมันจะมีขนาดไหน”

พลังงานมันเข้ามานะ เวลามันเป็นพลังงานขึ้นมานะ ถ้าเราภาวนากันไปนะ มันเป็นมรรคขึ้นมา เวลาปัญญามันหมุน เหมือนกับที่ว่า จุด ไฟป่ามันจุดติด ไฟป่า เห็นไหม ยิ่งอากาศร้อนอย่างนี้ เวลาไฟป่ามันติด มันจะเผาผลาญไปทั้งหมดเลย ขณะที่เวลาจิตที่สิ่งที่มันนิ่ งที่สุด สิ่งที่มันเคลื่อนที่เร็วที่สุดแล้วนิ่งมีพลังงาน แล้วถ้ามันใช้ปัญญาเป็น

จิตเห็นอาการของจิต แล้วดูปัญญามันหมุนสิ ดูธรรมจักรมันหมุนสิ จักร จักรคือธรรม ธรรมจักร จักรของเรา เราสร้างขึ้นมา จากหัวใจ มันหมุนขึ้นมา พอเวลามันหมุนขึ้นมา ปัญญามันหมุนอะไร? หมุนถอดหมุนถอนไง แต่เดิมปัญญาเราทุกข์เรายาก ปัญญาที่ความคิดเรา มันทุกข์มันยาก มันเป็นความคิดที่มันเหยียบย่ำตัวเอง ความคิดโดยกิเลส มันทำลายตัวเองมาตลอด เห็นไหม

แต่เราสะสมเราขึ้นมา เราฝึกฝนขึ้นมา เราสร้าง เราทดสอบขึ้นมา เราตรวจสอบขึ้นมา เนี่ยทำไมครูบาอาจารย์ที่ภาวนาแล้ว ทำไมขออยู่คนเดียวล่ะ? ทำไมธุดงค์ไป ธุดงค์ไป เราเห็นแล้ว ต้องไปทุกข์ไปยาก ถ้ามีเพื่อนไป มีคนอุปัฏฐากไป มันไม่สะดวกสบายเหรอ? ไม่ เพราะอะไร? เพราะมันหมุนอยู่ตลอดเวลา มันทำงานของมันตลอดเวลา

ทำงานโดยธรรม ทำงานถอดถอนนะ ไม่ได้ทำงานโดยเหยียบย่ำนะ ทำงานถอดถอน ให้มันหมุนออกไป หมุนออกไปน่ะ เวลาธรรมจักรมันเกิด มันเกิดอย่างไร? นี่ไง สิ่งที่มันเป็นมันทำขึ้นมา สิ่งที่มันหมุนขึ้นมา มันละเอียดอ่อน ละเอียดอ่อน โลกุตตรปัญญา มันเห็นของมัน มันหมุนรอบหนึ่ง มันถอนหนหนึ่ง เห็นไหม ปล่อยวางหนหนึ่ง มีความสุขมาก มีความสุขมาก

ถ้าไม่มีความสุข ทำไมเราขอสงวนเวลาของเราไปอยู่คนเดียว? ทำไมเราสงวนเวลาเพื่อรักษาของเรา? เพื่อแสวงหาของเรา เราทำของเราขึ้นมา ถ้ามันจุดติด คำว่าจุดติด เวลาจิตเห็นอาการของจิต แล้วมันจับได้โดยสัจจะความจริง แล้วมันแยกแยะของมัน มันแยกนะ มันแยกออก อาการของใจ ขันธ์ ๕ มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มันหมุนไป ความคิดมันจะหมุนไป

ถ้าสิ่งนี้ความคิดมันเหมือนกับจักร เหมือนกับกงจักร จักร ที่มันสมควร ที่มันเป็นจักร มันจะเคลื่อนที่ เพราะมันไม่มี มันหมุนด้วยรอบตัวของมัน มันก็หมุนไป เห็นไหม เฟืองมันหมุนไปได้ แต่เฟืองที่มันบิด เฟืองที่มันบิ่น เฟืองที่มันเบี้ยว มันจะหมุนไปรอบไหม? มันสะดุดใช่ไหม?

สติเราสอดเข้าไป สอดเข้าไปในอารมณ์ความรู้สึกนี่ มันเป็นข้อมูลไหม? มันเป็นการปรุงแต่งไหม? มันเป็นรสชาติไหม? รสชาติคือมันสุขมันทุกข์ไง มันเป็นวิญญาณไหม? ถ้าเสียบเข้าไป เสียบเข้าไป ขันธ์ ๕ มันจะแยก มันจะแยกออก พอแยกออกความคิดมันจะไปเกิดได้อย่างไร? ความคิดไปได้อย่างไร?

แต่ความคิดโดยธรรมชาติ มันเกิดโดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาตินี่คือสามัญสำนึก คือความเป็นไป คือเป็นสถานะ สถานะของมนุษย์ สถานะของสัตว์ เห็นไหม ดูสัตว์สิ เราให้อาหารมัน มองด้วยสายตา มันยังรักเราเลย มันกระดิกหางให้เรา เห็นไหม มันพอใจ ขนาดที่เขาเป็นสัตว์ เขายังรับรู้อารมณ์เลย

แล้วถ้าปัญญามันเกิด มันหมุนเข้าไป มันแยกมันทำลายของมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ทำลาย ทำลาย ทำลาย มันปล่อยวาง

จิต เห็นอาการของจิต แล้ววิปัสสนามัน ทำลายมัน ทำลายมัน เห็นไหม ยิ่งทำลายยิ่งสะอาด ยิ่งทำลาย มันทำลาย ถึงที่สุดมันขาด มันต้องขาด อริยสัจมีอันเดียว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้อันนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกๆ พระองค์ ธรรมอันเดียวกัน รู้อริยสัจอันเดียวกัน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเดียวกัน ไม่มีสอง มีสองไม่ได้หรอก ถ้ามีสองสิ่งนั้นผิดแล้ว มีหนึ่งเดียวเท่านั้น ถ้ามีหนึ่งเดียว หนึ่งเดียวคืออริยสัจ คือความจริง

แล้วถ้าจิตเห็นอาการของจิต แล้ววิปัสสนามัน วิปัสสนามัน ทำลายมัน ทำลายมัน จนถึงที่สุดมันขาด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันอยู่โดยธรรมชาติของมัน เป็นธรรมชาติ เป็นความจริงอันหนึ่ง เป็นความจริงเพราะเป็นสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดของจิต จิตมันเห็นผิดเอง จิตมันโดนอวิชชาครอบงำเอง

จิตมันโดนอวิชชาครอบงำมันถึงหลงตัวมันเอง มันหลงตัวมันเองก่อน พอหลงตัวเองมันก็ไปยึดเขา ไปยึดเขาเพราะจิตมันไม่ใช่กาย ดูสิ ดูอย่างอาหาร เนื้อสัตว์ มันก็ร่างกายเหมือนกันทั้งนั้น เวลาเขาเอามาทำเป็นอาหาร ทำไมแค่ ๔๕ วัน เขาเอามาใช้เป็นอาหารได้แล้วนะ

แล้วเรามนุษย์ ดูสิ ร้อยปีพันปีชีวิตนี้ ร่างกายของเรา แล้วมันเอามาเป็นประโยชน์อะไร? แล้วในทางวิชาการ ทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้หมด เซลล์นี่มัน ๗ ปีมันตายหมดแล้ว แล้วที่มันเกิดขึ้นมามันเป็นคนใหม่ไหม? นั่งกันอยู่นี่เป็นคนใหม่ไหม? เนื้อสัตว์เขาเอามาเป็นอาหารนะ แล้วร่างกายของเรามันเป็นประโยชน์อะไรกับเรา แล้วจิตมันไปยึดทำไม? จิตไปยึดทำไม?

สิ่งที่เป็นอาหาร อาหารเก่าอาหารใหม่มันสืบต่อเข้าไปในร่างกาย มันกินแล้วมันไปหนุนสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมาในร่างกาย มันเป็นเซลล์ตัวใหม่นะ ไม่ใช่เราหรอก เด็กกลับเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เป็นคนเดียวกันไหม? เป็นคนเดียวกัน โดยจิตอันเดียวกัน เพราะจิตมัน

“อย่าว่าแต่เป็นคนเดียวกันในปัจจุบันนี้เลย แม้แต่เกิดตาย เกิดตายกี่ภพกี่ชาติมันก็เป็นอันเดียวกัน อันเดียวกันนั่นแหละ”

ถ้าไม่เป็นอันเดียวกัน เวลาพระโพธิสัตว์สร้างสมบุญญาธิการมา ทำไมถึงส่งผลให้พระโพธิสัตว์มีอำนาจวาสนาบารมีขนาดนั้นล่ะ เพราะจิตอันนั้นเป็นคนสร้าง มันเป็นเจ้าของ จิตนี้เป็นเจ้าของ กรรมก็จิตนี้เป็นคนเป็น กรรมนี่จิตนี้เป็นคนเป็น จิตนี้เป็นคนเป็น กรรมดีก็จิตนี้เป็นคนเป็น กรรมชั่วก็จิตนี้เป็นคนเป็น เพราะมันทำ มันต้องกลับมาอยู่ที่เจ้าของนั้น เจ้าของคือตัวจิต ไม่อย่างนั้นพระโพธิสัตว์ก็ขาดช่วงสิ

พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย มันต้องขาดช่วง ทำไมมันไม่ขาดช่วง ทำไมมันต่อเนื่องกัน มันต่อเนื่องกันเพราะจิตอันเดียวกัน จิตไม่เคยตาย เห็นไหม จิตไม่เคยตาย จิตเปลี่ยนสภาวะตลอดไป เปลี่ยนสภาวะตลอดไป มันถึงเป็นเรา มันถึงเป็นเราทั้งหมด ถ้าเป็นเราทั้งหมด เห็นไหม การเกิดและการตาย เวียนตายเวียนเกิดอยู่ในสภาวะแบบนี้

เนี่ยมันเป็นการพิสูจน์นะ เราจะบอกว่านักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บก็สู้การกระทำในหัวใจไม่ได้ มันมหัศจรรย์ มหัศจรรย์มหาศาลเลย เวลาปัญญามันเกิด โลกุตตรธรรม โลกุตตรธรรม แล้วคนตาบอดสี มันเห็น มันก็ไม่รู้สีอะไร ยิ่งตาบอดเลยนะ มันจะไม่รู้อะไรเลย แล้วมันคลำช้าง ช้างเป็นอย่างนั้น ตาบอดคลำช้าง

แต่ถ้าไปเห็นเป็นความจริงนะ จะพูดที่ไหน? จะพูดอย่างไร? มันจะเป็นความจริงออกมาจากใจ ถ้าใจมันเป็นความจริง ออกมาอย่างไรก็จริงอย่างนั้น แล้วความจริงอันนี้มันเป็นความจริง เป็นยิ่งกว่าจริง ถึงที่สุดแล้ว กระบวนการมันต้องลงอริยสัจ

ถ้ากระบวนการของการประพฤติปฏิบัติมันไม่ลงอริยสัจ ศาสนามันเรียวแหลม สิ่งที่มันสะเทือนหัวใจกัน มันสะเทือนหัวใจกันตรงนี้ไง ตรงที่ศาสนามันไม่ลงในจุดนี้ มันไปลงในจุดอื่น ถ้าลงในจุดอื่น เห็นไหม มันก็เหมือนฤๅษีชีไพร ทำแล้วมันไม่ได้ผล ทั้งๆ ที่เรามีเจตนา นี่ศาสนามีคุณค่ามาก

มีคุณค่าเพราะว่ามันเป็นศาสนาที่มี อุชุญายะ สามีจิ ธรรมปฏิบัติตรง ปฏิบัติจริง ปฏิบัติเข้าไปถึงสมควรแก่ธรรม ถ้าปฏิบัติแล้วไม่ตรง ปฏิบัติแล้วไม่จริง ปฏิบัติแล้วไม่สมควรแก่ธรรม มันเหมือนกับเราปฏิบัติแล้วไม่ได้ผลตอบแทน แต่ในเรื่องของบุญกุศลน่ะ ได้ ในการเรื่องบุญกุศล เพราะเราปฏิบัติแล้วมันต้องสร้างสมบารมีไง

ดูสิ ขนาดที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นฤๅษีชีไพรมาเหมือนกันทั้งนั้น การปฏิบัติมันข้ามภพข้ามชาติมา แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ในปัจจุบันนี้มันมีข้อเท็จจริงอยู่แล้ว มันมีข้อเท็จจริงโดยธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยนี่แหละข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงสิ่งนี้ ถ้าเราทำจริงของเรามันจะเป็นประโยชน์ของเรา ทำจริงของเรานะ

แล้วถ้าเราทำจริงของเรานะ เรานี่เป็นคนอ่อนแอ คือจิตนี้มันอ่อนแอ จิตนี้มันไม่มีกำลัง เราถึงตรวจสอบไม่ได้ เราตรวจสอบเองไม่ได้ เราเชื่อ เราเห็นสิ่งใด เราจับสิ่งใด แล้วเราเชื่อ เราเชื่อ ทิฎฐิ ทิฏฐิความเชื่อ ทิฏฐิความยึด แล้วก็เทียบเคียงในคำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนกัน เหมือนกัน เห็นไหม เพราะจิตใจมัน วุฒิภาวะมันอ่อน

วุฒิภาวะ เห็นไหม วุฒิภาวะของจิตมันไม่มีกำลัง มันเลยเชื่อความเห็นของตัว มันเชื่อความเห็นของตัว แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติมันเจอความจริง เห็นไหม สันทิฏฐิโก ให้เชื่อความเห็นของตัว แล้วที่มันเห็นผิดทำไมเชื่อไม่ได้ล่ะ เชื่อไม่ได้เพราะมันเป็นความจริง แต่ถ้าสันทิฏฐิโกมันเป็นความจริง มันเป็นความจริงที่เห็นจริงแล้วรู้จริง แล้วไม่มีอะไรค้านได้

จะทดสอบ ตรวจสอบขนาดไหนมันก็เป็นอย่างนี้ กี่พันรอบ กี่พันหน มันก็ลงในช่องทางเดียวกันนี้ พิสูจน์ตรวจสอบเหมือนวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เห็นไหม ถ้าใช้สิ่งที่ทดสอบตรวจสอบ มันต้องออกมากรณีเดียวกันเหมือนกันหมด มันถึงใช้ได้

สิ่งนี้ก็เหมือนกัน มันจะทำเข้าไปถึงที่สุดแล้วมันจะเหมือนกัน อันเดียวกัน แล้วในวงการปฏิบัตินะ มันเหมือนกับในวงการทางวิชาการ ในวงการทางวิชาการ เขาจะรู้กันว่าใครทำได้จริง ใครทำไม่ได้จริง แล้วผลมันออกมา ผลที่ตอบสนองมันออกมา มันถึงถึงกันไง มันจะถึงกัน

สิ่งที่สืบต่อกันไปเพื่อประโยชน์ เพื่อประโยชน์กับวงการศาสนา ถ้าคิดว่า ท่านคิดถึง ท่านเห็นจริง ถ้าทางโลกมันก็ดีใจน่ะเนอะ แต่ถ้าเป็นทางธรรมนะมันเหมือนกับ เหลือแค่นี้ เหลือแค่นี้จริงๆ นะ ทำไมมันน้อยลงจริงๆ ล่ะ ทั้งที่พระนี่เป็นแสนนะ พระนี่สี่แสนองค์

แต่มันก็ต้องสู้กันไป ความสู้กันไป เห็นไหม มันถึงเป็นวาสนา จริงๆ นะ เราจะพูดถึงเรื่องวาสนาบ่อย คนจะมาถามว่าทำไมชอบพูดเรื่องวาสนา วาสนาคือสิ่งที่ฉุกคิด วาสนาคือให้เรามาสนใจกับสิ่งที่ทางโลกเขาไม่สนใจกัน โลกเขาสนใจตำแหน่งหน้าที่การงาน สนใจตัวเลขในธนาคาร แต่ตัวเลขในธนาคารมันเป็นสมบัติภายนอกกาย แต่ถ้าเป็นบุญกุศลมันเป็นสมบัติภายในกาย บุญกุศลนะ

แต่ถ้าเป็นอริยทรัพย์มันเป็นสมบัติของใจ มันเป็นสมบัติจริงๆ อยู่ข้างใน เป็นสมบัติจริงๆ แล้วลองคิดดูสิ ต้นขั้ว ต้นขั้วคือใจมันไม่เรรวน มันไม่เรรวนกับใครเลย ใครจะมาให้ใจเรานี้ไขว้เขวได้ ไม่ได้เลย ไม่ได้เลย แล้วเรารักษาได้ เราทำได้ เพราะ เห็นไหม ในขบวนการของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเขาต้องการคนกล้า ต้องการคนจริง คนกล้ากับคนจริง

เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วมันไม่ตกใจ ไม่ตกใจกับเหตุการณ์ต่างๆ ไม่เคยตกใจ ไม่เคยสะดุ้งกลัวสิ่งใด ไม่สะดุ้งกลัวกับสิ่งใด เห็นไหม มันถึงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกได้ มันเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกนะ สัตว์โลก หัวใจ สัตตะ เป็นผู้ข้อง หัวใจมันข้องตัวเองก่อน

ดูสิ ในทางโลกเขา จะทำสิ่งใด ผมได้อะไร? เห็นไหม มันข้องตัวเองก่อน เห็นประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง เห็นประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่ถ้าเราคิดดูสิ เราถอดถอนสิ่งที่มันปักเสียบในใจหมดแล้ว มันไม่มี ตัวเองไม่มี ตัวตนมันไม่มี ตัวตนกลับไปเป็นสิ่งที่เป็นสาธารณะ ตัวตนกลับไปเป็นประโยชน์กับโลก

ประโยชน์กับโลกนะเพราะมันทำลายหมดแล้ว แล้วตัวตนจะเอาอะไร? หมายถึงว่า ถ้าตัวตนจะเอาอะไร สิ่งที่เขายังหลงตัวตน เขาคิดถึงตัวตนก่อน ถึงต้องพูดถึงให้ความเสียสละ เสียสละเพื่อทำลายความตระหนี่ ความยึดตัวตนนั้นก่อน เหมือนเตรียมตัวเอง เตรียมสถานะเพื่อจะรับผลประโยชน์

เสียสละเพื่อให้ใจควรแก่การงาน แล้วค่อยแสวงหาเพื่อเป็นประโยชน์แท้ ประโยชน์สาธารณะไง ประโยชน์ที่ทำลายตัวตน นี่ไง ธรรมะเป็นอย่างนั้น ธรรมะทำลายตนทั้งหมด ถ้ายังมีตนอยู่ ตนจะได้อะไรก่อน เราจะได้สิ่งใดก่อน มันก็เลยไม่ได้สิ่งใดเลย เพราะในเมื่อมีตน มีฝ่ายตรงกันข้าม มีการแก่งแย่ง มีการแข่งขัน มีการทำลาย จบ จบแล้ว

แต่ถ้าเราเป็นสาธารณะ ทำอะไรไม่มี ให้ใครทำหมด สิ่งต่างๆ แค่ผ่าน แค่ทางผ่านนะ แค่ทางผ่านไป บาลานซ์สังคม ให้สังคมเสมอกัน สิ่งที่สังคมมันเสมอกัน สังคมช่วยเหลือกัน สังคมเจือจานกัน สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ เป็นความปรารถนาของใจที่เป็นธรรม เอวัง

เอาอันนี้ก่อนเลย อันนี้มันมาทีหลังแต่มันน่าสนใจกว่าเพื่อน

ถาม : เวลาฟังเทศน์ จิตของเราจดจ่ออยู่กับเสียงเทศน์จนแนบแน่น หากมีอะไรมากระทบสัมผัสจากภายนอก จะทำให้จิตนั้นรุ่มร้อนในอก หนักแบบกระวนกระวาย เป็นบ่อยมาก ต้องทำความเพียรหนักขึ้นจนจิตสงบขึ้น แต่มันเป็นการแก้ไขหลังจากเกิดเหตุ ทำอย่างไรจึงจะแก้ก่อนเกิดเหตุได้คะ ขออุบายวิธี

หลวงพ่อ : ในวงการกรรมฐานนะ เราต้องการความสงบ เราต้องการความวิเวก เราหาที่สงบวิเวกกัน สัปปายะ ๔ ครูบาอาจารย์สำคัญที่สุด ผู้นำสำคัญที่สุด ครูบาอาจารย์สำคัญที่สุด อาหาร หมู่คณะ สถานที่วิเวก

พอสถานที่วิเวก เวลาเรา อยู่นี่ ครูบาอาจารย์ที่ดุ หลวงปู่มั่นนี่ดุมาก ดุมากเพราะอะไร? เหมือนกับว่าเวลาเราเป็นหมอ เราจะทำการผ่าตัด เราจะรักษาคนไข้ เครื่องมือเราต้องไม่ติดเชื้อนะ ถ้าเครื่องมือเราติดเชื้อ เราไปผ่าตัดคนไข้ น่าสงสารคนไข้ไหม? ถ้าคนไข้ไปผ่าตัด แล้วผ่าตัดแล้วติดเชื้อไปนี่ แทนที่เขาจะหายเขากลับทุกข์ เห็นไหม

