ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะ ก.ฟ.ผ.

๒๘ ธ.ค. ๒๕๕๑

 

คณะ ก.ฟ.ผ.
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอาแล้ว ตั้งใจฟังธรรม เหนื่อยมาทั้งวันแล้วไง เราเหนื่อยมา นี่เหนื่อยมา เวลาเราทำงาน เราว่าเราเหนื่อยนะ แต่เวลาในพระเรา เขาทำภัตกิจ การกินการอยู่มันก็เป็นงาน การกินนี่นะ เพราะพระนี่งานตลอดไง ทำภัตกิจ เป็นกิจกัน เป็นกิจการงานอันหนึ่ง การเคี้ยว การกลืนก็เป็นกิจอันหนึ่ง แต่เราไม่นึกว่าเป็นกิจนะ การกินการอยู่ต้องเป็นความสุขใช่ไหม เวลาทำงานเหนื่อย

แต่เราจะพูดถึงนะ เราจะเทียบให้เห็นว่า การทำงานมันก็เหนื่อยจริงๆ นั่นแหละ แต่เวลากินอยู่มันก็เหนื่อย มีคุณค่าเท่ากันนะ แต่เราแยกไม่เป็น เราแยกไม่ออก

เวลาเขามาพูดกันเรื่องธรรมะ “สมมุติๆ มันก็สมมุติ”

เราว่าคนนั้นไม่เป็นนะ “นู่นก็สมมุตินะ ปล่อยสมมุติได้ๆ”

เอ็งไม่รู้จักสมมุติหรอก สมมุตินี้มันปล่อยกันที่ไหน มันสมมุติซ้อนสมมุติไง สมมุติคือความจริง ชีวิตเราคือสมมุติ มันเกิดมา เกิดมาชาติหนึ่งมันก็ต้องตายไปมันเป็นธรรมดา มันถึงไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงคือชีวิตไม่คงที่ ไม่แน่นอนไง มันต้องสิ้นไป แต่มันมีไหม ชีวิตนี้มีไหม มีสุขมีทุกข์ไหม? มีทั้งนั้นน่ะ ว่าสมมุติๆ สมมุติมันคืออะไร

ว่าปล่อยสมมุติ ว่าข้ามพ้นสมมุติได้แล้ว...เพ้อเจ้อ เพ้อเจ้อมาก

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันจะเห็นคุณค่า มันจะรู้จักหมด นี่มันไม่รู้จักไง

ชีวิตนะ ชีวิตนี้สำคัญมาก สำคัญมากเพราะว่าอะไร เพราะชีวิตนี้เราบังคับไม่ได้ เวลาเรามีบุญมีกรรม ในวัฏฏะ เราเกิดตามประสาเรา เราควบคุมไม่ได้หรอก แต่ในปัจจุบันนี้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะอะไร เพราะในศาสนานี้เป็นอริยทรัพย์นะ มนุษย์ ทรัพย์ของมนุษย์สำคัญมาก เพราะพระพุทธเจ้าก็เกิดเป็นมนุษย์ พระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ก็เกิดเป็นมนุษย์ สิ่งที่เป็นมนุษย์มันมีกายกับใจ นี่มีกายกับใจ

มีกายกับใจ เราก็คิดกันทางโลก ทางการแพทย์ต้องรักษา จะอยู่ ๑๐๐ ปีใช่ไหม เขามีมูลนิธิ ๑๐๐ ปี ต้องทำให้ร่างกายแข็งแรงตลอดไป มันจะเสื่อมเป็นธรรมดา มันเสื่อมเป็นธรรมดานะ เพราะมนุษย์เรามีร่างกาย เพราะร่างกายเราต้องเลี้ยง ต้องหาอาหารให้มัน ทีนี้หาอาหารให้มัน เราก็ตื่นไป

ผู้ที่บริหาร รัฐบาลต่างๆ ก็ต้องบริหารรัฐสวัสดิการเพื่อประชาชนเขาอยู่ร่มเย็นเป็นสุข นี่มันเป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ แต่ของเรา ของเรา ถ้าเราไปตื่นหาแต่สิ่งที่มาเลี้ยงร่างกาย แต่ก็ต้องเลี้ยงจริงๆ นะ เพราะเราอยู่ในสังคมใช่ไหม พออยู่ในสังคม ครอบครัวเราก็ต้องเทียมหน้าเทียมตาเขา ทุกอย่างต้องเทียมหน้าเทียมตาเขา เราก็ทำ

ทำตามธรรมไม่เป็นกิเลสหรอก ทำตามหน้าที่ไม่เป็นกิเลสนะ แต่กิเลสคือว่ามันต้องการเกินกว่านั้นน่ะ มันต้องการปรารถนาแล้วไม่เป็นความจริง เราทุกข์ร้อนมาก เราทุกข์ร้อนเรื่องอย่างนี้มาก ทีนี้พอทุกข์ร้อนมาก มันก็เข้าเรื่องธรรมะแล้ว ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง แล้วพอพูดเรื่องธรรมะ เราเห็นทุกข์ไหม ทุกข์ร้อนมาก ทุกข์ร้อนนะ

คำว่า “ทุกข์ร้อนมาก” ไม่ใช่ทุกข์นะ มันเป็นอาการของทุกข์ มันเป็นผลของทุกข์ไง มันเป็นผลของความคิดใช่ไหม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลของความคิด มันเป็นวิบาก มันเป็นผลของทุกข์ ไม่เคยเห็นทุกข์

ทุกข์คืออะไร ทุกข์คือตัณหาความทะยานอยาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่เราไปตื่นเต้น เราไปเจ็บปวดกับสิ่งที่เป็นวิบากที่เป็นผลไง แล้วก็บอกว่าเห็นทุกข์ๆ ใครเห็นทุกข์ ไม่เห็นหรอก แต่เห็นผลของมันไง เห็นแต่น้ำตาไหลไง เห็นแต่ความทุกข์ยากไง แล้วเราก็ต้องแก้ เราแก้กันไม่ถูกที่ พอไม่ถูกที่ นี่สัจธรรม เราไม่เห็นสัจจะความจริง สัจจะ อริยสัจจะ สัจจะความจริง ทุกข์ควรกำหนด เวลามีทุกข์ มีเหตุการณ์กระทบ เราจับเลย มันเกิดจากอะไร คนทำคิดอย่างนี้ คนนั้นจะมีทางพ้นทุกข์ คนนั้นจะมีทางออก

สิ่งที่เกิดขึ้นมานี้มันเกิดจากอะไร ต้นเหตุมันเลย เกิดจากการเกิดและการตาย อริยสัจ ทุกข์ ทุกข์คืออะไร ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ เห็นไหม ทุกข์คืออะไร ทุกข์คือการเกิดไง มีเกิด มีเรา มีชีวิตนี้ก็ทุกข์แล้ว มีเป้า เห็นไหม ดูสิ เรามีสถานะ ทุกอย่างยิงก็ยิงโดนเป้า ถ้าไม่มีเป้า ยิงอะไร ยิงอากาศ แล้วมันมีเรา แล้วมีเราไหม “ไม่มี โอ๋ย! ตัวตนก็ไม่มี ว่างๆ ไม่มีอะไรเลย”

อย่าไปสะกิดนะ สะกิด เถียงทันทีเลยนะ ไม่มีๆ นั่นน่ะ เพราะสิ่งที่ความจริงจริงแล้ว ภวาสวะ ภพนี่นะ เราไปว่าร่างกาย เรื่องภพของมนุษย์ เรื่องร่างกายที่ว่าเกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ เราไปเห็นกันที่ร่างกาย เห็นที่สถานะของมนุษย์ แต่เราไม่เห็นภพ ความคิด ความคิดมันยังตั้งอยู่บนความรู้สึก ภพที่ความรู้สึก เวลาสมาธิ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ขนาดผ่องใสมันยังมีที่ตั้งเลย มันยังมีภพเลย มีภพ มีสถานที่ตั้ง ถ้าไม่มีสถานที่ตั้ง มันเกิดจากอะไร ความคิดเกิดจากอะไร ความรู้สึกเกิดจากอะไร ชีวิตนี้เกิดจากอะไร มันมี มันมีของมันทั้งนั้นน่ะ ภวาสวะภพ อวิชชาสวะ ภวาสวะ กิเลสสวะ อาสวะ ๓ อาสวะ ๓ ใครเคยเห็นมัน ถ้าไม่ทำสมาธิ ใครเคยเห็นมัน นี่พูดถึงธรรมนะ ถ้าธรรมมันเข้ามาที่นี่

สัจธรรมนะ เวลาพูดถึงนิพพาน “แหม! ทำไมครูบาอาจารย์ท่านพูดแต่นิพพาน ทำไมไม่พูดถึงร่ำรวยล่ะ ทำไมไม่พูดถึงความมั่งมีศรีสุขล่ะ”

ความร่ำรวย ความมั่งมีศรีสุขนี่นะ มันเป็นวิบากกรรม พระสีวลีได้ทำบุญมหาศาล ไปอยู่ที่ไหนนะ มันจะมาเองหมดเลย พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลกินข้าวไม่เคยอิ่มเลย เป็นพระอรหันต์นะ เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน สิ่งนี้มันทำมา สิ่งนี้ทำมา

ในปัจจุบันนี้มั่งมีศรีสุข สิ่งต่างๆ เราก็ทำมา ถ้าเราทำมานะ เราทำมา เราเริ่มต้น จิตใจเราอิ่มเต็ม จิตใจเราไม่พร่อง ความคิด ความคิดเห็นของเราจะไม่เดือดร้อนเหมือนคนอื่นเขา แต่มันก็ขวนขวายหาเหมือนกัน แต่มันไม่พร่อง แต่ถ้ามันทุกข์มานะ มันพร่อง พอมันพร่อง เหมือนเราทุกข์อยู่คนเดียว เขาจะพอใจขนาดไหน เราก็ทุกข์อยู่คนเดียว

สิ่งที่แสวงหาจากทางโลกก็เหมือนกัน มันจะมั่งมีมันจะศรีสุข มันเป็นปัจจัยมันเป็นเครื่องอาศัย มันให้สุขกับทุกข์เราไม่ได้หรอก ถ้าเราควบคุมใจเราได้นะ สิ่งนั้น คนดีใช้เงินใช้ทองเป็นประโยชน์ คนไม่ดีใช้เงินใช้ทองเป็นโทษหมดล่ะ สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเราหรือเป็นทุกข์กับเรา เป็นโทษกับเรา ถ้าเรามีสติ ธรรมะเป็นอย่างนี้

ธรรมเป็นนามธรรม ธรรมคืออะไร ธรรมคือคำสั่งสอน สัจธรรม ธรรมคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศาสนธรรมคือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่สัจธรรม สัจธรรมอันนี้มันอยู่ที่ไหน สัจธรรม ธรรมคืออะไร

“ธรรมก็แสวงหาเอา อ้อนวอนเอา ขอเอานั้นมันเป็นธรรม”

ธรรมคือสัจจะความจริง คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อริยสัจคือธรรม ใจนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ ใจนี้กลั่นออกมาจากศีล ใจนี้กลั่นออกมาจากสัจจะความจริง ออกมาจากสัจจะความจริงมันก็เป็นอริยภูมิ เป็นอริยภูมิไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดมันจะทำลายภวาสวะ ทำลายตัวภพ ถ้ามันทำลายภวาสวะ ทำลายตัวภพ เวลาถึงที่สุด เวลาภาวนาไป ว่างหมด ว่างหมด โอ้โฮ! โลกนี้ว่างหมด ทะลุไปหมดเลย โลกนี้ว่างหมดเลย กลับมาถอนความอัตตานุทิฏฐิ คนที่รู้ว่าว่าง ตัวที่รู้ว่าว่าง มันรู้ว่าภพ

ฉะนั้น โดยธรรมะถ้าเป็นนิพพาน นิพพานคืออะไร นิพพานคือลุกขึ้นแล้วเม้มปาก ถ้าพูดออกไปนะ จิตมันเคลื่อน จิตมันรับรู้ออกมามันเป็นอดีตอนาคตไปแล้ว ทีนี้มันละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไป นี่คือสัจธรรมนะ

แล้วเราทำงานเหนื่อย เราทำงานเหนื่อย ทำงานเดินจงกรมมันก็เหนื่อย ดูสิ เดินจงกรมเหงื่อไหลไคลย้อยเลย เหนื่อยไหม การทำงาน การเคลื่อนไหวทั้งหมดมันมีพลังงานทั้งนั้น มันเหนื่อยทั้งนั้น แต่ทวนกระแสหรือไปตามกระแส

โลกเขาจะอาบเหงื่อต่างน้ำ เขาไปตามกระแส เราทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำทวนกระแส ทวนกระแสเข้ามาหาใจไง เพราะใจเป็นเป็นคนคิดบุญกุศลใช่ไหม พุทโธๆ นี่ทวนกระแส เวลาคิดไป เราคิด คิดตรึกไป มันคิดตามกระแส เพราะมันคิดออกไป แต่เวลาเราพุทโธๆ คำว่า “พุทโธ” มันเป็นพุทธานุสติ พุทโธๆๆ จิตมันถึงพุทโธปั๊บ มันก็ไปยับยั้งที่นั่น ยับยั้งที่นั่น แล้วมันก็ทรงตัวมัน มันจะทวนกระแสกลับมาที่เรา ถ้าทวนกระแสกลับมาที่เรา เราจะเห็นคุณค่านะ

จิตเห็น จิตรู้ ถึงเป็นวิปัสสนา จิตถ้ายังไม่รู้จักจิต ทุกอย่างไม่รู้จักอะไรเลย แล้วก็จะเป็นวิปัสสนา มันเป็นสิ่งที่มันเป็นโลกียะ คือมันเป็นสิ่งที่มันไปตามกระแสมันส่งออกไป แล้วเราเวลาเราคิดกัน ทวนกระแส

เราทุกข์เพราะความคิด เราต้องหยุดความคิด หยุดความคิดหยุดอย่างไรล่ะ

หยุดความคิดแล้ว มันหยุดความคิดแล้วความคิดมันดับไหม หยุดความคิดแล้วความคิดก็มีอีกใช่ไหม นี่ไง เขาบอกหยุดความคิดเป็นยอดธรรมะ

หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนอย่างนี้นะ ความคิดทั้งหลายที่คิดส่งออกไป ผลของมันคือสมุทัยคือเป็นความทุกข์ทั้งหมด ต้องหยุดความคิด แต่การหยุดความคิดนั้นก็ต้องใช้ความคิด คือใช้ความคิดไปหยุดความคิด

แต่นี่ไม่ให้คิดเลย หยุดไปเลย หยุดไปเลยก็ซื่อบื้อไปเลย แล้วมันจะต่อเนื่องต่อไป หยุดแล้วมันเอาอะไรต่อเนื่อง หยุดแล้วมันจะต่อเนื่อง หยุดแล้วเดี๋ยวก็เกิดอีกใช่ไหม หยุดความคิด ความคิดมันก็เกิดดับ มันก็เกิดอีก แล้วมันจะจบความคิดกันตรงไหน ความคิดหยุดแล้วมันจะจบที่ไหน มันจบไม่ได้ มันจบไม่ได้หรอก

หยุดความคิดก็ต้องใช้ความคิด ใช้สัจธรรม มรรคญาณ มรรคญาณ ดูคำว่า “มรรค” มรรคคืออะไร มรรคคือดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ดำริชอบ ปัญญาชอบ แล้วปัญญาเป็นมรรค ไม่ให้คิดหรือ ไม่ให้คิดแล้วมรรคมาจากไหน ดึงไว้เลย พระอาทิตย์ไม่ให้ขึ้น ไม่ให้มีแสงสว่างเลย มันเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้หรอก

พระอาทิตย์ต้องขึ้นเป็นธรรมดา แต่เรามาแก้ที่นี่ไง จักรวาล โลกนี้มีเพราะมีเรา โลกนี้มีเพราะมีความรู้สึก โลกนี้มีเพราะมีคนไปรับรู้ เราไปแก้ที่เรา จบที่นี่ มันจบที่เรานี่ ถ้าจบที่เรา เราทำอะไรของเราได้ ถ้าทำอะไรของเราได้ มันมีเหตุมีผล ธรรมะมีเหตุมีผล ธรรมะต้องมีที่มาที่ไป ไม่ใช่ธรรมะสอยมาจากฟ้า เอามือเอื้อมไปเลย หยิบนิพพานใส่ลงในหัวใจ มันเอามาจากไหนล่ะ

มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะมือไปเอื้อมมามันเป็นอาการทั้งหมด มันเป็นการกระทำของกายทั้งหมด แต่เวลาเกิดปฏิสนธิจิต จิตมันปฏิสนธิจิต จิตมันปฏิสนธิ เวลาเกิดเวลาตายไม่มีใครรู้หรอก มันไปของมันเอง พอมันไปของมันเอง คำว่า “ไปของมันเอง” ก็ไม่ใช่อีกนะ ถ้าไปของมันเองคือว่าสิ่งที่ไม่มีการควบคุมหรือ มันไปโดยอำนาจกรรม มีกรรม มีบุญกุศล มันเป็นไป นี่เหมือนกัน ปัญหานะ

ถาม : ภาวะจิตในช่วง ๒-๓ วันสุดท้ายก่อนเสียชีวิต มันเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเข้มแข็งกล้าหาญ พร้อมที่จะเผชิญความตาย การดูแลผู้ป่วยระยะนี้อย่างไรถึงจะเหมาะสม

หลวงพ่อ : มีอยู่ โรงพยาบาลนครปฐมเขามาติดต่อเรา เขามาติดต่อเราว่าจะนิมนต์เราไป ให้เราไปฝึกพยาบาล ให้ฝึกพยาบาลเวลาอุปัฏฐากคนใกล้ตาย ว่าพยาบาลนี้จะได้อุปัฏฐากคนใกล้ตายให้ไปทางที่ดี นี่คิดดี คิดทางวิทยาศาสตร์

ทางการแพทย์ใช่ไหม เราก็ต้องการทุกคนให้แบบว่า เกิดก็เกิดให้สุข ตายก็ตายให้สุขๆ ไปตาย ให้มันสมประกอบหมด มันเป็นไปไม่ได้ ด้วยความคิดนี้ถูก แล้วถ้าเราจะฝึก เราจะต้องการสิ่งนี้มันก็ทำได้ แต่ทำได้ มันก็ดูแลกันเฉพาะร่างกาย เวลาไปหาหมอนะ หมอดูได้เฉพาะร่างกาย เว้นไว้แต่จิตแพทย์ ดูได้แค่ร่างกาย แต่เวลาถึงที่สุดคนจะตาย แก้ไขอะไรไม่ได้หรอก แล้วแก้ไขไม่ได้ ไม่ใช่ไม่ได้ธรรมดานะ งงด้วย ทำไมคนนี้นอนตายเงียบไปเลย คนนอนตาย คนหมดอายุขัยนะ นอนจะหลับไป นอนจะหลับไปนี่คนหมดอายุขัย คนที่ยังมีกังวลอยู่นอนเวลาตายไปก่ายหน้าผากไว้ ไปดูคนจะตายสิ แล้วคนที่มีเวรมีกรรมเวลาจะตายนะ จะดิ้นพล่านๆๆ ตกนรกแน่นอน ทีนี้เราจะอุปัฏฐากเขาอย่างไร

“ภาวะของคนช่วง ๒-๓ วันสุดท้ายที่ก่อนจะตาย”

เราไม่รู้หรอก ดูสิ อย่างเรา เราทุกข์ ป่วยมากเลย ใกล้จะตาย หมอบอกเลย เราต้องตายแน่นอน เราจะตายแล้วนะ แต่ไม่ตาย ไม่ตายหรอก ใครจะรู้ว่าวันสุดท้ายหรือสองวันสุดท้ายใครจะตาย

