เทศน์บนศาลา

หลักใจ

๔ ก.พ. ๒๕๔๓

 

หลักใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ความตั้งใจนะ ใจสำคัญมาก ถ้าตั้งใจ ใจตั้งมั่นมีหลักของใจ ถ้าไม่มีหลักของใจ มันก็เป็นโลกทั้งหมด ถ้ามีหลักของใจ ใจต้องตั้งมั่น มีหลักของใจแล้วความคิดเปลี่ยนจากโลกเป็นธรรม เห็นไหม ความเห็นของโลกเขา เขาต้องอยู่ในความอุดมสมบูรณ์ตามโลกเขา เขาไม่เห็นภัยของการจมอยู่ของกองกิเลสไง

กิเลสกับโลกมันอยู่ด้วยกัน เห็นไหม กิเลสกับโลก เพราะเกิดมาพร้อมกับกิเลส โลกคือความอุดมสมบูรณ์ของเขา นั่นน่ะมันเห็นเป็นคุณไปทั้งหมดเลย นี่ถ้าใจไม่ตั้งมั่น ความที่ใจว่าไม่ตั้งมั่นมันก็เป็นโลกไปทั้งหมด มันโลเลไง ใจนี้โลเลเป็นโลกไปหมดเลย ความคิดเป็นเหมือนโลกไปทั้งหมด เพราะมันไม่ตั้งมั่น ความจะทำให้ใจตั้งมั่นทำอย่างไรล่ะ

ความเห็นของเรา เวลาฟังนี่ ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ ฟังแล้วไม่เข้าใจ นั่นน่ะมันเป็นโลกทั้งหมด เพราะมันไม่เข้าใจเรื่องของธรรม มันถึงเป็นโลก ถ้าเข้าใจเรื่องของธรรม “สวากขาตธรรม” ธรรมะของพระพุทธเจ้ากว่าจะได้มา พระพุทธเจ้าได้มาด้วยการชุบมือเปิบหรือ พระพุทธเจ้าไม่ได้ชุบมือเปิบนะ เพราะพระพุทธเจ้าสร้างสมบารมี จะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เกิดมาก็เกิดมาจากกิเลสนั่นน่ะ เกิดมาในโลกนั่นน่ะ แต่เกิดมาแล้วอยู่ในโลกของเขาแต่ก็ยังแสวงหาออกได้ ไม่มีใคร เพราะไม่มีศาสนา สมัยนั้นยังไม่มีศาสนา แต่ทำไมพ่อแม่ก็ต้องการเอาไว้ในโลกนั่นแหละ แต่ทำไมสะเทือนใจ มีเหตุให้ออกประพฤติปฏิบัติ ให้ออกแสวงหาโมกขธรรม

เพราะอำนาจวาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ถูกต้อง แต่ก็ต้องมีความที่ว่าแปลกจากโลกเขา เห็นไหม ความคิดที่แปลกจากโลกเขา เป็นความฉุกคิดไง คิดที่แปลกกว่าโลกเขา ไม่เป็นคิดเหมือนในโลกเขา ในโลกเขา เขาคิดกันอยู่เฉพาะอยู่ในโลกของเขาอย่างนั้นเอง เห็นไหม ความอุดมสมบูรณ์ มีสมบัติพัสถานอย่างนั้น นั่นคือความเชิดหน้าชูตา อย่างนี้คือเหมาะสมแล้ว นี่คือว่าเป็นจุดเป้าหมายสูงสุดของความเกิดมาดำรงชีวิตนี้ไง

แต่ชีวิตนี้มันให้ความสุขได้จริงหรือ? มันให้ความสุขไม่ได้จริง มันเป็นเครื่องเกาะเกี่ยว เป็นการให้ความทุกข์ร้อนด้วย มันเป็นการให้เราต้องเป็นภาระรับผิดชอบ แล้วยังให้เราก้าวเดินออกไปไม่ได้ ก้าวเดินออกไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่าความคิดของกิเลสมันเป็นอย่างนั้น มันคิดผูกมัดไง ความผูกมัดอย่างนั้นมันถึงว่าเป็นโลก โลกเขามีความคิดกันแบบนั้น

ถ้าใจเราไม่ตั้งมั่น ใจเราไม่สามารถมีหลักใจได้ ใจเราก็เป็นโลก ใจเราเป็นโลกล้วนๆ เลย ความเป็นโลกล้วนๆ เลย มันก็ต้องคิดประสามัน มันก็จะเอาแต่ความเร่าร้อนมาให้ใจเรา เอาความเร่าร้อนนะ มันไม่มีความสุขมาให้หรอก มันเอาแต่ความทุกข์มาให้กับหัวใจเรา เอาความทุกข์มา เพราะมันสะสมมาด้วยยาพิษทั้งนั้น

มันเป็นยาพิษ แล้วมันไปกว้านมามันก็กว้านยาพิษเข้ามา มันไม่รู้คุณรู้โทษนี่นะ ถ้ารู้คุณรู้โทษ มันจะคิดว่าสิ่งนี้ไม่ควรคิด สิ่งนี้ไม่ควร สิ่งนี้มันเห็นโทษไง มันเห็นโทษ มันเหมือนกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เห็นของที่เป็นไฟก็ไม่อยากจะหยิบอยากจะต้อง ถ้าเด็กมันไม่รู้มันก็คว้าเอาๆ น่ะ แล้วใจเราเป็นอย่างนั้น มันถึงไม่ตั้งมั่น นี่ทำให้ใจตั้งมั่นไม่ได้ หลักใจไม่มี หลักใจไม่มีจะก้าวเดินกันอย่างไร ถ้าหลักใจมันมี มันจะก้าวเดินได้

ซุงทั้งท่อนนะ ซุงทั้งท่อนแม้แต่กลิ้งไปมันยังกลิ้งไปไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะมันมีตามีปุ่ม ตาปุ่มของซุงนั้นน่ะมันกลิ้งไปไม่ได้ มันค้ำอยู่ แล้วมันจะเอามาทำประโยชน์อะไร ท่อนซุงน่ะ เอาไว้มันก็ผุไปๆ ชีวิตนี้ขอนซุง ขอนของเราคือขอนของกายนี้ ชาตินี้ทั้งชาติก็ต้องผุไปกร่อนไป ตามธรรมดาของมันเอง

เราไม่ได้ถากไม่ได้ไถนี่นะ เราไม่ได้ถากไม่ได้ไถให้ท่อนซุงนี้เป็นไม้ขึ้นมา เห็นไหม จะสร้างสมอะไรขึ้นมามันก็สมควรที่จะสร้างได้ใช่ไหม สร้างบ้านสร้างเรือนเขาใช้ไม้แปรรูป เขาไม่ใช้ท่อนซุงหรอก ท่อนซุงขึ้นมามันขึ้นไปล้มทับใส่ มันก็จะทำให้บ้านเรือนนั้นพังไปด้วย การก่อร่างสร้างเรือนมันก็จะไม่สมประกอบขึ้นไป

นี่เหมือนกัน ความตั้งใจของเรา เราตั้งใจ นี่เราฟังธรรม ทำให้มีหลักใจขึ้นมา มันก็แยกแยะออกมาว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยนี้มันเป็นเครื่องอยู่อาศัยเท่านั้น ปัจจัย ๔ นี่เครื่องอยู่อาศัยเท่านั้น โลกนี้มีปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย แต่เครื่องอยู่อาศัยนี้เป็นเจ้านายของโลกทั้งหมด แสวงหามันไง แสวงหามาจนเกินเหตุเกินผล ความเกินเหตุเกินผลนั้นคือกิเลส กิเลสทำให้มันสะสม กิเลสทำให้เร่าร้อนไง เพราะกิเลสหาเกินเหตุเกินผล ไม่มีขอบเขต ความไม่มีขอบเขตอันนั้นมันก็เร่าร้อนไปตลอดเวลา แล้วมันแสวงหาไปแล้วเบรกไว้ไม่อยู่ ยับยั้งไว้ไม่ได้ ความยับยั้งไว้ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะถือว่าอันนี้เป็นคุณไง

ความเห็นว่า ความคิดแสวงหานี้เป็นคุณ ความคิดว่ามรรค ความหามานี้เป็นคุณ มันไม่เห็นว่าเป็นโทษ ความไม่เห็นเป็นโทษ มันก็เลยเอาสิ่งนั้นมาสุมขอน สุมไฟตัวเอง สุมใจของตัวเอง ใจตัวเองมันถึงไม่มีหลักใจ ถ้ามีหลักใจมันต้องเห็นตรงนี้ได้ มันจะรู้ว่าสิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษไง

สิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ เริ่มทำหลักใจให้ได้ ทำใจให้เป็นสมาธิ ทำใจให้ตั้งมั่น ใจของเราจะตั้งมั่นได้มันต้องมีสติ สติเกิดขึ้น เห็นไหม ยับยั้งทั้งหมด ยับยั้งความคิดออกมา ความคิดไม่ให้มันสืบต่อไปได้ ความคิดที่จะคิดในทางที่ผิด นั่นน่ะ สติมันก็เป็นกิริยาของใจ กิริยาทั้งหมด ความคิดต่างๆ อารมณ์ต่างๆ มันเป็นกิริยาของใจ มันเกิดขึ้นจากใจ

ใจมีกิเลสเป็นเจ้าวัฏจักรอยู่ ใจมีพญามารเป็นผู้ควบคุมใจอยู่ มันคิดออกมามันถึงคิดออกไปโดยประสามารไง “วิชามาร” วิชาผูกมัดไว้ให้สัตว์ข้องอยู่ในโลก สัตว์นี้ไม่ให้หลุดพ้นไปจากมันได้ เพราะว่ามันต้องการเอาสัตว์นั้นไว้อยู่ในเนื้อมือของมัน นี่มารเป็นใหญ่ มารเป็นใหญ่อยู่ในหัวใจของเรา นี่กิเลส เจ้าวัฏจักรคือพญามารที่อยู่ในหัวใจของเรานี่ มันควบคุมใจของเราอยู่ พอมันควบคุมใจของเราอยู่นี้ กิริยาออกมามันถึงเป็นกิริยาของมันทั้งหมด เป็นกิริยาของกิเลสคิดออกมาทั้งหมด แต่เราไม่เคยเห็นไง พอเราไม่เคยเห็น เราก็วิ่งตามมันไป ความวิ่งตามมันไปคือตะครุบเงา

เราตะครุบกันแต่เงาอยู่ เราไม่เคยเข้าถึงตัวของใจได้ เพราะเราเข้าใจว่าเงา แรงผลักของเงาไง แรงผลักคือกิริยาอันนั้นมันผลักออกมานี่ สติมันไม่มี การตั้งสติมันก็เป็นกิริยา เหมือนที่ว่าแรงผลักออกมา หรือความคิดนั้นที่เจ้าวัฏจักรนั้นผลักออกมานั่นแหละ ความคิดนี้เป็นความคิดเดิม คิดตามโมหะ คิดตามความลุ่มหลง

ความลุ่มหลงในสิ่งต่างๆ ที่มันคิด มันคิดขึ้นมาเป็นอันแรกนะ อันแรกมันคิดขึ้นมาเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แล้วมันก็คิดเรื่องที่มันคิดไปนั่นล่ะซ้อนไปๆๆ มันเลยอุ่นกิน เห็นไหม มันอุ่นอารมณ์ของมันกินของมันเอง สืบต่อไปตลอดเวลา สืบต่ออารมณ์ความคิดออกไปตลอดเวลา นี่มันก็เป็นโลกไปทั้งหมด มันหมุนไปตามของมันนะ นี่แรงเหวี่ยงออกไป ออกจากความคิดออกไปมันก็กว้านออกมาทั้งหมด

มันไปกว้านหมดนะ สิ่งใดๆ ที่มันเคยสัญญาไว้ในหัวใจมันก็แย็บออกมา แล้วก็คิดตามเข้าไปๆ คิดตามที่พญามารคิดตามเข้าไป กิริยาหมุนออกไป ก็เลยกลายเป็นความคึกคะนองของใจ ใจนี้ก็เลยฟุ้งซ่านไปตลอด เห็นไหม นี่มันฟุ้งออกไปตามแต่พญามารมันคิด มันปรุง มันแต่งออกมา เพราะมันเป็นเจ้าวัฏจักร ศูนย์กลางอำนาจของใจอยู่ที่มัน มันคุมไว้ทั้งหมดนะ

