ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เรื่องอภิธรรม

๗ ก.พ. ๒๕๕๒

 

เรื่องอภิธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ทีนี้มาพูดถึงเรื่องภาวนา เรื่องภาวนานี่เขาจะภาวนาอย่างไรก็แล้วแต่ หลวงตาท่านบอกว่า “การภาวนานี่ วิธีการมันหลากหลาย” อย่างเช่น เราจะโต้แย้งตลอดว่า พระพุทธเจ้าบอกว่า กรรมฐาน ๔๐ ห้อง กรรมฐาน ๔๐ ห้องอะไรก็ได้ หลวงตาก็บอกว่า อะไรก็ได้ แต่อะไรก็ได้แล้ว นี่ ทีนี้อะไรก็ได้นี่ ท่านไม่โต้แย้งไง ถ้าท่านโต้แย้งไป มันประสาเรา อย่างพวกนี้ไม่เข้าใจน้ำใจของคนนะ น้ำใจของครูบาอาจารย์ ผู้บริหารประเทศ ถ้าผู้บริหารประเทศนี่เขาต้องเอาไปทั้งประเทศไง ไม่ใช่เอาคนใดคนหนึ่งไปใช่ไหม? ประเทศชาตินี่ต้องไปด้วยกันทั้งหมด

ทีนี้การภาวนานี่ ดูสิ อย่างเวลาเทศน์กับพวกโยม เขามาทำบุญนะ เขายังไม่มีเวลาเลย ใจเขายังไม่อยากทำบุญเลย แล้วพอทำบุญเสร็จแล้ว จะเอามาปฏิบัติ มันยากขนาดไหน ทีนี้พอมาปฏิบัติ พอปฏิบัติไปแล้ว ปฏิบัติเพื่อสร้างบารมีกัน ได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง พอถ้าได้ปั๊บนี่ สมัยหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านเล่าให้ฟังนะ พระนี่เต็มวัดเลย ถ้าองค์ไหนปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์นะจะจี้เลย ท่านเป็นอย่างไร? จิตเป็นอย่างไร? จิตเป็นอย่างไร? แต่ถ้าองค์ไหนภาวนาไม่เป็นนะ ท่านจะไม่ถามเลย เหมือนเรานี่ เราทำงานไม่เป็นแล้วผู้ใหญ่คอยมาจี้นี่เราตายไหม?

จิตก็เหมือนกัน จิตถ้าเราภาวนาไม่เป็น เราไม่มีหลักมีเกณฑ์นะ ถ้ามาถามนะ เหมือนเราทำวิจัย แล้วเราทำไม่ได้ ท่านจะมาถามว่าผลงานเป็นอย่างไร? ผลงานเป็นอย่างไร? เราเครียดไหม? ทีนี้ถ้าพูดถึง ถ้าใครทำงานเป็น เราก็จะส่งเสริม ทีนี้ย้อนกลับมาที่ว่านี่ เห็นไหม กลับมาที่การภาวนา ท่านบอกภาวนาได้หมดนะ เราก็พูดอย่างนั้นเหมือนกันตามจริตนิสัย แต่เวลาทำไปแล้วมันสงสาร เพราะเราก็เป็นมาแล้ว เพราะเราก็เข้าใจผิดมาแล้วนะ

บวชใหม่ๆ อ่านปฏิจจสมุปบาทของหลวงพ่อพุทธทาสเพราะในท้องตลาดมันเยอะ อวิชชาดับเป็นพระอรหันต์ แล้วตอนนั้นมันก็ไม่เข้าใจใช่ไหม? พอจิตมันปล่อยหมด มันทำสมาธิได้ ความเข้าใจผิดของเราหนึ่ง สองเราว่าตำราก็เขียนผิดด้วย ความเข้าใจผิดของเราว่าอวิชชาดับต้องเป็นพระอรหันต์ใช่ไหม? แล้วกูก็ไม่เป็นน่ะ มันก็รู้ๆ อยู่ว่าไม่เป็นนะ แต่พอมันไปอ่านหนังสือเข้า มันมีทางวิชาการรับรอง มันก็อยากได้ กิเลสคนมันมีอยู่แล้วใช่ไหม?

กิเลสคนมันมีอยู่แล้ว แล้วคิดดูสิ ตำราก็บอกด้วยแล้วจิตมันพอสงบได้โดยที่เป็นความเข้าใจของเรา ทำไมไม่เป็นพระอรหันต์ ใจมันเรียกร้องพระอรหันต์นะ แล้วไปถามใครก็ตอบไม่เป็น ไปถามพระองค์ไหน พระองค์ไหนก็ตอบไม่ได้ จนไปเจออาจารย์จวนที่เล่าให้ฟังนี่แหละ

ตอนนั้นมันก็ติด เขาเรียกว่าติด พอติดไปถึงอาจารย์จวน ท่านคงรู้วาระ เทศน์คืนนั้นเอาเลย “อวิชชาอย่างหยาบสงบตัวลง” ถ้าปฏิบัติเป็นแล้วมันจะเข้าใจ อวิชชาอย่างหยาบๆ ก็คือความฟุ้งซ่านไง ความฟุ้งซ่านสงบตัวลง “อวิชชาอย่างกลาง อวิชชาอย่างที่ละเอียดเข้าไป ท่านยังไม่เห็นมันเลย อวิชชาอย่างละเอียดในหัวใจท่านอีกเยอะแยะเลย” เออ จริง

แล้วพอท่านพูดปั๊บ มันก็ปลด เหมือนโล่งหมดเลย พอเวลามันปลด ปลดความวิตกกังวลในใจ ปลดออกหมดเลย พอปลดไปปั๊บ เราก็ทำงานต่อไปได้ เหมือนเราทำงานมา เราเข้าใจว่างานจะจบแล้ว มันควรจะเป็นอย่างนี้ มันควรจะเป็นอย่างนั้น ทำไมมันไม่เป็นล่ะ ความลังเลสงสัยก็อันหนึ่ง กิเลสตัณหาของเราก็อันหนึ่ง แล้วในตำราที่สอนก็อันหนึ่ง

เพราะพอเรามาปฏิบัติของเราทีหลังแล้วเราถึง เรามาเคลียร์ มาย้อนถึงมุมมองของตัวกับมุมมองของตำราไง ถ้าคนภาวนาเป็นนะ จะไม่เขียนตำราอย่างนี้ เพราะอวิชชามันไม่ใช่อวิชชา มันเป็นเรื่องความฟุ้งซ่าน แล้วอย่างที่เราปฏิบัติ เราพูดบ่อย เห็นไหม บอกว่า

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส”

พวกเอ็งไม่เคยเห็นหรอก เวลาจิตรวมใหญ่มันได้ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือว่าจิตสงบใสแหน๋ว นี่เข้าไปฐีติจิต คือจิตมันปล่อยวางหมด นั่นน่ะมันเป็นอัปปนาสมาธิหนึ่ง แล้วการใช้ปัญญาใคร่ครวญไป เวลากิเลสมันขาด จิตมันหดตัวเข้าไปเป็นตัวมันเอง เวลาจิตมันปล่อยเข้ามา มันปล่อยโดยเป็นสมาธิก็ได้นะ มันปล่อยด้วยมรรคญาณที่ปัญญาเข้าไปชำระกิเลสก็ได้

ทีนี้คำว่าก็ได้ คำว่าก็ได้คือแบบว่า พระอาทิตย์ขึ้นมา เห็นไหม พระอาทิตย์ตกไป มืดก็ได้ ใช่ไหม เวลาฝนตก เมฆหมอกมากเลย พระอาทิตย์ขึ้นมา ไม่มีแสง มืดก็ได้ใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน คำว่าก็ได้นี่มันแบบว่า จิตที่มันเป็นสมาธินี่มันปล่อยเฉยๆ มันไม่ได้ชำระกิเลส มันไม่ใช่ว่าพระอาทิตย์ขึ้นแล้วพระอาทิตย์ตกโดยธรรมชาติของมัน

