ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธรรมชาติของจิต

๒๓ พ.ค. ๒๕๕๒

 

ธรรมชาติของจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

เวลาพูดเรื่องภาวนา คนที่ภาวนาไม่เป็นก็มีอารมณ์ความรู้สึกคิดไปอย่างหนึ่ง คนภาวนาเป็น คำว่าภาวนาเป็นนะ ภาวนาเป็นหมายถึงว่า เคยสมบุกสมบั่น เคยผิดพลาดมา แล้วเคยภาวนาถูกต้องได้ เนี่ยคนภาวนาเป็น ครูบาอาจารย์เราบอกว่า นี่ภาวนาเป็น นี่ภาวนายังไม่เป็น ถ้าภาวนาเป็นเหมือนคนทำงานเป็น คนทำงานเป็น เราจะรู้เลยว่า เราทำงานนี่มันผิดหรือถูกอย่างใดบ้าง คนทำงานไม่เป็นเนี่ย เราจะไม่รู้อะไรเลยอะไรผิดอะไรถูก เราจะทำไปด้วยความขยันของเรา ด้วยความเจตนาบริสุทธิ์ของเรา เราจะทำงานของเราเหมือนกับคนขยัน โทษนะ พูดแบบทางโลกบอกว่าโง่แล้วขยัน คนที่ไม่รู้เรื่อง โง่แต่ขยันเหมือนกับคนภาวนาไม่เป็น ถ้าคนภาวนาเป็นนะจะขยันหมั่นเพียรด้วย แล้วแยกถูกแยกผิด ถูก นี่คนภาวนาเป็น ถ้าภาวนาเป็นเนี่ย เวลาครูบาอาจารย์จะชี้เลยว่า ภาวนาเป็นแล้ว คนนี้ภาวนาเป็นแล้ว

คนภาวนาเป็นแล้วนะ ภาวนาไปแล้วนี่ มันจะภาวนาทำสมาธิผิด หรือทำสมาธิไม่ได้เลย จนทำสมาธิได้ พอทำสมาธิได้แล้วนี่ยังภาวนาไม่เป็น ทำสมาธิได้แล้วแต่ยังภาวนาไม่เป็น จนทำสมาธิได้แล้วสมาธิเข้มแข็งดีแล้ว แล้วสมาธินี่ออกเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ก็ยังภาวนาไม่เป็น ภาวนาไม่เป็นเพราะอะไร เพราะมันเหมือนกับเรานี่ได้ตำแหน่งหน้าที่ แต่เราดำรงตำแหน่งหน้าที่นั้นไม่ได้ คือเราได้ลาภมาแต่เราบริหารลาภนั้นไม่ได้ เราได้สิ่งใดมาแล้วบริหารไม่เป็น นี่ยังภาวนาไม่เป็น แต่ถ้าคนภาวนาเป็นนะ พอภาวนาเป็น หมายถึงว่าทำสมาธิสงบแล้วออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ผิดๆ บ้างถูกๆ บ้าง ผิดบ้างถูกบ้าง จนเข้าใจว่าอะไรผิดอะไรถูก เข้าใจว่าอะไรผิดอะไรถูกนะ แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย คือยังไม่ถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติ คือยังไม่เป็นโสดาบันว่างั้นเลย

ถ้ายังไม่ถึงที่ปฏิบัติน่ะเห็นไหม แต่ภาวนาเป็นแล้ว เป็นแล้วหมายถึงรู้ถูกรู้ผิดน่ะ รู้ถูกว่าภาวนาอย่างนี้ปั๊บจิตสงบแล้ว นี่พิจารณากายเห็นกายแล้วปล่อยกายได้ แต่มันยังไม่ถึงที่สุด เขาเรียกตทังคปหานคือปล่อยวางชั่วคราว แต่ถ้าภาวนาเป็นนะ มันปล่อยวางก็รู้ว่าปล่อยวาง แต่ยังไม่ที่สุดเห็นไหม ยังขยันหมั่นเพียรไป คือคนทำงานเป็นแล้ว ผิดก็แก้ไข ถูกก็พยายามมุมานะ มุมานะ ถูกผิดก็แก้ไข ถูกแล้วมุมานะ ไม่ใช่ถูกตลอดไปนะ อย่างเราทำงานเป็นนี่นะ พอทำงานถูกแล้วนี่ เราจะไม่ทำงานผิดอีกเลยเพราะอะไร เพราะการทำงานของเรานี่มันมีเอกสารมีทุกอย่าง ถ้ามีการค้าก็มีต้นทุน มีสินค้ามีอะไรเห็นไหม ไอ้พวกนี้มันเป็นวัตถุ มันเป็นสสารที่จับต้อง ที่บริหารจัดการได้ แต่การภาวนานี่ สติก็เป็นนามธรรม สมาธิก็เป็นนามธรรม ปัญญาก็เป็นนามธรรม มันควบคุมไม่ได้

พอมันควบคุมไม่ได้นี่มันเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม ถ้าสมาธิมันไม่มั่นคง สมาธิมันไม่มีหลักของมันเนี่ย ปัญญามันจะทรงอยู่บนอะไร ศีล สมาธิ ปัญญา โลกุตรปัญญานี่มันตั้งอยู่บนอะไร มันตั้งอยู่ฐานของจิตที่มั่นคง แล้วฐานของจิตมันไม่มั่นคงมันคลอนแคลน ปัญญานั้นจะตั้งอยู่ได้ไหม มันตั้งอยู่ได้ชั่วคราวไง อย่างนี้ นี้ไงจะว่าภาวนาเป็นแล้ว ก็ยังไม่ถึงที่สุด ภาวนาเป็นแล้วก็ยังไม่จบ มันเป็นเพราะเหตุนี้ไง แต่ถ้าเป็นทางโลกคำว่าภาวนาเป็นแล้วนี่หรือทำงานเป็นแล้วนี่ ทำงานต้องสำเร็จแน่นอนจริงไหม แต่การภาวนานี่ภาวนาเป็นแล้วนะ อาจจะไม่ได้โสดาบันก็ได้

ถ้าอำนาจวาสนาหรือพื้นฐานของเรา ไม่สามารถบรรลุถึงพระโสดาบันได้ พระโสดาบัน พระสกิทา พระอนาคา นี่มันต้องมีโอกาสมีอำนาจวาสนา มีพื้นฐานของจิต ภวาสวะมีจิตที่เข้มแข็ง เราสร้างบุญสร้างกุศลมา นี่ไงขนาดว่าภาวนาเป็นแล้วนะ จะถึงที่สุดหรือไม่ถึงที่สุดนะอีกเรื่องหนึ่งเลย นี่คำว่าภาวนาเป็นกับภาวนาไม่เป็น มันแยกกันตรงนี้ไง แล้วถ้าภาวนาเป็นแล้วนี่ ถึงที่สุดแล้วนี่ภาวนาเป็นแล้ว แล้วถึงที่สุดด้วยคือพ้นจากกิเลสเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไปด้วย เนี่ยเขาเรียกภาวนาเป็น กับภาวนาไม่เป็น ตามหลักของครูบาอาจารย์เรานี่

ถ้าบอกคนที่ภาวนาเป็นแล้วนะ เหมือนกับนักกีฬาที่เราปล่อยมือได้เลย นักกีฬาคนนี้หรือผู้ทำงานคนนี้เขาจะรับผิดชอบงานของเขา เขาเอาตัวรอดได้ เพียงแต่ทำแล้วนักกีฬาจะได้เหรียญทองไหม จะได้ตำแหน่ง จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนไหม มันอยู่ที่คู่ต่อสู้ การแข่งขันนะ โอ้ คนนี้นะทำสถิติดีมาก กำหนดไว้คนนี้ต้องได้เหรียญทองแน่นอน เวลาไปแข่งไปเจอคนที่ดีกว่า เขาก็ไม่ได้เหรียญทองอยู่วันยังค่ำ มันวาสนาของเขาไง เขาทำสถิติเวลานี่ดีมากๆเลย บังเอิญไปแข่งเนี่ย มันมีคนที่ทำเวลาได้ดีกว่าขึ้นมาอีกน่ะ เนี่ยวาสนาของคนเห็นไหม