นั่นน่ะมันยาก ยากตรงนั้น มันไม่ตั้งมั่น ไม่ตั้งมั่นตรงนี้ไง หลักใจไม่มี ไม่มีตรงนี้ หลักใจหาไม่ได้ หลักใจล้มตั้งแต่เริ่มความคิด เริ่มตั้งแต่ประพฤติปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่ฟังธรรม เริ่มตั้งแต่ทุกอย่าง หลักใจจะล้มไปทั้งหมดเลย เราไม่มีหลักของใจ ความเห็นโทษถึงไม่มี ความเห็นโทษไม่มีมันก็คว้าเอาแต่สิ่งที่ว่ามันคิดว่าเป็นคุณ

นี่คือปัญญาไง นี่คือการแยกแยะ ถ้ามีหลักของใจมันแยกแยะสิ่งตรงนี้ได้ การแยะแยะ แยกแยะที่ว่า สิ่งนี้ไม่ถูก สิ่งนี้ถ้าคิดแล้วย้ำคิดที่สองที่สามไป มันจะทำให้เราอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ทำให้เราก้าวเดินออกไปไม่ได้ ใจนี้มันไม่ก้าวเดินออกไป มันก็ล้มเหลวอยู่ตรงนั้น ล้มลุกคลุกคลานอยู่ตรงนั้นตลอดไป ความล้มลุกคลุกคลานของใจ ใจเป็นผู้พ่ายแพ้ตลอด ใจที่พ่ายแพ้ตลอด มันเป็นโลกไปตลอด มันก็โดนกิเลสขยำอยู่ตรงนั้นล่ะ มันก็แหลกเหลวไปอยู่ในอำนาจของกิเลสทั้งหมด มันตั้งขึ้นมาไม่ได้เลย นั่นน่ะ สติสัมปชัญญะถึงต้องก่อตัวขึ้นมาไง เราต้องหาสติ สตินี้เป็นกิริยา มันก็เป็นเหมือนกับที่กิเลสมันคิดออกมานั่นแหละ แต่กิเลสมันคิดออกไปๆ กิเลสเป็นเจ้าวัฏจักรที่เคยเป็นใหญ่อยู่ในหัวใจ มันต้องคิดไปอย่างนั้นตลอดเวลา

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประกันแล้วไง ประกัน เห็นไหม ศาสนธรรม ธรรมที่เข้าถึงความร่มเย็นของธรรม ธรรมอันนั้นที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงก่อน แล้วยืนยันเป็นประกัน ออกมาด้วยพระสารีบุตร พระสารีบุตรนี้เป็นใหญ่ในทางธรรม เป็นเอตทัคคะที่เป็นปัญญารองจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ก็ติดอยู่ในโลกเหมือนกัน ข้องอยู่ในโลกเหมือนกัน เป็นอุปติสสะมานพ ร่ำรวยมาก เที่ยวไปตลอด เที่ยวไป นี่ข้องอยู่ในโลก เที่ยวไปในโลก มีมโหรสพที่ไหนไป ที่ไหนมีมหรสพ พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะเป็นเพื่อนกัน จะถึงพร้อมกับบริษัทบริวาร ไปให้รางวัลเขามาตลอด ข้องอยู่ในโลกๆ นี่ก็ข้องอยู่ในโลก ทำไมพอออกบวชแล้วเป็นถึงเอตทัคคะ เป็นถึงผู้ที่มีปัญญาทางธรรมรองจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รองจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีปัญญาธรรม ธรรมอันนั้นมันถึงชำระได้จริงไง

ถ้าเราเข้าฟังธรรมอย่างนั้น เราฟังธรรม เราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมมันต้องเขามาแยกแยะตรงนี้ได้สิ ตรงที่ว่าเราก้าวเดินไม่ได้ เราที่ล้มลุกคลุกคลานอยู่นี่ มันไม่ตั้งมั่น ไม่มีหลักของใจ

พระสารีบุตรทำอย่างไรถึงมีหลักของใจ?

เห็นความไม่มีแก่นสารของโลก อยู่ในโลกของเขา เที่ยวไป จะมีมหรสพ จะปรนเปรอขนาดไหน มันไม่มีแก่นสาร มันเป็นของไร้สาระ แต่ทางโลกเห็นว่าเป็นคุณ ทางโลกเห็นว่าเป็นคุณคือเป็นการผ่อนคลาย เป็นการมหรสพสมโภช เป็นการรื่นเริงบันเทิงไง แต่ความจริงนั้นคือกว้านเอาสิ่งที่ว่าเผาหัวใจเข้ามาอยู่ในหัวใจ

แล้วเผาหัวใจนี่ไม่เผาหัวใจเปล่านะ เผาหัวใจหมายถึงว่าได้สิ่งใดมา ดีใจเสียใจกับมหรสพสมโภชนั้น แล้วยังต้องเสียชีวิต ต้องเผาใจ เผาชีวิตนี้ให้หมดไปๆ โดยที่ไม่มีคุณค่าอะไรขึ้นมา เกิดมาในโลกนี้ก็จะต้องตายเปล่าไปในโลกนี้ แต่ก็มีสติสัมปชัญญะเห็นว่าโลกนี้มันไร้แก่นสาร มันไม่มีคุณค่า ถึงหาครูหาอาจารย์ หาทางออก ออกบวชไปอยู่กับสัญชัย ไปอยู่กับสัญชัยก็พยายามจะทำให้ตั้งมั่น ให้มีหลักของใจขึ้นมา

แต่คนที่มีสร้างอำนาจวาสนาบารมีมาอยู่แล้ว ศึกษามากับสัญชัย ไปอยู่กับสัญชัย สัญชัยสอนว่า “สิ่งใดๆ ในโลกนี้ไม่ใช่ ไม่มี ไม่เป็นไป” ปฏิเสธทุกๆ สิ่ง เห็นไหม “สิ่งใดๆ ก็ไม่ใช่ สิ่งที่ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่” ของเขานี่คือการด้นเดาธรรม ความด้นเดาคือความคิดจินตนาการออกไปว่าสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ สิ่งนั้นก็ไม่ใช่

พระสารีบุตรอยู่ในสังคมโลกมาก่อน สิ่งที่ไม่ใช่ในโลกในมหรสพนั้นก็ไม่ใช่ ชีวิตนี้มันก็สมมุติทั้งหมด ความเป็นที่ไม่ใช่ ก็เข้าใจอยู่แล้ว แล้วมาศึกษานี่มันทำได้เร็ว ใจมันเห็นตามไง ความเห็นตามนั้นก็ยังไม่ตั้งมั่น ความตั้งมั่น เพราะว่าสิ่งที่ไม่ใช่ ความที่ไม่ใช่ มันไม่ใช่มันก็เกิดขึ้นมาตลอดเวลา มันไม่มีมรรคอริยสัจจัง ไม่มีความดำริชอบ ไม่มีปัญญาญาณที่แก้ไขแยกแยะออกไปไง

จนถึงกับว่าเข้าใจไง ๒ คนมีปัญญามาก อัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา สะสมมา มีบารมีมา มีบุญญธิการมา เห็นว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ไปศึกษากับอาฬารดาบสก็ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะว่ามันไม่สามารถแก้ไขความพะรุงพะรังในใจได้ ความพะรุงพะรังคือเกาะเกี่ยวที่หัวใจมันเผาไหม้ใจที่มันทำให้เร่าร้อนอยู่นี่ มันแก้ไขไม่ได้ มันยังมีอยู่ในหัวใจไง นั่นน่ะจิตเริ่มความเห็นว่าอันนี้ไม่ใช่ทาง ถึงได้ทำข้อตกลงกันไว้ว่าใครมีช่องทางออกก่อนให้บอกกันนะ ระหว่างพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ

จนมาเจอพระอัสสชิ วันหนึ่งเจอพระอัสสชิเดินบิณฑบาตอยู่ พระสารีบุตรเห็นพระอัสสชิบิณฑบาตอยู่ “ทำไมสมณะนี้สำรวมระวัง กิริยาของสมณะนี้น่าเคารพเลื่อมใสมาก สมณะนี้” นี่จิตใจมันตั้งมั่น มันแสดงออกมา กิริยาภายนอกมันก็สวยงาม มันสำรวมระวังไปตลอด ถึงเข้าไปถามว่า “ใครเป็นศาสดา ศาสดาสอนว่าอย่างไร” ถามพระอัสสชิไง

พระอัสสชิบอกเลย บอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน สอนเรื่องเหตุเรื่องผล การเกิดมานี้ ผลที่ว่าเราเกิดมา กิเลสอยู่ในหัวใจของเรา มันเกิดมาจากผลที่เราสะสมมา แล้วเรามีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์ พระพุทธเจ้าสอนให้สาวเข้าไปหาเหตุ ดับที่เหตุไง ดับที่เหตุนั้น

จิตที่ตั้งมั่น จิตที่ได้ศึกษามา ได้เตรียมพร้อมมาไง จิตที่ได้เตรียมพร้อมมานี่มีหลักมีเกณฑ์นี่ฟังธรรมเท่านั้น มีดวงตาเห็นธรรมเลย จิตที่ออกมาเห็นความเป็นมหรสพนี้ มหรสพนี้เป็นสิ่งไร้สาระ

สิ่งที่ไม่ใช่ๆ ตามที่สัญชัยสอนไว้ สอนไว้ไม่ใช่ๆ แต่มันไม่มีเหตุ มันไม่มีผล

มาอันนี้พระอัสสชิสอนสาวเข้าไปหาเหตุไง ในอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์กับสมุทัยนี้เป็นฝ่ายผูกฝ่ายมัด เป็นฝ่ายของโลก เป็นฝ่ายที่ทำให้เราลุ่มหลงไป ตัณหาความทะยานอยากของพญามารนี้ไม่มีที่สิ้นสุด เห็นไหม นิโรธ นิโรธคือดับ ดับทั้งหมด ดับด้วยอะไร? ดับด้วยมรรคไง ดับความเร่าร้อนทั้งหมดด้วยมรรค ด้วยมรรคอริยสัจจัง หมุนไป พระสารีบุตรมีดวงตา ไปบอกพระโมคคัลลานะด้วยคำพูดเดียวกัน พระโมคคัลลานะก็มีดวงตาเห็นธรรม แล้วจูงมือกันไปออกบวชเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกไป นั่นปฏิบัติไปต่อไป

อันนั้นเพราะว่าอะไร เพราะว่าถ้ามีหลักใจ ถ้ามีหลักของใจ เราก็ต้องหาหลักของใจ เราต้องทำความสงบของเราขึ้นมาให้ได้ไง หลักของใจคือจิตนี้สงบ จิตนี้ตั้งมั่น จิตนี้ควรแก่การงาน ถ้าหลักของใจยังไม่สงบ หลักของใจไม่ดี มันก็หมุนไปตามโลกเขา ตามโลกเขามันก็ร้อนไปตลอดเวลา ถึงจะอยู่ในเพศของอะไรก็แล้วแต่ เพศสมณะ เพศของนักบวช เพศของคฤหัสถ์ เพศของอะไรก็แล้วแต่ เพศนั้นเป็นเพศ มันเป็นเปลือก มนุษย์ก็เหมือนกัน เกิดเป็นคน คนเหมือนกัน คนนี้ก็เป็นเปลือกของคน

แต่ใจของคนล่ะ ใจของคนที่อยู่ในหัวใจนั้นที่มันเร่าร้อนอยู่ในใจนั้นล่ะ นั่นน่ะอันที่ใจนั้นมันถึงว่าต้องตรงนั้น ตั้งมั่นไม่มั่นอยู่ที่ใจไม่ตั้งมั่น พอใจไม่ตั้งมั่น เห็นไหม นี่ร้อน ร้อนตรงนั้น ความร้อนของใจ เพราะมันไม่สามารถตั้งตัวมันเองขึ้นมาได้ มันจะร่มเย็นได้เพราะต้องใจนั้นต้องตั้งตัวขึ้นมาเอง

