ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะศรัทธาเช้า

๑o ม.ค. ๒๕๕๒

 

คณะศรัทธาเช้า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต


ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาฟังซีดีไปน่ะ เขาฟังซีดีไปแล้วเขาก็มาถามว่า หลวงพ่อนี่บอกว่าหลวงปู่เจี๊ยะยังโกรธอยู่ แล้วพระอรหันต์โกรธได้อย่างไรล่ะ อ้าว พระอรหันต์โกรธได้อย่างไร เราบอกอ้าวมันก็เป็นสมมุติ เราไม่ใช่บอกว่าหลวงปู่เจี๊ยะโกรธนะ แต่เราบอกว่าเวลาท่านแสดงกิริยาอย่างนั้นมันเหมือนโกรธไง พอมันเหมือนโกรธ เวลาเราพูดเราบอกว่าท่านไม่โกรธ ถ้าเราบอกท่านไม่โกรธปั๊บคนที่อยู่ด้วยกันก็เห็น ว่าท่านรุนแรง แล้วว่าไม่โกรธยังไง

ถ้าบอกไม่โกรธแล้วทำไมกิริยาเป็นอย่างนั้นล่ะ เราบอกว่า ทีนี้สมมุติท่านเป็นอย่างนั้นใช่ไหม เราก็บอกว่านี่ จริงๆ แล้ว พระอรหันต์ไม่มีโกรธหรอก แต่กิริยานี่เหมือน เรายกตัวอย่างเหมือนหลวงปู่มั่นนี่ หลวงตาบอกสมัยหลวงปู่มั่นนะ เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์นี่ โอ้โฮ ออกนะหมดเลย นี่กระโถนน่ะปัดกระโถนปิ๊งกระเด็นเลยนะ พอกระเด็นไปนี่ ท่านยังเอาเหตุนั้น มาเป็นมุกขึ้นมาอัดพระอีกนะ

โอ้ นี่เทศน์จนกระโถนปลิวเลย กระโถนมันยังปลิวเลย แล้วกิเลสพระปลิวหรือเปล่าล่ะ เห็นไหม ท่านยังย้อนกลับ เราจะบอกว่ากิริยาไง กิริยาภายใน กิริยาอย่างนี้ สอุปาทิเสสนิพพานไง พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ กับ อนุปาทิเสสนิพพาน เห็นไหม สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ กิริยาไง

อย่างพระสารีบุตร ยังกระโดดข้ามคลอง แล้วบอกว่าพระอรหันต์นะแก้นิสัยไม่ได้ สันดานน่ะ ว่าสันดานนี่เป็นกิเลสไหม สันดานคือความเคยชิน สันดานกับกิเลสคนละตัวนะ สันดานกับความชอบ ความชอบเป็นกิเลสเราชอบสิ่งใด แต่สันดานคือความเคยชิน ความเคยชินคือนิสัยอันนี้แก้ไม่ได้ แต่กิเลสนะ สันดานคือความเคยชินใช่ไหม เราเคยทำอย่างนี้ โกรธอย่างนี้ แต่เวลาเราแสดงอย่างนี้โดยที่เราไม่ได้โกรธ มันก็พูดออกมามันก็เป็นอย่างนี้ นี่ไงมันไม่ใช่โกรธ แต่กิริยามันเหมือนโกรธ

ถ้าบอกเขาไม่โกรธไปนี่ พูดไปมันก็เหมือนเรายกย่องครูบาอาจารย์เราใช่ไหม เราก็บอกว่าบางทีนี่เวลาเราอยู่กับท่าน เวลาท่านตีแป๊ง แป๊งๆ เรียกใครไม่ทันใจนะ เอาขวดน้ำแดงขึ้นมาเลยซัดเลย แป๊ง แป๊งๆ ตีใหญ่เลย ต้องวิ่งเลยนะ ต้องมาให้ทัน ถ้าไม่ทันนะ โดน แล้วโกรธไหมน่ะ โกรธไหม

มันเหมือนโกรธนะแต่มันไม่ได้โกรธ พวกเรากลับขำนะ พวกเราเวลาไปแล้ว เหมือนพ่อแม่ เวลาท่านทำกิริยาอย่างไร ไปแล้ว คืออยากสนองตอบท่านนั่นแหละ แต่เวลาไปแล้วท่านก็แสดงออกก็มานั่งหัวเราะกัน จนบางทีพระสนิทนะ พระสนิทนี่ เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านขึ้นเสียงดังนะ หลวงปู่ หลวงปู่อย่าเสียงดังสิ ผมกลัว ผมกลัว ท่านบอกเลยนะ หลวงปู่อย่าเสียงดังสิ คือมันรักเคารพใช่ไหม หลวงปู่อย่าเสียงดังสิ ผมกลัวนะ ผมกลัว

แล้วเราก็ถามเขาว่าไปฟังในไหนล่ะ ในซีดีเรานี่แหละเวลาเราแจกไป มันติดซีดีไป พอมันติดซีดีไปนี่ เขาก็มาถาม บอกว่าทำไมเราเคารพว่าหลวงปู่เจี๊ยะนี่ เป็นพระอรหันต์ แล้วทำไมเราบอกว่าหลวงปู่เจี๊ยะยังโกรธอยู่ล่ะ เราบอกสมมุติมันเป็นอย่างนี้นะ เราพูดถึงถ้าเราบอกมันไม่โกรธเลยหรือมันอะไร เรารู้กันในความเห็นเป็นรู้เรา แต่กิริยามันเป็นอย่างนั้น แล้วเหมือนท่อ ท่อน้ำนี่เห็นไหม น้ำมันไหลมาถ้ามันแรงไป มันก็เป็นประโยชน์ใช่ไหม แต่ถ้ามันไม่แรงไป ถ้าเราไปดัดแปลงมัน มันก็ไม่ไหลไปตามความแรงอัดของธรรม

นี่พูดไปเรื่อย เขายังติดใจอยู่ ติดใจเรื่องนี้ เรื่องศีลข้อที่ ๓ ว่าถ้าผิดลูกผิดเมียเขาจะต้องไปเกิดเป็นเพศตรงข้าม แล้วเขายังติดใจนะ เขาตั้งใจมาเถียงเลยว่า ถ้าจิตมันตายไปแล้วเห็นไหม เราบอกว่านี่ เวลาจิตตายไปนี่มันเป็นกรรม มันมีสาแหรก สาแหรกของกรรม พระอานนท์เป็นผู้หญิงมาก่อนแล้วปรารถนาเป็นผู้ชายมาตั้ง ๕๐๐ ชาติ ขณะ ๕๐๐ ชาติใจมันปรารถนาไปแล้ว แต่ตัวมันยังไม่ไปนี่ เห็นไหม มันถึงเป็นบัณเฑาะก์

ในสมัยพุทธกาลก็มี บัณเฑาะก์ห้ามบวชไง พวกกึ่งกลางนี่ห้ามบวช เพราะบวชขึ้นมาแล้ว มันทำให้ศีลในหมู่สงฆ์ไม่สะอาดบริสุทธิ์เห็นไหม เนี่ย มี! ในพระไตรปิฎกก็มี พระไตรปิฎกเรานี่ ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ โลกนี้เป็นร้อยกว่าล้านปีนะ ซากฟอสซิล เขาพิสูจน์ได้ ไดโนเสาร์นี่ ๑๕๐ ล้านปี

ถ้าคิดอย่างนี้ปั๊บโลกนี้มันสะสมมา เมื่อก่อนมนุษย์เกิดเป็นมนุษย์ พวกหมอก็มาถามบอกแล้วฟอสซิลของมนุษย์ไม่มีเลย แล้วตอนหลังเขาไปเจอที่ออสเตรเลีย ฟอสซิลมนุษย์นะเจอ หลายล้านปีอยู่ สิ่งนี้มันมีอยู่แล้ว มนุษย์ก็คือมนุษย์นี่แหละ ทีนี้ มนุษย์เราเผากันไปอย่างนั้น นี่ซากฟอสซิลมันมี ทีนี้สิ่งนี้พอมันมีอยู่ พอมันมีอยู่นี่ ๒,๐๐๐ กว่าปีเอง ทีนี้ ๒,๐๐๐ กว่าปี เขาก็เปรียบเหมือนจิตนี่ จิต เขาพูดเองนะเขาเตรียมตัวมาดี

เขาเตรียมตัวมาดีมาก บอกจิตนี่มันเหมือนกับมนุษย์ ทีนี้ถ้าเราเป็นมนุษย์ใช่ไหม เรามีรถหลายคัน สมมุติเรามีรถ ๒ คัน รถคันหนึ่งเป็นผู้หญิง รถคันหนึ่งเป็นผู้ชาย เราขึ้นคันไหนก็ต้องเป็นคันนั้นใช่ไหม ถ้าจิตนี่มันอยากเกิดเป็นผู้หญิงมันก็ขึ้นรถผู้หญิง ถ้าจิตมันอยากเป็นผู้ชายมันก็ขึ้นรถผู้ชาย เราบอกเอ็งคิดอย่างนี้ ถูก เอ็งคิดได้ แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนี้หรอก ความจริงไม่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์นะ เอ็งไม่เข้าใจเรื่องสถานะของวัฏฏะ มนุษย์สมบัติมันดีตรงนี้ไง มนุษย์สมบัติมันออกมาแล้วมันภพกลาง

