ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

แก้ดูจิต

๒o มี.ค. ๒๕๕๒

 

แก้ดูจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

หลวงพ่อ : เอาซีดีไปแจกเยอะ ไปแจกให้พรรคพวกฟัง เดี๋ยวจะให้ทีหลัง เดี๋ยวจะให้ เพราะเรามีเยอะแยะ พูดถึงแล้วเวลาเราปฏิบัติแล้วมันเป็นอย่างไร?

โยม : เวลานั่งทีไรชอบเพลินทุกที แก้อย่างไรก็ไม่หาย

หลวงพ่อ : แล้วทำมานานขนาดไหนแล้ว

โยม : ก็ไม่นาน แต่คือทำๆ หยุดๆ ทำบ้าง ไม่ได้ทำบ้าง

หลวงพ่อ : อันนี้อันหนึ่ง แล้วเริ่มต้นปฏิบัติ ปฏิบัติมาอย่างไรกัน?

โยม : ก็พุทโธ

หลวงพ่อ : พุทโธ พอพุทโธ ถ้าเราตั้งใจได้เราพุทโธของเราไป พุทโธของเราไป ทีนี้มันพูดถึงว่าถ้ามันทำไม่ได้ หรือเราไม่มีเวลา อันนี้มันมาเข้ากับพวกในการเคลื่อนไหว ในการของอภิธรรม เขาจะเคลื่อนไหวตลอดเวลาใช่ไหม ทีนี้พอเคลื่อนไหวตลอดเวลา เราก็จะเคลื่อนไหวของเราอยู่ตลอดเวลา มันเหมือนกับการปฏิบัติธรรมไปในตัวได้

นี่พุทโธ พุทโธมันก็การเคลื่อนไหว ทีนี้พุทโธ ถ้าเราพุทโธนะ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าถ้าพุทโธเราจะต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา เราพุทโธๆ ถ้าเราเคลื่อนไหว เราก็พุทโธได้ แต่ขณะที่เราทำงาน งานที่ละเอียด เราต้องอยู่กับงาน แล้วกลับมาที่พุทโธอีก

ทีนี้เรา ถ้าพุทโธ เราต้องนึกขึ้นมา ประสาเรา เราต้องให้พลังงาน แต่ถ้าเป็นธรรมชาติของมัน คือความคิดของเราที่มีอยู่แล้วใช่ไหม ความรู้สึกเรามีอยู่แล้วใช่ไหม เราอยู่กับความรู้สึก เราตามความรู้สึกเราไป หลวงปู่มั่นท่านก็สอนอย่างนี้ หลวงปู่มั่นท่านสอนในมุตโตทัย การเหยียดการดื่ม การคู้ มันต้องมีสติตลอดเวลา การเหยียด การดื่ม การคู้ การดื่มก็คือการดื่ม การเหยียดก็คือการเหยียด มีสติตลอดเวลานะ แต่พอของเรา เราไปคิดว่า ดื่มหนอ เหยียดหนอ คู้หนอ มันเป็นอารมณ์ซ้อนไง

ถ้าเราเคลื่อนไหว เรารู้สึกติดอยู่ในเคลื่อนไหว เวลาเคลื่อนไหว มันเป็นการเคลื่อนไหวแล้วใช่ไหม สติเราก็พร้อมอยู่แล้วใช่ไหม ทีนี้การเคลื่อนไหว นั่นการเคลื่อนไหวของกิริยา แต่ถ้าการเคลื่อนไหวของจิตล่ะ การเคลื่อนไหวของจิตคือความคิด ความคิดหนึ่งคือการเคลื่อนไหวของจิต

ทีนี้ถ้าจิตมันเคลื่อนไหว พอมันเคลื่อนไหว ถ้ามันคิดโดยธรรมชาติของมัน มันก็ฟุ้งซ่านเป็นธรรมชาติของมัน ความคิดทำให้เราฟุ้งซ่าน เพราะเราคิดแล้วนี่ เรามีอารมณ์ความรู้สึกร่วม เราอยากดีอยากได้ อยากผลัก อยากไม่พอใจ เห็นไหม อันนี้มันจะทำให้เรามีอารมณ์ความรู้สึก ยิ่งมีอารมณ์ความรู้สึก เราก็ยิ่งอยากจะคิดมากเข้าไปเรื่อยๆ มันก็ถลำไปเรื่อยๆๆ นี่ความคิดนี่เป็นโลก

นี้ความคิดว่าเป็นโลกปั๊บ ถ้าเรามีสติตาม ตามความคิดไป ความคิดจะเป็นโลกหรือสิ่งใดก็แล้วแต่ที่มันเกิดขึ้นมา มันต้องดับไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรคงที่ตลอดเวลาใช่ไหม แม้แต่ความคิดเรา แต่เวลามันหยุดไปมันดับไป เราเอง เราไม่ได้ประโยชน์จากมัน เพราะมันดับไปตามธรรมชาติของมัน

อย่างเช่นพลังงานไฟฟ้า ไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เขาต้องกำเนิดไฟฟ้ามาให้เราใช้ตลอดเวลา ถ้าเครื่องมันดับเครื่องมันหยุด ไฟฟ้ามันก็ไม่มี แล้วเดี๋ยว แต่เราจำเป็นต้องใช้ ทางรัฐบาลก็ต้องหาพลังงานมาให้เราใช้ นี่มันเป็นพลังงานที่มันเป็นวัตถุนะ

แต่ถ้าเป็นจิตล่ะ ถ้าเป็นจิต มันเป็นสสารพลังงานที่มีชีวิต ไฟฟ้านี่มันต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามันถึงจะเกิดนะ พลังงานถึงจะเกิด จริงไหม แต่จิตนี้ไม่ต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามันเกิดอยู่ตลอดเวลา ทีนี้พอเกิดอยู่ตลอดเวลา พอมันเกิด เพราะมันปล่อยวาง มันปล่อยวางความคิดไปนี่เราไม่รู้ตัว ทั้งที่มันเหมือนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ไฟฟ้าดับรู้หมดเลยนะ พอไฟฟ้าดับ โอ๊ย เครื่องไฟฟ้ามันเจ๊งหมดเลย รีบถอดปลั๊กกันใหญ่เลย กลัวมันเสีย เราเห็นมันน่ะ

แต่นี่เราไม่เห็น เวลาความคิดมันอยู่เราไม่เห็น เราไม่รู้ เราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากมันเลย แต่เราตั้งสติตามไป นึกตามไป พอเรารู้เราเห็น มันเหมือนกับไฟฟ้ามันดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าเรานี่ ถ้าไฟมันอ่อน ไฟมันตก เครื่องใช้ไฟฟ้าเราจะเสียหาย เรายังรู้จักถนอมรักษามัน แต่ทำไมจิตเราความรู้สึกเรา ทำไมเราไม่รู้จักมัน เพราะเราไม่รู้จัก เราไม่เห็นมัน เราไม่เคยเห็น ไม่เคยใช้ประโยชน์กับมันได้ เราถึงไม่ได้ประโยชน์อะไรกับมัน

พอเราตั้งสติเข้าไป ตามความคิดไป ตามความคิดไปนะ ความคิดมันหยุดได้ ทีนี้พอมันหยุดได้ มันหยุดได้โดยที่เรารู้เราเห็น อย่างเช่นเรา ถ้าเราไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า เราไม่เห็นอะไรเลย เราจะไม่รู้เลยว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทใดบ้างต้องใช้ไฟนิ่ง ไฟอ่อน ไฟพลังงานต้องใช้ขนาดไหน เราไม่รู้นะ แต่ช่างไฟฟ้าเขารู้

ช่างเขาจะรู้นะ ช่างเขาจะรู้เลยว่าประเภทใดจะใช้พลังงานเท่าไร เขารู้หมดเลย เพราะอะไร เพราะเขาเป็นช่าง เขาอยู่กับมัน เขาซ่อมแซมมัน แต่เรา เราไม่รู้เรื่อง เปรียบเหมือนเรา จิตเรา เราไม่ได้เป็นช่าง จิตเราไม่เคยเห็น จิตเราไม่รู้เรื่อง เราไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทั้งๆ ที่มันมีอยู่กับเรานะ ช่างเราต้องไปจ้างเขาทำ ช่างมันเป็นเรื่องโลกมันเป็นเรื่องวิชาชีพ

แต่ใจของเรามันเป็นธรรมชาติที่มันอยู่กับเราตลอดเวลาเลย ของของเขาแท้ๆ อยู่กับเราแท้ๆ เลย แล้วเราใช้มันไม่เป็น เราใช้มันไม่ได้ เพียงแต่เราเป็นชาวพุทธ เรามาศึกษาตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอน ครูบาอาจารย์สอน เราถึงอยากทำ เราเห็นคุณค่าของมันไง เพราะท่านเน้นตรงนี้ไง เน้นตรงที่ว่ามันมีค่ามาก ใจของคนมีค่ามากๆ

แล้วใจของคน มันวิมุตติสุข สุขที่มันเหนือ อริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายนอก ทรัพย์สมบัติจากภายนอกมันเปลี่ยนแปลงได้ มันถ่ายเทกันได้ แต่ความจริงหัวใจ มันถ่ายเทกันไม่ได้ บุญกุศลถ่ายเทกันไม่ได้ ยิ่งอริยมรรคถ่ายเทกันไม่ได้เลย มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ถ้าเราเข้าใจแล้วเราตามไป เราจะบอกพุทโธนี่มัน พุทโธกับปัญญาอบรมสมาธินี่ คือมันหลักการเดียวกัน

หลักการคือว่าทำใจให้สงบ ทำไมต้องทำใจให้สงบ ถ้าใจไม่สงบ พลังงานที่ถ่านหินพวกฟอสซิล เห็นไหม มันจะมี มันจะเป็นสารของมัน เห็นไหม สารความสกปรกของมัน มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าสงบเข้ามานี่มันหยุดเครื่องก่อน แล้วเราติดตั้ง กรองสิ่งความเสียหายของมัน จิตสงบมันเป็นอย่างนั้น ต้องจิตสงบ ถ้าจิตเราไม่สงบเข้ามา เราทำไปนะ เราคิดไปน่ะ มันเป็นความคิดจากกิเลสไง

ความคิดจากข้อมูล ความคิดจากการศึกษา ความคิดจากตัวตนของเรา ถ้าความคิดออกไปนี่เหมือนวิชาชีพ เขาเรียกโลกียปัญญา ปัญญาของโลก แต่เราก็ต้องอาศัยความคิดอย่างนี้ไปก่อน เพราะเราเกิดมาเป็นโลกไง เราเกิดมาเป็นเราไง เราปฏิเสธความเป็นเราไม่ได้ไง เราต้องอาศัยเรานี่ เห็นไหม จิตแก้จิต หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง การเกิดของเราเป็นเรา เอาแก้ไขเรา

ถ้าเราไม่เอาการเกิดเป็นเรา เอาแก้ไขเรา เทวดา อินทร์ พรหม เขาไปเกิด แล้วเขาก็เพลินของเขา สัตว์เดรัจฉานมันเกิดขึ้นมาแล้วมันรักชีวิตของมัน มันไม่รู้เรื่องอะไรของมันหรอก มันก็ใช้ชีวิตของมันไปวงรอบหนึ่งคือชีวิตหนึ่ง เราก็เหมือนกัน เราเกิดมาถ้าเราไม่ศึกษาศาสนาก็ไม่เป็นไร ก็เราไม่ศึกษาศาสนาก็คือเรา แต่เรามาศึกษาเรื่องศาสนา ศาสนาสอนลึกกับวิชาชีพของเรา สอนลึกกับสามัญสำนึกของเรา

เพราะสามัญสำนึกความเป็นอยู่ของเรามันจะต้องเปลี่ยนแปลง มันต้องเวียนไปโดยพลังงาน โดยแรงผลักของกิเลส โดยแรงผลักของกรรม มันจะแรงผลักอันนี้ มันจะใช้จิตนี้หมุนไปตามธรรมชาติของมัน แล้วเราจะย้อนกลับเข้าไปหาตัวจริงของมัน ก็คือจะย้อนกลับเข้าไปหาตัวจริง มันก็มีแรงผลักในตัวมันออกมา แรงผลักในตัวมันคืออวิชชา คือพลังงานที่มันไม่รู้ตัวมันเอง มันจะผลักมันออกมา มันก็ทำให้เราเป็นสามัญสำนึก เป็นวิชาชีพนี่แหละ

