ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะเมืองจันท์

๖ ก.ค. ๒๕๕๑

คณะเมืองจันท์

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม :           ที่ฟัง เอ็มพี3 ของพระอาจารย์ค่ะ แล้วมันจะมี ที่พระอาจารย์บอกว่า จิตว่างให้รู้ว่าว่าง หนูเข้าใจค่ะ แต่ที่ว่างในตัวของมันนี่ หมายความว่าอย่างไรคะ

หลวงพ่อ :     ที่ว่างในตัวของมัน คือสมาธิ ตอนนี้ที่ว่าจิตว่างๆ  มันโกหกกันไง

โยม :           อย่างสมมุติตอนนี้หนูรู้ว่าว่างอยู่ มันไม่มีอะไร

หลวงพ่อ :     ใช่ รู้ว่าว่าง ตัวเองว่างหรือยังใช่ไหม ตัวเองไม่ว่างใช่ไหม

โยม :           เพราะว่าจิตมันรู้ว่าว่าง  แล้วเราจะเดินอย่างไรคะ

หลวงพ่อ :     ตอนนี้มันจะเริ่มกลับมาตรงนี้ไง ก่อนที่จะเริ่มปฏิบัตินี่ เราจะต้องปูพื้นฐานก่อน ตอนนี้พื้นฐานของการปฏิบัติ มันมีอาจารย์ที่ถูกกับอาจารย์ที่ผิด ฟังให้ดีนะ อาจารย์ที่ถูกหมายถึงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านประกาศเป็นพระอรหันต์ ฟังตรงนี้ก่อนนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติอยู่ ปัญจวัคคีย์ องค์อุปัฏฐากอยู่  ปัญจวัคคีย์นี่ก็อยากจะปฏิบัติ ใช่ไหม แต่ตอนนั้นพระพุทธเจ้ายังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัวเองยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ไม่มีอะไรจะไปสอนเขา จริงไหม  นี่เราอยู่กันอย่างนี้ เราเป็นปุถุชนด้วยกัน แล้วเราปฏิบัติด้วยกัน เราก็เริ่มปฏิบัติ แต่ในเมื่อมีเราเป็นหัวหน้า โยมก็ปฏิบัติอยากด้วยกัน ทีนี้พอเราปฏิบัติด้วยกัน แต่เราไม่รู้จริง เราจะเอาอะไรไปสอน

ทีนี้พอปัญจวัคคีย์เห็นว่าอดอาหาร ใช่ไหม แล้วออกมาทานอาหารของนางสุชาดา ปัญจวัคคีย์ก็เห็นว่าพระพุทธเจ้านี่ เพราะสมัยนั้นเขาถือเคร่งกันไง เห็นว่าออกมากินอาหารถือว่ามักมาก ก็เลยเสียใจ เสียใจว่าหมดโอกาสแล้ว เพราะอะไร เพราะถือเคร่งขนาดนี้แล้วยังไม่ได้เลย แล้วมาฉันอาหารแสดงว่าท้อถอย ก็เลยเสียใจ ก็สลัดทิ้งไปเลย  พอทิ้งไปพระพุทธเจ้าเหลืออยู่องค์เดียว พอฉันอาหารของนางสุชาดาแล้วมันฟื้นร่างกายมา ก็นั่งวิปัสสนาคืนนั้นสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า คืนนั้นก็เสวยวิมุตติสุขอยู่ตั้ง วัน ตั้งหลายรอบ เสร็จแล้วคิดว่าจะสอนใครดี ก็คิดถึงว่าจะสอนคนมีพื้นฐาน ก็จะสอนอาฬารดาบส คืออาจารย์ที่เคยไปศึกษาเรื่องเข้าสมาบัติกับอาฬารดาบส กำหนดจิตดูเพราะว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว อนาคตังสญาณเห็นว่าอาฬารดาบสตายไปเสียแล้วเมื่อวานนี้เอง น่าเสียดายมาก จะไปสอนใครดี ก็ไปสอนปัญจวัคคีย์

ปัญจวัคคีย์ทิ้งมาใช่ไหม อยู่กับเราถือเคร่งครัดขนาดนั้นยังไม่ได้ผล แล้วนี่ไปฉันอาหารแล้วจะมาสอนเรา  ก็ไม่เชื่อ พอไม่เชื่อก็นัดกันไว้ว่าถ้ามาก็จะไม่รับ แต่พอไปถึง พระพุทธเจ้าด้วยความเคารพก็ต้อนรับ แล้วพอพูดอะไรก็ยังดื้อดึงอยู่ พระพุทธเจ้าบอกเลย เมื่อก่อนเราไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เราก็บอกไม่ได้เป็นเห็นไหม ตอนอยู่ด้วยกันเราก็ไม่ได้สอน เพราะเราไม่มีวุฒิภาวะจะไปสอน แต่ตอนนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว ให้เงี่ยหูลงฟังไง  แล้วแสดงธรรมจักรเห็นไหม อัญญาโกญฑัญญะนี่กำหนดตามรู้ทัน จะย้อนกลับมาที่นี่

คำสอนที่คนรู้จริงสอน กับคนรู้ไม่จริงสอน หลวงตาบอกเลย ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของผู้สิ้นกิเลส พระพุทธเจ้าเป็นผู้สิ้นกิเลส  แล้วศาสนาต่างๆที่มีอยู่นี่ เป็นศาสนาของผู้มีกิเลส ในเมื่อยังมีกิเลสอยู่ แต่เราคิดเป็นตรรกะ  เราก็บอกได้ ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีได้ดี แต่ทำอย่างไรล่ะ นี่การกระทำของเขามันหลากหลาย เห็นไหม ในศาสนาในลัทธิต่างๆมันหลากหลายเห็นไหม แต่ในศาสนาพุทธของเรา การทำความดีต้องทำความดีเพื่อชนะตนเอง ไม่ใช่ทำความดีที่อื่นนะ แล้วการทำความดีเพื่อชนะตนเอง ต้องมีอะไร ต้องมีศีล บังคับใจเรา ต้องมีสมาธิ ต้องมีปัญญา ทีนี้ปัญญาของใครล่ะ

ถ้าคนไม่รู้ว่าปัญญาๆนี่ แล้วลูกศิษย์เยอะนะ เวลามาก็บอกว่า หลวงพ่อเดี๋ยวนี้นะ เขาไม่ใช้กันแล้วล่ะ พุทโธๆ มันไม่มีปัญญา เขาใช้ปัญญากันไปเลย แล้วปัญญาคืออะไรล่ะ เขามีอาชีพเขาเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยเป็นศาตราจารย์  ก็บอก เอ็งนี่นะ เอ็งไปเรียนมาจากไหน เอ็งไปเรียนมาจากตะวันตก ตะวันตกเขามีศาสนาไหม พระพุทธเจ้ามีไหม ไม่มี  ไม่มีเอ็งยังเรียนกันได้เลย ปัญญาอย่างนี้เขาเรียกโลกียปัญญา ปัญญาที่ศึกษามาเพื่อเป็นวิชาชีพ แล้วโลกุตรปัญญาอยู่ไหน

นี่ เราปูพื้นฐานอย่างนี้ก่อน แล้วก็จะย้อนกลับมาที่ว่า เวลาครูบาอาจารย์ที่สอน ถ้าเขาไม่มีความเป็นจริง  เขาก็บอกว่ากำหนดว่าว่าง ความว่างคือความสุข ทุกคนบอกเลยว่า อภิธรรมนี่ กำหนดนามรูปแล้วว่าง แล้วมันมีความสุขมาก ความว่างคือความสุข ความสุขเพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเราเคยแบกของภาระไว้หนัก แล้วเราปล่อยวาง แบกของหนักคือความคิด แล้วพอมันปล่อยวางความคิด นี่ไง ว่างไง มันไปว่างที่ความคิดไง  มันไม่ว่างที่เราไง ทีนี้ว่างด้วยความคิดนี่มันเป็นมิจฉาด้วย มิจฉาเพราะว่าอะไร เพราะว่าเรามีความทุกข์ใช่ไหม แล้วเราใช้ปัญญาใคร่ครวญ ความทุกข์เห็นไหม ชีวิตก็เป็นทุกข์อย่างนั้น เราเข้าใจ ก็ว่าสบายๆ นี่เขาเรียกว่าโลกียปัญญา

ถ้าเป็นคำพูดของหลวงตา ท่านบอกว่าปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่เข้าใจก็บอกว่า เขาใช้ปัญญาแล้ว ปัญญานี้คือวิปัสสนา แต่ความจริงของเราคือ ปัญญาอบรมสมาธิ  คือว่า กำหนดพุทโธ หรือกำหนดกรรมฐาน ๔๐ ห้องหรือกำหนดอะไรก็แล้วแต่ที่เขาทำกัน โดยสามัญสำนึกของโลกหรือโดยทางข้อเท็จจริง  ที่สุดของการกระทำมันว่างหมด จริงไหม  ทุกวิธีการ มันว่างหมด แต่มันมีบวกกับลบ บวกคือว่าง ถูกต้อง กับว่างผิด ถ้าว่างถูกก็เป็นสัมมาทิฐิ ถ้าว่างผิดก็เป็นมิจฉาทิฐิ  กำหนดว่าง ความเข้าใจว่าว่าง ปล่อยให้วางกัน ว่างโดยที่ไม่มีเจ้าของไง เราบอก ถ้าความว่างอย่างที่เขาทำกัน ที่ใครๆ ก็พูดถึง มันก็ว่างอยู่บนอวกาศ อวกาศว่างไหม แล้วใครเป็นเจ้าของมัน ก็คิดให้ว่างมันก็ว่างไง แล้วเราว่างไหม นี่เราโต้แย้งตรงนี้ไง

เราจะบอกว่าแม้แต่สมาธิ เขายังเข้าใจกันผิดเลย โยมมาหาเรานี่นะ เห็นเราเป็นเศรษฐี เงินเราเต็มไปหมดเลย เงินของโยมหรือเปล่า ของเรานะ ก็ไปดูแต่บ้านคนอื่นไง แล้วเอ็งว่างหรือเปล่า นี่ถ้าจะให้เราว่าง เราต้องเข้าใจก่อนนะว่าพื้นฐานของศาสนาเราเป็นอย่างไร  พื้นฐานศาสนาของชาวพุทธเรานี่ พุทธะอยู่ที่ไหน พุทธะอยู่ที่เรา พุทโธ พุทธะ ผู้รู้ พระพุทธเจ้าอยู่ที่นี่ เห็นไหม ศาสนาอื่นเขาไม่ได้อยู่ที่นี่นะ ต้องเคารพพระเจ้า ต้องเชื่อพระเจ้า ตามกำหนดของพระเจ้า พระเจ้าบัญชา พระเจ้าอยู่ข้างนอก แล้วเราเคารพบูชาเขา เหมือนกับเราไปหาองค์ทรงเจ้าเข้าผี สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา เหมือนกันเลย

