ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เทศน์หลังฉันจังหัน

๓๑ ส.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์หลังฉันจังหัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ : วาสนาคนน่ะ วาสนาคนมันไม่เหมือนกัน วาสนานะ เวลาพูด เมื่อกี้เขาถามปัญหาว่า เมื่อคืนนั่งฟังเทศน์อยู่ แล้วกล้องวีดีโอมันจับอยู่ไง ไฟมันก็ส่องมาที่เรา เขาเห็นเรานี่นะ เห็นเราเป็นโครงกระดูก เห็นเราเป็นโครงกระดูก เห็นโครงกระดูกมันเปลี่ยนแปลงแปรสภาพ ถ้าเห็นเราเป็นโครงกระดูก แต่โดยวิทยาศาสตร์ พวกเราปัญญาชน เราก็ไม่เชื่อใช่ไหม เราก็ต้องหลับตาแล้วดูใหม่ มันต้องพิสูจน์ มันเรื่องธรรมดา

ทีนี้พอเห็นเราเป็นโครงกระดูก เราถึงถามว่า แล้วความรู้สึกที่จิตใจมันเป็นอย่างไรล่ะ เพราะมันมีอยู่ในสมัยพุทธกาล ญาติพระพุทธเจ้าผู้หญิงคนหนึ่งไม่ยอมฟังเทศน์พระพุทธเจ้าเลย ไม่เคยไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้าเลย พอไปฟังเทศน์ทีไรบอกกายนี้มันของเน่า ของชำรุดใช่ไหม กายเป็นของเสียหาย แล้วเป็นคนรักสวยรักงามมาก เป็นผู้หญิงที่สวยมาก เป็นญาติพระพุทธเจ้า แล้วสวยมาก แล้วเขาก็ไปบวชกันหมด แล้วตัวเองไม่ไปไหนหรอก วันๆ มีแต่ โอ้โฮ! คอยจะรักษาความงามนี่แหละ แล้วไม่ยอมไปไหน แล้วพอไป พระพุทธเจ้าบอกว่าร่างกายนี้เป็นของเน่า มันเป็นถุงน้ำ มันเป็นแบบว่าเหมือนกับถุงน้ำพลาสติกมีน้ำ เหมือนถุงน้ำ ไม่มีอะไรดีหรอก

ตัวเองก็รักมาก รักมาก แต่เพราะญาติไปบวชหมด เวลาพระพุทธเจ้านะ ตระกูลพระพุทธเจ้าออกบวชหมดเลย แล้วอย่างญาติพี่น้องออกบวชหมด เหลืออยู่คนหนึ่งเดียว จะทำอย่างไร ก็มาบวชอยู่กับเขา บวชเสร็จเป็นนางภิกษุณีนะ ก็ไม่ยอมไปฟังเทศน์ ไม่ยอมไปฟังเทศน์หรอก เพราะไปทีไร จะบอกว่าของเราไม่สวยได้อย่างไร โอ้โฮ! มันติดน่ะ มันติดว่า แหม! เราสวยมาก แล้วสวยขนาดนั้นมันยึดมั่นมาก

มีอยู่วันหนึ่งก็คิดว่าเขาไปฟังเทศน์กันเยอะ ก็แอบไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้าบ้าง พระพุทธเจ้ารู้หมดแล้วไง พอไปถึง ไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เนรมิตให้เป็นนางฟ้า เป็นผู้หญิงสวยมากๆ เลย

เขาสวยอยู่แล้วไง เขาไปเจอคนที่สวยกว่าอายุ ๑๖ สวยมาก ไม่เคยเห็นใครสวยเท่านี้เลย เขาหลงว่าเขาสวย แต่เขาไปเห็นที่สวยมากกว่าเขา เขาก็ทึ่ง โอ้โฮ! ทำไมสวยขนาดนั้น ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นใครสวยได้ขนาดนี้เลย แล้วพระพุทธเจ้าก็เทศน์ไป พอเทศน์ไปก็เนรมิตรูปนี้ให้อายุ ๑๘ ๒๐ ๓๐ ๔๐ หลังก็หง่อมลงๆ จากที่มันยึดมั่นว่าสวยมาก ติดใจมาก แต่พอมันเห็นนี่ไง พอมันเห็น เราจะบอกว่าถ้าจิตมันเห็นการแปรสภาพ แล้วจิตที่มันยึดมั่นมันสะเทือนใจมากไง เป็นพระโสดาบันเลยล่ะ

สิ่งที่มันยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนี้เป็นเรา แล้วพอมันไปเห็นเข้า เห็นสภาพเข้า สิ่งที่เป็นเรานะ แต่เราไปเห็นสิ่งที่มันดีกว่าเยอะแยะเลย ดีจนใจมันไปหมด เห็นไหม คำว่า “ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นใครสวยเท่าขนาดนี้” เราว่าเราสวยแล้ว เราว่าเราอยู่กับความสวย อยู่กับสุดยอดเลย มาเจอเข้า เหมือนกับที่พระนันทะ พระนันทะแต่งงานไง แล้วพระพุทธเจ้าบอก “นันทะบวชไหม”

“อยากบวช”

เสร็จแล้วก็คิดถึงแต่ อ้าว! เพิ่งแต่งงานน่ะ สวยไหม คิดถึงแต่ภรรยา

พระพุทธเจ้าบอกให้ดูภรรยาไว้นะ แล้วจับแขนไง จับแขนแล้วเหาะขึ้นไปสวรรค์ไง ไปเจอนางฟ้า

“เมื่อกี้นี้สวยไหม”

“สวย”

“แฟนน่ะสวยไหม”

“สวย”

“แล้วนี่ล่ะ”

“โอ๊ย! นี่สวยกว่า”

“แล้วแฟนล่ะ”

“แฟนอย่างกับลิง อย่างกับลิงดีๆ นี่”

“แล้วทีนี้อยากได้นางฟ้าไหม”

“อยากได้”

“อยากได้ก็พุทโธ”

พุทโธๆๆ จนเป็นพระอรหันต์เลย พระนันทะ พอเป็นพระอรหันต์ปั๊บ เพราะเขาพูดอย่างนั้น พระพุทธเจ้าพูดตามตรงไง พอพูดตามตรง พระก็ล้อเลียน เวลามา เวลาเจอกัน พระถือว่าสนิทคุ้นเคยใช่ไหม ก็คิดว่าจะไปเอานางฟ้าไหม เพราะตัวเองอยากได้นางฟ้ามาก พระพุทธเจ้าใช้อุบาย ถ้าอยากได้นางฟ้า วิธีการจะไปหานางฟ้าต้องพุทโธ

พุทโธๆๆๆ ไปเรื่อยๆ แล้วพุทโธไปถึงที่สุดแล้ว จิตมันก็พัฒนาของมันไปเรื่อย จนมันเกิดปัญญาขึ้นมา มันชำระกิเลสแล้ว พอชำระกิเลสแล้วบอก “ก็ไม่เอาอะไรแล้ว”

พระพุทธเจ้าถาม “จะไปหานางฟ้าไหม”

“ไม่ไปแล้ว”

ทีนี้พอไม่ไปปั๊บ พระเขาถามไง พระเขาถามว่าจะพุทโธไปหานางฟ้าไหม พระก็คุ้นเคย ก็พูดเล่น

เขาบอกว่าเขาไม่ต้องการนางฟ้าแล้ว พอไม่ต้องการนางฟ้าแล้วปั๊บ พระถือว่าอวดอุตริเลย เพราะว่าถ้าพูดอย่างนี้แสดงว่าสิ้นกิเลส พอสิ้นกิเลสนะ เพราะเขาไม่รู้ พระปุถุชนไม่รู้ ก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่าพระนันทะอวดอุตริ

พระพุทธเจ้าบอก “ไม่หรอก เขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ” ถึงที่สุดไง

แล้วบอกว่าญาติที่เป็นผู้หญิง พอไปเจอความสวย ไปเจอ ตัวเองรัก นี่กิเลส คำว่า “จริตนิสัย” ที่เวลาเราเทศน์น่ะ จริตของใครชอบสิ่งใด เหมือนชมรม ชมรมนกเขา ชมรมรถโบราณ ชมรมรถจักรยานยนต์ พอเข้าชมรมนะ มันนั่งคุยกัน ๒๔ ชั่วโมงไม่เบื่อ มันนั่งได้ ๗ วันนะ คุยกันเรื่องรถ ไม่เบื่อหรอก ชมรมอะไรมันก็รักไอ้นั่น จิตของใครมันผูกพันกับอะไร มันก็ผูกพันกับไอ้นั่น แล้วถ้ามันจะตรงกับจริตเข้าไประเบิดตรงนั้นนะ หลุด คนที่พิจารณา มันถึงมีกาย เวทนา จิต ธรรม แล้วแต่ว่าของใครของมันที่จะเข้าไปชำระล้างของแต่ละบุคคล

ฉะนั้น ขณะที่เห็นนี่นะ เห็นได้ขนาดนั้นน่ะ มันมีอยู่ ๒ ประเด็น เวลาคนมาถามปัญหาเรามันมีอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งมันเป็นอำนาจวาสนาบารมี ส้มหล่น ถ้าส้มหล่น มันไม่เป็นผลจากใจ ไม่เป็นผลจากใจ มันไม่ได้ถอนกิเลส มันเป็นผลของส้มหล่น ส้มหล่นคือว่ามันเป็นบารมีธรรมเก่าที่มันเกิด ที่ธรรมเกิด เวลาธรรมเกิด เกิดจากส้มหล่น เกิดจากอำนาจวาสนาไง เกิดแบบฝันน่ะ เกิดแบบลอยมา ลาภลอย ถูกรางวัล แต่เราไม่ได้ทำธุรกิจ

แต่ถ้าเราเป็นวิปัสสนา มันเหมือนกับเราประกอบธุรกิจขึ้นมา คนที่ประกอบธุรกิจขึ้นมานี่ โอ้โฮ! เห็นค่าของเงินมาก สลึงหนึ่ง บาทหนึ่ง กว่าจะเก็บหอมรอบริบนะ โอ้โฮ! มันน้ำพักน้ำแรง แล้วน้ำพักน้ำแรงมันต้องถนอมรักษา เพราะเรารักษามา วิปัสสนามันจะเกิดอย่างนี้ จะเกิดวิปัสสนา เกิดแบบเราทำธุรกิจ เราพยายามเก็บหอมรอบริบเป็นเงินเป็นทองเรามา แล้วเราทำมา พอทำมา เรารู้วิธีการทำ มันจะดีมาก

แต่ถ้าเป็นส้มหล่น มันเกิดได้อย่างนี้ ส้มหล่นมันเป็นวาสนา เป็นครั้งเป็นคราว แต่ไม่อยู่กับเรา ไม่อยู่กับเราตลอดไป ไอ้อย่างนี้มันก็ดี ดีที่ว่าวาสนาของคน เห็นไหม ฉะนั้น เวลาเห็นนั่นน่ะ เห็นโดยวาสนา เห็นโดยวาสนามันเห็น มันเหมือนกับว่า ถ้าเป็นวาสนาใช่ไหม คนที่มีวาสนาได้รางวัล ถูกรางวัล ถ้าเขารู้จักเก็บหอมรอมริบ เขาก็ประกอบอาชีพได้เหมือนกัน

ทีนี้พอมันเป็นวาสนา มันเห็นสภาพแบบนั้นไง เห็นสภาพเป็นโครงกระดูกเลย เมื่อคืนเทศน์ เป็นโครงกระดูกเลย เห็นเป็นโครงกระดูกแล้วไม่เชื่อ ไม่เชื่อก็กระพริบตาแล้วตั้งภาพใหม่ก็ยังเป็นอยู่ เป็นอยู่ ยังเป็นอยู่เพราะอะไร เพราะมันเห็นชัดๆ นั่นน่ะ สิ่งที่เห็นมันเห็นได้ เห็นได้ด้วยอำนาจวาสนาเป็นครั้งคราว แล้วไม่เห็นอีกแล้ว เห็นแล้วนะ เห็นนี่เห็นด้วยอำนาจวาสนา พลังงานมันดีใช่ไหม แล้วพอเทศน์คราวหน้าจะให้มันเป็นอีกนะ ไม่เป็นหรอก

หนึ่ง กาลเวลา ๗ วัน อาทิตย์หนึ่ง ๗ วันแล้ว จิตใจเราเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แล้วถ้ามันเห็นอีกมันก็เห็นไม่เหมือนเดิม จะบอกว่า ถ้าเราถูกรางวัลแล้ว แล้วเราตั้งเนื้อตั้งตัวได้ก็เหมือนว่าเราเห็นแล้วมันเป็นคติธรรมกับใจ ใจมันเห็นสภาวะแบบนั้น เหมือนคติธรรมมันฝังใจเรา ถ้าฝังใจเรา นี่เป็นต้นทุนไง เป็นต้นทุน เป็นสิ่งที่เราจะเอามาใช้ประโยชน์ ถ้าสิ่งที่เราจะใช้ประโยชน์ได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

