ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ว่างคือไม่ว่าง

๑๔ ก.พ. ๒๕๕๒

 

ว่างคือไม่ว่าง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราปฏิบัติทุกคนมาถามนะ ว่าปฏิบัติเริ่มต้นทำยังไง ถ้าจะปฏิบัติเริ่มต้น บางทีคนเรามันปฏิบัติได้มาก่อน แล้วค่อยศรัทธา ไม่บางคนก็ทุกข์มา ทุกข์นะ พอจิตมันปล่อยไง พอมันว่างขึ้นมา จะคิดถึงพระพุทธเจ้าเลยนะ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะโดยธรรมชาติ พวกเราชาวพุทธ พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว ธรรมะพระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว แต่พวกเราไม่เคยสัมผัสไง พวกเราเป็นนกแก้วนกขุนทองนะ เวลาเราพูดให้คนได้คิด เราพูดแบบเสียดสี

อริยสัจ ทุกคำไหนก็แล้วแต่ ไปสอนให้นกมันพูด มันก็พูดได้ นกแก้ว นกขุนทอง มันพูดได้หมด แต่มันไม่รู้เรื่องหรอก แล้วเราไปอ่านมามันเหมือนนกแก้ว นกขุนทองนะ เราไปอ่านหนังสือ เราไปศึกษาเหมือนนกแก้ว นกขุนทอง แต่ถ้าเป็นโลก ไม่ใช่ ก็อ่านแล้วเข้าใจ อ่านแล้วมีประโยชน์ ใช่ อ่านแล้วเป็นประโยชน์ เพราะความเห็นของเราไง เขาถึงว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

ปริยัติคือการศึกษา ศึกษาขึ้นมา ถ้าไม่ศึกษาขึ้นมา เพราะอะไร? เพราะพวกเราไม่มีวาสนา ไม่มีอำนาจวาสนา ถ้าคนมีอำนาจวาสนานะ มันเป็นมาตั้งแต่เด็ก อย่างเช่นนางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันไปเกิดกี่ชาติๆก็เป็นพระโสดาบัน ไปเกิดใหม่เป็นเด็กก็เป็นเด็กโสดาบัน เด็กที่มันเกิดมาเป็นโสดาบันโดยข้อเท็จจริง โดยจิตของมัน กับเด็กที่เกิดเป็นปุถุชนเห็นไหม

คำว่าเด็กมันไร้เดียงสา ไม่รู้หรอกว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่เด็กที่เป็นโสดาบันนะ สิ่งที่ผิดมันไม่ทำนะ มันเหมือนสัญชาตญาณ มันไม่ทำของมันโดยสัญชาตญาณ เพราะใจมันเป็นพระโสดาบัน สิ่งที่เป็นนี่มันเป็นโดยใจ นี้เราไปศึกษา คำว่าศึกษาของเรา โดยสามัญสำนึก มันเข้ามา แต่มันมีแรงต้าน แรงต้านคือกิเลสไง ดูสิเราอ่านธรรมะ ข้อนี้มันไม่น่าจะใช่ ข้อนี้น่าจะใช่เห็นไหม

แรงต้าน ถ้ามันพอใจมันดูดดื่มมันก็จะเอา ถ้าไม่พอใจมันก็จะผลัก กิเลสมันก็จะผลัก ฉะนั้น พอจะผลัก เราอ่านธรรมะ มันซื่อตรงกับธรรมะหรือยังละ? ทีนี้มันอ่านมันศึกษาเพราะอะไร? เพราะนี่ปุถุชน ปุถุชนของเรา แล้วเราคนไม่มีอำนาจวาสนา เราก็ศึกษา จริงมันปริยัติจริง

พอปริยัติจริง พอมาปฏิบัติ มันต้องทำความสงบของใจเข้ามา นี้พอทำความสงบของใจเข้ามา โดยการตลาดสมาธิแก้กิเลสไม่ได้ ทำความสงบต้องใช้ปัญญาไปเลย ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา จริง โดยธรรมชาติศาสนาพุทธ เป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแบบอิสรภาพด้วย ใครไม่ถือไม่เป็นไรไม่ว่า ใครพอใจจะถือหรือไม่ถือ แต่ถ้าถือแล้วซิ เหมือนกับเรา เราจะถือสัญชาติอะไร? ถ้าเราถือสัญชาติก็ต้องสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งใช่ไหม? เราจะเอาสัญชาติไหนก็สัญชาตินั้น

ถ้าถือสัญชาตินั้น เราต้องยอมรับกฎหมายของประเทศนั้น นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราบอกว่า เราจะนับถือศาสนาพุทธ ถ้าเรานับถือศาสนาพุทธ เราเป็นชาวพุทธ เราต้องยอมรับธรรมวินัยซิ ทีนี้พอเรานับถือศาสนาพุทธแล้วนะ ก็ยังจะเลือกอีกนะ นั่นจะเอา นี้จะไม่เอาเห็นไหม ถ้าเราเป็นชาวพุทธ ถ้าเรานับถือแล้ว นับถือเพราะอะไร เพราะเราไม่อำนาจวาสนา พระพุทธเจ้าไม่มีศาสนานะ พระพุทธเจ้ายังรื้อค้นขึ้นมาได้

แต่ของเรามีศาสนาอยู่แล้ว มีศาสนาอยู่แล้ว แต่ เราไม่เข้าใจกันเองเพราะ นี้ไงที่เขาเรียกว่าศาสนาเสื่อมๆ เขาว่าต่อไปศาสนาเสื่อมๆ

ศาสนาไม่เสื่อม ถ้าศาสนาเสื่อม พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมะมีอยู่แล้ว พระศรีอริยเมตไตรย ก็จะมาตรัสรู้ไปข้างหน้า อนาคตวงศ์อีกสิบพระพุทธเจ้า อนาคตวงศ์จะมาตรัสรู้ข้างหน้านะ ถ้ามันเสื่อมไปนี้ อนาคตวงศ์จะมาได้อย่างไร? เสื่อมไปแล้ว ของมันเสื่อมไม่มีแล้วใช่ไหม? มันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ของมีดั้งเดิม ดั้งเดิมที่มันละเอียดอ่อนมาก ละเอียดอ่อน แต่จิตมัน ความรู้ เทคโนโลยีคือความรู้ พระพุทธเจ้าไปรู้เข้า รู้เข้าเอาอะไรไปรู้ มันไปคล้ายกับไอน์สไตน์

ไอน์สไตน์ บอกเลยนะ “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”

แต่ทางวิทยาศาสตร์เห็นไหม “ความรู้จริงสำคัญกว่าจินตนาการ”

จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ไอ้ความรู้สึกที่เข้าไปสัมผัส จินตมยปัญญา จินตนาการ แก้กิเลสไม่ได้ เราถึงบอก ไอน์สไตน์ บอกว่าถ้าเขาเลือกได้ เขาขอเลือกนับถือศาสนาพุทธ นี้เขาเลือกไม่ได้ เพราะเขาเป็นคริสต์มาก่อน เขาก็เลยเป็นคริสต์ตลอด แล้วก็บอกว่าเขาศึกษาแล้ว ถ้าเขาเลือกนับถือได้ ในความรู้สึกของเขาเห็นไหม สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา

จินตมยปัญญา เขามีจินตนาการ เขามีจินตมยปัญญา แต่ของเรามีสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา จินตนาการเห็นไหม จินตมยปัญญา จินตนาการ โดยที่คนไม่รู้อย่างหนึ่งนะ แต่พวกเราไปศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า มีพื้นฐานแล้ว แล้วเราจินตนาการตามนั้น เราจินตนาการด้วย แล้วมันมีหลักของศาสนามาให้จินตนาการขยายความได้อีก มันก็แก้กิเลสไม่ได้วันยังค่ำ มันต้องเป็นภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญาเกิดจากการภาวนา เกิดจากปัจจุบัน เกิดจากสัจธรรม เกิดจากปัจจุบันนั้น การจินตนาการเห็นไหม การที่จินตมยปัญญานี่ มันมีเรากับจินตนาการ ภาวนามยปัญญามันไม่มีจินตนาการ มันเป็นหนึ่งเดียวไม่มีสอง