เพียงแต่คำพูดมันคนละคำพูด แต่ของศาสนาพุทธเราไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เคารพพระเจ้า กูนี่คือพระเจ้า เพราะถ้ากูทำดี กูไปเกิดเป็นเทวดา กูไปเกิดเป็นอินทร์ เป็นพรหม กูนี่คือพระเจ้า พอว่ากูเป็นพระเจ้าปั๊บนี่ เวลาย้อนกลับมามันย้อนกลับมาที่นี่ไง ศาสนาเราละเอียดกว่าตรงนี้ ทำเพื่อข้างใน ทำเพื่อข้างในนะ ไม่ได้ทำเพื่อข้างนอก ข้างนอกนี่ปัจจัยเครื่องอาศัย นี่ปัจจัย ๔ ที่เราหาคือปัจจัยเครื่องอาศัย  ปัจจัยมันอยู่ที่วาสนาด้วย คนทำแทบเป็นแทบตายเลยก็ได้ของเขาแค่พอประมาณ บางคนทำอะไรประสบความสำเร็จไปหมดเลย พื้นฐานกรรมเก่า กรรมใหม่ เรามานั่งอยู่ด้วยกัน ๕ คนนี่  เราสร้างกรรมมาไม่เหมือนกัน เราเปรียบเทียบนะ แบบว่า เรานี่เมล็ดพันธุ์พืช เราเป็นเมล็ดทุเรียน เมล็ดทุเรียนนะปลูกเท่าไหร่ก็เป็นทุเรียนจริงไหม ไอ้นี่เป็นน้อยหน่า โตไปก็เป็นน้อยหน่าทั้งนั้น เป็นชมพู่ เป็นมะม่วง เมล็ดพันธุ์พืชเราเป็นอะไรก็แล้วแต่ลงไปในดิน ปลูกไปแล้วมันจะเป็นอย่างอื่นเป็นได้ไหม

จิตของแต่ละบุคคลสร้างมาไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน เราปฏิบัติด้วยกัน ๕ คนนี่ กำหนดพุทธโธ เหมือนกันเลย แต่ผลตอบสนองไม่เหมือนกันเลย กรรมเก่าและกรรมใหม่ กรรมใหม่คือปัจจุบันนี้ กรรมเก่าคือสิ่งที่เราสร้างมานี่ พันธุกรรม มันตัดแต่งมาจนเป็นจริตนิสัย ความชอบเรานี่ไม่เหมือนกัน สิ่งที่ชอบสิ่งที่เราพอใจนี่ไม่เหมือนกันหรอก แต่เราเชื่อพระพุทธเจ้าด้วยกัน ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านถึงเปิดทางไว้ให้ ๔๐ วิธีการ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ทำอย่างไรก็ได้ แต่เราต้องเข้าใจ นี่ตรงนี้สำคัญ เราต้องเข้าใจว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ขณะนี้เราทำอะไรอยู่ เราทำสมาธิ เราทำความสงบของใจ เพื่อถ้าจิตมันสงบขึ้นไปแล้ว มันจะออกมาจากฐานของจิต

จิตสงบคืออะไร คือเราย้อนกลับไปตัวพื้นฐานของใจ แต่ขณะที่ความคิดเราที่เราคิดอยู่นี่ มันไม่ถึงใจ มันถึงที่ความคิด คืออาการของใจ คือเงา เงาของจิตไม่ใช่ตัวจิต แล้วถ้าเราเข้าใจปั๊บนี่เรากำหนดพุทโธๆ จะเข้าไปถึงตัวจิต ถ้าเข้าไปถึงตัวจิตแล้ว แล้วเอาจิตน้อมออกไป กาย เวทนา จิต ธรรม มันถึงจะเป็นวิปัสสนา มันถึงจะเป็นโลกุตรปัญญา โลกุตรปัญญา ปัญญาเหนือโลก โลกคืออะไร โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือเรา โลกคือภพ สัญชาติภพชาตินี่นะมันเป็นทะเบียนบ้าน แต่ภพชาติของเราคือตัวจิต ตัวเกิด ปฏิสนธิจิต ชื่อเสียงเรียงนามอะไร เราเปลี่ยนได้หมดนะ แต่ตัวจิตมันมีกิเลสนะ มันเกิดตายโดยธรรมชาติของมัน เกิดในไข่ของมารดานะ มันถึงเกิดมาเป็นเรา นี่ถ้าจิตสงบเข้าไป มันจะเข้าไปถึงตรงนั้น เขาเรียกว่าปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ

แต่วิญญาณ เสียงกระทบมันเป็นวิญญาณรับรู้ ทีนี้วิญญานรับรู้ จิตสงบมันจะสงบไปที่ปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิจิต แล้วถ้าว่างอย่างนั้นนะ มันอย่างนี้ เรากินน้ำตาล เราว่าหวานใช่ไหม กับมันเขียนคำว่าหวานต่างกันไหม ถ้าเข้าไปถึงความหวานทางจิตนะ อึ้ก นั่นแหละคือสมาธิ แม้แต่สมาธิตอนนี้ยังเข้ากันไม่ถึงเลย แล้วไปสร้างภาพสมาธิข้างนอกกัน โดยความเชื่อของปัญญาชนว่าการประพฤติปฏิบัติคือใช้ปัญญา คือสิ่งที่เป็นความว่าง แต่ความว่างของใคร แล้วความว่างนี่นะ ถ้าสัมมาสมาธินี่ความว่างยังมีอีกตั้งหลายระดับ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ แล้วสมาธินี่มันอยู่ที่วาสนา

ถ้าบางคนเป็นปัญญาวิมุตินะ พอมันว่างระดับนี้ปั๊บมันทำงานได้แล้ว เหมือนเรานี่ คนทำงานที่ไหนก็ทำงานได้ บางคนต้องรอเวลา  บางคนไม่เหมือนกัน ก็เหมือนที่ว่าพันธุ์พืชของจิต แต่ละอันมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเรากำหนดอะไรก็แล้วแต่ ให้ตรงกับจริตนิสัยเรา อย่างเช่น อาหารเราอยากกินอะไร เราชอบกินอะไร ถ้าเรากินอย่างนั้นปั๊บ เราจะพอใจ แต่ถ้าเอาอย่างอื่นให้กิน กินได้ไหม ได้ แต่ไม่ค่อยพอใจ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าปฏิบัตินะเราต้องหาแนวทาง ถ้าเรากำหนดพุทโธได้ เราก็กำหนดพุทโธ ถ้าไม่ได้ก็กำหนดลม หายใจ ถึงที่สุดแล้วทำอะไรไม่ได้แล้ว ต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คือใช้ความคิดไล่ความคิด

ใช้ความคิดไล่ความคิดนะ เวลาคิดอะไรอยู่มีสติตามมันไป แล้วถามมันว่า มึงคิดทำไม เวลาคิดเราเหนื่อยไหม โดยธรรมชาติของมัน คิดไปแล้วมันต้องหยุดโดยธรรมชาติของมัน ไม่มีใครคิดแล้วไม่หยุด ไม่มีหรอก คิดแล้วต้องหยุด แต่เรานี่มันมีอารมณ์ความรู้สึก พอคิดแล้วมันมีรสชาติไง ดีใจเสียใจมันคิดต่อเนื่อง มันสืบต่อไปตลอด  ถ้าสติเราตามมันไป มันจะเห็นเลย เห็นโทษไง คิดแล้วเหนื่อย คิดแล้วนะให้ผล เสียใจ ดีใจ คิดแล้วกลุ้มใจ คิดแล้วทุกข์ใจ  แล้วความคิดนั้นมันไม่เป็นความจริงเพราะอะไร เพราะเราคิดในเรื่องอดีต อนาคตไง นู่นก็ยังไม่ได้ทำ นี่ก็ยังไม่ได้ทำ อยากจะทำไอ้นั่น คิดไปเรื่อย แล้วมันจริงหรือเปล่า มันเพ้อเจ้อ ถ้ามันตามทันมันรู้เลยว่าเราไม่ควรคิด มันหยุด พอหยุดเฉยๆ อย่างนี้ปั๊บมันเป็นสมาธิอันหนึ่ง นี่ใช้ความคิดอย่างนี้มันจะเป็นปัญญาวิมุติ

แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ นี่มันลงอีกอย่างหนึ่ง ทีนี้เป็นปัญญาวิมุตนี่มันจะว่างๆ อย่างที่ว่า  มันไม่ลงลึก แต่เรารู้อยู่เพราะเราเป็นคนทำ พอมันทำบ่อยครั้งเข้าๆ จนมันเห็นโทษนะ เห็นโทษเพราะอะไรรู้ไหม ความคิดมันมีตัวกระตุ้น สิ่งที่กระตุ้นมันนะ คือสิ่งที่มากระทบไง รูป รส กลิ่น เสียง เสียงเขาชม เสียงเขาติ เสียงก็คือเสียงนะ เพียงแต่แง่ชมกับติแค่นั้นเอง แล้วเราได้ยินแง่อย่างนี้ ชมหรือติ เราก็คิดอยู่นั่น

สิ่งที่มันกระตุ้น รูป รส กลิ่น เสียง มันกระตุ้น พอมันรับรู้ มันก็คิด แต่ถ้าเราใช้ปัญญาบ่อยครั้งเข้ามันเห็นไง อะไรกระทบแล้วไม่คิด ถ้ามันรู้ทัน มันก็จะปล่อย รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันเอาไอ้นี่ล่อไง เราไปติดบ่วงมันเอง ถ้าปัญญามันได้เห็นทันนะ มันตัดได้ พอมันตัดได้ทีนี้มันคุมสมาธิได้ง่ายแล้ว

