ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะศรัทธาเช้า

๖ ธ.ค. ๒๕๕๑

 

คณะศรัทธาเช้า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อวานเขามาถาม ถามปัญหาเหมือนกัน อุทธัจจะ กุกกุจจะ ต่างกันอย่างไร เขาถามว่าต่างกันอย่างไร

เราบอกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ อุทธัจจะ มันพูดถึงเวลาเราฟัง เราก็ฟังครูบาอาจารย์เป็นทฤษฎี เหมือนกับการศึกษาธรรม อุทธัจจกุกกุจจะหมายถึงการง่วงเหงาหาวนอน อย่างพวกเราอ่อนเพลีย อุทธัจจกุกกุจจะ การง่วงเหงาหาวนอนโดยปกติของปุถุชนเรา แต่ตัวอุทธัจจะมันเป็นความขยันหมั่นเพียร มันต่างกัน เราเปรียบให้เขาฟังไง

อุทธัจจกุกกุจจะเหมือนกับความทุกข์ของคนยากคนจน คนยากคนจนส่วนใหญ่แล้วจะทุกข์ยากเนาะ เราทำมาหากินทุกข์ไปหมดเลย ทุกข์ ชีวิตมันทำไมมันลำบากลำบน ทุกข์มาก นี่อุทธัจจกุกกุจจะ แต่เวลาทำมาหากินจนมีฐานะร่ำรวยมาก มีสมบัติมหาศาลเลย มันก็หยุดไม่เป็นอีก มันงก มันอยากได้เยอะๆ ทีนี้พอเยอะๆ มันมีประโยชน์หมด มันมีผลประโยชน์ทั้งนั้น มันมีเงินมีทอง มีข้าวของเงินทองเต็มไปหมดเลย แต่มันก็ยังทำอยู่ไม่หยุดไง

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติไป เริ่มต้น เราปฏิบัติใหม่ๆ ทุกอย่างจะขัดแย้ง ทุกอย่างจะทำไม่ได้ประโยชน์หมดเลย แต่พอปฏิบัติไป ขึ้นไปเรื่อยๆ การปฏิบัติไปเรื่อยๆ เราปฏิบัติไปเรื่อยๆ มันขยันหมั่นเพียรเพราะเราทำแล้วเราได้ประโยชน์ไปเรื่อยๆ ทีนี้มันเห็นประโยชน์แล้ว พอเห็นประโยชน์มันก็ทำเต็มที่ ทำจนทำไม่หยุด ทีนี้ไม่หยุด เหมือนเครื่องยนต์มันทำงานเต็มที่แล้วมันไม่หยุด มันจะหยุดได้อย่างไร ทีนี้มันจะหยุด มันจะหยุดเพราะอะไร เพราะมันเครื่องมันติดไปแล้ว

เราจะบอกว่า เวลาเรื่องการปฏิบัตินี่นะ พอปฏิบัติเริ่มต้นก็ยากอย่างหนึ่ง พอปฏิบัติเป็นไปแล้วก็ยากอีกอย่างหนึ่ง จุดให้ติดไฟ ป่าจุดไม่ติดหรอกเพราะมันชื้นมาก มันมีแต่น้ำ จุดไม่ติด พวกเราจุดอย่างไรก็ไม่ติด แต่ไฟป่ามันติดแล้วดับไม่ได้นะ มันเผาผลาญไปหมดเลย จุดก็ต้องจุดให้ติด ถึงเวลาดับต้องดับให้ได้ ถ้าดับได้ปั๊บ มันก็สงบได้

เราประพฤติปฏิบัติเริ่มต้น พอเริ่มต้นเราปฏิบัติมันก็ต้องหวานอมขมกลืน ต้องพยายามขยันหมั่นเพียร เราต้องขยันของเรา ถ้าเราขยันของเรา เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา ขยันนะ

แล้วขยันแล้วเมื่อไหร่จะจบล่ะ เมื่อไหร่มันจะได้ผลได้สักทีหนึ่ง

มันได้ผลนะ พูดถึงการได้ผล มันได้ผลตั้งแต่เราตั้งใจมาแล้ว เราตั้งใจมาปฏิบัติ เราตั้งใจมา เจตนามันดี พอเจตนามันดี อย่างทำงาน เวลาทำงาน เราอยากทำงาน พอทำงานไปแล้วเหนื่อยมาก ทำงานไปแล้วท้อถอย แล้วท้อถอยนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ส่วนใหญ่เราทำงานในหน่วยงานของเรา หัวหน้ามีความเห็นไม่ตรงกับเรา หัวหน้าพยายามบิดเบือน แล้วเพื่อนผู้ร่วมงานมันก็มีความขัดแย้งกัน นี่พูดถึงในหน่วยงานของเรานะ

แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราตั้งใจทำดี แต่มันไม่ได้ผล ทำไมมันเบี่ยงเบนตลอดล่ะ

กิเลสเรามันขัดแย้งกับเราไง กิเลสของเรา ความเห็นของเราขัดแย้งกับเรา เราเห็นว่าควรจะเป็นอย่างนี้ๆ แล้วตั้งใจว่าน่าจะเป็นอย่างนี้ ควรจะเป็นอย่างนี้ น่าจะเป็นอย่างนี้

เวลาปฏิบัติไปแล้วนะ เวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่ของเรา เราปฏิบัติธรรมไม่สมควร ความเห็นเรา มุมมองเราไง ไอ้ตัวนี้มันทำให้การปฏิบัติเรามันไม่เป็นตามข้อเท็จจริง ทีนี้ไม่เป็นตามข้อเท็จจริงปั๊บ การปฏิบัติเรามันถึงจะต้องทดสอบ มันเหนื่อยตรงนี้ไง

เวลาปฏิบัติ เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนามันสบายๆ มันดีไปหมด แล้วเราก็คาดการณ์ มันเหมือนเด็กเลย เหมือนเราคนจน คนทุกข์คนเข็ญใจมีเงิน ๕ บาท ๑๐ บาท มันก็มีค่าแล้วนะ แล้วมีเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน เงินมันจะมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทีนี้พอเรามี คนไม่เคยมี พอมีขึ้นมาหน่อยมันก็ตื่นเต้น โดยธรรมชาติเลย ปุถุชนเราไม่เคยเห็นธรรมะ พอปฏิบัติไปเห็นอะไรแล้วมันก็ตื่นเต้น พอตื่นเต้นก็ว่าใช่แล้วๆ นะ กิเลสหลอกตลอดไปเลย

เราจะมี ๕ บาท ๑๐ บาท ๕ บาทก็คือเงิน ทำสมาธิไง เรามีรากฐานขึ้นมา นั่นก็คือผลงานของเรา แต่ในธรรมของพระพุทธเจ้า สิ่งที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ สิ่งที่ดีกว่าเรา เราทำดีแล้ว แต่สิ่งที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ มันถึงต้องขยันหมั่นเพียรไปเรื่อยๆ แต่พวกเราอยากจบไง โดยการปฏิบัติทุกคนเลยนะ อืม! ปฏิบัติไปแล้วมันจะสะดวก ปฏิบัติไปแล้วมันจะมีความสุขอย่างนั้นๆ มันคาดการณ์ไป

โธ่! ไอ้คำนี้มันย้อนกลับมาได้กับวิมุตติสุข วิมุตติสุขเพราะอะไร มันสุขนอกขันธ์ มันสุขนอกเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา สุขเวทนา เราดูภาพ เราไปดูงานศิลปะ เราไปดูอะไรที่มันซึ้งมาก นั่นก็เวทนา เราจะมีความสุขที่เรามีความสุขในโลกนี้ สุขขนาดไหนนะ สุขเกิดจากเวทนา เกิดจากขันธ์ เกิดจากอามิส เกิดจากมากระทบไง เกิดจากอายตนะมากระทบกับรูป กับภาพ กับสิ่งที่เราพอใจ กับเป้าหมายที่เราอยากได้ นี่มันต้องมีผลตอบแทน นั่นเขาสุขจากอามิสไง คือมันต้องมีผล มีสิ่งที่ได้แล้วถึงมีความสุข สิ่งที่ได้ สิ่งที่เห็น สิ่งที่สัมผัสเห็น

แต่วิมุตติสุขมันไม่มีอะไรสัมผัส เพราะมันเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสอง มันไม่ใช่เวทนา มันไม่ใช่ขันธ์ ไม่ใช่อะไรเลย แล้วมันสุขอย่างไรล่ะ

แม้แต่ความสุขที่ว่ากัน เราคาดหมาย แล้วมันสุข ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ความลึกซึ้งก็ต่างกัน

ขนาดพระมันถามเลย เวลาอยู่ด้วยกัน “อัปปนาสมาธินี้ไม่ใช่ตกภวังค์หรือ”

ไหนว่าสักแต่ว่ารู้ไง เห็นไหม คนไม่เข้าใจไง เพราะมันแบบว่ามันดับหมด มันดับอายตนะทั้งหมดนะ เวลาเข้าไปมันจะดับหมดเลย ดับ หมายถึงว่า จิตนี้มันหดตัวเข้ามา เป็นอิสระเข้ามา มันรู้ตัวมันอยู่ แต่เหมือนกับที่ว่าเปลือกส้มกับส้ม พอมันหดจากเปลือกส้มเข้ามาเป็นตัวส้ม พอตัวเนื้อส้มมันไม่มีเปลือก จิตเวลามันเป็นอัปปนาสมาธิ

ขณิกะเราว่างๆ สบายๆ สักพักหนึ่งออกมา นี่ขณิกะ

อุปจารสมาธิ พอเรากำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไปเรื่อยๆ มันจะสงบเข้าไปอีก ลึกเข้าไปๆ พอลึกปั๊บ จิตจะมีกำลัง ดูนักกีฬาสิ นักกีฬาถ้ามันวิ่งระยะทางเล็กน้อยทุกวันๆ กำลังเขามีแค่นั้นน่ะ แต่เขาวิ่ง ๑๐ กิโลทุกวันๆ กำลังเขาจะมากขึ้น คนหนึ่งวิ่ง ๒๐ กิโล ๒๕ กิโลทุกวัน กำลังของคนที่วิ่ง ร่างกายมันต้องแข็งแรงมากกว่าเป็นธรรมดา

จิตเป็นสมาธิก็เหมือนกัน ขณิกสมาธิก็เล็ก ออกกำลังกายก็ไปเดินเล่นกัน เออ! ฉันก็แข็งแรงไง ออกกำลังกายแล้วไง แต่ร่างกายกำลังมันไม่พอ ถ้าเราออกกำลังกายให้มากขึ้นไปอีก การออกกำลังกาย คนแก่ต้องปรึกษาแพทย์นะ เพราะออกกำลังกายเดี๋ยวจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ เวลาออกกำลังกายก็ต้องปรึกษาหมอนะว่าควรเท่าไร ร่างกายสมควรเท่าไร ออกกำลังกายได้มากได้น้อยแค่ไหน ไม่ใช่ว่าเราอยากจะได้เราก็ทำไป

จิตก็เหมือนกัน เวลาภาวนา ขณิกสมาธิมันเป็นอย่างไร กำลังมันพอไหม วุฒิภาวะ วุฒิภาวะหมายถึงวุฒิภาวะ เราพูดถึงอินทรีย์ ถึงพละ ความเชื่อ ฐานของใจ ถ้าฐานของใจ ดูสิ อย่างเช่นอดอาหาร เราอดอาหารกันต่อเนื่อง ๕ วัน ๑๐ วัน ฉันทีหนึ่ง ๒ วัน ๓ วัน ฉันทีหนึ่ง อดต่อเนื่อง มันทำต่อเนื่อง แต่บางคนอดทีหนึ่ง ๔๐ วัน อดทีหนึ่ง ๖๐ วัน เกิดมาชาตินี้ก็จะอดหนเดียวเท่านั้นน่ะ อดอาหารขนาดนั้นทำไมภาวนาไม่ได้