นี่ไง รู้กำหนดวันตาย ครูบาอาจารย์รู้วาระที่เราจะตาย ขนาดรู้ว่าเราจะตายนะ ยังต่อได้ ดูสามเณรน้อยในสมัยพุทธกาล สามเณรน้อยหมดอายุขัย พระสารีบุตรบอกให้ไปลาพ่อแม่ พอไปลาพ่อแม่ เดินไป ไปเห็นปลาติดอยู่ในที่แห้ง วิดน้ำออกแล้วจับปลานั้นไปปล่อย ไปปล่อย

ให้ไปลาพ่อแม่ไงว่าจะตายแล้ว ไปลาพ่อแม่แล้วเดี๋ยวกลับมา กลับมาพระสารีบุตรถามพระพุทธเจ้า อ้าว! ไหนว่าเด็กคนนี้มัน ๗ วันจะตาย ไม่เห็นตาย

เด็กโดยปกติอายุขัยของเขา ๗ วันจะตาย แต่เพราะเขาไปวิดน้ำ แล้วปลาที่มันจะตาย นี่ต่อชีวิต ชีวิตนี้เขาเอาไปปล่อย เขาให้ชีวิตสัตว์ เพิ่มชีวิตสัตว์ขึ้นไป นี่อานิสงส์ผลบุญของมัน นี่ไง มันถึงเป็นประเพณีปล่อยปลาเราไง ปล่อยปลา ปล่อยนก นี่ขนาดเด็กนะ

แต่เวลาพระอรหันต์ พระอรหันต์อย่างครูบาอาจารย์เรา ถ้าตามปกติตามความจริง ท่านดับขันธ์ไปแล้วล่ะ แต่ท่านไม่ยอมตาย ท่านไม่ยอมตายเพราะอะไร ถ้าพูดประสาเรา ถ้าไม่ยอมตายนี่เป็นกิเลสไหม ถ้าไม่ยอมตายก็เป็นกิเลสน่ะสิ ไม่ยอมตายก็อยากมีชีวิตอยู่ใช่ไหม...ไม่ใช่ เพราะอะไร เพราะถ้าเป็นพระอรหันต์นะ สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ให้คุณค่า ให้ไปกระเทือนใจพระอรหันต์ไม่ได้เลย ใจพระอรหันต์ไม่มีประโยชน์จากโลกนี้อีกแล้ว ไม่มี แต่พระอรหันต์จะอยู่กับโลกเพื่อเมตตาโลก ค้ำจุนโลก ช่วยเหลือโลกไง

พระอรหันต์นะ พอสิ้นกิเลสปั๊บ การตายหรือการอยู่ ถ้าเราเป็นพระอรหันต์เดี๋ยวนี้ แล้วตายเดี๋ยวนี้ มีสมัยพุทธกาลมากเลย เป็นพระอรหันต์แล้วดับขันธ์เดี๋ยวนั้นเลย ไปดับขันธ์เดี๋ยวนั้น ไปเลย เพราะเป็นพระอรหันต์แล้วมันไม่มีเรื่องอย่างนี้มามีน้ำหนักให้ค่ากับเรื่องอย่างนี้ แต่ถ้าพระอรหันต์หรือครูบาอาจารย์ที่ท่านสร้างบุญญาธิการมา ท่านอยู่เพื่อโลกไง คำว่า “อยู่เพื่อโลก” ถ้าท่านอยู่แล้วโลกมีความร่มเย็นเป็นสุข

แล้วพระอรหันต์ยังต้องการอย่างนี้อีกหรือ

ตัวท่านเอง โดยตัวท่านเองไม่ต้องการ โดยเมตตา เมตตาธรรม เห็นไหม ดูสิ พระอรหันต์บางองค์ ดูพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลกนะ เป็นพระอรหันต์องค์แรกของโลก เป็นสงฆ์องค์แรกเลย เวลาท่านสำเร็จแล้วเอาพระปุณณมันตานีบุตรเป็นหลานมาบวชองค์เดียว แล้วอยู่ในป่ามาตลอดเลย ไปอยู่ในป่าตลอดจนท่านมาลาพระพุทธเจ้านิพพานนะ นี่พระอรหันต์แต่ละองค์ คุณสมบัติของพระอรหันต์ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์จะต่อได้ คำว่า “ต่อได้” ดูสิ ดูอย่างหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านพูดถึง ท่านรั้งไว้ คำว่า “รั้งไว้” นั่นน่ะ ถ้าไม่รั้งนะ สติไม่รั้งไว้นะ ปล่อยปุ๊บ ตายเลย คือจิตออกจากร่างทันที ออกเลย แต่ท่านรั้งไว้ไม่ให้จิตออก ท่านบอกท่านรั้งไว้ๆ นี่อิทธิบาท ๔ ผู้ที่มีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ ผู้ที่มีอิทธิบาท ๔ จะใช้อิทธิบาท ๔ ได้มีประเภทเดียวคือพระอรหันต์

ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ไม่มีอิทธิบาท ๔ ไม่มี ไม่เข้าใจ ไม่รู้จักอิทธิบาท ๔ ด้วยความเป็นจริง แต่ท่องหนังสือได้นะ ท่องตำราได้ อิทธิบาท ๔ จิตตะ วิมังสา แต่ไม่เคยเห็น ไม่รู้จักจิต ไม่รู้ พระอนาคามีนะ พระอนาคามีจิตผ่องใส แต่ไม่เห็นภพไม่เห็นตัวจิต ที่ว่าโมฆราช “เธอจงดูโลกนี้ด้วยความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ” ถอนอัตตานุทิฏฐิคือถอนตัวจิตนั้น ฉะนั้น พระอนาคามียังไม่เห็นตรงนี้ ไม่เห็นตรงนี้เพราะอะไร ไม่เห็นตรงนี้เพราะหลง

ถ้าพระอนาคามีเห็นตรงนี้ คือถ้าจับจิตได้ คือจับอวิชชาได้ คือจับมารได้ ถ้าจับจิตได้จับมารได้ นี่อรหัตตมรรค อรหัตตมรรคสัมปยุตเข้าไป วิปปยุตคลายออกมาเป็นอรหัตตผล อรหัตตมรรค อรหัตตผลยังไม่ใช่นิพพาน นิพพาน ๑ เห็นไหม

ฉะนั้น ถ้ายังเป็นพระอนาคามีอยู่ ยังไม่รู้จักจิตของตัวเอง ยังจับจิตตัวเอง จิตเดิมแท้ไม่ได้ ฉะนั้น ผู้ที่ผ่านไปแล้ว พระอรหันต์เท่านั้นถึงจะเห็นจิตเดิมแท้ที่ทิ้งไปแล้ว อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ จิตที่พ้นไปแล้ว จิตที่พ้นไปแล้ว ไม่มีแล้ว ไม่มี

แล้วจับจิตอะไรได้ ไม่มีใครทำได้ อิทธิบาท ๔ การจะต่อชีวิต การจะรั้งจิตไว้ ไม่มีหรอก มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น

ฉะนั้น เวลาท่านหมดอายุขัย ท่านจะตายแล้ว แต่ท่านเมตตากับสัตว์ ถ้าท่านตายอยู่ที่หนองผือ สัตว์มันไม่มีตลาด ชาวบ้านเขาต้องฆ่าไก่ฆ่าสัตว์เพื่อมาทำบุญกุศล สัตว์มันจะตายตามท่านไปเยอะ ท่านถึงบอกว่าต้องเอาเราไปตายที่สกลฯ เพราะที่สกลฯ มันมีตลาด

แล้วที่ตลาดเขาไม่ฆ่าสัตว์หรือ

เขาก็ฆ่าสัตว์เหมือนกัน แต่การฆ่าสัตว์นั้นเราไม่ได้ทำ เราไม่รู้ เพราะมันเป็นความที่ว่ามันเป็นเรื่องของตลาด เรื่องของธุรกิจของเขา เขาก็เอามาขายที่ตลาด เราก็ไปซื้อที่ตลาด มันตัดช่วงกัน

เรื่องมังสวิรัติ “บาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่ทุกคนกิน” มันว่ากันไปเพ้อเจ้อ ไอ้คนกินมันไม่รู้เรื่อง เราไม่รู้เรื่อง ไปกิน กูไม่รู้เรื่องกับใครเลย แล้วกรรมมาอยู่กับกูได้อย่างไร กูบิณฑบาตของกูมา กูไม่เกี่ยวกับใครทั้งสิ้นเลย

บาปก็อยู่ที่คนฆ่านั่นแหละ เพราะเขาหวังผลประโยชน์ของเขา แล้วมันเป็นธุรกิจใช่ไหม เพียงแต่ว่า ไอ้ที่ว่าเราๆ มังสวิรัติ ถ้าเรากินเพื่อสุขภาพ เราเห็นด้วยนะ แต่ถ้าว่ากินแล้วมันจะเป็นเรื่องการภาวนา เราไม่เห็นด้วย เพราะอะไร เพราะว่ากินเข้าไป โทษนะ กินเข้าไปเท่าไรมันก็ถ่ายออกหมดล่ะ มันจะไปเพิ่มอะไรให้กับเรา มันก็เป็นเรื่องของร่างกายใช่ไหม มันเกี่ยวอะไรกับจิตใจเอ็งล่ะ กิเลสมันอยู่ที่ใจนะ กิเลสไม่ได้อยู่ที่กระเพาะ เออ! ถ้ากิเลสมันอยู่ที่กระเพาะเนาะ เราก็ไปล้างมันก็อาจเป็นพระอรหันต์ได้เนาะ

มันไม่เกี่ยวกันเลยนะ การอยู่การกินนี้ไม่เกี่ยวกับการแก้กิเลสเลย ไม่เกี่ยวเลย แต่คนมันก็ไปเพ้อเจ้อกันจนได้ มันเกี่ยวอยู่อย่างเดียวเท่านั้นล่ะ เกี่ยวที่อาหารหนัก อาหารเบา อาหารกลาง ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ถ้าอาหารหนักเรากินเข้าไปเยอะมาก มันก็จะทำให้ร่างกายนี้มีไขมันใช่ไหม เขาเรียกทับธาตุขันธ์ เราก็ผ่อนอาหาร ลดอาหาร

การผ่อนลดอาหารมันก็ไม่เกี่ยวกับการฆ่ากิเลสอีกแหละ การกินไม่เกี่ยวกับการฆ่ากิเลสนะ แต่คนที่มีปัญญา คนที่จะเอาตัวรอดเขาจะเลือก เลือกว่าสิ่งใดมันจะเสริม มันจะทำให้การภาวนาง่ายขึ้น มันเป็นการเสริม อย่างอดอาหาร การผ่อน การผ่อนไปเรื่อยๆ ร่างกายมันจะเบา นั่งนี่ ติ๊ง! ไม่มีหลับเลย ไอ้ที่ว่าสัปหงกๆ ลองไม่กินข้าวดูสิ รับประกัน หายหมด

ทีนี้พอถ้าคนทำเป็นนะ คนทำเป็นหมายถึงว่าเป็นคนเข้มแข็ง หลวงตาท่านพูดบ่อย ท่านผ่อนอาหาร พอถึงเวลาจะมาฉัน มันเถียงกันน่ะ โอ้โฮ! ถ้าฉันข้าวเข้าไปแล้วก็เหมือนรถหนัก พอฉันข้าวแล้วก็กว่าจะมาภาวนา ครึ่งวันค่อนวัน สมาธิก็ไม่ได้ แต่ถ้าไม่ฉันข้าวนะ นั่ง ปึ๊ง! ปึ๊ง! ปึ้ง! ตลอดเลย แต่ไม่ฉันก็จะตายไง ฉะนั้น ก็ต้องไปเอามา บิณฑบาตมาฉันพอดำรงชีวิตใช่ไหม เวลาจะไปบิณฑบาตมันเถียงกันเลยนะ นี่ขนาดคนที่ภาวนาเป็นนะ ไอ้อย่างเราจะอดอาหารทีหนึ่งทุกข์ยากมาก กลัวจะทุกข์จะยากตลอดนะ เราอ่อนแอกันหมดนะ นี่พูดถึงการกิน มันจะมีผลเท่านี้ล่ะ การกินน่ะ แต่ถ้าคนฉลาด การกินมันก็ย้อนกลับมา มันเรื่องสิ่งที่เข้ามาหาใจตัวนี้

นี่ไง บาปอยู่ที่คนทำทั้งหมด คนกินมันไม่รู้เรื่องอะไรหรอก ทีนี้คนกินก็ไปส่งเสริมเขา ไอ้นี่คิดทางวิทยาศาสตร์ คิดทางความเห็นของเราไง เพราะมันไม่อยู่กับเรา เนื้อ ๓ อย่าง ไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่าเพื่อเรา ไม่มีความเจาะจง ไม่ได้เจาะจงทำเพื่อเรา บริสุทธิ์ผุดผ่อง

เพราะบางทีถ้าพูดเรื่องนี้ยาวมาก จิตของคนจะตาย ๒-๓ วัน คำว่า “๒-๓ วัน” วัน ๒ วันสุดท้าย บางทีมันจะดับในปัจจุบันเลย อย่างเช่นคนประสบอุบัติเหตุมาปั๊บ ดับเลย อย่างเรา ดูสิ เส้นเลือดแตกปั๊บ นอนตายเลย ใครรู้อะไร เราจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของกรรม เรื่องของกรรมแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน เรื่องการเกิดและการตายของกรรม แล้วเวลาคนจะตายนะ ที่เราไม่ไปโรงพยาบาลนครปฐมเพราะเราคิดว่า เราจะอบรมขนาดไหน เราฝึกคนขึ้นมาไม่ได้ เราจะอบรมเขาขนาดไหน มันต้องภาวนาขึ้นมาเป็น ถ้าคนภาวนาขึ้นมาเป็นแล้วมันรู้ รู้ถึงวิถีจิต รู้ถึงกรรมรู้ถึงเวร มันถึงจะมองเกมคนจะตายออกไง แล้วเราไม่รู้ใช่ไหม เราไม่รู้ใช่ไหม เราเรียนมาทางการแพทย์ใช่ไหม เราก็ต้องการให้เขาสุขสบาย ให้เขาไปดีนั่นแหละ เราก็รักษาเขาไปอย่างนั้นล่ะ

เถียงกันมากนะ เถียงกันมากเลย ไอ้ที่ว่าเมตตาธรรม ชักสายนี้ออก กรรมหรือไม่กรรม

กรรม ฉะนั้น ลูกศิษย์มาที่นี่เหมือนกันคนหนึ่ง เขาดีมาก ญาติเขาเป็นมะเร็ง แล้วเขาไปรักษามะเร็งหายแล้ว เขาก็นึกว่าหายแล้ว หายนะ พอหายแล้วเขาก็ดำรงชีวิตปกติ ทีนี้มะเร็งมันเข้าไขกระดูก เขาก็ไม่รู้ตัว พอไปตรวจนะ มันต้องไปตรวจทุกเดือนๆ ไง พอไปตรวจเข้า หมอบอกนี่น่าสงสัยแล้ว ให้เปิดตรวจซ้ำ พอตรวจซ้ำ มันเข้าไขกระดูกหมดเลย พอเข้าไขกระดูกมาปั๊บ มันก็มี ๒ อย่างแล้ว

๑. ให้ออกซิเจน เพราะมันปวดมาก

๒. ปล่อยตามธรรมชาติ

ทีนี้เขาก็มาหาเรา ญาติเขามาทั้งหมดเลย มาทั้งครอบครัวเลย ว่าตกลงว่าจะเอาอย่างไร เราบอกเราเห็นด้วยกับคนที่บอกว่าปล่อยตามธรรมชาติ เพราะถ้าไม่ปล่อยธรรมชาตินะ เขาบอกเลยนะ เพราะลูกเขามาด้วย ญาติเขามาด้วย ถ้าบอกไม่ปล่อยธรรมชาติ ป้าเขาบอกว่าถ้าไม่ปล่อยธรรมชาตินะ ทรัพย์สมบัติของลูกๆ จะต้องรักษาแม่หมดเลย แล้วลูกจะอยู่อย่างไร ไอ้ลูกก็รักแม่ ลูกจะรักษาแม่ แต่ป้าบอกว่าปล่อยตามธรรมชาติ

แล้วพอมากราบเราปั๊บ เราบอกเราเห็นด้วยกับการปล่อยตามธรรมชาติ เพราะถ้าไม่ปล่อยตามธรรมชาตินะ พอออกซิเจนเข้านะ เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเจริญมาก แล้วมันจะไปหมดเลย แล้วประสาเรานะ มันไม่หาย เพราะมันเข้าไขกระดูกมาแล้ว แล้วปวดมาก แล้วเขาก็กลับไป ๒ วันเท่านั้นน่ะ กลับมาทำบุญเลย แม่ตายแล้ว ถ้ามันอยู่อย่างนั้นนะ นี่ความคิดไง แล้วโรคตัวนี้พอเราให้ออกซิเจนไปแล้วเราจะชักออก แล้วตอนนี้ก็ฟ้องศาลแล้ว ใครจะเป็นคนชัก ใครจะเป็นคนชัก

ทีนี้ของหลวงปู่หล้า ของหลวงปู่หล้าท่านให้ออกซิเจนเหมือนกัน ทุกอย่างให้หมดเลย แล้วตรงนี้ข้างในมันเสียหมดแล้ว แต่เทคโนโลยีมันรักษาไว้ หลวงตาท่านไปเยี่ยม หลวงตาท่านสั่งปลดเองเลยนะ หลวงตาท่านมาเยี่ยมปั๊บ แล้วพวกหมอก็เข้ามารายงานเลยว่าระบบทั้งหมดเสียหมดแล้ว โทษนะ ข้างในนี้เน่าหมดแล้ว แต่ที่อยู่ได้เพราะว่าเทคโนโลยีทั้งหมดเลย

หลวงตาบอกมันถึงที่สุดแล้วใช่ไหม

ถึงที่สุด

หลวงตาสั่งชักออกเลย พอคำว่า “ชักออกซิเจนออก” สิ่งที่เป็นของเสียพุ่งออกมาเลย แต่ถ้าไม่ชัก ทุกอย่างระบบพวกชีพจรยังมีอยู่นะ

แล้วถ้าเถียงกันว่าคนที่เป็นเจ้าชายนิทราหรือคนที่นอนหลับใหลนี้คือจิตนี้ออกแล้ว ทางการแพทย์นะ ไม่ จิตไม่ออก จิตอยู่กับร่างนี้ตลอดไป จิตยังอยู่กับร่างนี้ตลอดไปถ้าออกซิเจนยังใช้อยู่ ชีพจรยังเต้นอยู่ จิตยังอยู่ จิตยังอยู่ ไม่ตาย เพราะตายต้องดับหมด เพราะจิตออก

นี่ไง เราพูดบ่อย เวลาเราพูดถึงว่าพิจารณาอสุภะๆ มันน่าคิดนะ ถ้าคนตายปั๊บ ร่างกายมันต้องเปื่อยเน่าไปธรรมดาเลย แต่เพราะมีจิตอยู่ พลังงานตัวเผาผลาญนี้อยู่ปั๊บ มันจะเผาผลาญให้ร่างกายยังอยู่ตลอดไป มันเผาผลาญอยู่ตลอด นี่ตัวจิต ตัวจิตคือธาตุรู้มันจะอยู่ ถ้าธาตุรู้ออกจากร่างปั๊บ ทุกอย่างต้องดับหมด

แต่ขณะที่ว่าเจ้าชายนิทราเขาสื่อความหมายกับเราไม่ได้ อันนี้มันกรรมของสัตว์นะ มันกรรมของสัตว์ อย่างเช่นพวกอัลไซเมอร์เขายังจำอะไรไม่ได้ใช่ไหม แต่นี่มันรู้อยู่ ถ้าเปรียบเทียบเหมือนกับเราเข้าสมาธิ พอเข้าสมาธิ พอจิตเข้าอัปปนาสมาธิ จิตเป็นจิต มันแยกกาย มันปล่อยหมดเลย มันสักแต่ว่ารู้อยู่ แต่นี่เป็นสัมมาสมาธิ คือมีสติมีสัมปชัญญะรู้หมด แต่เจ้าชายนิทรา ประสาททุกอย่างมันชำรุดใช่ไหม จิตมันยังมีอยู่ แต่มันสื่อออกตามส่วนของประสาทไม่ได้ มันยังอยู่ของมันอย่างนั้นน่ะ มันยังไม่ตาย จิตนี้หนึ่งเดียว จิตออกจากร่างแล้วถึงจะตาย