ถ้าเราจะย้อนกลับเข้าไป หมายถึง อย่างไรก็แล้วแต่ ต้องทำจิตสงบ ถ้าจิตไม่สงบ พระพุทธเจ้าไม่สอน ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีตัวสมาธิ เขาบอกสมาธิไม่สำคัญ เพราะว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องปัญญา เราใช้ปัญญากันไปเลย ปัญญาอย่างนี้ ปัญญาจากกิเลสไง อ่านศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งตู้เลย พระเราจบ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคมา มาถามครูบาอาจารย์กันหมดเลย

“ผมจบ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค ผมจบหมดเลย ผมรู้หมดเลย พระพุทธเจ้าสอนอะไร ทีนี้ผมยิ่งศึกษาเท่าไรผมก็ยิ่งงง ให้ผมทำอย่างไร”

เห็นไหม แม้แต่ธรรมะพระพุทธเจ้าที่ศึกษาหมดแล้ว มันศึกษาโดยวิชาชีพไง ศึกษาโดยกิเลสของเราไง แต่ถ้าเราทำจิตสงบขึ้นมา มันจะเห็นตัวของเรา ตัวต้นเค้าของเราคือพื้นฐานของจิต คือภพ คือภวาสวะ คือตัวจริงของชีวิตเรา ตัวจริงของชีวิตเรามันมีคือตัวใจ แล้วเราได้สถานะของมนุษย์ มนุษย์คือร่างกาย คือวัตถุ เราสัมผัสกันได้แค่ความรู้สึกข้างนอก

แต่ถ้าสงบเข้ามาก็คือนั่นตัวจริง แค่สงบเท่านั้น คนจะรู้เลยว่าความสงบนี้มันแปลกประหลาดมหัศจรรย์ขนาดไหน ถ้าไม่แปลกประหลาด พระเราไม่ติด เรื่องความสงบนี้เป็นนิพพาน ถ้าคนไม่มีหลักนะ พอจิตมันสงบ คนมันหยาบ อย่างเช่นเรา เราเป็นคนจนมากเลย ใครให้เรา ๕ บาท ๑๐ บาท เราดีใจมากเลยนะ แต่ถ้าพวกโยมมีตังค์มากเลย เขาให้ล้าน ๒ ล้านโยมยังเฉยๆ เลย

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบเข้าไป ถ้าเราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น เพราะเราเป็นคนจน พอจิตมันสงบเข้าไป เราก็ โอ้โฮ เงิน ๕ บาท ๑๐ บาทนั้นเยอะมากๆๆๆ นี่ไง ที่พระติดกัน เพราะใจ ภาระความเป็นใจมันอยู่ที่บารมีสร้างมา ถ้าใจสร้างมา มีหลักมีเกณฑ์ พอมันเจอสิ่งใด มันแยกแยะถูก นิพพานมันไม่ได้อนิจจังแบบนี้หรอก เพราะความสุขอย่างนี้มันแปรปรวน เดี๋ยวก็นิ่ง เดี๋ยวก็ไม่นิ่ง เห็นไหม

แต่ถ้าเรามีสติปั๊บ เพราะสิ่งที่มันนิ่งและไม่นิ่งนี่ ตรงนี้มันจะแก้ไขได้ ฉะนั้นถ้าจะทำมันต้องทำพุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ นี่เราจะให้ถามว่า ปัญญาอบรมสมาธิ ทำอย่างไร หรือพุทโธทำอย่างไร อ้าว ว่ามา

โยม : เราก็พุทโธอยู่นะคะ พอพุทโธแล้วมันก็ไม่สงบ พอเริ่มสงบมันก็หลับเลย

หลวงพ่อ : เขาเรียกตกภวังค์ ไม่ใช่สงบ โยมพูดนี่ดีมาก พอพุทโธเริ่มสงบก็หลับเลย เป็นอย่างนี้มานานขนาดไหนแล้ว

โยม : ก็นานแล้วค่ะ ก็เป็นทุกครั้งที่นั่งแล้วสงบ

หลวงพ่อ : เป็นมาตลอด

โยม : ทุกครั้งที่นั่งแล้วสงบ บางทีนั่งแล้วก็ไม่สงบ แต่ถ้าเผื่อเมื่อไหร่ที่นั่งสงบดีๆ ก็จะหลับ

หลวงพ่อ : ไม่สงบหรอก มันตกภวังค์น่ะ แล้วของอย่างนี้ไม่เคยเล่าให้ครูบาอาจารย์ไหนฟังเลย

โยม : ก็เคย ท่านก็บอกว่าให้เปลี่ยนอิริยาบถ จากนั่งให้เดินจงกรมแทน

หลวงพ่อ : เช่นใครพูดบ้าง ขอฟังสิใครบ้าง อาจารย์อะไรบ้าง

โยม : อืม..

หลวงพ่อ : ไม่รู้จักเนอะ จำไม่ได้

โยม : หลวงปู่หล้า

หลวงพ่อ : หลวงปู่หล้า ปู่หล้าเลยเหรอ ปู่หล้าเรานี่นะ ภูจ้อก้อนะ

โยม :ภูจ้อก้อ

หลวงพ่อ : ให้เปลี่ยนอิริยาบถเหรอ ถ้าหลวงปู่หล้า ที่เราจะถามว่าใครบอกนี่นะ เราจะดูว่าพระที่บอกนี่ ถ้ามีประสบการณ์ ฟังโยมพูดแค่นี้ก็รู้แล้วว่าอะไร ถ้าคนมีประสบการณ์ คือว่าเราเคยเป็นมาก่อน พระครูบาอาจารย์ทุกองค์ ถ้าท่านปฏิบัติมาแล้ว ท่านต้องผ่านประสบการณ์แบบโยมมา

เหมือนโยมเข้ากรุงเทพฯ โยมต้องขึ้นเพชรเกษม ทุกคนจะเข้าไปหาความสงบมันต้องผ่านอาการของใจ ผ่านอุปสรรคทุกคน เราจะถามโยมว่าใครบ้าง อะไรบ้าง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเรารู้จักพระเยอะ นี่เราถามว่าพระองค์ไหนสอนอย่างไรนี่

ถ้าบอกชื่อมาบางองค์ เราจะบอกเลยว่า คือว่า ถ้าพระอย่างสมมุติเรานี่ เราเข้าใจผิดว่ากรุงเทพฯ ต้องไปทางภูเก็ต แล้วเวลาเราไปกรุงเทพฯ เราก็ไปทางนั้นทุกทีเลย แล้วพอโยมมานี่ เราจะสอนโยมเลยว่า กรุงเทพฯ ต้องไปทางนี้ แต่ถ้าพระรู้ว่ากรุงเทพฯ อยู่ทางไหน เขาจะชี้เลยว่า กรุงเทพฯ ต้องเขากรุงเทพฯ แต่ถ้าเราเข้าใจผิดนะ เราเข้าใจว่ากรุงเทพฯ อยู่ที่ภูเก็ต

ทีนี้พอโยมมา โยมบอกไปกรุงเทพฯ พอถามเราไปกรุงเทพฯ ไปทางไหน เราก็ชี้เลย ไปกรุงเทพฯ ต้องไปทางภูเก็ต เหมือนกัน แต่ถ้าเปลี่ยนอิริยาบถมันก็ถูกต้องอยู่ แต่มันอยู่ที่ครูบาอาจารย์สอนนะ อย่างถ้าเรานะ ถ้าเราสอน เราสอนอย่างนี้เยอะมากเลย แล้วคนได้ประโยชน์เยอะมาก

เราจะสอนว่า โยมต้องการปฏิบัติใช่ไหม ต้องการจิตสงบใช่ไหม โยมต้องการหวังแต่ผล แต่ทำไมพวกโยมไม่ย้อนมาดูที่เหตุบ้างล่ะ ถ้าย้อนมาดูที่เหตุนะ มันมีโยมหลายคนเลย เราบอกเลยนะ อย่างทำไมหลวงตาท่านถึงบอกให้อดนอนผ่อนอาหาร การที่อดนอนผ่อนอาหารนี่มีคุณค่ามาก มีคุณค่าเพราะอะไร มีคุณค่าเพราะเรา

ธรรมชาติของเรา ธรรมชาติของทุกๆ คน ก็ต้องคิดว่ามนุษย์เรานี่กิน ๓ มื้อ มนุษย์ขาดอาหารไม่ได้ แต่ถ้าเรามาคิดถึงศีล ทำไมพระพุทธเจ้าบอกให้ถือศีล ๘ ล่ะ ทำไมศีล ๘ เขาไม่กินข้าวเย็นกัน เขากินในเพล เห็นไหม เพราะอะไรรู้ไหม เพราะถ้าเราไม่กินข้าวเย็น เราผ่อนอาหารไป ในการปฏิบัตินี่นะ “ธาตุขันธ์ทับจิต” ธาตุคือร่างกาย ขันธ์คือความคิด ขันธ์ ๕ นี่ “ธาตุขันธ์ทับจิต”

ทีนี้ถ้าธาตุขันธ์ทับจิต เราก็ต้องพยายามเอาสิ่งที่กดถ่วงทับขันธ์จิตเรานี่ให้เบาบางลง เราเองเห็นไหม หลวงตาท่านเทศน์อย่างนี้ หลวงตาท่านบอกว่าจิตนี่เรียกร้องขอความช่วยเหลือกับทุกๆ คน จิตของเรานี่ เรียกร้องขอความช่วยเหลือ แล้วไม่มีใครช่วยเหลือมัน จิตเรานี่ ไม่มีใครช่วยเหลือจิตเราเอง แล้วจิตนี่มันก็ร้องเรียกให้เราช่วยเหลือ โยมทุกข์ไหม โยมอยากได้ดิบได้ดีไหม โยมต้องการคุณงามความดีไหม เนี่ยมันเรียกร้อง

แล้วใครช่วยเหลือมัน มาหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็ได้แต่กรอกหู แต่ถ้าเราจะช่วยเหลือมันเห็นไหม การผ่อนอาหารนี่นะ เพราะการผ่อนอาหารปั๊บ เราก็วิตกกังวลว่าเราเคย ถ้าเราผ่อนอาหารแล้ว ร่างกายเราจะมีความเสียหายไหม ร่างกายเราจะมีความทุกข์ความยากไหม มีโรคมีภัยไหม ไม่มีหรอก ทีนี้พวกเราวิตกกังวลเอง ทีนี้เราวิตกกันเองปั๊บ เราก็พยายามใจแข็ง ใจแข็งคือว่า อย่างเริ่มต้นเลยนี่ มื้อเย็น เรากินสลัดก็ได้ เรากินผักก็ได้ เพื่อให้มันเบา

อาหารมีอาหาร ๓ อย่าง อาหารหนัก อาหารอย่างกลาง อาหารอย่างละเอียด อาหารอย่างหนัก เนื้อสัตว์ สเต็กนี่เนื้อสัตว์ อาหารอย่างกลาง เห็นไหม เราผัดผัก เห็นไหม อาหารอย่างละเอียด อาหารก็มี ๓ ชนิด หยาบ กลาง ละเอียด แล้วถ้าเรากินแต่ผักอย่างนี้ กินแต่ผักทำให้ธาตุขันธ์มันเบา แล้วถ้าวันไหนเราจะปฏิบัติ ลองได้นี่ กลับไปนี่

วันพระหรือวันหยุด ลองไม่กินข้าวเย็น แล้วไปนั่งสมาธิดูสิ ท้องจะร้องไหม จ๊อกๆๆๆ เลย เราก็มีน้ำผลไม้สิ มีอะไรมาหล่อไว้ ของอย่างนี้นะมันไปแก้หลับ มันไปแก้ตกภวังค์ ถ้าร่างกายเรานี่มันไม่กดทับ ทำไมหลวงตาท่านบอกว่า เวลาท่านอดอาหารบ่อยมาก อดอาหารนี่นะ อดวัน ๒ วันแรก มันยังง่วงอยู่ พออดวันที่ ๓ ไปแล้วนะ จะไม่ ความง่วงนอนไม่มีเลย นั่งนี่เป็นหัวตอเลย แล้วต้องมีสติ

แล้วพอเราอดอาหารไปนี่ ภาวนาดีเพราะอะไร เพราะว่าเรานี่อดอาหารมาเยอะ พออดอาหารไปหลายๆ วันเข้าไป มันเหมือนกับเรา เราเคยเป็นไข้ไหม แล้วเราฟื้นไข้ ฉะนั้นเราเป็นไข้ เป็นไข้หนักเลย แล้วพอมันหายจากไข้ คนเรามันต้องฟื้นฟูร่างกายใช่ไหม ร่างกายที่เบาที่โหรงเหรง นั่นล่ะอดอาหาร มีอารมณ์ความรู้สึกคล้ายๆ อย่างนั้น