มนุษย์สมบัตินี่ทำดีก็ได้ทำชั่วก็ได้ มนุษย์เป็นอิสระนะ จะเลือกทำอะไรก็ได้ แต่เวลาเกิดเป็นเทวดา เทวดาของเขามันเสวยชาติของเขาเลย อย่างนรกอเวจีก็เสวยชาติของเขาเลย ทีนี้พอเป็นมนุษย์มันมีคนคุมใช่ไหม เราบอกว่าอย่างผีนี่ อย่างผีเขาก็มียมบาล มีพวกนี้นะ พัสดีควบคุมเหมือนนักโทษ เขาบอกถ้าอย่างนั้นเป็นนักโทษมันก็หนีได้ คือ เขาจะบอกว่าอย่างไรก็เปลี่ยนเพศได้ เราบอกเปลี่ยนเพศได้มันก็เปลี่ยนเพศได้จริงๆ

เปลี่ยนเพศนี้ได้นะ ผู้หญิงผู้ชายกลับเพศได้ แต่ด้วยแรงปรารถนา ด้วยแรงปรารถนา แล้วเราปรารถนาไปมันจะกลับเพศได้ ระหว่างหญิงเป็นชาย ชายเป็นหญิงได้ แต่มันต้องปรับไปอย่างนี้ แล้วมันก็มีเวรมีกรรมไปอย่างนี้ สร้างคุณงามความดีของมันไป แต่จะมาเพราะตัวผิดศีลข้อที่ ๓ ผิดศีลข้อที่ ๓ มันก็โทษหนักนะ คือกรรมหนักอยู่

ศีลข้อที่ ๓ มีผลมาก ผลมากเพราะถ้าเราผิดศีลข้อที่ ๓ นี่นะ เราก็คิดกันเฉพาะเรา ๒ คนผู้ที่ผิดศีล ระหว่างหญิงกับชาย คู่ที่ทำผิดศีล แต่เราไม่คิดถึงพ่อแม่เขาล่ะ ไม่คิดถึงชาติตระกูลเขาล่ะ ถ้าเราไปทำแล้วมันเสียชาติตระกูลเขาใช่ไหม กรรมมันให้ผลอย่างนั้นไง คือมันสะเทือนหัวใจคนหลายดวง ว่าอย่างนั้นเถอะ มันสะเทือนมาก ผลก็ต้องให้มาก แต่ถ้าเราผิด ส่วนตัวเรานี่ มันก็กรรมของเราส่วนตัวนะ

แล้วถ้ากรรมหนักกรรมเบานะมันก็เรื่องส่วนตัวของเราอีกทีต่างหาก เห็นไหม เป็นอาบัติ เวลาพระนี่เป็นอาบัติส่วนตัว กับสภาคาบัติ เป็นอาบัติโดยรวม สภาคาบัติคือเราทำผิดด้วยกันทั้งหมด ปลงอาบัติไม่หลุด อาบัติปลงไม่ตก ต้องไปปลงอาบัติกับพระที่อื่น แล้วค่อยมาปลงอาบัติในกลุ่มเราเอง เขาเรียกสภาคาบัติทำผิดร่วมกันนี่ปลงอาบัติไม่ได้ ถ้าผิดส่วนตัวเราผิดคนเดียว เราปลงอาบัติกับใครก็ได้

นี่ความผิดก็เหมือนกัน กรรมก็เหมือนกัน ทีนี้พอกรรมเหมือนกันอย่างนี้ปั๊บ สิ่งที่เราทำผิดมันเป็นความผิด ไม่ใช่ว่าผิดศีลข้อที่ ๓ แล้วลอยตัว ผิดศีลข้อที่ ๓ แล้วขาวสะอาดไม่ใช่ ผิดศีลข้อที่ ๓ มีกรรมมาก แต่กรรมมันก็กรรมตามสิ่งที่ทำผิด เพราะคนทำผิดเห็นไหม อย่างเช่น เราผิดศีลข้อที่ ๓ แต่เราทำผิดเฉพาะตัวเราเอง ใช่ไหม เฉพาะตัวเราเองหมายถึงว่า เราทำผิดกันแล้วเราไม่ทำให้เดือดร้อนจนถึงพ่อแม่เขาไง กรรมมันก็น้อยลงหน่อยใช่ไหม

เราทำผิดศีลข้อที่ ๓ ไปทำเขาจนเสียหายแล้วเราไม่รับผิดชอบ เขาย่อมกลับไปบ้านเขา พอกลับไปบ้านเขาทางครอบครัวเขานี่เสียหายหมดเลยอย่างนี้ เห็นไหม กรรมหนักขึ้นไหม นี่กรรมมันอยู่ที่การกระทำนะ ผลมากผลน้อยเราทำมากทำน้อยนะ เหตุเท่าไรผลก็ให้มากเท่านั้นล่ะ ไม่ใช่ว่าเราผิดศีลข้อที่ ๓ แล้วเราจะไปเกิดเป็นผู้หญิงผู้ชาย กูว่ามึงก็ซื่อบื้อฉิบหายเลย

ถามว่าใครบอกมึงวะ ใครบอกมึง แล้วมันเป็นภาพไหม กับทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริงๆ ทำผิดก็คือทำผิด ทำถูกก็คือทำถูก แต่ไม่ใช่เจาะจงเพราะอย่างนี้ ไอ้นี่อย่างนี้มันเจาะจงตายตัวสิ เจาะจงตายตัวอย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ โอ้ ตั้งหลักมาดีมากนะ เถียงทุกข้อเลยล่ะ เราบอกมันเป็นความเห็นของเขานะ เพราะเขาเป็นหมอกันนะ เพราะเขาเป็นหมอเขาคิดได้ใช่ไหม ปัญญาเขาดีมาก ทีนี้พอปัญญาเขาดีมาก เขาคิดโดยวิทยาศาสตร์ไง เขาบอกใช่เขาคิดโดยวิทยาศาสตร์ ก็วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้วิทยาศาสตร์ กูบอกว่ามึงผิดตรงนี้ ผิดตรงมึงคิดเป็นวิทยาศาสตร์นี่ เพราะวิทยาศาสตร์มันตายตัวไง

อย่างเช่นผิดศีล เห็นไหม ผิดศีลข้อที่ ๓ พอผิดศีล เราไปผิดศีลใช่ไหม แล้วก็ต้องเกิดเป็นเพศตรงข้าม คิดเป็นวิทยาศาสตร์ไง บอกมึงคิดเป็นวิทยาศาสตร์ได้ เพราะมึงเป็นมนุษย์นี่ไง แต่ถ้ามึงเกิดเป็นเทวดาวิทยาศาสตร์เขาลึกกว่ามึงอีก ถ้าไปเกิดเป็นนรกอเวจีเขาคิดอย่างนี้ไหม เราไม่มีสิทธิ์คิดไง เอ็งคิดเป็นวิทยาศาสตร์ได้เพราะเอ็งเป็นมนุษย์ แล้วเอ็งมีลมหายใจอยู่เอ็งถึงคิดเป็นวิทยาศาสตร์ได้ แต่ถ้าลมหายใจเอ็งขาดตูม! มันเป็นไปตามกรรม วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ แต่ตอนนี้ มันคิดในสถานะของมนุษย์นี่ไง มนุษย์ที่ยังมีลมหายใจนะ

หลวงตาพูดบ่อยลมหายใจขาดปั๊บ มึงจะรู้เลยว่ามึงไปไหน แล้วมึงจะรู้เลยว่ามึงจะได้รับผลอะไร แต่ตอนนี้เพราะยังมีลมหายใจอยู่ไง มันถึงได้รักษาสถานะของมนุษย์นี้อยู่ไง นี่ไงมนุษย์เป็นภพอิสระไง เวลาเราพูดเห็นไหม มนุษย์เกิดมาแล้วทุกข์นี่ไง มันบั่นทอนจิตใจตัวเองไง เรานี่บั่นทอนจิตใจตัวเองนะ นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ดี นู่นๆ บั่นทอนจิตใจ นี่มัน เราไปบั่นทอนเราเองนะ

กิเลสตัณหาเราบั่นทอนสถานะของเราเอง แต่ไม่เข้าใจเลยว่าสถานะของมนุษย์นี่มีค่าขนาดไหน ถ้าไม่มีสถานะของมนุษย์นะ เพราะอะไร พูดอย่างนี้ปั๊บนะ เราก็มี พูดถึงถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ สะเทือนใจแล้วนะ แล้วเราตั้งใจได้แล้ว เราจะให้เราประพฤติปฏิบัติ เราจะพ้นจากทุกข์นี่ เราเกิดมามีทุกข์ แล้วเราพ้นจากทุกข์ได้ ซึ่งข้ามพ้นจากทุกข์ได้ ถึงซึ่งนิพพานได้นี่ มันพูดได้ มันเข้าใจได้ แล้วมันแสวงหาได้