แต่ก่อนหน้านั้น เรายังไม่เห็นโทษของ รูป รส กลิ่น เสียง ไม่เห็นโทษ ถ้าเห็นโทษเมื่อไหร่นะ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลสควบคุมความคิดนี่ยากมาก ที่ว่าตามความคิดไป แล้วมันจะตามยังไง แล้วมันจะตามที่ไหน อู้ยมันยุ่งไปหมดเลย แต่ถ้ามันเป็นแล้วนะ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนนี่มันรู้ทันรูป รส กลิ่น เสียง  เสียงก็คือเสียง ลมพัดก็คือลมพัด เสียงคนพูดคนจาก็คือเสียง คือเราฟังแล้วเราไม่ให้ค่ามัน เสียงนั้นจะมากระตุ้นเราไม่ได้เลย แล้วความคิดเรากระตุ้นเราไม่ได้เลย มันจะคุมใจเราได้ง่ายขึ้น นี่คือ ปัญญาอบรมสมาธิ

เราจะบอกก่อนไง เราจะปูพื้นก่อน ว่าสมาธินี่มันมีหลายหลากวิธีการ แต่คนต้องเข้าใจว่า ที่ทำนี่เป็นสมาธิหรือว่าเป็นวิปัสสนา คำว่าวิปัสสนานี่จิตมันต้องสงบก่อน พอจิตสงบก่อน ปัญญาที่เกิดขึ้นมันจะเป็นปัญญาในศาสนาของเรา ศาสนาพุทธ คำว่าปัญญา พระพุทธเจ้าใช้คำนี้ ปัญญาในศาสนาพุทธคือ ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ขันธ์ ๕ ไง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขารคือความคิดความปรุงแต่งไง แล้วความคิด ปัญญาของเราตามทันความคิดเราไง คนที่ทันความคิด แล้วยับยั้งความคิดได้หมดเลย ความคิดไม่มีอำนาจเหนือเราเลย มันจะมีความสุขไหม นี่ปัญญารอบรู้ในความคิด ความคิดมันก็ปล่อยหมด พอปล่อยบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะเริ่มสงบขึ้นมา

แล้วถ้ามันไปเห็นความคิดอีกอันหนึ่งนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะความคิดมันคือธรรมชาติ จิตนี่คือพลังงานเฉยๆ  ความคิดนี่ ส้ม-เปลือกส้ม เราหยิบส้มเราต้องโดนเปลือกส้มเป็นธรรมดา หยิบส้มนี่ต้องโดนเปลือกส้มเพราะเปลือกส้มมันอยู่กับส้มอยู่แล้ว เปลือกส้มนี่มันขม เนื้อส้มนี่มันหวาน เปลือกส้มนี่คือ ขันธ์ ๕ เรากำหนดพุทโธๆๆ ถ้าสงบเข้าไปมันจะเข้าไปถึงเนื้อส้ม ทีนี้เนื้อส้ม โดยธรรมชาติของมัน มันมีเปลือกส้มใช่ไหม ทีนี้เปลือกส้ม เพราะอะไร เพราะสัญชาตญาณของมนุษย์ ความคิด การสื่อสัมพันธ์กัน มันก็ต้องผ่านรูปรสกลิ่นเสียง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทีนี้พอมันผ่านขึ้นไป จิตถ้าสงบเข้าไปแล้ว เวลามันออกมา มันเสวยอารมณ์ไง ถ้าจับตรงนี้ได้วิปัสสนาเกิดตรงนี้ วิปัสสนามันเกิดไง

แต่เดิมความคิดเรามันคิดโดยธรรมชาติ ออกมาเป็นความคิดความทุกข์ แต่เราใช้ปัญญาไล่เข้าไป ไล่เข้าไป จนกว่ามันจะสงบ พอสงบขึ้นมา โดยสัญชาติญาณของมนุษย์มันต้องสื่อสารกันด้วยเสียง ด้วยรูป ด้วยความคิดนี่ไง คำพูดนี่มาจากไหน เราคิดแล้วถึงจะพูด เราอยากจะพูดอะไรต้องคิดใช่ไหม นี่มันออกมา ถ้าจิตสงบมาเห็นตรงนี้ เห็นการเสวยอารมณ์ไง ถ้าเห็นการเสวยแล้วตัดตรงนี้ได้ วิปัสสนาเกิดตรงนี้ไง วิปัสสนาเกิดตรงที่ว่า จิตมันเสวยอารมณ์  เสวยอารมณ์คืออะไร คือ รูป รส กลิ่น เสียง มันผ่านอะไร มันมีข้อมูลอะไร ข้อมูลคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในรูป รส กลิ่น เสียง นี่ ถ้าจับแยกได้  รส ใครบอกว่ารส เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ใครบอกมัน สัญญาใช่ไหม สัญญารับรู้ข้อมูล สังขารพอใจ วิญญาณรับรู้  ถ้าจับตรงนี้ได้ออกมาเห็นเสวยอารมณ์ไง วิปัสสนาเกิดตรงนี้

ทีนี้คำถามถามว่า ไอ้ว่างๆ จิตว่างนี่คืออะไร ใช่ไหม จิตว่างนะ ถ้าเรากำหนดพุทโธจนว่างนี่ พูดได้คำเดียวคือ ว่าง  เรารู้ว่าว่างไง แต่ตอนนี้ถ้าทำอย่างนี้นะ ที่ไม่เข้าใจถึงความว่าง ไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ เพราะมันทำแล้วมันยังไม่พื้นฐาน ไม่มีพื้นฐานว่าความว่างนี่มันคืออะไร

โยม :           พระอาจารย์ แต่หนูเคยอ่านหนังสือของท่าน....ค่ะ ท่านพิจารณา ตัว สุญญตา อนิมิตตา นิมิตตา ก็คือหมายถึงว่าดูสภาวะอิงอาศัยของสิ่งหนึ่ง เพื่อไปเป็นสิ่งหนึ่ง  เราเข้าไปพิจารณาอันนั้นได้ไหมคะ จริงๆ แล้วอันนั้นคือสุญญตาที่เป็นความว่างจริงๆ ไหมคะ

หลวงพ่อ :     ส่วนใหญ่มันจะติดตรงนี้กันหมดไง ที่เราพูดมาเนี่ย

โยม :            พระอาจารย์ นั่งเลยได้ไหมคะ

หลวงพ่อ :     ตามสบาย แต่ต้องพูดด้วย เพราะว่าอะไร เพราะว่าอย่างพูดเมื่อกี้ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าถ้ามาอย่างนี้  เพราะมันดูจิตไง

โยม :           เมื่อกี้ที่พระอาจารย์เทศน์ค่ะ คือปกติก็ดูจิต แล้วจะรู้เสียงอยู่แล้ว แล้วก็ปล่อยให้เขารู้อย่างนั้นไป แต่ว่าไม่ได้เดินพิจารณาค่ะ ว่าเราจะต้องดู จริงๆ แล้วถ้าเข้ากาย เวทนา จิต ธรรมเลยได้ไหมคะ

หลวงพ่อ :     มันเข้าโดยสมมุติ นี่มันเข้าไม่ได้ เข้าไม่ได้ โดยข้อเท็จจริงในศาสนา มันไม่ใช่แค่ศาสนา  สติปัฏฐาน กาย เวทนา จิต ธรรม เราถึงบอกว่า มันไม่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยข้อเท็จจริง มันเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยการสร้าง  

โยม :           แล้วมันต้องทำอย่างไรคะ

หลวงพ่อ :     ก็ต้องกลับไปที่สมาธินี่ไง 

โยม :           กลับไปแล้วก็..ปล่อยกาย คือเริ่ม..

หลวงพ่อ :     ไม่ใช่ มันต้องกลับไปที่พื้นฐานเมื่อกี้นี้ก่อน พอกลับไปที่พื้นฐานนี่เราจะบอกว่า เราต้องรู้จุดยืนของจิตก่อน อย่างเช่นดูจิต ดูเฉยๆ นี่  เราเปรียบเหมือนคนเล่นว่าว เอ็งเห็นคนเล่นว่าวไหม มันจะมีว่าวใช่ไหม มีเชือกใช่ไหม มีลม มันชักว่าวนี่ถึงจะขึ้น แต่ถ้าเราจะเล่นว่าว  แล้วเราจับว่าวขึ้นมาแล้วเราเหวี่ยงว่าวไปอย่างนี้ มันจะได้ไหม ว่าวนี่คือสติ ว่าวนี่คือสตินะ สติจะเล่นว่าว ว่าวนี่คือตัวจิต เราจะบอกว่าจิตนี่มันต้องมีจุดยืน มันต้องมีพื้นฐาน ถ้าจิตมันมีพื้นฐานมีจุดยืนขึ้นมา สติมันอยู่ที่ไหน กำหนดอยู่ที่ไหน เราจะบอกว่าต้องมีคำบริกรรมไง

โยม :              ต้องมีคำบริกรรมใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ :     ใช่  ต้องมีจุดยืน อย่างเช่น ถ้ากำหนดลมหายใจ ลมหายใจอยู่ที่ไหน ลมหายใจอยู่ที่ปลายจมูกใช่ไหม เรากำหนดลมหายใจ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เรารู้อยู่ตลอดเวลา

โยม :            แต่ตอนนี้จับเสียงพระอาจารย์อยู่ค่ะ จิตมันก็รู้ว่าเป็นเสียงพระอาจารย์ แล้วก็เกิดดับ เกิดดับ แล้วมันก็ว่างๆ ไม่มีอะไรต่อจากนั้นค่ะ  

หลวงพ่อ :     ตอนนี้ไม่ต้องภาวนาเลย ตอนนี้คุยธรรมะกัน ทำความเข้าใจกันก่อน มันจะรู้ไปไม่ได้หรอก ตอนนี้ต้องเคลียร์พื้นฐาน เคลียร์ความรู้สึกอันนี้ก่อน เพราะว่าตอนนี้ เราจับแพะชนแกะ เราจับเรื่องทุกๆ อย่างมาผสมปนเปกัน แล้วเราก็จะมายำออกมาให้เป็นผลการปฏิบัติของเรา มันเป็นไปไม่ได้ มิจฉาทิฐิ สัมมาทิฐิ ถ้าทิฐิมันถูกต้อง มันจะมาถูกต้อง นี่มันทิฐิ คิดกันเองเพราะอะไร เพราะมีพวกโยมนี่มาหาเยอะมาก แล้วเข้าใจมาอย่างนี้ไง เราจะบอกเลยนะว่าทำไมธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะเหนือโลก แล้วตอนนี้เราใช้โลกคิดกัน ใช้สมมุติ ใช้สังขาร ใช้สมองคิด สมองนะเป็นสถิตินะ ดูสิทางวิชาการที่เขาทำกันนี่สมองนะ แต่เวลาปฏิบัติไปจิตสงบเข้าไปมันเป็นใจนะ ความคิดเกิดจากใจ ไม่ใช่ความคิดเกิดจากสมอง ความคิดเกิดจากสมองคือทางวิทยาศาสตร์  ความคิดเกิดจากใจไม่ต้องอาศัยสมอง