ทีนี้ถ้าเป็นความจริง อย่างที่เราประกอบธุรกิจ มันจะเก็บหอมรอมริบ มันมีกำไรขาดทุน กำไรขาดทุนคือกิเลสกับธรรมไง มันจะสู้กันในใจ มันจะรู้ของมันในใจ มันจะต่อสู้ขึ้นมา มันมี ทีนี้เวลาพูดกับโยม โยมมันหลากหลายไง เวลาพูดกันเรื่องจิตวิญญาณไม่มีใครเชื่อ แต่เวลามีพวกโยมมาหาเรา เขาบอกว่า “หลวงพ่อ ไอ้เทวดาที่รักษาพระพุทธรูปนี่ผู้หญิงหรือผู้ชาย”

เออ! เขาเห็นของเขาน่ะ

“แล้วที่รักษาพระพุทธรูปเป็นเทวดาผู้หญิง ห่มผ้าสไบสีเหลือง” เขาถามเรา เขาเห็นของเขา แต่เขาเชื่อไม่เชื่อ เขามาถามเรานะ แต่พวกเราจะเชื่อไหมว่ามีเทวดา

พวกเราก็ไม่เชื่อ ทีนี้คนที่เห็น คนที่เป็นไป มันเป็นวุฒิภาวะของเรา อันนี้มันเป็นประโยชน์กับเราแค่ไหน ประโยชน์กับเรามากไหม มันพิสูจน์ได้จากตาของเรา เราเห็นจริงๆ เพราะกรณีอย่างนี้ กรณีของที่มันเห็นมันเป็นเรื่องของนามธรรม แล้วเวลาเราไปพูดแบบโลกแบบวิทยาศาสตร์ไง วิทยาศาสตร์คือโลก ต้องพิสูจน์ได้โดยวิทยาศาสตร์ ก็มีนักภาวนาเยอะมาก มีลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นดอกเตอร์ ดอกเตอร์ ๒ คนเพื่อนกัน แล้วเขาเป็นผู้หญิงอยู่ด้วยกัน ทีนี้พอเขาป่วยไง เขาป่วยก็อยู่โรงพยาบาล เพื่อนเขาไปเฝ้า ไปเฝ้าแล้วพอนอนป่วยอยู่ มันก็เห็นไง เห็นวิญญาณ เห็นผี เห็นเปรต แล้วมันก็วิตกกังวล แล้วเพื่อนเขาก็เพื่อนด้วยกันนะ “ทำไมเป็นอย่างนี้”

เครียดหมดเลย บอก “เห็นอย่างนี้แล้วทำไมเอ็งไม่พูดล่ะ”

นี่เขาพูดกันเองนะ เพราะว่าเขาเป็นเพื่อนสนิทกัน “พูดได้ที่ไหนล่ะ ถ้าพูดไป ดอกเตอร์กูก็หายหมดสิ” คำพูดคำนี้เขาเอามาเล่าให้เราฟังนะ เราฟังแล้ว โอ้โฮ! เราเศร้าใจ คือเขาเห็น เขารู้เองนะ แต่เขาพูดไม่ได้ สถานะทางสังคมมันค้ำคอไว้ แล้วเขาทุกข์ เขาเห็นเอง เขารู้เอง แล้วเขาทุกข์ของเขาเอง แล้วเขาก็พูดไม่ได้ พูดได้อย่างไร วิทยาศาสตร์ไง พูดทางโลก แต่ทางธรรม ทางธรรม ทางจิตวิญญาณ ไม่มีใครรู้ใครเห็นกับเรา แล้วพูดไปก็เสียหาย เขาเสียหายในสายตาเขานะ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้จริง มันจะเสียหายตรงไหนล่ะ มันเป็นที่จากจิตของเรา

กรณีอย่างนี้มันเป็นธรรมดา มันเป็นเรื่อง ถ้าคนภาวนาเป็นแล้วนะ ดูสิ นกมันบินได้เป็นธรรมดา ไอ้เราบินไม่ได้หรอก กระพือเกือบตาย บินไม่ขึ้นหรอก นกมันบินได้เป็นธรรมดา จิตที่มันเป็นไปมันเป็นอย่างนั้นโดยธรรมดา ทีนี้มันเป็นธรรมดาเพราะนกบินได้ นกบินได้ เรื่องแปลกไหม นกบินได้ไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกเลย เพราะเราเห็นอยู่ทุกวันไง ทีนี้นักภาวนามันก็เห็นเรื่องจิตเป็นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องแปลกหรือ ก็ไม่เห็นแปลก ก็เหมือนนกบินได้ นกก็บิน ก็เป็นอะไรไป

แต่ไอ้คน เด็กมันไม่เชื่อ ถ้านกบินได้ กูต้องบินได้ ถ้ากูบินไม่ได้ กูก็ไม่เชื่อว่านกบินได้...อ้าว! มึงจะบ้าแล้วนะ แต่มันก็ว่าของมันนั่นน่ะ ถ้านกบินได้ กูต้องบินได้ก่อน ต้องทำให้มันบินได้ มันถึงเชื่อว่านกบินได้ นี่ไง นามรูปไง นี่ไง ปริยัติไง เขาถึงไม่เชื่อในการปฏิบัติไง

อันนี้อย่างที่เราพูด จริงอยู่นะ ในฝ่ายปฏิบัติบางทีมันเป็นนิมิต ความเห็นมันเริ่มต้นนะ ความเห็นเราน่ะ ถึงว่ารู้อะไรแล้วให้ผ่าน รู้แล้วอย่ายึด ถ้ารู้ยึดนะ มันอยู่กับเราไม่ได้ ทีนี้คนไม่เป็นไปรู้ยึดไง รู้ยึด ตอนนี้นะ อากาศมันร้อนไหม เดี๋ยวบ่ายๆ มานั่งนี่มันร้อนไหม คือยึดไม่ได้ มันเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจะไปยึดอะไรมัน ถ้ามึงยึดน่ะมันผิด ถ้ามึงไม่ยึดนะ มันจะมีการเปลี่ยนแปลง มันจะมีการพัฒนาใช่ไหม

ดูสิ อากาศตอนเช้าร่มเย็น อากาศตอนกลางวันร้อนใช่ไหม เดี๋ยวตอนเย็นมันก็เย็นอีกแล้ว มันเปลี่ยนแปลงของมันตลอดเวลา พอมันเปลี่ยนแปลง เรารู้ใช่ไหม เราอยู่ใน ๒๔ ชั่วโมงใช่ไหม เช้าก็คือเรา ตอนเที่ยงก็คือเรา ตอนเย็นก็คือเรา พรุ่งนี้เช้าก็คือเราอีกแล้ว พรุ่งนี้เที่ยงก็คือเราอีกแล้ว คือเราอยู่กับผู้รู้นี่ไง เราอยู่กับผู้รู้ เราอยู่กับใจ เราอยู่กับที่รู้เรื่องของเขา แต่เราไม่ได้ไปติดในเช้ากลางวันเย็นไง ถ้าเราไปติดในเช้ากลางวันเย็น เราไปติดสิ่งที่รู้ พอติดสิ่งที่รู้ เห็นไหม

จิตตั้งมั่นๆ เอกัคคตารมณ์ไง ตั้งมั่นเพราะอะไร เพราะมันรู้เท่าหมด มันรู้เหมือนผู้ใหญ่รู้ ผู้ใหญ่จะไม่ตื่นเต้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย เพราะอะไร เพราะเรารู้ความเป็นไปของมันใช่ไหม แต่เด็กมันไม่ยอม มันเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่ของเรา เราเอาผู้รู้เป็นที่ตั้ง แล้วสิ่งที่เป็นไปให้มันเปลี่ยนไป ถ้ามันเปลี่ยนไปปั๊บ มันก็ย้อนกลับมาที่ภาวนา ถ้าเขาภาวนามันจะเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันก็ต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง แล้วจิตแต่ละอันไม่เหมือนกัน

ไอ้นี่สิ่งที่เขาเห็นไง เพราะเขาเห็น เมื่อก่อนเราพูดใช่ไหม บอกพระที่บอกว่าเวลาเห็น เห็นเป็นโครงกระดูก เห็นอะไร เราบอกไม่เชื่อ เราไม่เชื่อ เพราะเห็นเป็นโครงกระดูกนี่นะ จิต สมาธิต้องสูงมาก มันโดยสามัญสำนึกเลยนะ พอกำหนดจะเห็นเลย อย่างเช่นหลวงปู่ฝั้น เครื่องยนต์ถ้าเดินอยู่ กำหนดจิตเข้าไป เครื่องดับเลย ดูหลวงตาท่านพูดสิ ท่านบอกว่าจิตที่แรงๆ มีหลวงปู่ลี วัดอโศการาม ที่ว่าทำน้ำมนต์น่ะ แล้วจิตที่นิ่มนวล ทำน้ำมนต์นุ่มนวล มันก็มี

อันนี้ไอ้อย่างที่ว่า จิตที่มันต้องสูงขึ้นมาที่ว่าเห็นโครงกระดูก แปลกนะ เราพูดแล้วมันติดคอทุกที มันเหมือนแบบว่าเราเคยเห็นไง แต่เวลาเราเคยเห็น เรารู้ว่าเราอยู่ระดับไหน จิตเราอยู่ระดับไหน เราก็เห็น แต่ตอนที่เราเห็น เราเห็นอย่างไร อย่างที่ว่า นั่งอย่างนี้นะ พอกำหนดปั๊บ ทะลุหมดเลย ไม่มีอะไรบังเราได้เลยนะ ทะลุเข้าไปเครื่องในเลย เข้าไปถึงอวัยวะภายในหมดเลย แล้วเรามันมีสติไง เราก็บอกว่าเราตั้งสติไว้ “สมมุติ” สมมุติก็ดึงจิตไว้ให้เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นโลก มันก็เห็นเสื้อผ้า แล้วเราทดสอบอีก “ปล่อย” คำว่า “ปล่อย” สติมันปล่อยไง ปล่อยให้เป็นกำลังของสมาธิ พอปล่อยพับ! ทะลุเลย เราทำอย่างนี้อยู่หลายรอบ

อย่างที่เมื่อคืนทำ ที่ว่าเราต้องลองๆ ก่อน ลองดูว่ามันจริงไม่จริง เรานี่ชัดๆ เลย อยู่ในป่า พวกคนเขามาจังหัน แล้วพอจะจังหัน พิจารณาอาหารอยู่ไง พอทีแรกไม่รู้ พอเงยหน้าขึ้นมา เฮ้ย! ตกใจเลย พอตกใจปั๊บ เพราะว่าเราภาวนาของเราอยู่แล้วไง พอพิจารณาอาหารอยู่ พอเงยหน้าขึ้นมา อ้าว! ทำไมเห็นแต่ตับไตไส้พุงหมดเลย แดงหมดเลย พอแดงหมดเลยปั๊บ โอ้โฮ! จิตดีขนาดนี้เชียวหรือ นี่ขนาดจะกินข้าวนะ จิตดีขนาดนี้เชียวหรือ กำหนดเลย สติให้เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นปกติของโลกเขา พับ! เห็นอย่างนี้ แล้วก็บอก “ปล่อย” เราลองของเราคนเดียวนะ ทั้งๆ ที่พระนี่นั่งเป็นแถวเลย ไม่มีใครรู้กับเราหรอก พอเราบอก “ปล่อย” พอปล่อยมันก็พรึบ! ทะลุไปเลย “สมมุติ” พับ! เห็นเสื้อผ้าอย่างนี้

แล้วเราก็มาเทียบอย่างที่ว่าเวลาครูบาอาจารย์ อาจารย์กงมาที่เวลาท่านอยู่บนรถ ที่ว่าที่จากสกลฯ มาอุดรฯ แล้วท่านดูคนโดยสารน่ะ โอ้โฮ! เวลาคุย เห็นกรามพับๆ เลย จิตมันต้องสูง แต่ทีนี้พอมาบอก นี่มาพูดถึงบอกว่าขณะนี้ นี่จิตสูงอะไร นี่เพิ่งหัดภาวนาใช่ไหม แล้วทำไมเห็นอย่างนี้ล่ะ

