ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะ ก.ฟ.ผ.

๒๗ ก.ค. ๒๕๕๑

 

คณะ ก.ฟ.ผ.
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ : เอาง่ายๆ ก่อนเลย

ถาม : การทำอาหาร ทำอาหารที่มีไวน์หรือเหล้าจีนเป็นส่วนประกอบถวายพระ จะเป็นบาปไหม เช่น พวกอาหารฝรั่ง

หลวงพ่อ : ไม่เป็นหรอก ภิกษุห้ามดื่มเหล้า ศีล ๕ นะ ศีล ๕ สุราเมรยมชฺชปมาฯ ของมึนเมาทั้งหมด แต่ถ้าเหล้านี่นะ เราใส่ไปในอาหารแล้ว เราทำอาหารของเรามา กินแล้วเมาไหม ไม่เมาหรอก อ้าว! ถ้าเหล้าใส่ในอาหารแล้ว กินแล้วเมาไหม ไม่เมา แต่มันเป็นส่วนประกอบของอาหาร

ไอ้นี่เวลาถือเคร่ง ถ้าเราไม่เข้าใจ เราไม่เข้าใจเพราะถ้ามีส่วนของเหล้า เราคิดว่าเป็นเหล้า เราคิดว่า แต่มันผสมไปในอาหารแล้วมันไม่ใช่เหล้า อย่างเช่นภิกษุนะ ห้ามกินข้าวใช่ไหม ตั้งแต่เที่ยงไป ภิกษุห้ามกินข้าว เพราะว่าเป็นอาหารไง แล้วเวลาภิกษุป่วยไข้ พาราฯ นั่นข้าวหรือเปล่า พาราฯ ยาแก้ปวดทั้งนั้นน่ะผสมแป้ง ยาพาราฯ ผสมด้วยอะไร แป้งใช่ไหม

แต่เวลาของเรานี่นะ แม้แต่ถวายไวตามิ้ลค์นี่ก็กินไม่ได้ เพราะไวตามิ้ลค์ สิ่งใดที่เลี้ยงทารกได้ สิ่งนั้นเป็นอาหาร เวลาเราถือ ถ้าพูดถึง ถ้าพระ มัชฌิมาปฏิปทา ถ้าเข้าใจศีล เข้าใจเรื่องธรรมวินัยแล้วนะ เรื่องนี้จะไม่เกร็ง แต่ถ้าเป็นกิเลสมันเกร็ง มันไปวิจัยไง ใหม่ๆ เราก็เป็นอย่างนั้น ใหม่ๆ เราก็เป็นอย่างนั้น ถ้ามันมีส่วนผสม มันมีอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งถ้าพระทำเอง หนึ่ง พระทำอาหารสุกเองไม่ได้ พระทำอาหารไม่ได้นะ พระอุ่นอาหารได้ แต่ทำอาหารสุกเองไม่ได้ ถ้าพระทำอาหารได้นะ โอ้โฮ! พระมันจะเปิดครัวทำกันเอง แต่ถ้าวัดบ้าน เรื่องของเขานะ วัดป่าทำอาหารไม่ได้ ภิกษุทำอาหารสุกเองไม่ได้

แต่ถ้าภิกษุ เราอยู่ป่ากัน ไปบิณฑบาตมามันไม่ได้อะไรมาหรอก มันได้แต่พวกแกงพวกอะไร แล้วมันแบบว่ามันไม่พอกันไง มาถึงก็มาแบ่งส่วนกลาง แล้วใส่หม้อ เติมน้ำลงไป เติมน้ำลงไป เติมน้ำปลาลงไป ต้มไง แกงโฮะ คือกลับมาก็ต้มมันอีก ต้มเพื่อพอแจกกันน่ะ นี่พระไม่ได้ทำอาหารสุก มันสุกมาแล้วไง มันสุกมาแล้ว

ฉะนั้น คำว่า “ถ้าเราทำอาหาร” ถ้าโยมทำอาหาร ไม่ผิด ถ้าโยมทำอาหารนั้นแล้วส่วนผสมของเหล้าไปในอาหารนั้นไม่ผิด เพราะอะไร เพราะโยมทำ ไม่ใช่พระทำ ถ้าพระทำนี่ผิด พระทำอาหารไม่ได้ ถ้าเอาเหล้ามาประเคน เอาเหล้ามาประเคนแล้วเอาเหล้าไปเติมในอาหารก็คือเหล้า เราทำเอง เช่น วินัยอย่างนี้นะ ในพระไตรปิฎกหรือในวินัยมุขมันไม่มี แต่ในประสบการณ์ไง ประสบการณ์ อย่างเช่นสัตตาหกาลิก น้ำผึ้ง น้ำอ้อยได้ ๗ วัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยนี้ได้ ๗ วันใช่ไหม อย่างพวกสมอ อย่างพวกส่วนผสมนี่ตลอดชีวิต ถ้ามันไม่ได้มาผสมกัน

แล้วถ้าพระทำเอง พระทำเองนะ เพราะพระทำเอง อย่างพระอุปัฏฐากอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ทีนี้พระทำเอง เราบอกเราตีอย่างนี้ ๗ วัน เพราะอะไร เพราะน้ำผึ้งเรารับมา ทุกอย่างเรารับมา มันเป็นคนละกาลิกแล้วเรามาปนกัน แล้วเราคนปั๊บ เรานับอายุสั้น อะไรอายุสั้นที่สุดใช่ไหม สัตตาหกาลิกคือน้ำผึ้งอายุสั้นที่สุด ยานั้นก็นับ ๗ วัน

แต่ถ้ายาลูกกลอนที่โยมซื้อมาถวายพระ เราถือตลอดชีวิตนะ ยาลูกกลอนที่โยมซื้อมาถวายพระ ยาลูกกลอนมันผสมน้ำผึ้งเหมือนกัน ยาธาตุน้ำขาว ยาธาตุน้ำแดง ยาธาตุอะไรผสมน้ำตาลทั้งนั้นน่ะ แล้วยาธาตุเราทำที่ไหนล่ะ ก็โยมซื้อมาถวายใช่ไหม ยาคือยาไง ถ้าเราตัดว่าเป็นยา กาลิก กาลิกก็คือว่ายา ยานี้ตลอดชีวิต

กาแฟ ถ้าเป็นกาแฟที่ยังไม่ได้ผสม กาแฟเพียวๆ นี่นะ ตลอดชีวิต แต่ถ้ากาแฟผสมน้ำตาลมาถวายนี่ ๗ วัน เพราะนับตัวอายุสั้น กาลิกไง สัตตาหกาลิกคือได้แค่ ๗ วัน ถ้ายาวชีวิกคือทั้งชีวิต เกลือนี่ทั้งชีวิตเลย

ฉะนั้น ถ้าพูดถึงโยมทำ โยมซื้อมา ถ้าพูดถึงปัญหาข้อนี้คือทำอาหารแล้วมีเหล้าจีนมีอะไรผสม ถวายพระจะเป็นบาปไหม มันก็เหมือนโยมซื้ออะไรมาถวาย โยมก็บาปนะ เพราะยามันมีข้าว พาราฯ นี่แป้งทั้งนั้นน่ะ อ้าว! โยมก็ต้องบาปด้วย

นี่พอกิเลสมันหลอกเรา เวลาจะทำความดี กิเลสมันจะบอกนู่นก็บาป นี่ก็ไม่ได้ นู่นก็ไม่ได้ เพราะมันคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง เถรตรง เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ เถรตรง ทีนี้พอพูดอย่างนั้นปั๊บ กิเลสมันก็เกี่ยงนะ “อ้าว! ก็มันเหล้า แล้วถ้าทำอย่างนั้นเอาเหล้าไปถวายพระ”

เราไม่ได้ตั้งใจ มันส่วนผสมของเขา ส่วนผสมของร้านอาหาร ดูสิ โยมไปซื้ออาหารที่ร้านอาหารมาแล้วมาถวายพระ ถ้าผสมมา โยมบาปไหม โยมรู้ได้อย่างไรว่าเขาผสมหรือไม่ผสม คือมันเป็นเรื่องสุดวิสัย พระพุทธเจ้าไม่ได้คิดให้มันไกลไปขนาดนั้น พระพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัยเพื่อบังคับเรานี่แหละ คือถ้าเราทำเอง เรารู้ใช่ไหมว่าอะไรควรหรือไม่ควร อย่างนี้มันไม่มีในตำราหรอก เพราะพระบวชใหม่ เรื่องอย่างนี้เถียงกันตายเลย พอถวายมา เห็นเขาทำอยู่ แล้วพอถวายมา ไอ้คนเห็น “อันนี้ฉันไม่ได้นะ”

แล้วพระที่ฉันได้ก็บอกเราไม่ได้ทำ เขาทำมา หนึ่ง ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็น เนื้อไง เขาไม่ได้ฆ่าเพื่อเรา เขาไม่จงใจ เราไม่รู้เราไม่เห็น เราบอกอย่างนี้ ถ้าพูดถึงเขารู้เห็นนะ โรงฆ่าสัตว์ซีพีมันจะฆ่าถวายพระ แล้วมันเจ๊ง มันไม่ได้ฆ่าถวายพระ มันฆ่าเพื่อการตลาดเขาใช่ไหม แล้วพวกเราไปซื้อมา

เราไม่รู้ไม่เห็น มันตัดประเด็นไง ทีนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตัดให้มันเป็นแบบกฎหมายที่มันตายตัว ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้เพื่อเรา สิ่งนั้นฉันได้ ถ้าสมมุติว่าเรากลับมาบ้าน มาเยี่ยมโยม แล้วโยมก็ แหม! พระมาเนาะ ก็เกรงใจ ก็เชือดไก่ แล้วเราก็เห็นๆ รู้เห็นอยู่นี่ มันตายเพราะเรา ฉันไปเป็นอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำกลืน พระฉันข้าวคำหนึ่งก็เป็นอาบัติคำหนึ่ง อาบัติตัวหนึ่ง ๑ คำ คำที่ ๒ อาบัติปาจิตตีย์ตัวที่ ๒ คำที่ ๓ อาบัติปาจิตตีย์คำที่ ๓

รู้เห็น เจาะจงกับภิกษุนั้น ภิกษุนั้นฉันไม่ได้ นี่ไง พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เพื่อจะไม่ให้ไปเบียดเบียนกันไง แต่ที่ตลาดเขาฆ่าถวายพระหรือ เขาไม่ได้ฆ่าถวายพระ เขาการตลาดของเขา ตรงนี้เราแยกกันไม่ออกไง ที่เขาโจมตีพระที่ว่าพระฉันเนื้อสัตว์ๆ ฉันเนื้อสัตว์แล้วมันเป็นบาปเป็นกรรมไง

“โอ๋ย! ฉันเนื้อสัตว์นะ ยังอุทิศส่วนกุศลให้มันอีกนะ ฆ่ามันมากินแล้วยังอุทิศส่วนกุศลให้มันอีก”...ไม่ใช่ ไม่ได้ฆ่า มันเป็นเรื่องของคนโลภ คนโลภเขาคนอยากมีอาชีพ อยากมี เขาก็ทำธุรกิจของเขา

สัมมาอาชีวะเลือกเอา เราจะเลือกทำอาชีพอะไร ถ้ามันเป็นสิ่งที่เขาเลือกแล้ว ถ้าเขาเลือกแล้วเขาทำอย่างนั้นก็เรื่องของเขา แล้วเราเอง เราไปซื้อ เหมือนกับที่ว่าเราถือศีลไง โอ๋ย! ไม่กินปลาเป็น แล้วไปบอกเขานะ เขาเห็นเดินมา เขาทุบไว้ก่อนเลย ไปอวดเขาไง นี่ปลาตาย ปลาเป็นขาย ๕ บาท ปลาตายขาย ๒๐ อ้าว! ต้องซื้อ เพราะอยากกินปลาตาย

มันไม่จำเป็น เราไม่ต้องบอกใครหรอก ถือศีลมันอยู่ในใจเรา ไอ้เรื่องอย่างนี้เพราะเราไปเกร็งไง เรื่องนี้มีคนมาเล่าให้ฟังเยอะ ตัวเจ้าตัวเขาเองเขามาเล่าให้ฟังเองนะ บอกว่าถ้าเจอปลาตายก็อยากซื้อน่ะ แล้วพอไปเจอ ไม่มีปลาตายเลย ก็ไม่เอา เดินไป ไปซื้ออย่างอื่น พอวันหลังเขารู้แล้วน่ะ พอเห็นเดินมา เขาทุบไว้ก่อนเลย นี่ไง ถือศีลโดยเถรตรง ไม่ได้หรอก มันอยู่ที่เหตุการณ์เฉพาะหน้า ทีนี้ประสบการณ์อย่างนี้มันจะมี

โยม : ถ้าอย่างนี้ถ้าเรารักษาศีล แล้วไอศกรีมที่ผสมเหล้า แล้วเราไปที่ร้านแล้วเราก็เลือกรสนี้

หลวงพ่อ : ผิด ถ้าเรารู้ กิเลส พระพุทธเจ้าสอน เรารู้ไง สอนคนนั้น

มันมีลูกศิษย์วันนั้นไปกัน เขาไปเชียงใหม่ แล้วมันเป็นญาติๆ กับพวกไอ้โตเขาไปด้วยไง เขาเล่าให้ฟัง เขาไปกินปลาอะไรนะ ปลาที่ดังมากเลย ปลาเป็นๆ เขาเรียกปลาอินทรีย์ ปลาอะไรที่กำลังดังเลย เพราะมันหวานมาก ทีแรกไม่รู้ เขาบอกไม่รู้หรอก พอไปกินแล้วมันติดใจไง เอ๊ะ! ทำไมมันรสชาติดีขนาดนี้นะ ปลาอะไรที่ว่าเขาต้องสดๆ ในซีฟู้ดนั่นน่ะ แล้วพอมันได้กินเข้ามันก็ติดใจนะ พอมารู้ไง มารู้ว่ามันฆ่าเดี๋ยวนั้น มันต้องสดมันถึงจะอร่อยอย่างนั้น อยากกินอีก อยากมาก แต่ไม่กล้าสั่ง แล้วมันก็ไปกับพรรคพวก จะรอคนอื่นสั่งไง ลุ้นอยู่ในใจนะ ใครจะสั่งปลานี้วะ กูอยากกิน ใครจะสั่ง ตัวเองอยากกิน แต่ไม่กล้าสั่งเพราะรู้ ทีแรกไม่รู้ พอกินแล้วมันติดใจ พอติดใจปั๊บก็คิดว่าปลานี้มันจะหวานขนาดนี้ ก็อยากกินอีก ไปถามแม่ครัวไง ทำไมถึงได้หวานอย่างนี้

นี่ไง มันยังว่ายอยู่ในน้ำไง เอาขึ้นมาเดี๋ยวนี้มันถึงเป็นรสชาติอย่างนี้ ถ้าฆ่ามาก่อนแล้วมันจะไม่รสชาติอย่างนี้ ตั้งแต่นั้นมามันไม่กล้ากินอีกเลย แต่ใจมันอยากกิน แต่ไม่กล้าสั่ง เวลาไปกับเพื่อนไม่กล้าพูดด้วยนะ รอดูว่า เอ๊ะ! คนไหนมันจะสั่งให้กูกินวะ แล้วไม่สั่ง มันก็อยากอยู่อย่างนั้นน่ะ น้ำลายสอ แต่ไม่กล้าสั่ง เพราะมันบังคับตัวนี้ไง

โยม : ถ้ารอเขาสั่ง พอเขาสั่ง เราก็กินด้วยเลย เต็มที่อย่างนี้

หลวงพ่อ : ก็เต็มที่

โยม : แต่ก็ไม่ถูกอยู่ดี

หลวงพ่อ : ถ้าจะอย่างนั้นมันก็ไม่ดี เอามาเลย ถ้ามี มีไหม เขียนมา เขียนมาเลย เขียนมาดีกว่า เขียนมาก่อน แล้วเดี๋ยวปากเปล่าเอาไว้ทีหลัง

มันเป็น หนึ่งนะ นิวรณธรรม ความวิตกกังวล กิเลสมันเป็นนามธรรม ถ้าเขียนกฎหมายไว้ดีเลิศขนาดไหนก็แล้วแต่ กิเลสมันจะเลาะไปตาม เขาเรียกว่าเลาะตามกฎหมายไป กฎหมายบังคับคนไม่อยู่หรอก วินัยก็เหมือนกัน นี่เขาเรียกเลี่ยงบาลีไง

โยม : ถ้าอย่างนี้ถ้าเราเจตนาให้อาหารที่ถวายพระมีรสชาติที่ครบตามสูตร แต่เรารู้ว่าเราจะเป็นคนปรุงเอง

หลวงพ่อ : ไม่ทำ เราจะไม่ทำ

โยม : เราจะงดเว้นส่วนผสมนั้น

หลวงพ่อ : ได้ จิตใจของคนมีสูงมีต่ำ เอ็งทำดีมาขนาดไหนนะ มาหาเรานะ ลงบาตรหมดล่ะ อาหารจะเลอเลิศขนาดไหน มาถึงกูก็โฮะลงนี่แหละ บางทีเราสงสารนะ ไอ้คนมา โอ้โฮ! ทำมาดีเลิศเลยนะ อู้ฮู! จะใส่ที “อุ๊ยๆ อย่าๆ”