ความคิดกับเราเห็นไหม ความคิดกับความรู้สึก ความรู้สึกคือตัวจิต ความคิดคือแขกจรมา ความคิดกับเราเป็นสอง โลกนี้อยู่เป็นสองหมดไม่มีเป็นหนึ่ง ทีนี้พอเราทำความสงบของใจเข้ามา เขาบอก “ทำความสงบของใจเข้ามา ก็ไม่มีความจำเป็นละ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ใช้ปัญญาไปเลย”

แต่ไม่เข้าใจไง เราถึงบอกมันไร้เดียงสา ไร้เดียงสาเพราะเราไม่เข้าใจอะไรเลย เราไม่เข้าใจอะไรเลย มันไร้เดียงสาแบบผู้ใหญ่โง่นะ อย่าว่าแต่เด็ก เด็กมันไร้เดียงสาน่ารัก ผู้ใหญ่โง่ เพราะอะไร? เพราะว่ามันไร้เดียงสา มันต้องควรจะแบบว่าไม่มีข้อมูลอะไรเลย แต่นี้มันไปศึกษาธรรมะมาไง เอาธรรมะมาจินตนาการ แล้วว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ กลัวนะ กลัวจะผิด กลัวจะผิด นั่นผิดหมด

แล้วถ้าเราปฏิบัติกัน ไม่กลัวผิด แล้วผิดไหม? ผิด ไม่กลัวผิดมันก็ผิด ยิ่งกลัวผิดมันยิ่งผิดมากเข้าไปใหญ่ เพราะมันกลัวผิดใช่ไหม? มันเลยสร้างภาพ สร้างสิ่งต่างๆ สร้างจนตัวเอง ถ้าเราผิดใช่ไหม? เราเหมือนกับเราฝึกงาน มันจะมีความผิดพลาดบ้าง

แต่พอรู้ว่าเราผิดปั๊บ เรารู้ว่ามันผิดใช่ไหม? เราก็พยายามฝึกให้มันถูก ฝึก เพราะว่ามันฝึกได้ นี่ก็เหมือนกันถ้ามันเป็นความจริง ผิดอยู่แล้ว คนปฏิบัติผิดทุกคน เรากล้าพูดได้เลยว่า ผู้ที่ปฏิบัติ ผิดหมดเลย ไม่มีใครถูกหรอก ผิดหมดเลย แต่ก็อาศัยความผิดนั้นเป็นพื้นฐาน อาศัยความผิดนั้นเป็นการฝึกฝน อาศัยความผิดนั้นเป็นการคัดเลือก จิตมันมีการคัดเลือกถูกผิดขึ้นมา จิตมันพัฒนาการขึ้นมา มันจะเข้าไปสู่ความถูกต้องได้ คนทำแล้วถูกไม่มีหรอก

หลวงปู่มั่น ท่านก็ผิดมาก่อน หลวงปู่เสาร์ก็ผิด ทุกคนนี้ผิดมาก่อนทั้งนั้นเลย แล้วเวลาปฏิบัติพอมันจะผิดพลาดขึ้นมา มันน่าสงสาร เราชาวพุทธ เราเป็นผู้ใหญ่ใช่ไหม? แล้วผู้ที่เขาปฏิบัติใหม่เหมือนกับเด็ก แล้วเราบอกจะให้เด็กไม่ให้ผิดเลย เราพยายามจะสอนให้เด็กไม่ให้ผิดเลย เหมือนเด็กลูกเราโตมาแต่ละคน ไม่มีใครทำอะไรผิดเลยมีไหม? มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นะ

คนที่ฝึกหัดปฏิบัติถ้าไม่ผิดเลย จะไปหาที่ไหน? ไม่มีหรอก พระพุทธเจ้ายังผิดมาก่อนเลย นี้เหมือนกันมันผิดขึ้นมาแล้ว ผิดแต่มีครูบาอาจารย์ เราต้องคอยมั่นทดสอบ ตรวจสอบ แล้วเราทำของเรานะ แล้วมีครูบาอาจารย์ เวลาพูดขึ้นมา อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

เราไปเห็นนะ หลวงปู่ดูลย์ ท่านพูด เราเห็นนั้นจริงไม่จริง แต่ความเห็นจริง ความเห็นนั้นไม่จริง เราเห็นจริงๆ นะ เราประสบเห็น เพราะอะไร? เราเห็นโดยกิเลสไง เช่น ปัจจุบันโยมเห็นหมดเลยนะ วัตถุที่เห็นจริงไหม? มันจริงชั่วคราวไง เพราะมันเสื่อมสภาพ ของในโลกนี้มันเป็นสมมุติทั้งหมด

มันเป็นอนิจจังทั้งหมด มันแปรสภาพทั้งหมด มันไม่จริงคงที่หรอก เราไปเห็น อย่างเช่น เราไปเที่ยว ดูซิ เราไปเที่ยวป่ากัน ถ้าเราไปหน้าฝนเห็นไหม มันก็อย่างหนึ่ง พอขึ้นต้นหนาว มันก็อย่างหนึ่ง หน้าร้อนก็อย่างหนึ่ง ที่เดียวกัน คนไปแต่ละฤดูกาลมันก็เห็นไม่เหมือนกันแล้ว สิ่งที่เห็นจริงไหม เราเห็นจริงๆ นะ แต่ความเห็นมันไม่จริง

ถ้าความเห็นไม่จริง พอมันเห็นจริง แล้วความเห็นไม่จริง แล้วเวลาครูบาอาจารย์จะสอนเรายังไง แล้วเวลาครูบาอาจารย์สอนมา เราก็เถียง เพราะเราเคยประสบการณ์อย่างนี้มานะ เราเคยประสบการณ์มา ตั้งท่าไปเถียงเลย ตั้งหน้าเลย เพราะเราเห็น เรารู้ไปหมด กะว่าขึ้นไปแล้วคราวนี้ถ้าอาจารย์บอกไม่ถูกนะ เราจะชนกระเด็นเลยละ ก็กะว่าจะเถียงเลย

ขึ้นไปหาท่าน ท่านไม่ว่าเลยนะ ท่านเออออ ไปกับเราหมดเลย เอ๊ะ เราก็ว่าของเราแจ๋ว พอกลับมาภาวนาไปเรื่อยๆ โอ้โฮ มันไปเห็นผิดเอง พอเราไปเห็นผิดเองนะ มันจะลุกขึ้นกราบ มันคิดขึ้นมามันสะท้อนใจไง ถ้าวันนั้นไปนะ แล้วถ้าอาจารย์บอกว่าผิดนะ เราจะเถียงหัวชนฝาเลย แล้วถ้าเถียงหัวชนฝาแล้วนะ เราจะเกิดทิฐิมานะด้วย เพราะเราเห็นจริงๆ เราจับต้องของเราได้

แต่มันไม่จริงเพราะอะไร? เพราะเหมือนเด็ก มันจับตุ๊กตาของเล่น มันไม่ได้จับแก้วแหวนเงินทองมา มันก็ไม่จริง แต่มันจับตุ๊กตา จับของเล่น มันก็ว่าเป็นของมันแล้ว ถ้าวันนั้น ถ้าอาจารย์พูดมานะ เราจะเกิดทิฐิ เราจะเกิดยึดมั่นในความรู้สึกของเรา แต่ว่าเพราะวันนั้นอาจารย์ท่านเห็นดีไปกับเรา เราก็เลย เหมือน เด็กได้รับคำชม เด็กได้รับการตบมือมันก็ดีใจ

พอมันดีใจ ดีใจกลับมา มันก็เพลินของมัน แต่มันทำไปด้วยปัญญา มันรู้เองได้ไง พอรู้เองได้ มันซึ้งมากนะ ซึ้งอาจารย์มากเลย ถ้าวันนั้น อาจารย์บอกนะ ประสาเรา เราจะบอกว่า ถ้าอาจารย์บอก เราจะยึดมั่นถือมั่น มันจะเกิดทิฐิ กว่าเราจะมาทิ้ง มาคายความรู้สึกอย่างนี้ มันต้องใช้เวลามากกว่านี้ แต่ถ้าท่านเออ ออ มากับเรา