พระอาทิตย์ขึ้นมา แล้วเมฆหมอกมันบังอยู่มันก็มืดครึ้มได้เหมือนกัน ถ้ามันไม่เป็น มันไม่มีความเข้าใจตรงนี้ไง ทีนี้ย้อนกลับไปที่ว่าตำราเขาเขียนเขียนน่ะ อวิชชาดับเป็นปัจจยาการ ถ้ามันจบมันเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้มันก็เหมือนกับว่าพระอาทิตย์ขึ้นแล้วตก แล้วตกวิธีการใด ถ้าคนไม่เป็นอธิบายตรงนี้ไม่ถูกไง เราถึง อื้ม เราก็ว่า ประสาเรานี่ คนเขียนเขียนไม่ชัดเจน คนเขียนนี่ประสาเราว่าไม่รู้จริง

พออย่างนั้นปั๊บ พอเรามาปฏิบัติเราก็รู้ของเรา ทีนี้ย้อนกลับมาในแง่ที่ว่าอะไรก็ได้นี่นะมันเหมือนกับเด็ก เด็กนี่นะ เวลาเด็กนี่พอโตขึ้นมา ทุกคนต้องเรียนหนังสือ อะไรก็ได้ ขอให้เรียนเถอะๆ แต่ถ้าสมมุติเราตั้งเป้านะ เราจะเป็นช่างใหญ่ เราจะเรียนวิศวะ แล้วเรียนอะไรก็ได้ใช่ไหม? ไม่ใช่แล้ว เอ็งจะเรียนหมอ เอ็งจะเรียนอะไรก็นั่นแหละ จะเรียนสายวิทย์-สายศิลป์ล่ะ? เอ็งจะไปทางไหน? นี่พูดถึงพื้นฐานเลยนะ

ทีนี้ถ้าพื้นฐานอย่างนี้ปั๊บ เวลาปฏิบัติมันจะมีสติ มันจะมีความตั้งใจ มีความจงใจ ทีนี้ย้อนกลับมาเลย กลับมาที่ว่า ถ้าคนไม่เป็นทางนี้ปั๊บ เด็กขึ้นมา เรียนอะไรก็ได้ แล้วเด็กนี่มันพวกฟิสิกส์พวกอะไรมันไม่มีปัญญา มันจะไปเรียนหมอได้อย่างไร? เริ่มต้นนี่อยู่ที่อะไรก็ได้ แต่เอ็งจะไปสายไหน ย้อนกลับมาตรงนี้ตรงที่ว่าจริตนิสัย เอ็งจะทำอย่างไร? ทีนี้พอจะทำอย่างไร?

เวลากำหนด อย่างไรก็แล้วแต่ต้องมีสติ แล้วมีสติแล้วนี่ อานาปานสติก็ได้ พุทโธก็ได้ มรณานุสติก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ก็ได้ๆ ก็ได้มันอยู่ที่จริตนิสัยเราแล้ว ถ้าจริตนิสัยเราทำ มันเป็นไป ทีนี้พอเป็นไป ถ้ามีสติและทำถูกต้อง สัมมากับมิจฉานะ เวลารู้จริงนี่ตรัสรู้เองโดยชอบ บรรลุธรรมโดยชอบกับไม่ชอบ บรรลุธรรมโดยไม่ชอบ ไปก๊อปปี้เขามา แล้วสร้างภาพขึ้นมา มันจะชอบได้อย่างไร? เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะจิตนี่มหัศจรรย์มาก

ดูสิ เราไปดูโครงการของใครก็แล้วแต่ เรามาจินตนาการได้ไหม? ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วนี่มึงไปอ่านตำราในพระไตรปิฎกมา มึงไปเอาของครูบาอาจารย์มา มึงเลยจินตนาการไม่ได้ คนภาวนาไม่เป็น หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านพูดบ่อย หลวงปู่มั่นนะเวลาท่านเทศน์ เหตุทั้งนั้นไม่พูดถึงผลเลย พอพูดถึงผลปั๊บ มันจะเอา มันทำโดยกิเลสไง

เพราะทุกคนเวลาภาวนา ทุกคน เราเห็น เราทำมาหากินกัน เห็นไหม เราอยากรวยไหม? เราอยากทำมาหากินไหม? เราก็อยากทั้งนั้น โดยธรรมชาติ แล้วครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ของท่าน ถ้าเราไปฟังเข้า เราไม่อยากเป็นเหรอ ไอ้ทำมาหากินมันเป็นข้อเท็จจริงนะ ถ้าเราทำไม่ได้ธุรกิจเราก็เป็นไปไม่ได้ แต่จินตนาการมันได้ จิตมันสร้างได้ พอจิตมันสร้างได้

ถ้าพูดถึงถ้าอาจารย์ไม่รอบคอบนะเท่ากับอาจารย์ทำลายลูกศิษย์ ลูกศิษย์มันมีโอกาสที่จะปฏิบัติ แล้วเราเอาสิ่ง เหมือนกับเราให้ลูกเราหลานเราเสพยาเสพติด ให้ลูกเราหลานเราให้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ให้เสียนิสัย แต่ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่ดี เห็นไหม เราจะยอมให้ลูกเราเป็นอย่างนั้นไหม? เราต้องล้อมกรอบลูกเราใช่ไหม? เราต้องทำให้ลูกเราเป็นคนดีใช่ไหม?

การสอนก็เหมือนกัน ถ้าไปบอกผลให้ทั้งหมดเลย อย่างนี้เท่ากับฆ่าลูกศิษย์ เท่ากับทำลายนะ โดยที่ว่าอาจารย์จะรู้หรือไม่รู้ล่ะ? แต่ถ้าอาจารย์จะรู้รู้เพราะอะไร? รู้เพราะเราเคยเป็น เวลาเราปฏิบัติไปจิตมันจะเป็นอย่างนั้น เราจะรู้ของเราอย่างนั้น มันจะสร้างภาพอย่างนั้น เห็นไหม เราถึงพูดบ่อย อุปกิเลส กิเลส อุปกิเลส กิเลสหยาบๆ ฟุ้งซ่านเป็นกิเลสหยาบๆ เวลามันว่าง มันปล่อยวาง นั่นก็กิเลสอย่างละเอียดนะ

อุปกิเลส ๑๖ ไง โอภาสสว่างไสว กิเลสทั้งนั้น เพราะ! เพราะจิตออกไปรู้ไม่ใช่ตัวมันเป็น รู้ว่าว่าง รู้ว่าสว่าง ใครรู้? ใครรู้? เวลาฟุ้งซ่านก็ว่านี่กิเลสๆ พอมันว่างๆ ก็ โอ้โฮ นี่ธรรมะ ธรรมะ กิเลสอย่างละเอียด กิเลสมันหลอกมาอีกชั้นหนึ่ง กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างละเอียด แล้วถึงตัวมันอย่างไร? นี่ครูบาอาจารย์ท่านเป็นไง

ทีนี้ย้อนกลับมาที่เขาทำกัน เห็นไหม เวลาว่างเข้ามา ว่างๆ ว่างๆ แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ เราสงสารนะ นี่ไง เวลาพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว ท่านบอกธรรมะนี่มันเหนือโลก พอมันเหนือโลกขึ้นมาเราจะสอนเขาอย่างไร? เพราะอะไรนะคำพูดคำเดียวกัน ว่าง ว่างนี่มันว่างของใคร? ว่างนอกว่างใน

แล้วว่างตัวมันเอง ว่างนอกว่างในนะ ว่างนอกความคิดหยาบๆ ไง ว่างในความคิดเห็นภายใน แล้วตัวมันเองล่ะ? แล้วว่างตรงไหน? ฉะนั้นพอมาเรื่องนี้ เมื่อกี้พูดถึงอภิธรรมว่าอภิธรรมเขากำหนดพุทโธอยู่ อภิธรรมถ้าคิดโดยปัญญาของเขามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราจะบอกเลย การปฏิบัติทุกแนวทาง ทุกวิถีทาง ผลของมันคือสมถะหมด

ไม่มีหรอกวิปัสสนาสายตรงสายเติงไม่มี ไม่มี ไม่มี ย้ำเลย ไม่มี ไม่มี ไม่มีเพราะอะไร? ไม่มีเพราะจิตของเรามันเป็นโลกียะ มันเป็นมานะ มันเป็นทิฏฐิของมัน คำว่าโลกียะคือคิดโดยเรา คิดโดยภพ คิดโดยเราเป็นคนคิด นี่เรียกว่าโลกียปัญญา ฉะนั้นคำว่าโลกียปัญญาคิดโดยเรา เราพิจารณาอะไรไปก็แล้วแต่

