เทศน์บนศาลา

ประเพณีลอยกระทง

๒๒ พ.ย. ๒๕๔๒

 

ประเพณีลอยกระทง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตามประเพณีนะ ประเพณีการลอยกระทง ถ้าใช้ประเพณีตามโลก โลกเขาใช้ประเพณี โลกเขาใช้ เห็นไหม ใครจะตีความทางศาสนาล่ะ ใช้ในความกิเลสมันพาใช้ โลกพาใช้คือกิเลสพาใช้ พาใช้เพื่อความสนุกความเพลิดเพลินของตน เพื่อความสนุก เพื่อความเพลิดเพลิน เพื่อความติดข้อง กามคุณ ๕ กามคุณ กามเป็นคุณ เป็นคุณสิ เป็นคุณว่าถ้าใช้เป็นประโยชน์ ถ้าใช้มันเกินไป มันเป็นกามโทษ กิเลสพาใช้เหมือนกัน

วัฒนธรรมประเพณี “การลอยกระทง” ลอยกระทงเป็นการปกครอง แล้วแต่ว่าจะตีความในศาสนาต่างกันอย่างไร ในลัทธิ ในพื้นที่ต่างๆ ก็ตีความหมายต่างกันไปในการลอยกระทงที่เขาว่ากันไป แต่นั้นเพราะว่ามีมหรสพ มีความพาใช้ ความเป็นหมู่ชน ความหมู่ชนประเพณี เราก็ตามประเพณีไป ตามประเพณีเพราะอะไร เพราะเราไม่รู้ตามเขา เราไม่รู้ตามความเป็นจริง รู้ตามความสื่อ เขาสื่อกันไปว่าลอยกระทงได้ประโยชน์อย่างไร มีบุญกุศลอย่างไร ก็ว่ากันไป ลอยกระทงกันข้างนอกเข้าไป

แต่ตามหลักของศาสนานะ การลอยกระทงอันนี้มันเป็นแบบอย่าง ประเพณีวัฒนธรรม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญบารมีมา จะเป็นพุทธภูมิมา จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านะ จะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขนาดมาเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแล้ว แต่ขณะที่เกิดมากิเลสพาเกิด การเกิดทั้งหมด การเกิดไม่มีธรรมพาเกิด กิเลสพาเกิดเพราะธรรมยังไม่มีในหัวใจ การเกิดมาเป็นมนุษย์นี้กิเลสทั้งหมดเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะมา เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร มีความสุขมากในทางโลก มีความสุขมากเพราะในโลกนี้จะมีสถานะของใครจะสูงส่งเท่ากับกษัตริย์

กษัตริย์ที่ปกครองหมู่ชนอยู่ ทุกอย่างศูนย์กลางอำนาจ ศูนย์กลางความสะดวกสบาย จะรวมอยู่ที่นั่นหมดเลย นั่นน่ะ เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ อยู่ในความสุขของโลกเขานี่เพราะสร้างสมบุญบารมีมา บุญบารมีสร้างสมมาแล้ว เกิดมาก็ยังกิเลสพาเกิดกลายเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ อยู่ก็ขนาดมีความสุข เขาปรนเปรอขนาดไหน มันก็ยังมีความเฉาในหัวใจ

ไปเจอยมทูตทั้ง ๔ “โอ้! คนเรามีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตายหรือ”

เขาขนาดไม่ให้เห็นเรื่องการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ที่ว่าเกิดมาแล้วก็อยู่กันไปอย่างนั้นน่ะ นี่กิเลสพาเกิดมา เกิดมาก็ยังหลงระเริงไปในนั้น จนมีความสลดใจเห็นยมทูตทั้ง ๔ “การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เราก็ต้องเป็นอย่างนั้นหรือ แล้วเราจะมาหลงอยู่ทำไมในกามคุณนี้” นี่กามคุณนี้เป็นคุณเพราะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แต่เราจะหลงอยู่ในกามคุณนี้อีกไปทำไม

ถ้ามีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันก็ต้องมีฝ่ายตรงข้าม ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แต่อยู่ที่ไหนล่ะ ถ้าเราจะมาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตายอยู่นี้ อยู่ในกองทุกข์อยู่อย่างนี้ เราจะมาเพลิดเพลินอยู่ทำไม นี่เพราะปัญญาอย่างนี้ ปัญญาที่ว่าสร้างสมมาเป็นพระพุทธเจ้า ถึงมีปัญญาคิดแยกออก ไม่ใช่ปัญญาเชื่อตามโลกเขาไป ประเพณีมาอย่างไรก็จะตามประเพณีไปอย่างนั้น กรงขังของกิเลสสะสมมาอย่างไรก็ต้องให้อยู่ในกรงขังนั้นเหรอ ไม่หาทางออก

แต่ไม่มีใครออกได้เพราะว่าธรรมะนี้เป็นของกว้างขวางมาก เป็นของลึกซึ้งมาก ลึกซึ้ง เส้นผมบังภูเขา บังอยู่ในหัวใจเราเท่านั้น บังอยู่ในหัวใจทุกๆ ดวงไง ใจทุกๆ ดวงที่ว่าเป็นภาชนะใส่ธรรม คือเข้าสัมผัสธรรมได้ แต่มองไม่เห็นเพราะ ตัวเราเองเรายังไม่รู้จักเลย รู้จักแต่สมมุติว่าพ่อแม่ตั้งให้ นี่การแสวงหาทางออกมันถึงไม่มีทางเป็นไปได้

แต่เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นสยัมภู ตรัสรู้ด้วยตนเอง สร้างสมบารมีมาอยู่แล้ว ถึงได้เฉลียวใจหาทางออกไปไง หาทางออก ออกหาโมกขธรรม ออกหาโพธิญาณ ออกไป ออกไปออกบวช ทุกข์มากนะ ออกบวชไปแล้วเพราะว่ามีความเป็นสถานะของกษัตริย์ มีความสุขสบายมาตั้งแต่เด็กจนเป็นอายุ ๒๙ ปี จนอายุขนาดนั้นมีแต่ความสุขความสบายมาแล้วออกไปผจญโลกโดยที่ว่ายังไม่มีศาสนา มีแต่ลัทธิต่างๆ ที่เขาสอนกัน แต่ศาสนาพุทธยังไม่มี ความเชื่อถือยังไม่มี ไปหาความทุกข์ขนาดไหน ออกไปเผชิญทุกข์ ความอยู่ความกินจะแบบเดิมอีกไม่ได้เพราะอะไร

เพราะการแสวงหาออกจากกิเลส ความแสวงหาการไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย จะแสวงหาทางไหน มันก็ต้องแสวงหาด้วยความคิดเดิมของตัวไง คือว่าที่ไหนเขามีการสั่งสอน ที่ไหนมีวิชาการก็ไปเรียนที่สำนักนั้น เรียนทุกสำนัก วิชาการในสมัยนั้น คนที่พยายามจะทำออกจากกิเลสด้วยการทรมานตนขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำได้มากกว่า

เพราะในตำราบอกไว้ ท่านสั่งในพระไตรปิฎกว่าสิ่งที่โลกเขาทำกัน สิ่งที่ทำอัตตกิลมถานุโยค ไม่มีใครทำอุกฤษฏ์เท่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทำมาทั้งหมดเลย เป็นไปไม่ได้ มันมีทางออกไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเป็นการทรมานตน ไม่ใช่เป็นการทรมานกิเลส

กิเลสมันอยู่ในหัวใจ การอดอาหาร การกลั้นลมหายใจ มันทรมานที่กายทั้งนั้นเลย มันทรมานกายแล้วคิดว่าตัวเองจะพ้นออกไปจากทุกข์ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ากิเลสมันอยู่ที่ใจ แต่เรื่องของใจ เรื่องของความคิดตอนนั้นยังไม่มี เพราะพระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ จนไม่มีทางออก เห็นไหม สลบถึง ๓ หน ทุกข์ขนาดไหนสลบถึง ๓ หน

จนวันสุดท้ายกลับมาฉันอาหารใหม่ แล้วตั้งใจคิดถึง คิดถึงว่าตอนที่เป็นเด็กอยู่โคนต้นหว้านะ อานาปานสติ ทำให้ขนาดว่าสมัยนั้นมันมีความสุข ย้อนกลับไปนะ บารมีของตนเอง ความเห็นที่เป็นกลาง จิตที่ควรจะเป็นกลาง ควรแก่การงาน นี่อานาปานสติอันนั้นน่ะ ย้อนกลับไปถึง แล้วก็ออกมาเริ่มฟื้นฟูร่างกายใหม่

พอดีนางสุชาดาจะถวายอาหารแก่เทวดาด้วย เป็นฤกษ์ของเขา นี่ความเหมาะเจาะนี้คือวาสนาบารมี ความเหมาะเจาะของนางสุชาดาว่ากำลังจะทำบุญอยู่พอดี แล้วเจ้าชายสิทธัตถะก็มานั่งอยู่ที่นั่น ได้เข้าไปถวายข้าวด้วยถาดทองคำ ด้วยข้าวมธุปายาส ถวายเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ฉันข้าวนั้น แล้วลอยเสี่ยงทาย เสี่ยงทายให้ถาดทองคำนี้

“ถ้าเราจะตรัสรู้ได้ เราจะถึงโมกขธรรม ถาดนี้ขอให้ลอยทวนน้ำไป ถ้าเป็นไปไม่ได้ขอให้ถาดนี้ลอยตามน้ำไป”

พอฉันข้าวเสร็จ อธิษฐานแล้วลอยถาดไป ถาดนี้ลอยทวนน้ำขึ้นไป ลอยทวนน้ำขึ้นไป อยู่ในตำราบอกไว้ ลอยทวนน้ำขึ้นไปจนจมลงตกลงไปซ้อนเป็นใบที่ ๔ อยู่ใต้บาดาลนั้น นี่บารมี ประเพณีของความเป็นจริงมันต้องมีข้อเท็จจริงการสะสมบุญบารมีอันนี้รองรับด้วย เจ้าชายสิทธัตถะลอยไป ลอยความเห็นผิด ลอยมิจฉาทิฏฐิ ลอยอัตตกิลมถานุโยคที่ตัวเองปฏิบัติมาแล้วมันก็ไม่ได้ผล แล้วกลับมาทำตามความเป็นจริงของที่ว่าโดยสะสมบุญญาบารมีมา สะสมขึ้นมา แล้วขึ้นมาเป็นอานาปานสติ กำหนดจิต กำหนดจิตว่าให้สงบเข้าไปก่อน สงบเข้าไปแล้ว จิตมันธรรมดามันเข้าไปถึงเปลือกของจิต เข้าไปถึงข้อมูลเดิม เป็นบุพเพนิวาสานุสติญาณ ความจำ ขันธ์ต่างๆ ที่รวมลงแล้วมันย่อยสลายกลายลงอยู่ในอวิชชานั้น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ

ในสัญญา ในจิตเดิมแท้ ในจิตปฏิสนธิจิตนั้น ไม่ใช่จิตที่เป็นจิตขันธ์ ๕ นี้ นี่จิตมันรวมลงเข้าไป เพราะมรรคอริยสัจจังยังไม่ก้าวเดินออกไป ถึงว่าลึกเข้าไปถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนกลับไปเห็นการเกิดและการตายของตัวเอง ของตัวเองที่ว่าเห็นชัดๆ ว่าเกิดและตายมากี่ภพกี่ชาติ ย้อนกลับไป ย้อนกลับไป นั่นน่ะ ย้อนเข้าไปถึงตรงนั้น ส่งไปตลอด ส่งไปตลอด ส่งไปเท่าไรก็ไม่มีที่สิ้นสุด

การเกิดและการตายนี้ไม่มีต้นไม่มีปลาย โลกนี้หมุนเวียนมาตลอด จิตวิญญาณนี้ก็เกิดตายมาตลอด ความทุกข์ที่เห็นว่าตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะว่าเกิดมาแล้วต้องตายอยู่อีกหนอ นี่การสะสมมา สะสมมาเพื่อให้บารมีเต็มแล้วนะ เห็นตั้งแต่เปลือกๆ เห็นด้วยตาเนื้อก็ยังสลดใจ ยิ่งมาประพฤติปฏิบัติ ยิ่งมาแสวงหาโมกขธรรม ย้อนกลับเข้าไป จิตมันย้อนกลับไปบุพเพนิวาสานุสติญาณ เห็นจากภายใน เห็นจากตาของใจ เห็นจากตาของธรรม แต่มันยังไปเห็นเปลือก ไม่มีที่สิ้นสุด มันยิ่งสลดสังเวชมากเข้าไปใหญ่

นี่คนที่สะเทือนหัวใจ คนจะพ้นจากทุกข์ ใจจะพ้นจากทุกข์ เวลาเข้าไป เข้าไปสะเทือนถึงหัวใจมันจะหวั่นไหวไปหมด ย้อนไปเท่าไรก็ไม่ใช่ ย้อนกลับมา ดึงกลับมา ดึงกลับมากำหนดจิตเข้ามาให้รวมเข้าไปอีก ส่งดูออก นี่การประพฤติปฏิบัติมันมีทางถูกและทางผิด ขนาดนี้ว่าเข้าทางแล้ว แต่มันไม่เข้าทางมัชฌิมาปฏิปทา มันยังเอียงซ้าย เอียงขวาอยู่ เอียงซ้ายไปก่อน บุพเพนิวาสานุสติญาณ เอียงกลับมาอีก

พอจิตสงบลงไป ส่งออกมาดู ออกมาดูคือการฝึกฝนไง ออกมาดูออกไปก็เป็นจุตูปปาตญาณ สัตว์เกิดแล้วตายแล้วไปไหน เกิดดับเกิดดับ ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด เกิดเป็นอนาคตไปไม่มีที่สิ้นสุด ทุกดวงใจตายแล้วต้องเกิดหมด แม้แต่ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ ตายไปก็ต้องเกิดอีก

แต่นี้เพราะบารมีเต็มไง ไม่ไป ส่งไปดูแล้วมันก็สลดสังเวชว่ามันมีเท่านี้ วัฏวน แก่นของวัฏฏะมันมีเท่านี้ คือการตายและการเกิด ความทุกข์ต่างๆ ที่สะสมมานี้ มันไปเสวยภพชาตินั้น ถึงไปเจอต่างหากใช่ไหม นี่เห็นว่ามันเป็นพื้นบาทฐานที่รองรับคือชีวิตนี้ คือการเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นในสังสารวัฏนี้ต่างหากล่ะ มันไปมีผลขึ้นมา

ทิ้งอีก ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาดู นี่เอียงซ้ายเอียงขวาแล้วก็ลงสู่ตรงกลาง ย้อนเข้าไปถึงก้นบึ้งของความคิด อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ อาสวักขยญาณเกิดขึ้น ดับหมด อาสวักขยญาณ ญาณที่กำจัดอาสวะกิเลสทั้งหมดไง อวิชชาคือความไม่รู้ ความไม่เห็น ความรู้ของมันรู้โดยพลังงานเฉยๆ แล้วส่งออกไปเป็นซ้ายเป็นขวา ตอนนี้วิชชาเกิดขึ้นไง อาสวักขยญาณเกิดขึ้น ชำระกิเลสขาดหมด ขาดหมดเป็นวิชชาขึ้นมา เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา นี่มรรคอริยสัจจังอยู่ตรงนี้ไง

พออยู่ก็เสวยวิมุตติสุข เสวยวิมุตติสุขไป นั่นน่ะ เพราะการเสี่ยงทาย เสี่ยงทายไปจากการที่สะสมมา แต่เราเสี่ยงทายกันด้วย เราเสี่ยงว่าการลอยกระทงนี้จะเป็นบุญกุศลขึ้นมา บุญกุศล มันเป็นบุญกุศลที่ไหน เพียงแต่เป็นแบบอย่างประเพณีที่เราเลียนแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลอยถาดทองคำออกไปพร้อมกับบารมีที่สะสมมาเต็ม แล้วยังต้องกลับมาประพฤติปฏิบัติอีกใช่ไหม แล้วของเราลอยไปแล้วมันจะบุญกุศล เอาบุญกุศลมาแต่เปลือกๆ ได้อย่างไร มันก็ต้องประพฤติปฏิบัติอีกใช่ไหม นี่คือหลักการ ว่าถ้าเรายึดในหลักการของศาสนา เราเชื่อในศาสนาของเรา เราจะตีความศาสนาในทางไหนล่ะ เราจะตีความศาสนาในทางมวลชนเหรอ กระแสตื่นโลกไปอย่างนั้นเหรอ

ถ้าเราตีความศาสนา ศาสนานี้ไม่ใช่ของเล่น โลกเขาตีความเล่น มีมหรสพ มีความสมโภช มีความเฉลิมฉลองกันตลอด ปีหนึ่งขอเมาสักหนหนึ่ง ปีหนึ่งของเพลิดเพลินไปสักหนหนึ่ง อันนั้นมันไม่ใช่ มันก็อยู่ในวังวนของกิเลสทั้งหมด เห็นไหม เราต่างหากเป็นชาวพุทธ เราต่างหากยึดหลักการของศาสนา เราต่างหากจะหาทางออกจากกิเลส เราก็ต้องยึดหลักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์ศาสดา เป็นครูองค์เอกที่เป็นผู้แบบอย่างที่เราจะเดินตาม เสร็จแล้วเสวยวิมุตติสุขจนออกสอนไง ทีแรกว่าจะไม่สอนเพราะว่ามันลึกซึ้ง ธรรมะนี้มันละเอียดอ่อนมาก จนพรหมนิมนต์ ๑ จนตัวเองเห็นว่าถ้ามนุษย์ทำได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ มีวาสนาบารมีเป็นผู้ชี้นำ เป็นไก่ตัวแรกที่เจาะเปลือกไข่ออกมา ไก่ตัวแรกบินออกมาจากเปลือกไข่ ออกมาจากอวิชชาอยู่แล้ว จิตดวงอื่นที่มีวาสนาบารมีก็ต้องมีเหมือนกัน

ไปสอนปัญจวัคคีย์ ยสะอีก จน ๖o พ้นไป ให้ส่งไป ส่งไปอย่าไปในทางเดียวกัน ให้ไปเผยแผ่ศาสนา พระอรหันต์ในโลก ๖๑ องค์ออกเผยแพร่ศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกไปเมืองราชคฤห์ เมืองราชคฤห์นี้เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาก มีเจ้าลัทธิมีศาสดาที่มีชื่อเสียงอยู่ในเมืองนั้นเพราะว่าเป็นเมืองที่เจริญ เพราะมีนักปราชญ์อยู่มาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปอยู่ที่นั่น ผ่านไปสอนกัสสปะ ชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง ผ่านไปสอน เพราะว่าเขามีชื่อเสียงอยู่แล้ว เขาเป็นเจ้าลัทธิ เขามีอภิญญา เขารู้หมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปขอเขาอยู่ เขาไม่ให้อยู่เพราะเขามีชื่อเสียงอยู่แล้ว

“สมณะ ถ้าไม่ให้ที่สมณะอยู่ ไม่ควรเป็นสมณะ”

จนด้วยเหตุผล ถึงต้องยอมให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพักอาศัยอยู่ แต่ให้พักอาศัยอยู่ที่โรงไฟ ให้อยู่โรงไฟเพราะว่ามีพญานาคอยู่ที่นั่น จะให้ทำลายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซะ เพราะว่ามาพักอยู่ในที่ของเขา บูชาไฟ ชฎิลนี้บูชาไฟอยู่ มีบริษัทบริวาร ๕๐๐ บูชาไฟอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรมาน จับพญานาคนั้นใส่บาตร เช้าขึ้นมาให้เขาดู

“เอ๊ะ สมณะองค์นี้เก่งมาก แต่ไม่เท่าเรา เพราะเราเป็นพระอรหันต์”

นี่ทำฤทธิ์ทำเดชใส่กันนะ สมัยนั้นนะ ทำฤทธิ์ทำเดชใส่กัน เพราะว่ามันเป็นฤทธิ์เดช เพราะเขาเป็นเจ้าลัทธิอยู่แล้ว เขามีอภิญญาอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก้ได้หมด แก้ได้หมดเพราะว่าใจนี้เป็นกลาง ใจนี้เป็นพระอรหันต์ ฤทธิ์เดชมหาศาล แต่จะใช้หรือไม่ใช้ แต่ขณะนั้นยังไม่มีวินัย พระพุทธเจ้าใช้ได้หมด ใช้ทรมาน จนสุดท้ายพระพุทธเจ้าบอกว่า

“ไม่ใช่หรอก อย่าหลงตัวเองว่าสำเร็จเป็นพระอรหันต์ กิเลสล้วนๆ”

เขาก็รู้อยู่ไง แต่เพราะชื่อเสียง เพราะกิตติศัพท์ เพราะว่าเขามีชื่อเสียงค้ำคออยู่ สุดท้ายแล้วยอมลงใจ ว่าไม่ใช่พระอรหันต์หรอก เพราะหัวใจมันรู้อยู่ มันเศร้าหมอง มันเผาผลาญอยู่ในใจ ตกลงใจว่ายอมตนเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอบวชเป็นภิกษุไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ต้องให้ลอยบริขารพวกเครื่องอยู่ของฤๅษีนั้นไปตามน้ำ” ลอยไป ลอยไป ลอยเครื่องอยู่คือว่าพวกหนังสัตว์ พวกอะไรนี่ลอยน้ำไป เครื่องอยู่อาศัยลอยหมด แล้วให้บวชเป็นพระมา นี่การลอยออกไป อันนี้มันเป็นลอยออกไป มันก็เกี่ยวกับการที่ว่าอย่าตีความศาสนา

สมัยในพื้นที่ภาคกลางนี้ “ลอยกระทง” ลอยกระทงก็เหมือนกับลอยถาด นี่เลียนแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ลอยพวกเครื่องใช้ของผู้บูชาไฟ” ทางอีสานเขา เขาไหลเรือไฟ มันก็เข้ากับพระกัสสปะนี้ลอยออกไป ลอยสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นผิดนี้ลอยไป ลอยออกไปเพื่อจะกลับตัว กลับความเห็นใหม่มาเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลอยแล้วให้เป็นเอหิภิกขุบวชเข้ามา ลอยไป น้องอยู่กลางคุ้งน้ำ เห็นบริขารของพี่ชายลอยมา นึกว่าเกิดเหตุร้าย ตามขึ้นมาเพื่อจะมาช่วยพี่ชาย พี่ชายบอก