แต่ถ้าไปภพอื่นมันไม่เป็นอย่างนี้ เพราะภพอื่นนะ มันสื่อกัน เทวดาเขาคุยกันอย่างไร เทวดาเขาคุยกัน ดูสิเทวดา หนังสารคดีไง โอย สร้างนะ เทวดาเอาก้อนเมฆมาลอยนะ แล้วเทวดาก็เสด็จพี่เสด็จน้อง กูว่ามึงจะบ้า นี่มันลิเก ดูทีวีเห็นหนังสารคดีไง เวลาเทวดา เพราะเขาจะทำหนังใช่ไหม เขาก็ศึกษาพระไตรปิฎก แล้วก็เขียนบท แล้วเขาก็สร้างภาพ แล้วมันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า มันเป็นอย่างที่มึงทำจริงหรือเปล่า มันคล้ายอยู่ มันคล้ายอยู่ เพราะว่ามันมีที่มาจากพระไตรปิฎก

แต่ถ้าเป็นความจริง ภาษาเทวดา ภาษาพรหม เขาคุยกันด้วยภาษาใจ ฉะนั้น เวลาเทวดามาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นเห็นไหม หลวงปู่มั่นเข้าสมาธิเลย พอเข้าสมาธิปั๊บ ถึงเวลาแล้วก็ออกรับเทวดา บางทีนี่ ออกไปแล้วยังไม่มา กลับเข้ามาอีก แล้วพอกลับเข้ามาแล้ว เวลาเทวดามาออกมารับเทวดา เทวดาอยากฟังเทศน์อะไร อยากฟังเทศน์บทไหน อ้าว เทวดาก็นึกมาเลย ว่าอยากฟังเทศน์บทนั้นๆ

บทนั้นคืออย่างเช่น อย่างเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน มันมีบทสวด เห็นไหม บทไหน เรื่องอะไร มันเป็นภาษาใจ ภาษาใจไม่ใช่เสด็จพี่เสด็จน้องหรอก ไอ้นี่ภาษาปาก กูเห็นแล้วก็ขำ เออ แต่มันก็ดีอยู่ ดีที่มาสร้างให้เห็น มันเป็นศาสนสัมพันธ์ใช่ไหม ให้คนเห็นว่า เออ ภพเทวดามันก็มี

นี่เราถึงบอกว่าเอ็งคิดเอาเอง วิทยาศาสตร์ไง คือเราถ้าวิทยาศาสตร์นะ เราก็คิดว่าเราเป็นมนุษย์ใช่ไหม เทวดาอินทร์พรหมหรือเปรตผี เขาก็มีความคิดเหมือนเรา มีสถานะเหมือนเรานะ มันไม่ใช่ สถานะของมนุษย์ เห็นไหม เรามีกายกับใจ สถานะของเทวดาเขามีกายทิพย์ เขาไม่มีร่างกายนะ เขาไม่มีสิ่งที่จับต้องได้อย่างนี้ เขามีเป็นนามธรรม โอปปาติกะ นี่ไง เทพ

โอปปาติกะคือเกิดเป็นเทวดาเลย เกิดมาก็นั่งอยู่นี่ เกิดมาเป็นผู้ใหญ่เลย เกิดมาปั๊บนี่โอปปาติกะ เกิดโดยโอปปาติกะ เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในน้ำคร่ำ การเราเกิด เราเกิดในไข่ใช่ไหม ต้องเจริญเติบโต ต้องมีการพัฒนาการ แล้วพอเราพัฒนาการมีอะไรพัฒนาการอะไร นี่ไง รูปกายนี่ไง รูปกายนี่หลายหลาก พิจารณากาย มันมาจากไหน มันมาจากเวรจากกรรมของแต่ละบุคคล

นี่ไง รูปสมบัติ รูปสมบัตินี้มันมาจากบุญกุศลนะ พ่อแม่คนไหนบ้างที่ไม่ต้องการให้ลูกเราเกิดมาแล้วสวยงาม ให้ลูกเราเกิดมาแล้วสุดยอดเลย แล้วทำไมมันเป็นอย่างนี้ มันเกิดมาโดยกรรม นี่รูปสมบัติ นี่ก็มาโดยบุญกุศล แล้วพอเกิดมาแล้วมีรูปสมบัติ มันมีพัฒนาการของมันแต่มันมีจิตอยู่ในนั้นไง แต่โอปปาติกะไม่ต้อง โอปปาติกะปั๊บ เกิดเลย เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในน้ำคร่ำ เกิดโดยโอปปาติกะ การกำเนิด ๔

อาหาร ๔ กวฬิงการาหาร วิญญาณาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร อาหารในวัฏฏะ นี้คิดโดยวิทยาศาสตร์ใช่ไหม พอคิดโดยวิทยาศาสตร์ปั๊บ มันถึงว่าเพราะเรายึดเราใช่ไหม พระไตรปิฎกไม่ผิด เราน่ะผิด เราผิดเพราะพระไตรปิฎกท่านพูดถึงวิธีการให้เราพ้นจากกิเลส แต่เพราะเราศึกษามา เราตั้งใจมาเราถึงทำอย่างนี้ของเรา เราตั้งใจของเรา เราคิดว่ามันเป็นความถูกต้องของเรา นี่ไงแล้วถูกต้องไม่ถูกต้องธรรมดาด้วยนะ ถูกต้องแล้วยังเอาความเห็นของตัวนะ ก็มันเป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ ก็มันผิดตรงวิทยาศาสตร์นี่แหละ แต่วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ธรรม เป็นทฤษฎีไง

ธรรมะเห็นไหม ธรรมะนะ สุตตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาขึ้นมา มันรู้จริงขึ้นมา มันถึงเป็นความจริง นี่พอพูดอย่างนั้น อธิบายน่ะ เราเข้าใจนะ แต่เขาเข้าใจได้ยาก เพราะอะไร ยากเพราะว่าเหมือนเราอนุบาลเราไปเรียนมากับใคร นี่คือว่าเขาไปฟังอาจารย์เขาก่อนไงแล้วเขาไปยึดตรงนี้ ยึดว่ามันเป็นความจริง แล้วพอยึดความจริงแล้วนี่มันเคารพใช่ไหม เราเคารพของเรา เราก็พอใจของเรา แล้วมาเจอเรา เราปฏิเสธนี่ มันก็ต้องเลือก ไอ้อย่างนี้มันเหมือนทฤษฎี

สีขาวเขียนลงไปแล้วเป็นสีขาว สีดำเขียนลงไปแล้วเป็นสีดำ แต่ถ้าเขียนลงไปแล้วมันอยู่ที่ภาชนะที่เราเขียนด้วย ภาชนะที่เราเขียนมันเป็นสีอะไร ถ้าคิดอย่างนี้ปั๊บ พอพูดถึงเรื่องอย่างนี้ปั๊บ พอพูดถึงเรื่อง เรื่องสัตว์ เรื่องความเป็นไป ทำไมสัตว์มันต้องกินกัน ทำไมสัตว์มันต้องทำลายกัน คิดแบบวิทยาศาสตร์หมดไง ทำไมสัตว์มันต้องกินกัน สัตว์นี่ทำไมมันต้องกินกัน เราบอกว่าสัตว์ที่มันกินกันมันก็อยู่ที่ชาติกำเนิดนะ

อ้าว ทำไมควายมันไม่กินใครล่ะ พวกควายพวกวัวนี่มันกินหญ้านะ อ้าว พวกเสือ พวกสัตว์กินเนื้อ ถ้าสัตว์กินเนื้อมันก็เรื่องของสัตว์กินเนื้อ ถ้าสัตว์กินเนื้อมันก็คืออาหารของเขา มันก็กรรมของเขา ระหว่างสัตว์ที่มาเป็นเหยื่อนี่ สัตว์ที่เป็นเหยื่อมันก็เคยเกิดมามันก็กินกันมา เพราะในพระไตรปิฎกมีนะ มีพวกอะไรนะ ค้างคาวกับไก่ ที่ว่าผลัดกันกินน่ะ มันก็มี คือเราทำกรรมมา มันก็เลยมาเกิดเป็นสัตว์ที่เป็นเหยื่อ แต่สัตว์ที่เป็นเหยื่อนี่ ถ้ามันให้อภัยกันมันก็เป็นไปได้

พระพุทธเจ้าถึงสอนเรื่องกรรมไง การเวียนไปของกรรม เพราะเราเป็นฝ่ายที่เราโดนทำลายมา เวลาเราไปเกิด มันด้วยความอาฆาตแค้นเห็นไหม ก็เลยไปเกิดเป็นเสือ เป็นสิ่งที่มันก็ไปกินเขา คือกรรมมันให้ผล ทีนี้กรรมให้ผล มันเป็นวาระของสัตว์ใช่ไหม ดูสิอย่างนี้ อย่างเช่นพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ก็ไปเกิดเป็นกวาง เกิดเป็นสัตว์เยอะแยะไป พอเกิดเป็นสัตว์แล้วก็ช่วยเหลือกันเห็นไหม เป็นหัวหน้า สร้างสมบารมี ทีนี้สัตว์มันก็ทำคุณงามความดีได้ไง เราไปคิดแต่ว่าถ้าอย่างนั้นปั๊บ