นี่เรื่องของพระ ไม่ใช่เรื่องของเอ็ง เอ็งถวายพระไปแล้ว ทุกคนศรัทธาเคารพครูบาอาจารย์ ก็ไปสรรหามาสุดยอด แล้วพอจะใส่บาตร โอ๋ย! ทุกข์แทนพระ พระจะใส่บาตร มาเท่าไรก็เทลงนี่แหละ เอ็งจะเลิศมาขนาดไหน มาเถอะน่า ลงบาตรหมดล่ะ

โยม : อาจารย์คะ อย่างเช่นกะปิอย่างนี้

หลวงพ่อ : กะปิต้องสุก

โยม : อย่างเช่นบางตลาดเราไม่รู้

หลวงพ่อ : เราไม่รู้ไง ใช่ เราบางทีเขาจะพูด ถ้าพูดถึงถ้าคนรังเกียจไม่รังเกียจไง เรื่องนี้มันเกี่ยวกับ กปฺปิยํ กโรหิ นี่แหละ เพราะพระไปฉันถั่วเขียวไง ไปฉันถั่วเขียวต้มน้ำตาล แล้วไปถ่าย แล้วมันยังไปงอกอีกไง พองอกอีก อู้ฮู! กินเข้าไปยังงอกอีก ตั้งแต่นั้นมาไม่ยอมกิน

ทีนี้โยมเขาไม่รู้ เขาก็ทำมาถวายพระ พระไม่ยอมฉัน ก็เสียใจ ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า ทำไมเธอไม่ฉันของเขา

โอ้โฮ! เกล้ากระผมฉันเข้าไปแล้วนะ ไปถ่ายออกมาแล้วมันยังเกิดได้เลย

ก็เหมือนเราเป็นอย่างนั้นน่ะ มันเป็นความกังวลใช่ไหม ภิกษุพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ พืชคาม ภูตคาม ภิกษุ สิ่งนี้ อย่างผักสดเอามาถวายพระ มันยังเกิดได้ สิทธิของมันน่ะ วินัยละเอียดมาก ถ้าเราถวายพระมาก็จริง ถวายพระมาแล้วทีหนึ่ง ถวายพระแล้วมันป้องกันอาบัติปาจิตตีย์ไง ของที่ไม่ได้ถวายเอาเข้าปากเป็นอาบัติปาจิตตีย์ การถวายพระคือของต้องประเคนขึ้น ประเคนแล้วจะฉันได้ พอฉันได้มันยังเกิดอีก ก็พระรังเกียจน่ะ

ทีนี้พระรังเกียจขึ้นมา พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ให้ของที่ถวายพระแล้ว สิ่งที่เป็นปมเป็นข้อที่มันเกิดได้ ให้ทำ กปฺปิยํ กโรหิ ให้ถามเขาไง ถามแล้วถามว่า กปฺปิยํ กโรหิ ของเป็นกัปปิยภัณฑ์ กปฺปิยํ กโรหิ ของนี้สมควรแก่สงฆ์หรือ ไอ้คนที่ถวายแล้วยังกล่าวซ้ำอีกว่าของนี้สมควรแก่สงฆ์ สมควรก็สิทธิของเขา เขาถวาย พระฉันได้ พืชคาม ภูตคาม ถ้ามันแก้วินัยตรงนี้ไง วินัยมันจะเป็นชั้นมา เขาเรียกวินัยกรรม

ทีนี้พอโยมไม่รู้อีก พูดตอนนี้เลย ทุกคนจะช่วยเหลือพระนะ ได้ส้มมาก็ปาด ปาดหัวเลย ปาดๆๆ เลย พระมาก็ถวาย นี่กปฺปิยํแล้ว...ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้ตัดความกังวลอันนี้ ทำลับหลัง ถ้าอย่างนั้นพวกโยมกับพระที่เสล่อ พอมีอะไรดีๆ ขึ้นมาก็ไปสั่งโรงงานนะ เดี๋ยวนี้ไปสั่งโรงงานนะ ผ้าต้องสีนั้นๆ นะ

เฮ้ย! พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้นนะ พระพุทธเจ้าสอนให้มึงภาวนา พระพุทธเจ้าสอนให้มึงแก้กิเลส พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้มึงทำธุรกิจ เราเห็นพระงี่เง่า เที่ยวไปบอกเขา พระต้องการอย่างนั้น ต้องการให้โรงงานมันประกอบมาอย่างนั้น

หลวงตาพูดประจำนะ พระองค์ไหนยังติดรส ติดปาก ติดท้อง ไม่ต้องมาคุยเรื่องภาวนา นู่นก็ไม่ได้ ต้องทำให้พระอย่างนั้น ประเสริฐอย่างนั้น ให้ดีอย่างนั้น หลบ หลบอย่างหนึ่งต้องเอาอย่างหนึ่งว่าถูกต้องตามวินัย

ถูกต้องตามวินัย สมควรไม่สมควร กาลเทศะ เราเห็นพระอวดดิบอวดดีไป โอ๋ย! พระกรรมฐานใช้อย่างนั้น ให้ไปบอกโรงงานให้ทำอย่างนั้น ทำอย่างนั้นเพื่อถวายพระ

ถ้าทำอย่างนั้นบอกให้โรงงานมันทำมรรคผลนิพพานให้กูที ให้โรงงานไหนก็ได้ตั้งโรงงานมา แล้วบอกเลย มึงสร้างมรรคผลนิพพานมาแล้วไปจับใส่อกพระ

มันยิ่งทำขนาดไหนกิเลสมันยิ่งดิ้นรน มึงมีของดีมาขนาดไหนไปปรนเปรอนะ กิเลสมันขี่หัวมึงตลอดไป ธุดงควัตรขัดเกลากิเลส ทำให้มันยุบยอบตัวลง ไม่ใช่ไปส่งเสริมมัน ธรรมวินัยเพื่อการขัดเกลากิเลส แต่พระเดี๋ยวนี้นะ ไปทำสิ่งใดๆ มาเสริมกิเลส เสริมตัวตนขึ้นไป มองเห็นแล้วทุเรศมากนะ แต่มันนึกว่ามันมีศักยภาพนะ มาคุยนะ “ไอ้นี่ผมไปวิ่งเต้นมาเอง ไอ้นั่นผมไปวิ่งเต้น”...เวรกรรมเอ้ย มึงสึกแล้วไปเป็นล็อบบี้ยิสต์ซะ ไปวิ่งเต้นของมึงนู่น มันเป็นเรื่องข้างนอก มันเป็นเรื่องปลายเหตุ เรื่องเริ่มต้นมันอยู่ที่ใจ

หลวงตาท่านพูดบ่อย ถ้าใจมันชั่วมันกำเพชรมา เพชรนั้นก็ชั่ว ถ้าใจมันดีมันกำขี้มา ขี้นั้นยังประเสริฐเลย ถ้าใจมันประเสริฐนะ มันกำขี้มา ขี้นั้นประเสริฐ ถ้าใจมันไม่ดีนะ ใจมันชั่วนะ กำเพชรมา เพชรนั้นก็เน่า

ธรรมวินัยมันลงที่นี่ ธรรมวินัยในปัจจุบัน ธรรมวินัยมาฆ่าความรู้สึกของเรา ฆ่าความกังวล ฆ่าตัวนี้ ไม่ใช่ว่าไปติด เหมือนนักกฎหมายไง เอาธรรมวินัยมาวิจัยกัน โอ้โฮ! มันตั้งปั๊บ มันเถียงกันแล้ว อภิธรรมไง ไอ้นั่นเป็นไอ้นั่น ไอ้นั่นเป็นไอ้นั่น...โดนกิเลสหลอกแล้ว ส่งออกหมด ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แต่ไอ้นี่มันหมากัดกัน โต้เถียงเอาแพ้ชนะกันไง

ไอ้เรื่องอย่างนี้มันเป็นวุฒิภาวะ แล้วพูดถึงเราจะไปบังคับตายตัวไม่ได้ ดูอย่างเรา เมื่อก่อนเราอยู่เอง เวลาโยมมาถวายของ มาถวายอาหาร

“กปฺปิยํ กโรหิ”

เขาเงียบ อ้าว! เงียบคือว่าไม่เป็นแล้ว ไม่เป็น ต้องเฉย เพราะนี่ประสบการณ์จากบ้านตาดนะ ตอนอยู่บ้านตาดประเคนของ แล้วพระเวอร์ พอเจอคนมานะ “กปฺปิยํ กโรหิ”

รถไฟยาวไปยันนู่น คนจะประเคนอีกเป็นร้อย มึงจะมา กปฺปิยํ กโรหิ จะมาฝึกกัน ออกสงครามแล้วจะมาสอนรบกัน กปฺปิยํ กโรหิ ไม่เป็น ไม่เป็น ดึงออกเลย ไป ไป วางไว้ แยกออกไป แล้วพอเสร็จแล้วเรียกคนเป็นเข้ามา มันต้องฝึกกันตั้งแต่ยังไม่รบ แล้วพอเวลาแล้ว พอถ้าบอก กปฺปิยํ กโรหิ บางคนบอก “ผมลืมเอากะปิมา”

“เออ! ไม่เป็นไร ออกไปเลย”

คำพูดคำนี้มันทดสอบว่าเขารู้ไหม ถ้าเขาไม่รู้นะ ให้เขาออกไป เราไม่ต้องไปอวดรู้ไง แต่ถ้าเป็นกิเลสนะ มันจะอวดรู้ อวดเขา อยากดังอยากใหญ่ อยากเหยียบเขา แต่ถ้าคนเป็นเขาเรียกว่าอุปัฏฐากพระไง ผู้ที่อุปัฏฐาก ผู้ที่สงเคราะห์ เขาต้องฝึกไว้ แล้วเวลามันต้องมีคนเป็น ถ้าไม่เป็นให้เลื่อนไปเลย แล้วเราแยกไปก่อน ไม่อย่างนั้นรถมันติด แล้วมันจะมีปัญหามาก

แล้วไอ้เราก็ถือเคร่งใช่ไหม “โอ๋ย! ไม่ได้ มันยังไม่ได้กัปปิ กินไม่ได้”

เรานะ ประสบการณ์มันบวชมาไง อยู่ป่า โอ้โฮ! อยู่ป่านะ คนไม่ทุกข์ไม่ยากไม่อดไม่อยากนะ เราอยู่ป่ามานะ ไม่มีจะกิน แต่อยากอยู่กัน เก็บยอดไม้ผักมาต้มกินกันอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้ววันนั้นมันมีพรานป่าไปล่าสัตว์ แล้วเขาก็มีกระติบข้าวเหนียวไป อยู่ทางภูพาน เขาใส่ข้าวเหนียวคนละปั้น ตั้งแต่เกิดมานะ ไม่เคยกินข้าวหวานเจี๊ยบอร่อยเท่านั้นเลย มันไม่ได้กินมานาน ขนลุก มันฝังใจ กินข้าวเหนียวนี่มันอร่อย อู้ฮู! มันหวาน อู้ฮู! มันโอ้โฮ! สุดยอดๆ มันอดมาเยอะ มันอดมานาน

แล้วมันจะอะไรอร่อยไม่ใช่หรอก มันอยู่ที่ลิ้นเรา อยู่ที่รสนิยม เอ็งว่าของเอ็งอร่อยถึงอวดกัน โต๊ะละกี่ล้านกี่แสนนะ มึงสู้ส้มตำกูไม่ได้หรอก ส้มตำกูอร่อยกว่ามึงอีก มันอยู่ที่รสชาติอันนี้ไง นี่ประสบการณ์อย่างนี้มันมาจากป่า

ทีนี้พอมันอย่างนี้ปั๊บ เวลามาถึงมันออกจากป่ามา พอออกจากป่ามา ตอนนั้นออกจากป่ามาใช่ไหม ก็มางานครบรอบหลวงปู่ฝั้น แล้วพอดีเจ้าคุณที่สกลฯ ท่านครบรอบวันตาย ก็ไปช่วยงานเจ้าคุณ พระมาเยอะ เจ้าคณะจังหวัดเสียครบรอบ ไปกันเยอะ ทีนี้พอไป โอ้โฮ! พระป่ามานะมึง ตามันพอง ไม่เคยกินอาหารน่ะ อู้ฮู! ไปในงานผลไม้เต็มไปหมดเลยนะ เราก็ แหม! ประสบการณ์เรามีใช่ไหม ไม่ได้กัปปินั้นมา ถ้าไม่ได้กัปปิเงาะ ลำไยพวกนี้นะ เราพยายามกินช้าๆ ต้องกิน ถ้าให้อร่อยต้องกิน แต่กินนี่ โทษนะ สนองกิเลส มันอยาก อยากแล้วเราก็ปอกเงาะ แล้วก็ค่อยๆ แกะนะ อย่าให้เมล็ดมันแตก ถ้าเมล็ดมันแตก ปาจิตตีย์

องุ่นนี่นะ องุ่นได้มาปั๊บ ค่อยๆ เคี้ยวนะ แล้วปลิ้นเมล็ดมันออก อย่าไปขบเมล็ดแตก ต้องระวังให้ดีนะ สติให้ดีๆ นะ ถ้ามึงสติไม่ดีนะ เป๊าะ ปาจิตตีย์ตัวหนึ่ง

ตอนนั้น โอ้โฮ! ของมันเยอะ เราก็ฉัน ถ้าบางคนไม่ฉัน เราก็เฉย ทีนี้พอออกมาเช็ดบาตรกัน กลับไง ทีนี้มีย่าพ่อย่าตาบ่นให้ฟังน่ะ “โอ้โฮ! อยากกินน่าดูเลย เงาะเงอะเต็มไปหมดเลย แต่ไม่กล้ากิน ไม่มีใครกัปปิให้”

ไอ้เราคิดในใจนะ โง่ฉิบหาย

ประสบการณ์ต้องมี ถ้าเมล็ดนี่ต้องห้ามเมล็ดแตก เมล็ดแตกขึ้นมาไม่มีสิทธิ์ ถ้าเมล็ดมันยังอยู่นะ เมล็ดสมบูรณ์ ไม่เป็นไร

แล้วอย่างของเราเวลามาอยู่โพธารามใหม่ๆ ไม่มีคนกัปปิไง เราก็รับหมดล่ะ ใส่ไว้ข้างบาตร อย่าไปฉัน ถ้าเรารู้ว่าไม่กัปปิ กปฺปิยํ กโรหิ ยังไม่ได้ทำ เราก็วางไว้ อย่างที่ว่า กัปปิ ถ้ารู้ว่าดิบ เราก็วางไว้ ดูสิ ไข่ดาว ถ้าไข่ดาวมันเป็นยางมะตูมมา เราก็ตักของเรา

“ฉันไม่ได้ อย่าฉันนะ”

เฮ้ย! ศรัทธาไทยเขานะ กูตัก แต่กูไม่กินน่ะ กูตักวางไว้เฉยๆ กูตักแล้วก็วางไว้ข้างบาตร กูไม่แตะ มันก็ไม่เป็นอาบัติ เห็นไหม ไอ้คนก็ “อู๋ย! ทำไมท่านเอา”

น้ำใจเขาน่ะ

โยม : แบบนี้โยมก็เคยเจอ ตักอาหารถวายหลวงตา แล้วอย่างพอเราเอาของออกอะไรอย่างนี้ เขาบอกว่าห้ามตัก ก็เราบอกว่าของดิบไม่ได้ เขาก็อ้าง

หลวงพ่อ : พระก็ต้องอยู่ที่พระเป็นไม่เป็นไง ถ้าพระรู้ใช่ไหม พระเป็น เราก็เอาวางไว้ ถ้าเรารู้เราก็เอาออกเลย เพราะเอาออกมันก็เป็นบทเรียนสอนทั้งศาลาใช่ไหม

โยม : พอตอนหลังท่านก็สั่งให้เอาออก พวกกัปปิ ออกให้หมด

หลวงพ่อ : ต้องเอาออก เพียงแต่ว่า เขาเรียกอะไรนะ ศรัทธาไทย เขาตั้งใจมาแล้วใช่ไหม เราก็เอาไว้ข้างๆ บาตร หรือเอาไว้ตรงไหนที่ใดที่หนึ่ง รู้นี่ ก็เราเป็นคนหยิบเอง อู๋ย! มันต้องมีประสบการณ์ นี่มันสอนกันไม่เป็น สอนไม่ได้

ไอ้ฝังใจที่สกลฯ นั่นน่ะ พระออกมาจากป่าด้วยกัน อู๋ย! พอกลับวัดนะ บ่นใหญ่เลยนะ อู้ฮู! ออกไปแล้วนะ มันอดน่ะ คนมันอด มันไม่เคยกิน มันเห็นเข้ามันก็ตาลุก อยากกินบ้าง อยากจะขอสักที ไม่ได้กิน เพราะไม่มีประสบการณ์ แต่โดยทั่วไปมันก็ต้อง กปฺปิยํ กโรหิ ก็ป้องกันตรงนี้ไง