คือร่างกายมันจะเบามาก เพราะพลังงาน มันไม่มีอาหารสะสมเลย ใครมาดูนึกว่าใช้หมด เพราะเรากินอาหารไม่ได้ เราอดอาหารบ่อยๆ อ๋อ เป็นอย่างนี้เองๆ แล้วภาวนานี่มันจะง่ายมันจะสะดวกมาก หลวงตาท่านบอกท่านอดอาหาร ท่านภาวนาอยู่ จนสุดท้ายบางวันนี้ ก็ร่างกายมันต้องกินอาหารไม่กินอาหารมันก็ตาย ก็ต้องหาอาหารมาหล่อเลี้ยงมัน

ทีนี้พอจะมาฉันอาหารมันเถียงกันเห็นไหม ถ้าไปกินอาหาร พอกินเข้าไปแล้ว มานั่งสัปหงก นั่งกันหนักหน่วง โอ้โฮ ลำบากมากเลย แต่ไม่กินมันก็จะตาย มันก็ต้องแบ่งคนละครึ่ง กินบ้างผ่อนบ้าง ที่ว่าอดนอนผ่อนอาหารที่เขาได้ประโยชน์กันตรงนี้ แต่โลกไม่เข้าใจ โลกจะเข้าข้างตัวเอง เข้าข้างกิเลส เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าห้ามอดอาหาร

พระพุทธเจ้าฉลาดนะ ห้ามอดอาหารสำหรับคนโง่ ถ้าเราโง่เราอดอาหารนะ อดจนตาย ตายเปล่า เพราะเราถือว่าอดอาหารนั้นเป็นคุณธรรมไง แต่พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ การอดอาหารเป็นวิธีการ เป็นอุบาย เป็นอุบาย เป็นวิธีการ เป็นการเข้าหา ไม่ใช่ตัวจริง ถ้าใครอดอาหารเพื่อเป็นอุบายวิธีการ ตถาคตอนุญาต แต่ถ้าอดเพื่ออวดชาวบ้านเขา เราปรับอาบัติ

แต่ถ้าเราโง่ใช่ไหม เพราะเราไม่เข้าใจ เราโง่ เราเห็นเขาอดอาหาร ก็นึกว่าอดอาหารดี เราก็อด ถ้าอดอาหารเป็นคุณประโยชน์นะ แอฟริกาเป็นพระอรหันต์หมดเลย มันไม่มีจะกิน แต่เรามี อาหารเราเยอะแยะเลย แต่กินไปแล้ว ร่างกายไม่ได้ประโยชน์ แต่จิตใจมันได้โทษ

ถ้าให้ร่างกายครึ่งหนึ่ง ให้จิตใจครึ่งหนึ่ง โยมทำอย่างนี้แล้วมันจะไปแก้ ไอ้นี่แก้ไม่ได้ทั้งหมดนะ มันก็จะไปแก้ไอ้หลับ ตกภวังค์ แล้วการจะตกภวังค์ พุทโธไว้ชัดๆ พุทโธๆๆๆ เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ เรานั่งอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ พระมาจากภาคอีสานเยอะมาก ใครมาก็นั่งหลับๆ แล้วบอกให้หลวงปู่เจี๊ยะแก้ หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า พุทโธไวๆ พุทโธๆๆๆ แก้หลับ

โยม : แปลว่าบริกรรมอย่างเดียว ไม่ต้องดูเรื่องลมหายใจเข้าออก

หลวงพ่อ : ใช่ สมมุติ โทษนะ สมมุติมีคนปฏิบัติใหม่มาหาเรา เราก็จะสอนว่าให้บริกรรมลมหายใจเข้านึก “พุท” ลมหายใจออกนึก “โธ” เพราะอะไร เพราะเขามาใหม่ การปฏิบัติเรื่องนามธรรมมันเป็นเรื่องอากาศ มันจับต้องได้ลำบากมาก เราก็จะบอกว่า ลมหายใจเข้า มันชัดเจนมาก ให้นึก “พุท” ลมหายใจออกให้นึก “โธ”

เพราะพุทโธนี่เป็นพุทธานุสติ ลมหายใจนี่เป็นอานาปานสติ มันคนละอันกัน แต่เราเอามารวมกันเพื่อให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้คนที่ปฏิบัติใหม่เขาจับต้องได้ชัดเจน เขาจะได้ทำให้ใจของเขามีหลักมีเกณฑ์ แต่พอปฏิบัติไปแล้วนะหลับทุกคน หลับเพราะอะไรรู้ไหม หลับเพราะว่าพอหายใจเข้ากว่าจะ “พุท” พอหายใจออกกว่าจะ “โธ” พอ “พุท” ก็หลับไปก่อน ตื่นขึ้นมาค่อย “โธ” พอ “โธ” ก็หลับไปแล้ว ตื่นขึ้นมาค่อย “พุท”

แต่พอปฏิบัติไป พอครูบาอาจารย์ที่เป็นนะ ท่านจะบอกเลยว่าให้ปล่อยอันใดอันหนึ่ง เพราะมือซ้ายนี่บอกพุทโธ มือขวาก็บอกอานาปานสติ จับปลา ๒ มือ ปลามันดิ้น สติมันแตก ทิ้งอันใดอันหนึ่ง ถ้าคนพุทโธไม่ถนัด ให้เอาลมหายใจชัดๆ อานาปานสติ ให้ชัดๆ ให้ชัดๆ อยู่กับลม ชัดๆ ชัดๆ อยู่กับชัดๆ คือว่าจับให้มั่น คั้นให้ตาย จะพุทโธก็ได้ จะเอาอานาปานสติก็ได้ อันใดอันหนึ่งต้องวาง ให้เหลือหนึ่งเดียว

แล้วถ้าพุทโธไวๆ พุทธานุสติ พุทโธๆๆๆๆๆ เวลาสมมุติว่าเราทำงาน เห็นไหม บางวันจะกระทบกระเทือนกัน บางวันอารมณ์มันจะมีความกระทบกระเทือนมา พุทโธๆๆๆๆๆ เพื่อจะเอาชนะมัน วันไหนนะ โอ้โฮ วันนี้อารมณ์ดีมาก วันนี้บรรยากาศดีมาก วันนี้ พุทโธๆๆ พุทโธนี่เร่งได้ ผ่อนได้ เร็วก็ได้ ปานกลางก็ได้ ช้าก็ได้ อยู่ที่เรา

ถ้าวันไหนอารมณ์เรากระทบกระเทือนมารุนแรง เห็นไหม พุทโธๆๆๆๆๆ ให้โลกระเบิดไปเลย เพราะเราจะเอาชนะตัวเอง เราทำอย่างนี้มาตลอด เพราะอารมณ์ของเรานี่ โธ่ บางวันเห็นไหม มันขัดแย้งกัน คือว่ามันกระทบกระเทือนกัน เหมือนพระนี่มีการ มันเดินผ่านไปผ่านมาก็มีกระทบกระเทือนกันบ้างเป็นธรรมดา เรื่องของพระ เรื่องของคนใช่ไหม มันก็มาขุ่นมัวใจไง

แล้วมันจะคิดแต่เรื่องนั้น พุทโธๆๆๆๆ ซัดกับมันเลย ดึงมันกลับมา แต่ถ้าวันไหนอารมณ์มันดีนะ พุทโธๆ เราใช้หลายอย่าง พุทโธก็ใช้ อานาปานสติก็ใช้ ใช้ความคิดก็ใช้ ใช้ความคิดคือปัญญาอบรมสมาธิที่หลวงตาท่านสอน คือว่าเรานะ เรามีอุบาย เรามีช่องทางหลากหลาย ถ้าวันนี้เราทำอย่างนี้ดีเราก็ทำไปเลย ถ้าทำๆ ไป มันชักเบื่อ มันชักแบบคุ้นชิน แล้วเราเปลี่ยนอีกสักพักหนึ่งเราก็เปลี่ยน

เราทำอย่างนี้นะ เรามีอุบายเปลี่ยนของเราเรื่อย เขยใหม่ทุกวัน ไม่ยอมคุ้นชินกับใคร จะใหม่อยู่ตลอดเวลา ให้มันชัดเจน มันมีอุบาย โอ๊ย กินข้าวกับน้ำพริกๆๆ โอ๊ย เบื่อๆ เราก็เปลี่ยนอย่างอื่นบ้างสิ กินข้าวกับน้ำพริก อ้าว แกงส้มก็ได้ แกงเผ็ดก็ได้ กินข้าวกับน้ำพริก กินข้าว โธ่ เวรเอ๊ย มันก็ไม่อยากจะกินนะสิ เราต้องมีอุบาย

หลวงตาท่านสอนบ่อย ไม่มีอุบาย โทษนะ เวลาท่านเอ็ดพระ ไม่ได้เอ็ดโยมหรอก ว่าโง่ๆ อย่างนี้จะฆ่ากิเลสได้อย่างไร ก็โง่ๆ อย่างนี้ กินแต่น้ำพริกๆๆ กิเลสมันก็หัวเราะเยาะนะสิ ท่านบอกทำไมโง่ขนาดนี้ ทำไมไม่มีอุบายบ้าง จะฆ่ากิเลสอยู่แล้วก็ยังไสคอให้มัน ฆ่ากิเลสๆ มันจะเอาอะไรไปฆ่ากิเลส ก็กิเลสมันก็.. อุบาย เห็นไหม

นี่เราย้อนกลับไปว่า ทำไมมันนั่งหลับ ถ้านั่งหลับแล้ว อุบายการแก้ไข การแก้ไข การนั่งหลับ เราก็นั่งหลับมาก่อน เราจะบอกเลยนะ คนที่ปฏิบัติ เกือบทุกคนเป็นอย่างนี้ เกือบทุกคน ไม่ใช่ทุกคน เกือบทุกคนเพราะ เพราะทุกคนนะมีกิเลสมาเหมือนกันหมด แม้แต่พระพุทธเจ้า ๖ ปี เกือบทุกคน เว้นไว้แต่ผู้ที่สร้างบารมีมาแก่กล้า อันนั้นเรายกให้

เกือบทุกคนเป็นอย่างนี้ เราก็นั่งหลับ เราแก้หลับของเรามาแล้ว กว่าเราจะแก้ได้นะ เมื่อก่อนไม่รู้ หลับทีหนึ่ง ๖-๗ ชั่วโมงนะ เราล็อกเวลาเราได้เลย เช่นนั่งอย่างนี้นะ บ่าย ๓ โมงออก พุทโธๆๆๆๆ แวบไปเลยนะ ๓ โมงเพียะ มันสะดุ้งตื่นออกมา ๓ โมงเพียะ นึกว่าตัวเองเก่งนะตอนนั้น

แต่มารู้ทีหลังว่านั่งหลับ โอ้โฮ นี่มัน.. มันเคยน่ะ มันเป็นมานาน ก็เข้าใจผิด ยังชมตัวเองนะ เพราะนั่งอยู่ เป็นพระอยู่เยอะ นั่งสมัยหลวงปู่ฝั้น เวลาท่านจะทำวัตรกลางคืน เห็นไหม แล้วนั่งที ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม บางทีตี ๑ ตี ๒ เวลาเรานั่งอยู่นี่ พระที่นั่งด้วยกัน โทษนะ เดี๋ยวก็ลุกไปปัสสาวะไง ข้ออ้างเขานั่งไม่ไหวแล้ว เขาก็ลุกไปปัสสาวะ

จนอาจารย์บอกเลย แล้วเวลาเอ็งหลับ เอ็งไปปัสสาวะตอนไหนวะ คือนั่งกันไม่ไหวใช่ไหม ไอ้เราก็นั่งเพียะ ออกตามเวลาเปี๊ยะๆๆ เลย ก็ยังนึกหลงตัวเองนะ หลงว่าตัวเองเก่ง แต่เวลานั่งๆ ไป มีอยู่วันหนึ่ง มันมีวาสนา

พอนั่งครบเวลาปั๊บก็จะออก ก็เห็น ห่มจีวรทำวัตร ทำวัตรนั่งภาวนา เอ๊ะ จีวรนี้มันเปียกอะไร ก็นั่งอยู่อย่างนี้ มันจะเปียกได้อย่างไร ก็ยกขึ้นมาดม น้ำลาย ไม่ต้องมีใครบอกเลยว่าหลับไม่หลับ จริงไหม ไม่ต้องมีใครบอกเลย พอบอกน้ำลาย ตกใจเลยนะ ตกใจตัวเอง เว้ย เอ็งนั่งหลับ นั่งหลับคือภวังค์ เพราะว่าเรื่องปริยัติเราไม่เอาเลย เพราะนั่งหลับคือภวังค์