นี่เหมือนกันเวลาภาวนา เวลาวิปัสสนาไปนี่ ปัญญามันดีมาก เกิดเป็นทุกอย่างดีมาก แต่กิเลสมันเข้มแข็งกว่า กิเลสสมันก็ล่อไปเรื่อยน่ะ เออนี่เป็นธรรมแล้วนะ เนี่ยเป็นผลประโยชน์ที่ถูกต้องแล้วนะ เราก็เชื่อไง เออใช่ พอใช่เราก็ปล่อยวาง พอใช่สตินี่ทุกอย่างมันจะปล่อยวางบ้าง คือว่ามันไม่เด็ดเดี่ยว พอไม่เด็ดเดี่ยวปั๊บ นี่กิเลสมันทิ่มแล้ว ทำให้เรานี่คลอนแคลนแล้ว การกระทำของเรานี่ไม่มั่นคงแล้ว เดี๋ยวก็เสื่อม นี่ภาวนาเป็นกับภาวนาไม่เป็น เป็นอย่างนี้นะ

นี่ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาใช้หนี้ ทำไมไปรับรองเขา คำว่ารับรองนี่นะ เราจะบอกว่าธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของจิตนี่นะ ที่เราไปฟังครูบาอาจารย์เทศน์กัน แล้วที่ทางครูบาอาจารย์ทำกัน เราไปเห็นแล้วเราทึ่งไง เราเข้าใจว่าเวลาอธิบายให้เราฟัง แล้วเราคิดว่านี่คือธรรมะ ธรรมะ ไม่ใช่ มันเป็นธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของมันเองเลย จิตมันเป็นอย่างนี้ เนี่ยธรรมชาติของมันเห็นไหม เนี่ยๆเวลาอวิชชานี่ทำให้เรามาเกิดกันนี่ ธรรมชาติคือเรามีอวิชชา เรามีกิเลส มันจะขับดันให้เราต้องมาเกิด เกิดแล้วมันก็ต้องมีทุกข์มียากในหัวใจของเรา มันก็เหมือนเราเกิดขึ้นมาเห็นไหม ถ้าเราจะเกิดหรือไม่เกิดก็แล้วแต่ โลกนี้จะเป็นอย่างนี้ใช่ไหม นี่โลกปัจจุบันนี้มันจะมีอยู่อย่างนี้ เราจะมาเกิดหรือไม่มาเกิดนี่ของมันมีอยู่แล้ว จิตนี่ธรรมชาติของมันนี่พอมันเกิดมาแล้วธรรมชาติของมันไง ดูธรรมชาติของโลกนี้สิเห็นไหม พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกน่ะเห็นไหม ดูสิเวลาฝนตกต้องตามฤดูกาลนี่ ดินดีน้ำดีทุกอย่าง มันจะมีพืชพันธุ์ธัญญาหาร

จิตก็เหมือนกันธรรมชาติของมันน่ะ ธรรมชาติของมันเห็นไหม มันก็ฟุ้งซ่าน มันก็มีความทุกข์ มันก็มีเสื่อมไป มันก็จางไปเป็นธรรมดา ธรรมชาติของจิตเป็นอย่างนี้นะ แต่เมื่อก่อนนั้นน่ะทุกอย่างเป็นเรา แล้วเราไม่เคยควบคุม เราไม่เคยดูแลมันไง แต่พอเราไปดูแลมันเห็นไหม เวลาเขาบอก เนี่ยจิตส่งออกแล้ว คิดแล้ว คิดแล้ว เราบอก ใครทายก็ถูกหมด เพราะธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติของจิตน่ะ มันเป็นอย่างนั้น แล้วใครชี้มันก็ถูกทั้งนั้นล่ะ ใครชี้ก็ถูก แต่เวลาหลวงปู่มั่นเรานี่ ท่านไม่ได้ชี้อย่างนั้นนะ หลวงปู่มั่นอยู่ที่ถ้ำสาริกา กลางคืนจิตนั่งรวมใหญ่ สงบ เห็นหลวงตาอยู่ที่ข้างล่าง คำว่าหลวงตา ท่านมีครอบครัวมา นี้ท่านมาบวชเป็นพระ พอบวชเป็นพระแล้วนี่ท่านก็คิด คิดแบบว่าหลวงปู่มั่นเวลาลงไปบอกไง เป็นไงหลวงตาแต่งงานใหม่กับคู่ครองคนเก่า กี่รอบเมื่อคืนนั้นน่ะ คือกลางคืนนี่นะ ท่านก็คิดถึงครอบครัวไง คิดถึงสิ่งที่อยู่ครองเรือนมาไง

เห็นไหม เนี่ยสิ่งที่รู้เนี่ย มันรู้ข้อมูลรู้ว่าหลวงตาคิดอะไร แล้วเวลาดักนี่ หลวงตาเนี่ยเมื่อคืนน่ะ เมื่อคืนแต่งงานกับคู่ครองคนเก่า เนี่ยแต่งงานใหม่นะกี่รอบ นี่ถ้ารู้ธรรมชาติมันส่งออก แต่ส่งออกเรื่องอะไร คิดเรื่องอะไร ทำอะไร นี่เขารู้วาระจิตเขารู้อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าส่งออก ส่งออก นี่คิดแล้ว คิดแล้ว มันก็ธรรมดามันก็คิดน่ะ แต่คิดเรื่องอะไร คิดอะไร ทำอะไร ของจริงมันเป็นแบบนี้ หลวงปู่มั่นท่านเห็นของท่าน นี่เห็นเห็นไหม แล้วหลวงปู่มั่นท่านเห็นเป็นโทษ จะเตือนหลวงตาองค์นั้น ว่าคิดแต่งงานใหม่กับคู่ครองคนเก่า คิดแล้วคิดอีกมันเป็นเรื่องสัญญาอารมณ์ นี่ครอบครัวก็อยู่ที่บ้าน เราก็บวชเป็นพระแล้ว แต่มันปิดกั้นหัวใจความคิดไม่ได้เห็นไหม ท่านเตือนเพื่อจะให้มีสติยับยั้งว่า ไอ้นั่นน่ะมันเป็นเพราะเราคิดของเราไปเอง ถ้ามันยับยั้งตรงนี้ได้น่ะเห็นไหม นี่ไง จิต อาการของจิต ความคิดไม่ใช่จิต

เนี่ยธรรมดาเรานั่งอยู่เนี่ยพลังงานของเราก็มีอยู่แล้ว เวลาเราคิดออกไปนี่เอาความฟุ้งซ่านมาให้ นี่ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้ธรรมะของพระพุทธเจ้าเห็นไหมให้ตั้งสติ มิจฉาหรือสัมมาก็ตรงนี้ ถ้ามันว่างๆๆๆนี่มันเป็นมิจฉาสมาธิ คำว่ามิจฉาสมาธิ คือว่ามันปล่อยวางโดยที่ไม่มีอะไรควบคุม แต่พอเราเป็นชาวพุทธเห็นไหม พระพุทธเจ้าสอน ศีล สมาธิ ปัญญา สติ สมาธิ ปัญญา เนี่ยถ้ามีสติขึ้นมานี่ มันจะยับยั้งเรื่องนี้ได้ เพราะสติมันยับยั้งแล้วนี่ สิ่งที่รู้ที่เห็นน่ะ เนี่ยเข้านิมิตแล้ว นิมิตที่มันจะมีน่ะ เราบอกน่ะ เวลาใครมาถามเรื่องนิมิตน่ะ นิมิตเกิดได้ด้วยกรรม เหตุให้เกิดนิมิตไง กรรมคือจิตมันมีสภาวะของกรรมมา มันจะรู้ของมัน โดยธรรมชาติของมัน เกิดโดยอุปาทาน อุปาทานนะ ความคิดที่เป็นอุปาทานน่ะเกิดโดยสัญญา เกิดโดยสัญญาเห็นไหม เกิดโดยความหลงผิดเนี่ย นิมิตนี่มันเกิดได้ร้อยแปดพันเก้า

นี่พอเกิดแล้วนี่ เนี่ยจะเข้าว่าภาวนาเป็น ภาวนาไม่เป็นไง ถ้าเขาเห็นแล้วเห็นไหม เห็นแล้วเนี่ยถ้าเขาเห็นนี่เราก็ต้องว่าความเห็นนั้นเป็นอย่างไร เห็นนะ ดูสิตอนนี้นะปัจจุบันนี่โยมได้ฟัง ได้ยินเสียงนี่ ทุกคนได้ยินหมดเหมือนกันหมด นี้พอเขาเห็นนิมิตแล้วนี่ปฏิเสธว่าไม่มีได้ไหม ก็บอกว่ามีใช่ไหม มี แต่แก้ไขอย่างไรข้างหน้าต่อไปไง จะต้องแก้ไขไปว่าสิ่งที่เห็นนั้น นี่หลวงปู่ดูลย์พูดเห็นไหม สิ่งที่เราเห็นนี่เห็นจริงไหม จริง แต่ความเห็นจริงไหม ไม่จริง ข้อมูลในความเห็นนั้นไม่จริง แต่เห็นจริงไหม จริง นี้ถ้าวุฒิภาวะของจิตที่มันอ่อนนะ เขาเห็นจริงๆแล้วไปบอกว่าอันนี้ไม่เห็น เราไม่ใช่บอกว่าไม่เห็น เราบอกว่าเห็น แต่จริงหรือไม่จริงเดี๋ยวค่อยพูดอีกขั้นหนึ่ง นี่ถ้าเห็นมาแล้ว นี่การภาวนาตัวนี้สำคัญมากนะ สมมุติเราไปรู้ไปเห็นอะไรมาแล้วไปถามอาจารย์ อาจารย์บอกไม่เห็นอย่างนี้น่ะ เราจะเชื่ออาจารย์ไหม เพราะเราเห็นจริงๆ