เห็นอย่างนี้ปั๊บ คือเห็นโดยบุญบารมี บุญบารมีมันจะมาบอกไง ทีนี้บุญบารมีมาบอกปั๊บ มีบุญบารมีที่เห็นแล้ว เราจะเข้ามาถึงใจเราได้ไหม เข้ามาถึงใจ หมายถึงว่า เราถึงถามว่า เห็นแล้วมีความรู้สึกว่าอย่างไร เห็นอันหนึ่ง เวลาเราเห็น เราเห็นภาพ เช่น เราดูภาพ ภาพศิลปะ เวลาคนดูจะดูได้ลึกซึ้ง ดูได้หยาบต่างกัน นี่ก็เหมือนกัน เห็น เห็นภาพศิลปะ แต่ความซาบซึ้ง ความซาบซึ้งในภาพนั้น ความรู้สึกในภาพนั้น ความผูกพันในภาพนั้น ความผูกพัน นี่จิต เห็นส่วนเห็น ความรู้สึกก็เป็นอีกอันหนึ่ง เวลามันเห็นมันจะมี ถ้าเป็นธรรม เป็นข้างใน มันออกมาเป็นอย่างนี้

ฉะนั้น เวลาเรานั่งมองกันอย่างนี้ พิจารณากันอย่างนี้ แล้วทำไมมันถอนกิเลสล่ะ ทำไมถอนกิเลส เพราะมันมองนั่น แต่มันถอนที่นี่ เห็นไหม เวลาถ้ามันยิ่งละเอียดเข้าไป เวลาพิจารณาเข้าไปมันจะเป็นภายในเลย แล้วมันจะละเอียดเข้ามาๆ ถึงข้างในเลย แล้วถอนกันที่ข้างใน แล้วอย่างนี้ในตำราพระไตรปิฎกไม่มีหรอก หลวงตาพูดบ่อย พระไตรปิฎกนะ ใบไม้ในกำมือ

อย่าง “พุทธพจน์ๆ”...ใช่ เราเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นะ เราก็เคารพมากเลย เพียงแต่ว่า มีดเราเอามาใช้นะ มีดเราเอามาทำครัว มีดเอามาทำสิ่งเป็นประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ไง แต่มีดมันมี ๒ คม เขาให้เอามาทำครัว มันดันเอามาสับหน้าตัวเอง คือมันไม่เป็นความจริง

พุทธพจน์เป็นความจริง แต่กิเลสเรามันไม่เป็นความจริง พอไม่เป็นความจริง มันแบบว่าบีบบังคับให้เป็นกรอบ ให้เราจะทำความดีไม่ได้อย่างเป็นข้อเท็จจริง ถ้าข้อเท็จจริงอย่างเรานี่แหละ เวลามันเกิดก็ปล่อยให้เกิด ถ้าพูดอย่างนี้ไป พูดให้คนอื่นเขาฟังนะ เขาบอกว่า นี่จิตลงสมาธิแล้ว เสีย เพราะลงสมาธิจะเห็นนิมิต เขาว่าไปเห็นนิมิต

มันก็เป็นนิมิตจริงๆ นั่นแหละ แต่นิมิตถูกหรือนิมิตผิด นิมิตถูก หมายถึงว่า มันเห็นตามข้อเท็จจริงไง ถ้านิมิตมันปฏิเสธไม่ได้ อย่างเช่นเราจะปฏิเสธมะม่วงกับฝรั่ง เราจะให้มะม่วงเหมือนฝรั่งได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม มันเป็นไปไม่ได้ มะม่วงคือมะม่วง ฝรั่งคือฝรั่ง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเป็นมะม่วง มันก็เห็นนิมิตของมัน มันก็เห็นเป็นสภาวะแบบนั้น ฝรั่งมันไม่เห็นก็ไม่เป็นไร คือเห็นก็ได้ ไม่เห็นก็ได้ แต่เพราะอะไร เพราะผลไม้มันคนละชนิด จิตมันคนละชนิด จิตนี้ไม่เหมือนกัน จิตที่มันเห็นมันต้องเห็น

เพราะเราอยู่ที่นี่ ไอ้พวกปฏิบัตินามรูปมาให้เราแก้เรื่องนิมิตเยอะแยะเลย นามรูป ถ้ามันเป็นมะม่วงแล้ว มึงไปปลูกที่ไหนก็เป็นมะม่วง มึงจะพิจารณานามรูป ถ้าเป็นนิมิต พิจารณานามรูปก็เห็นนิมิต พิจารณาพุทโธก็เห็นนิมิต พิจารณากายก็เห็นนิมิต แต่ถ้ามันเป็นฝรั่งนะ มึงทำอะไรก็ไม่มีนิมิต ไม่มีหรอก ไม่มีมันก็คือมันไม่มี ก็มันไม่มีโดยข้อเท็จจริงของมัน มันเป็นอยู่ที่จิตน่ะ มันไม่ได้เป็นอยู่ที่วิธีการไง แล้วจะบอกว่านามรูปเห็นนิมิตหรือว่าพุทโธเห็นนิมิต...ไม่ใช่

มันเป็นที่จิตที่ต้องเห็น จิตที่เห็นมันพิจารณาอะไรก็เห็น เพราะอะไร เพราะนามรูปมาหาเราเรื่องนิมิตเยอะ แล้วพอมาถามเรา เราจะบอกว่า ไหนบอกว่าไม่มีนิมิตไง นามรูป พิจารณานามรูป พิจารณาวิปัสสนาสายตรงไม่มีนิมิตไง

พิจารณานามรูปมีนิมิตไหม เคยมีไหม เคยได้ยินไหม

อ้าว! แล้วทำไมมันมีล่ะ

นี่! เจ้าของนามรูป เมื่อวานให้เขาไปหา ไม่เจอกัน

ฉะนั้น ไอ้เรื่องวิธีการมันไม่เป็นไรหรอก เหมือนกับ เช่น ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ก๋วยเตี๋ยวซีอิ๊ว ก๋วยเตี๋ยว ก็ก๋วยเตี๋ยวเหมือนกัน กินได้เหมือนกันทั้งนั้นน่ะ วิธีการไง เพียงแต่ให้มันถูกต้องเท่านั้นน่ะ ก๋วยเตี๋ยวมันมีก๋วยเตี๋ยวเดียวที่ไหนล่ะ ก๋วยเตี๋ยว ดูเข้าไปสิ ก๋วยเตี๋ยวมันมีทั้งนั้นน่ะ มันมีตั้งหลากหลายก๋วยเตี๋ยวเลย จะเอาก๋วยเตี๋ยวอะไรล่ะ ก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยเตี๋ยวบก ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ก๋วยเตี๋ยวเยอะแยะไปหมด

การปฏิบัติก็เหมือนกัน มันอยู่ที่เราใช้ประโยชน์อะไรของมันเท่านั้นน่ะ เพียงแต่ว่า นามรูปอยู่นั่นน่ะ นามรูป ประสาเราเลย คือปฏิเสธ เราพูดเมื่อวานว่านามรูปมันก็เหมือนกับแก้วน้ำเปล่า แก้วน้ำมีแต่อากาศ ไม่มีอะไรเลย แล้วก็ว่างๆ กันอยู่อย่างนั้นน่ะ สบายไง เพราะมันไม่มีอันตราย แต่ถ้าเป็นพุทโธ เวลาจิตเป็นสมาธิขึ้นมา มันเหมือนแก้วน้ำที่มีน้ำเต็ม

น้ำมีประโยชน์ไหม น้ำในแก้วนั้นน่ะ เอ็งเดินไปเดินมานะ เดินไม่ดีนะ มันกระเฉาะนะ มันหกนะ มันรดใส่มึงนะ นี่ก็เหมือนกัน พอกำหนดพุทโธขึ้นมา จิตมันจะมีอาการเป็นไป แก้วมันเริ่มมีน้ำไง แก้วมีน้ำ เราถือแก้วน้ำมีน้ำ เราไปไหนเราต้องระวังนะ น้ำจะหก

แต่แก้วเปล่านะ หมุนได้เลย ก็นามรูปไง ไม่มีอะไรเลย ว่าง สบาย ไม่บ้าไม่บอ ไม่เห็นนิมิต ไม่เห็นอะไร มันจะไม่ได้ ก็มันไม่มีอะไรเลย ก็มันไม่มีผลตอบสนอง ไม่มีอะไรเลยไง นี่วิปัสสนาสายตรง สายตรงแก้วเปล่าๆ ไง

แต่ถ้าพุทโธขึ้นมา พุทโธโดยธรรมขึ้นมา แก้วน้ำ มันจะบรรจุน้ำ บรรจุน้ำคือฐานของจิต จิตมันจะคงรูปของมัน จิตมันจะเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตจะตั้งมั่น จิตจะมีความรู้สึก จะมีร่มมีเย็น มีทุกข์มีร้อน มีผิดมีถูก นี่ไง มันมีน้ำแล้ว

ทีนี้ไปปฏิเสธเสีย อันนี้อันหนึ่ง แล้วอย่างที่พูด อย่างถ้าว่ามันว่างๆ ว่างๆ คำว่า “ว่างๆ” มันเป็นความเข้าใจของพวกเรา เราเข้าใจว่ามันว่างใช่ไหม เราก็ต้องทำ โดยสามัญสำนึกทุกคนทั่วไปบอกเลย บอกศาสนาพุทธ ศาสนาสอนให้ปล่อยวาง ก็คือความว่าง แล้วทุกคนก็บอกจะว่างแล้ว ปล่อยวาง

เราถึงบอกว่าปล่อยวางแบบขี้ลอยน้ำไง ว่างแบบขี้ลอยน้ำ ดูขี้ลอยน้ำสิ มันไหลไปตามกระแสน้ำ ไหลไปเรื่อย ว่างอย่างนี้ว่างมีประโยชน์อะไร แต่ถ้าว่างแบบพระพุทธเจ้านะ เพราะพระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้ ธรรมะพูดอย่างนี้นะ ทวนกระแส ว่างแบบปลาว่ายทวนน้ำ ความว่างของพระพุทธเจ้านะ เหมือนปลาว่ายทวนน้ำ ว่ายขึ้นไปทวนน้ำด้วย ออกแรงด้วย แล้วว่างด้วย คือเวลาว่างมันว่างแบบไดร์ เห็นไหม ไดร์มันได้ศูนย์เวลามันหมุน มันหมุนติ้วเลย มันมีแรงงานปฐม แต่มันไม่มีการเคลื่อนไหวเลย มันหมุนในตัวมันเอง

สมาธิมันเป็นอย่างนั้น สมาธิ จิตที่มันตั้งมั่น ที่ความว่าง ว่างแบบไดร์ที่มันหมุน แล้วมีกำลังมาก กับว่างๆ อย่างนั้นมันคนละว่าง เพราะอะไร เพราะเวลาจิตมันจะลงสมาธินะ ถ้ากำหนดพุทโธๆๆๆ จิตมันจะลงไป ความรู้สึกมันจะละเอียดเข้าไป คำว่า “ลง” หมายถึงมันละเอียดเข้ามาๆ แล้วรู้สึกตัวตลอด อย่างเช่นลมพัดมาเอื่อยๆ แล้วก็เย็นๆ นิดหน่อย ลมแรงขึ้นมานะ ความเย็นก็มากขึ้นใช่ไหม ลมกรรโชกแรง โอ๊ย! ก็เย็น หนาวเย็นเลย จิตเวลามันค่อยๆ ลง ค่อยๆ ลง ค่อยๆ ละเอียดเข้ามาๆ นี่ไง มันว่างแบบมีความรู้ไง มันว่างแบบมีเจ้าของ มันว่างแบบมีสติ มันเข้าไปละเอียดขนาดไหน มันจะมีสติพร้อมไปตลอดเลย จนเป็นอัปปนาสมาธินะ สักแต่ว่ารู้ มันก็มีสติ แล้วมันไม่มีขาดวรรคขาดตอน

ขาดวรรคขาดตอนคือว่าสติหายไป ความรู้สึกหายไป แล้วมันค่อยมาต่อกันเป็นสมาธิอีก ไม่มี สมาธิมันจะละเอียดเข้ามาเรื่อยๆๆ นี่สมาธิ แต่ถ้ามันเริ่มสติเข้ามาละเอียดแล้วหายไปเลยนี่ตกภวังค์แล้ว ตกภวังค์ก็ต้องมาเริ่มต้นใหม่

ความว่างมันต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่า “ว่างๆ ว่างๆ”...ว่างอะไรกันก็ไม่รู้ มันว่างแบบนี้นะ เรารู้ คำว่า “เรารู้” หมายถึงว่า คนสอนมันไม่รู้ เพราะคนสอนมันจับต้นชนปลายไม่ได้ มันไม่รู้จักสติ ไม่รู้จักจิตที่มันเข้าถึงสมาธิ มันเลยเปรียบเทียบว่าความว่างก็คือความว่าง ความว่างคือเป็นการจินตนาการใช่ไหม จินตนาการว่าในที่โล่งในที่ว่าง จิตก็ต้องเป็นในที่โล่งที่ว่าง ที่โล่งที่ว่าง มันไม่มีใครเป็นเจ้าของ คำว่า “เจ้าของ” คือสติ ถ้าขาดสติ ทุกอย่างเป็นมิจฉาหมด ถ้ามีสติ ความว่างก็เป็นประโยชน์หมด

