ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะศรัทธาเช้า

๒๒ ก.ย. ๒๕๕๑

 

คณะศรัทธาเช้า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ : เราเคยเป็นนะ เวลาเดินจงกรม เวลาเราเป็น ถ้าวันไหน พระอยู่ด้วยกันมันก็มีผลกระทบบ้าง ถ้าวันไหนผลกระทบมันรุนแรงนะ เวลาเราเดินจงกรมเราเดินแบบวิ่งเลย เหงื่อนี่เหงื่อซก เดินอยู่อย่างนั้นน่ะๆ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเดินไปเรื่อยๆ เลย เดินเต็มที่เลย ไอ้ข้างใน เพราะฐานที่ใจเรามันยึดมั่นใช่ไหม

บางทีในสังคมของเรา เขาเอาเณรเอาอะไรมากลั่นแกล้ง อยู่ในวงพระเราบางทีมันมีเอาเณรมาเหยียบย่ำอะไรอย่างนี้ ทีนี้เณรมันเด็กๆ แล้วสิทธิเขาไม่มี พระสูงกว่าเณรใช่ไหม แล้วเขาเอาเณรมาเพื่อให้เราหลุด เพื่อให้เรามีปัญหาขึ้นมาไง เราก็ตั้งสติ ขันติ จำไว้

ขณะนั้นคือให้ไม่มีปัญหา คือเราชนะตัวเราเอง เราควบคุมตัวเราได้ เอ็งจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ เราจะไม่หลุด นี่ไม่หลุดตอนนั้นน่ะ แต่พอกลับมาอยู่ที่กุฏิ พอทำกิจกรรม คือล้างบาตรล้างอะไรเสร็จกลับมาแล้ว โอ้โฮ! มันขึ้นน่ะ พอมันขึ้น เราเข้าทางจงกรม ไล่เต็มที่เลยๆ เดินบางทีครึ่งค่อนวันนะ เหงื่อนี่ซกหมดเลย พอเหงื่อนี่แตกหมดเลย พอมันเหงื่อแตก พอมันหลุด มันปล่อย เฮ้อ! พอปล่อยแล้วปัญญามาแล้ว ถ้าเมื่อเช้านี้นะ ถ้าเราไม่มีขันติ เราหลุดออกไป ผลกระทบจะเกิดมหาศาลเลย ผลกระทบเกิดการกระทบกระเทือนกันในหมู่คณะเรา พอเกิดการกระทบกระเทือนปั๊บ กระทบกระเทือนกับเด็ก กับเณร กระทบกระเทือนเสร็จแล้ว เรื่องเหตุการณ์อย่างนี้ต้องไปถึงพระผู้ใหญ่ มันกระทบกระเทือนหมดเลย มันเห็นโทษหมดเลยนะ แต่ตอนนั้นไม่เห็น พอมันเห็นโทษปั๊บ โอ้โฮ! มันโล่งหมดเลย คือเราชนะเราไง พอเราชนะเราปั๊บ ทุกอย่างจะไม่เกิดเลย

ถ้าเราแพ้เรานะ เราแพ้เราคนเดียวเท่านั้นน่ะ ปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่เลย ต้องเกิดการกระทบกระทั่ง พอเกิดการกระทบกระทั่งปั๊บ มันก็มีปัญหาไป กระทบกระทั่งปั๊บ มันก็มีปัญหาใช่ไหม พอมีปัญหาแล้วพระผู้ใหญ่ต้องมาปกครอง ผู้ที่ปกครองก็ต้องมาเคลียร์ปัญหา มันเป็นลูกโซ่ไปเลยนะ แต่เราชนะปั๊บ เราเป็นอย่างนี้นะ ในการปฏิบัติ ในวงการทุกวงการจะมีการกระทบกระทั่งกันใช่ไหมทุกวงการ มันเป็นอย่างนี้ เราเห็นอย่างนี้มาบ่อยมากเลยในการกระทำของเรา

ทีนี้พอโยมพูด เราเข้าใจเลย เราเข้าใจเพราะว่า อย่างที่เรามีผลกระทบ อู้ฮู! มันคิดนะ เพราะอะไร เพราะเด็ก เด็กมาย่ำยีเรา โอ้โฮ! มันน่าเกลียดนะ พอเราเอาตัวเรารอด คำว่า “เด็กๆ” แต่ทีนี้ของโยม วิทยานิพนธ์ทุกอย่างมันผูกอยู่ที่ใจ พออยู่ที่ใจแล้วไปทำอะไรมันสักแต่ว่าทำ ทำไปอย่างนั้นน่ะ แต่ใจมันอยู่ที่นี่ ใจมันผูกพันตรงนี้ ไอ้เดินสักแต่ว่าเดิน เดินนี้สักแต่ว่าเดิน มันไม่ผ่อนที่นี่ไง ฉะนั้น มันเลยทุกข์ไง

นี่ใส่ไปเต็มที่อย่างที่ว่า อย่าไปคิดถึงตรงนี้ ปล่อยมันไปเลย แล้วพอมันหลุดนะ โอ้โฮ! วิทยานิพนธ์ เขียนอีก ๕ เล่มก็ได้ ไม่ใช่เขียนเล่มเดียวนะ เหมือนกับนักเขียน นามปากกานักเขียน ถ้าเขียนไม่ออก เขียนไม่ออกเลย ถ้าเขียนออกนะ โอ้โฮ! กูจะเขียนอีก ๑๐ เรื่องเลย เรื่องแรกเขียนไม่ออกเลย มันอู้นะ เขาต้องวางเลยนะ ไปผ่อนคลายก่อน พอเขียนออก มันเขียนได้แล้ว นักเขียนมันเป็นจินตมยปัญญา จินตนาการของเขา พล็อตเรื่องของเขา เราเขียนของเราไป แต่วิทยานิพนธ์มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ จริงไหม แต่เราก็ทำได้ ถ้าใจมันปลอดโปร่ง ใจมันเป็นไปนะ

แต่ตอนนี้เพราะเราวิตกกังวล แล้วเราจะให้มันเป็นไง คือเราไปคาดหมาย เวลาเราปฏิบัติธรรมเขาเรียกกรอบ อยากเป็นพระอรหันต์ อยากไปนิพพาน อยากไปหมดเลย เอากรอบมาตั้งไว้ ขยับไม่ได้เลย ติดกรอบตัวเอง

อยากเป็นอะไร อยากเป็นพระอรหันต์ อยากไปนิพพาน นี่คือเป้าหมาย นี่ไง อธิษฐานบารมี แล้ววางไว้ แล้วทำ ทำ มันจะถึงเป้าไม่ถึงเป้าอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ไช่ห้ามตั้งเป้านะ เป้าหมายคือต้องตั้ง แต่ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายไว้เพื่อรัดคอตาย นี่ก็ตั้งวิทยานิพนธ์ไว้รัดคอตาย “วิทยานิพนธ์ๆๆ” ทำอะไรก็ “วิทยานิพนธ์ๆ” เอาวิทยานิพนธ์ผูกคอไว้ มันก็เลยตายอยู่นี่เลยไง

โยม ๑ : เมื่อกี้น้องเขาบอกว่าหลับกับฟุ้งใช่ไหมคะ แล้วเรากินอาหารมันก็อร่อย...