ความคิดจากใจ จิตมันจะสงบขึ้นมา ถ้าจิตสงบขึ้นมาแล้วเราใช้งานไม่เป็น จิตก็คือจิตอยู่อย่างนั้น มันจะเสื่อมไปเป็นธรรมดาของมัน ถ้าใช้ไม่เป็นทำไม่เป็นออกรู้ไม่ได้  ถ้ามันเป็นธรรมชาติโดยอัตโนมัตินะ ฤๅษีชีไพรก็เป็นพระอรหันต์หมดแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ต้องมาตรัสรู้ ฉะนั้นเวลาทำมันเห็นภาพชัดเลยว่า เราต้องทำอย่างนั้นๆ เราคิดว่าต้องทำอย่างนั้น นี่คิดแบบวิทยาศาสตร์ไง ปัญญาคือความคิด แต่ไม่รู้ว่าความคิดมันมีสุตมยปัญญาคือการศึกษา จินตามยปัญญาคือทางวิทยาศาสตร์ ภาวนามยปัญญาเกิดจากอะไร ภาวนามยปัญญาเกิดจากการภาวนา เกิดจากใจล้วนๆ เพราะอะไร อย่างที่พูดเมื่อกี้เห็นไหม  ภพของใจ สมาธิอยู่ที่ไหน สมาธิมันอยู่ที่ใจ

เราทำงานเรามีออฟฟิศใช่ไหม นักกีฬาเวลาแข่งขันต้องมีสนามใช่ไหม ภวาสวะภพไง กิเลสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ ภพชาติ แล้วภพมันอยู่ที่ไหน ความคิดทั้งหมดมันเกิดจากฐานที่ไหน ถ้าจิตสงบก็สงบกันที่นั่น เราจะบอกว่าเพราะมองข้ามสมถะ มองข้ามความสงบของใจก่อน แล้วออกเป็นความคิดอย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ ถ้าความคิดที่เกิดที่ใช้กันอยู่นี่ ถ้ามีสตินะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ผลของมันคือสมถะทั้งหมด แต่ไม่เข้าใจว่าสมถะไง ถ้าเข้าใจสมถะแล้วรักษาสมถะให้เป็นเอกัคคตารมณ์ คือจิตตั้งมั่นก่อน นักกีฬาชนิดไหนก็แล้วแต่ต้องมีกำลัง จะเล่นกีฬาอะไรก็ต้องฝึกฝนออกใช้กำลังก่อนให้ร่างกายแข็งแรงไง ถ้าร่างการไม่แข็งแรงเขาจะทำงานไม่ได้

สมาธิคือกำลังอันนั้น แล้วถ้าไม่มีสมาธินี่ จิตใจมันอ่อนแอ มันวอกแวกวอแว คิดได้ร้อยแปด จิตนี้มหัศจรรย์มาก มันคิดได้ร้อยแปดเลย อะไรมันก็คิดๆ แล้วคิดเรื่องอะไรล่ะ คิดเรื่องธรรมะ ตรึกในธรรมะไง เอาธรรมะมาคิด คิดว่าธรรมะเป็นอย่างนั้นๆ คิดว่า โอ๋ จริงเนอะ ชีวิตมันก็ทุกข์เนอะ พระพุทธเจ้าพูดเรื่องความทุกข์เนอะ เกิดมาก็ทุกข์อย่างนั้นๆ โอ๊ย ซึ้งใจ  ตรึกในธรรม วิตกวิจาร ตรึก  วิตกวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ วิตกวิจารเกิดปิติ เกิดความพอใจ เกิดความสุข แล้วก็ว่าความสุขนั่นนึกว่าวิปัสสนาแล้ว ไม่ใช่หรอก องค์ฌาน องค์ของฌานไง องค์ของสมาธิไง วิตกวิจาร พุทโธ วิตก วิจารไปเรื่อยๆ จะเกิดปีติตัวพองตัวใหญ่ และเกิดอาการปีติ เกิดอาการรู้วาระจิตของเขา ปีติดีๆ เห็นตัวเองขึ้นไปเดินจงกรมอยู่บนอากาศ ถ้าไม่รู้จักมันก็อยู่แค่นี้ ถ้ารู้จักควบคุม รู้จักรักษาปีติขึ้นมา มันจะเกิดความสุข เกิดความสุขถ้าเรารักษาให้ดีจะเกิดความตั้งมั่น

ทีนี้คนไม่เข้าใจ นี่แค่เป็นคุณสมบัติของจิตนะ จิตถ้าฝึกให้ดี คุณสมบัติมันเป็นอย่างนี้ และถ้าพูดอย่างนี้ คนเอาไปแยกแยะ เขานึกว่าเป็นวิปัสสนาแล้วนะ ก็คือเข้าใจ  ยัง!  มันละเอียดมันลึกซึ้งอย่างนี้ไง มันคนละระดับของความคิดปกติเรานะ ความคิดปกติของเรา เขาเรียกว่าโลกียปัญญา โลกียะ ก็โลกไง ปัญญาวิชาชีพ ปัญญาโลกๆ ไง เราเทศน์ไว้อยู่ม้วนหนึ่ง แล้วเราใช้คำว่ารื้อแล้วสร้าง เช่นเราซื้อบ้าน เราซื้อที่ไว้มันมีบ้านเก่าอยู่ เราจะดัดแปลง เราต้องรื้อออกใช่ไหม แล้วเราค่อยสร้างบ้านใหม่ใช่ไหม การรื้อคือการทำสมาธิไง แต่คนคิดว่ารื้อคือสร้างบ้าน เอ็งรื้อหมดแล้วนะ บ้านแม่งไม่มีเลยมีแต่พื้น  นึกว่ามีบ้าน แต่มีไหม ไม่มี  ความเข้าใจผิด

โยม :            ก็ฟังที่พระอาจารย์พูดไปวันเสาร์ก็เลยมาค่ะ มันเหมือนจะรู้เหมือนกันว่าเราต้องผิดแน่ๆ เลย  ไม่รู้จะเดินยังไง

หลวงพ่อ :     ผิดเพราะอะไรรู้ไหม ผิดเพราะว่าเราเริ่มปูพื้นมาตั้งแต่ผู้สอนไง ผู้สอนไม่เข้าใจ แล้วพอมันสร้างขึ้นมาแล้ว มันเหมือนกับเรานี่นะ เราทำทางวิชาการ เราทดสอบทางวิชาการอันใดอันหนึ่ง แล้วเราก็เข้าใจว่าเป็นสิ่งถูกต้อง แล้วเสนอออกไป แล้วประชาชนหรือคนที่ได้รับสาส์นนั้นเขาก็ไม่รู้ เขาก็ โอ้โฮ ตื่นเต้น  แต่ความจริงแล้วนักวิชาการมาเห็นแล้ว อันนี้ผิด แล้วมันเป็นวิชาการที่ผิดใช่ไหม ทำให้ง่ายๆ ไง แล้วคนทั่วไปเห็นไหม ของง่ายใครจะไม่ชอบ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ว่าอย่างนั้นนะ ผิดแน่นอน ถ้าจะถูกนะ เริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นใหม่คือว่า กำหนดลมก็ได้ กำหนดอะไรก็ได้ คำว่ากำหนดนี่นะ เหมือนกับคนต้องมีจุดยืน

โยม :            กำหนดนี่หมายถึงว่าเป็นคำๆ เลยเหรอคะ

หลวงพ่อ :     ไม่ใช่ กำหนดลมหายใจไง กำหนดรู้สึกตัว  กำหนดรู้สึกตัวลมหายใจ ถ้ากำหนดบริกรรมพุทโธต้องเป็นคำๆ เลย พุทโธๆ นึกเอาสิ ท่องพุทโธ พุทโธๆๆๆๆๆ ท่องเลย ทีนี้การท่องนี่มันย้ำอยู่กับที่ ความคิดโดยสามัญสำนึกนี่ความคิดมันส่งออกใช่ไหม เราคิดถึงอเมริกาสิ คิดถึงดวงจันทร์เราก็ถึงลัว เราคิดเร็วมากเห็นไหม  แต่เราไม่คิด เราคิดพุทโธๆๆๆๆๆ  มันทับซ้อนไง ที่เขาเรียกนาโนเห็นไหม นาโนทับซ้อนๆๆ หน่วยย่อยที่เล็กที่สุด หน่วยความคิดนี่ พุทโธๆๆๆ จากเล็กสุดมันเพิ่มขึ้นมาได้ไง แต่คนมองข้ามไง

ต้องมีคำบริกรรม หลวงตาพูดอย่างนี้ แต่เดิมเราก็ดูจิต หลวงตาท่านพูดไง แล้วมันเสื่อมไปปีกับหกเดือน ทุกข์มากเลย แล้วพยายามหาจุดบกพร่องของตัว อ๋อ สงสัยเราไม่มีคำบริกรรม ท่านเลยบริกรรมพุทโธๆ เห็นไหม ท่านบอก ๓ วันแรกมันอึดอัดมากเลย เพราะอะไร  เพราะมันเคยปล่อยสบายๆ ดูจิตดูอะไร ว่าง สบาย อยู่อย่างนั้น  แล้วพอบังคับให้มันคิดมันเคยตัว จิตเคยปล่อยมันสบาย แล้วจะให้มากำหนดพุทโธๆ มันไม่ยอม แต่ด้วยความที่ว่าถ้ามันไม่ยอมเราจะเอาตัวรอดไม่ได้ ก็บังคับให้มันพุทโธทั้งวันเลย ไปไหนก็กำหนดพุทโธ ๓ วัน อกแทบระเบิดเลย แต่พอมันลงแล้วนะ คราวนี้เป็นยังไงไม่เกี่ยว อยู่กับพุทโธ แล้วไม่เคยเสื่อมอีกเลย