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน คนปฏิบัติต้องการความสงบ ต้องการความวิเวก แล้วในสถานที่การปฏิบัติแล้วยังกระทบกระเทือนกัน ส่งเสียงรบกวนกัน ทำลายกัน เห็นไหม มันทำลายความสงัดไง พอทำลายความสงัด มันก็ทำลายใจดวงนั้น เพราะใจดวงนั้น ถือสัปปายะ ๔ ครูบาอาจารย์ถึงต้องสงวนสถานที่ตรงนี้

สัปปายะคือสถานที่ ความสงบสงัด ทีนี้ความสงบสงัดเพื่อให้ สถานที่วิเวก กายวิเวก จิตวิเวก จิตเรานี่ไม่วิเวกเพราะจิตเรามันหมักหมม จิตเรามันคิด อยู่คนเดียวก็คิด ระเบิดเถิดเทิงเลยนะ หัวใจมันคิดร้อยแปดพันเก้าเลย มันไม่วิเวก เพราะมันไม่วิเวกเราจึงออกหาสถานที่วิเวก ทีนี้สถานที่วิเวก เห็นไหม สถานที่ สัปปายะ ๔ เห็นไหม

ทีนี้สัปปายะ ๔ เกิดมีเสียงกระทบขึ้นมา พอเกิดเสียงกระทบขึ้นมา มันก็เป็นความทุกข์ ยิ่งเรา จิตเราจะสงบนะ จิตฟังเป็นจิตแนบแน่น แล้วมีสิ่งใดมากระทบ มาสัมผัส มากระเทือนในการฟังเทศน์ อันนี้มันเป็นโทษของข้างนอก แต่มันก็เป็นกรรมของเรา เวลามันกระทบกระเทือนขึ้นมา จะบอกว่าในวงการกรรมฐาน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันจะรู้เหตุการณ์อย่างนี้

แล้วนอกวงปฏิบัติ เขาจะบอกเลยนะ คนที่ไปวัดไปวาทำไมทะเลาะกัน ไอ้ทะเลาะหรือกิเลสนี่ยกไว้นะ ไม่เกี่ยว ไอ้ไปวัดวาแล้วทะเลาะกันด้วยกิเลส ทะเลาะกันด้วยทิฏฐิมานะ อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคนไปวัดไปวามันเกิดจากเสียง หูตานี่มันดี เขาเรียกชวนะ หูก็ดี ตาก็ดี ดีไปหมดเลย พอดีไปหมดมันก็เข้าเร็ว พอเข้าเร็วขึ้นมาอะไรมันก็กระทบ

เราเปรียบอย่างนี้แล้วได้ยินว่าลูกศิษย์เอาไปใช้บ่อย เราเปรียบเหมือนผ้าขาว ผ้าขาวนี่พอเวลามีสิ่งใดสกปรกเข้าไปในผ้าขาวเราจะเห็นความสกปรกเขาทันทีเลย แต่ถ้าผ้านั้นเป็นผ้าสี หรือผ้านั้นเป็นผ้าเช็ดเท้า ผ้าเช็ดเท้ามันสกปรกอยู่แล้ว ความสกปรกอยู่ในผ้าเช็ดเท้านั้นจะไม่มีใครเห็น แล้วไม่มีใครสนใจมัน

จิตของเราโดยปกติมันเหมือนผ้าเช็ดเท้า มันคิด มันย้อน มันย้อน มันคิด ความคิดหัวใจมันคิดร้อยแปด มันกระเทือนกันจนเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นพอมีอะไรขึ้นมา มันก็ไม่มีสิ่งใดกระเทือนหัวใจ แต่พอเราซักผ้าเช็ดเท้า ผ้ามันสะอาดขึ้นมา พอใครมาทำสกปรกเราไม่พอใจนะ เราไม่พอใจ ของเราทำไว้สะอาดแล้ว ใครมาทำให้ของนั้นสกปรกเราจะไม่พอใจทันทีเลย

จิตก็เหมือนกัน เพราะเราหัดปฏิบัติ มันจะเป็นอย่างนี้ จะบอกว่ามันเป็นทางผ่านนะ มันเป็นทางผ่าน มันเป็นการพัฒนาของใจ ใจมันจะพัฒนาของมัน ฉะนั้น เมื่อก่อน ใครจะพูดอะไร? ใครจะเป็นอย่างไร? มันก็เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องเฉยๆ แต่ถ้าภาวนาแล้วเป็นอย่างนี้ จนคนที่เขาปฏิบัติเขาเอาคำพูดของเราไปใช้ อ้าว ก็มันเป็นผ้าขาว เวลาทะเลาะกันนะ มันเป็นผ้าขาว มันเป็นสิ่งที่สะดุดใจ มันเลยทะเลาะกัน อันนี้เป็นอันหนึ่ง

แล้ววิธีแก้ เราตั้งสติของเราไว้ เราตั้งสติของเรา เวลามีอะไรมากระทบ เราตั้งสติของเรา เสียงคือเสียง เสียงคือเสียง เสียงมันให้โทษกับใคร? เสียงมันไม่เคยให้โทษกับใครนะ เราเทศน์ไว้บ่อยมาก เห็นไหม ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่กิเลส เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม ท่านมาทำไม ท่านมาหานิพพานเหรอ ภูเขาเลากา วัตถุทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นมรรคผล ไม่ใช่เป็นนิพพาน

แม้แต่กระดูกเรา กระดูกของเรา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ของเรา ไม่ใช่มรรค ผล นิพพานนะ มันเป็นวัตถุนะ มรรค ผล นิพพาน มันอยู่ที่จิต มรรค ผล นิพพาน มันอยู่ที่จิต ทุกข์มันทุกข์ที่จิต ถ้ามันทุกข์ที่ร่างกายนะ ศพมันร้องครวญคราง ในป่าช้า ศพมันจะร้องคราญครางเลย มันเหงาของมัน มันกลัวผี ศพไม่เคยร้องครวญคราง เห็นไหม เรานี่ร้องครวญคราง จิตนี่มันร้องครวญคราง

ฉะนั้น ถ้าจิตที่มันร้องครวญคราง ถึงบอกว่า รูป รส กลิ่น เสียง มันไม่ใช่กิเลส คนที่ไปเอา รูป รส กลิ่น เสียง มาทุกข์มาตรอมใจน่ะมันเป็นกิเลส ฉะนั้น สิ่งที่มันกระทบ เราพยายามไล่ต้อนมัน เราฟังเทศน์ เราภาวนาของเรา จิตมันเริ่มสงบ จิตมันเริ่มพัฒนาขึ้นมา แล้วมันติดดี ติดดี มันอยากให้มันอยู่อย่างนี้ ไม่ให้ใครมารบกวนมัน

แต่พอมีใครมารบกวนมัน มันยิ่งโกรธ ยิ่งไม่พอใจ ต้องพยายามทำให้มันมากขึ้นไปกว่านั้น เพราะคำถามถามว่า มันแก้ทีหลังทุกทีเลย แล้วมันจะแก้ให้ดักหน้ามันจะแก้อย่างไร? แก้ก็ต้องเห็นโทษนี่เห็นไหม การแก้คือเห็นโทษว่า รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นธรรมชาติของมัน ทุกคนก็แสวงหา แสวงหาความสงัดวิเวกมันเรื่องจริง เรื่องธรรมดา แต่มันแสวงหาที่ไหน มันก็กวนนะ

ลมพัดมาก็มีเสียง จิ้งจกตุ๊กแกมันก็ร้อง มีเสียงทั้งนั้น แล้วมันก็เป็นที่กรรมของคนด้วย ถ้ากรรมของคน เห็นไหม เวลานั่งไป เสียงมันได้ยิน ดูสิ ได้ยินเสียงปี่พาทย์ เสียงเทวดา เสียงมีนะ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเวลาจิตมันสงบนี่ จิตสงบหมด อภิญญา ๖ เห็นไหม ทิพย์ หูทิพย์ ตาทิพย์ แล้วเราจะได้ยินได้เห็นมากกว่านี้นะ

เทวดาคุยกันก็ได้ยินนะ เทวดาคุยกันก็จะได้ยิน แต่ได้ยินอย่างนั้นมันไปได้ยินนอกๆ นะ แต่มันอยู่ที่คุณภาพของจิต คุณภาพของจิตคือเขาสร้างของเขามาอย่างนั้น ถ้าเขาสร้างของเขามาอย่างนั้น พอจิตเขาสงบ เขาจะเป็นอย่างนั้น แล้วเวลาเราทำสมาธิกันนะ เราก็อยากให้เป็นอย่างนั้น

ทั้งๆ ที่ไอ้นั่นคือคุณสมบัติไง เราเปรียบเทียบบ่อย ข้าวเหนียว-ข้าวเจ้า ข้าวเหนียวคือข้าวเหนียว ข้าวเจ้าคือข้าวเจ้า ข้าวเหนียวเหมือนข้าวเจ้าไหม? ข้าวเหนียวแทนข้าวเจ้าได้ไหม? มันเกือบจะแทนกันได้แต่มันไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน คุณภาพของจิตมันไม่เหมือนกัน แล้วเราจะให้ข้าวเหมือนกันเพื่อให้จิตเหมือนจิต เป็นไปไม่ได้

ในเมื่อมันเป็นไปไม่ได้ จะบอกว่าเรื่องของกรรม ถ้ามันเป็นไปโดยธรรมชาติของกรรม สติมันต้องทัน เห็นไหม ถ้าจิตคึกคะนอง จิตของนักปฏิบัติ ถ้ามันมีอะไรที่กระทบมาก ต้องหาครูบาอาจารย์ที่ถึง

เช่น นักกีฬา ถ้าเขามีความสามารถมาก เขาต้องมีโค้ชที่คุมเขาให้ได้ ถ้าเขามีโค้ชคุมเขาได้ เขาจะพัฒนานักกีฬาคนนั้นให้เก่งกล้าขึ้นมาได้ สามารถมากเลย ถ้านักกีฬาคนนั้นมีพรสวรรค์มากแต่เขาได้โค้ชที่ไม่ดี ได้โค้ชที่ไม่สามารถจะปั้นเขาให้เป็นช้างเผือก เห็นไหม ถ้าจิตอย่างนั้น ถ้าจิตของเรา เปรียบเทียบไปเรื่อยๆ

นี่เราเปรียบเทียบให้เห็นคุณภาพ เรื่องของจิต เรื่องของการกระทำ เรื่องของธรรมนอกธรรมใน ธรรมนอกหมายถึง จิตปกติคือจิตปุถุชนเรา ความรู้สึกมันเรื่องธรรมดา แต่ถ้ามันสงบเข้าไป เห็นไหม มันต่างจากปุถุชนละ มันต่างจากปุถุชน กัลยาณปุถุชน มันจะรู้เห็นสิ่งต่างๆ ถ้ามันคึกคะนองขึ้นมา มันจะรู้อะไรที่พิสดาร

ถ้าพิสดาร ถ้าคนไม่เป็น ที่ภาวนาๆ แล้วมีปัญหาๆ พอภาวนาแล้วมีอะไรเกิดขึ้น เกิดเหตุอะไรขึ้นแล้วไปเชื่อมันไง เห็นไหม มันเป็นความรู้ข้างนอก ที่บอกว่าอภิญญา ที่มันรู้ต่างๆ เห็นนะ เห็นสิ่งที่เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ถ้าภาวนานะ เห็น รู้วาระจิตต่างๆ มันเป็นเรื่องข้างนอกหมด

ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านไปกราบหลวงปู่มั่น บอกเลยนะ

“ไปนี่ หลวงปู่มั่นจะว่าอย่างไรบ้าง”

เวลาไปกราบหลวงปู่มั่นนะ โอ้โฮ ท่านเอ็ดเอาเลย

“จิตของเรา เราก็ต้องดูสิ เราภาวนา เราก็ต้องดูจิตของเรา เราก็ต้องแก้จิตของเรา จะให้คนอื่นมารู้จิตของเรา มันจะบ้าหรือ?”

นี่เราจะให้คนอื่นมารู้จิตของเราแต่เราไม่ดูแลจิตของเรา ถ้าเราต้องดูแลจิตของเรา แต่ขณะที่เราหลง เราไม่เข้าใจ เห็นไหม สิ่งใดเราจะรู้สิ่งต่างๆ เป็นสิ่งข้างนอก รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ใช่ธรรม สิ่งเสียงที่กระทบเราก็ไม่ใช่ธรรม จิตที่มันทุกข์ จิตที่มันไม่ยอมรับ มันเป็นกุศล- อกุศล สิ่งที่ฟังเทศน์มันเป็นกุศล มันเป็นสิ่งที่ดี เราก็ชอบ เราก็พอใจ สิ่งที่กวนมัน เป็นอกุศล เราก็ไม่ชอบ เราก็ไม่พอใจ

พอไม่ชอบ ไม่พอใจ จิตมันก็เรรวน จิตมันก็แผลงฤทธิ์ จิตมันก็แสดงอาการ ดังนั้น เราถึงต้องควบคุมจิตของเรา ดี เราก็พอใจ เราก็รักษาจิตของเรา ไม่ดี เราก็ควบคุม เราก็แก้ไข ดี รักษา เพื่อให้มันพัฒนาต่อไป ไม่ดี เราต้องแก้ไขให้มันดี เราต้องควบคุมใจของเรา เห็นไหม โลกธรรม ๘

มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มันเป็นธรรมะเก่าแก่ มันเป็นธรรมะ โลกเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว สิ่งที่ให้เราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เราประพฤติปฏิบัติ เป็นชาวพุทธ อยากปฏิบัติ แล้วมีคนส่งเสริม ใครจะส่งเสริม? คนที่จะส่งเสริมเราคือครูบาอาจารย์ คือครูบาอาจารย์ที่ท่านเห็นคุณเห็นประโยชน์จะส่งเสริมเรา

แต่คนที่เขาไม่ส่งเสริมเราแล้วเขายังติเตียนเรา เขายังบอกพวกที่เราสนใจเป็นผู้ที่มีปัญหา ทั้งๆ ที่ใจเขาเป็นคนทุกข์ เขาไม่ยอมรับว่าเขาเป็นทุกข์ แล้วเราพยายามจะหาทางออกกัน เขาว่าเราเป็นคนมีปัญหา เขาคิดของเขาไปเอง เห็นไหม โลกคิดกันไปอย่างนั้น ฉะนั้น เราถึงบอกว่า คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ

เราทำสิ่งใดแล้วให้มันเป็นประโยชน์กับเรา เราต้องรักษาใจของเรา รักษาใจของเรา ถ้ามันดีขึ้นมาพัฒนาขึ้นมา มันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ นะ มันจะแก้ไขของเรา เราต้องแก้ไขของเรา

ถาม : การฟังเทศน์ เราต้องกำหนดเฉยๆ

หลวงพ่อ : เรากำหนดเลย กำหนดจิตของเรา เสียงเทศน์นั้นมันจะมาหาเราเอง เสียงเทศน์เห็นไหม พอเสียงเทศน์มาหาเรา แต่ถ้าเราคิด เราฟังเทศน์ เราอยากรู้ เราอยากเข้าใจ เราส่งเสียงออกไป เห็นไหม ส่งเสียงออกไป บ้านร้างนะ บ้านร้าง มันก็รับรู้เฉยๆ มันไม่สงบ เราอยู่กับจิต แล้วเสียงนั้นเข้ามา เสียงนั้นเข้ามา เสียงนั้นเข้ามา เห็นไหม บ้านมีเจ้าของ บ้านไม่ร้าง แล้วเวลาจิตสงบเข้าไป เราเป็นเจ้าของความสงบ

สิ่งใดที่เกิดขึ้น ความขัดแย้งจากข้างนอกคือเสียงกระทบจากข้างนอก ความขัดแย้งจากข้างใน มันอยู่ที่อำนาจวาสนา อำนาจวาสนา ถ้าจิตมันคึกจิตมันคะนอง เวลาสงบเข้าไป เห็นผีเห็นสาง เห็นอะไร มันต้องไปแก้ไขกัน ถ้ามันเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวเลย อะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้

ถ้าจิตเป็นคนรู้ เห็นไหม กำหนดที่ผู้รู้ เราลืมตาสิ เห็นภาพหมดเลย หลับตาก็ไม่เห็นแล้ว กลับไปที่จิต จิตพอมันไม่ออกไปรับรู้ข้างนอก มันก็กลับไปที่มัน ก็จบ จบหมด แต่พอไปเห็นแล้วมันตื่น เห็นแล้วไปตื่นวิ่งตามไป วิ่งตามไง ตกใจ ดีใจ เสียใจ วิ่งตามไป นี่วิ่งตามแล้วนะ เพราะการออกไปข้างนอก ยิ่งไปยิ่งเสียนะ เสียหมด ไม่ต้องตกใจ กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่รู้

ครูบาอาจารย์ท่านสอน อยู่ที่ผู้รู้ อยู่ที่จิต อยู่ที่ผู้รู้ มีสติอยู่ที่ผู้รู้ ไม่เสีย ไม่เสีย ยังไงก็ไม่เสีย ถ้าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่เคยเสียเลย ปฏิบัติธรรมมีแต่ของดี ทำดีต้องได้ดี

ถ้าเสีย เสียเพราะเราเข้าใจผิดแล้วเราวิ่งไปข้างนอก เพราะอุบายวิธีแก้ไข อุบายวิธีแก้ไขนี่มันเป็นเฉพาะตนนะ มันเป็นเฉพาะตน เวลาเราพูดอย่างนี้ คนที่เป็น ฟังแล้วก็เข้าใจ ไอ้คนที่ไม่เป็นนะ ฟังแล้วก็ เอ๊ะ ทำไมเราไม่เป็นอย่างนั้น เราไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นนะ ของใครของมัน อาหารที่ชอบไม่เหมือนกัน

ฟังแก้ไขคนอื่น เขาเป็นโรคหนึ่ง เราเป็นโรคหนึ่ง การแก้ไขไม่เหมือนกันนะ มันเป็นเฉพาะตน วิธีปฏิบัตินั้นเป็นเฉพาะตน เราถึงค้านที่เขาทำ ที่ว่าทุกอย่างต้องเหมือนกันหมดเห็นไหม เวลาปฏิบัติต้องกำหนดเหมือนกัน ทุกอย่างเหมือนกัน เราค้าน มันเป็นไปไม่ได้หรอก

เรามีน้ำพริกถ้วยเดียว แล้วจะบอกว่าคนทั้งประเทศไทยกินน้ำพริกถ้วยนี้ แล้วบอกว่าอร่อยที่สุดในโลกเลย เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าคนชอบน้ำพริกจะบอกว่า พริกนี้อร่อยที่สุดในโลกเลย ใช่ แต่ถ้าคนไม่ชอบน้ำพริกเขาจะบอกว่าเผ็ดที่สุดในโลกเลย เขาไม่สนใจเลย มันถึงว่า ต่างคนต่างสร้างมา จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ในเมื่อมันเป็นมาแล้ว เราต้องแก้ไขตามเทคนิคอันนั้นไป ตั้งสติไว้ วิธีแก้ไขนะ เรื่องการฟังเทศน์

สนใจอันนี้ อันนี้สนใจมาก

ถาม : การดูจิตกับการมีสติตลอดเวลา เหมือนกันไหมครับ?

หลวงพ่อ : การดูจิตกับการมีสติตลอดเวลาไม่เหมือนกัน เขียนก็ไม่เหมือนกัน ชื่อก็ไม่เหมือนกัน มันจะไปเหมือนกันได้อย่างไร? สติคือสติ การดูจิต เราว่ากิเลสมันอยู่ที่จิต ทีนี้การดูจิต เราจะไปดูที่จิต เราไม่เห็นหรอก

อย่างเช่นโยมมองเรานี่ไม่เห็นตัวเราหรอก เห็นจีวร ไม่เห็นตัวเราหรอก ดูจิตไม่เห็นจิตหรอก เห็นอาการของจิต เห็นความคิด ความคิดไม่ใช่จิต ความคิดเป็นเงา ที่ดูจิต ดูจิตกันอยู่นี่ไม่เห็นจิต ไม่เห็น คนดูจิตไม่เห็นจิต มันมองไปที่อาการของจิต เพราะจิตมันมีความคิด พอจิตมีความคิด เราจะเห็นตัวจิตได้อย่างไร?