ทีนี้คำว่า ๒-๓ วันสุดท้ายมันจะเป็นอย่างไรมันอยู่ที่กรรม มันอยู่ที่กรรม บางคนนอน แข็งแรงมากเลย ปุ๊บปั๊บตายไปเลย เราไม่รู้ตัวเลย แต่บางคนทรมานมาก แล้วสิ่งที่ทรมานมาก ทรมาน โทษนะ เราพูดถึงครูบาอาจารย์ เราพูดถึงด้วยความเคารพนะ เราเอาครูบาอาจารย์มาเป็นตัวอย่าง บุคลาธิษฐาน คือตัวอย่างให้เราเห็นภาพชัดเจน อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นนะ พอถึงเวลาปั๊บ ตอนหลวงปู่มั่นอยู่ที่เชียงใหม่ หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟัง ไปอยู่ที่เชียงใหม่แล้วท่านป่วยมาก เจ้าคุณอะไรอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงเอาเข้าไปหาโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เอาเข้าไปรักษา หมอเขาเช็คหมดเลย เช็คแล้วเขาก็มากระซิบว่า หลวงปู่มั่นต้องตายแล้ว ทางการแพทย์นะ แล้วเขาก็มากระซิบหลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นเห็น หลวงปู่มั่นถามว่าเขาว่าอย่างไร เขาบอกหลวงปู่มั่นจะต้องตาย

หลวงปู่มั่นบอกว่าไม่ตาย ไม่ตาย กลับเถอะ

ก็กลับไป กลับไปหลวงปู่เจี๊ยะนี้อุปัฏฐาก คิดดูสิ กลับมาอยู่ มันปี ๒๔๘๘ หรืออย่างไร แล้วกลับมาอยู่ที่ทางอีสานอีก ๑๐ กว่าปี แต่พอถึงวัน ท่านบอกว่าท่านจะอายุ ๘๐ เท่านั้น รู้กำหนดเลยว่าอายุขัยมีเท่านี้ เราจะตายตอนมีอายุ ๘๐ พอเริ่มเข้าถึงวันเพ็ญ พอเริ่มป่วยไง ท่านบอกว่า “ผมเริ่มป่วยแล้ว” บอกหลวงตานะ “ผมเริ่มป่วยแล้ว ไม่ต้องเอายามารักษา ไม่ต้องรักษา มันจะเป็นไปอย่างนี้ แต่ไม่ตายง่าย เป็นโรคคนชรา”

แต่หลวงตาท่านบอก ท่านเป็นวัณโรค ๘ เดือน ๘ เดือนที่ว่าควักเสลดออก เพราะว่าสมัยนั้นมันไม่มีพวกเครื่องดูด ใช้สำลีพันนิ้ว เอานิ้วเข้าไปล้วงออกมา เพราะมันหายใจไม่ออก

พระอรหันต์ทำไมต้องมีปรากฏการณ์อย่างนี้ ในเมื่อหลวงปู่มั่นนี่พระอรหันต์แน่นอน เห็นไหม กรรมมันมีของแต่ละบุคคล พระพุทธเจ้านะ เวลาท่านป่วยไข้นะ หมอชีวกเป็นคนปรุงพระโอสถถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ายังป่วย มันกรรมของสัตว์มันมี มันถึงวาระ มันเป็นไป

ฉะนั้น ถึงว่าจะตายจะเป็น ถ้าพูดถึงหลวงปู่มั่นท่านจะอยู่ต่อได้ไหม

ถ้าท่านอยู่ต่อ ท่านก็ทำของท่าน แต่หลวงปู่มั่นท่านจะทำเป็นสัจธรรมความจริง คือเป็นชีวิตแบบอย่าง ๘๐ ปีตายก็ตายให้ดู แล้วตายในป่า ทำให้เห็นหมดเลย หลวงปู่มั่นชีวิตแบบอย่าง อย่างครูบาอาจารย์ อย่างเช่นหลวงปู่ขาว เพราะว่าหลวงปู่ฝั้นไปต่อให้ คำว่า “ต่อให้” หลวงปู่ขาวท่านทำของท่านอยู่ อย่างครูบาอาจารย์ หลวงตาท่านไม่พูดออกมาเท่านั้นน่ะ แล้วพูดตอนนี้ก็ไม่ได้ เดี๋ยวคนไปฟ้อง

ท่านต่อของท่านมาตลอด แล้วท่านก็ทำของท่านมาตลอด ของอย่างนี้เราจะบอกว่ามันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ไง มันเป็นบุญเป็นกรรม แล้วบุญกรรมนี้มันเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงทุกๆ อย่างได้ แต่มันเปลี่ยนแปลงตามกรรม ตามบุญตามกรรมนะ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงด้วยความตั้งใจของเรา ทุกคนจะบอกว่าอยากได้ดีต้องทำอย่างนั้น เราไปหวังผลไง เราเปรียบเทียบนะ พระกัสสปะออกจากสมาบัติ ออกจากสมาบัตินะ พระกัสสปะออกจากสมาบัติ ออกจากสมาบัติ พระกัสสปะจะช่วยเหลือคนยากคนจน ช่วยเหลือคนยากคนจนนะ แล้วช่วยเหลือคนจน พระกัสสปะ พระสารีบุตร

ตอนนั้นเป็นพระสารีบุตรออกมา มีคนจนเข็ญใจเป็นคนไถนา รับจ้างไถนา พอเห็นปั๊บ พอรับจ้างไถนาอยู่ ถึงตะวันสายแล้ว ภรรยาต้องเอาข้าวมาส่ง แต่เอามาช้าไง โกรธมากเลย โกรธมาก แต่เวลาภรรยาเอาข้าวมาส่ง พระสารีบุตรก็บิณฑบาตมาพร้อมกัน ด้วยศรัทธา ด้วยความเชื่อด้วยศรัทธา ถวายข้าวนั้นกับพระสารีบุตร พระสารีบุตรฉันเสร็จแล้วให้พร พอให้พรเสร็จแล้ว ทุคตะเข็ญใจลงไปไถนา ไถไปปั๊บ นานะ ดินขึ้นมาเป็นทองคำหมดเลย เป็นทองคำหมดเลยนะ พอเป็นทองคำขึ้นมา นี่บุญกุศล

เข้าฌานสมาบัติ พระอรหันต์ออกจากฌานสมาบัติมาแล้วใส่บาตร จะได้บุญมาก พอได้บุญมาก ไถนาเป็นทองคำหมดเลย สมัยนั้นเมืองมันคับแคบ การสื่อสารมันเร็ว ทุคตะเข็ญใจไม่กล้าหยิบทอง พอหยิบทองขึ้นไป หัวขาดเลย เพราะว่าไม่มีที่มาไง ทองมาจากไหน ก็เลยไปหาพระเจ้าพิมพิสาร ไปบอกว่าข้าพเจ้าเป็นทุคตะเข็ญใจ ไถนาอยู่ที่นั่น ไถเสร็จแล้วเป็นทองคำหมดเลย

พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน ถ้าพระเจ้าพิมพิสารไม่เป็นพระโสดาบันก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้อีกล่ะ เป็นพระโสดาบันก็มีคุณธรรมอยู่เหมือนกัน ก็เลยบอกว่า “ทองเธออยู่ที่ไหน”

ก็บอกว่า “อยู่ที่ไถนานั้น”

ก็ให้มหาดเล็กไปเอา พอหยิบขึ้นมาเป็นดิน หยิบขึ้นมาเป็นดิน ทองคำหยิบขึ้นมาเป็นดิน มันมหัศจรรย์อย่างนั้นน่ะ ก็กลับมาหาพระเจ้าพิมพิสารอีก บอก “ข้าพเจ้าไปเห็นแล้วมันเป็นทองคำครับ แต่พอยกขึ้นมาเป็นดินหมดเลย”

นี่พระโสดาบันน่ะ ทัน “ให้เธอกลับไปใหม่ ไปที่นั้นไปเอาทองคำ บอกว่ามาทองคำของทุคตะเข็ญใจนี้ ไม่ใช่ทองคำของกษัตริย์ ไม่ใช่ทองคำของหลวง กลับไปใหม่”

พอกลับไปใหม่ก็ไปบอกเลย ไปบอกว่า “ที่มานี้มาเอาทองคำของทุคตะเข็ญใจ” ยกขึ้นมาเป็นทองคำ นี่บาปบุญของแต่ละบุคคลมันแย่งกันไม่ได้ พอมันเอากันไม่ได้ เรื่องบุญเรื่องกุศลนี้มันจะไปช่วงชิงกันไม่ได้ พอเอามาแล้วกองเต็มเลย พอกองเต็มแล้ว พระเจ้าพิมพิสารเลยตั้งให้เป็นเศรษฐีประจำรัชกาล

แล้วตอนนี้เราจะย้อนกลับมาไง ย้อนกลับมาพวกเรา เราอ่านพระไตรปิฎกกันมา ทุกคนก็อยากจะหาพระออกจากสมาบัติ ทุกคนก็อยากจะไปทำบุญ

เอ็งไม่ได้หรอก เอ็งไม่ได้ทองคำหรอก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเราอยาก ต้นเหตุไม่เหมือนกันน่ะ ต้นเหตุไม่เท่ากัน อันนั้นเขาทำด้วยว่ากำลังโกรธ โกรธภรรยามากเลย คือเขาเอาชีวิตถวาย เขาให้ เขาให้ของเขา แล้วมันทำของเขามันเป็นบุญกุศลของเขา เดี๋ยวนี้เราทำกันอย่างนั้น แล้วนี่ไง เราไปก็อปปี้มาด้วยความคิดของเราไง

ฉะนั้น ถ้ามันเป็นจริง บุญกุศลนะ บาปอกุศล เราทำของเรา เราตั้งใจของเรา มันจะไม่เหมือนที่เราตั้งใจหรอก เพราะเราตั้งใจคือความอยาก คือความปรารถนา เหมือนกับเราทำธุรกิจ เราแลกเปลี่ยน เราอยากได้ ความอยากได้ ความแลกเปลี่ยนนี่นะ ถ้าเราทำบุญกุศล ทำบุญมันจะแลกเปลี่ยนไหม ทำบุญกุศล ทำความจริงไปแลกเปลี่ยนไหม ไม่ใช่

ทำบุญกุศลแลกเปลี่ยนเหมือนกับเราตักน้ำรด ตักน้ำใส่ตุ่ม น้ำต้องเต็มตุ่ม ธรรมชาติต้องตักทุกวันใช่ไหม ทำบุญเราก็ตักน้ำใส่ตุ่ม มันอย่างนั้น เราก็ตัก หน้าที่เราตักน้ำใส่ตุ่ม มันก็เป็นไปธรรมชาติของมัน แต่เวลาทำบุญไง ตักน้ำใส่ตุ่มขันเดียวจะให้น้ำเต็มตุ่มไง เต็มทีสิ เต็มที แล้วมันก็ไม่เต็ม เพราะน้ำขันเดียวกับตุ่มมันจะเต็มได้อย่างไรล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน “อู๋ย! ทำบุญแล้วไม่เห็นได้บุญเลย ทำบุญทุกข์ยาก”

อันนี้อันหนึ่ง กรณี ๑. ที่ว่ามันเป็นกาลเทศะ

๒. คนที่มาจากการเกิดการตายมันมีเบื้องหลังมา

ถ้าเราทุกข์ เราทำความเข็ญใจมา เหมือนกับพระอรหันต์ที่ไม่เคยกินข้าวอิ่ม ประวัตินะ เป็นพระอรหันต์นะ แต่ฉันข้าวไม่เคยอิ่มเลย ข้าวบิณฑบาตมาเต็มบาตรเลย พอเริ่มฉันข้าวมันก็จะหายไปเป็นธรรมดาของมัน ของมันก็มีอยู่นี่ แต่ทำไมกินไม่อิ่มล่ะ ของก็มีอยู่ นี่กรรมมันให้ผล แล้วถึงเวลาพระสารีบุตรไปจับบาตรไว้ให้เลย

“เขาว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือ”

“จริง”

จริงแล้วพระสารีบุตรจับบาตรไว้ให้ ฉันด้วยบุญของพระสารีบุตร เพราะพระสารีบุตรจับบาตรไว้ ทำไมข้าวไม่หายล่ะ ข้าวในบาตรทำไมไม่หาย แต่ถ้าเป็นธรรมชาติของเขานะ ฉันไป ข้าวจะหายเลย แล้วถามว่า “กินข้าวไม่เคยอิ่มใช่ไหม”

“ใช่”

“วันนี้ฉันให้อิ่มเลยนะ” จับบาตรไว้ วันนั้นฉันข้าวอิ่มแล้วนิพพานเลย

แล้วไปดูประวัตินะ ประวัติ คำว่า “ประวัติ” เราจะเชื่อได้อย่างไร

นี่มันอยู่ในพระไตรปิฎกไง เพราะอันนี้เขาไปถามพระพุทธเจ้าว่า เป็นถึงพระอรหันต์น่ะ ทำไมเป็นอย่างนี้

พระพุทธเจ้าบอกว่า บางชาติ ชาติที่อดีตชาติของเขา เขาเป็นคนตระหนี่มาก

มันพูดแล้วมันเรื่องตลก แล้วมันเรื่องจริงนะ แม้แต่ว่าเราขนย้ายข้าว ข้าวตกถึงพื้นมันเป็นดิน สมัยก่อนมันยังไม่มีนะ เป็นดิน มดมันมาคาบข้าวนั้นไป เขายังเอาเสียมไปขุดเอาข้าวเม็ดนั้นคืนเลยล่ะ ความคิดของเขาคนคนนี้ มันตระหนี่ขนาดนั้นนะ มันถึงให้ผลไง เวลามันให้ผล เห็นไหม

ฉะนั้น เราจะบอกว่า กรรมนี่นะ วิทยาศาสตร์เขาบอกเลยนะว่าอย่าพูดข้ามภพข้ามชาติ คืออย่าพูดเรื่องอดีตชาติ แล้วอย่าพูดชาติอนาคตไง บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ ห้ามพูด ให้พูดปัจจุบันนี้ๆ แต่ปัจจุบันนี้ทำเท่ากันไง โยมทำบุญกับเราคนละบาทเท่ากันหมดเลย ก็ต้องได้บุญเท่ากันหมดสิ ทำบุญกับเราคนละบาทเท่ากัน คนละบาทๆ ทำบุญเท่ากันหมดเลย แต่โยมได้บุญเท่ากันไหม นี่ไง ปัจจุบันก็ต้องเอากันสิ ก็บาทหนึ่งเท่ากันไง

มันไม่เท่าหลายกรณีมาก หนึ่ง ความศรัทธาความเชื่อ ความศรัทธา ความน้อมใจอย่างหนึ่ง แล้วเบื้องหลังเรา เบื้องหลังของเรา เบื้องหลังคือว่า เวลาภาวนาทำไมนั่งสมาธิแล้วเป็นสมาธิง่าย ทำไมนั่งสมาธิแล้วเป็นสมาธิยาก ทำไมบางคนนั่งสมาธิแล้วไม่ได้ ทำไมต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ

มันมาจากอดีตหมดเลย มันมาจากเบื้องหลังไง เราพูดบ่อยจนจะอายเขานะ ว่าพันธุกรรมทางจิตๆ จิตเราได้ตัดแต่งมา จิตเราได้สร้างมา เราได้สร้างสมของเรามา แล้วปัจจุบันนี้เป็นเรา ต้นทุนเราไม่เท่ากัน ต้นทุนที่เราสร้างมาแต่ละคนไม่เท่ากัน เกิดมาเป็นพี่น้อง เป็นพ่อแม่เดียวกัน อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ต้นทุนไม่เท่ากันหมดเลย ไม่เท่ากัน ความรู้ความเห็นของคนไม่เท่ากัน นี่ไง แล้วมันจะไม่พูดถึงอดีตได้อย่างไรล่ะ

มันพูดถึงอดีตคือพูดถึงต้นทุน พอพูดถึงต้นทุนปั๊บก็มาถึงเป็นปัจจุบัน ในปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว สิ่งนี้เป็นประโยชน์มาก ทีนี้เป็นประโยชน์มาก ต้นทุนไม่เท่ากัน การทำมันก็มีหนักมีเบาต่างกันนี่ไง แต่ถ้าจะหนักจะเบาต่างกัน เราเป็นมนุษย์เหมือนกันไหม เราเป็นมนุษย์เหมือนกันไหม เรามีหัวใจเหมือนกันไหม แล้วมีหัวใจเหมือนกัน เราก็ทำได้ เพียงแต่ว่าเราต้องทำมากกว่าเขา เราทำมากกว่าเขา นี่ก็เป็นเพราะเราทำมาเองไง แล้วสิ่งนี้ ถ้าอย่างสิ่งนี้ต่อไปในอนาคตล่ะ ถ้ามันไม่จบสิ้นมันก็ไปอีก ถ้าจบ มันก็เป็นที่นี่

ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ปั๊บ เรื่องที่เราจะไปอ้อนวอนหรือจะไปทำอะไร มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้อันหนึ่งนะ เราจะบอกว่า ก่อน ๒-๓ วันสุดท้ายที่คนจะตาย อาการน่ะ ไม่ใช่ ๒-๓ วันสุดท้าย ในปัจจุบันนี้เลย ในปัจจุบันที่จะตายนะ จิตจะหดเข้ามาเลย เพราะเราจะตายหลายหนมาก เราเคยตายหลายหนแล้ว แต่มันไม่ตาย อยู่ในป่าป่วยไข้นี่หดเข้ามาเลย แต่มันบังเอิญ บังเอิญเพราะเราบวชแล้ว เราภาวนาแล้วมันมีหลักมีเกณฑ์ในใจ

แต่เมื่อก่อนพูดให้ใครฟังไม่ได้ เราจะตายหลายทีแล้ว มันอยู่ในป่า แล้วเรามีภูมิแพ้เป็นธรรมดา มีภูมิแพ้อยู่แล้ว เพราะภูมิแพ้หมายถึงว่าอดอาหารมาก แล้ววันนั้นตีตาดไปโดนแมงมุมมันกัด แมงมุม พอแมงมุมกัดปั๊บ มันเป็นพิษ เป็นพิษปั๊บ มันเป็นผื่นหมดเลย พอเป็นผื่น เรานอนลงเลย พอนอนลง เลือดมันไม่เลี้ยง มันหดเข้ามาหมดเลย ความรู้สึกหดเข้ามาๆ แล้วดับบึ๊บ! ไปเลย พอดับบึ๊บ! ไปเลย ถ้ามันปล่อยมันก็ไป มันไปเลย

ทีนี้ปีนั้นปี ๒๕๒๕ เรากลับมาบ้านแล้วจะมาบวชน้องชาย บังเอิญจะบวชน้องชาย แล้วเราก็ไปวิเวกก่อน เราไปเที่ยวอยู่ทางเมืองกาญจน์ มันคิดขึ้นมาในใจ เฮ้ย! มึงตายไม่ได้ ก็มึงจะมาบวชเขา มึงตายไม่ได้ พอมันตายไม่ได้ปั๊บ มันรู้สึกแล้ว มันขยับออก พอขยับปั๊บ มันก็ซ่าออก ความรู้สึกก็กลับมาอีก นี่เวลาจะตาย เราเป็นอย่างนี้มา ๒-๓ ที ฉะนั้น เราถึงได้พูดไงว่า เวลาถ้าเรารั้งไว้ ถ้าจิตรั้งไว้นะ คนจะตายถ้ารั้งไว้ไม่ให้จิตออก ทำอย่างไร ถ้ารั้งไว้ไม่ให้มันออก ทำอย่างไร แล้วก็พูดกันไปนั่นแหละ