อย่างที่เราไปอ่านธรรมะ อ่านหนังสือพระพุทธเจ้า อ่านแล้วซึ้งใจไหม? อ่านโดยเรา แล้วก็ปล่อย ปล่อยมันคืออะไร สบายใจ ปฏิบัติก็เหมือนกัน ปฏิบัติทุกอย่าง ทุกวิธีการเลย ผลของมันคือสมถะหมด ไม่มี วิปัสสนาไม่มี วิปัสสนาจะมีต่อเมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา มีสมาธิขึ้นมาก่อน ไม่มีสมาธิที่ว่าว่างๆๆๆ กันน่ะ ว่างๆ มันคือสมาธิ แล้วเป็นมิจฉาสมาธิด้วย

ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ โทษนะ พูดว่าว่างไม่ได้ “อื๊อ” นี่คือตัวสมาธิ คือตัวจิตมันว่าง ไม่ใช่อารมณ์ว่าง ตัวจิตว่าง ถ้าตัวจิตว่าง เพียงแต่ว่าเราคุยกันเป็นบุคคลาธิษฐาน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ใช่ไหม? เราก็บอกว่าจิตนี่ว่าง เพราะคนที่ว่างจริงเขาจะรู้ว่า จิตว่าง ว่างคืออะไร? ว่าง(พูดไม่ได้)

แต่ถ้ามันไม่เป็นนะ จิตว่าง โอ้โฮ มันว่างนะ มันปล่อยหมดเลยนะ คือตัวมันรู้ใช่ไหม? เพราะมันรู้ใช่ไหม? มันเหมือนมือเรารู้ว่าเราปล่อย มันก็ว่างใช่ไหม? แต่ตัวมือนี่ยังมีอยู่ เห็นไหม ถ้ายัง โอ้โฮ ว่างอย่างนั้น อย่างนั้น ปากโม้ไปนะ ไม่ใช่ละ

พอไม่ใช่ขึ้นมานะเราจะบอกว่ามิจฉาสมาธิไง มิจฉาสมาธิเพราะตัวมันไม่ว่าง ถ้าตัวมันว่างปั๊บ พอตัวมันว่างนะ ความรู้สึกนะ ขณะตัวเองว่างเข้าใจว่าเป็นนิพพานได้เลยล่ะ เข้าใจว่า แต่มันเข้าใจว่า เห็นไหม เพราะอะไร เพราะตัวมันว่าง พอตัวมันว่างปั๊บ ถ้ามีครูบาอาจารย์ แล้วมีวาสนา

ถ้าคนมีวาสนานะ พอมันว่างปั๊บมันจะเห็นกาย เห็นกาย ตรงนี้ ถ้าคนภาวนาไม่เป็นมันพูดไม่ถูก คำว่าเห็นกาย เราเปรียบเทียบนะ เปรียบเทียบในพระไตรปิฎก พระสารีบุตร พระ มีหลายองค์มากที่เวลาไปเอหิภิกขุ ไปขอองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าบวช พอขอบวช ทำพิธีบวช บริขารมันจะลอยมาเป็นทิพย์ บริขาร ๘ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะมีวาสนา แต่มีหนเดียวนะ

แล้วครั้งที่ ๒ ก็ต้องตัดเย็บเอาเองแล้ว แต่มันจะมีลอยมาจากอากาศเลย บริขาร เขาเรียกบริขาร ๘ นี่มาโดยทิพย์เพราะสร้างบารมีมา แต่บางองค์ก็ไม่มี บางองค์นี่นะต้องหาเอง ไอ้อย่างนี้มันอยู่ที่เราสร้างมาแต่อดีตชาติไง ทีนี้เราจะย้อนกลับมาที่จิต คำว่าเวลาพระในสมัยพุทธกาลที่เอหิภิกขุ พระพุทธเจ้าบวชให้ ที่ว่าบริขารลอยมาเป็นทิพย์ มันมีเป็นบางองค์ ไม่ใช่มีทุกองค์

บางองค์เพราะสร้างบารมีมา จิตเราก็เหมือนกัน ถ้าจิตเปรียบเหมือนที่ว่าเอหิภิกขุ แล้วมีบริขารลอยมาเป็นทิพย์ ถ้าจิตมันสร้างบารมีมา ที่มันมีบุญญาธิการมา พอจิตสงบนี่มันจะเห็นกายเลย เห็นขึ้นมาเลย แต่ถ้าอย่างพวกเรานี่ อย่างพวกเราเลย อย่างพวกเรานี่พวกขี้ครอก อดีตไม่ได้ทำมา พอจิตสงบมันไม่ลอยมา มันไม่ลอยมา คือจิตสงบแล้วมันไม่เห็นกายไง

จิตสงบแล้วไม่เห็นกาย ถ้าจิตสงบแล้วไม่เห็นกาย ต้องรำพึง รำพึงขึ้นมา เหมือนกับเรา เราจะบวชไปขอพระพุทธเจ้าบวชแต่เราต้องเตรียมบริขารไป เอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“เอหิภิกขุ เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด”

แต่เป็นภิกษุมาแล้วก็ต้องโกนหนวด โกนผม แล้วห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เราก็หาผ้ากาสาวพัสตร์มา เราก็ห่มแล้วเราก็เป็นภิกษุ จิตสงบแล้วนี่ แล้วรำพึง จิตนี่รำพึง รำพึงถึงกาย ถ้ารำพึงถึงกาย บางทีกายมันจะมาได้ กายจะมาได้มาไม่ได้ มาได้นี่แสดงว่ามีวาสนา รำพึงเลยนะ รำพึงถึงกาย จิตสงบแล้วรำพึงถึงกาย พั้บ! พั้บ! มาเลย วิปัสสนาเกิดตรงนี้ เกิดตรงจิต เห็นกาย เวทนา จิตธรรม แล้วทำไมจิตเห็นจิตล่ะ? เห็นไหม

กาย เวทนา จิต ธรรม จิต จิต กาย เวทนา จิต จิต ตัวจิตมันเห็นจิต ตัวจิตเห็นจิตมันแก้ไขได้ แต่โดยที่เขากระทำกันอยู่เห็นไหม ไม่เห็นหรอก สร้างภาพทั้งนั้น เพราะอะไรรู้ไหม? นามรูปเกิดดับ ความคิดก็เกิดดับ ความคิดเกิดใช่ไหม? แล้วความคิดก็ดับ แล้วเราก็ดูนามรูปก็ดูเกิดดับ แล้วจิตเห็นอะไร? ก็เห็นเงามันไง เห็นความคิดไง จิตเห็นความคิด มันจะวิปัสสนาตรงไหน?

แต่เพราะครูบาอาจารย์ไม่รู้จริง พอไม่รู้จริงน่ะ วางตำราไว้ไง เหมือนเราเขียนแผนที่ไว้ผิดเพราะเราเข้าใจผิด เราก็เขียนแผนที่ไว้ผิด ทีนี้คนที่ไม่เข้าใจมาอ่านแผนที่นั้นแล้วก็ย้ำอยู่นั่น อ่านแผนที่นั้น อ่านแผนที่นั้นมาก อ่านกันเยอะ พออ่านกันเยอะ มาคุยกันเป็นแผนที่นั้น จำนวนมันเยอะ พอจำนวนมันเยอะก็บอกว่า อย่างนี้เหมือนกันไหม เหมือนกัน ก็คิดว่าถูก คิดว่าถูกเพราะจำนวนมันเยอะ แต่ผู้รู้จริงน่ะจำนวนมันน้อย

ทีนี้ผู้รู้จริงบอก สิ่งจำนวนมากเพราะพูดๆ อยู่นั่นไม่ถูกเลย ผลของมันคือสมถะ ถ้าการใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม ดูสิ เวลาที่พระพุทธเจ้าสอน เทศน์ให้หลานของพระสารีบุตรที่เขาคิชฌกูฎ เห็นไหม เพราะหลานไปต่อว่าไง ไม่พอใจพระพุทธเจ้าเพราะเอา น้า น้า น้า นี่บวชหมดเลย เอาทั้งตระกูลบวชหมดเลย จะมาต่อว่า ว่าเอาญาติตัวไปบวชหมด

พระพุทธเจ้าบอก “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ” พระพุทธเจ้าย้อนไปที่เหตุนะ “เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย” ความคิด เพราะคิดไม่พอใจเขาไง “เพราะอารมณ์ความรู้สึกนั้นมันก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”