ทีนี้พอมองกันไปๆ มองกันไปจนหายกันไปหมดเลย มองกันไปจนหายไป ดูจิตไง การดูจิต การดูจิตกับการมีสติตลอดเวลา การมีสติตลอดเวลาดีกว่าดูจิตเยอะมาก เพราะการมีสติตลอดเวลา สติ เห็นไหม เมื่อกี้บอกสมาธินี้เป็นทุน ถ้าไม่มีสติ สมาธิไม่มีหรอก คนขาดสติทำอะไรก็ไม่ได้ แม้แต่ทางโลกขาดสติก็คนบ้า

ถ้าคนมีสติก็เป็นสติ เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ ของปุถุชน แล้วพอมีสติมากขึ้นไปนะ สตินี่เข้าไปดูแล ถ้ามีสตินะ คุมตลอดเวลา มันต้องพัฒนาของมัน มันต้องเป็นไปของมัน พอเป็นของมัน พอมีสติดีก็รักษากันไป รักษานะ คิดดู มีสติเราจะทำอะไรผิดพลาดบ้าง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำสั่งคำสุดท้ายเลย

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

จงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าฝากไว้เป็นสมบัติ คำสุดท้ายเลย แล้วมีสติมันตรงข้ามกับประมาทไหม? แล้วเรามีสติอยู่ตลอดไป เรามีสติอยู่ตลอดไป สตินี่สำคัญมาก ถ้ามีสตินะ การดูจิตมันก็จะพัฒนาขึ้น เพราะมีสติเข้าตลอดเวลา

เพราะคำว่าสติมันทำงาน เราทำงานด้วยคุณค่าของงาน แล้วคุณค่าของงาน เราฝึกงาน เราทำงาน งานศิลปะ งานอะไรก็แล้วแต่ เราทำบ่อยครั้งเข้า มันจะอ่อนช้อยขึ้นไป มันจะดีงามขึ้นไปไหม? แน่นอน นี่ถ้าการดูจิต ถ้าการดูจิตโดยมีสติเข้าไปนะ ดูจิตโดยสติ มีสติเข้าไป เราจะไม่ใช้คำว่าดูจิต เราจะใช้คำว่าปัญญาอบรมสมาธิตลอด

เพราะถ้าไปดูจิต มันเป็นการอ้างของกิเลสไง กิเลสมันต้องการสะดวก มันดูเฉยๆ มันสบาย แต่ถ้าเราใช้ปัญญาใคร่ครวญ มันเป็นการงาน มันขี้เกียจ จิตนี่ขี้เกียจมาก มันจะนอนจมอยู่กับความรู้สึกเราเฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย เฉย แล้วบอกว่านี่เป็นภาวนา นี่ได้ภาวนาแล้วนะ ไม่ใช่หรอก ไอ้นั่นหมูมันนอนจมขี้หมูล่ะ มันนอนจมอยู่กับขี้ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง มันนอนจม หมักขี้เลย ใจคลุกขี้ แล้วมันบอกว่านี่ภาวนา

แต่ถ้ามีสติเข้าไปแล้วนะ มีสติตลอด แล้วมันเห็นนะ เห็นใจมันคลุกอยู่กับขี้ พอมันเห็นขี้ มันจะสลัดขี้ทิ้ง เพราะสลัดขี้ทิ้ง สลัดอาการของใจไง สลัดเงาของมันทิ้ง ถ้าสลัดเงาของมันทิ้ง นั่นล่ะ เห็นจิต นั่นล่ะตัวจิต ไม่ใช่ความคิด

น้ำใสๆ ในแก้ว ถ้าน้ำเต็มแก้วตั้งอยู่ ถ้าเราไม่รู้ว่าเขาเติมน้ำไว้ เราจะคิดว่าในแก้วนั้นไม่มีน้ำ ถ้ามันมีสี สีใส่เข้าไปในน้ำ จะสีเขียว สีแดง สีอะไรก็แล้วแต่ เราจะเห็นว่าในแก้วนั้นมีน้ำ

จิต ถ้ามันไม่ได้คิดไม่เห็นจิต ถ้าคิดขึ้นมา นึกว่าความคิดเป็นจิต เพราะอะไร? เพราะมันสีเขียว สีแดง มันเห็นน้ำสีไง มันไม่เห็นน้ำใส จริงๆ แล้วน้ำใสคือตัวจิต แต่มันไม่เห็น ใส่สีแล้ว โอ้โฮ ชัดเจน นี่จิต นี่จิต กลับกัน เห็นไหม มันกลับกัน

ถ้ามันไม่คิดมันก็ไม่รู้ว่าจิตอยู่ไหน พอคิดขึ้นมาก็นึกว่าจิต แล้วไปดูมัน แล้วเห็นจิตไหม? เห็นสี นึกว่าเห็นจิต เห็นความคิด เพราะขาดสติ แต่ถ้ามีสติสักตัวเดียวเท่านั้นล่ะ ดูไปเรื่อยๆ เออ คราวนี้เป็นอย่างนี้ คราวนี้สีแดง นึกว่าสีแดงเป็นจิต อ้าว สีแดงเป็นจิตเหรอ เพราะเราเห็นสี ถ้าสีมันเป็น สีธรรมชาติมันตกตะกอน

เอ๊ะ แล้วทำไมเดี๋ยวสีมันแดง? เดี๋ยวสีมันจางลงๆ ล่ะ? แล้วทำไมสีแดงมันอยู่ที่ก้นแก้ว? แล้วไอ้ตัวบนแก้วนั้นมันอะไร? นี่ล่ะปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันจะเห็นเลยล่ะ เห็นสีกับน้ำมันคนละเรื่องกัน สีที่อยู่ในน้ำนั้นไม่ใช่น้ำ น้ำคือน้ำสะอาด แต่เพราะมันเจือด้วยสี มันถึงเห็นสี มีสติ

คำว่าสติสำคัญไหม? สติสำคัญมาก ดูไปเถอะ ถ้าดูโดยมีสตินะ มันถึงจะเป็นธรรม แล้วพอดูแล้วเห็นน้ำกับสีนะ มันตกตะกอน มันนอนก้น พอตกตะกอนนอนก้นเพราะอะไร? เพราะมันเป็นธรรมชาติ มันเป็นสีธรรมชาติ มันจะตกตะกอนนอนก้นโดยธรรมชาติของมัน วางไว้เถอะมันจะตกตะกอน ยิ่งถ้าทิ้งไว้นาน มันจะตกตะกอนของมัน

แล้วถ้าเป็นครูบาอาจารย์ ถ้าได้เห็น ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ ข้อเท็จจริงคือสีในน้ำมันไม่ใช่น้ำ แต่เพราะด้วยความมักง่าย เพราะด้วยการประพฤติปฏิบัติว่านี่เป็นทางลัด นี่ทำแล้วได้ประโยชน์ ก็ทำกัน มั่วกันไป ก็คิดกันไป จับกันไป มั่วสุมกันไป แล้วมันเป็นประโยชน์จริงไหม? ถ้ามันเป็นประโยชน์จริง มันต้องปล่อยอารมณ์ได้จริง มันต้องรู้จักอารมณ์ รู้จักตัวความรู้สึก รู้จักตัวจิต รู้จักหมดนะ

เพราะเวลาวิปัสสนาไป ถ้ามันเป็นจริงนะ จิตมันสงบขึ้นไป อย่างที่เทศน์เมื่อกี้ พอจิตสงบเข้าไป ถ้ามันเป็นวิปัสสนา ถ้ามันเป็นปัญญาวิมุตติ จิตมันเห็นอาการของจิต เห็นอาการของจิตแล้วมันจะแยกแยะอาการของจิต ขันธ์ ๕ ละไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เป็นสักกายทิฏฐิ ๒๐ เป็นสังโยชน์ เป็นที่ทำลายแล้วจะเป็นพระโสดาบัน

แล้วมันไม่รู้อะไรเลย เป็นหมอได้อย่างไร? ไม่รู้ว่าคนไข้ต้องรักษาอย่างไร? มันไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ขันธ์ ๕ ไม่รู้จักอะไร ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ เป็นพระโสดาบัน ดูมันเพ่งไปอย่างนั้น เดี๋ยวมันเป็นพระโสดาบัน มันเพ้อเจ้อ เห็นไหม การประพฤติปฏิบัติ ทำข้อเท็จจริงน่ะมันต้องเห็นเป็นข้อเท็จจริง

เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคอะไร? รักษาด้วยยา รักษาด้วยการผ่าตัด รักษาด้วยการเปลี่ยนแปลง รักษาด้วยวิธีการอะไร? ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ จะวิปัสสนา กาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนกันหมด ผลตอบคือว่า ในกายมันก็มีรูป รูปก็คือกาย เห็นไหม กายก็คือรูป

กาย เวทนา เวทนาก็อยู่ในขันธ์ ๕ กาย เวทนา จิต จิตนะ จิตมันเศร้าหมอง จิตมันผ่องใส เพราะจิตมันไม่ใช่ขันธ์ ๕

ธรรม ธรรมมารมณ์ อารมณ์ความคิด อารมณ์ความคิด เห็นไหม ถ้าไม่มีความรู้สึก ไม่มีสี น้ำเราก็ไม่เห็นมัน ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก มันก็ไม่รู้จิตอยู่ไหน เพราะฉะนั้นจิตที่สงบขึ้นมาแล้วมากระทบกับความคิด

กระทบกับความคิด ผลที่เกิดขึ้นมากระทบกับความคิดเป็นอารมณ์ความรู้สึก ความรู้สึกนั้นถ้ามีสติ มีสติ มีสมาธิ เป็นธรรมารมณ์ เป็นสภาวธรรม เป็นอริยสัจ เป็นสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมารมณ์ ถ้ามีธรรมารมณ์ เห็นไหม สติปัฏฐาน ๔ มันทำให้ ถ้าเราจับตรงนี้ได้ มันจะเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาเพราะจิตมีการกระทำ มีการกระทำ มีการแก้ไข มีการเปลี่ยนแปลง

พอมีการแก้ไขมีการเปลี่ยนแปลง มีการแยกแยะ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ แล้วบอกว่าดูจิตเฉยๆ ไม่ต้องคิดไม่ต้องทำอะไรเลยมันจะบรรลุธรรม อื้ม มันขาดเหตุผลเว้ย มันขาดเหตุผล มันไม่ใช่มรรค

ถ้ามันเป็นมรรค เห็นไหม มรรคคืออะไร? มรรค ๘ งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ สมาธิชอบ แล้วถ้ามันเป็นการเพ่ง เป็นการดู มันก็ไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะมันไม่สมดุล มันไม่เป็นไป มันไม่ชอบแต่มันชอบกิเลส มันชอบที่ครูบาอาจารย์ ที่จะบอกว่าหลงงมงายก็ได้ ครูบาอาจารย์ที่หลงงมงายกับความรู้ของตัวแล้วไม่ตรวจสอบ ไม่ทดสอบกับพระไตรปิฎก

“ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเธอ”

แล้วธรรมวินัยนี่มันอยู่ในตู้พระไตรปิฎกเดียวกัน แล้วถ้าการประพฤติปฏิบัติแล้ว การตรวจสอบแล้วมันจะต่างกันตรงไหน? เหมือนกับเรา คณะกรรมการตรวจวิทยานิพนธ์ คณะเดียวกัน แล้ววิทยานิพนธ์ขึ้นมา คณะกรรมการนี้เป็นคนตรวจ วิทยานิพนธ์นี่ผ่านหรือไม่ผ่าน แล้วกรรมการชุดนี้ตรวจให้ชุดหนึ่งผ่าน แล้วชุดที่มันมา มันไม่มีเหตุมีผล เขาจะตรวจให้ผ่านไหม?

เลยบอกว่าธรรมแต่งตั้งนะ เปรียบเทียบเฉยๆ กับคณะกรรมการวิทยานิพนธ์ แต่มันเป็นจริงตามอริยสัจ เป็นตามจริงโดยธรรม ถ้าเป็นตามจริงโดยธรรมไม่ต้องมีใครตรวจสอบ ใจนี้เป็นจริงๆ ถ้าใจเป็นจริงๆ การพูดออกมา การที่เป็นครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนคนมันผิดไม่ได้ มันผิดไม่ได้หรอกเพราะเราทำมากับมือมันผิดได้อย่างไร? แต่นี่คำพูดมันขัดแย้งกัน ที่ว่าดูจิตน่ะ

ถ้าดูจิตเฉยๆ มันเป็นไปไม่ได้นะ ดาวเทียมจารกรรมมันเป็นพระอรหันต์หมดนะ ดาวเทียมจารกรรมเขาส่งขึ้นไป เขาดูโลกนี้ทั้งใบนะ เขาเห็นเลย ในการเคลื่อนไหวในโลกนี้ ดาวเทียมจารกรรมมันรู้หมด

การดูจิต แต่ถ้ามีสติตัวเดียวที่ว่า เขียนมานี่คำถามกับคำตอบมันอยู่ในอันเดียวกันเลย

ถ้ามีสติแล้วสติดูไป มันเห็นหมด มันจะรู้เอง เหมือนกับเราเป็นเด็กใจแตก แล้วเราเที่ยวไปสำมะเลเทเมาจนถึงที่สุด เรารู้เองว่าเราไม่ดี เราจะกลับตัว กลับตัวเพราะมีสติ นี่ล่ะคำถามและคำตอบ ถ้าทำตามนี้มันจะรู้มันเองเลย แล้วถ้ามันรู้เอง มันรู้มาจากใจ โอ้โฮ สุดยอดเลย

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

ถ้าเราเห็นว่าเราผิดเราไม่ดี เรายอมรับนะ ไปให้ครูบาอาจารย์ท่านสอนแล้ว อื้ม มันจะจริงหรือ ก็ผมรู้อย่างนี้จริงๆ นะ ก็ผมรู้ ผมเห็น ผมเป็นน่ะ มันจะจริงหรือ ขนาดครูบาอาจารย์นะ แล้วถ้าเพื่อนฝูงนะ ไม่ต้องพูดถึงเลย ยิ่งถ้าปฏิบัติด้วยกันนะ โอ๊ย กูเก่งกว่ามึง กูเก่งกว่ามึง อย่ามาสอนกู กูเก่งกว่ามึง ทิฏฐิมานะทั้งนั้น

แต่ถ้าเป็น รู้เอง เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ สุดยอดมาก

ถาม : การดูจิตกับการมีสติตลอดเวลา เหมือนกันหรือไม่เหมือน

หลวงพ่อ : ไม่เหมือนนะ ในมรรค ๘ มรรคแต่ละตัวไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน สติก็เป็นสติ สมาธิก็เป็นสมาธิ ไม่เหมือนกัน ถ้าเหมือนกันพระพุทธเจ้าไม่แยกเป็นมรรค ๘ เขียนเป็นตัวเดียวกัน จบ ไม่ต้องมาแยกมายุ่ง ไม่ต้องไปท่องไปจำให้มันปวดหัวหรอก มรรค ๘ ก็คือมรรค ๘ มันไม่เหมือนกัน

๑. ไม่เหมือนกัน ๒. ขณะที่ทำไปแล้วมันมหัศจรรย์

มรรค ๘ มันมรรคสามัคคี มรรค ๘ มารวมกันอย่างไร? มันฝึกฝนกันไปเองจนถึงที่สุด มรรคสามัคคี เหมือนกันน่ะ

เรามีกองทัพจิต ๘ กอง แล้วกองทัพ ๘ กองเรายกทัพไปตีข้าศึก ขณะเข้าตีพร้อมกัน เข้าตีในจุดที่เดียวกัน แล้วเข้าไปแล้ว ทำลายเข้าไป ไปนัดพบเหมือนกัน ทำลายข้าศึกได้หมดเลย มหัศจรรย์มาก มรรคสามัคคีนี่ สติก็ต้องระลึกรู้ขึ้นมา แล้วสติขึ้นไป สติมหาสติ ปัญญามหาปัญญา มรรคหยาบมรรคละเอียด มันจะเข้าไปทำลายกิเลสหยาบกิเลสละเอียด

กิเลสมีชั้นๆ เป็นชั้นเป็นตอนนะ กิเลสยิ่งละเอียดเข้าไป โอ้โฮ มันก็เหมือนกับเราเข้าไปในบ้าน ไปทำลายบ้านนี้ เข้าไปเห็นแต่พวกการ์ดอยู่หน้าบ้าน เราหลอกมันหน่อย เราก็ผ่านไปได้แล้ว แล้วก็ไปเจอคนในบ้าน ไปเจอเจ้าของปู่ย่าตายายในบ้าน เขาผ่านประสบการณ์ชีวิตมาน่ะ โอ๊ย ยุ่งยากมาก กว่าจะผ่านขั้นตอนเข้าไปแต่ละชั้น มรรค๔ ผล ๔ เป็นอย่างนั้น

โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล เห็นไหม อรหัตมรรค อรหัตผล นี่ล่ะมรรค ๔ ผล ๔ ถึงไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน ทำไปน่ะจะรู้หมด สิ่งนี้ต้องรู้หมดนะ ถ้าเราไม่รู้หมด เราไม่รู้ ลังเลสงสัย เห็นไหม สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

สีละคือการลูบคลำ วิจิกิจฉาคือความลังเล แล้วมันจะเป็นจริงได้อย่างไร? แต่ถ้า สักกายทิฏฐิ มันถอนปั๊บ จับมันนี่นึกว่าปลา แต่มันเป็นงูเห่า พอรู้ว่าเป็นงูเห่า สะบัดทิ้งไป สะบัดทิ้ง พอไปหมดแล้ว นี่ไง สะบัดทิ้งไป สักกายทิฏฐิ รู้แล้วสะบัดทิ้ง มันจะสงสัยอีกไหมว่าเป็นงูเห่าหรือเป็นปลา? ไม่สงสัยแล้วใช่ไหม? แล้วเราจะลังเลสงสัย เราจะไปลูบคลำอีกไหม?

ไม่ลูบหรอกก็สะบัดทิ้งไปแล้ว กลัวตาย โอ้โฮ หัวใจยังเต้นไม่หยุดเลย มันจะไปวิจิกิจฉาได้อย่างไร? ไปสีลัพพตปรามาสได้อย่างไร? ถ้าสักกายทิฏฐิถอนทีเดียวนะ ทุกอย่างจบหมด จบหมดเลย มันไม่มีความลังเลสงสัยไง ถ้าลังเลสงสัยอยู่ มันยังต้องแก้ไขอีกเยอะนะ ถ้ายังลังเลสงสัย

(เดี๋ยวขอเวลานอกนิดหนึ่ง ห้าชั่วโมง เดี๋ยวมันสับสน เดี๋ยวมันหลง สบายใจแล้ว นี่ห้าชั่วโมงแน่ะ ไปดูมาแล้ว อีกห้าชั่วโมง ตั้งแต่เช้าแล้ว พรุ่งนี้อีกวันหนึ่ง วันนี้นอนนี่ไม่กลับ เที่ยงคืน กลัวพวกนั้นหนีกลับก่อนน่ะสิ วันนี้ไม่ได้กลับจะนอนนี่ พรุ่งนี้อีกวันหนึ่งไง เที่ยงคืนก็ได้)

ถาม : พระโสดาบันที่ตายแล้วต้องเกิดในโลกมนุษย์ เมื่อเกิดแล้วจะทราบไหมว่าตัวเองเป็นพระโสดาบัน

หลวงพ่อ : ทราบนี่มันเป็นวุฒิภาวะของใจมันทราบ คำว่าทราบนี่นะ คนเราสังเกตได้ไหม บางคนเกิดมาแล้วทำแต่สิ่งที่ดีๆ จะทำสิ่งใดไม่ได้เลย ทำอะไรไม่ได้เลยเพราะใจเขาดีมา ฉะนั้นพระโสดาบันเวลาตายไปแล้ว ตายไปนะพอเวลาไปเกิด ถ้าพระโสดาบันไปเกิดเป็นเทวดานะ เทวดานี่มันมีเทวดาปุถุชนกับเทวดาที่เป็นพระโสดาบัน เทวดาที่เป็นสกิทา

พระอนาคาไปเกิด ถ้าผ่านอนาคาไปแล้วไปเกิดเป็นพรหมอย่างเดียว แต่ถ้ายังไม่ผ่านอนาคา มันจะเกิดตายเกิดตายอยู่ ๓ ชาติ สกิทานี่ ๓ ชาติ โสดาบันอย่างต่ำสุด ๗ ชาติ แต่ถ้าเป็นโสดาบันปัจจุบัน เป็นโสดาบันปั๊บ ถ้าไม่ปรารถนาไว้แค่โสดาบันนะ อย่างนางวิสาขานี่ไม่ไปเพราะว่าปรารถนามาเป็นพระโสดาบัน

คำว่าปรารถนาหมายถึงว่ามันพอใจแค่นี้ไง มันไม่ยอมทำต่อไป แล้วปรารถนามาเป็นมหาอุบาสิกา คือปรารถนามาเป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือตำแหน่งน่ะ ตำแหน่งมหาอุปัฏฐาก นางวิสาขา เวลาไปวัด โอ้โฮ จะมีของติดไม้ติดมือไปเป็นองค์อุปัฏฐาก เวลาไปวัด เราไปวัด ไปเห็นพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ แล้วเห็นภาพนั้นมันฝังใจ