“ไม่ใช่ ความเห็นเดิมมันผิด แล้วทำไปมันไม่สามารถกำจัดทุกข์ได้จริง”

ตัวเองเข้าใจว่าอันนี้สิ้นทุกข์แล้วเป็นพระอรหันต์ แต่ความจริงมันไม่ใช่ มันเป็นแค่เปลือก เป็นแค่ฤทธิ์แค่เดช แค่จิตสงบที่ส่งออกไปเท่านั้นเอง มันยังไม่ใช่ความสุขจริง น้องชายเห็นตามด้วย ลอย น้องคนสุดท้องก็ลอย ลอยหมดเลย ๑,๐๐๓ คน สุดท้ายบวชมาเป็นภิกษุ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน ผู้บูชาไฟมานี่เกี่ยวกับไฟ เทศน์อาทิตตปริยายสูตร ราคัคคินา โทสัคคินา โมหัคคินา ไฟเป็นราคะ โทสะ โมหะ เป็นไฟ โทสะ โมหะภายในต่างหากเป็นไฟเผาผลาญตน ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นไฟเผาผลาญใจของตัว เห็นไหม ให้ย้อนกลับมา บูชาแต่เปลือกบูชาไฟที่บูชาอยู่ข้างนอกนั้น บูชาแล้วใจส่งออก ใจมีความสงบ ใจพุ่งออกไป เพราะดูไฟ จากไฟเป็นกสิณไฟ นั่นน่ะ ส่งออกไปได้อยู่ ใจมันมีความสงบก็อยู่กันข้างนอกนั้น แต่ไฟภายในมันเผาอยู่ โทสัคคินา โมหัคคินามันเผาอยู่ภายใน ไม่ดูเข้ามา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์สอนเข้ามา เทศน์นี่แหละ ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่เป็นอยู่แล้ว ผู้ที่แสดงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ก็เหมือนกัน เทศน์คือการสอน แล้วย้อนน้อมเข้ามาภายใน น้อม ผู้ฟังต้องน้อม น้อมคำสอนนั้นเข้ามาเทียบใจของตัว โทสะ โมหะของใจเรามีไหม โลภะ โทสะ โมหะในใจมันเผาเราจริงไหม นั่นน่ะ พิจารณาตามเข้าไป พิจารณา สำเร็จเป็นพระอรหันต์หมดเลย

พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว พระพุทธเจ้าพาออกเผยแพร่ธรรมต่อไป เข้าไปในราชคฤห์ ไปถึงพระเจ้าพิมพิสาร ชาวบ้านเขาเห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับนทีกัสสปะนี้นั่งอยู่ด้วยกันนะ “ใครหนอ เป็นอาจารย์ของใคร” เพราะว่าเขามีชื่อเสียงอยู่ดั้งเดิม นทีกัสสปะนี้เหาะขึ้นไปบนอากาศนะ ขึ้นไปที ๕๐๐ เมตร ลงมากราบพระพุทธเจ้า

“พระพุทธเจ้าเป็นศาสดา เราเป็นสาวก”

เหาะขึ้นไปอีก ลงมา เหาะขึ้นไปอีก ลงมาอยู่อย่างนั้น จนชาวเมืองราชคฤห์เห็นฤทธิ์เห็นเดชอย่างนั้น ยังพอใจว่าขนาดลูกศิษย์ยังมีความเห็นขนาดนี้ ถ้าอาจารย์นี้จะฤทธิ์เดชมากขนาดไหน น้อมใจลงเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ครั้งแรกนะ พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบันขึ้นมา

เหาะขึ้นไป เหาะขึ้นไป เพราะสมัยนั้นยังไม่มีวินัย มีวินัยต่อเมื่อลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะเหาะไปเอาบาตรนั้น ถึงบัญญัติว่า “ภิกษุห้ามแสดงฤทธิ์แสดงเดช” ฤทธิ์เดชภายนอกจากตัวเองที่บูชาไฟอยู่ มันก็ชำระกิเลสไม่ได้ แต่พอชำระกิเลสได้หมดแล้ว ฤทธิ์เดชที่ว่าจะหมดไป กลับมีมากขึ้นเพราะใจนี้เป็นกลาง ใจนี้อ่อนนิ่มควรแก่การงาน

ฤๅษีชีไพรสมัยพุทธกาล เวลาเหาะไปนี่ เหาะไป ถ้าใจส่งออกไปเจอสิ่งที่เย้ายวนเข้าน่ะ เหาะไม่ได้ต้องเดินกลับก็ยังมี เพราะใจไม่เป็นกลาง ฤทธิ์ส่วนฤทธิ์ ฤทธิ์อยู่ข้างนอก เป็นอาการภายนอกของใจ เป็นอาการส่งออกไป อภิญญานี้แสดงออกกัน นี่ผู้วิเศษไม่ใช่พระอริยเจ้า มันชำระกิเลสไม่ได้ไง

ชำระกิเลสได้ตั้งแต่มรรคอริยสัจจังนี้ต่างหาก มรรคอริยสัจจังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหามา เป็นเรื่องของชาวพุทธเรา ชาวพุทธเราถึงต้องตีความศาสนามา ย้อนกลับมาภายใน เชื่อครูเชื่ออาจารย์ เชื่อแบบอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลอยก่อน ลอยถาดออกไป เพราะต้องมีความเห็นผิดมาก่อน การกระทำที่เข้ามาถูกทางเลยเอาที่ไหนมา

กิเลสมันพาเกิดมา ใจเรามีกิเลสล้วนๆ กิเลสอยู่ที่ใจ ใจพาเราเกิดมา ใจห่อหุ้มมา ใจลุ่มหลงมา แล้วมันจะปฏิบัติเข้าไป มันจะตรงกับหลักความเป็นจริงเลย เอาที่ไหนมา แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังต้องสมบุกสมบั่นมาขนาดนั้น เห็นไหม กัสสปะหลงมาขนาดไหน เขาก็ยังไหลเรือไฟลอยของเขาไป ลอยบริขารของเขาไปได้ แต่เราชาวพุทธลอยกระทงอยู่นี้ลอยเพื่ออะไร? ลอยเพื่อมหรสพ ลอยเพื่อความสนุกสนาน หรือลอยเพื่อเราจะเอาความจริงมาใส่ใจเราให้ได้ นี่อยู่ที่การตีความในหลักพุทธศาสนา

ในเมื่อศาสนานี้เป็นของจริง แต่ที่เขาตีความศาสนาเป็นของเล่นไง ตีเล่นๆ ตีเพื่อความสนุกเพลิดเพลินของเขา ตีเพื่อกิเลส ตีความศาสนาเพื่อกิเลส วัฒนธรรมศีลธรรมถึงได้เป็นแบบนั้นออกไป ร่อนเข้าไปตามกระแสโลกออกไป แต่เราไม่ใช่ พวกเรานี้เป็นชาวพุทธ เป็นชาวพุทธจากความศรัทธามั่นคงจากภายใน ไม่ใช่ชาวพุทธตามกระแสของเขา ชาวพุทธตามกระแสว่าอันนี้เป็นประเพณีวัฒนธรรมก็ทำตามๆ กันไป ทำไปแล้วเป็นการเคารพบูชาแม่น้ำ บูชาอะไรเรื่องของเขา เพราะเขาหลงใหลไปตามกระแสโลก เราไม่ใช่อย่างนั้น เราเพื่อจะพ้นจากกิเลส เป้าหมายของพุทธศาสนาสูงสุดคือใจนี้พ้นจากกิเลส ออกไปจากเปลือกไข่อวิชชาที่ปกครองใจอยู่

ใจขณะนี้มีอวิชชาปกครองอยู่ก็จริงอยู่ แต่เพราะว่าเราพบหลักการของศาสนา เราเห็นว่าพระพุทธเจ้าสอนกัสสปะ ๑,๐๐๓ องค์ขึ้นไปเป็นพระอรหันต์แล้ว แล้วยังมีผู้เดินตามไป เดินตามไป จนปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์ก็ยังเดินตามไปเป็นช่วงๆๆ ไป

นี่ไม่มีกาลไม่มีเวลา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ใจนั้นสัมผัสธรรมตลอดเวลา

ผู้ใดปฏิบัติโลภะ โมหะ โทสะ มันเผาผลาญอยู่ที่ใจ จะประพฤติปฏิบัติหรือไม่ประพฤติปฏิบัติมันก็เผาผลาญโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว โลภะ โทสะ โมหะมันเป็นเผาไฟ มันเผาอยู่หัวใจเพราะมันเกิดขึ้นจากที่นั่น มันเกิดขึ้นจากหัวใจ จะสงบเสงี่ยม จะเจียมตน จะเก็บไว้ดีขนาดไหน มันก็เผา มันเผาตลอดเวลาเพราะมันเป็นธรรมชาติของมัน

นี้ถ้ามรรคเข้ามา เราสั่งสมขึ้นมาจนถึงจุดหนึ่งได้ มันต้องเกิดขึ้นมาสิ ความเร่าร้อนนั้นมันเป็นไฟ มันต้องมีน้ำเข้าไปดับไฟ เปรียบอย่างน้ำ น้ำมันปรับระดับของมันเสมอกันหมด ใจของเราลุ่มๆ ดอนๆ ใจของเราไม่เหมือนน้ำ ใจของเราเหมือนลม แต่ถ้าเหมือนลม ในเมื่อการลอยกระทงต้องอาศัยน้ำ น้ำนี้ปรับใจขึ้นมาให้มันลอยไป ลอยสิ่งที่ความเห็นผิดเราออกไป

แต่ที่เขาไม่มีล่ะ ที่เขาไม่มีแม่น้ำ แต่ในเมื่อศาสนาพุทธเข้าไปถึงแหล่งไหนก็แล้วแต่ ประเพณีวัฒนธรรมจากในหลักการของศาสนา เขาไม่มีน้ำ เขาอยู่ชาวเขา ทางเหนือเขายังลอยยี่เป็ง เขาลอยลมไป ใช้ไฟลอยเหมือนกัน ลอยออกไป นี่คือหลักการ หลักเพื่อจะให้มีการกระทำ ให้มีเจตนาเพื่อย้อนกลับเข้าไปถึงใจให้ได้ไง มีเจตนา มีการประพฤติ มีการปฏิบัติ มีการก้าวเดิน มีความเชื่อในหลักของศาสนา