ไอ้เราก็เหมือนกับเด็กที่มันได้รับการตบมือ มันก็ดีใจ พอดีใจมันทำไปทำมา มันพลิกไปพลิกมามันมารู้เอง โอ้โฮ ซึ้งมาก นี่เห็นไหม จะบอกว่าแก้จิตมันแก้ยาก มันแก้ยาก เพราะอะไร? มันแก้ยาก เพราะเราไปรู้ไปเห็น เราไปจับไปต้อง แต่เรามีอวิชชา เรามีกิเลส เราไปเห็นนิมิตเห็นอะไรนี่ มันผิดก็ได้ ถูกก็ได้

คำว่า ถูกเห็นไหม ดูสิ ปัจจุบันนี้ ในท้องตลาด มันมีแบงก์ปลอม แบงก์จริงก็มี แบงก์ปลอมก็มี เราได้รับแบงก์จริงมามันก็คือแบงก์จริง จิตถ้าสงบมันเห็นนิมิตโดยข้อเท็จจริงของมัน มันก็เป็นเห็นนิมิตจริงๆ แต่ถ้าจิตมันสงบมันมีพื้นฐาน แล้วมันไปเห็นโดยอุปาทานเห็นไหม เห็นนิมิตเหมือนกัน นิมิตไม่จริง เหมือนเราทำธุรกิจ เราได้รับแบงก์มา เขาจ่ายเงินมา เงินจริงก็มีเงินปลอมก็มี

ความรู้สึกของเราก็มีจริงมีปลอมบวกกันมา มันไม่มีอะไรผิดไปหมด มันไม่มีอะไรถูกไปหมด แต่โดยพื้นฐาน คำว่าผิดของเรานี้นะ มันผิดเพราะว่ามุมมองไง ในเมื่อเราเป็นปุถุชน ความรู้สึกของเราความเห็นของเรามันต้องเห็นมุมมองเป็นอย่างนี้ มุมมองความเห็นว่าสรรพสิ่งนี้เป็น มันมีทิฐิมานะว่าเรารู้จริงเห็นจริง

แต่ถ้าจิตเราละเอียดเข้าไป มุมมองมันเหมือนกับอีกมิติหนึ่ง ปัญญาที่เกิดขึ้น มันไม่เป็นปัญญาอย่างที่เราคิดกันหรอก ปัญญาอย่างที่เราคิด เขาเรียกว่าวิชาชีพ โลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากใจของเรา เกิดจากความคิดของเรา แต่พอจิตมันสงบเข้ามา เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา มันเป็นปัญญาที่เป็นสากล ปัญญาที่เป็นอิสรภาพ ปัญญาที่ไม่มีเราบวกไง

แล้วว่าเราบวก เราไม่บวก มันจะรู้ได้ยังไง ตอนไหนเราบวก ตอนไหนเราไม่บวก ตอนที่มันบวกมันบวกเพราะอะไร? บวกเพราะเรายึดของเรา มันเป็นความเห็นของเราไหม? แต่เวลามันไม่บวกนะ มันเหมือนเราไปเจอสิ่งใดแล้วมันสะเทือนใจ เห็นไหม ดูซิ เวลาที่เราไปเจออะไร ที่เราคาดไม่ถึง เราจะผงะเลย นั้นแหละ ไม่มีตัวเรา เพราะเราคาดไม่ถึงว่าเราจะเจออะไรใช่ไหม?

มันเจอในปัจจุบัน เจอในสิ่งที่คาดไม่ถึง เออะ! เออะ! นั่นแหละความจริง สิ่งที่เห็นคาดไม่ถึงหมดเพราะอะไร? เพราะเรามีอุปาทาน เรามีหัวใจ เรามีความรู้สึกของเราอยู่ พอมันคาดไม่ถึง พอมันจับ พอจิตมันสงบเข้าไป มันไปเห็นกายนะ มันจะไม่คิดเลยว่าอย่างที่เราเข้าใจกัน อย่างถ้าเราเข้าใจกัน มันสร้างภาพ พอมันสร้างภาพขึ้นมา ต้องเป็นอย่างนั้น แต่เวลา เราไปเจอจริงๆ ไม่เป็นอย่างนั้น

อย่างเช่น อาหาร ถ้วยหนึ่ง ทุกคน บอกว่าอร่อยมากๆๆ เราตักเข้าปากเรา เราจะรู้เลยว่า อร่อยหรือไม่อร่อยแค่ไหน จิตที่เข้าไปรู้มันจะเป็นอย่างนั้น นี้เริ่มต้นในการปฏิบัติเราถึงว่าไม่ต้อง เดี๋ยวนี้อาจารย์มันเยอะ พออาจารย์เยอะ ต่างคน ต่างว่าไป เราไปเห็นในหนังสือ ในที่คำสอนเขา ความจริง เห็นแล้วมัน ส่วนใหญ่แล้วสังคมบอกว่ามันก็พออ่านได้ เขาว่านะพออ่านได้เป็นพื้นฐาน แต่เราว่าไม่สมควรเลย เพราะโดยสามัญสำนึกพวกเราทำงานเป็นไม่เป็น เรารู้กันทั้งนั้นแหละ

ทีนี้ถ้าเราทำงานไม่เป็น ข้อเท็จจริงเราไม่ถูกต้อง เราจะเขียนหนังสือไปทำไม? เขียนลงไปแล้วคนอื่นเขาจะไขว้เขวไปหมด นี้เหมือนกันในการปฏิบัติ ถ้ามันไม่จริง ถ้าคนจริงไม่มีอะไรมากเลย ทำความสงบของใจเข้ามา พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ อานาปานสติ กำหนดลมก็ได้ กำหนดอะไรก็ได้

คำว่าอะไรก็ได้ แต่ต้องมีสติๆ ให้มีสติอยู่กับคำบริกรรมนั้น มันเหมือนการฝึกงาน การทำงานเราทำบ่อยครั้งเข้าๆ จิตมันก็ต้องสงบลงเป็นธรรมชาติของมัน เพราะน้ำหยดลงหิน ทุกวัน หินมันยังกร่อน ใช่ไหม? นี้เรากำหนดพุทโธๆ ความคิดโดยพลังงานของจิต มันคิดนี่พลังงาน ความคิดมันเกิดจากจิต จิตมันคิดออกไป ทีนี้พอจิตมันคิดออกไป พอคิดออกไปมันมีอารมณ์ร่วมใช่ไหม?

คิดดี คิดชั่ว ดีใจ เสียใจ พอใจ มันจะมีอารมณ์ร่วม มันก็คิดต่อเนื่องไป เพราะมันสันตติมันเกิดทับซ้อนไปๆ ความคิดมันจะทำงานอย่างนั้น แล้วก็พุทโธๆ พุทโธมันเป็นความคิดที่ไม่สืบต่อ พุทโธ คำต่อไปก็คือพุทโธ คำที่สามก็พุทโธ สี่ก็พุทโธ พุทโธๆ แล้วมันเป็นพุทธานุสติไง เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า พุทโธๆ นี่ มันไม่ต่อเนื่อง มันเป็นคำที่จบในกระบวนการนั้น พุทโธก็จบ พุทโธก็จบ พุทโธก็จบ มันไม่มีอะไรสืบต่อใช่ไหม? เรากำลังคิดสิ ไม่ชอบคนนั้น คนนั้นว่าเราอย่างนั้น คนนั้นพูดมาอย่างนั้น มันไม่จบ มันสืบต่อไป

นี่ไง ความคิดทางโลกียปัญญามันถึงหมุนออกไปอย่างนั้น แต่ถ้า พุทโธๆ จะแย้งได้ไง แย้งว่า พุทโธ ก็คือ ความคิด แล้วเวลาคิดทำไมบอกว่าผิดล่ะ? ถ้าเราคิดพุทโธทำไมมันถูกล่ะ? เพราะคิดพุทโธ มันไม่ต่อเนื่อง มันไม่มีอารมณ์ดูดดื่มที่ออกไป พุทโธ เหมือนน้ำสะอาด อย่างถ้าจะเป็นความคิดเรา มันเป็นพวกรสชาติที่เราพอใจใช่ไหม?