หลวงพ่อ : เห็นไหมนี่ชัดเลย เวลาตอบปัญหาต้องชัด ให้ปลดปมได้ อย่าผูกคอตาย ดึงมันออก แล้วเดินจงกรมไป พอเดินจงกรมไป นี่ปลดได้โดยอาจารย์ ตัวเองยังปลดไม่ได้ พอตัวเองปลดได้ป๊บ เราจะพูดนะ อย่างเช่นมา อย่างเรานั่งกันอยู่นี่นะ ทุกคน รถเกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ เกียร์ ๕ แล้วรถมันก็วิ่งทุกคน มันก็ชนกัน

แต่ถ้าเราปลดเกียร์ว่าง เขาจะมีปัญหาขึ้นไป เราเกียร์ว่าง เราเข้ากับเขาได้หมดนะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าปลดใจแล้วมันเกียร์ว่าง ทีนี้เราเข้าเกียร์ ๕ ไว้ แล้วก็รั้งกันอยู่อย่างนี้ แล้วไปไหนไม่ได้เลย ปลดเกียร์ว่าง ถ้าปลดเกียร์ว่างได้นะ มันจะเข้ากับใครก็ได้ แล้วมันรับฟังเขา มันรับฟังทุกๆ อย่างเลย

เราปลดใจเราให้ได้ ปลดความคิดไง ความคิดนี่ตัวเร่ง ถ้าปลดปั๊บ สมาธิ ว่างหมด ถ้าปลดความคิดได้นะ ที่เดินจงกรม นั่งสมาธิ ปลดให้มันว่าง ว่างคือสมาธิ แล้วพอสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราใช้ปัญญา มันเป็นโลกุตตรปัญญาแล้ว เพราะอะไรรู้ไหม เพราะปัญญาเกิดจากสมาธิ

แต่นี่ปัญญาเกิดจากทิฏฐิ เกิดจากมุมมอง เกิดจากความเห็น โลกียปัญญา ปัญญาเราเกิดจากความเห็นของเรา ไม่ใช่เกิดจากสมาธิ สมาธิมันเป็นสากล สมาธิ พลังงาน พลังงานจากสมาธิ พลังงาน พลังงานลม พลังงานแดด เขาเอามาใช้ประโยชน์ พลังงานของจิตมันเป็นสากล แต่คนไม่เข้าใจมันไง ทีนี้พลังงานอันนี้มันบวกด้วยทิฏฐิเรา

พลังงานแดด พลังงานลมเป็นพลังงานสะอาดใช่ไหม แต่พวกเราพลังงานถ่านหินอัดเข้าไป เหมือนกัน เราปลดเราให้ได้ ถ้าปลดให้ได้นะ ไอ้คำพูดอย่างที่พูดๆ เมื่อกี้นี้นะ โอ้โฮ! เรื่องเด็กๆ เลย แต่เพราะว่าใจเราไม่เข้าใจ ใจเรามันแพ้ พอใจเราแพ้ พวกนี้มันครอบงำ มันเหยียบ แล้วพอเหยียบ ยิ่งเหยียบมันยิ่งอยากได้ โอ้โฮ! ยิ่งดิ้นนะ น้ำหนักมันยิ่งเกิด เหมือนเด็กเลย เหมือนเราอ่อนแอ เรายกของหนัก ยิ่งเราอ่อนแอเท่าไร น้ำหนักของเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ไม่ได้เพิ่ม เท่าเก่า แต่เพราะกูไม่มีแรง ถ้ากูมีแรงนะ ไอ้ของอย่างนี้ปลิวเลย

มันอยู่ที่เรา ที่ประสบการณ์ พอพูดอย่างนี้ เราเป็นมาหมดแล้ว เคยเป็นอย่างนี้มา เริ่มต้นเราภาวนาเป็นอย่างนี้ แล้วพอเราไปๆ นะ โอ้โฮ! ขี้หมา ขี้หมาเพราะอะไร เพราะเราชำนาญแล้วไง อะไรเกิดขึ้นมากูจัดการได้หมด อะไรเกิดกูจัดการได้หมด พอจัดการปั๊บ มันก็เข้าหลัก พอเข้าหลัก ปัญญามันก็ไปแล้ว วันนี้จะไปปัญญา ทีนี้ปัญญาจะไปขนาดไหนก็แล้วแต่นะ พอปัญญามันไป โลกุตตรปัญญานะ ปัญญาแก้กิเลส ปัญญามันไป พอไปแล้วมันไปไม่ได้หรอก ปัญญานี้ไปไม่ได้หมด เพราะอะไรรู้ไหม เพราะปัญญามันต้องมีพลังงานเสริมคือสมาธิ ถ้าปัญญาไปมากๆ ปั๊บนะ พอพลังงานนี้มันอ่อนลงนะ ปัญญาจะเป็นสัญญาเลย มันเป็นสัญญาเพราะมันไปไม่รอดแล้ว มันต้องกลับมาที่นี่ นี่ไง เวลาวิปัสสนาไป สมถะ วิปัสสนา ต้องไปพร้อมกัน ไปเรื่อยๆ ไปพร้อมกัน

ไม่ใช่ว่าพอปัญญาไปแล้วนะ กูจะไปโลดเลยนะ...ตายเลย มันไป มันไปของมันดี แต่เดี๋ยวมันก็ต้องกลับมาสร้างฐานเหมือนกัน คือสร้างกำลังเหมือนกัน ทีนี้พอกำลังก็คือว่าง เกียร์ว่าง รถถึงเวลามันต้องกลับมาที่ว่างเพื่อเติมน้ำ เพื่อเติมน้ำมัน เพื่อเติมทุกอย่าง ต้องซ่อมบำรุงทุกอย่าง ถ้าไม่กลับมาที่ว่าง ซ่อมบำรุงไม่ได้ เพราะเครื่องมันหมุน ทีนี้ใจก็เหมือนกัน สมาธิสำคัญมาก ถึงว่า พลังงานสากล พลังงานว่าง ไม่ใช่อะไรเลยนะ ไม่ใช่มรรคผล ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่ผลเลย พลังงานว่างนี่

มรรคผลนั้นมันคือพลังงานว่างทำลายความว่างในตัวมันเอง ไม่มีพลังงานอะไรเหลือเลยมันถึงเป็นมรรคผล ไอ้นี่ที่สอนๆ กัน ทำพลังงานว่างไง “ว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ” ทำให้มันว่าง ว่างคือภพชาติ ว่างคือตัวตน