วัตถุ ความคิด มันก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง จิต พระสารีบุตรฟังอยู่นี่ จิต อาการของจิต จิต ความคิด เห็นไหม เราไปดูนามรูปที่ความคิด พอความคิดมันดับ เราก็ว่าอันนี้คือวิปัสสนา แต่เวลาเราดูความคิด ดูนามรูป ดูไปบ่อยๆ ดูบ่อยๆ มันเกิดมันดับนะ แล้วมีสติ มันผิดตรงนี้ที่มันผิด มันผิดเพราะเราเข้าใจว่าดูนามรูปนี่เป็นวิปัสสนาสายตรง เป็นการใช้ปัญญา แต่ตอนนี้ปัญญานี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่เพราะความเข้าใจผิดมันเลยไม่เข้าใจว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

มันเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา ความเข้าใจผิดเหมือนกับเราตั้งเป้าผิด คนตั้งเป้าผิด เราจะไปกรุงเทพฯ แล้วลงไปทางใต้จะถึงกรุงเทพฯไหม? ทีนี้เราตั้งเป้าไว้ผิดแล้วมันจะถูกได้อย่างไร? มันผิดตรงตั้งเป้า ผิดตรงเจตนา แต่สมมุติถ้าเราไม่ได้ตั้งเป้า เราไม่รู้เรื่องแต่คนหมู่มากสอน เราทำไปโดยข้อเท็จจริงนะ

พอทำไปมันรู้นี่ พอทำไป ทำไป พอจิตมันสงบขึ้นมา เหมือนรถวิ่งไปมันจะหักเข้ากรุงเทพฯ ได้ คือเราจะบอกว่าถ้าคนมีวาสนา มันเทียบเคียงขึ้นมา มันรู้ผิดรู้ถูกอยู่นะแล้วมันดัดแปลงได้ แต่เพราะว่าเราไปเชื่อมั่น เชื่อมั่นเพราะอะไร? เพราะโดนล้อมกรอบไว้ด้วยทิฐิว่า

“ถ้าจิตสงบมันเป็นสมถะ มันไม่เกิดปัญญา สมถะนี่ไม่สามารถชำระกิเลสได้ เราถึงต้องใช้ปัญญา” แต่ไม่เข้าใจเลยว่าสมถะนี่ รถนะถ้าเอ็งวิ่งอยู่นี่ ไม่มีน้ำมัน รถไปไม่ได้ ตัวสมถะเป็นตัวค่าใช้จ่าย เป็นตัวค่าใช้จ่ายให้มันเข้าถึงกรุงเทพฯ ได้ ถ้าไม่มีสมถะ มรรค ๘ มันมีสัมมาสมาธิ ตัวสมถะคือตัวต้นทุนที่เราจะต้องใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมด

แล้วสิ่งที่เราจะไป ถ้าคนเดินทางโดยที่ไม่มีแผนที่ เดินทางโดยที่มันไม่เข้าใจ เดินทางด้วยความโง่มันก็หลงทางไปตลอด แต่ถ้าคนเดินทางมีปัญญาไต่ถามเขา ทางถูกทางผิด เห็นไหม แต่มันมีสมาธิมันจะไปถูกได้ เห็นไหม เราบอกว่าที่ผิด ผิดด้วยทิฐิ ทิฐิตรงไหน? ในเมื่อความเข้าใจใช่ไหม? ความเข้าใจว่าถ้าใช้ปัญญาไปมันจะเป็นวิปัสสนา แต่ถ้ามันมีวาสนา มันวิปัสสนาไปเรื่อยๆ มันจะหดเข้ามา

เพราะมันมีผู้ที่ปฏิบัตินะ ในวงการที่ผิดๆ มันมีถูกอยู่บ้าง ถูกอยู่บ้างเพราะอำนาจวาสนาเขา พอถูกอยู่บ้างปั๊บเขาไปหาหลวงตา เราเคยอยู่กับหลวงตา เขาบอกว่าเพราะ! เพราะถ้าคนเข้าใจผิดนี่นะ อย่างที่ว่าตำราที่เขียนผิด คนเข้าใจผิดมันไม่เคยเห็นถูกใช่ไหม? มันก็เขียนโดยจินตนาการ เขียนด้วยความผิดไปว่า

“กิเลสขาดไปแล้วมันจะไม่มีอะไรเลยนะ ขาดหมด โอ๊ย ว่าง ว่างเป็นอวกาศ ว่างแบบไม่มีชีวิตไง” แต่ความจริงไม่ใช่ ความจริงเวลากิเลสขาดมันขาดแต่เฉพาะกิเลสไง ความคิดเราก็ยังอยู่ ถ้าความคิดเราไม่อยู่ สมมุติเรานี่นะชำระกิเลสไปแล้ว เราจะจำพวกโยมไม่ได้เลย เพราะมันขาดไปแล้ว จำโยมไม่ได้แล้ว

แล้วทีนี้ทำไมเราถึงจำโยมได้ล่ะ จำโยมคืออะไร? คือสัญญา กิเลสมันขาดไปเฉพาะกิเลสใช่ไหม? ไม่ใช่ว่าพอกิเลสขาดแล้วเรากลายเป็นคนบ้าเลย จำอะไรไม่ได้เพราะมันขาดไปแล้ว พอขาดไปแล้วเราก็ซื่อบื้อเลยนะ เห็นโยมก็ไม่รู้จักโยมแล้ว มันขาดไปเฉพาะกิเลส แต่ความจำยังอยู่ใช่ไหม? ถ้าคนเป็นมันจะรู้

ทีนี้ลูกศิษย์เขาที่พิจารณามันขันธ์ขาด แล้วอาจารย์เขาบอกขาดสูญ ก็เลยมาถามหลวงตาว่า

“พิจารณาไปแล้วเป็นอย่างนั้นๆ” “เออ เอ็งน่ะถูก”

“ผมก็ว่าผมถูกแต่อาจารย์ว่าผมผิด” “อาจารย์มันเป็นใครน่ะ”

ไม่ยอมพูด อย่างไรก็ไม่ยอมพูด แต่เวลาถึงที่สุดแล้ว

“เอ็งน่ะถูก คือขาดมี กิเลสขาดไป แต่ความคิดทุกอย่างอยู่หมด”

แล้วมันก็ถูกต้อง เหมือนที่ว่าพระอรหันต์ไง พระอรหันต์น่ะ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระ พระอรหันต์นี่จิตสะอาดหมดแล้ว ร่างกายความเป็นอยู่เป็นภาระที่ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นปุถุชนเรา ร่างกายเขาเรียกขันธมาร ขันธ์มันก็ทับเรา ความคิดก็ทับเรา ขันธมารไง แต่พระอรหันต์ ขันธ์เป็นภาระ ขันธ์สะอาด

ถ้าคนเป็นนะ ขันธ์มันขาดไปเฉพาะกิเลส ทุกอย่างอยู่ครบแต่กิเลสขาดไป มันสะอาดบริสุทธิ์ แต่อย่างเรามันไม่สะอาดบริสุทธิ์เรื่องความคิดเพราะมันอวิชชาตั้งแต่ทีแรก มันผิดโดยทิฐิมานะ ผิดโดยทิฐิแล้วเขียนกรอบให้ตัวเองผิดด้วยว่า

“สมถะไม่มีความจำเป็น พุทโธไม่ได้ ทำอย่างอื่นไม่ได้ เพราะจิตจะตกไปอยู่ในสมถะ ถ้าสมถะจะไปเห็นนิมิต”

ก็นิมิตคือเห็นกายมันจะผิดตรงไหน? แต่จะให้ใช้ปัญญา นี่เขาเรียกมันเป็นวิทยาศาสตร์ มันล้อมกรอบไง เพราะถ้าเป็นความจริงนะ ถ้าเป็นปัญญาอย่างนี้ มันเป็นคล้ายพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นปัญญาวิมุตติ ปัญญาวิมุตติคือมีปัญญามาก แต่เวลาพระโมคคัลลานะเป็นเจโตวิมุตติ กำหนดพุทโธ แล้วกำหนดพุทโธจิตสงบแล้วพิจารณาดูกาย จะมีฤทธิ์มีเดช แต่พระสารีบุตรจะเป็นปัญญาวิมุตติ