อย่างพระสารีบุตรพระโมคคัลลานะก็เหมือนกัน เห็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง แล้วไปเห็นตำแหน่งนี้ นี่ไงปรารถนา แต่ละตำแหน่งที่ได้มาที่พระพุทธเจ้าตั้งไว้นั้น เขาปรารถนามาหมดนะ พระอรหันต์พระโสดาบันพระสกิทาคา พระอนาคา โดยสามัญนี่ ไม่ได้ปรารถนาตำแหน่ง แต่ได้สร้างอำนาจวาสนา

อย่างเช่น พระโพธิสัตว์ เช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพุทธภูมิ แล้วพอเป็นพุทธภูมิ เวลาภาวนาไป พวกพุทธภูมิจะมีกำลัง จะเป็นฌานโลกีย์ จะมีกำลังมาก จะรู้เรื่องกรรม จะแก้เรื่องกรรม เพราะการแก้กรรม การช่วยเหลือกันต่างๆ นี่มันเป็นการสร้างบารมี

พระที่ทำๆ กันนี่ อันนี้มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นที่ว่า ถ้าจิตของเรา จิตของพระองค์นั้นได้สร้างบารมีมามาก ความเห็นความรู้มันก็จะถูกต้องแม่นยำได้มาก ถ้าพระองค์ไหนได้สร้างกำลังมา เหมือนกล้องจุลทรรศน์นี่แหละ มันมีคุณภาพสูงคุณภาพต่ำ นี่คุณภาพต่ำ พอมองไปแล้วมันก็ไปเห็นของที่ผิดพลาดมากกว่าใช่ไหม เห็นของที่ผิดพลาดได้มากกว่า นี่ไงจิตที่คุณภาพมันต่ำ

คำว่าต่ำนี่โทษใครไม่ได้นะ ต่ำนี่หมายถึงว่าเขาเพิ่งสร้างมาแค่นี้ไง เหมือนพวกกล้อง พวกอะไรต่างๆ คุณภาพของมัน คุณภาพของรุ่น คุณภาพของกล้อง มันมีคุณภาพดีและคุณภาพต่ำ ไอ้คุณภาพต่ำมันเป็นอย่างนั้นเอง สิ่งนี้เวลาดูแล้วมันถูกต้องบ้างไม่ถูกต้องบ้าง เห็นไหม มันถึงเป็นเรื่องของโลกไง

เรื่องโลกเป็นเรื่องของอนิจจัง และสิ่งที่เป็นอนิจจัง นี่ถ้าปรารถนาตำแหน่ง ปรารถนาตำแหน่งมันไม่เป็นอย่างนี้ไง มันไม่เป็นอย่างนี้เพราะว่าปรารถนาตำแหน่งแล้วมันต้องสร้างมา สร้างมา แล้วได้ตำแหน่งนั้นเพราะปรารถนา

แต่ของเรา เราสร้างนะ หลวงปู่มั่นสร้างเป็นพระพุทธเจ้า แต่ท่านกลับ กลับเพราะพระพุทธเจ้ายังไม่พยากรณ์ ถ้าพยากรณ์แล้วต้องไป

แต่เวลาพระสารีบุตรพระโมคคัลลาปรารถนาตำแหน่งใช่ไหม พอปรารถนาตำแหน่ง เวลามาเกิด ไปเที่ยวด้วยกัน ไปเห็นก็ปรารถนาด้วยกัน แล้วก็สร้างบุญญาธิการมา มาเกิดเป็นอุปติสสะ ก็ไปเที่ยวด้วยกัน แล้วก็ไปเห็น เป็นเศรษฐีที่ไหนมีงานก็ไป สนุกครึกครื้นไปกับเขา พอถึงเวลาแล้วมันเศร้านะ มันไม่มีสนุกอะไรเลย ก็เลยปรึกษากันออก

ก็ออกมาประพฤติปฏิบัติ ออกมาน่ะแสวงหา เพราะสร้างมามาก ไปหาสัญชัย (นี่เราสะเทือนใจตรงนี้มาก) ไปหาสัญชัยนะ ทฤษฎีตอนนี้เขาว่า นี่เป็นปัญญามาก ปฏิเสธ ไม่ใช่ ไม่ใช่ วิธีปฏิเสธคือหาข้อมูล ปฏิเสธตลอด แต่มันไม่ใช่ ไม่ใช่ มันออกไหม? มันออกไหม? มันออกไปไง

ทีนี้พระสารีบุตรพระโมคคัลนะไปศึกษาปีเดียวก็จบ เจ็ดวันก็จบแล้ว แล้วก็ขอต่อ

“บอกแค่นี้”

“แค่นี้ไม่ใช่ พอไม่ใช่ก็สัญญากันว่าถ้าใครไปหา ใครไปเจออาจารย์ก็ให้บอกกัน”

พระสารีบุตรไปเจอพระอัสสชิ พระอัสสชิเป็นปัญจวัคคีย์องค์หนึ่ง เห็นการก้าวเดินไป คนที่ในหัวใจไม่เป็นกิเลสนะ การก้าวเดินไปมันฟ้องนะ ถ้าคนมีสติพร้อมมันจะเห็น

“เอ๊ะ ทำไมสมณะองค์นี้มันสะดุดตามาก”

ตามไป ตามการเคลื่อนไหวบิณฑบาต ตามไปจนถึงที่สุดนะ ท่านฉันอาหารเสร็จแล้วเข้าไปหา

“ทำไมเห็นการเคลื่อนไหว มันสงบเสงี่ยมมากมันดูดีมากบวชกับใคร? แล้วอาจารย์สอนอย่างไร?”

พระอัสสชิบอกว่า “เราเป็นผู้บวชใหม่” นั่นพระอรหันต์นะ เห็นไหม พระอรหันต์ไม่ขี้โม้ พระอรหันต์บอก

“เราเป็นผู้บวชใหม่ เราเพิ่งมาถึงธรรมวินัยนี้ใหม่ๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ เย ธัมมา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ พระพุทธเจ้าสอนให้ดับไปที่เหตุนั้น”

คนที่มันเตรียมมาพร้อม ฟังธรรมแค่นี้เป็นพระโสดาบันเลย เพราะมันพร้อม ใจมันพร้อมแล้ว ไปบอกพระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบัน แล้วไปหาพระพุทธเจ้านะ ไปหาพระพุทธเจ้า เดินมานี่ยังไม่สำเร็จนะ พระพุทธเจ้าบอก

“อัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาเรามาแล้ว”

พระพุทธเจ้าพอเทศน์จบ ตั้งให้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา จนพระสมัยพุทธกาลบอกพระพุทธเจ้านี่ลำเอียง ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นธรรม พระพุทธเจ้าต้องตั้งปัญจวัคคีย์ ต้องตั้งพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นอัครสาวกเบื้องขวาเพราะเป็นสงฆ์องค์แรก

พระพุทธเจ้าบอก “เราไม่เคยลำเอียง เราไม่เคยเข้าข้างใคร แต่เราตั้งตามข้อเท็จจริง เขาปรารถนาของเขา เขาสร้างของเขามา”

คนนี้มีเงินล้านหนึ่ง เราบอกคนนี้มีอยู่ล้านหนึ่ง เรารู้ตามตัวเลขนั้น คนนี้มีเงินห้าบาท เราบอกว่าคนนี้มีเงินห้าบาท แล้วว่าเราลำเอียงไหม? อ้าว มันมีห้าบาท บอกว่ามันมีเท่าไรล่ะ? มันมีล้านหนึ่งเราบอกมันมีเท่าไรล่ะ? เราก็บอกตามตัวเลขที่เขามีจริง พระโมคคัลลานะพระสารีบุตรท่านปรารถนาของท่านมา ท่านมีเงินล้านของท่านมา ก็ต้องให้เงินล้านเขาไป

นี่ตำแหน่งที่ปรารถนา พอปรารถนามาอย่างไรมันเป็นอย่างนั้น ปรารถนามาแล้วเขาสร้างมา คือเขาฝากธนาคารมา ฝากมาครบล้าน มันก็อยู่ในล้านนั้นน่ะ ไม่ได้ลำเอียง แต่พวกเรามันตาบอด ไอ้พระนี่มันตาบอด มันว่าใครอยู่ใกล้เราก่อน ใครมาก่อน ต้องให้คนนั้นก่อน ประชาธิปไตยไง ประชาธิปไตยมันคิดได้เฉพาะโลกนี้ มันก็รู้แต่ที่มันเห็น แต่มันไม่รู้สิ่งที่เขาสะสมมา ที่เขาฝากธนาคารกันมา

ถ้าปรารถนาตำแหน่งมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้นางวิสาขาปรารถนามาเป็นมหาอุบาสิกา เป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า นี่เขาได้โสดาบันก็สุดยอดแล้ว

ฉะนั้นที่ถามเกิดมาแล้วจะรู้ไหม? เราพิจารณาของเราเองนะ เราว่าถ้าเป็นมีคุณสมบัติอย่างนี้ แล้วมันมีเยอะ พอมีเยอะขึ้นมา ขิปปาภิญญาที่ตรัสรู้ง่าย ที่ตรัสรู้เร็ว เราว่าพวกนี้แหละ ที่พอสั่งสอนปั๊บตรัสรู้เลย ขิปปาภิญญาที่ว่าตรัสรู้เร็วๆ ที่ว่าขณะโกนผม ผมตกเป็นพระอรหันต์เลย ส่วนใหญ่มีอย่างนี้มา

แต่เวไนยสัตว์อย่างพวกเรานี่ต้องถูไถ ถูไปไถไป ถ้าได้ก็สุดยอด มีอย่างนี้มาเป็นพื้นฐานของใจ เวลาโกนหัวมีในสมัยพุทธกาล ในปัจจุบันก็มี ในสมัยปัจจุบันนี่ได้ฟังมาจากหมู่ว่าหลวงปู่บัวโกนผมนะ ผมตกเป็นโสดาบันเลย หลวงปู่บัวหนองแซง วันบวชโกนผม ผมตกมา พิจารณาผม เป็นพระโสดาบันเลย พิจารณาผม พิจารณาผม

ตา หัวใจนี่มันพิจารณาผม ไม่ใช่ ผมก็เป็นอริยสัจ ขนก็เป็นอริยสัจ มันเป็นอริยสัจ ถ้าอย่างนั้นแผงขายหมูก็เป็นอริยสัจ ถ้าใจไม่พิจารณา ใจไม่ดูมัน ไม่เป็นอริยสัจ ร้านตัดผม ไปดูสิ เขาตัดทิ้ง เขาใส่ถังขยะด้วย มันเป็นอริยสัจตรงไหน มันเป็นอริยสัจที่จิตมันดู จิตมันดู จิตมันรู้ จิตมันพิจารณา นี่อริยสัจเกิดที่นี่ อริยสัจเกิดที่ใจ

ถ้ามันเป็นจริงแล้วนะ มันเป็นจริงมันก็คือมันเป็นจริง ถ้ามันเป็นไม่จริง คำพูดมันขัดแย้งกัน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันเป็นอริยสัจได้อย่างไร? ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่เป็นอริยสัจหรอก แต่จิตที่มันไปเห็น จิตที่มันเป็นวิปัสสนา มันถึงเป็นอริยสัจขึ้นมา เพราะมรรค ผล นิพพาน มันอยู่ที่ใจ

มรรค ผล นิพพาน มันไม่ได้อยู่ที่คนฟังนะ ดูสิ พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานเห็นไหม พระอานนท์จะขอร้องให้อยู่ต่อไป เพราะพระอานนท์เป็นพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันก็ยังต้องการคนสอนอยู่ พอต้องการคนสอนอยู่ พระพุทธเจ้าจะนิพพานจะไปฝึกกับใคร? จะให้ใครสอน? พยายามจะออดอ้อนให้พระพุทธเจ้าอยู่ต่อไง

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา แม้แต่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องนิพพานคืนนี้”

อ้าว แล้วถ้านิพพานคืนนี้ พ้นนิพพานไปแล้ว แล้วผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอาไปด้วยหรือเปล่า? ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอริยสัจแล้วเผาทิ้งทำไม? สรีระขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเผาทำไม? ถ้ามันเป็นอริยสัจก็เอาไว้สิ

จิตที่มันใคร่ครวญแล้ว จิตที่มันใคร่ครวญ มันดูแล้ว มันพิจารณาแล้ว มันถึงเป็นอริยสัจ เห็นไหม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันให้จิต ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ของคนอื่นนะ เพศตรงข้ามยิ่งมองกันยิ่งปรารถนา แต่ขณะจิตที่มันเห็นของเราเอง ไม่ออกข้างนอก ไม่ออกข้างนอก อยู่ข้างใน ขณะจิต กายกับจิตนี่มันคนละส่วนคนกันอยู่แล้ว แต่เพราะเราไม่เข้าใจเราไม่เคยเป็น

แต่ถ้าเราเคยเป็น รักคนโน้น รักคนนี้ ไม่ใช่หรอก มึงรักตัวเอง รักตัวเองก่อน ไม่มีฐานที่นี่มึงจะรักใครได้ ไม่มีร่างกาย มีแต่หัวใจ หัวใจจะไปรักใคร เวลามันตายไปแล้วมันไปรักใคร?

ใจเพราะมันมีหนี้ พอมันมีหนี้ ทำลายมันก่อน ทำลายมันก่อน เพราะมันรักตัวเอง เพราะมันรักสงวนตัวมันเอง ถ้ารักตัวเอง ถอนตัวมันเอง ถอนสักกายทิฏฐิ ถอนภพภูมิ ถอนชาติ ถอนมาหมด ถอนโอฆะ แล้วมันจะไปรักใคร? ไม่รักใครทั้งสิ้น เพราะตัวเราเองยังเอาไม่ได้เลย ตัวมันเองมันยังพุพอง มันยังเน่าเปื่อย เวลาธรรมมันเกิดนะ

อสุภะเวลาเกิด มันทำลายตัวมันเอง ถ้าเราเป็นซากศพที่มันเหม็น มันเลอะ มันพุพองไปหมด เราจะนั่งหลุดพ้นด้วยตัวเราเองได้ไหม? ขณะที่เห็นข้างในนะ ขณะที่เห็นข้างใน วันนี้เดี๋ยวจะเถียงเลย ที่ว่าตามอารมณ์ ตามอารมณ์น่ะ ตามรู้ทีหลังนะ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันมีอดีต อนาคตอยู่ มันจะเห็นสวยตลอด เห็นสวย เห็นงาม เห็นพอใจตลอด

แต่ถ้าเป็นปัจจุบันนะ มันจะเป็นปัจจุบันได้อย่างไร? มันจะเป็นปัจจุบันถ้าจิตมันเป็นปกติ จิตมันเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิมันเป็นปัจจุบัน สิ่งที่เห็นมันเห็นโดยอริยสัจ ไม่ได้เห็นโดยใครทั้งสิ้น จิตมันเป็นอริยสัจนะ พอจิตมันเป็นอริยสัจนะ มันเป็นปัจจุบันธรรม พอมันเป็นของมัน ไม่มีวินาที ไม่มีสิ่งใดเข้ามา บึ๊บ บึ๊บ พอบึ๊บ มันเป็นจริง ไม่มีใครสร้างได้ ไม่มีสภาวะสร้างได้

ดูสิ ในปัจจุบัน เห็นไหม เก็บไข่กันไว้ เก็บสิ่งต่างๆ ไว้ ต่อไปจะไปปลูกชีวิตใหม่ คิดถึงอนาคตไง แต่ถ้ามันเป็นปัจจุบัน เวลาจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว มันเป็นอสุภะ มันเป็นอสุภะ เพราะจิตนี่มันเป็นกลาง มันเป็นปัจจุบัน แล้วพอมันเป็นปัจจุบัน สิ่งที่มันเห็น เห็นร่างกายมันเยิ้ม มันเป็นธรรมชาติของมัน

พอเป็นธรรมชาติของมัน พอจิตมัน แล้วมันก็ปล่อย ปล่อย ปล่อยมันก็หดสั้นเข้ามา พอมันฝึกบ่อยครั้งเข้านี่ มันก็จะดึงอสุภะให้มันใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามาจนอสุภะกับใจมันเป็นอันเดียวกัน จริงๆ แล้ว กามมันเกิดที่ใจ กามมันไม่ได้เกิดที่ร่างกายของใครทั้งสิ้น ร่างกายเกิดกามไม่ได้หรอก เอาศพกับศพมาก่ายกันมันชอบกันไหม?

ความรักความชอบมันเกิดจากใจหมด แล้วใจมันมีข้อมูลปฏิฆะ ปฏิฆะข้อมูล กามราคะปฏิฆะ เอาคนที่มันเห็นแล้วที่มันขยะแขยงที่มันเกลียด เอามาให้มันชอบมันชอบไหม? ไม่ชอบหรอก มันจะชอบที่มันเกิดกามฉันทะ กามฉันทะคือเสปกในใจของเรา ถ้าตรงเสปกนะ มึงอยู่ไหนกูจะวิ่งไปหาเขา

ปฏิฆะคือข้อมูล มันกินตัวมันก่อนไหม? ตัวมันคือข้อมูลของมัน แล้วถ้ามันมีข้อมูลของมัน มันพอใจของมัน แล้วไม่ได้ตามที่มันปรารถนา โกรธ แค้น นี่มันออกไปข้างนอก เห็นไหม แต่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา มันจะเป็นนะ

มรรคน่ะถ้าใครไม่เคยเห็นพูดไม่ถูกหรอก พูดไม่ถูก มันเป็นปัจจุบันตลอด มันเป็นปัจจุบัน จะบอกว่าที่มันเป็นอสุภะ อสุภะจากจิตดวงที่เห็น เห็นจากภายใน มันเป็นเพราะว่ามันเป็นสติ มหาสติแล้ว

ทุกคนปฏิบัตินะเราจะค้านตลอด เวลาไปหาพระที่ไม่เป็นนะ พิจารณาให้เป็นอสุภะ พิจารณาให้เป็นอสุภะ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คนที่ไปประพฤติใหม่ๆ ปฏิบัติใหม่ๆ ให้เป็นอสุภะนะ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การเห็นกายของคนหัดปฏิบัติใหม่ เห็นกายคือเห็นกายไม่ใช่เห็นอสุภะ เพราะเห็นกายมันเห็นสภาพของกาย

กายนี้เป็นสักกายทิฏฐิ มันเป็นทิฏฐิ ความทิฏฐิของจิต จิตมันนึกว่าทุกอย่างเป็นของเรา พอไปเห็นสภาวะแบบนั้นมันเห็นสภาวะของกายมันแปรสภาพของมันไป กายคืนสู่สภาพเดิมของเขา กายคืนสู่สภาพเดิมของเขา มันไม่ใช่อสุภะ อสุภะมันเป็นขั้นของอนาคา เรื่องของกาม มันเป็นเรื่องของขั้นของอนาคา แต่เรื่องของการผ่านกาย เห็นสภาพร่างกายกลับสู่สภาพเดิมของเขา สภาพเดิมของเขา แล้วพิจารณาไป

กายอีกชั้นหนึ่งมันเป็นธาตุ ๔ ธาตุ ๔ คืนสู่สภาพสถานะเดิม แล้วมันปล่อย มันปล่อย โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง มันปล่อยเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แล้วถ้าจับให้กาย นี่ไง สิ่งที่เขาโต้แย้งกันว่าทำไมกรรมฐานบอกว่า กายนอกกายใน กายในกายไง กายนอกโสดาบัน พิจารณากายนอกละกายนอกเป็นพระโสดาบัน พิจารณากายในเป็นสกิทา พิจารณากายในกายเป็นอสุภะ

อสุภะนี่เป็นพระอนาคา พิจารณาเข้าไปถึงที่สุดนะ ถึงที่สุดนะ กายของจิต จิตนี่มันเป็นรูปกายละเอียดของจิตแล้วทำลายตัวมันเอง จบ มันเห็นสภาวะนั้นเลย มันเห็นโดยจิตนะ เห็นโดยตาเนื้ออย่างหนึ่ง เห็นโดยอุคคหนิมิตอย่างหนึ่ง เห็นโดยอริยสัจอย่างหนึ่ง การเห็นมันยังเห็นเป็นชั้นเป็นตอน ถ้าเห็นแล้วส่งออก เห็นเป็นนิมิตนี่มันเห็นออก เห็นออกคือจิตเห็น

แต่ถ้ามันเห็นอริยสัจมันเห็นเข้า เห็นจากข้างใน เห็นจากข้างในเข้ามา ถ้าเห็นจากข้างในเข้ามา ถ้าเป็นอสุภะมันเป็นอสุภะจากข้างใน พอเห็นอสุภะ พอพิจารณาปั๊บมันก็ปล่อย การปล่อยเพราะอะไร? เพราะสิ่งที่จิตมันพอใจตัวมัน มันเป็นกามฉัน โดยธรรมชาติของจิตเป็นกามฉัน เหมือนพลังงาน ตัวมันเองมีพลังงานตลอดเวลา

แล้วที่พิจารณาเข้าไป มันเห็นแล้วมันก็ปล่อย พอปล่อยแล้วมันก็จะละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา มันทำลายกันที่ตัวมัน เห็นไหมกามฉันทะ กามราคะ ถ้าไม่มีกามฉันท์ ไม่มีต้นเหตุมันจะมีสิ่งนี้เข้าไปได้อย่างไร? แต่พอพิจารณาเข้าไป เพราะมันจะกลับมา กลับเข้ามาที่ต้นเหตุ กลับเข้ามาที่ต้นเหตุคือกามฉันท์ คือความรู้สึกเรา คือตัวต้นเหตุ พอทำลายตัวต้นเหตุปั๊บ พระอนาคา

ถ้าพูดถึง เวลาพูดถึงวันนี้ที่บอกว่า ถ้ามันเป็นอย่างนั้น มันต้องทำไปอย่างนั้น เราก็โอเค คำว่าโอเค โอเคแบบว่า ก็ยอมรับว่าการกระทำ สิ่งที่เราพูดมันเป็นผล มันเป็นอริยสัจ แต่การกระทำมันต้องถนอม มันต้องต่อยอดไง มันต้องเริ่มต้นมาเรื่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ ยกขึ้นไปเรื่อยๆ มันเจริญไปเรื่อยๆ ทำสิ่งเดียวให้มันเป็นไปเลย มันก็เป็นไปไม่ได้

แต่ถ้ามันไปติดอย่างนั้น คำว่าติด ถ้าไม่เคยปฏิบัติจะไม่รู้คำว่าติดมันจะทำให้เราเสียเวลาได้ขนาดไหน เพราะคำว่าติดมันคิดว่าเราถึงแล้ว เราจะกลับบ้าน เรานั่งอยู่นี่ เรานึกว่านี่บ้านเรา เราจะไม่ก้าวเดินไปไหนอีกเลย แต่ถ้ามีคนมาบอกว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านนะ ที่นี่เป็นหอพระที่เขาใช้ประโยชน์ส่วนรวม บ้านของเราอยู่ที่โน่น อยู่ที่ใครมาจากไหนบ้านของเราก็อยู่ที่นั่น ต้องกลับบ้านของเรา แล้วพอกลับบ้านนี่ ออกจากนี่ไป ก้าวเดินไปถึงบ้านอีกไกลไหม?