อดอาหาร ๕ วัน ๑๐ วัน แล้วออกมาฉันทีหนึ่ง ๒ วัน ๓ วัน ฉันทีหนึ่ง มันต่อเนื่องไปเรื่อยๆ มันพัฒนาการไปเรื่อยๆ

ทีนี้ย้อนกลับมาที่ทำสมาธิ คนทำมาก คิดว่าเราทำมากกว่าชั่วโมง เวลาชั่วโมง เรานั่งที ๒-๓ ชั่วโมงๆ ทุกวันๆ เลย แล้วคนอื่นนั่งน้อยกว่าเรา เราต้องมีโอกาสมากกว่าเขา มันก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ หมายถึงว่า มันบัว ๔ เหล่า ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ง่าย ในการปฏิบัติ ไอ้คำว่า “บัว ๔ เหล่า” มันก็ย้อนกลับมาที่ใจของคนนั้น อย่างเช่นทำบุญกุศล เราบอกเลย เวลามาทำบุญได้บุญไม่เท่ากัน คนนี้มีศรัทธามากนะ ชวนกันมานะ ไอ้เด็กมันมามันก็อยากไปเล่น นี่เจตนามันไม่เท่ากัน ทำบุญในโอกาสเดียวกัน แต่บุญกุศลไม่เท่ากันหรอก ไม่เท่ากันที่ไหน ไม่เท่ากันที่เจตนาของใจดวงนั้นไง เจตนาของใจแต่ละดวงมันไม่เท่ากัน ใจบางคนมันศรัทธามาก บางคนมันดูดดื่มมาก เหมือนกับเปิดประตูบ้านเรากว้างมาก อากาศเข้าได้เต็มที่เลย ไอ้บางคนมันแง้มไว้นิดเดียว แง้มไว้หน่อยเดียว อากาศก็เข้าได้น้อย

ใจก็เหมือนกัน แม้แต่ทำบุญพร้อมกัน บุญกุศลยังไม่เหมือนกัน แล้วเกิดมาแต่ละคน จิตมันมาแตกต่างกัน แล้วภาวนา จะเอาเวลาไง วิทยาศาสตร์ไง อะไรก็วิทยาศาสตร์ พอวิทยาศาสตร์ก็คิดอย่างนี้ไงว่าเราจะตั้งเวลาเท่าไร ทำเสร็จแล้วเราจะได้เท่าไร แล้วมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก มันเป็นบัว ๔ เหล่า มันเป็นฐานของจิต

ทีนี้พอฐานของจิต เวลามันเป็นขณิกะ เป็นอุปจาระ คำว่า “เป็นอุปจาระกับขณิกะ” ในตัวมันเองมันก็มีหยาบมีละเอียด เพราะว่ามันอยู่ที่บารมีของแต่ละดวงใจ ดวงใจบางดวงใจนะ พอสงบ มันสงบไปเฉยๆ พอบางดวงใจสงบไปแล้วมันจะรู้เห็นต่างๆ รู้มากรู้น้อย ความรู้เห็น นี่คืออำนาจวาสนา คือได้ทำมามากทำมาน้อยไง เราเปรียบเป็นเงินเลย เงิน พูดถึงเงิน ๕ บาทด้วยกันนะ แต่คนใช้สุรุ่ยสุร่าย เงิน ๕ บาทแทบไม่มีค่าเลยนะ ถ้าคนที่ประหยัดมัธยัสถ์ เงิน ๕ บาท เขาใช้เป็นประโยชน์ได้นะ

จิตก็เหมือนกัน จิตที่มันมีกำลังขึ้นมาแล้ว คนรู้จักเก็บรู้จักใช้มันจะเป็นประโยชน์ ถ้าคนไม่รู้จักเก็บรู้จักใช้นะ สงบขนาดไหนก็ อืม! อืม! มันไม่รู้เรื่อง อืม! อืม! อยู่อย่างนั้นน่ะ มันใช้ประโยชน์อะไรไม่เป็น แต่ถ้าคนรู้จักใช้รู้จักเก็บนะ มันก็จะสงบ มันจะตั้งฐานไปเรื่อยๆ มีสติไปเรื่อยๆ แล้วพอมีกำลังมันออกมามันจะเป็นงาน อันนี้ เป็นเชาวน์ปัญญาอย่างนี้ มันจะสอนกันได้อย่างไร มันเป็นปฏิภาณไหวพริบ

คำว่า “ปฏิภาณ” มันเกิดมาจากการสร้าง เกิดมาจากหัวใจเรามันพร้อมไหม แล้วพอมันละเอียดเข้าไป พอละเอียดเข้าไป จากขณิกะ อุปจาระ จิตสงบมันออกรู้ได้ ออกรู้ได้เพราะอุปจาระมันวงรอบของจิต จิตมันจะเห็นอาการต่างๆ เห็นนิมิต เห็นต่างๆ เห็นนิมิต ถ้ามันปกติเห็นนิมิต ในเมื่อจิตมันหัดใหม่ๆ จิตเรามันยังดิบๆ จิตเรามันยังเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์อยู่ พอมันเห็น เขาเรียกนิมิต เห็นด้วยกิเลส นิมิตอันนี้ถึงไม่ถูกต้องไง

แต่ถ้าจิตสงบบ่อยครั้งเข้าๆ ถ้ามันเห็นกาย มันก็เป็นนิมิตอันหนึ่ง แต่นิมิตนี้มันเกิดจากสัจจะความจริง เกิดจากสัจธรรม เวลาเราพูด พูดถึงการวิปัสสนา สิ่งที่เห็น อสุภะๆ เห็นอสุภะเห็นต่างๆ มันเห็นเพราะอะไร มันเกิดเพราะสัจธรรม สัจธรรม หมายถึงว่า มีฐานของสมาธิ แล้วสมาธิมันใช้เป็น ใช้ให้เป็นปัญญาเป็น พอมันเห็นเป็นอสุภะ

แต่เวลาเราคาดการณ์ เรานึกภาพอสุภะสิ มันเป็นสัจธรรมไหม มันเป็นภาพนึกใช่ไหม แล้วถ้าภาพนึกมันไม่ใช่ภาพที่เห็นไง ไม่ใช่ภาพที่ใจที่มันเห็นโดยเนื้อหาสาระ โดยข้อเท็จจริงที่จิตที่ใจมันไปเกาะเกี่ยว พอใจมันเกาะเกี่ยว พอมันเห็นจริง มันใช้ปัญญา มันแยกแยะเข้าไป มันสะเทือนออกมาถึงตัวใจ เพราะตัวใจมันตัวเห็น เพราะตัวใจมันตัวข้อง ตัวใจมันไปยึดมัน พอไปยึดมัน มันเห็นสภาวะ สัจจะความจริงมันไม่ใช่เป็นวิปัสสนึก ไม่เป็นสัญญา ไม่เป็นสิ่งข้อมูลที่มันเกิดขึ้นเอง ไม่ใช่ข้อมูลที่เราสร้างขึ้น มีตัวเราบวก

แต่ถ้ามันเป็นสัจธรรมเพราะจิตมันสงบ มันเป็นสัจธรรม มันเป็นเหตุเป็นผลของมันเอง เหมือนพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก มันเป็นข้อเท็จจริงของมัน แต่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นเพราะกิเลสมันคอยเข้าไปบวก บวกแล้วมันจะชักนำให้เป็นอดีตอนาคตไง อย่างที่คาดหมายก็เป็นอนาคต เปรียบเทียบกับครูบาอาจารย์มันก็เป็นอดีต ถ้าเป็นปัจจุบันมันจะเกิดของมันเองโดยธรรมชาติของมัน นี่ไง สัจธรรมมันเป็นอย่างนี้ไง พอสัจธรรมมันเห็นขึ้นมา มันสะเทือนหัวใจมาก แล้วมันละเอียดเข้ามาจากขณิกะ อุปจารสมาธิ เป็นอัปปนา

อัปปนามันจะละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปจนจิตกับกายแยกจากกันได้ เพราะตัวจิตมันจะเป็นธรรมชาติของมันเลย ตัวธรรมชาติของมัน ไม่รับรู้เรื่องกายเลย ไม่รับรู้ ถ้ารับรู้เรื่องกาย หูจะได้ยิน ความสัมผัสของผิวหนังจะรับรู้หมด แต่ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิ มันจะไม่รับรู้เรื่องผิวหนังนี้เลย ไม่รับรู้ถึงความรู้สึกอันนี้เลย มันจะเข้าไปเป็นตัวมันเป็นเอกเทศ

ทีนี้การที่เป็นเอกเทศ คำว่า “จิตล้วนๆ ที่ไม่มีอะไรสัมผัส” มันเลยไม่รับรู้อายตนะไง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่รับรู้สิ่งกระทบเลย แต่รู้อยู่

ทีนี้พระถามไง อย่างนี้ไม่ใช่ตกภวังค์หรือ

เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้คือการคาดหมายของสามัญสำนึกเราไง สามัญสำนึกของเรา คำว่า “สักแต่ว่า ไม่รับรู้อะไร” ไม่ใช่ภวังค์หรือ

แต่เวลาตกภวังค์มันไม่รู้ตัวนะ เวลามันตกภวังค์ เวลาพุทโธๆ แล้วหายไปเลย กลับไม่รู้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสิ่งนี้เขาคาดหมายไม่ได้ แต่เราบอกว่าเป็นอัปปนาสมาธิ มันสักแต่ว่ารู้ เขาคาดหมายได้ เขาถึงบอกว่าอย่างนี้ไม่ใช่ตกภวังค์หรือ

ตกภวังค์ไม่ตกภวังค์ มันต้องให้เราทำ คนที่ทำจะรู้เอง รู้ว่ามันตกภวังค์หรือไม่ตกภวังค์ ถ้าตกภวังค์ปั๊บ ขณะตก คำว่า “รู้เอง” นี่นะ รู้เองต้องคนแบบว่าติดแล้วแก้ไขได้ถึงจะรู้เอง แต่ถ้าคนติด ติดหรือตกภวังค์ ติดในภวังค์นั้นจะไม่รู้เอง ถ้ารู้เอง มันตกภวังค์ไม่ได้ คนที่ตกภวังค์คือมันไม่รู้ มันหลง แล้วพอหลงไปแล้ว เหมือนเรา เราเข้าใจผิด เราเข้าใจความคิด ความคิดเราเข้าใจคนหนึ่งว่าเขาติฉินนินทา เขาว่าเรา เราเข้าใจว่าเขาติฉินนินทาเรา แต่ความจริงแล้วเขาสรรเสริญเรา เราเข้าใจผิด ทั้งๆ ที่เขาเห็นดีเห็นงามกับเรานะ แต่เราเข้าใจเขาผิด ความเข้าใจของเราผิด ความคิดของเราก็ผิดหมด จริงไหม เพราะเราเข้าใจผิดว่าคนนี้เขาติฉินนินทาเรา เราก็ต้องเพ่งโทษเขา ต้องหาเหตุผลหักล้างเขาให้ได้ เพราะเขาติฉินนินทาเรา เราจะหักหลังเขา