จะบอกว่าการใช้ปัญญาไล่ไล่เข้ามา มันเป็นปัญญาวิมุตติ มันเป็นอีกแขนงหนึ่ง คือมันเป็นอีกวิธีการหนึ่ง ถ้าเป็นเจโตวิมุตติเป็นอีกวิธีการหนึ่ง แล้วการพิจารณาไปมันจะมีหลากหลายไปเยอะแยะเลย แต่อันนี้ไม่ได้ มันผิดหมด ต้องพิจารณานามรูป เพราะการปฏิบัติไม่เป็น เลยเขียนกรอบไว้ เหมือนกับ เราพูดบ่อยนะ

มีน้ำพริกถ้วยหนึ่ง แล้วมาตั้งไว้ ว่าคนทั้งโลกนี้กินน้ำพริกถ้วยนี้อร่อย คือห้ามทำอย่างอื่นเลยไง ให้ทำอย่างนี้อย่างเดียว แต่ถ้าเป็นพระพุทธเจ้านะ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง แม้แต่ทำความสงบนี่นะ ๔๐ วิธีการ แล้วเวลาขั้นของปัญญานะไม่มีขอบเขต ปัญญาของคนมันไปได้กว้างขวางมาก ปัญญาที่มันเกิดจากสมาธิมันจะไปแบบเต็มที่ของมันเลย ต้องปล่อยไปตามจริตนิสัยของตัว

นี่ การภาวนานี่ไง มันถึงแบบประสาเรา การวิปัสสนามันเหมือนกับเราทำอุตสาหกรรมที่ทำด้วยมือ มันมีชิ้นเดียวในโลกไง แต่ความคิดของอภิธรรมนะ มันเหมือนโรงงานปั๊ม ทุกอย่างต้องออกมาเหมือนกัน นั่นเป็นวัตถุนะไม่ใช่คน คนนี่ทำไม่ได้นะ พ่อแม่เดียวกันปั๊มลูกออกมาไม่เหมือนกันสักคน ลูก ๓ คน ๔ คน ไม่เห็นเหมือนกันสักคน มันมาจากกรรม

การวิปัสสนาการทำมันเป็นการแก้กรรม มันทำลายกัน มันไม่ใช่วัตถุที่ทำเป็นอย่างนั้น แต่โลกเขาจะทำอย่างนั้น การคิดของเขา เห็นไหม จะเป็นสูตรสำเร็จอย่างนั้น คือมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าคนภาวนาเป็นนะ มันเป็นไปไม่ได้

ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์เรานะ ท่านจะรู้ตรงนี้ แล้วท่านจะแก้ทีละบุคคล บุคคล ของใครของมัน จิตนี้จะไม่เหมือนกันแม้แต่คนเดียว แล้วการวิปัสสนาการกระทำจะไม่เหมือนกันเลย ทั้งๆ ที่พิจารณากายมาเหมือนกันก็ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น เราพูดเพื่อให้คนปฏิบัตินี้ได้ลิ้มรสของธรรม คือผู้ที่ปฏิบัติอยากให้รู้จริงเห็นจริงได้สัมผัสจริง อย่าไปสัมผัสแบบสัญญาอย่างนั้น ถ้าสัมผัสอย่างนั้นนะ แล้วคนมันเยอะไง พอคนเยอะนี่มันเหมือนกันนะ นี่ ว่างๆ เหมือนกันเลย ถูกๆ เราถึง เมื่อวาน เห็นไหม เวลาบอกเลย องค์นี้พระอรหันต์ องค์นี้พระอรหันต์นะ เราพูดประสาเราเลย เรามีอารมณ์มาก

เรามีอารมณ์เรื่องนี้มากเลย เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะคำว่าพระอรหันต์ของพวกมึงนี่ใครเป็นคนพูด? วุฒิภาวะของพวกโยมจะรู้ใครเป็นอรหันต์ไม่อรหันต์ อย่ามาพูดนะว่าใครเป็นอรหันต์ไม่อรหันต์ อย่ามาพูด อย่าเอาความรู้สึกความนึกคิดของเอ็งมาบังคับข้า ของเรานี่นะถ้าจะเป็นไม่เป็นมันอยู่ที่เหตุ ต้องพูดเหตุถูกต้อง ผลไม่ต้องไปพูดถึงมัน แล้วพวกโยมจะรู้เหตุอะไร?

สมมุติเราบอกว่าเราเป็นพระอรหันต์ ว่างหมดเลยว่าง แล้วใครจะมาถามอะไรเรานะ ใครลองมาถามสิ ก็ว่างไง กี่ร้อยปัญหาก็กูว่าง แล้วกูเป็นพระอรหันต์ไหม? เป็นแล้ว แล้วมึงเอาอะไรมาตรวจสอบกูล่ะ? อ้าว ก็กูว่างนี่ มึงจะเอาอะไรมาถามกู? กูก็ว่างน่ะ แล้วถ้าเป็นเราไม่ใช่ ว่างวางไว้ ทำอย่างไรมันถึงว่าง? ทำอย่างไร? ก็บอกมันว่าง มันว่างอวกาศมันก็ว่าง ในตุ่มในไหก็ว่าง ในบาตรนี่ไม่มีอะไรมันก็ว่าง แล้วว่างมันมีประโยชน์อะไร?

ในโอ่งที่บ้านเวลาน้ำมันไม่มี ในโอ่งว่างไหม? กลับบ้านไปกราบโอ่งนะว่าโอ่งเป็นพระอรหันต์เพราะโอ่งมันว่าง ถังขยะนี่มันว่างๆ ไปกราบเลย นี่พระอรหันต์ ถังขยะนี่ ใครมาก็จะมาหันต์ๆๆ ไม่สำคัญ คือแบงก์นี่นะ ธนบัตรในตลาด มันเป็นของจริง มันอยู่ในกระเป๋าใครมันก็คือแบงก์จริงๆ ถ้าจะมีพระอรหันต์ในสังคมเยอะๆ นะ เราก็สาธุ

พระอรหันต์แต่ละองค์ท่านก็เหมือนแบงก์จริงแบงก์พันแต่ละใบ แบงก์จริงแต่ละใบมันจะไปเดือดร้อนอะไร? แบงก์จริงแบงก์พันแต่ละใบมันก็คือแบงก์พันใช่ไหม? ถ้ามีพระอรหันต์จริงๆ เราก็เคารพจริงๆ ใช่ไหม? แล้วแบงก์จริงแบงก์ใบนั้นจะต้องมาโฆษณาอะไร? แบงก์พันใบนั้นต้องติดใบโฆษณาใช่ไหม? “ว่าฉันนี่พันบาท ฉันนี่พันบาทเหรอ?”

แต่ทีนี้ถ้าฉันนี่พันบาท ไอ้นี่มันแบงก์ปลอม แบงก์จัญไร ถ้าแบงก์จริงๆ มันอยู่ในกระเป๋า มันอุ่นๆ ในกระเป๋า มันไม่ยุ่งกับใคร อ้าว ถ้าแบงก์พันอยู่ในกระเป๋ามันจะพูดอะไรออกมา? แบงก์พันในกระเป๋าน่ะ ถ้าเป็นของจริงนะ เรารู้กันจริง ทุกคนแสวงหาแบงก์พัน ทุกคนอยากมีแบงก์พัน แล้วถ้าแบงก์พันมันมีอยู่แล้วก็คือแบงก์พัน เราจะไปเดือดร้อนอะไร?

ทำไมต้องมาบังคับ? คนโน้นก็ต้องมาหาเรานะ องค์นี้ก็อรหันต์ องค์นั้นก็อรหันต์ โทษนะ ถ้าเป็นพระอรหันต์เราก็สาธุ แต่วุฒิภาวะของเรามันมีอะไร? แบงก์เอ็งรู้จักไหม? เห็นกระดาษเขาใช้กันก็ว่าเป็นแบงก์ๆ แล้วเป็นไหม? แล้วประสาเรานะที่เขาบอกเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์น่ะ เราก็รู้จัก กะล่อน ปลิ้นปล้อนขนาดนั้น มันจะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร?