ถ้าจิตมันติด มันเข้าใจว่าที่นี่คือบ้าน นี่ก็เหมือนกัน บอกว่าพิจารณาตามหลังไป มันก็เป็นธรรม มันก็จะอยู่อย่างนั้นตลอดไป มันจะตามหลังอยู่อย่างนี้ มันจะไม่ก้าวให้ทันกัน แต่ถ้าเราบอกว่า เราจะต้องให้เป็นปัจจุบัน ก้าวให้ทัน มันจะฝึกฝน ก้าวให้ทัน

คนไม่เคยเห็นกิเลสจะไม่รู้ว่ากิเลสร้ายกาจขนาดไหน กิเลสนี่ร้ายกาจมาก เชือดนิ่มๆ เชือดให้เราอยู่ในอำนาจของมัน นิ่มๆ นิดเดียว เอาไว้ในอำนาจหมดเลย แล้วเพราะไม่ได้ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้ามันถึงเป็นอย่างนี้กันหมด ปฏิบัติกันไป ประคองกันไป แค่นี้ กิเลสมันก้าวกว่าเราก้าวเดียวแค่นี้ มันก็นำหน้าเราไปเรื่อยๆ แล้วปฏิบัติไปอย่างนี้ ตลอดไป แล้วก็หมดอายุขัย แล้วก็ตายไป

ฉะนั้นที่ว่า เป็นพระโสดาบัน ไอ้รู้หรือไม่ รู้นี่เราว่ารู้ แล้วเรายังคิดว่าสิ่งที่เป็นไป อันนี้เป็นปัญหา ถ้าจะให้จริง ต้องให้ตัวเองเป็นพระโสดาบันแล้วตายดูจะรู้จริงๆ เลย (หัวเราะ) คืออย่างนี้มันเป็นไอ้นี่ด้วย นี่เวลาเราพูดเราพูดถึง แต่มันมีแบบว่า คนเรามันปรารถนา หรือว่าขั้นตอนมันไม่เหมือนกันหรอก มันไม่มีสูตรสำเร็จไง คือว่ามันไม่เป็นอริยสัจ ไม่เป็นความจริง

ถาม : ตั้งอสุภะเอง

หลวงพ่อ : การตั้งอสุภะเอง ไอ้อย่างนี้มันเป็นการเริ่มต้นนะ เราบอกว่าการตั้งอสุภะเองไม่ได้หรือว่าตั้งได้เพราะมันเป็นประเด็น มันเป็นประเด็นหนึ่งนะ พอมันเป็นประเด็นปั๊บ ทุกอย่างให้มันเป็นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะในการปฏิบัติมันมีกาย เวทนา จิต ธรรม

อันนี้ถ้าคนไม่ผ่านอสุภะเลยก็มี ไม่ต้องผ่านอสุภะ ไม่มีอสุภะ ไม่ต้องผ่านกาย เป็นอรหันต์ก็เยอะแยะไป ถ้าเขาไม่ผ่านกายเขาก็ไม่มีอสุภะ เขาไม่เห็นอสุภะนะ เขาก็พิจารณาโดยนามธรรมตลอดไปเลย

ดูสิ หลวงปู่ดูลย์พูดสิ พิจารณากายโดยไม่เห็นกาย พิจารณาโดยปัญญาไง ถ้าเป็นปัญญาวิมุตตินะ มันใช้ปัญญาแล้วเทียบเคียง ใช้ปัญญาใคร่ครวญ จนจิตนี้มีปัญญาเข้าไปกล่อม มีปัญญาเข้าไปแก้ไข แล้วมันเห็นโทษ มันปล่อยมันไปไปเรื่อยๆ แล้วเวลามันปล่อย มันก็ไปปล่อยเหมือนกัน ไปปล่อยเหมือนกันคือว่าถ้ามันปล่อยกายนะ มันปล่อยกาย มันเป็นโสดาบัน มันก็เห็นว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕

ถ้ามันไปปล่อยที่สกิทานะ มันก็ไปปล่อยว่า พิจารณากายนี่แหละ พิจารณากายโดยปัญญาไม่เห็นกายหรอก แต่พิจารณาโดยปัญญาไป มันก็ไปปล่อยว่า สิ่งที่สิ่งกามราคะปฏิฆะอ่อนลง ปล่อยหมด หลวงปู่ดูลย์น่ะ หลวงปู่ดูลย์พูดถูก เราไม่ค้านหลวงปู่ดูลย์เลย แต่ท่านพิจารณาของท่าน หลวงปู่ฝากไว้

เมื่อวานใครไปที่วัด บอกว่าอะไรนะ ไอ้ที่ว่า ดูจิต รู้จิต แล้วต้องใช้ความคิด ท่านบอกละเอียดมาก บอกไว้ละเอียดมากจริงๆ มันละเอียดมากไง ทีนี้คนเรามันไปเอาความเห็นของเราไปตัดตอน ไปตัดตอนว่าให้ดูให้รู้ เราถึงพูดบ่อย ถ้าให้ดูให้รู้ มันต้องใช้คำว่ารู้ของใครดูของใคร

ในองค์กรหนึ่ง มีผู้อำนวยการองค์กรนั้น เขาดูแลรักษาองค์กรนั้น เขาต้องมีงบประมาณนะ เขาต้องมีหน่วยงานของเขา เขาดูแลรักษาหมดเลย กับนักการในองค์กรนั้น เขาก็ดูเหมือนกันนะ เขาเป็นยามเฝ้าอยู่หน้าประตู เขาก็ดูเฉยๆ ทีนี้ไอ้คำว่าดูกับรู้ คำว่าดูกับรู้ของใคร แต่ถ้าเป็นเรานะ มันต้องดูกับรู้ของผู้อำนวยการ ดูกับรู้ของเจ้าขององค์กรนั้น เจ้าของบริษัทนั้น เพราะ เพราะเขาเป็นเจ้าของใจ เพราะใจนี้เป็นตัวเกิดตัวตายใช่ไหม? มันก็ต้องดูแบบเจ้าของความรับผิดชอบใช่ไหม? มันไม่ใช่ดูด้วยตาอย่างนี้หรอก

ฉะนั้น ไอ้เรื่องที่ว่าอสุภะ เราจะตั้งอสุภะให้มันเป็นตัวหนอน ให้เป็นอะไร ถ้าพูดถึง ถ้าเรากลับไปเปรียบที่มะม่วงก่อน เราเปรียบกับมะม่วงชมพู่ตลอดเลยล่ะ ผลไม้แต่ละชนิดไม่เหมือนกัน จิตของคนก็ไม่เหมือนกัน จิตของเราเป็นชมพู่ จิตเขาเป็นทุเรียน เขากินทุเรียนเขาปลูกของเขาออกมา ทุเรียนคือมันรสดีกว่า ราคาดีกว่า

จิตของเขาถ้ามันสงบแล้วมันเห็นที่ลึกซึ้งกว่า มันเห็นที่กว้างขวางกว่า มันเห็นที่ดีกว่า เขาก็จิตของเขา จิตของเราเป็นชมพู่ ชมพู่ไม่ค่อยมีราคา แต่มันกินแล้วก็อิ่มท้องเหมือนกัน ถ้าเป็นชมพู่ มันออกมาขายก็ไม่ได้ราคา ใครก็ไม่ค่อยอยากได้เพราะตำแหน่งชมพู่ไม่เหมือนตำแหน่งทุเรียน นะ คือจิตของเราเป็นอย่างนี้ แต่เรากินก็อิ่มเหมือนกัน มันก็ธรรมของเรา ก็อิ่มของเรา ก็ถูกของเรา

จิตของเราเป็นชมพู่ เห็นเขาขายทุเรียน ลูกหนึ่ง ๒๐๐-๓๐๐ ก็อยากจะขายชมพู่ลูกหนึ่ง ๒๐๐-๓๐๐ แล้วไม่ได้ก็ตีโพยตีพาย โอ๊ย ฉันก็ทุกข์ ฉันก็ไม่เป็นธรรม ศาสนานี้ไม่เป็นธรรม ศาสนานี้ลำเอียง ความคิดเรานี่ลำเอียง เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้าความคิดของเรา เราเป็นชมพู่ หรือทุเรียน หรือว่า จิตของเขา เขาพิจารณาจิต พิจารณากายของเขา ก็เรื่องของเขา

ถ้าจิตของคนที่พิจารณากาย เห็นไหม ในวิสุทธิมรรคสอนนะ ถ้าเราพิจารณากาย ถ้าเราพิจารณากายจิตเราสงบแล้ว ไม่เห็นกายให้ไปเที่ยวป่าช้า ถ้าไปให้ไปเหนือลมเพราะป่าช้ากลิ่นจะแรงมาก ให้ไปเหนือลม ถ้าไปใต้ลมแล้วเดี๋ยวมันไม่เข้าป่าช้า มันจะวิ่งกลับบ้าน ต้องไปเหนือลมเพื่อไม่ให้กลิ่นกระทบเรา ไปเหนือลม ไปแล้วจิตมันมีหลักมีเกณฑ์แล้ว ให้มองที่ซากศพแล้วหลับตา หลับตาเห็นภาพนั้นไหม?

ถ้าหลับตาเห็นภาพ นี่ นิพพินทะติ ถ้าติดแล้วให้กลับมา พยายามมองภาพนั้นให้ติดตา ถ้ามันไกล วิสุทธิมรรคนี่สอน สอนละเอียดมาก ถ้าป่าช้ากับที่อยู่ สมมุติถ้าเราไปปักกลดที่ไหนมันไกล จะเดินไปกลับนี่มันไกล เราจะเอากลับมาพิจารณาใกล้ๆ ที่เราอยู่ เห็นไหม ให้เอาไม้คีบมาอย่าเอามือจับ เอามือจับมาไม่ได้

ใหม่ๆ เราก็ไม่รู้นะ แล้วพอมาภาวนาดู อื้ม ถ้าเอามือจับ มันจะคุ้นเคย พอคุ้นเคย โอ้ ก็แค่นี้ ไม่เห็นมีอะไรเลย จบ จบแล้ว ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเอาไม้คีบ ไม่ให้เราไปคุ้นเคย การคุ้นเคย การคุ้นเคยการสนิท มันนอนใจ พอเอาไม้คีบมา คีบมาแล้วมาวางข้างๆ แล้วดู เพ่ง หลับตาเห็นภาพไหม ถ้าเห็นภาพให้ขยายส่วน เห็นภาพคืออุคคหนิมิต แล้ววิภาคะคือขยายส่วนแยกส่วน

การเห็นนี่นะเห็นก็เห็นเฉยๆ เห็นภาพนิ่ง แล้วถ้าภาพเคลื่อนไหวเราจะจับเห็นผิดเห็นถูกได้ วิภาคะคือขยายส่วนแยกส่วน ถ้าพิจารณากาย เห็นไหม แล้วมันเป็นอสุภะไหม ไม่ได้เป็นนะ นี่เห็นกายไง การพิจารณากาย ถ้าคนไม่เคยพิจารณาไม่รู้ ถ้าคนพิจารณานะ แล้วมันอยู่ที่เทคนิค

เช่น หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านให้เดินอยู่ในกระดูก เดินอยู่ในร่างกาย แล้วท่านพูดคำนี้บ่อย คนอื่นฟังแล้วเฉยๆ แต่เราฟังแล้วสะเทือนทุกทีเลย

“ต้องอย่างนี้เป็นชั่วโมงๆ นะ ต้องให้เดินอย่างนี้เป็นชั่วโมงๆ นะ”

“แล้วทำไมถึงเป็นชั่วโมงๆ ล่ะ?”

ถ้าจิตไม่มีหลัก มันเดินไม่ได้ จิตไม่มีสมาธิมันทำไม่ได้ ถ้าทำได้ จิตมันเดินตามข้อเป็นชั่วโมงๆ คือว่าจิตมันมีฐาน เหมือนเรายกของหนัก ถ้าเราอ่อนแอ เรายกของหนักได้ไหม? ถ้าเราแข็งแรงของหนักก็เป็นของเบาใช่ไหม? ถ้าจิตมันมีหลักขึ้นมา ทำเป็นชั่วโมงๆ ๓ ชั่วโมงก็ได้ ๕ ชั่วโมงก็ได้ แล้วถ้าไม่ได้ก็กลับมาพุทโธๆ ต่อ

นี่คือเทคนิคของหลวงปู่เจี๊ยะ เฉพาะองค์ ของท่าน ท่านทำของท่านมา แล้วพอท่านทำอย่างนี้ปั๊บ ท่านจะเทศน์ (โทษนะ) ไม่ใช่วิจารณ์อาจารย์นะ เราส่งเสริม เราเคารพท่านมาก ท่านเทศน์ที่ไหน ร้อยหนพันหนก็เทศน์อย่างนี้ ต้องเดินเป็นชั่วโมงๆ อย่างนี้เพราะนี่ คือถ้าพูดอย่างนี้ คือท่านทำมา ท่านย้ำของท่านมาตลอด คือของที่ทำมาอย่างไร ท่านก็จะสอนอย่างนั้น

แต่ถ้าเป็นพิจารณากาย ครูบาอาจารย์องค์อื่นท่านก็เทศน์ เราเห็นอย่างไร? เราปฏิบัติอย่างไร? แล้วมันเป็นคุณค่าอย่างไร? ท่านจะสอนอย่างนั้น สอนสิ่งที่เราทำมานั่นแหละ

ฉะนั้น ถ้าพิจารณาให้เป็น ถ้าเราตั้งกาย ตั้งนี่มันเป็นเริ่มต้น ถ้าทั้งหมดนะ ถ้าพูดทั้งหมด เห็นไหม อยากก็ปฏิบัติไม่ได้ อะไรก็ปฏิบัติไม่ได้นะ พระพุทธเจ้าไม่สอนพระอรหันต์นะ พระพุทธเจ้าสอนคนมีกิเลส ฉะนั้น การตั้งต้นนี่ได้ แต่ต้องรู้ว่าการตั้งต้น เราตั้งนะ ตั้งคือการสมมุติขึ้น มันไม่ใช่ธรรมแต่มันเป็นประเด็น

อย่างเช่นเวลาจิตเราสงบแล้ว เราพิจารณากายแล้วไม่เห็นกาย ถ้าเราไม่ตั้งขึ้นมา เราไม่ทำขึ้นมา มันก็ไม่เป็นสักที แล้วเราจะทำอย่างไร มันถึงต้องตั้งขึ้นมา การตั้งอย่างนี้ไม่ผิด แต่เราก็ต้องรู้ว่าเราตั้งขึ้นมา พอตั้งขึ้นมาแล้วนะ (โทษนะ) ตั้งขึ้นมาแล้วอย่าหลงตัวเอง พอตั้งเป็นอย่างนั้นปั๊บ เราก็คิดว่าตัวเองได้แล้ว ไม่ใช่

ตั้งขึ้นมาแล้วก็หมั่นฝึกซ้อม หมั่นดูกระทำ มันเป็นไปไหม? มันเป็นวิภาคะไหม? อุคคหนิมิต วิภาคะนิมิต วิภาคะคือมันภาพเคลื่อนไหว ภาพขยายส่วน เห็นความแปรปรวนของมัน ถ้าเห็นแปรปรวนของมัน พอมันแปรปรวนของมัน เอ๊อะ! ถ้าเห็นจริงๆ ถึงเป็นอย่างนี้ ถึงบางอ้อไง เอ๊อะ! เป็นอย่างนี้หรือ? เอ๊อะ! เอ๊อะ! ทีมันก็ปล่อยทีหนึ่ง เอ๊อะ! เป็นอย่างนี้หรือ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ หมั่นคราดหมั่นไถ

ในมุตโตทัยของหลวงปู่มั่น ให้หมั่นคราดหมั่นไถ หมั่นฝึกหมั่นซ้อม อย่าทีเดียวแล้วทิ้ง ทีเดียวนี่ เอ๊อะ! สุขมาก คิดว่าเป็นโสดาบัน ทิ้งเลย ได้แล้วโสดาบัน ไม่กี่วันนะ พอมันเสื่อม โอ๊ย โสดาบันกูหายไปแล้ว ทุกข์น่าดูเลยนะ แล้วต้องมาเริ่มต้นใหม่ อย่าทิ้ง หมั่นคราด หมั่นไถ ทำบ่อยๆ ทำเรื่อยๆ ทำอยู่อย่างนั้นล่ะ

ถ้ามันยังไม่สมุจเฉทนะ มันไม่มีคำตอบนะ อย่ามั่นใจ เห็นไหม ต้องตรวจสอบ ทดสอบ ตรวจสอบ ทดสอบ ตรวจสอบ ทดสอบ การตรวจสอบทดสอบ ถึงที่สุดแล้วนะ มันตรวจสอบทดสอบอย่างไร? มันก็คงที่ มันสะอาดแล้วนะ ผ้าสะอาด ซักอย่างไรมันก็สะอาดอยู่อย่างนั้น มันไม่สกปรกหรอก ทำบ่อยๆ ครั้ง บ่อยๆ ครั้งเข้า มันเป็นอย่างนั้น นี้การตั้งอสุภะ การตั้งอสุภะนี่ถูก ทำได้ ทำแล้วทำบ่อยๆ ทำให้มันเป็นจริงขึ้นมา

ถาม : การรู้วาระจิต จำเป็นต้องได้เฉพาะผู้บรรลุธรรมหรือไม่?