แต่นี่เป็นสมาธิ ตัวตนมันสงบตัวลงเฉยๆ ตัวตนมันสงบตัว มันให้โอกาสได้ทำงานไง ถ้าตัวตนไม่สงบตัวลงมันก็อีโก้ไง แล้วคิดโดยโลกียะ คิดโดยเราไง

ค่อยๆ ทำ ทำไปแล้วไม่ต้องคาดหมายใดๆ ทั้งสิ้น ดีนะ นี่เวลาพูดกันพูดโดยเราจะทำสมาธิ โดยเราจะทำความว่าง โดยเราจะทำผลงาน อย่างที่ว่าถ้ามันเป็นจิตมันสงบแล้วมันเห็นนู่นเห็นนี่ ไอ้เห็นก็เราเห็น ไม่จำเป็นเลย เห็น เราเห็น กลับมาที่พุทโธเหมือนกัน เราเห็น โยมมองเรา เห็นเรา โยมหลับตา เห็นเราไหม ไม่มีทาง จิตก็เหมือนกัน เพราะจิตไปเห็นเขา กลับมาที่จิตก็จบ

โยม ๒ : หลวงพ่อเจ้าคะ อย่างกรณีที่ว่านั่งหลับตาแล้วพอนั่งปุ๊บได้สักพักหนึ่งมันหลับอย่างนี้ แล้วเราเปลี่ยนเป็นลืมตาแล้วใช้คำบริกรรมพุทโธได้ไหมคะ

หลวงพ่อ : ได้หมด ต้องพุทโธเลย หลับตาแล้วพุทโธไว้

โยม ๒ : คือหลับตาแล้วมันก็หลับไปเลยค่ะ

หลวงพ่อ : พุทโธไว้สิ ต้องพุทโธไว้ไม่ให้มันหลับสิ ถ้าพุทโธไว้ มันหลับ มันแก้ได้ไง หลับตาแล้วพุทโธๆๆๆ พุทโธอย่างนี้ พุทโธๆๆๆ ตะโกนเลย ตะโกนเลย ไม่ให้หลับ แล้วพอมันหายหลับแล้วเราค่อยมาแรง มาเบาได้ ตะโกนเลย นึกในใจ ตะโกนให้ก้องฟ้าเลย พุทโธๆๆ ดูซิมันจะหลับไหม แล้วเร็วๆ ด้วย อ้าว! ก็อยากแก้หลับไง นี่เรื่องจริงนะ

โยม ๒ : ข้างกุฏิเขาไม่ว่าหรือเจ้าคะ

หลวงพ่อ : ตะโกนในใจ แต่ถ้าพูดด้วยปากนี่นะ กลางวันก็ได้ เราทำของเราไปก่อนนะ มันต้องแก้ ถ้าไม่แก้นะ น้ำ ดูสิ เราดูสารคดีไง แม่น้ำคงคามันไหลเข้าไปในเมืองของเจ้าแม่กาลี แล้วน้ำเปลี่ยนทิศทาง พอน้ำเปลี่ยนทิศทางมันไปอีกสายหนึ่ง ตรงนี้เลยกลายเป็นคลองเน่า แต่เขาก็ลงไปอาบกันอยู่

แม่น้ำนี่นะ ไหลไปมันยังเปลี่ยนทิศทางเลย แล้วความคิดเรา ความคิดที่มันหลับ มันยิ่งทำไป แม่น้ำสายนี้มันจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ การหลับของเรามันจะง่ายขึ้นเรื่อยๆ เพราะกำหนดปั๊บก็หลับทันทีเลย เพราะแม่น้ำสายนี้มันมากขึ้น น้ำต้องไปทางนั้น เราปล่อยให้เราชินชานะ ความที่ลงไปภวังค์มันจะกว้างขวาง แล้วต่อไปไม่ต้องไปภวังค์หรอก เดินยังหลับเลย

โยม ๒ : ก็เคยเหมือนกันค่ะ

หลวงพ่อ : นั่งก็หลับ เดินก็หลับ เพราะอะไร เพราะเวลามันปล่อยใช่ไหม ทีนี้คำว่า “พุทโธๆ” คือถมมัน คือพยายามดัดแปลงมัน ทีนี้ดัดแปลงมัน ใหม่ๆ น้ำแรง ตะโกน คำว่า “ตะโกน” เอ็งฟังเหมือนพูดเล่นนะ แต่กูพูดจริงๆ นะ กูไม่ได้พูดเล่น อย่างพูดเมื่อกี้นี้ ตอนเช้าเทศน์ “ต้องอย่างนี้ๆ ต้องอย่างนี้เด็ดขาด”

เห็นกูพูดนึกว่าพูดเล่นนะ แต่ลองไปทำดูสิ ต้องแก้ไขอย่างนี้ ถ้าไม่แก้ไข แม่น้ำจะกว้างขึ้น อีกหน่อยนะ ไม่ต้องทำอะไร หลับทั้งวันทั้งคืนเลย กลายเป็นพรหมลูกฟักเลย นอนแผ่ แล้วตัวเองไม่รู้ตัวนะ ไม่รู้ตัวแล้วไปพูดให้ใครฟังนะ “โอ้โฮ! นี่สมาธิ โอ้โฮ! ภาวนาเก่ง โอ๋ย! กำหนดพุทโธ โอ๋ย! ว่างเลยนะ”...ไม่รู้เลยนี่ภวังค์

ต้องแก้ แล้วแก้ต้องต่อสู้มัน นี่เหมือนไปหาหมอไง “หมอ นี่ไม่สบาย หมอรักษาที” ก็ให้แก้โดยที่ไม่ทำอะไรไง ให้หมอฉีดยาให้ไง “นี่มันหลับ ทำอย่างไรดี” ไอ้นั่นก็แก้กันไปใหญ่เลย ไม่ได้หรอก มันทายาแดง มะเร็งไม่หายหรอก มะเร็งต้องผ่าตัด ต้องตัดทิ้ง เป็นมะเร็งมานะ ทายาแดง “เออ! หายเนาะ” ก็ชอบไปหาอาจารย์อย่างนั้นไง ไปไหนก็โอ๋ๆๆ ไง แล้วมันแก้ได้ไหม ยาแดงแก้มะเร็งได้ไหม

โยม ๒ : ไม่ได้

หลวงพ่อ : แล้วเขาทายาแดงให้ ชอบไง มันเบาดี ไม่เจ็บไง ไปหาหมอ จะเอามีดตัด ไม่ได้ ไอ้หมอคนนี้รักษาไม่เป็น ทายาแดง เออ! ดี เย็นสบายดี...โง่ บ้า เซ่อ โลกเป็นอย่างนี้หมด ต้องแก้ ไม่แก้จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เหมือนกับรากลงดิน รากแก้วไปแล้วไปลึกเลย แล้วพอประสาเรา “เอ๊! ก็ปฏิบัติมาตั้งหลายปีแล้ว เขาก็ไปโลด ทำไมเป็นอย่างนี้”

