เทศน์บนศาลา

ยุคสมัยแห่งธรรม

๗ พ.ย. ๒๕๔๒

 

ยุคสมัยแห่งธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ยุคสมัยของกรานกฐิน กรานกฐิน กาลของบุญภายใน ๑ เดือน บุญกุศลเกิดขึ้นมาจากอะไรล่ะ นี่ไงบัญญัติ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว ตั้งแต่ออกพรรษาไป ๑ เดือนให้ทอดกฐินภายใน ๑ เดือน ถ้าไม่กำหนดไว้ ๑ เดือนมันคงจะทอดกันทั้งปีแหละ เพราะว่าให้กำหนดไม่ให้เป็นภาระ เห็นไหม แม้แต่ภิกษุสงฆ์ได้ผ้ามาให้เก็บไว้แค่ ๑๐ วัน ไม่ให้เป็นกังวล ถ้าเกิน ๑๐ วันไปท่านต้องทำวิกัปไว้ นี่เป็นกาล เป็นขอบเขต

เรื่องของกิเลสมันเป็นน้ำล้นฝั่ง ไม่มีวันที่สิ้นสุด

ธรรมและวินัยมาเพื่อจะให้หมู่สงฆ์เพื่อสังคมชาวพุทธนี้อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ต้องขอบเขตไว้ว่า ๑ เดือนภายในกาลพรรษานี้ ภายในกรานกฐินนี้ให้หากฐิน เปลี่ยนผ้า เปลี่ยนผ้าเสร็จแล้วให้ออกป่า ให้ไปประพฤติปฏิบัติต่อ ให้ไปออก อยู่ในที่ ๓ เดือนต่อสู้กับกิเลสเต็มที่แล้ว ให้ออกไปเปลี่ยนสถานที่วิเวกออกไป แต่ก่อนออกเข้าป่าไปเรื่องผ้านี่สำคัญที่สุด เพราะว่าถือธุดงควัตร ใช้ผ้า ๓ ผืน ผ้านี้จะต่อไปอีกปีหนึ่งได้ไหม เพราะโอกาสใน ๑ เดือนนี้เราจะหาผ้าเปลี่ยน พระจะหาผ้าเปลี่ยนภายใน ๑ เดือนนี้ไง

ที่อุดมสมบูรณ์มันก็พูดได้ ลองไปที่อัตคัดขาดแคลน เรื่องผ้านี่สำคัญมาก

เพราะว่าภิกษุบวชทั้งชีวิต ไม่ใช่บวชมาแค่เป็นประเพณี บวชทั้งชีวิตมานี่ขาดจากพ่อขาดจากแม่มาแล้วใครจะเป็นคนให้ ทีนี้ภายในกฐินนี้พระพุทธเจ้าถึงอนุญาตบัญญัติเป็นวินัยไว้ กรานกฐินนี้ให้หากฐิน นี่กาลของบุญเกิดขึ้นมาจากผู้ที่วิเศษสุด องค์ศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริงแล้วบัญญัติไว้ บัญญัติความจริงไว้เป็นของจริง ของจริงเข้ากับคนจริง

กาลของบุญกุศลเราก็หาเต็มที่มาให้กับหัวใจของเรา กาลของบุญกาลของกุศลหาเข้ามาเกิดขึ้นเพราะเราเป็นชาวพุทธ ศาสนาพุทธเกิดมา พบพุทธศาสนาแล้วศาสนาบัญญัติไว้แต่ทำเล่นกัน ทำเล่นกันเอาอย่างอื่นเป็นใหญ่ กฐินเป็นรองทำเล่น ทำเล่นก็ได้ของเล่น ทำจริงก็ได้ของจริง ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้น คนอยู่ที่การปรารถนา

ปรารถนา อธิฐานบารมี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรารถนาเป็นพุทธภูมิ ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาถึงเป็นพระพุทธเจ้า แล้วถึงได้บำเพ็ญกุศลมาตลอด นี่ความปรารถนา ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้น นี่ปรารถนา สิ่งที่เป็นบุญกุศลเราก็แสวงหาในกาลของบุญกุศลนั้น

กาลของบุญกุศลนั้น ไปตามวัดตามวาสิ่งที่เกิดขึ้นจากครูบาอาจารย์แล้วล่วงไป ล่วงไป ไปเห็นนะ เห็นแล้วมันสลดสังเวชมาก “กาลสมัย” กาลสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาทุกข์ยากขนาดไหน นั้นคือสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานไป พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน มีความทุกข์ว่าไม่มีคนจะบอกชี้ทางไง

“เรายังมีกิเลสอยู่องค์ศาสดาจะมาทิ้งเราไปแล้ว ดวงตาของโลกดับแล้ว”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ อานนท์ เราตายไปเอาพระอรหันต์ของใครไปด้วยล่ะ เอาธรรมวิเศษในหัวใจของใครไปด้วย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานก็เอาธรรมะในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปด้วย ธรรมพระวินัยนี้เป็นศาสดาเป็นผู้ชี้ทางบอกกับสาวกต่างๆ บอกกับบริษัท ๔ ที่จะก้าวเดินต่อไป

มันเป็นสมัยของแต่ละดวงใจไง ธรรมเข้าถึงดวงใจของดวงใจไหนก็เป็นสมัยของดวงใจนั้น นี่ไง ธรรมในดวงใจ ยุคสมัยของใคร ยุคสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ ๔๕ พรรษานั้น ปรินิพพานไปแล้ว แต่กาลเวลา ๕,๐๐๐ ปียังอยู่ ศาสนายังมีอยู่ ธรรมและวินัยนี้ยังเป็นศาสดาของบริษัท ๔ ต่อไป

นี่เราก็เกิดมาในท่ามกลางยุคสมัยของชาวพุทธไง ๕,๐๐๐ ปีนี้ยังอยู่ในพุทธกาลอยู่ เรายังมีเครื่องชี้บอกอยู่ ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ก็ล่วงไป ล่วงไป หลวงปู่มั่นล่วงไปก่อน ล่วงไปพร้อมกับธรรมคุณวิเศษในใจนั้น ในใจขององค์หลวงปู่มั่น ในใจของหลวงปู่ชอบ ในใจ เห็นไหม นี่กาลสมัย กาลสมัยของดวงใจดวงใจนั้น

แล้วกาลสมัยของดวงใจของเราล่ะ? ย้อนกลับมาที่นี่ มันไปดูสิ่งภายนอกเข้ามาแล้วย้อนกลับมาดูเราไง กาลสมัยของแต่ละบุคคล กาลสมัยแต่ของเรานี่มันล้าสมัย ล้าสมัยเพราะอะไร เพราะว่ามันมีแต่ความทุกข์ กาลสมัยของธรรมมันไม่บรรเจิดจ้าในใจของเรา ถ้ากาลสมัยของธรรมบรรเจิดในดวงใจของเรา เราจะเห็นธรรม เราจะรู้ธรรมตามความเป็นจริงอันนั้น มันเป็นสมัยของธรรม ธรรมที่สว่างไสวในใจของเรา

แต่อันนี้มันไม่สว่างไสวในใจของเรา เราก็เป็นผู้ล้าสมัยไม่เป็นสมัย สมัยคืออกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ผู้ใดเข้าถึงธรรมผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะจะเข้ากับใจดวงนั้น ดวงที่สมควรแก่ธรรมนั้น

แต่นี่มันไม่สมควรแก่ธรรม แม้แต่มีศาสนาเป็นเครื่องชี้บอกอยู่ยังทำเล่นกัน เอาศาสนานี้เป็นเครื่องเล่น ศาสนานี่เหมือนกับของหลอกลวง จะเชื่อหรือไม่เชื่อมั่นในความเป็นจริงอันนั้น ไม่เชื่อมั่นในตามความเป็นจริง

บวชทั้งชีวิตนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นถึงกษัตริย์ ทำไมละจากความสุขของทางโลกมา ความสุขของทางโลกมันบำรุงบำเรอได้แต่ร่างกาย แต่ไม่สามารถทำให้ใจนี้พ้นจากทุกข์ได้ ขนาดว่าเป็นถึงกษัตริย์มีปราสาท ๓ ฤดู ยังไม่ไว้ใจตัวเอง ยังอุตส่าห์แสวงหาทางออก แสวงหาทางออกเพราะสิ่งนั้นพึ่งไม่ได้

ถ้าทำเล่นมันตรงนั้น ทำเล่นหมายถึงว่าอยากพึ่งแต่วัตถุ อยากพึ่งอยากให้ตนเองทันสมัยอยู่ในบริวารของสิ่งบริวารของกฐิน ไปตื่นเต้นกับสิ่งที่ว่าเป็น ตื่นเต้นกับสิ่งที่ว่าเป็นบริวารของกฐิน ไม่ได้ตื่นเต้นกับตัว กฐินคือตัวผ้าผืนนั้น ผ้าผืนนั้นเพื่อเข้าถึงธรรมวินัย เพราะว่าถ้าถวายกฐินต้องกราน กรานแล้ว พระภิกษุนี้จะได้ยกเว้นวินัย ไปไหนโดยทิ้งผ้าไว้ ๓ ผืน มันเข้าถึงเนื้อของวินัย เข้าถึงธรรมและวินัยคือตัวธรรมและตัวอะไร คือเข้าถึงพระพุทธเจ้า บุญกุศลเกิดตรงนั้น

แต่ไม่มองกันตรงนั้น ทำอะไรทำเล่นๆ คือทำสักแต่ว่าทำ วินัยนี้ยกเว้นไว้ก่อน ขอให้ได้สิ่งข้างนอกกายเข้ามา นั่นตั้งใจสิ่งนั้นปรารถนาสิ่งนั้น ปรารถนาสิ่งที่ว่าเป็นโลกเกินไป ความที่เป็นโลกเกินไปก็เห็นแก่ว่าวัตถุนี้เป็นใหญ่ ไม่เห็นธรรมและวินัยของพระพุทธเจ้าเป็นใหญ่ ไม่เห็นสิ่งที่ว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เพื่อความเป็นอยู่ที่ว่าปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยดำเนินไปเท่านั้น ไม่ใช่หาสิ่งใดมาสะสมให้มันหนักหน่วงไป ไม่มี สิ่งนั้นเป็นสิ่งเหมือนกับทางโลกเขา

ทางโลกเขาที่ว่าเครื่องบำรุงบำเรอ มีปราสาท ๓ หลัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ไว้ใจตัวเอง ยังไม่ไว้ใจความสุขอันนี้ว่ามันจะให้ความสุขจริง เห็นไหม มันอยู่กับเครื่องบำรุงบำเรอร่างกายแต่หัวใจเร่าร้อน จนตรัสรู้แล้วก็ยังบอกไว้ในธรรมในพระไตรปิฎก โลกนี้ร้อนอยู่ด้วยฟืนด้วยไฟตลอด ทำไมพวกเราบริษัททั้งหลายอยู่ในสโมสรสันนิบาตมันก็ยังร้อนอยู่ทำไม โลกนี้ร้อนอยู่ในสโมสรสันนิบาตนั้นทุกดวงใจว้าเหว่ ทุกดวงใจไม่ยกเว้น สิ่งที่เกิดมาเกิดมาพร้อมกับกิเลส ดวงใจทุกดวงใจว้าเหว่ ไม่มีที่พึ่ง ต้องหาที่พึ่งให้ตัวให้ได้ ที่พึ่งก็ต้องย้อนกลับมาที่นี่ไง

ถึงว่าเจตนาสำคัญ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขนาดไม่มีครูไม่มีอาจารย์ยังออกแสวงหาได้ ไม่มีครูไม่มีอาจารย์ แต่บารมีสะสมมาแน่นอนว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ยังต้องออกสมบุกสมบันขนาดที่ว่าสลบถึง ๓ หน ทางไหนที่ว่าทางเป็นอุกฤษฏ์ ทางไหนที่เป็นทางที่แสวงหาที่ว่าในสมัยนั้นที่ว่าทางเป็นการประพฤติปฏิบัติ ไปศึกษากับทุกสำนักว่าจะผ่านพ้นจากนี้ไปให้ได้ แต่เสร็จแล้วมันก็ไม่มีสำนักไหนที่จะทำให้ผ่านพ้นไปได้จริง