โยม :            แสดงว่าต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง หนึ่งอย่างโดยไม่ต้องเปลี่ยนไปไหนเลย

หลวงพ่อ :     แน่นอน

โยม :           สมมุติจะดูอิริยาบถก็อิริยาบถเลย หรือว่าดูลมหายใจก็ไม่เปลี่ยน ดูลมหายใจตลอดเลย

หลวงพ่อ :     ใช่ ดูลมหายใจ อิริยาบถดูไม่ได้  

โยม :            อ๋อ เหรอคะ แต่ทำไมอ่านในหนังสือมหาสติปัฏฐานสูตร เขาบอกว่าอันไหนก็ได้ค่ะ

หลวงพ่อ :     อันไหนก็ได้แต่ว่าการเคลื่อนไหวนี่เรากำหนดที่ไหนล่ะ เพราะกำหนดเคลื่อนอย่างนั้น กำหนดเคลื่อนหนอ ไหวหนอ ขณะที่เคลื่อนหนอไหวหนอนี่มันคิดไปหลายรอบแล้ว ถ้าพุทโธๆๆๆๆ หรือไม่ก็ลมหายใจ เราจะบอกว่า มันต้องกำหนดอยู่ในกรรมฐาน ๔๐ ห้อง พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ เทวดานุสสติ หรืออนุสติ ๑๐ กสิณ ๑๐  นี่ถูกต้อง แต่ไอ้เคลื่อนไหวนี้มันไม่มีในกรรมฐาน ๔๐ ห้อง เราจะบอกว่านะ มันเคลื่อนออกไป เวลาเราเดินจงกรมเห็นไหม เอ็งเคลื่อนไหวใช่ไหม เราเดินจงกรมเฉยๆ แต่เรานึกพุทโธอยู่ที่ในใจ หรือเราเดินจงกรมแต่เราอยู่ที่ปลายจมูก เห็นไหม การเคลื่อนไหวไปนี่มันเป็นสัญชาตญาน แต่เราเอาจิตไง เราอยู่ที่จิตตลอด เพราะเราต้องการความสงบ  แล้วอย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าเห็นจิตแยกจิตอันนั้น เห็นเฉยๆใช่ไหม

โยม :             ก็คือมันมีความรู้สึกว่า กายก็ส่วนกาย จิตก็ส่วนจิตค่ะ ไม่รู้ว่ามันจริงหรือไม่จริง

หลวงพ่อ :       มันหลอก  มันหลอกเพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราสร้างภาพกัน เราสร้างความรู้สึกไง ถ้าเป็นกายส่วนกาย จิตส่วนจิตนี่เราเอาพื้นฐานมาจากไหน พื้นฐานที่เห็นมาจากไหน

โยม :            ก็ตอนแรกก็แยกกายออกเป็นชิ้นๆๆ ก่อนค่ะ แล้วก็อยู่ๆ มันก็เข้าใจขึ้นมา แต่มันก็ต้องเป็นความคิด  พอพระอาจารย์พูดถึงความคิดก็คงเป็นความคิดค่ะ แล้วก็แยกออกเป็นชิ้นส่วนๆ  เสร็จแล้วก็ เออ กายมันก็ส่วนนั้นจริงๆ แล้วไอ้ตัวที่รู้ก็คืออีกตัวนึงค่ะ ที่มันเข้าใจค่ะ

หลวงพ่อ :       มันเข้าใจ ความเข้าใจนี่มันคือ จินตามยปัญญา

โยม :            แล้วอาการต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นอย่างเช่น รู้วาระจิตคนอื่น รู้ความรู้สึกคนอื่น หรือบางทีจิตมันกระโดดออกมาอยู่ข้างนอก แล้วกายมันเดินดุ่มๆ นี้มันก็ไม่ใช่สิคะ แล้วมันคืออะไรคะ

หลวงพ่อ :       มันจริงก็มี ไม่จริงก็มี ถ้าเรารู้วาระจิตคนอื่น รู้อะไรนี่ปิติไง ปิติมันเกิดได้ รู้วาระจิตรู้อะไรต่างๆ มันเป็นฌานโลกีย์ มันเป็นฌานโลกทั้งหมด 

โยม :            แต่หนูไม่เข้าใจ พอพระอาจารย์บอกว่ามันต้องพุทโธๆๆๆ ซ้ำๆ อย่างนี้ค่ะ ก็คือเท่ากับว่าเราเดินกลับไปใหม่ซ้ำสองหรือคะ

หลวงพ่อ :     ไม่กลับ มันต่อไป

โยม :           แล้วหนูจะต่อยังไงล่ะค่ะ

หลวงพ่อ :     พุทโธนี่คือต่อไป

โยม :           แต่หนูไม่ได้ภาวนาพุทโธเลยนะคะพระอาจารย์ หนูจับเอาเฉพาะอารมณ์ปัจจุบันค่ะ

หลวงพ่อ :     นั่นแหละ ถ้าอารมณ์ปัจจุบันอยู่อย่างนั้น เรากลับมาพุทโธใหม่นะ อารมณ์ปัจจุบันส่วนอารมณ์ปัจจุบัน สิ่งที่ออกรู้นี่นะ เขาเรียกส่งออก จิตนี่มันส่งออก เหมือนที่เรานอน เราฝันเห็นไหม ฝันนี่จิตไปเที่ยวนะ กลางคืนเรานอนแล้วฝัน บางคนก็ฝัน บางคนไม่ได้ฝัน เห็นไหม ทีนี้เรากำหนดการเคลื่อนไหว  เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราบังคับมันอยู่กับที่ พอบังคับมันอยู่กับที่ คุณสมบัติมันมี มันจะไปรู้อะไรแปลกๆ แล้วถ้าคนไม่มีสติ มันจะคิดว่าเรานี่เป็นผู้วิเศษ เราจะรู้อะไรดีกว่าคนอื่น เราจะบอกว่านี่คือเครื่องล่อ ล่อให้จิตมันติดไง เราอยากจะรู้อะไรที่พิเศษกว่าคนอื่นจริงไหม พอเรารู้พิเศษขึ้นมา เราก็ถือตัวถือตนว่าเราดีกว่าเขาจริงไหม

โยม :           พระอาจารย์หนูเห็นตรงนี้ค่ะ ก็เลยอยากเอาออกค่ะ

หลวงพ่อ :     นี่ไง เราจะบอกว่านี่คือกิเลสทั้งนั้นไง นี่กิเลสมันหลอก มันเอาของหลอกๆ มาเป็นเหยื่อล่อ พอเราไปเสพสิ่งนี้ ความจริงเลยไม่มี ทีนี้ถ้าเรากลับมาพุทโธ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพุทโธมันไม่มีโทษ พุทโธนี้ไม่มีโทษเลยนะ พออยู่กับพุทโธๆ  พลังงานทั้งหมดมันอยู่กับพุทโธ อยู่กับจุดยืนที่เราว่า พอมันอยู่กับจุดยืนบ่อยครั้งเข้าๆ มันคงที่ของมัน  พอคงที่ของมัน จะไม่พูดอย่างนี้เลยนะ

โยม :           พระอาจารย์คะ ถ้าสมมุติว่า พุทโธๆๆๆ อยู่ จิตมันรู้อยู่ที่พุทโธ แล้วมันก็รู้ว่าเราหายใจหรือเปล่า หรือว่าเคลื่อนไหวหรือเปล่า แล้วจะทำอย่างไรล่ะคะ

หลวงพ่อ :     เราพุทโธๆๆๆอยู่นี่ พอจิตมันมีคุณสมบัติ คือจิตเริ่มมีพลัง มันจะมีกิเลสมาหลอก หลอกว่านี่รู้ลมหายใจ รู้โน่นรู้นี้ คือจะให้เราออกนอกทาง

โยม :           อ๋อ แล้วก็ตัดมันทิ้งเอาแต่พุทโธอย่างเดียวใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ :     เออ เราจะกินข้าว ใครจะชวนไปไหนก็ไม่ไป ต้องกินข้าวให้อิ่มก่อน พอกินข้าวคำ เขามาชวน เออ วางไว้ก่อน กูไปเที่ยวค่อยกลับมากิน พอกินสองคำเขามาชวนไปเที่ยวอีกแล้ว

โยม :           อ๋อ เข้าใจแล้วค่ะ ที่พระอาจารย์บอกว่าปัญญาวิมุติก็หมายความว่าที่มันออกไป คิดๆๆๆ  มันพยายามจะให้ตีกรอบรวมมาอย่างนั้นใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ :     ไม่ใช่ อันนั้นเราบอก สมาธิอบรมปัญญาเป็นอย่างนั้น

โยม :           ปัญญาอบรมสมาธิ

หลวงพ่อ :     ใช่ ปัญญาอบรมสมาธิตีกรอบเข้ามา แต่นี่สมาธิอบรมปัญญา ต้องกำหนดพุทโธ เราท่องพุทโธๆๆๆไป เราสร้างสมาธิใช่ไหม สมาธิเกิดขึ้นแล้วเราถึงมาอบรมปัญญา แต่ถ้าขณะที่เราทำสมาธิไม่ได้ สมาธิเราไม่ถนัดใช่ไหม เราใช้ปัญญาตีกรอบเข้ามา นั่นคือปัญญาอบรมสมาธิ

โยม :           แล้วมันก็กลายเป็นสมถะอย่างที่พระอาจารย์ว่า

หลวงพ่อ :     ใช่!  ทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่พ้นจากสมถะ จะทำอะไรสุดขอบฟ้าหรือ ใต้บาดาล จะขุดจักรวาลไหนมา ไม่พ้นสมถะหรอก

โยม :           แล้วอย่างสมมุติที่เป็นอยู่ก็คือ แค่เราเริ่มพุทโธๆๆๆๆ อย่างอื่นใครอะไร ไม่สนใจ เอาพุทโธอย่างเดียวแล้วก็ให้มันย้ำๆๆๆ

หลวงพ่อ :     ถูกต้อง  ถูกต้องเลย แล้วทำเลย แล้วถ้าผิดมาหาเรานี่  

โยม :           แล้วถ้ามันเกิดอะไรขึ้น หนูก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อ

