พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) พระอรหันตพุทธสาวกนักเผยแผ่พระศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในครั้งกึ่งพุทธกาล ท่านเป็นผู้ร่วมบุกเบิกค้นคว้าสัจธรรมกับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เป็นปูชนียอริยบุคคลผู้บำเพ็ญคุณูปการที่เป็นคุณประโยชน์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างอเนกอนันต์ ท่านดำเนินตามรอยองค์พระบรมศาสดาทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเรียนปริยัติเพื่อสัมมาปฏิบัติ ท่านทรงธรรมวินัย ทรงธุดงควัตร บำเพ็ญสมถ - วิปัสสนาจนทรงอริยธรรมขั้นสูงสุด นับเป็นเนติสงฆ์อันเลิศเลองดงามรูปหนึ่ง ท่านปราดเปรื่องทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ มีความรู้แตกฉานด้านปริยัติ เป็น "จอมปราชญ์ราชบัณฑิตแห่งกรุงสยาม"
ท่านบันลือสีหนาทแสดงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ธรรมจนได้รับการยกย่องเป็น "ยอดนักเทศน์ธรรมกถึกเอก" และ "ร่มโพธิ์ร่มไทรใหญ่แห่งธรรม" ท่านเคยปรารถนาพุทธภูมิจึงมีบารมีธรรมสูงล้ำ มีความสามารถอัจฉริยะรอบด้าน เป็นทั้งนักปฏิบัติ นักปกครอง นักบริหาร นักการศึกษา นักสร้างพระแท้ นักพัฒนา นักบูรณปฏิสังขรณ์ ฯลฯ และมีบริษัทบริวารมากทั้งปริมาณ - คุณภาพที่ติดตามท่านมาสืบทอดเผยแผ่จนพระพุทธศาสนากลับมาเจริญรุ่งเรืองสูงสุดอีกหน ซึ่งส่งผลมาจวบจนปัจจุบันนี้ ทั้งแผ่ขยายไปทั่วโลก ศิษย์องค์สำคัญด้านคันถธุระ มี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ด้านวิปัสสนาธุระ มี หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น และท่านเป็นพระอุปัชฌาจารย์ของครูบาอาจารย์องค์สำคัญมากมาย เช่น หลวงปู่บุญ ปญฺญาวุโธ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ฯลฯ ส่วนศิษย์ฆราวาสมีตั้งแต่วงศ์พระมหากษัตริย์ลงมาจนถึงคนธรรมดาสามัญ
ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นครูบาอาจารย์ที่หาได้ยากยิ่ง วงกรรมฐานเคารพเทิดทูนบูชามาก โดยหลวงปู่มั่นชมว่า "ท่านเจ้าพระคุณองค์นี้ไม่ใช่พระธรรมดา ถ้าใครได้ทำบุญกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ แล้ว คนนั้นไม่เสียคนและไม่เสียหลาย" และองค์หลวงตาพระมหาบัวเทศน์ไว้ว่า "หลวงปู่มั่นเคารพท่านมาก เคารพเจ้าคุณอุบาลีฯ พูดคำไหนๆ แย็บออกรู้ทันที ท่านพูดด้วยความเคารพเลื่อมใส ด้วยความเทิดทูนจริงๆ คือท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านหนักทั้งปฏิบัติด้วยปริยัติด้วย ท่านเป็นแบบฉบับได้" และยกย่องท่านทั้งสองเป็น "จอมปราชญ์ในสมัยปัจจุบัน"
ตลอดธรรมอริยประวัติของท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ยิ่งใหญ่และสมบูรณ์งดงามที่สุด สมเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เมื่อท่านชราอาพาธหนักยังไว้ลวดลายพระโพธิสัตว์ ชายชาติอาชาไนย เทศน์โปรดพุทธบริษัท เมื่อถึงมรณกาลท่านเผชิญความตายอย่างมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สมเป็นผู้ฝึกจิตมาดีแล้ว แม้ท่านเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานไปนานแล้ว แต่การบำเพ็ญตามหลักพุทธจริยา ๓ ของท่านได้ถูกจารึกจดจำในประวัติพระพุทธศาสนาและชาติไทยไปอีกตลอดอนันตกาล