สติให้เป็นสัมมา ขาดสติเป็นมิจฉา สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ “ว่างๆ ว่างๆ” อย่างนั้นถึงเป็นมิจฉาสมาธิ คือเป็นสมาธิที่ผิด สัมมาคือถูก มิจฉาคือผิด สมาธิก็มีถูกมีผิด ผิด หมายถึงว่า มันไม่เป็นประโยชน์กับตัวมันเอง หรือถ้าเป็นสมาธิขึ้นมาโดยไม่มีศีล ไม่มีศีลเป็นส่วนประกอบ เขาทำคุณไสย เห็นไหม ทำคุณไสย พวกหมอดู พวกดูจิต พวกอะไร เขาก็อาศัยสมาธิเป็นที่หากินของเขา นี่ไง มิจฉาไง มิจฉาสมาธิ

สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิคือจิตที่มันว่าง ที่เราพูดเมื่อกี้นี้มันว่างอย่างนั้น นี่สัมมาสมาธิ แล้วถ้ามีอำนาจวาสนา มีอำนาจวาสนาออกวิปัสสนา คือออกทำงานอีก นี่ไง จิตออกทำงาน จิตออกทำงานมันก็เป็นภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากจิต ผลตอบสนองมาที่จิต ที่จิตเพราะจิตมันจะถอนกิเลสที่จิต จะถอนไปเรื่อยๆ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี จนถึงสุดท้ายอนาคามี อรหัตตมรรค ทำลายจิต พระอรหันต์ถึงไม่มีจิต เป็นธรรมธาตุ หลวงตาบอกเป็นธรรมธาตุ ถ้ามีจิตคือมีภพ มีภพ มีที่ตั้งไง

อย่างเช่นเราทุกคนต้องมีทะเบียนบ้าน ต้องมีทะเบียนบ้าน ต้องมีฐานข้อมูล จิตก็เหมือนกัน จิตคือตัวฐานข้อมูล คือตัวสิ่งที่มันพาเกิดพาตาย ถ้ายังมีตรงนี้อยู่ ตัวภพ เกิดเป็นพรหมไง จิตหนึ่ง จิตหนึ่งเวลาตายปั๊บ ถ้าเข้าสมาธิได้ เกิดบนพรหม พรหมมีขันธ์เดียว ขันธ์ ๑ คือสมาธิ แต่ถ้าเป็นเทวดาก็ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๕ เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นพรหมนี่ขันธ์ ๑ เป็นหนึ่งเดียวเลย จิตถึงเวลา จิตนี้มันเกิดได้นี่ เพราะคนเราเกิดตั้งแต่วัฏฏะ ตั้งแต่พรหมลงมา ทีนี้จิตมันเกิดได้ทุกสถานะ เพราะตัวจิตมันตัวเกิด ถ้ามันไม่ได้ทำลาย มันก็ยังไม่สิ้น นี่ไง บนพรหม พรหมก็มีอยู่ ๒ ประเภท พรหมปุถุชนคือพวกฤๅษีชีไพรที่ทำสมาธิแล้วไปเกิดเป็นพรหม กับพรหมที่เป็นอนาคามี เพราะอนาคามี ตั้งแต่อนาคามี ๕ ชั้นขึ้นไป เวลาตายไปแล้วมันจะไปเลย คือมันจะสิ้นกิเลสไปเลย ไม่กลับมาเกิดอีก พรหมที่เป็นอนาคามี อนาคามี ๕ ชั้น ตรงนี้จิตทั้งหมดไม่เคยเข้าไป ถ้าเข้าไปแล้วจะไม่กลับมาอีกเลย พรหมปุถุชนแล้วก็เวียนตายเวียนเกิด นี่วัฏฏะ นี่พูดถึงจิต แต่ถ้าพอมันทำลายแล้ว พระอรหันต์ไม่มีจิต ถ้ามีจิตคือมีภพ มีจิตคือมีที่ตั้ง

อันนี้ถ้าเราฟังนี่มันก็แปลก มันแปลก หมายถึงว่า นานๆ จะเจอทีหนึ่ง ก็นั่งเทศน์อยู่นี่ เขาก็นั่งฟังอยู่นี่ เขามองมาเป็นโครงกระดูกเลย มันบอกถึงว่ามีวาสนา เพียงแต่ว่าถ้ามีวาสนา ทำไมไม่ภาวนาให้สิ้นกิเลสไปเลย มีวาสนา แต่ถ้าเราไม่ได้ใช้มัน เราไปใช้ในทางผิดไง ดูอย่างผู้ที่มีอิทธิพลเขาต้องมี คนที่มีอิทธิพล สังเกตได้ไหม เขาจะใช้คนเก่งมาก คนที่มีอิทธิพลเขาจะบริหารจัดการคนของเขาดี เขาถึงสามารถสร้างอิทธิพลของเขาได้ คนที่คนยอมรับเขามาจากไหน เขาต้องมาจากข้างบน ทีนี้ถ้าเขามาจากข้างบน ถ้าพูดถึงใช้คนแล้วใช้สิ่งดีๆ ก็ทำประโยชน์กับโลก แต่ถ้าพูดถึงเขาใช้อิทธิพลในทางผลประโยชน์กับเขา คือว่าเขามีฐานของเขา เพียงแต่ใช้ดีหรือไม่ดี นี่ไง ถ้ามีบารมี แล้วเรามีข้อมูลอย่างนี้ ใช้ในทางบวก ทางบวกนะ แล้วเราพยายามของเรานะ เราสิ้นกิเลสได้

แต่นี่เรามีกิเลสใช่ไหม เราคิดว่ามันดีไง แล้วเราใช้ของเราไป เพราะอิทธิพลมันเป็นกลาง อิทธิพล คำว่า “อิทธิพล” อำนาจวาสนา อิทธิพลมันมี แต่เวลาใช้ออกไปมันใช้ไปทางบวกทางลบได้ทั้งนั้นน่ะ อย่างความกล้าหาญ ความกล้าเป็นสิ่งที่ดีนะ แต่กล้าหาญ กล้าหาญในทางอะไร กล้าหาญ คนกล้า เวลาเกิดวิกฤติขึ้นมามันไม่มีปัญญามีหลักมีเกณฑ์จะวินิจฉัยข้อมูลเหตุการณ์นั้นด้วยสติปัญญา แต่ถ้าคนกล้าหาญ กล้าหาญในทางทำร้ายเขา มันก็ผิดอีกล่ะ กล้าหาญมันก็มีอีก ทุกอย่างมันมีถูกผิด มีบวกมีลบหมด อยู่ที่เราใช้ นี่พูดถึงอำนาจวาสนานะ

อืม! แกก็ฟัง มันเป็นไปได้ เป็นไปโดยกำลังของสมาธิ เป็นกำลังของสิ่งพื้นฐานไง

มีอะไรว่ามา จะเอาปัญหาใหม่ อ้าว! ว่ามาเลย

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ได้ สมาธิ อัปปนาสมาธิ มันเป็นแบบบางทีจิตมันเข้า หลวงตาท่านบอกว่าท่านเรียนหนังสืออยู่ ๗ ปี จิตมันลงอยู่ ๓ หน ๗ ปี หลวงตานี่ ท่านบอกว่าท่านเรียนปริยัติอยู่ ๗ ปี เรียนด้วย แล้วท่านก็ภาวนาด้วย เวลาพอกลางคืนก่อนนอนสักชั่วโมงสองชั่วโมง ท่านทำอยู่ ๗ ปี จิตเคยเข้าอัปปนาหรือเข้ารวมใหญ่ ๓ หนเท่านั้น ๗ ปี เป็นรวมอยู่ ลงสมาธิ ๓ หน แล้วพอออกมาปฏิบัติแล้วท่านถึงเอาเต็มที่

ฉะนั้น เราจะบอกว่าอัปปนาสมาธิมันเป็นที่พักจิต เหมือนประสาเรานะ ถ้าเป็นเทคนิคของเราเอง ไอ้การสอนการปฏิบัติส่วนใหญ่แล้วเขาใช้ประสบการณ์ของจิตดวงนั้น ฉะนั้น เทคนิคของเรา หมายถึงว่า เวลาโยมมา เราเป็นหมอใช่ไหม โยมมาถึงก็ถามเรื่องการปฏิบัติ แล้วบอกเมื่อไหร่ เมื่อไหร่เราจะเห็นกาย เมื่อไหร่เราจะวิปัสสนาเสียที ทุกคนก็ทำสมาธิแล้ว

เราก็บอกว่า ทำสมาธิเข้าไปเรื่อยๆ ขณิกสมาธิมันเข้าไปจิ่มๆ คือเข้าแล้วมีความสบายๆ กัน นี่ขณิกสมาธิ แล้วอย่างนี้ ประสาเรา มันไม่ต่างจากปุถุชนมากนัก เราจะบอก เมื่อวานเราบอกกับพวกหมอเขาที่เขาบอกว่าทำสมาธิ เขาถามว่าสมาธิจะทำได้อย่างไร

เราบอกโดยปกติสามัญสำนึก ทุกคนมีสมาธิหมดแล้ว ถ้าไม่มีสมาธินะ เหมือนเด็ก เด็กสมาธิสั้น สมาธิยาว ถ้าสมาธิสั้นหรือเด็กขาดสมาธิ มันก็เข้าโรงพยาบาลศรีธัญญาหมดแล้ว เราจะบอกว่านี่คือสมาธิของปุถุชนไง พวกเรามีสมาธิอยู่แล้ว เดี๋ยวก็เผลอ เดี๋ยวก็ลืมอยู่อย่างนี้ ครึ่งๆ กลางๆ อยู่อย่างนี้ นี่สมาธิของปุถุชนใช่ไหม

แล้วขณิกสมาธิ นี่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน มันต่างกันนิดหน่อย เห็นไหม มันต่างกัน ถ้าขณิกะ เรามีพื้นฐาน พื้นฐานของเราจะลึกซึ้งกว่าสมาธิธรรมดานี้แล้ว แล้วถ้าเป็นอุปจารสมาธิ อุปจาระ อุปจาระ หมายถึงว่า ระเบียงบ้าน ระเบียงบ้าน อุปจาระคือวงรอบของจิต ถ้าจิตมันเข้าไปถึงอุปจารสมาธิ ตรงนี้ ตรงนี้เป็นที่วิปัสสนา

เพราะคำว่า “วงรอบของจิต” เพราะวงรอบของจิต เพราะจิตมันเห็นกายใช่ไหม จิตเห็นกาย จิตเห็นจิต จิตเห็นต่างๆ เขาเรียกตรงนี้เป็นอุปจารสมาธิ แล้วทีนี้ถ้าคนทำได้โดยอย่างนี้ มันก็เหมือนกับเด็ก เด็กที่มันเรียน มันสอบ มันผ่าน ก็ไม่เป็นไรใช่ไหม ก็ให้มันผ่านเลย ถ้าเด็กมันสอบไม่ผ่าน มันต้องซ่อม ถ้าเด็กมันสอบไม่ผ่าน ทำอย่างไร ถ้าเด็กสอบไม่ผ่าน เราจะพิสูจน์ไง เราถึงบอกว่าให้พยายามพุทโธเข้าไปให้ถึงอัปปนา อัปปนา หมายถึงว่า อัปปนา ตรงที่เป็นอัปปนานี่นะ จิตมันวิปัสสนาไม่ได้ วิปัสสนาไม่ได้เพราะอะไร

อุปจารสมาธิเหมือนบ้าน มีระเบียง บ้าน มีสถานที่ทำงาน อุปจารสมาธิ ตัวบ้านคือตัวจิต อุปจาระคือรอบจิต รอบจิต จิตออกทำงานใช่ไหม ถ้าเป็นอัปปนามันรวมหมด อัปปนาสมาธิ จิตมันจะดิ่งลงจนดับหมดไง สักแต่ว่า สักแต่ว่า เหมือนคนนอนหลับ คนนอนหลับทำงานไม่ได้ใช่ไหม แต่จิตมันพัก มันปล่อยจนไม่รับรู้กายเลย อัปปนาสมาธิมันปล่อยหมด ลึกมาก เขาเรียกรวมใหญ่ ปล่อยหมด ว่าง สักแต่ว่ารู้ เสียงก็ไม่ได้ยิน เสียงเสิง ความสัมผัสนี้ไม่มีเลย แต่ไม่ใช่หลับนะ รู้สึกตัวอยู่ แต่มันปล่อยวางหมด อันนี้มันจะมีกำลังมาก