ทีนี้เราก็เริ่มแก้เลย เราแก้ตัวเอง เพราะเริ่มแก้เลย เริ่มตั้งแต่ทำทุกอย่าง ตั้งแต่ตรึก เอาแบบพระพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะ ให้ตรึก ให้ดูดาว ให้อะไร ไม่อยู่ เพราะว่ามันแก่ มันแบบว่ามันเคยแล้ว ทำอยู่อย่างนั้น เพราะประสาเรานี่คนสำนึกผิด เสือสำนึกบาป คนรู้ว่าตัวเองผิด มันจะแก้ทำไง มันก็พยายามของมัน ตัวคนเดียวนะ

เสือสำนึกบาปเลยล่ะ ผิดๆๆๆๆ ต้องหาทางออกให้ได้ ไปอย่างไรก็ไปไม่รอดนะ สุดท้ายมันจนตรอก ผ่อนอาหาร พอเริ่มผ่อนอาหารนะ เราพูดบ่อย เราพูดสอนพวกลูกศิษย์ เป็นคติตัวอย่าง ผ่อนอาหารจนกินวันละคำเดียว เรากินข้าววันละหนึ่งคำนะ

อยู่อีสานนี่ บิณฑบาตมา บิณฑบาตได้เต็มบาตร เทออก เอาข้าวเหนียวปั้นไว้คำหนึ่ง ปั้นไว้พอฉันคำหนึ่ง คำเดียววางไว้ที่ก้นบาตร แล้วอยู่ในป่า บิณฑบาตอะไรมา เขาก็ใส่แกงโฮะ เพราะมันไม่มีหรอก บิณฑบาตมา แม่ครัวมา ทุกอย่างก็รวมๆ กันแล้วก็แกงโฮะ พอแกงโฮะมานี่ มันก็ถ่าย มันก็แจกมาไง พอถึงเรา เราก็ตักน้ำแกงโฮะรดใส่ข้าวเหนียว แล้วก็ผ่านไป แล้วเวลาเขาตักอาหารไปเราก็ปล่อย พอที่สุดแล้ว พอจะฉัน เราก็พิจารณาของเรา แล้วก็คำเดียว จบ

๓-๔ เดือน โอ้โฮ ไป บิณฑบาตนะ จนเดินแทบไม่ไหว เซ แต่นั่งนะ ทีแรกมันก็หิว หิว ยอมรับว่าหิวนะ แต่เรามีพวกน้ำปานะ มีอะไรพอประทังไป เขาเรียกว่าผ่อนอาหาร โอ้โฮ มึงหลับทีเถอะวะ หิวๆ อย่างนี้ ขอร้องเถอะ ไม่มีทาง มันจะหลับได้อย่าง โอ้โฮ ไม่มีหลับเลย แก้ได้ เราแก้ได้เพราะผ่อนอาหาร

แล้วเราก็สอนพวกโยมที่มาหาเรานี่เยอะมาก ส่วนใหญ่พวกโยมมานะ

“หลวงพ่อ นั่งหลับ ไม่ได้อะไรเลย นั่งหลับ”

เราก็จะบอกเขาอย่างนี้ ส่วนใหญ่เราจะบอกเขาว่า “พวกเรานี่มีแต่มองไปที่เป้าหมาย เป้าหมายคือผล เรามองไปแต่เป้าหมายกัน แต่เราไม่มองถึงวิธีไปสู่เป้าหมาย เราจะไปแต่เป้าหมายกัน แต่เราไม่ดูวิธีการของเราเลย ว่าจะเข้าสู่เป้าหมายอย่างไร”

ถ้าเราอยู่ที่วิธีการ เรารักษาวิธีการของเรา เห็นไหม เราพูดกับลูกศิษย์บ่อยมาก สมาธิใครไปรักษาสมาธิ สมาธินี่มันเป็นอนิจจัง ใครรักษาสมาธิ สมาธิเสื่อมหมด

แต่ถ้าใครมารักษาเหตุนะ รักษาวิธีการนี่นะ รักษาเหตุ สมาธินี่ถีบให้ออกจากตัวมันยังไม่ยอมไปเลย ถีบมัน มันยังไม่ไปเลย สมาธิ รักษาตัวนี้ ทำตัวนี้ แล้วสมาธิมันจะเป็นของมัน แต่เราอยากไปเอาสมาธิกัน แต่เป้าหมายนี่สะเปะสะปะ อะไรก็จับไม่ถูกเลยนะ แต่จะไปเอาตรงนั้น ทิ้งมันซะ ความอยากในผลน่ะเป็นกิเลส ความอยากในเหตุ ในวิธีการไม่เป็นกิเลส เป็นมรรค

แต่ความอยากในผลนั้นเป็นกิเลส แต่ความอยากในเหตุ โยมอยากได้ตังค์ นี่เป็นกิเลส ถ้าโยมอยากทำงานไม่เป็นกิเลส แล้วถ้าทำงานแล้วได้ตังค์นะ ถ้าอยากได้ตังค์ไม่ทำงานเป็นกิเลส อยากได้ผลแต่ไม่ทำน่ะกิเลส แต่ถ้าเราไม่ต้องการผล เราทำแต่งานของเรา เงินมันมาเอง เราทำแต่งานผลมันคืออะไร แต่เราอยากได้แต่เงิน แต่งานจะไม่ทำ

โยม : นั่งหลับเราก็คิดว่าเป็นเพราะความเพียรเราไม่พอ

หลวงพ่อ : นี่ไง เห็นไหม หลับเพราะมันตกภวังค์ไง ความเพียรไม่พอ ถ้าพูดถึงนะ ถ้าความเพียรไม่พอ เราพูดอย่างนี้ เราก็รู้เราเข้าใจนะ เราบอกเลยนะ เมื่อกี้โยมขับรถมา โยมต้องข้ามปีนสะพาน สะพานถนน บนสะพาน เห็นไหม ถ้าคอสะพานมันขาด โยมจะมาได้ไหม พุทโธๆๆๆๆ เข้าไป แล้วมันตกคอสะพานนั้น เพราะมันขาดสติ

ถ้าพุทโธๆๆๆ นี่ คำว่าพุทโธนี่ มันถมคอสะพานนั้น ถมคอสะพานนั้น จนคอสะพานนั้นเต็ม รถเราก็ต้องผ่านคอสะพานนั้นไป ข้ามไปสู่อีกฝั่งของสะพาน ของถนน จิตปุถุชน เห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ระหว่างจิตจะเข้าสมาธิ ไอ้ที่ว่าถ้าความเพียรไม่พอๆ อยู่ตรงนี้ ถ้าความเพียรนะ ถ้าความเพียรเราไม่พอ มันตกคอสะพานนั้นไง อันนี้ที่หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่าพุทโธชัดๆ พุทโธไวๆ

พุทโธๆๆๆๆ ถ้าพุทโธอยู่อย่างนี้นะ พุทโธๆๆๆ เราอยู่กับพุทโธ พุทโธเป็นคำบริกรรม พุทโธๆๆๆๆ เขาบอกนึกพุทโธเป็นสมาธิได้ไงหลวงพ่อ ก็นึกพุทโธๆ มันก็ จิตมันนึกมันก็ฟุ้งซ่าน มันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร อ้าว ก็มึงนึกสิ เพราะคำว่านึกพุทโธ จิตมันนึก มันเป็นคำบริกรรม พุทโธๆๆๆๆๆ แล้วพุทโธนี่มันเป็นพุทธานุสติ ธรรมดาธรรมชาติของความคิด อ้าว โยมคิดถึงบ้านสิ คิดถึงบ้านมันไปอยู่โน่นใช่ไหม

เรานึกพุทโธ มันไม่ใช่ความคิดไปถึงบ้าน ถ้าคิดถึงบ้านมันส่งออก ถ้านึกพุทโธ พุทโธเป็นคำบริกรรม เหมือนกำแพงกั้นความคิดเรา พุทโธๆๆๆๆๆ แต่ถ้าเราไม่มีกำแพงกั้นมันคิดไปหมดใช่ไหม พุทโธๆ เพราะคำว่าพุทโธ พุทโธจน พุทโธนี่มาจากไหน พุทโธนี่จิตลึกขึ้นมา เป็นคำบริกรรม จิตมันตั้ง มันเป็นฐานขึ้นมา

แล้วพอมันสงบเข้ามา จนนึกพุทโธไม่ได้ เห็นไหม นึกไม่ได้ไม่ใช่ว่า บางคนเข้าใจผิดนะ พอเรานึกพุทโธชัดๆ เขาบอกว่ามันหยาบ พุทโธๆๆๆๆๆ มันจะพุทโธแล้วผ่อนไง ผ่อนให้พุทโธหายไปเอง พอหายไปเอง ตัวพลังงานมันยังไม่เข้าไปในตัวมัน เพราะมันนึกพุทโธใช่ไหม พุทโธนี่เป็นคำนึก เพราะมันเป็นวิตก วิจาร มันเป็นองค์ฌาน องค์ฌานเห็นไหม วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ นี่วิตก วิจาร นึกขึ้นพุทโธ แล้วมันเกิดปีติ เกิดสุข เกิดเอกัคคตารมณ์ เกิดความตั้งมั่น

มันพุทโธๆๆๆๆๆๆ พอมันนึก มันนึกมาจากใจ แต่ถ้าเราคิดเรื่องอื่น เราส่งออก เพราะเราสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ต่อเนื่อง มันต่างกัน มีคนถามมากเลย เอ๊ะ แล้วพุทโธมันก็นึก มันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร ก็ปล่อยว่างๆ ว่างๆ ปล่อยเฉยๆ นั่นเป็นสมาธิได้ ไอ้ปล่อยว่างๆ ขี้ลอยน้ำ มันปล่อยว่างๆ ไง มันปล่อยว่างๆ ว่างๆ แล้วธรรมชาติ ธรรมชาติของจิตเป็นนามธรรมอยู่แล้ว ว่างมันขาดสติ

แต่ถ้าเป็นพุทโธนะ ก็เหมือนกับสมาธิ มันมีสติพร้อมอยู่ในตัวมันเอง พูด มาเปรียบเทียบกับอะไรไม่ได้เลยล่ะ แต่เราใช้คำสมมุติกันว่าว่าง คำว่าว่างนั่นคือสมมุตินะ ไม่ใช่เป็นความจริงหรอก ความจริงคือความสัมผัสของใจเราต่างหาก อันนี้ถ้าคนไม่เป็นใครก็พูดได้ ว่างๆ ใครก็พูดได้ทั้งนั้น แต่ว่างของใครวะ ว่างของใคร

ถ้าว่างของผู้ปฏิบัติเป็น มันจะบอกได้ชัดเจน แล้วบอกได้ถูกต้อง ถ้าเราไม่เป็นบอกแล้วไม่ถูกต้อง ทีนี้บอกถูกต้องตรงนี้มันก็ย้อนกลับมาที่ตรงนี้ ย้อนกลับมาที่ครูบาอาจารย์เรา ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ของเรา เหมือนพวกนั้น เราเปรียบเหมือนหมอ ถ้าหมอซื่อสัตย์กับวิชาชีพ จะไม่เลี้ยงไข้คนไข้ จะไม่หาผลประโยชน์กับคนไข้ จะบอกตามความเป็นจริงคนไข้จะได้ประโยชน์มาก

ถ้าหมอคนนั้น เป็นหมอทางพาณิชย์ เห็นไหม จะล้วงกระเป๋าคนไข้ จะบอกว่าดีอย่างโน้น เป็นอย่างนั้น อันนี้มันก็อยู่ที่วาสนาของเรา ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่เป็นหลักเป็นชัยของเรา เราจะได้ประโยชน์

โยม : เคยอ่านหนังสือ เหมือนกับว่าเวลาเขาบอกว่า เวลาเรานั่งสมาธิแล้วจิตนึกอะไรอย่างนี้ เราก็ตามดูจิตไปเรื่อยๆ มันก็ฟุ้งไหมอย่างนี้

หลวงพ่อ : ตามดูนี่นะ เขาไปดูจิต เราค้าน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไอ้ดูจิตนี่นะ เพราะดูจิตนี่นะ เห็นไหม อย่างเรานี่ ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บมันจะกลับมาที่หมอแล้ว พูดกันนี่รู้เลยว่าหมอเป็นหมอไม่เป็น ถ้าการดูจิตนี่นะ การดูจิต มันเหมือนกับกล้องวงจรปิด เห็นไหม มันจ้องอยู่ มันดีกว่าเราอีกนะ คนร้ายมาปล้นตอนไหน จับตอนไหน มันเห็นหมดนะ ไอ้เรายังนั่งหลับนั่งตื่น ไอ้กล้องมันจ้องอยู่น่ะ มันได้อะไร