ก็ปฏิบัติผิด ปฏิบัติถูก ไม่ใช่ปฏิบัติจะดีหมด ปฏิบัติผิดมันก็ผิดไปเรื่อยๆ ผิดไปลึกๆ ปฏิบัติถูกมันก็ถูกไปเรื่อยๆ ก็เขาปฏิบัติ กูก็ปฏิบัติ ไอ้เขาไปโลดเลย ทำไมกูจมอยู่นี่ล่ะ...ยังดีไม่ตกนรก เวรกรรม

ปฏิบัติต้องให้ถูกด้วย แล้วผิดต้องแก้ การปฏิบัติ เรามาปฏิบัติกันเพื่อจะแก้กิเลส เพื่อจะต่อสู้กับกิเลส แล้วปฏิบัติโดยกิเลสให้กิเลสมันเสริม ปฏิบัติแล้วให้กิเลสมันคอยส่ง เอาแต่ใจไง เอาแต่ความเห็นของตัวไง เอาแต่ความสะดวกสะบายไง เอาแต่พอใจ เราปฏิบัติแล้วทำไมให้กิเลสมันเสริม ทำไมกระทืบตัวเอง ฆ่าตัวเองโดยการปฏิบัติ แล้วพอบอกว่าผิด ไม่ยอมรับด้วยนะ อ้าว! ผิดถูก มึงเถียงกูมาสิ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ด้วยเหตุด้วยผล ธรรมะ เหตุกับผลรวมลงเป็นธรรม

แล้วพูดธรรมะ “อย่างนี้ไม่ได้ อย่างนี้ต้องตามใจฉัน”

ก็หลวงตาว่าไง กราบกิเลสก่อนแล้วค่อยภาวนาไง ก่อนภาวนาก็ กิเลสสาธุ สาธุกิเลส กิเลสสาธุ แล้วก็นั่งให้กระทืบ แล้วก็บอกปฏิบัติ ถ้ามึงจะเอาจริง มึงก็ต้องฆ่ากิเลส ต้องฝืนสิ อะไรผิดก็ต้องแก้ไขสิ ถ้าแก้ไขมันก็ถูกต้องมา ไม่ใช่จะปฏิบัติก็ โอ้โฮ! ขออนุญาตแล้วขออนุญาตอีก กิเลส ขอปฏิบัติหน่อยนะ

กิเลสบอกว่าได้ๆ ทำตามกูนี่

มันก็เลยเป็นมิจฉา เห็นไหม มิจฉาสมาธิ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาหมด มรรคไง มิจฉามรรค สัมมามรรค ไม่ใช่ว่าธรรมะมันจะถูกนะ มรรคมันมีมรรค ๘ มิจฉา สัมมา สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ สัมมาสติ มิจฉาสติ มีมิจฉาก็มีสัมมา มีผิดมีถูก ไม่ใช่ปฏิบัติแล้วถูกไปหมดหรอก

ทีนี้พอเราเป็นอย่างนี้แล้วเราไม่แก้ เราต้องแก้ ที่พูดนี้ไม่ใช่อะไรนะ ที่ว่าพูดอย่างนี้ เราคิดอย่างนี้ว่า พวกโยม ตัวโยมเองเลยไม่เคยเจอพระพูดตรงๆ อย่างนี้ไง ไปเจอพระที่ไหนก็ “โอ๋ย! โยมมาแล้วนะ โอ๋ๆๆ” พระไม่กล้าพูดอย่างนี้

หลวงตาบอก ต้องขออนุญาตกิเลสก่อนค่อยพูด

ประสาเราเลย ไม่เคยไว้หน้าใครทั้งสิ้น กูฉะกิเลสอย่างเดียว สูงแค่ไหนต่ำแค่ไหนไม่เกี่ยว ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก แต่ถ้าเป็นคนอื่นเขาไม่พูดหรอก ถ้าพูดอะไรให้ขัดใจโยม ไม่กล้า เพราะเดี๋ยวมันออกจากวัดกูไปแล้วไม่กลับมาอีก มันต้องโอ๋ไว้ก่อน

แต่กูไม่เกี่ยว เพราะอะไร เพราะต้องการนี่ไง ให้ธรรมะชัดเจน ให้ธรรมมะนี้เป็นธรรม ให้ธรรมะนี้เป็นความจริง สัจธรรมนี่อริยสัจเลย เหนือความจริงนะ แล้วเรามาจมปลักอยู่กับมันอย่างนี้ได้อย่างไร นี่ไง นั่งก็หลับ นอนก็หลับ ฟังแล้วมันสะเทือนใจ

ฉะนั้น คำว่า “หลับ” ก็ตัวเองก็รู้ว่าผิด ถ้าเราหลับ เรารู้ว่าเราผิดนะ แต่ทำไมไม่แก้ไข พอจะแก้ไขขึ้นมา สู้อำนาจกิเลสไม่ได้ พอจะแก้ขึ้นมา โอ๋ย! กูไม่มีกำลัง โอ๋ย! ไม่ไหว โอ๋ย! ไม่จริง...เสร็จอีก ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิด รู้ว่าผิดอยู่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์จริงไหม แล้วทำไม่ไหว

นี่เวลาพูดถึงธรรมมะ จริงๆ ไอ้คนทำมันรู้ว่าผิด แต่ยอมรับไม่ยอมรับไง แล้วยอมรับ แก้ไขไม่แก้ไขอีก แล้วถ้าแก้ไขขึ้นมานี่ไง โอ้โฮ! อดนอน เราเป็นมาก่อน กินข้าววันละคำ ตอนที่กินข้าววันละคำเพราะเหตุนี้แหละ นั่งหลับทีหนึ่ง ๗-๘ ชั่วโมง

ทีแรกไม่รู้ นั่งหายไปเลย ๗-๘ ชั่วโมงนะ เหมือนคอมพิวเตอร์ ล็อกได้เลย โอ้โฮ! นึกว่าเก่งน่าดู กูนั่งสมาธิทีหนึ่ง ๗-๘ ชั่วโมง กูเก่งเว้ย เก่งเว้ย พอมีอยู่วันหนึ่งมาเห็นน้ำลาย ตื่นมาไง น้ำลายเปียกเลย ไหนว่าเก่ง เฮ้ย! มันวิตก ยังจำได้แม่นเลยนะ มันวิตกขึ้นมาเลยนะ เฮ้ย! นี่มึงหลับนี่หว่า แต่ก่อนหน้านั้นคิดว่าตัวเอง เพราะพระนั่งด้วยกัน ทุกคนมันสู้เราไม่ได้ไง ทุกคนก็ลุกๆ นั่งๆ ไง ไอ้เรานี่หัวตอ นั่งปั๊บ หายเลย ล็อกได้เลยนะ ๑๐ ชั่วโมง พอ ๑๐ ชั่วโมงก็ตื่น