แล้วยิ่งส่วนใหญ่พระทั่วไปเขาเชื่อหัวหน้า ถ้ามันผ่านหัวหน้า หัวหน้าผ่านแล้วแสดงว่าถูกต้อง อันนี้ถ้าพระบวชใหม่มันไม่รู้ นี่ถ้าไม่มีประสบการณ์ แล้วพออย่างนี้มันก็เข้ากับกาลิก ถ้าเราอ่านเฉยๆ นะ อ่านหนังสือเฉยๆ มันมีอยู่ วันนั้นลูกศิษย์เขาเอานั่นมาถวาย น้ำสำรอง แล้วก็เพื่อนมาด้วยกัน เขาบอก เฮ้ย! พระป่ากินได้อย่างไร ตอนเย็นมันกินไม่ได้ น้ำปานะมันก็มีแค่ไอ้พวกน้ำมะม่วงน้ำอะไร ไอ้นี่มันจะกินได้อย่างไร

เขาบอกว่านี่คือน้ำปานะ แล้วเขาเถียงกันไม่ลงไง

เราบอกว่า เอ็งรู้จักกาลิกไหม กาลิกน่ะ

เงียบเลย น้ำปานะมันเป็นของชั่วคราว มันเป็นน้ำผลไม้คั้น ถ้าน้ำผลไม้คั้นเก็บไว้มันจะเป็นเมรัย อายุของมันแค่ชั่วคราว แต่น้ำสำรองมันเป็นยา มันอยู่ในสัตตาหกาลิก มันไม่ใช่น้ำปานะ ถ้าคำว่า “กาลิก” มันแบ่งเลย เป็นส่วนสัดไง นี่เป็นอย่างนี้ๆ

แต่ไอ้คนว่า โอ๋ย! ถ้าน้ำดื่มตอนบ่ายมันต้องเป็นน้ำปานะทั้งหมด

อ้าว! น้ำปานะ มึงก็คั้นมาให้กูสิ ไอ้นี่เขาพาสเจอร์ไรส์มาแล้ว ไอ้บ้า เก็บไว้กี่ปีมันก็ไม่บูดไม่เน่า มันก็อยู่ที่คนดูตรงนี้ไง กาลิก ส่วนผสมของมัน เนื้อหาสาระของมัน เนื้อหาสาระของผลไม้สด น้ำผลไม้มันหมักแล้วมันเป็นเมรัย เนื้อหาสาระของเขา เอ็งจัดเข้าในกลุ่มอะไร ของที่ประเคนมา เอ็งจัดเข้าในกลุ่มของอะไร

ไอ้อย่างนี้ พอวินัยมันก็เป็นกังวลใช่ไหม มันก็เพื่อสังคมสงฆ์ด้วยไง เราดูสิ ของเราบริหาร เรื่องโยมก็เรื่องหนึ่ง เรื่องพระก็เรื่องหนึ่ง เรื่องพระ เพราะพระก็ทุกข์นะ พระใจก็บกพร่องนะ เราก็ต้องบริหารพระเราด้วย ฉะนั้น พระถึงมายุ่งกับโยมไม่ได้ เพราะถ้ามายุ่งกับโยมแล้วนะ เดี๋ยวมันก็เป็นตลาด เอาพระส่วนพระ เว้นไว้แต่ว่าทำงาน พระจะมายุ่งกับโยมไม่ได้ โยมส่วนโยม ไม่เกี่ยวกัน จะลงมาเจอกันที่ศาลาแล้วก็แยกออกจากกันไป มันยุ่งกันไม่ได้ ถ้าอย่างนี้ปั๊บ พระมันก็มีหลัก ถ้าพระไม่มีหลัก มันก็คลุกคลีกัน คลุกเคล้ากัน มันก็เป็นลาภไปหมดล่ะ

ทีนี้เรื่องอาหารมันต้องดูไปเป็นอย่างนี้ว่าประสบการณ์ แต่โดยหลัก ของดิบฉันไม่ได้ ไอ้พวกเมรัยโดยตัวมันเอง ฉันไม่ได้ แต่ถ้าเป็นยาเป็นอะไร เป็นยาก็ต้องเป็นโยมทำ คือเขาทำกันมา มันทำกันมาแล้ว พูดถึงไม่รู้ไม่เห็น ไอ้เรื่องรู้เรื่องเห็น เรื่องเนื้อสัตว์ อู้ฮู! เยอะมากนะ แล้วมันตีกลับเวลาเราเทศน์ ในพระไตรปิฎกก็มี ไอ้ควายที่มาเข้าฝันแม่ชีแก้วก็มี เวลาตาย ตายแล้วนะ โดยทั่วไป สัตว์มันไม่อยากตายหรอก สัตว์นี้เราไปฆ่ามัน ชีวิตเรา เราก็ไม่ยอม ทีนี้ฆ่าสัตว์มาเป็นอาหารมันบาปทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาจำเป็นแล้วมันต้องตายแล้ว มันไม่มีอะไรเป็นสมบัติ คนยังมีคุณความดี เราเป็นสัตว์ไม่มีอะไรเป็นคุณสมบัติเลย มีแต่เนื้อ มาเข้าฝันเลยนะ เข้านิมิตเลยบอกว่า นี่ตายแล้ว เขาเกิดเป็นคนสุขสบายมาก นี่สัตว์มันพูดนะ เคยเกิดเป็นมนุษย์นี่ยอดเยี่ยมเลย เพราะมีกฎหมายมีต่างๆ คุ้มครอง เกิดเป็นสัตว์ เขาจะฆ่า เขาทำอะไรก็ไม่มีสิทธิ ตายฟรี

ไปเข้าฝันแม่ชีแก้ว ดูสิ เป็นควายไถนาให้เขา แล้วเวลาเหนื่อยยากนะ อยากกินน้ำ ถ้าเขาดึงเชือกไว้ก็ไม่ได้กิน แล้วต้องเอาใจเขาด้วย นี่มันพูดนะ สัตว์มันเอาใจมนุษย์นะ เพราะกลัวโดนตี นี่เอาใจเขานะ กลัวเขาจะตี เอาใจเขาทุกวันเลย สุดท้ายเขาก็ฆ่า แล้วพอฆ่า ฆ่ามาทำอะไร

พอมาเข้าฝันแม่ชีแก้ว เขาบอกว่า แล้วพรุ่งนี้เขาจะทำลาบอะไรมาถวายแม่ชี ขอให้แม่ชีฉันให้หน่อย ฉันให้หน่อย ขอให้ฉันให้หน่อย เพราะฉันแล้วเนื้อของเขาได้เป็นบุญกุศล เขาอยากได้บุญกุศลอันนี้เพื่อที่จิตของเขาได้พัฒนาให้ดีขึ้น เพราะบุญกุศลทำให้เกิดในที่ที่ดี ในพระไตรปิฎกก็มี สัตว์นี่พูดถึงนะ ถ้ามันจำเป็นต้องตายนะ มันก็ขอให้เนื้อมันได้เป็นประโยชน์ ให้พระได้ฉันเสียหน่อยหนึ่ง ให้พระที่มีคุณธรรมฉัน แล้วมันจะได้บุญอันนั้น

แต่ในทางโลก เห็นไหม “อู๋ย! กินเนื้อสัตว์แล้วยังแผ่เมตตาให้มันอีก”

มันขอให้กูกินนะ เพราะไอ้นี่มันเป็นการดำรงชีวิตไง ถ้าเราคิดแบบวิทยาศาสตร์ ใช่ สัตว์ทุกตัวไม่อยากตายหรอก แต่ถ้ามันจำเป็นต้องตายหรือมันตายไปแล้ว อะไรเป็นประโยชน์กับมันบ้างล่ะ

แล้วประสาเราถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ทุกคนก็ “อย่างนั้นต้องฆ่าสัตว์ให้หมดแล้วให้กูกิน”...ก็ไม่ใช่อีกแหละ เพราะอย่างนั้นมันเป็นการจัดตั้งไง ธรรมะมันเป็นธรรมจัดสรร มันเป็นอุบัติเหตุ มันเป็นไปโดยความเป็นจริง ไม่ใช่ว่า โอ๋ย! อะไรเป็นบุญแล้วนะ กูจะแสวงหา กูจะทำอย่างนั้นนะ...มึงไม่ได้หรอก มันไม่เป็นธรรม มันเป็นโลกไง

ไอ้เรื่องนี้นะ ถ้าใจเป็นธรรมนะ มันจะละเอียดอ่อน แล้วมันจะเข้าใจสภาวะแบบนั้น ถ้ามันไม่ใช่ เราเป็นโลก มันเป็นทิฏฐิมานะไปหมดล่ะ แล้วมองอะไรจะผิดพลาดไปทุกอย่างเลย มันจะมองอะไรผิดพลาดไปหมด

ทีนี้เรื่องอาหาร ประสาเรา เริ่มต้นอย่างนี้ เริ่มต้นว่าเราเจตนาดี ทำดี แต่ถ้าเรารู้ ดูสิ ถ้าเราเคารพครูบาอาจารย์ เราก็ไม่อยากให้ผิดใช่ไหม เราก็อยากทำสิ่งที่ดี แต่นี่เราพูดในเนื้อหาสาระไง เนื้อหาสาระว่า อาหารนี้ถ้ามันมีส่วนผสมของสิ่งที่เป็นเหล้า มันจะผิดไหม เราจะผิดไหม แต่ถ้าเรารู้ ถ้าเรารู้เราก็ไม่ควรทำใช่ไหม ถ้าเรารู้ เรารู้แล้ว

ถ้าไม่รู้ นี่พูดถึงไม่รู้ พูดถึงท้องตลาดไง เราพูดถึงร้านอาหาร พูดถึงท้องตลาดที่เขาทำ แล้วพอเราบอกผิดถูก แล้วเอ็งก็จะไปบอกร้านว่าต้องทำพิเศษกับเรา เสียตังค์อีก “รู้แล้ว รู้แล้ว ของหนูต้องเป็นอย่างนี้ ต้องพิเศษ ต้องไม่ใส่ไอ้นั่นๆ”

จะทำบุญแล้วยุ่งไปหมดเลย แต่ถ้าจะไปเที่ยวไม่เป็นไร

เอาตรงนี้ก่อน ที่ว่า

ถาม : ๑. ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสต่อพระอานนท์ว่า ถ้าเราปรารถนาจะมีอายุถึงหนึ่งกัป เราก็อยู่ได้ เพราะเราได้เจริญอิทธิบาท ๔ ดีแล้ว ในรายละเอียดวิธีการเจริญอิทธิบาทอย่างไร

หลวงพ่อ : ไม่ได้ ในการเจริญอิทธิบาท ๔ ปัญหานี้ปัญหาอันหนึ่งนะ

แล้วอันที่ ๒.

ถาม : ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้มีรับสั่งให้พระโมคคัลลานะไปปราบพญานาคผู้มีอิทธิฤทธิ์มากตนหนึ่ง แล้วทรงตรัสเตือนว่า พญานาคนี้มีฤทธิ์มาก เธอจงระวัง พระโมคคัลลานะตอบว่า ข้าพเจ้าได้เจริญอิทธิบาท ๔ ดีแล้ว ในรายละเอียดวิธีเจริญอย่างไร

หลวงพ่อ : นี่มันอยู่ตรงนี้ ๒ ปัญหานี้มันเหมือนปัญหาเดียวกัน

เจริญอิทธิบาท ๔ เราเจริญขนาดไหนมันก็เจริญโดยฌาน โดยสมาบัติ ไม่มีผล คำว่า “เจริญอิทธิบาท ๔” มันเจริญ ถ้าพระอรหันต์เจริญอิทธิบาท ๔ ต่างหากถึงจะเป็นผล แล้วไม่ใช่พระอรหันต์ ไม่รู้จักจิต จะเจริญอิทธิบาท ๔ ได้อย่างไร การที่เขาพูดกันเรื่องเจริญอิทธิบาท ๔ การสอนกันนั้นคือการสอนโดยสมมุติ มันเป็นสมมุติโดยธรรมชาติของมัน เพราะอะไร เพราะพระโมคคัลลานะบอกใช่ไหม พระโมคคัลลานะตอบว่า ข้าพเจ้าได้เจริญอิทธิบาท ๔ ไว้ดีแล้ว

คำว่า “ข้าพเจ้าได้เจริญอิทธิบาท ๔ ไว้ดีแล้ว” คือข้าพเจ้าเป็นพระอรหันต์ ถ้าไม่อย่างนั้นไม่กล้าตอบพระพุทธเจ้าอย่างนี้ เพราะพระพุทธเจ้าจะรู้หมดเลย แล้วจะบอกว่าข้าพเจ้าเจริญอิทธิบาท ๔ ดีแล้ว เพราะในพระไตรปิฎก ถ้าพระองค์ไหนบอกว่าข้าพเจ้าไม่สงสัยแล้ว ถ้าพระด้วยกันเขาไม่เชื่อนะ เขาจะไปฟ้องพระพุทธเจ้าทันทีเลยว่าพระองค์นี้อวดอุตตริมนุสสธรรม

พระพุทธเจ้าบอกเป็นอย่างนั้นจริงๆ นี่เป็นพระอรหันต์ ถ้าไม่ใช่บอกท่านพูดอย่างนั้นได้อย่างไร แล้วเทศน์สอนเลย แล้วด่าเลย “โมฆบุรุษ” ด่าเลย พอด่าเสร็จ ถ้าพระองค์นั้นทำได้จะเป็นพระอรหันต์ทันทีเลย

คำว่า “ข้าพเจ้าเจริญอิทธิบาท ๔ ดีแล้ว” คือนี่สิ้นกิเลสแล้ว เพราะสิ้นกิเลสแล้วถึงจะเจริญอิทธิบาท ๔ ได้ เจริญอิทธิบาท ๔ ที่ว่าจะอยู่อีกกัปหนึ่งนะ แต่ถ้าเป็นปุถุชนเจริญอิทธิบาท ๔ มันก็เจริญอิทธิบาท ๔ แบบพวกเรา อย่างพวกเรา ในองค์ของฌาน วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ใช่ไหม ในองค์ของสมาธิ เราก็นึกพุทโธๆๆ วิตก วิจารใช่ไหม พุทโธๆ โอ๋ย! มีความสุข โอ้! ปีติเกิดแล้ว ปีติ สุข โอ๋ย! สุข เราสุขนะ เกิดเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่นนะ ผมได้อะไร

ได้ฌานบ้า เพราะมันเป็นการคิดเอาหมดเลย

อิทธิบาท ๔ ก็เหมือนกัน อิทธิบาท ๔ ก็จิตตะ วิมังสา ดูจิต จิตตะ วิมังสา คือควบคุมมัน อิทธิบาท ๔ แล้วจิต ถ้าจิตนะ ผู้ที่ควบคุมอิทธิบาท ๔ เจริญอิทธิบาท ๔ ดีแล้วจะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ เราพูดบ่อยมากเลย เหมือนกับเราออกจากบ้าน ถ้าเราอยู่ในบ้าน เราไปอยู่ในบ้าน บ้านเราจะมีคนอยู่ใช่ไหม ถ้าเราเดินออกจากบ้าน บ้านนั้นบ้านร้าง คนตายก็เหมือนกัน ร่างกายนี้เหมือนบ้าน จิตนี้เหมือนคนอยู่ในบ้าน แล้วถ้าเราไม่ให้จิตนี้ออกจากร่างกาย มันจะตายได้ไหม เพราะอะไร เราปกตินะ ตายนี่ ปุ๊บ! ตายแล้ว ไปเกิดเป็นอะไรก็ไม่รู้ ทำดีก็ไปเกิดเป็นเทวดา ปุ๊บ! ตายแล้ว ตกนรกแล้ว มานรกกันแล้วหรือ ไม่รู้เรื่องน่ะ

แต่ถ้าพระโสดาบันขึ้นไป ตายจะมีสตินะ สกิทาคามี อนาคามี มีสติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์นะ จิตพระอรหันต์ไม่มี เป็นธรรมธาตุ สิ่งที่เป็นธรรมธาตุ เวลามันมีอะไรมันต้องเสวยอารมณ์ตลอด พอเสวยอารมณ์ พอมันจะตายมันจะหดตัวเข้ามา มันจะเห็นกิริยาของจิตที่การเคลื่อน เหมือนเราอยู่ในบ้าน กูไม่ไปไหน กูนั่งอยู่นี่ กูไม่ออกจากบ้าน ทำไม แล้วไม่ออกจากบ้านได้อย่างไร ด้วยการเหนี่ยวรั้งไว้ ที่หลวงตาท่านบอก ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ถ้านอน นอนตายนะ ท่านไม่ยอมนอนเพราะอะไร รู้นี่ เพราะคนนอน พอป่วยไข้ นอนไป มันถอยวูบก็ออกเลย แต่ถ้ามีสตินะ รั้งไว้

นี่ไง ที่ว่าหลวงปู่มั่นน่ะ หลวงปู่มั่นที่ออกมาจากบ้านผือ แล้วไปพักที่บ้านภู่ ๓ วัน ๔ วัน “เอาเราไป เอาเราไป เราไม่ได้มาตายที่นี่ เราจะไปตายวัดป่าสุทธาวาส” ไม่ยอม สุดท้ายแล้ว “เอาเรานั่ง เอาเรานั่งไว้อย่างนี้ แล้วนั่งหันหน้าไปทางวัดป่าสุทธาวาส เพราะลูกศิษย์มันเถียงกัน ลูกศิษย์มันไม่เอาเราไป เราอยากไป แต่เราไปไม่ได้ เพราะเราร่างกายมันชราภาพไง”