หลวงพ่อ : ไม่ การรู้วาระจิต ถ้าผู้บรรลุธรรมนะ การรู้วาระจิตมันสะอาด อย่างเช่น เช่น ความฝันของพระอรหันต์ ส่วนใหญ่เพี๊ยะๆ นะ มันสะอาด เพราะมันไม่มีสิ่งเร้า ไม่มีสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงตัวเร่งคือกิเลส แต่ถ้าเป็นปุถุชน ความฝันไม่แน่นอนนะ จริงก็มี เท็จก็มี

ทีนี้การรู้วาระจิต ไม่บรรลุธรรมก็รู้ได้ รู้ได้แต่ตรงแค่ไหน ทีแรกก็ตรง ถ้ามันตรงนะ กำลังดีน่ะ ตรง อย่างเช่นหมอดู เราดูถูกนะ พวกหมอดู พวกพรหมศาสตร์ ถ้าจิตเขาดี เขาทายเราเพี๊ยะเลยนะ แล้วถ้าจิตมันจะดีตลอดไปได้อย่างไร? เราภาวนาอยู่เรารู้นี่ สมาธิกว่าจะเป็น รักษาเกือบตาย แล้วมันก็นั่งกำหนด ๒ นาที ทาย เพี๊ยะๆๆๆๆ นั่งทายเพี๊ยะๆ ไม่เชื่อนะ เราไม่เชื่อเลย

มันเป็นอาชีพของเขา คือความชำนาญของเขา สถิติใช่ไหม คนอย่างนี้ วันเดือนปีอย่างนี้ เขาบวกลบคูณหารอยู่ทุกวัน มันเป็นความชำนาญของเขาไง ทีนี้การรู้วาระจิต ถ้าไม่บรรลุธรรม รู้ได้ไหม? ได้ แต่ถ้ารู้แล้ว มันจริงเท็จแค่ไหน เพราะการรู้วาระจิต มันเป็นอมตะวิชา มันเป็นอภิญญา มันไม่ใช่อริยสัจ มันไม่ใช่มรรค มันไม่ใช่การแก้กิเลส มันรู้ได้ (โทษนะ) รู้แล้วแล้วได้อะไร?

รู้แล้วนะ เรารู้วาระจิตโยม จิตโยมนี่กำลังทุกข์มากเลย พอเรารู้แล้ว เราก็ทุกข์ตามไปด้วย อู๊ย ตายแล้ว อู๊ย โยมคนนี้ทุกข์มากเลยเนอะ อู๊ย เราจะไปช่วยเขาอย่างไร? รู้ไปทำไม รู้ไปเอาทุกข์มาใส่ตัวเหรอ อู๊ย ดูสิ บ้านนี้เขาทะเลาะกันนะ อู๊ย ดูสิ บ้านนี้เขามีทุกข์มากเลย อู๊ย เรื่องของเราก็แก้ไม่หมดแล้วนะ เรื่องของเราเองก็แก้ไม่จบแล้ว ยังไปเอาเรื่องของเขามาใส่ตัวอีกเหรอ

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ สิ่งนี้มันเป็นเครื่องมือ มันเป็นเครื่องมือที่ท่านจะใช้ เพื่อจะใช้แก้ไขคน เข้ามาแล้ว จิตดี จิตเศร้าหมองจิตผ่องใส ผ่องใสแค่ไหน ก็ผ่องใส ต้องผ่องใสให้มากกว่านี้ ควรทำให้ดีกว่านี้ ควรแก้ไขอย่างนี้ การรู้ รู้เพื่อประโยชน์ แต่ถ้าจิตเรามีกิเลส รู้แล้วแบกทุกข์ มันถึงว่า ยิ่งรู้มาก ยิ่งทุกข์มาก แล้วรู้ไปทำไม? มันไม่มีอะไรเลย

ความรู้ของเขา ความคิดของเขา ความทุกข์ของเขา มันก็เรื่องของเขา ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ดูใจเรา เห็นไหม ให้ดูใจเรา ให้ดูทุกข์ของเรา แก้ไขที่ทุกข์ของเรา มันไม่ใช่ นี่รู้นอกรู้ใน ถ้าไปรู้ปั๊บเป็นผู้วิเศษ เป็นผู้ที่รู้ จะให้เขาเคารพนบนอบเรายังว่ามันไปเอาทุกข์ใส่ตัวน่ะ ไปเอาทุกข์ใส่ตัวนี่ไม่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์เลย

ถาม : การทำบุญกับพระอรหันต์บ่อยๆ จะตกนรกไหม?

หลวงพ่อ : ตก ทำบุญกับพระอรหันต์ก็คือทำบุญกับพระอรหันต์น่ะสิ ตกนรกก็ตกนรก คนละเรื่อง ทำบุญกับพระอรหันต์บ่อยๆ นี่นะ ได้บุญมาก เพราะอะไร? เพราะเนื้อนาบุญนะ เนื้อนาบุญ การว่าทำบุญกับพระอรหันต์ อย่างเช่นทำบุญกับหลวงตา คำว่าพระอรหันต์ เราอย่าไปพูดพร่ำเพรื่อ ใครเป็นพระอรหันต์? แล้วพระอรหันต์มีอะไรเป็นการันตี?

ถ้าเราไปพร่ำเพ้อกับพระอรหันต์ เขาก็จะสักหน้าผากเลย กูพระอรหันต์ แล้วเอ็งก็จะไปกราบกัน อู๋ย นั่นพระอรหันต์ อันนั้นไม่ใช่ นั่นมันรอยสัก ไม่ใช่พระอรหันต์ พระอรหันต์มันอยู่ที่ใจ พระอรหันต์มันรู้เรื่องอริยสัจ มันชำระกิเลส เป็นพระอรหันต์ เขาไม่พูดกันอย่างนั้นหรอก

ทีนี้เพียงแต่ข้อเท็จจริง ทำบุญกับพระอรหันต์บ่อยๆ ได้บุญมากไหม? ได้มาก

แล้วจะตกนรกไหม? ตก

ตกเพราะอะไร? ตกนรกเพราะทำชั่ว ทำบุญกับพระอรหันต์แล้วถ้าไปทำตามอารมณ์ ตามกิเลสของตัว เช่น เราทำบุญกับพระอรหันต์นะ แต่เรายังคดโกง เรายังทำลายคนอื่น มันก็ตกนรกน่ะสิ แต่ถ้าทำบุญกับพระอรหันต์ แล้วถ้ายังทำคุณความดีอยู่ ไม่ตกนรก คือไม่ตกนรก มันอยู่ที่เราทำ ไม่ใช่ทำบุญกับพระอรหันต์แล้วจะบอกใช้ไม้จูงไว้เลย ดึงไว้เลยไม่ตกนรก ดึงไว้ให้ ไม่มีทางน่ะ ตก! ตก! มันตกเพราะดีกับชั่วกับที่เราทำ

ทำบุญกับพระอรหันต์ก็ทำบุญกับพระอรหันต์ อีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม แล้วทำชั่วทำดีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม มันคนละเรื่องเดียวกัน มันคนละเรื่อง โอ๊ย ทำบุญกับพระอรหันต์แล้วไม่ตกนรก ทีนี้เพียงแต่ว่าถ้าคนทำบุญกับพระอรหันต์แล้ว มันไม่ทำชั่ว มันก็ไม่ตกนรกหรอก คำว่าตกนรกนะ เรามีศีลห้า ศีลห้าบริสุทธิ์นี่ปิดกั้นอบายภูมินะ

คำว่าปิดกั้นอบายภูมิ ต้องเป็นพระโสดาบันขึ้นไป เป็นพระโสดาบันขึ้นไป แล้วไม่ตกในอบายภูมิเพราะอะไร? เพราะพระโสดาบันมีสติสมบูรณ์ เวลาจะตาย มันตายพร้อมกับสติ ถ้ามีสติ มันไม่พลั้งเผลอไป ไม่ตกนรกเด็ดขาด แต่ถ้ามีศีลห้าสมบูรณ์ ถ้ามันฝึกสติไว้ มีศีลห้าสมบูรณ์คือมีสติตลอด มีศีลห้าสมบูรณ์ มันกั้นอบายได้ แต่การันตีไม่ได้ การันตีว่าไม่ตกนรกเด็ดขาด มันต้องเป็นพระโสดาบันขึ้นไป

ดูสิ พระพุทธเจ้า ก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า เห็นไหม เคยตกนรก เคยตกอเวจีมาทั้งนั้น จิตทุกดวงเคยผ่าน อย่างที่พูดถึงพระโมคคัลลานะ วันนี้พูด เราพูดไม่จบ มันพูดไม่จบเพราะมันยาว

พระโมคคัลลานะนี่พ่อแม่รักมาก อยู่กับแม่ แม่ตาบอด รักพระโมคคัลลานะมาก แล้วอยากให้พระโมคคัลลานะมีคู่ อยากให้เป็นฝั่งเป็นฝา ขอร้องให้พระโมคคัลลานะมีคู่ พระโมคคัลลานะไม่เอา รักแม่มาก รักแม่มาก จะอยู่กับแม่ ไม่ยอม ไม่เอา ไม่เอา แม่ก็นะ อยากให้ลูกเป็นฝั่งเป็นฝา อุตส่าห์ไปหามาให้พระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะในชาติหนึ่งที่ทำร้ายแม่ไง

พอไปหามาให้แล้ว ก็ดูแลแม่ ก็ดูแลภรรยา ทีนี้ภรรยา ได้มาแล้วก็อยากให้สามีรักที่สุด แม่ตาบอด ก็มาดูแลแม่ เห็นไหม ก็คอยบอก แม่ทำโน่นตก ทำนี่หล่น แม่นี่ทำอะไรไม่ถูกสักอย่างเลย เป็นภาระน่ะ เป่าหูทุกวัน รักแม่ขนาดไหนนะก็เอียง สมัยโบราณเขาก็ไปหาของป่ากัน เวลากินข้าว เวลาสามีจะกลับมาเอาข้าวโรยไว้ โรยไว้ เห็นไหมแม่ทำอย่างนี้ เป็นภาระไปหมดเลย แม่ทำอย่างนี้ อยากอยู่กันสองคน

ตัดสินใจนะ บอกจะเอาแม่ไปเยี่ยมญาติ เอาแม่ขึ้นเกวียนไปนะ พอขึ้นไปนะ พอไปถึงที่หนึ่งนะ ก็ให้แม่จับเชือกไว้นะ แล้วก็ลงจากเกวียนไป พอไปถึงข้างล่างก็ทำเป็นโจร โอ๊ย โจรปล้น ปล้น ปล้น ตัวเองน่ะแหละ กลับมาทุบแม่ เพราะภรรยาเป่าหูทุกวัน จะทำร้ายแม่ เพราะมันเป็นปัญหาในบ้าน

พอจะไปทุบแม่ ทุบแม่ไปนะ แม่บอกว่า ลูกๆๆๆ ลูกหนีไปนะ โจรจะฆ่าแม่ ลูกรีบหนีไป แม่ยังรักลูก พอพูดขึ้นมา คนโดยสัญชาตญาณเป็นคนดี แต่เพราะโดนเป่าหูทุกวันๆ มันยังไป พอแม่บอกว่า ไปนะๆ ลูกไป โจรมันปล้น โอ้โฮ เราจะฆ่าแม่ แม่ยังรักเราเลย แล้วทำเป็นไอ้เสือถอย ก็ถอยไปนะ ไปทิ้งไม้ไว้ แล้วกลับมาดูแลแม่

แม่เป็นอะไรไหม? เพิ่งกลับมา โจรไปแล้ว เพิ่งกลับมา เอาแม่กลับบ้าน กลับมานะ มันก็ระบมแล้ว ตายน่ะ กรรมอันนี้ เห็นไหม แต่ก็สร้างบุญกุศลมาเหมือนกัน ตกนรกอเวจีมหาศาลเลย ก็เวียนอยู่อย่างนั้น แล้วสุดท้ายสร้างบุญกุศลมา ที่ว่าปรารถนาเป็นพระอัครสาวก ปรารถนาเป็นพระอัครสาวกแล้ว เห็นไหม

แล้วพอมีฤทธิ์ มีฤทธิ์มาก เวลาจะทรมานใคร ถ้าจะทรมานเพื่อเป็นประโยชน์ ให้พระโมคคัลลานะไป พระอรหันต์ไปทรมานใครได้หมดเลย ไปดุสิต ไปสวรรค์มาหมดเลย กลับมาถึงราชคฤห์ บ้านนี้ตายไปเกิดที่นั่นๆ จริงๆๆ มันจริงไปหมดเลย พอจริงมันก็ฮือฮา ศาสนาก็รุ่งเรืองมาก

ทีนี้ในลัทธิต่างๆ เขาอิจฉาไง จะล้มศาสนาพุทธจะทำอย่างไร? จะล้มศาสนาพุทธต้องล้มแม่ทัพก่อน จะล้มศาสนาพุทธต้องฆ่าพระที่ขึ้นไปสวรรค์-นรก แล้วเอามาเชิดชู ต้องฆ่าองค์นั้นก่อน ตกลงกันว่าต้องฆ่าพระโมคคัลลานะก่อน พอตกลงกันว่าต้องฆ่าพระโมคคัลลานะก่อน ก็จ้าง เหมือนกับว่าจ้างมือปืนสมัยนี้ แต่ในสมัยนั้นเป็นนักเลง ให้นักเลงไปฆ่า

มาถึง มันรู้หมดแล้ว เหาะ เห็นมานี่เหาะแล้ว จะเข้ามาทำลายนี่เหาะออกไปก่อนแล้ว ทำไม่ได้หรอก ถ้าโดยฤทธิ์ โดยธรรมในปัจจุบันนะ แต่มันถึง ๓ หน ๔ หน เอ๊ะ ทำไมเขาจะมาทำร้ายเราขนาดนี้ กำหนดดูจิตที่ว่าพระโสดาบันรู้ไม่รู้ รู้วาระจิต กำหนดดูของตัว โอ้ กรรมของเรามันมาถึงแล้ว ยอมรับ เห็นไหม เหาะก็ได้ ประสาเรา เพ่งไฟใส่ ตายห่าหมด

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ทำไม่ได้ พระอรหันต์ฆ่าคนไม่ได้ ถ้าเป็นประสาเรานะ ถ้าเป็นเราเรายอมไหม? เขาจะมาทุบนะ เพ่งกสิณไฟพุ่งใส่เลยล่ะ เผามันออกไปเลย ไม่ทำ เขาจะมาฆ่าตัวปล่อยให้เขาฆ่า ทุบนี่แหลกเลย พอแหลกหมดขึ้นมาแล้ว มันไม่กระเทือนหัวใจเลย พอทุบหลังจากตายแล้ว พอตายแล้ว เอาฤทธิ์นี่รวมร่างกายขึ้นมาเป็นปกติ เหาะไปลาพระพุทธเจ้า

เหาะไปหาพระพุทธเจ้า ไปกราบลา บอกว่าจะขอปรินิพพาน พระพุทธเจ้าว่า

“สมควรแก่เวลาของเธอเถอะ เธอก่อนไป เธอเทศน์ให้น้องๆ ฟังนะ”

เหาะขึ้นไป ลงมาเทศน์ๆ สุดท้ายแล้วก็กลับไปที่เก่า คลายฤทธิ์ออก พอคลายฤทธิ์ออก กลับไปเป็นกระดูกหักเละเหมือนเดิม แล้วพระพุทธเจ้าไปเก็บศพเอง เผาเอง กรรมอันนั้นเห็นไหม

กรรมอย่างนี้มันพัวพันกันมาตลอด เกิดตายเกิดตาย ทำมาชาติไหนก็ไม่รู้ สิ่งใดที่ทำมา แล้วก็บอกว่าศาสนาพุทธนี่เชื่อกรรมๆ ยอมจำนน ไม่ใช่นะ เชื่อกรรมคือเชื่อเหตุเชื่อผล ไม่ใช่เชื่อแบบงอมืองอเท้า ไม่ใช่เชื่อแบบว่าให้เขามาทำร้ายเรา ไม่ใช่ เราทำดีที่สุด ความเพียรชอบ ทำสิ่งที่ดีที่สุด เต็มความสามารถของเรา

แล้วถ้าผลมันออกมาอย่างไรก็คืออย่างนั้นล่ะ ไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรกันเลยแล้วปล่อยให้ทุกอย่างนั้นเป็นไปตาม แบบว่าให้เป็นสวะลอยน้ำ ไม่ใช่ ธรรมะคือการทวนกระแส คือต้องมีความหมั่นเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ มีความตั้งใจ มีความจงใจ ทำเต็มที่ของเรา สิ่งที่มันด้อยมา สิ่งที่มันขาดแคลนมา ก็ทำให้มันสมบูรณ์ในชาตินี้

ถ้าชาตินี้สิ่งใดที่มันบกพร่อง เติมให้มันเต็ม สิ่งใดที่จะทำ ทำชาตินี้

“สิ่งใดที่ทำมาแล้ว แล้วเสียใจต่อสิ่งนั้น ไม่ดีเลย”

ฉะนั้น ถ้าได้ทำบุญกับพระอรหันต์บ่อยๆ ดีมากๆ ถ้าทำได้นะ ทำได้แล้วคิดได้ เราคิดอย่างนี้นะ เราอยู่กับหลวงตามา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔, ๒๕๒๕ เราเห็นลูกศิษย์หลวงตาเยอะมากที่ทิ้งหลวงตาไป แล้วไปเรียนอภิธรรมกัน ทิ้งหลวงตาไป ไปอยู่กับทางอื่น เยอะแยะ

คำว่าทิ้งหลวงตาไปนี่ เห็นผิดไง เห็นผิดว่าอยู่กับหลวงตาแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย? ปฏิบัติมา ๒๐ ปี ๓๐ ปี ก็เห็นไม่ได้ไอ้โน่นไม่ได้ไอ้นี่ ทิ้งไปเยอะนะ จะบอกว่า เห็นไหม ทำบุญกับพระอรหันต์บ่อยๆ นี่อยู่กับพระอรหันต์ ยังทิ้งพระอรหันต์ไปเลย แล้วจะทำบุญกับพระอรหันต์บ่อยๆ

ทำบุญบ่อยๆ ต้องรักษาใจเรานะ รักษาใจเราให้เราเชื่อมั่น ถ้าสิ่งใดที่เราเห็นดี เราเชื่อมั่นของเรา อย่าให้กิเลสมันหลอก เวลาเขามาเป่าหูเรา บอกกึ่งพุทธกาลไม่มีพระอรหันต์หรอก ก็เชื่อเขา ดูสิ ทำไมพระอรหันต์มีกิริยาอย่างนั้นล่ะ กิริยาอย่างนั้นมันเป็นกิริยาของธรรม ที่ท่านเมตตาสงสารเรา

ทีนี้ความเมตตาความสงสาร เห็นไหม ลูกเรา หลานเรา ญาติเรา เวลาประสบอุบัติเหตุ เราจะรีบวิ่งไปอุ้มขึ้นมาเลย วิ่งไปอุ้มขึ้นมาเพราะอะไร? เพราะเราทำได้ใช่ไหม แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านไปทำอย่างนั้นไม่ได้ ท่านก็ใช้เสียงของท่าน ใช้โวหารของท่าน เตือนเรา จิกเรา บอกเรา เพื่อความเมตตาของเรา เมตตาของท่าน ว่าเรานี่จะทำผิดพลาด

ท่านใช้พลังธรรมของท่าน เพื่อช่วยเหลือเรา แต่เราไม่รู้ ทำไมใช้กิริยาอย่างนี้? ทำไมพระอรหันต์ใช้อารมณ์รุนแรง รุนแรงสิ เพราะเราเผลอน่ะ รุนแรงเพราะเรากำลังให้กิเลสมันขี่หัวเรา ท่านก็เตือนเราแต่เราก็ไม่รู้ เพราะเราเห็นมาเยอะ

ไปอยู่กับหลวงตา อยู่กับของจริงๆ อยู่กับของดีๆ คนโน้นเป่าหูที คนนี้เป่าหูที มึงดูสิ พูดก็เสียงดัง มึงดูสิ ด่าเจ็บขนาดไหน เออ ไปดีกว่าวะ ไปแล้ว ทำบุญกับพระอรหันต์บ่อยๆ

กิเลสเราน่ากลัวนะ ใจเราเองนี่น่ากลัว มันไม่มีเหตุมีผลหรอก กิเลสไม่มีเหตุมีผล กิเลสเห็นแก่ตัวมาก แล้วกิเลสข่มขี่ใจเราตลอด เราไม่รู้สึกตัวหรอก หลวงตาท่านพูดบ่อย

“ใครยังไม่ได้ต่อสู้กับกิเลสนะ อย่ามาอวด อย่ามาคุยโม้ ไม่รู้หรอก”

เวลาจิตเดิมแท้นี่ผ่องใส เห็นไหม จิตเดิมแท้นี่ผ่องใส ใส เห็นไหม อู๊ย นี่แหละธรรม ธรรมแท้ๆ เลย เวลาพิจารณาเข้าไปแล้ว กองขี้ควาย ผ่องใสในกองขี้ควาย เราไปติดมันแล้ว เราไม่รู้ เราไปติดมัน พอมันผ่านไปนะ กองขี้ควาย

จากที่มันผ่องใส จิตทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้ รู้ไปหมด ภูเขานี่มองทะลุหมดเลย วัตถุต่างๆ จะกั้นสายตาไม่ได้เลย สายตาจะทะลุไปหมดเลย โอ้โฮ จิตเรามหัศจรรย์ขนาดนี้ ยึดตัวเองติดน่ะ แต่พอมัน

“ความผ่องใสเกิดจากจุดละต่อม”