ถ้ามีกำลังมากปั๊บ เวลามันออกมา ถ้ามันจะพิสูจน์กันตรงที่ว่าพิจารณากายได้ไม่ได้ตรงนี้ ที่เราให้เข้าอัปปนา พยายามจะเข้าให้ถึงหลักถึงฐานของจิต คือเหมือนกับเราไปเปิดบัญชี เปิดบัญชีในโกดังสินค้าหรือในบัญชีของเราในหัวใจเรา คือว่าข้อมูลของเรามีเท่าไร เปิดบัญชี แล้วออกมาดูว่าเรามีเงินเท่าไร ถ้าจิตมันเข้าถึงอัปปนาสมาธิแล้ว แล้วออกมาแล้วน้อมไปที่กาย ถ้าไม่เห็นกายนะ จบแล้ว คือว่าในบัญชีเราทำอย่างนี้ไม่ได้ คือถ้ามันพิจารณากายไม่ได้ เราก็ต้องหาหนทางพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม

แต่โดยสามัญสำนึก โดยสามัญสำนึกพื้นฐานต้องพิจารณากายก่อน คือว่ามันเป็นงานง่ายที่สุด การพิจารณากายมันเป็นกำปั้นทุบดิน คือของมันจับต้องอย่างนี้ ของเป็นรูปธรรมที่จับจ้องได้กันเลย ก็ทำกันอย่างนี้ง่ายๆ ของที่ซึ่งๆ หน้านี่ แต่พอทำเข้าไปแล้วมันทำไม่ได้ หรือทำแล้วมันไม่ใช่หนทางของเรา เราค่อยหาทางอื่นออก

ที่เราสอนให้บอกว่าให้ทำไปพุทโธไปเรื่อยๆ เข้าไปถึงฐานข้อมูลแล้วไปพิสูจน์กัน พิสูจน์กันว่าเราจะมีความสามารถทำงานแขนงนี้ ทำอย่างนี้ทำได้ไหม ถ้าทำได้มันก็เป็นประโยชน์ นี่คือเทคนิคของเรา

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ไม่ถึงอัปปนา อัปปนาต้องพยายาม คำว่า “อัปปนา” นี่นะ พยายามต้องไม่รับรู้อะไรเลย ถ้ารับรู้แล้วจิตมันส่งออกตลอด เวลาถ้าจะทำ เราต้องอดอาหาร ต้องอะไรเต็มที่ ถ้ามันไม่ได้ ทีนี้ถ้าไม่ถึงอัปปนาเสียทีก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่ถึงอัปปนาใช่ไหม จิตมันสบายๆ แล้ว เราก็คิด เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจเลย คือว่ามันออกใช้ปัญญาได้ไง

ถ้าเราจะรออัปปนา ถ้ามันเข้าไม่ได้อัปปนาเลย มันก็เหมือนกับว่าเราจะต้องรอ เราเป็นชาวประมงใช่ไหม เราต้องมีเรือใหญ่ออกทะเล ถ้าเราหาเรือใหญ่ไม่ได้ เราคงตายเลยล่ะ คือเรายังไม่มีเรือใหญ่ออกทะเลลึกใช่ไหม การออกทะเล ทะเลหลวง เรือประมงต้องใหญ่ ทีนี้ถ้าเราเป็นประมงพื้นบ้าน เรามีแต่เรืออีแต๊ก แล้วกูจะไปได้อย่างไร มันก็จะเสียเวลาเปล่า

ฉะนั้น ประมงพื้นบ้านหรือประมงออกทะเลน้ำลึก แต่เราก็หาปลาได้ หาปลาเพื่อดำรงชีวิตใช่ไหม ฉะนั้น พอจิตเราสงบ จิตมีพื้นฐาน เราก็พิจารณาได้ เพราะประมงพื้นบ้านเขาก็เป็นเศรษฐีได้ เขาเป็นเศรษฐีธรรมไง ประมงน้ำลึกเขาก็เป็นเศรษฐีธรรมได้ เพียงแต่นี่มันเป็นเทคนิค เป็นเทคนิคที่เปรียบเทียบหรือค้นคว้า เหมือนหมอ หาสมุฏฐานของโรคให้ได้ การแก้จิตมันต้องหาสมุฏฐานของจิตให้ได้

เวลาใครมา เวลาเราพูดเราคุยด้วย นั่นน่ะเราหาช่องทาง หาช่องทางว่าจะเข้าอย่างไร จะแก้อย่างไร จะรักษาอย่างไร เหมือนหมอเลย เวลาคนไข้มา หมอต้องหูฟังเสียบแล้ว มึงเป็นอะไรๆ นี่เวลาคุยธรรมะกันน่ะ มึงเป็นอะไรๆๆๆ แล้วเราจะแก้อย่างไรๆ

ฉะนั้น เวลาคนภาวนาไม่เป็นน่ะ หมอเถื่อน มึงไปเถอะ เข้ามาเลย ยากูเป็นโกดังๆ เลย กินทุกเม็ด หายหมด กินยาทั้งโกดังไง เข้ามาบอกทั้งโกดังเลยล่ะ ทั้งฉีด ทั้งทา แต่ถ้าหมอเขาไม่ให้อย่างนั้นหรอก เขาให้ยาเฉพาะโรค

ฉะนั้น ถ้ามันเข้าอัปปนาไม่ได้ คำว่า “อัปปนา” ของเรา มันเป็นข้อเท็จจริงการพิสูจน์จิตว่าถ้าจิตมันจะวิปัสสนาจะทำอย่างไร จะควรทำอย่างไร แต่ถ้ามันยังไม่ได้ ไม่เป็นไร เพราะบางทีก็ไม่ได้ ไม่ได้หมายถึงจริตนิสัย อย่างเช่นที่พูด มะม่วงกับฝรั่งมันคนละชนิดไง คือถ้าไม่ได้ ศีล สมาธิ ปัญญา คำว่า “สมาธิแค่ไหนมันถึงจะเป็นโสดาปัตติมรรค”

รวมใหญ่ สมาธิมันมากเกินไป คำว่า “รวมใหญ่” ปั๊บ มันใช้ปัญญาไม่ได้ใช่ไหม พอใช้ปัญญาไม่ได้มันก็ขาดปัญญา ทีนี้จะใช้ปัญญาได้มันต้องถอยออกมา ถอยออกมามันก็ไม่ต้องถึงตรงนั้น ทีนี้ถ้าไม่ถึงตรงนั้นปั๊บ ถ้าไม่ถึงตรงนั้น เหมือนเราลงทุนกัน เราร่วมทุนกัน ร่วมทุนน่ะ ต้องใช้ทุนขนาดไหน ถ้าทุนขนาดนี้ประกอบธุรกิจได้ มันไปได้แล้ว ถ้าเราจะมีทุนมากกว่านั้นมามันก็แบบว่าทุนเราสูง เราไปแข่งกับเขาไม่ได้หรอก

ถ้าเป็นอัปปนาสมาธินี่ทุนมันสูงไง คือต้องกว่าจะลงอัปปนาสมาธิได้เราต้องลงทุนลงแรงมาก แล้วเราออกมานี่ เพียงแต่ว่าถ้าเราจะวิปัสสนาใช่ไหม ทุนเราน้อย มันทำไปแล้วมันแข่งขันกับเขาแล้วทุนเราน้อย สายป่านเราสั้น เราจะเอาอัปปนาสมาธิ คือทุนเรามากกว่า เราก็มีโอกาสมากกว่า คือเข้าอัปปนาสมาธิเพื่อพิสูจน์ไง พิสูจน์เพื่อให้จิตมันทำได้ นี่คือเทคนิค แต่ถ้ามันจะเป็นวิปัสสนา ไม่ต้องเข้าถึงตรงนั้น

มันก็อันตรายนิดหนึ่ง อันตรายนิดหนึ่งว่า พอทุนน้อย การกระทำของเรามันก็ง่อนแง่นใช่ไหม สมาธิเราไม่ดี ทุนเราน้อย เราจะไปแข่งกับเขามันก็สายป่านมันสั้นน่ะ อัปปนานี่คือทุน คือสายป่านสั้น สายป่านยาว จะสู้กับเขาได้ไม่ได้ สู้กับกิเลส ไม่ได้สู้กับใครเลย สู้กับกิเลสเราเองนี่แหละ สู้กับมันไหวไม่ไหว ถ้าฐานมันดี สู้ดี สู้ดี หมายความว่า เวลามันพิจารณาไปแล้วมันเห็น มันปล่อย มันเข้าใจ มันซาบซึ้ง สู้ไม่ไหวคือว่าเวลาพิจารณาไปแล้ว ฮ้า! ฮ้า! เหนื่อยอ่อน เข่าอ่อน นี่คือทุนน้อย สู้ไหวไม่ไหวอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ไปแข่งขันเปรียบเทียบทางโลก แต่ความจริงมันเป็นที่เรานี่แหละ

ถ้าสู้ไหวนะ โอ้โฮ! งานมันเสร็จหมด มันปล่อยวาง มันเวิ้งว้าง โอ้โฮ! สุดยอดไปหมดเลย ถ้าวันไหนจิตมันไม่ดีนะ อะไรมันก็โลกนี้มันทับอยู่คนเดียว โลกนี้มันอยู่บนหลังกูคนเดียว ทับกูแบนอยู่นี่ อึดอัดอั้นตู้ไปหมดเลย ก็กลับมาที่สมาธิ เวลาภาวนาไปมันจะมีเหตุการณ์อย่างนี้ ฉะนั้น มันอยู่ที่ความสมดุล เทคนิคของเรา เราจะใช้อย่างไร

ถ้าเราพุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าจิตมันสบายๆ แล้ว ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ กำหนดมันดู จับมันขึ้นมา ถ้าจับไม่ได้ให้เปรียบเทียบ เปรียบเทียบถึงซากศพ เปรียบเทียบสิ่งที่เราเคยเห็น เปรียบเทียบ ดูสลดสังเวชไหม ถ้ามันสลดสังเวช พอมันสลดสังเวช จำสิ่งนั้นไว้ สิ่งนี้ดี เราเอามาตั้งอีก ถ้ามันไม่จืดนะ ถ้ามันจืดปั๊บก็ต้องเอาอันใหม่

แต่ถ้าเป็นของจริงนะ เวลาจิตสงบแล้ว เพราะเราเห็นลูกศิษย์เราหลายคนมันจะเห็นไง ถ้าเห็นแล้วทุกคนจะตกใจหมด ใครเห็นใหม่ๆ นี่ตกใจมากเลย เพราะใจมันเห็น ไม่ใช่ตาเราเห็น คือคาดไม่ถึง ถ้าใครเห็นกายนะ มันจะเห็นสิ่งที่คาดคิดไม่ได้ เราไม่เคยคาดคิดว่ามันจะเป็นอย่างนี้ แล้วมันไปเจอเข้า ผงะเลย เอ๊อะ! เอ๊อะ! ของจริงมันเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าอย่างที่ว่าเป็นนามเป็นรูป เป็นพิจารณากันไป เป็นสร้างภาพกันไป ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่ ผงะเลยล่ะ

ฉะนั้น อย่างโยมตอนนี้ที่ถามว่า เมื่อคืนนี้เทศน์แล้วเห็นเรา เราถึงว่าความรู้สึกมันเป็นอย่างไร ถ้าความรู้สึกมันเป็นเรียบๆ มันไม่มีอะไรนะ มันเป็นเพราะบุญกุศล แต่ถ้าเป็นความจริงนะ เพราะความจริงมันไม่ได้เห็นที่ตา มันเห็นออกมาจากใจ มันสะเทือนใจ ถ้าเห็นกายนะ โอ้โฮ! เราเปรียบเทียบขนาดนี้เพราะว่าเราพิจารณาเป็น พิจารณามาแล้วเราถึงจะเปรียบเทียบ เด็กๆ มันเห็นไดโนเสาร์ มันชอบมาก ไดโนเสาร์คือสัตว์ที่มันสิ้นสูญพันธุ์ไปแล้ว กิเลสมันเก่าแก่อยู่ในหัวใจเรา ถ้าเราไปเห็นกายนะ มันก็เหมือนกับเราเห็นไดโนเสาร์เดินเป็นๆ เลย มันสะเทือนขนาดนั้นน่ะ เพราะเราถือว่ากิเลสมันเป็นของเก่าแก่ มันสะสมอยู่ที่ใจ แล้วมันไม่มีใครเคยรู้เคยเห็น แล้วเรานั่งทำสมาธิแล้วน้อมจิตนี้ไปเห็นกาย คือไปเห็นไดโนเสาร์ที่มันจะเดินมาคาบหัวเรา เราเปรียบเทียบความรู้สึกขนาดนี้เลย แล้วเราพูดอย่างนี้ก็เป็นจินตนาการใช่ไหม ลองทำดูสิ จินตนาการหรือไม่จินตนาการ