เพราะว่ามันไม่มีมรรค ศาสนายังไม่เกิด จริงๆ แล้วก็ต้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นโคตัวแรก เป็นไก่ตัวแรกที่เจาะเปลือกไข่ออกมา ต้องเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะมารู้ธรรม เพราะธรรมสมัยนั้นมันไม่มีใครรู้จริง มันมีแต่รู้การเล่าสืบต่อกันมาว่าที่นั่นก็เป็นพระอรหันต์ ที่นี่ก็เป็นพระอรหันต์ ในศาสดาต่างๆ แต่ไปศึกษาแล้วเขาว่าของเขาเป็น

แต่ผู้ที่มีต้องการพ้นจากทุกข์ ทุกข์ในหัวใจ ทุกข์ในหัวใจของเรา ใครจะพูดข้างนอก ใครจะรักษาอย่างไรมันรักษาไม่ได้ ทุกข์ของเราเราต้องรักษาของเรา ทุกข์ในใจ นี่มรรคเกิดขึ้นจากใจ มรรคอริยสัจจังเกิดขึ้นจากใจ เจตนาเกิดขึ้นจากใจ ความจงใจเกิดขึ้นจากภายใน นั่นน่ะ มันถึงเข้าไปชำระกิเลสได้ไง

ใจแก้ใจ ใจต้องเข้าไปแก้ใจ ใจเท่านั้นหัวใจเกิดดับ

ชีวิตคือไออุ่น ชีวิตคือสิ่งที่ว่าจิตวิญญาณที่มาเกิดนั้น ไออุ่นนี้ตั้งอยู่บนกาลเวลา ไออุ่นนี้ตั้งอยู่บนกาลเวลา การสืบต่อ การสืบต่อไปนั่นน่ะ มันสืบต่อมาพร้อมกับความทุกข์นั่น นั่นคือตัวอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อยู่ตรงนั้นไง ตัวจิต จิตปฏิสนธิจิต จิตปฏิสนธินี้มันเป็นตัวปฏิสนธิเป็นจิตภายในนะ วิญญาณปฏิสนธิไม่ใช่วิญญาณรับรู้ภายนอก เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วถึงได้ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ร่างกายนี้เป็นธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ คือใจ ขันธ์นี้เป็นวิญญาณขันธ์คุมจิตปฏิสนธิอยู่อวิชชาอีกชั้นหนึ่ง นั่นน่ะ เวลาไออุ่นตัวนั้นตัวพลังงานตัวในออกมาถึงตัวขันธ์ ๕ นี่ ขันธ์ ๕ คือพลังงานภายนอก พลังงานรับรู้ พลังงานอายตนะกระทบ

นั่นน่ะ ใจแก้ใจ มรรคอยู่ที่ตรงนั้น สิ่งข้างนอกนี้เป็นเครื่องอยู่อาศัย ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยให้ชีวิตนี้ดำเนินไปเท่านั้น ถึงว่าไม่ให้ตื่นกับโลกภายนอก ให้พยายามเข้ามาแก้ทุกข์ สิ่งนั้นพึ่งไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีก่อนแล้วสละมาก่อน สละมาแล้วมาตรัสรู้ธรรมแล้วถึงบัญญัติธรรมไว้ แล้วเป็นกาลสมัยที่ให้เราได้ทำบุญกุศลอยู่นี่ไง ถึงย้อนกลับเข้ามาที่กาลสมัยของเรา บุญกุศลเราก็สร้าง บุญกุศลเราก็สร้างขึ้นมาอันนั้นเป็นอามิสทาน บุญกุศลภายในที่ทำให้เกิดขึ้นปัจจุบันนี้

ปัจจุบันธรรมที่จะเกิดขึ้น อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปแล้ว๒๕๔๒ ปีก็แล้วแต่ เห็นไหม ทุกข์อันเก่า อริยสัจอันเก่า จนกว่า ๕,๐๐๐ ปีสิ้นไปแล้ว พระศรีอริยเมตไตรยก็มาตรัสรู้มรรคอริยสัจจังอันนี้อย่างเก่า ฉะนั้น ปัจจุบันนี้มีอยู่แล้ว เราไม่รอให้กาลเวลาไป เพราะขณะปัจจุบันนี้ใจมันเชื่อ ใจของเราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราถึงต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพื่อเอาหลักความจริงไว้

สิ่งที่เครื่องอยู่อาศัย ว่าโลกเป็นเครื่องอยู่อาศัย สิ่งที่เป็นเครื่องอยู่อาศัยของกาย บุญกุศลก็เป็นเครื่องอยู่อาศัยของใจ เกิดดับ เกิดดับนี้ไง ใจเราจะเกิดจะตายไปในวัฏสงสารนี้ เราได้สร้างบุญกุศลนี้ไว้เป็นเครื่องอุ่นใจ เครื่องอุ่นใจหมายถึงว่าเราไปไหน เราก็มีเสบียงอาหารไปแล้ว

บุญกุศลภายนอกมันสะสมมาเป็นวาสนาบารมี ๑ มันอาศัยได้จริง อาศัยได้จริงในการวนในวัฏฏะ แต่พระพุทธเจ้าสอนให้หักออกจากวัฏฏะเลย ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยบุญกุศลอีกแล้ว ให้ข้ามพ้นไปซึ่งบุญและบาปเลย เห็นไหม แม้บุญยังจะต้องข้ามพ้นออกไป บุญที่เราสะสมอยู่นี้สะสมไว้เพื่อเป็นเครื่องเป็นเสบียงดำเนินมา ดำเนินมาจนใจเข้าไปทำทานไปทอดกฐินไปทำบุญกุศลกัน ฟังเทศน์ขึ้นมาแล้วเทศน์สอนลงไปที่ไหน? ก็เทศน์สอนลงมาที่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เท่านั้น ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระอริยสาวกต่างๆ นี้เป็นครูเป็นอาจารย์ที่ท่านทำธรรมขึ้นมาในหัวใจของท่านสว่างไสวขึ้นมาเป็นอกาลิโก เป็นยุคสมัยของดวงใจดวงนั้น ดวงใจที่ทำผ่องแผ้วในหัวใจนั้นมีแต่ความสุข วิมุตติสุขในใจดวงนั้น ใจดวงนั้นถึงมีความสุขแล้วเป็นผู้ชี้นำเราไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้นำบริษัท ๔ ที่จะเดินก้าวเดินตาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนแต่ผู้ที่มีกิเลสในหัวใจเต็มๆ ใจอยู่นี่แหละ ให้พ้นจากกิเลส ให้พ้นจากกิเลส กิเลสนี้เป็นยางเหนียว กิเลสนี้ผูกมัดเราไว้กับวัฏสงสาร ให้การเกิดการตายพร้อมกับความทุกข์ขึ้นมาตลอด ถึงจะมีเสบียงอาหารเป็นบุญกุศล

บุญกุศลนี้พาเกิด เกิดเป็นพรหม เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นมนุษย์

เกิด คำว่า “เกิด” ชาติปิ ทุกขา ทุกข์เกิดขึ้นทันที การเกิดขึ้นมาจะมีความสุขขนาดไหนในพรหมในอะไรมันก็มีความเศร้าหมอง สุขผ่องใสแค่ไหนก็คู่กับความเศร้าหมองไปตลอดเวลา มันเป็นวัฏฏะ เป็นวัฏฏะ เป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ทุกอย่างนี้สรรพสิ่งไม่มีอะไรคงที่ ไม่มีสิ่งใดพึ่งได้เลยในความเป็นจริง

แต่ขณะที่ว่าเราไปในวัฏฏะ เราอาศัยเรือไป เราอาศัยเรืออาศัยรถวิ่งไปการคมนาคม อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อการเกิดการตายในวัฏฏะนี้เราก็อาศัยบุญกุศลนี้ขับเคลื่อนเราไปตลอด เราเป็นคนที่ว่าไม่ประมาทชั้นหนึ่งแล้ว ชั้นหนึ่งที่ว่าในเมื่อเราต้อง...จิตนี้ยังต้องก้าวเดินต่อไป เราก็มีบุญกุศลนี้เป็นเครื่องดำเนินต่อไปให้มีความชุ่มฉ่ำไป รถพร้อมเสมอที่จะก้าวเดิน ถึงจะเดินไปมีทุกอย่างพร้อม น้ำมันพร้อม ทุกอย่างพร้อมมันก็ไปได้ มีความอุ่นใจ อันนั้นพักไว้ชั้นหนึ่ง

มันเป็นมรรคหยาบๆ แล้วเราก็ยกขึ้นมาให้เป็นมรรคละเอียด นี่มีบุญกุศลแล้ว เพราะมีบุญกุศลได้ฟังธรรม เชื่อมั่น ศรัทธา ความเชื่อศรัทธาอันนี้ปักลงที่ใจ ความเชื่อศรัทธานี้ถึงทำให้เราเริ่มมาประพฤติปฏิบัติ เริ่มมาประพฤติปฏิบัติเพื่อจะทำใจของตัวให้สงบ ทำใจของตัวให้สงบขึ้นมา ความสงบบ่อยๆ เข้าทำให้จิตตั้งมั่น จิตจะตั้งมั่นได้เพราะมีความสงบเข้าไปบ่อยๆ

สิ่งใดแล้วแต่ที่ว่าเราเริ่มทำครั้งแรกมันจะคลอนแคลน เราไม่มีความชำนาญ อันนี้ก็เหมือนกัน อาจารย์สอนไว้ว่าทุกดวงใจจะมีความลังเลสงสัย การประพฤติปฏิบัตินี้มันเป็นไป ถึงจะเชื่อก็เชื่อด้วยความเชื่อภายนอก ด้วยความศรัทธา มันไม่ได้เห็นจริง ถึงว่าต้องปฏิบัติต้องพยายามทำให้ได้จริง

เปรียบเหมือนกับการแหวกจอกแหนออก การแหวกจอกแหนออกก็คือการแหวกอารมณ์ออก ใจของเรา ใจของเรามันมีอะไรคลุมอยู่ล่ะ? มันมีขันธ์คลุมอยู่ ขันธ์ ๕ คลุมอยู่ คลุมอยู่ด้วยอะไร? คลุมอยู่ด้วยกิเลส กิเลสเพราะขันธ์ ๕ นี้เป็นสัจจะความจริงคลุมใจอยู่

“จิต” จิตคือไออุ่น ไออุ่นพลังงานไออุ่นอันนั้นคือจิตปฏิสนธิ แต่ขันธ์ ๕ ที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าเราเกิดเป็นเทวดาได้ขันธ์ ๔ เราเกิดเป็นพรหมเรามีขันธ์เดียว ขันธ์ ๑ นี้เราเกิดเป็นมนุษย์เรามีขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ นี้ก็คลุมจิตปฏิสนธิอยู่นี้ นี่แหวกจอกแหน แหวกจิต แหวกขันธ์ ๕ นี่ไง ขันธ์ ๕ นี้เป็นธรรมชาติอยู่ที่คลุมจิตปฏิสนธิอยู่นี้เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ ทำจิตสงบเข้าไปถึงตรงนี้ไง ถึงจิตปฏิสนธิคือฐีติจิต จิตเดิมแท้ ทำให้ถึงตรงนี้ มันจิตรวมใหญ่มันจะรวมลงตรงนั้น