สติเกิดขึ้นจากใจดวงนั้น กิริยาที่มันเป็นโลกอยู่ให้มันเป็นโลกไป มันเป็นโลกอยู่ถ้าเรารู้เราแยกแยะได้ เราก็พยายามตั้งของเราขึ้นมา ตั้งสติขึ้นมาไง ตั้งสติยับยั้งใจไม่ให้ใจนั้นไปตามมัน ไม่ให้ไปตามมัน ยับยั้งไว้ สิ่งใดควรจะยับยั้งต้องยับยั้งด้วยสติสัมปชัญญะ สิ่งใดควรจะให้มันคิดตามความเป็นสิ่งที่เกิดเป็นประโยชน์ นั่นน่ะมันดัดแปลงได้ นี้ไม่ควรคิด สิ่งที่คิดนี้มันเคยคิดมาแล้ว มันเร่าร้อนมาตลอดเวลา มันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ไม่ควรคิด เห็นไหม คิดแล้วมันก็ให้ผลเป็นความเร่าร้อนตลอดไป

ความเป็นผลที่เป็นเร่าร้อน เกิดจากอะไร? เกิดจากความโง่ของเราเอง อุ่นกินแต่อารมณ์เดิมๆ อยู่นั้นตลอดไป อุ่นกินแต่อารมณ์ที่ความพอใจ อุ่นกินคือว่ามันเกิดดับๆ ที่ใจตลอดไป แล้วปฏิเสธไม่ได้ ไม่ให้สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นไม่ได้ เห็นไหม นี่สติสัมปชัญญะถึงว่าถ้ามีสติอยู่ ยับยั้งอยู่ แล้วให้กินพุทโธๆ ก็ได้ หรือถ้ามันจะมีความคิดอยู่ สติสัมปชัญญะควรคิดในแง่บวกไง ในแง่ที่ว่าเห็นคุณของธรรม

คุณของธรรมที่ว่าการมักน้อยสันโดษเป็นประโยชน์มาก มักน้อยสันโดษ ไม่เป็นเครื่องพะรุงพะรังของใจ เห็นไหม ศีล ๒๒๗ ในสมณะแล้ว ยังมีธุดงควัตรเข้ามาซ้ำเข้าไปอีก ธุดงควัตรซ้ำเข้าไปๆ เข้าไป ศีลในศีลไง ให้มัก ให้น้อย ให้สันโดษ มักน้อยสันโดษเท่าไร ภาระความเดือดร้อน ภาระของการที่จะรับผิดชอบของใจก็น้อยลง ความน้อยลงของใจ ความภาระรับผิดชอบออกไป เวลามันก็เหลือขึ้นมา เวลาจะเหลือให้สืบต่อ ให้จิตตั้งมั่น ให้จิตมีหลักใจไง หลักใจคือความทรงตัวได้

ความทรงตัวของใจ เหมือนกับขอนไม้ทั้งท่อน มันมีความคิดผุดออกมาก็เป็นกิ่งเป็นก้านออกไป ความคิดที่เป็นกิ่งก้านออกไปนี่มันล้มลงมาแล้วมันกลิ้งไปไม่ได้เพราะกิ่งก้านนั้นค้ำไว้ อารมณ์ความคิดที่มันจะตั้งมันเป็นสัมปชัญญะ มันจะสืบต่อมันก็สืบต่อไม่ได้ ด้วยปุ่ม ด้วยปม ด้วยความคิดที่ออกมาจากพญามารมันบังคับอันนั้นน่ะ

พญามารบังคับให้คิดออกไป ถ้าช่องที่มันคิดได้มันคิด คิดมันก็พุ่งออกไปเลย ความพุ่งออกไปก็เป็นกิ่งใหญ่ก้านใหญ่ กิ่งใหญ่ก้านใหญ่มันก็ทำให้เกิดภาพชัดเจนเข้ามาเร่าร้อนในหัวใจ ผลเข้ามาหนักหน่วงใจ ถึงเราจะให้มันเป็นประโยชน์มันก็ไม่เป็นประโยชน์ นี่ใจมันไม่เป็นประโยชน์ มันไม่สามารถถากถางท่อนซุงนั้นให้เป็นไม้ขื่อไม้แป สามารถสร้างบ้านเรือนขึ้นมาได้

นี่เหมือนกัน มันไม่เป็นประโยชน์เพราะว่ามันเป็นไม้มีขื่อมีแป มันเป็นประโยชน์ มันเรียบ มันสามารถเข้าเป็นขื่อได้เพราะมันมีเหลี่ยมมีมุมของมัน ใจมันไม่มีเหลี่ยมไม่มีมุมที่จะคอยดูแลไง นั่นน่ะเวลาพญามารคิดออกไป สติสัมปชัญญะยั้งไว้ๆๆ ยั้งไว้แล้วคิดตามไป ถ้ามันคิด เห็นไหม ยั้งแล้วพอมันคิดดี หมุนไปๆ นั่นน่ะถ้ามันหมุนไป ความคิดหมุนไป มันคิดไปถึงที่สุด มันก็หลุดออกไป

หลุดออกไปหมายถึงว่ามันคิดวงรอบหนึ่ง มันเห็นไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ ความคิดนั้นมันก็จะหยุด ความคิดที่มันหยุด กิ่งปมอันนั้นมันก็หลุดออกไป หลุดออกไปบ่อยๆ เข้าไง ความคิดที่เราหมุนตามเข้าไปๆ หมุนตามเรานี่ล่ะ หมุนตามความคิดของเรานี่ สติสัมปชัญญะมันคิดตาม มันยับยั้งไป เราคิดตามๆ นี่ปุ่มปมของความคิดมันจะหลุดไปๆ หลุดไปจากท่อนซุงที่มีกิ่งมีปมมันก็เป็นท่อนซุงเลี่ยมขึ้นมา

นี่ความชำนาญในวสี ในการควบคุมใจ ในการควบคุมใจของเราถ้ามันเป็นการคิด ความคิดนี้มันยับยั้งไว้ไม่ได้ ในเมื่อมันชอบคิดก็ต้องคิดเข้าไปๆ คิดเข้าไปพร้อมสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่คิดแบบโลกๆ เห็นไหม ความคิดที่เรามีสติสัมปชัญญะ นี่ไง ถึงว่าผู้ฟังธรรม ฟังธรรมแล้วเข้าใจ ฟังธรรมแล้วเห็นโทษเห็นคุณของศีลของธรรม เห็นคุณของประโยชน์ เห็นโทษของความคิดของโลกเขา มันจะเริ่มแบ่งระหว่างโลกกับธรรม

ความคิดที่เป็นโลกที่ให้ผูกมัด ที่ผูกที่มัดที่ทำให้เราต้องอยู่ในโลกนั้น เห็นประโยชน์ เห็นความเพลิดเพลินของโลก พอมันมาคิดด้วยสติสัมปชัญญะอันนี้ มันจะเห็นว่าอันนั้นเป็นโทษ พอเห็นเป็นโทษ นี่มันชำนาญเข้า นี่ความชำนาญที่ว่าความคิดนี้เป็นโทษ ความคิดนี้ทำให้หัวใจนี้เร่าร้อนตลอดเวลา ให้ผลกับความทุกข์ตลอดเวลา เห็นไหม ความคิดอย่างนั้นมันก็จะดับไปๆ

มันแยกแยะแล้วมันไม่ไปจับต้อง มันไม่ไปคิดตาม ความเห็นโทษนั่นน่ะ “บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร” เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นบ่วงของมาร มันเป็นความคิดของโลก ความคิดของโลกต้องการให้ใจพุ่งไปตามมัน พุ่งไปตามความคิดนั้น ออกไปเป็นโลกเป็นความทุกข์ร้อนนั่นน่ะ มันเป็นบ่วงของมารที่มันเหยื่อล่อตลอดเวลา

ถ้าใจไม่ตั้งมั่น ใจไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยทำให้จิตสงบขึ้นมา มันไม่เห็นโทษตรงนี้ไง แต่ถ้าหลักของใจดี มันจะเห็นโทษของมันว่าอันนี้เป็นบ่วงของมาร อันนี้เป็นแรงยุออกของมารออกไป บ่วงเฉยๆ แล้วบ่วงนั้นมันรัดคออีกล่ะ เวลาคิดตามไปมันรัดคอ เห็นโทษของมัน เห็นโทษชัดๆ แบบซึ่งๆ หน้ามันก็จะปล่อย เห็นไหม ความปล่อยขาดออกไปเลยนะ ขาดออกไป จิตนี้จะกำหนดความสงบเมื่อไหร่ก็ได้ ใช้ความคิดนี่แหละ เป็นปัญญาอบรมสมาธิหมุนเข้ามา มันจะสงบเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะอะไร เพราะว่ามันเห็นบ่วงของมาร โทษของมัน เห็นโทษแล้ว ความเห็นโทษ ความเข็ดไง มันปล่อยขาดออกไป พอปล่อยขาดออกไปนี่จิตใจตั้งมั่น หลักของใจดีขึ้นมา นี่หลักของใจตั้งมั่นอยู่ ทรงไว้ตลอดเวลา ความทรงไว้นี่ อันนี้เป็นหนทางก้าวเดินของการวิปัสสนา

การจะยกขึ้นวิปัสสนา การก้าวเดินขึ้นไปมันต้องมีใจเป็นหลักใจก่อน ถ้าไม่มีหลักใจ ความคิดที่คิดว่าจะวิปัสสนานั้นมันเป็นเรื่องของโลกทั้งหมด มันเป็นอารมณ์โลก อารมณ์การจินตนาการ อารมณ์ลุ่มหลง เห็นไหม จิตเวลาไม่สงบมันก็ไม่สงบ มันให้ความเร่าร้อนอยู่แล้ว ถึงว่ามันเคลิบเคลิ้มเข้ามาเป็นอุปกิเลส

จิตจะสงบเข้ามาได้เป็นบางหนบางคราว เป็นอุปกิเลส แล้วใช้ความคิดคิดไป นั่นน่ะความคิดคิดไปว่าเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาไป มันวิปัสสนาไปไหนนั่นน่ะ มันหลงออกไปๆ เพราะมันเป็นการสุกเอาเผากินไง ความที่ว่าเป็นสุกเอาเผากินอันนั้นมันถึงว่าไม่เป็นประโยชน์ขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติ

การประพฤติปฏิบัติธรรม ความบำเพ็ญธรรม กุศลทำให้เกิด เราพยายามตั้งใจขึ้นมา ทำบุญกุศลให้เกิดกับใจ ทำบุญกุศลขึ้นมา บุญกุศลทำให้ใจมีความอิ่ม พอใจ ความพอใจ ความใคร่ในดี ความอยากทำดี แต่เวลาประพฤติปฏิบัติออกไป ทำไมมันวนออกไปในความลุ่มหลงของใจนั้นน่ะ

เพราะว่านี่ไง เพราะว่าไม่ได้ตัดบ่วงของมารให้ขาดเป็นกัลยาณชนตามความเป็นจริงไง ถ้าไม่ได้ตัดบ่วงของมารออกไปตามความเป็นจริง ความคิดวิปัสสนานั้นมันก็เป็นของที่ว่ามันยังมีมารนั้นเข้ามาใช้ความคิดนั้นร่วมกัน เห็นไหม นี่ใจไม่ตั้งมั่น ถ้าใจตั้งมั่นนั้น พญามารนั้นจะไม่มีสิทธิเข้ามาร่วมใช้ร่วมคิดกับอันนี้ไง อันนี้มันถึงกำหนดใจได้ตลอดเวลา

นี่หลักของใจ หลักของใจดีขึ้นมา มันเห็นคุณเห็นโทษ แล้วมันก็มีความสุขเข้ามาพร้อมกันนะ ความสุขสงบของใจที่ใจเป็นสมาธิ ใจตั้งมั่น ความสงบความสุขของใจ พออยู่พอกิน มันไม่เร่าร้อนไปเท่ากับเริ่มต้นมา