เราจะบอกว่ากล้องนั้นไม่มีชีวิต เรามีชีวิต เป็นผู้รู้ดีรู้ชั่ว แล้วเราจะทำตัวเราเองให้เป็นวัตถุอย่างนั้นเหรอ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนอย่างนี้ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนว่า

“จิตส่งออก ความคิดที่ส่งออก ความคิดที่ส่งออกให้ผลเป็นทุกข์ เป็นสมุทัย ต้องหยุดความคิด การหยุดความคิดก็ต้องใช้ความคิด”

หลวงปู่ดูลย์สอนอย่างนี้ “การหยุดความคิดก็ต้องใช้ความคิด” ดูในหลวงปู่ฝากไว้สิ อันนี้ถ้าไปดูเฉยๆ มันไม่ได้ใช้ความคิด มันเป็นมรรคไปไม่ได้ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนนะ ให้ดูจิตให้รู้จิต รู้ ท่านจะเน้นตัวรู้ ตัวรู้นี่จะเขียนตัวใหญ่มาก ตัวดูจะเขียนตัวใหญ่มาก ดูแบบผู้บริหารจัดการ กับดูแบบนักการภารโรง ดูแบบนักการภารโรง มันคอยแลกบัตร รถเข้ารถออกรู้หมด แต่มันได้อะไร มันก็ได้แค่รถผ่านไปผ่านมา

แต่ผู้บริหารองค์กรนั้นเขาต้องตั้งงบประมาณ เขาต้องบริหารบุคลากร เขาต้องมีนโยบาย เขาถึงจะบริหารองค์กรนั้นไปรอด จิตของเรามันมีอวิชชา มันผ่านวัฏฏะมามากมายมหาศาล ดูเฉยๆ นี่มันไม่เข้าองค์มรรคเลย แล้วก็หลอกลวงกัน เพ่งกัน ดูกัน ดูแล้วจะได้ประโยชน์ กลับไปถามผู้ที่ปฏิบัติทั้งหมด ใครได้ประโยชน์มาเราให้เตะ ที่ปฏิบัติกันอยู่นั้นใครได้อะไรมา เราให้กระทืบเลย

แต่! แต่ที่เขาได้ความว่างที่ว่านี่ไง ความว่าง ถ้าเราทำใจให้ดี ตั้งสติให้ดีมันก็ว่าง ความว่างไม่ต้องทำอย่างนั้นหรอก ความว่าง อย่างเช่นเรานี่เป็นปัญญาชน เราอ่านพระไตรปิฎกเราก็ว่างนะ เพราะอ่านแล้วเรามีความซึ้งใจ ว่างหรือยัง ความว่างอย่างนี้มันเด็กๆ แล้วเขาก็ว่า ว่างๆ ว่างๆ สบายๆ ตรงนี้มันเป็นเหยื่อ มันเป็นเหยื่อเพราะอะไร เพราะเรานี่ทุกข์ยากกัน

พอไปเจออะไรที่ง่าย ที่สะดวก เราก็ว่าสิ่งนั้นถูกต้อง สิ่งนั้นดีงาม สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งนั้นดีงาม ขอดูผลๆ เหมือนทำงานแล้วที่ไม่ได้ผล เราไปคุยกับพวกอภิธรรม เราไปดู เราสงสารเขา เราพูดตรงนี้ เขาบอกว่า “อยาก” ปฏิบัติไม่ได้ ต้อง “ไม่อยาก” เราก็บอกว่าอย่างนั้นโยมเอาอย่างนี้ดีกว่า โยมทำงานกันน่ะ โยมเซ็นเลยว่าสิ้นเดือนจะไม่รับตังค์ อ้าว ก็ไม่อยาก ไม่เอาๆๆ เซ็นเลยๆ ว่าทำงานชาตินี้จะไม่รับตังค์เลย ไม่รับผลตอบแทนเลย เป็นไปได้ไหม

ไอ้คำว่าความอยาก มันอยากในอะไร ถ้าอยากในผลเป็นกิเลส แต่ถ้าอยากปฏิบัติไม่ใช่กิเลส คนไม่มีความอยาก ไม่มีความหมั่นเพียร มันเป็นมรรคไปไม่ได้

เพราะเราไปตีความกันเองไง เราไปตีความกันเองว่าการปฏิบัติต้องสะอาดบริสุทธิ์ ทีนี้คำว่าสะอาดบริสุทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์ เราต้องสะอาดบริสุทธิ์โดยที่ปุถุชนกับเราสิ สะอาดบริสุทธิ์โดยน้ำ น้ำดื่มนี่ มันต้องสะอาด แต่น้ำดื่มมีเชื้อโรคไหม มันธรรมดา ให้เป็นน้ำกลั่นเลย เราบอกให้ดื่มเฉพาะน้ำกลั่นที่เขาใช้ มึงจะบ้าเหรอ นี่ก็เหมือนกัน ไม่มีความอยากเลย นี่เข้าใจผิด

คนที่ศึกษาศาสนาด้วยความเข้าใจผิดของตัว กรุงเทพฯ อยู่ภูเก็ตไง แล้วก็จะชี้กรุงเทพฯ ไปทางนี้ไง กรุงเทพฯ มันอยู่ทางนี้ มันไม่ได้อยู่ที่ภูเก็ต แต่เพราะอาจารย์ไม่เป็น ถ้าอาจารย์เป็นจะชี้ว่ากรุงเทพฯ ไปภูเก็ตได้อย่างไร ก็กรุงเทพฯ มันไปทางนี้อยู่ชัดๆ ดูๆ อย่างไร ดูอย่างไร แล้วรู้อย่างไร ว่ามา ก็พูดกันแค่นั้น ดูจิตๆ แล้วก็ว่างๆ สบายๆ ต้องคุยกับเรา เหมือนกับเรานี่เหมือนเทคนิคแพทย์เลย

ถ้าเทคนิคเขาจะรู้เลยว่าค่าของมันมีเท่าไรใช่ไหม ในความว่างนั้น ค่าของมัน มาคุยกันสิ นี่ไปคุยกับคนไม่เป็น อ้าว ว่างๆ ก็คือว่างๆ ไง ก็จบ ที่เราพูดนี่นะ เราสงสาร เราสงสารพวกเหยื่อ เราสงสารมาก แต่เวลามาปฏิบัติแล้ว มาพุทโธนี่ลำบาก พุทโธก็ลำบาก ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ลำบาก เพราะมันมีแรงต้านของกิเลส มันมีแรงต้าน มันมีความขัดแย้งอะไรนี่ ยุ่งไปหมด

แต่ถ้าดูเฉยๆ สบายๆ ว่างๆ ทุกคนติดตรงนี้ ทุกคนเข้าใจผิด เข้าใจผิดว่าถ้าจิตมันว่างๆ สงบนั้นคือธรรมะ จิตว่างๆ นั้นเหมือนตะกอนในน้ำที่มันนอนอยู่ใต้แก้ว ใต้ภาชนะ เราพยายามไม่ให้มันขยับ เพื่อจะให้ตะกอนนั้น มันไม่แสดงตัวเท่านั้นเอง แล้วก็ติดกันเท่านี้ ถ้าธรรมะเป็นอย่างนี้นะ ฤๅษีชีไพรพุทธกาลเป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว

หลวงปู่ดูลย์สอนถูก แต่พวกนี้สอนผิด ผิด! เพราะหลวงปู่ดูลย์สอนอย่างนี้ ดูจิต ดูจิต ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิต แล้ววิปัสสนามัน นั้นถึงเป็นมรรค จิตเห็นอาการของจิต จิตคือตัวพลังงาน อาการคือความคิด ความคิด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เปลือกส้ม เปลือกๆ ความคิดโดยสามัญสำนึกเรานี่เป็นความคิด มันมาจากไหน เปลือก

ผลส้มแต่ละผล ที่มันติดผลออกมา แล้วมันจะโตออกมา ผลส้มมันจะใหญ่ขึ้นๆ มันมีเปลือกมีเนื้อ มีอะไรทุกอย่างพร้อม เราเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์มีความคิดกับจิต มีความคิดกับจิต เห็นไหม ความคิดกับจิต ถ้าความคิดเป็นเรา เวลาเราไม่คิด เรานอนหลับ ความคิด จิตมันไปไหน เวลานั่งเฉยๆ นั่งว่างๆ มันไม่คิด แล้วจิตมันไปไหน

ถ้าจิตมันเป็นความคิด มันต้องว่างไม่ได้สิ มันต้องคิดอยู่ตลอดเวลา ทำไมเวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือเราใช้พุทโธๆ จิต แล้วทำไมมันปล่อยวางได้ล่ะ เพราะความคิดมันไม่ใช่จิต ทีนี้ความคิดไม่ใช่จิตโดยธรรมชาติของมัน แต่อย่างที่พูดเมื่อกี้ต้องเริ่มต้นเลย ที่ว่า เวลาความ ไอ้นั่น ไอ้ที่ว่าตามดูพิจารณาความคิด ความคิดไม่ใช่เรา

ถ้าพิจารณาไป จนจิตมันเป็นพลังงานของมัน เนี่ยตัวสมาธิไม่ใช่ความคิด จิตเห็นอาการของจิต แต่ที่ปัจจุบันนี้ กำหนดดู เราหยิบส้ม เราจะไม่โดนเปลือกส้มได้ไหม ไม่ได้ ใช่ไหม เราหยิบส้มต้องโดนเปลือกส้ม เอ็งดูจิตไป เอ็งก็เท่ากับดูอาการของจิต คือดูเปลือก ไม่ใช่ดูตัวจิต แล้วพอดูเปลือก เห็นไหม ดูความคิดเห็นไหม โยมไม่ต้องดูหรอก อยู่เฉยๆ ความคิดบางทีมันก็หยุด ของอย่างนี้มันพื้นๆ

บางวันเราสบายใจ เรานั่งสบายๆ เห็นไหม สบายๆ อันนั้นคืออะไรล่ะ แล้วพอมานั่ง นั่งดูจิตๆ ดูจิตนี่นะ เราจะพูด เราเปรียบเทียบอย่างนี้เลย ที่มันไม่ได้ผลน่ะ ไม่ได้ผลนะ โยมเห็นที่สนามหลวงเขาเล่นว่าวไหม มันมีว่าว มีเชือก มีลม มีผู้เล่น เราอยากเล่นว่าวกับเขาบ้างนะ จับว่าวมาก็ร่อนขึ้นไปบนอากาศเลย ว่าวจะขึ้นได้ไหม เพราะมันไม่มีเชือก เราจับร่อนขึ้นไป ไม่มีเชือก สติ ตัวรับรู้ ตัวจิตนี่ไง เห็นเขาเล่นว่าวกัน เห็นไหม

จิตเห็นอาการของจิต เพราะอะไร ผู้เล่นมันบังคับว่าว มันชักมันบังคับได้นะ เราแข่งขันกันน่ะ แล้วดู ดูบ้าดูบอ เป็นไปไม่ได้หรอก เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ ผู้ที่ปฏิบัติทุกคนมันเห็นได้รู้ได้ คือมันจับต้องได้ง่าย พอมันจับต้องได้ง่าย คนก็เลยเชื่อง่ายๆ เชื่อง่ายๆ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมรรคมีองค์ ๘

ถ้าโยมเป็นอาจารย์สอนหนังสือนะ เด็กมันส่งหน่วยกิตไม่ครบ โยมจะให้มันผ่านไหม แล้วถ้ามันไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีสัมมานี่มัน มรรคมีองค์ ๘ มันจะเป็นมรรค ๘ ไปได้ไหม หน่วยกิตมันไม่ครบ ๘ เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ ยืนยัน แล้วไม่ใช่ยืนยันแบบตีหัวเข้าบ้านนะ เพราะว่า เขานี่นะ ......... เขาส่งคนมาที่นี่เยอะ เขาบอกเขาจะมากราบเราหลายทีแล้ว ไม่กล้ามา ถ้ามาก็จบเลยไง ส่งคนมาที่นี่แหละ บอกเลยบอกว่า เหมือนกันๆ

บอกว่าที่เราเอาไป ปลูกดอกบัวที่ใจ การพิจารณาจิตน่ะ เราพูดอาการของจิต เพราะเราก็พิจารณาทางจิตมาเหมือนกัน แต่เราไม่ได้ทำอย่างนั้น เรามีการแยกแยะ มีการพิจารณา มันมีแม่ชีมาจากกระบี่ เขาก็ดูจิตอย่างนี้ เขาว่าดีมากๆ เลย เราบอก เฮ้ย ไม่ใช่ เขาไม่ใช่ดู เขาใช้การพิจารณาแยกแยะ คือบริหารจัดการ ไม่ใช่ดูแบบนักการภารโรง ต้องบริหารจัดการ แล้วบริหารจัดการ แล้วสงบได้ด้วย แล้วแยกแยะได้ด้วย