การแหวกจอกแหนแหวกเพื่อให้เห็นน้ำ พอแหวกจอกแหน เพราะจอกแหนเป็นกิเลส กิเลสมัดขันธ์ ๕ นี้กับจิตนี้ให้เป็นอันเดียวกัน จิตเรากับขันธ์ ๕ มัดรวม มัดกันคือว่ามันผูกไว้ด้วยสังโยชน์ นี่คือกิเลส กิเลสผูกมัดอยู่ การทำความให้สงบมันไม่สงบก็เพราะไอ้จอกแหนมันทำให้เราฟุ้งซ่าน

กิเลสมันเป็นความเคยใจ กิเลสเป็นความเคยใจจะทำให้เราคิดร้อยแปด จะประพฤติปฏิบัติพอจะมานั่งนี่มีความคิดแล้ว นู่นก็ยังไม่ได้ทำ นี่ก็ยังไม่ได้ทำ แต่ถ้ายังไม่นั่งเมื่อไรทำก็ได้นะ มันไม่คิดออก มันไม่คิดออกไปเพราะว่ามันไม่มีอะไรมาทดสอบ

แต่พอจะประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม คิดร้อยแปดออกไป คิดออกไปจากอะไร? นี่เราไม่อยากคิด แต่พลังงานตัวที่เป็นกิเลส จอกแหนมันทำให้เราคิด นี่พยายามอยู่ กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ พยายามแหวกจอกแหนออก แหวกจอกแหนออกให้เห็นน้ำ สิ่งที่เห็นน้ำคือจิตมันสงบ พอจิตสงบก็เข้าหยั่งถึงน้ำ พอจิตนี้หยั่งถึงน้ำนี่คืออจลศรัทธา ศรัทธาที่ว่าเราเองผู้ที่ปฏิบัติดวงใจดวงใดก็แล้วแต่ปฏิบัติ แหวกจอแหนออกจนเห็นน้ำ จนเห็นน้ำก็เข้าถึงใจ นั้นไม่ต้องให้ใครมาบอกว่าจิตสงบนี้เป็นอย่างไร มันถึงเชื่อมั่นในธรรมไง

ความที่จะเชื่อมั่นในธรรมเพราะได้ดื่มกิน เห็น ดื่มกินน้ำนั้น แตะต้องน้ำนั้น จิตกับน้ำนั้นจิตแตะถึงสมาธิธรรม ความสงบ ความสงบของใจ ความสงบของใจกับจิตนี้จับต้องกัน นี่แหวกจอกแหนออกจนเห็นน้ำนั้น เป็นการยืนยัน เป็นการยืนยันว่าธรรมะนี้มีจริง เป็นการยืนยันว่าเราสามารถปฏิบัติได้จริง เป็นการยืนยันว่าเราเองก็ทำได้ เราก็เป็นผู้มีวาสนาคนหนึ่งมันก็มีความองอาจกล้าหาญ มันมีความมั่นใจว่าธรรมนี้มีจริง

เมื่อก่อนก็ฟังเขาเล่าว่า ฟังครูบาอาจารย์ชี้นำว่า นรกมี สวรรค์มี พรหมโลกมี นิพพานมี นั้นก็ครูบาอาจารย์ว่า แต่เรายังไม่เคยเห็นสวรรค์ ไม่เห็นนรก ไม่เห็นนิพพานก็จริงอยู่ แต่เราได้เข้าถึงสมาธิธรรม เข้าถึงความร่มเย็นชุ่มฉ่ำของน้ำอมฤตธรรมอันนี้ไง นั่นน่ะ การแหวกจอกแหนออกไปมันจะเข้าถึงเห็นน้ำ พอเห็นน้ำมันก็มั่นใจ นี่คือความมั่นใจ นี่คือความหมายของการแหวกจอกแหนที่ว่าแหวกขันธ์๕ นี่ไง แหวกขันธ์ ๕ ให้เห็นใจ

ถ้าแหวกจอกแหนนี่พยายามกำหนดไป จิตมันตั้งมั่น จิตมันตั้งมั่นจนมันสามารถจับจอกแหนได้ เห็นไหม แง่มุมของการทำความสงบนี้มันต้องมีแง่มุม ไม่ใช่ว่าทำความสงบเข้าไป ความสงบเข้าไปแล้วมันจะเป็นไปเอง แหวกจอกแหนแล้วก็ว่ามันจะเป็นธรรมเหรอ แหวกจอกแหนก็คือแหวกจอกแหน แหวกไปแหวกมาจอกแหนก็วนอยู่ในน้ำนั่นน่ะมันไม่ไปไหนหรอก จิตนี้สงบเดี๋ยวก็เสื่อม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายแปรสภาพทั้งหมด ธรรมทั้งหลายมันแปรสภาพด้วยตัวมันเอง สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด แม้แต่สภาวธรรมก็เป็นอนิจจัง จนกว่ามันเข้าถึงธรรม เข้าถึงธรรม หมายถึงอกุปปธรรมอันนั้น อันนั้นถึงจะไม่แปรสภาพ ไม่แปรสภาพในทางต่ำลงมา แต่แปรสภาพสูงขึ้นได้ อกุปปธรรม อกุปปะคือไม่แปรสภาพลงมา

แต่ถ้ายังเป็นสมาธิเป็นความสงบร่มเย็นของใจนี้ยังไม่ถึงอกุปปะ เพราะไม่ได้จับจอกแหนแล้วโยนจอกแหนขึ้นมาบนฝั่ง จอกแหนมันอยู่ในน้ำอยู่มันต้องเจริญเติบโตเพราะมันมีอาหารมาตลอด นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อกิเลสมันอยู่กับใจ ความสงบนั้นมันก็สงบไปชั่วคราว เห็นไหม แหวกออกเฉยๆ แล้วเห็นน้ำมันมีความสงบอยู่แต่ไม่ได้ชำระกิเลส ไม่ได้ชำระเชื้อโรคนั้นออกไป

ความไม่ได้ชำระเชื้อโรคออกไป นั่นน่ะ จอกแหนมันเข้ามาปิดอย่างเก่า กิเลสเวลาจิตนี้เสื่อมลง จิตนี้แปรสภาพไปมันก็ความสกปรกของใจมันก็เหมือนเก่า แต่ว่าจิตมันสงบ อันนั้นมันเป็นอดีต จิตที่เคยมีความสงบอยู่อันนั้นมันก็ซึ้งใจ ซึ้งใจเหมือนกับผู้ที่ว่าเคยประพฤติปฏิบัติอยู่ ใจถึงมีความสงบ อันนั้นมันก็เป็นสุขอยู่ภายใน มันฝังลึกๆ อยู่ เป็นคุณสมบัติของใจดวงนั้น เป็นวาสนาบารมีของใจดวงนั้น ถ้าตายไปไม่ได้ทำ ตายไปโดยที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ไม่ได้สูงกว่านั้น อันนี้ก็เป็นคุณสมบัติของใจที่มันจะฝังใจไป เป็นบุญกุศลต่อไป ชาติต่อๆ ไป มันจะฝังใจไป

ถึงว่า สิ่งที่ถ้ามันทำไม่ได้ แต่ถ้าทำได้ต่อไป พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้นนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ยุคสมัยของใจนั้นต้องทำใจดวงนั้นให้เกิดขึ้นมาในใจดวงนั้นให้ได้ ถึงต้องแหวกจอกแหนออกแล้วต้องพยายาม พยายามค้นคว้า การค้นคว้าหา แหวกจอกแหนมันแหวกออกไป มือมันหลุดออกไป แหวกออกไปถึงน้ำมันก็เย็นไป เย็นไป แต่มันจับไม่ได้ มันจับจอกแหนนั้นไม่ได้ มันต้องจับกายและจิต คือจับจอกจับแหน จับจอกจับแหนแล้ววิปัสสนาใคร่ครวญไปในจอกในแหนนั้นว่า จอกแหนอยู่ในน้ำมันเกี่ยวพันกับอะไร ยกขึ้นด้วยวิธีไหน

พิจารณากายกายนี้แปรสภาพแบบใด พิจารณาจิต จิต ขันธ์ ๕ นี้มันแปรปรวนไปอย่างไร ขันธ์ ๕ นี้เกาะเกี่ยวกันด้วยอะไร? ตัวขันธ์ ๕ เกาะเกี่ยวกันโดยที่พลังงานส่งออกมาจากจิตแล้วให้ไปยึดในกายนี่มันมาอย่างไร นี่การวิปัสสนาจอกแหนนั้นต้องวิปัสสนากายกับจิตให้เห็นว่าอะไรคือกิเลส อะไรคือตัวสังโยชน์ร้อยรัดตัวนั้น นั้นคือการวิปัสสนา มันต้องมีแง่มุมของการวิปัสสนาตัวนี้ก่อน ถึงว่าถึงจะเข้าถึงไง

ถ้าไม่วิปัสสนาตัวนี้อยู่ จิตมันสงบเฉยๆ ทำจิตให้สงบเข้าไป สงบเข้าไป มันเข้าถึงจิตเดิมแท้ขนาดไหนก็ฐีติจิต จิตเดิมแท้นี้เข้าได้ ความใสสว่างของจิตทำได้ ถ้าจิตมันสว่างไสว สว่างไสวขนาดไหน มันก็คู่กับเศร้าหมอง สว่างขนาดไหนนะ สว่างจนสุดโลกธาตุ ครอบโลกธาตุแค่ไหน เดี๋ยวมันต้องตีกลับ สิ่งใดสิ่งหนึ่งในโลกนี้ไม่มีการที่ไม่แปรปรวน ไม่มี ไม่มี

เว้นไว้แต่วิมุตติเท่านั้น วิมุตตินี้ไม่มีจะแปรปรวนอีก แต่ยังไม่วิมุตติอยู่ เป็นสมมุติอยู่ต้องแปรปรวนหมด ต้องแปรปรวน ถึงว่ามันถึงจะไว้ใจตรงนั้นไม่ได้ เจริญขนาดไหนมันก็ต้องเสื่อม ขณะที่เจริญอยู่มีความสุขมาก แต่ขณะที่มันเสื่อมลงมาจะรู้ตัวว่ามันเสื่อมลงมา มันถึงว่ามันไม่ใช่ยุคสมัยของตัวเอง มันไม่ใช่ยุคสมัยของใจดวงนั้น มันเป็นการไปฟังครูบาอาจารย์มาแล้วจับมา จับมาก็ยังจับมาไม่ครบองค์ประกอบของกาลนะ

ขนาดครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำนี้ จะชี้นำแต่แง่มุม แต่เรื่องหลักๆ ทั้งนั้น เทคนิควิธีการมันอยู่ที่ดวงใจแต่ละดวงใจที่จะประพฤติปฏิบัติได้ ไม่มีครูบาอาจารย์จะบอกได้ตั้งแต่เหมือนเด็กๆ การกินข้าวต้องบดข้าวก่อนนะ แล้วเอาน้ำปลาเหยาะๆ นะ แล้วเวลาป้อนเข้าไปมันจะติดคอ กลืนข้าวแล้วต้องกินน้ำนะ อันนี้มันบอกวิธีการจนขนาดนั้นไป มันเป็นสัญญาทั้งหมด กิเลสมันจะรู้ตามไปแล้วมันจะทำให้เด็กนั้นดื้อ เด็กนั้นไม่กินข้าว เด็กนั้นจะไม่ยอม ไม่ได้สารอาหารเข้าไปในร่างกาย เด็กนั้นก็จะผอมแห้งไป

ถึงการบอกนี้ จะการเทศน์ การเทศนาว่าการมันได้แต่หลักเท่านั้น เทคนิควิธีการที่จะเข้าไป หรือเทคนิควิธีการของแต่ละดวงใจยังต้องพลิกแพลงเพราะกิเลสของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่นี้บอกมาเลยว่าตึก ๔ ชั้น ตึก ๔ ชั้นต้องมีเสาเข็ม มรรค ๔ ผล ๔ ๔ ชั้น มรรค ๔ ผล ๔ บุคคล ๘ จำพวก ทำลายหมด ๓ ชั้นบนให้เหลือไว้ชั้นล่างชั้นเดียวว่าอันนี้เป็นมรรคผล แล้วก็ว่าวิปัสสนาไป นี่หลักการเต็มๆ ก็ยังจับหลักไม่ได้ แล้วมาแหวกจอกแหนแล้วเข้าถึงธรรม เข้าถึงธรรมตรงไหน มันจะเป็นธรรมไปได้อย่างไร ในเมื่อมันไม่ได้จับจอกแหนโยนขึ้นไปบนฝั่ง