เราไปเห็นมาใช่ไหม เรานี่เท้าไปเหยียบหนามมา แล้วบอกอาจารย์นี่ผมเหยียบหนามมา อาจารย์บอกหนามไม่มี ไม่มีได้ไงก็ผมเจ็บน่ะ ผมเจ็บ ถ้าเหยียบหนามมาใช่ไหม เหยียบหนามมาแล้วนั่นหนามใช่ไหม ต้องบ่งหนามออกเจ็บอีกเที่ยวหนึ่ง เหยียบหนามมาก็เจ็บแล้วทีหนึ่งนะ แล้วมานั่งบ่งนะ โอ้โฮ เสียวแป๊บๆ เจ็บอีกทีหนึ่ง ไปเห็นนั่นล่ะ ไปเหยียบหนามมาแล้ว แล้วเราจะต้องบ่งหนามเขาออกจากจิต เนี่ยการแก้จิตเห็นไหม มันเป็นขั้นๆไป แต่เขาไปเหยียบหนามมา บอกหนามไม่มี เอ็งไม่ได้เหยียบหนามมา เขาเหยียบมาเจ็บอยู่กับเท้า แล้วบอกหนามไม่มี เห็นไหม ไม่ได้ เขาเหยียบหนามมาแล้วบอก เออ หนาม เจ็บไหม เจ็บ เจ็บนี่มันเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ แต่ถ้าใครไปเห็นนิมิตนะ มันเป็นแง่บวกไง ว่าเรานี่ดีกว่าคนอื่น เราเห็นอะไรแปลกๆ เราเห็นเหนือกว่าคนอื่นแล้วค่อยๆแก้ ค่อยๆแก้ การเห็นนี่เราต้องแก้เป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา

แล้วแก้นะ ความว่าแก้เนี่ย มันเหมือนอาจารย์กับลูกศิษย์ อาจารย์บอก เพราะอาจารย์เคยผ่านแล้วนี่อาจารย์จะบอกได้เลยว่า ควรแก้อย่างไรทำอย่างไร แต่ลูกศิษย์ทำได้ไม่ได้ต้องใช้เวลามากเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นพลังงานที่เราไม่เคยเห็นมันนะ จิตนี่ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ นี่ธรรมชาติของจิตเป็นอย่างนี้จริงๆ นี่ธรรมชาติของจิตเป็นอย่างนี้ปั๊บ นี่วุฒิภาวะไม่มี นี่มันครอบงำเรา พอครอบงำเราแล้วนี่ เราจะไม่ก้าวหน้า แต่ถ้าเป็นธรรมะนะ ธรรมะมันเป็นสัจธรรมความจริง ธรรมชาติของจิตมันเป็นอย่างนี้ แล้วเรามีสติสัมปชัญญะนี่ เราแก้ไขมันเห็นไหม สติ ปัญญา ความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ การควบคุม ดูสิเกมส์กีฬานี่เห็นไหมการแข่งขันกีฬานี่ โค้ชเขาวางเกมส์อย่างไร เขาแก้เกมส์อย่างไร มันจะแก้เกมส์แล้วนี่ นักกีฬาของเราเพลี่ยงพล้ำอยู่ เราแก้เราใช้เทคนิคเข้าไปแล้ว เราจะเปลี่ยนเกมส์พลิกเกมส์ขึ้นมา ให้นักกีฬาเราชนะได้

การภาวนา สติ ปัญญาของเราน่ะ สติ ปัญญาของเรา การต่อสู้นะระหว่างกิเลสกับธรรมในใจน่ะ กิเลสมันมีอยู่โดยธรรมชาติของมันที่อยู่ในใจอยู่แล้ว สติเราก็ฝึกขึ้นมาเห็นไหม สมาธิเราก็ฝึกขึ้นมาเห็นไหม ทุกอย่างเราฝึกขึ้นมานะ เนี่ยถ้าสติ ปัญญาเราควบคุมได้เห็นไหม เราควบคุมแล้วเราใช้ปัญญาพลิกแพลง เอาชนะ เอาชนะนะ กว่าจะชนะได้ นี่พวกเราจะไม่เอาชนะ ก็คิดว่าสิ่งที่มันรู้มันเห็นมันเข้าใจนี่ นี่คือสัจธรรมแล้ว นี่คือธรรม ทุกคนคิดอย่างนั้นหมด แล้วเสื่อมหมด มันเป็นธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างเกิดขึ้น ทุกอย่างตั้งอยู่ แล้วทุกอย่างดับไป แต่เวลาในธรรมจักรเห็นไหม สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงต้องดับไปเป็นธรรมดา แล้วมันเหลืออะไร สิ่งที่เกิดขึ้นเห็นไหม สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา แต่ธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของมันเป็นธรรมดาไหม เพราะอะไร เพราะไม่มีใครไปรู้ไปเห็นมันเป็นธรรมดาไง ไม่มีใครเป็นเจ้าของมันไง ไม่มีใครบริหารจัดการมันไง

แล้วเวลาเรามาปฏิบัติกันน่ะ ว่างๆ ว่างๆ สติก็ไม่มี เจ้าของก็ไม่มี ความรับรู้ก็ไม่มี ปฏิเสธให้ว่างให้หมด ปฏิเสธออกไปๆ มันก็เลยเหมือนกับตะวัน ข้างขึ้น ข้างแรม เหมือนกับมืดกับสว่าง เหมือนกลางคืนกลางวัน มันเป็นธรรมดา แล้วเราก็ว่าเราเป็นธรรมดา แล้วรู้อะไร ธรรมชาติของจิตมันเป็นอย่างนั้น แต่อริยสัจไม่เป็นอย่างนั้น อริยสัจนะจะต้องตั้งสติ อริยสัจนะจะต้องขยันหมั่นเพียร เหมือนเราทำธุรกิจเลย เราจะต้องมีทุน เราทำแล้วเราจะต้องได้ผลตอบแทน แล้วเราจะมีผลตอบแทน แล้วเราจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ไม่ใช่ว่าเราจะทำธุรกิจนะ ทำธุรกิจก็เป็นธรรมดา แล้วธุรกิจบริษัทเราก็จะเจริญเป็นธรรมดา แล้วเราก็จะมีเงินเป็นธรรมดา มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

แต่โลกเขาคิดกันอย่างนั้น แล้วมันเป็นตรรกะไง มันเป็นตรรกะมันเทียบเคียงได้ แต่มันมีเคล็ดของมัน ระหว่างโลกียะกับโลกุตระนี่ โลกียะนี่มันคิดได้มันตรึกได้เพราะอะไร เพราะว่าเรามีข้อมูลไง เรามีฐานของจิต เรามีภวาสวะ เรามีจิต คนมีชีวิตถึงคิดได้นะ คนตายแล้วคิดไม่ได้ คนตายคิดไม่ได้ แต่นี้เวลาปฏิบัตินะเราทำเหมือนคนตาย เนี่ยไปตามความคิดไง ความคิดมันลากเราไป แล้วเราไปกับความคิดไปตลอด เหมือนคนตายนะ แต่ธรรมะพระพุทธเจ้าบอกว่า ทวนกระแส ปลาเป็นต้องว่ายทวนน้ำ เราต้องทวนความคิดเราเข้าไปไง ความคิดที่มันคิดออกมานี่ พลังงานมันส่งออกไปตามกระแส แล้วความคิดมีอำนาจเหนือเรา ความคิดมีอำนาจเหนือเรานะ