พระอรหันต์นะ ไม่ต้องพระอรหันต์หรอก พระโสดาบันเขาจะไม่โกหกมดเท็จแล้ว เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะไม่ลูบคลำในศีล สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส การลูบคลำในศีล ศีลพรตน่ะเหยียบย่ำ พระโสดาบันจะไม่เหยียบย่ำธรรมวินัย เวลาให้พรให้ศีลกัน เห็นไหม มุสาฯ เห็นไหม ปาณาติปาตาฯ อทินนาฯ กาเมฯ มุสาฯ สุราฯ ศีลห้ายังไม่โกหกเลย

แล้วนี่อะไร เอาอะไรไปพูด ปลิ้นปล้อนขนาดนั้น แล้วคนนู้นก็ว่าอรหันต์ นี่ก็อรหันต์ แล้วเราไป เราเห็นว่าเป็นพระเป็นเจ้าเราก็เชื่อ แต่เราอยู่กับเขามา เราเห็นหมดล่ะ หลายองค์มาก เวลาครูบาอาจารย์หลวงตาท่านพูด เห็นไหม “วัดเป็นส้วมเป็นฐาน พระเป็นมูตรเป็นคูถ” ท่านพูดแค่นี้มันก็ซึ้งพอแล้ว “วัดเป็นส้วมเป็นฐาน”

คิดดูสิ วัดๆ หนึ่งก็ส้วมห้องหนึ่ง พระก็ขี้ในส้วมนั้นเป็นมูตรเป็นคูถ ถ้าพูดแค่นี้เราก็ไปจินตนาการเอาสิ แล้วนี่มาก็จะเป็น จะเป็นไม่เป็น เอาไว้เถิด มันเป็นที่วุฒิภาวะ เราจะบอกว่าขาวกับดำ เราเห็นว่าดำ เอ็งเห็นว่าขาว แล้วมันก็สิทธิของเราใช่ไหม? มันก็เป็นสิทธิของพวกโยมใช่ไหม? พวกโยมเห็นว่าขาวก็เรื่องของโยมใช่ไหม? แต่ทำไมต้องบังคับให้เราเห็นดำเป็นขาวล่ะ?

ที่เรารับไม่ได้ รับไม่ได้ตรงนี้ไง เพราะความรู้สึกของเรา ความเห็นของเรา ก็ให้เป็นสิทธิของเราสิ ทำไมต้องบังคับให้เราเห็นเป็นขาวกับพวกเราด้วยล่ะ โยมจะเห็นขาวก็เรื่องของโยมใช่ไหม เราเห็นว่าดำมันก็สิทธิของเรา ทำไมต้องบังคับ ไอ้นั่นเป็นอย่างนั้น ไอ้นั่นเป็นอย่างนั้น แล้วพอเราจะพูดไป เวลาเราพูดออกมาก็หาว่า เพราะเขาเห็นว่าขาวเราบอกว่าดำ เขาบอกว่าเราเป็นพระไม่ดีอีกแล้ว เที่ยวติพระองค์นั้น เที่ยวติพระองค์นี้

ก็มึงบังคับให้กูพูดนะ มึงบังคับให้กูพูด เพราะกูไม่เห็นด้วย ในใจกูมันรู้อยู่แล้ว ว่ากูก็ไม่เห็นด้วยมาแต่ไหนแต่ไร แล้วเอ็งบังคับทำไมว่า เอามาบอกว่าสีตรงข้ามกับที่เราเห็น แล้วพอเราจะอธิบายก็ “อาจารย์นี่นะเที่ยวติเตียนพระองค์โน้น เที่ยวติเตียนพระองค์นี้” แล้วมันมาจากไหน? ก็มันมาจากว่าพวกเอ็งจะบังคับให้กูเห็นตามพวกเอ็งไง

ฉะนั้นถึงบอกว่า “อย่าข่มเขาโคขืนให้กลืนหญ้า” อย่าข่มหัวใจเราให้เรายอมรับอย่างนั้น หัวใจเรายอมรับอย่างนั้นไม่ได้ แล้วถ้าเรายอมรับไป มันก็ผิดกันไปหมดใช่ไหม? อย่างลูกศิษย์ คนไหนภาวนาก็จะมาให้เรารับประกัน เราไม่ใช่ว่า ถ้าเรารับประกันนะ แล้วลูกศิษย์หรือคนจะดีขึ้นเราจะรับประกันนะ แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น

อย่างที่เมื่อกี้ที่พูดว่า “อาจารย์ไม่เป็นจะฆ่าลูกศิษย์” ถ้าเรารับประกันไป อย่างเช่นนาย ก. นี่ภาวนาอยู่ เราบอกนาย ก. นี่เป็นพระอรหันต์หรือเป็นพระอะไรก็แล้วแต่ แล้วถ้ามันไม่เป็นความจริง ถึงวันหนึ่งมันจะเสื่อม พอวันหนึ่งมันเสื่อมไปแล้วเขาก็ต้องแปลกใจในตัวเราแล้ว อ้าว แล้วทำไมวันนั้นอาจารย์รับผมล่ะ?

๑. ทำให้ความเชื่อถือของเขาหมดไปเลยถ้าจิตเขามาเสื่อมทีหลัง ก็ถ้าเราไปพูดอย่างนั้นปั๊บ อาจารย์รับแสดงว่าอาจารย์ไม่เป็นใช่ไหม?

๒. เขาเสียเวลาของเขา เขาเสียเวลาของเขา

นี่ไง อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์นะ

๑. จะไม่ทำให้เสียเวลา

๒. จะทำให้เราเสีย

เสียเวลาคือปฏิบัติแล้วมันหลงไปเสียเวลาเปล่า ๒.ถ้าหลงไป ออกนอกทางไปเลยนี่เสียไปเลย ครูบาอาจารย์ท่านจะคอยดึงตรงนี้กลับมา ฉะนั้นจะให้รับประกัน จะให้รับรองเลยนี่ไม่ แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ มึงไม่ต้องมาให้กูรับรองหรอก กูรับรองมึงเอง

ถ้าจริงนะ กูวิ่งเข้าไปแบกมึงเลย เพราะ! เพราะใครๆ ก็อยากมีแบงก์พัน ใครๆ ก็อยากมีแบงก์พัน ถ้ามันจริงนะ เอ็งไม่ต้องพูดหรอก กูพูดก่อนมึงด้วย แต่ถ้ามันไม่จริงนะ มึงเอาปืนจี้หัวให้กูพูด กูก็พูดไม่ได้ เพราะมันเสียทั้งเขาทั้งเรา เราก็เสีย

เราเองก็เสีย เพราะถึงเวลาแล้วความจริงมันต้องปรากฏเด็ดขาด เพราะเราอยู่ในวงการนะ พระหลายองค์มาหามาก บอกว่าเมื่อก่อนอยู่กับครูบาอาจรย์ ครูบาอาจารย์เขาเห็นด้วย แล้วพอเขาเสื่อมมา เขาย้อนกลับเลย ทำไมอาจารย์เมื่อก่อนรับรองล่ะ? แต่เราอยู่กับครูบาอาจารย์เรานะไม่เป็นอย่างนั้น ครูบาอาจารย์เราบางทีมันเป็นอุบาย อุบายนะ ท่านไม่ได้รับรอง

แต่ถ้ามีการโต้แย้งกันมันจะเกิดทิฐิมานะ อย่างเช่นที่พระเราที่เราเฉยอยู่ เฉยอยู่ ถ้าเรายิ่งบอกว่าผิด ผิด มันจะเกิดทิฐิ ยิ่งไปยึดความเห็นของตัวมากขึ้น บางทีมาพูดนะ เราทำไขสือ ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้ไม่ชี้ คือว่าคอยบอก เขาเรียกตีวัวกระทบคราด คอยบอกห่างๆ ทิฐินะ กิเลสนี่ร้ายนัก แล้วใครไปรู้ไปเห็นมันจะยึดมันจะเกาะ แล้วเราจะทำอย่างไรให้เขาผ่านตรงนี้?