แต่เชื่อแล้วมันต้องเชื่อให้ลึกเข้าไป เชื่อในหลักความจริง ไม่ได้เชื่อตามๆ กันมา เห็นไหม ลมมันก็พัดลอยขึ้นไปเหมือนกัน น้ำก็พัดสิ่งนั้นลอยไป ปรับกระแสของใจให้เหมือนน้ำให้นิ่ง ปรับกระแสของใจ ศีล ทาน ศีล ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา มีศีลแล้วศีลปรับใจให้สงบ ใจเรานี่มันลอกแลกเพราะอะไร มันปรับไม่ได้เพราะมันเป็นคลื่นเป็นลอนอยู่ น้ำถ้ามีลมพัดมาแรงมันก็เป็นคลื่น พอเป็นคลื่นมันก็เกิดพายุ นี่พายุในใจนี้มันพัดอยู่ตลอดเวลา พายุในหัวใจของเรา เราต้องปรับใจของเราให้สม่ำเสมอ ถ้าปรับใจของเราสม่ำเสมอ น้ำมันมีความสม่ำเสมอ เรียบสนิทดี สิ่งที่บนน้ำนั้นลอยไปไหลไปด้วยความเสมอ ถ้าน้ำนั้นเป็นคลื่น สิ่งนั้นก็ขยับ

ใจของเราก็เหมือนกัน มันทำไมมันหวั่นไหวขนาดนั้น ทำไมมันเอาไว้ในความเห็นของเราไม่ได้ล่ะ นี่แค่บังคับใจให้มีความสงบให้ราบเรียบเหมือนน้ำ เรายังทำยากขนาดนี้เลย แล้วเราจะหวังมรรค ผล นิพพานจากไหน ถ้าไม่มีตัวนี้ตัวปรับใจของตนให้เป็นมาตรฐานนะ ไม่ปรับใจของตัว จะเอาอะไรควรแก่การงาน งานที่ควร งานที่นิ่ง งานที่ละเอียดอ่อนเข้าไปต้องอาศัยความนิ่ง อาศัยความชำนาญ ไม่ใช่อาศัยความลุ่มๆ ดอนๆ นี้ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ก็ต้องกำหนดเข้ามา พิสูจน์ดูใจว่าเราทำอะไรผิดบ้าง

ความผิดพลาดของการกระทำออกไปเมื่อ “อดีต” อดีตเป็นอดีตใช่ไหม เมื่อก่อนหน้านี้เราทำผิดพลาดอะไรไปวางไว้ตรงนั้น ความผิดพลาด กรรมต้องเกิดขึ้นแน่นอน การกระทำให้ผลทั้งหมด ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แต่การทำความผิดพลาดอันนั้น เพราะใจของเรามีกิเลสอยู่ ความพลั้งเผลอเราทำออกไปแล้วปล่อยไว้ที่นั่น อย่าเอามากังวล อันนั้นมันเป็นอดีตไปแล้ว จะทำขนาดไหนมันก็เป็นอดีตไปแล้ว เราไม่สามารถแก้ไขอดีตได้ แล้วเราก็ปรารถนาความเจริญรุ่งเรือง

“อนาคต” ไปหยิบอนาคตมาอีก นี่ใจมันลุ่มๆ ดอนๆ เพราะมันส่งไปแล้วมันไปหมายอดีต หมายอนาคต มันขาดความปรับใจไม่ได้เพราะมันขาดสติ ถ้าสติรั้งไว้ สติมีอยู่ การงานที่จะกระทำอยู่นี้เป็นงานทั้งหมด เป็นงานการประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าสติมันขาดออกไป สิ่งนั้นเป็นสักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าทำ เห็นไหม ทำอยู่ ทำอยู่ก็เหมือนกับประเพณีเขาทำกันอยู่ เขาทำแล้วเขาได้อะไรล่ะ เพราะเขาทำแต่เขาเชื่อข้างนอก เขาไม่มีสติยับยั้งภายใน

ใจของบุคคลนะ ใจของใครก็แล้วแต่ ใจของผู้ประพฤติปฏิบัติ ใจดวงนั้นสัมผัสใจตัวเอง ถ้าสติเกิดที่ใจ เราระลึกรู้อยู่กับใจ ใจเราระลึกรู้ตลอดเวลา พอระลึกรู้อยู่ การสืบต่อ การสืบต่อไปเรื่อยนี่ปรับระดับให้เสมอไป เสมอไป สติถึงสำคัญมาก สติยับยั้งไว้ ยับยั้งไว้ แล้วกำหนดอะไรก็แล้วแต่ให้ใจนี้สงบให้ได้ ต้องดึงใจของเรากลับมาให้ได้ก่อน

ความเชื่อ ความมุ่งมั่น ความปรารถนา ความจริงจัง คนจริงเท่านั้น ความจริง กิเลสมันเป็นความปลอม แต่มันเป็นความปลอมภายในสิ ความปลอมภายนอก คนมาหลอกเรา เรายังหลงเลย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เราไม่เชื่อหรอก เราที่ว่า “เราไม่เชื่อ” หมายถึงว่า มรรคผลมี การประพฤติปฏิบัติมี มันคิดขึ้นมา ไอ้คำว่า “ไม่เชื่อ” คือกิเลสมันไม่เชื่อ แต่เปลือกที่ว่าเราศึกษาอยู่นี่ สุตมยปัญญามันเชื่อ มันเป็นสุตมยปัญญาแต่เดี๋ยวเดียว เพราะอะไร เพราะเป็นน้ำ ในน้ำ มันมีสิ่งที่สวะลอยมาบนน้ำ แล้วในใต้น้ำยังมีอะไรอีก ลงในทะเล พื้นในทะเลยังมีสิ่งข้างล่างอยู่มหาศาลเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งข้างนอก เปลือกๆ นี่ลอยเข้ามา ความเห็นนี่เห็นเข้ามา ความเชื่อ เชื่อด้วยศรัทธา ศรัทธา อจลศรัทธา ฟังสิ ศรัทธานี้ยังคลอนแคลนได้ เวลาใจของเรานี่ยังคลอนแคลน ใจของเรายังหมุนไปตามอารมณ์โลก ใจของเรายังกิเลสเกิดขึ้นตลอดเวลา แล้วเวลาเกิดเป็นธรรมขึ้นมานี่จะให้มันอยู่กับเราตลอดไป เป็นได้อย่างไร

มันก็เหมือนกัน ความเชื่ออันนี้ก็คลอนแคลน ความเห็นของเรามันก็คลอนแคลน มันดีขึ้นๆ ลงๆ แล้วยิ่งมาประพฤติปฏิบัติมันไม่เข้าหลักตามความเป็นจริง มันยิ่งคิดใหญ่ว่ามันจะมีไปจริงหรือ มันยิ่งคิดเพราะอะไร เพราะมันสัมผัสเข้าไปนี่ เราเองเรายังปฏิบัติไม่ได้เลย แล้วใครหรือจะประพฤติปฏิบัติได้

แต่ทำได้ เพราะอะไร เพราะดวงใจมันคนละดวงใจ ดวงใจของผู้ที่เขาสร้างสมคุณงามความดีมา ผู้ที่ทำบาปไว้น้อย ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ไว้มาก นี่ความเห็นจะต่างกัน เราทำกรรมมาไว้มหาศาล แล้วเวลาทำคุณงามความดี มันสมกันไหมล่ะ ว่าเราไม่เคยทำ ถ้าเราไม่เคยทำนะ จริตนิสัย ความคิดความเห็นเรามันจะต้องเข้าหลักการสิ ความคิดความเห็นของเรามันไม่ตรงกับธรรมไง ความไม่ตรงกับธรรม ความไม่เห็นตามความเป็นจริง ไม่เห็นตามธรรม เราสวดอยู่ว่าเราเห็นตามธรรม เราขอขมา เราขอขมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ตลอดเวลา

ถ้าเราปรับเข้าเป็นความจริงของธรรม ธรรมนี้เหนือโลก ต้องเห็นสัจจะ ต้องเห็นความจริง ถ้าเป็นธรรมจริงนะ แต่นี้เป็นธรรมความนึกของเราไง ธรรมของความนึกของเราไม่ใช่ธรรมตามหลักความเป็นจริง ถึงต้องทำใจให้สงบก่อน ทำใจให้ไม่เอนเอียง ทำใจให้อย่างไหนจะเข้าหลักได้ ถึงว่าพอจิตนี้ทำความสงบ ปรับใจของตัวเองได้นะ ความสุขจะเกิดขึ้นทันทีเลยโดยอัตโนมัติ ความสุขคือการเข้าไปสัมผัสกับความสงบของใจ ความสุขอันนี้ เพราะจิตมันเคยเร่าร้อน มันเผาผลาญตน โทสัคคินา โมหัคคินา มันสงบตัวลงเฉยๆ นะ มันปล่อยให้ใจนี้เป็นอิสระชั่วคราว ความที่เป็นอิสระชั่วคราวเท่านั้นเอง เรายังมีความสุขขนาดนี้

พอเข้าไปถึงนี่ ถึงจะศรัทธามันจะแน่นไปเรื่อย หนาแน่นมั่นคงไป มั่นคงไปเพราะว่าเราเข้าไปสัมผัสเอง ต้องเป็นอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ครูบาอาจารย์บอก ฟังเทศน์จากภายนอก มันเข้ามานี่ “หรือว่า? หรือว่า? หรือว่า?” นี่ความเห็นภายในมันจะบิดเบือนไปตลอดเวลา มันเข้าใจ เข้าใจ...ฟังนะ แต่ความคิดภายในอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ถ้าเราเข้าไปสัมผัสเอง “เรา” ไม่มีใครเป็นบุคคลที่ ๒ เข้ามาทำเรื่องอะไรให้เรารับรู้ได้ เราสัมผัสของเราเอง เราไปเจอของเราเอง เราก็ยังสงสัยเลย ขนาดเจอเองนะ ต้องไปถามครูอาจารย์ว่าสิ่งนั้นจริงไหม สัมผัสอย่างนี้ถูกต้องไหม เพราะเราเข้าไปสัมผัสเอง เพราะสิ่งนั้นมันไม่เคยสัมผัส เราไม่เคยเห็นจริง แต่ถ้าสัมผัสไปบ่อยเข้า สัมผัสเข้าไปบ่อยเข้า บ่อยเข้า จิตเข้าไปทำความสงบบ่อยเข้าๆ พอบ่อยๆ เข้า ชำนาญ พอความชำนาญนี่ชำนาญในการเข้า เพราะเราเข้าและเราออกได้ จิตเจริญขึ้นมาแล้วก็เสื่อมได้...