เราก็คิดเป็นวิทยาศาสตร์อีกล่ะ ก็คิดว่าเราเกิดเป็นสัตว์ เป็นเสือ เราก็เป็นเสือชาตินี้เหรอ แล้วกูเกิดเป็นเสือชาตินี้ แต่ชาติที่แล้วกูเกิดเป็นกระต่ายโดนเสือตัวอื่นกิน กูก็กลับมาเกิดเป็นเสือในชาตินี้ ด้วยแรงอาฆาต ด้วยแรงอาฆาตเพราะกรรมของเขา ไม่ใช่ว่าเราเกิดเป็นเสือชาตินี้คือเราเป็นเสือมาแล้ว คือมันเกิดมาจากผ้าขาวไง ทุกคนมาแบบต้นทุนเท่ากัน ไม่ใช่ ต้นทุนของคนแต่ละคนมันไม่เท่ากัน

พอต้นทุนไม่เท่ากัน กรรมมันไม่เท่ากัน กรรมมันก็พัดไปตามอำนาจของกรรม ทีนี้ถ้าอำนาจของกรรมแล้ว เราบวชเรามาพบพระพุทธศาสนานี่เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าเราเชื่อขึ้นมานี่มันก็เหมือนกับ พอเราเชื่อปั๊บ เราก็ต้องอโหสิไง คือ ในชาติปัจจุบันถ้าเราเกิดเป็นเสือ เราเป็นสัตว์กินเนื้อ เราก็ต้องกินเนื้อเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราอโหสิกรรมเห็นไหม ถ้าเราอโหสิกรรม เราไม่กินด้วยความอาฆาตมาดร้าย เราหาเนื้อที่ ประสาเราเนื้อที่ไม่ฆ่าก็ได้

ถ้าสัตว์มันคิดได้ สัตว์คิดได้ สัตว์ที่ดี มันก็เปลี่ยนแปลงได้ เพราะสัตว์ก็คิดได้นะ สัตว์ก็มีปัญญา ไม่ใช่ว่าจะมนุษย์เท่านั้นที่มีปัญญาเราเท่านั้นที่จะคิดได้ คนอื่นก็คิดได้ มันต้องมีที่มา เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง มีเท่านี้ไง คือชาตินี้ชาติปัจจุบันมีเท่านี้ไม่รู้ที่มา แต่ในธรรมนี่สิ โธ่ พระพุทธเจ้านะ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย กว่าจะเป็นพระพุทธเจ้ามานี่ ลงทุนมาเท่าไร

อย่างขิปปาภิญญานี่ เวลาปฏิบัติ ทุกคนบอกอยากปฏิบัติง่ายๆ ทำไมเราปฏิบัติยาก ปฏิบัติยากปฏิบัติง่ายเท่ากันมีค่าเท่ากัน เท่ากันตรงไหน คนที่ง่ายต้องยากมาเก่า คนที่ปฏิบัติที่ไปไม่ได้เพราะเราไม่ลงทุนมาใช่ไหม เหมือนต้นทุน ในต้นทุน สมมุติในบัญชีเรานี่ ตัวเลขเราเยอะกว่า เราจะสามารถซื้อของได้ง่ายกว่าตัวเลขที่น้อยกว่า ในพื้นฐานของใจ ถ้าใจใครมี ใครได้สร้างบุญบารมีมามากกว่าในการปฏิบัติมันก็ง่ายกว่า มันก็ธรรมดา มันง่ายตรงนี้แต่เขาลงทุนมาเก่า เราลงทุนมาน้อย เราเลยขวนขวายมาน้อยตัวเลขเราก็น้อย พอตัวเลขเราน้อยทำอะไรมันก็ต้องติดขัดเป็นธรรมดา แต่ก็ทำเหมือนกันไง เราถึงบอกว่ามีค่าเท่ากันหมด

ถ้าในปัจจุบันนี้ยาก มันก็ไม่ได้สะสมมาคือไม่ได้ยากเหมือนกับข้างหน้า แต่ปัจจุบันนี้ง่ายในอดีตยากมาเยอะมาก อย่างพระพุทธเจ้านี่ พระเวสสันดรสละลูกสละเมีย พระเวสสันดรสละหมด เป็นเตมีย์ใบ้ตัดหูตัดจมูกโดนตัดหมดนะ ตอนเป็นเตมีย์ใบ้พิสูจน์ว่าสร้างขันติบารมี กษัตริย์ไม่เชื่อจับดึงหูนี่ตัดเลย จับจมูกนี่ตัดเลย ตัดทีละข้าง ละข้าง แล้วพอมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านี่ไง เขาลงทุนมาอย่างนั้น มันปฏิบัตินี่ ขิปปาภิญญา ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย

แล้วเราปฏิบัติยาก ยากก็เราไม่เคยโดนตัดหู เราไม่ได้ลงทุนขนาดนั้น ต้นทุนมันต่างกันอย่างนี้ เราถึงบอกว่า มันมีค่าเท่ากัน แต่เราไม่คิดตรงนั้นไง เรามาคิดแต่ว่าทำไมท่านง่าย ทำไมเรายาก ก็ปฏิเสธ ที่มาใช่ไหม ปฏิเสธต้นทุนไง วิทยาศาสตร์ไง คือเท่ากันนั่งอยู่นี่เท่ากัน เราบอกคนเหมือนกันแต่คนไม่เท่ากันนะ คนเหมือนคนแต่คนไม่เหมือนกัน ความรู้สึกเราไม่เหมือนกัน จิตใจเราไม่เหมือนกัน แต่คนเหมือนกัน แต่ความคิดหลากหลายไหม ความคิดเราต่างกันไหม นั่นแหละต้นทุนทั้งนั้นล่ะ

ทีนี้ถ้ามันศึกษาอย่างนี้ปั๊บ พอมาคิดอย่างนี้ เพียงแต่เราไม่มีบุพเพนุวาสานุสติญาณ คือเราย้อนอดีตชาติไม่ได้เห็นชัดเจนอย่างนั้น แต่พระพุทธเจ้านี่เห็นชัดเจนนะ ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติมา ท่านเห็นของท่าน ท่านรู้ของท่าน ถ้าคนรู้แล้วนะ ยิ่งรู้นะยิ่งเก็บนะ ถ้าไอ้คนที่พูดๆ นี่มันไม่รู้ เพราะพูดออกไปมันมีแง่บวกแง่ลบหมด มันมีผลดีและผลเสีย ผลดีนะถ้าคนฟังแล้วเป็นประโยชน์นะมันเอาเป็นคติเตือนใจก็เป็นคนดี แต่ผลดีมันน้อยกว่าผลเสีย เว้นไว้แต่ เว้นไว้แต่ลูกศิษย์อาจารย์ที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม ตรงนี้มันจะเป็นคติธรรม เป็นตัวอย่าง เป็นตัวให้ค้นคว้า ให้ไขว่คว้า

ครูบาอาจารย์ท่านจะสื่อกันเฉพาะวงใน วงที่แบบคนที่ได้ประโยชน์ว่างั้นเถอะ คนที่มันสะเทือนใจเห็นแล้วมันเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น แต่ถ้าพูดออกไปส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นประโยชน์ เว้นไว้แต่ เห็นไหม เว้นไว้แต่ เวลาเทศน์ต้องยืนยัน เพียงแต่ยืนยันว่าข้อเท็จจริงมันมีจริงของมันอย่างนั้น ทฤษฎีมันมีอย่างนั้น แล้วสิ่งที่มันเป็นตัวแปร ความเป็นไป อยู่ที่จิตดวงนั้นที่มันจะได้หรือไม่ได้ จิตดวงนั้นได้ไม่ได้ เราก็คุยกันตรงนี้ไง

ถ้าคนเป็นน่ะมันของจริง เหมือนพวกนายช่าง ถ้าพูดถึงช่างชำนาญนี่ จะทำอะไรนี่ ด้วยความเหมือนกับไม่ต้องทำอะไรยากเลยนะ ปั๊บ ปั๊บ ปั๊บ จบนะ ไอ้ไม่เป็นนี่ โอ้โฮ มันพลิกแล้วพลิกอีก พลิกแล้วพลิกอีก เหมือนกันจิตที่มันเป็น ครูบาอาจารย์ที่เป็น ท่านจะแนะนำ ท่านจะใคร่ครวญธรรมตรงนี้ให้มันเป็นไป ไอ้เราฝึกใหม่ เราก็ต้องพยายามของเรา สู้ของเรา ทำของเรา เพื่อประโยชน์ของเรา

ทีนี้เราไปคิดกันเองไงว่าต้องเป็นวิทยาศาสตร์ เราก็เป็นวิทยาศาสตร์นะ แต่เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต ต้องเป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ พูดกันได้ สื่อสารได้ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แล้วคนรู้จริงๆ มันคุยกันง่ายมากนะ รู้จริงๆ นี่พูดง่ายๆ เลย พูดคำเดียว ครูบาอาจารย์ท่านถามคำเดียว อย่างนี้ใช่ไหม ใช่ จบ ถ้าตอบผิดไม่ใช่แล้ว คำเดียวนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะคุยกันนี่คำเดียวเท่านั้นแหละ