วิปัสสนาเข้าไปนะ กายและจิตมันแปรสภาพ มันจะเห็นความแปรสภาพของมันไป สิ่งที่ว่าน้ำใสๆ สิ่งที่ว่าอันนี้เป็นธรรม มันจะสลดสังเวช สิ่งที่เป็นธรรมนี้เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธินี้เป็นมรรคตัวเดียวเท่านั้น มันยังอีกตั้ง ๗ นะ ความดำริชอบ ความเพียรชอบ ดำริในการจับจอกแหนโยนขึ้นมาบนฝั่ง ดำริ ความเห็นชอบ เห็นในการจับจอกแหนนั้น ความเพียรชอบ ชอบในการทำงานตรงจอกแหนนั้น ไม่ไปทำงานที่อื่น งานชอบก็งานตรงนั้น มรรคต้องรวมลงที่นั่น รวมลงไปเรื่อย วิปัสสนาไปเรื่อย

เป็นว่าเทียบเหมือนจอกแหน แต่ความจริงแล้วคือกายกับจิต แล้วแต่ใครจะวิปัสสนาจะยกขึ้นอะไรเปรียบเทียบ เทียบเคียงว่าสิ่งนี้เหมือนอะไร เพราะเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมสามารถจะเปรียบเทียบได้ทั้งหมด พอเปรียบเทียบ วิปัสสนาไป วิปัสสนา วิภาคะแยกชำระส่วนนั้นไปถึงแล้วจะจับโยนขึ้นมาโดยธรรมชาติ เป็นไปไม่ได้ มันผูกมัดมา การเกิดและการตายกิเลสนี้ แก่นของกิเลส แก่นของวัฏจักรนี้ไม่มีทางที่จะร่อนบุบไปได้ง่ายๆ เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลยที่ไปรู้ไปเห็นแล้วกิเลสมันจะอาย มันจะวิ่งหนี ปล่อยให้เราเป็นอิสระ เป็นไปไม่ได้

มันจะต่อต้านทุกๆ ฝีก้าวของการทำสมาธิ มันจะต่อต้านทุกๆ วิธีการของในการวิปัสสนา กิเลสมันจะต่อต้าน มันจะสร้างกลไกทุกอย่างหลอกลวงเราตลอดเวลา วิปัสสนาไปว่าอันนี้เสร็จแล้วนะ อันนี้มรรครวมตัวแล้วขาด ขาดแล้วจิตนี้ปล่อยวาง โล่ง สบาย...หลอก จะขาดหรือไม่ขาดวิปัสสนาไปเรื่อยๆ อย่านอนใจ กิเลสหลอกได้ทุกที อย่าเข้าใจว่าวิปัสสนาแล้วกิเลสมันจะกลัวนะ เรานี่เป็นนักปฏิบัติ เป็นพระ เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นพระเป็นสงฆ์ ปฏิบัติแล้วศีลเราบริสุทธิ์ กิเลสมันจะแหยงเรา ถ้าบริสุทธิ์อย่างนั้น เวลาโกนหัวบวชออกมามันต้องบริสุทธิ์มาต้องพร้อมกับบวชออกมาจากโบสถ์สิ บวชเป็นพระออกมาจากโบสถ์ บวชแต่กาย โกนหัวห่มผ้าเหลืองมันก็ห่มแต่ที่กาย แต่ไม่สามารถทำยุคสมัยของธรรมให้เกิดขึ้นในหัวใจได้เลย

ยุคสมัยของธรรมจะเกิดในหัวใจมันต้องทำด้วยมรรคอริยสัจจัง

“สุภัททะ เธออย่าถามให้เนินช้าไปเลย...” สุภัททะนี้เป็นศาสดาคนหนึ่งอยู่ในครั้งพุทธกาลเป็นผู้ที่มีปัญญามาก ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนปฏิบัติด้วยตัวเองนึกว่าตัวเองจะเอาตัวเองรอดได้ จนคืนสุดท้ายพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานแล้ว

“คืนนี้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ถ้าเราไม่ไปถามจะหมดโอกาสแล้ว” นี่ทิฏฐิมานะสูงขนาดนั้น จนมาหาพระพุทธเจ้าคืนที่นิพพานนั่นน่ะ

“ศาสนาไหนก็ว่ามีมรรคมีผล ศาสนาไหนก็ว่าประเสริฐทั้งหมดเลย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าอย่างไร”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “อย่าถามให้เนิ่นช้าไปเลย ไม่ต้องถาม สุภัททะ ในศาสนา ลัทธิศาสนาต่างๆ ไม่มีมรรคคือไม่มีเหตุ”

มรรค ๘ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ ความเพียรชอบ แล้วก็สัมมาสมาธิชอบ สติตั้งมั่น ระลึกชอบ ทุกอย่างชอบ ต้องชอบด้วยนะ ถ้าไม่ชอบมันเข้าไม่ถึง ถ้าไม่ชอบแล้วมันเบี่ยงเบนประเด็นไป วิปัสสนานะในธัมมจักฯ ทเวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่ภิกษุไม่ควรเสพเลย ในอัตตกิลมถานุโยค ในกามสุขัลลิกานุโยค ถ้ามันปฏิบัติแล้วทำไมพระพุทธเจ้าต้อง...ในธัมมจักฯ พระพุทธเจ้าบัญญัติคำแรกเลย

“ทเวเม ภิกฺขเว ภิกษุทั้งหลายทางสองส่วนนี้เธออย่าเสพเด็ดขาด ต้องมัชฌิมาปฏิปทานี้เท่านั้น”

นี่ไง ถึงจะเข้าถึงจุดของธรรม มันต้องเข้าในมรรคนี้เท่านั้น มรรคอริสัจจังนี้เท่านั้น ถ้าไม่เข้ามรรคอริสัจจังนี้มันเป็น ทเวเม ภิกฺขเว มันเป็นสองฝ่ายระหว่างอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค นี่ถึงว่าจะเข้าถึงมันก็ต้องเข้าถึงด้วยมรรคนี้

ถึงบอก “สุภัททะ เธออย่าถามให้เนิ่นช้าไปเลย ไม่มีรอยเท้าในอากาศ”

ฟังสิ “ไม่มีรอยเท้าในอากาศ” ใครจะปั๊มรอยเท้าไว้ในอากาศได้ มันต้องอยู่ที่บนพื้นดินใช่ไหม มันไม่มีเหตุไม่มีผลจะยกขึ้นมาพูดได้อย่างไร ถึงบอกว่าให้พระอานนท์บวชคืนนั้นแล้วให้วิปัสสนา ตั้งแต่ตัวเองก็ตั้งตนว่าเป็นผู้มีปัญญามาก การฝึกฝนของตัวเองก็ฝึกฝนมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ จนอายุปางผู้เฒ่าแล้วนะ นี่ด้วยความพยายามจะให้ตัวเองให้ถึงให้ได้ แต่เข้าถึงด้วยวิธีการของตัว ไม่ได้เข้าถึงด้วยมรรคที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสยัมภู ตรัสรู้ด้วยตัวเองขึ้นมา ชำระกิเลสได้ ทางอันเอกมีทางเดียว ทางอื่นไม่มี

ถ้าจับต้องทางอื่นไปแล้ว ภาวนาไปเสียเปล่า ภาวนาไปเสียแรง พอภาวนาไปเสียแรงแล้วหลงไป ยิ่งหลงไปยิ่งภาวนายิ่งสะสมความยึดมั่นถือมั่นของตัวเองให้สูงขึ้นๆ ภาวนาเอากิเลสหรือภาวนาชำระกิเลส?

ภาวนาเอายุคสมัยของธรรมที่เจริญรุ่งเรืองในใจดวงนั้น ตามที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ไปก่อน แล้วครูบาอาจารย์ที่ตรัสรู้ไป ธรรมเกิดขึ้นกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นสร้างประโยชน์กับโลกมหาศาล สร้างกับโลกให้เป็นเนื้อนาบุญของเราที่เราไปทอดกฐินกัน เราพยายามแสวงหาเพื่อมาเป็นวาสนาบารมีของเรา

ยุคสมัยของครูบาอาจารย์ อันนั้นเป็นยุคสมัยของครูบาอาจารย์ แต่ยุคสมัยของผู้ทรงธรรมต่อไปสิ ยุคสมัยของบริษัท ๔ ภิกษุ-ภิกษุณีที่จะประพฤติปฏิบัติให้ได้ทรงธรรมอันนั้น นี่มันถึงต้องเข้าให้ทางมรรคอันเอกอันนี้ ถึงจะเข้ามรรคอริยสัจจัง มรรคที่ว่าตรงทางอันเอก ทางอันตรง

สุดท้ายสุภัททะปฏิบัติคืนนั้นถึงสำเร็จได้ พระพุทธเจ้าเป็นครูอันเอก เป็นผู้สอนที่ประเสริฐที่สุด แม้แต่เริ่มต้น อัญญาโกฑัญญะ ปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ แล้วสาวกองค์สุดท้ายสุภัททะปริพาชก เป็นขนาดว่าจะไปปรินิพพานแล้ว คนเราจะไปตายแล้วยังไปสอนบุคคลคนหนึ่ง เป็นเจ้าลัทธิที่ว่ามีความคิดที่ว่าสะสมกิเลสมาเต็มหัวใจ จนปล่อย ยอมปล่อยวางความเห็นอันนั้น แล้วมาก้าวเดินตามมรรคอริสัจจัง เป็นสาวกองค์สุดท้าย เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่คือศาสดาของเราที่ประเสริฐสุดที่อยู่ในหัวใจ

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในหัวใจที่เราพยายามจะก้าวเดินตามให้ทัน ให้ยุคสมัยใจของเราสว่างไสวขึ้นมาจากธรรมอันนี้ ธรรมที่ไม่ให้เป็นความทุกข์อันนี้ นี่ถึงจะเข้าถึงได้ก็ต้องเข้าถึงด้วยความถูกทาง ไม่ใช่เข้าถึงด้วยความเห็นของตัว ความเห็นของตัวเข้าถึงไม่ได้ นั่นน่ะ ความเห็นของตัวมันมีกิเลสมาเจือไปพร้อม ถึงต้องทำสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิจะแบ่งความเห็นอันนี้ออก ความเห็นที่เป็นโลกียะกับเป็นโลกุตตระ ความเห็นที่เป็นโลกียะความเห็นเดิมของตัว ความเห็นเดิมของตัวมันก็ว่า แหวกจอกแหน แหวกจอกแหนไป เห็นน้ำไปมันก็มีความชุ่มช่ำ

แต่โลกุตตรธรรม จิตมันต้องเห็นน้ำนั้นโดยพื้นฐาน แค่เห็นน้ำนั้นมาเป็นพื้นฐานในการยกขึ้นวิปัสสนาเท่านั้น เพราะจะยกขึ้นนี่เป็นโลกุตตระ ยกขึ้นให้ถึงกับเข้าถึงฝั่งของธรรม ไม่ใช่เข้าถึงฝั่งของความยึดมั่นถือมั่น เข้าถึงฝั่งของความลุ่มหลง เห็นไหม เข้าถึงฝั่งของธรรม เข้าถึงฝั่งของธรรมก็ต้องวิปัสสนา วิปัสสนาในกายกับใจ “กายกับใจ” ใจคือตัวจิต ไออุ่นที่ครอบที่ขันธ์ ๕ นั่นน่ะ แหวกออก วิปัสสนา...