เริ่มต้นมา เกิดมาเป็นมนุษย์นี่มันก็รู้อยู่ รู้อยู่ว่าในเมื่อเราก็ฟังมาๆ รู้อยู่ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย ชีวิตนี้ก็แค่ชีวิตหนึ่งต้องตายไป แต่มันก็ไม่เห็นโทษ ความไม่เห็นโทษคือมันอยู่ไปวันๆ หนึ่ง มันเกาะเกี่ยวกันไปอย่างนั้น มันไม่เห็นโทษ ความไม่เห็นโทษ เวลานี้มันก็ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะแหวกออกจากโทษไง แต่ในเมื่อจิตมันเข้ามาเห็นสภาพแบบนี้แล้วนี่มันเห็นโทษหนึ่ง แล้วมันขยะแขยง แล้วหาทางออก ความหาทางออกจากโทษอันนั้นไง จากโทษ จากการเผาลนอันนั้น นั่นใจมันเข้ามาๆ นี่มันมีหลักขึ้นมา

ความมีหลักขึ้นมาของเรา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันก็ยืนได้ขึ้นมา ความยืนได้ ใครยืน? ใจอันนี้ยืนนะ ใจของเรายืนขึ้นมา จากล้มลุกคลุกคลานนะ แล้วถ้ามองย้อนกลับมามันจะเห็นว่าล้มลุกคลุกคลานมันก็ล้มลุกคลุกคลานมาได้ เวลามันจะยืนตัวมันก็ยืนตัวได้ พอเรายืนตัวของเราเองได้ นี่ฟังธรรม ธรรมจะเกิดแล้วมันซึ้งใจ

ความซึ้งใจ เห็นไหม ฟังธรรมจากข้างนอกอย่างหนึ่ง ฟังธรรมจากภายในนะ เพราะใจมันสัมผัสธรรมแล้ว สมาธิธรรมไง ความสุขอันนั้นมันยืนยัน ยืนยันว่าเราก็มีความสามารถที่จะก้าวเดินไปได้ เห็นไหม มันเป็นไปพร้อมกับใจที่จะคว้ามรรคผลเข้ามาเข้ากับใจของตัว เพราะอย่างนั้นก็ต้องค้นคว้าไง

ความเลาะตัวเอง ความเลาะความคิด ความเลาะให้เราพร้อมให้ใจควรแก่การงาน ความเลาะสิ่งสกปรกโสมมออกจากใจนั้นเป็นงานอย่างหนึ่ง งานในการทำใจให้ตั้งมั่นเป็นหลักของใจ เอาใจขึ้นมาให้เป็นสมาธิธรรม ให้จากใจตั้งมั่น นี้เป็นงานอันหนึ่ง งานทำความสงบ พอมันสงบขึ้นมานี่มันต้องมีงานตรงนี้ก่อน ถ้าไม่มีงานตรงนี้ งานอื่นๆ ไปมันก็เป็นอุปกิเลสไปทั้งหมด

ความวิปัสสนา ความอยากได้ผลไวๆ นั้นมันก็ทำให้เราหลงไป ความประพฤติปฏิบัติมันก็เป็นอัตตกิลมถานุโยคเหมือนกัน มันเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง แล้วมันจะไม่ได้ผลตามความเป็นจริง ปฏิบัติไปๆ เข้าใจว่ามันจะเป็นผลๆ เพราะเราอยากได้เร็วนัก เราอยากได้ผลได้ไวๆ เหมือนกับที่เราต้องการ เวลามันทุกข์มหาศาลอยากจะให้มันดับไปๆ

มันไม่ตรงตามจุดของมัน มันไม่ตรงตามความเป็นจริงของมัน มันไม่ตรงตามที่เราจะสามารถสมุจเฉทปหานกิเลสตรงนั้นได้ ความหมุนออกไปนี่มันเป็นจินตมยปัญญา ผู้ใดปฏิบัติธรรมใคร่ครวญ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ใดปฏิบัติธรรม ด้นเดาธรรม ความด้นเดาความคาดหมายว่ามันจะเป็นแบบนั้น นี่เอาโลกเข้าไปในเวลาประพฤติปฏิบัติ เอาโลกเข้าไปยุ่งกับการประพฤติปฏิบัติด้วย มันถึงไม่เป็นไปตามความเป็นจริงระหว่างธรรมจะประกาศตนออกมาไง

ธรรมประสิทธิ์ประสาทให้นะ การชำระกิเลสนี้ ธรรมประสิทธิ์ประสาท ธรรมต้องเป็นตามสมควรแก่เหตุ ธรรมสมควรแก่เหตุ ผลของธรรมก็จะเป็นสมควรแก่เหตุนั้นก็จะเป็นผล ความสมควรแก่ผลอันนั้น มันถึงว่าเราถึงจะได้รับผลจริง ได้รับผลจริง ผลจากการวิปัสสนาในกาย เวทนา จิต ธรรมไง ในสติปัฏฐาน ๔ ใจควรแก่การงานแล้วยกขึ้นวิปัสสนาในกาย ในเวทนา จิต ธรรม

การพิจารณากายนอก การพิจารณารูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก อารมณ์ภายนอกขึ้นมา เพื่อให้มันปล่อยวางจากเรื่องของโลกๆ ทั้งหมด การพิจารณากายนอกมันยกขึ้นเทียบเคียงได้ไง การเที่ยวป่าช้า การไปในป่าช้า ไปดูศากศพ ศากอสุภะอสุภัง ก็ต้องการให้ใจนี้มันปล่อยเข้ามา การดูกายนอกก็เหมือนกับการเที่ยวป่าช้า การเที่ยวป่าช้าก็เรานี่ล่ะไปเที่ยว

เราไม่มีสิ่งที่เริ่มต้น เราไม่สามารถก้าวเดินของใจออกไปได้ เราไม่มี มันจนตรอกจนมุม ตั้งสติให้ดีแล้วไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้าก็ให้ไปดูซากศพเก่าก่อน ดูศากศพเก่าๆ ก่อนมันเปื่อย มันเน่า มันพองอย่างนั้น ดูซากศพขึ้นมาให้มันสลดสังเวช เห็นไหม คนมันก็เป็นเท่านั้น แล้วเราก็ต้องเป็นแบบนั้น เราก็เป็นคนคนหนึ่ง เราต้องตายเหมือนกัน ความตายของเราตายแล้วร่างกายนี้เดินมาดูป่าช้านี้ ร่างกายที่มาดูศากศพของเขานี่มันก็ต้องเน่าเปื่อยเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน

ความเปื่อยเป็นอย่างนั้น นี่คือคู่กรณี นี่คือคู่สัญญา นี่คือภาพซ้อนเข้ามาให้ใจมันจับต้องไง ให้ใจมันสลดสังเวชจากตรงนั้นเข้ามา นี่คือการพิจารณากายนอก นี่เที่ยวป่าช้าแล้ว ถ้าเราปฏิบัติอยู่นี้ไม่ได้เที่ยวป่าช้าก็เทียบเคียง กายนอกก็คิดขึ้นมาสิ คิดขึ้นมาระหว่างกายข้างนอก กายข้างนอก คนป่วย คนไข้ คนเจ็บคนป่วย เราก็เหมือนกัน เจ็บไข้ได้ป่วยนี่กายนอก กายนอกเทียบเข้ามาเพื่อจะให้มันเห็นโทษของร่างกาย เห็นโทษของขอนที่มันผุมันพังไปนี่ มันต้องเผาไหม้ ร่างกายนี้มันต้องเผาไหม้ตัวมันเองตลอดเวลา

เกิดมาแล้วมันอยู่ไม่ได้ ตามสัจจะความจริงมันเป็นไตรลักษณ์โดยธรรมชาติ มันต้องเสื่อมสภาพไป มันต้องตายไปแน่นอน ไม่กี่ปีข้างหน้าก็ต้องตาย หรือตายเด็กๆ ตายตอนไหนก็ตายได้เหมือนกัน ความตายตายได้ตลอด ความตายตายได้ทุกคน ความตายมันแสดงตัวตลอด แต่เราไม่รู้เราไม่เห็น พอเราไม่รู้พอเราไม่เห็น มันก็ต้องพยายามเทียบเข้ามาให้มันเศร้าใจไง ให้สลดสังเวชมา

การวิปัสสนา ไม่ใช่ว่าพิจารณากายมันจะเหมือนกันหมด วิปัสสนากาย นี่ดูกายนอกเข้ามามันเป็นการทำความสงบเท่านั้น ฉะนั้น ต้องใจ หลักของใจมันเกิดขึ้นมาก่อน หลักของใจนี่ หลักใจมีขึ้นมาก่อนแล้วถึงค่อยค้นคว้าหากายอีกทีหนึ่งไง ค้นคว้าหากายหรือค้นคว้าหาบ่วง นี่บ่วงของมาร บ่วงของมารมันกินอะไร? มันกินเหยื่อ เหยื่อคือรูป รส กลิ่น เสียง ถ้าใจมันปล่อยตรงนั้นเข้ามาแล้ว รูป รส กลิ่น เสียงภายในที่มันประทบกับรูป รส กลิ่น เสียงภายนอกล่ะ

รูป รส กลิ่น เสียงภายในคือมันต้องมีเชื้ออยู่ที่ใจตลอดไป เชื้ออยู่ที่ใจ ถ้าพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม จิตหรือธรรม นี่พิจารณาที่ตัวใจนั้นน่ะ จับต้องให้ได้ การจับต้องคือการค้นคว้าหา ถ้าไม่มีจะพิจารณากายต้องนึกกายขึ้นมา หากายขึ้นมา ถ้าหากายไม่ได้ โน้มนึกไปก่อน ความโน้มนึกอันนี้เขาก็ว่ามันเป็นวิปัสสนึก ความเป็นวิปัสสนึกมาเพราะใจมันตั้งมัน ใจไม่มีหลักเกณฑ์มันเป็นวิปัสสนึก

ในเมื่อใจมันตั้งมั่นแล้ว ใจพร้อมที่จะควรแก่การงาน แต่ตั้งมั่นแล้วมันก็จะต้องเสื่อมค่าไปเป็นธรรมดาไง จิตตั้งมั่น เห็นไหม เราเสื่อมขึ้นมา จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วมันก็ต้องเสื่อมออกไป ถ้าตั้งมั่นจนคมแข็งจนไม่เสื่อม เราทำตลอดเวลาโดยความควบคุมของสมาธิอยู่อย่างนั้น มันก็เป็นน้ำล้นฝั่งอยู่อย่างนั้นน่ะ มันน้ำล้นแก้วไง มันเต็มแก้วแล้วมันอยู่เท่านั้น ผลของมันมีเท่านั้น ผลของหลักของใจ หลักของใจนี้เป็นหลักที่ตั้งมั่นแล้ว การประกอบการงานคือสิ่งที่เอามาประกอบขึ้นให้เป็นวัตถุ เป็นสิ่งที่สมประสงค์ จะสร้างบ้านสร้างเรือนขึ้นมา ไม้ไว้อย่างนั้นก็ต้องผุไป นี่ไงถ้ามันเป็นอย่างนั้นแล้วมันถึงควรนึกเอา ถ้านึกตรงนี้มันไม่ใช่นึกแบบว่าพิจารณากายนอก

พิจารณากายนอกนี้ ไปเที่ยวป่าช้านี่ มองแล้วหลับตา แล้วนึกเอา นึกให้ภาพนั้นเกิดขึ้นมา แล้วตั้งขึ้นมา กลับมาแล้วนึกภาพนั้นยังออกอยู่ นั่นเพราะว่าจิตนี้ยังเป็นโลกอยู่ โลกอยู่นี่ ความคิด ความนึกภาพนี่มันออกมาร้อยๆ ภาพเชิงซ้อนออกมาเยอะแยะไปหมด ภาพไหนมันก็คิดออกมาหมด นี่ดูภาพนั้นเข้ามา อันนั้นเพราะว่าจิตมันไม่ตั้งมั่น มันมีภาพเชิงซ้อน

ภาพเชิงซ้อน ภาพต่างๆ ที่มันคิดขึ้นมา มันจะคิดขึ้นมา ภาพที่เป็นประโยชน์ ที่ภาพของกายนั้นมันหาไม่ได้ มันจับไม่ได้ มันจูนคลื่นอันนั้นมาไม่ได้ มันถึงว่ากำหนดอสุภะอสุภังอันนั้นขึ้นมาไม่ได้ ให้เห็นความสกปรกของกายนอกนี้มันไม่ได้ พยายามขึ้นมาจนจับภาพนั้นได้ ถ้าไม่ได้ยังอุตส่าห์ต้องไปเที่ยวป่าช้า แล้วหยิบส่วนใดส่วนหนึ่งของกายนั้นวางทิ้งไว้ข้างๆ ที่อยู่ของเราเพื่อจะไม่ต้องเดินไกล เพื่อจะได้ดูซ้ำดูซากไง เพื่อจะให้ดูซ้ำดูซาก ดูซ้ำดูซากแล้วตั้งภาพขึ้นมาให้ได้ อันนั้นถูกต้องเป็นการนึกเอา เพราะว่าไม่มีหลักใจ

แต่มีหลักใจแล้ว หลักของใจมีพร้อมอยู่นี่ ถ้ามันขึ้นมา ใจพร้อมอยู่ ความเห็นต่างกัน ความเห็นกายจากภายใน ความเห็นกายจากจิตที่ตั้งมั่นนี้ มันเห็นแล้วมันสะเทือนต่างกันมาก ความเห็นจากภายนอกเห็นแล้ว...