เวลามาหาเราเห็นไหม เยอะแยะเลย นิพพาน นิพพานก็ไม่เป็นไร ให้เขาอธิบายจบก่อน พิจารณากายอย่างไร เริ่มต้นอย่างไร ถ้าตอบเริ่มต้นถูก ๒ ๓ ๔ ไปเรื่อย ถ้าเริ่มต้นผิดนะ จบเลย ไม่ต้องถามต่อไปๆ เพราะเดี๋ยวนี้มันเป็นไปทางวิชาการเยอะ เราไปศึกษามาเยอะ แล้วจิตมันสร้างภาพ ขณะเราปฏิบัติ จิตมันยังหลอกเราเลย เวลาเกิดเห็นกงเห็นกายหลอกกันไปทั้งนั้นเลย แต่ถ้ามันเห็นจริงน่ะพูดง่ายๆ เลย เห็นกายอย่างไร เห็นกายแล้วมันสะเทือนใจมาก

เห็นกายมันสะเทือนใจมาก เหมือนเราไปเห็นสมบัติของเราคุณค่าของเรา เราเห็นของเราแล้วมันจะมีคุณค่าขนาดไหน ไอ้นี่เราไม่เห็น เราไม่รู้ เราก็พยายาม พยายามจะคิดพยายามจะให้มันเป็นสภาพแบบนั้น แล้วมันไม่เป็นหรอก เพราะเราไม่เคยเห็น ไม่เคยเห็น พูดอะไรก็ผิดหมด แต่ถ้าเห็นแล้วพูดทีไรก็ถูก มันถึงปิดกันไม่ได้ นั่นพูดถึงเวลาเขาคิดไง วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์

เถียงมาก เถียงอย่างไร แต่คำว่าเถียงนี่ไม่ใช่ว่าเขาเถียงด้วยทิฏฐินะ คือธรรมดาคนเรามันก็ต้องหาเหตุผล หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ เวลาท่านไปหาหลวงปู่มั่นเห็นไหม เวลาหลวงปู่มั่น เวลาท่านลงมาเห็นไหม เรามาอยู่กับท่าน ทำไมวันนี้มาเป็นเหมือนนักมวยต่อสู้กันเลย แล้วท่านก็พูด ก็ไม่ใช่ ก็เพราะเราก็มีความเห็นของเราอันหนึ่ง ใช่ไหม เราเอง ทุกคนเราก็ต้องมีมุมมองของเราใช่ไหม

เราก็ยืนในมุมมองของเรา เราก็พูดโต้เถียงเพื่อหาเหตุผล เราโต้เถียงเพื่อหาเหตุผลว่ามุมมองของเรา ความรู้ของเรากับความรู้ของท่านมันต้องหาเหตุหาผลมาลบล้างกัน ถ้ามีเหตุผลมาลบล้างกันได้ มันก็ยอมรับไง ถ้าเถียงอย่างนี้มันมีเหตุมีผลนะ เราเถียงแบบ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เป็นมงคล เป็นมงคลแล้วต้องมีเหตุมีผล ฟังเหตุฟังผล เหตุผลเรากับเหตุผลท่านใครมีน้ำหนักเหนือกว่า อันนี้เหตุผลนะ

แต่ถ้าปฏิบัติเป็นความจริงแล้วมันลงช่องเดียวกันเลย มันเป็นความเห็นอันเดียวกันเลย มันเป็นความรู้จริงเหมือนกัน แต่ขณะที่เราเดินมรรคญาณ ขณะที่เรากำลังต่อสู้นี่ มันเป็นระหว่างกิเลสกับธรรมกำลังต่อสู้กันอยู่ ปัญญาเรากำลังเกิด เป็นสมาธิเป็นปัญญานี่ต่อสู้กันอยู่ นี่หาเหตุผล หาเหตุผลคือการที่ว่าสิ่งที่ปัญญามันยังเคลื่อนอยู่ สมาธิมันเป็นฐาน ที่หมุนเข้าไป สิ่งที่ปัญญาเคลื่อนเข้าไปหมุนเข้าไปเพื่อจะทำลายกิเลส ตอนนี้กำลังหาเหตุผล

แต่บทสรุป ฉั้บ! เป็นธรรม ธรรมเหนือโลก พ้นออกไป พ้นจากเหตุและผลทั้งหมด แล้วลงอย่างไร นี่ไงที่ว่ากิเลสขาดมันขาดอย่างไร มันลงอย่างไร มันเป็นอย่างไรมันถึงเป็นอย่างนั้น ถ้าตอบไม่เป็นตอบไม่ได้นะ ไม่รู้หรอก มันต้องตอบเป็น

แต่ขณะที่ต่อสู้ ขณะที่ภาวนา เราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา นี่ล่ะหาเหตุผล ขณะหาเหตุผล ขณะทำกิเลสต่อสู้กัน กิเลสคือความที่เรารู้ กิเลสคือสิ่งที่มันฝังใจอยู่ กำลังศึกษาธรรมะนี่แหละ แต่มันก็มีกิเลสมาบวกเห็นไหม น่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนั้น แล้วเป็นอย่างนั้นแล้ว เพราะเรารู้จริงเห็นจริงไม่ใช่ทั้งนั้น

หลวงตาท่านเป็นอย่างนี้นะ ท่านบอกท่านอยู่ที่บ้านผือไง จิตสงบเห็นไหม แล้วมันก็เสวยอารมณ์ แล้วมันก็ปล่อย จิตสงบแล้วก็ปล่อย พอปล่อยมันก็ว่างหมด เอ๊ะ อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์เหรอ ท่านพูดท่านตัดสิน ผลัวะ! เลย ไม่ใช่! ไม่ใช่เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะมีคำว่าอย่างนี้ไง อย่างนี้หรือน่าจะเห็นไหม มันไม่เป็นจริง อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์เหรอ คำว่าอย่างนี้เพราะไม่ใช่ตัวมันเองมันเปรียบเทียบไง ท่านบอกว่า อย่างนี้ไม่ใช่ เพราะมีคำว่าอย่างนี้หรือ มันเป็นการเปรียบเทียบ ไม่เชื่อ ไม่ใช่ พอไม่ใช่ไล่เข้าไปอีก ก็ไปเจอจุดและต่อม ไล่เข้าไป ไล่เข้าไป ไล่เข้าไป อย่างนี้ อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์เหรอ ท่านปล่อยหมด ว่าง ว่าง ตอนนั้นท่านได้ขั้นสามแล้วนะ

นี่พูดถึงนะ ถ้าเราระหว่างหาเหตุหาผลเห็นไหม ระหว่างหาเหตุหาผล อย่างนี้หรือ เป็นอย่างนี้หรือ เป็นอย่างนั้นหรือ นี่ระหว่างหาเหตุผล ระหว่างหาเหตุผลนี่ ระหว่างกิเลสกับธรรมมันสู้กัน แล้วสู้กันปั๊บเราก็ต้องกลับมาที่สมาธิ กลับมาที่สมาธิ พอมีสมาธิหลักมันดี ปัญญามันจะใคร่ครวญได้ดีมาก พอปัญญาใคร่ครวญมันจะปล่อยได้ดีมาก ปล่อยได้ดีมากมันก็จะละเอียดเข้าไปลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งมาก ลุยเข้าไป ลุยเข้าไป ลุยไปถึงที่สุดนะ ถึงที่สุดปั๊บมันสรุป

ไอ้ตรงสรุปนี่ธรรมเหนือเหตุผล ธรรมเหนือเหตุและผลเหนือหมดเลย ธรรมเหนือโลกเหนือทุกๆ อย่างเลย แล้วทุกๆ อย่างจะเข้าไปคัดง้างสิ่งนี้ไม่ได้เลย แล้วถ้าไปรู้อย่างนี้ปั๊บ เหตุและผลเห็นไหม ดูสิ ที่ว่าเป็นหญิงเป็นชายเป็นอะไร มันยังเป็นเรื่องพื้นฐานเลย แต่เรา ถ้าขึ้นไปเหนือแล้วมันไปอีกชั้นหนึ่งเลย ฉะนั้นถ้าพูดถึงไปอีกชั้นหนึ่งเลย ไอ้เรื่องหญิงเรื่องชาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา จิตนี้ไม่มีหญิงไม่มีชาย สมาธิไม่มีหญิงไม่มีชาย มรรคผลไม่มีหญิงไม่มีชาย ทั้งหญิงและชายเปลี่ยนได้ เปลี่ยนเพศได้ เปลี่ยนได้ แต่กรรมมันเปลี่ยนโดยเจตนาโดยกรรมต่างๆ กรรมนี่นะมันให้ผลเป็นความทุกข์ๆ แต่ไอ้เรื่องเพศนี่ มันเป็นมา แต่ความเปลี่ยนมันเปลี่ยนเพราะความแรงปรารถนา

ถ้าพูดถึงในพระไตรปิฎกที่ว่าแม่ของพระพุทธเจ้า แม่พระพุทธเจ้าไง ชื่ออะไร ที่ตายแล้วเป็นเทพบุตร ทีนี้แล้วเวลาตายแล้วพระพุทธเจ้าเทศน์น่ะเป็นเทพบุตรใช่ไหม ไอ้กรณีอย่างนี้มันก็มี ถ้ากรณีอย่างนี้มี แล้วทั่วไปเป็นอย่างนี้เหรอ ฟังสิว่าแม่พระพุทธเจ้า คำว่าแม่พระพุทธเจ้าพ่อพระพุทธเจ้า สหชาตินี่ต้องปรารถนาหมดนะ