นั่งแล้วหันหน้าไปทางวัดป่าสุทธาวาสเลย “เราจะไปสุทธาวาส เราไม่ได้มาตายที่นี่” ถ้าเป็นธรรมดานี่ตายนานแล้ว แต่นี่เพราะตัวเองไม่ยอมตายที่นี่ จะไปตายที่วัดป่าสุทธาวาส นี่รั้งไว้ อิทธิบาท ๔ ไม่ให้จิตนี้ออกจากร่าง จนสุดท้ายแล้วพอเขามารับเอาไปถึงวัดป่าสุทธาวาสใช่ไหม พอลืมตาขึ้นมา ใช่ ใช่แล้ว พอใช่แล้วนี่ปล่อยเลย พอปล่อยแล้วออกเลย

เราพูดกันไป อ่านตำราแล้วตีความกันไป นึกว่าอิทธิบาท ๔ ก็คืออิทธิบาท ๔ ไง อิทธิบาท ๔ ของใคร อิทธิบาท ๔ ของปุถุชนก็นึกเอา ก็เหมือนเข้าสมาธิ เข้าสมาบัติกันนี่ แล้วมึงเห็นอิทธิบาท ๔ ตรงไหน มึงรู้จักจิตมึงหรือยัง

มันถึงพูดไง มึงเป็นเจ้าของบ้าน มึงเป็นเจ้าของบ้านเอง ยังไม่เห็นตัวเจ้าของบ้าน ยังไม่รู้จักจิตตัวเอง ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร ไม่รู้อะไรเลย ไปตามอารมณ์ ไปตามเงา ตามความคิดไปตลอด ความคิดจะไปอย่างไรก็ไปตามความคิดไป ไปตามกิเลสหมด แล้วจิตมึงอยู่ไหน อิทธิบาท ๔ มึงดูจิต จิตมึงอยู่ไหน วิมังสามึงอยู่ไหน มึงทำงานอย่างไร

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์มันเป็นโดยอัตโนมัตินี่ไง คำนี้ “ข้าพเจ้าเจริญอิทธิบาท ๔ ดีแล้ว” เพราะกายกับจิตมันแยกกันโดยธรรมชาติ นิพพานเป็นอันหนึ่ง เวลาเข้ามา มโนสัญเจตนาหารเข้ามา มโนคือใจ นิพพานไม่ใช่ใจ ทีนี้พอไม่ใช่ใจ มันแยกโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว มันโดยสัจธรรมมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว สอุปาทิเสสนิพพาน จิตที่เป็นพระอรหันต์เป็นนิพพานอยู่ในร่างนั้น ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ภพ ไม่ใช่ใดๆ ทั้งสิ้น มันถึงควบคุมได้ มันสำเร็จแล้วมันถึงควบคุมได้ มันถึงจะเป็นไปได้ตามนั้น เข้าใจในอิทธิบาท ๔ ทีเดียวแล้วมันพร้อมหมด มาสิ ยิ่งมีฤทธิ์ด้วย มาก็กำหนดใส่ เรียบร้อย

“ข้าพเจ้าเจริญอิทธิบาท ๔ ดีแล้ว”

แล้ววิธีการ วิธีการอย่างไร

วิธีการทำไป ทำจนตาย ทำจนตายก็เป็นอย่างนั้นน่ะ มันเหมือนกับเราทำเป็นโลกๆ มันก็อยู่ในโลก แต่ถ้าจิตมันเป็นไปแล้ว นี่เจริญอิทธิบาท ๔ ถ้าเจริญอิทธิบาท ๔ เพราะเรื่องนี้เรื่องหลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น ท่านทำกัน พวกอย่างนี้ ระดับของเรา โยมมาที่นี่ โยมคุยกันเรื่องที่นี่ หรือคุยกันเรื่องปลูกต้นไม้ โยมคุยกันรู้เรื่องนะ โยมไปคุยกับคนที่ไม่เคยมาที่นี่สิ เถียงกันจนตาย ปลูกต้นไม้มันก็จินตนาการว่าปลูกต้นไม้อย่างนั้นน่ะ

พระอรหันต์กับพระอรหันต์คุยกันมันรู้เรื่อง พระอนาคามีกับพระอนาคามีคุยกันก็รู้เรื่อง เพราะวุฒิภาวะมันเท่ากัน เหมือนกับโยมมาปลูกต้นไม้ด้วยกัน มาเห็นสภาพที่เดียวกัน พูดเรื่องเดียวกัน พูดสิ่งที่เห็นเดียวกัน พูดกันรู้เรื่องหมดล่ะ

ทีนี้หลวงปู่ฝั้นท่านก็ไปต่อ ไปช่วยหลวงปู่ขาวไง พอจะทำก็คุยกันคำเดียว ก็คนรู้กับคนรู้พูดกัน ทำอย่างนั้นๆๆ จะต่อชีวิตอย่างนั้นๆๆ แล้วหลวงปู่ฝั้นท่านก็จะไปทำของท่านเอง เพราะเราอยู่ในวงการนี้ด้วย หลวงปู่ฝั้นบอกเลย บอกอาจารย์สุวัจจ์ บอกว่า “สุวัจจ์ ถ้าเธอกันญาติโยมไม่ได้ ใน ๓ เดือนนี้อย่าเข้ามา เราจะเข้าสมาบัติ ชีวิตจะไม่ตาย” เสร็จแล้วหลวงปู่สุวัจจ์กันไว้ไม่ได้ กลางพรรษานั้นป่วย

อาจารย์เสถียรเล่าให้ฟัง เสถียรเรานี่ พอเข้าไปถาม “หลวงปู่ ป่วยคราวนี้จะหายอยู่บ่”

“ฮู้! หลับตาคราวใดก็มีแต่ผู้เอาน้ำตามาฝากว่ะ”

ตีความไม่ออกไง หลับตาลงคราวใด ก็มีแต่ผู้เอาน้ำตามาฝาก เพราะว่ามันกันคนไม่ได้แล้ว หลับตาลงไปก็ตาย ตายเมื่อไหร่คนก็ร้องไห้ทั้งอำเภอเลย ทั้งจังหวัด ทั้งประเทศเลย “หลับตาลงคราวใดก็มีแต่ผู้เอาน้ำตามาฝากเว้ย” แล้วถ้าจะบอกว่าตายมันก็ยิ่งตื่นเต้นไปใช่ไหม หลับตาคือตาย เพราะเรื่องอย่างนี้มันแบบว่ามันไม่สะเทือนหัวใจอันนั้นหรอก แต่ก็อยู่เพื่อประโยชน์ไง อยู่เพื่อประโยชน์

อิทธิบาท ๔ ผู้ที่มีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ เพียงแต่ว่าร่างกายมันทนไหวหรือไม่ไหว ถ้าร่างกายมันเสื่อมสภาพเพราะมันมีเรื่องของกรรม ดูพระโมคคัลลานะสิ เขาจะมาตี เหาะหนี เหาะหนี ๓ รอบ สุดท้ายแล้วกรรมของเราเอง กรรมของเราเองคือกรรม กรรมไม่เข้าถึงใจพระโมคคัลลานะแล้ว เพราะพระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ อัครสาวกเบื้องซ้ายด้วย เหาะหนีก็ได้ อะไรก็ได้ แต่กรรมของเราเองมันแบบว่าเป็นสภาวะเศษส่วน สอุปาทิเสสนิพพาน

ดูสิ ดูพระองคุลิมาล พระองคุลิมาลฆ่ามา ๙๙๙ ศพ ด้วยความหลงผิด ไม่ได้เจตนาฆ่า หลงผิดว่านิ้วของมนุษย์นี้เอาไปแลกกับวิชาที่อาจารย์จะสอนน่ะ นี่เป็นด้วยความหลงผิด พอพระพุทธเจ้ามาสอน พลิกกลับมาเป็นพระอรหันต์ เวลาไปบิณฑบาตที่ไหนก็แล้วแต่ โอ๋ย! ในพระไตรปิฎกนะ เขาจะยิงนกตกปลา เขาจะทำอะไรก็แล้วแต่ มันจะมาโดนหัวพระองคุลิมาลทุกวัน ไปบิณฑบาตกลับมานะ เลือดออกทุกวัน จนไปปรับทุกข์กับพระพุทธเจ้า “ทำไมทุกข์อย่างนี้”

นี่บอกว่าทุกข์ของพระอรหันต์ทุกได้อย่างไร...ไม่ใช่ พระอรหันต์ไม่ทุกข์หรอก

“ทำไมเป็นอย่างนี้”

เพราะตัวเองเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่วุฒิภาวะไม่เท่าพระพุทธเจ้า “ทำไมมันเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “องคุลิมาล เธอเอาชีวิตเขาทั้งหมดนะ นี่มันเศษของกรรมน่ะ” เพราะองคุลีมาลเป็นพระอรหันต์นะ ดูสิ ไปบิณฑบาตที่ไหนนะ ที่คาถาคลอดลูกน่ะ ที่ว่าพอใครเจอพระองคุลิมาลจะวิ่งหนีหมด เพราะว่า โอ้โฮ! มหาโจร ฆ่ามา ๙๙๙ ศพ ใครๆ ก็กลัว พอใครเจอพระองคุลิมาลจะวิ่งหนีนะ ด้วยสามัญสำนึกมันกลัว ทีนี้พอมันมีคนท้อง หนีไม่ทัน ท้องมันไปไม่ได้ไง พระองคุลิมาลก็เลยไปปลงธรรมสังเวช ไปพูดภาษาบาลี แล้วเลยคลอดง่ายไง นี่ในพระไตรปิฎกมี ภาษาคลอดลูก คำว่า “คลอดลูกๆ” มาจากองคุลิมาล

เขายิงนกนะ เขาทำอะไรก็แล้วแต่ เขาปาอิฐอะไรไป มันจะลอยมาใส่หัวองคุลิมาล ดูกรรมสิ นี่ย้อนกลับมาพระโมคคัลลานะไง ถ้ากรรม เว้นไว้แต่กรรมใช่ไหม แต่ถ้าจะต่อกันอย่างนี้ อิทธิบาท ๔ มันก็อยู่ที่เป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ไง แต่ถ้าเป็นประโยชน์มันทำได้ ทำได้สำหรับผู้ที่ทำได้ แต่ไม่ใช่เป็นสาธารณะใครก็ทำได้ ถ้าทำได้อย่างพวกเรามีแต่ว่าไปเข้าทรง ไปให้เจ้าต่ออายุให้ ไปสะเดาะเคราะห์ให้ ทำได้ แต่อยู่อีก ๔ ปีก็ไปต่ออายุ ไปปล่อยปลาก็ทำได้ มันไม่อยู่ในสถานะที่เราจะทำของเราอย่างนั้น

ถาม : สัตว์โลกในวัฏสงสารมีขันธ์ ๕ เป็นองค์ประกอบ แล้วจิตถือว่าอยู่ในขันธ์ ๕ อันนี้หรือไม่ อย่างไรครับ

หลวงพ่อ : สัตว์โลกในวัฏสงสารมีขันธ์ ๕ แล้วพรหมมันมีขันธ์ ๑ ทำอย่างไร แล้วเทวดา เราก็ว่าขันธ์ ๕ เหมือนกัน แต่ครูบาอาจารย์บอกขันธ์ ๔ ขันธ์ ๔ เพราะไม่มีรูป แต่มีรูปเป็นทิพย์ มันรัดไว้ด้วยสังโยชน์ มันเหมือนกับคอมพิวเตอร์ ถ้าเราคีย์เข้าไป มันจะตอบปัญหาออกมาเป็นอย่างนั้นๆ เพราะข้อมูลมันพร้อมหมดใช่ไหม โดยสามัญสำนึกของจิต ความคิดนี้พอคิดปั๊บ มันจะรับรู้ไปหมดเลย ฉะนั้น เวลาเราพิจารณาไป มันถึงว่าจิตนี้มันถืออยู่โดยกิเลส มันถืออยู่เพราะมันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นสถานะ มันเป็นภพ มันเป็นสิ่งที่เราได้มาโดยธรรมชาติไง มนุษย์นี้มันมีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ โดยธรรมชาติ ถ้าเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างต้องเป็นอย่างนี้หมด แล้วพรหมมันมีขันธ์ ๑ มันจะต่างกับมนุษย์ได้อย่างไร เพราะอะไร เพราะจิตนี้เป็นหนึ่งเดียว ปฏิสนธิจิต จิตนี้ ปฏิสนธิจิตนี้เป็นหนึ่ง จิตที่เป็นหนึ่งเวลาไปเกิดในสถานะของพรหม ถ้าจิตเป็นขันธ์ ๕ ตลอด จิตไปเกิดเป็นพรหมไม่ได้ เพราะพรหมไม่มีขันธ์ ๕ พรหมเป็นหนึ่ง แล้วไปเกิดเป็นพรหมก็เกิดโดยจิตหนึ่ง เวลาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม

ทีนี้พอ “จิตถือว่าอยู่ในขันธ์ ๕ อันนี้หรือไม่”

ถ้าบอกว่าอยู่ ก็ผิดอีก ของถ้าอยู่แล้วมันแยกได้อย่างไร แต่ในขณะที่ของ เวลาเกิดเป็นมนุษย์มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นสถานะ มันเป็นเหมือนตำแหน่ง มันเหมือนกับถ้าอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนี้ เป็นเทวดา อินทร์ต้องเป็นอย่างนี้ แล้วเป็นพรหมมันต้องเป็นอย่างนี้ มันต่างกัน แล้วเวลาพรหมมาฟังเทศน์ พรหมสำเร็จได้ไหม แล้วเทวดามาฟังเทศน์สำเร็จได้ไหม

สำเร็จเพราะอะไร สำเร็จเพราะสังโยชน์มันขาดไง เทวดาก็มีขันธ์ ขันธ์นี้มันติดอยู่โดยธรรมชาติของมัน แล้วเวลามันขาด สังโยชน์มันขาด เวลาเทวดามาฟังเทศน์พระพุทธเจ้า เป็นพระโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ก็มี เป็นพระอรหันต์

ตรงนี้ จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ สังโยชน์มันรัดไว้ เหมือนกับคลื่น คลื่นถ้ามันออกไป อย่างคลื่นถ้ามันเปิดคลื่นมา คลื่นมาแล้วไม่มีข้อมูล คลื่นมันก็ซ่าเฉยๆ แต่ถ้ามีเสียง คลื่นก็ตามมาด้วย ถ้าคลื่นไม่มี คือเราเข้าสมาธิไง มันก็มีของมัน เพราะสมาธิมันชำระกิเลสไม่ได้ใช่ไหม สมาธิกดให้มันสงบลงเฉยๆ

แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ เข้าไปขาด เข้าไปชำระแล้วมันขาด ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันขาดที่ไหน มันขาดที่สังโยชน์ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สังโยชน์มันขาด ขาดนี่เป็นโสดาบัน ขาด ขันธ์ ๕ อย่างหยาบขาดไป อย่างกลางขาดไป อย่างละเอียดขาดไป แล้วขาดไปเป็นพระอนาคามี หนึ่งเดียว

ไอ้จิตที่มันอยู่นี่มันอยู่ของมัน มันเป็นธรรมชาติของมัน แล้วพอมันถ้ามันปฏิบัติธรรมจนมันเป็นความจริง มันถึงขาดได้ พอขาดได้ พอขาดไปแล้ว ถ้าเป็นพระโสดาบัน เวลาตายไป พระโสดาบันตาย กลับมาเกิดใหม่ มันก็เป็นพระโสดาบันอยู่อย่างนั้น ทีนี้เวลาปฏิบัติมันถึงปฏิบัติง่าย มันถึงรู้ได้ง่าย อันนี้เรื่องขันธ์ ๕

มันจะไปไวนิดหนึ่งเพราะมันมีปัญหาหนักๆ เดี๋ยวจะคุยกันอยู่นาน

ถาม : การกำหนดเวทนา เวลานั่งสมาธิให้กำหนดอย่างไร แล้วทำไมต้องกำหนดเวทนาด้วย

หลวงพ่อ : การกำหนดเวทนา เพราะตอนเช้าพูดถึงเว็บไซต์ ว่าคำถามเข้ามาบางทีมันเป็นขยะ เพราะคนถามถามผิด แล้วคนถาม ตัวเองสงสัยแล้วยังตั้งปัญหาไม่เป็นเลย ถ้าเราคิดถึงปัญหานี้นะ “การกำหนดเวทนา เวลานั่งสมาธิให้กำหนดอย่างไร” แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ไม่ใช่

ความจริงเรานั่งสมาธิแล้วมันเกิดเวทนา แล้วจะสู้เวทนาอย่างไร ถ้าถามอย่างนี้ถูก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะถ้านั่งไปแล้วเวทนามันมา เราสู้กับเวทนา แล้วว่า “การกำหนดเวทนา” คือว่ามันยังไม่ถึงเวลา ไปดึงเวทนามาทำไม