...มันเป็นความคิดเดิมๆ ของเรา ถึงจะเคยวิปัสสนาได้อยู่มันฟั่นเฟือน ผู้ที่วิปัสสนา คนที่ก้าวเดิน ครูบาอาจารย์ที่ก้าวเดินไปแล้วจะเห็นคุณและเห็นโทษตรงนี้มาก ตรงนี้มากเพราะอะไร เพราะเวลาทำไปวิปัสสนาไปมันเห็น มันรู้ ก่อนก้าวเดินมาตรงนี้ คนที่ดั้นด้นมามันมีความทุกข์ทั้งนั้นล่ะ เพราะสิ่งที่ไม่เคยทำไง พอทำไปมันลองผิดลองถูกไปเรื่อย การลองผิดลองถูกไปเพราะอะไร เพราะใจ กิเลสอยู่ที่ใจเราใช่ไหม ไม่มีใครหรอกจะชำระกิเลสของเราได้ เราต้องชำระเอง

ยุคสมัยของครูบาอาจารย์ในหัวใจดวงนั้นสว่างไสวไปแล้ว เห็นแล้วถึงบอก สอนเหมือนสอนเด็ก เหมือนพวกเรานี่ก้าวเดินเป็นเด็กๆ นะ ท่านผ่านไปแล้ว เราเห็นเด็กที่มันเดินเตาะแตะ ทำไมมันจะเดินไม่ได้ ทำไมยืนไม่ได้ เราก็เดินได้ เราก็เป็นเด็กมาก่อน แต่เด็กนั่นมันก็ทรงตัวเกือบเป็นเกือบตายกว่าจะทรงตัวได้

นี่เหมือนกัน เวลาวิปัสสนาไป หมุนไป มันว่าอันนี้เป็นปัญญา หมุนไปเต็มที่เลย หมุนไป หมุนไป พอหมุนไปมันความอยากได้ ความอยากเป็น มันคิดมาก มันใช้ปัญญามากมันก็เป็นโลก โลกหมายถึงว่ามันเหนื่อยแล้วมันไม่ปล่อยวาง ถ้าสัมมาสมาธิมีอยู่ มรรคอริสัจจังอยู่ มันเหนื่อยแต่เหนื่อยเสร็จแล้วมันจะปล่อยวาง ปล่อยว่างหมดเลย การที่ยกจอกแหนขึ้นจากน้ำบางครั้งบางหนมันก็มีความสุขมากกว่าการแหวกจอกแหนนะ การแหวกจอกแหนนี่แค่ทำจิตให้เป็นสมาธิเฉยๆ การยกจอกแหนขึ้นจากน้ำนั่นแต่ไม่สามารถโยนขึ้นฝั่งได้ มันก็ทำให้ใจนี้เวิ้งว้างมากกว่า ว่างมากกว่า

เพราะการวิปัสสนาไป วิภาคะในกายกับจิตแล้วปล่อยวาง ความปล่อยวางของการวิปัสสนาไม่ใช่ความปล่อยวางของเป็นทำความสงบ ทำความสงบมันมีความสงบอย่างหนึ่ง อันนี้มันสงบด้วย แล้วเชื้อของโลกมันจางไป จางไป ฟังสิ กับความสงบเฉยๆ เชื้อของโลกอยู่ในหัวใจ มันต่างกันไหม? ความสงบเฉยๆ หมายถึงว่าเราสงบขึ้นมาแล้วก็ปาดความสกปรกทั้งหมดไว้ใต้พรม หินทับหญ้า เปิดหญ้า ได้แสงแดดมันก็ขึ้นแล้ว

อันนี้ก็เหมือนกัน อันนี้ว่าการยกขึ้น หญ้า หินเราเปิดออกมันมีเชื้ออยู่ มันมีรากอยู่แล้ว มันมีแล้วมันก็งอก ถ้าเราถอนหญ้าเป็นบางครั้งบางคราว เห็นไหม การยกจอกแหนขึ้นจากน้ำไง การยกจอกแหนขึ้นจากน้ำ วิปัสสนาไปแล้วมันปล่อยวางมันเข้าใจตามความเป็นจริง มันจะปล่อยวาง ปล่อยวาง นี่มันปล่อยวาง ความสุขมันจะต่างกับตั้งแต่แหวกจอกแหนแล้ว

แล้ววิปัสสนาไป วิปัสสนาหมายถึงว่าถ้าพิจารณากาย กายมันต้องแปรสภาพไป ถ้าสมาธิพร้อมกายมันจะแปรสภาพ วิภาคะขยายส่วน ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของกายวิปัสสนาไป เพ่งไป ดูไป มันจะแยกออก แยกออก ไอ้จอกแหนก็กิเลสที่มันยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นล่ะ

วิปัสสนาจิตก็เหมือนกัน วิปัสสนาจิต เห็นไหม อารมณ์นี้เกิดขึ้นอย่างไร ทำไมมันให้ความทุกข์ร้อนแก่ใจนี้มากนัก ให้ความทุกข์ร้อน ให้ความเศร้าโศก เวลาคิดแล้วทำไมมันเผาใจตัวเองล่ะ ไหนว่าเราเป็นผู้ที่ว่าจะเอาชนะตนไง ทำไมแพ้ มีแต่วิปัสสนาให้เป็นผู้แพ้ตลอดไปเลย มันจะเผาตัวเองอยู่

พยายามอยู่ ความพยายามความวิริยอุตสาหะ ความเพียรชอบ ความเพียรชอบคือการต่อสู้นี้ชอบ จะต่อสู้ระหว่างกายกับใจนี้ ระหว่างไอ้ตัวจอกแหนไอ้ตัวที่เป็นจิตตัวไออุ่นนี้ ไม่ใช่ไปต่อสู้ที่อื่นหรอก “ชนะคนอื่นหมื่นแสนเพิ่มแต่ศัตรู เพิ่มแต่ความเจ็บปวดรวดร้าวกัน” ความชนะเรา เราว่าเราแพ้คนอื่น คนอื่นดูถูกเหยียดหยามเราว่าเราเป็นผู้แพ้

ผู้แพ้แต่ภายนอก แต่กาลสมัยของธรรมมันจะสว่างไสวในหัวใจ เพราะว่ากิเลสมันไม่ยอมแพ้ใคร กิเลสมันจะเอาชนะเขาทั้งนั้น เอาชนะตัวเอง หลอกตัวเองแล้วยังจะไปเอาชนะผู้อื่นอีก แต่นี้คนอื่นจะเหยียดหยามมาอย่างไรเรื่องของเขา เรื่องของโลก โลกธรรม ๘ มีโดยดั้งเดิม มีอยู่ดั้งเดิมโลกธรรม ๘ นี้มีอยู่แล้ว นินทา-สรรเสริญมีอยู่ตลอดเวลา เราปิดหูซะ ปิดหูแล้วมาพิจารณาของเรา นี่เข้ามาแล้วพิจารณาว่า แม้แต่ตัวเองยังหลอกตัวเองได้อย่างไร ทำไมถ้าเราเห็นสภาวะตามความเป็นจริง มันต้องเห็นจริงตามธรรม

เมื่อกี้สวด พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อกี้นี้เราว่าสวดธรรมคุณ คุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมไง ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นต้องสว่าง ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมผู้นั้นต้องเห็นธรรม รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง เราก็อยากจะเข้าไปถึงรสของธรรม ในรสของธรรมนั้นไม่มีรสไหนใหญ่เท่าวิมุตติรสนั้น ทุกคนก็ปรารถนา ทุกคนต้องก้าวเดินสิ การปรารถนาเปล่าๆ อยู่โดยที่ไม่ก้าวเดินมันจะปรารถนาไปแล้วได้อะไร

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพุทธภูมิ ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังต้องสละมาทั้งหมดตลอด สละจนชาติสุดท้าย แม้แต่ลูก แม้แต่ภรรยา สละหมด แม้แต่ชีวิตก็ยังสละได้ถ้าเขาขอชีวิต แต่เขาไม่ขอเพราะอะไร เพราะชีวิตนี้มันจะดำรงเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตนี้คือใจดวงนั้น ใจดวงนั้นมันต้องโดนกระชากออกไป ตั้งแต่ความทุกข์ยากอันนั้น ความรักความผูกพัน สิ่งใดในโลกนี้เท่ากับคู่ครองของตัว เท่ากับดวงใจ ลูกนี้เปรียบเหมือนดวงใจ แล้วชูชกมาขอ มากระชากออกไปจากใจ ใจนี้จะทุกข์ร้อนขนาดไหน

เราเองเจ็บปวดยังดีกว่าให้คนที่เรารักเจ็บปวด นี่ไงมันสะเทือนถึงใจ ใจดวงนั้นถึงต้องได้ความกระทบกระเทือนขนาดนั้น ถึงได้สะสมบุญบารมีมา มาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นผู้เป็นเอกเป็นศาสดาองค์เอกของพวกเรานี้ไง แล้วเราเข้าไปถึงใจของเรา ความทุกข์ของเราจะได้กระพี้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม ความทุกข์ที่ว่ามันต่อต้านเรา ที่มันหลอกลวงเรา มันจะไปเทียบกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันความทุกข์นี้มันเด็กๆ ทุกข์เล็กๆ ทุกข์เล็กๆ มันก็มีกำลังใจก้าวเดิน

วิปัสสนาไป วิปัสสนาไปแบบมันจะไม่รู้หรือไม่เห็นก็เรื่องของเขา แต่ต้องให้ถูกทาง ถูกทางมันหมายถึงว่ามันไม่เบี่ยงเบนประเด็น ถูกทางสติมันจะพร้อมอยู่ ออกนอกทางเขารู้ เหมือนเราขับรถถ้าเรามีสติสัมปชัญญะอยู่ รถจะตกขอบถนนเราก็ต้องรู้ “รู้” ถ้าวิปัสสนาโดยหลักความเป็นจริงจะรู้ตลอดไม่มีเลยที่จะเผลอ เผลอไม่ได้ ขนาดทำสมาธิอยู่ยังเผลอไม่ได้ ทำสมาธิอยู่ถ้าเผลอปั๊บตกวูบหาย ตกภวังค์ไปเลย แล้วนี่วิปัสสนาสติมันจะขาดตอนได้อย่างไร ถ้าขาดตอนไม่ได้มันจะเผลอไปไหน ถ้ามันไม่เผลอมันจะผิดพลาดไปไหน

เว้นไว้แต่โดนกิเลสหลอก ถ้าโดนกิเลสหลอกไม่ใช่เผลอ หลงตามกิเลสไปเลย ตกทะเลไปเลย นี่ความหลงอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่ดำริชอบ มันดำริในทางผิดพลาดไง ดำริในการที่ว่าสุกก่อนห่าม ขายก่อนซื้อ อยากจะให้เป็นผลก่อนที่มันจะเป็นตามสัจจะความเป็นจริง

แต่ถ้ามันดำริถูกต้อง หน้าที่การใส่ฟืนใส่ไฟคือหน้าที่ของเรา หน้าที่ของตบะธรรมจะแผดเผากิเลสให้ขาด ขาดไปหรืออย่างไรแล้วแต่กาลเวลา จริตนิสัยของกิเลสแต่ละดวงที่สะสมมาในใจต่างกัน ไม่ใช่ว่าให้ไฟ ๕ ท่อนนี้เผาแล้วสิ่งกิเลสจะหลุดจากดวงใจทุกดวงใจ...ไม่ใช่ บางคน ๒ ท่อนก็หลุด บางคน ๑๕ ท่อน บางคน ๓๐ ท่อน แล้วแต่ความยึดมั่นถือมั่นของใจที่สะสมกิเลสมาต่างกัน ถึงว่าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานวางไว้นี้มันน่าเคารพนะ

เพราะผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เห็นไหม ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีการเจาะจง ไม่มีการบังคับว่าต้องเป็นแบบนั้น อยู่ที่จริต อยู่ที่นิสัย อยู่ที่ควร ผู้ที่ปฏิบัติเข้ามาแล้วก็ยังหลงทางอยู่ มันถึงว่าเราต้องสงสารตัวเอง ยุคสมัยของเรานี่มืดบอด ยุคสมัยของเรา ในหัวใจเรานี่มืดบอด แล้วเราจะทรงธรรมทรงวินัยกันอย่างไร ถ้ายุคสมัยของเราจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาบ้าง มันควรจะมีสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะถามตัวเองไง ถามตัวเองแล้วไตร่ตรองตัวเองว่าตัวเองควรจะทำอย่างไร ควรจะอยู่อย่างไร ไม่ใช่ไปถามคนอื่นนะ ถามคนอื่นถามข้างนอก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน นี่การวิปัสสนาจะหมุนเข้ามาตรงนี้ไง

ถึงว่า ยุคสมัยก็ถูกต้อง ความเห็นก็ถูกต้อง ยุคสมัยถูกต้อง ยุคสมัย กาลเวลามันยังต่างกัน ปัจจุบันธรรม ฟังสิ อกาลิโก ไม่มีกาลไม่มีเวลา ปัจจุบันธรรม ปัจจัตตังรู้จำเพาะตนมันมาจากไหน ถ้าธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เลิศไม่ประเสริฐ ทำไมบัญญัติไว้ถูกต้องหมดล่ะ ให้ใครปฏิบัติก็แล้วแต่ ถึงตรงนั้นแล้ว ต้องไม่พ้นไปจากข่ายที่พระพุทธเจ้าวางด้วยปัญญาอันนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะพ้นออกไปจากที่ว่าเรารู้ขึ้นมาโดยที่ว่าเรารู้เอง ไม่มี

วิปัสสนาเข้า ถึงว่าถ้าเทียบมาอย่างนี้แล้ว วิปัสสนาเข้า มันเดินขึ้นมาเพราะใจเราพร้อมแล้วไง

๑. ใจเราพร้อม

๒. เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

แต่ถ้าวิปัสสนาไม่ได้เพราะว่ามันจับต้องไม่ได้ ถ้าวิปัสสนาได้วิปัสสนาไป วิปัสสนาไปเรื่อยๆ วิปัสสนาไปเรื่อยๆ จนกว่าจับจอกแหนขึ้นมาจากน้ำแล้วโยนขึ้นไปบนบก โยนขึ้นไปบนฝั่ง จอกแหนนั่นโดนแดดแผดเผา จอกแหนนั้นต้องตายไป

นี่เหมือนกันวิปัสสนากายกับจิต ถ้าพิจารณากายนะ กายจะแตกออก กายนี่ กายจะแปรสภาพไป มันเป็นที่พึ่งไม่ได้ เมื่อก่อนนี้เราว่าเราเป็นเรา กายเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา เรากับกายนี้เป็นอันเดียวกัน เราเกิดเป็นเรานี่เราไม่อยากตาย เรายึดมั่นถือมั่นในความเห็นของเรามากเลย ความยึดมั่นถือมั่นอันนี้มันยึดมั่นถือมั่นผิดไง มันยึดมั่นผิด พอมันเข้าใจตามความเป็นจริงเพราะมันแปรสภาพให้เห็น จิตนี้เป็นสัมมาสมาธิ มรรคอริยสัจจังหมุนไปโดยรอบ มันจะแปรสภาพ มันจะสลดสังเวชมาก

ใหม่ๆ ก็ปล่อยไปเรื่อยๆ ปล่อยไปเรื่อยๆ จนมันขาดออก ขาดออกคือว่ามันสมุจเฉทปหาน ขาดออกจากจอกแหน โยนขึ้นฝั่ง ขาดออกนี้มันมีขณะจิตที่พลิกขึ้น ขณะจิตที่พลิกขึ้นนี่คือสังโยชน์ที่ขาดออกไป

การที่ขาดออกไป อะไรขาด? สังโยชน์คือความเห็นผิด สักกายทิฏฐิ เห็นว่ากายเป็นเรา เราเป็นกาย กายเป็นทุกข์ ทุกข์เป็นเรา ความขาดออกไปจากสังโยชน์นี้ จอกแหนคือสังโยชน์ที่โดนผูกพันไว้ โดนจับขึ้นไปโยนอยู่บนฝั่ง จอกแหนนี้โดนตบะธรรมแผดเผาจนจอกแหนนี้ตายไป จอกแหนนี้ตายไป น้ำนั้นไม่มีจอกแหน น้ำที่ว่าเราแหวกออกไป สมาธิเข้าไปสัมผัสเฉยๆ กับที่ไม่มีจอกแหนเลย น้ำกับใจ ใจกับน้ำนั้นเป็นเนื้อเดียวกัน บนเนื้อเดียวกัน ขันธ์ ๕ ถึงได้เป็นจริง ขันธ์ ๕ เป็นจริงเพราะรูปเป็นจริง เวทนาเป็นจริง สัญญาเป็นจริง สังขารเป็นจริง วิญญาณเป็นจริง

จริงสิ จริงเพราะว่าขันธ์ ๕ สักกายทิฏฐิ ๒๐ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ความเป็นจริงของขันธ์ ๕ ความเป็นจริงเพราะรู้เท่า สังโยชน์มันขาดออกไป สักกายทิฏฐินี้ขาดออกไป ความเห็นผิดในวิมุตติมันไม่มี ต่างอันต่างจริง ต่างอันต่างจริง น้ำนั้นก็จริง ขันธ์นี้ก็จริงอยู่ด้วยกัน นี่อยู่ด้วยกันสบายเลย ถ้าเราชำระจอกแหนมันจะมีตรงที่ว่าสังโยชน์ขาดออกไป การขาดออกไปอันนี้ต่างหาก มันจะเริ่มตั้งแต่เงื่อนปมที่จับได้ จับจอกแหนขึ้นมาจากน้ำบ่อยๆ นั่นแหละ วิปัสสนาเรื่อยๆ จนความเห็นถูกต้องทั้งหมด

การจับจอกแหนที่พูดนี้มันเป็นวัตถุ แต่วิปัสสนาไปมันเป็นนามธรรม เป็นนามธรรมทั้งหมด แต่ถ้าวิปัสสนาไปจะเห็นด้วยตาธรรม พอเห็นด้วยตาธรรมนี่เข้าถึงธรรมไง เกาะธรรมติด “อัญญาโกญฑัญญะรู้แล้วหนอ” เห็นธรรม ดวงตาเห็นธรรม “อัญญาโกญฑัญญะรู้แล้วหนอ” เพราะเกาะธรรมนั้นติดแล้ว นี่คืออกุปปธรรม ไม่เสื่อมจากนี้ลงไปอีกแล้ว พอไม่เสื่อมจากนี้ลงไปอีกแล้ว นี่มีที่อยู่ที่อาศัย ธรรมนี้มี เกาะธรรมติดแล้วก็ก้าวเดินต่อไป วิปัสสนาขึ้นไป วิปัสสนาขึ้นไปอีก

ต้องทำใจ ทำใจจนกว่า “ทำใจ” หมายถึงทำสมาธิสูงขึ้นไป มรรคที่ ๑ใช้หมดไปแล้ว มันต้องมีมรรคที่ ๒ ขึ้นไป เรือน ๔ ชั้น เรือนไม่มีชั้นเดียว ตามหลักการพระพุทธเจ้าบอกอยู่แล้วว่าบุคคล ๘ จำพวกเรือน ๔ ชั้น ขึ้นถึงชั้นยอดถึงจะสุดสิ้นของการประพฤติปฏิบัติ มันถึงเป็นยุคสมัยของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเข้าถึงยุคสมัย

นี่มันเข้าถึงกาลเวลา อกาลิโก เข้าถึงธรรม เข้าถึงธรรมแต่ไม่เข้าถึงยุคสมัยเพราะมันยังมีความทุกข์อยู่ในหัวใจ ความผูกพันในกายยังไกล เห็นกายตามความเป็นจริงแต่ใจละหรือยัง ละแต่กายออกไป ใจนี้ละกายทิ้งออกไป แล้วหัวใจล่ะ ขันธ์ของใจอยู่ที่ไหน ขันธ์ของใจอยู่ไหน? เวลาเกิดเป็นเทวดาขันธ์ ๔ เกิดเป็นพรหมขันธ์ ๑ นี่ยังเป็นมนุษย์อยู่ เป็นมนุษย์ที่ว่าเกาะถึงธรรม เข้าถึงธรรม แล้วทำไมจะไม่ให้ธรรมนั้นรุ่งเรืองในยุคสมัยของตัวล่ะ

ทำใจทำความสงบเดินขึ้นไปด้วยสติสัมปชัญญะพร้อมอีกล่ะ สติสัมปชัญญะ ต่อไปนี้แล้วการจะผิดพลาด การจะผิดพลาดต่ำลงมาไม่มี การก้าวเดินขึ้นไป ทำไมพระอานนท์เป็นพระโสดาบันอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ตั้งแต่เป็นพระโสดาบันแล้วอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอีก ๒๕ ปี เป็นพระโสดาบันมาตลอด จนพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว

“อานนท์ เธออย่าเสียใจไปเลย เราปรินิพพานไปแล้ว พระอานนท์จะสำเร็จเป็นองค์ต่อไป” ถึงวันสังคายนาพระอานนท์สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่ยุคสมัยของพระอานนท์ พระอานนท์ยังสั่งสอนโลกไปอีก ๔๐ ปี พระอานนท์ดับขันธปรินิพพานเมื่ออายุ ๑๒๐ ปี เห็นไหม ๘๐ ปีเท่าพระพุทธเจ้าถึงตรัสรู้ ถึงจะบรรลุธรรมตอนที่ว่าพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ๘๐ ปี ยังสั่งสอนโลกยุคสมัยของพระอานนท์อีก ๔๐ ปี นี่ยุคสมัยของครูบาอาจารย์ที่ผ่านพ้นไป

แต่อันนี้ถ้าสักกายทิฏฐิขาดไปมันจะเข้าถึงธรรม เข้าถึงธรรมเท่านั้นเอง ทุกข์ในหัวใจยังมีอยู่ถึงต้องก้าวเดินต่อไป ก้าวเดินต่อไป ก้าวเดินไปด้วยก้าวเดินออกไปจากใจ ใจก้าวเดินออกไปเพื่อจะเข้ามาชำระล้างใจ ใจจะสว่างไสวขนาดไหนก็แล้วแต่ สว่างไสวพร้อมไปด้วยกิเลสล้วนๆ ความสว่างไสวคู่กับความเศร้าหมองตลอด ความสว่างไสวที่เรารักษาไว้ในหัวใจอันนี้ เพราะมันความสว่างไสวนี้มันเป็นความหลอกลวง เป็นความหลอกลวงที่กิเลสนี้มันจะเอาตัวรอด กิเลสนี้มันจะเอาหัวใจนี้เป็นที่อยู่อาศัยของมันตลอดไป ถึงจะเห็นธรรมแล้วแต่ยังต้องเกิดตายอยู่ กิเลสมันยังมีโอกาสหายใจครอบครองเจ้าวัฏจักร ครอบครองหัวใจเราเป็นที่อยู่อาศัยต่อไป มันครอบครองไปพร้อมกับความเกิดของเรา

ชาติปิ ทุกขา ความเกิดยังต้องมีอยู่ ความเกิดที่ไหนมีอยู่มันก็มีความทุกข์ต่อไป ความทุกข์ของผู้ที่ผู้บริหารกับความทุกข์ของผู้ที่ว่าเป็นผู้ติดตามเขา ความทุกข์ของเด็ก ความทุกข์ของผู้ใหญ่ นี่เหมือนกัน ความทุกข์ของผู้บริหาร ความทุกข์ของคนที่มีธรรม ไปเกิดตายมันก็มีความทุกข์ ความทุกข์เหมือนกันแล้วทุกข์มากกว่าด้วย เพราะคนจนก็จนเฉพาะคนจน คนรวยเวลาทุกข์มากต้องหาสิ่งที่มาบำเรอตัวเองมากกว่าเพราะอะไร