ฉะนั้น ที่พูดนี่เราจะบอกว่า ๒-๓ วันมันยาวเกินไปไง คนจะตายจะเป็นวินาทีนั้น วินาทีนั้น เดี๋ยวนั้น ตายเดี๋ยวนั้น ดับเดี๋ยวนั้น ฉะนั้น เราจะไม่รู้หรอกว่า ๒-๓ วันสุดท้ายมันจะมีอาการอย่างไร เวลาถ้าเราจะบอกว่าอาการสุดท้าย อย่างที่พูดน่ะ คนไข้ดูท่าทางไม่รอดเลย พอปั๊มหัวใจไป มันมาแล้ว แล้วอันไหนจะตาย อันไหนไม่ตาย

การตายมันเป็นเดี๋ยวนั้นๆ เหมือนกัน ดับเดี๋ยวนั้น ตายเดี๋ยวนั้น ไม่ใช่ว่ามันจะค่อยๆ ตายมา ค่อยๆ ตายมา ค่อยๆ ตายมามีแต่ร่างกาย โทษนะ ไม่ใช่ว่าใคร อย่างเช่นเบาหวานมันจะหดสั้นเข้ามา ต้องตัด ต้องตัดเข้ามา ร่างกายมันเสียมาเรื่อยๆ เบาหวานน่ะ เลือดไม่เลี้ยงมันก็หดเข้ามา ร่างกายมันตาย แต่ใจไม่เคยตาย ใจไม่เคยตาย

เขาทำวิจัยบ่อยนะ อย่างเช่นตัดแขนไป พอโดนตัดแขนไป ความรู้สึกว่าแขนยังมีอยู่ มันยังรู้สึกว่าแขนมีอยู่ ทั้งๆ ที่ไม่มีแขนนะ แต่ความรู้สึกพอเวลามันนึกว่ามันมี บางทีมันหลงไง เรื่องของใจ เห็นไหม ไม่มีแขนมันยังนึกว่ามันมีได้นะ ความเคยชินของมันน่ะ ทั้งๆ ที่แขนไม่มี

อันนี้ อันนี้เราจะบอกว่ามันวินิจฉัย ถ้าคนเราจะวินิจฉัยเรื่องจิตได้สมบูรณ์ มันต้องผ่านการภาวนามาพอสมควร ถ้าเราไม่ผ่านการภาวนามาพอสมควร เรื่องวินิจฉัยเรื่องจิต เรื่องความรู้สึก วิถีจิต เราวินิจฉัยไม่ได้หรอก ถ้าวินิจฉัยไม่ได้ปั๊บ มันก็เข้าไปกับพวกหมอดู หลับตาแล้วก็ทายเลย หลับตาแล้วก็ทายเลย ผิดๆ ถูกๆ ก็ว่ากันไป เราถึงไม่เชื่อเรื่องนี้นะ

ฉะนั้น เพราะเหตุนี้ เขานิมนต์ไปอบรมพยาบาล เราบอกว่าไม่ได้หรอก เพราะเขาเข้าใจเรื่องนี้ไม่ได้ เราพูดได้ เราพูดได้อย่างนี้เราพูดได้ เราพูดได้เพราะเราเข้าใจได้ เราถึงอธิบายให้เข้าใจได้ แต่โยมจำสิ่งที่เราพูดไปแล้วไปสังเกตเอา โยมก็เข้าใจไม่ได้ เพราะมันจะมีเคสใหม่ๆ ตลอด เอ๊ะ! แล้วนี่อะไร แล้วนี่อะไร เราจะงงอยู่ตลอดไป แล้วถ้าจับอย่างนี้ปั๊บ เพราะเรื่องอย่างนี้มันเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นปัจจุบัน เรื่องจิตวิญญาณ มันไม่เหมือนกับโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกาย แผลจากร่างกายเราควบคุมได้ เราให้ยาควบคุม ทุกอย่างเราควบคุมได้ แต่จิตมันไม่ได้ ปั๊บ ไปเลยนะ ช็อกเดี๋ยวก็เรียบร้อย วุบ! ไปเลย อันนี้อันหนึ่ง

ถาม : เรื่องการป่วยเรื้อรัง การเป็นเบาหวาน ไตวาย

หลวงพ่อ : อันนี้พูดแล้วเนาะ อันนี้เรื่องท่อออกซิเจน

ไอ้นี่มันอยู่ที่คิดนะ เพราะลูกศิษย์คนหนึ่ง แม่เป็นเบาหวานอย่างนี้แหละ แล้วก็รักษา ลูกทุกคนรัก แล้วแม่ก็แบบว่าไม่อยากตายไง แม่กลัว แล้วก็บอกว่าแม่กลัวตายมาก แล้วจะไปไหนทีหนึ่งแม่ก็ต้องแต่ง ต้องสมบูรณ์ตลอดเวลา แล้วเขาถึงที่สุดแล้วก็ต้องตัดขา

นี่มันเป็นความคิด มันเป็นความเห็นนะ พอเขาจะตัดขาแล้วแม่ไม่ยอมให้ตัด เพราะตัดขาแล้วเดี๋ยวตายไปแล้วจะขาด้วนไง...ไม่จริงหรอก ไม่จริง อะไรก็ไม่จริงทั้งนั้นน่ะ

แต่ทีนี้พอเขาไม่ยอม แต่สุดท้ายแล้วนะ พอมันถึงที่สุดแล้วก็ต้องตัด ตัด เขาบอกขาก็ตัดทุกอย่างหมดเลย แล้วก็อยู่โรงพยาบาลเอกชน เพราะเขามีสตางค์ จนโรงพยาบาลเอกชนสงสาร บอกว่าให้ญาติพี่น้องปรึกษากัน ถ้าไม่อย่างนั้นนะ เทคโนโลยีนี้มันจะรักษาไปได้ตลอด ไม่มีตาย จะเขียวอยู่อย่างนี้ คือมันเน่าหมดแล้ว แล้วไม่ตาย เขาก็เลยได้คิด เขาก็เลยมาปรึกษากัน สุดท้ายแล้วเขาก็ให้ชักออก ก็ตาย คือเขาหมดความรู้สึกแล้ว แล้วทีนี้หมอก็เอาออกไม่ได้ เพราะว่าญาติยังไม่ตกลงกัน ทีนี้หมอเอาออกไม่ได้ ก็จ่ายสตางค์มา ไม่เป็นไร อยู่ได้ตลอดไป แต่เรื่องจะหายกลับมา ไม่มี

เขามาหาเรา เขามาเล่าให้ฟัง เขาบอกว่าเขาอุปัฏฐากแม่เขา แล้วเขาเห็นสภาพแล้วเขาซึ้งเรื่องชีวิตมาก พูดไปร้องไห้ไปนะ คือว่าจะไม่อยู่กับโลกอีกเลย จะไปให้รอดให้ได้ แต่สุดท้ายเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ เดี๋ยวนี้จะไปทำงานชดใช้เลย

อันนี้มันอยู่ที่เขาจะตัดสินใจกันอย่างไรไง แล้วเดี๋ยวนี้พอเทคโนโลยีเจริญ เรื่องการรักษามันก็เป็นเรื่องอย่างนี้แล้ว อันนี้เรื่องรักษานะ ดูอย่างเราสิ อย่างพระเรา ฉันยาด้วยน้ำดองมูตรเน่า รักษาด้วยปัจจุบัน รักษาด้วยอย่างนั้น แต่เวลาเป็นลมเป็นอะไร มันทีเดียวมันก็จบเหมือนกัน ไอ้อย่างนี้มันเป็นเรื่องการเกิดและการตาย มันเป็นเรื่องอริยสัจ เป็นเรื่องความจริง สิ่งที่มันตายก็คือตาย ถ้าเรามีสติอยู่ มันไม่ตาย มีสติอยู่ ไม่ตาย อย่างเช่นคนที่ว่ากลัวตายๆ ไม่ตาย คนกลัวตายไม่ตายหรอก เพราะเขากลัว มันอาการหวาดจิตอยู่ตลอดเวลา เว้นไว้แต่ร่างกายมันเจ็บไข้ได้ป่วยก็คือตายธรรมดา แต่คนกลัวตายไม่ตายหรอก ไอ้คนประมาทน่ะจะตาย กูไม่ตายๆ วูบ ไปเลยนะ

เพราะความกลัว สติ เพราะเรากลัวตายใช่ไหม พอเรากลัวตายเราก็ดูแลตัวเอง เราก็รักษาตัวเอง มันจะไปตายตรงไหน ไอ้กลัวตายๆ ไม่ตายหรอก ไอ้ไม่กลัวตายมันจะตาย แต่มันเป็นเรื่องกิเลส พอกลัวตายขึ้นมาก็เศร้าหมอง เศร้ามาก เศร้าหมองนะ

มันเข้ากับอันนี้ อันนี้ก่อนเลย

ถาม : เวลาหนูนั่งสมาธิที่กุฏิวัดนี้ หนูได้เห็นทั้งแสงและผู้คนลอยลงมาเยอะมาก แล้วรู้สึกว่ามีคนนุ่งขาวห่มขาวมานั่งข้างๆ หนูไม่ทราบว่าคิดไปเองหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : มันเป็นจริต เวลาจะตอบปัญหามันจะพูดถึงจริตก่อนเลย

เพราะว่าถ้าพูดถึงอย่างนี้ พูดถึงโดยปัจจุบัน เราจะบอกว่ามันจะเห็นคนนุ่งขาวห่มขาว มันจะเห็นคนลอยมาอย่างนี้ มันจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าโดยวิทยาศาสตร์มันเป็นไปไม่ได้ แต่ความจริงเป็นไปได้ ทีนี้ความเห็นอย่างนี้ ถ้าความเห็นอย่างนี้มันอยู่ที่บุคคลไง อยู่ที่เครื่องมือ ดูสิ ดูกล้อง กล้องที่เขาถ่ายย้อนแสงเข้าไป เขาจะจับอะไรได้หมดเลย

คือถ้าเราเป็นพระ เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราจะบอกว่าสิ่งนี้มันมีอยู่แล้ว กามภพนะ ดูสิ นรก อเวจี ทั้งหมดขึ้นมาจนถึงอบายภูมิ มนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม มันสวรรค์ ๙ ชั้น พรหม ๑๖ ชั้นหรืออย่างไร มันอยู่ที่ไหน มันซ้อนกันอยู่นี่ คือจิตวิญญาณมันซ้อนกันอยู่ที่นี่หมดนะ แล้วเกิดถ้าจิตมันมีวาสนา ทำไมมันเห็นไม่ได้

คือของมันมี ของมันมีอยู่ ทีนี้เห็นไม่เห็นมันอยู่ที่วุฒิภาวะเราจะเข้าไปเห็นใช่ไหม ถ้าตาเราตาเนื้อมันก็เห็นไม่ได้ ถ้าจิตมันเป็นสมาธิ มันจะเห็นได้ไหม มันก็เห็นได้ นี่พูดถึงว่าการเห็นได้หรือไม่ได้ก่อน

ถ้าเราภาวนาไป ถ้าเห็นคน ทีนี้การเห็น เห็นได้หรือไม่ได้ ทีนี้ถ้าเห็นโดยอุปาทานล่ะ นี่ไง ตรงนี้ถ้ามีครูบาอาจารย์ มันจะเช็คตรงนี้ได้ไง ถ้าครูบาอาจารย์เช็คตรงนี้ หมายถึงว่า ถ้าเราเห็น เราเห็นโดยอะไร อย่างเช่นเรา เราเป็นคนที่หมดอายุขัยแล้ว เราจะตายแล้ว เรานอน เราจะตาย เราจะนอนหลับไป เราจะฝันเห็นเป็นคนร่างใหญ่ๆ นุ่งผ้าแดงๆ ตัวดำๆ นะ นั่นน่ะ คนนั้นใกล้ตายแล้ว มันเห็นได้ ทีนี้มันก็เป็นบางคน บางคนยังไม่ทันเห็น ตายไปก่อนเลย

ทีนี้เราจะบอกว่าสิ่งนี้มันมีอยู่ สิ่งที่มันมีอยู่ เวลาพูดถึงสิ่งที่มีอยู่ คนที่ภาวนาเป็นคือว่าจิตมีหลักมีเกณฑ์ เขาเห็นอย่างนี้แล้วเขาไม่ตื่นเต้น คนเห็นอย่างนี้เขาสื่อสารได้ด้วย นี่คืออะไร มีธุระอะไร คุยกันได้ด้วย มันสื่อสารมีความเข้าใจกันได้ด้วย แต่ถ้าพูดอย่างนี้ไปปั๊บ มันก็ไปเป็นเรื่องของนิยายธรรมะแล้ว ธรรมะนิยาย จะไปเที่ยวนรกสวรรค์ชั้นนี้ชั้นนั้นนะ ไอ้ไปเที่ยวอย่างนั้นมันได้ประโยชน์อะไร

แต่ถ้าเป็นความจริงของเรา สิ่งที่เห็น สิ่งที่เห็นนรกสวรรค์มันเห็นมาเพื่อยืนยันกับเราไงว่าเวลาจิตมันตายมันเกิดสถานะนั้นๆๆ คือว่ามันมีที่ไปไง สวรรค์ในอก นรกในใจใช่ไหม เวลาทำบุญกุศล เวลามันทุกข์นี่นรกอเวจีเลย เวลามันทุกข์นี่นรกอเวจีในหัวใจเลย เพราะมีนรกอเวจีในใจ ถ้ามันตายเดี๋ยวนั้นมันก็ตกนรกเลย แล้วถ้ามันมีสวรรค์ในหัวใจ มันมีความสุขมากเลย มีบุญกุศล เบา จิตนี้เบามาก ตายเดี๋ยวนี้ก็ขึ้นสวรรค์เลย

คนโบราณเขาถึงบอกคนใกล้ตายให้นึกพุทโธๆ ให้นึกถึงพระไว้ไง นึกถึงคุณงามความดีไว้ ฉะนั้น สิ่งนี้มันมีอยู่ เห็นแสงหรือเห็นต่างๆ คือเราจะบอกว่าของมันมี เราไม่ต้องไปตื่นเต้นกับมัน การปฏิบัติ ของอย่างนี้มันบอกถึงวุฒิภาวะ มันบอกถึงใจ อย่างเช่นเรานั่งรถมา ตอนเช้านั่งรถมา รถวิ่งเร็วมาก เราจะเห็นภาพอะไรไม่ชัดเจนเลย ถ้ารถจอดปั๊บ เราก็จะเห็นภาพชัด จิตโดยปัจจุบันนี้ไม่เคยนิ่ง พอไม่เคยนิ่ง จิตมันคิดตลอดเวลา เหมือนกับแสง มันทำงานตลอดเวลา เราจะไม่เห็นอะไรหรอก เราจะเห็นโดยธรรมชาติของมัน

ถ้าจิตมันหยุดล่ะ จิตมันหยุดมันนิ่งล่ะ จิตมันนิ่ง เหมือนกับรถวิ่งมาก็เห็น รถวิ่งหมายถึงว่าชีวิตประจำวันเรา ความคิดประจำวันเราเหมือนกับรถวิ่งอยู่ เราก็รู้ได้ปกติ ถ้ารถมันหยุด จิตมันหยุด เห็นได้ไหม มันเห็นได้ แต่บางทีจิตมันหยุด แต่เราปิดม่านไว้หมดเลย เราก็ไม่เห็นอะไรเหมือนกัน คือเราจะบอกว่าถ้าจิตมันหยุดแล้วไม่ใช่จะเห็นทุกคน แล้วก็ไม่ใช่ไม่เห็นเลย

ปัญหานี้จะตอบแล้วเหมือนไม่ได้ตอบเลยนะ เพราะถ้าตอบ เราห่วงไงว่าถ้าตอบว่าเห็นจริง ก็จะเกิดความว่าเรามีอะไรขึ้นมา บอกเห็นไม่จริง มันก็มีอยู่ไง ทีนี้มันมีอยู่หรือมันเห็นจริง มันไม่ทำให้เราเสียหาย ไม่ทำให้เราเสียหาย เพียงแต่เราก็ตั้งสติของเราไว้ พุทโธไว้ สิ่งนั้นจะหายไปเอง เพราะโยมลืมตามองจะเห็นเราหมดเลย จิตมันไปเห็นภาพนั้นจะเห็นหมดเลย ถ้าดึงจิตกลับมามันก็จบหมดเลย จบหมดเลย

เห็นเพราะจิตมันรู้ จิตมันเห็น ถ้าจิตมันรู้ จิตมันเห็น จิตเป็นผู้รู้ จิตเป็นผู้เห็นใช่ไหม ถ้าจิตมันกลับมาที่ตัวจิต จิตไม่ออกไปรู้ จิตไม่ออกไปรู้มันก็จบไง สิ่งที่ลอยมาก็เป็นเรื่องของเขา เราก็เป็นเรื่องของเรา มันเกี่ยวอะไรกัน ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกันเลย

แต่ถ้าเป็นสายบุญสายกรรม สายบุญสายกรรมเขามาขอส่วนบุญส่วนกุศล ถ้าพูดถึงสายบุญสายกรรมนะ บางทีมีลูกศิษย์มาหา ๓-๔ คน พ่อแม่ตายไปแล้ว มีอยู่คนหนึ่งฝันถึงพ่อถึงแม่ตลอดเลย ไอ้ ๓-๔ คนไม่เคยฝัน มาทำบุญกับเราก็มาน้อยใจ พ่อลำเอียง พ่อมาให้เห็นแต่คนนี้

แต่เราคิดมุมกลับนะ มึงลำเอียง เพราะไอ้คนที่พ่อมาหา แสดงว่าคนนี้มีเสบียง คนนี้ให้บุญกุศลพ่อได้ ไอ้ ๓-๔ คนนั้นไม่ทำอะไรเลย พ่อก็ไม่มา เพราะไม่ได้อะไร แล้วถามไปจริงไหม จริงหมดเลย ไอ้คนคนนั้นมันใจบุญกุศล มันได้ทำของมัน พ่อก็มาหา ไอ้ ๓-๔ คนมันไม่ทำอะไรเลยนะ มันบอกว่าพ่อไม่เคยมาหาเลย พวกผมไม่เคยฝันถึงพ่อสักทีเลย ทำไมพ่อไม่มาเข้าฝันผมบ้างเลย ทำไมพ่อเข้าฝันแต่คนนี้คนเดียวเลย

ยังไม่รู้ตัวนะ ยังไปบอกว่าพ่อลำเอียงนะ มึงลำเอียง มึงไม่เคยทำบุญให้พ่อมึงเลยน่ะ

ทีนี้สิ่งที่เห็นสิ่งที่รู้มันจะไม่ทำให้เราหวั่นไหว เราถึงตั้งสติไว้ ถ้าสิ่งที่เป็นสายบุญสายกรรม เราก็อุทิศส่วนกุศลให้เขา เราจะบอกว่าสายบุญสายกรรม หมายถึงว่า คนเราที่นั่งอยู่นี่ไม่เคยเกิดชาตินี้ชาติเดียว เคยเกิดมาภพชาติมหาศาล ทีนี้การเกิดภพชาติ ชาตินี้เราก็มีญาติทางนี้ ชาตินั้นเรามีญาติทางนู้น มันมีเกี่ยวพันกันมา แล้วถ้าเกิดถ้าอย่างนี้เราอุทิศส่วนกุศลให้เขา อุทิศส่วนกุศลไป อุทิศส่วนกุศลไป ถ้ามันเห็นว่าเป็นสายบุญสายกรรมนะ

แต่ถ้ามันคิดว่า เพราะการเห็น ประสาเรา เรายังไม่มั่นใจ คำว่า “ไม่มั่นใจ” หมายถึงว่า พื้นฐานจิตมันดีแค่ไหน ถ้าพื้นฐานจิตเห็นดี มันจริงทุกอย่าง ถ้าพื้นจิตมันไม่แน่น หลวงปู่ดูลย์บอก เห็นจริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริงก็มี พื้นฐานของจิต

ทีนี้ปัญหาเวลาถามขึ้นมา ปัญหาถาม ยังดีนะ เราอยู่กัน เราซักได้ ถ้าซักไม่ได้ มันไปเอาปัญหา เขียนอะไรมาก็ได้ เขียนอะไรมาก็ได้