เวทนา ถ้าเป็นสุขเวทนามันก็ดี ถ้าทุกขเวทนาคือสิ่งที่เราไม่ชอบ แล้วไปเอาอารมณ์ที่ไม่ชอบมาทับถมเราทำไม แต่ถ้าเราเวลาปฏิบัติไปแล้วถ้ามันเกิดสภาวะแบบนั้น มันเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง ถ้าการกำหนดเวทนา ถ้าเราจะชนะเวทนา มันมีการชนะ การต่อสู้กันมันมี ๒ อย่าง ๒ วิธีการ วิธีการ ๑ คือแบบว่าเราเป็นคนฝึกใหม่ เป็นคนฝึกใหม่ ปัญญาเรายังไม่มีความเข้มแข็ง ถ้าเราเข้าไปต่อสู้มันเลย เหมือนเรา เราไม่มีอาวุธเลย แล้วเราไปเจอเสือ เราเข้าไปสู้กับเสือนะ เสือตะปบไปกินตายหมด แต่ถ้าเรามีปืน มีอาวุธเข้าไป เราจะต่อสู้กับเสือได้

นี่ก็เหมือนกัน การถ้าจิตมันยังไม่เข้มแข็ง เขาให้กำหนดพุทโธๆๆ หรือกำหนดลม ถ้าใครกำหนดอะไรก็แล้วแต่ ให้กำหนดตัวนั้นชัดๆ ถ้ากำหนดตัวนั้นชัดๆ นะ โดยข้อเท็จจริง จิตนี้มันรู้สิ่งใดรู้ได้อย่างเดียว แต่ขณะที่เรากำหนดพุทโธๆ มันทำไมไพล่ไปที่เวทนา ทำไมไม่อยู่กับพุทโธล่ะ เพราะมันจะไพล่ไป จิตนี้มันจะแถออกไปเอาเวทนาเพราะอะไร เพราะว่าการนั่งการต่างๆ มันเป็นการต่อสู้กับกิเลส ทีนี้พอต่อสู้กับกิเลส กิเลสมันถึงแสดงออกมาให้เกิดเป็นเวทนา แล้วมันเป็นอุปาทาน มันเป็นสามัญสำนึกของจิตที่มันไปรับรู้

ถ้าการนั่งมันเป็นเวทนาหมด ไอ้คนเล่นเกม เด็กเล่นเกม เด็กเล่นไพ่ มันนั่ง ๗ วัน ๗ คืน มันไม่มีเวทนาเลย ถ้าการนั่งแล้วเกิดเวทนา ทำไมเด็กเล่นเกมมันนั่งได้ทั้งวันๆ ถามมันเจ็บปวดไหม มันบอกไม่ สนุกดี อยากนั่งต่อไป แต่เราไปนั่งสมาธิไม่เท่าไรเราปวดตายเพราะอะไร เพราะการเล่นเกมการเล่นต่างๆ มันส่งออก จิตมันไปรับรู้สิ่งนั้น มันเพลิดเพลินกับสิ่งนั้น มันลืมเวทนาไป แต่เรานี่ควบคุมจิต เราต้องการสมาธิ เราต้องการฐาน เราต้องการกำลังของจิต เรารวบรวมมัน พอรวบรวมมัน มันก็รับรู้ แล้วรับรู้ พอรับรู้ สติ พุทโธๆ เริ่มควบคุมมัน เริ่มบังคับมัน ทางที่มันจะออกได้ง่ายที่สุดคือออกไปที่เวทนา คือมันจะดิ้นออกไปจากการควบคุมของสติ ของคำบริกรรมนั่นแหละ พอมันจะดิ้นออกไป มันจะดิ้นไปทางไหนล่ะ มันก็บอกเอาเวทนามาหลอกพวกเอ็งไง เวทนาแล้ว เจ็บแล้ว ปวดแล้ว จะได้ลุก กูจะได้ปลอดภัยไง แต่ถ้าเอ็งกำหนดไปเรื่อยๆ นะ เดี๋ยวสมาธิมันกดลงไป

การต่อสู้อย่างนี้ถ้าเข้าใจ ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ เห็นเลยนะ กำหนดพุทโธๆๆ ถ้าสติมันไม่พร้อมบางที เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เราไม่สามารถชนะเวทนาได้ แต่เวทนา ความรู้สึกเรามันจะชา เหมือนเราโดนวางยาชา ถ้าเวทนาสักแต่ว่าเวทนา มันจะชาหมด ไม่รับรู้ไง เหมือนกลาง เหมือนอุเบกขา มันไม่หาย แต่มันก็ไม่เจ็บ มันไม่หายหรอก ไม่ใช่มันจะหายไปเลย ไม่ใช่ แต่มันก็ไม่เจ็บไม่ปวด ชาอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วพุทโธๆๆ ต่อไปนะ มันเริ่มชามันจะหายไป มันจะลง แต่ถ้ามันกำหนดไม่ได้นะ มันจะออกไปเจ็บ เพราะเวทนามันสักแต่ว่าเวทนา แต่ถ้าพุทโธๆๆ ไม่ออกไปรับรู้ มันอยู่กับพุทโธได้ แล้วถ้าพุทโธๆ ถึงที่สุดถ้ามันลงนะ เวทนาหายไปเอง ลง อู้ฮู! ลงแล้วเวทนาไม่มีเลย เพราะมันปล่อยเวทนา

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นเปลือกผลไม้ เปลือกส้ม ตัวจิตเป็นเนื้อส้ม ถ้าเราไปถึงเปลือกส้ม จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องผ่านรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะมันเป็นเงาอยู่ มันเป็นเปลือกคลุมใจอยู่ ถ้าเราพิจารณาไปเรื่อยๆ พุทโธๆ มันจะเข้าถึงตรงนี้ปั๊บ ถ้าเข้าถึงเนื้อส้มได้นะ มันผ่านเปลือกเข้าไป คือผ่านขันธ์ ๕ เข้าไป คือเข้าไปสงบในสมาธิ ทีนี้พอมันเข้าไปสงบในสมาธิแล้ว ถ้ามันผ่อนมันคลายออกมามันก็รับรู้อีกใช่ไหม นี้การต่อสู้เวทนาด้วยการทำสมถะคือทำสมาธิ หรือถ้าสู้แต่พุทโธเฉยๆ เขาเรียกขันติธรรม ขันติ เหมือนอาหารเลย อาหารที่มานี่เราอยากกินมาก ถ้าเราจะต่อสู้มัน กูไม่กิน ผลักออกไปเลย กูชนะ ชนะคือกินผลงานที่เราชนะตัวเองได้ แต่ไม่ได้กินอาหาร พุทโธๆ นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันลงนะ มันลงนะ มันผ่านเวทนาเข้ามา เวทนาคืออาหาร จิตนี้มันออกไปรับรู้เวทนา อารมณ์ความรู้สึกเป็นอาหารของใจ ใจกินวิญญาณาหาร กินความคิด ความคิดเป็นอาหารของใจนะ ไม่ใช่ตัวใจ

ฉะนั้น ถ้ามันเป็นเวทนา มันเป็นความคิด เวทนา เห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตมันไปเสวยที่นั่นมันก็ปวด พุทโธๆๆ ถ้ามันปล่อยเข้ามา ปล่อยตัวเข้ามาคือเราปฏิเสธอาหารนั้น ผลักอาหารนั้นไป แต่เราปฏิเสธอาหารใช่ไหม เราไม่รู้ว่าอาหารรสอะไร แต่ถ้าการสู้กับเวทนาด้วยปัญญา ถ้าสู้กับเวทนา อาหารมันอาหารอะไร แยกมัน อาหารมันเป็นอะไร มันบูดมันเน่าไหม นี่ก็เหมือนกัน เวทนาหรือ ไปจับที่เวทนาเลย ถ้ามันมีฐานมัน

เวทนาคืออะไร เวทนาจริงๆ มันเป็นนามธรรม ถ้ามันนั่ง เวทนามาก เราก็ขยับแค่นี้มันก็หายแล้ว ขยับ โอ้! หายแล้ว ไม่เห็นมี เราก็นั่งที่เก่า ทำไมมันหายล่ะ เวทนาเพราะมันจิตโง่ จิตนี้มันโง่ มันไปยึดว่าเป็นเวทนาไง แต่ถ้ามันใช้ปัญญาใคร่ครวญมันแล้วนะ มันไม่มี สิ่งที่เป็นเวทนามันไม่มี ร่างกายไม่เป็นเวทนา เป็นเพราะจิตนี้มันไปรับรู้ เพราะจิตมันโง่

การนั่งอยู่อย่างนั้นน่ะ ดูสิ ดูหลวงตาท่านบอกนั่งตลอดรุ่ง ๓-๔ ชั่วโมง จิตมันลง มันลง เห็นไหม แล้วถ้าออกมา ถ้า ๓-๔ ชั่วโมง หลานเวทนามันมา ถ้า ๖ ชั่วโมง พ่อเวทนามันมา ถ้า ๘ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง ปู่เวทนามันมา คือความเจ็บปวดนี้มันลึกซึ้งกว่ากัน แล้วถึงที่สุดแล้วนะ ท่านบอกเลยนะ เหมือนกระดูกนี้แทบแตก เหมือนกับนั่งอยู่บนกองไฟเลย ถ้าสู้มันผ่าน มันผ่านไปนะ จะผ่านอย่างนี้ผ่านด้วยความทนไม่ได้ มันต้องผ่านด้วยปัญญา ปัญญาเพราะอะไร เพราะจิตนี้มันทำสมาธิได้แล้ว มันมีกำลังของมันแล้ว พอมันมีสมาธิ มีกำลังของมัน มันก็ออกมาพิจารณา อะไรเป็นเวทนา เอ็น กระดูก เนื้อ หนัง เลือด อะไรเป็นเวทนา ไล่มันเข้าไป ไล่มันเข้าไปด้วยปัญญา ถ้าปัญญาไล่เข้าไปแล้ว ไอ้พวกนั้นมันเป็นเวทนาไม่ได้ แล้วทำไมมันเจ็บล่ะ อะไรมันเจ็บ เอ็งว่าเอ็นเป็นเอ็งเจ็บได้ไหม กระดูกเจ็บได้ไหม เออ! เอ็งถามมันสิ ขนเจ็บได้ไหม อะไรเจ็บ

นี่พูดถึงนะ ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บมันก็เป็นสัญญา แต่ขณะที่ต่อสู้มันเป็นปัจจุบัน ถ้ามันปล่อย มันปล่อยปัจจุบัน มันรู้ว่าเป็นปัจจุบันมันจะปล่อยปัจจุบัน นี้คือการต่อสู้เวทนา นี่ผ่านเวทนาด้วยวิธีนี้ นี่วิปัสสนา พอมันผ่าน มันชนะปั๊บนะ มันปล่อยเองนะ ปล่อยที่ใจเลยล่ะ มึงโง่ๆๆ ไม่มีอะไรเลย มีแต่มึงโง่อย่างเดียวเท่านั้นน่ะ มึงนี่โง่ การต่อสู้กับเวทนา

โยม : หลวงพ่อคะ อย่างนี้ก็คือแสดงว่าเรา...

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ ว่าไป

โยม : ...

หลวงพ่อ : ถ้าไปเจ็บที่ใจ หมายถึงว่า โดนกิเลสหลอกอีก ถ้าพูดอย่างนี้นะ มีปัญหาใหม่เกิดแล้ว ฟังนะ เวทนากาย เวทนาจิต เวทนากาย เราต้องโดนสิ่งใดกระทบมันถึงเจ็บปวด เวทนาจิต นั่งอยู่เฉยๆ เลย ไม่มีอะไรเลย ทำไมเสียใจล่ะ เวทนาจิตน่ะ เวทนาคือว่าไม่พอใจสิ่งใด ขัดเคืองสิ่งใด เวทนามี ๒ เวทนากาย เวทนาใจ เสียใจ ทุกข์ใจไง ความเสียใจ ความน้อยใจความต่ำใจ นี่เวทนาใจนะ เวทนามันเกิดจากอันนั้นไง ทีนี้พอบอกว่า ถ้าเวทนามันอยู่ที่ใจ ใจมันเป็นเวทนา ถ้าใจเป็นเวทนา แล้วถ้าใจเป็นเวทนา แล้วถ้าเกิดมันสุขล่ะ มันพอใจล่ะ แล้วนั่นคืออะไร

โยม : แล้วถ้าเราทนไปเรื่อยๆ แล้วเวทนามันหาย...

หลวงพ่อ : ใช่

โยม : ...

หลวงพ่อ : ไม่ เวทนามันหายมันของชั่วคราวไง ถ้าเราทนไปเรื่อยๆ ทนเฉยๆ นี่ขันติธรรม ทน ทนไป พอทนไปถ้ามันสู้ได้นะ มันทนได้ มันทนได้ มันลงได้ มันปล่อยได้ มันหายไป แต่เดี๋ยวก็มาอีก

เพราะการว่าจะผ่านเวทนา การผ่านเวทนาคือผ่านด้วยความเข้าใจ ผ่านด้วยปัญญา พอผ่านด้วยปัญญา เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา ถ้าทำบ่อยครั้งเข้ามันจะเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาคือการใช้ปัญญา การใช้ปัญญามันผ่านกาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ ไง กาย เวทนา จิต ธรรม

ผ่านเวทนา อย่างเช่นเรา เราถึงพูดทีแรกว่า ทำไมต้องผ่านเวทนา เพราะว่าบางทีเราต้องผ่านเวทนา บางคนเข้าใจผิดนะว่าการปฏิบัติต้องผ่านกาย ผ่านเวทนา ก็ต้องต่อสู้อย่างนั้นตลอดไป ถ้ามันไม่ตรงจริตนิสัยมันปล่อยกิเลสไม่ได้ ฉะนั้น ถ้ามันจะปล่อยกิเลส ถ้ามันปล่อยจากเวทนามันก็ปล่อยเข้ามา ทีนี้ถ้าจะปล่อยจากกิเลส มันพิจารณาโดยปัญญา มันพิจารณาอะไรก็ได้ ทีนี้เพียงแต่เวทนา ถ้าเวทนา บางคนนะ อย่างพวกเรา บางคนนั่งสมาธิไม่ได้ดี เดินจงกรมดีกว่านะ บางคน เราไปคุยกับพระบางองค์ อาจารย์จันทร์เรียนท่านบอกว่าท่านชอบนั่งมาก ท่านนั่งทีหนึ่ง ๗-๘ ชั่วโมง แล้วท่านบอกว่าหลวงปู่ชอบนั่งภาวนาไม่เกินชั่วโมงหนึ่ง แต่ท่านเดินได้เป็นวันๆ หลวงปู่ชอบชอบท่านอน คือคนเรา กิริยาทุกคนไม่เหมือนกัน บางคนจะชอบเดิน ดูอาจารย์สิงห์ทองสิ หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่าอาจารย์สิงห์ทองเดินจนเป็นเหวเลย เดินจงกรม

ทุกคนจะผ่านมานี่นะ มันต้องมีเหตุมีผลของมันนะ ยิ่งเรียนรู้มาก ยิ่งรู้มาก กิเลสมันยิ่งมีช่องออกมาก กิเลสเอาธรรมะนั้นน่ะมาเหยียบหน้าเรา ทำอย่างนี้ๆ แล้วจะประสบความสำเร็จ ทำไปเถอะ ทำอย่างนี้ๆๆ แล้วจะประสบความสำเร็จ มึงทำไปเถอะ

โยม : แล้วถ้าเดินมันก็ไม่เกิดความรู้สึกเหมือนเจ็บปวดเวลานั่ง

หลวงพ่อ : ไม่เจ็บปวด การเดินจงกรม เดินจงกรม เราเดินจงกรมไปเรื่อยๆ เราต้องการความสงบใช่ไหม เคลื่อนไหวอยู่ แต่สงบ นั่งอยู่เพื่อสงบก็ยากอยู่แล้ว เคลื่อนไหวอยู่แล้วสงบ การเดินมันเคลื่อนไหวอยู่ แล้วมันสงบได้อย่างไร แต่สงบได้ ขนาดเรานี่รวมกลางทางเดินจงกรมเลย พอเดินๆ ไป ลมหายใจเริ่มหาย กำหนดลมหายใจ ลมหายใจเริ่มหาย ยืน พอยืนอยู่ สมมุติว่าพอลมหายใจมันเริ่มขาด ยืนไม่ได้ ต้องนั่งลง พอนั่งลงปั๊บ เข้ามาถึงอัปปนา หมดเลย ดับหมดเลย แต่รู้อยู่ ถึงว่าสมาธินี่นะ ไม่มีส่วนเฉไฉออกไปแป๊บๆ ไม่มีเลย ถ้าเข้าสมาธิจะเข้าไปเรื่อยๆ ทีนี้ประสาเรา คนที่เข้าสมาธิ บางทีพอเข้าไปแล้วมันตกใจ ที่บอกมันถอน ทีนี้มันก็ต้องมีประสบการณ์ของมัน ค่อยๆ ทำไป

อันนี้ผ่านเวทนา การนั่งสมาธิ เวทนา ถ้าจะบอกว่า ถ้าเวทนาอยู่ที่ใจ แล้วเราบอกว่าใจเป็นเวทนา แล้วอยู่เฉยๆ ไม่มีเวทนา ทำอย่างไร