รสชาติอาหารต่างๆ มันมีรสใช่ไหม? เราคิดแล้วโอ้ อันนั้นอร่อย อันนั้นมันดี เราคิดออกไป แต่พุทโธนี่มันน้ำสะอาด น้ำสะอาดกินมากไม่ได้นะ มันไม่ยอมกิน มันอืดมันไม่อยากกิน แต่ถ้าเป็นเหล้าเป็นอะไร โอ้โฮ กี่ขวดมันก็กินได้เห็นไหม ความคิดเหมือนกัน แต่ความคิดคนละชนิด แล้วความคิดที่น้ำสะอาด พุทโธๆ จิตมันสงบได้ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เราถึงจะเห็นคุณค่า การฝึกปฏิบัติใหม่ เราตั้งใจของเรานะ เราตั้งใจของเราแล้วกำหนดพุทโธๆๆ

ทีนี้ พุทโธนี่ นักกีฬานี่นะ ความเบื่อหน่ายของนักกีฬา คือ เบื่อการฝึกซ้อม นักกีฬาอยากลงแข่งขันเยอะมากเลย แต่เบื่อฝึกซ้อม ดูซิ กีฬาแต่ละอย่าง เขาจะฝึกซ้อมมาเป็นเดือน บางทีซ้อมเป็นปี แล้วเวลาลงแข่งขันในเวลาแค่เท่าไร? ไอ้นี้ก็เหมือนกันเวลากำหนดพุทโธๆ เห็นไหม การฝึกของเรา มันต้องฝึก แต่ผลของมันดูซิ ที่มหายานเขาบอก สว่างโพลงๆ

สว่างโพลงเหมือนกับเวลาแข่งกีฬา เราจะชนะแล้ว แค่ชนะนี่ แค่เสี้ยววินาที มันก็ชนะแล้ว นี่ก็เหมือนกันเวลาจิตมันกำหนดพุทโธๆ กว่ามันจะสงบ กว่ามันจะฝึกฝนเห็นไหม กว่าจะฝึกให้มันมีความชำนาญ พอมีความชำนาญขึ้นมาแล้ว เวลาแข่งมันชนะ ทีเดียวก็ชนะ

ฉะนั้น แต่กว่าจะฝึกได้ กว่าจะมีความชำนาญ แล้วกิเลสนะ เราแข่งกีฬา แข่งกับคู่แข่งขัน เวลาเราแข่งกับกิเลสของเรา มันละเอียดกว่า เพราะกิเลสมันเป็นเรา คู่แข่งของเรา มันรู้เราหมดเลยนะ มันรู้การเคลื่อนไหว มันรู้ว่าเราจะนั่งสมาธิเมื่อไหร่? เราจะใช้ปัญญาเมื่อไหร่? แล้วปัญญาเราดีไม่ดี คู่แข่งขันมันรู้หมดเลย

ทีนี้เขารู้ความลับเราหมดเลยนี่ เราจะเอาอะไรไปแข่งกับมัน ก็แพ้มันทุกทีนี่ไง ตีแปลงนอนหงายลงทุกที แล้วจะเอาชนะมัน การปฏิบัตินะ คือการเอาชนะตัวเอง เอาความคิดเอาหัวใจของตัวเอง ไว้ในอำนาจของตัว แต่ตอนนี้นะ ความคิดความรู้สึกของเรา มันอยู่ใต้อำนาจของกิเลส

กิเลสคืออะไร? กิเลสคือตัณหาความทะยานอยาก

ตัณหาความทะยานอยากคือสมุทัย ตัณหาทะยานอยากมันอยากในอะไร? มันพอใจอะไร? มันคิดอะไร? มันทำอะไร? เราไม่รู้เลยนะ เพราะมันไม่ให้เรารู้ ถ้ารู้นะ เราอย่างนี้ อย่างเช่นสารพิษ อาหารที่เป็นพิษเรากล้ากินไหม? เราก็ไม่กล้ากิน เพราะมันเป็นพิษ แต่นี่มันไม่ให้เรารู้ว่าสิ่งนี้เป็นพิษ แล้วเรากินมันทุกวันเลย

นี้ก็เหมือนกัน มันเป็นตัณหาความทะยานอยาก เป็นสมุทัย เป็นกิเลส มันเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง ทำทำไม? ทำทุกวันเลย คิดทำไม? มันไม่ให้เรารู้ไง มันไม่ให้เรารู้หรอก นี่เราไม่ทันมันเห็นไหม เราไม่ทันความคิดเราเอง เราไม่ทันความรู้สึกเราเอง ในการปฏิบัติเราถึงต้องตั้งใจไง พอตั้งใจขึ้นมา ดูซิ อย่างความสกปรก เราทำความสะอาดที่ไหนก็ได้ ทำความสะอาด แต่มันเป็นความคิดที่มันอยู่ในใจ เราจะทำความสะอาดมันจะทำยังไง? นี่พระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ แล้วพูดนี่ง่ายๆ เลย พูดนี่เข้าใจได้หมดเลย

แต่เวลาตั้งใจจะทำล่ะ เคยคิดตั้งใจจะทำไหม? ไม่เคยคิดตั้งใจทำเลย หรือตั้งใจจะทำ ก็ทำแบบที่ว่าไร้เดียงสา จะทำแบบสร้างภาพไง ทำแบบว่า เดี๋ยวนี้นิพพานเป็นอย่างนั้น แล้วตั้งขึ้นมาเลยนะ เหมือนกับห้างสรรพสินค้าเลย จะซื้ออะไรออกมาละ เข้าไปในห้างแล้วหยิบออกมาเลย นี้ก็เหมือนกัน นิพพาน ว่างๆ มันว่างแบบอากาศ อากาศมันมีอยู่แล้วนะ จักรวาลนี้มีอยู่แล้ว ความรู้สึกทุกอย่างมันมีอยู่แล้ว แล้วเราก็ไปสร้างมันมาว่าเป็นความว่าง

แต่ความว่างมันเป็นภาษาสมมุติ มันเป็นภาษาสมมุติที่จิตมันรู้แล้ว ท่านก็ใช้คำว่าว่าง นี้ว่างคือไม่ว่าง

ฉะนั้น ในมหายานเห็นไหม นิพพานคืออะไร? นิพพานคือลุกขึ้นยืน แล้วเม้มปากแน่นๆ แล้วนั่งลง ไม่ต้องพูดอะไรเลย “นิพพาน” พออ้าปากเป็นสมมุติหมด แต่นี้คำว่าสมมุติ เวลาเราพูดว่างๆ ว่างๆ ทุกอย่างนี้มันเป็นการสื่อความหมายกันของโลกสมมุติ

โลกสมมุติเขาสื่อความหมายกัน นี้ก็สื่อความหมายกัน คนเป็นใช่ไหม? ดูซิ เราเอาแบงก์ขึ้นมาถือไว้นี่ ทุกคนว่า ถ้ารู้จักแบงก์นี่ ทุกคนดูแล้วเงียบหมด แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าแบงก์นี้คือแบงก์อะไร? เถียงแล้ว ไอ้นั่นบอก ๕ บาท ๑๐ บาท ต้องเถียงกันแล้ว นี่ก็เหมือนกัน ว่างๆ ว่างๆ เถียงกันตายเลย แล้วเถียงกันทำไม? ก็ไม่รู้ไง ถ้ารู้มันจะเถียงกันเหรอ

คำว่าว่าง มันเป็นผู้รู้เอามาพูดไง พระพุทธเจ้าหรือว่าพระอรหันต์ ท่านพูดกันว่าว่าง เออ ว่าง แต่พวกเราไม่รู้ ไม่ว่าง มันไม่รู้จักว่าว่างใช่ไหม? พอบอกว่าว่างปั๊บ ได้เสียแล้ว เอาว่างมาตั้ง แล้วล่อกันที่ว่าง ว่างเป็นอย่างไร? ฉะกันที่ว่างนั่นแหละ ว่างๆ เลยกลายเป็นไม่ว่างไง ว่างๆ ที่พูดกันนี้ ไม่ว่าง

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ คำว่าว่าง คนที่เป็นจริงพูดว่าว่างถูก แต่พวกเรามันไม่จริง พูดว่าว่างไม่ถูก พอพูดว่าว่างปั๊บ เราก็สร้างภาพว่าง สร้างความว่าง มันเป็นธรรมะสร้างหมดเลย ถ้ามันสร้างขึ้นมาอันหนึ่ง เราก็ว่ามันไม่เป็นความจริงแล้ว ฉะนั้นถึงต้องสลัดทิ้ง พอให้สลัดทิ้งก็ไม่กล้า ไม่มีใครกล้าคิดสลัดทิ้ง เพราะสลัดทิ้งมันเหมือนกับว่าเราสลัดเราเองได้ยังไง?