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันตกภวังค์ มันไม่รู้ ไม่รู้ว่าตกภวังค์หรอก แต่พอเวลามันออกมาแล้ว มันเข้าใจแล้ว มันถึงรู้ว่านี่เป็นภวังค์ พอนี่เป็นภวังค์ เราจะแก้ เพราะอะไร มันจะหายไปเลย มันไม่ใช่สักแต่ว่ารู้ คำว่า “สักแต่ว่ารู้” มันมีผู้รู้อยู่ แต่ตกภวังค์นี่นะ ดับปั๊บ พุทโธๆ แว็บ เหมือนกับวุบเดียว ผลุบเดียวหายเลย ผลุบหายเลย หายไปเลยนะ ไม่มีสติ ไม่มีอะไรเลย หายไปเลย หายไปเลยโดยไม่มีอะไรเลย แล้วสักพักหนึ่งนะ มันจะรู้สึกตัวขึ้นมาเหมือนตื่นจากหลับ สะดุ้งตื่นนิดหนึ่ง เหมือนคนตื่นนอน ใหม่ๆ ก็ยังไม่รู้อีก แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยบอก แล้วตรงนี้ วุฒิภาวะ คือว่าจิตมีวาสนา มันจะสังเกต จิตที่จะรู้ได้เพราะสังเกต

เพราะเราเคยเป็น ใหม่ๆ ไม่รู้ ตกภวังค์ ตกเยอะมาก หายไปเลย ก็เข้าใจผิด คิดว่าเรานั่งเก่งมาก เรานึกว่าเรานั่งสมาธิได้เก่งมาก มันก็เข้าออกอยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่รู้ตัวหรอก แต่พอมันมาเห็น เห็นว่านี่เรานั่งหลับ พอนั่งหลับ นี่คือตัวเองตกภวังค์ แล้วก็มาเทียบถึงอารมณ์ความรู้สึก โอ้โฮ! เราก็แก้ แก้ยากมาก การแก้ยากมากเพราะว่าเหมือนกับคนมันเคยแล้ว ใจมันเคยแล้ว เหมือนร่องน้ำ มันเคยเป็นอย่างนั้น เราจะเปลี่ยนร่องน้ำใหม่ โอ้โฮ! เอาอย่างไรก็เอาไม่ไหว เอาไม่ไหว

เวลาธรรมของพระพุทธเจ้าบอก จิตเรา ความคิดเราเหมือนช้างสารที่ตกมัน เวลามันตกมัน มันฟาดงวงฟาดงา ใครเอามันไม่อยู่นะ จิตก็เหมือนกัน เวลามันหลงไป มันนิดเดียวนะ คิดว่ามันไม่เข้าใจเท่านั้นน่ะ แต่เราไม่มีอำนาจที่เอามันไว้เลย กำลังมันมากกว่าเรา กำลังที่มันไปตามธรรมชาติมันรุนแรงกว่าสติหรือสามัญสำนึกที่เราจะรู้เข้าใจถูกเข้าใจผิดได้ มันถึงได้ไม่รู้ไง มันถึงได้หลงผิดไป แต่พอเราเข้าใจว่าอันนี้ผิดแล้ว มันหาทางออก

หลวงปู่มั่นท่านพูดกับพระไว้สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ “พระให้ปฏิบัติมานะ การแก้จิตมันแก้ยาก ผู้เฒ่ายังอยู่ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ ถ้าผู้เฒ่าตายไปแล้ว คนแก้มันหายากนะ”

ยากอย่างนี้ไง เราเป็นเองเราก็ยังไม่เข้าใจ แล้วเวลาไปหาครูบาอาจารย์นะ ถ้าครูบาอาจารย์บอกว่าตกภวังค์นะ เพราะเราพูดคำนี้บ่อย แล้วลูกศิษย์เกือบร้อยทั้งร้อยเลยนะ “ตกได้อย่างไร แหม! สติดีมาก” ทุกคนเถียงหมด จะต้องให้เขาไปรู้ตัวเอง เออ! ใช่ๆๆ ตกภวังค์จริงๆ แต่ร้อยทั้งร้อยเถียงหมด “มันจะเป็นภวังค์ได้อย่างไร โอ๋ย! มันว่างหมดเลย” มันนอนหลับ ทำไมมันจะไม่ว่างล่ะ ก็มึงนอนหลับอยู่ มันว่างแบบไม่มีสติ มันว่างแบบไม่มีกำลัง

โดยข้อเท็จจริงของมัน ถ้าเป็นสมาธินะ มันจะมีกำลัง มันจะรับรู้อะไรต่างๆ คือปัญญามันจะเกิด แม้แต่ปัญญาในสมาธิมันเกิดขึ้นมา ไม่ใช่วิปัสสนานะ ปัญญามันจะเกิด มันจะตรึกในธรรม มันจะเห็นแยกแยะความชัดเจน มันแยกแยะเหมือนกับเราศึกษาธรรมชาติ เราจะซึ้งมากนะ ลม อากาศที่มันแปรปรวน มันเป็นเพราะอะไร ฟ้าร้องฟ้าผ่ามันเป็นเพราะอะไร คนโบราณเขากราบไหว้กันนะ เขาตกใจ เขากลัว เกิดฟ้าร้อง โอ้โฮ! เขาจะบูชาเลยว่าผิดผีแล้ว ฝนตกฟ้าร้อง เขาจะกลัวมาก อย่างพวกเราศึกษาแล้วเข้าใจหมด เห็นไหม มันเรื่องธรรมดา มันเรื่องธรรมชาติมันเป็นไป

ทีนี้ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่ตกภวังค์ ย้อนกลับมาที่เราใช้ปัญญา เราใช้ปัญญาตรึกในธรรมพระพุทธเจ้า เราก็ว่า นี่ไง เป็นธรรมไง มันก็เหมือนเราศึกษาเรื่องทฤษฎีวิทยาศาสตร์ เราตรึกในธรรม ตรึกธรรมะพระพุทธเจ้า นี่ปัญญาไง ตรึกธรรมะพระพุทธจ้า เหมือนเราศึกษาวิทยาศาสตร์ ศึกษาเราก็เข้าใจใช่ไหม นี่เราศึกษาธรรมพระพุทธจ้า ศึกษา เราเข้าใจใช่ไหม เราเข้าใจ เราก็ซึ้งใจใช่ไหม อืม! ซึ้งมาก...แล้วมันแก้กิเลสไหม มันแก้กิเลสได้หรือเปล่า

นี่ไง ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ แล้วเราศึกษากัน ว่างๆ ว่างๆ...ว่างๆ มันหินทับหญ้านะ มันกดกิเลสไว้ไง เพราะเราศึกษาธรรมะพระพุทธจ้าแล้ว ธรรม ธรรมคือยา ธรรมโอสถใช่ไหม เราศึกษาธรรม เราไปศึกษา เราก็ได้สัมผัสธรรมเข้ามาในใจเรา เจ็บไข้ได้ป่วยไปหาหมอ หมอให้ยามากินใช่ไหม เราก็กินยาลดไข้ ลดไข้แล้วก็สบายๆ สบายๆ แต่โรคหายไหม โรคไม่หาย พอโรคไม่หายปั๊บ เดี๋ยวพอเรากินของแสลง ร่างกายอ่อนแอ โรคมันก็ออกมาอีก ไม่มีวันจบ

แต่ถ้ามันเป็นวิปัสสนา ปัญญาที่มันเกิดจากสมาธิ มันจะเข้าไปทำลาย มันจะเข้าไปทำลาย ความเข้าใจผิดของผู้ปฏิบัติตรงนี้เยอะมาก “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ก็ใช้ปัญญากันแล้วไง โอ้โฮ! ทุกคนมีปัญญามากนะ ทุกคนใคร่ครวญในธรรมนะ ซึ้งมากๆ”

ไม่มีครูบาอาจารย์นะ ไม่รู้เรื่องหรอก “ศึกษาธรรมแล้วทำไมไม่ใช้ปัญญา โอ้โฮ! คิดทั้งวันเลย โอ้โฮ! ปัญญายอดมากเลย” แต่มันเป็นปัญญา โลกียปัญญา มันไม่ใช่ปัญญาเกิดจากเป็นปัญญา เหมือนนักวิทยาศาสตร์ เราต้องคิดค้นขึ้นมาเอง ทั้งๆ ที่ทฤษฎีนี้เป็นของพระพุทธจ้านี่แหละ แต่เวลาเราคิดค้นขึ้นมาเอง มันจะเกิดความสัมผัส เกิดการกระทำของใจเราเอง ใจเราสัมผัสเอง ใจเราปล่อยวางเอง

เหมือนขุดบ่อน้ำ บ่อน้ำเราอาศัย ไปสิ บ่อน้ำที่ไหนก็มี รัฐบาลเขาขุดไว้ให้เราใช้ เราอาศัยเขาตลอดไป แต่ถ้าเราขุดบ่อน้ำของเราขึ้นมา บ่อน้ำนั้นเป็นบ่อน้ำของเรานะ เราขุดเอง เราหาเองนะ เราได้ใช้น้ำนี้เองนะ ใจก็เหมือนกัน ใครขุดมันลงไป ใครศึกษามันลงไป แล้วมันขึ้นมา สมาธิเราก็รู้ว่าสมาธิ อันนี้สมาธิต้องให้อาจารย์ประกันนะ ว่างๆ ว่างๆ เป็นสมาธิหรือยัง ว่างๆ ว่างๆ ทำอย่างไรต่อ มาร้อยทั้งร้อยเลย ว่างๆ ว่างๆ

มันว่างโดยตกภวังค์ การตกภวังค์มันไม่มีสติ เหมือนเด็กๆ มันควบคุมตัวเองไม่ได้ เด็กๆ เด็กๆ ไร้เดียงสามากเลย จับไปปล่อยกรุงเทพฯ ให้มันกลับเองสิ เอาไปกรุงเทพฯ แล้วปล่อยมันเลย ให้มันกลับเอง กลับไม่ถูกหรอก ใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีกำลัง มันไม่รู้ มันไม่โตขึ้นมา แต่ถ้าเป็นสมาธิ เราสร้างฐานเราให้โตขึ้นมา พอเราเติบโตขึ้นมาแล้ว เอาไปปล่อยกรุงเทพฯ นะ ถึงจะไม่เข้าใจ เราก็ถามได้ เราหาทางกลับได้ แต่เด็กๆ มันหาทางกลับไม่ได้หรอก มันกลับไม่เป็นหรอก ใจเราก็เหมือนกัน ใจเราถ้าไม่มีพัฒนาการนะ มันเป็นอย่างนั้น

มันถึงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มันถึงต้องมีสมาธิสร้างใจให้มันโตขึ้นมา พอโตขึ้นมามันจะเห็นผิดเห็นถูกนะ ทำอย่างนี้เป็นทางที่ผิด พออันนี้เป็นทางที่ผิดแล้ว ทำซ้ำทำซากก็ตกภวังค์อยู่อย่างนั้นน่ะ ว่างๆ ว่างๆ มันจะไม่เกิดกำลัง มันจะไม่มีพัฒนาการของมัน

แต่ถ้ามันมีพัฒนาการของมันนะ เหมือนเรา เราโตขึ้นมา เรารู้เลยอะไรถูกอะไรผิด จิตที่มันติดอยู่ พอมันโตขึ้นมา มันมีหลักของมัน มันรู้ถูกรู้ผิดเลย ว่างๆ นี้ว่างจริงๆ อยู่ แล้วมันได้อะไร ว่างแล้วมันเป็นอนิจจัง เดี๋ยวก็เสื่อม พอออกมาก็เป็นปกติ

พระพุทธจ้าไปอยู่กับอาฬารดาบส ได้สมาบัติ ๘ “มีความรู้เท่าเรา สั่งสอนลูกศิษย์ได้เหมือนกัน” พระพุทธจ้าไม่เอา เพราะอะไร มันเข้าแล้วมันมีความสุข พอมันคลายออกมามันก็ทุกข์อีก