ฉะนั้น แต่เวลาอธิบายปั๊บ เราจะอธิบายภาพกว้างเลยว่าสิ่งนี้มีอยู่ จิตวิญญาณมีอยู่ สิ่งนี้มีอยู่ ในวัฏฏะนี้มีอยู่ แต่เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วเราก็สื่อได้แค่สายตาของเรา ได้แค่ภพชาตินี้ แต่ถ้าจิตมันละเอียดเข้าไปมันก็เห็นได้ ถ้าจิตละเอียดเข้าไป ต้องจิตละเอียดจริงๆ คือเห็นได้ตามความเป็นจริง ถ้าจิตไม่ละเอียดมันก็เห็นได้ แต่เห็นได้โดยอุปาทานก็มี สร้างภาพก็มี ฉะนั้น เวลาอย่างนี้ เวลามาหาครูบาอาจารย์ ท่านซักอย่างนี้ปั๊บๆๆ มันก็จบไป นี่พูดถึงการเห็น

แล้วสิ่งที่เห็น สิ่งที่เป็นไปนะ เราธุดงค์มาเยอะ ธุดงค์มาเยอะ พอไปในป่ามันจะมีเรื่องอย่างนี้ตลอด แล้วเวลาเราไปเที่ยวกัน สถานที่ที่เขาเรียกว่าที่แรง ที่แรง เขาจะกระตุกขาเลยนะ อย่างพูดถึงพวกนี้ หนูนอนอยู่ที่นี่ โอ้โฮ! โดนอำ คือโดนเหมือนกับมีอะไรทับ นั่นเขาเรียกผีอำ เราโดนบ่อย บางที อึ๊บ! แต่เราไม่กลัวนะ พุทโธนี่กระเด็นออกไปเลย พุทโธอย่างเดียว มี แต่พูดอย่างนี้ไปแล้วพวกนี้จะไม่กล้าภาวนา แล้วเวลาภาวนาไป กลัวเจอผี เวลาเห็นกายไม่กล้าเจอกาย นี่เสียโอกาสมาก

การเจอผีคือเจอจิตวิญญาณ การเจอกาย ถ้าเห็นกายไม่ใช่จิตวิญญาณ กายมันไม่มีชีวิตใช่ไหม ร่างกายมันมีวิญญาณไหม แต่ถ้าจิตเราสงบแล้วเห็นกาย เขาเรียกเห็นธรรมะ เห็นธรรมะเพราะอะไร เห็นเพราะจิตเราสงบ อย่างเห็นกาย เห็นกายคือเห็นกายของเรา เพียงแต่จิตกับกายมันเห็นกันแล้วมันวิปัสสนากัน มันจะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอริยภูมิขึ้นมา แต่คนก็ไปคิดว่ากาย เพราะผีคือสิ่งที่เขาเขียนภาพไว้

ผีของเราคือจิตวิญญาณ แต่ภาพที่เห็น ที่ว่าน่าเกลียดน่ากลัวมันก็เรื่องของเขา แล้วเวลาเขามา เวลาไปเจอนางฟ้าล่ะ ดูนะ หลวงปู่มั่นอยู่ที่ถ้ำสาริกา ทีนี้ภาวนาไป พอจิตรวมลง รวมใหญ่ เห็นเป็นยักษ์ใหญ่ถือตะบองมา แล้วพอเห็นยักษ์ใหญ่ถือตะบองมา บอกมีอำนาจมาก จะมาตี จะมาทำร้าย เพราะมาย่ำยีที่ของเขา

หลวงปู่มั่นเทศน์ให้ฟังนะ จิตมันสงบแล้วถาม พูดได้ พูดภาษาใจ อ้าว! เธอทำทำไม นี่ก็เป็นพระออกมาหาสถานที่วิเวก ก็ไม่ได้มารุกรานใคร เขาว่าเขาเป็นคนใหญ่ คนใหญ่คนโตจะตายไหม คนใหญ่นักเลงมันต้องถึงเวลามันตายไหม

พอพูดจบนะ เขาสลดใจไง พอเขาสลดใจ เขาก็ก้มลงกราบขอเป็นลูกศิษย์ แล้วเขาก็เปลี่ยนกายเขาเลย จากยักษ์ก็เป็นรุกขเทวดา ก็เปลี่ยนเป็นสุภาพบุรุษ เห็นไหม เขาเปลี่ยนได้ทันเลย ภาพจากยักษ์ปั๊บ นิมิตกายได้ นี่หลวงปู่มั่นจิตท่านเห็นท่านเป็นไป

ทีนี้เวลาภาวนาที่นี่เห็นอย่างนี้ปั๊บ เราอุทิศส่วนกุศล แล้วไม่ต้องไปวิตกกังวล พวกเราไปกลัวกันเองไง ทำดี ทำดีเขาจะมาขอส่วนบุญจากเรา ขอความดีจากเรา แต่ถ้าเราไม่เห็น ไม่เห็นก็ยิ่งดีใหญ่เลย เพราะไม่เห็นแล้วไม่ต้องไปทำให้กิเลสมันไหวไง ถ้าไม่เห็น ถ้าจิตสงบเฉยๆ ก็ดี แต่ทีนี้คนที่เห็นนี่นะ มันก็คือต้องเห็น ทีนี้คนที่มีต้องเห็น เราจะพูดอย่างไรให้เขาพัฒนาขึ้นไป ให้จิตเขาสงบดีขึ้นไปกว่านี้ไง ฉะนั้น สิ่งที่เห็นมันก็ต้องเห็น แต่เห็นแล้วก็กลับมาที่พุทโธ กลับมาพุทโธนะ กลับมาที่พุทโธมันจะหายเอง กลับมาที่พุทโธ ตั้งสติไว้ สิ่งนี้ต้องหายหมด เพราะอะไรรู้ไหม เพราะจิตเราออกไปเอาหมด แล้วเรากลับมาที่จิต มันดับหมด

แต่ด้วยกลัว ด้วยกลัวก็เหมือนมือ พอเรามีกลิ่นนี่ชอบดม นี่ก็เหมือนกัน พอไปเห็นแล้วก็อยากรู้อยากเห็น อะไรๆ อยู่นั่นน่ะ ทั้งๆ ที่กลัวก็อยากรู้อยากเห็น มันก็ไม่จบสักที แล้วก็มาช่วยทีๆ

ก็เอ็งไม่ช่วยตัวเอง เอ็งไม่ตั้งสติแล้วดึงกลับมาล่ะ

นี่พูดถึงผู้ที่เห็น ที่ตอบอย่างนี้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะจิตมันหลากหลายไง เราจะบอกว่าอันนี้ไม่ใช่ อันนี้ไม่เห็น แล้วถ้าคนไปเห็นมา มันเหมือนกับพวกอภิธรรมบอกว่ากำหนดพุทโธนี่เห็นนิมิต แล้วกำหนดนามรูปจะไม่เห็น

เรานั่งอยู่นี่นะ ไอ้พวกนามรูปมาหาเราเยอะแยะเลย เห็นนิมิตแล้วให้เราแก้ ไอ้พวกนามรูปๆ มันก็เห็น คือจิตถ้ามันต้องเห็นนะ มันกำหนดอะไรมันก็เห็น กำหนดอะไรก็ต้องเห็น เพราะเหมือนเราเป็นไข้ ไปรักษาอย่างไรมันก็อุณหภูมิมันต้องขึ้นเป็นธรรมดา ก็กูมีไข้ไง จะบอกให้กูไม่มีได้อย่างไร ก็กูมีไข้

ถ้าจิตมันมี มันทำมาอย่างนี้ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติ จะกำหนดพุทโธ จะกำหนดนามรูป จะทำอะไรก็แล้วแต่ มันก็คือเห็น เพียงแต่เห็นแล้วแก้กัน ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็น ท่านก็จะแก้ไขไง พัฒนามัน แก้ไขมัน

การทำภาวนามันหลากหลายมากนะ อย่างที่พูด จิตของเราจะเกิดจะตายมามันหลากหลายมาก ไม่มีสูตรสำเร็จหรอก อาจารย์ที่ไม่เป็นเท่านั้นน่ะสอนสูตรสำเร็จ เป็นอย่างนี้ แล้วทุกคนต้องเป็นอย่างนี้หมดเลย ก็อาหารมีชนิดเดียว น้ำพริกถ้วยเดียว ทั่วโลกกินอย่างนี้เหมือนกันหมด มึงจะบ้าหรือ มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น ห่วงมากนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราเป็นคนกลาง เวลาเขาจะมาติฉินนินทาว่าพุทโธๆ พวกพุทโธเห็นนิมิต แล้วก็จะเห็นนู่นเห็นนี่ เราก็กลัวกันไปนะ ไม่ต้องไปกลัว เราทำดี พุทโธนี่พุทธานุสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลามันจะเสียหายตรงไหน แล้วระลึกถึงพระพุทธเจ้านะ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าสะเทือน ๓ โลกธาตุ เพราะอะไร เพราะเทวดาก็ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พรหมก็ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ทุกคนต้องการความดีทั้งหมด คือเรามีอาจารย์องค์เดียวกันไง เราระลึกพุทโธ เรามีอาจารย์องค์เดียวกับเทวดา มีอาจารย์องค์เดียวกับพวกพรหม เขาจะคุ้มครองดูแลเราไหม

แต่พวกเรามันไม่จริง คือว่าพุทโธเราที่ปาก มันไม่ออกมาจากใจไง พุทโธๆๆ มันละเอียดเข้าไปจนนึกไม่ได้ ใจมันพุทโธเอง นั่นน่ะตัวพุทโธแท้ แล้วอย่างอื่นที่จะมาทำลายเรา ไม่ได้เลย ไม่ได้เลย แต่นี่บอกพุทโธแก้ผีหลอกได้ ปากก็พุทโธ ใจก็คิดถึงผี มันจะแก้ได้อย่างไรล่ะ ปากพุทโธๆ นะ แต่ในใจนะ ผีมาๆๆ แต่ปากยังพุทโธอยู่ มันแก้ไม่ได้อย่างนี้

พุทโธดับหมด พุทโธคุ้มครองได้หมดเลย เราเชื่อมั่นมาก อย่างที่พูด เราอยู่ในป่ามาเยอะนะ พุทโธคำเดียว เรามีพุทโธกับศีล เราเที่ยวป่ามา พุทโธกับศีล มั่นใจในศีลของตัวเองมาก แล้วมั่นใจในพุทโธมาก ช้างเอย เสือเอยนะ เป็นฝูงๆ นะ เรานั่งเลย เหยียบกูไปเลย นี่เรื่องจริงนะ ไม่ได้พูดเล่น มีพยาน ถ้าไม่เชื่อเดี๋ยวไปหาพระที่เป็นพยานที่ไปด้วยกัน

มั่นใจขนาดนั้นนะ ช้างน่ะ ไอ้งาเกมาทีหนึ่ง ๔-๕ ตัว เขาบอกว่า “ไอ้หงบ มึงกล้าไหม”

“กล้า”

“กล้ามานั่งตรงนี้เลย”

“นั่ง มันขี้อยู่นั่น นั่งเลย”

แล้วพระเขาไปอยู่บนต้นไม้กัน ไปยืนอยู่ต้นไม้นะ เขาบอกว่า อู้ฮู! พระนะ คืนนี้กูนอนไม่ได้เลย กูห่วงไอ้หงบมัน กลัวช้างจะเหยียบ แต่ด้วยสัจจะ พูดว่ากล้าแล้วต้องนั่ง โอ้โฮ! แต่เราก็นั่งนะ ไม่เคยกลัวเลย เราอยู่กับพุทโธ เราคิดในใจนะ ถ้าเรานั่ง ถ้าเรามีเวรมีกรรมต่อกันก็เอาไปเลย ถ้าไม่มีเวรไม่มีกรรมต่อกัน ทำอะไรเราไม่ได้ ทำอะไรเราไม่ได้ แต่ถ้ามีเวรมีกรรมนะ เอาเลย ช้างน่ะ ช้างป่านะเว้ย

แล้วเรื่องจิตวิญญาณ เราเจอมาเยอะ เสือก็เจอ เสือ ไปเดินจงกรมอยู่ ไปอยู่กับมัน มันออกลูก ๓ ตัว แล้วอยู่บนเขา เราอยู่ตีนเขา เย็นๆ มันหยอกกันน่ะ พอมันหยอกกัน หินก็กลิ้งลงมา มันก็กลัวสิ พอกลัว มันปลอบใจ เฮ้ย! อย่ามองสิ อย่ามอง อย่ามอง พูดกับตัวเองนะ อยู่อย่างนั้นน่ะ เพราะอย่างนี้มันถึงภาวนามาได้ไง

แล้วเรื่องจิตวิญญาณมี แต่พูดไปมันก็เหมือนเป็นนิยาย พอเป็นนิยายไปมันเหมือนกับเป็นอภิญญา มันเป็นเรื่องโลก จิตวิญญาณคือเรื่องโลกนะ เรื่องวัฏฏะ เรื่องภพ นี่มันเรื่องโลก สัจธรรม อริยสัจจะมันเหนือนะ เหนือโลก ธรรมะเหนือโลก เรื่องเทวดา เรื่องอินทร์ เรื่องพรหมนี่เรื่องโลกนะ เพราะเป็นมิติหนึ่ง เป็นโลกหนึ่งนะ ต่ำต้อยมาก ประสาเรานะ เราถึงพูดบ่อย พระอินทร์นี่เด็กล้างบาตรพระพุทธเจ้า เทวดาต้องมาฟังเทศน์มนุษย์ เราไม่เคยมองว่าพวกนี้ใหญ่โตไปไหนเลย เขาก็ทุกข์เหมือนเรานี่แหละ คือเขาก็ต้องตายเหมือนกัน เวลาเขาจะตายเขาทุกข์ไหม เขาต้องเกิดต้องตายเหมือนกัน กำเนิด ๔ กำเนิดในไข่ กำเนิดในครรภ์ กำเนิดในน้ำครำ โอปปาติกะ กำเนิดในโอปปาติกะ เขากำเนิดเหมือนกัน เขาก็ต้องตายเหมือนกัน ในนี้มีอะไรคงที่

แล้วพูดถึงถ้าเทวดา อินทร์ พรหมมันเกเร มันก็มารังแกเรา มันก็มากลั่นแกล้งเรา มันก็มีบ้าง แต่ถ้าเทวดา อินทร์ พรหม ถ้าเขาเป็นสัมมาทิฏฐิ เขาไม่มารังแก เขาจะส่งเสริมเรา เขาจะมาส่งเสริมเราทั้งนั้น ทีนี้ในสังคมทุกสังคมจะมีคนดีคนชั่วปนกัน ในเทวดาก็เหมือนกัน ในพรหมก็เหมือนกัน ในทุกสังคมมีดีและเลวปนกันหมด

ตอบเสียยาวเลยล่ะ

ถาม : หลวงพ่อ เวลานั่งสมาธิแล้วอยากแผ่เมตตาควรทำอย่างไร และเป็นเพราะอะไรคะ

หลวงพ่อ : เวลานั่งสมาธิแล้วอยากแผ่เมตตา ปัญหานี้อ่านถูกไหม เวลานั่งสมาธิแล้วอยากแผ่เมตตา ก่อนหน้านั้น การนั่งสมาธิอยากแผ่เมตตาไม่ได้ การนั่งสมาธิ ก่อนนั่งสมาธิเราแผ่เมตตาได้ แต่ส่วนใหญ่เวลาเราจะใส่บาตร เวลาเราใส่บาตร เราทำบุญกุศล เวลาพระให้พร พระให้พร เราก็อุทิศส่วนกุศล แผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร

แต่นี้พออุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ผู้ที่ศรัทธาใหม่ก็ต้องกรวดน้ำ การกรวดน้ำนั้นมันเป็นศาสนพิธีนะ การกรวดน้ำให้สำหรับผู้ศรัทธาใหม่ ผู้ที่ยังโลเล ผู้ที่ยังคลอนแคลนอยู่ เขาก็กรวดน้ำ พอกรวดน้ำ เราจะอุทิศส่วนกุศลแล้วนะ ต้องกรวดน้ำ ใจเราก็จดจ่ออยู่กับน้ำ พอกรวดน้ำจบ ใจก็หายไปเลย

แต่ถ้าเราเคยมาวัดบ่อยๆ ใช่ไหม เราคิดได้ไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านให้พร เราก็นึกสิ นึกนี่ น้ำใจสำคัญกว่า นึกถึงว่าอุทิศส่วนกุศลให้พ่อให้แม่ให้ปู่ให้ย่าให้ตาให้ยาย อุทิศคือเจาะจง

ของนี้มีอยู่ ๒ ชิ้น แล้วเราเป็นผี เวลาเขาให้มา กำลังเราน้อยกว่า มันเป็นสาธารณะ เวลาทำบุญนี่เป็นสาธารณะนะ ทุกคนได้หมดนะ เวลามาปั๊บ เรามีกำลังมากกว่า เราตะปบเลย ไอ้คนนี้ไม่ได้ แล้วโยมอยากให้ไอ้นี่ไม่ได้ แต่ถ้าโยมบอกว่าอุทิศให้กับผีตัวนี้ เวลามาปั๊บ สิ่งนี้มันเป็นของตรงนี้ เราแย่งไม่ได้

อุทิศเจาะจงให้กับพ่อให้กับแม่ให้กับปู่ให้กับย่าให้กับตาให้กับยาย แล้วของชิ้นนี้เวลาอุทิศแล้ว เจาะจงไปแล้วมันก็ยังมีเผื่อแผ่ เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันเป็นนามธรรม มันเป็นนามธรรม มันมีเยอะเต็มไปหมด อุทิศเท่าไรมันยังมีต่อไป อุทิศเท่าไรมันก็ไม่มีวันจบ

แต่พวกเราไปคิดว่าเหมือนกระดาษ กระดาษแผ่นเดียวก็คือแผ่นเดียว แต่กระดาษ ถ้าเอาไปแล้วมันก็ยังเหลือกระดาษแผ่นเก่า เขาเอาไปแล้วก็ยังเหลือกระดาษแผ่นเก่า เขาเอาไปแล้วก็ยังเหลืออยู่ คือเขาเอาไป แต่มันก็ยังอยู่ไง ทีนี้เราอุทิศเท่าไรก็ได้ไง คำว่า “อุทิศ” อุทิศคือเจาะจงให้ อุทิศด้วยน้ำใจ ทีนี้อุทิศด้วยน้ำใจ เราทำแล้วเราอุทิศใช่ไหม ถ้าเราไม่ได้ทำบุญเลย เราจะอุทิศ อุทิศอะไรล่ะ อุทิศความคิด อุทิศอะไร เราไม่ได้ทำบุญ แล้วเอ็งจะอุทิศอะไร

เขาบอก บางทีบอก “โอ๋ย! อย่างนี้มันก็เป็นความคิดสิ”

เราไม่เคยทำบุญ ไม่เคยทำความดีกับใครเลย แล้วจะเอาความดีอะไรไปให้ใคร เราต้องทำใช่ไหมถึงจะมี นี่เรานั่งสมาธิจะแผ่เมตตา จิตพอนั่งสมาธิเสร็จแล้วเราออกจากสมาธิ หรือเราจะเลิก เขาแผ่เมตตากันตอนนั้น เขาไม่ให้นั่งสมาธิกับแผ่เมตตา

ขณะที่นั่งสมาธินี่นะ เราทำสมาธิ เราทำความสงบของใจ แต่ถ้าเวลาทำสมาธิ สมาธิ เขาบอกอย่าทำสมาธิ สมาธิไม่มีปัญญา สมาธิไม่ดี