แล้วเราไปศึกษาธรรมะ แล้วธรรมะก็สอนเห็นไหม ธรรมะสอนเลยบอกว่าให้เห็นให้รู้ รู้สักแต่ว่ารู้เห็นสักแต่ว่าเห็น ไอ้เราก็สักแต่ว่านะ อะไรมา ก็บอกกูไม่รับรู้นะ สักแต่ว่า สักแต่ว่า แต่ความจริงพระพุทธเจ้าไม่ได้พูดอย่างนั้น ให้รู้สักแต่ว่ารู้ สักแต่ให้รู้ ใครเป็นคนรู้ แล้วควบคุมความรู้อย่างไร แล้วรู้แล้วไม่ทุกข์ไม่ร้อนไปกับมันนี่ มันไม่ทุกข์ไม่ร้อนไปกับมันอย่างไร ถ้าเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ ของรักของหวงเราจะโดนทำลายนี่ เวลาโดนทำลายนี่สักแต่ว่าได้ไหม อย่าเจ็บได้ไหม อย่าเจ็บอย่าปวดสิ ของที่มันของรักของสงวนนี่ เขาจะลักจะขโมยไปนี่ สักแต่ว่านั่งดูเฉยๆสิ ทนไม่ได้เห็นไหม ของรักของสงวนนี่เรากับรักเพราะจิตมันปฏิพัทธ์ มันถนอมมันรักษาของมัน มันสักแต่ว่าได้ไหม สักแต่ว่ามันแต่ของพื้นๆสิ

แต่เวลาจิตของมันน่ะ คำว่าสักแต่ว่าเนี่ย จิตมันสงบแล้ว แล้วมีปัญญาของมันแล้ว มันใคร่ครวญของมันแล้ว แล้วมันบอกตัวนี้ไปติดเขาทำไป มันต้องมีสติของมันใช่ไหม แล้วพอมันถึงที่สุดแล้ว คนที่จะสักแต่ว่าได้นี่ มันคือคนที่เขามีคุณธรรมในหัวใจแล้ว มันถึงเป็นสักแต่ว่าได้ เราเข้าใจตามความเป็นจริง เราเข้าใจเห็นไหม เราเข้าใจตามความเป็นจริง แล้วคนมันตีค่าไง ดูสิทุกคนนะติดในร่างกายเราหมดเลย เนี่ยร่างกายเราน่ะ ต้องการให้สมความปรารถนาทั้งนั้น แต่ถ้าร่างกายเรานี่มันเป็นเนื้อร้าย เราตัดทิ้งไหม ทำไมไม่เอาไว้ละ จิตถ้ามันเป็นคุณธรรม มันเห็นอย่างนั้นไง ว่าร่างกายนี่ สรรพสิ่งในธรรมชาตินี่ มันไม่คงที่หรอก มันต้องแปรสภาพไปเป็นธรรมดา เรามีชีวิตอยู่นี่ เราแปรสภาพไปธรรมดา เราเห็นคุณเห็นโทษของมันเห็นไหม แล้วเราสลัดทิ้งที่ใจ ใจมันเป็นคนติดนะ สักกายทิฏฐิความเห็นผิด มันสละลงที่ใจนะ สละขาดที่ใจแล้วนะ ใจก็คือใจ แต่ข้อมูลสังโยชน์ที่เคยติดเคยยึดนี่ มันขาดออกไป ฉะนั้นพอขาดออกไปเห็นไหม ดูพระอรหันต์สิ ภาราหเว ปญฺจกฺขนฺธา ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เห็นไหมเป็นภาระรับผิดชอบ

แต่ของเรานี่มันไม่ใช่ภาระรับผิดชอบ เรากังวลไง เรากังวล เรามีสิ่งในหัวใจนี่ มันกังวลมันติดข้อง ไอ้ความกังวลนี่เส้นบางๆนะ เส้นแบ่งบางๆนี่ สังโยชน์นี่ของบางๆ นี่แต่มันทำให้เราได้คิด ทำให้เราได้ยึดมั่นถือมั่น แล้วเวลาจิตมันเข้าไป มันต้องเข้าไปตัดเส้นบางๆ ไอ้ความที่ยึดเหนี่ยวในหัวใจบางๆ เป็นนามธรรมนี่ ถ้ามันขาดนะ พอมันขาดเข้าไปแล้วน่ะ มันเข้าใจตามความเป็นจริงทั้งหมด สิ่งนี้ต่างหากถึงจะเป็นสักแต่ว่า สักแต่ว่าต้องเป็นถึงที่สุด แต่ทีนี้เวลาผู้ที่ปฏิบัติไปนี่มันไปสำคัญนะ ดูสิพระสารีบุตรเห็นไหม เวลาฟังพระอัสสชิเห็นไหม เนี่ยพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ละเหตุนั้น ฟังแค่นี้เป็นพระโสดาบันเลย

พระจะไปถามพระพุทธเจ้านี่ จิตมันกำลังรวมตัว ปัญญามันกำลังหมุน จะไปถามพระพุทธเจ้าว่าให้แก้ไขเนี่ย ไปถึงกุฏินะฝนมันตก ขึ้นไม่ได้มันเปียก พอฝนมันตก ฝนมันสาด น้ำนี้นองหมดเลย หยดน้ำมันลงมาถึง มันก็เป็นฟองต่อมขึ้นมา แล้วมันแตก เห็นอย่างนี้เป็นพระอรหันต์เลยนะ นี่ไงคำว่าสักแต่ว่านะ จิตมันสมควร จิตมันสมดุลของมัน พอจิตสมดุลของมันปั๊บ พอมีสิ่งใดมาชี้นำ ผลัวะ พระพุทธเจ้าท่านจะพูดท่านจะสอนต่อเมื่อ จิตนั้นมันสมดุล จิตนั้นสมควร พระพุทธเจ้าพูดอะไรไม่พร่ำเพรื่อ พระพุทธเจ้าพูดอะไรเป็นหนึ่งหมด แล้วพูดปั๊บเนี่ย คนฟังเป็นพระอรหันต์ทันทีเลย แต่เราจำขี้ปากมาพูดกันนะ ท่องกันขี้ปากน่ะจำมาแม่นเลย สักแต่ว่า นู้นก็สักแต่ว่า สักแต่ว่า แต่ข้างในมันสะอื้นนะ ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่ ในการนั่งสมาธิภาวนาผู้ที่ปฏิบัติ ทุกข์อยู่ทุกคนมีความทุกข์เป็นเจ้าเรือน แล้วเราพยายามจะชนะทุกข์เนี่ย จะมาสักแต่ว่าน่ะ อย่ามาพูด

จริงๆนะครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมานี่ มันเห็นคุณค่าตรงนี้ไง จะสูงส่งจะต่ำต้อย จะสูงส่งในโลกนี้ขนาดไหน ทุกดวงใจว้าเหว่ ทุกดวงใจสิ่งมีชีวิตทุกดวงเกิดมาจากอวิชชา คนที่เกิดทุกคนไม่ยกเว้นเลย ทุกคน จนประพฤติปฏิบัติแล้วถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์แล้ว นั่นถึงจะไม่ว้าเหว่ คนที่จะไม่ว้าเหว่ ต้องประพฤติปฏิบัติ ต้องมีเหตุผล ต้องชนะใจของตัวเอง ถึงจะไม่ว้าเหว่ นอกนั้นว้าเหว่หมด ทุกดวงใจว้าเหว่ แล้วมันทุกข์ทั้งนั้นล่ะ ฉะนั้นมันทุกข์ทั้งนั้นแหละ เรื่องความจริงในหัวใจน่ะ ไม่มีทางที่ใครจะพ้นไปได้ เป็นไปไม่ได้ มันถึงว่าเห็นคุณค่าของใจ แล้วคุณค่าของใจมีคุณค่ามาก เพราะคุณค่าของใจมันจะมีประโยชน์มาก