เราจะบอกว่า มันเกิดดับไง คือว่าถ้าเราอยู่สุขสบาย เวทนามันก็ไม่มีหรอก เราพลิกไปพลิกมาโดยสัญชาตญาณ แต่พอไปนั่งปั๊บ เราจะบอกว่า กิเลสนี้มันเอาเวทนามาเป็นทางออกที่จะมาทำลายความเพียรของเรา คือใจมันหยิบมาใช้เป็นครั้งคราว ว่าอย่างนั้นเลย ใจมันหยิบเวทนามาหลอกเอ็งเป็นครั้งเป็นคราว ถ้าเวทนามันเป็นเรานะ มันไม่เป็นครั้งเป็นคราวนะ เราลุกไปไหนมันต้องปวดตามไปตลอดเวลาสิ มันเป็นนามธรรม

โยม : แล้วอย่างนี้ถ้าเราเดิน มันไม่ปวด มันก็ไม่เกิดใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : เราก็ดูอย่างอื่นแทนไง มันไม่เกิดเวทนา เราก็กำหนดอะไรล่ะ ก็เอาตรงนั้นเป็นตัวตั้ง มันไม่เกิดก็ไม่จำเป็นต้องมีไง เราใช้เงินบาทใช่ไหม เงินทอง แล้วเอ็งไปห่วงอะไรกับเงินดอลลาร์ เรื่องของเงินดอลลาร์ใช่ไหม มันก็อยู่ในตลาดค้าเงินของเขา เราใช้เงินบาท เรามีเงินบาทก็เงินบาทของเราไง นี่ก็เหมือนกัน เดินแล้วมันไม่เกิดเวทนาไง ไม่เกิดเวทนา เวทนามันก็เป็นเงินอีกประเภทหนึ่งไง แล้วทำไมต้องไปวิตกกังวลล่ะ อ้าว! เอาไปสิ สิ่งที่มันยังไม่เกิดไง ไปแบกโลกไง ไอ้เงินดอลลาร์ เงินยูโร มันก็เป็นค่าเงิน มันก็เรื่องของมึงน่ะสิ อ้าว! กูใช้เงินบาทกู เกี่ยวอะไรกับไอ้ยูโรมันล่ะ แล้วเอ็งวิตกกังวลกับเรื่องยูโรทำไม

นี่คือคำถามไง คำถามเพราะไม่รู้เรื่อง ค่อยๆ ว่ากันไป

ถาม : ทำอย่างไรจะมัดพุทโธให้อยู่กับจิตเราได้

หลวงพ่อ : ด้วยคำบริกรรมนะ ธรรมดา น้ำถ้ามันอยู่ในแก้ว น้ำเต็มแก้ว เราจะไม่รู้เลยว่าในนี้มีน้ำหรือไม่มีน้ำ แต่ถ้าเราใส่สีลงไปในน้ำนั้นก็จะเห็นสีของน้ำ พุทโธ โดยเนื้อหาสาระ คำว่า “พุทโธ” นี่เป็นชื่อ เป็นคำ แต่ถ้าความรู้สึก นามธรรม พุทโธคือความรู้สึกของเรา ฉะนั้น พุทโธมันมีอยู่ทุกๆ คน คนที่มีชีวิตมีพุทโธคือมีพระพุทธเจ้าประจำองค์ ทุกคนเข้าถึงนิพพานได้ ทุกคนทำคุณงามความดีได้เพราะทุกคนมีความรู้สึก โดยความรู้สึกความนึกคิดอันนั้นน่ะคือตัวพุทโธ

ไอ้ความคิดเรา ไอ้ความรู้สึก พลังงานตัวนั้นคือตัวพุทโธ แล้วถ้ากำหนดพุทโธ พุทโธจะอยู่กับเราได้อย่างไร ตัวมันเองมันเป็นอยู่แล้ว คือตัวจิตนี้มันเป็นพุทโธอยู่แล้ว แต่เพราะเรามันโดนกิเลสครอบงำแล้วเราหลงไปกับโลก เราอยู่ไปกับเขา เราเลยไม่รู้จักว่าพุทโธอยู่ที่ไหน เหมือนกับคนเอาผ้าขาวม้าโพกหัวไว้ แล้ววิ่งหาผ้าขาวม้า “ผ้าขาวม้ากูอยู่ที่ไหน ผ้าขาวม้ากูอยู่ที่ไหน” มันโพกอยู่บนหัว แต่มันไม่เห็น มันรื้อค้นทั้งบ้านเลย หาผ้าขาวม้าผืนนั้นไม่เจอ

พุทโธมันอยู่ที่ความรู้สึก อยู่กับเรานี่ แต่เพราะเรามันโดนกิเลสครอบงำ โดนมารครอบงำ พระพุทธเจ้าถึงได้สอนกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ให้ใช้คำบริกรรมเข้าไปหามัน แล้วถ้าเข้าไปหามัน เพราะผ้าขาวม้ามันโพกอยู่บนหัวใช่ไหม มันก็รู้อยู่ว่าโพกอยู่บนหัว ความรู้สึกมันก็มี พอโพกไว้นานมันก็ร้อน มันก็อุ่นใช่ไหม ที่อื่นมันไม่มีผ้า มันก็โดนลมไง นี่มันโพกไว้

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันพุทโธ มันมีอยู่แล้ว แต่มันแสดงตัวมันออกมาไม่ได้ มันไม่เข้าใจ เพราะมันโดนมารครอบงำไว้ เราถึงกำหนดพุทโธๆ เข้าไป แล้วจะมัดได้อย่างไร มัดได้ด้วยสติ ด้วยสามัญสำนึกของผู้ที่ปฏิบัติแต่ละคน ผู้ที่ปฏิบัติแต่ละคนมันตั้งใจดี ตั้งใจอย่างไร ความตั้งใจของเรา ตั้งสติไว้แล้วนึกพุทโธๆ คำบริกรรมไป แต่มันเป็นจริต จริตบางคนที่ว่ามันกำหนดพุทโธไม่ได้ บางคนกำหนดพุทโธแล้วมันเครียดนะ พุทโธๆ มันเครียด แล้วมันแบบว่ามันไม่ยอมรับ มันถึงใช้ปัญญาอบรมสมาธิไง

ทำไมถึงมีกรรมฐาน ๔๐ ห้องล่ะ ถ้าพุทโธ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ มรณานุสสติ แล้วบางทีพระบางองค์สอน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ให้ท่องเอา ท่องเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เพื่ออะไร เพื่อให้จิตนี้มันเกาะ จิตนี้มันเหมือนเราสาดน้ำไปในอากาศ มันระเหยไปหมด ความรู้สึกความนึกคิดมันจะมีความรู้สึกตลอด มันจะออกไปตลอด พุทโธๆ เหมือนเด็กเล่นเทนนิส เด็กหัดเล่นเทนนิสใหม่ๆ มันจะตีลูกเทนนิสนี้เข้ากำแพง มันจะเด้งกลับมาหาเรา พุทโธเหมือนกำแพงนั้น กั้นความรู้สึก พอมันนึกพุทโธมันก็ย้อนกลับไปหาจิตใช่ไหม แต่ถ้ามันคิดเรื่องอื่น มันคิดเรื่องอารมณ์ความรู้สึก มันคิดไปทั่ว คิดไปร้อยแปดพันเก้าเลย มันจะคิดของมันตลอดเลย ถ้าเราพุทโธๆๆ อารมณ์ตัด พุทโธๆๆ มันจะเข้ามาที่ตัวใจ ถ้าเข้ามาที่ตัวใจ

คำว่า “เราจะมัดพุทโธได้อย่างไร” ไอ้คำนี้เราไม่ตอบ เพราะอะไร ถ้าว่าคำว่า “มัดพุทโธ” เราจะบอกเลยนะ เอาเชือกมัดอันนั้น โยมก็จะวิ่งไปหาเชือก อู๋ย! เอาอันนี้มัด

ความจริงมันมีอยู่กับเราแล้ว แล้วใครที่จะพุทโธอยู่กับเราคือสติปัญญาของเราที่เราจะรื้อค้นเราขึ้นมาเองไง ถ้าบอกพุทโธ พุทโธมันอยู่ข้างนอก แล้วเอาเชือกไปมัดมัน ก็เหมือนปลาน่ะ ต้องเอาเบ็ดไปตกมันมา

เราพูดถึงนะ หลวงตาท่านพูดนะ ท่านพูดถึงประสบการณ์ท่าน ท่านพูดแล้วเราฝังใจมาก ท่านบอกว่าท่านภาวนาใหม่ๆ แล้วท่านก็กำหนด กำหนดแล้วจิตมันเสื่อม ไปหาหลวงปู่มั่น ไปหาหลวงปู่มั่นบอกว่าจิตเสื่อมหมดเลย

“อู้ฮู! จิตนี้มันเหมือนเด็กเนาะ เด็กน้อยมันไปเที่ยว เด็กนี้มันต้องกินอาหารน่ะ พวกเด็กเดี๋ยวมันหิว มันต้องหาอาหาร เรารักษาอาหารมันไว้ เรานึกพุทโธๆ ไว้นะ เดี๋ยวถ้ามันหิวมันจะวิ่งกลับมาหาเราเอง” เห็นไหม นี่เป็นอุบายไง ให้นึกพุทโธๆ ไว้ เวลามันสงบ มันสงบที่เราเอง ถ้าจิตมันเจริญแล้วมันเสื่อม เสื่อมไป หายหมดเลย แต่เราไปอยากได้สมาธิ อยากได้อะไร

เพราะมันพูดให้เราฟังนะ ยิ่งพูดขนาดไหนมันก็ยิ่งจินตนาการของมันไป เพราะเราไม่รู้เรื่อง นี่บอกจะมัดไว้อย่างไร ถ้าเราบอกวิธีมัดนะ ก็ไปติดอีกแล้ว ไปติดคำวิธีการนั้น ก็ติดไปอีก บอกอย่างนั้น วิธีอย่างนั้น มันก็จะไปยึดตรงนั้นอีก เพราะมันอยากได้ไง บอกกูมาสิ กูจะทำให้ได้เลย

มึงก็ติดวิธีที่กูบอกนั่นแหละ มึงก็พุทโธไม่ได้อีกแหละ แต่เราทำของเราไปธรรมชาติ ตั้งสติไว้ คือมันมีอยู่แล้ว ถ้ามันไม่มีนะ เราจะหามันมาจากไหน ถ้าโยมไม่มีจิต โยมจะทำสมาธิกันได้อย่างไร สมาธิมันเกิดที่ไหน สมาธิมันเกิดบนกระดาษ เกิดบนวัตถุสิ่งใด สมาธิจะเกิดบนสิ่งใดไม่ได้เลย แม้ในตำราเขียนว่าสมาธิ นั่นก็เป็นชื่อของมัน คนเรียนปริยัติมาบอก “สมาธิเป็นอย่างนั้น นี่ฌาน วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ วิธีทำสมาธิ ทำให้จิตเป็นสมาธิ”...มันก็ไม่ใช่สมาธิ มันเป็นต่อเมื่อใจเราเป็น สมาธิจริงๆ อยู่ที่หัวใจ มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่เราเปิดออกมาใช้ไม่เป็น พระพุทธเจ้ามาสอนตรงนี้ สอนสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว แล้วเราทำขึ้นมาอย่างไร ถ้าเราเข้าใจสิ่งนี้แล้วเราก็ทำของเราไป

วิธีมัดมันก็สตินี่แหละ ถ้าจะบอกวิธีมัด ก็สติ ตั้งสติไว้ ถ้าพุทโธๆ มันหายไป ช่างมัน ขึ้นใหม่ หายไป ช่างมัน ขึ้นใหม่ ทำจนเต็มที่แล้วถ้ามันไม่ได้ เปลี่ยน ลองใช้ความคิด ใช้ความคิดแล้วให้มันมาคิด แล้วใช้สติตามความคิดไป แล้วดูซิว่ามันจะทำได้อย่างไร ถ้ามันพุทโธไม่อยู่ คิดถึงความตาย ตายๆๆ คิดมัน เปลี่ยนก็ได้ถ้ามันพุทโธไม่อยู่ เปลี่ยนเป็นความตายก็ได้

พอบอกความตาย ทุกคนนะ ไม่คิดแล้ว เดินออกไปนี่ต้องตาย สลดเลยนะ ถ้าบอกไม่ตาย โอ๋ย! กูจะไปเที่ยว กูจะไปเอาให้หมดโลกเลยนะ พอบอกออกไปกูจะตายเดี๋ยวนี้นะ เออ! มันชักเบาหน่อยหนึ่ง เห็นไหม

เปลี่ยนได้ เปลี่ยนได้ อะไรก็ได้เพื่อความสงบของใจ เพื่อความดีของใจ เพราะพระพุทธเจ้าเปิดกว้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วถ้าเราสอน เราก็สอนพุทโธ เพราะพุทโธ ถ้าเรานึกพุทโธนะ มันเหมือนกับเราระลึก ดูสิ เราคิดถึงพ่อแม่เรา เราจะชุ่มชื่นใจ ถ้าเรานึกถึงพุทโธ เรานึกถึงองค์ศาสดาของเรา พุทโธคุ้มผีได้ พุทโธเข้าป่าไป คนจะชื่นชมกับเรา คนคือใคร คนคือเทวดา อินทร์ พรหม เขาจะชื่นชมกับเรานะ

ดูสิ ในป่าในเขานี้มันเป็นสิ่งที่อยู่ของสัตว์ป่า สิงห์สาราสัตว์ ไม่มีใครสนใจสิ่งใดๆ เลย แล้วเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราไม่อยู่กับเขา เราไม่อยู่กับเมือง เราแยกตัวเราออกมาเข้าป่าเข้าเขา เทวดาเห็นน่ะ นี่มาแล้ว ผู้ที่แสวงหาความจริงมาแล้ว เขาดีใจ เขาภูมิใจ เขาจะดูแลเรานะ เว้นไว้แต่มิจฉาทิฏฐิ

หลวงปู่มั่นไปเดินจงกรมอยู่ในป่า ในถ้ำน่ะ เดินเสียงดัง

“อู้ฮู! พระอะไรเดินอย่างกับควบม้า”

รู้วาระจิตไง โอ๋ย! ไอ้นี่มันคิดไม่ดีนะ กลัวเป็นบาป ก็เดินเรียบๆ ร้อยๆ

“ฮื้อ! พระอะไรเดินแบบคนป่วย”

แหม! ขึ้นก็ผิด ล่องก็ผิด ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐินะ

ในเทวดา อินทร์ พรหมก็มีสัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ในพรหมทุกอย่าง ในสังคมทุกสังคมมีคนดีและคนชั่วปนกัน คนดีเห็นปรารถนาแต่คนดี คนชั่วเห็นคนทำคุณงามความดี มันไปสะเทือนกิเลสมัน มันไม่ยอม

ทีนี้เราธุดงค์ไป มันอยู่ที่กรรมของคน ไปเจอสิ่งที่ดี เขาดูแลเรา เขาปกป้องเรา เขาชื่นใจกับเรา ไปเจอสิ่งที่ไม่ดี เขาจะกลั่นแกล้งเรา เขาจะทำให้เราแบบว่าไม่ได้ภาวนา มันมีทั้งนั้นน่ะ แต่เราถือศีลของเรา ถือความจริงของเรา มันจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไป เรามาทำคุณงามความดีของเรา เราทำได้ สิ่งนี้เราทำได้นะ

แล้วคิดดูสิ เทวดา อินทร์ พรหมเขามีประโยชน์อะไร เขาไม่มีประโยชน์อะไร เขาเพลินนะ เขาไปเกิดเป็นเทวดา ประสาเรานะ เราเห็นแล้วมันเสียเวลาเปล่า คือไปเสวยสุขเฉยๆ ไง เสวยสุขเฉยๆ นะ คำว่า “เสวยสุข” คือมันเป็นทิพย์หมด แต่ทุกข์ ทุกข์เพราะมันมีความคิด มันมีความรู้สึก เสวยสุขเฉยๆ คือว่ามันไม่ต้องอยู่กินแบบเรานี่ไง นี่กลับไปต้องอาบน้ำอาบท่านะ ต้องมีที่นอน ต้องเอาที่นอนไปซักนะ เพราะนั่งนอนไปที่นอนมันเหม็น แต่ถ้าเป็นทิพย์มันไม่มี ไม่ต้องซัก ไม่ต้องใช้ ไม่ต้องอะไรเลย อยู่ของมันธรรมชาติของมันนั่นน่ะ เวลาแสงมันหมดมันก็ตาย ก็เท่านั้น แล้วกลับมาโลกอีกทีหนึ่ง โลกปั่นป่วนเป็นไฟไปแล้ว

แต่ในปัจจุบันนี้เรามีร่างกายบีบคั้นไง ถ้าไม่ทำมาหากิน ไม่มีข้าวกิน เทวดาไม่ต้องทำมาหากิน มันเป็นธรรมชาติของมัน วิญญาณาหาร วิญญาณความรู้สึกอิ่มตลอด กิน นึกอะไรตลอด ไอ้ของเราต้องทำมาหากินไง เราจะบอกว่า ความบีบคั้นการดำรงชีวิตเรามันเตือนให้เรามีสติ มันเตือนให้เราศึกษาธรรมะ มันเตือนเราไง มันเตือนเราให้เราค้นคว้าความจริงจากตัวเรา แต่พวกเทวดา อินทร์ พรหมเขาไม่มีอะไรเตือน สิ่งที่เตือนเรามันมีอยู่แล้ว ถ้าเตือนเรา เราต้องเข้าใจในตรงนี้ไงว่าเรามีคุณประโยชน์ตรงนี้ไง ไอ้สิ่งที่เราว่าเป็นทุกข์ เป็นหน้าที่การงาน มันก็ประโยชน์ตรงนี้กับเราขึ้นมาเหมือนกัน