เราจะบอกว่าเราทำความสงบของใจ ใจสงบมากน้อยแค่ไหน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าใจมันมีสมาธิมาก มันมีความดูดดื่มมาก อุทิศส่วนกุศลไป ขณะเรานั่งสมาธินะ นั่งทำความสงบของใจ ถ้าบางทีจิตสงบ อย่างเช่นเรา เราสร้างกรรมมาเยอะมาก ถ้าทำเวลานั่งสมาธิจะมีพวกเจ้ากรรมนายเวรจะมาทำร้ายเราเยอะมาก จะมาคอยสะกิด จะมาคอยทำให้เราออกจากสมาธิตลอดเวลา ทีนี้เราก็มีความเพียร เราก็มีความวิริยอุตสาหะ เราก็พุทโธๆๆ เราสู้กับมัน เวลาจิตเราสงบ เทวดามาคุ้มครองนะ เทวดามาช่วย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเทวดา ในการประพฤติปฏิบัติ ในเทวดา ในพวกจิตวิญญาณเขาอยากได้บุญกับเรานะ เทวดาที่ดีก็มี เทวดาที่เก๊ก็เยอะ มันก็อยู่ที่เวรกรรมของใครของมันน่ะ

ฉะนั้น พอขณะที่เรานั่งสมาธิ พุทโธๆๆ จิตเราสงบ ถ้ามีเทวดามาช่วยคุ้มครองช่วยอะไร ถ้าคนมีกรรมนะ เทวดายังมาช่วยคุ้มครองเพราะอะไร เพราะเขาอยากได้บุญกับเรา ฉะนั้น จิตเราสงบมากสงบน้อย เราอุทิศไป อุทิศนะ พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ครูบาอาจารย์ สรรพสัตว์ทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย อุทิศไปเลย

เทียนเราเล่มหนึ่ง เราจะจุดเทียนให้ใครๆ กี่เล่มเราก็ไม่ดับ จำไว้ เพราะเราเคยเป็นมา เมื่อก่อนบวชใหม่ๆ เราตระหนี่น่าดูเลย ไม่ให้ใคร กูจะเอาคนเดียว เพราะเราเป็นมาหมดแล้วเรื่องอย่างนี้ ถ้าเรื่องกิเลสนะ ไม่ต้องบอก เราเป็นมาหมดแล้ว เราเคยเป็นมา หวงฉิบหายเลย พอภาวนาไปนะ โอ๋ย! มันก็บ้าเหมือนกันเนาะ แล้วเราก็คิดว่าโยมบ้าทุกคน กิเลสมันพาบ้าหมด ไม่มีใคร ไม่มีใครหรอก

ฉะนั้น พอจิตมันสงบแล้ว เราอุทิศหรือว่าเราพุทโธ เราจะเลิก ไม่ใช่ไปอุทิศตอนพุทโธอยู่ หรือตอนทำความสงบอยู่ เราทำความสงบแล้ว วันนี้ทำไม่ได้ จิตไม่สงบเลย เราก็อุทิศ อุทิศอะไรรู้ไหม อุทิศแรงกายของเราไง อุทิศความตั้งใจของเรา อุทิศได้ บุญกุศลเกิดแล้ว

เรานั่งฟังธรรมกันอยู่นี่ เราเสียสละความสะดวกสบายของเรา เวลาเรานั่งสมาธิ แล้วถ้าเราไม่นั่งสมาธิ เรานอนก็ได้ใช่ไหม เราทำอะไรก็ได้ใช่ไหม เรานั่งสมาธิ เราเสียสละ เขาเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ กิริยาท่าทางของเราก็เป็นบุญอันหนึ่ง แล้วเราเสียสละอันนั้นมาเพื่อนั่งสมาธิถวายพระพุทธเจ้า เราเอากายนี้ถวายพระพุทธเจ้าแล้วเราได้บุญไหม

แต่นี้พอบอกภาวนาได้บุญแล้ว ภาวนาไม่เห็นได้อะไร ไม่ได้อะไร มันก็อย่างว่าแหละ สาวยาวไกลมาก ถ้าไม่อธิบายก็หาว่าไม่รู้ไง ถ้าอธิบายก็บอก อู้ฮู! หลวงพ่อ อย่าถามหลวงพ่อเลยนะ ตอบทีหนึ่งเป็นชั่วโมงเลย น่าเบื่อ

มันไม่เคลียร์มันก็ไม่จบ นี่พูดถึงการอุทิศส่วนกุศลนะ

ถาม : ผมอยากทราบการทำคุณไสยได้อย่างไรครับ ขอความเมตตาจากหลวงพ่อด้วย

หลวงพ่อ : ไอ้คุณไสย เราจะบอกว่าเรื่องทำคุณไสยนะ ถ้าเราทำคุณไสย ไอ้นี่ก็เป็นกรรมอันหนึ่งนะ เป็นกรรมอันหนึ่ง ถ้าไม่เป็นกรรมอันหนึ่ง เขาจะทำเราทำไม ใครจะมาทำคุณไสยเราทำไม ทำคุณไสยมันต้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ เกี่ยวกับความขัดแย้งใช่ไหม เกี่ยวกับความขัดแย้งมันก็ทำมา แต่บางทีไม่มีผลประโยชน์ ไม่มีการขัดแย้งเลยนะ มีอยู่ พวกลูกศิษย์เขาไปโดนมา เขาไปโดนมาเพราะเขาหวังผลประโยชน์ของเขา

ทีนี้ไอ้อย่างนี้เขาเรียกว่ามิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ คุณไสยมันจะมีกำลังหรือมีผลมากเมื่อคนทำคุณไสยสมาธิเขาดี สมาธิดี สมาธิไม่ดี ทำคุณไสยมันถึงจะมีผลมากผลน้อย ทีนี้ถึงว่าถ้าสมาธิดี คำว่า “สมาธิดี” แล้วไปทำคุณไสยทำไม คุณไสยมันไปทำลายคนอื่นนะ ไปทำลายคนอื่น นี่เขาเรียกว่ามนต์ดำไง ที่บอกว่าเป็นมิจฉาสมาธิ มิจฉาสมาธิก็สมาธิดำ

สมาธิขาว สมาธิขาวมันมีสติ มีศีลคอยครอบคลุม เรามีศีลใช่ไหม มีศีลเราไม่ทำร้ายใคร มันไม่ทำร้ายใคร พอเราตั้งเป้าไม่ทำร้ายใคร พอจิตเป็นสมาธิมันก็ดีขึ้นมา

ทีนี้พอเขาทำคุณไสยนี่นะ มันเหมือนกับกรรม เราพูดบ่อยนะ มันมีอย่างเช่นเรา อย่างเช่นครูบาอาจารย์ของเราท่านทำประโยชน์กับสังคม ฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วยเขาต้องทำให้แน่นอน เพราะคุณไสยมีขายในท้องตลาดนะ มีขาย แล้วของราคาถูกๆ เพราะอะไร อย่างเช่นเราทำอะไร เราทำไว้เลย เหมือนกับเครื่องรางของขลัง ถ้าใครต้องการก็ไปซื้อเอาสิ เพราะมันซื้อเอา อย่างเช่นเรา เราจะทำอะไร เราก็เอาชื่อ ไปสืบชื่อสืบอะไรเขามา แล้วก็ให้อาจารย์ทำให้ จ่ายสตางค์ คือมันมี มันหาได้นะ

ทีนี้พอมันหาได้ปั๊บ เราจะไปแก้กันที่ตรงไหน อย่างเรา เราเชื่อว่า เราเชื่อเองนะ ผิดถูกอยู่ที่เราเชื่อ เราเชื่อว่าต้องมีคนทำเราเหมือนกัน แต่เราก็เชื่อว่าทำเราไม่ได้ ทำเราไม่ได้ เพราะเรามีศีลไง เรามีศีลของเรา เรามีพุทโธของเราป้องกันได้ ป้องกันได้ ทีนี้ป้องกันได้ คนอื่นก็พุทโธๆ ทำไมป้องกันไม่ได้ล่ะ ทำไมเราก็พุทโธอยู่ ทำไมเขาทำเราได้ล่ะ? พุทโธเรามันไม่จริง

เราเคยเห็นนะ เราเคยเห็น มีพระองค์หนึ่งอย่าเอ่ยชื่อเขาเลย นี่อาจารย์ไทพูดเองนะ อาจารย์ไท พุนก ท่านเสียไปแล้ว ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ตื้อ ท่านเอาออกมานะ ตะปู ๔ นิ้วเอาออกมาจากนิ้วหัวแม่โป้งของพระ แล้วพระก็ถามอาจารย์ว่า “อ้าว! อาจารย์ เขาทำผมได้อย่างไรล่ะ ผมก็พระ”

“ทำไมจะไม่ได้ ก็ตอนเวลาเอ็งเผลอไง”

ไอ้อย่างนี้วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ฉะนั้น ถ้ามีอย่างนี้แล้ว ถ้าพูดถึงประสาเรานะ เราจะแก้ ถ้ามันมี เราจะแก้เราก็ทำบุญกุศล แล้วอุทิศส่วนกุศลไป อุทิศส่วนกุศลไป แล้วประสาเรา ตั้งสติไว้ ศีลธรรมคุ้มครองเราได้

ทีนี้ไว้คุ้มครองเราได้ ประสาเรานะ มันก็เรื่องของวิบากกรรมนะ บางอย่างมีนะ วิบากของกรรม อย่างว่า เมื่อวานก็มีโยมมาหา มา ๓-๔ คน เขาบอกว่าเขาเห็นพวกโยมไปถวายหลวงตาแล้วก็ให้ช่วยคนเจ็บคนป่วยนะ แล้วก็นึกว่าถวายเราจะได้ไหม เขาก็ถามอย่างนี้ ก็ไม่รู้จะตอบอย่างไรนะ

เราบอกนะ พูดถึงอย่างนี้เราก็ให้กำลังใจกัน เวลาอุทิศส่วนกุศล เวลาแผ่เมตตา ให้กำลังใจกัน ถ้าสิ่งที่มันบุญกุศล หรือว่าสายบุญสายกรรม มันก็ช่วยให้หนักเป็นเบาได้ แต่ถ้ามันแบบไม่ใช่สายบุญสายกรรม แล้วมีกรรมของเขา เขาก็มีของเขา อย่างไรมันก็มีผลอย่างนั้น

ถ้าพูดถึง ถ้าอย่างนั้นปั๊บ คนจะมีวันตายหรือ ถ้าบอกว่าพุทโธนี้จะช่วยได้หมด คนมันจะตายหรือ กรรมมันจะมีอำนาจเหนือ พระพุทธเจ้าให้เชื่อเรื่องกรรม ถ้าเขาทำกรรมของเขามาอย่างนั้น เขามีโทษเขามาอย่างนั้น แล้วเราจะไปปัดเป่าเขาหมด มันจะเป็นไปได้อย่างไร

แต่ถ้าพูดถึงว่า มันกำลังใจกัน เขาแบบว่าขอให้แผ่เมตตา อ้าว! ก็แผ่ แผ่ให้ ทำให้ ทำให้ก็สิ่งที่ดีไง ก็อยากปรารถนาให้คนมีความสุขทั้งนั้นน่ะ อยากให้คนทุกคนเป็นคนดี ทุกคนมีความดี ความสุข

ถาม : การนึกถึงความตายโดยการภาวนาว่าตายๆๆ ไปเรื่อยๆ แต่ใจไม่ยอมลงความตาย เราสามารถน้อมใจเข้าหาภาวนาความตายได้หรือไม่ หรือต้องให้ใจยอมรับ

หลวงพ่อ : คำบริกรรม ตายนี่นะ มันก็เป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้อง อยู่ในพระไตรปิฎกไง กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ทำความสงบ วิธีการทำความสงบ ๔๐ อย่าง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เทวดานุสติ มรณานุสติ มรณานุสตินึกถึงความตาย นึกถึงความตาย คำมรณานุสติเป็นคำบริกรรม ทีนี้คำบริกรรมบางคนกำหนด บางคนดีมากนะ บางคนมันแบบว่า ชีวิตเราจะไปแบบฟุ้งเฟ้อมาก พอนึกถึงความตายปั๊บ มันจะยับยั้งเราได้เยอะมากเลย แต่บางคนบอกนึกถึงความตายไม่ได้ นึกถึงความตายแล้วชีวิตนี้ห่อเหี่ยวมาก ทำอะไรไม่ได้เลย เห็นไหม เราก็เปลี่ยนสิ เราเปลี่ยน

บางทีถ้าพูดถึงความตายแล้วมันดี ถ้าเรานึกถึงความตายแล้วดี ก็ตรงกับจริตเรา คือเราดื่มน้ำนี้แล้วเรามีความชุ่มชื่น ถ้าเราไปดื่มน้ำนี้ น้ำนี้มันไม่มีความชุ่มชื่นกับเรา เราเปลี่ยนสิ เราไม่ใช่มาบังคับว่า ดูสิ เวลาเขากินอาหารกันอร่อย เราไม่ใช่ตรงจริตเรา เราก็จะให้อร่อยกับเรา เราก็กินแล้วไม่อร่อยสักทีเลย แล้วอยากให้อร่อยมันก็อร่อยไม่ได้หรอก เพราะเราไม่ชอบ

การภาวนาเขาต้องให้ตรงกับจริตไง บางอย่างที่ไม่ชอบไม่เอา เราก็เปลี่ยนอย่างอื่น แต่มันต้องไม่ชอบไม่เอาจริงๆ ถ้าบอกถ้าไม่ชอบไม่เอาแล้วเปลี่ยนๆ ไป มันเปลี่ยนไปจน ๔๐ อย่างแล้วมันก็ไม่ชอบสักอย่างหนึ่ง บางอย่างเราก็ต้องจริงๆ กับมันบ้าง แต่ถ้าบางอย่างมันไม่ได้ เราก็เปลี่ยน คือว่ามันไม่ใช่มีช่องทางเดียวไง มันไม่ได้มีช่องทางเดียว มันมีช่องทางตั้งเยอะแยะ

เราถึงว่า เวลาบางทีเราติเตียนนะ ติเตียนพวกผู้สอนปฏิบัติ บอกทางอื่นผิดหมดเลย ทางนี้ถูกๆ เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อหรอก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะจริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าเราย้อนกลับไป เหมือนคนไข้ ประวัติคนไข้มา พื้นฐานของความเป็นอยู่ของเขาไม่เหมือนกันหมดเลย แล้วเป็นไข้มันจะเป็นเหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน จริตของคนมันไม่เหมือนกัน ทีนี้พอไม่เหมือนกัน พระพุทธเจ้าก็รู้เรื่องอย่างนี้ พระพุทธเจ้านี่พุทธวิสัยนะ พระพุทธเจ้านี้ปัญญามากนะ พระพุทธเจ้าถึงวางวิธีการไว้หลากหลายให้สัตว์โลก ให้ตรงกับความชอบของตัว ให้ตรงกับผลประโยชน์ของตัว ให้ตรงกับจริตของตัว ถ้าพระพุทธเจ้าบอกไว้อย่างเดียวนะ ถ้าคนชอบก็ทำได้ คนที่ตรงก็ทำได้ คนอื่นทำไม่ได้เลยหรือ พระพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์

ฉะนั้น ๔๐ วิธีการนี้ถูกต้องหมด แล้วคำว่า “ถูกต้องหมด” เราเอาอันเดียว ขณะที่สิ่งใดที่มันตรงกับจริตเรา อันนั้นเป็นประโยชน์กับเรา เอาอันนั้น แล้วอย่างถ้ามันเอาอันนั้นปั๊บ ถ้ามันทำไปแล้วมันจะมีการต่อต้าน เรื่องการต่อต้านเป็นเรื่องธรรมดานะ เพราะว่าในการประพฤติปฏิบัติ เวลาปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมไม่เห็นได้สักที ไม่เห็นได้สักที แล้วก็โทษเลย ทำแล้วไม่ได้ ทำแล้วไม่ได้

ธรรมะไม่ใช่ไม่ได้ ไอ้ที่ไม่ได้คือกิเลสเรา กิเลสต่างหากมันต่อต้านธรรม กรรม กรรมของเรา ความฝังใจของเรามันต่อต้าน มันถึงไม่ได้เราไง แล้วมันต่อต้าน เราก็ไปโทษธรรมะ เราไม่โทษแรงต่อต้านจากเราเลย เราไม่โทษเราเลยนะ เราไม่โทษว่าเราทำผิดนะ เราไปโทษว่าธรรมะนี้ทำยาก ธรรมะนี้ทำยาก แต่ไม่ได้โทษเราเลย

ถ้าเราโทษเรา เราโทษเรา พอโทษเราปั๊บ โทษเรา หลวงตาท่านสอนอย่างนี้นะ ท่านบอกให้ถาม ให้ถามตัวเอง ชีวิตนี้เกิดมาทำไม ชีวิตนี้มีอะไร ถ้าใครถามปั๊บ มันมีโจทย์ พอมีโจทย์แล้วเราพยายามคิด มันมีคำตอบไง ถ้าเราไม่ถาม เราไม่ตั้งโจทย์ถามตัวเอง เราไม่มีคำตอบนะ แล้วเราจะทำอะไรไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราภาวนา พอเราถามได้หรือไม่ได้ พอมันตั้งปัญหาปั๊บ มันจะย้อนกลับมาที่เราไง แล้วมาแก้ที่นี่

อย่างที่เราพูดบ่อย คนมาภาวนา “หลวงพ่อ ภาวนาไม่ได้เลย ไม่ได้เลย”

เราบอกว่า เอ็งก็จะเอาแต่ผลภาวนาน่ะ แต่สิ่งแวดล้อมเอ็งไม่เคยดูแลเลย อย่างเช่นศีล อย่างเช่นเราเตรียมความพร้อม เราเตรียมหรือยัง มาอยู่วัดหิวไหม หิว แต่เราภาวนามีโอกาสไหม หิวนะ แต่หิว ดูสิ ดูอย่างผู้หญิงเรา พยายามจะงดอาหารเพื่อสุขภาพ ทำไมเขายังทำได้เลย แล้วเพื่อเรา เพื่อให้จิตสงบ ทำไมเราทำไม่ได้

ไอ้นี่เราไม่ได้ดูตรงนั้นเลย แต่มาก็พุทโธๆๆๆ เลย แล้วจะเอาให้ได้นะ มันไม่ได้ ถ้าไม่ได้ปั๊บ ถ้าเราย้อนว่า เพราะกิเลสมันต้าน พอมันต้านปั๊บ เพราะอะไร มันเริ่มหาแล้ว ๑. วันนี้ไปโดน ไปกระทบสิ่งนั้นมา มันไม่ดี ทำนู้นมันผิด ทำนู้นมันผิด อ้อ! ผิดใช่ไหม ถ้าเป็นพระก็ปลงอาบัติ ถ้าเป็นเรานะ ก็อย่าทำมัน

ศีลนะ ศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลขาด ถ้าเราไม่ตั้งใจทำ แต่มันเป็นอุบัติเหตุ มันเป็นเรื่องสุดวิสัย ศีลด่างพร้อย ศีลไม่ขาด พวกเราบางทีน่ะ ศีลขาดๆๆ มึงทำอะไรมาศีลขาด ศีลด่างพร้อย ศีลด่างพร้อยเราก็ตั้งใจว่าจะไม่ทำอีก ความตั้งใจของเรา ถ้าเราบอกว่าเพราะเรา เพราะเรา มันจะมาหาตรงนี้ ศีลเราด่าง ศีลเราพร้อย วันนี้เรากระทบกระเทือนมาแรง สิ่งที่เราทำมาแล้ว

มันมีประโยชน์มากเวลาเรามีศีลดีขึ้นมา สีเลน สุคตึ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา ศีลทำให้เรามีความสุข พอเรามีศีลปั๊บ จะไม่มีสิ่งกระทบรอบข้างเลย เพราะศีลเราดี เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย มีความสุข ถ้าศีลเราไม่ดี เราไปหาแต่เหตุกระทบกระเทือนกันน่ะ ทุกคนเขาก็ต้องกลับมาที่เรา

สีเลน โภคสมฺปทา พอศีลเราดีขึ้นมา รายจ่ายจะน้อยลงเยอะเลย โภคะเกิดแล้ว ถ้าเรามีศีลนะ เรารักษาของเรา จริงๆ นะ ไม่ต้องใช้อะไรเลย เราจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมาโดยที่ไม่เป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้นน่ะ แล้วไปที่บ้าน กลับไปดูสิ เปิดที่บ้านสิ อู้ฮู! ของที่ซื้อมาไม่ได้ใช้ทั้งนั้นน่ะ โภคะเกิด โภคะเกิด นี่คือการโภคะเกิดนะ ศีลธรรมไปถึงนิพพานได้ ศีลธรรมไปถึงที่สุดได้ ย้อนมาดูที่นี่ ย้อนกลับมาดูที่การปฏิบัติ ต้องย้อนกลับมาดูที่นี่