แล้วเราเกิดมามีชีวิตนะ ย้อนกลับมาในชีวิตเรานี่ เราต้องหาบเหงื่อต่างน้ำนี่ เราต้องทำมาหากินนี่ เราต้องพยายามดำรงชีวิตนี่ทุกข์ไหม ทุกข์ ทุกข์มันเป็นเรื่องธรรมดานะ แต่ถ้าเราคิดว่าเราทุกข์ปั๊บ แล้วเรามองกลับไปที่สัตว์ เนี่ยดูสินกนี่ นกนี่ เห็นไหม ลูกนกมันตกมา แม่นกนะมันมาเฝ้าลูกมันนะ เพราะลูกนกมันบินขึ้นไม่ได้ โอ้ย ความผูกพันนะของแม่ มันห่วงลูกมาก มันพยายามจะเอาลูก ลูกมันบินขึ้นไม่ได้นี่ เนี่ยชีวิตของสัตว์นะ มันเป็นสัญชาตญาณ พวกเก้ง พวกกวางมันอยู่ในป่านะ มันจะกินอาหารมื้อหนึ่ง นี่มันต้องเอาชีวิตมันเข้าแลก ถ้ามันเผลอเสือตะปบไปกินเป็นอาหารมัน การกินอยู่แม้แต่อิ่มท้องอิ่มเดียวนี่ พวกสัตว์ในป่านี่มันเอาชีวิตมันเข้าแลกทั้งนั้นเลย แต่ของเรานี่เวลาเราทำงานนี่เราว่าเราทุกข์ เราทุกข์นี่ เพราะเราคิดโดยกระบวนทัศน์ของเราไง แต่เราไม่ได้คิดเปรียบเทียบในวัฏฏะไง ถ้ามันทุกข์อย่างนั้นปั๊บนี่ ชีวิตเราเนี่ย เรามีโอกาส เรามีกฎหมายรองรับ เรามีสังคมของมนุษย์ มันมีอิสระกว่าสัตว์กี่เท่า ถ้ามีอิสระปั๊บนี่ สิ่งที่เป็นหน้าที่การงานปั๊บนี่ ถ้าใจมันเปิดนะ ความทุกข์ของเราที่ในหัวใจทั้งหมดน่ะมันจะไม่มีเลย

เราจะภูมิใจในชีวิตเราเลย ภูมิใจในการเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเรายอมรับสถานะ เพราะการเกิดของคนนี่มันเกิดสูงเกิดต่ำ บางคนเวลาเกิดขึ้นมาเห็นไหม ดูสิเกิดมาในชาติภูมิที่สูงมาก พอไปเกิดอีกชาติหนึ่งเห็นไหม ไปเกิดเป็นอะไรก็ได้ เกิดเป็นอะไรก็ได้ เพราะตามเวรตามกรรมเห็นไหม แล้วในปัจจุบันนี่เกิดเป็นชาติภูมิของเรานี่ เพราะดวงใจของเราแต่ละดวง ย้อนไปอดีตชาติไม่มีต้นไม่มีปลาย มันเกิดมาทุกภพทุกชาติมันเกิดมาหลากหลายนัก แล้วในปัจจุบันเรามาเกิดเป็นมนุษย์เรานี่ แล้วพบพระพุทธศาสนา ตอนนี้เรามีสติสัมปชัญญะ แล้วเราจะเอาเราพ้นอย่างไร เอาชีวิตเรานี่ ถ้าเอาชีวิตเราพ้นนะ มันก็เปรียบเทียบกับในปัจจุบันนี่ ทุกข์ในปัจจุบันนี่ ไม่ต้องมีใครบอกมันเป็นความจริง แล้ววิมุตติสุขเนี่ยเราไม่เคยเห็นนะ เราถึงบอกว่านะในวัฏฏะนี่จิตทุกดวงนี่มันเคยเกิดนรก สวรรค์ อเวจี มันเกิดมาทุกดวงใจถึงกลัวผี เพราะจิตเรานี่เคยเป็นผีมาก่อน

แต่บอกเป็นเทวดา บอกว่าเป็นโสดาบัน สกิทา อนาคา คิดไม่ออกนะเพราะจิตของเราไม่เคยอยู่ในภพนั้น คือข้อมูลอย่างนี้มันไม่มีอยู่ในหัวใจของเรา แต่ข้อมูลในวัฏฏะนี่ มันมีอยู่ทุกๆดวงใจ เพราะทุกดวงใจเคยเวียนเกิดเวียนตายมาในวัฏฏะนี้ทั้งหมด นี่ไงพอเวียนตายเวียนเกิดนี่ สิ่งนี้มันมีอยู่แล้วนี่ เวลาสิ่งที่มีข้อมูลน่ะ พอมันคิดถึงมันจะเกิดอารมณ์ เกิดความรู้สึกตกใจรู้สึกกลัวต่างๆนะนี่เห็นไหม ในวัฏฏะเนี่ยเราเข้าใจได้ เนี่ยสิ่งนี้มันย้อนกลับมา นี่ย้อนกลับมาเรื่องนิมิต ถ้าเพราะมีสิ่งนี้ การกระทำมาสิ่งนี้ จิตนี้มันถึงหลากหลายมาก พอจิตหลากหลายมากนี่ ในการปฏิบัติเนี่ย การประพฤติปฏิบัตินี่ มันจะไม่มีทางที่จะเป็นความรู้อันเดียวกันไปได้ จะทำมาเหมือนกันเหมือนอาหารถ้วยเดียวกันเลย เราทานอาหารนี่ ๔-๕ คนในอาหารถ้วยเนี่ย รสชาติอาหารนี่ติไม่เหมือนกันสักคนหนึ่ง บางคนบอกอร่อย บางคนบอกปานกลาง บางคนบอกใช้ไม่ได้ บางคนบอกดีเลิศเห็นไหม เพราะมันอยู่ที่รสนิยม

จิตก็เหมือนกัน จะกำหนดพุทโธ จะกำหนดอะไรก็แล้วแต่ มันอยู่ที่คุณภาพของจิต นี่ธรรมชาติของมัน นี่ธรรมชาติของมัน ถ้ามันเห็นมันรู้นี่ มันสำคัญตรงที่อาจารย์เนี่ย อาจารย์ท่านรู้เห็นขนาดไหน คำว่ารู้เห็นนี่ธรรมชาติของมันใช่ไหม แต่ความจริงหนึ่งเดียวคืออริยสัจนี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เนี่ย เราจะทำอย่างไร ให้มันกลับมาที่พื้นฐาน ให้มันกลับมาที่ตัวจิต เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต การส่งออกเนี่ย เห็นนิมิตนี่จิตมันส่งออกไปมันรับรู้ ถ้าพุทโธๆๆๆๆ นี่พอมันยืมพลังงานกลับมาที่ตัวจิตหมด นิมิตนี่หายหมดเพราะจิตนี้ออกไปรู้ นิมิตจะเกิดได้ต้องมีผู้เห็นนิมิต ผู้ที่เห็นผู้ที่รู้นี่มันจะเกิดนิมิตขึ้นมา ถ้าไม่มีใครไปรู้เห็นรู้ภาพนี่ นิมิตมันจะเกิดขึ้นได้ยังไง แล้วสิ่งที่รู้เห็น เห็นไหมมันก็มีเวรมีกรรมไง บางคนน่ะดูสิเห็นกรรม เคยสร้างกรรมกันมา มาเป็นสิ่งที่น่าตกใจ มาเป็นสิ่งที่มาขอส่วนบุญส่วนกุศล มาขอต่างๆ แต่ถ้าเรามีบุญกุศลเราสร้างไว้แล้ว เราทำไว้ดีแล้วนะ เขาก็ไม่ต้องมาขอเรา

จะบอกว่าคนปฏิบัติบางทีก็ไม่มีนิมิตเลยนะ บางคนนี่ไม่มีแล้วอยากมีก็ไม่มี ก็อย่างเรานี่เราไม่เป็นโทษทำไมเราต้องไปติดคุกด้วย อันนี้คนที่ติดคุกก็เขาต้องทำผิดไว้ใช่ไหมเขาถึงไปติดคุก แล้วคนที่ไม่ทำผิดจะติดคุกไหม ไอ้คนที่ไม่ทำผิดก็อยากติดคุก ไอ้คนติดคุกก็อยากจะออก ไอ้คนมีนิมิตก็ไม่อยากให้มีไง ไอ้คนไม่มีก็อยากมี นี่มันเป็นเพราะคนติดคุก เพราะเขาได้ทำโทษของเขา เขามีโทษของเขาตามกฎหมายบังคับ เขาต้องไปใช้เวรใช้กรรมของเขา ไอ้คนที่ไม่ได้ทำโทษไว้ก็ไม่ต้องไปติดคุก จิตก็เหมือนกันถึงติดคุก ติดคุกนี่เป็นรูปธรรมนะ นี่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงกันไม่ได้ แต่จิตเนี่ย คำว่าติดคุกคือมันเห็นเอง คุกของเราเอง เราขังเราเองด้วยกรรมของเรา เราแก้เดี๋ยวนี้จบเดี๋ยวนี้เลย คุกติด ๖ เดือนต้องรอ ๖ เดือนนะ ปีนึงก็ต้องรอครบปีถึงจะพ้นจากคุก แต่นิมิตเนี่ยถ้าแก้เดี๋ยวนี้นะ คำว่าติดปีนึงนะชั่ววินาทีเดียวแก้จบเลย จบได้ที่นี่แต่เดี๋ยวมันก็เกิดอีก คำว่าเกิดอีกนี่ติดคุกแล้วใช้โทษไปแล้วโทษนี้จบแล้ว ถ้าไปทำโทษใหม่ก็จะมีกรรมไปอีก เห็นนิมิตเนี่ยเหมือนกัน พอมันเห็นนี่เราแก้จบแล้ว