(เทปขัดข้อง)

...สมาบัติ ๘ สมาบัตินี้คืออะไร คือจิตสงบใช่ไหม มีความสุข องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ชะล่าใจ ยังไม่เชื่อใจตามเขาไป ความเห็นอันผิดๆ นี้ยังลอยทิ้งไปได้ นั่นน่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ออกไปนอกทาง

เราล่ะ จิตสงบแล้วมันเวิ้งว้าง มันมีความสุข มันจะมั่นหมายไปว่าสิ่งนี้เป็นผลไง เป็นผลไม่ได้! น้ำให้ความเย็นกับร่างกาย น้ำให้เป็นประโยชน์กับโลก ถ้าโลกนี้ขาดน้ำ โลกนี้อยู่ไม่ได้เลย สิ่งที่ไหนมีน้ำ สิ่งที่นั่นมีชีวิต ชีวิตนี้คือการสืบต่อ กิเลสมันก็หมุนไปในชีวิตนั้น น้ำนั้นมีคุณประโยชน์แล้วก็มีเชื้อโรคอยู่ในน้ำนั้นเหมือนกัน ความมีประโยชน์ ความมีเชื้อโรคอยู่ในน้ำนั้น ถึงยังไม่สะอาดพอ

จิตนี้สงบก็เหมือนกัน เวิ้งว้างขนาดไหน มันอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ทั้งหมดเลย จะมีความสุขขนาดไหนก็อยู่ในกฎของไตรลักษณ์ทั้งหมด ถึงยังเกาะธรรมไม่ติดไง จิตสงบขนาดไหนก็เกาะธรรมไม่ได้ เพราะว่ามันยังเป็นอนัตตาอยู่ มันเป็นสิ่งที่เคลื่อนที่อยู่ มันจะเกาะกับหลักความจริงได้อย่างไร นั้นจะเห็นความจริงได้ต้องเห็นกายกับใจ

สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม จิตสงบเป็นพื้นฐานยกขึ้นดูกาย

ถ้านึกให้กายเห็นกายจะเห็นกายถ้าเห็น ถ้าไม่เห็นกายต้องนึกขึ้นมาด้วย นึกขึ้นมาคือว่าจุดชนวนขึ้นมาให้ได้ก่อน ให้เห็นกาย ถ้าเห็นไม่ได้ใช้ความคิด เพ่งพินิจเข้าไปให้เห็นความรู้สึกไง นั้นคือจิต เวทนาก็ได้ เวทนาที่มันเจ็บมันปวดอยู่นี่มันไม่มี เวลาวิปัสสนาว่าเวทนาเราไม่มี เราจับจิตไม่ได้ แล้วอาการเจ็บปวดนั้นคืออะไร

เวลาเวทนามา เวทนามาเพราะจิตนี้โดนควบคุมอยู่ เรานั่งอยู่ ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ความเจ็บปวดจะเริ่มเกิดขึ้นๆ เกิดขึ้น ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง เวทนามานี่มาจากเวทนาส่วนย่อย เวทนาส่วนกลาง แล้วเวทนาส่วนใหญ่ เวทนาส่วนใหญ่คือว่าเจ็บทั้งหมด เพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ มันลองเราก่อน ลองเวทนาอย่างน้อยๆ ขึ้นมา เราสามารถผ่านได้ สามารถผ่านวิปัสสนา ยกขึ้น เวทนาเป็นสักแต่ว่าเวทนา

มันเจ็บมันปวดเพราะว่าความหลง ความไม่เข้าใจ จิตนี้หลงใหลไป ความเจ็บความปวด ไฟมันเผาอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว แล้วพอกระทบสิ่งที่เป็นพลังงานเกิดขึ้น ความเร่าร้อนเกิดขึ้น จิตรับรู้ไง ยิ่งรับรู้ยิ่งปวด ยิ่งรับรู้มากยิ่งปวดมาก เห็นไหม พิจารณาเวทนาเข้าไป คนตาย คนสลบไสลไป มันเป็นอะไรขึ้นมา เขานอนอยู่นั่น ๗ วัน ๘ วัน เขาก็ไม่มีความรู้สึกขึ้นมา แล้วเรานี่มีความรู้สึกขึ้นมาเพราะตอนไหน เพราะเรามีหัวใจใช่ไหม ถ้าเราตายไป นั่งในท่านั่งก็ตายในท่านั่ง ถ้าเรานอนไป เผาไปก็ไม่รู้สึกตัว ศพเผาไป เขาเผาศพไปมันมีความเจ็บปวดตรงไหน แม้แต่เอาไฟจี้มันยังไม่รู้เรื่องเลย

แต่อันนี้เพราะเรามีหัวใจ หัวใจตัวธาตุรู้มันไปรับรู้เวทนา นี่ยกเวทนาขึ้นดูสิ หัวใจที่ว่าโง่ๆ อยู่นี่ หัวใจที่ว่าไปรับมา...ก็ไหนว่าเป็นนักปฏิบัติ ไหนว่าเข้าใจว่าเวทนาสักแต่ว่าเวทนา นั้นมันเป็นคำพูด นั่นมันเป็นความนึก แต่ขณะที่เวทนามานั้นมันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน เรารับรู้ปัจจัตตังคือรับรู้หมด นั้นเป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันที่เกิดขึ้น ขณะที่เวทนามา ใจก็รับรู้ นั่นน่ะ คือเข้าสงคราม การเข้าสงครามอันนี้ต่างหากนั่นคือวิปัสสนา การเข้าสงครามให้หัวใจนี่เข้าไปในกองไฟ ไฟมันเผา เผาเร่าร้อนหมดจนกระดูกแทบแตก นั่นน่ะ ให้ใจเข้าไปดู ใจที่มีสมาธิอยู่มันจะเข้าไปดู มันจะเข้าไปดูจนมันชนะเป็นบางหนนะ

ชนะหมายถึงว่าเห็นแยกออกได้ เวทนานี้เป็นเวทนา แล้วควบคุมจิตได้ไง แยกจิตออกมา กับแยกเวทนากับจิตออกจากกัน เป็นอิสระแก่กันนะ มันจะอาจหาญ มันจะรื่นเริง มันจะดีอกดีใจ อ้อ! เวทนาสักแต่ว่าเวทนานี้ในตำรา แต่ความเห็นเจ็บปวดของเราที่แยกออกนี้เป็นของเรา ความเข้าใจอันนี้ ถ้าความเข้าใจนี้คือปัญญา ปัญญานี้สอนหัวใจให้ฉลาดขึ้นมา จากที่โง่ๆ อยู่ที่ว่าเวทนาเป็นเรา สิ่งใดที่กระทบกับใจนี้เป็นเราทั้งหมด เรากระทบกับสิ่งใดแล้วเราไม่กล้าสละสิ่งนั้นเพราะมันเป็นเรา

แต่เวลาปัญญาเข้าไปแยกออก เวทนาเป็นเวทนา เราเป็นเรา จิตเป็นจิต มันจะแยกออกจากกัน ความแยกออกจากกันที่เข้าไปเห็นนั้นน่ะ เข้าไปเห็นในปัจจุบันธรรม ไม่ใช่การศึกษา การจำมา สัญญาช่วยไม่ได้ อดีต-อนาคตแก้ปัจจุบันไม่ได้นะ ถ้ายังใช้อดีต-อนาคตเข้าไปแยก มันแยกไม่ออก ใช้ว่าสัญญาจะเป็นอย่างนั้น สัญญามันใช้ เวทนาจะเป็นอย่างนั้น ความเห็นจะเป็นอย่างนั้น จิตจะเป็นอย่างนั้น นี่คิดโดยสัญญา ถ้าสัญญามันคิดนี้ เอาอดีต-อนาคตเข้ามาร่วมวงด้วย มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา มันเอียงข้าง

แต่ถ้าใช้ปัจจุบันธรรม ปล่อยมันเกิดขึ้นมาเลย สู้กันไป สู้กันไปด้วยปัญญาปัจจุบัน ปัจจุบันคิดเดี๋ยวนั้น ดูเดี๋ยวนั้น พิจารณาเดี๋ยวนั้น แล้วใจเป็นกลางเดี๋ยวนั้น เห็นไหม ความแยกเดี๋ยวนั้นมันจะแยกออก พอแยกออกไปนี้ นี่รื่นเริงอาจหาญ การรื่นเริงอาจหาญในธรรมเพราะใจเข้าไปประสบธรรมเอง ใจที่ว่าโง่ๆ อยู่ ที่เราไม่รู้นั่นนะ มันจะเริ่มแยกออกๆ นี่คือการวิปัสสนา การยกเวทนามาเป็นข้อต่อสู้

เวทนา เพราะว่าจับอย่างอื่นเราจับไม่ได้ เราก็จับเวทนาแยกไปเรื่อย แยกไปเรื่อย แล้ววิปัสสนาไป ไม่จำเป็นว่าต้องแยกเวทนาอย่างเดียว เจอกาย เวทนา จิต ธรรม จับตั้งไว้ แล้วพยายามพิสูจน์แยกออกๆ วิภาคะ กิเลสอาศัยสิ่งนี้เป็นที่หลบที่ซ่อน กิเลสเป็นนามธรรม มันอยู่ในหัวใจของเรา แล้วมันอาศัยกายกับจิตนี้เป็นเครื่องสืบต่อดำเนินมาเพื่อจะเอาเราไว้เป็นขี้ข้าไง เอาเราไว้เป็นเรือนที่อยู่ของมัน กิเลสอาศัยกายกับใจนี้อาศัยอยู่เท่านั้น

แล้วเวลามันก้าวเดินออกมา การหาเหยื่อ การกินเหยื่อของกิเลสก็กินเหยื่อในกายกับใจนี้เท่านั้น มันอยู่ในความคิดเรานี่แหละ มันอยู่ในความเห็น มันอยู่ในความรู้สึกทั้งหมด มีกิเลส ในน้ำนั้นมีทั้งประโยชน์ทางร่างกาย มีทั้งเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย อยู่ในน้ำนั้น เข้ามาแล้วมีทั้งประโยชน์มีทั้งเชื้อโรคอยู่ในอันเดียวกัน

ในนี้ก็เหมือนกัน กายกับจิตนี้ บุญกุศลสร้างมาให้เกิดได้ร่างกายนี้มา แต่กิเลสอวิชชานี้มันก็อาศัยมาด้วย ฉะนั้นวิปัสสนาเข้าไป สิ่งที่มันใช้ออกมาเป็นเหยื่อเป็นช่องทางนี้ออกมาหากิน เราใช้วิปัสสนาญาณหมุนเข้าไปไง หมุนชำระเข้าไป ชำระสิ่งที่มันเป็นเครื่องมือดำเนินที่อยู่ที่อาศัยที่มันหากินอยู่นั้นน่ะ เราพยายามเอาเหยื่อออก

วิปัสสนา วิปัสสนาเข้าไปบ่อย มันจะแยกออกๆ นั้นคือเหยื่อไง เราดึงออกมาให้ปัญญาเข้าไปให้ใจนี้ฉลาดขึ้น พอใจฉลาดขึ้นมันจะแยกแยะออกขึ้น แยกแยะออก พอแยกแยะออกนี่มันก็เท่ากับกำจัดเหยื่อของกิเลส กิเลสอาศัยความลุ่มหลง อาศัยความไม่รู้ อาศัยความยึดมั่นถือมั่น หยิบกินเหยื่อระหว่างที่ว่าออกมากับกายกับจิตนี้ตลอด แล้วเราหมุนเข้าไปด้วยปัญญาของเรา ด้วยเกิดจากสมาธิธรรมนั้น สัมมาสมาธิกับความเห็นชอบ ความดำริชอบ พอแยกออกนั้นคือธรรมจักรเริ่มเคลื่อนตัวออกไป ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น

จากดวงใจทุกดวงที่ประพฤติปฏิบัติ ดวงใจทุกดวงที่เกิดขึ้นมันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมนี้เกิดขึ้นจากใจ กิเลสอยู่ที่ใจ ความเกิดขึ้นก้าวเดินออกไปจากภาวนามยปัญญาก็ออกไปจากใจ แล้วหมุนขึ้นมาเป็นกลาง หมุนเป็นกลางเพราะมันหมุนด้วยปัญญาขึ้นไป เวทนาได้พักออกไปแล้ว จิตนี้เป็นอิสระชั่วคราว