นั่นมันเป็นจริตเป็นนิสัยนะ คำว่า “เป็นจริต” มันก็เหมือนเรา โทษนะ ใครชอบกินอาหารอะไร ถ้าได้อาหารสิ่งที่ตัวชอบ อืม! อร่อย ถ้าใครชอบกินอาหารอะไร ถ้าได้สิ่งที่ตรงข้ามที่ตัวไม่ชอบ ไม่อร่อย จิตถ้าภาวนาพุทโธ ถ้ามันตรงจริตมัน มันทำได้ง่าย ถ้าทำอะไรมันจะทำได้ง่าย เราส่วนใหญ่เลย เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตินี่แหละ ถ้าเจโตวิมุติส่วนใหญ่ต้องทำความสงบหมด อะไรก็ได้ ตายก็ได้ เทวดานุสสติ ทุกอย่าง อะไรก็ได้ นึกอะไรก็ได้ นึก คำว่า “นึก” คือจิตไปเกาะไว้ แต่ถ้าเราไม่ได้นึก มันคิดไปเอง มันไปหมดเลย คือความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิด ทุกอย่างเป็นเรา เราบวกความคิดไป ทุกอย่างเป็นเรา เราคิดอะไรต้องถูกหมด

แต่ถ้าเรานึกพุทโธๆๆ มันไม่อยากหรอก มันพุทโธๆๆ มันไปเกาะไว้ที่พุทโธ ไม่ใช่เรา พุทโธๆๆ แล้วถ้ามันพุทโธไปเรื่อยๆ มันจะหดเข้ามาๆ เพราะอะไร เพราะมันไปไม่ได้ สติพุทโธมันจะไล่ต้อนเข้ามาให้ถึงตัวใจ พอถึงตัวใจ เห็นไหม ใจว่าง ไม่ใช่รู้ว่าว่าง พุทโธๆ ไป บางคนพุทโธๆ โอ๋ย! สบาย เออ! ท่านบอกว่าว่าง เออ! กูก็ว่าง

พุทโธๆ เพราะอะไร เพราะความคิดมันคิด มันคิดนี่มันแบกหาม ความคิดมันแบกหาม แบกอารมณ์ คิดดีคิดชั่วมันแบกอารมณ์ มันแบกความรู้สึก ถ้าเราคิดพุทโธๆ มันคิดเป็นสิ่งที่มันไม่แบกหาม มันก็ว่าง นี่ไง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ พอคิดว่าว่างก็ “โอ๋ย! กูเป็นสมาธิ” เดี๋ยวมึงจะเสื่อม เดี๋ยวมึงจะล้ม แต่พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ มันจะว่างไม่ว่างช่างมัน พุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ นิสัยเนาะ พุทโธๆ ไปเรื่อย ช่างมัน พุทโธๆๆ มันจะเป็นอย่างไรช่างหัวมัน พุทโธๆๆ มึงจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของมึง กูพุทโธอย่างเดียว เดี๋ยวมึงรู้หมดเลย พุทโธๆ อยู่อย่างนั้นแหละ

ในเมื่อเราตัก น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน แล้วกูนึกพุทโธๆ อยู่นี่ ย้ำอยู่นี่ เอาพุทโธๆ กระแทกมัน ถ้ามันเป็นสมถะไม่ได้นะ เว้นไว้แต่เรานึกพุทโธไม่ถึง เรานึกพุทโธเป็นครั้งเป็นคราว นึกพุทโธแล้วให้กิเลสมันหลอก เพราะอะไร เพราะคิดว่าถ้านึกไม่ได้มันจะเป็นสมาธิละเอียดไง แล้วก็แกล้งว่านึกไม่ได้

เราสมมุติ ถ้าสมมุติแล้วนึกได้ไหม

ได้ค่ะ

โดนหลอก กิเลสหลอกมึงอีกแล้ว จริงๆ มันนึกได้ ถ้านึกได้ก็นั่นคือความคิด ในเมื่อมีความคิดอยู่ มันสงบได้อย่างไร ในเมื่อมันยังนึกได้ เราต้องพยายามนึกจนมันนึกไม่ได้ พยายามนึกพุทโธๆ จนไม่ได้ เพราะนึกไม่ได้ มันเหมือนกับเราวิดน้ำแห้งหมด วิดกิเลสให้แห้งหมด วิดความวิตกกังวลให้แห้งหมด มันก็เป็นสมาธิ มันก็ว่างหมดน่ะสิ แต่นี่เราวิดไม่หมดไง มันยังนึกได้ มันยังนึกได้ แต่ไม่นึก เพราะกลัวมันหยาบ...เวรเอ้ย

มันนึกได้ไง มันแสดงว่าในโอ่งนั้นมันยังมีความลังเลสงสัยอยู่ไง มันยังไม่ว่างไง ก็เรานึก นึกไปเรื่อย นึกจนมันหมดน่ะ นึกๆๆ นึกจนนึกไม่ได้ มันต้องเป็นไปได้ แต่เรานึกไม่หมด นึกว่างๆ “เออ! สบายๆ ใช่แล้ว แล้วถ้าจะนึกอีกเดี๋ยวมันจะหยาบ” ดูสิ กิเลสมันละเอียดขนาดไหน กิเลสมันหลอก หลอกไอ้คนปฏิบัติหน้าโง่ได้ขนาดไหน

นี่การมัดพุทโธนะ พุทโธมัดไว้กับจิต มัดอย่างนี้

ถาม : ถ้ากำลังภาวนาพุทโธ กำลังติดพันต่อเนื่องอยู่ เมื่อถึงเวลาต้องทำวัตรแล้ว จะสมควรหรือไม่ถ้าเราภาวนาต่อเนื่องไปเลย แล้วไม่ได้ทำวัตร

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้มันมีคนมาถามบ่อยมากเลย เวลานึกพุทโธๆ นั่งภาวนาอยู่นี่ไม่ดีเลยนะ แต่พอใกล้เวลาจะต้องหุงข้าวใส่บาตร แหม! พุทโธดีมาก นี่ก็เหมือนกัน เราต้องทำวัตร เรื่องการทำวัตรเรื่องต่างๆ เวลามันเป็นของส่วนรวม ถ้าเวลาเป็นของส่วนรวมใช่ไหม ทุกคนน่ะ เวลาส่วนตัวก็มี แล้วถ้าเป็นสังคมขึ้นมา สังฆะ สังฆะคือสงฆ์ ในเมื่อสังฆะคือสงฆ์ มันมีวินัยกรรม วินัยกรรมอย่างเช่นลงอุโบสถ พระทั้งหมดต้องลงอุโบสถ เว้นองค์ใดองค์หนึ่งไม่ได้ มันจะเป็นโมฆะทันที เป็นโมฆียะ

การประชุมสงฆ์นะ บางอย่าง สงฆ์ประชุมอยู่ ลุกไปไม่ได้ นี่สังฆะเจริญ เจริญตรงนี้ไง ประชุม หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เลิกประชุมให้เลิกประชุมพร้อมกัน แล้วบางอย่าง อย่างกิจนิมนต์ นิมนต์ ๕ องค์ ๑๐ องค์ ได้ ไปไม่หมดได้ แต่กฐิน สังฆกรรม อุโบสถ ทั้งวัดขาดองค์ใดองค์หนึ่งไม่ได้ ถ้าขาด การกระทำนั้นผิดหมด ถ้ามาไม่ได้ ป่วย ต้องให้ฉันทะมา คนที่มาไม่ได้ต้องบอกฉันทะมา คือว่าป่วยอยู่ มาไม่ได้ ต้องบอกมาหมด ไม่อย่างนั้นสังฆกรรมนั้นทำไปไม่ได้

แต่นี้การทำวัตร การทำวัตรต่างๆ ถ้ามันเป็นสังคม มันเป็นของสาธารณะ เราต้องจัดเวลาเราให้เข้ากับตรงนั้นสิ หลวงตาท่านบอกท่านนั่งตลอดรุ่ง ท่านมีข้อเว้นไว้ ๒ อย่าง ๑.หมู่คณะป่วยหรือ ๒.หลวงปู่มั่นป่วย ท่านจะออกจากสมาธิ ถ้าไม่มี ๒ ข้อนี้ ไม่มีข้อไหน ไม่มีใครได้ยกเว้น จะเป็นอย่างไร ไม่ยกเว้น นั่งสว่าง เว้นไว้แต่หลวงปู่มั่นป่วยหรือพระในวัดป่วย จะลุกออกไป เพราะมันเป็นปัญหาของสังคม

ถ้าเราแบ่งแยกได้อย่างนี้ปั๊บ เรารู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำว่า “ทำวัตร” นี่ทำวัตรสวดมนต์หรือทำวัตรข้อวัตร ถ้าทำวัตรข้อวัตร เรื่องสาธารณะ เว้นไว้แต่ เราจะทำจริง เราบอกเลยว่าเราจะอดอาหาร อย่างเช่นเราอดอาหารจะยกเว้นข้อวัตร เพราะว่ามันต่อเนื่องได้ แต่ถ้าเราทำของเรา เราจะจัดเวลาได้ กรณีอย่างนี้เราอยู่บ้านตาด เราจะดูชื่อเราเลย ถ้ากูเข้าเวรนะ กูออกมาฉันข้าว แล้วทำเวรไปด้วย พอกูออกจากเวรนะ อดอาหารปั๊บ มันไม่ต้องมาเข็นน้ำกับเขาไง งานยกเว้นเลย ๒๔ ชั่วโมง ทีนี้ ๒๔ ชั่วโมง เอ็งจะนั่งตลอดรุ่ง เอ็งจะนั่งข้ามวันข้ามคืนก็นั่งไปสิ

ไอ้นี่เวลาจะทำงาน กูจะนั่งสมาธิ เวลานั่งสมาธิแล้วไปทำงาน โอ๋ย! กิเลสมันเอาไอ้นี่มาอ้างได้สบายๆ เลย อ้างเล่ห์ หนาวนัก อ้างว่าไม่ทำงาน ร้อนนักก็อ้างไม่ทำงาน ไอ้นี่ก็อ้างว่ากูจะทำวัตร อ้างว่ากูจะนั่งสมาธิ กิเลสมันอ้างเล่ห์ ถ้าภาวนามาจะเห็นกิเลส กิเลสมันจะอ้างเล่ห์ของมันไป

มันทำไปมันจะเห็นคุณค่าตรงนี้นะ เห็นคุณค่าของธรรมะ หลวงตาท่านพูดอยู่ กิเลสไม่กลัวอะไรเลย เว้นไว้แต่ธรรม ธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมของพระพุทธเจ้านะ ไม่ใช่ธรรมของกิเลสของเรานะ ธรรมของเรานี่ธรรมของกิเลส กิเลสมันอ้างว่าเป็นธรรม แต่ธรรมของพระพุทธเจ้า

ปัญหาพื้นๆ แต่ตอบแล้วดีมากเนาะ มันเข้าใจดี

ถาม : การที่จิตมีสภาวะที่รู้ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา เป็นเพียงสภาวะธรรมะอย่างหนึ่งใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ใช่ เป็นสภาวธรรม คำว่า “ธรรม” นี้ต้องเป็นสภาวะ ธรรมนี้เป็นสภาวะ เห็นไหม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เพราะมันรู้ไง อย่างเมื่อวานที่มาหา ระเบิดตู้มๆๆ อะไรหมดเลย เราบอกกูก็ไม่ฟังหรอก เพราะมันไม่มีที่มาที่ไป เป็นสภาวะนี่มันเป็นธรรม เป็นธรรมเกิด อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นไปอยู่ในป่า แล้วลงมากรุงเทพฯ สมเด็จฯ ถามเลย สมเด็จฯ ถามว่า “หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่า ท่านไปศึกษากับใครล่ะ เราอยู่กับตู้พระไตรปิฎกเลย อยู่กับทางวิชาการ เรายังงงตลอดเวลาเลย”

หลวงปู่มั่นบอก “อู้ฮู! ผมฟังธรรมอยู่ตลอดเวลาเลย ผมฟังธรรม” เวลาปฏิบัติไปมันจะเกิดความรู้ความเห็นไง ธรรมมันจะผุดขึ้น เหมือนอย่างเวลานั่งไป เราจะรู้อะไรขึ้นมาในใจน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่บอกว่าเป็นสภาวธรรมใช่ไหมที่เรารู้ว่ากายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย

ใช่ คนพูดอย่างนี้เยอะมาก เพราะอะไรรู้ไหม โดยสามัญสำนึกโดยธรรมะว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่เรา ทีนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราเพราะเราศึกษาธรรมมาด้วยสามัญสำนึกนะ โดยธรรมชาติทุกคนบอกว่าเราเกิดมาต้องตายใช่ไหม ทุกคนก็รู้ว่าเกิดมาต้องตาย เราไม่ใช่ของเรา นี่โดยสามัญสำนึกรู้ได้แค่นี้ใช่ไหม

แต่ถ้าเรามาตรึกในธรรม พอตรึกสภาวะในธรรม จิตมันละเอียดขึ้นมา พอจิตมันละเอียดขึ้นมามันก็เห็นว่ากายไม่ใช่เราเหมือนกัน แต่มันลึกกว่าสภาวะที่เราคิดด้วยสามัญสำนึกนี่ไง มันถึงเป็นสภาวธรรมอย่างนี้ไง แล้วเราคิดว่า แล้วพอมันรู้อย่างนี้ เหมือนกับจิตมันหยาบอยู่ใช่ไหม พอมันรู้อะไรสิ่งที่ลึกขึ้นไป โอ้โฮ! มันจะปล่อยว่าง มันจะปล่อยวาง มันก็คิดว่า ถ้าคนไม่เข้าใจนะ “ก็นี่ไง เราก็รู้แล้วไง สักกายทิฏฐิไง”...ไม่ใช่ เพราะอะไรรู้ไหม มันไม่มีเหตุมีผล ถ้าทำอย่างนี้เป็นสภาวธรรม มันไม่ใช่เรา จิตมันปล่อยวาง จิตมันปล่อยวาง นี่ไง ถ้ามันเป็นสภาวะแบบนี้ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ มันปล่อย มันกลับมาที่ปล่อยวางไง มันปล่อยมาที่ความเข้าใจ พอปล่อยวางมาที่ความเข้าใจปั๊บ เราทำซ้ำเข้าไปๆๆ มันก็จะปล่อยละเอียดเข้าไปๆๆ พอปล่อยละเอียดเข้าไป ถ้ามันเป็นเนื้อหาสาระ เป็นข้อเท็จจริง มันจะรู้ของมัน มันจะเห็นของมัน ทำบ่อยๆ ครั้งเข้า นี่เป็นสภาวธรรม

มีพระมาถามเรานะ มีพระที่เขาบอกว่าเขาอ้างว่าเขาสำเร็จมรรคผลนิพพาน เขาบอกสภาวธรรมจะเป็นอย่างนั้น

เราถามว่า มันมีสภาวะด้วยหรือวะ ธรรมะนี้มีสภาวะหรือ

ถ้าพูดถึงสภาวธรรมนี่นะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะที่มันจะเป็นอนัตตามันจะพัฒนาของมัน แต่ถึงที่สุดไม่มีสภาวะ ธรรมเป็นธรรม ธรรมไม่ใช่สภาวะ ถ้าเป็นสภาวะมีภพ มีที่ตั้ง มีที่จุดหมาย มีที่บอกได้ว่าเป็นสภาวะ เราอธิบายสภาวะได้ ใครรู้สภาวะอย่างไรอธิบายสภาวะนั้นได้ แต่ถ้าเป็นตัวเป็นจริงเป็นธรรมแล้ว ไม่มีสภาวะ ไม่มี ถ้ามีสภาวะเป็นภพ

วันนั้นพระมาถามปัญหานะ ใส่เปรี้ยงเดียว หงายกลับไปเลย

“เป็นนิพพานนะ สภาวะเป็นอย่างนั้นๆ”

โอ๋ย! เวรกรรม นิพพานเมืองแก้วมาอีกแล้ว มันเป็นไปไม่ได้

นี่พูดถึงธรรมแท้นะ แต่อันนี้ไม่ผิด ถูก เพราะมันเกิดกับเรา ทีนี้พูดถึงถ้ามันเป็นของแท้ มันเป็นความจริง เป็นสภาวะ คำว่า “สภาวะ” เราอธิบายสภาวะได้ใช่ไหม ใช่ ถ้าอธิบายสภาวะ กิเลสอยู่ตรงนั้นน่ะ มันหลบมาที่ตรงนั้น มันปล่อยวางมาหมดเลย มาอยู่ตรงนี้ แล้วบอกนี่เป็นธรรมๆๆ ก็นี่คือมึงไง นี่คือกิเลส กิเลสบังเงา กิเลสมันพลิก