...มันพิจารณาแล้วมันสลด มันสังเวช เพราะมันเป็นขี้ข้าของมาร พญามารอยู่ในนั้น ฉะนั้น ในเมื่อมันกว้าน มันเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับมันทั้งหมด มันเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับมันทั้งนั้น เห็นไหม เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์กับมัน เพราะมันหิวกระหาย

พญามารนี้เป็นเจ้าวัฏจักรที่ใหญ่โตมาก จะยึดมั่นถือมั่น ยึดทั้งหมดของโลกนี้ ก็กว้านอารมณ์เข้ามาทั้งหมด พอมันไปเห็นอสุภะอสุภังอันนั้น ความเห็นอสุภะอสุภัง เห็นซากอสุภะ ซากศพอันนั้นเพื่อให้มันสลดสังเวชว่ามึงก็ต้องตาย มึงก็ต้องตายคือเรานี่ต้องตาย แต่พญามารไม่เคยตาย พญามารอยู่ในหัวใจนั้น มันถึงชะล่าใจไง เพราะตายไปมันก็ไปเกิดไปดับอีก มันก็อยู่ในเจ้าวัฏจักร มันก็นั่งอยู่บนหัวใจของคนไปเกิดไปตายอยู่

แต่คุณประโยชน์ของคนคนนั้น คุณประโยชน์ของผู้ปฏิบัตินั้น ถ้ามันสลดสังเวชเข้ามา มันเห็นภาพอสุภะอสุภังอันนั้น มันจะสลดสังเวชเข้ามา ความสลดสังเวชนี่มันได้คิด ความได้คิดก็มีโอกาส ความมีโอกาสก็ได้ประพฤติปฏิบัติ ได้หาทางออกจากความตายอันนี้ไง เห็นไหม ความเห็นอันนั้นมันถึงเป็นความสลดสังเวช

ความเห็นอสุภะอสุภังตั้งแต่เริ่มต้นนั้นจากโลกภายนอกนั้นเป็นความสงบเข้ามา ใจสงบเข้ามาอันนั้นมันก็เป็นการหาหลักใจอย่างหนึ่ง การเที่ยวป่าช้าคือการหาหลักใจ แต่การพิจารณากายภายใน วิปัสสนากายภายในเพราะหลักใจตั้งมั่นแล้ว ถ้าไม่เห็นกาย นึกขึ้นมา หรือว่ามันเห็นภาพขึ้นมา มันหวั่นไหว มันไม่ใช่สลดสังเวชนะ มันสะเทือนใจ มันสะเทือนกิเลส มันสะเทือนหัวใจมากเพราะสิ่งนี้มันซ่อนเร้นไว้อยู่ภายในไง ความเป็นอุปาทานยึดมั่นถือมั่นของใจมันซ่อนเร้นอยู่ภายใน แล้วมันผูกมัดออกมาเป็นเครื่องร้อยรัด ความเป็นเครื่องร้อยรัด เราถึงว่าใจกับกายนี้เป็นอันเดียวกัน

กายของเราเป็นของเรา ใจก็เป็นของเรา ทุกๆ อย่างเป็นของเรา ทุกๆ อย่างจะไม่มีทางเสื่อมสภาพได้หมด ของเราจะอยู่ค้ำฟ้า นั่นกิเลสมันคิดอย่างนั้น นั่นน่ะความสะเทือนมันสะเทือนขนาดนั้น สะเทือนใจเข้ามา ถ้ามันสะเทือนใจ มันหวั่นไหวไปหมด นั่นน่ะจับขึ้นมาได้ ความสะเทือนใจอันนี้มันก็จะทำให้สิ่งที่ว่าเป็นคุณงามความดีนี้พลัดพรากออกไป เพราะสิ่งที่ไม่เคยเจอ ความไม่เคยเจอ จิตตั้งมั่นก็ต้องยืนตัวขึ้นมาแล้วเอาใหม่ ความยืนตัวของเรานี่ยกขึ้นวิปัสสนา

การเห็นกายจากจิตตั้งมั่นแล้ว จากใจตั้งมั่นแล้ว นี้คือยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาในอะไร? วิปัสสนาให้มันฉลาด ให้หัวใจนี้ไม่โง่ไง หัวใจนี่โง่ อยู่ใต้ของเจ้าวัฏจักร อยู่ใต้อำนาจของพญามาร กิเลสเป็นฝ่ายผูกมัด ตัณหาความทะยานอยาก อยากเฉยๆ อยากแต่จะอยู่ค้ำฟ้า อยากจะมีชีวิตยืนยาว อยากไปทุกๆ อย่างในโลกเป็นของมันคนเดียว เอามาเท่าไรก็ไม่เคยพอ เห็นไหม นี่ตัณหา

อยากเท่าไร ความพลัดพรากจะตายก็ไม่อยากตาย เห็นไหม วิภวตัณหา ไม่อยากเป็น ไม่อยากพบเจอสิ่งที่ว่าไม่ประสบใจ ไม่ต้องการ ความไม่ต้องการเป็นตัณหาทั้งนั้น ตัณหานี้เป็นสมุทัย นี่ให้มันฉลาดฉลาดตรงนี้ไง ฉลาดที่ว่าสิ่งที่เอ็งไปยึดว่าเป็นของจริง กายกับเราเป็นอันเดียวกันมันก็ไม่จริง มันไม่จริงเพราะอะไร เพราะสภาพความเป็นจริงมันเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว แต่เพราะความยึดมั่นถือมั่นของตัณหาต่างหาก มันต้องการให้สิ่งที่ว่าความเป็นจริงต้องแปรสภาพนี้ให้คงตัวไง ความที่มันจะดึงให้คงตัวไว้เพราะว่ามันต้องการผูกมัดอันนั้นไว้ มันต้องการให้คงตัว ให้สมกับความคิดมันไง ให้อยู่ค้ำฟ้าไป นี่คือกิเลสมันหลอก

ความที่จะให้มันฉลาดขึ้นมาคือการใคร่ครวญดูกายอันนั้น ดูกายด้วยมรรคแล้วคราวนี้ เพราะอะไร เพราะกัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนมันจะเดินอริยมรรค ความเดินอริยมรรคนี้คือการวิปัสสนา การวิปัสสนาในความดำริชอบ ดำริขึ้นมา จากโลกๆ ขึ้นมา จนขึ้นมาเป็นหลักของใจ นั่นคือจิตควรแก่การงาน เห็นไหม ควรแก่การงานเป็นงานของธรรมไม่ใช่งานของโลก

งานของโลกคือความคิดฟุ้งซ่าน ความคิดใฝ่ต่ำ ความคิดหาแต่ความเร่าร้อนเผาตัวเอง ความคิดยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นความคิดของโลกทั้งหมด ความคิดของธรรม ความดำริชอบจะมีได้ต่อเมื่อใจตั้งมั่น ถ้าใจไม่ตั้งมั่น มันดำริไหนก็ดำริลงกิเลสทั้งหมด ความที่จะดำริออกจากกิเลสอันนี้ นี่คือมรรค

ความคิดของมรรคออกเดินตัว ความดำริชอบ ความเห็นชอบ ความเพียรชอบ สมาธิชอบ สติสัมปชัญญะชอบนี่ไง สติสัมปชัญญะยับยั้งมาเรื่อยๆ สติสัมปชัญญะชอบ ชอบในอะไร? ชอบในการดูกายมันแปรสภาพสิ มันต้องให้ใจมันเห็นตามความเป็นจริง ใจเห็นตามความเป็นจริงคือใจในปัจจุบันนั้นที่เห็นเดี๋ยวนั้น ความเห็นเดี๋ยวนั้น ในวินาทีนั้น ในทุกอย่างขณะนั้น มันเห็นการแปรสภาพ แปรสภาพนี่มันจะเคลื่อนตัวไป นี้คือไตรลักษณะ

ความเป็นไตรลักษณะ พระไตรลักษณ์ เป็นอนัตตา ความเป็นอนัตตา อนัตตาคือความก้าวเดินของผลของใจที่จะเห็นความเป็นอนัตตาของวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณจะเห็นกาย เห็นจิต เวทนา เห็นธรรม เวทนาก็เหมือนกัน เวทนาพิจารณาได้เหมือนกัน นี่กาย เวทนา จิต ธรรม ต้องเห็นเป็นปัจจุบันธรรมว่าเป็นอนัตตา อนัตตาคือมันแปรสภาพ คือมันไม่คงที่ มันเป็นสิ่งที่ยั่งยืนไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะยึดมั่นถือมั่นไว้ให้อยู่กับเรา เป็นไปไม่ได้เลย

หลักสัจจะมันเป็นอย่างนั้น นี่ไงธรรมมันประเสริฐ ประเสริฐตรงนี้ไง ธรรมประเสริฐที่ว่ายอมรับความจริงทั้งหมด สิ่งใดที่เป็นจริงเป็นธรรมต้องเข้ากับธรรมได้ทั้งหมด ธรรมคือความจริง สิ่งที่เป็นจริงก็ต้องเป็นจริง แต่ใจมันปลอม ใจมันยังปลอมอยู่ ถึงตั้งมั่นก็เพราะว่าควรแก่การงาน มันเพียงแต่เป็นนักรบไง สงครามเกิดขึ้นแล้ว สงครามระหว่างความจริงกับความปลอมเกิดขึ้น สงครามระหว่างกิเลสกับธรรมเกิดขึ้นจากใจ เกิดขึ้นจากใจเพราะเราสร้างฐานของเราขึ้นมาได้ เราสร้างฐานขึ้นมาจนจิตตั้งมั่นขึ้นมา สงครามถึงเกิดได้ สงครามเกิดกลางหัวใจไง ใจตั้งมั่นเป็นสนามประลองยุทธ

สนามประลองยุทธนี้ประลองยุทธ ถ้ามันมีแต่ฝ่ายใจอย่างเดียว มีแต่ธรรมอย่างเดียว ประลองยุทธที่ไหน ถ้ามีแต่ธรรมอย่างเดียวมันต้องธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องธรรมของครูบาอาจารย์ที่พ้นไปแล้ว แต่นี่ธรรมของเราไม่มี เราเพียงแต่ใจตั้งมั่น เปิดสนามประลองยุทธ สนามสงครามกลางหัวใจ เปิดสนามในหัวใจแล้วเราก็ยกขึ้นทำสงครามเกิดให้ได้ ในการค้นคว้ากายกับจิต