แต่ถ้าชำระกิเลสแล้ว อย่างว่าเป็นวิมุตติ วิมุตติสุขมันไม่ใช่ขันธ์ มันไม่มีอะไรกระทบมันอีกแล้ว จะเข้าจะออกไม่เกี่ยว จะเข้าจะออกมันเป็น ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา มันเป็นขันธ์ ๕ มันเป็นภาระ คำว่า “ภาระ” หมายถึงชีวิตไง ชีวิตเกิดขึ้นมาต้องหายใจ ต้องมีลมหายใจ ชีวิตนี้ต้องมีอาหาร ทีนี้เกิดมาแล้วขันธ์ ๕ มีในธรรมชาติของมัน มันก็เคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติของมัน การเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของมัน มันไม่มีกิเลสคอยยุแหย่

แต่ของเรามีความคิดเหมือนกัน ต้องดูแลรักษาเหมือนกัน แต่มันมีตัณหา มันมีอุปาทาน มันมีอวิชชา “นี่ไม่สมแก่ฐานะของเรา เราต้องควรได้มากกว่านี้ ให้มามากเกินไป คนนี้ดูถูกเรา ให้มาเหมือนกับเห็นเราเป็นคนโลภมาก ควรจะให้เราน้อยกว่านี้”

เขาให้มากก็ติ เขาให้น้อยก็ติ คือดีมันก็ไม่พอใจ ชั่วมันก็ไม่พอใจ กิเลสไม่พอใจอะไรเลย แล้วทุกข์ไหม นี่ไง มาร ขันธมาร ขันธมารทำให้เราทุกข์ แต่ถ้ามันชำระจบสิ้นไปแล้ว มันเป็นปกติของมัน มันเป็นปกติของมัน มันไม่มีขันธ์เข้าไปเสียบ นี่ชีวิตที่เหลืออยู่ ชีวิตที่เหลืออยู่ของผู้ที่ชำระกิเลสในหัวใจแล้ว ชีวิตที่เหลืออยู่มันเข้าใจสัจธรรมตามความเป็นจริง ชีวิตที่เหลืออยู่ มันถึงซึ้งพระพุทธจ้ามาก สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่มันพูดได้หมด มันเข้าใจสัจธรรมไปหมด

ฉะนั้น แล้วมันก็ย้อนกลับมา ถ้าเราทำตรงนี้ไม่ได้ เราไม่สามารถทำใจให้เราสิ้นจากกิเลสได้ มันก็ต้องเวียนตายเวียนเกิดไปอย่างนี้ เราจะเวียนตายเวียนเกิดไป แล้วเวียนตายเวียนเกิด ดูสังคมสิ ทุกคนเป็นห่วงมากนะว่าเราจะส่งต่อสังคมให้ลูกหลานเราอย่างไร ทรัพยากรใช้กันหมดแล้ว แล้วลูกหลานเราจะใช้อะไร

แล้วใครเป็นลูกหลานล่ะ

ก็เรานี่แหละ ก็เราไปเกิดอีกไง ผลัดกันเป็นพ่อ ผลัดกันเป็นแม่ ผลัดกันเป็นลูก การเวียนตายเวียนเกิดผลัดกันไปผลัดกันมา รู้ตัวไม่รู้ตัวก็ไม่รู้ ผลัดกันไปผลัดกันมา

เรามาอยู่โพธารามใหม่ๆ มันมีผู้เฒ่าคนหนึ่งอยู่ที่หน้าวัด อายุเขา ๙๐ กว่าแล้วนะ เวลามาวัด เขาถือตัวมาก เขาว่าเขารู้ธรรมะมาก แล้วเขาจะบอกเราเลย บอกเราเด็กๆ แล้วเขาก็ทิฏฐิมาก

เราบอกเลย โยมตายไปแล้วโยมก็มาเกิดใหม่ต่อท้ายเรา แล้วใครแก่กว่ากันล่ะ พอตายปั๊บก็มาเกิดใหม่ ก็มาต่อท้ายเราอยู่แล้ว ใครแก่กว่าใคร

เขาเกิดทิฏฐิคิดว่ามันเป็นอย่างนั้นไง แต่ถ้าผู้ปฏิบัตินะ มันเวียนตายเวียนเกิดน่ะจิต ดูสิ ดูอย่างพระเวสสันดรอย่างนี้ มาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พระเวสสันดรกับเจ้าชายสิทธัตถะเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า ไม่ใช่ คนละคน แต่จิตดวงเดียวกัน เราเป็นนาย ก. เราตายไป เราไปเกิดเป็นนาย ข. นาย ก. กับ นาย ข. เป็นคนเดียวกันหรือเปล่า

ถ้าพูดทางวิทยาศาสตร์เขาถือว่าเอาเปรียบไง เราเป็นนาย ก. เราทำกรรมไว้ แล้วไปเกิดเป็นนาย ข. เราต้องมาชดใช้กรรม แล้วนาย ข. มันไปทำกรรมใครไว้ล่ะ นาย ข. ก็เสียเปรียบน่ะสิ นาย ข. ไม่ได้ทำใครเลย แล้วนาย ข. ทำไมต้องมาชดใช้กรรม วิทยาศาสตร์เขาคิดกันอย่างนั้นนะ

แต่ถ้าเป็นธรรมะนะ นาย ก. นาย ข. มันก็คนเดียวกันนั่นน่ะ คนเดียวกันหมายถึงจิตดวงเดียวกัน ทีนี้จิตนะ วัฏฏะเป็นอย่างนี้ ถึงได้เวียนตายเวียนเกิด ชีวิตเรามันจะอยู่ค้ำฟ้าไม่ได้ ชีวิตเรา ร่างกายมนุษย์มันมีวาระ แต่จิตมันไม่มี พอมันหมดวาระจากภพหนึ่ง มันไปเกิดใหม่ มันก็คือบุญกุศลอันนี้ บุญหรือบาปของจิตดวงนี้มันก็ไปเกิดเป็นนาย ข. ไปเกิดเป็นนาย ข. แล้วสิ่งที่มันตามมา สิ่งที่กระทบจากนาย ข. นาย ข. จะโดนกระทบรุนแรงมาก เพราะอะไร เพราะว่านาย ก. ได้ทำบุญทำบาปไว้เยอะ พอเกิดเป็นนาย ข. ก็ต้องกระทบรุนแรง แล้วนาย ข. บอกกูไม่ได้ทำเลย ทำไมกูต้องทุกข์

เอ็งไม่ได้ทำ แต่ตัวจิต จิตเดิมแท้ จิตตัวเดิมที่ไปเกิดมันทำ ทำแล้วมันสะสมอยู่ที่นั่น

ทีนี้พระเวสสันดรเสียสละลูกเสียสละเมีย เสียสละหมดเลย พระเวสสันดรสละออกไป สละเพื่ออะไร สละเพื่อโพธิญาณ พอสละเพื่อโพธิญาณ ไปเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายสิทธัตถะไม่ได้สละลูกสละเมีย แต่ออกจากราชวังก็เสียสละอยู่เนาะ เจ้าชายสิทธัตถะไม่ได้สละลูกสละเมีย แล้วโพธิญาณ เสียสละ ทุกคนเสียสละหมดนะ กัณหา ชาลี กัณหาหรือชาลี เวลาสละไปแล้ว กัณหายอมรับ แต่ชาลีติพ่อ มันมีความคิดขึ้นมาว่าพ่อสละลูก มันทำไม่ถูก

ทีนี้พอมันมาเกิด มาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ กัณหาหรือชาลีจำไม่ได้ มาเกิดเป็นสามเณรราหุล ไอ้ที่ติพ่ออีกคนหนึ่งไปเกิดเป็นนางอุบลวรรณาไง เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน นางอุบลวรรณาเป็นภิกษุณี เป็นพระอรหันต์นะ แต่ไม่ได้เกิดกับเจ้าชายสิทธัตถะ นี่บารมี การสร้าง ที่ว่าสร้างแล้ว ถ้าสร้างแล้วได้ ทีนี้ถ้ามันสร้างให้ได้มันต้องเป็นข้อเท็จจริงนะ อย่าไปสร้างภาพ

โลกเดี๋ยวนี้นะ พอศาสนา เอาศาสนานี้เป็นตัวตั้ง แล้วดูอย่างเขาสร้างภาพว่าเขามีความเสียสละๆ...เสียสละอย่างนั้นมันเสียสละสร้างภาพ มันไม่ได้มากหรอก เสียสละอย่างเรานี่นะ แม้แต่ตักข้าวแม้แต่ทัพพีเดียว แต่เจตนาเรามหาศาลนะ บุญนี้ได้มาก บุญอยู่ที่เจตนา ไม่ได้อยู่ที่ค่าของวัตถุ ค่าของวัตถุนะ คนที่มั่งมี คนที่ร่ำรวย วัตถุมีคุณค่าน้อยกับเขานะ เพราะเขามีเยอะมาก เขาสละอย่างไรก็ได้ใช่ไหม

แต่เราคนเข็ญใจ เราหาเช้ากินค่ำ แม้แต่ข้าวทัพพีสองทัพพีดำรงชีวิตเราได้นะ แล้วเราเสียสละออกไป ของน้อยค่า แต่คุณค่าของเจตนา คุณค่าของใจสูงมาก บุญกุศลมันอยู่ตรงนี้ บุญกุศลไม่ใช่อยู่ที่ตัววัตถุนะ บุญกุศลอยู่ที่ตัวหัวใจเรา ตัวหัวใจที่มันอิ่มเอมแล้วมันสละออก นี่มันเสียสละตรงนี้ มาถึงตรงนี้ปั๊บ ตัวบุญกุศลมันจะเข้าไปถึงที่ใจ แล้วตัวใจมันจะเป็นตัวพัฒนาการไป แล้วไปเกิดภพชาติต่อไปๆ มันจะมีวาสนาของมัน มันถึงเวลา มันเป็นธรรมชาติที่มันเป็นไป

ฉะนั้น เวลาเกิดตาย เราจะพูดบ่อยกับลูกศิษย์ เวลาใครมีอะไรกระทบกระเทือนมา บอกว่า เราทำมาเอง อะไรจะเกิดก็แล้วแต่นะ อะไรจะเกิดกับพวกเราก็แล้วแต่ ตั้งสติไว้ แล้วพยายามแก้ไข หาช่องทางแก้ไขออกไป เพราะพระพุทธเจ้าสอนไว้ ตอนพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

“เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” ความประมาทความเลินเล่อ พระพุทธเจ้าสั่งเสียเป็นคำสุดท้าย คำสุดท้าย พระพุทธเจ้าสั่งเสียไว้ เราอย่าประมาทกับชีวิต อย่าประมาทกับทุกๆ อย่าง ทำอะไรตั้งใจทำ มันจะดี มันจะไม่ดี ก็คือกรรมของเราไง แต่เราตั้งใจทำ ตั้งใจทำสิ่งที่ดีๆ เพราะเราเชื่อ เราเชื่อพระพุทธเจ้า แล้วเราเชื่อสัจธรรมความจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

แล้วเราก็บ่นทุกคน ทำดี ชาตินี้เกิดมาทำดีทุกอย่างเลย ดีหมดเลย ทำไมมันไม่เห็นได้ดีสักที

ต้องมาคิดกันว่าความดีของเราคืออะไร ความดีของคนทั่วไป ความดีของเขาคือสมบัติ ความดีของโลกใช่ไหม คนมั่งมีศรีสุข คนมีตำแหน่งคือคนดี แล้วถ้าความดีของศาสนาล่ะ ดูสิ เราตั้งใจ เพราะว่าอะไร อย่างเรา เราเจตนาดี เรามีเจตนา เราหาสิ่งที่ดีๆ ไปให้คนอื่น แต่คนอื่นเขาไม่พอใจ เพราะเขาไม่ต้องการสมบัติอย่างนี้ ความดีอย่างนี้ไปทำอะไร