นี่ไง วิปัสสนาญาณ ทัสสนะ อาสวักขยญาณ ญาณหยั่งรู้ ญาณการชำระกิเลส มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากมึงสร้างภาพหรอก อย่างหมอเมื่อวานพูดถูกใจมาก “อ๋อ! ตรึกเอาอย่างนี้น่ะหรือ คิดเอาง่ายๆ อย่างนี้ฆ่ากิเลสได้หรือ” เขาไปถามทางโน้น เขาบอกว่า “อ๋อ! ความคิดอย่างนี้ฆ่ากิเลสได้ มันง่ายๆ อย่างนี้หรือ” เขาไม่เชื่อเลยนะ

“ความคิดเราพื้นๆ อย่างนี้ฆ่ากิเลสได้นะ โอ๊ย! กล้าเถียงพุทธพจน์หรือ”

โดนเขาถาม ตอบเขาไม่ได้ อ้างพุทธพจน์เฉยเลย

เขาถามเลยนะ “ความคิดอย่างนี้ฆ่ากิเลสได้หรือ” เพราะเขาเป็นหมอใช่ไหม เขาบริหารจัดการอยู่แล้ว แล้วความคิดอย่างนี้ พอสอนเขามา เขาบริหารจัดการการบริหารงานเขาอยู่แล้ว แล้วเขาคิดของเขาอยู่ทุกวันอยู่แล้ว แล้วบอกความคิด ปัญญาเป็นอย่างนี้ๆ เขาบอก “ปัญญาอย่างนี้ฆ่ากิเลสได้หรือ”

มันบอกว่าอาจารย์ที่สอนตอบไม่ได้นะ พอตอบไม่ได้แล้วอึกอักเลยนะ อึกอักๆ

แล้วพวกเรามันไม่เคยคิดไง ไปเห็นเขาสอนก็เชื่อเขาไปหมด มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาพื้นฐานที่เป็นเรื่องโลกๆ นี่แหละ มันไม่เป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญามันต้องมีสมาธิเป็นตัวพื้นฐาน กรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน

ทีนี้เราไม่เคยเห็นฐาน เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะบอกบ่อย ออฟฟิศ สถานที่ทำงาน นี่ก็สถานที่ถอนกิเลส แล้วสถานที่ถอนกิเลส เหมือนกับวิ่งแข่งเลย ๑๐๐ เมตร จุดสตาร์ตกับจุดจบ ไอ้นี่จุดสตาร์ตก็ไม่รู้ แล้วเส้นชัยที่ไหนก็ไม่รู้ เขาวิ่งกันในสนามนะ ไอ้นี่วิ่งอยู่นอกลู่ มึงจะวิ่งไปไหน ใครจะไปตัดสินมึง เขาวิ่ง ๑๐๐ เมตรอยู่ในลู่ ไอ้นี่วิ่งไปไหนไม่รู้อย่างกับคนบ้าเลย แล้วก็บอกว่าแข่งวิ่ง ๑๐๐ เมตรกับเขา

อ้าว! เหมือนกัน นี่ปัญญาก็เหมือนกัน ปัญญา ว่าปัญญาๆ ก็วิ่ง ๑๐๐ เมตรไง เขาต้องวิ่งอยู่ในลู่ อยู่ที่กรรมฐาน พื้นฐานของจิต ไอ้นี่ไปรอบ ไปไหนก็ไม่รู้ เตลิดเปิดเปิงไปเลย นามรูป ปัญญา วิปัสสนาสายตรง นู่น วิ่งไปอยู่บนพระอาทิตย์นู่น

มันฟังแล้วมันสลดสังเวช แต่เรารู้นะ เรารู้ คำว่า “รู้” นี่พูดบ่อย เรารู้ว่าเวลาพูด มันไม่มีใครรู้จริง มันไม่มีใครมีหลักจริง แล้วมันจะไปเถียงเขาไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเขาเหมือนนักกฎหมาย เขาแม่นตัวบท พวกอภิธรรมเขาจะแม่นตัวอักษรมาก แล้วเขาจะพูดตามนั้น แล้วเวลาพูดปั๊บ เขาจะไล่ อยู่บรรทัดไหน อยู่ข้อไหน เหมือนกฎหมายเลย ข้อใด วรรคที่เท่าไร วรรค ๑ วรรค ๒ เขาต้องพูดกันอย่างนั้นเลย

แล้วพอเราบอกวรรคไหนกูไม่รู้ แต่กูรู้ถูกรู้ผิด

โอ๋ย! เก่งกว่าพระพุทธเจ้าล่ะ เพราะเราเคยไปโต้กับเขามาแล้ว แล้วพูดอย่างนั้นปั๊บนะ พออย่างนั้นปั๊บ โดยโลกใช่ไหม โดยวิทยาศาสตร์ เขาใช้ได้ เขาถูก เขาพูดถูกตามตัวอักษรหมดเลย แต่เขาก็ก็อปปี้มา

แต่ของเรารู้ที่ไหน รู้ที่ใจ พระพุทธเจ้าปรารถนาอะไร อย่างนิยามของกฎหมาย นิยามเพราะอะไร พระทำผิด ทำผิดถึงบัญญัติกฎหมาย บัญญัติเสร็จแล้วมีอนุบัญญัติอีก เพราะอะไร เพราะพระทำผิดแล้ว ห้ามผิดอย่างนี้ แต่พระองค์อื่นไปทำผิดอย่างอื่นอีก ซ้ำอีก ก็อนุบัญญัติ พออนุบัญญัติแล้ว พอมีอนุบัญญัติปั๊บ บางอย่างมันไม่เข้าองค์ประกอบ เป็นอนาบัติ เป็นอาบัติ เป็นอนาบัติ เป็นอาบัติคือผิด เป็นอนาบัติคือไม่ผิด นี่ในธรรมวินัยมันยังมี

ไอ้นี่ไปท่องตัวอักษรเลย แต่ไม่รู้จักที่มาที่ไป

เพราะเรารื้อพระไตรปิฎกมาหมดแล้ว แล้วถ้าเราทำถูกต้อง ทำดีแล้ว ไม่มีความผิดหรอก

ทีนี้เพียงแต่อย่างนั้นปั๊บนะ ยึดโดยตัวตามตัวอักษร แต่ไม่รู้ถึงนิยาม ไม่รู้ถึงนิยาม ไม่รู้ถึงความปรารถนาของพระพุทธเจ้าที่บัญญัติไง บัญญัติมาเพื่ออะไร วินัยข้อนี้บัญญัติมาเพื่ออะไร แล้วสิ่งที่เป็นอนาบัติ คือว่าที่อนุญาตให้ทำได้บ้าง มันเพื่ออะไร

เพราะความจริงพระพุทธเจ้าเรียบง่ายมาก ทุกอย่างทำให้เรียบง่ายมาก ให้สะดวกมาก ให้การภาวนาไปได้ง่าย แต่ที่มันยาก ยากเพราะอะไร ยากเพราะว่าไปเกร็งกันนี่ไง พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นอย่างนี้ ให้นั่งภาวนาอย่างนี้ นั่งเฉยๆ พระพุทธเจ้าบอกว่านั่งก็ได้ เดินก็ได้ ยืนก็ได้ นอนก็ได้ แล้วเราทำตามข้อเท็จจริง

มีอะไรอีกไหม ว่าไป

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ได้ ได้หมด ครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้ ในขั้นของสมาธิมันต้องรวมสงบอย่างเดียว เวลากำหนดพุทโธ เวลาใช้ปัญญา มันต้องเหมือนโลกนี้ไม่มี เพื่อต้องการให้จิต เหมือนกับเราทอดแห เราทอดแหไปใช่ไหม เราลากแหกลับมา จอมแหเราดึงเข้ามามันจะรวมเข้ามาเป็นจุดเดียวใช่ไหม ขั้นของสมถะ ขั้นของสมาธิ มันบังคับให้จิตนี้หดตัวเข้ามา สงบเข้ามาเพื่อเป็นฐาน เป็นพลังงาน

แต่ถ้าขั้นของปัญญา อย่างที่พูดนะ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แล้วมันกระจายไป เวลาหว่านออกไป ขั้นของปัญญาจะไม่มีขอบเขต กว้างขวางอย่างไรก็ได้ ทีนี้ไม่มีขอบเขต แต่มีสมาธิคือฐาน เห็นไหม สมาธิสำคัญตรงนี้ ถ้ามีฐาน เพราะปัญญาถ้าไม่มีสมาธิมันเป็นโลกียปัญญา คือปัญญาเกิดจากจินตนาการ เกิดจากตรรกะของเรา เกิดจากอวิชชา เกิดจากกิเลสพาใช้ แต่ถ้ามีสมาธิขึ้นมา ถ้าเกิดพอมีสมาธิ คือจิตมันว่างๆ ใช่ไหม เราก็คิดถึงขันธ์ ๕ ถึงกรรมฐาน ๕

กรรมฐาน ๕ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันพิจารณาได้หมด ขั้นของปัญญา ทั้งหมดก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ กระจายได้กว้างขวางขนาดไหนก็ได้ เพราะมันออกไปจากสมาธินี่ไง ออกไปจากจิตไง ออกไปจากฐานของกิเลสไง ถ้าพิจารณาไปแล้วถ้ามันกว้างขนาดไหน ให้มันกระจายออกไป แล้วมันจะมาถอนที่ใจนี้ไง

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ได้ ถ้าขั้นของปัญญานะ เราจะบอกว่าขั้นของสมถะ ขั้นของสมาธิคือขั้นของมารยาทสังคม ต้องเรียบร้อย ต้องสงบเสงี่ยม แต่ขันของปัญญามันขั้นของการทำงานน่ะ เต็มที่เลย การบริหารจัดการได้หมดเลย ไม่มีขอบเขต ทั้งหมดก็ได้ อันเดียวก็ได้ ขยายเองก็ได้

เพราะถ้าเราไปกำหนดขอบเขตสิ่งใดแล้ว เหมือนการทำงานน่ะ ที่เราค้านอภิธรรมตรงนี้ไง ต้องตายตัวไง นามรูปต้องตายตัวอย่างไรไง แต่ถ้าเป็นขั้นของปัญญามันตายตัวไม่ได้ ถ้าตายตัว กิเลสมันหลบเลย กิเลสมันหลบซ่อนอยู่นั่นน่ะ แค่นี้เองไง ห้ามแค่นี้ใช่ไหม กูก็หลบอยู่ปลายขอบอีกทางหนึ่ง เสร็จ ขั้นของปัญญาไม่มี กระจายไปทั่วเลย หลวงตาบอกตาข่ายเลย กางตาข่ายเรดาร์ เรดาร์จับหมดเลย จับหมดเลย มีสิ่งใดเข้ามา กางแผ่ออกหมด

ชักจะมีปัญหา ว่ามา เข้าใจไหม

เออ! เอามาเลย จะพักแล้ว ว่ามา เหนื่อยแล้วเว้ย

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ถ้ามันเป็น มันเริ่มต้นภาวนานี่นะ ธรรมดาเหมือนกับจุดขยะ ขยะเปียก จุดอย่างไรก็จุดไม่ติด แต่ขยะพอมันจุดติดแล้วเขาเรียกว่าจุดติดแล้วมันจะไหม้ต่อไปเรื่อยๆ มันจะสุมขอนจนกว่าขยะจะหมดกองนั้น

ขั้นของปัญญา เวลาจะให้มันเป็นปัญญานี่จุดติดยากมาก แต่พอจุดติดแล้ว ไฟมันจะเผาตลอด มันจะนอนไม่ได้ การนอนไม่ได้มันก็มีหลายระดับ การนอนไม่ได้นะ อย่างเช่นถ้าเรานอนไม่ได้โดยสามัญสำนึกของเรา มันนอนแล้วมันวิตกกังวล หรือว่าเขามีความที่เคยเป็นมา ก็ต้องพยายามใช้ปัญญาอบรมสมาธิให้มันหลับก่อน ให้มันพัก ให้มันพัก

ดูหลวงตาสิ หลวงตาท่านตอนที่ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะถามหลวงตาตลอด “เป็นอย่างไรมหา จิตดีไหม”

“ดีครับๆ”

จนเวลา “ดีครับ”

“ดีบ้าอะไร มาติดอะไรอยู่ที่นี่”

ทีนี้หลวงตาท่านมีพื้นฐานของท่านใช่ไหม ท่านก็บอกว่า “อ้าว! ถ้าไม่อย่างนั้นสัมมาสมาธิอยู่ที่ไหน” แล้วท่านต้องคิดว่าของท่านถูกไง

หลวงปู่มั่นบอกว่า “สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้า...” เห็นไหม นี่มันเข้าอภิธรรมนี่แหละ “สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้ามันไม่มีกิเลส สัมมาสมาธิมันเป็นความถูกต้อง ความสะอาด ความดีงาม แต่สัมมาสมาธิของท่าน...” แน่ะ เห็นไหม “...สัมมาสมาธิของท่านมันมีสมุทัย มันมีกิเลสอยู่เว้ย มันจะเป็นสัมมาสมาธิไปได้อย่างไร” นี่หลวงปู่มั่นเวลาท่านโต้แย้งกับหลวงตา