การค้นคว้ากายกับจิตนั้นเป็นที่ทำสงคราม เห็นไหม ระหว่างกิเลสกับธรรม ระหว่างกิเลสกับธรรมเกิดขึ้น นี่วิปัสสนาหมุนไป วิปัสสนาหมุนไป หมุนลงตรงนี้ เหตุและผลจะเกิดขึ้นจากความเป็นจริงของใจที่หมุนไป ใจความเป็นจริงที่หมุนไปนี้มันหมุนขึ้นไปจากเรา

จากจิตนี้ จากสนามประลองยุทธนี้หมุนไป หมุนขึ้นไปต้องใช้สติสัมปชัญญะ ต้องใคร่ครวญ ไม่ใช่สุกเอาเผากิน สุกก็เอาเผาก็กิน ทำก็เหยาะๆ แหยะๆ ความคิดก็เหยาะๆ แหยะๆ ความคิดรัดหน้ารัดหลัง เห็นไหม จะเห็นผลเห็นประโยชน์ของมัน ความรัดหน้ารัดหลังนั้นมันไม่ใช่ความเป็นจริง ความอยากได้ ความคาดการณ์ ความคาดหมายธรรม การคาดการหมายธรรมว่าต้องเป็นแบบนั้น เพราะเราได้ศึกษาธรรมมา เราได้ฟังของครูบาอาจารย์มา ฟังของครูบาอาจารย์มาแล้วจะยึดมั่นถือมั่นว่าต้องเป็น ต้องเป็น แค่นี้ก็ตกคนละทะเลแล้ว สงครามเกิดอยู่ที่แปซิฟิกนี่ ไปคิดอะไรถึงมหาสมุทรคนละมหาสมุทรออกไปนู่นน่ะ มันตกคนละทวีป ตกคนละทะเลเลย

ความไกลของเป้าหมายไง ความไกลของการตั้งใจ ใจควรจะสัมปยุตกับกิเลสในหัวใจของเรา กิเลสในหัวใจของเราเกิดขึ้นระหว่างกายกับใจเท่านั้น อย่างอื่นนั้นไม่ใช่ อย่างอื่นนั้นเป็นผลของมันที่มันจะเป็นไปตามความเป็นจริง จริงกับจริงจะเข้ากัน แต่ตอนนี้มันยังจริงไม่ได้ มันจริงไม่ได้เพราะว่าพญามารมันอยู่ร่วมวงด้วยไง พญามารไม่ยอมปล่อย ความที่พญามารไม่ยอมปล่อย เพราะพญามารมันก็ต้องยุแหย่ออกมาว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี่มันไม่จริง สิ่งที่ความคิดของมารอันนั้นสิจริง

เพราะว่าอุปาทานจิตใต้สำนึกไง จิตใต้สำนึกมันเกาะเกี่ยวอยู่แล้ว มันอาลัยอาวรณ์ มันยึด มันมั่น มันถือ มันออดอ้อนออเซาะอ้อยสร้อยอยู่ในหัวใจนั่นน่ะ ความเป็นออเซาะอ้อยสร้อยอันนั้นน่ะมันยึดมั่นถือมั่น นั้นน่ะคือตัวเป็นปัญหา ตัวเป็นปัญหาอันนั้น มันไม่ใช่ว่าเราจะไปทำตัวที่เป็นปัญหานั้น มันเป็นปัญหาเพราะพญามารมันยึดมั่นถือมั่นใช่ไหม แต่ถ้าเราวิปัสสนาเข้าไป สงครามเกิดขึ้นระหว่างกายกับใจ ระหว่างวิปัสสนาที่ว่าระหว่างวิปัสสนาเข้าไป สงครามเกิดขึ้นตรงนี้ เกิดขึ้นมาวิปัสสนาให้เห็นไตรลักษณะ เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนัตตา ความเป็นอนัตตาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นอนิจจังทั้งหมด สิ่งที่เป็นอนิจจัง ทุกอย่างก็เป็นอนิจจัง อนิจจังจนแม้แต่อารมณ์ที่เป็นภายใน อนิจจังแม้แต่ความเห็นอันนั้น มันเป็นอนิจจังอยู่ แต่มันสืบต่อได้ด้วยมรรคอริยสัจจังของเราต่างหาก

สิ่งที่สืบต่อได้นี้เพราะมรรคมันเดินตัว มรรคมันเดินตัวมันเห็นถึงเป็นการรบ การสืบต่อออกไป การสืบต่อออกไปแล้วให้มันคลายออกสิ สืบต่อด้วยปัญญาหมุนไปๆ หมุนลงไปในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในอริยสัจนี้เท่านั้น

สงครามเกิดขึ้น การทำสงครามกันเกิดขึ้น สงครามเกิดขึ้นจนกว่าฝ่ายมารยอมแพ้ไง สงครามเกิดขึ้นจนกำลังของพญามารโดนทำลายออกไปทั้งหมด กำลังของพญามารต้องโดนทำลายออกไปด้วยมรรคอริยสัจจังขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทำลายออกไปในความเห็นผิดอันนั้น ความเห็นผิดไง ความเห็นผิดว่ากายกับใจนี้เป็นของเรา ความเห็นผิดของพญามาร ความเห็นผิดเพราะกิเลสมันคุมอยู่ตลอดเวลา นั่นน่ะ ธรรมก็แสดงตัวออกไป ต่อสู้ด้วยความเห็น ต่อสู้ด้วยมรรคอริยสัจจัง

มันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันจะยึดได้อย่างไร คิดไป นี่ใช้ความคิดนะ ใช้ความคิด ใช้ความเห็น ขณะที่มรรคมันหมุนตัวออกไป มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ กำลังแรงขึ้น แรงขึ้น มันก็คลายตัวออก มันปล่อย เห็นไหม พิจารณากายจนกายนี้แปรสภาพไป แปรสภาพไป อ๋อ! เป็นอย่างนี้เหรอ เป็นอย่างนี้เหรอ นี่เงาของความจริงปรากฏขึ้น อ๋อไง เริ่มอ๋อเฉยๆ อ๋อ! อ๋อ! อ๋อก็ปล่อย อ๋อก็ปล่อย

ความปล่อยนั้นมันปล่อยไปเสริมทัพต่างหากล่ะ มันไม่ได้ปล่อยตามความเป็นจริง มันปล่อยไปเสริมทัพ ความปล่อยนั้นเราก็เบาตัวขึ้น เห็นไหม นี่มรรคเดินไป ทัพของธรรมเกิดขึ้น นี่หลักใจที่ตั้งมั่นแล้ว สามารถเปิดยุทธการได้ทุกๆ ยุทธการเลย ทัพหน้า ทัพหลวง ทัพใหญ่ ทัพน้อยจะมีการต่อสู้กันไปตลอด นี่ยุทธการนี้เกิดขึ้นแล้ว ยุทธการแรกที่เกิดขึ้น กองทัพหน้าได้สัมปยุตกับพญามารแล้ว จับกิเลสแล้ว นี่อ๋อ อ๋อ! มันก็ไปสร้างมา สร้างมาก็เสริมเข้าไป เสริมเข้าไป

นี่ความเพียรไง “ทุกข์นี้จะล่วงพ้นได้เพราะความเพียร” ความเห็นจริงนี้ก็ต้องเป็นความเพียร ความเพียรชอบนี้อยู่ในมรรคอริยสัจจัง ความเพียรคือเพียรลงที่เดิม เพียรลงไปที่กองทัพนั้นน่ะ ระหว่างธรรมกับกิเลสที่มันสู้กัน ความเพียรนั้นก็ต้องใส่เข้าไป ความเพียรชอบ ชอบนะ ต้องชอบด้วย ถ้าความเพียรไม่ชอบ เพียรในสิ่งที่ว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง

มันมี มันเป็นไปได้ระหว่างวิปัสสนาญาณเกิด นี่วิปัสสนา ระหว่างกองทัพสู้กัน มันเป็นไปได้ว่าฝ่ายหนึ่งแพ้ ฝ่ายหนึ่งชนะ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แล้วแต่กองทัพใครจะเหนือมากกว่ากัน กองทัพกำลังใครมากกว่า ทีนี้กำลังเราไม่มีพอนี่ เราต้องเปิดสนามใหม่ เปิดยุทธการมากขึ้นไป ต้องกลับมาที่ใจตั้งมั่นนี้ กลับมาที่หลักของใจ กลับมาที่กำลัง กลับมาที่สมาธิ กลับมาที่ความเป็นจริง กลับมาที่ความสงบนี้

ถ้าจิตเราสงบขึ้นมา พลังงานมันเกิดขึ้น หมุนกลับไปวิปัสสนา มันจะเข้าใจ มันจะปล่อยวาง ปล่อยวาง นี่กำลังของธรรมมากกว่า กำลังของพญามารมันก็ต้องแพ้ไป แพ้ไป ความแพ้ เห็นไหม อ๋อ! อ๋อ! มีความสุขมาก

ความสุขจากจิตตั้งมั่น กับความสุขที่ว่าหลงในรูป รส กลิ่น เสียง มันก็เห็นคุณค่ามาชั้นหนึ่งแล้ว ความสุขระหว่างสงครามเกิดขึ้นแล้วมันปล่อย มันถอยทัพหนีไปนะ มันถอยทัพหนีไป นั่นน่ะความสุขอันนี้ก็เกิดขึ้น มีความเบา มีความชัดเจน มีความสุข มีความเบาตัว มีความเหมือนว่าเราจะเข้าถึงจุดของเป้าหมายเลย นั่นน่ะใจมันต้องหมุนไป หมุนไป

นี่ทำอยู่ตรงนั้น วิปัสสนาอยู่ตรงนั้น ในอริยสัจนี้เท่านั้น จนแรงขึ้นไป แรงขึ้นไป ความที่ว่ามันแพ้เข้าบ่อยๆ กำลังมันต้องน้อยลง กิเลสมันไปจะเอากำลังมาจากไหน กิเลสมันก็ต้องแพ้เป็นสิ พญามารมันก็ต้องแพ้เป็นใช่ไหม มันแพ้ไปบ่อยๆ มันก็ไปขนขุมกำลังเก่าของมัน คือความยึดมั่นถือมั่นของมันออกมาสู้ สู้ไปเราก็วิปัสสนาไป วิปัสสนาไป ออกมาเราก็ทำลายไอ้ความยึดมั่นถือมั่นของมันลงไปทีละเล็กละน้อย ทีละเล็กทีละน้อย ขุมกำลังที่มันไปขนออกมาสู้กับเรา สู้กับธรรมจักรที่หมุนออกไป นั่นน่ะ ภาวนามยปัญญา

ธรรมจริงๆ มันเป็นสมบัติส่วนตนของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ นี่ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาจากใจของผู้ที่มีอำนาจวาสนา ใจของผู้ที่ว่ายึดมั่นถือมั่นในหลักในที่พึ่งไง ในหลักธรรม ยึดธรรมเป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตาย ไม่ไปเห็นความเป็นอย่างอื่นมันจะมีคุณค่ากว่า

เราทิ้งมาตั้งแต่เริ่มต้น ความทิ้งมาตั้งแต่เริ่มต้นจากโลกมาเป็นหลักของใจ แล้วก็เข้ามาวิปัสสนา นี่เรายึดมั่นถือมั่นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรายึดมั่นถือมั่น กิเลสมันยึดมั่นถือมั่นในความอุปาทาน ในความยึดมั่นถือมั่น ในความที่ต้องการให้อยู่ในอำนาจของมัน เราก็ต้องยึดถือมั่นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวิปัสสนาญาณที่เราเชื่อมั่น

เราต้องเชื่อนะ ถ้าเราไม่เชื่อมั่น ศรัทธาอันคมกล้าอันนี้มันสามารถชำระกิเลส มันตัดกิเลสขาดๆๆ นี่เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ของเรายังไม่เกิด เราเชื่อมั่น เรายึดมั่นถือมั่นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราสร้างขึ้นมา ถ้าเราไม่สร้างขึ้นมาเราก็ไม่สามารถทำลายกิเลสในหัวใจเราได้