คำว่าปรารถนาหมายถึงว่าไม่ใช่ว่าเราเป็นผู้หญิง ทุกคนอยากเป็นแม่พระพุทธเจ้าไม่มีสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์ เพราะว่าเราไม่มีบุญพอ จะเป็นแม่พระพุทธเจ้าต้องปรารถนาว่าจะเป็นแม่พระพุทธเจ้าในชาติใด แล้วต้องสร้างบุญกุศลขึ้นไป ต้องสร้าง อย่างนางพิมพาเห็นไหม นางพิมพานะ ขณะที่พระพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ เปล่งวาจาต่อหน้าพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งเห็นไหม นางพิมพานั่งอยู่ข้างๆ ก็ปรารถนาคู่แล้วก็เป็นคู่มาตลอดเลย มันเป็นแรงปรารถนาเป็นการสร้าง

พอเป็นแรงสร้าง อย่างพระโพธิสัตว์เวลาสร้างขึ้นมานี่มันต้องสร้างมา อย่างที่ว่าขิปปาภิญญานี่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย แต่กรณีที่ว่านางสิริมหามายาไปเป็นเทพบุตร อันนั้น ถ้าอย่างนั้นแม่พระพุทธเจ้านางสิริมหามายาผิดศีลที่ตรงไหน ไปผิดศีลที่ไหนถึงไปเป็นเทพบุตรไง จากหญิงเป็นชายไง มันก็ไม่ได้ผิด ไม่ได้ผิดศีล ไม่มีผิดศีล แต่มันเป็นบุญกุศลหรือมันเป็นสิ่งที่เป็นไป

เราจะบอกว่า โดยหลักนะพวกเรานี่ คนนี่ถ้ามันแบบว่าตายไปโดยสามัญสำนึกส่วนใหญ่แล้ว จะต้องไปที่ยมบาล ไปขึ้นศาล แบ่งไปดีไปชั่วไง โดยส่วนใหญ่ แต่พระเทวทัตไม่ต้องไป พระเทวทัตนี่ทำผิดไว้กับพระพุทธเจ้ารุนแรงมาก เวลาตายนะ พอตายสดๆ เลย ดูดลงอเวจีไปเลย

จิตตคฤหบดีหรือคนที่มีบุญมากไม่ต้องไปผ่าน พอเวลาจะตายรถม้ามารับเลย ไปขึ้นสวรรค์ไปเลย มี ทำไมไม่ไปผ่านยมบาลล่ะ จะไปผ่านยมบาลโดยหลักส่วนใหญ่ โดยหลักนี่มี แต่โดยข้อยกเว้นน่ะมันมี มันไม่ใช่ยกเว้นโดยใครยกเว้นนะ มันยกเว้นโดยมันเป็นว่าบุญของเขา บาปของเขามาก มาก น้ำหนักของเขามากมากจนเป็นไปโดยธรรมชาติเลย ไม่ต้องไปแบ่งแยกไปตัดสิน แต่โดยทั่วไปต้องไปตัดสิน

ทีนี้เวลาเราพูดถึงธรรมะนี่ เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง คนตายแล้วต้องไปยมบาลทั้งหมด ยมบาลตัดสินทั้งหมดมันก็ไม่ใช่ นี่ก็เหมือนกันเกิดเป็นหญิงเป็นชายมันก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ว่าผิดศีลแล้วต้องไปเกิดเป็นหญิงเป็นชายทั้งหมด เราเถียง ทีนี้เวลาเราพูดนี่ เราพูดโดยข้อเท็จจริง ด้วยเหตุด้วยผล แต่ไม่ใช่เถียงด้วยว่าผิดศีลข้อที่ ๓ แล้วได้บุญนะ อันนั้นผิด ไม่ใช่ ไม่ใช่เถียงอย่างนั้น เถียงว่ามันผิด แต่ไม่ใช่ผิดโดยที่ว่าต้องเป็นอย่างที่เขาว่า ผิด

เฮ้อ เราถึงบอก เวลาพระสอนไง แล้วใครเชื่อมาอย่างนั้นก็กรรมของเขาเนาะ แล้วอย่างนี้มันคาใจ มันคาใจเพราะอะไรรู้ไหม เพราะเขามาเถียงเราหลายรอบแล้วเรื่องนี้ เพราะเถียงหลายรอบแล้ว แต่มันก็อย่างนี้ อันนี้ไอ้เรื่องนี้ถ้าพูดถึงเราวางไว้ แล้วภาวนาไปเลยนะเดี๋ยวรู้เอง ภาวนาไปจะเห็นจะรู้หมดนะ มันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา อย่างไร แล้วมันเป็นสัตว์เป็นบุคคลนี่มันเป็นที่ตรงไหน มันเป็นที่ภพ เป็นที่จิต จิตมันลึกยึดอย่างไร แล้วจิตมันทำลายตัวมันเองอย่างไร แล้วมันจะไปเห็นหมด ฉะนั้น ถ้าเห็นปั๊บไอ้เรื่องอย่างนี้ มันเป็นศีลมันเป็นสิ่งที่เป็นไปของสังคม แต่ตัวมันเป็นไม่เป็นล่ะ

ถาม : (ไม่ได้ยินเสียงผู้ถาม)

หลวงพ่อ : ถ้าพูดถึงจิตมันผ่องใสนะมันข้ามเวทนาไป

ผู้ถาม : มันเหมือนจะยาก

หลวงพ่อ : ไม่ยากหรอก มันอยู่ที่คนฝึก ถ้าจิตเศร้าหมองทุคติไป เศร้าหมองคืออะไร เศร้าหมองนี้มันเป็นศัพท์นะ เศร้าหมองก็วิตกกังวลนี่ไง เศร้าหมองก็คิดมากไง การเศร้าหมองคือเราคิดอยู่ในสิ่งที่เราทุกข์ไง แต่นี้ถ้าพูดถึงจิตผ่องใสเราคิดแต่เรื่องดีๆ แล้วเวทนาล่ะ เวทนาส่วนเวทนา แล้วนี่ถ้าพูดถึงคนตายต้องเวทนาหมด แล้วถ้าคนหลับตายไปล่ะ

คนที่ตายไป ที่ว่านอนหลับแล้วตายไปเลยน่ะไม่มีเวทนานะ ทีนี้คนหลับแล้วดูอย่างจิตตคฤหบดีที่มีในพระไตรปิฎกที่หลวงตาเทศน์บ่อย เวลาจะตายเห็นไหม นิมนต์พระมาสวดมนต์มาเทศน์ให้ฟัง ผ่องใสนะ เราเห็นอยู่นะมีคนลูกศิษย์มาเล่าให้ฟังว่าย่าเขาตายเขาเหมือนไปปิกนิกนะ คนไปปิกนิกมีความทุกข์ไหม บอกว่าย่าจะไปแล้ว ย่าจะไปนิมมานรดี เพราะเขาเอารถม้ามารับ

ถ้าอย่างนี้อย่างที่ว่ามันเศร้าหมองนี่นะ ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนทุกข์ อย่างเช่นเรานี่สมบัติเยอะ เราห่วงเยอะมากเวลาใกล้ตาย โอ้โฮ เจ็บช้ำน้ำใจมาก อันโน้นก็ยังไม่ได้แบ่งให้ใครเลย ไอ้คนนั้น ลูกคนนั้นอีกก็ยังไม่ได้รับ อยากเห็นใจลูกคนนี้มากมันก็ไม่มาสักที นี่เศร้าหมอง อย่างนี้เศร้า แต่ถ้าเราทำเสร็จหมดแล้วไม่มีปัญหาหรอก นี่เราไปคิดว่าผ่องใสหรือเศร้าหมอง คือจิตมันเหมือนเข้าสมาธิใช่ไหม แล้วความคิดอีกอย่างหนึ่ง ทีนี้ความคิดอยู่กับเรา เราฝึกจนเคย ดูหลวงตาท่านพูดสิ ท่านนั่งอยู่ที่ไหนสว่างหมดเลย จ้า ครอบโลกธาตุ

โธ่ เมื่อ ๒ วันนี้เวลาท่านเอียงแล้วยายอ้วนนั่นน่ะ มันแสดงกิริยาท่านพูดเลย มึงจะบ้าเหรอ คือท่านทุกข์เองนะ คนอื่นทุกข์ร้อนกับท่าน ท่านยังบอกมึงบ้าเหรอ ท่านไม่สบายไง หลวงตานี่ เราดูในทีวี ท่านเวลาท่านเอียงไปน่ะเหมือนมันจะวูบ อันนี้ลูกศิษย์ก็ตื่น ลูกศิษย์ตื่นน่ะท่านเอ็ดลูกศิษย์นะ มึงจะบ้าเหรอ ธาตุขันธ์มันก็เตะถีบกันเป็นเรื่องของธาตุขันธ์ ใจไม่เกี่ยว จ้า เห็นไหม ตลอดเวลา สุคติเป็นที่หวัง สุคตินะ