หลวงพ่อ :     กลับมาที่พุทโธ  เพราะที่เรารู้นี่มันออกจากพุทโธไป มันออกจากผู้รู้นี้ไป มันถึงไปรู้ข้างนอก พุทโธๆๆๆอยู่นี่ พอจิตสงบปั๊บเห็น แล้วถ้าเราพุทโธอยู่ เราหลับตาอยู่เราจะเห็นโยมได้ไหม ถ้าเราลืมตามองไปที่โยมก็เห็นโยม ถ้าเห็นปั๊บตกใจ กลับมาที่พุทโธ  แล้วพอกลับมาที่พุทโธปั๊บ จิตจะสร้างฐานของมัน พอสร้างฐานของมันขึ้นมาแล้ว คราวนี้ถ้าใช้ปัญญา ถ้าเรารำพึงออกไปหากาย ถ้าเห็นกายจะไม่เห็นอย่างนั้น เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นสติปัฏฐาน วิปัสสนาจึงเกิด วิปัสสนานะ ไม่ใช่วิปัสนึก ที่มันทำอยู่นี่มันวิปัสนึก เพราะจิตนี่สำคัญมาก จิตนี้มหัศจรรย์มาก

โยม :           อ๋อ พระอาจารย์ ต้องพุทโธย้ำจนถึงเวลาที่อย่างนั้น แล้วจิตเขาจะรู้ของเขาเองอย่างนั้นหรือคะ

หลวงพ่อ :     ใช่ เดี๋ยวก่อน ถ้าจะรู้ของเขาเองนี่ คือรู้ตัวมันเองก่อน แต่ถ้าจิตมันรู้ตัวมันเอง

โยม :           หนูว่าพุทโธๆๆๆ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ หรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ :     ใช่ ทีนี้เราจะพูดตรงนี้อีกไง ถ้าบอกจะรู้ตัวเอง จะเป็นผลต่อเนื่องไป ไม่เป็น ถ้าเป็นฤๅษีชีไพร มันต้องเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว ถึงบอกว่า ถ้ามันจะเป็นเองนี่ มันต้องคนมีวาสนาไง อย่างเช่น เราเปรียบว่าเราเป็นทุเรียน เอ้า ก็ทุเรียนมันต้องดีกว่าน้อยหน่าอยู่แล้ว ทีนี้ทุเรียนนี่มีค่ากว่าใช่ไหม ทีนี้มีค่ากว่ามันจะหาผลประโยชน์ได้มากกว่า นึกว่าจะเห็นกายมันก็จะเห็นได้ง่ายกว่า แต่ถ้าเป็นน้อยหน่า ค่ามันน้อยกว่า  พอถึงใจเราแล้ว เราต้องพิจารณากาย เราเอาน้อยหน่าหาผลประโยชน์มันได้น้อยกว่า แล้วทำยังไง เราก็ต้องรำพึงขึ้นมา เราต้องขวนขวายหน่อยเพราะอะไร เพราะว่าเราสร้างฐานมาอย่างนี้ เราจะปฏิเสธ ความน้อยเนื้อต่ำใจเรื่องคุณภาพจิตเราไม่ได้ เขาเรียกว่าอินทรีย์ไง พละ  อินทรีย์ความหนักแน่นของใจแต่ละดวงมันไม่เท่ากันนะ

โยม :           ถ้าอย่างนั้นพระที่เขาสอนแบบรู้โน่นรู้นั่นนี่ก็..

หลวงพ่อ :     ตอแหลๆ ทั้งนั้น ตอแหล ถ้ารู้ไม่สอนอย่างนั้น ถ้ารู้เราจะสอนคนผิดไหม เขาขับรถก็ไปบอกให้ขับเอาล้อขึ้นฟ้า แล้วเอาหลังคาลากไปได้ไหม  

เราอยู่ในวงการพระเรารู้อยู่ว่า พระเป็นยังไง ถ้าออกรู้ผิดหมด! เราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยโดยที่เรายังไม่มีทุนเลย ยิ่งใช้จ่ายมันก็หมดนะ บุญกรรมสร้างมานะ แล้วเอ็งมาฟุ่มเฟือยไปนี่ เหมือนเทวดา เกิดเป็นเทวดา หมดจากเทวดาแล้วไปไหน ลงนรกสิ เทวดาเขาถึงอวยพร พอหมดจากเทวดาให้เกิดเป็นมนุษย์ และพบพุทธศาสนาได้สร้างบุญ แล้วมาเกิดเป็นเทวดาอีก แต่ของเราไม่ต้อง ไม่เกิดเลย    หมดแค่นี่หรือ หมดไหม

โยม :           ก็พอเข้าใจ พอพระอาจารย์บอกก็รู้ว่าต้องไปทำต่อใหม่ค่ะ

หลวงพ่อ :     ทำต่อ  ถ้ามีปัญหา อย่างว่าแหละมันไกลหน่อยเนอะ เรามีเบอร์โทรศัพท์ โทรศัพท์คุยเอาก็ได้   

โยม :           ก็ตอนนี้หน้าที่อย่างเดียว ก็คือพุทโธไม่ให้หยุดอย่างเดียวเท่านั้น

หลวงพ่อ :     ใช่   

โยม :           แต่ว่าพุทโธมันก็มีจิตที่รู้พุทโธนะคะ

หลวงพ่อ :     ใช่  

โยม :           เอาแค่ตรงนั้นอย่างเดียว 

หลวงพ่อ :     ใช่ๆ จิตนี่รู้พุทโธไปก่อน พุทโธๆๆๆ ไม่อยากจะพูดเลย พอพุทโธๆๆๆ ไปเดี๋ยวระยะมันสั้นเข้ามา มันจะเป็นเนื้อเดียวกันเลย

โยม :           พระอาจารย์ อย่างนี้เวลาทำอะไร มันก็จะพุทโธๆๆๆ  หยิบจงหยิบจานไม่สนใจ

หลวงพ่อ :     ไม่ หยิบจานก็อยู่กับจานสิ แต่เวลาเราพุทโธ เราก็อยู่กับพุทโธ ถ้างานละเอียดเราก็อยู่กับงาน แต่ถ้างานไม่ละเอียดเราก็อยู่กับพุทโธๆ ตลอด แล้วถ้ายิ่งภาวนานี่พุทโธไปเลย แล้วจะเห็น

โยม :           พระอาจารย์ หนูต้องทำงานค่ะ แล้วภาวนาถ้าเราต้องต่อเนื่อง แล้วมันจะได้หรือคะ

หลวงพ่อ :     ถ้ามันพุทโธได้เราก็พุทโธ ถ้าพุทโธไม่ได้เราก็อยู่กับงาน เอาแค่นี้

โยม :           อ๋อ หมายถึงว่าอะไรก็ได้เพ่งที่จุดเดียวเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องไปทิ้ง

หลวงพ่อ :     ใช่ๆ แต่เวลาเราจะเข้ามาภาวนา เราก็มาพุทโธๆไปเรื่อยๆ เรายืนยันนะ พุทโธนี่สะเทือน โลกธาตุ พุทโธนี่สะเทือนถึงใจ เพียงแต่คนมันไม่เห็นคุณสมบัติตรงนี้ แล้วมันอธิบายตรงนี้ไม่ได้  ถ้าพุทโธๆ มาถึงใจ ใจกับพุทโธเป็นเนื้อเดียวกันแล้วนะ จะรู้เลยว่ามันมหัศจรรย์ขนาดไหน แต่เขาไม่เคยเห็นตรงนี้ไง แล้วมีคนเยอะมากเลย พุทโธๆ แล้วทำไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้จริงๆ แล้วค่อยมาเปลี่ยนกัน เพราะมันมีถึง ๔๐ อย่าง มันมีถึง ๔๐ วิธีการนะมึง กรรมฐานที่พระพุทธเจ้าวางไว้แล้ว ไม่ใช่ของใครถูกหรอก ทำแล้วเราได้ประโยชน์นั่นคือถูก ทำแล้วเราได้ของจริงนั่นคือถูก

นี่ยิ่งพูดเมื่อกี้ ที่ว่าอ่านหนังสือมา เราฟังเรารู้เลย เพราะส่วนใหญ่ตอนนั้นมันมากันอย่างนี้ พอมาอย่างนี้ปั๊บนะ เราดูแล้วเราสงสารนะ มันเหมือนกับตัวศาสนานี่เราเข้าถึงเปลือกไม่เข้าถึงความจริงไง จิตมันมหัศจรรย์อยู่แล้ว คุณไม่รู้จักจิตมหัศจรรย์ ดูสิ อย่างพวกงานศิลปะเห็นไหม ดูเขาทำออกมาสิ ดูเขาเขียนนิยายสิ ตอนนี้มันนิยายธรรมะหมดล่ะ อย่างหนังสือพวกลูกศิษย์เอามาให้เราดู เขาเขียนเลยบอกว่านี่ทางเอก แล้วเวลาเล่มที่๒ นะบอก เขียนมาหลายปีแล้วต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เราก็บอก เฮ้ย ธรรมะ มึงเปลี่ยนแปลงได้เหรอวะ ไอ้นี่มันธรรมะนิยายนี่หว่า มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

อริยสัจไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรอก อริยสัจนี่คงเส้นคงวามาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ก็ตรัสรู้อันนี้ อริยสัจนี่มีหนึ่งเดียวไม่มีสอง แล้วหนังสือเดี๋ยวแม่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่อย แสดงว่าทฤษฎีผิดหมด แต่คนก็เชื่อ เชื่อเพราะมันเข้าไปในอินเตอร์เน็ต แล้วมันเป็นตรรกะไง พอเราอธิบายเป็นตรรกะปุ๊บนี่ โยมเข้าใจใช่ไหม ถ้าเราพูดเป็นธรรมะนี่ พวกโยมงงนะ แต่ถ้ากูพูดเป็นนิยาย โอ้โฮ ชอบ มัน แล้วเขาพูดอย่างนั้นกัน อธิบายให้เราเดินตามได้ไง อธิบายให้เราคาดการณ์ได้ กาลามสูตรนะ อย่าเชื่อเพราะว่าเป็นอาจารย์เรา อย่าเชื่อเพราะว่าเราคาดหมายได้ อย่าเชื่อเพราะว่าเหมือนจริง