เพราะว่าเราเคยบำเรอตัวเองแล้วมากกว่า ผู้บริหารก็เหมือนกัน จิตที่สูงขึ้นก็เหมือนกัน ถึงว่าความทุกข์เป็นอริยสัจ ความทุกข์เป็นความจริง ความทุกข์เป็นความจริงอยู่แล้ว ทีนี้มันก็เสวยทุกข์ ทุกข์ของใครมันก็คือทุกข์ การเกิดการตายก็เกิดตายพร้อมกับความทุกข์อันนั้น ถึงว่า ยุคสมัยมันยังไม่ครบสมบูรณ์ ถึงต้องวิปัสสนาต่อไป วิปัสสนาต่อไปก็ยกขึ้นดูอีก ถ้าดูกายก็เห็นกาย พิจารณากายซ้ำได้ กายนอก-กายใน-กายในกาย นี่จอกแหนออกไปแล้วมันเป็นแค่ช่วงชั้นหนึ่งเท่านั้นเอง จอกแหนนี้ครูบาอาจารย์เพื่อเอามาแนะนำให้พวกเรามั่นใจในการวิปัสสนาเท่านั้นเอง

แต่จอกแหนเข้าไปแล้วมันเรืองแสงเข้าไปเรื่อยๆ ความเป็นไปภายใน นี่มันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันมีเงื่อนมีปม มีเงื่อนมีปมของความเห็นความเทคนิคของผู้ปฏิบัติจะเอาตัวรอดเข้าไปเรื่อยๆ เอาเข้าไปเรื่อยๆ ถึงว่ามันถึงเป็นปัจจัตตัง เป็นปัจจัตตังจำเพาะใจดวงนั้นๆ ดวงที่สะสมบารมีมา

ยกขึ้น ยกขึ้นไปเรื่อยๆ มันไม่นอนใจ ๑.

๒. ผู้ที่ปฏิบัติแล้วเข้าถึงธรรมมันจะพยายามขวนขวาย

คนเราอยู่กลางทะเลทรายไม่มีอาหารเลย แล้วพอเห็นว่ามีช่องทางว่าจะหาอาหารนี้ให้กับเราได้ทำไมมันไม่ขวนขวาย คนจะตายนะ ถ้ามีใครมาช่วยเหลือเรา มันจะเผ่นออกทางนั้นเลย นี้ก็เหมือนกัน จิตนี้เคยพิจารณามามาจนเห็นว่าทางนี้มันเกาะธรรมแล้ว

๑. เกาะธรรมแล้วเห็นช่องทางไป ผู้ที่ปฏิบัติถึงนี้แล้วกำหนดนะ ส่วนใหญ่จะกำหนดว่าจะให้กิเลสหมดวันนั้น วันนั้น วันนั้นเลยนะ ความคิดว่าตัวเองทำได้ไง พยายามจะค้นพยายามจะหาขึ้นไปให้ได้ แต่ทำไมพระอานนท์อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังติดอยู่ ๒๕ ปีล่ะ นี่ไง ทำไมนางวิสาขาเป็นพระโสดาบันแล้วตายไปพร้อมกับเป็นพระโสดาบันล่ะ ทำไมนางวิสาขาไม่ปฏิบัติให้พ้นไปได้ล่ะ ในเมื่อกิเลสเป็นธรรมแล้วมันไม่หลอก ถึงจะมีธรรมอยู่แต่ถ้าปฏิบัติไม่ได้อย่างนั้น มันก็อยู่ตรงนั้นตลอดไป นี่กิเลสส่วนที่ละเอียดขึ้นไปมันมีอยู่

กิเลสมันหดตัวเข้ามา กิเลส จอกแหนนี้มันผูกขันธ์กับจิตออกไป นี่เป็นเครื่องดำเนินของมัน เราสละออกขันธ์ข้างใน-ข้างนอกออกมาด้วยจอกแหนที่เป็นกิเลส ออกไปชั้นหนึ่งมันก็เข้ามาอีกชั้นหนึ่ง แต่ความผูกมัดภายใน จอกแหนมันเกิดมาจากอะไร? เกิดขึ้นมาจากเชื้อ จากเซลล์จากอะไรที่มันขึ้นมา จากที่มันเจริญเติบโตขึ้นมา นี่จอกแหนที่เป็นตัว แล้วเชื้อที่มันอยู่ภายในล่ะ นี่วกเข้ามา วกเข้ามามันก็ต้องรู้สิ รู้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากตรงนั้นเพาะเชื้อขึ้นมาได้อย่างไร พิจารณากายเข้าไป กิเลสมันละเอียดเข้าไป

ความมุมานะ ความจงใจ มันต้องละเอียดรอบคอบเข้าไป ความละเอียดรอบคอบเข้าไปมันจะเริ่มเอะใจ ความเอะใจ ความจับได้ เงื่อนปมที่เห็นกาย เงื่อนปมที่เห็นจิต ความเห็นหมายถึงว่าเห็นจำเลย เห็นจำเลยคือมีการยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าไม่เห็นจำเลยเราจะวิปัสสนาไปขนาดไหนมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เป็นความคิด เป็นวิปัสสนึก นึกไป วิปัสสนาไป เข้าใจว่ามรรค ๔ ผล ๔ พอจิตมันรวมหนหนึ่งก็ว่าอันนี้เป็นธรรม อันนี้เป็นธรรม มันแค่รวม มันมหัศจรรย์มาก จิตนี้มหัศจรรย์มาก

ถ้าว่าทำสัมมาสมาธิเพื่อจะเดินมรรคที่ ๒ ขึ้นไป ถ้าจิตมันสงบเข้าไป มันเวิ้งว้างหมดไง พอเวิ้งว้างมันจับต้องอะไรไม่ได้ ก็ว่าอันนี้เป็นผล เป็นผลของสกิทาคามี เป็นของอนาคามี เป็นถึงพระอรหันต์ขึ้นไป มันแค่เป็นความสงบไง กิเลสที่ละเอียดอ่อน เชื้อนี้มันยุบยอบตัวเข้ามา แต่ถ้าจับเงื่อนปมได้นี่สำคัญมากเลย จับเงื่อนปมคือจับเชื้อได้ เราเพาะเชื้อขึ้นมาได้ เรารู้อันนี้เชื้ออะไร เราสามารถชำระกิเลสได้ ถ้าเราไม่สามารถเพาะเชื้อขึ้นมา เราไม่เห็นเชื้อนี้ว่าคือเชื้ออะไร

เหมือนเราเป็นโรคแล้วเราไม่รู้ว่าเราเป็นโรคอะไร เราจะรักษาอย่างไร นี่คือความหลงของกิเลส ไม่ใช่ความหลงของธรรม ของธรรมแล้วมรรค ๔ ผล ๔ นี้บัญญัติไว้ นี่หลักการของศาสนา พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ครูบาอาจารย์ก็ชี้ไว้ตรงนั้น แต่เป็นผู้ที่ปฏิบัตินี้ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจแล้วความเป็นไปที่ว่าจิตมันสงบเข้าไป มันเวิ้งว้างเข้าไปว่าอันนี้มันเป็นผล พออันนี้มันเป็นผลขึ้นไป มันก็หลวมตัวไป หลวมตัวไปก็อยู่ตรงนั้นล่ะ ความจริงมันกับความที่เราเห็นมันต่างกัน ความจริงคือความจริงวันยังค่ำ

ยุคสมัยของดวงใจที่ปฏิบัติถึงความจริงต้องเป็นความจริง ยุคสมัยของดวงปฏิบัติมาเข้ามาถึงถึงจุดหนึ่งแล้วหลงตัวเองไป มันก็เป็นยุคสมัยของดวงนั้น เป็นความอาภัพวาสนาของใจดวงนั้นที่ไม่สามารถทำยุคสมัยให้สว่างขึ้นกลางใจของตัวได้

ถ้ายุคสมัยสว่างขึ้นมากลางใจของใจดวงใดดวงหนึ่ง ใจดวงนั้นจะเป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ เป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ไป เป็นที่พึ่ง เป็นผู้ชี้นำทางออกให้บริษัท ๔ ต่อไป ผู้ใดก็แล้วแต่ที่ประพฤติปฏิบัติอันนี้ต้องพยายามเจาะจงเข้ามาให้ความยุคสมัยของใจดวงนั้นให้ขึ้นมาให้ได้

ถึงว่า ความเพาะเชื้อนี้มันเป็นสิ่งที่ละเอียด กิเลสนี้มันก็ละเอียด มันก็หมุนเข้ามาสิ หมุนเข้ามา ถ้ายังรวมไปเฉยๆ แล้วว่าเป็นไป อยู่ตรงนั้นเป็นความหลงของตน โทษใครไม่ได้เลย โทษแต่ว่าตัวเองวาสนาน้อย โทษแต่ตัวเองว่าตัวเองไม่มีความละเอียดรอบคอบพอ แต่ถ้าผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบ ผู้ที่รักตัวสงวนตัว ผู้ที่กลัวทุกข์ ผู้ที่กลัวเกิดอยู่ไง กลัวกิเลส กลัวกิเลสแล้วต้องชำระกิเลส ไม่ใช่ไปส่งเสริมกิเลส

หันเข้ามา หันเข้ามาพิจารณาจิต ขันธ์ของจิต ขันธ์ของจิตที่มันยึดมั่นถือมั่น พิจารณาเข้าไปมันจะปล่อยวางอุปาทานของกาย อุปาทานของใจ ปล่อยให้กายกับใจนี้แยกออกจากกัน รวมใหญ่ การรวมใหญ่ด้วยวิปัสสนาญาณ ด้วยมรรคอริยสัจจัง นี่จอกแหนหลุดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เชื้อเพาะเชื้อหลุดเข้าไปเป็นชั้นที่ ๒ ขึ้นไป

ขึ้นไปถึงชั้นที่ ๓ ยิ่งการจับต้องนี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่เพราะอะไร เพราะเป็นจิตแล้ว จิตกับกายมันจับต้องได้เพราะมันเป็นรูปธรรม จิตล้วนๆ จับต้องอะไรเป็นมัน จิตล้วนๆ จิตล้วนๆ นี่เป็นกามล้วนๆ นี่จับต้องอันนี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ แล้วไปแหวก แหวกกันตรงไหน? มันแหวกไม่ได้ มันต้องจับต้อง วิปัสสนา

นี่จับต้อง ครืนครานเลยนะ ปมเงื่อนปมอันนี้พอจับต้องได้ เพราะจับต้องได้อันนี้มันตัดถึงกามภพแล้ว พอจับต้องได้อันนี้การวิปัสสนายิ่งละเอียดเข้าไป ความหลงอันนี้ที่ว่าข้างล่างหรือว่าหลงๆ เล็กน้อยมาก เพราะมันเป็นสติปัญญา สติกับปัญญาเท่านั้นที่เราสะสมขึ้นมา ถ้าขึ้นไปถึงตรงนั้นต้องเป็นมหาสติ-มหาปัญญา

การกีฬาที่เขาเวลาเขามีปัญหากันในกีฬา จังหวะ ๑ จังหวะ ๒ โทษจังหวะ ๑ จังหวะ ๒ มันเป็นจังหวะเดียวเพราะจิตล้วนๆ จิตล้วนๆ นี่มันออกเลยไง ธรรมดา สายการเดินของใจ จิตปฏิสนธิ ขันธ์ ๕ ออกมาถึงกาย แต่ขณะที่ว่าเป็นจิตล้วนๆ มันไม่ต้องผ่าน ไม่ผ่านออกมาที่กายแล้ว ในดวงจิตนั้นมันคิดเองเลย มันคิดเอง มันดูเอง มันเสพเอง มันเป็นกามราคะเอง มันเป็นโอฆะเอง เห็นไหม ถ้าพิจารณาตรงนี้ พิจารณาจิตนี้ พิจารณาเชื้อ เพาะเชื้อของจอกแหนภายในที่ลึกเข้าไปอีก จนพลิกฟ้าคว่ำดิน พลิกฟ้าคว่ำดินอันนี้มันจะขาดออก ระบือลือลั่นโลกธาตุนี้หวั่นไหวไปหมด