แต่นี่ นั้นถึงแล้ว ไอ้อย่างนี้มันใช่ เราคิดกันอย่างที่ว่า ถ้ามันจิตสว่างก็คือต้องเข้าสมาธิสว่างจ้า ยาก ไอ้ตรงนี้มันถึงว่าถ้าเราฝึกนะ ถ้าเราฝึก เราทำแล้วนี่ ถึงเวลาไม่เป็นอย่างนั้น ดูใจ ถ้าเราคิดที่ดี สิ่งดีๆ ไม่วิตกกังวล เพราะคำว่าสอุปาทิเสสนิพพาน เพราะคำว่า สะ คือธาตุขันธ์มันคิด เศษส่วนใช่ไหม อย่างพวกเรานี่ มันเป็นเรา มันเป็นขันธมาร

ถ้าคนมีกรรมมันคิดหมด เหมือนเราติดยานี่ล่ะ ถ้าเราติดยาเราจะคิดเรื่องอะไร เวลาเราหิวยาก็คิดแต่เรื่องยาเท่านั้น ทีนี้คนมันติดความคิด ติดสมบัติ มันจะคิดเรื่องอะไรล่ะ มันก็เศร้าหมองไง คือมันย่ำอยู่กับที่ตรงนั้นไง แต่เรานี่เลิกยาเด็ดขาด ไม่คิดถึงมันเลย สบายมาก นี่ติดยานะ

แต่เราติดในอารมณ์ไง ติดในความคิด ติดทิฏฐิมานะในใจ มันติดกับข้อมูล ใครทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ ใครทำให้บาดหมาง คิดย้ำๆ คิดๆ อยู่นั่นน่ะ นั่นติดยาเสพติด ติดในกิเลส กิเลสมันติดกับใจ มันจะคิดแต่เรื่องไม่ดี เรื่องในใจที่ไม่ดี มันจะเอาเข้ามาคิด มาคิด ถามมันสิ มึงคิดมากี่ล้านรอบแล้ว มึงทำไมไม่เลิกสักที แล้วหาเหตุหาผลให้มัน คนมันจะไม่คิดได้เพราะเหตุผลนะ คือเรื่องมันก็ผ่านไปแล้ว ไอ้คนที่ทำก็ไปแล้ว

ในปัจจุบันนี้ โทษนะ บางทีคนทำมันตายไปแล้วนะ มึงยังคิดอยู่เลย มึงคิดไม่จบเลย แล้วคิดว่าเอ็งบ้าหรือมันบ้า หาเหตุผลอย่างนี้ปั๊บ ถ้ามันปล่อย นี่ไงจะเลิกยา เลิกกิเลส เลิกสิ่งที่มันผูกมัด แล้วเวลาจะเป็นจะตายนี่ เพราะมันฝึกตั้งแต่ตอนนี้ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้เราฟังแล้วซึ้งมาก แต่คนฟังจะฟังออกไม่ออกไม่รู้

ท่านบอกว่าจิตนี่เหมือนลิง ลิงมันอยู่บนต้นไม้ มันกระโดดเกาะกิ่งไม้ ถ้ามันไปโดดไปเกาะกิ่งไม้ที่มันผุ มันก็ตกใช่ไหม มันก็เจ็บ ความคิดเรากระโดดเกาะอารมณ์ โดดเกาะความคิดไง อารมณ์ความรู้สึกไง จิตมันกระโดดเกาะความคิดใช่ไหม คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้คิดอย่างนี้ ก็เหมือนกับลิงมันโดดเกาะกิ่งไม้ อารมณ์หนึ่งก็กิ่งหนึ่ง โดดโผเข้ากิ่งนั้นโผเข้ากิ่งนี้โผเข้ากิ่งนั้นแล้วไปเจอกิ่งไม้มันผุไง หัก ตุ๊บ เจ็บอีก

เวลาท่านพูดนะท่านอุปมาอุปไมยเราก็นั่งฟัง อือ เห็นภาพชัดเลยนะ มันโผไปเกาะไง ความรู้สึกเราคือจิตมันโผเข้าไปเกาะความรู้สึก เกาะความคิดไง คิดเรื่องนั้น คิดถึงลูกคนนั้น คิดถึงสมบัติอันนี้ มันก็ลิงก็โผเข้าเกาะ แล้วไปเจอกิ่งไม้มันผุ หัก ตกพื้น เจ็บอีก ทีนี้ถ้าเราคุมได้ เราก็ไม่ไปเกาะ นี่ไงจิตของผู้มีหลัก จิตของผู้มีธรรม มันไม่ไปเกาะ อารมณ์เราก็รู้ทันมันอยู่แล้ว กิ่งไม้กูอยู่เฉยๆ กูไม่เกาะมึง กูไม่ไปเกาะกิ่งไหนเลย จิตเราก็ไม่ไป

เวลาท่านอุปมาอุปไมยเราก็นั่งฟังนะ เรานั่งจินตนาการของเราไปนะ โอ้โฮ เห็นภาพชัด ชัดเลยล่ะ นี่ไอ้ที่พูดนี่มันเป็นผลแล้วไง ไอ้ที่ว่าจิตเศร้าหมอง ตายไปแล้วเป็นทุคติ จิตผ่องใส นี่ที่หลวงตาพูดเป็นบาลี ใช่ แต่พระพุทธเจ้าท่านพูดถึงผลเห็นไหม แต่เราจะมาอย่างนี้เราต้องฝึกไง เราต้องฝึกให้เป็น มันอยู่ที่วาสนานะ คนจะตายนี่บางทีนะมัน บางทีมัน ไม่ใช่บางทีหรอก มันจะตาย มีสตินะก็รู้ๆ กันอยู่ มันรู้ตัวตลอดนะแล้วมันต้องไปนี่

อันนี้ถ้ารู้ตัวถ้าเราฝึกไว้นะ ถ้าไม่ฝึกไว้นะ ไม่ฝึกไว้เวลาจะตายนี่ เพราะโดยธรรมชาติทุกคนกลัวตาย แล้วพอตายเข้ามามันสั่นไหวหัวใจมากนะ ไอ้ที่ส่วนหนึ่งที่หลับตายก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วนี่ไอ้ที่พะแงบพะงาบตายต่อหน้าก็เยอะ แล้วนี่ศาสนาสอนตรงนี้เราต้องดูตรงนี้ นี่พูดที่เราพูดมาเรามาเปรียบให้เห็นเฉยๆไง เพราะโยมพูดเรื่องเวทนาใช่ไหม ว่าคนตายจะมีเวทนามาก นี้เราถึงพูดว่าคนที่มันหลับตายไปมันก็ไม่มีเวทนาไง ไอ้ที่เราพูดนี่เป็นประเด็นเดียวที่เรามาหักล้างคำพูดโยมเฉยๆ

แต่ถ้าโดยธรรมชาติ คนเราจะตายนี่ คนเราจะตายถ้ามันมีสติอยู่ เวทนานะ จริงๆ อยู่น่ะเวลาถ้ามันคนปกติ ถ้าเป็นยิ่งๆ โทษนะ อย่างที่เป็นโรคอยู่ เป็นโรคอยู่มันก็เจ็บ แต่ถ้าเป็นโรคชรา เป็นโรคชรามันค่อยๆ ไป เรารู้ตัวตลอดไง ถ้ามันยอมรับสภาพนะ เราเห็นบ่อย เพราะอย่างลูกศิษย์นี่เวลาเขาเป็นโรคแล้วเขาจะเสีย ใหม่ๆ มันจะถามหาคนนู้นถามหาคนนี้ตลอด ห่วงเขาไปหมดไง

พอเริ่มใกล้ตัวขึ้นมานะไม่แล้ว จะเข้ามาที่ตัวแล้ว จะเข้ามาที่ตัวแล้ว เพราะมันไม่ได้คิด แต่ถ้ามันเริ่มต้นนะ จะห่วงญาติหมดเลยไง คนนู่นมาหรือยัง คนนี้มาหรือยัง คนนู่นอยู่ที่ไหน คนนี้ทำอะไร แต่พอมันเริ่มหนักเข้ามาหนักเข้ามาก็จะหดเข้ามาแล้วไม่ถามถึงใครแล้ว ไม่ถามถึงใครแล้ว จะเข้าไปที่ตัวแล้ว เพราะเราจะต้องไปแล้ว

คนเรานี่มันเหมือนจนตรอกเข้ามุม ถ้าเรายังไม่ถึงเข้ามุมของเรานี่ เราอยู่ในที่โล่ง เราสามารถแสดงอะไรก็ได้ แต่พอมันจะหดเข้ามานี่ มันจนตรอกแล้ว มันถึงจุดหนึ่งปั๊บ ไปเลย ไอ้นี่มันอยู่ที่เราฝึกนะ เราฝึกแล้วเราเข้าใจ แต่เข้าใจขนาดไหนมันก็ตื่นเต้น ทุกอย่างถ้ายังไม่เกิดกับเรา ก็เก่งทุกคนน่ะ แต่พอมันเกิดขึ้นกับเราแล้วมันจะรู้ ถ้ายังไม่เกิดกับเราเก่งทั้งนั้นน่ะ พูดแจ้ว แจ้ว ๆ เลยล่ะ