ความดี ดีของใคร แล้วความดีจริงๆ ดีจริงๆ ดูสิ เจอพุทธะที่ไหน ฆ่าพระพุทธเจ้าก่อน พวกเรากล้าฆ่าพระพุทธเจ้าไหม เราทำร้ายกันเอง ทำคนสะเทือนใจ เรายังผิดเลยใช่ไหม แต่ในสัจธรรม เจอพระพุทธเจ้าที่ไหนให้ฆ่าพระพุทธเจ้าก่อน แล้วจะบรรลุธรรม ในมหายานพูดอย่างนั้น แต่พวกเราก็ตีความกันไม่เข้าใจนะ

แต่ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติ เวลาจิตสงบเข้าไป มันจะละเข้าไป ละขันธ์ขั้นแรก สักกายทิฏฐิ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เป็นพระโสดาบัน พิจารณากายเข้าไป ซ้ำต่อไป กายกับจิตจะแยกออกจากกัน กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส มันเป็นขันธ์อันละเอียด แยกออกไปหมดเลย โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส แต่หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาแล้วบอกโลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง โลกนี้โลกแบน ไม่มีอะไรเลย ว่างหมดเลย นี่พระสกิทาคามี แล้วพิจารณาเข้าไปอีก พิจารณาเข้าไปอีก พิจารณาเข้าไปมันเป็นกามราคะ เป็นอสุภะ แต่ถ้าเป็นพิจารณาจิต มันจะเป็นขันธ์อันละเอียด พอพิจารณาผ่านเข้าไปมันก็จะหมด มันก็จะขาดไป พอขาดไปแล้วจิตมันจะว่างหมด ว่างหมดเลยเพราะอะไร เพราะว่าขันธ์มันหมดแล้ว สิ่งที่เป็นเปลือก ส้ม ทุกอย่าง เปลือกมันลอกหมดแล้ว ตัวมันเองจะใส ใสอย่างไร คนก็ไม่เห็นไง

“โมฆราช เธอจงดูโลกนี้เป็นความว่างให้หมดเลย แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ”

แต่พอเรามองความว่าง เราจะมองว่าทุกอย่างว่างหมด แต่เราไม่รู้ว่าใครเป็นคนมองไง ด้วยสายตาเราจะเห็นทุกอย่างหมดเลย แล้วโลกนี้ราบหมดเลย เขาไถหมดเลย ไม่มีอะไรเลย เราจะมองว่างหมดเลย แล้วใครเป็นคนมอง

ไอ้ผู้มองนั้นคือพุทธะ ถ้าไม่ฆ่าพุทธะ เจอพุทธะที่ไหนให้ฆ่าพระพุทธเจ้าก่อน แต่ไม่มีใครเคยเจอพุทธะเลย เพราะเจอพุทธะนี้ต้องอรหัตตมรรค เจอพุทธะที่ไหนต้องฆ่าพุทธะก่อน

แต่พวกเราไม่เคยเจอพุทธะ เราคิดว่าตัวอวิชชาตัวนี้เป็นตัวนิพพาน เราไปเชื่อไง พวกเรา วุฒิภาวะเราอ่อน พอเราไปศึกษาธรรมพระพุทธเจ้า ว่างๆ ว่างๆ ไง พอโลกนี้เป็นความว่าง มองว่าว่าง แต่ตัวเองไม่เห็นไง ไม่เห็นตัวเอง ถ้าเห็นตัวเอง การประพฤติปฏิบัติมันต้องมีการขุดคุ้ยหากิเลส คือหานักโทษ แต่เวลาเราปฏิบัติ ตัวที่เห็น ตัวที่เป็น ขณะที่เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี มันมีกระทบไง คือมีตัวพุทธะ มีพลังงาน แล้วก็มีขันธ์

ปัญญาเกิดจากความคิด แต่พอเราทำลายหมดแล้ว ทำลายเป็นชั้นๆๆ เข้าไปถึงตัวมันเอง มันจะเป็น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ มันจะเป็นปัจจยาการ คำว่า “ปัจจยาการ” คือมันเกี่ยวเนื่องกัน สิ่งนี้มีถึงมีสิ่งนี้ มันเกี่ยวเนื่องกัน มันเป็นอันเดียว มันเป็นอันเดียว แต่เราอธิบายการทำงานของมัน

แต่ถ้าเป็นปัญญาความคิดอย่างพวกเรา ความคิดโดยสามัญสำนึกมันไม่ใช่ ปัจจยาการมันเป็นตัวจิต ตัวปัจจยาการมันเป็นจิตทั้งหมดเลย จะเป็นปัจจยาการได้ต่อเมื่อเราใช้ปัญญาแล้วเห็นปัจจยาการของมัน คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ คือในหนึ่งเดียวมันประกอบไปด้วยปัจจยาการ แต่ขณะที่มันเป็นขันธ์ ๕ มันเป็นความคิดข้างนอก ความคิดข้างนอก เวลาเราใช้ปัญญา ปัญญาคือสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันมีอวิชชาร่วมมาด้วย มันเลยเป็นกิเลส มันเลยทำให้เราทุกข์ยาก แต่เราชำระมันบ่อยครั้งเข้ามาๆ จนมันเป็นตัวของมันเอง พอเป็นตัวของมันเอง สิ่งที่จะจับได้ นี่ฆ่าพุทธะ

เจอพุทธะที่ไหนให้ฆ่าพระพุทธเจ้าก่อน อันนี้มันเป็นโวหาร มันเป็นเทคนิคคำสอน คำสอนของเขา ทีนี้พอคำสอนบอกว่าเป็นทางลัดๆ พวกเราคิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้น แต่ไม่เป็นหรอก ไม่เป็นเพราะอะไร ไม่เป็นเพราะพระอรหันต์ล้านองค์ก็ล้านวิธีการ พระอรหันต์ล้านองค์ก็ล้านอย่าง เวลาพระโมคคัลลานะ พระพุทธเจ้าไปสอนให้พิจารณากาย เวลาพระสารีบุตร พระพุทธเจ้าไปสอนให้พิจารณาอารมณ์เป็นความคิดอันหนึ่ง คือการกระทำ วิทยานิพนธ์ของคนมันจะไม่ซ้อนกัน วิทยานิพนธ์ของพระอรหันต์ พระอรหันต์แต่ละองค์จะมีวิทยานิพนธ์ของตัวเอง คือการกระทำของจิตนั้น คือพุทธะของตัวเองจะมีการกระทำตัวเองเพื่อให้สิ้นจากกิเลสเป็นของตัวเอง คือเป็นวิทยานิพนธ์ แล้วเราจะไปเอาอันนั้นมาเปรียบเทียบกับเราไม่ได้ ถ้าเราไปเอาอันนั้นมาเปรียบเทียบกับเรา มันเป็นสัญญา

มันเหมือนกับเราศึกษา ธรรมะของพระพุทธเจ้าเราศึกษามา มันถึงว่าพระอรหันต์ล้านองค์ก็ล้านอย่าง แล้วเราจะให้เหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้ พิจารณาอย่างไรแล้วแต่ พิจารณากายเหมือนกันก็ไม่เหมือนกัน

อย่างเช่นหลวงตาท่านพูดถึงว่า หลวงปู่คำดีเคยพิจารณา ไปคุยธรรมะกัน หลวงตาท่านบอกว่าตอนท่านอยู่ในป่า แล้วมันมีกิเลส มันไปกลัวเสือ กลัวมาก แล้วพอกลัวปั๊บ มันก็คิดเลยว่า เหมือนเรากลัวผี พอเรากลัวผี ความมืด เราจะจินตนาการผีเลย โอ้โฮ! ผีตัวใหญ่โตมากเลย จินตนาการของเรา

พอเรากลัวเสือ เราก็จะจินตนาการว่าเสือ มองไปที่ไหนก็เห็นแต่เสือตัวใหญ่ๆ นอนคอยจะตะครุบเรา มันกลัวมาก กลัวมากจนจินตนาการเป็นเสือ เสือซุ่มอยู่เต็มทางจงกรมเลย มันกลัวมาก พอกลัวมากก็ใช้ปัญญาไล่ กลัวอะไร เสือ เสือมันเป็นสัตว์ เราก็เป็นสัตว์ เสือมีกระดูก เราก็มีกระดูก เสือมีหนัง เราก็มีหนัง เสือมีขน เราก็มีขน เสือมีทุกอย่าง เรามีหมดเลย แล้วไปกลัวอะไรมัน

พอพิจารณาไล่ถึงเต็มที่ปั๊บ มันอาจหาญ พอจิตมันเต็มที่ มันอาจหาญ ท่านบอกเลยนะ พอจิตมันเต็มที่แล้ว ถ้าเจอเสือที่ไหน ท่านจะเอามือเข้าไปลูบหัวเสือได้เลย เสือจะทำอะไรเราไม่ได้เลย เพราะกำลังของจิตมันแรงแล้ว

พออย่างนั้นปั๊บ มันก็ลุยหาเสือเลย เพราะขณะที่กลัว เสือทุกตัวจะมาซุ่มคอยจะตะครุบเราอยู่คนเดียว พอมันเอากำลังใจเหนือนั้นแล้ว มันก็ลุยเข้าไปหาเสือ ตัวไหนใหญ่ที่สุด ให้ตัวนั้นกินก่อน พอเดินเข้าไปมันก็หายหมด ภาพที่เราจินตนาการไว้ไม่มี ทีนี้ไปใหญ่เลย บุกป่าเลย จะหาเสือ นี่มันก็เป็นความกล้า

แล้วท่านบอกท่านไปคุยกับหลวงปู่คำดี หลวงปู่คำดีท่านก็ใช้ปัญญาอย่างนี้ ท่านก็เคยกลัวเสือเหมือนกัน แล้วใช้ปัญญาเหมือนกัน นี่หลวงตาท่านเล่าเอง หลวงปู่คำดีท่านใช้ปัญญาอย่างนี้เหมือนกันเลย แต่คำว่า “ปัจจุบัน” มันคนละวาระ เพราะว่าอายุพรรษามันต่างกัน แล้วการเที่ยวป่ามันก็ต่างกัน แต่ปัญญามันใช้เหมือนกัน แต่คนละวาระ คนละวาระหนึ่ง คนละระดับของใจ

อย่างใจ ดูสิ เราพูดบ่อย เราพูดถึงว่าโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญามันปัญญาคนละมิติ โลกียปัญญามันเป็นปัญญาแบบวิทยาศาสตร์ เป็นปัญญาทฤษฎี เวลาเราพูดกันต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ต้องคุยกันบนโต๊ะ แต่ความจริงบนโต๊ะ เราทำเอกสารทางราชการต้องบนโต๊ะ แต่ทำไมมันมีใต้โต๊ะล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ในความคิดเราเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นสูตรทฤษฎี มันก็มีอยู่ แต่ไอ้ความเห็นเรา ไอ้สิ่งเร้าเรามันจะคิดโต้แย้ง คิดอีกอย่างหนึ่ง นี่มันอยู่ใต้โต๊ะ ถ้าอยู่ใต้โต๊ะแล้ว ถ้าเราคิดแบบวิทยาศาสตร์ บนโต๊ะ มันก็เป็นแบบวิทยาศาสตร์ มันเป็นกรอบ เป็นทฤษฎีตายตัวไง