สลัดทิ้งตั้งสติ นั้นคือสมาธินะ สลัดความรู้สึกทั้งหมด เพียงแต่สมาธินี้เป็นสมาธิของปุถุชน สมาธิของพวกเรานี่ปุถุชน สลัดความคิดแล้วมีสติไว้ นั่นแหละสมาธิแล้ว สลัดความคิดออกไป สลัดความรู้สึกออกไปให้หมดเลย แล้วมีสติอยู่ ทีนี้มันจะอยู่ได้หรือไม่ได้ เพราะดูอย่างไฟ เวลาเราจุดไฟ เราต้องเติมฟืนตลอดเวลา ไฟมันถึงจะมีของมัน

นี้ก็เหมือนกันจิตมันมีอยู่แล้ว แต่มันเผาตัวมันเองแต่เราไม่รู้ตัวเลย ทีนี้สลัดทิ้งสลัดไม่ได้ ถึงต้องตั้งสติ นี่ไงความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วพวกเราทำกันไม่เป็น พระพุทธเจ้าถึงวางหลักการไว้นี้ไง วางหลักการเรื่องอริยสัจ เรื่องการตั้งสติ เรื่องบารมี เรื่องทาน เห็นไหม เรื่องบารมี เวลาพระพุทธเจ้าจะเทศน์สอนคนทั่วไปนะ จะต้องอนุปุพพิกถาก่อน คือสอนเรื่องการทำทาน พอเห็นการทำทาน คนสองคนเห็นไหม คนหนึ่งให้กับอีกคนคนหนึ่ง ให้เห็นการเสียสละ

ทาน เรื่องของสวรรค์ ใครให้จิตสงบได้ไปสวรรค์ พอไปถึงสวรรค์ เรื่องของสวรรค์ ถึงสวรรค์แล้วถึงเนกขัมมะ นี่ไงอันนี้อนุปุพพิกถา คือว่าการสร้างฐานของใจ พอสร้างใจ ใจควรแก่การงานแล้ว พระพุทธเจ้าจะเทศน์เรื่องอริยสัจ

พระพุทธเจ้าจะไม่เทศน์เรื่องอริยสัจเลย ถ้าเทศน์อริยสัจปั๊บเราจะใช้ความคิดของเราเข้าไปจับ เราจะเอาความคิดความเห็นของเราเข้าไปจับเรื่องอริยสัจ อริยสัจควรจะเป็นอย่างนั้น นี้ไงที่ว่าธรรมะสร้างไง พอธรรมะสร้างมันถึงไม่เป็น แต่ถ้าเรา เรามีพื้นฐาน พื้นฐานเรื่องของทาน เรื่องของสวรรค์ ที่ว่าทำทาน ผลของมันต้องทำดี มันถึงให้ผลมาเป็นความดีใช่ไหม?

ผลของความดี ถ้ามีความดีแล้ว เนกขัมมะ คือว่าเราต้องถอนออกมา เนกขัมมะคือว่าเหมือนกับพรหมจรรย์ เราถอนออกมา ถอนออกมาแล้วจะทำลายตัวมันเองอย่างไร? พอทำลายตัวเองมันจะเริ่มรักษาความสงบ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว ถ้ามันเห็นกายนะ คนละเรื่องแล้ว คนละเรื่องกับสิ่งที่เราคิดแล้ว แต่นี้เราคิดของเรา โดยมุมมองของเราไง โดยความเห็นของเราไง มันไม่เป็นความจริงอย่างนั้นไง

แล้วพอคิดอย่างนั้นปั๊บ เดี๋ยวนี้เราว่า เรามีการศึกษา เมื่อก่อนคนสมัยโบราณ คนยังโง่อยู่ต้องทำแบบนั้น เราเป็นคนมีการศึกษา เราคิดว่าจะทำแบบเรา เราโง่กว่าคนโบราณอีก คนโบราณไม่โง่หรอก คนโบราณนะมันเรื่องของโลกในสมัยนั้น เรื่องเทคโนโลยี ยังไม่เจริญ เขาก็เอาชีวิตของเขารอดได้ เขาทำของเขา ดูอย่างพวกเราโหยหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมากเลย เราโหยหาสิ่งที่เป็นธรรมชาติมากเลย แต่คนโบราณเขาอยู่กันอย่างนั้น เขาก็ใช้ชีวิตของเขาอย่างนั้น

แต่ของเรามันมีเทคโนโลยีเข้ามาเท่านั้นเอง พอมันมีเทคโนโลยีเข้ามาแล้วนะ สิ่งใดที่เขาเสนอมาหรือสิ่งที่เป็นสารพิษขึ้นมา พวกเราไม่รู้นะ ตายกันเป็นเบือเลย แต่โบราณของเขา เราไปมองภาพเอง เราให้ค่ากันเอง คนโบราณไม่โง่กว่าเราหรอก คนโบราณเขาก็มีภูมิปัญญาของเขา

แต่ในปัจจุบันนี้ ความคิดเทคโนโลยีมันเจริญขึ้นมา เราก็ใช้ชีวิตประจำวันของเราเหมือนกัน นี้พอใช้ชีวิตประจำวัน ทุกข์น่ะ ทุกข์มันยิ่งมีที่หลบซ่อนมากกว่า มันมีเหลือบในหัวใจนะ ทุกอย่างมีที่หลบซ่อน หลบซ่อนมันยิ่งสร้างแบบว่าชีวิตมันซับซ้อนขึ้น กิเลสมันซับซ้อนขึ้น ทุกอย่างมันซับซ้อนมันมีที่หลบมากขึ้น แล้วเราก็มาสร้างภาพกันมันก็เลยยิ่งห่างไกล

ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนในเรื่องของการปฏิบัตินะ ท่านจะพูดอย่างนี้

“เวลาเราจะปฏิบัติ เราต้องทำตัวเราให้โง่ที่สุดเลย คือแบบว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเลย มีเรากับความรู้สึกนี้เท่านั้น แล้วเอาตรงนี้ ไม่ต้องคิดเรื่องอื่นเลย”

คือต้องทำให้โง่ที่สุด ถ้าทำฉลาดนะ มันจะเอาปัญญาไปอยู่ข้างนอกหมดเลย คิดแต่เรื่องเทคโนโลยี คิดแต่เรื่องที่เป็นปัญญาจากข้างนอกหมดเลย แล้วมันก็ทิ้งตัวมันไปเห็นไหม ว่ามันฉลาดไง อ้าว เราไปคิดเรื่องอื่น แล้วเราอยู่ไหนล่ะ? เราออกไปคิด แต่เราทิ้งความรู้ทั้งหมดเลย กับมาอยู่ที่มัน กับมาอยู่ที่มันใช่ไหม? กับมาอยู่ที่เรา แล้วเราสู้กันตรงนี้ ตรงนี้มันสงบได้

พอจิตมันสงบขึ้นมาเห็นไหม ต้องทำตัวเหมือนโง่ เหมือนโง่ที่สุดแต่คนโง่นี่ล่ะ จะเอาตัวรอดได้ แต่คนที่ฉลาดนะ มันจะใช้ปัญญาไปข้างนอก พอใช้ปัญญาไปข้างนอก มันจะคิดไปแต่เรื่องของโลก เห็นไหม

เรื่องของโลกเพราะอะไร? เรื่องของโลกเพราะเกิดโลกทัศน์ คิดไปจากใจของเรา ใจของเราเป็นโลก ใจของเราเป็นโลกเพราะอะไร? เพราะเราเกิดมาในโลก พอเราเกิดมาในโลกเรารับรู้เรื่องของโลก เราถึงไม่เห็นนรก-สวรรค์ไง นรก-สวรรค์นี้เป็นอีกโลกหนึ่ง โลกอดีต โลกปัจจุบัน โลกอนาคต โลกอดีตเห็นไหม เราเกิดมา เกิดมาจากโลกอดีต เกิดมาจากจิตที่มันเกิดตายมา พอมาเกิดมันเป็นโลกปัจจุบัน ทีนี้โลกปัจจุบันแล้วนี่ ถ้ามันสงบขึ้นมาได้ ถ้ามันไม่สงบขึ้นมาได้ มันก็เรื่องของโลก คือปัญญาที่รับรู้ในโลกนี้