เรามีแหล่งเพิ่มพลังคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แหล่งเพิ่มพลังของเราคือครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเราที่ชี้แนะชี้ช่องทางของเรา นั่นน่ะคือขุมกำลังของธรรม ขุมกำลังของกิเลสมันก็กว้านอออกมา ขุมกำลังของธรรม ถ้าเราสู้ไม่ได้เราก็ถอยออกมา จับตรงนั้น ถอยมาพักที่นี่

แล้วก็ต้องนึกถึงครูบาอาจารย์ สร้างกำลังใจไง พระพุทธเจ้าก็สลบถึง ๓ หน ตายแล้วฟื้น ๓ หน หลวงปู่มั่นก็สลบถึง ๓ หน สลบนะ หลวงปู่มั่นสลบถึง ๓ หนเลย นี่อาจารย์เล่ามา อาจารย์บอกมาว่าหลวงปู่มั่นสลบถึง ๓ หน ก็ยังสามารถชำระกิเลสเป็นพระอรหันต์ไปได้แล้ว องค์หลวงปู่มั่นเป็นอะไรไป กระดูกของท่านเผาแล้วเป็นพระธาตุทั้งหมด ยึดมั่นถือมั่นครูบาอาจารย์ของเรามันก็สร้างขุมพลังของเราขึ้นมาแล้วเข้าไปต่อกรใหม่ เข้าไปชำระต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความยึดมั่นถือมั่น ต่อสู้กับความเห็นผิด

ความเห็นผิดคือกิเลส ความเห็นผิดนี่ ความเห็นผิด ความเห็นว่ากายกับใจเป็นอันเดียวกัน กายกับใจของเรานี้เราต้องยึดไว้ เราต้องยึดไว้...มันเป็นความคิดลึกๆ ถ้าความคิดด้วยความคิดของเรานี่เราก็คิดเองว่าเราก็เข้าใจว่ากายไม่ใช่ ต้องตายทั้งหมด แต่ตัวกิเลสมันอยู่ตรงนั้น เราไม่ได้ไปชำระตรงนั้น เราไม่สามารถแก้กิเลสได้ ถ้าเราไม่ทำลายตรงนั้นขาดออกไป กิเลสมันก็ยังผูกมัดอยู่นั่นตลอดไป

“กองทัพธรรม” กองทัพธรรมได้ขุมกำลังที่เราได้มาจากครูบาอาจารย์ ได้มาจากความเชื่อมั่นถือมั่นไง เชื่อในธรรมมันเป็นประโยชน์ เชื่อในโลกมันมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเศร้าโศก มีแต่ความทุกข์ร้อน ในเมื่อเราก็ทิ้งมาๆ อยู่แล้ว ในเมื่อเราเห็นประโยชน์ของการทิ้งมาจากตั้งแต่ข้างต้นแล้ว ตั้งแต่ทิ้งออกมาจนจิตตั้งมั่น แล้วทำไมเราไม่เชื่อต่อไป เราต้องเชื่อต่อไป ความเชื่อนั้นยิ่งคมกล้าขึ้นมา

วิปัสสนาในความเป็นไป วิปัสสนามันก็เห็นกายแปรสภาพ เห็นกายเสื่อมสลายไป พอเห็นไป พอถึงที่สุดมันขาด มันขาดหมายถึงว่ามันปล่อยจริงไง ความปล่อยจริงกับความปล่อยแล้วมันยังยึดอยู่ ถ้ามันปล่อยจริงนี่ ความเป็นจริงสมกับความเป็นจริงทุกอย่าง มันปล่อยจริงๆ คือว่ามันปล่อยด้วยความไม่ลังเลสงสัย มันปล่อยขาดออกไปเลย ความขาดอันนั้น นั่นน่ะ แล้วขาดออกไป ความเป็นจริงก็ต้องจริงทั้งหมดแล้ว

เพราะความที่มันไม่เป็นจริงคือพญามารมันยึดไว้ มันอุปาทานไว้ แล้วพอมันจริงมันก็ปล่อยหมด นี่กายเป็นกาย จิตเป็นจิต จริง ต่างอันต่างจริง นี่เวทนาก็เวทนาจริง สัญญาก็สัญญาจริง วิญญาณก็วิญญาณจริง สังขารก็สังขารจริง รูปก็รูปจริง ต่างอันต่างจริงไง นี่ความเป็นจริง ธรรมกับธรรมเข้ากัน ประเสริฐสุด ปล่อยหมด เห็นไหม สักกายทิฏฐิ ๒๐ มันหลุดไปเอง มันหลุดไปเองต่อเมื่อพญามารมันยอมแพ้ แพ้ธรรมราบคาบไป นั่นน่ะพญามารมันแพ้ธรรมออกไปแล้ว สังโยชน์มันขาดไปเองด้วยความเป็นจริง ไม่ใช่ขาดไปด้วยว่าเราอยากจะให้มันขาด

เราอยากให้ขาดไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่ามันอยู่ในส่วนลึก เห็นไหม พญามารมันอยู่ในส่วนลึก อยู่ในใจลึกๆ มันเป็นจิตใต้สำนึก มันเป็นอุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่น เราไม่สามารถล้วงลึกลงไปตรงนั้นได้ แต่เวลาขาดทำไมมันขาดได้ล่ะ? มันขาดได้เพราะว่าเราวิปัสสนา ธรรมนี่หมุนไปตามความเป็นจริง กองทัพมันหมุนไป กองทัพมันต่อสู้กับกิเลสด้วยตามความเป็นจริง แล้วพญามารมันแพ้ มันปล่อยเอง พญามารมันปล่อยไป มันปล่อยก็ปล่อยสังโยชน์นั่นล่ะ ความเป็นสังโยชน์ขาดตรงนั้นไง ขาดตรงที่พญามารมันปล่อย ไม่ใช่ขาดที่ว่าสังโยชน์มันจะขาดเอง...ไม่ใช่

ความเข้าไป วิปัสสนาเข้าไปต้องทำตรงนี้ ถึงไม่ใช่สุกเอาเผากิน ถ้าเป็นการสุกเอาเผากิน สักแต่ว่าทำ ใจไม่มีหลักเกณฑ์ก็วิปัสสนาไปๆ ไม่ตั้งมั่นไง ใจไม่ตั้งมั่น ด่วนวิปัสสนา ด่วนคิดค้น ด่วนค้นคว้า

อุปกิเลส ๑๖ จิตผ่องใส จิตเป็นโอภาส จิตดีมาก จิตเป็นนิพพาน...นี่ความลุ่มหลงของใจ ความลุ่มหลงของใจทำไมมันมีคุณค่าเหมือนกับความเป็นธรรมจริงล่ะ ความที่เป็นธรรมจริงนี่มันจริง มันอาจหาญ มันขาดออกไปจากใจ หลุดออกไป สังโยชน์ขาดออกไปจากใจ พ้นออกไปจากพญามารด้วยทัพหน้า เห็นไหม ยังมีทัพใหญ่ทัพหลวงต้องต่อสู้ต่อไป

นี่ไงขนาดเริ่มต้นมันยังต้องใช้ความแยบคายขนาดนี้ ใช้ความวิริยอุตสาหะ ใช้ความเพียรชอบขนาดนั้น นั่นน่ะความเพียรชอบขนาดนี้มันหมุนเข้าไปๆ นี่สังโยชน์มันขาด ขาดตรงนู้นออกไป นี่เพราะหมุนเข้าไปตรงนี้ๆ มารมันปล่อย พอมารมันปล่อย มันถึงไปขาด

แล้วที่มันไม่ปล่อย ที่มันวิปัสสนูปกิเลสล่ะ

วิปัสสนูปกิเลสมันเหมือนกัน มันเหมือนกันด้วยว่าเราจินตนาการของใจ ใจนี้มันถึงมหัศจรรย์มากไง ถ้าความเป็นจริงเข้ากันนะ ความเป็นจริงคือธรรมมันสมจริง ที่ว่ามันขาดสมจริง มันเป็นสมุจเฉทปหาน มันจริงแบบธรรม แต่ถ้าเป็นอุปกิเลส อุปกิเลสความจินตนาการของใจ มันจริงแบบเรา จริงแบบใจมันคิด มันจริงของมันอย่างนั้น แต่มันมีความลังเลอยู่ลึกๆ “หรือว่า มันน่าจะเป็นอย่างนั้น หรือมันควรจะเป็นอย่างนี้ มันควรจะเข้ากับอันนั้น มันควรจะเข้ากับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ว่าอย่างนั้น ธรรมจริงไม่ได้ว่าอย่างนั้นเลย แต่กิเลสมันว่า ความเป็นอุปกิเลส ฟังสิ กิเลสมันเป็นกิเลส อุปกิเลสคือมันละเอียดเข้าไป กิเลสอย่างละเอียดเข้าไป เห็นไหม นั่นน่ะถึงว่าไม่สนใจมัน

เราปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม เราเป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นลูกศิษย์ตถาคต ครูบาอาจารย์เอาชีวิตเข้าแลกมาตลอด เอาชีวิตเข้าแลกธรรม เอาชีวิตเข้าแลกกับความตายไง

ความตายของโลกมีแต่ตายแล้วตายเล่า ตายเกิดๆ ความตายของโลก ความตายของวัฏฏะ ความตายนี้ตายซ้อน ตายซับ ตายอยู่ตลอดเวลา แต่ความที่มันจะให้เห็นความตาย ให้เห็นกิเลสตายไง ถ้ากิเลสมันตายออกไปจากใจนี่ กิเลสมันตาย ใจเป็นอิสรเสรี พ้นจากความตาย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เห็นเกิด แก่ เจ็บ ตายเท่านี้ ยังมีปัญญาหาหนทางที่จะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นี่เหมือนกัน มันมีหนทางที่จะพ้นออกไปๆ จากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายได้ พ้นออกไปได้ด้วยหลักธรรมของเรา ด้วยใจตั้งมั่น ด้วยเปิดหัวใจขึ้นมาเป็นสนามรบให้เป็นกองทัพแรกนี้ต่อสู้ออกไปก่อน

กองทัพแรกนี้ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในกายเท่านั้นเอง ความยึดมั่นถือมั่นของใจเข้าไปข้างในอีก ความยึดมั่นถือมั่นของกิเลส นี่สงครามใหญ่ สงครามข้างหน้าเรายังมีอะไรอีกมากมาย สงครามที่เราต้องผจญเข้าไป เรายังต้องไสหัวใจของเรา ไสจิตที่ตั้งมั่นนี้ จิตที่มีคุณธรรมขึ้นมาจากการเห็นกายตามความเป็นจริง ปล่อยกายไว้เป็นตามความเป็นจริง นั่นน่ะมันตั้งมั่นยิ่งกว่าตั้งมั่น มันเป็นอจลศรัทธา

จากศรัทธาความเชื่อที่คมกล้าของธรรม เพราะเรายึดธรรมเป็นที่พึ่งที่ตาย เรายึดธรรมของครูบาอาจารย์ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตาย หนุนขึ้นมาให้เราเกิดวิปัสสนาญาณ จนเห็นจนทำสงครามกับพญามาร จนมันยอมแพ้ถอยทัพไป ถอยทัพไปปล่อยพื้นที่ของเราให้เป็นของเรา เห็นไหม นี่ดวงตาเห็นธรรม

ดวงตาเห็นธรรม คือเห็นมีพื้นที่ยืนในหัวใจ นี่เป็นอจลศรัทธา อจลศรัทธาคือใจที่ตั้งมั่น ที่ไม่คลอนแคลน ศรัทธานี้ยังคลอนแคลนอยู่ อันนี้มันตั้งมั่นแบบอกุปปธรรม อกุปปะคือการไม่เสื่อมจากตรงนี้อีกแล้ว จากตรงนี้สามารถก้าวเข้าเดินเข้าไปต่อกรกับพญามารได้ตลอดไป ได้ตลอดไป จากตรงนี้มาเป็นหลังอิง ธรรมของเรามีแล้ว ธรรมของผู้ที่ว่าเห็นโลกกับธรรมเป็นอันเดียวกัน แยกออกมาจากเริ่มต้น จนสร้างหลักสร้างฐานของใจขึ้นมา