ทีนี้ถ้ามันเป็นธรรมล่ะ มิติหนึ่ง มิติเราคิดแบบวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เราสื่อสารกัน บนโต๊ะ แล้วใต้โต๊ะล่ะ ใต้โต๊ะต้องจิตสงบ ระหว่างโต๊ะนี่นะ ตัวโต๊ะ ดูสิ เราคิดว่าตัวสมาธิมันเป็นตัวแบ่งแยก แบ่งแยกว่าถ้าความคิดอันนี้มันเป็นโลกียปัญญา มันคิดจากเราไง ถ้าคิดจากเรามันเป็นวาสนานะ ดูสิ เชาวน์ปัญญาของเด็ก เชาวน์ปัญญาของคน ความคิดของคนลึกซึ้งแตกต่างกัน นี่เป็นวิทยาศาสตร์ พอเป็นวิทยาศาสตร์มันก็เทียบค่าสิ คนนี้ปัญญามาก คนนี้ปัญญาน้อย คนนี้เซ่อ บอกเท่าไร คิดไม่ออกเลย คนนี้ฉลาด

ฉลาดขนาดไหน เซ่อขนาดไหน ก็ตกอยู่ในใต้อวิชชา ฉลาดก็ฉลาดโดยกิเลส โง่ก็โง่โดยกิเลส จะโง่จะฉลาดอย่างไร อยู่ใต้กฎของอวิชชาหมดเลย แต่พอทำจิตสงบเข้ามา ทำจิตสงบเข้ามา พอตัวจิตสงบ ตัวอวิชชามันสงบลง ถ้าตัวอวิชชา จิตสงบได้เพราะมานะทิฏฐิ เพราะมานะ เพราะอหังการเรามันสงบตัวลง เพราะที่เรารู้เราเห็น เราเก่ง เมื่อไหร่จะเป็นสมาธิเสียที

รู้ก็รู้ไม่จริง แล้วเวลาเรียกร้องก็เรียกร้องโดยกิเลส ทำไมคนอื่นเขาทำได้ ทำไมเราทำไม่ได้ มันก็สร้างภาพ สมาธิจะเป็นอย่างนั้น เป็นสมาธิสร้าง ไม่ใช่สมาธิจริงอีก เพราะมันมีความอหังการ เพราะมันมีความยึดมั่น เพราะมันมีทิฏฐิ มันเลยทำไม่ได้

แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริง พุทโธๆๆ มันกล่อมจนจิตมันสงบลง พอจิตสงบลง สิ่งที่เป็นความอหังการ สิ่งที่เป็นตัวตนเรามันต้องอ่อนลงเป็นธรรมดา แล้วพอไปรู้จริง เหมือนกับเราสัมผัส เหมือนเรากินข้าว โอ้โฮ! รสชาติมันจะดีมากเลย พอจิตมันสงบลง โอ้โฮ! รสชาติมันจะดีมากเลย แต่กินข้าวมาแล้ว ข้าวเป็นโทษก็มี อาหารที่เป็นพิษก็มี ถ้าอาหารที่เป็นพิษมันก็ทำให้ร่างกายเสียหายใช่ไหม

จิตมันสงบแล้วมันเข้ามาเป็นฐาน สงบแล้วเราใช้ปัญญาเป็นไหม ถ้าใช้ปัญญาเป็น นี่โลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญามันไม่มีกรอบ มันเป็นปัจจุบันธรรม ถ้าเป็นปัจจุบัน สิ่งที่เกิดแล้วปัญญาไล่ทัน มันจะปล่อย มันจะปล่อยบ่อยครั้งจนมันจะขาดไป

แต่ถ้ามันเป็นโลกียปัญญา ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า เหตุผลมันลงตัวแล้วมันก็ปล่อย แต่ปล่อยด้วยเหตุผล เหตุผลทางที่เราเทียบเคียง แต่ถ้าเป็นปัจจุบัน เหตุผลโดยสัจธรรม เหตุผลโดยข้อเท็จจริง อย่างเช่นไฟถ้ามันไหม้วัตถุสิ่งใด ถ้าไฟมันไหม้จนวัตถุนั้นหายไป วัตถุนั้นโดนไฟเผาผลาญ เผาผลาญจนเหลือเป็นเถ้าถ่าน ปัจจุบันที่มันเกิด ปัญญามันไล่ มันเผาผลาญ มันเป็นเหตุผลของมัน แล้วมันจะทำลายต่อหน้าเรา พอต่อหน้าเรา จิตมันเป็นผู้เห็น มันก็ โอ้โฮ! ปัญญามันเกิดอย่างนี้ ไม่ใช่ว่า โอ้โฮ! ปัญญาเก็บข้อมูลไง จดใหญ่เลยนะ ไอ้นั่นโลกียปัญญา

ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ เอ๊อะ! เพียงแต่ว่าเราเห็นแล้วเรามาอธิบายอีกทีหนึ่ง เวลาถ้าผู้ที่เห็นแล้วจะอธิบายสอนลูกศิษย์ จะเอาสิ่งที่เราทำได้ เหมือนกับเราทำทางวิชาการ ดูสิ ทำไมบอกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าสอนไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนได้เท่านั้น

พระปัจเจกพุทธเจ้าสอนได้ สอนได้ในชีวิตท่าน เพราะท่านรู้เห็นอย่างที่ว่า เอ๊อะๆ คนที่ไป เอ๊อะๆ มันเห็นจริง ทำไมอธิบายไม่ได้ แต่อธิบายในชั่วชีวิตของท่าน แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไปรู้ไปเห็น ปัญญาท่านกว้างขวาง แล้วท่านทำเป็นทฤษฎี ท่านทำเป็นพระไตรปิฎก ท่านเขียนเป็นศัพท์ บัญญัติศัพท์แล้วเขียนเป็นเรื่องเป็นราวเป็นอย่างนั้นๆ ออกมา พระพุทธเจ้าถึงสอนต่อเนื่องได้ สอนต่อเนื่องคือธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอ พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว แต่คำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าอธิบายไว้มันยังจดจารึกกันมาๆ

แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านสอนในชีวิตของท่าน แต่เวลาท่านล่วงไปแล้ว ไอ้คนที่จะเอาต่อมา คนที่จะเอาต่อมาอย่างน้อยต้องเป็นพระอรหันต์ ทีนี้มันไม่มี ไม่มีพระอรหันต์คือว่าไม่มีผู้รู้จริงไง พระปัจเจกพุทธเจ้ารู้จริงถึงเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ แต่ถ้าสอนใคร แล้วถ้าใครทำได้จริง คนนั้นมันก็จะพูดได้ แต่มันไม่มีใครทำได้ ไม่มีใครทำได้มันก็ไม่รู้จริง ไม่รู้จริง มันจะต่อ มันก็ด้วน มันสืบต่อกันไม่ได้ คำสอนมันสืบต่อกันไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรสืบต่อไป แต่พระพุทธเจ้ามี

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไปรู้ เอ๊อะๆ นั่นล่ะความรู้ของเรา มันจะเข้าไปชำระของเรา แล้วมันจะเป็นประโยชน์ของเรา สิ่งที่เป็นประโยชน์ อันนี้เป็นประโยชน์ของเรา นั่นน่ะสันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน รู้จำเพาะตน เพราะสิ่งนี้มันเป็นกิเลสของเราไง กิเลสของเราขนาดไหน เราชำระกิเลสได้ เรารู้จำเพาะตน แล้วเราจะเอาไปเทียบกับคนอื่น คนอื่น กิเลสไม่เหมือนเรา สิ่งที่รู้นี่พระพุทธเจ้ารู้นะ จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ทีนี้คำสอน วิธีปฏิบัติ มันถึงต้องเปิดให้เป็นสัจธรรม ให้เป็นผู้ใดทำแล้วสมควรแก่ธรรมไง

แต่ทีนี้การปฏิบัติเป็นพิธี โลกปัจจุบันเห็นว่าการปฏิบัติกำลังรุ่งเรือง จับมานั่งกันเป็นแถวเลยนะ อย่างกับฝึกทหารน่ะ เห็นไหม ฝึกทหาร ซ้ายหัน ขวาหัน มันจะบ้า ไอ้นั่นมันฝึกทหาร ไม่ใช่ภาวนา

ทหารฝึกมาแล้วนะ ดูสิ ทหารทั้งกองทัพเลย ผู้ที่แม่นปืน ผู้ที่เอาไปเป็นนักกีฬาแม่นปืนได้มีกี่คน ฝึกยิงปืนทั้งกองร้อยเลย มีใครบ้างที่เป็นนักกีฬาทีมชาติ การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน การฝึกมา แล้วใครบ้างที่มันจะบรรลุธรรม จะฝึกแบบนั้นนะ มันฝึกเป็นพิธีไง ฝึกเอาแบบล่องลอย นี่ปฏิบัติอย่างนี้นะ ซ้ายหัน ขวาหันอยู่อย่างนั้นนะ

ซ้ายหัน ขวาหัน นั่นวิชาชีพทหารนะมึง มันไม่ใช่แก้กิเลสหรอก ถ้าแก้กิเลส มันต้องไล่ของเราเข้ามา มันถึงว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคล อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึงแห่งตน ตนมีกิเลส ตนก็ต้องแก้ไขกิเลสเอง เราต้องต่อสู้เราเอง

ตั้งใจพูด ตั้งใจพูดให้ผู้ที่ปฏิบัติมีกำลังใจ สิ่งนี้ไม่เหนือวิสัยมนุษย์นะ เราเป็นมนุษย์ สิ่งนี้เราทำได้ ถ้าทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ แล้วมาสอนพวกเรา ถ้าเป็นเทวดาเขามีบุญมาก เขาเกิดเป็นเทวดา แต่เขาก็เสียโอกาส เพราะเขาไม่มีกระเพาะอาหารมาคอยย่อย เขาไม่มีอาหาร เขาอิ่มทิพย์ตลอดเวลา เขาก็เพลินไปอันหนึ่ง เกิดเป็นเทวดามันได้สถานะหนึ่ง แต่มันจะเสวยสุขอย่างนั้นตลอดไป จนมีแต่เทวดาที่เขามีบารมี เทวดาที่ไม่มีบารมีเขาจะไปไหน เขาก็สุขอยู่แล้ว แต่เทวดาที่มีบารมีเขากลัวตายเหมือนกัน เขาถึงมาฟังเทศน์พระพุทธเจ้า ฟังเทศน์ครูบาอาจารย์เรา เทวดาที่มาฟังธรรมก็มี แต่เทวดา ประชากรเทวดาขนาดไหน แล้วมาฟังธรรมเท่าไร มันน้อยนัก

อย่างเช่นชาวพุทธเรา ในโลกเรา ๖,๐๐๐ กว่าล้าน ในประเทศไทย ๖๐ ล้าน ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธมีเท่าไร แล้วนับถือศาสนาพุทธแบบชาวพุทธนะ ชาวพุทธ หมายถึงว่า ทำกิจกรรมไง ทำบุญตักบาตรอย่างนี้มีกี่คน ไอ้นอกนั้นมันพุทธที่ทะเบียนบ้าน ปีหนึ่งทำบุญหนเดียวตอนปีใหม่ แล้วบอกว่าชาวพุทธนะ ศีล ๕ คืออะไร ตอบไม่ถูก ศีล ๕ เป็นพื้นฐานนะ ไปถามสิ ศีล ๕ คืออะไร ตอบไม่ได้นะ แล้วชาวพุทธมึงนี่แบบว่าพุทธกลวงเหรอวะ มึงไม่ต้องทำอะไรเลยหรือ

ไม่ต้องว่าใครหรอก เราก็เป็น ตอนเป็นเด็กๆ เราไม่รู้เรื่องหรอก เป็นวัยรุ่น ศีล ๕ ไม่รู้เรื่อง ทำอะไรไม่ได้หรอก เวลาไปขอศีล เขาให้ศีลทีหนึ่ง แหม! ท่องนกแก้วนกขุนทอง ภูมิใจไงว่ากูได้รับศีลไง เดี๋ยวนี้มานะ เห็นเป็นของตลกหมดนะ