เหมือนสวะมันลอยไปติดน้ำอยู่ มันไปไม่ได้ แล้วทำอย่างไรให้มันหลุดออกมา? จิตถ้ามันติดนะ พอมันเข้าไปเห็นน่ะมันติด พอมันติดขึ้นมา เห็นไหม ให้คะแนนตัวเองไง ให้คะแนนตัวเอง แล้วจะทำอย่างไรให้มันหลุดออกมา? พอหลุดออกมา สวะมันหลุดออกมา มันก็ไหลออกไปใช่ไหม? ไหลเข้าหาธรรมะ ความเห็นของเรามันจะติด

คนภาวนาจะรู้ถึงว่ากิเลสมันร้ายขนาดไหน? มันติดอย่างไร? มันหลงอย่างไร? อุปาทานอย่างไร แล้วเวลาเราศึกษาธรรม เห็นไหม โลกียปัญญา ปัญญาของเรา แล้วสร้างภาพ ว่างๆ ว่าง เหมือนกับของเทียม ไปดูสิ กระเป๋าเทียมสวยกว่ากระเป๋าจริงอีก กระเป๋าจริงดูมันไม่แวววาวเลย แต่ของเทียมน่ะ แหม แว้บๆ แวววาวเลย

จิตมันเปล่งนะ อธิบายดีกว่าของจริงอีกแต่ไม่ใช่เพราะมันก๊อบปี้มานะ กระเป๋านี่กว่าจะหาวัสดุมา กว่าจะตัด กว่าจะขึ้นรูป กว่าจะเป็นจริง กว่าจะออกแบบ จิตที่มันเป็นความจริงมันจะเป็นของมัน มันมีเหตุมีผล ทำสมาธิอย่างไร สมาธิ โอ้โฮ กว่าจะเป็นสมาธิได้นะ พอเป็นสมาธิแล้ว ออกเห็นกาย ออกพิจารณาอย่างไร? ออกพิจารณาแล้วมันปล่อยอย่างไร?

คือเย็บกระเป๋า เย็บใบแรกมันเบี้ยว ใช้ไม่ได้ เย็บใบที่สองมันไม่สวย ก็นี่ไง หมั่นหัดวิปัสสนา กระเป๋าเย็บบ่อย ห้าใบ สิบใบ ร้อยใบ พันใบ แสนใบ โอ้โฮ หลับตาเย็บได้เลย พอมันคล่องตัวปั๊บ พอมันขาด ขวับ! เยี่ยม มันอธิบายได้ ของจริงอธิบายได้หมด ถ้าอธิบายไม่ได้ก็คือทำไม่เป็นไง ทำเป็นทำไมอธิบายไม่ได้? อธิบายได้มากได้น้อยอยู่ที่ว่าปฏิภาณการสื่อสาร

แต่ความจริงคือทำได้ก่อนแล้ว แล้วค่อยมาอธิบาย ทำไมจะพูดไม่ได้ พระโสดาบันพระสกิทาพระอนาคาพระอรหันต์พูดได้หมดตามที่ตัวเองรู้ อภิธรรมพูดได้ไหม? อภิธรรมมีใครพูดบ้าง? “นามรูปสิคะ พิจารณานามรูปสิคะ” “เอาอะไรพิจารณาล่ะ?”

“ก็พิจารณานามรูปสิคะ” “แล้วเอาอะไรพิจารณาล่ะ?”

“ก็พิจารณานามรูปสิคะ”

“เขาเอาจิตสงบแล้วพิจารณา ถ้าไม่มีจิตที่สงบแล้วไม่มีผู้พิจารณา ไม่มี ไม่มี จิตที่สงบแล้วออกรู้นั้นคือผู้พิจารณา”

เพราะเราเห็นการกระทำ เห็นทุกๆ อย่าง ถึงบอกว่าเราก็พูดแบบหลวงตาแหละ เพราะมีคนไปถามปัญหาอย่างนี้กับหลวงตามาก ทุกคนน่ะ เวลามีครูบาอาจารย์ที่ขัดแย้งกันจะไปถามหลวงตา ให้หลวงตายืนยันไง หลวงตาจะบอกว่า “เขาจะพูดเห็นไหม พิจารณารูป พิจารณาอะไรต่างๆ”

ท่านบอกว่า “การปฏิบัติมันมีหลากหลาย แล้วแต่ความถนัดของตัว อย่าไปว่าใครผิดใครถูก”

ฟังอย่างนี้เราก็เข้าใจ เข้าใจว่า “ดูสิ ไอ้ที่หน้าเด็กๆ เห็นไหม คำว่าเด็กๆ เราเปรียบเทียบถึงวุฒิภาวะของใจ ใจบางคนเป็นผู้ใหญ่นะ ใจบางคนนี่เหมือนเด็กๆ อ่อนแอ ใจของคนนี่ไม่เท่ากัน ร่างกายนี่โตเป็นมนุษย์เหมือนกันหมดเลย แต่หัวใจมันไม่เท่ากัน ทีนี้ความไม่เท่ากันนี่ การปฏิบัติน่ะ แค่สนใจปฏิบัติมันก็ถือว่าสุดยอดแล้ว

แล้วมาหัดปฏิบัติการสร้างบารมี แล้วถ้าผู้ที่ปฏิบัติเป็น เหมือนผู้ใหญ่น่ะ ทำงานเป็น ทำงานได้แล้ว เราสอนคนนั้น แต่ที่ยังไม่ได้น่ะให้ไปทำมา คือให้มีปริมาณเข้ามา แล้วพอปริมาณนี่ เขาเข้ามาฝึก พอฝึกเสร็จแล้ว คนไหนที่มีโอกาส เห็นไหม เอาคุณภาพแล้ว แต่ถ้าจะเอาคุณภาพเลยนี่ โอ้โฮ จะเลือกเฟ้นมันจะกี่คน?

เพราะในวงปฏิบัติ พระนี่สี่แสน แล้วกรรมฐานนี่มีเท่าไร? แล้วพระกับพระจะรู้กันว่าใครปฏิบัติถึงที่สุดมีกี่องค์? แล้วเวลาพระปฏิบัตินะ ทุกคนต้องรักตัวเองทุกคน ทุกคนเวลาปฏิบัติก็ทุ่มเททุกคน ทุกคนเวลาปฏิบัติน่ะทุกคน ถ้าทุกคนมีเป้าหมายพระนิพพาน ทำไมทุกคนไม่ทุ่มเท ทุ่มเททุกคน แต่ทุ่มเทไปแล้วอำนาจวาสนามันได้มากได้น้อย

ฉะนั้นเราจะบอกว่าผิดหมดๆ มันก็ล้มกันหมดเลยน่ะสิ นี่ เราเข้าใจหลวงตาอย่างนี้ คือหลวงตาท่านบอกว่า “เปิดโอกาสให้ทุกๆ คนไง ให้ทุกคนมีความขยัน” ท่านเป็นผู้รับรองว่าถูกหมด แล้วเราก็ทำไป พอทำไปแล้ว เหมือนกับเรานี่ พอเข้าไปแล้ว ใครผิดมันจะรู้เอง แต่สำหรับมาหาเรานี่ เราจะบอกเลยเพราะไม่ต้องการให้เสียเวลาไง เราเห็นว่าเสียเวลาเปล่า

แล้วดูสิ อยู่กับเรามานาน เห็นไหม เวลาใครมานามรูปก็จะมาย่องๆ แล้วพอมาอยู่นี่ปั๊บนะเปลี่ยนหมด ย่องอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วพอเวลาใครมาย่องนะเราก็ขำน่ะ ย่องๆ เพราะอะไรรู้ไหม? เราขำอะไรรู้ไหม? เราขำว่า โดยปกติของเรา เราก็มีความรู้สึกอยู่แล้วใช่ไหม?

ทำไมเราต้องมาสร้างความรู้สึกใหม่ขึ้นมาล่ะ? ทำไมเราต้องสร้างความรู้สึกใหม่ขึ้นมาอีกตัวหนึ่งล่ะ?