โยม ๓ : อย่างที่ตอนหายไป ๑๐ ชั่วโมง เรารู้สึกตัวหรือเปล่า

หลวงพ่อ : ไม่รู้สึกตัวเลย หายไปเลย เหมือนนอนหลับ แล้วเวลามันจะตื่นขึ้นมาเหมือนสะดุ้งตื่น แหม! กูเป็นมาจนกูคล่อง พอมันจะออก เหมือนคนตื่นนอนเลย ตื่นจากหลับ

โยม ๓ : เพียงแต่แค่นั่งอยู่เท่านั้น

หลวงพ่อ : เออ! นี่แหละภวังค์ นี่แหละมิจฉาสมาธิ นี่แหละสมาธิหัวตอ แต่ตอนเป็นก็ไม่รู้ แล้วไม่มีใครสอน ไม่มีใครบอก รู้ด้วยตนเองด้วย

โยม ๒ : คือตอนที่หลวงพ่อนั่งหลับนี่คือกายก็ตั้งตรง ไม่เอน ไม่อะไร

หลวงพ่อ : สบาย ถ้าเอน นั่งกับพระบนศาลามันต้องหัวเราะเยาะแล้ว เพราะพระแข่งดีไง ปฏิบัติแข่งกัน นั่งบนศาลานะ พระเป็นสิบเลย นั่งบนศาลา แล้วพอนั่งๆ ไป พอออกมาแล้ว อาจารย์เขาไม่พูดใช่ไหม เขาพูดตอนจะเลิก บอกทำไมพวกพระองค์อื่นทำไมเดี๋ยวลุกเยี่ยว เขาจะอ้างว่าลุกไปปัสสาวะไง ลุกไปห้องน้ำ ท่านก็ถามว่า แล้วเวลามึงนอนหลับมึงไปเข้าห้องน้ำตอนไหนวะ

เรานั่งฟังอยู่เรายังภูมิใจนะ โอ้โฮ! กูเก่ง กูเก่ง

โยม ๒ : หลวงพ่อได้ยินเสียง

หลวงพ่อ : ไม่ได้ยิน เขามาพูดทีหลัง เขาพูดตอนเลิกภาวนาแล้ว เพราะภาวนาอยู่ เขาพูดได้อย่างไรเพราะมันนั่งเงียบ ทีนี้พอออกมาท่านพูดอย่างนั้นเรายิ่งทิฏฐิยิ่งเกิด ยิ่งว่ากูนี่แน่ใหญ่เลย แล้วมันก็เหมือนวาสนานะ มีอยู่วันหนึ่งพอออกมามันเปียกๆ เป็นจุด น้ำลายมันหยด เพราะน้ำลาย พอยกขึ้นมาดม น้ำลายชัดๆ เลย มันขึ้นเลยนะ ไม่ต้องวินิจฉัยอะไรเลย มันตกใจ เฮ้ย! มึงนั่งหลับ

พอนั่งหลับแล้วมันจะไปปรึกษาใคร เพราะรู้อยู่ว่าพระมันอ่อนกว่าเรา อาจารย์จริงๆ นั่นน่ะวุฒิภาวะไม่มี เราจะไปปรึกษาเขา ถ้าไปปรึกษาเขานะ ไปไหนมา ๓ วา ๒ ศอก เขาจะชักนำมึงลงนรกไปเลย

แล้วพอเราตัดสินใจว่าอันนี้นั่งหลับ เราก็คิดเลย นั่งหลับ เราจะแก้อย่างไร แก้แบบพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะให้ตรึกในธรรมมากๆ พอนั่งปั๊บ กูตรึกเต็มที่เลย คิดร้อยแปดเลย หลับอีก แล้วพอหลับ พอสะดุ้งขึ้นมา อ้าว! มันหลับเพราะอะไร โอ้โฮ! หาเหตุหาผลนะ เวลานั่งก็คิดอีก อ๋อ! มันหลับนะ เปรียบเทียบเลย เปรียบเทียบใจเราเหมือนนกเขา นกเขามันอยู่ในกรง พออยู่ในกรง แมวมันจะกินนกเขา พอนกเขาถ้ามันเกาะคอนอยู่ แมวมันกินไม่ได้หรอกเพราะมันเอาไม่ถึง แต่เพราะนกเขามันเห็นแมว มันตกใจ มันก็บินไปบินมา บินไปข้างลูกกรง แมวก็เอาไปกินอีก นี่ก็เหมือนกัน ตรึกมากเกินไป พอตรึกไปตรึกมามันก็ออกหมดเลย ส่งออกก็หลับอีก เอาอย่างไรดีวะ พระพุทธเจ้าสอนในพระไตรปิฎก เอาทีละข้อๆ นะ ทดสอบทุกข้อเลย แล้วสู้ไม่ได้ ทำอย่างไรดีวะ ทำอย่างไรดีวะ ผ่อนอาหาร นั่นแหละที่เหตุเพราะกินวันละคำที่ว่านี่แหละ

ในพรรษานั้นกินข้าววันละคำเดียว บิณฑบาตข้าวเหนียว ปั้นข้าวเหนียวไว้คำหนึ่งนะ วางไว้ จริงๆ ทำอย่างนี้จริงๆ พระองค์อื่นถ้าจะแข่งกับกู มึงตายหมด เพราะอะไร เพราะเราเอาข้าวเหนียวปั้นเป็นคำเดียวแล้ววางไว้กลางบาตร เราอยู่ในป่ามันได้บิณฑบาตมามันก็เป็นอาหารป่าไง กินได้ เขาก็มีหม้อ ใส่หม้อๆๆ แล้วก็ต้มเป็นแกงโฮะ แล้วก็เลื่อนมานะ เราก็ตักน้ำแกงหยดใส่ข้าว แล้วก็ผ่านไป แล้วพอพระเขาเสร็จใช่ไหม พระเขาแข่งดีกันนะ ใครฉันเร็ว ใครฉันเสร็จ ใครอะไร มันแบบว่าแข็งแรง ไปรวดเร็ว...มึงจะแข่งกับกูอย่างไร ก็กูกินคำเดียว ไอ้ห่าเอ๊ย

แล้วเวลาเขาเสร็จแล้วนะ เขาก็ให้พรใช่ไหม แล้วพิจารณาอาหารใช่ไหม เราก็นั่งมองเขา อ้าว! ใครกินก่อนล่ะ ให้ฉันไปข้างหน้าเลยล่ะ มาถึงกู กูหยิบข้าวใส่ปาก กูก็จบแล้ว