โยม :           คาดหมายก็ไม่ได้

หลวงพ่อ :     กาลามสูตรไม่ให้เชื่อ ให้เชื่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ให้เชื่อสิ่งที่ใจนี้เป็นจริง ไม่ให้เชื่อใคร ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ ความเชื่อมันเป็นศรัทธา เป็นหัวรถจักรดึงเข้ามาฟังธรรมเท่านั้นเอง พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาไง ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า จนพระเอาไปฟ้องพระพุทธเจ้าไงว่าพระสารีบุตรไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าบอก สารีบุตรเธอไม่เชื่อเราหรือ  ไม่เชื่อ เพราะเป็นความจริงของผม ก่อนหน้านั้นผมเชื่อมาก เพราะพระสารีบุตรพยายามแสวงหาเยอะมาก ไปอยู่สัญชัยก่อนไง พออยู่สัญชัยแล้วไม่ใช่ ก็มาเจอพระอัสสชิ พระอัสสชิสอนถึงพระโสดาบันก็บวชมา พอบวชก็มาอยู่กับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนจนเป็นพระอรหันต์เลย

แล้วเวลาไปพูดว่า ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเลย เพราะความเชื่อนั้นยืมมาไง แต่ความจริง ความเชื่อไม่ใช่ความจริง ความจริงกับความเชื่อคนละอันกัน แต่อาศัยความเชื่อไปก่อน อาศัยความเชื่อขึ้นไปเพื่อให้เราค้นคว้าไง อาศัยความเชื่อขึ้นไปเพื่อให้เราแสวงหา แต่ถ้าเจอแล้วเอ็งเชื่อไหม  เอ็งเจอเอง เอ็งต้องเชื่อใคร ความจริงเป็นอย่างนั้น และถ้าความจริงมีแล้วนะ โอ้โห นั่งอยู่นี่คนมาหาอย่างนี้บ่อย นี่โยมพูดเมื่อกี้ บอกให้รอก่อน เพราะเราสงสารไง เพราะเรารู้อยู่ว่าคนจะเคลียร์อย่างนี้นี่มันยาก ถ้าไปเจอพระที่ไม่เข้าใจนะ มันก็วนกันอยู่นี่แหละ มึงพูดมากูก็วนอยู่กับมึง อันนี้ก็แยกเลย ผิด  ถูกเป็นอย่างนี้ แล้วถูกทำไมไม่อธิบายว่าถูกล่ะ ถูกก็พุทโธนี่ไง พุทโธไปแล้วถูกคืออะไร เดี๋ยวมึงรู้

โยม :       มันจะรู้ใช่ไหมคะพระอาจารย์

หลวงพ่อ :     เออ !

โยม ๒ :        นานไหมคะ พระอาจารย์คือตอนนี้หนูเองมาดูลมหายใจบ้าง แล้วก็ดูรูปกายบ้าง คราวนี้ถ้ากลับไป คือตัวหนูเองรู้สึกว่าตัวเราเองถนัดส่วนของลมหายใจมากกว่าพุทโธ  

หลวงพ่อ :     ถ้ากำหนดลมหายใจ แล้วพุทโธไม่เอา  เอาลมหายใจไง ก็บอกอยู่เมื่อกี้นี่เห็นไหม

โยม ๒ :        แล้วคราวนี้พอกำหนดๆ ไป แล้วหาย ก็ต้องพยายามหาเขาไหมคะ 

หลวงพ่อ :     ใช่ นี่กำหนดลมหายใจ กำหนดเลย กำหนดเยอะๆ เลย กำหนดไปเรื่อยๆ

โยม ๑ :          ถ้าอย่างนั้นของพระอาจารย์ง่ายสุด พุทโธดีสุดค่ะ เพราะมันไม่หายค่ะ 

หลวงพ่อ :     พุทโธๆๆ นี่ โทษนะ เราจะบอกก่อนนะ โทษนะ นี่มะม่วง พุทโธดีต้องพุทโธไป ชมพู่ก็ต้องชมพู่ไป จะเอาชมพู่มะม่วงมาบวกกัน ใครจะว่าชมพู่หรือมะม่วงดีกว่ากันไม่ได้ ถ้าถนัดชอบ เต็มที่เลย ถ้าถนัดชอบลมหายใจ ไม่หาย หายคือขาดสติ มีพระองค์หนึ่งเขามายืนยันกับเราว่า เขาไปศึกษาแล้วว่าลมหายใจต้องหาย เราบอก ไม่หายเด็ดขาด

โยม ๑ :        อ๋อ เข้าใจแล้วค่ะอาจารย์ ไอ้ตัวที่หายๆ นี่มันเป็นตัวที่ดึงกิเลสเรา ออกจากข้างนอก ถูกต้องหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ :     ไม่ ตัวหายคือ สติขาด

โยม ๑ :       อ๋อ พอหายแล้วเราสบายค่ะ 

หลวงพ่อ :     ยัง เราจะพูดอย่างนี้ไง พอสติขาดนี่มันหายไปใช่ไหม ลมหายใจถึงที่สุดแล้วมันต้องหาย  ถ้าเป็นอานาปานสตินะ เรากำหนดลมมาหมดแล้ว กำหนดลมไปเรื่อยๆ  เราอยู่กับลมไปเรื่อยๆ ถ้าบางทีมันไม่หายนะ ลมนี่จะเป็นแท่งเลย เห็นเป็นแท่งๆเลย  อย่างนี้แล้วเรากำหนดไปเรื่อยๆ มันจะเริ่มเบาลงๆ แต่สติต้องอยู่ คำว่าหายนี่ผิด ถ้าเรากำหนดลมหายใจบ่อยครั้งเข้า ลมหายใจมันละเอียดๆๆ จนลมหายใจไม่มีเลย ลมหายใจไม่มี แต่เรารู้อยู่ เวลาลมหายใจหาย มันเป็นยังไง มันหายยังไง เวลามันหายมันหายยังไง ลองอธิบาย วูบหายไปเลย

โยม ๒ :       ถ้าเรารู้สึกว่ามีลมหายใจ เราก็จะรู้ว่ามันมีเข้ามีออก ถ้าหายคือเราไม่เห็นละว่ามันเข้าทางไหน ออกทางไหนค่ะ   

หลวงพ่อ :     นี่มันขี้เกียจ มันไม่ยอมรับรู้ไง มันไม่ทำ ไม่ใช่ไม่ทัน ไม่ทำ เพราะมันเข้าใจผิด เวลาจะพูดธรรมะนี่มันต้องพูดตรงนี้ก่อน พูดถึงความเข้าใจผิด เขาเรียกว่าสามัญสำนึก ให้ถูกให้ผิดก่อน ทิฐิไง ถ้าทิฐิเราถูก สามัญสำนึกเราถูก การกระทำมันจะถูกไปเรื่อยๆ ทิฐิ เราผิด เราเข้าใจผิด  มันจะผิดไปหมดเลย มรรค  นี่สัมมาทิฐิอันดับแรก สัมมาทิฐิคือความเห็นที่ถูกต้อง

ทีนี้กำหนดลมหายใจ เราเข้าใจว่าลมหายใจมันจะหาย เราก็เลยปล่อยให้มันหายไปก่อนไง แล้วมันสบาย ก็สบายสิ ก็คนออกกำลังแล้วก็ต้องสบาย แต่สบายอย่างนี้มันสบายขี้หมา มันสบายนิดเดียวไง แต่ถ้าเรากำหนดลมหายใจไปเรื่อยๆนะ มันจะละเอียดไปเรื่อยๆ ละเอียดจนกำหนดลมหายใจแล้วมันจะเริ่มเบาลงๆ จนบางคนตกใจว่าจะตาย พอลมหายใจขาด บางคนคิดว่า เอ๊ะ เราไม่หายใจเลย เราก็ตาย นี่กิเลสก็กวนอีกแล้ว แต่ถ้าสติเราทันนะ ไม่มีตายหรอก กำหนดไปเรื่อยๆ เราเป็นมาหมดแล้ว กำหนดลมไปเรื่อยๆ สติไปพร้อม ถึงที่สุดนะมันเริ่มเบาลงๆ เราเดินจงกรมอยู่ไง แล้วมันเดินจงกรมไม่ได้เราก็ต้องยืน ยืนไม่ได้ก็นั่งลง กำหนดลมไปเรื่อยๆ มันจะเริ่มจางลงๆ แต่สติพร้อมนะ สติพร้อมรู้สึกชัดเจนมาก พอมันถึงที่สุด มันเข้าไปถึงฐานจิต ดับหมดเลย สักแต่ว่ารู้

สักแต่ว่ารู้หมายถึงว่า เรานั่งอยู่นี่นะ จิตนี่ไม่ตายรู้อยู่ แต่ความกระทบทางผิวหนัง ความกระทบทางขันธ์ ๕ นี่ดับหมด ดับหมดเลย  นี่คือรวม อย่างนี้หาย หายแต่ว่าลมหายใจมันหายไปแต่จิตเราเป็นสมาธิ จิตเรามีความรู้อยู่สติแน่นอนมาก นี่เวลาถ้ามันลง ลงขนาดนี้ไง แล้วที่บอกว่าหายไป พอเริ่มต้นทำๆ ไป เหมือนกับเราพอทำงานอะไรดีๆ ขึ้นมาเราก็ปล่อยไปสบาย แล้วมันจะอยู่แค่นี้ มันไปได้ไม่มากกว่านี้ไง พอไปไม่มากกว่านี้ พอจิตมันสงบขนาดนี้ ออกมาแล้วนะ ออกจากลมหายใจมานี่ แล้วค่อยมาพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ออกมาใช้ปัญญา ฝึกปัญญา ทำอย่างนี้บ่อยครั้งออกมาฝึกปัญญา การที่เรามาดูกาย เวทนา จิต ธรรม คือการฝึกฝนปัญญา

ถ้าจิตมันละเอียดเราจะเห็น กาย เวทนา จิต ธรรมได้ชัดเจน  ถ้าจิตเราหยาบ สมาธิไง ถ้าเข้าบ่อยครั้งๆ เข้า ทำความสงบของใจบ่อยครั้งเข้า มันจะเป็นสมาธิตั้งมั่น พอตั้งมั่นวันหลังกำหนดลมหายใจนี่ง่าย ทุกอย่างทำง่ายหมดเลย พอมันเข้าไปแล้วดับหมด ไม่รู้สึกตัวเลย แล้วมันคลายตัวออกมา คลายตัวคือว่าจิตมันเริ่มรับรู้ พอรับรู้ออกมามันก็รับรู้ถึงความรู้สึกกลางๆ เวลามันดับหมดนี่นะ มันไม่รับรู้อะไรเลย มันอยู่ของมันเอกเทศไง จิตนี้มันปล่อยกายเลย มันอยู่เอกเทศของมัน แล้วพอมันออกรับรู้มานี่ เขาเรียกอุปจาระ ออกมารับรู้ในอะไร รับรู้ในร่างกายเราใช่ไหม แล้วก็พิจารณามันไง กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าพิจารณาปัญญามันเกิด คือความเข้าใจในกาย เห็นกายโดยความเข้าใจ ถ้ามันเข้าใจปั๊บมันเห็นโทษ มันปล่อยวาง นั่นคือสมาธิพอ ถ้าไม่พอเราก็กลับมาทำความสงบอีก มันมีวิธีการที่ทำไปเรื่อยๆ