ถ้ามันสงบขึ้นมาได้เห็นไหม เป็นปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้ว ถ้ามันออกวิปัสสนาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โดยจิต โดยจิตที่มันสงบ มันจะเห็นโดยสัจธรรมของมัน พอโดยสัจธรรมของมัน เห็นไหม เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม พอโดยธรรมมันไม่เห็นโดยโลก มันต่างกันตรงนี้ ต่างกันในปัจจุบัน เราเห็นโดยโลก เห็นโดยสามัญสำนึก เห็นโดยการคาดหมาย เห็นโดยการสร้างภาพ มันไม่ใช่ปัจจุบัน มันเป็นอดีต อนาคต ไปแล้ว เพราะอะไร? เพราะตัวจิตมันเป็นความคิด

ความคิดนั้นออกไปเห็น มันเคลื่อนออกมาเห็นไหม สายการพลังงานมันเคลื่อนออกไปแล้ว มันไม่เป็นปัจจุบัน คือกิเลส มันอยู่ที่ตัวภพ มันอยู่ที่ตัวฐาน แต่ความคิดมันขยับออกมาแล้ว เป้ามันเคลื่อนแล้ว แต่ถ้าเป็นปัจจุบัน จิตมันสงบเข้ามาก่อน ครูบาอาจารย์ถึงสอนให้ทำความสงบก่อน ให้ทำจิตให้สงบก่อน ให้จิตสงบขึ้นมาก่อน แต่เพราะว่าเราว่าเราฉลาดไง พระพุทธเจ้า ศาสนาแห่งปัญญา แต่ไม่เข้าใจเลยว่าปัญญาที่ใช้อยู่นั้น มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาโลก ไม่เป็นปัญญาธรรม

ถ้าเป็นปัญญาธรรม ปัญญาในปัจจุบัน มันจะทำใจสงบเข้ามา มันถึงต้องตั้งสตินะ มันถึงต้องมีความพร้อม ถ้ามีความพร้อม เราทำความเป็นจริง เรายอมรับจริง เรารู้จริง มันมีความพร้อม แล้วความพร้อมมันจะเริ่มมีการกระทำ พอมีการกระทำ มันมีความสัมผัส สัมผัสนี้คืออะไร? นี่สำคัญตรงนี้เห็นไหม เราไปศึกษาธรรมะมา เราไปเอาจากข้างนอกเข้ามา

แต่ถ้าจิตมันได้สัมผัสเห็นไหม จิตมันสงบเข้ามา ที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “ใจสำคัญที่สุด” ตัวใจเป็นตัวภาชนะที่รับรู้ธรรม ตัวใจมันฟุ้งซ่าน ใจฟุ้งซ่าน เวลาใจสงบ ใจเป็นผู้สงบ เวลาใจมันเกิดปัญญาเห็นไหม ใจมันเกิดปัญญา มันรู้นะ ใจมันเกิดปัญญาเพราะอะไร? เพราะของหนักหน่วงในใจ มันเริ่มเขย่า เขย่าให้มันหลุด เขย่าให้มันเป็นไป มันเห็นนะ มันเห็นมันรู้

อย่างของเรา มือเรารับสิ่งของไว้หนักมาก แล้วมันก็ไม่รู้วิธีการปล่อย มันรู้อยู่ เพราะใจเราหนักหน่วงอยู่ทุกคน แต่เวลาปัญญามันเกิดมันเขย่าตัวมันเอง แล้วมันจะคายของนั้นออก มันรู้นะ ใจมันต้องให้จิตสงบขึ้นมา มันรู้มันเห็นไปหมด แต่ส่วนใหญ่ที่ครูบาอาจารย์เทศน์อยู่ เขาไม่ได้พูดกันอย่างนี้ไง เขาไม่ได้บอกถึงฐานที่ ที่มันแบกหนัก ไม่ได้บอกถึงฐานที่ที่มันจะทิ้ง พูดกันมันเป็นเหมือนธรรมะไร้เดียงสาจริงๆ นะ ว่างๆ ว่างๆ แล้วมันจะว่าง แล้วว่างมันจะเป็นอย่างนั้น แต่ไม่มีเหตุมีผล ไม่มีการกระทำ มันไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมา

สิ่งที่เกิดขึ้นมา ดูซิ เวลาพระ สมัยพุทธกาลไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถามว่า “ใครทรมานมา” แล้วทรมานมันละทิ้งกันยังไง? มันเป็นยังไงมันถึงทรมานมา? มันต้องมีการกระทำ มีการเป็นไป ไม่มีอะไรเลย มันจะเป็นได้ยังไง? มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าในปัจจุบันนี้มีธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่

สิ่งนี้มันมีอยู่ไง แล้วก็ว่ากันไปตามคำพูดอย่างนั้น มันไม่เป็นไปอย่างนั้นหรอก ถ้าเราเข้าใจปั๊บ เราเข้าใจสิ่งนี้ ใครจะพูดอย่างไรมันเรื่องของเขาแล้ว เพราะคำพูดของเขาเป็นคำพูดของเขาที่เขาไม่มีประสบการณ์ตรงมาจากใจของเขา ถ้าไม่มีประสบการณ์จากใจของเขา ที่เขาพูดที่เขาโต้เถียงกันเห็นไหม ว่าสิ่งนี้เป็นพุทธพจน์ เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วท่านจะเถียงเหรอ? คือเราจะไปเถียงเขาไม่ได้เลย เขาบอกว่านี่มันเป็นพุทธพจน์ แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ครูบาอาจารย์ท่านจะไม่พูดอย่างนั้นเลย

ครูบาอาจารย์ ท่านจะฟังนะ จะดูลูกศิษย์ แล้วลูกศิษย์จะถามธรรมะหรือไงนี่ ท่านจะฟังออกเลยว่า ธรรมะนี้มันเป็นการปฏิบัติมาจากใจหรือเป็นการจำมาจากหนังสือที่มาถาม ถ้าเป็นปฏิบัติมาจากใจนะ ท่านจะ ผลัวะ! ใส่ทันทีเลย เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเหล็กเวลาที่มันร้อน ที่เขาเผามาแดง มันต้องตี ตีให้มันเป็นของใช้ขึ้นมา จิตถ้าปฏิบัติมาอย่างนั้น ถ้าคนไม่รู้ไม่เห็นพูดอย่างนั้นไม่ได้

ถ้าพูดอย่างนั้นเหมือนเหล็กที่ได้รับการเผาไฟมา ท่านจะตีทันทีเลย ท่านจะให้ประโยชน์ต่อไปทันที แต่ถ้าเป็นการจำมานะ ท่านจะเงียบเฉย แต่ถ้าเป็นปริยัติเห็นไหม นี้เป็นพุทธพจน์นะ นี่เป็นคำพูดของพระพุทธเจ้า ห้ามเถียง คือว่าเขาไม่มีคุณสมบัติที่จะตีเหล็กนั้นได้ เขาไม่เข้าใจว่าเหล็กนี่มันจะตีตอนไหน เหล็กนี่ เห็นเหล็กดิบๆ จะเอามาตีมันจะแตกหมด มันจะเสียหายหมด มันใช้อะไรไม่ได้เลย เหล็กเขาจะตีเขาต้องเผาไฟก่อนให้มันแดง ให้มันควรขึ้นรูปได้เขาจะตีมัน

จิตของเรา ถ้าภาวนาจนสงบ มันไปเห็นสิ่งต่างๆ มันควรจะตีขึ้นรูปมันจะเป็นประโยชน์ได้ มันไม่เกี่ยวกับพุทธพจน์หรือไม่พุทธพจน์ พุทธพจน์จริงๆ พวกเราเคารพนะ ใครบ้างที่ไม่เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ถ้าเราไม่เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเป็นเณรไม่ได้นะ เณรถึงต้องถือไตรสรณาคมน์ ต้องเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องขอให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงเป็นเณรได้ เป็นเณรแล้วบวชพระ แล้วเป็นพระทั้งองค์ เป็นชาวพุทธไม่เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันเป็นไปได้อย่างไร เคารพ พระพุทธเจ้าเคารพแน่นอน

แต่เขาบอกคำว่าพุทธพจน์ๆ คำว่าพุทธพจน์ เนื้อหาสาระเป็นพุทธพจน์ แต่คนที่พูด คนที่อ้างอิง เหมือนตำรวจเลย ตำรวจเอากฎหมายมารีดไถกับประชาชน เอากฎหมายมาจับ มารีด มาไถ มารังแกประชาชน นี้ก็เหมือนกัน เอาว่าพุทธพจน์ๆ เป็นเหมือนกฎหมาย เอามาบังคับคนอื่นไม่ให้มีทางออกในทางคุณงามความดี ไอ้ที่เราเถียงอยู่ เราเถียงตรงนี้ กฎหมายก็คือกฎหมาย เราเป็นชาวไทยไม่เคารพกฎหมายไทย เราเป็นคนไทยได้อย่างไร?