นี่ซ้ำไปอีก ถ้าเราไม่ลุ่มหลง พอหลุดออกไป มันจะมีเกิดความเวิ้งว้าง ความสุขในสมาธิอย่างหนึ่ง มันเวิ้งว้างอย่างหนึ่งเพราะมันปล่อยหมด กายกับใจนี่สามารถแยกออกจากกันได้ด้วยเหตุ ด้วยฤทธิ์ของสมาธินะ ด้วยพลังงานของสมาธิ แต่วิปัสสนานี้ลึกกว่านั้นอีก เพราะมันขาดออกไป เห็นไหม การปล่อยกิเลสมาชั่วคราวนั้นเป็นความสงบ การพิจารณาเห็นเหตุเห็นผลแล้วปล่อยวางมันลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง พอลึกเข้าไปมันก็มีความสุขมาก มีความสุขมากขึ้น แต่มากขึ้นขนาดไหนก็ต้องซ้ำ

ถ้าเราไม่ซ้ำ เดี๋ยวมันจะเข้าไปเป็นเนื้อเดียวอย่างเก่า ต้องซ้ำไปบ่อยๆ ซ้ำเข้าไปบ่อย ซ้ำด้วยเวทนานี่แหละ ซ้ำเข้าไปบ่อย ซ้ำแยกออกไปเรื่อย แยกออก จิตก็แยกออกไป เวทนาเป็นเวทนา จิตเป็นจิต ความรู้สึกเป็นความรู้สึกอันหนึ่ง ว่างหมด ว่างหมด นี่ขันธ์ ๕ พอเวทนาแยกออกไป สัญญาก็แยกออก สังขารก็แยกออก มันแยกไปพร้อมกัน แยกเวทนาตัวเดียว แต่ขันธ์ ๕ จะแยกออกไปเลย พิจารณาซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไป

ก่อนพิจารณาซ้ำได้ต้องจับหลักการให้ได้ จับตัวเวทนาให้ได้ เห็นกายให้ได้ เห็นจิตให้ได้ พิจารณาซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไป ซ้ำอยู่อย่างนั้น นี้เป็นทางอันเอก นี้มรรคอริยสัจจัง นี้เป็นทางจะพ้นทุกข์ จะพ้นทุกข์ด้วยแค่นี้เท่านั้น จะพ้นทุกข์ด้วยฐานที่มันเกิดทุกข์นั้น ทุกข์นี้เกิดขึ้นมาจากใจที่อาศัยอยู่ในกายนี้ ในกายกับใจนี้เป็นบุญกุศลที่เราสร้างขึ้นมา

เราเกิดเป็นมนุษย์ ในกายกับใจนี้เป็นคุณประโยชน์ของเราที่เราเกิดมาชาตินี้แล้วพบพระพุทธศาสนา แล้วเราได้ประพฤติปฏิบัติในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเชื่อมั่น ไม่ตื่นไปกระแสของโลกเขา หมุนออกไปข้างนอกในเรื่องของโลกเขา แล้วหมุนกลับมาภายใน ทุกข์นี้เกิดขึ้นที่ใจ ทุกข์นี้มาจากใจ ใจนี้เกิดๆ ตายๆ มากี่ภพกี่ชาติแล้วมามหาศาล เราก็ไม่สามารถทราบได้

แต่ปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี้คือปัจจุบันธรรม ปัจจุบันนี้เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เป็นบริษัท ๔ เป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาจากใจดวงนั้นน่ะ ภาวนามยปัญญาคือธรรมจักรที่หมุนขึ้นมาจากใจแล้ว มันจะเข้ามาชำระ พิจารณาซ้ำบ่อยเข้าๆ พิจารณาซ้ำบ่อยเข้าจนถึงจุดหนึ่ง สมุจเฉทปหานขาดออกไป เวทนากับใจขาดออกจากตามความเป็นจริง

จากปล่อยวางชั่วครั้งชั่วคราว ปล่อยวางเข้าบ่อยๆ เข้า หินเราทุบเข้าไปบ่อยๆ มันยังมีรอยร้าว รอยร้าวกับการหินแตกออกจากกันต่างกัน รอยร้าวแต่หินนั้นยังอยู่ด้วยกัน หิน ๒ ก้อน หินที่มันรอยร้าวมันยังประกบกันเป็นก้อนเดียวกันอยู่ แต่ทุบๆๆ ด้วยวิปัสสนา มันแตกออก หินที่แตกออกจากกันแล้วเอามาประกบไว้ต่อกัน มันก็ต้องแตกออกจากกัน มันต้องหล่นออกไปเป็นส่วนของมัน เป็นชิ้นของมัน

จิตที่ขาดก็เหมือนกัน จิตวิปัสสนาจนสมุจเฉทปหานขาดออกไป เวทนาเป็นสักแต่ว่าเวทนา ขาดโดยหลักธรรมชาติของมัน ไม่ได้ขาดจากความนึกความคิด ไม่ได้ขาดจากความมั่นหมาย ไม่ได้ขาดจากการจำมาในตำรา...ไม่ใช่ ความเห็นจะเห็นชัดๆ เลยว่ากิเลสหลุดออกไปจากใจ เวทนานี้หลุดออกไปจากใจ เวทนาเป็นเวทนา สัญญาเป็นสัญญา สังขารเป็นสังขาร วิญญาณเป็นวิญญาณ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ หลุดออกไป อิสระ สักกายทิฏฐิ ๒o แตกออกกจากกัน

ความเห็นต้องถูกต้องสิ เพราะเห็นจากดวงตาของธรรม เห็นจากดวงตาของผู้มีสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เห็นแบบดวงตาของเด็กเล็กเด็กน้อยที่ไหน เห็นจากดวงตาของผู้ประพฤติปฏิบัติ อันนี้ต่างหากที่จิตเกาะธรรม จิตเกาะธรรมแล้วนะ ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา”

ความเข้าใจว่า “สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นดับไป” จากที่ว่าเป็นไตรลักษณ์โดยตัวมันเองที่ว่าเรามันเป็นอยู่แล้ว แม้แต่จิตสงบนี้มันก็ต้องเป็นไตรลักษณ์โดยตัวมันเอง เพราะมันหมุนไปอยู่ตลอดเวลา มันไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยงหมุนไป อันนั้นมันเป็นในเนื้อของมัน

แต่อันนี้เราเห็นน่ะ จิตที่มันสงบขึ้นมาที่เป็นสัมมาสมาธิที่เป็นพื้นน้ำนี้เห็นน่ะ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องแปรสภาพทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจ สิ่งที่มันทำให้ใจทุกข์ร้อนอยู่ไง มันเกิดดับตลอดเวลา มันได้บุบสลาย มันได้แตกออกไปจากใจ แล้วมีผู้รู้ขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง ผู้ที่เห็นขึ้นมา

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ มีดวงตาเห็นธรรมแล้วหนอ”

เห็นธรรมเพราะว่าเห็นความแปรสภาพ เปลือกนอกมันแตกออก หลักความจริง นี่คือสักกายทิฏฐิ ๒o แตก รู้เท่าความเป็นจริง จะสีลัพพตปรามาสไปที่ไหน จะวิจิกิจฉาไปที่ไหน สังโยชน์ ๓ ตัวต้องขาดออกไป ขาดตามความเป็นจริงเพราะว่าเห็นกายแตก กับกายกับใจ กายนี้เกิดจากเวทนาแตกออกจากกันเท่านั้น นี่ความเห็นจริงจะเกิดขึ้น ความเห็นจริง ความรู้จริงเกิดขึ้น อันเกิดขึ้นนี้เพราะเกิดขึ้นจากดวงตา จากธรรมดวงนั้น จากใจดวงนั้น จากใจที่ว่าลุ่มๆ ดอนๆ อยู่นั่นล่ะ แต่เราไม่หลงไปกับเขา ถ้าเราจับอยู่ข้างนอกนะ เราไปตามกระแส เราจะเข้าไม่ถึงดวงใจดวงนี้ เราจะไม่เข้าถึงหลักความจริงอันนี้เลย ถ้าเราเข้าถึงหลักความจริงอันนี้ เราเข้าถึงเพราะเรามุ่งเข้ามา

เราเป็นชาวพุทธ ประพฤติปฏิบัติเข้าไป นี่ลอยไปเหมือนกันได้ส่วนหนึ่ง ได้ส่วนหนึ่ง ได้ความเห็นจริงนะ มันก็ปักมั่นน่ะสิ มันก็กล้าไม่ทำตามประเพณีแล้ว ผู้ที่เห็นอย่างนี้แล้วจะไม่เดินตามประเพณี จะหมายเลยนะ จะหมายว่าจะถึงพ้นทุกข์ให้ได้ จะหมายว่าสักวันหนึ่งจะพ้นทุกข์ให้ได้เพราะอะไร เพราะเดินเป็น เด็กยังก้าวเดินไม่ได้ เราหัดให้เดินน่ะ ล้มลุกคลุกคลาน หัวเข่าถลอกปอกเปิก เลือดออกไปตลอด แต่ถ้าเด็กมันเดินเป็นแล้ว มันจะวิ่ง มันจะกระโจนไปเลยเพราะอะไร เพราะมันสนุก มันเพลิดเพลิน มันเล่นมันสนุกของมัน

ใจที่ประพฤติปฏิบัติเป็นแล้ว ใจที่เกาะธรรมแล้ว มันจะกำหนดเลยว่าวันไหนๆ จะต้องก้าวถึงให้ได้ การก้าวถึงอันนั้นเพราะมีพื้นฐานอยู่แล้ว กำหนดดูสิ จะดูอะไรก็ได้ กาย เวทนา จิต ธรรม มันมีความสงบ มันมีความสุขมาก สุขไปจนกว่าถึงจุดหนึ่ง แต่กิเลสมันยังมีอยู่ในหัวใจ ใจเกาะธรรมแต่ใจยังไม่เป็นธรรมทั้งดวง ใจเกาะธรรมอยู่แล้ว บุคคล ๘ จำพวก วิปัสสนายกขึ้นอีก ยกขึ้นดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม เพราะมันมีกายนอก-กายใน เวทนานอก-เวทนาใน-เวทนาในเวทนา ยังมีถึงตัวขั้วของจิตอีก ถึงว่าย้อนกลับเข้ามา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ไปเลย เพราะว่าบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าถึงทะลุทีเดียว ผู้ใดปฏิบัติยากรู้ยาก ผู้ใดปฏิบัติยากรู้ง่าย ผู้ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ถ้าทะลุไปเลยมันสมัยพุทธกาล แต่เวไนยสัตว์ต้องถูต้องไถ คำว่า “ต้องถูต้องไถ” ก็มีวาสนานะ มีวาสนาเพราะว่าต้องถูต้องไถ แต่ก็มีเครื่องมือให้ถูให้ไถนี่ไง นี่ก็เหมือนกัน เราต้องวิปัสสนาซ้ำเข้าไป เพราะมันทะลุเข้ามา ผ่านเข้ามาชั้นหนึ่งแล้วยังมีอีก เพราะบุคคล ๘ จำพวกนี้เป็นขั้นเป็นตอน