หลวงตาท่านบอกว่า “อ้าว! ถ้าไม่สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก็สมาธิถูกต้องนี่ไง แล้วเราจะให้ไปอยู่ที่ไหน”

หลวงปู่มั่นบอกว่า “อ้าว! สัมมากับสมาธิของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง สัมมากับสมาธิของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ สัมมาสมาธิที่มันสะอาดบริสุทธิ์ กับสัมมาสมาธิของท่าน” คือสัมมาสมาธิของผู้ที่ติดไง ผู้ที่ติด เพราะติดมันหลง นี่ไง มันถึงไม่สะอาดบริสุทธิ์ใช่ไหม

เถียงกันอยู่นานจนชัก “เอ๊อะ! น่าจะเป็นอย่างนั้น”

นี่จะเปรียบเทียบให้ดูก่อน เพราะนั่นจะเห็นว่าเพราะมันไปติดสงบไง ติดว่าความสงบ สมาธินี้เป็นนิพพาน แล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านบอกนะ “ไอ้นิพพานของท่าน ความสุขที่ว่าเป็นนิพพานมันแค่เป็นความสุขที่เป็นเศษเนื้อติดฟัน”

เศษเนื้อติดฟันมันมีรสชาตินิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง แต่เราว่า โอ้โฮ! มันสุขมาก

หลวงปู่มั่น นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็น ท่านผ่านมาแล้วท่านบอกเลยว่า “นิพพานของท่านนี่นะ มันแค่ความสุขที่เศษเนื้อติดฟันที่มันติดอยู่ที่ฟันเท่านั้นน่ะ ความสุขอย่างนี้มันจะเป็นนิพพานได้อย่างไร”

งงน่ะ งง ก็เลยออกไง พยายามบังคับให้จิตออกมา ก็มาเห็นอสุภะ นี่ไง พอเห็นอสุภะปั๊บก็พิจารณา พอพิจารณาก็เข้าตรงนี้แล้ว เข้าที่ว่านอนไม่ได้แล้ว พอพิจารณา นอนไม่ได้เลย พิจารณาแล้ว พอมันนอนไม่ได้ เพราะปัญญามันหมุนไง พอปัญญามันหมุนปั๊บ แล้วความเห็นของท่าน ความเห็นของหลวงตาท่านบอกตอนขณะนั้นท่านเห็นว่าไปติไง เมื่อก่อนเป็นสมาธิก็ไปนอนตายอยู่นั่น สมาธิไม่มีประโยชน์อะไรเลย เห็นไหม มันต้องมีปัญญาสิ พอออกปัญญามันก็หมุนติ้วๆๆ นอนไม่ได้ พอนอนไม่ได้มันก็ทุกข์ไง พอทุกข์ก็กลับไปหาหลวงปู่มั่นอีก “บอกว่าให้ออกใช้ปัญญาๆ ตอนนี้ปัญญาออกแล้วนะ ไม่ได้นอนเลย นอนไม่ได้เลย นอนไม่ได้เลยน่ะ”

ติดสมาธิมันก็ไม่ยอมออก พออกมามันก็เกินกว่าเหตุ

พอบอก “นอนไม่ได้แล้ว”

“นอนไม่ได้อย่างไร ก็มันคิดทั้งวันทั้งคืนเลย”

“นั่นล่ะมันบ้าสังขาร”

“อ้าว! มันบ้าสังขารอย่างไร ถ้าไม่คิดไม่ใช้ปัญญามันก็ฆ่ากิเลสไม่ได้ ถ้าไม่ใช้ปัญญาไง นี่ใช้ปัญญาแล้ว ปัญญามันก็หมุนใหญ่เลย”

“นั่นแหละ นั่นแหละมันบ้าสังขาร”

ก็เวลาติดสมาธิ ท่านก็ขนาบให้ออกมาใช้ปัญญา พอใช้ปัญญามันก็เกินกว่าเหตุอีก ท่านก็ขนาบ ขนาบให้พักในสมาธิ ท่านบอกเลย นี่ไง การเห็นอสุภะนี่อนาคามิมรรค พอถึงสุดท้ายแล้วมันนอนไม่ได้ ทำอย่างไร

พอนอนไม่ได้ปั๊บ ท่านบอกว่าเหมือนเด็กหัดใหม่เลย ต้องกลับมาที่พุทโธๆๆ จนมันสงบตัวลง พอปล่อยพุทโธ มันพุ่งเข้าใส่อีกแล้ว เวลาปัญญามันหมุนแล้ว นี่ขั้นของอนาคามี

แต่ของเราขั้นอะไรล่ะ ของเราขั้นแค่ใช้ปัญญาใช่ไหม อย่างนี้เราจะบอกว่า เวลาเราฟังเทศน์ครูบาอาจารย์นะ อ่านหนังสือครูบาอาจารย์ในฝ่ายปฏิบัติ เราจะจับประเด็นไว้ แล้วประเด็นนี้เราจะตั้งไว้ให้เป็นอาวุธของเรา แล้วเราจะเปรียบเทียบเพื่อจะไม่ให้เราออกหลงทางตลอด ประเด็นของครูบาอาจารย์ที่ใครหลง ใครพลาดสิ่งใด เราจะอ่านเป็นข้อมูลนะ แล้วฝังไว้ในนี้ แล้วเวลาเราทำไป พอมันมีปัญหาอะไรขึ้นมา เราจะเอาข้อมูลอย่างนี้เข้ามาตรองเพื่อจะไม่ให้ตัวเองผิดพลาด

ใครหลง ครูบาอาจารย์องค์ไหนก็แล้วแต่ในประวัติของแต่ละองค์ หลงติดสมาธิ ๑๗ ปี หลวงปู่หลุยกับหลวงปู่เทสก์ ติดสมาธิ ๑๗ ปี ๑๑ ปี องค์ไหนติดตรงไหนๆ หลวงปู่คำดีติดตรงไหน จำหมดนะนี่ เพื่ออะไรรู้ไหม เพื่อจะไม่ให้ตัวเองมันมีข้อมูล เพื่อจะให้ตัวเองไม่ผิดพลาดไง ฉะนั้น เวลาพูดมา สิ่งที่นี่มันฝังอยู่ในนี้ ฉะนั้น เวลาพูดมา เราถึงเอามาเป็นคติเป็นตัวอย่างว่าครูบาอาจารย์ท่านผ่านของท่านมา ท่านจะมีอุปสรรคแต่ละองค์ๆ มาไม่เหมือนกัน

ทีนี้ถ้าแบบนี้ นี่เป็นอุบายของท่านใช่ไหม เราก็มาเทียบเคียงกับเรา เทียบเคียงกับเรา เวลาท่านติดในสมาธิก็ผิดอันหนึ่ง เวลาถ้ามาติดในปัญญาก็ผิดอีกอันหนึ่ง ขณะที่ทำอยู่ มันจะมีผิดมีถูกอยู่ตลอดเวลา

ทีนี้ถ้ามันไม่นอน มันนอนไม่ได้ เรานี่ เวลาเรานะ เราจะนอน นอนไม่ได้ อยู่บ้านตาดหน้าหนาว เดือนพฤศจิกาฯ ธันวาฯ หนาวมาก พอหนาวมากนะ เราก็เอาผ้าอาบพันหน้าก่อนรอบชั้นหนึ่ง แล้วก็เอาผ้าห่มพันอีกชั้นหนึ่ง แล้วก็นอนลงนะ แล้วเอาผ้าห่มปิด แล้วก็พุทโธๆๆ จะให้หลับ ไม่หลับหรอก ไม่หลับ

ความรู้สึกของเรานะ มันฝังใจ ถ้าใจเราเป็นอะไร เราจะมีเทียบความรู้สึกไว้ ความรู้สึกเราเหมือนกับเราไฟไหม้บ้าน เรานี่คนไฟไหม้บ้าน ขณะที่ไฟไหม้บ้านเรา เรารื้อขนของออกจากบ้าน เราจะนอนหลับได้ไหม เพราะจิตมันตกใจมากใช่ไหม เวลาปัญญามันเกิด มันมีความรู้สึกอย่างนั้นน่ะ เหมือนไฟไหม้บ้าน เหมือนเล่นการพนันแล้วตำรวจจับ วิ่งหนีน่ะ ขณะเราเล่นการพนัน ตำรวจมา มันโดดตึกนะ มันวิ่งหนีได้ทั้งนั้นน่ะ ขณะที่ปัญญามันหมุน มันมีความรู้สึกอย่างนั้นน่ะ มันนอนไม่หลับ นอนไม่ได้เลย เราก็ต้องพยายามพุทโธเอาให้นอนให้ได้

เรา คนที่ภาวนามามันจะมีอุปสรรค มันจะผ่านมาหมด เราเคยผ่านอุปสรรคอย่างนี้มาแล้ว

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : แก้ไปทีละเปลาะๆๆ ย้อนกลับมาเมื่อคืนนี้ ที่บอกภาวนาไปแล้วจะง่ายไง เห็นไหม นี่นอนไม่ได้อีกขั้นหนึ่ง พอแก้ได้ขึ้นไปก็นอนไม่ได้อีกขั้นหนึ่ง แก้ได้ก็ขึ้นไปนอนไม่ได้อีกขั้นหนึ่ง

โยม : ถ้าพิจารณา เราออกพิจารณาน่ะค่ะ คือถ้าเกิดเราจะพิจารณาสิ่งใด พิจารณาเอาอะไรก็ตามที่ผ่านมา แต่ว่าเมื่อจะพิจารณามันส่งออกไปเพื่อพิจารณาสิ่งนั้น แล้วทีนี้มันก็เหมือนกับว่า พอเราพิจารณาสิ่งนี้ปุ๊บ มันก็เห็น มันก็บอกว่า เอ๊ย! เรายังมีอยู่ เรายังทำต่อได้ เราจะรู้สึก... คือเราจะดูจังหวะ...

หลวงพ่อ : ดูความผิดพลาดเรานี่ไง ดูความผิดพลาด เราเคยผิดเคยถูกนี่ไง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลาไปเห็นมันตื่นเต้น มันตื่นเต้น บางทีเหมือนเด็กมันมีของเล่นใหม่ มันก็ตะครุบเล่นจนเพลิน แล้วพอเสื่อมไปแล้ว เหมือนเลย หลวงตาท่านพูดเลย ตอนที่ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นใหม่ๆ จิตมันเสื่อม แล้วไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกเลย “อืม! มันเหมือนเด็ก เด็กมันไปเที่ยวไม่กลับ”

เห็นไหม เด็ก จิตไม่มีประสบการณ์ไง พุทโธๆๆๆ พอเสร็จแล้วบางทีมันเสื่อม หลวงปู่มั่นสอนอย่างนี้ นี่หลวงตาเล่าให้ฟัง พอท่านบอกว่า คนไม่เป็นนะ พอย้อนกลับไปแล้วนะ เหมือนสอนเด็กๆ ว่า คนมันต้องกินอาหาร เด็กมันชอบกินขนม ท่านบอกเด็กมันต้องกินอาหาร ฉะนั้น มันไป มันไปเที่ยว ไม่มีทางกินหรอก เอ็งพุทโธๆ เดี๋ยวมันต้องกลับมา พุทโธๆๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ

มันก็จริง พุทโธๆๆ พอจิตมันเสื่อม จิตมันเสื่อม จิตไม่มีใช่ไหม ก็อยากได้ พออยากได้ก็วิ่งหาไง ลืม ลืมพุทโธไง ลืมอาหาร ต่างคนต่างหิวใช่ไหม เราก็หิว เด็กก็หิว ไปเตลิดเปิดเปิงเลย แต่ท่านบอกไม่ต้องไปวิ่ง ไม่ต้องไปตามมัน เราอยู่นี่ พุทโธๆ ไว้ พุทโธไว้ พุทโธคืออาหารไง พอมันไปเต็มหมดแรงมันนะ มันต้องกลับมากินไง กลับมาพุทโธไง

โยม : ก็คือต้องลองผิดลองถูก...