เพราะมันไม่เกิดในกามภพอีกแล้ว มันจะหวั่นไหว มันจะหวั่นไหวไปทั่วเลย หวั่นไหวมันสะเทือนถึงหัวใจ สะเทือนถึงขั้วหัวใจ เพราะว่าเราจะไม่เกิดในกามภพอีกแล้ว ขันธ์ของใจขาดหมด มันถึงจะเข้าไปเห็นจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้ที่ว่าเป็นกิเลสแท้ๆ จิตเดิมแท้นี้เป็นกิเลสแท้ๆ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นความผ่องใส มันเป็นสว่างไสว มันเป็นจิตปฏิสนธิที่มันครอบไว้ด้วย ที่เราเป็นมนุษย์สมบัตินี้ มีสิ่งนี้มาครอบอยู่ เข้าไปถึงจิตเดิมแท้นี้ เข้าไปแล้วไปถึงมันจะเห็นแต่ความเวิ้งว้าง จับต้องไม่ได้

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามร่องรอยของครูของอาจารย์ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ ถึงจะรู้ถึงว่าการหากิเลส การขุดคุ้ย การขุ่ยเขี่ยการจับต้องหาจำเลยนี้เป็นงานอันประเสริฐมาก ถ้าใครจับต้องได้ก็เหมือนกับข้าราชการสอบเข้าทำงานได้ ถ้าเราเข้าทำงานได้ เราก็มีตำแหน่งหน้าที่การงาน ถ้าเราไม่มีตำแหน่งหน้าที่การงานเราก็เป็นคนตกงาน

นี่ก็เหมือนกันวิปัสสนาขนาดไหน ถ้าจับเงื่อนปมไม่ได้ก็เหมือนคนตกงาน มันจับงานไม่ได้แล้วเอาอะไรไปวิปัสสนาล่ะ มันต้องจับงานให้ได้ก่อน มันต้องเข้าสมัครงานจนผ่านงานเข้าไป เราถึงจะมีตำแหน่งหน้าที่การงานเข้าไปทำงาน

เราจับเงื่อนปมได้ช่วงไหนแล้วแต่ นั้นคือเหตุให้เรายกขึ้นวิปัสสนา ถ้าเราจับเงื่อนปมไม่ได้ แล้วเงื่อนปมจิตแท้ๆ นี่จับแสนยาก ผู้ที่ปฏิบัติมาจะหลงตรงนี้ทั้งหมด ทั้งหมดเลย ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยหลงทางตรงนี้เพราะต่างคนต่างเข้าใจว่ามันว่างหมดแล้ว ทุกคน เราสละทุกคนออก เราสกปรกมา ร่างกายสกปรกมา เราชำระล้างร่างกายจนสะอาดหมดแล้ว ใครว่าทำไมเราชำระความสกปรกออกจากกายไม่ได้ ทุกคนต้องว่าเราสะอาดใช่ไหม แต่สะอาด สะอาดแต่กายไง เดี๋ยวมันก็ขับเหงื่อไคลออกมาอีกแล้ว

จิตนี้ก็เหมือนกัน มันมีแต่จิตล้วนๆ มันไม่มีขันธ์ มันไม่มีสิ่งใดเลย พอไม่มีสิ่งใดจะไปจับต้องมันอย่างไร ถึงทุกคน ผู้ปฏิบัติทุกองค์จะหลงตรงนี้ หลง ต้องหลง แต่เพราะมีครูมีอาจารย์มันถึงว่าเป็นวาสนาของเรา มีครูมีอาจารย์อยู่ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่ามันถึงจิตเดิมแท้เท่านั้น จิตเดิมแท้เป็นกิเลสแท้ๆ ผู้รู้คืออวิชชา สิ่งนี้มันเป็นตัวขับเคลื่อนออกมา นี่คือจิตปฏิสนธิ ตัวนี้ต่างหากที่ตัวพาเกิดพาตาย

เราชำระขึ้นมาตั้งแต่ขันธ์ขึ้นมาเฉยๆ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงอาการรอบข้างของตัวมันเอง แต่เราไม่เคยเจอตัวมันเองเลย แล้วก็หาตัวมันเองไม่เจออีกด้วย เปรียบเหมือนกับที่ว่าบ้านนี้ว่าง บ้านนี้เวิ้งว้าง เราเข้าไปในบ้านนั้นเราเข้าไปอยู่ ไม่มีใครอยู่ บ้านนี้ว่าง บ้านร้าง บ้านร้างแล้วไอ้คนที่พูดว่าบ้านร้างอยู่ที่ไหน ไอ้คนที่ไปเห็นความเวิ้งว้างคนนั้นคือใคร นี่ตามันส่งออกไปข้างนอกมันก็ว่าบ้านนี้เวิ้งว้าง แต่เพราะเราคนเดียวเข้ามาขัดขวางความว่างนั้น เรามายืนอยู่ตรงนั้น

นี่เหมือนกัน ใคร่ครวญ ใคร่ครวญดูจิตอยู่ ครูบาอาจารย์บอก ทั้งชี้แนะด้วย มันจะค่อยๆ ดู สิ่งที่ว่างๆ มันทำไมต้องทรงไว้ล่ะ สิ่งที่ว่างๆ มันเฉาได้ด้วยล่ะ สิ่งที่ว่างๆ ทำไมมันมีความทุกข์อันละเอียดอยู่ในใจล่ะ เห็นไหม ความทุกข์อันละเอียดที่มันอยู่ในใจนั้นน่ะ มันละเอียดมันเผาไหม้อยู่ไง ในเมื่อมันมีเชื้ออยู่ มันเผาไหม้อยู่ นั่นคือจิตเดิมแท้ไง กว่าจะจับต้องไว้ได้ จับต้องตรงนี้ได้ยิ่งมหัศจรรย์ มหัศจรรย์ล้ำลึก การจับเงื่อนปมถึงเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก แต่ทำไมมองข้ามการจับเงื่อนปมไปว่าเป็นวิปัสสนาไปหมดล่ะ มหัศจรรย์ล้ำลึกแล้วถึงได้วิปัสสนาอีกหนหนึ่ง นี่ไง มรรค ๔ ผล ๔

ถึงว่า นี้สิ้นไป ถึงจะเป็นยุคสมัยไง กาลสมัยของธรรมเจริญในหัวใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเป็นธรรมล้วนๆ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง วิมุตติรสนี้ชนะทั้งหมด รสอันนี้เป็นสิ่งที่ปรารถนาของบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาที่ประพฤติปฏิบัติที่เป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ธรรม ที่จะเอาธรรมนั้นมาแนบในดวงใจดวงนั้น ในดวงใจที่ว่าเป็นกาลสมัยของธรรม กาลสมัยของดวงใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเสวยธรรมอันนั้นถึงเป็นยุคสมัยของใจ เป็นที่พึ่งของหมู่คณะไป เป็นผู้ซึ่งชี้ธรรมไป

แต่ก่อนจะชี้ให้ใครก็ชี้ให้ตัวเองหลุดพ้นมาก่อน แล้วให้ใจดวงนั้นได้เสวยความสุขในหัวใจ วิมุตติสุข ใจดวงนั้นมีความสุขมาก ความสุขแปลกโลก โลกนี้ไม่มีอย่างนั้นอีกแล้ว ใน ๓ โลกธาตุนี้ก็ไม่มี ไม่มีหรอก มีแต่ใจดวงนี้ดวงเดียว ดวงที่เข้าถึงธรรมอันนั้น นั่นน่ะ เสวยวิมุตติ สุขมีสุขในใจก่อน คนจะสอนคนอื่น คนจะทำบุญให้คนอื่น ชี้ทางให้คนอื่น

๑. ต้องเคยผ่านทางนั้น

๒. ไม่เป็นคนอดอยากหิวโหย ไม่เป็นคนต้องการสิ่งใดๆ อิ่มพอในใจดวงนั้น ใจดวงนั้นอิ่มพอถึงจะเป็นที่พึ่งได้เพราะมันไม่เป็นที่คลอนแคลน เป็นที่มั่นใจได้

เป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตายของเราชาวพุทธที่จะหาที่พึ่งอย่างนั้น ๑.

๒. ปฏิบัติให้ใจเป็นอย่างนั้นอีกหนึ่ง

เพราะหาที่พึ่งก็พึ่งเพื่อนี้ไง พึ่งเพื่อจะประพฤติปฏิบัติให้ความสว่างไสว ให้ยุคสมัยของเรา ของเรานะ ของเราผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้นให้ถึงธรรม เป็นยุคสมัยของเรา จากที่ว่าเราก้าวเดินมาจากเล็กๆ น้อยๆ จากก้าวเดินมาด้วยการทำทาน ด้วยการรักษาศีล แล้วก็ประพฤติปฏิบัติ แล้วก็ต้องกัดฟันทนนะ ขณะประพฤติปฏิบัติต้องกัดฟัน ธรรมนี้เป็นของจริงเข้ากับคนจริง ธรรมนี้เป็นของจริงไม่เข้ากับคนเหลาะแหละ คนเหลาะแหละ คนไม่จริง แล้วจะเอาเข้าจริงได้อย่างไร ภาชนะจะใส่ธรรมไง ภาชนะจะใส่ธรรม ของที่มีคุณค่าเราเก็บเข้าตู้เซฟ ของที่มีคุณค่าเราทำภาชนะมาที่มีคุณค่ามากมาใส่ของที่มีคุณค่านั้น

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมนี้มีคุณค่าสูงสุด ไม่มีดวงใจที่ดวงใจไหนเลยที่ว่ามีสิ่งในโลก สมบัติในโลกประเสริฐเท่าดวงใจของคน ดวงใจของคนมันมีความรู้สุขรู้ทุกข์ สมบัติข้าวของเงินทองบริขารบริวารต่างๆ มันไม่มีความสุขความทุกข์ในตัวมันเอง มันเป็นเครื่องอยู่อาศัยเท่านั้น หัวใจของคนมีความรู้สึกว่าทุกข์ว่าตรอมตรม ธรรมอันนี้เข้าไปชำระ หัวใจถึงเป็นภาชนะที่สมควรแก่ธรรม ธรรมอันนี้เข้าไปกำจัดชำระทุกข์อันนั้นได้

ถึงว่าคนจริงหัวใจจริง การประพฤติปฏิบัติจริง ถึงการประพฤติปฏิบัติต้องกัดฟันทน ต้องมีความวิริยะ มีความอุตสาหะ มีความตั้งใจจริง แล้วจะเข้าถึงธรรมดวงนั้นให้ยุคสมัยของเราขึ้นมา เจริญในใจของเราให้ได้ ยุคสมัยของเรานะ ฟังสิ “ของเรา” ของผู้ปฏิบัติมันจะได้มีกำลังใจ ยุคสมัยของเราก็หาได้เพราะเรามีลมหายใจเข้า มีลมหายใจออก มีหัวใจที่จะไปใส่ธรรมนั้นได้ไง

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้วก็เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไป ธรรมของครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น หลวงปู่ชอบ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาวนิพพานไปก็เป็นธรรมของยุคสมัยของท่าน

แล้วยุคสมัยของผู้ที่ปฏิบัติอยู่นี้ล่ะ นี่ไง ถึงว่าให้พูดมาเพื่อให้กำลังใจตัวไง ให้เรามีกำลังใจ ให้เราก้าวเดินออกไปได้ ให้เราเป็นว่าทำได้ มรรคผลมีอยู่ นรกสวรรค์ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)