พระอานนท์เป็นพระโสดาบันอยู่ก็ยังเหมือนกัน ยังต้องรอจนกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว พระอานนท์ถึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่ความที่ยังไม่เป็นอยู่มันก็รู้อยู่ รู้อยู่เพราะพระอานนท์ไม่ได้มีสติพร้อม จนพระพุทธเจ้าปรินิพพานนะ

“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เรายังมีกิเลสอยู่” นี้อยู่ในตำรานะ

“เรายังมีกิเลสอยู่ แล้วเราจะพึ่งใครได้ เรายังหวังพึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่”

ถ้าผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม แต่ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะว่าตัวเองยังมีความทุกข์อยู่ในหัวใจ มันจะเตือนอยู่ตลอดเวลา ความเตือนอันนี้ทำให้เรานอนใจไม่ได้ ความนอนใจไม่ได้ งานอันไหนมันจะเท่ากับงานการชำระกิเลส งานอันใดในโลกนี้ ใครๆ ก็ทำแทนกันได้ งานของโลก งานของการแสวงหา ที่ไหนเขาก็มี แล้วเราทำไปแล้วมัน...คิดดูสิ

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับสลายเป็นธรรมดา”

วัตถุสิ่งของนี้มันมีอายุของมัน มันต้องแปรสภาพไปแน่นอน แล้วชีวิตของเราก็ต้องแปรสภาพเหมือนกัน แล้วเราจะไปติดอยู่กับวัตถุสิ่งนั้นได้อย่างไร เห็นไหม งานของโลก แม้แต่ทำแทนกันได้ มันก็ต้องเสื่อมสภาพทั้งหมด คงไว้อย่างนั้นไม่ได้หรอก จะขนาดไหนมันก็ต้องแปรสภาพไม่วันใดก็วันหนึ่ง ชีวิตเราก็เหมือนกัน ต้องดับไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ต้องดับไปพร้อมกับลอยกิเลสออกไปให้ได้สิ เราอุตส่าห์ลอยความเห็นผิดของเราตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าลอยออกไปก่อน ความเห็นผิด แล้วเราเข้ามาถูกทางแล้ว ถ้ามีดวงตาเห็นธรรมนี้เข้าถูกทางแล้ว ถ้าไม่ถูกทางจะเห็นธรรมได้อย่างไร มีการเข้าดวงตาเห็นธรรมแล้วมันก็ยืนยันว่านั้นคือเข้าถูกทาง

พอเข้าถูกทาง มันก็ต้องแสวงหาขึ้นไป แต่เข้าถูกทางมาจากพื้นฐานนี่ แต่ยกขึ้นไประดับบน ขึ้นไปสูงขึ้นไป ความขึ้นสูงขึ้นไป มันต้องละเอียดอ่อนขึ้นไปใช่ไหม จิตมันต้องละเอียดอ่อนเข้าไป กายนอก-กายใน-กายในกาย ถึงว่ามีสติปัญญานี้เราก็สะสมมา สร้างสมมาเพื่อจะชำระกิเลส แต่พอจะจับกายภายใน กายที่เป็นนามธรรม มันต้องใช้มหาสติ-มหาปัญญาต่างหาก มหาสติ-มหาปัญญาเกิดขึ้นอย่างไร สติปัญญาเกิดขึ้นจากที่ว่าล้มลุกคลุกคลานก็ต้องสร้างสมขึ้นไป จดจ่ออยู่ สติระลึกรู้ตลอดเวลา มันจะละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป ความละเอียดเข้าไปของสติ ใจมันจะอ่อนไหว มันจะนิ่มนวลขนาดไหนมันก็จับได้ถ้าเราฝึกฝนอยู่ ฝึกฝน

เวลาประพฤติปฏิบัติ “สิ่งใดๆ ในโลกนี้มีเหมือนไม่มี” เราอยู่กับโลกแล้วเหมือนไม่อยู่ ผู้ที่ปฏิบัติสูงขึ้นมานี่ส่วนใหญ่จะปลีกตัวออกไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว นักปฏิบัติ ภิกษุ ภิกษุณี เวลาจะออกประพฤติปฏิบัติ ให้ไปเหมือนนอแรด แรดมันมีนอเดียว เขาสัตว์มี ๒ เขาทั้งนั้นน่ะ แต่นอแรดมีนอเดียว ให้ไปเหมือนนอแรด ให้ไปผู้เดียวไง ให้ไปผู้เดียวไม่เป็นที่กังวล เพราะว่าความละเอียดอ่อนของใจ ใจมันจะจับใจของมันเข้ามา มันต้องใช้ความรอบคอบของมัน ความรอบคอบที่จะสุ่มปลาในใจของตัวมันต้องเฝ้ามองอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีบุคคลที่ ๒ ขึ้นมา ความกังวลเกิดขึ้น ความกังวล ความคิดถึง อันนี้มันทำให้ช่องทางกิเลสมันออกได้ง่ายขึ้นไง ถึงให้ไปแบบนอแรด นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติเข้ามาจนมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาแล้ว มันก็ต้องมีความละเอียดรอบคอบขึ้นมา

ความละเอียดรอบคอบของใจ ของสติสัมปชัญญะที่เราสร้างขึ้น เราสร้างขึ้น ฟังสิ ไม่ใช่เอามือสร้าง เอาใจสร้าง ใจภายในสร้างขึ้น “เรา” เราคือตัวใจ ใจนี้ควบคุมเข้ามา ความควบคุมเข้ามาบ่อยเข้าๆ ร่นระยะความคิดมันสั้นเข้ามา สั้นเข้ามาจนใจกับสตินี้เป็นเนื้อเดียวกัน นี่มหาสติ-มหาปัญญาเกิดขึ้นอย่างนั้น ใจเป็นใจ จิตเป็นจิต ใจเป็นใจ กายเป็นกาย กายเป็นกาย ใจเป็นใจ นี่มันแยกออกแล้ว แต่กายภายใน กายของจิตมันยังไม่เจอ นั่นอสุภะ-อสุภังมันจะเกิดขึ้นตรงนั้น นี่ข้ามโอฆะ

การจะข้ามโอฆะ มันต้องหมุนเข้ามา ต้องใช้มหาสติ-มหาปัญญาจับเข้าไป จับเข้าไป จับกายกับใจนั้นเท่านั้น กายกับใจ กิเลสมันเกิดที่นี่ ดับต้องดับกันที่นี่ ไปดับที่อื่นไม่ได้ ดับที่อื่นมันนั้นเป็นเรื่องของคนอื่นเขา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นปรินิพพานไป ก็เอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ปรินิพพานไป อริยสาวกทั้งหลายนิพพานไปแล้วก็เป็นสมบัติขององค์นั้น แต่สมบัติของผู้ที่ปฏิบัติ นี่สมบัติส่วนตน

เวลาเราฟังธรรมมา เวลาเราศึกษามาจากตำรับตำรา เราเทียบเคียงมานี่ องค์ศาสดาเป็นครูเอกของโลก เราเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องเดินตาม การเดินตามนั้นเดินตามให้ทัน “ผู้ที่อยู่ฟากตะวันตกนั้นปฏิบัติเหมือนเรา เหมือนอยู่ติดกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดอยู่ติดกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม เหมือนกับอยู่ห่างไกลมาก ห่างไกล”

อันนี้ก็เหมือนกัน กาลเวลาที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี นั้นสมมุติ นั้นตัวเลขที่เขียนขึ้นมา ถ้าปฏิบัติเดี๋ยวนี้ เห็นพระพุทธเจ้าเดี๋ยวนี้ไง “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พระอรหันต์ไม่ขาดไปจากโลก ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” ลิ้มรสวิมุตติสุขในสมัยพุทธกาล วิมุตติสุขในสมัยเรา วิมุตติไง รสของวิมุตติเป็นเอกในรสของธรรมทั้งหมด ในขบวนของธรรมนี้ไม่มีรสอะไรในวิมุตติรสนี้เยี่ยมที่สุด

นี่เหมือนกัน ใจเราเข้าไปสัมผัสแล้ว ธรรมของเราถึงเป็นธรรมของเราไง ใจเข้าสัมผัสแล้วถึงว่าเป็นธรรมของใจดวงนั้น ถึงห้ามทำให้ใจดวงนั้น ใจของดวงที่ประพฤติปฏิบัตินี้พ้นออกไปจากกิเลสได้ พ้นออกไปจากกิเลสได้ก็ไปอยู่ในที่เดียวกัน ไปเสมอกันด้วยความพ้นออกไปจากกิเลสนี้ไปอยู่ที่วิมุตติรสนั้นเหมือนกัน “ผู้ใดปฏิบัติธรรม” ถึงว่าใจดวงนั้น ใจที่มีความทุกข์อยู่นั้น ถึงทำให้ฉลาดได้ แล้วทำให้ฉลาดได้ เป็นผู้ปฏิบัติได้

เราถึงว่าเรามีหัวใจ ใจอยู่กับเรา เรามีกายกับใจ เรามีกายกับใจ ยังมีลมหายใจเข้าออก ถึงเป็นคนที่มีวาสนา มีวาสนามาก มีวาสนาเพราะว่าเราเชื่อในหลักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อในหลักของชาวพุทธ เราเชื่อแล้วเราประพฤติปฏิบัติตามด้วย ไม่ใช่เชื่อ เชื่อกันเฉยๆ เชื่อกันแล้วก็หมุนเวียนตามกันไป กระแสโลกเขามีมาอย่างไรก็ไปตามเขา ไม่สามารถต้านกระแสโลกไง

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ธรรมนี้ทวนกระแส” ทวนกระแสเข้าไป ไม่ไปตามกระแส ไปตามกระแสนั้นไปตามกิเลส เพราะกิเลสมันไหลลงต่ำอยู่แล้ว ถ้าใจดวงที่เป็นธรรมแล้ว จะไปกับโลกเขาในชั่วครั้งชั่วคราว แต่พ้นจากกาลเวลานั้นสลัดทิ้งเลย สลัดอันนั้นทิ้งกลับมาอยู่ที่ใจของตัวเอง พออยู่ที่ใจของตัวเอง มันก็เป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว ใจมันก็ประพฤติปฏิบัติได้ต่อไป

งานเป็นงาน งานภายนอกเป็นงานภายนอก งานภายนอกเป็นงานเครื่องอยู่อาศัย งานภายนอกต้องเป็นงานของกาย กายนี้ต้องกินต้องอยู่ ก็หาอยู่หากินให้กายนี้อาศัยไป งานภายในแม้แต่การลืมตาอยู่ ทำงานอยู่ มันก็ทำใจได้ ถ้าใจนั้นก้าวเดินเป็น ถ้าใจนั้นก้าวเดินไม่เป็น หลับตาอยู่นี้มันก็ทุกข์นะ ก้าวเดินยังไม่ได้ ใจนี้ไม่สามารถก้าวเดินออกไปจากที่มันเป็นทุกข์ๆ อยู่ เวลาทุกข์ เราร้องว่าทุกข์ เราอยากจะหาทางพ้นทุกข์ให้ได้ เราแสวงหาหนทางอยู่ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติแล้วมันทำไม่ได้เพราะอะไรล่ะ ทำไม่ได้เพราะเราไม่จริง เราต้องโทษว่าเราไม่จริงนะ เราอย่าไปคิดว่าหลักของศาสนาไม่มี มรรค ผล นิพพานหมดกาลหมดสมัย...ไม่ใช่