ที่หลวงปู่ดูลย์พูดไว้ถูกต้อง เราถึงไม่ค้านหลวงปู่ดูลย์เลย “ความคิดที่ส่งออกทั้งหมด ให้ผลเป็นสมุทัย เป็นทุกข์” ความคิดที่ส่งออกคือมันให้ผล มันเป็นสมุทัยให้ผลเป็นทุกข์ เราต้องละสมุทัย “การจะหยุดความคิดก็ต้องใช้ความคิด” แต่เราคิดเรารู้เลยว่าคำพูดของหลวงปู่ดูลย์ ต่อๆ ไป เขาจะแบบว่า เวลาเขาจะพิมพ์ตรงนี้มันจะหายไป เขาจะตัดออก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเขาตีความไม่ออก ถ้าคนทำไม่เป็น คนไม่รู้ มันไม่รู้

อย่างเช่นพระไตรปิฎก เราเคยอยู่กับหลวงตา หลวงตาบอก ตอนสังคายนา ตอนที่ ๒๕๒๕ กรุงเทพฯ ๒๐๐ ปี เขาบอกว่า สุตมยปัญญานี่เข้าใจได้ จินตมยปัญญาก็เข้าใจได้ ภาวนามยปัญญานี่เข้าใจไม่ได้ สงสัยว่ามันเป็นการจดจารึกมาเกิน เขาจะตัดทิ้งเลยนะ หลวงตาบอกไม่ได้ ตัวนี้คือหัวใจศาสนา ตัวภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากภาวนาคือหัวใจของศาสนา คือพระพุทธเจ้ารู้ตรงนี้ พระพุทธเจ้าถึงเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา

ภาวนามยปัญญาคือภาวนาเกิดจากปัญญาล้วนๆ ไม่ใช่ข้อมูล ไม่ใช่สัญญา ไม่ใช่สิ่งใดๆ ที่มัน.. มันมีที่มาที่ไป มันเป็นปัจจุบันธรรมที่เกิดจากจิต ภาวนามยปัญญา เขาขนาดเขาจะตัดทิ้งกันเลยนะ เพราะว่าเขาอธิบายไม่ได้ อันนี้ก็เหมือนกัน ของหลวงปู่ดูลย์ เพราะเราดูมาตลอด เราเชื่อหลวงปู่ดูลย์ เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่านพูดมีหลักมีเกณฑ์แล้วถูกต้อง

คือประสาเรานี่ เราคนทำงาน เราวิชาชีพเดียวกัน เราเห็นคนทำงานเรารู้เลยว่า คนนั้นเป็นหรือไม่เป็น พระก็เหมือนกัน ฟังเทศน์รู้เลยว่าเป็นหรือไม่เป็น เราทำงานมา เห็นไหม แล้วคนก็ทำงานอาชีพเดียวกับเราแล้วมาทำ ทำผิดๆ ถูกๆ เราไม่รู้ได้อย่างไร โธ่เอ๊ย พระภาวนาก็เหมือนกัน ขออย่างเดียว ขอให้ภาวนาเป็นนะ

ถ้าเราไม่เป็น เราก็ดูไม่ออก แต่ถ้าเป็นนะ รู้เลยว่า เงอะๆ งะๆ อย่างนี้ ไม่ใช่ อย่างดีก็ครูพักลักจำ ครูพักลักจำก็ทำไม่ได้ ทำไม่ได้หรอก ยิ่งการภาวนายิ่งพูดไม่ได้เลย เรากล้ายืนยัน เพียงแต่ว่า เรายิ่งยืนยันด้วย แล้วมันมี เพราะเรายืนยันแล้วนี่ ที่เรายืนยันนี่เรารู้ด้วยนะ ถ้ายืนยันแล้วโยมปล่อยทางโน้นนะ คือปล่อยสิ่งที่เคยทำมา ที่ว่าสะดวกสบาย แล้วมากำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ โยมจะทุกข์ โยมจะหนักหน่วง

แล้วคิดว่า เอ๊ะ แล้วมันจะถูกทางไหม เพราะมันเป็นความจริง เป็นความจริง เราต้องเอาชนะตัวเอง ไม่ง่ายหรอก แต่อย่างที่เขาทำกันนั่นน่ะ มันเหมือนกับอาหารสำเร็จรูปน่ะเนอะ แกะอย่างเดียวเลย

เพราะมีคนมาหาเรา มาเล่าให้ฟัง บอกหลวงพ่อเขาไปกันเยอะมากเลย เราบอก มันกรรมของสัตว์ ไอ้เรื่องสงสารนี่ สงสารมากนะ เราสงสารตรงไหนรู้ไหม โยมสังเกตได้ไหม เราเห็นในสังคม เขาหลอกลวงกัน แล้วโยมยืนดู โยมจะคิดอย่างไร เรามีความรู้สึกอย่างนั้นนะ

เรามีความรู้สึก เหมือนเราอยู่ในสังคม เห็นไหม เราอยู่ ไอ้พวกแชร์ลูกโซ่ พวกที่เขาหลอกลวงกัน เรายืนดูอยู่นี่ เห็นคนเขาเป็นเหยื่อ โยมจะคิดอย่างไร เรามีความคิดอย่างนั้นตอนนี้ แล้วเราสงสารมาก เราสงสารมากๆ เพียงแต่ว่าถ้าเขาไม่เข้าใจ เราพูดออกไป เพราะแชร์ลูกโซ่ เขาได้ผลประโยชน์ พอเราบอกไป เฮ้ย นี่ผิดนะ ผิดได้อย่างไร ก็ได้

เราถึงบอก มันกรรมของสัตว์ๆ เพราะอะไร เพราะเขาไปแล้วสบายใจ ไปแล้วเขาชื่นใจกัน ไปแล้วสบายๆ แต่สำหรับเรานะมันเสียอย่างหนึ่ง เสียอย่างตรงที่ว่า นักเรียน อนุบาล ถ้ามันเข้าโรงเรียนไหนแล้วแต่ ถ้าวิชาการมันเข้มแข็ง โตขึ้นมามันจะมีการศึกษา มันจะไปได้ง่าย ถ้านักเรียนคนไหน เด็กอนุบาลที่มันเรียนแล้วอ่อนมากหรือไม่ดีมาก โตขึ้นมาเขาจะลำบากนะ

นี่ก็เหมือนกันการปฏิบัติ ถ้าใครไปปฏิบัติเริ่มต้นแล้วไปฟังอะไรมา เราต้องมาแก้ ยุ่งพอสมควร เราถึงว่ายุ่งพอสมควร อันนี้อย่างว่าประสาเรานะ โลกนี้ไม่ใช่ของเราคนเดียวเว้ย กูจะไปแบกอยู่คนเดียวมันก็ ก็กรรมของสัตว์ล่ะ กรรมของสัตว์ แต่ยืนยันได้

เพราะยืนยันได้ เราเทียบให้เห็นชัดๆ เลย ดูอย่างไฟถนน เห็นไหม เดี๋ยวนี้พอแสงมันอ่อนมันติดเอง แล้วพอมันมืด มันติด พอสว่างมันก็ดับ แล้วเราจะไปเพ่งอย่างนั้นให้เป็นอย่างนั้นเหรอ ดูเฉยๆ ดับ ติด ดับ ติด เราจะบอกว่าเราสังเวชมาก เราสังเวชที่ว่าคนนี่นะคิดว่าชีวิตของเราชีวิตของเรามีค่ามากกว่าเพชรนิลจินดา

เพชรนิลจินดามันเป็นวัตถุธาตุ ชีวิตของเราคือหัวใจ คือตัวจิตที่มันเกิดตาย ถ้ามันพัฒนาการได้ มันจะเป็นอริยภูมิ มีคุณค่ามหาศาลเลย แล้วเราไปทำชีวิตอย่างนี้ให้เป็นวัตถุ เกิดดับๆๆ มึงจะบ้าเหรอ คือเราเห็นว่า เราใช้ชีวิตเราใช้จิตเราทำสิ่งที่มันไม่มีคุณค่าเท่ากับความเป็นจริง ว่าอย่างนั้นเถอะ

เราเห็นแล้วสังเวชมากนะ มันสังเวชเพราะว่าอะไรรู้ไหม สังเวชเพราะว่า ผู้ที่เป็นหัวหน้า ผู้ที่สอน มันเข้าไม่ถึงหลักความจริง แล้วทำไมรู้ไหม เสียดายมาก เสียดายที่หลวงปู่ดูลย์ท่านเสียไปแล้ว ถ้าหลวงปู่ดูลย์อยู่นะ หลวงปู่ดูลย์จะชี้เลยว่าผิดอย่างไรๆ

ทีนี้พอหลวงปู่ดูลย์ท่านเสียไปแล้ว ก็บอกว่าหลวงปู่ดูลย์สอนอย่างนี้ หลวงปู่ดูลย์สอนอย่างนี้ มันเสียดายที่ว่าผู้สอนท่านเสียไปแล้ว เพราะเขาอ้างหลวงปู่ดูลย์อย่างเดียว ว่าหลวงปู่ดูลย์สอนอย่างนี้ หลวงปู่ดูลย์สอนนะ ประสาเรา เราคนทำงานด้วยกัน หลวงปู่ดูลย์พูดไม่ผิดเลยนะ เพียงแต่เขาตีความไม่ได้อย่างนั้น หลวงปู่ฝากไว้

ไอ้....... เขาอ่าน ไอ้วิทยุเสียงธรรมเคยมาเปิดอยู่เลย เรายังฟังอยู่เลย ข้อที่ ๓ หลวงปู่สอนว่าให้ดูจิตจนเห็นอาการของจิต ข้อที่ ๔ หลวงปู่สอนว่า เห็นอาการของจิตแล้ววิปัสสนามันถึงจะเป็นวิปัสสนาอะไร โอ้โฮ ชัดเจนมากๆ เลย แต่ทีนี้คน แปลกนะ คนหลงผิดนี่นะ เวลามันเห็นอะไรปั๊บ มันจะชักเข้าตัวเอง เข้าข้างตัวเองหมด เหมือนๆ ทุกทีแหละ

อย่างเช่นเวลาหลวงตาท่านพูด ว่าท่านเคยดูจิต ท่านเคยกำหนดจิตไว้เฉยๆ แล้วจิตท่านเสื่อมไปปีกับ ๖ เดือน ท่านทุกข์มาก ท่านบอกดูจิตนี่นะ จิตท่านสงบได้ เพราะใครบวชใหม่ๆ ด้วยจินตนาการของเรา ด้วยความเห็นของเรา เราก็ต้องทำแบบนั้นล่ะ ทีนี้พอจิตท่านเสื่อมไป ท่านก็ทุกข์มากเลย ท่านคิดเองว่า ท่านควรจะออกอย่างไร ท่านก็บอกว่าต้องกำหนด สงสัยขาดคำบริกรรม ท่านกำหนดพุทโธๆ

ท่านบอกเลยนะ ตอนนั้นบังเอิญท่านอยู่ที่บ้านโคก แล้วหลวงปู่มั่นท่านก็จะไปรับ ไปงานศพหลวงปู่เสาร์ ก็ปล่อยให้หลวงตาอยู่องค์เดียว ท่านก็ดูจิตโดยกำหนดพุทโธ ท่านดูจิตมา ๒-๓ ปีแล้ว เสื่อมไปปีกับ ๖ เดือนเพราะมันก่อนหน้านั้น ปีกับ ๖ เดือน ไม่ได้อะไรเลย เพราะเดี๋ยวมันขึ้นมาสักพัก มันก็จะหยุด เพราะมันไม่มีหลัก เหมือนคนไม่มีจุดยืน

พอเรากำหนดพุทโธๆ ท่าน ๓ วันแรกอกแทบระเบิด คือมันเคย มันเคยดูอยู่เฉยๆ มันสบาย พอกำหนดพุทโธๆ หัวอกแทบระเบิด แล้วพอท่านกำหนดพุทโธๆ นั่นน่ะ จิตท่านฟื้นมา แล้วเวลาใคร เวลาคนที่เขาปฏิบัติ เขาก็จะอ้างตรงนี้ อ้างว่าหลวงตาก็ดูจิตเหมือนกัน แต่ท่านบอกว่าเราเคยดูแล้วมันผิด มันเสีย แต่คนที่เขาเอามาอ้างเขาบอกว่าหลวงตาก็ดูจิตเหมือนกัน ก็เพราะท่านดูจิต ท่านถึงมีประสบการณ์ไงว่ามันไม่ใช่ ถ้ามันใช่ท่านจะสอนว่าท่านพุทโธทำไม