ศีลคือความปกติของใจ นั่นคือข้อห้าม ศีล ๕ คือข้อห้าม ห้ามทำผิด ๕ อย่าง แล้วตัวมันเป็นศีลไหม ศีล ๒๒๗ ตัวมันเป็นศีลไหม ตัวศีลคือตัวความรู้สึกเรานะ มันผิดศีลถูกศีลมันอยู่ที่นี่นะ ตัวศีลคือตัวใจ ไม่ใช่ข้อห้าม ไม่ใช่ เมื่อก่อนไม่บวชไม่รู้เรื่องหรอก บวชมาใหม่ๆ ก็ยังไม่รู้เรื่อง แต่ปฏิบัติไปๆ มันเข้าใจๆ ไป

นี่ไง มันถึงว่าในวัฏฏะมีกันเท่าไร แล้วเราเกิดเป็นชาวพุทธ แล้วในเมืองไทย ในเมืองไทยนะ คนที่มีวาสนาเกิดมาแล้วมีโอกาส เพราะเราพูดบ่อย เพื่อนพระฝรั่งก็พูดกับเรา แล้วเราก็จำแม่นเลย อะไรที่มันทิ่มใจมันจะจำแม่น มันบอกเลยนะ คนไทยเหมือนกับกบเฝ้ากอบัว เอ็งดูกูสิ กูเป็นฝรั่งนะ เวลากูจะบวช กูจะปฏิบัติ กูต้องบวช ๔ ประเทศ เขาอยู่อเมริกา เขาศึกษาธรรมวินัยแล้วเขาอยากบวช ด้วยการศึกษาใช่ไหมว่าศาสนาเกิดที่อินเดีย เขาก็ไปบวชที่อินเดีย สมัยนั้นเมื่อประมาณสักเกือบ ๒๐ ปีที่แล้ว อินเดียยังไม่ค่อยมีพระ เขาบวชได้แค่เณร เพราะพระไม่ครบสงฆ์ เขาอยากบวชมาก พระบอกถ้าอยากบวชเร็วๆ ให้ไปบวชลังกา เขาก็มาบวชลังกา พอบวชลังกาเสร็จ อยากปฏิบัติ เขาบอกถ้าอยากปฏิบัติต้องไปเมืองไทย พอมาเมืองไทย เขามาญัตติที่วัดบวรฯ เขาบอกเลย กว่ากูจะได้บวชนะ ตั้ง ๔ ประเทศ แล้วไอ้คนไทยมันอยู่กับศาสนา ทำไมมันไม่สนใจ นี่ฝรั่งเขาพูดกับเราอย่างนี้นะ เวลาคุยกัน พระฝรั่งเวลาคุยกันมันสะเทือนใจนะ เขาอยู่ถึงที่ไหน เขายังตั้งใจมาค้นคว้า แต่นี่เวลาเขาพูดด้วยน้ำขึ้น อันนี้ศรัทธามันขึ้น เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพระฝรั่งบวชเยอะมากแล้วก็สึกเยอะมากเหมือนกัน

เวลาบวชขึ้นมาเพราะเขาศรัทธา เขาตั้งใจทำแล้วเขาคิดแบบวิทยาศาสตร์ว่าหนึ่งบวกหนึ่งต้องเป็นสอง แต่ในการปฏิบัตินะ หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสองก็มี โดยสามัญสำนึก หนึ่งบวกหนึ่งเป็นศูนย์ก็มี เพราะมันทำแล้วมันไม่ได้ผล หนึ่งบวกหนึ่งเป็นล้านก็มี

อ้าว! หนึ่งบวกหนึ่งเป็นล้านได้อย่างไร

ลงทุน เราทำปฏิบัติ แต่ผลของมันยิ่งกว่าล้านอีก สัจธรรมมันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ หนึ่งบวกหนึ่งต้องเป็นสอง ถ้าตอบอย่างอื่นผิด เขาให้ศูนย์ เขาไม่ให้คะแนน ถ้าบอกสอง เขาให้คะแนน อันนั้นเขาให้คะแนน แต่ไม่ใช่เป็นความจริง เขาให้คะแนนๆ คะแนนกับบุญกุศล บาป ทุกข์ ไม่ใช่อันเดียวกัน คะแนนคือเขาตอบให้ คนอื่นเขาให้คะแนน แต่ความสุขความทุกข์ของเรามันเป็นความจริง

เวลาจิตเขาดีขึ้นมา เขาพูดอย่างนั้น แต่พระที่พูดกับเรายังไม่สึก ยังอยู่ ก็ยังเจอกันอยู่ แต่ไอ้คนที่สึกไปก็เยอะ

พอจิตมันดี ดูสิ ดูพระทุกองค์เวลาบวช ทุกคนจะปรารถนานิพพานนะ พระบวชใหม่ทุกคนเลย อยากจะพ้นจากทุกข์ แล้วทำไปๆ มันจะเหลือกี่องค์ คือมันพยายามเต็มที่ พยายามเต็มที่ นี่ไง ครูบาอาจารย์ของเราสอนให้ตื่นตัวตลอดเวลา อย่านอนจม เพราะนอนจม กิเลสมันจะเกาะ แล้วคิดดูสิ เราคุ้นชินกับมันไง เราทำอะไรทุกวันๆ ดูพระ เช้าขึ้นมาก็บิณฑบาต แล้วก็ฉัน ฉันแล้วพรุ่งนี้เช้าก็บิณฑบาต แล้วก็ฉัน ชีวิตมีแค่นี้หรือ เขาต้องการชีวิตที่มากกว่านี้ใช่ไหม

แต่ถ้าเป็นพระปฏิบัตินะ เช้าบิณฑบาตมา ออกไปบิณฑบาต เห็นโยมเขาใส่บาตร บ้านนี้ใส่บาตรแล้วมีความสุข บ้านนี้ใส่บาตรแล้วทะเลาะเบาะแว้งกัน บ้านนี้ใส่บาตรแล้วก็ โอ้โฮ! ยุ่งไปหมดเลย มันเป็นธรรมะไง มันเทศน์ให้ฟังไง ชีวิตโลก ดูสิ ครอบครัวหนึ่งๆ เขาทุกข์ยากขนาดไหน นี่ไง ชีวิตครอบครัว การครองเรือนมันทุกข์มาก การครองเรือน พระพุทธเจ้าสอนไว้ เหมือนวิดทะเลทั้งทะเลเลย เอาปลาตัวหนึ่ง แรงที่วิดทะเลทั้งทะเลมันเหนื่อยขนาดไหน เอาปลาตัวหนึ่ง คือมีความสุขไง จะสุขอย่างนั้น อีก ๕ ปีจะมีความสุข อีก ๑๐ ปีจะมีความสุข แต่หาความสุขไม่เจอ ปลาตัวนั้นมันหลอกไง วิดๆๆ ไป เดี๋ยวจะเจอปลาตัวนั้น วิดๆ ไป ไม่เจอ

พระถ้าออกบิณฑบาตแล้วเห็นการเคลื่อนไหวของสังคม มันเป็นเทศน์นะ เทศน์สอนชีวิตนี้ไง การครองเรือนเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง การครองเรือน ถ้าเรามีการครองเรือน การครองเรือน ธรรมะคือการครองใจ หัวใจ ถ้าเรามีศีล มีศีลเป็นความปกติของใจ ถ้าไม่ปกติมันจะคิดมาก การคิดมากคือมันแสวงหาเหยื่อ แม้แต่ใจเรา เรายังครองไม่ได้เลย เวลาเรามีครอบครัวต้องครองใจของสามีภรรยา ก็ต้องถนอมน้ำใจกัน มีลูกขึ้นมาแต่ละคนต้องคอยเอาใจมัน เห็นไหม การครองเรือน การครองเรือนคือการบริหารหัวใจของแต่ละดวง แล้วบริหารหัวใจของเขาให้ร่มเย็นเป็นสุข ทุกข์ไหม เครียดมาก นี่ถ้าพระบิณฑบาต ถ้าพระมีสตินะ เห็นชีวิต

โธ่! ใครมาวัดนะ แล้วมาอย่างนี้ หายากมาก มาวัดนะ ทั้งพ่อทั้งแม้ทั้งลูกมาด้วยกันนะ แสดงว่าในครอบครัวบริหารกันได้ ส่วนใหญ่มาวัดนะ พ่อมาคนหนึ่ง ไม่ก็แม่มาคนหนึ่ง ไม่ก็ลูกหนีมาวัด บางทีก็พ่อหนีมาวัด ไอ้คนโน้นมาตาม พวกโยมไม่อยู่ในสังคมพระไม่เข้าใจหรอก เราอยู่สังคมพระเข้าใจเรื่องนี้เยอะมาก แล้วความเห็นมันแตกต่างกัน

บางทีสามีมาวัด ภรรยาก็ว่าสามีไปไหนวะ ตามมาดู บางทีภรรยามาวัดนะ สามีก็ต้องคอยมาดูว่า เฮ้ย! ภรรยากูไปไหนวะ ไปวัดหรือเปล่า เรื่องนี้มี มีเยอะมาก ไม่ไว้ใจกัน แต่ถ้ามาทั้งครอบครัว มาทั้งครอบครัวเพราะอะไรรู้ไหม เพราะมุมมองความเห็นของคนมันหลากหลาย พ่อแม่พาลูกไปวัดแล้วลูกก็บอกว่าทำไมพ่อแม่ไม่พาหนูไปห้าง ทำไมต้องพาหนูไปวัด พาหนูไปวัด หนูทุกข์นะ โอ้โฮ! ไปวัดนะ นอนก็ลำบาก กินก็ลำบาก ทำไมพ่อแม่ไม่พาหนูไปเที่ยวล่ะ

มันก็ต้องมี ถ้าพ่อแม่ที่ฉลาดนะ มันก็ต้องมีพามาวัดบ้าง พาไปเปิดหูเปิดตาบ้าง เพราะถ้าเราไม่พาลูกเราไปเปิดหูเปิดตานะ เพื่อนๆ จะพาไป ถ้าเราไม่ให้เพื่อนๆ พาไป พ่อแม่ควรพาไป พาไปดูพาไปเห็น ลูกเราต้องศึกษาโลก แล้วเราต้องคุยกันรู้เรื่อง

ในสังคม บุญคือในครอบครัวพูดกันเข้าใจ ในครอบครัวไว้เนื้อเชื่อใจกัน อบอุ่นใจ นั่นคือบุญ บุญไม่ใช่ตัวเลขในธนาคาร บุญคือความไว้เนื้อเชื่อใจ บุญคือความอบอุ่นของใจ นี่คือบุญ ความดีๆ ที่เราว่าความดีๆ อยู่ที่ไหน

บุญคือความอบอุ่น บุญคือความเข้าใจกันในบ้าน แล้วบ้านไหนมันจะเข้าใจกันบ้างล่ะ น้อยบ้านที่จะเข้าใจกันได้อบอุ่นนะ มันต้องมีลิ้นกับฟัน ลิ้นกับฟันมันยังขบกันเลย แล้วอยู่ในบ้านไม่ทะเลาะกันเป็นไปไม่ได้ หาได้ยากมากที่ครอบครัวที่ไม่เป็นอย่างนั้น

นี่พูดถึงพระ ความคุ้นชิน ความคุ้นเคย หลวงตาท่านพูดนี่จำแม่น พูดจนชินปาก ฟังจนชินหู แต่หัวใจมันด้าน หัวใจมันด้าน