แต่ถ้าจิตเรามันไวมากไง มันยังคิดอยู่ มันยังข้องใจอยู่ มันก็อยากรู้อยากเห็น มันก็ไปเหนี่ยวนำมาอีก มันก็เกิดนิมิตอีก แต่อย่างที่พูด เริ่มต้นว่าถ้าภาวนาเป็นไม่เป็นเนี่ย ถ้าภาวนาเป็นจะรู้เลยว่าคนที่ออกไปรู้นิมิตนี่นะ ถ้าพูดถึงนักทำงานนี่เขาบอกคนนี้บริหารไม่เป็น ถ้าบริหารไม่เป็นนะต้นทุนจะสูง เราบริหารจิตไม่เป็น พอจิตเราออกรู้นิมิตนี่มันใช้พลังงานออกไป พลังงานนี่แหละไปรับรู้ มันเป็นต้นทุนอันหนึ่งของเรานะ คือเราต้องทำจิตให้สงบไง แล้วจิตถึงไปเห็น อย่างเวลาจิตของเรานี่สงบแล้วนี่ เราน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่ใครไปเห็น จิตไปเห็น พอจิตไปเห็นนี่ จิตต้องมีกำลัง จิตต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐาน มันถึงเห็นภาพที่คงที่ชัดเจน แล้วพอจิตสมาธิมันอ่อนลงเห็นไหม ความเห็นนั้นก็น้อยลง นี่ไงบริหารไม่เป็น พอบริหารไม่เป็นนี่ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเห็นนิมิตบ่อยๆ แต่ถ้าภาวนาเป็นปั๊บนะ เขาจะไม่ส่งจิตออกไป

ถ้าส่งจิตออกไป นี่เหมือนเราใช้ต้นทุนให้มันสิ้นเปลือง เรากำหนดจิตไว้เฉยๆ ให้จิตมันเป็นสัมมาสมาธิ แล้วน้อมไปเห็นพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าพิจารณาอย่างนั้นปั๊บนี่ มันจะเข้ามาอริยสัจแล้ว พอเข้ามาอริยสัจแล้ว พอจิตมันกลั่นออกมาจากอริยสัจนะ มันจะมีความจริงหนึ่งเดียว คือมันกลั่นออกมาจากอริยสัจแล้วเป็นโสดาบัน นี่การกระทำมันเป็นธรรมชาติ นี่ธรรมชาติของจิตมันเป็นของมัน แต่มันไม่มีอริยสัจ ไม่มีการทำจริงเข้าไปกลั่นกรอง แล้วใครมาพูดน่ะ ประสาเราว่าคนไม่เป็นนะเราไม่รู้ว่าถูกรู้ผิด พอใครพูดเราก็คล้อยตาม พอคล้อยตาม มันตามกันไป คล้อยตามเห็นไหม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรมคือเหตุกับผลมันสมดุลกัน มันเป็นข้อเท็จจริงของมัน มันจะให้เหตุผลตามความเป็นจริง เราปฏิบัติธรรมด้นเดาไง เขาด้นเดา เราก็ด้นเดาตาม เพราะคำว่าด้นเดาตามนะ

ดูสิ โยมฟังเราพูดนี่โดยที่ไม่มีพื้นฐานรองรับนี่ โยมเขาฟังจากเสียงของเรา แต่ถ้าโยมนั่งอยู่นี่มีใครคนหนึ่งภาวนาเป็นนะ พอเราพูดออกไปเนี่ย คนที่ภาวนาเป็นนี่เขามีพื้นฐานของเขา คือมีเหตุมีผลคืออริยสัจในใจของเขา เขาจะรู้เลยว่าเราพูดจริงหรือไม่จริง เพราะคำพูดนี่มันต้องมีอริยสัจนี้รองรับ ถ้าไม่มีอริยสัจรองรับนะ มันพูดแต่เสียง มันไม่มีอริยสัจรองรับไง นี่เหมือนกันเวลาเราฟังเทศน์ เวลาผู้ที่ปฏิบัติจริง มันมีความรู้จริงอะไรในหัวใจนี่มารองรับ มันดำเนินการ เหมือนเราก้าวขึ้นบันไดน่ะ เราก้าวขึ้นบันไดที่ ๑โสดาบันบันไดขั้นที่ ๒ สกิทา บันไดขั้นที่ ๓ อนาคา บันไดขั้นที่ ๔ เข้าถึงขั้นพระอรหันต์ การเหยียบขึ้นบันไดขั้นที่ ๑ เราต้องใช้เท้า ใช้น้ำหนัก ยกน้ำหนักตัวเราขึ้นในบันไดขั้นที่ ๑ เราก้าวเท้าขึ้นไปขั้นที่ ๒ ยกน้ำหนักตัวเราขึ้นขั้นที่ ๒ นี่ไงขั้นของโสดาบัน ขั้นที่ ๑ การยกเท้าขึ้นไปวางบนบันไดน่ะ แล้วยกตัวขึ้นได้ไหม มันมีเหตุผลรองรับหมดเลย มันต้องมีสิ

นี่บอกเลยเราไปยืนที่พื้นนี้น่ะ เราอยู่ที่พื้นราบเนี่ย เรานึกว่าเราก้าวขั้นที่ ๑ นึกว่าก้าวขั้นที่ ๒ นึกว่าก้าวขั้นที่ ๓ นึกว่าเราก้าวขั้นที่ ๔ แล้วก็คิดว่าเราเป็นพระอรหันต์ ได้ก้าวไหม มันไม่มีเหตุผลรองรับ มันไม่เป็นไป เนี่ยคนฟังนี่ฟังเป็น ถึงบอกว่าเรื่องนิมิต เรื่องการแก้นิมิตสิ่งนี้มันมี ถ้าคนเป็นนะ แล้วดูสิศาลานี่โยมทั้งหมดเดินขึ้นบันไดศาลามานี่ แล้วโทษนะ บันไดศาลาเนี่ยมันเป็นความจริงนะ เพราะโยมก้าวครบขั้นบันไดขึ้นมา ๓-๔ ขั้นขึ้นมา แล้วเข้ามาในศาลานี่ ถึงที่สุดเหมือนกันแล้วโยมมองกลับมาที่ร่างกายของโยมหมดสิ เหมือนกันทุกคนไหม ร่างกายที่นั่งอยู่นี่ อายุก็ไม่เหมือนกัน รูปร่างหน้าตาก็ไม่เหมือนกัน ทุกอย่างก็ไม่เหมือนกัน เราจะเปรียบว่าร่างกายนี่เหมือนจิตไง จิตนี้ถ้ามันก้าวขึ้น ๑ ๒ ๓ ๔ เป็นพระอรหันต์แล้วนี่ สิ่งที่มันก้าวขึ้นมาแล้วนั้น คืออริยสัจคือสัจจะความจริง ที่มันก้าวเข้าไปถึงที่ แต่รูปร่างนี่มันเหมือนจิต เนี่ยสิ่งที่พันธุกรรมทางจิต นี่มันไม่เหมือนกันเลย

แต่ขึ้นมานั่งอยู่บนศาลานี่พระอรหันต์หมดเลย เป้าหมายมันเหมือนกันเห็นไหม แต่ย้อนกลับมาดูรูปร่างหน้าตาเราสิ ดูอายุขัยสิ ดูอายุความเป็นไปเหมือนกันไหม ไม่เหมือนกันเลย นี่ถึงบอกความจริงมันมีหนึ่งเดียว ถ้าพูดถึงความจริงถูกต้อง มันจะถูกต้องหมด ทีนี้อย่างที่ว่านี่ อย่างที่รูปร่างหน้าตา รูปทุกอย่างที่เป็นกันอยู่นี่ มันเป็นอำนาจวาสนา มันเป็นสิ่งที่สร้างมา สิ่งที่ทำมาพันธุกรรมทางจิต ฉะนั้นพันธุกรรมทางจิตนี่ เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นนะ ท่านถึงต้องแก้ไขไปตามนั้น นี่โยมจะมาจากไหน โยมจะทำอะไร จะเห็นนิมิต จะไม่เห็นนิมิต จะคนมีอายุมาก จะอายุน้อย จะเป็นเด็กเล็กเด็กน้อย คนเฒ่าคนแก่นั่นเรื่องพันธุกรรมทางจิต แต่โยมจะขึ้นศาลา โยมต้องขึ้นบันได ต้องก้าวขึ้นบันไดขึ้นมา คนจะก้าวแทบไม่ไหวก็ต้องก้าวขึ้นมา เด็กมันจะวิ่งพรวดขึ้นมาเลยน่ะ วิ่งขึ้นมา ผู้ใหญ่ก็ต้องขึ้นมา พอขึ้นมาแล้ว มันก็จะขึ้นมาบนศาลานี้