เราเป็นชาวพุทธ เราไม่เคารพพระพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันเป็นไปได้อย่างไร? เคารพอยู่แล้ว แต่เคารพตามความเป็นจริง ทำผิดก็คือผิด ทำถูกก็ต้องถูกซิ นี้ก็เหมือนกันในเมื่อเราปฏิบัติไปแล้ว มันผิดถูกก็ว่าตามเหตุตามผลซิ พุทธพจน์ก็อธิบายมาผิดยังไง? ถูกยังไง? ทำไมถึงผิด? ทำไมถึงถูก ไอ้นี้บอกห้ามคิด ห้ามทำด้วยนะ เป็นพุทธพจน์ ก็คือเหมือนปั๊มมาเลย คือแม่พิมพ์ปั๊มออกมามันเป็นไปไม่ได้

มันเลยเหมือนกับการไร้เดียงสาเลย มันไร้เดียงสามาก ดูการปฏิบัติแล้วมันไร้เดียงสามาก แต่ถ้าเป็นความจริง เหมือนเรา เราคิดเราใช้ปัญญาใช่ไหม? เราคิดเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง แล้วเราทำขึ้นมาได้ แล้วเราเอามาใช้ประโยชน์ได้ นั้นของจริง นี้ก็เหมือนกันเราทดสอบ เราตรวจสอบ จิตของเรามันจะเป็นประโยชน์ขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา แล้วมันเป็นความรู้สึกมันว่างของเราขึ้นมามันเป็นสมาธิขึ้นมา มันใช้ปัญญาขึ้นมา มันเขย่านะ เขย่าเรื่อยๆๆ จนถึงที่สุด ของที่อยู่ในมือ มันเขย่าหลุดออกไป เวลา พุทธพจน์เหมือนกัน

พระพุทธเจ้าบอกในพระไตรปิฎก “เวลากิเลสขาดดั่งแขนขาด” เวลาตัดกิเลส มันตัดแขนขาดไปเลย แล้วเวลาแขนขาดมีความรู้สึกว่าอย่างไร? คนที่เป็นโสดาบัน เป็นสกิทา เป็นอนาคา ดั่งแขนขาด แต่นี้พูดกันไม่ได้ พอบอกว่า ธรรมะเป็นอย่างนั้นพูดกันไม่ได้ พอพูดไปว่าอวดอุตริอีก มันไม่ได้อวดอุตริหรอก มันบอกถึงผลไง คนเราบอกถึงผลได้

อย่างเช่น เราไปกินอาหารที่ร้านไหนมา เราจะมาพูดได้ใช่ไหม? ว่าอาหารที่ร้านนั้นอร่อย แล้วเราถ้าไม่เคยไปกินอาหารร้านนั้นมา เราจะกล้าบอกว่าอาหารร้านนั้นอร่อยไม่อร่อยไหม?

จิต ก็เหมือนกัน ถ้ามันปฏิบัติมันทำของมัน จนมันเข้าใจของมัน มันเห็นของมัน มันรู้ของมัน ทำไมมันจะพูดไม่ได้ คำพูดอย่างนี้ มันไม่ใช่พูดอวดอุตริ มันเป็นการพูดเพื่อประโยชน์ไง ครูบาอาจารย์เห็นไหม จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง จากใจดวงหนึ่งใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าใจจริงแล้วนี่ ใจดวงหนึ่งเข้าถึงใจดวงหนึ่ง เข้าถึงประโยชน์ของเราไง นี่เราหากันตรงนั้น เราหาครูบาอาจารย์ตรงนั้น

ถ้าพูดปูพื้นมา เห็นการกระทำที่มันเป็นจริงอย่างนี้ แล้วถ้าใครพูดอย่างไรมันเรื่องของเขา แล้วถ้าเราจะปฏิบัติ เราก็ตั้งใจ ตั้งใจของเรา ถ้าใจของเรามันเป็นความจริงนะ เราตั้งใจแล้วเราทำได้ ไม่ต้องไปตื่นเต้น ไม่ต้องไปตกใจ บางทีไปตื่นเต้นนะ เวลาเราพูดเห็นไหมปฏิบัติไปแล้วไม่บ้าเหรอ? เมื่อก่อนเราไม่เชื่อเลย เราจะเถียงประจำว่า “คนทำดีแล้วมันได้สิ่งที่ไม่ดีมันเป็นไปไม่ได้หรอก”

เราตั้งใจทำดี เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติมันจะเสียหายไปได้ยังไง แต่เวลาเรามาอยู่ในวงการ มาเห็นเวลาประพฤติปฏิบัติไป แล้วมันผิดพลาดไป อันนี้มันเป็นเบื้องหลังนะ จิต มันจะมีปัญหามาบ้าง แล้วมันไม่มีสติ พอมีสติอย่างเรา เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเราปฏิบัติไป เราประสบ เราพบอะไรเยอะมากนะ

แต่พอไปประสบพบอะไร จิตมันจะเห็นจะรู้อะไรนี่ มันจะมีสติไง มันจะไม่ตื่นเต้น มันจะมีสติแล้วดู พิสูจน์ อย่างเช่น เราเคยอยู่ป่ากับเพื่อน ไปธุดงค์ด้วยกัน นี่เพื่อนสนิทกันมาก กลางคืนเดินจงกรมอยู่นี่ เขาจะมาหลอกเราไง เขาไปยืนตรงหัวจงกรม แล้วก็เอาผ้าจีวรของเขาพันมืดเต็มตัวแล้วก็ยืนตรงทางจงกรม มันก็เหมือนผี แล้วอยู่ในป่าใครจะไม่กลัว

เดินออกไปทีหนึ่งก็ไม่มีใช่ไหม พอย้อนกลับมา เออะ! อะไรนั่นดำๆ ถ้าเป็นคนอื่นเขากลัวนะ พอเราเห็นปั๊บ เราเกิดความสงสัย เราเดินกลับไปที่ไฟฉาย หยิบไฟฉายขึ้นมา หยิบไฟฉายใส่ ผลัวะ! ว่าเลยนะ “ไอ้ห่า ทำอย่างนี้ได้ยังไง” ถ้าเป็นคนอื่นนะเพราะเพื่อนกัน แล้วธุดงค์ไปด้วยกัน พอธุดงค์ไปด้วยกัน พอมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมา เขาแปลกใจ

แปลกใจว่าทำไมเราสติดี? มีอะไรเกิดขึ้นมา ไม่ค่อยตกใจ ไม่ค่อยอะไร? บางทีเขาลอง เขาลองเราเยอะนะ พระกับพระไปด้วยกันมันเป็นเพื่อนสนิท บางอย่างเขาสงสัยสิ่งใด เขาจะลอง เราโดนลองมาเยอะมาก แล้วไปด้วยกัน ส่วนใหญ่ไปธุดงค์ ไปอะไรกันนี่ กลัวนั่นไหม?