นี่การต่อสู้ เวลาประพฤติปฏิบัติ เขาว่าไปฆ่ากิเลสๆ พอทำแล้วทุกอย่างจะเป็นคุณงามความดีไปหมด...ไม่ใช่ กิเลส ถ้าเราภาวนากันไม่ได้ ถ้ากิเลสมันแรงขึ้นมา เราก็ล้มแผละหมดเลย แต่ถ้าเราทำดีขึ้นมานะ มันก็เป็นสภาวะอย่างนี้ ประสาเราเลยนะ กิเลสเหมือนบอลน่ะ มันจะหลอกถอยเพื่อโต้กลับไง นี่มันร่นมาใช่ไหม แล้วตีกลับ พอมันปล่อยเข้ามาใช่ไหม ปล่อยเข้ามาเป็นสภาวะอย่างนั้น แล้วเราทำเข้าไป พอเราเข้าใจว่ามันเป็นธรรมหรืออย่างไร เราไปชะล่าใจไง โอ้โฮ! เดี๋ยวมันมานะ เดี๋ยวมันมานะ สภาวะมึงแหลกเลยล่ะ สภาวะต่างๆ ในใจแหลกหมด มันเหยียบ เหยียบย่ำเลย

ทีนี้ถ้าเรารู้อย่างนี้ปั๊บ มันเป็นอย่างนั้นคือผลงานของเรา บอลเรารุก รุกแล้วเราพยายามจะทำอย่างไรให้ทำประตูให้ได้ ถ้ามันทำไม่ได้ เราก็ร่นมา แล้วเรารุกใหม่ ร่นมา เรารุกใหม่ ร่นมา รุกใหม่ หน้าที่เรามีแค่นี้ หน้าที่ปฏิบัติเรามีเท่านี้ ถ้าเราไม่รุกเข้าไป เราไม่ได้ประตู ถ้าเราไม่ต่อสู้ เราไม่ทำไป เราจะไม่ได้ทำ แล้วถ้าได้ประตูแล้ว เตะลูกเข้าประตูไปแล้ว ลูกมันหายไปเลย อยู่ในประตูนู่น มันเป็นจริงเลย มันเป็นความจริงเลยขึ้นมาจากใจ

ถ้าพูดถึงรู้กายจริงไง ถ้าผ่านจริง รู้จริง กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย แล้วมันแยกหมดนะ หลวงตาท่านพูดขนาดนี้นะ มันแยกเป็น ๓ ทวีปเลย กายเป็นทวีปหนึ่ง ความรู้เป็นทวีปหนึ่ง จิตเป็นทวีปหนึ่ง เหมือน ๓ ทวีปแยกออกจากกันเลย แล้วกลับมาอีกไม่ได้ จิตรวมลงหนึ่ง จิตรวมลงเลย แล้วคลายตัวออกมา อ้าว! เป็นคนใหม่ไปแล้ว

ให้ทำไป ถ้าพูดถึงมันเป็นอย่างนั้นใช่ไหม ใช่ เป็นสภาวะใช่ไหม ที่เราพูดไว้เพราะเราจะบอกว่า สภาวธรรมใช่ไหม แล้วมันรู้จักจิต มันต้องรู้จักจิต รู้จักนั้นหมด ประสาเรานะ สุตตมยปัญญาคือการศึกษา นี่มันเป็นจินตมยปัญญา ความรู้สึกมันคนละระดับ จากจินตมยปัญญา ถ้าทำขยันหมั่นเพียรเข้าไปมันจะเป็นภาวนามยปัญญา กิเลสมันจะไปขาดกันที่ภาวนามยปัญญา กิเลสจะขาดด้วยจินตมยปัญญาไม่มี แต่จินตมยปัญญามันเป็นทางผ่าน เป็นทางผ่านคือว่าปัญญามันพัฒนาของมันขึ้นไปเรื่อยๆ มันเป็นทางผ่าน จะปฏิเสธว่าไม่มีไม่ได้ แต่พอไปถึงตรงนั้นปั๊บ แล้วไปเข้าใจว่ามันเป็นเป้าหมายแล้วไง ถ้าเข้าใจว่าเป็นเป้าหมาย เขาเรียกว่าติด พอติดปั๊บ มันไม่เดินแล้ว มันย่ำอยู่กับที่ ทำอะไรมันก็หยุดอยู่ตรงนี้ ทำแล้วก็หยุดอยู่ตรงนี้ แล้วพอมีครูบาอาจารย์มาแก้ มาปลดปมนี้ พอปลดปมนี้ปั๊บ มันจะทำแล้วมันจะลึกเข้าไปเลย

แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มาปลดปมนี้นะ มันคาอยู่นั่นน่ะ แล้วถ้าพูดถึงไม่มีครูบาอาจารย์นะ มันจะซอยเท้าอยู่อย่างนั้นน่ะ ทำอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วมันจะหาเหตุหาผล เดี๋ยวเสื่อม เดี๋ยวเจริญ เดี๋ยวเสื่อม อยู่อย่างนั้นน่ะ จนเห็นโทษ พอเห็นโทษปั๊บ เฮ้ย! นี่ติดนี่หว่า ถ้าจะแก้เองไง การจะแก้เองต้องซ้ำ มันเสียเวลา หนึ่ง เสียเวลามาก แล้วเสียเวลาไม่เสียเวลาเปล่านะ ถ้าไม่มีเชาวน์ไม่มีปัญญานะ ไปไม่ได้ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ผ่านแล้วเขาจะบอกวิธีการได้เลย

ทีนี้การบอก ถ้าเราไปรู้มากเข้า มันก็อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ จะมัดกิเลสอย่างไร จะทำอย่างไร มันก็ไปติดวิธีการอีก ทีนี้เราทำเข้าไป ถ้าใจเรามันมั่นใจแล้วว่าอันนี้ไม่ใช่ มันต้องสืบต่อเข้าไป การกระทำอันนั้น การกระทำของเรามันทำแล้วผลของมันคือจะทะลุเข้าไปๆๆ ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ซ้ำ ซ้ำไป ทำนี่ถูกแล้ว เพียงแต่ว่าต้องทำเข้าไปอีก ทำเข้าไปอีก ตั้งสติไว้ ตั้งสติแล้วค้นคว้ามันไป ย้ำมันอยู่นี่แหละ กายมันคืออะไร อะไรมันเกิดขึ้นมา สิ่งต่างๆ มันเป็นอย่างไร ย้ำอยู่ตรงนี้ เพราะโดยสามัญสำนึกของคนมันติดตัวเราก่อน ปืนนะ ถ้าไม่มีตัวปืน มันยิงกระสุนออกไปไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวตนของเรา ไม่ติดตัวเราก่อน เราจะไม่ชอบเพศตรงข้าม ทุกคนรักตัวเองก่อน แต่ทุกคนไม่มองตรงนี้ โดยสามัญสำนึกสัญชาตญาณของมนุษย์ เอาไฟมาไว้บนหัวคนละก้อน เอ็งปัดของใครก่อน ก็ปัดของกูก่อน กูร้อนน่ะ ความคิดมันเกิดจากเราก่อนไง

ทีนี้ถ้าย้ำตรงนี้ ย้ำที่ใจ ให้มันศึกษาให้มันค้นคว้าไปเรื่อยๆ ค้นคว้าไปเรื่อยๆ ค้นคว้าไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันทำลายตรงนี้ก่อน พอทำลายตรงนี้ก่อน นี่ไง ผู้ใดชนะตน สำคัญมากเลย ตน อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าใครชนะตนได้เท่ากับชนะ ชนะกองทัพขนาดไหน สร้างเวรสร้างกรรมนะ ถ้าชนะตนแล้ว หมดกันเลย ถ้าเข้าใจกายนี้แล้ว กายนอกก็เหมือนกายนี้ ไม่ต้องไปศึกษากันเลย ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจของเรา ใจทุกๆ ใจมันก็เหมือนเรานี่แหละ แต่จริตนิสัยคือว่าความชอบมันอาจจะแบบว่าหยาบกลางต่างๆ กันไป แต่ใจก็คือใจ เวลามันเกิดสมาธิขึ้นมา เห็นไหม สมาธิมีหญิงมีชายไหม นิพพานมีหญิงมีชายหรือ แล้วหญิงชายก็สมมุติทั้งนั้นน่ะ สมมุติจริงๆ นะ เพราะอะไร เพราะผู้หญิงเป็นผู้ชายได้ ผู้ชายก็เป็นผู้หญิงได้ พระอานนท์เป็นผู้หญิงมาก่อน ทำไมพระอานนท์เกิดเป็นผู้ชายได้ อ้าว! ทั้งๆ ที่ในวัฏฏะนี้มันยังเปลี่ยนได้เลย จากหญิงเป็นชาย จากชายเป็นหญิงได้ในวัฏฏะนี้ แล้วถ้ามันเป็นหญิงแล้วมันเปลี่ยนเป็นชายได้อย่างไร จริงๆ คือมันไม่มี มันเป็นโดยกรรมแต่ละบุคคล

ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ มีประเพณีเนาะ วันนี้มันไม่ได้มา ขายมัน มันบอกว่า คนที่เกิดเป็นผู้หญิงเพราะผิดศีลข้อกาเมฯ เขาเชื่อกันนะ ที่ทางบ้านเขาเชื่อว่าผู้หญิงผิดศีลข้อกาเมฯ นะ

กูบอกถ้าเกิดเป็นผู้หญิงเพราะผิดศีลข้อกาเมฯ นะ โลกนี้จะไม่มีผู้ชายเลยล่ะ เพราะกูไม่เห็นใครไม่ผิดเลย โอ๋ย! มันเชื่อของมันได้นะ โอ๋ย! ประเพณีนี้ทำให้คน เกิดเป็นผู้หญิงเพราะผิดกาเมฯ เราถึงบอกว่ามันไม่ใช่ มันเป็นเพราะเราเองเป็นมา แล้วเราพอใจในสภาวะแบบนั้น ทุกอย่างมันเกิดจากเจตนา เจตนาของคนเห็นโทษของเพศ อยากเปลี่ยนแปลง แล้วพอมันเปลี่ยนแปลงมันก็เกิดตายๆ ไป ๕๐๐ ชาติ มันถึงมีบัณเฑาะก์มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลไง อย่างเรา เราไม่พอใจ เราอยากเป็นผู้หญิง ปรารถนาเป็นผู้หญิงๆๆ มันก็เปลี่ยนปรับไปเรื่อย แต่มันปรับ ๕๐๐ ชาติไง

ฉะนั้น การจะเปลี่ยนหญิงเปลี่ยนชาย ในสมมุติมันยังเปลี่ยนได้เลย แล้วพอภาวนาเข้าไปแล้ว จิตไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ใดๆ เลย เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่ธรรมชาติอันหนึ่งนี่คือกิเลสทั้งหมดนะ ธรรมชาติอันนี้คือตัวภพ ธรรมชาติตัวนี้คือจิตเดิมแท้ แล้วจิตเดิมแท้มันจะไปเกิดในสถานะอะไรเท่านั้นเอง แม้แต่สมมุตินี่ เพราะภาวนาเข้าไปแล้วมันถึงเห็นไง เห็นเป็นปฏิสนธิจิต จิตเกิดอย่างไร เกิดในที่ไหน แล้วมันเคยเกิดเป็นอะไรมา แล้วมันจะไปเกิดที่ไหนต่อ ถ้าไม่รู้นะ ก็สงสัย สงสัยแก้กิเลสได้หรือเปล่า ถ้ามันเข้าใจวงรอบจบนี้แล้วมันจะไปสงสัยอะไร ถ้าสงสัยในวัฏฏะ มึงจะพ้นจากวัฏฏะไปได้อย่างไร มันทำลายวัฏฏะในหัวใจหมดแล้ว

นี่ไง มันถึงย้อนกลับมาสังคม กลับมาโลกไง เห็นไหม ผลของวัฏฏะ คือเขาเกิดมาเป็นอย่างนี้ แล้วทำไมต้องมาเกิดเจอกัน ผลของวัฏฏะไง สร้างบุญสร้างกรรมมาไง ถึงบอกเวลาเราทำบุญกัน ถ้ารักกัน ขอให้เจอกันอีก ถ้าไม่รักก็อย่าเจอกันอีกเลย ต่างคนต่างไป แต่มึงเจอแน่ๆ เลย เพราะไอ้ตัวที่มึงไม่อยากเจอนั่นล่ะคือเจตนา

นี่ผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือการเกิด เราเกิดมาแล้ว เกิดมาพบพระพุทธศาสนานะ ศาสนาอย่างนี้มันไม่มีนะ หลวงตาท่านพูดบ่อยเลย ศาสนาพุทธเท่านั้น แล้วพุทธสอนอย่างนี้ ไม่ได้สอนไปอ้อนวอนขอจากใคร ไม่ต้องไปทำเพื่อใครทั้งสิ้นเลย เราทำคุณงามความดี กตัญญูกตเวที ทำสิ่งต่างๆ มันเป็นความดีงาม ความดีงามเพื่อใคร ก็เพื่อใจดวงนี้ไง แล้วนี่ตัดแต่งพันธุกรรม ถ้าทำความดีแล้วมันดีขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าไม่ดีเรื่อยๆ ไอ้นั่งสมาธิมันยากไหม เวลานั่ง เวลาทำดีมันยากไหม มันจับต้องอะไรไม่ได้เลยนะ ถ้าคนไม่มีความตั้งใจ คนจิตใจไม่สูงส่งทำไม่ได้หรอก

ลูกๆ เรา บอกหนูอย่าไปเที่ยวนะ อยู่บ้านเฉยๆ มันยังอยู่ไม่ได้เลย อย่างไปนั่งสมาธินะ อยู่ในบ้านมันยังไม่ยอมอยู่เลย บ้านกว้างๆ น่ะ ให้มันเที่ยววิ่งเล่นในบ้านได้ มันยังไม่ยอมอยู่บ้านมัน แล้วนี่จับนั่งเฉยๆ ให้มันอยู่ในนี้ แล้วไม่ให้มันออกเลย มันต้องคนคุณเห็นความดีของมัน

ทีนี้คนเห็นความดีของมัน ดูในอินเดียสิ พวกโยคีเยอะแยะไปหมดเลย แล้วมันทำอะไรของมันนั่นน่ะ มันทำอย่างนั้นโดยสามัญสำนึกของเขาไง เขาทำเพื่ออ้อนวอนของเขาไง เขาไม่ทำกลับเข้ามาข้างใน เขาทำเพื่อข้างนอกใช่ไหม เขาทำเพื่อพระเจ้าของเขาใช่ไหม แต่ถ้ามันทำกลับเข้ามาข้างใน ถ้ามันทำกลับเข้ามาข้างในมันจะเป็นประโยชน์กับมัน ทำกลับมาข้างใน สัมมาสมาธิมีอะไรอีกไหม เราอยากให้เคลียร์ไง เพราะประสาเรา เวลาพูดอะไรไป มันเคยทุกข์มา แล้วมันสังเวช เพราะตอนปฏิบัติมันวิ่งหาครูบาอาจารย์มาก แล้วมันตอบ เวลาตอบไปไหนมา สามวาสองศอก แล้วเวลาเรานั่งอยู่นี่ ถามกูมาสิ เพราะกูก็เคยแสวงหาอย่างนี้ กูเคยทุกข์อย่างนี้มาเหมือนกัน ไอ้ที่เวลาเราพูดเพราะตรงนี้นะ แล้วเวลาลูกศิษย์ลูกหามา ไปหาองค์นั้นมา ตอบอย่างนี้ องค์นั้นตอบอย่างนี้ อื้อหือ! มันฟังแล้วมันทุเรศ แล้วถ้าจริงๆ แล้วมันไม่กล้าสู้ปัญหาด้วย เจอปัญหาแล้ววิ่งหนีเลยล่ะ

ทุกคน ประสาเราเลย เราว่าพระมันไม่รับผิดชอบ ถ้ารับผิดชอบนะ รับผิดชอบ อะไรจริงก็ว่าจริง อะไรไม่จริงก็ว่าไม่จริง แต่นี่ของไม่จริงมันว่าเป็นของจริง แล้วของจริงไม่รู้เรื่อง งานของพระล่ะไม่ได้ทำ ไปทำแต่ปัจจัยเครื่องอาศัยสิ่งภายนอก

เวลาพูดกันบอกว่าสิ่งภายนอกก็หายากนะ กว่าจะหาได้มา ดูสิ จะไปพูดอย่างไรให้คนมีความเชื่อความศรัทธา หามูลค่า ปัจจัยไปทำมา แล้วทำมาเพื่อใคร ทำมาทำไม ถ้าเราไม่ทำมาเพื่อมัน เราไม่วิ่งแสวงหามัน มันก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรขึ้นมา

ทำใจเราให้ดีก่อน ทีนี้ทำใจให้ดีมันกลับยากขึ้นไป ๒ ชั้น ๓ ชั้น เพราะคนจะชี้ให้ทำ ใครจะชี้ คนที่ทำใจ ใครจะชี้ มันพูดไม่ถูก พูดอะไรไม่ได้เลย ถ้ามันไม่รู้ พูดอะไรไม่ได้เลย

มีอะไรต่อมาเลย เรื่องของเขา เราเยอะกว่า

จบไหม ไม่มีอะไรจะจบ ไม่มีอะไร เอวังแล้ว จบ