นี่เราถึงดูหลวงตา ๒-๓ วันแล้ว ป่วยมา ๔-๕ วัน เราดูมาตลอด ท่านพูดวันนั้น พูดมาเราสะเทือนมากเลยนะ “เนี่ย ต้องมาเฝ้าหมู่อยู่เรารำคาญแย่เลยนะ ต้องมาเฝ้าหมู่อยู่นี่” คือท่านแทบจะไม่ได้กินไม่ได้อะไรเลยนะ ท่านมาดูแลพระไง ไม่สบายมา ๔ วัน กินก็กินไม่ได้ แล้วต้องมาเฝ้าหมู่นี่ รำคาญเต็มที ถ้าธรรมดาประสาเรา รำคาญลุกก็จบใช่ไหม รำคาญไม่มาก็ไม่มีปัญหาใช่ไหม ถ้ารำคาญไม่ต้องมามันก็จบ

แต่อันนี้ ท่านพูดนี่โดยที่ว่าท่านใจไม่อยากทำแต่มันทำด้วยความเป็นหน้าที่ คือหน้าที่ท่านบอกเลยนะ ตอนเราอยู่กับท่าน ท่านจะรับแขก แล้วถ้าท่านไม่อยู่ท่านจะบอกให้แขกกลับไป รับแขกหมายถึงว่าคนมาถามปัญหาธรรมะท่านจะตอบเอง ไม่เคยให้ใครตอบเลย ท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่าเราดูแล้วมันไม่มีใครทำหน้าที่แทนเราได้ คือมันไม่มีใครรู้จริง มันตอบปัญหานี้ไม่ได้

เหมือนหมอ คนไข้มาต้องวินิจฉัยโรค แล้วบอกให้ภารโรงวินิจฉัยแทนได้ไหม ภารโรงมันวินิจฉัยโรคแทนหมอไม่ได้ ไอ้พระที่จะรับแขกนี่ ถ้ามันไม่เป็นมันวินิจฉัยธรรมะนั้นไม่ถูก เขาถามปัญหาเรื่องอะไร มันวินิจฉัยเรื่องนั้นมันไม่ได้ไง ท่านถึงบอกไม่ให้ใครรับแขก ท่านต้องรับแขกเอง ถ้าเราอยู่เรารับ ถ้าเราไฟเหลืองคือท่านรับไม่ได้ท่านบอกให้เขากลับไปก่อน

เราอยู่เวร บางทีรับแขกมา ๔-๕ ชุด แล้วท่านเพลียมาก แล้วมีแขกรุ่นใหม่ ชุดใหม่มานี่ ท่านบอกว่าบอกให้เขากลับไปก่อน เราไม่ไหวแล้ว ไม่ใช่บอกว่าให้คนอื่นรับแทนนะ ให้เขากลับไปก่อน แล้วถ้าเขามีวาสนาวันหลังเขาค่อยมาใหม่ คือบางอย่างนี่ท่านพูดเอง ท่านบอกท่านดูแล้วไม่มีใครทำหน้าที่แทนตรงนี้ได้

ในการที่มาเฝ้าหมู่อยู่นี่ มันก็ไม่มีใครทำหน้าที่แทนท่านได้เพราะทุกคนกลัวท่านคนเดียว ถ้าไม่มีท่านมาดูแลหมู่อยู่ แมวไม่อยู่หนูมันร่าเริง แต่ถ้าท่านมานั่งหมับ แมวมาหนูมันไม่กล้า หนูมันหดหมดไง แต่ท่านบอกว่าเรารำคาญ รำคาญ แต่ท่านก็ทำตามหน้าที่ คำว่ารำคาญโดยสามัญสำนึกไง แต่โดยหน้าที่ท่านก็ทำของท่าน จริงๆ แล้วพวกเราเป็นลูกศิษย์เรายังอยากจะให้ท่านฉันที่กุฏิเลยนะ คือให้ท่านฉันเป็นส่วนตัว ท่านจะได้สะดวกสบายท่าน

แต่นี้ประสาเรา ท่านก็เสียสละไง ความสุขส่วนตัวนี้ท่านเสียสละให้หมู่คณะ คือท่านมาฉันที่ศาลา ท่านบอกว่าทั้งหมดในโลกนี้ ในประเทศนี้ หัวใจก็อยู่ที่ท่านองค์เดียวไง คือก็อยากเคารพท่าน อยากได้สัมผัสท่าน ท่านก็มานั่งให้เป็นประธานให้คนได้บุญ แต่ท่านก็รำคาญเพราะท่านไม่สบาย ท่านทุกข์ ถ้าพูดอย่างนี้เดี๋ยวจะว่าเราทุกข์อีกล่ะ พูดไม่ได้ พูดไม่ได้

มันเป็นเรื่องสามัญสำนึก ดูอยู่ดูแล้วก็คิด อือ เป็นหน้าที่เป็นการเสียสละ ทั้งๆที่มันรำคาญก็คือรำคาญนะ อย่างคนเราเดินเหินก็เหนื่อยธรรมดา เรานี่หิวน้ำก็คือหิวธรรมดา สภาพร่างกายมันขาดอะไรมันก็เจ็บไข้ได้ป่วยมันก็เรื่องธรรมดานะ พระอรหันต์ก็ป่วยเป็นนะ พระอรหันต์ก็ป่วยได้ ไม่ใช่พระอรหันต์ไม่ป่วยนะ พระอรหันต์ก็ป่วยพระอรหันต์นี่มันก็เป็นเรื่องภาระ แต่ท่านก็เสียสละ เรานั่งดูอยู่นะ เราคิดตามไป แต่มันก็อย่างว่าแหละมันเป็น อาชาไนย นิสัยอาชาไนยของท่าน ท่านเป็นอย่างนี้

เรานั่งคิดเปรียบเทียบนะ หลวงปู่มั่น หลวงตาเป็นคนจัดบาตรให้ เป็นคนตักอาหารใส่บาตรให้ แล้วหลวงปู่มั่นท่านเป็นผู้ฉันเฉยๆ หลวงปู่ฝั้นครูบาอาจารย์จัดให้ ของท่านท่านไม่ให้ใครจัด ใครไปแตะสิ ธรรมดานะท่านนั่งเฉยๆ นะ แล้วเราก็จัดใส่บาตรให้ท่านเนาะ ถึงเวลาท่านก็ฉันเนาะ นี่ท่านต้องตัก โอ้ย วุ่นไปหมดเลย มันก็เวียนหัวสิ แล้วใครไปทำเข้าไปสิ ทำแทนท่านไม่ได้ นิสัยไม่มีใครกล้าเข้า เข้าไปล่ะหงายท้องเลย ปิ๊ง กระเด็นเลย ดูเป็นคติ ครูบาอาจารย์นิสัยครูบาอาจารย์แล้วเราก็เอามาเป็นคติตัวอย่าง จะทำดีไม่ดีไง อันนี้อันหนึ่ง

อันนี้คำที่ว่า ไอ้ที่ว่าผ่องใส ผ่องใส มันไม่ใช่เหมือนกับน้ำขุ่นน้ำใสใช่ไหม มันเป็นตะกอนเราแก้ไขได้ แต่คำว่าผ่องใสของจิต มันเป็นที่ความรู้สึก มันอยู่ที่พื้นฐาน มันไม่เหมือนน้ำ น้ำขุ่นใช่ไหม เอาสารส้มแกว่งมันก็ใส มันง่ายๆ นะ แต่เราทำกรรมไว้ทำความผิดไว้ในหัวใจ มันกระตุ้นตลอดเวลา มันไม่ใส มันมีความขุ่นใจอยู่มันจะใสอย่างไรล่ะ

แต่ถ้าเราใช้ปัญญาเข้าไปใคร่ครวญมัน เราฝึกตอนนี้มันจะใสได้ พอมันใสแล้วเรื่องเวทนาส่วนเวทนา เวทนามันเป็นความเจ็บปวดเฉพาะหน้า แต่กิเลสตัณหาไอ้ความยึดมั่นร้ายกว่านะ แล้วถ้าทำตรงนั้นหมดแล้วนะ อย่างเรานี่ เรารู้ว่าเราเจ็บมันเป็นแผลมันถึงเจ็บ มันยอมรับนะ มันไม่ทุกข์ร้อนนะ แต่เจ็บไหม เจ็บ แต่ไม่กระวนกระวายนะ

แต่ถ้าเขาเอ็ดเขาว่า เจ็บไหมเจ็บ แค้นไหมแค้น อยากจะฆ่ามัน มันเจ็บด้วยกิเลส มันเจ็บกว่ากันเยอะ แต่ถ้ามันเจ็บปวดด้วยเวทนา มันเป็นเรื่องธรรมดา อย่างเราเป็นไข้ เราก็รู้ว่าเป็นไข้ตัวร้อน เป็นไข้ไหม เออ เป็น ก็รู้ว่าป่วย เห็นไหม มันยอมรับ มันทำได้ แต่ถ้าเจ็บเพราะเจ็บช้ำน้ำใจ เจ็บกว่าเยอะเลย ทีนี้เราไปแก้ไขตรงนั้น กิเลสตัณหาความทะยานอยาก ถ้ามันแก้ตรงนั้นจบ สิ่งที่แล้วไป แล้วสิ่งที่ทำมา แล้วสิ่งที่มีปัญหาไปก็ถือว่าเป็นไป จบ ทำได้ เนาะ เอวัง