อริยสัจมีหนึ่งเดียว เนี่ยต้องก้าวขึ้นไปเป็นธรรมชาติของมัน แต่การก้าวขึ้นมานี้นี่คือตัวจริงนะ สิ่งที่เห็นเป็นนิมิตต่างๆนี่ อันนั้นเรื่องของเขา แล้วมันต้องค่อยๆแก้ คำว่าค่อยๆแก้นี่ มันอยู่ที่ทัศนคติ คนชอบ คนพอใจ เหมือนคนที่กินอาหารรสจัด คนที่กินอาหารรสปานกลาง อาหารรสจืดชืดเนี่ยมันอยู่ที่ความชอบของเขา แต่ต้องแก้อะไร สิ่งที่รสชาติอาหารนั้น เป็นที่ความชอบ กินอาหารมาเพื่อร่างกายนี้มีกำลัง เพื่อจะมาก้าวขึ้นบันได ถ้าก้าวขึ้นบันไดคือก้าวขึ้นอริยสัจ ก้าวขึ้นตามสัจจะความจริง การก้าวนี้ถ้าพูดถึงนะ พอก้าวนี่ อันนี้ไม่ดี อันนี้เหนื่อย งั้นเราอยู่เฉยๆปล่อยกันเฉยๆเป็นธรรมดา ธรรมชาติ ธรรมชาติของจิตเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว นี่ธรรมชาติของจิตนี่มันไม่มีอริยสัจ ไม่มีขบวนการของมันที่พัฒนาการของมัน มันจะไม่เป็นความจริงของมัน

ถ้ามีขบวนการพัฒนาความจริงของมันเห็นไหม อริยสัจนี่เกิดขึ้นมาอันนี้ มันถึงไม่เป็นธรรมดา ถ้าเป็นธรรมดานะ เราอยู่กันเฉยๆแล้วไม่ทำอะไรเลยนะ เราจะประสบความสำเร็จ นี่มันเป็นไปไม่ได้ แต่ในชีวิตเรานี่มันเหมือนกับเป็นไปได้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราอยู่เฉยๆนี่ เรามีอาหารการกินนี่ เราจะดำรงชีวิตได้ตลอดชีวิตแล้วก็ตายเปล่า มันเหมือนกับเป็นไปได้ไง เพราะเราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของจิต แต่ถ้าเป็นอริยสัจมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล มันเห็นการเปลี่ยนแปลงของจิตไง จิตปุถุชนกับจิตโสดาบันมันแตกต่างกันอย่างไร มนุษย์คนๆเดียวเนี่ย

เห็นไหมบุคคล ๘ จำพวกนี่มนุษย์คนเดียวนะ ถ้าเป็นโสดาบันเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลนี่ บุคคลที่ ๒ แล้ว บุคคลที่ ๓ คือสกิทา สกิทาคามรรค สกิทาคาผล บุคคลที่ ๔ อนาคามรรคเป็นบุคคลที่ ๕ อนาคาผลเป็นบุคลลที่ ๖ เนี่ยอรหัตตมรรคเป็นบุคคลที่ ๗ อรหัตตผลเป็นบุคคลที่ ๘ จิตดวงเดียวนี่มันพัฒนาการถึงมรรค ๔ ผล ๔ เนี่ยบุคคล มันพัฒนาของมัน แต่จิตมันมีการพัฒนาการอย่างนี้

การเห็นในมงคลชีวิตไง การเห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่งแล้วสมณะมี ๔ ประเภท โสดาบัน สกิทา อนาคา พระอรหันต์ เนี่ยสมณะมี ๔ ประเภท แล้วสมณะเห็นไหมสิ่งที่พัฒนาการของจิต จิตมันพัฒนาของมันแล้วมันพ้นไปของมัน ไม่ใช่อยู่เฉยๆแล้วเป็นไปอย่างนั้น แต่ชีวิตเรามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ชีวิตเรานี่มันเป็นเรื่องปกติ แล้วตรรกะมันคิดได้ มันเข้าใจได้ มันก็เลยคิดว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม แต่ถ้ามันมีความจริง มันจะมีการเปลี่ยนแปลง มันจะมีการแก้ไข ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว

แต่ธรรมะที่เหนือธรรมชาติ ความจริงที่เหนือธรรมชาติ ความจริงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเห็นไหม ความจริงนี่ อริยภูมิที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง กุปปธรรม อกุปปธรรม ผู้ทำแล้วจะเข้าใจเรื่องนี้ ถ้าผู้ยังไม่ทำก็จะยังใช้ตรรกะว่ากันไปตามเกณฑ์นั้น นี่พูดถึงนิมิตว่าทำไมบางทีนะมันเริ่มต้นมาไง เหมือนเด็กนี่ เด็กมาวัดใหม่ๆเห็นไหม มาแล้วให้เอาอกเอาใจมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผู้ใหญ่ไม่ได้ ผู้ใหญ่นี่เพราะเรามีความปรารถนามากกว่านั้น จิตที่หัดภาวนาใหม่ๆนี่ โทษนะต้องโอ๋ก่อนไง โอ๋โอ๋ โอ๋ก่อนให้ภาวนาให้ได้ ถ้าพอภาวนาปั๊บแล้วไม่โอ๋เลยนะ เวลาเทศน์นะ เวลาพระเทศน์นี่เขาต้องการจากคฤหัสถ์ให้เป็นนักบวช คือให้เข้ามาใกล้ศาสนา แล้วเวลาบวชแล้วขึ้นมานี่ จะภาวนาไม่ภาวนา จะเรียนก็เรียน จะภาวนาเข้าไปนี่ ให้มันใกล้เข้ามาเรื่อยๆ

ถ้าผู้ปฏิบัติใหม่ ทีนี้เวลามานี่ เวลาผู้มาใหม่เห็นไหมเราจะโอเค เออทำไปก่อน แต่ผู้เก่าๆบางทีเราดุเห็นไหม บางคนเราดุเราจี้เต็มที่ จี้เต็มที่หมายถึงว่าให้เขาเปลี่ยนแปลงมาตลอดแล้ว ถ้าเขายังไม่เปลี่ยนแปลงนะ เขาจะแบบว่าคุ้นชินนะ โรคภัยไข้เจ็บเนี่ยถ้าเราไม่รักษานะ บางทีโรคร้ายนี่มันจะกัดกินไปเรื่อยๆ ถ้าเราไปติดในกิเลสนะ หลวงตาใช้คำว่าชินชาหน้าด้าน ถ้ายังไม่หน้าด้าน หนังยังไม่หนานี่ เราจะมีความละอาย เราจะทำอะไรนี่เราจะกลัวบาป แต่ถ้ามันหน้าด้านหนังหนานะ กิเลสถ้ามันเกาะไว้นานๆ มันจะเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นครูบาอาจารย์นี่ ต้องพยายามตี คือว่าสะกิดให้จิตนี่มันสะบัดออก คำว่าสะบัดออก คือมันสะบัดออกจากสิ่งที่ติดนี่ ฉะนั้นอย่างนี้บางทีแรงต้องแรงมากๆเลย

เราจะไม่เข้าใจครูบาอาจารย์นะ ทำไมคนนี่เอ็ดแรง คนนี้พูดกระทบให้รุนแรง ทำไมคนนี้ก็เป็นเหมือนกัน ทำไมคนนี้ยังไม่พูด แบบว่าทิ่มเข้าไปในหัวใจไง อายุขัยเรื่องข้างนอก นี่เป็นเรื่องปกติจะอายุมากอายุน้อยนี่ แต่เข้ามาปฏิบัติมากหรือน้อยไง เข้ามาปฏิบัติเพิ่งมาอายุมาก ๙๐ แล้วแต่เพิ่งมาวัดวันแรกไงก็เหมือนกับอนุบาล ทางจิตยังไม่ได้ทำอะไรเลย ก็ต้องค่อยๆฝึกขึ้นมา แต่ถ้าเขาทำแล้ว เขาได้พัฒนาแล้วเขาควรจะได้ประโยชน์ไง เราก็ต้องเต็มที่ เรารอเวลานั้นต่างหาก ค่อยๆพัฒนาขึ้นมา สอนคนจะอายุมาก อายุนี้อายุขัยเรื่องของภพนี้ แต่อายุวุฒิภาวะของจิต มันยังไม่ได้เริ่มเลย อายุมากแต่อายุร่างกาย แต่เวลาหลวงตาบอกว่าจิตไม่มีอายุขัยนะ จิตนี้ไม่มีวันตาย แต่อายุเรานี่ ๗๐-๘๐ น่ะแต่เราเพิ่งมาปฏิบัติ จิตเรายังไม่เคยสัมผัสกับธรรมะเลย เหมือนอนุบาลนะ