อยู่บ้านตาดก็เหมือนกัน อาจารย์เชอร์รี่ เพราะสมัยอยู่บ้านตาด ถ้าเราฉันนี่นิดเดียว แล้วในบาตรเรา พอในบาตรเรา เราจะเอาอาหารไว้พอดี เมื่อก่อนเราฝึกมาตลอด บอกให้ฉันให้หมด ให้ฉันอะไรให้ประหยัด แล้วเมื่อก่อนไม่เป็น เอาทีหนึ่งครึ่งบาตร โอ้โฮ! โน่นก็อร่อย นี่ก็อร่อยนะ แล้วเวลาฉันมันกินไม่หมด นั่งขย้อน แดกเข้าไป มึงเสือกเอา หมดนี่เลยนะ บังคับมันเลยนะ เข็ดสิ พอเข็ด ตอนหลังมามันก็พอดีๆ ไง ทีนี้พออยู่บ้านตาดมันก็เอาพอดี พอถึงเวลาฉัน เราก็ฉันเสร็จไง แล้วเราก็นั่งรอ เพราะเราลุกก่อน อาจารย์เชอร์รี่ท่านไม่ค่อยพอใจ อาจารย์เชอร์รี่ท่านจะลุกก่อนเพื่อนทุกที แต่ประสาเรา เรากินนิดเดียว โธ่! เราลุกก่อนแล้ว แต่เราไม่ลุก เราปล่อยให้ท่านลุกไง

ทีนี้พอเรานั่งดู ทีแรกเราไม่สังเกตนะ ที่พูดนี้ประสบการณ์ เราก็ฉันเสร็จแล้วเราก็นั่งรอให้อาจารย์เชอร์รี่ลุกก่อน ทีนี้พระมงคลมันสึกไปแล้ว ทางนี้ก็ไอ้มงคล ทางนี้ก็ไอ้คำพาน แล้วก็วันชัย เรียงมาด้วยกันหมด ทั้งวันชัยมา คำพานมา แล้วก็มาเราใช่ไหม แล้วก็มาไอ้ชิด มาไอ้เส็ง มาไอ้มงคล นพดล ก็นั่งอยู่ด้วยกันน่ะ เราฉันเสร็จเราก็นั่งรอไง เขาก็เลื่อนถาดมาเลย “หงบๆๆ ถ่ายบาตร”

มาถ่ายห่าอะไร บาตรกูไม่มี เขาไม่เชื่อนะ พระไม่เชื่อหรอก เพราะมันทำได้ยาก มันตัดสินใจชั่วเสี้ยววินาทีนะ เพราะของผ่านมาตักไม่ตักมันอารมณ์ชั่ววูบนะ คุมใจยาก นี่เวลาบอกว่าบาตรกูไม่มี เราถึงฝังใจไง เขาไม่เชื่อนะ “ไหน ขอดูหน่อย” เขาขอดูบาตรกูเลยนะ เขาไม่เชื่อหรอกว่าพระฉันอิ่มแล้วในก้นบาตรจะหมด มันต้องมีเหลือ เพราะมันเอาไว้เยอะไง แต่สำหรับเรานะ ตอนที่เราปฏิบัติอยู่นะ ทุกวันในบาตรเราจะไม่มีอะไรเหลือเลย เอาแค่พอดีฉัน แต่ก่อนที่จะเป็นอย่างนี้ได้นะ ล้นคอนี่ ขย้อน มึงเอา ต้องกินหมด ถ้ามึงเอา ต้องหมด มึงเอา หยิบแค่ไหนต้องกินให้หมด เราฝึกมาอย่างนี้

เมื่อก่อนเรามาอยู่โพธาราม ครูบาพิศมาจากพวกภูวัว มาเยี่ยม เลี้ยงหมา “ไอ้หงบ มึงเลี้ยงหมาเป็นหรือ ไอ้หงบ ปลูกต้นไม้เป็นหรือ”

โธ่! ตอนภาวนานะ ไม่เอาอะไรเลย จนพระที่บ้านตาดเขาประชุมกัน แล้วเขาให้พระมาบอกเรา “หงบเว้ย วันๆ หนึ่งมึงอย่าทำหน้าเหม็นขี้สิ”

ก็มันเคร่ง มันเกร็ง ไม่พูดกับใครเลย ภาวนาอย่างเดียว จนพระเขาประชุมกันนะ แล้วส่งคนมาบอกเรา เพื่อนสนิท คัดคนที่คุยกับได้มาเตือนน่ะ “หงบเว้ย วันๆ หนึ่งอย่าทำหน้าเหม็นขี้สิ” คือว่าให้หันหน้ามองคนอื่นบ้าง

นี่เวลาปฏิบัตินะ เพราะเราอ่านในปฏิปทาฯ กับประวัติหลวงปู่มั่น เราเอาตามนั้นเลย เอาตามนั้นเลย ฉันเสร็จแล้ว บาตรนี้ พอถึงกุฏิแล้วผลักเข้าไป แล้วเดินจงกรมเลย อย่างว่าเดิน ๗-๘ ชั่วโมงต่อวัน ทำ ลุยเต็มที่เลย ฉันวันละคำ แล้วพอตอนปฏิบัติ เราทำอย่างนี้มา ก่อนอยู่โพธารามยังทำได้ตลอดนะ แล้วพอตอนหลังมาอยู่โพธารามแล้วมันตักจนล้นบาตร เดี๋ยวนี้ตักล้นบาตรเลย เพราะใครเอามาแล้วจะให้กูตักคนเดียวนะ ใครเอามาไม่ตักไม่ยอม ตักจนล้น แล้วกินหมดได้อย่างไร เต็มบาตร กูกินจนท้องแตกแน่ๆ เลย พอมาเป็นหัวหน้าทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นลูกน้องทำได้หมดนะ เป็นข้างหลังนี่ทำได้เลย

โธ่! วิธีการเยอะแยะ อาหารมาใช่ไหม เอ็งเอามาใช่ไหม กูก็ตัก กูก็ตักลมไง กูตักไม่ให้เห็น กูตักทุกอันน่ะ แต่กูตักลม เพราะกูไม่เอาช้อนตักลงไปในอาหาร กูทำท่าตัก แต่ไม่มีอะไรเข้าบาตรกูเลย แล้วกูก็ผ่านไป เพื่อรักษาน้ำใจเขา เวลามา เมื่อก่อนอยู่ข้างหลังนะ กูตักทั้งนั้นน่ะ แต่กูตักลม มึงไม่เห็นหรอกกูตักอะไร แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเราอยู่กับหลวงตามา เพราะเมื่อก่อนของมันเยอะ เรานี่โดนด่าเยอะมาก พอของมาเยอะปั๊บ เราจะช่วยท่านไง เราจะเอาอาหารออกเลย คือรับประเคนแล้วออกเลย พอออกเลย ท่านกวักมือเรียกเลย เราก็ถืออาหารเข้ามา “ทำไมครับ”

“อาหารนี้เขาถวายใคร”