ถ้ากำหนดลมนะ มันหายนี่จำไว้เลยนะ เพราะบางคนเวลาทำอย่างนี้บอก ว่างๆๆๆ มาหาเรา เราบอกสมมุติว่าเรากำหนดลมได้ไหม ส่วนใหญ่บอก ได้  แล้วทำไมไม่กำหนดล่ะ มันหยาบ  โดนกิเลสหลอก มันไม่หยาบหรอก เพียงแต่ว่ามันเหมือนไม้หก  ถ้าเรากำหนดบ่อยๆ มันจะไม้หก หกให้จิตเราเข้าสมาธิ ไอ้ตัวกำหนด ไอ้ตัวดูลม แต่เราไปทิ้งตรงนี้มันไม่หกข้ามมา ไอ้ตัวกำหนดนี่มันเป็นตัวชักนำให้จิตเราเข้าสมาธิไง

โยม ๒ :        คือออกไปรู้เยอะ 

หลวงพ่อ :     ออกไปรู้เยอะเพราะเราเคยตัว อย่างตอนนี้ทำยากนิดหนึ่ง เพราะว่าเราเคยปล่อยสบาย เด็กปล่อยมันเล่น หมาปล่อยมันวิ่งเล่นสบายมาก จับมันเข้ากรงมันไม่พอใจหรอก จิตกว่าเราจะกำหนด กว่าจะดูแลมัน มันจะดิ้น

โยม ๑ :       ที่เคยคิดด้วย  พระอาจารย์อย่างนี้ ก็คือพิจารณาคิดๆๆ เอาอย่างที่ท่านบอกค่ะ   

หลวงพ่อ :     คิดๆ เอามันก็อยู่เท่านั้น มันเป็นจินตามยปัญญา

โยม ๑ :       แล้วเราจะคิดว่ามันเกิด มันดับ มันเกิด มันดับ อะไรอย่างนี้ล่ะคะ 

หลวงพ่อ :     ถ้ามันเกิด มันดับ  ถ้าเราใช้ปัญญาใคร่ครวญไป ถ้ามันเกิดมันดับเป็นเห็นโทษเข้ามา ปล่อยเข้ามาก็ใช้ได้อยู่นะ แต่เราต้องมีสตินะ ถ้ามันเกิดมันดับ เราใช้ปัญญามัน

โยม ๑ :           แล้วเราเข้าใจว่ามันทุกข์ๆ แล้วจิตมันไม่เอา  อย่างนี้ล่ะคะ เราคิดเอาเฉยๆ

หลวงพ่อ :     ใช่  เมื่อจิตไม่เอา ก็ปล่อยเข้ามา

โยม ๑ :          พอเข้าใจ มันก็ไม่ทุกข์นะคะพระอาจารย์ 

หลวงพ่อ :     นั่นล่ะ ผลของมันคือสมาธิ มันปล่อยเข้ามาใช่ไหม เราคิดซ้ำอีก ก็ปล่อยเข้ามา คิดซ้ำอีก ปล่อยเข้ามา เราก็ดูแลใจตรงนี้ ดูแลมันแล้วปล่อยเข้ามา เพราะเวลาคิด มันจะปล่อยเข้ามาเรื่อยๆ ปล่อยเข้ามาก็ทำซ้ำ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ พอคิดแล้วมันปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามาเราต้องรักษา เหมือนชาร์จแบต ถ้าไฟเข้าแบต แล้วแบตเราดี มันจะเก็บไฟได้ใช่ไหม ถ้าแบตไม่ดี เก็บไฟไม่ได้ใช่ไหม

โยม ๑ :       เหมือนกับมันก็เกิดขึ้นหลายครั้งๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่รู้เรื่อง รู้แต่ว่า เออ พอแบบ เกิดอะไรขึ้นปุ๊บ ไอ้ตัวความเข้าใจนี่ค่ะ มันจะตีเข้ามาปุ๊บทุกข์มันก็จะหายไปหมดเลย แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเราต้องทำยังไงต่อ ก็คิดว่า เออ ปัญญามันแก้ทุกข์ด้วยการคิดธรรมดา

หลวงพ่อ :     ใช่ พอมันมีเราก็คิด พอมันคิดปั๊บ พอมันปล่อยเข้ามานี่ชาร์จแบตๆๆ ต่อไปมันจะเร็วขึ้น ง่ายขึ้น นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ กำหนดพุทโธก็ได้ ทำอย่างนี้ก็ได้ ต้องทำอย่างนี้บ่อยๆ ทำอย่างนี้ไปจนเราเห็นว่าจิตนี่มันตั้งมั่นเลย แล้วเวลาจิตมันออกเสวยอารมณ์อย่างที่เราพูดตอนแรกเลย เรื่องส้มเปลือกส้ม

โยม ๑ :       พระอาจารย์ จิตมัน.. เสียดายมากเลย มีประมาณว่าเดินๆๆๆ อยู่ มันจะมีวู้บ แล้วมันจะอาการแบบลำแสงออก แล้วมันก็จะเห็นอะไรอย่างนี้ค่ะ

หลวงพ่อ :     เราเดินจงกรมอยู่นี่นะ เราไป..

โยม ๑ :      แล้วบางทีไปเห็นของคนอื่นด้วย เขาจะคลื่นพลังจิตของเขาค่ะ เห็นอาการอย่างนี้ แล้วก็รู้เห็นอะไรอย่างนี้เยอะแยะไปหมด

หลวงพ่อ :     รู้ แต่เราเก็บไว้ไง เราเดินจงกรมอยู่นี่นะ เหมือนไฟฉายเลย กูส่องอย่างนี้เลย กูนี่ออกจากนี่เลย เราก็เฉยๆ เพราะเราไม่ตื่นเต้นอะไรเลย เรารู้เราเห็นมาหมดแล้ว  

โยม ๑ :       ก็คิดว่าทราบจากที่พระอาจารย์บอกใน เอ็มพี3 ก็รู้ว่าพระอาจารย์

หลวงพ่อ :     สิ่งนี้มันมีทั้งนั้น เพราะจิตมหัศจรรย์ คำว่ามหัศจรรย์ ถ้าเราไปตื่นเต้นก็หมดแล้ว มี บาท ๑๐ บาท ใช้หมดก็เกลี้ยงแล้ว ขณะเราเดินจงกรมนะ มันมีลำแสงเลยนะ เหมือนกับไอ้พวกนายพราน พุ่งมางี้เลย

โยม ๑ :       แต่ขณะจิตปัจจุบันนี่ หนูอยู่อย่างนี้มันก็ไม่ได้คิดนะคะอาจารย์ มันก็อยู่ มันก็มีความสุขค่ะ เหมือนอยู่กับสุขเวทนา

หลวงพ่อ :     ฮึ  เราจะบอกว่าถ้าเราไม่เดินหน้าต่อไป มันจะมีแค่นี้แหละ แล้ววันไหนโยมเบื่อ  มันคายออกมานะ มันเรียกว่ากรรมฐานม้วนเสื่อไง พอมันเบื่อมันเลิกแล้วมันถอนเลย แล้ววันหลังทำไม่ได้อีก เวลาจิตเสื่อม เวลาจิตเจริญแล้วมันเสื่อมนี่หมดเลย พออย่างนี้ปั๊บ ถ้าเราพิจารณาของเราใช่ไหม ปัญญาอบรมสมาธิ อย่าส่งออก คือสิ่งใดเกิดขึ้นมาเพราะเรามีสติ เหมือนเราผู้ใหญ่ หาตังค์มาเราเก็บตังค์ คือมันมีอะไร เราก็รับรู้ไว้แล้วปล่อย อย่าตามมันไป อะไรจะเกิดขึ้นมานี่อย่าตามไป

โยม ๑ :        ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอย่าตามไป เอาที่เราตั้งอย่างเดียว

หลวงพ่อ :     ใช่ ไม่ตามไป แล้วมันจะเก็บไฟใส่แบตเรื่อยๆ จนแบตนี่เต็ม เต็มที่ใจไง เพราะใจเป็นคนรู้หมด ทุกอย่างใจมันรู้ แต่เรามีสติ พอใจรู้สิ่งที่ล่อ เราไม่ไปกับมัน เรารู้แล้วเราปล่อยไง ไม่รู้ไม่ได้มันมี  มันรู้ พอรู้เราปล่อย เรารู้แล้วเราไม่ตามไป คือมึงหลอกกูไม่ได้ พอหลอกไม่ได้ พลังงานเราแบตเราก็ได้เติมขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราเหนือมัน แล้วพอเราจะใช้ เราไปใช้ประโยชน์ไปใส่กองไฟ ใส่อะไรก็ได้ พอจิตเราตั้งมั่นเราน้อมไปที่กาย เวทนา จิต ธรรม  มันก็เห็นสติปัฏฐาน โดยข้อเท็จจริง สำคัญที่แบต ถ้าแบตเต็มใช้อะไรก็ได้ ถ้าแบตเราไม่เต็มเห็นไหม  แบตเสียมึงติดรถได้ไหม อันนี้ก็เหมือนกันแบตที่ไม่สมบูรณ์มันก็เป็นอย่างนี้ แล้วทำไปเรื่อยๆๆๆ จนกว่ามันจะสมบูรณ์ของมัน แล้วใช้ประโยชน์ได้

โยม ๑ :        แล้วมันจะรู้ของมันเองใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ :       ใช่ มันละเอียดเข้าไป คอยตั้งสติไว้เลย ไม่รับรู้อะไร ปล่อยวางๆๆ พอมันเห็นจริงนะ โธ่ แบงก์ปลอมกับแบงก์จริงเว้ย  อย่างนั้นมีอะไรอีกไหม จบเนอะ แค่นี้ก่อน