พลังงานนี้เกิดจากสภาสวะ พอย้อนกลับมาจุดและต่อม ทำลายจุดและต่อม ไอ้ผ่องใสกลายเป็นกองขี้ควาย เห็นไหม เวลาปฏิบัติขึ้นไป ขนาดผ่องใส ดีขนาดไหน ทำให้ติดแล้ว มันทำให้เราไปติดมัน นี่ล่ะกิเลส เราก็ว่ากิเลสมันจะเหยียบย่ำ มันจะทำลาย มันเอาของสวยๆ งามๆ เอาของที่เราชอบน่ะมาคล้องจมูกแล้วก็จูงไป แล้วก็ตามมันต้อยๆ แล้วไม่รู้นะว่าโดนกิเลสจูง

อันนี้เวลามีสติอยู่ เขาก็เขียนอย่างนี้ได้ มีสติอยู่ก็เขียนอย่างนี้ ทำอย่างนี้ได้ เห็นไหม มาทำบุญกับพระอรหันต์บ่อยๆ อย่างนี้ คำนี้เราชอบมาก เพียงแต่เราไม่รู้จริง แล้วเราก็ไม่รู้ว่าท่านอรหันต์ไม่อรหันต์ ความเป็นพระอรหันต์นะ มีหิริ มีโอตัปปะ คนดี กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องแสดงออกของคนดี มีหิริ มีโอตัปปะ มีความละอายไง มีความละอาย มีความเกรงกลัว มีความละอายกับสิ่งชั่วช้า มีความละอายตลอด

ถ้ามีความละอาย ทำไมเวลาสั่งสอน ทำไมมันรุนแรง การรุนแรงมันพลังของธรรมนะ พลังของธรรมคือ ประสาเราคือ กูจะแบกโลกๆๆ แต่มันทำไปแล้ว แต่ความรู้สึกน่ะ กูจะแบกโลก กูจะขนมันไป ถึงได้รุนแรงไง แต่พูดอะไรไม่รู้เรื่องนะ โอ้โฮ โกรธมากเลย ดูสิ มันออกมาจากใจ มันออกมาจากใจ

แต่ทางที่ได้รับการช่วยเหลือไม่รู้ เราถึงสังเวช สังเวชเวลาที่มันทิ้งกันไป สงสารนะ เพราะเราเห็น ไม่เอ่ยชื่อหรอก เราเห็นเยอะ ลูกศิษย์หลวงตา ก้นกุฏิ ดีๆ ทั้งนั้นน่ะ พอไป คนโน้นก็ไปทางนี้ คนนี้ก็ไปทางนั้น แล้วก็แตกกันไปนะ ที่เห็นๆ หน้านั่น ลูกศิษย์ใหม่ๆ ทั้งนั้น ลูกศิษย์เก่าๆ ไม่เห็นกันสักคน

ที่มาใหม่ ลองไปถามสิ เวลาโยมมาหาเรา โยมมาปีไหนนี่ มาปี ๔๐ มาปี ๔๘ เพิ่งมาทั้งนั้นน่ะ แล้วเก่าๆ ไปไหนไม่รู้ มันเห็นว่าความศรัทธาความเชื่อของคนไม่อยู่กับเราคงที่หรอก มันเปลี่ยนแปลงตลอด กาลเวลาเปลี่ยนแปลงคนตลอดนะ

ถาม : การภาวนาโดยกำหนดที่การดับของสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น เช่น การสิ้นสุดดับของเสียงที่เข้ามากระทบหูจะช่วยเราในการภาวนาได้หรือไม่

หลวงพ่อ : การกำหนดอย่างนี้นะ การกำหนดอย่างที่พูดถึงเมื่อกี้ ว่าคนเราจิตใจมันเหมือนกับผลไม้ ผลไม้แต่ละชนิดมันไม่เหมือนกัน นี่จิตใจของคนไม่เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา ท่านรู้ถึงจริตนิสัย ท่านถึงกำหนดการกระทำไว้ถึง ๔๐ วิธีการ

การกำหนด การทำความสงบ ๔๐ วิธีการนะ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เทวดานุสติ เราปฏิเสธ เห็นไหม ที่ว่าเคารพเทวดา เคารพเทวดา เราปฏิเสธ เพราะว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่เหนือกว่าเทวดา แต่เทวดานุสติก็มี มรณานุสติก็มี เพราะสิ่งนี้มันทำแค่ให้ใจสงบได้ ถ้าคนเรานี้มีความผูกพัน

อย่างเช่นพระนาคิตะ เทวดามายับยั้งกลางอากาศที่มาสอน เห็นไหม ถ้าเทวดานี่เป็นญาติของเรา ดูสิ เวลาพระสารีบุตร ท่านเป็นโรคเจ็บท้อง พระสารีบุตรเป็นโรคกระเพาะนะ เป็นโรคท้อง เวลาเช้าขึ้นมาต้องฉันยาคูก่อนออกบิณฑบาต แล้วเวลาไม่ได้ยาคูนี่ท่านจะปวดท้องมาก แล้วพระโมคคัลลานะนี่ไปเยี่ยม พระโมคคัลลานะไปเยี่ยมพระสารีบุตร

“ท่านเป็นอะไรน่ะ?” “ปวดท้อง”

“แล้วต้องใช้ยาอะไร?” “ต้องใช้ยาคู”

“แล้วทำไมไม่เอายาคูล่ะ?” “ไม่มี”

ไม่มีนะ พระโมคคัลลานะดลใจเทวดา เทวดาก็ดลใจคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ก็ทำยาคูมาถวาย ถวายพระสารีบุตร พระสารีบุตรไม่ยอมฉัน มันได้มาด้วยความไม่บริสุทธิ์ มันได้มาด้วยความไม่บริสุทธิ์ ไม่ยอมฉัน นี่ไง มีความละอายนะพระอรหันต์ แต่พระโมคคัลลานะพยายามช่วย

ดูสิ พระพุทธเจ้าไปจำพรรษากับพราหมณ์ วัชรพราหมณ์อะไรน่ะ แล้วพราหมณ์มันลืมใส่บาตร แล้วข้าวยากหมากแพง เห็นไหม พอดีบังเอิญมีพ่อค้าม้าต่างเขามาสร้างคอกไว้ไง สมัยโบราณการค้าขายมันช้า ถ้ายังไม่ถึงเมือง หน้าฝนเขาก็กั้นคอกแล้วเอาม้าไว้ในนั้น สุดท้ายแล้วก็ให้ม้ากินข้าวกล้อง ข้าวกล้องวันละหนึ่งทะนาน

เพราะฉะนั้นเวลาพระไปบิณฑบาตที่ไหนก็ไม่ได้ ก็จะมาได้ข้าวกล้อง เพราะเขาให้ม้า เขาก็ให้พระด้วย ทีนี้พระอานนท์ได้มา ภิกษุทำอาหารให้สุกเองไม่ได้ ภิกษุทำอาหารให้สุก ภิกษุทำอาหารกินเองเป็นอาบัติปาจิตตีย์หมด ทีนี้ภิกษุทำอาหารให้สุกไม่ได้ ได้ข้าวกล้องมา ก็เอาน้ำพรม แล้วบด บดให้ข้าวกล้องเป็นผงแล้วถวายพระพุทธเจ้า

พอถวายพระพุทธเจ้า ถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ฉันอย่างนี้ โอ๊ย พระโมคคัลลานะทนไม่ไหว ทนไม่ได้ ข้าพเจ้าจะพลิกง้วนดินขึ้นมา จะพลิกโลก นี่มันเป็นความจริงนะ ถ้าพระโมคคัลลานะไม่มีฤทธิ์ ทำไม่ได้ ไปพูดกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอัดแล้ว จะมาโกหกพระพุทธเจ้าได้อย่างไร? พระพุทธเจ้ารู้แจ้งโลกนอกโลกใน

“ข้าพเจ้าจะพลิกง้วนดินขึ้นมา”

“แล้วประชาชนนี่ล่ะ หมู่บ้าน ทั้งเมืองจะทำอย่างไร?”

“ข้าพเจ้าจะอธิษฐานมือข้าพเจ้าให้เป็นทวีป ข้าพเจ้าจะเอาหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านอยู่บนมือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะพลิกง้วนดินขึ้นมา แล้วเอาง้วนดินถวายพระพุทธเจ้า”

“ไม่ให้ทำ”

อ้าว ในทวีปอื่น เห็นไหม ที่นั่นข้าวยากหมากแพง แต่ในทวีปอื่นเมืองอื่นเขามีกิน เพราะ ๒๕๐๐ ปี ดูสิ

“ข้าพเจ้าจะเหาะไปบิณฑบาตทวีปอื่น”

“อ้าว ถ้าเหาะไปบิณฑบาตแล้วพระทำอย่างไร?”

“ข้าพเจ้าจะให้จับมือต่อๆ กัน ข้าพเจ้าจะจับมือด้วยแล้วข้าพเจ้าจะพาเหาะไปเลย”

พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำ ไม่ให้ทำทั้งนั้น พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำ ไม่ยอมให้ทำ เวลาข้าวยากหมากแพง ถึงที่สุดพอออกพรรษา เพราะพราหมณ์นิมนต์พระพุทธเจ้าให้จำพรรษา แล้วกรรมไปทำให้พราหมณ์นี่ลืม ไม่ได้ใส่บาตรเลย ก็ขัดสนกันอยู่อย่างนั้น

ถึงออกพรรษาแล้ว พราหมณ์เพิ่งนึกได้ ว่านิมนต์พระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่ แล้วไม่เคยใส่บาตรเลย ไม่เคยดูแลเลย เสียใจมาก ไปกราบขอขมาพระพุทธเจ้านะ กอดขาพระพุทธเจ้า แล้วนิมนต์พระพุทธเจ้ามาฉัน เลี้ยงอย่างเต็มที่เลย แต่ ๓ เดือนไม่ได้กินอะไรเลย กินแต่ข้าวกล้องบด ในพระไตรปิฎกนะ

พอผ่านตรงนั้น พระพุทธเจ้าชมพระนะ “พวกเธอชนะแล้ว พวกเธอชนะแล้ว”

เวลามันทุกข์มันยาก พวกเรานี่ แล้วมีฤทธิ์นะ พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์ ทนไม่ได้นะ เวลาพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ ทนไม่ได้เลย เวลาพูดถึงสิ่งที่ทำได้ ฤทธิ์นี่ทำได้หมดนะ แล้วถ้าทำได้หมดทำไมให้เขาทุบตายล่ะ? นี่ล่ะกรรม ที่ว่าเชื่อกรรมน่ะ

การเชื่อกรรม พูดถึงพวกเราคฤหัสถ์นี่พายเรือในอ่าง โยมนี่พายเรือในอ่าง ความคิดมันหมุนเวียนไง เอ๊ะ ทำไมเป็นอย่างนั้น ไหนว่ามีฤทธิ์มาก มีฤทธิ์มากทำไมโดนเขาทุบตาย ความคิดมันจะโต้แย้งกัน ขัดแย้งกัน แล้วก็ปวดหัวอยู่อย่างนั้น ยิ่งคิดยิ่ง เดี๋ยวหัวระเบิด มันเรื่องกรรมมันละเอียดอ่อน เห็นไหม มันเป็นอจินไตย

ฉะนั้นสิ่งที่เป็นอจินไตย สิ่งที่ความเป็นไป มันเป็นของมัน สภาวะแบบนั้นล่ะ แล้วอย่างที่เราจะบอกว่า พระพุทธเจ้ารู้ขนาดนี้นะ แล้วเปิดช่องไว้ให้มาก เพราะรู้เรื่องจริตนิสัย เรื่องจริตนิสัย เรื่องอะไร ถึงได้เปิดเป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้อง

ทีนี้พอภาคปฏิบัติในปัจจุบันนี้ เราฟังแล้วเราเศร้าใจทุกทีเลย ทุกอย่างผิดหมด ของกูถูก เราบอกเก่งกว่าพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้านี่เปิดให้คนมีทางเลือก ๔๐ ทาง เขาบอกทางเดียวพอ แล้วทางเดียวพอนี่ แล้วจริตนิสัยของเขามันแตกต่างกัน จริตนิสัยคนต่างๆ กัน มันก็ต้องมีทางเลือกเยอะๆ

กรรมฐาน ๔๐ ห้อง คือว่าต้นทุนน่ะ เอ็งจะหาทาง เห็นทุนน่ะ วิธีการใดก็ได้ แต่ถ้ามีทุนแล้ว วิปัสสนามีหนึ่งเดียวคือเข้าอริยสัจ ทีนี้พอเข้าอริยสัจ เห็นไหม ทุกคนบ่นมากเลย พุทโธๆ ไม่ได้สักทีหนึ่ง แล้วจิตไม่เคยสงบเลย แล้ววิปัสสนากันอย่างไร? ทุกคนบ่น เห็นไหม เพราะว่าอะไร? เพราะหาทุนนี้ไม่เจอกันไง

แค่ทำความสงบของใจก็ทุกข์ยากแล้วนะ แล้วถ้าจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว มันถึงบอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้วนี่ทอดอาลัยเลย

“โอ๊ย มันจะทำได้อย่างไร? มันจะเป็นไปได้อย่างไร?”

พระพุทธเจ้านี่ทอดอาลัยนะ มันจะเป็นไปได้อย่างไร? มันละเอียดอ่อนจนเกินไปนะ แต่ถ้ามันทำได้ก็เพราะว่ามันมีเชาวน์ปัญญา มันมีความสนใจ มันมีความย้อนกลับ ย้อนกลับอย่างเดียว ถ้าย้อนกลับนะ เหมือนอย่างที่หลวงตาว่า ถ้ามันจุดไฟติดนะ ถ้าปัญญามันจุดติด มันไหม้หมด มันไหม้เชื้อหมด ถ้ามันจับต้น เราใช้คำว่า เข้าปากซอย

ถ้าจิตสงบแล้วนะ เข้าปากซอยถูก ปากซอยคือความชอบ ปากซอยคือจริตนิสัย ถ้าคนพิจารณากายก็จับกาย ถ้าคนพิจารณาจิตก็จับจิต คนพิจารณาธรรม จับตรงนั้น นี่ไงเข้าปากซอยถูก มันจะเข้าถึงบ้านของเรา เข้าปากซอยถูก เดินไปถึงที่สุด มันต้องเข้าถึงประตูบ้าน แต่นี่คือการเดิน แต่การวิปัสสนามันจะต้องต่อสู้ ต้องใช้สติ ต้องใช้ปัญญา การต่อสู้กับจิตของเรา ต่อสู้กับกิเลสของเรา เข้าไปถึงที่สุด ผลมันต้องเกิดนะ

ผลมันต้องเกิด มันต้องเป็นไป แต่นี่เราทำไม่ถึง เพราะอะไรรู้ไหม? ดูสิ งานที่เขาอาบเหงื่อต่างน้ำเขาบ่นกันว่าทุกข์ แล้วงานนี้งานเพ่งเฉยๆ งานนี่ โอ้โฮ ปึ๊ด เหมือนสอยเข็มน่ะ สอยไม่ได้ซะที ปึ๊ด เข้าสมาธิไม่ได้ซะที หลุดไปหลุดมา เข้าไม่ได้ แต่ถ้ามันเข้าได้ คนสอยชำนาญ สอยอย่างไรก็สอยได้ จิตก็เหมือนกัน ทำบ่อยๆ เข้า ทำของเราเรื่อยๆ

เห็นไหม ความเพียรชอบ มันผิดจนมันถูก มันต้องทำอย่างนั้น แล้วเวลาจะประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้า ๖ ปี พระพุทธเจ้าทุกข์อยู่ ๖ ปีนะ แล้วเราจะชุบมือเปิบเอาที่ไหนมา ขนาดสร้างบารมีมาขนาดนั้น เห็นไหม เราถึงต้องคอยขยันหมั่นเพียรของเรา

เพราะงานนี้มันเป็นงาน จริงๆ นะ เดินจงกรมไปนี่ เราเคยคิดเล่นๆ นะ เพิ่งพูดวันนี้ ไม่เคยพูดออกมาเลย เราเคยคิดว่าเราเดินจงกรม เดินไปเดินมานะ ถ้าเอามานับระยะทางนะ กูเดินมากี่รอบโลกแล้วก็ไม่รู้ อ้าว เดินจงกรมเรานี่นะ เอาที่เราเดินไปเดินมาแล้วเอามาคำนวณเป็นระยะทางนะ กูว่ารอบโลกหลายรอบ ทั้งวันๆ น่ะ

ทั้งวันๆ น่ะ เราเคยคิดของเรานะ ที่เราเดินไปเดินกลับ ถ้าทางโลกเขาว่า ไอ้นี่บ้า ไม่เห็นทำอะไร? เดินไปเดินมาๆ ไปอยู่ที่โพธาราม เห็นไหม ใหม่ๆ ชาวบ้านเขาจับผิด เขาไปพูดกัน บิณฑบาต (โทษนะ) นี่ประสาเขาพูดนะ เราไม่ได้พูดเอง พอบิณฑบาตไป เขาแซว ไอ้ห่า วันๆ กูไม่เห็นมันทำอะไรเลย เดินไปก็เดินมา มันมาเฝ้าเราไง

มันมานั่งดูอยู่ พวกวัยรุ่นน่ะ แล้วมันก็ไปบ่นกัน วันๆ ไม่เห็นมันทำอะไรเลย เห็นมันเดินไปก็เดินมา เดินไปก็เดินกลับ มันไม่รู้ว่าเดินจงกรม มันไม่รู้จักเดินจงกรม แล้วเดินไปเดินกลับ เรามาคิดสิ ว่าเราเดินไปเดินมา ทั้งวันๆ ทั้งคืน บางทีทั้งวันทั้งคืนเลยนะ

แล้ว ๑๐ ปี ๒๐ ปีนี่ เอามาวัดระยะทางนะ กูเดินมากี่รอบโลกนี่ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะไปคิดระยะทาง คิดแบบวิทยาศาสตร์ไง แต่ถ้าเรามีความตั้งใจ เราเดินหาจิต เดินเพื่อความสงบ จิตกายเคลื่อนไหวอยู่ แต่จิตมันสงบขึ้นมา พอสงบขึ้นมา งานของเรา

ดูสิ เขาทำธุรกิจการค้า เขาหวังธุรกิจการค้าเหรอ? เขาหวังเงินนะ เขาทำธุรกิจเขาหวังสตางค์ เขาไม่ได้หวังของนะ ดูสิ ของดีๆ เราทำมา ทำไมไม่เก็บไว้เองล่ะ ของดีๆ ก็เก็บไว้ที่บ้านสิ ของดีเอามาขายทำไม? เขาขายเขาก็หวังสตางค์

เราเดินจงกรมก็เหมือนกัน เดินไปเดินมา เราไม่ได้เอาระยะทางการเดิน เราไม่ได้เอาอะไรทั้งสิ้นเลย เราเอาสติ เราเอาจิตให้มันสงบ กิริยาก็คือการเคลื่อนไหว แต่ให้จิตมันสงบไง เราเอาที่ใจเว้ย ไม่ได้เอาที่ระยะทาง เราเอาใจของเรานะ

ถ้าคิดผิดก็คิดอย่างเมื่อกี้ เอามานับวัดแล้วได้หลายรอบโลก เอาระยะทางมาวัดกันไง อย่างหลวงตาท่านพูดเลย ถ้าไม่มีสตินะ หมามันมี ๔ ขานะ มันวิ่งไปวิ่งกลับ ดีกว่าเราอีก ทำอะไรก็แล้วแต่ ขาดสติ เหมือนกับไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ถ้ามีสติเป็นประโยชน์กับเราหมด สติถึงสำคัญ

ฉะนั้นถึงบอกว่าถ้ามันภาวนา กำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มันดับไป ถ้ากำหนดได้ ถ้ากำหนดสิ่งที่สิ้นสุดของการดับ สิ่งที่สิ้นสุดของการดับ ถ้ามันทำนะ ให้มันมีความรู้ ให้มีสติ มีความรู้ ตามทันตลอด แล้วดูการพัฒนาของมัน ถ้าดับแล้วมีเหลืออะไร? เราจะบอกว่าไม่ถูกเลย เราก็ไม่อยากจะพูดอย่างนั้นไง

แต่ถ้าส่วนใหญ่แล้ว เราจะบอกให้กำหนดพุทโธก่อน กำหนดพุทโธๆๆ ถ้ามีศรัทธาจริต มีความเชื่อมั่น มันก็ต้องสงบได้ พุทโธนี่กำปั้นทุบดิน มันซึ่งๆ หน้า พุทโธๆๆ เพราะเราบังคับจิตให้มันอยู่กับพุทโธ พุทโธมันเหมือนกับเราหัดเล่นเทนนิส ทุกคนหัดเล่นเทนนิสต้องตีเข้ากำแพงก่อน