ถวายใครล่ะ ไม่ได้ถวายกูนะ ถวายท่าน เวลาท่านเอานะ

เราเอาออกเลย มันเยอะ แล้วมันเสียเวลา มันทั้งเหนื่อยด้วย เรารับประเคนไง รับประเคนเสร็จกูก็ออกเลย พอเห็นเราเดินออกไปนะ เอาภาชนะนี้ออกไป สมมุติโยมมีแกงมาใช่ไหม เรารับประเคนเสร็จเราก็แอบเอาออกบ้าง แล้วถือภาชนะมา เรียกกลับมาเลย “เขามาถวายใคร”

“ถวายอาจารย์ครับ”

“แล้วถวายผมแล้วเอาออกทำไม”

“ผมเห็นว่ามันเยอะครับ”

โอ๋ย! ใส่เลยนะ “ของเขาเอามานี่นะ เจ้าของเขาจำภาชนะเขาได้ เขาจะมองอยู่ว่าจะผ่านมือผมไหม ถ้าผ่านมือผม เขาจะมีความสุขใจ เขาจะมีความพอใจ แล้วถ้าไม่ผ่านมือผม เขามา เขานั่งเฝ้าอยู่นั่นน่ะ เขานั่งเฝ้าอยู่ว่าของจะผ่านมือผมไหม”

ต้องให้ผ่านให้ท่าน แล้วท่านเลือกของท่านเอง แล้วมันเสียเวลา ตอนนั้นเราโดน ปั๋ง! เข้าไปเต็มๆ เลย แล้วสุดท้ายท่านเสียโยมแม่ พอเสียโยมแม่ มันก็มีงานครบรอบไง ทีนี้งานครบรอบมีหม้อใหญ่ๆ อย่างนี้เต็มเลย เราก็อัดเข้าไปๆๆ จนท่านลุกขึ้นมาเองนะ “ลงข้างๆ ลงข้างๆ ออกเลยๆ”

วันครบรอบวันเสียโยมแม่เมื่อก่อนที่ท่านจัดงาน เมื่อก่อนมันศาลาหลังเก่า ไอ้พวกนี้ยังไม่มาหรอก มันมีแกงหม้อใหญ่อย่างนี้ก็มากันเต็มเลยน่ะ อ้าว! กูอัดเข้าไปเลย อัดเข้าไป ท่านลุกขึ้นมาเองเลยนะ ลุกมาจากอาสนะท่าน ออกมาข้างหน้า “เอาลงข้างๆ ลงข้างๆ”

แล้วเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเก่าหรอก โอ้โฮ! เมื่อก่อนไม่ได้หรอก เรื่องแจกของนี่ โอ้โฮ! ละเอียดยิบเลย ไอ้นี่โดนด่าทุกวัน โดนด่าวันหนึ่งไม่รู้กี่รอบ โดนด่าเยอะมาก เพราะประสาเรานะ ด้วยความกล้า ถ้าคิดว่าอะไรเป็นประโยชน์แล้วเอาเลย ถ้าเห็นว่าทำเพื่อท่านอย่างนี้ เอาเลยล่ะ ผิดถูกให้ท่านสับ คือแบบว่าเสี่ยงเลย แต่ถ้าเป็นคนอื่นไม่กล้า หลบๆ หลีกๆ คือไม่กล้าเสียหน้ากลางศาลาไง แต่ไอ้นี่โดนด่านะ

โทษนะ บ้านนอกเนาะ ไปบิณฑบาตสายตะวันตก แล้วพวกเด็กๆ วัยรุ่นเขามาช่วยล้างจาน ผู้หญิงเต็มไปหมดเลย ทีนี้ธรรมดาผู้หญิงเนาะ เด็กๆ วัยรุ่นมันก็เห็นโดนด่าก็จำได้ พอเราไปบิณฑบาตมันหัวเราะกัน ไอ้นี่เมื่อวานโดนด่า คิกคักๆ มันนึกว่ากูจะอายไง

โธ่! กูไม่อายเลยนะมึง ไม่อายหรอก เพราะอะไร เพราะมันไม่รู้หรอกว่าปัญญาเราหมุนขนาดไหน มันไม่รู้หรอกว่าเราภาวนาขนาดไหน ไอ้นั่นมันเรื่องโลกๆ ความเห็นความคิดพวกมึงน่ะโลกๆ โทษนะ ประดาบ ประดาบกับท่าน วิทยายุทธ แล้วพวกมึงคนดู มึงรู้อะไรกัน

เวลาอยู่กับท่านนะ โธ่! เรารู้ ท่านถึงฝังใจ มาโพธารามใหม่ๆ เห็นไหม ที่มาโพธารามใหม่ๆ พอมาถึง “อ๋อ! ไอ้หงบ” พอเรามาอยู่โพธารามใหม่ๆ เขาไปนิมนต์มาไง พอเจอหน้าเรา อ๋อ! ร้องอ๋อ! เลย เพราะอะไร เพราะฟัดกันมาเยอะ ฟัดกันมาเต็มที่ ฟัดกันมาประจำ แล้วตั้งแต่นั้นมา เมื่อก่อนว่า “ไอ้หงบๆ” แล้วเวลาเขาไปนิมนต์แล้วบอก “ไอ้หยี” ตั้งแต่นั้นมาไอ้หยีเลย ไอ้หงบหายเกลี้ยง

เพราะอยู่กับท่านน่ะ นี่พูดถึงประสบการณ์ในการปฏิบัติมันเยอะมาก แล้วมันพื้นฐาน แล้วเวลาคุยกันอย่างนี้พื้นๆ ฐาน แล้วปฏิบัติไปนะ เดี๋ยวจะมี โอ้โฮ! ข้างบนนะ ขั้นโสดาบันมันก็หัวปั่น หัวปั่นอยู่อย่างนั้นน่ะ เหมือนกับแข่งกีฬาเข้ารอบ แล้วพอเข้าไปก็ต้องไปชิงเหรียญเข้ารอบ โอ้โฮ! หัวปั่นอีกแล้ว ขั้นโสดาบันนะ กว่าจะผ่านได้ ขั้นสกิทาคามีนะ มันก็หลอกใหม่ ขั้นอนาคามียิ่งหลอกเข้าไปใหญ่ ขั้นสุดท้ายนะ มันหลอกมึงหัวปั่นเลย กิเลสมึงเองนี่หลอกมึงเอง แล้วไอ้นี่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ไอ้แค่นั่งหลับ แล้วอย่างนี้จะไม่สู้แล้ว

เรามองมันเป็นปัญหาพื้นฐาน แต่เหมือนกับเด็กฝึกงาน คือทำงานยังไม่เป็น พอคนทำงานเป็นไปแล้ว เหมือนจับผิดจับถูกมันก็พอไปได้ เพราะเราทำงานเป็น พอโสดาบันแล้วทำงานเป็นแล้ว ไปได้แล้ว แต่ถ้าพื้นฐานนี่ โอ้โฮ! ยากมากเลย