โยม : ที่หลวงปู่ดูลย์เขียนว่า ดูจิตจนเห็นอาการของจิตนี่ หมายความว่าอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : เห็นจิตก็คือจิตสงบ เห็นอาการก็คือเห็นธรรมารมณ์ สติปัฏฐาน ๔ นะ กาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมารมณ์คืออารมณ์ความคิดที่จิตสงบถึงเป็นธรรม จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิต ชัดเจนมาก จิตเห็นอาการของจิตนะ เพราะจิตมันสงบแล้ว จิตมันสงบ อาการมันต้องหายไป ถ้าอาการไม่หายจะสงบได้อย่างไร

ที่จิตสงบนี่นะเพราะ เราจะบอกว่าความคิดเป็นเปลือกส้มใช่ไหม ตัวจิตเป็นตัวเนื้อส้ม เราก็ใช้ปัญญา ใช้ปัญญาไล่ความคิดไป ความคิดมันจะให้ผลเป็นทุกข์กับเรา ความคิดมันจะให้ผลเป็นทุกข์กับเรา เราก็ไล่ความคิดนี้ไป ความคิด คิดนี่ทุกข์อย่างไร เราคิดผิด คนเขาพูดอย่างหนึ่งเรามีความรู้สึก เราได้ยินมาอีกอย่าง เราตีความอย่างหนึ่ง เราคิดนี่ เราทำร้ายตัวเองโดยที่ไม่รู้สึกตัวเลย เพราะเรามีความเห็นผิด

แล้วถ้าพอเราเข้าใจ เราจะเห็นเลยว่าเรานี่คิดผิด เราเห็นโทษของความคิด พอเห็นโทษของความคิด ใช้ปัญญาไล่ไป พอเห็นโทษของความคิด เห็นเข้ามันก็ปล่อย พอปล่อยมันก็เป็นตัวจิต ตัวจิตๆ พอตัวจิตนะ ตัวจิต ดูจิต คำว่าดูจิต ท่านให้ดูอย่างนี้ ให้ดูโดยใช้ปัญญา ปัญญาจนมันสงบลง มันก็เป็นตัวจิต พอเป็นตัวจิต จิตสงบบ่อยครั้งเข้าๆ สงบนี่มันปล่อยนะ เวลามันปล่อย โอ้โฮ ปล่อยความคิดหมดเลย เราเองปล่อยความคิดได้เองได้ แล้วรู้ด้วยตัวเองชัดเจนเลย

พอเราปล่อยใหม่ๆ มันแค่ปล่อย เขาเรียกว่าเวลามันปล่อยใหม่ๆ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ปล่อยบ่อยครั้งเข้าๆ จนจิตมันควบคุมความคิดได้เลย มันปล่อยได้ตลอดเวลาเลย เพราะมันรู้ว่าความคิดนี่ให้โทษกับมัน พอมันจะคิดนะ อ๊ะๆ มันจะหยุดเลยนะ สติมันทันความคิด ทันตัวเองขนาดนี้ เวลาจะเริ่มคิด เอ๊อะ มันจะปล่อยเลย มันกลัวสติ

พอมันปล่อย ปล่อย ปล่อยจนชำนาญ พอชำนาญปั๊บแล้วรักษาความคิด แล้วที่บอก วิธีการ เห็นไหม ลองทำดูสิวิธีการ จิตสงบได้ตลอดเวลา พอจิตสงบตลอดเวลา จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น เรามีสติ สติตามไป พอสติตามไป พอมันเห็นแล้ว ยังไม่เห็นอาการของจิต พอเห็นอาการของจิตคือจิตกับความคิด ความคิดมันเกิดมาจากไหน ความคิดมันเกิดมาจากฟ้าเหรอ ความคิดมันมาจากไหน เราจะยัดความคิดไปให้โยมได้ไหม

ความคิดของเราก็เกิดจากจิต มันเสวยอารมณ์ จิตเห็นอาการของจิตนี่ไง ตัวจิตมันเห็นความคิดเลย เห็นความคิดกับจิตมันคนละอันกัน พอเห็นความคิดกับจิตคนละอันกัน มันจับความคิด จับไว้นี่หมายความว่าอย่างไร อย่างเช่นโยมคิดถึงขวดน้ำ ความคิดเป็นนามธรรม ขวดน้ำนี่เป็นรูปนี้เห็นไหม โยมคิดถึงขวดน้ำ มันก็จับ เห็นความคิดเป็นขวดน้ำก็จับเลย นี่ขวดน้ำ ขวดน้ำประกอบไปด้วยอะไร ใครเป็นคนไปเห็นขวดน้ำ

นี่ไงอาการของจิตคือมันเห็นขวดน้ำ มันข้อมูลเรื่องขวดน้ำ พอมีเรื่องข้อมูลของขวดน้ำปั๊บ ปัญญา ตัวจิต เห็นไหม มันก็ใช้ปัญญา ใช้ความคิด ขวดน้ำนั่นเป็นน้ำสะอาดหรือน้ำสกปรก น้ำดีน้ำชั่ว นี่ไง ที่จิตเห็นอาการของจิต วิปัสสนาอย่างนี้ แต่ถ้ามันยังไม่เห็น มันไม่มีทั้งขวดน้ำ ไม่มีทั้งความคิด มันเป็นตัวมันเองทั้งหมด จิตไม่เห็นอาการของจิตไง

แต่ถ้าจิตเห็นอาการของจิต นี่หลวงปู่ดูลย์สอน แล้ววิปัสสนามัน

“กิม เห็นจิตไหม” “เห็น”

“กิม เห็นอาการของจิตไหม” “เห็น”

“วิปัสสนามัน วิปัสสนามัน”

นี่หลวงปู่ดูลย์สอน สอนหลวงปู่กิม แต่พวกนี้ไม่เคยเห็นอะไรเลย ได้แต่ดูกันไปเรื่อยๆ ดูแบบกล้องวงจรปิดน่ะ เศร้าใจๆ มันไม่มีใครรู้จริง มันอธิบายอย่างนี้ไม่ได้ นี่แค่เริ่มต้นนะ เพราะเปลือกมันมีหลายชั้นหลายตอนมาก โสดาบัน สกิทา อนาคามันคนละชั้นคนละเปลือก มันจะลึกลับไปอีกเยอะแยะ

ในเมื่อยังไม่มีการบริหารจัดการเรื่องปัญญาอย่างนี้ มรรคไม่มีองค์ ๘ อย่างนี้ มันจะเดินไปไหนได้อย่างไร แล้วมรรคนี่นะ มรรคของฆราวาส สัมมาอาชีวะ เราทำเลี้ยงชีพถูกต้องนี่สัมมาอาชีวะ นี่มรรคของฆราวาส มรรคของพระนะ คิดดีคิดชั่ว อารมณ์ความรู้สึก คิดดีนี่เลี้ยงชีพถูก คิด ความคิดเป็นอารมณ์ อารมณ์ความคิดเป็นอาหารของจิต จิตไม่มีความคิด จิตแสดงตัวออกมาได้อย่างไร

มรรคของอริยภูมิมันอยู่ที่นี่ ธรรมจักรที่จักรมันเคลื่อน ที่ปัญญามันหมุน ที่หลวงตาบอกปัญญามันหมุนติ้วๆๆ เคยเห็นกันไหม เคยทำกันไหม ไม่รู้เรื่องอะไรกันเลย มันต้องมี หลวงตาท่านพูดบ่อยเวลาปัญญาท่านหมุน ท่านอยู่กับใครไม่ได้ แต่ท่านบอกว่าห้ามคิด คิดไม่ได้ คิดผิด มันขัดแย้งกันเลย มันขัดแย้งกับทุกๆ อย่าง เพียงแต่เมื่อกี้ที่เราเริ่มต้นถามโยมว่าโยมปฏิบัติ ใครสอนๆ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะถ้าบอกพระองค์ไหนมา เรารู้หมด ว่าใครสอนได้ใครสอนไม่ได้ ใครสอนผิดใครสอนถูก

ทีนี้ส่วนใหญ่แล้วเราก็เข้าไปหาครูบาอาจารย์กันมา เพียงแต่ว่าเวลาเราพูด เขาจะยกครูบาอาจารย์ไว้ก่อน เราจะเอาข้อเท็จจริง เราจะคุยกันเรื่องข้อเท็จจริง ภูมิ วุฒิภาวะขององค์ไหน ยกของเขาไว้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดวิสัย เราจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้มาวัดกันไม่ได้ แต่เวลามาหาเรานี่ เราจะเอาข้อเท็จจริง เราคุยกันด้วยข้อเท็จจริง

ถ้าปฏิบัติของเขาจะได้แค่นี้ ก็ให้ดูกันไปเฉยๆ แล้วว่างเฉยๆ มันก็เหมือนเราทำตัวเราเอง ทำทุกอย่างให้เป็นอากาศ ก็ว่างนี่ไง จริงไหม เราทำความคิด ทำธาตุ ทำทุกอย่างของเราให้เป็นอากาศ ก็ว่างๆ ยิ่งพูดยิ่งเศร้านะ อากาศนี่มันให้ผลอะไรกับใคร มันเป็นวัตถุธาตุอันหนึ่ง แล้วเรามีชีวิต แล้วชีวิตนี้มันไม่ใช่มีเฉพาะเรา มันย้อนไปอดีตชาติไม่มีจบไม่มีสิ้น อนาคตยังไปอีกไกล มันมีอำนาจวาสนาบารมีไง

อดีตชาติที่มันไม่จบไม่สิ้นมันได้สร้างมา มันถึงได้มีวุฒิภาวะสนใจศาสนา ถ้าคนไม่มีตรงนี้มา เขาก็ทำมาหากินของเขา เห็นว่าคนที่ไปวัดไปวานี่คนโง่ เสียเวลา ไม่รู้จักทำมาหากิน เขาคิดไปโน่น เขาคิดแบบโลกไง แต่ถ้าคนมีอำนาจวาสนามันคิดแบบธรรม กระดาษมีประโยชน์อะไร ปัจจัยเครื่องอาศัยก็มีอยู่ประจำโลก คนฉลาดเอามันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ คนโง่เอามาทำลายตัวเอง

สมบัติ คนฉลาดเอามาเป็นประโยชน์ใช่ไหม คนโง่มันทำร้ายตัวมันเอง แล้วเขาไปหาสิ่งนั้นมา เป็นสมบัติกลาง อยู่ที่คนโง่หรือคนฉลาดใช้ประโยชน์จากมัน แล้วชีวิตของเราล่ะ แล้วจิตล่ะ แล้วความรู้สึกจากภายในล่ะ ถ้าคนมีวาสนาบารมีมา มันจะคิดอย่างนี้เป็น คิดอย่างนี้ได้ แล้วโยมสังเกตในหมู่เพื่อนโยมสิ ไอ้คนที่คัดค้านเยอะไหม

นี่เห็นไหม ดูเขาคิดโลกๆ เขาสิ ไอ้คนที่คัดค้านเราเยอะมาก เพราะขนโค กับเขาโค คนจะคัดค้านเราต้องมากกว่า คนที่สนับสนุนเราจะน้อยกว่า เพราะคนดีมันมีน้อยกว่าคนโง่ คนดีมีน้อยกว่าคนชั่ว คนฉลาดมีน้อยกว่าคนโง่ เพราะฉะนั้นคนที่จะเห็นด้วย เออออกับเรา แค่เขาโค

ไอ้คนที่คัดค้านเรานี่แม่งขนโค นี่เทียบสิ แล้วชีวิตเรามันมาขนาดนี้แล้ว เราสนใจอย่างนี้แล้ว เราจะไปทำให้ชีวิตเราไปด้วยวัตถุธาตุอันหนึ่งเหรอ เศร้า เพราะคำสอนเขานี่เรา พอเหตุอย่างนี้ผลจะตอบเป็นอย่างนี้ คำสอนก็คือทำให้เราสูญเปล่าไง สูญๆ ไม่ใช่ สูญมี สูญ สูญจากกิเลส แต่กูมี ไม่ได้สูญหาย สูญหายมันก็วัตถุธาตุเว้ย

สูญ กูมี สูญ กูมี เห็นไหม เขาบอกว่าไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู เห็นไหม

“ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู คือกูไง”