ไปหัดเล่นเทนนิส ไปตีกับใครเขา เขาไม่ตีด้วยหรอก เขาขี้เกียจเก็บลูก ต้องให้เราตีเข้ากำแพงแล้วมันจะย้อนกลับมาหาเรา พุทโธนี่คือกำแพง เราพุทโธจิตมันไม่ออก พุทโธย้อนกระท้อนให้จิตมันกลับมา พอจิตมันกลับมาอยู่ พุทโธๆๆ ถ้าความคิดของเรามันคิดต่อเนื่อง เห็นไหม คิดเรื่องนั้น เรื่องนั้น เรื่องนั้น มันจะต่อเนื่องไป พลังงานมันจะออกไปหมดเลย

แต่พุทโธๆ มันมีสะท้อนกลับ สะท้อนกลับ พุทโธๆๆ มันอยู่แค่พุทโธ จิตมันพุทโธๆๆ มันก็สะสม สะสม สะสม มันละเอียดเข้าไป มันก็ชิดเข้ามา ชิดเข้ามา ชิดเข้ามา จนถึงเป็นตัวจิต นึกพุทโธก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ นั่นคือตัวสมาธิ แต่ถ้าทำไม่ได้ บางคนมันเครียด ทำไม่ได้หรอก เรารู้ บางคนบ่นว่าทำไม่ได้เลย อะไรก็ไม่ได้

ถ้าไม่ได้เลยใช้ปัญญา ใช้ปัญญาคือให้มันคิด คือปล่อยให้เป็นอิสระไง คือปล่อยให้จิตมัน อย่างที่ว่า น้ำเติมสีถึงรู้ว่าเป็นน้ำ ไม่คิดมันก็ไม่รู้ เอาให้มันคิด คิดไปก่อน เหมือนกับเณรสอนโปฐิละ เห็นไหม ให้ร่างกายเหมือนจอมปลวก ให้ปิดสัก ๕ ทาง ให้เหลือไว้ทางหนึ่ง คอยจับเหี้ยตัวนั้น จับเหี้ยนั้นคือจับจิต

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้ปัญญา เห็นไหม เราใช้ปัญญา เราใคร่ครวญของเรา เราใช้ปัญญา เราใคร่ครวญของเรา ปัญญาใคร่ครวญคือปัญญาที่มันคิด คิดเรื่องอะไรด้วย ไล่ไปเรื่อยๆๆๆ นี่มันออกมา มันได้คิดได้อะไรบ้าง มันได้คิดได้อะไรบ้างแล้วมันก็มีทิฏฐิด้วย กูปัญญาชนนะ จะมาอยู่เฉยๆ ได้อย่างไร? กูต้องใช้ปัญญาสิ ปัญญากูเคลื่อนไหวได้ ไล่กันไป

เดี๋ยวมันเห็นเกิดดับ เห็นความสิ้นสุดของความคิด โดยธรรมชาติของมันน่ะ คนเราทุกข์ขนาดไหน คิดไปขนาดไหน มันหยุดเอง แต่เราไม่รู้ คนนี้ทุกข์มากขนาดไหนนะ ถ้าจับไว้อย่าทำร้ายตัวเองนะ เดี๋ยวความคิดที่ว่าทุกข์ๆ สักเดือนหนึ่งสองเดือนมันจะหายไปเอง นี่ก็เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นความคิด ความคิดนี่มันเกิดดับอยู่แล้ว

แต่มันเกิดดับโดยสัญชาตญาณ เกิดดับโดยธรรมชาติของมัน เราไม่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าเราใช้สติตามไปดูความคิดไป ใหม่ๆ ยิ่งดูมันยิ่งฟูใหญ่เลย โอ้โฮ เอ็งจะมาดูกูยิ่งหลอกเอ็งไปใหญ่เลย ตามมันไป ถึงที่สุดมันหยุดได้ พอหยุด เอ๊อะ! เฮ้ย จิตมันก็หยุดได้ แล้วเมื่อก่อนเวลามันคิด มันลากเราเกือบเป็นเกือบตาย ทำไมเราทุกข์ขนาดนี้

พอเห็นมันหยุดได้หนหนึ่ง เราจะเห็นหนสองหนสามไปเรื่อยๆ พอมันหยุดหนสองหนสามไปเรื่อยๆ มันก็เริ่มสงบเข้ามาเรื่อยๆ นี่พูดถึงถ้าในการภาวนา แต่ถ้ามันกระทบหูอะไรหูเพราะการเคลื่อนไหว ดูนะ กำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก ส่วนใหญ่แล้ว เขาว่าตามเคลื่อนไป ลมอยู่ที่ปลายจมูก ไปที่ลิ้นปี่ ไปที่สะดือ แล้วย้อนไปย้อนกลับ มันเคลื่อนไหวตลอด

แต่ถ้าเรากำหนดลมนะ ให้ลมอยู่ที่ปลายจมูก เหมือนกับเราเข้าไปที่ประตูบ้าน เราอยู่ที่ประตูบ้าน ใครจะเข้าจะออกเราจะเห็นหมด เห็นคนเข้าประตูบ้านก็ตามมันมา มันเข้ามาหลังบ้าน ไอ้ประตูบ้านปล่อยโล่งเลย ใครเข้าออกก็ได้ เห็นไหม ตามไป ตามมานี่มันเคลื่อน แต่เรายืนที่ประตูบ้านเลย อยู่ที่ปลายจมูก

เรานี่ทำมาหมด กำหนดลมนะ ตัวลมจะเป็นแท่งเลย จนลมนี่ขาด รวมใหญ่ พั้บ! ลงหมด กำหนดลม อานาปานสติ กำหนดลมนี้ จิตมันจะมีฤทธิ์ คนกำหนดลม จิตจะรู้ฤทธิ์ต่างๆ ดีมาก ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันจะเป็นสุขวิปัสสโก

แต่ถ้าใช้ พุทโธๆๆ ให้จิตมันสงบแล้วมันจะเกิดอิทธิฤทธิ์ เกิดปาฏิหาริย์ โม้อีกแล้ว ทำมาทั้งนั้น ทำมาทุกวิธีนะ ใครสอนอะไร? จำไว้เลยนะ เดี๋ยวเถอะกูทดสอบ อยู่ในป่า เอาแล้ว กำหนดลม อยู่กับลมนี่เลยล่ะ โอ้โฮ มันขาด มันหยุดหมด หายหมดเลย สักแต่ว่ารู้ รวม พรึ่บ! รวมหมดเลย ทำมาทั้งนั้น

ถึงบอกว่าถ้าสิ่งที่เราทำ ทำแล้วมันได้ประโยชน์อย่างที่เป็นจริงนะ เราโอเคนะ แต่สิ่งที่เขาสอนๆ กันที่เราค้านอยู่ มันไม่เป็นสภาวะแบบนั้น

(ไอ้ใบใหญ่นี่เราเอาไว้วันต่อไปนะ เราจะตอบอีกสองใบนี้นะ จะดึกไปไหม ไม่ดึกนะ เกรงใจเจ้าภาพเหมือนกันนะ เขาบอกว่าสองทุ่ม)

ถาม : การภาวนา ถ้าหากจิตยังไม่มีสมาธิดีพอ เราสามารถใช้วิธีนึกถึง ผม ขน เล็บ ฟันหนัง เอ็น กระดูก ไปเรื่อยๆ จะเป็นวิธีที่ดีหรือไม่?

หลวงพ่อ : ใช่ การภาวนานั้น ถ้าจิตยังไม่สงบ ยังไม่มีสมาธิดีพอ ถ้าเรารอสมาธิดีพอ ที่เราคุยกันอยู่นี่ว่าขาดสมาธิ ขาดสมาธิแล้ว เราถึงวิปัสสนา ไม่ได้ เพราะเราขาดสมาธิ เราใช้สมาธิเฉยๆ แต่ถ้าเราใช้ปัญญาใคร่ครวญ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้เห็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นั้น ให้เห็นโทษของมัน มันก็เป็นการเสริมสมาธิ การใช้ปัญญาใคร่ครวญ จิตมันก็ลงสมาธิ นั่นแหละ

คือว่าฝึกปัญญาได้ แต่มันเป็นวิปัสสนาไหม? ไม่เป็น ที่เราค้านอยู่ตลอดเวลาว่าถ้าไม่มีสมาธิ วิปัสสนาไม่ได้ วิปัสสนาไม่ได้ คือไม่ต้องการ เพราะในทางฝ่ายปฏิบัติทางโลกๆ เขาบอกว่า การทำความสงบมันเป็นสงบ มันเป็นสมถะ ไม่เป็นประโยชน์ แล้วถ้าใช้ปัญญามันเป็นวิปัสสนา การวิปัสสนาสายตรงด้วย พูดอย่างนั้นด้วยนะ มันไม่ใช่วิปัสสนาหรอก มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แล้วเป็นมิจฉาสมาธิเพราะขาดสติ เพราะเวลามันปล่อยแล้วมันว่างๆ เฉยๆ ไม่มีสติควบคุม

ไอ้ที่เขากำหนดกันน่ะ มันว่าง มันว่าง กำหนด ว่าง ว่าง แล้วไม่มีสติควบคุมหรอก เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นมิจฉา แต่ถ้าเรากำหนดสมาธิ เราพยายามทำสมาธิ แล้วสมาธิมันยังไม่ดีพอ เราใช้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เราพิจารณามันแล้วใช้ปัญญา ก็เท่ากับไปเสริมสมาธิ ให้เป็นสมาธิขึ้นมา ถ้ามีสติขึ้นมา มันจะเป็นสัมมานะ

เมื่อ ๒ วันนี้มีคนไปที่วัด เขาบอกเขามาจาก... เขามาได้ซีดีไป แล้วเขาไปปฏิบัติที่วัด ไปถึงเราบอกเขากำหนดนามรูปมาตลอด แล้วเขาบอก ว่างๆ มา ๗-๘ ปีแล้ว เราก็บอกว่าให้ลองกำหนดพุทโธดูไหม เขาไปที่วัด ๗ วัน กำหนดพุทโธๆๆๆ นะ พอพุทโธนี่จิตมันสงบ พอสงบปุ๊บ มือเท้าหายหมดเลย มาหานะ มานั่ง อู๊ย อู๊ย มหัศจรรย์

เราบอกนะ นี่เราเปรียบเทียบให้เขาฟังเห็นภาพชัดเจน (เวลามันไม่มีแล้ว) เราจะบอกว่า เห็นไหม คนที่เขาเลี้ยงสุนัข ถ้าสุนัขมันมีชีวิต เห็นไหม มันต้องถ่าย มันต้องกิน มันต้องขี้ มันต้องเยี่ยว เราต้องเก็บขี้สุนัข เลี้ยงสุนัข ถ้าสุนัขมันดีใจมันจะเลียปากเรา

ทีนี้เอ็งเลี้ยงตุ๊กตาสุนัข ไปเลี้ยงตุ๊กตาไง ไปเลี้ยงรูปปั้นไง มันไม่ใช่สุนัขที่มีชีวิต มันก็เลยอยู่เฉยๆ อย่างนั้น อ้าว เราไปเลี้ยงตุ๊กตา ตุ๊กตามันต้องกินไหม? ตุ๊กตามันต้องขี้ไหม? ตุ๊กตามันจะเลียปากเราไหม? จิตมันกำหนด ว่างๆๆๆๆ มันไม่มีประโยชน์ไง มันเป็นความนึกคิดเฉยๆ มันไม่เป็นความจริงหรอก

แต่พอเวลามันเป็นความจริงน่ะ นั่งร้องไห้เลยนะ นั่งร้องไห้ แล้วพอกำหนดพุทโธๆ ไป มันเครียดบ้าง ตึงตัวบ้างอะไรบ้าง เราบอกอุปสรรคมันมีหรอก ค่อยๆ ทำไป

เวลาที่เราบอกว่ามันจะเป็นวิปัสสนาไหม? มันจะทำได้ไหม? สิ่งที่เราทำ ขออย่างเดียวทำอะไรก็ได้ แต่ต้องให้เราเข้าใจว่า ที่เราทำอยู่นี่มันเป็นอะไร? คือไม่ให้ติด ไม่ให้เราติดอะไรทั้งสิ้น ทำไปเรื่อยๆ วุฒิภาวะของจิตมันพัฒนาไปเรื่อยๆ ถ้ามันพัฒนาไปเรื่อยๆ สมาธิก็รู้สมาธิ วิปัสสนาก็รู้วิปัสสนา ไปเรื่อยๆ แล้วมันจะพัฒนาของมันไป

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ ขอคำสอนในการแผ่เมตตาให้กับบุคคลที่ไม่ชอบเราครับ ใช้ความพยายามแล้ว แต่จิตใจมันยังไม่สามารถกระทำได้

หลวงพ่อ : ไม่สามารถกระทำได้ การแผ่เมตตานะ แม้แต่ศัตรู การแผ่เมตตาอย่างนี้มันเป็นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ไง ถ้าจิตใจของเรามันเป็นธรรมแล้วมันแผ่ได้หมด เพราะมันไม่เห็น หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ขึ้นชื่อว่าคน ขึ้นชื่อว่าคนน่ะ สิทธิเท่ากันหมด ขึ้นชื่อว่าคนไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ ไม่แบ่งใครเลย ขึ้นชื่อว่าคนมันเมตตาไปหมดเลย

แล้วพอมาสัตว์อีก เห็นไหม เมตตาตน เมตตาสัตว์ เมตตาทุกอย่างเลย ท่านเมตตาของท่านได้ เพราะใจของท่านเป็นธรรม แต่ในเมื่อถ้าใจของเราเป็นธรรม เราก็อยากจะเมตตา เราอยากจะแผ่เมตตา แต่มันแผ่ไม่ได้ ถ้าแผ่ไม่ได้ เราก็ต้องแผ่ให้คนที่เราแผ่ได้ก่อน แล้วพยายามแผ่ให้เขา ในเมื่อมันแผ่ไม่ได้ เราจะบอกว่าเราไม่แผ่เมตตาให้เขาหรอก

แต่เราแผ่เมตตาให้เขา เพื่อให้เขาไม่ทำร้ายเรา ให้เขาที่ไม่ชอบขี้หน้าเราไง มันมีนะ มันมี เห็นไหม อย่างเช่นเราเป็นกรรมกันนี่ ถ้าเป็นกรรมกันนะ เวลาอโหสิต่อกรรม เราให้อโหสิต่อกรรม แต่ถ้าเราเป็นกรรมกันนะ เราไปขออโหสิกรรม เขาไม่อโหสิกรรมให้ เราก็แผ่เมตตาและขออโหสิกรรมไปเรื่อยๆ เขาจะยอม-ไม่ยอมเรื่องของเขา เรื่องของเขานะ

คือว่าเหมือนกับตบมือข้างเดียวแล้ว มันเป็นเรื่องของเขา แต่ถ้าเรารักษาใจเราได้ เราเห็นคุณนะ เราเห็นคุณการแผ่เมตตา เราเห็นคุณการให้อภัย เราเห็นคุณของเรา เราทำแล้วเราสบายใจ เราเปรียบเทียบบ่อยในทางโลกนะ สุภาพบุรุษไม่รังแกสุภาพสตรีนะ ถ้าใครรังแกสุภาพสตรี ถือว่าคนนั้นไม่ใช่สุภาพบุรุษ เพราะสุภาพสตรีถือว่าเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าสุภาพบุรุษ

แล้วคนที่แผ่เมตตา คนที่ให้อภัยเขา แล้วเขายังไม่ยอมให้ เขายังทำร้ายเรา มันยิ่งกว่าทำร้ายสุภาพสตรีนะจริงไหม การรังแกคนที่เขาไม่รังแกตอบ พระพุทธเจ้ารู้ถึงสภาวะจิตใจ แล้วรู้ถึงว่าเราไม่ทำร้ายเขา แล้วเขายังทำร้ายคนที่ไม่ทำร้ายคนน่ะ กรรมมหาศาลเลย ทางโลกมันยังเป็นไปอย่างนั้น แล้วทางกรรมล่ะ

แต่ถ้าเขาทำร้ายเรา เราทำร้ายเขา โต้ตอบต่อกัน จบ เสมอกัน มีกรรมด้วยกันทั้งนั้น ทีนี้เราคิดอย่างนี้ เราคิดถึงว่าเราให้อภัยเขา เราแผ่เมตตาให้เขา ให้โลกร่มเย็นเป็นสุข ให้สิ่งที่เป็นไป ฝึกได้ การแผ่เมตตาไง การแผ่เมตตา ถ้าจิตมันไม่ยอม ไม่ยอมหรอก จิตไม่ยอม เพราะอะไร? เพราะมันเจ็บ เขาทำเราเจ็บ เราจะไปแผ่เมตตาให้เขาได้อย่างไร? ก็มันเจ็บ เห็นไหม

มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นหนึ่ง มันเป็นความเจ็บปวดของใจหนึ่ง มันเป็นเรื่องของสภาวะของกรรมหนึ่ง กรรมนี้ ทำไมมองหน้าคนนี้ โอ้โฮ ถูกชะตามากเลย ไม่เคยเห็นหน้ากันเลยนะ เจอหน้าครั้งแรกเลย แหม ไม่ถูกเลย ไม่พอใจมากๆ เอ๊ะ คนนี้ทำไมเป็นอย่างนี้ ไม่เคยเห็นหน้ากันเลย ไม่เคยทำอะไรกันมาเลย ทำไมมันไม่ถูกชะตาซะเลยล่ะ

นี่สภาวะกรรมมันให้ผลมาอย่างนั้น จะพอใจไม่พอใจ เราคุมใจเรา ดูใจเรา รักษาใจเรา ให้ใจเราให้เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรามันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม สิ่งที่คิด สิ่งที่เกิดขึ้นจากเรามันเป็นเรื่องใจของเรา เรื่องใจของเรารักษาเรา เป็นประโยชน์กับเรา เราถึงต้องเข้าใจว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล เรารู้ว่ากุศลเราควรทำ

แล้วการแผ่เมตตา เราให้อภัยเขา เขาให้อภัยเรา เราจะได้พ้นทุกข์ พ้นเวรพ้นกรรมเสียที เราก็ไม่พอใจเขา เขาก็ไม่พอใจเรา แล้วทำอะไร? ก็ทุกข์ก็ยาก ระแวงกันไปอย่างนี้ มันจะเป็นความสุขได้อย่างไร? อภัยเขาซะ เมตตาให้เขาซะ อภัยเขา

“เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

ระงับ เห็นไหม เวรย่อมระงับ แล้วถ้ามันยังจองเวรอยู่ มันระงับได้อย่างไร? ถ้ามันไม่ระงับแล้ว มันก็ผูกเวรผูกกรรมกันไป เราจะผูกเวรผูกกรรมกันไหมล่ะ? ถ้าเราจะผูกเวรผูกกรรมไปก็ไม่แผ่ ไม่แผ่ มันก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราจะหมดเวรหมดกรรม เราก็แผ่เมตตา เห็นไหม มันจะหมดเวรหมดกรรมต่อกัน ถ้าหมดเวรหมดกรรมต่อกัน ใครสุขก่อน? ก็เรา เราหมดเวรหมดกรรม

คนป่วย คนไข้ หายป่วย หายไข้ มันก็สุดยอด ถ้าคิดได้อย่างนี้ มันทำได้ มันทำได้ แล้วมันจะทำของเราได้ แผ่เมตตาได้

จบหรือยัง วันนี้ปัญหายังมีเลย เก็บไว้เป็นต้นทุนพรุ่งนี้ไง กลัวไม่มีใครถาม (หัวเราะ) ไม่มีใครถาม คิดอยู่คนเดียว จะพูดอะไรนะ อื้ม

เวลามาเจอโยมใหม่ๆ นี่นะกล้าเทศน์ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะรู้ว่าถ้าเทศน์แล้วเขาไม่ฟังซ้ำ ถ้าอยู่ที่วัดนี่พูดซ้ำพูดซาก หลวงพ่อนี่พูดแต่เก่าๆ ไม่มันส์เลย อยากเอามันส์ๆ ถ้าเจอหน้าใหม่ๆ นี่พูดได้เลยล่ะ ข้อมูลของเรา โปรแกรมอันนี้ มันพูดอย่างนี้ทุกวัน ก็โปรแกรมนี้แหละ มันพูดออกมา ก็พูดจากใจเรา มันพูดจากโปรแกรมนี้

อันนี้มันก็มี มันจะเทียบได้ ก็เทียบจากโปรแกรมอันนี้ มันถึงไม่พ้นจากหลักอันนี้หรอก รู้อยู่ ถ้าคนฟังมาแปลกหน้านี่สบายมาก ขึ้นมาแล้วใส่ได้เลยล่ะ แต่ถ้าบ่อยๆ ต้องพลิกแพลงเอา (หัวเราะ) พลิกแพลงๆ คือว่าถ้าเป็นอาหารเก่าก็ต้องให้รสชาติมันกลมกล่อมใหม่ๆ ไง ถ้าอาหารมันกินทุกวันๆ มันจืด อาหารมื้อนี้ต้องใส่รสเผ็ดๆ หน่อย ต้องให้มีรสชาติ ฟังแล้วมันจะได้ถึงใจ เอวัง