หลวงตาบอกว่าการปฏิบัติยากอยู่ ๒ ขั้นตอน ขั้นตอนพื้นฐานกับขั้นตอนสุดท้าย ขั้นตอนสุดท้ายที่ท่านไปแก้หมด แก้หลวงปู่บัว แก้หลวงปู่ฝั้น แก้หลวงปู่คำดี ขั้นนู้นน่ะ ขั้นนู้นก็ยุ่ง ยุ่งมากๆ เลย

นี่ชนะตนเอง สู้มัน ตะโกนเลย พุทโธๆ เลย แก้ไปเรื่อย แล้วอย่างประสาเรา ผ่อนอาหารอะไร อย่าไปกินมาก คนมาหาเรานะ บอกภาวนาไม่ดี ทุกอย่างไม่ดีเลย

เราถามเลย ทำไมต้องมีศีล ๘ ล่ะ เพราะศีล ๘ ไม่กินข้าวเย็น ในตอนเย็น ในกระเพาะไม่มีอาหาร การภาวนามันง่ายขึ้นแล้ว แล้วอย่างพวกเราผ่อนอาหารกันทำไม ผ่อนอาหารไป พลังงานสะสมในร่างกาย ร่างกายจะดึงมาใช้หมดเลย ถ้าใครผ่อนมากๆ มันจะดึงพลังงานสะสมเรา ส่วนเกิน มันจะดึงมาใช้หมดเลย ไขมัน มันจะดึงมาใช้เรื่อยๆ ผ่อนไปเรื่อยๆ เพราะพอพลังงานไม่มีแล้วนะ พอต่อไปเบาแล้ว

ไอ้นี่พลังงานเหลือเฟือ พอพลังงานไม่มี ธาตุทับขันธ์ไง ธาตุคือพลังงานไง ธาตุ ๔ พลังงานมีมาก พลังงานมีมากปั๊บ มันหน่วง หน่วง ภาวนาได้ยาก แล้วพอผ่อนไปเรื่อยนะ มันตัวเบาโหวงเหวงเลย แล้วภาวนาดีมาก

ทีนี้คนเราก็คิดว่า พอบอกว่าไอ้พวกอัตตกิลมถานุโยค เห็นอาหารเป็นโทษ...มึงบ้า เพราะมึงไม่เคยทำ พอทำแล้วมันจะรู้ผลงาน ตั้งแต่นั้นมา นี่ประสาเราเลย แบบว่าขอนซุงไง คือไม่รับรู้อะไรเลยนะ คือว่าจะใช้ชีวิตปกติไง คือจะกินอิ่มนอนอุ่นแล้วภาวนาดีด้วย

ถ้าภาวนาดี การกิน การนอน หลวงตาจะบอกเลย ไม่ห่วงการกิน การนอน ถ้าใครยังห่วงปากห่วงท้อง ธุดงค์ไม่ได้

ทีนี้พอถ้าจะภาวนาแล้วนะ อย่างเรานี่ โธ่! ข้าวคำเดียว อยู่บ้านตาดเคยน้อยใจนะ ถือธุดงค์ไง ธุดงค์ทั้งปีทั้งชาติเลย ทีนี้พอถือธุดงค์ปั๊บ มันมาถึงวัด อู้ฮู! เรานะ ธุดงค์นะ เราธุดงค์ในหมู่บ้านด้วย เพราะไม่ยอมธุดงค์หน้าวัด เพราะหน้าวัดมันมีของใส่ มันมีข้าวเหนียวกับผักต้มเท่านั้นแหละ แล้วพอมองไปรอบข้างนะ เพราะอะไรรู้ไหม บ้านตาดนี่นะ ในโลกนี้มีอะไร บ้านตาดมีไอ้นั่นเลย เพราะคนศรัทธาเยอะ เขาสั่งเครื่องบินมาเลย ลงเลย ในโลกนี้มีอะไรกิน บ้านตาดมีกินหมด

ไอ้ห่า แล้วกูปฏิบัติ คนปฏิบัติแล้วทำไมกินข้าวเหนียววะ บางทีมองไปแล้วมันน้อยใจนะ เราถึงย้อนกลับไปไง ย้อนกลับไปที่ว่าหลวงตาท่านบอกว่าท่านอยู่หนองผือ เวลาธุดงค์ อธิษฐานทั้งวัดเลย แต่ออกพรรษาแล้วเหลือไม่กี่องค์ ท่านบอกใจมันอ่อน ท่านถึงให้ธุดงค์หมดไง พวกเราในวัดป่าบ้านตาดถึงเวลาในพรรษาต้องธุดงค์หมดเลย เพราะจะวัดใจกันไง

ทีนี้พอไปถึง พอธุดงค์ ทำดี อย่างที่ว่าทำดีไม่ได้ดี ทำดีกินข้าวเหนียวเปล่า ไอ้ถูลู่ถูกังมันซัดของเยี่ยมๆ ทั้งนั้นเลย

มันเคยคิดน้อยใจนะ คิดน้อยใจเลยล่ะ เอ๊! ทำดีทำไมไม่ได้ดี แต่ความจริงมันได้ดี แต่เราไปมองที่ว่าอาหาร อาหารไม่ใช่ของดี อาหารคือของเน่า ของดีมันอยู่ที่นี่ แต่ตอนทำเคยคิดน้อยใจ เคยคิดเสียใจ เคยคิดท้อใจ เคยคิดทั้งนั้นน่ะ เอ๊! ทำดีทำไมไม่ได้ดี ทำดีทำไมเป็นอย่างนี้

แล้ววงการพระมันรู้นี่ ไอ้พวกนั้นมันทำอะไรกันวันๆ มันอยู่ประสามันนั่นล่ะ โอ้โฮ! กินอิ่มนอนอุ่น โอ้โฮ! มันสุขฉิบหายเลย แล้วกูทำขนาดนี้กูไม่มีอะไรกินเลย แต่มันไม่ได้คิดถึงว่าสมาธิเราดี ปัญญาเราดี การเคลื่อนไหวเราดี สตินี่พร้อมหมดเลย เหมือนเสือเลย ลองสัมผัสสิ ผิวหนังมันรู้หมด ตีนเดินไปรู้หมดเลย

ไอ้เราตีนลากไปยังไม่รู้เลย สติ แล้วมันจะหลับไหม ย้อนกลับมานี่เลย ทำมาแล้ว ถ้าเราควบคุมอย่างนี้ได้เลย เสือมันจะหาเหยื่อ มันไว จิตมันพร้อม ไอ้นี่นอนให้เสือมันตะครุบหรือ...เสร็จ เรียบร้อย มันกัดแล้วยังไม่รู้ว่ามันกัดน่ะ

ตั้งใจนะ วันนี้พูดเต็มที่เลย พูดเพื่อกระตุก แล้วทำใจให้ปล่อยให้ได้ แล้วงานที่มันแบกรับมาว่าจะต้องทำอะไรๆ เดี๋ยวมันทำได้ ถ้าทำได้มันจบ เนาะ