แต่จิตนี้ไม่เคยตาย เพราะมันเคยเวียนเกิดเวียนตายมากี่ภพกี่ชาติ มันไม่เคยตาย มันถึงเป็นพันธุกรรมของมันมา แล้วพอมาปฏิบัติ เข้ามาใหม่ปั๊บ ถ้าในภาคปฏิบัติเหมือนอนุบาล พออนุบาลปั๊บนี่ เด็กอนุบาลเห็นไหมจะทำอะไรมัน กินนมนอนไง อาบน้ำ กินนม ทาแป้งแล้วนอน แค่นี้เด็กอนุบาลนี่เก่งแล้ว แต่พอโตขึ้นมา พอจิตมันโตขึ้นมาต้องไม้เรียว พอโตขึ้นมานี่ถ้าไม่ฟังก็ต้องไม้เรียว แต่มันก็ต้องเป็นขั้นๆมา มันเป็นอย่างนั้น ทีนี้มุมมองของโยมนี่จะไม่เข้าใจ คำว่าเข้าใจ หมอเวลาคนไข้เขามาหาหมอ นี่ประวัติคนไข้อยู่ที่หมอใช่ไหมว่าคนไข้คนนี้เริ่มเป็นโรคอะไร เป็นมาตั้งแต่เมื่อไร แล้วจะแก้อย่างไร นี่ก็เหมือนกัน เขามาแล้วประวัติอยู่ที่เราแล้วเขาจะเป็นอย่างไรมาถาม เอ่อ กินยาแล้วมันเป็นอย่างนั้น เอ่อใช่ๆๆๆ กินยาเข้าไปแล้วมันถ่ายดีมากเลย เอ่อใช่ๆๆๆ ใช่ไว้ก่อน มันต้องรู้ให้ร่างกายเตรียมพร้อมก่อน แล้วเดี๋ยวถ้าให้กินอีก ถ้ายาเข้าไปออกฤทธิ์แล้ว ถ้าไม่ยอมต้องบังคับกัน

พูดนี้เพื่อให้หายสงสัย แล้วเป็นอย่างนี้เนี่ยเป็นมาเยอะ โยม.......น่ะตอนอยู่โพธารามน่ะ มาคุยกันอย่างนี้ แล้วเราก็แก้คนอื่น แกภาวนานั่งตลอดรุ่งนะ แกเห็นเราแก้คนอื่น เสร็จแล้วแกก็ไปทำ พอทำเสร็จไม่กี่วันแกก็มาฟ้องน่ะ โอ้โฮ หลวงพ่อเสื่อมหมดเลยไม่ดีเลย ทำไมล่ะ ก็วันนั้นหลวงพ่อบอกคนนั้นนะ หนูเห็นมันง่ายหนูก็ไปทำตามน่ะ เกลี้ยงเลยน่ะ ตัวเองไปดีๆอยู่แล้วไง ไปดีๆอยู่แล้ว ตัวเองลำบากไง เพราะเราทำงานแล้วใช่ไหม เราต้องหาบเหงื่อต่างน้ำ เราต้องลงทุนลงแรงใช่ไหม แล้วเด็กมันมาใหม่ใช่ไหมก็บอกให้เด็ก อนุบาลไง กินนมแล้วนอนนะ เช็ดตัวแล้วนอนนะ เขานั่งฟังอยู่ด้วย เขาคิดว่ามันถูก เขาเอาเลยนะ ตัวเองน่ะมีหลักอยู่แล้ว แล้วไปทำง่ายๆอย่างนั้น

แล้วไม่กี่วันก็มารายงาน หลวงพ่อหมดเลย ทำไมล่ะ ก็วันนั้นหลวงพ่อพูดกับคนนั้น โทษนะเราว่าแรง กูไม่ได้สอนมึงน่ะ มึงมาเสือก แกก็กระเทือนใจพอสมควร เนี่ยเวลาสอนคนมันเยอะเห็นไหม นี่เวลาธรรมะ นี่มันจะเจาะจงแต่ละบุคคลๆเลย แล้วเวลาบอกอะไรให้ถามมาเนี่ย แล้วถามมามันจะรู้ขั้นไหน ขั้นไหน เราฟังเนี่ยหลวงตาบอก แกงหม้อใหญ่พูดให้ทุกๆ คนฟัง นี่มันเหมือนแกงจืด ถ้าแกงหม้อใหญ่ ต้องเป็นแกงจืดทุกคนกินได้หมดเลย แต่พอจะเอาเฉพาะพื้นที่นี่ มันต้องมีรสชาติแล้ว ทีนี้แกงหม้อใหญ่เป็นอย่างนั้นแล้วคนฟังก็เก็บเอา เก็บได้แค่ไหน ถ้าเราเคยผ่านแล้ว เราเคยมีดีอยู่แล้ว เราก็รับฟังไว้เพราะสอนทั่วๆไป แต่ถ้าเจาะจงล่ะ เอาล่ะตัวต่อตัวเจาะจงเลย เราเจาะจงนี่มันจะรู้ว่าคนนี้แค่ไหนๆ ตรงนี้บางทีคนฟังมันจะคิดน้อยใจไง ทำไมคนนี้ดุเอาๆๆๆ ไอ้คนนี้ไม่ว่าเลย เดี๋ยวจะว่ามันทีหลังน่ะ ถ้ามันขึ้นมาน่ะ กำลังจะว่ามันอยู่ ถ้ามันผิดเดี๋ยวจะว่ามัน แต่ตอนนี้มันยังไม่ผิด รอให้มันขึ้นมาแล้วมันผิด เดี๋ยวเถอะ

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะตามหลักธรรมนะชี้ขุมทรัพย์ไง ใครชี้ถึงความบกพร่องที่เราทำผิดพลาดขุมทรัพย์ทั้งนั้นนะ แต่เราไม่เข้าใจจนกว่าครูบาอาจารย์ท่านจะล่วงไปแล้วนะ แล้วเราจะเข้าใจทีหลัง ไอ้อย่างนี้มันเข้าใจกันไม่ได้ ถ้าเข้าใจเขาก็เป็นครูบาอาจารย์กันหมดแล้วสิ ทุกคนไม่เข้าใจ แล้วกิเลสมันปิดตาอยู่ แล้วเราก็คิดประสาเรานะ เนี่ยวันนั้นเห็นนะ มาพูดน่ะ ถ้าเขาจะหลง จะหลงได้อย่างไรก็เรานั่งอยู่นี่ รับไปนี้เดี๋ยวเขาหลงใหญ่เลยนะ ก็ให้หลงเถอะน่ะอย่างนี้มันหมายถึงมันพาสขึ้นไง มันพาสขึ้นหมายความว่า เขาทำแล้ว มันเหมือนกับเราก้าวเดินออกไป เรายืนอยู่กับที่แล้วมันจะได้อะไร เราก้าวเดินออกไปเนี่ย ระยะทางจะสั้นเข้ามาเรื่อยๆ จิตมันก้าวออกไปแล้ว พอก้าวออกไปปั๊บนี่ มันจะรู้ถูกรู้ผิดไปเลย

แล้วเดี๋ยวเราจัดการเอง มันจะหลงได้อย่างไรล่ะ ก็คนคุมหางเสือมันนั่งอยู่นี่ แต่ต้องให้เรือมันออกสิ ให้เรือออกจากท่า เรือไม่ออกจากท่ามันก็เลยไม่ได้วิ่ง งัดออกจากท่าไปเลย แล้วเดี๋ยวจะคุมหางเสือเองไม่ต้องห่วง เนี่ยประสบการณ์ไง ประสบการณ์ของเราหนึ่ง สองถ้าหลวงตาท่านบอกนะ ถ้าใครภาวนาเป็น ภาวนาแล้วมันมีเหตุมีผลนี่ มันคุยกันแล้วมันมีพยานต่อกัน แล้วศาสนามันจะเกิดขึ้นมาเป็นรูปธรรม ศาสนาจริงๆเกิดขึ้นมากับใจเรา เราจะรู้ผิดรู้ถูก แล้วฟังคนพูดรู้เลยว่าพูดผิดพูดถูก ความจริงมันจะเกิดขึ้นมาจากเราเนาะ เอวัง