จากความตั้งมั่นภายนอก จากหลักของใจ จากความตั้งมั่นของมัน เป็นหลักของธรรม ธรรมตั้งมั่นในหัวใจอยู่ส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งกองทัพยังต้องต่อสู้ออกไป นี่ไงคือว่าการกระทำของเราต้องมีความแยบคาย ไม่ใช่ลูบๆ คลำๆ ไม่ชิงสุกก่อนห่าม ต้องตั้งใจ มีสติสัมปชัญญะพร้อมในการที่จะใคร่ครวญใจของเราให้ได้ ใคร่ครวญในความเป็นใจของเรา ใจของเรากับพญามารที่มันอยู่ในใจของเราให้มันแยกออกจากกัน แยกออกจากกันตรงนั้น แล้วผลที่มันจะเป็นธรรมขึ้นมาตามความเป็นจริงนี้มันต้องให้ธรรมนี้ประสิทธิ์ประสาท “ธรรมสมควรแก่ธรรม” เหตุนี้สมควรแก่ผลแล้วมันจะประสิทธิ์ประสาทมาเป็นหลักตามเป็นจริง ถ้าหลักตามเป็นจริงเป็นปัจจุบันธรรม เป็นปัจจุบันธรรมนะ เป็นปัจจัตตัง

ปัจจัตตังอันนี้เกิดขึ้นมาในหัวใจ เป็นปัจจัตตังรู้จริงเห็นจริงไง ปัจจัตตังคือตัวนั้นไง เป็นอกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ถึงจะ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้วก็ยังเป็นไปตามแต่ผู้ที่ว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วปัจจัตตังอันนี้มันจะเกิดขึ้นกังวานในใจของผู้ที่ปฏิบัตินั้น เห็นไหม เป็นปัจจัตตัง คือรู้จริง เห็นจริง เห็นจากความเป็นจริงภายใน

มันถึงได้เป็นสมบัติของเราไง สมบัติของเราที่ว่า จากความตั้งมั่น จากหลักของใจจากภายนอก ภายนอกคือโลก หลักของใจจากโลกๆ นี่แหละ ต้องตั้งให้ได้ ถ้ามีตรงนี้ตั้งขึ้นมาได้ มันจะมีประโยชน์ขึ้นมา ถ้าหลักของใจตั้งขึ้นมา เห็นไหม ความเข้มแข็งของใจ ใจมีความเข้มแข็ง มันกัดเพชรขาดนะ ใจนี่กัดเพชรขาด ใจมีความมุมานะ มีความอุตสาหะ ความอุตสาหะก้าวเดินขึ้นไป จนตั้งมั่น

จากหลักของใจ คือสมาธิธรรม ตั้งมั่นจนสามารถชำระกิเลสระหว่างกายกับใจที่เห็นว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนมีดวงตาเห็นธรรมด้วยสมุจเฉทปหาน ให้หลัก ให้สังโยชน์ในสักกายทิฏฐิขาดออกไป ขาดออกไปจากตรงที่ว่าเกิดสงครามนั้น สงครามจนกว่าจะยอมพ่ายแพ้เข้าไป แล้วถึงจะเกิดผลมาตามหลัง ผลตามหลังอันนั้นมันถึงเป็นความจริง ความจริงที่ว่ามันจะเข้าสู่ใจดวงที่ปฏิบัติขึ้นมาสมตรงนี้ได้ครองไง ใจดวงนี้ได้ครองธรรมแล้ว ใจดวงนี้มีดวงตาเห็นธรรม มีหลักที่ตั้งมั่นที่เป็นที่พึ่งอาศัยของตัวได้จริงไง มันก็มีความสุขสิ

ความสุข ความร่มเย็นของใจ กับความเร่าร้อนตั้งแต่เราเริ่มประพฤติปฏิบัติมานี่ มันก็จะมาเทียบกัน ความสุข ความทุกข์ เห็นไหม ความทุกข์ที่เร่าร้อนมามันก็ทำให้เราพยายามผลักไส ให้เราก้าวเดินขึ้นมาจนถึงจุดนี้ได้ ย้อนกลับไปขึ้นมามันก็ภูมิใจในตัวนั้น ภูมิใจในผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น ผู้ที่ปฏิบัตินั้นมีแก่จิตแก่ใจจะประพฤติปฏิบัติต่อไป ความภูมิอกภูมิใจไง มันก็เป็นกำลังใจเสริม กองทัพที่จะยกต่อไปข้างหน้าก็ต้องยกต่อไปข้างหน้า นี่วิปัสสนาเข้าไปเรื่อยๆ

จากเห็นเหตุเห็นผลไง จากคนที่ล้มลุกคลุกคลานไง ล้มลุกคลุกคลานขึ้นมาขนาดไหน เลือดสาดมา นั่นเป็นทุกข์ ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติก็มี ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความเกิดขึ้นมา จากกิเลสพาเกิด คือชาติ ชาติปิ ทุกขานี้ก็มี อริยสัจบอกไว้อย่างนั้น ทุกข์นี้เป็นหลักความเป็นจริง ทุกข์เป็นความจริงขึ้นมา ที่ต้องมีอยู่โดยธรรมชาติอยู่แล้ว เราก็ต้องเอาทุกข์นี้มาสร้างเป็นประโยชน์ขึ้นมาเพื่อจะให้เราพ้นจากทุกข์ออกไปให้ได้

พ้นจากทุกข์ คือความเห็นอันนี้มันก็พ้นออกไปมหาศาล มีความร่มเย็นของใจ แต่ทุกข์ของใจล่ะ ทุกข์ของอวิชชาที่มันปักเสียบอยู่กลางหัวใจนั่นน่ะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั่นคือตัวพญามาร มันก็ต้องถึงที่สุดได้ด้วยการก้าวเดินไป ด้วยการยกทัพเข้าไป

หลักของใจมีแล้ว สะสมให้กองทัพธรรมเกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติเราได้ แล้วการก้าวเดิน ก้าวเดินเป็นแล้ว เราก้าวเดินเป็นนี่ สงครามใหญ่ นี่สงครามย่อย แล้วจะมีสงครามระหว่างกายกับจิต สงครามระหว่างกามราคะ สงครามนี้เป็นสงครามใหญ่มาก ทำลายสงครามใหญ่ ทำลายสงครามโลก สงครามโลกเป็นสงครามใหญ่ สงครามกามราคะนี้เป็นสงครามใหญ่ เพราะมันเป็นสงครามทำให้เกิดให้ตาย

ธรรมดาสงครามใหญ่นี้ราบไปแล้ว นี้ทำลายถึงจุดของพญามาร พญามารนี้เป็นผู้บงการสงครามทั้งหมด ต้องทำลายพญามารนั้นอีก เห็นไหม การทำลายพญามารนั้นน่ะเป็นสงครามที่ละเอียดอ่อนมาก ระหว่างวิชชากับอวิชชาต่อสู้กันอยู่ภายใน ถึงว่าสงครามยังเกิดขึ้นอีก นี่สงครามเล็กๆ สงครามเล็กๆ เรายังต้องล้มลุกคลุกคลานกันขนาดนี้ ถึงว่าต้องไม่สุกเอาเผากิน ต้องมีความละเอียดรอบคอบ ต้องตั้งสติสัมปชัญญะให้ดี อันนี้ถึงว่าเป็นทางก้าวเดินของพวกผู้ปฏิบัติเรา

ผู้ที่ปฏิบัติเรา ถึงว่าให้เสริมกำลังใจเข้ามา ให้ยึดไว้นะ ยึดธรรมไว้ ยึดธรรมเป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตายไง ยึดธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตาย ถ้าพึ่งเป็นพึ่งตายได้ พึ่งเป็นพึ่งตายเพราะว่าอะไร เพราะว่าถ้าไม่ยึดนี้กิเลสมันครอบงำ กิเลสมันหัวเราะเยาะอยู่แล้ว กิเลสมันไม่ต้องยึด มันนั่งอยู่บนหัวอยู่แล้ว มันไม่ได้ยึดของใครเลย มันเกิดมาเพราะมันพาเกิด กิเลสพาคนเกิดมา มันเป็นเนื้อเดียวกันกับใจ แต่ธรรมนี่เราต้องพยายามแสวงหามา ต้องเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม มันยาก มันยากตรงนี้

มันยากว่า อันหนึ่งมันอยู่ภายใน ธรรมนี้มันอยู่ภายนอกทีแรก แต่ถ้าพอธรรมเสร็จขึ้นมาแล้วนี่ธรรมมันก็แย่งเบียดกิเลสตกไป ธรรมมันก็อยู่กลางหัวใจนั่นน่ะ กลางหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสมควรแก่ธรรม มันก็จะเป็นธรรมขึ้นมาจากกลางหัวใจนั้น ถึงว่าเป็นธรรมที่ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ถึงว่าธรรมนี้มีอยู่เป็นอกาลิโกเหมือนกัน ธรรมนี้เป็นอกาลิโก มีอยู่ตลอดเวลา ของนี้มีอยู่ดั้งเดิม แต่เพราะความมืดบอดของการเกิดการตายนี้ต่างหากล่ะ

แล้วถึงเวลามีวาสนาขึ้นมา เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พบธรรมไง ถ้าเกิดมาไม่พบพระพุทธศาสนา ไม่พบธรรม แล้วจะเอาอะไรไปสู้กับกิเลสล่ะ? ไม่มี พอไม่มีก็ทุกข์ไปอย่างนั้น ทุกข์ไปสักแต่ว่าทุกข์ เห็นไหม ภัทรกัป ไม่มีพุทธศาสนา

เราเกิดมาถึงว่าเรามีศาสนานะ แล้วยังเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ตั้งใจจะออก ผู้ที่ตั้งใจก้าวเดิน ผู้ที่ตั้งใจก้าวเดินผู้นั้น ผู้ใด ถึงว่าไม่มีชื่อ ถ้ามีชื่อมันก็มีกาลมีเวลา คนนั้นๆ พระองค์นั้น ครูบาอาจารย์นั้น มีกาล มีเวลา มีช่วงหนึ่งๆ ของกาลของเวลานั้น โลกนี้เป็นของเก่าแก่ โลกนี้มีอยู่ดั้งเดิม เรามาเกิดแค่ ๑๐๐ ปีต้องตายไป นี่ช่วง ๑๐๐ ปีของใครเท่านั้นเอง

ถึงว่า “ผู้ใด” ไง ไม่ใช่ผู้นั้น แต่ผู้ที่ก้าวเดินพ้นจากจบสิ้นไปแล้ว อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม สมณโคดมนี้เป็นชื่อ พระสารีบุตรนี้เป็นชื่อของผู้นั้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมของพระสารีบุตร ธรรมของหลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นเป็นผู้ที่ค้นคว้า เป็นผู้ที่พยายามบรรยายธรรมอันนี้ออกมา เราถึงได้สัมผัสกันไง ถ้าหลวงปู่มั่นไม่มาค้นคว้า ไม่มาแนะนำ เราจะไปฟังธรรมกันจากไหน เราก็ฟังธรรมเป็นปริยัติน่ะสิ เราก็ฟังธรรมในตัวหนังสือ ฟังธรรมในหนังสือแล้วก็ง่วงเหงาหาวนอน ไม่ผ่องใส

ฟังธรรมในการประพฤติปฏิบัติ ฟังธรรมในภาคปฏิบัติ ธรรมในภาคปฏิบัติมันออกมาจากหลักความจริง แต่ใจที่เป็นปลอมๆ อยู่นี่ ถ้าฟังในปริยัติ ถ้าใจโลกๆ มันก็ฟังแล้วชื่นใจ เข้ากับโลกๆ ได้หมดเลย แต่ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าฟังธรรมจากภาคปฏิบัติ มันต้องมีหลักของใจอยู่ มันต้องมีพื้นฐานของใจ มันถึงได้ฟังธรรมออกนี้ก็ควรจะพอใจแล้ว ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออก ฟังธรรมภาคปฏิบัติออก คือใจมันก็พร้อมที่จะเข้าหาหลักแล้ว