อย่างเช่น “กลัวช้างไหม?” “ไม่กลัว” “ไม่กลัวนั่งเลย” โอ้โฮ นั่งขวางทางฝูงช้างเลย แล้วเขาบอกให้เรานั่งเสร็จแล้ว เขาก็ขึ้นไปบนต้นไม้กัน ไปยืนกันบนต้นไม้ มารู้ทีหลัง เพราะเวลาไปธุดงค์กับเพื่อน เขาพูดอย่างนี้ คนทุ่งเขาจะรู้เรื่องสัตว์ทุ่ง เขาเรียกคนทุ่งคนป่า เขาบอก “ไอ้หงบนี่ ไม่ใช่ทั้งทุ่งไม่ใช่ทั้งป่า”

คนป่า เขาอยู่ในป่า เขาจะรู้เรื่องสัตว์ป่า เขาจะชำนาญการเดินป่า คนทุ่งเขาจะรู้เรื่องสัตว์น้ำพวกอะไรนี่ เขาบอก “ไอ้หงบนี่ ไม่ใช่ทั้งทุ่งไม่ใช่ทั้งป่า” เพราะเรามันเด็กอยู่ นี่พอไปไม่รู้อะไรกับเขาเลย แล้วพอไปด้วยกัน เขาก็ถาม คุยกัน เพราะอยู่กันหลายๆ ปี มันจะสนิทกันมาก จะบอกว่าเวลาเราเจอสิ่งใด ถ้าเรามีสตินะ เราพิสูจน์

แต่เวลาคน ถ้ามันเจอ ถ้าคนขาดสติ มันจะตกใจ แล้วมันจะมีความเสียหายบ้าง เพราะบางทีไปเจออยู่ พอใครเสียหายปั๊บ พอจิตมันตกใจหลุดปั๊บ ต้องพยายามพูดกับเขา ให้เขาฟื้นตัว ให้เขาฝึกสติขึ้นมา มีบ้าง แต่เมื่อก่อนเราไม่เชื่อ ไม่เชื่อเพราะเราเอาความรู้สึกเราเทียบ เราเอาความรู้สึกเราว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว เราทำสิ่งที่ดี แล้วมันจะผิดไปได้ยังไง

แต่พอมาเจอหมู่คณะเป็นบ้าง ยอมรับ เป็นกรรมของเขาหนึ่ง เป็นพื้นฐานของจิตด้วย ถ้าเป็นเราพื้นฐานของจิตเราเป็นอย่างนี้ เราเจอสิ่งใด เราจะตั้งสตินะ ต้องพิสูจน์ เราจะไม่ยอมให้สิ่งที่เราพบเห็นทำลายเรา เรานี้เป็นคนแปลกคนหนึ่ง ถ้าเป็นผี ต้องพิสูจน์ว่าผีอยู่ตรงไหน? ถือไฟฉายเข้าไปเลย เป็นอะไรนี่ต้องไปพิสูจน์กัน ไม่ปล่อยให้คาใจ นิสัยเป็นอย่างนั้น มันเลยไม่เชื่อว่าจะมีอะไรขึ้นมาทำลายใคร แต่ก่อนไม่เชื่อเลย

แต่พอมาอยู่วงกว้างขึ้นมา เห็นพระเป็นบ้าง เห็นโยมเป็นบ้าง ปฏิบัติเป็นอย่างนี้ก็มี ยอมรับ แต่ถ้ามีอย่างนี้แล้ว เราก็แก้ไขเอา เมื่อก่อนเราไม่เชื่อ ไม่เชื่อ ตอนเรามาใหม่ๆ ใครพูดอะไรเราจะค้านทันทีเลยว่า “ปฏิบัติแล้วบ้า กูไม่เชื่อ” ทำดีแล้วได้ชั่วกูไม่เชื่อ แต่พอมาเจอคนเป็นพูดไม่ออกเลย เพราะมันเป็นต่อหน้า เห็นๆ อยู่นี่ เป็นอย่างนี้นะ

แต่เมื่อก่อนนะทำดีแล้วได้บาป ทำดีได้ชั่วนี่ไม่เชื่อเลย เราตั้งใจทำดี แล้วจะได้ของไม่ดีได้อย่างไร? แต่มันก็กรรมเก่า เป็นเพราะอำนาจวาสนา เจอของอย่างนี้แล้วตกใจทำไม? เจออะไรขึ้นมาแล้วเราไปทุกข์ยากทำไม? ทำไมไม่พิสูจน์ละ ของอย่างนี้เราก็ต้องพิสูจน์สิ มันเป็นไป นี่พูดถึงว่าให้เรา มุมมองเราเปลี่ยนไปเยอะ

แต่ก่อนตอนปฏิบัติใหม่ๆ เรามาปฏิบัติด้วยตัวเราเอง ประสบการณ์นี่ ไม่เชื่อเลยนะว่าทำดี แล้วเราจะเถียงเขาประจำว่าไปโรงพยาบาลศรีธัญญาสิ แล้วไปดูสิ ว่าคนปฏิบัติแล้วสติไม่ดีกับคนที่โดนโลกบีบคั้นน่ะใครจะเยอะมากกว่ากัน ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา คนหลุดเยอะมาก หลุดเพราะปฏิบัติมันกี่คน? มันก็มีบ้าง

แต่ถ้าเวลาเราทุกข์ยากกับความทุกข์ในชีวิตประจำวัน แล้วเราป่วยเยอะกว่าไหม? มันต้องเยอะกว่า มันเป็นธรรมดา เราถึงว่า เราไม่เชื่อสิ่งนี้เลย แต่พอมาอยู่นานเข้าๆ ประสบการณ์ต้องยอมรับ เราก็ยอมรับอยู่ ยอมรับว่ามี ยอมรับว่าเป็น อันนี้ยอมรับ ยอมรับเรื่องกรรม

นี้พอปฏิบัติแล้วไม่ต้องไปตกใจ ไม่ต้องไปห่วงเรื่องนั้น ต้องสู้ได้ ต้องทำได้ ถ้าเราจะเอาชีวิตเราให้รอดนะ ไม่อย่างนั้นเกิดมาแล้วชีวิตก็เป็นอย่างนี้ เรามีชีวิตของเรา เราประสบความสำเร็จเราก็อยู่ได้ แต่เวลาเราจะหมดชีวิต เราจะตายไปล่ะ เราจะรู้เลย มันจะไปข้างหน้านะ

ฉะนั้น สู้ ณ ปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี้สู้เลย ปฏิบัติมันต้องเอาจริงเอาจัง แล้วถ้าเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ปฏิบัติแล้วทุกข์แค่ไหนก็รู้ไง เวลาลำบากแค่ไหนก็รู้ เวลาจิตสงบนะ เย็นก็รู้ เวลามันปล่อยวางหมดก็รู้ เวลามันต่อสู้ก็รู้ แล้วเวลามันยันกันอยู่ เวลาต่อสู้กันอยู่ ระหว่างต่อสู้กันอยู่มันก็รู้ มันรู้มันเห็นหมดนะ

แล้วพอต่อสู้ถึงที่สุดแล้ว มันเริ่มคลายตัวอย่างไร? ไม่อย่างนั้นมันจะพูดไม่ได้นะ อรหัตมรรค อรหัตผล อรหัตผลทำไมไม่ใช่นิพพานหนึ่ง? อรหัตมรรค อรหัตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มันทำยังไง? มันปล่อยยังไง? แล้วพระพุทธเจ้าพูดไว้แล้ว ใครจะค้าน? แล้วคนค้านเคยเห็นจริงไหม? แล้วคนเห็นจริง มันพูดได้ตามความเป็นจริงมันจะค้านได้ยังไง? ครูบาอาจารย์ ท่านบอกนะ

“เวลาปฏิบัติแล้ว จะกราบพระพุทธเจ้าด้วยความซึ้งใจมาก ซึ้งใจมาก”

พระพุทธเจ้าเห็นมาก่อน รู้มาก่อน ของที่มีอยู่แล้วไง เหมือนเพชรนิลจินดา ผู้ใหญ่เขามีอยู่แล้ว เราเป็นเด็ก เราได้เพชรนิลจินดามามันก็เหมือนกัน แล้วเราจะไปค้านผู้ใหญ่ได้อย่างไรว่าเขามีเพชรนิลจินดา? เราก็มี เราหามาเจอเราก็ได้ พอได้ขึ้นมา มันก็เหมือนกัน แต่ถ้าเราไม่ได้ไม่เจอ เราไม่รู้จักเพชรเลย แล้วจะพูดยังไง มันก็พูดแต่ปาก มันก็เป็นแค่นั้นเอง

มีอะไรอีกไหมล่ะ? ไม่มีจะจบละ เราพูดเป็นเกร็ดเริ่มต้นมันมีน้ำหนัก แต่พอพูดไปๆ แล้วนี่ มันก็เหมือนของเดิม มันเหมือนของเก่านะ เอวัง