ไฟจุดวันนี้ก็ร้อน ไฟในสมัยพุทธกาลก็ร้อน ไฟไปจุดอีก ๑๐๐ ปีข้างหน้าก็ร้อน ไฟถ้าจุดแล้วจิ้มเข้าไปที่เนื้อ เห็นไหม ร้อนหมดเหมือนกัน มันร้อนหมดเหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าใจเราสัมผัสได้...มี มรรค ผล นิพพานต้องมี มีอยู่แล้ว ความเย็น ความร้อนมันมีอยู่โดยขณะที่จุดติด-ไม่ติด อันนี้ใจของเราเป็นไม้ดิบ ไม้ที่ดิบมันติดไฟได้ยาก ตบะธรรมนี้ไม่สามารถแผดเผาให้ไม้นี้ติดไฟขึ้นมาได้ ถึงบอกว่าเราทำไม่ได้ต่างหาก

ธรรมนี้ต้องเป็นธรรมอยู่ตลอดเวลา อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เพียงแต่ว่าเวลาในเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ๒,๕๔๒ ปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพอมาปัจจุบันนี้ หลวงปู่มั่นนิพพานไปตั้งแต่ปี ๒๔๙๒ เวลาที่มันต่างกันมานี้เป็นแค่ตัวเลข แต่หัวใจที่เป็นธรรมเหมือนกัน เท่ากัน แล้วหมดศาสนาไปแล้ว หมดศาสนาไปพระศรีอาริยเมตไตรยยังตรัสรู้อีกก็ธรรมอันเดียวกัน แม้แต่หมดศาสนาไป ๕,๐๐๐ ปีแล้วนะ ภัทรกัป แล้วองค์พระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสรู้อีกก็ธรรมอันเดียวกัน

ถึงมีเด็ดขาด มรรค ผล นิพพานมีอยู่โดยหลักสัจจะตามความเป็นจริง แต่เพราะหัวใจของเราโดนกิเลสมันห่อหุ้มอยู่ กิเลสห่อหุ้มใจของเรา เราถึงมีความลังเลสงสัยนะ “ธรรมจะมีจริงหรือเปล่า” แล้วเราเข้าไม่ถึงหลักสัจจะอันนั้นเราก็ลังเลสงสัย ความลังเลสงสัย นี่สีลัพพตปรามาส

ถ้าดวงตาเห็นธรรม สักกายทิฏฐิขาดออกไปจากใจ สังโยชน์ขาดออกไปด้วยดวงตาเห็นธรรม มันจะไปสงสัยตรงนี้ตรงไหน นี่ใจที่ก้าวเดินมา ใจก้าวเดินได้กับใจที่ก้าวเดินยังไม่ได้ไง แต่ใจก้าวเดินยังไม่ได้ก็ต้องพยายาม พยายามเพราะอะไร

เพราะเราเกิดมาชาติหนึ่ง คนทุกคนเกิดมาต้องตายทั้งนั้น แต่ตายไปพร้อมกับมีอะไรติดมือไปล่ะ...ตายเปล่าไง เกิดมาแล้วตายเปล่า เกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้วประพฤติปฏิบัติ แล้วมือ มือเราคือหัวใจ ต้องกำอะไรติดมือไป? ไปเกิดอีกก็ให้บุญกุศลพาเกิด บุญกุศลที่ได้ประพฤติปฏิบัติในหลักของศาสนา แม้แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติ นี่ขัดเจดีย์ ในตำรับตำรานั่น พระพุทธเจ้าไปกับพระอานนท์ ผ่านเจดีย์อันหนึ่งแล้วยิ้มอยู่อย่างนั้น พระอานนท์ว่า “เพราะอะไร”

“ผู้ที่เขาอุปัฏฐากเจดีย์อยู่นี้ เป็นเจดีย์มีพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ครั้งอดีตอยู่ หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านนี้เท่ากับอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า เขาได้บุญกุศล”

นี้เราอุปัฏฐากเจดีย์คือหัวใจของเรา หัวใจถ้าเป็นธรรม เป็นธรรมเจดีย์ในใจ แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติอยู่ เราอุปัฏฐากใจของเรา แต่ในเมื่อมันมีกิเลสอยู่ เราก็อุปัฏฐากใจที่มีกิเลส เจดีย์ที่สกปรกด้วยโทสัคคินา โมหัคคินา อยู่ในใจของเรา ถ้าเราสามารถชำระโทสัคคินา โมหัคคินาในหัวใจเราหมดไป เราสามารถอุปัฏฐากธรรมเจดีย์ในใจ ใจที่เป็นธรรม เป็นเจดีย์อยู่ในกลางหัวใจ แล้วเรารักษาอยู่ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา นี่คืออุปัฏฐากใจของตัว

อุปัฏฐากใจของตัวด้วยวิธีการก้าวเดินของศีล จิตปกติปรับน้ำไว้เสมอกัน ศีลปรับน้ำเสมอกัน สมาธิ น้ำนั้นนิ่งแล้วน้ำนั้นควรแก่การงาน น้ำนี้ไปต้มไปทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับหัวใจขึ้นมา นี่อุปัฏฐากธรรมเจดีย์ในใจ อุปัฏฐากด้วยศีล สมาธิ ปัญญา นี่อุปัฏฐากเข้ามา เราได้บุญกุศลขึ้นไป บุญกุศลเกิดขึ้นจากที่เราประพฤติปฏิบัตินี้ ถึงจะไม่ได้อะไร เราก็ได้อุปัฏฐากใจของเรา

แต่อุปัฏฐากแยกออกมาจากกิเลส แยกมันออกไปไง กิเลสทำให้เราทุกข์ร้อนไป เราแยกธรรมเข้ามาให้มันร่มเย็นเข้ามา ความร่มเย็นของเราเข้ามา นี่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงในการก้าวเดินไป การประพฤติปฏิบัติ รถจะไปได้ต้องพร้อมทั้งน้ำมัน พร้อมทุกอย่าง น้ำในเครื่องต้องไม่พร่อง ทำให้รถนั้นแล่นไปได้ดี การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้ามีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเร่าร้อนอยู่ ปฏิบัติเข้าไปมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความหนักอกหนักใจ แล้วเราจะเอาที่ไหนก้าวเดิน

แต่ถ้าเราปฏิบัติไป จิตนี้มีความสงบ จิตนี้ได้ดื่มกินความสงบบ้าง เข้าไปสัมผัส เห็นเงา ร่างเงาของพระพุทธเจ้า ใจก็ก้าวเดินไปได้ด้วยอัตภาพของมัน ด้วยความเป็นอัตภาพของใจดวงนั้นนะ ใจแต่ละดวงแต่ละดวงที่ประพฤติปฏิบัตินี้ก้าวเดินไปไม่เหมือนกัน ถ้ามีความทุกข์มาก มันก็เหมือนกับเครื่องร้อนนั่นน่ะ มีความทุกข์มาก เครื่องต้องเสียต้องหาย ต้องแก้ไขกันไปตลอดเวลา นี่เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติไม่ลง เราประพฤติปฏิบัติแล้วมันไม่ลง นั่งไปจนพิการได้นะ จนต้องไปหาหมอก็มี ขาตรงนั้นไป แต่อย่าเอาอะไรไปกังวล สิ่งนั้นเป็นภายนอก เราไม่ประพฤติปฏิบัติ ร่างกายนี้ก็ต้องพิการโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว ร่างกายนี้ต้องแปรสภาพไป ต้องเจ็บ ต้องป่วย ต้องไข้ตลอดเวลา ความเจ็บ ความป่วย ความไข้อันนั้นต่างหาก เราควรจะเอามาเป็นต้นเหตุ เอามาเป็นเชื้อเป็นที่วิปัสสนา

“ธรรมโอสถ” โลกเป็นโลก เจ็บไข้ได้ป่วยไปหาหมอ หมอรักษาได้แต่ร่างกาย แต่ถ้าอุปาทานเรายึดมั่นถือมั่นสิ ความเห็นเราเห็นผิด ความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นจะเพิ่มมากขึ้นเลย ฉะนั้นว่าเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ไม่ต้องไปกังวลมัน เราจะประพฤติปฏิบัติหรือไม่ประพฤติปฏิบัติ มันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่โดยธรรมชาติของมัน กายนี้เป็นที่อยู่เป็นรังเป็นเรือนเป็นที่อยู่ของโรคภัยไข้เจ็บตลอดเวลา พระพุทธเจ้าในธรรมะถึงได้วางไว้ไง “ผู้ที่ไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” โรคภัยไข้เจ็บนี่ทำให้เราภาวนาไม่ได้

แต่นี่เรามาภาวนา มันเกิดเจ็บปวด เจ็บแสบร้อนนั้นช่างหัวมัน อันนี้เราต่อสู้นี่ การต่อสู้ นักมวยขึ้นชกกันมันต้องมีการต่อสู้ ต้องเจ็บช้ำลงมา อันนี้เราจะต่อสู้กับกิเลสที่มันอาศัยกายกับใจนี้เป็นที่อยู่ของมัน กายกับใจนี้เป็นเหยื่อ เป็นที่อยู่ เป็นที่หากิน เป็นเรือนรังของโรค แล้วเราจะมาชำระเรือนรังของโรค เราจะไปกลัวเรือนรังของโรคได้อย่างไร

หมอ ถ้าเขาจะผ่าตัด เขาไม่กล้ากรีดมีดลงไปเนื้อของมนุษย์แล้วมันจะผ่าตัดได้อย่างไร เห็นไหม ถึงจะเจ็บปวด เขาต้องกรีดลงไป กรีดลงไปเพื่อจะผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อร้ายนั้นออก อันนี้ร่างกายที่มันจะเจ็บป่วยอยู่ด้วยกัน แต่เราจะทำตบะธรรม ธรรมโอสถเข้าไปชำระล้างมัน เราจะไปกลัวทุกข์กลัวยากทำไม เราต้องไม่กลัวทุกข์กลัวยาก เราต้องไม่วิตกกังวล นี่คือนักรบ นักรบคือนักต่อสู้ นักรบจะรบกับกิเลส ไม่ใช่นักหลบ พอเกิดเหตุนิดหน่อยขึ้นมา ปัญญาจะหมุนเลย “ควรพักก่อน ควรจะทำอย่างนั้นก่อน เดี๋ยวร่างกาย...” อันนั้นต้องให้หมอตัดสิน แต่หมอก็คือหมอนะ หมอรักษาได้เฉพาะกาย หมอไม่เคยสามารถรักษาใจใครได้

แต่ไม่เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้เป็นตามความเป็นจริงนะ รักษาใจพ้นจากกิเลสไปโดยองค์แรก แล้วยังรักษาปัญจวัคคีย์ต่อไป ยสะกับหมู่พวกไปอีก ๖๑ องค์ รักษามันด้วย รักษา...(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)