หลวงพ่อ : เวลามาถามเรา เราก็บอกเทคนิคเท่านั้นน่ะ แล้วถามเราแล้ว พอถามให้ถูก เราถามใช่ไหม เรานี่ พวกนี้จะรู้ดี ไอ้โตมันรู้ดี โทษนะ เรากินอาหารรสจัด ฉะนั้น มาถามเราว่าอะไรอร่อย เราก็บอกของกูนี่อร่อย พอเอ็งเอาไปกินนะ กินไม่ได้หรอก ขมปิ๊ดเลย นี่ก็เหมือนกัน มาถามเทคนิคเราไง เราก็บอกเทคนิคไปไง แล้วเอ็งไปทำ ทำได้ไหม

อาจารย์บอกวิธีการเท่านั้น พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นคนชี้ทาง แล้วพวกเราเป็นคนก้าวเดิน แล้วเอ็งจะบอกให้คนชี้ทางว่าการชี้ทางเป็นถนนที่ไหน ไม่ใช่ ถนนอยู่ที่เท้ามึงนั่นต่างหาก ถนนอยู่ที่มึงขุดดิน มึงปักพื้นที่ แล้วมึงเดินไป แต่คนบอกถนน ถนนก็คือคำพูด ถนนอยู่ที่นั่น ที่นั่นก็คืออากาศไง มึงเดินบนอากาศ มึงเดินได้ไหม มึงต้องปรับถนนมึงนะ

นี่ก็เหมือนกัน ที่มันลองผิดลองถูก ก็เราผิดเราถูกเอง พอผิด เราก็ถามอาจารย์ ให้อาจารย์จะให้ยี่ห้อ ยี่ห้อมันกินไม่ได้นะมึง สินค้าต่างหากกินได้ นี่กรรมฐานเป็นแบบนี้ ใจถึงใจ ใจรู้ใจ ใจบอก บอกนี่ถูกหมด แต่เอ็งต้องทำให้ได้

แล้วเดี๋ยวนี้หลวงตาท่านพอประสบการณ์สูง เวลาใครมาท่านบอกว่า “พูดมาสิ เราแค่ฟัง” หลวงตาท่านตอบปัญหาบ่อย ได้ยินไหม “เราแค่ฟัง เราแค่ฟัง บอกมาสิ เราแค่ฟัง แล้วเราก็บอกถูกผิดเท่านั้นน่ะ เอ็งทำสิ พูดมา”

ทีนี้เราไม่ใช่อย่างนั้นน่ะ ไปถึงน่ะ “อ้าว! หลวงตาทายสิ ทายมาสิ”

ไอ้ใครไปก็ “ทายมาสิ”

แต่ท่านบอก “พูดมาสิ เอ็งก็พูดมาสิ” ก็เอ็งจะเอาของมาให้ข้าดู เอ็งจะมาจำนำ ข้าก็ดูสินค้าเอ็งน่ะ แล้วท่านก็บอกว่านี่ให้ราคาเท่าไร

แต่มันสำคัญนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราคุย เราตัดสินมานี่เยอะมาก เวลาคนที่มาหาเราทุกคนมีสามัญสำนึกรู้ถูกรู้ผิดอยู่ แต่ไม่มีใครช่วยบอก มันไม่ลง คาอยู่อย่างนั้น พอถึงเราแล้วเราฟันธงปั๊บ

“อืม! ใช่ คิดอย่างนี้ แต่ไม่มีใครบอก”

คือมันระหว่างทางสองแพร่ง คาใจอยู่อย่างนั้นน่ะ จะไปทางไหนไปไม่ถูกหรอก ต้องให้คนบอกว่าซ้ายหรือขวา เพราะพอมาหาเรา เราบอกว่า “ขวา”

ซ้ายหรือขวานะ

“เออ! ใช่” พูดอย่างนี้เยอะมาก “เออ! ใช่ ก็คิดอย่างนี้ แต่ไม่กล้า ไม่มีใครบอก”

เราถึงบอกว่าโดยสามัญสำนึกพวกเราก็รู้อยู่นะ แต่ด้วยกิเลส กิเลสละเอียดอย่างนี้ คือมันแค่ชนะเราแค่กึ่งๆ ให้เราลังเลแค่นี้ ไปไม่รอดแล้ว ให้แค่เราลังเล เวลามาหาเรา เราบอกว่าฟันธงเลย

คนพูดอย่างนี้เยอะ “ใช่ คิดอย่างนี้มานาน แต่มันไม่กล้า ไม่มีใครบอก ถ้ามาหาอาจารย์ อาจารย์ฟันธง”

ทีนี้การฟันธงมันต้องรับผิดชอบว่าฟันธงแล้วถูกหรือผิด ถ้าฟันธงผิดนะ ลงอเวจีด้วยกัน ลงอเวจีด้วยกันเลย กูไปก่อนเลย แล้วมึงตามกูมา ฉะนั้น อย่างของเรา เราฟันธงเลย แล้วเรามั่นใจมาก มั่นใจมาก ฟันธงเลยล่ะ ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ ฉะนั้น เวลาเราพูดไง เอ็งทำมาเถอะ ถ้าผิด กูให้ตัดหัว

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ หลวงตาท่านบอกว่า “ถ้าผิด เราจะพาไปฟ้องพระพุทธเจ้า” ท่านพูดบ่อย “ถ้าเราสอนผิด เราจะพาไปอุทธรณ์พระพุทธเจ้า” หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ

แต่ของเรา เราบอกว่า ถ้ากูสอนผิด กูให้มึงตัดหัวเลย ไม่ต้องไปหาใคร ตัดหัวกูทิ้งเลย เพราะอะไร เพราะว่ากูโดนหลอกมาแล้ว กูโดนหลอกมาเยอะมาก กิเลสเราเองหลอกเรา กูโดนกิเลสหลอกมาเยอะมากๆ ล้มกลิ้งล้มหงายมานี่ทุกข์เยอะมากๆ มันก็เลยมีประสบการณ์เยอะไง ก็เลยพูดได้เยอะไง คนอื่นเขาไม่พูดอย่างนี้นะ เพราะประสบการณ์เขาไม่ค่อยมี บางทีเขาทำไปแบบว่าทื่อๆ ไป แต่ประสบการณ์เรานี่นะ ด้วยกิเลสหลอกเยอะมาก

แล้วเวลาใครมาหาเรา เห็นไหม แยกกายแล้ว อะไรแล้ว...เราไม่ฟัง ไม่ฟัง เพราะมันเป็นสามัญสำนึก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเราไปศึกษาธรรมกันเยอะ ถ้าพูดอย่างนี้ อย่างที่ว่าเมื่อคืนเห็นเราเป็นโครงกระดูก ถ้าไปพูด “โอ้โฮ! เห็นโครงกระดูกนี่เห็นอสุภะแล้วนะ” ทุกคนน่ะ

แต่เราจะถามกลับเลย แล้วเขายังไม่มีพื้นฐานสมาธิเลย ทำไมเขาเห็นได้

เราถึงบอกว่าการเห็น ดูสิ อย่างจิตรวม รวมได้ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือรวมโดยแบบจิตรวมใหญ่เป็นพระสกิทาคามี กับรวมโดยสมาธิคือไม่มีอะไรเลย จิตรวม ถ้าจิตรวมโดยวิปัสสนานะ เวลามันแยก โลกนี้ราบหมดเลย กายกับจิตแยกออกหมดเลย จิตรวม จิตรวมของพระสกิทาคามี คนจิตรวมได้ อย่างน้อยต้องเป็นพระสกิทาคามี แต่ถ้ามันรวมของฤๅษีชีไพรก็รวมได้ รวมในปุถุชน คำว่า “จิตรวม” หรือคำว่า “ขั้นตอน” ถ้าคนไม่มีหลักนะ วินิจฉัยไม่ถูก

ฉะนั้น ถ้ากรณีที่เห็น อย่างน้อยถ้าเห็นโครงกระดูกอย่างนี้เห็นเป็นอสุภะ เพราะเดี๋ยวนี้มันมีเห็นบ่อย เดินจงกรมเห็นโครงกระดูกยืนอยู่ข้างหน้า วาสนาของคนไม่เหมือนกัน มันจะพลิกไปทางไหน ทีนี้พอมาถามเราปั๊บ เราจะเช็คเลย เห็นคือเห็น แต่เราเช็คถึงใจ พอเราเช็คถึงใจปั๊บ มันก็เป็นขั้นของอย่างนี้

อ้าว! ว่ามา

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : มันเห็นจริงๆ มันก็เป็นประโยชน์แล้ว ที่ว่าเวลามันไหลไป เวลามันจับไป อย่างเราพูดตอนเช้า ที่พระสารีบุตร ที่ว่าพระพุทธเจ้าพูดกับหลานพระสารีบุตรใช่ไหม “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ของเธอด้วย เพราะอารมณ์ของเธอเป็นวัตถุอันหนึ่ง”

อารมณ์ของเธอ อารมณ์ความรู้สึก ความคิดไง นี่มันไหลไป เป็นความคิด เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เราจับได้ เราจับได้ ถ้าเราไล่ไป อย่างที่เขาพิจารณานามรูปมันเห็นการเกิดดับ เกิดดับคือมันเรื่องธรรมดาของการเกิดดับ แต่ไอ้นี่มันไม่ใช่เรื่องธรรมดาของการเกิดดับ การเกิดดับมันเป็นอาการของใจ แต่ถ้าจิตมันมีพื้นฐาน ตัวใจ เห็นไหม รู้ทัน จิตรู้ทันการเกิดดับ เห็นไง เห็นการไหลไป เห็นการเป็นความเป็นไป นี่ถ้ามันจับได้

มันไม่ใช่ว่า ถ้ากิเลสเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา เราทำอะไรไม่ได้เลย แต่กิเลสไม่ใช่เรา แล้วเราเป็นเรา สิ่งที่เกิดขึ้นอีกอันหนึ่ง พอจิต ถ้าเรากำหนดของเราไป เราทำพื้นฐานของเราไป แล้วมันเห็นอาการไหลไป เขาเรียกว่าธรรมารมณ์ คือจิตมันจับสติปัฏฐาน ๔ อันหนึ่ง การพิจารณากาย การเห็นกายก็เห็นอันหนึ่ง ถ้าเห็นอารมณ์ความรู้สึก เห็นความคิดไง อันนี้พอมันจับแล้วมันก็กระเทือน กระเทือนเพราะอะไร

น้ำร้อนนะ น้ำร้อนเอามือจุ่มไป มือนี่พองนะ น้ำร้อนน่ะ น้ำเย็นน้ำอะไรเราก็ปกติ จิตใจเราปกติคิดอะไรเราก็น้ำเย็นไง ก็คิดกันไปร้อยแปด น้ำร้อน หมายถึงว่า มันเป็นสัจธรรม พอสัจธรรม พอมันจะพูดอะไรมันสะเทือนใจ มันกระเทือนความรู้สึกไง เวลาใครมาถามเรา เราจะเอาตรงนี้เป็นหลัก เอาตัวใจเป็นหลัก ใจเราไปลูบไปคลำ ใจเราไปจับไปต้องแล้วมันสะเทือนใจไหม การสะเทือนใจคือการถอนไง ถอนกิเลสไง

เวลาเราสังเกตได้ไหม เราภาวนาดีๆ น้ำตานี่ไหลพรากเลย บางทีเรากระเทือนหัวใจกันมาก ฉะนั้น ถ้ามันเป็นอย่างนั้น ตั้งสติไว้ ตั้งสติ ตั้งสติแล้วจับมันแยกให้มันหยุด หยุดนะ ที่มันไหลไป ไหลไป คือรถมันวิ่งไป มันเร็ว เราจะไม่เห็นอะไรเลย แต่ถ้ารถนี้ให้มันจอด แล้วเราขึ้นไปตรวจ ตรวจแล้ว ทุกอย่างแล้วมันเห็น

นี่ก็เหมือนกัน เร็วขนาดไหนนะ เขาบอกจิตมันเร็ว

สติเร็วกว่า ถ้าสติมันจับนะ เร็วขนาดไหนก็หยุดนิ่ง

มาบอกว่าเร็วนะ พอบอกว่าเร็ว “อู๋ย! ใช่ มันเร็วมากเลย พิจารณาไม่ได้เลย มันเร็วมากๆ แล้วเมื่อไหร่มันจะพิจารณาได้ล่ะ”

แต่ถ้าสติมันทันนะ เพราะความเร็วของจิต ความเร็วของสติเร็วกว่าความคิดเราอีก ยับยั้งความคิดได้หมด จำคำนี้ไว้ ไอ้ที่ว่า “ไม่ทันเลย มันไหลไปเลย ไม่ทันน่ะ”

ไม่ทันเพราะใจเรามันยังอ่อน แต่ถ้าใจมันเข้มแข็งขึ้นมา ทันหมด แล้วหยุดได้ หยุดได้คือแยกแยะได้ แยกแยะได้นั่นน่ะแยกแยะให้เห็นเหตุเห็นผล แยกแยะนั่นน่ะ นั่นน่ะวิปัสสนา

เราจะเอาแค่นี้ก่อน เพราะเดี๋ยวมันจะมีรอบเที่ยง เดี๋ยวพระจะมาอุโบสถ แล้วจะมีรอบเย็น รอบเย็นพวกนี้ยังอยู่ใช่ไหม เดี๋ยวมีอีก ๒ รอบ ขอพักก่อนเนาะ เอวัง