แล้วความรู้สึกเดิมแท้ของเรา ทำไมไม่ดูมัน? ไอ้ความรู้สึกของเราอยู่นี่ ทำไมไม่ดูมัน? แล้วไปสร้างขึ้นมาอีก เอ๋อ เอ๋อ ของจริงๆ มันมีอยู่ ทำไมไม่ทำ? ทำไมต้องไปสร้างความรู้สึกอีกอันหนึ่งขึ้นมา? พุทโธๆๆ มันของเดิมเรานี่ พุทโธๆๆ เราเป็นคนคิดใช่ไหม? พุทโธๆ นี่ของจริง ปัญญาอบรมสมาธิก็ของจริง คือของเรามีอยู่แล้วก็เล่นกับความจริงเลย เล่นกับตัวเราเลย สู้กับตัวเองเลย เอาตัวเองให้อยู่ในอำนาจของเราเลย นี่คือสมาธิ

ไอ้ทีจะเอาตัวเองเหรอก็ทำไม่ได้ ก็เลย อู๊ย ไปรู้สึกตัวทั่วพร้อม โอ๊ะ เห็นแล้วขำ เราเห็นว่านั่นคือการสร้างอารมณ์ นั้นคือการสร้างอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่งขึ้นมา อารมณ์ของตัวเอง ทุกข์ของตัวเองก็มีอยู่แล้วใช่ไหม? ทำไมต้องมาสร้างอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่งขึ้นมา? ใครมาก็มา เอ๋อ เอ๋อ รู้สึกตัวทั่วพร้อม

หลวงปู่มั่นก็สอนอย่างนั้นนะ หลวงปู่มั่นท่านสอนอย่างนั้น แต่ท่านสอนอารมณ์จริง อารมณ์เดิม คือท่านบอกว่า “การเหยียด การคู้ การดื่ม คือต้องมีสติตลอดเวลา” การดื่ม การกิน การเหยียด การคู้ การเหยียด การคู้ ต้องมีสติไว้ตลอดเวลา มีสติตลอดเวลา แต่นี่เราไปสร้างขึ้นมาใหม่อีกอันหนึ่ง หนอ หนอ เวรกรรมเอ๊ย มันเหมือนกับหนังตะลุงน่ะ ชักเย่อหนัง เอ๋อ เอ๋อ

ความจริงเราก็มีอยู่แล้ว ทำไมไม่สู้กับมัน? เราเห็นแล้ว ประสานะ ถ้าจะให้เราวิจารณ์นะ แหลกเลยนะ คือจะไม่มีชิ้นดีเลยล่ะ แต่ถ้าเกิดเป็นครูบาอาจารย์เรานะ “ก็ของมันมีอยู่แล้ว มึงตีสิ มึงทุบไปก็เจ็บ หยิกไปก็เจ็บ ก็มีอยู่แล้วก็เอามันสิ” ถ้าหยิกนะมันก็เจ็บนะ (คิดน่ะคิด) ถ้าหยิกมันก็ต้องเจ็บ แล้วทำไมไม่หยิกเลยล่ะ?

นี่คือเราไปสร้างอารมณ์ไง เราเห็นแล้วมันเป็นเรื่องตลก ประสาเราเลยนะ หลอกกัน เราถึงได้สงสาร เวลาเราพูดเราสงสารมากนะชาวพุทธนี่ ทีนี้มันไม่มีครูบาอาจารย์ที่รู้จริง อย่างครูบาอาจารย์ของเรานี่รู้จริง หลวงปู่มั่นน่ะ เพราะอะไรรู้ไหม?

พระพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่าเราเป็นพระอรหันต์ เราเป็นศาสดา

เป็นพระอรหันต์แล้วมาสอน แล้วในวงกรรมฐานเรานี่ แต่ก่อนมันก็ยังไม่มี แล้วจะปฏิบัติทุกคนก็ว่ามรรคผลไม่มี หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นน่ะ ท่านทำสำเร็จมาก่อน พระอรหันต์เหมือนกัน หลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้รู้จริงแล้วมาสอน สอนจนพวกเราขึ้นมา

ตั้งแต่หลวงปู่แหวน หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว นี่พระอรหันต์ทั้งนั้น เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะมีพระอรหันต์สอนไง มีแม่พิมพ์ มีแม่แบบ มันก็เลยสร้างต่อๆ กันมา แต่ถ้าไม่มีแม่พิมพ์ ไม่มีแม่พิมพ์ ไม่มีแม่แบบ ทำอะไรล่ะ? ทำอะไรกันมา? แล้วก็มาสร้างภาพกัน มันถึง ไม่ใช่ติเตียนใครนะ วันนี้ไม่ได้พูดเรื่องใครทั้งสิ้น พูดเรื่องข้อเท็จจริง ไม่ได้ว่าใครเลย

จะบอก (เขาว่าเรานี่ปากจัดมาก) เขาจะว่าเรานี่เที่ยวว่าคนอื่นนะ แต่ความจริงเราถึงบอกว่า “อย่าบังคับให้เราพูดสิ อย่าบังคับให้พูด” มันมีข้อมูลในใจนี่เยอะมาก ทีนี้พอพูดออกไปแล้วมันมีคนได้คนเสียไง แล้วพอพูดไปมันก็เหมือนพูดเข้าข้างพวกหมู่คณะเราเองไง เราจะไม่บอกอย่างนั้น

มีคนนะไปหาหลวงตา บอก “โอ้โฮ ศรัทธามากเลย ศรัทธาสายปฏิบัติหลวงปู่มั่นศรัทธามาก”

หลวงตาท่านกลัวจะเสียใจทีหลัง ท่านบอกว่า “เราเชื่อว่า” ท่านพูดนะ หลวงตาท่านพูดว่า

“เราเชื่อว่าในสายหลวงปู่มั่น มันก็มีปฏิบัติผิดปฏิบัติถูกเหมือนกัน”

ผู้ที่ผิดมันไม่ได้ผิดที่หลวงปู่มั่นสอนผิด มันผิดที่ว่ามุมมองของเรา อำนาจวาสนาของเรามันไม่ถึง มันก็มีผิด “ในสายปฏิบัติหลวงปู่มั่นก็มีผิดมีถูกเหมือนกัน” ไม่ใช่ว่าสายหลวงปู่มั่นจะถูกแล้วก็กระโดดเข้าไปเลยนะ แล้ววันไหนไปเห็นผิดนะ แล้วเราก็จะเสียใจ เราก็จะเสียใจว่าผิด

ฉะนั้น ผิดถูกมันอยู่ที่เรา ถ้าเราฟังหรือเราปฏิบัติแล้วมันปล่อยวาง มันเข้าใจใช่ไหม? คือร่มเย็นน่ะถูก ถ้ามีอะไรขัดแย้ง ถามหาครูบาอาจารย์อีก ถามหาได้ ถาม ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง สังเกตได้ไหม เมื่อก่อนที่หลวงตาท่านยังมีเวลาอยู่ คนไปถามปัญหา ท่านจะตอบตลอดเวลา เดี๋ยวนี้ท่านชราภาพ ธาตุขันธ์ท่านไม่ดี

เราจะบอกว่า “ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่แท้จริงนะ ท่านชอบมากเรื่องการสนทนาธรรม เพราะการตอบปัญหาธรรมมันเป็นการจรรโลงศาสนา” จำคำนี้ไว้ ถ้าพระองค์ไหนเป็นพระจริงๆ นะ ท่านจะพูดธรรมะกับเราอย่างเดียว ไม่พูดเรื่องอื่น ถ้าพระองค์ไหนไม่มีธรรมนะ มันจะโม้แต่เรื่องโลก โม้แต่เรื่อง คุยกันแต่เรื่องไม่ใช่ธรรมะไง จำตรงนี้ไว้

อย่างเช่นเรานะ ใครมานะถ้าคุยเรื่องโลกนะ เราบอก “โยมกลับเถอะ เราเบื่อเต็มที เวลาเราไม่มี” แต่ถ้าพูดธรรมะนะพอคุยกันได้ เพราะเราเคยเป็นแบบโยมมาก่อน เราบวชพรรษาสองพรรษาแรกที่ว่าที่เราจับผิดจับพลัดจับผลูน่ะ ไปหาองค์โน้นก็ตอบอย่างหนึ่ง ไปหาองค์นี้ก็ตอบอย่างหนึ่ง ปวดหัวมาก ปวดหัวมาก ไม่รู้ใครผิดใครถูก?

ฉะนั้น โยมก็เป็นแบบเรานี่แหละ ที่เราพูดอยู่นี่เราพยายามพูดทั้งๆ ที่เจ็บคอมากนะ บางวันนี่ระบมหมดเลยนะ กลืนน้ำลายแทบไม่ได้ แต่เราก็พยายามพูด พยายามพูด ถ้าคนพยายามแสวงหาแล้วกำลังทางสองแพร่ง จะไปทางใดทางหนึ่ง เราจะพูดด้วย แล้วพยายามพูด พูดอย่างมาก แต่ถ้าเป็นพอมี คนคุ้นเคยนะ มาก็พักเลย

ไม่ไหว เจ็บ ไม่ไหว จบเนาะ เอวัง