โอ้โฮ! เวลาท่านเทศน์ เทศน์ธรรมะมันแทงใจเราไหม พูดจนชินปาก จ้อยๆๆ เลย ฟังทุกวัน ชินไปหมดเลย พูดจนชินปาก ฟังจนชินหู มันก็ไม่มีน้ำหนักนะ แต่หัวใจมันด้าน แต่ถ้าเป็นผู้ที่ตื่นตัวนะ เวลาคำพูด ธรรมะมันทิ่มใจ มันสะดุ้ง เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจใช่ไหม พูดให้ทิ่มหัวใจดำ มันสะดุ้ง พอมันสะดุ้ง เราก็ตื่นตัว พอมันตื่นตัว เราก็มีมุมมองความคิดว่าเราจะทำอะไร เราจะแก้ไขอย่างไร เราจะตั้งสัจจะไหม เราจะนั่งสมาธิมากๆ เราจะเดินจงกรมไหม เราจะผ่อนอาหารไหม เราจะเพิ่มเวลาการภาวนาไหม ถ้ามันทิ่มเข้ามาๆ นะ

เวลาเราเดินๆ ท่านพูดเลย นี่ศพเดินได้ เวลาเราเดินกัน ท่านบอกศพเดินได้ ศพมันไม่มีวิญญาณ ศพเดินได้ หมายถึงว่า มันมีแต่ร่าง ไม่มีสติ ไม่มีหัวใจ ถ้าเรามีหัวใจนะ ไม่ใช่ศพ คน คนเดินได้ แต่ถ้าเราไม่มีสติไม่มีปัญญานะ ท่านบอกว่านี่ศพ ศพมันไร้ค่า ชีวิตเราไร้ค่าเลยถ้าเราไม่มีสติปัญญา ชีวิตเราเหมือนกับศพเดินได้ คือคนตายแล้ว คนขาดสติไม่มีสติเหมือนคนตาย นี่เวลาท่านจี้ ครูบาอาจารย์ท่านจะช็อตเราตลอด ช็อตให้เราตื่นตัว เราตื่นตัว พอเราตื่นตัว เราจะได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ใช้ชีวิตไปวันหนึ่งๆ ให้มันผ่านไปวันหนึ่งๆ ตายหมด ความตายรออยู่ข้างหน้า วันตายอยู่ข้างหน้า จะต้องตาย แล้วเรามรณานุสติ คิดถึงความตายตลอดเวลา ให้เราตื่นตัว เราต้องตายแล้ว แล้วเรามีสมบัติไหม เราจะมีอะไรติดไม้ติดมือไปไหม บุญกุศลที่ทำมามันจะตามเราไป

คนที่มีบุญกุศลเต็มที่เวลาจะตายนะ อืม! ไปเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะเสบียงกูเต็มเลย ไอ้คนที่ไม่มีเสบียงนะ เอ๊! จะไปไหน แล้วไปอย่างไร

เราไปไหนเรามีรถ มีเสบียงเต็มเลย ไอ้นั่นมันเดินออกมาตัวเปล่าๆ จะโบกรถใครไปเขาก็ไม่ให้ไป เพราะมึงไม่ได้ทำไว้

นี่ไง ถ้าเรามีความอบอุ่นเรื่องบุญ เราจะไปไหนเราก็พร้อม แล้วถ้าปฏิบัติไปนะ ปฏิบัติถึงที่สุดแล้วนะ ความตายไม่มี หลอกกัน อย่างที่ว่า นาย ก. นาย ข. นี่ไง มันตายไปไหนล่ะ มันไม่มีอะไรตาย มันเปลี่ยนสถานะหนึ่งไปอีกหนึ่ง สถานะนี้มันเปลี่ยนไป แต่เราไม่รู้ แต่ผู้ที่ปฏิบัติแล้วถ้าไม่รู้ตรงนี้ มันก็แก้กิเลสไม่ได้ คือกิเลสมันบังไว้ ถ้าชำระกิเลสแล้วมันไม่มี คือมันตายนี่ก็ตายจบ ไม่ใช่ นาย ก. ไปเกิดเป็นนาย ข.

ถ้าปกติ นาย ก. ตาย ต้องไปเกิดเป็นนาย ข. เกิดเป็นนาย ง. ต้องไปเรื่อยๆ แต่ถ้านาย ก. ปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว นาย ก. ตายก็จบกันแล้ว เพราะไม่มีเชื้อไข เพราะไม่มีเหตุให้ไปเกิด เพราะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ไม่มีสิ่งใดๆ ทั้งหมด มีแต่วิมุตติสุข มีแต่ธรรมธาตุ ธรรมธาตุเป็นธรรมแล้ว สิ้นกระบวนการของการขับไสของมารแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คงที่ของนิพพาน แต่ถ้าเป็นพระอนาคามียังเกิดบนพรหม พระสกิทาคามียังเกิด พระโสดาบันยังเกิดอีก ๗ ชาติ

แต่ถ้าปุถุชนนะ มึงจะปฏิเสธว่าไม่เกิด มึงปฏิเสธนั่นปากพูด ปากมันปฏิเสธ อย่างเรา ถึงเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราปฏิเสธสิว่าเราไม่เป็น แล้วมันแก้ได้ไหม มันก็คือเจ็บไข้ได้ป่วย นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิเสธว่าไม่เกิด เอ็งปฏิเสธที่ปากไง แต่ความจริงก็ต้องเป็นแบบนั้น ข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนั้น มันต้องเป็นไปแบบนั้น แต่ถ้าเราปฏิบัติ มันไม่เป็นแบบนั้น เพราะมันมีมรรคญาณ มันมีมรรคญาณเข้าไปชำระล้าง มันมีอริยสัจ มันมีความจริงเข้าไปชำระ มันต้องมีเหตุมีผลนะ มันต้องมีเหตุมีปัจจัย มีเหตุมีผลทั้งหมด ไม่ใช่กำปั้นทุบดิน ไม่ใช่พูดลอยๆ พูดลอยๆ เราจำธรรมะพระพุทธเจ้ามาพูดกันลอยๆ แต่ความจริงมันเป็นความจริง มันจะสิ้นกระบวนการของมันถ้าเราประพฤติปฏิบัติให้เข้มแข็ง

เรามีโอกาส เหมือนนักกีฬาเลย เขาเริ่มเป่านกหวีดให้เราแข่ง นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติก็เหมือนเริ่มต้น มีเวลาเต็มชีวิตเลย แต่ถ้าเราไม่ทำเอง นักกีฬาเขาให้แข่ง กระต่ายกับเต่าไง เต่ามันเดินไปเรื่อยๆ กระต่ายมันไปนอนอยู่ข้างทาง แต่มันไปไม่รอดหรอก นี่ก็เหมือนกัน ความเพียรเรา เราขยันหมั่นเพียรของเรา เราทำของเราไป เราเป็นเต่า ขยันเดินไปเรื่อยๆ ผิดถูกมีคนคอยชี้นำ เดินถึงที่สุดแล้วมันต้องถึงเส้นชัยเป็นธรรมดา เราต้องขยันหมั่นเพียร

พูดธรรมะมา พูดทั้งหมดเพื่อให้กำลังใจ ให้มีการกระทำ ไม่ต้องไปวิตกกังวล ทำได้ เรานั่งอยู่นี่ ผิดถูกมาหาเรานี่ ทำไปเลย ลุยไปเลย แล้วถ้าผิด บอกเลย คนสอนผิด หัวหน้าผิด แล้วจับกันไปติดคุกให้หมดเลย ดันสอนผิด แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ เราต้องลุยเองนะ เราต้องพยายามเองนะ

เวลาผู้ที่มีชีวิตอยู่ ครูบาอาจารย์ก็ต้องล่วงไปเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้ายังต้องตาย ธรรมชาติของการเกิดแล้วต้องตาย แต่ตายแล้วเกิดอีกกับตายแล้วไม่เกิดเท่านั้น ถ้าสิ้นกิเลสแล้ว ตายแล้วไม่เกิดอีก จบแล้วไม่เกิดอีก ฉะนั้น โดยธรรมชาติคนเกิดแล้วต้องตายทั้งหมด นี่เราปฏิบัติก็เหมือนกัน ชีวิตเราต้องตายไปข้างหน้า

หน้าที่การงานก็ทำ ใครไม่ต้องมีข้าวมีปลากิน ก็ต้องมีทุกคน แต่ใจ เอามันได้ไหม ถ้าเอาได้จะเห็นประโยชน์มาก แล้วโดยทางโลกเขาจะมองพวกเรา “มาทำไมกัน เสียเวลา เขาไปหากินกัน เขาทำเงินกัน ไอ้นี่มันทำอะไร มานั่งเฉยๆ”

เงินมันคือกระดาษ ทำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ไอ้นี่มันทำได้ไหม แล้วถ้าตายแล้วก็หมดโอกาส ไอ้กระดาษ ตายเมื่อไหร่ก็หาใหม่ได้เลย

เวลาชาวโลกเขาติเตียน ถ้าไม่มีหลักนะ เอนตามเขาเลย แต่ถ้ามีหลักนะ กลับสงสารเขา ไอ้คนนี้เป็นเอดส์ มึงต้องตายแน่ๆ เอดส์ต้องตายแน่ๆ เกิดต้องตายแน่ๆ มันยังไม่รู้มันต้องตายเลย แล้วยังไปเที่ยวว่าเขาอีก ไอ้เราเป็นเอดส์ กูก็รู้ว่าเป็นเอดส์ กูต้องตายเหมือนกัน แต่กูจะรักษา กูมีโอกาส แต่เขากลับมองพวกเราว่าเป็นคนที่ว่าไม่มีความคิด ไปวัดไปวาเสียเวลา...มันเสียที่ไหน มึงอยู่บ้านก็หมดเวลา เวลาก็หมุนไปอย่างนี้

แต่นี่มาแล้วมันได้ตอกย้ำ ได้ตอกย้ำ ตั้งสติ ได้ตอกย้ำให้เราตื่นตัว ให้เรารู้ว่าเป็นมนุษย์ ไม่มีศีลไม่มีธรรมก็คือสัตว์ตัวหนึ่ง คนไม่มีศีลไม่มีธรรมก็สัตว์ทั้งนั้นน่ะ ทำแต่ตามความพอใจมัน แต่เพราะมีศีลมีธรรม เราห้ามเราไว้ กูเป็นมนุษย์ กูมีสัตย์ มีสัจจะ กูมีความจริง กูมีความรู้สึก กูเป็นคน กูไม่ใช่สัตว์ พอเป็นคนแล้ว กูจะเป็นอริยบุคคล กูจะสูงขึ้นไป กูทำตัวของกูให้ดีขึ้นๆๆ

มันต้องมีการกระทำ ถ้ามันมีธรรม มีเหตุมีผล ใครจะด่าใครจะว่า มึงด่าไปเถอะ ตายไปแล้วมึงจะร้องไห้ ใครจะพูดอย่างไร แล้วแต่มัน เพราะเราไม่เป็นอย่างที่เขาว่า เราเป็นอย่างที่เราเป็น แต่โลกเป็นอย่างนั้นไง คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก โลกนี้มีแต่คนโง่ ขนโค เขาโค แล้วมันโง่เง่าเต่าตุ่น แล้วไปเชื่อมันทำไม ไอ้คนฉลาดพูดมันไม่เชื่อ เราต้องฟังคนฉลาดสิ ฟังครูบาอาจารย์ของเราสิ

มีมากมีน้อย อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ ไม่จำเป็น วัตถุไม่สำคัญ สำคัญที่หัวใจ ทำบุญด้วยเจตนา ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ มีมากมีน้อย ปฏิคาหก ได้มาบริสุทธิ์ รับมาบริสุทธิ์ ทุกอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องหมด คุณค่ามีมหาศาล เพราะอะไร เรามาด้วยเจตนาที่ดี ทำสิ่งที่ดีๆ มีมากมีน้อยไม่เกี่ยว เกี่ยวกับคุณงามความดีของเรา แล้วคุณงามความดีถึงที่สุดแล้วมันสิ้นหมด ปล่อยหมด เป็นประโยชน์กับเราเอง เอวัง