ไม่ใช่ว่าเราทำแล้วไม่ได้ๆ ทำไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร ๔๐ วิธีการต้องทำได้ หายใจเข้าและหายใจออก หลวงปู่ฝั้นบอกเลย หายใจทิ้งเปล่าๆ หายใจเข้าและหายใจออกไม่นึกพุทนึกโธ แล้วนึกพุทโธ เราพูดถึงนึกพุทโธ เราเขียนเป็นพุทโธ หรือว่าไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ กดไปพุทโธๆ แล้วให้มันพุทโธ แล้วได้ประโยชน์อะไร ไม่ได้

พุทโธต้องมีจิต ต้องมีคำบริกรรม คำว่า “คำบริกรรม” ไง พุทโธเฉยๆ ไม่เป็นคำบริกรรม มันเป็นพุทโธๆ แต่เรานึกขึ้นมาเป็นคำบริกรรมของเรา เรานึกพุทโธปั๊บ ได้พุทโธหนหนึ่ง นี่ไง ไม่ทิ้งเปล่าแล้ว เรานึกขึ้นมามันถึงจะเป็นนะ เรานึกขึ้นมา เรารักษา มันถึงจะเป็น ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยทำ ไม่เคยคิดกันเอง เส้นผมบังภูเขา ของเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เราไม่ได้ ถ้าเราทำสิ่งที่เล็กน้อย ทำให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา มันจะเป็นความดีกับเรา แล้วเป็นความดีขึ้นมานะ

นี่ไง เวลาพวกเราบอกเลยนะ พื้นฐานใครก็สอนได้ เวลาเราภาวนาติดแล้วเราค่อยไปหาครูบาอาจารย์ พื้นฐานก็เลยกลายเป็นหญ้าปากคอก พื้นฐานก็เลยเป็นดินพอกหางหมู พื้นฐานก็เลยพอกจนไปไหนไม่รอดไง

พื้นฐานนี้สำคัญ เพราะเราเข้าใจเรื่องนี้ เพราะอะไร เพราะเราอยู่ในวงการนะ เวลาสังเกต ไปดูพระองค์ไหน พอเทศน์นะ อวิชชาหมดเลยนะ นิพพานหมดเลยนะ พอเราไปเจอครูบาอาจารย์เรานะ ท่านเทศน์เรื่องศีล ภาชนะมันสกปรก มันใส่อะไรก็จะกินไม่ได้ ภาชนะมันมีสารพิษ อาหารจะดีขนาดไหน ลงไปภาชนะนี้มันก็อาหารพิษ แต่ถ้าภาชนะมันดีนะ อาหารมันจะมีคุณภาพขนาดไหน มันใส่ในภาชนะนั้นดีนะ โอ้โฮ! มันกินได้มีประโยชน์หมดล่ะ ศีลเปรียบเหมือนภาชนะนั้น

โอ้โฮ! ท่านเทศน์นะ โอ้โฮ! คนมีคุณธรรมเทศน์ไม่ต้องเทศน์นิพพานเลย เทศน์แค่ศีล เทศน์แค่ทาน ฟังแล้วซึ้งมากเลย ซึ้งเพราะอะไร เพราะท่านเห็นไง เพราะก่อนที่เราจะมาอย่างนี้เราต้องมีพื้นฐานมา

ปฏิบัติมันยาก ยากตรงไหน มันยากเพราะเราไม่มีสติ มันยากเพราะเรามักง่าย เราไม่เคยสังเกต เราไม่เคยดูแล เราไม่เคยตั้งสติ เราไม่เคยดูแลจิตเราเลย มาจากไหนก็ ปฏิบัติ! ปฏิบัติ!

ไม้ดิบๆ จุดไฟไม่ติดหรอก ปฏิบัติมันต้องเอาไม้ตากให้แห้ง ไม้แห้งจุดไฟมันติดนะ ใจเรา ตบะธรรม ความแผดเผาของศีล ความแผดเผาของธรรม มันได้แผดเผาหัวใจเราไหม เราไม่มองกันตรงนั้นน่ะ เวลาปฏิบัติ เราก็อยากให้ปฏิบัตินะ แต่เวลาปฏิบัติแล้ว ดูสิ เด็ก ในพื้นฐานของเด็ก ถ้าพื้นฐานมันเรียนมาไม่ดี พอโตขึ้นไป ทางวิชาการไม่ดี มันต้องเปลี่ยนไปเรียนสายศิลป์หมดล่ะ ถ้าเด็กพื้นฐานมันดี เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน พื้นฐานคือจิต คือศีลของเรา พื้นฐานของเราดี ถ้าพื้นฐานของเราดี ไม่ต้องไปห่วง ไม่ต้องห่วง จะเอามรรคผลนิพพาน พื้นฐานเราดี เราถมไปๆ มันต้องถึงยอดแน่นอน แต่นี่มองกัน แหงนหน้ากันหมด ไม่เคยมองพื้นฐานเลย

เวลามา เพราะอะไร เพราะเราทำมานะ ถ้าพูดถึงถ้าพวกนี้ไม่ดี เรา ขนาดถ้าวันไหนไม่ดีนะ เราจะตั้งสติเลย ตั้งแต่ตื่นนอน ตั้งแต่ตื่นนอน ตื่นนอนนี่คุมเลย พอตื่นนอนปั๊บ พุทโธเลย เพราะบวชใหม่ๆ เราบวชใหม่ๆ นะ มันทำยังไม่ได้ มันทุกข์มาก เราพุทโธคุมกับจิตตลอดไป พุทโธอยู่กับมันตลอดเลย อยู่กับมันตลอด ทีนี้ธรรมดามันก็มีเผลอบ้างเป็นธรรมดา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราตั้งเป้าไว้สูง เราตั้งเป้าไว้ว่าเราจะไม่เกิดอีก ฉะนั้น กูต้องทำให้ได้ ทีนี้พอตั้งเป้าไว้สูงปั๊บ มันก็ลงเต็มที่ สละชีวิตเลย อดนอน อดอาหาร อดๆๆ เวลามันถึงที่สุดมันตีกลับนะ พอมันตีกลับ กิเลสมันหลอกทีละชั้นนะ ชั้นแรกมันหลอกว่ามึงต้องตายนะ มึงต้องตาย มึงตายแน่นอนเลย ทีแรกก็กลัว พอตอนหลัง พอมันมาเดินจงกรม พอกลัวมันก็ต้องออกไปฉันข้าวก็จบ ทีนี้พอเดินจงกรมมันก็เริ่มดีขึ้น มึงต้องตาย ต้องตายนะ อะไรจะตายล่ะ นี่ปัญญามันเกิดแล้ว มันถามกลับนะ อะไรจะตาย

เวลาคนจะตายมันต้องมีอาการไข้ มันต้องมีอาการ แล้วนี่มึงมีอาการไหม มึงไม่มีอาการ ถ้ามึงเจ็บไข้ได้ป่วย มึงไปหาหมอ มึงไปบอกหมอเขาเจ็บป่วยคนละที่ หมอเขาตรวจมึงไม่ได้หรอก คือว่าเราต้องรู้ก่อนหมอว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอะไร แล้วอย่างนั้นถ้ามึงไม่มีอาการ แล้วมึงจะตายได้อย่างไร

เออ! ก็ปัญญามันทัน กิเลสมันก็อาย มันก็หยุด หยุดก็อดข้าวไปได้เรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ ไปอย่างนั้นน่ะ ถึงที่สุดมันพลิกกลับเลย กินข้าวไม่ได้ กินข้าวไม่ได้ คนไม่กินข้าวตายไหม กิเลสนะ ถึงจริงๆ แล้วมันเอาเราตายจริงๆ ด้วย ทีแรกมันเอาความคิดก่อน หลอกด้วยความคิดก่อน ถึงที่สุดแล้วมันพลิกเลย เราอดอาหาร อดอาหารไป อดอาหารไปจนกินข้าวไม่ได้เลย วันไหนจะนึก นึกว่าจะกินข้าวนะ นึกว่าจะไปบิณฑบาต มันอาเจียนเลย มันขย้อนออกหมดเลย มันพุ่งโอ้กๆ แล้วพุ่งออกมามีอะไร มันมีแต่น้ำย่อยเปรี้ยวๆ อู้ฮู! พุ่งออกมาเต็มไปหมดเลย โอ้โฮ! คราวนี้ตายแน่ คราวนี้ตายจริงๆ แล้วตายจริงๆ ทำอย่างไรล่ะ

ปัญญาไล่กลับ ทำไมถึงไม่กินข้าว ทีแรกมันจะไปกิน มันไม่ให้กินนะ แต่บอกพอมันไม่กิน ถามมัน ทำไมไม่กินข้าว คนเรามันต้องกินข้าวนะ คนไม่กินข้าวจะอยู่ได้อย่างไร แล้วเอ็งไม่กินข้าวเพราะอะไร อ้าว! ก็อยากจะภาวนา แล้วภาวนา ถ้ามันภาวนาแล้วตายไป เอ็งจะเอาอะไรภาวนา แล้วชีวิตเอ็งไม่มี เอาอะไรภาวนา แล้วถ้ากินข้าว กินข้าวมันสกปรก มันสกปรกแล้วเอ็งไปรังเกียจอะไรมัน นี่ปัญญามันจะไล่กันมานะ ไล่ในใจเรา ไล่กันมาตลอดเลย

พอไล่ขึ้นมามันจนตรอกนะ พอไล่ขึ้นมามันจนตรอก เอ็งรังเกียจมันใช่ไหม เอ็งไม่พอใจใช่ไหม เอ็งอยากตายโดยที่ยังมีกิเลสท่วมหัวอย่างนี้ไหม ถ้าเอ็งปฏิบัติมา เอ็งเห็นช่องทาง เห็นครูบาอาจารย์ เห็นสิ่งต่างๆ เอ็งอยากรักษาชีวิตนี้ไว้ปฏิบัติต่อไหม ถ้าอยากรักษาชีวิตไว้ปฏิบัติต่อนะ เอ็งรังเกียจมัน เอ็งไม่กินกับข้าวก็ได้ เอ็งกินข้าวเปล่าๆ ได้ไหม โอ้โฮ! มันค่อยๆ ตะล่อมมันนะ ค่อยๆ ตะล่อมจนกิเลสในใจนะ เออ! ถ้าอย่างนั้นน่าจะได้นะ พอน่าจะได้ปั๊บ อาการขย้อนมันก็หมดไป อาการขย้อน ไม่อย่างนั้นมันมีอาการขย้อน ขย้อนอยู่ตลอด จนถึงที่สุดนะ ถ้ากินได้อย่างนั้น มันพูดนะ

เวลาปฏิบัตินะ เวลาธรรมะกับกิเลสมันเกิด กิเลสคือความคิดของฝ่ายอธรรม กับธรรมะฝ่ายธรรม มันจะสู้กันในหัวใจตลอด ถ้าคนภาวนาไม่เป็นจะไม่รู้เรื่องอย่างนี้ ถ้าคนภาวนาเป็นเขาเรียกว่ากิเลสกับธรรม มันจะสู้กันในหัวใจ คือความคิดของกิเลสกับความคิดของธรรมมันจะต่อสู้กันตลอด พอปัญญามันเกิด มันยังบอกเลย อ้าว! ถ้าอย่างนั้นพรุ่งนี้เราไปกินข้าวกันเนาะ มันพูดนะ มันพูดกับจิตนะ อย่างนั้นพรุ่งนี้เราไปกินข้าวกันเนาะ เออ! น่าจะได้ พออย่างนั้น รุ่งเช้าถึงออกไปบิณฑบาตได้ พอบิณฑบาตกลับมาแล้วก็กินแต่ข้าวเปล่าๆ

พอกิน พอมันฟื้นมา มันผ่านปั๊บ แล้วเรามาดูประวัติ เรื่องอย่างนี้เกิดกับหลวงปู่มั่น กับแม่ชีแก้ว ที่ว่าแม่ชีไปถามหลวงปู่มั่นไง บอกกินข้าวไม่ได้ กินข้าวไม่ได้ เวลากิเลส เราถึงบอกว่า อัตตกิลมถานุโยคมันอยู่ตรงนี้ อัตตกิลมถานุโยคมันอยู่ที่ว่ามันทำให้เราเสียเปล่า ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ “นั่นเป็นอัตตกิลมถานุโยค”...ไม่ใช่ อัตตกิลมถานุโยคคือเวลาจิตมันพลิก มันเป็นข้างในเลย

ฉะนั้น การอดอาหารเราถึงว่ามันมีประโยชน์มาก แต่กิเลสพอมันจนตรอก มันจะตายนะ มันไม่ยอมตาย มันจะต้องให้ความเพียรหรือให้เราไม่ทำต่อไป เพื่อมันจะมีที่อาศัยอยู่ เพราะอวิชชาหรือมารอาศัยบนหัวใจเราอยู่ แล้วฆ่ามันได้ แล้วมันต้องตาย ตายต่อหน้าเลย ตายเห็นๆ เลย ถ้ามันไม่ตายเห็นๆ นะ มันจะฟื้น มันจะกลับมาอีก เขาเรียกว่าตทังคปหาน การปล่อยวางชั่วคราว ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยบอกนะ เวลามันปล่อยวางชั่วคราว มันปล่อยวาง แต่รากแก้วมันไม่โดนตัด มันปล่อยวางชั่วคราว คือเราล้มต้นไม้ เดี๋ยวมันก็งอกขึ้นใหม่ เพราะมันยังมีรากอยู่ มีเชื้ออยู่ เขาเรียกปล่อยวางชั่วคราว ปล่อยวางชั่วคราว แล้วปล่อยวางโดยเด็ดขาด โดยสมุจเฉทปหาน มันปล่อยวางอย่างไร นี่ปฏิบัติมามันจะมีอย่างนี้หมดนะ ฉะนั้น ถ้าไม่มีอย่างนี้ปั๊บ เวลาเทศน์ธรรมะไปมันเทศน์ลอยๆ เพราะอะไรรู้ไหม

เพราะเราปล่อยวางชั่วคราว คำว่า “ปล่อยวางชั่วคราว” เราเด็ดหญ้าหรือเราผลักให้ต้นไม้มันล้มไป เราก็คิดว่ามันจบแล้ว แต่ถ้าเราจะกำจัดมัน เราต้องขุด เราต้องเอาราก ต้องเอาราก เอาเชื้อไขมันขึ้นมาหมด ก็เหมือนกัน ในการสมุจเฉทปหานมันต่างกับตทังคปหานอย่างไร

ฉะนั้น เวลาพูดมันถึงลอยๆ ลอยๆ ถ้าคนเรายังไม่ได้ถอนรากถอนโคนนะ ธรรมะพูดลอยๆ หมด แต่ถ้าธรรมะมันถอนรากถอนโคนปั๊บ มันถอนรากโคน มันถอนถึงรากของมัน มันจะลอยได้อย่างไรล่ะ ก็ขุดมันมา กูลงแรงมันมา กูทำมา

แล้วเวลากิเลสมันต่อต้าน ดูสิ เวลาเรา เราโดนอย่างนี้มาเยอะนะ แล้วธุดงค์ไป อุบัติเหตุจะตกเขา ไปอยู่ในป่ามันเป็นภูเขาหินทรายใช่ไหม มันก็เป็นตะไคร่น้ำหมดนะ เป็นเฟิร์น ทีนี้พอมันโดนน้ำก็ลื่นหมด พอเดิน มันไหลพรวดลงไปเลยน่ะ พอไหลไป ตกไปกระดูกเหลวหมดล่ะ พอลงไปปั๊บ มือมันไว มือก็คล้องไอ้ข่อยดาน ข่อยบนเขา ห้อยโตงเตงๆ แล้วเพื่อนก็ค่อยเอาลง

ธุดงค์มานะ ไอ้เรื่องจะตายๆ นี่เยอะมาก แต่พูดไปมันเหมือนกับว่าอวด เราไม่ได้พูดเพื่ออวดนะ เราจะพูดบอกว่า การลงทุนลงแรง การทำจริงจัง สิ่งที่มันจะได้ผลมา มันลงทุนลงแรงกันขนาดนั้น เหมือนต้นทุนสูง เราลงทุนด้วยสายต้นทุนอย่างนี้ แล้วโยมมาถึงก็เอามาบาทหนึ่ง ก็บอกต้นทุนเท่ากันๆ แล้วก็ทำไม่ได้นี่ไง

จะบอกว่าต้องลงทุนลงแรงกันขนาดนี้ การทำ แล้วเวลาโยมมาปฏิบัติ ที่เวลาเราอธิบาย เราสอน เพราะอะไร เพราะเราได้ลงทุนลงแรง เราได้ทำมาแล้ว แล้วมาเดินจ๊อกๆๆ ก็ “วันนี้ไม่เห็นได้อะไรเลย”...ก็หมามันย่อง หมามันย่องไปย่องมา มันไม่จริงจัง

โธ่! เราเดินจนหินเป็นร่องเลยล่ะ เพราะมันเป็นหินทราย เดินไป หินทราย มันเป็นตะไคร่น้ำ แดงเทือกเลยล่ะ เดินทั้งวันทั้งคืน เดินอยู่อย่างนั้นน่ะ เดิน เดิน มันมั่นใจ มันให้กำลังใจตัวเองไง พระพุทธเจ้าบอก ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ก็ ๗ ปี กูก็จะย่ำอยู่นี่ กูก็เดินไปกลับๆๆ อยู่อย่างนี้ ๗ ปี ๗ ปี ก็ ๗ ปี ใส่กับมันอยู่อย่างนั้นน่ะ

ก็เหมือนเรา ถ้าเราหวังอะไร เราทำอะไรเราหวังอะไรมันก็ไม่ได้ แต่เราทำด้วยความชำนาญ ด้วยความคล่องตัวไป มันเป็นเอง เอ๊อะ! เอ๊อะ! เอ๊อะ! เลย นี่ก็เหมือนกัน เพราะเราหวัง เราคาดการณ์มาก มันก็เลยตัณหาซ้อนตัณหา ๗ วัน ๗ เดือน ก็ซัดเข้าไป เดินเข้าไปอย่างนั้นน่ะ อ้าว! รวม รวมแล้ว เป็นแล้ว โอ๋! เป็นอย่างนี้หรือ แล้วมาอ่านพระไตรปิฎกนะ ซึ้งมาก มรรคสามัคคีๆ เมื่อก่อนบวชใหม่ๆ ไง พวกพระเขาจะพูดให้ฟังว่าเวลาสมุจเฉทปหานนะ มรรคสามัคคีอย่างนู้นอย่างนั้นนะ เราก็ฟัง เหมือนฟังนิยายไง โอ้โฮ! มันน่าจะเป็นอย่างนั้นเว้ย มันน่าจะเป็นอย่างนั้นนะ

พอไปเจอเข้าจริงๆ อ๋อ! มรรคสามัคคีเป็นอย่างนี้หรือวะ แล้วเป็นจริงรู้จริงด้วย แล้วอธิบายได้ พออธิบายได้ เวลาเทศน์แล้วมันจะมีอันนี้มากเลยว่า ธรรมจักรเคลื่อน จักรมันหมุน เราถึงดูถูกมากนะ ไอ้หินแกรนิตที่เขาทำเป็นรูปธรรมจักร เขาทำไว้ให้หมาเยี่ยว แต่ไอ้ธรรมจักรที่มันเป็นความจริงมันจะหมุนในปัญญา

มีพระหลายองค์มาพูดกับเรานะ บอกว่าเทศน์อย่างนี้ เขาฟังเทศน์มามีพูดอย่างนี้อยู่ ๒ องค์ องค์หนึ่งคือหลวงตากับเราเท่านั้น ไปฟังเทศน์สิ เวลาจักรมันหมุน เวลาธรรมจักรมันหมุน มรรคญาณมันหมุนมันเป็นอย่างไร แล้วมรรค ๘ มันเคลื่อนออกไป มันเป็นภาวนามยปัญญา มันหมุนอย่างไร แล้วมันรวมตัวกลับเข้ามา จาก ๘ มันรวมเข้าไปอย่างไร