ก็กูพูดน่ะ ไม่ใช่ของกู ไม่ใช่ตัวกู ก็กูนั่งหัวตออยู่นี่ แต่ถ้าทำลายจบไปแล้ว ไม่ใช่ของกู ไม่ใช่ของกู ไม่ใช่ตัวกู กูก็ไม่มี แต่มี ถ้ามีก็เป็นทิฐิมานะ เป็นภพ ทำลายหมด ทำลายจิตหมด พระอรหันต์ถึงไม่มีจิต ถ้ามีจิตคือมีภพ จิตก็ไม่มี ทุกอย่างก็ไม่มี แต่มีเป็นวิมุตติ “ธรรมธาตุ” จะเรียกชื่อว่าอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น

ถ้าเรียกก็คือตัวตนมันเกิดแล้ว แต่มีเพราะมีในความรู้สึกของเขา เขามีในความรู้สึกของเขา แต่เขาจะเรียกเป็นอะไรไม่ได้ นี่ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู นี่ก็เป็นตรรกะ พูดกันไปโดยตรรกะ ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู แล้วใครพูดล่ะ แล้วใครพูด นี่ก็เหมือนกัน ว่างๆ แล้วใครบอกมึงว่าว่าง ใครบอกมึง ว่างนี่ใครบอก มึงรู้ได้อย่างไรว่าว่าง มึงรู้ได้อย่างไร ว่างๆ ถามซิ ใครบอกมึงว่าว่าง

ว่างนี่นะ มันมีลึกลับซับซ้อนมาก ว่างของขณิกสมาธิ ว่างของอุปจารสมาธิ ว่างของอัปปนาสมาธิ ว่างของปุถุชน ว่างของกัลยาณปุถุชน ว่างของโสดาปัตติมรรค ว่างของโสดาปัตติผล ว่างของสกิทาคามรรค ว่างของสกิทาคาผล ว่างของอนาคามรรค ว่างของอนาคาผล ว่างของอรหัตมรรค ว่างของอรหัตผล อรหัตผลนี่ยังไม่ใช่เลย

เพราะมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ อรหัตผลไม่ใช่นิพพานนะเว้ย อรหัตผลกำลังจะเข้าสู่นิพพาน กำลังจะเข้าสู่นิพพาน แต่ไม่ใช่นิพพาน ถ้าเป็นนิพพานทำไมบอกว่าอรหัตมรรคอรหัตผล เหตุและผลไง ปฏิกิริยาที่มันกำลังจะทำลายตัวมันเองไง จนถึงผล นิพพาน ๑ ไม่ใช่คู่ ๑ โยมถามหลวงปู่หล้าเนอะ

โยม : ไม่ได้กล่าวถึง มันยากอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : หลวงปู่หล้าเป็นพระที่ดีมาก เพราะว่าหลวงตา หลวงปู่หล้า ท่านกตัญญูกับหลวงปู่มั่นมาก คนดีมันต้องมีกตัญญูกตเวที มันต้องระลึกรู้ถึงคุณของคน คนยังไม่รู้จักคุณของคนมันไม่ใช่คน คนดีเขารู้จักกตัญญูกตเวที ใครมีคุณกับเรา หลวงปู่หล้าท่านจะเชิดชูหลวงปู่มั่นมาก หลวงปู่หล้า หลวงตา

หลวงตาท่านเชิดชูมากนะ แต่ท่านเชิดชูไว้ข้างใน คือท่านไม่เวอร์ ท่านไม่พูดอวดใคร แต่ท่านเอาจริงนะ ใครมารุกรานหลวงปู่มั่น ท่านจะคอยดู แต่ท่านไม่ทำประเจิดประเจ้อไง เราอยู่กับท่านมันมี .........เขาเอาหนังสือมาบอกว่ามันมีพวกพระ เขาทำหนังสือเป็นพ๊อกเก๊ตบุ๊ค บอกว่าหลวงปู่มั่นไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะหลวงปู่มั่นยังดูดบุหรี่ตราไก่อะไรอย่างนี้

หลวงตาท่านบอกว่า เรารู้ตั้งกะคนพิมพ์น่ะ เรารู้ตั้งแต่ใครเป็นคนเขียนด้วย แต่เราอย่าไปยุ่งกับเขา เพราะถ้าเราไปยุ่งกับเขา เรายิ่งไปคุ้ย ขี้ยิ่งคุ้ยยิ่งเหม็น เพราะว่าเขาพยายามจะพูดให้คนสนใจ ถ้าเรายิ่งไปโต้แย้ง เขายิ่งมีคนสนใจมากขึ้น เราปล่อยเฉยๆ ให้มันเป็นคลื่นกระทบฝั่ง ความดีของเราคือความดี

เห็นไหม คนที่เวลาจะออกไปโต้แย้ง ออกไปช่วยเหลือสังคม มันก็ต้องช่วยเป็น ถ้าช่วยไม่เป็นเหมือนคนป่วย เราไปเยี่ยมเขาก็เท่ากับไปทับถมเขา ไม่ใช่ว่าเราถนอม เรากตัญญู เรารักแล้ว เราจะไปแสดงตัว ไม่ใช่นะ เป็นประโยชน์ตรงนั้น เป็นประโยชน์เมื่อไหร่ที่จะเป็นประโยชน์ เป็นคุณค่าที่เราจะไปแก้ไข เราควรทำ แต่อย่างบางอย่าง บางทีเขารู้ว่าเรามีนิสัยอย่างนี้ เราต้องการอย่างนี้เขาก็ ขุดบ่อล่อปลา มันก็ทำให้เราออกไปวุ่นวาย ต้องคิด คนเป็นนะ หลวงปู่หล้า ตกลงว่าจบไหม มีอะไรอีกไหม ไปดูจิตกันมากี่ปีแล้ว

โยม : แค่ไปฟังทีเดียว

หลวงพ่อ : เพราะหมอ.......เขามาพูดกับเราน่ะเยอะ เขาบอกว่าเขาสงสารมาก เขาพยายามจะคุยไง เขาจะคุยให้เปลี่ยน เพราะทางโน้นเขารู้นะ เขารู้ว่า ส่วนใหญ่แล้วเขาจะเอาพวกวิศวะเอาพวกหมอ เพราะพวกนี้พวกมีปัญญาไง แต่สำหรับเราแล้วเราไม่ใช่ เราว่าพวกนี้มีตังค์ต่างหาก มันจะเอาคนมีตังค์ ไอ้ห่า

แต่ความจริงถ้าพูด มันต้องมีจุดยืนแล้วเหตุผลอธิบายให้เขาได้เห็นเลย ถ้าทำอย่างนั้นมันดีอย่างเดียวเท่านั้น ดีอย่างที่ว่ามันแบบ ประสาเราว่ามักง่าย คือว่ามันง่ายมันสะดวก แต่ประสาเรานะ เราเท่ากับเราตัดทอนรากเหง้าเราเอง คือเราควรจะมีได้ประโยชน์ ได้มากกว่านี้ เราตัดทอนรากเหง้าเราเองด้วยความคิดว่ามันสะดวกสบายแล้วคิดว่าใช่ แต่ความจริงมันไม่ใช่

พอมันไม่ใช่ปั๊บ เดี๋ยวเราจะเอาซีดีมาให้มีอยู่อันหนึ่ง เราบอกว่าคำบริกรรมพุทโธ พวกนี้แหละ พวกดูจิตมาหาเรา แล้วเราอธิบายให้เขาฟัง เราบอกว่ามันผิด มันผิดแล้วเขามาปฏิบัติที่นี่หลายอาทิตย์มากเลย แล้วเขามาโอดครวญกับเราไง โอ๊ย มันยาก มันยาก มันยาก

เราก็บอก ของจริงมันยาก หวานเป็นลมขมเป็นยา ไอ้สะดวกสบายมันเป็นหวานเป็นลม ไอ้ขมที่เป็นยา มันเป็นยา มันเป็นบอระเพ็ด มันกินยาก แต่มันให้ผลกับร่างกาย พุทโธๆๆ นี่มันเอาความจริงกับเรา แล้วเราใจดิบๆ อย่างนี้ ใจกิเลสตัณหาทะยานอยากอย่างนี้ มันจะยอมลงกับพุทโธได้ง่ายๆ ได้อย่างไร เราก็ต้องต่อสู้กับมัน อย่างที่ว่าอดนอนผ่อนอาหาร ต้องผ่อนแรงมันเห็นไหม เราธุดงควัตร

เขาบอกว่าอัตตกิลมถานุโยคทำร้ายตนเอง ไม่ใช่ ทำร้ายกิเลส เพราะกิเลสมันอยากกินอยากอยู่ อยากสุขสบายเห็นไหม เราขัดแย้งมันเราตัดทอนกำลังของมัน ธุดงควัตรเป็นการตัดทอนกำลังของมัน ตัดทอนกำลังของกิเลส แต่ทีนี้กิเลสมันอยู่กับเรา พอเราตัดทอนก็โดนเราไปด้วย คนไม่กล้าทำตรงนี้ไง ว่าตัดทอนกิเลสคือตัดทอนกำลังของเรา อยากอร่อยอยากนอนสุขอยากสบาย แล้วไปบอกไม่ให้มันกิน

พอไม่ให้มันกินก็เพื่อที่จะสู้กับมัน มันยาก เราอธิบายให้เขาฟัง มันยาก พุทโธนี่ยากแน่นอน ยาก ปัญญาอบรมสมาธิก็ยาก เพราะมันไล่กับความคิดไป ความคิดมันจะไล่ไปๆๆๆ ไล่ไปเต็มที่เลย พอมันทันนะ มันก็ปล่อย มันก็หยุด มันอายไง พอเหตุผลที่มันทันกัน มันรู้กัน มันปล่อยเลยนะ ว่าง แป๊บเดียว คิดอีกแล้ว แล้วตามไป ไม่ใช่ดู ดูเฉยๆ มันเหมือนเรารู้กัน เราซูเอี๋ย

เหมือนกับเรารู้กับความคิดนะ เฮ้ย ปล่อยเถอะ สบายแล้ว ว่างนะ ว่าง อ้าว ว่าง มันไปรู้กันไง กิเลสกับธรรมะมันรู้กัน แล้วรู้กันมันสะอาดบริสุทธิ์ได้ไหม โจรกับเจ้าทุกข์ ปล้นเขามา เราปล้นโยมมา แล้วบอกว่าเราเสมอกัน โยมเสีย เราได้ กิเลสก็เหมือนกัน ดูจิตๆๆ มันรู้กัน มันซูเอี๋ยกันใช่ไหม ว่างๆ

แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิไม่ใช่ มึงผิด มึงขี้โกง มึงลักกูมา มึงทำลายกู ความคิดน่ะ มันเออ ยอมรับความจริง เราโกงจริงๆ มันก็ปล่อย ปล่อยก็ว่างไม่มีการซูเอี๋ย ว่างต้องว่างจริงๆ ต้องปล่อยจริงๆ แล้วปล่อยจริงๆ โอ้โฮ

พอโอ้โฮ นี่ไง เราได้ผลไง เราได้ผลแล้ว “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” จิตเคยสงบ จิตเคยมีปัญญา จิตเคยรู้ จิตเคยเห็น แก้วแหวนเงินทองใครจะมีค่าเท่ากับสิ่งนี้

แล้วมันจะแยกได้อย่างไร มันจะง่ายๆ ได้อย่างไร ธรรมะครูบาอาจารย์เราฟากตายหมดเลย แล้วพอบอกว่าใครทำปฏิบัติ ตามครูบาอาจารย์ลำบาก มาหาเรานี่ง่ายๆ ถ้าง่ายๆ อย่างนี้ทำได้นะ พระพุทธเจ้าบอกก่อนมึง พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา พระพุทธเจ้าเป็นพุทธวิสัย ปัญญาเลิศล้นนัก

ถ้าพระพุทธเจ้าบอกว่าความง่าย ความสุขอย่างนี้มี พระพุทธเจ้าสอนแล้ว มหายานที่เขาบอกว่าข้ามพ้นนะ สว่างโพลงๆ ไปดูประวัติสิ เขานั่งทีหนึ่ง ๗ วัน ๗ คืน เขาต่อสู้ขนาดไหนมหายาน พวกเซน เขาจะว่างๆ อย่างนี้เหรอ เขาจะทำอย่างนี้ไม่มีหรอก ไม่มี เหตุกับผลมันไม่สมควรกัน งานทางโลกเขาทำกันเพื่อดำรงชีวิต เขายังทุกข์ยากขนาดนั้น

ไอ้นี่จะฆ่ากิเลสของตัวเอง ว่างๆ แล้วก็จะนิพพานๆ นอนหลับตื่นมามันก็ว่านิพพานแล้ว (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)