บางคนเทศน์ผิด มีพระหลายองค์เทศน์นะ “โอ๋ย! มรรค ๘ มันรวมแล้วเป็นหนึ่ง”...หนึ่งก็บ้าไง มันจะเป็นหนึ่งได้อย่างไร หนึ่งก็ยังมีตัวตนอยู่ เห็นไหม ไม่เป็นพูดผิดหมด ฟังทีเดียวก็รู้ เวลามรรคมันรวมตัว เวลามรรคมันรวมตัวแล้วมันเคลื่อนเข้ามา มันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป แล้วสามัคคีรวมไป ทำลาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ จิตเป็นจิต แล้วมันเหลืออะไร มันเหลืออะไร อะไรที่มันทำลายไป แล้วสิ่งใดที่มันเหลือ แล้วเหลือนั้นจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

ฉะนั้น นี่คือขั้นตอนของมัน แล้วเวลาคนอื่นเขามาปฏิบัติ เขาบอกขั้นตอนอย่างนี้ไม่ถูกไง แล้วเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ไหม มันจะเป็นไปได้ไหมว่าเขาได้เห็นธรรม เอ็งว่ามันจะเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ถ้าเขาบอกขั้นตอนนี้ถูก แต่ด้วยวิธีการไหนก็ได้ แต่เขาบอกขั้นตอนนี้ถูก ถูกต้อง ถูกต้องเพราะอะไร เพราะจริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน

อริยสัจมีหนึ่งเดียว อริยสัจมีหนึ่งเดียว อันเดียวกัน ไม่มีสอง หนึ่งเดียว ปัญญาวิมุติ เจโตวิมุติ จะพระอรหันต์ประเภทใดก็แล้วแต่ จะพูดเรื่องอย่างนี้ผิดกันไม่ได้ ไม่มี แล้วเขาจะเทศน์อย่างไร เขาจะพูดอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าเขาพูดตรงนี้ถูกนะ ใช่ ถูกต้องหมดเลย

หลวงตาเวลาท่านพูดนะ ท่านพูดกับพระ ถ้าพูดถึงได้คุยกันแล้วนะ ใครจะว่าพระองค์นี้เป็นอะไร ท่านไม่ฟังเลย เพราะอันนี้มันเป็นขั้วหัวใจ อันนี้มันเป็นความจริง แล้วความจริงมันเป็นความจริงแล้ว มันคิดอกุศลไม่ได้ มันเป็นกุศลอกุศลมันคิดไม่ได้เพราะมันเป็นตัวธรรม ตัวธรรม เห็นไหม

เวลาปฏิบัติกัน เราปฏิบัติกัน เวลาเราปฏิบัติกันบอกว่าสตินี้สร้างยากมากเลย สติไม่มี ทุกอย่างไม่มี ต้องสร้าง ไม่มีสติมันก็ไม่เป็นการปฏิบัติ เพราะสติ พระโสดาบันสติระดับหนึ่ง พระสกิทาคามีอีกระดับหนึ่ง พระอนาคามี ถ้าเป็นพระอนาคามีมันจะเป็นมหาสติ-มหาปัญญาแล้ว เป็นมหาสติแล้ว แล้วมันก็เป็นสติของพระอรหันต์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หมด พอ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หมด ทำลายนะ อรหัตตมรรค อรหัตตผล มันสัมปยุตกัน วิปปยุตกันเข้าไป หลุดหมด

อรหัตตมรรค อรหัตตผล ทำไมมันไม่เป็นนิพพาน อรหัตตมรรค อรหัตตผล

ถ้าเราบอกอรหัตตมรรค อรหัตตผลต้องเป็นพระอรหันต์แล้วใช่ไหม

ไม่ใช่

อรหัตตมรรค อรหัตตผลนี้มันเป็นการที่ว่าจิตมันกำลังทำลายกัน มันกำลังจะเป็นพระอรหันต์ มันเป็นวิธีการที่กำลังจะสิ้นเข้าไปเป็นนิพพานไง พอเข้าไปนิพพานปั๊บ ตัวธรรมธาตุ อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ พอธรรมธาตุปั๊บ พอธรรมธาตุ หลวงตาท่านพูดบ่อย ท่านบอกว่าตัวธรรมแท้ๆ มันแสดงธรรมไม่ได้ มันต้องเป็นสมมุติ มันต้องใช้เสียง ใช้การสื่อ ทีนี้การสื่อมันจะขยับตัวออกมาใช้สื่อ ถ้าขยับ นี่ไง สติอัตโนมัติ สติกับจิตเป็นอันเดียวกัน สติกับธรรมธาตุนี้เป็นอันเดียวกันหมด พระอรหันต์ถึงไม่มีหลง พระอรหันต์ถึงคิดอกุศลไม่ได้ไง เพราะขณะที่มันจะคิดมันต้องกระเพื่อม มันต้องไหวออกมาเพื่อจะสื่อ ธรรมะกระเพื่อม กระเพื่อมออกมา กระเพื่อมออกมาเพื่อจะสื่อความหมายนี้

สิ่งนี้มันเป็นความจริง ศีลมันเป็นความจริง ถ้ามันพิสูจน์ได้มันตรวจสอบได้ ทีนี้การตรวจสอบได้ ผู้ที่รู้จริง ผู้ที่รู้จริงสิ่งนี้มันเป็นความจริงอันหนึ่ง ถ้าผู้ไม่รู้จริงไง มันน่าเสียดายตรงไม่รู้จริงแล้วพูดออกไป ทีนี้พูดออกไป พวกเราปฏิบัติใหม่เราก็เชื่อ เราก็ตามกันไป หลวงปู่มั่นพูดไว้คำนี้ ต้นคด ปลายมันตรงไม่ได้หรอก ต้นคด อย่างเช่นที่ว่ากำหนดนามรูปมันผิดอย่างไร ขนาดเรากำหนดอะไรก็ได้ ทำไมกำหนดผิด

ถ้ากำหนดนามรูปนะ กำหนดนามรูปใช้ปัญญาอบรมสมาธินี้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ กำหนดนามรูป เราเห็น แล้วใช้ปัญญาไล่เข้าไป มันก็เป็นสมาธิได้

แต่นี่ตัวเองเข้าใจ ต้นคด คด หมายถึงว่า พอกำหนดนามรูป การเคลื่อนไหวเห็นนามเห็นรูปก็คิดว่านี่เป็นวิปัสสนาสายตรง คือการใช้ปัญญา พอใช้ปัญญามันก็ส่งไปออกใช่ไหม พลังมันก็ส่งออกไป พอส่งออกไปปั๊บ คำว่า “ส่งออกไป” เหมือนกับเราขว้างของออกไปจากตัวเรา มันก็ต้องไปตกข้างนอก นี่ก็เหมือนกัน นามรูปที่เกิดจากจิต แล้วมันบอกนามรูปเป็นวิปัสสนา ปัญญามันก็ไล่ไป พอไล่แล้วมันดับ มันก็ดับอยู่ข้างนอก แล้วตัวจิตมีอะไร มันเลยว่างๆ ไม่มีสติไง มันเลยเป็นมิจฉาสติไง ถ้าเป็นสมาธิก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะคนทำอย่างนี้แล้วจะบอก ว่างๆ สบายๆ ตลอดไป

สบายๆ อีก ๒๐ ปีข้างหน้ามันก็สบายอยู่อย่างนี้ อีก ๑๐๐ ชาติข้างหน้ามันก็จะสบายอยู่อย่างนี้ มันไม่พัฒนาการของมันไป เพราะต้นมันคด

ถ้าต้นมันตรง ถ้าต้นมันตรง เรากำหนดนามรูปก็ได้ อะไรก็ได้ แต่ใช้ปัญญาไล่ไป สติไล่ไป พอมันปล่อย มันปล่อยมันก็หดเข้ามาที่เรา หดเข้ามาที่เรา เพราะตัวเราคือตัวจิตใช่ไหม เพราะจิตไปรู้ใช่ไหม แต่นี่มันบอกวิปัสสนาใช่ไหม พอมันปล่อยมันก็ทิ้งไปเลยไง ปล่อยออกไปเลย

คำพูดมันจะฟ้อง ว่างๆ ว่างๆ...ว่างๆ มันไม่มีเจ้าของ ไม่มีสติ ไม่มีจิต เหมือนวัว เราจูงวัวมา กับวัวมันเดินอยู่นู่น คนละเรื่องกันเลย เราจูงวัวมา สติ เชือกมันจูงวัวมา มันเกี่ยวเนื่องกันไง สติ จิตเรา เรารู้ เรารู้ว่าว่าง เราเป็นเจ้าของว่าง กับว่างๆ ว่างๆ นั่นวัวใครก็ไม่รู้เดินอยู่นู่น วัวใครก็ไม่รู้ มันก็ตู่ว่าเป็นวัวมัน แต่วัวกูผูกอยู่นี่ วัวกูนี่ กูจูงมาด้วย

ไอ้อย่างนี้มันก็อยู่ที่นิสัย อยู่ที่กรรมของเขาเนาะ

อ้าว! ว่ามา

โยม ๑ : คือว่ามันเห็นโทษของขันธ์ ๕ อย่างที่อาจารย์ชี้แนะไป เราก็อยากเห็น ก็พยายามหาขันธ์ ๕ เพิ่มหรืออะไรอย่างนี้ พอเห็นอาจารย์ชี้ให้เห็นถึงโทษของอาหาร มันก็มีใจนิดหนึ่ง ก็ถึงยื้อกันบ้าง ทีนี้ถ้าเราต้องมาวัด เราต้องอาศัยธรรมชาติ พอเราได้อยู่กับธรรมชาติที่ดีจากข้างนอก เราสงบเป็นสุข พอมันสงบเป็นสุข เราก็มาหลงใหลในธรรมชาตินั้นอีก ถ้าอย่างนั้นเราอยู่ในวัด นอกจากธรรมชาติที่เราหลงมันว่าช่างมหัศจรรย์ ช่างบรรจงสร้าง รวมทั้งดอกไม้และความงดงาม จะหลีกคนอย่างนี้ อาจารย์จะเมตตาชี้ให้เห็น เพื่อจะได้ยื้อ แล้วก็สู้ได้อีก

หลวงพ่อ : เห็นโทษ มันก็ต้องเห็นโทษไปเรื่อยๆ ทีนี้ถ้าว่าสิ่งธรรมชาติ บางอย่าง ดูสิ ดูอย่างพระโสดาบัน โดยความเข้าใจผิดของพวกเรา พระโสดาบันพิจารณากายจนสักกายทิฏฐิไม่มี สักกายทิฏฐิคือความเห็นผิดในกายไม่มี คิดว่ามันจะทิ้งกายไป ไม่ใช่

เราเห็นสักกายทิฏฐิ เราเห็นผิดในร่างกายของเรา พอเราเห็นถูกขึ้นมา เราจะถนอมกายเราขึ้นไปอีก แต่ถนอม ถนอมรักษาไว้เพื่อทำงานต่อไป ไม่ใช่ถนอมรักษาด้วยความติดพันไง แต่เดิมเราไม่เข้าใจ เราไม่รู้ เราก็ว่าอย่างไรจิตใต้สำนึกมันก็ว่าเป็นเรา แต่พอมันรู้จริง มันขาดแล้วนะ ขาดจริงแล้วยิ่งถนอมรักษา เพราะอะไร อย่างเช่นหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ เวลาจิตท่านสงบนะ เวลามันสงบใช่ไหม แล้วก็ออกรู้ แล้วก็ปล่อยมา ปล่อยมา ท่านถามว่า เอ๊ะ! อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะอย่างนี้คือความหลงใหล แล้วตอนนั้นปั๊บ ท่านก็เป็นโรคเลย โรคเสียดอก คือว่าท่านจะตายตอนนั้น ท่านพูด

ทีนี้พอจะตายตอนนั้นปั๊บ มันไม่ยอมตาย ถ้าจะตายตอนนั้นแล้วปล่อยนะ ตาย แต่ท่านไม่ยอมตาย หมายถึงว่า ท่านคิดขึ้นมาว่า เพราะตรงนั้นจิตมันเสวยอารมณ์แล้วมันปล่อย คือว่ามันมีจิตอยู่ ท่านบอกว่าถ้าท่านตายแล้วท่านจะไปอยู่ค้างที่อนาคามีไง อยู่สุทธาวาส ๕ ชั้น ท่านถึงไม่อยากตาย พอไม่อยากตายเพราะอะไร เพราะตายไปแล้วต้องไปเกิดใหม่ ต้องไปเกิดเป็นพรหม แต่ถ้าปฏิบัติตอนนี้มันก็จบไปเลย ท่านถึงพยายามรั้งไว้ แล้วท่านกำหนดพุทโธ กำหนดจิตเข้ามา เอาธรรมโอสถรักษาจนหาย เราจะบอกว่าตรงนี้ไง ตรงนี้รักษาจนหายเพราะอะไร เพราะไม่ต้องการตาย อยากรักษาจิตนี้ไว้ อยากรักษาร่างกายนี้ไว้เพื่อปฏิบัติให้ถึงที่สุด พอถึงที่สุดแล้วนะ ตายเมื่อไหร่ก็ได้ใช่ไหม

ทีนี้ย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมาที่ว่า ถ้าเราเห็นกายใช่ไหม กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย มันเห็นแล้วไม่ใช่รักษา มันกลับรักษาขึ้น ทีนี้เราเห็นธรรมชาติ สิ่งที่สวยงามขึ้นมา มันก็เป็นธรรมชาติสวยงามขึ้นมา แต่ถ้าเรามีสตินะ มันเป็นฤดูกาล ดอกไม้ ดูดอกไม้มันออกเวลาปลายฝน ดอกไม้จะสวยงามมาก เดี๋ยวไปดูหน้าแล้งสิ หน้าแล้งแห้งแล้งมากใช่ไหม ถ้าแห้งแล้งมาก เราเข้าใจมันไง คือเราเข้าใจธรรมชาติ ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติปั๊บ เราก็เข้าใจตัวเรา

โยม ๑ : จริตเราจะเข้าไปหามันอยู่เรื่อย ไปลูบคลำ แตะอยู่นั่น

หลวงพ่อ : เรารู้ คำว่า “จริต” เราลูบคลำ แตะ เพราะอะไร เพราะมันแก้ที่ดอกไม้ แก้ที่ธรรมชาติไม่ได้ มันต้องแก้ที่ใจ ที่เราพูด เราบอก ธรรมชาติ ทุกอย่าง สิ่งที่ดอกไม้ทุกอย่างมันเกิดในฤดูกาล ฤดูกาลมันก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดอกไม้ปีนี้เอ็งก็ชอบ แล้วดอกไม้ปีหน้าเอ็งชอบไหม แต่มันคนละดอก คนละดอก เกิดคนละที แต่คนที่ชอบคือเราคนเดียวอย่างเก่านะ แต่ถ้าเราแก้เดี๋ยวนี้จบนะ มันจบนะ ถ้าเราแก้เดี๋ยวนี้จบนะ มันก็ต้องตั้งสติ ตั้งสมาธิ แล้ววิปัสสนาเข้ามา แก้ใจเรา ถ้าแก้ใจเรา

ถ้าใจเรา อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ เริ่มต้นว่าสมมุติ มันเป็นสมมุติหมดล่ะ ทีนี้เป็นสมมุติ มันรู้จริงตามสมมุติไหม ไม่ใช่ว่าสมมุติๆ แล้วกูไม่เอามัน...ปฏิเสธไม่ได้ ดอกไม้มันมีไหม หญ้ามันต้องเกิดไหม ดอกหญ้าต้องเกิดไหม ต้องเกิดแน่นอน ถ้ามันรู้จริง เห็นไหม มันเป็นสมมุติ สมมุติอันหนึ่ง แต่มันก็มีจริงของมัน แต่ไอ้เรานี่สิมันโง่ ไอ้เราจะไปติดมันอยู่ ไอ้เรานี่สิ

ไอ้เราก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง แต่มีธรรมอยู่ด้วย ธรรมคือใจ ใจไม่ใช่สมมุติ จิตนี้ไม่ใช่สมมุติ เพราะจิตไม่เคยตาย แต่ความคิดเป็นสมมุติ จริตเป็นสมมุติ ความชอบเป็นสมมุติ ความชอบเป็นสมมุติเพราะอะไร เพราะเดี๋ยวก็ชอบอย่างนี้ เดี๋ยวก็ชอบอย่างอื่น แต่ตัวจิตนี้เป็นสมมุตินะ ตัวจิตนี้มีอยู่ โดนมารครอบไว้ ภาวนาไปเห็นหมดล่ะ ทีนี้มันต้องมาแก้ที่นี่ นี่มันดีขึ้นมา อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ว่านี่คือสิ่งแวดล้อมใช่ไหม คือจิตออกรู้ แล้วเราระลึกหดชั้นเข้ามาแล้ว เห็นโทษของมัน เห็นโทษของมันๆๆ คือไล่ตะล่อมเข้ามา

หลวงตาท่านสอนอย่างนี้ เวลานั่งสมาธิภาวนาต่อสู้กับกิเลส เราต้องจริงจังกับมัน จริงจังกับมัน เราไล่จิต ไล่อวิชชาเข้าถึงที่จนมุม แล้วจริงจังตลอดไป พอถึงเวลาจนมุมมันต้องเกิดปัญญา คนเราจะตายมันต้องหาทางรอด ปัญญามันจะเกิดตอนที่เราจริงจัง แล้วมันถึงกิเลสมันจนมุม มันจะมีปัญญา ภาวนามยปัญญาจะเกิด ปัญญาจะเกิดวับๆ อย่างที่ว่าจักรมันเคลื่อนๆ มันจะเห็นเลย

แต่นี่เราไม่ต้อนตรงนี้ มันหดสั้นเข้ามาแล้วใช่ไหม เราต้องจริงเข้าไป จังเข้าไป สู้เข้าไป สู้เข้าไป มันจะไปแก้กันที่จิตไง มันจะหดเข้ามา หดเข้ามา ความคิดเราไปยึดข้างนอก พอมันมีปัญญาไล่ต้อนเข้ามา มันจะหดเข้ามา หดเข้ามา พอหดเข้ามา เราก็นึกว่าบางทีหดเข้ามาแล้วคู่ต่อสู้จนมุม เราใจดีไง ปล่อยให้มันออก ปล่อยให้มันออก ปล่อยให้ออก แล้วเมื่อไหร่เราจะชนะ เราจะน็อกกิเลสได้ล่ะ

ท่านบอกว่าคนเราปัญญาจริงๆ มันจะเกิดต่อเมื่อเวลาจนมุม นั่งสมาธิจะเป็นจะตายเลยล่ะ ไม่ถอย ไม่ถอย มันต้องมีปัญญาเอารอด ต้องสู้กับมันจนปัญญาเกิด เอาจิตรอดออกมาได้ อันนี้อันหนึ่งความเพียรชอบ ต้องต่อสู้

ไอ้ต่อสู้ๆ นี่นะ มันเป็นนามธรรม มันเป็นความคิดในใจ มันเป็นสติ มันเป็นความจริงในใจ เราต้องต่อสู้ ไม่ใช่ต่อสู้แล้วจะไปทำลายใคร ทีนี้เวลาบอกให้จริงจัง ให้จริงจังก็คือจริงจังกับความรู้สึกเรา ต่อสู้กับเรา แล้วเราเองจะรู้เองว่าเราทำได้ไม่ได้

ทีนี้เราต่อสู้ๆ ถ้ามองเป็นโลก ต่อสู้ก็ต่อสู้กับคนอื่น...ไม่ใช่ ต่อสู้จริงจัง จริงจังคือตั้งใจดีๆ เราสู้กับความคิดเรา ต่อสู้กับความคิดเรา เอาให้ได้

มีอะไรอีกไหมล่ะ เอวังเนาะ ไป กลับ